--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ศราวุธ พ้น อคส. พาณิชย์โชว์คืนเงินข้าว !!?


บอร์ด อคส.มีมติเลิกจ้าง ผอ.ศราวุธ มีผล 20 ก.พ.  อ้างคะแนนประเมินต่ำ ซ้ำถูกสอบทุจริตหอมแดง สนองจำนำข้าวล่าช้า กรมการค้าต่างประเทศโชว์คืนเงินค่าข้าวแล้ว 6.5 หมื่นล้านบาท
   
พ.ต.ท.ไพโรจน์ ปัญจประทีป ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด อคส.มีมติให้เลิกจ้าง พ.ต.ท.ศราวุธ สกุลมีฤทธิ์ ผู้อำนวยการ อคส. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.2556 เป็นต้นไป
   
เนื่องจากบอร์ดเห็นว่า พ.ต.ท.ศราวุธไม่มีความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อน อคส.ได้อย่างเพียงพอ และในการประเมินผลการทำงาน 2 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งแรกได้คะแนนต่ำกว่าครึ่ง ถือว่าสอบตก แต่บอร์ดให้โอกาสในการทำงานต่อ และการประเมินครั้งที่ 2 ได้คะแนนสูงขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คือ 2.79  จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งควรจะได้ไม่ต่ำกว่า 3 คะแนน นอกจากนี้ คะแนนที่เพิ่มขึ้นมาจากการเข้าไปช่วยทำงานโดยบอร์ดด้วย
   
ทั้งนี้ บอร์ดเห็นว่า พ.ต.ท.ศราวุธยังมีปัญหาในการบริหารงานที่มีข้อกล่าวหาว่าทุจริต โดยเฉพาะการดำเนินโครงการรับจำนำหอมแดง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งยังบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่มีปัญหาความล่าช้า คือกรณีการไม่สั่งสีแปรสภาพข้าวที่ จ.สุโขทัย
   
สำหรับผลประกอบการของ อคส.ในปี 2555 กลับมามีกำไรเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยมีกำไรประมาณ 400 ล้านบาท จากการดำเนินโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรของรัฐบาล  รวมถึงการทำธุรกิจทั่วไปของ อคส. ทั้งการจำหน่ายข้าวสารถุง ให้เช่าคลังสินค้า ทำให้มีผลขาดทุนสะสมลดลงเหลือเพียง 30-40 ล้านบาท และคาดว่าจะล้างขาดทุนสะสมหมดภายในปีนี้
   
นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะกรรมการ อคส. กล่าวว่า เฉพาะการขายข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ได้คืนเงินให้กับกระทรวงการคลังไปแล้ว 5.2 หมื่นล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ได้ทยอยส่งไปแล้ว 2 ครั้ง ช่วงปลายเดือน ม.ค. 1.2 หมื่นล้านบาท และต้นเดือน ก.พ.อีก 1.5 พันล้านบาท รวมทั้งหมดได้ส่งเงินคืน 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนที่ได้ตั้งเป้าไว้ เพราะอยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบข้าว.

ที่มา.ไทยโพสต์
/////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ธกส. : ธรณีกรรแสง !!?


เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ระบายข้าวไม่ได้ ขายไม่ออก เก็บล้นสต็อก เน่าบ้าง ไฟไหม้บ้าง ฯลฯ

ไม่มีเงินไหลเข้ามาให้ใช้ในโครงการจำนำข้าวเหมือนที่คุยโวเอาไว้ ความซวยก็มาตกที่ ธ.ก.ส. หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

1. ฝ่ายการเมืองพยายามจะดึงเงินของ ธ.ก.ส. มาถลุงในโครงการจำนำข้าวเพิ่มขึ้นอีกกว่า 60,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรับจำนำข้าวฤดูการผลิตนาปรัง 2555/2556 ต่อไปได้

อาการของโครงการับจำนำข้าวเวลานี้ลักษณะคล้ายคนหน้ามืด เงินขาดมือ แถมหนี้สินล้นพ้นตัว

 2. นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ออกมาสารภาพว่า การรับจำนำข้าวนาปรังที่จะเริ่มในเดือน เม.ย.นี้ จะใช้เงินประมาณ 150,000 ล้านบาท กำลังดูว่าจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ลำพังสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 190,000 ล้านบาท ต้องใช้ในการดำเนินการปกติทั่วไปของธนาคารประมาณ 160,000 ล้านบาท จึงสามารถจะแคะกระปุกออกให้ใช้ในโครงการจำนำข้าวเพิ่มได้เต็มที่ 20,000 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้บริหาร ธ.ก.ส. ยืนยันว่า  “ธนาคารต้องพิจารณาว่าการใช้สภาพคล่องของธนาคารจะต้องไม่กระทบการดำเนินงานปกติของธนาคาร ดังนั้น ส่วนที่ขาดรัฐบาลต้องดำเนินการกู้ หรือเร่งระบายข้าว เพื่อนำเงินมารับจำนำข้าวรอบใหม่”

แต่ปัญหาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ ขายข้าวไม่ออก และได้กู้+ค้ำประกันเงินกู้จนเกือบจะทะลุเพดานไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถไปค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจอื่นๆ ได้อีกเลย

ที่เป็นห่วงกันเวลานี้ คือ กลัวว่าฝ่ายการเมืองจะเข้าไปบีบ กดดัน แทรกแซง หรือบังคับให้ ธ.ก.ส.เอาสภาพคล่องที่ต้องใช้ดำเนินการทั่วไปของธนาคารนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนี้เอาจนได้

ถ้าทำสำเร็จ จะต่างอะไรกับ “ปล้น ธ.ก.ส.”?

 3. เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพิ่งจะใช้อำนาจแต่งตั้งบอร์ด ธ.ก.ส.ล็อตใหญ่ ได้แก่ นายมนัส แจ่มเวหา ผู้แทนกระทรวงการคลัง, นายสมชาย ชาญณรงค์กุล ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์, นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ผู้แทน สปก., นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้แทนแบงก์ชาติ, นายประยูร รัตนเมธางกูร ผู้แทนสหกรณ์การเกษตร, นายสมหมาย กู้ทรัพย์, นายธนรัชต์ วิเชียรรัตน์, นายวีรพล ปานะบุตร, นายวศิน ธีรเวชญาณ, นายวิรัติ ศักดิ์จิรพาพงษ์, นายทวีป ตันพิพัฒนกุล และนายยรรยง พวงราช อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

รายชื่อเหล่านี้ หลายคนถูกมองว่าเป็นคนในเครือข่าย อาทิ นายยรรยง เคยแก้ตัวเรื่องของแพงทั้งแผ่นดินสุดลิ่ม, นายสมหมาย ทนายของครอบครัว ร.ต.อ.เฉลิม คดีดาบยิ้ม, นายวศิน เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ยุครัฐบาลสมชาย, นายวิรัติ อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคไทยรักไทย เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงถูกมองว่า รบ.พยายาม “กระชับพื้นที่”

เพื่ออะไร...

จะเกี่ยวข้องกับการพยายามบีบเอาเงิน ธ.ก.ส. หรือจะควบคุมการดำเนินการของ ธ.ก.ส. มิให้แข็งข้อ หรือมิให้แพร่งพรายความเสี่ยหายที่อาจจะเกิดจากนโยบายของรัฐบาลหรือไม่?

 4. ที่น่ากลัวที่สุด คือ ถ้า ธ.ก.ส. ถูกดึงเข้าไปติดหล่มจำนำข้าว หายนะจะไปตกแก่เกษตรกรไทยทั่วประเทศที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจาก ธ.ก.ส.หลายล้านคน (มากกว่าจำนวนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว)

หาก ธ.ก.ส.ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถดำเนินการตามปกติ จะเป็นอย่างไร? ใครเดือดร้อน... เกษตรกร

อย่าลืมว่า ขณะนี้ ธนาคารของรัฐอย่างน้อย 2 แห่ง คือ ธนาคารอิสลาม และเอสเอ็มอีแบงก์ ต่างแบกภาระหนี้เสียแห่งละกว่า 40,000 ล้านบาท ต้นเหตุสำคัญก็มาจากนโยบายหรือการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง

เรื่องที่ ธ.ก.ส.จะเกิดปัญหาจากอำนาจการเมือง เกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย

และเมื่อนั้น ธ.ก.ส. จะกลายเป็น “ธรณีกรรแสง” ทำให้เกษตรกรร้องไห้ทั้งแผ่นดิน!

5. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยวิพากษ์วิจารณ์ ตักเตือน และแนะนำเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวหลายครั้ง

ประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับ ธ.ก.ส. อาจารย์นิพนธ์เคยเตือนไว้ก่อนแล้วว่า

ถ้ารัฐบาลขายข้าวไม่ได้ รัฐบาลก็ไม่ได้คืนเงิน ธ.ก.ส. และถ้า ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดเมื่อจะไปกู้เงินในตลาดดอกเบี้ยต้องแพงขึ้น รัฐบาลก็ไม่ค้ำประกันแล้ว ธ.ก.ส.ต้องจ่ายชำระเอง ค่ารับประกันเอง หากกู้เงินมาเข้าโครงการรับจำนำ แล้วรัฐบาลขายข้าวไม่ได้ ท้ายที่สุด ธ.ก.ส.ก็จะมีปัญหาขาดสภาพคล่อง สิ่งที่จะตามมาคืออัตราดอกเบี้ยที่จะกู้ในตลาดจะสูงขึ้น จะกลายเป็นผู้กู้ประวัติไม่ดี ถ้าสภาพคล่องมีปัญหารุนแรงขึ้น จะกระทบเกษตรกร 90% ของครัวเรือนที่กู้เงินจาก ธ.ก.ส. หากวันหนึ่งสภาพคล่องขาดสะดุด ธ.ก.ส.ก็จะไม่มีเงินกู้ให้แก่เกษตรกรในการทำการผลิต นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่การดำเนินนโยบายไปดันประเทศและหน่วยงานต่างๆ ไปสู่สภาวะที่เสี่ยงมากขึ้นทุกที..”.

นอกจากนี้ อาจารย์นิพนธ์ยังเคยท้าด้วยซ้ำว่าโครงการรับจำนำข้าวแบบนี้ไม่สามารถทำได้ตลอดไป และประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤติเข้าสักวัน

เวลานี้รัฐบาลรู้ดี เพราะมีข้อมูลทุกวัน ขึ้นอยู่กับว่าจะลงจากหลังเสืออย่างไรเท่านั้นเอง

ทีมา:นสพ.แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////////////////////////

มติ 6 ต่อ 1 กนง. คงดอกเบี้ย นโยบายที่ระดับ 2.75%


ตามคาด กนง. มีมติคง ดบ.นโยบายที่ระดับ 2.75% ด้วยเสียง 6 ต่อ 1 โดยมองว่าอัตรา ดบ. ปัจจุบัน ยังเหมาะสมกับ ศก. ขณะที่ ศก.โลกมีเสถียรภาพดีขึ้น แต่แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ย้ำมีการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายใกล้ชิด พร้อมดำเนินการใช้นโยบายเหมาะสม
     
       รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% ในการประชุมวันนี้ (20 ก.พ.) ด้วยเสียง 6 ต่อ 1 โดยมติของ กนง. ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน นอกจากนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์
     
       นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไปเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
     
       เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน โดยเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศ และแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้น ขณะที่แนวโน้มการบริโภค และการลงทุนของสหรัฐฯ ยังขยายตัว และหากเป็นไปต่อเนื่องก็จะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรยังคงหดตัว และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีปัญหาด้านการขยายตัว แต่มาตรการกระตุ้นทางการเงินการคลังน่าจะช่วยรองรับไม่ให้เศรษฐกิจหดตัว และมีเสถียรภาพขึ้นในระยะต่อไป แม้ในภาพรวม เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่จากความยืดเยื้อในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโร และความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ
     
       เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขยายตัวดีกว่าคาด โดยมีการใช้จ่ายในประเทศเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี รวมทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่ยังคงผ่อนคลาย ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและสูงกว่าที่คณะกรรมการฯ ประเมินไว้เดิม โดยอุปสงค์ภายในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก รวมทั้งการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้างจากการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น
     
       คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินจากการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี
     
       โดยกรรมการ 1 ท่าน เห็นสมควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้าย และเห็นว่า เศรษฐกิจในภาพรวมยังมีความเปราะบาง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน และสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา.ผู้จัดการ
///////////////////////////////

แก้หนี้เน่าไอแบงก์ คลังสางปมช้า...ปัญหายิ่งลุกลาม !!?


ในความเหมือนกันของวิกฤตหนี้เน่าที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ "เอสเอ็มอีแบงก์" กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ "ไอแบงก์" ซึ่งต้นตอของปัญหามาจากการถูกเข้าไปล้วงลูกโดยกลุ่มคนการเมือง ขณะที่คนในก็ฉกฉวยช่องหาผลประโยชน์ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้กับพวกพ้องส่งผลให้แบงก์เอสเอ็มอีกับแบงก์อิสลามฯมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท แยกเป็นหนี้

เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีแบงก์ 3.9 หมื่นล้านบาท จากยอดปล่อยสินเชื่อรวม 9 หมื่นล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลของไอแบงก์อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะมีหนี้เสีย 2.4 หมื่นล้านบาท จากยอดปล่อยสินเชื่อรวม 1.2 แสนล้านบาท เทียบฟอร์มกันแล้ว ตกที่นั่งลำบากพอ ๆ กัน แต่หากเจาะลงลึกจะเห็นว่าในความเหมือนกันมีความแตกต่างที่นำมาซึ่งวิกฤตของทั้ง 2 แบงก์

 ไม่แปลกที่แผนแก้หนี้เสียโดยนำเอสเอ็มอีแบงก์กับแบงก์อิสลามฯเข้าควบรวมกับธนาคารออมสิน ซึ่งสถานะทางการเงินค่อนข้างแข็งแกร่ง มีสินทรัพย์รวมแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท สินเชื่อรวม 1.5 ล้านล้านบาท แต่มีหนี้เสียน้อยมากเพียงแค่ 0.9% ถูกเก็บเข้าลิ้นชักตั้งแต่ต้น

คลังขีดเส้นตาย 2 เดือนคลอดแผนฟื้นฟู

โดยเฉพาะธนาคารอิสลามฯ หรือไอแบงก์นั้น หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าตรวจสอบหลายครั้ง และพบว่าปัญหาหลักที่ทำให้มีหนี้เสียมโหฬารมาจากการปล่อยสินเชื่อหละหลวม ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง ธปท.ได้รายงานถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวให้กระทรวงการคลังทราบเป็นระยะ ๆ ล่าสุด นอกจากมีการแต่งตั้งคณะทำงานเข้าไปตรวจสอบแล้ว กระทรวงการคลังยังกำหนดเส้นตายให้ไอแบงก์เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูการดำเนินการ และแผนปฏิบัติการ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน พร้อมกับขู่ว่าหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ หรือแผนที่จัดทำขึ้นไม่มีความชัดเจน ก็จะเข้าควบคุมกิจการ

ปัญหาลามลูกหนี้ดี-NPL พุ่งขึ้นอีก

ที่น่าห่วงคือ ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบในเชิงลึกเกี่ยวกับรายละเอียดในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายที่มีปัญหาซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ กระแสเงินฝากของไอแบงก์ยังไกลออกตลอดเวลา เป็นผลมาจากลูกค้าจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลและไม่มีความมั่นใจ ขณะเดียวกันในส่วนของลูกค้าที่ยื่นขอสินเชื่อก็เริ่มประสบปัญหา จากที่ผู้บริหารไอแบงก์มีนโยบายหยุดปล่อยสินเชื่อเพื่อตรวจสอบเข้ม ผลคือลูกค้าเก่าที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว แม้จะเป็นลูกหนี้ดีก็ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่างวดได้ ส่งผลกระทบถึงการทำธุรกิจ และเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับลูกค้ารายใหม่ที่ถูกดึงเรื่องการยื่นขอ

สินเชื่อตรวจสอบซ้ำ จนเกิดความล่าช้าทั้งกระบวนการ น่าห่วงอย่างยิ่งว่าหากกระทรวงการคลังในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแบงก์เฉพาะกิจของรัฐไม่เร่งดำเนินการ ยอดหนี้เสียที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 30% ของสินเชื่อรวมจะขยับเพิ่มขึ้นจนถึงจุดวิกฤต

อดีตขุนคลังแนะควบรวมแบงก์กรุงไทย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง เสนอความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้เสียธนาคารอิสลามฯ โดยระบุว่า กระทรวงการคลังมีทางเลือก 2 ทาง ทางที่หนึ่ง คือให้ทำธุรกิจนี้ต่อไปเป็นอิสระ ซึ่งถ้าเลือกแนวทางนี้ กระทรวงการคลังก็ต้องเพิ่มทุนให้ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากใส่ทุนเข้าไปเฉย ๆ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องตีกรอบการทำงานให้แคบลงด้วย

มิฉะนั้น อีกไม่นาน ธนาคารอิสลามฯก็จะมีฐานะทรุดลงเช่นเดิมอีก จะต้องมีการเพิ่มทุนอีกครั้งแล้วครั้งเล่า และเงินที่ใช้แก้ปัญหา ก็คือเงินภาษีอากรของพวกคนไทยทุกคน

"ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ผมได้มีหนังสือแจ้งธนาคารอิสลามฯ กำหนดเป็นนโยบายให้ธนาคารอิสลามฯกลับไปเน้นทำธุรกิจตามวัตถุประสงค์เดิม แต่หนังสือดังกล่าว เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบถึงนโยบาย ไม่มีผลเป็นกฎหมาย หาก รมว.คลังคนใหม่ไม่เห็นด้วย ก็สามารถยกเลิกได้"

ดังนั้นแนวทางที่ถูกต้อง จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อตีกรอบการทำงานของธนาคารอิสลามฯ โดยให้กู้เฉพาะกับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหามิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ที่สำคัญควรจะกำหนดนโยบาย เพื่อแก้ไขกฎหมายเสียก่อน จึงเพิ่มทุนทางเลือกที่สอง คือควบรวมแบงก์อิสลามฯเข้ากับธนาคารกรุงไทย โดยรัฐชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคารกรุงไทย

วิธีนี้จะเสียเงินครั้งเดียว เพราะธนาคารกรุงไทยมีระบบการบริหารที่รัดกุม จะสามารถป้องกันปัญหามิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยก็เคยมีแผนกพิเศษ ที่จะให้กู้แบบอิสลามอยู่แล้ว การที่ธนาคารกรุงไทยจะสางต่อธุรกิจนี้ จึงน่าจะทำได้

อดีต รมว.คลังยังชี้ว่า ในส่วนของธนาคารอิสลามฯนั้น วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นก็เพื่อให้สินเชื่อธุรกิจของลูกค้าที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่ามีการปล่อย

สินเชื่อให้กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก ปล่อยกู้ให้กับคนอิสลามจริง ๆ เพียงแค่ 3% ของยอดปล่อยสินเชื่อรวมเท่านั้น อีก 60% เป็นการทำธุรกิจแข่งขันกับการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งน่าจะผิดวัตถุประสงค์หลัก

สอดคล้องกับความเห็นของ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีต รมว.คลัง ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้ ธปท.เข้ามากำกับดูแลธนาคารอิสลามฯโดยตรง เพราะที่ผ่านมาแม้กระทรวงการคลังจะให้ ธปท.เข้าไปตรวจสอบ แต่ ธปท.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใด ๆ ต้องส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังดำเนินการ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาล่าช้าเพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย

คลังส่ง สศค.-สคร.สางปัญหา

สำหรับความเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหาและหาแนวทางฟื้นฟูธนาคารอิสลามฯ ล่าสุด กระทรวงการคลังได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้าตรวจสอบ และติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหนี้เสียของทั้งเอสเอ็มอีแบงก์และไอแบงก์ โดยในส่วนของไอแบงก์ขณะนี้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ติดลบ 5% มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มทุนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ บีไอเอสติดลบ 0.95% ต้องเพิ่มทุนราว 6 พันล้านบาท

ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าวจะหารือกับผู้บริหารของทั้ง 2 สถาบันการเงิน และรายงานความคืบหน้าเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล และนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังโดยตรง ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังก็มีแผนจะปรับเปลี่ยนคณะกรรมการของไอแบงก์บางส่วนด้วย เพราะจากการตรวจสอบพบว่าบอร์ดบางคนเกี่ยวโยงกับการปล่อยสินเชื่อที่เป็นหนี้เสียด้วย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของไอแบงก์ เวลานี้กระทรวงการคลังได้ส่งทีมเข้าไปดูแลการบริหารแผนฟื้นฟูรายวัน ยังจะให้ นายธานินทร์ อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการไอแบงก์ จ้างทีมที่ปรึกษามาช่วยดูเรื่องการปล่อยสินเชื่อด้วย โดยเฉพาะการประเมินปล่อยกู้ และการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะให้เวลาไอแบงก์ดำเนินการตามแผนฟี้นฟูกิจการให้เสร็จเรียบร้อยภายในเวลา 6 เดือน จากนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณาว่าจะเพิ่มทุนให้หรือไม่ และหากไม่สามารถเพิ่มทุนให้ได้จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะนอกจาก

ไอแบงก์แล้ว กระทรวงการคลังยังต้องเพิ่มทุนให้เอสเอ็มอีแบงก์อีกแห่งหนึ่ง รวมแล้วต้องใช้เงินเพิ่มทุนทั้งหมดราว 2 หมื่นล้านบาท

ผลจะออกมาอย่างไร สามารถฟื้นสถานะไอแบงก์ให้กลับมาดีดังเดิมได้หรือไม่ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////

จากกบฎ ถึงรองนายกฯ หนั่นป่าลั่น.. จบตำนานปรองดอง !!?


ในชีวิตคนเรามักต้องการที่จะเป็น“ที่ 1” ต้องการที่จะเป็น “คนแรก” แต่ในชีวิตจริง มีกี่คนที่ได้เป็นอย่างที่หวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนถนนการเมือง

ถ้ารับราชการ อาจจะหวัง หรือพอจะคาดเดาได้ว่าหากไม่ไปสะดุดตาปลาใคร หรือไม่มีใครเหาะข้ามหัว โอกาสที่จะได้เป็นระดับ 11 เป็นระดับปลัดกระทรวงที่ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการประจำ
แต่บนถนนการเมืองแล้วไม่ใช่เลย คนบางคนเวียนว่ายอยู่ในถนนการเมืองมาชั่วชีวิต แต่ไปไม่ถึงไหน บางคนกว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโน ในขณะที่บางคนเพิ่งลงสนามการเมืองเพียงไม่ถึงปี กลับได้เป็นนายกรัฐมนตรีเสียแล้ว

นี่คือถนนการเมือง นี่คือ สีสันการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองแบบไทย
วันนี้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หลายสมัยหลายรัฐบาล แถมยังผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายครั้งหลายเก้าอี้ ได้ถึงแก่กรรมลงไปด้วยอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีมนุษย์คนใดหนีพ้น แต่เป็นการปิดฉากชีวิต ที่คงเหลือไว้ซึ่ง “ตำนานการเมือง” ที่เชื่อว่ายากจะมีใครลบสถิติได้
พล.ต.สนั่น เป็นกบฎยังเติร์ก รุ่นแรก ที่สังเวยความกล้าหาญทางการเมืองด้วยการถูกจำคุก
พล.ต.สนั่น เป็นผู้ที่ได้รับฉายา “ผู้จัดการรัฐบาล” เป็นคนแรกในแวดวงการเมืองไทย จากปฏิบัติการ “งูเห่า” สะท้านสภา

พล.ต.สนั่น เป็นนักการเมืองคนแรกที่ถูกจำคุกทางการเมือง 5 ปี ด้วยการเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง
พล.ต.สนั่น เป็นนักการเมืองคนแรกที่ออกมาเสนอตัวทำภารกิจปรองดอง เพราะห่วงใยสถานการณ์หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา 49 แล้วเรื่องไม่จบ จนบ้านเมืองแบ่งแยกแตกขั้วอย่างรุนแรง
ไม่ธรรมดาเลยสำหรับนักการเมืองคนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งชีวิตและผลงานเช่นนี้

ในแง่ของตำแหน่งทางการเมือง พล.ต.สนั่น เป็นรองนายกฯ มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ
เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ชื่อของ พล.ต.สนั่น ปรากฏเข้ามาในแวดวงการเมือง เมื่อครั้งเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ที่มีความพยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี จาก พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ แต่ไม่สำเร็จ พล.ต.สนั่น ซึ่งในขณะนั้นมียศเป็น พันโท ได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏด้วย
ภายหลัง เมื่อถูกจับ ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตร่วมกับผู้ก่อการคนอื่น ๆ แต่ภายหลังทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกัน

ซึ่งเชื่อกันว่าเรื่องนี้เองที่ทำให้ พล.ต.สนั่น เป็นคนแรกที่ออกมาพูดเรื่องการปรองดอง
เพราะหากกรณีกบฐ 26 มีนาคม 2520 มีการเล่นกันแรงเล่นกันไม่เลิกเหมือนกรณีรัฐประหาร 19 กันยา 49 ก็ไม่รู้ว่า เสธงหนั่น จะต้องติดคุกกี่ปีกันแน่

ผลจากการติดคุกเพราะเหตุทางการเมือง ทำให้ไม่เพียงได้รู้จักสนิทสนมกับ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร แล้ว ยังทำให้ เสธ.หนั่น ได้ตัดสินใจเลือกเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองในเวลาต่อมาด้วย
และทำให้มีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในตำนานการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเดินเกมที่แหลมทางการเมืองที่แม้แต่ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้วายชนม์ ซึ่งก็เป็นอดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน ยังนึกไม่ถึง และพลาดท่าทางการเมืองมาแล้ว
จากกรณี กบฏงูเห่า อันโด่งดัง

ช่วงนั้นเป็นช่วงปลายปี พ.ศ. 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ถูกแรงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี จากการลดค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ขณะนั้นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย พรรคกิจสังคม ตกลงจะสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา อดีตนายกรัฐมนตรี ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แต่ทางพรรคฝ่ายค้านที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ และมีจำนวน ส.ส. น้อยกว่าพรรคความหวังใหม่เพียง 2 เสียง ก็มีความพยายามที่จะช่วงชิงการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยเช่นกัน

วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 นายเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ได้จัดแถลงข่าว ยืนยันการจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ชั้นล่างของทำเนียบรัฐบาล แต่ในเวลาเดียวกัน พล.ต.สนั่น ในฐานะ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็เปิดแถลงข่าว เรื่องการตั้งรัฐบาลด้วย โดยมีเสียงสนับสนุนจากพรรคกิจสังคมของ นายมนตรี พงษ์พานิช ที่ย้ายฟากมาแบบกะทันหัน
ที่สำคัญมีตัวแปรพิเศษคือ ส.ส. พรรคประชากรไทย จำนวน 12 คน นำโดย นายวัฒนา อัศวเหม และ นายฉลอง เรี่ยวแรง ที่เข้าร่วมสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่หัวหน้าพรรคประชากรไทย คือ นายสมัคร ไม่ทราบมาก่อนและยังสนับสนุนฝ่าย พล.อ.ชาติชาย ทำให้สถานการณ์พลิกกลับอย่างรวดเร็ว
กลายเป็นเสียงทางฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่า และทำให้นายชวน หลีกภัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ในที่สุด

หลังเหตุการณ์ นายสมัคร ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า ตนเองเป็นเหมือนชาวนาในนิทานอีสป เรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” เนื่องจาก ส.ส. ทั้ง 12 คน โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา ซึ่งเดิมสังกัดพรรคสามัคคีธรรม แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ไม่มีพรรคใดรับเข้าสังกัด สุดท้ายพรรคประชากรไทย ที่นายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค อ้าแขนรับให้เข้าพรรค แต่กลับมาเนรคุณเหมือนงูเห่าในนิทานนั่นเอง
การรวบรวมเสียง ส.ส. จนสามารถสนับสนุน นายชวน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ได้สำเร็จครั้งนี้ ทำให้ พล.ต.สนั่น ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะผู้มีเหลี่ยมคูทางการเมือง และเป็นกรณีศึกษาหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
และถูกเรียกขานเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล”เป็นคนแรกของเมืองไทย

เพราะความเหนือชั้นในเกมการเมือง ทำให้ พล.ต.สนั่น หนีไม่พ้นที่จะตกเป็นเป้าหมายทางการเมืงอด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากนั้นไม่นานนายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.จังหวัดขอนแก่น พรรคความหวังใหม่ ได้เปิดเผยข้อมูลระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรีสนั่น ว่า พลตรีสนั่น แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยระบุว่ามีการกู้ยืมเงินจำนวน 45 ล้านบาท จากบริษัท เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส ทั้งที่ไม่มีการกู้ยืมจริง

แล้วก็เป็น นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชนในขณะนั้น ได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จนคดีเข้าสู่ กระบวนการทางกฎหมาย สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ว่า พล.ต.สนั่น มีความผิด ฐานจงใจแสดง บัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 295
จึงพิพากษาให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี!!!

ผลจากการถูกดำเนินคดีทางการเมือง พล.ต.สนั่น ต้องลาออกจากตำแหน่ง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นมายาวนานถึง 13 ปี

เมื่อพ้นโทษแบนทางการเมือง พล.ต.สนั่น ไม่ได้กลับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไปก่อตั้ง พรรคมหาชน ขึ้น โดยมี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 และต่อมา พล.ต.สนั่น ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550 พล.ต.สนั่น พร้อมด้วย นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ บุตรชาย และสมาชิกพรรคมหาชน ได้ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย ด้วยเหตุผลว่ากฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันไม่เอื้อต่อการดำเนินงานของพรรคการเมืองขนาดเล็ก จึงปิดฉากพรรคมหาชนไป
พล.ต.สนั่น กลับมามีบารมีทางการเมืองอีกครั้ง ด้วยการเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายสมัคร และรัฐบาลนายสมชาย และรัฐบาลนายอภิสิทธ์

และเป็น พล.ต.สนั่น นี่เอง ที่ได้จุดประกายความคิดเรื่องการปรองดองทางการเมืองขึ้นมาเป็นคนแรก และพยายามที่จะสานภารกิจ แต่เพราะการแบ่งแยกแตกขั้วที่รุนแรง แถมยังมีการมุ่งทำลายล้างกันในทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย จึงทำให้ พล.ต.สนั่น เองก็ยังบอบช้ำจากสถานการณ์ไปด้วย

ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 พล.ต.สนั่น ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมือง โดยขอยุติการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ยังคงพร้อมที่จะช่วยงานในส่วนของพรรค และงานการเมืองของประเทศต่อไป

ว่ากันว่าส่วนหนึ่งแม้จะเป็นเพราะปัญหาสุขภาพที่ เสธ.หนั่น จะต้องดูแลเพิ่มมากขึ้นแล้ว เรื่องบรรยากาศทำลายล้างกันทางการเมืองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ พล.ต.สนั่น ตัดสินใจล้างมือในอ่างทองคำ
แต่ก็ได้มีการาง ทายาททางการเมืองเอาไว้ นั่นคือ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ หรือ ลูกยอด ให้เข้ารับช่วงงานทางการเมืองสืบไป

วันนี้ พล.ต.สนั่น ปิดฉากชีวิตมังกรการเมืองไปสู่สุคติ โดยวิญญาณไปสู่สัมปรายภพแล้ว แต่สำหรับการเมืองไทย วิญญาณแห่งการปรองดองยังไม่รู้เลยว่าลอยล่องอยู่ตรงจุดไหน และสุดท้ายจะจบลงเช่นไร

ก็ได้แต่หวังว่าวิญญาณของเสธ.หนั่น จะช่วยให้การสานต่อภารกิจปรองดองเพื่อประเทศชาติ บรรลุความสำเร็จได้ในที่สุด

ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รัฐมนตรีพลังงาน:แถลงข่าวภาวะฉุกเฉินทางพลังงาน !!?


LOGO กระทรวงพลังงาน

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีกว่ากระทรวงพลังงาน ได้แถลงข่าวความพร้อมของการรับมือกับสถานการณ์ภาวะวิกฤติด้านพลังงาน ในช่วงแหล่งยาดานาหยุดซ่อมบำรุงจากปัญหาการทรุดตัวของแท่นผลิต ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายนนี้ โดยกล่าวว่า ได้มีการเจรจากับทางแหล่งผลิตก๊าซที่ยาดานาขอเลื่อนการปิดซ่อมบำรุงไปเป็นช่วง 12.00 น. ของวันที่ 5 เมษายน จากเดิมคือวันที่ 4 เมษายนซึ่งเป็นช่วงวันที่มีการใช้กำลังไฟฟ้าสูง และมีการสำรองการใช้ไฟฟ้าต่ำที่สุด โดยมีการสำรองไฟฟ้าอยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ (MW) ในวันนั้นซึ่งเป็นจุดที่เปราะบางในการบริหารจัดการไฟฟ้าภายในประเทศเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซยาดานาและเยตากุนเป็นแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติที่สำคัญที่่ไทยนำเข้าจากสหภาพพม่า โดยมีกำลังการผลิตที่ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือให้กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ (MW)

เนื่องจากกำลังไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินของประเทศ (Hot Standby) ในวันที่ 5 เมษายนลดลงมาต่ำที่สุดราว 600-700 เมกะวัตต์ ซึ่งตามปกติจำเป็นต้องอยู่ที่ขั้นต่ำราว 1,200 เมกะวัตต์  อาจส่งผลให้เกิดปัญหา ไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ (Brown Out) โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและภาคใต้บางพื้นที่  ขึ้นอยู่กับกำลังการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ของประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงวันที่ 5 เมษายน ซึ่งจะเป็นวันที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ และหลังจากวันที่ 5 เมษายนไปการใช้พลังงานไฟฟ้าจะลดลงตามสถิติที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นวันหยุดยาวของภาคธุรกิจและประชาชน

ดังนั้นเมื่อกำลังการผลิตไฟฟ้าหายไปราว 6,000 MW จึงจำเป็นต้องมีมาตรการจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาชดเชยในส่วนนี้ โดยอันดับแรกจะทำการทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไปโดยนำเอาน้ำมันเตาจำนวน 86 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซลจำนวน 47 ล้านลิตร เข้ามาทดแทนก๊าซที่หายไปจากระบบ พร้อมกับเพิ่มแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่น นั่นจะทำให้สามารถนำมาชดเชยไฟฟ้าในระบบได้ราว 4,500เมกะวัตต์ (MW) แต่ไฟฟ้ายังคงมีส่วนที่หายไปจากระบบราว 1,500 เมกะวัตต์ (MW)

นอกจากนี้ทางกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้โรงงานขนาดใหญ่ที่มีสัญญาการซื้อไฟรูปแบบ Interruptible Rate กับทางกฟผ.จำนวน 4 โรงได้แก่ โรงงานไทยอาซาฮี 1 โรง โรงงานปูนนครหลวง 2 โรง และโรงงานปิโตรเคมีของทีพีไอ 1โรง ให้ทำการลดการใช้ไฟฟ้าลงใน่ชวงวันที่ 5 เมษายนจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าราว 56 MW

และได้สั่งการจัดหาน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลมาทดแทนก๊าซธรรมชาติ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี 1,400 MW ดำเนินการให้โรงไฟฟ้าเก่าได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกงเดินการผลิตไฟฟ้า 2,000 MW โรงไฟฟ้าวังน้อย 300-400 MW รวมทั้งดึงจัดหาไฟฟ้าเพิ่มจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อน วชิราลงกรณ์ และจัดซื้อจากเพื่อนบ้านเพิ่มเติมคือ โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 และ โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2

ขณะที่ภาคขนส่งที่ต้องใช้ก๊าซ NGV ในช่วงวันที่ 5  -14 เมษายน ซึ่งมีการปิดซ่อมบำรุงไปแล้วจะยังมีก๊าซคงค้างในท่ออยู่ราว 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต และรวมกับก๊าซจากฝั่งตะวันออกจ่ายเข้ามาซึ่งจะสามารถนำมาผลิตก๊าซNGV สำหรับภาคขนส่งได้ราว 12 วัน

นี่จะเป็นปฐมบทของปัญหาพลังงานไทยในอนาคต นอกเหนือจากปัญหาแหล่งจ่ายก๊าซธรรมชาติจากเพื่อนบ้านซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่สำคัญซึ่งป้อนให้ภาคพลังงานของไทยที่ผ่านมา  โดยไทยใช้ก๊าซธรรมชาติสูงถึง 70% ในการผลิตไฟฟ้า และเป็นตัวแปรที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ของความมั่นคงทางด้านพลังงานเพราะประเทศเพื่อนบ้านเช่นพม่ามีแนวโน้มความต้องการการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน การทบทวนการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆที่สะอาดและมีความเสถียรเพื่อให้ความมั่นใจต่อระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าอาจต้องกลับมานำคิดทบทวนถึงแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อเพิ่มสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าอย่างไรบ้างในอนาคต และทำเช่นไรต่อไปในภาวะการจัดหาแหล่งพลังงานยากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////

กิตติ พัฒนพงศ์พิบูล : ยันราคาอสังหาฯ พุ่งยังไม่เกิดฟองสบู่ !!?


ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ยันราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่ง ยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ ย้ำ3ปีที่ผ่านมา ราคาคอนโดมิเนียมเท่านั้นที่ราคาสูงขึ้น

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ให้สัมภาษณ์เรื่อง "เอกชนห่วงราคาที่ดินพุ่ง" หลังจากที่มีราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งขึ้นในตัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคช่วงทีผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่

นายกิตติ กล่าวว่าราคาที่ดินสูงขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจะเกิดวิกฤติฟองสบู่ เชื่อว่ายังไม่เกิดตอนนี้ เพราะยังไม่มีสัญญาณ แต่แปลกนิดหนึ่ง คือในช่วงหลังราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงมากไปอยู่ที่คอนโดมิเนียม ส่วนบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ ราคา ขึ้นนิดหน่อย เนื่องจากปัจจุบันคอนโดฯ กลายเป็นที่อาศัยส่วนใหญ่ของคนกรุงเทพและปริมณฑล ก็น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกันว่า ราคาที่ขึ้นไปค่อนข้างสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

"ราคาอสังริมทรัพย์ ยังห่างไกลวิกฤติต้มยำกุ้งช่วงปีก่อน 2540 ขณะนั้นราคาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นเรียกว่าปีละเกินกว่า 40% มาหลังๆ เกินกว่านั้นอีก เกิดขึ้นเรียกว่า มากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว"นายกิตติ กล่าวว่า

นายกิตติ กล่าวว่ากฎเกณฑ์ดาวน์ของประเทศไทยนี่ค่อนข้างน้อยมาก 5%, 10% เมื่อเปรียบเทียบประเทศสากลประเทศใกล้เคียง ซึ่งประมาณ 20-30% เลยเป็นห่วงว่าน่าจะคิดดูว่าการปล่อยกู้บ้านของเมืองไทย อยู่ในระดับที่เรียกว่าต่ำกว่ามาตรฐานหรือ"ซัพพลาย"ในมาตรฐานสากล ถ้าเราสามารถปรับปรุงให้อยู่ในมาตรฐานสากลได้ ก็จะป้องกันความเปราะบางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่จะมีโอกาสมีผลกระทบรุนแรงจากต่างประเทศ

ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การที่ให้รัฐบาลมีมาตรการที่จะแตะเบรกความร้อนแรง เพื่อป้องกันโอกาสที่จะเกิดฟองสบู่ในอนาคต ก็ลำบากเหมือนกัน เพราะแอลทีวีเพิ่งลดลงมาจาก100% ที่เพิ่งเริ่มปีสองปีนี้ การปล่อยสินเชื่อบ้านทั้งหลาย อาจยังอยู่ในระดับซัพพลาย หรือเป็นสินเชื่อต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ ถ้ามีโอกาสที่น่าจะปรับปรุงคือสินเชื่อที่เกิน 10 ล้านบาทคิดเป็น 80% ที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท เป็นสินเชื่อส่วนใหญ่ของประเทศ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

จุดเงื่อนไขล้างผิดกดปุ่มนิรโทษกรรมไร้รอยต่อ บนรอยร้าว..!!?


แรงขึ้นไปทุกขณะ! สำหรับ “จุดปะทะทางความคิด” ที่ติดอยู่ในเงื่อนไข “นิรโทษกรรม” เพื่อลบล้างความผิดทาง การเมือง โดยเฉพาะประชาชนอีกนับ ร้อยที่ตกเป็น “เหยื่อสถานการณ์” แห่ง วิกฤติความขัดแย้งตลอดหลายปีมานี้

โดยประเด็น “นิรโทษกรรม” ได้ถูก “แขวนค้าง” เอาไว้พักใหญ่ เหตุเพราะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังโดนล้อมกรอบจาก “ฝ่ายตรงข้าม” ทั้งในมุมของ “พรรคประชาธิปัตย์” และเครือข่ายมวลชนนอกสภา ที่ต่างยกเอาประเด็นสาย ล่อฟ้านี้...ขึ้นมา “จุดกระแส” โค่นล้มรัฐบาล

ในจุดที่สถานการณ์ยังไม่สุกงอม... “รัฐบาล” ก็มีความจำเป็นยิ่งยวด ที่จะ “ยื้อ” ปมร้อนนิรโทษกรรม...ไปจนใกล้ครบเทอม เพื่อมิให้ “รัฐบาล” ต้องเล่นเกมเสี่ยงจนเกินไป แต่แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เริ่มมีท่าทีเปลี่ยนไป เมื่อกำลังเผชิญแรงเสียดทานจาก “มวลชนเสื้อแดง” ที่ออกมาเขย่าแรงๆ โถมเข้าใส่รัฐบาล และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เพราะรับไม่ไหวกับชะตากรรม “เพื่อนร่วมอุดมการณ์” ที่ถูกขังลืมมานานเกือบ 3 ปีแล้ว แต่ก็ไร้วี่แววที่จะได้รับ “อิสรภาพ”

ทำให้จากเดิมที่ “รัฐบาล” คิดจะเข้า “เกียร์ว่าง” หรือขยับ “ถอยหลัง” เวลานี้ก็คงไม่ง่ายแล้ว นอกเสียจากรัฐบาลคิด “กดปุ่มทำลายตัวเอง”

ปฏิกิริยาในตอนนี้จึงเริ่มแรง และ “แข็งกร้าว” ไม่ใช่แค่ต้อง “เดินหน้า” แต่รัฐบาลถูกบี้ให้ “เหยียบคันเร่ง” ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกฝ่ายเริ่มตอบรับ และเล็งเห็นว่าจะเป็น “ทางออก” ที่ดีที่สุด

ในความคืบหน้าล่าสุดที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ระบุเองว่า ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ตาม ข้อเสนอของ “อุกฤษ มงคลนาวิน” ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว... ขณะเดียวกัน “ผู้นำหญิง” ก็ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ ในเรื่องที่ประธาน คอ.นธ. เสนอ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพหลักในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่สภา

ขณะที่ “ประธาน คอ.นธ.” ยังได้กางแผนสำหรับเดินหน้า “ร่างนิรโทษกรรม” ที่หากทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอน ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.จนไปถึงการพิจารณาจาก “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ที่สุดแล้วมีความเป็นไปได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะ ประกาศใช้ได้ในวันที่ 19 เมษายนปีนี้

หลังการจุดพลุของ “อุกฤษ” ว่าด้วยข้อเสนอนิรโทษกรรม ดูจะได้รับการขานรับจาก “น.พ.เหวง โตจิราการ” แกนนำเสื้อแดง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โดย “หมอเหวง” เชื่อว่านี่คือหน ทางเดียวที่จะสามารถ “ทำได้ทันที” ภายหลังการยื่นข้อเรียกร้องจาก ทั้ง คอ.นธ. ไปจนถึงแดง นปช.และแดงอิสระอย่างกลุ่ม 29 มกราฯ ซึ่งมีความชัดเจนว่าหนุนแนว คิดของ “กลุ่มนิติราษฎร์”

เล็งบีบกระชับพื้นที่ “รัฐบาล” ให้เร่งทำคลอดกฎหมายนิรโทษกรรมโดยเร็ว

เช่นเดียวกับ จังหวะก้าวของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รมช.กระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้แสดง จุดยืน และเสนอแนวคิดในการผลักดันร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมต่อนายกฯ โดยที่ “ยิ่งลักษณ์” ก็โยนเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบไปแล้วเช่นกัน

ทว่าเมื่อประเมินจากทิศทางข่าวทั้ง หมด สรุปได้พอสังเขปว่า เป้าหมายสุด ท้าย...ป้ายหน้าของรัฐบาล มีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะเดินหน้าในแนวทางของ “คอ.นธ.” เพราะคงจะดูแล้ว มีความเสี่ยงน้อยกว่าการผลักดันร่างพระราชกำหนดตามข้อเสนอของ “คนเสื้อแดง” ที่จะทำให้รัฐบาลต้องเล่นเกมเร็ว และมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์อันล่อแหลมของรัฐบาลเอง

ว่าไปตามขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อย ไป ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลต้องลดแรงปะทะจากรอบด้าน และทำให้ทุกฝ่ายยอม รับในประเด็นกฎหมายที่มีความเปราะบาง ทางการเมือง โดยเฉพาะการร่างกฎหมาย เพื่อ “นิรโทษกรรม” ให้แก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่ต้องมองในแง่ความเป็นธรรมกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ไม่ให้เกิดความรู้สึก “ต่อต้าน” ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภา

ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจาก “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภา ผู้แทนราษฎร ลงมาเล่นบทแอ็กชั่นแทน “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประมุขสภาล่าง ที่ลอยตัวเหนือปัญหา...ปัดไม่ขอยุ่งเกี่ยว เพราะบารมีไม่ถึง จึงต้องเป็นหน้าที่ของ “เบอร์ 2” ซึ่งได้ส่งเทียบเชิญ “ผสานรอยร้าว” ระหว่างแกนนำ นปช. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยที่แกนนำทั้ง 2 ฝ่าย แม้จะยืนอยู่คนละมุม แต่ก็ตอบรับและร่วมหารือในมิติที่ “เปราะบาง” และ “สุ่มเสี่ยง” ต่อความขัดแย้งรอบใหม่

โจทย์หลักที่ว่านี้คือ หากรัฐบาลจะโยนหินถามทางในปม “นิรโทษกรรม” ก็มีคำถามทอดยอดไปว่า “มวลชน” ทั้ง 2 ฝ่ายจะเห็นด้วย หรือมีจุดยืนอย่างไรแน่...?!!

เช่นที่ว่านี้ หลังการพบปะระหว่าง “แกนนำเหลือง-แดง”...ฝ่ายหนึ่งนำโดย “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ และอีกด้านหนึ่งเป็น “ก่อแก้ว พิกุลทอง” และ “วรชัย เหมะ” ซึ่งเป็นฝ่าย นปช.แต่ก็ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน อยู่ในที

ด้าน “ปานเทพ” ระบุชัด..มาในนามส่วนตัว คุยเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ได้เสนอให้ยึดแนวของภรรยา พล.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม แต่ทาง นปช.ก็ยืนยันว่า มาตกลงกันเรื่องออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะที่ “ก่อแก้ว” ก็อ้างถึงโฆษกพันธมิตรฯ ที่เสนอให้ออกร่างกฎหมาย 2 ฉบับ โดยเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ประชาชน ที่มีการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และร่าง พ.ร.บ.เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมกำหนดไปถึงผู้ยุยงปลุกปั่นการชุมนุม ส่วน รายละเอียดยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะเป็นแกนนำระดับใด ซึ่งจะให้กรรมการกลางเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง

ชิงจังหวะเข้าด้ายเข้าเข็ม..ในขณะที่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กำลังเดินไปสู่ “โค้งสุดท้าย” โดยข้าง “พรรคเพื่อไทย” ก็ฉกฉวยโอกาสได้เป็นอย่างดี พร้อมเลือกที่จะเล่นเกมโดดเดี่ยว “พรรคประชาธิปัตย์” ด้วยการขานรับเงื่อนไข “นิรโทษกรรม” ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ขั้วประชาธิปัตย์” ไม่อาจยอมรับได้ โดยเฉพาะการกระตุกหนวดเสือ... ปล่อย ข่าว “แฝง” วาระนิรโทษกรรมอำพราง เพื่อ “กดดัน” ให้ค่ายประชาธิปัตย์ซึ่งเป็น “คู่แข่ง” ในสนาม กทม.ต้องแสดงท่าที “แข็ง กร้าว” และคัดค้านแนวทางที่ “คนเสื้อแดง” ตลอดจน “รัฐบาล” ชูธงเอาไว้เป็นเส้น ทางที่มุ่ง “สลาย” ความขัดแย้งและแตก แยกในสังคม เพื่อเดินหน้าสู่ “ปรองดอง” อย่างแท้จริง

แน่นอนเมื่อรัฐบาลเลือกที่จะลั่น “กระสุนนิรโทษกรรม” ออกมาในจังหวะที่การเมืองกำลัง “เข้าทาง” ฝ่ายรัฐบาลเช่นนี้แล้ว สิ่งที่ “ประชาธิปัตย์” และ “ผู้สมัครเบอร์ 16” อย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะต้องเผชิญนับจากนี้ไป...อาจเป็นข้อหาฉกรรจ์ “ขัดขวางปรองดอง” ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ...!!! ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อรู้ตัวว่าก้าวพลาด ไปตามหมากของ “เพื่อไทย” ทางหัวหน้าค่ายสะตอสามัคคี ก็ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่น ใหม่ ลดโทนในการตอบโต้ประเด็นร้อนให้ดูเบาบางลง จะมีบ้างที่ค้านไปตามลีลา “ฝ่ายค้าน” แต่ก็ไม่ได้ตั้งธงแบบหัวชนฝาเหมือนแต่ทีแรก

ล่าสุดก็เป็น “อภิสิทธิ์” ที่แดกดันแนวทางของ “อุกฤษ มงคลนาวิน” ที่เล็งเดินหน้า “กฎหมายนิรโทษกรรม” ให้จบแบบ 3 วาระรวด ซึ่งคงเป็นเรื่องยาก เพราะ ต้องดูไปถึง “สูตรสำเร็จ” ทั้งหมดจะครอบคลุมถึงอะไรบ้าง...ดักทาง “ปูกรรเชียง” เลิกคิดนิรโทษกรรมให้ “พี่ชาย”

แม้ “อภิสิทธิ์” และ “ประชาธิปัตย์” จะยังไม่เปิดเกมแตกหัก สไตล์ดุดันเหมือน ที่เคยปล่อย “ลูกแถว” ออกมาป่วนสภาฯ จนเสียภาพลักษณ์ไปทั้งข้องเหมือนเช่นคิวต้าน พ.ร.บ.ปรองดอง นั่นอาจเป็นเพราะ “ติดเงื่อนไข” ตามเนื้อหาร่างนิรโทษกรรมฯ ในข้อเสนอ “คอ.นธ.” ที่รองรับโทษทางอาญาและโทษทางแพ่ง แม้ขอบเขตของการนิรโทษกรรมจะไม่รวมผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของการรักษาความสงบหรือเหตุการณ์ “ล้างผิด” เฉพาะประชาชนที่เป็นกลุ่มผู้ชุมนุม แต่โดยหลักแห่งกฎหมายแล้ว จะยกเว้นเฉพาะคนหนึ่งคนใดไม่ได้ ต้องใช้บังคับกับทุกคนโดยเสมอภาคเป็นการเล็งเป้าเลิศของ “ประชาธิปัตย์” ที่หากร่างนิรโทษกรรมผ่านไปได้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โดนศาลตัดสินโทษจำคุก ทั้งตัว “อภิสิทธิ์” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่กำลังติดบ่วงคดีเลือด 91 ศพ หรือแม้ แต่แกนนำเสื้อเหลือง-เสื้อแดง รวมไปถึงขุนทหาร-นายกองที่มีส่วนในการ “ก่อเหตุ นองเลือด” ต่างก็คาดหวังลึกๆ ว่าจะมีลุ้น... ยกประโยชน์ให้จำเลยทุกฝ่าย

หมากนิรโทษกรรมที่ว่านี้...จะจบ ลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ซึ่งทุกฝ่ายจักได้ประโยชน์ หรือจะถูกทำแท้งกลางลำ... หากยังทุ่มเถียงกันไม่จบสิ้น ที่สุดคงต้องไปว่ากันในท่าทีของ “ทุกสูตรผสมทางการเมือง” ไม่ว่าจะเป็น “พรรคเพื่อไทย” หรือ “พรรคประชาธิปัตย์” ตลอดจน “มวลชนต่างสีเสื้อ” ว่าคนทั้งหมดจะมีความหนักแน่นในจุดยืนแค่ไหน...ยากที่จะคาดเดาได้ว่า นับจากนี้ไปจะเกิดเหตุพลิกผัน ที่นำไปสู่การเปลี่ยน แปลงหรือไม่..เพราะเกม “นิรโทษกรรม” เวลานี้ได้ถูกเขย่าขึ้นมาแรงๆ และดูจะเร็วขึ้นไปทุกขณะ

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ระบุการปะทะ 13 ก.พ. เผยจุดอ่อนสถานการณ์ชายแดนใต้ !!?


แอนโทนี เดวิส วิเคราะห์ด้านความมั่นคงระบุปฏิบัติการล้มเหลวเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ของกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ ถือเป็น 'การพลิกกลับทางยุทธศาสตร์' ผลจากการเติบโตของวงจรการข่าวฝ่ายรัฐ และการไม่มองถึงปฏิกริยาสะท้อนกลับจากปฏิบัติการสร้างความหวาดกลัวของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ขณะเดียวกันการปะทะกันโดยตรงทั้งสองฝ่ายถือเป็นการยกระดับความขัดแย้งและย้ำถึงปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว

สำนักข่าวเอเชียไทม์ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ของแอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากหน่วยงาน IHS Jane's เรื่องเหตุการณ์ปะทะที่ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีเนื้อหาระบุว่าเป็นเวลานานเกือบทศวรรษแล้วที่เหตุการณ์ความไม่สงบโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย มักจะเป็นกรณีที่ฝ่ายทหารถูกลอบโจมตี, ลอบทำร้าย และถูกทำให้เสียเกียรติ แต่เหตุการณ์ปะทะในวันที่ 13 ก.พ. ทั้งสองฝ่ายสลับบทบาทกัน โดยที่กลุ่มทหารนาวิกโยธินและกองหนุนจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้ปฏิบัติการตอบโต้ฝ่ายก่อการซึ่งเป็นการโต้ตอบกลับที่สร้างความเสียหายต่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เหตุดังกล่าวส่งผลให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 16 ราย รวมถึงแกนนำใหญ่ของกลุ่ม และมีอาวุธที่ถูกยึดมาได้ในจำนวนใกล้เคียงกัน ถือเป็นการตีแตกฝ่ายก่อการในทางจิตวิทยาและทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่

แต่อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าวระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็กลับย้ำถึงปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาวจากการต้องเผชิญหน้ากับปฏิบัติการของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมลายูมุสลิมที่จะเป็นตัวกำหนดสภาพการณ์ความขัดแย้งในอนาคต

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 ก.พ. เริ่มจากการที่ฝ่ายก่อการวางแผนบุกฐานยุทโธปกรณ์ปืนไรเฟิลของหน่วยนาวิกโยธินไทยที่ตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยที่กลุ่มผู้ก่อเหตุราว 50-60 ราย แต่งกายเลียนแบบทหารสวมชุดเกราะกันกระสุน ซึ่งถือเป็นการโจมตีในสเกลใหญ่ต่อฐานหน่วยความมั่นคงโดยมุ่งไปที่การยึดอาวุธ

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระบุว่าการโจมตีครั้งล่าสุดมีความคล้ายคลึงกับปฏิบัติการ "มะรือโบ โมเดล" ในปี 2011 และ 2012 ที่ฝ่ายผู้ก่อการแบ่งออกเป็นสามทีม สองทีมโจมตีจะมีทีมหนึ่งออกไปปฏิบัติการหลอกล่อและจากนั้นทีมโจมตีหลักจึงเข้าโจมตีจากอีกด้าน ขณะที่ทีมที่สามจะตัดถนน ล้มต้นไม้ วางตะปูเรือใบและระเบิดแสวงเครื่อง  เพื่อป้องกันไม่ให้กำลังเสริมเข้ามาที่ฐานได้

โดย  "มะรือโบ โมเดล" ที่กล่าวถึงนี้อ้างอิงถึงปฏิบัติการจู่โจมที่ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อเย็นวันที่ 19 ม.ค. 2011 ในปฏิบัติการของผู้ก่อการครั้งนั้น กลุ่มผู้ก่อการที่วางกำลังมาอย่างดี 40 ราย เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ สังกัด ร้อย ร.15121 ฝ่ายผู้ก่อการได้สังหารทหาร 4 นาย ทำให้บาดเจ็บอีก 6 นาย และได้ยึดอาวุธปืนกลไปราว 50 กระบอก

อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์ครั้งล่าสุดฝ่ายลาดตระเวณได้วางกำลังแน่นหนาล้อมฝ่ายผู้ก่อการทำให้สถานการณ์ถูกควบคุมไว้ได้ โดย พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ประจำพื้นที่ภาคใต้กล่าวว่าเขาได้รับรายงานจากชาวบ้านในพื้นที่และอดีตผู้ก่อการที่หนีออกมาเพราะไม่ชอบใช้ความรุนแรง แต่ทางหน่วยงานทหารในพื้นที่บอกว่าข้อมูลปฏิบัติการในครั้งนี้ทราบมาจากเอกสารและภาพสเก็ตซ์ที่ยึดมาได้จากจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ถูกสังหารในวันที่ 9 ก.พ.

"มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายทหารจะได้ข้อมูลมาจากวงในของกลุ่มก่อการซึ่งเป็นข้อมูลหายาก เพราะไม่เพียงแค่นาวิกโยธินจะรู้ถึงแหล่งเกิดเหตุ แต่ยังรู้วันปฏิบัติการด้วย จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มวงในของผู้ก่อการจะเป็นแหล่งข้อมูลในกรณีนี้"

บทความระบุว่า ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเริ่มเปิดฉากยิงก่อน แต่เมื่อมีการต่อสู้เกิดขึ้นแล้วทีมจู่โจมหลักของฝ่ายผู้ก่อการก็ได้บุกผ่านสวนยางพาราไปยังหน้าฐานทัพจนมีการยิงต่อสู้กับนาวิกโยธินและหน่วยรบพิเศษ 'ซีล' ที่หลบอยู่หลังกระสอบทราย ขณะที่กลุ่มที่สองซ่อนอยู่หลังอาคารชั้นเดียวห่างออกไปจากฐานทัพ 100 เมตร

ขณะเดียวกัน กองทัพก็ได้เตรียมพร้อมโดยการวางกับดักระเบิด M-18 เคลย์มอร์ ไว้รอบๆ มีกองกำลังอยู่ทั้งภายในและภายนอกฐานทัพ รวมแล้วราวๆ 110 นาย พวกเขาติดกล้องมองกลางคืน (Night-vision Googles) แม้ว่าทางหน้าฐานทัพจะมีแสงส่องอยู่เป็นบางคราวก็ตาม หลังจากที่มีการยิงต่อสู้กันราว 20 นาที ก็เริ่มเกิดการชุลมุน กลุ่มนักรบของฝ่ายก่อการส่วนใหญ่พากันหนีไปกับรถกระบะที่รออยู่สามคัน ทิ้งรถกระบะคันที่เต็มไปด้วยรอยกระสุนและรถจักรยานยนต์อีก 2 คันไว้ ฝ่ายทหารพบอาวุธปืนกลจำพวก M-16 และอาก้า 13 กระบอกตกอยู่รอบฐานทัพ

การพลิกกลับทางยุทธศาสตร์

แอนโทนี เดวิสวิเคราะห์ว่าความสูญเสียของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในครั้งนี้ถือเป็นการพลิกกลับทางยุทธศาสตร์ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สถานการณ์แบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นในช่วง ม.ค. 2004 ที่ผ่านมา แม้ว่าในเหตุการณ์โจมตีฐานกองกำลังที่ ยะลา กับที่ปัตตานี ในวันที่ 28 เม.ย. 2004 รวมถึงเหตุมัสยิดกรือเซะในวันถัดมาจะมีผู้เสียชีวิต 101 ราย แต่สถานการณ์ในตอนนี้ก็ต่างจากในตอนนั้น มีหลักฐานแน่นหนาว่าผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจำนวนหนึ่งมองการเสียชีวิตในปี 2004 ว่าเป็นสิ่งที่จะใช้ในการเรียกร้องความเห็นใจจากประชาชนได้

"กลุ่มผู้เสียชีวิตในปี 2004 ไม่มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพนัก หลายคนมีแค่มีดมาเชตต์ (Machete) และจากการทำพิธีกรรมทางศาสนาช่วงคืนก่อนหน้าทำให้หลายคนบุกโจมตีเต็มกำลังเนื่องจากคิดว่าพวกเขายิงไม่เข้าหรือไม่มีใครมองเห็น ที่สำคัญคือผู้จัดตั้งการจู่โจมเชิงพิธีกรรมคือ ยูซุฟ ระยาลอง หรือที่รู้จักกันในนาม อุชตาด โซ ไม่ได้ร่วมบุกเข้าโจมตีในปฏิบัติการกันชนแลกกระสุนในครั้งนี้และยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน"

"เหตุการณ์ที่บาเจาะถือเป็นโชคดีของกองทัพและเป็นภาวะสะดุดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เป็นความพ่ายแพ้เชิงยุทธศาสตร์ในสงครามยืดเยื้อที่มีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมองจากมุมนี้แล้วอย่างน้อยเหตุการณ์ที่บาเจาะก็แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปของกลุ่มการเคลื่อนไหวใต้ดินที่วางใจในยุทธศาสตร์ที่ตนตั้งไว้ และรู้สึกว่าสงครามกำลังดำเนินไปตามที่พวกเขาคิด"

แอนโทนี เดวิสวิเคราะห์ว่ามีอีกเรื่องที่น่ากล่าวถึงคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2012 ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่เดียวกันได้ใช้ยุทธการ "มะรือโบ โมเดล" ในการจู่โจมฐานกองกำลังหน่วยนาวิกโยธินอีกแห่งหนึ่งในบาเซาะ โดยสามารถผ่านด่านคุ้นกันและทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย แต่หน่วยนาวิกโยธินไทยน่าจะเป็นหน่วยที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดในพื้นที่และได้เรียนรู้จากการถูกโจมตีในครั้งนี้ การบุกเข้าจู่โจมฐานนาวิกโยธินในพื้นที่เดียวกันถือเป็นความบ้าระห่ำภายใต้สถานการณ์ที่ดีที่สุด

"อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเหตุการณ์ในวันที่ 13 ก.พ. ในฐานะพลวัตของการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ เหตุการณ์ที่บาเซาะเป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่มีความขัดแย้งสองกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการยกระดับสถานการณ์ความขัดแย้ง กล่าวสั้นๆ คือ มันเป็นการนองเลือดที่ควรจะเกิดขึ้นในจุดหนึ่งและมีทีท่าจะเกิดขึ้นอีก

"มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงปลาย 2011 คือการที่ฝ่ายผู้ก่อการมีความพยายามยกระดับปฏิบัติการทางทหารด้วยการพัฒนากองกำลังกึ่งประจำการที่มีอาวุธดีๆ มีการฝึกอย่างดี และเริ่มสวมชุดเลียนแบบทหารมากขึ้น กระบวนการนี้รวมถึงการจัดกำลังกองเล็ก 6-7 คน ในชื่อ อาร์เคเค (มาจาก Runda Kumpulan Kecil ในภาษามาเลย์) เอาไปรวมเป็นกองกำลัง 12 คน (regu) และ 36 คน (platong) เป็นทีมระดับมากกว่า 100 คน (kompi) และมักจะปฏิบัติการในพื้นที่ระดับตำบล

"พวกเขามักจะออกปฏิบัติการในระดับกองกำลัง 10-20 คน หรือบางครั้งก็ในระดับ 36 คนหรือมากกว่า ในการปฏิบัติการแบบ "มะรือโบ โมเดล" พัฒนาการตรงนี้เป็นไปตามแบบร่างที่เสนอโดยนักยุทธศาสตร์ของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional หรือ BRN) ที่มีบทบาทนำในการวางกรอบ วางแผน และจัดตั้งขอบข่ายงานด้านการเมืองการทหารสำหรับการปฏิวัติในครั้งนี้"

แอนโทนีระบุว่า ตามความเข้าใจของหน่วยข่าวกรองกองทัพไทยนั้นคิดว่าหน่วย BRN เป็นองค์กรที่รับอิทธิพลแนวคิดเรื่อง 'สงครามประชาชน' มาจากทฤษฎีเหมาอิสท์ อย่างไรก็ตามในแง่โมเดลการทหารตามทฤษฎีเหมาแบบคลาสสิกแล้ว การพัฒนาหน่วยรบแบบกองโจรในพื้นที่มาจนถึงการจัดตั้งกองกำลังผู้ก่อการในพื้นที่จะเป็นไปโดยคู่ขนานกับการสร้าง 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' ที่เหล่านี้คือพื้นที่ซึ่งหน่วยผู้ก่อการได้จัดตั้งการควบคุมทางการเมืองต่อประชาชนในพื้นที่ได้ระดับหนึ่งและสามารถสกัดกั้นไม่ให้ติดต่อกับหน่วยงานรัฐได้โดยง่าย ทำให้เกิดพื้นที่สำหรับฝ่ายก่อการขยายตัวและจู่โจมในวงกว้างขึ้นได้

"แต่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังไม่สามารถสร้าง 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' ได้ ตลอด 9 ปีของความขัดแย้งกลุ่มผู้ก่อการดูจะติดอยู่กับภาวะตีบตันในเชิงยุทธศาสตร์ จากความพยายามพัฒนากลุ่มก่อการที่ใหญ่ขึ้น เข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้หน่วยทหารทั่วไปเป็นทีมลับๆ ของ RKK ที่แฝงตัวลงไปอยู่กับชุมชนในพื้นที่หรือในหมู่บ้านที่หน่วยงานรัฐยังสามารถเดินทางลงไปอย่างค่อนข้างสะดวก" แอนโทนีวิเคราะห์

ไม่มีปฏิบัติการปลดปล่อย

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระบุว่า สถานการณ์เช่นนี้มีอยู่สองสาเหตุ สาเหตุแรกมีหลักอยู่ที่ปัญหาในเชิงปฏิบัติเรื่องการตั้ง 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' ในพื้นที่สู้รบเล็กๆ ของจังหวัดชายแดนที่มีถนนตัดผ่านและมีการวางกองกำลังรักษาความสงบในวงกว้าง

สาเหตุที่สองคือ ยุทธวิธีของ BRN ดูเหมือนจะอาศัยโมเดลระดับหมู่บ้านในเชิงอุดมการณ์เพื่อเป็นข้อได้เปรียบในการต่อสู้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมีพื้นฐานมาจากปฏิกิริยาต่อการแบ่งแยกดินแดนที่ไม่สำเร็จในช่วงปี 1970s-1980s เมื่อกลุ่มผู้ก่อการกลุ่มอื่นๆ อย่าง ปูโล (PULO) และ BRN Congress พยายามสร้างกลุ่มก่อการในพื้นที่ภูเขาและป่าทางตอนใต้ซึ่งเป็นการตัดขาดตัวเองออกจากกลุ่มประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ปราศจาก 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' ปฏิบัติการที่ต้องใช้กองกำลังขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กับการรวบรวมกำลัง RKK จากหมู่บ้านที่ถูกควบคุมโดย 'คอมมานโด' ซึ่งถูกฝึกมาอย่างดีจากอำเภออื่นๆ ที่สำคัญคือเหตุการณ์ในวันที่ 13 ก.พ. กองกำลังฝ่ายต่อต้านมีมาจากทั้งสามจังหวัดที่เกิดความขัดแย้งคือ ปัตตานี, นราธิวาส และยะลา นักรบส่วนใหญ่มาจากอำเภอบาเจาะ และอำเภอข้างเคียงคือรือเสาะ ขณะเดียวกันก็มีกำลังคนจากอำเภอรามัญ จังหวัดยะลา และจากอำเภอไทรบุรี, อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี

จากการรวมตัว วางแผนและกระจายกำลังจำนวนมากในลักษณะนี้เป็นการสร้างความเสี่ยงอย่างมากต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติการ นักรบส่วนใหญ่มาจากชุมชนหมู่บ้านที่เสี่ยงต่อการมีสายรัฐบาลแฝงอยู่ พวกเขาต้องเดินทางไปจุดรวมพลซึ่งต้องผ่านจุดตรวจของหน่วยรักษาความสงบจำนวนมากรวมถึงต้องผ่านหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย อาวุธและกระสุนต้องหาเอาจากแหล่งซุกซ่อน ลำเลียงและแจกจ่ายก่อนเริ่มปฏิบัติการ แม้ว่าพวกเขาจะมีความเสี่ยงมากขนาดนี้แต่ก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ความผิดพลาดจากปฏิบัติการไม่ได้เกิดตั้งแต่ก่อนหน้านี้

ขณะที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนใต้ดินต้องเผชิญกับภาวะตีบตันว่าจะยกระดับสงครามได้อย่างไรโดยไม่ต้องมีพื้นที่ 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' พวกเขายังได้รับผลกระทบจากทิศทางสำคัญของการยกระดับความขัดแย้งจากการที่ฝ่ายกองทัพพยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการทำลายหรือทำให้กลุ่มผู้ก่อการเสียกระบวนในฐานการจัดตั้งระดับหมู่บ้านด้วย ในช่วงปีที่ผ่านมาเราจะได้เห็นการบุกจู่โจมเพิ่มขึ้นจากกองกำลังผสมประกอบด้วยทหาร, ตำรวจ หน่วยลาดตระเวณซึ่งเป็นกองกำลังเสริม และกลุ่มพลเรือนอาสารักษาดินแดน

"มีเรื่องที่ไม่ค่อยได้รับการรายงานจากสื่อ คือปฏิบัติการด่วนซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการจู่โจมแหล่งกบดาน หมู่บ้าน หรือเมือง ที่ต้องสงสัย รวมถึงกระท่อม, ที่พักชั่วคราว และแหล่งซุกซ่อนอาวุธในสวนยางพาราและในป่าที่มักจะอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน ปฏิบัติการเหล่านี้มักจะทำให้เกิดการยิงต่อสู้กันและมีการสูญเสียเกิดขึ้น ส่วนมากจะมีการจับกุมและการไต่สวนซึ่งทำให้วงจรการข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้นทีละน้อย"

แอนโทนีระบุว่าไม่ว่าข้อมูลรั่วไหลเรื่องการลอบโจมตีที่บาเจาะจะมาจากชาวบ้าน เอกสารที่ยึดได้ หรือเค้นคอเอาจากคนของฝ่ายผู้ก่อการ สิ่งสำคัญก็คือข้อมูลนี้มาจากวงจรการข่าวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของฝ่ายรัฐ ในส่วนของฝ่ายผู้ก่อการเองก็มีความพยายามต่อต้านทิศทางแบบนี้ด้วยการเจาะจงเป้าหมายสังหารให้เป็นผู้ที่เป็นหรือต้องสงสัยว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่รัฐบาล และการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในวงกว้าง แต่การที่พวกเขาไม่รับรู้ถึงแรงสะท้อนกลับทางการเมืองและการทหารในช่วงปลาย ทำให้ยุทธวิธีของพวกเขาดูจะยังไม่เพียงพอที่จะพลิกสถานการณ์

"มีความเป็นไปได้ที่การเสียชีวิตในบาเจาะครั้งล่าสุดจะกระตุ้นให้เกิดการเกณฑ์คนเข้าไปอยู่ฝ่ายผู้ก่อการสำเร็จอีกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับหตุการณ์กรือเซะและตากใบในปี 2004 พวกเขาอาจยุยงให้เกิดการโต้ตอบต่อความรุนแรงอย่างโกรธแค้นในช่วงอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ แต่ทั้งหมดนี้จะไม่ได้ให้คำตอบใดๆ ต่อภาวะตีบตันที่เกิดขึ้นในแง่ที่ว่ากลุ่มผู้ก่อการจะนำความขัดแย้งนี้ไปในทิศทางใด

"เมื่อไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ กลุ่มผู้ก่อการชาวมลายูในประเทศไทยอาจต้องประสบชะตากรรมเดียวกับกลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดนในแคว้นแคชเมียร์ แม้ว่าจะมีประชาชนให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมากแต่การก่อการจะเริ่มเสื่อมถอยลงจากความผิดพลาดทางยุทธวิธี จากความอ่อนล้าจากภาวะสงครามและจากการดำรงอยู่ของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงที่ไร้ความปราณี" นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงทิ้งท้ายในบทความ

ที่มา.ประชาไท
///////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รัฐบาลตกเหว แก้ไฟใต้ !!?


หลังจากรองนายกรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง ชี้ประเด็นเผากล้อง CCTV เป็นเรื่องผู้รับเหมาขัดผลประโยชน์ มาถึงแนวคิดใช้มาตรการ “เคอร์ฟิว” ในบางพื้นที่ก่อการร้าย ทำให้เห็น “มันสมอง” ของผู้บริหารรัฐบาลชุด “หลอกสาวปู” ได้อย่างชัดเจนยิ่ง

ว่า หมดสภาพ “ชี้นำ” กับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้เกือบสิ้นเชิง

จริงอยู่ แม้ยังไม่ตัดสินใจประกาศ “เคอร์ฟิว” และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังต้องให้หลายฝ่ายร่วมกันคิดให้รอบคอบก่อนก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็น “หลักคิด” ที่โอนเอนไปตามอารมณ์ความรู้สึกของผู้รับผิดชอบแบบ “เฮมา ก็เฮไป”

ฟากประชาธิปัตย์ที่หลายคนคุยนักว่า 3 จังหวัดที่นั่นแก้ง่ายนิดเดียว ขอให้ประชาชนไว้ใจให้เป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ ไฟใต้จะมอดดับทันที แต่จนแล้วจนรอด ยุทธวิธี “การเมือง นำการทหาร” ก็เป็นเพียงการสร้างภาพสวยหรูภายใต้กลเกม “การเมืองใต้เงื้อมมือทหาร” เสียมากกว่า

เพราะ “คาร์บอมบ์” และการฆ่าล้างผลาญยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ยังดังกึกก้องเป็นรายวันไม่ต่างจากอดีต จนล่วงเลยมาถึงปัจจุบันแต่อย่างใด

รัฐบาลปูนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง เนื่องเพราะสัญชาตญาณ “จับปูใส่กระด้ง” เป็นยังไง ความคิดแบบ “ปู” ก็คือ ไร้เดียงสาต่อเป้าหมาย หลักคิดและทฤษฎียุติความรุนแรงระดับสงครามและการก่อการร้ายอย่าง “ไม่รู้เหนือรู้ใต้” อยู่ดี

อย่าว่าแต่พรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์เลย แม้แต่วงการ “ทหารเขียวๆ” สีเดียวกันนี่แหละ แค่ใครคิด “แหกคอก” บอกว่าจะเดินแนวทาง “เจรจา” เท่านั้น ก็ต้องมีอันเป็น “หน้าแตก” หมอไม่รับเย็บตั้งแต่สมัยพล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร มาแล้ว

หรือยุคนี้ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นผบ.ทบ. มีพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นแม่ทัพภาค 4 ได้ประกาศก้าวย่าง “จับเข่าคุย” กับแกนนำก่อการร้ายโดยเลี่ยงคำว่า “เจรจา” ก็ตาม ดูเหมือนว่าไม่ทันข้ามอาทิตย์... เสียงระเบิดคาร์บอมบ์และการฆ่าล้างผลาญก็แสดงอิทธิฤทธิ์ให้ทหาร ครูและประชาชนคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องสังเวยความตายแบบเรื้อรังขึ้นมาทันที

แล้วเราก็มานั่งดูเสนาบดีแสดงความ “ขี้เท่อ” กับปัญหาเหล่านี้อย่างขำไม่ออกทุกทีไป

ไม่ใช่ไม่รู้ว่า รัฐบาลเองก็พยายามเหลือเกินที่จะแก้เรื่องนี้อย่างจริงจัง กระทั่ง “รองเหลิม” ถึงกับเดินทางไปพบรัฐบาลมาเลเซีย และ “ผู้ใหญ่” ที่ “เข้าถึงแกนนำก่อการร้าย” เพื่อหาทาง “เจรจาลับ”

ทั่วโลกที่เกิดปัญหาตึงเครียดระดับสงครามกองโจร เขาทำยังงี้กันทั้งนั้น

แล้วเราจะมามะงุมมะงาหรากับแนวคิด “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กับกลุ่มก่อการร้ายภาคใต้ที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างอยู่เสมอว่า “ไม่รู้ใครเป็นตัวการ” มานานถึง 9 ปีได้ยังไง...สู้รบกันมาเกือบ 10 ปี ทหารยังจับต้นชน “ผู้บงการ” ไม่ได้ แล้วปล่อยให้ทหารชั้นผู้น้อยไป “เป็นเป้านิ่ง” ให้กองโจรสังหารเล่นเป็นผักปลาอยู่ได้ทุกวัน...ไม่รู้สึกกระดากอายปากชายชาติทหารมั่งเลยหรือ

นี่คือความล้มเหลวแบบ “เละเทะ” ที่สุดในวงการกองทัพ

เป็นความล้มเหลวที่เรื้อรังมาตลอด เพราะความไม่เป็นเอกภาพของฝ่าย ทหารและฝ่ายการเมือง

แน่นอน ทหารก็คิดแบบทหาร หัวใจสำคัญคือ ต้องปกป้องแผ่นดินทุกตารางนิ้วแม้ต้องสละชีวิตก็ยอม เพราะสมองถูก “โปรแกรม” ให้แก้ปัญหาด้วยอาวุธและความรุนแรงเท่านั้น...แต่ข้อเท็จจริง ทหารที่สละชีพกลายเป็นทหารผู้น้อย ขณะที่พวก “หัวเสธ.” ทั้งหลายสุมหัวอยู่แต่ในห้องแอร์ บางคนกำลังคิดแผนว่า “ลู่ไหนได้ ช่องไหนเสีย” อยู่ด้วยซ้ำ

ขณะที่ฝ่ายการเมือง นอกจากโลเลต่อนโยบายแล้ว ยัง “หูเบา” ไปตามฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากต้อง “ฟัง” แผนการที่เขาคิดกันมา ปฏิบัติกันมานานจนแทบเชื่อไปแล้วว่า นั่นคือหนทางแห่งความสงบที่ “ต้องใช้เวลา” ไม่รู้เมื่อไหร่จะจบ

ฝ่ายการเมืองไม่มีกองกำลังติดอาวุธ แถมไม่กล้าใช้มวลชน และ “ไม่มีไพ่ใบเด็ด” เอาไว้เกทับกับฝ่ายทหาร เพื่อให้เดินตามเกมแก้แบบการเมือง...เราจึงเห็นฝ่ายการเมืองอ่อนแอที่สุด ปวกเปียกที่สุด ไร้กึ๋นที่สุดก็ยุครัฐบาลปูนี่แหละ

นี่คือบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลปู “ตกเหว” กับการแก้ปัญหาไฟใต้

ไหนนายกฯ ปูลองชี้ “ตัวเจ๋งที่สุด” ของรัฐบาลนี้ ที่แก้ปัญหาไฟใต้ให้เห็นทางสว่างดูซักรายซิครับ

ไม่ใช่ฟังแต่ข่าวความตายความหายนะที่นั่น จนคนทั้งแผ่นดินชินชาเสียแล้ว!

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

ฟันธง กนง.คงดอกเบี้ย 2.75 % ป้องกันครหา !!?


นักวิเคราะห์คาดกนง.ประชุม 20 ก.พ.นี้ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ 2.75% ป้องกันข้อครหาการเมืองแทรก ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี

สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ จะคงดอกเบี้ยที่ 2.75% แม้จะมีแรงกดดันจากรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกดดันให้กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า โดยเห็นว่าดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ที่อัดฉีดเงินเข้าระบบและคงดอกเบี้ยต่ำ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ทางแก้ แต่จะสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น นั่นคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจและฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่ากนง.น่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เพื่อป้องกันข้อครหาการเมืองเข้าแทรกแซง ส่วนการประชุมครั้งถัดไปเชื่อว่ามีโอกาสลดลง

"เพราะเสถียรภาพเศรษฐกิจยังดี ที่สำคัญยังลดไม่ได้ ถ้าลดอาจทำให้เครดิตของกนง.เสีย คนจะหาว่าการเมืองบังคับได้ แต่ครั้งหน้าไม่แน่ เพราะเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามา ก็เป็นปัจจัยที่ต้องระวัง"นายบันลือศักดิ์กล่าว

นายบันลือศักดิ์กล่าวว่าดอกเบี้ยคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุนอยู่บ้าง เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยกลุ่มประเทศหลักๆ โดยเฉพาะสหรัฐและญี่ปุ่นถือว่าต่ำมาก เพียงแต่การจะลดให้ได้ผล ต้องลดลงมาก ซึ่งมีความเสี่ยง จึงเห็นว่ากนง.อาจเลือกวิธีผสมผสานกัน ระหว่างลดดอกเบี้ยลงเล็กน้อยพร้อมกับการใช้มาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า
@กรุงศรีชี้ดอกเบี้ยไทยต่ำอยู่แล้ว

ด้าน นายรุ่งศักดิ์ สาธุธรรม ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสและผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเช่นเดียวกันว่ากนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

"ดอกเบี้ยเราอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว เป็นดอกเบี้ยที่กระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งนโยบายการคลังก็ทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ด้วย และเศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณการเติบโตต่อเนื่อง เป็นการเติบโตที่ใกล้เต็มศักยภาพ จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องไปลด เพราะยิ่งลดจะยิ่งเป็นการไปกระตุ้นให้เศรษฐกิจโตร้อนแรงเกินไป"นายรุ่งศักดิ์กล่าว

ส่วนปัญหาเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น นายรุ่งศักดิ์กล่าวว่าเวลานี้ดอกเบี้ยไทยถือว่าต่ำเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค แต่เงินทุนต่างประเทศก็ยังคงไหลเข้าจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นตัวดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้าย และหากจะให้ลดดอกเบี้ยลงเพื่อป้องกันเงินทุนไหลเข้านั้น ก็คงมีคำถามว่าจะต้องลดอีกเท่าไร เพราะการลดดอกเบี้ยมีผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจ

@ค่าบาทเริ่มทรงตัว-ลดดอกเบี้ยไม่ช่วย

ด้าน นายกำพล อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ มองในทางเดียวกันว่าค่าเงินบาทในช่วงนี้ก็เริ่มทรงตัวมากขึ้น และจากสถิติในอดีตที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนมากนัก

"ข้อมูลในอดีตชี้ว่า การลดดอกเบี้ยลงช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงแค่ระยะสั้น 1-2 เดือน แต่พอมีเงินไหลเข้ามากขึ้นอีก ก็ทำให้เงินบาทแข็งขึ้น และผมไม่เชื่อว่าดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินทุนไหลเข้า ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจมากกว่า ดูได้จากปี 2555 ที่ดอกเบี้ยเราสูงกว่านี้มาก แต่เงินบาทแข็งค่าเพียง 3% น้อยกว่าประเทศอื่นๆ นั่นเพราะช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราเพิ่งฟื้นจากปัญหาน้ำท่วม นักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าจะฟื้นได้มากแค่ไหน"นายกำพลกล่าว

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยยังมีต้นทุนในด้านอื่นตามมา เพราะดอกเบี้ยที่ลดลงเท่ากับว่านโยบายการเงินผ่อนปรนมากขึ้น ยิ่งไปกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนให้เพิ่มขึ้น ในขณะที่การออมลดลง และถ้าการลงทุนไปอยู่ในกิจกรรมที่ไม่ควร ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยง

@ทหารไทยชี้ศก.ไทยยังไม่จำเป็นกระตุ้น

ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวเช่นเดียวกันว่าปัจจัยเศรษฐกิจทั้งภายนอกและภายในยังไม่เห็นประเด็นใดที่ทำให้กนง. ควรต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง

"เศรษฐกิจไทยในเวลานี้ การขยายตัวของสินเชื่อค่อนข้างร้อนแรง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็โตอย่างต่อเนื่อง จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น เวลานี้ความเสี่ยงต่างๆ เริ่มลดลง ภาคการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศใหญ่ๆ"นายเบญจรงค์กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องการลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทนั้น นายเบญจรงค์เห็นว่าดอกเบี้ยกับเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ตรงกันเหมือนกับทฤษฎี ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นแม้จะลดดอกเบี้ยนโยบายคง ก็คงไม่มีผลต่อค่าเงินบาทมากนัก

@กสิกรไทยมองลด0.25%

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินตรงกันข้าม โดยคาดว่ากนง.เสียงส่วนใหญ่จะตัดสินใจให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แม้ว่า ธปท. จะมองดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าจนส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่การประชุม กนง.ใช้หลักการโหวต ซึ่งเชื่อว่ากรรมการเสียงส่วนใหญ่จะเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง เพื่อชะลอปัญหาเงินทุนไหลเข้า

"แม้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกลดลง โดยเฉพาะความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก และผู้บริหารแบงก์ชาติจะมองไม่เห็นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยลง แต่ในอีกมุมหนึ่งเศรษฐกิจโลกก็ยังมีความเสี่ยงตรงที่เงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จึงคาดว่าจะมีกรรมการบางท่านเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง และมีแนวโน้มว่าเสียงส่วนใหญ่จะโหวตให้ปรับลด" นายเชาว์กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ธปท.ต้องรีบดำเนินคดีกับมหาโจรเสื้อสูท !!?


เป็นที่ทราบกันทั่วไปในบ้านเมืองของเราในบัดนี้แล้วว่า มีธนาคารของรัฐอย่างน้อยสองแห่งที่มีฐานะดำเนินการอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งถ้าหากเป็นกิจการของเอกชน ก็เป็นที่แน่นอนว่าฐานะการดำเนินงานอยู่ในขั้นที่ต้องถูกควบคุมตามกฎหมายแล้ว

                การควบคุมกิจการธนาคารหรือสถาบันการเงินคือ แบบอย่างที่เคยเกิดขึ้นให้เห็นมาแล้วเมื่อครั้งเกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2540 นั่นคือ การหยุดหรือปิดกิจการ การตรวจสอบความเสียหาย การดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดกับมหาโจรเสื้อสูท ที่ปล้นสะดมสินทรัพย์ของสถาบันการเงินนั้นๆ ไปดำเนินคดี ซึ่งมีบทปฏิบัติถึงขั้นริบทรัพย์ จำคุก และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นต้น

                แต่เมื่อเป็นธนาคารของรัฐก็ย่อมมีอภิสิทธิ์อยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้นทางการก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมการดำเนินงานของธนาคารรัฐทั้งสองแห่งนี้แล้ว และกำหนดกรอบเวลาในการฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือนจากนี้ไป  โดยที่ยังไม่อาจคาดเดาผลข้างหน้าได้ว่าจะออกรูปใด

                ธนาคารรัฐทั้งสองแห่งนี้ ปล่อยสินเชื่อหรือให้กู้ยืมเป็นเงินรวมกันประมาณ 160,000 ล้านบาท และตัวเลขที่มีการแถลงว่าเงินที่ปล่อยกู้เหล่านี้ได้กลายเป็นหนี้เสีย หนี้สูญ หรือที่เรียกเป็นภาษานักบัญชีว่าทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือสินทรัพย์จัดชั้นต้องสำรองหนี้สูญเป็นจำนวนถึง 76,000 ล้านบาท

                ในขณะที่มีข่าวซุบซิบกระเซ็นกระสายให้ได้ยินว่าในจำนวนเงินปล่อยกู้ 160,000 ล้านบาทนั้น อาจจะมีหนี้เสีย หนี้สูญ ถึง 120,000 ล้านบาท

                และไม่ว่าจะเป็นหนี้เสีย หนี้สูญ แค่ 76,000 ล้านบาท หรือ 120,000 ล้านบาท มันก็เป็นหนี้จำนวนมหาศาล และทำให้ฐานะการดำเนินงานตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่าเจ๊งแล้ว แต่ที่ยังไม่ประกาศการเจ๊งอย่างเป็นทางการก็เพราะอาศัยอำนาจรัฐ อาศัยอำนาจนักการเมืองคุ้มครองป้องกันช่วยเหลือกันอยู่

                หนี้เสีย หนี้สูญ เหล่านี้ชัดเจนเหลือเกินว่าไม่ได้เกิดจากพี่น้องประชาชนคนยากคนจนหรือชนชั้นกลาง แต่เป็นของนักการเมือง ลิ่วล้อบริวารของนักการเมือง ที่ส่งคนเข้ามาเป็นผู้บริหารธนาคารรัฐทั้งสองแห่งนี้ และปลุกเสกให้ลิ่วล้อบริวารหรือพวกผีโม่แป้งมาขอกู้เงินเอาไปจากธนาคาร โดยมิได้เอาไปดำเนินงานทางธุรกิจแต่ประการใด

                คือกู้แล้วก็ไม่มีการใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จัดเป็นกระบวนท่ากู้แล้วโกงอย่างหนึ่ง คือกู้เงินจากธนาคารของรัฐ แล้วโกงธนาคารของรัฐ ไม่ใช้หนี้ เอาเงินกู้ไปจับจ่ายใช้สอยส่วนตัว นับเป็นการปล้นสะดมโดยคนเสื้อสูทที่สร้างความเสียหายร้ายแรงแก่บ้านเมือง

                เป็นวิชาเดียวกันกับการกู้แล้วโกงระดับชาติ คือเอาฐานะของประเทศไปกู้หนี้ยืมสินมาจับจ่ายใช้สอย แล้วฉ้อฉลคอร์รัปชั่นเงินที่กู้มานั้นระหว่าง 30-50% โดยโยนภาระชำระหนี้ให้เป็นของประเทศชาติและประชาชน

                ดังนั้นการกู้แล้วโกงทั้งที่ใช้ในธนาคารรัฐทั้งสองแห่ง และที่ใช้ในวงการเมืองระดับชาติจึงเป็นการปล้นประเทศชาติ ปล้นประชาชนที่ให้อภัยไม่ได้ และเป็นภารกิจของลูกไทยหลานไทยทั้งปวงจะต้องติดตามยึดทรัพย์กลับคืนแผ่นดินให้ได้ในสักวันหนึ่ง

                แม้ว่าการกู้แล้วโกงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการเกิดขึ้นในธนาคารของรัฐ แต่มิได้หมายความว่าเมื่อเป็นธนาคารของรัฐแล้วจะไม่มีใครรับผิดชอบในการกำกับควบคุมตรวจสอบ หรือเมื่อเป็นธนาคารของรัฐแล้วจะสามารถโกงกันได้ตามอำเภอใจ

                ก็ต้องประกาศให้ดังลั่นสนั่นประเทศว่าผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบในการดำเนินงานของธนาคารของรัฐทั้งสองแห่งนี้รวมทั้งแห่งอื่นๆ ด้วย คือหน่วยงานสองหน่วย ได้แก่ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารในธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานของกระทรวงการคลัง

                กล่าวให้ครอบคลุมก็คือธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับควบคุมตรวจสอบในการดำเนินงานของธนาคารของรัฐทั้งสองแห่งนี้และแห่งอื่นๆ ด้วย

                ผู้บริหารของทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และทั้งกระทรวงการคลัง จะต้องเปิดเผยแก่ประชาชนว่าใครโกงธนาคารรัฐทั้งสองแห่งนี้ ผู้บริหารธนาคารของรัฐทั้งสองแห่งนี้คือใคร มาจากการเสนอแต่งตั้งของใคร

                จะต้องเปิดเผยต่อประชาชนว่าจำนวนเงินทั้งหมดที่กู้ไปเป็นจำนวนเท่าใด และจัดชั้นสำรองหนี้ประเภทต่างๆ แล้วเท่าใด ส่วนที่เหลือมีสภาพที่อาจต้องจัดชั้นสำรองหนี้อีกหรือไม่เท่าใด และการให้กู้เงินเหล่านั้นใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ

                ที่สำคัญ ต้องให้ประชาชนเชื่อและมั่นใจได้ว่ามีใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อที่เกิดความเสียหายเหล่านั้น และจะป้องกันแก้ไขความเสียหายเหล่านั้นได้อย่างไร เช่น

                การเตรียมการมีคำสั่งห้ามผู้บริหารหรืออดีตผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบเดินทางออกนอกประเทศ หรือ

                การอายัดหรือยึดทรัพย์ของผู้บริหารไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการตรวจสอบ หรือ

                การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับควบคุมตรวจสอบตามกฎหมายเพื่อปฏิบัติการรักษาประโยชน์ของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและทันกาล

                เพราะถ้าหากปากพูดว่าควบคุม แต่แท้จริงเป็นเพียงแค่การปิดประตูช่วยโจรแล้วไซร้ คนที่มีอำนาจหน้าที่นั่นแหละที่จะต้องรับผิดชอบในสักวันหนึ่ง


ที่มา.นสพ.แนวหน้า
////////////////////////////////////////////////////////////////