ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
หลังจากที่นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้เดินทางมาไทยและแสดงปาฐกถาที่มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตยและเสรีภาพของไทยโดยเฉพาะเรื่องกฎอัยการศึก ซึ่งตามมาด้วยปฏิกิริยาของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พูดแสดงความเสียใจที่สหรัฐไม่เข้าใจสถานการณ์ไทย อีกทั้งการที่กระทรวงการต่างประเทศเรียกอุปทูตสหรัฐเข้าพบ
ในช่วงแรกๆ ก็หวังกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบตามมามากนักในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจเพราะมองว่าต่างฝ่ายต่างแสดงออกพอเป็นพิธีแต่บรรยากาศเริ่มอึมครึมเข้าทุกทีๆ และทำท่าจะไม่จบง่ายๆ เพราะมีแรงสะเทือนหนักขึ้นในแง่ความสัมพันธ์เชิงยุทธ์ศาสตร์ที่มีการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีกระแสข่าวจากวอชิงตันว่าสหรัฐจะตัดสัมพันธ์ทางทหารกับไทยอย่างเต็มรูปแบบจนกว่าไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันการเยือนไทยของรมว.กลาโหมของจีนระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ ทำให้ไทยกับจีนเตรียมยกระดับความสัมพันธ์กันทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจ การทหาร นอกจากจีนจะแสดงจุดยืนชัดว่าไม่แทรกแซงการเมืองไทยแล้วยังพร้อมให้ความช่วยเหลือไทยทุกด้านทั้งยังหารือการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันอีกต่างหาก
นาย รัสเซล ถือเป็นผู้แทนระดับสูงของสหรัฐที่มาเยือนไทยครั้งแรกหลังรัฐประหารปาฐกถาของเขามีกระแสตอบรับทั้งบวกและลบ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับสังคมการเมืองไทยระยะหลัง บางกลุ่มอาจมองว่าสหรัฐเป็นต้นแบบประชาธิปไตยต้องแสดงออกแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาแต่บ้างกลุ่มอาจมองว่าสหรัฐกำลังแทรกแซงการเมืองไทยอย่างไรก็ตามในข้อเขียนนี้จะไม่ขอพูดถึงการเมืองไทยแต่จะเน้นมองที่นโยบายของสหรัฐเป็นหลัก
ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมของโลกหลังสงครามเย็นไปแล้วว่า การพูดถึงประชาธิปไตยและเสรีภาพนั้น พูดที่ไหนก็ดูดี พูดเมื่อไรก็ได้พูดกี่ครั้งก็ถูก ซึ่งแน่นอนการแสดงออกของนายแดเนียลก็ดูเหมือนจะเป็นการย้ำจุดยืนของสหรัฐในคุณค่าสากลนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสหรัฐกลับเลือกที่จะพูดในบางที่ และไม่พูดในบางที่ทั้งๆที่อยู่ในบริบทเดียวกัน คำถามคือแล้วอะไรคือมาตรวัดหรือไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐที่โลกจะเชื่อถือได้ ในที่นี้จะขอประมวลท่าที่สหรัฐหลังการรัฐประหารในอียิปต์และไทยมาเปรียบเทียบพอได้เห็นภาพ
รัฐประหารที่อียิปต์ ดอกไม้จากวอชิงตัน
ในเดือนกรกฎาคม 2556 กองทัพอียิปต์นำโดยนายพลอับดุล ฟัตตาห์ อัล ซีซี ได้ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอดีตประธานาธิบดีมูฮัมมัดมุรซี ได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนทั่วโลกจะฉงนกับท่าที่ของสหรัฐมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์เพราะสหรัฐพยายามเลี่ยงที่จะเรียกมันว่ารัฐประหารและยังสานต่อความช่วยเหลือให้กับกองทัพอียิปต์ที่ฉีกรัฐธรรมนูญอีกด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายสหรัฐกำหนดให้รัฐบาลต้องหยุดให้ความช่วยเหลือต่อประเทศที่มีการรัฐประหารทันทีแต่โอบามาไม่ต้องการตัดสัมพันธ์กับอียิปต์ทำเนียบขาวประกาศว่าคงไม่ส่งผลดีต่อสหรัฐหากระงับความช่วยเหลือต่อพันธมิตรรายสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างอียิปต์(ถ้ามองแบบนี้ไทยอาจไม่ใช่พันธมิตรสำคัญในภูมิภาคอาเซียนเราอาจคิดไปเอง)จึงน่าคิดว่าอะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง“ผลดีต่อสหรัฐ” กับ “คุณค่าประชาธิปไตย”
การไม่เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ว่าเป็นการรัฐประหารจะหมายความได้หรือไม่ว่าสหรัฐยอมรับการจัดการความขัดแย้งด้วยกำลังทหารนายจอห์นแครรี่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯก็เคยหลุดปากมาว่ากองทัพอียิปต์กำลังพยายามที่จะฟื้นฟูระบบประชาธิปไตยด้วยการโค่นล้มนายมุรซี ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์อียิปต์
แม้สหรัฐจะทำท่าทีระงับการส่งเครื่องบินและยุทโธปกรณ์รวมทั้งเงินสนับสนุนกองทัพอียิปต์260ล้านดอลลาร์เพื่อประท้วงการกวาดล้างผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมุรซีแต่ท้ายที่สุดนายแครรี่ ก็อนุมัติเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ 10 ลำ เงินช่วยเหลืออีก 650 ล้านดอลลาร์ ให้กับกองทัพอียิปต์และเงินช่วยเหลือรัฐบาลใหม่อียิปต์อีกกว่า 1500 ล้านดอลลาร์
แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม2557 แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่มีข้อน่าสังเกตหลายประการเช่นจากโรดแมปเดิมของรัฐบาลเฉพาะกาล กำหนดให้เลือกส.ส. ก่อนแต่ปรากฏว่ามีความรีบเร่งให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดและให้เลือกประธานาธิบดีก่อน ซึ่งผลก็เป็นไปตามคาดนายพลอับดุลฟัตตาห์ อัลซีซี ซึ่งลาออกจากทหารมาลงสนามเลือกตั้ง ปธน. เอาชนะคู่แข่งคนเดียวของเขาซึ่งเป็นผู้สมัครหัวเอียงซ้ายด้วยคะแนนถล่มทลายกว่าร้อยละ 96 และในการเลือกตั้งครั้งนี้มีคนมาใช้สิทธิเพียงร้อยละ44 ต่ำกว่าการคาดหมายและต่ำกว่าผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งก่อนค่อนข้างมากสหรัฐคงน่าจะเข้าใจถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามการบอยคอตการเลือกตั้งการกวาดล้างกลุ่มภารดรภาพมุสลิมที่เป็นฐานเสียงของมุรซี และการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง
นับจากกองทัพยึดอำนาจจนถึงขณะนี้ กลุ่มภารดรภาพมุสลิมในอียิปต์ตายไปแล้วกว่า 1,400 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตหลายร้อยคนด้วยวิธีการพิจารณาผู้ต้องหาเป็นหมู่ ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาที่แปลกและแทบไม่มีในโลกสมัยใหม่แล้วรวมไปถึงผู้เห็นต่างทางการเมืองและนักข่าวต่างชาติแต่สหรัฐฯกลับไม่สนใจประเด็นเหล่านี้ในอียิปต์
มิเรต มาบรู๊กผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์อิสระฉบับแรกของอียิปต์ และรองผอ.สภาแอตแลนติกถึงกับบอกว่านับจากกองทัพของอัล ซีซี โค่นล้มประธานาธิบดีมุรซี อียิปต์ตกอยู่ในช่วงที่มีการกดขี่มากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ60 ปี
จะเห็นได้ว่านอกจากสหรัฐฯจะไม่กดกดดันกองทัพหรือรัฐบาลของอัลซีซี ในอียิปต์แล้ว ยังให้การสนับสนุนช่วยเหลืออีกต่างหากเสมือนดอกไม้จากวอชิงตัน
รัฐประหารที่ไทย ก้อนหินจาก วอชิงตัน
ขณะที่อียิปต์กำลังอยู่ในบรรยากาศของการเลือกตั้งแต่ในไทยกลับมีการรัฐประหารเกิดขึ้นนำโดยพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาในเดือนพฤษภาคม 2557 แต่รัฐประหารครั้งนี้สหรัฐกลับมีท่าทีและจุดยืนที่ย้อนแย้งกับกรณีของอียิปต์
หลังรัฐประหารพฤษภา 2557 ปฏิกิริยาของสหรัฐฯคือสั่งทบทวนการช่วยเหลือกองทัพต่อกองทัพ ระงับการช่วยเหลือทางทหาร ให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมาไทยลดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษยจากอันดับ2เป็นอันดับ 3 (Tier 3) ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด สหรัฐสั่งตัดงบช่วยเหลือไทยด้านงบประมาณความมั่นคงจำนวน4.7 ล้านดอลลาร์ พิจารณาย้ายสถานที่ฝึกคอปร้าโกลด์ไปออสเตรเลียยังไม่มีการแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำประเทศไทย (มีเพียงอุปทูต)
นายจอห์นแครรี่ รัฐมนตรีต่างประเทศ (คนเดิม) ของสหรัฐ กล่าว“รู้สึกผิดหวังที่กองทัพไทยตัดสินใจฉีกรัฐธรรมนูญและเข้าควบคุมอำนาจรัฐบาล....ไม่มีเหตุผลใดที่สามารถอ้างความชอบธรรมต่อการก่อรัฐประหารครั้งนี้”
จนกระทั่งมาถึงกรณีที่นายรัสเซล เดินทางมาไทยและพบปะแกนนำพรรคการเมืองอย่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ไม่ได้เข้าพบพลเอกประยุทธ์นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช) ที่สำคัญคือการแสดงความเห็นทางการเมืองและกฎอัยการศึกดังที่กล่าวไปแล้วและตามมาด้วยกระแสข่าวว่าสหรัฐจะตัดความสัมพันธ์ทางทหารกับไทยอย่างเต็มรูปแบบจนกว่าไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
นอกจากนี้หากมองกรณีอื่นๆก็ยังคงพบเห็นความหลายมาตรฐานของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยในที่อื่นๆ เช่นในตะวันออกกลางก็จะเห็นว่าสหรัฐนิ่งเงียบต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศพันธมิตรของตนอย่างซาอุดิอาระเบียหรืออียิปต์ในสมัยฮุสนีมุบารักกาตาร์ จอร์แดน ฯลฯ หรือกรณีปากีสถานในสมัยประธานาธิบดีมุชาร์ราฟที่รัฐประหารยึดอำนาจจากนาวาช ชารีฟ ในปี 2542 และอยู่ในอำนาจมาจนถึงปี2549โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเป็นอย่างดีทั้งทางการทหารและเงินช่วยเหลือมหาศาล
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างจุดยืนของสหรัฐต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยและเสรีภาพที่อิงอยู่กับผลประโยชน์และความเป็นพันธมิตรในเชิงยุทธ์ศาสตร์ ไม่ได้ยึดคุณค่าสากลเสมอไป ในกรณีอียิปต์ก็ชัดเจนว่าสหรัฐสนับสนุนฝ่ายใดก็ได้ด้วยวิธีการใดก็ได้ ที่รองรับนโยบายของสหรัฐในตะวันออกกลางและความมั่นคงของอิสราเอล
โดยทั่ว ๆ ไปนโยบายสหรัฐในสถานการณ์แบบนี้ มักตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ หรือไม่ก็เป็นการแสดงออกเพื่อย้ำภาวะผู้นำที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและเสรีภาพ (พอเป็นพิธี ไม่หวังผลเพราะไม่มีเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวข้องมากนัก) หรือไม่ก็จะนิ่งเฉยหากก่อให้เกิดประโยชน์
ประเด็นที่น่าคิดคือการแสดงออกของสหรัฐต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยไทยเป็นกรณีไหนกันแน่ถ้าเป็นแบบพอเป็นพิธีก็ไม่น่าจะมีอะไรมากนักตามมาแต่ดูแล้วอาจจะไม่จบง่ายๆหรือถ้าแบบแฝงผลประโยชน์ก็น่าคิดว่าสหรัฐกำลังจะทำอะไรต่อไปจะมีมาตรการอะไรตามมาบ้างความสัมพันธ์จะเป็นอย่างไรแล้วไทยจะต้องวางตัวอย่างไรให้เหมาะสม
คงไม่จำเป็นต้องสรุปแล้วว่าไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรแต่ก็คงเป็นข้อถกเถียงต่อไปสำหรับประเทศไทยว่าแล้วเราจะทำอย่างไรได้ในเมื่อเขาเป็นมหาอำนาจเรายังต้องพึงพิงค้าขายกันอยู่
อย่างไรก็ตามเราอาจมีทางเลือกที่นุ่มนวลและการตอบรับอย่างสุภาพต่อกรณีที่สหรัฐหรือนายรัสเซลส่งสัญณาณมาอย่างน้อยด้วยการแสดงความขอบคุณที่ห่วงใย และขอให้ปฏิบัติต่อไทยเหมือนเช่นที่สหรัฐปฏิบัติต่ออียิปต์มาแล้วแทนที่จะตอบโต้ด้วยวิธีที่ทำให้ขุ่นข้องหมองใจกันเปล่าๆซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระยะยาว
เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐมันคดเคี้ยว ถ้าไม่ได้ดอกไม้อย่างน้อยไม่โดนหินปาหัวแตกก็ยังดี
ที่มา.มติชน
//////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น