--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

นิติกร ศาลฎีกา กร่าง คว้าปืนตบหน้าหนุ่ม จยย.รับจ้างคิ้วแตก ปากฉีก ฟันหัก !!?


เมื่อเวลา 02.30 น. วันที่ 19 มกราคม  พ.ต.ท.อุดรชัย ขุนพินิจ สวป.สน.หัวหมาก ได้รับแจ้งมีเหตุทำร้ายร่างกาย ที่บริเวณปากซอยรามคำแหง 24 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปราบปรามรุดไประงับเหตุ

ที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบกลุ่มชายจำนวน 3 คนพกอาวุธปืนและกำลังจะทำร้ายร่างกายนายปรัชญา รู้หลัก อายุ 19 ปี วินจักรยานยนต์ ภายในซอยดังกล่าว จึงนำกำลังเข้าล้อมบังคับให้วางอาวุธ ก่อนช่วยเหลือนายปรัชญาออกมาได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุทั้งหมดมาที่ สน.ทันที  นอกจากนี้  ยังพบว่า มีผู้บาดเจ็บที่ถูกทำร้ายก่อนหน้านี้ไปทำแผลที่โรงพยาบาลรามคำแหง คือ  นายอนุชา ห่วงพิมล อายุ 25 ปี ถูกอาวุธปืนตบเข้าที่หน้า เป็นเหตุให้คิ้วซ้ายแตก ปากฉีก และฟันหักหน้าช้ำ

พ.ต.ท.อุดรชัย กล่าวว่า จากการสอบสวนพบว่า กลุ่มชายที่ถูกควบคุมตัวมีทั้งหมด 3 คน ชื่อนายสมปอง คำอ่อน อายุ 31 ปี ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ตำแหน่งนิติกรปฏิบัติการสำนักอำนวยการประจำศาลฎีกา พร้อมของกลางคือ อาวุธปืนขนาด 11 มม. เครื่องกระสุนปืนจำนวน 16 นัด   คนที่ 2 ชื่อนายอัฐพล เพ็ญภูเวียง อายุ 25 ปีและนายรชต กลิ่นสว่าง อายุ 33 ปีซึ่งมีของกลางคือ อาวุธปืนลูกซองสั้นไทยประดิษฐ์ พร้อมเครื่องกระสุน 2 นัด โดยทั้งนายอัฐพลและนายรชตมีอาชีพขับวินจยย.ในซอยเกิดเหตุ

นายอนุชา ผู้ได้รับบาดเจ็บ กล่าวว่า ตนขับวินจยย.ที่อยู่ในซอยจุดเกิดเหตุ โดยตนรู้จักกับนายอัฐพลและนายรชต เพราะขับวินเดียวกัน ก่อนหน้านี้ได้ทะเลาะกับทั้งสอง เรื่องการจอดรถจยย.ที่ทั้งคู่ชอบจอดรถไม่เป็นที่เป็นทาง ทำให้รถที่สัญจรผ่านไปผ่านมาในถนนรามคำแหงต้องคอยหลบรถจยย.ที่จอดไม่เป็นระเบียบ เป็นเหตุให้การจราจรติดขัด โดยได้ตักเตือนหลายครั้ง จนกระทั่งช่วงก่อนเกิดเหตุ พวกตนกำลังขับวินอยู่ ส่วนทางกลุ่มผู้ต้องหานั่งดื่มเหล้าอยู่บริเวณใกล้เคียง ก่อนที่นายสมปอง ซึ่งตนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จะเดินเข้ามาหาตนแล้วควักปืนออกมาตบเข้าที่หน้าตนทันที เป็นจำนวนหลายครั้ง ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ทางเพื่อนจึงได้พาตัวส่งรพ.ทันที ส่วนนายปรัชญา ถูกขู่ด้วยอาวุธปืนและทางกลุ่มผู้ต้องหาไม่ยอมให้หลบหนี จนมีเพื่อนในวินรีบไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาช่วยระงับเหตุดังกล่าวและพาตัวนายปรัชญาออกมาจากวงล้อมได้

เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดให้การภาคเสธ อ้างว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกายผู้บาดเจ็บ แต่นายสมปอง ยอมรับว่าปืนดังกล่าวเป็นของตนจริง ทางเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกาย มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่มีใบอนุญาต พกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรและกักขังหน่วงเหนี่ยวบังคับจิตใจผู้อื่นนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 ขณะที่เจ้าหน้าที่ไประงับเหตุ นายสมปองอ้างตนว่าเป็นอัยการ และพูดจาว่า หากถูกจับไปก็ต้องปล่อย พร้อมทั้งขู่ว่าจะย้ายตำรวจสน.หัวหมากทั้งสน.อีกด้วย ด้วย

ที่มา.มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภายนอก .!!?


โดย. เก่ง วงศ์กล้า

นอกจากอาเซียนจะมีความร่วมมือกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นรายประเทศ และในกรอบความร่วมมือ “อาเซียน+3” ทุกปี ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีโอกาสได้พบกับผู้นำของญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอีกหลายๆ ประเทศรอบๆ อาเซียน ในอีกเวทีหนึ่ง คือ “การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก” (East Asia Summit: EAS)

     อันที่จริง การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เดิมเป็นข้อริเริ่มในกรอบอาเซียน+3 ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาไปสู่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ดี อาเซียนเห็นว่า ควรเปิดกว้างให้ประเทศนอกกลุ่มอาเซียน+3 เข้าร่วมด้วย โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ 3 ประการ สำหรับการเข้าร่วมได้แก่ 1) การเป็นคู่เจรจาเต็มตัวของอาเซียน 2) การมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับอาเซียน และ 3) การภาคยานุวัติ Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia

     ปัจจุบัน มีประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยรัสเซียและสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมนี้เป็นครั้งแรกในการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

     การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จัดขึ้นครั้งแรกที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2548 โดยมีการลงนาม Kuala Lumpur Declaration on East Asia Summit กำหนดให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เป็นเวทีหารือทางยุทธศาสตร์ที่เปิดกว้าง โปร่งใส และครอบคลุม

     นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นพ้องกับแนวความคิดของไทย ที่ให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นเวทีของผู้นำ ที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นและวิสัยทัศน์ในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในลักษณะ “top-down” ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยประเทศที่เป็นประธานอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงาน และเป็นประธานการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกของปีนั้น

      การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2550 ที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดสาขาความร่วมมือหลัก 5 สาขา ได้แก่ พลังงาน การศึกษา การเงิน และการจัดการภัยพิบัติ ไข้หวัดนก (ก่อนจะปรับเป็นประเด็นสาธารณสุขระดับโลกและโรคระบาดในปี 2554) และยินดีกับข้อเสนอของญี่ปุ่นให้จัดตั้ง Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) และการจัดทำ Comprehensive Economic Partnership in East Asia (CEPEA)

      ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ได้รับรอง Declaration of the Sixth East Asia Summit on ASEAN Connectivity ซึ่งให้บรรจุความเชื่อมโยงเป็นสาขาความร่วมมือหลักเพิ่มเติม จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 สาขา

      นอกเหนือไปจากการรับรอง Declaration of the East Asia Summit on the Principles for Mutually Beneficial Relations เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะยอมรับร่วมกันในหลักการและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบและแนวทางในการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

      และ Declaration of the East Asia Summit on ASEAN Connectivity เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ในการพัฒนาความเชื่อมโยงในอาเซียนตาม Master Plan on ASEAN Connectivity

     บทบาทของประเทศไทยในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ไล่เรียงจากการเป็นผู้เสนอแนะให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เป็นเวทีของผู้นำในลักษณะ top-down และให้ใช้รูปแบบการประชุมแบบ “Retreat” เฉพาะผู้นำที่เข้าร่วมเท่านั้น เพื่อให้ผู้นำสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้อย่างเต็มที่

     นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้ริเริ่มจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับพลังงานชีวภาพ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2551 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2551 ผลักดันการออก Joint Press Statement of the East Asia Summit on the Global Economic and Financial Crisis เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2552 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยสินเชื่อเพื่อการค้า เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 ซึ่งต่อมาออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 ที่นครซิดนีย์

      ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2552 ที่ชะอำ หัวหิน ไทยได้ผลักดันการรับรอง Cha-am Hua Hin Statement on EAS Disaster Management เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเตรียมความพร้อมที่รอบด้าน และเพิ่มประสิทธิภาพของการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาค รวมทั้งการออก Joint Press Statement of the 4th EAS on the Revival of Nalanda University เพื่อแสดงการสนับสนุนทางการเมืองต่อข้อริเริ่มของอินเดียในการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา

     ในการประชุม AMM Retreat ที่เมืองลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 - 17 มกราคม พ.ศ.2554 ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับทิศทางของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยไทยได้เสนอ Discussion Paper on ASEAN Strategy for the Expanded East Asia Summit: Reaffirming ASEAN Centrality in an Emerging Regional Architecture ซึ่งมีข้อเสนอที่สำคัญ 4 ประการ คือ

    1) การจัดลำดับความสำคัญของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเด็นระดับโลก ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงิน และความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง

     2) การปรับปรุงรูปแบบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยให้แบ่งการประชุมออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงการหารือทั่วไป และช่วงการหารือตามประเด็น ซึ่งเป็น theme ของการประชุมในแต่ละปี

      3) การพิจารณาเชิญหัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เพื่อบรรยายสรุปประเด็นที่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกให้ความสำคัญ และ 4) การชะลอการพิจารณาการขยายการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ไปหลังปี 2558 ซึ่งจะเป็นปีครบรอบ 10 ปี ของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 6 ได้จัดในลักษณะ Plenary และ Retreat ตลอดจนเชิญเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และธนาคารพัฒนาเอเชีย เข้าร่วมตาม Discussion Paper ที่ไทยเสนอด้วย

      ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา นอกจากนายกรัฐมนตรีจะได้ผลักดันให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก คงความเป็นเวทีหารือระดับผู้นำที่สามารถหารือกันในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

      และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ โดยไทยพร้อมจะเป็นแหล่งสำรองข้าวที่สำคัญของภูมิภาค เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไทยยังสนับสนุนข้อริเริ่มของสหรัฐฯ ในเรื่องการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าด้วยแล้ว

       ยังเน้นให้ถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเชิญประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ร่วมมือกับไทยในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งจะเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก และช่วยลดช่องว่างด้านการพัฒนาของประเทศพม่า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนผลักดันความร่วมมือทางทะเล เพื่อส่งเสริมพาณิชย์นาวีด้วย

       ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ผ่านมานี้ ได้รับรองเอกสารจำนวน 2 ฉบับได้แก่ 1) แถลงการณ์พนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (Phnom Penh Declaration on East Asia Summit Development Initiative) ซึ่งเสนอโดยจีน 2) แถลงการณ์การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 7 ว่าด้วยการรับมือในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการควบคุมและจัดการกับปัญหาโรคมาลาเรียที่ดื้อยา (Declaration of the 7th East Asia Summit on Regional Responses to Malaria Control and Addressing Resistance to Antimalarial Medicines) ซึ่งเสนอโดยออสเตรเลีย

       นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น อาทิ

       1) การรักษาการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ในฐานะเป็นเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ในระดับผู้นำ ที่สามารถหยิบยกประเด็นต่างๆ ขึ้นหารือระหว่างกันได้ทุกเรื่องและอย่างสะดวกใจ เพื่อบรรลุแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือและแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งปรับปรุงกลไกของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยลดขั้นตอนการหารือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสามารถรับมือกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ

       2) การกระชับความร่วมมือใน 6 สาขาที่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ให้ความสำคัญลำดับต้น ได้แก่ การเงิน พลังงาน การจัดการภัยพิบัติ การศึกษา สาธารณสุข และความเชื่อมโยง

       3) ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือและแก้ไขประเด็นปัญหาที่เป็นสิ่งท้าทายร่วมกันของภูมิภาค อาทิ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การลักลอบค้าสัตว์ป่า การลดความยากจน การพัฒนาที่ยั่งยืน การแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ การบรูณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการสร้างประชาคมอาเซียน และการเจรจา “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน” (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)

       4) ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางทะเล เนื่องจากมีนัยสำคัญต่อการส่งเสริมและรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ โดยเฉพาะประเด็นด้านพาณิชย์นาวี ความปลอดภัยในการเดินเรือ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติทางทะเล รวมถึง

       5) การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและของโลกที่มีความสนใจร่วมกัน เช่นคาบสมุทรเกาหลี พัฒนาการประชาธิปไตยในเมียนมาร์ การไม่แพร่ขยายอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง (WMD) และอาวุธนิวเคลียร์


ที่มา.สยามรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กิตติรัตน์ จี้ ธปท.สกัดเงินร้อน ชี้ บาทต่ำ 30/ดอลล์ ส่งออกยาก ธปท.รับเห็นสัญญาณเก็งกำไร !!?


กิตติรัตน์นั่งไม่ติด ห่วงบาทแข็ง ชี้ต่ำ 30/ดอลล์ ผู้ส่งออกทำงานยาก จี้ ธปท.ดูแล คุมเงินร้อนทะลักเข้า ขณะที่ ประสารรับผันผวน เริ่มเห็นสัญญาณเก็งกำไร แต่ยังไม่แทรกแซง แบงก์ชี้ยังแข็งต่อเนื่อง แต่ค้านลดดอกเบี้ย-ขึ้นภาษีสกัดเงินนอก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยกรณีเงินบาทแข็งค่าในรอบ 16 เดือนว่า การแข็งค่าของเงินบาทขณะนี้ ถือเป็นระดับที่น่าเป็นห่วงและจะกระทบต่อผู้ส่งออก รวมถึงไม่สะท้อนความต้องการเงินบาทที่แท้จริง โดยบาทแข็งขึ้นมาทดสอบระดับที่สำคัญ คือ หลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่ผู้ส่งออกทำงานยาก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องดูแลความผันผวนระยะสั้น หรือการไหลเข้าออกของเงินทุนที่รวดเร็ว หรือ Hot Money

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงสัปดาห์นี้มีความผันผวน เนื่องจากมีเงินทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นและตราสารระยะสั้นมาก และเริ่มเห็นสัญญาณการเก็งกำไร ซึ่ง ธปท.ติดตามอยู่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทขณะนี้สอดคล้องกับประเทศในภูมิภาค ธปท.อยากให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่อยากเข้าไปฝืน ซึ่งการเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนก็มีต้นทุนŽ นายประสารกล่าว

นายประสารกล่าวว่า ปีนี้มีโอกาสที่เงินทุนเคลื่อนย้ายจะเป็นเงินทุนไหลเข้าสุทธิ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพมากกว่าเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก ทั้งนี้ ธปท.ก็ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยปี 2555 ยอดเงินที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ (ทีดีไอ) สุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท และการลงทุนในหลักทรัพย์ในครอบครองอีกประมาน 8 พันล้านบาท

ส่วนผลกระทบจากค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออก นายประสารกล่าวว่า ธุรกิจที่มีผลกำไรน้อยอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจที่มีผลกำไรมากซึ่งสามารถต่อรองกับคู่ค้าได้

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บาทแข็งค่าขณะนี้เกิดจากการไหลเข้าจากเงินทุนต่างชาติเพื่อเก็งกำไร ซึ่งค่าเงินแข็งเร็วกว่าที่ประมาณการไว้ และน่าจะแข็งต่อเนื่องไปอีกระยะ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 17 มกราคม 2556 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 2.69% ขณะที่ค่าเงินเพื่อนบ้านแข็งค่าขึ้น 0.5-1.5%

ค่าเงินระดับปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นอันตรายสำหรับการส่งออก ซึ่งมองว่าอาจจะได้เห็นระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในกลางปีนี้ และมองว่าช่วงปลายปีนี้จะอยู่ที่ 29.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐŽ นายธิติกล่าว

นายธิติกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การจะนำนโยบายการเงินมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอาจจะไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากการลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอการไหลเข้าจะเหมาะสมกับประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย แต่ประเทศไทยดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.75% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5% การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อได้ ส่วนการใช้มาตรการเก็บภาษี อาจจะทำให้เงินทุนไหลออกไปและอาจจะไม่กลับมาลงทุนในไทยอีก ซึ่งเรื่องการดูแลค่าเงินเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

นายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยถึงผลกระทบต่อการส่งออกจากเงินบาทแข็งค่าว่า แม้ผู้ประกอบการจะต้องมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ามีหลายช่องทางที่สามารถลดความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า เพื่อปิดความเสี่ยง แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรายเล็กและรายกลาง ไม่ให้ความสำคัญ เนื่องจากจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกถึง 60% โดยขณะนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อนถือว่าแข็งค่าขึ้น 4.4% ถือว่าแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาครองจากมาเลเซียเท่านั้นŽ นายคนิสร์กล่าว

สำหรับค่าเงินบาทวันที่ 17 มกราคม เปิดที่ 29.80-29.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าต่อเนื่องจนแตะที่ระดับ 29.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 17 เดือน ก่อนจะปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยตามแรงเทขายเพื่อทำกำไร จนมาปิดที่ 29.76-29.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เงินยังไหลเข้า แนะ บาทแข็ง บริหารความเสี่ยง !!?


อนนต์. ย้ำเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน เหตุเศรษฐกิจยังเติบโตค่อนข้างมาก แนะบาทแข็งทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล เรื่อง ยุทธศาสตร์การลงทุนท่ามกลางบาทแข็ง ไว้น่าสนใจยิ่ง หลังเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในไทย

ถาม. อยากให้ประเมินการแข็งค่าของเงินบาท ณ เวลานี้ ว่ามีผลดีผลเสียต่อธุรกิจของบริษัทอย่างไร

ตอบ. ทางบริษัทเองก็มีแผนที่จะขยายการลงทุน ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่ของเราก็จะใช้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐทั้งนั้น ทีนี้ใน 5 ปีแล้วเนี่ยเราจะมีการทยอยการลงทุน ในระยะแรกๆ คิดว่าเป็นการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเรื่องเครื่องจักรเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการลงทุนจะไม่มากนักในช่วง1-2ปีนี้ แต่ว่ามีการวางแผนใน 5 ปี ที่จะขยายการลงทุน เพิ่มกำลังผลิตต่างๆ ก็อยู่ในวงเงินประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากว่าการลงทุนของเราเป็นการลงทุนเพื่อที่จะผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ ที่จำหน่ายออกไป ส่วนใหญ่แล้วจะจำหน่ายออกไปในราคาตลาด ซึ่งจะผูกกับสกุลดอลลาร์เป็นหลัก เพราะฉะนั้นในเรื่องผลกระทบของเราเองก็คงจะน้อยมาก

ถาม. นักค้าเงินหลายๆ คนมองว่าเงินบาทแข็งรอบนี้น่าจะยาวนานไปหลายปี คุณอนนต์ประเมินอย่างไรถ้าเกิดว่าแข็งค่าเป็นเวลานานจริง ทางบริษัทจะมีการปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่หรือไม่ อย่างไร

ตอบ. อันนี้ต้องขอเฝ้าดูอีกสักระยะหนึ่ง ภายใต้โครงสร้างของการลงทุนและโครงสร้างรายได้ของเรา เราคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก ไม่ว่าเงินบาทจะแข็งขึ้นมากอย่างไร แต่ว่าขอประเมินดูอีกสักระยะหนึ่ง

ถาม. คุณอนนต์มองว่าบริษัทจำเป็นต้องเร่งลงทุนนอกประเทศหรือเปล่า

ตอบ. อันนี้อยู่ในแผนของเราอยู่แล้ว เพราะว่าเรามีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนไปในภูมิภาคอาเซียน กับเรามองตลาดใหญ่อย่างที่ประเทศจีนไว้ด้วย

ถาม. อยากให้อธิบายให้ฟังว่า มองว่าทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีโอกาสที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้ หรือว่าในประเทศไทยอยู่อีกไหม

ตอบ. ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่ผมคิดว่าน่าจะดึงดูดในเรื่องของเงินลงทุนมาได้มาก เพราะว่ามีการเติบโตของทางเศรษฐกิจในภูมิภาคค่อนข้างมาก และก็จะต่อเนื่องไปอีก เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีเงินทุนที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

ถาม. อยากให้แนะนำเหล่าเอกชนไทยที่จะสามารถเอาตัวรอดได้ในภาวะที่เงินบาทกำลังแข็งค่าตอนนี้ด้วย

ตอบ. คิดว่าถ้าเป็นบริษัทเราเอง เรามีเรื่องของการที่จะต้องเข้าไปดูแลเรื่องของการบริหารความเสี่ยงด้วย มีการทำประกันความเสี่ยงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน หรือแม้แต่ราคาผลิตภัณฑ์ก็ตาม จะต้องมีการดูแลและก็บริหารความเสี่ยง ก็อยากให้ผู้ประกอบการทุกท่านพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าความผันผวนไม่ว่าที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องราคาผลิตภัณฑ์ก็ดี หรือว่าอัตราแลกเปลี่ยนก็ดี ควรที่จะต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ชินโซะ อาเบะ : การทูตเชิงยุทธศาสตร์ กระชับมิตรอาเซียน ศัตรูร่วมชิงน่านน้ำ !!?

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) สามารถผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัยได้เป็นสมัยที่ 2 ก็เปิดตัวกับต่างประเทศด้วยทริปแรกในการเยือนกลุ่มประเทศอาเซียน เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย แม้ญี่ปุ่นจะห่างหายจากการเยือนอาเซียนไปถึง 11 ปี แต่การมาครั้งนี้หมุดหมายสำคัญนั้น อาเบะย้ำว่าเป็นการเปิดฉากทางการทูตเชิงยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ

คำกล่าวของชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe)

“ผมต้องการให้ทริปต่างประเทศครั้งแรกของผม เป็นจุดเริ่มต้นของการทูตเชิงยุทธศาสตร์ภายใต้การนำของรัฐบาลอาเบะ”

“ปัจจุบัน สภาวะแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัต ทุกห้วงขณะของการเปลี่ยนแปลงนี้ การดำเนินความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างใกล้ชิด จะนำไปสู่การทำให้ภูมิภาคนี้ เป็นพื้นที่แห่งสันติภาพและมีเสถียรภาพ และนั่นก็เป็นสิ่งที่อยู่ในผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่น”



Shinzo Abe ชินโซะ อาเบะ ภาพจาก Facebook Prime Minister’s Office of Japan

ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะเลือกเยือน 3 ประเทศในอาเซียน ทีมผู้นำของชินโซะ อาเบะ ได้นำร่องการเยือนในภูมิภาคนี้ก่อนหน้าแล้ว ทั้งในระดับรองนายกรัฐมนตรีอย่างทาโร อาโซะ (Taro Azo) ที่เยือนพม่า และรัฐมนตรีต่างประเทศ นายฟุมิโอะ คิชิโดะ (Fumio Kishido) เยือนฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และออสเตรเลีย

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มหันหลังให้จีนหลังปมขัดแย้งซื้อเกาะเซนกากุขยายตัว

BBC รายงานว่า นายอาเบะเชื่อว่าญี่ปุ่นจะพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนได้น้อยลง ดังนั้น การที่เขากระชับมิตรกับชาติอาเซียน ก็เพื่อจะทำให้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น น่าจะหันมามองชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ เขาเชื่อว่าญี่ปุ่นนั้น เดิมก็เป็นมิตรกับประเทศทางตอนใต้ของอาเซียนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และอินเดียที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง และยังเป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกา และยังกังวลกับการขยายอิทธิพลเช่นกันด้วย

เหตุผลหลากประการที่ BBC ระบุไว้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจนักหากอาเซียนจะถูกเลือกเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ ถ้าเราจะดูหลักฐานเชิงประจักษ์ย้อนหลัง เราจะเห็นมิติความขัดแย้งระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับจีนเด่นชัดมากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ล้วนเป็นปมในใจของทั้ง 2 ฝ่ายที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่เด่นชัดระหว่างจีนกับญี่ปุ่นหนีไม่พ้นเรื่องหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku islands) หรือหมู่เกาะเตี้ยวหยูว (Diaoyu islands) ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อปลายปีที่แล้วหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นซื้อหมู่เกาะดังกล่าวจากภาคเอกชน ทั้งที่ยังคงมีการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างจีนกับญี่ปุ่นอยู่

จนนำไปสู่การออกมาประท้วงของชาวจีนกว่า 50 เมือง ทั้งในบริเวณหน้าสถานทูตญี่ปุ่น และก่อจราจล อาทิ การเผาโรงงานพานาโซนิคในเมืองฉิงเต่า (Qingdao) ตลอดจนตัวแทนจำหน่ายโตโยต้าในจีนถูกปล้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังบอยคอตสินค้าญี่ปุ่นด้วย อีกทั้งร้านค้าปลีกญี่ปุ่นหลายแห่งถูกบังคับให้ร่วมลงนามเพื่อสนับสนุนท่าทีของจีน จนทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายโยชิฮิโกะ โนดะ (Yoshihiko Noda) ต้องออกมาเรียกร้องให้จีนปกป้องชาวญี่ปุ่นและทรัพย์สินของพวกเขาด้วย

ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนก็สั่งการให้บริษัทท่องเที่ยวยกเลิกทัวร์ญี่ปุ่นทั้งหมดในช่วงวันหยุดยาวแห่งชาติต้นเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้าง อาทิ การยกเลิกทริปของนักท่องเที่ยวที่จะมาญี่ปุ่น และมีการคาดการณ์ว่า ผู้โดยสารจำนวนกว่า 30% ยกเลิกทริปเส้นทางญี่ปุ่น-จีน เนื่องจากหวั่นเกรงภัยอันตรายที่มาจากบรรยากาศตึงเครียดระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นเอง รายงานว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นผู้ใช้จ่ายขณะเดินทางมาท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุด ประเมินแล้วในปี 2011 มียอดค่าใช้จ่ายของชาวจีนสูงถึง 1.96 แสนล้านเหรียญเยน (หรือ 2.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยมากไม่ได้มาเพื่อพักผ่อนอย่างเดียวแต่ใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าราคาแพงด้วย เช่น นาฬิกา กล้อง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

แน่นอนว่า ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและจีนนอกจากจะเป็นปมที่สางไม่ออกแล้ว การซื้อเกาะของญี่ปุ่นยิ่งทำให้จีนขุ่นเคืองมากขึ้น การเรียกร้อง การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเร่งหาทางออกไม่ว่าจะด้วยการเมืองระหว่างประเทศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรหลัก จนรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนที่ต้องการความแน่นแฟ้นมากขึ้นเนื่องจากประเด็นขัดแย้งที่อาเซียนยังไม่สามารถขจัดออกไปได้คือเรื่องความมั่นคงบริเวณน่านน้ำทะเลจีนใต้


40 ปีความสัมพันธ์อาเซียน ญี่ปุ่น ภาพจาก ASEAN.org

40 ปีญี่ปุ่น-อาเซียน ความสัมพันธ์ร่วมสมัย

การเยือนอาเซียนของนายกรัฐมนตรีอาเบะนั้น เขาต้องการเร่งกระชับความสัมพันธ์โดยเฉพาะความมั่นคงในน่านน้ำและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าด้วย “ผมอยากจะดำเนินความสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างลึกซึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของพลังงานและความมั่นคงด้วย”

ขณะที่ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ นาย Albert del Rosario ได้กล่าวว่า “ฟิลิปปินส์ก็สนับสนุนให้ญี่ปุ่นมีกองกำลังทางทหารที่แข็งแกร่ง เพื่อที่จะถ่วงดุลอำนาจจีน” ด้านไทยเองก็อยากให้ญี่ปุ่นกลับมาลงทุนที่ไทยอีก หลังจากเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมาส่วนบริษัทญี่ปุ่นเองก็เตรียมพร้อมที่จะลงทุนขนาดใหญ่ในเวียดนามมากขึ้น

โดยนายอาเบะกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ NHK ว่า “อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนามล้วนมีศักยภาพสูง ผมอยากดำเนินความสัมพันธ์กับชาติเหล่านี้ให้แน่นแฟ้น ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้มีขนาดยิ่งใหญ่มากขึ้นด้วย”

ในปีที่ 2013 นี้ ถือเป็นปีที่ครบรอบความสัมพันธ์ 40 ปี หลังจากอาเซียนและญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 1973 มีมูลค่าการค้าโดยรวมล่าสุดปี 2011 อยู่ที่ 2.48 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับโลโกความสัมพันธ์ 40 ปีญี่ปุ่น-อาเซียนนี้ ผู้ชนะการออกแบบคือ You Ratanaksamrith นักศึกษาชาวกัมพูชาวัย 20 ปี
การสื่อความหมายของโลโกคือใช้ริ้วเส้นสีเหลือง 10 เส้นแทนอาเซียน
วงกลมสีแดงแทนญี่ปุ่น
ขณะที่เส้นวงกลมด้านนอก 2 เส้นระหว่างสีเหลืองกับสีแดงด้านบนสุดแทนภาพการจับมือกันระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น แทนความสัมพันธ์และมิตรภาพ
รูปดอกไม้แทนความหมาย 40 ปีแห่งความสัมพันธ์ที่มีแต่สันติภาพระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ญาติวีรชน 35 ขวางแดงดันพรก.นิรโทษฯจี้ แม้ว-มาร์ค สู่ขบวนการยุติธรรม !!?


ญาติวีรชน35ขวางแดงดันพรก.นิรโทษฯจี้"แม้ว-มาร์ค"สู่ขบวนการยุติธรรม

ญาติวีรชน 35ขวาง นปช.เสนอพรก.นิรโทษฯแกนนำม็อบ ชี้คนเป็นผู้นำต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้ง "ทักษิณ-อภิสิทธิ์" พร้อมขอบคุณ "ผบ.ทบ."หยุดคุกคามสื่อ ทำให้บรรยากาศการเมืองลดความตึงเครียดลง โฆษกประธานสภาฯมาแปลกค้านออกพรก.นิรโทษฯล้างผิดปี 50-54 ชี้กระบวนการยุติธรรมยังทำงานปกติอยู่ แขวะหากจะทำควรเป็นช่วงเกิดการรัฐประหาร แนะช่องนิติราษฎรแก้ม.112 ล่ารายชื่อหมื่นรายชื่อผ่านช่องหมวดสิทธิเสรีภาพ
   
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 แถลงชื่นชมและแสดงความขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา ผบ.ทบ.ที่ได้ออกมาขอโทษสังคมในกรณีทหารคุกคามสื่อ ทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพบกดีขึ้น ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกผู้ชายชาติทหารและถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญของผู้นำเหล่าทัพในการมองไปข้างหน้าและลดความตึงเครียดในบ้านเมืองลง พร้อมทั้งขอร้องอย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก อยากให้ทหารอาชีพทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
   
ส่วนที่กลุ่มนปช. ยื่นเรื่องให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนั้น ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะออกเป็นพรก. เพราะไม่เหมาะสม ควรออกเป็นพรบ.โดยผ่านสภามากกว่า จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยออกเป็นพรบ.นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ยังติดคุกอยู่ แต่ไม่รวมแกนนำที่รับผิดชอบและคนที่มีคดีความผิดทางอาญา รวมถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุ ผู้นำเหล่าทัพต่างๆ จะต้องมาต่อสู้ในชั้นศาลต่อไปตามปกติ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ก็ไม่มีความผิดอยู่แล้ว เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองไทยต่อไป
   
"คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จะไปขอคำแนะนำและขอการสนับสนุนกับประธานรัฐสภา รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันให้เป็นพระราชบัญญัติที่นิรโทษกรรมให้แก่ภาคประชาชนเท่านั้น ทั้งนี้ ผมอยากขอให้อดีต คอป. ชุดอาจารย์คณิต ได้ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นไปตามแนวทางของ คอป.ด้วย"นายอดุลย์กล่าว
   
ด้านนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เรียกร้องที่จะมีการเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม สำหรับผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี50-54ว่า ตนเห็นเพียงแค่ข่าว การนิรโทษกรรมถือเป็นอำนาจรัฐบาลที่จะออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็ได้ แต่ส่วนตัวตนเห็นว่าต้องยึดหลักการของกฎหมายเป็นหลัก โดยหากจะมีการนิรโทษกรรมจริงก็ควรจะเป็นการนิรโทษในช่วงที่ไม่มีกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งหมายถึงเป็นช่วงที่มีรัฐบาลจากคณะรัฐประหารและองค์กรที่เกิดจากในช่วงรัฐประหารจนทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่หากคดีอาญาใดที่ยังมีอายุความ และยังมีหลักฐานที่ดำเนินการได้อยู่ก็ควรจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ ทั้งนี้ขอเสนอของกลุ่ม นปช.ไม่น่าจะถูกต้อง และมีเหตุผลตอบสังคมไม่ได้
   
“เมื่อมีกระบวนการยุติธรรมปกติ และคดียังไม่หมดอายุความ ก็ควรจะปล่อยให้ทำงานไปตามปกติ เพราะมันยังไปต่อได้ ผมว่าไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมทั้งหมดตามที่นปช.เสนอ เพราะขัดหลักการกฎหมาย”
   
นายวัฒนา ยังกล่าวถึงกรณีนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎรยืนยันจะเดินหน้าเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 ว่า หากมีการเปลี่ยนหลักการใหม่ โดยโยงเข้ากับหมวดสิทธิเสรีภาพ ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไปรวบรวมรายชื่อใหม่จำนวน10,000รายชื่อมาเสนอ เพราะร่างแก้ไขดังกล่าวที่ถูกตีตกไปนั้น เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์การเสนอกฎหมายโดยประชาชน ที่ระบุว่าจะเข้าชื่อเสนอได้ต้องเป็นนโยบายแห่งรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเท่านั้น แต่ร่างดังกล่าวที่ส่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยตรงจึงถูกตีตกไป

อีกทั้งเมื่อมีการส่งเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาแล้ว หากประธานหรือรองประธานรัฐสภาไม่พิจารณาก่อนปล่อยให้เข้าสู่ระเบียบวาระก็จะถูกดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ดังนั้นหากกลุ่มนิติราษฎร์ยังต้องการผลักร่างดังกล่าวก็ไปเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อให้ส.ส. จำนวน 20 คน แก้ไขกฎหมายได้ทุกเรื่อง”

ที่มา.สยามรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

มองต่างมุม..


ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน มีรากเหง้ามาจากการขัดกันของแนวความคิดที่จะรักษาอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายหนึ่งที่ต้องการจะเห็นชาติบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

มิใช่ประชาธิปไตยจอมปลอมหรือครึ่งใบอย่างที่ดำรงอยู่
ฝ่ายแรกมีพันธมิตรและกลุ่มหน้าเดิมที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และขณะนี้มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นหัวเรือใหญ่ อีกฝ่ายเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่นับวันจะมีพลังเติบใหญ่เหมือนยักษ์ที่หลุดออกมาจากตะเกียงวิเศษ

ทั้งสองฝ่ายมีมุมมองต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยทางการเมืองนั้น

ฝ่ายแรกมองว่ารัฐบาลและตัวคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถูกประชาชนขับไล่ถึงขั้นไม่มีแผ่นดินอยู่ ซึ่งเป็นความเห็นที่ต่างกับบรรดาผู้นำของกองทัพในปัจจุบันที่มองว่า ประชาชนมีความพอใจรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรี

พ้นจากปัญหาทางการเมือง มองไปทางด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นการมองต่างมุมที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงเช่นเดียวกัน

ฝ่าย คุณประสงค์ สุ่นศิริ เห็นว่า นโยบายของรัฐบาลกำลังจะทำให้ชาติบ้านเมืองล้มละลาย ถึงกาลพินาศ ปล่อยไว้ไม่ได้ แต่ความเห็นนี้ต่างกับความเห็นของคนที่น่ารับฟังของประเทศ

คนหนึ่งคือ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัว ซีพี.มหาเศรษฐีอันดับต้นๆของไทยเราที่มองว่า...ปีนี้เป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะร่ำรวย เติบโตอย่างมั่งคั่ง

โดยประเทศไทยมีจุดแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ และมีโอกาสสูงยิ่งที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเติบโตเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

อีกคนหนึ่งคือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์ที่ทุกคนยอมรับนับถือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มองว่า...ปี ๒๕๕๖ นี้ ประเทศไทยน่าจะเจริญเติบโตมากกว่าที่คาดคิด ทั้งปัจจัยของเศรษฐกิจจีนที่ยังขยายตัวในอัตราสูง

ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง การเปิดประเทศของเมียนมาร์ที่ไทยได้ประโยชน์เต็มๆ กับยุทธศาสตร์การพัฒนาของภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงกัน และเศรษฐกิจไทยเราเองฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด

ก็เป็นการมองต่างมุมที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างฝ่ายที่อยากจะเห็นรัฐบาลถูกโค่นล้ม กับฝ่ายที่เห็นว่า รัฐบาลบริหารประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง
เป็นการมองอย่างสร้างสรรค์ กับมองอย่างทำลาย

โดย. ศรี อินทปันตี,บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

อำนาจเหนือเมฆ ยังคงอยู่ ต่างฝ่ายก็สู้ แบบประคองตัว !!?


คอลัมน์ : หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

รัฐบาลปูนิ่มยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่า ก้าม จะแข็งพอที่จะขู่คนอื่นได้

ข่าว ละครเหนือเมฆ หยุดออกอากาศแบบฉุกเฉิน มีการโจมตีว่าเป็นฝีมือของรัฐบาล บางคนว่า นี่เป็นการคุกคามสื่อ ดูแล้วน่าจะวิเคราะห์กลับข้างมากกว่า รัฐบาลปู เพิ่งลอกคราบ กลางปี 2554 ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่ากระดองและก้ามจะแข็ง

วันนี้มีแต่ถูกคนอื่นคุกคาม และรัฐบาลก็ยอมไปหมดทุกเรื่องจนกองเชียร์ขัดใจ ราคาพืชผลตกก็ปิดถนนขู่ ผรท.ปลอมอยากได้เงินแสนก็แต่งชุดติดดาวแดงมาขู่ พวกคัดค้านประชาธิปไตยไม่พอใจก็จะแช่แข็ง มีคนหาเรื่องฟ้องสารพัด ซึ่งอาจมีคนถูกปลด ถูกยุบ ถูกตัดสิทธิ

ส่วนสื่อต่างๆ ทั้งขู่ทั้งด่ารัฐบาลได้ ทุกช่อง ทุกฉบับ ทุกเรื่อง ตั้งแต่ เสื้อผ้า หน้า ผม จนไปถึงนโยบายต่างประเทศ

รัฐบาลนี้เอาตัวรอดจากการข่มขู่คุกคามมาได้ ถึงวันนี้ก็บุญแล้ว

ช่อง 3 ไม่กลัวรัฐบาลนี้เลย แต่กลัวจะตกอยู่ในสภาพของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข บ.ก. ที่อยู่ผิดสีผิดข้างต้องติดคุกไม่ได้ประกันตัวจนถึงทุกวันนี้

อำนาจเหนือเมฆมีจริง

ที่ อยู่เหนือเมฆ จริงๆ ไม่ใช่ในละคร คืออำนาจแฝงที่แผ่รังสีทะลุเมฆลงมา ทำให้เกิดเรื่องเดือดร้อนวุ่นวายในชีวิตจริงๆ ของคนไทยมาตลอด 6 ปีนี้ อำนาจเหนือเมฆได้เปลี่ยนเมฆให้เป็นฝนเหลืองเหมือนในสงครามเวียดนาม

พิษของมันสามารถโค่นรัฐบาล นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยการรัฐประหาร 2549 โค่นรัฐบาล ของ นายกฯ สมัคร สุนทรเวช, รัฐบาล นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยตุลาการภิวัฒน์และสามารถตั้งรัฐบาลเทพประทานในค่ายทหาร อำนาจเหนือเมฆมาชะงักเมื่อปะทะกับ พลังเสื้อแดง แต่ก็ทำให้มีคนตายนับร้อย

หลังจากการล้อมปราบในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นมีการใช้กำลังอาวุธโต้ตอบกัน ทางออกคือการเลือกตั้ง ในที่สุด เพื่อไทยก็ ชนะ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้อำนาจเหนือเมฆก็ไม่สามารถขวางมือที่มองเห็นของประชาชนได้ แต่ใครๆ ก็รู้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีอำนาจที่แท้จริง เพราะเห็นผลงานตุลาการภิวัฒน์มาแล้ว หลังเลือกตั้ง 2554 อำนาจเหนือเมฆยังคงมีบทบาทอยู่

รัฐบาลจะย่างเท้าแต่ละก้าว เหมือนอยู่ในสนามทุ่นระเบิด จะไปมีปัญญาไปคุกคามคนอื่นได้อย่างไร

ปี 2556...อำนาจเหนือเมฆจะอ่อนตัวลง

ต้องใช้ผ่านองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น

ทีม วิเคราะห์มองว่า การต่อสู้ในปี 2556 ยังไม่มีการแตกหัก จะไม่มีการทำรัฐประหารในช่วงระยะเวลาใกล้นี้ เพราะมีแรงต้านสองด้านคือจากประชาชนและคนเสื้อแดงในประเทศ และแรงต้านจากนานาชาติอำนาจเหนือเมฆ จะใช้ได้เฉพาะด้านกฎหมาย ผ่านตัวแทน ที่เป็นองค์กรและอำนาจตุลาการภิวัฒน์ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้เกิดการตรึงกำลังแบบขยับเท้าไม่ได้

ตุลาการ+องค์กรอิสระสามารถตรึง ฝ่ายบริหาร+สภาไว้ได้ ส่วนอำนาจอาวุธ+อำนาจนอกระบบ ก็ถูกตรึงไว้ด้วยกำลังอำนาจของประชาชน วันนี้แม้ไม่มีการเจรจาโดยตรง แต่ดูเหมือนมีการตกลงกันโดยอ้อม ว่าจะไม่มีการล้ำเส้นซึ่งกันและกัน การต่อสู้จึงดูท่าจะยืดเยื้อจนน่ารำคาญคงมีการฟ้องกันไปมา และสู้กันผ่านสื่อแบบปีที่ผ่านมา เกมที่ทั้งสองฝ่ายจะเล่นต่อไปไม่ใช่ฟุตบอลแต่เป็นวอลเลย์บอล มีเน็ตกั้นอยู่ตรงกลาง จะมีการเสิร์ฟ การรับ ตั้งลูก หลอก แล้วตบหรือหยอดแล้วแต่ยุทธวิธีของแต่ละฝ่าย

เมื่อทั้งสองกลุ่มรุกไม่ได้ ก็ต้องรักษาพื้นที่แห่งความได้เปรียบที่มีอยู่เอาไว้

สำหรับกลุ่มอำนาจใหม่เป้าหมายคือการรักษาอำนาจบริหารและสภาเอาไว้ สามารถใช้เวลาทำงานตามนโยบาย ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางความคิดของประชาชน เวลาจะทำลายทั้งบุคคลและความคิดเก่าให้ถดถอยและเสื่อมลง

ส่วนกลุ่มอำนาจเก่าเป้าหมายคือรักษารัฐธรรมนูญ 2550 เอาไว้ จึงพยายามถ่วงเวลาการแก้ไขเพื่อหวังจะอยู่ในตำแหน่งที่ชี้เป็นชี้ตายให้นาน ที่สุด และพยายามขัดขวางการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ในทุกเรื่อง ทั้งสองฝ่ายจึงคิดเกม และคิดแก้เกมกันอยู่ตลอดเวลา

เกมที่ต้องปะทะในปี 2556

แพ้ หรือ ชนะ มีผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว

1.เกม ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เกมนี้ฝ่ายรัฐบาลจะโจมตีเข้าใส่ทำคะแนนได้ไม่ยาก เพราะในสภาพเป็นจริง ประชาชนไม่มีวันย้อนกลับไปกินข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยวชามละ 10 บาท ได้อีกแล้ว น้ำมันก็ไม่มีลิตรละ 14 บาท ทองคำก็ไม่มีวันหวนกลับไปที่บาทละ 5,000

นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงภาคบังคับ ใครไม่อยากจ่ายค่าแรงขนาดนี้ก็ต้องทำด้วยตัวเอง กระแสการต้านโดยการหยิบยกเรื่องโรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้จนต้องปิด คงจะมีปรากฏขึ้นชั่วครู่ ชั่วยาม และจะหายไปในที่สุด

อีกปีเดียวทุกคนก็ลืมไปแล้วว่าเราเคยเถียงกันเรื่องค่าแรง 300 บาท แต่ทุกคนก็จะจำว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนโยบายแบบนี้ เหมือนกับ 30 บาท รักษาทุกโรค

ส่วนเกมแก้ปัญหาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ก็จะมีการตอบโต้กันเป็นปกติ

2. เกมเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเกมบังคับที่มาตามกำหนดเวลา การแพ้ชนะของเกมนี้ มีผลต่อกำลังใจทั้งสองฝ่าย

ถ้าประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชนะ พวกที่สนับสนุนอำนาจนอกระบบทั้งหลายก็จะรู้สึกว่ายังมีความหวัง ยังเหลือฐานที่มั่นใหญ่และจะพยายามรวบรวมกำลังโจมตีฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อ เนื่อง

แต่ถ้าเพื่อไทยชนะ การรุกของอำนาจนอกระบบก็จะเสื่อมถอยและหดหายไปไม่น้อย เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีความซับซ้อนตั้งแต่การคัดตัว จนถึงการชิงชัย จึงขอยกไปวิเคราะห์โอกาสหน้าโดยเฉพาะ

3. เกมนิรโทษกรรม นักสู้ธุลีดิน หรือนำนักโทษการเมืองออกจากคุก นี่เป็นเรื่องที่กลุ่มเสื้อแดงเรียกร้องมาโดยตลอด แม้ฝ่ายอำนาจเก่าที่มีคดีติดตัว ยังไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรที่สนับสนุน แต่เชื่อว่า ถ้ามีการเร่งรัดคดีที่จะทำให้เข้าไปอยู่ในคุก ทั้งสองฝ่ายจะเห็นร่วมกันในที่สุด เกมนี้รัฐบาลจะถูกบีบ โดยประชาชนทั่วไปและคนเสื้อแดง ซึ่งอาจกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ บางด้านไม่เหมือนพรรคเพื่อไทย แต่การจะเรียกร้องหรือเคลื่อนไหว จะต้องดูกำลังและสภาพการณ์ทางการเมืองที่เป็นจริงว่า ถ้าทำแล้ว จะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ถ้าไม่ทำ ไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย ทุกอย่างก็จะเชื่องช้าหรือเงียบหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

เรื่องนี้ว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่เสียหาย สำหรับรัฐบาล เพราะมีมิตรร่วมรบที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาด้วยกัน ถึงเวลาเข้าสู่อำนาจรัฐ มีบางคนมีอำนาจมีตำแหน่ง แต่เพื่อนร่วมรบ ยังต้องติดคุก ติดคดี ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามที่ทำความผิดเดินลอยชายอยู่ในโรงแรมห้าดาวอย่างสบายใจ

ที่ผ่านมากลุ่มอำนาจเก่าใช้ สองมาตรฐานจนผู้คนเสื่อมความนับถือ แต่อีกด้านรัฐบาลก็เสื่อมความเชื่อถือจากแนวร่วมไปด้วยเพราะยังต่อสู้เรื่อง นี้ไม่สำเร็จ ปีนี้ถ้ารัฐบาลยังไม่เดินเกมเอาคนที่เหลือออกจากคุกอย่างจริงจัง ปัญหาในแนวร่วมอาจขยายตัวได้

ส่วนการปรองดองจะยังไม่เกิดขึ้นในปี 2556 อย่าไปคาดหวังกับ คุณบรรหาร ศิลปอาชา เพราะเป็นเพียงแค่คนดู ใครแรงมากลากไปทางไหนก็ตามไป คงเป็นแค่ความปรารถนาดีระดับกองเชียร์ ถ้าคนที่ขัดแย้งกันจริงๆ มันไม่ยอมปรองดอง ก็ต้องสู้กันต่อไป

4. เกมเขาพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน การสร้างกระแสชาตินิยมของกลุ่มอำนาจเก่าเรื่องพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร มาเป็นประเด็นให้ขัดแย้งกับกัมพูชา ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องเสียเวลาไปอธิบายกับประชาชนทั้งประเทศ แต่ต้องไม่หลงเหลี่ยมไปขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะยังมีพื้นที่ทับซ้อนในทะเลอีก 26,400 ตารางกิโลเมตร กับกัมพูชา และอีก 6,000 ตารางกิโลเมตร กับเวียดนาม ซึ่งทุกพื้นที่จะต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันในการขุดเจาะหาน้ำมันและก๊าซมาใช้ ก่อนที่ทรัพยากรซึ่งใช้อยู่จะหมดไปในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า

รัฐบาลและภาคเอกชนกำลังดิ้นรนหาแหล่งพลังงานสำรอง เช่น การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว ซื้อก๊าซจากพม่า การพยายามหาแหล่งใหม่ในพื้นที่ทับซ้อน การหาแหล่งน้ำมันบนบกแถบอีสาน ล้วนยังไม่มีผลชัดเจน แต่ผู้รับผิดชอบยังต้องพบกับการโจมตีเรื่องผลประโยชน์ และปัญหาสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่มีบางบริษัท บางชาติ มีความยินดีกับความขัดแย้ง เพื่อจะหาจังหวะแทรกเข้ามาแย่งทรัพยากรเหล่านี้แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ เจ้าของสัมปทานเก่าแก่ที่เดินเรื่องจองพื้นที่มานานนับสิบปีคือบริษัท จากอเมริกาและญี่ปุ่น

เรื่องนโยบายรักชาติส่วนใหญ่จะซ่อนเล่ห์หมกเหลี่ยมมีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่มีใครที่อยู่ดีๆ จะยกพวกไปปะทะกับเพื่อนบ้านให้เสียผลประโยชน์และเสียหน้า

5. เกมแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นสนามรบแบบยืดเยื้อของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นการรบที่มีการเจรจาต่อรองกันได้ ตราบที่รัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง อำนาจตุลาการภิวัฒน์ก็ยังไม่โจมตีเข้าใส่รัฐบาล ในขณะนี้จะเห็นว่า เริ่มมีการเฉลี่ยความยุติธรรม กระจายด้านลบมาทางอีกฝ่ายบ้างเล็กน้อยเพื่อให้ดูว่า ความยุติธรรม ลดจากสองมาตรฐานมาเป็นมาตรฐาน+ครึ่ง

ปี 2556 เกมแก้รัฐธรรมนูญจะถูกยืดระยะเวลาให้ยาวออกไปเพราะเป็นความจำเป็นร่วมกันของ ทั้งสองฝ่ายที่ต้องการรักษาสมดุลของอำนาจ ตรึงพื้นที่ของอำนาจให้ไปเสียน้อยที่สุด

เกมนี้ต้องมีการยกเมฆ กลั่นเมฆให้เป็นน้ำ ปั้นน้ำให้เป็นตัว ถ้าจะให้น่ากลัวต้องเป็นตัวทักษิณ

แต่กระบวนการแก้ไขที่ถูกยืดออกไป ถ้าหากว่ามีการให้การศึกษาแก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ ก็จะเป็นการเปิดเผยความจริง ยกระดับความคิด ความรู้ของประชาชน อีกด้านหนึ่งก็จะดึงเวลาและความสนใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ให้ไปเปิดเกมรุกรบในด้านอื่น

สภาพของรัฐบาลและผู้อยู่ในอำนาจก็เหมือนคนที่เดินอยู่บนสะพานสูง ต้องการจับราวสะพานเพราะกลัวตก ถ้าไม่มีราวสะพานให้จับก็ไม่อยากจะเดิน การเคลื่อนไหวใดๆ จึงมาจากจุดยืนที่ต่างจากประชาชนที่ไม่มีสิ่งที่ต้องสูญเสียมากนัก

ถ้าประชาชนไม่ยอมรับการต่อสู้แบบประคองตัว

จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป

ปัญหา แรก ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล, สภาและ ตุลาการก็จะสูงขึ้น ชาวบ้านจะถามว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ผ่าน ส.ส. ทั้งสภา หายไปไหน ทำไม ส.ส. ไม่ยอมทำหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในการไม่ยอมลงมติวาระสาม เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ กลับอ้างคำแนะนำของศาลซึ่งไม่มีหน้าที่แก้ไข หรือร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าสภาไม่ทำหน้าที่ ประชาชนก็อยากเลือกคนใหม่เข้าไปแทน และไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่ทำตามนโยบาย ไม่พอใจตุลาการที่แทรกแซง องค์กรในกระบวนยุติธรรมจะกลายเป็นเป้า ใหญ่

ปัญหาที่สองคือเมื่อถึงปีใหม่ 2557 ถ้าความขัดแย้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ยังหนักหน่วง แก้ไขไม่ได้ แนวทางการต่อสู้ ของสองฝ่ายอาจเปลี่ยนก็ได้ กลุ่มที่เรียกร้องการรัฐประหารทุกค่ำเช้า จะรู้สึกว่าไม่มีใครทำอะไรพวกเขาได้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปดูแล้วก็ไม่มีโอกาสชนะ ชาวบ้านก็เบื่อความขัดแย้งแล้ว การผลักดันให้เกิดการรัฐประหารอย่างจริงจังจะเกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่งพวกสายเหยี่ยวแดงที่ไม่ยอมทนต่อความยุติธรรมสองมาตรฐาน ก็จะเผยแพร่แนวคิดว่า การปฏิรูปการเมืองแบบสันติไม่มีทางเป็นจริง มีแต่การปฏิวัติโดยประชาชน จึงจะกวาดล้างพวกที่สร้างความอยุติธรรมให้หมดไปได้

บทเรียนที่ประชาชนได้รับจากการปราบปรามหรือการใช้สองมาตรฐาน จะทำให้คนหันมานิยมแนวทางนี้มากขึ้นแบบเพลง ที่ว่า

พออดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน ต้องเปลี่ยนหน ทางสู้ ดูสักครา

นั่นหมายความว่าความรุนแรงมีโอกาสเริ่มขึ้นและลุกลามต่อไป

ที่มา.มติชนสุดสัปดาห์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เมาไวน์ : ดับไฟใต้ !!?


โดย.ปกรณ์

ดื่มไวน์นอกเวลางาน แม้ไม่ผิดกฎหมาย ยื่นถอดถอนไม่ได้ แต่ในบางมุมเป็นเรื่องของมารยาทและการแสดงความจริงใจ...

สมมติคุณจะลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาภาคใต้ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และเขาไม่แตะเครื่องดองของเมา แต่คุณกลับไปดื่มไวน์เมาเหล้า คิดง่ายๆ แค่นี้ก็ผิดแล้ว ยิ่งถ้าคนทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ก็จะยิ่งกลายเป็นเงื่อนไขของการไม่ยอมรับ ไม่ยอมให้ความร่วมมือจาก "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" ต่อไป รวมทั้งสร้างเงื่อนไขว่า "รัฐไทยไม่จริงใจ" ไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านรองนายกฯเฉลิม อยู่บำรุง เพิ่งกลับจากเยือนมาเลย์ ด้วยอารมณ์ฮาเฮของความสำเร็จ พลิกดูข้อตกลง 5 ด้านที่ไปลงนามร่วมกันมา ปรากฏว่าเป็นข้อตกลงธรรมดาๆ ไม่ได้พูดถึง "บันทึกความตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านชายแดน" ซึ่งทำกันไว้ตั้งแต่สมัยร่วมกันปราบโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) และฝ่ายทหารไทยกำลังขอแก้ครั้งใหญ่เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ทั้งๆ ที่เรื่องนี้น่าจะเป็น "หัวใจ" ของความร่วมมือที่ไทยรอความจริงใจจากมาเลย์ เหมือนสมัยที่ไทยเคยช่วยมาเลย์ปราบ จคม.เมื่อ 40-50 ปีก่อน

ท่านรองนายกฯยังบอกว่าหลังจากนี้จะไปพบ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯมาเลย์ ต่อด้วยไปเยือนอินโดฯ ก่อนไปผมอยากให้ท่านลองศึกษารายงานของ "ปาตานี ฟอรั่ม" ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเชิงองค์ความรู้ชายแดนใต้ เขาได้รวบรวมการพบปะ พูดคุย เจรจาที่รัฐบาลไทยตั้งแต่ยุค คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมาได้ดำเนินการเอาไว้ แต่ก็ล้มเหลวล้มละลายมาโดยตลอด

ถ้าท่านอ่านดูก็จะทราบว่าในรัฐบาลก่อนๆ เขาไปพบคนเหล่านี้มาหมดแล้ว แต่ที่ไม่คืบหน้าเพราะฝ่ายการเมืองบ้าง ฝ่ายความมั่นคงบ้าง (ของเราเอง) ไม่ยอมรับการพูดคุยเจรจา และไม่ยอมรับข้อเสนอที่เพื่อนบ้าน "อุตส่าห์" ช่วยกันทำแล้วเสนอกลับมายังรัฐบาล

โดยเฉพาะกระบวนการสันติภาพลังกาวีที่ ดร.มหาธีร์ เคยเป็นแกนนำช่วยไทยนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ พี่ชายของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่รัฐบาลสมัยนั้นรับเงื่อนไขไปแล้วก็เงียบเฉย ในเมื่อตอนนั้นท่านละเลย แล้วตอนนี้จะไปขอให้เขาทำอะไรอีก

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาการพูดคุยเจรจาที่มันไม่คืบหน้า สาเหตุหลักๆ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเพื่อนบ้านไม่ช่วยไทย แต่ปัญหาอยู่ที่ท่าทีของไทยเองต่างหากที่ไม่เคยคุยกันให้ตกผลึกว่าจะเอากันอย่างไร จะเริ่มพูดคุยกันหรือไม่ จะคุยกับใคร และส่งใครไปคุย ที่สำคัญฝ่ายการเมืองต้องมี "เจตจำนง" ชัดเจน หรือที่เขาเรียก political will ว่าต้องการพูดคุย แล้วมอบอำนาจให้คณะบุคคลไปคุยอย่างเป็นกิจจลักษณะ ไม่ใช่ทำกันเรื่อยเปื่อยสะเปะสะปะ แวะกินไวน์ กินเหล้าขาวไปเรื่อยแบบไทยๆ

อีกเรื่องที่ท่านรองนายกฯพูดทำนองว่า สถิติคดีอาชญากรรมในจังหวัดชายแดนใต้ต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช ซึ่งโดยนัยหมายความว่าสถานการณ์ไฟใต้ไม่ได้เลยร้ายอย่างที่คิดนั้น อยากบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะมันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา เป็นอาชญากรรมที่ไม่มีแรงจูงใจในทางส่วนตัว แต่เป็นแรงจูงใจทางการเมือง ความต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือความอยุติธรรมกดทับต่างๆ

ที่สำคัญคดีอาชญากรรมในบางsวัด อย่างกรุงเทพฯ ผมก็คิดว่าสูงกว่าชายแดนใต้ แต่มันไม่มีการลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ ยิงครู ฆ่าเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้มีความแค้นส่วนตัว ฉะนั้นจะไปนับแค่ตัวเลขแล้วบอกว่าสถานการณ์ดีมันคงไม่ได้ ลองไปกระซิบถาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. สมัยอยู่ดีเอสไอ และรองปลัดยุติธรรม ว่าเหตุใดท่านจึงผลักดันให้ตั้ง "กรมสอบสวนคดีความมั่นคง" ขึ้นรับภารกิจเฉพาะในการสอบสวนคดีที่ชายแดนใต้ และถ้าพื้นที่นี้เหมือนจังหวัดอื่นๆ คงไม่ต้องจับสลากให้พนักงานสอบสวนลงใต้...หรือมิใช่?

จะดับไฟใต้ต้องตั้งสติ อย่าแก้ปัญหาแบบคนเมาไวน์ครับ!

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ใครแกล้งโง่ ใครแกล้งฉลาด ปริศนาในเกม รธน.



เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม ณ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นหนังสือขอความชัดเจนเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องมีการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งห้ามลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 หรือไม่

คอมเมนต์จากนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือ 

เมื่อมีการยื่นคำร้องมา คงนำเข้าที่ประชุมคณะตุลาการ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นคำร้องและมีเพียงเสียงเดียวคงตัดสินอะไรไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ต้องอธิบายคำวินิจฉัยที่ออกไปหรือไม่ นายวสันต์ชี้แจงว่า ไม่มีหน้าที่ แต่ถ้าถามว่าคู่กรณีไม่เข้าใจในคำวินิจฉัยสามารถสอบถามได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า คู่ความตามคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 

แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูก่อนว่าคู่ความร้องมาว่าอย่างไร

ไม่เข้าใจจริงๆ หรือว่าแกล้งไม่เข้าใจ โง่จริงๆ หรือแกล้งโง่ ถ้าแกล้งโง่ ก็ขอให้โง่จริงๆ

คำอธิบายจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ เเกนนำ นปช.ก็คือ การเขียนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยากแก่การตีความ

หากตีความไม่ตรงก็โดนร้องเรียนอีก วิกฤตบ้านเมืองจะกลับมาใหม่ จึงต้องไปถามว่าต้องการให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 หรือโหวตวาระ 3 ได้เลย

"ผมอุปมาว่าผมเป็นพนักงานเสิร์ฟ เเล้วไปถามตุลาการว่าต้องการรับประทานอาหารอะไร จะได้ไปบอกกุ๊ก ขอให้ตอบสองคำถามที่พวกผมยื่นไป ประเทศนี้จะมีทางออก" 

สิ่งที่ไปสอบถามศาลนั้นเป็นคำถามจากคำวินิจฉัยที่กำกวม เเละไปถามว่าต้องการให้ปฏิบัติเช่นใด เเละอ้างรัฐธรรมนูญมาตราใด สองคำถามนี้ประหยัดงบประเทศ 2,000 ล้านบาท 

"อยากให้ศาลชี้แจงให้ชัดเจน ท่านจะว่าพวกผมโง่หรือแกล้งโง่ก็ไม่เป็นไร พวกเราไม่โกรธ แต่ขอวิงวอนให้ท่านได้แกล้งฉลาดสักครั้ง" นายจตุพรกล่าว

ขณะที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. กล่าวว่า ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติเดินหน้าโหวตวาระ 3 แต่เมื่อสะดุด จึงไปมอบจดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ 

เสียดายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตอบโต้รวดเร็วเกินไป แต่ยังอยากรักษาไมตรีและมองในแง่ดีว่าข้อสงสัยจะได้รับการพิจารณา 

พิจารณาตามเนื้อผ้า เห็นกันทั้งเมืองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ณ เวลานี้ ไม่ถึงทางตันก็เหมือนตัน

การลงมติในวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ที่ค้างคามาจากต้นปี 2555 ก็ไม่อาจกระทำได้ 

เพราะการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ขณะที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อเสนอแนะ หากจะยกร่างทั้งฉบับ ให้ทำประชามติถามประชาชนก่อน 

แม้ว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความโน้มเอียงจะทำประชามติก่อน โดยเข้าใจว่า เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ก็ยังมีความไม่แน่ใจอีกเช่นกันว่า จะเกิดปัญหาทำให้เกิดการยื่นตีความอีกหรือไม่ 

ต้องยอมรับว่า อาการชะงักมาร่วมปีของกระบวนการแก้ไขและยกร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อมโยงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

และมีเสียงร่ำร้องหาความกระจ่างมาตลอด

ใครแกล้งโง่ ใครแกล้งฉลาด 

คำตอบไม่ได้ลอยอยู่ในสายลมแต่อย่างใด

ที่มา.มติชนรายวัน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

ไทยมีผู้สูงวัย65 ปีขึ้นไปสูงสุดในอาเซียน !!?


นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเปิดตัว "อำเภอสุขภาพดี 80 ปี ยังแจ๋ว" ในงานประชุมสัมมนาวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระดับชาติครั้งที่ 1 /2556 ว่า องค์การ สหประชาชาติให้คำนิยามว่า ประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้น เป็นสัดส่วนร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศนั้นก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 14 สำหรับประเทศไทยข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2555 พบว่าโลกมีประชากรจำนวน 7,058 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 565 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8 ในขณะที่ผู้สูงอายุไทยมีอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 12.59 ซึ่งมากที่สุดในประเทศอาเซียน

"ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 7 ล้านคน หรือร้อยละ 10.7 ในปี 2550 เป็น 7.5 ล้านคน หรือร้อยละ 11.7 ในปี 2553 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ในปี 2568 หากประเมินแล้วจะพบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และจากนั้นอีก 10 ปีจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด" นพ.เจษฎา กล่าว

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานการประเมินแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545-2565 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2552 ระยะที่ 2 พ.ศ.2550-2554 โดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) พบว่า ประชากรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพเพียงร้อยละ 34.2 จากเป้าหมายร้อยละ 50 ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 18.7 จากเป้าหมาย ร้อยละ 30 เป็นสมาชิกชมรมและร่วมกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 23.7 จากเป้าหมายร้อยละ 25 ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะทุพพลภาพได้รับการเยี่ยมบ้านร้อยละ 29.9 จากเป้าหมายร้อยละ 80 ผู้สูงอายุได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปีร้อยละ 56.7 จากเป้าหมายร้อยละ 50 ซึ่งยังไม่ผ่านการประเมินตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ

"กรมมีแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดภายในทศวรรษต่อไปคนไทยต้องสุขภาพดี โดยกำหนดอายุเฉลี่ยของคนไทยไม่น้อยกว่า 80 ปี ในปี 2565 ผ่านโครงการอำเภอสุขภาพดี 80 ปี ยังแจ๋วซึ่งเป็นการบูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้ครอบคลุม มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่พึงประสงค์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 มีตำบลดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวผ่านเกณฑ์อย่างน้อยร้อยละ 20 มีวัดส่งเสริมสุขภาพผ่านเกณฑ์ระดับพื้นฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และภาคีเครือข่ายให้เป็น ผู้มีความรู้ ความเข้าใจสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแก่ภาคีเครือ ข่ายทั่วประเทศ ชุมชนหรืออำเภอใดสนใจสอบถามได้ที่กรมอนามัย โทร.025904508

ที่มา.เนชั่น
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

การเปลี่ยนแปลงการค้า ข้าวไทย ในตลาดโลก !!?


โดย สุเมธ เหล่าโมราพร ซี.พี.อินเตอร์เทรดฯ

ปัจจุบันการกำหนดระดับราคาข้าวไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ระดับราคาข้าวไทยเกิดจากระบบการค้าในตลาดโลก ซึ่งนอกจากเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของสินค้าแล้ว ยังขึ้นกับอำนาจการเจรจาต่อรองในเวทีการค้า

ข้าวโลก ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าข้าวเป็นสินค้า commodity ซึ่งอำนาจของผู้ซื้อมีมากกว่าผู้ขาย

นอกจากนี้ ผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดโลกมักเป็นลักษณะการซื้อผ่านระบบรัฐบาล อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อิหร่าน และอิรัก เป็นต้น แล้วยังมีผู้ซื้อรายใหญ่ภาคเอกชน ซึ่งเป็น Trading Firm ที่มีฐานจากยุโรป ได้แก่ Louis Drefus, OLAM, Novel เป็นต้น

ระบบการค้าข้าวของไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกข้าวจากครึ่งหนึ่งของผลผลิต เมื่อตลาดเป็นตัวกำหนดราคาสินค้าข้าวส่งออก ในขณะที่ไทยมีอำนาจการต่อรองราคาน้อย ทำให้ราคาข้าวมีระดับไม่สูงมากนัก ส่งผล
กระทบต่อไปถึงการซื้อข้าวสารในตลาดข้าวไทยก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก และทำให้ต้องกดดันให้ระดับราคาข้าวเปลือกของไทยอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน

แม้ว่าประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ปรากฏว่าชาวนาไทยได้รับรายได้จากการขายข้าวเปลือกได้ไม่สูงนัก และทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ๆ มีน้อยลง เนื่องจากรายได้ไม่เป็นแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ
รัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดระดับราคาข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เพื่อผลักดันให้ระดับราคาข้าวเปลือกซึ่งเป็นต้นน้ำในระบบการค้าข้าวให้อยู่ในระดับสูง เพื่อให้ชาวนามีรายได้พอเพียง และสามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ชาวนา

อย่างไรก็ตามเมื่อระดับราคาข้าวเปลือกมีระดับสูงขึ้น ทำให้ระดับราคาข้าวส่งออกของไทยมีระดับราคาสูงกว่าประเทศ
คู่แข่งขันอื่น เช่น เวียดนาม และปากีสถาน นอกจากนี้ประเทศอินเดียที่เคยห้ามการส่งออกข้าวมากว่า 3 ปี ได้ประกาศการยกเลิกการห้ามส่งออกและหันกลับมา

ส่งออกข้าว ซึ่งทำให้ระดับราคาข้าวไทยอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศคู่แข่งขันถึงกว่า 100-200 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
ส่งผลให้ผู้ซื้อข้าวในประเทศผู้นำเข้าที่คำนึงถึงระดับราคาเป็นปัจจัยสำคัญ นำเข้าจากประเทศคู่แข่งขันเพิ่มขึ้น และนำเข้าจากไทยลดลง

ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องผนึกกำลังปรับประสิทธิภาพการส่งออกข้าวไทย เพื่อสร้างศักยภาพความสามารถในการแข่งขันภายใต้โครงการรับจำนำของรัฐบาล ดังนี้

หนึ่ง-ส่งเสริมให้มีการใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก ทั้งนี้ข้าวไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวคุณภาพดี แต่ต้องเน้นการทำการตลาดและการสร้างภาพลักษณ์ รวมถึงการให้ความรู้และเพิ่มการบริโภคข้าวไทยให้มีความกว้างขวางมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับการใช้กลยุทธ์การตลาดด้านการท่องเที่ยวไทยในตลาดโลกในแคมเปญ Amazing Thailand

สอง-ปรับปรุงงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย โดยกรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีพันธุ์ข้าวใหม่ที่เป็นข้าวไทยมีคุณภาพที่ดี มีผลผลิตเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนให้เกษตรกร

สาม-ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเพาะปลูกในรูปแบบ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อเป็นการเพาะปลูกอย่างถูกวิธี อันจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การให้สารป้องกันแมลงอย่างถูกวิธี ตลอดจนถึงการจัดการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยวอย่างมีประสิทธิผล โดยจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ทำงานอย่างเต็มที่

สี่-ส่งเสริมการใช้ระบบสหกรณ์เพื่อควบรวมพื้นที่ โดยเกษตรกรสามารถรวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์และจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรเครื่องมือการเพาะปลูกให้มีความคุ้มค่า รวมถึงการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และการปฏิรูปรูปแบบการทำนาให้มีรูปธรรมและจริงจังมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงกับเกษตรกร เนื่องจากระบบสหกรณ์จะทำให้สามารถจัดสรรระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการในการพัฒนาพื้นที่นาได้อย่างสะดวกขึ้น เช่น ระบบชลประทาน สำหรับตัวอย่างที่ดีของการใช้รูปแบบสหกรณ์ ได้แก่ อุตสาหกรรมอ้อย ซึ่งประสบความสำเร็จจากการวางแผนแนวนโยบายและแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอ้อยในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การนำชานอ้อยทำบรรจุภัณฑ์ นำกากน้ำตาลทำแอลกอฮอล์ จึงควรนำรูปแบบมาประยุกต์ใช้กับระบบสหกรณ์ข้าวของไทย ที่ควรเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำการเพาะปลูก จนถึงปลายน้ำการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ห้า-ส่งเสริมให้การใช้นโยบายรับจำนำอย่างโปร่งใส โดยโครงการรับจำนำข้าวนี้รัฐบาลต้องรับภาระเรื่องสต๊อกข้าว ดังนั้นระบบการบริหารคลังสินค้าข้าว การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพข้าวต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง นอกจากนี้รัฐต้องหาวิธีการระบายข้าวที่เป็นไปอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการอย่างมืออาชีพและมีความโปร่งใส รวมทั้งการจัดเก็บสินค้าข้าวเพื่อเป็นคลังสินค้าอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อสามารถขับเคลื่อนให้ระบบการค้าข้าวไทยเป็นไปดังที่กล่าว ซึ่งภาครัฐมีบทบาทกำหนดแนวทางหลัก จะส่งผลให้เกิดผลประโยชน์แก่ประเทศอย่างเต็มที่

ไทยก็ยังคงสถานะของการเป็นผู้นำการส่งออกข้าวคุณภาพที่ดีและมีมูลค่า

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++