--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

การเมืองเกมล็อบบี้ สภาสูง ท่อร้อยสาย ขั้วอำนาจ !!?

เป็น “ชะตากรรม” ที่แขวนไว้บน เส้นด้ายของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ...ท่อร้อยสายพันคอนเน็กชั่นจากขั้วประชาธิปัตย์ ในพลันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ ทำการไต่สวน “สุเทพ” ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่งตั้ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ จำนวน 19 คน เข้าช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำและ ป.ป.ช.มีมติด้วย “เสียงข้างมาก” ชี้มูลความผิดว่า “จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ตามความในมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 วรรค 1 พร้อมเสนอ ผลต่อ “วุฒิสภา” เพื่อลงมติถอดถอน “สุเทพ” ให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตาม “มาตรา 271” ซึ่งขั้ว ส.ว.ได้กำหนดวัน ชี้ชะตากันไปแล้วในวันที่ 18 กันยายนนี้

ขณะที่ “สุเทพ” ออกตัวแก้ลำ! แถสีข้างว่า “ความผิดยังไม่สำเร็จ” เพราะเป็นแค่ “ข้อปรึกษา” ที่ส่งไปยังกระทรวงวัฒนธรรมเท่านั้น อีกทั้งก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยกคำร้อง นี้ไปแล้ว กระนั้นทาง ป.ป.ช.ยังคงกินดีหมี ไล่เบี้ยเอาผิด “อดีตเลขาธิการ ปชป.” จนถึงที่สุด ว่ากันตามกติกา! การถอดถอนให้พ้น จากตำแหน่ง ส.ส.ของวุฒิสภา รัฐธรรมนูญ กำหนดว่า ต้องมีคะแนนเสียง “ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5” ดังนั้นสัดส่วนในการถอดถอนวัดได้จากยอด 146 เสียง หรือต้องได้แต้ม โหวต 88 เสียงขึ้นไป

หากดูจากผลโหวตเลือกรองประธาน วุฒิสภาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า “ขั้วสภาสูง” ที่สนับสนุนตัวแทนของ “ส.ว.สรรหา” มี ส.ส.ภาคใต้ กับ ส.ส.สายพันธมิตรฯ มีอยู่ 74 เสียง ขณะที่อีก 69 เสียงสนับสนุนตัวแทนจาก “ส.ว.เลือกตั้ง” ส่วนเสียงที่สนับสนุน “นิคม ไวยรัชพานิช” ขึ้นเป็นประธานวุฒิสภามีอยู่ 77 เสียง ถ้าประเมิน จากหน้าตัก การจะอัปเปหิ “สุเทพ” ให้หลุดพ้นวงโคจรทางการเมือง คงไม่ใช่เรื่อง ง่ายนัก

ทว่า...ถ้าวัดที่สัดส่วนตัวเลข 77 เสียง ที่ลงมติเลือก “นิคม” เป็นประธานวุฒิฯ ก็ทำให้การถอดถอน ย่อมลุ้นระทึกได้กับเสียงสมทบอีกแค่ 11 เสียงเท่านั้น พลันให้มีข้อสังเกตว่า “ดุลอำนาจ ในสภาสูง” วันนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่! แม้ผลการเลือกตั้งรองประธานวุฒิฯ ที่ฝั่ง “แต่งตั้ง” ชนะแบบฉิวเฉียด ขยับตัวเลือกการถอดถอน “สุเทพ” ให้มีช่องว่างเพิ่มขึ้นไปได้อีกเล็กน้อย นั่นเพราะ “ท่อร้อยสาย” ของ “สุเทพ” ได้เคย “ผูก” เอา ไว้อย่างเหนียวแน่นกับกลุ่ม “ส.ว.สรรหา”

แต่หมากสำคัญกระดานนี้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ก็ย่อมประมาทไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่ได้หมายความว่า “ส.ว. สรรหา” จะเทแต้มช่วยอุ้มเสียทั้งหมด แม้จะมีบางส่วนที่เคยออกไปตรวจสอบขั้วรัฐบาลนอกรัฐสภาอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” และ “สมชาย แสวงการ” หรือ “คำนูณ สิทธิสมาน” ที่เปิดตัวชัดว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อไทย และ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” จนมีการตั้งกลุ่ม “สยามสามัคคี” ที่ทำกิจกรรมการเมืองแลกหมัดกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตลอดมา

แต่ก็คงการันตีไม่ได้ทั้งหมดว่า... คะแนนเสียงในกลุ่มนี้จะเทไปช่วย “สุเทพ” ส่วนกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด คือ “40 ส.ว.” ที่มีความเป็นปึกแผ่นมากที่สุดใน “สภาสูง” จึงมีคำถามว่า...การโหวตถอดถอน “สุเทพ” จะยังดำรงความเป็นเอกภาพ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเลือกประธาน และรองประธาน ส.ว. อยู่หรือไม่

แม้ใน “กลุ่ม 40 ส.ว.” จะไม่เอา และเป็นปฏิปักษ์กับ “ระบอบทักษิณ” แต่ ก็มี “บางส่วน” ที่ไม่เอา “ประชาธิปัตย์” เหมือนกันว่ากันไปตามรัฐธรรมนูญ การลงมติถอดถอนจะมีผลก็ต่อเมื่อ “วุฒิสภา” มีมติ ด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 ของจำนวนเสียง ที่มีอยู่ แม้จะเป็นคะแนนเสียงที่ถือว่า “ค่อนข้างมาก” แต่เมื่อสภาสูงเวลานี้ดูเหมือน “ฝ่ายเลือกตั้ง” เริ่มจะรุกคืบ เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองเห็นพ้องกันว่า คะแนนเสียง 3 ใน 5 หรือก็คือ “88 เสียง” ย่อมเป็น “ทางสองแพร่ง” ที่มีโอกาสเป็นไปได้แทบทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ การเมืองในวุฒิสภาโดยเฉพาะดุลอำนาจของสภาสูงที่เริ่มไม่เหมือน ก่อนหน้านี้ จึงถูกจับตาไม่น้อยว่าจะดำเนิน ต่อไปอย่างไร ท่ามกลางภาวะที่ ส.ว.ด้วยกันเอง มีความแตกต่างทางความคิด ตลอด จน “ที่มา” และเฉดสีทางการเมืองที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มอย่างเห็นได้ชัดยิ่งก่อนหน้าการลงมติของวุฒิสภาว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่ กระแสข่าวการล็อบบี้คนสภาสูง ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างหนัก แต่จะเป็นการ “ล็อบบี้” เพื่อให้ “สุเทพ” โดนถอดถอนหรือรอดจากคมเขี้ยว ส.ว. เมื่อถึงช่วงเวลานั้น...คงได้เห็นกัน!

ส.ว.สรรหาอย่าง “วันชัย สอนศิริ” มือประสานสิบทิศในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ได้ วิเคราะห์ดุลอำนาจในสภาสูงไว้อย่างน่าสนใจว่า... ยังไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เหตุเพราะด้วยโครงสร้างของวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญที่ออกมาให้มีวุฒิสภา 2 ระบบ คือเลือกตั้งและสรรหา ส.ว.ทั้ง 2 ส่วนก็จะถ่วงดุลกันเองไปในตัว ทำให้การจะครอบงำหรือเข้ามากุมเสียงกำหนดทิศทางอะไรในวุฒิสภา ทั้งจากพวก ส.ว. ด้วยกันเองหรือการเมืองจากภาคนอก เหมือนก่อนหน้านี้ที่เป็น ส.ว.ระบบเดียว เช่น ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด หรือ ส.ว.เลือกตั้ง ทั้งหมด... ทำไม่ได้

ส่วนกรณีที่อาจมีบางฝ่ายหวังใช้ “วุฒิสภา” เป็นตัวแปรสำคัญในการถอดถอน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” หรือใช้เป็นกันชนเพื่อให้รอดพ้นคมเขี้ยวสภาสูง! “วันชัย” ย้ำหัวตะปูว่า เวลานี้กระบวนการถอดถอน “สุเทพ” ถือว่าเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ยัง มีเวลาอีกชั่วระยะกว่าวุฒิสภาจะนัดลงมติ ซึ่งต้องให้ทุกอย่างผ่านไปตามกลไก เช่น มีการแถลงเปิดคดีจากฝ่ายป.ป.ช. การแถลงคัดค้านข้อกล่าวหาของสุเทพ การนัด แถลงปิดคดีด้วยวาจาของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนการตั้งคำถามในสำนวนคดีนี้จาก ส.ว.ผ่านกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้น เพื่อ ให้ไปถาม ป.ป.ช.และตัวของ “สุเทพ” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาลงมติลับว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่

“คงต้องรอให้ถึงช่วงวันใกล้ลงมติก่อน ว่าจะมีการล็อบบี้อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เวลานี้ยังไม่มีข่าวความเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าวออกมา”

สำหรับข้อมูลที่ได้รับจากฝ่ายกฎหมาย ของวุฒิสภา ที่ได้ระบุถึงกรอบแนวทาง ขั้นตอนการดำเนินการของ “สภาสูง” ในกรณีถอดถอน “สุเทพ” หลังผ่านการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่าน มา ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของคำร้องนี้ โดยทาง ป.ป.ช.ได้ส่งมาให้วุฒิสภาแล้ว และวุฒิสภาก็จะกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช.และตัวของ “สุเทพ” ซึ่งก็คือวันที่ 7 กันยายน ซึ่งวันดังกล่าวจะเป็นการแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช. และคำแถลงคัดค้านของ “สุเทพ” โดยไม่มีการซักถาม

จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณา ว่า ควรมีการซักถามประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่ หากที่ประชุมมีมติให้ซักถามในประเด็นปัญหาใด ให้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้นมาคณะหนึ่ง แล้วต้องแจ้งมติให้คู่กรณีทราบโดยพลัน และต้องกำหนดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อซักถามภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าวแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อรังฟังแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของ ทั้งสองฝ่ายที่เบื้องต้นกำหนดไว้วันที่ 17 กันยายนนี้ ส่วนวันลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุเทพ เคาะไว้แล้วว่าจะให้เป็นวันที่ 18 กันยายน 2555 โดยมติที่ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนน เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือไม่น้อยกว่า 88 คน คงต้องดูกันว่า การสู้คดีกันครั้งนี้ของ “สุเทพ” กับ “ป.ป.ช.” ผลจะออกมาอย่างไร ข้อมูลและการสู้คดีของฝั่งไหน จะ ดีกว่ากัน เพราะหากว่า “สุเทพ” แจงไม่ขึ้น ชี้ไม่ชัด...ในข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. “วุฒิสภา” ยังลงมติไม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพราะคะแนนเสียงไม่ถึง ก็อาจเกิดข้อกังขากับการทำหน้าที่ และบรรทัดฐาน ของ “สภาสูง” ว่าเป็นอย่างไรกันแน่

แม้หลายคนจะมองว่าโอกาสที่ “สุเทพ” จะโดนถอดถอนค่อนข้างเป็นไปได้ยาก หากไปดูก่อนหน้านี้ “วุฒิสภา” ก็เคยพิจารณาคำร้องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง การเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง คือกรณีของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งปรากฏ ว่า วุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 49 เสียง ไม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือ กรณี “นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.กระทรวง การต่างประเทศ ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณีเห็นชอบให้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ก็ยังปรากฏว่า “วุฒิสภา” ได้ลงมติถอดถอน 57 เสียง ไม่ถอดถอน 55 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ซึ่งเวลานั้นต้องใช้เสียง 90 เสียงขึ้นไปการถอดถอนถึงจะมีผล ทำให้ “นพดล ปัทมะ” ไม่โดนถอดถอน ทั้งที่เรื่องเขาพระวิหารเวลานั้น กระแสสังคมไม่เห็นด้วยอย่างมาก

และล่าสุด ก่อนหน้าคำร้องของ “สุเทพ” วุฒิสภาก็พิจารณาเรื่องการถอดถอน “ภักดี โพธิศิริ” กรรมการ ป.ป.ช. ที่ตอนนี้ก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่ แต่กรณีของ “ภักดี” นั้นแตกต่างจาก “สมชาย-นพดล” และ “สุเทพ” เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า การถอดถอน ป.ป.ช. ต้องใช้เสียง ส.ว. 3 ใน 4...ไม่ใช่ 3 ใน 5 ซึ่งผลการลงคะแนน ออกมาว่ามีมติ 84 เสียงไม่ให้ถอดถอน ขณะที่เสียงให้ถอดถอนมีแค่ 56 เสียง

ทั้ง 3 กรณีของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ที่ ส.ว.จะไม่สามารถถอดถอนได้ นั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นข้อกล่าวหา ที่พัวพันกับเรื่องการเมือง แต่ในกรณีของ “สุเทพ” คงต้องว่าไปตามหลักฐานและข้อเท็จจริง ประกอบกับดุลพินิจการพิจารณา ของสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนว่าจะมีมติไปในทิศทางใด

แต่หากมองในทางการเมืองแล้ว จะ เห็นได้จากการเลือกประธานวุฒิสภา และ รองประธานคนที่ 1 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ซึ่งการชิงดำหนนี้ได้สะท้อน “เกมล็อบบี้” ในสภาสูงที่ข้นคลั่ก แม้ “ฝ่ายการเมือง” จะยังไม่สามารถครอบงำได้เบ็ดเสร็จ ด้วยเงื่อนปมเหล่านี้ การถอดถอน “สุเทพ” หวยจะออกมาในทางใดยังต้องลุ้นอีกหลายยก เพราะเดิมพันทางการเมืองหนนี้ ฝ่ายหนึ่งย่อมหาทางเอาตัวรอด ให้ได้...กลับกันอีกฝ่ายย่อมใช้เกม “เพาเวอร์เพลย์” มุ่งตัดอนาคตศัตรูตัวฉกาจให้พ้นจากสนามการเมือง เพราะในวัย 64 ปีหากโดนตัดสิทธิ์ไปอีก 5 ปี คงจะทนรอไม่ไหวที่จะหวนสู่สนามการเมืองอีกรอบ?!!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ฤา แผ่นดินไทยต้องไหวแยก !!?

ในที่สุดสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ก็เข้าสู่โหมดที่ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า มีประชาชนที่นั่นส่วนหนึ่งได้ “จุดชนวน” ให้ปรากฏชัดว่า แผ่นดิน 3 จังหวัด ภาคใต้ของไทยได้ “เปลี่ยนธง” ไปอยู่กับแผ่นดินมาเลเซียแล้ว

ด้วยการเผาธงชาติไทยและปักธงชาติมาเลเซียเกลื่อนกลาดไปมากกว่า 100 จุด

ในทางจิตวิทยา ถือเป็นความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์อย่างท้าทายยิ่ง

พี่น้องชาวไทยซึ่งอยู่ในภาคอื่น หรือแม้แต่คนภาคใต้แท้ๆ ที่ไม่เคยเดินทางไปอยู่ 3 จังหวัดภาคใต้นานๆ คงไม่รู้ว่าพฤติกรรมของชาวมาเลย์และชาวไทยมุสลิม ที่นั่นเขาเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นกิจวัตรปกติเหมือนคนแผ่นดินเดียวกันมานานแล้ว อันเนื่องมาจากวงศาคณาญาติที่เป็นเทือกเถาเหล่ากอเดียวกันมาตั้งแต่อดีตกาล อันเป็นเรื่องยากที่อำนาจรัฐจะไป “ตัดญาติ” ให้ขาดสะบั้นได้

นอกจากใช้ศิลปะในการบริหารทางการเมืองชั้นสูงเท่านั้น

แต่เพราะประเทศไทยนับกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐจึงทำให้ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นดินแดน “ไกลปืนเที่ยง” ไกลหูไกลตา ไกลการพัฒนาและถูกทอดทิ้งให้ประชาชนที่นั่นซึ่งผูกพันด้วยวัฒนธรรมและศาสนาเดียวกันเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว จึงง่ายเหลือเกินที่จะ “เลือกคิด เลือกทำ” ตามวิธีการเดียวกันกับคนมาเลย์

ยิ่งการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ผูกติดเชื่อมโยงกับฝั่งมาเลเซียมากกว่าได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลกรุงเทพฯ...แล้วมันจะเหลืออะไรให้ยึดโยง เคารพ นับถือ หรือ ให้ความรักศรัทธาเกี่ยวพันด้วยจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งต่อกันกับรัฐบาลไทย

วงราชการอันเป็นหน่วยปกครองที่ถอดแบบอำมาตย์กดขี่ทาสชั้นต่ำ แถมยัง บริหารเชิงครอบงำเพื่อหวังความได้เปรียบในฐานะมีวัฒนธรรมที่สูงกว่าของข้าราชการจากส่วนกลางโดยตรง

แม้แต่ข้าราชการจาก 11 จังหวัดที่เรียกตัวเองว่า “คนปักษ์ใต้” แต่ไม่ใช่คนปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ก็ยังคิดโยกย้ายไปอยู่ที่นั่นเพื่อ “ชิงการนำ” ทางการเมืองและการปกครองใน 3 จังหวัด มากกว่าคิดที่จะอยู่พัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวหน้าเพื่อยกระดับให้เหนือกว่าเพื่อนบ้านมาเลย์

พูดง่ายๆ ว่า คนปักษ์ใต้ก็หวังจะครอง 3 จังหวัดนั่นเสียเองว่างั้นเถอะ

แนวคิดเหล่านี้ จึงไม่ต่างกับยุทธศาสตร์ของฝ่ายความมั่นคง ที่ยกกองทัพลงไปถึง 60,000 คน หวังจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้การปกครองแผ่นดิน 3 จังหวัดอยู่ในอาณัติ “ให้อยู่หมัด”

มันก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ ในเมื่อคนที่นั่นยังสัมผัสกับกลิ่นอาย “ประชาชนชั้น 2” และเขาก็ยังถูกกติกา 2 มาตรฐานปฏิบัติกับเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ธงชาติมาเลเซียที่ถูกปักใน 3 จังหวัดภาคใต้นับร้อยจุด กลายเป็นแผนรุก “ยุทธศาสตร์ใหม่” อีกขั้น เพื่อทำลายหลักการปกครองของระบบราชการไทยให้ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง

ธงชาติมาเลย์ที่ปักเป็นริ้วรายตามถนนบนแผ่นดิน 3 จังหวัด ได้ท้าทายแบบ “ตบหน้าฉาดใหญ่” ต่อฝ่ายความมั่นคง และทหารไทยทั้งกองทัพหรือไม่ โดยเฉพาะระดับแกนนำกองทัพที่ยังยึดมั่นกับ “ทหารนำการเมือง”

ธงชาติมาเลย์เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า มาเลเซียมีส่วนร่วมยุยง ให้ท้ายต่อกองกำลังจรยุทธ์ในแผ่นดิน 3 จังหวัดด้วยหรือไม่ ย่อมเป็นปุจฉาให้แกนนำทั้งกองทัพ “ตีโจทย์แตก” เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรือหลงทาง “ตาบอด 8 ปี หาตัวการไม่เจอ” หรือว่า แอบ “น้ำลายไหล” ให้สถานการณ์เรื้อรังต่อไป เพื่อหวังให้งบประมาณบานฉ่ำเพิ่มขึ้นหรือไม่

ธงชาติมาเลเซีย ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ได้สะท้อนภาวการณ์แก้ปัญหาที่ “เอาไม่อยู่” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รวมทั้งอาการน้ำลายฟูมปากของฝ่ายค้าน ที่ปวกเปียกป้อแป้พอๆ กัน โดยไม่รู้ว่าจะจับต้นชนปลายหยิบมุมไหนมาแก้ยังไงดี

โดยไม่มีใครคิดเอาประชาชนคน 3 จังหวัดนั้นมา “มีส่วนร่วม นำทาง” เพราะดันคิดเหมือนกันหมดว่าไว้วางใจใครไม่ได้สักคนเดียว
หรือนั่นคือ ร่องรอยที่รอให้แผ่นดินไทยไหวแยกตัวไปตามวันเวลาอันโง่เขลา ของชนชั้นกุมอำนาจทุกฝ่ายในกรุงเทพฯ!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเทศไทย ความพร้อมด้านกฎหมาย สู่ประชาคมอาเซียน

เมื่อมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

(ASEAN Political and Security Community-APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ใน ปี 2558 แล้วทางด้านเศรษฐกิจจะมีการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนในอาเซียน ทำได้เสรียิ่งขึ้น นักวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษ แรงงานฝีมือ สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศอาเซียนอื่นได้สะดวกขึ้นส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศอาเซียนเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ เว้นแต่ที่เป็นสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง อุปสรรคในการนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่ภาษีจะหมดไป ซึ่งจะทำให้ตลาดของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศรวมเป็นหนึ่งเดียว มีการเปิดเสรีการค้าบริการรวมทั้งสิ้น 12 สาขาใหญ่ ประกอบด้วย 128 สาขาย่อย

โดยภายในปี 2558 จะต้องอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในทุกสาขาบริการ มีการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ในเรื่องคุณสมบัติวิชาชีพจำนวน 7 ฉบับ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบริการ 7 สาขา ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ และการบัญชี เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และในอนาคตประเทศไทยอาจจะทำข้อตกลงเพิ่มด้านการท่องเที่ยวด้วย สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในสาขา ดังกล่าวในประเทศอาเซียนประเทศหนึ่ง หากประสงค์จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศอาเซียนอื่น จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่ประเทศนั้น ๆ กำหนดเสียก่อน การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ย่อมส่งผลกระทบให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับ รวมทั้งอาจต้องมีการทำความตกลงระหว่างประเทศเพิ่มเติมด้วย

การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของประเทศไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

1.1 ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย ความตกลง ที่เกี่ยวกับพิธีการทางศุลกากร เพื่อลดขั้นตอนพิธีการด้านศุลกากรอ่านวยความสะดวกทางการค้า สนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามชายแดน ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดอุปสรรคของนักธุรกิจ นักลงทุนไทยในการแข่งขันกับนักธุรกิจ นักลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคน เข้าเมือง เพื่ออ่านวยความสะดวกในการตรวจลงตราแก่นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพและแรงงานฝีมือ อาเซียน

1.2 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น แก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้สอดรับกับการที่จะต้องอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในทุกสาขาบริการภายในปี 2558 โดยต้องมีการแก้ไขมาตรา 4 ในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคลและต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวประกอบกิจการธุรกิจบางประเภทที่เป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมจะแข่งขันกับคนต่างด้าวด้วย

แก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจนาเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ซึ่งตามมาตรา 17 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งเป็นนิติบุคคล ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย โดยถ้าเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทุนของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต้องเป็นของบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

แก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่งตามมาตรา 22 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคล หากเป็นนิติบุคคลที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วน ต้องมีจำนวนหุ้นหรือทุนเป็นของผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นหรือทุนทั้งหมด

แก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้ามาทำงานของแรงงานฝีมือจากอาเซียน โดยเฉพาะที่เป็นนักวิชาชีพที่ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ในเรื่องคุณสมบัติวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบริการ 7 สาขาไปแล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 เพื่อให้คนอาเซียนสามารถทำงานในประเทศไทยได้ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาชีพและวิชาชีพสงวน

พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อให้การพัฒนาฝีมือแรงงานครอบคลุมถึงคนอาเซียนโดยไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เพื่อให้คนอาเซียนสามารถเป็นที่ปรึกษาฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้าง สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน และเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการของสหภาพแรงงานได้

การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไทย เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

เช่น ปัญหาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด ขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ แรงงานต่างด้าว การฟอกเงิน อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การก่อการร้าย การค้าอาวุธโดยผิดกฎหมาย การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละเรื่อง ต้องมาร่วมกันพิจารณาศึกษาดูว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีความบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรหรือไม่ เพราะลำพังเพียงการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนไทยที่มีจำนวนประมาณ 60 ล้านคน ถ้ายังประสบปัญหาเนื่องจากความบกพร่องความไม่สมบูรณ์ของกฎหมายแล้ว หากประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีแล้วย่อมต้องประสบปัญหาเพิ่มขึ้นเป็นทับทวีอย่างแน่นอน รวมทั้งควรต้องมาพิจารณาร่วมกันว่ามีความจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมในเรื่องใดอีกหรือไม่ด้วย

การทำความตกลงระหว่างประเทศ ในระดับทวิภาคี หรือพหุภาคีของประเทศอาเซียน มีกรณีที่ประเทศไทยควรต้องพิจารณาดังนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ประเทศไทยได้ทำความตกลงที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศสมาชิกอาเซียนเฉพาะบางประเทศ

ดังนั้น หากมีกรณีที่ต้องร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประเทศไทยไม่ได้ทาสนธิสัญญาด้วย ก็จะทำให้เกิดปัญหาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามมา

สำหรับสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา ที่เป็นความตกลงให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องการสืบสวนสอบสวน การฟ้องคดี และกระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องอาญานั้น ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญานี้ร่วมกับประเทศใดในสมาชิกอาเซียนโดยตรง จะมีก็แต่เพียงลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญากับสหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้รวมไปถึงประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษด้วย

ดังนั้น ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน เว้นแต่ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ จึงขาดกระบวนการภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่จะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา หากมีคดีความผิดอาญาเกิดขึ้น

ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์

ประเทศไทยไม่เคยลงนามความตกลงระหว่างประเทศ ว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคาพิพากษาของศาลต่างประเทศ ในเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์กับประเทศใดดังนั้น หากศาลไทยมีคาพิพากษาตัดสินคดีแพ่งบังคับกับจาเลยหรือทรัพย์สินของจาเลย แล้วจาเลยหลบหนีไปอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น และขนย้ายทรัพย์สินหนีไปทั้งหมดด้วย หรือในกรณีกลับกัน ศาลต่างประเทศในประเทศสมาชิกอาเซียนตัดสินคดีแล้วจาเลยหลบหนีพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินหนีมาประเทศไทย

ทั้งสองกรณีนี้ศาลไทยและศาลต่างประเทศไม่สามารถดำเนินการบังคับ คดีกับจาเลยและทรัพย์สินของจาเลยที่นาหลบหนีไปได้ เพราะทั้งสองประเทศไม่ได้ทำความตกลงร่วมกันในเรื่องการยอมรับ และบังคับตามคาพิพากษาของศาล ต่างประเทศในเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์ระหว่างกัน

ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งคาคู่ความและเอกสารในคดีแพ่งและพาณิชย์ไปยังต่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยทำความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องการส่งคาคู่ความและเอกสาร และการสืบพยานหลักฐานในคดีแพ่งและพาณิชย์กับประเทศสมาชิกอาเซียนเฉพาะสาธารณรัฐอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ซึ่งตามความตกลงดังกล่าว กำหนดให้การให้ความช่วยเหลือกันทางศาลในเรื่องการส่งเอกสารในคดี หรือการขอให้มีการสืบพยานหลักฐาน สามารถดำเนินการโดยผ่านหน่วยงานกลางของประเทศภาคีคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องใช้วิธีการทางการทูตสำหรับหน่วยงานกลางของประเทศไทย คือสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งตามความตกลงดังกล่าวทำให้การส่งคาคู่ความและเอกสารในคดีแพ่ง เช่น หมายเรียกและคาฟ้องทำได้โดยสะดวกรวดเร็วขึ้น หากไม่ได้ทำความตกลงระหว่างประเทศระหว่างกันแล้ว การส่งคาคู่ความและเอกสารในคดีแพ่งระหว่างคู่กรณีที่อยู่คนละประเทศต้องใช้วิธีการทางการทูต ซึ่งใช้เวลาดำเนินการนำนมาก เมื่อพิจารณากรณีต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นว่าเป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจ การลงทุน ความเชื่อมั่นในการดารงชีวิต และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในประชาคมอาเซียนโดยตรง จึงมีความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเร่งรีบทำความตกลงระหว่างกันในเรื่องที่เป็นปัญหาดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นความตกลงทวิภาคีหรือพหุภาคี และหากจะให้ดีเมื่อทุกประเทศสมาชิกอาเซียนมีความพร้อมแล้ว ควรที่จะทาเป็นสนธิสัญญาอาเซียนในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และบรรลุเจตนารมณ์ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย

สำหรับการเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมาย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาดังกล่าวนั้น ภาครัฐเพิ่งมีการดำเนินการที่ชัดเจนเมื่อคราวจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 โดยมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมปรับปรุงแก้ไขระบบนิติธรรมไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น และมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงและเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายของไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ขณะที่ระยะเวลาที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเหลือเพียงประมาณ 2 ปีเท่านั้น การเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาซียน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ประสานงานหลักจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง โดยการกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจนแน่นอน

ทั้งในชั้นการจัดทำร่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และในชั้นการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และเมื่อร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามขั้นตอนแล้ว ทั้งสองสภาก็ควรเร่งรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยมีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาที่ชัดเจน เพื่อให้ร่างกฎหมายสามารถพิจารณาได้เสร็จทันกำหนดเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

ที่มา : ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ประชาชาติธุรกิจ

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ค้นความจริงฉบับสุดท้าย : ดร.คณิต เปิดลิ้นชักแห่งความลับ 20 ปี เชื่อว่าคนเสื้อแดง ทักษิณจะเกลียดผมเข้าไส้.


แม้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) จะสิ้นสุดวาระไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ค. แต่ "ดร.คณิต ณ นคร" ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในกลเกมการเมืองขณะนี้

เพราะทั้ง "ความจริง-ความลับ" ในมือ คอป.ถือเป็นอาวุธสำคัญที่ฝ่ายการเมือง ยังจ้องจะหยิบไปขยายแผลทางการเมือง สร้างความผิดให้คู่ตรงข้ามตกเป็น "จำเลย" โดยสมบูรณ์

หนึ่ง พรรคเพื่อไทยยังรอ "ความจริง" ภายใต้รายงานความคืบหน้าฉบับสมบูรณ์ของ คอป. เพื่อเพิ่มน้ำหนักความผิดให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ" กรณีลงนามคำสั่งกระชับพื้นที่ ในเหตุการณ์การชุมนุมปี 2553 ทำให้มีคนตาย 98 ศพ

สอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังรอ "ความลับ" ของ ดร.คณิต ครั้งที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.)

เพื่อเปิดข้อมูลจากรายงานค้นหาความจริง ลาก "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เข้าสู่ข้อหา "ฆ่าตัดตอน" ในฐานะผู้ประกาศทำสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด

ทั้ง 2 คดี 2 จำเลย ฝ่ายการเมืองต้องการลาก "คนผิด" ไปไกลถึงกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลกเป็นผู้ตัดสิน

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "ดร.คณิต" ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง

ปี 2535 ครั้งที่นั่งเก้าอี้รองอัยการสูงสุด เขาถูกฝ่ายการเมืองเชิญไปช่วยค้นหาความจริงหลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ร่วมกับคณะของนายโสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา

"ดร.วิษณุ (เครืองาม) รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้นได้โทรศัพท์มาหาผมที่บ้าน เพื่อเชิญให้ผมไปร่วมกระบวนการค้นหาความจริง โดยท่านกล่าวกับผมสั้น ๆ ว่า สาเหตุที่ต้องเป็นผม เพราะดูมีความเป็นกลางสูงที่สุดในขณะนั้น"

หลังทำงานอย่างเข้มข้นร่วม 4 เดือน รายงานฉบับสมบูรณ์ก็เสร็จสิ้น แต่ "ความจริง" ดังกล่าวก็สูญหายไปพร้อมกับกาลเวลา ไม่เคยได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากฝ่ายการเมือง

ปี 2550 ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แต่งตั้ง คตน. โดยมอบหมายให้ "ดร.คณิต" รับผิดชอบ เพื่อค้นหาความจริงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดใน "คดีฆ่าตัดตอน" หรือไม่

"เราทำงานกันอย่างได้ผล สุดท้ายสามารถบ่งชี้ชัดได้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against humanity) ได้เกิดขึ้น หลังจากที่มีคนตายหลายพันคน"

แต่ 1 ปีให้หลัง รายงานค้นหาความจริงเรื่องฆ่าตัดตอนก็ลอยหายไปกับสายลมอีกครั้ง เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีคำสั่งไม่ต่ออายุให้คณะทำงาน คตน.

เป็น 2 ครั้งที่ "ความจริง" ในมือ ดร.คณิต ถูกฝ่ายการเมืองเก็บเข้าลิ้นชักแห่งความลับ

กระทั่งล่าสุดกับการแต่งตั้ง คอป. เพื่อค้นหาความจริงในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเดือนพฤษภาคม ปี"53 ดร.คณิตตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งเพื่อค้นหาความจริงอีกครั้ง โดยคำชักชวนจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

จากบทเรียนทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ทำให้เขามีข้อแม้กลับไปว่า "ยินดีที่จะทำหน้าที่ค้นหาความจริง แต่จะไม่ขอเข้าข้องเกี่ยวกับการค้นหาว่าใครผิด-ใครถูก เพราะนั่นคือบทบาทในชั้นของกระบวนการยุติธรรม"

เมื่อสัญญาทั้งหมดลงตัว "ดร.คณิต" จึงเดินสาย เชื้อเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยตนเอง โดยมีหลักตั้งต้นว่า ในคณะทำงานต้องมีคนจากทุกสี ทุกฝ่าย เพื่อให้มีข้อมูลในมาตรฐานเดียวกัน

"จาตุรนต์ ฉายแสง" คือชายคนแรกที่เขาอยากพบ เพราะความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันตั้งแต่สมัยก่อตั้ง "พรรคไทยรักไทย" โดยเฉพาะครั้งที่ทำงานร่วมกันในกระทรวงยุติธรรม ถือว่าบุคคลนี้รู้มือกันดีอยู่แล้ว

"วีระ มุสิกพงศ์-สนธิ ลิ้มทองกุล" เป็นกลุ่มแกนนำ 2 ฝ่าย 2 สี ที่มีความจำเป็นต้องมีอยู่ในคณะทำงานเดียวกัน เพื่อให้การลงความเห็นจากทั้งหมด ไม่เกิดผลลัพธ์เป็น 2 มาตรฐานให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้ง 3 คนให้คำตอบ "ปฏิเสธ" ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน คณะทำงานในฝันของ "ดร.คณิต" จึงไม่เกิดขึ้น สุดท้ายจึงเกิด 12 คอป.ขึ้นจนถึงปัจจุบัน

หลังผ่านร้อน-หนาวบนเก้าอี้ "ค้นหาความจริง" มาร่วม 20 ปี ดร.คณิตสามารถสรุปบทเรียน กลั่นเป็นข้อเสนอแนะที่สำคัญได้ 6 ประการ ดังนี้

1.ความวุ่นวายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2549 หากต้องการทำให้บ้านเมืองกลับมาสงบอย่างสันติได้นั้น จำเป็นต้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณเสียสละเพื่อชาติ ยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากเป็นชนวนเหตุที่สำคัญของเหตุการณ์ทั้งหมด

2.รัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ไขภาพการหักดิบกฎหมายให้มีความกระจ่างชัด เพื่อลบความทรงจำในแง่ลบของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในตัวตุลาการให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม

3.กรณีที่ศาลโลกที่คนเสื้อแดง และ ปชป.กำลังดำเนินการอยู่นั้น มีความเห็นว่าไม่สามารถทำได้ จนกว่ารัฐบาลไทยจะได้ลงสัตยาบันใน "ธรรมนูญกรุงโรม" ซึ่งหากศาลโลกเข้ามาเกี่ยวข้องในตอนนี้ จะเสี่ยงที่ทำให้ประเทศเสียเกียรติภูมิในที่สุด

4.ควรตระหนักว่าที่ผ่านมา มีนักการเมือง พนักงานรัฐจำนวนไม่น้อย หลบหนีกระบวนการยุติธรรมไปต่างประเทศ ยกตัวอย่างผู้ใหญ่คนหนึ่งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก แต่สุดท้ายหนีออกนอกประเทศจนคดีหมดอายุความ

5.ขอยกตัวอย่างกรณีการทุจริตเรื่องหนึ่ง มี 2 สามีภรรยา ชื่อ Gerald and Patricia Green ร่วมกันทำทุจริตกับหัวหน้าหน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สุดท้ายศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสินให้มีความผิด ทำเรื่องให้ไทยส่งตัวอดีตผู้ว่าการคนดังกล่าวในฐานะ "ผู้ร้ายข้ามแดน" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20

6.ควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อาจต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพิจารณาความอาญาให้ศาลไทย ดำเนินคดีในลักษณะ "การพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลย" ในคดีบางประเภท เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น เกี่ยวกับการก่อการร้าย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนีออกนอกประเทศอย่างไม่มีความผิด

ทั้งหมดคือข้อเสนอ-ข้อเท็จจริงส่วนตัวของประธาน คอป.ที่เตรียมเปิดเผยอย่างเป็นทางการ พ่วงท้ายกับผลการค้นหาความจริงฉบับสมบูรณ์ ในวันที่ 17 กันยายนนี้

ทั้งหมดเป็นความจริงในใจจาก "ดร.คณิต" ที่ยังคงเป็นห่วงว่า หากข้อเสนอแนะสุดท้ายถูกเผยแพร่ อาจถูกฝ่ายการเมืองเก็บเข้าลิ้นชักเป็นครั้งที่ 3

โดยเฉพาะบทสนทนาในวงประชุมครั้งสุดท้ายที่มีกรรมการคนหนึ่งอ้างถึงว่า

"หลังแถลงข่าวเสร็จ ขอให้คณะกรรมการแยกย้ายกันทันที เพราะผมเชื่อว่าหลังรายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ คนเสื้อแดงและคุณทักษิณจะเกลียดผมและพวกคุณเข้าไส้"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

วีรพงษ์ รามางกูร ชี้ อีซีบี.ซื้อบอนด์ แค่เพิ่มสภาพคล่อง !!?

วีรพงษ์.มองการแก้ปัญหา"อีซีบี" แค่อัดฉีดสภาพคล่อง ยังไม่โดนภาคเศรษฐกิจจริง ด้านแบงก์ชาติประเมินสถานการณ์ส่อเลวร้ายลง อีซีบีต้องงัดแผนนี้

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า การประกาศแผนเข้าซื้อพันธบัตรประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาในกลุ่มยูโรโซนของอีซีบีนั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินให้กับกลุ่มประเทศเหล่านี้เท่านั้น ยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง ดังนั้นจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาแค่ระยะสั้น

"วิธีนี้ไม่ได้ช่วยเหลือให้ประเทศที่มีปัญหาสามารถแข่งขันได้ ไม่ได้ช่วยเหลือให้เขาหายขาดจากการขาดดุล จะช่วยก็เพียงเรื่องสภาพคล่องแบงก์เท่านั้น แล้วจะช่วยได้ซักกี่น้ำ เพราะมันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่เรียลเซ็กเตอร์ เป็นแค่การแก้ปัญหาการเงิน"นายวีรพงษ์ กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า วิธีแก้ปัญหาที่เด็ดขาด คือ ต้องให้ประเทศที่มีปัญหาออกจากกลุ่มยูโรโซนไป เพื่อที่ประเทศเหล่านั้นสามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนของตัวเอง และใช้กลไกเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เขาสามารถขายของได้ เหมือนกับที่ประเทศไทยเคยทำ

ด้านนางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า การที่อีซีบีประกาศแผนเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศต่างๆ ในกลุ่มยูโรโซนแบบไม่จำกัดจำนวนนั้น โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเพราะอีซีบีเห็นว่าสถานการณ์เลวร้ายลง ทางออกที่ทำได้ คือ การเข้าซื้อพันธบัตรเหล่านี้เพื่อให้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง อย่างไรก็ตามวิธีนี้เชื่อว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธปท. กล่าวว่า การตัดสินใจของอีซีบีในครั้งนี้คงทำให้ภาพรวมตลาดการเงินดีขึ้น เพราะอย่างน้อยก็เห็นทางออกของปัญหา แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะการช่วยเหลือของอีซีบีเองก็มีเงื่อนไขว่า ประเทศที่จะให้อีซีบีเข้าซื้อพันธบัตร จะต้องลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินของยุโรป(ESFS) ด้วย

สำหรับประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือ จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการปฎิบัติว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ดังนั้นแล้วจึงต้องติดตามดูว่า ประเทศที่จะขอให้อีซีบีเข้าซื้อพันธบัตรนั้น จะยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ได้หรือไม่ และถ้ายอมรับได้ ก็ต้องตามดูด้วยว่าจะสามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด

"ปัญหายุโรปเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งระยะเวลาในการแก้ปัญหาคงยาวแน่นอน ส่วนการที่อีซีบีประกาศแผนนี้ออกมา อย่างน้อยก็ทำให้ตลาดเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เพียงแต่ยังต้องติดตามดูการแก้ปัญหาในระยะต่อไปว่า จะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งแบงก์ชาติเองก็มองไว้อยู่แล้วว่า ปัญหานี้คงไม่จบลงโดยเร็ว"นางจันทวรรณ กล่าว

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนของอีซีบีที่ประกาศออกมาถือว่าเป็นเรื่องดี อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะถ้าอีซีบีไม่ดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งอาจทำให้กลุ่มยูโรโซนเกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นได้ในอนาคต

"ผมว่าที่อีซีบีประกาศแผนนี้ออกมาเพื่อป้องกัน สเปน และ อิตาลี ไม่ให้เกิดปัญหา เพราะทั้ง 2 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ถ้าเกิดอะไรขึ้นอาจทำให้ยูโรโซนทั้งกลุ่มแย่ไปด้วย ซึ่งแผนนี้อย่างน้อยถ้ากรีซไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาของกลุ่มทรอยก้า จนเกิดการ Default(ผิดนัดชำระหนี้) ขึ้น ก็จะมีแค่กรีซรายเดียวที่เป็นปัญหา" นายบันลือศักดิ์ กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปัญหาอยู่ตรงนี้ !!?

ได้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า...ปัญหาของประชาธิปัตย์จริงๆ อยู่ที่ไหนกันแน่
ภายหลังจากที่ คุณพิชัย รัตตกุล ได้ออกมาวิพากษ์บทบาทของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างนิ่มนวลแบบปู่สอนหลาน

ก่อนอื่นจะต้องสรุปความเห็นว่า...

การที่คุณพิชัยซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรคออกมาวิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นเพราะคุณพิชัยอดรนทนต่อไปไม่ไหวที่คณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบัน...แสดงบทบาททางการเมืองที่เสื่อมความนิยมในสายตาของประชาชน จนพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า และนับวันจะเสื่อมทรุดลงไป

คุณพิชัยกล่าวว่า...พรรคประชาธิปัตย์ไม่เหมือนสมัยเก่าที่มีจุดยืนต่อต้านระบบเผด็จการทางทหาร ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยเต็มที

“การตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในดงทหาร เป็นการทำลายอุดมการณ์ และจุดยืนของ ปชป.ที่ปู่ย่าตายายสร้างมา”
“มันเจ็บปวดมากที่ ปชป.เปลี่ยนไป”

คุณพิชัยยืนยันว่า...สมาชิก ปชป. เลือกนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคไม่ผิด แม้แต่ในขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ยังเหมาะสมทุกอย่าง ยังเป็นหัวหน้าพรรคได้

“แต่ต้องปรับปรุงตัวเขาเอง โดยข้อเสียของนายอภิสิทธิ์ คือ ไม่รู้จักใช้คน และนอกจากใช้คนไม่เป็นแล้ว ยังไม่นำคนเก่าที่มีประสบการณ์มาเป็นที่ปรึกษาตัวเองบ้าง”

นั่นเป็นความเห็นของ คุณพิชัย รัตตกุล

แต่สำหรับ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์มองต่างออกไป
“ปัญหาของประชาธิปัตย์อยู่วัฒนธรรมองค์กรของพรรค คิดว่าวัฒนธรรมของพรรคสับสนอลวน วิกฤติที่สุดอยู่ที่การขึ้นไปยื้อยุดฉุดกระชากทั้งแขนและตัวประธานสภา ภาพนี้ไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะเกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์ ถ้าพรรคมีวัฒนธรรมทางการเมืองจะไม่ทำเช่นนี้

ถ้าเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริงพึงต้องรู้ว่าเสียงข้างน้อยย่อมแพ้ เมื่อแพ้แล้วก็ต้องแพ้ ต่อให้เขาชนะด้วยกฎหมายที่มีเจตนาแอบแฝงก็ช่างมัน ประเทศทั้งประเทศต้องเรียนรู้ ประเทศไทยต้องใช้เวลาสี่ปี ไม่ว่าจะกี่ครั้งเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้”

อีกมุมมองหนึ่งเป็นมุมมองของคนที่ยืนอยู่ตรงข้าม...เป็นความเห็นของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

“พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าใจพัฒนาการของประชาชนในวิถีทางประชาธิปไตย รากฐานการก่อตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ก็เกิดจากความต้องการจะต่อสู้หักล้าง กับแนวทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และคณะอยู่แล้ว แนวทางการเมืองของประชาธิปัตย์เป็นอนุรักษ์นิยม วันนี้ประชาชนเดินเลยกรอบความคิดของพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว วันนี้

เห็นชัดว่าประชาธิปัตย์ตามประชาชนไม่ทัน”

น่าคิดน่ะ...ประชาธิปัตย์ก้าวตามประชาชนไม่ทัน

โดย:ศรี อินทปันตี,บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้าราชการ แห่เออร์ลี่รีไทร์ คลังเท 7.5 หมื่นล้าน ถ่ายเลือด !!?

นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการตรวจสอบจำนวนข้าราชการที่เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) ประจำปีงบประมาณ 2556 (ออกจากราชการ 1 ตุลาคม 2555)



ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการอยู่ที่27,089 คน โดยเป็นส่วนของกระทรวงศึกษาธิการสูงสุด 12,801 คน รองลงมาคือ กระทรวงกลาโหม 4,784 คน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3,282 คน, กระทรวงสาธารณสุข 1,789 คน, มหาวิทยาลัย 918 คน

สำหรับในปีงบประมาณ 2555 มีข้าราชการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ 33,751 คน แต่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 21,461 คน โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีข้าราชการเข้าร่วมโครงการสูงสุด 9,118 คน

โดยส่วนราชการที่มีผู้เข้าร่วมโครงการในปีงบประมาณ 2555 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 8,805 คน และกองทัพบก 5,367 คน ขณะที่จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการประจำปีงบประมาณ 2556 ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เนื่องจากต้องรอข้อมูลถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2555

นายนนทิกรกล่าวว่า ข้าราชการเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดในปี 2556 อาจสูงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เพราะปีนี้ถือว่าเป็นปีสุดท้ายของโครงการที่ ครม.เมื่อปี 2550 ได้อนุมัติมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ จึงทำให้ข้าราชการที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดตัดสินใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

"จริง ๆ แล้วเรื่องมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ เราตั้งใจทำอยู่ 2 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกัน คือการปรับโครงสร้างอายุราชการทั้งระบบ เพราะปัจจุบันหน่วยราชการต่าง ๆ มีข้าราชการสูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก เรามีความตั้งใจที่จะถ่ายเลือดเก่าออก และเอาข้าราชการเลือดใหม่เข้ามาทดแทน" นายนนทิกรกล่าว

โดยจำนวนข้าราชการใหม่ทั้งระบบที่จะเข้ามาทำงานประจำปี 2556 มีประมาณ 40,000 กว่าคน ซึ่งถือเป็นอัตรากำลังทดแทนในสัดส่วนที่พอดีกัน

นายนนทิกรกล่าวว่า จากผลวิจัยที่ผ่านมาพบว่าข้าราชการที่เข้าโครงการเออร์ลี่รีไทร์ต้องการไปประกอบอาชีพอื่น และบางส่วนก็ต้องการนำเงินก้อนไปชำระหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับกลางถึงล่าง หรือบางกลุ่มก็ต้องการเงินไปรักษาตัวเองในกรณีเจ็บป่วย เนื่องจากเงินที่ได้จากโครงการเออร์ลี่รีไทร์จะอยู่ที่ประมาณ 8-15 เท่าของเงินเดือน บวกกับบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการจึงมีเงินขวัญถุงก้อนใหญ่เพื่อไปประกอบอาชีพใหม่ได้

ผลศึกษาในปี 2554 พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์ในปี 2552-54 มีอายุเฉลี่ย 55-56 ปีตามลำดับ แต่เนื่องจากในปี 2555-56 ได้ปรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ โดยกำหนดว่าต้องมีเวลาราชการเหลือตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ทำให้อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมโครงการน่าจะลดลง

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลางเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปีงบประมาณ 2556 จะมีข้าราชการเกษียณอายุราชการ 17,068 ราย และผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นเออร์ลี่รีไทร์ 27,233 ราย อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีผู้ยื่นขอเกษียณก่อนกำหนดเพียงแค่ 12,796 ราย ซึ่งตัวเลขยังไม่สมบูรณ์จึงยังไม่สามารถประเมินเม็ดเงินได้ ต้องรอให้ทุกส่วนราชการรายงานสรุปเข้ามาอีกครั้งในช่วงใกล้สิ้นเดือน ก.ย. จึงจะทำให้ทราบถึงเม็ดเงินที่จะใช้ในการจ่ายบำเหน็จบำนาญทั้งหมด

อย่างไรก็ดีหากดูจากปีที่ผ่านมา ข้าราชการเกษียณอายุตามปกติ 12,193 ราย ลูกจ้างประจำ 6,127 ราย และผู้ใช้สิทธิ์โครงการเกษียนอายุก่อนกำหนด 21,461 คน ซึ่งพบว่ามีรายงานการใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 75,469 ล้านบาท แต่ในปีนี้คาดว่าน่าจะใช้เม็ดเงินน้อยกว่า เพราะจากจำนวนผู้ยื่นขอเกษียนอายุก่อนกำหนดขณะนี้มีอยู่เพียง 12,796 คน

"ตอนนี้ยังคำนวณเงินที่จะต้องใช้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะว่าต้องดูจากอายุราชการของแต่ละคนด้วย แล้วบางคนที่มีสิทธิ์เออร์ลี่รีไทร์ แต่บางส่วนราชการก็อาจจะไม่อนุมัติ เพราะไม่ต้องการเสียอัตรากำลังอย่างกรณีทหาร เป็นต้น" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้าราชการสังกัด สพฐ.ยื่นขอเออร์ลี่รีไทร์ประมาณ 9 พันคน ลดลงจากปีที่แล้วที่ยื่นขอมาประมาณ 1 หมื่นคน กระนั้นยังอยู่ระหว่างการยื่นถอนชื่อ ซึ่งจะเสร็จสิ้นกระบวนการในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยข้าราชการส่วนใหญ่ที่ขอเออร์ลี่รีไทร์เป็นครูประจำโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ของส่วนกลาง

"คนขอเออร์ลี่รีไทร์ลดลงเป็นเพราะเงินเดือนครูขยายเพดานและมีการปรับฐานเงินเดือนใหม่ซึ่งตามปกติแล้วครูต้องทำผลงานวิชาการจึงจะสามารถขยับเงินเดือนขึ้นได้ แต่บางรายพบว่าเงินเดือนแตะระดับสูงสุดของแท่งแล้วจะมีเงินเดือนคงที่ ไม่ได้รับการปรับเพิ่ม แต่ตอนนี้มีการปรับให้คนที่เงินเดือนติดอยู่แท่งเดิมสามารถกระโดดไปรับเงินเดือนของแท่งใหม่ได้ในระดับเดียวกันแต่วิทยฐานะยังคงเหมือนเดิม"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ติดรูป ทักษิณ.เดือดร้อนทำไม !!?

มีวันนี้เพราะพี่ให้

ถือเป็นวลีเด็ดจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่ทิ่มแทงใจกลุ่มคนไม่เอาทักษิณเป็นที่สุด

ก็เล่นเปิดหน้าอย่างไม่เหนียมอายว่าขึ้นมาคุมนครบาลได้ในวันนี้เพราะได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

แสดงความเคารพรักอย่างสุดซึ้งด้วยการทำป้ายข้อความ “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ติดอยู่เหนือป้ายชื่อตัวเองที่ห้องทำงานใน บช.น.

แถมยังมีรูปที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ประดับยศพลตำรวจโทให้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2555 ที่ผ่านมา ติดหราอยู่ข้างฝาหน้าห้อง พร้อมกับลายมือที่คนรักทักษิณมองปราดเดียวก็รู้ว่าเป็นของอดีตนายกฯทักษิณที่เขียนข้อความว่า

“ขอแสดงความยินดีกับแจ๊ดน้องรัก ขอให้มีความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นที่รักของประชาชนและเพื่อนตำรวจ รัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2555

ทั้งหมด ผบช.น. เป็นผู้จัดหา และเป็นคนชี้จุดให้เจาะผนังติดรูป แขวนป้ายข้อความ ด้วยตัวเอง

และก็เป็นอะไรที่ไม่เกินความคาดหมายที่กลุ่มคนไม่เอาทักษิณต้องออกมาโขกสับเรื่องนี้

เปิดหน้ามาก่อนใครเลยคือ “บักใส” นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่วันนี้แยกตัวออกไปทำงานในนามกลุ่มกรีน

“การให้อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาและหมายจับของศาลอีก 6 หมายประดับยศให้ ถือเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันตำรวจไทยในภาพรวม ซ้ำร้าย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแบบไม่หวั่นเกรงกฎหมาย ทั้งที่ๆตัวเองรับราชการตำรวจ และเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ย่อมรู้ดีว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย”

มุ่งโจมตี 3 ประเด็นหลักคือ ไม่เหมาะสม ทำภาพพจน์ตำรวจเสียหาย และผิดกฎหมาย

นายสุริยะใสบอกว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์จะชอบพอรักใคร่หรือมีบุญคุณต้องตอบแทน พ.ต.ท.ทักษิณมากมายแค่ไหนก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องแยกแยะจากหน้าที่และความรับผิดชอบตามกรอบกฎหมาย อย่าเอาลัทธิบูชาบุคคลมาอยู่เหนือกฎหมายและความถูกต้อง

“มีวันนี้เพราะพี่ให้ แต่วันหน้าพี่ก็ช่วยไม่ได้เสมอไป”

ส่งเสียงคำรามขู่กันในทีก่อนจะสำทับอีกว่า

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ขัดประมวลจริยธรรมของข้าราชการและนักการเมือง แต่ยังเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 เพราะ พล.ต.ท.คำรณวิทย์เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ต้องจับกุมผู้ต้องหาที่หลบหนีคดี มีหมายจับ โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ แต่นอกจากไม่จับแล้วยังให้ผู้ต้องหาหนีคดีประดับยศให้อีก

ไม่พ้นยกมาตรา 157 ขึ้นมาขู่

ทั้งที่ขู่จนเจ็บคอ เสียงแห้งมาหลายปี ก็เห็นมีคนระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี บินไปพบอดีตนายกฯจนหัวบันไดไม่แห้ง แต่ก็เอาผิดใครไม่ได้สักคน

งานนี้จะส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับช่วงต่อสอบเอาผิด

คดีแบบนี้น่าจะเข้าไปกองอยู่ใน ป.ป.ช. เป็นเข่งๆ หากเอาผิดได้คงติดคุกกันระนาวไปแล้ว เพราะใครก็รู้ว่า ป.ป.ช. กับ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นปลาคนละน้ำ หากมีช่องฟันลูกข่ายนายใหญ่ได้มีหรือจะไม่ฟัน

คนขู่ก็ขู่ไป คนถูกขู่กลัวซะที่ไหน

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ชี้แจงตรงไปตรงมาว่า “ผมรักเคารพใครก็นำภาพคนนั้นมาติดไว้ มันจะเดือดร้อนอะไรกันนักหนา...ผมติดไว้เพื่อเตือนสติตัวเองเท่านั้น...ผมไม่เคยเนรคุณคน”

พร้อมประกาศดังๆให้ได้รู้กันทั่วไปว่า

“ถ้าการเมืองเปลี่ยนขั้วขอออกทันที ไม่ต้องรอให้ใครมาย้าย”

นับเป็นลูกผู้ชายตัวจริง เพราะยอมรับความจริงว่า “มากับการเมืองก็ต้องไปพร้อมกับการเมือง”

ไม่ใช่เป็นใหญ่เพราะขั้วนี้ แต่พออีกขั้วเข้ามาปรับย้ายให้ทำงานอื่นก็โวยวายว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไล่ฟ้องศาลปกครองเพื่อรักษาเก้าอี้

เรื่องนี้เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในสังคมอินเทอร์เน็ต ฝ่ายแดงชื่นชม ฝ่ายเหลืองฝ่ายฟ้ารุมด่า แต่ก็คงเป็นประเด็นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็เงียบไปเหมือนหลายกรณีที่ผ่านมา

มีใครไปพบอดีตนายกฯทักษิณ หรือเปิดตัวเป็นเด็กในอุปถัมภ์ของอดีตนายกฯอีก ก็จะถูกจุดเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่

เลี้ยงกระแสเอาไว้ อย่างน้อยก็ใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตัวเองได้ว่า คดีความหรือความผิดอะไรที่เกิดจากการกระทำในอดีตของฝ่ายตัวเองถูกดำเนินการอย่างไม่ชอบธรรม ไม่ตรงไปตรงมา ถูกกลั่นแกล้งจากเด็กในคาถาของทักษิณ

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สมคิด.ชี้คอร์รัปชั่นพุ่ง เหตุผู้นำไม่เอาจริง..!!?

ดร.สมคิด" ชี้คอร์รัปชั่นในไทยยังสูงเหตุผู้นำไม่เอาจริง ภาคประชาชนไม่เข้มแข็ง จี้รัฐเปิดข้อมูลการใช้งบประมาณและการประมูลงานต่างๆ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บรรยายพิเศษเรื่อง “รวมพลังงานผลักดันการต่อต้านคอร์รัปชั่น ให้เป็นวาระแห่งชาติ” ภายในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น :รวมพลังเปลี่ยนประเทศไทย”ว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเรื้อรังและสะสมมานาน ทั้งที่เครื่องมือในการปราบปรามของประเทศไทยก็มีอยู่พอสมควร

แต่ปัญหาคอร์รัปชั่นก็ยังแบ่งบานและกำจัดออกไปไม่ได้ ซึ่งต่างจากสิงคโปร์ที่กลายเป็น 1 ใน5 ประเทศของโลกที่ไม่มีการคอร์รัปชั่น เพราะไทยยังขาดความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของผู้นำประเทศ และภาคประชาชนไม่เข้มแข็งพอ

โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังไม่สามารถปิดกั้นการไต่เต้าของนักการเมืองที่โตมาจากระบบสินบน เพราะทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นทำไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากเป็นการปะหน้าก็เจอจมูก ทำให้ไม่กล้าฆ่าห่านทองคำ ซึ่งทำให้ตอนนี้คนไทยเริ่มเห็นเรื่องการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติและเริ่มกระจายไปทั่ว ดังที่ผลการสำรวจออกมาพบว่า ส่วนใหญ่46%ยอมรับได้หากเกิดการคอร์รัปชั่นแล้วตัวเองจะได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งผู้ที่ตอบนี้ส่วนใหญ่ 70%เป็นเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งหากปล่อยไว้แบบนี้จะกลืนกินความดีและจริยธรรมในสังคมไป

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจถือเป็นข้อต่อสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะถ้าภาคธุรกิจไม่ยอมจ่ายเงินสินบน การคอร์รัปชั่นก็ไม่เกิด ขณะเดียวกันการคอร์รัปชั่นก็ไม่สามารถขจัดออกไปได้หมด เพราะต้องยอมรับว่าภาคประชาชนของไทยยังอ่อนแอ ดังนั้นภาคธุรกิจจึงเป็นข้อต่อในการประสานกันเพื่อต่อต้านการเกิดคอร์รัปชั่นด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นต้องเริ่มจากตัวเองด้วยคำว่า ไม่ ไม่เริ่มต้น ไม่ลอง แม้ว่ามันจะเย้ายวนมากขนาดไหนก็ตาม เพราะลองเข้าไปแล้วจะเสพย์ติดจนเส้นแบ่งระหว่างความดีกับความชั่วขาดไป และในภาคธุรกิจเองก็ต้องไปสำรวจธุรกิจตัวเองดูว่ามีต้นทุนในส่วนของการคอร์รัปชั่นมากน้อยแค่ไหนแล้วนำตัวเลขนั้นมาเปิดเผยให้ชาวบ้านได้รับทราบ เพื่อจะได้เข้าใจและเห็นความจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งองค์การที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบจะต้องเปลี่ยนแปลงจากเสือกระดาษให้เป็นเสือลายพาดกลอนให้ได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

Ownership Thinking : วิถีแห่งความร่ำรวยของพนักงานกินเงินเดือน ในศตวรรษที่ 21

ลูกจ้าง (Employee)” นับเป็นถ้อยคำที่แสนปวดร้าวสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งรู้ดีว่าทำงานหนักแทบตายเพียงใด ก็ไม่มีวันร่ำรวยเท่ากับนักธุรกิจที่เป็นเจ้าของกิจการ

ที่น่าเศร้าก็คือ ลูกจ้างในศตวรรษที่ 21 กลับไม่รู้เลยว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้วด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ลูกจ้างและคนธรรมดาทั่วไปสามารถร่วมแบ่งปันผลกำไรจากบริษัทที่มั่งคั่งทั้งหลายบนโลกใบนี้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงสร้างมันขึ้นมาด้วยตนเอง

นั่นคือ การลงทุนเลือกซื้อหุ้นซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทที่เราคิดว่ามีอนาคตไกล แล้วเมื่อบริษัทมีผลกำไรเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ เราก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งในส่วนของเงินปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นประดุจดั่งเจ้าของบริษัทคนหนึ่งเลยทีเดียว

1. ความรู้แบบผิวเผิน เป็นอุปสรรคขัดขวางลูกจ้างจากความร่ำรวยของการเป็นเจ้าของธุรกิจ

ตลาดหุ้นในศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนสามารถร่วมเป็นเจ้าของบริษัทได้ดีกว่าในอดีต

เริ่มตั้งแต่ปริมาณและความหลากหลายของธุรกิจที่เข้ามาจดทะเบียนซื้อขาย ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ไปจนกระทั่งถึงธรรมาภิบาลที่มีการตรวจสอบดูแลได้ดีกว่าเดิม ก็ทำให้ช่องว่างของผลประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นเดิมที่เป็นผู้ก่อตั้งกิจการและผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่พึ่งเข้าสู่ตลาด เริ่มมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น

ยิ่งกว่านั้น สภาพคล่องของหุ้นทั้งในเชิงการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือแปลงเป็นเงินสดก็มีความสะดวกรวดเร็วกว่าเดิม จึงทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจและยินดีเข้าสู่ตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ข่าวสารเกี่ยวกับหุ้น สภาพธุรกิจ และแนวโน้มเศรษฐกิจการเมือง ได้มีการเผยแพร่และวิเคราะห์กันอย่างมากมาย ทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตัดสินใจลงทุน

คุณค่าของตลาดหุ้นในการเป็นทางเลือกหนึ่งของลูกจ้างกินเงินเดือน ที่จะได้รับประโยชน์จากการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ตนเองไม่ได้สร้างขึ้นมา ก็กลับถูกบดบังโดยการเก็งกำไรระยะสั้นและความผันผวนของราคาซื้อขาย ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่เริ่มต้นเข้าสู่ตลาดหุ้นเพราะหวังจะเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจที่ตนเองเลือกซื้อ จึงเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองไปสู่การเก็งกำไรโดยไม่รู้ตัว เพราะทนไม่ได้กับความเย้ายวนของราคาที่ผันผวนขึ้นลงในระยะสั้น

ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าก็คือ ลูกจ้างกินเงินเดือนที่ทุ่มเทนำเงินเก็บออมทั้งชีวิตของตนเองไปเลือกซื้อหุ้นที่คิดว่าดีและอยากฝากอนาคตไว้ โดยไม่เข้าใจกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างถ่องแท้ว่ากิจการใดที่สวยหรูแต่ภาพลักษณ์หากไม่สามารถสร้างผลกำไรได้คุ้มกับต้นทุนที่จ่ายไป ไม่หยั่งเห็นถึงกิจการที่เรียบง่ายธรรมดาหากสามารถสร้างผลกำไรเติบโตได้มหาศาล ก็อาจหลงผิดไปเลือกหุ้นที่พ่ายแพ้ได้ ในที่สุด แม้จะอดทนไม่ซื้อขายหุ้นแบบเก็งกำไรระยะสั้น ก็ต้องเสียใจกับผลประกอบการในระยะยาวของกิจการที่ตนเองเลือกลงทุนไว้

คุณสมบัติของนักลงทุนที่ดีจึงไม่ใช่แต่เพียงความมั่นใจที่จะไม่สนใจกับความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้นเท่านั้น หากยังต้องมีการลงทุนด้านความรู้และวิธีคิดแบบเจ้าของกิจการ (Ownership Thinking) ที่จะมองให้ออกว่า บริษัทใดจะมีการเติบโตของกำไรในระยะ 10 ปีข้างหน้าได้เหนือกว่าคู่แข่ง

นักลงทุนที่เป็นลูกจ้างมาชั่วชีวิต ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลาออกมาสร้างกิจการเพื่อจะได้รู้ว่าธุรกิจที่ดีเป็นอย่างไร หากทว่าอาจจะเริ่มจากองค์กรของตัวเอง โดยการพิจารณาว่ารายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมีที่มาที่ไปอย่างไร ผลกำไรต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงกว่าหรือด้อยกว่าคู่แข่งอย่างไร และบริษัทจะสามารถลดต้นทุนได้มากกว่านี้หรือไม่อย่างไร

ยิ่งกว่านั้น ความรู้และทฤษฎีซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากประสบการณ์จริง ก็อาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็น Buffett, Peter Lynch, Philip Fisher หรือแม้กระทั่ง Soros ทั้งหมดนี้แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นประสบการณ์ของตลาดหุ้นอเมริกา แต่ก็เป็นองค์ความรู้ที่มีความเป็นสากลในระดับหนึ่ง ในการนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

ถ้าวิเคราะห์ได้ว่าบริษัทของเรามีผลกำไรที่ดีและมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เราก็อาจนำเงินออมมาลงทุนในบริษัทนี้ไปด้วย แทนที่จะได้รับแต่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว เราก็จะได้ส่วนแบ่งจากเงินปันผลหรือการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ต้องจมปลักแต่เพียงหุ้นของบริษัทเราเท่านั้น เพราะแม้ว่าบริษัทจะแข็งแกร่งและสร้างผลกำไรได้ดี แต่ก็ยังมีหุ้นในอุตสาหกรรมอื่นอีกจำนวนมากที่อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

นี่อาจเป็นความได้เปรียบประการหนึ่งของลูกจ้างกินเงินเดือนที่ไม่ได้มีความผูกผันและผูกมัดกับบริษัทมากเท่ากับเจ้าของกิจการผู้ก่อตั้ง จึงทำให้มีความอิสระในการโยกย้ายเงินออมของตัวเองไปยังสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าได้ โดยไม่ติดในกรอบคิดแบบเดิม

โอกาสของศตวรรษที่ 21 คือ ยุคสมัยของลูกจ้างกินเงินเดือน ที่จะสามารถร่ำรวยได้เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจที่สร้างตนเองขึ้นมาด้วยสองมือ แต่ในโลกนี้ก็ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ลูกจ้างกินเงินเดือนจึงไม่ใช่เพียงแค่นำเงินออมมาลงทุนซื้อหุ้นเท่านั้น หากยังต้องลงทุนความรู้และวิธีคิดแบบเจ้าของกิจการ เพื่อจะได้สามารถค้นพบได้ว่าบริษัทไหนจะสร้างผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นได้สูงที่สุดในระยะ 10 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของธุรกิจควบคู่ไปด้วย

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อนักลงทุนค้นพบหุ้นหรือบริษัทที่ยิ่งใหญ่แล้ว ก็ต้องกล้าจะเข้าไปซื้อในราคาที่เหมาะสม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นราคาที่ถูกที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องอดทนต่อความเย้ายวนของราคาที่เคลื่อนไหวขึ้นลงทุกวัน ให้ได้

ความรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งแบบเจ้าของกิจการจะทำให้นักลงทุนมีความหนักแน่นในการถือครองหุ้นที่ล้ำเลิศ โดยไม่ปล่อยขายไปเพียงเพราะได้กำไรแค่ 5-10 เปอร์เซนต์ แล้วเปลี่ยนไปถือครองหุ้นตัวใหม่ที่มีราคาถูกกว่า แต่พื้นฐานกิจการในอนาคตไม่โดดเด่นเทียบเท่าได้เลย

2. คิดแบบเจ้าของกิจการ (Ownership Thinking) เพิ่มโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงขึ้น

บริษัทที่ดีและมีอนาคตยาวไกลย่อมจะเลือกเฟ้นพนักงานที่คิดเหมือนเจ้าของกิจการไว้เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของบริษัท โดยเฉพาะในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งคนเก่งที่มีค่าขององค์กรเพียง 1 คนสามารถสร้างผลตอบแทนได้เท่ากับพนักงานธรรมดา 1000 คน

พนักงานที่คิดเหมือนเจ้าของกิจการ จะมีความเข้าใจภาพรวมและโครงสร้างผลกำไรขององค์กร ดังนั้น จึงมีความฉลาดในการจัดสรรทรัพยากรของตัวเองให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ บางทีการทุ่มเทให้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีเลิศมากเกินไปก็อาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะทำให้บริษัทมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ในขณะเดียวกันระยะเวลาที่ประหยัดได้จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็อาจนำไปทุ่มให้กับการเอาอกเอาใจลูกค้าหรือการจัดส่งสินค้าให้ทันตามกำหนดเวลา หรือแม้กระทั่งการคิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มีความแปลกแหวกแนวกว่าเดิมและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

ดังนั้น การพัฒนาตัวเองจากลูกจ้างที่กินเงินเดือนไปวันต่อวันมาเป็นลูกจ้างที่คิดเหมือนเจ้าของกิจการ (Ownership Employer) ก็ย่อมสร้างผลงานและผลกำไรให้กับบริษัทจนกระทั่งเป็นที่สะดุดตาของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งย่อมนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงขึ้นตามมาด้วย

ถ้าสิ่งที่เรามุ่งมั่นกระทำเพื่อบริษัทอย่างถวายชีวิตนี้ไม่มีใครเห็นคุณค่า ก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าเป็นเพราะสาเหตุใด บางทีอาจเนื่องจากวิธีคิดแบบเจ้าของกิจการ (Ownership Thinking) มีความผิดพลาด ไม่สามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัทอย่างที่เรานึกฝันไว้ ก็ต้องหันมาปรับปรุงแนวทางการทำงานให้ถูกต้องและละเอียดอ่อนกว่าเดิม

ในทางตรงข้าม ถ้าสิ่งที่เรากระทำมีคุณค่าผลกำไรต่อบริษัทอย่างแท้จริงและพิสูจน์ชัดได้ เราก็ควรพิจารณาต่อไปว่าจะอยู่ในบริษัทที่ไม่เห็นคุณค่าของคนเก่งนี้หรือไม่ เพราะแม้เราจะไม่ถือสาเรื่องผลตอบแทนส่วนตัว แต่ก็ควรจะคาดการณ์ได้ว่าบริษัทเช่นนี้ย่อมไม่มีอนาคตที่ยาวไกลอย่างแน่นอน ไม่ควรค่าต่อการฝากชีวิตและหน้าที่การงานไว้

3. คิดแบบเจ้าของ แต่ไม่ยึดติดในความเป็นเจ้าของ

ข้อได้เปรียบหนึ่งของนักลงทุนที่มีมากกว่าผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกิจการมากับสองมือ ก็คือ การไม่ยึดติดในความเป็นเจ้าของ จนกระทั่งไม่สามารถขายหุ้นทิ้งไปได้ แม้ว่ากิจการของบริษัทไม่ได้รุ่งเรืองฟู่ฟ่าเหมือนในอดีตอีกต่อไป

ศตวรรษที่ 21 นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้นมหาศาล ไม่ต้องยอมรับการผูกขาดโดยบริษัทเพียงหยิบมืออีกต่อไป หากบริษัทหนึ่งไม่สามารถหรือไม่ยินดีตอบสนองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น นักลงทุนก็สามารถย้ายเงินไปที่หุ้นตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าได้โดยไม่ต้องลังเลเสียดาย

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นที่รวดเร็วขึ้น แม้ว่าจะทำให้นักลงทุนไม่ต้องยึดติดกับความเป็นเจ้าของเหมือนในอดีตที่มีหุ้นให้เลือกไม่กี่ตัว แต่ก็กลับทำให้นักลงทุนรายย่อยเผลอตัวเข้าสู่หลุมพรางใหม่ นั่นคือ การเล่นหุ้นแบบรายวัน (Day Trade) หรือการเล่นหุ้นตามข่าวลือ จนกระทั่งต้องตกเป็นเหยื่อของนักเก็งกำไรรายใหญ่หน้าเลือดในที่สุด

พนักงานกินเงินเดือนที่ปรารถนาความสำเร็จในการลงทุน จึงต้องยิ่งแสวงหาแนวคิดการลงทุนที่ถูกต้อง นั่นคือ การคิดเหมือนเจ้าของกิจการ แต่ไม่ยึดติดในความเป็นเจ้าของ เพื่อเป็นหลักคุ้มกันตัวเองไม่ให้หลงไปกับกระแสการเก็งกำไรในระยะสั้นที่คอยยั่วเย้านักลงทุนแมงเม่าอยู่ทุกวัน

ความอดทนของนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับบริษัทระดับกลางที่มีอนาคตยาวไกล (Growth Stock) โดยมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าเพื่อหาบริษัทที่ดีที่สุด ในราคาที่เหมาะสม แล้วยินดีลงทุนเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน 3-5 ปี เพื่อให้ดอกผลที่เพาะปลูกไว้ได้งอกงาม ในที่สุดแล้วย่อมทำให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นเพียงลูกจ้างกินเงินเดือน สามารถบรรลุความฝันของความมั่งคั่งร่ำรวยจากการเป็นเจ้าของกิจการได้

ขณะเดียวกัน เมื่อหุ้นเติบโตเร็วที่มีอนาคตไกล (Growth Stock) ให้ดอกผลงดงามจนกระทั่งกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มั่นคงอิ่มตัว (Blue Chip) ก็อาจถึงเวลาที่นักลงทุนจะต้องละทิ้งความผูกพันในกิจการ เพื่อออกแสวงหาหุ้นเติบโตเร็วตัวใหม่ที่จะให้ดอกผลในอีก 3-5 ปีข้างหน้าต่อไป

เพราะในที่สุดแล้วหุ้นตัวใหญ่ที่มั่นคง แม้ว่าจะให้ความอุ่นใจกับนักลงทุน แต่ก็ไม่ให้ความเติบโตได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับหุ้นขนาดกลางที่มีอนาคตไกลอีกต่อไป ยิ่งกว่านั้น บริษัทขนาดใหญ่ก็ย่อมมีคู่แข่งทั้งรายเล็กและรายใหญ่เข้ามารุมทึ้งแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไป ในขณะที่โอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติมก็เริ่มเผชิญกับขีดจำกัดและจุดอิ่มตัว ซึ่งถ้าหากรับมือได้ไม่ดี บริษัทใหญ่ที่ดูเสมือนมั่งคงก็อาจประสบภาวะถดถอยและสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนได้

นี่คือ โอกาสยิ่งใหญ่ของพนักงานกินเงินเดือนที่จะเติบโตไปพร้อมกับระบบทุนนิยม โดยอาศัยช่องทางของการเป็นนักลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพและอนาคตยาวไกล ทำให้ไม่ต้องคอยอดทนกับรายได้และค่าตอบแทนที่น้อยนิดในบริษัทของตนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

ผลตอบแทนจากการลงทุนปีละ 30 เปอร์เซนต์ พร้อมกับเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามอายุงานของพนักงานกินเงินเดือนคนหนึ่ง ก็อาจส่งผลให้เขาเป็นบุคคลที่มีรายได้มากกว่าเจ้าของกิจการ SME ที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทำงานเพื่อจะหาเงินทุนมาขยายกิจการให้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ต่อไป

“สติปัญญา” จึงเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดในศตวรรษที่ 21 เพราะในโลกที่เปิดกว้างเช่นนี้ ย่อมทำให้ผู้เก่งกล้าสามารถหยิบฉวยทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นเงินทองและความมั่งคั่งได้เหนือกว่าคนธรรมดา 1000 เท่า

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

อารยะขัดขืน : จากโผทหารสู่ พ.ร.บ.กลาโหม ภารกิจที่ไม่สะเด็ดน้ำ !!?

เป็นอาฟเตอร์ช็อก! เขย่ากันมาเป็นระลอกคลื่น สำหรับ “โผทหาร” ประจำฤดูโยกย้าย ที่ปีนี้ดูจะวุ่นวายเป็น พิเศษ โดยเฉพาะคิว “เรียกน้ำย่อย” ในศึกสายเลือด “ตท.10-11” ที่กำลังยื้อแย่ง เก้าอี้ “ปลัดกลาโหมคนใหม่” กันอย่างอีนุงตุงนัง

แม้ศึก “ภายในกองทัพ” หรือเหตุพิพาทกับ “คนการเมือง” จะไม่ดุเดือด ถึงขั้นลากเอารถถังออกมาปฏิวัติ แต่ก็มีอาการ “อารยะขัดขืน” กันอยู่ในทียิ่งคิวที่ “บิ๊กเปี๊ยก” พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ออกมาเล่นกับไฟด้วยการเปิดหน้าแลกหมัด “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กระทรวงกลาโหม ที่ขัดแย้งรุนแรงในเรื่องการตั้งปลัดกลาโหมคนใหม่ ซึ่ง “พล.อ.เสถียร” หวังจะผลักดันศิษย์ก้นกุฏิอย่าง “บิ๊กกี๋” พล.อ.ชาตรี ทัตติ ตท.14 เข้ามาสืบทอดอำนาจต่อ แต่นั่นเท่ากับไปหักหน้าเจ้ากระทรวงกลาโหม ที่ได้ล็อกตัวปลัดใหม่เอาไว้แล้ว หลังนำพา “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน “ตท.11” มาโชว์ตัวกับนายกฯ ปู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ “บิ๊กเล็ก” ได้ย้ายข้ามห้วยจาก “ผช.ผบ.ทบ.” เข้าไปเสียบเก้าอี้ “ปลัดกลาโหม”
เป็นเหตุให้นำไปสู่วิวาทะ “การเมือง ล้วงลูก” ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ “บิ๊กโอ๋” เกิดอาการระคายหูที่ถูกปลัด กห.ตบหน้าอย่าง แรง กระทั่งมีคำสั่งเด้งฟ้าผ่า “พล.อ. เสถียร” ไปล่อเป้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะเกษียณอายุราชการในอีกไม่วันข้างหน้า

ปัญหาการเมืองงัดข้อคนในกองทัพ ได้ถูกฝ่ายค้านเติม “เชื้อไฟ” ให้กับมวยคู่เปิดรายการ โดยผู้นำฝ่ายค้าน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้ออกมา “โหนกระแส” ซัดไปว่า “การเมืองล้วงลูก” ทว่านั่นเป็นแค่ “ไฟการเมือง” ที่ถูกโหมขึ้นมาเพียงวูบเดียว แต่ไร้ซึ่ง “เชื้อ” ที่จะทำให้ “ติดไฟ” แม้กระทั่ง พล.อ.เสถียร ยังไม่ติดใจกับการ ถูก “ฟ้าผ่าเก้าอี้” ทั้งที่เคยมีวิวาทะกันอย่างรุนแรง ยิ่งมีข่าวลือสะพัดกลาโหมว่า เหตุที่ยอมถอยเป็นเพราะ...โดนจี้จุดอ่อน! ซึ่งอาจทำให้ภาพของ พล.อ.เสถียร แปดเปื้อน

เพราะขณะกำลังประกาศว่าที่ทำอยู่ ทุกวันนี้ก็เพื่อปกป้อง “กระทรวงกลาโหม” จากการถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง และต้องการผลักดันคนในมากกว่าคนนอก แต่ ความจริงแล้ว “พล.อ.เสถียร” ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งปลัดกลาโหม ด้วย “ช่องทางพิเศษ” ซึ่งได้มีเหตุแห่งวิพากษ์ว่า...ข้ามหัวคนอื่นขึ้นมาใหญ่ ไม่ใช่เติบโตมาตามระบบ ขั้นตอนแต่อย่างใด ฉะนั้นจึงน่าสนใจว่า พล.อ.เสถียร มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาระบบ ของกลาโหม หรือมีเบื้องลึกเบื้องหลังมาก ไปกว่านี้

ถึงตรงนี้แล้ว คงได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า เหตุใด “พล.อ.เสถียร” ต้องออกมาขวางลำตั้งปลัดใหม่ ทั้งๆ ที่ “นายกฯ ปู” ทั้งผลักทั้งดันขึ้นเก้าอี้ตัวนี้มากับมือ และยังไม่ เคยล้วงลูกการทำงานแม่แต่น้อย ทั้งที่เก้าอี้ ตัวนี้สามารถไปนั่งควบในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ใหญ่ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าและหาผลประโยชน์ได้อย่างมากมายจะกี่มากน้อย “อดีตนายกฯ ทักษิณ” ก็ถึงกับส่ง “ราศี บัวเลิศ” เจ้าแม่วงการค้าอาวุธ เข้ามาจัดการเรื่องผลประโยชน์ และสอดประสานการทำงานร่วมกับ “ปลัดกลาโหม”

ด้วยเหตุนี้เอง แม้ “พล.อ.ทนงศักดิ์” จะเป็นเตรียมทหารรุ่น 11 เช่นเดียวกัน แต่ หากปล่อยให้เพื่อนข้ามห้วย ข้ามไลน์มา ก็คงไม่เข้าขาเหมือนรุ่นน้องคนกันเองอย่าง “พล.อ.ชาตรี ทัตติ” รองปลัดกลาโหม เตรียมทหารรุ่น 14 ซึ่งมีข้อได้เปรียบ ที่ แม้จะเป็นรุ่นน้องแต่ครองอัตราจอมพล เนื่องจากนั่งแท่นบนเก้าอี้รองปลัดกลาโหมว่ากันในเรื่องเฉดสี แม้ทั้ง “พล.อ. เสถียร” และ “พล.อ.ชาตรี” จะเป็นสเปก “นายพลแตงโม” เช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่คนใกล้ชิดของ “พล.อ.เสถียร” เป็นแดงต่างขั้วและคนละสายกับ “พล.อ. ชาตรี” มันจึงบังเกิดเกมการประลองกำลังกันเองของเหล่าทัพแตงโม ประจวบเหมาะกับความสัมพันธ์ที่เริ่มก่อเกิดขึ้น ระหว่างคนที่ถูกส่งมาดูแลการบริหารจัดการผลประโยชน์อย่าง “ราศี บัวเลิศ” กับผู้ถูกควบคุมดูแลอย่าง “พล.อ. เสถียร” ก่อนที่หลายสิ่งหลายอย่างจะถูกจูน จนมีเคมีตรงกันได้
จากเดิมที่เข้าตรวจสอบ ณ ปัจจุบัน จึงพัฒนากลายเป็นเนื้อเดียวกัน..! และที่สำคัญ “ราศี” เป็นประเภทท่อร้อยสายพันคอนเน็กชั่น และหนึ่งในคอนเน็กชั่นสำคัญ คือเป็นไลน์เดียวกันกับ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และเหมือนกันตรงที่ “พล.อ. ชาตรี” เป็นนายพลสาย “บิ๊กจิ๋ว” ด้วยเช่นกัน ทั้งหมดทั้งปวง หนุนนำให้ “พล.อ. ชาตรี” ได้แบ็กอัพชั้นดีเป็นสตรีที่เข้าถึงตัว “อดีตนายกฯ ทักษิณ” ได้อย่างง่ายดาย ตรงนี้จึงกลายเป็น “ธุระ” ของ “ราศี บัวเลิศ” ที่เป็นฝ่ายล็อบบี้ให้ “นายใหญ่” ต้องออกแรงงัดข้ออีกรอบกับ “น้องเลิฟ” ด้วยการเข้ามาถือหาง “พล.อ.ชาตรี” ในทางพฤตินัย

แม้วันนี้ “โผทหาร” จะนิ่งแล้วนิ่งอีก และวางคาอยู่ที่สภากลาโหมแล้ว แต่เงื่อนงำแห่งเรื่องราวต่างๆ ก็ยังไม่สามารถ พูดคุยกันได้ สืบเนื่องจากปัญหายังติดที่เก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งก็คงจะทราบผลกันแล้ว สำหรับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่จะได้ “ตัวตายตัวแทน” เข้ามาครองตำแหน่งปลัดคนใหม่

ขณะเดียวกัน ในเรื่องการ “ล็อกโผ” ตั้งปลัดกลาโหมคนใหม่ ยังทำให้เกิดรอยร้าวในสายสัมพันธ์ระหว่าง “พ.ต.ท.ทักษิณ- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน พลันให้โฟกัสไปยัง “โผทหาร” ที่จวนจะคลอดเต็มที เมื่อกองทัพกับรัฐบาล วันนี้ดูจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ดูได้จากคอนเน็กชั่นระหว่าง “นายกฯ ปู” กับจ่าฝูงกองทัพบกอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เรียกได้ว่ากลมเกลียวกันถึงขั้นน่าเชื่อได้ว่า “กองทัพ” ไม่มีทางจะลากรถถังออกมาปฏิวัติ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เป็นแน่... นั่นเท่ากับว่า “บูรพาพยัคฆ์” จะ ได้รับอาณัติในการจัดโผโยกย้ายกองทัพไปเสียส่วนใหญ่

ทว่า...คงยกเว้นเฉพาะเก้าอี้ “ปลัดกลาโหม” ที่ดูจะเป็นปัญหาบานปลาย แม้ว่า “นายกฯ ปู” กับ “บิ๊กตู่” ได้ประสานมือผลักดัน แต่ก็ยังไร้ซึ่งวี่แววที่จะตกผลึก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “บิ๊กตู่” ได้จูงมือ “บิ๊กโอ๋” เข้าพบ “นายกฯ ปู” ซึ่งว่ากันว่าการเข้าพบปะพูดคุยกันรอบนั้น เป็นการเจรจาต่อรองเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหมให้กับ “พล.อ.ทนงศักดิ์”

ซึ่งผลการเจรจาเป็นไปอย่าง “วิน วิน” ...ทั้ง “นายกฯ ปู”...“บิ๊กตู่” ...“บิ๊กโอ๋” ที่ประสานเสียงให้ “พล.อ.ทนงศักดิ์” ขึ้นแท่นปลัดกระทรวงกลาโหม กระนั้นแม้จะเข้าจังหวะพร้อมกัน ชนิดคีย์ไม่เพี้ยน แต่สิทธิ์ขาดทั้งหมดกลับไปขึ้นกับ “สภากลาโหม” ที่ได้ตรากฎหมายไว้ชัดใน “รัฐบาลขิงแก่” ให้การแต่งตั้งโยกย้ายระดับ “ผบ.เหล่าทัพ”และ “ปลัดกลาโหม” ต้องผ่านมติสภากลาโหมเท่านั้น

ส่งผลให้วงประชุม “พรรคเพื่อไทย” ในช่วงปลายเดือนกันยายน จะมีการหยิบ ยกประเด็น “ยื่นแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551” หรือ “พ.ร.บ.สภากลาโหม” ขึ้นมาปัดฝุ่นกันใหม่ แน่นอนว่า “พรรคเพื่อไทย” ที่มีเสียงในสภาฯ เต็มอัตราศึกที่ 265 ที่นั่ง เกิน กว่าครึ่งทำให้การเสนอ “แก้ พ.ร.บ. กลาโหม” คงไม่ใช่เรื่องยาก แค่ให้ ครม.ยื่นเรื่องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หรือให้ ส.ส.เข้าชื่อขอแก้ไขเพียง 20 คน ก็ถือว่าเข้าขั้นตอนแล้ว

สำหรับ “พ.ร.บ.สภากลาโหม” ก่อกำเนิดขึ้นสมัยรัฐบาล “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ยึดอำนาจล้มล้าง “ระบอบทักษิณ” จนพังครืน ขณะนั้น “พล.อ.บุญรอด สมทัต” รมว.กระทรวงกลาโหม ได้ยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อให้เป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ไว้ป้องกันกองทัพ ไม่ให้มีการเมืองแทรกแซงปรากฏว่า ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยเสียง ข้างมากในเวลาอันรวดเร็ว 3 วาระรวด แต่ระหว่างนั้นเกิดคาบเกี่ยว มีการเลือกตั้ง ใหญ่ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ขึ้นเสียก่อน “พ.ร.บ.สภากลาโหม” เลยมามีผลบังคับใช้เอาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 ในสมัยรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” ยุคที่พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

“พ.ร.บ.สภากลาโหม” มีกรอบจำกัดอยู่หลายประเด็น แต่ที่เป็น “กำแพง” ไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง คือ “มาตรา 25” ว่าด้วยแต่งตั้งนายทหารระดับชั้นยศ “นายพล” ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการ 7 คน ที่มาจากตำแหน่งหลัก ประกอบด้วย รมว.กระทรวงกลาโหม-รมช.กระทรวงกลาโหม-ปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการสี่เหล่าทัพ “บก-เรือ-อากาศ-บก.สูงสุด” ทว่าในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีเพียง รมว. กระทรวงกลาโหมคนเดียว ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย เท่ากับว่าคณะกรรมการเหลือเพียง 6 คน สัดส่วนจึงค่อนข้างเหลื่อม ล้ำ กินขาดระหว่าง 5 ต่อ 1 ...“รมว. กระทรวงกลาโหม” จึงแทบจะไร้ซึ่งอำนาจ ที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโผโยกย้ายในกองทัพ

“ฝ่ายการเมือง” นำทีมโดย “เพื่อไทย” จึงได้เล็งขับเคลื่อน “แก้ไข พ.ร.บ. สภากลาโหม” ให้กลับคืนสู่มิติเดิม เพื่อให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือกองทัพ!!

ยิ่งก่อนหน้านี้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ได้มีความพยายามที่จะเข้าไปแก้ไข “พ.ร.บ. สภากลาโหม” มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็เต็มไปด้วยเสียงคัดค้านของคนในกองทัพ และที่ค้านหัวชนฝา ก็คือ “พล.อ.ประยุทธ์” โดยมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขานรับเป็น ทอดๆ แต่ก็ไม่ได้เดินหน้าค้านเต็มตัว เพราะถ้าออกนอกหน้าเกินไป เกรงว่าจะถูกข้อครหาว่ารับใช้อำนาจทหาร “ประชาธิปัตย์” เลยแค่ “ค้านแก้เกี้ยว” เท่านั้นเอง

เมื่อถึงเวลาอันสุกงอม ศึกแก้ “พ.ร.บ. สภากลาโหม” ก็ถูกโหมโรงขึ้นมาอีกครั้ง โดยเชื่อว่า “พรรคเพื่อไทย” คงไม่ยุติลงโดยง่าย เพราะรัฐบาลยังกุมความได้เปรียบ ในสภาฯ ถึงแม้ “กฎหมายร้อน” ฉบับนี้จะแก้ได้ไม่ยากนัก ทว่าคงแลกมาด้วย “ความ เสี่ยง” ที่ทหารจะเอารถถังออกมาปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล...ที่สุดคงต้องวัดใจ “นายใหญ่-นายหญิง” ว่าจะยอมหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพื่อแลกกับ “ผลประโยชน์เชิงอำนาจ” ในสภากลาโหมหรือไม่ เพราะมี “ปัจจัยซ้อนทับ” ที่นำไปสู่การเปลี่ยนตัว “ผบ.เหล่าทัพ” และ “ปลัดกระทรวงกลาโหม” ที่ไม่ตรงสเปก...ได้ง่ายดายเหมือนพลิกฝ่ามือ?!!

ที่มา:สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้าวนอกนา !!?

โปรดฟังอีกครั้ง “ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รมช.คมนาคม หลายฝ่ายเกิดเอือมระอา
“บิ๊กจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รมว.คมนาคม เป็น สุภาพบุรุษการเมือง... “บิ๊กชัช” พล.ต.ท.ชัช กุลดิลก รมช.คมนาคม เป็นพวก “คนใจนักเลง”
จะสั่งการอะไร “อย่าให้ข้ามหน้าที่”..ยิ่งข้ามกระทรวงไปยุ่ง กับ “บิ๊กโต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ จะทำเอา “ดรีมทีม คมนาคม” พากันเจ๊ง
ท่านไม่ใช่เนื้อแท้ แฟนพันธุ์แท้ “คนเสื้อแดง” แต่มาด้วยพลัง “แลนด์แอนด์เฮ้าส์” ที่หนุน ให้ท่านซึ่งมาจาก “บริษัททรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”..อีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ได้สนิทชิดเชื้อกับ “ท่านนายกฯปู”
ขอให้ทำงานอยู่ในสเป็ค.. โปรดเถิดอย่าทำอะไรกระโดกกระเดก..เดี๋ยวพากันเจ๊กอั๊กทั้งทีม ท่านน่าจะรู้

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ใช้ “อำนาจ” สั่งเชือดคอ
แต่ทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส กรรมการที่ตั้งมา “สั่งให้พ้นผิด”..ได้แต่เห็นใจ “ธนวัฒน์ วันสม” อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท.
ถูกตั้ง ๔ ข้อหาฉกรรจ์ จาก “รัฐบาลประชาธิปัตย์”..แต่เมื่อคำพิพากษาจาก คณะกรรมการว่า “เขาบริสุทธิ์” น่าจะคืนความเป็นธรรม ให้เขาเสร็จสรรพ
เป็นคนหนุ่ม วัย ๓๗ - ๓๘ ปี ที่มีผลงานเยี่ยมยอด เคยผ่านงาน “สตาร์ทีวี” ชื่อชั้นเกรดดีอันดับหนึ่งแห่งภาคพื้นเอเชีย กินเงินเดือน ต่อเดือน ล้านกว่าบาท..ผลด้วยงานล้วน ๆ จนคนยอมรับ
หลายคนมีความพากเพียร ชักชวน ให้ลง “สมัคร สจ. สรรหา” ..แต่ทว่า “ธนวัฒน์ วันสม” ยังมุ่งที่จะรับใช้ “อสมท.” ด้วยใจ อันสัตย์ซื่อ
เค้าเป็นคนที่ถูก ปชป.รังแก...เป็นเลือด อสมท.พันธุ์แท้...จะไม่ดูแลคนดีๆ เช่นนี้บ้างหรือ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

น้ำวันละหยด
ไหลแหมะ ยังเติมเต็ม จนท่วมโอ่งได้หมด
“ความสามัคคี” และ “ความปรองดอง” ในชาติไทย เพิ่มเติมเต็ม
สัมผัสได้ จาก“บุรุษแซ่เบ๊” วัฒนา อัศวเหม
และ สายของ “เจ้าพ่อประสาทสายฟ้า” นาวิน ชิดชอบ ต่างพากันไปเคลียร์นอกรอบ กับ “บุรุษแดนไกล” จนทุกอย่างพากันแฮปปี้
“เนวิน”กลับมา...ประชาธิปัตย์คงชาติหน้า...ถึงก้าวขาเป็นรัฐบาลอีกที

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โรงแรมระดับ ๕ ดาว
สร้างขึ้นมาอลังการ หรูหรากลางเมืองตรัง จนเป็นที่ฮือฮา กันอย่างเกรียวกราว
ลงทุนก่อสร้างทรัพย์สิน ไปมหาศาลบานบุรี
แต่ยังไม่เปิดบริการ รับใช้ประชาชน ในขณะนี้
ที่แน่ ๆ มีนักการเมืองใหญ่ “มีเอี่ยว” ร่วมลงทุนเสร็จสรรพ
นักการเมืองที่ “สร้างภาพดี”...เป็นนายทุนใหญ่ครั้งนี้...ที่ว่า “จนเต็มที่” เชื่อยากสิครับ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

“จินตนาการ” จนเว่อร์
มี “กลุ่มก่อการร้าย” มี “กองกำลังติดอาวุธ”..แต่ไม่เคยตามจับ หรือไล่ฆ่า ได้สักคนสิเธอ
“เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จะสร้างวาทะกรรม เช่นใดก็ทำได้
ที่แน่ๆ ท่าน “กบดาน” เป็นเหมือน “กบ” และ “เต่า” อยู่แต่ใน “ราบ ๑๑” สิเจ้านาย
สั่งการต่าง ๆ ไปตาม “รายงาน” ที่เข้ามาเท่านั้น...มิได้ “เห็นข้อเท็จจริง” ว่ามีกองกำลังติดอาวุธ..ที่พูดก็ไม่ได้เห็นกับสายตา
ไม่เคยโผล่พ้นราบ ๑๑...แล้วมาโชว์หลักฐานเด็ด..กลัวท่านจะเสร็จ เสียมากกว่า

ที่มา:คอลัมน์ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////