--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฤๅว่า..มังกรจะกลับลำ !!?


โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจยุโรปอย่างมหาศาล "เศรษฐกิจจีน" กลายเป็นที่พึ่งพิงแห่งใหม่ของเศรษฐกิจไทย ดังเห็นได้จากสัดส่วนของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยที่อิงกับจีนมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมการส่งออกของไทยไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของการส่งออกรวมของไทย แต่ผ่านไปเพียง 10 กว่าปีสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนได้สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมากและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมานานหลายปี

แต่แล้วในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์กลับตรงกันข้ามในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจเศรษฐกิจจีนกลับเริ่มแผ่วความร้อนแรงและชะลอตัวลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวชะลอลงได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างชัดเจน ดังเห็นได้จากการส่งออกของไทยไปยังจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 ได้หดตัวกว่าร้อยละ -5.0 ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเกิดคำถามว่า เศรษฐกิจจีนที่ไม่ร้อนแรงดังเช่นก่อนนี้ จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ "ชั่วคราว" หรือจะดำรง "คงอยู่" ต่อไปเป็นบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ของเศรษฐกิจจีน และที่สำคัญ ทางการจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่

เรื่องนี้ทางผู้บริหารระดับสูงของจีนได้ผลัดกันออกมาส่งสัญญาณเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจจีนสามารถควบคุมได้ไม่ว่าจะเป็นการ"ปรับเป้าหมาย"การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่ตลาดได้เคยคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนควรจะ "ขยายตัวสองหลัก" (Double Digit Growth) มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปีในปี 2014 และร้อยละ 7.0 ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า หรือการให้สัมภาษณ์ว่าจีนจะเน้นคุณภาพมากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดย นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้ให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลง และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการลดปัญหาคอร์รัปชั่น และปัญหามลพิษ

ทั้งนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง เห็นว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถยืดหยุ่นได้ตราบเท่าที่จีนยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำการที่ทางการจีนได้ตอกย้ำว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจีนควบคุมได้นั้นส่งผลให้นักลงทุนได้คลายความกังวลลงไปในระดับหนึ่งโดยตลาดไม่คาดหวังว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะร้อนแรงดังเช่นในอดีตและเข้าใจว่าการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน เกิดจากความตั้งใจของทางการจีน เพื่อป้องกันปัญหาฟองสบู่จากการขยายตัวอย่างร้อนแรงเกินไป

สำหรับประเทศไทยเอง ในฐานะประเทศคู่ค้าที่ต้องพึ่งพาอุปสงค์จากจีน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ก็ดูเหมือนว่าความตั้งใจของทางการจีนที่จะลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี เพราะไทยเองก็คงไม่ต้องการให้จีนขยายตัวอย่างร้อนแรงแต่ไม่ยั่งยืน คือขยายตัวในอัตราที่สูง แต่มีความเสี่ยงที่จะทรุดลงกะทันหัน เพราะแท้จริงแล้วแม้ว่าจีนจะขยายตัวในอัตราปานกลาง ไม่ว่าจะเป็นร้อยละ 8 ร้อยละ 7 หรือร้อยละ 6 ต่อปี ก็ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของจีนในไตรมาส 3 ของปี 2014 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ได้เคยประกาศไว้ ตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์คงทนที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ประกอบกับเหตุการณ์ล่าสุดที่ทางการจีนได้เริ่มส่งสัญญาณกลับลำเชิงนโยบาย โดยธนาคารกลางจีนได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะ 1 ปี ทำให้อาจคิดไปได้ว่า การชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอาจเร็วและแรงกว่าแผน หรืออาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของทางการจีนหรือไม่ จนทำให้ทางการจีนได้กลับลำมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

ดังนั้น ไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ และปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ภายใต้บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งดูเหมือนว่าจะต้องเผชิญกับการขยายตัวในอัตราต่ำต่อไป เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ชะลอลง ในขณะที่มีเพียงเศรษฐกิจขนาดเล็กเกิดใหม่ไม่กี่ประเทศที่สามารถเติบโตได้ในอัตราสูง

จากนี้สิ่งที่เราทั้งภาครัฐและเอกชนไทยจำเป็นต้องมาช่วยกันคิดต่อคือจีนจะยังคงเป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจของไทยได้หรือไม่หรือมากน้อยเพียงใดและถ้าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นกับจีนจริง ไทยจะยังพอหันไปพึ่งพาใครได้ จะใช่คู่ค้าเก่าแก่อย่างสหรัฐ หรือจะเป็นคู่ค้ามาแรงอย่างเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่ในระยะหลังทั้งสัดส่วนการส่งออกและอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปประเทศในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่อแววว่าจะพอมาเป็น"พลังใหม่"ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปร่วมกันกับไทยหรือจะเป็นประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจในปีหน้า แต่ก็จะต้องไม่ลืมว่าประเทศเหล่านี้ก็ยังคงมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น การมุ่งขยายตลาดการส่งออกไปประเทศใหม่ จึงต้องพิจารณาหาความสมดุลที่พอดีระหว่างตลาดใหม่ที่เติบโตเร็วกับตลาดเก่าที่มั่นคง

หรือว่าท้ายที่สุดแล้วไทยอาจต้องพิจารณาว่าจะหันกลับมาพึ่งพาตนเองเร่งรีบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศและเร่งรัดการพัฒนาในเชิงคุณภาพโดยเน้นความพอเพียงตามหลักพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันในตัวก็เป็นได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น