ท่ามกลางกระแสการแข่ง "ปั๊มเงิน" เข้าสู่ระบบของบรรดา "ธนาคารกลาง" ประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก พร้อมกับการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ที่เริ่มลุกลามมายังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่ชิงหั่นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดค่าเงินของตัวเองให้อ่อนลง จนพูดกันว่าทั่วโลกกำลังเล่น "สงครามค่าเงิน" มาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของกระแสตลาดทุนโลกอย่างมาก
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการตลาดทุน มาฉายภาพถึงทิศทางกระแสเงินทุนและเตรียมการลงทุนของต่างชาติในปีนี้ว่าเปลี่ยนไปอย่างไร
- สัญญาณชีพจรตลาดทุนโลกปีนี้เป็นอย่างไร
ปีนี้มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกับปีที่ผ่านมา คือความผันผวนที่ค่อนข้างรุนแรงและหลายระลอก ในแง่ดีก็คือเรื่องสภาพคล่องโลกที่ค่อนข้างมาก ทั้งจากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศมาตรการ QE จะเริ่มปั๊มเงินออกมาช่วงเดือน มี.ค.นี้ ก็น่าจะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินไหลเข้ามาตลาดภูมิภาคเอเชียในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเก็งกำไรในตลาดเอเชียกันบ้างแล้ว
ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีการปั๊มเงินออกมาจำนวนมากเช่นกัน เรียกว่าตอนนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เป็นคนที่ปั๊มเงินออกมามากที่สุดก็ว่าได้ จนมีสัดส่วนคิดเป็น 62% ของจีดีพีญี่ปุ่น ขณะที่ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 26% ของจีดีพี ยุโรปเพิ่งเริ่มประมาณ 20% ของจีดีพี และจะขยายออกไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะดีต่อตลาดหุ้น แต่จากที่แข่งกันปั๊มเงินทำให้ค่าเงินอ่อนก็จะส่งผลต่อภาคส่งออกโดยตรง
ส่วนปัจจัยที่มีผลทำให้ตลาดผันผวนในแดนลบคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งมีผลต่อทิศทางกระแสเงินทุนค่อนข้างมาก แต่คาดว่าการปรับดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐรอบนี้ คงไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ แต่จากที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ยังแข็งค่าค่อนข้างมาก ก็อาจกระทบต่อภาคส่งออกได้ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงแรง อาจมีผลแง่ลบต่อบริษัทผลิตน้ำมันจำนวนมากของสหรัฐ จึงคิดว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐคงไม่สดใสจนต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยเร็ว
หรือแม้จะมีการปรับขึ้นอย่างมากก็แค่ 0.50% ซึ่งไม่มีผลอะไรต่อตลาดหุ้นทั่วโลกมากนัก ซึ่งจะน่ากลัวก็ต่อเมื่อระดับดอกเบี้ยเข้าใกล้ระดับ 4% ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนาน
- ทิศทางดอกเบี้ยของไทยเทียบกับภูมิภาคเป็นอย่างไร
ทิศทางดอกเบี้ยในภูมิภาคอยู่ในช่วงขาลง ไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีนก็ปรับไปรอบหนึ่งแล้ว ซึ่งอาจมีการปรับลดลงอีกรอบเป็นอย่างน้อย เกาหลีใต้ก็คาดว่าจะมีการปรับลงในการประชุมรอบหน้า ส่วนมาเลเซียก็มีโอกาสจะปรับลงเช่นกัน
ผมยังเสียดายโอกาสที่แบงก์ชาติของไทยไม่ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายรอบที่แล้ว เพราะเมื่อเกิดภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในขณะที่เงินเฟ้อต่ำลงมาก ๆ จนจะถึงระดับที่เรียกว่าเงินฝืด หรือดอกเบี้ยที่แท้จริงเกือบติดลบ แบงก์ชาติรู้ดีว่ามีช่องว่างที่ลดดอกเบี้ยได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วน
ในสภาวะที่สภาพคล่องเยอะ หลายประเทศแข่งกันลดค่าเงิน ประเทศไทยคงไม่อยากให้เงินบาทแข็งอยู่สกุลเดียว ซึ่งจะส่งผลให้ภาคส่งออกตายกันหมด เพราะส่งออกของไทยก็ติดลบมา 2 ปีแล้ว ผสมกับตลาดโลกที่ไม่ขยายตัวมากในปีนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ายังทำได้ไม่ดีนัก แล้วยังจะยอมให้เงินบาทแข็งอีก ผมคิดว่าเป็นอะไรที่แบงก์ชาติต้องคิดหนักในรอบการประชุม กนง.รอบหน้า
- ทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติอาจเทขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะกลัวปัจจัยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ามากและภาวะเงินฝืด แต่หลังจากธนาคารกลางยุโรปประกาศทำมาตรการ QE กระแสเงินทุนต่างชาติก็พลิกกลับมาซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยอย่างจริงจังติดต่อหลายวัน ประเมินว่าครึ่งปีแรกทิศทางเงินไหลเข้าต่างชาติในตลาดหุ้นน่าจะเป็นบวกได้ โดยที่ผ่านมาต่างชาติที่กลับเข้ามาซื้อสุทธิส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลงทุนระยะยาว
แต่ถ้าถามว่าการกลับมาซื้อสุทธิครั้งนี้จะจริงจังแค่ไหนต้องบอกว่านักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกค่อนข้างมาก ทั้งตลาดอินเดีย, อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งนักลงทุนก็ต้องไปหาตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก่อน ทำให้อาจเห็นภาพเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้ แต่ประเทศไทยก็มีโอกาสที่ดี
- ปีนี้ธีมลงทุนของต่างชาติจะเป็นอย่างไร
การลงทุนปีนี้ของต่างชาติจะเปลี่ยนขั้วไปเน้นสินทรัพย์ที่ปันผลดีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเรื่องผลตอบแทนที่ถูกจำกัดจากมาตรการปั๊มเงิน ซึ่งกดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก จากช่วงแรกที่นักลงทุนแห่ไปลงทุนสินทรัพย์ไม่เสี่ยงหรือไหลเข้าพันธบัตรค่อนข้างเยอะ ซึ่งเมื่ออีซีบีจะเริ่มปั๊มเงินออกมายิ่งกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่ำลงอีก ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี โดยเฉพาะในกลุ่มปันผลดีที่มีความมั่นคง ซึ่งถือว่าตลาดหุ้นไทยค่อนข้างได้เปรียบ เป็นตลาดที่อยู่ในกลุ่มปันผลดีมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของภูมิภาค คือ ออสเตรเลีย ไทย และไต้หวัน แตกต่างจากตลาดอินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่เน้นการเติบโตมากกว่า และค่าพี/อีค่อนข้างแพง ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนหุ้นไทยที่ปันผลดีหลายตัว
ถือว่าซื้อหุ้นไทยแล้วได้ทั้งปันผลดีและการเติบโตที่ดีด้วย ซึ่งคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้จะเติบโตมากกว่า 10% จากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น ตลาดหุ้นไทยปีนี้ก็ควรต้องเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้สดใสมากนัก แต่ในแง่ของตลาดหุ้นเชื่อว่ายังมีกระสุนที่ทำให้หุ้นขึ้นต่อไปอีกหลายเม็ด
- ความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยปีนี้คืออะไร
ปีนี้มีอะไรที่ต้องวิเคราะห์มากกว่าปีที่แล้ว เพราะมีปัจจัยที่ทำให้ตลาดผันผวนแรง อาจมีความผันผวนบ้างในเรื่องของกรีซ แต่เชื่อว่าปัญหากรีซก็ยังจะซื้อเวลากันไป แต่มองว่าความเสี่ยงที่หนักในช่วงครึ่งปีแรกคือ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซีย เพราะแม้เศรษฐกิจรัสเซียอาจไม่ได้สำคัญหรือใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จีน หรือญี่ปุ่น แต่มีความเสี่ยงด้านจิตวิทยาการลงทุนค่อนข้างมาก หากรัสเซียเริ่มผิดนัดชำระหนี้ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้จะมีแรงกระตุกอย่างมาก และอาจเกิดผลกระทบรุนแรง หรือมีโอกาสทำให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงกว่า 100-120 จุดได้
สำหรับช่วงปลายปีน่าจะเป็นเรื่องของการเมืองภายในประเทศ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเริ่มชัดเจน จากนั้นน่าจะมีคนออกมาประท้วงหรือต่อต้าน ทำให้เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาก แต่ก็คาดหวังว่าน่าจะมีความชัดเจนของการเลือกตั้งปีหน้า
นอกจากนี้ภาวะที่ธนาคารกลางทั่วโลกแข่งกันปั๊มเงินออกมา แม้ระยะสั้นจะดีสำหรับตลาดทุน แต่การทำแบบนี้ธนาคารกลางทุกประเทศรู้ดีว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะไม่มีการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นการ "ซื้อเวลา" เท่านั้น แต่ไม่มีทางเลือก
และนี่จะเป็นความเสี่ยงสำหรับปีหน้า เพราะเป็นช่วงเวลาดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นจริงจังต่อเนื่อง ในจังหวะที่คนขาดความเชื่อมั่นในภาวะการปั๊มเงินที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้หลายคนกลัวว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเผาจริง
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น