--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

อย่าเสียค่าโง่

เป็นเรื่อง...แกว่งเท้าออกไปหาเสี้ยนอย่าง
ตั้งอกตั้งใจ...สำหรับคนไทย 7 คนที่...โดนทหารเขมรจับกุมตัวในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศ กัมพูชา
กับ ประเทศไทย

เป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศต้องตำหนิ...สำหรับคน
กลุ่มนี้...เพราะเหตุที่เขากระทำนั้นเป็นพฤติกรรมที่สามารถก่อให้เกิดสงครามระหว่างประเทศได้
หากว่าในระหว่างที่ทหารเขมรดำเนินการจับกุมนั้น หากมีกองกำลังของไทยผ่านเข้าไปพบเหตุ...ก็จะต้องมีการเข้าปะทะป้องกันหรือช่วงชิง

ก็จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวก่อให้เกิดสงครามระหว่างชาติ
ความเสียหายในด้านสงครามนั้นย่อมประมาณไม่ได้...แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชน 2 ชาติใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี...1 ในคน
เหล่านั้นเป็นผู้แทนราษฎรในสังกัดของพรรคท่าน...ความเดือดร้อนที่เกิดกับท่านนั้น...ก็หนักหนาสาหัส...
การไม่ต่อสู้ให้กัมพูชาส่งตัวกลับ...ก็เท่ากับการยอมรับบูรณภาพเหนือดินแดนที่คนเหล่านี้ย่ำเหยียบเข้าไป...และหากว่าที่คนไทยเหล่านั้นย่ำเหยียบอยู่...เป็น
แผ่นดินไทย...

เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้กระทำผิด...
ดูเหมือนว่า...นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล
ของท่าน...ขาดอย่างสิ้นเชิงในเรื่องสติปัญญา...
เมื่อเจอกับวิกฤติการณ์แบบนี้
ท่านรั้งรอและเงียบงัน...ในสิ่งที่ต้องการความฉับพลันและการเคลื่อนไหว...
กัมพูชาเขาเก่งกว่า...เขานำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการทางศาล...ผลักภาระจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้ไปอยู่กับ
ฝ่ายตุลาการ...

อำนาจที่เป็นอิสระจากอำนาจบริหาร...ปิดหนทางเจรจาไม่ว่าระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงการต่างประเทศ...ปิดหนทางเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล...หรือแม้แต่กระทั่ง ระหว่างกองทัพกับกองทัพ
อ้ายอีพวกนี้...เจตนาที่จะเข้าไปสร้างวิกฤติการณ์สงคราม...ระหว่าง กัมพูชา กับ ไทย...คำถาม
คือว่า...ทำไม...

พื้นที่ดังกล่าว...ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ก่อนหน้า...ไม่ใช่พื้นที่ที่เขาพระวิหาร...เขาไปสร้างสถานการณ์ขึ้นมาทำไม...
นายกรัฐมนตรีต้องหาเหตุผลให้ได้...ก่อนจะไปเจรจากับทางกัมพูชาและรัฐบาลพนมเปญ...มิฉะนั้น...จะเท่ากับท่านไปยอมรับว่าพื้นที่ทับซ้อน...เป็นแผ่นดินกัมพูชา
ระวังท่านจะโง่เหมือนบรรพบุรุษของพรรค...ที่แพ้ศาลโลกเสียเขาพระวิหาร

โดย.พญาไม้ทูเดย์พญาไม้,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สื่อแคนาดาสัมภาษณ์ทักษิณ-แนะอีก อภิสิทธิ์เจรจา นปช

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์โตรอนโตสตาร์ สื่อแคนาดา รายงานบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย พร้อมด้วยนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชาวแคนาดา โดยระบุว่าเป็นการให้สัมภาษณ์พิเศษขณะที่ทักษิณยังคงอยู่ในระหว่างการลี้ภัย ในประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่มิได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นประเทศใด

“เทรซีย์ ไทเลอร์” ผู้สื่อข่าวของโตรอนโตสตาร์ ระบุว่าทักษิณได้ให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตในช่วงที่ผ่านมาว่ามีความผ่อนคลาย และมีผู้คนมากมายมาขอเข้าพบ แต่ทักษิณได้เว้นระยะห่างทางการเมือง โดยระบุว่าตนมิได้ให้คำแนะนำใดๆ โดยตรงในกรณีที่มีรายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งได้เดินทางไปขอเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
นอกจากนี้ ทักษิณยังย้ำด้วยว่าตนไม่รู้จักกับแกนนำ นปช. และไม่เคยให้คำแนะนำด้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่ม นปช. แต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าปัญหาการเมืองทำให้ชีวิตของคนไทยที่สนับสนุนตนต้องเปลี่ยนแปลงไป และความสุขของคนไทยถูกพรากไป พร้อมทั้งระบุว่าคนเสื้อแดงอยากให้ตนกลับประเทศไทย แต่คำตัดสินลงโทษจำคุกตนในประเทศไทยเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลทหารเป็นผู้วางแผนกีดกันมิให้ตนกลับประเทศ

ขณะเดียวกัน ทักษิณได้กล่าวพาดพิงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย โดยระบุว่าการปรองดองหมายถึงการเจรจาและหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่สังคมไทย พร้อมระบุว่าอภิสิทธิ์ควรจะเจรจากับกลุ่ม นปช. และการกำจัดแกนนำหรือไล่ตามจับกุมกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าคุกไม่ใช่หนทางแห่งการปรองดอง
ส่วนนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่ม นปช.ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศให้ดำเนินการพิจารณาไต่สวนรัฐบาลไทย ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ สืบเนื่องจากการใช้กำลังล้อมปราบและสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือน เม.ย.และ พ.ค.2553 ซึ่งอัมสเตอร์ดัมระบุว่าทักษิณมิได้ลงชื่อยื่นฟ้องด้วย แต่ให้ความสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมาย


ที่มา http://www.thestar.com/news/article/917674--thailand-s-deposed-prime-minister-relaxes-and-waits

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ใช้อำนาจใดห้ามชุมนุม‘จตุพร’ยื่นศาลเคลียร์เงื่อนไขประกันตัว

“จตุพร” อึดอัดเงื่อนไขประกันตัวที่ไม่มีความชัดเจนทำให้ยากต่อการปฏิบัติตัว ส่งทนายยื่นคำร้องขอความกรุณากำหนดกรอบข้อห้ามตามเงื่อนไขให้ชัดเจน ถามห้ามร่วมชุมนุมเกิน 5 คนเป็นไปตามกฎหมายใด เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกยกเลิกใช้ไปแล้วและสิทธิการชุมนุมก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ร่วมกิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิต 91 ศพเข้าข่ายทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดขวางการพิจารณาคดีหรือไม่ ทนายระบุเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติตัวจนนำไปสู่การถอนประกัน โฆษกประชาธิปัตย์ซัดเคลื่อนไหวดึงองค์กรต่างชาติแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไทย แนะใช้ช่องทางร้องเรียนผ่าน คอป. ไม่ต้องถึงศาลโลกร่วมฟังพิจารณาคดี “สุเทพ” ปลอบแกนนำวันนี้ยังไม่ได้ประกันตัวก็ยังมีโอกาสยื่นใหม่ได้อีก แต่ต้องไปหาเหตุผลเพิ่มเติมให้ศาลเชื่อว่าออกมาแล้วจะไม่หนี ไม่ก่อเรื่องวุ่นวาย

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายคารม พลทะกลาง ทนายความนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้อธิบายเงื่อนไขการให้ประกันตัวนายจตุพรในคดีก่อการร้ายให้ชัดเจน

“ศาลกำหนดเงื่อนไขเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่าห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือร่วมกิจกรรมที่เกินกว่า 5 คน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล หรือทำการเผยแพร่ข่าวสารต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือต่อสาธารณะในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในทำนองเดียวกัน เว้นแต่เป็นการพูดหรืออภิปรายในรัฐสภาในฐานะเป็น ส.ส. การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพและอิสรภาพของจำเลยที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกับประชาชนภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ก่อให้เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการพิจารณาคดีในศาล จึงขอความกรุณาต่อศาลให้คำจำกันความที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ ไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนจนนำไปสู่การถอนประกันจำเลย”

ต้องคำนึงถึงหน้าที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน

นายคารมกล่าวว่า การพิจารณาครั้งนี้อยากให้ศาลคำนึงถึงสถานะความเป็น ส.ส. ของนายจตุพร โดยเฉพาะหน้าที่ของนักการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องทำหน้าที่ทั้งในและนอกสภา และขอให้คำนึงถึงสถานะความเป็นประชาชนที่เข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยและเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมมาตลอด

ทั้งนี้ ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

เงื่อนไขประกันไม่ชัดยากปฏิบัติ

ด้านนายจตุพรกล่าวว่า ที่ต้องยื่นให้ศาลให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกันตัวเพราะเห็นว่าเงื่อนไขที่กำหนดไม่ชัดเจน ยากต่อการปฏิบัติ

“ผมต้องการให้ศาลกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าจะไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในวันที่ 9 ม.ค. นี้ได้หรือไม่ การไปร่วมกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตถือว่าขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีหรือไม่ โดยเฉพาะคำสั่งห้ามร่วมชุมนุมเกินกว่า 5 คน อยากทราบว่าเป็นไปตามกฎหมายใด เพราะว่า พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินถูกยกเลิกบังคับใช้ไปแล้ว” นายจตุพรกล่าว

ยื่นนายกฯดำเนินคดี 3 บิ๊ก

ที่ทำเนียบรัฐบาลนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. พร้อมแนวร่วมจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดต่อองค์รัชทายาท ประกอบด้วย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนำข้อมูลที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์วิกิลีกส์มาเป็นหลักฐานที่อ้างว่าทั้ง 3 คน ร่วมสนทนากับนายเอริค จี. จอห์น อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง โดยจะให้เวลานายกรัฐมนตรีดำเนินการตามความเหมาะสม หากไม่ดำเนินการจะแจ้งความเอาผิดกับนายกฯในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“สุเทพ” ยันศาลไทยมีมาตรฐาน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ทำหนังสือถึงศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลก ให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการพิจารณาคดีของคนเสื้อแดงว่า จะทำอะไรก็ทำไป แต่ยืนยันได้ว่าการดำเนินการของศาลไทยมีมาตรฐาน เรื่องไม่ให้ประกันตัวแกนนำก็พิจารณาไปตามเหตุผล

“วันนี้ยังไม่ได้ประกันตัวก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ตลอดไป ฝ่ายผู้ต้องหาต้องไปหาเหตุผลมาแสดงต่อศาลใหม่เพื่อให้ศาลเชื่อว่าหากได้ออกมาแล้วจะไม่สร้างความยุ่งยากหรือทำให้เกิดปัญหาต่อพยานหรือรูปคดี” นายสุเทพกล่าว

ซัดดึงองค์กรนอกแทรกแซงไทย

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพิจารณาคดีเป็นเอกสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศ เป็นกิจการภายในที่ทั่วโลกให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มีการก้าวก่ายแทรกแซง

“ไม่ต้องไปพึ่งศาลโลก นปช. ควรใช้ช่องทางที่มีอยู่ เช่น ร้องเรียนผ่านคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ไม่ควรเคลื่อนไหวเพื่อนำองค์กรต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ”

ที่มา.จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

**********************************************************************

มา "อ่าน" หนังสือกันเถอะ : เมื่อสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช "ฮุน เซน" บอกว่า "รักนะ เด็กโง่ จุ๊บ จุ๊บ"



มติชนสุดสัปดาห์ฉบับประจำวันที่ 7-13 มกราคม 2553 นำภาพสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช "ฮุน เซน" นายกรัฐมนตรีกัมพูชามาขึ้นปก พร้อมคำโปรยสุดแสบสันต์และขบขัน "รักนะ เด็กโง่ จุ๊บ จุ๊บ" อย่างเข้ากับสถานการณ์ 7 คนไทย (1 ในนั้น เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์) ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่เขมร

รายงานข่าวในประเทศประจำฉบับ ประกอบไปด้วย รักนะ...เด็กโง่ จุ๊บ จุ๊บ, "เสื้อแดง" สวัสดีปีเถาะ ชุมนุมใหญ่ 9 ม.ค. "นปช." ยกเครื่องใหม่ ใช้ "ความจริง" เป็นอาวุธ, ปั่นสูตร "375+125" ป่วนแก้ รธน. "พรรคร่วม" ระทึก "เพื่อไทย" ระทวย ปชป. ได้เปรียบทั้งขึ้น ทั้งล่อง, ยุบสภา เกมในมือ "ประชาธิปัตย์" ชิงความได้เปรียบ "พรรคร่วม-ฝ่ายค้าน", "ซัคเคอร์เบิร์ก" แวบเยือนไทย มั่นใจว่าล้านคนไม่พอใจ "น.ส.เอ" คนละเรื่องเดียวกันบนจอ "เฟซบุ๊ก" และ เปิดยุคการตลาด "บนเน็ต" ไอโฟน-แบล๊กเบอร์รี่-เฟซบุ๊ก กลยุทธ์ธุรกิจสุดฮ็อต ปีกระต่าย โดย ศัลยา ประชาชาติ

ส่วนรายงานและสัมภาษณ์พิเศษน่าสนใจ ได้แก่ จาก "สี่เสาฯ" ถึง "คลองสี่" สัจธรรมแห่งอำนาจ "ป.เปรม" กับ 3 ป. - 3 P และตราบาป "ชินวัตร" และ "วิเชียร ชวลิต" ปลัด มท.คนใหม่ เปิดชีวิตเรียบง่าย "งาน-ครอบครัว" "ไม่เคยมีใครเข้าหลังบ้าน" โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

บทความน่าอ่าน มีอาทิ ชุมชนนอกความฝัน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยหลังปี 2554 เริ่มยุคสามก๊ก (จบ) โดย มุกดา สุวรรณชาติ, จะแก้ปัญหาเขตแดน-ปราสาทและเขาพระวิหาร พื้นที่ของเรา-ของเขา-ทับซ้อนกันได้อย่างไร โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ข้อเสนอในการปฏิรูปการเมือง โดย แพทย์ พิจิตร, เมล็ดข้าวในกองแกลบ โดย วิษณุ โชลิตกุล

เรื่องของตระกูลคิมที่ต้องขยาย โดย นกุล ว่องฐิติวงศ์, เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ (11) โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา และ จดหมายวันเด็ก ถึงท่านนายกรัฐมนตรี โดย คำ ผกา ซึ่งมีตัวอย่างเรียกน้ำย่อย ดังนี้

"...อย่างแรกที่หนูอยากจะบอกท่านคือ คำขวัญของท่านที่มีให้กับเด็กๆ มันไม่เร้าใจเอาเสียเลย "รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ" หนูว่ามันเป็นคำขวัญที่นอกจากจะดูถูกสติปัญญาเด็กแล้ว ยังขาดซึ่งตรรกะอย่างรุนแรง มันเหมือนคิดอะไรไม่ออกก็สักแต่หยิบคำอะไรก็ไม่รู้มาต่อๆ กัน..."

คอลัมนิสต์สาวสุดฮ็อตจากเชียงใหม่จะชำแหละคำขวัญวันเด็กของท่านนายกฯ เละเทะถึงเพียงไหนนั้น ติดตามอ่านได้ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

สำหรับคอบอล ห้ามพลาดคอลัมน์ "ซูเปอร์สตาร์" ที่มีเนื้อหาว่าด้วยสงครามระลอกล่าสุดในสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ระหว่าง "วีเจ" วิจิตร เกตุแก้ว กับอดีตศิษย์รัก "วีวี" วรวีร์ มะกูดี

ปิดท้ายด้วยของฝากแก่คอกวี บทกวีไม่ควรพลาดในสัปดาห์นี้ ได้แก่ เธอ ผู้สวมอาภรณ์สีดำ โดย เฉินซัน และ โศลกโพกผ้า โดย ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ศิลปวัฒนธรรม



ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนมกราคม 2554 มีเรื่องเด่นประจำฉบับได้แก่ เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ : เรื่องเหล้าของเจ้านาย โดย นนทพร อยู่มั่งมี ซึ่งจะบอกเล่าเรื่องราวการปรับตัวตามธรรมเนียมการกินเลี้ยงแบบใหม่ของเจ้านายชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนบทความน่าอ่านอื่นๆ มีอาทิ นางนากพระโขนง : ตายเพราะอะไร โดย นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช, พระราชชายานารีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย เล็ก พงษ์สมัครไทย, แกะรอย เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ มหาอำมาตย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง โดย ปวัตร์ นวะมะรัตน และ กรณีพิพาทที่ดินบางบ่อ-บางพลี : นายทุนเจ้าที่ดิน, จอมพล ป. และการเมือง ในกฎหมายสำรวจการออกโฉนดที่ดินช่วงปลายทศวรรษ 2490 โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์

ขออนุญาตปิดท้ายการแนะนำนิตยสารน่าอ่านประจำสัปดาห์นี้ ด้วยคำคมที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมมักนำมาฝากผู้อ่านกันอยู่เสมอ โดยในฉบับล่าสุด เป็นคำคมของ "นรินทร์กลึง" หรือ นายนรินทร์ ภาษิต (อดีตพระพนมสารนรินทร์ เจ้าเมืองนครนายก) ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ "ชวนฉลาด" เมื่อเดือนกันยายน 2491 ความว่า

"...จะขอเปรียบเทียบสักที มนุษย์เรานี้ก็ดังประหนึ่งสัตว์ที่อยู่ในโลกนรก! ก็เห็นจะได้ ฯ
แต่ไอ้พวกสัตว์ตัวโตๆ มันสบายดังกับได้อยู่ในโลกสวรรค์! เพราะมันมีอำนาจเหนือราษฎร์ที่มันจะเบียดเบียฬสัตว์ตัวเล็กๆ (พวกเราๆ ผู้น้อยๆ ได้ตามใจชอบของมัน ฯลฯ) หรือก็เพราะมันไม่รู้จักคำสอนของพระที่ดีเสียเลย - แม้น้อยฯ มันจึงได้พากันประพฤติเบียดเบียฬ หรือเอาเปรียบแต่ผู้น้อยดังที่ได้เห็นๆ อยู่ด้วยกันนี้ ได้ตามสบายใจของมัน ฯลฯ"


ที่มา.มติชนออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

7 ปีไฟใต้ วัดใจ'ปกครองพิเศษ'ปชป.งัดโมเดลใหม่สู้'นครปัตตานี'

โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร

เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายกรมหลวงนราธิวาสฯในปัตตานี นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามก่อการร้ายที่ยืดเยื้อมา7ปี โดยฝ่ายการเมืองพยายามเสนอโมเดลแก้ปัญหา

4 ม.ค.2553 เป็นวันครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งหลายคนใช้เป็น "หลักไมล์" ในการนับเวลาของปัญหา"ไฟใต้คุโชนรอบใหม่" กลายเป็นสงครามก่อการร้ายรายวันยืดเยื้อมานานถึง 7 ปี

เป็น 7 ปีที่มีผู้สังเวยชีวิตจากความรุนแรงไปแล้ว 4,122 ราย บาดเจ็บ 7,225 ราย เด็กกำพร้ากว่าครึ่งหมื่น หญิงหม้าย 2,188 คน โดยที่รัฐทุ่มงบประมาณลงไปแก้ไขปัญหาแล้วไม่น้อยกว่า 1.44 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี พลวัตของสถานการณ์ ณ วันนี้ต้องยอมรับกันก็คือ ปัญหาภาคใต้ได้ก้าวข้ามวาทกรรมเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น...การเมืองนำการทหาร, การสะสางความอยุติธรรม หรือการมุ่งปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยใช้กำลังทหารมากกว่า 3 หมื่นนายและกฎหมายพิเศษหลายฉบับเข้าไปกดทับพื้นที่ไปแล้ว

เพราะประเด็นที่พูดกันให้แซ่ดอยู่ในปัจจุบันก็คือ แนวคิดการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีโมเดลที่ติดหูติดตาและได้รับการกล่าวขานมากที่สุดคือ"นครปัตตานี"

หรือ"นครรัฐปัตตานี" ที่จุดพลุโดย "บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย เมื่อปลายปี 2552 และถูก"รับลูกต่อ" จากเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กรในพื้นที่ ถึงขั้นเดินสายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนจากทุกอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 37 อำเภอ โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

แต่กระนั้น ประเด็นนี้ได้ถูกผลักให้เป็นประเด็นการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ที่คาดว่าจะมีเกิดขึ้นภายในปี 2554 นี้ เพราะล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นป้ายหาเสียงโดยชูประเด็น “นครปัตตานี” พร้อมภาพ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ติดหราอยู่ริมทางหลวงและในเขตชุมชนทั่วทั้งสามจังหวัดไปแล้ว

คำถามก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งครองที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน จะแก้เกมนี้อย่างไร?

เปิดโมเดล"นครปัตตานี"
รูปแบบของ “นครปัตตานี” จากวาทะของ พล.อ.ชวลิต ไม่ค่อยชัดเจนนักว่าเป็นอย่างไรแน่ แต่รูปแบบที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กร มีกรอบกว้างๆ อยู่ 8 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

เป็นรูปแบบการปกครองที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1 คือ "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้" (ข้อเสนอนี้ปรากฏขึ้นมาเพื่อลดกระแสต่อต้านว่าเป็นความพยายามแบ่งแยกดินแดน หรือตั้งรัฐอิสระ หรือตั้งเขตปกครองพิเศษ)
- ต้องมีผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ มีจำนวนข้าราชการไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร
- ควรต้องใช้ภาษาไทยและภาษามลายูปัตตานีควบคู่กันไปบนสถานที่และป้ายต่างๆ ของทางราชการ รวมทั้งใช้หลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญและสายศาสนา รวมทั้งมีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ
- ควรต้องมีการบังคับใช้ระบบกฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้น โดยเน้นไปที่กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยตรงมากที่สุด
นอกจากนั้น ยังมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาเป็นตุ๊กตาโดย อัคคชา พรหมสูตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง เพื่อเตรียมเสนอเป็นร่างของประชาชนบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญด้วย ร่างกฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร” มีหลักการคล้ายๆ กับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร โดยผนวก จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลามาอยู่ด้วยกัน กลายเป็น “ปัตตานีมหานคร” มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

ฝ่ายสนับสนุนแนวคิด “นครปัตตานี” บอกว่า หากแก้ปัญหาด้วยการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คน (รวมหมดทั้งเรื่องภาษา ศาสนา การศึกษา และวัฒนธรรม) รวมถึงได้ผู้นำที่มาจากคนในพื้นที่เองแล้ว ปัญหาความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และอื่นๆ ก็จะหมดไปเอง ที่สำคัญ “ทหาร” ก็ต้องถอนกำลังกลับไปโดยปริยาย เนื่องจากได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งหมดแล้ว

แต่ฝ่ายที่คัดค้านแนวคิดนี้ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำฝ่ายปกครองท้องที่ (นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด) ผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นบางส่วน ส.ส.และ ส.ว.ในพื้นที่บางกลุ่ม มองว่า ทั้งรูปแบบ โครงสร้าง และเหตุผลที่ฝ่ายสนับสนุนยกมาอ้าง ทำให้ “นครปัตตานี” คล้ายเป็น “ยาวิเศษ” มากเกินไป และในความเป็นจริงไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ขนาดนั้น

หนำซ้ำยังอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมา คือความขัดแย้งจากการเลือกตั้งและการต้องยุบเลิกโครงสร้างของฝ่ายปกครองท้องที่กับฝ่ายปกครองท้องถิ่นบางส่วนด้วย

เปิดโมเดล ปชป.
นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร มองว่า ประเด็นที่กลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่อง “นครปัตตานี” ยังไม่ได้ตอบก็คือ หากจัดให้มีการเลือกตั้ง “ผู้ว่าการนคร” แล้ว จะเอาอำนาจมาจากที่ไหน เพราะเป็นเสมือนการสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมา ขณะที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายก อบจ.ก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งจังหวัดอยู่ในปัจจุบัน
ฉะนั้นทางออกของเรื่องนี้จึงควรลดอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคลง แล้วนำไปเพิ่มให้ นายก อบจ.แทน ก็จะแก้ปัญหาได้

"ประเด็นที่มีการเรียกร้องกันคือ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมไม่มีอำนาจเพียงพอใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นไป ปัญหาก็จบ โดยไม่ต้องกระทบกับโครงสร้างที่มีอยู่เดิมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง"

นิพนธ์ อธิบายว่า ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆ ไปขยายให้การปกครองส่วนภูมิภาคโตขึ้น เช่น นโยบายผู้ว่าฯซีอีโอ ซึ่งสวนทางกับการกระจายอำนาจ ฉะนั้นแนวทางที่ถูกต้องคือถ่ายโอนอำนาจเพิ่มเข้าไปให้ท้องถิ่น จะได้ไม่ต้องไปยุบเลิกโครงสร้างที่มีอยู่เดิมบางส่วน ก็จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะหากเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าการนคร จะนำไปสู่ความขัดแย้งแน่นอน

"ถามว่าถ้าเลือกตั้งผู้ว่าการนครรัฐปัตตานี โดยรวม จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นนครรัฐ แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอยู่เดิม 3 คนจะให้ไปอยู่ที่ไหน นายก อบจ.อีก 3 คน นายกเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครอีก ถ้าต้องยุบเลิกตำแหน่งพวกนี้ จะสร้างความขัดแย้งตามมาอีกมาก”

เมืองพิเศษชายแดน
นิพนธ์ อธิบายต่อว่า โมเดลของพรรคประชาธิปัตย์คือ การเพิ่มอำนาจให้ อบจ.และเมืองต่างๆ ตามแนวชายแดนทั่วประเทศ ให้สามารถบริหารจัดการและดูแลตัวเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่รวมถึงเมืองชายแดนอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้วย

"พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ชูธงให้เกิดเทศบาล อบจ.และ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) โดยได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ กระทั่งตอนนี้คือรูปแบบเมืองพิเศษ เช่น แม่สอด (อ.แม่สอด จ.ตาก) ภูเก็ต และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมืองเหล่านี้มีปัญหาด้านความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดมหึมาจากการค้าตามแนวชายแดน จึงต้องมีการบริหารจัดการรูปแบบพิเศษเข้ามาดูแล เพราะลำพังเพียงเทศบาล หรือ อบจ.ตามกรอบอำนาจเดิมไม่สามารถบริหารจัดการได้"

"จากแนวทางนี้ เมืองชายแดนทั้งหมดจะมีรูปแบบการปกครองลักษณะพิเศษ ขณะเดียวกันก็ไม่ก่อปัญหาความขัดแย้ง เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังมีอยู่ แต่ลดอำนาจให้เหลือเพียงกำกับดูแลเป็นเรื่องๆ ไป และเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานกับส่วนกลางเท่านั้น"

"สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รูปแบบจะเป็นอย่างไรก็มาระดมความคิดความเห็นกัน อาจจะเป็นเมืองชายแดนด้านวัฒนธรรมก็ได้ แล้วก็กำหนดขอบเขตอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิเศษกับส่วนกลาง ไม่ใช่อยู่ๆ ไปเสนอนครรัฐขึ้นมา โดยไม่รู้ว่ามีอำนาจหน้าที่อย่างไร และจะมีความสัมพันธ์กับราชการส่วนกลางอย่างไร"

นิพนธ์ ย้ำว่า การจะสร้างรูปแบบการปกครองพิเศษขึ้นมา ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าภารกิจของเมืองพิเศษคืออะไร อำนาจหน้าที่มีอะไรบ้าง และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิเศษกับราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า “นครปัตตานี” ยังไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้เลย เช่น ถ้ามีปัญหาด้านการต่างประเทศ จะให้ใครเป็นผู้เจรจา งานด้านความมั่นคง การศึกษา จะดูแลเองทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นต้น

"เวลาพูดเรื่องกระจายอำนาจต้องพูดให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางด้วย ไม่ใช่แค่คิดแต่ชื่อเป็นหัวขึ้นมา ส่วนรายละเอียดข้างล่างไม่มี ถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ และเกิดแรงต้าน"

"ยกตัวอย่างเวลาสร้างบ้านใหม่ ต้องบอกให้ได้ก่อนว่าบ้านจะมีกี่ชั้น กี่ห้อง และใช้งบเท่าไหร่ ไม่ใช่สร้างไป ทำไป คิดไป สุดท้ายอาจได้แต่เสา และที่สำคัญที่สุดคือต้องถามคนที่จะอยู่ในบ้านด้วยว่าอยากให้บ้านเป็นอย่างไร เพราะถ้าสร้างแล้วไม่มีคนอยู่ก็จะกลายเป็นบ้านร้าง"

ส่วนแนวทางการรวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “นครรัฐ” หรือ “มหานคร” นั้น ส.ส.ประชาธิปัตย์ผู้นี้ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ควรมีขนาดใหญ่มาก มิฉะนั้นจะอุ้ยอ้าย เทอะทะ สวนทางกับหลักการกระจายอำนาจ คิดว่าใช้รูปแบบ 1 จังหวัด 1 องค์กรดีกว่า เพราะจะมีความคล่องตัวในการบริหาร และมีโครงสร้าง อบจ.รองรับอยู่แล้ว

"สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องถามประชาชนเสียก่อนว่าอยากอยู่ในนครรัฐ หรือ อบจ.ที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจเข้ามาอย่างเพียงพอ อาจทำประชาพิจารณ์อย่างเป็นกิจจลักษณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประเด็นขัดแย้งใหม่ๆ ตามมา”

นับเป็นโจทย์ท้าทายทุกฝ่ายในสังคมไทย ในวาระ 7 ปีปัญหาภาคใต้ที่เปลวไฟยังคงคุโชน!

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------------------

ดร.เกษียร เตชะพีระ วิพากษ์รัฐบาล-วิจารณ์กองทัพ-กระชับพื้นที่มวลชน 2554 จับตาจัดแถววางโครงสร้างอำนาจใหม่

สัมภาษณ์


2553 เป็นปีแห่งความขัดแย้งอย่างถึงราก

นักวิชาการ ทหาร ตำรวจ ตุลาการ นักกฎหมายต้องนอนก่ายหน้าผาก-พลิกตำราเก่าแก่รับมือ

ดร.เกษียร เตชะพีระ ในฐานะคอลัมนิสต์-นักรัฐศาสตร์ ฟันธงว่า ปี 2554 จะเป็นปีแห่งการจัดโครงสร้างอำนาจของสถาบันหลักของชาติใหม่

พร้อม ๆ กับการกระชับพื้นที่ให้มวลชนสีแดง-สีเหลืองค้นหาเหตุผลมาต่อสู้กัน แทนการใช้กำลัง ความรุนแรง

หากสีใดยังใช้มวลชนเป็น "เบี้ย" ถือว่าเป็นการกระทำที่ "ทุเรศ" และต้องส่งเสริมให้เกิดการ "ทะเลาะกันโดยสันติ"

บรรทัดจากนี้ไป เป็นคำทำนายข้อวิเคราะห์ บทวิพากษ์ และวิจารณ์ทุกโครงสร้างอำนาจ

สิ่งที่น่าจับตาที่สุดของการเมือง ปี 2554 มีอะไรบ้าง

มันทับซ้อนกัน 2 เรื่อง อันแรก เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร 2549 ก็คือจะจัดระเบียบการเมืองยังไงให้ลงตัว เพราะว่ามันมีกลุ่มอำนาจ ซึ่งเขาดำรงอยู่จริงในทางสังคม ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีกระบวนการที่กลั่นกรองทางการเมือง แต่กระบวนการที่กลั่นกรองนั้น ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่า มันก่อปัญหามากกว่าด้วยซ้ำ แปลว่าคุณจะจัดระเบียบการเมืองยังไง ที่จะดึงเอากลุ่มพลังที่ถูกกันออกไป ให้เข้ามามีที่ทางในระเบียบการเมือง และสู้กันในวงการเกมกฎกติกาทางการเมืองได้

ในแง่กลับกัน ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา สถาบันสำคัญของประเทศ มีการแสดงบทบาทวางตำแหน่งฐานะที่ลักลั่นเปลี่ยนไปจากเดิม พูดตรง ๆ เช่น สถาบันองคมนตรี สถาบันตุลาการ สถาบันทหารได้ถูกดึงเข้ามา จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากขึ้น มันก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น

ผมคิดว่า ย้อนไป 4 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดว่าสถาบันเหล่านี้มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นทั้งสิ้น ลองนึกไปก่อนปี 2549 สถาบันตุลาการมีภาพลักษณ์ที่ดี สถาบันทหารมีภาพลักษณ์ที่ดี สถาบันองคมนตรีไม่มีใครตั้งคำถาม แต่ปัจจุบันเข้าไปพัวพันการเมืองมากขึ้น

ฉะนั้น จะจัดวางบทบาทตำแหน่งแห่งที่บทบาทฐานะของกลุ่มพลังทางการเมืองที่ถูกกันออกไปจากการเมืองนั้นอย่างไร คือการจัดระเบียบการเมืองใหม่ ที่ให้กลุ่มพลังทางการเมืองและสถาบันที่สำคัญของสังคมทั้งหลายมีบทบาทฐานะที่อยู่ในกรอบของระเบียบการเมือง อยู่ในกฎกติกาของระเบียบการเมือง และเล่นบทที่เหมาะสมของตัว

ที่อาจารย์บอกว่า กลุ่มพลังอำนาจที่ถูกกันออกจากการเมืองนั้น ความจริงเขาอยากกันตัวเองออกจากการเมือง หรือ คนอื่นกันเขาออกไป

(หัวเราะ) ตอนต้น เขาก็คงอยากออก มีคนเชิญเขาออกไปหลายรอบใช่ไหม...คือพอพูดแล้ว เขาก็มีเหตุผลบางอย่าง ที่เขาอยากอยู่ หรือเพราะห่วงผลประโยชน์เขา ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ธรรมดา แต่พอเราผลักกัน...ในที่สุด ก็ไม่ใช่เรื่องของเขาคนเดียว เพราะในที่สุด คุณไม่ได้ดีลกับตัว คุณทักษิณคนเดียว แต่คุณกำลังดีลกับเครือข่ายอำนาจของคุณทักษิณ จะจัดการกับเครือข่ายอำนาจของคุณทักษิณ ในที่สุด ก็กันออกไปไม่หมด เช่น กลุ่มนักการเมือง กลุ่มมวลชน

ผมคิดว่า วิธีการจัดการที่ผ่านมา มันไม่ได้เรื่อง มันไม่นำไปสู่ความสงบเรียบร้อย ทำให้ทุกคนยอมรับอย่างที่คุณตั้งใจ อันนี้คือปัญหาคาราคาซัง

ทีนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่ซับซ้อนเข้ามา และทำให้ปัญหาคาราคาซังเรื้อรัง ยิ่งแก้ยากเข้าไปอีก คือการฆ่าคน ตอนเหตุการณ์เมษา-พฤษภาที่ผ่านมา คือปัญหาเดิม ก็แก้ยากอยู่แล้ว แต่เพิ่มเรื่องนี้เข้ามา ก็เหมือนไปเพิ่มล็อกอีกตัวหนึ่ง แล้วทำให้การแก้ปัญหาพื้นฐานแก้ยาก

ทำให้มีแนวโน้มเกิดความรุนแรงปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมือง กระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ ยิ่งหนักหนาเข้าไปอีก คือเรื่องทั้งหมด ก็ไม่ใช่เรื่องฝ่ายความมั่นคงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของฝ่ายผู้ชุมนุมด้วย เรื่องแบบนี้ ก็เห็นมาตั้งแต่การล้มรัฐบาลสมัคร (สุนทรเวช) การล้มรัฐบาลสมชาย (วงศ์สวัสดิ์)

ต้องทำอย่างไร

ผมคิดว่า เรื่องด่วนที่สุด คือเรื่องเฉพาะหน้า ปัญหาความยุติธรรม ปัญหาความรุนแรง ที่คาราคาซังมาจากเดือนเมษา-พฤษภา ถ้าไม่มีความยุติธรรม ไม่มีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นที่ยอมรับในการหาความจริง โอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายและรุนแรงก็จะเกิด เหมือนกับเป็นแผล บ่มหนองไปเรื่อย ๆ

ประสบการณ์ของไทยที่ผ่านมาในอดีต ก็มีตัวอย่างเหมือน 14 ตุลา 16 พฤษภา 35 ขบวนการอย่างนี้ ต้องเปลี่ยนการนำทางการเมือง เปลี่ยนรัฐบาล พอเปลี่ยนการนำทางการเมืองแล้ว คือเปลี่ยนหัวก่อน พูดง่าย ๆ สมัยนั้น ถนอม ประพาส ณรงค์ออกไป สมัยพฤษภา 35 สุจินดาออกไป

อันที่ 2 คือเปลี่ยนการนำของสถาบันหลักในทางความมั่นคงที่เข้าไปเกี่ยวพันกับความรุนแรง ก็คือตัว ผบ.ทบ. หรือใครก็แล้วแต่ที่เข้าไปใช้กำลังตอนนั้น และเปลี่ยนแกนนำหน่วยงานราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปราบปราม

การเปลี่ยนรัฐบาลและการนำหน่วยงานราชการ เพื่อว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวพันไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะบล็อกการไต่สวนของกระบวนการยุติธรรมได้ ไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะล็อกการค้นหาความจริงได้ นำไปสู่ข้อยุติในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วหลังจากนั้นค่อยจัดสรรผลประโยชน์อำนาจกันใหม่

แต่ละตำแหน่งมีที่มาตามระบบราชการ หรือมาจากการเลือกตั้ง

มันไม่ง่ายหรอก...คือผมคิดว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นโอกาสหนึ่งที่จะเปลี่ยนการนำทางการเมือง...จะเกิดขึ้นหรือเปล่า ผมไม่รู้นะ ก็อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เรื่องไม่จบ

เป็นการเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นผู้นำหรือเปล่า

ผมใช้คำว่า เปลี่ยนการนำดีกว่า คือพูดด้วยความจริงใจ ในฐานะนักรัฐศาสตร์ จากประสบการณ์การเมืองไทย ถ้าอยากแก้ปัญหาเรื่องนี้ คนที่นั่งอยู่ในอำนาจรัฐบาลตอนเกิดเหตุ ไม่ควรจะนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐบาลอีก อันที่ 2 ก็คือต้องเปลี่ยนการนำของสถาบันหน่วยราชการฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายตุลาการ และองคมนตรี เพื่อให้กระบวนการคลี่คลาย ไม่งั้นมันจะโดนล็อก และกระบวนการไม่คลี่คลาย

คือผมไม่อยากพูดเรื่องตัวบุคคล แต่เป็น การเปลี่ยนการนำ เพราะสถาบันเหล่านี้เข้า ไปพัวพันทางการเมือง โดยเฉพาะเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา ทำให้ความชอบธรรมเสื่อมถอยลงทั้ง 3 สถาบัน ไม่เคยมียุคไหน ที่สถาบันตุลาการ สถาบันกองทัพ สถาบันองคมนตรีมีภาพลักษณ์ขนาดนี้มาก่อน

ถ้าแก้ไม่ได้ อย่างเลวร้ายที่สุด ปี 2554 จะเกิดอะไรขึ้น

อย่างเบาที่สุดก็คือ un-governability ก็คือปกครองไม่ได้ ปกครองอย่างอำนวยให้เศรษฐกิจ สังคมดำเนินไปอย่างปกติสุข เป็นไปไม่ได้ ใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็จะมีแนวโน้มใช้อำนาจอย่างฉุกเฉิน ใช้กฎหมายความมั่นคง อำนาจนิยม ส่วนฝ่ายมวลชน ก็จะมีแนวโน้มต่อต้านการปกครองอำนาจใหม่ที่ขึ้นมา และมีแนวโน้มอนาธิปไตย

ก็คือข้างบนอำนาจนิยม ข้างล่างอนาธิปไตย แล้วก็จะเรื้อรังกันไปแบบนี้ เรื้อรังกันไปเรื่อย ๆ แบบนี้ เพราะเป็นมาตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 23 ธันวา 2550 แล้ว

สาเหตุที่เสื้อแดงควบคุมยาก เพราะ แกนนำยังไม่ได้ประกันตัว เรื่องนี้เป็นปัญหาที่แท้จริงหรือไม่

ผมคิดว่า ปัญหาทับซ้อน 2 ส่วน คือในส่วนแกนนำ ก็มีปัญหาการต่อสู้ทางแนวทางของแกนนำที่อยู่ข้างใน จากการเปิดเผยของคุณวีระ มุสิกพงศ์และพี่วิสา คัญทัพ แกนนำ นปช.ในระยะเวลาที่ผ่านมา แล้วในที่สุด ดูเหมือนว่าแนวทางต่อสู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบขาด ฉับพลัน เอาชนะอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน เป็นฝ่ายที่แพ้

ผมคิดว่า อันนี้เป็นบทเรียนที่ต้องสรุป คือหลีกเลี่ยงความรุนแรง แล้วมองการต่อสู้อย่างที่เป็นจริง ไม่ใช่อย่างที่ใจตัวเองต้องการ ไม่ว่าใจนั้นจะเป็นใจในประเทศ หรือใจนอกประเทศก็ตาม ต้องเริ่มจากความเป็นจริง

เขากำลังพยายามเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยทั้งประเทศ เกี่ยวกับการเมือง ปัญหาความเสมอภาคในสังคม อันนั้นเป็นเรื่อง ยืดเยื้อยาวนาน คงจะเร่งรัดให้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น เผด็จศึก...ไม่ได้

ในส่วนของมวลชน ผมยินดีที่สุดเลย ที่คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เขาทำการเคลื่อนไหว แต่คุณูปการที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของการต่อสู้แบบ บก.ลายจุด คือการต่อสู้แบบสันติ

อาจารย์ไม่อยากให้ปฏิเสธกันที่สีเสื้อ แต่อยากให้ปฏิเสธวิธีการรุนแรง

ผมอยากให้เปิดยุคใหม่ของการต่อสู้ในความขัดแย้งทางการเมือง จาก 3-4 ปีที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อทางการเมืองอย่างจริงใจจริงจังของคนเสื้อเหลืองแลคนเสื้อแดงได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มข้น ในที่สุด ก็ทำให้การต่อสู้ส่งผลไปถึงความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย

ดูแนวโน้มต่อไปข้างหน้า วันที่เราเจอ จุดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างแนวคิดที่ต่างกันในเรื่องนี้ ระหว่างเสื้อสี ที่ต่างกันในเรื่องนี้ มันคงไม่เกิดเร็ว เมื่อไม่เกิดเร็ว ก็ต้องสร้างวิธีการต่อสู้ ที่สู้กันได้ โดยไม่ต้องฆ่ากัน มันจะเป็นประโยชน์ต่อคนเสื้อเหลืองเอง และจะเป็นประโยชน์ต่อคนเสื้อแดงเอง

แน่นอน ทางรัฐก็ต้องเข้าใจด้วยว่า คุณพลาดทางยุทธศาสตร์นะ ที่คุณไปปราบ ฆ่าเขารุนแรงขนาดนั้น

ทั้งฝ่ายผู้ฆ่าและฝ่ายผู้ถูกฆ่าก็มีเหตุผลรองรับการกระทำของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายชุมนุม

ผมคิดว่า ทุกฝ่ายลองหายใจลึก ๆ แล้วถามตัวเองว่า คุณมีคำอธิบายเสมอ ว่าคุณจะต้องทำแบบนี้ ต้องปราบ ต้องใช้ความรุนแรง เพราะ...แล้วอธิบายไป แล้วผลที่ได้มาเนี่ย มันแก้ปัญหาไหม หรือมันเพิ่มปัญหา

ถ้าประเมินแล้ว คิดว่าเพิ่มปัญหาให้ หนักหน่วงยิ่งขึ้น แตกลายปัญหาออกไป อีกกว้างไกลยิ่งขึ้น งั้นก็อย่าทำอีก มันไม่คุ้ม...อะไรจะดีกว่ากัน ระหว่างฆ่าคนที่เห็นต่างจากคุณ หรือชนะใจเขา แล้วเปลี่ยนแปลงความคิดเขาได้

ผู้ชุมนุมถูกปลุกระดมให้เกลียดฝ่ายรัฐ ส่วนฝ่ายรัฐปฏิบัติราวกับผู้ชุมนุมเป็นศัตรู ถือเป็นข้ออ่อนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า

ข้ออ่อนนี้ เป็นกันทุกฝ่ายนะครับ เสื้อเหลืองก็เป็น เสื้อแดงก็เป็น ฝ่ายรัฐก็เป็น ประเทศไทยสัก 100 ปีข้างหน้า เราก็ยังต้องมีกองทัพไทย เราก็ยังมีคนที่เชื่อใน อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสื้อแดง เราก็ยังมีคนที่เชื่อในอุดมการณ์เรื่องสถาบันพระ มหากษัตริย์ เรื่องการรักชาติแบบเสื้อเหลือง มันไม่มีอะไรที่จะหายไปหรอก คุณตั้งใจที่จะทำให้เสื้อแดงหายไปหมดเหรอ ? คุณตั้งใจที่จะทำให้เสื้อเหลืองหายไปหมดเหรอ ? คุณตั้งใจที่จะทำให้กองทัพไทยหายไปจากประเทศไทยเหรอ ? ไม่มี...วันนั้นจะไม่มี

มวลชนทุกสีเสื้อคงทะเลาะกันที่ความคิดเลือกข้าง แต่ระดับนำของทั้ง 2 ฝ่ายมี ผลประโยชน์มหาศาลเป็นเดิมพัน และใช้ชีวิตมวลชนมาต่อรอง

ผมว่า ที่ผ่านมามีการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ภายในองค์กรไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ มีลักษณะนำเดี่ยว หรือนำไปตามใจ หรือพร้อมที่จะเอามวลชนเป็นเบี้ย เพื่อแลกกับชัยชนะ อันนี้พูดด้วยความเคารพ ว่าทุเรศที่สุด ผมนึกคำที่แรงกว่านี้ไม่ได้ มันทุเรศ...อย่าทำแบบนั้น...คือต้องคิดใหม่ในหมู่แกนนำ เรื่องการเอาชีวิตคนเป็นเบี้ย เป็นเครื่องมือ

ในแง่กลับกัน ผมคิดว่า มวลชนก็อย่าได้ปล่อยให้ตัวเองเป็นเครื่องมือของแกนนำ การเข้าไปร่วมเนี่ย คุณก็มีอุดมการณ์ร่วม คุณมีแนวคิดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีร่วมกับเขา ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณคิดว่ามันชอบกล ไม่เข้าท่า มวลชนก็อย่าไปยอม

ทุกครั้งที่มีการชุมนุมของทุกสี ก็ต้องปลุกอารมณ์

ถ้าใช้อารมณ์ คุณก็ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่อยากจะใช้คุณเป็นเครื่องมือ คือเราคงไม่สามารถหลีกพ้นสภาวะอันนี้ ในโลกของเราต่อไปข้างหน้า ก็ยังมีคนที่ใช้อารมณ์มวลชนเป็นเครื่องมือ

มวลชนอาจจะบอกว่าเต็มใจ ตายก็ยอม ขณะที่คนได้ประโยชน์คือแกนระดับนำระดับบน

อืม...ม ผมเห็นด้วยนะ คือคนที่เขามีความเชื่อ พร้อมจะเอาชีวิตเข้าแลกและยอมตายเพราะความเชื่อ ผมเคารพนะ แต่ที่ผมกลัว คือพลิกนิดเดียว ไปเป็นเขายอมฆ่าเพราะความเชื่อ สิ่งนี้ผมอยากจะให้คิดซะใหม่ คุณยอมตายเพราะความเชื่อเพื่ออุดมการณ์คุณ ผมนับถือ แต่อย่ายอมฆ่าเพราะความเชื่อ มันต่างกันนิดเดียวจริง ๆ ต้องระวัง

คุณทักษิณเป็นตัวแปรสำคัญของการเมืองไทย เขาควรมีท่าทีอย่างไรต่อมวลชนและฝ่ายตรงข้ามภายในประเทศ

คุณทักษิณในฐานะสิ่งมีชีวิตทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แน่นอนของตัว จะไม่ให้เขาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเขา ก็คงไม่ได้ ในความคิดความเข้าใจของเขา ก็คงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งก็มีสิทธิที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมนั้น

หน้าที่ของพวกเรา ก็คือจะออกแบบระเบียบการเมือง ระเบียบการปกครองอย่างไร ที่จะมีที่ให้คุณทักษิณ รวมทั้งกลุ่มอื่นอยู่ตรงข้าม ต่อสู้แสวงหาความเป็นธรรม โดยไม่ทำให้บ้านเมืองทั้งหมดพังด้วย เพราะมีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าถูกคุณทักษิณรังแกเอาเปรียบ เขาคงรู้สึกเหมือนกันว่าในยุคคุณทักษิณ เขาก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าไหร่ เราจะออกแบบอย่างไร เพื่อให้คนเหล่านี้เล่นได้ โดยไม่ทำให้ทั้งหมดฉิบหายไปด้วย อันนี้สำคัญกว่า

ผมคิดว่า ถ้าจะไม่ให้คุณทักษิณมีบทบาททางการเมืองเลย หรือจะไม่ให้คนที่รู้สึกว่าถูกคุณทักษิณรังแกมีบทบาททางการเมืองเลย มันผิดวิสัยมนุษย์ มนุษย์มันก็เป็นสัตว์การเมือง มันก็เคลื่อนไหวแบบนี้แหละ

แต่ว่า เรากำลังปล่อยให้ความขัดแย้งของกลุ่มคนเหล่านี้ทำลายระเบียบการเมืองของเรา ของลูกหลานเรา จนกระทั่งการเมืองแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องยิงกัน ต้องมาฆ่ากัน

เราต้องหาวิธีที่ต่อให้คุณทักษิณ หรือฝ่ายตรงข้ามคุณทักษิณ นึกอยากจะใช้วิธีที่เลวร้าย ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ คือระเบียบการเมืองมีความแข็งแรงพอที่จะทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในทางผลประโยชน์ของกลุ่มคนเหล่านี้เดินไปตามวิถีของมัน

วิธีคิดที่ว่าทำใจ ทีใครทีมัน จะทำให้บ้านเมืองสงบได้ไหม

เราต้องสร้างระเบียบการเมือง ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนได้ที ก็ต้องไม่ทำร้ายส่วนรวม

ขั้นต่ำ คือมีกติกาแน่นอน ยอมรับว่า ใครชนะแล้ว เล่นเกมใหม่ ไม่ใช่พอฝ่ายตรงข้ามชนะแล้ว บอกว่า กูจะไม่ยอมให้มึงปกครอง แล้วทำทุกวิถีทาง เอามึงลงให้ได้ ซึ่งผมรู้สึกว่า อันนี้มันเล่นกันซะจนบ้านเมืองฉิบบหายหมด แบบนี้ตายทั้ง 2 ฝ่าย กลับไปสู่วงจรอุบาทว์เก่า อำนาจนิยมโดยรัฐบาล อนาธิปไตยโดยมวลชน

การชุมนุมแบบเดิม มักวัดกันที่จำนวนมวลชน เปลี่ยนไปเป็นวัดกันที่ประเด็นความต้องการ

ก็เป็นความก้าวหน้าขึ้น ผมคิดว่า กว่าจะมาถึงปัจจุบัน เริ่มชัดเจนแล้วว่า ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องอะไรบ้าง ถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่า การเมืองไทย ไม่มีใครคิดล้มเจ้าเพื่อเป็นสาธารณรัฐ แม้แต่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แกก็ไม่ได้บอกว่าจะล้มเจ้า

ฉะนั้น ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องจะ ล้มเจ้า หรือไม่ล้มเจ้า แต่เป็นประเด็นว่า คุณจะสร้างระเบียบการเมืองอย่างไร ที่จะมีที่ทางให้พลังการเมืองฝ่ายต่าง ๆ และสถาบันหลักต่าง ๆ ของสังคมได้วางฐานะตัวเองได้เหมาะสม นี่คือโจทย์ระยะยาว

มีกระแสมวลชนบางกลุ่มคิดว่าต้อง ล้มเจ้าเพื่อแก้ปัญหา

คงมีคนที่คิดแบบนั้นอยู่บ้าง แต่ในแง่กลับกัน ในเมืองไทย มีคนรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลที่ดีที่สุด... เราอยู่ในประเทศที่มีคนทั้ง 2 แบบ เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน มีช่องทางใดไหมที่จะมา นั่งถกเถียง ด้วยเหตุผล ว่าอะไรคือปัญหาที่ติดขัดข้องใจ อะไรคือฐานะบทบาทตำแหน่งของสถาบันสำคัญของประเทศที่ควร

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-----------------------------------------------------

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

นปช.สู้ต่อ ยื่นหนังสือศาลโลก

- นปช.เดินหน้าช่วยแกนนำเสื้อแดง ส่งหนังสือศาลอาญาระหว่างประเทศ เข้าสังเกตการณ์คดีในไทย พร้อมเตรียมปรับโครงสร้างใหม่

นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แถลงว่า เมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) ได้ส่งหนังสือถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อขอให้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาและไต่สวนคดีของ นปช.ในศาลไทย พร้อมเผยแพร่ความคืบหน้าของคดีให้โลกได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อความยุติธรรมและเที่ยงธรรม เนื่องจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง ช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และรัฐบาลพยายามตัดสินว่ามีการสร้างเรื่องลึกลับ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกลุ่มกระตุ้นให้ทหารสังหารประชาชน และยังบิดเบือนประเด็นความสนใจด้วยข้อหาก่อการร้าย

นางธิดา กล่าวว่า แกนนำคนเสื้อแดงและผู้ชุมนุม ยังไม่ได้รับการประกันตัว และถูกปฏิเสธที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ถูกจำกัดการมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมที่จะคัดค้านในคดี ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พยายามจัดกลุ่มฝ่ายต่อต้านเป็นอาชญากรและผู้ก่อการร้าย นอกจากนี้ ยังมี 2 มาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมผู้พิพากษามีอคติ หรือไม่ก็หวาดกลัวในการดำเนินคดี ส่วนกรณีที่ศาลยกคำร้องไม่ปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำคนเสื้อแดงทั้ง 7 คนนั้น ทางกลุ่มจะเดินหน้าหาช่องทางในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลต่อไป

“ต้องปล่อยตัวแกนนำออกจากคุก ไม่ใช่มาสาละวนเอาคนออกจากคุกเขมร รัฐบาลต้องการเอาคนออกจากคุกเขมร แต่เราต้องการเอาคนออกจากคุกไทย จึงจะมารวมตัวกัน 9 มกราคมนี้ คุณณัฐวุฒิ ฝากมาบอกว่า แกนนำยังมีขวัญและกำลังใจ ส่วน นพ.เหวง บอกว่า ตามมาตรา 39 แล 40 ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป. วิอาญา ยืนยันจะทวงสิทธิประกันตัวของเรา ซึ่งเป็นการต่อสู้ไม่ใช่การจำนน” นางธิดา กล่าว

นางธิดา ยังได้กล่าวเปิดตัว นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ นายกสมาคมศัลยกรรมหัวใจแห่งประเทศไทย แนวร่วมคนเสื้อแดง และนางอาภรณ์ สารคำ ภรรยานายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดง เป็นกรรมการ นปช. พร้อมเตรียมปรับโครงสร้าง นปช. โดยจะให้เร่งตั้งคณะกรรมการระดับตำบล อำเภอ จังหวัดและภาค รวมถึงกทม.ทุกเขตให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ก่อนจะเปิดโครงสร้าง นปช.ใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์.

ที่มา-สำนักข่าวไทย

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เจ้าสำนัก "เศรษฐกิจใต้ดิน" "ทักษิณ-อภิสิทธิ์ต่างกันที่เรื่องการพนัน"

แคมเปญหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มีข้อมูลเต็มถังเพราะการทำเวิร์กช็อป 5 สัปดาห์ของคณะข้าราชการหัวกะทิของประเทศ 70 คน ทำให้เกิดข้อค้นพบ-ข้อมูล ชุดความคิดที่พัฒนาต่อยอดนโยบายได้อย่างลงตัว โดยไม่ต้องลงแรง

1 ใน 3 หัวขบวน แคมเปญ "ปฏิบัติการเพื่อคนไทย" เป็นเจ้าสำนักวิจัยด้าน "เศรษฐกิจนอกระบบ"

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ผู้คร่ำหวอดกับคนในวงการใต้ดิน-หัวคะแนน-เจ้าพ่อและคนกลางคืน อาสา มานำเสนอ "แรงงานนอกระบบและเศรษฐกิจนอกระบบ"

"กูรู-เศรษฐกิจใต้ดิน" หลังส่งการบ้านให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี

- วัตถุประสงค์จริง ๆ ของรัฐบาลในการทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจนอกระบบคืออะไร ต่างจากทุกครั้งอย่างไร

คือเป็นโจทย์สำหรับคนที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งตามหลักของนัก เศรษฐศาสตร์จะหมายถึงคนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีผู้ที่เสียภาษีทางตรง ซึ่งรายได้ของเขาจะไม่รวมอยู่ในบัญชีรายได้ประชาชาติ

ดังนั้นการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ทำได้ลำบากมาก เป้าหมายคราวนี้ส่วนใหญ่ น้ำหนักจะอยู่ที่คนทำงานนอกระบบที่อยู่ในตัวเมืองที่ไม่ใช่เกษตรกร แต่เกษตรกรจะได้ประโยชน์บางอย่างด้วยเช่นกัน

ซึ่งกลุ่มประชาชนก็มี 4 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และคนทำงานกลางคืน เพราะฉะนั้นหลักคิด ถามว่า นโยบายแบบนี้คุณทักษิณ เคยทำไหม คุณทักษิณเคยทำ คุณทักษิณทำมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เราเรียกว่านโยบายประชานิยม

ส่วนเรื่องแท็กซี่ ถามว่า คุณทักษิณเคยทำไหม คุณทักษิณก็เคยทำแท็กซี่เอื้ออาทร แต่ว่าล้มเหลว และในที่สุดเอสเอ็มอีแบงก์ ที่เป็นคนปล่อยสินเชื่อขาดทุนยับเลย สิ่งที่คุณทักษิณได้เริ่มต้นบางอย่างไว้ ที่เรียกว่า นโยบายประชานิยม เป็นเรื่องที่ดี และมีเรื่องที่เป็นจุดอ่อน

แต่เรื่องที่ไม่ดีของคุณทักษิณ เช่น แท็กซี่เอื้ออาทร เอาสินค้าไม่ดีมาให้คนใช้ และกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วก็เรื่องบ้านเอื้ออาทรนี่ไม่ดี เพราะเป็นการเก็บเงินค่าหัวคิวจากโครงการ และทำให้คุณภาพบ้านเอื้ออาทรไม่ดีพอ คือตัวนโยบายนั้นดี แต่กระบวนการทำงานนั้นมีการทุจริต

ฉะนั้นอีกอันหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของนโยบายประชานิยมคือ ไม่มีกรอบทางกฎหมายรับรอง จึงเป็นเหตุให้นโยบาย ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับตัวคุณทักษิณ คือถ้าคุณทักษิณอยู่ นโยบายอยู่ แต่ถ้าคุณทักษิณ ไม่อยู่ ทุกอย่างก็จะค่อย ๆ แห้งไป

ฉะนั้นก่อนที่เราจะไปพูดกันถึงนโยบายของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ต้องดูว่า สิ่งที่คุณทักษิณริเริ่มไว้มีจุดแข็งอะไร มีจุดอ่อนอะไร ผมคิดว่าการเอานโยบายมาพัฒนาต่อยอด ปิดจุดอ่อนนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย ตราบใดที่ผลประโยชน์นั้นเป็นของประชาชน

ผมได้ประเมินจุดแข็ง จุดอ่อนของนโยบายประชานิยมที่คุณทักษิณได้ทำไว้ เมื่อเรามาทำตรงนี้เราก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น และสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องระวังมากที่สุดก็คือ การใช้เงิน

สิ่งที่แตกต่างคือ คุณทักษิณให้ผมทำเรื่องการพนัน แต่คุณอภิสิทธิ์ไม่ให้ผมทำเรื่องการพนัน

- เรื่องเงินประกันสังคมคือ ใช้กลุ่มตัวอย่างจริง ถามจริง มาให้ข้อมูลจริง

เรื่องประกันสังคมก็เหมือนกัน ที่สถาบันการเงินเสนอเข้ามาตอนแรก 280 บาทต่อเดือน แต่พอเรียกแม่ค้าเข้ามาคุย เขาบอกไม่ไหว ส่วนมากก็จะบอก 100-200 บาท นี่เขารับไหว ข้อเสนอคือ รัฐจ่ายให้ส่วนหนึ่ง หรือรัฐตั้งเป็นกองทุนเลย แต่หลักการคือว่า คนมีน้อย รัฐต้องช่วยมาก

- การเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นระบบของคนด้อยโอกาสทำอย่างไร

ให้เขาเข้าไปได้ง่ายที่สุด เขาก็บอกว่า ถ้ารวมเป็นกลุ่มนี่เข้าง่ายที่สุด ที่เขาใช้ว่าเป็นชุมชน เพราะว่ามีตัวประธาน รองประธาน มีเลขาฯ มีความรับผิดชอบชัดเจน เช่น ชุมชนมอเตอร์ไซค์รับจ้างสุขุมวิทซอย 18 นี่ก็จัดว่าเป็นชุมชน แต่กฎหมายเขาไม่ได้ยอมรับ

- ใช้ออมสินเป็นต้นแบบ

ใช่ครับ เพราะธนาคารเอกชนเขาไม่เอา ความเสี่ยงมันสูงไป และทำให้รู้ว่าของที่อื่นก็ทำได้ แล้วการปล่อยกู้ก็ปล่อย เช่น กลุ่มกลุ่มนี้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์กัน เก็บเงินได้ 10,000 บาท คุณมีสิทธิกู้ได้ 5 เท่า เวลากำกับ สมมติเขาปล่อยกู้ 6% คุณเอาไปบริหาร 8% อีก 2% เอาไว้เป็น ค่าบริหารจัดการ

- ตัวเลขที่ลงตัวระหว่างฝ่ายแท็กซี่กับธนาคารคือเท่าไหร่

ประมาณ 5% มอเตอร์ไซค์นี่ราคา 70,000 แต่แท็กซี่มัน 700,000 คือดาวน์มอเตอร์ไซค์นี่มันหวานคอแร้งอยู่แล้ว (หัวเราะ) แท็กซี่มันแพงกว่า เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องปรึกษาผู้ใหญ่ของเขา

- ขาหนึ่งประชาชนได้ประโยชน์ อีกขาหนึ่งคือรัฐบาลได้คะแนน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคจะเป็นอย่างไร

จะดีขึ้น คือข้างล่างมีกำลังซื้อเยอะขึ้น ถามว่า คนที่มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000-10,000 บาท จำนวนหลายล้านคน เขาจะบริโภคอะไร เขาจะบริโภคสินค้าจำเป็น กำลังซื้อมันจะเพิ่มขึ้น คนจะกินกันมากขึ้น คนจะไปซ่อมแซมบ้านของตัวเอง ตอนแรกไม่มีเงิน แต่พอมีเงินเหลือ ก็อยากทำนู่นทำนี่ ชีวิตมันก็ดีขึ้นหน่อยนึง มันไม่ดีที่สุดหรอก แต่มันดีขึ้น

- แคมเปญนี้จะนำไปสู่การหาเสียงครั้งมโหฬารหรือเปล่า

คือผมมองจากคนภายนอกนะ ถามว่า สิ่งที่นักการเมืองต้องการคืออะไร นักการเมืองต้องการความนิยมจากประชาชน ทุกพรรคต้องการเหมือนกันหมด ถ้าเป็นนโยบายที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เรายอมรับได้ไหม อย่างประชานิยมนี่นะครับ ถ้าหากว่าทำให้มีกรอบกฎหมายรับรอง แล้วคุณไม่ทุจริตนะ ผมว่าดี

ผมยินดีเห็นการแข่งขันทางนโยบายที่ให้หลักประกันในสังคม แล้วไม่ไปสร้างภาระทางการเงิน มีคนที่เสียประโยชน์แล้วอยากจะมาตบหน้าผมสักที ผมว่าตำรวจกับ เทศกิจที่อยากตบหน้าผมมาก (หัวเราะ)

- หลีกเลี่ยงการถูกครหาการเป็นเรื่อง หาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ใช่ไหม

ไม่ได้หรอก ไม่ว่าจะช่วงไหนก็โดนด่าอยู่ดี (หัวเราะ) ก็ต้องมีการวิจารณ์ ถ้าเป็นตอนเสื้อแดงมา แล้วมาทำเรื่องนี้ก็โดนหาว่าเอาเศรษฐกิจมาล่อ แต่คุณกรณ์เขาบอกว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมาไม่มีเวลาตั้งหลักเลย เพราะเข้ามาตอนนั้นเศรษฐกิจกำลังตกต่ำ แล้วเขาก็ใช้เวลา 1 ปีทำ ทำเสร็จก็เจอ เสื้อแดงรอบสอง เขาบอกว่า ไม่มีจังหวะให้ทำจริง ๆ

- สิ่งนี้จะเป็นการก้าวข้ามประชานิยมไปสู่รัฐสวัสดิการเลยหรือเปล่า

ผมคิดว่า ก้าวที่หนึ่งคือ การก้าวข้ามประชานิยม ก้าวที่สองคือ ทำให้เป็นสวัสดิการของสังคม แต่ต้องไม่ใช่สวัสดิการที่รัฐแบกทั้งหมด ถ้าให้รัฐแบกทั้งหมดในระยะยาวไม่ไหวหรอก คือคนเดี๋ยวนี้ เขาอยู่ยาวขึ้น อายุยืนขึ้น แต่คนเกิดลดลง ถ้ามีแต่การให้รัฐมาอุดหนุน มันจะล้มในระยะยาว จึงต้องให้ประชาชนร่วมกันรับผิดชอบด้วย

คือสวัสดิการพวกนี้ถามว่า ดีแล้วหรือยัง ผมบอกได้เลยว่า มันเป็นจุดเริ่มต้น อนาคตนี่ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดีกว่านี้ครับ อย่างรัฐวิสาหกิจนี่ครับ ทุกวันนี้เขาทำเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม ผมยังคิดว่ารัฐบาลควรทำวิสาหกิจเพื่อสังคม คือคุณทำแล้วคุณเลี้ยงตัวเองได้ แล้วกำไรไปทำประโยชน์ให้สังคม มันจะไม่ใช่แค่ ซีเอสอาร์อีกแล้ว คุณแบ่งเงินส่วนหนึ่ง กำไรส่วนหนึ่ง ต้องเอาลงไปเพื่อสังคมเลย ไม่ใช่แค่เข้าไปในคลัง

- ทำเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจนอกระบบมานาน แต่ครั้งนี้จะเห็นผลต่างอย่างไร

ก็ต้องยอมรับว่า คุณทักษิณเขาก็เคยทำ แต่ของเขายังมีจุดอ่อน เราเอามาทำต่อยอด และที่สำคัญคือ ทำให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย เจตจำนงที่แน่วแน่ทางการเมือง อย่างคุณอภิสิทธิ์ คุณกรณ์ มีเจตจำนงที่จะทำ แล้วไม่หาผลประโยชน์เข้าตัว ผมเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์กับคุณกรณ์ไม่มีข่าวอื้อฉาว เรื่องนี้ ฉะนั้นผมยินดีทำให้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------------------

บันทึกของวิสา คัญทัพ ฉบับที่ 8: ปีใหม่ 2554 ต่อสู้ด้วยภูมิความรู้และสติปัญญา “ขอเพียงพวกเรา ฉลาด รู้ สู้ให้เป็น”

วิสา คัญทัพ

ปีใหม่ 2554 มีเรื่องที่ต้องพูดคุยเขียนลงบันทึกฉบับที่ 8 อยู่บางข้อบางประเด็น ผมหลบเร้นการไล่ล่าอย่างอยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการจะครบแปดเดือนในเดือนมกราคม ขณะปัจจุบัน นปช. เปลี่ยนผู้นำจากประธานวีระ มุสิกพงศ์ มาเป็น รักษาการประธาน นปช. ธิดา ถาวรเศรษฐ์
แกนนำ นปช.หลายคนถูกคุมขัง หลายคนถูกข่มขู่คุกคามตามล่า แดงบางขบวนยังคงถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้ มีข่าวจะให้ประกันตัวแกนนำบางคน แต่ก็เล่นเล่ห์มาตลอด อย่างไรก็ตาม ปีใหม่นี้ ผมมีบทกวีมาฝาก เริ่มต้นที่บทกวีก่อนเลย

ปีเก่า.. เศร้าที่สุดในโลก โศกสลด     ปีเก่า.. รันทด อนาถา
ปีเก่า.. เลือดนองท่วมน้ำตา ปีเก่า.. ทหารฆ่าประชาชน
ปีใหม่.. ไม่เลิก การไล่ล่า               ปีใหม่.. การฆ่า ยังเข้มข้น
ปีใหม่.. ยังได้เห็น เกมเล่นกล          ปีใหม่.. มืดมนอนธกาล
ปีใหม่.. ไทยนี้ ไม่รักสงบ                ปีใหม่.. ไทยรบกันร้าวฉาน
ปีใหม่.. วิกฤติ ยังพิสดาร                ปีใหม่.. อีกนาน ยังทระนง
ปีใหม่.. ให้รักสามัคคี                     ปีใหม่.. เดินให้ดี อย่าพลัดหลง
ปีใหม่.. บากบั่น มั่นคง                   ปีใหม่.. ชูธง สู้ต่อไป
ปีใหม่.. จิตใจ ไม่เปลี่ยน                 ปีเก่า.. บทเรียน ยิ่งใหญ่
ปีเก่า.. ฝังแค้น แน่นใน                   ปีใหม่.. ฉลาด รู้ สู้ให้เป็น.

ฉลาด รู้ สู้ให้เป็น คือ หากเป้าหมายยุทธศาสตร์เดียวกันต้องหลากหลายวิธีการ อย่าจำกัดและดูถูกดูแคลนยานพาหนะที่จะนำพาไปถึงจุดหมายของกันและกัน ควรสรุปบทเรียนและทบทวนการต่อสู้ที่ผ่านมาอย่างจริงจัง ผิดพลาดต้องยอมรับและปรับปรุงแก้ไข ไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก บางคนว่า “อย่าก้าวช้ากว่ามวลชน” ปัญหาคือ “มวลชนส่วนใหญ่” หรือมวลชนที่ก้าวหน้าจำนวนหนึ่งที่ไปก่อนร้อนวิชา

สภาพความเป็นจริงทางภววิสัยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามสถานการณ์ที่พลิกผัน น้ำลดจึงรู้ว่าตรงไหนเป็นดอนเป็นเกาะ ตรงไหนเป็นตอ หลักยึดของคนเสื้อแดงที่ต้องการความเป็นธรรมและประชาธิปไตยที่แท้จริงคือธาตุแท้ที่แข็งแกร่งและแน่วแน่กว่า ซึ่งที่สุดก็จะก้าวข้ามผ่านข้อหาสามานย์อันท้นท่วมด้วยจริตมายาของกลุ่มปฏิกิริยาขุนศึกศักดินาอำมาตย์ ที่ว่า คนเสื้อแดงสู้เพื่อทักษิณ มาเป็น คนเสื้อแดงสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม โดยมีทักษิณเป็นคนหนึ่งในแนวร่วม เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นคนหนึ่งที่ต้องการประชาธิปไตยเช่นกัน ตรงนี้ หากเราทำให้ดีระยะผ่านดังกล่าวก็จะสั้นลง เราต้องทำให้คนส่วนใหญ่เกินห้าสิบ หรือหกสิบ หรือเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศเห็นด้วยและสนับสนุนคนเสื้อแดง

เวลานี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใกล้ปิดม่านการแสดงโดยสมบูรณ์แล้ว ชุมนุมที่ไหนก็ไม่มีคน (เพราะคนมาจากกำลังของพรรคการเมืองที่ชื่อประชาธิปัตย์) ที่ดิ้นที่ดันทุรังกันสุดแรงนี้เป็นเฮือกสุดท้าย หลายคนในพันธมิตรฯ คิดไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งของพวกเขายอมรับว่า เสื้อแดงไม่ได้รับความเป็นธรรม มีสองมาตรฐานจริง ยอมรับว่ามีส่วนของคนเสื้อแดงที่สู้เพื่อประชาธิปไตยโดยใช้สันติวิธีจริง ติดใจก็เพียงข้อความรุนแรงที่เขาคิดว่ามีเสื้อแดงบางส่วนกระทำ และเรื่องสู้เพื่อทักษิณเท่านั้น แต่สองข้อหลังไม่ใช่สาระสำคัญเพราะเป็นความเท็จซึ่งท้ายที่สุดแล้วจักพิสูจน์ได้จากสัจจะแห่งการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นไม่ต้องพูดถึง พวกพันธมิตรฯเรียงหน้าออกมาโจมตีประณามหน่วงหนักล้ำหน้ากว่าคนเสื้อแดงด้วยซ้ำไป ที่น่าสังเกตก็คือ น้ำเสียงที่ออกมาดับเครื่องชนหลังจากที่ชื่นชมเชียร์กันมาก่อนมีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ แต่ที่แน่ๆพันธมิตรฯในฐานะมือจุดชนวนป่วนความรุนแรงวันนี้ดูจะด้านและก็เดี้ยงไปเสียแล้ว ล่าสุด พนิช วิกิตเศรษฐ์,วีระ สมความคิด กับพวกรวมเจ็ดคน บุกรุกล้ำเข้าไปในดินแดนกัมพูชาเพื่อสร้างสถานการณ์ปลุกความคลั่งชาติก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง กลับต้องนอนคุกเขมรแทน โดยจำนนด้วยคลิปวิดีโอที่เป็นหลักฐานชัดเจนจากคำพูดของพนิชเองว่าตั้งใจบุกล้ำเข้าไปในดินแดนเขา ซึ่งคนสำคัญในรัฐบาลต่างออกปากว่าคงช่วยลำบาก

ปัญหาจึงอยู่ที่ฝ่ายเรา จะเดินต่อไปอย่างไร จะปรับขบวนอย่างไร
องค์กรเสื้อแดงต่างๆอันหลากหลายจะขยายกำลัง ขยายความคิดจิตสำนึก ร่วมไม้ร่วมมือ สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยยึดเอาเป้าหมายยุทธศาสตร์เป็นตัวตั้ง ในส่วนของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน เดินหน้าปรับขบวนไปก่อนแล้ว อย่างน้อยๆก็ได้จัดตั้งคณะแกนนำชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ไม่ให้เกิดสภาพว่างไร้การนำ แม้ในระยะแรกๆจะมี “การป่วน” จากทั้งฝ่ายผู้หวังดีและไม่หวังดีทำให้เสียรูปขบวนไปบ้างก็ไม่มีผลอะไร เพราะ “คนลองของ” บางคนอาจยังไม่รู้จัก “ความแกร่งแข็งกล้า” และความเป็นตัวจริงเสียงจริงของนักสู้อย่างอาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ต่อเมื่อได้ถูกสัมภาษณ์และแสดงทัศนะออกทางสื่อ ภาพความสมบูรณ์พร้อมในฐานะการนำก็เปล่งประกายปรากฏทั้งภูมิรู้และประสบการณ์ อันที่จริงเรื่องความสามารถของ อ.ธิดา เป็นที่ทราบกันดีในหมู่แกนนำ นปช. ซึ่งได้ร่วมประชุมกันเป็นประจำต่อเนื่องตลอดมาหลังถูกสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือนเมษายน ปี 2552 และรูปคณะกรรมการแกนนำของ นปช. ดังกล่าว แม้จะมิใช่การนำแบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่ก็สามารถลดทอนระบบดำเนินการที่ไม่ใช้เหตุผลลงได้บ้าง เพื่อให้เห็นภาพผู้นำ นปช. คนใหม่แจ่มชัดยิ่งขึ้น เราลองไปฟัง “การป่วน” ด้วยคำถามบางคำถามต่อไปนี้

คุณทักษิณชินวัตรยอมรับที่คุณธิดาขึ้นมาเป็นรักษาการประธานนปช.หรือไม่
มันไม่ใช่ธุระอะไรของคุณทักษิณ อาจารย์แคร์ชาวบ้าน ประชาชนรักอาจารย์หรือเปล่า คุณทักษิณ ไม่เกี่ยว เพราะเชื่อว่าทักษิณ ต้องฉลาดพอว่าบทบาทแกทำอะไรได้แค่ไหน และแกต้องรู้จักคนอย่างอาจารย์ หรือหมอเหวง ว่าเป็นคนแบบไหน ประวัติเป็นแบบไหน อีกด้านหนึ่งอาจารย์เคยเจอคุณทักษิณ เขาเป็นคนชอบพูด แกพูดว่าไงรู้ไหม อาจารย์ถามแกว่ารู้สึกอย่างไร ท้อถอยไหม แกบอกว่า เพราะการต่อสู้ ประชาชนทำให้แกสดชื่นอยู่ตลอดเวลา คือมันตรงข้ามไม่ใช่แกมาช่วย แน่นอนแกอาจจะเชื่อส่วนตัวว่าประชาชนมาสู้เพื่อแก แต่มีส่วนหนึ่งคนที่เขารักแกก็มี แต่การต่อสู้ของประชาชน คือน้ำหล่อเลี้ยงเขาน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจคุณทักษิณ

ภารกิจ 4 ข้อของประธาน นปช.หญิงคนใหม่
เหตุผลการที่มารับหน้าที่รักษาการประธาน นปช. นั้นถือเป็นหน้าที่และความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ ที่ต้องปรับบทบาททางวิชาการมานำมวลชน แล้วก็เป็นการส่งสัญญาณครั้งใหญ่จากแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำว่าหลังจากนี้คนเสื้อแดงจะต่อสู้ด้วยภูมิความรู้และสติปัญญา โดยมีภาระหน้าที่สำคัญคือ

1. การรณรงค์เพื่อให้ปล่อยตัวแกนนำ มวลชนคนเสื้อแดง และผู้ถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบให้ได้รับอิสรภาพ การประกันตัวเพื่อดำเนินคดีอย่างมีนิติรัฐ นิติธรรม
2. ช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำและครอบครัวตลอดจนการประกันตัวและต่อสู้คดี
3. เรียกร้องความยุติธรรมและการใช้กฎหมาย มาตรฐานเดียวกันและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
4. ยกระดับการต่อสู้ของประชาชนให้สูงขึ้นด้วยองค์ความรู้
สรุปสุดท้ายในส่วนของ นปช.แดงทั้งแผ่นดินที่ได้ปรับขบวนรุดหน้าไปแล้ว ด้วยคำพูดของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ดังนี้

"เราจะพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน ถ้าเราพูดอะไรแล้วมันให้โทษกับประชาชน หรือไปเข้าทางคนที่เป็นอุปสรรคขัดขวางประชาชนจะไม่พูด ไม่ต้องการพูดเพื่อสำแดงโวหารว่า เราเป็นคนเก่งหรือก้าวหน้า คำพูดของเราจึงต้องนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์เท่านั้น"
ด้วยรักสามัคคี ผมขอฝากคำพูดนี้ไปยังคุณสุรชัย แซ่ด่านมิตรที่เคารพด้วย โดยวุฒิภาวะที่ท่านมี หากไตร่ตรองก่อนพูดได้จะดียิ่ง

คราวนี้มาพูดในส่วนของพรรคเพื่อไทยบ้าง มีความพยายามจะปรับโครงสร้างการนำของพรรคอยู่บ้างเช่นกัน แต่ทว่ายังติดขัด เพราะพรรคผูกพันยึดโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร การจะขยับไปทางไหนอย่างไรจึงต้องเป็นไปโดยที่ท่านทักษิณต้องเห็นดีเห็นงามด้วย ดังที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ออกมาแสดงทัศนะว่า
การใช้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" เป็นเรือนตาย เป็นสิ่งจำเป็น แต่ทว่า ทั้งพรรคและตัว ส.ส. ต้องทำงานเชิงรุกและเชิงลึกต่อประชาชนด้วย จะว่าก้าวข้ามคุณทักษิณ หรือให้ตัดประเด็นเรื่องคุณทักษิณไปเลยก็ไม่เชิง พรรคเพื่อไทยมีความเชื่อมโยงกับคุณทักษิณ ซึ่งเป็นความจริงที่ใครๆ ก็รู้ คุณทักษิณได้ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองไว้มาก เป็นกำลังสำคัญของพรรคเพื่อไทย ยังเป็นคนที่เคยคิดนโยบายดีๆ ได้มาก คงจะยังสามารถช่วยคิดนโยบายดีๆ ได้ ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ให้ตัดคุณทักษิณออกไป หรือปฏิเสธ แต่ว่าจะวางคุณทักษิณอยู่ตรงไหน จัดความสัมพันธ์อย่างไร จะเสนอเรื่อง จะพูดถึงคุณทักษิณอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยต้องคิด 

ถ้า ชูนโยบายเอาคุณทักษิณกลับบ้านแบบดิบๆ (หยุดคิด) โดยไม่บอกว่าเอากลับมาวิธีไหน กลับมาเพื่อทำอะไร (นิ่งคิด) มันก็ไม่โดนใจคนมากนัก การที่คุณทักษิณจะกลับเมืองไทยได้หรือได้รับความยุติธรรม ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน แล้วคุณทักษิณคงได้ความเป็นธรรมมากกว่าปัจจุบัน การนำเสนอในลักษณะนี้ผมคิดว่าคนทั่วไปจะรับได้มากกว่า แต่ถ้าชูเป็นประเด็นแคบๆ และไม่มีรายละเอียด ไม่รู้วิธีการ ไม่ว่าจะเกิดผลอะไรอย่างไร คนที่เป็นพวกเดียวกันแท้ๆ ก็รับได้ ก็ชอบใจ แต่คนที่ห่างออกไป คนที่เขาไม่สนใจประเด็นนี้ เขาอาจจะไม่รับ"ในยุทธศาสตร์ที่จะสามัคคีกับกลุ่มต่างๆ ถ้าไปเน้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากไป เช่น เน้นเสื้อแดงมากเกินไป เน้นเอาคุณทักษิณกลับเมืองไทยมากเกินไป มันก็จะแคบ เสื้อแดงน่าจะมีคนเป็นล้าน เรื่องที่ต้องทำให้เสื้อแดงสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ต้องทำแน่นอน แต่ต้องไม่ให้คนรู้สึกว่าเอาแต่เสื้อแดง หรือเสื้อแดงเป็นผู้กำหนดพรรคเพื่อไทย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคนส่วนที่เหลือซึ่งมันมากกว่า เวลาเราเลือกตั้งเราต้องพูดถึงคน 19 ล้าน ทำให้อย่างไรให้คน19 ล้านมาเลือก ซึ่งคน 19 ล้าน มันเยอะกว่าเสื้อแดงมาก

คงต้องบอกว่า นี้เป็นข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์ และเป็นข้อเสนอของมิตรต่อมิตร ที่มากด้วยความระมัดระวังคำพูดคำจา เป็นความเห็นที่น่ารับฟัง น่าคิดต่อ เพราะอย่างไรเสียในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็ควรต้องรีบปรับขบวน ปรับได้เร็วเท่าไรก็จะเป็นฝ่ายรุกในการกระทำทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งยังเพื่อรองรับ “กรณีสถานการณ์เปลี่ยน” ไว้ล่วงหน้า ซึ่งหมายถึงความพร้อมของพรรคเพื่อไทย อันที่จริง เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกันด้วย “เสียงดัง” เช่นนี้ ข้อเสนอต่างๆควรพูดคุยกันภายในได้ด้วย “เสียงเงียบ” โดยคัดกรองเอาคนที่มีความคิดความอ่านในแบบคนที่ “คิดเป็นวิเคราะห์เป็น” มาปรึกษาหารือกัน
เมื่อการเลือกหัวหน้าพรรค หรือผู้นำพรรคยังไม่พร้อมก็ควรจัดตั้งคณะบุคคลที่ “คิดเป็นวิเคราะห์เป็นทำงานเป็น” ขึ้นมาสักชุดหนึ่ง เป็นกรมการเมืองระดับบน ถกเถียงค้นคว้าหาข้อสรุปเพื่อกำหนดเป็นแนวทางและเข็มมุ่ง ตลอดจนนโยบายของพรรคที่ชัดเจน ให้รู้กันภายในว่าจะเดินไปอย่างไร หรือจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากวันนี้พรรคเพื่อไทยยังเคว้งคว้างปราศจากการนำที่แน่นอน ปล่อยสภาพเป็นปัจเจกบุคคลที่ถนนทุกสายมุ่งตรงสู่ ท.ทักษิณอดทน เราก็จะตกอยู่ในห้วงแห่งชะตากรรม เป็นการต่อสู้ตามเวรกรรม พึ่งพาไสยาศาสตร์ เสียโอกาสที่จะเป็นฝ่ายกระทำเพื่อฉวยคว้าเอาชัยชนะมาตามลำดับขั้นอย่างที่ควรเป็น

วงดนตรีวงหนึ่ง เมื่อบรรเลงบทเพลงเพลงหนึ่ง นอกเหนือจากบรรเลงเพลงด้วยความรัก ด้วยอารมณ์ความรู้สึก ปีติสุขแล้ว ทั้งวงยังต้องสามัคคีกันบรรเลงอย่างมีระบบ และเป็นระเบียบด้วย ต้องกลมกลืนผสมผสาน รับส่งกันอย่างมีจังหวะจะโคน สอดคล้องต้องกันในท่วงทำนอง ดำเนินพลิ้วไหวเท่าทันกันไปในเร็วหรือช้า ทุกเครื่องดนตรีมีความสำคัญ ไม่เกี่ยวว่าจะเล่นน้อยเล่นมาก แต่เกี่ยวกับเล่นได้ถูกต้อง ก็จะเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับบทเพลงทั้งหมดในทันที เป็นเช่นนั้นไปจนจบเพลงจนได้รับเสียงปรบมืออันกึกก้องจากผู้ฟัง ขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนไทยในวันนี้ก็ต้องการขบวนทัพที่บรรเลงบทเพลงได้ประดุจวงดนตรีวงหนึ่ง บรรเลงด้วยความรัก ภูมิความรู้ และสติปัญญา

หวังว่า ปี 2554 จะเป็นปีที่คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการปรับขบวนได้ในไตรมาสแรก

ที่มา.ประชาไท

ปัญหาประชาธิปไตยและการกระทำอันโง่เขลาของคนกลุ่มหนึ่ง

เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ไม่กี่อาทิตย์หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ราย และมีนายอภิสิทธิ์คนสั่งการได้คุยโวถึง “แผนปรองดอง” ของเขา

เวลาผ่านมากว่า 6 เดือน จนมาถึงต้นปี 2554 นับตั้งแต่ “แผนการ” ดังกล่าวถูกร่างขึ้น อาจจะเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะตัดสินว่าแผนการ “ปรองดอง” ของนายอภิสิทธิ์นั้นประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
คำตอบสั้นๆและชัดเจนคือ “ไม่ประสบความสำเร็จอย่างสิ้นเชิง”

ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่รัฐไม่ต้องรับผิดต่อการกระทำของตน โดยหากพิจารณาจากคำพูดล่าสุดของรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ จะพบว่าเขากลัวทั้งการเลือกตั้งและการชุมนุมอย่างต่อเนื่องของคนเสื้อแดง และแทนที่จะพยายามสร้างความปรองดอง แต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์กับพรรคพวกในดีเอสไอกลับหมกมุ่นอยู่การแผนการอันเลวร้ายพยายามปกปิดข้อเท็จเรื่องการสังหารประชาชน ในขณะเดียวกันยังคงคุมขังคนเสื้อแดงนับร้อย และเวปไชต์อีกหลายแสนเวปไซต์ยังคงถูกเซ็นเซอร์

แต่ในปีใหม่นี้ ประเทศไทยจะถูกนำพาไปในทิศทางใด? แน่นอนว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ที่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่สามารถนำพา “ความปรองดอง” ที่แท้จริงมาสู่ประเทศได้

ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ปี 2554 ประเทศไทยให้ความสนใจกับการกระทำของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพื่อนร่วมงานของนายอภิสิทธิ์ และสมาชิกกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติเพียงไม่กี่คน (กลุ่มพันธมิตรหัวรุนแรง) คนเหล่านี้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่กัมพูชา เพราะบุกรุกเข้าไปในเขตแดนของกัมพูชาอย่างผิดกฎหมาย
การกระทำดังกล่าวนอกจากจะทำให้เกิดเรื่องระหว่างประเทศแล้ว  ยังเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาในการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศไทยไปเป็นเรื่องความโง่เขลาของกลุ่มคนหัวรุนแรงเพียงไม่กี่คน คำถามคือ ประชาชนคนไทยควรจะถูกกลุ่มคนส่วนน้อยที่ไม่มีสมองและชอบก่อปัญหาเหล่านี้เบี่ยงเบนความสนใจไปอีกนานเท่าไร?

ที่มา.ประเทศไทย Robert Amsterdam

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

สมาคมท่องเที่ยวฯเชียงใหม่ลั่นปี'54สดใสคาดรายได้ทะลุ4หมื่นล.

นายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในปี 2554 คาดว่าจะมีแนวโน้มดีกว่าปี 2553 นอกจากกิจกรรมและงานเทศกาลสำคัญในห้วงเวลาต่างๆตั้งแต่ต้นปี เช่นงานแสดงและประกวดพลุนานาชาติ งานไม้ดอกไม้ประดับในเดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีสงกรานต์ ในเดือนเมษายน งานเทศกาลอาหารนานาชาติ หรือ อินเตอร์เนชั่นแนลฟู้ด เฟสติวัล ในเดือนกรากฎาคม ส่วนช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน จะมีการจัดกิจกรรมเชียงใหม่ แกรนด์เซล และงานประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ในเดือนพฤศจิกายน ฯลฯ ช่วยเสริมให้บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก

สมาคมฯคาดหวังว่าในปี 2554 จ.เชียงใหม่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากฐานรายได้ในปี 2553 ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเคยสร้างรายได้เข้าสู่จ.เชียงใหม่ถึง 4 หมื่นล้านบาทมาแล้ว แต่หลายปีที่ผ่านมารายได้ปรับตัวลดลงเพราะผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่เกิดขึ้น แต่สมาคมฯมั่นใจว่าในอนาคตจ.เชียงใหม่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากในปี 2554 สมาคมฯจะเน้นทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเปลี่ยนฤดูโลว์ซีซั่น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม ให้เป็นกรีนซีซั่น กิจกรรมหลักที่สมาคมฯเตรียมผลักดัน คือ งานเชียงใหม่ แกรนด์เซล ที่เป็นไฮไลท์สำคัญ นอกจากร่วมกับผู้ประกอบการสนามกอล์ฟ โรงแรม สปา รถเช่า ฯลฯ จัดโปรโมชั่นลดราคา พุ่งเป้าไปที่ตลาดตะวันออกกลาง ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งตลาดคนไทยตามนโยบายไทยเที่ยวไทย ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อดึงตลาดคนไทยชดเชยตลาดต่างชาติในช่วงที่เกิดวิกฤติหรือปัญหา เพราะในปี 2554 ประเมินว่าเศรษฐกิจของยุโรป และอเมริกา ยังมีปัญหาอาจทำให้นักท่องเที่ยว 2 กลุ่มนี้มีจำนวนลดลง แต่สมาคมฯยังไม่ทิ้งตลาดยุโรปและอเมริกาที่เป็นตลาดสำคัญเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อและมีการใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่น

ส่วนในเดือนกรกฎาคม สมาคมฯเตรียมจัดงานเชียงใหม่ทัวร์ริซึ่ม ฟอรั่ม เชิญบายเออร์จากทั่วโลกมาร่วมงานเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจ.เชียงใหม่และ 8 จังหวัดภาคเหนือให้เป็นที่รู้จัก และ ซึ่งสมาคมฯมีแผนรวมเป็นกลุ่มจังหวัดเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวรวมกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการผจญภัย ที่เป็นตลาดสำคัญอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากการท่องเที่ยวเชิงประเพณี -วัฒนธรรม

" ปี 2554 ยังถือเป็นปีสำคัญในการเตรียมตัวสำหรับปี 2555 ซึ่งโครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจะแล้วเสร็จ เป็นปีที่ต้องเตรียมวางแผนทำตลาดล่วงหน้า รับการประชุมสัมมนา หรือ ตลาดไมซ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลายรายเริ่มปรับตัวกันแล้ว มีการลงทุนสร้างหรือขยายห้องประชุมสัมมนาที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ไม่ต่ำกว่า 500 - 1,000 คน"นายสราวุฒิกล่าว

นายสราวุฒิ กล่าวอีกว่า สมาคมฯยังมีแผนดึงสายการบินทั้งในและต่างประเทศเปิดไฟล์บินตรงมายังจ.เชียงใหม่ รวมทั้งการดึงเที่ยวบินเช่าเมหาลำ หรือชาเตอร์ไฟล์ เข้ามา เพราะเมื่อเปรียบเทียบจ.เชียงใหม่กับจ.ภูเก็ต ยังเสียเปรียบมากเพาะจำนวนเที่ยวบินจากต่างประเทศเข้าสู่จ.เชียงใหม่มีน้อยกว่า ขณะที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีการพัฒนาและปรับปรุงให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่จากต่างประเทศได้แล้ว โดยสมาคมฯจะเดินสายหารือกับสายการบินต่างๆ ทั้งจีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ ให้ขยายเส้นทางบินมายังจ.เชียงใหม่

ที่มา.เนชั่น
----------------------------------------------------

กู้ระเบิดภาคใต้พลีชีพคา "บอมบ์สูท" ตัวละ 2 ล้านแต่ "หมดอายุ" ชีวิตทหารหาญจะฝากไว้กับอะไร?

จากกรณี การพลีชีพคาชุดบอมบ์สูทของด.ต.กิตติ มิ่งสุข อายุ 50 ปี เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ สังกัด ตชด.447 ที่เข้าไปเก็บกู้วัตถุต้องสงสัยหลังหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดเกิดขัดข้อง ซึ่งด.ต.ผู้กล้าใส่ชุดบอมบ์สูทเต็มสูบ แต่เมื่อคนร้ายโทรศัพท์จุดชนวนกลับทำให้ด.ต.กิตติเสียชีวิตทันทีทั้งที่ยังสวมชุดป้องกัน จึงเกิดประเด็นข้อกังขากับยุทโธปกรณ์ของทหารไทยอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข้อกังขาและวิพากษ์ วิจารณ์ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันระเบิด อย่างเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ซึ่งเจ้าหน้าที่นำไปใช้งานแล้วเกิดความผิดพลาด ตรวจหาวัตถุระเบิดไม่พบ จนเกิด "คาร์บอมบ์" ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จนรัฐบาลได้สั่งยกเลิกการใช้งานไปในที่สุด มาในครั้งนี้ ก็ยังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เสียชีวิตคาปราการด่านสุดท้ายของชีวิตที่เรียกว่า "ชุดบอมสูท" แล้วชุดที่ว่านี้ปกป้องผู้สวมใส่ได้แค่ไหน

จากข้อมูลพบว่า "บอมบ์สูท" หรือ Blast (ชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิด) เป็นชุดของเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นำมาใช้ทุกครั้งที่มีการแจ้งเหตุคนร้ายลอบวางวัตถุต้องสงสัย ราคาประมาณชุดละ 2 ล้านบาท ทางรัฐบาลสั่งซื้อจากประเทศแคนาดาเป็นชุดเกราะหนักสำหรับผู้เก็บกู้ระเบิด ออกแบบมาเพื่อทนต่อแรงระเบิดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และสวมใส่เพื่อป้องกันแรงอัดและสะเก็ดระเบิดแบบป้องกันทั้งตัว สามารถป้องกันแรงอัดระเบิดและสะเก็ดระเบิดทั้งแบบธรรมดา สารเคมี หรือสารชีวภาพ

ปัจจุบันชุดดังกล่าวได้รับการออกแบบให้มีประสิทธิภาพการป้องกันสูงสุด มีน้ำหนักที่เหมาะสม มีความยืดหยุ่น ป้องกันภัยคุกคามระเบิด แรงดันเกิน คลื่นช็อค ความร้อน ดับเพลิง น้ำหนักระหว่าง 15-30 กิโลกรัม บอมบ์สูทโดยทั่วไปประกอบด้วย 1.กางเกงด้วยที่สามารถปรับระดับความยาวและความกว้าง 2.แจ๊คเก็ต (Smock) ที่มีคอและขาหนีบที่แนบมาห่อหุ้ม 3.แขน 4.รองเท้าบู๊ต 5.ถุงป้องกันมือ 6.แผ่นห่อหุ้มทรวงอกและขาหนีบ 7.หมวกนิรภัย 8.หมวกกันน็อค 10.กระเป๋าพกพา

หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หรือ EOD (Explosive Ordnance Disposal) จะสวมชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิดในระหว่างการลาดตระเวนเก็บกู้ระเบิด เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จากเหตุการณ์การสูญเสียครั้งนี้เห็นได้ว่าชุดป้องกันที่หน่วยกู้ระเบิดไทยบางหน่วยใช้อยู่นั้นไม่ช่วยปกป้องชีวิตทหารหาญที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปกู้ระเบิด

ด้าน พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวกรณีเจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันระเบิด (บอมบ์สูท) แล้ว แต่ยังไม่สามารถป้องกันได้ ว่า ในเบื้องต้นยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญก่อนว่าเป็นเพราะเหตุใด


จากรายงานของศูนย์ข่าวอิศราได้เผยคำกล่าวของนายตำรวจประจำหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายปี โดยนายตำรวจเล่าให้ฟังว่า  เหตุระเบิดดังกล่าวข้างต้นนั้น เจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนการเก็บกู้ทุกประการ ไม่ได้ประมาท แต่ที่เกิดความผิดพลาดเพราะ คนร้ายมีเป้าหมายสังหารชุดอีโอดี

"ก่อนจะเกิดระเบิด เจ้าหน้าที่ตำรวจกับทหารเข้าไปสังเกตการณ์ก่อนแล้ว 2 ครั้ง แต่คนร้ายไม่กดจุดชนวน กระทั่งชุดอีโอดีเข้าไปจึงกดระเบิด ฉะนั้นคนร้ายจึงมีเป้าที่ชุดอีโอดี และระเบิดที่คนร้ายใช้ก็มีน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม และยังเป็นระเบิดแรงสูงที่หมายเอาชีวิตด้วย"


สำหรับคำถามเรื่อง "บอม์สูท" แล้ว นายตำรวจนักกู้ระเบิด กล่าวว่า ชุด "บอมบ์สูท" ชุดนี้ผลิตเมื่อปี ค.ศ.2004 ตามหลักแล้วอายุการใช้งานที่มีประสิทธิภาพจะอยู่ที่ 5 ปี ถ้าพูดตรงๆ คือ ชุดนี้หมดอายุแล้ว

"ที่ตัวบอมบ์สูทจะมีรหัสเขียนเอาไว้ ตัวนี้เป็นอีโอดี 8 แต่เพื่อนๆ บางหน่วยได้อีโอดี 9 กันแล้ว เมื่อชุดบอมบ์สูทใช้งานนานเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันต่ำลง อย่างไรก็ตาม ชุดบอมบ์สูทจะสามารถป้องกันระเบิดได้ที่น้ำหนัก 1.5 ปอนด์ แต่ระเบิดที่คนร้ายใช้ครั้งนี้หนักเกือบ 3 ปอนด์ (5 กิโลกรัม) และยังเป็นดินระเบิดแรงสูง ประกอบกับหุ่นยนต์เก็บกู้ที่ใช้ทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะผลิตจากสถาบันการศึกษาภายในประเทศ ต่างจากหุ่นที่ผลิตจากอเมริกาที่มีคอมพิวเตอร์ควบคุม ทั้งหมดจึงกลายเป็นช่องว่างทำให้เกิดความสูญเสียอยางมหันต์" นายตำรวจนักกู้ระเบิดกล่าว

แล้ว "ใคร" หรือ "อะไร" จะปกป้องชีวิตหน่วยอีโอดีของประเทศไทยระหว่างการกอบกู้ระเบิด ?

ที่มา.มติชนออนไลน์
******************************************************************************