--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ผบ.ทบ. ฮึ่มขวางแก้ พรบ.กลาโหม ยันให้เลิกพูดปฏิวัติ !!?

งดประชุม3วันไฟเขียว'ส.ส.-ส.ว.'ช่วยน้ำท่วมชูโรดแม๊พเหลือง-แดง

คอป.เปิดโรงแม๊พเยียวยาเหยื่อการเมืองวางคิวถก'แม่น้องเกด-เมียร่มเกล้า-ลูก เสธ.แดง-มาร์ค-พ่อค้าราชประสงค์'หวังสร้างปรองดอง ขณะที่ “รัฐสภา” สั่งงดประชุม 3 วันไฟเขียว ส.ส.-ส.ว. ช่วยน้ำท่วม “จตุพร” แจงเปิดหมู่บ้านแดงระดมปัจจัยซับน้ำตา จวก “ปชป.” เล่นการเมืองไม่รู้จักกาลเทศะย้ำรื้อกฎหมาย “สนช.” 177 ฉบับหลังน้ำลดแน่นอน ด้าน “ผบ.ทบ.” ลั่นพร้อมบุกสภาขวางแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ด้วยตัวเอง แถมสอนมวยผู้แทนต้องแก้จิตสำนึกสำคัญที่สุด ยันเลิกพูดปฏิวัติได้แล้ว ฝ่าย “ปชป.” ซัด “ปู” ทำตัวปากว่าตาขยิบ ส่วน “เรืองไกร” ยื่น “กกต.” สอยเก้าอี้ 2 ส.ส.ปชป. แทรกแซงอัยการ ด้าน “วิรัตน์” ขีดเส้น 15 ต.ค. ลุยล่าชื่อถอดถอน “จุลสิงห์” หากไม่ยอมส่งเอกสารคดีเลี่ยงภาษี

งดประชุมสภา 3 วันลุยน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 รักษาการประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการหารือกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เห็นว่าควรงดการประชุมสภาในวันที่ 12 และ 13 ต.ค. รวมทั้งการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 17 ต.ค. นี้ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภาและนายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ เสนอให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อมาแก้วิกฤติในขณะนี้ว่า ไม่ทราบเจตนาของ ส.ว. และนายถวิล แต่ตนยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี สามารถสั่งการได้ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้ข้าราชการปฏิบัติตามคำสั่งได้อยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“พท.”อ้างระดมแดงซับน้ำตา

นายจตุพร ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวตอบโต้นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดงที่ จ.อุดรธานี เป็นการสร้างความแตกแยกภายในประเทศว่า นายชวนนท์ไม่ทราบข้อเท็จจริงแล้วมาพูดใส่ร้าย ภารกิจหลักของการไปเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดงที่ จ.อุดรธานี นั้น เพื่อเชิญชวนชาวอุดรธานีและคนไทยทั้งประเทศที่ไม่ประสบภัยน้ำท่วมมาร่วมกันตั้งเต็นท์บริจาคสิ่งของช่วยผู้ประสบภัย และวันที่ 14 ต.ค. เวลา 10.00-24.00 น. จะจัดคอนเสิร์ตคนเสื้อแดงที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว เพื่อรับบริจาคเงินและสิ่งของจำเป็น จากนั้นวันที่ 15 ต.ค. จะขนสิ่งของที่ได้ไปแจกจ่ายผู้ประสบภัย ทั้งนี้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง จะประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือ (ศปภ.) เพื่อกำหนดให้คนเสื้อแดงแต่ละจังหวัดรับผิดชอบเฉพาะจุดในแต่ละพื้นที่

จวก“ปชป.”ไม่รู้จักกาลเทศะ

ส.ส.เสื้อแดง กล่าวอีกว่า การดำเนินการของคนเสื้อแดงในครั้งนี้จะใช้รูปแบบการเคลื่อนพลทั้งแผ่นดินเหมือนวันที่ 12 มี.ค. 2553 แต่ครั้งนี้เป็นรูปแบบการเคลื่อนพลขนของไปบริจาค ดังนั้นคนที่เล่นการเมืองไม่รู้กาลเทศะและเล่นไม่เลิกคือพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ขอฝากไปถึงประชาชนที่กำลังประสบอุทกภัยในขณะนี้ว่า ตนเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบและความสูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม แต่อยากให้อดทนอดกลั้น หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกไปบริจาคสิ่งของในพื้นที่ใด ขออย่าแสดงอาการใด ๆ เหมือนเหตุการณ์ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวตนมองว่าชาวบ้านคงไม่ได้มีเจตนาก่อกวน แต่เป็นเพียงแค่การแสดงความเห็นเป็นปกติ เพราะวันที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนไม่เห็นว่าทำอะไร

ฮึ่มน้ำลดรื้อกฎหมาย“สนช.”

ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 นั้น นายจตุพร กล่าวว่า หลังรัฐประหารสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านกฎหมายจำนวน 177 ฉบับ บางฉบับผ่านด้วยองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งโดยมี พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมรวมอยู่ด้วย บางฉบับมีองค์ประชุม 84-85 เสียง บางฉบับมีแค่ 40 คนจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 250 คน ซึ่งเป็นการตรากฎหมายที่มิชอบ หลังน้ำลดจะสังคายนากฎหมาย 177 ฉบับทั้งหมด คาดว่ากว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายรวมเวลาฟื้นฟูคงไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ดังนั้นไม่ใช่ว่าจะดำเนินการทันทีตามที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังบิดเบือน อีกทั้งแก้ไขวันนี้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายผ่านพ้นไปแล้ว

ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า การที่นายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิ ปัตย์ ระบุว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยหวังรวบอำนาจในกองทัพนั้น คนที่พูดเป็นทายาทคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่พวกตนเป็นคนในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนมีสิทธิตรวจสอบรัฐบาลและรัฐบาลก็มีสิทธิตรวจสอบการบริหารของราชการ

“บิ๊กตู่”แนะแก้จิตสำนึกของคน

วันเดียวกัน ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมขอแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม โดยอ้างว่านายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่มีอำนาจโยกย้ายแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ขอถามว่าถ้าทหารแข็งแรงเกินไปแล้วจะปฏิวัติอย่างเดียวใช่หรือไม่ ทำไมไม่ให้ทหารแข็งแรงเพื่อป้องกันชายแดน พัฒนาช่วยเหลือประชาชน

“วันนี้อย่าพูดคำนี้ สิ่งที่ผ่านมาแล้ว ก็แก้กัน อย่าให้เกิดขึ้นมาอีก และไปหาวิธีการอื่น ไม่ใช่มาแก้กันด้วยกฎหมาย ถามว่ากฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่แก้กันมา ทำอะไรได้บ้าง แก้อะไรได้บ้าง อยู่ที่คนทั้งสิ้น ต้องมีความสำนึก ความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต ท้ายสุดคือความจงรักภักดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ต้องไปแก้อะไรทั้งสิ้น” ผบ.ทบ. ระบุและว่า วันนี้ตนไปมีทีท่าอะไรอย่างอื่นหรือไม่ เราไม่ได้ไปต่อสู้กับใครเลย เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกัน

ลั่นบุกสภาแจง พ.ร.บ.กลาโหม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีประเด็นขัดแย้งใน พ.ร.บ. ดังกล่าว เพียงแต่ถามมาตนก็ตอบให้ฟังว่ามี พ.ร.บ. กลาโหมอยู่ ถามว่าแก้ได้ไหม ตนก็ตอบว่าไม่ได้ เพราะเวลาประชุมกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ก็หัวเราะพูดคุยกัน คนนี้เป็นตรงนั้น คนนั้นเป็นตรงนี้ ไม่ได้มีอะไรที่ขัดข้อง ไม่มีการยกมือโหวตกัน ไม่เคยทะเลาะกัน และทะเลาะกันไม่ได้ มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะเป็นพี่น้องโตตามกันมาทั้งนั้น และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชา

ต่อข้อถามว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน กมธ. เตรียมให้กองทัพเข้าชี้แจงเรื่อง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนอาจไปชี้แจงด้วยตัวเองก็ได้ แต่ปกติแล้วหากมีหนังสือเชิญมาจะให้ผู้แทนหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องเรื่องกฎหมาย เช่น นายทหารพระธรรมนูญ กรมพระธรรมนูญ ไปชี้แจง ทั้งหมดเป็นระบบ

“ปชป.”ซัด“ปู”ปากว่าตาขยิบ

ด้านนายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงจุดยืนถึงการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากพรรคเพื่อไทยจุดประเด็นการแก้ไข ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เห็นด้วย จะได้เป็นการปรามลูกพรรคให้ไปสนใจแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมากกว่าการแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการ หรือถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นด้วย ประชาชนจะได้รับทราบว่ากระบวนการเรียกร้องแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นแนวทางของพรรคเพื่อไทยขณะที่นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการสั่งงดการประชุมสภา เพราะเวทีสภาไม่ใช่เวทีของรัฐบาล แต่เป็นเวทีสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การที่จะให้ ส.ส. ได้ลงพื้นที่ไปช่วยแก้น้ำท่วมก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเข้าใจ แต่ ส.ส.กรุงเทพฯ ซึ่งกำลังจะประสบปัญหาก็ต้องการสะท้อนความเดือดร้อนเพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไข การปิดสภาเช่นนี้จึงไม่เป็นผลดีต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาของทุกฝ่าย

“คอป.”แย้มแนวทางเยียวยา

ขณะเดียวกัน นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ถึงผลการประชุม คอป. ว่า ที่ประชุมจะจัดให้มีการประชุมระดมความเห็นวางกรอบการเยียวยาโดยจะเชิญนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของ คอป. (ปคอป.) เข้าร่วม ส่วนตัวแทนผู้เกี่ยวข้องจะเชิญมา 3 กลุ่ม คือ ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ ญาติผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ เช่น ภรรยา พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ลูกสาว พล.ต.ขัตติยะ หรือ เสธ.แดง ผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น กลุ่มผู้ค้าย่านราชประสงค์ด้วย กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มผู้มีประสบการณ์ด้านการเยียวยาหรือเคยได้รับผลกระทบมาก่อน เช่น คุณอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ญาติวีรชนพฤษภา 35 องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในช่วงเดือน ต.ค. นี้

นายกิตติพงษ์ เปิดเผยอีกว่า วันที่ 12 ต.ค.นี้ นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. พร้อมคณะ จะหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ที่โรงแรมสยามซิตี จากนั้นจะนัดพูดคุยกับบุคคลสำคัญอื่น ๆ ต่อไป

“อสส.”ส่งเอกสารคดีเลี่ยงภาษี

อีกเรื่องหนึ่ง นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการจัดส่งสำเนาเอกสารการไม่ฎีกาคดีเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนายบรรพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ตามที่ได้ร้องขอก่อนหน้านี้ว่า นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด (อสส.) กำลังพิจารณาว่าเอกสารส่วนใดที่สามารถส่งให้พรรคประชาธิปัตย์ได้บ้าง ที่ขอมาก็สามารถส่งให้ได้มากพอสมควร แต่เอกสารบางอย่างก็ไม่มี ส่วนสำเนาความเห็นของอัยการแต่ละคนไม่สามารถให้ได้ จะให้ได้เฉพาะความเห็นของคณะทำงาน

ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ขู่จะยื่นถอดถอนอัยการสูงสุดนั้น โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะถอดถอนด้วยเรื่องอะไร เพราะอัยการมีความเห็นโดยถูกต้องแล้ว โดยคณะทำงานของอัยการตรวจสอบคดีของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ก็มีความเห็นพ้องไปในทางเดียวกัน

ร้อง“กกต.”เชือด“ถาวร-วิรัตน์”

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. สรรหา ยื่นหนังสือให้ กกต. ตรวจสอบนายถาวร เสนเนียม และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กรณีใช้สถานการณ์เป็น ส.ส. เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือพรรคการเมือง อันเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (1) ที่อาจจะทำให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (6)

หนังสือระบุว่า การที่นายวิรัตน์และนายถาวรเข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการไม่ยื่นฎีกาคดีภาษีหุ้นบริษัทชินคอร์ปต่อศาลฎีกา และขอให้อัยการดำเนินการส่งมอบเอกสารของคดี รวมทั้งการออกมาให้สัมภาษณ์เตรียมจะถอดถอนอัยการสูงสุด ทั้งหมดนี้ทำให้เชื่อได้ว่าบุคคลทั้งสองมีพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำต้องห้าม รวมทั้งให้ กกต. พิจารณาด้วยว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจใดในการลงมติและมีหนังสือไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งหากเห็นว่า ป.ป.ช. กระทำการโดยไม่มีอำนาจ ก็ให้ส่งเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (1) (ค) เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งเป็นอำนาจในการตรวจสอบ

“วิรัตน์”โต้ล้วงลูกองค์กรอิสระ

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ยื่นให้ กกต. ตรวจสอบนายวิรัตน์และนายถาวร ใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงองค์กรอิสระว่า ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรก แซง เพราะ ส.ส. ทำหน้าที่เพื่อประชาชนในการตรวจสอบการทำงาน และไม่เป็นการแทรก แซงดุลพินิจของอัยการสูงสุด เพราะคดีได้สิ้นสุดไปแล้ว เนื่องจากอัยการได้ใช้ดุลพินิจไม่ฎีกาคดีแล้ว เพียงแต่ตนและนายถาวร อยากทราบเหตุผลว่าเหตุใดอัยการจึงพิจารณาสั่งฟ้องบุคคลทั้งสามในตอนแรก และขอความเห็นถึงขั้นตอนที่อัยการไม่ฎีกาคดีด้วย

“การที่นายเรืองไกรออกมาร้องอย่างนี้ ไม่กระทบการทำงานของพวกผมอย่างแน่นอน แต่อยากถามนายเรืองไกรว่าทำหน้าที่โดยสุจริตหรือทำเพื่อใคร และมีเจตนาอะไร ในช่วง 1-2 วันนี้จะให้เวลาอัยการเรียกประชุมคณะทำงาน เพื่อพิจารณาว่าจะส่งเอกสารใดมาให้พรรคบ้าง แต่ถ้าถึงวันที่ 15 ต.ค. แล้วไม่มีความคืบหน้า พรรคก็จะพิจารณากระบวนการยื่นถอดถอนต่อไป” หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ระบุ

ครม. แต่งตั้ง“บิ๊ก” 2 กระทรวง

วันเดียวกัน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้ นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เป็นรองปลัดกระทรวงฯ นางพรทิพย์ ปั่นเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบการแต่งตั้งในกระทรวงคมนาคม ดังนี้ นายวันชัย ภาคลักษณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง เป็นอธิบดีกรมทางหลวง และนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นอธิบดีกรมทางหลวงชนบท นอกจากนี้ยังได้รับทราบการแต่งตั้งนายอัยยณัฐ ถินอภัย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และแต่งตั้ง น.อ.จิรพล เกื้อด้วง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน.

ต้นฉบับ: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=8&contentId=169113

ที่มา: เดลินิวส์

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วรเจตน์ มีเจตนาอะไร !!?

ปรากฏการณ์ “นิติราษฎร์” เริ่มเขย่าวงการ “นักกฎหมายมหาชน” อย่างหนักหน่วง โดยทางกลุ่มคณาจารย์ด้านกฎหมายแห่งรั้วแม่โดมกลุ่มนี้ จงใจเลือกวันก่อตั้ง “คณะนิติราษฎร์” ในวันที่ 19 กันยายน 2553 ซึ่งเป็น วันเดียวกัน เดือนเดียวกันกับการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดของสยามประเทศ คือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือเลือกที่จะก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาหลังจากมีการยึดอำนาจผ่านไปได้เพียง 4 ปี

คณะนิติราษฎร์จงใจเลือกวันก่อตั้งในวันที่ 19 กันยา ก็เพียงเพื่อจะสื่อสารไปยังประชาชนคนไทย ทั้งประเทศว่า.. ปัญญาชนด้านกฎหมายนั้นเอือมระอากับการยึดอำนาจรัฐด้วยปากกระบอกปืนเต็ม ทนแล้ว..การพร้อมใจกันของกลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทั้ง 7 ท่านในนาม “คณะนิติราษฎร์” ที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทาย “อำนาจกองทัพ” ในครั้งนี้..จะเป็นคุณต่อประเทศหรือไม่?? สังคมควรพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดถี่ถ้วนและเป็นกลาง...ปฏิกิริยาของแถลงการณ์ “คณะนิติราษฎร์” เนื่องในโอกาสเว็บไซต์ครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 นับได้ว่าสั่นคลอนระบบอำนาจของประเทศอย่างชนิดที่ไม่เคยมีผู้ใดหาญกล้าเคย ทำมาก่อน..

การเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นต้นเหตุ ของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนไม่เพียงเฉพาะนักกฎหมายต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่า..เมื่อมีการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐไว้ในมือคนเพียงไม่มีกี่คน.. มันคุ้มหรือไม่กับผลกระทบที่จะตามมา?!?! เราคนไทยสมควรก้มหัวให้การ ยอมรับ “การทำรัฐประหาร” ของคณะบุคคลใดๆ ก็ได้อย่างนั้นหรือ??? และที่ผ่านๆ มาทำไมสังคมไทยต้องให้การยอมรับการทำ “รัฐประหาร” หรือเพราะความหวาดกลัว “คนถือปืน”...
คนไม่มีปืน..ไม่มีรถถัง.. ยึดอำนาจได้หรือไม่??? สำหรับประเทศไทยนั้นคงจะยาก.. แต่ในต่างประเทศที่ “ประชาธิปไตยเสื่อม” มีความเหลื่อมล้ำสูง ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม..การ เกิด “ปฏิวัติจากประชาชน” ก็มีให้เห็นอย่างที่เป็นข่าวไปแล้วเกือบครึ่งโลกเมื่อไม่นานมานี้..สำหรับ “นิติราษฎร์” ที่เดินหน้าชูธงว่าการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นทำลายนิติรัฐ ที่สำคัญมันเป็นการทำลายประชาธิปไตยของประเทศ เราคนไทยมีสิทธิ์คิดเห็นต่างไปจากคณาจารย์กลุ่มนี้ได้มิใช่หรือ???

เพราะเพียงแค่หยิบประเด็น “การยึดอำนาจ” ขึ้นมาถกกัน..ยังวุ่นกันไม่เลิก..เพราะมีสื่อบางจำพวกตีความเลยเถิดเกินขอบเขต..ในทำนองที่ว่า..หากใครไม่เห็นด้วยหรือต่อต้าน “คณะนิติราษฎร์” จะถูกผลักให้ไปอยู่กลุ่มผู้สนับสนุนการทำรัฐประหารไปซะอย่างนั้น!!! แต่ที่ “นิติราษฎร์” แทงตรงโดนใจผู้มีอำนาจนอกระบบ..ก็ตรงที่เสนอให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้นเสีย เปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย..ไม่รู้ว่า “กลุ่มนิติราษฎร์” ไปกินดีหมีมาจากไหน??? เพราะข้อเสนอการลบล้าง ผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มันเหมือนกับวันที่ 18 กันยายน 2549 ก่อนวันยึดอำนาจ 1 วัน คือเสมือนไม่มีการทำรัฐประหาร!!! คล้ายกับว่าคนไทยยังคงใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 อยู่เช่นเดิม..

แม้ว่าทาง “นิติราษฎร์” จะออกมานั่งยันนอนยันว่าข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ใช่ นิรโทษกรรม-อภัยโทษ หรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เพียงแต่อยากให้ดำเนินคดีไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติ.. แต่สังคมก็มีสิทธิ์ตั้งข้อสังเกตในประเด็น “การล้างผิด” ให้กับผู้มีอำนาจมิใช่หรือ??? คงต้องจับตา “ปรากฏการณ์นิติราษฎร์” ว่าจะทำให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นความว่างเปล่าเหมือนอากาศธาตุได้จริงหรือไม่ ??? แต่อย่างน้อย “การต่อต้านรัฐประหาร” ก็สร้างแรงสะท้อนในระบอบประชาธิปไตยไทยได้เป็นวงกว้าง..ส่วนการสร้างความชอบธรรมให้กับทางกลุ่มนิติราษฎร์..โดยการเสนอให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นดอกผลจาก “ต้นไม้พิษ” รัฐประหาร 19 กันยายน ซึ่งมีปัญหาด้านความชอบธรรมทางประชาธิปไตย สมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาแทน “ผลไม้พิษเผด็จการ 2550” ก็เห็นหลายฝ่ายขานรับอยู่มิใช่น้อย...

ด้านข้อเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 นั้นก็คงเป็นเพียงการ “แหย่รังแตน” เพื่อทำการเปิดหน้ากลุ่มอนุรักษ์ให้ออกมาโชว์ตัวต่อสาธารณชน.. คาดว่าทางกลุ่มนิติราษฎร์คงไม่คาดหวังผลการเปลี่ยนแปลงประเด็นดังกล่าวในห้วงเวลานี้..แต่สุดท้ายก็มีผู้ออกมา “งับเหยื่อ” ในมาตรา 112 อยู่หลายราย... แต่ไม่รู้ว่า “จริงใจ” หรือ... “เล่นละคร” ?!?! ไม่ว่าความเห็นทางวิชาการของกลุ่มใดก็ตาม.. จะมีธงในใจหรือไม่ก็ตามที.. แต่หาก “แก่นแท้” ในเนื้อหาที่นำเสนอสู่สาธารณะนั้น “เป็นความจริง”.. และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยโดยส่วนรวม..
เราคนไทยพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับ “ความจริง” และยอมรับมันได้มากน้อยเพียงใด??? หลังจากนี้ต่อไปหากสังคมขานรับกับแนวทางของกลุ่มนิติราษฎร์.. “อำนาจนอกระบบ” ที่ฝังรากลึกกับประเทศแห่งนี้คงต้องมีการเปลี่ยนแปลง.. หรือไม่อย่างน้อย “กองทัพ” ผู้ทรงอิทธิพล ในวันนี้ คงจะลดบทบาทตัวเองลงเป็นแค่ “ส่วนประกอบของอำนาจ” มิใช่เป็นฝ่ายกุมอำนาจของประเทศแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป..


ที่มา:สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

ครม.เล็งพิจารณาวันหยุดราชการเพิ่ม 3 วัน !!?


ครม.เล็งพิจารณาวันหยุดราชการเพิ่ม3วัน

โยกประชุม ครม. มาประชุมที่ ศปภ. ท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะที่วันนี้ ครม. จะพิจารณาประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-14 ต.ค. หลังหลายจังหวัดเข้าขั้นวิกฤติ และจะมีการปรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ใหม่ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ด้านนายกฯระบุ อาจพิจารณาวันหยุดเป็นรายจังหวัดไป...

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เปลี่ยนสถานที่การประชุมจากทำเนียบรัฐบาล มายังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีวาระ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานผลกระทบน้ำท่วมที่มีต่อจีดีพีในภาพรวม ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นที่ 8-9 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ภาคการเกษตร ราว 4 หมื่นล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม ราว 4.8 หมื่นล้านบาท เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ

ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีการปรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ใหม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม นอกจากนี้ ครม. จะหารือถึงแนวทางการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยจะต้องปรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 ในส่วนงบเหลื่อมปีที่กระทรวงต่างๆ ขอกันไว้มาใช้ในการแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันจะต้องปรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ของกระทรวงต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนมาตั้งเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนสำหรับแก้ปัญหา โดยจะต้องหารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง

ด้านกระทรวงคมนาคม ขออนุมัติงบประมาณปี 2555 เพื่อการขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขินทั้งสิ้น 4,807 ล้านบาท เพื่อให้กรมเจ้าท่านำไปใช้ในการขุดลอกคูคลอง ซึ่งเชื่อว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี

ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอจัดตั้งกองทุนมูลค่า 50,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อาจจะเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อให้ประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-14 ต.ค. เพื่อให้ประชาชนได้ขนย้ายสิ่งของหนีน้ำได้ทัน เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดเข้าขั้นวิกฤติ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ประสบอุทกภัยปี 54 โดยมี 2 วิธี คือ 1.หนี้เงินกู้ที่มีอยู่เดิมก่อนประสบภัย ให้ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ประสบอุทกภัย โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ตามอัตราที่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเรียกเก็บจากสมาชิก 2.เงินกู้สัญญาใหม่เพื่อการฟื้นฟูอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต สัญญารายละไม่เกิน 1 แสนบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี และกระทรวงการคลังอาจจะเสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับรถยนต์อีโคคาร์ (รถประหยัดพลังงาน) ให้ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน 1 แสนบาทเท่ากัน

ต้นฉบับ: http://www.thairath.co.th/content/pol/208378ที่มา: ไทยรัฐ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กูรูใหญ่ ดร.โกร่ง แห่งคนเดินตรอกเขียนเรื่อง.อนิจจาอเมริกาและยุโรป !!?

ดร. วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตร.ม.ว.คลัง คอลัมนิสต์ คนเดินตรอกใน"ประชาชาติธุรกิจ"เขียนบทความเรื่อง" อนิจจาอเมริกาและยุโรป" ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วเรื่อยมาถึงสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นไทยปรับฐานดัชนีลงมาเรื่อย ๆ ลงจาก 1,100 จุด ลงมาเหลือ 850 จุดแล้ว เล่นเอานักลงทุนในตลาดหุ้นหายใจกันไม่ทั่วท้อง

ยิ่งดูจากรายงานว่าผู้ที่ขายนำรายใหญ่เป็นนักลงทุนต่างประเทศ เป็นผู้ขายนำก่อน ที่แรกนักลงทุนรายย่อยก็รับซื้อไว้ แต่พอดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำกว่า 900 จุด รายย่อยก็เลยเทขายบ้าง เล่นเอาขาดทุนกันย่อยยับ

สาเหตุที่ตลาดหุ้นบ้านเราลงเอา ๆ ในตอนที่เขียนบทความนี้อยู่ ก็เพราะตลาดหุ้นทั่วโลก นำโดยตลาดหุ้น อเมริกาและยุโรป ราคาตกปรับฐานกันถ้วนทั่ว ตลาดเอเชียก็เลยตกตาม

เหตุผลเที่ยวนี้ก็คือ รายงานภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาดูจะแย่กว่าที่คิดก็เลยคิดว่าเศรษฐกิจของอเมริกาคง จะซบเซาต่อไปอีกนาน แม้ว่ารัฐบาล อเมริกาจะประกาศว่าจะมีการใช้เงิน เพื่อพยุงฐานะทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกกันว่า คิวอีสาม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะทำอย่างไร จะไปตามแนวทางของเศรษฐศาสตร์การเงิน หรือจะลงทุนในภาคเศรษฐกิจแท้จริง เช่น สร้างถนนหนทาง รถใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง เขื่อนชลประทาน สนามบิน สร้างบ้านเพื่อคนจน เพื่อสร้างงานให้คนมีรายได้จับจ่ายใช้สอยตามแนวเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ ซึ่งคนอเมริกันไม่ค่อยชอบให้รัฐบาลเข้ามายุ่งกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก

รัฐบาลอเมริกันก็เลยลังเลไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้ง ๆ ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับ รางวัลโนเบลอยู่มากมาย ข้อจำกัดของสังคมอเมริกันก็คือ อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของคนอเมริกัน สังคมอเมริกันเป็นสังคมทุนนิยมเสรีสุดกู่ ปกครองโดยมีนายทุนใหญ่ ๆ เชื้อสายยิวอยู่เบื้องหลัง

สื่อมวลชนของอเมริกาไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ทั้งโทรทัศน์ฟรี หรือเสียเงิน ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของนายทุน ซึ่งรายใหญ่ ๆ ก็เป็นยิว

เป็นธรรมดาที่ชนชั้นนายทุนย่อมไม่ชอบให้รัฐบาลมีบทบาททางเศรษฐกิจมากเกินไป ไม่ชอบอัตราภาษีสูง แต่ชอบให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณมาก ๆ ให้ดูแลทางด้านการเงินอย่างเดียว

เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา การอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบแทนที่จะนำไปลงทุน จริง ๆ เพื่อสร้างงาน ลดการว่างงาน ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ก็เอาไปช่วยบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีปัญหา เอาไปช่วยธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของคนอเมริกันเชื้อสายยิว ผลจึงออกมาไม่เป็นเรื่องเป็นราวเสียเงินเสียเวลา ไอเอ็มเอฟก็ไม่เห็นว่าอะไร ถ้าเป็นประเทศเราคงถูกอเมริกาและไอเอ็มเอฟเล่นงานจนแย่ การวางนโยบายมหภาคของอเมริกาจึงแย่ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาที่ตนสั่งสอน วิชาเศรษฐศาสตร์เราก็เรียนมาจากครูอเมริกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายมหภาคอเมริกันมาตลอด

คนอเมริกันเอาอุดมการณ์นำนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อส่วนรวม คนจนในอเมริกานั้นน่าสงสาร เมื่อตกงานก็ไม่มีทางไป ไม่เหมือนบ้านเรา หากตกงานก็กลับบ้านไปช่วยกันทำงานในท้องไร่ท้องนาในสวน มีอาหาร มีเครื่องนุ่งห่ม มีบ้านอยู่ ส่วนคนอเมริกันตกงานจะไม่มีทางไป ห้องพักไม่จ่ายค่าเช่าก็ถูกไล่ออก บ้านผ่อนส่งไม่มีเงินผ่อน ธนาคารก็ ยึดคืนขายทอดตลาด ไม่มีที่อยู่ หน้าหนาวถ้าไม่มีบ้านหรือพักอยู่ไม่มีเครื่องทำความร้อน ก็มีหวังหนาวตาย

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ โจรผู้ร้าย ในอเมริกาจึงชุกชุม ผู้คนหน้าตาถมึงทึง ไม่น่าอยู่ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ ยกเว้นเมืองเล็ก ๆ ในชนบท แถบตอนกลางของประเทศที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ผู้คนฐานะดี เกษตรกรมีคนน้อยแต่มีพื้นที่มากและรัฐบาลใช้ภาษีอากรของคนส่วนใหญ่กว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาอุดหนุน โดยนโยบายรับจำนำสินค้าโภคภัณฑ์ ผ่านบรรษัทเครดิตสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity Credit Corporation หรือที่รู้จักกันในนาม CCC ที่ไทยเราพยายามเอาอย่าง ทั้ง ๆ ที่เงื่อนไขไม่เหมือนกัน แต่สังคมอเมริกันก็รับได้ เพราะอุดมการณ์ที่ทุกคนมีเสรีภาพที่ จะจน นั่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ ถ้าฉลาดและขยันจะร่ำรวย หรืออดอยากหนาวตาย ถ้าโง่เกียจคร้านแล้วยากจน ไม่มีใครช่วยได้ รัฐบาลช่วยได้น้อยมาก

ปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกาไม่สามารถทำนโยบายที่ถูกต้องมาใช้ได้ ก็เพราะโครงสร้างทางการเมืองและความเชื่อในเรื่องภาพทางเศรษฐกิจของคนอเมริกัน ไมใช่คนอเมริกันไม่รู้วิชาเศรษฐศาสตร์

ที่มา: มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ระเบิดลูกใหม่ พ.ร.บ.กลาโหม !!?


เป็นประเด็นร้อนแทรกเข้ามา กลางวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ครึ่งค่อนประเทศ
กรณีส.ส.รัฐบาล สมาชิกพรรคเพื่อไทยประสานเสียงกลุ่มนปช. และคนเสื้อแดง จุดพลุผลักดันให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.กลาโหม

เล็งเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม "จัดระเบียบ" แทนที่จะปล่อยให้อำนาจดังกล่าวอยู่ในมือผู้นำทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว

แม้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีจะจบสมบูรณ์ไปแล้ว พร้อมกับกระแสข่าวฝ่ายการเมืองสามารถ "จูนคลื่น" ฝ่ายทหารได้ลงตัว โดยเฉพาะตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งลงเอยที่พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์

ขณะที่ตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ทั้งพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ. สส. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. และพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผบ.ทบ. ล้วนเป็นไปตามโผชื่อที่ผู้นำเหล่าทัพเสนอทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามมีการมองว่าการที่รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ยังไม่ต้องการนำเรื่องการโยกย้ายนายทหารมาเป็นประเด็น "แตกหัก" กับฝ่ายกองทัพในตอนนี้ ถึงสองฝ่ายจะมีเรื่องคาใจกันจากเหตุการณ์เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.ปีที่แล้วก็ตาม

ก็เพราะตามกฎหมายพ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 ซึ่งออกในสมัยรัฐบาลจากการรัฐประหารซึ่งมีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ

กำหนด "ล็อกตาย" ให้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการ 7 คน คือรมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ผบ.สส. ผบ. 3 เหล่าทัพ และปลัดกลาโหมเท่านั้น

โดยถือเสียงข้างมากเป็นมติชี้ขาด

กับอีกเหตุผลหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศเพียง 1 เดือนเศษ ท่ามกลาง "กับดัก" ปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าการโจมตีทางการเมือง หรือการดำเนินนโยบายตามที่แถลงต่อรัฐสภา

ยังไม่รวมอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนมากที่สุดเวลานี้ ดังนั้น ไม่ว่ามองด้านไหนรัฐบาลก็ยังไม่มั่นคงพอจะเพิ่มปัญหาด้วยการเปิดศึกกับกองทัพ

กระนั้นก็ตามการที่รัฐบาลไม่เข้าไปแตะการโยกย้ายในส่วนของกองทัพ นอกจาก ส.ส.พรรคบางส่วนแล้วยังทำให้คน 2 กลุ่มไม่ค่อยพอใจนัก

คือกลุ่มเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) ในพรรคเพื่อไทย

ซึ่งจะเห็นได้จากพล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี พล.ท.มะ โพธิ์งาม ต่างเห็นว่าพ.ร.บ.กลาโหมควรต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อเพิ่มอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพให้รมว.กลาโหม ตัวแทนฝ่ายบริหาร ไม่ให้เป็นเหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง หรือแค่ "ตรายาง" เท่านั้น

กับอีกกลุ่มคือ กลุ่มญาติวีรชนเดือนเม.ย.-พ.ค.53 และคนเสื้อแดง ที่รู้สึกหวาดระแวงว่ารัฐบาลที่พวกเขาเลือกเข้ามากำลังจะเล่นบท "ฮั้วอำนาจ" กับฝ่ายกองทัพ

เนื่องจากรู้ทั้งรู้ว่านายทหารบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปราบม็อบเสื้อแดงจนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก

แต่ก็ยังได้ดิบได้ดีในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยฝ่ายการเมืองไม่แสดงความพยายามที่จะคัดค้าน จน "แม่น้องเกด" ต้องบุกไปเผาโลงประท้วงหน้ากองทัพบก พร้อมฝากคำตัดพ้อไปถึงรัฐบาลและแกนนำนปช.

เดือดร้อนถึงส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำนปช.ต้องออกมาช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับญาติวีรชนคนเสื้อแดง

ตามที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่าประชาชนไม่มีวันลืมนายทหารบางนายที่มีบทบาทใช้กำลังจนทำให้ประชาชนล้มตายจำนวนมาก และต้องติดตามตรวจสอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายและคดีความ

"แต่เมื่อโผออกมาเป็นอย่างนี้จะต้องทำความเข้าใจ เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงมีกฎหมายพิเศษ ล็อกคนที่มาจากการเลือกตั้งเอาไว้กลางวงล้อมของแม่ทัพนายกอง"

กฎหมายพิเศษที่นายณัฐวุฒิกล่าวถึงก็คือพ.ร.บ.กลาโหมที่ออกโดยรัฐบาลคมช.

อีกทั้งคณะกรรมาธิการผู้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นระดับซุป"ตาร์ใน "บูรพาพยัคฆ์" แทบทั้งสิ้น จึงถือเป็นกฎหมาย "ผลไม้พิษ" ที่มาจากต้นไม้เผด็จการ ซึ่งจะต้องได้รับการจัดการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามแม้คนที่เป็นกลางอย่างนายโคทม อารียา จะเห็นด้วยหากจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.กลาโหม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายทหารมากเกินไป

แต่ก็ยอมรับว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายทหารนั้นคงทำได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ไว้ใจกัน

ในส่วนของทหารจะเห็นได้จากการที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรมว.กลาโหม และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกมาให้สัมภาษณ์เสียงเข้มว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข

เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพ

"การจะต้องมีหรือไม่มีพ.ร.บ. การแต่งตั้งจะเป็นอย่างไร ให้ดูจากที่เขาทำงานและทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้หรือไม่ จะมาพูดว่าคนนั้นถูกคนนี้ผิด ต้องไปว่ากันในกระบวนการยุติธรรม ขอร้องอย่ามากดดันเพราะกดดันกันไม่ได้"

พล.อ.ประยุทธ์ระบุ ก่อนกล่าวตบท้ายด้วยประโยคที่ฉุดอุณหภูมิให้ร้อนวูบขึ้นทันที "ถ้าผมไม่ทำประโยชน์ก็ย้ายผมได้"

แล้วก็เป็นทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ที่ไม่เกรงต่อปฏิกิริยาฮึ่มฮั่มจากกองทัพ ยืนยันจะเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ. กลาโหมเข้าสู่สภาแน่นอน

พร้อมดักคอว่าการแก้ไขจะไม่เป็นเหตุให้ทหารออกมาตบเท้าต่อต้านหรือทำปฏิวัติ เพราะยุคนี้เป็นทหารประชาธิปไตย ต้องฟังรัฐบาลเป็นหลัก

ต่างฝ่ายต่างเปิดเกมท้าทาย

แต่จะจริงจังขนาดไหนต้องรอดูชัดๆ หลังประเทศพ้นวิกฤตน้ำท่วมไปแล้ว


ที่มา:ข่าวสด
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เตือนอย่าใช้ความรุนแรงล้างรัฐประหาร 19ก.ย.49 หวั่นบีบทหารปฏิวัติ !!?

อาจารย์ใหญ่นิติศาสตร์หวั่นปัญหาความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จะขยายวงกว้างและจุดชนวนให้ทหารออกมาทำรัฐประหารอีก ฟันธงรัฐบาลไม่กล้ารับลูก เพราะอาจทำให้ถูกยึดอำนาจได้ แนะ “ยิ่งลักษณ์” ถ้ารัฐบาลไปไม่ไหวให้ลาออกหรือยุบสภา เชื่อจะช่วยป้องกันรัฐประหารได้ดีที่สุด ด้านกรรมการ คอป. ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านอย่ายกข้อเสนอคณะนิติราษฎร์มาเป็นชนวนก่อเหตุรุนแรง ระบุการจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามควรเป็นไปตามกรอบประชาธิปไตย หวั่นถ้ามีความรุนแรงอีกความพยายามสร้างความปรองดองของ คอป. จะล้มเหลว รองโฆษกเพื่อไทยจี้คณะบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางตัวเป็นกลางทางการเมืองเพื่อไม่ให้ลูกศิษย์ขัดแย้งกันเอง

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต ส.ว. จังหวัดตาก กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของบุคคลหลายฝ่ายในสังคมไทยเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎรที่ต้องการให้มีการลบล้างผลพวงจากการทำรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 ว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือถ้าในที่สุดแล้วความขัดแย้งทางความคิดหากกดดันกันต่อไปมากๆเข้าจนถึง ณ จุดหนึ่งทางฝ่ายทหารอาจจะคิดว่าเขาไม่มีทางเลือก เพราะถ้าถึงขั้นจะเอาเขาไปเข้าคุกเขาอาจคิดทำรัฐประหารอีกครั้งได้ และถ้าทหารจะคิดทำอีกคงต้องหาเงื่อนไขใหม่ๆอีกหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 รวมทั้งต้องดูว่าฝ่ายที่จะต่อสู้กับรัฐประหารจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น

บีบมากถึงจุดหนึ่งอาจปฏิวัติอีก

“ที่บอกว่าหากเกิดการปะทะทางความคิดเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์กันมากๆเมื่อถึงจุดๆหนึ่งอาจทำให้ทหารออกมายึดอำนาจอีกนั้น ขอย้ำว่ามีทั้งความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินหน้าไปถึงขนาดที่ว่าจะต้องเอามาลงโทษในขณะที่ดุลของอำนาจน้ำหนักยังอยู่ที่ฝ่ายเขา เขามีกองทัพ มีกำลังอาวุธและกำลังคนอยู่ในมือ เชื่อว่าเขาคงยอมตรงนั้นไม่ได้” นายพนัสกล่าวและว่า ในส่วนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงไม่กล้ารับลูกข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ โดยเฉพาะการเอาพวกที่ทำรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 มาพิจารณาลงโทษ

แนะนายกฯไปไม่ไหวลาออก-ยุบสภา

นายพนัสกล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ยังไม่มีเงื่อนไขอะไรที่จะนำไปสู่การทำรัฐประหารได้ อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาขึ้นมามากๆ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปไม่ไหวในการแก้ปัญหาประเทศก็ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วให้คนอื่นขึ้นมาทำหน้าที่แทน หรือควรยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ให้ประชาชนตัดสิน และใช้ครรลองของประชาธิปไตยแบบนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายคนไทยจะคุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย แนวทางนี้จะหลีกเลี่ยงการถูกยึดอำนาจจากทหารได้ และเป็นวิธีที่จะป้องกันไม่ให้มีการยึดอำนาจได้ดีที่สุดด้วย

กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา

นายสมชาย หอมลออ กรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายคนหนึ่งขอแสดงความชื่นชมคณะนิติราษฎร์ที่ได้พัฒนาแนวคิดทางกฎหมายในระบบ หรือกระบวนการทางกฎหมายของไทยที่มีความแตกต่างออกไป ซึ่งความจริงสิ่งเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว เพราะของเรามีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับระบบหรือกระบวนการยุติธรรมและแนวคิดทางกฎหมาย เช่น แนวคิดทางกฎหมายที่ว่ากฎหมายคือคำสั่งขององค์อธิปัตย์ แม้จะเป็นองค์อธิปัตย์ที่เกิดโดยชอบหรือไม่ชอบธรรมก็แล้วแต่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

ข้อเสนอนิติราษฎร์ป้องกันปฏิวัติได้

“กระบวนการยุติธรรมของไทยในอดีตตั้งแต่ปี 2500 ยอมรับอำนาจของรัฐประหาร จุดนี้ขัดแย้งกับแนวคิดในระบอบประชาธิปไตยมาก และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ประเด็นของคณะนิติราษฎร์ที่เสนอให้มีการทบทวนและยกเลิกบางมาตราที่ยกเว้นความผิดของคณะรัฐประหารตามรัฐธรรมนูญปี 2549 ผมเห็นด้วยในหลักการ แม้ในทางปฏิบัติอาจมีความยากลำบากในการจะนำเอาผู้ก่อการรัฐประหารมาดำเนินคดี เพราะระบบกฎหมายอาจยังไม่เปิดกว้างถึงขนาดนั้น แต่การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อให้สังคมได้ถกเถียงกัน และถ้าสามารถหาข้อยุติได้จะเป็นหลักการที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารในอนาคตได้”

ต้องล้างหลักการนิรโทษกรรม

นายสมชายสนับสนุนหลักการที่เสนอให้มีการยกเลิกการนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหาร เพราะการนิรโทษกรรมตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว ซึ่งในหลายประเทศก็ทำกัน ในทางกฎหมายแม้ว่าจะมีหลักกฎหมายที่ไม่ให้เป็นความผิดย้อนหลัง หรือเมื่อมีกฎหมายทำให้พ้นโทษไปแล้วและจะไม่มีการพิจารณาคดีหรือลงโทษซ้ำสองอยู่ก็ตาม แต่ในหลายประเทศที่พูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ยกเว้นหลักการนี้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ความผิดในฐานการยึดอำนาจยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ แต่ถ้าเป็นความผิดร้ายแรงทางอาชญากรรมสงคราม ความผิดต่อมนุษย์ชาติหรือการล้างเผ่าพันธุ์ เป็นความผิดที่ไม่สามารถจะนิรโทษกรรมได้ไม่ว่ารัฐใดก็แล้วแต่

เปลี่ยนแปลงตามระบบจะไม่รุนแรง

“การดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอเหล่านี้เป็นการถกเถียงและผ่านขั้นตอนทางประชาธิปไตย ถ้าทุกฝ่ายยึดตามขั้นตอนนี้จะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกในแง่ของความรุนแรง แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ไม่ยอมรับกระบวนการประชาธิปไตยก็อาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้ ผมคิดว่าการดำเนินการต่างๆจะต้องยอมรับก่อนว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการประชาธิปไตยที่เห็นพ้องต้องกัน จะทำอะไรก็ตามทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านอย่าเอาเรื่องนี้ไปเป็นเหตุในการก่อความรุนแรง ไม่เช่นนั้นรายงานของ คอป. ที่กำลังทำเรื่องการสร้างความปรองดองอาจจะล้มเหลวได้”

จี้อธิการบดี มธ. วางตัวเป็นกลาง

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอไว้อาลัยให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ทุกคนที่เสียชีวิตจากการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งขอเรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางตัวเป็นกลาง เพราะอดีตที่ผ่านมานั้นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำให้นักศึกษาแตกแยกเป็นเหล่า เป็นกลุ่มก้อน จนนักศึกษามหาวิทยาลัยเดียวกันบางครั้งยังไม่คุยกัน เนื่องจากสวมเสื้อคนละสี

ที่มา:หนังสือพมพ์โลกวันนี้

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ย้อนรอย 11 ครั้งน้ำท่วม กทม.ใยปีนี้ถึงเสี่ยงซ้ำปี 2538 !!?


ย้อนรอยน้ำท่วมใหญ่กทม. 11ครั้ง มองสถานการณ์วันนี้ ปรากฎการณ์คล้ายท่วมใหญ่ ปี 2538 โดนทั้งพายุและน้ำเหนือทะลักเข้ามา
"กรุงเทพ น้ำจะท่วมไหม๊?" เป็นคำถามที่เชื่อว่าคนเมืองหลวงต้องการให้ตอบว่า"ไม่"...แต่หากประเมินจากปัจจัยแวดล้อมรอบด้านแล้วต้องยอมรับสภาพความจริงว่า"เสี่ยงจะท่วมหนัก"
ที่สำคัญเมื่อคนระดับนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงกับออกทีวีพูล ประกาศออกมาชัดเจนเลยว่ากทม.มีโอกาสที่จะท่วม ระดับรุนแรงเทียบปี 2538 ....ได้ยินเช่นนี้แล้วต้องเตือนประชาชนชาวเมืองหลวงไว้เลยว่าต้องเตรียมพร้อมกันแล้ว

เพราะในปี 2538 นั้นถือเป็นระดับรุนแรงครั้งหนึ่ง จากน้ำท่วมใหญ่กทม. 11 ครั้งที่ผ่านมา ความหวังจึงอยู่ที่แผนรับมือ..ของกทม.ที่ทำงานอย่างหนักอยู่ในวันนี้ว่า จะสามารถบรรเทาได้มากน้อยแค่ไหน
หากย้อนรอยเหตุน้ำท่วมกรุงที่ผ่านมา นับจากกทม.เป็นเมืองหลวง จะพบว่าสาเหตุที่กรุงเทพฯ ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอดนั้น มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายอ่าวไทย และเพราะความเจริญเติบโตของเมือง จึงมีการพัฒนาพื้นที่จากที่เคยเป็นบึง สระ คลอง ได้ถูกถมเปลี่ยนสภาพเป็นอาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ จึงทำให้ระบายน้ำได้ยากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่สำคัญคือ น้ำฝนที่ตกลงมาในปริมาณที่มากเกินไป น้ำเหนือไหลหลาก น้ำทะเลหนุน และแผ่นดินทรุดตัว จึงกล่าวได้ว่า ฝนตกน้ำท่วมอยู่คู่กับกรุงเทพฯ มานานแล้ว โดยสรุปเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ผ่านมาได้ดังต่อไปนี้....

พ.ศ.2485
ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ เนื่องจากฝนตกหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงมาก ไหลล้นคันกั้นน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำตลอดแนว โดยวัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าเป็นน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมี การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์

พ.ศ.2518
เนื่องจากพายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน เป็นเหตุให้น้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร

พ.ศ.2521
เกิดจากพายุ 2 ลูก คือ "เบส" และ "คิท" พาดผ่านพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำปริมาณสูง ขณะเดียวกันมีปริมาณน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสักเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร

พ.ศ.2523
เกิดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ 2.00 เมตร ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วง 4 วัน สูงถึง 200 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง

พ.ศ.2526
น้ำท่วมในปีนี้มีสภาพรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนตุลาคม โดยวัดปริมาณฝนตลอดทั้งปีได้ 2119 มม. ซึ่งสูงกว่าค่าฝนเกณฑ์เฉลี่ยมาก(ฝนเกณฑ์เฉลี่ยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณ 1,200 มม.) เป็นผลให้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นเวลานานที่สุดถึง 4 เดือน ซึ่งได้ประเมินความเสียหายสูงถึง 6,598 ล้านบาท

พ.ศ.2529
ได้เกิดฝนตกหนักมากและตกติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 8 - 10 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากได้มีพายุจรนำฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีฝนตก 254 มม. ที่กรมอุตุนิยมวิทยา(บางกะปิ) และ 273 มม. ที่เขตราษฎร์บูรณะ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ถนนวิภาวดีตั้งแต่ช่วงสะพานลอยเกษตรเข้าไป ย่านถนนสุขุมวิท ย่านรามคำแหง ย่านบางนา ทำให้การจราจรติดขัดมาก แต่ไม่อยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุน ทำให้การระบายน้ำออกจากพื้นที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 2 วัน นับจากฝนหยุดตก

พ.ศ.2533
เนื่องจากในเดือนตุลาคมพายุโซนร้อน "อีรา" และ "โลล่า" พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางจังหวัดบุรีรัมย์, สุรินทร์ ทางภาคตะวันออกและภาคกลาง ทำให้ฝนตกหนักที่กรุงเทพมหานครถึง 617 มม. ซึ่งวัดที่ สน.บางชัน โดยปริมาณฝนตกหนักอยู่บริเวณด้านคันกั้นน้ำตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ทำให้น้ำท่วมขังสูงมากประมาณ 30-60 ซม. ซึ่งทำความเสียหายแก่ประชาชน บริเวณเขตมีนบุรี, หนองจอก, บางเขน, ดอนเมือง, บางกะปิ, พระโขนง, ลาดกระบัง, ลาดพร้าว, บึงกุ่มและปริมณฑลโดยน้ำท่วมขังเป็นเวลานานประมาณเดือนครึ่ง ซึ่งส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายประมาณ 177 ล้านบาท

พ.ศ.2537
ได้เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม 2537 วัดปริมาณฝนได้มากที่สุด คือ เขตยานนาวาได้ 457.6 มม. โดยเฉลี่ยในทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกได้ว่าเป็น "ฝนพันปี" ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่บริเวณถนนจันทร์ เขตยานนาวา ถนนพหลโยธินตั้งแต่ย่านสะพานควาย ถนนประดิพัทธิ์ สวนจตุจักรถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซอยสุทธิสารตลอดทั้งซอย ถนนวิภาวดีรังสิตและรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว ถนนสุขุมวิทตั้งแต่ย่านพระโขนงจนถึงอำเภอสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ถนนสาธรเฉพาะซอยเซ็นต์หลุยส์ มีน้ำท่วมขังมากที่สุดประมาณ 50 ซม. ผลจากน้ำท่วมขังอย่างหนักในครั้งนี้ ส่งผลให้จราจรในกรุงเทพมหานครเกือบทั้งเมืองเป็นอัมพาตไปทันทีและทำให้เกิดไฟฟ้าดับหลายจุด สร้างความเดือดร้อนไปทั่วกรุงเทพมหานคร

พ.ศ.2538
ในช่วงที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ยังเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร น้ำเหนือหลากท่วมอยุธยา ปทุมธานี หมู่บ้าน white house ตอนเหนือของกรุงเทพฯ น้ำท่วมร่วม 2 เดือน
ทั้งนี้มีฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา และมีสภาพฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เนื่องจากพายุ "โอลิส" ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง โดยวัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 มีค่าระดับสูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในระดับสูงถึง 50 - 100 ซ.ม บริเวณถนนจรัลสนิทวงศ์ เขตบางพลัด บางกอกน้อย และถนนเจริญกรุง เขตคลองสาน รวมระยะเวลาน้ำท่วมประมาณ 2 เดือน สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก สภาพน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการวัดระดับน้ำสูงสุด เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2538 ไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายที่ฝั่งพระนคร ตามถนน 22 สาย รวม 69 จุดและฝั่งธนบุรี ตามถนน 11 สาย รวม 105 จุด ปี พ.ศ. 2538 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ประสบกับน้ำท่วม

พ.ศ.2539
มีฝนตกหนักในภาคเหนือและภาคกลางทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมาก ทำให้ระดับน้ำสูงล้นแนวป้องกันน้ำท่วมเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำฝั่งธนบุรี บริเวณถนนจรัลสนิทวงศ์ ถนนเจริญนคร ฝั่งพระนคร บริเวณถนนสามเสนถนนพระอาทิตย์ โดยมีระยะเวลาท่วมขังตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน -ธันวาคม 2539 ตั้งแต่หลังปี 2539 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเขตกรุงเทพมหานคร มีเพียงน้ำท่วมขังในเวลาไม่นานก็ระบายออกได้สู่ภาวะปกติ

พ.ศ.2541
น้ำท่วมเกิดจากฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วัดน้ำฝนได้สูงสุดที่สถานีดับเพลิงพญาไท 2541 มม. จุดที่น้ำในถนนแห้งช้าที่สุดที่ถนนประชาสงเคราะห์(จากแยกดินแดงยาวตลอดสาย) เขตดินแดงท่วมสูง 20 ซม. นาน 19 ชม. โดยท่วมสูงสุดที่ถนนเพลินจิต และถนนราชดำริ เขตปทุมวัน ท่วมสูง 20 - 40 ซม. นาน 11 ชม.

ที่มา:เนชั่น
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รำลึก 35 ปี 6 ตุลา เสียงเพรียกจากญาติวีรชนที่ยังไม่มี คำตอบ !!?

35 ปีก่อน ระเบิดเอ็ม 79 ลอยละลิ่วเป็นวิถีโค้งกลางอากาศ มาพร้อมกับเสียงวี๊ดยาวๆ ข้ามตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนตกลงเกือบกึ่งกลางสนามฟุตบอล วินาทีนั้นควันสีขาวลอยฟุ้งกระจายนักศึกษาต่างหมอบราบ ตามที่ได้นัดแนะไว้เมื่อได้ยินเสียงอาวุธ ไม่มีใครคิดว่าพิษร้ายของอาวุธที่ลอยมานั้น จะสังหารเพื่อนนักศึกษา และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ชุมนุมกันโดยสงบรวดเดียว 4 คน เป็นการเปิดฉาก “ไทยฆ่าไทย” กลางพระนครที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในรุ่งสางวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์วันนั้น มีนักศึกษามากมายที่ต้องสังเวยชีวิต ท่ามกลางเสียงกระสุนที่กรีดกรายพุ่งเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาหลายคนพยายามหนีลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหลังตึกโดม เพื่อเดินเลาะริมตลิ่งไปทางท่าพระจันทร์ บางคนหนีขึ้นไปหลบตามตึก ทั้งตึกคณะบัญชีฯ ตึกคณะวารสารฯ ความเป็น ความตายของเขา และ เธอจึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย

หลายคน “ตาย” แต่หลายคน “ถูกจับ” บทสรุปช่วงเช้าวันนั้น กลายเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชในช่วงเย็น

35 ปีต่อมา หนุ่มสาวปัญญาชนในวันนั้น วันนี้แปรสภาพสู่ช่วงวัยกลางคน ต่างมุ่งหน้ามารวมตัวยังลานปฏิมากรรมบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ที่ที่เขา และ เธอ เคยวิ่งหลบหนีตายจากวิถีกระสุน และความบ้าคลั่งของฝูงชนที่ถูกล้างสมองมาเพื่อจัดการกับนักศึกษา ในงาน “สัปดาห์รำลึก 35 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยประชาชน” บางคนลางานมาเพื่อร่วมงานนี้เพียงคนเดียว บางคนพาครอบครัวย้อนรอยรำลึกความหลัง

บรรยากาศในช่วงเช้าดำเนินไปอย่างเรียบง่าย รอยยิ้มปรากฏอยู่บนหน้าของผู้ร่วมเหตุการณ์เมื่อ 35 ปีก่อน

“สุธรรม แสงประทุม” สมาชิกบ้านเลขที่ 111 พรรคไทยรักไทย อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในกาลนั้น เดินทักทายคนที่มาร่วมงานหลายคน ก่อนมาหยุดคุยกับ “ธงชัย วนิจจะกุล” อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ผู้รับหน้าที่เป็นโฆษกบนเวทีเพียงคนเดียว ในห้วงเวลาที่มีการกราดยิงนักศึกษา

ก่อน “สุธรรม” คนเดิมจะเดินไปโอบกอดทักทาย “จินดา ทองสินธุ์” พ่อที่พลิกแผ่นดินตามหาลูกชาย “จารุพงษ์ ทองสินธุ์” นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ คนที่พยายามเร่งให้เพื่อนักศึกษารีบออกจากตึกคณะนิติศาสตร์ ไปหลบยังตึกคณะวารสาร ด้วยความหวังอันริบหรี่เป็นเวลาถึง 10 ปี กว่าจะรู้ว่าลูกชายอันเป็นความหวังของครอบครัวได้จากโลกนี้ไปแล้ว

“วันนั้นข่าวมันช้ากว่าจะรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็นานแล้ว ผมไปตามหารายชื่อตามสถานีตำรวจ สน.ชนะสงคราม แม้ตอนนั้นจะพบแค่บัตรนักศึกษาก็ดีใจแล้ว” จินดาเอ่ยเสียงเรียบๆ

“เหตุการณ์นั้นมันไม่ได้รับความเป็นธรรม อยากให้ลูกชายของผมเป็นคนสุดท้าย แต่ก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ประชาธิปไตยที่ได้มา ก็ได้มาแค่ชื่อเท่านั้น นักการเมืองไม่ว่ายุคไหนก็นึกหาประโยชน์ของพวกพ้อง ไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนจริงๆ จังๆ มีผลประโยชน์แอบแฝงทั้งนั้น” เขาระบายความอัดอั้นออกมา แม้เหตุการณ์จะผ่านไปกว่า 30 ปี

 “เหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มีผู้วางแผนผู้กระทำ อยากให้รัฐบาลช่วยให้ความกระจ่างแก่เราด้วย สุดท้ายขอให้ประเทศไทยปรองดองกัน จะเป็นจริงหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ขอให้จบแค่นั้น ให้หยุดกันได้แล้ว อยากให้ทุกฝ่ายจับมือกัน ประเทศไทยจะได้สมบูรณ์แบบ มีประชาธิปไตย มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นเสียที”

ความรู้สึกนี้ไม่ต่างจาก “เล็ก วิทยาภรณ์” มารดาของ “มนู วิทยาภรณ์” นักศึกษาธรรมศาสตร์อีกคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อสังเวยชีวิตให้กับการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองไทย “อิฉันรักลูกมากที่สุด แล้วก็มาเข่นฆ่าลูกอิฉัน แล้วยังมาแถมโลงศพให้อีกใบหนึ่ง โลงศพใบนี้อิฉันไม่ต้องการ”

“คนไหนไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ คิดเข่นฆ่าลูกอิฉัน เวลานี้เริ่มเห็นกฎแห่งกรรมลางๆ แล้ว คนที่ฆ่าลูกอิฉันก็ถูกคนอื่นเข่นฆ่าเช่นกัน ขอฝากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ว่า 6 ตุลา ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ช่วยสะสางด้วย” เธอกล่าวในฐานะกรรมการญาติวีรชน

ทั้งสองคือตัวแทนของญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ในเช้าตรู่วันนั้น สูญเสียลูกที่รักยิ่งเหมือนกัน อายุล่วงเลยเข้าสู่บั้นปลายเช่นเดียวกัน ทั้งคู่กำลังรอคอยคำตอบทั้งที่รู้ว่าจะไมมีเสียงใดสะท้อนกลับมา แต่ “พ่อจินดา” กับ “แม่เล็ก” ก็ยังรอคอย

รายงานโดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ
ผู้สื่อข่าวการเมือง นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เกษียร เตชะพีระ: ปกป้องสถาบัน !!?

รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ

ระหว่างติดตามสดับตรับฟังวิวาทะสืบเนื่องจากข้อเสนอของเพื่อนอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ที่ ให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ดังอื้ออึงอยู่นั้น ผมอดนึกเปรียบเทียบไม่ได้ว่า…
สิ่งที่คณะรัฐประหาร คปค. กระทำเมื่อ ๕ ปีก่อนคือการใช้อำนาจปืนลุกขึ้นฉีกกฎหมายสูงสุดของชาติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยกำกับไว้ทิ้งโดยพลการ

ขณะสิ่งที่คณะนิติราษฎร์ทำตอนนี้คือนำเสนอหลักเหตุผลข้อถกเถียงทางวิชาการเพื่อให้สังคมไทยพิจารณาตัดสินใจลบล้างผลพวงของการละเมิดกฎหมายและอำนาจอธิปไตยของแผ่นดิน โดย คปค. ครั้งนั้น ผ่านกระบวนการและวิธีการโดยชอบในกรอบของกฎหมายปัจจุบัน

เนื้อแท้ที่แตกต่างตรงกันข้ามของสิ่งที่ทั้งสองคณะกระทำ, และปฏิกิริยาที่ต่างกันอย่างสิ้น เชิงต่อกรณีทั้งสองโดยเฉพาะในหมู่นักกฎหมายทนายความและครูบาอาจารย์นิติศาสตร์บางคน ช่างเป็นที่น่าแปลกประหลาดอัศจรรย์ใจเสียนี่กระไร?!?!?
เราจะเข้าใจพวกเขาว่าอย่างไรดี?

มองในแง่ดีที่สุด ผมเข้าใจว่าสิ่งที่นักกฎหมายทนายความและครูบาอาจารย์นิติศาสตร์บางคนพยายามทำ คือปกป้องสถาบันเก่าแก่สำคัญของชาติสถาบันหนึ่งไว้ นั่นคือสถาบันรัฐประหาร!
สถาบันดังกล่าวอยู่คู่กับสถาบันหลักทั้งสามอันได้แก่ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์มาตลอด ยุคการเมืองไทยสมัยใหม่ หน้าที่สำคัญของสถาบันหลักของชาติแห่งที่สี่นี้คือเป็นเครื่องมือหรือวิธี การ (instrument/means) ที่พลังการเมืองบางกลุ่มบางฝ่ายในสังคมการเมืองไทยเก็บไว้ใช้เพื่อปกป้องสถาบันหลักทั้งสามในยามที่พวกเขาเห็นกันไปเองว่าคับขันจำเป็น



สถานะถูกผิดดีชั่วทางศีลธรรม (moral/immoral) ของสิ่งที่เป็นเครื่องมือย่อมไม่มีอยู่ในตัว มันเอง (ก็มันเป็นแค่เครื่องมืออ่ะ…..) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมันเป็นกลางทางศีลธรรม (amoral) ตราบเท่าที่มันสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ มันก็ใช้ได้แล้ว

ในระเบียบวิธีคิดแบบ instrumentalism (อุปกรณ์นิยม), pragmatism (สัมฤทธิ์คตินิยม) หรือ consequentialism (ผลลัพธ์นิยม) นี้ เป้าหมายย่อมเป็นตัวให้ความชอบธรรมกับวิธีการ (The end justifies the means.) หากเป้าหมาย (ปกป้องสถาบันหลักทั้งสาม, ปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ) ถูกต้องชอบธรรมเสียอย่างแล้ว ไม่ว่าวิธีการใด ๆ (รัฐประหาร, ใช้กำลังบังคับปราบปรามประชาชน, ก่อการร้าย ฯลฯ) ก็ใช้ได้ ต่อให้มันผิดเลวชั่วร้ายทางศีลธรรมหรือการเมืองเพียงใดก็ตาม เพราะเป้าหมายที่ถูกต้องย่อมจะเสกบันดาลให้วิธีการดังกล่าวกลายเป็นถูกต้องดีงามในสายตาของผู้ใช้ไปได้โดยปริยาย

ในโลกที่ “จะแมวดำหรือแมวขาวก็ช่าง ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” หรือ “จะรัฐประหารหรือระบอบรัฐสภาก็ช่าง ขอให้ปราบคอร์รัปชั่น/ปกป้องสถาบันได้เป็นพอ” นี้ แนวคิดและหลักปฏิบัติ เรื่องสิทธิเสรีภาพ, อำนาจอธิปไตยของประชาชน, หลักนิติธรรม ฯลฯ ย่อมกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม และฟุ่มเฟือย มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่เห็นจะเป็นไร เพราะ “เมืองไทยเสียอย่าง เรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใครอื่นเขาในโลก”, “ความเป็นไทยจะให้ไปเดินตามหลักสากลของฝรั่งมังค่าตะวันตกได้อย่างไร” ฯลฯลฯ

เป็นเรื่องง่ายที่จะฟันธงว่าความคิดข้างต้นต่อต้านประชาธิปไตย ส่วนที่ยุ่งกว่าหน่อยคือ พยายามเข้าใจว่าลำดับเหตุผลตรรกะการคิดที่นำคนฉลาดๆ อย่างท่านไปสู่จุดนั้นมันเป็นอย่างไร?
ผมคิดว่ามันเป็นอะไรบางอย่างทำนองนี้ครับ…..

แก่นสารส่วนที่เป็นประชาธิปไตย (democratic components) ของระเบียบการเมืองเสรี ประชาธิปไตย (liberal democracy) นั้นคือหลักของการปกครองโดยประชาชน (government by the people)
ผู้ตะขิดตะขวงใจหรือปฏิเสธไม่ยอมรับประชาธิปไตยกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือปฏิเสธหลักการนี้แหละ
เพราะ “การปกครองโดยประชาชน” (ซึ่งฟังดูดี) แปลเป็นรูปธรรมในสังคมหนึ่ง ๆ ได้ความว่า (ขอประทานโทษ ใช้ภาษาตลาดเพื่อสื่อความเข้าใจ) “การปกครองโดยพวกมึง”!
พวกมึงน่ะน้า?!? เอื๊อกกกก…. ขืนให้พวกมึงขึ้นมาปกครองก็อิ๊บอ๋ายเท่านั้นเอง

ขึ้นชื่อว่า “ประชาชน” นั้นย่อมน่ารักในทางนามธรรม แต่พอกลายเป็น “พวกมึง” ในทางรูปธรรมแล้ว มันก็รักไม่ค่อยลง เพราะย่อมมีทั้งคนดีคนชั่ว คนฉลาดคนเขลาปะปนคละเคล้ากันไปเป็นธรรมดา และที่แย่ก็ตรงพอปล่อยให้โหวตเสรีเลือกผู้ปกครองตามใจตัวเองทีไร ก็มักจะโหวตผิดเลือกคนโกงคนทุจริตมาทุกที การที่ “ประชาชน” ผู้น่ารักดันโหวตเลือกคนไม่ดีมาสู่อำนาจ ย่อมฟ้องโทนโท่อยู่ว่า “พวกมึง” โง่ (ขาดการศึกษา) หรือชั่ว (ขายเสียงขายสิทธิ์เหมือนขายชีวิตขายชาติ) หรือยังเป็นเด็กอยู่ (ไม่บรรลุวุฒิภาวะ ถูกจูงจมูกได้ง่ายด้วยนโยบายขายฝันสารพัด) ฉะนั้นจึงจำเป็นอยู่เองที่ “พวกกู” (ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง) ผู้มีคุณธรรม สติปัญญาความสามารถและความเป็นไทยจะต้องเข้ามาแบกรับหน้าที่รับผิดชอบปกครองดูแลบ้านเมืองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตคับขันแตกแยกนี้ไปก่อน, อะแฮ่ม, โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย หากด้วยวิธีอื่นแทน…..

แต่มันจะเป็นไรไป ในเมื่อเป้าหมาย (ปราบคอร์รัปชั่น/ปกป้องสถาบัน) ย่อมสำคัญกว่าวิธีการ (รัฐประหาร), จะแมวดำแมวขาวก็ช่าง ขอให้จับหนู (ตัวใหญ่ หนีไปอยู่ต่างประเทศอีกแล้วตอนนี้) ได้เป็นพอ แหะ ๆ
ปัญหาอยู่ตรงประสบการณ์รอบห้าปีที่ผ่านมาบ่งชี้ชัดว่าเครื่องมือ/วิธีการรัฐประหารนั้น มันไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น/ปกป้องสถาบันอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้เลย

ตรงกันข้าม ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นยังดำรงอยู่ในวงการรัฐบาลและราชการ, ปัญหาความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติกลับหนักหน่วงร้ายแรงขึ้น, มิหนำซ้ำความแตกแยกขัดแย้งระหว่างคนในชาติกลับรุนแรงลุกลามออกไปถึงขั้นฆ่าฟันกันกลางเมืองล้มตายเรือนร้อยบาดเจ็บเป็นพันเสียหายเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน

นี่คือราคาที่เราจ่ายให้การใช้วิธีการที่ผิดในนามของเป้าหมายที่ถูก แล้วมันคุ้มกันไหม? เรียกชีวิตของผู้ที่ตายไปเพราะผลพวงสืบเนื่องจากรัฐประหารกลับคืนมาได้แม้สักคนหนึ่งไหม? ใครต้องรับผิดชอบ?
ผมอยากเรียนว่าการที่คปค.ยึดอำนาจโดยอ้างเหตุผลในการปกป้องสถาบันหลักของชาติ ด้วยความเชื่อว่ามีแต่วิธีการรัฐประหารเท่านั้นจะยังความมั่นคงแก่สถาบันหลักของชาติได้ เท่ากับเป็นการลากดึงเอาสถาบันหลักของชาติให้ออกห่างจากรัฐธรรมนูญ, หลักนิติธรรมและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ขณะที่เอาเข้าจริง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ตั้งอันมั่นคงที่สุดของสถาบันหลักของชาติคืออยู่ที่เดียวกับรัฐธรรมนูญ, หลักนิติธรรมและประชาธิปไตยเท่านั้น

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหารโดยเนื้อแท้แล้วจะส่งผลช่วยฟื้นฟูและผดุงความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติเคียงข้างรัฐธรรมนูญ, หลักนิติธรรม และประชาธิปไตยเยี่ยงนานาอารยประเทศในที่สุด

ที่มา:Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จาตุรนต์. บนทางเพื่อไทย ข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้ ทักษิณ. หายไปจากโลกนี้ !!?

สัมภาษณ์พิเศษ



ชื่อ "จาตุรนต์ ฉายแสง" ไม่ใช่ลูกน้อง ไม่ใช่กุนซือส่วนตัวของ "ทักษิณ ชินวัตร"

แต่ยามพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย มีภัยเขาร่วมต้าน มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุข-ชนะเลือกตั้ง เขาร่วมวง

ทุกวาระ ทุกโต๊ะประชุม ชื่อเขามักวางไว้ที่หัวโต๊ะ ตั้งแต่แผนหาเสียงจนถึงร่างนโยบายรัฐบาล

ระหว่างบรรทัดในข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีความคิดของเขาแทรกอยู่

ยุทธศาสตร์ "ปรองดอง" และแก้ไขความขัดแย้งในสังคม เขาก็มีส่วนร่วมเป็นมันสมอง

 จาตุรนต์. คนเดือนตุลา ที่ชีพจรยังเต้นอยู่ในทุกจังหวะก้าว จังหวะคิดของรัฐบาลเพื่อไทย

- คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/23 กับข้อเสนอคอป.เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/23 เป็นการเสนอในขั้นตอนที่ความขัดแย้งความคิดทางการเมืองใกล้จบ การต่อสู้ทางกระบวนการก็เบาลงเนื่องจากประเทศสังคมนิยมล่มสลาย แนวทางที่พรรคคอมมิวนิสต์ใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย คำสั่ง 66/23 จึงออกมาเพื่อจะเปิดทางให้คนที่มีความคิดความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองกลับมาใช้ชีวิตในอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างคนปกติทั่วไป

- ไม่เหมือนในวันนี้ที่ความขัดแย้งกำลังอลหม่าน
การต่อสู้ทางความคิดและทางการเมืองมีผลทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยังคงดำรงอยู่ แล้วยังไม่ก้าวข้ามไปสู่ที่จุดเหนือกว่าหรือด้อยกว่ากันอย่างชัดเจน จึงยังไม่อยู่ในขั้นตอนปิดเกม ฉะนั้น คอป.จึงยังต้องใช้แนวทางค้นหาความจริงเยียวยาให้ความเป็นธรรม ลดความห้ำหั่นกันทางการกระทำต่อกัน

- จึงมีแนวทางการออกแบบความยุติธรรมชˆวงเปลี่ยนผ่าน
เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงในสังคม ที่เห็นว่าเมื่อสังคมอยู่ในขั้นวิกฤตจะต้องพยายามหาทางออกเพื่อไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้และไม่เป็นศัตรูต่อกันก็ต้องมีกติกาที่ดี แต่จะทำให้เกิดความยุติธรรมแบบเถรตรงไม่ได้ เพราะถ้าใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างเถรตรงไปเลยจะยิ่งทำให้สังคมอยู่ร่วมกันไม่ได้

- ถ้าใช้กระบวนการแบบเถรตรงก็จะทำให้เกิดความปรองดองยาก จึงต้องมีคณะกรรมการองค์กรอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)

คณะที่คุณอุกฤษ (มงคลนาวิน เป็นประธาน) จะเสนอความเห็นต่อรัฐบาล และคงจะเปิดเผยความเห็นต่อสาธารณชนโดยเน้นเรื่องความสอดคล้องกับหลักนิติธรรม เพราะความไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมในสังคมไทยระยะ 5-8 ปีมานี้ ทำให้วิกฤตของสังคมรุนแรงขึ้น เช่น ระบบกระบวนการยุติธรรมและฝ่ายตุลาการ แต่ข้อเสนอ คอป.มันเป็นขั้นที่ยังชักเย่อกันอยู่

- ท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลน่าจะราบรื่น จะมีฝ่ายใดที่มาชักเย่อข้อเสนอนี้
รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ ยังมีแรงสนับสนุนมาจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลต้องยอมรับตรงเนื้อหาที่เสนอ ถ้าไมˆคิดวิเคราะห์ให้ดี โอกาสที่จะมีแรงต้านมีอยู่ โดยเฉพาะประเด็นมาตรา 112 ที่สรุปเป็นภาษาง่าย ๆ ว่า "เราจะช่วยกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดีที่สุดได้อย่างไร" ซึ่งทำให้พวกที่จะต่อต้านอย่างน้อยก็จะฉุกคิดว่า คอป.ไม่ได้ตั้งโจทย์ในทางที่สร้างความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่เขากำลังบอกว่า การไปใช้ข้อหาเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปเป็นประโยชน์กันทางการเมือง ไปทำลายกันทางการเมือง ไม่เป็นประโยชน์ต่อสถาบัน

- คณะกรรมการ คอ.นธ.ทำไมต้องมีคุณอุกฤษเป็นประธาน
ก็ไม่ทราบ...คนในรัฐบาลทาบทามกันมา เพราะคุณอุกฤษก็เคยแสดงความเห็นคัดค้านกับการรัฐประหาร ก็มีความเหมาะสมอยู่ ถ้าไม่รับมาทำหน้าที่นี้ก็ผิดหวัง แล้วที่เขามาทำก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าที่เสนอต่อรัฐบาลและสังคม ก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องน่ากลัวอะไร

คนในรัฐบาลกวาดสายตาไปพบว่าคุณอุกฤษเหมาะ ไม่อย่างนั้นจะเอาใคร เอาอาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มคณะนิติราษฎร์) เหรอ แต่อาจารย์วรเจตน์ก็จะเจอแรงต้านมาก แต่ที่อาจารย์วรเจตน์ไปทำในกลุ่มนิติราษฎร์มันก็ดีไปอีกแบบ ทำให้มีพลังเพิ่มขึ้นดีกว่านำอาจารย์วรเจตน์มาทำทุกอย่าง

- แยกกันเดินคนละขา เพื่อขับเคลื่อนหลายขา น่าจะดีกว่า
ก็นั่นนะสิ

- ข้อสนอคอป.รัฐบาลอภสิทธิ์เคยบอกว่า ไม่มีอำนาจ "สั่ง" บางหน่วยงาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่
รัฐบาลที่แล้วที่พูดว่าทำไม่ได้บางเรื่องก็พูดเกินจริง คือมีบางเรื่องที่ทำได้แต่อ้างว่าทำไม่ได้ พอมาถึงรัฐบาลใหม่นี้ก็ไม่สามารถทำอะไรที่เกินกว่าที่ตัวเองจะทำได้ ผมเชื่อว่ามีหลายกรณีที่สามารถทำได้ เช่น การที่กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจะเสนอความเห็นไปยังอัยการก็ยังสามารถทำได้ การจะช่วย ผู้ต้องหาทั้งหลายประกันตัวได้ ฝ่ายบริหารโดยกระทรวงยุติธรรมน่าจะสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รัฐบาลสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นยิ่งยวดอย่าไปคัดค้านการประกันตัว รวมทั้งช่วยไปแถลงต่อศาลด้วย

- ดังนั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
นโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็สามารถใช้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้โดยผ่านการผลักดันจากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมได้ตั้งแต่ต้นพอสมควรจนถึงมีนัยสำคัญ

- หากรัฐบาลไปแตะโครงสร้างของกองทัพ โครงสร้างศาลผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
รัฐบาลจะทำได้ก็เฉพาะส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร เช่น ตำรวจ ดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมทั้งหลาย พอมาถึงอัยการก็จะทำอะไรเขาไม่ค่อยได้แล้ว ศาลยิ่งไม่ได้ใหญ่

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการลงประชามติ รัฐบาลจะไม่ได้เป็นผู้กำหนดเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเองเลย ถ้าจะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก็ควรเสนอต่อ ส.ส.ร. จึงไม่ใช่เป็นช่องทางที่น่าเกรงว่ารัฐบาลนี้จะไปรื้อระบบยุติธรรมอะไรได้มากมาย

ถ้าจะไปปรับเรื่องของกองทัพ ต้องพูดถึงเรื่องกฎหมายโครงสร้างกองทัพ ปรับระบบในการแต่งตั้งโยกย้าย เชื่อว่าในระยะต่อไปหากยังไม่มีการปรับระบบอะไรที่เกี่ยวกับกองทัพเลยไม่น่าจะถูกต้อง เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยจะต้องเข้าไปจัดกติกาให้สามารถแต่งตั้งผู้นำเหล่าทัพได้ ไม่ใช่ให้ผู้นำเหล่าทัพตัดสินใจกันเองอย่างที่เป็นอยู่ เพราะมันขัดต่อหลักประชาธิปไตย รวมถึงสามารถเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการเหล่าทัพได้

การทำเช่นนี้อาจจะเกิดปัญหาก็ได้ หรืออาจจะลดปัญหาก็ได้ แต่ถ้าไม่เข้าไปแก้ไข ยิ่งปล่อยไว้ยิ่งเป็นปัญหา แต่ปัญหาจะปะทุหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้นหรือไม่เมื่อไร ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย ตัวบุคคลที่จะมีอำนาจบทบาทอยู่ในแต่ละส่วนของรัฐบาลและกองทัพ แต่ที่สำคัญคือระบบที่ผิด

- ช่วงที่ผ่านมากองทัพมีบทบาทเหลื่อมกับการเมือง
ก็มามีบทบาทอีกครั้งหลังจากรัฐประหาร 2549 พอมาถึงขั้นนี้ผู้นำกองทัพที่มีบทบาทในการรัฐประหารได้มีบทบาทมาอย่างต่อเนื่องในสังคม ทั้งในระบบ ทั้งนอกระบบ จึงเป็นปัญหาต่อความเป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นจึงต้อง หาทางแก้ ถ้าไม่แก้ต่อไปผู้นำกองทัพก็จะมายึดอำนาจอีก เข้ามาแทรกแซงการเมืองอย่างรุนแรง
++++++++++++++++++++++++++

ข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้ "ทักษิณ" หายไปจากโลกนี้



จาตุรนต์-เป็นคนการเมืองลำดับแรก ๆ ที่เคยเสนอวาระ "ก้าวข้ามทักษิณ"

เมื่อสถานการณ์พลิกผัน เพื่อไทยกลายเป็นฝ่ายกุมอำนาจ สามารถเสนอวาระและญัติบริหารประเทศแบบพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน

ทุกข‰อเสนอ ทุกวาระประเทศไทย มีคำถามถึง "ผล" บรรทัดสุดท้ายที่ "ทักษิณ" จะได้ร่วมเสพ

เมื่อชื่อ "ทักษิณ" ยังตามหลอนฝ่ายตรงข้ามเพื่อไทย และกลุ่มอำนาจเก่า

จาตุรนต์-ตอบคำถาม "คือ...ทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ แต่ไม่มีทางที่เกิดขึ้นได้เลย คือการทำให้คุณทักษิณหายไปจากสารบบของประเทศไทยและในโลกนี้"

"หมายความว่ารัฐบาลกำลังทำเพื่อคุณทักษิณไม่ได้อีกแล้ว แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะคุณทักษิณยังอยู่ อยู่ในโลกซึ่งมีคนรับรู้ มีคนยอมรับมากพอสมควร และยังมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยอยู่มากด้วย เพราะฉะนั้น สภาพการดำรงอยู่ของคุณทักษิณจึงเป็นสภาพความเป็นจริงที่ยังเป็นอยู่อย่างนี้"

ข้อเสนอของสาธารณะ ทั้งนักวิชาการ-องค์กรอิสระ ทั้งเรื่องปรองดอง แก้รัฐธรรมนูญ ล้างผลการรัฐประหาร ล้วนมีชื่อ "ทักษิณ" แนบท้าย "จาตุรนต์" บอกว่า เป็นเรื่องที่ผู้เสนอต้องชี้แจง และต้องทำใจว่าไม่มีทางเลี่ยงที่จะถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับ "ทักษิณ"

"การจะผลักดันแก้ไขปัญหาของ บ้านเมืองทั้งในเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ความขัดแย้งที่รุนแรง มีข้อเสนอดีๆ เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ จะทำอย่างไรไม่ให้ถูกดิสเครดิตไปด้วยข้อกล่าวหาว่าทำเพื่อคนคนเดียวชื่อทักษิณ เป็นเรื่องที่ผู้เสนอต้องชี้แจง และอธิบายว่าข้อเสนอของตนนั้นมีเหตุมีผลอย่างไร มีประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่อย่างไร"

"ต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่มีวิธีใดที่จะหลีกเลี่ยงการถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับ คุณทักษิณ เพราะในความเป็นจริงปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ความขัดแย้งและวิกฤตของประเทศเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณแทบทั้งสิ้น เนื่องจากคุณทักษิณเป็นฝ่ายถูกกระทำ"

"เพราะคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแล้วถูกถอดออกไปจากการรัฐประหาร ถ้าเราพูดเรื่องความไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม เช่น การใช้ประกาศคณะปฏิรูป ที่ออกโดยคณะรัฐประหารมายุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิพรรคการเมืองโดยใช้กฎหมายย้อนหลัง มันล้วนแต่ขัดหลักนิติธรรมทั้งนั้น"

"คุณทักษิณก็คือหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และเป็นผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เพราะฉะนั้นไม่มีวิธีที่จะเข้ามาแก้ปัญหา หรือการแก้วิกฤตของประเทศโดยไม่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ เพราะคุณทักษิณคือเหยื่อคนที่หนึ่ง"

จาตุรนต์-มองชื่อ "ทักษิณ" เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"

"ความคิดผม ยังเห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นโอกาสมากกว่า และถ้าจัดการดี ๆ ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นโอกาสมากขึ้น แทนที่จะเป็นปัญหาก็จะเป็นน้อยลง จะคิดว่าไม่ให้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ หรือจะบอกว่าคุณทักษิณไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลยมันเป็นไปไม่ได้"

"เพราะตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็บอกแล้วว่าทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ถือว่าคุณทักษิณคือบุคลากรที่เป็นประโยชน์ต่อพรรค และเป็นประโยชน์มากพอที่จะนำเอาความคิดและประสบการณ์ของคุณทักษิณมาแก้ปัญหาประเทศชาติ ซึ่งไม่ใช่ความคิดที่แปลกประหลาดอะไร"

"เท่าที่ดูคุณทักษิณก็ยังมีบทบาทในการช่วยคิดแนะนำรัฐมนตรีต่าง ๆ อยู่พอสมควร ถ้าหากว่ารัฐบาลนี้อาศัยคุณทักษิณอย่างเหมาะสม"

ข้อเสนอของฝ่ายค้านที่เคยท้าทายว่า ทำไม "ทักษิณ" ไม่กลับมาสู้คดี "จาตุรนต์" บอกว่าคำถามนี้เขาตอบแทน "ทักษิณ" ไม่ได้

"ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องการมองความชอบธรรมในการดำเนินคดีกับคุณทักษิณที่ต่างกัน"

"คนที่เห็นว่ากระบวนการดำเนินคดีไปโดยชอบอยู่แล้วก็จะเรียกหาให้คุณทักษิณมาติดคุก แล้วสู้คดีแล้วก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น แต่คนที่มองว่ากระบวนการดำเนินคดีกับคุณทักษิณนั้นขัดกับหลักนิติธรรม เขาก็จะไม่เห็นด้วยว่าทำไมคุณทักษิณต้องมาติดคุก ซึ่งการคิดแบบนี้ก็มีเหตุผลเหมือนกัน"

ประวัติศาสตร์ที่เคยบันทึกว่า "ไม่เคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีคนไหนต้องติดคุก" สำหรับ "ทักษิณ" มีบริบท ที่ต่างไป "จาตุรนต์" คิดนานก่อนจะสรุปว่า...

"ในอดีตอาจไม่มีการตั้งหน้าตั้งตาประหัตประหารกันเท่านี้ หรือไม่ก็มีการประหัตประหารเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ใช้กระบวนการที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน ์อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับครั้งนี้"

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ธปท.รุกคลังยันจุดยืน..ไม่รับหนี้กองทุนฯ 1.1 ล้านล้าน !!?

ธปท.เล่นเกมรุกคลัง...แจงเหตุผลละเอียดหยิบสาเหตุปฎิเสธข้อเสนอรับหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.1 ล้านล้านบาท.. พร้อมทีมาที่ไปกรอบเงินเฟ้อใหม่ 3%

หลังจากที่ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้หารือกับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ ค่ำวันที่ 4 ต.ค.2554 ถึงการบ้าน4 ที่กระทรวงการคลัง ให้แบงก์ชาติไปดำเนินการก่อนหน้านี้ การบ้านในส่วน การดูแลตั๋วบี/อี จากแบงก์ชาติมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ดูจะไร้ปัญหาทั้งสองฝ่ายตกลงกัน แต่มี 3 ข้อแม้บางเรื่องจะสามารถตอบตกลงกันได้ แต่จำเป็นต้องบอกจุดยืนของธนาคารกลางให้ชัดเจน โดยเฉพาะกรอบเงินเฟ้อใหม่

ขณะที่การจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund (SWF) แม้วันนี้แรงกดดันจะน้อยลง แต่แบงก์ชาติ ก็จำเป็นต้องตอกย้ำจุดยืนให้หนักแน่นเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องข้อเสนอการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาท มาให้เป็นภาระของแบงก์ชาติ ดูเหมือนจะมองกันคนละกรอบคิด

ดังนั้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา เวปไซค์ของแบงก์ชาติ http://www.bot.or.th/Thai/Pages/BOTDefault.aspx ได้ทำเอกสารชี้แจงจุดยืนของธนาคารกลางออกมาอย่างชัดเจน

ถือเป็นการทำงานเชิงรุก..ในเชิงข้อมูลข่าวสารอีกระดับหนึ่ง!

เริ่มจาก...แนวทางแก้ปัญหาภาระหนี้ที่เกี่ยวโยงกับกองทุนฟื้นฟู

เอกสารข่าวระบุว่า...ผู้ว่าการ ธปท. ได้ข้อสรุปจากการหารือกับคณะกรรมการ ธปท. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 และนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ที่เกี่ยวโยงกับกองทุนฟื้นฟู สาระสำคัญมีดังนี้

ประการแรก ภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูเกิดจากการรับประกันผู้ฝากเงินและการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน ตามมติของคณะรัฐมนตรีในช่วงปี 2540-41 ซึ่งมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพและความเชื่อมั่น ของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน

ประการที่สอง กองทุนฟื้นฟูเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก ธปท. เป็นกลไกของภาครัฐที่มีหน้าที่ช่วยเหลือระบบสถาบันการเงิน คณะกรรมการจัดการกองทุนจึงมีผู้ว่าการ ธปท. และ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานและรองประธานโดยตำแหน่ง สะท้อนการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันของภาครัฐ ดังนั้น หนี้กองทุนฟื้นฟูจึงเป็นภาระหนี้สาธารณะที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล และไม่ใช่ภาระเฉพาะของ ธปท.

ประการที่สาม ความพยายามแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นแนวทางที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักสากล กล่าวคือ ภาคการคลังรับภาระการแก้ไขปัญหา (fiscalization) โดยในปี 2541 และ 2545 รัฐบาลได้ออกกฎหมาย2 ฉบับ เพื่อออกพันธบัตรกู้เงินมาชดใช้ความเสียหาย ยอดหนี้คงค้างปัจจุบันมีรวมกัน 1.14 ล้าน ล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ภาระสุทธิทางการคลังที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินในต่างประเทศก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สูงเกินกว่าร้อยละ 50 ของ GDP (ของไทยประมาณร้อยละ35 ของ GDP)

ประการที่สี่ ธนาคารกลางไม่สามารถรับภาระหนี้ดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจเก็บภาษี และที่สำคัญ หากธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาใช้หนี้ (monetization) จะเป็นการผิดวินัยทางการเงิน กระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่หลักของธนาคารกลาง และส่งผลเสียหายต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศในภาพรวม

ประการที่ห้า การนำส่งกำไรของ ธปท. เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการดำเนินการปกติทั่วไปที่หน่วยงานของรัฐต้องนำส่งกำไรต่อรัฐอยู่แล้ว เพียงแต่ระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินนำส่งนั้นให้ชัดเจน และไม่ถือเป็นการพิมพ์เงินออกมาใช้หนี้

สำหรับแนวทางอื่นที่เป็นไปได้ คือ (1) การโอนสินทรัพย์คงเหลือภายหลังการปิดกองทุนฟื้นฟูให้ กระทรวงการคลังเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว (2) ปรับวิธีบันทึกบัญชีของทุนสำรองเงินตราในการรับรู้ผลกำไรหรือขาดทุนเพื่อลดข้อจำกัดทางบัญชี ซึ่งจะเอื้อต่อการมีเงินนำส่งกำไรเพื่อชำระคืนหนี้ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรทำความเข้าใจกับสาธารณชนและควรกำหนดระดับขั้นต่ำของบัญชีสำรองพิเศษของทุนสำรองเงินตราที่ต้องมีเหลือไว้ เพื่อให้ทุนสำรองเงินตรายังคงมีเสถียรภาพ

/////////////////////////////////////

กรอบเงินเฟ้อใหม่...แบงก์ชาติชี้แจงว่า

ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting)มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและเหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใช้ในปัจจุบันคืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสระหว่างร้อยละ 0.5 – 3.0 ต่อปี ซึ่งใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 และเป็นการปรับช่วงเป้าหมายให้แคบลงจากก่อนหน้าที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 3.5 ต่อปีการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนับว่าประสบความสำเร็จ โดย ธปท. สามารถดูแล
เสถียรภาพด้านราคาได้ดี และรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ระบุให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หารือและ
ทำความตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปีถัดไป ก่อนเสนอ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในเดือนธันวาคมของทุกปี ในปีนี้ กนง. จึงได้มีการพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่
เหมาะสมสำหรับปี 2555 เพื่อใช้ในการหารือร่วมกับ รมว. คลัง และเห็นควรเสนอปรับเป้าหมายเงินเฟ้อจากเดิมเป็น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปีที่ร้อยละ 3.0 โดยสามารถเบี่ยงเบนไปจากค่ากลางนี้ได้ไม่เกิน ± ร้อยละ 1.5 ตาม
เหตุผลดังนี้

1. จากการที่ระยะหลังอัตราการขยายตัวของราคาในหมวดพลังงานและอาหารสดแตกต่างจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
มาก การใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นดัชนีเป้าหมายแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะช่วยสะท้อนค่าครองชีพของประชาชนได้ดีขึ้น และเนื่องจากเป็นดัชนีที่ครัวเรือนและธุรกิจใช้อ้างอิงในชีวิตประจำวัน จึงเอื้อต่อการสื่อสาร ง่ายต่อความเข้าใจ และสามารถยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่า

2. การกำหนดระยะเวลาของเป้าหมายให้ยาวขึ้นจากรายไตรมาสเป็นรายปี นอกจากจะสื่อถึงการมองไปข้างหน้ามากขึ้น ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของนโยบายการเงินในการรองรับปัจจัยที่ไม่คาดฝัน (Shock) ต่างๆง่ายต่อการสื่อสาร และสอดคล้องกับระยะเวลาที่ใช้ในการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ 4 – 8 ไตรมาส รวมถึงการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทำเป็นประจำทุกปีด้วย

3. การกำหนดค่ากลางที่ชัดเจน จะเหมาะสมกว่าในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ เมื่อเทียบกับการกำหนด
เป็นช่วงเป้าหมายที่มีเฉพาะขอบบนและขอบล่าง และการอนุญาตให้อัตราเงินเฟ้อสามารถเบี่ยงเบนไปจากค่ากลาง
เป็นการรักษาความยืดหยุ่นของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยค่ากลางและค่าความเบี่ยงเบนที่กำหนดนี้ได้พิจารณาให้มีความสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง เพื่อป้องกันการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และมีความเหมาะสมกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางถึงระยะยาว

/////////////////////////////////////////

ส่วนการนำเงินสำรองไปจัดตั้ง SWF...ระบุว่า

หน้าที่ของเงินสำรองระหว่างประเทศกับการจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund (SWF) ที่ผ่านมาประเทศไทยมีระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสะสมค่อนข้างสูง ขณะที่ผลตอบแทนจากการนำเงินสำรองฯ ไปลงทุนไม่สูงนัก รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะนำเงินสำรองฯ มาจัดตั้ง SWF เพื่อเพิ่มประโยชน์จากการใช้เงินสำรองฯ โดย ธปท. ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้ง SWF ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ในการหารือเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ดังนี้.....
เงินสำรองฯ มีหน้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ คือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ และเป็น cushion รองรับความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยสามารถนำไปใช้แทรกแซงเพื่อดูแลค่าเงินบาทในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงและการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของค่าเงินอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ ดังนั้นหลักการบริหารเงินสำรองฯ เพื่อให้บรรลุหน้าที่หลักข้างต้นจึงต้องให้ความสำคัญกับรักษามูลค่าของเงินสำรองฯและการดำรงสภาพคล่องสูง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ทันการณ์เมื่อมีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างฉับพลัน

หรือในยามคับขันที่ตลาดโลกผันผวนมาก ทำให้การนำเงินสำรองฯ ไปลงทุนต้องเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มี
ความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องของตลาดสูง ซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้นมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำ สะท้อนความเสี่ยงที่ต่ำ
ของการลงทุน

การจัดตั้ง SWF เพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนสูง แปลว่าจะมีความเสี่ยงในการลงทุนสูงขึ้นไปด้วย การนำเงินสำรองมาจัดตั้ง SWF จึงอาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการบริหารเงินสำรองฯ ทั้งนี้ แม้หลายประเทศมีการจัดตั้ง SWF แต่ส่วนใหญ่ถึง 2 ใน 3 เป็นประเทศที่มีทรัพยากรพลังงาน และเงินที่ใช้จัดตั้ง SWF มาจากรายได้จากการขายสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ได้มาจากเงินสำรองฯ นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ มีเป้าหมายการจัดตั้งที่ชัดเจนเช่น เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ หรือเพื่อรักษาความมั่งคั่งจากการขายทรัพยากรที่อาจไม่เหลือไว้สำหรับประชากรในอนาคต

ดังนั้น ข้อสรุปตามที่ได้หารือกับคณะกรรมการ ธปท. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 และนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ....

1. รัฐบาลจะต้องมีเป้าหมายการจัดตั้ง SWF ที่ชัดเจน และต้องมีความพร้อมรองรับในทุกด้าน เช่น มีรูปแบบโครงสร้าง
องค์กรที่เหมาะสม วางกรอบธรรมาภิบาลที่รัดกุม กำหนดระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพตลอดจนมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้ SWF สามารถบรรลุเป้าหมายในการจัดตั้ง

2. หากจำเป็นต้องจัดสรรเงินจากเงินสำรองฯ ออกไปตั้ง SWF รัฐบาลควรออกพันธบัตรรัฐบาลขายในตลาด และนำเงินที่ได้มาแลกเงินตราต่างประเทศจากเงินสำรองฯ ซึ่งเป็นการสร้างระบบความรับผิดชอบที่ชัดเจนของรัฐบาล

3. สำหรับทางเลือกอื่น อาทิ แก้กฎหมาย ธปท. ให้จัดแยกบัญชีย่อยเพื่อให้สามารถจัดสรรเงินจากเงินสำรองฯ ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือร่วมลงทุนในต่างประเทศตามนโยบายรัฐบาลนั้น คณะกรรมการ ธปท.ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก 1) เป็นการลงทุนมีความเสี่ยงสูง ไม่สอดคล้องกับหลักการบริหารเงินสำรองฯ 2) ธปท. ต้องรับความเสี่ยง แต่ไม่มีอำนาจบริหารจัดการโดยตรง 3) มีความห่วงใยด้านหลักธรรมาภิบาล เพราะแนวทางการบริหารในรูปแบบคณะกรรมการร่วมอาจทำให้ถูกแทรกแซงได้ และการชดเชยความเสียหายของรัฐบาลอาจเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ และ 4) เป็นการสร้างกรณีตัวอย่างที่อาจนำไปสู่การแก้กฎหมายเพื่อจุดประสงค์อื่นในอนาคต

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปากอย่างใจอย่าง !!?

“ประมุขบ้านดอกเหมยสี่เสา”?....ยอมรับในกติกา ของประชาธิปไตย โดยไม่มีข้ออ้าง
เมื่อคนทั้งประเทศ ยอมเปิดบริสุทธิ์ ให้นักการเมืองหน้าใหม่ “ปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องทำตามกติกา
ปล่อยให้ นายกรัฐมนตรีสวยเลือกได้ นำความผาสุกมาสู่ประเทศ โดยไม่ปัดแข้งปัดขา
แต่ของจริงที่เห็น!.. ไม่ยักเป็น เหมือนที่ “คนใกล้ชิด” นำมาบรรยาย กันเสร็จสรรพ!!
ยังมีผู้ร่วมขบวน...ออกมาป่วน?...ตีร่วนหนัก กว่าเก่า ด้วยสิครับ??

+++++++++++++++++++++++++++++

ดาบนั้นคืนสนอง!!
เป็นไปได้ว่า, “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ว่าที่ รองผบ.ทบ. มีสิทธิ์หงายท้อง??
ถ้าถูก “กล่าวหา” ในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภาหฤโหด อนาคตคงไม่รุ่ง
เหมือน “ข้าราชการ” หลายคน ที่ถูกโยกย้ายนอกฤดู ไปนั่งตบยุง
เป็นไปตามวัฎจักร ของ “ข้าราชการประจำทั้งหลาย” ที่โดนกันมาทั่วหน้า!!
และทุกคนต้องปฏิบัติ..ไม่มีใครฮึดฮัด?...นั่นเป็นมาตรฐาน ที่เขาปฏิบัติกันมา??

+++++++++++++++++++

เป็น “คนของใคร”!!
ได้ดิบได้ดี โซ้ยตำแหน่งผู้อำนวยการกองสลาก ในยุคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่??
แต่จู่ ๆ “นายวันชัย สุระกุล” เจ้าพ่อหวยรัฐบาล..ใยถึงมาผุดตั้ง “บ่อนกาสิโน”ในยุคนี้
ถ้าคิดจะทำ ปั้มไอเดียกระฉูด น่าผุดในยุค ที่ “อภิสิทธิ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรี
เป้าหมายหลัก เพื่อให้เปิด “กาสิโน” เหมือนทุกประเทศ...หรือต้องการให้ “รัฐบาลปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” หลายฝ่ายหันมาเล่นงานกันแยะ
พอเรื่องนี้ดังกระหึ่ม...คอรัปชั่นที่ กทม.ฟาดกันสะบึม?..เล่นเอาคนลืม เชียวแหละ??

++++++++++++++++++++

“ปล้นภาษี”กันจนฉาว!!
กระซิบไปถึง “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม..ช่วยดูพนักงานรถไฟระดับ ๗-๘ ทำไม ถึงได้ขี้เกียจหลังยาว???
เสาร์-อาทิตย์-วันหยุดขัตฤกษ์ กินโอทีกันแก้มตุ่ย ..แต่มาทำงานกัน ช่วงบ่าย๒ บ่าย ๓
ผิดกับ “คนรถไฟชั้นผู้น้อย” มาทำงาน ก่อน ๘ โมงเช้า เป็นประจำ
แต่พวกระดับ ๗ ระดับ ๘ กลับนำเวลาราชการไปช็อปปี้ง ซื้อของแถวคลองถม เสียนี้
ต้องลงโทษให้ยับเยิน..ท่านผู้ว่าฯรถไฟ “ยุทธนา ทัพเจริญ”..ปล่อยพวกนี้ปล้นภาษีเพลิน ได้ไงกันจ๊ะพี่???

+++++++++++++++++++++++++++++

แก้ปัญหาไม่ตรงจุด!!
อย่าทำอะไร “บ่มิไก๊”มากไป..เดี๋ยวยิ่งจะไร้น้ำยากันสุด..สุด
กระชุ่น พร้อมกระซิบไปถึง “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ “เจริญ จรรย์โกมล” ๑ ประธาน ๑ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
ที่ออกคำสั่งห้าม ผู้ติดตาม สส. ๕ คนเข้าสภาฯ ในนัดประชุมสภาฯ เป็นคำสั่งของผู้นำ ที่มีเชิงบริหารแสนมือจะอ่อน
คนติดตาม สส.ที่เดินเพ่นพ่าน ขวักไขว่ ไม่เป็นระเบียน ที่ใต้ถุนสภาฯ..เพราะไม่มีโซฟา หรือเก้าอี้ให้กับเขานั่ง...ผิดกับยุคพรรคไทยรักไทย ของประธานสภาฯ “วันนอร์” และ “ท่านโภคิน พลกุล” จัดที่นั่งอย่างดี ทุกอย่างจึงเป็นระเบียบ ไม่ดูวุ่น!!!
แค่จัดโซฟาเก้าอี้อย่างที่บอก...ปัญหาหญ้าปากคอก?...แก้ออกได้ทันที เชียวนะคุณ???

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
***********************************************