--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

แยกยื่นภาษีได้สิทธิ์ลดหย่อนเพิ่ม !!?


สรรพากรประเดิมแยกยื่นภาษีสามี-ภรรยา ชี้ได้สิทธิ์ค่าลดหย่อนเพิ่ม
 
นางจิตรมณี สุวรรณพูล ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า ปีภาษี 2555 เป็นปีแรกที่กรมฯ  กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภรรยา ให้ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีต่างหาก   และแบ่งเงินได้พึงประเมินที่ทำร่วมกัน หรือสามีและภรรยาจะตกลงเลือกยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันก็ได้
 
กรณีเงินได้พึงประเมินที่ไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภรรยาฝ่ายละจำนวนเท่าใดตามมาตรา 40 (2) - 40 (8) ให้แบ่งสัดส่วนคนละ 50% ของเงินได้ประเภทนั้น เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (8) จากการขายสินค้า การพาณิชย์ การขนส่ง ฯลฯ ให้สามี-ภรรยาเลือกแบ่งเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้แบ่งกันฝ่ายละกึ่ง    สำหรับสิทธิประโยชน์ที่สามี-ภรรยาได้รับเพิ่ม กรณีการหักค่าลดหย่อน มี 3 รายการ คือ ค่าลดหย่อนบุตรได้คนละ 1.5 หมื่นบาท ค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรได้คนละ 2 พันบาท และค่าลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัย สามีและภรรยาต่างฝ่ายต่างกู้ยืม มีเงินได้ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างฝ่ายหักได้คนละ 1 แสนบาท
 
โดยขณะนี้ถึงกำหนดเวลาของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 สำหรับปีภาษี 2555 สามารถยื่นแบบกระดาษได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 1 เม.ย.2556 ส่วนการยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ตยื่นได้ถึงวันที่ 9 เม.ย.2556.

ที่มา.ไทยโพสต์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กาแฟร้อนๆเสิร์ฟจากกระป๋อง ?



 
 ช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัท Joseph Company International ในเมืองเออร์วิน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ เผยโฉมนวัตกรรมใหม่เป็นบรรจุภัณฑ์หรือกระป๋องเครื่องดื่มที่ทำความเย็นได้ด้วยตัวเอง ช่วยให้ผู้บริโภคมีชีวิตชีวากับการได้ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ ชื่นใจ พกพาไปได้ทุกที่ ช่วยดับกระหายคลายร้อน

หลายๆคนคงคิดว่า ในทางกลับกันหากมีนวัตกรรมสำหรับใช้หน้าหนาวบ้างคงดี จะได้สมดุลกัน ต้องบอกว่าเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์สร้างความร้อนด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติมีแล้ว แต่เพิ่งจะมาถึงถิ่นลุงแซมสหรัฐได้ไม่นาน ได้แก่ Hot Can ที่ช่วยเสิร์ฟเครื่องดื่มและซุปร้อนๆ ผลงานสร้างสรรค์ของบริษัท Hot-Can ในมาเลเซีย

กระป๋องทำความร้อนดังกล่าวทำจากอะลูมิเนียม ภายในแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกใส่เครื่องดื่มยอดนิยมและซุปเมนูด่วน ชั้นในเป็นส่วนผสมของน้ำและแคลเซียมออกไซด์ ซึ่งเมื่อกระตุ้นจะเกิดปฏิกิริยาเคมีคายความร้อนขึ้น (exothermic reaction) ทำให้เครื่องดื่มร้อนที่ระดับ 50-55 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 3 นาที ในขณะที่ใช้พลังงานน้อยกว่ากาต้มน้ำถึง 65%

หมายความว่าเครื่องดื่มจะเริ่มจากอุณหภูมิห้องราว 20-25 องศาเซลเซียส ก่อนร้อนเป็น 70 องศาเซลเซียส โดยฉนวนหุ้มภายนอกที่ทำจากโพลีโพรพิลีนช่วยรักษาความร้อนให้อยู่ได้นานราว 45 นาที และป้องกันไม่ให้ความร้อนลวกมือ

หากใช้งานหรือจะดื่มกาแฟร้อนๆสามารถทำได้ง่ายๆเพียงพลิกกระป๋องเอาด้านล่างขึ้น จากนั้นดึงแผ่นเทปที่ป้องกันออกและกดปุ่มเพื่อให้เริ่มทำปฏิกิริยาคายความร้อน หลังจากนั้นเขย่ากระป๋องเล็กน้อยราว 20-30 วินาที และตั้งกระป๋องในแนวตรงรอกาแฟร้อน

ผู้ใช้สามารถรู้ได้ว่ากาแฟร้อนพร้อมดื่มแล้วหรือไม่จากแผ่นแสดงความร้อน ซึ่งถ้าเห็นเป็น “สีเขียว” แสดงว่า “กาแฟร้อนพร้อมดื่ม” แต่หากเป็น “สีแดง” แสดงว่า “ร้อนเกินไป”

กล่าวได้ว่ากระป๋องทำความร้อนอัตโนมัตินี้เหมาะมากสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่มต่างๆที่ต้องบริโภคแบบร้อนๆ จนถึงอุ่น

แต่ยังมีข้อด้อยอยู่บ้างตรงที่ถูกออกแบบเพื่อเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องเท่านั้น หากนำไปแช่ตู้เย็นจะไม่สามารถทำให้เครื่องดื่มร้อนได้ และหากเก็บไว้ในที่ร้อน เช่น ในรถยนต์อาจเสี่ยงไฟไหม้ขึ้นได้ นอกจากนี้หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ยังสามารถทำลายส่วนประกอบของส่วนทำความร้อนได้อีกเช่นกัน

บริษัท Hot-Can ในมาเลเซีย ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกระป๋องร้อนในตลาดบ้านตัวเองมาหลายปีนับตั้งแต่ปี2008 หลังจากใช้งบประมาณมากถึง 20 ล้านริงกิต และใช้เวลา 7 ปีเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ฉลาดนี้ ถือเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาทางด้านนี้เป็นรายแรกๆของโลก

ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์คว้ารางวัลมามากมาย ล่าสุดเป็น 1 ใน 10 สุดยอดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มหกรรมร้านสะดวกซื้อในลาสเวกัสเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

กฎบัตรอาเซียน ASEAN CHARTER หรือธรรมนูญอาเซียน (อีกครั้ง)


กฎบัตรอาเซียน เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียนที่จะทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล เป็นการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรให้กับอาเซียน โดยนอกจากจะประมวลสิ่งที่ถือเป็นค่านิยม หลักการ และแนวปฏิบัติในอดีตของอาเซียนมาประกอบกันเป็นข้อปฏิบัติอย่างเป็นทางการของประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีการปรับปรุงแก้ไขและสร้างกลไกใหม่ขึ้น พร้อมกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรที่สำคัญในอาเชียนตลอดจนความสัมพันธ์ในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนให้สามารถดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวของประชาคมอาเซียน ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2558 ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้

ทั้งนี้ผู้นำอาเซียนได้ลงนามรับรองกฎบัตรอาเซียน ในการประชุมสุดยอดยอดเซียน ครั้งที่ 13เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในโอกาสครบรอบ 40 ของการก่อตั้งอาเซียน แสดงให้เห็นว่าอาเซียนกำลังแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความก้าวหน้าของอาเซียนที่กำลังจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นใจระหว่างประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั้ง 10 ประเทศ และถือเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่จะปรับเปลี่ยนอาเซียนให้เป็นองค์กรที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียน ครบทั้ง 10 ประเทศแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน2551 กฎบัตรอาเซียนจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2551 เป็นต้นไป

วัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน

วัตถุประสงค์อของกฎบัตรอาเซียน คือ ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิกาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎกติกาในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ กฎบัตรอาเซียนจะให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (intergovernmental organization)

โครงสร้างและสาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียน

กฏบัตรอาเชียน ประกอบด้วยบทบัญญัติ 13 หมวด 55 ข้อ ได้แก่

หมวดที่ 1 ความมุ่งประสงค์และหลักการของอาเซียน

หมวดที่ 2 สภาพบุคคลตามกฏหมายของอาเชียน

หมวดที่ 3 สมาชิกภาพ (รัฐสมาชิก สิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิก และการรับสมาชิกใหม่

หมวดที่ 4 โครงสร้างองค์กรของอาเซียน

หมวดที่ 5 องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน

หมวดที่ 6 การคุ้มกันและเอกสิทธิ์

หมวดที่ 7 กระบวนการตัดสินใจ

หมวดที่ 8 การระงับข้อพิพาท

หมวดที่ 9 งบประมาณและการเงิน

หมวดที่ 10 การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน

หมวดที่ 11 อัตลักษณ์และสัญลักษณ์ของอาเซียน

หมวดที่ 12 ความสัมพันธ์กับภายนอก

หมวดที่ 13 บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย

กฎบัตรอาเชียนช่วยให้อาเซียนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้างกลไกการติดตามความตกลงต่างๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรม และผลักดันอาเซียนให้เป็นประชาคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

กฎบัตรอาเชียนช่วยให้อาเซียนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร มีข้อกำหนดใหม่ๆ ที่ช่วยปรับปรุงโครงสร้างการทำงานและกลไกต่างๆ ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหา เช่น

1. กำหนดให้เพิ่มการประชุมสุดยอดอาเซียนจากเดิมปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้นำมีโอกาสหารือกันมากขึ้น พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองที่จะผลักดันอาเซียนไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมในอนาคต

2. มีการตั้งคณะมนตรีประจำประชาคมอาเซียนตามเสาหลักทั้ง 3 ด้าน คือ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

3. กำหนดให้ประเทศสมาชิกแต่งตั้งเอกอัคราชฑูตประจำอาเซียนไปประจำที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจแนวแน่ของอาเซียนที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมประชุมและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก

4. หากประเทศสมาชิกไม่สามารถตกลงกันได้โดยหลักฉันทามติ ให้ใช้การตัดสินใจรูปแบบอื่นๆ ได้ตามที่ผู้นำกำหนด

5. เพิ่มความยืดหยุ่นในการตีความหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน โดยมีข้อกำหนดว่าหากเกิดปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนร่วมของอาเซียน หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศสมาชิกต้องหารือกันเพื่อแก้ปัญหา และกำหนดให้ประธานอาเซียนเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 กฎบัตรอาเซียนจะเสริมสร้างกลไกการติดตามความตกลงต่างๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

กฎบัตรอาเซียนสร้างกลไกตรวจสอบและติดตามการดำเนินการตามความตกลงต่างๆ ของประเทศสมาชิกในหลากหลายรูปแบบ เช่น

1. ให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีและคำตัดสินขององค์กรระงับข้อพิพาท

2. หากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐสมาชิกสามารถใช้กลไกและขั้นตอนระงับข้อพิพาททั้งที่มีอยู่แล้ว และที่จะตั้งขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยสันติวิธี

3. หากมีการละเมิดพันธกรณีในกฎบัตรฯ อย่างร้ายแรง ผู้นำอาเซียนสามารถกำหนดมาตรการใดๆ ที่เหมาะสมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อรัฐผู้ละเมิดพันธกรณีกฎบัตรอาเซียนช่วยให้อาเซียนเป็นประชาคมเพื่อประชาชนได้อย่างไรข้อบทต่างๆ ในกฎบัตรอาเซียนแสดงให้เห็นว่าอาเซียนกำลังผลักดันองค์กรให้เป็นประชาคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง จึงกำหนดให้การลดความยากจนและลดช่องว่างการพัฒนาเป็นเป้าหมายหนึ่งของอาเซียนกฎบัตรอาเซียนเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียนผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ ของอาเซียนมากขึ้น ทั้งยังกำหนดให้มีความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสมัชชารัฐสภาอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐสภาของประเทศสมาชิกกำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

 ความสำคัญของกฎบัตรอาเซียนต่อประเทศไทย

กฎบัตรอาเซียน ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ ของประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมหลักประกันให้กับไทยว่า จะสามารถได้รับผลประโยชน์ตามที่ตกลงกันไว้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากนี้ การปรับปรุงการดำเนินงานและโครงสร้างองค์กรของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเสริมสร้างความร่วมมือในทั้ง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนจะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก รวมทั้งยกสถานะและอำนาจต่อรอง และภาพลักษณ์ของประเทศสมาชิกในเวทีระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ไทยสามารถผลักดันและได้รับผลประโยชน์ด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น

- อาเซียนขยายตลาดให้กับสินค้าไทยจากประชาชนไทย 60 ล้านคน เป็นประชาชนอาเซียนกว่า 550 ล้านคน ประกอบกับการขยายความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า โครงข่ายอินเตอร์เน็ต ฯลฯ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับไทย

นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นทั้งแหล่งเงินทุนและเป้าหมายการลงทุนของไทย และไทยได้เปรียบประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่มีที่ตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน สามารถเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมและขนส่งของประชาคม ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และบุคคล ระหว่างประเทศสมาชิกที่สะดวกขึ้น

- อาเซียนช่วยส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อเผชิญกับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น SARs ไข้หวัดนก การค้ามนุษย์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หมอกควัน ยาเสพติดปัญหาโลกร้อน และปัญหาความยากจน เป็นต้น

- อาเซียนจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยในเวทีโลก และเป็นเวทีที่ไทยสามารถใช้ในการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาของเพื่อนบ้านที่กระทบมาถึงไทยด้วย เช่น ปัญหาพม่า ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์พหุภาคีในกรอบอาเซียนจะเกื้อหนุนความสัมพันธ์ของไทยในกรอบทวิภาคี เช่น ความร่วมมือกับมาเลเซียในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย

ที่มา: ประชาคมอาเซียน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โยนบาป !!?


กรณีประสาทพระวิหารและการปลุกกระแสคลั่งชาติ จนส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งฝ่ายคลั่งชาติและพรรคการเมืองยังมีการพยายามโยงว่าเป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยมีผลประโยชน์แอบแฝง แม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังถูกกล่าวหา ใส่ร้าย และโยงไปถึงคดีปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ที่ศาลโลกขณะนี้ด้วย

จนเป็นที่มาของแถลงการณ์ตอบโต้จากสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยืนยันว่าไม่เคยมีการตกลงผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะทุกอย่างมีการเจรจาอย่างเปิดเผย ตรงข้ามกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ทำอะไรแบบลับๆ ส่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะนั้น มาเจรจากับกัมพูชาลับๆหลายครั้ง

แม้จะเป็นเรื่องแปลกที่ผู้นำกัมพูชาทะเลาะกับผู้นำฝ่ายค้านของไทย แทนที่จะเป็นรัฐบาล ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ แม้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพจะอ้างว่าสมเด็จฮุน เซน ต้องการดิสเครดิต แต่ก็ยอมรับว่ามีการเจรจาลับจริง โดยยืนยันว่าทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของชาติเพื่อไม่ให้เสียดินแดน

ดังนั้น หากนายอภิสิทธิ์มีความบริสุทธิ์ใจจริงก็ต้องเปิดเผยอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมากับประชาชนว่าเจรจาเรื่องอะไร ทำไมต้องเจรจาลับ เจรจาแล้วประเทศไทยได้ประโยชน์อะไร ไม่ใช่ใช้วาทกรรมทางการเมืองในลักษณะ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้ผู้อื่น” หรือกลายเป็นการกล่าวหาใส่ร้ายกันไปมาอย่างเรื่อง “ชายชุดดำ” ในขณะนี้

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทเรียน ไฟใต้ !!?


โดย.ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

 สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือประเด็นเรื่อง การเมืองท้องถิ่น ที่มีการกลั่นแกล้งกันเองด้วย” ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่แหลมคมเช่น ‘ชายแดนใต้’ วิเคราะห์ประเด็นปัญหาให้ฟัง พร้อมกับยกตัวอย่างว่า บนสังเวียนต่อสู้ของการเมืองท้องถิ่น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแพ้ ก็จะมีบ้างบางคนที่ตัดสินใจวิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจรัฐหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในพื้นที่ จากนั้นก็จัดการ ‘สุมไฟ’ ให้ข้อมูลคู่ตรงกันข้ามว่าเป็น ‘แนวร่วม’ บ้าง มีปัญหา ‘เชิงลึก’ ที่ซับซ้อนดำมืดบ้างฯลฯ นำไปสู่การ ‘กำจัด’ คู่ต่อสู้แบบยิงปืนนัดเดียวได้ประโยชน์หลายต่อ

 ต่อกรณีปมปัญหาเช่นนี้ เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเงื่อนไขที่ถูกราดรดสู่ปัญหา ‘ไฟใต้’ ซึ่งมีการพูดถึงกันมานานว่ามีปัจจัยทับซ้อนมากมายอย่างไร ไม่ใช่เรื่องของการ ‘แบ่งแยกดินแดน’ เพียวๆ อีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ทุกอย่างถูกนำมาผสมผสานจนกลายเป็น ‘ตังเมสถานการณ์’ ที่แทบจะกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน และทั้งหลายทั้งมวลมาจาก ‘รากเหง้า’ ปัญหาที่ไม่มีใครคิดอยากจับต้องเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้คนให้ได้อย่างถ่องแท้

 สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนต้องย้อนกลับไปพิจารณาตัวอย่างปัจจัยที่ก่อให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ของ ‘ฟิลิปปินส์’ หรือแถบ ‘เกาะมินดาเนา’ ซึ่งปรากฏปัญหาการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้มานานกว่า 3 ทศวรรษ โดยรากเหง้าของปัญหาจริงๆ นั้นมีการสันนิษฐานกันต่างๆ นานา ปมปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องของชนกลุ่มน้อยในฟิลิปปินส์ (ไม่รวมชาวมุสลิม) รวมกับพวกชนเผ่าดั้งเดิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศมีมากถึง 106 เผ่าพันธุ์ อาศัยกระจายอยู่ทั่วเกาะลูซอน วิสายาส์ และมินดาเนา โดยเฉพาะในเกาะมินดาเนามีประชากรที่ไม่ใช่ทั้งมุสลิมหรือคริสเตียนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาต่างๆ กัน

สำหรับชาวมุสลิม ถือเป็นชาติพันธุ์ต่างหากที่เรียกกันว่า ‘โมโร’ (Moro) มาจากคำว่า Moors ที่สเปนใช้เรียกมุสลิมที่ต่อต้านสเปนขณะเข้าโจมตีทางใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และ Moors คือกลุ่มชนที่เคยปกครองสเปนมาก่อนตามประวัติศาสตร์ของสเปน ต่อมาเมื่อสเปนเข้าครอบครองฟิลิปปินส์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาและเกิดการต่อสู้จากกลุ่มมุสลิมในพื้นที่ตลอดมา ซึ่งในทัศนะของ รศ.สีดา สอนศรี ในฐานะผู้วิจัยและเจ้าของผลงานหนังสือ “รัฐกับสังคมมุสลิมในฟิลิปปินส์ จากความขัดแย้งสู่ความร่วมมือ”

สะท้อนว่า เห็นด้วยกับความคิดของ McKenna (Thomas M. McKenna) ที่ว่า “การก่อกบฏของมุสลิมมิใช่เกิดจากการรุกรานที่ดินของสเปน แต่มาจากความรู้สึกชาตินิยมมากกว่า และการอ้างสิทธิเหนือดินแดนในมินดาเนาของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ว่า ดินแดนทั้งหมดในมินดาเนาเป็นดินแดนของบรรพบุรุษที่ตนจะต้องช่วงชิงคืนมาจากสเปนนั้น ก็ไม่น่าจะใช่สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งในมินดาเนา เพราะรัฐบาลสเปนที่ปกครองฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ได้แต่งตั้งผู้นำที่เป็นมุสลิมให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในท้องถิ่น เช่น ผู้นำท้องถิ่น (Principalia) หัวหน้าบารังไก (Cabezas de Barangay) และหัวหน้าเมือง (Gobernadorcillos) เป็นจำนวนมาก และผู้นำเหล่านี้ต่างพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองของสเปนด้วย เนื่องจากได้ทั้งตำแหน่ง ลาภ ยศ และเงินทอง จากสเปน”

 ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในฟิลิปปินส์ กล่าวกันว่าเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 โดยคนรุ่นหนุ่มที่ไม่ได้มาจากครอบครัวชนชั้นนำ แต่มีการศึกษาสูง เนื่องจากได้รับทุนจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยของรัฐในมะนิลา คือที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ (University of the Philippines – U.P.) และที่ประเทศอาหรับหลายประเทศ
จากหนังสือรัฐกับสังคมมุสลิมในฟิลิปปินส์ฯ รศ.สีดา สอนศรี สะท้อนข้อสรุปของ โจเอล เดอ ลอส ซันโตส (Joel De Los Santos) และ อัลเฟรโด ที. เทียมสัน (Alfredo T. Tiamson) ว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนในฟิลิปปินส์ อาจจะมาจาก

สาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้
     1 เกิดจากกลุ่มนักการเมืองที่ต้องการแสวงหาอำนาจทางการเมืองทางภาคใต้
     2 เกิดจากกลุ่มชาวนาที่ต้องการช่วงชิงที่ดินคืนมาจากพวกคริสเตียนทางภาคใต้
     3 เกิดจากการที่ทหารและตำรวจ ใช้กระบวนการนี้เป็นเครื่องมือของการแก้แค้นระหว่างกัน
     4 เกิดจากความต้องการของผู้นำศาสนา ซึ่งใช้กระบวนการนี้เพื่อที่จะสร้างรัฐตามแบบอุดมการณ์อิสลาม
     5 เกิดจากอุดมการณ์ของคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ที่นิยมมาร์กซิสต์ที่ต้องการจะกระทำหน้าที่ให้สังคมได้รับความยุติธรรม
     6 เกิดจากการชักชวนญาติและเพื่อนฝูง ให้เข้าร่วมในขบวนการด้วย

สรุปแล้ว ผู้นำของขบวนการนี้เมื่อพิจารณาแล้วประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักศึกษาปัญญาชน กลุ่มนักการเมืองที่ทะเยอทะยานและไม่พอใจต่อสถานภาพของตัวเองในปัจจุบัน และกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางศาสนาอย่างเหนียวแน่น ในความเป็นจริงแล้ว รากเหง้าปัญหาของขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของฟิลิปปินส์ มาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาระหว่าง ‘กลุ่มคริสเตียน’ และ ‘มุสลิม’ ที่เกิดมาตั้งแต่ครั้งอดีตผ่านการครอบครองอาณานิคมของสเปน รวมถึงการที่สหรัฐอเมริกาพยายามส่งชาวคริสเตียนลงไปทางใต้ เพื่อกล่อมเกลาชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม ให้เป็นชาวฟิลิปปินส์ที่นับถือศาสนาคริสต์ เพื่อเปลี่ยนศาสนาและสถาบันการบริหารให้เป็นแบบที่สเปนและอเมริกันต้องการ

 แม้เมื่อต่อมาได้รับเอกราชแล้ว ปัญหานี้ก็ยังสะสมอยู่ในภาคใต้ โดยที่รัฐบาลใหม่ก็ยังดำเนินการต่างๆ ตามที่รัฐบาลกลางเมื่อสมัยเป็นอาณานิคมปฏิบัติ ยิ่งทำให้ความไม่พอใจมีมากขึ้น” รศ.สีดา สอนศรี สรุปปม

 อย่างไรก็ตาม ผ่านความขัดแย้งมายาวนาน ถึงเวลานี้สถานการณ์ในประเทศฟิลิปปินส์มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีการลงนามข้อตกลงแผนสร้างสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ภายในปี 2016 โดยนายมาร์วิค ลีโอเนน หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพของรัฐบาล และนายโมฮาเกอร์ อิคบัล ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front : MILF) โดยมีผู้นำฟิลิปปินส์ นายอิบราฮิม รวมถึงนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซียในฐานะคนกลางของการเจรจา ร่วมเป็นสักขีพยาน เอกสารข้อตกลงขนาด 13 หน้า มีการลงนามกำหนดให้กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟวางอาวุธและยุติความพยายามแบ่งแยกดินแดน แลกกับการได้อำนาจบริหารหลายพื้นที่ในเกาะมินดาเนาทางภาคใต้ สามารถกำหนดระบบภาษีของตนเอง และได้รับส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่รัฐบาลยังคงกำกับดูแลนโยบายความมั่นคงและการเงิน

 16 ปีแห่งความยุ่งยากของการเจรจาในฟิลิปปินส์ ช่วงเวลาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ถึง 150,000 คนจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อสรุปที่เป็น ‘ความหวัง’ ชัดแจ้งแล้ว ผิดกับสถานการณ์ในพื้นที่ ‘ภาคใต้’ ของประเทศไทย ทั้งที่ปมปัญหาหลายอย่างใกล้เคียงกัน ที่มาที่ไปของปัญหาหลายอย่างใกล้เคียงกัน แต่ทำไมทางออกของปัญหาจึงดูยังห่างไกลลิบลับกันเสียเหลือกิน

ที่มา.สยามรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กลุ่มประกันวินาศฯ รับดูแลสต็อกข้าวเสี่ยงสูง-ไม่คุ้ม !!?


 กลุ่ม วินาศภัย แหยงประกันสต็อก ข้าวโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล “มิตซุย” เมินไม่ถนัดประกันภัยพืชผล ด้าน “กรุงเทพ-เมืองไทย” ชี้เพิ่มเงื่อนไขโจรกรรมทำเสี่ยงสูง แต่หากใช้เงื่อนไขเดิมคือ คุ้มครองอัคคีภัย-น้ำท่วม-ลมพายุยังรับไหว คงเหลือแค่ “ทิพย” ใจสู้แอ่นอกรับได้หมด ยกเว้นเงื่อนไข “หาย ไร้ร่องรอย” ส่อแววทุจริต

หลังจากภาครัฐและหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การ คลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาด เพื่อเกษตรกร (อตก.) ร่วมหารือ กับบริษัทประกันภัยถึงแนวทางการรับประกันภัยสต็อกข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น

ล่าสุด นายวิชัย สันติมหกุลเลิศ รองผู้จัดการ บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า ทาง อคส. และ อตก.มีหนังสือมาถึงสมาคมฯ ให้เชิญชวนสมาชิกยื่นซองประกวด ราคา ซึ่งทางสมาคมฯ ได้แจ้งไปยังทุกบริษัทว่าสามารถยื่นได้โดยตรงที่ 2 หน่วยงานดังกล่าวตามความสมัครใจ โดยเงื่อนไขในการรับประกันภัยเป็นไปที่สมาคมฯกำหนด คือ 1.ประกันอัคคีภัย บริษัทประกันจะรับประกันในอัตรา 90% ของมูลค่าทรัพย์สินที่จัดเก็บในแต่ละคลังสินค้าที่เข้าร่วมและอีก 10% ที่เหลือผู้เอาประกันรับผิดชอบเอง 2.การประกันภัยโจรกรรม คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายของทรัพย์สินอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ที่รู้สาเหตุความเสียหายรวมทั้งความสูญเสีย

นายวิชัย กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทมิตซุยฯนั้นยังไม่สนใจ เนื่องเพราะไม่ชำนาญประกันภัยพืชผล แต่หากไม่มีใครรับประกันแล้วหากสมาคมฯ ขอความร่วมมือให้ร่วมกันรับ 5 - 10% ก็พร้อม แต่เท่าที่ทราบมีหลายบริษัทเสนอตัวเข้าไป ทั้งนี้จากสถิติที่ผ่านมามีความเสี่ยงเกี่ยวกับไฟไหม้มากที่สุด

ด้านนายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็น “สยามธุรกิจ” ทางทิพยฯ สนใจเข้าไปรับประกัน โดยรับได้ทุกเงื่อนไข ยกเว้นการสูญหายแบบไร้ร่องรอย

“คณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกเราเข้าไปคุยแล้ว เราก็บอกไปว่ารับเงื่อนไขได้หมด แต่ปฏิเสธเฉพาะไม่รับประกันการสูญหายแบบไร้ร่องรอย (Forcible) คือ ถ้าข้าวหายไปโดยไม่มีร่องรอยงัดแงะประตู-หน้าต่างเลย เราไม่คุ้มครอง หรือเราพิสูจน์ได้ว่าหายโดยเจตนา เกิดจากการฉ้อฉล เราก็ไม่รับเหมือนกัน” นายสมพรกล่าว และว่า ที่ผ่านมา ทิพยฯ รับประกันสะต็อกข้าวของอคส.หลายโครงการ ทั้งรับเดี่ยวและรับคู่กับบริษัทอื่น เช่น บมจ.กรุงเทพประกันภัย โดยส่วนใหญ่จะเป็นคุ้มครองกรณีอัคคีภัย และภัยเปียกน้ำที่รับแบบมีซับลิมิต และพื้นที่เสี่ยงก็รับประกัน แต่อัตราเบี้ยก็อาจจะแตกต่างกันไปตามความเสี่ยงของพื้นที่

ด้านนายพนัส ธีรวณิชย์กุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย ให้ความเห็น “สยามธุรกิจ”ว่า ที่ผ่านมาบริษัทรับประกันสต็อกข้าวของอคส.อยู่หลายโครงการ เช่นก่อนหน้านี้ก็รับประกันร่วมกับทิพยฯโดยหลักเป็นคุ้มการครองอัคคีภัย และภัยธรรมชาติ เช่น ลมพายุ เปียกน้ำ “สต็อกข้าวตามโครงการรับจำนำฯของรัฐบาล เราอาจไม่รับ เพราะเงื่อนไขเยอะ เบี้ยอาจจะแพง รัฐบาลก็อาจจะไม่เลือกเรา”

ขณะที่นายวาสิต ล่ำซำ รองกก.ผจก.บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สต็อกข้าวตามโครงการรับจำนำของรัฐบาลรอบนี้มีเงื่อนไข ความเสี่ยงสูง จึงไม่สนใจรับประกัน อย่างไรก็ตามหากเป็นเงื่อนไขเดิม คือ คุ้มครองอัคคีภัย น้ำท่วม และลมพายุ ก็ยังน่าสนใจ

“ที่ผ่านมาเราจะเลือกรับประกันในบางพื้นที่ดูตามความเสี่ยง เช่น ภาคกลางติดน้ำจะไม่รับ กรณีคุ้มครองอัคคีภัยก็จะดูสภาพโรงเรือนจัดเก็บเป็นอย่างไร ซึ่งเดิมก็พิสูจน์ยากอยู่แล้วกรณีข้าวเกรดต่ำ-เกรดสูงมาทำประกัน หากยิ่งเพิ่มเงื่อนไขก็ไม่น่ารับประกัน”

ด้านนายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม รอง กก.ผจก.ใหญ่ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวกับ “สยามธุรกิจ” ว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทเคยเข้าไปรับประกันเป็นไปการเข้าไปร่วมกันรับประกันในนามสมาคมฯ แต่ปีนี้ให้ต่างคนต่างเสนอราคาเข้าไปเองบริษัทไม่มีความพร้อมมากพอจึงไม่ได้เสนอตัวไป อีกทั้งปีนี้มีความเสี่ยงสูงเพราะมีความคุ้มครองข้าวสูญหายซึ่งบริษัทคุ้มครองไม่ไหว เอาเข้าสัญญาประกันต่อยาก

“หลายปีก่อนการประกันสินค้าเกษตรจะมีความเสียหายในเรื่องของไฟไหม้เยอะ บริษัทประกันกลัวกันมาก สัญญาประกันต่อไม่อยากให้เอาเข้าไป”

นายนที พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บมจ.ไทยศรีประกันภัย ให้ความเห็นว่า ไทยศรีฯ ไม่สนใจโครงการนี้ เพราะควบคุมยาก แต่ถ้ามีระบบไซโลดีๆ ก็น่าสนใจ

แหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยรายหนึ่งให้ความเห็นว่า สิ่งที่บริษัทกลัวกันคือเวลาสต็อกข้าวเกิดไฟไหม้หรือสูญหายพิสูจน์ยากมีสินค้าอยู่จริงหรือไม่อย่างเมื่อ 2-3 ปีก่อนเกิดไฟไหม้สต็อกข้าวเสียหาย 100-200 ล้านบาทก็พิสูจน์ยาก

ที่มา.สยามธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไฟใต้ดับยากหรือง่ายถาม ลุงจิ๋ว..!!?


เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้... ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นสิ่งที่ยากจะรับได้ในความรู้สึกของสังคม
โดยเฉพาะกับความโหดเหี้ยมแห่งการกระทำ เป็นผลให้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้กลายเป็น 1 ในประเด็นแหลมคมที่สามารถใช้เล่นงานถล่มกันทางการเมือง หรือโจมตีรัฐบาลได้ในเรื่องที่ไม่มีฝีมือ ไม่มีปัญญาแก้ไข

ยิ่งหากเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีฐานเสียงในภาคใต้ ขึ้นมาเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ ก็ต้องโดนโจมตีเรื่องการแก้ปัญหาไฟใต้เมื่อนั้น เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด และก็ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองที่มีเสียงมี ส.ส.ในภาคใต้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้วปัญหาจะไม่เกิด ก็เกิดขึ้นเหมือนกันนั่นแหละ เพียงแต่เพราะว่ามี ส.ส.ภาคใต้อยู่ในมือก็เลยพลิ้วได้มากกว่า

และคงไม่มี ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้คนไหน จะตั้งกระทู้สด หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจปัญหาเรื่องนี้ในตอนที่พรรคของพวกตนเองเป็นรัฐบาลแน่ๆ แต่ถ้าเป็นพรรคการเมืองอื่นเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ ส.ส.ภาคใต้เหล่านี้จะทำหน้าที่อย่างแข็งขันทันที

ที่สำคัญหากสังเกตุให้ดีจะเห็นว่า ในความร้อนแรงของไฟใต้ผู้ที่รับเคราะห์คือ เด็ก ครู ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่เคยมีนักการเมืองในพื้นที่ได้รับเคราะห์ใดๆเลย เหมือนกับว่าแม้แต่ผู้ก่อการร้ายภาคใต้เองก็ยังเว้นไว้ให้ ส่วนจะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดจะเดา

ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่ภาคใต้ยังมีปัญหาความลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ที่เกี่ยวพันกับอิทธิพลและผลประโยชน์ทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจแทรกซ้อนมายาวนาน ทั้งเรื่องน้ำมันเถื่อน เรื่องสินค้าหนีภาษี เรื่องงบประมาณ เรื่องผู้มีอิทธิพล ฯลฯ จึงทำให้ปัญหาในภาคใต้เป็นปัญหาที่ลากต่อเนื่องยาวนาน
อย่างไรก็ตามสำหรับบรรดาบุคคลที่มีสำนึกรักประเทศไทย เมื่อเห็นว่าวันนี้ดูเหมือนปัญหาไฟใต้ยิ่งถูกโหมกระพือมากขึ้น ทำให้รุนแรงขึ้น จะโดยหวังผลของการสร้างอิทธิพลเพื่อให้เกิดการยอมรับในอำนาจ หรือเพราะมีประเด็นการเมืองแฝงในเรื่องของการโค่นล้มรัฐบาล ในเรื่องของการเปลี่ยนขั้วการเมืองด้วยหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่น่าคิดทั้งนั้น

ทำให้เมื่อทนดูความรุนแรงของปัญหาไฟใต้ไม่ได้ บรรดาผู้ที่เคยทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติมาแล้ว อย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เจ้าของนโยบาย 66/2523 เจ้าของการสร้างตำนาน “ฮารับปันบารู” ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าคงต้องมีการพยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขเยียวยาสถานการณ์ไฟใต้ให้ดีขึ้น หากขืนยังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมืองไทยมีโอกาสจบได้เหมือนกัน?!?

ประจวบกับที่จะมีการจัดงาน “แนวร่วมประชาธิปไตยร่วมใจพัฒนาชาติ”เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการเชิญ พล.อ.ชวลิต ไปเป็นหนึ่งในวิทยากรผู้ให้ความรู้ ถึงจังหวัดสงขลาเลยทีเดียว ส่วนวิทยากรอีก 3 คน ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องภาคใต้และเรื่องการเมืองมาเป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็น นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตแกนนำ นปช. และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวันมูหะหมัด นอร์ มะทา อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย และยังมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง พร้อมทีมงานทีวีเอเชียอัพเดท จะลงไปที่ โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ ต.บ้านคู อ.จะนะ จ.สงขลา ในวันศุกร์ที่ 25 มกราคม นี้ เพื่อถกกันเกี่ยวกับเรื่องแนวทางในการแก้ไขปัญหาไฟใต้ และการสร้างการเมืองที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้น

งานนี้ตกเป็นเป้าสายตาในทันที เนื่องจากทั้ง 4 คน ล้วนเป็นดาวฤกษ์ในวงการการเมือง ที่สามารถเปล่งแสงสว่างให้กับตัวเองได้ โดยไม่ต้องไปพึ่งพาใครเหมือนกับนักการเมืองประเภทดาวเคราะห์บางจำพวกที่ชอบเกาะขบวนดัง

เมื่อ 4 ดาวฤกษ์ หลากหลายรุ่นมารุมถกกันเรื่องประชาธิปไตย เรื่องปัญหาไฟใต้ เรื่องทิศทางการเคินต่อไปข้างหน้าของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีคนอยากฟังแนวคิดเป็นอย่างมาก

แต่สำคัญที่สุดก็คือ หลังจากระดมสมองแล้ว ขั้วรัฐบาลจะสนับสนุนความคิดในการแก้ไขปัญหาไฟใต้หรือไม่??? พรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่โดยตรงจะเปิดใจกว้างรับฟัง และให้ความร่วมมือในฐานเจ้าของพืนที่มากน้อยเพียงใด

เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องไม่ลืมว่า ในอดีตพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ก็คือ คู่ปรับทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่เคยทำให้ประชาธิปัตย์เจ็บปวดมาแล้ว กับการสูญเสียเก้าอี้ ส.ส.ภาคใต้ให้กับความหวังใหม่มากถึง 14 เก้าอี้

ในขณะที่พรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดง ก็ไม่ต่างไปจาก “ขมิ้นกับปูน”ทางการเมืองสำหรับประชาธิปัตย์เลยสักนิดเดียว

เพียงแต่หากจะเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ก็ควรจะต้องละทิฐิ และละวางการเผชิญหน้าในลักษณะของ 2 ขั้วต่างทางการเมืองออกไปเสียก่อน มาร่วมมือกันแก้ปัญหาไฟใต้เพื่อให้คนใต้อยู่อย่างมีความสุข ไม่ต้องหวาดผวาหวาดกลัวไฟใต้เหมือนอย่างที่ผ่านๆมาให้ได้เสียก่อน

เมื่อไฟใต้สงบ คนใต้มีความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ค่อยมาแข่งขันกันในเกมการเมืองในเกมประชาธิปไตยกันใหม่... นั่นคือแนวทางที่พรรคการเมืองทั้งหลายควรทำ ไม่ใช่คอยทำลายล้าง คอยตีรวน คอยปัดแข้งปัดขากันเพื่อหวังผลทางการเมืองโดยไม่สนใจว่าประชาชนจะเดือดร้อนอย่างไร

ซึ่งสำหรับแนวทางปัญหาไฟใต้ใน 3 จังหวัดนั้น พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นว่าหากได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายแล้ว ก็สามารถที่จะแก้ไขทุเลาปัญหาไฟใต้ ไปจนกระทั่งถึงดับไฟใต้ลงได้ในที่สุด เพียงแต่ทุกฝ่ายจะต้องเห็นสอดคล้องต้องกันในยุทธวิธีของการแก้ไขปัญหาไฟใต้ให้ได้เสียก่อน
โดยบิ๊กจิ๋วบอกว่า จนถึงขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าการใช้กำลังทางทหารเข้าไปแก้ไขปัญหาไฟใต้นั้นแก้ไม่ได้ รวมทั้งที่บอกว่าจะแก้ปัญหาไฟใต้ด้วยเศรษฐกิจ เพิ่มสิทธิพิเศษต่างๆเข้าไปมากมาย แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะในเมื่อเป็นปัญหาความรู้สึกเป็นปัญหาการเมือง ก็ต้องใช้การเมืองแก้ให้กลับมามีความรู้สึกที่ดี ว่าเราให้โอกาสพวกเขามาช่วยกันพัฒนาชาติ

ฉะนั้นที่บอกว่าแก้ปัญหามาถูกทางแล้ว ต้องถามว่าถูกทางอะไร ถูกทางไปลงนรกกันหมดหรือเปล่า ถ้าถูกทางทำไมยังมีเหตุการณ์รุนแรงขนาดนี้ ทำไมยังต้องถมงบประมาณกันเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาทแบบนี้ การใช้งบประมาณทำสงครามลักษณะนี้ อเมริกาเคยพังมาแล้ว ทุ่มงบประมาณเท่าไหร่ใช้ระเบิดใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เท่าไหร่ ก็เอาชนะสงครามเวียดนามไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดมาแล้ว จะมาบอกว่ามาถูกทางกันอีกอย่างนั้นหรือ”พล.อ.ชวลิตตั้งคำถามแบบจัดหนัก

หลายคนอาจจะมองว่า พล.อ.ชวลิต ไม่เห็นมีอะไร ก็อาจจะใช่ในแง่ของฐานะ ในแง่ของอำนาจการเมืองในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ในแง่ของความคิดอย่างแน่นอน

จะต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่เพราะ พล.อ.ชวลิต คนนี้หรือ ที่ใช้สมองนำเสนอนโยบาย 66/2523 จนทำให้บรรดาผู้ต่อต้านทั้งหลายยอมวางอาวุธ หันกลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติ เป็นการใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมืองที่โดดเด่นที่สุด

และอย่าลืมว่าครั้งหนึ่ง ด้วยวิธีคิดและมันสมองมิใช่หรือที่ทำให้พรรคความหวังใหม่สามารถเจาะฐานเสียงเจาะพื้นที่ ส.ส.ภาคใต้ เอาชนะพรรคประชาธิปัตย์มาได้ถึง 14 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดทำกับประชาธิปัตย์ได้ขนาดนี้มาก่อนเลย

การที่ พล.อ.ชวลิตเสนอให้ใช้การเมืองแก้ปัญหาไฟใต้แทนการใช้กำลังทหาร เพื่อยุติความรุนแรง แล้วสร้างให้คนในพื้นที่เห็นถึงการยอมรับของสังคม ผ่านรูปแบบของการเป็นมหานครปัตตานี ซึ่งไม่ใช่การแยกประเทศไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นการให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ที่ยาวนานระดับโลกของมหานครปัตตานี ให้คนในพื้นที่ภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของพวกเขา และให้เห็นว่าคนไทยพุทธให้การยอมรับในความสำคัญและพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติ... นี่คือหัวใจสำคัญในการดับไฟใต้

ครั้งหนึ่งได้คิดสร้างการยอมรับในการที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติกับคำว่า “ฮารับปันบารู”มาแล้ว คือให้เขามองเห็นความหวัง มองเห็นอนาคต ครั้งนี้พี่คิดว่าเราต้องสร้างการยอมรับให้เขาเห็นว่าเราให้เกียรติในเกียรติภูมิแห่งอดีตของเขา ด้วยคำว่า “นูซันตารา” หรือนครแห่งเกียรติภูมิ ซึ่งถ้าทำได้ปัญหาไฟใต้ก็จะจบลงได้”พล.อ.ชวลิตระบุด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจอย่างเปี่ยมล้น

ซึ่งในขณะที่ไฟใต้โหมรุนแรงอย่างหนัก และยังไม่มีวิธีการใดที่จะหยุดยั้งได้ ต้องสูญเสียงบประมาณและกำลังคน สูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจไปมากมายมหาศาลโดยที่แก้ไขอะไรไม่ได้เลย ทำไมจึงไม่คิดจะลองทำตามแนวคิดของเจ้าของแผนปฏิบัติการ 66/2523 อันลือลั่นที่เคยสำเร็จมาแล้วบ้าง

วันนี้พรรคเพื่อไทย รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่ามองข้ามคนชื่อ พล.อ.ชวลิต และพวกพ้องมวลหมู่มหามิตร และพี่น้องของบิ๊กจิ๋วเป็นอันขาด

ใช่พล.อ.ชวลิตอาจจะไม่มีอำนาจบารมีเหมือนในอดีต วันนี้คนระดับอดีตนายกฯ ระดับอดีตผบ.ทบ. ผบ.สส. แค่ขอความอนุเคราะห์ให้การเมืองช่วยดูแลลูกน้องระดับซี 6 ซี 7 อาจจะดูว่ายังยากเลย เพราะคนการเมืองรุ่นใหม่ที่กระหายผลประโยชน์พากันมองข้ามไปหมด ไม่ให้ราคาให้ความสำคัญ

มีคนไม่น้อยที่เชื่อว่า พล.อ.ชวลิต ที่เคยสูงสุดทางการเมือง จะต้องร่ำรวย จะต้องได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองมากมายมหาศาล เพราะในยุคปัจจุบันแค่นักการเมืองเด็กบางคน ที่ไม่ต้องยิ่งใหญ่เหมือนบิ๊กจิ๋วในอดีต ยังรวยได้แบบไม่มีเหตุผลไม่มีที่มาที่ไปเป็นพันล้านหมื่นล้าน ในขณะที่วันนี้ใครที่คิดว่า พล.อ.ชวลิตรวย ล้วนหน้าหงายในความเข้าใจผิดไปหมด เพราะไปตรวจดูเทาไหร่ก็จะไม่เจอว่าบิ๊กจิ๋วไปทำธุรกิจอะไรกับใคร ไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจเจ้าของบริษัทอะไรเลย

นี่คือบิ๊กจิ๋วที่มัวแต่คิดว่าจะทำประโยชน์อะไรให้บ้านเมือง เลยทำให้นักการเมืองรุ่นหลังรยข้ามหัวกันไปหมดชนิดไม่เห็นฝุ่น

วันนี้บิ๊กจิ๋วทนเห็นสภาพปัญหาไฟต้ที่รุนแรง และห่วงกลัวว่ายิ่งนานวันประเทศจะยิ่งย่ำแย่ จึงได้เสนอความคิดออกมา ก็อยู่ที่รัฐบาล อยู่ที่ฝ่ายค้าน อยู่ที่ ส.ว. อยู่ที่บรรดาผู้นำเหล่าทัพทั้งหลายแล้วว่า จะนำหลักคิดที่ว่า ถึงเวลาต้องใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมือง ด้วยการสร้างการยอมรับซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้น มาใช้ในการแก้ปัญหาครั้งนี้หรือไม่

บู๊ลิ้ม...แม้จะบอกว่าคลื่นลูกหลังทยอยไล่คลื่นลูกแรก แต่บู๊ลิ้มก็ไม่เคยมองข้ามประสบการณ์และความคิดของคนรุ่นอาวุโส... ฉะนั้นวันนี้รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ คงต้องถามตัวเองอย่างจริงๆจังๆแล้วว่า

อยากเห็นไฟใต้สงบหรือไม่.... ถ้าอยากก็ลงมือทำจริงๆ... เลิกทำด้วยปากกันได้แล้ว

ที่มา.บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

บีโอไอชงรื้อ ก.ม.เว้นภาษีเงินได้เกิน 8 ปี !!?


บีโอไอเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นภาษีเงินได้มากกว่า 8 ปี ดึงดูดการลงทุนศักยภาพสูงแข่งต่างประเทศ

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนายุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน วานนี้ (24 ม.ค.) ว่า ผู้ประกอบการกังวลถึงผลกระทบกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ยืนยันว่าโครงการเหล่านี้ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จนกว่าจะครบกำหนด ยกเว้นกิจการใหม่ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนหลังจากยุทธศาสตร์ใหม่ประกาศบังคับใช้จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายใหม่

สำหรับร่างยุทธศาสตร์ใหม่กำหนดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ซึ่งกำหนดให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 8 ปี แต่ครั้งนี้บีโอไอเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำหนดสิทธิประโยชน์ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้มากกว่า 8 ปี เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีศักยภาพสูงแข่งกับประเทศคู่แข่ง และปรับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 50% เป็นไม่เกิน 90% เพื่อเป็นทางเลือกในการให้สิทธิประโยชน์ รวมทั้งยกเว้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าเพื่อวิจัยและพัฒนา และสร้างเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนใหม่ เช่น การอุดหนุนเงินสำหรับการวิจัยและพัฒนา

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุนจะเพิ่มการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายปัจจุบันให้สิทธิประโยชน์เฉพาะการลงทุนในประเทศ โดยให้นักธุรกิจรับสิทธิประโยชน์ของประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยการแก้กฎหมายต้องใช้เวลาจึงกำหนดสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเดิมไปก่อน ถ้าแก้กฎหมายแล้วเสร็จจะปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพิ่ม

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติชงร่าง กม.นิรโทษฯให้ ส.ว.-ส.ส.นำเข้าสภา !!?



อุกฤษ. โยนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ถามความเห็นส.ว.-ส.ส. ด้าน"เจริญ" เผยไม่ได้ยื่นร่างกฎหมายให้สภาฯพิจารณาตอนนี้

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ส่งเอกสารข่าวถึงสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ถึงประเด็นการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 พ.ศ.... เพื่อให้ ส.ส. และส.ว.พิจารณาร่วมสนับสนุนและเข้าชื่อนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คอ.นธ. ได้ให้เหตุผลว่า โดยสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งแยกทางความคิดและการแบ่งฝ่ายทางการเมือง จนนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งของสังคมและทางการเมืองที่รุนแรง อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน มีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองและเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอย่างกว้างขวาง จากสภาพปัญหาดังกล่าวได้ร้ายลึกลงไปสู่สังคมไทยทุกระดับ และนำไปสู่วิกฤตทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ทั้งนี้เมื่อคำนึงว่าบรรดาการกระทำใด ๆ ที่ประชาชนได้ทำเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าว เพือให้สังคมกลับมาสงบสุข มีความสามัคคี ร่วมพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็ง

สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ได้เขียนไว้ทั้งหมด 6 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ ระบุไว้ในมาตรา 3 ระบุว่าให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีการใด ๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัยพ์สินของบุคคลอื่นซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่งไม่รวมการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์นั้น

มาตรา 4 เมื่อ พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง หรือ หากจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเองให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือสั่งจำหน่ายคดี

ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด และถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสินใจของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเอกสารข่าวดังกล่าว ได้แนบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2516 พ.ศ.2516 มาให้พิจารณาด้วย

ด้านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ฐานะผู้ที่พิจารณาการบรรจุร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมของสภา เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว ยังไม่ได้ถูกนำเสนอให้ตนพิจารณาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ อย่างไรก็ตามหลักการ นายอุกฤษ ถือเป็นภาคประชาชน ดังนั้นหากจะมีการเสนอร่างกฎหมายต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ส่วนตัวมองว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้นิรโทษกรรม จะนำไปสู่การพิจารณาออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ต้องพิจารณาบนหลักการของเหตุผล เพราะขณะนี้ภาคส่วนของสังคมยังคงใช้ความรู้สึก และมีความกังวลว่าจะเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อบุคคลใดหรือไม่

ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ คือ 1.การกำหนดช่วงเวลาในร่างกฎหมาย ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทุกกลุ่มทุกสี เช่น เมื่อระบุว่า จะนิรโทษกรรมให้ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถือว่านับวันที่รัฐประหารเป็นเกณฑ์ แต่ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารนั้น มีการชุมนุมทางการเมืองมาก่อนหน้านั้น ดังนั้นต้องพิจารณาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 2. บุคคลที่จะได้รับสิทธิ์นิรโทษกรรม จะรวมถึงแกนนำผู้ชักชวน ยุยง ปลุกปั่นด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวต้องพิจารณาให้รอบคอบ ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือตีความภายหลัง สำหรับห้วงเวลาที่เหมาะแก่การพิจารณา ช่วงนี้ก็สามารถพูดคุยกันได้ หากไม่มีนัยยะแอบแฝง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สู้กันต่อไป : บทบันทึกจากวันพิพากษา !!?



โดย กำลังก้าว

กว่าศาลจะนั่งบัลลังก์ก็เป็นเวลาเลย 10.30 น.ไปแล้ว

ผู้สังเกตการณ์พิจารณาคดีมากกว่า 150 คน มารอในห้องพิจารณาคดีที่ 704 ของศาลอาญา กันตั้งแต่เวลานัดหมายคือ 9.00 น. ห้องพิจารณาเป็นห้องขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ใช้ในคดีใหญ่ๆ และมีผู้คนให้ความสนใจค่อนข้างมาก เช่น คดีก่อการร้ายของแกนนำนปช. ห้องมีม้านั่งไม้สำหรับนั่งฟังการพิจารณาจุคนได้กว่า 100 คน ยังต้องเสริมเก้าอี้เดี่ยวเข้าไปอีกหลายสิบตัว แต่หลายคนที่มาทีหลังก็ยังไม่มีที่นั่ง

ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีนี้จำนวนมากเป็นชาวต่างชาติ ทั้งจากสถานทูตประเทศต่างๆ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรด้านแรงงาน รวมทั้งสื่อต่างประเทศ ส่วนคนไทย มีทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรม คนเสื้อแดงกลุ่มย่อย รวมทั้งเพื่อนนักศึกษาของไท ลูกชายของสมยศ แต่ดูเหมือนที่ขาดหายไปคือสื่อมวลชนไทยกระแสหลัก และคนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์หรือการเขียนการอ่าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีนี้พอสมควร

ก่อนขึ้นสู่ห้องพิจารณา หลายคนลงไปทักทายสมยศในเรือนจำใต้ถุนศาล ซึ่งมีกรงกั้นถึงสองชั้น และพูดคุยกันได้ในระยะไกล สมยศยังคงชูสองนิ้วสู้ แต่บอกถึงอาการนอนไม่หลับในคืนก่อนวันพิพากษา นักข่าวหลายสิบคนตั้งกล้องทั้งวีดีโอและกล้องถ่ายรูป รอถ่ายรูปขณะเขาถูกศาลเรียกตัวจากใต้ถุนขึ้นสู่ห้องพิจารณา



ราว 9.30 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินประกบสมยศในชุดนักโทษขณะเข้ามาในห้องพิจารณา เพื่อนที่นั่งข้างๆ บอกทักตั้งแต่เขายังไม่เข้าสู่ห้องว่า “เสียงโซ่ คุณสมยศมาแล้ว” อาจเพราะเสียงโซ่ตรวนดังกระทบพื้นขณะผู้ต้องหาเดินช่างเป็นเอกลักษณ์ สมยศเดินผ่ากลางม้านั่งไม้ตรงกลางเข้าไปนั่งบนม้านั่งด้านหน้าสุด ใบหน้ายังคงมีรอยยิ้ม หลายคนเข้าไปทักทายพูดคุย

สักพักหนึ่ง เจ้าหน้าที่หญิงของศาลเดินมาแจกเอกสารเขียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนให้ผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติ มีข้อความระบุถึงระเบียบของศาล เช่น ระเบียบการแต่งตัวสุภาพ การให้ปิดโทรศัพท์มือถือ ห้ามนั่งไขว่ห้าง ขณะที่เจ้าหน้าที่ชายในชุดคล้ายทหารสองสามคนเดินดูผู้สังเกตการณ์ในศาล และคอยห้ามการถ่ายรูปในศาล

เมื่อเวลารอคอยในศาลเริ่มนานขึ้น เสียงพูดคุยปรึกษาในศาลก็ยิ่งดังขึ้น หลายคนเริ่มกระสับกระส่าย บางคนการเดินไปเดินมา ทักทายผู้คน และพูดกันเล่นๆ ว่าศาลอาจกำลังเขียนคำพิพากษาอยู่ เมื่อใกล้เวลา เจ้าหน้าที่ชายตะโกนแจ้งให้คนอยู่ในความสงบ ศาลใกล้นั่งบังลังก์แล้ว และเอ่ยเตือนว่าเสียงโทรศัพท์ที่ดังถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล

หลังจากนั้นความเงียบของการรอคอยเข้าปกคลุมห้องพิจารณาเกือบสิบนาที จนผู้พิพากษาสี่ท่านนั่งบัลลังก์ในเวลาราว 10.35 น. เป็นองค์คณะที่มีการเปลี่ยนแปลงจากช่วงที่มีการสืบพยานในปีที่แล้ว โดยเป็นชายสามท่าน และหญิงอีกหนึ่งท่าน

จากนั้นผู้พิพากษาชายหนุ่มท่านหนึ่งก็เริ่มต้นอ่านคำพิพากษาขนาดยาวใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมง โดยประโยคขึ้นต้นว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์...” โดยทนายจำเลยสองท่านและสมยศ ลุกขึ้นยืนฟังตลอดการอ่านคำพิพากษา ขณะที่อัยการฝ่ายโจทก์ในคดีไม่ได้มาศาลด้วย ในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เริ่มไปยืนบริเวณประตูออกจากพิจารณาราว 6-7 คน เข้าใจว่าเพื่อป้องกันคนเข้าออกจากห้องขณะอ่านคำพิพากษา

ช่วงแรกศาลใช้เวลาค่อนข้างยาวอ่านคำฟ้อง โดยส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาบทความสองบทความของนิตยสาร Voice of Taksin ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้อง มีข้อสังเกตว่าศาลอ่านบทความทั้งสองอย่างติดๆ ขัดๆ และอ่านชื่อคนผิดบางส่วน เช่น ชื่อของ “ป๋วย อึ้งภากรณ์” หรือ “บุญสนอง บุณโยทยาน”

จากนั้นศาลอ่านถึงประเด็นที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยนำสืบในศาล โดยปัดตกการนำสืบของจำเลยเรื่องบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ทิ้งไป ตามด้วยการวินิจฉัยว่าจำเลยทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ โดยมีข้อสังเกตในช่วงนี้ว่าศาลอ่านถึงการตีความบทความตามฟ้องของฝ่ายพยานโจทก์แทบทุกคน เป็นจำนวนเกือบ 10 ปาก ซึ่งทุกคนชี้ว่าบทความนี้เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 แต่เมื่ออ่านถึงการนำสืบและตีความของพยานฝ่ายจำเลย ศาลอ่านชื่อพยานจำเลยทั้งหมด แล้วระบุเพียงสั้นๆ ว่าทั้งหมดเบิกความไปในทำนองเดียวกันว่าอ่านแล้วไม่ได้นึกไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรวบรัดว่าการตีความแบบนี้ฟังไม่ขึ้น สัดส่วนของกล่าวถึงการตีความของสองฝ่ายจึงเป็นไปอย่างไม่สมดุล จนสังเกตเห็นได้

นอกจากนั้น ศาลยังอ้างถึงประวัติศาสตร์ในแบบเรียน เป็นฐานของการพิจารณาบทความ และตีความไปถึงเหตุการณ์ตั้งราชวงศ์จักรีอีกด้วย

ในช่วงท้ายของการอ่านคำพิพากษา ซึ่งเป็นช่วงของการตีความโดยศาลเอง ได้เปลี่ยนให้ผู้พิพากษาหญิงเป็นผู้อ่าน เมื่อเริ่มคาดเดาทิศทางของคำพิพากษาได้ ในห้องพิจารณาเริ่มได้ยินเสียงถอนหายใจดังหลายเฮือกเป็นระยะ

คำพิพากษาปิดท้ายด้วยการอ้างถึงระดับการศึกษาของจำเลย อาชีพความเป็นสื่อมวลชน และวิจารญาณ ที่ควรมี “สูง” กว่าคนทั่วไป ศาลจึงเห็นไปถึงเจตนาทำผิดของจำเลยและพิพากษาความผิดจำคุกรวมแล้ว 11 ปี ในที่สุด

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จ ศาลแจ้งว่าสื่อมวลชนสามารถไปรับคำพิพากษาย่อได้ด้านหลัง ก่อนลงจากบัลลังก์ไป หลายคนเดินเข้าไปหาสมยศและครอบครัว พักเดียวเท่านั้น เจ้าหน้าที่เกือบ 10 นายซึ่งรออยู่ด้านทางออกประตูรีบเข้าไปนำตัวสมยศออกจากห้องพิจารณา โดยยืนล้อม เดินนำเขาออกไป และไม่ให้โอกาสพูดคุยกับใคร ก่อนนำตัวลงไปใต้ถุนศาลอย่างรวดเร็ว

บรรยากาศในห้องคดีพิจารณาหลังจากนั้นชวนอึดอัด เสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง อารมณ์คละเคล้าด้วยความโกรธ หดหู่ และเศร้า จนบางคนน้ำตาไหล

จากนั้นทนายจำเลยและภรรยาของสมยศได้เดินทางลงไปให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว นักกิจกรรมบางส่วนไปจุดเทียนดำไว้อาลัยเล็กๆ พร้อมชูป้ายปลดปล่อยสมยศและนักโทษการเมืองด้านหน้าป้ายศาลอาญา และเชิญชวนไปในการชุมนุมวันที่ 29 ม.ค.นี้ที่หมุดคณะราษฎร เพื่อยื่นเรื่องนิรโทษกรรมต่อรัฐบาล



ขณะทำกิจกรรม ก็มีรถยนต์คันหนึ่งบุกเข้ามาจอดนิ่งด้านหน้าของศาลไม่ยอมไปไหน พร้อมมีข้อความยั่วยุต่างๆ ติดอยู่ที่กระจกรถหลายแผ่น จนคนเสื้อแดงที่ร่วมกิจกรรมบางส่วนไม่พอใจ และต้องมีห้ามปรามกันไว้ให้ใจเย็น ก่อนตัดสินใจแยกย้ายกิจกรรมไปในที่สุด และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณนั้นเข้ามาดูแล

หลังจากผู้สังเกตการณ์ทยอยกลับ ภรรยาของสมยศ และสมาชิกจำนวนหนึ่งจากกลุ่ม 24 มิ.ย.ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่สมยศก่อตั้งขึ้น ยังคงรอคอยจัดทำเอกสารยื่นเรื่องประกันตัว หากเมื่อลงไปบริเวณเรือนจำใต้ถุนศาลจึงได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าสมยศถูกนำตัวเดินทางกลับเรือนจำไปแล้ว ซึ่งโดยปกติแล้ว ทางราชทัณฑ์จะรอนักโทษทั้งหมดที่มาศาลเสร็จภารกิจพร้อมกัน และนำตัวกลับเรือนจำพร้อมกันในช่วงเย็น ทางภรรยาและคณะจึงจำเป็นต้องเดินทางตามไปให้เขาเซ็นเอกสารเพื่อใช้ในการยื่นประกันตัว

เมื่อได้พบจากการตีเยี่ยมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สมยศเล่าว่าหลังจากถูกนำตัวลงมาจากห้องพิจารณา ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวเขากลับเรือนจำทันที เขาจึงถูกนำตัวเพียงลำพังดันขึ้นรถที่จอดรออยู่แล้วไปอย่างเร่งรีบ โดยยังไม่มีโอกาสได้ใส่รองเท้าที่ติดตัวมาด้วยเลย รถพาขึ้นทางด่วนใช้เวลา 10 กว่านาทีก็เดินทางกลับถึงเรือนจำ จนภรรยาคุณสมยศถึงกับเปรยเมื่อฟังเสร็จว่า “ทำอย่างกับเราเป็นผู้ก่อการร้ายเลย”

เมื่อเจอหน้ากัน สุกัญญา ภรรยาของสมยศทักทายสามีด้วยอารมณ์ขันว่า ทีนี้ก็ต้องไปเอาข้าวของที่แจกให้นักโทษคนอื่นๆ ไปกลับคืนด้วย หลังจากได้ให้ข้าวของส่วนตัวบางส่วนไปแล้ว เนื่องจากคิดว่าจะได้ออกจากเรือนจำ สุกัญญาถามสามีเธอว่าเป็นอย่างไรบ้าง สมยศตอบสั้นๆ ว่า “ไม่มีอะไร ก็สู้กันต่อไป” ก่อนบ่นถึงคำพิพากษาว่าทำราวกับเข้าไปนั่งอยู่ในหัวเราเรียบร้อย และปรึกษากันเรื่องหนทางการสู้คดีต่อไป

รอยยิ้มแม้จะเจื่อนๆ ไปบ้าง ก็ยังคงอยู่บนใบหน้าของสมยศ ระหว่างนั้นเพื่อนนักโทษฝรั่งที่รู้จักกันซึ่งกำลังเยี่ยมญาติอยู่เช่นกัน และได้ทราบผลการพิจารณาคดีของสมยศ ก็เดินเข้ามาตบหัวสมยศเบาๆ เชิงให้กำลังใจ เขายิ้มตอบกลับไป ก่อนจากลา สมยศยังฝากเพื่อนกลุ่ม 24 มิ.ย.ซื้อรองเท้าแตะคู่ใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ใส่กลับมาจากศาล

ระหว่างเดินทางกลับไปศาลอาญา เพื่อยื่นเรื่องประกันตัวอันพอจะคาดเดาผลของมันได้อยู่ก่อนแล้ว ใครบางคนเอ่ยถามถึงการต่อสู้ในคดีต่อไปว่าอาจจะใช้เวลาอีกนาน เพื่อนกลุ่ม 24 มิ.ย.ที่ดูแลสมยศตลอดการถูกคุมขังของเขา ตอบสั้นๆ ต่อคำถามนั้นว่า “แกสู้ด้วยชีวิต”

เย็นนั้น หลังแยกย้ายกันกลับ ด้านหน้าศาล น้ำตาเทียนสีดำยังทิ้งรอยจางๆ ไว้อยู่บนพื้น สติ๊กเกอร์สีขาวที่ทำเป็นรูปกราฟฟิคใบหน้าของสมยศ พร้อมข้อความ “ปล่อยนักโทษการเมือง” ยังคงติดอยู่ข้างๆ ป้าย “ศาลอาญา”...






ที่มา.ประชาไท

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

ครม. ปู-4 !!?


ต้องขอไว้อาลัยกับการจากไปของนักการเมืองคนสำคัญ "ชุมพล ศิลปอาชา"รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ได้ถึงแก่อนิจกรรมลง  ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งถือเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญของการเมือง
   
และดูเหมือนว่า ภายหลังจากการสูญเสียรัฐมนตรีคนสำคัญของพรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ซึ่งเป็นน้องชายที่มีความใกล้ชิดของ "บรรหารศิลปอาชา" ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในครั้งนี้ได้กลายเป็น ไฟต์บังคับส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมา !
   
เพราะทันทีที่ "เก้าอี้ว่าง" ในครม. ถึงสองตำแหน่งในโควตาของพรรคชาติไทยพัฒนา ได้กลายเป็น"ชนวน" นำมาซึ่งแรงกระเพื่อม ส่งไปยังพรรคเพื่อไทยทันทีว่าการปรับครม."ยิ่งลักษณ์ 4" กำลังจะมาถึงแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีแกนนำจากพรรคเพื่อไทย บางส่วนได้พยายามเคลื่อนไหวให้มีการปรับเปลี่ยนบางตำแหน่งในครม. โดยอ้างเรื่องปัญหาสุขภาพของ ชุมพล
   
แต่สุดท้ายดูเหมือนความพยายามของคนกลุ่มดังกล่าวจะไม่เป็นผลเพราะนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ยอมตอบสนอง ขณะที่ฟากบรรหารเจ้าของพรรคชาติไทยพัฒนาเองประกาศลั่นว่า ยังไม่ถึงเวลา !
   
ดังนั้นเมื่อวันนี้สถานการณ์แปรเปลี่ยนไปเก้าอี้ในครม.ว่างลงกะทันหันจึงทำให้"ใคร"ก็ตามที่เฝ้ารอคอยจังหวะและโอกาส ย่อมประเมินแล้วว่า นี่คือโอกาสเปิดเกม "เก้าอี้ดนตรี"รอบใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง
   
ทั้งนี้ได้เคยระบุเอาไว้แล้วว่า ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในประเด็นต่างๆ ทั้งส.ส.เพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ทั้งด้วยการผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงเรื่องพ.ร.ก.นิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกสีเสื้อแล้วยังมีส.ส.และแกนนำในพรรคบางส่วนที่หันไปโฟกัสในเรื่องของตำแหน่งรัฐมนตรีกันแทน
     
ว่าเก้าอี้ตัวใดกระทรวงใดถึงเวลาที่สมควรจะมีการปรับเปลี่ยนเวียนให้"แกนนำ"จากกลุ่มอื่นๆ ในพรรคได้เข้าไปทำหน้าที่กันบ้าง
     
และดูเหมือนว่า"ความหวัง" ดังกล่าวนี้มีที่มาจากการที่"เจ้าของพรรค" อย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกฯได้เคยรับปากเรื่องของการปูนบำเหน็จ ตบรางวัล เอาไว้ทั้งสิ้น !
     
เมื่อสัญญาณของ "ยิ่งลักษณ์ 4"กำลังแจ่มชัดขึ้น แม้อาจยังไม่ใช่ภายในวันสองวันนี้ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดหลายคนในพรรคเพื่อไทย ประเมิน ว่าเมื่อเสร็จศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไปแล้ว ความชัดเจนเรื่องการจัดสรรตำแหน่ง ในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็น่าจะเป็นรูปธรรมขึ้น
     
อย่างไรก็ดี หากมองในส่วนความเคลื่อนไหวเฉพาะโควตาของพรรคเพื่อไทยนั้น มีความเป็นไปได้ว่าการปรับครม. เพื่อเปลี่ยนเก้าอี้บางตัว หากมีขึ้นหลังจบศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไปแล้วนั้น ย่อมกลายเป็นการเดินหมากอีกชั้นหนึ่งภายในพรรค
     
นั่นคือการบีบให้ทุกกลุ่ม ทุกก๊วนต้องร่วมมือร่วมใจ "สงบศึก" เพื่อจับมือผลักดันให้พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครของพรรค สามารถชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ให้ได้สำเร็จเสียก่อน
     
และในอีกด้านหนึ่งยังเป็นการ"ประเมินผลงาน"ของกลุ่มการเมืองในพรรคเองบางกลุ่มว่ามีราคาเพียงพอที่จะได้มีโอกาส"อยู่ต่อ"ในครม."ยิ่งลักษณ์ 4"หรือไม่ ?
     
ย้อนกลับมาดูความเคลื่อนไหวทางฟากของพรรคชาติไทยพัฒนา ต่อปมประเด็นเรื่องของการปรับครม.นั้นแม้ที่ผ่านมา บรรหาร จะเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถบริหารจัดการงานที่มีอยู่ในมือได้เป็นอย่างดี เพราะที่ผ่านมาทั้ง"คน" และ"งาน" ในกระทรวงที่พรรคชาติไทยพัฒนา ดูแล ก็เป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จ "บิ๊กเติ้ง" ทำงานประหนึ่ง"รัฐมนตรีตัวจริง"
     
ทว่าในสภาพความเป็นจริงแล้วปัญหาที่บรรหารและพรรค ต้องเผชิญหน้าและต้องหาทางฝ่าวงล้อมออกไปให้ได้โดยเร็วที่สุด คือการแก้สมการที่ว่าทำอย่างไร"การล้วงลูก"จากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยในเรื่องของการท่องเที่ยวและด้านกีฬาจะไม่เกิดขึ้น
     
ว่ากันว่าสภาพการณ์ดังกล่าวนั้นมีขึ้นมาโดยตลอด นับตั้งแต่ก่อนหน้าที่ชุมพลจะป่วยกะทันหัน และยิ่งนานวัน ยิ่งพบว่าปัญหาที่ว่านั้นได้ลุกลามบานปลายมากขึ้นตามลำดับ จนเป็นเงื่อนไขที่บีบให้บรรหารต้องเร่งตัดสินใจ
     
อาการนิ่งเฉย ไม่ต้องการตอบสนองเรื่องการปรับครม.ของนายกฯยิ่งลักษณ์ไปจนถึงคนที่อยู่ต่างประเทศอาจสะท้อนได้ในหลายด้าน
   
ด้านหนึ่ง เพราะยังไม่ต้องการเปิดศึก สร้างแรงกระเพื่อมขึ้นภายในพรรค รอจนกว่า "ศึกกทม." จะยุติลงไปเสียก่อน
   
และอีกด้านหนึ่ง ยังกลายเป็นว่ายิ่งยืดระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้เล่นในครม.มากเท่าใด ยิ่งง่ายต่อการล้วงลูก "งาน" ในมือพรรคร่วมรัฐบาลมากเท่านั้น!


ที่มา.สยามรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้าราชการ 2.72ล้านคน เฮ ครม.สั่งรื้อระบบเงินเดือนทั้งหมด !!?


 ครม. ตั้งกรรมการทบทวนเงินเดือนข้าราชการ เปิดทางรื้อใหญ่ทั้งระบบทุกกระทรวง รวมสภา ศาล องค์กรอิสระ และท้องถิ่น เพื่อทำให้โครงสร้างเงินเดือนข้าราชการ 2.72 ล้านคนเกิดความสมดุลและเท่าเทียม

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เตรียมเรื่องเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทั้งหมดให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า

โดย ก.พ.ร. ได้เสนอเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการองค์การมหาชนเพื่อเสนอต่อ ครม. เมื่อวันที่ 21 มกราคม และขอเสนอให้ ครม. พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานรัฐทั้งหมด ซึ่ง ครม. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อทำให้โครงสร้างเงินเดือนข้าราชการ 2.72 ล้านคนเกิดความสมดุลและเท่าเทียม และแก้ไขปัญหาการลักลั่นอันเนื่องมาจากองค์กรอิสระขอปรับขึ้นเงินเดือนตัวเอง จึงเห็นควรตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมา โดยมอบให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน กรรมการอื่นที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านเงินเดือนและค่าตอบแทนจำนวน 6 คน รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนของหน่วยงานภาครัฐในภาพรวม ทั้งส่วนราชการในราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐในสังกัดฝ่ายบริหาร สังกัดฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เพื่อให้อัตราค่าตอบแทนมีความเสมอภาค เป็นธรรม และเหมาะสมเทียบเท่ามาตรฐานการครองชีพ และให้สอดคล้องกับระบบการบริหารงานสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังให้จัดทำข้อเสนอการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนขั้นสูงและขั้นต่ำของผู้บริหารภาครัฐที่เป็นมาตรฐานกลางหรือบัญชีกลาง เพื่อ ครม. จะได้ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารต่อไป รวมทั้งเปรียบเทียบค่าตอบแทนกับภาคเอกชนด้วย

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++