--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปธ.ศาลปกครองสูงสุด ต้องทำให้คนอื่นเชื่อมั่นว่าเราเป็นกลาง

โดย : สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี : สัมภาษณ์

นายหัสวฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด แจกแจงบทบาทของศาลปกครองสูงสุด บนสถานการณ์ความแตกแยกของสังคม จนศาลโดนโจมตีว่าไม่เป็นกลาง

เรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังตรวจสอบเรื่องร้องเรียนอดีตประธานศาลปกครองสูงสุดล้วงลูกสั่งคดีที่เกี่ยวกับรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ศาลปกครองสูงสุดกำลังดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ถือเป็นการก้าวก่ายหน้าที่หรือว่าเป็นการแทรกแซงศาลได้หรือไม่
ไม่ ทุกฝ่ายก็ดำเนินการไปตามหน้าที่ของตนเอง สำหรับศาลปกครองนั้น เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เราจะประชุมเรื่องนี้กันในวันที่ 16 มีนาคมนี้

O ตามหลักกฎหมายศาลปกครอง องค์คณะตุลาการสามารถสละคดีได้หรือไม่ เพื่อให้องค์คณะชุดใหญ่พิจารณา
ก็เป็นไปตามกฎหมาย เพราะศาลปกครองมีกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีปกครองอยู่แล้วว่าทำอะไรได้ไม่ได้ นอกจากนั้น ตุลาการศาลปกครองท่านต้องรู้ ท่านไม่ทำอะไรนอกอำนาจหน้าที่ ส่วนในเรื่องจะจ่ายสำนวนให้ใครก็เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าชุดใหญ่หรือชุดเล็กในฐานะประธานศาลสูงสุด ท่านต้องดูความสำคัญของเรื่อง และถือเป็นเรื่องธรรมดาในศาลไหนๆ เรื่องสำคัญควรพิจารณาด้วยองค์คณะที่มากกว่าปกติ เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาไม่มีใครทำนอกเหนือกฎหมายที่ให้อำนาจ

O มีสื่อมวลชนบางฉบับนำเสนอข่าวว่า ศาลปกครองไม่ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.
เป็นการรายงานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผมขอถามสื่อมวลชนว่ามีตรงไหนที่เป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กร มีที่ไหน เพราะวันนี้ (3 มี.ค.) สำนักงานศาลปกครองสูงสุด ได้ทำหนังสือตอบข้อหารือของ ป.ป.ช.กรณีที่ องค์คณะตุลาการ ชุดที่ 2 สละคดี เพราะคณะของท่านมีคดีอยู่จำนวนมาก ทำให้ประธานศาลปกครองสูงท่านก่อน ลงมาชี้ขาด และเมื่อประธานศาลปกครองสูงสุด เห็นความสำคัญของคดี ที่ฟ้องร้อง นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีความสำคัญ ประธานศาลปกครองสูงสุดท่านก่อน ท่านเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่จึงให้องค์คณะที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุด รองประธานศาลปกครองสูงสุด และหัวหน้าองค์คณะตุลาการทุกคณะ เป็นผู้พิจารณา นั้น เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีปกครอง ไม่ใช่การล้วงลูก
และอีกประเด็นที่ ป.ป.ช. หารือมาก็คือกรณีที่ตุลาการ ร้องขอให้ประธานศาลปกครองสูงสุด ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาล ซึ่งกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุด ก็ได้ชี้แจงไปที่ ป.ป.ช.ว่า เป็นเรื่องที่ตุลาการศาลสามารถทำได้

O กรณีพื้นที่พิพาทไทย กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง
กรณีดังกล่าวมีตุลาการท่านอื่นท่านมองว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนโยบาย แต่สำหรับผมมองว่า รัฐบาลเป็นผู้ดูแลเรื่องดินแดน และความมั่นคงของชาติ หากรัฐบาลทำประเทศเสียดินแดน ก็เสมือนผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ปล่อยให้มีผู้บุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้น ในเรื่องนี้ต้องเป็นอำนาจของศาลปกครอง แต่ทั้งนี้ก็มีตุลาการบางส่วนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงเรื่องนโยบายของรัฐ

O สถานการณ์ความแตกแยกของสังคม เกิดกระแสตุลาการภิวัฒน์ ไม่ว่าศาลใดก็ถูกนินทาว่าร้าย หากมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนศาลถูกโจมตีว่าไม่เป็นกลาง ศาลปกครองเตรียมรับมือเรื่องนี้อย่างไร
ผมคิดว่าการเป็นตุลาการต้องมีหลักอยู่ 4 ประการ คือ 1.ต้องมีความรู้ความสามารถ 2.ต้องเป็นคนที่ความ ซื่อสัตย์ สุจริต 3.ต้องมีจุดยืนที่ถูกต้อง และ 4.ต้องมีความกล้าหาญ หากมีหลักทั้ง 4 ประการแล้ว คำตัดสินของเราจะไม่เบี่ยงเบนและไม่มีปัญหา ถ้าเราไม่มีหลัก ทั้ง 4 ประการก็เป็นสิ่งที่ยาก และเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้อื่นเขาไม่เชื่อมั่นว่าเราเป็นกลางและอำนวยความยุติธรรม ได้จริง

O พอใจการอำนวยการยุติธรรมของศาลเพียงใด
พอใจที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น แสดงว่าเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการตัดสินของศาลปกครองที่ผ่านมาได้รับการยอมรับ และปฏิบัติตามคำสั่ง โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ

O ลำบากใจกับการตัดสินคดีมาบตาพุดหรือไม่
ไม่ลำบากใจ แต่เห็นว่าปัญหาที่เกิดจากการออกกฎหมายต่างๆ ของภาครัฐ จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการวินิจฉัย ยอมรับว่าการที่ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็มีผู้มาต่อว่า ผมจึงได้บอกให้ลองพาครอบครัวไปอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด เพราะที่ผ่านมาเคยไปตรวจเยี่ยมศาลปกครองระยอง เมื่อฝนตก ทุกคนจะวิ่งหลบฝน เนื่องจากฝนที่ตกลงมามีสารปนเปื้อน ไม่มีใครอยากย้ายไปอยู่ศาลที่จังหวัดระยอง แม้ว่าจะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ผมจึงคิดว่าถ้านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดนปล่อยปละละเลย และสร้างมลพิษ คนในอนาคตควรได้รับการคุ้มครอง

O สถิติคดีตอนนี้เป็นอย่างไรนับตั้งแต่เปิดศาลมาและจะครบรอบ 10 ปีในวันที่ 9 มีนาคม นี้
จนถึงปัจจุบัน (31 ม.ค.2554) มีคดีที่รับเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองจำนวนทั้งสิ้น 63,148 คดี โดยคดีที่รับเข้าในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2549-2553) มีปริมาณคดีที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับจำนวนคดีในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรกของการเปิดทำการศาลปกครอง (2544-2548) โดยมีคดีที่รับเข้าสู่การพิจารณาสูงถึง 6,200-7,200 คดีต่อปี หรือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6,878 คดีต่อปี
มีคดีปกครองที่พิจารณาพิพากษาแล้วเสร็จทั้งสิ้น 48,696 คดี คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา 14,098 คดี ศาลปกครองสูงสุดมีคดีรับเข้าทั้งสิ้น 16,333 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 10,670 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 5,576 คดี ศาลปกครองชั้นต้นมีคดีรับเข้าทั้งสิ้น 46,815 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 38,219 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 8,522 คดี ประเภทของเรื่องที่มีการฟ้องมากที่สุดของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด คือ เกี่ยวกับการบริหารบุคคลและวินัย 16,054 คดี คดีเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ละเมิด และความรับผิดชอบอื่น 12,012 คดี คดีเกี่ยวกับพัสดุและสัญญาทางปกครอง 9,111 คดี คดีเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8,899 คดี ทั้งนี้จะพยายามเร่งรัดการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

สุนทรพจน์

“ฮอสนี มูบารัค” ประธานาธิบดีแห่งอิยิปต์...ซึ่งวันนี้กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างใหญ่หลวง...เพราะการถูกประชาชนผลักไสไล่ส่งให้ลงจากอำนาจ

ในวันที่ประชาชนกำลังเดือดดาล...และในวันที่เขายังดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิดีในฐานะผู้นำประเทศ สิ่งที่จะปลอบประโลมความบ้าคลั่ง...นั่นคือ การเอาน้ำเย็นเข้าลูบ

มูบารัค ใช้ช่วงเวลาสั้นๆ โดยกล่าว “สุนทรพจน์” ต่อหน้าประชาชนของเขา...เปรียบเสมือนการกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้าย...และต้องการพูดอะไรบางสิ่ง ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้พูด

แต่ใครบ้างจะเชื่อว่า...สุนทรพจน์ที่ “มูบารัค” พูดถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ในวันนั้น...ได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกของประชาชนชาวอิยิปต์ไปอย่างสิ้นเชิง

จากเดิมที่คนอิยิปต์รักชาติ (มาก)...มาวันนี้พวกเขาเกิดความรักชาติ (มากที่สุด)

ประโยคนี้ประโยคเดียวที่ปลุก “จิตสำนึกรักชาติ” ของคนอิยิปต์

“ชาติจะยังคงดำรงอยู่ ผู้มาเยือนทั้งหลายจะมาและจากไป แต่อิยิปต์จะยังคงอยู่ชั่วนิจนิรันดร์ ธงของอิยิปต์จะยังคงปลิวไสว และดำรงอยู่อย่างปลอดภัย อิยิปต์จะก้าวข้ามผ่านจากยุคสู่ยุคอย่างมีเกียรติและสง่าสงาม”

มูบารัค ก้มหน้ายอมจำนน และรับผลการกระทำ เพราะวันนี้เขาเรียนรู้ว่า...ไม่มีผู้นำใดในโลกที่จะมีพลังยิ่งใหญ่ไปกว่า “ประชาชน” และไม่ว่าการกล่าวสุนทรพจน์ไพเราะบทนั้นจะออกมาจากใจ หรือจำเป็นต้องอ่านเพราะมีคนเขียนบทให้

สิ่งที่ทำให้คนอิยิปต์ลดความเดือดดาลลงมานั่นคือ การเห็น “มูบารัค” จากคนตัวโตๆ กลายมาเป็นคนตัวเล็กๆ...ซึ่งนับถือความอยู่รอดของ “ประเทศชาติ” เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ไม่ว่าตัวเองจะชั่วจะเลวอย่างไร...แต่สุดท้ายประเทศชาติต้องดำรงอยู่ได้

เราโชคดีที่มีอุทาหรณ์และตัวอย่างมากมายที่เกิดขึ้นในโลก...แต่น่าเสียดายทำไม “ผู้มีอำนาจ” ในประเทศจึงไม่รู้จักเรียนรู้ และนำมาปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้

คิดถึงประเทศของเรา...ประเทศไทย...ที่วันนี้กลุ่มคนจำนวนน้อยยังไม่รู้ ชะตากรรมว่า...จุดจบของผู้ปกครองที่ไม่ได้ใจประชาชนจะเป็นอย่างไร

กลุ่มคนเหล่านั้นยังภาคภูมิใจที่ได้เป็น เบอร์หนึ่ง...เบอร์สอง...เบอร์สาม ของประเทศไทย...แต่กลับไม่เคยหันไปมองโลกภายนอกว่า...มีผู้ยิ่งใหญ่กี่คนแล้วที่ต้องถูกประชาชน “ทรมาน” และ “สาบแช่ง”

เท่าที่เห็น...มีจำนวนนับหมื่นถ้วน...แต่เราจะเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่...โอกาสน่าจะเป็นมีสูง!

ที่มา.โลกมันเบี้ยวภูผาหิน,บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

บ้าน-วัด-โรงเรียนควรจะสัมพันธ์กัน

โดย พระพยอม กัลยาโณ

การที่ทางมหาเถระสมาคม (มส.) มีมติคัดค้านการถอดคำว่า “วัด” ออกจากคำนำหน้าโรงเรียนที่ใช้ชื่อวัดนั้น ประเด็นนี้มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันไปหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางคนบอกว่าที่หลายโรงเรียนขอตัดคำว่าวัดออกเพราะรู้สึกกันไปเองว่าถ้ามีวัดนำหน้าแล้วภาพของโรงเรียนจะดูด้อยกว่าโรงเรียนอื่น

จริงๆแล้วโรงเรียนคริสต์ โรงเรียนอิสลามจะเรียกว่าเป็นโรงเรียนวัดก็คงไม่ผิด แต่เขาก็ไม่เคยคิดว่าเขาด้อยตรงไหน กลับยิ่งพยายามชูว่าเป็นโรงเรียนในศาสนาของเขา แล้วทำไมโรงเรียนวัดในพุทธศาสนาจึงกลัวตกต่ำเพราะมีคำว่าวัดนำหน้า

อีกกระแสหนึ่งได้ยินแล้วน่าเป็นห่วง คือเรื่องผลประโยชน์ของโรงเรียน กระแสบอกว่าหากโรงเรียนใดถอดคำว่าวัดออกแล้วจะสามารถปล่อยเช่าสถานที่ส่วนของโรงเรียนในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องนำเงินเข้าวัด สามารถนำเงินเข้าโรงเรียนได้โดยตรง ไม่ต้องแบ่งให้วัดเพราะไม่ได้เป็นที่ธรณีสงฆ์

อีกประเด็นบอกว่าที่อยากตัดคำว่าวัดออกเพราะรังเกียจวัด ประเด็นนี้อยากให้ทุกคนลองนึกถึงโรงเรียนอิสลาม โรงเรียนคริสต์ เขายังไม่คิดทำเช่นนั้น เขาพยายามสนับสนุนและส่งเสริมให้คนทั่วไปรู้ว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนคริสต์ โรงเรียนนี้เป็นอิสลาม

เรื่องแบบนี้เมื่อก่อนไม่เห็นมีใครตะขิดตะขวงใจว่าโรงเรียนวัดไม่ดีหรือเรียนที่วัดไม่ได้ เพราะเรียนโรงเรียนวัดก็ไม่ได้ต่ำต้อยน้อยหน้าใคร และคนที่เคยเรียนโรงเรียนวัดหลายคนได้รับการยกย่อง มีหน้ามีตาในสังคม

อาตมาก็เรียนโรงเรียนวัด ได้รับความรู้มาเยอะแยะมากมาย ไม่เคยคิดน้อยเนื้อต่ำใจที่เรียนโรงเรียนวัด ขณะที่โรงเรียนมีชื่อเสียงที่ไม่มีคำว่าวัดนำหน้าก็มีเด็กเกเรอยู่ในนั้นถมเถไป เด็กบางคนเผาโรงเรียนอย่างนี้ ไล่ตีไล่ฆ่ากันอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นจึงอยากฝากไปว่า ผู้ที่เป็นนักบริหารต้องทำให้บ้าน วัด โรงเรียน เกิดการสอดประสานกัน ให้เดินทางไปในทิศทางเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องตัดคำว่าวัดออก ถ้าคิดอยากให้คำว่าบ้าน วัด โรงเรียน มีช่องว่างห่างกันไปเรื่อยๆ สุดท้ายยาเสพติดก็อาจจะเข้ามาแทรกแซง ภัยร้ายอย่างอื่นก็เข้ามาเพราะมันจ้องจะหาจังหวะเข้าไปอยู่แล้ว หรือเรากำลังรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยอะไรกับการมีคำว่าวัดนำหน้า เพราะคำว่าวัดก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา ในอดีตวัดก็คือสถานที่ที่ให้ความรู้ ให้สติปัญญา มีสถานภาพทางด้านการให้สติปัญญาอยู่แล้ว สมัยที่ไม่มีโรงเรียน ไม่มีมหาวิทยาลัยก็เป็นที่ให้การศึกษา และสังคมก็ไม่ได้วุ่นวายขนาดนี้

ขณะที่โรงเรียนบางแห่งไม่สามารถทำให้คนฉลาดขึ้น แถมยังเป็นแหล่งทำให้เกิดปมปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องตีรันฟันแทงกันระหว่างโรงเรียน เรื่องท้องในระหว่างเรียน ยังมีปัญหายาเสพติด ปัญหานิยมเหล้าปั่นหน้าโรงเรียน

เรื่องนี้หากการศึกษาเป็นอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสว่า การศึกษาวันนี้เหมือนกับเจดีย์ยอดด้วน คือยิ่งเรียนสูงกลับยิ่งเพิ่มปัญหา ยกตัวอย่างตอนเรียนอนุบาล ปัญหายาเสพติด ปัญหายกพวกตีกัน ปัญหาชู้สาว ไม่มีให้เห็นแน่ แต่พอๆเรียนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ชั้นประถมศึกษาอาจมีนิดๆ พอมัธยมฯต้นเริ่มกินเหล้า มัธยมฯปลายถึงมหาวิทยาลัยปัญหาทุกอย่างเข้ามาได้หมด

แต่ต้องยอมรับว่าสมัยนี้วัดกับโรงเรียนแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกันบางทีก็ไม่ค่อยจะเอื้ออาทรกัน บางวัดอาจใจแคบไม่เคยช่วยเหลือเอื้ออาทรเรื่องการศึกษา ไม่ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ในขณะเดียวกันโรงเรียนก็ตั้งข้อรังเกลียดวัดอยู่ในใจ เราจึงต้องทำให้ทั้ง 2 หน่วยงานเดินทางร่วมกัน ประคับประคองกันไปให้ได้ หากต้องแยกกันไปจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

สมมุติว่า มส. ไม่ได้มีมติเรื่องข้อห้ามนี้ออกมา เชื่อว่าโรงเรียนที่มีชื่อวัดนำหน้าอีกหน่อยอาจจะไม่มีเหลือแล้วเพราะเปลี่ยนกันไปหมด อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ก็ได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยน แปลงไปสู่ความเจริญ เป็นวิวัฒนาการที่นำไปสู่ความวินาศนาการ หรือวิวัฒนาการที่นำไปสู่ความก้าวหน้าแล้วทำให้อยู่เย็นเป็นสุขกันต่อไป ขอให้ทุกฝ่ายใคร่ครวญกันให้ดี อย่าได้ผลีผลาม อย่าได้ด่วนตัดสินใจอะไรง่ายๆ หรืออย่าได้กระทบกระทั่งเกลียดชังกันไปจนไม่อาจจะมองหน้ากันระหว่างผู้บริหารโรงเรียนกับเจ้าอาวาส

ฉะนั้นอยากให้ช่วยกันรักษาคำว่าบ้าน วัด โรงเรียน ให้สอดคล้องกันไว้ให้เป็นปึกแผ่นที่เหนียวแน่น จะได้เป็นหลักคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้มีศีลธรรม ทำให้เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า

เจริญพร

ที่มา.หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

**********************************************************************

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

กระแสประชาธิปไตยภายใต้กลไกทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง กระหึ่มดังประสาน เสียงคลอเคล้าไปในทำนองเดียวกัน อานิสงส์ผลบุญหนุนส่งกลบเสียงเงียบบนรังสีอำมหิต จนแทบไม่เหลือสะเก็ดเดซิเบลแห่งไฟฟอนปฏิวัติรัฐประหาร

เซียนเขี้ยวประชาธิปัตย์ เป่านกหวีด “คิกออฟ แคมเปญเลือกตั้ง” จัดหนักหาเสียงอย่างเป็นทางการผ่านป้ายคัตเอาต์และโฆษณาผ่านสื่อแบบปูพรมเช้า เที่ยง เย็น รวมไปถึงมื้อค่ำก่อนนอน หลังรับประทานอาหาร

กดปุ่มปล่อยคาราวานนโยบายเพื่อประชาชนชุดแรกท่ามกลางความอลหม่าน เล็กๆ ที่สวนจตุจักร ชิงธงการนำปรับเข้าสู่โหมดเลือกตั้งแบบไม่รอเพื่อนตามประสา เซียนเขี้ยวการเมืองมากพรรษาบารมี

“กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” กระบี่มือหนึ่ง ด้านยุทธศาสตร์พรรค ปล่อยออเดิร์ฟ ประเดิม 4 นโยบายเพื่อประชาชน เพิ่มค่า แรงขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี เพิ่มกองกำลัง พิเศษปราบยาเสพติด 2,500 นาย เพิ่มทุน กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อการศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัย 250,000 คนต่อปี และเพิ่ม โฉนดชุมชนให้เกษตรกร 250,000 คน เป็น การเรียกน้ำย่อย

พร้อมทั้งเล่นบทถนัดปั้นเด็ก เปิดตัว โครงการ “คนรุ่นใหม่ อนาคตไทย” ที่เฟ้น เอาเจเนอเรชั่นใหม่ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 225 คน ร่วมซึมซับบรรยากาศ การเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ประหนึ่ง บ่มเพาะประสบการณ์เพื่อเป็นกำลังสำคัญ ในอนาคตข้างหน้า

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น “กอร์ปศักดิ์” ยืนยันเองว่า การร่ายเวทย์ “เมตตามหา ประชานิยม” จะทวีความเข้มข้นขึ้นเป็นสองเท่า ในพลันที่นกหวีดยุบสภากรีดร้อง

นั่นจะเท่ากับว่า จากเดิมที่ประชาชนจะพบปะหน้า “ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” บนจอทีวีแบบถี่ยิบอยู่แล้วมันจะยิ่งมีโอกาสได้ชื่นชมความหล่อของท่านได้มากยิ่งขึ้นในวันที่ปี่กลองเลือกตั้งดังเซ็งแซ่อย่างเป็นทางการ วาระเกมชิงอำนาจบนหน้าฉากประชาธิปไตย เริ่มเอ็กเซอร์ไซซ์สกัดเกมชิงอำนาจอันสืบเนื่องมาจากวิธีพิเศษในทุกรูปแบบทุกกรณี

“ทีมงานแดงแห่งพรรคเพื่อไทย” ก็ไวทายาดไม่แพ้เซียนเขี้ยว 7 แกนแดงที่ เพิ่งได้รับอิสรภาพ ส่งสัญญาณผ่านไฟเขียว แห่งรีโมตคอนโทรล “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” แสดงเจตจำนงชัดเจน ต้องการมีพื้นที่ยืนในฐานะผู้ทรงเกียรติแห่งสภา หินอ่อนประเทศไทย

ด้วยมวลชนที่แวดล้อม ประสาแฟน คลับรักและคิดถึงอย่างแรง มันล้วนเป็นกุศล ผลบุญหนุนส่ง ที่ “นายใหญ่” ไม่ต้องตัดสินใจอะไรมากมายในการปูนบำเหน็จรางวัล เพื่อสร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองให้กับ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” และชาวคณะแดงทั้งแผ่นดิน ได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่การเมืองภาครัฐสภาอย่างเต็มตัว

ใครสอบตกใครสอบติด เป็นคิวที่ต้องว่ากันในเรื่องอนาคต แต่ด้วยอาการเลือดไหลออกอย่างต่อเนื่อง แกนแดงเหล่า นี้สามารถปะผุในพื้นที่ฟันหลอได้ไม่เป็นสองรองจากเบอร์เดิมๆ ที่ถูกดูดไปแม้แต่น้อย ยิ่งกระชับรูปแบบกลับมาเป็นแบบ เขตเดียว เบอร์เดียว ที่เกิดขึ้นบนบรรยากาศ “ทักษิณสู้”

กระสุนดินดำยิงสนั่นทั่วพื้นที่ ผู้สมัคร ที่มีกระแสและมากด้วยกระสุน มันย่อมมีสง่า ราศีมากกว่า เบอร์สำรองซึ่งเคยเรียกใช้ที่ประคบประหงมอย่างไรก็ยากที่จะเข้าวิน

ยิ่งวิเคราะห์กันในทางคู่ขนาน หากแกนแดงเหล่านี้สามารถเดินลุยไฟฝ่าดงบาทาจนมีเอกสิทธิ์คุ้มครองเป็นของตัวเอง ได้จริง จะเท่ากับว่า ในอนาคตข้างหน้า พวกเขาเหล่านั้นจะเป็นหมากชั้นดีในการต่อสู้ระยะยาว บนเงื่อนไขในสนามซึ่งเป็นรองหลายขุมที่กำลังจะบังเกิดในระยะสั้น

เสียงตอบรับเป็นอย่างดี จากทีมงาน แดงภาครัฐสภา จึงเป็นการการันตีพื้นที่ผ่านการกลั่นกรองของผู้บัญชาการใหญ่อย่าง “อดีตนายกฯ ทักษิณ” มาแล้วทั้ง หมดทั้งสิ้น

ปิดกล่องทางยุทธวิธี โอละพ่อ “ประชาธิปัตย์” ถือธงประชานิยมนำ “เพื่อไทย” เอาหลังพิงกำแพงหลักการประชาธิปไตยแบบแดง สองพรรคสลับดอกกันทางยุทธวิธีเลือกตั้งกันอย่างมีนัย สุดท้ายใครแพ้ใครชนะ คงไม่แคล้วต้องเล่นเอาล่อเอาเถิดกันต่อไป

นั่นมันก็สอดรับกับผลสำรวจความเห็นประชาชนของเอแบคโพลล์ ที่ส่วนใหญ่ ระบุว่า..

ร้อยละ 63.9 เชื่อว่า การเลือกตั้ง ครั้งต่อไป จะมีความดุเดือด รุนแรง

ร้อยละ 61.8 เชื่อว่า จะมีการถอนทุนคืน เพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ร้อยละ 75.3 เชื่อว่า ทุกพรรค การเมืองจะมีการซื้อเสียง ในการเลือกตั้ง และประชาชนร้อยละ 76.1 แสดงความเชื่อมั่นว่า ประชาธิปไตยจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ

เหลียวหลังดูพฤติกรรมในอดีต แลหน้าผ่านผลโพลที่บรรยายเหตุการณ์ในอนาคต ฟันธงแบบกำปั้นทุบดิน..นับห้วงเวลาจากช่วงชุลมุนในการเลือกตั้งที่ทอดยาวไปสู่วันที่สถานการณ์สะเด็ดน้ำ และกิน ยาวไปสู่คืนวันที่มีรัฐบาลใหม่..

บ้านนี้เมืองนี้ และประเทศนี้ ก็จะยัง พร้อมสรรพด้วยสารพันปัญหาในแบบเดิมๆ ทั้งปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง

ที่ยังพอมีความโชคดีอยู่บ้าง ที่เขาเหล่านั้นยังปักใจเชื่ออย่างมั่นคงว่าในท้าย ที่สุดแล้ว เงื่อนประชาธิปไตยจะเป็นทาง ออกในทุกปัญหา..นี่แหละประชาธิปไตยแบบไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกำลังรอวันโตไปตาม ธรรมชาติ ที่มันควรจะเป็น!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อะไร อะไร ก็การเมือง

สงสารแผ่นดิน

“ผมเกิดที่อังกฤษถือสัญชาติ ไทยตั้งใจทำงานเพื่อประเทศไทย ไม่คิดถือสัญชาติอื่นแล้วไปหาประโยชน์ในประเทศอื่น ไม่คิดขอลี้ภัย แล้วไปขอสัญชาติประเทศเขา เพื่อไปหาผลประโยชน์จากประเทศอื่น จะแลกกันไหมถ้าไม่มีผลประโยชน์ ใดๆ ผมไม่มีปัญหาอยู่ในใจ อยู่ในหัว ในตัว ผมสละได้และไปถามนักวิชาการและกกต. เขาบอกว่าไม่มีปัญหา ถ้าจะไล่ให้ถือสัญชาติเดียวก็ยินดี ถ้าจะให้ผมสละอังกฤษ ผมก็สละได้ แต่คนของท่านที่ถือพาสปอร์ตหลายประเทศก็ต้องสละ ด้วยจะยอมหรือไม่”

ทั้งสิ้นทั้งปวงนั้น..เป็นประโยค จากปากของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ..ที่ตอบโต้ในสภาผู้แทน.. เนื่องมาจากการอภิปรายถึงสัญชาติอังกฤษ หลังจากบ่ายเบี่ยง ไปไหนมาสามวาสองศอก..มานาน...อภิสิทธิ์ ก็ ยอมรับกลางสภา ด้วยวาจาดังกล่าว..

แต่ละประโยคที่พรั่งพรูออกมานั้น..ตีความได้ว่าคนที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ..แขวะไปถึงนั้น..คือ ทักษิณ ชินวัตร..อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูก.. มือที่มองไม่เห็นปฏิวัติไปเมื่อ 19 กันยายน 2549..และนายกรัฐมนตรีของเขาอีก 2 ท่านก็ไม่สามารถ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะ ต้องคำพิพากษา

ว่ากันไปแล้ว..หากว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ..จะตอบอย่างฉะฉานมาตั้งแต่ต้น..ยอมรับมาแต่แรกแล้วแจกแจงให้เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย..ส่วนจะเป็นเหตุให้นำตัวท่านไปสู่คดีฆ่า 91 ศพในศาลอาญาโลกหรือไม่นั้น..เป็นกระบวนการต่อสู้ทาง กฎหมายที่จะต้องว่ากันอีกยาวนานในอนาคต ก็เป็นเรื่องสง่างามเป็นสิ่งที่วิญญูชนพึงกระทำ

แต่...การส่อเสียดไปถึงคนที่ ไม่ได้เกี่ยวข้อง..ตัดสาระสำคัญ แห่งเรื่องราวและแต่งเติมป้ายสี.. นั้น..มันไม่ได้ทำลายทักษิณ ชินวัตร..แต่มันย้อนกลับมาทำลายตัว ท่านเอง..และสำคัญที่สุด..มันทำลายคนทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่ยกย่องท่านมาเป็นหัวหน้าและทำลายคนไทยในฐานะที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีของพวกเขา ไม่น่าเชื่อว่า..บัณฑิตเกียรตินิยม..จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของ โลก..จะแยกแยะไม่ได้..ว่าถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมานั้น..มันทำร้ายทำลาย ตัวเองยอมแพ้เถิดครับท่าน สงสาร แผ่นดินไทย

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

สหรัฐส่งเรือรบใกล้ลิเบีย

ตริโปลี : สหรัฐถกพันธมิตรนาโต้เรื่องการใช้มาตรการทางทหารต่อลิเบีย สั่งเรือรบในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเตรียมพร้อม นักวิเคราะห์ชี้ยังไม่น่าจะเกิดขึ้น กองกำลังรัฐบาลลิเบียใน 3 เมืองเตรียมพร้อมโจมตีฝ่ายต่อต้าน เลขาฯยูเอ็นระบุ “กัดดาฟี” หมดความชอบธรรมแล้ว “ชาเวซ” งดร่วมประณามผู้นำลิเบียพร้อมเสนอตั้งคณะไกล่เกลี่ยนานาชาติเพื่อหาทางออกอย่างสันติ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานคำกล่าวของนางซูซาน ไรซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ไม่ยอมรับความจริงและสังหารประชาชนของเขาเองจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำต่อไป และว่าสหรัฐกำลังหารือกับชาติพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เกี่ยวกับการใช้มาตรการทางทหารต่อลิเบีย นอกจากนี้สหรัฐได้อายัดทรัพย์สินของ พ.อ.กัดดาฟีและครอบครัวมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

พ.อ.เดวิด ลาแพน โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวว่า กองทัพสหรัฐได้สั่งให้เรือรบแล่นเข้าไปยังน่านน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใกล้กับลิเบียเพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดเหตุจำเป็น ซึ่งอาจใช้สำหรับปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและช่วยเหลือ ขณะที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวหลังการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศชาติพันธมิตรว่า กองทัพสหรัฐยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องการใช้กำลังทหาร ด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่าการใช้กำลังทหารยังไม่น่าจะเกิดขึ้น

สหรัฐมีกองเรือที่ 6 ประจำการอยู่ที่นอกชายฝั่งอิตาลี ซึ่งจนถึงวันจันทร์มีเรือรบอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก 8 ลำ ประกอบด้วยเรือฟรีเกตและเรือพิฆาต และยังมีเรือบรรทุกเครื่องบินในทะเลแดงและทะเลอาหรับอีก 2 ลำ

นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษเตรียมพร้อมให้ประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าลิเบีย เพื่อปกป้องประชาชนในลิเบียจากการถูกโจมตีโดยกองกำลังของ พ.อ.กัดดาฟี

ในขณะที่การประท้วงต่อต้านผู้นำลิเบียย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นเรื่องยากที่จะแสวงหาข่าวเนื่องจากการเดินทางไปยังที่ต่างๆไม่สะดวก ขณะที่การติดต่อสื่อสารก็ประสบปัญหามาก

มีรายงานว่า กองกำลังที่จงรักภักดีต่อ พ.อ.กัดดาฟีชุมนุมกันที่เมืองนาลุต ทางภาคตะวันตกของประเทศ ห่างจากพรมแดนตูนิเซียราว 60 กิโลเมตร เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อเตรียมโจมตีผู้ชุมนุมต่อต้านการปกครองของผู้นำลิเบีย

ชาวเมืองนาลุตผู้หนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า กองกำลังของ พ.อ.กัดดาฟีได้เคลื่อนเข้าสู้เมืองโดยมีรถยนต์ทหาร 4 ล้อติดปืนกลอัตโนมัติ รวมทั้งทหารหลายสิบคนพร้อมอาวุธประจำกาย ทำให้ชาวเมืองทุกคนต้องเตรียมพร้อม ส่วนชาวมืองอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ได้ยินเสียงทหารลิเบียเคลื่อนกำลังเข้าไปที่เมืองวาซินใกล้พรมแดนตูนิเซีย แต่ไม่มีการสู้รบในเมืองนาลุต

ส่วนชาวเมืองมิสราตาที่อยู่ห่างจากกรุงตริโปลีไปทางตะวันออกราว 200 กิโลเมตร และชาวเมืองซาวิยาห์กล่าวว่า ทหารฝ่ายรัฐบาลเตรียมพร้อมโจมตีฝ่ายต่อต้าน และมีการสู้รบที่ฐานทัพอากาศในเมืองนี้เมื่อบ่ายวันจันทร์ แต่กองทัพปฏิเสธข่าวนี้

นายฟิลิป โครวลีย์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลลิเบียกำลังรบกวนสัญญาณเครือข่ายข่าวอัล-จาซีราและอัล-ฮูรา ซึ่งเสนอข่าวสารตรงข้ามกับที่ พ.อ.กัดดาฟีอ้างว่าลิเบียกลับสู่ความสงบและพื้นที่ที่ถูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยึดครองกำลังถูกปิดล้อม

นายบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า พ.อ.กัดดาฟีหมดความชอบธรรมตั้งแต่ประกาศทำสงครามกับประชาชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลกสกัดกั้นไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนกับที่นาซีสังหารชาวยิว 6 ล้านคน ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา กล่าวว่า จะยังไม่ร่วมกระแสนานาชาติประณาม พ.อ.กัดดาฟีที่เป็นเพื่อนกันมานาน โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้ตั้งคณะไกล่เกลี่ยนานาชาติเพื่อหาทางออกอย่างสันติต่อเหตุลุกฮือต่อต้านผู้นำลิเบียที่เป็นทั้งเพื่อนและพันธมิตรทางการเมืองของเขา โดยได้หารือเรื่องนี้กับบางประเทศในกลุ่มโบลิวาเรียน (เอแอลบีเอ) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกาที่มีแนวคิดฝ่ายซ้าย และบางประเทศในยุโรปและอเมริกาใต้ โดยหวังว่าจะสามารถตั้งคณะทำงานที่เจรจาได้ทั้งกับฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในลิเบีย

ด้านสมัชชาใหญ่แห่งยูเอ็นจัดประชุมเมื่อวันอังคารเพื่อหารือเรื่องข้อเรียกร้องของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นที่ลงมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเรียกร้องให้ระงับสมาชิกภาพของลิเบียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เพื่อตอบโต้ที่ทางการลิเบียใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงจนทำให้คาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน

ที่มา.หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ซักฟอกรัฐบาล

พรรคเพื่อไทยได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรีคือ 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 2.นายกรณ์ จาติกวณิช 3.นายจุติ ไกรฤกษ์ 4.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ 5.นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล 6.นายโสภณ ซารัมย์ 7.นางพรทิวา นาคาศัย 8.นายศุภชัย โพธิ์สุ และ 9.นายกษิต ภิรมย์ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลบริหารแผ่นดินล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้รัฐมนตรีในรัฐบาลและบุคคลแวดล้อมกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน แสวงหาประโยชน์อย่างกว้างขวาง การบริหารไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ขาดหลักธรรมาภิบาล ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจล้มเหลว และขาดวินัยการเงินการคลัง

ขณะเดียวกันยังระบุว่า นายอภิสิทธิ์ไร้วุฒิภาวะการเป็นผู้นำ พูดจาไม่มีสัจจะ และยังถือ 2 สัญชาติ อีกทั้งละเว้นและปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม ในทางตรงกันข้ามกลับบังคับใช้กฎหมายโดยขาดความเสมอภาค เลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่เคารพหลักประชาธิปไตย ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ทำลายระบบราชการ ขยายความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ล้มเหลวในการแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งวิปรัฐบาลกำหนดการอภิปรายไว้ 2 วันคือ วันที่ 8-9 มีนาคมนี้

การอภิปรายยังรวมไปถึงการยื่นถอดถอนนายอภิสิทธิ์ออกจากนายกรัฐมนตรี 7 ประเด็น ซึ่งระบุว่า ไม่ปฏิบัติตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน การตรากฎหมายและนโยบายตามที่แถลงไว้ในรัฐสภา มีเจตนาฉ้อฉล เปิดช่องให้มีการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการต่างๆอย่างกว้างขวางมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรมอีกด้วย

การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยพุ่งเป้าไปที่ 2 พรรคเท่านั้นคือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นคู่แข่งสำคัญทางการเมือง การอภิปรายจึงต้องทำให้ประชาชนเห็นถึงความบกพร่องและไร้ประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด แม้ในทางปฏิบัติแล้วพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถชนะคะแนนโหวตเลยก็ตาม ไม่ว่าการอภิปรายจะมีเนื้อหาและหลักฐานแน่นหนาแค่ไหน

ที่สำคัญการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะยุบสภา ปฏิวัติรัฐประหาร หรือเกิดสุญญากาศทางการเมืองจนต้องมีการใช้อำนาจพิเศษเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองก็ตาม ซึ่งผู้มีอำนาจและฝ่ายการเมืองต้องตอบคำถามตัวเองว่า จะร่วมกันช่วยกอบกู้บ้านเมืองหรือให้ประชาชนออกมากอบกู้ประเทศชาติเหมือนประเทศในกลุ่มอาหรับและแอฟริกาเหนือขณะนี้

ที่มา. หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
**********************************************************************

คอป.กางบัญชี "91 ศพ" เจ็บนี้...ต้องชำระ..!!?

สัมภาษณ์พิเศษ โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์

"ผมเชื่อว่าที่สุดก็อาจต้องให้อภัยกัน แต่ทุกฝ่ายต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ ความขัดแย้งไม่ใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ แต่จากนี้ไปความรุนแรงเหล่านี้จะเริ่มน้อยลง เพราะทุกฝ่ายรู้แล้วว่าความรุนแรงเป็นต้นเหตุความเจ็บปวด"

เมื่อแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 7 คน ถูกปล่อย หลายคนคิดว่า "ฝันร้าย" จากเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ใกล้มาถึงจุดสิ้นสุด

และแม้บทบาทของ "คณิต ณ นคร" ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ (คอป.) ทั้งบนดิน-ใต้ดิน จะมีส่วนสำคัญ ทำให้แกนนำคนเสื้อแดงได้รับการประกันตัว

ทว่าภารกิจของ คอป. เหมือนเพิ่งเริ่มต้น..

"สมชาย หอมลออ" กรรมการและเลขานุการ คอป. อธิบายวิธีชำระความคับแค้น-คลุ้มคลั่ง-และคดีฆาตกรรม ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผู้เสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บอีกราว 2 พันคน ว่าจะต้องใช้ "ความจริง" เยียวยาผู้เสียหาย พร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างไม่มีละเว้น

เขาเริ่มกล่าวว่า ขณะนี้สังคมเริ่มไขว้เขว เพราะผู้นำบางคนชักจูงให้ทุกฝ่ายลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แลกกับความสมานฉันท์ในบ้านเมือง แต่ขอยืนยันว่าทำแบบนั้นไม่ได้!

"เชื่อหรือไม่ว่าในเหตุจลาจลปี 2553 แม้แต่ผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บางคน ก็ยังมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะบาดแผลที่เขาได้รับ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เขาเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ ดังนั้น การให้อภัย โดยบอกว่าลืมกันเสียเถิด มันเป็นไปไม่ได้"

เพราะ 35 ปีผ่านไป เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังไม่ได้รับการ "ชำระ" ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และใครควรรับผิดชอบ

วาทกรรม "ให้ลืมๆ กันไป" จึงไม่ใช่แค่การ "ซุกขยะไว้ใต้พรม" แต่เหมือนกับ "กอดระเบิดเวลาไว้กับตัว"

ในมุมมองของ "สมชาย" ยารักษาแผลใจที่เต็มไปด้วยความคับแค้นของทุกฝ่าย จึงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่า "ความจริง"

อนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงที่เขาเป็นประธาน จึงกำหนดวันรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง (Hearing) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-19 เมษายน 2554 เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่ว่าฝ่ายทหาร ผู้ชุมนุม และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ มานั่ง "เปิดใจ" พูดถึงสิ่งที่ได้เห็น-ได้ทำ-ได้คิด ระหว่างเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น

การเปิดเวทีรับฟังข้อมูลที่ผ่านมา ไม่เพียงพบสิ่งที่น่าสนใจ เช่น นายทหารยศ "พันเอก" ผู้คุมกำลังในเหตุการณ์ที่สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 กล่าว "ขอโทษ" ผู้ชุมนุม ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความสูญเสีย ยังทำให้ "คู่ขัดแย้ง" ได้มาร่วมโต๊ะเจรจา-ปรับทุกข์

ภาพความเอื้ออาทรระหว่างคนเสื้อเขียว-เสื้อแดง จึงปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกบนเวทีแห่งนี้

"สมชาย" มองว่าสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการค้นหาความจริง คือการเยียวยาผู้สูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงการให้เงินชดเชยเท่านั้น

"การเยียวยาที่ผู้เสียหายได้รับปัจจุบัน เป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายปกติเท่านั้น ทั้งที่ความสูญเสียดังกล่าว เกิดขึ้นในเหตุการณ์ไม่ปกติ ทำให้คน 500-600 คน ถูกกีดกันไม่ได้รับเงินชดเชย ดังนั้น คอป.จะทำเรื่องให้รัฐบาลเข้าไปแก้ปัญหานี้"

เขาพบว่า 1 ในวิธีเยียวยาที่สุดคือ "ท่าที" ของอีกฝ่าย ทั้งการแสดงความเสียใจ หรือการเอ่ยคำขอโทษ ซึ่งถึงวันนี้ยังไม่เคยได้เห็นพฤติกรรมดังกล่าวทั้งจากแกนนำผู้ชุมนุม หรือคนในรัฐบาล!

ซึ่งอาจเป็นเพราะคนที่จะกล่าวคำขอโทษได้ต้องรู้สึกว่าตัวเองรู้สึกผิดก่อน?

"เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความถูกหรือผิด ขาวหรือดำเท่านั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทุกคนมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย ความรู้สึกร่วมต้องมี ความเสียใจต้องมี แต่นักการเมืองจะต่างจากชาวบ้าน ที่จะทำอะไรมักคิดถึงผลทางการเมืองก่อน เชื่อไหมว่าถ้าปิดห้อง คนพวกนี้จะคุยกันอีกแบบ คุยกันเหมือนเพื่อน เพราะเขารู้จักกันหมด แต่พอไมค์จ่อปากจะพูด เพราะคิดว่าทุกอย่างเป็นคะแนนเสียงได้"

แน่นอนว่าภารกิจสำคัญที่สุดของ คอป.ยังได้แก่การหาคำตอบ-คลายปริศนา "91 ศพ" เกิดขึ้นได้อย่างไร

แม้ด้านหนึ่ง คอป.จะดูเหมือนทำงานคู่ขนานไปกับการสืบสวนสอบสวนหาคนผิดมาลงโทษของ "กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)"

แต่อีกด้าน คอป.จะลงลึกกว่าดีเอสไอ เพราะดูไปถึง "มูลเหตุจูงใจ" ว่าการ "เหนี่ยวไก" เป็นเพราะอะไร คิดว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู? สถานการณ์บีบคั้น? ลั่นกระสุนเพื่อป้องกันตัว?

แม้ระบบกฎหมายของไทยดีพอสมควร แต่การนำไปใช้ยังเป็นปัญหา เป็นเหตุให้หลายๆ คดี "คนผิด ลอยนวล"

"ปัญหาส่วนใหญ่คือกฎหมายของเราถูกบิดเบือน ผมทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมา พบปัญหาการบังคับใช้กฎหมายบ้านเราคือ แนวคิดที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นเรื่องกระบวนการยุติธรรม เราก็จะตรวจสอบด้วย เหมือนกรณีที่ดีเอสไอส่งสำนวนให้ตำรวจชันสูตรพลิกศพ 13 ศพ แต่ไม่มีความคืบหน้า คอป.ก็จะเข้าไปตรวจสอบ"

ส่วนถ้า "ชุดความจริง" ของ คอป.ออกมาไม่ตรงกับดีเอสไอ สังคมจะเชื่อข้อมูลฝ่ายใด เป็นเรื่องที่เขาตอบแทนไม่ได้

ส่วนท่าที คอป.ที่ดูเหมือน "แอบแดง" เข้าข้างผู้ชุมนุม ทำให้หน่วยงานรัฐบางหน่วยยึกยักในการให้ข้อมูล เขาเผยว่าที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากดีเอสไอในระดับ "ดี" จากทหาร "พอสมควร" แต่ "ไม่ได้รับ" จากตำรวจเลย

เป็นเหตุให้ คอป.ต้องฟ้องรัฐบาลให้ "กระตุ้น" ผู้ใต้บังคับบัญชา

ที่น่าแปลกคือผู้ชุมนุมบางส่วนก็ไม่ให้ความร่วมมือ เพราะถูก "กีดกัน" จากผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองบางคน?

เมื่อถามว่าถึงนาทีนี้ คอป.สรุปได้หรือยังว่าความรุนแรงเกิดจากอะไร?

"บางคนเชื่อว่ามีการวางแผน แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาปิงปอง แต่ผมคิดว่าอาจเป็นได้ทั้งปฏิกิริยาปิงปอง และมีความตั้งใจผสมอยู่ด้วย" เขาตอบ

เขายกว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความคับแค้นอยู่ในใจ ฝ่ายเสื้อแดงเคยถูกปราบช่วงสงกรานต์เลือดเมื่อปี 2552 จึงมาแก้แค้น ฝ่ายทหารก็เจ็บใจที่ถูกหยามศักดิ์ศรี ถูกบังคับให้กราบในเหตุการณ์ที่สถานีดาวเทียมไทยคม เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่-กระชับวงล้อม มีคนเจ็บตายจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากภารกิจ "บนดิน" คอป.ยังมีภารกิจ "ใต้ดิน" ซึ่งน้อยคนจะรู้ โดยอาศัย "คอนเน็คชั่นพิเศษ" ของกรรมการบางคน เดินสายเจรจาให้ทุกฝ่ายเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง

แม้ "สมชาย" จะปฏิเสธให้รายละเอียด "คณะทำงานลับ" โดยบอกเพียงว่า "วงเจรจามีหลายวง" แต่ก็ฉายให้เห็นว่าการทำงานของ คอป.นั้น "ไม่ธรรมดา"

ทว่า ด้วยอำนาจที่มีเพียง "ค้นหาความจริง" ตามเป้าหมาย "เพื่อความสมานฉันท์" หลายฝ่ายจึงปรามาสว่า คอป. เป็นเพียงองค์กรปาหี่-ที่ตั้งมาเพื่อฟอกความผิดให้รัฐบาล?

เขาชี้แจง "ข้อครหาฉกรรจ์" ว่าแม้ คอป.จะไม่มีอำนาจสั่งลงโทษใคร แต่กระบวนการค้นหาความจริงที่ทำอย่างเปิดเผย จะทำให้สังคมไทยเกิดการเรียนรู้

"ผมเชื่อว่าที่สุดก็อาจต้องให้อภัยกัน แต่ทุกฝ่ายต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ และยอมรับความจริงก่อน ความขัดแย้งในเมืองไทยเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี แต่จากนี้ไปความรุนแรงเหล่านี้จะเริ่มน้อยลง เพราะทุกฝ่ายรู้แล้วว่าความรุนแรงเป็นต้นเหตุความเจ็บปวดของทุกฝ่าย"

ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของ "9 อรหันต์ คอป." ที่จะไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีก!!!

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

เชิงอรรถ 'มะลิปฏิวัติ' ดอกเก่าร่วงไป ดอกใหม่ผลิบาน


ชาวอียิปต์หลายพันคนชุมนุมที่จตุรัสตาหะรี
ปฏิวัติดอกมะลิจากมือหนุ่มสาวโลกอาหรับ เพราะต้องการล้มอำนาจเก่า แล้ว"อำนาจเก่า"ทำอะไรพวกเขา จึงต้องใช้เครื่องมือใหม่ในโลกออนไลน์ประกาศสงคราม

โมฮัมเหม็ด บูอาซีซี วัย 26 ปี จุดไฟเผาตัวเองในเมืองซิดบูซิดของตูนิเซียเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อประท้วงอัตราว่างงานที่สูง เขาเป็นหนึ่งในบัณฑิตที่จบการศึกษามาหลายปีแล้วแต่ยังหางานทำไม่ได้ จนกระทั่งต้องมาตั้งแผงขายผักแต่ตำรวจก็มาจับเขาฐานตั้งแผงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ภาพอันน่าสยดสยองของบูอาซีซีในเปลวเพลิงบริเวณจตุรัสประจำเมือง จุดชนวนการจลาจลในตูนีเซียจนประธานาธิบดีซีเน เอล-อัลบิดีน เบน อาลี ต้องหนีออกนอกประเทศเมื่อกลางเดือนมกราคม หลังจากอยู่ในอำนาจมานานถึง 23 ปี

การเสียชีวิตของบูอาซีซีและ "การปฏิวัติจัสมิน" (The Jusmin Revolution) ในตูนิเซีย ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ไปทั่วโลกอาหรับ ด้วยการที่คนอย่างน้อย 7 รายในหลายประเทศจุดไฟเผาตัวเอง รายหนึ่งในแอลจีเรียหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อร้องเรียนเรื่องงานและที่อยู่ รายหนึ่งเป็นชายชาวอียิปต์ที่ขัดสนทางการเงินและจุดไฟเผาตัวเองหน้าสภา

บาฮีย์ เอลดิน ฮัสซัน ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาสิทธิมนุษยชนในกรุงไคโร แสดงความเห็นว่าเมื่อไม่มีช่องทางในการยื่นคำร้องเรียน คนก็เลยต้องจุดไฟเผาตัวเอง กว่าจะมาถึงจุดนี้พวกเขาผ่านความอยุติธรรมมามากมาย นี่อาจเป็นครั้งแรกที่โลกอาหรับได้เห็นการเผาตัวเองเลียนแบบกัน แต่ความขมขื่นใจนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกเพราะความเจ็บช้ำน้ำใจเหล่านี้เป็นปมค้างคามาหลายปีแล้ว

"ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการฆ่าตัวตาย โดยมีสาเหตุจากความยากจน มีผู้ชายคนหนึ่งผูกคอตายที่สะพานคาส เอล-นิลเมื่อปีที่แล้ว" ฮัสซันอธิบาย

สาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกซึ่งเริ่มจากการเผาตัวเอง ไปเป็นการจัดชุมนุมประท้วงในโลกอาหรับ น่าจะคล้ายคลึงกัน นั่นคือการเรียกร้องขอสิทธิในการเลือกผู้นำ และสิทธิในการเปลี่ยนตัวผู้นำ หากผู้นำคนนั้นไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างที่ประชาชนต้องการ สาเหตุอีกประการหนึ่งคือต้องการผู้มีอำนาจมาช่วยยุติพฤติกรรมคอร์รัปชัน และขอให้รัฐบาลสร้างโอกาสในการหางานทำแก่ประชาชน

ยัสเซอร์ อับดีห์ และอันจาลี การ์จ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก เขียนไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า น่าประหลาดใจที่อัตราว่างงานในตะวันออกกลางและภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นพร้อมกับการศึกษาที่มีมากขึ้น อย่างในอียิปต์ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การตรวจสอบระบบการศึกษาพบว่ามีบัณฑิตล้นเกินโดยเฉพาะด้านมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ ขณะที่ภาคธุรกิจบ่นว่าหาคนงานที่มีทักษะอย่างที่ต้องการไม่ได้

รายงานของธนาคารโลกยังระบุว่าบัณฑิต 1 ใน 7 คนในอียิปต์ จอร์แดน และตูนิเซีย ตกงาน และหลายคนมีคุณสมบัติสูงเกินสำหรับตำแหน่งงานที่ทำอยู่ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศประมาณว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ขยายตัวไม่เร็วพอดูดซับแรงงานใหม่ๆ อย่างอียิปต์ซึ่งมีประชากร 80 ล้านคนนั้น จะต้องมีงาน 9.4 ล้านตำแหน่งเพื่อให้คนที่ตกงานได้มีงานทำและรองรับบัณฑิตจบใหม่

นอกจากนั้น อัตราว่างงานในหมู่หนุ่มสาวยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อย่างในอียิปต์ที่อัตราว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 8.9 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราว่างงานในหมู่คนอายุต่ำกว่า 25 ปี อยู่ที่ 25.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราว่างงานโดยรวมของตูนิเซียอยู่ที่ 14.2 เปอร์เซ็นต์ และอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวอยู่ที่ 30.3 เปอร์เซ็นต์

หลายทศวรรษก่อนหน้านี้ คนที่ต้องการหางานไม่ว่าจะเป็นชาวจอร์แดน อียิปต์ เยเมน ปาเลสไตน์ หรืออื่นๆ จะมุ่งหน้าไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มั่งคั่งในตะวันออกกลางหรือยุโรปหรือสหรัฐ แต่ในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 บางประเทศในตะวันออกกลางเริ่มวิตกว่ากำลังนำเข้าแรงงานที่อาจก่อเหตุวุ่นวายได้ จึงหันไปจ้างคนงานจากเอเชียแทน

พลังคนรุ่นใหม่ผสานสังคมออนไลน์

ผู้ที่ลุกขึ้นมาประท้วงเพราะทนไม่ไหวกับปัญหาต่างๆ ในหลายประเทศของอาหรับ ล้วนเป็นคนหนุ่มสาว ซึ่งหลายคนเป็น "มือใหม่" ในกิจกรรมทางการเมือง และทุกคนก็ใช้เครื่องมือสมัยใหม่ อย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ อินเทอร์เน็ต และการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อจัดการชุมนุมและขยายผลการชุมนุม

สภาพการณ์ดังกล่าวนับว่าแตกต่างจากเมื่อไม่นานมานี้ ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางพูดถึงหนุ่มสาวในโลกอาหรับว่ามีความคับข้องใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะแม้คนเหล่านี้ไม่ชอบผู้ปกครองประเทศที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในมือ ทั้งยังรู้สึกว่าโอกาสทางเศรษฐกิจหรือการหางานของพวกเขามีขีดจำกัด แต่พวกเขาก็ไร้พลังทางการเมืองจนไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ ทั้งยังถูกคุกคามจากสายลับและตำรวจลับ

"ถ้าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว คุณมาบอกว่านักศึกษาของผมจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยมาสู่อียิปต์ ผมคงขำ" ศาสตราจารย์ฮัสซัน นาฟา แห่งภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร สารภาพ

ในทุกประเทศอาหรับ กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรมีวัยไม่ถึง 30 ปี และมีความต้องการเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไป นั่นคือเสรีภาพที่มาพร้อมประชาธิปไตย เมื่อปีที่แล้วบริษัทแอสดา เบอร์สัน-มาส์เทลลา ได้เผยผลการสำรวจความเห็นหนุ่มสาวใน 9 ประเทศอาหรับ ปรากฎว่าพวกเขาระบุว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ แซงหน้าสาธารูปโภค การศึกษา และค่าแรง

"ผมไม่สนหรอกว่าใครจะขึ้นมาบริหารประเทศ ตราบใดที่ผมสามารถเปลี่ยนรัฐบาลที่ผมไม่ชอบหน้าได้" คาเลด คาเมล นักศึกษาอียิปต์ ระบุ

ดังที่ระบุข้างต้นว่ากระแสความคับข้องใจในโลกอาหรับนั้นคุกรุ่นมานานแล้ว เปรียบเสมือนไม้ขีดไฟหัวเล็กๆ ที่เมื่อมารวมตัวกันก็จุดไฟกองใหญ่ได้ อย่างรายของคาเมลที่เล่าให้ฟังว่าเคยตกรถไฟและตำรวจคนหนึ่งเดินเข้ามาหาเขา แต่ไม่ได้มาช่วยเขา ซ้ำร้ายกลับตีเขาอีกเพราะเขานอนอยู่บนชานชาลา

การที่เจ้าหน้าที่ไม่ช่วยเหลือแถมทำให้ประชาชนขายหน้า เป็นเรื่องปกติในอียิปต์สมัยที่ฮอสนี มูบารัก ปกครองประเทศ และในรายของคาเมล วัย 20 ปีนั้น เขาระบายความคับข้องใจลงในบล็อกส่วนตัว จากนั้นชุมชนออนไลน์ก็มีเรื่องเมนต์กันกระหึ่มอีก เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความโหดร้ายของตำรวจที่เมืองอเลกซานเดรีย ซึ่งนักธุรกิจหนุ่มชื่อคาเลด ซาอิด ถูกตำรวจตีจนตาย จนมีการจัดทำหน้า "เราทั้งหลายเป็นคาเลด ซาอิด" ขึ้นบนเฟซบุ๊ค

คาเมลเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวบนเฟซบุ๊คและกลายเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตี จนกระทั่งรู้จักคนที่ดูแลหน้าดังกล่าว และเริ่มคุยกันทางอีเมล จนกระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ คาเมลก็ทราบว่าคนที่เขาคุยด้วยทางอีเมลคือวาเอล โกนิม ผู้บริหารกูเกิลที่กลายเป็นหน้าตาของการปฏิวัติอียิปต์ หลังจากถูกจับเข้าคุกกว่า 10 วัน เพราะโกนิมคือผู้จัดทำหน้า "เราทั้งหลายเป็นคาเลด ซาอิด" และเรียกร้องให้ผู้คนไปชุมนุมประท้วงที่จตุรัสตาหะรีเมื่อวันที่ 25 มกราคม

ด้านคาเมลนั้น เน้นการขยายการประท้วงไปทั่วประเทศ ด้วยการไปร่วมเดินขบวนที่เมืองอเลกซานเดรียและเมืองดามันฮูร์ ผ่านซากอาคารรัฐบาลที่ถูกเผาและปล้นสะดมภ์ นอกจากนั้น เขายังเดินผ่านห้องขังซึ่งหน่วยรักษาความมั่นคงเคยทารุณนักโทษด้วยสุนัขและไฟฟ้า ซึ่งระหว่างการเดินขบวนนี่เองที่เขาเกิดความรู้สึกว่าคนรุ่นเขาสามารถยุติการทารุณเหล่านี้ลงได้

"เรามีกำลังแล้ว และเรากำลังเริ่มสร้างอียิปต์ในแบบที่เราต้องการ" คาเมลเล่า

ในส่วนของโกนิมนั้น หลังจากถูกปล่อยตัวจากคุก ก็แสดงบทบาทมากขึ้นด้วยการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ดรีมทีวีของอียิปต์ โดยเขาพูดทั้งน้ำตาว่าอยากบอกกับพ่อแม่ทุกคนที่สูญเสียลูกไปในการประท้วงครั้งนี้ว่าเขาเสียใจแต่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เป็นความผิดของทุกคนที่ยังหวงเก้าอี้

วันรุ่งขึ้น คนจำนวนมากที่จตุรัสตาหะรีบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากการให้สัมภาษณ์เมื่อคืน และโห่ร้องต้อนรับโกนิมที่ไปปรากฏตัวที่จตุรัสอย่างกึกก้อง รวมถึงฟัตมา เกเบอร์ สาวน้อยวัย 16 ที่ขอร้องพ่อแม่ให้อนุญาตให้เธอไปร่วมประท้วง

"เมื่อฉันเห็นโกนิมทางทีวี ฉันสะเทือนใจกับคำพูดของเขาและเข้าใจว่าคนจำนวนมากต้องลำบากกับการปฏิวัติครั้งนี้ ฉันจึงอยากมีส่วนร่วมเพราะไม่อยากให้คนที่เสียชีวิตหรือคนที่ไปประท้วงทุกวัน ต้องลำบากหรือสูญเสียบางอย่างไปเพื่อให้คนทั้งประเทศได้ประโยชน์" เกเบอร์เล่า

นอกจากเกเบอร์แล้ว ยังมีผู้หญิงอียิปต์อีกมากที่กระตือรือล้นอยากมีส่วนร่วมในการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง รวมถึงมาร์วา อิบราฮิม บัณฑิตสาววัย 25 ปี ที่บอกว่าไม่ต้องการมูบารักและต้องการให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล พร้อมเสริมว่าชาวอียิปต์เรียกร้องมาตลอดให้ยุติกฎหมายฉุกเฉินที่ห้ามการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต และอนุญาตให้คุมตัวโดยไม่ต้องนำตัวขึ้นพิจารณาคดี

ขณะที่โกนิมเองนั้น แม้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ชุมนุม แต่เขาก็ขอร้องว่าอย่าชูว่าเขาเป็นวีรบุรุษของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เขาเป็นเพียงคนธรรมดา และวีรบุรุษคือผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนนั่นเอง

ลิเบียกับรสชาติเสรีภาพ

แม้การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ในลิเบียยังไม่สิ้นสุด แต่ชาวลิเบียทางภาคตะวันออกของประเทศก็พบว่าพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันมาก่อน นั่นคือเป็นอิสระจากการปกครองของโมอัมมาร์ กัดดาฟี เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี และชาวเมืองเบนกาซีก็ต้องหาหนทางบริหารกิจการของตัวเอง ในฐานะที่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของลิเบียและเป็นจุดกำเนิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ที่เริ่มต้นจากการประท้วงเล็กๆ เพราะไม่พอใจการคุมขังทนายความด้านสิทธิมนุษยชน

"เราไม่ได้วางแผนก่อการปฏิวัติ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ประชาชนไม่คาดฝันมาก่อนว่าจะเร็วขนาดนี้" ฟาธี เทอร์เบล ทนายความที่ถูกจำคุก เล่า

หลังจากประชุมกัน ชาวเมืองเบนกาซีก็ตกลงตั้งคณะกรรมการเพื่อรับรองความปลอดภัยของประชาชน และเริ่มพูดคุยกับนักวิชาการ ทนายความ และผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับวิธีบริหารเมือง ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังมีการชุมนุมกันประปรายเพื่อฉลองสิทธิในการชุมนุมตามจตุรัส อันเป็นสิทธิที่พวกเขาไม่ได้รับก่อนหน้านี้ เพราะกฎหมายปี 2516 ห้ามการชุมนุมเกินกว่า 4 คน เนื่องจากกัดดาฟีเกรงว่าจะมีการสมคบคิดกัน ทั้งยังปราบปรามองค์กรด้านพลเรือนด้วย

ส่วนในเมืองโทบรัก ที่มีประชากร 100,000 คนและเป็นอีกเมืองทางภาคตะวันออกที่อยู่ใต้การควบคุมของผู้ประท้วงนั้น ก็ผ่านการต่อสู้อย่างหนัก โดยหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมประท้วงคืออับดุลฮามิด อาบู บักร์ วัย 53 ซึ่งเล่าว่ามีเรื่องต้องชำระกับกัดดาฟี พร้อมอ้างว่าสมัยหนุ่มๆ เคยถูกจำคุกปีครึ่ง ในฐานะนักโทษการเมืองและถูกทรมานด้วย บักร์กล่าวว่าชาวอาหรับควรมีโอกาสตัดสินเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง

ปัจจุบันผู้ประท้วงที่หันมาดูแลความปลอดภัยของชาวเมือง ได้พานักข่าวเข้าไปดูอาคารที่เคยเป็นที่ทำการของตำรวจลับ และปัจจุบันอาคารดังกล่าวถูกเผาเรียบแล้ว

อิสรภาพครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปีทำให้ชาวเมืองเริ่มฝัน รวมถึงซาเลห์ ฟูอัด วิศวกรที่ทำงานกับบริษัทน้ำมันลิเบีย ซึ่งตั้งความหวังว่าภาคตะวันออกจะลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่สาธารณูปโภคแย่กว่าในกรุงตริโปลี (เมืองหลวงของลิเบีย)อยู่มาก

"เราผลิตน้ำมันได้วันละ 300,000 บาร์เรลในโทบรัก แล้วเงินหายไปหมดล่ะ ไปเข้ากระเป๋าของกัดดาฟีและครอบครัวหมดน่ะสิ" ฟูอัดระบายความอัดอั้น

ขณะที่ผู้ว่างงานจำนวนหนึ่งก็พากันออกมาแสดงตนว่ามีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย วิศวกรรม และแพทย์ศาสตร์ พร้อมกล่าวหารัฐบาลกัดดาฟีว่าสนใจแต่ฐานอำนาจทางภาคตะวันตกและละเลยภาคตะวันออก

"ผมมีปริญญาวิศวกรรม และสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษแต่หางานทำในลิเบียไม่ได้" อาเหม็ด โมฮัมหมัด เล่า
ด้านอับดุลเลาะห์ ลิฮัจ วัย 29 ปี บอกว่าเป็นเวลา 42 ปีที่ชาวลิเบียไม่มีเสรีภาพใดๆ แต่ขณะนี้เขาอยากบอกกับกัดดาฟีว่านี่เป็นประเทศของพวกเขาและพวกเขาต้องการให้กัดดาฟีออกไป

.................................................................................

ครั้งหนึ่ง บ็อบ ดีแลน นักร้องชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ปกครองโลก ความรุนแรงต่างหากที่ปกครองโลก

"โลกคงน่าอยู่กว่าถ้าไม่มีคนคิดแบบผม" เขาทิ้งท้ายด้วยประโยคนี้

...แต่หลายคนบนโลกกำลังคิดแบบเดียวกับ บ็อบ ดีแลน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรม RSR Confederation - สมาพันธ์ RSR


มาตรการโดดเดี่ยวกัดดาฟี: อายัดทรัพย์กว่าหมื่นล้านทั่วโลก

ประธานาธิบดีบารัค โอบามาสั่งกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อายัดทรัพย์สินผู้นำลิเบีย 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (1.84 หมื่นล้านปอนด์) ของผู้นำลิเบีย ผู้นำทั่วโลกกำลังโดดเดี่ยวระบอบลิเบียภายหลังการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง

การอายัดทรัพย์เริ่มขึ้นมากว่าสัปดาห์แล้ว และครั้งใหญ่สุดทำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลลิเบียและกลุ่มผู้นำน่าจะซุกซ่อนเงินอีกกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในบัญชีธนาคารต่างประเทศ ก้อนเงินดังกล่าวน่าจะมาจากการค้าน้ำมัน

รัฐบาลลิเบียถูกอายัดทรัพย์สินราว 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายใต้เขตอำนาจศาลของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ทางสหรัฐฯ กำลังพิจารณาสั่งอายัดทรัพย์สินเป็นรายบุคคลเพิ่ม ทั้งนี้ในปี 2010 วิกิลีกส์เปิดเผยข้อมูลว่า กัดดาฟี ให้ LIA หรือ Libyan Investment Authority ถือครองเงินสดราว 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และธนาคารอื่นๆ ในสหรัฐอีกราว 300-500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ



มีการคาดการณ์ว่า LIA อาจครอบครองอีกราว 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งการลงทุนในธนาคารยุโรป เช่น ธนาคารอิตาลี ฯลฯ

ในปลายปี 2010 ลิเบียถูกประเมินว่าถือสินทรัพย์ทั่วโลกราว 1.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในขั้นต้น กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เตือนธนาคารต่างๆ ให้เฝ้าระวังการถ่ายโอนเงินตราที่จะเชื่อมโยงไปยังผู้นำลิเบีย ทั้งนี้ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้มีอำนาจในลิเบียได้ถอดถอนเงินออกไป ขณะที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินมาตรการคว่ำบาตร

อย่างไรก็ตาม อังกฤษ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ได้ยึดทรัพย์สินกัดดาฟีและกลุ่มผู้นำลิเบีย ถือเป็นมาตรการเพิ่มแรงกดดันของประชาคมโลกต่อระบอบลิเบียที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้น
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อังกฤษได้อายัดทรัพย์สินของกัดดาฟี ลูกสาวและลูกชายทั้งสี่ของเขา รวมทั้งยึดบ้านที่ Hamstead ที่มีมูลค่าราว 10 ล้านปอนด์ ของ Saif al-Islam Gaddafi ลูกชายคนที่สองของกัดดาฟี
สัปดาห์ที่ผ่านมา อังกฤษพยายายามถอนเงินทุนกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของอังกฤษออกจากลิเบีย ก่อนจะทำการคว่ำบาตร
นอกจากนี้สถาบันทางการเงินในยุโรปได้พยายามทำทุกวิถีทางผ่านความร่วมมือกับสหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และอังกฤษ ในการบล็อกทรัพย์สินของรัฐบาลลิเบีย รวมทั้งธนาคารกลางของลิเบีย และ LIA
Guardian

ที่มา.Siam Intelligence Unit
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

"สุเทพ" อัด "จำลอง" อย่าบิดเบือน รบ.แค่ขอพื้นที่คืน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) ออกมากล่าวตำหนิการขอคืนพื้นที่ของรัฐบาล ที่ใช้อำนาจบังคับให้ตำรวจทำ ถือเป็นระยะแรกของการสลายการชุมนุม ว่า ตนกราบเรียนยืนยันกับประชาชนได้ว่า เราจะไม่สั่งให้ เจ้าหน้าที่ไปสลายการชุมนุมอย่างแน่นอน แล้วเราไม่เคยทำเรื่องการสลายการชุมนุมเลย แต่ว่าการขอพื้นที่คืนให้ประชาชนส่วนใหญ่นั้นต้องทำ เราเพียงไปขอคืนพื้นที่กลับมาให้ประชนได้สัญจรไปมาได้เลนหนึ่ง และวันนี้ ( 1 มีค.) ก็ ต้องพยายามต่อเพราะประชาชนเดือดร้อน อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าไปสลายการชุมนุม โปรดอย่าได้ไปบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ไม่ทำอย่างนั้นแน่นอน ในส่วนบริเวณถนนพิษณุโลกที่ยังไม่มีการขอคืนพื้นที่นั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็พยายามเร่งดำเนินการอยู่ ที่ผ่านมาผมเองก็อึดอัดใจเหมือนทุกคน ส่วนที่มองว่าที่ผ่านมาเป็นเพราะผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่กล้าที่จะสั่งการ เพราะเกรงว่าหากเกิดเหตุร้ายแล้วจะไม่มีใครรับผิดชอบนั้นก็คงไม่ใช่ แต่ผมระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปะทะรุนแรง เพราะจะทำให้เป็นเหตุบานปลาย ผมรู้ว่าประชาชนก็ไม่ชอบใจ แต่เราคงไม่ต้องการให้มีการทุบตีกันกลางเมืองกรุงเทพฯ เราคงไม่อยากให้ภาพพจน์ของประเทศชาติเสียหาย ก็ต้องใช้วิธีการตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้

รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ตนเห็นใจเจ้าหน้าที่ทำงานเรื่องนี้ว่าทำงานด้วยความยากลำบาก และพูดง่ายที่ไหนกับบรรดาแกนนำ อยากให้สื่อไปเห็นหรือมีการถ่ายทอดคำต่อคำไปออกทีวีทุกประโยค ซึ่งตนก็กราบขออภัยพี่น้องประชาชนด้วย

ที่มา.เนชั่น
//////////////////////////////////////////////////////////////////