--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จะแก้ปัญหาการเมือง ทุกฝ่ายต้องเริ่มจากปรับปรุงตัวเองให้ดีก่อน !!?

การเมืองเป็นเรื่องการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ในสังคม การเมืองระดับชาติก็จัดสรรผลประโยชน์ระดับประเทศ การเมืองระดับ อบต.ก็จัดสรรผลประโยชน์ในตำบล ฯลฯ ถ้าการเมืองดี การจัดสรรนั้นก็เป็นไปอย่างเป็นธรรม สร้างความสันติสุขให้ชุมชน แต่ถ้าเป็นการเมืองไม่ดี การจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ ก็จะกลายเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์ถึงขั้นต่อสู้ทำลายล้างกัน
   
นักการเมืองเป็นปุถุชน ทำผิดบ้างถูกบ้าง เป็นธรรมดา เราทำใจยอมรับได้ แต่ก็ควรที่จะยอมรับด้วยว่า อะไรถูก อะไรผิด แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียบ้าง
   
แต่ภาวการณ์เมืองไทยขณะนี้ ทุกฝ่ายต่างนอนยันยืนยันว่าตนเองถูกต้อง ไม่มีที่ผิดพลาด
   
ตนและพวกพ้องเป็นคนดี เป็นนักการเมืองน้ำดีกันทั้งนั้น
   
เมื่อเต็มไปด้วยทิฐิกันอย่างนี้แล้ว "การเมืองดี" จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
   
รากฐานที่จะทำให้การเมืองดี คือ "คนไทยคิดทำอะไรต้องเมตตากัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอด ประสานประโยชน์กัน สามัคคีอยู่ในความสุจริต เท่าเทียมกันทางกฎหมาย"
   
เมื่อมองสังคมไทยในอดีต ราษฎรไทยมีความเมตตาเกื้อกูลกันมากกว่าสมัยนี้ เราคงยอมรับว่ามาตรฐานคุณธรรมมีความเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ สังคมปัจจุบันนี้มาตรฐานวัดความ ผิด-ถูก , ชั่ว-ดี , สุจริต - ทุจริต เปลี่ยนไปในทางตกต่ำลง
   
ใครจะทำให้ดีขึ้นได้ ? คนทั่วไปมักจะเรียกร้องหาวีรบุรุษมาช่วยทำให้มันดีขึ้น โดยลืมไปว่า ไม่มีใครเป็นพระเอกขี่ม้าขาวได้ ตัวเราเอง-คือคนไทยทุกคนจะต้องลงมือทำจึงจะสำเร็จ
   
แล้วจะลงมือทำอย่างไร ? ก่อนอื่นก็ต้องปรับปรุงตัวเอง รักษาคุณธรรมของตนให้ดี จากนั้นจึงจะสามารถส่งผลสะเทือนถึงคนอื่น จึงจะสามารถเคลื่อนไหวสร้างการเมืองดีได้
   
ขณะนี้ผู้คนที่ห่วงบ้านเมือง หวังพึ่งพิงการปฏิรูปการเมืองบ้าง หวังพึ่งกองทัพมาเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาวบ้าง โดยลืมไปว่า ถ้าระดับคุณธรรมของสังคมไทยยังคงอยู่ในระดับอย่างนี้ การเมืองจะดีขึ้นไม่ได้
   
ตอนนี้สังคมไทยมีความเสี่ยงมาก ตั้งอยู่หมิ่นเหม่ปากเหว กระทั่งบางคนคิดว่าเราตกเหวไปแล้ว เพราะขณะนี้ไม่มีฐานอะไรรองรับ เพื่อจะดิ้นรนให้รอดจากจุดเสี่ยงอันตรายสูงสุดนี้ เกิดความเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ มากมาย นั่นเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ลืมว่าจุดเริ่มต้นคือเรียกร้องตนเองก่อน
   
ทำการเมืองต้องมีธรรมะกำกับ ทุกคนเรียกร้องหาเสรีภาพ แต่เสรีภาพที่ถูกต้องนั้นต้องมีธรรมะกำกับ เสรีอย่างไม่มีธรรมะกำกับก็จะเป็นไปตามกิเลส ให้กิเลสมีเสรี  มันก็ทำลายสังคม ทำลายมนุษย์
   
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เตือนสติผู้คนไว้เรื่อง "ธรรมที่พึงปฏิบัติในทางการเมือง"
   
หัวข้อแรกคือเรื่อง "สติ" ท่านบอกว่า
   
"สติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นธรรมที่ควรจะรักษาที่สุดในทางการเมือง
   
นักการเมืองทุกคนจะต้องมีสติ
   
ขณะนี้เองกระผมมีความรู้สึกว่าสติของเราจะหลวม ๆ มีโกรธกัน เคียดแค้นกัน ด่ากันรุนแรง มีพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขาดสติ
   
เมืองเรามีทั้งพลเรือนมีทั้งทหาร ถ้าขาดสติข้างเดียวไม่เป็นไร ถ้าเกิดจาดสติมาพร้อมกันทั้งสองข้าง ประชาธิปไตยมันก็อยู่ไม่ได้ คืองอนกันไม่จบ ในที่สุดก็เกิดโมโหขึ้นมา ตึงตังขึ้นมา เราก็ไม่มีประชาธิปไตย
   
กระผมจึงอยากจะขอวิงวอนให้นักการเมืองทุกฝ่ายทุกวันนี้โปรดได้ใช้สติ จะทำอะไรพิจารณาให้รอบคอบ
   
ปัญหาการเมืองทุกอย่างมันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้
   
หรือถึงจะแก้ไขไม่ได้ก็ควรใช้สติพิจารณา ไม่ใช่โวยวายไปตามอารมณ์ ไม่ใช่จะประณามกัน ด่าว่ากันจนเกินไปโดยขาดสติ มันจะทำให้เกดความเคียดแค้นเกิดพยาบาทอาฆาต ซึ่งจะไม่เป็นผลดีแก่ใครเลย และในที่สุดประชาธิปไตยก็อยู่ไม่ได้......"

ที่มา.สยามรัฐ
////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลัง 56 !!??

 ดร.พิสิฏฐ ภัคเกษม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ปรึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะลำบาก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เหล่านี้เกิดปัญหานั้นก็เพราะการใช้จ่ายทางการคลังที่เกินตัว หรือรัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินตัว มีหนี้สาธารณะมากไป ทำให้ฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งความล่าช้าในการฟื้นตัวของ “เศรษฐกิจโลก” ในครึ่งหลังของปี2556 ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ในขณะเดียวกัน ปรากฏว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในจีน และอาเซียนกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกระจาย (Diversify) มีทั้งอุตสาหกรรมและการบริการ ไม่ได้พึ่งพิงไปที่อุตสาหกรรมหนึ่ง อุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะถือเป็นพื้นฐานที่ดี รวมถึงการที่ไทยเป็นประเทศมีสินค้าเกษตรเหลือส่งออก (Food surplus country) มากที่สุดในกลุ่มอาเซียน จึงเป็นปัจจัยด้านบวกที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ตาม “การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท” ยังคงเป็นปัญหาที่นักลงทุนวิตกกังวล ด้วยเกรงว่าอาจจะมี “มาตรการควบคุมเงินไหลเข้า” อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย แต่เกิดขึ้นจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ ซึ่งควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะไม่สามารถควบคุมได้

การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบกับรายรับ “ในรูปเงินบาท” ของผู้ประกอบการไทย ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2556 ก็ยังคงมี “แรงกดดันต่อการแข็งค่า” ต่อเนื่อง จะทำให้การขยายตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย “ชะลอตัวลง”

ข้อเสนอแนะต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจไทยปี 2556 นั้น ประการแรกเห็นว่าควรดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีการเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ

ประการต่อมา รัฐควรดูแลราคาสินค้าสำคัญๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง วัตถุดิบทางการเกษตร ให้มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับราคาสินค้า “ในตลาดโลก” เพื่อลดแรงกดดัน “เงินเฟ้อ” และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

ประการที่สาม ต้องมีการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบให้กับ SMEs จากการแข็งค่าของเงินบาท การเพิ่มต้นทุนค่าแรง และความยืดเยื้อในการหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป

ประการที่สี่ ควรเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เร่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่(ชายแดน)และเศรษฐกิจโดยภาพรวม

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2556 นั้น คาดว่าอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ 4–5 % ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 5% และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ประมาณ 4.2–5.2% “ราคาส่งออก” มีความเสื่อมในครึ่งหลังของปี2556 ในเกณฑ์สูง เงินเฟ้อเท่ากับ 2.2–3.3% บัญชีเดินสะพัด “เกินดุล ”เท่ากับ 0.9% การลงทุนภาคเอกชนคงจะขยายตัว “ต่อเนื่อง” อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ต่ำ” ความเชื่อมั่นในการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการเบิกจ่ายงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากร “น้ำ” ซึ่งคาดว่าจะคืบหน้าและสามารถเบิกจ่ายให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในครึ่งหลังของปี 2556

การบริโภคของภาคเอกชน (Private Consumption) ขยายตัว 4.2% การลงทุน(Investment) ขยายตัว 6.0% ส่งออกขยายตัว 4.5% เทียบกับหดตัวในปี 2555 ยานยนต์ขยายตัวสูงถึง 16.8% ส่งออกข้าวขยายตัว 8.6% โดยพบว่าการส่งออกข้าวไปยังตลาดหลักคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ ส่วนการส่งออกข้าวไปยังตลาดจีน ฮ่องกง ออสเตรเลียอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นในปี 2556 ขยายตัว “ต่ำ”

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ข้าวไทย ปลอดภัยตลอดมาหรือเปล่า !!??

กรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อเอาผิดคนที่ปล่อยข่าวเรื่องข้าวไทยไม่ปลอดภัยและกรณีที่บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด จะดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับนายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ พิธีกรรายการทีวี “คนค้นคน” จากการโพสต์ข้อความที่ทำให้ข้าวถุงตราฉัตรเกิดความเสียหายนั้น ไม่น่าจะเป็นวิธีการหยุดกระแสข่าวลือในเรื่องคุณภาพของข้าวไทยที่ถูกต้อง

ความสงสัยและข้องใจในเรื่องที่ว่าข้าวที่คนไทยบริโภคกันอยู่นี้มีสารพิษตกค้างหรือไม่ เป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว มีการพูดกันออกอากาศในวิทยุและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในเรื่องนี้ในหลายวงการมานานพอสมควร เพียงแต่ไม่มีการชี้เจาะจงไปที่ข้าวยี่ห้อใด หรือข้าวจากที่ใด แต่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยออกมาปฏิบัติการใดเพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้าวที่บริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ปลอดภัย
   
ความไม่ใส่ใจดูแลผู้บริโภคของทางการรวมทั้งนักการเมืองที่ควรจะเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน เห็นได้จากไม่มีคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ออกมาปฏิเสธข่าวเพื่อหยุดยั้งกระแสข่าวลือ หรือมีปฏิบัติการที่ชัดเจนของทางการในเรื่องนี้ น่าจะเป็นสาเหตุที่แท้จริง ทำให้ข่าวที่ว่าข้าวเต็มไปด้วยสารตกค้างแพร่กระจายและซึมลึกไปในสมองของผู้บริโภคส่วนหนึ่ง
   
จนกระทั่งเป็นข่าวใหญ่โตขึ้นมาจึงได้มีการนำตัวอย่างข้าวไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบ โดยมีการแถลงข่าวว่า ไม่พบสารพิษหรือสิ่งที่เป็นพิษเกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกจากการนำข้าว 33 ตัวอย่างไปตรวจสอบ
   
การตรวจสอบโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดังกล่าวนี้ ไม่ได้หมายความว่าข้าวทั้งตลาดที่ขายให้ประชาชนบริโภคนั้นปลอดภัย และ ไม่ได้หมายความว่าข้าวที่มีการซื้อขายก่อนหน้าที่จะมีการนำข่าวเรื่องนี้ออกมาประจาน จะปลอดภัย
   
ประเด็นสำคัญในเรื่องคุณภาพข้าว คือขณะนี้ประชาชนไม่มีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของข้าวที่บริโภคกันอยู่ทุกวัน เป็นเรื่องที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างระบบการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐาน ทั่วถึง และสม่ำเสมอ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนว่าข้าวที่ขายอยู่ในท้องตลาดนั้นปลอดภัยจริง
   
เราเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ปัญหาที่ต้นทางคือการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคด้วยระบบตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานเชื่อถือได้ มากกว่าจะไปค้าความกับคนที่ช่วยบอกรัฐ ว่าคนไทยกำลังไม่มั่นใจในความปลอดภัยของข้าวไทย

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การรวมกลุ่มทางการเมือง !!??

โดย.ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

การรวมกลุ่มทางการเมือง (political grouping) และขบวนการทางการเมือง (political movement) เป็นสิ่งที่สัมพันธ์ต่อกันอย่างแน่นแฟ้น จุดประสงค์ของการรวมกลุ่มทางการเมืองก็เพื่อจะมีอำนาจต่อรอง โดยกระบวนการต่อรองนั้นกระทำเป็นขบวนการทางการเมือง มิฉะนั้นจะเป็นการจับกลุ่มเพียงชั่วครั้งชั่วคราว (ad hoc) แต่การจัดกลุ่มที่เป็นขบวนการทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพื่อจะได้ผลทางการเมืองโดยการมีอำนาจต่อรองและบรรลุเป้าหมายที่ต้องการอันเกี่ยวพันกับการใช้ทรัพยากรเพื่อจะมีนโยบายใดนโยบายหนึ่ง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ที่มีการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้
   
ขบวนการทางการเมืองด้วยการรวมกลุ่มนั้น เช่นเดียวกับขบวนการทางการเมืองอื่นๆ จะสัมฤทธิ์ผลจะต้องมีตัวแปรต่างๆ 10 ตัว ซึ่งอาจจะไม่ครบทุกตัวดังต่อไปนี้
   
1. อุดมการณ์ทางการเมือง (political ideology) เป็นตัวแปรที่สำคัญที่ผู้จัดกลุ่มต้องร่วมอุดมการณ์เดียวกันจึงจะเป็นพลังที่จะนำไปสู่การเป็นกลุ่มอย่างแน่นแฟ้น (cohesiveness)
   
2. เป้าหมาย (goal) กระบวนการทางการเมืองต้องมีเป้าหมายที่ชัดแจ้ง และที่สำคัญที่มีเงื่อนเวลา ในการต่อสู้ในขบวนการทางการเมืองด้วยการรวมกลุ่ม
   
3. ผู้นำหรือแกนนำ (leadership) ขบวนการทางการเมืองใดก็ตามแม้จะมีคนรวมกลุ่มจำนวนมาก แต่ถ้าหากขาดผู้นำหรือแกนนำที่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อจะเป็นผู้นำขบวนการนั้น ก็จะกลายเป็นการจัดกลุ่มแบบหลวมๆ ชั่วคราว
   
4. การจัดตั้ง (organization) ขบวนการทางการเมืองต้องมีการจัดตั้งโดยมีการจัดโครงสร้างฝ่ายต่างๆ เพื่อให้มีความรับผิดชอบแต่ละส่วนของขบวนการ แบ่งอำนาจและหน้าที่ในการทำงาน มิฉะนั้นจะดำเนินไปอย่างสะเปะสะปะ ไร้ความสัมฤทธิ์ผล ไร้ทิศทาง แม้จะมีทิศทางตามข้อ 2. แต่ก็ไม่สามารถจะดำเนินไปได้ถ้าไม่มีการจัดตั้ง จะอาศัยบุคคลเพียงไม่กี่คนย่อมกระทำการใหญ่ได้ยาก
   
5. ผู้ปฏิบัติการ (cadres) ขบวนการทางการเมืองที่มีผู้นำเป็นความจำเป็นเบื้องต้น แต่จำเป็นต้องมีกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการนำขบวนการดังกล่าวในทางปฏิบัติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ขับเคลื่อนให้ขบวนการนั้นดำเนินไปได้ตามกฎเกณฑ์ของการจัดตั้งและเป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ บุคคลเหล่านี้ต้องเข้าใจการทำงานและฟังคำสั่งของผู้นำหรือแกนนำอย่างเคร่งครัด
   
6. ทรัพยากร (resources) กิจกรรมอันใดก็ตามที่ต้องใช้คนจำนวนมาก ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสาร และตามที่นโปเลียน โบนาปาร์ต ได้กล่าวว่า กองทัพเดินด้วยท้องŽ จึงจำเป็นต้องมีทรัพยากรที่จะทำให้ขบวนการทางการเมืองนั้นตั้งแต่ผู้นำ ผู้ปฏิบัติการ จนถึงผู้ร่วมขบวนการ สามารถทำงานต่อไปได้โดยมีเครื่องไม้เครื่องมือและความจำเป็นของชีวิต เช่น อาหาร น้ำดื่ม เครื่องมือที่กันความร้อน ฝน และที่ขาดไม่ได้คือ ที่ถ่ายทุกข์ ในกรณีของกลุ่มเรดการ์ดมีการจัดถังเคลื่อนที่ไปตามผู้มีส่วนร่วมเพื่อไปแก้ปัญหาความจำเป็นทางธรรมชาติ
   
7. การสนับสนุนจากมวลชน (mass support) ขบวนการทางการเมืองใดก็ตามจะต้องได้ใจมวลชนจำนวนหนึ่งที่เห็นคล้อยตามกับขบวนการทางการเมืองดังกล่าว ดังนั้น เป้าหมายที่ตั้งไว้และเหตุผลของการเสนอเป้าหมายจะต้องมีความเป็นไปได้ และมีเหตุมีผล เพื่อมวลชนเห็นคล้อยตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะได้รับอานิสงส์จากเป้าหมายดังกล่าว
   
8. พื้นที่สื่อ (mass media) กิจกรรมทางการเมืองจะต้องมีการจัดตั้ง การจัดตั้งจะกระทำมิได้ถ้าไม่มีการสื่อสาร การเรียกร้องให้มีการสนับสนุนจากมวลชนจะต้องมีการสื่อสารเช่นเดียวกัน ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยสำคัญไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ วิทยุ วิทยุโทรทัศน์ เว็บไซต์ หรือการสื่อสารโดยสัญลักษณ์ ฯลฯ การขาดพื้นที่การสื่อสารย่อมทำให้ขบวนการทางการเมืองนั้นบรรลุผลได้ยาก
   
9. เครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ (network of connectivity) ขบวนการทางการเมืองจะทำโดดเดี่ยวไม่ได้ จะต้องมีความร่วมมือกับองค์กรอื่นเพื่อการสนับสนุนทั้งในแง่ขวัญกำลังใจและการสร้างอำนาจต่อรองด้วยการเป็นพันธมิตรหรือแนวร่วม ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้อาจมีทั้งภายในประเทศหรือนอกประเทศซึ่งมีอุดมการณ์และขบวนการทางการเมืองใกล้เคียงกัน อันจะทำให้อำนาจต่อรองแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
   
10. ข้อเสนอที่สอดคล้องกับความเป็นจริง (realistic proposal) ขบวนการทางการเมืองที่มีการต่อสู้ด้วยตัวแปรดังกล่าวนั้นเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ แต่ขบวนการต่อสู้นั้นจะต้องมีข้อเสนอที่มีเหตุมีผล อยู่ในกรอบของความเป็นไปได้ และมีโอกาสที่จะบรรลุผล ที่สำคัญที่สุดหลังจากบรรลุผลแล้วจะต้องมีข้อเสนอที่ดีกว่า ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะที่ต่อสู้นั้น เป็นต้นว่า ถ้าต้องการจะแก้ปัญหาๆ หนึ่งหลังจากขจัดปัญหาดังกล่าวแล้วจะต้องมีข้อเสนอที่มาทดแทน โดยเป็นข้อเสนอที่มีเหตุมีผลและดีกว่าเดิม มิฉะนั้นจะกลายเป็นขบวนการทางการเมืองต่อสู้เพื่อล้มล้างบางสิ่งบางอย่าง แต่ไม่สามารถเสนอสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงในประเทศบางประเทศในตะวันออกกลางจนรัฐบาลเดิมลงจากอำนาจ แต่กลับไม่มีข้อเสนอที่ดีกว่าของรัฐบาลใหม่ ทำให้การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ยังคงดำเนินไปเช่นเดิม
   
เมื่อเป็นเช่นนี้ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ ขบวนการทางการเมืองที่รวมกลุ่มต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นจะต้องมีข้อเสนอระบบสังคม การเมือง รวมทั้งเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิม แต่ถ้าหากมุ่งเน้นแต่การเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ไม่สามารถเสนอหาทางออกที่ฟังมีเหตุมีผลได้ก็ยากที่จะทำให้ขบวนการทางการเมืองนั้นเป็นที่ยอมรับ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ดังนั้น การประกาศว่าจะมีการทำการปฏิวัติโดยมวลชน (people's revolution) คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้วอะไรคือข้อเสนอที่จะทดแทนของเดิมที่ถูกทำลายไป ถ้าตอบอย่างกว้างๆ เป็นนามธรรมโดยไม่สามารถจะให้รายละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนเฉพาะเจาะจง ย่อมยากที่จะทำให้ขบวนการทางการเมืองนั้นอ้างเหตุผล (justify) การกระทำได้
   
ขบวนการทางการเมืองหลายขบวนการที่ออกมาในรูปของสัญลักษณ์ สีต่างๆ บางส่วนจึงสูญสลายไปเนื่องจากไม่สอดคล้องกับการดำเนินขบวนการทางการเมือง ความไม่สอดคล้องของกลุ่มการเมืองที่จัดเป็นขบวนการทางการเมืองนั้นมีตัวแปรต่างๆ อันเป็นเหตุผลสำคัญของการเสื่อมของขบวนการทางการเมืองดังต่อไปนี้
   
ก) การอิ่มตัวของความอดทนอดกลั้น (Saturation of Tolerance)
     ขบวนการทางการเมืองที่มีการต่อสู้ด้วยการประท้วง เดินขบวน ยึดพื้นที่ อดอาหาร ฯลฯ เมื่อทำซ้ำซากจนก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำมาหากินและการดำรงชีวิตของคนในสังคม จะทำให้เกิดความอิ่มตัว (saturation) ของการอดทนอดกลั้น ซึ่งย่อมจะทำให้เกิดความแปลกแยก (alienation) แม้จากบุคคลที่เคยให้การสนับสนุน
   
ข) การไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ (Irrelevancy)
     ขบวนการทางการเมืองกลายเป็นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ (irrelevant) เช่น ขบวนการทางการเมืองที่พยายามกล่าวหาคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ว่ามีการกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เนื่องจากสังคมโลกได้เปลี่ยนไปทำให้ความเป็นคอมมิวนิสต์กลายเป็นสิ่งที่ไม่คุกคามสังคมอีกต่อไป แต่ถ้ายังใช้วิธีการดังกล่าวย่อมจะกลายเป็นขบวนการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีเหนือ
   
ค) ขาดผลที่เป็นรูปธรรม (No concrete result)
     ขบวนการทางการเมืองที่มีการกระทำอย่างต่อเนื่อง ประกาศจุดยืนอย่างมั่นคง แต่ถ้าไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (concrete result) ก็จะกลายเป็นขบวนการที่มีแต่คำพูด การโฆษณาชวนเชื่อ แต่ไม่ออกมาเป็นรูปธรรม เป็นตัวเป็นตน ย่อมขาดน้ำหนัก ผลสุดท้ายขบวนการทางการเมืองนั้นก็จะคลายความนิยมเพราะหมดความน่าเชื่อถือ
   
ง) การเกิดระเบียบวาระใหม่ (New Agenda)
     ขบวนการบางขบวนการต่อสู้เพื่อความถูกต้องของสังคม แต่ขณะเดียวกันเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปเรียบร้อยและได้เป้าประสงค์แล้ว ขบวนการทางการเมืองดังกล่าวจำเป็นต้องขยับให้เกิดระเบียบวาระใหม่ในการต่อสู้ มิฉะนั้นขบวนการทางการเมืองดังกล่าวจะหมดความจำเป็นและไม่มีเหตุผลที่จะดำรงอยู่ต่อไป เช่น กอ.รมน. เคยเป็นขบวนการทางการเมืองหรือเป็นองค์กรทางการเมืองที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันนี้จะต้องเปลี่ยนระเบียบวาระใหม่ นั่นคือ ต่อสู้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือการก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าขบวนการทางการเมืองใดไม่สามารถจะจัดระเบียบวาระใหม่ได้ก็จะขาดเหตุผลของการดำรงอยู่ (raison dž etre) จะเห็นได้ว่า องค์กรทหารจะมุ่งเน้นในเรื่องการป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้าย การป้องกันและปราบปรามการขนส่งยาเสพติด และมีกิจกรรมในการพัฒนาประเทศซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้กรมกิจการพลเรือนมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารช่างและทหารพัฒนา
   
จ) ขบวนการทางการเมืองที่เป็นฝ่ายต่อต้าน (Counter-veiling Force)
     เมื่อมีขบวนการทางการเมืองเกิดขึ้นมิใช่หมายความว่าจะสามารถดำเนินไปอย่างอิสระแต่ขบวนการเดียว อาจจะมีขบวนการอื่นขึ้นมาซึ่งเป็นขบวนการที่มีการกระทำต่อต้านหรือมีระเบียบวาระในทางตรงกันข้าม ดังนั้น ทำให้การดำเนินการเกิดขึ้นได้ไม่คล่องตัวเหมือนเดิม ตัวอย่างเช่น ในสมัยหลัง 14 ตุลาคม 2516 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นขบวนการทางการเมืองที่มีส่วนล้มล้างรัฐบาลเผด็จการทหารในสมัยนั้น ต่อมาก็มีกลุ่มของนักเรียนอาชีวะที่ถูกจัดตั้งขึ้นที่เรียกว่า กลุ่มกระทิงแดง ขึ้นมาคานกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในขณะเดียวกันกลุ่มศูนย์ฯก็เกิดความแตกแยกกลายเป็นกลุ่มสหพันธ์นักศึกษาเสรี ทำให้ขบวนการทางการเมืองมิได้เป็นหนึ่งเดียวเหมือนเดิม มาในปัจจุบันขบวนการเสื้อสีต่างๆ ขบวนการหน้ากากคนละสี และแม้ในสีเดียวกันก็แตกเป็นกลุ่มย่อย ทำให้ความแข็งแกร่งและความเป็นหนึ่งเดียวของขบวนการทางการเมืองเกิดความอ่อนแอลงได้
   
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงการรวมกลุ่มเป็นขบวนการทางการเมือง หรือการมีขบวนการทางการเมืองด้วยการจับกลุ่มเพื่อให้มีอำนาจต่อรองและบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ แต่ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของขบวนการทางการเมืองที่ไม่อาจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ยกเว้นแต่จะมีการแปรเปลี่ยนและจัดตั้งให้เป็นสถาบันใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการทางการเมืองที่ได้ชัยชนะ ตัวอย่างเช่น ขบวนการทางการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนที่มีการต่อสู้กับพรรคก๊กมินตั๋ง และต่อมาเป็นแนวร่วมกับพรรคก๊กมินตั๋งเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น และหลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามแล้วก็ต่อสู้กับพรรคก๊กมินตั๋งต่อไปจนได้ชัยชนะ จึงได้แปรเปลี่ยนขบวนการจากการ "ปลดแอก" ดังกล่าว มากลายเป็นพรรคหลักของการสถาปนาระบบคอมมิวนิสต์ในรูปของรัฐบาลที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์บนผืนแผ่นดินใหญ่จีน จนดำรงอยู่มาตราบทุกวันนี้

ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////

โพลล์ชี้ 79.8% โยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม !!???

เอแบคโพลล์ 79.8% คิดว่าการโยกย้ายของข้าราชการในปัจจุบันนี้ไม่มีความเป็นธรรม และไม่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เหมาะสม

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความจริงที่ไร้น้ำหนัก และการโยกย้ายของข้าราชการไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทสาคร ลพบุรี นครปฐม สมุทรปราการ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ยโสธร สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,237 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8 -12 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 58.1 รับทราบข่าวการโยกย้ายข้าราชการที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรม ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ที่น่ากังวลคือกลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 79.8 คิดว่าการโยกย้ายของข้าราชการในปัจจุบันนี้ไม่มีความเป็นธรรม และไม่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 20.2 คิดว่าเป็นธรรม

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.9 คิดว่าข้าราชการที่ดีที่กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นแล้วถูกผู้ที่มีอำนาจโยกย้ายกลั่นแกล้ง ยังมีอยู่ในสังคมไทย มีเพียงร้อยละ 2.1 ที่คิดว่าไม่มีเหลืออยู่เลย

ที่น่าเป็นห่วงคือส่วนใหญหรือร้อยละ 77.2 คิดว่าเหตุการณ์ที่ข้าราชการที่ดีที่กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นแล้วถูกผู้ที่มีอำนาจโยกย้ายกลั่นแกล้งนั้น เป็นปลูกฝังให้คนไม่กล้าพูดความจริง ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 80.7 ยังระบุอีกว่าจะทำให้ข้าราชการที่ดีเสียขวัญกำลังใจที่เห็นหัวหน้าของตนเองถูกโยกย้ายกระทันหันเพราะการที่กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่น

ที่น่าสนใจคือกลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 93.9 เห็นด้วยว่าควรมีกลไกในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ออกมาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการทุจริตคอรัปชั่น

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือส่วนมากหรือร้อยละ 93.5 คิดว่าควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นหรือมีการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย และร้อยละ 94.0 คิดว่าควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นหรือมีการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

SMEsอ่วมส่งออกทรุด 5 เดือน ขาดดุลกว่า 3 แสนล้าน !!?

สสว.เผย 5 เดือนแรกเอสเอ็มอีขาดดุลการค้ากว่า 3 แสนล้านบาท ขณะยอดส่งออกหดตัวลง 9.61% ด้านคณะกรรมการกลั่นกรองฯ อนุญาตตั้งโรงงานใหญ่ 8 แห่ง มูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท
   
นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.56) การค้าระหว่างประเทศของภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ขาดดุลการค้า 312,517.99 ล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออก 747,735.73 ล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.61% ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น, ค่าเงินบาทในช่วงดังกล่าวแข็งค่า และภาวะเศรษฐกิจในตลาดโลกยังชะลอตัว
   
สำหรับการส่งออกเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วน 26.98% ของการส่งออกรวมของประเทศ สินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ยางและของที่ทำด้วยยาง เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ น้ำตาลและขนมที่ทำจากน้ำตาล ส่วนตลาดที่มีการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซียและมาเลเซีย ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าในช่วง 5 เดือนมีมูลค่า 1,060,253.71 ล้านบาท หดตัวลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2555 คิดเป็นสัดส่วน 0.57%
   
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้พิจารณาอนุญาตให้มีการจัดตั้งโรงงานใหญ่ได้ทั้งสิ้น 8 ราย รวมมูลค่าการลงทุน 7,988 ล้านบาท และคืนเรื่องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พิจารณาทบทวนจำนวน 2 ราย จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีเรื่องค้างการพิจารณาที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ แต่อย่างใด.

ที่มา.ไทยโพสต์
///////////////////////////////////////////////

สงครามชิงมวลชน !!??

เห็นอาการ นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้า BRN เปิดข้อเสนอนอกโต๊ะการพูดจาที่มาเลเซีย ผ่านยูทูบแล้ว ก็ยิ่งเห็น "ลิ้นไก่" ของกลุ่ม BRN เหิมเกริมและหวังรุกไล่รัฐบาลไทยให้จนตรอกคาจอให้ได้

ผมไม่จำเป็นต้องรู้จักนายทหารระดับสูงของไทยแม้แต่คนเดียว และก็เดาใจทุกคนถูกว่า ข้อเสนอให้ถอนทหารที่มาจากภาคอื่นกลับ พร้อมทหารพรานและตำรวจ ตระเวนชายแดนเอย หรือให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาเอย แถมบังอาจเสนอให้นำเรื่องเข้ารับรองในสภาผู้แทนตามกระบวนการรัฐสภาไทย โดยพ่วงข้อเสนออื่นอีก 3-4 ข้อ

ไปถามรัฐบาลไหนทั่วโลกที่เปิดเกมเจรจาแบบนี้ มีแต่เขาหัวร่อให้ขำกลิ้งเท่านั้น

เป็นมุกตื้นๆ เพื่อหวังจะให้ BRN เป็นกลุ่มที่น่าเชื่อถือในสายตากลุ่มก่อ การร้ายอื่นๆ ที่ "กล้าหักหน้า" รัฐบาลไทยได้ แล้วกลายเป็นศรัทธาที่กลุ่มอื่นๆ ต้องไป "ขึ้นตรง" ต่อกลุ่ม BRN

นายฮัสซัน อาจลืมไปสนิทว่า การเริ่มต้นพบปะครั้งแรกนั้น ฝ่าย สมช.และ ศอ.บต.บอกมาตั้งแต่ต้นว่าขอให้พุดคุยกันภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย และยกที่ 2 ก็จะ "ปรับทุกข์ ผูกมิตร" มีปัญหาอะไรที่จะร้องทุกข์ก็คุยกันฉันมิตรได้

แต่นายฮัสซัน เล่นรุกไล่ด้วยเงื่อนไข "สุดโต่ง" นอกโต๊ะ โดยผ่านยูทูบอย่างผิดกาลเทศะมาตลอด

มาเลเซียเป็นพี่เลี้ยงประสานงานให้แท้ๆ ก็ทำทีเป็น "ตีลูกเซ่อ" แทนที่จะสั่งสอนฝ่าย BRN ควรต้องมีมารยาทของคู่เจรจาอย่างไรบ้าง กลับเมินเฉย

ตอนคนฟิลิปปินส์บุกไปขอคืนดินแดนซึ่งเป็นแผ่นดินมาเลย์ในปัจจุบันเมื่อไม่นานมานี้ ไม่เห็นมาเลย์เปิดโอกาสให้พูดคุย แต่ตั้งหน้าส่งกองกำลังเผด็จศึกแบบบู๊ล้างผลาญจนเจ้าถิ่นเดิมไม่ทันได้ชักประวัติศาสตร์เก่ามาทวงคืนซักคำ ต้องล้มตายแบบไม่ไว้หน้า

การเดินเกมของนายฮัสซัน จึงต้องเหล่ไปที่มาเลเซียด้วยว่า เขาเป็นผู้ใหญ่พอ หรือเป็นผู้ใหญ่แบบ "ให้ท้ายเด็ก" กันแน่ ?

การเปิดเกม "รุกแล้วจะขี่คอให้ได้" ของนายฮัสซัน คงคิดว่ารัฐบาลไทยจนแต้มง่ายๆหรืออย่างไร

ผมมองว่า นายฮัสซันทำตัวเป็น "เด็กงอแง ขอขนมกินไม่ได้ ก็ทำเป็นล้มกลิ้งดีดดิ้นเรียกความสนใจไปยังงั้น" ดีไม่ดียัง "เปิดไต๋" ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเป็นแค่ "เบี้ยมาเลย์" ตัวเล็กๆ ที่ทำท่าหมดราคาลงไปเรื่อยๆ

เพราะหากถึงเดือนบวช "รอมฎอน" แล้ว เสียงปืนและระเบิดยังระงม นายฮัสซันก็หน้าแตก

ถ้าข้อเสนอของนายฮัสซัน รัฐบาลไทยไม่สนใจ (ยังไงก็เป็นไปไม่ได้) นายฮัสซันก็เสียคนอยู่ดี...แถมที่ผ่านมา เกิดเหตุร้ายรายวันใน 3 จังหวัดภาคใต้ ก็ทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่ม BRN ทุกวัน

แม้หากไม่มีการนัดพบพูดคุยใดๆ ที่กัวลาลัมเปอร์เลย การไล่ฆ่าคนที่ 3 จังหวัดนั่นก็เป็น "Killing Zone" ปกติอยู่แล้ว

มีฮัสซัน หรือไม่มีฮัสซัน มันมีค่าต่างกันตรงไหน?

ยิ่งถ้ารัฐบาลไทยเพียง "เปลี่ยนกลุ่มใหม่คุย" เท่านั้น ไพ่เกมนี้จะกลายเป็น "ฮัสซันเสียหมา มาเลย์เสียมวย" ทันที

ข้อเสนอของผมจึงอยากให้หน่วยที่รับผิดชอบพิจารณาดังนี้... 1.พูดคุยกับนายฮัสซันต่อไป ดีกว่าไม่พูดอะไรเลย แถมยังอ่านเกมบางเกมได้อีกด้วย 2.ถ้าจะคุยแบบ "ปรับทุกข์ ผูกมิตร" ด้วยความจริงใจ ก็ค่อยๆ แก้ทีละเรื่องไปตามข้อเท็จจริง 3.ข้อเสนอที่อยู่นอกโต๊ะเจรจาผ่านยูทูบ ถือว่าเป็นเกมยั่วยุเท่านั้น เพื่อจะได้อ่านเกมมาเลย์ง่ายขึ้นด้วย 4.รัฐบาลและหน่วยที่รับผิดชอบรีบคิด "เกมนอกกรอบ" ให้สำเร็จโดยเร็ว

เช่น คิดตั้ง "กองกำลังกันชน" ดังในอดีตที่ 3 จังหวัดภาคใต้เคยมี ขจก.ที่ มาเลย์สนับสนุน แล้วไทยก็หนุน "จคม." รุกเข้าไปในแดนมาเลย์ จนสุดท้ายต่างฝ่ายต่างกดดันจน "เจ๊า" กันไป

เช่น รัฐบาลตั้งหน่วย ฉก.ปลุกระดมมวลชน เพื่อดึงชาวไทยมุสลิมสายกลางที่ไม่ชอบการก่อเหตุร้าย เอามาเป็นพวก แล้วหนุนและปกป้องให้รุกเข้าไปถึงก้นครัวและจิตวิญญาณ เพื่อ "ชิงมวลชน" ให้ได้มากที่สุด

เช่น ทำทีเป็นยอมถอนทหารกลับ แต่แปรสภาพไปเป็นชาวบ้านแทรกซึมเข้า ไปในใจกลางของหัวใจชุมชนที่คลุกเคล้าระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิมเป็นเนื้อเดียวกัน กลายเป็นกองทัพประชาชนยุคใหม่

เช่น จัดอาสาสมัครย้ายถิ่นฐานเป็นชุมชนใหญ่ โดยฝ่ายรัฐจัดหาที่ทำกินใหม่ใน 3 จังหวัดอย่างถาวร เหมือนแผนย้ายถิ่นฐานของคนกลันตันในอดีตมาอยู่ ชานเมืองกรุงเทพฯ จนกลายเป็นชาวไทยมุสลิมคลองตันในปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หรือ พล.อ.สำเร็จ สาหร่าย 2 นายทหารใหญ่ หรือ เสธ.ทหารอีกหลายท่านที่รับผิดชอบสรุปสถานการณ์ 3 จังหวัดใต้ว่าจะหาทางออกอย่างไร ผมไม่เชื่อว่าท่านคิดไม่ออกที่ จะ "พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส" แห่งการแสวงหาความสงบสันติอย่างถาวรในรูปแบบใดแบบหนึ่งจึงจะเหมาะกับยุคสมัยและความต้องการอย่างแท้จริงของมวลชน ที่ไม่ใช่เขตปกครองพิเศษ หรือมหานครปัตตานีก็ได้

อิ๊กคิวซัง ยังคิดได้มากกว่านี้เยอะเลยครับ!

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ฟันธง. ไทยเบอร์ 1 เออีซี !!??

หากฟังมุมมองของ บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ภายหลังเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ประเทศไทยยังน่าลงทุนที่สุด เรียกว่า เป็นศูนย์กลางการธุรกิจและการ ลงทุนของอาเซียน นั่นเอง

ซีอีโอทีเอ็มบีกล่าวในงานสัมมนาเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจไทย Borderless on Stage ตอน "ธุรกิจไทยจัดทัพ...สร้างฮับ AEC" ว่า ผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสจากการเป็นเออีซีมากขึ้น ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสมร-ภูมิเศรษฐกิจ แม้จะไม่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ก็จะได้รับอานิสงส์จากทุนต่างชาติที่ถาโถมเข้ามา ถ้าปรับตัว

"โดยพื้นฐาน ไทยมีความได้เปรียบกว่า ประเทศอื่นๆ ในฐานะที่เป็นฐานธุรกิจการ เกษตร อุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่พร้อมในการตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศเพื่อนบ้านภูมิภาคนี้มากที่สุด"

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ชี้ให้เห็นถึงมุมมองใหม่สำหรับผู้ประกอบการในประเทศว่า หลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้วยความได้เปรียบด้านที่ตั้งของประเทศ และ โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แม้หลายๆ องค์กรจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทีเอ็มบีมองว่า แทนที่จะส่งเสริมธุรกิจให้พยายามออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพียงด้านเดียวเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน ทุกภาค ส่วนควรเร่งมือในการเตรียมความพร้อม และ สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถ รองรับการเติบโตของการลงทุนและธุรกิจในประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น

"ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่ดีมาก และมีความพร้อมที่สุดที่จะเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดึงดูดการ ลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพราะเรามีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการของตลาดในภูมิภาคนี้ จึงนับเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจ ครั้งใหญ่สำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทยที่จะเติบโตไปข้างหน้า"

นายบุญทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดที่ได้เปรียบทางภูมิ-ศาสตร์ที่เสมือนเป็นประตูสู่อาเซียน การคมนาคมไปยังประเทศอื่นในอาเซียนสะดวก และเหมาะสำหรับการติดต่อไปยังจีน อินเดียและญี่ปุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมและบริการที่สำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมประกอบ ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร/เครื่องดื่ม บริการส่งออกสินค้า ศูนย์กลางการค้า จัดหา วัตถุดิบ การท่องเที่ยว

จากรายงานของ Global Competitiveness Report ระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งช่วยสนับสนุนด้านการขนส่ง กระจายสินค้าไปยังประชากรในกลุ่มอาเซียนที่มีมากกว่า 600 ล้านคน หรือ 10% ของประชากรโลก

นายบุญทักษ์ แนะนำว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับธุรกิจใน 4 ยุทธศาสตร์ต่อการเป็นศูนย์กลางของประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่

การสร้างนวัตกรรม ปัจจุบันการใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ไทย อยู่ที่ 1,460 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ นับเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน และอันดับที่ 41 ของโลก รองจากสิงคโปร์ (2.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) และ มาเลเซีย (0.63% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ถือว่าไม่ขี้เหร่ แต่จะทำยังไงที่จะนำงานวิจัยมาสร้างนวัตกรรมเพื่อมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมของโลก ปัจจุบันมีบริษัทได้รับอนุมัติให้ติดฉลากลดคาร์บอน (Carbon Footprint) บนผลิตภัณฑ์รวม 190 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง พลาสติก และผลิตภัณฑ์ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยที่มีมากถึง 3 ล้านบริษัท

การเชื่อมโยงระหว่างกัน การผลิตชิ้น ส่วนยานยนต์ในเมืองไทยสามารถส่งต่อให้กับอาเซียนได้ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบการเป็น ศูนย์กลางของภูมิภาคและศักยภาพด้านการ บิน ทำให้สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับ ประเทศอื่นในลักษณะส่งผ่านนักท่องเที่ยว เช่น มาเลเซีย ไทย ลาว พม่า

การเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการไทยควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แรงงานในการผลิต ควรปรับตัวโดยการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพแรงงานและการออกแบบสินค้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย

"หากผู้ประกอบการไทยสามารถเร่งพัฒนาใน 4 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ ทีเอ็มบีเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจอาเซียนที่แข็งแกร่งมีศักยภาพสูง และผู้ประกอบการก็จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นในครั้งนี้ และทีเอ็มบีพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง :โอกาสและความท้าทาย SMEsไทย !!??

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีรศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาการลงทุนนานาชาติ Euromoney Conference ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "Greater Mekong Investment Forum" หรือการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในวิทยากรในการเสวนาหัวข้อ "The Greater Mekong Sub-region and the ASEAN Economic Community : Convergence, Opportunities and Challenge" (อนุภูมิ

ภาคลุ่มน้ำโขง และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในบริบทการควบรวม โอกาส และความท้าทาย) ร่วมกับ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณเนียฟ จันทนา รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศกัมพูชา และ คุณพรเลิศ ลัธธนันท์ กรรมการผู้อำนวยการ งานรัฐกิจสัมพันธ์และพัฒนาธุรกิจ กลุ่มบริษัทจีอีในประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา

วิทยากรต่างเห็นตรงกันว่า ประชาชนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) มีความใกล้ชิดกับคนไทยมากกว่าที่เราคิด ซึ่งจะช่วยให้การหลอมรวมกันเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น เช่น คนในเมืองใหญ่ของเวียดนามและพม่า จำนวนไม่น้อยที่พูดภาษาไทยได้ ส่วนคนที่อาศัยอยู่พื้นที่การค้าขายตามแนวชายแดนก็สามารถพูดได้หลายภาษา นอกจากนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคนับถือศาสนาพุทธ ก็เป็นผลดีอีกประการหนึ่งเช่นก้น

ในอีกด้านหนึ่ง อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทย ทั้งในด้านพลังงาน แรงงาน และทำเลในการประกอบอุตสาหกรรม แต่การติดต่อสื่อสารระหว่างกันของประเทศสมาชิกยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไปเพื่อให้ภูมิภาคนี้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการค้าตามแนวชายแดนที่สามารถเจริญก้าวหน้าได้อย่างดีในอนาคต

ทั้งนี้ การหลอมรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ตลอดจนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างเสรี เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งยังจะช่วยให้ประชาชนและธุรกิจในพื้นที่แผ่นดินใหญ่สามารถเข้าถึงชายฝั่งทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกันได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนผมมองว่า การขาดแคลนแรงงานจะเป็นความท้าทายที่สำคัญทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นตลาดที่มีแรงงานราคาถูกอีกแล้ว เห็นจากธุรกิจจำนวนมากที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลักได้ย้ายฐานการผลิตไปยังกัมพูชา ขณะเดียวกันไทยก็ไม่สามารถพึ่งพาแรงงานราคาถูกจากพม่าได้อีกต่อไป เนื่องด้วยเศรษฐกิจพม่าเติบโตและต้องการแรงงานมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจไทยควรลดการพึ่งพิงแรงงาน และหันไปลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อปรับตัวรับกับความท้าทายข้างต้นให้ทันท่วงที

นอกจากนี้ คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้กล่าวถึงโครงการทวายในพม่าว่า จะเป็นแหล่งรวมนิคมอุตสาหกรรม ถนน ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน ก๊าซ และพลังน้ำ โดยภายใน 10 ปี ทวายจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน จากการเป็นท่าเรือน้ำลึกและแหล่งนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ตามรอยความสำเร็จของการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดในไทยซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งสร้างมูลค่าธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 16 ของจีดีพีของประเทศไทยแล้ว

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน จะนำมาซึ่งโอกาสมากมายในเชิงเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วย

ดังนั้นจึงจำเป็นที่เอสเอ็มอีไทยต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้าน และมีการวางแผนรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////

งดแถลงหยุดยิง ตลอดเดือนรอมฎอน : ใครได้-ใครเสีย !!??

โดย อบู ยะมีนะฮ์

กรณีมาเลเซียงดแถลงมาตรการหยุดยิงในภาคใต้ของไทยตลอดเดือนรอมฎอน ใครได้-ใครเสีย?

ตามที่ปรากฏรายงานข่าวว่า มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกสำหรับการพูดคุยสันติภาพระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทยที่นำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับขบวนการ Barisan Revolusi Nasional (BRN) ได้แจ้งแก่ สมช.ว่า

มาเลเซียจะจัดการแถลงข่าวร่วมกับผู้แทน BRN เกี่ยวกับมาตรการลดเหตุรุนแรงในภาคใต้ของไทยช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของมุสลิมซึ่งปีนี้มีกำหนดเริ่มขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม)

ในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาในมาเลเซียนั้น ปรากฏว่าก่อนถึงกำหนดการแถลงดังกล่าวเพียงครึ่งชั่วโมง พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กลับได้รับการประสานจากมาเลเซียว่า ของดการแถลงดังกล่าวทั้งในรูปของการแถลงด้วยวาจาและเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร ความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน



พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช ภาพจาก Voice TV

นำไปสู่คำถามใหญ่ตามมาอย่างน้อย 2 ประการ
คำถามแรกคือ เกิดเหตุอะไรขึ้นที่ทำให้มาเลเซียไม่สามารถจัดการแถลงเกี่ยวกับการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนได้ ทั้งที่มีการแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบผ่านช่องทางที่เป็นทางการแล้ว
อีกคำถามที่สำคัญไม่แพ้กันและอาจสำคัญกว่าคำถามแรกด้วยซ้ำ คือการงดแถลงเกี่ยวกับการหยุดยิงครั้งนี้จะส่งผลต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
สาเหตุของการงดแถลงหยุดยิงในเดือนรอมฏอน

เบื้องต้นพลโทภราดรเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ทราบสาเหตุที่ทางมาเลเซียของดการแถลงเกี่ยวกับการหยุดยิงของ BRN ในเดือนรอมฎอน แต่ทาง สมช.ได้ประสานกับมาเลเซียเพื่อสอบถามเหตุผลอย่างเป็นทางการจากมาเลเซียไปแล้ว และต้องการความชัดเจนว่าการงดแถลงดังกล่าวเป็นเพียงการเลื่อนหรือจะเป็นการยกเลิกการแถลงอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี พลโทภราดรยังคงยืนยันว่า ไม่ว่าการแถลงหยุดยิงจะมีขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อแนวทางขอหยุดยิงหรือลดความรุนแรงในช่วงรอมฎอนที่มีอยู่เดิม ตามที่ได้มีการพูดคุยไว้กับ BRN และมาเลเซียก่อนหน้านี้แต่อย่างใด โดยกำหนดกรอบเวลาที่ฝ่ายไทยต้องการจะลดความรุนแรงคือในช่วงระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม

ส่วนท่าทีของมาเลเซียและ BRN ในชั้นนี้ ดาโต๊ะ ซัมซามิน อดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวย

ความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวที่กัวลาลัมเปอร์ว่า เหตุที่ต้องงดแถลงข่าวร่วมกับผู้แทนขบวนการ BRN เกี่ยวกับมาตรการลดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนอย่างกระทันหัน เป็นเพราะฝ่าย BRN ไม่พร้อมที่จะแถลงท่าทีต่อสาธารณชนในช่วงนี้

อย่างไรก็ดี ฝ่าย BRN ยังคงยืนยันว่าจะไม่ก่อเหตุรุนแรงตลอดเดือนรอมฎอน และหากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น จะช่วยเจ้าหน้าที่สืบสวนว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด
ใครได้-ใครเสีย ?

BRN

คำชี้แจงของดาโต๊ะ ซัมซามิน ที่ระบุถึงเหตุที่ต้องงดการแถลงตามกำหนดเดิมว่าเป็นเพราะ BRN ไม่พร้อมที่จะแถลงท่าทีในช่วงนี้ ถือว่ายังไม่เพียงพอ และกลับชวนให้สงสัยว่า ความไม่พร้อมของ BRN ที่ว่านั้นมาจากการที่ฮะซัน ตอยยิบ หัวหน้าคณะผู้แทนของ BRN ไม่มั่นใจว่าจะสามารถโน้มน้าวให้สมาชิกคนอื่นๆ ในสังกัดยุติหรือลดเหตุรุนแรงในช่วงนี้ได้

หรือเป็นตามจริงแล้ว ฮะซัน ตอยยิบ ไม่ได้รับมอบอาณัติและอำนาจการตัดสินใจให้มาเป็นตัวแทนของ BRN อย่างแท้จริงตั้งแต่แรกอย่างที่มีหลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสงสัยในวงกว้าง หลังจากกระบวนการพูดคุยระหว่าง BRN กับรัฐบาลไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถนำไปสู่การลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ได้จริง

ทั้งนี้ หากมาเลเซียยังไม่สามารถให้เหตุผลที่เป็นทางการแก่ สมช. เพื่อขจัดข้อสงสัยตามที่กล่าวถึงข้างต้นได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสถานะและความเชื่อถือที่มีต่อฮะซัน ตอยยิบในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับไทยหลังจากนี้



ฮะซัน ตอยยิบ BRN ภาพจากไทยรัฐ

มาเลเซีย

การที่มาเลเซียแจ้งให้ สมช.ทราบล่วงหน้าอย่างเป็นทางการว่าจะมีการจัดแถลงข่าวร่วมกับ BRN เกี่ยวกับแนวทางลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนนั้น แสดงว่ามาเลเซียต้องมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งแล้วว่าจะสามารถโน้มน้าวให้ BRN ยอมรับข้อเสนอของไทยที่ต้องการให้ลดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนได้

แต่เมื่อมีเหตุที่ทำให้ต้องตัดสินใจงดการแถลงดังกล่าวอย่างกะทันหัน มาเลเซียก็กลายเป็นฝ่ายที่ต้องถูกตั้งคำถามด้วยอย่างเลี่ยงไม่พ้นว่า มาเลเซียประสบความล้มเหลวในการโน้มน้าว BRN ให้ฮะซัน ตอยยิบยอมลดเหตุรุนแรงในช่วงนี้หรือไม่ หรือเป็นเพราะมาเลเซียตระหนักแล้วว่า ฮะซัน ตอยยิบ ไม่มีอำนาจสั่งการให้สมาชิกคนอื่นๆ ใน BRN ปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ได้

ซึ่งหากเป็นกรณีหลังก็เท่ากับว่า มาเลเซียดำเนินการผิดพลาดมาตั้งแต่แรกแล้วที่เอาบุคคลที่ไม่ใช่ “ตัวจริง” มาเป็นคู่สนทนากับฝ่ายไทย แต่หากไม่ใช่ด้วยปัจจัยทั้ง 2 ประการนี้แล้ว ก็คงต้องตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะมาเลเซียเกรงว่าหากมีการประกาศมาตรการลดเหตุรุนแรงที่เป็นที่ยอมรับได้ทั้งจาก BRN และรัฐบาลไทยแล้ว แต่ยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นโดยการกระทำของสมาชิก BRN หรือสมาชิกขบวนการกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยแสดงพลังให้เห็นว่าพวกตนยังคงยืนหยัดในแนวทางสู้รบด้วยอาวุธต่อไป

ซึ่งหากเป็นกรณีหลังนี้ ก็เท่ากับว่า การพูดคุยที่มีมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานกลับกลายเป็นเงื่อนไขที่ผลักดันผู้ที่มีความเห็นต่างเพิ่มการก่อเหตุรุนแรง แทนที่จะสามารถผลักดันให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ไทย

การลดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเป้าหมายหลักที่คณะผู้แทนการพูดคุยสันติภาพของฝ่ายไทยพยายามผลักดันผ่านการพูดคุยกับ BRN มาโดยตลอด และเมื่อเห็นโอกาสอันดีที่กำลังเข้าสู่เดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนสำคัญของมุสลิม จึงเสนอให้ทุกฝ่ายหาทางลดความรุนแรงในเดือนนี้ ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกฝ่าย

สถานการณ์ล่าสุด จากการพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับศาสตราจารย์อิกมาลุดดีน อิห์ซาโนกลู เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation - OIC) ที่อิสตันบูล ระหว่างการเยือนตุรกีของนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะผลักดันให้มีการหยุดยิงในเดือนรอมฎอนร่วมกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ขึ้น เพื่อชี้แจงให้เลขาธิการ OIC ทราบ

ผลปรากฏว่า เลขาธิการ OIC ให้การตอบรับในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และมีการออกข่าวสารนิเทศบนหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ OIC เมื่อ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญว่า เลขาธิการ OIC สนับสนุนความพยายามหยุดยิงในพื้นที่ภาคใต้ของไทยตลอดเดือนรอมฎอนนี้ เนื่องจากรอมฎอนเป็นเดือนที่มุสลิมให้ความสำคัญกับการใช้ความอดทนอดกลั้นและการประกอบศาสนกิจเพื่อทำจิตใจให้สงบเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังหวังว่าการหยุดยิงที่จะมีขึ้นจะสามารถนำไปสู่การสร้างสันติสุขและแก้ไขปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการแถลงมาตรการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของไทยจะไม่เกิดขึ้นตามกำหนดที่มาเลเซียวางไว้ แต่การที่รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายชิงความได้เปรียบทางการทูตด้วยการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ดีให้ OIC ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปก่อนหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น

รวมทั้งการยืนยันเจตนารมณ์ว่าจะลดความรุนแรงตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ตามเดิมในช่วงระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม ไม่ว่าจะมีการแถลงมาตรการลดความรุนแรงโดยฝ่าย BRN หรือไม่ก็ตาม ก็ทำให้ไทยกำลังเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบในเวทีการทูตอย่างชัดเจน

ประชาชนในพื้นที่

แม้ว่าทั้งไทย มาเลเซีย และ BRN จะยืนยันสอดคล้องกันว่า การงดแถลงมาตรการหยุดยิงในเดือนรอมฎอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายที่ต้องการลดเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดเดือนรอมฎอน อีกทั้งได้รับการยืนยันจากมาเลเซียว่า หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ก็ยังมีกลไกที่เปิดช่องทางให้สามารถประสานผ่านมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกเพื่อแจ้งเหตุหรือสอบถามว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากฝ่ายใดได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี หากไม่มีการแถลงด้วยวาจาหรือจัดทำเอกสารยืนยันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า BRN และไทยโดยการประสานงานของมาเลเซียสามารถบรรลุมาตรการลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนร่วมกันได้แล้ว ก็เท่ากับว่ายังคงไม่มีหลักประกันให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความมั่นใจ “ในระดับหนึ่ง” ได้ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ตลอดรอมฎอนปีนี้จะผ่อนคลายลง และคงทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดหวั่นกันต่อไป

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เฉลิม. ชี้คลิปพิฆาต จ้องทำลาย !!??

เฉลิม ฟันธงคลิป"ทักษิณ-ยุทธศักดิ์"ตัดต่อจ้องทำลายรัฐบาล เล็งดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองจ่อชงพท.ดัน3วาระ แนะ"ยุทธศักดิ์"ไม่ต้องลาออก

จากกรณีคลิปคล้ายเสียงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดคุยแนวทางกลับบ้านกับพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม โดยก่อนการแถลงข่าวร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แจกบทวิเคราะห์คลิปเสียงดังฉาวความยาว 9 หน้า พร้อมเซ็นชื่อทุกหน้าเพื่อป้องกันการบิดเบือน

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ได้ฟังและวิเคราะห์คลิปเสียงดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งมีความยาว 32 นาที โดยนั่งวิเคราะห์เมื่อคืนที่กระทรวงแรงงาน ให้ชื่อว่า “บทวิเคราะห์คลิปเสียงฉาว” เชื่อว่าเป็นการตัดต่อของผู้ที่มุ่งทำลายรัฐบาล ตนขอยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนจงรักภักดีต่อสถาบัน และขอให้รู้ไว้ว่าเสียงในคลิปไม่สามารถนำไปเป็นหลักฐานการพิจารณาคดีได้ตนเคยอภิปรายในสภาเรื่องเทปซื้อเสียงปี2540 คดีดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวน และกรมตำรวจสมัยนั้นก็ยืนยันว่าเทปบันทึกเสียงใช้เป็นหลักฐานทางคดีไม่ได้ ศาลไม่รับฟัง นักการเมืองรุ่นใหม่ไม่รู้หรือบางคนก็แกล้งไม่รู้

"ผมยืนยันมีการพูดคุยจริงแต่มีการตัดต่อและในส่วนที่ไม่ตัดต่อก็แปลความผิด และการให้ดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านสภากลาโหม สภาความมั่นคง แล้วแปลงเป็นพระราชกำหนดเพื่อพาพ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน ข้อกล่าวหานี้เป็นไปไม่ได้ มันอิมพอสซิเบิ้ล พวกคิดแบบนี้เป็นพวกโง่ ไม่รู้กฎหมาย คนตัดต่อคลิปมีชั้นเชิงแค่ป.4 จริงๆ แล้วต้องออกเป็นร่างพ.ร.บ.ปรองดอง"ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับบทสนทนาเสียงช่วงที่มีการพูดเรื่องการสร้างภาพว่ารัฐบาลเอาด้วยกับการให้นำทหารไปบุกยิงพม่าที่มีเสียงสะดุดอ่า....เป็นการแก้ไขประโยคสนทนาจึงมีเสียงอ่า ทั้งที่ผู้พูดไม่ได้ติดอ่างและตามคลิปเสียงที่พูดถึงแต่กฎหมาย เป็นไปไม่ที่จะหมายถึงกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะไม่ต้องเข้าสภากลาโหม และสภาความมั่นคง เพราะเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ถ้าเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ จริงก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้อำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเพราะเคยบริหารประเทศมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีความไม่ต่อเนื่องของบทสนทนา เช่น ช่วงที่มีการพูดคุยถึงการนำกฎหมายเข้าสภากลาโหม ชายอีกคนตอบรับแต่บทสนทนาต่อมากลับพูดว่าจะเอาเข้าสภาความมั่นคงและส่งให้รัฐบาลเป็นการลัดขั้นตอนแทนที่จะกลับมาพูดถึงสภากลาโหม

"ส.ส.ในพรรคบางกลุ่มเป็นพวกห่านตกใจง่าย ใครพูดอะไรหน่อยก็กลัว ไม่กล้าทำอะไร เรื่องนี้ผมคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างละเอียดหลายครั้ง ผมบินไปปักกิ่ง สิงคโปร์ดูไบ ให้พ.ต.ท.ทักษิณ อ่านและรอเวลาเสนอเข้าสู่สภา ท่านถามผมในฐานะจบดอกเตอร์กฎหมายว่าร่างพระราชบัญญัติปรองดอง จะออกมาเป็นร่างพระราชกำหนดปรองดองได้หรือไม่ ผมบอกไปว่าไม่ได้ เพราะการตราพระราชกำหนดต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เหตุการณ์ปี 2549 ผ่านมาแล้ว 7-8 ปี จึงออกเป็นพระราชกำหนดไม่ได้ หลังจากนี้จะรณรงค์ให้คนในพรรคดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองให้ผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระ หลังจากนั้น 3 เดือน เชื่อว่าจะนำพ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านได้ ผมจะดูว่าเป็นอย่างไร เพราะถือเป็นการทำตามกฎหมาย"ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีคลิปมีการกล่าวพาดพิงถึง พล.อ.เปรม ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ การจะกล่าวถึงท่านไม่มีกฎหมายข้อไหนระบุว่าผิดที่พ.ต.ท.ทักษิณ พูดถึงก็เพื่อต้องการทำความเข้าใจ และเป็นไปในลักษณะหลักธรรมเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ถ้าตนบอกว่ารักพล.อ.เปรม อยากเข้าไปกราบท่านงามๆ ถ้าป๋าอนุญาตตนก็จะเข้าไปกราบทันที

ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่าตามคลิปเสียงเสนอ"ป๋า"เป็นที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษตริย์หลังกลับเข้าประเทศนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม เพราะมีรมว.กระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมีกรรมการอื่นอีก 4 คน ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษตริย์ ที่จะทรงแต่งตั้งและไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะแต่งตั้ง โดยเชื่อว่าทั้งหมดเป็นการหวังทำลายรัฐบาลต้อนรับนายกฯเป็นรมว.กลาโหม ยืนยัน กองทัพเข้าใจรัฐบาล ไม่อยากให้ไปยั่วยุให้แตกแยกกับกองทัพ รัฐบาลไม่เคยยุ่งกับกองทัพ และเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งกับพม่า นอกจากนี้ การเข้าไปลงทุนในพม่าใครก็ไปลงทุนได้ เพราะพม่าเปิดประเทศ เชื่อว่าเรื่องนี้คนที่อยู่เบื้องหลังไม่ได้มีเฉพาะสื่ออ้วนดำ แต่ยังมีลูกน้องของคนเมียสวยที่ยังไม่เลิกสนับสนุน ยังปล่อยข่าวออกมาเรื่อยๆ

"เรื่องนี้ไม่ได้พูดคุยกับนายกฯ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้สั่งมา ถ้าผมคุยกับนายกฯ คงไม่ถูกย้ายมาเป็น รมว.แรงงาน ผมออกมาชี้แจงเองด้วยจิตสำนึกความถูกต้อง และต้องการรักษาสถาบันพรรค ให้สังคมหูตาสว่าง ผมเหนื่อยมา 6 ปี คลิปนี้มันทำลายพรรคผม และผมไม่ได้หวังว่าจะไปอยู่ที่อื่น อยู่กระทรวงแรงงานก็มีความสุขดี เป็นรัฐมนตรี 8 สมัย เกิดจากท้องพ่อท้องแม่ ไม่เคยอยู่ห้องทำงานรัฐมนตรีใหญ่ขนาดนี้ เลยรีบขนข้าวขนของมา การที่ผมออกมาชี้แจงเพื่อความถูกต้อง รวมทั้งอยากฝากให้พล.อ.ยุทธศักดิ์ ไม่ต้องลาออก ให้อยู่ต่อไปยาวๆ ผมยินดีที่จะช่วยชี้แจงในสภา" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวทิ้งท้ายว่าปัญหาจำนำข้าว การบริหารจัดการน้ำ และคลิปเสียง จะทำให้รัฐบาลสั่นคลอนจนถึงขั้นยุบสภาหรือไม่ไม่ขอพูด พูดไปจะเป็นการเขย่ารัฐบาล อย่างไรก็ตามโครงการจำนำข้าว รัฐบาลตั้งใจขาดทุน ให้ชาวนารวย ตอนนี้คนอุดรธานีใส่ต่างหูทองเต็มไปหมด หากเลือกตั้งใหม่พรรคเพื่อไทยก็ชนะดีกว่าตั้งองค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.)ที่ทำรัฐบาลเสียหาย 7-8 แสนล้านบาท ดังนั้นคนที่อยากให้รัฐบาลยุบสภา เตรียมตัวร้องไห้ได้เลย วันนี้รัฐบาลเข้าใจกองทัพ กองทัพก็เข้าใจรัฐบาล พรรคเพื่อไทยไม่ก้าวก่ายทหาร ที่บอกว่านายกฯ มาเป็นรมว.กลาโหม จะเพิ่มสัดส่วนการโยกย้ายนายทหาร เรื่องนี้นายกฯฉลาด ท่านไม่ยุ่งถ้ายุ่งก็ถูกปฎิวัติ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

พื้นที่ทางสังคมของพุทธศาสนาแบบไทยๆ !!??

โดย.นักปรัชญาชายขอบ

ถามว่าตัวคำสอนพุทธศาสนามีมิติทางสังคม คือมีมโนทัศน์ (Concepts) คำอธิบายเกี่ยวกับสังคมการเมืองที่ดี ที่ควรจะเป็นหรือไม่ หรือว่าคำสอนของพุทธศาสนามีเพียงมิติปัจเจก คือมีมโนทัศน์ คำอธิบายเกี่ยวกับความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณหรือการมีชีวิตที่ดีส่วนบุคคลเท่านั้น

คำตอบคือ คำสอนพุทธศาสนามีมิติทางสังคมแน่นอน และเมื่อว่าเฉพาะสังคมไทย อิทธิพลของการแปรมิติทางสังคมของพุทธศาสนา เช่น คำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ เป็นต้น มาเป็นปรัชญาการเมืองการปกครอง และสถาปนาสถานะความเป็นเทพ เป็นพระโพธิสัตว์ หรือกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าของชนชั้นปกครองในระบอบราชาธิปไตยนั่นเอง ที่สถาปนาพุทธศาสนาให้เป็น “ศาสนาแห่งรัฐ” ปลูกฝังความทรงจำและสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ว่า พุทธศาสนากับชนชั้นปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความมั่นคงของพุทธศาสนากับความมั่นคงของรัฐ (ชนชั้นปกครอง) ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ความทรงจำและสำนึกร่วมนี้พัฒนามาถึงขีดสุดในนามของอุดมการณ์จงรักภักดีต่อ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

มองจากความทรงจำและสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว จะเห็นได้ชัดว่า “พื้นที่ทางสังคม” ของพุทธศาสนาครอบคลุมกว้างขวางและลึกซึ้งมาก ในเชิงนามธรรมเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐ ซึ่งกำหนดให้พุทธศาสนามีบทบาทหลักในการปลูกฝังความเชื่อที่ค้ำจุนสถานะ อำนาจ ของชนชั้นปกครอง ในเชิงรูปธรรมอุดมการณ์ดังกล่าวได้กำหนดโครงสร้างสถาบันสงฆ์ที่ขึ้นต่ออำนาจรัฐ และกำหนดเนื้อหาคำสอนของพุทธศาสนาส่วนไหนบ้างที่ควรนำมาศึกษา สั่งสอน เผยแผ่ แปรเป็นพิธีกรรม ในการอบรมปลูกฝังกล่อมเกลาศีลธรรมจรรยาของคนในชาติ กำหนดกรอบในการตีความ การกำกับควบคุมความหมายของธรรมวินัยอย่างไร ควรจัดให้มีการเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน สวดมนต์หน้าเสาธงอย่างไร เป็นต้น

นอกจากพื้นที่ทางสังคมของพุทธศาสนาจะแสดงออกผ่านอุดมการณ์รัฐ ผ่านบทบาทของสถาบันสงฆ์ และการศึกษาแบบทางการแล้ว พุทธศาสนาไทยๆ ยังเข้าไปแสดงบทบาทในพื้นที่ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลและพื้นที่ทางสังคมแทบทุกพื้นที่ เป็นบทบาทของ “ตำรวจทางศีลธรรม” คอยจ้องมอง จับผิด หรือตัดสินถูก ผิด ควร ไม่ควร มิบังควร ไปจนถึงประณาม สาปแช่ง

เช่น ไปตัดสินว่าคนที่เกิดมาเป็นเพศที่สามที่สี่เป็นเพราะ “บาป” ในชาติก่อน เนื่องจากชาติที่แล้วประพฤติผิดศีลข้อสาม ผิดลูกผิดเมียคนอื่น กรรมเลยตามสนองให้เกิดมาผิดเพศในชาตินี้ กระทั่งคนที่มีองคชาติเล็ก กลาง ใหญ่ ก็เกิดจากกรรมเก่าในอดีตชาติ ไปจนถึงคอยกำกับจิตใจคนว่าคิดอย่างนี้อย่างนั้นบาป ไม่บาป โดยเฉพาะคิดเกี่ยวกับเรื่องด้านลบของบุคคลที่ถูกยกย่องศรัทธาว่ามีคุณธรรมสูงส่ง เป็นพระเป็นพระเป็นเจ้า แม้แต่คิดก็บาปแล้ว ไม่ควรคิด อย่าว่าแต่จะตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์เลย

พุทธศาสนาไทยๆ เข้าไปยุ่มย่ามในพื้นที่ทางสังคมเต็มไปหมด เช่น ละครหลังข่าวจบ มีพระเซเลบไปเทศนาสอนว่าละครเรื่องนี้สอนธรรมะอะไร เพราะเป็นห่วงว่าชาวบ้านเขาคิดเองไม่เป็น เข้าไปในพื้นที่ทางการเมืองแต่เป็นการอ้างศีลธรรม อ้างคำพระประณามนักการเมือง กดเหยียดประชาชนว่าไม่มีศักยภาพจะใช้อำนาจอย่างมีศีลธรรม แต่สรรเสริญคุณธรรมของชนชั้นปกครองในระบบเก่า อ้างศีลธรรมสนับสนุนการรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ในสถานการณ์ที่รัฐบาลใช้กำลังทหารและกระสุนจริงสลายการชุมนุม พระบางรูปเทศนาสนับสนุนความรุนแรงในการปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย

นอกจากนี้พุทธศาสนาไทยๆ ยังเข้าไปละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สื่อสาธารณะ เช่น กรณีที่พระสงฆ์และชาวพุทธบางกลุ่มกดดันให้รายการ “คิดเล่นเห็นต่าง” ทาง Voice TV ออกมาขอโทษกรณีวิจารณ์การสวดมนต์ข้ามปี เป็นเหตุให้รายการดังกล่าวงดพูดเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาไปเลย ผมพูดเรื่องนี้บ่อยเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเรื่องที่ทำกันในนามปกป้องพุทธศาสนาสร้าง “ตราบาป” ละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อสาธารณะในโลกสมัยใหม่

นอกจากบทบาท “ตำรวจทางศีลธรรม” ที่คอยปลูกฝังควบคุมกำกับจิตสำนึกความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และแทรกแซงจับผิดเข้าไปในพื้นที่ชีวิตส่วนตัว พื้นทางสังคมการเมืองดังกล่าวแล้ว บทบาทนำในทางส่งเสริมเสรีภาพ ความเป็นธรรม สันติภาพของพุทธศาสนาไทยๆ แทบไม่ปรากฏเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนในประเทศ หรือเรื่องชาวพุทธด้วยกันเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงกับคนในศาสนาอื่น ก็ไม่เห็นองค์กรปกครองสงฆ์ไทยแสดงท่าทีอะไรเลย (หากจะมีก็เป็นเรื่องของพระหรือชาวพุทธรายบุคคล)

เพราะการที่พุทธศาสนาไทยแสดงบทบาทตำรวจทางศีลธรรมก้าวล้ำเข้าไปในพื้นที่ชีวิตและพื้นที่ทางสังคมในแทบทุกมิติ และเข้าไปในท่วงทำนองควบคุมกำกับด้วยมาตรฐานถูก ผิด ควร ไม่ควร มิบังควรอย่างคลุมเครือหรืออย่างลดทอนเสรีภาพและความเป็นมนุษย์อย่างโลกย์ๆ หรือความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและความเท่าเทียมในความหมายของโลกสมัยใหม่ดังกล่าว จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกโชเชียลมีเดีย

เฟซบุ๊ก คือพื้นที่หนึ่งที่บรรดาผู้แสดงความเห็นทางการเมือง ศาสนา และเรื่องอื่นๆ ต้องการสิทธิแสดงออกบนพื้นฐานของหลักการสากล คือ “freedom of speech” ลำพังการถูกจำกัดสิทธิโดยกฎหมายที่คลุมเครืออย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ ม.112 ก็เป็นเรื่องที่หนักหน่วงอยู่แล้ว พวกเขาจึงไม่ต้องการ “ตำรวจทางศีลธรรม” ไปอ้างคำพระ อ้างคำสอนศาสนาจับผิด หรืออบรมสั่งสอนศีลธรรมว่าด้วยท่วงทีวาจาอะไรต่ออะไรอีกแล้ว ฉะนั้น ในโลกเฟซบุ๊กจึงมีคนจำนวนหนึ่งสร้างเพจล้อเลียนศาสนา ศีลธรรมจรรยา พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ขนบจารีตแบบไทยๆ กระทั่งเสนอให้ “ยกเลิกความเป็นไทย” หรือพุทธศาสนาไทยๆ ที่ชอบทำหน้าที่ตำรวจทางศีลธรรมด้วยการอ้างบรรทัดฐานที่คลุมเครือมาทับซ้อน แทรกแซง ลดทอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามมาตรฐานสากล ที่เป็นมาตรฐานการแสดงออกในเรื่องสาธารณะอย่างโลกย์ๆ

เพราะพวกเขาต้องการชีวิตทางสังคมการเมืองอย่างโลกย์ๆ ไม่ใช่สังคมการเมืองของผู้ทรงศีลธรรมสูงส่งที่นิยมใช้ศีลธรรมแต่งหน้าให้ตัวเองดูดี หรืออ้างศีลธรรมบังหน้า กระทั่ง “บังตา” ไม่ให้เห็นโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง และประวัติศาสตร์ความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาครั้งแล้วครั้งเล่า!

น่าสงสัยเหลือเกินว่า บรรดาตำรวจทางศีลธรรมเขาเคยสำเหนียกบ้างหรือเปล่าว่า สำหรับคนที่ยืนยันเสรีภาพและความเท่าเทียมในการแสดงออกเชิงสาธารณะนั้น พวกเขาอาจรู้สึกเฉยๆ กับคำด่าหยาบๆ คายๆ อาจมองสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้สาระเกินกว่าจะใส่ใจ

แต่พวกเขาอาจรับไม่ได้ เจ็บปวด หรือกระทั่งรังเกียจการใช้ภาษาศีลธรรมทางศาสนา การอ้างคำพระมาจับผิด หรือตัดสินท่าที ท่วงทีวาจาที่พวกเขาแสดงออก โดยละเลย “เนื้อหา” หรือประเด็นความคิดที่พวกเขาเสนอ

เพราะตราบใดที่การแสดงออกของพวกเขาไม่ละเมิดเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ยังอยู่ในกรอบของ freedom of speech ศีลธรรมทางศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องควร ไม่ควร มิบังควรในการพูด ควรพูดน้อย พูดมาก มีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ ฯลฯ ก็ไม่ควรเข้าไปพิพากษาตัดสินพวกเขา ศีลธรรมทางศาสนาแบบสร้างจินตภาพ“บุคคลที่ดีงามด้วยกาย วาจา ใจ” ควรเป็นเรื่องรสนิยมของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ใครทำได้ปฏิบัติได้ก็เป็นเรื่องความดีส่วนตัวของบุคคลนั้น ไม่ควรเอามาตรฐานที่ตัวเองทำได้ (?) ไปตัดสินคนอื่น

หรือหากจะใช้ศีลธรรมทางศาสนามาตั้งคำถาม ก็ควรใช้กับบรรดาคนที่อ้างศาสนาอ้างศีลธรรม อ้างการปล่อยวาง เสียสละ เมตตา ฯลฯ สั่งสอนคนอื่นๆ มากกว่าว่าทำไมพวกเขาเหล่านั้นถึงไม่ยอมปล่อยวางสถานะ อำนาจ ระบบ จารีตเก่าที่ไม่สมสมัย ทำไมจึงยังอยากขยายอำนาจ สะสมความมั่งคั่งจากทรัพย์บริจาค อ้างเป็นพระอรหันต์จนร่ำรวยถอยรถเบนซ์ 10 คัน ในเวลา 3 ปี คิดเป็นเงิน 100 ล้าน แถมมีบ้านเดี่ยวในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนไม่มีแต่หลวงปู่เณรคำรูปเดียวนี้แน่ๆ

น่าเสียดายที่ศีลธรรมแบบพุทธศาสนาแห่งรัฐ หรือพุทธศาสนาไทยๆ ยิ่งขยายพื้นที่ทางสังคมออกไปมากเท่าไร ยิ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อพื้นที่เสรีภาพและความเท่าเทียมมากขึ้นทุกที แทนที่จะขยายออกไปเพื่อสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียม เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่า

ที่มา.ประชาไท
///////////////////////////////////////////////////////////////////////