--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรงไฟฟ้าทวายส่อล้ม หลังญี่ปุ่นปล่อยเงินกู้ ดันเขตพิเศษติลาวา !!?

 พม่าจ่อเลิกแผนสร้างโรงไฟฟ้าทวาย หลังญี่ปุ่นหนุนปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 51,000 ล้านเยน ให้ช่วยเหลือและพัฒนาเศรษฐกิจดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ในเมืองย่างกุ้งแทน
   
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวโน้มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า ขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไปศึกษาร่วมกับรัฐบาลพม่า และจะให้ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (เอ็กโก) เข้าไปลงทุน ซึ่งผลการศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1-2 เดือนนี้ อาจจะต้องสะดุดหรือยุติโครงการไป
   
ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลพม่าได้หันไปผลักดันให้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ในเมืองย่างกุ้งแทน เนื่องจากซึ่งญี่ปุ่นให้การอุดหนุนและสามารถเกิดขึ้นก่อน ดังนั้น การจะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ทวาย ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจจะต้องชะลอออกไปด้วย เพราะรัฐบาลพม่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินในการเข้าร่วมทุนกับทางบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ติลาวาก่อน จึงไม่มีเงินมากพอที่จะมาลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวายได้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะต้องมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายพม่า
   
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ฝ่ายที่จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพีฉบับใหม่ 2013 กำลังกังวลว่าจะสามารถนำโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวายเข้าไปบรรจุไว้ในแผนพีดีพีได้หรือไม่ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุไว้  เนื่องจากไม่มีความชัดเจนของโครงการว่าพื้นที่ทวายจะเกิดได้” แหล่งข่าวกล่าว
   
แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือน พ.ค.2556 ที่ผ่านมา นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้เดินทางเยือนพม่าพร้อมลงนามในข้อตกลงในการช่วยเหลือจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 51,000 ล้านเยน เพื่อช่วยเหลือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจพม่า และการเยี่ยมชมโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา โดยมีภาคเอกชนของญี่ปุ่น 3 ราย ได้แก่ บริษัท มิตซูบิชิ ซูมิโตโม และบริษัท มารุเบนิ ลงนามเอ็มโอยูกับบริษัทเอกชนของพม่า 9 ราย ที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ในเนื้อที่ 1.25 หมื่นไร่.

ที่มา.ไทยโพสต์
/////////////////////////////////////////////////

คลังยื่น DSI ฟันแก๊งโกง VAT ส่งออก 2.6 พันล้าน !!?

โต้ง เดือด โดนแก๊งมิจฉาชีพปลอมเอกสารขอคืนภาษีแวตจากการส่งออก พบ 30 ราย วงเงินสูง 2.6 พันล้านบาท แต่งตั้ง "รังสรรค์" ยื่นดีเอสไอฟัน
   
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ได้ลงนามแต่งตั้งให้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลด้านภารกิจรายได้ เป็นเจ้าพนักงาน ยื่นฟ้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดกับกลุ่มบุคคล 30 ราย ที่มาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากการส่งออก โดยที่ไม่ได้มีการทำธุรกรรมจริง ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาครัฐ คิดเป็นวงเงินสูงถึง 2.6 พันล้านบาท
   
การทุจริตขอคืนภาษีถือว่าร้ายแรงกว่าการหนีภาษี เพราะการทุจริตขอคืนภาษีเป็นการมาขอคืนในเงินที่ตัวเองไม่ได้จ่ายไว้จริง ถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงของประเทศ โดยยืนยันจะดำเนินการเอาผิดอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลฝ่ายใดก็ตาม รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนกระทำความผิดด้วย" นายกิตติรัตน์กล่าว
   
ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการสอบสวนทางลับว่ามีการทุจริต โดยขอคืนภาษีแวต โดยการอ้างเป็นผู้ส่งออก ซึ่งผู้ร่วมกระทำผิดมีทั้งเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่ง
   
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ปกติผู้ประกอบการนำเข้าจะต้องเสียภาษีแวตสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนก่อน และจะมาขอคืนภาษีในส่วนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นสินค้าและส่งออกไปขายยังต่างประเทศในภายหลัง แต่กรณีที่พบความผิด ไม่ปรากฏว่ามีการทำธุรกรรมนำเข้า-ส่งออกเลย และมีการทำใบภาษีปลอมมาขอคืนภาษี
   
นอกจากการทุจริตโดยการขอคืนภาษีแวตแล้ว ยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่นำเข้ารถหรูไม่ถูกต้อง เพราะมีการประเมินว่า มีการแจ้งเสียภาษีต่ำไม่ถูกต้อง ทำให้รัฐบาลสูญภาษีปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท
   
ด้านนายรังสรรค์กล่าวว่า เอกชนทั้ง 30 ราย ที่จะถูกยื่นฟ้องเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด ที่ร่วมมือกันเป็นขบวนการในช่วงปี 2555 และ 2556 แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นกลุ่มที่อ้างว่านำเข้าและส่งออกสินค้าประเภทใด เพราะจะทำให้ผู้กระทำผิดรู้ตัวก่อน.

ที่มา.ไทยโพสต์
---------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คนจนยามเศรษฐกิจแย่ !!?

แม่ค้าในตลาด คนทำร้านอาหาร คนขับแท็กซี่หลายคนพูดเหมือนกันว่า ปีนี้เศรษฐกิจแย่ รายได้ไม่ดีไม่ใช่แต่เฉพาะช่วงเปิดเทอม แต่เป็นมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว
   
ไปกินข้าวที่ร้านยอดฮิตที่เขาใหญ่ เจ้าของบอกว่า ปีกลายช่วงสงกรานต์ ช่วงหยุดเทศกาล คนแน่นร้าน เก็บจานแทบไม่ทัน ปีนี้มีประปรายจนถึงเงียบ ไม่รู้คนหายไปไหน คนขายผลไม้ก็พูดเหมือนกัน ไปด่านเกวียนก็ทำนองเดียวกัน บ่นว่าเงียบจนเหงา ไม่รู้จะเอาอะไรกินเพราะไม่มีรายได้
   
แท็กซี่คนหนึ่งบอกว่า ค่าแรงวันละ 300 บาทเป็นปัญหา ข้าวของขึ้นราคาหมด 300 บาท วันนี้น้อยกว่า 200 บาทปีก่อน เพราะวันนี้ได้ 300 บาทแล้วไม่มี "โอที" เพราะนายจ้างก็มีปัญหา เมื่อจ่ายรายวันมาก ไม่มีโอที หลายหน่วยงานก็อยู่ไม่ได้ เพราะผลผลิตน้อยลง คนทำงานอาศัย 300 บาทอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะข้าวของ อาหารการกินแพงขึ้นมาก
   
แท็กซี่บอกว่า "ผมเช่ารถวันละ 900 บาท ขับวันละ 15-16 ช.ม. ค่าแก็สประมาณ 300 บาท วันหนี่งได้ 1,500 บาทก็ไม่พอกินไม่พอใช้ เพราะผมต้องให้ลูกสาวเรียน ม.2 ไปโรงเรียนวันละ 150 บาท" ถามว่าทำไมมากจัง เขาบอกว่า ค่ารถสองต่อไปกลับ ค่าอาหารเช้า-เที่ยง-เย็น 150 นี่ประหยัดแล้ว ตัวเขาเองและภรรยาก็ต้องกินต้องใช้ ไหนจะค่าเช่าที่พัก ถ้าไม่ได้ 1,800-2,000 ก็ต้องไปกู้
   
ถามว่าที่บ้านต่างจังหวัดมีที่ดินไหม เขาบอกว่ามี 2 ไร่ ไม่ได้ทำอะไร วางแผนว่า ถ้าลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วจะกลับไปทำเกษตร ผมบอกว่า ยังอีกหลายปีนะ อย่างน้อย 8 ปี ระหว่างนี้จะทิ้งที่ดินให้รกร้างว่างเปล่าไปทำไม เขาบอกว่า ไม่มีเวลา ขับรถทุกวัน ไม่ขับก็ไม่มีกิน
   
คุยไปคุยมาเขาบอกว่า ยังมีที่มรดกของภรรยาอีก 10 กว่าไร่ ไม่ได้ทำอะไร ถามว่ามาจากศรีขรภูมิ สุรินทร์ รู้จักลุงเชียง ไทยดีไหม เขาบอกว่า ไม่รู้จัก เลยเล่าให้เขาฟังว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน ลุงเชียงเปลี่ยนที่นา 7 ไร่ทำเกษตรผสมผสาน ส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัย 5 คน โดยไม่เป็นหนี้เลย
   
เล่าให้เขาฟังต่อไปว่า ชาวบ้านขอนแก่น 20 คน ทำเกษตรผสมผสานในโครงการ 1 ไร่ได้ 1 แสน ปรากฏว่า คนที่ได้มากที่สุดได้ 240,000 บาท คนที่ได้น้อยที่สุดได้ 5,000 บาท แท็กซี่แย้งว่า ได้แค่ 5,000 ไม่น่าเป็นไปได้ ผมก็บอกว่า นี่เป็นเรื่องจริงที่หอการค้าไปทำการพิสูจน์ทดลองมา ถ้าไม่ทำด้วยความรู้ ไม่ทำด้วยความมุ่งมั่น และด้วยความขยันหมั่นเพียร การเกษตรก็ไม่ได้ผล
   
คนขับแท็กซี่บอกว่า เขาคงกลับไปทำเกษตรแบบนั้นไม่ได้ ก็เลยเล่าเรื่องที่ได้คุยกับแท็กซี่อีกคนหนึ่งก่อนนี้หลายเดือนให้เขาฟัง

แท็กซี่อีกคนที่ว่านี้มาจากชัยภูมิ มีที่ดินอยู่ 100 ไร่ ให้เขาเช่าปลูกอ้อย ตอนนี้เอาคืนมา 20 ไร่มาปลูกมันสำปะหลัง ปลูกแบบที่เคยปลูกๆ กัน คงจะได้ไร่ละ 2-3 ตันเป็นอย่างมาก ได้แนะนำเขาว่า ถ้าอยากปลูกมันก็ปลูกให้ได้สัก 20-30 ตันต่อไร่ถึงจะคุ้ม และบอกว่าให้ไปเรียนรู้กับใครที่ไหนด้วย
   
แท็กซี่ชัยภูมิยังไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับบ้านเกิด ให้แม่และน้องสาวช่วยดูแลไร่มัน แนะนำเขาไปว่า ให้หามะขามมาปลูกเป็นรั้ว โรยเมล็ดลงไป เดี๋ยวฝนตกก็ขึ้นเอง ปล่อยให้โตสูงเท่าเอวเท่าอก เด็ดยอด เด็ดใบอ่อนขายกิโลได้เป็นร้อย เห็นขายที่ตลาดขีดละ 20 บาท
   
ปลูกกระถิน ชะอม เป็นแนวรั้ว และทำแบบเดียวกับมะขาม ปลูกตะไคร้สักสองสามพันกอ ปลูกพริกสักไร่หนึ่ง ตะไคร้กิโล 10-15 บาทก็มากแล้ว ไม่ต้องดูแลอะไรมาก พริกถ้าออกหน้าแล้งต้นปี ราคากิโลเป็นร้อย ไร่หนึ่งอาจได้หลายแสน ถ้าทำเป็นไม่ต้องใช้สารเคมีก็ได้
   
ปลูกมะขามเปรี้ยวสัก 40-50 ต้น ปลูกทิ้งๆ ไว้ ไม่กี่ปีก็ออกลูก จะได้ต้นละหลายพันบาท เพราะมะขามเปรี้ยวแกะเมล็ดวันนี้ราคาดี บางปีราคากิโลเป็นร้อย ไม่ต้องดูแลอะไร ไม่ต้องกลัวมันจะกลายพันธุ์เป็นหวาน ไม่ต้องกลัวคนขโมย
   
แนะนำให้ปลูกสบู่ดำเป็นรั้ว วัวควายไม่กิน คนไม่กินไม่ขโมย เอามาทำน้ำมัน ทำปุ๋ยชั้นเยี่ยม ทำเยื่อกระดาษชั้นดี ปลูกไร่หนึ่งอาจได้หลายแสน
   
แนะให้ไปเอาหวายจากอินแปงที่สกลนครมาปลูก ถ้าไปซื้อที่เขากล้าไว้ในกระบะๆ ละประมาณ 2,000 ต้น ราคาแค่ 500 บาท เอามาปลูกเป็นรั้วกันวัวควาย กันคนกันขโมยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหนามแหลมคม ราคายอดหวายวันนี้ยอดละไม่ต่ำกว่า 10 บาทเลยทีเดียว

ปลูกไม้ใหญ่ๆ ไว้เป็นสวัสดิการยามแก่ เป็นมรดกให้ลูกหลาน เขาจะได้คิดถึงเรา ปลูกยางนาไว้สักสี่ห้าร้อยต้น ปลูกไม้พะยูงที่ราคาสูงสักสามสี่ร้อยต้น ไม้มะค่า และอื่นๆ ให้ได้รวมสัก 1,000-2,000 ต้น อีก 25 ปี จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ทำไม้แผ่นไม้กระดาน สร้างบ้านก็ได้ ขายก็ได้ราคา ได้เงินใช้ยามแก่ ไปพักผ่อน ไปเที่ยว ไปทำบุญ ไม่ต้องเดือดร้อน
   
วันนี้คนโชคดีคือคนมี่ที่ดิน คนโชคร้ายคือคนที่มีที่ดินแต่ไม่มีความรู้ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ใช่แต่ที่โรงเรียนแก้หนี้แก้จน ที่มหาวิทยาลัยชีวิต แต่ที่ไหนก็ได้ที่มีความรู้ มีผู้รู้ และเราต้องการเรียนรู้จริงๆ (ดูข้อมูลโรงเรียนแก้หนี้แก้จนที่ www.life.ac.th)
   
คนจนจำนวนมากไม่ได้จนทรัพยากร ไม่ได้จนที่ดิน ไม่ได้จนแรงงาน แต่จนปัญญาซึ่งหาได้จากการเรียนรู้

ที่มา.สยามรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++

ศาลสหรัฐ มีคำสั่งอายัดทรัพย์นักค้าหุ้นชาวไทย !!?

ศาลสหรัฐ มีคำสั่งอายัดทรัพย์นักค้าหุ้นชาวไทย"บดินทร์ รุ่งเรืองนวรัตน์" ฐานใช้ อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง ฟันกำไรกว่า 92 ล้านบาท

สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ว่า ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกามีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สิน นายบดินทร์ รุ่งเรืองนวรัตน์ นักค้าหุ้นชาวไทย ที่ได้กำไรจากการรู้ข้อมูลล่วงหน้าว่า บริษัทชวงฮุ่ย อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ ของจีน มีแผนจะเสนอซื้อกิจการ บริษัทสมิธฟีลด์ ฟูดส์ อิงค์ ของสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปเนื้อสุกรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยราคา 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
       
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐ กล่าวหา นายบดินทร์ ใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น หรือ อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง ทำให้ได้เงินมากกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 92 ล้านบาท) ก่อนแผนการซื้อขายกิจการจะถูกประกาศในวันที่ 29 พ.ค. โดย นายบดินทร์ซื้อตราสารสิทธิหุ้น บริษัทสมิธฟีลด์ ฟูดส์ จำนวนหลายพันหุ้น รวมทั้งสัญญาซื้อขายสินค้าล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้ได้ผลกำไร เมื่อข้อเสนอซื้อกิจการถูกประกาศต่อสาธารณชน
       
หุ้นของบริษัทสมิธฟีลด์ ฟูดส์ ในตลาดหลักทรัพย์ สูงขึ้น 29% เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ก่อนจะปิดตลาดที่ราคาหุ้นละ 33.35 ดอลลาร์สหรัฐ

ก.ล.ต. สหรัฐ กล่าวอีกว่า นายบดินทร์ มีเพื่อนทางเฟซบุ๊ก ซึ่งทำงานที่ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้สื่อข่าวของเอพีติดต่อขอสัมภาษณ์นายบดินทร์ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ และคำสั่งอายัดทรัพย์ของศาลรัฐบาลกลางดังกล่าว จะมีผลไม่ให้ นายบดินทร์ ทำลายหลักฐานในคดีได้ด้วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------------------------------

Business Ecosystem

คอลัมน์ : คิด วิเคราะห์ แยกแยะ

สมัย เด็กเราจะต้องเรียนถึงระบบนิเวศวิทยา (Ecosystem) ที่พูดถึงห่วงโซ่อาหาร วงจรของสิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบหลากหลายและทำหน้าที่แตกต่างกันเช่น ผู้ผลิตสามารถผลิตอาหารขึ้นมาได้เอง พืชที่สังเคราะห์แสง มีผู้บริโภคหลาย ๆ ลำดับขั้น รูปแบบของสิ่งมีชีวิตก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละสภาพแวดล้อม เรียกได้ว่าระบบนิเวศทางธรรมชาติคือวงจรความเป็น ความตาย และสมดุลการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในสภาพแวดล้อมหนึ่ง ๆ

ใน วงการธุรกิจ ตั้งแต่ปี 1990 เริ่มมีการศึกษาถึงระบบนิเวศทางธุรกิจ โดย "เจมส์ มัวร์" โปรเฟสเซอร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรื่องการเชื่อมโยงกันของห่วงโซ่ทางคุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจแต่ละหน่วยในระบบนิเวศธุรกิจนั้น ๆ ที่มีรูปแบบจำลองและคล้ายคลึงระบบนิเวศทางธรรมชาติมาก

การวิจัยพบ ว่าธุรกิจที่ล้มเหลว โดยมากมักจะพยายามแต่เพียงการเพิ่มประสิทธิภาพให้สินค้าและบริการสามารถตอบ สนองลูกค้าได้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ในขณะเดียวกันธุรกิจกลับไม่ประสบ

ความ สำเร็จในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอก การมองภาพใหญ่ที่ผิดพลาดทำให้เกิดความล้มเหลวในการจัดการ เราจะเห็นภาพธุรกิจดี ๆ จำนวนมากที่ไม่ได้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และล้มหายตายจากไป บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ขาดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ได้หยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ บริษัทที่มีคุณลักษณะเหมาะเท่านั้นที่จะอยู่รอด และเติบโตได้ดี

ผมขอ เล่าประวัติศาสตร์วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตให้เห็นว่าในอดีต สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่อย่างไดโนเสาร์ครองโลกมาเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี ก่อนสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยน และเกื้อหนุนให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กลงใช้ทรัพยากรอาหารเหมาะสมและมี ประสิทธิภาพ ทั้งยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ฟูมฟัก ดูแลลูกอ่อน อย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขึ้นมาแทนที่ แสดงให้เห็นภาพว่า "ขนาด" และ "ความสามารถในการล่า" ไม่ใช่สิ่งที่เป็นส่วนสำคัญในมุมธุรกิจแล้ว

บริษัทอย่าง 3M ชื่อเต็มคือ Minnesota Mining and Manufacturing Company ที่เดิมทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการผลิต เหมือง แต่สามารถผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ได้ต่อเนื่องจาก "รากฐานเดิม" ด้วยผู้บริหารและทีมวิจัยที่ยอดเยี่ยม ผลิตผลอย่าง Scotch Tape, Post-It ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับภาพรวมของระบบนิเวศใหมa่มาก นั่นคือการเจริญเติบโตของวงการธุรกิจ และการจัดการเอกสารในประเทศสหรัฐ ช่วยให้บริษัทที่มีกายภาพเหมาะสมกับระบบนิเวศนี้เติบโตจากบริษัทเล็ก ๆ ในมินเนโซตา เป็นบริษัทชั้นนำใน S&P500

ในมุมกลับกันระบบนิเวศ ทางธุรกิจ หรือ Business Ecosystem ดี ๆ ที่มีอยู่ ก็เอื้อให้เกิดบริษัทใหม่ ๆ จำนวนมากได้เช่นกัน ที่เห็นเด่นชัดคือ Silicon Valley ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่ฟูมฟักเลี้ยงดูตัวอ่อน ให้กับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ เช่น Apple, Google, eBay, Nvidia, Adobe, Yahoo! ผลักดันให้อุตสาหกรรม Information Technology เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอเมริกา

ในทาง ทฤษฎี ถ้าจะมององค์ประกอบของระบบนิเวศทางธุรกิจดี ๆ มักจะประกอบด้วย 1.ความหลากหลายที่เกื้อหนุนกัน 2.ความซับซ้อนที่ช่วยให้การขาดองค์ประกอบหนึ่ง ไม่ทำให้ส่วนที่เหลือมีปัญหา 3.ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรที่เกื้อหนุนระบบนิเวศนั้น ๆ 4.การแข่งขันที่ช่วยพัฒนาวิวัฒนาการของธุรกิจ ถ้าคิดถึงกรณี Silicon

Valley จะพบว่า การที่ใกล้ชิดกับเมืองมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Stanford และการมี Venture Capital ก็ช่วยให้เกิดความสมบูรณ์ทางทรัพยากรทั้งทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรทุน ความหลากหลายของผู้คนมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และประเทศอเมริกา จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ ความซับซ้อนการเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น Hardware, Software, Internet การยอมรับของผู้คนและผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้ Ecosystem นี้แข็งแรง และยากที่จะหาที่ใดในโลกเลียนแบบได้

กลับมาที่ประเทศไทย ผมทิ้งท้ายว่า หลายอุตสาหกรรมเราเริ่มสร้าง Cluster เริ่มมี Value Chain และกำลังก้าวไปสู่ Ecosystem ที่แข็งแรง ยิ่งมีการเชื่อมโยงกับ AEC จะช่วยสร้างความสมบูรณ์และซับซ้อนยิ่งขึ้น หน้าที่นักลงทุนคือหา

"Ecosystem ที่สุดยอด" และหา "บริษัท" ที่เหมาะกับ Ecosystem เหล่านี้ เพราะการลงทุนนั้นจะเปลี่ยนชีวิตคุณ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-----------------------------------------------------

สมาคมชาวนาข้าวไทย แนะรัฐบาลกำหนดปริมาณจำนำข้าว !!?

นายกสมาคมชาวนาข้าวไทยแนะรัฐบาลกำหนดปริมาณจำนำข้าว เสนอไอเดียตั้งร้านโบนัสสวัสดิการชาวนา ขายปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าวราคาถูก ลดต้นทุนเกษตรกร

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ได้เดินทางมายังกระทรวงพาณิชย์พร้อมเปิดเผยว่า ยืนยันยังเห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล แม้ว่าขณะนี้เกษตรกรมองว่าจะมีปัญหาความล่าช้าของการรับเงินเพราะการรับจำนำทุกเม็ดจะมีขั้นตอนในการตรวจสอบคุณภาพข้าวมาก รวมถึงปัญหาราคารับจำนำข้าวที่กำหนดตันละ 15,000 บาท ที่ในความเป็นจริง เมื่อหักความชื้นเกษตรกรได้รับเงินในราคาต่ำมาก

ดังนั้นจึงต้องการเห็นรัฐบาลปรับปรุงระบบการรับจำนำข้าวใหม่ ด้วยการกำหนดปริมาณการรับจำนำต่อครัวเรือนแทนการรับจำนำทุกเม็ด เช่นกำหนดจำนำได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือน รวมทั้งกำหนดราคารับจำนำตายตัวที่ตันละ 10,000 บาท เพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเชื่อว่าหากดำเนินการได้เช่นนี้รัฐบาลจะไม่ขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันรัฐบาลควรกำหนดโซนนิ่งการปลูกข้าว เพื่อจัดระบบการปลูกข้าวใหม่ รวมทั้งจะต้องสร้างความเข้มแข็งด้วยการเพิ่มความรู้ทั้งด้านการผลิต การลดต้นทุน และพัฒนาคุณภาพข้าวให้กับเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหากมีการพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกรอย่างเป็นแบบระบบแล้ว ในอนาคตอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้โครงการรับจำนำข้าวเข้ามาช่วยอีก

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแลเกษตรกรมากขึ้น ทางสมาคมจึงมีแนวคิดก่อตั้งร้านโบนัส ร้านค้าสวัสดิการชาวนาข้าวไทย ที่จำหน่ายสินค้าราคาถูก อาทิ ปุ๋ย เมล็ดพันธ์ข้าว และยาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนเฉลี่ยเพียง 4,000 บาทต่อไร่ และมีผลผลิต 800 ถังต่อไร่ รวมทั้งจะมีการจัดแฟรนไชส์ที่มีชาวนาเป็นสมาชิก เพื่อให้ชาวนาไทยมีโอกาสในการสร้างรายได้ จากต้นทุนที่ไม่สูงมาก และสามารถนำสินค้ามาจำหน่ายได้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้กลับมาอย่างแท้จริง ซึ่งในเบื้องต้นจะเปิดร้านได้ที่ชัยนาท มีนบุรี และพระนครศรีอยุธยา

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------

กิตติรัตน์ ชี้ขาดทุน 2.6 แสนล้าน รวมสินค้าเกษตร !!?

กิตติรัตน์.แจงตัวเลขขาดทุนจำนำข้าว 2.6 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขนับรวมพืชผลการเกษตรหลายชนิด สั่งสศค.ทำข้อมูลแจ้งมูดี้ส์

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีตัวเลขการขาดทุนจำนำข้าว 2.6 แสนล้านบาท ว่า เป็นตัวเลขจากคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลและกระทรวงการคลัง โดยมี นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน แต่ยืนยันว่าตัวเลขการขาดทุนดังกล่าวไม่ใช่เฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเพียงโครงการเดียว แต่เป็นตัวเลขการขาดทุนที่รวมพืชผลทางการเกษตรหลายสินค้าเกษตรและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณารายรับของแต่ละรายสินค้า ราคาสินค้า ค่าเสื่อมสภาพของสินค้าเกษตรอื่นๆด้้วย

โดยหลังจากนี้ได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำข้อมูลชี้แจ้ง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ จำกัด เพื่อให้มูดีส์ได้ทราบข้อมูลที่แท้จริงของกระทวงการคลังมากกว่าข่าวที่ออกไปจากสาธารณะ

นอกจากนี้ ได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ใช้ข้อมูลเดียวกับคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรเท่านั้น เพื่อป้องกันข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ส่วนวงเงินการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต2554/2555 จะเกินวงเงินที่ตั้งไว้ที่ 500,000 ล้านบาทหรือไม่นั้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ แต่ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังขยายวงเงินรับจำนำได้ โดยหากในช่วงที่ดำเนินการยังไม่มีงบประมาณก็สามารถดึงงบประมาณส่วนอื่นมาใช้ก่อนได้แล้วค่อยตั้งงบประมาณชดเชย โดยขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการตั้งวงเงินงบประมาณชดเชย 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขที่เคยตั้งเอาไว้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อดีต รมต.คลัง ย้ำตัวเลขขาดทุนข้าว ติงกั๊กข้อมูล ยิ่งหมดเครดิต !!?

 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ( ครม.ปู 1) ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวที่ใช้ชื่อ username ว่า Thirachai Phuvanatnaranubala ให้ความเห็นต่อตัวเลขการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ยังไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขออกมา ในขณะที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ออกมาเปิดเผยตุวเลขการขาดทุนโครงการว่าขาดทุนราว 2.6 แสนล้านบาท โดยระบุว่า ครม.อนุมัติงบประมาณโครงการนี้ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 6 แสนล้านบาท

อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ถ้ารับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดโลก 10,000 บาทต่อตัน ก็มีโอกาสจะขาดทุน เฉพาะจากส่วนต่างราคา เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 วงเงิน 6 แสนล้าน ก็มีโอกาสขาดทุน 2 แสนล้านเข้าไปแล้ว และยังจะมีขาดทุนอีก จากค่าบริหาร ข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวหาย ฯลฯ

เมื่อรัฐบาลไม่เปิดเผยข้อมูล นักวิเคราะห์ทั่วไปเขาจะประเมินเองอย่างนี้ เขาจึงจะมองในทางร้ายไว้ก่อน แต่หากรัฐบาลจะบอกว่าขาดทุนน้อยกว่านี้ รัฐบาลก็ต้องชี้แจงโดยให้ตัวเลขทั้งหมดอย่างโปร่งใส ถ้าจะกั๊กตัวเลข โดยอ้างว่ายังประเมินขาดทุนไม่ได้ เพราะยังขายออกไปไม่หมด หรือจะให้ตัวเลขแบบบางส่วน เช่น เปิดเฉพาะปีที่หนึ่ง แต่ปิดตัวเลขปีที่สอง นักวิเคราะห์เขาก็จะไม่เชื่อถือ การให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จะยิ่งตอกย้ำให้เขาใช้ตัวเลขที่เลวร้ายที่สุด

ข้อความที่นายธีระชัยโพสต์ลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว

การจำนำข้าว มีมติ ครม. อนุมัติใช้เงินทั้งสองปีจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

ปี 54/55 269,160 ลบ
ปี 55/56 ครั้งที่ 1 240,000 ลบ
ปี 55/56 ครั้งที่ 2 105,000 ลบ

รวมวงเงินทั้งสองปีกว่า 6 แสนล้านบาท

คิดแบบง่ายๆ ถ้ารับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดโลก 10,000 บาทต่อตัน ก็มีโอกาสจะขาดทุน เฉพาะจากส่วนต่างราคา เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 อยู่แล้วครับ

วงเงิน 6 แสนล้าน ก็มีโอกาสขาดทุน 2 แสนล้านเข้าไปแล้ว และยังจะมีขาดทุนอีก จากค่าบริหาร ข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวหาย ฯลฯ

ข้อมูลเหล่านี้ปิดบังไม่ได้ ถ้าจะขาดทุนน้อยกว่านี้ รัฐบาลจะต้องแสดงอภินิหาร ขายข้าวให้ได้ราคาสูงกว่าตลาดโลก ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก ใครเขาจะมาช่วยซื้อข้าวของเรา แพงกว่าที่เขาจะซื้อจากคู่แข่ง

เมื่อรัฐบาลไม่เปิดเผยข้อมูล นักวิเคราะห์ทั่วไปเขาจะประเมินเองอย่างนี้ เขาจึงจะมองในทางร้ายไว้ก่อน

แต่หากรัฐบาลจะบอกว่าขาดทุนน้อยกว่านี้ รัฐบาลก็ต้องชี้แจงโดยให้ตัวเลขทั้งหมดอย่างโปร่งใส

ถ้าจะกั๊กตัวเลข โดยอ้างว่ายังประเมินขาดทุนไม่ได้ เพราะยังขายออกไปไม่หมด หรือจะให้ตัวเลขแบบบางส่วน เช่น เปิดเฉพาะปีที่หนึ่ง แต่ปิดตัวเลขปีที่สอง นักวิเคราะห์เขาก็จะไม่เชื่อถือ

การให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จะยิ่งตอกย้ำให้เขาใช้ตัวเลขที่เลวร้ายที่สุด ที่เขาประเมินของเขาเองครับ

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
///////////////////////////////////////////////////////////

เครือข่ายครอบครัวร้อง กสทช. สอบ ไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ กรณี เอมเมอรัล !!?

เครือข่ายครอบครัวร้องกสทช.สอบ ‘ไทยแลนด์ก๊อตฯ’ ออนแอร์ ‘เอมเมอรัล’ ซัด 3 กรรมการไร้จรรยาบรรณ ‘สุภิญญา’ จี้สภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพฯ แก้ปัญหาร่วม



 มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ผ่านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ให้ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ซีซั่น 3 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มีการนำเสนอเนื้อหาลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สำหรับการแสดงความสามารถของ ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’

โดยเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ขอให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้แสดงที่ใช้ชื่อว่า ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’เพื่อสร้างความกระจ่างกับสังคมอันจะนำไปสู่การพิจารณาเรื่องความเหมาะสมในการนำเสนอตามจริยธรรมและจรรยาบรรณ รวมถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ

2.หากพบว่าผู้แสดงคนดังกล่าวมีสุขภาพจิตที่เปราะบางหรือพิการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ดำเนินการต่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และบริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอนเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตามโทษที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายอย่างสูงสุดและเคร่งครัด พร้อมกับให้ผู้ผลิตรายการตลอดจนสถานีแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยถอดรายการนี้ออกจากผังรายการ เพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตรายการและการออกอากาศรายการที่รัดกุม โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายทางสังคม ตลอดจนการไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในอนาคตข้างหน้า

3.ขอให้เชิญสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงมาพิจารณาและดำเนินการใช้กลไกการกำกับดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ให้กรณีที่พิสูจน์แล้วว่าผิดจริงตามกฎข้อบังคับต่าง ๆ

4.ขอให้กสทช. ลงโทษขั้นสูงสุดกับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามม. 37 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชน

น.ส.สุภิญญา กล่าวยอมรับเมื่อได้ชมรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์เทปดังกล่าวรู้สึกหดหู่และเสียใจ โดยกรณี ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’ นั้น สะท้อนให้เห็นว่าสื่อโดยเฉพาะฟรีทีวีอย่างช่อง 3 มีดุลยพินิจในการกำกับตัวเองที่มีปัญหา เห็นได้จากการเซ็นเซอร์ละครเหนือเมฆที่เสียดสีผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้สื่อทีวีต่างพากันอ่อนไหวมาก แต่เมื่อใดที่มีเหตุกระทบต่อกลุ่มบอบบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนยากจน สื่อทีวีกลับไม่มีความระมัดระวังที่จะปกป้องคุ้มครองแต่อย่างใด

จึงเรียกร้องไปยังช่อง 3 บริษัท เวิร์คพ้อยฯ และผู้ดำเนินรายการออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป พร้อมเสนอให้สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงแสดงท่าทีต่อการกำกับดูแลกันเองต่อกรณีดังกล่าวให้เกิดขึ้นในสื่อทีวีอย่างแท้จริง

กรรมการกสทช. กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเรียกร้องวันนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บอร์ดกสท.) ในวันที่ 10 มิ.ย. 56 โดยจะเสนอเป็นวาระเร่งด่วน และจะส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการการกำกับเนื้อหาและผังรายการพิจารณาควบคู่ด้วย แต่จะให้ตอบว่ารายการดังกล่าวผิดม.37 หรือไม่ คงยังตอบไม่ได้

ด้านนางปิยนุช โชติกเสถียร ผู้ปกครองเด็กพิเศษ กล่าวว่า คณะกรรมการและผู้ดำเนินรายการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อการตัดสินการแสดงโชว์ของ ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ควรแสดงพฤติกรรมที่เสมือนย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นนี้

ขณะที่นายสมปอง เกิดแสง ผู้แทนสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าวว่า ไทยมีคนพิการที่จดทะเบียนแล้วราว 1.3 ล้านคน โดยมีประเภทความพิการทางจิตรวมอยู่ด้วย ซึ่ง ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’ ก็เป็นผู้พิการทางจิต แต่ทั้งนี้การแสดงออกของผู้ดำเนินรายการและคณะกรรมการเรียกว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับคำว่า ‘หน้าที่คณะกรรมการ’

“คณะกรรมการต้องสามารถที่จะทนดูได้จนกระทั่งผู้แสดงจบ นั่นคือคณะกรรมการ และผู้ดำเนินรายการไม่ควรมาแสดงสีหน้าท่าทางไม่ชอบแบบนี้ ส่วนผู้ชมจะแสดงออกมาอย่างไรก็เป็นสิทธิพึงมี อย่างไรก็ดี ต้องขอบคุณช่อง 3 ที่เปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงความสามารถ” ผู้แทนสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าว.










ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

จำนำข้าวกับมูดี้ส์ !!?

เรื่องจำนำข้าวจะยังเป็นปัญหาถกเถียงโต้แย้งกันต่อไปอีก จะนานแค่ไหนนั้นก็คงขึ้นอยู่กับความสามารถในการหมุนเงินของรัฐบาล
   
และการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจำนำข้าวก็มิได้เกิดเฉพาะภายในประเทศไทย แต่สื่อต่างประเทศ , องค์กรต่างประเทศก็ให้ความสนใจวิพากษ์วิจารณ์กันด้วย ที่น่าสนใจคือสื่อต่างประเทศนั้นวิจารณ์ในแง่ลบ ตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น บทความของ ฟิลิป เบาว์ริง ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์วอลสตรีทภูมิภาคเอเชีย วิจารณ์นโยบายอุดหนุนราคาข้าวและยางพาราของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ผ่านพ้นมา 1 ปี ว่าเห็นได้ชัดว่านโยบายประชานิยมเหล่านี้ กำลังเพิ่มปัญหายุ่งยากต่อการคลังของประเทศ และไทยยังมีปัญหาสำคัญกว่าที่ซ่อนอยู่ใต้นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่ไม่เข้าท่านี้ คือปัญหาช่องว่างรายได้ระหว่างคนชนบทกับคนเมืองที่ยังถ่างกว้าง
   
เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักข่าวรอยเตอร์ก็วิพากษ์วิจารณ์อีก และที่กำลังฮือฮากันมากก็คือ เรื่องที่ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ระบุในรายงาน "แนวโน้มเครดิตของมูดีส์" ฉบับวันที่ 3 มิ.ย.2556 ว่า ความเสียหายในช่วงที่ผ่านมาจากโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554-2555 และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการที่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปนั้น จะทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้นที่รัฐบาลจะบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุลภายในปี 2560 และเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ Baa1 โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพ
   
ในสายตามูดี้ส์นั้น โครงการรับจำนำข้าวเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย
   
ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องโต้แย้งกลับ
   
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า กรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวจะส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยระยะยาวนั้น รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะทำโครงการรับจำนำข้าวถาวร และที่ผ่านมาภาครัฐพยายามจัดทำโซนนิ่งเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับชาวนาไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนโครงการรับจำนำในปีต่อไปยืนยันว่ามีเงินใช้เพียงพอจากกรอบเดิม 4.1 แสนล้านบาท ไม่ต้องกู้เพิ่ม
   
ชาวนาไทยต้องรับทราบด้วยว่า ข้าราชการระดับสูงบอกว่า "รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะทำโครงการรับจำนำข้าวถาวร" หมายความว่าอาจจะเลิกรับจำนำข้าวเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
   
ทางฝ่ายการเมืองนั้น   นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าวว่า ได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าวของมูดีส์แล้ว และคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) น่าจะมีการให้ความเห็นและคำอธิบายเรื่องนี้ตอบกลับไปยังมูดีส์ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา มูดีส์อาจได้ข้อมูลโครงการนี้จากสาธารณชนมากกว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นทางการ
   
ผลการขาดทุนอะไรเท่าไหร่ ตัวเลขของมูดี้ส์ไม่ตรงกับของทางการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ท่านบอกว่า โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลย่อมขาดทุนแน่นอน เพราะเป็นการซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูง เพื่อช่วยพยุงสร้างรายได้แก่เกษตรกร แต่จะต้องระบายออกในราคาใกล้เคียงกับราคาตลาด อีกทั้งโครงการรับจำนำไม่ใช่เป็นโครงการที่แสวงหาผลกำไร ดังนั้น การขาดทุนจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ตัวเลขการขาดทุนไม่น่าจะมากถึง 2.6 แสนล้านบาท เพราะใช้เงินสำหรับโครงการรับจำนำปี 54/55 รวม 2 รอบ 3.37 แสนล้านบาท และเงินที่คาดการณ์ว่าจะใช้ของปี 55/56 อีก 3.02 แสนล้านบาท ขณะที่การคืนเงินจากการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กระทรวงการคลังนั้น ยังถือว่าใกล้เคียงกับแผนที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด แต่อาจล่าช้าบ้างเพราะผู้ซื้อยังขนข้าวไม่หมด
   
ก็อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า เรื่องนี้ยังต้องเถียงกันไปอีกนาน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรลืมคำเตือนของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ที่มา.สยามรัฐ
========================================

สรรพากร เตรียมรับศึกหนัก แจงเก็บ VAT- ภาษีนิติบุคคลยอดลดลง !!?

“สรรพากร” เตรียมรับศึกหนักจัดเก็บรายได้ครึ่งปีหลัง เผยภาษีเงินได้นิติบุคคลปรับลดลง ล่าสุด รายได้ 8 เดือนแรกงบปี 56 รายได้โตแค่ 2.72% พร้อมแจงเก็บแวตได้ลดลง
     
       นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2556 ว่า กรมฯ สามารถจัดเก็บรายได้ได้จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.9 หมื่นล้านบาท หรือ 2.72% ในจำนวนนี้ เป็นรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 2.08 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10.93% ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ประมาณ 2.89 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.93 หมื่นล้านบาท หรือ 6.27% ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 4.69 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3.2 พันล้านบาท หรือ 0.69%
     
       นอกจากนี้ ยังมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บได้จำนวนประมาณ 1.04 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.78 หมื่นล้านบาท หรือ 20.63% ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้ 3.16 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5.6 พันล้านบาท หรือ 21.78% อากรแสตมป์ 8.46 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.47 พันล้านบาท หรือ 21.17% และรายได้อื่นๆ 183 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 24 ล้านบาท หรือ 15.70%
     
       ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้ในเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่า จัดเก็บได้ 2.9 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือ 4.28% ส่วนสำคัญเป็นผลจากยอดการจัดเก็บรายได้จากภาษีนิติบุคคล ซึ่งปรากฏยอดการจัดเก็บรายได้ จำนวน 1.14 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 18.03% ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จัดเก็บได้ 5.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.5 พันล้านบาท หรือ 7.56%
     
       “ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงเป็นผลจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 23% แต่เราก็มีรายได้ตัวอื่นมาทดแทน ทำให้ยอดรวมการจัดเก็บ 8 เดือน ยังเกินกว่าเป้าหมาย 2.9 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่าทั้งปีเรายังจะจัดเก็บได้ตามประมาณการ ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงนั้น เป็นเพราะภาษีที่เก็บจากการนำเข้าลดลง แต่ภาษีที่เก็บจากการบริโภคในประเทศยังเป็นไปตามเป้าหมาย” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว
     
       นายสาธิต กล่าวว่า กรมสรรพากรยังเหลือศึกหนักจากการจัดเก็บรายได้นิติบุคคลในครึ่งปีหลัง เพราะเป็นช่วงของอัตราภาษีที่ลดลงเหลือ 20% อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ใช้นโยบายในการตรวจสอบข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการล่วงหน้า เพื่อประเมินรายได้ทั้งปีของผู้ประกอบการ โดยนำรายได้ของปีก่อนๆ มาอ้างอิง ซึ่งจะทำให้กรมฯ สามารถรู้ยอดรายได้ที่จะเข้ามาว่าจะมีจำนวนเท่าใด เมื่อเราตามติดอย่างใกล้ชิด จะทำให้การยื่นภาษีที่ผิดปกติมีน้อยลง

ที่มา.ผู้จัดการ
--------------------------------------------------

เงิน 5 ล้านล้าน ในมือรัฐบาล !!?

คอลัมน์ สามัญสำนึก

เรียกได้ว่าต่อแต่นี้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีเม็ดเงินรองรับการใช้จ่ายและลงทุนร่วม 5 ล้านล้านบาท เพราะนอกจากเงินงบประมาณที่สภาเพิ่งผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 2.5 ล้านล้านบาท รัฐบาลยังมีเงินกู้จาก พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่อยู่ในมือนักการเมือง ทำให้เกิดความเป็นห่วงในวิธีการใช้เงิน โดยเฉพาะประเด็น "ทุจริตคอร์รัปชั่น" คงจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่คงทวีความรุนแรงขึ้นตามเม็ดเงินการลงทุน

แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการลงทุน หลังจากที่ประเทศไทยห่างหายจากการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์มานาน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้รับการแก้ไข หรือตรวจสอบในระดับเข้มข้น แน่นอนว่าจะทำให้ความคุ้มค่าการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐลดทอนไปตามลำดับ ทั้งความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือผลต่อการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ "บรรยง พงษ์พานิช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร หนึ่งในนักธุรกิจที่ประกาศจุดยืนต่อต้านคอร์รัปชั่นระบุว่า นอกจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนของรัฐบาล "ล้มเหลว" ก็คือ การตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานข้อมูลที่ผิดพลาด

แต่ประเด็นนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดพลาดในการประเมินข้อมูลของทางการ หรือว่าเป็นความตั้งใจทำข้อมูลให้สวยหรูเพื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุน

เช่นบทเรียนจากโครงการ "แอร์พอร์ตลิงก์" ที่มีการใช้เงินลงทุนไปราว 4 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 1.6 แสนคนต่อวัน แต่ข้อเท็จจริงมีแค่ 4 หมื่นคนต่อวันเท่านั้น

ผลที่ออกมาคือ การดำเนินโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ประสบปัญหาขาดทุน เฉลี่ยเดือนละเกือบ 2 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารต่ำกว่าที่ประมาณการก่อการลงทุนมาก

จึงเกิดคำถามต่อว่า ข้อมูลที่รัฐบาลประมาณการผู้ใช้บริการเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุนรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนนั้น อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีไฮสปีดเทรนสายกรุงเทพฯ-หนองคายที่รัฐบาลต้องใช้งบฯลงทุนราว 1.79 แสนล้าน โดยประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยราว 4.1 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่มี

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายออกมาให้ข้อมูลแย้งว่า ณ ปัจจุบันมีผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินเข้าสู่ 6 จังหวัดภาคอีสานวันละกว่า 3 พันคนเท่านั้น และประชาชนที่เดินทางโดยรถทัวร์เข้าสู่อีสานอีกประมาณ 4-5 หมื่นคนต่อวัน

ขณะที่กระทรวงคมนาคมประเมินว่า จะมีคนนั่งไฮสปีดเทรนไปหนองคายจังหวัดเดียววันละกว่า 4 หมื่นคนน่าจะสูงเกินจริง ? และที่สำคัญอัตราค่าโดยสารไฮสปีดเทรนก็ไม่ได้ต่ำจนที่จะทำให้ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเดินทางด้วยไฮสปีดเทรนเป็นว่าเล่นได้ทุกวัน

หากข้อมูลเพื่อการลงทุนของภาครัฐไม่ได้อยู่บนข้อเท็จจริงเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อความคุ้มค่าการลงทุนโครงการของภาครัฐ ที่อาจกลายเป็นเพียงแค่การละเลงงบประมาณโดยที่ไม่มีใครตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ภาครัฐนำมาใช้อ้างอิง "ไม่ถูกต้อง"

แล้วจะมีใครสนใจว่า เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่อยู่ในมือรัฐบาลนั้น ที่สุดแล้วจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนได้มากแค่ไหน ตามที่โฆษณาชวนเชื่อไว้

หรือไม่ เพราะวันนี้ทุกฝ่ายขอเพียงแค่ให้รัฐบาลควักเงินออกมาใช้ไม่ว่าจะใช้แบบไหน เพื่อหวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรติ

นาคิน-ภัทร กล่าวว่า การลงทุนของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าการลงทุนจะดีจะเลวแบบไหน ในระยะสั้นจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกคนได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่การลงทุนที่เกิดจากการคอร์รัปชั่นจะทำให้ประเทศอ่อนแอลงเรื่อย ๆ แบบไม่รู้ตัว...

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------------