--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สัมภาษณ์ : ปริญญ์ พานิชภักดิ์...!!?


จับสัญญาณลงทุน ต่างชาติเปลี่ยนขั้ว ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกรอ เผาจริง !

ท่ามกลางกระแสการแข่ง "ปั๊มเงิน" เข้าสู่ระบบของบรรดา "ธนาคารกลาง" ประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก พร้อมกับการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ที่เริ่มลุกลามมายังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่ชิงหั่นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดค่าเงินของตัวเองให้อ่อนลง จนพูดกันว่าทั่วโลกกำลังเล่น "สงครามค่าเงิน" มาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของกระแสตลาดทุนโลกอย่างมาก

กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการตลาดทุน มาฉายภาพถึงทิศทางกระแสเงินทุนและเตรียมการลงทุนของต่างชาติในปีนี้ว่าเปลี่ยนไปอย่างไร

- สัญญาณชีพจรตลาดทุนโลกปีนี้เป็นอย่างไร

ปีนี้มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกับปีที่ผ่านมา คือความผันผวนที่ค่อนข้างรุนแรงและหลายระลอก ในแง่ดีก็คือเรื่องสภาพคล่องโลกที่ค่อนข้างมาก ทั้งจากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศมาตรการ QE จะเริ่มปั๊มเงินออกมาช่วงเดือน มี.ค.นี้ ก็น่าจะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินไหลเข้ามาตลาดภูมิภาคเอเชียในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเก็งกำไรในตลาดเอเชียกันบ้างแล้ว

ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีการปั๊มเงินออกมาจำนวนมากเช่นกัน เรียกว่าตอนนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เป็นคนที่ปั๊มเงินออกมามากที่สุดก็ว่าได้ จนมีสัดส่วนคิดเป็น 62% ของจีดีพีญี่ปุ่น ขณะที่ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 26% ของจีดีพี ยุโรปเพิ่งเริ่มประมาณ 20% ของจีดีพี และจะขยายออกไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะดีต่อตลาดหุ้น แต่จากที่แข่งกันปั๊มเงินทำให้ค่าเงินอ่อนก็จะส่งผลต่อภาคส่งออกโดยตรง

ส่วนปัจจัยที่มีผลทำให้ตลาดผันผวนในแดนลบคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งมีผลต่อทิศทางกระแสเงินทุนค่อนข้างมาก แต่คาดว่าการปรับดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐรอบนี้ คงไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ แต่จากที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ยังแข็งค่าค่อนข้างมาก ก็อาจกระทบต่อภาคส่งออกได้ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงแรง อาจมีผลแง่ลบต่อบริษัทผลิตน้ำมันจำนวนมากของสหรัฐ จึงคิดว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐคงไม่สดใสจนต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยเร็ว

หรือแม้จะมีการปรับขึ้นอย่างมากก็แค่ 0.50% ซึ่งไม่มีผลอะไรต่อตลาดหุ้นทั่วโลกมากนัก ซึ่งจะน่ากลัวก็ต่อเมื่อระดับดอกเบี้ยเข้าใกล้ระดับ 4% ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนาน

- ทิศทางดอกเบี้ยของไทยเทียบกับภูมิภาคเป็นอย่างไร

ทิศทางดอกเบี้ยในภูมิภาคอยู่ในช่วงขาลง ไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีนก็ปรับไปรอบหนึ่งแล้ว ซึ่งอาจมีการปรับลดลงอีกรอบเป็นอย่างน้อย เกาหลีใต้ก็คาดว่าจะมีการปรับลงในการประชุมรอบหน้า ส่วนมาเลเซียก็มีโอกาสจะปรับลงเช่นกัน

ผมยังเสียดายโอกาสที่แบงก์ชาติของไทยไม่ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายรอบที่แล้ว เพราะเมื่อเกิดภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในขณะที่เงินเฟ้อต่ำลงมาก ๆ จนจะถึงระดับที่เรียกว่าเงินฝืด หรือดอกเบี้ยที่แท้จริงเกือบติดลบ แบงก์ชาติรู้ดีว่ามีช่องว่างที่ลดดอกเบี้ยได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วน

ในสภาวะที่สภาพคล่องเยอะ หลายประเทศแข่งกันลดค่าเงิน ประเทศไทยคงไม่อยากให้เงินบาทแข็งอยู่สกุลเดียว ซึ่งจะส่งผลให้ภาคส่งออกตายกันหมด เพราะส่งออกของไทยก็ติดลบมา 2 ปีแล้ว ผสมกับตลาดโลกที่ไม่ขยายตัวมากในปีนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ายังทำได้ไม่ดีนัก แล้วยังจะยอมให้เงินบาทแข็งอีก ผมคิดว่าเป็นอะไรที่แบงก์ชาติต้องคิดหนักในรอบการประชุม กนง.รอบหน้า

- ทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติอาจเทขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะกลัวปัจจัยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ามากและภาวะเงินฝืด แต่หลังจากธนาคารกลางยุโรปประกาศทำมาตรการ QE กระแสเงินทุนต่างชาติก็พลิกกลับมาซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยอย่างจริงจังติดต่อหลายวัน ประเมินว่าครึ่งปีแรกทิศทางเงินไหลเข้าต่างชาติในตลาดหุ้นน่าจะเป็นบวกได้ โดยที่ผ่านมาต่างชาติที่กลับเข้ามาซื้อสุทธิส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลงทุนระยะยาว

แต่ถ้าถามว่าการกลับมาซื้อสุทธิครั้งนี้จะจริงจังแค่ไหนต้องบอกว่านักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกค่อนข้างมาก ทั้งตลาดอินเดีย, อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งนักลงทุนก็ต้องไปหาตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก่อน ทำให้อาจเห็นภาพเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้ แต่ประเทศไทยก็มีโอกาสที่ดี

- ปีนี้ธีมลงทุนของต่างชาติจะเป็นอย่างไร

การลงทุนปีนี้ของต่างชาติจะเปลี่ยนขั้วไปเน้นสินทรัพย์ที่ปันผลดีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเรื่องผลตอบแทนที่ถูกจำกัดจากมาตรการปั๊มเงิน ซึ่งกดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก จากช่วงแรกที่นักลงทุนแห่ไปลงทุนสินทรัพย์ไม่เสี่ยงหรือไหลเข้าพันธบัตรค่อนข้างเยอะ ซึ่งเมื่ออีซีบีจะเริ่มปั๊มเงินออกมายิ่งกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่ำลงอีก ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี โดยเฉพาะในกลุ่มปันผลดีที่มีความมั่นคง ซึ่งถือว่าตลาดหุ้นไทยค่อนข้างได้เปรียบ เป็นตลาดที่อยู่ในกลุ่มปันผลดีมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของภูมิภาค คือ ออสเตรเลีย ไทย และไต้หวัน แตกต่างจากตลาดอินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่เน้นการเติบโตมากกว่า และค่าพี/อีค่อนข้างแพง ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนหุ้นไทยที่ปันผลดีหลายตัว

ถือว่าซื้อหุ้นไทยแล้วได้ทั้งปันผลดีและการเติบโตที่ดีด้วย ซึ่งคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้จะเติบโตมากกว่า 10% จากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น ตลาดหุ้นไทยปีนี้ก็ควรต้องเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้สดใสมากนัก แต่ในแง่ของตลาดหุ้นเชื่อว่ายังมีกระสุนที่ทำให้หุ้นขึ้นต่อไปอีกหลายเม็ด

- ความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยปีนี้คืออะไร

ปีนี้มีอะไรที่ต้องวิเคราะห์มากกว่าปีที่แล้ว เพราะมีปัจจัยที่ทำให้ตลาดผันผวนแรง อาจมีความผันผวนบ้างในเรื่องของกรีซ แต่เชื่อว่าปัญหากรีซก็ยังจะซื้อเวลากันไป แต่มองว่าความเสี่ยงที่หนักในช่วงครึ่งปีแรกคือ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซีย เพราะแม้เศรษฐกิจรัสเซียอาจไม่ได้สำคัญหรือใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จีน หรือญี่ปุ่น แต่มีความเสี่ยงด้านจิตวิทยาการลงทุนค่อนข้างมาก หากรัสเซียเริ่มผิดนัดชำระหนี้ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้จะมีแรงกระตุกอย่างมาก และอาจเกิดผลกระทบรุนแรง หรือมีโอกาสทำให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงกว่า 100-120 จุดได้

สำหรับช่วงปลายปีน่าจะเป็นเรื่องของการเมืองภายในประเทศ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเริ่มชัดเจน จากนั้นน่าจะมีคนออกมาประท้วงหรือต่อต้าน ทำให้เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาก แต่ก็คาดหวังว่าน่าจะมีความชัดเจนของการเลือกตั้งปีหน้า

นอกจากนี้ภาวะที่ธนาคารกลางทั่วโลกแข่งกันปั๊มเงินออกมา แม้ระยะสั้นจะดีสำหรับตลาดทุน แต่การทำแบบนี้ธนาคารกลางทุกประเทศรู้ดีว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะไม่มีการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นการ "ซื้อเวลา" เท่านั้น แต่ไม่มีทางเลือก

และนี่จะเป็นความเสี่ยงสำหรับปีหน้า เพราะเป็นช่วงเวลาดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นจริงจังต่อเนื่อง ในจังหวะที่คนขาดความเชื่อมั่นในภาวะการปั๊มเงินที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้หลายคนกลัวว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเผาจริง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐ มองอียิปต์ถึงไทย ดอกไม้และก้อนหินจากวอชิงตัน !!?


โดย.มาโนชญ์ อารีย์
ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

หลังจากที่นายแดเนียล  รัสเซล ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้เดินทางมาไทยและแสดงปาฐกถาที่มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตยและเสรีภาพของไทยโดยเฉพาะเรื่องกฎอัยการศึก ซึ่งตามมาด้วยปฏิกิริยาของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พูดแสดงความเสียใจที่สหรัฐไม่เข้าใจสถานการณ์ไทย อีกทั้งการที่กระทรวงการต่างประเทศเรียกอุปทูตสหรัฐเข้าพบ

ในช่วงแรกๆ ก็หวังกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบตามมามากนักในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจเพราะมองว่าต่างฝ่ายต่างแสดงออกพอเป็นพิธีแต่บรรยากาศเริ่มอึมครึมเข้าทุกทีๆ และทำท่าจะไม่จบง่ายๆ เพราะมีแรงสะเทือนหนักขึ้นในแง่ความสัมพันธ์เชิงยุทธ์ศาสตร์ที่มีการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีกระแสข่าวจากวอชิงตันว่าสหรัฐจะตัดสัมพันธ์ทางทหารกับไทยอย่างเต็มรูปแบบจนกว่าไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันการเยือนไทยของรมว.กลาโหมของจีนระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ ทำให้ไทยกับจีนเตรียมยกระดับความสัมพันธ์กันทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจ การทหาร นอกจากจีนจะแสดงจุดยืนชัดว่าไม่แทรกแซงการเมืองไทยแล้วยังพร้อมให้ความช่วยเหลือไทยทุกด้านทั้งยังหารือการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันอีกต่างหาก

นาย รัสเซล ถือเป็นผู้แทนระดับสูงของสหรัฐที่มาเยือนไทยครั้งแรกหลังรัฐประหารปาฐกถาของเขามีกระแสตอบรับทั้งบวกและลบ  ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับสังคมการเมืองไทยระยะหลัง บางกลุ่มอาจมองว่าสหรัฐเป็นต้นแบบประชาธิปไตยต้องแสดงออกแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาแต่บ้างกลุ่มอาจมองว่าสหรัฐกำลังแทรกแซงการเมืองไทยอย่างไรก็ตามในข้อเขียนนี้จะไม่ขอพูดถึงการเมืองไทยแต่จะเน้นมองที่นโยบายของสหรัฐเป็นหลัก

ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมของโลกหลังสงครามเย็นไปแล้วว่า การพูดถึงประชาธิปไตยและเสรีภาพนั้น พูดที่ไหนก็ดูดี พูดเมื่อไรก็ได้พูดกี่ครั้งก็ถูก  ซึ่งแน่นอนการแสดงออกของนายแดเนียลก็ดูเหมือนจะเป็นการย้ำจุดยืนของสหรัฐในคุณค่าสากลนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสหรัฐกลับเลือกที่จะพูดในบางที่ และไม่พูดในบางที่ทั้งๆที่อยู่ในบริบทเดียวกัน คำถามคือแล้วอะไรคือมาตรวัดหรือไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐที่โลกจะเชื่อถือได้  ในที่นี้จะขอประมวลท่าที่สหรัฐหลังการรัฐประหารในอียิปต์และไทยมาเปรียบเทียบพอได้เห็นภาพ

รัฐประหารที่อียิปต์  ดอกไม้จากวอชิงตัน

ในเดือนกรกฎาคม 2556 กองทัพอียิปต์นำโดยนายพลอับดุล ฟัตตาห์ อัล ซีซี ได้ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอดีตประธานาธิบดีมูฮัมมัดมุรซี ได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนทั่วโลกจะฉงนกับท่าที่ของสหรัฐมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์เพราะสหรัฐพยายามเลี่ยงที่จะเรียกมันว่ารัฐประหารและยังสานต่อความช่วยเหลือให้กับกองทัพอียิปต์ที่ฉีกรัฐธรรมนูญอีกด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายสหรัฐกำหนดให้รัฐบาลต้องหยุดให้ความช่วยเหลือต่อประเทศที่มีการรัฐประหารทันทีแต่โอบามาไม่ต้องการตัดสัมพันธ์กับอียิปต์ทำเนียบขาวประกาศว่าคงไม่ส่งผลดีต่อสหรัฐหากระงับความช่วยเหลือต่อพันธมิตรรายสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างอียิปต์(ถ้ามองแบบนี้ไทยอาจไม่ใช่พันธมิตรสำคัญในภูมิภาคอาเซียนเราอาจคิดไปเอง)จึงน่าคิดว่าอะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง“ผลดีต่อสหรัฐ” กับ “คุณค่าประชาธิปไตย”

การไม่เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ว่าเป็นการรัฐประหารจะหมายความได้หรือไม่ว่าสหรัฐยอมรับการจัดการความขัดแย้งด้วยกำลังทหารนายจอห์นแครรี่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯก็เคยหลุดปากมาว่ากองทัพอียิปต์กำลังพยายามที่จะฟื้นฟูระบบประชาธิปไตยด้วยการโค่นล้มนายมุรซี ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์อียิปต์

แม้สหรัฐจะทำท่าทีระงับการส่งเครื่องบินและยุทโธปกรณ์รวมทั้งเงินสนับสนุนกองทัพอียิปต์260ล้านดอลลาร์เพื่อประท้วงการกวาดล้างผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมุรซีแต่ท้ายที่สุดนายแครรี่ ก็อนุมัติเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ 10 ลำ เงินช่วยเหลืออีก 650 ล้านดอลลาร์ ให้กับกองทัพอียิปต์และเงินช่วยเหลือรัฐบาลใหม่อียิปต์อีกกว่า 1500 ล้านดอลลาร์

แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม2557 แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่มีข้อน่าสังเกตหลายประการเช่นจากโรดแมปเดิมของรัฐบาลเฉพาะกาล กำหนดให้เลือกส.ส. ก่อนแต่ปรากฏว่ามีความรีบเร่งให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดและให้เลือกประธานาธิบดีก่อน ซึ่งผลก็เป็นไปตามคาดนายพลอับดุลฟัตตาห์ อัลซีซี ซึ่งลาออกจากทหารมาลงสนามเลือกตั้ง ปธน. เอาชนะคู่แข่งคนเดียวของเขาซึ่งเป็นผู้สมัครหัวเอียงซ้ายด้วยคะแนนถล่มทลายกว่าร้อยละ 96 และในการเลือกตั้งครั้งนี้มีคนมาใช้สิทธิเพียงร้อยละ44 ต่ำกว่าการคาดหมายและต่ำกว่าผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งก่อนค่อนข้างมากสหรัฐคงน่าจะเข้าใจถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามการบอยคอตการเลือกตั้งการกวาดล้างกลุ่มภารดรภาพมุสลิมที่เป็นฐานเสียงของมุรซี และการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง
             
นับจากกองทัพยึดอำนาจจนถึงขณะนี้  กลุ่มภารดรภาพมุสลิมในอียิปต์ตายไปแล้วกว่า 1,400 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตหลายร้อยคนด้วยวิธีการพิจารณาผู้ต้องหาเป็นหมู่ ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาที่แปลกและแทบไม่มีในโลกสมัยใหม่แล้วรวมไปถึงผู้เห็นต่างทางการเมืองและนักข่าวต่างชาติแต่สหรัฐฯกลับไม่สนใจประเด็นเหล่านี้ในอียิปต์
             
มิเรต มาบรู๊กผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์อิสระฉบับแรกของอียิปต์ และรองผอ.สภาแอตแลนติกถึงกับบอกว่านับจากกองทัพของอัล ซีซี โค่นล้มประธานาธิบดีมุรซี อียิปต์ตกอยู่ในช่วงที่มีการกดขี่มากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ60 ปี

จะเห็นได้ว่านอกจากสหรัฐฯจะไม่กดกดดันกองทัพหรือรัฐบาลของอัลซีซี ในอียิปต์แล้ว ยังให้การสนับสนุนช่วยเหลืออีกต่างหากเสมือนดอกไม้จากวอชิงตัน


รัฐประหารที่ไทย ก้อนหินจาก วอชิงตัน
         
ขณะที่อียิปต์กำลังอยู่ในบรรยากาศของการเลือกตั้งแต่ในไทยกลับมีการรัฐประหารเกิดขึ้นนำโดยพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาในเดือนพฤษภาคม 2557 แต่รัฐประหารครั้งนี้สหรัฐกลับมีท่าทีและจุดยืนที่ย้อนแย้งกับกรณีของอียิปต์
     
หลังรัฐประหารพฤษภา 2557 ปฏิกิริยาของสหรัฐฯคือสั่งทบทวนการช่วยเหลือกองทัพต่อกองทัพ ระงับการช่วยเหลือทางทหาร  ให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมาไทยลดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษยจากอันดับ2เป็นอันดับ 3 (Tier 3) ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด สหรัฐสั่งตัดงบช่วยเหลือไทยด้านงบประมาณความมั่นคงจำนวน4.7 ล้านดอลลาร์ พิจารณาย้ายสถานที่ฝึกคอปร้าโกลด์ไปออสเตรเลียยังไม่มีการแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำประเทศไทย (มีเพียงอุปทูต)
             
นายจอห์นแครรี่ รัฐมนตรีต่างประเทศ (คนเดิม) ของสหรัฐ กล่าว“รู้สึกผิดหวังที่กองทัพไทยตัดสินใจฉีกรัฐธรรมนูญและเข้าควบคุมอำนาจรัฐบาล....ไม่มีเหตุผลใดที่สามารถอ้างความชอบธรรมต่อการก่อรัฐประหารครั้งนี้”
             
จนกระทั่งมาถึงกรณีที่นายรัสเซล เดินทางมาไทยและพบปะแกนนำพรรคการเมืองอย่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ไม่ได้เข้าพบพลเอกประยุทธ์นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช) ที่สำคัญคือการแสดงความเห็นทางการเมืองและกฎอัยการศึกดังที่กล่าวไปแล้วและตามมาด้วยกระแสข่าวว่าสหรัฐจะตัดความสัมพันธ์ทางทหารกับไทยอย่างเต็มรูปแบบจนกว่าไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
             
นอกจากนี้หากมองกรณีอื่นๆก็ยังคงพบเห็นความหลายมาตรฐานของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยในที่อื่นๆ เช่นในตะวันออกกลางก็จะเห็นว่าสหรัฐนิ่งเงียบต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศพันธมิตรของตนอย่างซาอุดิอาระเบียหรืออียิปต์ในสมัยฮุสนีมุบารักกาตาร์ จอร์แดน ฯลฯ  หรือกรณีปากีสถานในสมัยประธานาธิบดีมุชาร์ราฟที่รัฐประหารยึดอำนาจจากนาวาช ชารีฟ ในปี 2542 และอยู่ในอำนาจมาจนถึงปี2549โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเป็นอย่างดีทั้งทางการทหารและเงินช่วยเหลือมหาศาล

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างจุดยืนของสหรัฐต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยและเสรีภาพที่อิงอยู่กับผลประโยชน์และความเป็นพันธมิตรในเชิงยุทธ์ศาสตร์ ไม่ได้ยึดคุณค่าสากลเสมอไป ในกรณีอียิปต์ก็ชัดเจนว่าสหรัฐสนับสนุนฝ่ายใดก็ได้ด้วยวิธีการใดก็ได้ ที่รองรับนโยบายของสหรัฐในตะวันออกกลางและความมั่นคงของอิสราเอล
             
โดยทั่ว ๆ ไปนโยบายสหรัฐในสถานการณ์แบบนี้ มักตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ หรือไม่ก็เป็นการแสดงออกเพื่อย้ำภาวะผู้นำที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและเสรีภาพ (พอเป็นพิธี ไม่หวังผลเพราะไม่มีเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวข้องมากนัก) หรือไม่ก็จะนิ่งเฉยหากก่อให้เกิดประโยชน์
             
ประเด็นที่น่าคิดคือการแสดงออกของสหรัฐต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยไทยเป็นกรณีไหนกันแน่ถ้าเป็นแบบพอเป็นพิธีก็ไม่น่าจะมีอะไรมากนักตามมาแต่ดูแล้วอาจจะไม่จบง่ายๆหรือถ้าแบบแฝงผลประโยชน์ก็น่าคิดว่าสหรัฐกำลังจะทำอะไรต่อไปจะมีมาตรการอะไรตามมาบ้างความสัมพันธ์จะเป็นอย่างไรแล้วไทยจะต้องวางตัวอย่างไรให้เหมาะสม
             
คงไม่จำเป็นต้องสรุปแล้วว่าไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรแต่ก็คงเป็นข้อถกเถียงต่อไปสำหรับประเทศไทยว่าแล้วเราจะทำอย่างไรได้ในเมื่อเขาเป็นมหาอำนาจเรายังต้องพึงพิงค้าขายกันอยู่

อย่างไรก็ตามเราอาจมีทางเลือกที่นุ่มนวลและการตอบรับอย่างสุภาพต่อกรณีที่สหรัฐหรือนายรัสเซลส่งสัญณาณมาอย่างน้อยด้วยการแสดงความขอบคุณที่ห่วงใย และขอให้ปฏิบัติต่อไทยเหมือนเช่นที่สหรัฐปฏิบัติต่ออียิปต์มาแล้วแทนที่จะตอบโต้ด้วยวิธีที่ทำให้ขุ่นข้องหมองใจกันเปล่าๆซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระยะยาว
             
เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐมันคดเคี้ยว ถ้าไม่ได้ดอกไม้อย่างน้อยไม่โดนหินปาหัวแตกก็ยังดี

ที่มา.มติชน
//////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

คงสงบยาก !!?



โดย: พระพยอม กัลยาโณ

คำว่า “เสียของ” หรือ “เสียเวลาเปล่า” แต่ละเรื่องราว แต่ละครั้ง มักจะเกิดขึ้นเสมอ ความหวังที่ตั้งเป้าหมายมักจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดความต่อเนื่องมีเรื่องที่ต้องขยายความ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันมากขึ้น โดยเฉพาะการถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ บางคนบอกว่าไม่มีใครเคลื่อนไหว ไม่มีใครกล้าสู้ปากกระบอกปืน แต่ลึกๆยังมีคำวิจารณ์ออกมาจากทั้ง 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งวิจารณ์อย่างนั้นอย่างนี้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ทำท่าทำทีไม่ค่อยดี ตอบกันไปโต้กันมา ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับช่องแดงมักพูดแสลงใจ โดยบอกว่าย้อนรำลึกไปเมื่อตอนอยู่ในม็อบ เห็นหน้านายกฯปูแล้วอยากไล่เหมือนหมูเหมือนหมา ซึ่งคำเหล่านี้ยังออกอากาศกันอยู่ แล้วทางนี้ก็เริ่มพูดกันว่าปรองดองยากแล้ว จะไม่ยอมปรองดองกับใคร ทำท่าว่าเรื่องที่เดินมาจะเหน็ดเหนื่อยเปล่า

คำว่า “ปรองดอง” หันหลังกลับไปอยู่ตรงไหนไม่รู้ จะเริ่มต้นเดินหน้ากันยังไงในเมื่อต่างฝ่ายต่างอัดใส่กันชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่ยังมีสวรรค์รำไรมาให้เห็นบ้าง อย่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเป็นประชาธิปไตยฉายแสงออกมาหลังจากนายกฯปูถูกชี้มูลความผิดไปแล้ว ที่ทางฝ่ายโน้นบอกอย่าชี้แจงเลย กลัวจะเป็นการปลุกระดมกันขึ้นมา คุณอภิสิทธิ์บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการที่จะไม่ให้โอกาสชี้แจง

แต่ยังชะลออารมณ์คนได้นิดหนึ่ง ที่ปล่อยคุณนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กับคุณสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ถ้าถอดถอนหมดน่ากลัวอารมณ์น่าจะกระพือมากกว่านี้ ตอนนี้เห็นว่ามี 2-3 ช่องเริ่มเหมือนจะท้ากันอยู่ เหยียบย่ำซ้ำเติมกัน ฝ่ายที่ชนะมักเยาะเย้ย ถากถาง ระเริงเหลิงหลง ฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องเลียแผล เคียดแค้น อยากจะเอาคืน ถ้าไม่เอาคืนก็ต้องเรียกว่าหวานอมขมกลืน แม้จะยอมสงบ

แต่ลึกๆของจิตใจไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร เผลอๆอาจจะแรงกว่าเก่า ถ้าเป็นอย่างนี้ความสงบ ความเจริญก้าวหน้าคงเกิดยาก ความปรองดองอาจเป็นอย่างที่เรียกกันว่า “เลือดท่วมท้องช้าง” คนจะได้สติกลับมาคุยกันหลังเกิดมิคสัญญี พอคนเป็นทุกข์เป็นร้อน ล้มหายตายจาก ก็จะมานั่งคิดว่าเราไม่น่ารุกเร้ากันถึงขนาดนี้ เรียกว่าต้องรอให้ธรรมชาติสอน

ตอนนี้จะเอาศาสนา เอาธรรมะ มาสอนมันยากไปหมดแล้ว ที่สำคัญการที่จะให้เกิดความปรองดอง แต่ไม่เป็นธรรม จะทำให้รู้สึกอึดอัด ขอฝากว่า จะถอดถอนอะไรก็ขอให้ทำอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ทำข้างหนึ่งแต่อีกข้างหนึ่งไม่ทำ จะเกิดจี้อารมณ์กันได้ จี้ไปจี้มาจะระเบิดขึ้นมาอีก คราวนี้น่าจะไม่มีคำว่าเงียบง่าย จบเร็ว แต่จะยืดเยื้อรื้อรังอย่างชนิดที่เกินคาด เกินคิดก็ได้ ช่วยกันระงับ ระวังกันหน่อย อย่าปล่อยให้บ้านเมืองบอบช้ำมากไปกว่านี้เลย

เจริญพร

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม
///////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

บรรยากาศเหงาและเงียบ !!?


โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

อากาศระหว่างธันวาคม 2557 มาถึงเดือนมกราคม 2558 ปีนี้ เย็นลงผิดปกติ ยิ่งขึ้นไปทางเหนือและทางภาคอีสานอุณหภูมิยิ่งลดลงมากกว่าปกติ ทำให้เกิดบรรยากาศเย็นสบาย ช่วงเทศกาลปีใหม่มีวันหยุดหลายวัน จึงเห็นคนกรุงเทพฯขึ้นไปทางเหนือทางอีสานกันมาก ประกอบกับคนที่ลงมาทำงานอยู่กรุงเทพฯก็เดินทางกลับบ้าน กรุงเทพฯจึงหลวม โหรงเหรง จะขับรถไปไหนก็สะดวก ที่เคยใช้เวลา 2 ชั่วโมงในชั่วโมงเร่งด่วนก็ใช้เวลาเพียง 20-30 นาทีเป็นอย่างมาก หลายคนอยากให้เป็นอย่างนี้นานๆ คนกรุงเทพฯคงมีความสุขโดยไม่ต้องมีใครเอาความสุขมาคืนให้

ทุกวันนี้พวกเราประชาชนเป็นเหมือนเด็กนักเรียนชั้นประถม ที่ทุกวันศุกร์และวันจันทร์จะมีครูใหญ่ลุกขึ้นมาอบรมสั่งสอนให้รู้จักรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้รู้จักหน้าที่ อย่าทะเลาะเบาะแว้ง อย่าคลั่งประชาธิปไตยนัก บ้านเมืองที่เป็นอยู่เพราะเราคลั่งประชาธิปไตยจนเกินไป อยู่เฉยๆ แล้วจะนำความสุขมาให้

บรรยากาศของฤดูหนาว บรรยากาศของวันหยุดยาว แม้จะเป็นบรรยากาศที่ไม่แออัด เบียดเสียด หลวมๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งพร้อมๆ กันไป คือบรรยากาศทางการเมืองและบรรยากาศทางเศรษฐกิจ

ความซบเซาทางเศรษฐกิจ พักนี้ผู้คนทุกระดับชั้นสามารถรู้สึกได้ ยกเว้นแต่มนุษย์เงินเดือนที่ยังคงรับเงินเดือนตามปกติ แต่ก็มีความรู้สึกว่าบริษัทที่ตนทำงานอยู่ก็เริ่มส่งสัญญาณว่าปี 2558 นี้ ฐานะหรือผลการดำเนินงานของบริษัทอาจจะไม่ดีเท่าปีที่ผ่านมา เพราะบริษัทเริ่มรณรงค์ให้ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ การรับพนักงานเพิ่มคงจะไม่มี มีแต่จะสนับสนุนให้เกษียณก่อนกำหนด เริ่มมีป้ายปิดประกาศให้ประหยัดไฟประหยัดน้ำกันบ้างแล้ว บรรยากาศเช่นว่านี้เริ่มเกิดขึ้น ฝ่ายการตลาดต้องเข้ามารายงานยอดขายในการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการถี่ขึ้น ต้องวางแผนการตลาดตั้งเป้าหมายยอดขายให้ทะมัดทะแมงขึ้น โดยไม่ต้องมาของบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจะเห็นว่ากระเช้าของขวัญก็ดี ของชำร่วยก็ดี ปีใหม่ปีนี้ลดน้อยลงค่อนข้างมาก

ในชนบท บรรยากาศของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นรถปิกอัพ รถยนต์นั่ง จักรยานยนต์ ปริมาณการซื้อขายลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง หลายคนอาจจะโทษนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่แล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้คนรีบซื้อรถยนต์เพื่อจะได้ลดภาษี แต่มันก็ผ่านไป 2 ปีแล้วภาวะตลาดก็ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ดีที่ตลาดส่งออกยังพอไปได้ แต่บรรยากาศตลาดในประเทศเงียบเหงา

ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ทีวี เครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน แต่ก็เชื่อได้ว่าบรรยากาศก็คงจะเงียบเหงาซบเซาเหมือนๆ กันเพราะความถี่ของการโฆษณามีน้อยลง

ที่เป็นเช่นนี้ก็คงจะไม่ต้องอธิบายกันแล้ว เพราะรายได้ของครัวเรือนทั้งในชนบทและในเมืองลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะราคาสินค้าเกษตรหลักของเราพร้อมหน้าพร้อมตากันลดลง แม้แต่ราคาน้ำมันดิบที่เคยมีราคาสูงกว่า 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลงมาเหลือเพียง 48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคายางพารา ราคาอ้อยและน้ำตาล ราคามันสำปะหลังและราคาข้าว ยังมองไม่เห็นว่าจะฟื้นตัวอย่างไร ถ้าราคาน้ำมันยังอยู่ที่พื้นอย่างนี้

มิหนำซ้ำ สหภาพยุโรป ซึ่งตั้งเป้าอยู่แล้วว่าจะตัดสิทธิการลดภาษีศุลกากรของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เราจึงเร่งเจรจาสนธิสัญญาเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับยุโรปให้ทันก่อนวันที่ 1 มกราคม 2558 แต่บังเอิญเรามีการรัฐประหาร ทำให้เราไม่เป็นประเทศประชาธิปไตย เขาเลยไม่เจรจาด้วย คงจะเสียหายไปหลายหมื่นล้านเหรียญ สินค้าที่จะกระทบหนักก็คงจะได้แก่ กุ้งแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก หมูแฮม อาหารกระป๋อง ซึ่งเป็นสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร โรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานเหล่านี้ใช้แรงงานค่อนข้างมากเสียด้วย จะมีผลกระทบต่อการว่างงานหรือไม่ก็ต้องคอยดู แต่ก็ทำให้บรรยากาศเงียบเหงาไปเลย

ที่เห็นชัดอีกอันหนึ่งก็คือ การก่อสร้างหรือภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เงียบเหงา สังเกตได้จากแรงงานพม่าเริ่มอพยพกลับประเทศ เพราะงานในเมืองไทยน้อยลง แต่งานก่อสร้างในพม่ากำลังคึกคัก

เมื่อภาคเกษตรในชนบท การประมงในต่างจังหวัด ซบเซาไม่คึกคัก กำลังซื้อลดลง ก็คงจะพาให้ภาคการผลิตอย่างอื่นอันได้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคพาณิชยกรรม การค้าปลีกค้าส่งพลอยซบเซาไปด้วย เคยไปเดินเล่นที่ตลาดนัด 2-3 แห่ง รวมทั้งตลาดนัดจตุจักร บรรยากาศก็ฟ้องเหมือนกันว่าเงียบเหงาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สอบถามพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดนัดจตุจักรก็ได้ความว่ายอดขายลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ลูกค้าคนไทยลดลง ลูกค้าต่างชาติ เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ ก็ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ แม่ค้าพ่อค้าโอดครวญว่ายังไม่เคยเห็นเศรษฐกิจซบเซาอย่างนี้มาก่อนในรอบหลายปี

สำหรับบรรยากาศทางการเมืองยิ่งรู้สึกโหวงเหวง ว่างเปล่า เพราะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจจะกำหนดมาให้ปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ผู้คนที่ดูทีวีก็ดูแต่ละคร ละครจบแล้วก็จบ จะดูข่าวก็ดูไปอย่างนั้น ไม่รู้สึกว่าตนจะต้องไปยุ่งเกี่ยว วิพากษ์วิจารณ์ก็คงไม่ได้

เมื่อฟังว่าจีนจะได้สัมปทานทำรถไฟรางคู่ไปหนองคาย ไปเชียงใหม่ ญี่ปุ่นจะทำจากมาบตาพุดไปทวาย จะมีการประมูลหรือไม่ก็ไม่ทราบ ราคาเท่าไหร่ก็ยังไม่ทราบ ราคาที่พูดจะถูกหรือแพงก็ไม่ทราบ เพราะดูเหมือนจะไม่มีประมูลระหว่างประเทศ อยู่ๆ จีนก็โชคดีไป โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ก็รับทราบ ไม่มีความเห็นจากใคร ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือใครก็ตาม

รัฐธรรมนูญที่กำลังร่าง ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้ใครทราบว่าหน้าตาจะออกมาอย่างไร หลายคนเชื่อว่าร่างไว้เสร็จแล้ว แต่แกล้งปล่อยข่าวให้ฮือฮากันก่อนแก้เหงา เห็นเชิญทูตเยอรมันไปชี้แจง เชิญอาจารย์รัฐศาสตร์ที่เรียนมาจากเยอรมันมาชี้แจงว่า ระบบการเลือกตั้งเยอรมันดี ก็ไม่มีใครเข้าใจว่ามันดีอย่างไร ไม่เข้าใจวิธีการเลือกตั้งว่าเป็นแบบไหน อย่างไร ดูคนจะสนใจน้อยมาก ในสภากาแฟ ในวงเหล้า ถ้าจะพูดกันเรื่องรัฐธรรมนูญเห็นจะวงแตกเพราะไม่มีใครรู้ว่าตนต้องการแบบไหนเพราะไม่ได้สนใจ

จะเขียนอย่างไรก็ตามใจ อย่าให้ระบอบที่แล้วกลับมาอีกก็แล้วกัน ซึ่งก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนอย่างไรดี อยากเขียนอะไรก็เขียนไป เพราะคงใช้ไม่ได้นาน เพราะจะเป็นรัฐธรรมนูญแปลกๆ ตลกๆ แบบไทยๆ

ยิ่งเรื่องการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ยิ่งไปกันใหญ่ ผู้คนยังไม่รู้ว่ามีความจำเป็นอะไรต้องปฏิรูป ดูสภาปฏิรูปก็เป็นผู้คนประเภทเดียวกันกับผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งสิ้น แล้วจะปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปรูปแบบของรัฐ จากรัฐเดี่ยวเป็นสภารัฐ หรือจากระบอบรัฐสภาเป็นระบอบเลือกหัวหน้ารัฐบาลโดยตรงโดยไม่ต้องมาจากรัฐสภาแล้วก็แยกอำนาจกันเด็ดขาด ต่อมาก็บอกว่าไม่เอา จะเอาอย่างเก่า แต่ขนาดของสภาผู้แทนราษฎรต้องเล็กลง วุฒิสภาต้องใหญ่ขึ้น วุฒิสภามีทั้งแต่งตั้งและเลือกตั้ง ส่วนนายกรัฐมนตรีอาจจะต้องมีคุณสมบัติแปลกๆ เพื่อไม่ให้นักการเมืองเก่ากลับมาอีก เหมือนกับเคยคิดเคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2517 ที่พยายามจะกันไม่ให้ทหารกลับมาทำรัฐประหารพาประเทศถอยหลังเข้าคลองอีก แต่ก็ไม่สำเร็จ แต่ตอนนั้นผู้คนกระตือรือร้นอยากมีส่วนร่วมในทางการเมือง ผู้คนมีความหวังว่าประเทศจะพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ

ไม่เหมือนตอนนี้ ผู้คนในกรุงเทพฯหมดความสนใจเรื่องการเมือง เรื่องรัฐบาล เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องพรรคการเมือง สื่อมวลชนก็เห็นดีเห็นงามกับระบอบการปกครองโดยทหาร การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การใช้กฎอัยการศึก ไม่เห็นมีใครเดือดร้อน บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีแล้ว อยู่อย่างนี้นานๆ ก็ยิ่งดี จะมีรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งไปทำไม แม้แต่ชาวชนบท ราคายางจะเป็นเท่าไหร่ก็ได้ ราคาข้าว ราคาอ้อย ราคากุ้ง ราคาสินค้าจะเป็นอย่างไรก็ได้ ไม่คึกคัก เหมือนเมื่อก่อน

น่าจะเป็นโอกาสดีของทหารที่ผู้คนสงบเงียบ อยากทำอะไรก็ทำได้ ไม่มีคนค้าน ไม่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ เงียบหมด เพราะกลัวตาย ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเก่งกว่านี้มาก ดังนั้นโครงการใหญ่ๆ ที่เมื่อก่อนพรรคฝ่ายค้านและสื่อมวลชนเคยขัดแข้งขัดขา บัดนี้ไม่มีแล้ว โครงการเหล่านั้นก็ควรจะได้สร้างให้สำเร็จเสียที จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลมากกว่า

ส่วนการปฏิรูป ปฏิวัติ ปฏิสังขรณ์ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไรหรอก

ที่มา.มติชน
/////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2558

บทเรียนจากปี 2557 !!?


โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ปี 2557 ที่ผ่านไป เราได้เรียนรู้อะไรมากมายหลายอย่างสำหรับสังคมไทย ระบบการเมืองไทย ระบบคุณค่าของสังคมไทย ซึ่งบางครั้งเราหลงผิดคิดเอาเองว่า คนไทยหรือสังคมไทยได้พัฒนาไปไกลแล้ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และอื่นๆ

ความจริงแล้วการพัฒนาของประเทศไทยคงจะมีเพียงการพัฒนาทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง วัฒนธรรม ยังคงย่ำอยู่กับที่ แม้ว่าสังคมไทยในขณะนี้เป็นสังคมของคนรุ่นใหม่ เป็นสังคมโลกาภิวัตน์ เป็นสังคมไร้พรมแดน เป็นสังคมที่ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้า-ออกไปมาระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว เป็นสังคมที่ให้แสดงออกได้อย่างเปิดเผย ไม่สามารถห้ามการแสดงออกได้เหมือนในอดีต

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น การชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชุดที่แล้ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 และยืดเยื้อมาจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ตอบรับแล้วว่าได้เตรียมการมานาน ได้เข้าทำการปกครองแผ่นดินด้วยกฎอัยการศึกมาจนปัจจุบันนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ให้บทเรียนหลายอย่าง บอกได้แม้กระทั่งว่า การปฏิวัติรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ล้าสมัยในสังคมไทย การปกครองโดยรัฐบาลทหารคนไทยยังคงรับได้ ทั้งๆ ที่ระบอบเช่นว่านี้เกือบจะไม่มีในโลกนี้แล้ว

ประการแรก ที่เห็นก็คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้น กล่าวคือ ชนชั้นสูงที่มีอำนาจในการล้มล้างรัฐบาลยังคงดำรงความมีอำนาจเช่นว่านั้นอยู่ กลุ่มชนชั้นเหล่านี้แม้จะมีจำนวนน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ อยู่กันในเมืองหลวง ในเขตเมืองของจังหวัดต่างๆ มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการศึกษาสูง ในขณะเดียวกันก็มีจิตสำนึกของการเป็นชนชั้นสูงอยู่อย่างมาก หลายครั้งในระหว่างการชุมนุมได้ประกาศไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันทางการเมืองของชนชั้นล่างได้

สังคมคนชั้นสูงจึงมีความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยน้อยมากการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ ไม่ได้ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยเลย มิหนำซ้ำระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม กลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ความรู้สึกเรื่องชนชั้นในทางลบรุนแรงยิ่งขึ้น

ประการที่สอง สังคมไทยให้ความสำคัญหรือยึดมั่นในระบบน้อยมาก เนื่องจากประชาธิปไตยเป็นระบบของความคิดที่ยึดมั่นในหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็น "นามธรรม" สังคมไทยจึงไม่เข้าใจ ทำให้ถูกบิดเบือนได้ง่าย เพราะความสามารถใช้เหตุใช้ผลของสังคมไทยมีน้อย จะเห็นได้จากการเชื่อข่าวลือโดยไม่มีเหตุผล การปลุกกระแสให้เกิดอารมณ์โกรธเกลียดสามารถทำได้ง่าย และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะทำให้หายไปได้ สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ยังเป็นเด็ก ยังเป็นสังคมที่ยังไม่โตพอที่จะแยกแยะผลดีผลเสียในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

ประการที่สามคนไทยยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในโลกโลกาภิวัตน์อย่างเพียงพอ ความเป็นประชากรโลกในปัจจุบัน ไม่มีประเทศไหนจะปิดตัวเองอยู่ตามลำพังแบบเดียวกับพม่า หรือประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นได้

พลังเศรษฐกิจ พลังตลาด การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ มีพลังมหาศาลเกินกว่าประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกลุ่มประเทศใดกลุ่มประเทศหนึ่งจะขัดขวางหรือทวนกระแสนี้ได้

การที่ประเทศต่างๆ ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิด "ประชาคมโลก" หรือ "world community" เมื่อเกิดประชาคมโลก สมาชิกของประชาคมโลกก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตามกติกา กฎระเบียบ และคุณค่าทางวัฒนธรรม การเมือง สังคม สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาคมโลกด้วย

ระบบการปกครองที่สอดคล้องกับความเชื่อของประชาคมโลกในปัจจุบันก็คือสิทธิการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนตามแบบตะวันตก กับประชาธิปไตยรวมศูนย์ของสมาชิก อันได้แก่ประชาธิปไตยรวมศูนย์ของประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เดิมเท่านั้น

ประการที่สี่ ประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันทางสื่อมวลชน ระหว่างนักวิชาการก็ดี ระหว่างสมาชิกสภาปฏิรูปก็ดี ระหว่างกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี แสดงถึงความสับสนทางความคิดของชนชั้นนำของสังคมไทย ด้านหนึ่งก็ไม่เชื่อในระบบความคิดแบบประชาธิปไตยอันได้แก่สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ จะด้วยต้องการรักษาสถานภาพได้เปรียบของตนในวงสังคม หรือความรู้สึกไม่มั่นคงในสถานภาพของตนที่อาจจะถูกท้าทายโดยคนชั้นล่างที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความรู้สึกเช่นว่านี้ยังไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลย ยังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา

ประการที่ห้า ความตื่นตัวของประชาชนระดับรากหญ้า ตลอดครึ่งแรกของปี 2557 แสดงให้เห็นว่ามีสูงขึ้นเป็นอันมากทั้งปริมาณและลักษณะการแสดงออก ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและกายภาพ การคมนาคม การขนส่ง รวมทั้งระบบสื่อสารมวลชน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ความจริงดังกล่าวอาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่22 พฤษภาคม เพราะทุกอย่างเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย เกินคาด ไม่มีเรื่องต่อต้าน ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมืองรวมทั้งสื่อมวลชนเป็นส่วนใหญ่

ความเห็นในเรื่องนี้แบ่งออกเป็น2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคิดว่าที่สถานการณ์ทุกอย่างเรียบร้อยสงบเงียบก็เพราะว่าทุกฝ่ายรอให้มีการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อใด ตนก็คงจะชนะการเลือกตั้ง จึงไม่จำเป็นต้องดิ้นรนเรียกร้อง เพราะเสี่ยงกับการถูกปราบปราม เสียเลือดเนื้อ

อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันก็มีความรู้สึกอย่างเดียวกันกล่าวคือ ถ้ามีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ฝ่ายตนไม่ต้องการก็ยังจะชนะการเลือกตั้ง ดังนั้น การคงระบอบการปกครองโดยกฎอัยการศึกก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น แม้ภายหลังการเลือกตั้งแล้วก็ตาม ส่วนจะดำรงอยู่ยั่งยืนหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประการที่หก เท่าที่สดับตรับฟังในวงสนทนาทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สปช. สนช. หรือกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ โจทย์ใหญ่คือจะกำจัดอำนาจของฝ่ายการเมืองหรือพรรคการเมืองที่จะชนะการเลือกตั้งอย่างไร ความคิดเช่นว่านี้จึงทำให้รัฐธรรมนูญที่จะคลอดออกมาไม่เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามธรรมชาติของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทำให้ตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะร่างอย่างไรแบบไหน ส่วนเมื่อประกาศใช้แล้วจะจีรังยั่งยืนมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ประเด็นในขณะนี้

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเห็นว่า ในขณะนี้ไม่ต้องทำอะไร เหตุการณ์จะพาไปเอง เพราะระบอบการปกครองที่เป็นอยู่จะไม่สามารถรับกับภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลง เพราะประเทศไทยจะมีปัญหาในเรื่องการส่งออกมากขึ้นเรื่อยๆ จากการกีดกันการค้าจากประเทศตะวันตก รวมทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพราะประเทศไทยมีระบอบการปกครองไม่สอดคล้องกับ "ประชาคมโลก" การกีดกันการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวจะมีผลในปี 2558 นี้ จึงคาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจของเราในปี 2558 จะเป็นปีที่ย่ำแย่พอๆ หรือมากกว่าปี 2557

ประการที่เจ็ด ความรู้สึกไม่แน่นอน ความรู้สึกหวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และทางเศรษฐกิจจะมีอยู่ตลอดเวลา การท้าทายอำนาจรัฐจะมีมากขึ้น ความรู้สึกหวั่นไหว ความรู้สึกไม่แน่นอนต่อการเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะมีน้อยลงในปี 2558 น่าจะมีมากขึ้นเสียด้วยซ้ำไป แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจ เพราะสังคมไทยให้ความสนใจเรื่องอนาคตน้อยกว่าปัจจุบันมาก

ปีใหม่ปีนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลง แม้ว่าภาวะต่างๆ น่าจะลดลง เงินเฟ้อน่าจะลดลง แต่บรรยากาศเหงาๆ ซึมๆ ชอบกล

คงเพราะความวิตกกังวลในความไม่แน่นอน

ที่มา.มติชน
////////////////////////////////////////////////////////

เจาะลึกเส้นทางสายไหม R3A (2) กงสุลใหญ่จีน แนะคนไทยลงทุน...ยูนนาน !!?


วันนี้เส้นทาง R3A กำลังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย เพราะเป็นจุดผ่านที่จีนจะสามารถทะลุเข้าถึงกลุ่มอาเซียนได้ก่อนที่รถไฟทางคู่คุนหมิง-กรุงเทพฯจะกำเนิดขึ้น "เฉา เสี่ยวเหลียง"กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เบอร์หนึ่งของจีนในภาคเหนือ ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ R3A หลังจากที่ได้นั่งรถบัสจากชายแดนฝั่งไทย ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ข้ามแม่น้ำโขงที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เข้าสู่ดินแดนเมืองห้วยทราย สปป.ลาว ลัดเลาะหุบเขาคดโค้งที่มีปลายทางคือ นครคุนหมิง มณฑลยูนนานรวมระยะทางราว 1,047 กิโลเมตร

- มองศักยภาพของเส้นทาง R3A อย่างไรบ้าง

R3A เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญตามเส้นทางแม่น้ำโขง และเป็นเส้นทางสำคัญสู่อาเซียน โดยมีจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อคือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเราได้เห็นการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนชัดเจนมากบนเส้นทางนี้และเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า และใช้ถนน R3A เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าเข้าสู่ไทย อาเซียน รวมถึงตลาดโลกการเติบโตขึ้นอย่างมากของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาลาวและไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และในปี 2558 ที่จะเข้าสู่ AEC รวมถึงการค้าเสรีจีน-อาเซียน ความสำคัญของถนน R3A ก็จะยิ่งทวีขึ้น

- มีอุปสรรคอะไรหรือไม่สำหรับเส้นทางนี้

เท่าที่ดูและเห็นชัดเจนมาก คงเป็นเรื่องความสะดวกในการผ่านด่านแต่ละด่านที่ใช้เวลานานเกี่ยวกับพิธีการทางศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองที่ยังไม่ค่อยคล่องตัวเท่าที่ควร เช่น รถบรรทุกสินค้าต้องเปลี่ยนหัวรถหลายครั้งเมื่อจะต้องเข้าสู่อีกประเทศหนึ่ง ทำให้รถจอดรอกันจำนวนมากบริเวณด่าน เช่นเดียวกับขั้นตอนของการตรวจคนเข้าเมือง ที่มีกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ค่อนข้างล่าช้า ปัญหาเหล่านี้หน่วยงานรัฐของทั้ง 3 ประเทศควรจะแก้ไขเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้บริการทุกรูปแบบบนเส้นทางนี้ให้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากที่สุด

- การลงทุนของจีนเติบโตขึ้นมาก แล้วนักลงทุนไทยมีโอกาสมากแค่ไหน

ผมมองว่านักลงทุนไทยมีโอกาสในด้านการค้าการลงทุนบนเส้นทาง R3A ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะทุกเมืองของจีนมีนโยบายที่เปิดกว้างรับทุนไทย รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละเมืองให้สิทธิพิเศษค่อนข้างมากกับนักลงทุนต่างชาติ แต่ปริมาณทุนไทยยังมีค่อนข้างน้อย สิ่งสำคัญต้องดูศักยภาพของธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนว่าเหมาะกับตลาดไหนอย่างไร เราจะเข้าไปลงทุนในเมืองนั้น ๆ เพื่อเจาะตลาดคนจีน หรือลงทุนในแง่ของการเป็นฐานการผลิต ก็สามารถทำได้ทั้งสองรูปแบบ และการมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนท้องถิ่นนั้น ๆ ก็สำคัญมากเช่นกัน

อย่างที่เมืองคุนหมิงจะมีเฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่มที่เข้าไปลงทุน เช่น TCC Group ที่ได้เข้าไปซื้อกิจการโรงแรม 2 แห่งในเมืองคุนหมิง หรือที่เมืองผูเอ่อร์ เราก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมถึงนักธุรกิจไทยที่เข้ามาดูลู่ทางธุรกิจหลายครั้ง ขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนไทยที่เข้ามาลงทุนประมาณ 1-2 รายในอุตสาหกรรมชา มาทำไร่ชาอู่หลง รวมถึงนักลงทุนไต้หวันก็เข้ามาทำไร่ชาอู่หลงที่เมืองผูเอ่อร์

- จีนวางยุทธศาสตร์อย่างไรกับถนนสายนี้

ในการเดินทางครั้งนี้ เราได้เห็นสภาพและความเป็นไปบนถนน R3A ค่อนข้างเชิงลึกมาก ทำให้ผมมองถึงประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่สถานกงสุลใหญ่จีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ต้องวางเป็นยุทธศาสตร์นั่นก็คือ การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจีนในทุกเมืองของมณฑลยูนนานเดินทางมายังเส้นทาง R3A เพื่อเข้ามาท่องเที่ยวในภาคเหนือของไทยให้มากขึ้น โดยจะประสานกับรัฐบาลท้องถิ่นทุกเมือง ซึ่งไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ประโยชน์ แต่เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศสำคัญที่สุดคือ การรักษาความสัมพันธ์ทางความร่วมมือ โดยเราจะพยายามรักษาสิทธิ์ของนักท่องเที่ยวจีนให้เขารู้สึกว่าเข้ามาเที่ยวในเส้นทางนี้มีความปลอดภัยโดยเฉพาะปลายทางที่คนจีนอยากมามากที่สุดคือ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือหลาย ๆ จังหวัดในภาคเหนือ จะต้องเพิ่มเติมป้ายภาษาจีนตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ กล่าวได้ว่าเส้นทาง R3A เริ่มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น เพราะตลอดทางผมได้เห็นรถบัสของนักท่องเที่ยวจีนสวนทางมามาก

ตอนนี้สถานกงสุลจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ออกวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวคนไทยในภาคเหนือ เพื่อไปเที่ยวยังประเทศจีน เดือนละประมาณ 2-3 พันคน ซึ่งจำนวนหนึ่งของนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวในเส้นทาง R3A และเชื่อว่าถ้าเราเร่งส่งเสริมยุทธศาสตร์นี้ก็จะทำให้การท่องเที่ยวข้ามประเทศของทั้ง 3 ประเทศเติบโตขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต

ย้ำชัดประโยคสุดท้ายของการสนทนา จากมุมมองเบอร์หนึ่งของจีนในภาคเหนือ "เฉา เสี่ยวเหลียง" ว่า ทั้ง 3 ประเทศคือ ไทย ลาว และจีน ที่ร่วมมือกันพัฒนามีโอกาสด้วยกันทุกด้าน และมั่นใจว่าในอนาคตความสำคัญของเส้นทางนี้จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558

มองเศรษฐกิจไทยปี 2558 อย่างไร !!?


หมายเหตุ : นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ได้เปิดโอกาสให้ "มติชน" สัมภาษณ์พิเศษต่อมุมมองทางเศรษฐกิจ 2558 และข้อเสนอแนะต่อการผลักดันการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ 4%

เป็นโจทย์ที่ยาก ยังเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 อาการหนักอยู่ สถานการณ์คล้ายกับช่วงเกิดปัญหาต้มยำกุ้ง คนระดับล่างมีปัญหา รายได้ลดลง เงินไม่พอใช้ การว่างงานแยะ ตอนนั้นคนไทยต้องต่อสู้อย่างหนัก

เสาหลักค้ำยันเศรษฐกิจไทยก็ทำงานไม่เต็มที่ เรื่องแรก การส่งออกก็ยังมีปัญหา จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจหลายประเทศก็ยังไม่ชัดเจน ตลาดญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยดี นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพยายามลดค่าเงินเยน จาก 80 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 100-120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 3% เงินเยนยิ่งอ่อนลง ทำให้กระทบต่อนำเข้าสินค้าไทยที่มีราคาแพงขึ้น แข่งขันได้ยากขึ้น โดยเยนอ่อนไม่ได้กระทบกับการลงทุนมากนัก เพราะญี่ปุ่นมีการผลักดันลงทุนนอกประเทศต่อเนื่อง ตลาดยุโรปคงไม่ฟื้นเร็วๆ นี้ อาจมีเพียงบางประเทศที่ยังดี

ตลาดสหรัฐอเมริกาน่าจะดีขึ้นแต่ยังไม่ชัดเจน อัตราว่างงานยังสูง กำลังซื้อเริ่มดีขึ้น ยังมีปัญหาขัดแย้งการเมืองอยู่กับรัสเซีย ส่วนจีน น่าจะเป็นตลาดที่ดี เช่นเดียวกับตลาดอาเซียนที่กำลังเป็นตลาดที่เข้ามาแทนที่ตลาดใหม่ ทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกา ก็ต้องดูไปพร้อมกับตลาดอื่นๆ

อีกเรื่องใหญ่ที่ยังเป็นปัญหา คือ ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ดี ทั้งยางพารา ข้าว มีปัญหา ไม่รู้ว่าจะแก้ไขกันอย่างไร ราคาเกษตรไม่ดี ส่งออกได้ลดลง ทำให้รายได้เข้าประเทศไม่ค่อยดี เมื่อคนกลุ่มนี้ไม่มีรายได้ การใช้จ่ายก็ไม่มี ดูจากยอดขายมาม่า (บะหมี่สำเร็จรูป) แบบซองยอดขายไม่ขึ้นเลย และจากสำรวจตลาดรวมบะหมี่สำเร็จรูปพบว่าทุกยี่ห้ออื่นก็ไม่โตเหมือนกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นเรื่องน่าห่วงมาก ราคา 4-5 บาทยังยอดขายตก แล้วสินค้าอื่นจะเป็นอย่างไร

เรื่องต่อมาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ คือปัญหาค่าเงิน ตอนนี้ค่าบาทไทยยังแข็งค่าเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ไทยห่างกว่า 10% สมัยก่อนการส่งออกไทยตลาดหลักคือสหรัฐ ต้องพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้เราค้าขายกับประเทศในอาเซียนและจีนเป็นตลาดสำคัญ ก็ต้องปรับค่าเงินให้สอดคล้องกับตลาดนี้มากขึ้น

อีกอย่าง หลังการปฏิวัติก็คาดหวังเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังพบความล่าช้ากว่าแผนที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ เดิมเงินนอกระบบเยอะ รากหญ้าก็มีเงินใช้แยะ แต่หลังการปฏิวัติการเมือง ก็มีการปราบปราม เงินนอกระบบก็ลดลง จึงยากที่เศรษฐกิจไทยจะโตสูง เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศสำคัญยังเปราะบางและตกเร็วเกินไป เมื่อสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ดี ทั้งข้าว ยาง น่าจะดี ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันลดลง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอีก ในเรื่องความขัดแย้งและสงครามนอกประเทศ อย่างรัสเซียกับยูเครน และสหรัฐกับรัสเซีย หากเกิดสงครามหรือขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีกก็จะมีผลต่อราคาน้ำมันโลก กำลังซื้อ กระทบการเดินทาง เศรษฐกิจก็จะเสียหายมากขึ้นอีก สงครามนอกประเทศยังเป็นเรื่องน่าห่วงอยู่

ปัญหาภัยแล้งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตามอง เพราะกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้า เรื่องราคาน้ำมันถูกลง คนใช้อาจแฮปปี้ แต่ธุรกิจค้าน้ำมันกระทบต่อรายได้เขา

ข่าวลือในประเทศก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจในประเทศ เพราะอาจสร้างความวิตกทางธุรกิจและอารมณ์การใช้จ่ายของคน

ส่วนการเมืองในประเทศก็มีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงอีก ก็เหลือแต่ต้องติดตามสถานการณ์การเมืองนอกประเทศ

จะมีแนวทางอย่างไรที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยปี 2558 ให้ฟื้นตัว และสามารถขยายตัวได้ 4% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

นโยบายการลงทุนก็ต้องใช้เวลา มีขั้นตอนมาก หรือการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลก็ต้องใช้เวลา ก็เหลือการส่งออก ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เงินถึงมือระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มใช้จ่ายสำคัญ ผมเห็นว่าวิธีการที่ดีที่สุดต่อการเพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจ คือ การทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอีก โดยคิดบนพื้นฐานใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตอนนี้เราแข็งค่ากว่าถึง 4 บาท ตอนนี้ค่าบาทอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็น่าจะอ่อนถึง 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทอ่อนค่าควรนำมาใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งทุกบาทที่อ่อนค่าจะมีผลต่อการเพิ่มเงินเข้าระบบเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท

"ค่าเงินแข็ง คนได้ประโยชน์คือคนระดับบน แต่เงินอ่อน คนได้ประโยชน์คือคนระดับรากหญ้า เมื่อเขามีเงินเพิ่มเขาก็จะใช้จ่ายทันที เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวเร็ว ตอนนี้คนรวยก็รวย แต่ไม่ใช่เงิน แต่คนจนก็จนแบบไม่มีเงินเลย หากช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้มาก"

ส่วนวิธีการแก้ค่าเงินอ่อนต้องไปคิดหาวิธี ซึ่งนายแบงก์เขาจะมีวิธีการคิดคำนวณ เหมือนเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง ธนาคารกลางสหรัฐก็แนะนำใช้เงินอ่อนในการเพิ่มเงินระบบเศรษฐกิจ

เงินอ่อน ตัวเลขขาดทุนสำรองเงินระหว่างประเทศก็จะไปโชว์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เงินทุนสำรองเงินระหว่างประเทศลดลง แต่ก็สามารถปรับตัวเลขได้ แต่เงินบาทจากส่งออกได้เพิ่มขึ้นจะช่วยกระจายไปถึงมือรากหญ้า ประโยชน์จะเกิดกับคนจำนวนมากกว่า บาทแข็งทำให้ดูเงินสำรองแยะ นโยบายที่ผ่านมาจึงนิยมใช้

ตอนนี้ไทยเสียเปรียบอินโดนีเซีย ที่ลดค่าเงินรูเปีย เสียเปรียบมาเลเซีย ลดค่าเงินริงกิต ซึ่งเขาใช้นโยบายเงินอ่อน หลายประเทศก็เริ่มทำเงินอ่อน หากยังแตกต่างกันมาก ระยะยาวส่งออกไทยก็เสียเปรียบ และจะใช้นโยบายบาทอ่อน ยิ่งทำให้บาทห่างเพื่อนบ้านไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าแบงก์ชาติก็มีสูตรในการคำนวณและมาตรการรองรับ

ในแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเสนออะไรบ้าง

เห็นด้วยในเรื่องการเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ทำรางคู่ขนาน เพื่อลดค่าขนส่งผู้ประกอบการและการเดินทาง อีกเรื่องคือผลักดันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ให้อยู่รอด รัฐต้องสร้างบรรยากาศให้อยากทำค้าขาย เดิมนั้นไทยมีแต่การผลิตและเกษตร ตอนนี้ภาคบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีโอกาสขยายตัวได้มาก จะให้ขยายตัวได้เร็วก็ต้องปรับเงินเดือนขั้นต่ำ และภาคบริการ น่าจะมีชดเชยรายได้ที่หายไปจากภาคการเกษตร ภาคเกษตรยังจะมีปัญหายาวไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรถึงปัญหาราคาตกต่ำและสินค้าอาจล้นตลาด ดังนั้น บาทอ่อนอย่างที่ได้กล่าวไว้ รัฐบาลก็ไม่ต้องอุดหนุน

นอกจากนี้จะต้องดูนโยบายที่สอดคล้องกัน ไม่ขัดความรู้สึก อย่างตอนนี้ราคาน้ำมันลดลง แต่ปล่อยให้ปรับเพิ่มค่ามิเตอร์แท็กซี่ หรือ แนวคิดว่าจะมีการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งล้วนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนรากหญ้า คนมีรายได้น้อย

"ผมยังเห็นว่าปี 2558 ทุกข์ยากกว่าปี 2557 รัฐบาลอาจไม่เห็นด้วย หากพูดไปอย่างนี้ก็เห็นแค่แนวทางควบคุมค่าบาทให้อยู่ในระดับอ่อน เพื่อให้การส่งออกได้เงินบาทเพิ่มขึ้น เหมือนรัฐบาลในอาเซียนหลายประเทศทำกัน ไม่อย่างนั้นอย่าหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4% ผมว่าขยายตัวได้ 2% ก็ยากแล้ว"

จะเสนออะไรเพิ่มเติมให้รัฐบาลผลักดันเศรษฐกิจ เพราะมองว่าไทยกำลังเป็นเสือทะยาน

หลายปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีของไทยไม่ค่อยรู้ด้านเศรษฐกิจที่ลึกซึ้ง ขณะนี้นายกรัฐมนตรีหลายประเทศในอาเซียนและประเทศคู่ค้าไทย รู้ด้านเศรษฐศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ อย่างอินโดนีเซีย หรือญี่ปุ่น ซึ่งก็ใช้นโยบายค่าเงินในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและเพิ่มกำลังซื้อ

ทำให้ที่ผ่านมาคุยกับ ธปท.ไม่รู้เรื่อง อย่างเรื่องค่าบาทอ่อนที่ได้นำเสนอ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เร็วที่สุด หากคุยกับแบงก์ชาติหรือ ธปท.และกระทรวงการคลังได้ ก็จะง่ายขึ้น

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีและกำลังซื้อยังไม่ฟื้น ในฐานะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ สหพัฒน์จะปรับตัวอย่างไร

คงทำธุรกิจแบบโลว์โปรไฟล์ ไม่หวือหวาอะไร พยายามทำธุรกิจให้มั่นคงมากกว่าจะมุ่งขยายตัวสูงๆ คงไม่มีการลงทุนใหญ่ๆ เน้นรักษาระดับยอดขายของปี 2558 ให้ใกล้เคียงปี 2557 ประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ตอนนี้การทำธุรกิจจะมีการขยายตัวไม่ได้มากนัก การจะใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ก็ต้องศึกษาว่าเหมาะสมแค่ไหน ซึ่งอาจใช้ไทยเป็นทางผ่านเท่านั้น

ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องใช้เวลา ทำให้เอกชนเข้าใจว่าจะใช้ประโยชน์เต็มที่ได้อย่างไร ต้องใช้เวลา ไม่น่าจะทำได้ปีหรือ 2 ปี

สำหรับบริษัทยังมองการลงทุนนอกประเทศ ทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน แต่ดูตามความเหมาะสม การทำธุรกิจ บริษัทยึดหลัก "คนดี สินค้าดี สังคมดี" เราเชื่อว่ายึดหลักการทำธุรกิจอย่างนี้ สังคมยอมรับ สินค้าก็จะขายได้

ที่มา : นสพ.มติชน

///////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิกฤตการณ์หมีขาว !!?


โดย วีรพงษ์ รามางกูร

วิกฤตการณ์การเงินของรัสเซียเป็นข่าวใหญ่อยู่ในขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเฝ้ามองดูว่าวิกฤตการณ์ของรัสเซียจะแผ่ขยายวงออกไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างไร จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหรือไม่ จะเหมือนกรณีวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศไทยแล้วแพร่ขยายไปที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดจะพลิกกลับภายในเวลาอันรวดเร็วเพียง 12 เดือนหรือไม่

กรณีของประเทศไทยเมื่อปี 2540 เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาหลายปี ในปีก่อนหน้านั้นประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดหนักถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางมีระดับต่ำกว่าหนี้ที่กู้ยืมมาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ขณะนั้นประเทศไทยตรึงค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งมีดอลลาร์ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 85 ของตะกร้า เมื่อประเทศไทยขาดดุลเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ก็ทำให้ค่าเงินบาทที่ตรึงไว้กับค่าเงินในตะกร้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ มีค่าสูงเกินความเป็นจริง

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้กองทุนตรึงมูลค่า หรือ "กองทุนอีแร้ง" รวมหัวกันโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก แต่ธนาคารกลางของไทยก็เอาเงินทุนสำรองออกสู้จนเกือบหมด มาทราบภายหลังว่าทุนสำรองมีเหลืออยู่เพียง 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง ในที่สุดธนาคารกลางของไทยก็ต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว เงินบาทจึงตกลงอย่างรวดเร็ว จากที่ตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ตกลงไปต่ำสุดที่ 56 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50 บาทต่อดอลลาร์เป็นเวลานาน จึงค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา

เมื่อค่าเงินบาทอ่อนลงไปถึง 52 บาทต่อดอลลาร์ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกชนิดหยุดลงทันที ยกเว้นพลังงานซึ่งก็มีราคาสูงขึ้นประมาณเท่าตัว ทางการต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 13 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ในปีต่อมา

ในกรณีของรัสเซีย ในช่วงที่ราคาพลังงานมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่นิยมเรียกกันว่า กลุ่มประเทศ BRICS อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และสหภาพแอฟริกาใต้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงของบรรดาประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่สามารถขยายตัวได้ด้วยอัตรา 2 หลักมาเป็นเวลานาน ทำให้มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

รัสเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล ในช่วงระยะเวลาที่ราคาพลังงานและโภคภัณฑ์อย่างอื่นมีราคาสูงขึ้น ขณะที่รัสเซียกำลังได้รับผลประโยชน์จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ก็ทำให้รัสเซียทุ่มงบประมาณการลงทุนเกือบทั้งหมดไปกับการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ วางท่อส่งมาขายถึงประเทศจีนในด้านตะวันออก และผ่านยูเครนไปขายถึงยุโรปตะวันตก แต่ละเลยการลงทุนในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอื่น ๆ

ในที่สุดมูลค่าการส่งออกจึงกระจุกตัวอยู่ที่ภาคพลังงานแต่เพียงอย่างเดียวกล่าวคือ การส่งออกพลังงานมีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมรัสเซียต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ถึงอย่างไรรัสเซียก็ยังสามารถสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ได้เป็นจำนวนกว่า 400,000 เหรียญสหรัฐ

เมื่อราคาน้ำมันและพลังงานอย่างอื่นเพิ่มขึ้นจนถึงระดับสูง เศรษฐกิจของโลกรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศจีนก็เริ่มชะลอตัวลง ความต้องการนำเข้าพลังงานก็พลอยชะลอตัวลงไปด้วย ราคาน้ำมันและพลังงานอย่างอื่นก็เริ่มอ่อนตัวลง ยิ่งกว่านั้นยังถูกซ้ำเติมมากยิ่งขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก สามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใช้ได้เพียงพอในประเทศ จึงทำให้เกิดสถานการณ์กำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการใช้ ราคาน้ำมันจึงเริ่มอ่อนตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้นมา และเมื่อที่ประชุมกลุ่มประเทศโอเปกประกาศไม่สามารถลดการผลิตน้ำมันลงเพื่อพยุงราคา ราคาน้ำมันจึงดิ่งลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล และมีทีท่าว่าจะลดลงต่ำกว่านั้นอีก

ประเทศที่เป็นผู้ส่งน้ำมันออกทั่วโลก จึงได้รับผลกระทบทางการเงินโดยทั่วไป แต่ที่หนักกว่าเพื่อนเห็นจะเป็นประเทศรัสเซีย

ทันทีที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว รัสเซียก็เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทันที เพราะมีการขายเงินรูเบิลอย่างหนัก แม้จะไม่ใช่การถูกโจมตีค่าเงินโดยกองทุนตรึงค่าอย่างประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2540 แต่ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกล่าวคือ ค่าเงินรูเบิลลดลงอย่างรวดเร็ว จากอัตราแลกเปลี่ยน 32-33 รูเบิลต่อดอลลาร์ ลงไปเป็นประมาณ 40 รูเบิลต่อดอลลาร์ ทางธนาคารกลางรัสเซียได้นำทุนสำรองประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐออกมาพยุงค่าเงินรูเบิล แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ค่าเงินรูเบิลยังคงอ่อนค่าต่อไป ทางการจึงหยุดการนำเงินทุนสำรองออกมาพยุงค่าเงินรูเบิล

ในขณะที่เงินตราต่างประเทศยังไหลออก ค่าเงินรูเบิลอ่อนตัวลงไป ธนาคารกลางรัสเซียก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาเรื่อย ๆ เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อจนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 10.5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 9 เปอร์เซ็นต์

แต่เมื่อราคาน้ำมันยังคงลดลงไปเรื่อย ๆ ในอัตราที่เร็วขึ้น ซึ่ง ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และหลาย ๆ คนสงสัยว่าเป็นฝีมือของสหรัฐอเมริการ่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มโอเปก เพราะหลังจากรัสเซียได้บุกยึดแหลมไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย สหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้นำร่วมกับประเทศยุโรป สนับสนุนให้ยูเครนเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป ซึ่งรัสเซียพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง

การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าจากสหรัฐและยุโรป มีผลทำให้เกิดปัญหาทางด้านการส่งออกอยู่แล้ว เมื่อราคาน้ำมันทรุดลงหนักจนต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล และมีทีท่าว่าจะต่ำลงไปอีก ค่าเงินรูเบิลจึงตกดิ่งพสุธาลงไปถึง 80 รูเบิลต่อดอลลาร์

เมื่อค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากความแตกตื่นของตลาด ทางการรัสเซียจึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 10.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 17 ต่อปี พร้อมกับประกาศให้บริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเร่งส่งออกให้มากขึ้น พร้อมกับประกาศนโยบายการพัฒนาประเทศในอนาคต ต้องกระจายงบประมาณการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อให้โครงสร้างเศรษฐกิจของรัสเซียมีความสมดุลมากกว่านี้ พร้อมกับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของรัสเซียในปีหน้าคงจะหดตัวถึง 4 เปอร์เซ็นต์

การที่รัสเซียยอมถอยจากการที่เงินทุนไหลออก เมื่อได้เข้าแทรกแซงไปถึง 30,000 ล้านเหรียญแล้วแต่ไม่ได้ผล และปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนไหลลงโดยรักษาทุนสำรองซึ่งยังค่อนข้างแข็งแรงเอาไว้ จึงทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ เหมือนในกรณีต้มยำกุ้ง แต่สถานการณ์การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของรัสเซียจะพลิกกลับอย่างในกรณีของประเทศไทยหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะกรณีของประเทศไทยสินค้าส่งออกของเรากระจายตัวมากกว่าของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าส่งออกสำคัญ ๆ ที่เป็นสินค้าจากภาคเกษตรกรรม สถานการณ์จึงพลิกกลับโดยเร็ว

แต่กรณีรัสเซียคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ที่มา.ประชาชาตอธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฤๅว่า..มังกรจะกลับลำ !!?


โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจยุโรปอย่างมหาศาล "เศรษฐกิจจีน" กลายเป็นที่พึ่งพิงแห่งใหม่ของเศรษฐกิจไทย ดังเห็นได้จากสัดส่วนของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยที่อิงกับจีนมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมการส่งออกของไทยไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของการส่งออกรวมของไทย แต่ผ่านไปเพียง 10 กว่าปีสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนได้สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมากและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมานานหลายปี

แต่แล้วในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์กลับตรงกันข้ามในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจเศรษฐกิจจีนกลับเริ่มแผ่วความร้อนแรงและชะลอตัวลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวชะลอลงได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างชัดเจน ดังเห็นได้จากการส่งออกของไทยไปยังจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 ได้หดตัวกว่าร้อยละ -5.0 ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเกิดคำถามว่า เศรษฐกิจจีนที่ไม่ร้อนแรงดังเช่นก่อนนี้ จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ "ชั่วคราว" หรือจะดำรง "คงอยู่" ต่อไปเป็นบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ของเศรษฐกิจจีน และที่สำคัญ ทางการจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่

เรื่องนี้ทางผู้บริหารระดับสูงของจีนได้ผลัดกันออกมาส่งสัญญาณเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจจีนสามารถควบคุมได้ไม่ว่าจะเป็นการ"ปรับเป้าหมาย"การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่ตลาดได้เคยคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนควรจะ "ขยายตัวสองหลัก" (Double Digit Growth) มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปีในปี 2014 และร้อยละ 7.0 ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า หรือการให้สัมภาษณ์ว่าจีนจะเน้นคุณภาพมากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดย นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้ให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลง และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการลดปัญหาคอร์รัปชั่น และปัญหามลพิษ

ทั้งนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง เห็นว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถยืดหยุ่นได้ตราบเท่าที่จีนยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำการที่ทางการจีนได้ตอกย้ำว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจีนควบคุมได้นั้นส่งผลให้นักลงทุนได้คลายความกังวลลงไปในระดับหนึ่งโดยตลาดไม่คาดหวังว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะร้อนแรงดังเช่นในอดีตและเข้าใจว่าการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน เกิดจากความตั้งใจของทางการจีน เพื่อป้องกันปัญหาฟองสบู่จากการขยายตัวอย่างร้อนแรงเกินไป

สำหรับประเทศไทยเอง ในฐานะประเทศคู่ค้าที่ต้องพึ่งพาอุปสงค์จากจีน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ก็ดูเหมือนว่าความตั้งใจของทางการจีนที่จะลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี เพราะไทยเองก็คงไม่ต้องการให้จีนขยายตัวอย่างร้อนแรงแต่ไม่ยั่งยืน คือขยายตัวในอัตราที่สูง แต่มีความเสี่ยงที่จะทรุดลงกะทันหัน เพราะแท้จริงแล้วแม้ว่าจีนจะขยายตัวในอัตราปานกลาง ไม่ว่าจะเป็นร้อยละ 8 ร้อยละ 7 หรือร้อยละ 6 ต่อปี ก็ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของจีนในไตรมาส 3 ของปี 2014 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ได้เคยประกาศไว้ ตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์คงทนที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ประกอบกับเหตุการณ์ล่าสุดที่ทางการจีนได้เริ่มส่งสัญญาณกลับลำเชิงนโยบาย โดยธนาคารกลางจีนได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะ 1 ปี ทำให้อาจคิดไปได้ว่า การชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอาจเร็วและแรงกว่าแผน หรืออาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของทางการจีนหรือไม่ จนทำให้ทางการจีนได้กลับลำมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

ดังนั้น ไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ และปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ภายใต้บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งดูเหมือนว่าจะต้องเผชิญกับการขยายตัวในอัตราต่ำต่อไป เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ชะลอลง ในขณะที่มีเพียงเศรษฐกิจขนาดเล็กเกิดใหม่ไม่กี่ประเทศที่สามารถเติบโตได้ในอัตราสูง

จากนี้สิ่งที่เราทั้งภาครัฐและเอกชนไทยจำเป็นต้องมาช่วยกันคิดต่อคือจีนจะยังคงเป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจของไทยได้หรือไม่หรือมากน้อยเพียงใดและถ้าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นกับจีนจริง ไทยจะยังพอหันไปพึ่งพาใครได้ จะใช่คู่ค้าเก่าแก่อย่างสหรัฐ หรือจะเป็นคู่ค้ามาแรงอย่างเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่ในระยะหลังทั้งสัดส่วนการส่งออกและอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปประเทศในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่อแววว่าจะพอมาเป็น"พลังใหม่"ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปร่วมกันกับไทยหรือจะเป็นประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจในปีหน้า แต่ก็จะต้องไม่ลืมว่าประเทศเหล่านี้ก็ยังคงมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น การมุ่งขยายตลาดการส่งออกไปประเทศใหม่ จึงต้องพิจารณาหาความสมดุลที่พอดีระหว่างตลาดใหม่ที่เติบโตเร็วกับตลาดเก่าที่มั่นคง

หรือว่าท้ายที่สุดแล้วไทยอาจต้องพิจารณาว่าจะหันกลับมาพึ่งพาตนเองเร่งรีบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศและเร่งรัดการพัฒนาในเชิงคุณภาพโดยเน้นความพอเพียงตามหลักพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันในตัวก็เป็นได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เปิดร่างเอ็มโอยูรถไฟไทย-จีน 4แสนล้าน หนองคาย-มาบตาพุด !!?


เปิดรายละเอียดยิบร่างเอ็มโอยูรถไฟไทย-จีน 4 แสนล้าน”หนองคาย-มาบตาพุด”คมนาคมลุ้นสนช.เคาะพรุ่งนี้

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ(สนช.) จะพิจารณา บันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับรัฐบาลไทย ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

สำหรับสาระสำคัญของร่าง MOU ดังกล่าวมี 7 ข้อ ประกอบด้วย

1.รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุดระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร รวมระยะทาง 867 กิโลเมตร  ซึ่งเป็นโครงการทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

2.ในการดำเนินการตามเนื้อหาข้างต้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นพ้องที่จะใช้หลักการดังนี้

      2.1 ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟเส้นทางดังกล่าว  สำหรับการสนับสนุนเงินลงทุน และการชำระเงินลงทุนจะมีการหารือกันต่อไป

      2.2 ฝ่ายไทยตกลงที่จะให้ฝ่ายจีนเข้ามามีส่วนร่วมในโอกาสแรกที่เป็นไปได้ ในขั้นตอนการเตรียมการของโครงการ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ และจะพยายามให้เริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2559

      2.3 ในการประเมินมูลค่าโครงการ ให้เป็นการหารือระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งให้องค์กรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของ 2 ฝ่ายเป็นผู้ประเมิน 2.4 ทั้ง 2 ฝ่ายจะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือของโครงการ โดยจะหารือกันต่อไปเกี่ยวกับรูปแบบดังกล่าว

3. ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ สำหรับไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วม สำหรับจีน ให้ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธานร่วม

4. ในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ในประเทศคู่ภาคี

5. ในกรณีที่สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า

6. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจแก้ไขโดยความเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร

7. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี นอกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือนล่วงหน้า ทั้งนี้หากไม่มีการบอกเลิก บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยระบุว่า  หลังจากที่สนช.อนุมัติแล้ว คาดว่าในเดือนธันวาคมนี้คาดว่าไทย-จีน จะสามารถร่วมลงนามใน MOU ได้ และเริ่มทำงานร่วมกันในเดือนมกราคม 2558  ด้วยการสำรวจแนวเส้นทาง ออกแบบ และประเมินราคาให้ชัดเจน จากกรอบที่ตั้งไว้เบื้องต้นประมาณ  4 แสนล้านบาท

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ยูโทเปีย 2 มาตรฐาน !!?

โดย.ใบตองแห้ง

สภาปฏิรูปแห่งชาติอาศัยฤกษ์งามยามดีตามโหราจารย์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จัดสัมมนาระดมความฝัน สังคมยูโทเปียใน 20 ปีข้างหน้า โปรโมตคำสวยๆ เช่น "สังคมนิยมเสรี" "ทุนสัมมา" คำศัพท์ไหนดูเท่ดูเข้าท่า นวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจ รักเด็ก รักสิ่งแวดล้อม ห่วงใยคนจน ฯลฯ ขนใส่ท้ายรถไฟให้หมด

พูดประชดนี่หว่า ไม่เชื่อในสังคมอันดีงาม ไม่มีอุดมคติกับเขาบ้างเลย โห มีจนล้นแล้วครับ คำศัพท์พวกนี้ ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม การเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ พูดไม่รู้กี่สิบปี จนเลี่ยน

พูดกันสั้นๆ ดีกว่า สังคมไทยต้องปฏิรูปอะไร "ความเป็นธรรมในสังคม" สรุปง่ายๆ ความเป็นธรรมมาจากไหน มีผู้ประทานให้ มีคนคิดให้ มีอรหันต์ 250 องค์ มาประชุมกันแล้วบ่นว่าคนไทยไม่มีจิตสำนึก ไม่รักชาติ ไม่มีวินัย ไม่ได้รับการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมไทย ฯลฯ จะต้องวางระบบจัดสรรใหม่ อย่างนั้นหรือ

ไม่ใช่เลยครับ ความเป็นธรรมในสังคมไม่มีทางเกิดจากผู้ให้ ความเป็นธรรมในสังคมต้องเกิดจากประชาชน 70 ล้านคน ตื่นตัวปกป้องเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ของตน ภายใต้กติกาประชาธิปไตย ที่เปิดกว้างให้เสรีภาพ สร้างสำนึกว่า ทุกคนเสมอภาค เท่าเทียม

ถามว่าจะมาพูดอะไรเรื่องกระจายอำนาจ กระจายโอกาส กระจายการถือครองที่ดิน ในเมื่อเครือข่ายปฏิรูปที่ดินที่เชียงใหม่ เดินไปได้ไม่กี่ก้าวก็ถูกจับ ถามว่าควรยกเลิกกฎอัยการศึกไหมครับ อ.เทียนฉาย กีระนันทน์ ก็ได้แต่ใบ้กิน

เอาเข้าจริง พวกท่านก็ฝันจะสร้างสังคมยูโทเปียข้างเดียว บนการปิดกั้นเสรีภาพ และจะยัดเยียดความฝันเป็นพันธนาการสังคม

ปัญหาการเมืองขัดแย้งแบ่งขั้วจนต้องปฏิรูป เป็นเพราะอะไร อันที่จริง ถ้าดูท่าที คสช.ก็เหมือนจะเข้าใจว่า รัฐประหาร 2549 ทำผิดพลาดไว้ เราจึงเห็น คสช.เน้น "ปรองดอง" หลีกเลี่ยงการไล่ล่า

วิษณุ เครืองาม หรือ โหราจารย์บวรศักดิ์ ก็พูดถึงองค์กรอิสระ ว่าจะต้องปรับลดอำนาจ ต้องยึดโยงประชาชน แสดงว่าพวกท่านก็พอเข้าใจปัญหา แต่ คสช.ไม่ยักกล้ายุบองค์กรอิสระ ไม่ยุบกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีรัฐธรรมนูญแล้ว

ความขัดแย้งในสังคมไทยเกิดจาก อะไร ถ้าย้อนไปแต่ต้น พรรคไทยรักไทยชนะใจประชาชนด้วยนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน 30 บาท จนชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แล้วเหลิงอำนาจ ถูกต่อต้าน ซึ่งอันที่จริงก็เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยถ้าไม่เกิดรัฐประหาร แล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2550 วางกลไกตุลาการภิวัฒน์สกัดกั้น ถอดถอน ล้มล้าง อำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง

การลุกฮือของมวลชนที่เลือกพรรคไทยรักไทยมาจนถึงเพื่อไทย เป็นเพราะไม่พอใจความยุติธรรม 2 มาตรฐาน ไม่พอใจรัฐประหารตุลาการภิวัฒน์ ที่ล้มอำนาจของเขา นี่คือความ ตื่นตัวปกป้องอำนาจตัวเอง ไม่ใช่ปกป้องอำนาจนักการเมือง

ประชาชนไทยตื่นตัวไปไกลแล้วครับ ทั้งสองข้างด้วย ผมไม่ได้ปฏิเสธมวลชนอีกข้างที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น เพียงต้องทำความเข้าใจกันว่า เราต้องยอมรับกติกาประชาธิปไตยโดยไม่ใช้กองทัพไม่ใช้อำนาจตุลาการมาเอาชนะกัน แล้วคนทั้งสองข้างก็เข้าไปต่อสู้สร้างอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองของตน

ฉะนั้น ถามว่าประชาชนไทย 70 ล้านคน มีความตื่นตัวพร้อมจะเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไหม ผมเชื่อมั่นว่าพร้อมครับ พร้อมอย่างไม่มีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพียงแต่ต้องปลดล็อกที่เกิดวิกฤตยืดเยื้อมา 8 ปีให้ได้ก่อน โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือ "คืนความยุติธรรม" แล้วกลับมาเริ่มต้นกันใหม่

ไม่ใช่รู้แก่ใจว่า 8 ปีที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาด แตกแยกบานปลายเพราะอะไร แต่กลับไม่ยอมรับ ไม่ลบล้างผลพวงคืนความยุติธรรมให้ประชาชนซึ่งลุกฮือเพราะ 2 มาตรฐาน กลับใช้อำนาจกดไว้ ไม่ให้มีปากเสียง แล้วบรรดาชนชั้นนำ คนดี ครูบาอาจารย์ ก็จะมาช่วยกันคิดอนุเคราะห์ ประทานระบอบลดความเหลื่อมล้ำ ขายฝันสังคมยูโทเปีย เพื่อลดความเรียกร้องต้องการมีอำนาจตัดสินใจของประชาชน

ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นไปไม่ได้ ต่อให้ยัดเยียดเนื้อหาสาระดีๆ เพียงไร ท้ายที่สุดจะสร้างความขัดแย้งใหม่ เพราะความไม่เชื่อมั่นประชาชนจะทำให้พวกท่านวางกลไกผูกมัดไว้ ว่าประเทศจะต้องเดินไปอย่างนี้ อย่างที่ตัวเองฝัน ไม่ปล่อยให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัดสินใจ "นอกลู่นอกทาง"

ยกตัวอย่าง "อภิรัฐมนตรี" แม้ปฏิเสธว่าเป็นแค่ความเห็น นักวิชาการ แต่ อ.เทียนฉายก็พูดถึงสภายุทธศาสตร์ วิษณุพูดถึงองค์กรผู้วิเศษที่จะคอยตีความกฎหมาย ฯลฯ เชื่อเหอะ เดี๋ยว ก็หารูปแบบจนได้

ข้อสำคัญ ความชอบธรรมอยู่ที่ไหนครับ ความชอบธรรมที่ สปช. 250 คน จะเอาความฝันมาพันธนาการประชาชนไปอีก 20 ปี คุณเป็นใครมาจากไหน ใครยอมรับคุณ

ที่มา.ข่าวสดออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ถึงคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ด้วยความนับถือ !!?


โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของไทย ได้เขียน "จดหมายรัก" ถึง คสช.โดยตรง และได้สรุปสาระสำคัญลงในเฟซบุ๊กของท่าน

ผมขอสรุปอีกทีหนึ่งไว้ดังนี้ ท่านไม่รังเกียจระบอบปกครองเผด็จการ, อภิชนาธิปไตย, ราชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแต่อย่างใด จะเป็นระบอบไหนก็ได้

"...ถ้าระบอบปกครองใดๆ ก็ตาม หากมีผู้นำที่เข้มแข็งเฉลียวฉลาด และมีความเห็นแก่ตัวน้อย ทั้งยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตัวอย่างจริงใจ พร้อมทั้งวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยมีที่ปรึกษาที่สามารถและรู้จักฟังประชาชน นี้แลคือระบอบที่ดีที่สุด"

ก็ไม่ใช่ความคิดที่แปลกใหม่อะไร และที่จริงไม่ต้องอ้างปราชญ์ฝรั่งเลยสักคนเดียวก็ได้ เพราะนี่คือสาระสำคัญของแนวคิดธรรมราชาซึ่งเผยแพร่ในเมืองไทยจากอินเดียและลังกามาหลายร้อยปีแล้ว และแม้แต่การรัฐประหารทุกครั้งในเมืองไทยก็มักอ้างหลักการข้อนี้เป็นพื้นฐานเสมอ กล่าวคือ ประชาธิปไตยไม่สำคัญเท่ากับความอยู่รอดและความรุ่งเรืองของประเทศไทย

(จึงไม่ต่างจากเจ้านายไทยนับตั้งแต่ร.5เป็นต้นมา ที่เสด็จฯข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาในยุโรป เพื่อแสวงหาคำยืนยันคติที่ชนชั้นสูงไทยยึดถืออยู่แล้ว ในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือรัสเซีย)

หากคุณสุลักษณ์จะเขียน "จดหมายรัก" ถึง คสช.โดยตรง โดยมิได้นำสาระสำคัญมาเผยแพร่แก่สาธารณะ ไม่ว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร ก็คงไม่ใช่ธุระของคนอื่นจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่เพราะเมื่อเผยแพร่แก่สาธารณะแล้ว ก็เท่ากับว่าจดหมายฉบับนี้มุ่งจะ "ปราศรัย" กับคนไทยทั่วไปด้วย ผมจึงเห็นความจำเป็นต้องวิพากษ์จดหมายฉบับนี้

แนวทางการวิพากษ์ของผมในครั้งนี้ ผมเห็นความจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยวิธีที่ผมรังเกียจที่สุด นั่นคือพูดถึงบุคลิกภาพของผู้เสนอความเห็น แทนที่จะชี้ให้เห็นจุดอ่อนของความเห็น แต่ผมคิดว่าหากเริ่มต้นด้วยวิธีนี้ จะทำให้เข้าใจจุดอ่อนของความเห็นได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีไม่มากนักของหนังสือพิมพ์รายวัน

วิธีคิดของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์นั้นเป็นวิธีคิดของนักศีลธรรมโดยพื้นฐาน หนักแน่นมั่นคงกับความเป็นนักศีลธรรมยิ่งกว่าผู้ที่ชอบอ้างศีลธรรมทุกคนในเมืองไทย อย่างน้อยก็เพราะคุณสุลักษณ์ไม่เคยฉวยอามิสใดๆ ใส่ตนเองหรือบริษัทบริวารเลย

ผมไม่มีความรังเกียจนักศีลธรรม ซ้ำยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่สังคมใดๆ ไม่ควรขาดด้วย แม้เราอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดของเขา แต่นักศีลธรรมคือผู้ที่คอยเตือนสังคมให้นึกถึงสิ่งสำคัญบางอย่างที่เรามักหลงลืมไป แม้เขาอาจเตือนอย่างตื้นเขินอยู่บ่อยๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่เขาเตือนนั้นสำคัญ ซึ่งเราควรทบทวนให้ดี แม้แต่ไม่ยอมรับก็ยังต้องทบทวนอย่างรอบคอบ

แต่ก็เหมือนกับนักศีลธรรมทั่วโลก วิธีคิดของคุณสุลักษณ์คือวิธีคิดที่ไม่มีบริบท ทุกอย่างถูกตัดสินได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขทุกด้านซึ่งกำหนดพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์

ใน"จดหมายรัก"คุณสุลักษณ์พูดถึงประชาธิปไตยของโรมันประหนึ่งว่าเป็น "ประชาธิปไตย" เดียวกันกับที่เกิดในยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แต่ทั้งฐานคิดและแนวทางปฏิบัติของ "ประชาธิปไตย" โรมันและหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นระบอบเดียวกัน แม้จะใช้ชื่อเดียวกันก็ตาม

Eric Hobsbawm เรียกการปฏิวัติที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ว่าเป็น "การปฏิวัติแฝด" นั่นคือการปฏิวัติทางการเมืองและสังคมในฝรั่งเศส และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ สาระสำคัญไม่ใช่เพราะการปฏิวัติแฝดนี้เกิดในเวลาเดียวกัน แต่เพราะ 1.การปฏิวัติทั้งสองมีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนในยุโรปตะวันตกทั้งในแนวกว้างและลึกอย่างไพศาล และ 2.ในที่สุดแล้ว การปฏิวัติทั้งสองผสานเข้าหากัน และกลายเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมือง, สังคม, วัฒนธรรม และเศรษฐกิจให้แก่กันและกันอย่างแยกไม่ออก

ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียว คือการเกิดและขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของกระฎุมพี ซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือเจ้าศักดินาเดิม จึงอาจรื้อทำลายขนบประเพณีทางชนชั้นซึ่งเจ้าศักดินาได้ประโยชน์ลงได้ แย่งอำนาจทางการเมืองมาไว้ในมือตนเพื่อขยายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนไปทั่วโลก สร้างระบอบ "ประชาธิปไตย" ซึ่งไม่เพียงแต่ลดหรือสลายอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้าศักดินาลงเท่านั้น แต่ที่เป็นภัยอันน่ากลัวแก่กระฎุมพีมากกว่าคือ ต้องกีดกันคนชั้นล่างซึ่งถูกการปฏิวัติอุตสาหกรรมเปลี่ยนให้กลายเป็นแรงงานที่ยากจนข้นแค้นและไร้ความมั่นคงในชีวิตออกไปจากอำนาจทางการเมืองด้วย

เงื่อนไขทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีในสมัยโรมัน"ประชาธิปไตย"ของโรมันจะมีความหมายอย่างไรก็ตาม แต่ไม่ได้มีอะไรเหมือน "ประชาธิปไตย" ของยุโรปตะวันตกในศตวรรษที่ 18 เลย ยกเว้นแต่ชื่อ เพราะโรมันไม่มีกระฎุมพีจำนวนมากเท่านั้น ไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อย (หรือถีบส่ง)แรงงานจากท้องไร่ท้องนาเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม จักรวรรดินิยมของโรมันจึงมีระบบขูดรีดที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากจักรวรรดินิยมยุโรปตะวันตกฯลฯ

และที่ยิ่งกว่าปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์การเมืองจักรวรรดิโรมันไม่ใช่รัฐประชาชาติในขณะที่รัฐต่างๆ ในยุโรปตะวันตก นับตั้งแต่ (อย่างน้อย) ต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นรัฐประชาชาติหมดแล้ว...รัฐเดียวในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ยอมรับความเป็นเจ้าของรัฐของพลเมืองอย่างเสมอภาค

แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าเมื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไปถึงขั้นนี้แล้วสูตรของซิเซโร (การถ่วงดุลระหว่างประชาธิปไตย+อภิชนาธิปไตย+ราชาธิปไตย) ยังเป็นคำตอบให้แก่ยุโรปได้อีกหรือ เป็นไปได้หรือที่ในยุโรปตะวันตก ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ลงมา ที่ "รัฐบาลนั้นควรปกครองโดยอาศัยวุฒิสภา (สภาของอภิชน) โดยที่ราษฎรย่อมได้อิสรภาพ แต่ราษฎรแทบไม่มีส่วนในทางพฤติกรรมการเมือง..."

คำตอบของซิเซโรใช้กับเมืองไทยในคริสต์ศตวรรษที่21ได้หรือ สภาของอภิชนในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (และหาก คสช.ยังมีอำนาจอยู่ต่อไปก็คงในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย) ตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจแห่งวาทศิลป์ของซิเซโรและสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรืออำนาจเผด็จการทหารกันแน่

ท่ามกลางความบกพร่องมากมายของ "ประชาธิปไตย" ที่ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกเหยียดว่าเป็นควาย มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือ ในอังกฤษซึ่งเหล่าอภิชนสามารถรักษาสถานะ (อย่างน้อยทางสังคม) ของกลุ่มตนไว้ในสถาบันโบราณทั้งหลาย เช่น สภาขุนนาง, มหาวิทยาลัย, ราชสมาคมต่างๆ, สนามกีฬา ฯลฯ พอมาถึงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 พื้นที่หวงห้ามเหล่านี้ก็เริ่มพังทลายลง ต้องเปิดให้ลูกหลาน "ควาย" เข้าไปจับจองที่นั่งกันอย่างเสมอหน้ากับอภิชน จนแม้แต่สภาขุนนางเองก็คงจะอยู่ไม่รอดไปในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21 นี้แน่

ราคาที่อังกฤษต้องจ่ายเพื่อกีดกันมิให้ประชาธิปไตยแบบใหม่ขยายตัวได้นั้นแพงมาก แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงในเมืองไทย นั่นคือตลอดปลายศตวรรษที่ 18 และครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 อังกฤษอาจเป็นสังคมที่มีการจลาจลมากที่สุดในโลก เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ อันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกือบทุกวัน (E. P. Thompson บรรยายความปั่นป่วนนี้ไว้อย่างละเอียดใน The Making of the English Working Class)

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ประชาธิปไตยนั้นมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องอยู่ไม่น้อย ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ประชาธิปไตยนั้นปกป้องตนเองได้ไม่ดีนัก มีแต่หลักความชอบธรรมซึ่งแสดงออกด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การเลือกตั้งเสรี, เสรีภาพของสื่อ, สิทธิเสมอภาคของพลเมือง (อย่างน้อยในทางการเมือง) ฯลฯ กระบวนการเหล่านี้อาจถูกฉ้อฉลได้ หรือยังไม่ถูกทำให้เป็นสถาบันเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาธิปไตยจึงเพลี่ยงพล้ำแก่ศัตรูอยู่บ่อยๆศัตรูสำคัญคือกองทัพซึ่งล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาอยู่เสมอ(แต่ก็ลดน้อยลงมากในปัจจุบัน นอกจากนี้กองทัพประจำการสมัยใหม่คุกคามความมั่นคงของทุกระบอบ รวมทั้งราชาธิปไตยด้วย สาธารณรัฐเกือบทุกแห่งเกิดจากกองทัพประจำการสมัยใหม่ทั้งนั้น) ศัตรูสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คณะบุคคลซึ่งผูกขาดอำนาจทางการเมืองในรูปของพรรคการเมือง หรือผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบจากฝ่ายอื่น

คุณสุลักษณ์พูดถึงคณาธิปไตยของทุนขนาดใหญ่ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกซึ่งจริงอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้โดยเฉพาะเมื่อต่างสมาทานอุดมการณ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา แต่หากคุณสุลักษณ์คำนึงถึงบริบทให้มากขึ้นก็จะเห็นได้ว่า เสรีนิยมใหม่ไม่ได้ครอบงำนโยบายเศรษฐกิจเฉพาะของประเทศประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ครอบงำระบอบปกครองทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่ราชาธิปไตย และเผด็จการทหาร

แต่ในขณะเดียวกัน หนังสือวิชาการที่โต้งานของ F. A. Hayek บิดาของเสรีนิยมใหม่ ตีพิมพ์ในประเทศประชาธิปไตย (รวมอินเดีย) มากที่สุด และน่าสังเกตว่าแทบไม่มีที่ตีพิมพ์ในประเทศเผด็จการ (แม้แต่คอมมิวนิสต์) เลย องค์กรทางสังคมและพรรคการเมืองที่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ก็ผุดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยมากที่สุด จึงไม่แปลกที่การพังสลายของเศรษฐกิจสหรัฐและอียูจะถูกคนในประเทศนั้นชี้ให้เห็นว่าเป็นผลจากความไร้เหตุผลของลัทธิเสรีนิยมใหม่นั่นเองรวมทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้นในประเทศตะวันตกซึ่งคุณสุลักษณ์ยกขึ้นมาก็ล้วนเป็นผลจากการศึกษาของคนในระบอบประชาธิปไตยตะวันตกเอง

พลังของระบอบประชาธิปไตยที่เหนือกว่าระบอบปกครองอื่นจึงอยู่ตรงนี้นั่นคือระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่แก้ไขความผิดพลาดของตนเองได้แม้ต้องใช้เวลาและอาจถึงกับต้องหลั่งเลือดและน้ำตาของคนเล็กคนน้อยไปเป็นอันมาก แต่เลือดและน้ำตาของคนเล็กคนน้อยจะหลั่งอย่างไม่หยุดตลอดไป ภายใต้ระบอบอภิชนาธิปไตยและราชาธิปไตยหรือเผด็จการทุกรูปแบบ

คิดอย่างมีบริบทก็คือ ประชาธิปไตยเท่านั้นที่ปรับตัวได้ง่ายกว่าระบอบปกครองอื่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน ไม่มีระบอบปกครองอะไรที่ไม่ต้องปรับตัว แต่ศักยภาพในการปรับตัวของระบอบอื่นเกือบเป็นศูนย์ จึงต้องผ่านการนองเลือดที่ไม่จำเป็นเสมอ

ปรัชญาการศึกษาของผู้ดีอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่19ก็คือ ไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้นในโลกอีกแล้วหลังกรีก-โรมัน อันเป็นคติที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเรอเนสซองซ์ แต่มีผลต่อการจัดการศึกษาชั้นสูงในอังกฤษสืบมาอีกนาน ไม่ใช่เฉพาะเนื้อหาที่ใช้เล่าเรียนกันเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อสร้างอภิชนที่ต้องมีหน้าที่นำผู้อื่นด้วย ผมเห็นว่าเป็นความคิดที่เหลวไหล (และแม้ในอังกฤษปัจจุบันเองก็มีคนเห็นว่าเหลวไหลเป็นส่วนใหญ่) แต่เป็นความคิดและระบบการศึกษาที่เหมาะจะสร้างนักศีลธรรม ซึ่งไม่ถูกเรียกร้องให้มองบริบทและเงื่อนไขซึ่งแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา คัมภีร์เล่มเดียวใช้ชี้เป็นชี้ตายคนอื่นได้ทั้งโลกชั่วกัลปาวสาน

ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////