อีกไฮไลท์ที่น่าสนใจของการอภิปรายร่างพรบ.งบประมาณปี2557 ในวันนี้ก็คือการตอบโต้ระหว่างร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กรณีการใช้งบประมาณสำหรับทำคดีพิเศษที่ส่อว่าจะเป็นการเลือกปฏิบั ติทางการเมือง
สถานการณ์ร้อนที่ว่าถูกจุดชนวนขึ้นโดย นายวัชระ เพชรทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่อภิปรายว่า การทำงานของดีเอสไอไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีคุณธรรม ไม่เที่ยงธรรม
คดีใหญ่ๆ เช่นคดีฆ่านายเอกยุทธ์ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดัง กลับไม่รับเป็นคดีพิเศษ แต่รับคดีการโพสต์ภาพของน.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งคดีเงินบริจาคเข้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ซึ่งนายธาริตต้องการเอาใจรัฐบาล
จากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิงชี้แจงว่า การรับคดีใดเป็นคดีพิเศษ ไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ต้องมีการตรวจสอบ และมีพยานหลักฐาน ถ้ามีหลักฐานเพียงพอก็สั่งเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ที่ผ่านมาตนทำหน้าที่เป็นประธานมา 2 ปี มีการรับคดี 98 ศพ มาเป็นคดดีพิเศษ ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนกลั่นแกล้ง ทั้งที่เวลานี้อัยการดำเนินการสั่งฟ้องแล้ว ไม่มีใครแกล้งใคร และไม่มีนักการเมืองคนไหนสามารถจะแกล้งพรรคประชาธิปัตย์ได้ การเมืองไม่มีใครกลัวใคร ไอ้ที่พูดคือพวกไม่รู้ภาษา อย่ามากล่าวหาว่าพวกตนกลั่นแกล้ง
ทำให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงว่า เป็นการกล่าวคำเท็จในสภาฯ ที่บอกว่า อัยการสั่งฟ้องคดี 98 ศพ นั้น ข้อเท็จจริงดีเอสไอได้สั่งฟ้อง แต่อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้อง ร.ต.อ.เฉลิม จึงลุกขึ้นโต้ว่า ดีเอสไอได้สั่งฟ้องแล้ว
นายสุเทพ ลุกขึ้นโต้อีกว่า ก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปพบอัยการ ก็มีการชี้แจงว่ายังพิจารณาไม่เสร็จ จึงเลื่อนนัดพิจารณาไปเป็นวันที่ 26 ส.ค.นี้ การที่ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่ารู้ล่วงหน้า ทำให้เคลือบแคลงใจว่ารู้ได้อย่างไร หรือฝ่ายการเมืองจะข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ หรือแอบสั่งการอัยการไว้แล้ว หากเป็นเช่นนี้ตนก็จะดำเนินการอีกคดีหนึ่ง
ทำให้ ร.ต.อ.ฉลิม ลุกขึ้นตอบโต้ว่า ถ้านักการเมืองคนไหนไปสั่งให้ดีเอสไอสอบสวนคดีนี้ ขอให้นักการเมืองคนนั้นวิบัติ และคณะกรรมการไม่ตั้งในสมัยตน ตั้งในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการจัดการกับคนเสื้อแดง มันอุบาทว์ ทำให้นายสุเทพ ลุกขึ้นประท้วงว่าใช้คำหยาบในสภาฯ และขอให้ประธานสั่งให้ ร.ต.อ.เฉลิม ถอนคำพูด แต่ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ยอมถอน ทำให้ นายเจริญ ต้องสั่งให้ ร.ต.อ.เฉลิม ออกจากห้องประชุม
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิงว่า คดี 98 ศพ ยังไม่มีการดำเนินคดี ที่ผ่านมา เป็นคดีที่ตนเองและนายสุเทพ ถูกดีเอสไอดำเนินคดี เป็นการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง และด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ ที่เสียชีวิตในช่วงการชุมนุม ซึ่งก็ต้องไปสืบสวนหาข้อเท็จจริงในรายละเอียด จากนั้นนายเจริญ ได้ไกล่เกลี่ยให้เข้าสู่การอภิปรายต่อไป
การอภิปรายของ ร.ต.อ.เฉลิม ยังสร้างความไม่พอใจ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังลุกขึ้นประท้วงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะทำอะไรใครก็ได้
อย่างไรก็ตาม นายเจริญ ได้พยายามควบคุมให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเชิญ ร.ต.อ.เฉลิม ออกนอกห้องประชุม ให้การอภิปรายอยู่ในประเด็นโดยไม่กล่าวหาพาดพิงบุคคลอื่น ซึ่งกรณีดีเอสไอ จะรับเรื่องใดเป็นคดีพิเศษ ก็ขอให้เป็นอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอเอง
ทั้งนี้ เมื่อไม่สามารถยุติความวุ่นวายได้ จึงเชิญร.ต.อ.เฉลิม ออกนอกห้องประชุมเพื่อทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง แต่ก็ยังมีการประท้วงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับงบประมาณในมาตรา 18 ของกระทรวงยุติธรรมที่เกิดการถกเถียงกันอย่างหนัก โดยเฉพาะงบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งถูกจับตามองว่าเป็นไปเพื่อทำงานรับใช้ฝ่ายการเมืองหรือไม่
มาตรา ๑๘ งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานในกำกับ ให้ตั้งเป็นจำนวน ๑๙,๗๓๕,๔๕๒,๘๐๐ บาท จำแนกดังนี้
๑. สานักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมรวม ๖๘๐,๕๒๗,๖๐๐ บาท
๒.กรมคุมประพฤติ ๑,๘๒๔,๖๙๐,๙๐๐ บาท
๓.กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ๔๘๖,๙๐๕,๑๐๐ บาท
๔.กรมบังคับคดี ๘๕๔,๕๗๑,๐๐๐ บาท
๕.กรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ๑,๖๖๗,๘๒๕,๑๐๐ บาท
๖.กรมราชทัณฑ์ ๙,๗๕๗,๓๒๙,๙๐๐ บาท
๗.กรมสอบสวนคดีพิเศษ ๑,๐๘๘,๗๒๐,๕๐๐ บาท
๘.สำนักกิจการยุติธรรม ๑๘๑,๓๘๓,๗๐๐ บาท
๙.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ๒๖๖,๘๖๖,๖๐๐ บาท
๑๐. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ๒,๕๒๒,๔๒๘,๔๐๐ บาท
๑๑.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทำทุจริตภาครัฐ ๒๗๑,๙๕๔,๕๐๐ บาท
๑๒. สถาบันอนุญาโตตุลาการ ๒๓,๑๖๒,๐๐๐ บาท
๑๓.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ๑๐๙,๐๘๗,๕๐๐ บาท
กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัด กระทรวงยุติธรรม เพื่อป้องกัน ปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
กรมสอบสวนคดีพิเศษก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Department of Special Investigation มีชื่อย่อว่า DSI
กรมสอบสวนคดีพิเศษมีบทบาทภารกิจดังต่อไปนี้
ป้องกัน ปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
พัฒนา กฎหมาย กฎระเบียบ รูปแบบ วิธีการ และมาตรการในการป้องกัน ปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
พัฒนาโครงการและการบริหารจัดการองค์กร
พัฒนาบุคลากรโดยเสริมสร้างศักยภาพในด้าน ความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม และขวัญกำลังใจ
ประสานส่งเสริมเครือข่าย ความร่วมมือในการป้องกัน ปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมกับทุกภาคส่วนทั้งภายในและต่างประเทศ
ที่มา.คอลัมน์ : เจาะข่าวร้อนล้วงข่าวลึก
///////////////////////////////////////////////////////////////////////