--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

น่าจะได้เวลา กลับสู่สามัญแบบทันสมัย !!?

โดย ไสว บุญมา
คอลัมน์ ระดมสมอง

ในช่วงเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้รับการยกย่องว่าพัฒนาได้รวดเร็วที่สุดในโลก เศรษฐกิจขยายตัวในอัตรากว่าร้อยละ 10 ต่อปีติดต่อกันเป็นเวลานาน ถนนหนทางถูกสร้างขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ตึกรามขนาดใหญ่เปลี่ยนสภาพบ้านเมืองให้ดูทันสมัยไม่ต่างกับในประเทศที่ก้าว หน้ามาก่อน

ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มก้าวเข้าสู่สภาพกินดีอยู่ดีและมี เศรษฐีเกิดขึ้นรายวัน ข่าวเรื่องชาวจีนไปกว้านซื้อสินค้าราคาแพงในตลาดโลกเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเหล้าองุ่นราคาขวดละหลายแสนบาท รถยนต์ราคาคันละหลายสิบล้านบาท หรือเพชรนิลจินดาที่แทบไม่ต้องถามราคากัน

ฉะนั้นมันจึงดูจะขัดความ รู้สึกอยู่บ้าง เมื่อนิตยสาร Bloomberg Businessweek ประจำวันที่ 6-12 พฤษภาคมที่ผ่านมา พาดหัวบทความหนึ่งว่า "ชาวจีนเครียดพากันไปอยู่ในป่าเขา" แล้วให้เหตุผลสั้น ๆ ก่อนที่จะเสนอรายละเอียดว่า เพราะ "อากาศเลว อาหารเลว จราจรเลว สิ่งเหล่านี้ไม่มีในมณฑลยูนนาน"

เหตุผลสั้น ๆ นั้นน่าจะกระจ่างพอสำหรับผู้ที่ติดตามความเป็นไปในจีนหลาย ๆ ด้าน สื่อรายงานไม่ขาด เรื่องอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เรื่องอาหารขาดมาตรฐานทางคุณค่าและสุขอนามัย เรื่องความแออัดและความติดขัดของการจราจรตามเมืองใหญ่ ๆ เรื่องการแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการหารายได้ หรือในด้านการบริโภคแบบสุดโต่งเพื่อโอ้อวดสถานะทางสังคม

มณฑลยูนนาน ไม่มีสิ่งเหล่านั้นเพราะอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของการพัฒนา และความก้าวหน้าร่วมสมัย โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เมืองขนาดยักษ์ เช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ยังไม่เกิด โรงงานขนาดใหญ่ เช่น ในแถบตะวันออกของประเทศ ก็ไม่มี ป่าไม้และภูเขายังไม่ถูกทำลาย สายน้ำลำห้วยยังใสสะอาด และอากาศยังปราศจากหมอกควัน

ชาวจีนผู้มอง เห็นโทษของความก้าวหน้า เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นสำคัญกว่าความทันสมัยของชีวิตในเมืองขนาดใหญ่ในย่าน ตะวันออกของประเทศ พากันอพยพไปตั้งหลักแหล่งในมณฑลยูนนาน แม้มันจะอยู่ห่างจากนครปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้หลายพันกิโลเมตรก็ตาม

บท ความนั้นยกตัวอย่างผู้จัดการโรงงานในย่านนครเซี่ยงไฮ้คนหนึ่ง ซึ่งอายุเพียง 28 ปี และมีรายได้สูง เขาขายสมบัติ เช่น ห้องชุด และรถยนต์ เมื่อ 6 ปีก่อน แล้วอพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่อยู่ในเมืองเล็ก ๆ ทางตะวันตกของมณฑลยูนนาน ชื่อ ลิเจียง ซึ่งอยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้เกือบสามพันกิโลเมตร

เขา เลี้ยงชีพด้วยการทำบ้านพักแรมเล็ก ๆ สำหรับผู้ไปพักผ่อนชั่วคราว เพื่อสูดอากาศอันบริสุทธิ์ และชมทิวทัศน์อันงดงามของลิเจียง ซึ่งอยู่ ณ ตีนเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 5.6 กิโลเมตร

ย้อนไป 15 ปี แทบไม่มีใครจากภายนอกเข้าไปตั้งหลักแหล่งในลิเจียง แต่ ณ วันนี้ ร้อยละ 95 ของประชากรราว 2 หมื่นคนของเมืองนี้เป็นผู้ที่ลี้ภัยความก้าวหน้ามาจากส่วนต่าง ๆ ของจีน ลิเจียง เป็นหนึ่งในหลายเมืองของมณฑลยูนนานที่กำลังเป็นที่นิยมของชาวจีนที่มีความ คิดเช่นเดียวกับผู้จัดการโรงงานดังกล่าว

สำหรับผู้ติดตามวิวัฒนาการด้านการพัฒนามาเป็นเวลานาน ปรากฏการณ์ที่ เกิดขึ้นในจีนนั้นมิใช่ของใหม่ เนื่องจากมันเกิดขึ้นในหลายส่วนของโลกที่พัฒนาก้าวหน้ามาก่อนจีน แต่เรื่องราวของพวกเขามักไม่เป็นข่าว เนื่องจากจีนพัฒนารวดเร็วกว่าพวกเขามาก พร้อมกับมีผู้คนมากกว่าพวกเขานับสิบนับร้อยเท่าด้วย

ผลพวงทางด้าน ลบของการพัฒนาที่เกิดขึ้นในจีน จึงมองเห็นได้อย่างเด่นชัดในช่วงเวลาอันสั้น และชาวจีนที่ลี้ภัยจากผลพวงนั้นก็เกิดขึ้นจำนวนมากอย่างรวดเร็วด้วย ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะเป็นที่ประจักษ์ต่อนักพัฒนาและชนชั้นผู้มีการศึกษาสูง ของโลก แต่นโยบายของทุกประเทศยังมุ่งไปที่การพัฒนาให้ก้าวหน้าดังที่ทำกันมานับ ศตวรรษ

แทนที่จะหยุดคิดสักนิดหนึ่ง ว่าการพัฒนาที่ทำกันมานั้นมีผลจริง ๆ อย่างไร

คงด้วยเหตุนี้ เมื่อมีผู้ถามท่านทะไล ลามะ ว่า "อะไรที่มนุษยชาติทำให้ท่านแปลกใจที่สุด" ท่านตอบว่า "มนุษย์ยอมเสียสุขภาพเพื่อหาเงิน แล้วก็ยอมเสียเงินเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ"

กระบวน การและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น อาจมองได้ว่าอยู่ในลักษณะของสามเหลี่ยม นั่นคือย้อนไปในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า และการพัฒนายังไม่ก่อให้เกิดรายได้ถึงขนาดที่ใช้บริโภคกันแบบสุดโต่ง อย่างกว้างขวาง

สังคมต่าง ๆ ตั้งอยู่ ณ จุด A หลังเกิดเทคโนโลยีใหม่ ทุกสังคมตะเกียกตะกายเพื่อจะไปยังจุด B ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่เอื้อให้คนส่วนใหญ่สามารถบริโภคได้แบบสุด โต่ง แต่การตะเกียกตะกายนั้น ทำลายทั้งสุขภาพของบุคคลและความสมดุลของโลกจากความเครียด จากการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จากความแออัด และจากการบริโภคแบบสุดโต่ง

กระบวนการนี้มีผู้มองเห็นว่าไม่คุ้มค่า พวกเขาจึงพากันกลับไปใช้ชีวิตจำพวกที่ไม่ต้องมีสิ่งต่าง ๆ ดังที่จุด B มีอยู่ หรืออาจเรียกว่าพวกเขาพยายามกลับไปสู่สามัญก็น่าจะได้

แต่ เนื่องจากพวกเขาเข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากกว่าผู้คนในสมัยที่ยังไม่เริ่มกระบวน การพัฒนาจาก A ไปยัง B พวกเขาจึงเคลื่อนไปอยู่ ณ จุด C ซึ่งไม่มีการบริโภคแบบสุดโต่ง อันเป็นปัจจัยหลักของการทำลายสุขภาพของตัวเอง และทำลายความสมดุลของโลก

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ อาจพูดได้ว่ามีผู้คนไม่เกินร้อยละ 0.01 ที่ตระหนักในกระบวนการดังกล่าว และพยายามดำเนินชีวิตแบบที่อยู่ ณ จุด C ส่วนที่เหลือร้อยละ 99.9 ไม่ใส่ใจ จึงยังตะเกียกตะกายหาเงิน แม้การหานั้นจะทำลายสุขภาพ ทำให้ต้องใช้เงินที่หามาได้ทำลายทรัพยกรโลกต่อไปเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

ในขณะเดียวกัน การหารายได้นั้นก็ทำลายทรัพยากรโลก ส่งผลให้ต้องใช้ทรัพยากรของโลกเพื่อฟื้นฟูความสมดุลของโลกอีกทอดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้

จึงอาจสรุปได้ว่า การพัฒนาที่ผ่านมา มิได้วางอยู่บนฐานของปัญญา มันจึงกำลังพาโลกไปสู่ความล่มสลายก่อนเวลาอันควร นอกเสียจากว่า คนส่วนใหญ่จะพากันกลับไปสู่สามัญในเร็ววันขึ้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------------------------

ถวิล เปลี่ยนสี ดิ้นสู้คืนตำแหน่งเก้ออี้เลขาฯสมช. ยิ่งลักษณ์. ยื้อถึงฎีกา !!?

เป็น เวลากว่า 1 ปี 8 เดือน ที่ "ถวิล เปลี่ยนสี" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ตำแหน่ง "เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ" (สมช.) กลับคืนมา หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งโยกเข้ากรุสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 เพื่อเปิดทางให้คนที่รัฐบาล "ไว้ใจ" มาคุมหน้าที่งานด้าน "ข่าวกรอง" แทน

แต่พลันที่ศาลปกครองกลางมีคำ สั่งเพิกถอนคำสั่งโยกย้ายดังกล่าว "ถวิล" ก็ลุกจากกรุขึ้นมาทวงความชอบธรรมที่สูญเสียไป ด้วยการขอกลับไปนั่งเก้าอี้เลขาฯ สมช.ตามเดิม และปฏิเสธที่จะไม่ขอไปนั่งไลน์ปลัดกระทรวง แม้จะเป็นตำแหน่งระดับ 11 เท่ากันก็ตาม

หากปฏิบัติการทวงคืนเก้าอี้ของ "ถวิล" มิใช่ของง่าย เพราะ "ถวิล" ถูกมองว่าเป็นข้าราชการต่างขั้วอำนาจ เป็นเด็กของ "พรรคประชาธิปัตย์" หากให้ "ถวิล" มานั่งเลขาฯ สมช. อาจกลายเป็น "หอกข้างแคร่" คอยทิ่มแทงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เพราะที่ผ่านมา "ถวิล" เคยเดินขึ้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ปากคำกรณี "ชายชุดดำ" ว่าเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของคน 91 ศพ ในเหตุการณ์ความวุ่นวายเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 ทั้งที่ฝ่ายคนเสื้อแดงและคนในพรรคเพื่อไทยต่างออกมาถามว่า "ใครคือชายชุดดำ"

สำคัญกว่านั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ให้คืนตำแหน่งของ "ถวิล" นั่นคือ "พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร" เลขาฯสมช.คนปัจจุบัน ที่ถูกมองว่าเป็นสายตรงของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ผู้มีบารมีตัวจริงในพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด ย่อมเลือกหนทาง "ยื้อ" จนถึง "ฎีกา" ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน ตามกฎหมายที่เปิดช่องเอาไว้

"พิชิต ชื่นบาน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรค และยังเป็นทีมกฎหมายส่วนตัวของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ออกมาย้ำความคิดของรัฐบาลว่า "พล.ท.ภราดร" เลขาฯ สมช.คนปัจจุบัน ทำหน้าที่แข็งขันกว่า "ถวิล" ในเรื่องปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นรัฐบาลควรยื่นอุทธรณ์

"ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง แล้ว พบว่าไม่มีการระบุว่าการโยกย้ายเป็นเรื่องกลั่นแกล้ง เพียงแต่มีการรีบเร่ง ซึ่งข้อเท็จจริงคือรัฐบาลต้องการปรับเปลี่ยนเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะนั้น โดยฝ่ายบริหารคิดว่าจะต้องเอาคนที่เหมาะสมเข้ามาดูแลสถานการณ์แทน ซึ่งเลือกไปที่ พล.ท.ภราดร"

อย่าง ไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลหวังเล่นเกมยื้อคืนเก้าอี้เลขาฯ สมช. โดยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แล้วรอจนกว่าศาลจะตัดสิน เพื่อให้ "ถวิล" เกษียณอายุราชการไปก่อน

เหมือนครั้งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เล่นเกมยื้อคืนตำแหน่งให้กับ "พีรพล ไตรทศาวิทย์" อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกเด้งเข้ากรุไปนั่งตบยุงในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กว่าศาลปกครองจะตัดสิน "พีรพล" ก็อำลาราชการไปแล้ว

แต่ครั้งนี้การ เดินเกมยื้อของ "ยิ่งลักษณ์" อาจยากกว่ายุค "อภิสิทธิ์" เพราะ "กล้านรงค์ จันทิก" กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ช่องให้ "ถวิล" สามารถแจ้งข้อกล่าวหา "ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อ "ยิ่งลักษณ์" ได้ทันที หากนายกฯไม่ยอมคืนเก้าอี้เลขาฯ สมช.

จึงต้องจับตาดูว่ามหากาพย์ เก้าอี้เลขา สมช.จะลงเอยอย่างไร เพราะย้อนไปกว่า 1 ปี 8 เดือนที่ "ถวิล" ต้องพ้นจากเก้าอี้ เนื่องจากฝ่ายการเมืองต้องการ "ขยับ" เก้าอี้ "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ซึ่งขณะนั้นเป็นของ "พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" เพื่อเปิดทางให้ "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์" พี่ชาย "คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์" อดีตภรรยาของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.แทนที่ "พล.ต.อ.วิเชียร"

รัฐบาล ยิ่งลักษณ์จึงต้องหมุนวงรอบการโยกย้าย โดยให้ "ถวิล" ลุกออกจากเก้าอี้เลขาฯ สมช. เพื่อเปิดช่องให้ "พล.ต.อ.วิเชียร" ได้ย้ายจาก ผบ.ตร.มานั่งเลขาฯ สมช.

ก่อนจะเด้ง "ถวิล" เข้ากรุสำนักนายกฯ

และพลันที่ ตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมว่างลงในปีต่อมา ครม.ยิ่งลักษณ์ก็ย้าย "พล.ต.อ.วิเชียร" มานั่งในตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม แล้วจึงหยิบชื่อ "พล.ท.ภราดร" ขึ้นมาจากกรุในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ขึ้นมาเป็นเลขาฯสมช. อันมีผลเมื่อ 1 ตุลาคม 2555

ท่ามกลางแรงการเมืองที่ผันผวน ปัญหาไฟใต้ยังไม่มีท่าทีเบาบางลง แม้รัฐบาลจะเปิดเวทีพูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีหน่วยงาน สมช.เป็นตัวจักรสำคัญ มี "พล.ท.ภราดร" เป็นหัวหอก

การที่ศาลปกครอง กลางเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกฯที่โยกย้าย "ถวิล" พ้นจากตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน 2554 อันมีผลให้ "ถวิล" กลับเข้าสู้เก้าอี้เลขาฯ สมช.

อันเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึกอาจมีผลต่อการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ มีผลต่อการวางหมากทางการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย

นี่เป็นที่มาของมหากาพย์การช่วงชิงเก้าอี้เลขาฯ สมช. ที่กินเวลาการต่อสู้ยาวนานเกือบ 2 ปี

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------------------------------

จับตา : การประชุมเศรษฐกิจนานาชาติ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จะเริ่มขึ้นในอีก 15 วัน

สาระสำคัญของจัดการประชุมเศรษฐกิจนานาชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SPIEF) ปี 2556 คือ “การหาทางออกเพื่อสร้างเศรษฐกิจโลกยุคใหม่” ('Finding Resolve to Build the New Global Economy')

ผู้เข้าร่วมการประชุมจะประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตัวแทนด้านการเมือง ภาคธุรกิจ และด้านการเงินจากประเทศชั้นนำทั่วโลก เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะหารือกันเกี่ยวกับแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและยั่งยืนสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง

          ในปีนี้ ผู้บริหารจากบริษัทรายใหญ่ใหญ่หลายแห่งซึ่งติดอันดับของนิตรสารฟอร์บและฟอร์จูน ได้ยืนยันเข้าร่วมการประชุม SPIEF เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วย นายเจอร์เกน ฟิทส์เชิน (ธนาคารดอยช์แบงก์ เอจี), นายคลอส เคลนเฟล์ด (อัลโค อิงค์), นายฮูเบอร์ตัส ฟอน กรึนเบิร์ก (เอบีบี กรุ๊ป), นายแพทริก ครอน (อัลสตอม กรุ๊ป), นายโจฮันเนส เทย์สัน ((E.ON SE),นายจอห์น ที แชมเบอร์ส (ซิสโก ซิสเต็ม อิงค์), นายอีแวน กลาเซนเบิร์ก (เกลนคอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, นายไมเคิล เดล (เดล อิงค์), นายเร็กซ์ ดับเบิลยู ทิลเลอร์สัน (เอ็กซอนโมบิล คอร์เปอเรชั่น), โรเบิร์ต ดัดลีย์ (บีพี จำกัด), พาล กิบสการ์ด (ชลัมเบอร์เกอร์ ลิมิเต็ด), ไมเคิล แอล คอร์แบต (ซิตี้กรุ๊ป อิงค์), พอล โพลแมน (ยูนิลีวอร์ เอ็นวี), เฮอร์มาน เกรฟ (สเบอร์แบงก์), อเล็กซีย์ มิลเลอร์ (ก๊าซพรอม โอเจเอสซี), อิกอร์ เซคชิน (รอสแนฟ ออยล์ คอมพานี), วาจิท อเล็กเปรอฟ (ลุคออยล์ โอเจเอสซี) และผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ

          กำหนดการอย่างเป็นทางการของการประชุม SPIEF จะมุ่งเน้นที่ประเด็นหลักๆ ดังนี้ “ประเด็นการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก” (The Global Growth Agenda), “รัสเซียในประเด็นระดับโลก” (Russia in the Global Agenda), “แรงกระตุ้นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (New Catalysts for Change) และ “การสนทนาเพื่อสร้างความแตกต่าง” (Conversations to Make a Difference)

          เนื่องจากรัสเซียรับเป็นประธานการประชุม G20 ดังนั้นในวันที่ 20 มิถุนายนในปีนี้ SPIEF จึงจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดทางธุรกิจ B20 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาที่จะมาประชุมร่วมกันเพื่อทำงานด้วยวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลก สร้างงานใหม่ และปรับปรุงระบบการคลังและการเงิน โดยประเด็นดังกล่าวจะนำเสนอในที่ประชุมสุดยอด G20 ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก การประชุมครั้งนี้จะเป็นสถานที่จัดการประชุมทางธุรกิจระหว่างรัสเซียและกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมประชุม ผู้นำทั่วโลก และผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด ได้มีส่วนในการสร้างวาระการประชุมระดับโลก

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
-------------------------------------------------------------

นายสมชัย สัจจพงษ์ ติง มูดีส์ ใช้ตัวเลขรับจำนำข้าวผิดพลาด. !!?

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า ที่ประชุม ฯไม่ได้หารือกรณีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส ทำหนังสือสอบถามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทย

และเตรียมปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเครดิตของประเทศลง จากการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นภาระทางการคลัง และทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้น

ผอ.สศค. ยังได้กล่าว ตำหนิการทำงานของมูดี้ส์ ที่นำข้อมูลที่ผิดพลาดมาพิจารณา ในการรายงานข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งกรณีนี้ สศค.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว เพื่อทำหนังสือชี้แจงให้มูดี้ส์รับทราบอีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงทำให้กระทรวงการคลังขาดข้อมูลในการชี้แจงต่อมูดี้ส์ แต่ยอมรับว่าการรวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำเป็นเรื่องยาก เพราะกระทรวงการคลังรับทราบเพียงข้อมูลเงินกู้ที่ใช้ในโครงการจำนวน 4.1 แสนล้านบาท และสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. อีก 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 5 แสนล้านบาทเท่านั้น

เบื้องต้นกระทรวงการคลังจะชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการรับจำนำข้าวรอบใหม่ ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร และจะใช้เงินจากส่วนใด เพราะมูดี้ส์จับตามองว่ารัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าว ซึ่งทำให้ฐานะการคลังของประเทศมีปัญหา และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ถูกลดเครดิต

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
----------------------------------------------

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อินเดีย : โอกาสและข้อจำกัด !!?

คอลัมน์ คิดนอกรอบ

ประเทศที่กำลังส่องแสงเจิดจรัสเตะตานักลงทุนจากทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ "อินเดีย" เป็นอีกประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว และเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีน และญี่ปุ่น แต่นับเป็นอันดับ 10 ของโลก

ปัจจัยสำคัญที่สร้างโอกาสให้แก่อินเดีย ประการแรก คือการเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนกว่า 1,200 ล้านคน ประการที่สอง คือเป็นประเทศที่ยังอุดมด้วยทรัพยากร และมีพื้นที่มาก ประการที่สาม คืออัตราการเติบโตของรายได้ประชากรในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้หลายปีที่ผ่านมา สภาพเมืองในชนบทจะล้าหลัง มีความเจริญน้อยมาก แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างกลับเปลี่ยนแปลงไป และด้วยเหตุผลอีกนานัปการ ทำให้อินเดียหรือดินแดนภารตะแห่งนี้กลายเป็นประเทศที่ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวผู้พิสมัยการผจญภัยจากทั่วทุกสารทิศจะชมชอบเดินทางไปท่องเที่ยว และแสวงหาความหมายของชีวิตเท่านั้น

สำหรับนักลงทุนทั่วโลกต่างหมายตามองดินแดนแห่งนี้อย่างมีความหวัง เนื่องเพราะเป็นแหล่งธุรกิจสำคัญที่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล

"อินเดีย" วันนี้จึงมีทั้ง "โอกาส" และ "ข้อจำกัด" อยู่ที่ว่าใครจะสามารถพิเคราะห์มองเห็นความเป็นไป และแปรเปลี่ยนให้เป็น "ความจริง" ได้

แม้ลู่ทางการลงทุนในอินเดียดูสดใสเปิดกว้าง แต่ใช่ว่าจะไร้ซึ่งปัญหาอุปสรรคเสียทีเดียว เพราะอินเดียยังมีข้อจำกัดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากการที่เศรษฐกิจอินเดียมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ดังนั้น ปัจจัยภายนอกจึงส่งผลกระทบต่ออินเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา วิกฤตด้านราคาอาหาร และเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่อสภาวะเงินเฟ้อในอินเดีย ที่กลายเป็นปัญหาทางสังคมและการเมือง ที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขต่อไป รวมถึงยังมีปัญหาและอุปสรรคอื่น ๆ อีกมาก

ทั้งนี้ อุปสรรคปัญหาที่ถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่น ๆ 2.การขาดแคลนพลังงาน 3.ความล่าช้าในการผ่อนคลายกฎระเบียบการค้าการลงทุน 4.อัตราเงินเฟ้อ ปี 2553 สูงถึงร้อยละ 12 ก่อนจะลดลงบ้างในปีถัดมา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องเผชิญอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง "พลังงาน" ธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานอาจต้องมีแผนการรองรับด้วยการมีเครื่องสำรองไฟไว้ เพราะปัจจุบันอินเดียมีไฟฟ้าไม่พอใช้ ในบางพื้นที่ถูกตัดไฟถึงเดือนละ 15 วัน แผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในอินเดียไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างต่อไปได้ เนื่องจากถูกชาวบ้านออกมาประท้วง

อีกประเด็นหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน คือปัญหาการถือครองที่ดินซึ่งมีความซับซ้อนมาก แม้กระทั่งปัญหาแรงงานภายใต้ผู้คนที่มีความหลากหลาย ในหลักศรัทธาความเชื่อและพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องภาษา อินเดียมีภาษาฮินดีเป็นภาษาทางการ แต่ในความเป็นจริง รัฐในอินเดีย ซึ่งมี 27 รัฐนั้น มีภาษาพูด และนับถือศาสนาที่

แตกต่างกัน และในด้านสภาพสังคมนั้นก็เป็นประเทศที่มีทั้ง "วรรณะ" และ "ชนชั้น" ซึ่งในแต่ละวรรณะและชนชั้นนั้นก็มีการแบ่งแยกระดับแตกต่างกันอีก พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ อาจแตกต่างกันไป

ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องพิจารณาก่อนเข้าไปลงทุน

ในส่วนของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เริ่มเข้าไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในอินเดียตั้งแต่ปี 2533 หรือกว่ายี่สิบปีมาแล้ว โดยในปี 2535 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลอินเดียให้ก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารกุ้งที่เมืองเชนไน (Chennai) จนถึงปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในฐานการลงทุนสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์

เส้นทางสู่แดนภารตะของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูล โดยมีข้อมูลจากทางราชการของอินเดีย และจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินใจควบคู่ไปกับการเข้าไปสำรวจพื้นที่ สำรวจตลาด รวมถึงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอินเดีย มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อไป แม้ว่าความเร็วของการเติบโตจะชะลอตัวลงบ้าง แต่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญต่อการสานต่อนโยบาย และให้ความสำคัญต่อ 3 ประเด็น คือการสนับสนุนรายได้เกษตรกร การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการลดแรงกระตุ้นสภาวะเงินเฟ้อ

ภายใต้ "วิกฤตย่อมมีโอกาส" ภายใต้ ความสับสนอลหม่านย่อมถูกขจัดได้ด้วย

"ข้อมูล" ที่ถูกต้องแน่ชัด เพียงแต่นักลงทุนจะ "เปิดใจ" และพร้อมเรียนรู้ศึกษาปัจจัยรอบด้านเกี่ยวกับอินเดีย เพื่อ

ปรับแนวทางการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนหรือสังคมนั้น ๆ ได้อย่างไร

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

อัพเกรดเชียงใหม่เมืองลองสเตย์ โยง ท่องเที่ยว 4 จังหวัด !!?



กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ผลักดันธุรกิจลองสเตย์เต็มที่ วางเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เผยญี่ปุ่นย้ายมาปักหลักแล้วกว่า 3 หมื่นคน คาดจะเติบโตอีก 20% ชี้กฎระเบียบภาครัฐและภาษายังเป็นอุปสรรค เอกชนชี้ต้องแบรนดิ้งเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางเมืองลองสเตย์ ดันรายได้พุ่งปีละหมื่นล้าน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือ มีข้อได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปีละหลาย 10 ล้านคน ดังนั้นกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) มีความพร้อม สามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว หรือ Long Stay ในอนาคตได้ โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ไปยังทุกจังหวัดในกลุ่ม

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือการแพทย์ (Medical Tourism) เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกลุ่มจังหวัด โดยให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในภูมิภาค ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจทุกกลุ่ม เช่น โรงพยาบาล คลินิก บริษัทท่องเที่ยว โรงแรม สถานพักฟื้น นวดแผนไทย สปา

ในอนาคตอันใกล้จะมีผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นเดินทางมาพำนักที่เชียงใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ปัจจุบันเข้ามาพำนักอยู่แล้ว 3,800-4,000 คน และยังมีผู้สูงอายุประเทศอื่นอีกในสัดส่วนใกล้เคียงกัน จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 6,000-7,000 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุหรือวัยปลดเกษียณชาวญี่ปุ่นมีประมาณ 8 แสน-1 ล้านคน และมีผู้ที่อายุเกิน 60 ปีในญี่ปุ่นประมาณ 7-8 ล้านคน โดยสัดส่วน 18% จะชอบเดินทางไปพำนักในประเทศอื่น ๆ ดังนั้น

จะต้องทำให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เป็นพื้นที่เป้าหมายที่ชาวญี่ปุ่นจะต้องเดินทางมาท่องเที่ยวให้ได้

ด้านนายวิทยา ฉุยกลัด ผู้ช่วยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นมาพำนักอาศัยในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 กว่า 3 หมื่นคน ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด ขณะนี้ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถเข้าใจตลาดลองสเตย์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับภาคธุรกิจ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ การบริการสุขภาพ อาหาร ที่พัก สันทนาการ การขนส่ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดลองสเตย์ทั้งในและต่างประเทศได้

"โครงการจะเน้นการประชุมพบปะกันระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจลองสเตย์ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กับตัวแทนชาวญี่ปุ่นที่พำนักในเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ พร้อมทั้งมีโครงการคัดเลือก

โรงพยาบาล ที่พัก อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการสุขภาพ อาหาร ฯลฯ ประมาณ 30 คน ไปร่วมทริปสำรวจศักยภาพ และจับคู่ธุรกิจลองสเตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น"

ขณะที่นายเฉลิมชาติ นครังกุล ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 ญี่ปุ่นจะมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 50% ของประชากร ทำให้เหลือวัยทำงานราว 30% ซึ่งในอนาคตเชียงใหม่จะเป็นเป้าหมายสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น หรือจากประเทศทางตะวันตกที่จะมาพำนักเพิ่มขึ้น โดยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาธุรกิจลองสเตย์ เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต

นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 1 กล่าวว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากศักยภาพของการเป็นเมืองน่าอยู่ ประกอบกับแนวโน้มของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลก รวมทั้งแรงกระตุ้นจากค่าครองชีพและภัยพิบัติในญี่ปุ่น เป็นตัวเร่งให้จำนวนผู้พำนักระยะยาวในเชียงใหม่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องกฎระเบียบภาครัฐ ภาษา และการตลาด

ทั้งนี้ เป้าหมายระยะสั้นคือจังหวัดเชียงใหม่ต้องเร่งสร้างแบรนด์เชียงใหม่ให้เป็นที่จดจำ และเป็นจุดหมายปลายทางอันดับแรกในใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5 พันล้านบาท ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ การกำหนดให้เชียงใหม่เป็นเมืองแรกที่นักท่องเที่ยวจะนึกถึงสำหรับการท่องเที่ยวแบบ Long Stay ในทวีปเอเชีย และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท

 ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธ.ก.ส.อ่วม ส่อวืดเงินจำนำข้าวคืน !!?

ธ.ก.ส.!อ่วม ส่อวืดเงินจำนำข้าวคืน หลังจากใช้เงินดำเนินโครงการเกินมติครม.กำหนดไว้ที่ 5 แสนล้าน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รายงานตัวเลขวงเงินที่ใช้ในโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ช่วงเวลาการผลิตปี 2554/2555 และปี 2555/2556 มีวงเงินสูงกว่า 6.6 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินดำเนินโครงการ ตามมติครม.เมื่อเดือนต.ค. 2555 โดยแบ่งเป็นเงินกู้ วงเงิน 4.1 แสนล้านบาท และสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท โดยประมาณการว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2556 หรือสิ้นเดือนก.ย. วงเงินที่ใช้ดำเนินการจริง อาจจะสูงถึง 7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ตัวเลขการดำเนินโครงการที่สูงกว่ามติ ครม. ที่กำหนดไว้ดังกล่าว อาจส่งผลต่อการตั้งงบประมาณชดเชยคืนให้แก่ ธ.ก.ส. ในส่วนของวงเงินที่เกินจากที่วงเงินขายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ต้องจ่ายคืนให้จำนวน 1.5-1.3 แสนล้านบาท เนื่องจากมติครม.กำหนดกรอบวงเงินดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรไว้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท หากกระทรวงการคลังจะชดเชยให้ ก็ต้องมีมติครม.รองรับให้ขยายกรอบวงเงินโครงการ เพราะจะผิดกฎหมายทันที

ธ.ก.ส.ผวาไม่ได้รับคืนเงินส่วนเกิน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เดิม ธ.ก.ส. มีแผนที่จะขอให้นำส่วนต่างการก่อหนี้ที่ยังไม่เต็มเพดาน โดยให้กระทรวงการคลังจัดหา หรือ ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม หรือออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้จะต้องชี้แจงและอธิบายให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว เพราะปัจจุบันทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ยังคงออกใบประทวนจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 เกือบจะถึง 15 ล้านตันแล้ว และมีแนวโน้มรับจำนำข้าวนาปรังอีก 7 ล้านตัน ทำให้ ธ.ก.ส.เกรงว่าจะมีวงเงินใช้ดำเนินโครงการไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม หาก ครม. ยืนยันว่าจะไม่ขยายกรอบวงเงิน กระทรวงการคลังก็คงไม่สามารถกู้เงิน ทำให้ ธ.ก.ส. มีข้อจำกัดในการกู้เงิน นอกจากนั้น ขณะนี้การก่อหนี้ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ เกือบเต็มเพดานแล้ว โดยมีส่วนต่างๆ ที่ยังสามารถก่อหนี้หรือกู้เงินได้อีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แต่กระทรวงการคลังต้องสำรองวงเงินกู้นี้ไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เพื่อใช้ในโครงการลงทุนอื่นๆ ที่มีความจำเป็นด้วย จะให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือกอย่างเดียวคงไม่ได้

"กระทรวงพาณิชย์ จะต้องเสนอ ครม.เพื่อขอขยายกรอบวงเงินดำเนินโครงการเพิ่มเติมอีก ซึ่งล่าสุดมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการรับจำนำข้าวด้วย เคยยืนยันมาแล้วว่า จะไม่ขยายกรอบวงเงิน แต่จะให้ใช้เงินหมุนเวียนจากการระบายข้าว มาใช้รับจำนำข้าวรอบใหม่ ฉะนั้นหากไม่มีมติครม.รองรับ วงเงินที่ ธ.ก.ส.จ่ายไปในการรับจำนำข้าวส่วนที่เกินก็อาจไม่ได้รับชดเชยคืน และอาจต้องรับภาระวงเงินนั้นไว้เอง ซึ่งต้องดูว่าจะกระทบต่อสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. หรือไม่"

ธ.ก.ส.อ่วมโยกเงินโปะจำนำวุ่น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กล่าวว่า ในที่ประชุมกขช.นัดล่าสุด ได้มีรายงานเกี่ยวกับวงเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการจำนำข้าว โดยนาปี 2554/2555 ธ.ก.ส.จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 118,576 ล้านบาท เป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส.เอง 9 หมื่นล้านบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 28,576 ล้านบาท ส่วนโครงการจำนำนาปรังปี 2555 ธ.ก.ส. จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 218,670 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน 193,910 ล้านบาท เงินจากการระบายข้าว 20,850 ล้านบาท ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 3,910 ล้านบาท ขณะที่ ครม.อนุมัติให้นำเงินกู้จำนำข้าวไปใช้ในโครงการมันสำปะหลัง 27,836 ล้านบาท และใช้ในโครงการแทรกแซงยางพารา 15,000 ล้านบาท รวมวงเงินกู้จากสถาบันการเงินปี 2554/2555 เท่ากับ 265,322 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินกู้ 3,838 ล้านบาท จากที่ ครม.อนุมัติกู้ 269,160 ล้านบาท

วงเงินที่ใช้ในการดำเนินการปี 2555/2556 ครม.อนุมัติกู้เงิน 140,840 ล้านบาท กระทรวงการคลังกู้ถึงเดือนเม.ย. 107,428 ล้านบาท คงเหลือ 33,412 ล้านบาท รวมกับวงเงินกู้คงเหลือปี 2554/2555 จึงเท่ากับมีวงเงินกู้คงเหลือเพียง 37,250 ล้านบาท ขณะที่ ธ.ก.ส.จ่ายเงินจำนำข้าวไปแล้ว 219,738 ล้านบาท เป็นเงินกู้ 107,428 ล้านบาท เงินระบายข้าว 59,154 ล้านบาท ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 53,156 ล้านบาท และโครงการจำนำรอบ 2 ปี 2556 จ่ายไปแล้ว 31,724 ล้านบาท รวมวงเงิน ธ.ก.ส. สำรองจ่าย 84,880 ล้านบาท

ธ.ก.ส.สำรองจ่ายพุ่ง1.47แสนล้าน

ในการประชุมเพื่อพิจารณาวงเงินจำนำข้าวที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกฯเป็นประธานทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)แจ้งกับที่ประชุมว่าตามพ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ กำหนดว่ากระทรวงการคลังค้ำประกันได้ไม่เกิน 20% ของงบรายจ่ายปี 2556 จะกู้ได้แค่ 4.8 แสนล้านบาท ในโครงการจำนำข้าว ณ วันที่ 30 เม.ย.2556 ใช้วงเงินกู้จำนวนทั้งสิ้น 462,750 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้ 37,250 ล้านบาท เพื่อไม่ให้วงเงินกู้เกิน

สบน. ระบุว่าเมื่อ ธ.ก.ส. ได้รับเงินคืนขายข้าวต้องนำไปชดใช้หนี้เงินกู้ก่อน โดยให้นำไปใช้หนี้เงินกู้สภาพคล่อง ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้าน เพราะฉะนั้นเงินจากการขายข้าวคงเหลือ 59,154 ล้านบาท จะต้องส่งคืนเงินกู้ธ.ก.ส.ก่อน ดันนั้นเท่ากับว่า ธ.ก.ส.ต้องสำรองจ่ายเงินในการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 14 พ.ค. เป็นเงิน 147,944 ล้านบาท

บีบคลังค้ำประกันเงินกู้-ดอกเบี้ยเพิ่ม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการแก้ปัญหาเงินทุนจำนำข้าวนั้น กขช. ได้เห็นชอบให้ใช้หนี้เงินกู้ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านก่อน และนำเงินนั้นมาหมุนเวียนจำนำต่อ และหากยังไม่ได้รับเงินจากการขายข้าว กรณีเต็มวงเงินแล้ว ให้กระทรวงพาณิชย์ตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราวๆ เพื่อสำรองจ่ายโดยได้รับชดเชยต้นทุนเงินอัตรา FDR+1

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้น ดอกเบี้ย โดยรัฐบาลรับภาระทั้งหมดรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดของโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งที่ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายระหว่างรอจัดหาเงินกู้

ปัดข้อเสนอ "สุภา" ตั้งงบใช้คืน

อย่างไรก็ตาม ทาง สบน. มีข้อเสนอเพิ่มเติม โดยเฉพาะความเห็นของนางสาวสุภา ที่เสนอให้จำกัดกรอบเงินจำนำข้าว ไม่ว่ากรณีใดๆ กระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการให้มีการใช้เงินกู้ไม่เกิน 4.1 แสนล้านบาท และเงิน ธ.ก.ส.ไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 30 ก.ย. 2556 และข้อเสนอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบชำระคืนโครงการจำนำปี 2555/2556 ให้เสร็จภายใน 1 ปี ไม่เกิน 2 ปี โดยไม่ต้องรอระบายผลผลิตให้เสร็จก่อน

ซึ่งส่วนนี้ที่ประชุม กขช. ไม่เห็นชอบด้วย โดยการใช้วงเงินให้หารือกับนายนิวัฒน์ธำรงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขยายกรอบวงเงินและระยะเวลา ขณะที่การใช้คืนใน 1 ปีนั้นมีการระบุในที่ประชุมว่าไม่สามารถทำได้ เพราะต้องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับรองการปิดบัญชีก่อน

ชงครม.4 มิ.ย.ไฟเขียวกรอบงบใหม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการประชุมครม. วันที่ 4 มิ.ย. กระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบการจัดทำตัวเลขปริมาณและงบประมาณโครงการรับจำนำเป็นรายปี ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เห็นชอบในการประชุมเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา แทนมติเดิมที่แยกตัวเลขปริมาณและงบประมาณตามรอบเวลาการรับจำนำนาปีและนาปรัง โดยยังคงตัวเลขปริมาณและงบประมาณที่จะใช้ในโครงการรับจำนำปี 2555/2556 ที่ให้สิทธิเกษตรกรจำนำได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง

โดยคาดการณ์ข้าวเปลือกเข้าโครงการรับจำนำรอบแรก (นาปี 2555/56) 15 ล้านตัน และรอบ 2 (นาปรัง 2556) อีก 7 ล้านตัน และวงเงินหมุนเวียนสำหรับใช้ในโครงการรับจำนำ 4.1 แสนล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวมีความคล่องตัวขึ้น เดิมกำหนดปริมาณและกรอบใช้เงินเป็นรอบ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ของบประมาณเพิ่มหรือปรับตัวเลขคาดการณ์จำนำ ยังคงเป็น 22 ล้านตัน และการปิดบัญชีจะสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. พร้อมกัน ไม่ว่าจะจำนำรอบ 1 หรือ รอบ 2

ชี้ข้าวหมุนเวียนขายในประเทศ

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า ขณะนี้มีการระบายข้าวของรัฐบาลในหลายรูปแบบ ได้แก่ การระบายผ่านการทำโครงการข้าวถุงธงฟ้า ซึ่งมีการระบายหลายครั้งให้กับผู้ประกอบการหลายราย เพื่อนำข้าวจากโกดังรัฐบาลไปปรับปรุงสภาพและจัดส่งไปยังพื้นที่ ซึ่งพบว่ากระจายอยู่แถบจังหวัดลพบุรี และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีการส่งมอบข้าว ตามโครงการข้าวถุงธงฟ้าแต่อย่างใด

นอกจากนี้ มีการระบายผ่านบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่มีการส่งมอบติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้ส่งออกข้าวสูงสุดเมื่อปี 2555 โดยบริษัทดังกล่าวได้ประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาลแบบไม่ระบุโกดัง

"ที่บอกว่าขายข้าวเกือบหมดแล้ว ยังเป็นที่น่าสงสัยเพราะถ้ามีข้าวออกมาในตลาดไม่ว่าจะส่งออก แบบรัฐต่อรัฐ หรือข้าวที่ขายในประเทศ คนในวงการต้องรู้ต้องเห็นบ้าง แต่นี้ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าที่บอกมีออเดอร์จีทูจีนั้นเป็นจริงหรือไม่ เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามที่ราคาเฉลี่ยประมาณตันละ 360-370 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น จึงไม่น่าจะมีคำสั่งซื้อมาถึงไทย ยกเว้นอิรักที่ยอมสู้ราคา แต่ก็มีบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลเป็นผู้ขายและส่งมอบให้แล้วไม่ใช่รูปแบบการทำจีทูจีอย่างที่อ้าง"

ป.ป.ช.นำข้อมูลนพ.วรงค์เพิ่มคดีจำนำ

นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า ขณะนี้เอกสารที่ ป.ป.ช.ได้มา แม้จะมาจากผู้ร้อง เช่น สำเนาเช็ค แต่หากจะสอบจะต้องได้หลักฐานจากธนาคารที่มีการรับรองมาเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของพยาน จะประกอบด้วย พยานผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ป.ป.ช.สามารถเชิญมาให้ข้อมูลได้ทันที

ส่วนพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง จะต้องดูจากเอกสารว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือไม่ มีการเซ็นชื่อในเอกสารหรือไม่ และหากมีการเซ็นจะต้องนำมาดูว่าการเซ็นชื่อดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ด้านเอกสารต่างๆ ที่ป.ป.ช.ได้มาขณะนี้ก็ต้องมาดูในแต่ละแฟ้มมีเอกสารครบถ้วนหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้อนุกรรมการไต่สวนได้เชิญนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์มาชี้แจง โดยได้เพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งในส่วนรายละเอียดนางวัชรี จะให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงดำเนินการส่งเอกสารมาให้ต่อไป

นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า คณะทำงานของ ป.ป.ช. ได้รับทราบข้อมูลของการอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์แล้ว เพราะได้ให้เจ้าที่ติดตามการอภิปรายอยู่แล้วและเตรียมนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถบอกได้ว่าคดีนี้ จะพิจารณาได้เสร็จเมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และหากมีกรณีใดที่มีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องถูกไต่สวนเพิ่มเติม ก็จะต้องดำเนินการไต่สวนอีก

ด้าน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ได้ถอนตัวจากการเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ให้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว จึงเกรงว่าหากมาทำคดีนี้จะเกิดปัญหาประโยชน์ทับซ้อนได้ ทั้งนี้ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งให้นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. มาทำหน้าที่แทน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
=======================================

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ป.ป.ช. ยอมรับ คดี ปรส. เกี่ยวข้องการเมืองแน่นอน เร่งให้เสร็จก่อนหมดอายุความ 30 พ.ย.57

นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรม การไต่สวนคดี ปรส. ให้สัมภาษณ์ว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เรียกร้องให้ป.ป.ช.เร่งพิจารณาคดีนี้คิดว่าไม่เป็นการกดดัน คดีดังกล่าวมีที่มาจากการแปรทรัพย์ สินที่เป็นหนี้เน่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้ออกกฎระเบียบเพื่อแก้ปัญหาโดยมีข้อกล่าวหาใน 2 เรื่อง คือ 1.การออกข้อกำหนดไม่ถูกต้อง และ 2.การไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เป็นการเอื้อประโยชน์ โดยแบ่งออกมาเป็น 4 คดีที่ป.ป.ช.ดำเนินการ ขณะนี้ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของป.ป.ช. 2 คดี ซึ่งป.ป.ช. พิจารณาและส่งอัยการไปแล้ว 1 คดี อีกคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบของป.ป.ช. เป็นประเด็นเกี่ยวกับการทำสัญญาเอื้อประโยชน์

ซึ่งป.ป.ช.จะเร่งตรวจสอบให้เสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันอายุความที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย. 2557 ไม่ใช่วันที่ 21 มิ.ย.นี้ ตามที่กลุ่ม ผู้ชุมนุมเข้าใจ ต่อข้อถามว่า คดีนี้จะเชื่อมโยงถึงฝ่ายการเมืองหรือไม่ นายใจเด็ดกล่าวว่า ต้องเกี่ยวกับการเมืองแน่นอน เพราะการออกกฎหมายมาจากการเมือง แต่ป.ป.ช.จะดูเฉพาะกรณีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมือง โดยป.ป.ช.จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง  นายณรงค์ รัฐอมฤต เลขาธิ การป.ป.ช. มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือชี้แจงสื่อมวลชน เพื่อรายงานความคืบหน้าคดี ปรส.ว่า ตามที่สำนักงานป.ป.ช. รับคดีปรส.ไว้ 6 เรื่อง ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 4 เรื่อง และชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1 เรื่อง (เรื่องอยู่ขั้นตอนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา) ยังมีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1 เรื่อง ซึ่ง เจ้าหน้าที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน (31 ส.ค. 2556) เรื่องนี้ทั้งหมดจะขาดอายุความวันที่ 30 พ.ย. 2557

 กลุ่มภาคีพลังประชาชน (ภปช.) นำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมหาชนคนไทยหัวใจเดียวกัน ชุมนุมกันที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ โดยนายพงษ์พิสิษฐ์เผยว่าการชุมนุมครั้งนี้ใช้ชื่อกิจกรรมว่า "ลากไส้ ป.ป.ช. เคานต์ดาวน์ ปรส. 15 ปี อัปยศประเทศ" เพื่อติดตามทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการเอาผิดนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรมว.การคลัง ที่ดำเนินการบริหารองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ผิดพลาด จากการนำทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท ไปประมูลขายเพียง 190,000 ล้านบาท และการดำเนินการของ ปรส. ที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยชี้มูลความผิดไปแล้ว หากภายในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ซึ่งเป็นวันที่คดีหมดอายุความ ป.ป.ช.ยังไม่ดำเนินการเอาผิดบุคคลดังกล่าว กลุ่มภปช.จะแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะ และเรียกร้องให้ลาออกทันที  นายพงษ์พิสิษฐ์กล่าวต่อว่า คดี ปรส.ผ่านมา 15 ปี ป.ป.ช.ไม่เร่งรัดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม กลับให้เนิ่นนานจนจะหมดอายุความ เปรียบเทียบกับคดีปล่อยกู้เงิน 30 ล้านของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ป.ป.ช.กลับเร่งรีบดำเนินการไต่สวนเอาผิด อยากให้ป.ป.ช.ตอบคำถามประชาชนทั้งประเทศ เพราะกรณี ปรส.ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องตกงานและขาดทุนเป็นจำนวนมาก

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ข้อสังเกตโดยสังเขป : ต่อการไม่ใช้บังคับกฎหมายด้วยเหตุดาวเทียมอยู่นอกโลก !!?




เนื่องด้วยผู้เขียนมีความสนใจวิชากฎหมายอวกาศ เมื่อได้เห็นมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ให้เหตุผลอ้างอิงถึงประเด็นกฎหมายอวกาศ จึงเห็นควรแสดงข้อคิดเห็นบางประการ โดยจะพิเคราะห์ “เหตุผลทางกฎหมาย” ที่ปรากฏในมติดังกล่าว เฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจรัฐของไทยในอวกาศเป็นสำคัญ หาได้มีความมุ่งหมายที่จะพิจารณาความถูกต้องหรือความชอบด้วยกฎหมายของมติดังกล่าวไม่ เพราะเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งต้องแยกพิจารณาต่างหากตามหลักกฎหมายปกครอง อันอยู่นอกเหนือความสนใจของผู้เขียน

ข้อเท็จจริง

การประกอบกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ หน่วยงานหลัก คือ ๑. สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) เป็นเวทีกลางเพื่ออำนวยการจัดสรรสิทธิวงโคจร ๒. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีสถานะเป็นผู้บริหารจัดการแทนรัฐบาลไทย และ ๓. สำนักงานคณะกรรมกรกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแลและออกใบอนุญาต

ประเทศไทยได้รับสิทธิวงโคจรจาก ITU โดยจะต้องส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะเสียสิทธิวงโคจร ช่วงต้นปี ๒๕๕๕ ตำแหน่งวงโคจรที่ ๑๒๐ องศาตะวันออก จะครบกำหนดระเวลาที่ประเทศไทยจะต้องส่งดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิวงโคจร คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๔ มอบหมายให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม และการนำเอกสารข่ายงานดาวเทียม (filings) ที่ตำแหน่ง ๑๒๐ องศาตะวันออกให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ไปใช้งานสำหรับดาวเทียมที่จะจัดหามา โดยให้กระทรวง ICT ประสานงานกับกสทช. พิจารณาอนุญาตให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและการอนุญาตที่สอดคล้องกับกฎหมายต่อไป

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้นำดาวเทียมเอเชียแซท ๖ ของจีนเข้าสู่วงโคจรดังกล่าวแล้ว แต่บริษัทจะต้องสร้างดาวเทียมของไทยขึ้นมาภายใน ๒ ปีแทนดาวเทียมเอเชียแซท ๖ ทำให้บริษัทต้องขอรับใบอนุญาต การให้บริการเพื่อนำบริการลงมาสู่ประเทศไทย ประเภทใบอนุญาตแบบที่สามตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

ที่ประชุมกทค. ในการประชุมครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๕ ได้แบ่งการพิจารณาใบอนุญาตแบบที่สามประเภทผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม (Satellite Network Operator: SNO) ออกเป็น ๒ แนวทาง คือ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ใช้เอกสารการจองสิทธิวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทย และเป็นเจ้าของดาวเทียมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม และใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มิได้เป็นเจ้าของดาวเทียม แต่สามารถเช่าซื้อช่องสัญญาณดาวเทียม (transponder) จากผู้ประกอบการต่างประเทศ

ต่อมาที่ประชุมกทค. ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๕ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้พิจารณาเรื่องการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามเพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม รวมถึงประเด็นว่าได้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ มิฉะนั้นจะต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

มติที่ประชุม

“ที่ประชุมได้พิจารณาด้วยเหตุผลตามที่กลุ่มงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ๒ เสนอแนวทางการพิจารณาอนุญาตตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการอนุญาต และกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร พิจารณา ประกอบกับ รศ. ดร. สุธี อักษรกิตติ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาวเทียม ได้ให้ข้อมูลในการประชุม กทค. ครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ สรุปได้ว่า เขตอธิปไตยของชาติอยู่ในชั้นบรรยากาศที่ความสูงไม่เกิน ๑๐๐ กิโลเมตร แต่เนื่องจากดาวเทียมที่จะอนุญาตนี้ จะโคจรอยู่ที่ระดับความสูงมากกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร จึงถือว่าอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย และถึงแม้ดาวเทียมจะมีการใช้คลื่นความถี่ในการติดต่อสื่อสารก็ตาม แต่เนื่องจากดาวเทียมโคจรอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย จึงไม่เข้าลักษณะตามนัยมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ประกอบกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (ผู้เขียนบทความเข้าใจว่าหมายถึงพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔) และมีลักษณะการดำเนินการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาอนุญาตตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการอนุญาต และกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร ซึ่ง กทค. ได้รับทราบแล้วในการประชุม กทค. ครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕พิจารณา ดังนั้น จึงมีมติดังนี้

๑. อนุมัติให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม ต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลที่มีผลบังคับใช้ในอนาคตด้วย

๒. มอบหมายให้กลุ่มงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ๑ เร่งรัดดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ตามที่ได้รับอนุมัตินี้ต่อไป

เมื่อพิจารณา “เหตุผลทางกฎหมาย” จากมติที่ประชุมข้างต้นแล้ว มีข้อสังเกตโดยสังเขป ดังนี้

(๑) นอกโลกนอกอำนาจ

เหตุผลในมติข้างต้น อ้างว่ากรณีไม่เข้าลักษณะตามนัยมาตรา ๔๕ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมาตรา ๔๕ ไม่ใช้บังคับ เนื่องจากตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาวเทียมแล้ว ดาวเทียมอยู่ที่ระดับความสูงมากกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรจึงถือว่าอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของไทย อนึ่ง มาตรา ๔๕ กำหนดว่า “ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่” และตามมาตรา ๔ กิจการโทรคมนาคม รวมถึงกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารด้วย อย่างไรก็ดี ประเด็นตามเหตุผลดังกล่าวมิได้อยู่ที่มาตรา ๔๕ จะมีเนื้อหาอย่างไร แต่อยู่ที่มาตราดังกล่าว (และอาจรวมถึงบรรดากฎหมายไทยทั้งหลายด้วย) ไม่อาจใช้บังคับได้เพราะดาวเทียมอยู่ในอวกาศซึ่งนอกเขตอำนาจอธิปไตยของไทย

(๒) ผู้เชี่ยวชาญในปัญหากฎหมาย

ประเด็นที่มีการอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ แต่ กทค. กลับอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารดาวเทียม มิใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ทั้งๆ ที่ในวงการกฎหมายระหว่างประเทศเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าประเด็นการกำหนดเขตระหว่างห้วงอากาศกับห้วงอวกาศเป็นปัญหาทางกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ใช่ปัญหาทางวิทยาศาสตร์หรือปัญหาทางเทคนิคแต่ประการใด ทั้งนี้คณะอนุกรรมการเทคนิคและวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศในทางสันติแห่งสหประชาชาติ (COPUOS) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เคยให้ข้อสรุปไว้ว่า “เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบันที่จะกำหนดเกณฑ์ทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์ซึ่งจะทำให้ได้นิยามห้วงอวกาศที่ถูกต้องและถาวร” (It is not possible at the present time to identify scientific or technical criteria which would permit a precise and lasting definition of outer space. UN Doc. A/6804, Annex II, para. 36) เหตุดังนี้ต่อมาปัญหาดังกล่าวจึงได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการกฎหมายของ COPUOS แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ และยังคงอยู่ในวาระการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกฎหมายดังกล่าว (Report of the Legal Subcommittee on its fifty-first session, held in Vienna from 19 to 30 March 2012, UN Doc. A/AC.105/1003, para. 79) ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงต้องพิจารณาทางปฏิบัติของรัฐ (state practice) เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติศาสตร์ในการก่อตัวของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ อีกทั้งเรื่องเขตอำนาจอธิปไตยจะมีขอบเขตเพียงใดก็เป็นข้อความคิดทางกฎหมายเช่นกัน ดังนั้น การรับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าในเรื่องใดสมควรอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญที่ตรงกับประเด็นของเรื่อง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นๆ อาจมีความรู้ข้ามสาขาที่ตนเชี่ยวชาญก็ตาม

(๓) จุดยืนของประเทศไทยต่อเขตแดนอวกาศ

ประเทศไทยเคยแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการต่อสหประชาชาติในเรื่องเขตแดนอวกาศ ดังปรากฏในเอกสารสหประชาชาติ A/AC.105/865/Add.6 ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ดังนี้ “แม้ว่าประเทศไทยจะยังมิได้พัฒนากฎหมายภายในประเทศหรือทางปฏิบัติของประเทศใดๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเกี่ยวกับนิยาม และ/หรือการกำหนดเขตของห้วงอวกาศกับห้วงอากาศ แต่ประเทศไทยได้มีจุดยืนสอดคล้องกันตลอดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นกฎหมายที่คลาสสิกอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้กระจ่างชัดโดยด่วน” (Although Thailand has not yet developed any national legislation or national practices that related directly or indirectly to the definition and/or delimitation of outer space and airspace, Thailand has consistently taken the position that there is an undeniably classic legal issue that needs urgent clarification.) จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีจุดยืนที่ยอมรับว่าการกำหนดเขตอวกาศเป็นปัญหามายาวนานไม่เป็นที่ยุติและต้องการทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งต่างจากคำอธิบายในมติดังกล่าว

นอกจากนี้ก่อนวันมีมติ กทค. ดังกล่าวเพียงไม่กี่เดือนประเทศไทยได้แสดงความเห็นไว้ในเอกสารสหประชาชาติ A/AC.105/865/Add.11 ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๒ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ว่า “ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายภายในประเทศหรือทางปฏิบัติของประเทศเกี่ยวกับนิยามและการกำหนดเขตของห้วงอวกาศกับห้วงอากาศ” (Thailand currently does not have national legislation or a national practice relating to the definition and delimitation of outer space and airspace) แสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่านอกจากประเทศไทยจะยอมรับถึงปัญหาการกำหนดเขตอวกาศแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว คือไม่เคยกำหนดว่าเขตอธิปไตยในห้วงอากาศของประเทศจำกัดอยู่ที่ใด

(๔) ปัญหาสถานะวงโคจรค้างฟ้า มิใช่ปัญหาการกำหนดเขตแดนอวกาศ

ประเด็นที่อยู่ในการพิจารณาตามมตินั้นเกี่ยวกับดาวเทียมของไทยในวงโคจรค้างฟ้า ซึ่งอยู่เหนือผิวโลกขึ้นไปประมาณ ๓๖,๐๐๐ กิโลเมตร หากจะพิจารณาในแง่เขตแดนอวกาศ ก็ควรตั้งประเด็นเพียงว่า “วงโคจรค้างฟ้าอยู่ในห้วงอวกาศหรือไม่” มิใช่ “ห้วงอวกาศเริ่มต้น ณ จุดใด” ซึ่งเป็นประเด็นที่แตกต่างกันอย่างมาก เพราะเมื่อกล่าวถึงวงโคจรค้างฟ้านั้นเกือบทุกประเทศเห็นตรงกันว่าอยู่ในห้วงอวกาศ จะยกเว้นก็แต่ประเทศโคลัมเบียที่รัฐธรรมนูญระบุให้วงโคจรค้างฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตด้วย ส่วนประเด็นหลังนั้นเป็นที่ถกเถียงกันเหลือเกินว่าอวกาศจะเริ่มต้น ณ จุดใด แม้จะไม่เป็นที่ยุติแต่ที่ชัดเจตคือวงโคจรค้างฟ้าอยู่ในห้วงอวกาศ ด้วยเหตุนี้การให้เหตุผลในมติดังกล่าวจึงมีลักษณะไม่ตรงกับประเด็นที่พิจารณา

(๕) เขตอำนาจรัฐมิใช่เขตอำนาจอธิปไตย

การให้เหตุผลในมตินี้มีความเข้าใจเรื่องการใช้บังคับกฎหมายไทยต่างไปจากหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักเขตอำนาจรัฐ (state jurisdiction) มิใช่หลักอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ทั้งนี้หลักเขตอำนาจรัฐนั้นมีทั้งการบังคับใช้กฎหมายตามหลักดินแดน (territory) ซึ่งจะกล่าวว่าเป็นไปตามหลักอำนาจอธิปไตยก็ได้ และการบังคับใช้กฎหมายตามหลักบุคคล (personality) ซึ่งมีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่ว่าบุคคลสัญชาติไทยนั้นจะอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร กฎหมายไทยก็มีผลใช้บังคับได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะอ้างการใช้บังคับกฎหมายโดยอิงกับหลักอำนาจอธิปไตยแต่ประการเดียว แม้ประเทศไทยไม่มีอำนาจอธิปไตยแต่ก็อาจมีเขตอำนาจได้ อีกทั้งยังมีเขตอำนาจรัฐในลักษณะอื่นอีก แต่ไม่ขอกล่าวในที่นี้

(๖) เขตอำนาจและการควบคุม

ประเด็นเขตอำนาจรัฐเหนือดาวเทียมนั้น สนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า “รัฐภาคีสนธิสัญญานี้ซึ่งได้ทำทะเบียนวัตถุที่ส่งไปยังอวกาศไว้ ยังคงมีเขตอำนาจและการควบคุมเหนือวัตถุนั้น ... ในขณะที่อยู่ในอวกาศ” (A State Party to the Treaty on whose registry an object launched into outer space is carried shall retain jurisdiction and control over such object … while in outer space) สาระสำคัญของข้อนี้คือประเทศไทยต้องทำทะเบียนดาวเทียมไว้และในฐานะที่เป็นรัฐเจ้าของทะเบียนย่อมคงมีเขตอำนาจและการควบคุมเหนือดาวเทียมนั้นแม้จะอยู่ในอวกาศก็ตาม หลักกฎหมายข้อนี้แตกต่างไปจากเหตุผลในมติข้างต้น เพราะยอมรับว่าดาวเทียมที่มีทะเบียนไทยยังคงอยู่ภายใต้ “เขตอำนาจและการควบคุม” ของประเทศไทย แม้ดาวเทียมนั้นจะโคจรอยู่ในอวกาศซึ่งนอก “เขตอำนาจอธิปไตย” ของไทยก็ตาม ด้วยเหตุนี้ เหตุผลที่ปรากฏในมติข้างต้นจึงมีผลเสมือนเป็นการลดทอนเขตอำนาจรัฐของประเทศไทยที่มีอยู่เหนือดาวเทียมของไทยในอวกาศ

(๗) กิจกรรมแห่งชาติในอวกาศ

การใช้คลื่นความถี่นอกราชอาณาจักรหรือนอกโลกนั้น นอกจากจะเป็นการใช้สิทธิในคลื่นความถี่ที่ประเทศไทยได้สิทธิมาตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของประเทศไทยแล้ว ยังเป็น “กิจกรรมแห่งชาติในอวกาศที่ดำเนินการโดยองค์กรที่มิใช่รัฐบาล” (national activities in outer space carried on by non-governmental entities) ตามข้อ ๖ ของสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ด้วย บทบัญญัตินี้กำหนดให้ประเทศไทยมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศต่อกิจกรรมในอวกาศที่ดำเนินการโดยเอกชนไทย และที่สำคัญกิจกรรมดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การอนุญาตและการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย (The activities of non-governmental entities in outer space… shall require authorization and continuing supervision by the appropriate State Party to the Treaty.) จะเห็นได้ว่ากิจกรรมของไทยที่กระทำนอกโลกเช่นว่านี้ กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้เป็นหน้าที่ของไทยที่จะต้องดำเนินการอนุญาตและกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากอ่านข้อ ๖ ของสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ประกอบกับมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ แล้ว ต้องตีความว่าแม้การใช้คลื่นความถี่จะเป็นกิจกรรมในอวกาศซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ก็ใช้บังคับมาตรา ๔๕ ได้โดยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่

(๘) ไม่ปรากฏเหตุผลในเชิงเนื้อหา

น่าเสียดายที่มติข้างต้นไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลประการอื่นอันจะทำให้ไม่ต้องใช้บังคับมาตรา ๔๕ ไว้ด้วยเลย การอ้างว่าดาวเทียมในอวกาศอยู่นอกเขตอำนาจมีผลเท่ากับว่ายังไม่มีการวินิจฉัยในประเด็นสารบัญญัติ ซึ่งเป็นไปได้ที่โดยเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของมาตรา ๔๕ เองจะไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าว ตัวเอย่าง เช่น คำสัมภาษณ์ของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่กล่าวว่า “การประกอบกิจการดาวเทียมอยู่ในขอบเขตของ พ.ร.บ. กสทช. ถือเป็นการดำเนินการด้านโทรคมนาคม การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นหน้าที่ กสทช. โดยตรง แต่จะวินิจฉัยว่าคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการดาวเทียม อาทิ การอัพลิงก์ดาวน์ลิงก์ระหว่างสถานีฐานภาคพื้นดินกับดาวเทียมในอวกาศเป็นการใช้คลื่น เพื่อกิจการโทรคมนาคมหรือวิทยุคมนาคม หากเป็นการใช้คลื่นเพื่อกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ. กสทช. กำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลเท่านั้น ไม่สามารถใช้วิธีการอื่นได้ แต่ถ้ามองว่าเป็นการใช้คลื่นวิทยุคมนาคม กฎหมายไม่ได้ระบุวิธีจัดสรรไว้” (ประชาชาติธุรกิจ, ๑๓ ธ.ค. ๒๕๕๔) หรือ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ได้อธิบายในทำนองว่า การได้สิทธิในคลื่นความถี่มาจากการประสานงานคลื่นความถี่ตามขั้นตอนของ ITU ย่อมมิใช่เป็นการขอคลื่นความถี่จาก กสทช. จึงไม่ต้องอยู่ภายใต้มาตรา ๔๕ (“ประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตและกำกับดูแลกิจการดาวเทียม สื่อสารของไทย” http://www.blognone.com/node/40270) การให้เหตุผลในลักษณะนี้แม้จะถูกจะผิดประการใดแต่อย่างน้อยก็มิได้ส่งผลในเชิงลดทอนเขตอำนาจของไทยในการใช้บังคับกฎหมาย

(๙) ปัญหาอยู่ที่การบังคับวิธีการประมูลคลื่นความถี่เพียงสถานเดียว

ปัญหาทั้งหมดของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่มาตรา ๔๕ กำหนดให้ใช้ “วิธีการประมูลคลื่นความถี่” ไว้เพียงวิธีการเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของกิจการดาวเทียม อันเป็นเหตุให้ผู้เกี่ยวข้องต้องพยายามหาแนวทางการตีความกฎหมายเพื่อให้ทางปฏิบัติดำเนินการไปได้ โดยเลี่ยงไม่ต้องอยู่ภายใต้วิธีการประมูลคลื่นความถี่ การตีความเช่นนี้ในแง่หนึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันความชอบธรรมของบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นบทบัญญัติที่มีปัญหามาก

สิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสมควรกระทำ คือ ยืนยันว่าประเทศไทยมีเขตอำนาจในกิจกรรมอวกาศของตน พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่าวิธีการประมูลคลื่นความถี่ไม่เหมาะสมแก่กิจการดาวเทียมในแง่มุมต่างๆ (ดังเช่นกรณีแคนาดาที่วงการดาวเทียมพร้อมใจกันคัดค้านวิธีการประมูล http://www.ic.gc.ca/eic/site/smt-gst.nsf/eng/sf09539.html และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมในประเทศต่างๆ ว่าใช้รูปแบบใดบ้าง จนท้ายที่สุดได้ออกกรอบการประมูลคลื่นความถี่ในแคนาดา (Framework for Spectrum Auctions in Canada) โดยได้ให้ระบุถึงกิจการที่ไม่เหมาะสมกับการประมูลซึ่งหนึ่งในนั้นคือกิจการดาวเทียม http://www.ic.gc.ca/eic/site/smt-gst.nsf/vwapj/dgso-001-11-framework-e.pdf/$FILE/dgso-001-11-framework-e.pdf) ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อไป แต่หากเห็นว่าในระยะสั้นไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อันจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมาก เช่น วิธีการประมูลคลื่นความถี่เป็นอุปสรรคที่อาจทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียสิทธิในตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้าและคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้อง (ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าว “กสทช.ยันต้องเปิดประมูลดาวเทียม”, กรุงเทพธุรกิจ, ๑๔ มิ.ย. ๒๕๕๔, น.๓; “กสทช.ปริ๊ดแตก! ไอซีทีใช้เป็นแพะเสียโคจร ๑๒๐ องศา”, ข่าวหุ้น, ๒๓ มิ.ย. ๒๕๕๔, น.๘.) หากเป็นกรณี “จำเป็นเร่งด่วน” เช่นนี้ระบบกฎหมายก็เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดเพื่อแก้ปัญหาได้อยู่แล้ว เพียงแต่เราจะเลือกแนวทางใดเท่านั้น เมื่อเลือกแนวทางตีความเพื่อแก้ปัญหานอกจากจะส่งผลเป็นการสร้างความชอบธรรมให้บทบัญญัติที่มีปัญหาแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นการทำผิดกฎหมายเสียเองได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องตระหนักด้วยว่าไม่มีกฎหมายฉบับใดจะมีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้ที่ดำเนินการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้าและคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องของไทย ถ้าการตีความเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ก็ควรมีการกล่าวถึงสภาพความจำเป็นเร่งด่วน และผลของการตีความก็ควรมีลักษณะเฉพาะกรณี มิใช่วางเป็นบรรทัดฐานทั่วไป

โดยสรุปแล้ว แม้ผู้เขียนจะเห็นด้วยกับผลของมติข้างต้นสักเพียงใดก็ไม่อาจเห็นด้วยกับคำอธิบายเหตุผลทางกฎหมายที่ปรากฏในมติข้างต้นได้เลย ทั้งในเรื่องเขตแดนอวกาศ และการไม่ใช้บังคับกฎหมายไทยแก่ดาวเทียมไทยซึ่งอยู่ในอวกาศ เนื่องจากเป็นคำอธิบายที่มีความแตกต่างจากจุดยืนของประเทศไทยที่แจ้งต่อสหประชาชาติ แตกต่างจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับเขตอำนาจรัฐ และแตกต่างจากบทบัญญัติของสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ในเรื่องเขตอำนาจและการควบคุมเหนือวัตถุอวกาศ ตลอดจนการอนุญาตและการกำกับดูแลเอกชนในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ ส่วนมติดังกล่าวจะมีความถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายปกครองต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาเหตุผลอื่นอีกหลายประการประกอบกัน โดยอาจรวมถึงความจำเป็นเร่งด่วนอันสืบเนื่องจากการรักษาสิทธิตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้าและคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องด้วย


------------
บทความนี้เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการโดยส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่หรือมีความสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าทางหนึ่งทางใด

ที่มา.ISRA Institute Thai Press Development Foundation
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สรุป : งบประมาณปี 57

การประชุมสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ตามกำหนดเวลา อภิปราย 3 วัน เสร็จสิ้นลงแล้วในวันนี้  โดยสภาฯ รับหลักการในวาระ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อ

เป็นเวลา 3 วัน ที่สภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2557 จำนวนกว่า 2.5 ล้านล้านบาท โดยในวันสุดท้ายนี้ รัฐบาลยังคงเดินหน้าชี้แจงถึงการจัดสรรงบประมาณรอบนี้ว่าเหมาะกับภาพรวมการพัฒนาประเทศ

แต่ฝ่ายค้านย้ำเช่นกันว่า รัฐบาลบริหารงบประมาณไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงไว้ และมีการปรับลดงบประมาณหลายโครงการที่รัฐบาลแจ้งว่าต้องการพัฒนา

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ และตอบสนองความต้องการของส่วนราชการ แต่ที่บางโครงการได้งบประมาณลดลงเนื่องจากเสร็จภารกิจแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปิดท้ายการอภิปรายว่า พร้อมรับข้อสังเกตของ ส.ส. ไปพิจารณาอย่างรอบคอบในชั้นกรรมาธิการ

จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 292 ต่อ 155 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการ 63 คน ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี 15 คน ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านรวมกัน 48 คน แปรญัตติภายใน 30 วัน

แต่มีข้อสังเกตว่า กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย มีชื่อของ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย กลุ่มมัชฌิมา ข้ามห้วยเข้ามาอยู่ด้วย ทำให้เกิดเสียงท้วงติงจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่าผิดข้อบังคับการประชุม และไม่เป็นไปตามที่ตกลง

สำหรับขั้นตอนจากนี้ต้องจับตาการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นัดแรก ในวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน.

ที่มา.สำนักข่าวไทย
-------------------------------------

ชัชวาลย์ แจงคลิปใส่ร้ายลูกชาย จ่อฟ้องเว็บฯหมิ่น !!?

ชัชวาลย์ คงอุดม โต้คลิป"อันธพาลครองเมือง" ใส่ร้าย"แมน"ลูกชาย รุมทำร้ายนักเที่ยวในผับดังย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา แจงลูกชายไปเที่ยวจริงแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง วอนสังคมเห็นใจครอบครัวไม่ได้รับความยุติธรรม ชี้มือโพสต์ระบุข้อความพยายามโยงการเมือง จี้ตำรวจเรียก 2 ฝ่ายคุย เตรียมฟ้องสื่อออนไลน์ที่โพสต์ข้อความดูหมิ่น
   
กรณีในเว็บไซต์ยูทูป ได้มีผู้ใช้ชื่อว่า "คนดีชอบเที่ยว" โพสต์คลิป"อันธพาลครองเมือง" พร้อมข้อความ โดยอ้างว่า ตนและเพื่อนๆ ไปเที่ยวที่ผับแห่งหนึ่งย่านโชคชัย 4 และได้พบเห็นกลุ่มอันธพาลมีพฤติกรรมชกต่อยคนที่มาเที่ยว ถ้าโต๊ะที่นั่งข้างๆ เสียงดังก็จะโดนแบบนี้ทุกราย พร้อมประกาศว่า "พวกมึงดูไว้เป็นตัวอย่าง มึงรู้มั้ยกูเป็นใคร กูแมน เตาปูน ลูกชัช เตาปูน ขนาดลูกเฉลิมกูยังกระทืบมาแล้ว" ทั้งนี้ผู้โพสต์ฝากเตือนผู้ชอบเที่ยวกลางคืนให้ระวังกลุ่มนี้ และยังฝากถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ช่วยจัดการคนกลุ่มนี้ด้วย
   
ล่าสุด  ที่ชั้น 2 บริษัทสยามรัฐ นายชัชวาลย์ คงอุดม อดีต สว.กทม.และคอลัมนิสต์อาวุโสหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้แถลงข่าวกรณีมีผู้โพสต์คลิปดังกล่าว ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยอมรับว่า ลูกชายตนพร้อมกลุ่มเพื่อนได้เข้าไปเที่ยวที่ผับดังกล่าวย่านเลียบทางด่วนรามอินทราจริง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะที่นั่งดื่มกินกันตามปกติ ได้มีกลุ่มชายตามคลิปชี้มาที่โต๊ะพร้อมพูดขึ้นว่า "แมน เตาปูน" ก่อนเพื่อนในกลุ่มอีกคนตะโกนว่า "เฮ้ย! แมน เตาปูน แล้วงัย" โดยพูดด้วยเสียงดัง 2-3 ครั้ง ก่อนจะมีผู้ใหญ่ที่อยู่ในผับเข้ามาพูดกับกลุ่มชายดังกล่าวว่า "พวกคุณเที่ยวมีมารยาทหน่อย" พร้อมกับเชิญออกจากร้าน แต่กลุ่มชายดังกล่าวก็ไม่ยอมกลับ ซึ่งจังหวะนั้นลูกชายตนรู้สึกไม่สบายใจ จึงเดินทางออกจากร้านไปก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ชกต่อยกันขึ้น หลังจากนั้น กลุ่มชายดังกล่าวจึงเดินตามออกไปนอกร้านพร้อมกับตะโกน "มึงแน่มาจากไหนวะ ไอ้..." ก่อนจะมีผู้ใหญ่มาเคลียร์และแยกย้ายกันกลับในที่สุด อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ใหญ่ชื่อ "เฮียเม้ง" ติดต่อมาหาลูกชายตน เพื่อให้กลุ่มชายดังกล่าวเข้าขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ลูกชายตนบอกไม่เป็นไร เรื่องนิดเดียว กระทั่งมีคลิปเผยแพร่ออกมา
   
อดีต สว.กทม. กล่าวอีกว่า หลังจากมีการนำคลิปภาพเหตุการณ์ดังกล่าวมาโพสต์ลงยูทูป ใช้ชื่อ "อันธพาลครองเมือง" ทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อว่าลูกชายตนต่างๆ นานา ลามไปถึงข้อความที่ระบุในคลิปว่า "ขนาดลูกเฉลิมกูยังกระทืบมาแล้ว" ตนอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจและไม่ยุติธรรมสำหรับครอบครัวของตน วันนี้จึงต้องออกมาชี้แจงให้ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และอยากให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ไปพูดคุย ถ้าใครผิดก็ว่ากันไป
   
"ผมได้พูดคุยกับลูกชายแล้วว่า กลุ่มชายดังกล่าวเมาและมีการตะโกนลักษณะหาเรื่อง ลูกชายเห็นท่าไม่ดีก็กลับทันทีเกรงเหตุการณ์จะบานปลาย และเรื่องที่มีการพูดว่าลูกเฉลิมกูยังกระทืบมาแล้วนั้น ลูกชายยืนยันไม่มีการพูด และไม่เคยมีการกระทืบตามที่มีคนโพสต์แต่อย่างใด เชื่อว่าคนคอมเม้นท์พยายามโยงเข้าไปเกี่ยวกับการเมือง จากนี้กำลังพิจารณาจะฟ้องร้องเว็บไซต์ที่มีการโพสต์ข้อความที่รุนแรง และมีการใช้คำหยาบคาย" นายชัชวาลย์ กล่าว
   
ด้าน  พ.ต.อ.ธนวัตร วัฒนกุล ผกก.สน.โชคชัย เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จะเรียกคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาสอบปากคำ เพื่อหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่มา.สยามรัฐ
---------------------------------------

ความมั่นคงไฟฟ้าอยู่ตรงไหน !!?

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคบุตร

เหมือน จะเป็น "ความซวย" ของ รมต.เพ้ง "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" หลังจากนั่งเก้าอี้กระทรวงพลังงาน ก็เจอวิกฤตการณ์ด้านไฟฟ้าของประเทศถึง 2 ครั้ง 2 คราว โดยยังจำกันได้กับวิกฤตการณ์ครั้งที่ 1 ในช่วงเทศกาลงานสงกรานต์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่บริษัท Total เจ้าของสัมปทานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา เมียนมาร์ ประกาศหยุดซ่อมแท่นขุดเจาะเป็นระยะเวลา 9 วัน ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งผ่านท่อเข้าสู่โรงไฟฟ้าราชบุรีหายไปจากระบบ ประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

เล่นเอาวุ่นวายไปทั้งประเทศ เมื่อ รมต.เพ้งออกมาแจงมาตรการฉุกเฉิน ขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า เตรียมน้ำมันเตา/ดีเซล ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม รับมือสถานการณ์ไฟตกดับ เนื่องจากช่วงที่ Total หยุดส่งก๊าซนั้น เป็นช่วงที่สำรองไฟฟ้าของประเทศจะลดลงต่ำสุด เพราะเดือนเมษายนเป็นเดือนที่จะเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak เป็นประจำทุกปี

หลังจากนั้นไม่ถึง 2 เดือน รมต.เพ้งต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไฟดับ 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า เกิดจากอุบัติเหตุ "ฟ้าผ่า" เสาไฟฟ้าช่วงจอมบึง-บางสะพาน ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) อยู่ในช่วงของการซ่อมแซมสายส่งแรงสูงขนาด 500 Kv วงจรที่ 1 ส่งผลให้สายส่งวงจรที่ 2 ได้รับผลกระทบ มีการจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งขนาด230 Kv มากจนเกินไป จนเกิดการดึงกันเองในสายส่ง โรง ไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ 6 โรงจึงตัดการส่งกระแสไฟฟ้าทันทีโดยอัตโนมัติ ภาคใต้ทั้งภาคจึงต้องเผชิญกับความมืดมิดถึง 4-5 ชั่วโมง สร้างความแตกตื่นตกใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มักเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาทันที

ทั้ง 2 เหตุการณ์ ได้แสดงให้เห็นถึง "ความเปราะบาง" ในระบบความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างชัดเจน จากเหตุผลสำคัญ 4 ประการดังต่อไปนี้

1) ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีอัตราการเติบโตสูงมาก ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ มีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งล่าสุด ที่ กฟผ.ใช้เป็นคัมภีร์ระบุไว้ว่า เมื่อสิ้นแผน PDP ในปี 2573 ประเทศไทยจะมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดถึง 52,256 MW จากปีที่เริ่มแผน (2559) ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 31,808 MW

จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาชดเชยความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีการประหยัด

2) จำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่จะเข้าสู่ระบบในช่วงของแผน PDP ฉบับปัจจุบัน ได้รับการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 MW จำนวน 2 โรง หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ กฟผ.ใช้คำว่า ถ่านหินสะอาดอีก 6 โรง กำลังผลิตรวมกัน 4,400 MW ยังไม่สามารถสร้างขึ้น ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่ "จำเป็น" จะต้องเข้าระบบหายไป

3) ครั้นจะหันมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ทั้งของ กฟผ. และผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่ IPP ก็ต้องเผชิญกับปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีราคาถูกที่สุดลด ลง และกำลังจะหมดไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนอกประเทศ (เมียนมาร์) รวมไปถึงการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยถึง 4.34 บาท (ถ่านหิน 2.94 บาท/หน่วย-NG 3.96 บาท/หน่วย-กังหันก๊าซ 13.74 บาท/หน่วย-นิวเคลียร์ 2.79 บาท/หน่วย) มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศปรับราคาสูงขึ้นระหว่าง 4-6 บาท/หน่วยในอนาคต

4) การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจากโครงการใหม่ ๆ ลดลง ใน สปป.ลาว ไม่มีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อขายไฟให้ไทย โครงการโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ยังอยู่ในกระดาษ ที่สำคัญก็คือ แม้มีกำลังไฟฟ้าใหม่ ๆ ทั้งในและนอกประเทศเข้าระบบ แต่ปัญหาสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านกรุงเทพฯ-อีสาน-ใต้ ยังไม่ได้รับการพัฒนา

ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ประเทศไทยเผชิญกับภาวะไฟตก/ดับได้ในอนาคต

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------------