--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เผือกร้อนในมือแบงก์ชาติ !!?


โดย ชลิต กิตติญาณทรัพย์

ความขัดแย้งเรื่องการดำเนินนโยบายทางการเงินของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยกับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก

ดร.วีรพงษ์จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทุกครั้งเมื่อเห็นการดำเนินนโยบายของผู้บริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ถูกต้อง แล้วจะสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติบ้านเมือง

ประวัติศาสตร์ 30 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญ ๆ อย่างน้อย 3 ครั้งที่ ดร.วีรพงษ์แสดงให้ปรากฏว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารนโยบายการเงินผิดพลาด

ปี 2527 นายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลัง ดร.วีรพงษ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เห็นควรลดค่าเงินบาท แต่นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ไม่ เห็นด้วย นายสมหมายต้องปลดออกจากตำแหน่งแล้วลดค่าเงินบาทจาก 25 บาท เป็น 27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากนั้นเศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างมาก

ปี 2540 ดร.วีรพงษ์ ในฐานะนักวิชาการ เรียกร้องให้ ธปท.ลดค่าเงินบาท อย่าเอาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไปสู้กับจอร์จ โซรอส ผู้นำเฮดจ์ฟันด์ที่เข้ามาโจมตีค่าเงินบาท แต่แบงก์ชาติไม่ฟัง กระโดดเข้าสู้อย่างไม่คิดชีวิต จนกระทั่งหมดตัว ค่าเงินบาทอ่อนค่าถึง 50 กว่าบาทต่อเหรียญสหรัฐ ภาวะเศรษฐกิจของบ้านเมืองถดถอยหรือเสียหายอย่างหนักแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทรัพย์สินโดยรวมด้อยค่า ถูกเลหลังขายแบบไม่มีราคา

ปี 2543-44 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ไม่บริหารค่าเงินบาท ปล่อยให้ค่าเงินบาทขึ้นลงตามกลไกตลาด และสร้างนวัตกรรม inflation targeting ดร.วีรพงษ์ไม่เห็นด้วยเพราะทำให้พ่อค้าส่งออกและพ่อค้านำเข้าขาดทุนจากอัตรา แลกเปลี่ยนกันถ้วนหน้า ครั้นเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นายกฯทักษิณ

ทำ ตามข้อเสนอ ดร.วีรพงษ์ ปลด ม.ร.ว.จัตุมงคล จากนั้นเริ่มบริหารค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและอ่อนตัวนิด ๆ พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจนกระทั่งเศรษฐกิจเมืองไทยเฟื่องฟู

ฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณสร้างคะแนนนิยมให้กับเจ้าตัวจนถึงทุกวันนี้

2 ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ธาริษา วัฒนเกส และประสาร ไตรรัตน์วรกุล ดูแคลนขิงแก่อย่าง ดร.วีรพงษ์ทุกครั้งที่ออกมาเสนอแนะให้แบงก์ชาติให้ความสนใจกับช่องว่าง ระหว่างดอกเบี้ยบาทกับดอลลาร์สหรัฐ อย่าให้ห่างกันมากจนเป็นเหตุจูงใจให้ hot money เข้ามาแสวงหากำไร

ดร.วีรพงษ์ออกปากเตือนมาอย่างยาวนาน แต่แบงก์ชาติไม่สนใจ แถมยังเหน็บแนมว่า มีเครื่องมืออื่นที่ดีกว่าดอกเบี้ยที่จะสกัด hot money จนกระทั่งปัญญาชนบางท่านออกปากถามถึง "เครื่องมืออันลี้ลับ" ของนายประสาร

นับ ตั้งแต่นายประสารเข้ามารับตำแหน่ง แบงก์ชาติยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา hot money ได้สำเร็จ อาวุธแต่ละเล่มที่นำมาออกสกัดมีแต่บาดสถานะการเงินของแบงก์ชาติให้ถลำลึก

บาดแผลของแบงก์ชาติสะท้อนผ่านสถานะกองทุนของแบงก์ชาติ ติดลบไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท นี่คือภาระของประชาชนทุกคนที่จะต้องชดใช้ในอนาคต

วันนี้ ดร.วีรพงษ์ออกมาเตือนให้สังคมระมัดระวังภัยจาก hot money กำลังสร้างภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงิน หากแบงก์ชาติแก้ไขไม่ได้จะลุกลามไปภาคธุรกิจอื่น

คำเตือนของ ดร.วีรพงษ์สะกดนักธุรกิจกว่า 200 คนที่เข้าไปฟังจนเงียบสนิท นิ่งเงียบเหมือนไม่มีตัวตนอยู่ในห้องนั้นแม้แต่คนเดียวไม่ทราบว่าผู้บริหารแบงก์ชาติจะได้ยินหรือไม่

สถานการณ์ hot money ที่เข้ามาแสวงหากำไรเที่ยวนี้รุนแรงมาก ผมอยากทราบว่า แบงก์ชาติจะใช้เครื่องมืออะไรแก้ปัญหาครั้งนี้ อยากให้ผู้ว่าฯประสารตอบกับสังคมให้ชัดเจน อย่าเอาแต่พูดว่าแบงก์ชาติมีเครื่องมือพร้อมแก้ไข หากมีพร้อมจริงดังว่า hot money คงทำมาหากินกับเมืองไทยไม่ได้ไปตั้งนานแล้ว

สังคมกำลังรอให้แบงก์ชาติตอบโจทย์ของ ดร.วีรพงษ์ หรือปล่อยให้ภาวะฟองสบู่แพร่กระจายไปเรื่อย ๆ เช่นนี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การวิเทโศบาย ของไทย !!?


วันอาทิตย์ที่ 3 ก.พ.นี้ จะมีงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำนิวซีแลนด์ สหพันธ์สาธาณรัฐเยอรมนี ฟินแลนด์ และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ

                ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ เป็นนักเรียนทุนกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากได้รับปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ก็ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนจบปริญญาเอก ด้านกฎหมายและประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์ เริ่มรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี 2483 เรื่อยมาจนได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมการเมืองตะวันตก กรมสหประชาชาติ กรมองค์การระหว่างประเทศ และเป็นเอกอัครราชทูตในอีกหลายประเทศ ดังที่กล่าวมา ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2519

                เดือนสิงหาคม 2525 ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ในตอนหนึ่งของบทสนทนา ได้มีการพูดคุยกันในเรื่อง “ขบวนการเสรีไทย” ท่านอาจารย์ปรีดีปรารภว่า อยากจะให้อาจารย์กนต์ธีร์เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเสรีไทย ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนใกล้ชิดกับขบวนการเสรีไทย เพราะถึงแม้ในเวลานั้นจะมีผู้เขียนเรื่องเสรีไทยกันมากมาย ทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ก็ยังเขียนผิดๆ ถูกๆไม่ทราบเหตุการณ์ที่แท้จริง ได้แต่ฟังคำบอกเล่าสืบต่อกันมา

อาจารย์กนต์ธีร์จึงเสนอว่า ผู้ที่ควรเขียนเรื่องเสรีที่สุด ก็คือตัวท่านอาจารย์ปรีดีเอง เพราะเป็นผู้เดียวที่ทราบทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวอาจารย์กนต์ธีร์เองนั้นเพียงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานเพียงด้านหนึ่ง เป็นด้านเล็กๆ เท่านั้น แต่ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นศูนย์กลางของขบวนการ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านท่าน เพราะฉะนั้นท่านจึงอยู่ในฐานะที่จะเขียนได้ดีที่สุด ซึ่งท่านอาจารย์ปรีดีก็บอกว่า ตัวท่านเองก็เขียนไว้บ้างแล้ว แต่อยากจะให้คนอื่นช่วยเขียนบ้าง ซึ่งท่านยินดีจะช่วยตรวจแก้ให้และเพิ่มเติมเสริมแต่งให้บ้าง

อาจารย์กนต์ธีร์ก็ยอมรับว่า โดยส่วนตัวก็มีความคิดที่จะเขียนเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน โดยกำลังรวบรวมหลักฐานอยู่ และความจริงก็ได้เริ่มเขียนไปบ้างแล้ว คิดว่าจะให้เสร็จทันพิมพ์แจกงานศพของตัวท่านเอง เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์ปรีดีก็บอกว่า รอนานขนาดนั้นไม่ได้ ควรจะรีบเขียนให้เสร็จเสียตอนนี้ซึ่งท่านยังอยู่ ท่านจะได้ช่วยตรวจแก้และต่อเติมให้ตามที่จำเป็น ถ้าท่านพ้นไปเสียแล้ว ใครจะช่วยข้าพเจ้าได้

ภายหลังรับปากกับท่านอาจารย์ปรีดีและเริ่มลงมือเขียน แทนที่จะเขียนเฉพาะเรื่องเสรีไทยอย่างเดียว อาจารย์กนต์ธีร์ก็ขยายขอบเขตการเขียนออกไปเป็น เรื่องวิเทโศบายของประเทศไทยระหว่างปี 2483 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์กนต์ธีร์เริ่มเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ถึงปี 2495 ซึ่งเป็นปีที่ถูกส่งออกไปรับราชการในต่างประเทศในฐานะอัครราชทูตไทยประจำออสเตรเลีย ในช่วงนั้นเป็นระยะเวลาที่มีการผันแปรในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

                พอเขียนไปได้ 22 บท ยังไม่จบดี อาจารย์กนต์ธีร์ก็ได้นำต้นฉบับไปมอบให้อาจารย์ปรีดีที่กรุงปารีส ขอให้ท่านช่วยตรวจสอบ โดยหาได้สังหรณ์ว่า ท่านอาจารย์ปรีดีจะไม่ได้ตรวจสอบตามที่รับปากไว้อย่างมั่นเหมาะ ท่านอาจารย์รับต้นฉบับนี้ไปได้ไม่นาน ก็ถึงอสัญกรรมไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงได้นำส่งต้นฉบับคืนกลับมาให้กับอาจารย์กนต์ธีร์ พร้อมกับแจ้งให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ปรีดียังไม่ทันได้มีโอกาสแก้ไขหรือเพิ่มเติมให้เลย  อาจารย์กนต์ธีร์จึงได้นำเอาต้นฉบับนั้นมาเขียนต่อจนจบบทที่ 30 แล้วมอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครับรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาในปี 2527 เป็นหนังสือเรื่อง “การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕”              

แม้ว่าเหตุการณ์และเรื่องราวในหนังสือดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว แต่สัจธรรม สารัตถะและหลักการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในหนังสือเรื่อง “การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕” ที่อาจารย์กนต์ธีร์รวบรวมเสนอมาล้วนแล้วเป็นประโยชน์แก่ความรู้ความเข้าใจของคนรุ่นหลังในการแก้ปัญหาการต่างประเทศที่ไทยต้องเผชิญด้วยความยากลำบากยิ่งในสมัยนั้นและยังสามารถนำมาเพื่อปรับใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ ดังเช่น

“........ 1. ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลักเสมอภาคเท่าเทียมกันมีอยู่แต่ในนาม ในทางความเป็นจริงแล้ว มหาอำนาจมักจะเอาแต่ใจตน ไม่ยอมผ่อนปรนให้ประเทศเล็กเท่าใดนัก ปัญหาจึงมีว่า บรรดาประเทศเล็กอย่างประเทศไทยจะยอมลอยคอตามกระแสน้ำไปนานเท่าใด เมื่อใดจะหยุดเป็นกังหันให้ลมพัดไปทุกทิศทุกทางเสียที ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเลิกกระวีกระวาดเอาใจประเทศนั้น ต่อต้านประเทศนี้ อาศัยประเทศหนึ่ง ให้มาช่วยขัดจังหวะอีกประเทศหนึ่ง เป็นการปัดสวะเฉพาะหน้าให้ล่วงพ้นไปโดยไม่คำนึงถึงอนาคตอันยืนนาน ประเทศเล็กไม่น่าจะคิดทะเยอทะยานฝันหวานว่า สามารถใช้ประเทศใหญ่เป็นเครื่องมือ จะอ้าขาผวาปีกไปถึงไหน ถ้าไม่ระวังให้ดีแล้ว จะตกเป็นเครื่องมือของประเทศใหญ่โดยไม่ทันรู้ตัว หรือรู้ตัวก็สายเสียแล้ว อีกประการหนึ่งเด็กที่เลี้ยงไม่โตสักวัน พี่เลี้ยงย่อมจะอิดหนาระอาใจ ขออย่าได้หลงเชื่อว่า ความช่วยเหลือที่คิดว่าได้เปล่านั้นไม่มีข้อไขผูกพัน

                2. การดำเนินวิเทโศบายของไทยก็พยายามเจริญรอยสายกลางเสมอมา ไทยไม่อยากจะเข้าร่วมในการขัดแย้งระหว่างประเทศที่อุบัติขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะระหว่างมหาอำนาจ แต่ก็ไม่วายที่เหตุการณ์ภายนอกบังคับให้ต้องเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อความปลอดภัยและผาสุกของประชาชน รัฐบาลจำต้องออกนอกทางไปบ้าง แล้วก็กระเสือกกระสนหันกลับมาหาสายกลาง แล้วก็มีเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอกบังคับให้จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีทางเลือก บางที เห็นได้ชัดว่าวิเทโศบายของไทยเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ครองอำนาจยิ่งกว่าเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง

                3. การเข้าร่วมกับมหาอำนาจนั้นไม่ใช่ของดี บางทีเมื่อต้องพึ่งพาอาศัยเขามาก เขามักจะถือเราเป็น “หมูในอวย” จะต้มยำทำแกงอย่างใดก็ได้ตามใจชอบ ตามใจของเขาไม่ใช่ของเรา เขามิได้ปฏิบัติเช่นนี้กับเราซึ่งเป็นประเทศเล็กอยากได้ความช่วยเหลือจากเขาเท่านั้น แม้แต่กับประเทศใหญ่ ๆ ด้วยกันก็หาได้เคารพหลักเกณฑ์เสมอไปนัก

4. ปัญหาชายแดนของไทยรอบด้านมีอยู่อย่างใดหลายสิบปีมาแล้ว ยังคงมีอยู่อย่างนั้น ฝ่ายเขาสับเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาหลายต่อหลายคณะ เรายืนกรานเผชิญอยู่ผู้เดียว หาทางออกกันไม่ได้สักที ข้อสำคัญอยู่ที่ต่างฝ่ายต่างมีความจริงใจต่อกันเพียงใด ถ้าเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเอาใจเราไปใส่ใจเขา บางทีจะพอคลี่คลายไปในทางดีได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องอาศัยประเทศภายนอกเข้ามาช่วย เพราะผู้มาช่วยย่อมเพ่งเล็งถึงประโยชน์ของเขาเป็นสำคัญยิ่งกว่าของเรา เมื่อสร้างความเป็นมิตรกับเพื่อนใกล้เรือนเคียงไม่ได้ ไฉนเลยจะทำความเข้ากับผู้อยู่ห่างไกลได้สนิท

5. ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูแน่ มีแต่ผลประโยชน์เท่านั้น.......”

สุดท้ายผู้เขียนขออนุญาตเติมสิ่งที่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายยิ่งกว่า น่ากลัวกว่า ที่ท่านศาสตราจารย์กนต์ธีร์กล่าวถึง คือ “คนขายชาติ” ครับ  

.................................................................

หมายเหตุ : ในบทความสัปดาห์ที่แล้ว เรื่อง “หลักป้องกันความผิดโดยการทักท้วงคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการก่อหนี้ผูกพันหรือจ่ายเงินของผู้บังคับบัญชา” ได้มีการพิมพ์ผิดพลาดในข้อความย่อหน้าสุดท้าย ที่เป็นกฎมณเทียรบาล มาตรา ๑๐๖ อันเป็นอมตะสัจธรรมกฎหมายของไทยและของโลก จึงขอแก้ไขให้ถูกต้องตามอักขระต้นฉบับเดิม ดังนี้.....

“อนึ่งพระเจ้าอยู่หัว  ดำรัสตรัสด้วยกิจราชการคดีถ้อยความประการใดๆ  ต้องกฎหมายประเวนีเปนยุติธรรมแล้วให้กระทำตาม  ถ้าหมีชอบจงอาจพิดทูลทัดทาน  ครั้ง ๑ ๒ ๓  ครั้ง   ถ้าหมีฟังให้งดไว้อย่าเพ่อสั่งไปให้ทูลในที่ระโหถาน  ถ้าหมีฟัง  จึ่งให้กระทำตาม  ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระอายการดั่งนี้  ท่านว่าผู้นั้นเลมีดพระราชอาชา”

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วิกฤติคือโอกาสในทางธุรกิจ ทำไมทุนมนุษย์จึงสำคัญ !!?

Fridtjof Nansen, Wikipedia
โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ
(ว่าที่) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า (ธนบุรี), นักเศรษฐศาสตร์

ผมต้องออกตัวก่อนว่า สิ่งที่จะเล่าวันนี้อาจจะจัดอยู่ใน series เศรษฐศาสตร์ชาวบ้านได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จะเป็นอีกบทความหนึ่งที่ไม่ได้พยายามจะนำเสนอทฤษฎีเลย เป็นประสบการณ์ของผู้เขียนล้วนๆ ครับ

เรื่องที่จะนำเสนอวันนี้ก็คือ แง่คิดที่ว่า “วิกฤติและโอกาสทางธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน” ดูอย่างคำว่า วิกฤติในภาษาอังกฤษ หรือ Crisis นั้นถึงไปค้นหาว่าเชื่อมโยงไปสู่ลาตินคำว่าอะไร ก็จะพบว่าไปพ้องกับความว่า angustum (ซึ่งจะแปลว่าวิกฤติก็ได้ หรือจะแปลว่า ช่องทางหรือโอกาสก็ได้)

แต่กล่าวเช่นนี้ลอยๆ ก็กระไรอยู่ครับ ผมขอยกตัวอย่างของกรณีที่เกิดขึ้นจริงๆ 2 เรื่องให้อ่านครับ (จริงๆ มีมากกว่า 2 เรื่องแต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่การเขียน ซักสองก็พอนะครับ)
ลูกค้าบัตรเครดิตกับความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ธนาคาร

เรื่องแรก เพื่อนของผมสมัครบัตรเครดิตธนาคารแห่งหนึ่ง ปรากฏว่า ด้วยความผิดพลาดบริษัทส่งบัตรมาให้ที่บ้าน แต่ลืมส่งรหัสบัตรมาด้วย เพื่อนผมจึงโทรประสานไปที่ธนาคารและได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะจัดส่งมาให้ในเร็ววัน ผ่านไปราวอาทิตย์หนึ่งไม่มีการติดต่อหรือส่งเอกสารที่ตกลงกันไว้มาที่บ้าน เพื่อนผมจึงเดินไปที่ธนาคารแห่งนั้น (ด้วยอารมณ์โกรธพอสมควร ตั้งใจว่าจะไปตำหนิที่สาขา)

เมื่อพนักงานที่รับเรื่องได้ทราบก็ขอเวลาราว 5 นาทีในการโทรศัพท์ หลังจากวางสายลงก็ได้ขอโทษเพื่อนผมและพร้อมกันนั้น ได้เสนอว่า ทางธนาคารจะจัดส่งรหัสไปให้ภายใน X วันและพร้อมกันนั้นทางธนาคารได้โอนเงินค่าเสียเวลา (Timing cost) ที่เพื่อนของผมต้องเดินทางมาดำเนินการที่ธนาคารด้วยตนเอง หลังจากนั้น เพื่อนผมก็กลายเป็นลูกค้าที่ภักดีของธนาคารแห่งนี้เรื่อยมา
Service mind ของเจ้าหน้าที่สายการบินแห่งหนึ่ง

เรื่องที่สอง เป็นกรณีศึกษาที่อาจารย์ของผมเล่าให้ฟังในห้องเรียนเกี่ยวกับสายการบินหนึ่ง ซึ่งประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก โดยทั่วไปแล้ว สายการบินใดที่มีปัญหาเครื่องบินตก สายการบินนั้นจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงทางธุรกิจอย่างมาก ด้วยชื่อเสียงความปลอดภัยที่ด้อยลงและภาพฝังใจของผู้บริโภค ยังไม่นับถึงญาติผู้เสียชีวิตที่อาจจะมองเป็นความผิดของสายการบิน

ทว่า สายการบินที่อาจารย์ผมยกเป็นกรณีศึกษาให้ฟังในห้องเรียนนั้น ทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดเพื่อให้ญาติผู้ประสบภัยได้รับข่าวสารอย่างเต็มที่และอำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้าน เช่น ตั๋วเดินทางและที่พักเพื่อให้ญาติของผู้โดยสารสามารถเดินทางไปจัดการเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา หรือเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของคนในครอบครัว

การตอบสนองอย่างทันท่วงทีและแสดงให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจสภาวะความรู้สึกในช่วงเวลาวิกฤตินั้น ทำให้ลูกค้าที่กำลังโกรธเกรี้ยวหรือเสียใจอย่างสุดซึ้ง กลายมาเป็นความผูกพันต่อบริษัทได้ หากเรารู้วิธีการจัดการกับวิกฤติอย่างถูกต้อง

สถานการณ์แย่ๆ กับความรับผิดและความสำนึกในหน้าที่ของเจ้าพนักงาน


ในทางกลับกัน กรณีศึกษาที่แย่นั้น กลับขยายความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ ไปสู่การขัดแย้งและกลายเป็นความวิกฤติได้ไม่ยาก ยกตัวอย่างเช่น บริษัทขายเฟอนิเจอร์ราคาแพงแห่งหนึ่ง ขายชุดโซฟาราคาหลายหมื่นให้ลูกค้า ปรากฏว่าภายในเวลาเพียงไม่เกิน 1 ปีโซฟาดังกล่าวก็ตกน้ำมันเหนียวเป็นคราบ (เจ้าของคงเสียวว่าจะเฮี้ยนแบบเสาตกน้ำมันหรือไม่)

ทางเจ้าของจึงไปสอบถามกับทางบริษัทว่า จะช่วยสอบหาสาเหตุของการเกิดปัญหานี้ให้หน่อยได้หรือไม่ – ทางบริษัทตอบว่า “ทางบริษัทไม่มีนโยบายรับประกันตัวหนังหุ้มโซฟา ดังนั้น ทางเราจะไม่สืบหาสาเหตุ มีเพียงทางเลือกที่ว่า ท่านจะเสียค่าซ่อม หรือไม่ซ่อมเท่านั้น”

การตอบสนองเช่นนี้ ด้านหนึ่งทางบริษัทไม่มีวันได้ทราบเลยว่ากระบวนการผลิตมีปัญหาหรือไม่ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ การตอบสนองเช่นนี้ผลักดันให้ปัญหาของผู้บริโภคในเรื่องโซฟาราคาแพงพังก่อนกำหนด กลายเป็นความไม่พอใจเรื่องความรับผิดชอบของบริษัท (ที่แม้จะหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรก็ไม่ยอมทำ)

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนไม่แพ้กันคือ มีสายการบินสายการบินหนึ่งรับจองตั๋วผู้โดยสารระหว่างประเทศโดยไม่ได้ให้ข้อมูลล่วงหน้าว่า มีเก้าอี้นั่งบางช่วงของเครื่องบินที่ไม่สามารถเอนหลังได้ เมื่อผู้โดยสารท่านนั้นขึ้นเครื่องจึงทราบแต่ก็ไม่ได้ว่าความอะไรทนจนเครื่องบินขึ้นฟ้าและสัญญาณรัดเข็มขัดดับลง จึงเดินไปนั่งบริเวณที่เอนหลังได้และว่างอยู่

ปรากฏว่าแอร์โฮสเตสเดินมาห้ามและบอกว่า ที่นั่งดังกล่าวราคาแพงกว่าที่คุณจองเอาไว้ ดังนั้นไม่สามารถย้ายมานั่งได้ (และที่นั่งอื่นๆ ก็เต็มหมดแล้ว) ผู้โดยสารที่ไม่ได้ติดใจจะตำหนิอะไรตั้งแต่ต้น รู้สึกโกรธแล้วถามไปว่า “ทำไมจัดที่นั่งคุณภาพแย่แบบนี้มาให้ลูกค้า โดยไม่มีการให้ข้อมูลลูกค้าล่วงหน้าว่า มีบางที่นั่งไม่สามารถเอนเบาะได้”

พนักงานคนดังกล่าว หันมากล่าวด้วยน้ำเสียงหน่ายใจว่า “จะบ่นเอาอะไรกับที่นี่ ก็ไม่มีประโยชน์หรอกนะคะ หากจะบ่นก็เชิญกับทางบริษัท”

ทั้งสองเรื่องที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส และ สองเรื่องที่ พลิกวิกฤติกลายเป็นนรก นี่อาจจะถกเถียงกันได้มากถึงความสมเหตุสมผล (Justification) ของตัวละครที่เป็นลูกค้าและผู้ให้บริการ แต่ประเด็นหลักของบทความนี้ไม่ได้ต้องการจะถกเถียงว่าใครผิดหรือถูก และอันที่จริงแล้วในการบริหารภาวะวิกฤติมันไม่ได้มีแก่นสารอยู่ที่ผิดหรือถูกเลย

คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะบริหารสภาวะดังกล่าวอย่างไร ให้กลายเป็นด้านบวกของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและลูกค้า ซึ่งสองกรณีหลังทำได้แย่มากในแง่นี้ จนกระทั่งทำให้ผมนึกถึงคำพูดของผู้บริหารบริษัทรถยนต์หรูท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมากที่เรามีเทคโนโลยียานยนต์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เราไม่สามารถหาคนที่ดีที่สุดได้ง่ายนัก”

ท่ามกลางวิกฤติและโอกาสทางธุรกิจนี้ ตัวพลิกผันมิใช่ทุนหรือเทคโนโลยีแต่อย่างไร แต่เป็น “ตัวพนักงานที่ต้องรับมือกับสถานการณ์โดยตรง” (เช่น นายธนาคาร หรือแอร์โฮสเตส) การแสดงด้านที่เหมาะสมต่อลูกค้า รวมไปถึงการเลิกนิสัยหลีกเลี่ยงที่จะรับผิดไว้ก่อน และการแสดงความเข้าอกเข้าใจต่อต่อปัญหาของลูกค้า จะช่วยแปลงวิกฤติให้เป็นความประทับใจ

แต่การพลิกเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหาก… พนักงานของบริษัทไม่รู้สึกรับผิดรับชอบต่อชื่อเสียงของบริษัทเหมือนพนักงานธนาคารในเรื่องที่หนึ่ง แต่กลับแสดงด้านร้ายและทอดทิ้งปัญหาของลูกค้าดังปรากฏในกรณีของแอร์โฮสเทจสาว คุณว่าเช่นนั้นไหมครับ?

ที่มา.Siam Intelligence Unit
---------------------------------------------------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คิดถึงชนบทไทย !!?


คิดถึงชนบทไทย
เมื่อสมัยยังเป็นเด็ก เคยคิดเสมอว่าชีวิตจะผูกติดกับแสงสีเสียง และความศิวิไลส์ของเมืองหลวง และมีความหลงใหลได้ปลื้มกับชีวิตในเมืองหลวง เพราะไม่ชอบความเงียบสงัดในชนบท ทั้งๆที่เป็นเด็กบ้านนอกโดยกำเนิด
   
เมื่อมาใช้ชีวิตในเมืองหลวงทั้งต่างประเทศและในประเทศนานๆ ก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อชีวิตในเมืองหลวง เบื่อหน่ายกับความสับสนความวุ่นวายของเมืองหลวง  ตัณหาเกิดกลับ จึงมีความคิดอยากอยู่เงียบๆกับธรรมชาติในชนบทไทย
   
คิดถึงชนบทไทย คนไทยมีน้ำใจ สมัยก่อนเดินขึ้นบ้านไหนมีข้าวให้กิน ในขณะที่เมืองหลวงขอเข้าห้องน้ำเขายังไม่ให้เข้า ต้องวิ่งกันจนหน้าซีด
   
ถ้ามีโอกาสจะต้องไปอยู่ชนบท ใช้ชีวิตกับความวิเวก ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ เพราะความสุขของมนุษย์ เกิดได้จากธรรมชาติมากกว่าการปรุงแต่ง
   
แต่ชนบทไทยในปัจจุบันก็ต้องเลือกหน่อย เพราะส่วนหนึ่งได้กลายเป็นแหล่งทุนนิยมไปแล้ว เมื่อความเจริญเข้าไปซื้อชีวิตของคนไทยให้กลายเป็นพวกทุนนิยมไปหมด
   
บัดนี้ตามชายทุ่งเริ่มกลายเป็นบ้านจัดสรร และที่ดินอันเป็นเรือกสวนไร่นา นายทุนซื้อเอาไว้หมด
   
คนกรุงเทพฯที่กระเป๋าหนักทั้งหลาย เขาเอาเงินออกไปใช้ตามชนบทแบบไม่เสียดายกัน อยากซื้อที่เท่าไรก็ซื้อ เขาไม่ต่อกันแล้ว
   
เรื่องที่ดินมันไม่สำคัญ แต่สำคัญที่เขาซื้อจิตใจของชาวบ้าน เมื่อเขามีเงินมากกว่าชนิดที่ชาวไร่ชาวนาไล่เขาไม่ทัน เสมือนหนึ่งผักตบลอยอยู่เหนือน้ำ น้ำขึ้นเท่าไร ผักตบก็ยังลอยอยู่เหนือน้ำ
   
ชาวนาขายข้าว ขายที่ได้เงินก็ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ซื้อโทรทัศน์จอแบน ตู้เย็นแบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ โทรศัพท์มือถือไอโฟน ไอแพด ตลอดจนซื้อรถเครื่องให้ลูกให้หลาน
   
เมื่อความเจริญเข้าถึง ทำให้ภาพของชนบทใกล้เมืองเปลี่ยนไป ชนบททั่วไปก็เริ่มเปลี่ยน
 เศรษฐีประเภทรวยใหม่ ตอนนี้มีมากเหมือนดอกเห็ด
 เมื่อก่อนเป็นชาวไร่ชาวนาขี่ควายเป่าขลุ่ยอยู่แถวปทุมธานี นนทบุรี
 เมื่อที่ดินบูม ถนนตัดผ่านที่นา จึงเลิกอาชีพชาวนาชาวสวน ขายที่ขี่เบนซ์ ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก กลายเป็นคหบดีตีกอล์ฟไปในพริบตา
   
แต่คนพวกนี้ไม่รวยจริง ที่เป็นเศรษฐีจริงๆ คือพวกที่ไปกว้านซื้อที่จากชาวนาชาวไร่ แล้วเอามาตัดขายต่อ หรือสร้างคอนโดทำบ้านจัดสรร ฯลฯ
   
อยู่เมืองหลวงนานๆ ก็เริ่มเบื่อความจำเจ เบื่อความสับสนและความวุ่นวายของบ้านเมือง  เบื่อความเอารัดเอาเปรียบของคนส่วนหนึ่ง
   
และที่เบื่อที่สุดคือ ความน่ารักของนักการเมืองบางคน เวลาหาเสียงใครขออะไรให้หมด ใครขออะไรทำหมด ไม่ว่าต้มก๊วยเตี๋ยว ผัดราดหน้า ตำส้มตำ ทำได้หมด เมื่อทำเสร็จยังป้อนให้อีกด้วย บางคนไปหอมแก้มเขา บางคนให้เขาหอมแก้ม ไม่ทราบว่าจะเลือกเขาเข้าไปตำ หรือเข้าไปหอมแก้ม
   
เหตุการณ์เช่นนี้ได้ปรากฏขึ้นเป็นรายวันมากขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากดูโทรทัศน์ ไม่อยากอ่านหนังสือพิมพ์ บอกตรงๆว่า เบื่อจริงๆ
   
จึงทำให้เริ่มคิดถึงความวิเวกจากลมทุ่ง เสียงนกร้อง ภาพสุดลูกหูลูกตา อันเขียวขจีคือข้าวและนิวไม้ที่อยู่ห่างออกไป เพียงเดินแค่เคี้ยวหมากจืดของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
   
สมัยเด็กมีเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคน ชอบแก้ผ้าเล่นน้ำฝนตอนฝนตกหนักชอบว่ายน้ำ
   
เข้ากรุงเทพฯตั้งแต่ยังเป็นเด็ก กลับไปอีกทีตอนโรงเรียนปิดเทอมใหญ่ อายุเกิน ๑๐ แล้ว อาศัยอยู่ที่บ้านญาติริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางโพธิ์ อำเภอเมือง ปทุมธานี
   
เมื่อน้ำเหนือหลาก ชอบเกาะเรือโยงให้เขาไล่แล้วพุ่งหลาวลงน้ำ ส่วนใหญ่ชอบขึ้นหลังคาเรือเมล์ขนาดใหญ่ของบริษัทขนส่งที่แล่นระหว่างกรุงเทพฯ-บ้านแพน แล้วแข่งกันกระโดดมัดหมูที่ท้ายเรือ
   
บ้านที่ไปขออาศัยอยู่ หน้าบ้านขายก๊วยเตี๋ยวและกาแฟ ทุกวันจะมีคนเล่นหมากรุกจีนและคุยกันเรื่องสัพเพเหระ ส่วนใหญ่จะคุยกันเรื่องการเมือง ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง
   
ส่วนหลังบ้านเป็นโรงเรียนจีนชั้นประถมศึกษา สอนทั้งภาษาไทยและจีน หน้าโรงเรียนเป็นสนามหญ้า ครั้นถึงคืนเดือนหงาย ท้องฟ้าสว่างดังกลางวันไร้เมฆหมอก อากาศเย็นสบาย เพราะลมพัดเบาๆ พวกเด็กๆจะออกมาเล่นกันที่สนามหญ้า
   
ผู้ใหญ่นัดกันจับกลุ่มคุยกันทุกเรื่อง เท่าที่จะหยิบยกมาคุยกันและวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งวงคุยกันของผู้ใหญ่ นั่งที่สนามหญ้าโดยปูด้วยเสื่อและมีขันน้ำฝน มีกลีบกุหลาบโรยในขัน และมีจอกเล็กๆวางไว้ข้างๆ เพื่อแก้กระหายเมื่อถึงวาระถกเถียงกัน
   
เรื่องที่เถียงกันมากที่สุดคือ เรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองไปจนระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตลอดจนการวิพากษณ์การทำงานของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม และนักการเมืองที่ทุจริตโกงกินบ้านเมือง และเลยไปถึงเรื่องของความบันเทิง หมัดมวย ฯลฯ
   
ผู้ใหญ่เขาคุยกันนานและครื้นเครง เมื่อเวลาใกล้ ๓ ทุ่ม พวกแม่บ้านจะเตรียมข้าวต้มเลี้ยงกัน แต่ย้ายที่กินมาบนหลังคาเรือส่งน้ำแข็ง ซึ่งจอดอยู่ที่หน้าร้านขายก๊วยเตี๋ยวกาแฟ นั่งกินข้าวต้มไปดูน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไป มีเรือพ่วงประปราย  เป็นบรรยากาศชนบทอย่างแท้จริง
   
ข้าวต้มที่เลี้ยงกันนั้น ถ้าไม่เป็นข้าวต้มเครื่องก็เป็นข้าวต้มกับ
 ข้าวต้มเครื่องเป็นข้าวต้มกุ้ง ปลา กุ้งปลาหาง่ายจับขึ้นมาจากแม่น้ำสดๆยังดิ้นได้
 ส่วนข้าวต้มกับก็มีซีเซ็กฉ่าย  หัวไชโป๊วผัดไข่ ยำกุ้งแห้ง ยำไข่เค็ม ผัดผักบุ้ง ฯลฯ
ไข่จอมพลป. ฟองละ ๒๕ สตางค์เท่านั้น ถือเป็นอาหารของรากหญ้า ส่วนกุ้งแม่น้ำกิโลละ ๑๓ บาท ทุเรียนก้านยาวจากสวนนนทบุรีลูกละ ๑๐ บาท เป็นของบริโภคของคนมีตังค์
   
คุยกันไป หยอกล้อกันไป กินกันไป ดึกดื่นไม่เกี่ยง  ถ้ายังไม่จบ วันรุ่งขึ้นนัดกันใหม่
   
บางทีนัดกันตั้งแต่เย็นโดยสมาชิกสภาทุ่งจะถืออาหารมาคนละจาน เจ้าบ้านเพียงแต่หุงข้าวหรือตำน้ำพริกมะเขือกรอบ เหยาะแมงดาพร้อมเครื่องจิ้ม มีต้นหอมดอง ผักเสี้ยน และปลาช่อนย่าง หนังกรอบเนื้อในฟู นิ่มยังกะสำลี พร้อมน้ำปลาพริกขี้หนู บีบมะนาว มีหอมหรือกระเทียมซอยใส่ อร่อยกว่าภัตตาคาร ราคาย่อมเยาว์ ถ้าตั้งวงกันก่อนแดดร่มลมตก ก็หมายความว่า คืนนั้นต้องมีมโหรี
ที่แปลกที่สุดคือกินอาหารไทย แต่เล่นมโหรีจีน
   
ถ้าวันไหนมีมโหรีจีนสภาทุ่งจะมาตั้งวงที่ร้านก๊ยวเตี๋ยว ซึ่งตั้งอยู่ตรงคุ้งน้ำพอดี จะส่งเสียงตามสายลมไปไกลทีเดียว
   
บรรยากาศแบบนี้ที่ไหนก็หาไม่ได้อีกแล้ว หรือวันไหนวัดใกล้บ้านมีงาน ก็ยกทีมไปคุยต่อที่วัดพร้อมกับโขกหมากรุกด้วย บางครั้งโขนถูกม้ากินกลางกระดาน ก็เฮฮากันเสียงดัง
   
ในแวดวงนักคุยสมัยนั้น มีรุ่นพ่ออยู่คนหนึ่งชื่อ “น้าแดง” เป็นเจ้าของเรือเครื่องรับจ้างลากเรือ ทุกครั้งที่ตั้งวงน้าแดงจะแวบมาร่วมเป็นประจำ พร้อมอาหารติดมือ น้าแดงเป็นคนชอบอ่านวรรณคดี ที่ชอบมากคือ “สามก๊ก” น้าแดงรู้ด้วยว่า คนที่เขียนเรื่องสามก๊กชื่อ “หลอกว้านจง”
   
น้าแดง บอกว่า “เรื่องสามก๊กมีตัวละครที่สำคัญอยู่ ๓ ตัว คือโจโฉ เล่า ปี่ และขงเบ้ง โจโฉแม้จะเก่งเฉียบขาดขนาดไหน ก็ยังเป็นรองจากขงเบ้ง เล่าปี่ก็เป็นรองโจโฉ แต่เก่งทางจิตวิทยา สามารถใช้ขงเบ้งดำเนินการทางการเมืองได้จนวาระสุดท้าย โจโฉเป็นคนเก่ง มีความสามารถที่จะปกครองคนทั้งโลก แต่อีกภาพหนึ่งคือโจโฉมีความชั่วร้ายที่จะทำให้คนเดือดร้อนได้ทั้งโลก”
   
สมัยก่อน(๕๖ ปีแล้ว) ภาพยนตร์ละคร หาดูยาก มีก็แต่ลิเกกับรำวง ลมหนาวโชยมา อากาศชนบทสดชื่น ก็จะนัดกันมีรำวง โดยหนุ่มจากหมู่บ้านกับสาวอีกหมู่บ้าน เสียงกองโทนรำมะนาดังมาตามสายลมไพเราะมากทีเดียว นักร้อง ร้องเพลงสากลประยุกต์เป็นเพลงรำวงในจังหวะต่างๆ เช่นเพลง “เสียงครวญ”ของสมยศ ทัศนพันธ์ ที่ฟังแล้วใจหาย ดังว่า“เสียงครวญเรียกหา ตามสายลมพลิ้วมา เหมือนดั่งจะพาใจมั่น พอฟังไปเสียงก็คลาย...........” ไพเราะจับใจ หาที่เปรียบยาก
   
เพลงของกรมโฆษณาการ (ต่อมาเป็นกรมประชาสัมพันธ์) ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน เนื้อร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ดังว่า“นกบินกลับรัง แต่ตัวฉันยังนั่งคอยคู่...............” ฟังหวานใจลอยจนหายไปกับความรู้สึก จนจำไม่ได้ว่าตัวเราขณะนั้นอยู่ที่ไหน
   
เพลง “เจ้าสาวชาวไร่” ซึ่งถือเป็นเพลงแรกของเพลงลูกทุ่ง ประพันธ์โดยเหม เวชกร ร้องโดยคำรณ สัมปุญญานนท์ ดังว่า“โอ้เจ้าสาวชาวไร่ ไปไหนกันหนอ ตัดผมต้นคอ ดูลออสำอางตา......”
   
บรรยากาศแบบนี้ ปัจจุบันเราจะหาได้จากไหน เพราะไม่ว่าจะไปไหน มีแต่เสียงนินทา เป็นเพลงฮิตยอดนิยม หรืออาจเป็นเพราะเรามาจมอยู่ในปลักของการต่อสู้ที่เอารัดเอาเปรียบทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมจากการยึดถือเงินเป็นอำนาจ
   
สังคมกำลังเปลี่ยนไปจากสังคมที่เกิดจากน้ำใจเป็นสังคมที่เอารัดเอาเปรียบ และเอาชนะกันด้วยเล่ห์เหลี่ยม ซึ่งมันได้เกิดจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเทศที่มีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม โดยไม่มีการปฏิวัติทางด้านจิตใจ ตรงจุดนี้แหละที่เริ่มคิดถึงชนบทไทย


ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

คนไม่มีสิทธิ์ !!?


โดย สุชาฎา ประพันธ์วงศ์

น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้กากบาทเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากย้ายสำมะโนครัวออกจากชาวเมืองหลวงไปเป็นคนชานเมืองที่มีรั้วชิดติดกันแต่ไม่มีสิทธิ์ ได้แต่เฝ้าติดตามการลงพื้นที่หาเสียงของผู้สมัครที่ขยันขันแข่ง เข้าใจงัดกลเม็ดแพรวพราวเรียกเรตติ้งกันน่าดู แม้บางครั้งจะกลายเป็นตัวตลกก็ไม่สน ขอให้เป็นข่าวก็พอเพื่อขอคะแนนจากจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด 4,333,157 คน (ชาย 1,997,113 คน หญิง 2,336,044 คน)

มาดูวิธีหาเสียงที่เหนือธรรมชาติของแต่ละคนกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณชาย (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 16) และอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ (พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เบอร์ 9) ที่เดินดินกินข้าวแกง กลายเป็นภาพสงวนที่จะได้ชมเฉพาะช่วงหาเสียงเท่านั้น ส่วนกิริยามารยาทนี่ไม่ต้องพูดถึง ไหว้ทุกที่ทุกคนตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอย แม้แต่เสาไฟฟ้าก็ยังไหว้ได้ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของผู้สมัครไปเสียแล้ว

ลองมาดูสโลแกนหาเสียงของแต่ละคนก็ไม่ธรรมดา พล.ต.อ.พงศพัศ อดีตโฆษก สนง.ตำรวจแห่งชาติ ชูการทำงาน "อย่างไร้รอยต่อ" มีแฟนคลับช่วยโปรโมตต่อว่า คนไทยได้หลับเต็มตื่นนอนหลับสบายอย่างแน่นอน ส่วนคุณชายคลอดสโลแกนรักโลก "รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ" เรียกคะแนนเสียงจากคนกรุงฐานเสียงเดิมแบบเข้าใจกัน ไม่ต้องพูดอะไรมาก

แต่คนที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส มองเห็นช่องทางโปรโมตตัวเองจากกรณี 2 แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ รีบช่วงชิงนำเสนอตัวเองเป็นผู้สมัครอิสระ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เบอร์ 11

ผู้สมัครแห่งความปรองดอง บอกว่า "เลือกประชาธิปัตย์ก็ทะเลาะกับเพื่อไทย ถ้าเลือกเพื่อไทยท่านตรวจสอบได้หรือไม่...แต่ผมตรวจสอบได้"

ครั้นกลับมาดูโพลสำรวจความเห็นของคนกรุงแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านอยากเห็นผู้ว่าฯแก้คือ ปัญหาปากท้อง สินค้าราคาแพง และปัญหารถติด และยังชื่นชอบผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง มากกว่าผู้สมัครอิสระ

ส่วนบรรยากาศที่สร้างสีสันให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คึกคักเป็นพิเศษในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กที่สร้างหน้าเพจเชียร์และแช่งกันอย่างสนุกสนาน รักใครชอบใครก็กด Like แต่จะเลือกหรือไม่นั้นอีก

เรื่องหนึ่ง และคอยลุ้นคอยเชียร์ว่าใครจะชนะ

ไม่เหมือนกับ "กรณ์ จาติกวณิช" เอาตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ภาค กทม.เป็นเดิมพันหาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์แพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ ดังนั้นคุณชายจึงแพ้ไม่ได้

เช่นเดียวกับกองเชียร์แต่ละฝ่ายต่างพากันออกมาตีฆ้องร้องป่าวราวกับจะไปออกรบ แสดงวิสัยทัศน์เฉียบคมแบบเชือดเฉือนสติปัญญาผู้อื่นประหนึ่งว่าคิดได้อยู่คนเดียว ใครที่คิดต่างจากนี้ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ

โดยลืมไปว่า กรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมรที่ฉาบไว้อย่างสวยหรูนั้นเป็นเพียงฉากหน้าบังความสกปรกโสมมที่หมักหมมกันมายาวนาน ควรถึงเวลาทำความสะอาดครั้งใหญ่ได้แล้ว

แต่ด้วยระยะเวลาการทำงาน 4 ปีของผู้ว่าฯ กทม. แทบมองไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ว่าใครจะลุยเข้าใส่ปัญหากล้าแก้แบบไม่หวงและห่วงคะแนนนิยม กล้าขยับเขยื้อนยอมเจ็บตัวบ้าง เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องเกิดแรงเสียดทานเป็นเรื่องปกติ

ดูเหมือนทุกพรรคและทุกคนจะพยายามประคองคะแนนนิยมของตนเองไม่ให้หกกระเด็นออกจากแก้ว แล้วแบบนี้ความหวังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ กทม.คงต้องฝันกันต่อไป

เพราะในสนามเลือกตั้งตอนนี้มีแต่ พระเอก นักบุญ มารยาทงาม ที่เดินขายฝันให้คนกรุงเทพฯ กราบกรานขอคะแนนเพื่อเข้าไปนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร

สุดท้ายก็ความจำสั้น จำไม่ได้ว่าสัญญาอะไรไว้บ้าง

ส่วนหน้าตาผู้ว่าฯ กทม.จะเป็นอย่างไรนั้น ขอฝากความหวังไว้ที่ชาวกรุงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 4 ล้านคน ช่วยกากบาทเลือกผู้แทนเผื่อคนที่อพยพเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองหลวง แต่ไม่มีสำมะโนครัวจำนวนมากกว่าคนมีสิทธิ์เลือกตั้งถึง 2 เท่าด้วยละกัน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

สงครามจากข้างนอก..ศึกจากข้างใน !!?


โดย:วีระศักดิ์ พงศ์อักษร

ศึกที่น่ากลัวมากสุด...คือศึกจากภายใน ซึ่งนั้นหมายถึงทั้งในประเทศและจิตใจ เพราะหากเราสามารถเอาชนะความรู้สึกในใจตัวเองได้

ย่อมเป็นชัยชนะที่สูงสุด เช่นกันหากเราสามารถแก้ปมความขัดแย้งในประเทศได้ ประเทศจะสดใสมากกว่านี้"

ขณะที่ศึกในประเทศย่อมหนีไม่พ้นความขัดแย้งคนในชาติ...นอกจากยังไม่เห็นทิศทางสดใสแล้ว ตรงกันข้ามมีทิศทางรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เพราะสังคมไทย ตอนนี้เหมือนคนที่ยืนอยู่ปากเหว ผลักเพียงเบาๆ ก็หายนะแล้ว!

ยิ่งได้ยินข่าว(ลือ) แต่ละฝ่ายหันไป "ฝึกอาวุธ" เตรียมพร้อมสำหรับการปะทะศึกใหญ่ในอนาคตแล้ว... "น่าวิตกยิ่ง" !!!

เพราะหากในประเทศไทยยังจัดระเบียบไม่ลงตัวแล้ว เมื่อเผชิญกับศึกจากข้างนอกแล้ว ประเทศจะยิ่งอ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นปมทางเศรษฐกิจ ที่โอกาสโดยถล่มจาก "สงครามค่าเงิน" ....ความอ่อนไหวจากคดีเขาพระวิหาร ตั้งแต่เม.ย.2556 ซึ่งยังไม่มีใครประเมินได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จากการตัดสินของศาลโลก

เริ่มจากปัจจัยศึกภายใน...
หากจะประเมินกันแล้ว บารมีของนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "..เด่นชัดขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะที่ปีที่แล้ว เริ่มจากฐานความคาดหวังที่ต่ำมาก จากภาพลักษณ์ "หุ่นเชิด"

1 ปีที่ผ่านมาประชาชนยอมรับมากขึ้น ยิ่งมีกระแสข่าวออกอาการ"ดื้อ"กับพี่ชายบ้าง ยิ่งได้คะแนนนิยม และหากการปรับคณะรัฐมนตรี ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น กิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังอยู่ในตำแหน่ง ก็จะเป็นการการันตีบทบาทของตัวเองให้เด่นชัดมากขึ้น แม้ว่าโดยภาพรวม"คนไกลบ้าน"ยังเป็นผู้กุมชะตากรรมของรัฐบาลก็ตาม

ปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม คือ "เชื้อไฟ" ก้อนใหญ่ ที่จะสุมให้ความขัดแย้ง บานปลายและลงลึกมากขึ้น บนสภาวการณ์ที่ความไว้วางใจของคนในชาติตกต่ำอยู่ก่อนแล้ว

ถามว่า..รัฐธรรมนูญปัจจุบันหรือ การไม่มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ หรือขัดขวางแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาทหรือไม่..?

เปล่าเลย ขณะเดียวกันกำลังไปได้สวย...

คนที่บริหารประเทศอยู่ไย ต้องดิ้นรนสร้างแรงกดดัน ข้อจำกัดให้กับ "ตัวเอง" ...เพียงแต่นายกรัฐมนตรี จะทนทานต่อแรงกดดันจาก "บางคน" และการทวงการบ้านจากกลุ่มคนเสื้อแดง ได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะทราบดีว่า..หยิบทั้งสองเรื่องขึ้นมาเมื่อไหร่นั้น ...เสี่ยงจะวุ่นวายและกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลได้ง่าย
หาก "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไม่เชื่อก็ลองหยิบขึ้นมาพิจารณาดูเองแล้วกัน

เมื่อดูปมศึกภายในประเทศ ที่คาดจะ "วุ่น" ช่วงกลางปีนี้นั้น ก็น่าจะสอดรับกับคดีเขาพระวิหาร ที่ศาลโลก จะพิจารณาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งหากให้อ่านใจรัฐบาล ดูเหมือนว่า "จะถอดใจ" ...หาทางลงรับความพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังวไม่ได้สู้ด้วยซ้ำ

เรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นชาติ "อ่อนไหวยิ่ง" !!!

ที่สำคัญหาก ประเทศไทยต้องเผชิญศึกจากสงครามค่าเงินบาท เข้ามาผสมโรงด้วย "ยิ่งน่าสะพรึงกลัว" เพราะโอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ไม่น้อยไปเหมือนกัน เนื่องจากเมื่อหันมาดูมาตรการของธนาคารกลางหลายประเทศ เริ่มจากธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศแล้ว "ทำเหมือนกันหมด" ...ปั๊มเงิน

เพียงแต่เม็ดเงินที่อัดฉีดออกมานั้นล้วนทะลักมายัง "เอเชีย" ...ซึ่งนั้นหมายความว่า "ไทย" เป็นเป้าหมายอันดับแรกๆ ของ "นักเก็งกำไร"

บทเรียนสยอง!! เมื่อปี 2540 ไม่มีใครอยากให้เกิด..แต่ก็อย่าประมาท และการป้องกันที่ดีที่สุด คือสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง อย่าทำให้ข้างในอ่อนแอ

นี้คือประเทศไทย..หลังจากวันนี้!!!

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ลอกคราบ !!?


ลอกคราบ. ทับรอยเดิม
เหมือน “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังใหญ่มะล่ะเทิ้ม
วางเดิมพัน ถ้าแพ้เลือกตั้งแก่ “ปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไขก๊อก ลาออกพ้นเก้าอี้
เมื่อแพ้หมดสภาพ.. ยัง“กลืนน้ำลาย” กลับมาเป็น “หัวหน้าพรรค” ไม่อับไม่อายเสียนี่
เหมือนกับ “ดอน” กรณ์ จาติกวณิช เกรงว่าหัวใจจะไม่ช่วยหาเสียงให้กับ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จริง..จึงลั่นวาจาเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ”แล้วแพ้ ขอลาออกจากหัวหน้าพรรคเลยนะ
ถ้าแพ้แล้วนะครับ...อย่าได้หันหลังกลับ..มารับตำแหน่งอีกเชียวฮะ

--------------------------------------

หัวหมอ ต่อข้อกฎหมาย
ฉะนั้น, “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมดีเอสไอ ต้องทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ เข้าไว้
อย่าให้ “นักการเมือง” อาศัย “ข้อกฎหมาย” มาเตะถ่วง ดำเนินคดี
อาศัยความเป็น “หมอความ” เล่นเชิง เพื่อกลบเกลื่อน.. ต้องเล่นงาน ให้จั๋งหนับกว่านี้
นักการเมืองไม่มีอภิสิทธิ์ เมื่อทำผิด “ดีเอสไอ” ต้องเร่งส่งฟ้อง กันเสร็จสรรพ
ร้องว่าดีเอสไอกลั่นแกล้ง..หวังใช้กฎหมายพลิกแพลง..ต้องแจ้งความเพิ่มขอรับ

---------------------------------------

อย่าประมาท
นักการเมือง ที่ไม่ได้เข่นฆ่าประชาชน ล้วนเป็น “สมบัติของชาติ”
ว่ากันว่า ในวันที่ “ชาละวันพิจิตร” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จะหลับเป็นเจ้าชายนิทราไม่รู้ตัว
ในคืนที่ป่วย ตอนตี ๓ ท่านลุกขึ้นมา “กินยาหอม” เหมือนทุกครั้ง ที่ปวดหัว
ถึง “พี่น้อย” ฉวีวรรณ ขจรประศาสน์ คู่ขวัญคู่ชีวิต ร้องขอให้ไปโรงพยาบาล ท่านก็ไม่ไป
กราบเรียนนักการเมืองวัยชรา...เจ็บป่วยเป็นไข้ขึ้นมา..หาหมอดีกว่า ก่อนทุกอย่างจะสาย

---------------------------------------

น้ำลดตอผุด
หลักฐาน สร้างโรงพักทั่วประเทศ ๕๐๐ กว่าแห่ง มีรายการเปิบพิสดารกันสุด..สุด
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี ร้องเป็น แผ่นเสียงตกร่อง
“รัฐบาลปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืมมือ “ดีเอสไอ” เล่นงาน “เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้หงายท้อง
เงินเกือบ ๖ พันล้าน..เหมาเข่ง เทกระจาด ให้ “ผู้รับเหมา” เจ้าเดียว รวบยอดไปทำคนเดียว..เสร็จแล้ว “หอบเงินหนี” โดยทิ้งงาน
เงิน ๖ พันล้านอักโข...โกงกันคำโต...ยังมาโอ่ว่าถูกแกล้ง มันไม่ไหวเหมือนกัน

---------------------------------------

ตายเพราะ โพลล์
สำรวจความคิดเห็นทีไร, “พรรคเพื่อไทย” ชนะในสนามเลือกตั้ง “กทม.”ทุกหน
ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ ๓ กค. “โพลล์” ทุกสำนัก ว่าทิ้งขาด
แต่ผลเลือกตั้งออกมา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นำทีมชนะในนาม พรรคประชาธิปัตย์
จริงอยู่ “จูดี้” พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้แรงศรัทธาจากมหาชน..แต่อาจพลิกล็อคให้กับ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อย่างไม่เห็นฝุ่น
อย่าไปปักใจเชื่อคำเขา...ระวัง “หนังม้วนเก่า”..เค้าจะได้เป็นผู้ว่าฯ อีกนะคุณ

ที่มา.คอลัมน์ ตอดนิดตอดหน่อย ,บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รถเมล์ฟรี เรือฟรี..ของฟรีไม่มีในโลก !!?


สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีการหาเสียงด้วยนโยบายลด-แลก-แจก-แถมเข้าขั้น “น่าเกลียด”

ถ้าปล่อยให้เล่นการเมืองกันแบบนี้อีกไม่เกิน 10 ปี ประเทศชาติฉิบหายแน่นอน

เพราะมีเลือกตั้งทีไร นักการเมืองสามานย์ก็จะงัดนโยบายพรรค์อย่างนี้ออกมาหวังซื้อเสียงชาวบ้าน

ใครๆ ก็ชอบของฟรี

แต่ของฟรี ไม่มีในโลก

ยกตัวอย่าง นโยบายหาเสียงประเจิดประเจ้อที่สุด แจกแบบไม่คิดอะไรมากที่สุด คือ การสัญญาว่าจะให้ประชาชนได้ใช้รถเมล์ฟรี เรือคลองแสนแสบฟรี เรือข้ามฟากฟรี

1) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคเพื่อไทย หาเสียงว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะจัดให้มีรถเมล์ฟรีทุกคันสำหรับรถร้อน เรือคลองแสนแสบฟรี ส่วนรถเมล์ติดแอร์จะให้คิดค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย

รายละเอียด ความเป็นไปได้ ที่มาของเงินทุน ตลอดจนวิธีดำเนินการไม่มีการเปิดเผย

ล่าสุด ถูกซักถามมากเข้าว่าจะเอาเงินจากไหนมาทำ ก็อ้างเพียงว่าจะใช้งบ 9,000 ล้านบาทต่อปี

2) ข้อเท็จจริงของงบประมาณ กทม.เวลานี้

ไม่แน่ใจว่าผู้สมัครบางคนเคยทราบ เคยศึกษาก่อนที่จะเสนอนโยบายหาเสียงหรือไม่?

รู้ แต่แกล้งไม่รู้?

โง่ แล้วตีหน้าซื่อ หาเสียงสร้างภาพ ลวงหลอกชาวบ้านไปวันๆ?

ปีงบประมาณ 2556 กทม.ประมาณการรายได้ไว้ทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาท

จำแนกเป็นรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง 13,200 ล้านบาท เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ 130 ล้านบาท, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน 9,850 ล้านบาท, ภาษีป้าย 710 ล้านบาท, รายได้จากโรงรับจำนำในสังกัด กทม. 580 ล้านบาท, รายได้จากตลาด กทม. 170 ล้านบาท ฯลฯ

รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 46,800 ล้านบาท เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 22,500 ล้านบาท, ภาษี/ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 8,100 ล้านบาท, ภาษี/ค่าธรรมเนียมรถยนต์ 11,000 ล้านบาท, ภาษีสรรพสามิต 1,900 ล้านบาท ฯลฯ

ขณะเดียวกัน รายจ่ายของ กทม. ในปีงบประมาณ 2556ปรากฏว่า เป็นรายจ่ายประจำ 51,685 ล้านบาท

รายจ่ายประจำ คือ รายจ่ายจำพวกเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าน้ำค่าไฟฟ้า ค่าครุภัณฑ์ ฯลฯ ไม่เกี่ยวกับโครงการพิเศษ หรือโครงการใหม่ๆ อื่นใด

แต่ละปี กทม.มีงบประมาณเหลือไปจ่ายในโครงการใหม่ๆ หรือโครงการลงทุน จำกัดจำเขี่ยมาก ไม่ถึง 10,000ล้านบาท (ถ้าจะทำโครงการ จะต้องใช้วิธีตั้งงบประมาณชดเชยในปีต่อๆ ไป)

3) ถ้าผู้บริหาร กทม. จะใช้งบ กทม.จ่ายค่ารถเมล์ฟรี ค่าเรือฟรี ฯลฯ ตามที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หาเสียงไว้ โดยอ้างว่าใช้งบปีละ 9,000 ล้านบาทจริงๆ

ย้ำ... ปีละ 9,000 ล้านบาท!

พึงสำเหนียกว่า ปีนั้นๆ จะไม่เหลืองบประมาณไปใช้จ่ายในโครงการอื่นๆ ได้อีกแล้ว

4) รถเมล์ฟรีภาษีประชาชนที่มีบริการอยู่ 800 คันทุกวันนี้ ก็ไม่ใช่ของฟรี

เป็นการเอาเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาจ่ายชดเชยให้ ขสมก.

ไม่ได้ใช้งบประมาณของ กทม.

เป็นอำนาจของรัฐบาล ดำเนินการผ่าน ขสมก. ซึ่งอยู่ใต้กำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม

ใช้เงินมาแล้วหลายพันล้านบาท

ส่วนเรือฟรี ถ้า กทม.จะทำ ก็จะต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปจ่ายให้เอกชนที่เขาเดินเรืออยู่

แบบนี้ บริษัทเดินเรือเอกชน เขาชอบแน่นอน เพราะจะได้รายได้แน่นอน

ถ้าอ้างว่า จะไปขอเงินจากรัฐบาล แบบนี้ก็เข้าข่ายหาเสียงเกินอำนาจ คุยโวเกินขอบเขตหน้าที่ เอารัดเอาเปรียบผู้สมัครคนอื่น แถมกระทรวงคมนาคมก็ออกมาบอกแล้วว่าไม่มีนโยบายอุดหนุนให้รถเมล์ฟรีทุกคัน

หากรัฐบาลจริงใจที่จะทำ ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะสามารถทำได้เลย แต่ถ้ารัฐบาลใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขว่าจะต้องเลือกคนของพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ว่าฯ กทม.จึงจะจัดสรรงบประมาณดำเนินการให้ แบบนี้ก็จะเป็นเสมือนการข่มขู่ เรียกค่าไถ่ ตีเมืองขึ้นเอากับคน กทม.

5) วิธีหาเสียงแบบโม้ไว้ก่อนเช่นนี้ ทำให้นึกถึงนโยบาย “ดีแต่โม้” หลายๆ เรื่องของพรรคเพื่อไทย

บัดนี้ ก็ไม่สามารถทำได้จริง

ไม่ว่าจะเป็น กระชากค่าครองชีพลงมา ยุบเลิกกองทุนน้ำมัน ไม่กู้หนี้ยืมสิน ฯลฯ

หรือนโยบายคล้ายๆ กัน คือ หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งว่า จะให้ใช้รถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย

จนบัดนี้ ก็ยังไม่มีวี่แวว

ข่าวคราวสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ออกมาจากปาก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ขณะนั้น) ยอมรับกับสื่อมวลชนว่า นโยบายหาเสียงเรื่องรถไฟฟ้า 10 สาย ค่าโดยสาร 20 บาท อาจจะต้องเป็นหมัน โดยอ้างว่าบริษัทเอกชนที่ประกอบการรถไฟฟ้าอยู่เดิมอาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนโยบาย!

ครั้งนี้ ก็จะเล่นอีหรอบเดิมอีกหรือ?

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

ส่งออก กระอักบาทแข็ง-เศรษฐกิจโลกทรุด.. !!?


เป็นประเด็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างร้อนแรงและได้รับการพูดถึงมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ นั่นคือเรื่อง “เงินบาทแข็งค่า” ที่สาเหตุหลักๆ ของกรณีนี้ เกิดจากประเทศเศรษฐกิจมหาอำนาจ อย่างสหรัฐและญี่ปุ่น อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ จนเป็นผลทำให้เกิดกรณีสภาพคล่องล้นจนไหลทะลักเข้าสู่ประเทศหรือภูมิภาคในโลกที่เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ซึ่งนั่นเองก็รวมไปถึง “ไทย” ด้วย  
   
สำหรับเรื่องนี้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เคยออกมาระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในส่วนของไทยเอง อยากจะมองว่ามีข้อดีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่ในประเทศไทยเองยังไม่มี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการทั้งหลาย ขณะที่ภาครัฐเองก็พร้อมที่จะเร่งนำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อรองรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้
   
แต่ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง และต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็คือ “ผู้ประกอบการในกลุ่มส่งออก” ที่อาจได้รับผลกระทบในเรื่องนี้อยู่บ้าง โดยเรื่องนี้ “กิตติรัตน์” ยืนยันว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการหารือกับกลุ่มผู้ส่งออก เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท
   
ขณะที่การดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีมาตรการรับมือในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเชื่อว่าจะไม่ใช่วิธีการลดอัตราดอกเบี้ยหรือแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยวิธีการซื้อขายเงินตราสวนทิศทางกับประเทศอื่นอย่างแน่นอน เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและไม่มีประโยชน์
   
ผมยืนยันว่าไม่ชอบให้เงินบาทแข็งค่า พูดมาตั้งแต่ตอนค่าบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์แล้ว และยังคงยืนยันอีกว่า รัฐบาลจะไม่เป็นกลไกที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งอย่างแน่นอน ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาจจะไปกดดันค่าเงินบาทนั้น ยืนยันอีกว่าจะเป็นการกู้ในประเทศ เป็นการกู้เงินบาท ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน”  กิตติรัตน์กล่าว
   
ขณะที่ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยตรง ได้ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้มีการสั่งการอะไรมาเป็นพิเศษ โดยตนเพียงแค่เข้าไปรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเท่านั้น
   
พร้อมทั้งยืนยันว่าการไหลเข้าไทยของเงินทุนต่างชาติในช่วงนี้นั้น ไม่ได้เป็นการไหลเข้าในลักษณะโจมตีค่าเงินบาท แต่เป็นเพียงการเข้ามาซื้อเพราะเห็นว่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีระดับการแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเท่านั้น รวมถึงพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อยู่ในทิศทางที่ดี จึงยังไม่น่าวิตกกังวลมากนัก
   
ความจริง ธปท.มีการใช้เครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทบางอย่างอยู่แล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับผลกระทบนั้น ตนอยากให้มองในมุมกว้างมากขึ้น และเรื่องนี้คงต้องรอแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนจากรัฐบาลด้วย โดยในช่วงเร็วๆ นี้ ธปท.จะมีการหารือร่วมกันกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย” ประสารกล่าว
   
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการเปิดเผยการสำรวจผลกระทบของค่าเงินบาทต่อภาคธุรกิจ โดยได้ทำการสอบถามผู้ประกอบการทั่วประเทศประมาณ 400 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก โดยระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการนั้น เห็นว่าควรจะอยู่ที่ 30.2 บาทต่อดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่าที่สุดและสามารถยอมรับได้ นั่นคือ 29.40 บาทต่อดอลลาร์ และจะสามารถรับแรงกดดันได้ประมาณ 45 วัน พร้อมถึงเสนอแนะว่า  ธปท.ควรดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วจนเกินไป และควรมีมาตรการรักษาระดับค่าเงินให้ปรับไปในทิศทางใกล้เคียงกับคู่แข่งหรือประเทศในภูมิภาค
   
ต้องยอมรับจริงๆ ว่าเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ต้องหันมาให้ความสนใจมากขึ้นในทันที เพราะทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์อย่างมาก ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ถูกจับตามองมากที่สุดกับกรณีนี้คือ “กลุ่มส่งออก” ที่ก่อนหน้านี้เริ่มมีวี่แววการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากความสามารถในการบริโภคที่ลดลงของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น กลับต้องมาเจอมรสุมอีกระลอก กับการแข็งค่าของเงินบาท
   
และต้องยอมรับอีกว่ารัฐบาลได้ให้ความสนใจกับการให้ความช่วยเหลือ และการแก้ปัญหานี้ค่อนข้างดี เพราะมีการประสารข้อมูล หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่จะได้รับผลกระทบ ถือว่าดีกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจถดถอยมาก ที่การทำงานค่อนข้างล่าช้า จนเป็นผลให้กลุ่มผู้ส่งออกในหลายๆ ส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนักไปตามๆ กัน
   
นั่นเพราะเรื่อง “ค่าเงิน” ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ  ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการค้าขาย  แต่ในภาพรวมของปัญหาที่มีแรงกดดันต่อการค้าขายของผู้ประกอบการไทยนั้น ก็ยังคงลืมความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจไม่ได้ เพราะหลายฝ่าย ซึ่งรวมไปถึง “ธนาคารโลก” ก็ยังคงให้น้ำหนักกับปัญหานี้อยู่ว่าจะยังมีแรงกดดันกับภาคส่งออกของไทยอยู่มาก และอาจจะมากกว่าการแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้ด้วย โดยหลังจากนี้  “หวัง” ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้มากขึ้น  แม้ว่าปัญหาค่าเงินอาจจะส่งผลกระทบแค่ระยะสั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “การบาดเจ็บ” ในช่วงสั้นจะไม่ สาหัส..

ที่มา.ไทยโพสต์
++++++++++++++++++++++++++++++

สสวท.เร่งพัฒนาระบบการศึกษาแบบสะเต็มปูทางอนาคตสู่ผู้นำภูมิภาคด้านสังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี..


สสวท. ขยายความร่วมมือจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโลยี ภายใต้แนวคิดการศึกษาแนวใหม่ของระบบ สะเต็ม (STEM: Science, Technology, Engineering and Mathematics) เน้นการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (creative economy)

ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวในงานพิธีเปิด การประชุมโต๊ะกลมเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโลยี (STEM) ภายใต้กลุ่มภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย ว่า สสวท. เน้นถึงความสำคัญของการศึกษาในระบบ สะเต็ม ที่จะให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยเน้นให้นักเรียนสามารถใช้ความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มาต่อยอดทางความคิด เพื่อสามารถที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆในอนาคตได้

ดร. พรพรรณ กล่าวต่อไปอีกว่า ในอดีตการศึกษาของไทยเน้นการเรียนภาคทฤษฎีของวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโลยี และเรียนแบบแยกส่วน แต่ไม่เน้นด้านการปฏิบัติ หรือการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่การศึกษาแนว สะเต็ม จะเน้นด้านการบูรณาการองค์ความรู้ทั้งหมด เพื่อให้วิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เพื่อนำมาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ หรือแนวทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อใช้แก้ปัญหา หรือเพิ่มมูลค่าสินค้าทั้งการเกษตร และการอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

“ระบบการศึกษาแบบ STEM จะเริ่มตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็ก ไปจนถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยจะต้องจัดหลักสูตรที่มีความหลากหลาย และตอบสนองความต้องการของคนในแต่ละท้องถิ่น เพราะเราต้องการจะให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถนำไปแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้”

การเพิ่มขีดความสามารถในการสอนของครู ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ สสวท. จะต้องดำเนินการ เพราะครูเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะถ่ายทอดความรู้ และกระตุ้นให้นักเรียนแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ได้ โดยทาง สสวท. จะต้องทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กระทรวงมหาดไทย) กระทรวงไอซีที มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน ภาคสังคม และชุมชน ที่จะต้องเข้ามาร่วมมือ เพื่อให้การเรียนการสอนแนวใหม่สัมฤทธิ์ผล โดยการจัดให้มีการอบรมพิเศษกับคุณครู เพื่อสร้างความเข้าใจ และสามารถออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนได้

นอกจากนี้ระบบดังกล่าว ยังสามารถที่จะสร้างเครือข่ายด้านการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านระบบเครือข่าย 3จีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาระหว่างโรงเรียนที่อยู่ในเขตเมือง และโรงเรียนห่างไกลในชนบท ส่วนทางด้านภาคเอกชนนั้นสามารถให้ความร่วมมือ โดยบอกโจทย์ หรือความต้องการในการเพิ่มผลผลิต เพื่อให้นักศึกษาในระดับการศึกษาต่าง ๆ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และข้อเสนอแนะที่สามารถตอบโจทก์อุตสาหกรรมนั้นๆได้

ในขณะที่ ดร.เปกกา เคส จากมหาวิทยาลัยโอลู ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการศึกษา กล่าวว่าการศึกษาในระบบสะเต็ม ทำให้ระบบการเรียนการสอนในประเทศฟินแลนด์ ถือว่าดีที่สุดในโลก รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา เพราะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยบุคคลที่มาประกอบอาชีพครูในทุกระดับชั้น ต้องจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาโท นอกจากนี้โรงเรียนทุกโรงเรียนมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเมือง หรือนอกเมือง และการแข่งขันสอบเข้าแข่งขันมหาวิทยาลัยก็ไม่สูง เพราะทุกมหาวิทยาลัยมีคุณภาพเท่าเทียมกัน

“พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ เราสอนให้เด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก สร้างจิตสำนึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เราไม่รู้ว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เราสร้างพื้นฐานให้เด็กของเรามีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากมันในอนาคต”

ในขณะที่ ชอง ชุง จากมูลนิธิวิทยาศาสตร์ขั้นสูงเพื่อการสร้างสรรค์ กล่าวว่าประเทศเกาหลีใต้ ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับระบบ สะเต็ม โดยเริ่มมีการนำระบบนี้มาใช้เมื่อสามปีที่ผ่านมา และพยายามปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้บ่อยขึ้น เพื่อตอบสนองเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ชอง ชุง กล่าวต่อไปอีกว่าหลักสูตรการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว แต่จะให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ที่ใช้จริงในชีวิตประจำวัน และการคิดค้นวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์เพื่ออนาคต

สสวท. เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมการประชุมโต๊ะกลมเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโลยี (STEM) ภายใต้กลุ่มภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา โดยมีตัวแทนกว่า 14 ประเทศเข้าร่วม เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ การเรียนการสอนในระบบ สะเต็ม และส่งเสริมการวางเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาศักยภาพระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา.สยามธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

พงศ์เทพ ปัดปรับใหญ่โครงสร้าง ศธ.


"พงศ์เทพ"ปัดปรับใหญ่โครงสร้าง ศธ. / จี้ครูมีจิตสำนึกแก้ปัญหายาเสพติด
ตามที่ นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ มีความเห็นถึงการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ถึงเวลาทบทวนการปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่ทั้งหมด เพราะถ้ายังใช้โครงสร้างปัจจุบันต่อไป การศึกษาชาติก็จะยิ่งอ่อนแอ โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่หลังจากมารวมกับ ศธ.แล้ว การอุดมศึกษาไทยมีความอ่อนแอลง และหากต้องการให้เกิดความเข้มแข็งทั้งการอุดมศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ควรแยกอุดมศึกษาออกมาเป็นอีกกระทรวงหนึ่งต่างหาก ซึ่งอาจจะทำได้หลายรูปแบบ เช่น แยก สกอ.ออกมาเป็นกระทรวง นำงานอุดมศึกษาไปรวมกับงานวิจัยเป็นกระทรวง เพราะกว่า 80% ของผู้ที่ทำงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะนำอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และงานวิจัยมารวมกันเป็นกระทรวงได้
   
และยังเห็นว่าการนำการศึกษาพิเศษ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปไว้ในสำนักงานปลัด ศธ.ก็ไม่เหมาะเช่นกัน เพราะเป้าหมายการจัดการศึกษาให้คนกลุ่มพิเศษ ก็เพื่อให้มีความรู้เหมือนผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และตามหลักวิชาการไม่ควรที่จะแยกเด็กพิเศษออกจากเด็กปกติ ควรต้องให้สามารถเรียนร่วมและดำรงชีวิตปกติอยู่ร่วมกัน ส่วนการยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขึ้นเป็นองค์กรหลักที่ 6 ใน ศธ.นั้น ที่จริงแล้วเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตคือหลักการที่สอดแทรกอยู่ในทุกองค์กรหลักอยู่แล้วก็รู้สึกแปลกใจที่แยกการศึกษาตลอดชีวิตออกมาเป็นอีกแท่งหนึ่งนั้น
     
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตอนนี้บอกได้เลยว่าเรื่องการปรับโครงสร้างใหญ่ๆ จะไม่พิจารณาในปีนี้ เพราะไม่อยากให้เรื่องการปรับโครงสร้างไปกระทบกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หากไปเน้นเรื่องโครงสร้างก็จะมาสาระวนกันใหญ่ แทนที่จะไปพัฒนานักเรียน นักศึกษาที่ได้รับประโยชน์จริงๆ ดังนั้นจึงไม่อยากดึงความสนใจกับเรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ.
   
วันเดียวกันที่โรงเรียนสตรีวิทยา นายพงศ์เทพ เป็นประธานเปิดโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข และกล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญ เรื่องปัญหายาเสพติดมาตลอด โดยได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากปัญหายาเสพติดมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเยาวชน และเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหามากมาย และหากเมื่อใดเราไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็จะทำให้ยาเสพติดกลับเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น เพราะจากการสำรวจพบว่า ยาเสพติดได้เข้ามาระบาดตามชุมชน โรงงาน รวมถึงสถานศึกษามากขึ้น ซึ่งทุกภาคส่วนต้องกลับมาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
   
สำหรับ ศธ.เองได้ดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังมีตัวเลขการระบาดของยาเสพติดในหมู่นักเรียน นักศึกษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสถานศึกษาจะต้องกลับไปทบทวน พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้เป็นแนวปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะต้องให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ถึงโทษ และรู้จักวิธีปฏิเสธหลีกเลี่ยงยาเสพติด รวมถึงใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องนำนโยบายการป้องกัน และการแก้ไขปัญหายาเสพติดไปปฏิบัติ และต้องจัดทำแผนปฏิบัติการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกสถานศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม อยากให้ครู อาจารย์มีจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหา เข้าถึงจิตใจในตัวลูกศิษย์ของตนเอง เชื่อว่าจะสามารถรับรู้ปัญหาลูกศิษย์แต่ละคนได้"

ที่มา.สยามรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ADMM : การทูตทหารอาเซียน กลไกสูงสุดด้านความมั่นคง

Photo from ADMM Vietnam 2010
ที่มาของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM)

เราได้ฉายภาพให้เห็นถึงประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน หรือ ASEAN Political-Security Community โดยเรียกย่อๆ ว่า APSC ไปแล้ว ซึ่งช่วยสะท้อนว่า หลักการสำคัญในการให้ความร่วมมือด้านนี้เป็นอย่างไร ครั้งนี้เรามาดูกันบ้างว่า กลไกสูงสุดที่อาจเรียกได้ว่า เป็นการทูตทหารในอาเซียนนี้ มี Platform ที่เป็นทั้งความร่วมมือเชิงนโยบาย และภารกิจสำคัญอย่างไรบ้าง

ข้อมูลโดยมากที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียน มักเป็นประเด็นของพัฒนาการอาเซียนในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจกันในระดับประชาชนและสังคมในวงกว้าง อาจเรียกได้ว่า มีพื้นที่ในการสื่อความหมาย สร้างความรู้ในมิติเศรษฐกิจและมิติสังคม-วัฒนธรรมมากกว่าด้านความมั่นคงเสียอีก

อันเนื่องมาจาก ในความร่วมมือด้านความมั่นคงนั้น มักจะมีแต่ศัพท์เทคนิคและเรื่องการทหารที่แสดงเนื้อหาเป็นภาพความร่วมมืออันเป็นกลไกซับซ้อนและเข้าใจยาก แต่ในเมื่อเราต้องเรียนรู้และเข้าไปอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้ให้ครบทั้ง 3 เสา

อย่างน้อยการทำความเข้าใจโครงสร้างก่อน จะปูพื้นให้เราเข้าใจในเนื้อหาที่กลไกนั้นๆ ต้องการสื่อให้เห็นความหมายที่เป็นเนื้อแท้ได้ไม่ยากนัก และยังช่วยสะท้อนสถานการณ์ของอาเซียนและสังคมโลกในแต่ละช่วงได้อย่างดีว่า เราต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาหรือได้รับโอกาสใดจากความร่วมมือนั้นๆ จึงทำให้นำไปสู่การผลักดันกลไกใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง

ในการร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนนั้น ระบุว่า กลไกสูงสุดคือการประชุมระดับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (Asean Defence Minister’s Meeting) หรือเรียกย่อๆ ว่า ADMM

สำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยกลุ่มงานความร่วมมือด้านความมั่นคง ว่าด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสพิเศษแห่งอาเซียน (Working Group Cooperation of the ASEAN Special Senior Officials’ Meeting: Special SOM) ได้จัดประชุมขึ้น ณ เมืองยอกยาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 ได้ร่างแนวคิดในการจัดตั้งเวทีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน เพื่อให้กลุ่มงานฯ ดังกล่าว ร่วมพิจารณาหากต้องการจะจัดตั้งความร่วมมือนี้ขึ้น

ทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC) ตามปฏิญญาบาหลี 2 (Declaration of ASEAN Concord II) ที่มีมาตั้งแต่ในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2003

นำไปสู่การรับรองแผนปฏิบัติการประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC Plan of Action) ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 จึงทำให้อาเซียนมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเป็นประจำทุกปี
เป้าหมายของการจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM)

เพื่อสนับสนุนให้เกิดสันติภาพและเสรีภาพในภูมิภาค โดยผ่านการหารือกับประเทศคู่เจรจา และความร่วมมือในด้านความมั่นคงและการป้องกัน

เพื่อนำไปสู่การหารืออย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายการทหารให้มีความร่วมมือในด้านการป้องกันและความมั่นคงภายในอาเซียน รวมทั้งกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนมากขึ้นด้วย

เพื่อสนับสนุนให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างความเชื่อมั่นร่วมกัน ผ่านการทำความเข้าใจจากความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ทั้งในด้านการป้องกันและความมั่นคง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดกว้างมากขึ้น
เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC) โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามปฏิญญาบาหลี 2 (Bali Concord II) และสนับสนุนให้ทำตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme: VAP; on ASC)

วาระสำคัญ

ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ระบุไว้ว่าจะต้องเน้นความยืดหยุ่น โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องดังนี้
เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นด้านการป้องกันและความมั่นคง ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค
เพื่อนำไปสู่นโยบายด้านการป้องกันและความมั่นคงโดยสมัครใจ
เพื่อหารือเกี่ยวกับกิจกรรมภายนอกกระบวนการอาเซียน
เพื่อหารือถึงการปฏิสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาภายนอก และ
เพื่อทบทวนความร่วมมือด้านความมั่นคงในอาเซียน

ADMM Vietnam 2010
ADMM Vietnam 2010

Asean Defence Minister’s Meeting: ADMM (การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน)

เป้าหมายสำคัญของ ADMM เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน ด้วยการทำความเข้าใจความท้าทายด้านความมั่นคง ซึ่งเปิดกว้างให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ความร่วมมือ ADMM ดังกล่าว นำไปสู่โครงการที่ทำงานร่วมกันในระยะสั้น 3 ปี ขณะนี้ออกมาแล้ว 2 ฉบับ

(1) Three-Year ADMM Work Programme 2008-2010 ให้การรับรองใน ค.ศ. 2007 อันเป็นผลมาจากการจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 2 โดยมีมาตรการและกิจกรรมที่ร่วมมือกันอยู่ 5 ประการดังนี้
เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการป้องกันร่วมกันในภูมิภาค
เพื่อสรรค์สร้างและมีบรรทัดฐานร่วมกัน
เพื่อป้องกันความขัดแย้ง
เพื่อแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
เพื่อสร้างสันติภาพภายหลังเกิดความขัดแย้ง

หลังจากโครงการที่ร่วมมือกันในวาระแรกที่จัดขึ้น ระหว่าง ค.ศ. 2008 – ค.ศ. 2010 ผ่านไป การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ครั้งที่ 5 ได้ให้การรับรองโครงการ ADMM วาระ 2 ออกมา คือช่วงระหว่าง ค.ศ. 2011- 2013 หรือ

(2) Three-Year ADMM Work Programme 2011 – 2013 ซึ่งมีมาตรการที่เป็นเป้าหมายสำคัญอยู่ 4 ประการ ดังนี้
เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันในภูมิภาคที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
เพื่อขยายความร่วมมือในทางปฏิบัติที่มีอยู่ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกัน
เพื่อสนับสนุนการขยายความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจา
เพื่อเสริมสร้างและมีบรรทัดฐานร่วมกัน

ความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ ค.ศ. 2006 โดยเฉพาะความร่วมมือในประเด็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการด้านภัยพิบัตินั้น มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญต่อความร่วมมือ ภายใต้กรอบ ADMM

โดยที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ได้รับรองแนวคิดหลายประการที่สำคัญ ดังนี้
แนวคิดว่าด้วยการใช้ทรัพยากรและศักยภาพด้านการทหารของอาเซียน ในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและภัยพิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า HADR (Concept Paper on the Use of ASEAN Military Assets and Capacities in Humanitarian Assistance and Disaster Relief: HADR)


แนวคิดว่าด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างกลาโหมอาเซียนกับองค์กรภาคประชาสังคมในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ หรือเรียกว่า CSOs (Concept Paper on Defence Establishments and Civil Society Organisations (CSOs) Cooperation on Non-Traditional Security)

APSC Blueprint Asean Political-Security Community ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน
APSC Blueprint Asean Political-Security Community ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน

ความร่วมมือ ADMM นี้ นำไปสู่การทำงานในระดับสูงสุดตามกรอบ HADR ภายใต้การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 ของการสร้างความร่วมมือ CSOs ซึ่งมีไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใน ค.ศ. 2011 และได้พยายามสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันในภูมิภาค

การผลักดันดังกล่าว นำไปสู่การรับรองแนวคิดในการขยายความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น ดังนี้
แนวคิดว่าด้วยการสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศแห่งอาเซียน หรือ ADIC (Concept Paper on the Establishment of ASEAN Defence Industry Collaboration: ADIC) และ
แนวคิดว่าด้วยการตั้งโครงข่ายศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพแห่งอาเซียน (Concept Paper on the Establishment of ASEAN Peacekeeping Centres Network)

ความร่วมมือภายใต้กรอบ ADMM นี้ ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันในประเด็นของความท้าทายด้านความมั่นคงแบบใหม่ เพื่อให้มีความร่วมมือในทางปฏิบัติที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างเสถียรภาพและสันติภาพแก่ภูมิภาค แต่กลไกสูงสุดด้านการเมืองความมั่นคงแห่งอาเซียนอย่าง ADMM ยังไม่จบเพียงเท่านี้

ADMM หรือ Asean Defence Minister’s Meeting ยังแตกยอดสาขาความร่วมมือไปยังกรอบ ADMM-Plus เพิ่มเติมอีก บทความหน้าเราจะไขปริศนาที่ว่า ADMM-Plus ต่างกับ ADMM อย่างไร ? แล้วทำไมจึงต้องมีความร่วมมือนี้เกิดขึ้น ?

ที่มา.Siam Intelligence Unit
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++