--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กล่าวหา‘ทักษิณ’ไม่จงรักภักดีศาลตัดสินไม่ผิด

ศาลจังหวัดมีนบุรีตัดสินยกฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ เอเอสทีวี ร่วมกันหมิ่นประมาท “ทักษิณ” กรณีกล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง คิดเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศ และไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูง ระบุเป็นการตั้งคำถามที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมจึงไม่เข้าข่ายทำให้เสียหาย ด้านศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนจำคุก “สนธิ” 1 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ยกพวกป่วนเวทีปราศรัย ยื่นหลักทรัพย์ 2 แสนประกันตัวสู้ต่อชั้นฎีกา

ที่ศาลจังหวัดเชียงราย ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่นายเก่งกาจ ศรีหาสาร นักวิชาการป่าไม้ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามภาคเหนือ กรมอุทยานแห่งชาติ เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในข้อหาหมิ่นประมาทกรณีกล่าวหานำพวกไปป่วนเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรฯที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ด้วยการปาประทัดยักษ์เข้าใส่ฝูงชนจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ทั้งนี้ ภายหลังพบว่าคนที่ปาประทัดยักษ์เป็นบุคคลอื่น ซึ่งตำรวจจับตัวดำเนินคดีไปแล้ว ข้อกล่าวหาของจำเลยจึงทำให้โจทก์ได้รับความเสื่อมเสีย นอกจากนี้ยังได้นำข้อกล่าวหาไปเผยแพร่ผ่านสื่อของจำเลยทั้งเว็บไซต์และวิทยุ ทำให้โจทก์ได้รับความเกลียดชังมากขึ้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2551 ให้นายสนธิมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา ให้โฆษณาคำสั่งศาลในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งนายสนธิได้ยื่นประกันตัวและยื่นอุทธรณ์คดี

ศาลอุธรณ์ภาค 5 พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามคำอุทธรณ์ของนายสนธิแล้วมีคำพิพากษาแก้ให้นายสนธิมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เพิ่มโทษจำคุกเป็น 1 ปี 6 เดือน แต่มีเหตุให้บรรเทาโทษ จึงลดโทษเหลือ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี ลดโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เหลือ 3 วัน

หลังฟังคำตัดสินนายสนธิได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวมูลค่า 200,000 บาท เพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายประพันธ์ คูณมี แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท

โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2551 นายประพันธ์กล่าวปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีการถ่ายทอดสดผ่านเอเอสทีวี ซึ่งมีบริษัทไทยเดย์ฯเป็นเจ้าของ กล่าวหาโจทก์ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง และยังมีแนวคิดที่จะเปลี่ยน แปลงระบบการปกครองประเทศ ไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานนำสืบทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่าข้อความตามฟ้องเป็นการตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องความจงรักภักดี การตั้งคำถามของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปที่สงสัยถึงความไม่บังควรเมื่อได้เห็นภาพโจทก์นั่งเป็นประธานทำบุญในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงไม่เข้าข่ายละเมิดให้โจทก์เสียหาย พิพากษายกฟ้อง

ที่มา.หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

**********************************************************************

‘มาร์ค’ฟีเวอร์!

ชื่อ “มาร์ค” นั้น สำคัญไฉน???..คนไทยคงไม่ต้องใช้สะระตะไตร่ตรองอะไรๆ มากมายก็คงเพียงพอที่จะซึมซับกับความแช่มชื่นช่วงปลายปีก่อนเข้าสู่ห้วงแห่งปีกระต่ายประหนึ่งของขวัญปีใหม่จากฉายานามนี้ได้

ใกล้ตาแต่ไกลตีนนั่นคือ..“มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” มิลเลียนแนร์ศาสดาเฟซบุ๊ก หนุ่มน้อยหน้ามนผู้เป็นดั่งความภาคภูมิใจของสาวกสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งบนพื้นพิภพแห่งนี้ ที่เพิ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปีจากนิตยสาร “ไทมส์” มาหมาดๆ

ใกล้แค่เอื้อม แต่ไล่กวดไม่ทันนั่นคือ..“มาร์ค เว็บเบอร์” นักแข่งรถสูตร 1 ฟอร์มูล่าวัน ทีมเรดบูล เรซซิ่ง ที่เพิ่งมาวาด ลวดลายโชว์ลีลาซิ่งสายฟ้าในงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ถนนแห่งประวิติศาสตร์ สตรีต ออฟ คิงส์ ราชดำเนิน เรดบูล แบงค็อก 2010 เมื่อไม่กี่เพลาที่ผ่านมา

ใกล้จะครบวาระบริหารประเทศอยู่ มะรอมมะร่อ นั่นคือ..“นายกฯ มาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่คล้องหลวงพ่อรอด เดินลุยไฟแดงไฟเหลืองกลางสี่แยกประเทศไทย ไปจวนจะใกล้ถึงปลายทางแห่งการ เลือกตั้งในปีข้างหน้า และเป็นผู้นำพามาซึ่ง ความหวังประชานิยมรูปแบบใหม่

ที่กลายพันธุ์จากรัฐสวัสดิการมาสู่สวัสดิการรัฐ ก่อนจะตกผลึกมาเป็น “ประชาวิวัฒน์ คิดนอกกรอบ บริหารนอกกรอบ” ในท้ายที่สุด!!!แจงสี่เบี้ยแตกไลน์ “วาระประชาวิวัฒน์เร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศ” ออกเป็น 5 กลุ่ม..

1.การกระจายที่ดินทำกินและโฉนด ชุมชน แนวทางดำเนินการ จะเร่งรัดกระบวนการออกโฉนดชุมชนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ กระจายการถือครองที่ดิน โดยเร่งรัดการใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และมาตรการอื่นๆ

2.ลดภาระภาษีค่าครองชีพของผู้มี รายได้น้อย มีทั้งการขยายการเข้าถึงบริการ สาธารณะของรัฐ ลดรายจ่ายพื้นฐานของ ผู้มีรายได้น้อย เช่น ค่าน้ำ ไฟ และค่าเดินทาง และจัดระบบสนับสนุนปัจจัยสี่ที่เหมาะสม ตั้งวงเงินปล่อยกู้นอกระบบมากกว่า 5 พันล้าน

3.เศรษฐกิจนอกระบบ ได้แก่ การขยายระบบสวัสดิการเพื่อแรงงานนอกระบบ มาตรการสนับสนุนอาชีพอิสระ เช่น แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และหาบเร่แผงลอย และการจัดระบบสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชุมชน และองค์กรการเงินชุมชน ที่คนกลุ่มนี้ จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ ที่ไม่ได้จำกัดวงเงิน โดยวาง ตัวเลขเบื้องต้นไว้ที่ 5 พันล้านบาท

4.การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ปรับระเบียบและกลไกต่อต้านการทุจริตของรัฐ เปิดเผยข้อมูลสำคัญของรัฐผ่านอินเตอร์เน็ต และสร้างความมีส่วนร่วมเอกชนและประชาสังคม เพื่อสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริต

และ 5.การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยจะกวดขัน และการ ปรับใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างเป็นระบบ และพัฒนากลไกการเฝ้าระวังภาคประชาชนผ่านเครือข่ายสื่อชุมชน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบโทรทัศน์ วงจรปิด

สรุปอย่างกระชับ คือ วาระการลดค่า ครองชีพ การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจัดสรรที่ดินทำกิน และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่กำลังจะระเบิดเงินคงคลังประเทศไทยนับแสนล้าน

ที่เคาะตัวเลขออกมามากมายถึงเพียง นี้คงไม่เกินเลยอะไรไปมากมาย หากนับรวมกับการขึ้นค่าตอบแทนทั้งระบบที่ “ซานตามาร์คใจดี” โปรยปรายงบประมาณชาติในวงเล็บ “พ่อประชานิยมเหลี่ยม” ไปก่อนหน้านี้

ประทับใจโคตรๆ เป็นปลื้มกันสุดๆ กับอภิมหาโปรเจกต์กล่อมให้ลืม “นายใหญ่” ประชาชนคนไทยได้กินพุงปลาโดยไม่ต้องลงมือจับ แต่จะสามารถกวาดต้อนคะแนน นิยมก่อนการเลือกตั้งได้มากน้อยเพียงใด ยังคงเป็นปริศนาอักษรไขว้ระหว่าง “อภิสิทธิ์” กับ “ทักษิณ”

กระนั้นก็เป็นพิมพ์ประชานิยมเดียว กันยิ่งกว่าถอดบล็อก “ลด แลก แจก แถม” แบบไม่เกรงกลัวว่าประชาชนจะเคยตัวจน งอมืองอเท้าไม่ยอมทำมาหากินเอง

ถึงบรรทัดนี้ จึงต้องสะกิดไว้กันลืม และอย่าลืมว่า นักการเมืองมาแล้วก็ไป ไม่มีตรรกะใดที่สะท้อนให้เห็นความจีรังยั่งยืน หากประชาชนคนไทยเอาแต่หลงใหลได้ปลื้มกับอภิมหาโปรเจกต์ “หวังน้ำบ่อหน้า”

ระวังไข้ “มาร์ค” ฟีเวอร์!!!..ตีกลับ รัฐบาลถังแตกหาเงินมาประเคนให้ไม่ทัน วันเผาจริงมาเยือนโดยไม่ได้ตั้งตัว คนไทย สำลักประชานิยมจน “ง่อยเปลี้ยเสียขา” หาปลากินเองไม่ได้

หากไม่เตรียมตัวเตรียมใจตั้งรับไว้ แต่เนิ่นๆ หากวันนั้นมาถึงจริงๆ มีหวังพี่ไทยน้องไทย ล้มทั้งยืนหัวฟาดพื้น แต่ไร้ฟูก น็อกคาเวทีประเทศไทย แล้วอย่า หาว่าไม่เตือน..ขอรับ!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
************************************

เพียงเศษธุลีบนผืนโลก

เป็นที่น่าสังเกตว่าสถานการณ์โลกเราทุกวันนี้ชักจะวิปโยคกันไปทุกวันแล้วนะเจ้าคะ วิปริตกันไปทั้งโลก...ตั้งแต่ฝั่งยุโรป ที่อังกฤษเกิดหิมะตกต่อเนื่อง ทั้งโรงเรียน และธุรกิจร้านค้าหลายแห่งต้องปิดตัว สภาพอากาศที่หนาวเย็นในโปแลนด์ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 8 คน ส่วนใหญ่ ก็พวกคนเมา คนเรร่อน นั่นแหละเจ้าค่ะ... พวกนี้หาได้มีแต่เฉพาะบ้านเราดอกนะเจ้าคะ ที่เมืองฝรั่งเขาก็มีเหมือนกันเจ้าค่ะ

ด้านประเทศกรีซ กลับเผชิญสภาพอากาศร้อนสุดขั้ว อุณหภูมิในกรุงเอเธนส์ ปรับตัวสูง 25 องศาเซลเซียส จากปกติอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 17-18 องศาเซลเซียส ขณะที่สหรัฐ เกิดพายุทอร์นาโดที่มีความ เร็วลมสูงสุด 209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดถล่มเมืองบูฟอร์ด ในรัฐจอร์เจีย ทำให้บ้าน เรือนเสียหายกว่า 50 หลัง เสาไฟฟ้าหักโค่น แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

ส่วนประเทศเวเนซุเอล่า เผชิญกับอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี หลังเกิดฝนตกหนักตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำ ให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 25 คน และประชาชนประมาณ 33,000 คนต้องอพยพหนีน้ำ โดยขณะนี้นายฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอล่า ประกาศภาวะ ฉุกเฉินใน 3 รัฐทางตอนเหนือ รวมทั้งกรุง คาราคัส ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก อุทกภัยที่เกิดขึ้น

ย้ายมาด้านใต้ ออสเตรเลียประกาศ เขตภัยพิบัติบนถนนสายหลักและพื้นที่ ที่ถูกน้ำท่วม พร้อมเตือนภัยแม่น้ำอีก 13 สาย พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมหนักที่สุดคือ แว็กก้า แว็กก้า ทางตอนใต้ของรัฐ ที่ประชาชนหลายร้อยคน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน

แล้วก็ไม่ต้องอื่นไกล ประเทศไทยบ้านเรา...อากาศร้อนตับแตกอยู่ดีๆ ฝนห่า ก็เทพรวดลงมาไม่ลืมหูลืมตา พอสายมาก็ร้อน ข้ามมาอีกวัน...หนาวซะอย่างนั้นเอง!!ที่โลกมันวิปริตผิดเพี้ยนขนาดนี้ส่วน หนึ่งอาจจะมาจากอายุขัยที่ยาวนาน แต่อีก ปัจจัยที่เรารู้ๆ กันอยู่คือเราๆ นี่แหละที่ช่วย กันทำร้ายโลก หากจะเทียบกันแล้วมนุษย์นับเป็นสิ่งน้อยนิดกระจิ๊บจ้อยมากหากจะเทียบกับ โลก ยิ่งถ้าเป็นจักรวาลด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่หลายต่อหลายร้อยปีมาแล้วที่มนุษย์เราหลงอยู่กับลัทธิ Humanism(ฮิว-แมน-นิส-ซึ่ม) หรือพวกมนุษยนิยม ชื่นชมในความสามารถของมนุษย์...เชื่อว่า เรานั้นยิ่งใหญ่ เย้ยฟ้า ท้าดิน ฝืนธรรมชาติ...จนเกิดเอ็ฟเฟกต์จากธรรมชาติอย่าง ที่เห็นกันอยู่ในวันนี้

ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถมไม่เต็ม เหมือนหลุมดำของชีวิตที่ยิ่งถม ยิ่งลึก... ด้วยระบบความเชื่อ การศึกษา รวมถึงระบบความคิดที่ผิดเพี้ยนนี้ หากมีใครสักคนมาบอกว่าอีกไม่นานโลกจะแตก อีฉันก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกและงมงายอะไรทั้งสิ้น

มนุษย์ยังแก่งแย่ง..ช่วงชิงอำนาจ.. แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวโดยหาได้รู้ถึงมหันตภัยที่ใกล้เข้ามาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คน ที่อยู่บนเก้าอี้ก็ยังอยากเกาะไว้ให้เหนียวแน่นที่สุด คนที่ตกเก้าอี้ก็พยายามตะเกียกตะกายกลับมา คนที่ไม่เคยได้สัมผัสเก้าอี้ก็คิดแต่จะเลื่อยขาเก้าอี้แล้วแย่งชิงมาเป็น ของตน ล้วนแต่สำคัญผิดถึงจุดมุ่งหมายของ ชีวิต ของหน้าที่กันทั้งสิ้น...คุณเกิดมาทำไม???...ใช้ชีวิตอยู่เพื่ออะไร???

ที่มา.สยามธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ สวมหมวกกรรมการปฎิรูป ฟันธง ความเหลื่อมล้ำเกิดจากรวมศูนย์อำนาจรัฐที่ศูนย์กลาง

"ศ.ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์" หนึ่งในคณะกรรมการปฎิรูป  ประธานสถาบันพัฒนาสยาม  อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง   ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว "ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย" 

 @ 3 ปี อายุคณะกรรมการปฏิรูป สังคมไทยจะได้เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม

 (นิ่งคิด)....ก็น่าจะเห็น ถ้าหากว่า ประชาชนผู้ที่ทำการปฏิรูป ซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปทำการปฏิรูปไม่ได้ เพราะคนจำนวน 20-30 คน จะมาเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นไปไม่ได้ ต้องคนในสังคมทั้งหมดเห็นชอบด้วยกันในการเปลี่ยนแปลง
เออ..พูดถึงว่า ระยะเวลา ขึ้นอยู่กับว่า ประเด็นเหล่านั้นมีผู้สนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ผู้สนับสนุนนั้นมีความผูกพัน เอาจริงเอาจังมากแค่ไหน ที่จะดำเนินการ

 @ คนไทยจะอดทน ใจเย็นรอการปฏิรูปได้หรือไม่

  คงรอไม่ได้ เพราะว่า คงต้องช่วยกันให้ปัญหามันปรากฏชัดออกมา คนเห็นความสำคัญ ร่วมแก้ไข อยู่เฉยๆ รอคงไม่ได้

@ ทิศทางการปฏิรูป กับคำว่า “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ”

  จริงๆ มันเป็นทิศทางของพัฒนาการของโลก เรียกว่า โลกมนุษย์นี้ เมื่อก่อนอำนาจรัฐไม่มี เพิ่งจะสร้างอำนาจรัฐขึ้นมา 2– 3 ร้อยปีมานี้ สร้างให้เข้มแข็งขึ้นมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ที่นี้อำนาจรัฐที่มีความสำคัญมากขึ้น ก็มีประโยชน์ ช่วยทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุขและเจริญ

 ขณะเดียวกัน การที่อำนาจรัฐเข้มแข็งมันเข้าไปกระทบอำนาจของประชาชน พอรัฐกำกับไปแล้วก็เกิดความเจริญงอกงาม คนก็ดีขึ้น มีการศึกษามากขึ้น มีวินัยมากขึ้น มีวัฒนธรรมสูงขึ้น มีสติปัญญาเป็นระบบมากขึ้น เพราะในเมื่อคนเป็นระบบมากขึ้นแล้ว ความจำเป็นที่ต้องใช้รัฐ มากำกับดูแล มาปกครองก็จะน้อยลง เรียกว่า ลดขนาดภาครัฐ Downsizing the Federal Government

  อย่างในประเทศที่เจริญแล้ว บทบาทของภาครัฐพอๆกับภาคเอกชน บทบาทภาครัฐในการกำกับดูแลจะลดลง บ้านเราก็เหมือนกันกำลังไปในทิศทางนี้ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่า อำนาจรัฐลดลง ขนาดของอำนาจรัฐลดลงเพื่อว่าภาคประชาชนจะได้สามารถใช้ประโยชน์จากการที่ไม่ ถูกกดทับ มีเสรีภาพ มีอิสรภาพ มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น เขาได้ปฏิบัติอย่างมีวินัยด้วยตนเอง อย่างมีวัฒนธรรม เพราะว่า เขาเป็นสังคมของประชาสังคมที่มีความเจริญ อำนาจรัฐก็ต้องลดลง

  เราจึงอยากจะลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็น Empowerment คือจะทำ 2 อย่าง อย่างที่เห็นทั่วๆไปก็คือว่า “ลดระดับของการใช้อำนาจรัฐ” ซึ่งใช้ในระดับสูงคือระดับชาติ ให้ลงมาสู่ระดับท้องถิ่น เพื่อ ให้ อปท. ทั้งหลายที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน และถูกกำกับโดยประชาชนได้ง่ายขึ้น มาเป็นผู้ทำในหลายๆเรื่อง แต่เดิมต้องใช้รัฐบาลส่วนกลางไปทำ ต่อไปก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรู้ถึงความต้องการของท้องถิ่น รู้ถึงความจำเป็นรู้ถึงขีดความสามารถรู้ถึงข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน

   @ อาจารย์ได้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยมีอะไรบ้าง ที่เป็นปัญหาหลักๆก็.....มีเยอะ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะคนที่ฐานะต่างกัน คนเราฐานะต่างกันเป็นเรื่องปกติ ในสังคม

  ที่มีเสรี แต่เราก็ไม่อยากจะเห็นว่า มีคนที่ทุกข์ยาก ซึ่งถูกเอาเปรียบมากเกินไป และมีฐานะไม่สมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ก็อยากบรรเทาตรงนี้ แก้ปัญหาตรงนี้ ให้มีความแตกต่างกันน้อยลง
และต้องเป็นสังคมที่มีชนชั้นกลางมากๆ คนรวยก็มีได้ แต่รวยไม่มาก รวยจำนวนน้อย คนจนก็ควรจะไม่มี คนที่อยู่ใกล้ชิดเส้นแบ่งแห่งความยากจน  ก็จะไม่มี ก็ต้องยกระดับเอา แก้ปัญหาเอา

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมบ้านเราก็มี ความรังเกียจ เดียดฉันท์ การที่คนได้รับสิทธิต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน แม้จะเท่ากันทางกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติ ชนชั้นก็มีตามธรรมชาติ แต่บ้านเรายังไม่ร้ายแรง อย่างบางประเทศที่เขามี อย่างอินเดีย มีชนชั้นพราหมณ์ ชนชั้นแพทย์ ชนชั้นจันฑาล อะไรแบบนี้ แบ่งแยกชนชั้น การที่จะข้ามชนชั้นยาก แต่บ้านเราชนชั้นเป็นชนชั้นที่เกิดตามธรรมชาติ ไม่ค่อยฝังลึกในประเพณี และการเปลี่ยนชนชั้นนั้นเป็นไปได้

  โดยเฉพาะการศึกษา หรือโอกาสในการประกอบอาชีพ คนที่ศึกษาน้อยแต่ว่าหากินได้เงินเยอะ ก็เป็นคนชนชั้นสูงขึ้นมาได้ ก็เป็นเรื่องดี แม้กระนั้นก็ตาม ในที่สุดแล้วไม่ว่าจะมาจากไหนก็เป็นคนชั้นสูง และก็มีคนที่ยากจน เราจะแก้ปัญหาว่าให้มีคนยากจนน้อยๆ หน่อย


@ รากฐานของความเหลื่อมล้ำความเหลื่อมล้ำ ผมคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นรากฐาน สังคมก็มี ในทางกฎหมาย ความเป็นธรรม มันก็เป็นผลมาจากเรื่อง

เศรษฐกิจหรือสังคม เช่น คนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ทางการเงินมากกว่าก็ใช้อำนาจเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมได้ มากกว่า คนจนก็เข้าไม่ถึง นี่ก็เป็นความเหลื่อมล้ำ

@ อยากให้พูดถึงการทำงานของคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ
 
คุณชัยอนันต์  (สมุทวณิช) เป็นประธาน จะมีการเสนอระบบงบประมาณใหม่ เป็นระบบงบประมาณที่จัดสรรงบประมาณให้กับเขตพื้นที่เป็นจังหวัด คือ ระบบงบประมาณของเราขณะนี้เป็นระบบงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรม อยากรู้ว่างบกรมทางมีเท่าไหร่ งบกรมโยธามีเท่าไหร่ งบสาธารณสุขมีเท่าไหร่ ..รู้

แต่ถามว่างบที่จังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง นครศรีธรรมราช มีเท่าไหร่ ไม่รู้ แต่งานที่ไปทำที่นครศรีธรรมราช ที่อ่างทอง ที่นครสวรรค์มี ทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุข กรมทาง กรมโยธา เยอะแยะ แต่ไม่รู้จังหวัดไหนได้เท่าไหร่ จึงไม่มีการรวมศูนย์ความสนใจที่พื้นที่

จะถามว่าพื้นที่ไหนมากกว่ากัน พื้นที่ไหนด้อยพัฒนานั้นก็มี มันเกิดความแตกต่างในเชิงพื้นที่ เขาก็จะจัดสรรให้งบประมาณให้ไปลงในพื้นที่ ให้งบเป็นรายจังหวัด เดี๋ยวนี้ข้าราชการก็ทำกันแบบนี้ เรียกว่า งบบูรณาการจังหวัด แต่งบตัวนี้ยังมีน้อยให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด

แต่ที่คุณชัยอนันต์  คิดนั้น เขาจะให้งบไปลงที่ตัวจังหวัด โดยให้ผู้คิดใช้เป็น “สมัชชาจังหวัด” เป็นกลุ่มบุคคลที่มาจากภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นตัวแทนของชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ปราชญ์ชาวบ้าน ครู อาจารย์ที่อยู่ในที่นั้นๆ ก็รวมคิดว่าจังหวัดควรจะพัฒนาไปทางไหน โครงการไหนบ้าง แล้วเอางบไปใช้

นอกจากมีงบกระทรวง ทบวง กรมแล้ว เรามีงบของจังหวัดด้วย ก็จะจัดสรรให้จังหวัด ให้ประชาชนในจังหวัด ภาคประชาชน ได้มีส่วนใช้เงิน แล้วก็นำจัดสรรจังหวัดที่ยากจน ที่ด้อยพัฒนาได้มากกว่าจังหวัดที่เจริญแล้ว เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็เช่นจังหวัดศรีสะเกษ  แม่ฮ่องสอน


@ มีโมเดลเลือกจังหวัดใดทำก่อนหรือไม่
 
ขณะนี้ไปลองทำโมเดลที่จังหวัดสระแก้ว โดยเราก็ดูว่าพัฒนาน้อยเราจะให้เยอะ จังหวัดที่พัฒนาเยอะ ก็ให้น้อย หลักๆ ก็เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และก็เป็นงบที่ลงไปถึงภาคประชาชน ภาคประชาชนจะเป็นผู้ใช้
“จะไม่เป็นไอศกรีมที่ถูกดูดไปตามทาง”
และนี่คือสิ่งที่เขาทำ จะนำงบไปก่อสร้างก็ได้ ถ้าประชาคมของจังหวัด สมัชชาจังหวัดเห็นว่า ถ้าทำตรงนี้จะมีประโยชน์ต่อจังหวัด มีทางถนน ทำเรื่องการศึกษาก็ได้ ทำเรื่องฝึกพัฒนาอาชีพก็ได้ ทำเรื่องสุขภาพอนามัยก็ได้ แล้วแต่ เป็นงบที่ภาคประชาชน เรียกว่า สมัชชาจังหวัดจะมาตกลงกัน


@ มุมมองต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

  ผมทำเรื่องนี้เยอะ แต่อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้พูดกันในคณะกรรมการปฏิรูป
ผมคิดว่าการกระจายอำนาจเป็นแนวทางสำคัญที่จะแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างพื้นที่ ระหว่างเมืองใหญ่ ศูนย์กลางอำนาจรัฐ และก็จะเป็นประเด็นสำคัญของการแก้ปัญหาของประเทศไทย เพราะว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีอยู่เยอะ และก็มาจากหลายสาเหตุ

เราก็พยายามแก้เรื่องนี้มานาน เราไม่ได้ไปใช้นโยบายอื่น เพราะเราคิดว่ารากฐานมาจากเศรษฐกิจ เราจึงใช้นโยบายภาษี ใช้นโยบายการคลัง แต่ก็แก้ไม่ค่อยได้ผล เพราะว่าจริงๆ รากเหง้าปัญหาที่สำคัญอันหนึ่งของความเหลื่อมล้ำมันเกิดจากรวมศูนย์อำนาจรัฐ ที่ศูนย์กลาง

“อำนาจรัฐ” เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูด 2 อย่าง คือ ความมั่งคั่งกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะว่าความมั่งคั่งอยู่ที่ไหน กิจกรรมเศรษฐกิจก็เกาะอยู่รอบๆ คุณลองนั่งอยู่ในนี้ความมั่งคั่งก็จะมากระจุกตัวอยู่รอบๆ อำนาจรัฐเกือบทั้งหมดของประเทศไทยอยู่ที่กรุงเทพ ความเจริญก็มีแต่กรุงเทพ กิจกรรมเศรษฐกิจอยู่ที่กรุงเทพ เงินที่อื่นก็สูบมาหมด มูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย แต่มันไหลมารวมกันที่นี่

กรุงเทพก็เจริญเอา ๆ  กรุงเทพถือได้ว่าเป็นเมืองใหญ่ที่พัฒนาแล้วเมืองหนึ่งของโลก เทียบได้กับประเทศที่เจริญแล้ว อย่างนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว เซี่ยงไฮ้ แต่ส่วนที่เหลือของประเทศไทย เหมือนคนละโลกกัน คนละประเทศกัน

ในมาเลเซีย มีหัวเมืองต่างๆ ในเมืองจีนก็มีหัวเมืองต่างๆ ของเรามีกรุงเทพอย่างเดียว เราจะแก้ปัญหาหัวเมืองอย่างไร เพราะว่าอำนาจรัฐกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ เพราะฉะนั้นก็ต้องกระจายอำนาจรัฐ เพื่อให้มีการกระจายตัวของการใช้อำนาจรัฐ กิจกรรมเศรษฐกิจและความมั่งคั่งก็มีอยู่รอบๆ ศูนย์ต่างๆ ก็จะได้กระจายตัว


 @ แปลความได้ว่า การกระจายอำนาจนี้ คือการลดอำนาจของส่วนกลางและไปเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น 

(เน้นเสียง) ใช่ ...การกระจายอำนาจคือการลดอำนาจ และการเพิ่มอำนาจ

แต่ที่ยากคือ การลดอำนาจ ผู้ที่จะถูกลดอำนาจจะไม่ยอมลด ข้าราชการนะตัวสำคัญ นักการเมืองเสียอีกจะสนับสนุนการกระจายอำนาจมาก เหตุเพราะเขาต้องไปเลือกตั้ง ต้องอาศัยฐานเสียงจากประชาชน กลับกันข้าราชการหวงอำนาจก็เพราะว่าห่วงประชาชน กลัวว่าประชาชนจะไม่ได้รับบริการที่ดี ถ้าไม่ได้อยู่ในความดูแลของเขา กลัวว่าไปอยู่ที่ อบต. จะได้รับบริการไม่ดี เลยไม่อยากให้ไป ทีนี้ อบต.ยังไม่พร้อม แล้วก็ อบต. ยังไม่สุจริต ยังไม่มีประสิทธิภาพ

มันก็มีเหตุที่เกิดขึ้นจริงในหลายกรณี ตามข่าว เช่นว่า เอาไปสร้างถนนกัน เอาไปซื้อรถเก๋ง เดินทางไปต่างประเทศ ข้อนี้มีจริง แต่ไม่ใช่ทุกกรณี

ผมไปดูมาแล้ว ผมไปดูมาทั่วประเทศแล้ว ไปเยี่ยม อบต. พวกนี้ ก็มี อบต. ที่ดี แต่ไม่เป็นข่าว ภาคอีสานก็มีที่จังหวัดอุดรธานี นายกเทศมนตรีเขาเป็นคนมีความคิดกว้างไกลมาก เข้มแข็ง ทันสมัย ทำเพื่อประโยชน์ประชาชน ที่จังหวัดแพร่ นายก อบจ. เป็นคนดีมาก แต่ถูกยิงตาย เขาทำดีริเริ่ม สร้างสรรค์ ทันสมัย และเป็นประโยชน์ อบต.บางนมโค เป็นคนที่ติดดิน คลุกคลีกับประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ทำเพื่อประชาชน  และมีอีกหลายๆ ที่ แบบอย่างทีดีมีเยอะแยะ แต่ไม่เป็นข่าว ซึ่งก็ธรรมชาติทั่วโลกเหมือนกัน ข่าวดีไม่เป็นข่าว คนชอบอ่านข่าวไม่ดี
ฉะนั้น ผมคิดว่าการกระจายอำนาจจะเป็นจุดหนึ่ง เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่ควรจะต้องทำให้สำเร็จ ถ้าไม่สามารถทำตรงนี้ได้ก็ยากที่จะก้าวไปแข่งขันในโลกได้

@ ที่บอกว่า ในคณะกรรมการปฏิรูปยังไม่ได้คุยในเรื่องนี้ แล้วจะผลักดันอย่างไรต่อ

  ก็คงจะ (นิ่งคิด)....ถ้ามีโอกาส แต่คณะกรรมการปฏิรูป ก็มี agenda มีวาระว่าจะทำเรื่องใดก่อน เรื่องนี้เห็นว่าไม่เดือดร้อนมาก ก็ทำทีหลัง

@ กับแนวคิดการบริหารจัดการในพื้นที่
 
ครับ คือ.....อย่างนี้ การบริหารจัดการบ้านเมือง ที่จริงมันต้องมี 2 อย่างคือ การบริหารจัดการเชิงอำนาจหน้าที่ เรียกว่า Functional based management กับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ Area based management แต่บ้านเรารวมศูนย์อำนาจFunctional based management เป็นเหมือนเครื่องมือในการรวมศูนย์อำนาจ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในการปฏิรูประบบราชการ ระบบจตุสดมภ์ มาเป็นระบบที่มีกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งใช้กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีอำนาจของตนเองในแต่ละเรื่อง ไปบริหารจัดการในขอบเขตทั่วประเทศไทย

  เราใช้กระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาทั่วประเทศไทย ใช้กระทรวงสาธารณสุข ไปจัดสาธารณสุขทั่วประเทศไทย และกระทรวงเกษตร ดูแลเรื่องเกษตรทั่วประเทศไทย  หน้าที่ใคร หน้าที่มัน ไม่ก้าวก่ายกัน และพวกนี้ก็ทิ้งสายจากกรุงเทพไปยังหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทย เข้าไปอยู่ในจังหวัด ไปอยู่ในอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการในพื้นที่

แต่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดของเราไม่เคยมีอำนาจเต็มที่ ไม่เคยมีอำนาจจริง ไม่สามารถบังคับบัญชาส่วนราชการที่อยู่ในจังหวัดได้ เพราะที่ดินจังหวัด เขาก็ฟังกรมที่ดิน ป่าไม้จังหวัดก็ฟัง กรมป่าไม้ เกษตรจังหวัด ก็ฟังกระทรวงเกษตรฯ สาธารณสุขเขาก็ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาก็มีกระทรวงของเขา

โดยคนที่อยู่ในส่วนราชการจังหวัดจะได้รับโปรโมท หรือจะถูกลงโทษ หรือจะถูกย้าย ไม่ได้ขึ้นกับผู้ว่าฯ  ผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจ ฉะนั้นความภักดี ของคนในพื้นที่ ไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าฯ  ไม่ได้อ ยู่ที่ประชาชนด้วย อยู่ที่นายของเขาที่กรุงเทพ
เราใช้การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจทั่วประเทศไทย ระบบก็ Functional based management ส่วน Area based management ไม่มีความสำคัญ แม้แต่งบประมาณของพื้นที่ ก็ไม่มี ผู้บังคับบัญชาของพื้นที่ ก็ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ผู้ว่าฯ ก็ย้าย เปลี่ยนทุก 4 ปี บางทีไม่ถึง 2 ปี 3 ปีก็เปลี่ยนได้ ครึ่งปีก็เปลี่ยนได้
ฉะนั้น ปัญหาของพื้นที่ ไม่มี ไม่เอามติพื้นที่เป็นตัวตั้ง  อันนี้ไม่ได้บอกว่า Area based management ดีกว่า Functional based management แต่ความจริงในประเทศต้องมีทั้งสองอย่าง แต่เราเน้นอย่างหลังมากเกินไป โดยไม่ให้ความสำคัญกับพื้นที่เลย

@ สัดส่วนเรื่องนี้ควรเป็นเท่าไหร่

  (ตอบทันที) อย่างน้อยมันต้องเท่ากัน หรือไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่จะจัดส่วนอย่างไรก็ได้ แต่ต้องมีภารกิจของแต่ละอย่าง ต้องมีดุลยภาพ ขณะนี้เราไปให้ Functional based management เกือบทั้งหมด 90 % ที่กระทรวง ทบวง กรม มีอำนาจ พื้นที่นี้เกือบไม่มีอำนาจเลย

ดังนั้น ต้องสร้างความสำคัญกับพื้นที่ ก็เลยไปตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็น Area based management แต่ว่า อบต. มีเต็มทั่วประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติจริง ยังไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างนั้น ก็ต้องทำให้ Function ให้มีอำนาจหน้าที่ และก็มีงบประมาณที่พอสมควร เพื่อที่จะเลือกตัดสินใจปัญหาในแต่ละท้องถิ่นได้ เมื่อนั้นท้องถิ่นก็จะมีความสำคัญ และจะช่วยแก้ปัญหาการเมืองได้ด้วย
การเมืองจะต้องมารวมศูนย์อำนาจ ไม่ต้องมาแย่งกันเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียว เป็นนายกฯ กันได้หลายคน
“คนจากส่วนกลางก็เก่ง แต่ดูไม่ทั่วถึงหรอก เขาจะดูเรื่องนี้ทั่วประเทศไทยดูยาก ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ดูดีกว่า”


@ อาจารย์เคยเปรียบการตั้ง อบต. เท่ากับการตั้งบริษัทลูก ไม่ใช่ตั้งสาขา

  การตั้งผู้ว่าฯ  คือการตั้งสาขา เพราะเป็นคนที่ส่วนกลางแต่งตั้ง ฟัง นโยบายจากส่วนกลาง ใช้งบประมาณของส่วนกลาง พักดีอยู่กับส่วนกลาง ไม่ได้พักดีต่อประชาชนในท้องถิ่น  ไม่ได้ขึ้นตรงต่อประชาชน นั่นเป็นสาขาที่เราตั้งผู้จัดการ ดูแลสาขา เป็นบริษัทเดียวกันกับบริษัทแม่
แต่ อบต. เป็นคนละบริษัท เพราะว่าเขามีกรรมการ กรรมการได้รับเลือกตั้งจากประชาชน และต้องยอมให้เขามีงบประมาณต่างหาก โดยมีการของสภาของ อบต. รายได้เก็บจากท้องถิ่น แต่ตอนนี้ยังเก็บได้น้อย ตรงนี้ก็กำลังทำอยู่ ให้เขามีอิสระทางการคลัง ให้มีฐานรายได้ของตนเอง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่แก้ปัญหานี้ แต่ยังแก้ไม่หมด ถ้ามี พ.ร.บ. รายได้ฯ ที่อยู่ในสภา ก็ต้องทำให้เขามีแหล่งรายได้ คือ  อบต.เองก็ต้องทำงานทั้งด้านบวกและลบ ไม่ใช่ทำเฉพาะใช้เงิน ต้องเก็บและหารายได้เป็นด้วย

 
 @ แล้วกับกระบวนการ Learning curve

  คืออย่างนี้ มีคนบอกว่า อบต. ท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อม ยังไม่ควรกระจายอำนาจไป ซึ่งก็มีรูปธรรมหลายอย่างที่ทำให้ยังไม่ควรกระจายไป เพราะยังไม่พร้อม
แต่ผมคิดว่า กว่าจะรอให้พร้อม ไม่มีวันพร้อมหรอก ต้องลองให้ไปลองทำ และไปฝึก ลองผิดลองถูก ผ่านกระบวนการเรียนรู้  ซึ่งขณะนี้เขาทำการเรียนรู้ และก็มีปรากฏการณ์ดีๆ หลายอย่างที่เรานึกไม่ถึง และที่ว่า เขาทำผิด ย่อมมีแน่นอน
ประเทศไทยองคาพยพส่วนราชการ หรืออำมาตย์ทั้งหลายกว่าจะมาเป็นอำมาตย์อย่างนี้ได้ใช้เวลาเป็น 100 ปี สร้างขึ้นมา กรมสรรพากรกว่าจะเก็บภาษีได้ขนาดนี้ ผ่านการลองผิดลองถูก ผ่านกระบวนการสะสมกันมาเป็นร้อยปี ทีนี้ อปท. เกิดขึ้นมาประมาณ 12 ปี เราบอกว่า ทำไม่เป็น อ่อน ใช้ไม่ได้ ก็ต้องใช้เวลา ยังเด็กอยู่ ก็ต้องให้เขาเรียนรู้
อีกอย่างเราก็ต้องสนใจไปสอนเขา ไปพัฒนาเขา ไปให้โอกาสเขา ไม่ใช่ว่ากระจายอำนาจแล้ว นั่งดูเขาว่า ทำได้ไหม ไม่ได้เอาคืนมา นั่นไม่ใช่ความตั้งใจจริง ไม่จริงใจ เขาต้องมี Learning curve ของเขา


@ เราจะติดอาวุธให้ท้องถิ่นอย่างไร

  (คิด...) ติดอาวุธให้ท้องถิ่น ก็ต้องติดอาวุธทางความคิด ทางทักษะให้เขาสามารถบริหารจัดการได้ ให้เขาสามารถคิดที่จะทำประโยชน์ให้กับประชาชน และก็....ให้เขามีอำนาจเท่าที่พึงมี เขากล้าที่จะใช้อำนาจนั้น ใช้เป็น ใช้ในการที่ก่อเกิดประโยชน์
เช่นว่า เขายังไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษี ก็ต้องไปจัดการให้มีกฎหมายรองรับ ไปฝึกปรือ ไปช่วยเขาในการพัฒนาความสามารถในการจัดเก็บ ไม่ใช่ว่าพอเขามีอำนาจเก็บ จะสามารถเก็บเป็นได้ในทันที ก็ต้องเรียน “วิทยายุทธ์” กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง สำนักเศรษฐกิจการคลัง ก็ต้องไปช่วยเขาด้วยความจริงใจ ให้เขาทำเป็น

 
@ ภาพประเทศไทยในอนาคตจากสายตาอาจารย์จะเป็นอย่างไร

อยากเห็นประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง มีความยุติธรรมมากขึ้น ก็คิดว่า ถ้าช่วยกันทำก็น่าจะทำได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
***************************************************

เหมืองโปแตซอุดรฯ ประชาชนต้องมา(โดน)ก่อน

โดย : ประชุม ประทีป

ชาวบ้านคัดค้านสัมปทานเหมืองโปแตซใต้ดินอุดรฯ มานับ10ปี เผชิญการรุกล้ำสิทธิชุมชนของทุนใหญ่ โดยมีหน่วยงานรัฐทำตัวเป็นกลไกเครื่องมือของนายทุน

เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตัดลดเหลือ 11 ประเภทโครงการ จาก 18 ประเภทโครงการรุนแรง ที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหามาบตาพุด พิจารณาจัดทำบัญชีประเภทโครงการรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรคสอง เสนอต่อรัฐบาล

นำไปสู่ภาคประชาชนยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กําหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติ สําหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ไม่เพียงพี่น้องเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้ซาบซึ้งกับนโยบาย"ประชาชนต้องมาก่อน" แม้จะโวยคอแหบแห้ง ประธานอานันท์ ปันยารชุน ก็ช่วยอะไรไม่ได้ รัฐบาลภายใต้อิทธิพลทุนยังทำให้ชาวบ้านกว่า 20 หมู่บ้านที่ต่อต้านการขอสัมปทานโครงการเหมืองแร่โปแตซใต้ดินอุดรธานีมาร่วม 10 ปีต้องเสียความรู้สึกด้วย เพราะได้ “ประทับตรา ไม่รุนแรง”ให้โครงการนี้พ่วงไปด้วย จึงไม่ต้องประเมินผลกระทบทางสุขภาพ(HIA) ไม่ต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบอีกด้วย

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐกับบริษัททุนข้ามชาติก็พยายาม “ลักไก่”แทบทุกโอกาส เช่น ในปี 2543 บริษัทอ้างว่ารายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ของโครงการผ่านความเห็นชอบแล้ว ทั้งๆ ที่กฎหมายแร่ใต้ดินแก้ไขเพิ่มเติมเพิ่งมีผลบังคับใช้ปี 2545 ชาวบ้านต้องกดดันกระทั่งต้องตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการชุดพิเศษ ศึกรายงาน EIA ฉบับนี้ และได้ข้อสรุปว่า ผิดขั้นตอนและไม่มีคุณภาพทางวิชาการ บกพร่องถึง 26 ประเด็น กระทั่งต้องยกเลิกฉบับนี้ไป

ถึงกระนั้น พ.ร.บ.แร่ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2545 ก็ผูกปมไว้เอื้อต่อกลุ่มทุนเหมืองโปแตซอุดรธานี สาระสำคัญคือ เหมืองใต้ดินลึกเกิน 100 เมตรถือว่าเลยแดนกรรมสิทธิ์เจ้าของที่ดินบนดิน ลึกไปกว่านั้นเป็นของรัฐ

ซึ่งชั้นแร่โปแตซอุดรธานีอยู่ลึกลงไปประมาณ 300 เมตร ฉะนั้น จึงเหมาะเจาะกันพอดี

เรื่องนี้ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ ส.ว. สภาทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่างคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผล

ประเด็นสัญญาสัมปทานเขียนให้รัฐเสียเปรียบก็อีก สภาทนายความได้ศึกษาแล้วเห็นว่าเป็นสัญญาอัปยศ เสนอให้รัฐทบทวนสัญญาตั้งแต่ปี 2546 แต่เรื่องก็เงียบไป

ย้อนไปพ.ศ.2549 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5 คนถูกบริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (หรือ เอพีพีซี) ฟ้องข้อหา "บุกรุกและทำลายทรัพย์สิน" จากการที่ชาวบ้านขัดขวางการ "ลักไก่" รังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ โดยเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กับบริษัทฯ โดยชาวบ้านแย้งว่าไม่ถูกแจ้งให้ทราบก่อน คดีนี้ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.รวม 19 คนต้องใช้ตำแหน่งเป็นนายประกันแทนหลักทรัพย์มูลค่า 1,140,000 บาท กระทั่งศาลยกฟ้องปลายปี 2550 และให้เหตุผลว่าชาวบ้านทำถูกต้องชอบธรรมเพื่อปกป้องทรัพยากรชุมชน เป็นสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

ปี 2552 ชาวบ้านเสนอให้ศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) หลักคิดคือเอาพื้นที่อันมีศักยภาพเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาโครงการเป็นตัวตั้ง ระหว่างจะนำเข้าคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง แต่แล้ว กพร.ก็ชิงเสนอทำ SEA เสียเอง โดยอ้างมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ปี 2549 เคยเสนอทำ SEA แร่โปแตซทั้งภาคอีสาน ถึงกระนั้นหลักคิดแตกต่างจากภาคประชาชนอย่างสิ้นเชิง

ปี 2553 ถกเถียงมาตรา 67 วรรค 2 รัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องโครงการที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จะต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ก่อน และยังต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบ

จากจุดนี้เองนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหามาบตาพุด ทำหน้าที่จัดทำบัญชีประเภทโครงการรุนแรงตามมาตรา 67 วรรค 2

กพร.เอาการประชุมเมื่อ 29 ต.ค.2553 ที่โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อุดรธานี ที่มีการเกณฑ์ชาวบ้านมาจำนวนมาก อ้างเป็นเวทีชี้แจงรังวัดปักหมุดกับประชาชนแล้ว แต่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่โครงการยืนยันว่าไม่ใช่

วันถัด 30 ต.ค. ถึง 1 พ.ย. คนของ กพร.กับคนของบริษัท ก็ดอดเข้าพื้นที่ไปรังวัดปักหมุดขอบเขตแผนที่ ระหว่างนั้น 31 ต.ค. อธิบดี กพร.จัดแถลงข่าวให้ครบสูตรว่า ทำการรังวัดปักหมุดเขตพื้นที่ขอประทานบัตรในเขตอุดรใต้ 4 แปลง 26,446 ไร่ เสร็จแล้ว ไร้ปัญหา
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่โครงการไปลงชื่อรับเงินค่าลอดใต้ถุนบ้านไร่ละ 1,000 บาท หนำซ้ำสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ออกหนังสือราชการลงวันที่ 3 พฤศจิกายน ประชาสัมพันธ์ช่วยส่งไปยังนายอำเภอเมือง นายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และผู้นำชุมชนในพื้นที่ดำเนินโครงการอีกด้วย

ตัวเงินนี้จะก่อความแตกแยกในชุมชนอีก และสร้างความชอบธรรมแก่บริษัท

ข่าวว่าตอนนี้ กพร.ก็กำลังระดมนักวิชาการฝ่ายตัวเองสรรหามาจัดทำ SEA เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ครบสูตร

สังคมมาตรฐานเดียวใครเขาจะเชื่อ เพราะเป็นมาตลอด ขบวนการ "ลีกไก่" ขบวนการ "ล็อบบี้" มีอยู่ในหน่วยงานของรัฐ ระบบราชการแบบล้าหลังในโครงการอยุติธรรม ที่สวนทางกับแนวทางปฏิรูปประเทศไทย และจะเป็นเงื่อนไขเกิดความรุนแรงอีกในไม่ช้า

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กอร์ปศักดิ์ชี้แจงผ่านคลิปเหตุผลลาออก

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ชี้แจงเหตุผลในการลาออก โดยทำเป็นคลิปแล้วนำมาทวิตผ่านชื่อ @korbsak เนื้อหาว่า "จะขออนุญาตชี้แจงเรื่องที่ลาออกจากการเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ความจริงเรื่องนี้หารือกับท่านนายกฯมานานแล้ว เพราะเราเชื่อว่าอีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้ง แล้วก็ก่อนที่จะมีการยุบสภา จะต้องมีทีมงานเพื่อจัดเตรียมการเลือกตั้ง ในอดีตที่ผ่านมา ผมก็เคยทำหน้าที่นี้มาในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเราได้มีโอกาสเตรียมงานกันถึง 6 เดือน ผมก็เลยคิดว่างานที่นายกฯมอบหมายให้ผม ช่วงนี้ก็ทำได้จบไปหลายเรื่อง ก็คงจะต้องหาคนมาทำงานงานต่อ และในขณะนี้คนอื่นก็มีภาระกันเต็มเหยียด ผมก็เลยอาสาเรียนท่านนายกฯว่า ให้ผมกลับไปทำงานที่พรรคก็แล้วกัน ก็มีเท่านี้แหละครับ"

นายกอร์ปศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า "ส่วนที่เป็นข่าว ว่ามีความขัดแย้ง หรือทะเลาะกับคุณกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ถ้าหากจะบอกว่าผมไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ผมคงพูดอย่างนั้นไม่ได้หรอกครับ เพราะผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลด้วย แต่ในเรื่องของความเห็นที่ต่างกันในกลุ่มพวกเรา ก็จะมีอยู่เสมอครับ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน ไม่ใช่ทะเลาะกันจนถึงกับต้องเดินออกจากเวที คงไม่ใช่อย่างนั้น"

ที่มา.เนชั่น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

"ดร.สมภพ" วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงปีเถาะ "ไม่ควรนำประเทศไปติดกับดักประชา(ภิวัฒน์)นิยม"

 ศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIT  วิเคราะห์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในปี 2554  ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ อย่างรอบด้าน  อยากรู้ว่า ปัจจัยเสี่ยง  มีอะไรบ้าง ต้องอ่านบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้


 @  ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก มีเรื่องใดต้องระวังเป็นพิเศษ

ในปี พ.ศ.2553 นั้น เศรษฐกิจโตขึ้นมาจากฐานที่ต่ำมากกว่าปีพ.ศ.2552 ซึ่งปีพ.ศ.2552 ลดลง 2 % กว่า เพราะฉะนั้นปีพ.ศ.2553 โตขึ้นมา 7 %กว่า เลขสุทธิที่ได้มาทั้งหมดก็ 5 % ซึ่งเป็นอัตราปกติที่ไทยต้องโตขึ้นมา แต่พอมาถึงปีพงศ.2554 เลขอัตรามันก็จะโตขึ้นมาอีก สุทธิ 5 % แล้วก็จะโตต่อไป มันก็จะยากลำบากขึ้นคือต้องอาศัยฝีมือไม่ใช่อาศัยการปรับฐานทางเศรษฐกิจ แล้วปีหน้านี้หากเราวิเคราะห์กันไปอีกคงต้องแยกแยะเป็น 2 ระดับคือ เศรษฐกิจภายนอกประเทศกับเศรษฐกิจภายในประเทศถึงจะเห็นภาพชัดขึ้น

 ผมคิดว่าเศรษฐกิจภายนอกประเทศคงจะปั่นป่วนมากกว่าปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอเมริกายังไม่มีการปั้มให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ การว่างงานมีอยู่ 98 % แบบที่เป็นอยู่ขณะนี้ ถ้าการว่างงานยังคงมีมากขึ้นนี้ QE ก๊อก 3 ก็คงออกมา ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะออกมา เพราะผมดูแล้วก๊อก 2 นี้อาจจะปั้มไม่ดี ตอนนี้หุ้นมันขึ้นจริงแต่ราคาบ้านเริ่มหยุดไหลลง แต่ว่าขณะเดียวกันมันไม่มีตัวแปรที่จะเพิ่มไปสู่การจ้างงาน ถ้าการจ้างงานไม่ขยายตัวก็จะทำให้การบริโภคในอเมริกาไม่มีการกระเตื้องตัว ซึ่งขณะนี้การบริโภคการกระเตื้องตัวมันสร้างปัญหาให้แก่อเมริกามาก เพราะว่าการบริโภคภายในประเทศมีสัดส่วน 76 % ของจีดีพี

 ฉะนั้นก็ต้องหาทางให้การจ้างงานลดลงให้ได้ ทางหนึ่งก็คืออัดเงินออกมาเพื่อ 1.พยุงสถานะของเศรษฐกิจอเมริกาที่เป็นอยู่ขณะนี้ให้มันขยายตัวมากกว่านี้ ให้มันมีผลในเชิงลูกโซ่ ให้มันมีหุ้นขึ้น ราคาบ้านก็เริ่มขยายตัวเพราะเงินมันเยอะ จากนั้นจะได้สร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้น นั่นคือประการแรก 2.ปั้มเงินออกมามากๆ จะทำให้ดอลล่าร์อ่อนซึ่งเป็นการไม่ควรอยู่แล้ว อเมริกากลัวเงินฝืดมากกว่า ขณะนี้มันทำท่าจะมีเงินฝืดในอเมริกา เพราะว่า CPI (Consumer Price Index) หรือว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมันแค่ไม่เกิน 1 % หลังจากนั้นก็จะต้องอัดออกมาอีก พูดง่ายว่าคุณจะเก็บก็เก็บไปฉันจะอัดออกมา พออัดออกมา ก็แน่นอน เงินเหล่านี้มันก็ต้องไหลออกนอกประเทศ หลังจากนั้นปีหน้าผมว่าเอเชียจะปั่นป่วนมาก เพราะเงินไหลเข้ามา


@ผลกระทบที่เป็นรูปธรรมกับเศรษฐกิจไทยคืออะไร

เงินบาทมีการแข็งค่ามาก เมื่อแข็งค่ามากมันก็จะมีทีท่าของการเกิดกรณีฟองสบู่มากขึ้น หุ้นจะขึ้น ราคาสินทรัพย์ประกันเงินก็จะขยายตัวจะเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อขยายตัว ฉะนั้นแบงค์ชาติก็อาจจะเพิ่มดอกเบี้ยขึ้น อย่างน้อย 3 - 4 ครั้งในปีหน้า แต่ดอกเบี้ยนโยบาย 2 % RP 2 % ในขณะนี้ก็อาจจะขึ้นไปเป็นอย่างน้อย 3 % ซึ่งก็หมายถึงดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากก็จะถูกปรับขึ้น ซึ่งพอมันปรับเพิ่มขึ้นราคาค่าแรงก็จะถูกปรับขึ้น มีแต่ราคาน้ำมันถึงแม้มันจะไม่เพิ่มมากมายแต่ก็คงอุดไม่อยู่ถ้ามันขึ้นจริง ๆ เพราะผมเชื่อว่าในปีหน้าเงินที่มันลดลงและจะเข้าไปในสินค้าจำพวกพื้นฐาน เช่น น้ำมัน ถ้ามันดันราคาน้ำมันขึ้นไปเกิน 100 เหรียญ อุดอย่างไรก็คงไม่อยู่ เพราะว่าตอนนี้ก็ตั้งเป้าเอาไว้อุด 3 เดือน ถ้ามันเกิน 100 เหรียญมันจะกลายเป็นด้านลบจะตามมาทันที  ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเงินเฟ้อขยายตัวค่อนข้างมาก

  ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เพราะในเมืองไทยอาจจะน้อยกว่า ซึ่งในจีนจะขยายตัวมากกว่านี้ ในอินเดียมีมากกว่าทั่วทั้งเอเชีย หลายๆประเทศมีมากกว่านี้ด้วย ซึ่งหมายถึงทุกประเทศจะต้องปรับปรับดอกเบี้ยขึ้นหมด เมื่อปรับดอกเบี้ยขึ้นแน่นอนว่าประเทศอื่นก็ต้องตกกระไดพลอยโจนและต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม ก็เพื่อลดความสมดุลย์ระหว่างประเทศ ฉะนั้นต้นทุนดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้น ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น ต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น อะไรต่างๆ เพิ่มขึ้น มันก็จะต้องดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสุดท้ายมันก็จะเกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยก็ถูกปรับขึ้นอีก แล้วมันจะเกิดสภาวะใยแมงมุม ของการขยายตัวอัตราเงินเฟ้อ


 @ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ จะแตกไหม  

ฟองสบู่ยังคงไม่น่าจะแตกง่าย ๆ ประการแรก ฟองสบู่ในไทยยังไม่ได้ขึ้นมา แล้วประการที่สองก็คือว่า สถานะของแบงค์ชาติและพวกที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนายังไม่มีปัญหามาก ขณะที่ราคาบ้านในไทยเมื่อเทียบกับในจีน เกาหลี สิงค์โปร์  ฮ่องกง  ของเรายังขึ้นน้อยกว่าหลายเท่า


@    แนวโน้มปี 54 การบริหารคงไม่ง่ายนัก น่าจะมีความเสี่ยงไม่ใช่น้อย  

ในปีพ.ศ.2554 มีปัจจัยที่เสี่ยงและไม่เสี่ยงเพิ่มขึ้น มีปัจจัยในด้านดีคือเงินที่อัดออกมาจากที่ประชาภิวัฒน์ ทำให้อำนาจซื้อเพิ่มสูงขึ้น เมื่ออำนาจซื้อเพิ่มสูงขึ้นสินค้าทางการเกษตรจะขายดีขึ้น และราคาสินค้าเกษตรปีหน้าจะดีมาก สภาพพอากาศแปรปรวน ต่างประเทศมีหิมะตก ซึ่งตกหนักในเดือนพฤศจิกายน ทำให้การเกษตรเสียหายมาก ในจีนก็เหมือนกัน ตอนนี้ที่หางโจวหิมะเป็นฟุตๆ ซึ่งปกติมันไม่เคยตกแบบนั้น

 ฉะนั้นความแปรปรวนของปัญหาเรื่องน้ำท่วมในไทยจะทำให้ซัพพลายสินค้าทางการเกษตรลดลง พอมันลดลงทำให้สินค้าทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเยอะ ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์ของเกษตรกร อำนาจซื้อของคนเมืองไทยอย่างน้อยก็ 50 % ก็จะเพิ่มขึ้น ฉะนั้นอำนาจซื้อเกษตรเพิ่มขึ้น ค่าแรงถูกปรับขึ้น เงินเดือนให้มีการถูกปรับขึ้น เงินเดือนนักการเมืองถูกปรับขึ้น ซึ่งเงินเดือนของลูกจ้างทั่วไปก็ถูกปรับขึ้นอย่างมากมาย ได้โบนัสกันมาก อสังหาริมทรัพย์ได้ 7 - 8 เดือน มันก็มีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น ตัวแปล C (การบริโภคภายในประเทศ) มีการวิ่งจาก 54 % คงจะวิ่งไปถึง 60 % เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หลังจากนั้นตัวแปรตัวนี้คงจะช่วยให้รัฐบาลผ่อนคลายในแง่ของแนวโน้มทางจีดีพี ได้ในระดับหนึ่งเพราะตัว C น้ำหนักมันมาก

  ปัญหาที่กล่าวคือ เศรษฐกิจจะปั่นป่วนสูงในปีหน้านี้ โดยต้องอาศัยรัฐบาลที่มือถึง รัฐบาลที่มือถึงในที่นี้หมายถึงรัฐบาลที่มีความคล่องตัวในการบริหารเศรษฐกิจมหาภาค ไม่ว่านโยบายการเงินและการคลัง แต่ถ้าหากนโยบายเศรษฐกิจมหาภาคถูกเอาไปรับใช้นโยบายประชานิยมมาก จะมีความยืดหยุ่นและความคล่องตัวต่ำลงมาก และถ้าเกิดต่ำลงมากก็จะไม่สามารถใช้นโยบายเศรษฐกิจมหาภาคได้ โดยหลัก คือ นโยบายการเงินและการคลัง บริหารการจัดการความปั่นป่วนมาพร้อมกับความปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลก

 @ สิ่งเลวร้ายที่สุด คืออะไร 

ถ้าเกิดว่าปัจจัยภายนอกมันเลวร้ายและรุนแรงมาก อาจจะเกิดวิกฤตที่ใดที่หนึ่งของโลกแล้วก็จะลากไปทั้งหมด ประเทศไหนก็ตามที่มีภูมิคุ้มกันในประเทศต่ำ ก็จะโดดลงมาเป็นพิเศษ ตรงนี้จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นหากคุณมองโลกในแง่ดีอย่างเดียว เช่น เราเก็บภาษีได้เกินเป้าในช่วงสั้นแล้วก็มองโลกในแง่ดีว่าอีก 5 ปี เราต้องสมดุลงบประมาณหรือเกินดุลงบประมาณเรามองอย่างนั้นไม่ได้

@  อาจารย์เตือนว่า อย่าประมาทในปีหน้า เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่เราคาดไม่ถึง 

ในปีหน้าประเทศไทยจะมีปัจจัยเสี่ยงสูงมากและไม่ควรนำประเทศไปสู่การติดกับประชานิยม เพราะยิ่งไปติดกับประชานิยมมากเท่าไหร่ ประชานิยมนโยบายบางเรื่องดูว่าเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ แต่โดยแท้จริงแล้วไม่ใช่ มันเป็นตัวแปรทางการเมือง ทำประชานิยมเมื่อไหร่ ไม่มีทางเลิกได้ทุกเรื่อง มีแต่จะขยายมากขึ้น หากปรับตัวเข้าสู่นโยบายนี้มากขึ้น ก็หมายถึงคุณจะต้องมีภาระทำในนโยบายนี้ รัฐบาลชุดไหนที่ต้องการประชานิยมก็จะกลายเป็นตัวแปรตามไม่ใช่ตัวแปรอิสระ ก็คือตกกะไดพลอยโจนด้านนโยบายประชาภิวัฒน์ ฉะนั้นเมื่อมีอย่างนี้เกิดขึ้นระยะยาวก็น่าเป็นห่วง ประชาชนจะเสพติดประชานิยม ประชานิยมนำไปสู่การบิดเบือนที่ทำให้ขีดความสามารถต่างๆ ในประเทศลดลง ใคร ๆ ก็ชอบรับกันแจกรับกันแถม อย่าลืมของที่แจกแถมมันมีที่มา มีต้นทุน มีผู้แบกรับภาระ


@คุณกรณ์และคุณอภิสิทธิ์ยืนยันว่ามีความสามารถในการที่จะหาเงินมาสนับสนุนประชาภิวัฒน์

ใครจะประกันได้หากเหตุการณ์เกิดขึ้นปีต่อปี เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดมาจากนอกประเทศเข้ามาหนักๆ เราต้องใช้เงินจำนวนมาก ทุนจากต่างประเทศหดลงอย่างรวดเร็ว ฝรั่งเอาเงินมาลงทุน มาซื้อหุ้นในเมืองไทย เอาดอลล่าร์มาไล่ซื้อเงินบาท ส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ประชาภิวัฒน์คือส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือเปล่า คนคิดว่านโยบายเกิดการรับใช้เป้าหมายทางการเมือง อย่างไรก็ตามประชาภิวัฒน์คงต้องดูอย่างเลือกสรร บางเรื่องก็ควรเลือกที่มีประโยชน์ต่อคนด้อยโอกาส เราคงต้องดูเป็นเรื่อง ๆ ไป อย่างเช่น เรื่องของราคาน้ำมันจะไม่เอามาพูดในช่วงนี้ หลายๆ เรื่องเราไม่จำเป็น ไปปูพรมมากขนาดนั้น หรืออย่างเช่น การเอาเงินมาขึ้นเงินเดือนหลายภาคส่วน ซึ่งเป้าหมายจริง ๆ แล้วคือ เขาจำเป็นไหมที่จะต้องมีการปกครองที่ผ่านการเลือกตั้ง ต้องต่อสู้ขนาดไหน ลงทุนขนาดไหนให้ตนเองชนะการเลือกตั้ง ฉะนั้นแล้วตนคิดว่าการถลำตัวเข้าสู่ประชาภิวัฒน์สร้างขึ้นมาก็ก่อให้เกิดปัญหาแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เสื้อแดงจัดขบวน-ปรับทีม รัฐบาล "เป็นต่อ" บีบ นปช.จำนน ?

ความพยายามในการเจรจา สงบศึก ระหว่างเครือข่าย เสื้อแดงกับฝ่ายรัฐบาล ทั้งใต้ดิน-บนดิน ยังเดินหน้าต่อเนื่อง

แม้ว่าบางช่วง-บางจังหวะก้าว จะมีการเปลี่ยนตัวลงเล่นในเกมการเจรจา

ทว่าตัวเล่นหลัก ยังคงเป็น นายวีระ มุสิกพงศ์ และเครือข่าย "ปราจีนบุรี คอนเน็กชั่น" ที่มีองค์ประกอบครบเครื่องทั้งฝ่ายพิราบ-นักรบ-นายพล และนักการเมือง

ทั้งวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองที่ปลอดจากพันธนาการโทษทางการเมือง ยังสังกัดฝ่ายค่ายเพื่อไทย

ทั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก เครือข่ายนายทหารวงศ์เทวัญ

ร่วมวงสอดประสานข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการกับ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นักการเมืองสายพิราบ ที่มีแนวทางการต่อสู้ก้าวข้าม "ทักษิณ ชินวัตร"

ต่อสายเข้ากับ ปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เข้าถึง-เข้าใจวงสังคมและผู้มีอำนาจ

ส่ง-รับ-ถ่ายเทแลกเปลี่ยนชุดข้อมูล กับคณะกรรมการอิสระ เพื่อที่จะควานหาข้อเท็จจริงเบื้องหลังความรุนแรงชุด นายคณิต ณ นคร อย่างเป็นระบบ

ทำให้เกิดข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี และข้อเสนอเพื่อพิจารณาถึงศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อ ต่อยอดไปถึงการขอความกรุณาต่อ "ศาล" เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การประกันตัว

แต่ความพยายาม-เจรจา ผลิตข้อเสนอ อย่างเป็นระบบ ไม่เป็นผล

นักการเมืองในวงเจรจาลับ เปิดเผยอุปสรรคสำคัญของการไม่บรรลุผลการเจรจาสมานฉันท์ ว่าอยู่ที่แกนนำ นปช. "ขาใหญ่" มีมวลชนสายเหยี่ยวให้การสนับสนุนอุ่นหนาฝาคั่ง อย่าง "จตุพร พรหมพันธุ์" เป็นแนวรบสำคัญ

การเจรจา-จรยุทธ์ในเมืองของนักการเมือง-แกนนำเสื้อแดงสายสายพิราบจึงสะดุดหลายจังหวะก้าว

ความพยายามของ "วีระ มุสิกพงศ์" ถูกขัดแข้ง-ขัดขา จากพวกแกนนำคนกันเอง

การเจรจาลับจากการพบเผชิญหน้าแบบ "บังเอิญ" จึงถูก "จตุพร" วิพากษ์

การเจรจา-ปรองดอง จึงถึงแนวร่วมอย่าง "สุรชัย แซ่ด่าน" วิจารณ์อย่างรุนแรง

ขณะที่ก้าวย่างการเจรจากลางแจ้งในเมือง ระหว่างฝ่าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและคณะ กับฝ่ายตัวแทน นปช.สายนางธิดา ถาวรเศรษฐŒ เป็นจังหวะที่ต่างฝ่ายต่างหวัง "ชนะทั้งคู่"

ฝ่าย นปช.และพวก ต้องการการประกันตัว แกนนำทั้งหมด ก่อนเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่

ส่วนฝ่ายรัฐบาลและคณะ ต้องการการยุติการเคลื่อนไหวที่รุนแรง ทั้งในเมืองและเขตชนบท และมีเงื่อนไขเรื่อง "มาตรฐานเดียว" และโยนลูกกลับไปที่กระบวนการของศาล

ยุติธรรม นายกรัฐมนตรีเปิดเผยเงื่อนไขว่า "มีขั้นตอนการพูดคุยหาข้อสรุปเพื่อยื่นต่อศาล และเป็นดุลพินิจของศาล"

"ผมพูดตรงไปตรงมาและย้ำหลายครั้งว่า ถ้าผมไปทำอะไรพิเศษกับแกนนำเป็นเรื่อง 2 มาตรฐานนะ เพราะว่าเราจะต้องดูแลทุกคนเป็นพื้นฐานเดียวกัน" เรื่อง 2 มาตรฐานถูกนำมาย้อนเกร็ด

ขณะที่ผู้บัญชาการฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายการเมือง อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี แบ่งรับแบ่งสู้กับการเจรจาเพื่อแลกกับอิสรภาพของ 7 หัวขบวนเสื้อแดง แม้จะยอมรับว่าวงเจรจาในที่แจ้ง "เป็นสัญญาณที่ดี"

ปฏิบัติการที่เกิดขึ้น 24 ชั่วโมง หลังการเจรจากลางแจ้ง คือ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เข้าเยี่ยม น.พ.เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นาย วิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายนิสิต สินธุไพร นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา และนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ในเรือนจำ เพื่อหารือถึงการให้กรมคุ้มครองสิทธิฯเข้าไปช่วยเหลือ ในการยื่นขอประกันตัวต่อศาล

หลังจากใช้เวลาหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า การประกันตัวแกนนำ นปช.ได้มอบหมายให้นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานกลุ่ม นปช. เป็นผู้รับผิดชอบในการยื่นขอประกันตัวต่อศาลอาญา โดยขอให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ เป็นที่ปรึกษาในการยื่นประกันตัว โดยแกนนำ นปช.จะรวบรวมเงินมาเป็นหลักทรัพย์ ในการยื่นขอประกันตัวเอง ไม่ขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

รักษาการประธาน นปช. บอกความในใจว่า "อยากให้แกนนำ นปช. และกลุ่มแนวร่วมทั้ง 19 คน ได้รับการประกันตัวในอาทิตย์หน้าก่อนเทศกาลปีใหม่ เพื่อกลับไปอยู่กับครอบครัว"

ชะตากรรมของแกนนำในแดนกรงขัง ยังถูกฝากไว้กับคนนอกคุก

แกนนำสายพิราบและสายเหยี่ยว ยังปะทะทางความคิด ไม่ตกผลึก

รัฐบาลและเครือข่ายอำนาจ ยังอยู่ในฐานะเป็นต่อ อย่างน้อยก็จนกว่าแกนนำนอกคุกจะยอมจำนน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปิดลับตัวเลขงบศอฉ.อ้างเบิกจ่ายตามขั้นตอนไม่ต้องชี้แจง

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบยกเลิกบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. เป็นต้นไป ส่งผลให้ ศอฉ. ต้องยุบตัวเองแต่ตั้ง ศตส. ขึ้นรับผิดชอบกระชับอำนาจแทน “มาร์ค” ระบุไม่จำเป็นต้องชี้แจงตัวเลขว่า ศอฉ. ทำงานมา 8 เดือนใช้งบประมาณไปเท่าไร อ้างเบิกจ่ายตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ผบ.ทบ. ฉุนถูกบี้ถาม ลั่นรับแต่เบี้ยเลี้ยงอยากรู้เท่าไรเอาจำนวนเจ้าหน้าที่ไปคูณเอง โวยคนพูดผลาญหมื่นล้านแสนล้านปั้นน้ำเป็นตัว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. เป็นต้นไป โดยให้นำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาบังคับใช้แทน นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ปล่อยตัวผู้ร่วมชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ 104 คน พร้อมกับรับทราบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ศึกษาโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน

ตั้ง ศตส. กระชับอำนาจต่อจาก ศอฉ.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ต้องถูกยุบไป ส่วน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯที่นำมาใช้แทนถือเป็นกฎหมายปรกติที่อยู่ในความดูแลของกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) โดยตั้งศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) ขึ้นมารับช่วงแทน ส่วนตัวคิดว่าจะน่าเพียงพอที่จะดูแลความเคลื่อนไหวทางการเมือง

หวังไม่มีใครท้าทายอำนาจรัฐ

“แม้ว่าเราจะเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆเอาไว้ แต่หวังว่าจะไม่มีการก่อเหตุเพื่อท้าทายอำนาจรัฐ” นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า เมื่อเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วกลับมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯภารกิจหลักจะเป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมั่นใจว่าดูแลสถานการณ์ได้ เพราะเรามีแผนรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว

ไม่จำเป็นต้องชี้แจงงบ ศอฉ.

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเลิก ศอฉ. แล้วจะเปิดเผยตัวเลขงบประมาณที่ใช้ไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มี เพราะการอนุมัติงบประมาณเป็นไปตามขั้นตอนปรกติที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และผ่านความเห็นชอบจากผู้ดูแลด้านงบประมาณอยู่แล้ว

ส่วนการให้ประกันตัวผู้ต้องหาเสื้อแดง 104 คนนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นกลุ่มที่มีความผิดน้อย ซึ่งคนเหล่านี้ต้องยื่นประกันตัวเอง แต่หากไม่มีผู้สนับสนุนด้านหลักทรัพย์หรือด้านกฎหมายกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็จะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเหมือนกับหลายกรณีที่ทำมาก่อนหน้านี้ ในส่วนของแกนนำจากการประสานก่อนหน้านี้เขาไม่ต้องการความช่วยเหลือด้านหลักทรัพย์หรือด้านกฎหมาย เพราะมีทนายความของเขาเอง รัฐบาลจึงทำได้เพียงช่วยเรื่องการประสานงานเท่านั้น คือไปช่วยดูเรื่องงานธุรการต่างๆ ส่วนการยื่นประกันตัวทนายความของเขาจะดำเนินการเอง

โยนเสื้อแดงหาเหตุผลประกันตัวเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากแกนนำยื่นประกันตัวจะคัดค้านการประกันตัวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะคัดค้านหรือไม่ดูที่ข้อมูล ข้อเท็จจริง คนที่เคยยื่นประกันตัวแล้วและศาลวินิจฉัยไปแล้วก็ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาอธิบายต่อศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยใหม่ การจะได้ประกันตัวหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับศาล

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศตส. ที่จะมาทำหน้าที่แทน ศอฉ. ไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจ แต่เป็นการเฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อให้เตรียมรับมือได้ทัน ส่วนตัวอยากให้เคลื่อนไหวกันในกรอบกติกา ซึ่งชัดเจนว่าในปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง จึงอยากให้ทุกคนมุ่งไปทางนั้นดีกว่าจะได้ไม่ต้องกลับมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกันอีก

ผบ.ทบ. ไม่สบอารมณ์ถูกถามงบ ศอฉ.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไม่ค่อยสบอารมณ์นักเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามเรื่องงบประมาณของ ศอฉ. โดยระบุว่าไม่ได้ใช้งบเป็นหมื่นล้านแสนล้านอย่างที่ใครออกมาพูด

“ไปเอาตัวเลขมาจากไหนหมื่นล้านแสนล้าน เจ้าหน้าที่ได้แต่เบี้ยงเลี้ยง ทำเท่าไรก็ได้เท่านั้น มีกี่คนก็คูณเข้าไป จ่ายไปแค่นั้นแหละ หมื่นล้านแสนล้านไปเอาเงินมาจากไหน ใครพูดก็ไปถามคนนั้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ลั่นใช้ไม่ถึงหมื่นล้านแสนล้าน

เมื่อถูกถามต่อว่าสรุปแล้วใช้ไปเท่าไร ผบ.ทบ. กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่ได้สนใจ ได้งบมาก็จ่ายให้คนที่ทำงานไป แต่ไม่ถึงกับหมื่นล้านแสนล้านแน่นอน รัฐบาลคงไม่มีเงินมาให้มากขนาดนั้น ถ้าอยากให้เจ้าหน้าที่ทำงาน อยากให้บ้านเมืองสงบ เลิกเสียทีกับเรื่องปั้นน้ำเป็นตัว เขียนเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง

พ.ร.บ.ความมั่นคงไม่ต่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

น.ส.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ความจริงรัฐบาลควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกพื้นที่มาตั้งนานแล้ว เพราะการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่มีขอบเขต และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯมาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะโดยเนื้อหาของกฎมายแทบไม่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจอย่างกว้างขวางและไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำ

การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีต่อไป

“มีข้อมูลงานวิจัยทางวิชาการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ไม่ว่าประเทศใดก็ตามที่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงจริงหรือไม่ก็ตาม จะเป็นหนทางและบ่อเกิดให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ยกตัวอย่างในมาเลเซียและสิงคโปร์ที่ใช้กฎหมายความมั่นคง ปรากฏว่าทั้ง 2 ประเทศสามารถจับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลโดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหาได้ และยังฝากขังโดยที่ไม่มีการพิพากษา ซึ่งพบว่ามีประมาณ 10-20 คน ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง” น.ส.ศรีประภากล่าวและว่า หากประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริงไม่ควรนำเอา พ.ร.บ.ความมั่นคงฯมาใช้ และต้องยอมรับว่าหลักของประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ที่ขาดหายไปคือเรื่องความพร้อมในการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยเฉพาะไม่ได้รับการตรวจสอบใดๆจากประชาชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราเรียกว่าการขาดดุลในการตรวจสอบ

ส่วนที่รัฐบาลให้ประกันตัวแนวร่วมเสื้อแดง 104 คนนั้น น.ส.ศรีประภากล่าวว่า การประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาที่รัฐบาลให้ และองค์กรระหว่างประเทศให้การรับรองเอาไว้

ที่มา.จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

**********************************************************************

ภาวะผู้นำกำหนดทิศทาง

ดูจากรูปการณ์ ณ ขณะนี้คงใกล้จบ ครบเทอมกันแล้วกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 และแน่นอน ตามธรรมเนียม พอจบครบเทอม ก็ต้องมีการให้คะแนน งานนี้ไม่พ้นมือ อ.นพดล ขาประจำเจ้าเดิม แห่งเอแบคโพลล์ ออกมาให้คะแนน ตามผลสำรวจประชาชน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

งานนี้ผลคะแนนโดยรวมนับว่าออก มาเป็นที่น่าพอใจอยู่ไม่น้อย เพราะกว่า 70% เป็นที่นิยมชมชอบ ทั้งในด้านความ ซื่อสัตย์ ควบคุมอารมณ์ เคร่งครัดต่อหลัก ศีลธรรม และที่หนีไม่พ้นคือมีเสน่ห์ดึงดูด จิตใจ น่าเลื่อมใสศรัทธา

แต่ก็มีไม่น้อยที่เห็นว่ารัฐบาลภายใต้ การนำของนายอภิสิทธิ์ ยังติดเรื่องเห็นแก่ ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าพวกพ้องและคนใกล้ชิด และยังมีความล่าช้าในการแก้ไข ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของความแตกแยกในสังคม ปัญหาที่ทำกิน รวมถึงความเหลื่อมล้ำทาง สังคม นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาสุดคลาสสิก คือ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเรื่องนี้คงแก้ยากเจ้าค่ะ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือดัชนีชี้วัดความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของ ท่านนายกฯ คือความเฉียบขาดในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจมาจากสิ่งแวดล้อมที่กดดันในแง่มุมทางการเมือง และก็เป็นตัวที่ลิดรอนสิ่งสำคัญในการเป็น ผู้นำที่ดีไปหมดสิ้น

ความจำเพราะของคำว่า “คุณภาพ” ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเพียงการปฏิบัติในครั้งหนึ่งครั้งใดเท่านั้น แต่ต้องทำจนเป็นนิสัย ผู้นำยุคใหม่ที่เน้นการปฏิรูปจึงต้องเป็นผู้นำที่มี คุณภาพ เพราะผู้นำที่ไม่มีความเด็ดขาดใน การตัดสินใจจะนำไปสู่ความล้มเหลวและหลงทาง

การกล้าตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญของผู้นำที่ดี เมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้อง ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ แต่ไม่กล้าตัดสินใจ เขาก็เป็นแค่คนช่างฝันเท่านั้น ฝันจะเปลี่ยนแปลงประเทศ จะปราบคอร์รัปชั่น แต่ไม่กล้าแตะคนใกล้ตัว เกรงกลัวพรรคร่วม ความฝันก็เป็นได้แค่ฝัน

แต่หากตัดสินใจอย่างฉับไว แต่ไม่ถูก ต้อง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ผู้นำที่กล้าตัดสินใจต้องมีการเตรียมรับผลจากการตัดสินใจ ด้วย ต้องเป็นมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว หมายถึงความกล้าหาญทั้งจิตใจและร่างกายด้วย

ความกล้าหาญ คือ คุณสมบัติของจิตใจที่ทำให้คนสามารถเผชิญปัญหาและอุปสรรคด้วยความมั่นคงอย่างไม่เกรงกลัว..ผู้นำที่กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว และมีใจสงบจะสามารถกระตุ้นให้ผู้ตามเกิดพลังมากขึ้นในวิกฤตการณ์นั้น ในช่วงเวลาที่ประเทศถึงจุดอับ ศีลธรรมถึงจุดเสื่อม หากผู้นำ เป็นที่พึ่งให้ประชาชนไม่ได้เพราะใจไม่ถึง กลัวผลกระทบทางการเมือง ผลกระทบต่อเสถียรภาพแล้ว...จะมาเป็นผู้นำทำไมเจ้าคะ ไปสอน หนังสืออาจได้ประโยชน์กว่าก็เป็นได้

ที่มา.สยามธุรกิจ
---------------------------------------

รักเชียงใหม่ 51 ร้องสอบฆ่าเสื้อแดง "มาร์ค" หวังตำรวจคลายปม

กลุ่มแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ออกแถลงการณ์ในการเคลื่อนไหว กรณีการเสียชีวิตของ "ดีเจ แดง คชสาร" จี้เร่งสอบการสังหารคนเสื้อแดง ขู่เคลื่อนไหว หากเรื่องยังเงียบ ด้านนายกหวังตำรวจคลายปมสังหาร ยันไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับกลุ่มใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการเสียชีวิตของนายน้อย บรรจง หรือดีเจ แดง คชสาร วัย 50 ปี การ์ดกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่ถูกอุ้มฆ่ายัดยาบ้า ทิ้งศพไว้ในป่า บ้านหมู่ 10 ต.ออนกลาง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดการหวาดผวาในกลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ และระดับแกนนำหลายคน ดังนั้นเมื่อเวลา 11.00 น. บริเวณลานหน้าโรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซ ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ประมาณ 200 คน ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาหาข่าวที่เกิดขึ้น พร้อมกับสาปแช่งคนร้ายที่ก่อการอำมหิตกับคนเสื้อแดง ซึ่งถือว่าเป็นรายที่ 2 โดยรายแรกคือนายกฤษดา กล้าหาญ การ์ดกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ถูกกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเสียชีวิต ต่อมาคือนายน้อย บรรจง หรือดีเจ แดง คชสาร ซึ่งมาถูกอุ้มฆ่ายัดยาบ้าอีก จึงเชื่อว่าเชียงใหม่มีขบวนการล่าสังหารแกนนำเสื้อแดงและการ์ดเสื้อแดงอย่างแน่นอน

ต่อมาเวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุมโรงแรมวโรรส เชียงใหม่ นายกฤษณะ พรมบึงรำ หรือดีเจ กฤษณะ 51 พร้อมทั้งนายแดง สองแคว ได้ร่วมกันออกมาแถลงข่าวและแจกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน กรณีที่มีขบวนการไล่ล่าสังหารกลุ่มคนเสื้อแดงในหลายๆจังหวัด โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ มีการสังหารโหดนายกฤษดา ด้วยอาวุธสงคราม เมื่อ 3 เดือนผ่านมา ซึ่งตำรวจยังไม่สามารถคลี่คลายคดีลงได้ และหลังจากมีการเปิดตัวแกนนำรุ่นที่ 2 ของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ปรากฏว่าแกนนำที่ถูกเปิดตัวออกมาถูกกลุ่มคนใส่ชุดดำแอบสะกดรอยตามดูความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะตัวนายน้อยที่ถูกสังหารล่าสุด รู้ตัวว่าถูกตามตัวจนต้องเปลี่ยนที่พักอาศัยตลอด เพื่อหนีการไล่ล่า แต่ก็ไม่สามารถหนีพ้นไปได้

นายกฤษณะ เปิดเผยว่า ตนเชื่อว่ามีขบวนการไล่ล่าแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 อย่างแน่นอน ซึ่งจะเป็นการสังหารโหดพี่น้องคนเสื้อแดงอย่างโหดเหี้ยม ถือว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู แต่ก็ขอบอกว่าแม้จะตายอีกกี่ศพ จะจบอีกกี่ชีวิต แต่ปณิธานของกลุ่มรักเชียงใหม่ ยังคงแน่วแน่ในภารกิจคือ เรียกร้องประชาธิปไตย ส่งเสริมขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมล้านนา ช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย บริการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

"ดังนั้นทางกลุ่มเชียงใหม่ 51 จึงขอแถลงการณ์และเรียกร้อง 4 ข้อ 1.ขอให้เร่งรีบในการสืบสวนสอบสวนคดีของคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตไม่ปกติ เช่น รายของนายกฤษดา กล้าหาญ และนายน้อย บรรจง หรือแดงคชสาร 2.ขอให้เหล่าดีเจคลื่นสีแดงทุกคน ผนึกกำลังกันต้อสู้กับอำนาจมืดที่กำลังคุกคามชีวิตของเหล่าดีเจคนเสื้อแดง 3.ขอเรียกร้องให้สมาคมนักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักจัดรายการวิทยุของจังหวัดเชียงใหม่ ให้ออกมาปกป้องถึงสิทธิเสรีภาพในการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงแก่ประชาชน 4.กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 จะยังเดินหน้าเรียกร้องประชาธิปไตย ความเป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นมาตรฐานต่อไป 5.ขอเรียกร้องให้ขบวนการที่พยายามไล่ล่าสังหาร คนที่มีความคิดต่างทางด้านการเมืองอย่างโหดเหี้ยม ให้หยุดพฤติกรรมอย่างนี้โดยทันที เพราะมิฉะนั้นคนเสื้อแดงทั้งประเทศจะลุกฮือขึ้นมา เพื่อปฎิบัตอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อปกป้องชีวิต และสิทธิเสรีภาพของคนเสื้อแดง" นายกฤษณะ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรานงานว่า สำหรับศพของนายน้อย จะยังคงเก็บรักษาไว้ที่ห้องเก็บศพของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อรอญาติมารับไปบำเพ็ญกุศลส่วนการเคลื่อนไหวทางแกนนำจะดูท่าทีของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หากยังนิ่งเฉยอยู่ก็จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตในครั้งนี้

ขณะที่พล.ต.ท.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ผบช.ภ.5 กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คดีอุกฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ผมให้ความสำคัญเท่ากันทุกเรื่อง ตำรวจเราพยายามดูแลความสงบสุบเรียบร้อยของประชาชนโดยเน้นย้ำการให้บริการของประชาชน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจทุกฝ่าย เมื่อเหตุเกิดขึ้นเราก็ต้องดำเนินการติดตามจับกุมในคดีนี้ เบื้องต้นผมก็พอจะทราบข้อมูลบางอย่างแล้ว และได้สั่งการให้ พล.ต.ต.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ผบก.ภ.เชียงใหม่ ลงไปควบคุมดูแลคดีอย่างใกล้ชิดต่อไปแล้ว

ต่อคำถามที่ว่า ตำรวจจะเข้าไปควบคุมวิทยุชุมชนกลุ่มเสื้อสีต่างๆ อย่างไร ผบช.ภ.5 กล่าวว่า วิทยุชุมชนทุกสถานีผมได้ให้ตำรวจเจ้าของพื้นที่ดูแลรับผิดชอบดูแลติดตามเรื่องนี้อยู่ เชื่อว่าการให้ข้อมูลข่าวสารประชาชนเขามีวิจารณญาณว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ส่วนจะพาดพิงใครได้รับความเดือดร้อนก็เป็นสิทธิ์ตามคดีอาญา สำหรับตำรวจภาค 5 ก็มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นกฎหมาย จะให้ใครมาฝ่าฝืนกฎหมายไม่ได้

นายกฯหวังตำรวจคลายปมฆ่าแดงเชียงใหม่

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยกรณีกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดไล่ล่าคนเสื้อแดง และเร่งสอบสวนกรณียิงคนเสื้อแดงที่จ.เชียงใหม่ ตาย 2ศพว่า ก็หวังว่าเจ้าหน้าที่จะคลี่คลายคดีโดยเร็ว เพื่อให้ความจริงปรากฏออกมา จะได้ไม่เป็นปัญหาของการปลุกระดม และต้องทำตรงไปตรงมา เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายการใช้ความรุนแรงกับคนกลุ่มใดทั้งนั้น และหวังว่าหลังการประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตำรวจจะดูแลบ้านเมือง รักษาความสงบเรียบร้อยได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยไม่เชื่อใจตำรวจ เพียงแต่ช่วงแรกที่เข้ามา ต้องยอมรับว่าเกิดเหตุการณ์ เช่น การประชุมอาเซียน เราต้องยอมรับว่า กลไกต้องได้รับการปรับการเสริมที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา ได้สอบถามหลายครั้ง ผบ.ตร.ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รู้ว่าเป็นหน้าที่ๆ ต้องทำ และต่อไปในอนาคต เราต้องคาดหวังว่ากลไกตำรวจจะเป็นกลไกหลักในการดูแลสถานการณ์ต่างๆ ได้ มันจะได้เข้าสู่ระบบสากลจริงๆ

"ธิดา"เผย"7แกนนำนปช." ขอใช้สิทธิยื่นประกันตัว "ณัฐวุฒิ" ฝากบอกยืนในจุดเดิมของคนเสื้อแดง

ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางมาเยี่ยมแกนนำ นปช.ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ พร้อมหารือกรณีเรื่องยื่นขอประกันตัว โดยบริเวณหน้าเรือนจำและห้องเยี่ยม มีบรรดาสมาชิกเสื้อแดงกลุ่มคนรักอุดรกว่า 100 คนยืนถือป้ายให้กำลังใจ มีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยดูแลความสงบเรียบร้อย

นางธิดากล่าวภายหลัง เข้าพบแกนนำว่า ในการหารือได้ข้อสรุปว่าแกนนำทั้งหมดจะขอใช้สิทธิประกันตัว โดบมอบหมายให้ทนายความไปเขียนคำร้องที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ส่วนหลักทรัพย์ขณะนี้เตรียมไว้พร้อมแล้วทั้งโฉนดที่ดินและเงินสดหลายสิบล้าน บาท หากกระบวนการเดินหน้าอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายใน 2 วันจะสามารถส่งเรื่องถึงศาลยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวแกนนำออกมาทันที ส่วนจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ

รักษาการประธาน นปช.กล่าวว่า ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ฝากถึงคนเสื้อแดงถึงการขอประกันตัวว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐ ธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่ายังมีจุดยืนเดียวกับคนเสื้อแดงทุกคนที่ต้องการออกมาต่อสู้ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วก็จะไม่เป็นตอไม้ แต่จะเดินหน้าสร้างความสมานฉันท์เพื่อให้เกิดความปรองดองขึ้นในชาติ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ไทยรัฐ, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, มติชนออนไลน์
----------------------------------------------------

น่าสงสัย

เป็นอันว่าที่ประชุมครม. วันที่ 21 ธ.ค.

มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พื้นที่ 4 จังหวัดสุดท้าย คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ

หลังประกาศใช้มานานกว่า 8 เดือน พร้อมกับการถือกำเนิดของศอฉ. ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมการชุมนุมคนเสื้อแดง

มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการศอฉ.คนแรก

ก่อนเปลี่ยนมาเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมภายหลัง เนื่องจากนายสุเทพ ลาออกไปลงเลือกตั้งซ่อมส.ส.

ย้อนเวลากลับไปหลังประกาศใช้พ.ร.ก.แค่ 3 วัน

วันที่ 10 เม.ย. ได้เกิดเหตุการณ์ทหารปะทะผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัว

มีผู้บาดเจ็บราว 1,400 คน เสียชีวิต 27 ศพ เป็นพลเรือน 21 ศพ รวมถึง นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ นักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น

ถัดจากนั้นเดือนเศษก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ 19 พ.ค.

การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่ละครั้งมีอายุการใช้งาน 3 เดือน ตั้งแต่ 7 เม.ย. มีการอนุมัติต่ออายุแล้ว 2 ครั้งในเดือนก.ค.และต.ค.

การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ศอฉ.ต้องปิดตัวลงไปด้วยโดยปริยาย

ทิ้งไว้แต่ผลงานปฏิบัติการกระชับวงล้อม-ขอคืนพื้นที่คนเสื้อแดง อันเป็นที่มาของ 91 ศพและบาดเจ็บอีก 2,000 คน

การบริหารงานของรัฐบาลภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยาวนานกว่า 8 เดือน

คือบทเรียนให้กับผู้มีอำนาจได้ว่ากฎหมายกึ่งเผด็จการนี้ นอกจากจะนำมาใช้แก้ปัญหาขัดแย้งในบ้านเมืองไม่ได้แล้ว

ในทางตรงกันข้ามยังทำให้สถานการณ์บานปลายรุนแรงยิ่งขึ้น

นำมาสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมากอย่างที่เห็น

รวมถึงเรื่องเงินงบประมาณที่รัฐบาลประเคนให้ศอฉ.ไว้ใช้จ่ายตั้งแต่ต้นจนจบ จำนวนมากมายมหาศาลเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้ตัวเลขชัดเจน

คาดเดากันไปว่าอาจถึงหลักหมื่นล้านบาท

นักข่าวถามนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่ได้คำตอบ

ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.คีย์แมนคนสำคัญของศอฉ.

นอกจากไม่ได้คำตอบแล้วยังถูกเหวี่ยงกลับมา

เลยสงสัยว่ามันมากมายนักหรืออย่างไร ถึงเปิดเผยไม่ได้

เงินประชาชนแท้ๆ

ที่มา.ข่าวสดรายวัน คอลัมน์ เหล็กใน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++