--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ตลาดหุ้นของจีน !!?

โดย : วีรพงษ์ รามางกูร
ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จีนกลายเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกก็ว่าได้ เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและของยุโรปได้พัฒนาขึ้นไปจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศรายได้ปานกลางและประเทศที่เกิดใหม่ได้เพราะค่าแรง ฐานะความเป็นอยู่ สูงเกินกว่าจะรับค่าแรงที่ไม่สามารถดำรงความเป็นอยู่ของความเป็นประเทศที่พัฒนาได้

จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ล่าสุดที่มีความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้โดยอาศัยความที่มีจำนวนประชากรในวัยทำงานสูง ค่าแรงที่แท้จริงจึงต่ำ แรงงานมีคุณภาพ แม้ว่าอินเดียและบราซิล รัสเซีย จะมีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับจีน แต่ประชากรจีนมีคุณภาพมากกว่า ทั้งเรื่องความขยันขันแข็ง อดทน สู้งานและไวต่อการเรียนรู้ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนนโยบายเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของจีนจึงเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขยายตัวขึ้นในอัตราที่สูงกว่าตัวเลข 2 หลักมาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ

การที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นเวลานาน การจ้างคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราการว่างงานลดลงอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนโยบายการมีบุตรคนเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งการใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน

ขณะเดียวกัน การที่จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากขึ้นและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานการที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเวลายาวนาน เพราะความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประเทศเหล่านี้ จึงทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุดกำลังซื้อของประเทศเหล่านี้ก็อ่อนตัวลง ซึ่งทำให้ตลาดส่งออกของจีนอ่อนตัวลง อัตราการขยายตัวของการส่งออกของจีนจึงขยายตัวในอัตราที่ช้าลงมาเรื่อยๆ เป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นตัวเลข 2 หลักก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนบัดนี้ทางการจีนประกาศเป้าหมายของการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2558 นี้ไว้ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในโลกอยู่

แต่อัตราเช่นว่านี้จีนคงจะรักษาไว้ไม่ได้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นว่าคงจะลดลงเรื่อยๆ

ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลดลงจีนจึงพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายในการบริโภคให้มากขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย ขณะเดียวกันก็ลดภาษีขาเข้า ส่งเสริมให้มีการนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภคมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้คนจีนเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและลดความกดดันให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น

ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราที่สูงอีกด้านหนึ่งของภาคเศรษฐกิจก็คือภาคการเงิน ตลาดการเงินทั้งตลาดเงินและตลาดทุนก็ขยายตัวในอัตราที่สูง สูงยิ่งกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลาดเงินและตลาดทุนอันได้แก่สินเชื่อ ราคาหุ้นและราคาตราสารหนี้ ทั้งของรัฐบาล ของรัฐวิสาหกิจและของเอกชนก็ขยายเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจีนจะยังไม่ยอมเปิดเสรีทางการเงิน ทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนกับต่างประเทศก็ดี การปริวรรตเงินตราต่างประเทศก็ดี รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ธุรกรรมต่างๆ เหล่านี้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทางการ แม้ว่าจีนจะเกินดุลมาเป็นเวลานานและได้รับความกดดันจากไอเอ็มเอฟและสหรัฐให้เปิดเสรีทางการเงินและยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นก็ตามจีนอ้างว่าหากทำเช่นนั้นแล้วเศรษฐกิจจีนก็จะกลายเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ อย่างเดียวกับที่อังกฤษ อิตาลี สเปน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ เคยประสบมาแล้ว

เศรษฐกิจฟองสบู่มักจะเริ่มจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็จะลุกลามไปที่ตลาดเงินและตลาดทุน ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เงินทุนจากต่างประเทศก็จะไหลเข้ามาเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นตลาดพันธบัตรและตลาดตราสารหนี้ปั่นราคากันขึ้นไปแล้วในที่สุดฟองสบู่ก็จะแตก เงินจะไหลออก ค่าเงินตกต่ำ ธุรกิจล้มละลาย กว่าจะฟื้นต้องใช้เวลานานเป็นทศวรรษ กรณีญี่ปุ่นฟองสบู่แตกเมื่อปี 2538 จนบัดนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปที่เดิม

จีนจึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มจะเป็นฟองสบู่ เพราะเริ่มมีการเก็งกำไรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และลามไปที่ตลาดหุ้น จีนก็รีบดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการจำกัดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ จำกัดการซื้อเพื่อเก็งกำไร ห้ามต่างชาติเข้ามาซื้อ รวมทั้งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดความร้อนแรงลง

ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคาหุ้นในตลาดหุ้นทั้ง 3 ตลาดหลักของจีนคือ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ปักกิ่ง แม้แต่ตลาดเล็กอย่างเสินเจิ้น ต่างก็ล้วนถีบตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของจีนคือตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ กล่าวคือ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เคยถีบตัวสูงขึ้นจนถึง 5,166 จุด เมื่อเร็วๆ นี้ และลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 3,507 จุดเท่านั้นเอง ส่วนในกรณีของฮ่องกง ดัชนีฮั่งเส็งเคยขึ้นสูงสุด 28,440 ก็ลงมาอยู่ที่ประมาณ 24,350 จุดในขณะนี้

เมื่อจีนเห็นว่าสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มเป็นฟองสบู่ โดยกำลังจะลุกลามจากภาคอสังหาริมทรัพย์มาที่ภาคการเงินโดยเฉพาะ ทางการจีนจึงใช้มาตรการสกัดฟองสบู่ที่แรงมาก เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เคยประสบกับเหตุการณ์เช่นว่า จนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน

มาตรการที่ทางการจีนใช้สกัดฟองสบู่ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหุ้นก็คือ 1) ห้ามมิให้ผู้ใดที่ถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียนขายหุ้นบริษัทนั้นเป็นเวลา 6 เดือน 2) ห้ามผู้ที่มีตำแหน่งบริหารในบริษัทขายหุ้นของบริษัทตนเอง 3) เพิ่มสัดส่วนของเงินฝากต่อสินเชื่อหรือ margin สำหรับพวกที่ขายและซื้อล่วงหน้าหรือ short sell เพื่อลดการเก็งกำไรในการซื้อขายหุ้น 4) เมื่อตลาดมีความร้อนแรงขึ้นถึงจุดหนึ่ง แทนที่จะให้ตลาดหยุดทำการซื้อขายชั่วคราวทั้งตลาด หรือ circuit break แบบที่ทำในประเทศอื่นๆ แต่ใช้วิธีให้หยุดทำการซื้อขายหุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายอย่างรุนแรง และ 5) จัดตั้งกองทุนพยุงแบบเดียวกับที่ประเทศไทยเราเคยทำ โดยให้บริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้นหรือ brokers ลงขันกัน ขณะเดียวกันทางการก็ได้จัดสภาพคล่องหรือสินเชื่อให้สำหรับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือหุ้นเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียน รวมทั้งผู้บริหารของบริษัท เจ้าของหุ้น ในการซื้อหุ้นมาเก็บไว้เป็นการลงทุนระยะยาว

มาตรการรุนแรงดังกล่าวย่อมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านจากนักเก็งกำไรโดยเฉพาะพวกกองทุนต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพราะการคาดการณ์ของนักเก็งกำไรผิดหมด การเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อเก็งกำไรค่าเงินและราคาหุ้นกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หรืออาจจะทำไม่ได้ เพราะทางการจีนยังคงควบคุมอยู่ ยังไม่มีการเปิดเสรีทางการเงิน

การที่จีนจะพยายามทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่ใช้เป็นเงินสกุลของธนาคารกลางต่างๆของโลก เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโรของยุโรป เงินเยนของญี่ปุ่น จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะการควบคุมของทางการจีนทำให้กลไกตลาดการเงินของเงินหยวนทำงานไม่ได้ การที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้ นักการเงินถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เป็นความเสี่ยงทางการเมืองหรือความเสี่ยงจากนโยบาย ซึ่งตลาดคาดการณ์ไม่ได้ ความหวังที่จีนจะให้เงินของตนเป็น reserve currency จึงเป็นไปได้ยาก เพราะจะทำให้ค่าเงินหยวนและตลาดการเงินผันผวน เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง

จีนคงจะดำรงการควบคุมตลาดการเงินต่อไป
ที่มา : นสพ.มติชน
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ลมหายใจค้าปลีก ทีซีซี แลนด์ รีเทล !!?

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

ไทยเจริญ และ เจริญ สิริวัฒนภักดี กับธุรกิจค้าปลีก เริ่มต้นง่าย ๆ จากโอกาสธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลายกรณีเป็นเรื่องยากในการเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับธุรกิจที่ซับซ้อนและแข่งขันสูง

ความจริงแล้วธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มไทยเจริญเพิ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างจากการปรับโครงสร้างทีซีซีแลนด์ฯเมื่อปี 2555 หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เมื่อกลุ่มไทยเจริญได้ซื้อหุ้น 40% ในทีซีซี แลนด์ฯคืนจาก Capital Land แห่งสิงคโปร์ จากนั้นทีซีซี แลนด์ฯได้ดำเนินแผนการเชิงรุกอย่างซับซ้อนมากขึ้น

ภาพยิ่งชัดเจนซ้อนทับอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือกลุ่มธุรกิจค้าปลีกใหม่ที่มีเครือข่ายมากพอสมควรทีเดียวเชื่อกันว่าจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ทั้งนี้ มีความพยายามแบ่งกลุ่มธุรกิจย่อย สร้างความเป็นแบรนด์เฉพาะตัวที่สำคัญได้เกิดขึ้นแล้ว

แต่ก็ดูเหมือนว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกยังคงดำเนินต่อไป ทั้งโครงสร้างการบริหารและโมเดลธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจดั้งเดิมที่ดำเนินมานานนับสิบปี หรือโมเดลใหม่ที่เปิดตัวไปเพียงไม่กี่ปี ทั้งนี้ เชื่อว่ามาจากข้อจำกัดตามแนวคิดที่นำเสนอคร่าว ๆ ไว้ในตอนที่แล้ว "มาจากการซื้อที่ดิน หรือที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง ภายใต้เจตจำนงกว้าง ๆ โดยไม่คาดคิดว่าจะเชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีก ย่อมมีข้อจำกัดว่าด้วยทำเล ขนาดที่ดิน และสิ่งก่อสร้างในรูปแบบเดิม"



กลุ่มไทยเจริญกำลังเผชิญสิ่งท้าทายกับโมเดลธุรกิจค้าปลีกที่ดูเหมือนจะยังไม่ลงตัวท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกไทยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หนึ่ง-กรณีธุรกิจดั้งเดิม--พันธุ์ทิพย์พลาซาดูเหมือนว่ากลุ่มไทยเจริญเชื่อมั่นในโมเดลธุรกิจ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

"เมื่อช่วงปี 2534-2535 เป็นช่วงที่เครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก พันธุ์ทิพย์ พลาซา ประตูน้ำได้ก้าวเข้ามาเป็นศูนย์กลางการค้าขายคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอันดับหนึ่งของเมืองไทย และเมื่อสินค้าขายดีประกอบกับเพิ่มจำนวนของร้านค้า ราคาเช่าพื้นที่ก็เพิ่มขึ้น"(http://www.pantipplaza.com/) นั่นคือจุดเริ่มต้นโมเดลธุรกิจที่ถือว่ามีบุคลิกเฉพาะ และเป็นความชำนาญเฉพาะตัวของกลุ่มไทยเจริญ แต่เมื่อมาถึงเวลาหนึ่ง ความเชื่อมั่นเริ่มสั่นคลอน

พันธุ์ทิพย์ พลาซา จำต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ใหม่ โดยทีมงานใหม่กลุ่มไทยเจริญว่าด้วยสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตามคำแถลงของผู้บริหารใหม่ระบุว่า กำลังดำเนินแผนการใหญ่ปรับโฉมพันธุ์ทิพย์ พลาซา จากโมเดล ศูนย์การค้าไอที ให้มีความหมายที่กว้างขึ้นเป็น ศูนย์เทคโนโลยี ซึ่งก็ยังไม่มีภาพให้เห็นชัดเจนตามโมเดลใหม่ ตามแผนการคาดว่าการปรับโฉมใหม่จะแล้วเสร็จในปีหน้า

โมเดลห้างสรรพสินค้าไอทีกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากธุรกิจสื่อสารและไอทีกลายเป็นธุรกิจใหญ่ทรงอิทธิพล และเป็นเครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย สามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้น โมเดลธุรกิจจึงมีลักษณะคล้ายเครือข่ายค้าปลีกขนาดเล็ก เปิดศูนย์ธุรกิจและบริการโดยเข้ายึดพื้นที่ค้าปลีกที่สำคัญกระจายอย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศ ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมสั่นสะเทือนศูนย์การค้าไอทีดั้งเดิมที่มีเครือข่ายจำกัด

การปรับตัว ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ล่าสุดเป็นภาพสะท้อนหนึ่งในนั้นด้วย

ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต สร้างมาตั้งแต่ปี 2537 และพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2543 กำลังเดินแผนปรับตัวครั้งใหญ่เช่นกันด้วยขยายพื้นที่อีกนับแสนตาราง(Digitainment) แห่งเรียนรู้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับความสนุกสนาน" (คำอธิบายนี้ยังปรากฏใน http://www.tccland.com/)
แต่แล้วในอีกไม่กี่ปีถัดมา ต้องปรับโมเดลธุรกิจอีกครั้ง Digital Gateway เปลี่ยนชื่อเป็น Center Point @ Siam square โดยเพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่มานมานี้ เปลี่ยนคอนเซ็ปต์จาก IT Mall ซึ่งมีแนวโน้มข้อจำกัดมากขึ้นตามที่กล่าวมาแล้วไปสู่โมเดลที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯช่วงไม่ถึงทศวรรษมานี้--LifeStyle Mall

สอง-โมเดลใหม่ยังไม่ลงตัว

ศูนย์การค้า Gateway Ekamai เปิดตัวไปเมื่อปี 2555

"ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย ตอบสนองวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ด้วยเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากศูนย์การค้าชุมชนที่ผุดอยู่ทั่วไป แตกต่างด้วยบรรยากาศที่นำเอากลิ่นอายของสุนทรียรสแบบญี่ปุ่น นำเสนอให้แก่ลูกค้า ประสานไปกับสถานที่ตั้งที่อยู่ใจกลางของย่านเอกมัย ชุมทางของแหล่งธุรกิจและที่อยู่อาศัย ด้วยขนาดพื้นที่ทั้งหมด 93,000 กว่าตารางเมตร ชูคอนเซ็ปต์ที่รวมวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่นไว้ทั้งหมด โดยมีจุดขายหลักกับโซน Japan Town พบกับร้านอาหารจากประเทศญี่ปุ่นที่มาเปิดในไทยเป็นสาขาแรก" นี่คือแนวคิดดั้งเดิม(http://www.gatewayekamai.com/) ศูนย์การค้าแห่งใหญ่ แบรนด์ใหม่ล่าสุดของกลุ่มไทยเจริญ

ถือเป็นโครงการแรก มาพร้อมกับการก่อตั้งกลุ่มธุรกิจค้าปลีกให้แยกออกต่างหาก สะท้อนความเชื่อมั่นในธุรกิจค้าปลีก ประเดิมด้วยโครงการที่เชื่อมมาจากแนวคิดที่หลักแหลมและชัดเจน มาจากการวิเคราะห์อย่างไตร่ตรองเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มใหม่ ๆ ในช่วงเวลานั้น

"กระแสคลื่นธุรกิจญี่ปุ่นลูกใหม่ กำลังถาโถมเข้าสู่วิถีชีวิตของปัจเจกในเมืองหลวงและหัวเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน" ผมเคยนำเสนอปรากฏการณ์สำคัญไว้ (จากเรื่อง JAPAN CONNECTION ตีพิมพ์ใน "ประชาชาติธุรกิจ" ช่วงปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557) โดยอ้างอิงเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ก่อเป็นกระแสครึกโครมในเวลาต่อมา

กลุ่มเซ็นทรัล เป็นผู้บุกเบิกนำร้านอาหารญี่ปุ่นส่งตรงจากญี่ปุ่นเข้ามาตลาดเมืองไทยตั้งแต่ปี 2548 เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องจากเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นจากภายในเองมาก่อนหน้า ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง

--Fuji เป็นผู้บุกเบิก ค่อย ๆ สร้างเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่น โดยชาวญี่ปุ่นที่ปักหลักอยู่เมืองไทย ใช้เวลาถึง 3 ทศวรรษ

--Oishi ตำนานอันโลดโผน โดยตัน ภาสกรนที เพียงทศวรรษเดียว ต่อมาในปี 2549 ขายกิจการให้กลุ่มไทยเจริญ --ไทยเบฟเวอเรจ จึงกลายเป็นเจ้าของเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

กระแสร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงปี2550-2554เฉพาะกลุ่มเซ็นทรัลเองนำเข้ามาอีกหลายแบรนด์

ในเวลาเดียวกันนั้น (2554) เครือข่ายร้านเสื้อผ้า Uniqlo แบรนด์ญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลก ถือว่าเทียบเคียงกับแบรนด์อย่าง Mark & Spencer อังกฤษ H&M สวีเดน และ Zara ของสเปน ก็มาเปิดที่เมืองไทย

และแล้วเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกแบบ Convenience Store จากญี่ปุ่น พร้อมใจกันพาเหรดเข้ามาเมืองไทย จากที่มีอยู่เดิมก็ขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Family Mart ประกาศร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลในปลายปี 2555 Lawsonเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในปี 2556 โดยรวมมือกับสหกรุ๊ป

ปรากฏการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 2556 กรณีธนาคารญี่ปุ่น-Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ (BTMU) เข้าครอบงำธนาคารไทย-ธนาคารกรุงศรีอยุธยาผมเองเคยอรรถาธิบายเป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจญี่ปุ่นในความพยายามเชื่อมสังคมไทยให้แนบแน่นยิ่งขึ้น แม้ว่าญี่ปุ่นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในเมืองไทยมานาน ครอบคลุมในหลายธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ธนาคารญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบ หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วธนาคารกรุงศรีอยุธยาคือธนาคารที่ให้ความสำคัญและมีเครือข่ายลูกค้ารายย่อยมากที่สุด

"จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามกระแสญี่ปุ่นมาแรงยิ่งขึ้นตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2556 จากมาตรการยกเว้นวีซ่าเข้าญี่ปุ่นให้คนไทยสามารถพำนักได้ 15 วัน จากนั้น Social Media ก็เต็มไปด้วยเรื่องและภาพไลฟ์สไตล์ญี่ปุ่น" ผมเคยสรุปในตอนนั้น

Gateway Ekamai เกิดขึ้นในฐานะ Japan Town ในตอนนั้น เป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจที่โอกาสเปิดกว้างจริง ๆ

แต่แล้วผ่านมาเพียง 2 ปี Gateway Ekamai ต้องปรับตัวพอสมควร โดยมีคำอธิบายใหม่ที่กว้างกว่าเดิม "Gateway Ekamai ภาพลักษณ์และรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด "Community Shopping Center และเพิ่มเติมด้วย Urban Lifestyle รวบรวมร้านค้าที่หลากหลายเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ชีวิตคนเมืองให้เป็นศูนย์รวมความสุขครบรสสำหรับทุกคนในครอบครัว"

นี่คงเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกใหม่จำเป็นต้องข้ามผ่านเมตร เรียกว่า "The Hub" ให้เป็นศูนย์ค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในย่านรังสิต

โครงการที่ดู "คาบลูกคาบดอก" อีกโครงการหนึ่งของไทยเจริญ เกิดขึ้นจากโอกาสที่แตกต่างออกไป แต่ก็มาสู่บทสรุปใกล้เคียงกัน

ในปี 2552 ทีซีซี แลนด์ฯชนะประมูลเข้าพัฒนาพื้นที่เดิมที่เรียกว่า เซ็นเตอร์พอยต์ ในสยามสแควร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นปรับโฉมเปลี่ยนชื่อเป็น"Digital Gateway" เข้าใจว่าพยายามสร้างโมเดลใหม่อย่างผสมผสาน อ้างอิงกับทั้งโมเดลธุรกิจเก่า ศูนย์การค้าไอที และแบรนด์ใหม่ ซึ่งเปิดตัวในเวลาเดียวกันนั้น "Gateway Ekamai" เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่อ้างว่า "ดิจิเทนเมนต์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มองข้ามวิกฤตกรีซดีไหม จีนต่างหากของจริง จับตาฟองสบู่แตก เสี่ยงลามทั้งโลก !!?

ขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาวิกฤตเงินกู้และสถานการณ์ขัดแย้งของกรีซและสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิดอีกฟากหนึ่งนั้นในภูมิภาคเอเชียกลับมีสถานการณ์ที่ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆเมื่อในช่วงที่ผ่านมาปรากฎข่าวที่เกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเริ่มเผชิญปัญหาหนักอย่างต่อเนื่องและยังมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อออกไป

สถานการณ์นี้ทำให้เกจิผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินได้เริ่มออกมาเตือนแล้วว่าความเคลื่อนไหวนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่โลกควรจับตาโดยหากส่งผลกระทบต่อโลกเมื่อไหร่วิกฤตกรีซที่หลายคนกำลังให้ความสนใจกันอยู่จะไม่มีทางเทียบได้เลยหากประเมินถึงความจริงที่ว่า จีนคือชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และมีจีดีพีใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นปัจจัยพื้นฐาน!

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สิ่งที่ทั่วโลกควรให้ความสนใจอย่างแท้จริงตอนนี้ คือ ตลาดหุ้นจีน หาใช่วิกฤตเงินกู้ของกรีซ ที่จริงๆ แล้วมีจีดีพีเพียงเล็กน้อยเทียบได้เท่ากับแค่เศรษฐกิจของคาซัคสถาน อัลจีเรีย หรือกาตาร์เท่านั้น ขณะที่จีดีพีของจีน มีมูลค่าสูงเป็น"อันดับ 1"ของโลก จากการบริโภคของประชากรจำนวนกว่า 1,400 ล้านคน โดยภาวะที่ตลาดหุ้นจีนกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้คือ ภาวะฟองสบู่ ที่หลายฝ่ายกำลังกังวลหนักกว่ามีสิทธิจะแตกระเบิด และมันจะแพร่ผลกระทบไปทั่วโลก และจะฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งไปตาม ๆ กัน จากผลกระทบของความเป็นยักษ์ใหญ่ผู้บริโภคของจีน

สถานการณ์นั่นคือ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนได้เกิดพฤติกรรมกระตุ้นตลาดและการเก็งกำไรกันอย่างผิด ๆ โดยปรากฎว่า ประชาชนได้แห่"กู้เงิน"เพื่อซื้อหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้และตลาดเซิ่นเจิ้น ในช่วงที่รัฐบาลจีนต้องการให้ประชาชนแห่เข้ามาลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่รัฐบาลสนับสนุน และปรากฎว่า ภาวะแห่ซื้อหุ้นดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนและราคาหุ้นเพิ่มสูงอย่างมาก เพราะความคึกคักของตลาดที่มาจากแรงซื้อ(ผิดๆ)ของนักลงทุน ซึ่งก็คือประชาชนจีน ทำให้ตลาดหุ้นกลายเป็นอยู่ในภาวะฟองสบู่ ที่เติบโตอย่างล่อแหลม

ก่อนที่เมื่อเดือนที่แล้ว จะปรากฎสัญญาณร้ายขึ้น เมื่อตลาดหุ้นจีนเริ่มตก และทำให้ประชาชนหรือนักลงทุนทั้งหลายต่างรีบเทขายหุ้นของตัวเอง เพื่อนำเงินไปจ่ายคืนหนี้ที่กู้มาซื้อหุ้นเล่น และภาวะแห่เทขายหุ้นทิ้งดังกล่าวขยายตัวบานปลายฉุดให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ดิ่งตกอย่างหนัก ขณะที่ว่ากันว่าการที่บรรดาโบรกเกอร์ของบริษัทหลักทรัพย์จีนตั้งคงตั้งหน้าตั้งตากระตุ้นการขายหุ้นให้แก่ประชาชนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซิ่นเจิ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ดังกล่าวขึ้น

โดยตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกหากคิดตามมูลค่าของบริษัทได้ตกฮวบถึง 30 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิ.ย.เข้าสู่ภาวะหุ้นหมี ส่วนตลาดเซิ่นเจิ้นที่มีขนาดเล็กกว่า ปรากฎว่าตกหนักเช่นกันและยังหนักกว่า หรือ 31 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดียวกัน ภาวะหุ้นตกนี้ถือว่าสวนทางเมื่อช่วงต้นปีที่ตลาดหุ้นจีนกำลังเพิ่มมูลค่าของตลาดอย่างมหาศาล ขณะที่ภาวะฟองสบู่มีเค้าว่าจะแย่หนักขึ้นหากนักลงทุนตื่นตระหนกเพราะตระหนักว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทต่าง ๆ



นายไมเคิล เพ็นโต้ ประธานและผู่ก่อตั้งหน่วยบริหารพอร์ตลงทุน"เพ็นโต"บอกว่า การขยายตัวของตลาดหุ้นจีน ไม่ได้ถูกสนับสนุนจากแรงซื้อพื้นฐานที่ถูกต้อง แต่มาจากการกู้ยืมอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุน ขณะที่นายไล่ หม่า ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยวอร์วิค บิสสิเนส ของสหราชอาณาจักร บอกว่า เขาวิตกว่า รัฐบาลจีนอาจเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการซื้อหุ้นของบริษัทใหญ่เพื่อให้มูลค่าหุ้นบริษัทเหล่านี้อยู่ในระดับสูงแต่ปล่อยทิ้งไม่สนใจบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าโดยที่ผ่านมาภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดการหลั่งไหลของเงินทุนที่เข้าสนับสนุนบริษัทของรัฐที่มีขนาดใหญ่

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสาเหตุที่เศรษฐกิจจีนทรุดเพราะฟองสบู่แตกจะกระทบต่อโลกภายนอกนั้นก็เหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 และปี 2000โดยปัจจุบันจีนซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของยุโรปและสหรัฐฯ หากเศรษฐกิจจีนทรุด ก็ย่อมกระทบสองชาติคู่ค้าหลักนี้ไปด้วย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่ต่างก็มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ปรากฎว่าธนาคารของสหรัฐฯเข้าไปเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนอย่างมากมาย หรือมากกว่ากรีซถึง 10 เท่า

โดยแรงสะเทือนแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ ปฎิกิริยาของตลาดหุ้นเอเชียจะพากันร่วงดิ่งตกก่อนใครเพื่อน หากจีนยังไม่สามารถยับยั้งภาวะ"เลือดไหลออก"นี้ได้ นอกจากนี้ อีกประการหนึ่ง ก็คือ จีนเป็นประเทศผู้บริโภคสินค้าอุปโภคหลายใหญ่ของโลก หากเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบ จีนก็จะลดปริมาณการบริโภคดังกล่าว ซึ่งนั่นจะผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดนอกประเทศ และส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกด้วย

ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาล่าสุดของจีนขณะนี้เพื่อพยุงตลาดก็คือ 1.การให้ธนาคารกลางอัดฉีดเงินทุนเข้าไปยังตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายการซื้อหุ้นแบบมาร์จิ้น ไฟแนนซ์ แต่หากลงทุนผิดพลาดหรือขาดทุน นักลงทุนก็จะต้องถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่คืนอย่างรวดเร็ว 2.บริษัทโบรกเก่อร 21 บริษัทรับปากที่จะใช้เงินกว่า 1,930 ล้านดอลลาร์ ช่วยกันซื้อหุ้นเพื่อพยุงตลาด โดยมีเป้าหมายจะดันให้ดัชนีของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ทะลุ 4,500 จุด ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อเดือนมิ.ย. ก่อนหุ้นดิ่งตก

3.บริษัทที่จดทะเบียนใหม่ 28 บริษัท ได้ระงับการเข้าตลาดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์และนิ่งและมั่นคง เพื่อป้องกันไม่ให้การเข้าตลาดของกลุ่มผลักดันให้ตลาดหุ้นจีน ปั่นป่วนขึ้นไปอีก จากการแห่ซื้อหุ้นจดทะเบียนของบริษัทน้องใหม่เหล่านี้

คงต้องจับตากันว่า มาตรการเหล่านี้จะสามารถฉุดให้จีนพ้นจากวิกฤตฟองสบู่แตกได้หรือไม่ และเชื่อว่านับแต่นี้ไปหลายฝ่ายต้องจับตาดูจีนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตัวเองได้อย่างรอดปลอดภัยได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน!

ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ระวัง วิกฤตการเงินไทยรอบ 2 !!?

คอลัมน์ : ทิศทางเศรษฐกิจ
โดย อ.พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ

ผ่านพ้นครึ่งปีแรก 2558 ไปอย่างทุลักทุเล เศรษฐกิจการเงินไทยเผชิญปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในโลกยุคโลกาภิวัตน์ขณะนี้ สถานการณ์วิกฤตในต่างประเทศ ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างมาก

หลากหลายปัญหาถาโถมเข้ามาดังนี้ 1) วิกฤตราคาน้ำมันดิบร่วงลงแรงจาก 100 เหรียญสหรัฐ เหลือ 42 เหรียญสหรัฐ แล้วค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาเป็น 60 เหรียญสหรัฐ กดดันให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปิโตรเคมีร่วงลงมาก ลากหุ้นไทยอ่อนตัวลงจาก 1,575 จุด ลงมาเหลือเพียง 1,500-1,520 จุด ขณะนี้ที่สำคัญราคาน้ำมันได้ลากราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ลงตามมามาก เช่น ข้าว, ยางพารา, อ้อย, น้ำตาล, มันสำปะหลัง, ทำให้รายได้ของเกษตรกรและผู้ส่งออกลดลงมาก

2) วิกฤตหนี้สินของกรีซ 350,000 ล้านยูโร กดดันให้ตลาดหุ้นยุโรป ค่าเงินยูโรลดลงอย่างมาก ดัชนี DAX เยอรมนีร่วงลงแรงจาก 12,350 จุด ลงมาเหลือเพียง 11,000-11,400 จุด ค่าเงินยูโรไหลลงมาจาก 1.38 เหรียญสหรัฐ/1 ยูโร เหลือเพียง 1.05 เหรียญสหรัฐ/1 ยูโร แล้วเพิ่งจะขยับขึ้นมาเป็น 1.10-1.14 เหรียญสหรัฐ/1 ยูโร ยิ่งกว่านั้นการเจรจาเพื่อขอเงินกู้ก้อนใหม่อีก 7,200 ล้านยูโรก็ยังไม่สำเร็จ อาจส่งผลให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ (Default) และต้องออกจากยูโรโซน ต้องดู 30 มิ.ย.จะตกลงกันได้หรือไม่ ?

ถ้าตกลงกับ EU, IMF, ECB ไม่ได้ อาจก่อให้เกิดวิกฤตการเงินของโลกรอบใหม่กระทบตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกได้

3) วิกฤตเศรษฐกิจ-การเงินไทยรอบ 2 ขณะนี้ในเชิงเทคนิคด้านเศรษฐศาสตร์ถือว่าประเทศไทยสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงินรอบ 2 ขึ้นมาใหม่ได้ เพราะมีปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors) เข้ามามากมาย ซึ่งล้วนส่งผลลบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น ได้แก่

3.1 วิกฤตภัยแล้งหนักจากอากาศแล้งจัดผิดปกติ และการบริหารน้ำที่ผิดพลาดใหญ่หลวงของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ และ กฟผ. ทำให้เกิดขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่สุดในรอบ 30 ปี น้ำน้อยกว่า 20-30% ของเขื่อนที่ไม่สามารถทำนาปีตามปกติได้, กฟผ.อาจต้องลดการผลิตไฟฟ้าลงเพราะน้ำไม่เพียงพอ อาจเกิดปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอด้วย ส่งผลลบใหญ่หลวงต่อ GDP ซึ่งกระทรวงการคลังแจ้งว่าจะกด GDP ให้ลดลงมา 0.5% แต่ผมว่าจะลดลงมากถึง 0.8-1.0% เลยทีเดียว นั่นหมายถึง GDP ไทย ปี′58 จะลดจาก +3.0 ลงมาเหลือแค่ +2.0 ถึง 2.0%

3.2 ยอดการส่งออกยังคงลดลงต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการกดดันบีบคั้นและรังแกโดยสหรัฐอเมริกาและกลุ่ม EU ต่อรัฐบาลทหารของไทย โดยกดดันมาหลายเรื่องดังต่อไปนี้

3.2.1 บีบไทยเข้าสู่ Tier 3 แรงงานประมงไทย หาว่าเป็นแรงงานทาส และขู่จะงดซื้อสินค้าประมงไทย ซึ่งจะเสียหายหนักเพราะไทยส่งออกปีละราวเกือบ 3 แสนล้านบาท (10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ยังไม่ยอมลดราวาศอกเลย

3.2.2 บีบไทยผ่าน ICAO หาว่ามาตรฐานความปลอดภัย SSM ของไทยต่ำกว่ามาตรฐาน ล่าสุดก็มาปักธงแดงใน Website การบินของไทย บีบไทยด้านสนามบิน, สายการบินต่าง ๆ ของไทย และจะส่งผลกระทบทางลบต่อการท่องเที่ยว, การขนส่งสินค้าทางอากาศ Logistics ของไทย การกระทำของสหรัฐและยุโรปแย่มากที่ต้องการบีบรัฐบาลทหารไทย แต่มาส่งผลเสีย-ผลลบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว การขนส่ง และเศรษฐกิจการเงิน การค้าระหว่างประเทศของไทย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อคนไทย การบริหารของไทยอย่างใหญ่หลวงที่สุด

3.2.3 บีบไทยเรื่องผู้หนีภัยโรฮีนจา แทนที่จะไปบีบรัฐบาลพม่าซึ่งเป็นต้นเหตุที่ไม่ยอมรับชาวโรฮีนจาเป็นพลเมืองพม่า แล้วยังฉวยโอกาสอย่างน่าเกลียด ส่งเครื่องบินรบและเรือรบเข้ามาในไทย โดยอ้างว่าจะมาลาดตระเวนช่วยผู้ลี้ภัยโรฮีนจา ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยไทยชัดเจน

3.3 ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น และหนี้เสีย NPL เริ่มสูงขึ้นมาก เราต้องเตือนพี่น้องคนไทยให้บริหารเงิน บริหารการลงทุนให้ดี เพราะครึ่งปีหลังปี′58 จะลำบากยากแค้นมากขึ้น ชาวนา, เกษตรกรสาหัสแน่ เพราะทำนาปลูกพืชผักผลไม้ไม่ได้ น้ำน้อย แล้งจัด รายได้ของเขาก็ต้องลดลงมากแน่ ๆ ธุรกิจ SMEs ก็ต้องระวังให้มาก และต้องเผื่อสภาพคล่องให้ดี ระวังอย่าให้สะดุด ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงให้มากที่สุด แสวงหารายได้เพิ่มขึ้นให้มากในหลาย ๆ ทาง อย่าพึ่งรายได้เพียงแหล่งเดียว จะต้องแสวงหารายได้จากหลาย ๆ แหล่ง และต้องพยายามแสวงหาตลาดใหม่ ๆ, ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ พันธบัตรใหม่ ๆ ทั้งด้านการตลาด การเงิน และเครือข่ายใหม่ ๆ

ยอดขายโดยรวมของธุรกิจอาจลดลงเฉลี่ย 10-30%

ดังนั้น ท่านต้องทำงานให้หนักขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ ขยายสู่ผลิตภัณฑ์บริการใหม่ ๆ และลู่ทางทำการค้าการลงทุนใหม่ ๆ รวมทั้งพันธมิตร จึงจะอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้

ผมไม่อยากจะเตือนอะไรแรงกว่านี้ เพียงแต่เห็นว่าครึ่งปีหลังปี′58 จะไม่ค่อยสดใส และถ้ารัฐบาลบริหารงานเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งพอ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจการเงินไทยไหลลงสู่หุบเหวอันตราย !

กองทุนฝรั่งเลว ๆ จำนวนมากยังคงจ้องมองทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีถึง 165,000 ล้านเหรียญสหรัฐตาเป็นมัน ฝรั่งแย่ ๆ เหล่านี้อาจกลับมาโจมตีค่าเงินบาทของไทยได้ทุกเมื่อ รวมทั้งจ้องจะกลับมาซื้อหนี้เสีย NPL ของไทยราคาถูก ๆ แล้วมาตามทวงหนี้แบบมหาโหดเหมือนที่เคยทำเมื่อปี 2540-2542

เราควรแก้ไขกฎหมายของชาติ 11 ฉบับโดยเร็ว เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ลูกหนี้คนไทย ควบคุมดอกเบี้ยและการติดตามทวงหนี้มหาโหดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างชาติ อย่าให้มาทำร้ายคนไทยอีกต่อไป !

อเมริกาและยุโรปอยู่เบื้องหลังเรื่อง Tier 3, ICAO, โรฮีนจา และอีกหลายเรื่องที่บีบไทยอยู่ในขณะนี้ครับ !

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แบงก์อ่วมแห่ตัดขาย หนี้เสีย กดราคา หลักประกันต่ำ50 เปอร์เซนต์


แบงก์อ่วมเอ็นพีแอลท่วมหัว แห่ขนหนี้เสียออกมาเทกระจาด ดันซัพพลายล้น จุกซ้ำโดนกดราคาหลักทรัพย์เหลือไม่ถึง 50% SAM ประเมินปีนี้แบงก์ตัดขายหนี้เสีย 4-5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัว เผย "บ้าน-โรงงาน" ยอดฮิต

แหล่งข่าวจากฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่า ปัจจุบันจากปัญหาคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลงส่งผลให้หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (สเปเชียล แมนชั่น) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริหารจัดการหนี้ทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อย โดยแนวทางการบริหารจัดการมีทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และตัดขายออกบางส่วน

ทั้งยอมรับว่า การตัดขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในระยะหลังได้ราคาที่ค่อนข้างต่ำ จากเดิมที่เคยขายในราคาประมาณ 60% ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ปัจจุบันปรับลดลงต่ำกว่านั้นมาก และบางรายอาจขายได้เพียง 40% กว่า ๆ เท่านั้น ซึ่งบางธนาคารไม่มีทางเลือกต้องยอมขายเพราะไม่ต้องการให้ปริมาณหนี้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป

"ตอนนี้ขายหนี้ได้ราคาต่ำมาก เพราะซัพพลายในตลาดมีมากกว่าดีมานด์เยอะ ซึ่ง AMC ก็แบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพราะต้องกอดหนี้ไว้นานขึ้น ผลจากที่เศรษฐกิจไม่ดีอาจทำให้คนไม่เชื่อมั่นก็ไม่ค่อยมีใครอยากซื้อ ไม่ว่าจะนำไปทำประโยชน์เองหรือเก็งกำไรก็ตาม" แหล่งข่าวกล่าว

ตัดขายหนี้เสียปีนี้ 4-5 หมื่น ล.

นายชูเกียรติ จิตติไมตรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกมีสถาบันการเงิน 5-6 รายนำทรัพย์ทั้งในส่วนของหนี้เอ็นพีแอลและทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) เฉพาะส่วนที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันออกมาขายในตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เทียบเคียงได้กับการนำทรัพย์ออกมาขายปี 2557 ทั้งปีอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะมีการนำทรัพย์ออกมาขายไม่น้อยกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ทรัพย์ที่นำออกมาขายส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินและที่อยู่อาศัย คาดว่าจะเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและปัญหายังลากยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้สภาพคล่องของผู้บริโภคและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอ่อนกำลังลง

"ส่วนใหญ่การขายทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อย ส่วนรายใหญ่น้อยมาก และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะเห็นการนำทรัพย์ออกมาขายใกล้เคียงหรือมากกว่าครึ่งปีแรก" นายชูเกียรติกล่าว

ขณะที่ราคาหนี้จากเดิมที่บริษัทเคยรับซื้อประมาณ 50-70% ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็ปรับลดลงเล็กน้อยประมาณ 1-5% แม้ปริมาณหนี้เสียในระบบจะมากขึ้น แต่คุณภาพหนี้โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนที่สถาบันการเงินต้องทยอยตัดขายทรัพย์ออกมาก็เพื่อรักษาระดับเอ็นพีแอลให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถดึงสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญกลับมาเป็นกำไรได้โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้ารับซื้อทรัพย์เข้ามาบริหารประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่ม ซึ่งได้เจรจากับสถาบันการเงินในหลักการเรียบร้อยแล้ว แต่รูปแบบการชำระเงินอาจเปลี่ยนเป็นการแบ่งชำระเป็นงวด ๆ จากเดิมที่จ่ายเป็นเงินสด

SCB-KTB ทยอยตัดขายหนี้

ขณะที่นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในไตรมาส 1/2558 เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 2.13% ถือเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่การบริหารจัดการต้องพิจารณาอย่างละเอียดมากขึ้น

"เราต้องดูอย่างละเอียดว่าหนี้ส่วนไหนที่จะขายหรือส่วนไหนที่จะเก็บไว้บริหารเอง ที่ขายออกไปมีเยอะ ทั้งกลุ่มโรงงาน บ้าน เป็นต้น ส่วนสินเชื่อใหม่ต้องระวังมากขึ้นเพื่อให้ของที่อยู่ในบุ๊กมีตำหนิน้อยที่สุด ซึ่งบางกลุ่มก็ยังเหนื่อย บางกลุ่มดีขึ้น แต่โดยภาพรวมหนี้เสียน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว" นายญนน์กล่าว

ด้านนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารได้ขายหนี้ออกไปบางส่วนแล้ว แต่มีสัดส่วนไม่มาก เนื่องจากธนาคารจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเองมากกว่า ในส่วนของราคาต้องยอมรับว่าตอนนี้มีซัพพลายในตลาดมากกว่าดีมานด์ค่อนข้างมาก

"แบงก์มีการขายออกบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติในการบริหารจัดการของแบงก์พาณิชย์ เพราะการขายออกจะทำให้เอ็นพีแอลปรับตัวลดลงทันที แต่วัฒนธรรมของเราคือต้องพยายามช่วยเหลือลูกค้าให้ถึงที่สุดก่อน โดยหนี้ที่แบงก์ขายหลากหลายแต่ถ้าเป็นหนี้รายใหญ่จะได้ราคาดี" นายวรภัคกล่าว

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ปริมาณหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 ขณะที่ทิศทางไตรมาส 2/2558 น่าจะชะลอลงบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล เพื่อให้ลูกค้ายังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่หากไม่สามารถบริหารจัดการได้แล้วธนาคารต้องตัดขายออก ซึ่งธนาคารจะต้องประเมินว่าจะบริหารจัดการเองหรือตัดขาย ส่วนไหนจะได้รับผลตอบแทนมากกว่า โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับประมาณ 2.8-3% และคาดว่าจะปรับลดลงในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้

เอสเอ็มอีแบงก์ขายหนี้หมื่นล้าน

นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ในปี 2558 ธนาคารมีแผนจะตัดหนี้สูญรวม 3,500 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้ตัดหนี้สูญไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท จากลูกหนี้ประมาณ 900 ราย ทั้งยังมีแผนขายหนี้เอ็นพีแอลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์รวม 7,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีการขายหนี้ไปแล้วกว่า 2,600 ล้านบาท และล่าสุดเพิ่งลงนามกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (บสก.) อีก 1,150 ล้านบาท

โดยการตัดขายหนี้ดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่ต้องการลดเอ็นพีแอลในพอร์ตให้เหลือ 2 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ หรือประมาณ 20% จาก ณ สิ้นเดือน พ.ค.อยู่ที่ 2.87 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 33.29%

ด้านนางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) กล่าวว่า บตท.มีแผนขายหนี้เอ็นพีแอลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ประมาณ 200 ล้านบาท โดยจะต้องมีการเจรจาเรื่องราคาซื้อขายกันอีกที แต่เชื่อว่าราคาน่าจะยังดี เพราะเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยที่มีหลักประกันคุ้มค่า

ทั้งนี้ สำหรับผลดำเนินงาน 5 เดือนแรกที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า สภาพตลาดปีนี้คนกู้สินเชื่อได้น้อยลง แบงก์ก็ระมัดระวังในการปล่อยกู้ และลูกหนี้ที่อยู่ในพอร์ตก็มีอัตราหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยเท่าที่เห็นไม่ได้ขึ้นจากพอร์ตใดพอร์ตหนึ่ง แต่มาจากทุกธนาคารกระจายตัว

นอกจากนี้ เมื่อ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมาทางธนาคารธนชาต ได้ลงนามโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตและเช่าซื้อรถยนต์ มูลค่า 3,819 ล้านบาท ให้กับ บริษัทบริหารสินทรัพย์เจ จำกัด บริษัทย่อยของบริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)

Q2 เอ็นพีแอลแบงก์พุ่งหมื่น ล.

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) ประเมินช่วงไตรมาส 2/58 ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะยังคงไม่ดีนัก เนื่องจากคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งระบบน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 1 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสที่ 1/58 ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นราว 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดเอ็นพีแอลไตรมาส 2/58 ของทั้งอุตสาหกรรมขยับตัวขึ้นมาอยู่ที่ราว 3.1% ของยอดสินเชื่อ จากไตรมาส 1/58 อยู่ที่ระดับ 3%

ขณะเดียวกันธนาคารยังได้รับปัจจัยลบทางตรงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของทั้งอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/58 น่าจะปรับตัวลดลงเหลือราว 2.95% จากไตรมาส 1/58 อยู่ที่ 3% ทำให้ภาพรวมของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2 ยังคงไม่ดีนัก และคาดว่าเอ็นพีแอลก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปีนี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจในกัมพูชา....!!?

โดย ณกฤช เศวตนันท์

กัมพูชา เป็นประเทศหนึ่งในจำนวนสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมี กรุงพนมเปญ เป็นเมืองหลวง และเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อาชีพหลักของชาวกัมพูชา คือเกษตรกรรม

ปัจจุบันกัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสังคมนิยม เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศ คือ สมเด็จฮุน เซน

หลังจากเปิดประเทศ ทำให้กัมพูชาต้องบูรณะประเทศขึ้นใหม่ในเกือบทุกด้าน ดังนั้นจึงทำให้ประชากรภายในประเทศเกิดความต้องการสินค้าด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จากการที่กัมพูชามีความจำเป็นต้องพัฒนาประเทศโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจดังกล่าว จึงได้ออก นโยบายส่งเสริมด้านการลงทุน ให้ต่างชาติหันเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น

สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในกัมพูชา ซึ่งจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2557 การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ของกัมพูชา มีการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 7% จากปี 2556 ที่มีการขยายทางด้านเศรษฐกิจในระดับที่ 7.2% ซึ่งถือว่าการเติบโตในปี 2557 มีการขยายตัวใน ระดับปานกลาง แต่การขยายตัวลดลงกว่าปี 2556 สาเหตุมาจากปัญหาความตึงเครียดทางการเมือง ตั้งแต่มีการเลือกตั้งในปี 2556 เดือนกรกฎาคม อีกทั้งเกิดการเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างแรงงานของคนงาน ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตเสื้อผ้ากับรองเท้าตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2557 และยังทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของกัมพูชา มีอัตราการเติบโตล่าช้า

ในปี 2557 มูลค่าการค้าต่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมปี 2556 ที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศอยู่ที่ 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจึงมีมูลค่าการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 13% สำหรับการส่งออกสินค้าของกัมพูชามีมูลค่าจำนวน 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมปี 2556 ที่มีมูลค่าการส่งออกจำนวน 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็น 80% ของการส่งออกทั้งหมด

สำหรับการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาในปี 2557 มีมูลค่าจำนวนทั้งหมดประมาณ 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมในปี 2556 ที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจำนวนทั้งหมดประมาณ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า ปิโตรเลียม รถยนต์กับจักรยาน วัสดุก่อสร้าง อาหาร และเภสัชภัณฑ์

ขณะที่สภาพเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป หรือในไทยก็ดี มีการฟื้นตัว น่าจะส่งผลให้ "การส่งออก" ของกัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตและการก่อสร้าง คาดว่าน่าจะมีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 9.7% ส่วนภาคการท่องเที่ยว เกิดการชะลอตัวในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสาเหตุความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของปี 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมาเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อปัญหาทางด้านการเมืองของกัมพูชาคลี่คลายลง จึงมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

รัฐบาลกัมพูชาเองให้การส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ อาทิ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา รวมทั้งกิจกรรมการผลิต-ส่งออก ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ การส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลกัมพูชาสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชาได้เป็นจำนวนมาก

เพราะกัมพูชามีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำ และมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก ส่วนธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติ ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาทิ ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นธุรกิจดาวเด่นที่นักลงทุนส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ก็สามารถสร้างเม็ดเงินให้แก่กัมพูชาได้อย่างงาม

นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในแถบเอเชีย เพราะมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฉันเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนาน และให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้แก่ จีน เวียดนาม ไทย สำหรับนักลงทุนไทยนั้นจะอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของประสบการณ์ทางด้านทรัพยากร และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ เข้าไปลงทุนในกัมพูชา โดยธุรกิจหลักที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน อาทิ ธุรกิจการเกษตรและการแปรรูป ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า และธุรกิจการท่องเที่ยว

สำหรับภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา มีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น

อาทิ มูลค่าการส่งออกในปี 2557 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ถึงแม้การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2557 มีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาแค่เพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาทางการเมืองของกัมพูชาสงบลง อีกทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าก็มีการขยายการเติบโต ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และไทย ส่งผลให้กัมพูชาได้รับอานิสงส์ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปด้วยในปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะโตถึงร้อยละ 7.3%

หากกล่าวถึงอุปสรรคของการทำธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชาแล้ว ต้องบอกว่ากัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และถือเป็นประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมในการรองรับภาคบริการ อย่างไรก็ดี การเปิดประเทศของกัมพูชาค้าขายกับเพื่อนบ้าน และมีการปกครองเป็นประชาธิปไตย ทำให้กัมพูชาได้เชื่อมโยงทางด้านธุรกิจกับต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจทำให้กัมพูชามีความต้องการการลงทุนในภาคบริการเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย !!?


โดย:ดร.วิรไท สันติประภพ

ช่วงนี้ผมมักถูกถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย หลายคนกังวลกับข่าวและตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัว บางคนสับสนกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้น (หรือไม่เกิดขึ้น) และบางคนหงุดหงิดกับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่ไม่เกิดผลแบบทันอกทันใจ

หลายคนสงสัยและหงุดหงิดเพราะมองไม่ออกว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้เป็นปัญหาวัฏจักรทางเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ (cyclical) หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural) ที่ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด คนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวัฏจักรทางเศรษฐกิจ มักหวังให้ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากเข้าไว้เพื่อจุดเครื่องยนต์ภาคเอกชนให้กลับมาเดินเครื่องใหม่ แต่สำหรับคนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเกิดผลเพียงเล็กน้อยในช่วงสั้นๆ ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้จริง ที่สำคัญ ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ จะทำให้เราชะล่าใจ ผลักปัญหาไปข้างหน้า ไม่จัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซ่อนไว้เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคต

ผมเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายจุด ถ้าจะเปรียบกับร่างกายคน เศรษฐกิจไทยเวลานี้เหมือนกับคนอ้วนที่เคยปล่อยเนื้อปล่อยตัวกินตามใจปากมานาน มีอาการทั้งโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อเข่าเริ่มเสื่อม กระดูกหลายชิ้นเริ่มทรุด ทางเดียวที่จะทำให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างแท้จริงคือต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการกินตามใจปาก หันมาออกกำลังกายรีดไขมัน สร้างกล้ามเนื้อ รวมทั้งยอมเจ็บผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและชิ้นกระดูกที่เป็นปัญหา

ใครก็ตามที่โดนหมอวินิจฉัยโรคแบบนี้ย่อมทำใจยาก การเลิกกินตามใจปากและหันมาออกกำลังกายทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง ทั้งหน้ามืด อ่อนแรง หงุดหงิด จนหลายคนควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ คนไข้ที่ใจอ่อนมักหันกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม และหวังว่าจะเจอหมอคนใหม่ที่ชอบเอาใจ วินิจฉัยโรคว่าไม่ได้เป็นอะไรรุนแรง ทุกคนรู้ดีว่าคนไข้ที่หลอกตัวเอง มีแต่จะสะสมโรคร้ายมากขึ้น เสี่ยงที่จะหัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตกได้แบบฉับพลัน ถ้าเราปล่อยให้สุขภาพเสื่อมลงถึงจุดนั้นแล้ว การรักษาให้กลับมาปกติใหม่จะยากขึ้น และต้นทุนค่ารักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้นมาก (จนอาจจะทำให้คนไข้และญาติพี่น้องหมดเนื้อหมดตัว)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเหมือนกับคนอ้วนที่เคยกินตามใจปากจนเกินพอดี เป็นเพราะนโยบายภาครัฐในอดีตหลายเรื่องที่สร้างรายได้เทียมให้แก่ประชาชน ส่งเสริมให้คนนำเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า และสร้างวัฒนธรรมรอรัฐอุปถัมภ์ หมอที่ชอบเอาใจคนไข้มักเร่งให้คนไข้ดูดีด้วยการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วในช่วงสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก (ที่หลายคนกู้เงินซื้อรถเพื่อรักษาสิทธิ์เอาภาษีคืนจากรัฐบาล) โครงการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงเกินจริง (ที่สร้างผลขาดทุนกว่าครึ่งล้านล้านบาท สร้างหนี้สาธารณะ และทำให้เกษตรกรถูกหลอกว่าจะมีรายได้ดีต่อเนื่อง จนใช้จ่ายจนเกินตัว) การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ (ทำให้แรงงานเชื่อว่าจะมีรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กไปไม่รอด และราคาสินค้ากระโดดขึ้นเร็ว) และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการแบบก้าวกระโดดโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพ (ได้สร้างข้อจำกัดทางงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ) ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และโครงการเร่งลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจที่ไม่คุ้มค่าอีกหลายสิบโครงการ

เมื่อนโยบายเหล่านี้เริ่มอ่อนฤทธิ์ และร่างกายเริ่มแสดงอาการที่แท้จริง จึงพบสัญญาณหลายอย่างว่าการกินเกินพอดีที่ผ่านมาได้ทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงมาก ตัวบ่งชี้โรคร้ายหลายตัวกระโดดขึ้นเกินค่ามาตรฐานมาก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติ สัดส่วนรายจ่ายประจำของรัฐบาล อัตราหนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผลขาดทุนของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง หนี้สาธารณะของรัฐบาล ตลอดจนการคอร์รัปชันในหลายรูปแบบ ที่เป็นพยาธิคอยสูบเลือดจากทุกอวัยวะของระบบเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ เรากำลังเผชิญกับปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อเข่าเสื่อม และกระดูกทรุดอีกมากมาย จากการอ่อนประสิทธิภาพของระบบราชการ การด้อยคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยที่ถดถอยลง โดยเฉพาะการส่งออก การขาดแคลนแรงงานอาชีวะและแรงงานมีฝีมือ รวมไปถึงความแตกแยกในสังคมที่ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนมือยาวสาวได้สาวเอา การที่เราเพลินกับการกินตามใจปาก ไม่รักษาสุขภาพ และขาดวินัย ได้สร้างปัญหาให้กับเราแล้วในวันนี้ และจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตถ้าเราไม่แก้ไข

จุดเริ่มต้นของการรักษาคือ ต้องทำให้คนไข้ยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วยรุนแรงด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง คนไข้ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง และต้องยอมรับการผ่าตัดในหลายจุด คนไทยหลายกลุ่มยังคิดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวัฏจักรเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ เช่น เศรษฐกิจไม่ดีเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คนไม่ยอมใช้จ่ายเงินเพราะขาดความมั่นใจในรัฐบาล รัฐบาลเบิกจ่ายเงินช้า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำชั่วคราว หรือค่าเงินบาทแข็งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกมีปัญหา คนกลุ่มนี้ (ซึ่งส่วนหนึ่งเคยชินกับวัฒนธรรมรอรัฐอุปถัมภ์) มักเรียกร้องให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยยาชูกำลังแบบเดิมๆ ซึ่งจะทำให้อาการป่วยหลบใน รอเวลาสำหรับการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่าในอนาคต

ในสภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ หรือเร่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อ เป็นได้เพียงแค่ยาชูกำลังที่ทำให้คนไข้สดชื่นชั่วคราว หรือเป็นเพียงยาหอม ยาดม ที่เยียวยาอาการภายนอกในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะภาครัฐมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจไทย และการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้แก้ต้นเหตุของปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใน แต่ถ้าเราใช้ยาพวกนี้มากเกินควรย่อมเกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง รวมทั้งต้องระวังไม่ให้รัฐบาลซื้อยาชูกำลัง ยาหอม ยาดม จนเงินหมดกระเป๋า ไม่เหลือเงินสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงที่ต้นเหตุของปัญหา ในเวลานี้ หมอและคนไข้ต้องร่วมกันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปการศึกษา และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันทุกระดับ

การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจสำคัญมากสำหรับอนาคตของประเทศไทย (สำคัญกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ หลายเท่านัก) ปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เราวุ่นวายกับเรื่องภายใน และมองแต่ปัญหาระยะสั้นมากกว่าการทำเรื่องระยะยาว ในขณะที่ประเทศคู่แข่งรอบบ้านของเราตั้งแต่จีนถึงอินโดนีเซีย และพม่าถึงเวียดนาม ได้เดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศ (และนักลงทุนไทย) มองข้ามประเทศไทย และสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเริ่มตกรุ่น แข่งขันไม่ได้

นโยบายปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจหลายเรื่องไม่ต้องใช้เงินงบประมาณและไม่สร้างภาระการคลังให้แก่รัฐบาล การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนใหม่ๆ ของภาคเอกชน ภาครัฐต้องทำงานเชิงรุกเพื่อเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะในกิจกรรมที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ต้องเร่งทำให้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตรงกับความต้องการของธุรกิจในอนาคตและเกิดผลจริงในทางปฏิบัติ ต้องยอมตัดใจเลิกอุดหนุนกิจกรรมที่ล้าสมัยหรือไม่สอดคล้องกับการแข่งขันในอนาคต ภาครัฐต้องเร่งเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายเรื่องที่ภาคเอกชนเฝ้ารอมานาน ภาครัฐต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนของประเทศไทยในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ (โดยเฉพาะ Trans Pacific Partnership หรือ TPP และ EU-Thailand FTA) นอกจากนี้ ภาครัฐควรเปิดเสรีเพิ่มเติม โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ (ธุรกิจไทยขนาดใหญ่) ที่ได้รับการคุ้มครองมากเกินควร เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจในประเทศไทย และส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ โดยผู้ประกอบการที่มีความสามารถสูงกว่า

ความสงสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย และความหงุดหงิดว่านโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐไม่เกิดผลแบบทันอกทันใจจะบรรเทาลง ถ้าเรายอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วยด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องเลิกกินตามใจปาก ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง และยอมเจ็บตัวผ่าตัดเปลี่ยนชิ้นกระดูกหลายจุดที่มีปัญหา การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไม่มีทางลัด ต้องใช้ความอดทนและใช้เวลากว่าจะเห็นผล ตอนนี้ได้แต่หวังว่าหมอต้องมั่นคงและคนไข้ต้องเข้าใจ ไม่ใจอ่อน กลับมารักษาโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจ ด้วยยาหอม ยาดม ยาชูกำลัง แบบเดิมๆ

อ่านเพิ่มเติม Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2558
///////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของสหรัฐ..!!?


โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเคยเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันกับที่อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ต้องลดความสำคัญลง จากที่เคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากการที่เป็นประเทศที่มีอาณานิคมมากมาย มีความสามารถผูกขาดตลาดวัตถุดิบและตลาดสินค้าสำเร็จรูปได้ทั่วโลกก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลง บรรดาประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมต่างก็ประกาศตัวเป็นเอกราช ทำให้ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของอังกฤษและฝรั่งเศสลดถอยน้อยลงไปตามลำดับ

ยุโรป ในขณะที่อำนาจทางการเมืองและการต่างประเทศของอังกฤษกับฝรั่งเศสกำลังเสื่อมทรามลง สหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้รับความเสียหายจากภัยสงครามก็ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ

ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็ว โดยใช้แบบอย่างของอังกฤษเป็นตัวอย่างและมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและการทหารให้ทันอังกฤษภายใน 1 ศตวรรษ แต่ตอนที่ญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม หลังสงครามญี่ปุ่นจึงกลายเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐนอกจากจะเป็นผู้ชนะสงครามแล้ว สหรัฐยังกลายเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในโลก เงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษที่เคยใช้เป็นเงินตรา เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการของโลก มีค่าที่แข็งแกร่งโดยเทียบค่ากับทองคำ หรือกล่าวได้ว่าอยู่ในมาตรฐานทองคำ สามารถให้คำมั่นกับธนาคารกลางทั่วโลกได้ว่า ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่ถือเงินปอนด์เป็นทุนสำรองนั้นสามารถนำเงินปอนด์ที่ตนถือไว้นั้นมาแลกทองคำได้ทันที ทุนสำรองของต่างประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จึงนิยมถือเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง

ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษจึงมีทองคำทั้งที่เป็นของตนเองและที่เป็นทุนสำรองที่ประเทศอาณานิคมนำมาฝากไว้เป็นจำนวนมาก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้เป็นหนี้สินจากการกู้มาเพื่อทำสงคราม ประเทศอาณานิคมต่างๆ ก็ทยอยกันประกาศเอกราช ทองคำจึงไหลออกจากอังกฤษเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดอังกฤษก็ต้องประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ ผู้ถือเงินปอนด์ของอังกฤษไม่สามารถนำมาแลกเป็นทองคำได้ ปอนด์จึงมีค่าต่ำลงเมื่อเทียบกับทองคำ

ในขณะที่ความเชื่อมั่นในค่าของเงินปอนด์ต่ำลง เงินดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินตราที่ยังอยู่ในมาตรฐานทองคำจึงได้รับความนิยมและมีค่าที่มั่นคง เงินดอลลาร์จึงเข้ามาแทนที่เงินปอนด์ของอังกฤษในที่สุด สหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นประเทศที่มีดุลการชำระเงินเกินดุลมานับจากนั้น

เมื่อสหรัฐอเมริกามีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจากการเกินดุลการชำระเงินและเป็นประเทศชนะสงคราม อเมริกาจึงมีอิทธิพลที่สุดในการจัดระเบียบการค้าและการเงินของโลก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารโลกและมีอิทธิพลที่สุดในคณะกรรมการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยที่ธนาคารโลกทำหน้าที่ระดมทุนเพื่อให้ประเทศสมาชิกกู้ในการบูรณะประเทศหลังสงคราม ให้กู้เพื่อโครงการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศทำหน้าที่คล้ายๆ กับธนาคารกลางของโลก พยายามออกเงินตราระหว่างประเทศของตนเองเรียกว่าสิทธิถอนเงินพิเศษ หรือ Special Drawing Rights หรือ SDRs แต่ไม่สู้จะประสบความสำเร็จนัก ดอลลาร์สหรัฐอเมริกายังเป็นที่นิยมใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ตามเดิม

เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องใช้จ่ายอย่างมากมายในการทำสงครามเวียดนาม อันเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับการขาดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินอย่างมหาศาล ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เริ่มไม่แน่ใจว่าสหรัฐจะรักษาค่าเงินของตนซึ่งตรึงไว้กับทองคำโดยอยู่ที่ 36 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ทรอยออนซ์ไว้ได้ จึงนำดอลลาร์มาแลกทองคำจากสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้ทองคำของธนาคารกลางของสหรัฐร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว ในที่สุดประธานาธิบดีนิกสันก็ต้องประกาศให้เงินดอลลาร์สหรัฐออกจากมาตรฐานทองคำ ค่าเงินดอลลาร์จึงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทองคำตั้งแต่นั้นมา

แต่อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ก็ยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลก ทำให้สหรัฐอเมริกาก็ยังคงเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทางการเงินของโลก ตลาดทุนที่นิวยอร์กยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกอยู่ต่อไป

เมื่อเศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราเลข 2 หลักมานานกว่า 20 ปี ทำให้จีนเป็นประเทศที่สะสมทุนสำรองไว้มากที่สุดแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นไป คาดกันว่าขณะนี้จีนสะสมทุนสำรองในรูปของทองคำ ดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลหลักของโลก มีมูลค่าเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จีนจึงมีอิทธิพลอย่างมากในตลาดเงินของโลก แต่อย่างไรก็ตาม อิทธิพลทางการเงินของสหรัฐก็ยังยิ่งใหญ่อยู่เหมือนเดิม

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะใหญ่เป็นที่ 2 ของโลกแซงหน้าญี่ปุ่น เป็นรองแต่สหรัฐอเมริกา แต่ถ้าดูให้ดีทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างก็ยังต้องพึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปอยู่ดี เมื่อเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาอ่อนตัวลง ก็ย่อมมีผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไปด้วย

สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าที่สุดในด้านเทคโนโลยีเกือบทุกด้าน รวมทั้งเทคโนโลยีทางด้านอวกาศด้วย

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงพร้อมๆ กับค่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง เหลือเพียงประเทศเกาหลีเหนือและคิวบา อิทธิพลทางการเมืองการทหารจึงอยู่ในมือสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงเป็นอภิมหาอำนาจอยู่แต่เพียงประเทศเดียว โดยมียุโรปตะวันตกเป็นพันธมิตรหรือบริวาร

แม้ว่าประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันตก ประเทศญี่ปุ่นและจีน ต่างก็มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์การทางการค้า เช่นองค์การการค้าโลก องค์การทางการเงิน เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อขอเข้าไปมีที่นั่งและเพิ่มทุน เพื่อจะได้มีที่นั่งในคณะกรรมการของสถาบันเหล่านั้นซึ่งสหรัฐอเมริกามีเสียงมากที่สุด แต่ก็ไม่เป็นผล จึงได้เกิดมีการประกาศจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ หรือ Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB โดยมีการจัดตั้งทุนประเดิม 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จีนจะลง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐทั้งในยุโรปและเอเชียจองลงทุนกันมาก

แม้ว่าจะมีขบวนการที่จะถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นผล สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทรงอำนาจที่สุดของโลกต่อไป ทั้งในด้านการเงิน การพลังงาน และเทคโนโลยี

ที่สำคัญ สหรัฐอเมริกายังคงมีบทบาทเป็นตำรวจโลก ในการบังคับให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 168 ประเทศต้องปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ กองกำลังสหประชาชาติทุกครั้งจะนำโดยกองกำลังสหรัฐอเมริกาเสมอ ความยิ่งใหญ่และอิทธิพลของอเมริกาในเกือบทุกด้านไม่ได้ลดลงเลย มีแต่จะมากขึ้น จีนไม่ใช่คู่แข่ง และจีนยังไม่พร้อมจะเป็นคู่แข่ง

บางทีเราก็มักจะลืมไป จึงอยากเตือนสติกันไว้

 ที่มา.มติชนรายวัน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจไทย หลังสงกรานต์ หนักกว่า แฮมเบอร์เกอร์ ...........!!?


แม้ว่าทางรัฐบาลจะออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ในความเป็นจริง ขณะนี้ชาวบ้านร้านรวงแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก ส่วนจะถึงขั้นเกิดเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เหมือนกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาให้ความเห็นหรือไม่นั้น ลองไปฟังความเห็นจากแวดวงนักวิชาการและนักธุรกิจดูว่า เศรษฐกิจไทยหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้แค่ไหน

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังอยู่ในช่วงซบเซา และยังไม่กลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก โอกาสจะกลับคืนมาได้น่าจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า คือ ไตรมาสที่ 3-4 การฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำและหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 มีการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย แต่รายจ่ายเพื่อการลงทุนยังห่างเป้าพอสมควร จึงเป็นเครื่องจักรที่ยังเดินได้พอสมควร

สำหรับการส่งออก มีเพียงตลาดสหรัฐและตลาดอาเซียนโตสูงขึ้น แต่ตลาดอื่นๆ ยังคงซบเซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปจีนหดตัวลงเยอะ จึงหวังอะไรกับภาคส่งออกในปีนี้ได้ไม่มากนัก ดังนั้น ปัจจัยบวกขณะนี้ที่เห็นได้ชัดคือภาคท่องเที่ยว น่าจะเป็นเครื่องจักรที่ทำงานได้ดีมากที่สุด รัฐบาลจึงควรจะศึกษาวิเคราะห์ จัดระเบียบ ให้เครื่องจักรด้านการท่องเที่ยวทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การบริหารจัดการภาครัฐในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ ควรจะพิจารณาในมิติด้านคุณภาพเป็นสำคัญ เน้นการใช้จ่ายอย่างมีคุณภาพ โครงการรายจ่ายเพื่อการลงทุน ควรเน้นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มากกว่าเน้นการจ่ายเงินออกไปให้มากที่สุด

ส่วนการเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย กับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐ คงเป็นได้ยาก เพราะว่ามีบริบทแตกต่างกัน วิกฤตไทยปัจจุบันมีปัญหามากกว่าปัญหาการส่งออก วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐในครั้งก่อนเป็นวิกฤตของสหรัฐแต่ส่งผลกระทบมาสู่ไทยทางอ้อมผ่านทางการส่งออก คือหัวใจหลักของวิกฤตครั้งนั้น แต่วิกฤตปัจจุบันมีปัญหามากกว่าแค่ปัญหาการส่งออก เพราะว่าวิกฤตคราวนี้ นอกจากจะมีปัญหาด้านการส่งออกแล้ว ยังมีปัญหาทางด้านอุปสงค์ภาคครัวเรือน คือ ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ และหนี้สาธารณะสูงกว่าสมัยก่อนมาก

สมัยก่อนไทยยังมีอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์กำลังรุ่งเรือง แต่ปัจจุบันทั้งสองอุตสาหกรรมมีอัตราการเจริญเติบโตชะลอลง ทั้งสองส่วนจึงเป็นปัญหาที่ดูเศรษฐกิจไทยน่าจะมีปัญหามากกว่าเดิม

ด้านนักธุรกิจจากภาคเอกชนอย่าง นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย และรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะกลับมาในครึ่งปีหลัง หากรัฐบาลเร่งจัดการแก้ปัญหาในเรื่องของโครงสร้างสินค้าเกษตร และเร่งให้เกิดการลงทุนในประเทศ ปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาสภาพตลาดในต่างประเทศไม่ดี ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระดับสูง เป็นปัญหาสั่งสมเป็นระยะเวลานาน รวมถึงปัญหาด้านภาคการส่งออกชะลอตัวกระทบไปถึงการลงทุนต้องชะลอตามไปด้วย ระยะเวลานี้ก็ต้องช่วยกันประคองราคาสินค้าไม่ให้ขึ้นราคา คาดว่าราคาจะยังไม่ขึ้น เนื่องจากประชาชนยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้ามากนัก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องของราคาสินค้าสูงลิบลิ่ว อเมริกามีเรื่องของราคาน้ำมัน ทั้งวิกฤตการเงินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน มาเกี่ยวข้องด้วย ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐ ให้แย่ลง ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพียงแค่การส่งออกและการลงทุนชะลอตัว รัฐบาลจึงควรพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งปรับปรุงโครงสร้างสินค้าเกษตร และเร่งการลงทุนให้เห็นผล เกิดการจ้างงาน เพื่อพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การเมืองนิ่ง หากช่วงครึ่งปีหลังนี้ ภาครัฐสามารถผลักดันงบประมาณและเดินหน้าลงทุนโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้ง รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รถไฟทางคู่ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่ยังช้าอยู่ออกมาได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ค่อยๆ ฟื้นตัวได้ เพราะขณะนี้ไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม การเกษตร ยังซบเซา เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่ยังไปได้ดีอยู่คือภาคการท่องเที่ยว หากสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผนที่วางไว้ จะให้เกิดความเชื่อมั่นและทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน เชื่อว่ากำลังซื้อจะเริ่มกลับมา

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากการซื้อที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้น

นายธำรงกล่าวด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ถือว่าอาการหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังไม่เลวร้ายเท่าปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง ผู้ประกอบการธุรกิจไม่มีหนี้สินเกินตัว ยังไม่มีการปลดคนงาน มองว่าสถานการณ์ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังจากนี้จะเห็นการค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม มองว่าหากจะเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้กับวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น อาจจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะขนาดเศรษฐกิจไทยและสหรัฐมีความแตกต่างกันมาก

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์เป็นต้นไปมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 คาดว่าจะได้รับผลดีจากการบริโภคภายในประเทศ คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว รวมถึงงบลงทุนจากภาครัฐจะเริ่มไหลเข้าระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2558 เป็นต้นไป ส่วนการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เริ่มดีขึ้นชัดเจน เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปีนี้ขยายตัวสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วไทยมีปัญหาเรื่องการเมือง สำหรับการส่งออกนั้นคงต้องยอมรับว่าตลาดหลักของไทยมีปัญหาน่าจะทำให้การส่งออกในไตรมาส 2 ยังอยู่ในระดับทรงตัวและดีขึ้นในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 0% จากขณะนี้ติดลบ

สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน เพราะเอกชนเข้าใจดีในเรื่องของเศรษฐกิจโลก ทำให้ตลาดหลักของการส่งออกมีปัญหา ดังนั้น การจะไปหาตลาดใหม่เพื่อมาทดแทนนั้นต้องใช้เวลาในช่วงนี้หากมีปัญหาค่าเงินมาซ้ำเติมกับปัญหาส่งออกแย่อีก ยิ่งทำให้สินค้าไทยส่งออกได้ยากขึ้น การส่งออกไทยจะมีปัญหามากขึ้น

ส่วนกรณีนายนายอภิสิทธิ์ระบุก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจในขณะนี้หนักกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ นายวัลลภกล่าวว่า ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีปัญหาเหมือนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่เริ่มฟื้นตัว ไม่เหมือนกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่กว่าจะเริ่มฟื้นตัวใช้เวลาหลายปี

ถ้าเทียบกันแล้วไทยใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ฟื้นตัวจากสภาวะเมื่อปี 2556-2557 ที่ผ่านมา

ที่มา : นสพ.มติชน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

คนไทยขวัญเสีย ฝรั่งขำขัน !!?


โดย .วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวเรื่องการไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์เสริมดวงกับโหร คมช. ที่เป็นร่างทรงของฤๅษีเกวาลันแห่งเทือกเขาหิมาลัย เป็นข่าวดังไปทั่วโลกว่า ผู้ทรงเจ้าเข้าผีได้ประกาศว่าผู้นำของประเทศไทยจะต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก อย่างน้อย 2-3 ปี

ข่าวนี้เป็นที่ขำขันไปทั่วโลกเหมือนๆ ข่าวของประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกา ที่เราเคยเอามาเล่าเป็นที่ขำขัน แต่เมื่อเกิดขึ้นในประเทศไทยก็ขำไม่ออกบอกไม่ถูก เหลือเชื่อว่าจะเกิดกับประเทศไทย

ขณะนี้ทุกวันศุกร์เวลา 20.00 น.เป็นต้นไป กลายเป็นเวลาประหยัดไฟไปเสียแล้ว เพราะเวลาดังกล่าวทุกบ้านปิดโทรทัศน์หมด เป็นเวลาที่โทรทัศน์ทุกช่องจะถ่ายทอดรายการขอคืนความสุขจากประชาชน ตอนมีรายการนี้ใหม่ๆ ผู้คนต่างก็ตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ แต่พยายามตั้งใจฟังอย่างไรก็ฟังไม่เข้าใจ แม้ว่าจะเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ฟังแล้วก็จับใจความหาสาระไม่ได้ หนักๆ เข้าก็เลยปิดทีวีเสียดีกว่า รออ่านจากหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ก็นำมาเขียนไม่มาก อ่านไม่ถึง 1 นาทีก็จบ ทุกวันศุกร์เวลา 2 ทุ่มเป็นต้นไปจึงเป็นเวลาประหยัดไฟฟ้าไปโดยอัตโนมัติ

เนื่องจากเวลา 2 ทุ่มเป็นต้นไป เป็นเวลาพักผ่อนชมรายการละครโทรทัศน์ของครอบครัว ของชาวบ้านทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เมื่อได้ยินว่ารายการโทรทัศน์ดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไป 2-3 ปี ก็รู้สึกใจเสียกันโดยทั่วไป

บรรยากาศทางเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนในขณะนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ได้ยินแล้วก็ทำให้ขวัญเสียทั้งนั้น

ราคาข้าว ราคายางพารา ราคาอ้อย ราคามันสำปะหลัง ราคาน้ำมันปาล์ม พากันเข้าแถวลดลงประมาณครึ่งหรือกว่าครึ่ง แต่ราคาหมูเห็ดเป็ดไก่ไม่ลด ค่าครองชีพไม่ลด ชาวไร่ชาวนาอ่านแล้วก็รู้สึกเสียขวัญ เราอยู่ในเมืองก็รู้สึกเสียขวัญ

เนื่องจากยอดขายของโรงงานอุตสาหกรรม ต่างๆ ลดลงครึ่งหนึ่งหรือกว่าครึ่ง การจ้างงานล่วงเวลาหรือการจ้างงานเพิ่มไม่มี ขณะนี้การลดจำนวนคนงานกำลังเริ่มขึ้น ที่เริ่มช้าเพราะนายจ้างพยายามรักษาคนงานไว้ เพราะถ้าจะจ้างกลับมาใหม่ก็เป็นเรื่องยากและเสียค่าใช้จ่ายมาก มองไปข้างหน้าแล้วก็ต้องใจหายขวัญเสีย เพราะยังไม่เห็นอนาคตว่ายอดขายจะฟื้นตัวได้อย่างไร การเลิกจ้างคนงานจึงต้องทำและน่าจะรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

เมื่อได้ยินโหรรัฐบาล หลวงปู่เกวาลันแห่งขุนเขาหิมาลัย พูดปูทางให้รัฐบาลอยู่ต่อไปอีก 2-3 ปีก็ใจหาย เสียขวัญ เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนักนี้ เพราะตลาดการส่งออกทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ซบเซาไปหมด ส่วนหนึ่งเพราะเป็นตลาดโลก แต่อีกส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญมากคือเรามีรัฐบาลทหาร ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ข่าวเรื่องยุโรปตัดสิทธิการได้รับการลดหย่อนภาษีหรือจีเอสพี ซึ่งรัฐบาลทหารไม่สามารถจะเดินทางไปเจรจากับเขาได้ ข่าวรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีพาณิชย์ ไม่อาจจะเดินทางไปเจรจาการค้ากับใครได้ ล้วนเป็นข่าวที่ทำให้ใจเสียทั้งนั้น

ปัญหาการส่งออกตกอย่างหนักนี้ คงจะแก้ไขโดยรัฐบาลทหารไม่ได้ เช่นเดียวกับรัฐบาลเผด็จการทหารของพม่า ซึ่งมีหมอดูอีทีเป็นที่ปรึกษา เป็นสรณะที่พึ่ง พม่าก็เป็นที่ขำขันไปทั่วโลกมาก่อน

ที่ขวัญเสียอีกเรื่องก็คือ นักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนหลักของเรา ปกติแล้วนักลงทุนญี่ปุ่นจะชอบลงทุนในประเทศไทย เพราะเมืองไทยได้เปรียบประเทศอื่นหลายอย่าง เช่น แรงงานไทยมีคุณภาพสูงกว่าที่อื่น ฝึกฝนได้ง่าย เข้ากับญี่ปุ่นได้ดี รักงานที่ทำ แต่มองไปข้างหน้าถ้าผลิตในประเทศไทยแล้วจะมีปัญหาในการส่งออกไปอเมริกา ยุโรป และแม้แต่ญี่ปุ่นเอง เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นก็เกรงใจทั้งอเมริกาและยุโรป ก็มีความจำเป็นต้องหาที่ลงทุนใหม่ถ้าประเทศไทยจะหยุดมีรัฐบาลประชาธิปไตยไป อีกนาน อย่างที่เป็นข่าวหรืออย่างที่เล่าลือกันหรือจากสัญญาณที่ได้รับ ตลาดสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศไทยก็น่าจะมีปัญหาในการหาตลาดเพราะเหตุผลทาง การเมือง นอกเหนือไปจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ

ที่หนักกว่านั้นก็คือการ ให้เหตุผลว่า แม้รัฐบาลไม่ต้องการอยู่ต่อตามที่ประกาศไว้ แต่จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลลงจากอำนาจไม่ได้ ต้องอยู่ต่อไปอีก 2-3 ปี เหตุการณ์ที่พระฤๅษีเกวาลัน

แห่งเขาหิมาลัยบอกนั้นคืออะไร คงจะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นไปในทางดี คงจะเป็นไปในทางร้าย ทุกคนจึงขวัญเสียว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้น่าจะเลวร้ายลงไปอีก จะยืดเยื้อเป็นเวลานาน รัฐบาลทหารจึงต้องอยู่เพื่อรอรับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โหรที่ทรงเจ้าเข้าผีอาจจะมีข้อมูลดีๆ เพราะลูกศิษย์บอกไว้ก่อนแล้วก็ได้ "ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่" หรือไม่ก็ช่วยลูกศิษย์โยนหินถามทาง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ทำให้ใจเสียทั้งนั้น เพราะบ้านเมืองเราให้โหรให้ฤๅษีที่อยู่ไกลถึงเขาหิมาลัยตัดสินใจให้

เมื่อ 40 สิบปีก่อนที่กัมพูชาจะตกอยู่กับเขมรแดงที่โหดร้าย รัฐบาลทหารของนายพล ลอน นอล ที่สหรัฐเป็นผู้สนับสนุน ก็ใช้วิธีเชิญพระเกจิอาจารย์มาทำการเสกน้ำมนต์กับทรายให้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วท่านนายพลก็นำเอาทรายกับน้ำมนต์ที่ปลุกเสกนั้นขึ้นเครื่องบินออกไปบิน ซัดและพรมให้ทั่วประเทศ เพื่อหวังขับไล่เขมรแดง โดยเชื่อว่าเขมรแดงเป็นปีศาจร้ายที่ออกจากปราสาทหินจะมายึดกัมพูชา

แต่ในที่สุดนายพลลอน นอล ก็แพ้ เขมรแดงก็เป็นปีศาจร้ายจริงๆ

ภาวการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้าย ทั้งในต่างจังหวัด ทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ความมั่นใจในอนาคตจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมาได้หดหายไปตามลำดับนั้น รัฐบาลควรจะต้องต่อสู้ข่าวร้ายด้วยการเสนอมาตรการและนโยบายที่มีเหตุผลและ ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ถูกกาลเทศะ ไม่ใช่แก้ไขโดยการขอร้องไม่ให้พูดในสิ่งที่ไม่ดี ให้เลือกพูดเฉพาะในสิ่งที่ดีๆ

นโยบายและมาตรการที่จะให้กำลังใจ เช่น นโยบายการลงทุนโครงการจัดการและบริหารน้ำ โครงการขยายท่าเรือน้ำลึก ขยายสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง รวมทั้งสนามบินอู่ตะเภา โครงการผลักดันการส่งออก การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว การเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจท่องเที่ยว การปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ชลประทานไปยังสินค้าอย่างอื่น การปลูกข้าวนาปรังราคาถูกนั้นหมดสมัยแล้ว

การจัดทัพเพื่อบริหาร จัดการสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การเร่งเจรจาการค้าเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป การเร่งเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ เสถียรภาพทางการเงินต่าง ๆ แม้จะยากแต่ก็ควรทำเพื่อขวัญและกำลังใจ

สงกรานต์เถลิงศกใหม่ จุลศักราช 1377 ผ่านไปด้วยดี ไม่มีเหตุร้ายอย่างที่เล่าลือให้ใจเสีย หวังว่าปี 2558 นี้ทั้งปีไม่ต้องไปสะเดาะเคราะห์กับคนทรงเจ้าเข้าผีที่ไหนอีก ขอให้ "ขวัญ" ที่จะรบทัพกับศึกเสือเหนือใต้จงมีชัยชนะ

อย่าขวัญหนีดีฝ่อไปนักเลย

ที่มา : นสพ.มติชน
//////////////////////////////////////////////////

ดื่มกาแฟอย่างไร ให้เป็นยารักษาโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์คินสัน !!?


วันนี้สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้ว
และโรคประจำของสังคมผู้สูงอายุทั่วโลกก็คือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer"s disease) ซึ่งเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดถึงร้อยละ 50-75 รองลงมาคือโรคพาร์คินสัน (Parkinson"s disease)

ในสังคมประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา คนอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมีอัตราป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ร้อยละ 10 ในขณะที่สังคมไทยพบร้อยละ 3.4 น้องๆ อเมริกาเลยทีเดียว

และความชุกของโรคจะพบมากขึ้นในสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังจะพบเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 5 ปีหลังอายุ 65 ปีไปแล้ว เห็นได้จากสถิติอัตราเกิดโรคในผู้สูงอายุ 65-69 ปี พบผู้ป่วย 3 คนต่อ 1,000 คน อายุ 70-74 ปี พบ 6 คน ในขณะที่ อายุ 75-79 ปี พบ 9 คน ตามลำดับและพบผู้ป่วยหญิงมากกว่าชาย

ในหมู่คนไทยเราเรียกโรคนี้ง่ายๆ ว่า "โรคความจำเสื่อม" เพราะในระยะสุดท้ายของโรค ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำทั้งหมด ต่อมาจะสูญเสียการทำงานต่างๆ ของร่างกายและเสียชีวิตในที่สุด

หลังจากความจำเสื่อมและสูญเสียความสามารถทางภาษาแล้ว ผู้ป่วยจะมีชีวิตโดยเฉลี่ย 10 ปี

แม้จะค้นพบโรคนี้มากว่า 100 ปี โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ อาลอยส์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค นอกจากพบว่ามีความผิดปกติของโครโมโซมและเป็นโรคที่สืบทอดทางพันธุกรรม

โรคนี้ยังไม่มีใครพบวิธีป้องกัน ทั้งยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ข่าวดีสำหรับผู้สูงอายุ มีการค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เครื่องดื่มสมุนไพรใกล้ตัวที่ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้ดีก็คือกาแฟถ้วย โปรดยามเช้าของทุกคนนั่นเอง เนื่องจากธุรกิจกาแฟแบรนด์ดังมีกำไรมหาศาล จึงมีทุนสนับสนุนงานวิจัยกาแฟว่ามีผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มอย่างไร

แน่นอนผลเสียต่อสุขภาพของผู้เสพติดกาแฟ คือ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง การสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูก เช่น การเกิดภาวะกระดูกสะโพกหักซึ่งพบบ่อยในผู้หญิงสูงอายุ

ก่อนอื่นควรทำความรู้จักสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกและใช้บริโภคในบ้านเราเล็กน้อย แม้ทั่วโลกมีสายพันธุ์กาแฟมากกว่า 50 ชนิด แต่ที่นิยมปลูกในไทยมี 2 พันธุ์ คือ อราบิก้า (Coffea arabica L.) และ โรบัสต้า (Coffea robusta L.)

สายพันธุ์แรกนั้นชอบขึ้นบนดอยสูงทางภาคเหนือของไทย จุดเด่นคือมีกลิ่นหอมชวนลิ้มลอง และมีปริมาณกาเฟอีนต่ำ

ส่วนสายพันธุ์หลังนั้นชอบพื้นที่ราบทางภาคใต้ จุดเด่น คือ มีรสชาติเข้มและมีกาเฟอีนสูงเป็นสองเท่าของพันธุ์อราบิก้า

กาเฟอีน (caffeine) เป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ธรรมชาติ พบได้ในเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น เมล็ดกาแฟ ใบชา เครื่องดื่มโคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง และโกโก้ เป็นต้น แต่เมล็ดกาแฟเป็นแหล่งของกาเฟอีนที่ใหญ่ที่สุด

ส่วนเมล็ดกาแฟจะมีกาเฟอีนมากหรือน้อย นอกจากขึ้นอยู่กับสายพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการคั่ว

เมล็ดกาแฟที่คั่วนานจนสีเข้มจะมีกาเฟอีนน้อยกว่าที่คั่วสุกแต่ใช้เวลาไม่นาน เพราะกาเฟอีนจะสลายไปในระหว่างการคั่วนั่นเอง

โดยทั่วไปแล้ว น้ำกาแฟ 150 ซีซีจากเครื่องต้มทำกาแฟไม่มีกระดาษกรองจะมีกาเฟอีนสูงที่สุดถึง 115 มิลลิกรัม

ในขณะที่กาแฟกรองมีกาเฟอีน 80 ม.ก.

และกาแฟสำเร็จรูป 65 ม.ก. ตามลำดับ

เนื่องจากกาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมดังกล่าวแล้ว จึงมีการศึกษาทางระบาดวิทยาในต่างประเทศจำนวนมากเพื่อหาความสัมพันธ์ของ พฤติกรรมการดื่มกาแฟกับผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ในฟินแลนด์มีการศึกษาวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบไปข้างหน้าระยะยาวที่เรียกว่า โคฮอร์ต (cohort study) ซึ่งเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครจำนวน 1,409 คนเริ่มต้นจากอายุเฉลี่ย 50 ปี เก็บข้อมูลไปข้างหน้า 21 ปี พบอาสาสมัครมีภาวะความจำเสื่อม 61 คน วินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ถึง 48 คน

ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟตั้งแต่มีอายุช่วงวัยกลางคนจนเข้าสู่วัยสูงอายุ มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่มกาแฟ

โดยดื่มกาแฟ 3-5 ถ้วย/วัน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคลดลงประมาณร้อยละ 65

ในขณะที่มีการศึกษาระยะยาวแบบโคฮอร์ตเป็นเวลา 10 ปีในสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาการดื่มกาแฟกับความเสี่ยงเกิดโรคพาร์คินสัน มีอาสาสมัครชายหญิงรวมถึง 135,916 คน พบว่าฤทธิ์ของกาเฟอีนมีผลทำให้ระดับสารสื่อประสาทโดพามีน (dopamine) ในสมองเพิ่มขึ้น

ทำให้สมองตื่นตัวป้องกันการเป็นโรคพาร์คินสันได้ทั้งในหญิงและชายโดยดื่มกาแฟวันละ 1-3 ถ้วย

ข้อพึงระวังสำหรับสตรีก็คือ ต้องไม่ดื่มกาแฟร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพราะไม่เกิดผลเชิงบวกกรณีการป้องกันโรคพาร์คินสันเลย

นอกจากนี้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงไม่ควรดื่มกาแฟเลยเพราะมีโทษมาก รวมถึงไม่ควรดื่มกาแฟร่วมกับการรับประทานอาหารและยาเสริมธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม หรือยาแก้ปวดแก้ไข้ สำหรับปริมาณการดื่มกาแฟไม่เติมน้ำตาลต่อวันไม่ควรเกิน 1-2 ถ้วย (ถ้วยละ 150 ซีซี มีกาเฟอีนเฉลี่ย 115 ม.ก./ถ้วย) และควรดื่มกาแฟสดแบบกรอง จึงจะเกิดประโยชน์ทางยาสูงสุด เพราะถ้าบริโภคมากกว่านี้หรือดื่มกาแฟชนิดอื่นจะเกิดโทษมากกว่าคุณ

ท่านผู้อยู่ในวัย 50 ต้นๆ ทุกเช้าควรดื่มกาแฟสดกรองเพียง 1 ถ้วยเป็นประจำ เพื่อเตรียมตัวใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นสุขปลอดพ้น จากภาวะระบบประสาทเสื่อมตราบเท่าอายุขัย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

อสังหารายเล็กถอดใจ แบงก์เข้มปล่อยกู้ เร่ขายทิ้งยกโครงการ !!?


เศรษฐกิจ ฝืดพ่นพิษ อสังหาฯรายเล็กเดี้ยงหนัก ถอดใจเร่ขายโครงการ สาเหตุหลักยอดขายไม่เข้าเป้า-แบงก์เข้มปล่อยกู้กระทบสภาพคล่อง "กลุ่มเปี่ยมสุข-ศุภาลัย-แสนสิริ-วิวัฒน์ฯ" เผยได้รับข้อเสนอทั้งบ้านจัดสรร คอนโดฯ ที่ดินเปล่าโซนมีนบุรี หนองจอก พัทยา "เกียรตินาคิน" แบเบอร์มีทรัพย์รอขายค้างพอร์ต 6 พันล้าน แจงเป็นที่ดินเปล่าพร้อมพัฒนาโครงการได้ทันที

นับตั้งแต่ไตรมาส 4/57 เริ่มได้รับการติดต่อจากเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมและเจ้าของที่ดินที่เตรียมพัฒนาโครงการคอนโดฯเข้ามามากขึ้น เพื่อให้เป็นตัวกลางเจรจากับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งให้เจรจาขายโครงการ ขายที่ดินที่ออกแบบโครงการไว้แล้ว และเป็นพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมทุน

เท่าที่ประมวลสาเหตุมาจาก 2-3 ส่วนคือ 1) เปิดตัวโครงการแล้วมียอดขายช้า 2) ภาวะเศรษฐกิจยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว จึงตัดสินใจไม่เสี่ยงพัฒนาโครงการต่อ และ 3) มีปัญหาภายในกับหุ้นส่วน

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 2 รายที่อยู่ระหว่างเจรจา รายแรกเป็นโครงการคอนโดฯแนวรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯที่เปิดขายแล้ว แต่ยอดพรีเซลไม่ค่อยดีนัก ประกอบกับติดปัญหาการขออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ล่าช้า และรายที่สองเป็นเจ้าของที่ดินที่ได้ออกแบบโครงการไว้แล้ว แต่กังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจและอาจมีปัญหาภายในกับหุ้นส่วน จึงชะลอการขึ้นโครงการและติดต่อให้บริษัทช่วยขายที่ดิน

ถ้าเศรษฐกิจยังซึม ๆ แบบนี้ต่อไป มีโอกาสจะเห็นผู้ประกอบการรายเล็กถอดใจขายโครงการมากขึ้น เท่าที่วิเคราะห์เกิดจากเรื่องทำเลที่ยังไม่ดีพอ คอนเซ็ปต์และการดีไซน์ ขาดประสบการณ์" แหล่งข่าวกล่าว

สาเหตุหลักขาดสภาพคล่อง

นายปรีชา กุลไพศาลธรรม กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทเปี่ยมสุข เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับการติดต่อผ่านนายหน้า เสนอขายโครงการคอนโดฯและบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพัทยา 3-4 ราย ติดต่อเสนอขายโครงการ ส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการรายเล็ก มูลค่าโครงการเฉลี่ย 300-400 ล้านบาท

สาเหตุมาจากเมื่อเปิดตัวแล้ว ทำยอดขายไม่ได้ตามเป้าหมายที่ธนาคารกำหนดไว้ จึงถูกธนาคารลดวงเงินปล่อยกู้ลง ผู้ประกอบการบางรายที่เปิดขายโครงการไปแล้วจึงตัดสินใจคืนเงินลูกค้า หรืออีกกรณีเป็นโครงการคอนโดฯโลว์ไรส์มีทั้งหมด 3-4 อาคาร ปรากฏว่าอาคารที่ 1-2 ก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้ว แต่ขายดีเฉพาะอาคารแรก ส่วนอาคารที่ 2 ขายได้ช้า ทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยกู้เพิ่ม จึงถอดใจนำโครงการมาเสนอขาย

เศรษฐกิจแบบนี้ทำให้ธนาคารเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังขาดประสบการณ์ แบงก์ติดตามยอดขายต่อเนื่อง ถ้าผ่านไป 3 เดือนแล้วต้องขายได้เท่าไหร่ และเมื่อสร้างเสร็จผ่านไปอีก 3 เดือนต้องโอนได้เท่าไหร่ ถ้าไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ก็ไม่ปล่อยกู้เพิ่ม แต่ยังไม่สามารถตกลงราคาได้ เพราะผู้ประกอบการเองก็ไม่อยากตัดใจขายขาดทุน" นายปรีชากล่าว

ทาบขายศุภาลัย-แสนสิริ

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัยเปิดเผยว่า บริษัทได้รับข้อเสนอขายโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดฯ เหมือนกัน เข้าใจว่าเป็นเพราะขาดประสบการณ์เรื่องการออกแบบโครงการ เช่น โครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่งออกแบบพื้นที่ส่วนกลางครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมด ทำให้ไม่คุ้มค่าการลงทุน ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวส่งผลให้การขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

แหล่งข่าวจาก บมจ.แสนสิริเปิดเผยว่า เริ่มได้รับข้อเสนอขายโครงการบ้านจัดสรรซึ่งประสบปัญหายอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่เมื่อเจรจาเรื่องราคาแล้วไม่สามารถจบดีลได้ เนื่องจากเจ้าของต้องการขายในราคาที่ยังพอมีกำไรหรือไม่ขาดทุน ส่วนคอนโดฯยังไม่ได้รับข้อเสนอแต่เชื่อว่ามีโครงการของผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่สามารถขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้และถูกสถาบันการเงินกดดันจนต้องนำโครงการมาเสนอขาย

โซนมีนบุรี-หนองจอกหนักสุด

นายฐิติวัฒน์ สุวิวัฒน์ชัย รองประธานกรรมการ บริษัท วิวัฒน์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดฯแบรนด์ "พิบูลย์" เปิดเผยว่า ได้รับข้อเสนอขายโครงการบ้านจัดสรรโซนมีนบุรี เป็นของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ทดลองเข้ามาทำอสังหาฯและเพิ่งเริ่มพัฒนาโครงการ โดยให้เหตุผลว่า ที่ต้องการขายโครงการเพราะเมื่อเข้ามาทำแล้วไม่ถนัดจึงไม่ต้องการทำต่อ

นายวิสิฐ กิตติอุดม ประธานกลุ่มบริษัทอาร์เคกรุ๊ป ผู้พัฒนาโครงการแนวราบโซนตะวันออกของกรุงเทพฯเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาได้รับข้อเสนอขายโครงการบ้านจัดสรรย่านหนองจอก ที่เปิดขายและก่อสร้างบ้านแล้วบางส่วน แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากขายไม่ดี อย่างไรก็ตาม การเจรจาไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากตกลงราคากันไม่ได้ นอกจากนี้มีผู้ประกอบการเสนอขายที่ 7 ไร่ ซึ่งขอจัดสรรไว้แล้วเพื่อเตรียมพัฒนาโครงการ แต่มองว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงจึงตัดสินใจขายที่ดินแทนที่จะพัฒนาโครงการเอง

บริษัท รื่นฤดี ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ที่มีนายศุภโชค ปัญจทรัพย์ หลานชายนายโชคชัย ปัญจทรัพย์ หนึ่งในดีเวลอปเปอร์ที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนฟองสบู่แตก ก็ได้รับข้อเสนอขายคอนโดฯในทำเลแครายและโครงการจัดสรรโซนมีนบุรี เนื่องจากประสบปัญหายอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด รายงานผลสำรวจอสังหาฯ ปี 2557 มีโครงการหยุดขายรวม 122 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 21 โครงการ ในจำนวนนี้สาเหตุเกิดจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ 38 โครงการ ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 24 โครงการ และไม่ได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 23 ราย

KK แบเบอร์ทรัพย์รอขายเพียบ

นางสุวรรณี วัธนเวคิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KK เปิดเผยเพิ่มเติมว่า KK มีทรัพย์รอการขายหรือ NPA เหลืออยู่ในพอร์ตประมาณ 6,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยมี 2 หมื่นล้านบาท เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสในการลงทุนอสังหาฯ

ก่อนหน้านี้ธนาคารเพิ่งจะเปิดผลวิจัยหัวข้อ 16 จังหวัดดาวรุ่งลงทุนอสังหาฯ โดยรวมกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากพบว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยผลตอบแทนการลงทุนอสังหาฯประเภทที่ดินเปล่าสูงถึง 9% ดีกว่าลงทุนทองคำซึ่งมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนติดลบ 11% สูงกว่าหุ้น บ้านเดี่ยว คอนโดฯ ที่ค่าเฉลี่ย 2-3.7% ต่อปี

เนื่องจากทรัพย์รอขายของ KK เป็นแปลงใหญ่ เพราะธนาคารปล่อยกู้พรีเซลไฟแนนซ์ หรือปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่จะลงทุนพัฒนาโครงการ โดยราคาต่ำสุดเริ่มต้น 30 ล้านบาท ทั้งนี้ หากนักลงทุนต้องการคำแนะนำว่า ถ้าซื้อแลนด์แบงก์จากพอร์ตของเราไปแล้วจะทำอะไรได้บ้าง ทางธนาคารก็ยินดีให้คำปรึกษา เพราะมีแผนกวิจัยข้อมูลโครงการอสังหาริมทรัพย์รองรับโดยตรงอยู่แล้ว" นางสุวรรณีกล่าว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////