--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

ไทยแลนด์ แดนถูกสาป !!

ทำไมประเทศชาติต้องถูกต้อนเข้าสู่มุมอับ ทำไมต้องเจอกับทางตัน เพียงเพราะการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของขั้วการเมือง

ประเทศไทยที่เคยมีบทบาทสำคัญระดับ 1 ใน 3 แถวหน้าอาเซียน กลายเป็นประเทศเจ้าปัญหา ที่การพัฒนาในทุกๆด้านหยุกชะงัก แม้แต่กระทั่งเรื่องการศึกษา ที่กลายเป็นประเทศล้าหลังที่สุดในกลุ่มอาเซียนไปแล้ว ตามผลสำรวจของ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ที่ระบุว่าการศึกษาของไทยอยู่อันดับที่ 8 ใน

กลุ่มอาเซียน จากการศึกษาวิจัยทั้งหมด 8 ประเทศ โดยยกเว้นลาวและพม่า
คนไทยมีความสุข และมีความภาคภูมิใจมากใช่มั้ยที่อยู่ในสภาพแบบนี้

คนไทยในวันนี้ที่แบ่งแยกแตกขั้ว เกลียดชังกันอย่างรุนแรง ได้ฉุกใจคิดบ้างหรือไม่ว่า ประเทศไทยถึงทางตันแล้วจริงๆอย่างนั้นหรือ

ยังจำเรื่องเล่าขำๆเชิงเสียดสีประชดประชัน ที่แต่งกันเป็นเรื่องเป็นราวของนิทานสอนใจกันได้บ้างหรือไม่ ที่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อครั้งที่พระเจ้าสร้างโลก ทรงมีถุงหนังใบใหญ่เอาไว้ใส่ ของวิเศษต่างๆ ทรงเริ่มต้นด้วยการสร้างมหาสมุทร ทั้ง 7 แล้ววางของวิเศษทั้งของดีและของไม่ดีคู่กันเพื่อไม่ให้ประเทศหนึ่งประเทศใดสมบูรณ์ไปกว่าประเทศ อื่นๆ เช่นเอาเทือกเขาร็อกกี้ น้ำตกไนแองการ่า วางไว้ ให้อเมริกา แต่ก็เอาทะเลทรายอริโซน่า กับพายุทอนาโดวางไว้ด้วย เอาป่าอเมซอนวางไว้ให้บราซิล ก็เอาไข้ป่าวางไว้ให้ด้วย เอาขั้วแม่เหล็กโลก วางไว้ให้ แคนาดา แต่ก็ทรงเอาความหนาวเย็นวางไว้ให้ เอาเทือกเขาหิมาลัยให้ธิเบตกับเนปาล เพื่อเป็นปราการกั้นข้าศึก แต่ก็เอาความเบาบางของอากาศและความแห้งแล้งไว้ให้ ทรงเอาความร้อนแห้งแล้งแห่งทะเลทรายให้ประเทศในตะวันออกกลาง แต่ก็เอาน้ำมันดิบวางไว้ให้ด้วย ดังนั้นทุกประเทศจะได้ของคู่กันแบบนี้ ทั้งหมดจึงไม่มีประเทศใดน้อยหน้ากว่ากัน
แต่พระเจ้าลืมประเทศรูป ขวานเล็กๆ ทางแหลมอินโดจีน ทรงสะพายถุงวิเศษ แล้วก้าวข้ามเขาหิมาลัยไป แต่ปากถุงเกิดเปิดบรรดาข้าวของที่ดีๆที่เตรียมเอาไว้ให้ประเทศ อื่นๆ เช่น ชายหาดสวยๆ ผืนดินอุดมสมบูรณ์ ศิลปะวัฒนธรรมดีๆ อาหารอร่อยที่สุดในโลก ดอกไม้ ผลไม้ ชายทะเล ก็เทไปกองรวมกันที่ประเทศไทยหมด

ว๊า.. แย่แล้ว พระเจ้า ทรงคิด ประเทศนี้ท่าทางต้องเจริญกว่าประเทศอื่นๆทั้งหมดแน่นอน พระเจ้าจึงมองหาภัยธรรมชาติที่จะมาถ่วงดุล แต่สายเสียแล้ว เพราะทรงเอาภูเขาไฟ กับแผ่นดินไหวให้ญี่ปุ่นไปแล้ว
ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ประเทศอื่นๆ จะมาประท้วงได้ว่าไม่ยุติธรรม

แล้วจะมีภัยธรรมชาติอันใดหนอที่ จะทำให้ประเทศไทยไม่เจริญกว่า ประเทศอื่นๆได้ เมื่อทรงคิดได้เพื่อเป็นการป้องกันประเทศอันสมบูรณ์ที่สุดในโลกนี้ไม่ให้ล้ำไปกว่าที่อื่นๆ พระเจ้าก็เลยสร้างคนไทยขึ้นมา
ถ้ามีคนไทยอยู่ล่ะก็ ต่อให้สมบูรณ์แค่ไหนไทยก็ไม่มีวันเจริญ เพราะไม่สามัคคีกัน ...
เป็นนิทานเสียดสีที่หวังให้ขำๆ แต่ลึกๆแล้วทำให้จุกและเจ็บปวดอย่างมาก

หรือว่าวันนี้นิทานเสียดสีเรื่องนี้จะเป็นความจริง ประเทศไทยจึงต้องเผชิญชะตากรรมจากความแตกแยกสามัคคีกันอย่างรุนแรง

สิ่งที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ และม็อบภายใต้การนำ ทำมาทั้งหมดในวันนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำม็อบพันธมิตรเคยทำมาก่อนในการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แล้วก็ทำให้เกิดม็อบคนเสื้อแดงขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยม็อบสุเทพ อนาคตก็ไม่พ้นวงจรจะต้องมีม็อบเสื้อแดงอีก หากม็อบสุเทพโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำเร็จ จากนั้นก็จะมีม็อบหน้าใหม่ภายใต้การชักใยของพรรคการเมืองเกิดขึ้นมาโค่นล้มอีก

หรือคนไทยมีความสุขจริงๆ กับการเกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ที่โค่นกันไปโค่นกันมาไม่จบไม่สิ้น คนไทยยุคนี้มีความสุขและไม่ละอายแก่ใจกันเลยจริงๆหรือที่จะทิ้งมรดกบาปแห่งการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์การเมือง เป็นวงจรอุบาทว์นี้ให้แก่ลูกหลายไทย

วงจรอุบาทว์ที่เกิดจากน้ำมือของนักการเมือง 2 ขั้ว ที่ต่างก็ล้วนรู้จักหน้าค่าตากันมานาน รู้สันดานรู้กำพืด รู้พฤติกรรมกันดียิ่งกว่าไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หรือเพราะรู้เช่นเห็นชาติกันมากไป จึงต้องต่อสู้แย่งชิงกันจนกว่าจะพินาศไปข้างหนึ่ง โดยไม่สนใจว่าประเทศชาติจะเสียหายสักเพียงใด

โดยไม่สนใจว่าจะทำให้พ่อแม่ที่คนไทยรักและหวงแหน สถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องมาอึดอัดลำบากใจกับการที่ลูกๆทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างไม่สิ้นไม่สุดเสียที
เราจะต้องทนให้นักการเมือง 2 กลุ่มผลัดกันทำร้ายทำลายประเทศไปอย่างนี้หรือ

จะต้องทนการโกหกพกลม ว่าทุกอย่างที่ทำนั้นเพื่อประชาชนคนไทย เพื่อปฏิรูปให้คนไทยได้รับในสิ่งที่ดีกว่า แต่เอาเข้าจริงๆกลับเป็นเพียงต้องการสนองตัณหาตัวเอง โดยไม่ได้สนใจกับความรู้สึกที่แท้จริงของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศเลยสักนิด

เพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการโค่นล้มทำลายกันและกัน ต่อให้สร้างความเกลียดชัง สร้างความแตกแยกจนก่อเกิดความฉิบหายต่างๆมากมายกับประเทศชาติก็ยังทำกันได้หน้าตาเฉย แถมยังปั่นหัวให้กลายเป็นคนไทย 2 กลุ่ม 2 ขั้ว ที่เกลียดชังกัน พร้อมห้ำหั่นกันโดยไม่มีเหตุโกรธเคืองหรือรู้จักกันมาก่อนเลย
เราจะยอมให้บรรดาแกนนำแต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่ม ปั่นหัวเล่นเป็นจิ้งหรีดอย่างในเวลานี้หรือ เรามีความสุขที่จะเห็นประเทศชาติตกอยู่ในสภาพเช่นนี้จริงๆใช่ไหม?

วันนี้เชื่อกันจริงๆหรือว่านักการเมืองไม่ว่าหน้าไหนทั้งนั้นทำเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ว่าเห็นประชาชนเป็นเพียงแค่เครื่องมือของตนเองเท่านั้น

ที่ประกาศก้องว่าต้องการชัยชนะ จะต้องสู้ให้ชนะให้ได้ ถามกันบ้างหรือไม่ว่าเป็นชัยชนะของใคร ชัยชนะของบรรดาเหล่าแกนนำ หรือชัยชนะของประเทศชาติ

สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ของประเทศชาติเสียหายขนาดนี้ สถาบันต่างๆตกอยู่ในกระแสวังวนของความเกลียดชังขนาดนี้ ยังมีหน้ามาปาวๆว่าเป็นแกนนำที่ทำเพื่อประเทศชาติอยู่อีกหรือ ไม่ละอายบ้างเลยหรือ

ถามจริง... สภาพเช่นนี้ คนไทยมีความสุขจริงๆใช่มั้ย

ไม่คิดรวมพลังบริสุทธิ์ ตะเพิดนักการเมืองทั้ง 2 ขั้วให้ยุติบทบาท เพื่อคืนความสุขสงบให้ประชาติกันบ้างหรือ

ที่มา.บางกอกทูเดย์
-------------------------------------

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

ปิดโอกาสเจรจา มีแต่สงครามกลางเมือง !!

สถานการณ์การเมืองไทยกำลังถึงจุดที่เรียกได้ว่า "ไร้ทางออก" ขยับไปทางไหนก็ยาก และดูจะสายเกินไป

ฝ่ายรัฐบาลจะตัดสินใจเลื่อนเลือกตั้ง ก็กลัวเสียหน้า เสียอำนาจต่อรอง และกลัวผิดกฎหมาย ทำผิดรัฐธรรมนูญ ถูกยื่นสอยจนหมดอนาคตทางการเมือง

ฝ่าย กกต.จะแสดงจุดยืนชัดๆ ให้เลื่อนเลือกตั้ง ก็กลัวถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง กลับเสนอเลื่อนเลือกตั้ง ครั้นจะลาออก ก็จะยิ่งเข้าทางพวกจ้องเล่นงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น

ฝ่าย กปปส.ก็ตั้งเงื่อนไขของตนเองไว้สูงลิบ ทั้งรัฐบาลรักษาการลาออก เลื่อนเลือกตั้ง ตั้งสภาประชาชนปฏิรูปประเทศ โดยไม่มีความชัดเจนเรื่องกระบวนการคัดเลือกตัวบุคคลเข้าเป็นสภาประชาชนฯที่ทุกฝ่ายยอมรับ

ด้านกองทัพ ก็ได้แต่ให้สัมภาษณ์เชิงขู่ให้หนังสือพิมพ์เอาไปพาดหัวข่าวรายวัน แต่ยังมองไม่เห็นหนทางที่จะคลี่คลายวิกฤติได้

อะไรๆ จึงดูเหมือน "ติดล็อก" ไปหมด

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" โดยยอมรับอย่างปลงๆ กับสถานการณ์ว่า สถานการณ์ขณะนี้ "โอกาสจบยากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสเจรจาไม่มีเลย ส่วนโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองมีมากกว่า"

ในมุมมองของ พล.อ.เอกชัย เขาอธิบายว่า หากสถานการณ์เดินหน้าสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ว่าจะรูปแบบใด โอกาสเกิดสงครามกลางเมืองยิ่งมากขึ้น โดยการปฏิวัตินั้น เป็นไปได้ 3 แบบ คือ

1.ปฏิวัติโดยทหาร ย่อมถูกต่อต้านและตอบโต้จากมวลชนคนเสื้อแดงอย่างกว้างขวาง ซึ่งน่าจะเกิดสงครามกลางเมืองแน่

2.ปฏิวัติโดยประชาชน (กลุ่มนายสุเทพ) ถ้าทำสำเร็จก็จะถูกต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจบานปลายกลายเป็นความรุนแรงได้เช่นกัน

3.ปฏิวัติโดยรัฐบาลเอง

"การปฏิวัติรูปแบบที่ 3 นี้มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน แต่รัฐบาลต้องเกลี้ยกล่อมคนเสื้อแดงไม่ยอม เพราะการปฏิวัติจะทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับองค์กรอิสระที่มีอยู่ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถก้าวเดินต่อไปได้แล้ว เรียกว่าถึงทางตันแล้ว ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่ เพราะหากเลือกตั้งได้ ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี ซ้ำยังมีสมาชิกรัฐสภาอีกกว่า 300 คน รอถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อีก"

พล.อ.เอกชัย บอกอีกว่า การปฏิวัติยังสามารถเกิดได้ทุกเมื่อ เพราะทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ ก็จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม การปฏิวัติจึงทำได้อย่างปลอดภัย หากปฏิวัติแล้วถูกประหารชีวิตทุกกรณี ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ก็คงไม่มีใครกล้าทำ

"สถานการณ์มาถึงจุดนี้ ทุกฝ่ายต้องการให้เกิดสุญญากาศ ฝ่าย กปปส.ประกาศตลอดว่าต้องการสุญญากาศจากการที่นายกฯลาออกจากรักษาการ แล้วเขาจะตั้งสภาประชาชน ส่วนรัฐบาลก็ต้องการสุญญากาศเหมือนกัน เพราะรัฐธรรมนูญนี้ทำให้รัฐบาลทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว"

"ฉะนั้นความเสี่ยงเรื่องความรุนแรงยังคงมีอยู่ และสิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกวันคือความรุนแรงประปราย ปาประทัดใส่การ์ดและสถานที่ชุมนุม เพราะมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ ซึ่งเสี่ยงที่จะลุกลามได้ทุกเมื่อ และเมื่อความรุนแรงเกิด หากทหารออกมาปฏิวัติ สถานการณ์ก็จะพลิกไปสู่สุญญากาศอีกแบบหนึ่ง"

พล.อ.เอกชัย กล่าวด้วยว่า ทางออกทุกทางออก ถึงนาทีนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด แม้กระทั่งการทำรัฐประหาร เพราะฝ่ายรัฐบาลก็มีมวลชนคอยต่อต้าน ตอบโต้ แต่หากรัฐบาลทำเอง ก็จะมีมวลชนอีกฝ่ายไม่ยอม เช่นเดียวกับที่ กปปส.ประกาศจะจับตัวนายกฯ ก็ทำไม่ได้ง่ายๆ เหมือนกัน แม้จะทำได้ แต่ถามว่ามวลชนอีกมากมายจะยอมหรือ ฉะนั้นทางออกทุกทางจึงเหมือนถูกปิด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------

วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

ธ.ก.ส.ปฏิเสธนำเงินฝาก ปชช. อุ้มจำนำข้าว !!?

มติของคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ให้นำ "สภาพคล่อง" ของธนาคาร จำนวน 55,000 ล้านบาท มาใช้สำรองจ่ายให้กับชาวนาที่นำใบประทวนมาขอรับเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 (นาปี) สะท้อนนัยสำคัญของโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลได้เดินทางมาถึงจุดสุดท้าย

อย่างที่นักวิชาการ/นักธุรกิจ และผู้คนในวงการค้าข้าว ได้แสดงความเห็นทักท้วงความล้มเหลวและเต็มไปด้วยการทุจริตของโครงการประชานิยมของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น

ผลจากการดำเนินการ 3 ฤดูการผลิต (2554/2555-2555/2556 และ 2556/2557) ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถยกระดับราคาข้าวเปลือกของชาวนาได้อย่างยั่งยืนแล้ว การหาเงินมาหมุนในโครงการกลับกลายเป็นเรื่องยากลำบากและเป็นภาวะการกู้ยืมที่ผูกพันกับการสร้างหนี้จำนวนมหาศาลของรัฐบาลชุดนี้ตามไปด้วย

ยิ่งเมื่อโครงการดำเนินมาถึงช่วงท้ายๆ ตั้งแต่การรับจำนำข้าวรอบ 2 ของปี 2555/2556 ต่อเนื่องมาถึงปี 2556/2557 "หายนะ" ที่ปฏิเสธไม่ได้ของโครงการก็คือ กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวสารในสต๊อกมากกว่า 15-20 ล้านตันออกไปได้

ประกอบกับต้นทุนการรับจำนำข้าวเปลือกที่สูงผิดปกติ ก็ได้สร้างความพิกลพิการให้กับระบบการค้าข้าวของผู้ส่งออกในตลาดโลก เบื้องต้นราคาข้าวขาวไทยไม่สามารถแข่งขันได้กับราคาข้าวเวียดนาม แต่เมื่อปริมาณสต๊อกที่เพิ่มพูนขึ้นจนเกินความสามารถในการระบายข้าว ซึ่งแน่นอนจะต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการขายข้าวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (นักวิชาการประมาณการเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท กับงบประมาณที่ถูกถลุงไป)

และเป็นที่รับรู้กันในหมู่โบรกเกอร์ค้าข้าวโลก กลับก่อให้เกิดปรากฏการณ์กดราคาข้าวไทย "ต่ำกว่า" ราคาข้าวเวียดนามเป็นครั้งแรกในฤดูกาลนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวขาวในตลาดโลกตกต่ำลงมาอย่างน่าใจหาย



กลายเป็นประเด็นสำคัญผสมไปกับการ "ทุจริต" ในการระบายข้าวแบบ G to G จนกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถขายข้าวนำเงินมาให้ ธ.ก.ส.ใช้หมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาได้ ท่ามกลางภาวะทางการเมืองที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังเข้าตาจนถูกประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ "ขับไล่" จนต้องประกาศยุบสภา นำไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

จึงเป็นโค้งสุดท้ายให้ผู้คนในรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย หรือ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ต้องออกมาไล่บี้ ธ.ก.ส. ให้นำสภาพคล่องของธนาคารออกมาจ่ายเงินจำนำข้าว "ส่วนใหญ่" ให้กับชาวนาก่อนที่ "เสียง" จากชาวนาจะแปรเปลี่ยนไปเป็นการขับไล่รัฐบาลต้อนรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลส่อภาวะจะ "ไปไม่รอด" มาตั้งแต่ปลายช่วงของการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/2556 เมื่อคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวชุดของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ได้รายงานผลการดำเนินโครงการเบื้องต้น ประสบการขาดทุนสูงถึง 250,000 ล้านบาท ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ในช่วงรอยต่อระหว่าง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ซึ่งกำลังถูก ป.ป.ช.สอบสวนการทุจริตการขายข้าวแบบ G to G อยู่ในปัจจุบัน กับนายนิวัฒน์ธำรง ไม่สามารถระบายข้าวตามแผนที่แจ้งให้ที่ประชุม ครม.รับทราบได้

แต่ความจำเป็นในทางการเมืองที่ต้องอาศัยฐานเสียงของชาวนาตามโครงการประชานิยมทั่วประเทศ "บังคับ" ให้รัฐบาลต้องดำเนินการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ต่อไป

ทำให้ ครม.ต้องอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาแหล่งเงินที่จะใช้หมุนเวียนในการรับจำนำแบบ "เลื่อนลอย" โดยกำหนดวงเงินรับจำนำข้าวไว้จำนวน 270,000 ล้านบาท

เงินจำนวนนี้มีที่มาจาก 3 แหล่งตามที่สำนักงบประมาณรายงาน คือ 1) เงินทุนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้แก่ ธ.ก.ส. ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 2) เงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ระบุ "ตามความจำเป็นและเหมาะสม" เปิดทางไว้ว่า อาจไม่มีวงเงินจากการระบายข้าวเข้ามาให้ ธ.ก.ส.ตามแผน และ 3) เงินทุนของ ธ.ก.ส.เอง

เมื่อพิจารณาจากแหล่งเงินหมุนเวียนทั้ง 3 แหล่งจะพบว่า นอกเหนือจากกระทรวงพาณิชย์จะ "ล้มเหลว" ไม่สามารถระบายข้าวตามแผนที่กำหนดไว้ได้แล้ว ผลของการยุบสภายังทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ที่จะต้องจัดหาให้กับ ธ.ก.ส.ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ได้ทันตามที่กำหนด (รอการพิจารณาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง)

ประกอบกับมติ ครม.เดิมในวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ได้เขียนไว้ว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 กระทรวงพาณิชย์ต้องดำเนินการให้มีการใช้เงินกรอบวงเงินหมุนเวียนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (ปี 2554/2555 กับ 2555/2556) ไม่เกินจำนวน 500,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท กับเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้อีก 410,000 ล้านบาท



ประเด็นสำคัญของมติ ครม.ข้างต้นก็คือ การสร้างวินัยทางการเงิน ไม่ให้โครงการรับจำนำข้าวก่อหนี้ผูกพันรัฐบาลเกินไปกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบกับฐานะทางการคลังจากการกู้ยืมเกินจำนวนของรัฐบาลได้

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ก็คือ พยายามดิ้นรนหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาตามใบประทวนที่ ธ.ก.ส.ออกไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 9,976,871 ตัน (ตัวเลขกรมการค้าภายใน ณ วันที่ 8 มกราคม 2557) ให้ได้ โดยมองข้ามวินัยทางการเงินการคลังที่จะต้องใช้เงินในโครงการไม่เกินจำนวน 500,000 ล้านบาท

ที่สำคัญก็คือ นอกเหนือจากข้าวที่ออกใบประทวนไปแล้ว ยังมีข้าวเปลือกรอเข้าโครงการรับจำนำอีกไม่ต่ำกว่า 6 ล้านตัน (สิ้นสุดโครงการวันที่ 29 ก.พ. 2557) ที่ยังไม่รู้ว่า จะนำเงินจากไหนมาจ่ายให้กับชาวนา

ในเมื่อกู้เงินใหม่ก็ยังไม่ได้ เงินจากการระบายข้าวก็ยังไม่มีเข้ามา ทางเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ การบีบบังคับให้ ธ.ก.ส. นำสภาพคล่องของธนาคาร จำนวน 55,000 ล้านบาท ออกมาจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาไปพลางก่อน

เพียงแต่คราวนี้คำขู่ "ผมจะกลับมาอีกหลังการเลือกตั้ง" ก่อให้เกิดการต่อต้านจากพนักงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส.อย่างกว้างขวาง จน นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องออกมายืนยันว่า

"ธ.ก.ส.จะดำเนินการจ่ายเงินตามใบประทวนเฉพาะเงินงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติตามกรอบเดิม (51,550 ล้านบาท-ไม่เกินไปกว่ากรอบวงเงินตามมติ ครม. วันที่ 2 ตุลาคม 2556 จำนวน 500,000 ล้านบาท) กับเงินที่ได้รับจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ถ้าจะมีการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากกรอบนี้ รัฐบาลจะต้องจัดหาเงินมาให้กับ ธ.ก.ส. โดยธนาคารจะไม่นำเงินฝากของลูกค้ามาใช้จ่ายจำนำข้าวอย่างเด็ดขาด"

ปิดประตูการนำสภาพคล่องจากเงินฝากประชาชนมาใช้ จนกว่ารัฐบาลจะมีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เล่มเกมยืดยื้อดื้อแพ่งกับอำนาจของรัฐมนตรีรักษาการต่อไป


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------

เศรษฐกิจ ปี 57

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ก่อนสิ้นปี 2556 หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ธปท. หรือสภาพัฒน์ ต่างก็เสนอตัวเลขพยากรณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกว่า สหรัฐอเมริกาคงจะอยู่ในภาวะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนยุโรปคงจะยังย่ำแย่ต่อไป ญี่ปุ่นไม่ค่อยแน่นักว่าจะยังคงรักษาภาวะการฟื้นตัวของตนได้แค่ไหน

หลังจากการเปลี่ยนนโยบายการเงิน หลังจากปลดผู้ว่าการธนาคารกลาง ส่วนจีนประกาศชัดเจนว่าจะลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตนลง

ในขณะเดียวกัน ภาวะการเงินของโลกก็คาดการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาน่าจะลดการเพิ่มปริมาณเงิน หรือที่เรียกอย่างโก้ว่า การผ่อนคลายทางด้านปริมาณ หรือ คิวอี ลงจนเลิกไปในที่สุด

การที่ชาวโลกคาดการณ์ว่ามาตรการคิวอีจะลดลงก็เป็นผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นมาเรื่อยๆ จาก 28 บาทมาเป็น 33 บาทในเวลาไม่ถึงปี และอาจจะแข็งค่าต่อเนื่องไปอีกเมื่อเทียบกับเงินบาท เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงก็น่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่หลุดจากเป้าหมด

มีความเคลื่อนไหวในเอเชีย กล่าวคือ จีนประกาศว่า ตนมีนโยบายให้มีการใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลางในการค้าขายและการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

กล่าวคือ จีนมีนโยบายที่จะทำให้เงินหยวนเป็นเงินตราระหว่างประเทศ หรือ Internationalized มากยิ่งขึ้น โดยจะให้เงินหยวนมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น แม้จะไม่บอกว่าเป็นสัดส่วนเท่าใดในการชำระหนี้ระหว่างประเทศ แต่ก็คงคาดกันว่าไม่น้อยกว่าเงินยูโร และคงมากกว่าเงินเยนมาก

เพราะญี่ปุ่นประกาศอยู่เสมอมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้วว่าญี่ปุ่นไม่มีความปรารถนาที่จะให้เงินเยนเป็นเงินตราระหว่างประเทศ

ถ้าดูทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนโดยตรงหรือ FDI ที่จะมาสร้างโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณการผลิตสินค้าและบริการเพื่อส่งออก เนื่องจากในภูมิภาคนี้คุณภาพของแรงงานไทยดีที่สุด แม้ว่าเวียดนามกำลังตามมาติดๆ ค่าแรงในเมืองจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว

จีนจึงต้องมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่ประหยัดแรงงาน แล้วสั่งสินค้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งสร้างการใช้จ่ายของคนจีนในประเทศให้มากขึ้น

รวมทั้งอนุญาตให้มณฑลและท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น โดยปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความกดดันในเรื่องเงินเฟ้อ เพราะนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของจีนเป็นไปอย่างเป็นระบบชัดเจนและสอดคล้องกัน โดยประกาศว่านโยบายเช่นนี้จะทำให้จีนมีการนำเข้ามากยิ่งขึ้น ลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลง

แม้อัตราการเพิ่มของรายได้ประชาชาติของจีนจะลดลง แต่สัดส่วนของการนำเข้าของจีนจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งจะเปิดสมบูรณ์ขึ้นในต้นปี 2558 และในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน ไทยน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดในแง่ที่ตั้ง

ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่มาลงทุนในตลาดทุนของเราตลอดปีนี้หรือปีต่อไป คงเป็นการขายหุ้นและตราสารทางการเงิน ทำให้ราคาหุ้น ราคาพันธบัตร และตราสารทางการเงินต่าง ๆ น่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไป ค่าเงินบาทก็คงจะอ่อนค่าลงต่อไป จาก 33 บาท อาจไปถึง 35 บาทก็ได้ พร้อมกับดอกเบี้ยจะยิ่งถีบตัวสูงขึ้นเพราะเงินไหลออก

แต่การคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 และอาจจะรวมไปถึงปี 2558 กลับไม่สดใส เมื่อเทียบกับประเทศในประชาคมอาเซียนด้วยกัน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จะยกเว้นก็แต่ประเทศอินโดนีเซีย

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะผู้คนดูไม่ออกว่าการเมืองของเราจะผันแปรไปอย่างไร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ส่วนใหญ่จะมองไปในทางลบมากกว่า พวกเรากันเองก็มีความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าไม่หลอกตัวเอง

ในระยะสั้นภายในปี 2557 นี้ อาจจะมีปฏิวัติรัฐประหารตามที่ผู้ชุมนุมและนายทหารนอกราชการ 2-3 คนต้องการ หลังการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นมาจะอยู่ได้นานแค่ไหน

6 เดือน ปีหนึ่ง แล้วมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สภานิติบัญญัติที่คณะปฏิวัติแต่งตั้งขึ้น แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังแพ้การเลือกตั้งอีก

จะทำอย่างไร เพราะประชาชนภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ยังไม่ยอมเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร จะปฏิรูปการเมืองอย่างไร กองทัพจะยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างไร

ถ้ามีฝ่าย "คนเสื้อแดง" จากต่างจังหวัดยกเข้ามาชุมนุมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2553 จะทำอย่างไร จะต้องกระชับพื้นที่ หรือขอพื้นที่คืนอย่างที่เคยทำมาอีกหรือไม่

มหาอำนาจที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง อันได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน จะว่าอย่างไร หรือจะคิดว่า "ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ" อย่างที่เคยคิดได้หรือไม่ เพราะครั้งนี้ประเทศเหล่านี้รวมทั้งประเทศอื่นอีก 50 ประเทศ ประกาศสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง ถ้าเกิดมีปฏิวัติรัฐประหาร ปฏิกิริยาของเขาที่แสดงผ่านออกมาทางองค์การค้าระหว่างประเทศ ผ่านทางองค์กรสิทธิมนุษยชน และอื่นๆ จะเป็นอย่างไร

ในขณะที่ตะวันตก รวมทั้งจีนและอาเซียนสามารถกดดันให้พม่าเดินหน้าไปสู่ระบบ แก้ไขรัฐธรรมนูญของเขาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แล้วจะยอมให้ประเทศไทยหันกลับไปแทนที่พม่าได้อย่างไร

แต่ถ้ากองทัพไม่กล้าทำการปฏิวัติ ไม่กล้าทำการรัฐประหาร แล้วประกาศตน "เป็นกลาง" ซึ่งไม่มีกองทัพที่ไหนในประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน แล้วความขัดแย้งระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัดที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่อย่างนี้จะทำอย่างไร ถ้าการเลือกตั้งทั่วไปจัดขึ้นไม่ได้ หรือจัดขึ้นได้อย่างทุลักทุเล แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะอีกจนรัฐบาลเพื่อไทยทนไม่ไหวถอนตัวออกไป อะไรจะเกิดขึ้น

มีการจัดตั้ง "สภาประชาชน" ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะมีใครที่ "มวลมหาประชาชน" ไว้ใจแต่งตั้งขึ้นบ้าง แล้วสภาประชาชนแต่งตั้ง "นายกรัฐมนตรีคนกลาง" ซึ่งไม่เชื่อว่ามี ราษฎรอาวุโสคนหนึ่งก็หายหน้าไปนานแล้ว อีกคนก็ประกาศถอย เพราะเสนอความคิดที่เป็นนามธรรมสวยหรู ได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชน แต่ยังไม่เคยมีอะไรออกมาเป็นรูปธรรม

ใช้เงินไปถึง 2,000 ล้านบาทศึกษาหาทาง "ปฏิรูป" การเมืองของประเทศ จนป่านนี้ก็ไม่มีใครเคยอ่านผลงานที่มีราคาถึง 2,000 ล้านบาทอีกที ตกลงก็ยังไม่รู้ว่าใครจะรับเป็นประธาน "สภาประชาชน" ใครจะเป็น "คนดี" มีความเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดความมั่นใจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวได้

ในระยะยาว ขณะนี้เกิด "ทฤษฎี" จำนวนมากมายหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยว่าเป็นความขัดแย้งทางโครงสร้าง

มีทั้งที่พูดกันได้อย่างเปิดเผยและไม่สามารถพูดได้อย่างเปิดเผย แต่ก็คุยซุบซิบกันในวงการสภากาแฟ

ในขณะที่สื่อมวลชนไทยเลือกข้างไปแล้ว

คงไม่มีใครไม่ถูกบังคับให้เลือกข้าง ถ้ายังเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา แต่สื่อมวลชนต่างประเทศที่เป็นภาษาอังกฤษกลับเสนอข้อมูลและความคิดเห็นได้อย่างเสรีกว่า เพราะไม่ต้อง "เซ็นเซอร์" ตัวเองอย่างที่สื่อมวลชนไทยส่วนน้อยที่เลือกอีกข้างต้องทำ

คนที่อ่านภาษาอังกฤษได้และต้องการอ่าน ต้องการเปิดหูเปิดตาตัวเองก็สามารถหาอ่านได้ ไม่ยากเย็นอะไร เพราะทุกวันนี้ในโลกออนไลน์มีราคาถูกกว่าหนังสือพิมพ์หรือซื้อหนังสือทั้งเล่ม คนต่างจังหวัดทุกวันนี้ลูกหลานที่อ่านภาษาอังกฤษได้ก็มีอยู่

ทุกหมู่บ้าน มิได้ผูกขาดอยู่แต่ชนชั้นนำในกรุงเทพฯเท่านั้น ถ้าความขัดแย้งเชิงโครงสร้างอย่างนี้มีอยู่ อุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้เสมอ

"อุบัติเหตุทางการเมือง" อาจจะถูกสร้างขึ้นโดยซีไอเอ โดยเคจีบี หรือโดยมหาอำนาจใดก็ได้ ถ้าเขาเห็นว่าถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้แล้วจะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของชาติเขา

ถ้าเชื่อว่า ปัจจัยทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ การคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งระยะสั้นและปานกลางและระยะยาวจะอาศัยแต่เพียงปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งนอกและในประเทศไม่ได้ ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางการเมืองเข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย

แต่การคาดการณ์เหตุการณ์ทางการเมืองระยะสั้นทำได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับคนที่กุมชะตาบ้านเมืองทั้ง 2 ฝ่ายที่มีเพียง 4-5 คน อย่างมากก็ไม่เกิน 10 คน

ในระยะยาวน่าจะคาดการณ์อะไรได้บ้าง

แต่ปัจจัยต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้า "ดุลแห่งความกลัว" หรือ "Balance of Terror" ที่ ดร.เฮนรี่ คริสซิงเกอร์ เคยเสนอไว้เกิดเปลี่ยนไป อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

การพยากรณ์เศรษฐกิจจึงทำไม่ได้ในระยะต่อไปนี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------

วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

8ปี วิกฤติการเมืองไทย !!?

8 ปีวิกฤติการเมืองไทย ไร้ทางออกความขัดแย้ง ก่อตัวสมัยรัฐบาล"ทักษิณ" คนเสื้อเหลืองต้าน"ทุนสามานย์" แดงงัดวาทกรรรม"อำมาตย์-ไพร่"

การชุมนุมขับไล่รัฐบาลของกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ถือเป็นวิกฤติการเมืองครั้งที่ 3 ในรอบ 8 ปี

หากย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวทางการเมือง จนนำไปสู่ "วิกฤติ" จะเห็นว่าเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ปลายสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลต่อเนื่องของความขัดแย้งอันยาวนานเกือบ 10 ปี

เมื่อครั้งนั้น เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชนต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ จนก่อตัวเป็น "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หรือเรียกกันว่า "คนเสื้อเหลือง"

กลุ่มพันธมิตรฯ ต่อต้าน สิ่งที่เรียกว่า "ทุนสามานย์" ซึ่งหมายถึง กลุ่มทุนเข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง อีกทั้งมีการใช้อำนาจทางการเมืองในระบบรัฐสภาแบบ "เบ็ดเสร็จ"

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นำไปสู่การรัฐประหารในเดือนก.ย. 2549

แต่การรัฐประหารครั้งนี้ ผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาและความขัดแย้งในสังคมในช่วงต่อมา

หลังจากรัฐประหารมีการแต่งตั้งรัฐบาลรักษาการ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้ มีการฟ้องดำเนินคดีรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาทุจริตคอร์รัปชันหลายคดี

หลังจากการเลือกตั้งครั้งใหญ่ ก็ปรากฏว่าพรรคพลังประชาชน ที่เปลี่ยนชื่อหลังถูกยุบพรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง จากนั้น นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่แล้ว นายสมัคร ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งจากรายการ "ชิมไป บ่นไป" และ ต่อมา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุด นายสมชายก็เจอกับคดียุบพรรคการเมือง จึงต้องพ้นจากตำแหน่ง

หลังจากนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของสมาชิกพรรคพลังประชาชน "บางกลุ่ม" ย้ายขั้วไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่แล้ว รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากอีกฝ่าย เมื่อมีการชูวาทกรรม "อำมาตย์-ไพร่" และจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำการประท้วง "รัฐบาลในค่ายทหาร" โดยการยึดพื้นที่สำคัญกลางเมืองย่านราชประสงค์และบริเวณราชดำเนิน

ก่อนทหารเข้าสลายการชุมนุมในปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน และบาดเจ็บนับพัน

จากนั้น รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภาเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ หวังยุติความขัดแย้งทางการเมือง

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ที่เปลี่ยนมาจากพรรคพลังประชาชน ได้รับชัยชนะอีกครั้ง จากเสียงสนับสนุนจากประชาชน "รากหญ้า" โดยได้รับชัยชนะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการสนับสนุนในภาคใต้ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร

นักวิชาการประเมินจากเสียงสนับสนุน ระบุว่า คนระดับล่าง หรือ "รากหญ้า" สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ขณะที่คนชั้นกลางและชั้นสูงในเมือง สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์

หลังเลือกตั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่จากความขัดแย้งภายใต้วาทกรรม "อำมาตย์-ไพร่" ทำให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก เนื่องจากยังมีกลุ่มผู้สนับสนุนในนาม "คนเสื้อแดง" ยังเคลื่อนไหวภายใต้วาทกรรมดังกล่าว

แต่จุดที่เป็นวิกฤติการเมืองของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อพยายามผลักดันพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ฉบับ "เหมาเข่ง" ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นและขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว

แม้แต่ "คนเสื้อแดง" ก็ออกมาต่อต้าน

การชุมนุมของประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาล และ "นักการเมือง" เริ่มก่อตัวขึ้น ในที่สุด ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มกปปส. จากเริ่มแรก พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดเวทีต่อต้าน แต่ประชาชนทั่วไปกลับให้การสนับสนุนอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเทียบกับการจัดชุมนุมในอดีต ถือว่าการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ก่อตัวอย่างรวดเร็ว เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์

การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มกปปส.เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่ต้องการให้ "ปฏิรูป" มาก่อน "การเลือกตั้ง"

การเมืองนับจากนี้นับว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะว่ากลุ่ม กปปส. เป็นคนอีกหนึ่งกลุ่ม ทั้งที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มคนชั้นกลาง ขณะที่รัฐบาล มีฐานมวลชนอย่างหนาแน่นในต่างจังหวัด รวมทั้งคนกรุงเทพฯ อีกไม่น้อย

เป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ และเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งยังมองไม่เห็นว่าจะยุติลงอย่างไร

แม้ทุกฝ่ายยืนยันยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------

วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

จุดเทียน จุดติด !!?

โดย. สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

มีข้อเปรียบเทียบการโค่นล้มนายกฯ 3 คนก่อนหน้านี้ อันได้แก่ ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 สมัคร สุนทรเวช ในปี 2551 และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในปลายปี 2551

ไล่เรียงมาจนถึงนายกฯคนปัจจุบันคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะต่อสู้กันอยู่อย่างถึงพริกถึงขิง

โดยมีคำถามว่า ยิ่งลักษณ์จะต้องโดนล้มแบบเดียวกันหรือไม่

ย้อนไปมองกรณีทักษิณ จะพบว่าโดนเขย่าอำนาจ ด้วยการจัดม็อบเคลื่อนไหวต่อต้านแบบยืดเยื้อยาวนาน ก่อนลงเอยด้วยการถูกทหารก่อการรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549

จากนั้นพรรคไทยรักไทยกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย มีนายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นมาเป็นนายกฯ แล้วก็โดนม็อบ ก่อนลงเอยด้วยดาบองค์กรอิสระ

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกฯคนถัดมา และก็ถูกม็อบต่อต้าน ก่อนเชือดด้วยดาบองค์กรอิสระอีก

ขณะที่นายกฯยิ่งลักษณ์ กำลังถูกกระบวนการม็อบเคลื่อนไหวขับโค่นเช่นเดียวกัน

แต่นายกฯยิ่งลักษณ์คงจะสรุปบทเรียนจากรุ่นพี่ทั้งสามมาแล้ว นั่นคือ เล่นบทถอยในทุกๆ ด้าน ประคองตัวเองด้วยหลักกฎหมาย หลักรัฐธรรมนูญ และหลักประชาธิปไตย

สุดท้ายใช้วิธียุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชนทั้งประเทศ

ดังนั้น วันนี้กระแสการขับโค่นยิ่งลักษณ์ จึงไม่ง่ายดายเหมือน 3 นายกฯก่อน

เพราะการคืนอำนาจให้ประชาชน 48 ล้านคน เพื่อตัดสินใจทางการเมืองในวันที่ 2 ก.พ.นั้น ทำให้ประชาชนที่เชื่อในประชาธิปไตย และหวงแหนสิทธิในวันเลือกตั้ง ได้พร้อมใจกันร่วมสนับสนุนให้ยิ่งลักษณ์ประคองตัวต่อไปได้

เพื่อรักษาประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

ทั้ง 3 นายกฯก่อนหน้านี้ โดนม็อบเหมือนกันกับยิ่งลักษณ์ แต่คนแรกลงเอยด้วยถูกรัฐประหาร อีก 2 โดนองค์กรอิสระน็อก

วันนี้ ยิ่งลักษณ์เผชิญม็อบไล่ แต่ก็มีแนวร่วม เป็นพลังฝ่ายประชาธิปไตย ที่ไม่ยอมให้ใครมายึดสิทธิเลือกตั้งไป

วันนี้ ดาบองค์กรอิสระ ยังไม่มีทีท่าจะเป็นจุดจบของยิ่งลักษณ์

เหลืออย่างเดียวที่สังคมกำลังจับตาอย่างมากคือ การรัฐประหาร

ที่น่าคิดคือ ผู้นำทหารไม่ยอมปฏิเสธว่าจะไม่มี

นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่า เมื่อม็อบยกระดับจะชัตดาวน์กรุงเทพฯ ก่อวิกฤตต่อประเทศขั้นสูงสุด ก็คือ การเชื้อเชิญทหารอย่างเปิดกว้างสุดสุด ไม่ต่างจากการวิ่งไปเปิดประตูค่ายทหาร ให้เคลื่อนรถถังออกมา

แต่มีปัจจัยที่ใครจะคิดทำอะไรในวันนี้ต้องตระหนักให้ดี ให้ถี่ถ้วน ไม่ง่ายเหมือนยุคทักษิณ

สมัยนั้นยังไม่มีพลังเสื้อแดง ซึ่งวันนี้ประกาศรวมตัวกันแล้วในทุกจังหวัดทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน

สมัยทักษิณขาดความชอบธรรมทางการเมือง จนไม่เปิดช่องให้พลังประชาธิปไตยที่เป็นกลางเข้ามาสนับสนุน

แต่ยุคยิ่งลักษณ์มีแล้ว

คนใส่แว่นดำชูป้ายให้เคารพเสียงประชาชนระบาดไปทั่ว ปกป้องสิทธิในการเลือกตั้ง

คนใส่เสื้อขาว ปล่อยลูกโป่งขาว รวมพลคนไปเลือกตั้ง

กลุ่ม′พอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง เปิดใจไปเลือกตั้ง แสดงออกด้วยการจุดเทียน

จุดมาแล้วหลายครั้ง และลุกลามขยายวงไปทั่วประเทศแล้ว เรียกว่าการจุดเทียน จุดติดแล้ว

ใครกำลังจะทำอะไร คิดกันให้มากๆ หน่อย

ที่มา:มติชนรายวัน
------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

พอกันที VS Shut Down.

บรรยากาศการเมืองไทยขณะนี้ เข้าใกล้จุดตึงเครียดมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะจุดตึงเครียดในวันที่ 13 มกราคม กับคำประกาศ Shut Down กรุงเทพฯ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

จะปิดกรุงเทพฯนานนับเดือน หรือนานจนกว่าจะได้รับชัยชนะตามที่ต้องการ
แรงกระเพื่อมในสังคมจึงเกิดขึ้นในที่สุด แม้แต่กับกลุ่มคนที่เคยถูกเรียกขานว่าเป็นไทยอดทน หรือว่าไทยเฉย

มันเกินเลยคำว่า สงบ สันติ อหิงสา และอารยะขัดขืน จนข้าเส้นความชอบธรรมไปแล้ว
ว่ากันว่านายเสรี วงศ์มณฑา ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเขียนสคริปต์ต่างๆให้นายสุเทพ ตลอดจนเขียนพิมพ์เขียวสภาประชาชน เขียนวาทกรรมทางการเมืองให้นายสุเทพ รวมทั้ง คำว่า ปิดกรุงเทพฯ หรือ Shut Down กรุงเทพฯ กำลังพลาดจากการเขียนสคริปต์ครั้งนี้

เพราะกลายเป็นสคริปต์ที่ไปกระตุ้นความวิตกกังวล ความไม่สบายใจให้เกิดขึ้นกับสังคมคนหมู่มาก จนถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมข่มขู่คุกคามทางการเมือง เพื่อมุ่งหวังเอาชนะให้ได้โดยไม่สนใจความรู้สึกของคนส่วนใหญ่

พลาดหรือไม่พลาด ก็คงเป็นเรื่องที่สุดแท้แต่จะเป็นมุมมองของฝ่ายใด เพราะในบรรยากาศของการแบ่งแยกแตกขั้ว ที่ลุกโชนไปด้วยไฟแห่งความเกลียดชังที่ถูกสุมรุมเร้าอยู่ตลอดเวลานั้น
เหตุผล และข้อเท็จจริง กลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและรับไม่ได้ของแต่ละฝ่าย

พฤติกรรมนักการเมืองที่ไม่มีใครเลวหรือชั่วน้อยกว่าใครเลยในความเป็นจริง กลับถูกความนิยมเฉพาะกาลเวลายกย่องให้เป็นผู้นำ เป็นแกนนำ โดยที่ความเลวร้ายที่ผ่านมาในอดีต ถูกมองข้ามและไม่พูดถึง
ฉะนั้นวิกฤตสังคมจึงใกล้เข้ามาในทุกขณะจิต และแม้แต่การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ก็จะไม่ใช่สรุปบทสุดท้ายของทางออก เพราะฝ่ายที่ต่อต้านการเลือกตั้งไม่ว่าอย่างไรก็ต้องต่อต้านและไม่ยอมรับอยู่ดี
ผลจากความวิตก และความกังวลในสถานการณ์เฉพาะหน้าเรื่อง ปิดกรุงเทพฯในวันที่ 13 มกราคม จึงทำให้เริ่มเห็นปรากฏการณ์ของการรับไม่ได้ที่จะมีการปิดกรุงเทพฯเกิดขึ้นมาแล้ว

โดยในช่วงเย็นของวันที่ 3 มกราคม ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ได้มีกิจกรรม “จุดเทียนเขียนสันติภาพ” จัดขึ้นโดยแฟนเพจเฟซบุ๊ก พอกันที!ž หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง

ภายในงานมีกิจกรรมเขียนโพสต์อิต แสดงความในใจ ต่อสถานการณ์ทางการเมือง มีเวทีเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปราศรัย คนละ 5 นาที ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมให้หลายคนให้ความสนใจ

มีการแจกเทียนให้ผู้ชุมนุมคนละ 1 เล่ม และร่วมกันแปรอักษรภาพมนุษย์ เป็นรูปเครื่องหมายสันติภาพ และจุดเทียน พร้อมร่วมกันอ่านแถลงการณ์ หยุดการณ์ชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง และตะโกนคำว่า พอกันที เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง อยู่นานหลายนาที ก่อนจะแยกย้ายกันจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

นายกิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า หลังจากที่เห็นภาพภรรยาของตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และเห็นการ์ด กปปส.ที่เสียชีวิตในวันต่อมา รู้สึกอัดอั้นตันใจอยู่คนเดียว จึงตั้งแฟนเพจดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่แสดงออกสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่จะนำไปสู่เงื่อนไขความรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอีก โดยเรียกร้องให้มีการเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นมาเป็นครั้งที่สองแล้ว ไม่ได้มีใครแกนนำ ไม่คิดจะยกระดับการชุมนุม โดยเชื่อว่าผู้มาร่วมชุมนุมกลุ่มต่างๆ จะพัฒนาไปเองตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วม

ใจความหลักๆของแฟนเพจเฟซบุ๊ก พอกันที!ž หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง เขียนเอาไว้ว่า...
เปิดใจ ไปเลือกตั้ง

พอกันที! หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง!... เรา คนธรรมดาที่ไม่เอาความรุนแรงทุกรูปแบบ... เรา อดทนเคารพสิทธิชุมนุมของพวกท่านมวลมหาประชาชน... เรา เฝ้าดู ทนฟังคำประกาศชัยชนะของพวกท่านครั้งแล้วครั้งเล่า... เรา เฝ้านับวันที่จะได้ใช้สิทธิใช้เสียงเพียงหนึ่งเดียวที่เรามีอยู่ในมือเปล่า

เส้นความอดทนของเราขาดผึง ทันทีที่เสียงปืนดังขึ้นนัดแรกพรากชีวิตคนคนหนึ่งไปจากครอบครัวญาติพี่น้องของเขา

สมรภูมิเลือดที่รามคำแหง สนามไทย-ญี่ปุ่นดินแดง จนล่าสุด เหตุการณ์รุมทำร้ายกันที่ถนนวิภาวดี อีกกี่ศพถึงจะพอ!

พวกท่านเรียกร้องในสิ่งที่ไม่มีวันได้ไป นั่นคือหัวใจรักประชาธิปไตยของคนอีกมากมายมหาศาลที่ไม่ก้มหัวศิโรราบให้พวกท่าน

ประเทศไทยไม่ใช่ของพวกท่านมวลมหาประชาชน พอกันที!!!

ความรุนแรงผลักเราออกมา ความรุนแรงที่เกิดจากการสร้างเงื่อนไขของเหล่าแกนนำเราออกมาและจะไม่มีวันกลับไป ตราบที่พวกท่านยังไม่เลิกใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือนความจริง ปลุกปั่นยุยง เกลียดชังทำร้ายคนที่เห็นต่างจากพวกท่าน

หยุดได้แล้ว หยุดปั่นหัวกันจนคลุ้มคลั่ง อย่าให้มีศพต่อไปอีกเลย
ออกมาจากพื้นที่แห่งความเกลียดชัง อย่าให้ชีวิตมีค่าของพวกท่านกลายเป็นเพียงเบี้ยบนเกมกระดานของแกนนำ

พอกันที!!! เหล่าผู้มีอำนาจ มีอาวุธ และสื่อในมือ หรือพวกท่านหวังเพียงชัยชนะบนซากศพของผู้อื่น ผู้ชุมนุมคัดค้านที่อยู่ใน กปปส. และเครือข่ายก็เป็นพลเมืองเช่นกัน

การเหมารวม บิดเบือนและป้ายสี ไม่อาจเปลี่ยนแปรหัวใจที่ใฝ่ฝันถึงสิ่งดีงามของพวกเขาได้ รังแต่จะกระพือความผิดหวัง และความโกรธมากขึ้นเท่านั้น หยุดสร้างสถานการณ์และข่าวสารเพื่อความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเกินเหตุต่อผู้ชุมนุม
พอกันที!!!

ถนนทุกสายต้องมุ่งสู่การเลือกตั้ง 2 กุมภา 57 เท่านั้น

นายกิตติชัย งามชัยพิสิษฐ์ ยืนยันว่า กิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ จัดขึ้นเพื่อ

1.เปิดพื้นที่ให้คนได้แสดงความเห็น อาทิ ญาติของผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมที่ผ่านมา
2.ให้หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง ไม่ได้แปลว่าไม่ให้หยุดชุมนุม ชุมนุมได้ แต่ต้องไม่สร้างเงื่อนไขนี้

สำหรับการชุมนุมของ กปปส. มองได้ว่านำไปสู่ความรุนแรง ทั้ง 2 ระดับ คือ 1. เรื่องข้อเสนออย่างการเลื่อนเลือกตั้ง ก็จะนำไปสู่การที่คนอีกกลุ่มไม่พอใจและต้องออกมาอีก 2.ทางกายภาพ มีวาจาทีนำไปสู่ความเกลียดชังค่อนข้างเยอะ การบุกสถานที่ต่างๆ ซึ่งรัฐต้องทำหน้าที่ ต้องป้องกันไว้อยู่แล้ว ซึ่งถ้าชุมนุมอยู่กับที่อย่างสงบก็ไม่อะไร อย่างการบุกสถานที่เลือกตั้ง ละเมิดสิทธิคนทั้งประเทศนี้แน่นอน”นายกิตติชัยระบุ ดังนั้นใน วันศุกร์ที่ 10 มกราคมนี้ ทางกลุ่มนี้ก็จะมีการจัดกิจกรรมอีกขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในบริเวณที่เดิมคือ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เวลา 18.00-21.00 น. มีกิจกรรมจุดเทียน และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ปราศรัยคนละไม่เกิน 5 นาที

จากนั้นที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการโพสต์ข้อความดังนี้
ชาวจุฬาฯ (เสียงส่วนน้อย) - พอกันที !

เอากำหนดการคร่าวๆ ก่อนนะครับ ขอเชิญชาวจุฬาฯ (เสียงส่วนน้อย) รักสันติ-สนับสนุนการเลือกตั้ง นัดเจอกันที่ลานพระรูป 2 รัชกาล ตอน 5 โมงเย็นวันศุกร์ที่ 10 ก่อนที่จะเดินไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม "พอกันที! หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง" ที่ลานหอศิลป์ กทม. ข้างมาบุญครอง นัดกันใส่เสื้อชมพู มีไฟฉายหรือโคมตะเกียงไฟฟ้าไปด้วย (ถ้าใช้เทียน ต้องมีกระดาษรอง) ทำป้ายผ้าป้ายกระดาษได้ตามความเหมาะสมที่ใช้ภาษาสุภาพ และไม่ยั่วยุฝ่ายใดครับ

ปล. ใครว่างก็มาเจอกันครับ จะใส่เสื้อสีอะไรก็ได้ แต่ถ้าใส่สีมหาลัยหรือหน่วยงานของตัวเอง ก็ดีครับ
แน่นอนว่าเจตนารมณ์ที่กลุ่ม“พอกันที” ประกาศเอาไว้บนแฟนเพจเฟซบุ๊ก หากไม่ใช่ว่าบ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศความขัดแย้งแตกแยกแบ่งขั้วจนถึงระดับเกลียดชังกันไปแล้ว ก็คงจะได้รับคำชมเป็นแน่
แต่เพราะสังคมแบ่งขั้วอย่างชัดเจน เจตนารมณ์ที่บอกว่า เปิดใจ ไปเลือกตั้ง กับ ถนนทุกสายต้องมุ่งสู่การเลือกตั้ง 2 กุมภา 57 เท่านั้น จึงถูกโจมตีในทันทีจากขั้วที่เกลียดชังระบอบทักษิณ ว่านี่คือ พวกที่เข้าข้างการเลือกตั้ง

นี่คือการรวมตัวกันของคนเสื้อแดง ที่ใช้การเปลี่ยนสีเสื้อ แล้วอ้างคำว่า “ประชาธิปไตย” เพื่อหนุนให้ระบอบทักษิณผ่านการเลือกตั้งกลับเข้ามายึดครองประเทศอีกครั้ง

แถมยังมีบางคนเย้ยหยันว่าคนกลุ่มนี้มีเพียงแค่หลักร้อยเท่านั้น สู้มวลมหาประชาชนไม่ได้
ทั้งๆที่จริงๆแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนคน เช่นเดียวกับที่นายสุเทพพยายามอ้างตัวเลขมวลชนหลักล้านคนมาโดยตลอดนั่นแหละ เพราะเรื่องนี้จริงๆเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าเริ่มมีคนอดรนทนต่อสถานการณ์ไม่ได้แล้ว

คนกลุ่มนี้อาจจะดูเหมือนว่ายังเป็นเสียงข้างน้อยในเวลานี้ แต่ทั้งนายสุเทพ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เคยกล่าวอ้างถึงความสำคัญของเสียงข้างน้อยมาก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า เป็นเสียงที่พึงจะต้องรับฟัง เพราะเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนเช่นกัน

วันนี้นายสุเทพ จะลืมคำพูดตัวเอง ไม่รับฟังเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้เลือกข้างใครเลยหรือ

หวังที่จะเห็นการปฏิรูปประเทศไทย ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และให้ความสำคัญกับทุกๆกลุ่ม ไม่ใช่การใช้อำนาจบาดใหญ่ ใช้อำนาจอนาธิปไตยในทุกรูปแบบ

และยังยืนยันว่า ถึงเวลาที่ต้องล้างเผ่าพันธุ์นักการเมืองชั่วในทุกๆขั้วการเมือง ไม่เช่นนั้นปัญหาไม่มีวันจบ ตราบเท่าที่ตัณหาการเมืองในการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองยังไม่สิ้นสุด

ที่มา.บางกอกทูเดย์
----------------------------------

ทักษิณ ปฏิรูป !!?

โดย.พญาไม้

แน่นอนว่า..สุเทพ เทือกสุบรรณ..จะไม่มีวันประสบความสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้..ถ้า..ทักษิณ ชินวัตร..ปฏิรูปตนเอง ซะก่อน

ทำไม..แม้จะมีมากมายที่กลายเป็นบทเรียน..แต่ ทักษิณ ก็ยังเป็นทักษิณ..เขายังยึดโยงอยู่กับการเป็นผู้ออกคำสั่ง..แสดงตนเป็นช้างเท้าหน้า.

ทักษิณ..เริงร่าอยู่กับการเป็นผู้ให้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า..จะมีศัตรูมากมายเกิดขึ้นหลังจากการให้ในแต่ละครั้ง
ทักษิณ..สนุกสนานอยู่กับการแต่งตั้งโยกย้ายโดยลำพัง..ทั้งๆ ที่เขาประกาศในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของเขาจะไม่มีการเรียกร้องเอาทรัพย์สินเงินทอง..แต่เขาลืมไปว่า..มันเกินความสามารถที่จะควบคุมดูแล..

ภายใต้กลไกอันเป็นเผด็จการนั้น..คือการสูญเสียมวลชนส่วนใหญ่..

ทักษิณ..เก่งกาจปราดเปรื่องในหลายๆ เรื่องราว..แต่เขาอาจจะลืมหลักวิชาง่ายๆ ที่ว่า..ที่ใดมีแรงยกที่นั่นก็มีแรงต้าน..และมันจะเป็นปฏิภาคต่อกัน..เติบโตไปในทิศทางตรงกันข้ามแต่ไม่ห่างกันในเรื่องจำนวน..
นั่นอธิบายได้ว่า..เมื่อทักษิณมีคนเสื้อแดงเป็นเรือนแสนหนุนเนื่อง..เขาก็จะมีคนไม่ชอบเสื้อแดงเป็นเรือนแสนเช่นกันอยู่ฟากตรงกันข้าม..

นั่นคือประชาชนของ สุเทพ เทือกสุบรรณ..ทันทีที่เขาประกาศสงครามกับทักษิณ..เช่นกันกับคนไม่ชอบเสื้อเหลือง..ในคราวของ สนธิ ลิ้มทองกุล..

เพื่อป้องกันโรคฝีดาษ...นักวิทยาศาสตร์เพาะเชื้อแล้วส่งเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไว้ต่อสู้..ทักษิณ ชินวัตร..ก็ต้องสร้างประชาธิปไตยในพรรคเพื่อไทยก่อนแล้วถึงจะสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศ

ทักษิณ..ต้องไปเรียนรู้..การนำจากข้างหลัง..เรียนรู้สงครามจากสนามทราย..
ทักษิณ..ต้องเรียนรู้ว่า..อุปสรรคอันยิ่งใหญ่ในการบังคับบัญชานั้น..คือการบังคับคนในครอบครัวเดียวกันและอันตรายที่อันตรายที่สุด..คือ..ความรักความหลง..

ถ้าสิทธัตถะ..เลือกที่จะเป็นกษัตริย์..ท่านจะเป็นกษัตริย์ที่ชนะทั่ว 4 คาบสมุทร..แต่เพราะท่านเอาชนะตนเองได้..ท่านจึงกลายเป็น..ศาสดา..ของคนทั้งโลก..

ชนะตนเองไม่ได้..ก็ไม่ชนะใครทั้งนั้น

ที่มา.บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////

3 เงื่อนไข ทหารเคลื่อน !!?

ถึงนาทีนี้หลายคนหลายฝ่ายดูจะเชื่อไปแล้วว่าการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งของการเมืองไทยจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่สัปดาห์นี้ก็สัปดาห์หน้า...

แต่ปัญหาคือ ความเชื่อนั้นมีโอกาสเป็นความจริงได้แค่ไหน อย่างไร

หากเริ่มจากการถอดรหัสเรื่อง "อีกากับวัว" ที่ ผบ.ทบ.นำมาพูดระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ทำนองว่า "ถ้าวัวมีแผล อีกาก็จะมาจิกหลังทุกวัน ถ้าไม่มีแผลก็ไม่มีอีกา ถ้าไม่มีเงื่อนไขก็ไม่มีเรื่อง" แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ระบุว่า ตัวชี้ขาดสถานการณ์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ใหญ่เพียง 3 คน 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ฝ่ายที่ยืนยันว่าปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงรัฐบาล 2.ฝ่ายที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายแรก หมายถึงกองทัพ และ 3.ฝ่ายที่ไม่ยอมอะไรเลย หมายถึง กปปส.

"เมื่อฝ่ายที่ 2 ซึ่งเป็นเครื่องมือของฝ่ายแรก อยู่ๆ มาพูดว่าถ้ามีจลาจลเกิดขึ้นแล้วมีคนตาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบ การพูดแบบนี้แปลว่าอะไร"

แหล่งข่าวอธิบายว่า จากข้อมูลการข่าว ปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค. จะมีการปิดพื้นที่สำคัญๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสี่แยกศูนย์กลางของ กทม.รวม 7 จุด ใช้คนที่ระดมมาจาก 7 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดละ 5 พันคน รวมเป็น 3.5 หมื่นคน กลุ่มนี้เป็นตัวยืนคุมพื้นที่แต่ละจุดตลอดการชัตดาวน์

ผลที่จะเกิดขึ้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ

หนึ่ง ช่วง 1-2 วันแรก เป็นช่วง "ชะงักงัน" ประชาชนออกจากบ้านได้ แต่อาจกลับบ้านไม่ได้ ไปทำงานไม่ได้ ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก

สอง ช่วงวันที่ 3-4 เป็นช่วง "ความวุ่นวาย" เกิดความสับสนว่าจะไปทำงานดีหรือไม่ การเดินทางจะทำอย่างไร รถราจะวิ่งอย่างไร คนที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมเริ่มมีความหวาดกลัว จะไปซื้อของ หาอาหารรับประทานได้หรือไม่ ส่วนผู้ชุมนุมที่ไปยึดพื้นที่ก็ต้องทำธุระส่วนตัว ต้องอาบน้ำ ต้องเข้าห้องน้ำ ต้องหาของกิน จะใช้ที่ไหน สถานที่ของเอกชนจะยอมให้ใช้หรือไม่ ความวุ่นวายจะเริ่มเกิดขึ้น

สาม นานกว่า 4 วัน เป็นช่วง "จลาจล" คนไปทำงานไม่ได้ แท็กซี่หากินไม่ได้ จะเริ่มปะทะกันเป็นจุดๆ สถานการณ์บานปลายสู่ความรุนแรง

"เมื่อถึงตรงนั้นก็ต้องดูว่าเจ้าหน้าที่จะรับมืออย่างไร นปช.จะเอาอย่างไร แต่จู่ๆ มีคนบอกว่าปะทะเมื่อไรรัฐบาลรับผิดชอบ ซึ่งจริงๆ กองทัพก็อ่านซีนาริโอ (ฉากทัศน์) ได้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น การพูดอย่างนี้จึงตีความเป็นอื่นไม่ได้"

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานด้านการข่าว ระบุว่า โอกาสของการรัฐประหารมีความเป็นไปได้ แต่ไม่สูง เพราะกองทัพวางบทบาทตัวเองเป็น stabilizer คือผู้รักษาเสถียรภาพของประเทศ

"ถอดรหัสสิ่งที่ ผบ.ทบ.พูด มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ปรามชายชุดดำ เพื่อให้ผู้ที่รู้เห็นหยุดการนำชายชุดดำเข้ามาใช้ในพื้นที่เขตเมือง โดยเฉพาะกระทำต่อผู้ชุมนุม เพราะกองทัพมีข้อมูลชัดเจนว่ามีชายชุดดำก่อกวนการชุมนุมของ กปปส. มีการขนอาวุธเข้ามา และทำงานกันอย่างเป็นระบบ อาจมีบุคคลที่มีอำนาจรู้เห็นด้วย"

"2.ปรามตำรวจไม่ให้กระทำรุนแรงกับผู้ชุมนุมมากเกินไป เนื่องจากเห็นภาพเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2556 ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง (ที่มีการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม) และมีการปลุกกระแสความรู้สึกกันในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน่าวิตก"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ท่าทีของ ผบ.ทบ.เมื่อวันที่ 7 ม.ค. คือการปรามไม่ให้สถานการณ์บานปลาย เพราะในส่วนของคนเสื้อแดงนั้น เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่นำมาเผชิญหน้า แต่จะจัดชุมนุมในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพฯเพื่อแสดงพลัง อย่างไรก็ดี หากทุกอย่างพลิกผัน เกิดการเผชิญหน้าและมีความรุนแรง ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำรัฐประหาร แต่ไม่ใช่แผนการที่เตรียมจะทำอยู่แล้ว

ส่วนการประเมินสถานการณ์ชัตดาวน์กรุงเทพฯนั้น แหล่งข่าวคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อเกิน 7 วัน โดยสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการคือปิดถนน ไม่ใช่ยึดสถานที่ จุดเน้นอยู่ที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ จะมีการปิดถนนด้านนอกไม่ให้ข้าราชการเข้าไปทำงาน กับ 2.สถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

"พื้นที่ที่จะใช้ประชุม ครม.จนถึงขณะนี้เหลือไม่กี่แห่งแล้ว และหลังๆ ต้องใช้สถานที่ของตำรวจ ทหาร สถานที่ที่เตรียมใช้ประชุม ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มีโอกาสถูกปิดล้อมง่าย และใกล้สถานที่ชุมนุมวันที่ 13 ม.ค. (แยกปทุมวันและราชประสงค์) อีกที่หนึ่งคือกองบัญชาการกองทัพอากาศ แม้จะใช้ได้แต่ก็เสี่ยง โอกาสที่จะถูกปฏิวัติเงียบมีสูง คำถามคือรัฐบาลกล้าหรือไม่ ฉะนั้นรัฐบาลอาจไม่ใช้พื้นที่ทหารแท้ๆ เช่น สโมสรทหารบก กองบัญชาการกองทัพไทย แต่ก็เสี่ยงถูกม็อบปิดล้อมอยู่ดี"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
==========================

วินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ความน่าเอือมระอาของศาล รธน.

สัมภาษณ์โดย:ประชาไท

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นอีกครั้งที่ศาลวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ชี้ การเมืองไทยวิกฤตเพราะใช้หลักกฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งสื่อและสังคมไม่เคยตามทัน และสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำคือการ “ทำซ้ำ” เงื่อนปมทางการเมืองไปสู่การหาทางออกนอกระบอบประชาธิปไตย แต่เขาเชื่อว่าสิ่งที่จะไม่ซ้ำเดิมคือประชาชนจำนวนไม่น้อยนั้นตื่นตัวและ เรียนรู้เพิ่มขึ้นแล้ว และสามารถวิจารณ์การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญได้เองด้วยซ้ำ สำหรับประเด็นการพิจารณาพ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านนั้น เขาเห็นว่าศาลมีอำนาจในการวินิจฉัย แต่เมื่อพิจารณาแนวทางการไต่สวนวันนี้ เขาเห็นว่าศาลกำลังก้าวล่วงเข้าไปแทรกแซงนโยบาย และแสดงความผิดหวังที่นักการเมืองไทยกลัวศาลจนลนลาน ไม่กล้าปฏิเสธคำถามที่ไม่ใช่หน้าที่ของศาล

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรา 190 ซึ่งอ้างหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

วรเจตน์: ความจริงต้องเริ่มต้นจากประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลก่อน ว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหรือไม่ในการเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคงเป็นเหมือนเดิมที่เราเคยวิพากษ์วิจารณ์ไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจเหนือคดี เพราะเหตุว่ากรณีนี้เป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจโดยแท้ของรัฐสภา แล้วรัฐธรรมนูญไทยไม่เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบกระบวนการอันนี้ได้

ข้อพิจารณาอยู่ที่มาตรา 68 เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย กรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญไทยห้ามเอาไว้อยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ ห้ามแก้เรื่องรูปของรัฐจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ กับห้ามแก้ไขรูปแบบการปกครอง ก็คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ เรื่องอื่นไม่ได้ห้าม

เพราะฉะนั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้มาตรา 190 ว่าได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเลย และเกินไปกว่าเรื่องที่รัฐธรรมนูญห้ามแก้ด้วย คล้ายๆ ว่าตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องห้ามแก้ขึ้นมาเต็มไปหมด โดยอ้างหลักนิติธรรมบ้าง อ้างหลักเรื่องการแบ่งแยกอำนาจบ้าง ซึ่งมันไม่เป็นข้อห้ามในทางรัฐธรรมนูญ

เราจะเห็นได้ว่า อันนี้ศาลรัฐธรรมนูญผิดทั้งในแง่ที่ว่า เขาไม่มีเขตอำนาจเหนือคดี แล้วก็แม้เขาจะรับเข้ามาแต่เหตุที่อ้างในการวินิจฉัยก็เป็นเหตุที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามเอาไว้

ประเด็นการวินิจฉัยการแก้มาตรา 190 ถ้าดูจากเหตุผลที่ศาลให้ไว้ เราจะเห็นได้ว่า ในแง่ของรูปแบบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแบบพิธีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงอำนาจของสภาอย่างมาก คล้ายๆ กับศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมสภา คล้ายๆ กับจะบอกว่าที่ประธานสภากำหนดกรอบการแปรญัตติ หรือกำหนดการปิดอภิปรายนั้นทำไม่ได้ ทั้งที่ความจริงเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาโดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ผลของการวินิจฉัยนี้ กลายเป็นว่าต่อไป เวลาสภาประชุมอะไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปก้าวล่วงได้ว่า การประชุมของสภา ประธานสภาสั่งยุติการประชุมโดยที่ไม่ถูกต้อง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นผู้ที่ควบคุมการประชุมสภาเอง อำนาจก็จะใหญ่มากกว่าประธานสภา ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกจะเป็นแบบนี้

เรื่องของกรอบแปรญัตติก็เหมือนกันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้าง อันนี้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมอยู่แล้ว ผมแปลกใจที่บอกว่าขัดกับข้อบังคับการประชุม เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อ้างว่าขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อไหน นี่ก็จะเป็นปัญหาเหมือนกับที่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่บอกว่า การแก้ไขมาตรา 190 เหมือนกับลิดรอนอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภา คำตอบก็คือ เรื่องนี้รัฐสภาแก้ของเขาเอง ศาลรัฐธรรมนูญไปยุ่งอะไร คนที่แก้คือรัฐสภา เขาเห็นว่าการแก้มาตรา 190 แบบนี้จะให้ความสะดวกมากกว่าในเชิงของการทำหนังสือสัญญา แล้วความจริงในทางหลักการ อำนาจในการทำหนังสือสัญญาเป็นอำนาจในทางบริหาร ไม่ใช่อำนาจทางนิติบัญญัติ เพียงแต่เรื่องสำคัญๆ รัฐธรรมนูญก็จะกำหนดว่าอาจจะต้องผ่านหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน ส่วนว่าแค่ไหนเพียงใด เป็นดุลยพินิจของสภาเองในการกำหนด

พูดง่ายๆ คือเรื่องนี้สภาพอใจจะกำหนดแบบนี้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไปบอกว่าเป็นการละเมิดอำนาจของสภา คำตอบก็คือรัฐสภาเป็นคนแก้เอง แล้วคุณจะไปยุ่งอะไรกับเขา เขาเห็นว่าการแก้ในลักษณะแบบนี้มันถูกต้องอยู่แล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปอ้างเรื่องการทำลายดุลยภาพในการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้อง สุดท้ายก็ไปสรุปว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

คำถามก็คือแล้วอะไรคือผลของคดีล่ะ ตกลงในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะให้ทำอะไร มันก็ไม่ได้บอกว่าตกลงแล้วจะยังไงต่อ ก็เหมือนกับคดีแก้ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง พูดง่ายๆ อันนี้ในความเห็นผม มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือผิดตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง คือผิดตลอดสาย เป็นการซ้ำรอยเรื่องของการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

ตั้งแต่ผมศึกษา และเห็นคำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลมาเยอะ ผมไม่พบว่ามีคำวินิจฉัยที่ไม่สามารถยอมรับได้เลยในทางกฎหมายได้เท่ากับเรื่องแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง และเรื่องแก้มาตรา 190 เป็นอันที่ 2 ซ้ำรอยเดิม ผลก็คือตอนนี้ประเทศไทยก็ปกครองโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ในทางหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างถึงการไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกสบายใจขึ้นที่รัฐสภามีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้มันซ้ำอันเดิม

วรเจตน์: อันนี้ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ที่ใช้คำว่า ‘ตรวจสอบถ่วงดุล’ มันผิด คือเราต้องแยกระหว่างการตรวจสอบถ่วงดุลกับการที่องค์กรๆ หนึ่งมีอำนาจเหนือองค์กรอีกองค์หนึ่งอย่างสิ้นเชิง ผมถามว่าอะไรคือการตรวจสอบถ่วงดุลเมื่อคุณล้วงเข้าไปถึงเรื่องของการควบคุมการประชุมสภาของประธานสภา คุณบอกว่าประธานสภาขอมติให้ปิดการอภิปราย คำถามก็คือ เวลาคุณจะไปตรวจสอบถ่วงดุล ตรวจสอบถ่วงดุลแค่ไหน ตรวจสอบถ่วงดุลจนคุณเป็นคนควบคุมการประชุมรัฐสภาเลยหรือ ถ้าอย่างนั้นรัฐธรรมนูญก็ออกแบบให้คุณเป็นประธานที่ประชุมสภาไปเลยหมดเรื่องหมดราว คงไม่ต้องมีข้อบังคับการประชุมสภาหรอก

จริงๆ ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล แต่เป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้นไปเหนือองค์กรอื่นและเหนือรัฐธรรมนูญภายใต้เสื้อคลุมของการตรวจสอบถ่วงดุล เอาเสื้อคลุมตรวจสอบถ่วงดุลมาสวม ทำให้คนทั่วไปเห็นหรือเคลิ้มไปว่ามันคือการตรวจสอบถ่วงดุล แต่จริงๆ มันไม่ใช่แล้ว มันคือตัวเองขึ้นไปเหนือรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว โดยทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ผมเรียนแบบนี้

สำหรับผม ผมยืนยันมาตลอดว่า คำวินิจฉัยแบบนี้ไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรค 5  จึงไม่มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ เนื่องจากผลเห็นว่ากรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 197 เพราะไม่มีฐานแห่งอำนาจจากรัฐธรรมนูญ นี่เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะเขาจะมีมติได้ ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐสภาไม่มีมติแบบนี้

พูดง่ายๆ ในระบบพวกนี้ นักการเมืองกลัวศาล กลัวจนในที่สุดศาลสั่งอะไรมาก็ยอมตามหมด ทำตามหมด ไม่ต้องดูว่าตกลงมันใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด แล้วมันก้าวล่วงเข้ามาในอำนาจของตัวไหม แล้วต่อไปจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันยังไง เวลาจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญไปตลอดกาล ซึ่งระบบอย่างนี้เป็นไปไม่ได้หรอก วันหนึ่งมันก็ต้องล้มไปโดยสภาพ

อันนั้นเป็นผลในทางกฎหมาย แล้วผลทางการเมืองล่ะ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาแบบนี้มันสร้างเงื่อนปมอะไร

วรเจตน์: ก็เหมือนอันเดิม ทำให้ศาลโดยอาศัยคำวินิจฉัยนี้ แล้วสภาในตอนนี้ไม่อยู่ในสภาวะที่จะตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาตัวเองขึ้นไปเหนือองค์กรอื่นในทุกองค์กร

เราต้องเข้าใจว่าในสภามีความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา ความเห็นไม่มีทางตรงกัน เมื่อไม่มีทางตรงกันก็ขึ้นกับว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบให้ความเห็นที่ไม่ตรงกันแก้ไขแบบไหน บางกรณีออกแบบให้คุ้มครองเสียงข้างน้อยเอาไว้โดยการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นกลไกคุ้มครอง บางกรณีเขาเห็นว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาคุ้มครองทุกกรณีแล้วจะกลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือองค์กรอื่น เขาจะเปิดโอกาสให้สภาวินิจแยไปโดยเสียงข้างมากในสภานั้นเอง แต่ละเรื่องจะมีการออกแบบที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น กรณีสภาตราพระราชบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เขาเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบว่า พ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

แต่กรณีของการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญวางกลไกการแก้ไขยากกว่าการตรากฎหมายธรรมดาอยู่แล้ว ต้องใช้เสียงข้างมากเป็นพิเศษ เขาจึงไม่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ เขาให้แก้กันโดยกลไกเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ไม่เหมือนกรณีการตรา พ.ร.บ.ที่ใช้เสียงมากธรรมดา แล้ว พ.ร.บ.ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ อันนี้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้

เรื่องนี้คนไม่เข้าใจ มักจะสับสนว่า ทำไมเวลารัฐสภาตราพระราชบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ แต่ทำไมสภาแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญถึงตรวจสอบไม่ได้

เวลาที่ผมอธิบาย ผมบอกว่ามันไม่เหมือนกันไง อำนาจในการตราพระราชบัญญัติเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญในระดับรองลงมา เพราะ พ.ร.บ.อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญสูงกว่า พ.ร.บ. ศาลรัฐธรรมนูญเขาคุมอยู่ เวลาสภาตรา พ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญ เขาตรวจสอบได้โดยกลไกรัฐธรรมนูญ

แต่ว่าอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่สูงกว่า มันเป็นระนาบของการเข้าไปแก้ตัวรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญพยายามช่วงชิงหรือสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้นมา ในคำวินิจฉัยครั้งที่แล้วเรื่อง ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

ที่ผมบอกว่าเป็นเรื่องตลกที่เข้ามาชี้ว่าการแก้ไข ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งขัดต่อหลักประชาธิปไตย ในโลกนี้ใครก็หัวเราะ ผมให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศ เขาก็หัวเราะ ต่างประเทศเองก็เขียนว่าไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจในลักษณะแบบนี้ มีที่เดียวในโลกคือที่ อะเมซซิ่งไทยแลนด์ แห่งนี้นี่เอง

ดูแนวทางศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวางหลักมาตรา 3 เพื่อเชื่อมโยงมาตรา 68

วรเจตน์: คือมาตรา 3 เขียนเรื่องหลักนิติธรรม ก็เป็นเรื่องที่ศาลหยิบเข้ามาอ้างตามใจ อย่างที่ผมเคยบอกว่าโดยการวินิจฉัยแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้คุ้มครองความเป็นสูงสุดของกำหมายรัฐธรรมนูญในทัศนะของผม แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้แทนของเสียงข้างน้อยไป คือเป็นฝ่ายในทางการเมืองไป ไม่ใช่เป็นคนกลางในการตัดสินคดีในทางกฎหมาย อันนี้ดูจากเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เองนะ

ผมถึงบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีทัศนะในทางการเมือง ทัศนะส่วนตัวที่มีต่อฝ่ายค้าน ต่อฝ่ายที่มีเสียงข้างมากในสภาอย่างไรก็ได้ มันเป็นสิทธิในทางการเมืองของคุณ ไม่เป็นปัญหา คุณแสดงออกโดยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อคุณเป็นตุลาการ บทบาท ข้อจำกัดอำนาจมีอยู่แค่ไหน ต้องตระหนัก ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา

คำวินิจฉัยแบบนี้ จริงๆ ผมอาจจะไม่ต้องให้สัมภาษณ์เลย เพราะผมคิดว่าวันนี้คนทั่วๆ ไปเขาเห็น เขาสามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ได้เองแล้ว การวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านคดีเรื่อง ส.ว.มาจากการเลือกตั้งมันมาถึงจุดที่ว่าไม่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคเข้ามาอธิบายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คือคนทั่วๆ ไปที่มีจิตใจเป็นธรรมที่พอจะเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด เขาสามารถบอกได้ว่าอันนี้มันใช่หรือไม่ใช่ มันมาถึงจุดที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถเห็นได้แล้ว

ตอนนี้สังเกตดูประเด็นที่ตอบไม่ได้ อย่างเช่น มาตรา 68 ที่เขียนว่าต้องผ่านอัยการก็ไม่มีการพูดถึงแล้ว ลืมไปโดยปริยาย มาตรา 68 บอกไว้ว่าเป็นเรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่พูดถึงแล้ว เพราะตอบไม่ได้

มาตรา 68 ออกแบบมาเพื่อกรณีที่บุคคลหรือคณะบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น กรณีการชุมนุมของ กปปส.นี่แหลเป็นเรื่องของมาตรา 68 เป็นเรื่องใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แล้วมีปัญหาว่าจะไปล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่ การเสนอสภาประชาชนอะไรต่างๆ จะทำให้กลไกรัฐธรรมนูญใช้ไม่ได้หรือเปล่า อันนี้แหละที่ตรงกับมาตรา 68 ที่จะเอามาใช้ ของที่มันตรงๆ บอกว่าไม่ใช่ แต่ของที่มันไม่ใช่เลย เขาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับบอกว่าเป็นสิทธิหน้าที่ หรือไม่พูดถึงเลย

ตอนนี้มีกระแสเรื่องการปฏิรูป ศาลรัฐธรรมนูญก็สร้างเงื่อนปมทางการเมืองมาหลายครั้ง อาจารย์มองว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องปฏิรูปอะไร

วรเจตน์: ไม่ต้องปฏิรูปอะไร ทำตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ว่ายุบไป คือตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องถูกยุบอย่างเดียว ไม่มีทางอื่น ยุบแล้วตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาเป็นองค์กรชั่วคราวเพื่อทำภารกิจของตัวศาลรัฐธรรมนูญ ที่นิติราษฎร์เคยเสนอเป็นคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

ผมอยากจะอธิบายบางอย่างเพิ่มเติมคือ มีสื่อมวลชนฉบับหนึ่งได้โค้ทคำพูดของผม ตอนที่ผมวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่บอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยจะไม่ผูกพันรัฐสภาตามาตรา 216 วรรค 5 กับอีกทีหนึ่ง ผมพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญยังมีผลบังคับใช้อยู่ และเราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไปจนกว่าจะมีการแก้

สื่อมวลชนฉบับหนึ่ง ได้เอาคำพูดของผม 2 ครั้งไปเทียบกัน แล้วพยายามจูงให้คนเห็นว่าผมพูด 2 ครั้งแตกต่างกัน จริงๆ ไม่ได้แตกต่างกันเลย ผมพูดจากหลักการเดียวกัน แต่คนซึ่งอาจจะมีอคติ หรือมีสติปัญญาพร่องอยู่ไม่บริบูรณ์ อาจจะรู้สึกว่ามันขัดกัน
อธิบายง่ายๆ ว่า เวลาที่เราบอกคำว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เรายกรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุด เวลาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำวินิจฉัยต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ถ้าคำวินิจฉัยขัดหรือไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นของรัฐ อย่างเช่น รัฐสภามีสิทธิที่จะบอกว่าคำวินิจฉัยนี้ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญผูกพันที่จะวินิจฉัยไปตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้น ที่ผมบอกว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดกับรัฐธรรมนูญเอง คำวินิจฉัยต้องไม่ผูกพันองค์กรอื่น อันนี้คือการเคารพรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ทำนองเดียวกับที่ผมบอกต่อไปว่า รัฐธรรมนูญตราบที่ยังไม่แก้ คุณก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น เว้นแต่ว่าคุณจะแก้ไขมัน พูด 2 ครั้งไม่ได้ขัดกันเลย พูดในหลักการอันเดียวกันคือ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

แต่บางคนเข้าใจว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เท่ากับรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่รัฐธรรมนูญ มันเป็นเพียงการกระทำขององค์กรของรัฐที่เกิดขึ้นจากตัวรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นมันจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

คำถามก็คือว่า เวลาที่องค์กรอื่นของรัฐกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีคนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนบอกว่าขัด คำถามของผมง่ายๆ เลยก็คือว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญเองวินิจฉัยเรื่องขัดกับรัฐธรรมนูญ จะทำยังไง นักกฎหมายบางคนบอกว่า ไม่ต้องสนว่าจะเป็นยังไง คำวินิจฉัยมาก็เป็นไปตามคำวินิจฉัย แล้วยกตัวอย่างว่า ถ้าคนไม่เคารพคำวินิจฉัยแล้วบ้านเมืองจะอยู่ยังไง ตำรวจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล จะเป็นอะไรยังไง ไปยกตัวอย่างพวกนั้นไป

ผมถามง่ายๆ ถ้าคำวินิจฉัยของศาลมันผิดชัดๆ อย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประหารชีวิตคนผมถามว่าจะมีใครหน้าไหนในประเทศนี้อ้างว่าคำวินิจฉัยนี้ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร แล้วราชทัณฑ์จะต้องบังคับและต้องปฏิบัติตาม มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ แค่นี้ก็พิสูจน์แล้วว่าโดยตรรกะ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจละเมิดรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเขาละเมิดรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นที่เป็นองค์กรในทางรัฐธรรมนูญเหมือนกัน เขาย่อมมีสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อำนาจพิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงมิได้ผูกขาดของศาลรัฐธรรมนูญเอง

ถ้าองค์กรอื่นกระทำขัดรัฐธรรมนูญ อาจจะมีการลงโทษได้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้วไม่มีบทลงโทษ

วรเจตน์: ใช่ จะมีปัญหาว่าใครเป็นคนชี้ ซึ่งผมบอกว่าคนชี้ก็คือตัวองค์กรในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน รัฐสภาก็ชี้ได้นี่ ก็มีมติได้ ทีนี้พอมีมติก็จะมีคนเอาไปพูดกันว่าสภาไม่เคารพศาล ผมถามว่าแล้วศาลเคารพรัฐธรรมไหมล่ะในความเห็นของสภา มันเป็นแบบนี้

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญคือ การควบคุม ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการตรากฎหมาย การตราพระราชบัญญัติ เป็นภารกิจหลัก ซึ่งเวลาเขาคุม คุมโดยเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ เขาไม่มีอำนาจคุมในเรื่องความเหมาะสม

ผมยกตัวอย่าง ในวันนี้ (8 ม.ค.2557) มีการไต่สวนเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ผมเห็นว่าคำถามบางคำถามเป็นคำถามในแง่ความเหมาะสมทางนโยบายนะ ถามเรื่องข้อดีข้อเสีย มันเป็นเรื่องความเหมาะสมทางนโยบาย ไม่ใช่เรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเหมาะสมทางนโยบายศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปคุม เป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะวินิจฉัยเอง

พูดง่ายๆ ในระบบแบบนี้ เราไม่ได้ถือศาลรัฐธรรมนูญเป็นพระเจ้าที่จะวินิจฉัยทุกอย่าง ผูกพันทุกคนได้ในทุกเรื่อง อำนาจของเขาจำกัดอยู่ที่ว่าเขาต้องผูกพันกับกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ ถ้าเรายอมให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปก้าวล่วงเรื่องที่เป็นนโยบายเมื่อไหร่ เสร็จครับ มันก็ทำนโยบายกันไม่ได้ พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนทำนโยบายไม่ได้ เพียงเพราะศาลอาจจะมองว่านโยบายอันนี้ไม่ดี

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่คนคุมศีลธรรมที่จะบอกว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี มาตรที่ศาลจะต้องใช้คือรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าคุณไปคุมเรื่องเกณฑ์ความเหมาะสม มันเกินไปกว่ากรอบความชอบธรรมที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ คุณจะขาดความชอบธรรมในทางรัฐธรรมนูญเอง

แล้วเรื่องนี้ผมคิดว่า ถึงจุดหนึ่งคนทั่วๆ ไปก็จะฉุกคิดว่า เราเลือกพรรคการเมืองนี้มาเพื่อจะให้ทำนโยบาย เช่น ทำรถไฟความเร็วสูง เป็นเสียงข้างมากเลือกมา แล้วจะมีคนบอกว่านโยบายนี้ไม่เหมาะสม ถามว่าเหมาะสมไม่เหมาะสม ใครตัดสิน ประชาชนต้องตัดสินผ่านกลไกในกระบวนการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ไม่ใช่องค์กรที่เป็นศาลที่จะมาชี้เรื่องความเหมาะสมในเชิงการใช้อำนาจ

ที่ผมรู้สึกเบื่อหน่ายก็คือว่า ผมรู้สึกว่าบ้านเราโดยเฉพาะนักการเมือง ผมว่ากลัวศาลมากเกินไป คำถามบางคำถามที่ศาลถามมา ถ้าไม่เป็นประเด็น เป็นเรื่องความเหมาะสม ศาลต้องใช้เกียรติรัฐมนตรีหรือฝ่ายการเมือง แล้วรัฐมนตรีก็ต้องตอบว่านี่เป็นประเด็นเรื่องความเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของศาล เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่จะเป็นคนตัดสินใจเอง ถ้าเป็นประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเขาอาจจะต้องตอบ ถ้าเป็นเรื่องความเหมาะสมก็ไม่จำเป็นต้องตอบ

ปัญหาอันหนึ่งของบ้านเรา คือคำวินิจฉัยของศาลจำนวนหนึ่ง เป็นการคล้ายกับว่าใช้โอกาสในแง่การทำคำวินิจฉัยในการตำหนิประณามบุคคล บางทีผมยังแปลกใจเลยว่าบางทีฟังคำวินิจฉัยเหมือนฟังคำฟ้อง เป็นคำฟ้องมากกว่าเป็นคำวินิจฉัย

ประเด็นหนึ่งที่ติดมากๆ และผมคิดว่าคำถามนี้ทุกคนควรถามให้ดังสนั่นหวั่นไปเลยว่า ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วอ้างว่าสภาทำผิดข้อบังคับการประชุม ผมอยากฝากให้สื่อมวลชนช่วยถามหน่อย ข้อไหน อ้างข้อหน่อย เพราะว่าผมไปดูแล้วไม่มี และผมเห็นว่าสภาทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม

นิติราษฎร์เคยแถลงเรื่องนี้ไป อาจจะมีประเด็นเยอะ แล้วมีคนไปพูดถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญปลอม พูดถึงเรื่องไม่ให้เวลาในการแปรญัตติ พูดถึงเรื่องเสียบบัตรแทนกัน แล้วก็ใช้ประเด็นนี้เป็นวาทกรรมว่ารัฐสภาทำผิด แล้วผมแปลกใจมากๆ เลยที่ฝ่ายนักกฎหมายของรัฐบาลทำไมไม่พูดประเด็นนี้ อันนี้มันมีเหตุผลและน้ำหนักที่จะต้องพูด ร่างรัฐธรรมนูญปลอมก็ไม่ใช่ ไปอ่านดูดีๆ ไม่มีใครคัดค้านเลย เพราะรัฐธรรมนูญที่ทุกคนได้รับตอนที่รับหลักการวาระ 1 เป็นฉบับเดียวกันหมดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล

เรื่องที่บอกสภาทำผิดข้อบังคับการประชุม เรื่องกำหนดเวลาแปรญัตติน้อยเกินไปนั้น ไม่จริง สภาทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม แถลงการณ์นิติราษฎร์ระบุเลขข้อด้วยว่าเป็นข้อไหน ที่ไม่ระบุนั้นเป็นศาลรัฐธรรมนูญนะครับ ไม่บอกว่าที่ผิดข้อบังคับการประชุมคือข้อไหน ผมยังรออยู่ทุกวันนี้ว่าช่วยเอามาให้ดูหน่อยว่าเขาผิดข้อไหน ไม่มี

เรื่องเสียบบัตรแทนกันก็เหมือนกัน การพิสูจน์ในทางหลักฐานก็ไม่ชัด ต่อให้ตรวจสอบได้ชัด ก็ไม่เป็นจำนวนเสียงพอที่จะล้มตัวรัฐธรรมนูญได้ มันเหมือนกับนักศึกษาเข้าสอบ ห้องหนึ่งมีคนเข้าสอบ 300 คน คนหนึ่งทุจริตการสอบ ผู้คุมสอบปรับตกทั้ง 300 คน คนอื่นไม่เกี่ยวด้วย ทำนองเดียวกันเหมือน ส.ส.ลงคะแนน ส.ส.ส่วนใหญ่ลงคะแนนไปตามเจตนาที่บริสุทธิ์ถูกต้องของเขา มีจำนวนหนึ่งฝากคนอื่นลงคะแนนแทนซึ่งผิดข้อบังคับการประชุม ก็ต้องตัดเสียงส่วนนั้นออกไป ไม่ได้เอาเสียงตรงนั้นมาทำลายคนอื่น มันก็เปรียบกับห้องสอบ คุณก็สอบของคุณไป อีกคนทุจริตการสอบ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับผม ทำให้ข้อสอบที่ผมเขียนไปมันเจ๊งไปด้วย มันไม่ถูกหรอก โดยระบบ มันไม่ถูกต้อง

อย่างที่ผมบอก แล้วนี่เป็นปัญหาของสังคมไทย ปัญหาของสื่อด้วย คือการเลือกข้าง หมายถึงพอใจแบบนี้แล้วไปพูดต่อกัน เหมือนคดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ ถามว่ามีใครสักกี่คนอ่านคำวินิจฉัยละเอียด มีใครสักกี่คนตามไปตรวจสอบว่าที่ตัดสินมาถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า รวมทั้งคนที่มาวิจารณ์ด่าๆ กันด้วย ผมท้าได้เลย พูดตามๆ กันทั้งนั้น ไปถามจริงๆ ไม่เคยอ่าน ก็เชื่อตามกัน แล้วศาลใช้เรื่องคอร์รัปชั่นทุจริตเชิงนโยบายมันคืออะไร แล้วมันเป็นองค์ประกอบความผิดในทางกฎหมายหรือเปล่าที่จะเอาใช้ในการวินิจฉัยตัดสิน นี่คือปัญหาทั้งหมดของการใช้กฎหมายในบ้านเราแล้วแก้ยากด้วย

อาจารย์กำลังพูดถึงปัญหาที่ค่อนข้างยาวนานหลายปีแล้ว ซึ่งใช้เทคนิคในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยที่สังคมไทยไม่สามารถตามได้ทัน หรือลงไปในรายละเอียดได้

วรเจตน์: ผมติดตามเรื่องนี้มาหลายปี เห็นมาโดยตลอด ลองย้อนบางประเด็นนะ บางเรื่องสังคมไทยเราก็ลืมไปเฉยเลย เรื่องล่าสุดเรื่อง กกต. คุณวาสนา เพิ่มลาภ

หลายปีก่อนตอนที่ประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง แล้วในบางเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครคนเดียว กกต.ต้องเปิดรับสมัครใหม่แล้วมีผู้สมัครคนอื่นมาสมัครเพิ่ม ต่อมาก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีว่าทำผิดกฎหมาย

ในตอนนั้นในทางวงการกฎหมายมันชัดเจนว่า ผู้ที่ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นตอนนั้นรับฟ้อง แล้วไม่ให้ประกัน กกต. ผมจำได้เลยเรื่องนี้ผมไปออกทีวีรายการถึงลูกถึงคนของคุณสรยุทธหลายปีก่อน ไปนั่งเถียงกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ปัจจุบันท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาของงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมบอกว่าการไม่ให้ประกันนั้นไม่ถูก เพราะการได้รับการประกันเป็นสิทธิ แต่ตอนนั้นสังคมตามสื่อก็เรียก กกต.ชุดสามหนาทำไม่ถูก เวียนเทียนสมัครนู่นนี่ สุดท้ายก็ไม่ให้ประกัน จับ กกต.ขังไว้ ต่อมา กกต.ก็ลาออก แล้วเปลี่ยน กกต. ผ่านไปหลายปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แล้วคดีไปถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาก็พิพากษากลับบอกว่าที่ดำเนินการวันนั้นคนฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง ก็เหมือนกับที่ผมพูดในเวลานั้นว่าไม่มีอำนาจฟ้อง

ถึงวันนี้ โอเค กกต.ชุดคุณวาสนาพ้นความรับผิดไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นใครรับผิดชอบ เขาถูกไม่ให้ประกันตัว เขาเสียตำแหน่ง กกต.มีใครรับผิดชอบให้เขา สังคมไทยเคยคิดย้อนกลับไปตรงนี้ไหม และผลมันสะเทือนมาขนาดไหน สุดท้ายพอเปลี่ยนตัว กกต.เสร็จ ไทยรักไทยยังยืนยันให้มีการเลือกตั้งต่อ กกต.ชุดใหม่มาคุณกลัวอีกว่าไทยรักไทยจะชนะเลือกตั้ง ก็รัฐประหารวันที่ 19 กันยาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แล้วเรากำลังจะทำซ้ำประวัติศาสตร์แบบนี้อีกรอบหนึ่งในเวลานี้

เราไม่เคยสนใจอะไรเลย แล้วสังคมนี้ไม่เคยมองเลยว่าใครยืนอยู่ตรงจุดไหน หลักการคืออะไร เป็นสังคมอื่นเขาสว่างจ้ากันจนตาจะมืดบอดอีกรอบหนึ่งแล้ว คือสว่างแล้วสว่างอีกจนจะบอดอีกทีหนึ่งแล้ว สังคมเราก็ยังเหมือนเดิม สื่อมวลชนก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีจรรยาบรรณเหมือนเดิมที่เคยเป็น เขียนข่าวก็เลอะเทอะมั่วซั่วเหมือนเดิม แล้วคนก็เชื่อกันไปเหมือนเดิม

แต่ว่ามันอาจจะไม่เหมือนเสียทีเดียว เพราะถ้าดูจากพัฒนาการทางสังคม คนจำนวนหนึ่งเขาตื่นขึ้นแล้ว อันนี้ดูจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันจึงยากกว่าเดิม ถามว่าเขามีเครื่องมืออย่างอื่นไหม ก็ไม่มี ต้องใช้เครื่องมือแบบเดิมๆ ในสภาวะปัจจัยของประชาชนที่เปลี่ยนไป สื่ออาจจะเหมือนเดิม ผมยังไม่เห็นสำนึก ยังทำเหมือนเดิม สื่อที่โจมตีผมก็โจมตีเหมือนเดิม หนักกว่าเดิมอีก เขียนผิดๆ ถูกๆ ใครเป็นสมาชิกนิติราษฎร์บ้างยังผิดๆ ถูกๆ เลย บอกนิติราษฎร์แปลงกายเป็นสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย แปลงกายที่ไหน นิติราษฎร์ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่มีการแปลงการก็บอกว่าแปลงร่าง เละเทอะเรื่อยเปื่อย กลับดำเป็นขาวกลับขาวเป็นดำ กลับสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก และสิ่งที่ถูกให้เป็นผิด

คนจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะอินไปแล้ว ไม่ใช้สติปัญญาคิดตรึกตรอง ไม่ดูอดีต ผมถึงพูดว่าคุณย้อนกลับไปดูข้อกฎหมายสิ ผมสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ มีนักศึกษาคนหนึ่งผมไม่แน่ใจโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊ก บอกว่าที่ผมสอนว่าในหลักการเขาเถียงไม่ได้ มันถูกต้อง แต่เขาขอทิ้งหลักการนี้ไปก่อน เขาขอไปกู้ชาติ ที่ผมพูดมาเรื่องนายกรัฐมนตรีรักษาการลาออกไม่ได้ ถูกต้องหมดเลย เขาบอกว่านี่เป็นหลักการในทางกฎหมายมหาชน แต่เขาบอกขอทิ้งหลักการตรงนี้เถอะ เขาจะไปกู้ชาติ

ในความรู้สึกผม นักศึกษาคนนี้ยังดีที่รู้ว่าอันนี้ถูก แต่ยังไม่บิดหลัก ที่แย่คือพวกนักกฎหมายที่บิดหลักการหมด เวลาผมเห็นนักกฎหมายบางคนที่บอกรักษาการนายกรัฐมนตรีลาออกได้ ผมพูดจริงๆ นะ ผมอยากจะอาเจียนเลย เพราะคนที่พูดครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนบอกว่า ลาออกไม่ได้ สื่อไม่เคยไปดุว่าคนพวกนี้เคยมีความเห็นอะไรยังไง พอมาวันนี้ข้าพเจ้าอยากได้รัฐบาลพระราชทานคนกลางเต็มแก่เลย บอกว่าลาออกได้

อาจารย์บอกว่ากำลังเกิดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

วรเจตน์: ใช่ หมายถึงว่าการทำซ้ำคงไม่เหมือนเดิมทั้งหมด แต่ลักษณะการซ้ำของเรื่อง ตอนนี้เรามาถึงจุดเหมือนกับเลือกตั้งโมฆะ แล้วจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ แล้วมันไปไม่ถึงการเลือกตั้งอันนั้น มันมีรัฐประหารก่อน

ตอนนี้ก็จะอยู่ในสภาวะก่อนถึงวันเลือกตั้ง แล้วคำถามเป็นเหมือนเดิมเลย จะมีรัฐประหารก่อนไหม รัฐประหาร 19 กันยาคืออะไร บอกว่าคาราวานคนจนกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะปะทะกันในวันที่ 20 บอกว่ามีรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าไม้ขนคนเข้ามาเตรียมจะตีกัน

พลเอกสนธิ (บุญยรัตกลิน) เอาเหตุนี้มาอ้าง แล้วก็ยึดอำนาจเลย คนก็ดีใจบอกว่าเราหลีกเลี่ยงการปะทะ การนองเลือดได้ ผมขำมากๆ เลย คุณจินตนาการเอาเองทั้งนั้นเลย ผมพูดง่ายๆ นะถ้าเกิดจะตีกัน ทำไมคุณไม่มาช่วยรัฐบาลรักษาความสงบล่ะ เวลาคนตีกันคุณต้องยึดอำนาจเหรอ คนตีกันเป็นเหตุให้ต้องยึดอำนาจเหรอ ผมตลก งงมากๆ เลย นี่จะเอาอีกแล้ว เดี๋ยวจะออกมาตีกัน ตีกันคุณก็เข้ามารักษาการณ์ จัดการ ทหารก็มาเป็นผู้ช่วยตำรวจในการจัดการได้ คำถามคือคุณจะจัดการได้ไหม

แต่ว่าอะไรคือ คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้ คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้ก็คือคำตอบของพลเอกสนธิไง ที่ถามว่าแล้วใครสั่งให้ท่านทำรัฐประหาร พลเอกสนธิตอบให้ตายก็ตอบไม่ได้ ตราบเท่าที่เรามีคีย์เวิร์ดแบบนี้อยู่ในสังคมไทย ‘ให้ตายก็พูดไม่ได้’ แล้วคุณจะแก้ปัญหากันยังไง คุณจะปฏิรูปอะไรผมถามหน่อย มันไม่มีหวังหรอกตราบเท่าที่สิ่งแบบนี้ คำพูดแบบนี้หมดไป ที่บอกว่าตายก็พูดไม่ได้ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป นั่นแหละเราถึงจะแก้ปัญหาของประเทศนี้ได้

ที่มา.ประชาไท
-------------------------------

วิจารณ์เดือด หลัง ศาล รธน.แนะทำถนนลูกรังให้หมด ก่อนทำรถไฟความเร็วสูง.

ภายหลังจากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยาน วันที่ 8 มกราคม ในคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือไม่

โดยระหว่างการไต่สวน นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงความจำเป็นในการออก พ.ร.บ.กู้เงินฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งให้ความเห็นส่วนตัวแสดงความเป็นห่วงถึงการกู้เงิน อาจเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับลูกหลาน และยังเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับไทย และเป็นไปได้ควรทำให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน

จากการข้อซักถามและการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระหว่างการไต่สวน ได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะในเพจที่ชื่อว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" (http://www.facebook.com/constitutionalcourt.thai) เป็นเพจที่ไว้สำหรับเผยแพร่คำวินิจฉัย รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ปรากฏว่า มีประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อความเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนถึงหน้าเพจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกลิ้งค์เว็บไซต์ข่าวที่นำรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ระบุว่า ลาวลงนามข้อตกลง 4 พันล้านดอลล์ สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมประเทศเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางรถไฟเชื่อมภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยด้วย ไปแปะไว้ที่หน้าเพจดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

ที่มา.มติชนออนไลน์
------------------------------------

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

ทุบหม้อข้าว !!?

โดย.ฐากูร บุนปาน

ก่อนจะพูดถึงเหตุการณ์เมืองไทย ขออนุญาตพาไปประเทศไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเราอย่างบังกลาเทศ ที่มีคนบอกว่าสถานการณ์คลับคล้ายกัน

ที่นั่นจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อสุดสัปดาห์แรกของปี และมีพรรคการเมืองมากกว่า 20 พรรค รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุด ประท้วงด้วยการไม่ลงรับสมัครเลือกตั้ง

ไม่ได้ประท้วงไม่ลงรับสมัครอย่างเดียว แต่ระดมประชาชนออกมาต่อต้านการเลือกตั้ง จนกระทั่งเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และประชาชนกลุ่มที่สนับสนุนการเลือกตั้งด้วย

ตามรายงานบอกว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 ราย บาดเจ็บอีกนับร้อย

ทำให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิทั่วประเทศเพียงประมาณร้อยละ 26

และตามฟอร์ม ผู้ต่อต้านรัฐบาล ผู้ไม่ต้องการการเลือกตั้ง รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านในเมืองไทย ออกมา "เตือนกึ่งขู่" รัฐบาล ผู้จัดการเลือกตั้ง รวมถึงผู้ต้องการเลือกตั้งทันที

ว่าให้ดูตัวอย่างเอาไว้

ขืนเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง อาจจะเดินซ้ำรอยบังกลาเทศได้

ฟังแล้วก็น่าคิด-ถ้า

1.ไม่สะกิดใจว่าสาระสำคัญของเหตุการณ์ทั้งสองประเทศนั้นแตกต่างกันหลายประการ

ตั้งแต่รากเหง้าความเป็นมาของปัญหา จำนวนพรรคการเมืองที่คัดค้านการเลือกตั้ง และปริมาณของผู้ที่คาดว่าจะออกมาใช้สิทธิ

2.เวลาตั้งคำถามคนอื่น แล้วกลับมาตั้งคำถามตัวเองด้วยว่า ถ้าไม่อยากให้เผชิญหน้ากันถึงเลือดตกยางออก ทำไมไม่เลือกการเลือกตั้งซึ่งเป็นวิธีตัดสินข้อขัดแย้งที่ไม่ต้องเอาชีวิตคนอื่นมาเสี่ยง

แต่เลือกตั้งยังเป็นฉากถัดไป

เพราะวันนี้คนไทย-โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ กำลังใจจดใจจ่อกับคำขู่ เอ๊ยประกาศ "ปิดกรุงเทพฯ" ของม็อบกำนันเทือกอยู่

ถึงแม้จะพยายาม "ลดดีกรี" ลงหลังจากประกาศกร้าวไปหนแรกแล้ว "เรียกแขก" ให้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านได้ทั่วกรุงเทพฯ

แต่ก็ยังส่อนัย "กร้าว" อยู่ดี

เพราะที่ประกาศว่าจะยุบเวทีปราศรัยราชดำเนินแล้วไปปักหลักอยู่ตามสี่แยกใหญ่ๆ แทน จนกว่าจะชนะนั้น

ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่

แค่ปิดราชดำเนิน การจราจรการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน-ลูกเล็กเด็กแดงทั่วไป การค้าการขายของคนตัวเล็กตัวน้อยย่านนั้นก็ยับเยินอยู่แล้ว

กระจายไปแยกใหญ่ๆ ก็หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

ไอ้ที่ประกาศว่าจะทุบหม้อข้าวนั้น น่าสงสัยอยู่ว่าจริงๆ แล้วทุบหม้อข้าวใคร

ถ้าทุบหม้อข้าวตัวเอง แล้วจะเอาเงิน เอาสรรพกำลังจากไหนมาจัดเวทีขวางทางสัญจร ทางทำมาหากิน ทางเล่าเรียนของคนทั่วไป

แต่ถ้าทุบหม้อข้าวชาวบ้าน ไม่กลัวชาวบ้านกับชาวบ้านลุกขึ้นมาตีกัน ไม่ว่าจะด้วยความเหลืออด อุบัติเหตุ หรือความจงใจบ้างหรือ

ถ้าประเมินแล้วยังทำ

ต้องถามว่าท่านอยากได้อะไร ถึงขนาดเอาชีวิตคนอื่นไปเป็นเดิมพัน

ถ้ายิ่งใหญ่ขนาดนั้น ไม่สละชีวิตตัวเองให้ดูก่อนหรือ?

ที่มา:มติชนรายวัน
-----------------------------------