--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ท้าดวลคดี.สลายแดง VS ตัดตอนค้ายาขึ้นศาลโลก !!?

คดีดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่านโยบายการฆ่าตัดตอนถือว่าเข้าข่าย 2 ใน 4 ฐานความผิด ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับฟ้อง คือเป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม และภัยรุกราน กรณีนี้เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และภัยต่อมวลมนุษยชาติ จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง ผู้เสียหายสมควรได้รับการเยียวยา 7.75 ล้านบาททันที ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณ กว่าหมื่นล้านบาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เคย เอาเงินมาไถ่บาปกรณีรับจำนำลำไยให้พี่ชายมาแล้ว เรื่องนี้ก็ควรช่วยไถ่บาปเรื่องฆ่าตัดตอนให้พี่ชาย หาเงินมาดำเนินการเรื่องนี้ด้วย บาปหนาจะได้ลดลงบ้าง”

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 31 กรกฏาคมที่ผ่านมา หลังจากศาลอาญาชั้นต้นพิพากษาคดีความผิดต่อชีวิตที่อัยการฝ่ายพิเศษฟ้องตำรวจ 6 นายที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยตำรวจ 3 นายถูกตัดสินประหารชีวิต และที่เหลือให้จำคุก กรณีฆ่าอำพรางเด็กอายุ 17 ปี ที่สืบเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดและเกิดการฆ่าตัดตอนในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ที่กาฬสินธุ์มีผู้ถูกยิงทิ้งช่วงปี 2546-2548 ถึง 21 คน

คำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นหลักฐานชั้นดีที่ทำให้เห็นว่า 2,500 ศพในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณมีจริง ถือเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เข้าข่าย 2 ใน 4 ฐานความผิดที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับไว้พิจารณา ซึ่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือยื่นต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (Interna tional Criminal Court หรือ ICC) เพื่อเอาผิดผู้ที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการฆ่าตัดตอนไปแล้ว

นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังตั้งคณะทำ งานเพื่อรวบรวมคดีการฆ่าตัดตอน เฉพาะในภาคอีสานมีผู้เสียชีวิตถึง 1,440 ศพ ซึ่งทั้งหมดพิสูจน์แล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ดังนั้น ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการฆ่าตัดตอนสามารถเป็นโจทก์ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเอาผิดผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังได้ โดยจะใช้หลักฐานจากคดีที่ศาลตัดสินครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสืบหาว่ากระบวนการมาจากนโยบายฆ่าตัดตอนของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ และมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด

ยัน “ทักษิณ” เป็นผู้ก่อการร้าย

นายชวนนท์ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณและนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความแนวร่วมประชา ธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บิดเบือนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2553 เพราะข้อเท็จจริง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหมดและถูกตั้งข้อหาการก่อการร้าย จึงกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าหลบเลี่ยงการตรวจสอบ ทั้งที่นายอภิสิทธิ์ยืนยันพร้อมให้ตรวจสอบทุกขั้นตอนและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมา แต่ พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้างผิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศและอัยการได้รับทราบข้อมูลตรงนี้แล้ว จะทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นว่าใครที่อยู่เบื้องหลัง และใครพยายามจะล้างผิดโดยไม่มีกระบวนการสอบสวนตามกฎหมายในประเทศ

ขณะที่นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะนำคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติดฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศว่า ขณะนี้มีจำนวน 40 คดีที่อยู่ในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถือว่ายังมีความล่าช้ามาก ขณะที่อีก 8 คดีที่อยู่ในการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพิ่งจับคนผิดได้ 1 คดีคือ กรณีที่ตำรวจร่วมกันฆ่าตัดตอนเยาวชนอายุ 17 ปีที่กาฬสินธุ์

“กรณีนี้ถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าข่ายที่จะสามารถนำ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและคดีฆาตกรรมระดับสากลได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงสามารถนำเข้าสู่การพิ จารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้เหมือนกัน”

นายไกรศักดิ์กล่าวว่า วิธีการฟ้องร้องเอาผิดมีอยู่หลายช่องทาง อาทิ ศาลอาญาประเทศเยอรมนี ศาลกลางสหรัฐอเมริกา ก็สามารถรับฟ้องคดีเหล่านี้ได้หากเห็นว่าเป็นคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าประเทศใดในโลกก็สามารถเข้ามาคุ้มครองมนุษยชาติได้หากมีกลุ่มผู้ได้รับความเสียหาย และพยานสามารถดำเนินการยื่นฟ้องร้องได้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นหน่วยงานหรือบุคคลใดดำเนินการ ส่วนการจะนำไปยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในทางปฏิบัติแม้จะไม่มีผลผูกพัน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบันและรัฐสภายังไม่ได้รับรอง แต่การไปยื่นไว้ก่อนก็สามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานได้

“เหวง” ท้า ปชป. สู้ในศาลโลก

ในขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐ มนตรี ได้ถากถางพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่จะนำคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติดสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไปขึ้นศาลโลกว่า “เปลืองค่าเครื่องบิน”

เช่นเดียวกับนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่า ไม่รู้สึกหวั่นไหวแม้แต่น้อย เพราะรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยมีนโยบายหรือสั่งให้ใครไปฆ่าใคร และมีการตั้งกรรม การตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายชุดและสรุปว่าไม่มีรัฐบาลใดสั่งให้ฆ่าตัดตอน ทั้งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตในทุกคดีเกิดจากสาเหตุใดบ้าง เป็นการตายที่เกี่ยวกับยาเสพติด หรือเป็นการฆ่ากันเองในระหว่างผู้ค้ายา หรือเกิดจากการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐเท่าใด การตายของแต่ละ คนจึงต้องพิสูจน์และสอบสวนแต่ละคดีไป ใครถูกว่าไปตามถูก ใครผิดว่าไปตามผิด ตรงข้ามกับนายอภิ สิทธิ์กรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งน่าสนใจว่าหากขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศจริง คดีใดจะถึงมือศาลก่อนกัน

โดย นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้แถลงท้าพรรคประชาธิปัตย์ให้เอาเรื่องฆ่าตัดตอนและการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาคู่ไปเลยว่าใครจะถูกลงโทษ ใครเป็นฆาต กรสั่งฆ่าประชาชน โดยได้ขอให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประ เทศ พิจารณายอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่าง ประเทศ เพื่อให้ดำเนินคดีกับการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ในฐานะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งนายสุรพงษ์รับปากจะสั่งการให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศพิจารณา หากไม่มีปัญหาอะไรจะเดินหน้าทันที และในเวลา 1-2 เดือนอาจได้เห็นฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนถูกเรียกตัวไปสอบ สวนที่กรุงเฮก

ให้อำนาจศาลย้อนหลังเฉพาะกรณีได้

กรณีรัฐบาลไทยสามารถยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีโดยไม่ต้องลงสัตยาบันได้หรือไม่นั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า ทำได้ทั้งรัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคี โดยสามารถทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี ซึ่งมีประ เทศที่ทำสำเร็จมาแล้วคือยูกันดาและไอวอรีโคสต์

โดยยกตัวอย่างกรณีไอวอรีโคสต์ที่ไม่ได้ให้สัตยาบัน โดยทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 ให้รับเขตอำนาจศาลตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2545 เพื่อให้ศาลโลกจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้นย้อนหลังได้ แต่ไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะได้ลงนามธรรมนูญกรุงโรมไว้แล้ว โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสามารถลงนามในสัตยาบันได้ทันที ไม่ต้องผ่านช่องทางรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่คดีต้องเข้าข่าย 4 ฐานความผิดร้ายแรงคือ การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาช ญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม สหภาพเพื่อประชา ธิปไตยประชาชน (Union for People’s Demo cracy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของคนเสื้อแดงในยุโรป ได้จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่า 100,000 รายชื่อ เพื่อให้ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยนางกรรณิการ์ นีลเซ่น ผู้แทนสหภาพ เปิดเผยว่า การล่ารายชื่อนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม ซึ่งขณะนี้ได้เพียง 2,000 กว่ารายชื่อ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 10,000 รายชื่อ จึงจะยื่นเสนอกฎหมายต่อสภาได้ แต่สหภาพกำหนดจะยื่นต่อรองประธาน รัฐสภาในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ได้เท่าไรก็จะยื่นเท่า นั้นก่อน แล้วจะล่ารายชื่อส่งให้ในภายหลัง

นอกจากนี้สหภาพยังยื่นหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐไทยให้สัตยาบันตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2554 ซึ่งรัฐบาลตอบกลับมาว่าติดกฎหมายภายในประเทศหลายมาตรา ทางสหภาพจึงส่งจดหมายถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ให้รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาว่า เป็นข้ออ้างที่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนดให้เห็นความคืบหน้า เพราะประเทศที่มีระบอบการปกครองเช่นเดียวกับไทย เช่น อังกฤษ เบลเยียม แคนาดา ญี่ปุ่น ลักเซม เบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน และสวีเดน ก็มีข้อบัญญัติในลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 8 ของไทย แต่ก็ให้สัตยาบันไปแล้ว และข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของบางประเทศ เช่น เบลเยียม บัญ ญัติไว้ใน Article 91 ที่ว่าพระมหากษัตริย์จะถูกละเมิดมิได้และเหล่ารัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองแทน หรือเดนมาร์กบัญญัติคล้ายกับ Section 13 ที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะจะล่วงละเมิดมิได้และรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองเช่นกัน

ปัญหาขณะนี้จึงอยู่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ตระหนักดีว่าอะไรเป็นอะไร จะกล้า “ทำความจริงให้ปรากฏ” หรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมักจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตยาบัน มิใช่เพียงเพราะฝ่ายความมั่นคงและกองทัพท้วงติงว่าจะมีผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูงเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าเพราะรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยกลัวว่าจะมีการโยงไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณกรณีฆ่าตัดตอนอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาขู่ในขณะนี้ก็เป็นได้ ทั้งที่หลักฐานและความผิดกรณีฆ่าตัดตอนในทางคดีนั้นถือว่าอ่อนมากเมื่อเทียบกับกรณีสังหารโหด 98 ศพที่มีหลักฐานมากมาย ทั้งพยานบุคคล ภาพถ่าย วิดีโอ และข่าวต่างๆที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องกล้า!

เมื่อวิเคราะห์จากช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้ากรณีฆ่าตัดตอนสามารถเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณได้จริง พรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่ปล่อยไว้ และคงจะให้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งแต่เป็นรัฐบาลแล้ว หรือใช้กระบวนการยุติธรรมในประเทศดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว แต่พรรคประชาธิปัตย์ทำไม่ได้เพราะแม้แต่คณะกรรมการที่มีคนของพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังไม่สามารถระบุความผิดประเด็นนี้ได้ชัดเจน ยิ่งนำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์จึงเข้าทำนอง “ปากกล้าขาสั่น” มากกว่า

ดังนั้น การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาขู่เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ตามคำท้าทาย หรือแม้แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เคยเรียกร้องให้เอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณกรณีฆ่าตัดตอน จึงไม่น่าจะออกมาคัดค้าน ตรงกันข้ามกลับควรส่งเสริมให้รัฐบาลประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเพื่อเอาผิดทักษิณหากมีความผิดจริง

จึงเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่งหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดแต่ถอยและเกี๊ยะเซียะกับกลุ่มผู้มีอำนาจทั้งในระบบและนอกระบบเพียงเพื่อให้ได้เป็นรัฐ บาลนานที่สุด ขลาดกลัวแม้แต่จะ “ทำความจริงให้ปรากฏ” ทั้งที่มีโอกาสและหลักฐานชัดเจนที่จะเอาผิดกับคนสั่งและคนฆ่าประชาชน และเป็นโอกาสที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะยุติวิกฤตบ้านเมืองโดยการ “ทำความจริงให้ปรากฏ” ใครผิดก็ว่าตามผิด ใครถูกก็ว่าตามถูก ซึ่งการยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศคงไม่มีใครหรือสีใดไปประท้วงถึงกรุงเฮก หรือจะมีอำนาจนอกระบบใดๆเข้าไปแทรกแซงศาลอาญาระหว่างประเทศได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นกระทู้เรียกร้องเรื่องการรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวไว้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะสานต่อได้ทันที

นอกจากนี้ น.ส.จารุพรรณยังทวีตตอบโต้การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เพิ่งจะมาสนใจเรื่องฆ่าตัดตอน ส่งให้ ICC ตามรอยเสื้อแดง โดยส่งนายกษิต (ผู้ก่อการร้ายปิดสนามบิน, จำเลย ICJ, ขึ้นชื่อเรื่องมาร ยาททรามกับประเทศเพื่อนบ้าน) ไปเป็นผู้ดำเนินการ นั้น ต้องขอไว้อาลัยต่อการตัดสินใจของพรรคประ ชาธิปัตย์ครั้งนี้อย่างสุดจิตสุดใจ เพราะมองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายที่มีแต่เสียกับเสียแบบกู่ไม่กลับคือ

ประการแรก คนทั้งโลกจะตั้งคำถามว่าทำไมเพิ่งมาสนใจ ICC ความจริงใจต่อเรื่องฆ่าตัดตอนแทบจะไม่มี เป็นแค่เกมตอบโต้ไปวันๆ ประการที่ 2 ไม่พ้นข้อหาเด็กลอกการบ้านตามเคย ลอกหนทางของเสื้อแดงที่จะแสวงหาความเป็นธรรมสากลให้กับประเทศไทย โถ..พรรคนักกฎหมายขี้คุย ประการที่ 3 การจะไปฟ้อง ICC บ้างก็เท่ากับยอมรับอำนาจ ICC แล้ว ก็มีความยินดีที่จะส่งนายอภิสิทธิ์ไปประเดิมสอบสวนคนแรก ประการที่ 4 การส่งนายกษิตไปนับว่าเลือกได้ถูกคนแล้ว ดิฉันไม่กังวลอะไรเลย นอกจากจะทำให้ประเทศไทยขายหน้าอะไรอีก และสุดท้าย ขอบอกว่าช่วยดำเนินการให้ไว เพราะอยากเห็นปรากฏการณ์เปรียบเทียบ “ความเป็นธรรมไทย” กับ “ความเป็นธรรมสากล”

รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไม่ควรทำเหมือน “หลับตา ข้างหนึ่ง” และปล่อยให้ “คนตายนอนตาสว่าง” ต่อไป เพราะอาจเสียมวลชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะญาติวีรชนคนเสื้อแดงที่ต้องสูญเสียจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภา 2553”

การ “ทำความจริงให้ปรากฏ” โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจรับคำท้าจากพรรคประชาธิปัตย์ และประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ความจริง และพิจารณาคดีทั้งกรณี “มีคนตาย 98 ศพภายในรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมน ตรี” และกรณีที่ “พรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวหานโย บายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีคนบริสุทธิ์ต้องตายไปเป็นจำนวนมาก” จึงเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นแม้ว่าจะต้องกระทบกับ พ.ต.ท.ทักษิณก็ตาม

คำถามถึง “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” ก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์กล้าพอหรือไม่? พ.ต.ท.ทักษิณใจถึงพอหรือไม่?

ส่วนคำถามถึง “อภิสิทธิ์” นั้นไม่มี เพราะไหนจะเรื่อง “วิบากกรรม สด.9” ในอดีต จนถึงข้อหา “ฆาตกร (เกือบ) ร้อยศพ มือเปื้อนเลือด..” ถ้ายังอยู่เย็นเป็นสุขได้..ก็ไม่ปรกติแล้ว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สมานรอยร้าว. ด้ามขวานนิติธรรม+ความมั่นคง !!?

สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม..สองคำนี้เปรียบเสมือน วาจาศักดิ์สิทธิ์แห่งอิสรภาพ ใน ยูโธเปีย หากแต่ในโลกแห่งความ เป็นจริง..แม้แต่ความยุติธรรมยังห่างไกลยิ่งนัก

นักการเมืองมักใช้คำว่า “นิติธรรม” ในทางผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อสร้างความ ชอบธรรมตัวเอง หรือการหาเสียง ซึ่งหากพิจารณาจากความหมายแล้ว.. “สิทธิมนุษยชน” หมายถึง สิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่สามารถ จำหน่าย จ่าย โอน หรือแจกให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้ สิทธิดังกล่าวนี้มีความเป็นสากลและเป็นนิรันดร์

จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า “มนุษยทั้งหลาย เกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรี และสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ ประสาท เหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง” ความดำรงอยู่ ความถูกต้อง และเนื้อหาของสิทธิมนุษยชน เป็นหัวข้อที่เป็น ที่โต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางปรัชญาและรัฐศาสตร์ ตามกฎหมายแล้ว สิทธิมนุษยชนได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ และในกฎหมายภายในของหลายรัฐ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนจำนวนมากแล้ว หลักการ ของสิทธิมนุษยชนนั้นกินขอบเขตเลยไปกว่ากฎหมาย และก่อร่างขึ้นเป็นหลักศีลธรรมพื้นฐานสำหรับวางระเบียบภูมิศาสตร์ การเมืองร่วมสมัย สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว สิทธิมนุษยชนคือความเสมอภาคในอุดมคติ

ส่วน “หลักนิติธรรม” คือ การตรากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกติกา ต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของสังคม และสมาชิก โดยมีการยินยอมพร้อมใจและให้ถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม กล่าว โดยสรุปคือ สถาปนาการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่กระทำกันตามอำเภอใจหรืออำนาจของบุคคล

“วิทิต มันตาภรณ์” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง หลักนิติธรรมว่า ในระดับสากลนั้น หากมีการตีความความหมายอย่างกว้างก็จะครอบคลุมทั้งเรื่องสิทธิทางการเมือง การแสดงออกสิทธิมนุษยชน การขึ้นศาล กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ ความ เป็นธรรมและธรรมาภิบาล ซึ่งเมื่อเกิดสหประชาชาติขึ้นก็ทำให้หลักนิติธรรมมีหลักประกันที่แน่ชัดผ่านสนธิสัญญา ข้อตกลงต่างๆ

“ในส่วนของประเทศไทยนั้น แม้ปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี 2550 เช่น มาตรา 3 จะกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ การมองเรื่องสิทธิมนุษยชนจากรัฐธรรมนูญ ไทยอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่มาจากพลังบางอย่าง หรือการใช้ความรุนแรงบางส่วน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้อาจมีปัญหาเรื่องหลักสากล การเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นเห็นว่า การมองเรื่องหลักนิติธรรมจึงต้องดูกระแสสากลควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ เมื่อหลักนิติธรรมเป็นเรื่อง ของการใช้อำนาจ การตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) จึงเป็นคานสำคัญ ในการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ”

ปัจจุบันไทยเป็นภาคีสมาชิกสนธิสัญญาในเรื่องสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมือง พลเรือนและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิสตรีฯ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฯ อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติที่กีดกั้น ทางเชื้อชาติ อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการกระทำที่เหยียดหยาม และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ

“นอกจากนั้นยังมีความสนใจในกฎหมายอีก 2 ฉบับคืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิแรงงานต่างด้าว และอนุสัญญาว่าด้วย การห้ามอุ้ม เช่นกรณีคดีนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการเป็นภาคีอย่างเต็มตัว”

ทั้งนี้ ผลของการเป็นภาคีคือ ต้องปฏิรูปกฎหมาย นโยบายและการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้ง ถูกตรวจสอบตรง จากกรรมการของสหประชาชาติ โดยส่งรายงานแห่งชาติเป็นครั้งคราว ซึ่งหากมีคำแนะนำจากกรรมการ ดังกล่าวก็ควรปฏิบัติตาม

เช่นในส่วนของกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิของพลเมือง พลเรือนและสิทธิ ทางการเมืองนั้น พบว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้ฝากข้อคิดให้กับหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย ว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลายส่วนนั้น สามารถจำกัดได้ แต่ในส่วนที่เป็นสิทธิเด็ดขาดไม่สามารถจำกัดได้เลย เช่น ห้าม ทรมาน ห้ามค้าทาส สิทธิในการมีชีวิตไม่ถูกประทุษร้าย ไม่ถูกอุ้ม รวมทั้งการประหาร ผู้ที่ต่ำกว่าอายุ 18 ปี

ขณะที่การประกาศกฎอัยการศึก ในเหตุฉุกเฉินต่างๆ นั้น จะต้องมีความโปร่งใส พร้อมทั้งแถลงให้สหประชาชาติได้รับทราบ ซึ่งที่ผ่านมาคาดว่าในประเทศ ไทยมีการแถลงประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น คือในช่วงปีเหตุการณ์ความขัดแย้งช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ปี 2553 โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าต่อไปจะต้องมี การแถลงประกาศใช้ หรือขยายเวลาการใช้กฎหมายดังกล่าว พร้อมทั้งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการจำกัดสิทธินั้นมีความจำเป็นจริงๆ มีกฎหมายรองรับ ไม่ใช่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้บริหาร ที่สำคัญต้องมีวัตถุประสงค์ตามหลักสากลคือ มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม”

>> กฎหมายลิดรอนสิทธิ์

ส่วนการใช้หลักนิติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น ก็ถูกติงจากคณะกรรมการของสหประชาชาติ เรื่องการใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเนื่องจาก กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้นเมื่อใช้ร่วมกันแล้วสามารถกักตัวคนได้ โดยไม่ต้องขึ้นศาลนาน ถึง 37 วัน ทั้งที่ตามหลักนิติธรรมกำหนดให้การขึ้นศาลต้องกระทำโดยทันที และ ถึงแม้ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐจะยินยอมให้ครอบครัวเข้าถึงบุคคลที่ถูกกักขังได้ภายใน 3 วัน แต่อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องว่า บุคคลที่ถูกกักตัวต้องสามารถเข้าถึงทนายได้โดยทันที ระยะเวลา 3 วันนั้นนาน เกินไป

ส่วนที่จะมีการนำพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงแห่งรัฐใหม่ มาใช้แทนกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น อยาก ฝากข้อคิด โดยเฉพาะมาตรา 22 เรื่องการ กำหนดให้สามารถฝากตัวบุคคลที่ต้องสงสัยเข้าสู่การอบรมได้ แม้จะเป็นไปโดยความยินยอม แต่ผู้ที่ติดแบล็กลิสต์อาจประเมินแล้ว เห็นว่าจำเป็นต้องเลือกเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ทำให้ความยินยอม ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ศ.วิทิต กล่าว และทั้งนี้ สำหรับมาตรการในการแก้ปัญหา ชายแดนภาคใต้ต่อไปนั้น ตนเห็นว่าการเยียวยาที่แท้จริงตามหลักนิติธรรมนั้น ต้อง เป็นการเยียวยาทางพลเรือน ไม่ใช่การเยียวยาฉุกเฉิน ขณะเดียวกันต้องหาทาง ออกโดยวิธีทางที่สันติควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่ทุกวันนี้ยัง ไม่เห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากนัก

>> กรณีภาคใต้ต้องใช้ยาแรง!..

“พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงหลักนิติธรรมระหว่างประเทศกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ว่า การปกครองของรัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ของสหประชาชาติต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม ซึ่งก็คือหลักของความถูกต้อง ความ ชอบธรรมทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน รวมถึงป้องกันการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด

“แม้ในรัฐธรรมนูญของไทยจะมีการพูดถึงหลักนิติธรรม แต่ไม่ได้มีการอธิบายในรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องยึดแนวทางของต่างประเทศที่เป็นสากล”

ส่วนที่มีการใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงทางภาคใต้ของไทย นั้น แม้เรื่องนี้จะกระทบกระทั่งขอบเขตของระบบนิติธรรมอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าสามารถยกเว้นได้ในบางข้อ เนื่องจากหลักความมั่นคงของรัฐ และสาธารณชนคงต้องมาก่อนหลักนิติธรรม เพราะความมั่นคงถือเป็นของส่วนรวม ถ้าความมั่นคงอยู่ไม่ได้ สาธารณชน อยู่ไม่ได้ หลักนิติธรรมคงอาศัยอยู่ในบ้านที่ไฟไหม้ไม่ได้เช่นกัน

>> สิทธิมนุษยชนของใคร?

“ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าในเรื่องหลักนิติธรรม ประเทศไทยต้องไม่ยึดติดกับนิยามที่แคบและตายตัว แต่ต้องเข้าใจพื้นฐาน มีความเป็นธรรมและระบบที่เป็นธรรมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน ประชาชาติ

“การทำความเข้าใจหลักนิติธรรมในยุคนี้ต้องไม่ตีความแบบเกาะ อย่ามองอะไรแบบเดียว เพราะกฎหมายไม่ใช่เรื่อง ทางเทคนิคเท่านั้น มีบริบทภายใต้สถานการณ์ที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความหมายเชิงเนื้อหาที่ดี ในเรื่องนิติธรรม สิทธิมนุษยชน แต่กระบวนการนั้นมีการสงวนไว้ ทำให้ไม่มีบททดลองความพึงพอใจของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนต้องลุกขึ้นมา อย่าปล่อยให้ภาครัฐเล่นอยู่ข้างเดียว”

สำหรับสถานการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทย นึกแล้วก็ปวดใจพอสมควร มี การพูดพาดพิงจากรองนายกรัฐมนตรีว่าคนของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้ลงไปทำงาน ในจังหวัดภาคใต้เลย ขณะที่ทหารในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ก็ตั้งคำถามว่าจะเอาหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนตรงไหนมาผสมผสานในการทำงาน เมื่อเหล่าทหาร ต้องแต่งเครื่องแบบมาล่อเป้าถูกระเบิด

ดังนั้น ตรงนี้จึงกลายเป็นประเด็นปัญหา เพราะประชาชนทุกคนต้องการความคุ้มครองความเป็นมนุษย์เช่นกัน แต่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้ ยังมีประเด็นคำถาม ว่า ตกลงจะคุ้มครองใคร และเรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกหยิบมาพูดถึง เพราะไม่อยากให้เรื่องภาคใต้ยกระดับเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ไม่รู้เพราะอายหรือกลัว แต่ฟังดูเหมือนกับว่า ขณะนี้หลักนิติธรรมของไทย ขัดกับหลักมาตรฐานสากลอยู่
ปัญหาชายแดนภาคใต้ยังถือเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนในหลายๆปัจจัย ซึ่งบางอย่างก็พูดได้ ในขณะที่หลายอย่างก็เหมือนน้ำท่วมปาก

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปกครองกดขี่ . เงื่อนไขแยกดินแดน !!?

กลายเป็นประเด็นขึ้นมา หลังจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยเปรยถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำนองว่าต้องบังคับใช้กฎหมายพิเศษเต็มพื้นที่ ตอนนี้ยังไม่เสียดินแดน แต่ถ้าชะล่าใจจะเสียดินแดนแน่ในอนาคต โดยเฉพาะหากมีการ "ลงประชามติ"

ประเด็นว่าด้วยการลงประชามติเพื่อแยกดินแดนหรือแยกตัวตั้งรัฐใหม่ หรือ Self-determination นั้น เป็นเรื่องที่พูดกันมาและส่งสัญญาณเตือนกันมาระยะหนึ่งแล้วว่ามีความอ่อนไหวอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบ้านเรา โดยเฉพาะ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยพูดเอาไว้หลายครั้งบนเวทีสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้และความมั่นคง

แม้ที่ผ่านมา จะยังไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนจากกลุ่มผู้ก่อการในสามจังหวัด แต่ความพยายามย่อมมีแน่ โดยเฉพาะจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่าขบวนการเหล่านั้นจะยังมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานหรือไม่ เพราะการช่วงชิงจังหวะ โอกาส และการนำ เป็นผลประโยชน์ทางการเมืองและอำนาจที่ทุกฝ่ายจ้องตาเป็นมัน!

ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 59 เรื่อง "หลักการกำหนดใจตนเอง" หรือ The Principle of Self-Determination ซึ่งเขียนโดย ณัฐกฤษตา เมฆา และมี รศ.ดร.สุรชาติ เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ได้อรรถาธิบายเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ สรุปได้ว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (The Rights of Self-Determination) เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ แต่ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อมีการนำสิทธิในการกำหนดใจตนเองไปกล่าวไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ทำให้สิทธิในการกำหนดใจตนเองมีผลบังคับใช้แก่รัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไปด้วย

แต่เนื่องจากในตัวกฎบัตรไม่ได้ระบุถึงเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเองเอาไว้มากนัก ทำให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติต้องมีมติต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดใจตนเองออกมาเพื่อเป็นการอธิบายและแสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง

รายละเอียดและเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”

ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดใจตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ นอกจากนั้น สิทธิในการกำหนดใจตนเองยังถูกใช้ในกรณีสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย

สำหรับประเด็นการกำหนดใจตนเอง หรือ Self-determination กับการแบ่งแยกดินแดนนั้น มีอธิบายไว้ในตอนท้ายของจุลสาร ระบุว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเองภายนอก หรือการแบ่งแยกดินแดน (secession) ถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก ในการอภิปรายเกี่ยวกับคำแถลงการณ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตร กล่าวกันว่า มีสถานการณ์ 3 แบบที่อาจทำให้เกิดสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนขึ้น สองสถานการณ์แรกที่เกี่ยวกับสถานการณ์ของการตกเป็นอาณานิคมและการเข้าครอบครองของต่างชาติ สองสถานการณ์นี้ได้รับโดยฉันทามติว่าสิทธิการแบ่งแยกดินแดนในกรณีเหล่านี้เป็นกฎหมายจารีตประเพณี

ขณะเดียวกัน ก็มีความไม่เห็นด้วยกับคำแปลของข้อยกเว้นของแถลงการณ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตร (the Saving Clause of the Declaration on Friendly Relations) ซึ่งกล่าวว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวได้รวมสิทธิการแบ่งแยกดินแดนที่ยอมรับโดยหมู่ชนหนึ่ง (a people) ซึ่งสิทธิในการกำหนดใจตนเองภายในของหมู่ชนดังกล่าวได้ถูกละเมิดอย่างสิ้นเชิงโดยรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มชนทั้งปวงชน (peoples) ของหมู่ชนนั้น

ขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศมิได้ให้สิทธิตามกฎหมายโดยเจาะจงในการแยกตัวออกมาเพียงฝ่ายเดียวจากรัฐ “แม่” แก่ส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐาธิปัตย์ และกฎหมายดังกล่าวก็มิได้ปฏิเสธสิทธิดังกล่าวอย่างชัดเจนอีกด้วย เหตุผล คือ กฎหมายระหว่างประเทศให้ความสำคัญแก่บูรณาการทางอาณาเขตของรัฐชาติ และโดยทั่วไปจะทิ้งภาระการสร้างรัฐใหม่ให้ตกอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของกฎหมายภายในประเทศของรัฐที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีดินแดนที่จะแยกตัวออกไปเป็นส่วนประกอบ

ขณะเดียวกัน เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า การแบ่งแยกดินแดนเป็นหนึ่งในรูปแบบของการใช้สิทธิการกำหนดใจตนเองนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ปัญหาเช่นนี้เป็นการเผชิญหน้าของสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นมาอย่างรอบคอบกับสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ในบางสถานการณ์รัฐจึงมีหน้าที่ทางอ้อมในการยอมรับความชอบธรรมในการเรียกร้องขอแบ่งแยกดินแดน แต่ประเด็นสำคัญ ก็คือ กฎหมายระหว่างประเทศตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า การใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเองจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐาธิปไตยที่ดำรงอยู่ และสอดคล้องกับการดำรงไว้ซึ่งบูรณาการทางอาณาเขต

นอกจากนี้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้กำหนดขอบเขตของสิทธิในการกำหนดใจตนเองในแง่ที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ภายใต้กรอบของรัฐที่ดำรงอยู่ แม้จะไม่อ้างอิงโดยตรงกับการคุ้มครองการบูรณาการอาณาเขตก็ตาม

การดำรงไว้ซึ่งการบูรณาการอาณาเขตของรัฐที่ดำรงอยู่ และสิทธิของ “หมู่ชนหนึ่ง” เพื่อให้บรรลุมาตรการที่ครบถ้วนของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง จึงมิใช่สิทธิที่สามารถเลือกเพียงอย่างเดียวได้ จากคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งแคนาดา (ในคดีว่าด้วยการแบ่งแยกดินแดนของควิเบก) คำกล่าวนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อรัฐปกครองโดยใช้หลักการของตัวแทนของประชาชน (people) หรือกลุ่มชน (peoples) ที่พำนักในอาณาเขตดังกล่าวโดยเท่าเทียมกัน และโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น วิธีการปกครองจะต้องเป็นไปตามหลักการของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการภายในรัฐดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐได้ปฏิบัติตามปัจจัยเหล่านี้อย่างครบถ้วนแล้ว จึงจะถือว่ารัฐมีสิทธิได้รับความคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการบูรณาการอาณาเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการสร้างสิทธิในการกำหนดใจตัวเองโดยที่หมู่ชนหนึ่ง (a people) ที่ถูกปกครองอย่างกดขี่ หรือโดยที่กลุ่มชนที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการถูกปฏิเสธในการเข้าถึงรัฐบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม มีสิทธิในการกำหนดใจตนเองภายนอก (external self-determination) เนื่องจากประชาชนถูกปฏิเสธความสามารถในการใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเองเป็นการภายใน ซึ่งหมายถึงสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สุชาติแจงตั้ง อนุ กก.สภาการศึกษา มีทั้งแดงทั้งเหลือง !!?

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงคำสั่งแต่งตั้ง แกนนำ นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นอนุกรรมการสภาการศึกษา อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. นายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอนุกรรมการฯ ด้านนโยบาย

และแผนการ นายไกรสิน โตทับเที่ยง อดีตผู้สมัคร ส.ส.ตรัง พรรคไทยรักไทย นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ อดีตนายทะเบียนพรรคไทยรักไทย และนายสิงห์ทอง บัวชุม อดีตผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทยเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เป็นคณะอนุกรรมการฯ ด้านติดตามและประเมินผลการศึกษา ว่า

คณะทำงานของสภาการศึกษา เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเข้ามา ถ้าดูในรายละเอียด จะพบว่ามีคนที่มีคุณวุฒิหลายแบบ ถ้าจะแยกเป็นสี ก็มีทั้งเสื้อเหลือง และสีต่าง ๆ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่จะมานั่งพูดคุยกันในที่ที่สามารถคุยกันได้ มากกว่าไปพูดคุยกันตามที่ต่าง ๆ อยากให้สื่อทำข่าว
ที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ เพราะข่าวที่ทำร้ายประเทศ จะทำให้ประเทศด้อยพัฒนา

ด้านนายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะอนุกรรรมการฯ พิจารณาจากประวัติและประสบการณ์ของแต่ละคนที่ได้รับการเสนอชื่อ และต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายอาชีพ เพื่อร่วมกันนำเสนอความคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษา
ไม่ได้พิจารณาว่ามาจากคนกลุ่มใด หรือสีอะไร เช่น นางธิดา เคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาก่อน นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจสั่งการใด เพียงแต่ร่วมเสนอความเห็น ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ของคณะอนุกรรรมการฯ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ประณามการแต่งตั้ง อนุกรรมการสภาการศึกษา ของนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. เป็นคณะอนุกรรมการวางแผนการศึกษา เนื่องจากนางธิดา มีแนวคิดต่อต้าน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมีแนวคิดที่เป็นอันตราย ในการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง จะทำให้บุคคลเหล่านี้ เข้าไปปลูกฝังการศึกษาให้เด็ก ถือเป็นแนวคิดลอบกัดการศึกษา และมอมเมาเยาวชน พรรคประชาธิปัตย์จะต่อต้านอย่างถึงที่สุด โดยจะใช้ช่องทางรัฐสภาตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อความมั่นคง.

ที่มา.เนชั่น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คลังสั่งรื้อ เกณฑ์กองทุนการออมแห่งชาติ !!?

กิตติรัตน์. สั่ง สศค. รื้อหลักเกณฑ์กองทุนการออมแห่งชาติ เตรียมเพิ่มตัวเลือกรับเงินสะสมทั้งรูปแบบบำเหน็จ-บำนาญ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขรายละเอียดของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ ที่ออกในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ใหม่ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับผู้ออมมากขึ้น

สาระสำคัญที่ควรจะมีการปรับเปลี่ยน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการรับผลประโยชน์ของผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ จากเดิมที่กำหนดว่าสมาชิกที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากเงินสะสมและเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้ โดยเห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนให้ผู้รับสิทธิสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินสะสมและเงินสมทบเป็นเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญก็ได้

"หากมีกฎหมายแล้ว ก็อยากให้ผู้ออมได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีลักษณะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ออมจะสามารถได้รับเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้ตามที่ระบุไว้ แต่เมื่อถึงขั้นตอนปฏิบัติก็เห็นว่าเงื่อนไขที่ผู้ออม จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบของเงินบำนาญเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิ แต่ทำไมไม่ให้โอกาสผู้ออมเขาสามารถเลือกได้ว่าเมื่อครบแล้วจะสามารถขอรับทั้งหมด หรือขอเป็นบำเหน็จแทน เพื่อให้มีเงินก้อนไปใช้ อาจไปลงทุนทำอาชีพหลังเกษียณ หรืออาจขอรับแบบเงินบำนาญก็ได้"

สำหรับการกำหนดอายุของผู้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนที่แต่เดิมกำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพประจำและมีอายุไม่เกิน 60 ปีนั้น ตนยังได้แนะนำ สศค.ว่า ในส่วนนี้ควรเพิ่มบทเฉพาะกาลว่า กรณีที่สมาชิกกองทุนมีอายุเกินกว่า 60 ปี แต่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และยังคงสามารถที่จะประกอบอาชีพ และส่งเงินเข้ากองทุนได้รัฐบาลก็ควรที่จะช่วยส่งเงินสมทบต่อไปเพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนที่ออมเงินในส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้ บทเฉพาะกาลนี้ยังไม่มีใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

นอกจากนี้ ในเรื่องการบริหารผลประโยชน์ของกองทุนนั้น ก็คงต้องทบทวนใหม่ เช่น การจะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอาจไม่มีความเหมาะสม และอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ออมได้ ดังนั้น จึงต้องระบุให้ชัดเลยว่าหากจะมีการลงทุนจะไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีหน้าที่เข้าไปประกันผลตอบแทนขั้นต่ำของกองทุนฯ

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ยังอยู่ระหว่างการกำหนดรูปแบบว่าจะจัดตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ หรือให้เป็นการดำเนินการโดยธนาคารในสังกัดของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารอาคารสงเคราะห์

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ลงเหยียบดาวอังคาร 50 ปี-โลกเดินหน้า ไทยสมัครใจถอยหลัง !!?


หลังจากรอมาเป็นเวลา 43 ปีหลังมุษย์ ลงเหยียบดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2512

6 สิงหาคม 2555 มนุษยชาติสืบเท้าออกไปอีกก้าว

เมื่อนาซาสามารถส่งยานสำรวจที่มีชื่อเป็นทางการว่า "ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บนดาวอังคาร" (เอ็มเอสแอล) และ "มาร์ส คิวเรียสซิตี้" สามารถร่อนลงบนพื้นผิวดาวอังคารตรงเป้าหมายที่กำหนดไว้ บริเวณปากปล่องอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่ถูกตั้งชื่อว่า เกล เครเตอร์

หลังจากส่งจรวดขึ้นอวกาศเมื่อปลายปี 2554 และใช้เวลาเดินทางถึง 7 เดือน

เอ็มเอสแอล หรือมาร์ส คิวเรียสซิตี้ มีขนาดใหญ่กว่ายานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารที่ลงจอดไม่สำเร็จก่อนหน้านี้ถึง 5 เท่าตัว

หนักประมาณ 1 ตัน ขนาดใหญ่เท่ากับ รถมินิคูเปอร์ บรรจุอุปกรณ์สำหรับใช้ใน การทดสอบทางเคมีสำคัญและทรงคุณค่า หลายชิ้น รวมมูลค่าของโครงการคือ 2,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 77,000 ล้าน บาท

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ร่วมลุ้นเหตุการณ์อยู่ด้วย

ระบุว่านี่คืออีกก้าวใหญ่ของมนุษยชาติ

ยังไม่นับยานวอยเอเจอร์ 1 และ 2 ที่ขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2520 เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์และระบบสุริยะ

แม้ในตอนแรกจะถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำรวจศึกษาดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ แต่ยานทั้งสองยังสามารถปฏิบัติภารกิจได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้เบื้องต้น

เวลาผ่านไป 35 ปี ปัจจุบันนี้ยานทั้งสองกำลังอยู่บนเส้นทางเดินทางออกนอกขอบเขตของสุริยจักรวาลไปแล้ว

และเริ่มส่งภาพถ่าย-ข้อมูลจากนอกระบบสุริยะกลับมายังโลกแล้ว

เมื่อ 48 ปีก่อน ขณะที่ ปีเตอร์ ฮิกส์ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ตั้งทฤษฎีเรื่องอนุภาค "ฮิกส์ โบซอน" ขึ้นมา

ว่านี่คืออนุภาคที่ตัวเองไม่มีมวล แต่เป็นตัวที่ทำให้เกิดมวลของสสารทุกอย่างในจักรวาล

คนที่เชื่อถือก็มี คนที่ประมาทคาดหน้าทฤษฎีนี้ก็มาก

แม้แต่นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง สตีเฟ่น ฮอว์กิงส์ ซึ่งเชื่อในทฤษฎีนี้ ก็ยังเห็นว่า การ จะพิสูจน์ว่าฮิกส์ โบซอน มีอยู่จริงนั้น อาจจะเป็นเรื่องเหลือวิสัยในชั่วชีวิตนี้

ถึงขนาดตั้งรางวัลเอาไว้เล่นๆ ว่า ถ้าใครค้นพบอนุภาคนี้ได้จะให้รางวัล 100 เหรียญสหรัฐ

4 กรกฎาคม 2555 องค์กรวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือเซิร์น แถลงผลการยิงอะตอมให้ชนกันในเครื่องเร่งอนุภาคยาว 27 กิโลเมตรครั้งล่าสุด

ว่ามั่นใจได้ 99.9999% ว่าค้นพบอนุภาคฮิกส์ โบซอน แล้ว

โลกใน 50 ปีนี้เปลี่ยนแปลงมหาศาลในทุกด้าน

แต่ในบางสังคมโลกเหมือนหยุดหมุนอยู่กับที่

2505 คดีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลก

2555 ศาลโลกรับคำร้องเรื่องขอให้ตีความคำพิพากษาครั้งนั้นใหม่ และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกจากบริเวณที่เป็นข้อพิพาท

ไม่ว่าใครจะชนะหรือแพ้ ความบาดหมางระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศก็จะยิ่งถ่างกว้างขึ้น

โอกาสที่จะเห็นความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเป็นปกติเช่นเพื่อนบ้านที่ดีทั้งหลายจะยิ่งลางเลือนลง

อะไรที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ตั้งแต่การบริหารเขาพระวิหารในฐานะมรดกโลก จนกระทั่งถึงการจัดสรรประโยชน์พื้นที่ทางทะเล

เลิกคิดได้

ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่พิสูจน์แล้วว่าเหลือใช้ได้จริงประมาณ 8 ปี แม้อาจจะพบเพิ่มกว่านี้ก็ยืดอายุไปหน่อยแต่ไม่มาก

แหล่งก๊าซใหม่ที่เป็นความหวังก็คือพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ตกลงกันวันนี้ กว่าจะขุดขึ้นมาใช้ได้จริงก็เกือบ 10 ปีข้างหน้า แต่ถึงกระนั้นกัมพูชาก็ได้เงินก้อนจากการขายก๊าซไปพัฒนาประเทศ

ไทยที่มีอุตสาหกรรมครบกว่า เอามาใช้ประโยชน์จากการแปรรูปปิโตรเคมีเพิ่มมูลค่าอีกเป็นร้อยเท่าก็ทำไม่ได้

เหมือนจะรอให้กัมพูชาพัฒนาอุตสาหกรรมมาทัน เพื่อก๊าซธรรมชาติไม่ต้องขายไทย

ประโยชน์เฉพาะหน้าไม่ได้ ประโยชน์ระยะยาวก็ชวด

โลกหมุนเลยระบบสุริยะไปแล้ว ค้นพบอนุภาคพระเจ้าแล้ว ลงดาวอังคารก็แล้ว

บางสังคมยังงมโข่งกับความขัดแย้งและการเมืองภายใน

ฉุดตัวเองถอยหลังกลับไปอีก 50 ปี


ที่มา.มติชนออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กะเทาะเปลือกอาเซียน: ปัญหาเชิงสถาบัน จุดอ่อนอาเซียนในการแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ !!?

สรินณา อารีธรรมศิริกุล
นักวิจัยอิสระ สหรัฐอเมริกา

จากบทความตอนที่แล้ว อาเซียนมีทางเลือกในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้คือปล่อยให้เป็นความขัดแย้งแบบทวิภาคีคือไม่ยุ่งเกี่ยว หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุดเช่นการออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยและแสดงบทบาทไกล่เกลี่ยหรือประสานรอยร้าวในสถานการณ์ที่กระทบความมั่นคงในภูมิภาค



บทบาทที่สามคือ อาเซียนอาจปล่อยให้บุคคลที่สามเข้ามาจัดการกับสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคแทน ในกรณีนี้คือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอาเซียนอาจเลือกวิธีการที่เรียกว่า Hedging เพื่อคานอำนาจจีน แต่ไม่เข้าข้างอเมริกาอย่างออกหน้าออกตาเพราะจะเป็นการสร้างศัตรูกับจีน กล่าวอีกนัยหนึ่งคืออาเซียนสามารถสร้างสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองประเทศโดยไม่ต้องเป็นศัตรูกับอีกฝ่าย

นักวิชาการด้านอาเซียนชื่อดัง Evelyn Goh ให้ความหมายของ Hedging ว่าคือกลยุทธ์ที่วางตัวกลางๆ ไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในการคบค้ากับใคร โดยจะใช้วิธีทางการทูตและการสร้างความสัมพันธ์อันดีเป็นตัวเชื่อม โดยนักวิชาการผู้นี้กล่าวว่านี้คือกลยุทธ์ที่อาเซียนใช้มาโดยตลอด เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีอำนาจเพียงพอในการถ่วงดุลอำนาจกับประเทศมหาอำนาจ

ดังนั้น แทนที่อาเซียนจะคานอำนาจของจีนเสียเอง (balancing strategy) หรือเอียงเข้าข้างอเมริกาเพื่อต่อต้านจีน (bandwagoning strategy) หรือนิ่งเฉยไม่เอาฝ่ายใดเลย (neutrality) ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Hedging จึงดูเป็นวิธีการที่เสี่ยงและเปลืองตัวน้อยที่สุด แต่อย่างใดก็ตาม นักวิชาการอาเซียนบางท่านแนะนำให้อาเซียนใช้วิธีการนิ่งเฉยมากกว่าการ Hedging

สหรัฐอเมริกา: มือที่สามในทะเลจีนใต้

สหรัฐอเมริกากลายมาเป็นมือที่สามในทะเลจีนใต้ ตั้งแต่มีการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศในสมัยรัฐบาลโอบามาเพื่อสร้างสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับเอเชียให้มากขึ้น อเมริกาเข้ามาสานสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียก็เพื่อคานอำนาจจีนที่กำลังขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทูตในภูมิภาคนี้ จึงเป็นเหตุให้ปัญหาทะเลจีนใต้กลายมาเป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่อเมริกาต้องยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง

รัฐมนตรีต่างประเทศนางฮิลลารี คลินตันเคยประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าการเข้ามายุ่งเกี่ยวของอเมริกาในปัญหาทะเลจีนใต้นั้นก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเอง (national interest) ส่งผลให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเป็นอย่างมากเพราะถือว่าเป็นการโจมตีจีนโดยตรง แต่ในทางกลับกันก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประเทศอาเซียนโดยเฉพาะฟิลิปปินส์และเวียดนาม สหรัฐอเมริกาส่งวุฒิสมาชิกเดินทางมาเยี่ยมทั้งสองประเทศระหว่างทัวร์นกขมิ้นในทวีปเอเชีย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าอเมริกาจะไม่ทอดทิ้งและให้การช่วยเหลือทางการทหารแก่ทั้งสองประเทศอย่างเต็มที่


ภาพจาก New York Times

ส่วนอาเซียนเองก็ไม่คัดค้านหรือปฎิเสธการมีบทบาทของอเมริกา เพราะอาเซียนก็ต้องการลดทอนอำนาจและความก้าวร้าวของจีนในภูมิภาคนี้อยู่เหมือนกัน การที่อเมริกาเข้ามาเกี่ยวพันกับปัญหาทะเลจีนใต้ทำให้อาเซียนโล่งใจลงบ้างเพราะไม่ต้องดีลกับจีนโดยตรง และยังทำให้ประเด็นความขัดแย้งนี้สามารถถูกยกมาพูดคุยในการประชุมพหุภาคีได้เช่นการประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) โดยมีสหรัฐอเมริการวมกลุ่มอยู่ด้วย

ในขณะที่อเมริกาเข้ามาสร้างสัมพันธภาพอันดีกับอาเซียนและสัญญาจะให้ความสนับสนุนด้านการทหารและความมั่นคงแก่ฟิลิปปินส์และเวียดนาม จีนก็ประกาศให้เงิน 3,000 ล้านหยวนเพื่อใช้ในการซ่อมแซมท่าเรือและสร้างความร่วมมือในเรื่องการขนส่งเดินเรือกับอาเซียนในโครงการ China-ASEAN Maritime Cooperation Fund นอกจากนั้น จีนยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดสัมนา China-ASEAN maritime connectivity strategy เพื่อสร้างความร่วมมือในการเดินเรือร่วมกันในทะเลจีนใต้อีกด้วย
แถมจีนยังบริจาคเงินสร้างศูนย์ที่ประชุมอาเซียน Peace Palace และให้อุปกรณ์การสื่อสารแก่รัฐบาลกัมพูชาเป็นมูลค่า 400,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการจัดประชุมต่างๆ ของอาเซียนในปีนี้ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพอาเซียน

ความอ่อนแอของสถาบันอาเซียน

จีนตัดสินใจลงนามใน “สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “TAC” (Treaty of Amity and Cooperation) สนธิสัญญาไมตรีของอาเซียนนี้มีหลักสำคัญที่ต้องปฎิบัติตามอยู่สามประการคือ
  • (1) ผู้ลงนามต้องไม่มีนโยบายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก
  • (2) ประเทศสมาชิกใช้สันติวิธีในการแก้ไขข้อพิพาท และ
  • (3) ต้องไม่ใช้การข่มขู่หรือกำลังทหารต่อกัน
แม้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะมีกลไกที่เรียกว่า High Council ที่สามารถจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสมาชิกที่ลงนามในสนธิสัญญา แต่กลไกนี้กลับไม่เคยถูกร้องขอจากคู่กรณีเพื่อใช้แก้ไขข้อพิพาทใดๆ ในอาเซียนมาก่อน การขาดความน่าเชื่อถือของตัวกลไกเองและผลสรุปที่ไม่มีผลบังคับทางกฎหมายทำให้ประเทศที่ลงนามไม่เคยขอใช้กลไกไกล่เกลี่ยของอาเซียน และด้วยวิสัยของสมาชิกอาเซียนเองรวมทั้งจีน ที่มักจะเลือกใช้ “วิถีทางอาเซียน” (The ASEAN Way) ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ด้วยการพูดคุยและปรึกษาทางการทูตนอกรอบเสมอมา จึงทำให้กลไกยุติข้อพิพาทของอาเซียนมีความอ่อนแอและไม่ได้รับการพัฒนา

นอกจากนั้น การกระทำที่ละเมิดสนธิสัญญาไมตรี อาทิเช่นในกรณีการสู้รบเรื่องพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาก็ไม่มีบทลงโทษสมาชิกแต่อย่างใด และในกรณีนี้ กัมพูชาเองก็เลือกที่จะส่งข้อพิพาทไปให้ศาลโลกตัดสินแทนที่จะใช้กลไกภายในอาเซียน ซึ่งก็สะท้อนถึงความอ่อนแอเชิงอำนาจของสถาบันอาเซียนในการแก้ปัญหาระหว่างสมาชิกได้อย่างดี จีน ฟิลิปปินส์ และเวียดนามก็คงไม่ต้องการใช้กลไกนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

แม้ว่าจีนกับอาเซียนจะลงนามและตกลงกันว่าจะแก้ไขปัญหาในทะเลจีนใต้อย่างสันติตั้งแต่สิบปีที่แล้ว แต่ความขัดแย้งยังคงดำเนินอยู่ โดยที่ยังหาข้อสรุปและหลักปฎิบัติร่วมกันไม่ได้ การที่จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและมีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่าประเทศสมาชิกในอาเซียน ทำให้สมาชิกอาเซียนไม่มีอำนาจต่อรองกับจีนแบบตัวต่อตัว ฉะนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ใดๆ ในทะเลจีนใต้จึงไม่อยากเสี่ยงเข้าร่วมคานอำนาจจีนร่วมไปกับฟิลิปปินส์และเวียดนามด้วย

ในการประชุมอาเซียนแต่ละครั้ง ถ้ามีการยกเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ขึ้นมาพูดคุยแล้ว ฟิลิปปินส์และเวียดนามจะพยายามผลักดันให้สมาชิกอาเซียนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อแสดงพลังต่อรองกับจีนให้เป็นเสียงเดียวกัน แทนที่จะออกมาให้ความเห็นแบบตัวใครตัวมัน ซึ่งอาเซียนเองก็ทำให้ทั้งสองประเทศสมาชิกผิดหวังมาโดยตลอด

ถึงแม้ว่าทั้งสามวิธีที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นจะเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่ในทางกลับกันก็ทำให้อาเซียนไร้บทบาทและสะท้อนถึงอำนาจของสถาบันอาเซียนที่มีอย่างจำกัดและอ่อนแอในการจัดการกับปัญหาในระดับภูมิภาคได้ด้วยตนเอง

บทสรุป

แม้ว่าสมาชิกอาเซียนจะมีผลประโยชน์ร่วมกันในการรักษาความสงบในทะเลจีนใต้ แต่ถ้าดูผลได้ผลเสียที่ต่างกันของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมอาเซียนจึงไม่สามารถฟอร์มกลยุทธ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อต่อกรกับจีนได้ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศมีร่วมกับจีนมากขึ้นทุกที ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนขาดเอกภาพและไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน (distrust) ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของสถาบันอาเซียนตั้งแต่ในอดีต

ประกอบกับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับการประนีประนอมรอมชอมทางการทูต และกลไกการแก้ข้อพิพาทของอาเซียนก็ยังขาดความเชื่อมั่นจากประเทศสมาชิกด้วยกันเอง ทำให้สถาบันอาเซียนอ่อนแอเกินไปที่จะจัดการกับปัญหาข้อพิพาทกับจีนได้อย่างมีเอกภาพ

ที่มา.Siam Intelligence Unit
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เสาการเมือง-ความมั่นคงของอาเซียนกำลังสั่นคลอน !!?

โดย:ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข

การประชุมสุดยอดผู้นำในช่วงปลายปี คงได้เพียงแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียนกับจีนที่เบาบาง ไร้น้ำหนัก ไม่ถึงขั้น CoC ที่มีความหมาย

ขณะที่สังคมไทยกำลังฮือฮากับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ดังจะเห็นได้จากการจัดสัมมนา ฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาเซียนไม่เว้นแต่ละวัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอาเซียนเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของเสาการเมือง-ความมั่นคงของอาเซียน (ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน ที่ประกอบไปด้วยอีก 2 เสา คือ เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมวัฒนธรรม) และย่อมส่งผลต่อการรวมตัวในภูมิภาคเป็น AEC ไม่น้อย

เหตุเกิดจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องที่กรุงพนมเปญ เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ ประสบความล้มเหลว จากการที่ไม่สามารถออก “แถลงการณ์” ร่วมกันได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี ที่มีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนเป็นต้นมา โดยปกติที่ประชุมจะออกแถลงการณ์ร่วม แม้เนื้อหาส่วนใหญ่มักจะเบาบางและไม่ผูกมัดก็ตาม แต่ครั้งนี้ ไม่สามารถแม้แต่ทำเช่นนั้นได้ สร้างความอึดอัดแก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกชาติ และเป็นที่น่าผิดหวังในสายตาประชาคมโลก

ทั้งนี้ เพราะชาติอาเซียนไม่สามารถบรรลุฉันทามติในเนื้อหาของแถลงการณ์ร่วม อันมีสาเหตุมาจากประเด็นทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างจีนกับ 4 ชาติอาเซียน คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและบรูไน ที่อ้างสิทธิบางส่วนใน 2 หมู่เกาะหลัก คือ สแปรตลีย์กับพาราเซล ขณะที่จีนอ้างสิทธิทั้งหมด แม้ว่าหมู่เกาะดังกล่าวจะอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ของจีนมากก็ตาม

การประชุมครั้งนี้ ฟิลิปปินส์ยืนกรานให้มีการระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับ “แนวหินสการ์โบโรห์” ที่เกิดความตึงเครียดกับจีนหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ถึงขั้นเรือรบสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน แต่กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพการประชุมอาเซียน ไม่เห็นด้วย โดยเกรงว่าแถลงการณ์ร่วมจะทำให้เกิดความร้าวฉานกับจีน ทั้งฟิลิปปินส์และกัมพูชาต่างไม่ยอมถอย ทำให้ฉันทามติตามวิถีอาเซียนไม่อาจเกิดขึ้นได้ในครั้งนี้

ทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามไม่พอใจกัมพูชา ที่ดูเหมือนพยายามเอาใจจีน ทั้งนี้ ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ได้เดินทางมาเยือนกัมพูชาตั้งแต่เดือนเมษายน นัยว่าเพื่อมาล็อบบี้สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มิให้นำวาระเรื่องทะเลจีนใต้เข้าสู่การประชุมอาเซียน หรือให้เป็นไปในแนวทางที่เป็นคุณกับจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่แก่กัมพูชา รวมทั้งได้ช่วยสร้างทำเนียบที่เป็นสถานที่จัดประชุมในครั้งนี้ด้วย

แต่ว่าไปแล้ว ชาติอาเซียนอื่นที่ไม่ใช่คู่พิพาท ก็ไม่อยากเสี่ยงกระทำสิ่งใดที่อาจไปสร้างความไม่พอใจต่อจีน แม้จะเห็นใจเพื่อนสมาชิกอาเซียนที่ขัดแย้งกับจีนอยู่ก็ตาม เพราะต่างก็มุ่งหวังผลประโยชน์จากจีน ไม่ว่าจะด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนความช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะจากการที่จีนถูกคาดหวังให้เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ และที่ยูโรโซนในปัจจุบัน

หลังจากความล้มเหลวในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ นายมาร์ตี้ นาตาเลกาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้พยายามประสานรอยร้าว แต่ดูเหมือนยังไม่สามารถช่วยให้อะไรดีขึ้น ล่าสุด นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังออกมากล่าววิพากษ์วิจารณ์ฟิลิปปินส์กับเวียดนาม ว่า เป็นต้นเหตุให้ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในหมู่ชาติอาเซียนได้ แม้ว่าชาติอื่นจะมีมติร่วมกันแล้วในประเด็นดังกล่าว

อันที่จริงปีนี้อาเซียนวาดหวังว่าจะสามารถยกระดับ “คำประกาศว่าด้วยการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้” (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) หรือ DoC ที่ได้ลงนามร่วมกันระหว่างชาติอาเซียนกับจีนตั้งแต่ปี 2545 ขึ้นเป็น Code of Conduct (CoC) ที่มีผลผูกมัดมากขึ้น ในวาระครบรอบ 10 ปีของ DoC ทั้งนี้ อาเซียนได้ร่าง CoC ไว้แล้ว แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม

ความล้มเหลวในการออกคำประกาศในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ นับว่าเป็นชัยชนะของจีน ที่เน้นแก้ปัญหาด้วยแนวทางทวิภาคี จะเจรจากับประเทศคู่พิพาทเองทีละคู่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศใหญ่มักใช้กับประเทศเล็ก จีนไม่ประสงค์จะใช้เวทีพหุภาคีอย่างอาเซียน การไม่มีคำประกาศในครั้งนี้ เท่ากับว่าอาเซียนไม่อาจกล่าวถึงร่าง CoC ที่จัดทำไว้ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ยังไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีร่าง CoC ของอาเซียนอยู่

อย่างไรก็ตาม จุดยืนที่แข็งกร้าวของจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ คงไม่ส่งผลดีต่อจีนเท่าใดนัก ยิ่งในโลกปัจจุบันที่มหาอำนาจไม่สามารถใช้ hard power อย่างเดียวได้ หากแต่ต้องใช้ soft power ควบคู่ไปด้วย ความพยายามของจีนที่จะสร้างบารมีและความชื่นชมในหมู่ชาติอาเซียนจะด้อยประสิทธิผลลง และจะยิ่งผลักให้บางชาติอาเซียนเข้าหาสหรัฐที่พยายามกลับเข้ามาในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

ในที่สุด จีนอาจยอมลดท่าทีแข็งกร้าวลงบ้าง อย่างมากใน การประชุมสุดยอดผู้นำในช่วงปลายปี คงได้เพียงแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียนกับจีนที่เบาบาง ไร้น้ำหนัก ไม่ถึงขั้น CoC ที่มีความหมาย

ต่อเรื่องนี้ไทยเองตกอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบาก เนื่องจากเป็นวาระที่ไทยเป็นประธานคณะกรรมการอาเซียน-จีน ซึ่งเท่ากับว่า ไทยเป็นแกนของอาเซียนในการประสานงานกับจีน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และการเมือง-ความมั่นคง ซึ่งรวมถึงประเด็นทะเลจีนใต้ด้วย

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ความน่าเชื่อถือของอาเซียนได้เสื่อมถอยลงไปมาก จากการที่ไทยไม่สามารถจัดประชุมผู้นำอาเซียนได้ เมื่อคราวที่เป็นประธานอาเซียนในช่วงปี 2551-2552 และจากข้อพิพาทพรมแดนไทย-กัมพูชาในประเด็นเขาพระวิหาร ที่ส่งผลต่อความพยายามสร้างประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียนโดยตรง

เนื่องจากอาเซียนไม่สามารถแสดงบทบาทในการแก้ไขข้อพิพาทนี้ได้เท่าที่ควร แม้รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย จะพยายามทำหน้าที่เป็นกาวใจ ในฐานะประธานอาเซียนในขณะนั้น แต่ไทยก็เน้นย้ำแนวทางทวิภาคี ไม่ประสงค์ให้อาเซียนเข้ามาไกล่เกลี่ย ในขณะที่กัมพูชาเลือกที่จะไปฟ้องร้องต่อศาลโลก ซึ่งก็เท่ากับเป็นการข้ามหัวอาเซียน ไม่เห็นว่าอาเซียนจะสามารถช่วยแก้ไขหรือบรรเทาข้อพิพาทดังกล่าวได้

ปัจจุบันคนไทยบางกลุ่มก็ยังคัดค้านการเข้ามาสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียต่อการถอนทหารของกัมพูชาและไทยจากดินแดนในพิพาทตามคำพิพากษาของศาลโลก โดยรวม อาเซียนยิ่งดูไร้น้ำยามากขึ้น

ขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังคืบหน้าไป ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงกลับประสบภาวะไม่มั่นคง อาเซียนจะยิ่งพบข้อจำกัดมากขึ้นทุกทีๆ ในแนวทางเดิมๆ ที่เน้นความสบายใจ (comfort level) ของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม ชีวิตของอาเซียนยังต้องดำเนินต่อไป The show must go on. ชาติอาเซียนยังต้องพยายามมุ่งมั่นก้าวเข้าสู่ AEC ต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2558 แม้บรรยากาศแห่งความร่วมมือจะถดถอยลงไปก็ตาม


ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ฆ่าคนตายไม่บาป !!?

เป็นเรื่องถกเถียงกันมานานแล้วว่า...สมควรจะมีกาสิโนในประเทศไทยหรือไม่?

การถกเถียงยังลามไปถึงประเด็นปัญหาที่ว่า..การนำหวยใต้ดินขึ้นมาเล่นบนดิน ภายใต้การควบคุมดูแลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่

เรื่องหวยบนดินเคยมีการทำมาแล้ว แต่ถูกยกเลิกไปภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น รายได้จากหวยบนดินได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่วงการศึกษามิใช่น้อย
โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่เป็นเสมือน “ช้างเผือก” ในต่างจังหวัด ต่างได้รับทุนไปร่ำเรียนที่ต่างประเทศจำนวนหลายร้อยคน

สถานกาสิโนและหวยบนดินเกิดขึ้นไม่ได้ในประเทศไทย เพราะมีการคัดค้านอย่างหัวชนกำแพงว่า...มันเป็นการส่งเสริมให้คนทำบาป ทำให้ศีลธรรมเสื่อมทรุด

และประดาคนที่คัดค้าน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีเสียงดัง พูดอะไรออกมา ไม่มีใครกล้าค้านกล้าเถียง
แต่ก็น่าประหลาดสิ้นดี ตอนเกิดการเข่นฆ่าประชาชน ไม่ว่าสมัยปี ๒๕๑๙ ปี ๒๕๓๕ รวมทั้งสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี ๒๕๕๓ ที่มีการล้อมปราบฆ่าคนกลางเมืองหลวงตายไปเป็นร้อยคน แต่คนคนพวกนี้กลับปิดปากเสียสนิท
พิสูจน์ให้เห็นว่า..ในทัศนะของเขานั้น การเปิดบ่อนกาสิโน หรือมีหวยบนดินเป็นการทำบาป
แต่การฆ่าคนไม่บาปเลย

ใครเรียกร้องให้มีกาสิโนหรือหวยบนดินจะถูกประณามอย่างสาดเสียเทเสีย
มาบัดนี้มีคนกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องนี้ชื่อ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของเมืองไทย

โดย คุณธนินท์ เรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมธุจกิจท่องเที่ยว และเปิดบ่อนกาสิโนในเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้เงิน

“ถ้าผมมีอำนาจ ผมจะเปิดกาสิโนเหมือนลาสเวกัส อย่ามองการพนันไม่ดี เมืองไทยการพนันใต้ดินเต็มบ้านเต็มเมือง เราต้องยอมรับ

การมีบ่อนกาสิโน ถ้าคนไม่ชอบเล่นการพนันก็ไม่เล่น และถ้าเมืองไทยไม่มีกาสิโน นักท่องเที่ยวต่างชาติก็หนีไปเล่นที่ลาสเวกัส หรือหมาเก๊า

ปัจจุบันหมาเก๊าซึ่งเป็นเพียงเกาะเล็กๆ มีรายได้จากกาสิโนถึง ๘๗๙,๗๗๙ ล้านบาทต่อปี ขณะที่ลาสเวกัสมีรายได้ ๓๑๙,๓๐๐ ล้านบาท

แต่การเปิดกาสิโนไม่ใช่จะมีรายได้จากบ่อนอย่างเดียว แต่จะมีรายได้จากโรงแรมอีกด้วย อย่างสิงคโปร์ที่เพิ่งจะเปิดกาสิโน ขณะนี้มีรายได้เป็นอันดับสามประมาณ ๑๖๙,๘๔๙ ล้านบาทต่อปี”
คุณธนินท์สรุปว่า...ถ้าไทยเปิดกาสิโนจะมีรายได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก เมื่อมีคนจะเอาเงินมาให้แล้วทำไมเราจึงไม่เอา นั่นนะสิ


โดย.ศรี อินทปันตี,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จัดหนักเต็มแม็กซ์ !!?

เกรงแต่ว่า ขบวนการโค่นล้ม “รัฐบาลปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะหน้าแตก
เกณฑ์รี้พลสกลไกร นักรบแนวใต้ ผสมประสานกับ นักรบดาวแดง..มาเช่าโรงแรม “อเวนิว” ย่านธนบุรีรวมพล
หน่วยวอร์รูม ที่ปกปักษ์รักษา “รัฐบาลปู”รู้ความเคลื่อนไหวทุกคน
ฉะนั้น,ใครจะเล่นเกมใต้ดิน เพื่อสั่น “รัฐบาลปู” ให้ขาเกก่อน ศึกการซักฟอกรัฐบาล ได้โปรดหยุดเสีย
หน้าแตกมาจาก “เขายายเที่ยง”....ดังนั้น,อย่าทำเรื่องเสี่ยง...เดี๋ยวก็ได้เดี้ยงอีกหละเนี่ย

++++++++++++++++++++++++++++++++++

“เขาแพง” เสียดแทงใจดำ
เล่นลูบคม ทำเอา “เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้จัดการรัฐบาลเก่า โกรธจนหน้าคว่ำ
“การเช็คบิล” ในเรื่องนี้ ว่ากันว่าเป็นเรื่องสิว ๆ
ยังมีที่ดินแปลงใหญ่ที่ภาคใต้อีกแปลง ..เปิดขึ้นมา “เทพเทือก” ยิ่งจะกริ้ว
มองแล้ว “เทพเทือก” ชักจะไปยาก เข้าทุกที
ฉะนั้น,อย่าควักหน้าตักจ่ายบ่อย...เพราะเห็นชักเนื้อน้อย...โอ๊ย,ใช้สอยมากมันไม่ดี

+++++++++++++++++++++++++++++++++

“เสียสละ” ยังมีทางรอด
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” สมควรถอดหัวโขน ชิงลาออกจาก “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” จึงจะเป็นสิ่งดี นะจ๊อด
เรื่องหนีทหาร ยิ่งขุดยิ่งพาทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” พัง
ที่สำคัญ จะทำให้ “คุณพ่อหมออรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เกิดวิบากกรรมยามชรา..ดังนั้นน่าเห็นใจ ท่านมั่ง
ยิ่ง “มาร์ค” ดันทุรัง..คนที่หวังดี และ พรรคที่ให้แจ้งเกิดบนพรรคการเมือง ก็พลอยจะดับ
ได้ “อภิสิทธิ์ชน”มาตลอด..ยามนี้ควรเอาพรรครอด..ตัวเองเป็นจุดบอด อย่างแรงเลยนะครับ

++++++++++++++++++++++++++++++++

ฆ่าตัดตอน
ก้อเพิ่งรู้ นอกจาก ขบวนการค้ายาเสพติดแล้ว..ยังมีคนอื่นเดือดร้อน
ทั้งที่พวกเวรตะไล ค้าขายค้าบ้า ยาเสพติด ทำให้ประชาชนตกทุกข์ได้ยาก
เมื่อ “อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร” ปราบไม่เว้น จึงได้คะแนนนิยม และเสียงเชียร์กันมาก
พวกค้ายาเสพติด เป็นไอ้นรกที่ชิงหมาเกิด ต้องดับชีพเสียให้เสร็จสรรพ
ไปปกป้องเอาไว้...อยากเห็นลูกหลานไทย..ตกเป็นทาสไอ้ยานรก หรืออย่างไรกันครับ

++++++++++++++++++++++++++++++++

ข่าวล่ามาไว
พูดกันให้เอ็ด ถึงเรื่องที่ว่า “อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร” จะกลับเมืองไทย
ว่ากันว่า ในเดือนกันยายนต้นเดือนหน้า “ทักษิณ”จะเลิกเป็นนกขมิ้นเหลืองอ่อน นอนอยู่ที่เมืองดูไบ กันแล้ว
ถ้ากลับเมืองไทยเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งแจ๋ว
ที่แน่ ๆ ต้องดิ้นกระแด่ว ก็ “พรรคประชาธิปัตย์” ไม่ว่าจะเป็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” , “ชวน หลีกภัย”, “สุเทพ เทือกสุบรรณ”, “กรณ์ จาติกวณิช” รู้ข่าวนี้ สมองอาจแตกตาย
“ทักษิณ” อยู่เมืองนอก...ยังไม่มีปัญญาน็อค..ทราบข่าวนี้ต้องพากันช็อคยกใหญ่

ที่มา:ตอดนิดตอดหน่อย โดย.การบูร,บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ขังเดี่ยว-ขังหมู่ต้องยุติธรรม !!?

ไม่เกินเที่ยงรู้ผลว่าแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ในจำนวน 24 คนที่ถูกศาลเรียกไปไต่สวนเพื่อพิจารณาถอนประกันตัว ใครบ้างจะได้กลับไปนอนบ้าน ใครบ้างที่ต้องเข้าไปนอนในเรือนจำ

ได้กลับบ้านกันทั้งหมดหรือไปนอนเรือนจำกันทั้งหมดก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถคาดเดาผลการตัดสินได้

ขณะที่ผลไม่อาจคาดเดาได้ ความสงบเรียบร้อย ความอลหม่านวุ่นวายก็ไม่อาจคาดเดาได้เช่นเดียวกัน ศาลและตำรวจจึงประชุมเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างขมักเขม้น

เหตุที่ต้องแอบหวั่นว่าจะเกิดความวุ่นวายก็เพราะ 24 คนที่ถูกเรียกมาสอบเพื่อพิจารณาถอนประกันล้วนมีแต่แกนนำระดับบิ๊กเนมทั้งสิ้น

นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายนิสิต สินธุไพร, นายขวัญชัย (สาระคำ) ไพรพนา, นายพงษ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง, น.พ.เหวง โตจิราการ, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก, นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายอดิศร เพียงเกษ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายวิเชียร ขาวขำ, นายอารี ไกรนรา, นายสุขเสก พลซื่อ, นายสุรชัย เทวรัตน์, นายรชต วงศ์ยอด, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์

จำเลยที่เป็น ส.ส. 4 คนประกอบด้วย นายก่อแก้ว นพ.เหวง นายณัฐวุฒิ และนายวิภูแถลง ตัดสินใจไม่ใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองการเป็น ส.ส. ขอเดินทางมาร่วมการไต่สวนพร้อมแกนนำคนอื่นๆ

คนเหล่านี้มีแฟนคลับ มีคนรักที่ติดตามเชียร์จำนวนมาก จึงไม่แปลกที่ศาลจะแอบหวั่นว่าจะเกิดความวุ่นวายหากผลออกมาไม่ตรงใจผู้สนับสนุน

ตำรวจประเมินว่าจะมีคนมาให้กำลังใจแกนนำราว 3,000 คน จึงออกมาตรการห้ามเข้าในเขตรั้วศาล ห้ามปิดทางเข้าออก ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง ฯลฯ

ผู้ฝ่าฝืนมีข้อหาละเมิดอำนาจศาล ซึ่งมีโทษจำคุก 6 เดือน

นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุว่า องค์คณะผู้พิพากษาที่จะออกนั่งบัลลังก์พิจารณาเป็นชุดเดิมที่ดูแลคดีก่อการร้ายมาตั้งแต่ต้น โดยจะสอบถามจำเลยแต่ละคนว่าได้ทำผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวตามข้อมูลที่ได้จากฝ่ายผู้ร้องหรือไม่ โดยจะซักถามไปเรื่อยๆ และให้จำเลยตอบชี้แจงกระทั่งได้ข้อเท็จจริงและรายละเอียดพอสมควรที่จะตัดสินได้ ซึ่งจะรู้ผลทันทีหลังการไต่สวนจบสิ้นลง แต่หากผู้พิพากษาเห็นว่ามีข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเพิ่มอาจนัดมาฟังคำสั่งภายหลัง

“ศาลได้ประชุมหารือร่วมกับตำรวจและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับกรณีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวแกนนำ นปช. บางราย โดยจะส่งตัวไปยังเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพด้วยความรวดเร็ว ปลอดภัยที่สุด และไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน”

“คดีนี้ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยตั้งแต่ต้น แต่มีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวต่อเนื่อง จนที่สุดศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว หากศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยก็มีสิทธิที่จะยื่นขอประกันตัวใหม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าการจะขอปล่อยตัวชั่วคราวจะมีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ศาลเชื่อได้ว่าจะไม่ไปกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งศาลอีก”

“หากศาลมีคำสั่งเพิกถอนปล่อยตัวจำเลยช่วงเช้าก็จะส่งตัวจำเลยเข้าเรือนจำทันที ขณะเดียวกันช่วงบ่ายจำเลยสามารถยื่นขอปล่อยตัวได้ทันที แต่จะได้หรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล หรือจะรอทอดเวลาไป 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ค่อยมายื่นใหม่ เป็นหน้าที่ของทนายจำเลย”

คำพูดของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวาย อันเป็นความวุ่นวายที่เกิดจากผลการพิจารณา

ความจริงเรื่องละเมิดข้อกำหนดปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่เป็นเรื่องของพฤติกรรมจำเลย และเป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษา

ถ้าตรงไปตรงมาไม่จำเป็นต้องกังวลต่อผลที่จะตามมา

เหตุแห่งความกังวลน่าจะเป็นผลมาจากความรู้สึก “สองมาตรฐาน” ที่ฝังลึกอยู่ในใจของคนเสื้อแดง

แน่นอนว่าในฝั่งของศาลยืนยันหนักแน่นชัดเจนมาตลอดว่า “ตัดสินตามเนื้อผ้า ผิดว่าตามผิด ถูกว่าตามถูก ไม่มีธง ไม่มีใบสั่ง”

แต่กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ในช่วงที่ผ่านมาได้บั่นทอนความเชื่อในความ “เป็นธรรม เป็นกลาง”ของฝ่ายตุลาการลงไปมากทีเดียว

ไม่ว่าผลการตัดสินครั้งนี้จะออกมาอย่างไร

ขังหมู่ ขังเดี่ยว หรือปล่อยหมด

ก็ไม่เท่ากับความเป็นธรรม เป็นกลาง ตรงไป ตรงมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองเปรียบเทียบไปทางฝั่งของคนอีกสีเสื้อหนึ่งที่มีคดีร้ายแรงติดตัว และมีพฤติกรรมที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

หากผลการตัดสินทำให้รู้สึกถึงความ “เป็นธรรม เป็นกลาง” ได้

ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีความวุ่นวาย


ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภาวะชะงักงันในประชาธิปัตย์ !!?

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเร่งเครื่องห้อตะบึง ขู่เช้าขู่เย็นว่ายื่นแน่ทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 1 ส.ค.

แต่เอาเข้าจริงกลับเกิดภาวะ “ชะงักงัน” จนต้องถอนเท้าออกจากคันเร่ง

ความชะงักงันในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นความชะงักงันที่เกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง

ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียง ส.ส. มากพอในการเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่เพียงพรรคเดียวได้ ไม่ต้องง้อพรรคฝ่ายค้านอื่นที่มีอยู่แค่พรรคละเสียงสองเสียง

เมื่อเดินหน้าด้วยตัวเองแต่พรรคเดียวได้ เหตุใดจึงเกิดความละล้าละลัง เกิดความชะงักงัน ไม่ดุดันอย่างที่ฉายหนังตัวอย่างเอาไว้

จากที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภา เลื่อนออกไปเป็นการยื่นญัตติหลังจากสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ผ่านวาระ 3 ไปแล้ว

ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์

จากที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภา เลื่อนออกไปเป็นการยื่นญัตติหลังจากที่รัฐบาลแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีแล้ว

ซึ่งน่าจะมีขึ้นช่วงปลายเดือนสิงหาคม

เมื่อปฏิทินเดือนสิงหาคมถูกฉีก ก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกันยายนเลยหรือไม่

เป็นความไม่แน่ชัดจากปากคำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีตำแหน่งเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเองที่บอกว่า “ไม่รีบ”

ไม่รีบเพราะสมัยประชุมสภายังเปิดยาวไปถึงเดือนธันวาคม

ไม่รีบเพราะต้องการใช้เวลารวบรวมข้อมูลที่จะใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมจากที่มีอยู่

หากฟังจากคำพูดของนายอภิสิทธิ์ ความ “ชะงักงัน” เกิดจากความไม่พร้อมในเรื่องของข้อมูล

นอกเหนือจากความไม่พร้อมของข้อมูลแล้ว ยังน่าจะมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

อย่างที่ทราบกันว่ากรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจการทำงานครบรอบ 1 ปีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประชาชนให้สอบผ่าน 5.31 จากคะแนนเต็ม 10 และ 70.4% ต้องการให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป

ต่างจาการทำหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่ได้คะแนนเพียง 3.55 ซึ่งเป็นคะแนนในระดับ “สอบตก”

หากย้อนดูการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้ไม่ประหลาดใจกับผลคะแนนที่ได้รับ เมื่อพบว่า “ผลงาน” โดดเด่นน้อยกว่า “โวหาร” และ “วาทกรรม”

งานในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่สามารถจับต้องเป็นชิ้นเป็นอันได้

คงมีเพียงแต่ “โวหาร” และ “วาทกรรม” ที่คอยประดิษฐ์ขึ้นมาจิกกัดรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการตามจิกกัด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ สลับสับเปลี่ยนกันออกมาโจมตีนายกรัฐมนตรีในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานหลายเรื่อง

“เปลี่ยนชุดบ่อย-เดินแฟชั่นมากกว่าทำงาน-เป็นพริตตี้รัฐบาลไม่ใช่นายกฯ-พูดภาษาอังกฤษห่วย”

ส่วนเนื้องานที่เป็นเรื่องเป็นราวก็สวนทางกับความรู้สึกของประชาชนเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ยื่นตีความ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน

คัดค้านนาซ่าไม่ให้เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการบินสำรวจสภาพอากาศ

คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอย่างสุดโต่งด้วยการโห่ฮาในสภา กระทั่งขึ้นไปกระชากตัวประธานลงจากบัลลังก์ ลากเก้าอี้ประธานสภาหนี ขว้างปาหนังสือ เอกสารว่อนห้องประชุม

คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ คมช. โดยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าล้มล้างการปกครองหรือไม่

การคัดค้านทุกเรื่องเอาไปผูกโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์

เป็นการก้าวไม่พ้น พ.ต.ท.ทักษิณที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย

ยังไม่นับรวมการแสดงออกของของนายอภิสิทธิ์ที่ล้อเลียนเสียงจ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ และสวมเสื้อแดงขึ้นเวทีปราศรัย จนมีคนไล่ให้ไปพบจิตแพทย์เพราะสงสัยว่าสภาวะจิตใจยังปรกติดีอยู่หรือไม่

ทั้งหมดคือผลงานในรอบ 1 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้าน

ผลงานในรอบ 1 ปีอันเป็นผลให้ได้คะแนนเพียง 3.55 จากเต็ม 10

เมื่อข้อมูลไม่พร้อม ประชาชนไม่มีอารมณ์ร่วม คนในพรรคเดียวกันเองเริ่มตั้งคำถามกับผู้นำพรรค เริ่มไม่ไว้วางใจในตัวหัวหน้าว่าจะพาพรรคตกต่ำ เข้ารกเข้าพงไปมากกว่านี้หรือไม่

จึงเป็นที่มาของภาวะ “ชะงักงัน”

“ชะงักงัน” เพราะความไม่พร้อม

“ชะงักงัน”เพราะความมั่นใจที่มีให้นายอภิสิทธิ์ลดน้อยถอยลง

นี่อาจเป็นความ “ชะงักงัน” เพื่อรอให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการนำจากนายอภิสิทธิ์ไปเป็นคนอื่นก็เป็นได้

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////