--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปิดฉากอาเซียนซัมมิต ระอุโอบามา ยกสิทธิมนุษยชนฉะ ฮุนเซน ปินส์ฯ ฉุนเขมร ขวาง มะกันแก้พิพาททะเลจีนใต้ !!?


ปิดฉาก"อาเซียนซัมมิต"ระอุ"โอบามา"ยกสิทธิมนุษยชนฉะ"ฮุนเซน"-ปินส์ฉุนเขมรขวางมะกันแก้พิพาททะเลจีนใต้

รูดม่านประชุมอาเซียนบรรยากาศ ระอุ หลังโอบามายกปัญหาสิทธิมนุษยชนขึ้นหวดฮุน เซน พร้อมขู่อยากสัมพันธ์ราบรื่นต้องเร่งแก้ไข ขณะที่ กรณีพิพาททะเลจีนใต้ยังไร้ทางออกเหมือนเคย เหตุมังกรกันท่าลุงแซม และกัมพูชาหนุนจีน จนผู้นำตากาล็อกออกอาการฉุนขาด
       
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 21 พร้อมด้วยการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรืออีสต์เอเชียซัมมิต และเสวนาอาเซียนโลก หรืออาเซียนโกลบอลไดอะล็อก เป็นต้น ซึ่งมีขึ้น ณ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น
       
รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศการประชุมในช่วงวันสุดท้ายนี้ ดำเนินไปอย่างเคร่งเครียด โดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่เยือนกัมพูชา ได้พบปะกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่พระราชวังสันติภาพ ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้หยิบยกประเด็นต่างๆ ขึ้นมาหารือกับสมเด็จฮุน เซน ได้แก่ ปัญหาสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาที่ยังคงมีละเมิดกันอย่างรุนแรงอยู่ การคุมขังนักโทษการเมืองในเรือนจำที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงการเลือกตั้งในกัมพูชาที่จะมีขึ้นในอนาคต ทางประธานาธิบดีโอบามา ได้กระตุ้นเตือนให้ดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา จะช่วยส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับกัมพูชา พัฒนาไปในทิศทางที่มั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่
       
ขณะที่ ประเด็นอื่นๆ ที่เป็นที่จับตามองมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาพิพาทดินแดนทะเลจีนใต้ ส่งผลให้หลายฝ่ายคาดหวังว่า ประธานาธิบดีโอบามา จะสามารถเข้าไกล่เกลี่ยข้อพิพาทข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับหลายชาติสมาชิกในอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่า นายเหวิน เจียเปา นายกรัฐมนตรีของจีน ได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการที่จะให้นานาชาติที่ไม่ใช่ชาติสมาชิกอาเซียน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขข้อพิพาทดังกล่าว พร้อมกันนี้ ก็ได้หยิบยกในข้อตกลงที่ทำไว้กับอาเซียนเมื่อปี 2545ที่ระบุให้จำกัดจำนวนชาติตัวแทนการเจรจาแก้ไขข้อพิพาท ทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เข้ามาไกล่เกลี่ยได้ ประกอบกับที่ประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ มีความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์ และไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเหมือนเช่นที่ผ่านมา ส่งผลให้ประธานาธิบดีเบนิกโน อาควิโน แห่งฟิลิปปินส์ แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ต่อสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่แสดงท่าทีสนับสนุนจีน เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีอาควิโน มีแผนการที่จะเชิญตัวแทนจากเวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ที่มีปัญหาพิพาทดินแดนกับจีน ไปหารือกันนอกรอบ

ที่มา.สยามรัฐ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ต้อนรับอเมริกากับจีน แล้วอย่าลืมอินเดีย !!?


ในรอบสัปดาห์นี้ ประเทศไทยคึกคักอย่างมากเนื่องจาก “แขกสำคัญ” ทั้งผู้นำสหรัฐและจีนต่างมาเยือนในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นสัญญาณอันดีว่าไทยต้องปรับตัวและหาจุดสมดุลทางการทูตระหว่างมหาอำนาจทั้งสองชาติของโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
แต่ในรอบสัปดาห์เดียวกัน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้หารือกับ “ผู้นำประเทศ” อีกคนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
นั่นคือนายมานโมฮัน ซิงค์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย

ภาพจาก thaigov.go.th
แม้นายซิงค์ไม่ได้แวะมาเมืองไทย แต่ก็เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก East Asian Summit ที่ประเทศกัมพูชาด้วยเช่นกัน นอกจากการหารือระดับพหุภาคีกับอาเซียนทุกชาติแล้ว นายซิงค์ยังมีกำหนดการเจรจาแบบทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีไทยอีกด้วย
เนื้อหาการเจรจาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพัฒนา “พื้นที่ด้านตะวันตก” ของไทย ตามแนวทาง Look East ของอินเดีย และ Look West ของประเทศไทย ซึ่งมี “พม่า” เป็นพื้นที่ตรงกลาง โดยเน้นหนักไปที่โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมคือโครงการทางหลวงสามฝ่าย (ไทย พม่า อินเดีย) แต่ก็ยังมีข้อตกลงอื่นๆ เรื่องการค้าการลงทุนอีกด้วย
นอกจากการหารือกับนายกรัฐมนตรีอินเดียแล้ว นายกยิ่งลักษณ์ยังมีกำหนดหารือทวิภาคี กับ นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดี สหภาพเมียนมาร์ ในเรื่องท่าเรือทวายด้วยเช่นกัน
การพบปะกับผู้นำชาติที่อยู่ทาง “ตะวันตก” ของประเทศไทยทั้งสองชาติ เป็นสัญญาณที่ดีว่าไทยเองก็ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันมากขึ้น หลังจากที่ถูกปิดกั้นทาง “มายาคติ” มานานว่าพรมแดนด้านตะวันตกของไทยคือพม่า ชาติคู่แค้นในอดีต และชาติล้าหลังในปัจจุบัน
ไทยต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ มองพรมแดนด้านตะวันตกให้เป็น “โอกาส” ของการค้าและการลงทุน ใช้จังหวะที่พม่ากำลังเปิดประเทศเชื่อมโยงไปยังอินเดีย มหาอำนาจอีกรายของเอเชีย
Thailand Look West to India
พื้นที่การพัฒนาฟากตะวันตกของประเทศไทย  ด้านทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล อยู่ภายใต้องค์กรความร่วมมือ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for MultiSectoral Technical and Economic Cooperation) ซึ่งมีประเทศสมาชิกคือ ไทย พม่า บังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล อินเดีย และศรีลังกา ซึ่งประเทศในกลุ่มมีการประชุมระดับรัฐมนตรีกันเป็นระยะ แต่ความสำคัญยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มความร่วมมืออื่นๆ
อินเดียถือเป็นมหาอำนาจของเอเชียอีกประเทศหนึ่ง ควบคู่ไปกับจีนและญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าอินเดียจะอยู่ใกล้ชิดกับภูมิภาคอินโดจีน แต่กลับไม่มีทางเชื่อมถึงกันยกเว้นผ่านพม่า ดังนั้นไทยควรใช้ประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอินเดีย ขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจให้มากขึ้นด้วย
ข้อมูลจาก สำนักข่าวแห่งชาติ และ MCOT
ที่มา.Siam Intelligence Unit
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สู่การสร้างประวัติศาสตร์ ความร่วมมือ ลาว-เวียดนาม !!?


ลาวและเวียดนาม สถาปนาความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ โดยการจัดตั้งโครงการ “ประวัติศาสตร์การต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส และจักรวรรดินิยมอเมริกาผู้รุกราน ของกองกำลังติดอาวุธและบรรดาชนเผ่าแขวงภาคกลางของลาว
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมรบเพื่อเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1945-1975 โดยความสัมพันธ์นี้ สามารถเห็นได้จากการให้เกียรติ เยี่ยมเยือนระหว่างตัวแทนการนำของทั้งลาวและเวียดนาม รวมถึงการเข้ามาลงทุนในลาวของกลุ่มทุนเวียดนาม เช่น ธนาคารร่วมพัฒนาลาว-เวียดนาม, การร่วมก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ลาว และการก่อสร้างโครงการถนนเชื่อมสายสำคัญ รวมถึงแผนเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงระหว่างลาวกับตอนกลางของเวียดนามเป็นสายแรก
นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจนั้น ยังเป็นที่น่าสนใจว่า ทางการลาวและเวียดนาม ได้ส่งเสริมความสำคัญทางการศึกษาประวัติศาสตร์ และสังคม โดยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กระทรวงป้องกันประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับกระทรวงป้องกันประเทศของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมกันจัดตั้งโครงการ “ประวัติศาสตร์การต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส และจักรวรรดินิยมอเมริกาผู้รุกราน ของกองกำลังติดอาวุธและบรรดาชนเผ่าแขวงภาคกลางของลาว (1945-1975)” และ “โครงการสรุปขั้นตอนการเคลื่อนไหวทางการทหารเพื่อปลดปล่อยพูเพียงบอลิเวน (1970-1971)” ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา และได้สำเร็จโครงการสมบูรณ์ในปี 2012 นี้
ในพิธีการรับมอบเอกสารโครงการทั้งสอง ณ กระทรวงการป้องกันประเทศ สหายพลตรี จันสะหมอน จันยาลาด กรรมการศูนย์กลางพรรค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ ได้ลงนามร่วมกับสหายเหงียนแทงกุง กรรมการศูนย์กลางพรรค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันประเทศแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยโครงการทั้งสองเป็นการร่วมลงมือศึกษาค้นคว้าระหว่างนักประวัติศาสตร์ลาวและเวียดนาม ในเรื่องของการต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส และจักรวรรดินิยมอเมริกาที่มารุกราน ระหว่างปี 1945-1975 ความยาวทั้งหมด 450 หน้า พร้อมกันนี้ยังมีแผนที่ แผนผัง รูปภาพที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ส่วนในโครงการสรุปขั้นตอนการปลดปล่อยพูเพียงบอลิเวนนั้น เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงยุทธศาสตร์การทหาร
ซึ่งโครงการดังกล่าว จะนำไปประยุกต์ปรับปรุงบรรจุลงเป็นหลักสูตรในการศึกษาวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ ของนักเรียนนักศึกษาของลาวและเวียดนาม รวมถึงจัดพิมพ์เป็นหนังสืออ้างอิงให้แก่ผู้สนใจศึกษาต่อไป
นอกจากนี้ ทางกรมสำเนาเอกสารของทั้งสองประเทศ ยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อร่วมมือการส่งเสริมสนุนสนุนการศึกษาและอบรมให้แก่พนักงานรัฐการของลาว ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเวียดนามในระดับชั้นปริญญาตรี-โท และการอบรมระยะสั้น 1-3 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนบัญชีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลเอกสารวิชาการ สำเนาเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และข่าวสารการเคลื่อนไหวในวงวิชาการอีกด้วย
โดยโครงการต่างๆ ถือเป็นการเฉลิมฉลองปีสามัคคีมิตรภาพระหว่างลาว-เวียดนาม ที่ได้เจริญสัมพันธไมตรี และร่วมต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมและจักรวรรดินิยมมาเป็นเวลา 50 ปี คือตั้งแต่ปี 1962 – 2012

เกร็ดภาษาลาววันนี้ เสนอคำว่า ພົວພັນ (พัวพัน) : สัมพันธ์, เกี่ยวข้อง, concern, relate
ประเทศลาวและเวียดนาม ถือว่าเป็นสองประเทศที่มีความ ພົວພັນ ต่อเนื่อง โดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์ หรือพรรคประชาชนปฏิวัติ ที่มีความ ພົວພັນ ช่วยเหลือกันในการต่อสู้กับชาติตะวันตกในยุคสงครามเย็น

ที่มา:

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วัดกันที่ลูกบ้าไม่กล้า ไม่แรง ก็จบเห่ !!?


ส่งสัญญาณสงครามครั้งสุดท้ายชัดขึ้นเรื่อยๆระหว่างฝ่ายต่อต้านกับลูกข่ายทักษิณ

การเคลื่อนไหวสุดสัปดาห์นี้เป็นอะไรที่น่าติดตามว่าคนไทยจะได้ออกไปลอยกระทงกันอย่างสบายใจหรือไม่

“...ทุกอย่างจะต้องยุติในการชุมนุมวันที่ 24-25 พ.ย. และจะไม่มีการนัดชุมนุมอีกเป็นครั้งที่ 3...”

เป็นเสียงประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำจากแกนนำชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่าง พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย

แล้วก็เป็นอะไรที่ต้องเปิดหน้าเล่น เลิกเหนียมอายหลบอยู่หลังฉาก หลังถูกนายห้างดูไบห่อโฟนอินเข้ามาแฉว่ามีส่วนร่วมเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลชุดนี้

พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ออกมายอมรับตรงๆว่าวันที่ 24 พ.ย. จะไปร่วมม็อบขับไล่รัฐบาลที่ลานพระบรมรูปทรงม้าแน่นอน

แม้จะบอกว่าแค่ไปร่วม ไม่ขึ้นเวทีปราศรัย และเป็นการไปในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวอะไรกับประธานองคมนตรี

ที่ไปเพราะความรักชาติ ขอเป็นทหารแก่ที่จะไม่มีวันตายไปจากการรักชาติบ้านเมือง ห่วงใยกองทัพ ปกป้องสถาบัน แต่ก็ห้ามความคิดของฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ว่าอาจมีความผูกโยงไปถึงตัวประธานองคมนตรี

ประหนึ่งว่า “มองพะจุณณ์เห็นป๋าเปรม” ยังไงยังงั้น

ยิ่งเจ้าตัวออกงานนั่งเล่นเปียโนโชว์ลูกคอร้องเพลงชิลๆในอารมณ์ ทำให้ใครหลายคนนึกย้อนไปถึงวันเก่าๆ เพราะนี่มันซีนคุ้นๆเหมือนเคยเห็นทุกครั้งก่อนมีการโค่นล้มเครือข่ายทักษิณ

การเมืองนอกสภาได้เวลาเปิดหน้าเล่น ใครเป็นใคร คิดอะไร อย่างไร ได้เห็นกันชัดเจน

หันไปมองการเมืองในสภาก็ช่างเหมาะเจาะ ช่วยปั่นอุณหภูมิให้สูงขึ้นได้อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา บรรจุญัตติซักฟอกรัฐบาลของ ส.ว. เครือข่ายการเมืองนอกสภาให้ได้อภิปรายกันในวันที่ 23-24 พ.ย. นี้

ตรงกับการชุมนุมใหญ่ไล่รัฐบาลพอดิบพอดี

หมดจากการอภิปรายของ ส.ว. ก็ต่อคิวด้วยการซักฟอกของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถือเป็นไฟท์บังคับต้องจัดหนักจัดเต็มใส่รัฐบาลแบบไม่ยั้งมือ เพราะการเมืองหลังศึกซักฟอกเดิมพันสูง

หากไม่ระคายผิวรัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์ยังอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป พรรคประชาธิปัตย์คงไม่ได้ผุดได้เกิดทางการเมืองไปอีกนาน

ดูแนวโน้มว่ามีความเป็นไปได้ไม่น้อย เพราะถึงยังไงการเมืองในสภาก็โค่นล้มรัฐบาลไม่ได้ ต้องอาศัยการเมืองนอกสภา และอาศัยมือขององค์กรอิสระ

การเมืองนอกสภาแม้จะสร้างความหวาดหวั่นให้รัฐบาลได้ แต่หากไม่มีลูกบ้าเหมือนครั้งปิดล้อมรัฐสภา ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน หรือยึดอำนาจ โอกาสโค่นล้มเครือข่ายทักษิณแทบเป็นไปไม่ได้เลย

เลวร้ายที่สุดแม้นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องลาออกเพราะถูกองค์กรอิสระที่ไหนสักองค์กรชี้มูลความผิด แต่การเลือกนายกฯคนใหม่ในสภาก็จะได้คนของพรรคเพื่อไทยอยู่ดี เพราะมี ส.ส. พรรคเดียวเกินครึ่ง

หากคิดจะใช้วิธีเก่าเรียกแกนนำกลุ่มต่างๆไปข่มขู่ให้ย้ายข้างมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เหมือนคราวที่แล้วก็เป็นไปได้ยาก เพราะคนที่อยู่กับพรรคเพื่อไทยทุกวันนี้จัดเป็นพวกเลือดแท้ ไม่ทิ้งพรรค

ภารกิจทลายห้างโค่นล้มเครือข่ายทักษิณเที่ยวนี้เดิมพันจึงสูงปรี๊ด หากไม่บรรลุผลตามเป้า โอกาสแช่แข็งประเทศร่างกติกาตามที่ต้องการแทบปิดประตูล็อกตาย

เมื่อเดิมพันสูง และเป็นสงครามครั้งสุดท้าย โอกาสที่จะเล่นแรงๆก็เป็นไปได้สูงอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่จะแรงในระดับไหน อย่างไร ยังยากที่จะประเมิน

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไอเอ็มเอฟ ชม ธปท.ฉลาดใช้เป้าหมายเเงินเฟ้อ !!?



ไอเอ็มเอฟ ชื่นชมแบงก์ชาติฉลาด ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ พร้อมอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นตามกลไกตลาด ช่วยลดทอนผลกระทบจากภาวะช็อกทางศก.

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เผยแพร่งานวิจัยล่าสุดเรื่อง “Shock Therapy! What Role for Thai Monetary Policy?” ซึ่งศึกษาถึงบทบาทและประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงที่เกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ 3 ครั้ง ได้แก่ วิกฤติการเงินโลกในช่วงปี 2551-2552 เหตุการณ์แผ่นดินไหวใน ญี่ปุ่นในช่วงต้นปี 2554 และมหาอุทกภัยในประเทศในช่วงปลายปี 2554

งานวิจัยเริ่มอธิบายจากพายุหนักลูกแรกจากวิกฤติการเงินโลกพัดกระหน่ำแรงขึ้น เมื่อการล้มของเลแมนบราเดอร์ส สะเทือนมาถึงไทยในปลายปี 2551 ก่อเกิดภาวะช็อกครั้งแรก ช่วงแรกได้รับผลกระทบ ผลประกอบการภาคส่งออกยังมีความยืดหยุ่น ด้วยอัตราโตเฉลี่ยกว่า 10% ช่วงปี 2549-2550 และช่วยให้การเติบโตของจีดีพีแท้จริงแข็งแกร่ง แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่งออกไทยทรุดในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 ตามหลังการล้มพังพาบของการค้าโลก

ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติพากันถอนตัว ซึ่งมาพร้อมกับความผันผวนเพิ่มขึ้นมากในตลาด และตามด้วยดัชนีตลาดสำคัญๆ ลดลงอย่างมาก บวกกับการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างต่อเนื่อง ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยลง 2.5% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25%

ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ไทยยังเผชิญภาวะช็อกครั้งใหญ่อีก 2 ครั้ง ในปี 2554 โดยภาวะช็อกครั้งแรกเป็นเหตุแผ่นดินไหวทำให้เกิดภัยจากคลื่นสึนามิครั้งใหญ่เมื่อเดือนมี.ค. ในญี่ปุ่น ไทยได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตสินค้าคงทน และสินค้าระดับกลาง มีความซับซ้อนให้ไทย สินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนกว่า 90% ของส่วนประกอบบางอย่าง และเพราะความเป็นผู้ผลิตกับซัพพลายเชนที่เน้นสินค้าปลายน้ำกับความเชี่ยวชาญพิเศษ เป็นเหตุให้การผลิตของไทยสะดุดลงอย่างฉับพลันและชะลอตัว

สำหรับภาวะช็อกครั้งที่ 2 ในปี 2554 เป็นปัญหาน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งเกิดช่วงเดือนส.ค. จนถึงเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตกว่า 800 ราย และคนไทยหลายล้านคน ไร้ที่อยู่อาศัยและต้องอพยพออกจากพื้นที่พำนักอยู่ใน 66 จังหวัด ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศเผชิญภาวะน้ำท่วม ซึ่งรวมถึงจังหวัดอยู่ในภาคการผลิต ทั้งการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฉุดการเติบโตจีดีพีระดับ 7.8% ในปี 2553 เหลือเพียง 0.1% ในปี 2554 หลังจากจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่มีสัดส่วน 50% ของการคำนวณหาจีดีพีทั้งปี หดตัวมากถึง 11%

รัฐบาลไทยตอบสนองต่อสถานการณ์น้ำท่วม ด้วยการกำหนดนโยบายครอบคลุม รวมถึงการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลัง การวางแผนการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และทาง ธปท. ได้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง

ในงานวิจัยของไอเอ็มเอฟ พบว่า ช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้น นโยบายการเงินภายใต้ “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น” (Flexible Inflation Targeting : FIT) ที่ชัดเจนน่าเชื่อถือ และอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถเคลื่อนไหวได้ยืดหยุ่นตามกลไกตลาด มีส่วนสำคัญในการลดทอนผลกระทบและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

โดยไทยนำเอฟทีไอมาใช้อย่างเป็นทางการในเดือนพ.ค. ปี 2543 ความสอดคล้องกับเป้าหมายนี้คือปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เป้าหมายหลักของธปท.เพื่อให้แน่ใจเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งกำหนดให้ต่ำกับเงินเฟ้อคงที่ อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ดำเนินการพิจารณาพัฒนาการเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ ให้เหมาะสมกับการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หลังจากนำกรอบงานนโยบายการเงินใหม่มาใช้ เศรษฐกิจไทยช่วงปี 2544-2550 มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.6% และจีดีพีขยายตัวเฉลี่ยต่อปี 5.1%

ในบทวิจัยทางเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ประมาณการว่า หากประเทศไทยไม่ได้ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น หรือ เอฟไอที และมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น แต่ใช้กรอบอื่นเช่น กรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า ที่เกิดขึ้น กล่าวคือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริงถึง 3.7% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับปกติที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี

งานศึกษาของ ไอเอ็มเอฟ ชิ้นนี้ ยังให้ข้อสังเกตว่า กรอบ เอฟไอที นอกจากจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำแล้ว กรอบนโยบายนี้ยังมีความยืดหยุ่นพอ เพราะไม่ได้มุ่งแค่เป้าหมายแคบๆ ในระยะสั้นแต่เน้นเป้าหมายเป็นกรอบกว้างในระยะปานกลาง จึงทำให้มีความยืดหยุ่นพอที่จะใช้ดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจและลดความผันผวนระยะสั้น โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากภายนอกได้

งานวิจัยนี้ยังได้ยกตัวอย่างการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงปลายปี 2551 ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 2.5% จาก 3.75% ไปอยู่ที่ 1.25% ต่อปี ถือเป็นอัตราต่ำเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งการปล่อยให้ค่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวได้ตามกลไกตลาด ว่า การดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวมีส่วนช่วยรองรับผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้มาก

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สื่อนอก เสนอข่าวภาพโอบามากับยิ่งลักษณ์ พาดหัว เสน่ห์ระหว่างผู้นำ !!?

เว็บไซต์เดลี่เมล์ของอังกฤษรายงานข่าวพร้อมนำเสนอภาพเชิงสีสันระหว่างการเยือน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบารัค โอบามา โดยอ้างอิงภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศทั้งจากเอพี และเอเอฟพี โดยพาดหัวอย่างมีสีสันทำนองว่า "เสน่ห์ระหว่างผู้นำ" โอบามากับการสนทนากับนายกฯไทยอย่างออกรสระหว่างการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ในเอเชีย พร้อมเลือกภาพประกอบระหว่างโอบามากับยิ่งลักษณ์ที่ดูมีสีสัน พร้อมคำบรรยายในแบบข่าวแทบลอยด์แบบดราม่า เป็นต้นว่าทั้งคู่หัวเราะด้วยกัน หรือบรรยายว่าต่างแลกเปลี่ยนสายตาขี้เล่นตลอดมื้อค่ำที่จัดโดยรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล










ภาพที่เดลี่เมล์เลือกนำมาใช้ประกอบ


อย่างไรก็ตามแม้พาดหัวและภาพประกอบบางส่วนจะนำเสนอเชิงสีสันแต่ในเนื้อหามีการนำเสนอภารกิจการเยือนประเทศไทยโดยละเอียดตั้งแต่การไปเยี่ยมชมวัดเชตุพนวิมลมังคลารามการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางการเมืองความร่วมมือกับประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

ที่มา
http://www.dailymail.co.uk/news/article-2234978/President-Barack-Obama-schmoozes-Thai-PM-Yingluck-Shinawatra-stop-historic-Asia-visit.html

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แถลงการณ์ร่วมระหว่าง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร.


นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประธานาธิบดีบารัค โอบามา ร่วมหารือกัน ณ ทำเนียบรัฐบาล และร่วมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่กำลังจะครบรอบ 180 ปี (สหรัฐอเมริกาและไทยสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2376 หรือปี 1833)
เพื่อกำหนดทิศทางในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบทวิภาคีเชิงลึกมากขึ้นและเพื่อขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาค ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้แสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับโปรดเกล้าให้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาย้ำจุดยืนว่า สหรัฐอเมริกาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยและยินดีกับรัฐบาลไทยในความมุ่งมั่นเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน เขาย้ำว่าประเทศไทยคือพันธมิตรตามสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียของสหรัฐอเมริกา ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นพ้องในความเป็นพันธมิตรอันมีรากฐานมากจากการยึดมั่นในระบอบประชาธิไตย หลักนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นสากล ความเป็นสังคมเปิด และการมีตลาดเสรี อันเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศผูกพันแน่นแฟ้น
โดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเสริมว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกานั้นเกือบ 180 ปีนั้น ได้รับการสถาปนาครั้งแรกในปี 1833 ตามสนธิสัญญาไมตรีและการค้า (Treaty of Amity and Commerce) การเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันนั้นมิใช่เพียงแค่ระยะเวลาที่ยาวนานเป็นเครื่องพิสูจน์ความสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศด้วย ซึ่งมีคุณค่าเปี่ยมไปด้วยความหมายในการสนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพ ความรุ่งเรือง และสร้างงานให้ทั้ง 2 ประเทศตลอดจนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ผู้นำทั้ง 2 ประเทศยินดีที่จะหารือร่วมกันในระดับสูง ในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
  • รวมถึงการหารือทางยุทธศาสตร์ครั้งที่ 4 ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในเดือนมิถุนายน 2012
  • การเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เมื่อเดือนกันยายน 2012 เพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติครั้งที่ 67
  • การหารือร่วมกันว่าด้วยยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2012 และ
  • การเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา นายลีออน พาเน็ตตา (Leon Panetta) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2012 ที่ผ่านมา
ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้การหารือในระดับสูงเป็นเครื่องมือในการสานสัมพันธ์สู่ความสำเร็จยิ่งขึ้น ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันให้ที่หลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลสะท้อนในความร่วมมือเชิงลึกด้านต่าง ๆ ทั้งการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ด้านเทคนิค สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การหารือทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย (United States-Thailand Strategic Dialouge) ถือเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญในการกำหนดวาระความสัมพันธ์ของทั้งสหรัฐและไทย

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้การต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามา
การหารือยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างไทยและสหรัฐครั้งที่ 2 นั้นทำให้ความร่วมมือด้านความมั่นคงภายใต้กรอบทวิภาคี ช่วยส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะหารือทางยุทธศาสตร์ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของไทยและสหรัฐเพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนของทั้ง 2 ประเทศ ผู้นำทั้ง 2 ประเทศย้ำถึงหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ไทย-สหรัฐ (Thailand-United States Creative Partnership) ที่เชื่อมโยงมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และนวัตกรรมในภาคส่วนต่างๆ ของทั้ง 2 ประเทศ เป็นความมือหลักของทั้ง 2 ชาติ และให้เป็นฟอรั่มในการขยายความร่วมมือในพื้นที่ใหม่ๆ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยยินดีที่จะแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนผ่านโครงการให้ทุนการศึกษาฟุลไบรท์ (Full Bright) และโครงการหน่วยสันติภาพ (Peace Corps) ซึ่งครบรอบ 50 ปีในปีนี้ ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตที่กำลังจะครบรอบ 180 ปีในอีกไม่ช้า ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ทั้งไทยและสหรัฐอเมริกาได้ตระหนักถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันและทำให้มีศักยภาพที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ด้านประธานาธิบดีโอบามาได้แสดงให้เห็นว่าเขาซาบซึ้งและประทับใจที่ประเทศไทยพยายามสนับสนุนสันติภาพและความรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นในภูมิภาคผ่านโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ขณะที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ยินดีกับบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะเกี่ยวพันกันในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยสหรัฐจะช่วยส่งเสริมในการเพิ่มพูนสันติภาพ ความรุ่งเรือง การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชน ทั้ง 2 ฝ่ายยินดีต่อความสำเร็จขณะที่ความร่วมมือด้านความมั่นคง ดังนี้
  • การฝึกซ้อมรบภายใต้รหัสคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) ประจำปีต่อไป ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมฝึกซ้อมรบและเฝ้าสังเกตการณ์รวม 27 ประเทศ
  • การร่วมปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพระหว่างประเทศไทยในดาฟูร์
  • การปฏิบัติภารกิจเพื่อต่อต้านกลุ่มโจรสลัดในอ่าวเอเดน (Aden)
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโอบามายังร่วมยินดีกับไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีในงานประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือและความมั่นคงในการฝึกซ้อมเตรียมรับภัยพิบัติในปี 2013 นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์แสดงความยินดีกับสหรัฐที่ดำเนินนโยบายในการเป็นหุ้นส่วนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างแข็งขันและการให้ความสนับสนุนอาเซียนของสหรัฐในการรวมตัวและการพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการเกี่ยวพันของสหรัฐในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS)
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก เป็นฟอรั่มในการหารือของผู้นำในเอเชียแปซิฟิกทั้งประเด็นการเมืองและยุทธศาสตร์ ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่ทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในทางปฏิบัติของภูมิภาค รวมทั้งองค์การระดับพหุภาคีในภูมิภาคอย่างการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ARF) และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายต่างตระหนักถึงความสำคัญว่าด้วยความร่วมมือที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพซึ่งกันและกัน และการแก้ปัญหาข้อพิพาทอย่างสันติตามหลักการสากลของกฎหมายระหว่างประเทศ
ทั้ง 2 ฝ่ายต่างยอมรับความสำเร็จในความคืบหน้าว่าด้วยแนวปฏิบัติทะเลจีนใต้ภายใต้กรอบความร่วมมือของอาเซียน-จีน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์กล่าวถึงการที่สหรัฐมีข้อริเริ่มในการเกี่ยวพันกับลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้ง 2 ฝ่ายยินดีที่ลงนามในบันทึกทำความเข้าใจ (MoU) ความร่วมมือไตรภาคีระหว่างองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และองค์การความร่วมมือการพัฒนาของไทยในการสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายรูปแบบใหม่ เช่น ความมั่นคงด้านนิวเคลียร์ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การบรรเทาภัยพิบัติ และการลักลอบค้าสัตว์ป่า ที่กลายเป็นประเด็นสำคัญในระดับโลก ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายต่างยินดีต่อผลการประชุมสุดยอดผู้นำความมั่นคงว่าด้วยนิวเคลียร์ ณ กรุงโซล และการประสานงานร่วมกันเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมกับข้อริเริ่มเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ในการนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แสดงความยินดีที่ไทยประกาศรับรองหลักการสกัดกั้นความริเริ่ม ด้านความมั่นคงในการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Proliferation Security Initiative: PSI)

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศร่วมกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ประธานาธิบดีโอบามาและนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เห็นพ้องที่จะร่วมมือในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ อาทิ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การต่อต้านยาเสพติด และการพยายามทำให้บริเวณชายแดน สนามบิน และท่าเรือเกิดความปลอดภัย โดยประธานาธิบดีโอบามาและนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ให้ความสำคัญในการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันในด้านสาธารณสุข และพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อ HIV และไข้เลือดออก ตลอดจนความร่วมมือเพื่อต่อต้านโรคระบาด เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และการดื้อยาต้านเชื้อมาลาเรียหลายชนิด โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องในความร่วมมือที่จะเอาชนะต่อความท้าทายข้ามชาติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ประธานาธิบดีบารัค โอบามายังตระหนักถึงบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคสำหรับการเชื่อมโยงอาเซียนและสนับสนุนบทบาทที่สำคัญยิ่งของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic community: AEC) ทั้ง 2 ฝ่ายยินดีที่จะรวมกลุ่มกันภายใต้กรอบความตกลงการลงทุนและการค้า (Trade and Investment Framework Agreement: TIFA) การร่วมมือในเชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ในบริบททนี้ ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือเพื่อสนับสนุนให้เกิดการค้า การลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน การพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจแก่สตรี และการเชื่อมโยงในระดับประชาชนสู่ประชาชนผ่านแผนงานสหรัฐ-อาเซียน 5 ปี (U.S.-ASEAN Five Year Work Plan)
ประธานาธิบดีโอบามารู้สึกยินดีที่ประเทศไทยให้ความสนใจในการเจรจาตามความตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership: TPP) ที่ไทยจำเป็นต้องดำเนินการตามกระบวนการภายใน โดยผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายยินดีที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีร่วมภายใต้ความตกลงทั้งด้านการลงทุนและการค้า ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการปรึกษาหารือของไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมตามความตกลงที่มีมาตรฐานสูงซึ่งรวมถึงความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(Trans Pacific Partnership: TPP) นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์และประธานาธิบดีโอบามาเห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือที่ก้าวหน้าและหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น

ถ้อยแถลงจากงานเลี้ยงอาหารมื้อค่ำอย่างเป็นทางการระหว่าง
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร


ประธานาธิบดีบารัค โอบามา v.s. นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภาพจากทำเนียบรัฐบาล

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษผู้มีเกียรติทุกท่าน ดิฉันรู้สึกยินดีอย่างยิ่งในการให้การต้อนรับท่านสู่เมืองไทย และเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รับโอกาสในการเยือนหลังชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี ดิฉันหวังว่างานกาลาดินเนอร์ในค่ำคืนนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการต้อนรับการเยือนของท่าน แต่ยังเป็นการร่วมฉลองแสดงความยินดีที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 2 ดิฉันเชื่ออย่างยิ่งว่าประธานาธิบดีของท่านจะประสบความสำเร็จและขยายความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาติอย่างสมบูรณ์
ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณท่านและทีมรัฐบาลของท่าน โดยเฉพาะรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐ รวมทั้งการเกี่ยวพันกับชาติเอเชียทั้งหลายดำเนินไปอย่างก้าวหน้า สำเร็จลุล่วง ความเป็นหุ้นส่วนของเรามิใช่แค่เพียงรากฐานทางประวัติศาสตร์ แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ของเราในระดับประชาชนสู่ประชาชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการมีค่านิยมร่วมกันทั้งด้านประชาธิปไตยและการเคารพในสิทธิเสรีภาพของพลเมืองร่วมกันด้วย
เรารู้สึกซาบซึ้งใจต่อการให้ความสนับสนุนของท่านในการนำพาประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศไทย ดิฉันหวังว่าท่านจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหลากหลาย

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวถ้อยแถลงในมื้ออาหารค่ำอย่างเป็นทางการ ภาพจากทำเนียบรัฐบาล
ในความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ อย่างที่ประธานาธิบดีและดิฉันได้หารือกันในวันนี้ เราจะยังคงเสริมสร้างและขยายการค้า การลงทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานและความเจริญรุ่งเรืองของเราต่อไป ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพียงความเชื่อมั่นเท่านั้น หุ้นส่วนจะสามารถยึดมั่นสันติภาพและความรุ่งเรืองสู่ประเทศชาติของเราทั้งสองได้
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ดิฉันขอเชิญทุกท่านร่วมดื่มอวยพรเพื่อฉลองความสัมพันธ์ของเราที่จะครบรอบ 180 ปีในปี 2013 นี้ ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกันอย่างยาวนาน
เชียร์

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย การเยือนประเทศไทยของผมแม้เป็นช่วงเวลาสั้น แต่ผมก็รู้สึกได้ถึงการต้อนรับอย่างอบอุ่นของประชาชนชาวไทย อย่างที่ทุกท่านรู้จักกันดีในนามของ ดินแดนแห่งรอยยิ้ม (สยามเมืองยิ้ม) และผมรู้สึกได้ไม่ว่าจะไปที่แห่งใดก็ตาม
ผมรู้สึกได้ถึงเกียรติภูมิและความแข็งแกร่งของประชาชนและประเทศนี้ ความสงบและสันติภาพที่ผมรู้สึกได้ขณะที่ผมย่างก้าวไปในบริเวณวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงอุทิศตนและพระราชทานความช่วยเหลือในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งเรา เราได้เห็นถึงการฟื้นฟูชาติและพยายามผลักดันให้ประเทศชาติหน้าก้าวหน้าต่อไปหลังประสบอุทกภัย

บารัค โอบามา กล่าวถ้อยแถลงในมื้ออาหารค่ำอย่างเป็นทางการ ภาพจากทำเนียบรัฐบาล
เหนือสิ่งอื่นใด ผมคิดว่าเราทั้งมวลที่อยู่ ณ ที่นี่ในค่ำคืนนี้มีความเป็นมิตรภาพอันเป็นหนึ่งเดียวกัน ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่าตั้งแต่ท่านทรงพระราชทรงภพ ณ ประเทศอเมริกา สหรัฐอเมริกาถือเป็น “แผ่นดินแม่อีกครึ่งหนึ่ง” (half my motherland) และเราทั้งหมดทั้งมวลรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยอเมริกัน ผู้ที่จะทำให้ประเทศของเรารุ่งเรือง ด้วยความสัจจริง ผมได้กล่าวกับพระบาทสมเด็นพระเจ้าอยู่หัวถึงพันโทหญิง ลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ (Ladda Tammy Duckworth) ที่เป็นลูกครึ่งอเมริกัน-ไทยคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาของเรา และเธอมาจากรัฐอิลลินอยส์ ผมรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเธออย่างยิ่ง
ทุกสิ่งอย่างที่ผมรู้สึกได้ เกียรติภูมิของพวกท่าน ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของพวกท่าน มิตรภาพ รวมทั้งการต้อนรับอันอบอุ่นจากพวกท่าน เหล่านี้คือรากฐานความสัมพันธที่เป็นพันธมิตรของพวกเรา นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ท่านเป็นชาติแรกในอาเซียนที่สหรัฐให้ความสำคัญในการมาเยือนหลังจากที่เราได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง นั่นคือสาเหตุที่ทำไมวันนี้ เราสามารถกล่าวได้ว่าไทยคือเพื่อนที่เก่าแก่ที่สุดของเรา และเรารู้สึกภาคภูมิใจต่อมิตรภาพของเรายิ่งนัก เรารู้สึกได้และเล็งเห็นความเป็นผู้นำอันชาญฉลาดของนายกรัฐมนตรี ท่านสามารถดำเนินบนเส้นทางประชาธิปไตยได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเสรีภาพ และมีพัฒนาการ

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร v.s. ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ภาพจากทำเนียบขาว
ด้วยเหตุนี้ ผมขอดื่มอวยพรแด่มิตรภาพระหว่างประชาชนของเรา เพื่อเพิ่มพูนความแข็งแกร่งแด่ความเป็นพันธมิตรของเรา เพื่อสันติภาพ ความรุ่งเรืองที่เราร่วมแสวงหาและแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ไชโย.
ที่มา: The White House
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ไลน์ อาวุธลับญี่ปุ่นต่อกร เฟซบุ๊ค !!?


แอพ ซึ่งมีผู้ใช้มากกว่า 70 ล้านคนในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ให้บริการรับส่งข้อความทันใจ (ไอเอ็ม) และโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับบริการของสไกป์ แต่บริษัทที่อยู่เบื้องหลัง "ไลน์" ต้องการจะเป็นมากกว่าระบบการส่งข้อความ เพื่อเป็นแอพทางเลือกที่พัฒนาขึ้นในเอเชีย เมื่อเทียบกับบริการและเครือข่ายสังคมยอดนิยมจากสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ บริษัทผู้พัฒนาเกม"ซิงก้า" และบริการแบ่งปันรูปถ่าย"อินสตาแกรม"

"หลังจากไลน์เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ใช้แถบเอเชีย ตอนนี้บริษัท วางแผนจะขยายไปสหรัฐ ยุโรป และที่อื่นๆ" อากิระ โมริกาว่า หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของเอ็นเอชเอ็น ประจำญี่ปุ่น ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น"ไลน์" กล่าว

โดยเอ็นเอชเอ็น ประจำญี่ปุ่น เป็นธุรกิจในเครือของเอ็นเอชเอ็น คอร์ป. จากเกาหลีใต้ ผู้ให้บริการ"นาเวอร์"เครื่องมือค้นหา และเวบท่า ซึ่งมีคุณลักษณะผสมระหว่างกูเกิลแ ละยาฮู ในแดนโสมขาว

เมื่อลงทะเบียนเปิดใช้บริการแล้ว ไลน์จะค้นหาผู้ใช้คนอื่นโดยอัตโนมัติ จากรายชื่อผู้ติดต่อ ที่เก็บไว้ในสมาร์ทโฟน แต่ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะลบรายชื่อผู้ติดต่อบางคนในสมาร์ทโฟนออกจากรายชื่อผู้ติดต่อในไลน์ได้หากต้องการ ทั้งยังสามารถเพิ่มรายชื่อผู้ติดต่อใหม่ๆ ในไลน์ได้ด้วยการแลกเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ (ยูสเซอร์เนม) โดยไม่ต้องแลกเบอร์มือถือกัน ผู้ใช้ไลน์ สามารถเลือกส่งข้อความเป็นตัวอักษรธรรมดา หรืออีโมติคอน สติกเกอร์เสมือนที่มีสีสันสดใส หรือการ์ตูนที่มีทั้งความน่ารักและความประหลาดก็ได้

แม้จะได้รับความนิยม แต่ยังมีอุปสรรคก้อนโตที่ไลน์ต้องเจอ เมื่อในตลาดแอพพลิเคชั่น เพื่อการสื่อสารนั้น อัดแน่นไปด้วยคู่แข่งตัวฉกาจ รวมถึง สไกป์ วอทส์แอพ และกองทัพบริการรับส่งข้อความเจ้าอื่น เฉพาะในเอเชียเพียงทวีปเดียว ไลน์ต้องแข่งกับ"กาเกา ทอล์ค" ในเกาหลีใต้ และบริการ"เวบแชท" ของเทนเซนต์ โฮลดิ้ง จำกัด ที่มียอดผู้ใช้ในจีนร่วม 200 ล้านคน

เจสซิก้า กี่ นักวิเคราะห์ของคานาลิสต์ บริษัทวิจัยตลาดในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า เป็นความท้าท้ายครั้งใหญ่ของไลน์ที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศที่มีบริการที่โดดเด่นอยู่แล้ว เนื่องจาก ผู้ใช้มักไม่ต้องการใช้หลายแพลตฟอร์มในการรับส่งข้อความทันใจ

เธอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ไลน์ แทบจะไม่เป็นที่รู้จักในภูมิภาคอื่นนอกเอเชีย และสติกเกอร์เสมือนที่ว่าน่ารักในหมู่ผู้ใช้ชาวเอเชีย อาจจะไม่ถูกใจผู้คนจากส่วนอื่นของโลกก็เป็นได้

ด้านโยชิยา นากามูระ นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทวิจัยเนลเซ่น กล่าวว่า ประเทศในเอเชียบางประเทศมีเวบไซต์เครือข่ายสังคมที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทในประเทศ และส่วนใหญ่มักจะไม่ขยายไปทำตลาดในต่างประเทศ ขณะที่จากสถิติ บ่งชี้ชัดว่า เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ได้รับความนิยมไปทั่วเอเชีย

แต่โมริกาว่า ระบุว่า จุดแข็งของ"ไลน์" คือ การเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ และแม้สไกป์และเฟซบุ๊ค อาจมีภาพของการเป็นตัวกลางที่เชื่อมสื่อสังคมกับโปรแกรมสนทนาเข้าไว้ด้วยกันของยุคพีซี แต่ไลน์เชื่อมั่นว่าบริษัทมีศักยภาพจะทำแบบเดียวกันได้สำหรับยุคสมาร์ทโฟน

สแตทเคาน์เตอร์ บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต พบว่า สัดส่วนของการท่องเวบผ่านอุปกรณ์พกพากำลังไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อเดือนก.ย. มีการเข้าใช้เวบไซต์ผ่านอุปกรณ์พกพาคิดเป็นสัดส่วน 12% ของการท่องอินเทอร์เน็ตทุกประเภท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

พงศ์เทพ เดินหน้าแจกแท็บเลต ป.1 และ ม.1


นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 แท็บเลต ต่อ 1 นักเรียน ว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์สำหรับการจัดซื้อแท็บเลตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 ซึ่งจะจัดสรรให้กับนักเรียนทุกสังกัดประมาณ 1.69 ล้านเครื่อง แบ่งการซื้อออกเป็น 4 กอง ๆ ละประมาณ 4 แสนเครื่อง แบ่งเป็น ป.1 จำนวน 2 กอง และ ม.1 จำนวน 2 กอง โดยผู้เข้าประมูลสามารถเสนอราคาได้ทุกกอง และจะทำการประมูลต่อเนื่อง คือ เมื่อทำการประมูลกองแรกเสร็จแล้วจึงจะดำเนินการประมูลกองถัดไป ทั้งนี้ การจัดซื้อจะใช้วิธีการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction)

"เหตุที่ทำการซื้อแยกออกจากกัน เพราะสเปคแท็บเลตของนักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 ไม่เหมือนกัน และเพื่อให้เกิดการแข่งขันให้ได้ราคาที่ดีที่สุด จึงต้องแบ่งการประมูลออกเป็น 4 กอง โดยตอนนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปกำหนดปฏิทินกำหนดการ เพื่อส่งมอบแท็บเลตให้กับนักเรียนได้ภายในเดือน พ.ค.2556 ส่วนที่ก่อนหน้านี้มีการประกาศว่าจะแจกแท็บเลตให้กับนักเรียนชั้น ม.1 ภายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษานี้ก็คงต้องระงับไปก่อน และให้ไปแจกในปีการศึกษาหน้าแทน"

ส่วนเรื่องการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาจัดซื้อแท็บเลตเป็นเรื่องระดับรัฐบาลที่ต้องไปทำการตกลง หากการเจรจาเป็นไปด้วยดี อาจจะจัดซื้อแท็บเลตให้กับนักเรียนทุกชั้นปีในปีงบประมาณ 2557 ก็เป็นได้

ด้านนายเอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. กล่าวว่า ราคาแท็บเลตที่จะจัดสรรให้นักเรียนชั้น ป.1 อยู่ที่ 2,800-2,900 บาท โดยจะมีสเปคสูงกว่าครั้งที่แล้ว เช่น มีกล้องถ่ายรูปหน้าและหลังเครื่องเพื่อใช้ในการสแกน QR Code สำหรับเนื้อหาการเรียนการสอน รวมถึงเพิ่มหน่วยความจำจากเดิม 512KB เป็น 1GB ส่วนแท็บเลตสำหรับนักเรียน ม.1 มีราคาและสเปคใกล้เคียงกัน แต่สเปคจะสูงกว่า เช่น เพิ่มเติมช่อง HDMI ในการเชื่อมต่อกับแอคทีฟบอร์ด

ทั้งนี้ แท็บเลตที่จะจัดซื้อในปีงบประมาณ 2556 มีทั้งหมดประมาณ 1.69 ล้านเครื่อง แบ่งเป็นการจัดซื้อให้กับนักเรียนชั้น ป.1 จำนวน 8.48 แสนเครื่อง และนักเรียนชั้น ม.1 จำนวน 8.39 แสนเครื่อง ขณะที่งบประมาณในการจัดซื้อแท็บเล็ตของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่ที่ 5.4 พันล้านบาท, หน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย (อปท./กทม./พัทยา) จัดซื้อ 678 ล้านบาท และงบประมาณจัดซื้อของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน อยู่ที่ 72 ล้านบาท

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
***************************************************************************

มองให้รอบก่อนบุก เวียดนาม !!?

คอลัมน์ รู้จักอาเซียนโดย : กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ



กระทรวงการต่างประเทศได้จัดสัมมนาเรื่อง "ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม : มิติใหม่แห่งการขยายการค้า และการลงทุน" ในช่วงที่ผ่านมา โดยเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในเวียดนาม

ดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดแข็งของเวียดนามในการพัฒนาประเทศว่า เวียดนามมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน เนื่องจากนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผสมผสานระหว่างระบบสังคมนิยมและการตลาด ซึ่งเปิดให้เวียดนามสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเสรีนิยม เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีจุดแข็งที่การเมืองมีเสถียรภาพสูง ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น ทั้งยังมีแรงงานจำนวนมาก ค่าแรงอยู่ในอัตราต่ำ แต่มีความใฝ่รู้ และมีวินัยในการทำงานจนเป็นที่นิยมของนายจ้างชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าและการลงทุน

ในแง่ของการลงทุนในเวียดนาม นางวาสนา มุฑุตานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ให้แง่มุมว่า ตลาดในประเทศเวียดนามมีขนาดใหญ่ และปัจจุบันเวียดนามยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) หรือการได้รับการลดหย่อน/ยกเว้นอากรในการส่งสินค้าไปยังประเทศตะวันตก, การให้สิทธิพิเศษในการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศแก่นักลงทุน, มีกฎหมายคุ้มครองนักลงทุน โดยจะไม่มีการยึดหรือโอนทรัพย์สินของนักลงทุนมาเป็นของรัฐ และอำนวยความสะดวกในการโอนเงินลงทุนและผลกำไรที่ได้กลับประเทศอีกด้วย

ด้าน นางสมหทัย พานิชชีวะ ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และนายพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเริ่มดำเนินธุรกิจในเวียดนามว่า ข้อสำคัญ คือควรทำประกันความเสี่ยงในการลงทุน เนื่องจากเวียดนามมีข้อจำกัดในเรื่องความผันผวนของค่าเงินด่อง

อีกทั้งรัฐบาลก็ยังไม่อนุญาตให้ใช้เงินดอลลาร์ในการลงทุน ดังนั้น บริษัทที่เข้าไปลงทุนจึงควรมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพราะเวียดนามปรับเปลี่ยนกฎหมายด้านการลงทุนและภาษีอยู่เป็นประจำ สุดท้ายคือควรสร้างพันธมิตรกับเอกชนอื่น ๆ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับภาครัฐ

ด้านภาคเอกชน นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และนายสุเวศ วังรุ่งอรุณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนว่าความท้าทายของนักทุนไทย คือการขอใบอนุญาตประกอบการ ซึ่งใช้เวลานาน, ต้นทุนอสังหาริมทรัพย์สูง และควรลงทุนด้านเครื่องจักร เพื่อเพิ่มสัดส่วนในการผลิต ซึ่งสามารถลดปัญหาอัตราค่าแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในอนาคตการใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกในเวียดนามอาจจะไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ เวียดนามมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำว่าร้อยละ 10 ในทุก ๆ ปี

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ใบหน้า ม็อบ เสธ.อ้าย !!?


โดย.ประชา บูรพาวิถี

โดนฝ่ายรัฐบาลเล่นสงครามข่าวมาหลายวัน "เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เพิ่งตั้ง พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี โฆษกองค์การพิทักษ์สยาม

คนไทยส่วนใหญ่รู้อย่างเดียวว่า "ม็อบ เสธ.อ้าย" ชนะแล้วจะ "แช่แข็งประเทศไทย" ซึ่งประเด็นเนื้อหาของการชุมนุม 24 พ.ย.2555 ยังคลุมเครือ และการเคลื่อนไหวยังไม่มีลักษณะที่เด่นชัด

ขนาดวันก่อน องค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่าย ได้ประกาศ "ปฏิญญาปวงชนชาวไทยพิทักษ์สยาม" ก็ยังไม่มีสื่อสำนักไหน นำปฏิญญานางเลิ้งไปเผยแพร่
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญของ "คนทำม็อบ" หากแต่การระดมพลเข้าร่วมชุมนุมมากน้อยเท่าใด เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า และฝ่ายการข่าวของรัฐบาลก็วิ่งเช็คข่าวกันฝุ่นตลบ
ปรากฏว่า "ตัวเลข" ของฝ่ายทำม็อบกับฝ่ายการข่าวของรัฐใกล้เคียงกัน คือประมาณ 5-6 หมื่นคน

"ม็อบ เสธ.อ้าย" ต่างจาก "ม็อบพันธมิตร" ตรงที่ไม่ต้องไหว้ครูนาน ไม่ต้องโหมโรงเยอะ พอยกแรกคนมาร่วม 2-3 หมื่นคน ก็ประกาศชุมนุมยกที่สองทันที เพราะมั่นใจใน "ขุมกำลัง" ที่มีอยู่

กลุ่มแรกคือ "คนไม่เอาระบอบทักษิณ" ที่เคลื่อนไหวร่วมกับพันธมิตรฯ มาตั้งแต่ปี 2549 แต่ช่วงหลังมีความคิดเห็นต่างกัน จึงแยกออกไปเป็น "กลุ่มเสื้อหลากสี" , "กลุ่มเสื้อสีฟ้า" และกลุ่มก้อนเดิม "กลุ่มเสื้อเหลือง"

ปัจจุบัน "ทีนิวส์ทีวี" ของ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นศูนย์กลางข่าวสารของคนกลุ่มนี้ และมี พิพัฒน์ ชนะสงคราม มือขวาของ "ต้อย ทีนิวส์" เข้าไปร่วมบริหารจัดการม็อบ เสธ.อ้าย เต็มตัว

ที่น่าสนใจ เมื่อ 28 ต.ค.2555 มีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในการระดมคนไปร่วมชุมนุมอย่างได้ผล จึงทำให้กลุ่มแกนนำมั่นใจในเสียงตอบรับจากผู้คนที่เข้ามากดไลค์ และยืนยันว่าจะไปลานพระบรมรูปทรงม้าฯ

กลุ่มที่สอง "กองทัพธรรม" ที่มีความพร้อมในการสนับสนุนเรื่องน้ำ อาหาร ที่พักอาศัย และการรักษาพยาบาลแก่ผู้ชุมนุม โดยมี "เอฟเอ็มทีวี" เป็นกระบอกเสียงในการปลุกเร้าให้ชาวอโศกทุกสาขา ให้หยุดกิจกรรมทุกอย่างมาเข้าร่วมชุมนุม ทั้งสมณะและฆราวาส

กลุ่มที่สาม "เครือข่ายช่อง 13 สยามไท" ของ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ที่รวมดาวนักไฮด์ปาร์กฝีปากกล้า พร้อมด้วย "กลุ่มนักรบย่าโม" และใช้ทีวีดาวเทียม "ช่อง 13 สยามไท" ปลุกระดมมวลชนด้วยเพลง "หนักแผ่นดิน" กระหึ่มจอ

กลุ่มที่สี่ "กลุ่มแรงงานรัฐวิสาหกิจ" นำโดย สมศักดิ์ โกศัยสุข ที่หายหน้าหายตาไปจากแกนนำพันธมิตรฯ วันนี้ "สมศักดิ์" กลับมาแล้ว ในภารกิจไล่รัฐบาลนอมินีทักษิณ

กลุ่มที่ห้า "รากหญ้าในเมือง" ที่รวบรวมมวลชนฐานรากในเมืองใหญ่ โดยแกนนำบางปีกของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสภาองค์กรชุมชน

กลุ่มที่หก "มวลชนต่างจังหวัด" เป็นกลุ่มพลังที่มีการบริหารจัดการ และในรายงานของการข่าวสันติบาล หรือสำนักข่าวกรองฯ ยืนยันตรงกันว่า "มวลชนภาคใต้มาเยอะแน่ เหมือนสมัยมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ"

สำหรับมวลชนภาคอีสานคงเดินมาทางมาร่วมไม่มากนัก เพราะเป็นพื้นที่ยึดครองของคนเสื้อแดง แม้แต่กลุ่มกองทัพปลดแอกฯ ก็จะมาร่วมจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากแกนนำกองทัพปลดแอกฯ ยังกังขาในแนวทางการต่อสู้ของ เสธ.อ้าย

ทั้งหมดนี้เป็นภาพกว้างๆ ของใบหน้า "ม็อบ เสธ.อ้าย" และเหลือเวลาอีกไม่กี่เพลา ยุทธการไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อันโลดโผนและสุดพิสดารก็จะเริ่มขึ้น!

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
******************************************************************************

แกะรอยม็อบใคร !!?


เดือน พ.ย. เป็นเดือนหฤโหดวิปโยคที่แท้จริงสำหรับคนไทย การเมืองของไทยเต็มไปด้วยความผันผวน เผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างหนัก แต่ขอให้จับตาดูในเดือน ธ.ค. นี้ เพราะมีผู้เป็นใหญ่กำลังชะตาขาดเคราะห์ร้าย

จะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจนเกิดการจลาจลนองเลือด จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน บ้านเมืองคับขันอย่างเต็มที่ภายในเดือน ธ.ค. การเมืองไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อาจมีคนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง อาจเกิดการยุบสภา หรือการปฏิวัติรัฐประหาร...”

เป็นคำทำนายทายทักจากนายโสรัจจะ นวลอยู่ นักโหราศาสตร์ชื่อดัง ที่ระดับความแม่นยำอยู่ในเกณฑ์เชื่อขนมกินได้

เป็นคำทำนายที่สอดคล้องกับหมอนิด นายกิจจา ทวีกุลกิจ นักโหราศาสตร์ชื่อดังของเมืองไทยอีกคน ที่ระบุว่า ประเทศไทยจะเกิดความรุนแรงขึ้น และเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย อาจถึงขั้นนองเลือดครั้งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้าทหารออกมาทำการรัฐประหารหรือปฏิวัติ การเลือกตั้งอาจต้องหยุดไปพักหนึ่ง และจะมีบุคคลสำคัญหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองออกนอกประเทศ

จิ้งจกทักยังต้องฟัง

คำทำนายทายทักที่ออกมายิ่งช่วยเพิ่มดีกรีความหวาดหวั่นต่อสถานการณ์เบื้องหน้าทบเท่าทวีคูณ

ม็อบ 50,000 คน ไม่ต่ำกว่านั้นแน่จะมารวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 24 พ.ย. เพื่อขับไล่รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยข้อกล่าวหา 3 ข้อสั้นๆคือ

1.รัฐบาลปล่อยให้มีการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน โดยไม่มีการป้องกัน แต่ดูเหมือนว่าจะมีการส่งเสริมมากกว่า

2.รัฐบาลเป็นหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อีกทั้งไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร และขาดธรรมาภิบาล

3.รัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น

ข้อกล่าวหาเก่าๆกว้างๆ แต่เรียกคนออกมาร่วมชุมนุมได้มาก เป็นอะไรที่น่าคิด

จากการติดตามเบาะแสการก่อกำเนิดของม็อบไล่รัฐบาล พบว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากมีนายทหารคนสนิทของใครบางคน ไปทาบทามให้ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ออกหน้าขับไล่รัฐบาล

ที่ไม่ใช้คนกลุ่มเก่าที่เคยทำงานสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง เพราะหน้าช้ำ เกรงคนที่เป็นกลางๆไม่มีสีจะไม่ยอมรับแล้วหันไปเข้าร่วมกับฝ่ายตรงข้าม จะกลายเป็นการเพิ่มกำลังให้ศัตรูโดยไม่จำเป็น จึงให้ไปรับบทบาทเป็นกองหนุนอยู่เบื้องหลังแทน

เหตุผลหลักที่ใช้หว่านล้อม เสธ.อ้ายคือ เหตุผลข้อที่ 1

หน้าที่ของ เสธ.อ้ายมีอย่างเดียวคือแสดงบทบาทเป็นผู้นำ ส่วนที่เหลือทั้งเรื่องคน ทุน และยุทธศาสตร์ คนที่มาติดต่อจัดการให้หมด

การชุมนุมใหญ่วันที่ 24 พ.ย. ตั้งใจจะเล่นแรงแบบม้วนเดียวจบ ยั่วยุให้ปะทะ สูญเสีย โดยมีนายทหารระดับพลตรีซุ่มเตรียมกำลังไว้รอจังหวะเหมาะออกมาแสดงตนเป็นฮีโร่

นี่คือที่มาของการประกาศระดมตำรวจไมต่ำกว่า 50,000 นายเข้ามาดูแลการชุมนุม

จำนวนตำรวจกับจำนวนม็อบเกือบเท่ากันแทบจะประกบกันหนึ่งต่อหนึ่ง แต่จริงๆไม่ใช่ต้องการใช้ตำรวจกำราบม็อบ เพียงต้องการส่งสัญญาณถึงนายทหารยศพลตรีคนนั้นว่าถ้าจะยึดอำนาจต้องมีกำลังมากกว่า

ในชั้นนี้รัฐบาลมั่นใจว่าส่วนหัวๆของกองทัพยังนิ่ง แต่ก็ไม่ชัวร์ 100% ว่าจะเอาอย่างไรหากมีการปะทะ

การระดมกำลังตำรวจ 50,000 นาย นอกจากการเป็นการส่งสัญญาณถึงนายทหารยศพลตรีที่กำลังจะรับงานใหญ่ ยังเป็นการโยนก้อนหินถามทางเพื่อจับอาการของผู้นำเหล่าทัพด้วย

สงครามใหญ่ใกล้เข้ามาทุกขณะ ถึงเวลาที่ประชาชนต้องตัดสินใจแล้วว่าจะนั่งดูเขาจับประเทศแช่แข็ง ออกกฎ กติกาปกครองประเทศตามใจชอบ เพื่อยึดกุมให้เบ็ดเสร็จ

หรือจะออกมาช่วยกันปกป้องประชาธิปไตย ที่ยังไงก็ดีกว่าอยู่ภายใต้เผด็จการ

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++