--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ฟื้นฟูการบินไทย ต้องเกาให้ถูกที่คัน !!?

เหลือบเห็นข่าวผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กุมขมับกับรายงานเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ในรอบ 9 เดือน (ตุลา 56- มิ.ย.57) ที่ยัง “อืดเป็นเรือเกลือ” เพราะมียอดเบิกจ่ายไปได้เพียง 70,000 ล้านบาทจากเป้าหมาย 3.46 แสนล้าน หรือเท่ากับ 20% ของเป้าหมายเท่านั้น

เรียกได้ว่าห่างจากเป้าหมายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งไว้เยอะ ที่ตีฆ้องร้องป่าวจะ“ล้างท่อ”งบลงทุนและเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ถึง 90-95% แต่ทำได้จริงแค่กระผีก แบบนี้ต่อให้ไขลานเร่งรัดเบิกจ่ายช่วงขวบเดือนที่เหลือจากนี้ ก็ไม่น่าจะไปถึง 50-60% ได้ ซึ่งแม้จะเฉไฉว่า เหตุที่เบิกจ่ายงบอืดเป็นเรือเกลือนั้น น่าจะเป็นเพราะวิกฤติการเมืองที่ทำให้การเบิกจ่ายงบล่าช้า แต่หลังจากคสช.เข้ามาวางกรอบลงทุน จัดซื้อจัดจ้าง จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ แล้วก็น่าจะไหลรื่น...

จนถึงวินาทีนี้ผู้อำนวยการสคร. ยังไม่รู้อีกหรือว่าเหตุใดนโยบาย “ล้างท่อ”งบลงทุนที่ประธาน “ซูเปอร์บอร์ดรสก.” สั่งให้ผู้บริหารหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ไม่ขยับไปไหน? ยังคิดว่าเป็นผลพวงมาจากวิกฤติทางการเมืองอยู่อีกหรือ?
เหตุใดไม่ย้อนกลับไปดูว่าสาเหตุที่แท้จริงล้วนเป็นเพราะผลพวงมาจากประกาศต่างๆที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเอง เพราะขาหนึ่งสั่งให้เร่งรัดการเบิกจ่าย แต่อีกขาก็กลับให้ทุกหน่วยงานชะลอการจัดซื้อจัดจ้าง และต้องส่งโครงการที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้าน 1,000 ล้านมาให้คณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณรัฐ(คตร.)พิจารณากลั่นกรองก่อน มิหนำซ้ำยังออกประกาศสำทับว่าจะลงโทษส่วนราชการและผู้บริหารหน่วยงานรัฐขั้นเด็ดขาดหากพบว่ามีการตุกติกทุจริต จัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้นในโครงการใด ๆ

เจอเข้าไปหลายขนานขนาดนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจถึงได้อยู่ในสภาพ “ควงสว่าน” อยู่กับที่หรือตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า Drifting Policy กันยังไง เพราะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเลือกยึดแนวคิดปลอดภัยไว้ก่อน ไม่ทำอะไรดีกว่า ซึ่งหากซูเปอร์บอร์ดยังแก้ไขปัญหาแบบ “ตาบอดคลำช้าง”อยู่อีก ก็เห็นทีว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าเสี่ยงสูงแน่ๆ

เหมือนวิกฤติ “การบินไทย” เวลานี้ ที่กำลังระส่ำจากผลประกอบการที่ติดลบติดต่อกันมาหลายปี จากที่เคยได้ชื่อว่าเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นแนวหน้า วันนี้ทำท่าจะปาดหน้าสาหัสยิ่งกว่ากิจการรถไฟไทยแล้ว โดยในปี 56 ขาดทุนกว่า 1.2 หมื่นล้าน และปี 57 นี้หากไม่เร่งฟื้นฟู ก็คาดว่าจะขาดทุนไม่น้อยกว่า 20,000 ล้าน

ล่าสุดบอร์ดการบินไทยที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.และรองหัวหน้าคสช.เป็นประธานได้อนุมัติแผนยกเครื่องการบินไทย ไล่ดะไปตั้งแต่ปลดรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี)ยกแผง เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการปรับเปลี่ยนเส้นทางบินใหม่ โดยย้ายสายการบินไทยสมายกลับไปให้บริการที่สนามบินดอนเมือง ปรับภาพลักษณ์ของการบินไทยให้เป็นสายการบินระดับซุปเปอร์พรีเมี่ยม และจ่อจะโละนางฟ้า พนักงานการบินไทยตามมาอีกกว่า 900 คน

และเพื่อจะให้การกอบกู้การบินไทยไปถึงเป้าหมาย นัยว่าประธานบอร์ดการบินไทยได้แบไต๋ออกมาแล้วจะให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) ร่วมเสียสละจัดทำแผนฟื้นฟูและช่วยเหลือบินไทย โดยเฉพาะการปรับลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ทอท.คิดกับการบินไทยว่า มีส่วนไหนจะปรับลดราคาลงได้อีก รวมทั้งมีช่องทางไหนจะเอื้อให้บินไทยพลิกฟื้นขึ้นมามีกำไรได้

เล่นเอาคนใน ทอท. “อึ้งกิมกี่” จะฟื้นฟูกิจการบินไทย ไฉนมาลงเอาที่การขอให้เพื่อนบ้านต้องไปเอื้ออาทรให้ซะงั้น ทั้งที่จะว่าไป ที่ผ่านมาทอท. ก็ประเคนให้บินไทยชนิดที่ทำเอาสายการบินอื่น ๆ ค้อนขวับๆอยู่แล้ว ไหนจะประเคนสัมปทานยกขนกระเป๋าสัมภาระ Ground Handling สัมปทานบริหารพื้นที่ฟรีโซน การได้สิทธิใช้ Contact Gate และหลุมจอด เช่าพื้นที่ตั้งสำนักงาน เคาท์เตอร์และเลาจ์เซอร์วิสในราคาพิเศษ จ่ายค่าเช่าให้ทอท.เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่คนในทอท.ก็ยังกังขากันอยู่เลย นี่ยังจะให้ปรับลดค่าธรรมเนียมอะไรต่อมิอะไรให้อีกหรือ

เกิดทอท.เอื้ออาทรให้ไปจนเข้าเนื้อ ทำเอารายได้ประกอบการและกำรี้กำไร ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะงานเข้าผู้บริหารทอท.หรือไม่? เพราะนัยว่าปี 2556 ทอท. ทำ Profile กำไรไว้ซะสูงลิ่ว 16,000 ล้านบาท แจกโบนัสสูงถึง 11 เดือน ทำเอาบรรดา รสก.อื่นๆ พากันอิจฉา“งานเข้า” ถ้วนหน้า เพราะถูกค่อนแคะว่าไร้ประสิทธิภาพเป็นรายวันอยู่แล้ว

ที่สำคัญหากการฟื้นฟูวิกฤตการบินไทยต้องมาลงเอยด้วยการให้ ทอท.ต้องเข้าไปอุ้มชูกันมากซะขนาดนี้ แม้จะฟื้นฟูกิจการได้ แต่มันจะมีประโยชน์อะไรหากการบินไทยยังคงทำตัวเป็น “เด็กไม่รู้จักโต” การบินไทยจะออกไปแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ ได้อย่างไร หาก ยังต้องแบมือขอให้แต่คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือ จนไม่สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้แบบนี้
จริงไม่จริงท่านประธานบอร์ดการบินไทยที่เคารพ!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557

รื้อถอนมายาคติอาเซียน : หลังปี 2558 AEC เปลี่ยนแปลงจริงหรือ !!?


ในปี 2558 หลังจากรวมเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว คนไทยหลายคนคิดว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสินค้า การบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการเคลื่อนย้ายทุน ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น ปริวรรต กนิษฐะเสน จะพาไปหาคำตอบ โดยนำเสนอเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่มายาคติ สิ่งที่ชาติอาเซียนทำข้อตกลง และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดงานเสวนาวิชาการ “รื้อถอนมายาคติ AEC” ณ ห้อง 01-003 อาคารปฏิบัติการ ชั้น 1 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ปริวรรต กนิษฐะเสน ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรรับเชิญ

“คนไทยมักจะคิดไปเองว่าหลังจากรวมเป็นประชาคมอาเซียนแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย ซึ่งหลายอย่างเป็นเหมือนการเอาแพะมาชนแกะ ซึ่งอันที่จริงแล้วมันมีความแตกต่างระหว่างมายาคติอันนี้กับเป้าหมายที่สิบประเทศได้ตกลงกัน ทั้งในด้านการค้า บริการและการลงทุน และที่สำคัญเป้าหมายกับความเป็นจริงก็อาจจะไม่ตรงกันด้วย” ปริวรรต กล่าว

อันที่จริงการรวมเป็นประชาคมอาเซียนเริ่มต้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่การเริ่มในปี 2558 มันเป็นเพียงแค่จุดๆหนึ่งเท่านั้นเอง ในที่นี้ตนจะกล่าวถึงมิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

อาเซียนเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 ในช่วงนั้นอยู่ในช่วงสงครามเย็น บางประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ และยังมีการสู้รบอยู่ จึงก่อให้เกิดการรวมตัวกันของ 5 ประเทศโดยมีอเมริกาเป็นแกนกลาง เพื่อผนึกกำลังทางการเมืองระหว่างประเทศสู้คอมมิวนิสต์ที่เรามักถูกสอนให้เกลียด

จนกระทั่งปี 2524 เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง อาเซียนเริ่มคิดว่าจะขยายแนวความร่วมมือไปเรื่องอื่น โดยเริ่มจากทำ “ข้อตกลงทางด้านการค้า” ช่วงแรกที่ทำก็ไม่ค่อยได้ผลสักสักเท่าไหร่ เพราะแต่ละประเทศยังคงปกป้องสินค้าด้านการส่งออกของตน จะเปิดให้เฉพาะสินค้าที่ไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่ เช่น อุปกรณ์สกี เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของอาเซียนว่าไม่ค่อยจริงจังกัน

ปี 2535 เริ่มจริงจังมากขึ้น โดยเริ่มเซ็นสัญญา Asian free trade area (AFTA) ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะลดภาษี ศุลกากรเท่าไหร่ ในสินค้าอะไรบ้าง ที่นำเข้าส่งออกกันจริงๆ ไม่ใช่สินค้าแบบในปี 2524

สินค้าเป็นสิ่งที่ชัดเจนแต่เรื่องการบริการ เป็นสิ่งที่ไม่เห็นไม่ชัดและเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องไม่ใช่เฉพาะเรื่องภาษีเพียงอย่างเดียว โดยเรื่องการบริการเราเริ่มเซ็นเมื่อปี 2538

หลังจากเรื่องบริการก็เป็นการลงทุน เช่น การสร้างโรงงาน การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นต้น โดยลงนามข้อตกลงในปี 2542

ในปี 2550 เริ่มมีการพูดคุยถึงการเป็น AEC ที่ชัดเจนและมีเป้าหมายมากขึ้นจึงเกิดพิมพ์เขียวขึ้นมา โดยจากเดิมกำหนดไว้ปี 2563 แต่ร่นมาเป็นปี 2558

หลังจากนั้น ก็ได้ทำข้อตกลงเรื่องวิชาชีพ ซึ่งตอนนี้เพิ่มจากเจ็ดเป็นแปดแล้ว และทำข้อตกลงทางการค้า FTA ด้านการค้า การลงทุน และการบริการ ในนามอาเซียนกับประเทศต่างๆที่อยู่รอบอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ด้วย

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า AEC เป็นเพียงก้าวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2558 จะเกิดเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด เกิดการเคลื่อนย้ายคน มีสินค้าและบริการต่างๆเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะวิวัฒนาการต่างๆมันเกิดขึ้นมากกว่า 20 ปีแล้ว

“กลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน เป็นกลุ่มที่สมาชิกมีความแตกต่างมากที่สุดในโลก ไม่ได้แตกต่างด้านวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์อย่างเดียว แต่ด้านเศรษฐกิจก็แตกต่าง ด้านประชากร บรูไนมีไม่ถึง 1 ล้านคน ในขณะที่อินโดนีเซียมี 200 กว่าล้านคน รายได้ของประเทศที่จนที่สุดกับรวยที่สุดมีความแตกต่างกัน 60 เท่า ส่วนระดับการพัฒนา ตามเกณฑ์ของธนาคารโลก ในอาเซียนมีประเทศที่พัฒนาแล้ว 1 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ประเทศตลาดเกิดใหม่ 6 ประเทศ ที่เหลือเป็นประเทศพัฒนาน้อย จะเห็นว่าค่อนข้างมีความแตกต่างกันมาก และการตกลงกันจะใช้ระบบ “ฉันทามติ” แทนการลงคะแนนเสียง”

ดังนั้น การรวมตัวกันของอาเซียนทำแบบค่อยเป็นค่อยไป “baby steps” ยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศตัดสินใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมเรื่องอะไร จะพร้อมเข้าร่วมเมื่อไหร่ หรือจะร่วมในเรื่องอะไรบ้าง แตกต่างจากกการรวมตัวกันของภูมิภาคอื่นๆ

มายาคติ เป้าหมาย กับข้อเท็จจริงเรื่องสินค้า

เราจะเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีกลุ่มธุรกิจจี้รัฐบาลให้ออกมาตรการปกป้องสินค้าต่างชาติที่จะทะลักเข้าไทยหลังเปิดเออีซีปี 2558 ประเด็นนี้เป็นการจับแพะชนแกะ คือ เอาการเปิดเออีซีในปี 2558 กับการเปิดสินค้าเสรีมาชนกัน และคิดไปเองว่า หลังจากปี 58 สินค้าจะทะลักเข้ามา ณ ปีนั้น

เมื่อเราพิจารณาถึงเป้าหมายในการค้าสินค้าในอาเซียน จะเห็นว่า การค้าสินค้าไม่ใช่เพียงเรื่องการลดภาษีเพียงอย่างเดียว อย่างเช่น เราส่งขายปากกาไปประเทศเพื่อนบ้าน มีต้นทุนค่าขนส่งและภาษีด่านศุลกากร ถ้าราคา 10 บาท ลาวเก็บภาษีร้อยละ 10 เราต้องขายปากกาแท่งละ 11 บาท แต่อุปสรรคไม่ได้มีแค่นั้น เช่น หากลาวมีนโยบายให้นำเข้าเฉพาะปากกาสีแดงเท่านั้น หรือปากกาต้องมีมาตรฐานทางเทคนิคพิเศษ หรือนำเข้าปากกาเพียง 1 ล้านด้ามต่อปี อันนี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง อีกอันหนึ่งในการขนสินค้าข้ามศุลกากรก็อาจจะต้องกรอกแบบฟอร์ม เจอศุลกากรที่มีความเข้มงวดต่างกัน เป็นต้น

ฉะนั้นข้อตกลงทางการค้าของอาเซียน คือพยายามจะลดอุปสรรคปัญหาเหล่านั้น สิ่งแรกที่ทำ คือ ลดภาษีศุลกากรตั้งแต่เซ็นสัญญา จนเหลือ ร้อยละ 0 ในปี 2553 คือ ตอนนี้ไทยลดภาษีให้สินค้าจากประเทศอื่นแล้ว มีเพียงบางรายการเท่านั้นที่ไทยยังคงไว้ซึ่งสินค้าพิเศษของไทย ส่วนอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีก็พยายามทำข้อตกลงกันและเริ่มไปแล้ว

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงก็จะพบตรงกับเป้าหมาย แค่ 2 ใน 3 ด้านภาษีศุลกากรก็พบว่าลดจนเกือบร้อยละ 0 แล้ว แต่ปัญหาก็คือว่า คนที่เป็นผู้ประกอบและนำเข้าไม่ค่อยใช้ประโยชน์จากตรงนี้เท่าไหร่ ตามงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่าใช้ประโยชน์จากตรงนี้เพียงครึ่งเดียว เพราะเห็นว่าขั้นตอนในการขอรับสิทธิค่อนข้างยุ่งยาก

“ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหาจริงๆคือ อุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เพราะประเทศต่างๆไม่ได้ถูกบังคับให้ลดจริงๆ ตอนแรกเพียงแต่ให้แต่ละประเทศเขียนว่ามีอุปสรรคอะไรบ้าง พอเขียนไปแล้วประเทศต่างๆก็ไม่ได้ทำตาม เพราะมันยาก การลดภาษีนั้นทำได้ง่ายเนื่องจากอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่ด้านอุปสรรคทางการค้า บางอย่างก็เกี่ยวพันกับกระทรวงเกษตร หรือกระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ นอกจากนี้ในบางประเทศพอรู้ว่าต้องลดภาษีก็ใช้มาตรการด้านนี้ในการกีดกันสินค้าด้วย และอย่างที่กล่าวมา การรวมเป็นอาเซียนให้ความยืดหยุ่นมาก ใครอยากทำอะไรก็ทำได้ไม่มีศาลมาลงโทษถ้าไม่ทำตามสิ่งที่เขียนไว้ในพิมพ์เขียว”

การเปิดเสรีด้านการบริการ

ในระดับการค้าโลก เราแบ่งการบริการข้ามชาติเป็นสี่รูปแบบ อันแรกการให้บริการข้ามพรหมแดน เช่น ธุรกิจ call center คนอเมริกาอยู่นอกประเทศจะโทรศัพท์ไปอเมริกา แต่โทรผ่านบริษัทอินเดีย ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับบริษัทอินเดีย โดยผู้ใช้บริการอยู่นอกประเทศ

สอง การบริโภคในต่างประเทศ เช่น การไปเที่ยวใช้จ่ายในต่างประเทศ

สาม การจัดตั้งบริการในต่างประเทศ เช่น คนจีนมาตั้งโรงพยาบาลในเมืองไทย

สี่ การประกอบอาชีพในต่างประเทศ เช่นหมอจีนมาทำงานในเมืองไทย หรือ สถาปนิกไทยไปทำงานที่ลาว

ในพิมพ์เขียวของอาเซียนระบุว่า ข้อหนึ่งกับข้อสองไม่มีมาตรการกีดกัน ส่วนแบบที่สาม กำหนดไว้ว่า ในปี 2010 คนอาเซียนสามารถเป็นหุ้นส่วนในประเทศอาเซียนด้วยกันในด้าน IT สุขภาพ ท่องเที่ยว การบิน โลจิสติกโดยถือหุ้นได้ไม่เกินร้อย 70

แต่ในความเป็นจริง ถ้าย้อนไปดูกรอบข้อตกลงในปี 2010 จะพบว่า ไทยให้ด้านต่างๆ เพียง 49 49 49 และเรายังเป็นประเทศที่คุ้มครองภายในอยู่ และไม่ใช่เราเพียงประเทศเดียว ประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ก็เช่นกัน แต่ประเทศอื่นอย่างกัมพูชาก็เปิดเต็มที่เลย (ดูในตาราง) และถึงแม้ว่าจะเปิดแล้วก็มีผู้ประกอบการในอาเซียนมาลงทุนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งกับญี่ปุ่น



ลงทุนในอาเซียนอย่างเสรีจริงหรือ?

การลงทุนก็คือ การมาตั้งในสิ่งที่ไม่ใช่การบริการ เช่น ตั้งกิจการ บริษัท โรงงานอุตสาหกรรม ผลิตของ ซื้อที่ดิน ซื้อหุ้นในกิจการต่างๆที่ไม่ใช่การบริการ

“หลายคนเกิดคำถามว่า AEC ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดเสรีทางการลงทุนจริงหรือไม่ เมื่อเราดูจากข้อตกลงระบุว่า นักลงทุนชาวอาเซียนสามารถไปลงทุนในประเทศต่างๆได้ แต่จริงๆแล้วประเทศต่างๆไม่ยอมที่จะให้มีเสรีด้านการลงทุน โดยมักจะใช้วิธีระบุแนบท้ายสัญญาว่าสิ่งใดทำได้สิ่งใดทำไม่ได้ อย่างประเทศไทยก็ระบุไว้เป็นจำนวนมาก และค่อนข้างกว้างมาก เช่น ห้ามถือครองที่ดิน ทำนา เลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ ประมง ผลิตของที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม(บาตรพระ) เป็นต้น”

ด้านการคุ้มครองการลงทุน ข้อตกลงอาเซียน ค่อนข้างจะระบุชัดถึงการให้ความคุ้มครองนักลงทุน เช่น จะไม่ไปยึดทรัพย์ หรือเมื่อยึดต้องจ่ายค่าชดเชย เป็นต้น ซึ่งหากเกิดข้อพิพาทนักลงทุนสามารถฟ้องศาลได้

แต่ในความเป็นจริงโดยสรุป หนึ่งเราไม่ได้เปิดมากและเปิดจริง สอง พอเปิดแล้วก็ไม่ค่อยมีนักลงทุนจากอาเซียนมาลงทุนสักเท่าไหร่ เพราะคนที่มาลงทุนในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป มากกว่าอาเซียน

แรงงานเคลื่อนไหวอย่างเสรี ?

เรามักจะมีคำพูดติดหูว่าหลังจากรวมเป็นประชาอาคมปี 2558 อาชีพ 8 อาชีพจะเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี เมื่อดูจากไทยพีบีเอส เขาก็บอกว่า หมอไทยจะค่อยๆจากไปหลังจากปี 2558 และคนที่จะมารักษาคนไทยคือหมอพม่า ด้านบางกอกโพสต์ก็นำเสนอว่า จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีมากขึ้น”

“หากเราดูเป้าหมายจะพบว่าไม่ใช่ว่าแรงงานจะเคลื่อนย้ายอย่างเสรี แต่เป็นการเคลื่อนย้ายของ Skill labor ซึ่งทำผ่านสัญญา AFAS หมวดสี่ เรื่องแรงงาน ซึ่งเปิดเพียงแค่สองกรณีเท่านั้น คือ หนึ่งสามารถโอนย้ายภายในบริษัทข้ามชาติเครือเดียวกัน เช่นพนักงานบริษัท ปิโตรนาสในไทยสามารถย้ายไปทำงานบริษัทปิโตนาสสิงคโปร์ได้ภายใน 90 วัน สอง ผู้มาติดต่อทางธุรกิจภายในหนึ่งปี สามารถต่ออายุได้”

และในความเป็นจริงประเทศไทย ทำข้อตกลงยอมรับคุณสมบัติทางวิชาชีพใน 8 สาขาวิชาชีพ หากพิจารณาตรงนี้จะพบว่ามันไม่ใช่การปิดเสรีเลย อย่างเช่น เรื่องการแพทย์ ในสัญญาระบุว่า ต้องได้รับใบอนุญาตหรือผ่านมาตรฐานจากประเทศต้นทาง และถ้าจะย้ายมาประเทศปลายทางก็ต้องผ่านหลักเกณฑ์บางอย่างของประเทศนั้นก่อน เช่น หมอสิงคโปร์จะมาไทย ไทยยอมรับในมาตรฐานของหมอจากสิงคโปร์ แต่ถ้ามาไทยก็ต้องผ่านหลักเกณฑ์ของไทยบางอย่าง อาทิ พูดไทยได้ เป็นต้น หรืออาชีพสถาปนิกก็จะมีบอร์ดมาพิจารณาว่าเป็นสถาปนิกจริงหรือเปล่า ซึ่งจะเห็นว่ามีอะไรกีดกันอีกมาก ไม่ใช่ว่าจะเปิดเสรีเลย

สิ่งที่พิมพ์เขียวของเซียนไม่พูดถึง คือแรงงานไร้ฝีมือ หรือแรงงานกึ่งไร้ฝีมือ ซึ่งแรงงานนี้หากเปิดเสรี คิดว่าจะเกิดการเคลื่อนย้ายมากที่สุด จากสถิติมีแรงงาน อาเซียน 1.43 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย คือร้อยละ 93 ของแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เท่ากับร้อยละ 3.6 ของแรงงานในไทย แต่แรงงานใน 7 วิชาชีพที่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้ในไทยมีอยู่ 390 คนซึ่งถือว่าน้อยมาก ฉะนั้นสัยญาที่แต่ละประเทศเซ็นไปก็ไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่ในทางความเป็นจริง



เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรี?

อาจารย์คนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า การรวมเป็น AEC จะอำนวยความสะดวกจะทำให้เงินไหลเข้าออกได้อย่างสะดวกเสรี

สิ่งที่ถูกคือ มีการเปิดให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าหรือออกเพื่ออำนวยความสะดวก แต่ที่ผิดคือ มันไม่ใช่เสรี และไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2558

ถ้าเราดูพิมพ์เขียวของอาเซียนจะพบว่ามีเป้าหมายอยู่สองเรื่อง คือ การพัฒนาและการรวมตัวของตลาดทุน ตอนนี้เรามีตลาดหลักทรัพย์แปดแห่งในอาเซียน (มีที่เวียดนามสองแห่ง ฮานอย กับโฮจิมิน) และนักลงทุนไทยสามารถไปซื้อหุ้นสิงคโปร์หรือที่อื่นๆได้ ซึ่งตอนนี้ก็ทำได้แล้ว

แต่สิ่งที่สำคัญ คือเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเราแบ่งเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็น 5 ลำดับ อันแรก การค้าสินค้าและบริการ เช่น การซื้อของจากต่างประเทศโดยที่เราต้องโอนเงินเข้าไป สอง การลงทุนโดยตรง เช่น นำเงินไปซื้อหรือลงทุนโรงงานในกัมพูชา สาม ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น การเป็นหุ้นในบริษัทต่าง ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีข้อยกเว้นต่างกันไปดังที่ได้กล่าวมา สี่ การออกไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ห้า การเคลื่อนย้ายอื่นๆ อาทิ คนไทยกู้เงินต่างชาติมาลงทุนเองได้

ฉะนั้น ความหมายในการเปิดเสรีของเงินทุนคือเปิดหมดทั้ง 5 ระดับ แต่ตอนนี้มีแค่สิงคโปร์เท่านั้นที่ทำ โดยมีข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อยบางประการ ไทย มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ ถึงระดับสี่เพราะจำกัดการออกไปลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากกลัวเงินไหลออก

วิธีเปิดเสรีเงินทุนของไทย คือ วิธีแรก หากจะลงทุนต่างประเทศสามารถลงทุนได้ผ่านกองทุนต่างๆ โดยกำหนดเพดานไว้ว่าไม่เกินเท่าไหร่ ถ้าพยายามเปิดมากขึ้น ก็ขยับเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ วิธีที่สองเพิ่มรูปแบบกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมธนาคาร LTF กบข ฯลฯ พวกนี้จะสามารถไปลงทุนต่างประเทศได้ แต่ตัวเราเองไม่สามารถไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ต้องผ่านกองทุนเท่านั้น

ส่วนข้อเท็จจริงด้านเงินทุนที่เกิดขึ้นนักลงทุนในไทยก็ยังไม่ค่อยกล้าออกไปลงทุนในอาเซียนเท่าไหร่ เราไปลงทุนประเทศอื่นมากกว่าในอาเซียน อาจจะด้วยกังวลถึงปัจจัยที่ไม่แน่นอน

จะได้ใช้เงินสกุลอาเซียน ?

หลายคนเกิดคำถามว่าอาเซียนจะมีการใช้เงินสกุลเดียวกันหรือไม่ ถ้าเทียบกับสหภาพยุโรปนั้นจะเห็นได้ชัดเลยว่า อาเซียนเดินคนละเส้นทาง

ยุโรปไม่ได้เริ่มจากเอฟทีเอ แต่เขาไปไกลกว่านั้น คือ รวมกันเป็น “สหภาพศุลกากร” ที่ไม่ได้ลดแค่ภาษีระหว่างประเทศภายในสหภาพยุโรปเอง แต่สินค้าที่ส่งไปยังประเทศในยุโรปนั้นจะต้องจ่ายภาษีเท่ากันหมด แต่อาเซียนทำแบบนั้นไม่ได้เพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการค้า และเก็บภาษีร้อยละศูนย์อยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะทำเป็นสหภาพศุลกากร เราต้องเก็บภาษีสินค้านอกอาเซียนร้อยละ 0 เท่าสิงคโปร์ หรือสิงคโปร์ต้องขึ้นภาษีเท่ากับประเทศอื่นๆในอาเซียน ซึ่งไม่มีใครยอมทำตามนี้”

หลังจากเป็นสหภาพศุลกากรแล้ว ในช่วงก่อนปี 1992 จึงเริ่มคิดทำ “ตลาดร่วม” คือดูปัจจัยการผลิต ได้แก่ทุน แรงงาน ให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีจริงๆ

พอมีตลาดร่วมแล้วเขาก็เริ่มทำนโยบายต่างๆให้สอดคล้องกันจนเกิดเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจขึ้น เช่น กำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จัดตั้งสถาบันต่างๆเช่น สภา ศาล ที่ดูแลกลไกการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ถ้าประเทศใดทำผิด ก็มีมาตรการลงโทษ ซึ่งอาเซียนไม่มีเลย

“จนในปี 1999 ก็เกิด สหภาพทางการเงิน (Monetary Union) จึงมีสกุลเงินยูโรขึ้นมา มีธนาคารกลาง ฯลฯ ซึ่งในช่วงแรกประมาณปีค.ศ. 2000 กว่า ดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ก็เกิดปัญหาบางประการ เพราะบางประเทศก็ขยัน แต่บางประเทศใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่าย เช่น กรีซใช้เงินจัดโอลิมปิก ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาเพราะมีแต่การรวมกันด้านการเงิน แต่ไม่มีด้านการคลัง จึงมีแนวคิดที่จัดการด้านการคลังขึ้น เช่น จำกัดเพดานการก่อหนี้ที่ชัดเจน ประเทศที่ร่ำรวยสามารถโอนเงินให้ประเทศที่ยากจนได้ เป็นต้น”

หากย้อนกลับมาดูอาเซียนจะพบว่า การรวมเป็น AEC นั้น ยังไม่กลายเป็นตลาดร่วมเหมือนที่ EU เป็น และยังอยู่ไกลกับเป้าหมายที่จะก้าวไปถึงสหภาพการเงิน ซึ่งถึงแม้ว่าเราสามารถก้าวกระโดดไปได้ แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะพังเพราะอาเซียนมีความแตกต่างกันมาก วงจรทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกัน

สรุป

กล่าวโดยสรุป หนึ่ง AEC เป็นเพียงเป้าหมายหนึ่งของกระบวนการรวมกลุ่มอาเซียน ที่ได้เริ่มมากว่า 20 ปีแล้ว โดยจะไม่เกิด big bang ในปี 2558

สอง การเปิดเสรีการค้าสินค้าคืบหน้าไปมากแล้วในด้านการลดภาษีศุลกากร แต่ยังมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่ยังเป็นอุปสรรคทางการค้าอยู่

สาม ด้านการค้าภาคบริการและการลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากประเทศสมาชิกยังยึดกฎหมายภายในประเทศ

สี่ ด้านแรงงานไม่ได้เปิดเสรีอย่างจริงจัง โดยทำเพียงข้อตกลงยอมรับคุณสมบัติวิชาชีพ ซึ่งเกือบจะไม่มีผลกระทบเลยกับการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในประเทศ และไม่เกี่ยวข้องกับแรงงานไร้ทักษะ หรือกึ่งทักษะ ที่เป็นแรงงานส่วนใหญ่ที่เคลื่อนย้ายในอาเซียน ซึ่งตรงนี้ต้องคุยกันอีกมากกว่าจะทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายอย่างเสรี

ห้า ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายเปิดเสรีตามความพร้อมของแต่ละประเทศ และให้เปิดมากขึ้นมากว่าปัจจุบัน

และสุดท้าย อาเซียนและยุโรปเดินคนละทางในการรวมกลุ่ม ปัจจุบันอาเซียนไม่มีเป้าหมาย และไม่พร้อมที่จะมีเงินสกุลเดียวกัน.

ที่มา.สำนักข่าวประชาธรรม
///////////////////////////////////////////////////////

ประกาศก.สาธารณสุข 4 ฉบับรวด คุมไวรัสอีโบลาในไทย !!?


prttytytytyyty
ก.สาธารณสุขออกประกาศ 4 ฉบับรวด คุมเชื้อ“อีโบลา” ระบุ 4 ปท.-เมืองเป็นเขตติดโรค ผู้ป่วยมีลักษณะอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ศรีษะ ท้องเสีย กำหนดเป็นโรคต้องแจ้งความ

นายแพทย์ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณ ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ประเทศหรือเมือง เป็นเขตติดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD) ได้แก่

(๑) สาธารณรัฐกินีบิสเซา (Republic of Guinea - Bissau)
(๒) สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน (Republic of Sierra Leone)
(๓) สาธารณรัฐไลบีเรีย (Republic of Liberia)
(๔) เมืองลากอส (Lagos) สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย

ระบุว่า

ด้วยปรากฏว่ามีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย เกิดระบาดขึ้นในประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD) ถือเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูง ยังไม่มียารักษาจําเพาะ อีกทั้ง ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD) ในประเทศไทย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรกําหนดให้ประเทศหรือเมืองที่โรคนี้เกิดการระบาดเป็นเขตติดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD)

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๔ และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๒๓

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศไว้ ดังนี้

ข้อ ๑ ให้ประเทศหรือเมืองดังต่อไปนี้ เป็นเขตติดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus
disease - EVD)

(๑) สาธารณรัฐกินีบิสเซา (Republic of Guinea - Bissau)
(๒) สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน (Republic of Sierra Leone)
(๓) สาธารณรัฐไลบีเรีย (Republic of Liberia)
(๔) เมืองลากอส (Lagos) สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย (Federal Republic of Nigeria)

ข้อ ๒ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณ

ทั้งนี้มีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 ส.ค.57

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังออกประกาศเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ โดยเรียกโรคติดต่ออันตราย นี้ว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD) เป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความเพิ่มเติม 20 โรค และผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีลักษณะอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อปวดศรีษะ และเจ็บคอ ตามด้วยอาการอาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นขึ้น ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบว่ามีตับวายหรือไตวาย ในบางรายจะมีเลือดออกทั้งในอวัยวะภายในและภายนอก จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด ส่วนใหญ่มักมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยหรือตายด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD)

 ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
/////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระอาทิตย์สองดวง !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อสัปดาห์ต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองการทหารเกิดมากที่สุด ดังนั้น การจัดงานวันเกิดของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราจึงกระจุกตัวอยู่ในเดือนสิงหาคมเป็นส่วนใหญ่

ในเวลาเดียวกันก็มีการนำเอาคำพูดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักปราชญ์คนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทยผู้ล่วงลับไปแล้วได้เขียนลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อปี 2494 ซึ่งเป็นสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งไม่ให้หนังสือพิมพ์ลงข่าวการเมืองและมีการตรวจข่าวก่อนจึงจะสามารถตีพิมพ์ได้



ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้ว่า บัดนี้ ประเทศไทยมีพระอาทิตย์ 2 ดวง ดวงหนึ่งขึ้นจากทะเล และก็ตกที่ภูเขา อีกดวงหนึ่งขึ้นจากภูเขาแล้วตกในทะเล สุดแท้แต่ว่าเรายืนดูพระอาทิตย์ที่หัวหินหรือที่ศรีราชา

แม้ว่าจะเป็นข้อเขียนที่เขียนประชดประชัน จอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วก็เขียนมานานแล้ว ข้อความดังกล่าวก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึง แม้ว่าผู้อ่านหลายคนรวมทั้งตัวเราเองด้วยไม่แน่ใจว่าท่านหมายถึงอะไร

ตามธรรมดาของปัญหาสังคม ปัญหาทางการเมือง รวมทั้งตัวผู้นำเองย่อมมี 2 ด้านเสมอ เหมือนกับพระอาทิตย์ก็ยังมีผู้คนถกเถียงกันว่าขึ้นจากทะเลตกลงที่ภูเขา หรือขึ้นจากภูเขาแล้วตกลงในทะเล ไม่มีใครตอบได้ สุดแท้แต่ว่าผู้ตอบยืนอยู่ที่ไหน อยู่ที่หัวหิน หรืออยู่ที่ศรีราชา ป่วยการที่จะหาคำตอบ

คำตอบของปัญหาเดียวกันเรื่องเดียวกันก็จะเปลี่ยนไป อาจจะแบบตรงกันข้ามก็ได้ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เช่น เมื่อ 3 เดือนก่อนหรือ 6 เดือนก่อน ผู้ที่อยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกต่างก็เห็นว่าพระอาทิตย์ควรจะขึ้นจากภูเขา และตกลงในทะเล

หรือระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง และก็ชนะไป เพราะผู้คนทางฝั่งศรีราชาหรือฝั่งชายทะเลด้านตะวันออกมีมากกว่าฝั่งตะวันตก แต่บัดนี้ ความเห็นกลับเป็นตรงกันข้าม เห็นว่าพระอาทิตย์ควรจะขึ้นจากทะเลและตกทางด้านภูเขา ไม่มีอะไรคงที่แน่นอน สุดแท้แต่ผู้ที่ให้ความเห็นยืนอยู่ที่ไหน ที่ศรีราชาหรือที่หัวหิน หรือสุดแท้แต่ลมจะพัดขึ้นบก หรือพัดลงทะเล

ในสังคมที่ยังเป็นสังคมที่การพัฒนาทางการเมืองยังก้าวไม่ทันการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ในระบบเศรษฐกิจเปิดที่ถูกลากจูงให้เติบโตขึ้นตามการพัฒนาของโลก แต่สำหรับระบบการเมืองและสังคมนั้นยังไม่แน่ว่าเป็นระบบที่เปิดหรือปิด แต่น่าจะอนุมานได้ว่าจะต้องเป็นระบบที่เปิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอิทธิพลของการสื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ

ในสังคมที่ผู้คนยังไม่เข้าใจ ยังมีคนจำนวนมากคิดว่าพระอาทิตย์ขึ้นจากภูเขาแล้วตกลงในทะเล และก็ยิ่งมีผู้คนอีกจำนวนมากเข้าใจว่าพระอาทิตย์ขึ้นจากทะเล แล้วก็ตกลงที่ภูเขา แล้วก็ถกเถียงไม่ยอมลดราวาศอก จนกระทั่งฝ่ายที่มีอาวุธชักอาวุธขึ้นมา การโต้เถียงจึงยุติลง

ธรรมชาติของขุนเขาที่ทอดเป็นทิวย่อมจะดูสูงใหญ่ หนักแน่นมั่นคง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเขียวขจี เจ้าสัวหรือจ่อซัว ผู้มีฐานะมั่นคงมั่งคั่ง จึงเปรียบเสมือนผู้นั่งพิงขุนเขา เป็นที่เคารพเกรงขาม เพราะเหตุภูเขาย่อมมั่นคงตั้งอยู่กับที่ ไม่โอนเอียงเมื่อมีพายุลมฝน มองไปที่ภูเขาไม่ว่าจะไปยืนอยู่ด้านไหน ก็ยังเห็นภูเขาเป็นภูเขาตั้งตระหง่านอยู่อย่างนั้น

ส่วนทะเลนั้นตรงกันข้าม บางเวลาสงบนิ่งจะมีคลื่นและกระแสน้ำไหลไปมา แล้วแต่กระแสของลม เอาแน่ไม่ได้ เวลาทะเลต้องลม พายุ มรสุมทะเลที่เคยสงบเงียบก็จะกลายเป็นทะเลที่มีคลื่นสูงใหญ่น่ากลัว สามารถกลืนกินเรือเล็กเรือน้อยไปในกระแสคลื่นได้อย่างง่ายดาย เมื่อพายุจะมาก็มักจะพาเอาเมฆฝนทั้งหนักและเบาจนเกิดภาวะน้ำท่วมบนบกได้

ขุนเขาและทะเลจึงมีลักษณะที่ตรงกันข้ามอยู่โดยธรรมชาติด้วยเหตุนี้ หากมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากทางขุนเขา ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนก็เป็นอย่างหนึ่ง หากมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากทะเล ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง พระอาทิตย์ค่อยๆ โผล่จากเหลี่ยมเขาจะเห็นเป็นลูกเล็ก แสงจ้าขึ้นอย่างรวดเร็ว พระอาทิตย์ที่ค่อยๆ โผล่ขึ้นจากทะเล จะเห็นเป็นลูกกลมโต สีแดงสด ไม่ร้อนจ้า ไม่เหมือนกับกรณีโผล่ขึ้นจากขุนเขา

ความที่ระดับความรู้หรือระดับความคิดยังไม่พัฒนาถึงระดับหนึ่ง หรือยังไม่ซาบซึ้งกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ผู้คนก็อาจจะคิดว่าเรามีพระอาทิตย์ 2 ดวง

การปกครองยุคใหม่ของเราตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 การเมืองการปกครองก็พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นประเพณี ว่าเป็นการปกครองโดยกองทัพ มีนายกรัฐมนตรีเป็นทหารเสียเป็นส่วนใหญ่ กองทัพกลายเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในระบอบการปกครองของไทย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎร เป็นแต่เพียงการสลับฉากชั่วคราว รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหลายครั้งมีอายุยืนยาวกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวร

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ความคิดคนก็เปลี่ยนไป แม้ว่าความรู้สึกนึกคิดของคนในเมืองของคนชั้นสูงและคนชั้นกลางจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะระบบการปกครองไม่มีผลกระทบกับตัวเขามากนักหรือไม่กระทบเลย ความรู้สึกนึกคิดยังไม่พัฒนาไปถึงระดับนามธรรม ยังติดอยู่แค่ในระดับรูปธรรมเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งบัดนี้ได้รับการพัฒนาในด้านวัตถุ เช่น ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสารสนเทศ ระบบอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ระบบโทรทัศน์ วิทยุ การเคลื่อนย้ายไปมาจากพื้นที่นอกเขตเทศบาลกับพื้นที่ในเขตเทศบาลสะดวกสบายและมีราคาถูก ยิ่งต่อไปจะมีระบบรางคู่และรางมาตรฐาน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ยิ่งจะถูกลง ความแตกต่างของผู้คนในภูมิภาคก็มีน้อยลง

การศึกษาก็เป็นปัจจัยอีกอันหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมีความรู้สึกนึกคิด การใช้ตรรกะ ทำความกระตือรือร้น ความต้องการเสพข่าว ความต้องการแสวงหาความจริง รวมทั้งความต้องการรู้ต้องการฟังความเห็นต่างกันต่างมุมจะมีมากขึ้น การไหลไปตามกระแสของการปลุกกระแสด้วยการสร้างอารมณ์ด้วยข้อมูลที่ไม่จริง ไม่น่าจะดำรงอยู่ได้นาน

อย่างไรก็ตาม เดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่มีภาพข่าวการอวยพรวันเกิดของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มาจากกองทัพ ก็จะเป็นเครื่องชี้ได้อยู่เสมอว่าขณะนี้พระอาทิตย์อยู่ที่ไหน มีอยู่ดวงเดียว หรือบัดนี้มีอยู่ 2 ดวง หรือมีอยู่หลายดวง เท่าที่เห็นบัดนี้เริ่มมี 2 ดวงเสียแล้ว แม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ก็น่าติดตามว่าจะไปอย่างไรต่อไป

เขียนให้สับสนสักวัน

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การลงทุนภาครัฐ ฯ


โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

การลงทุนโดยภาครัฐบาลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางความต่อเนื่องจากทั้งสองระยะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจระยะยาวก้าวไปข้างหน้าต่อไปขณะเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนเงินออมของประชาชนให้เป็นทุนของสังคม เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่ในระบบการคมนาคมและการขนส่ง แต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสาขาเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การโทรคมนาคม การสื่อสาร การผลิต รวมทั้งสาขาบริการด้านอื่น

ในทุกขั้นตอนของการพัฒนา ในระยะเริ่มต้น ขณะที่การสะสมทุนของภาคเอกชนกำลังก่อตัวขึ้น ความแน่ใจหรือความมั่นใจของผู้ร่วมทุนต่างชาติ รวมทั้งความมั่นใจของตลาดทุนยังไม่แน่นอนครบถ้วน การเริ่มด้วยการลงทุนโดยภาครัฐบาลจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลเป็นผู้เริ่มลงทุนแล้ว ภาคเอกชนก็จะเป็นผู้ลงทุนตามมา จนทำให้ระบบเศรษฐกิจเจริญขึ้นสู่ระดับพัฒนาขั้นต่อไป

ในขณะที่ประเทศที่ระบบการเมืองยังไม่พัฒนาอย่างประเทศไทยความหวาดระแวงของคนเมืองหลวงต่อพรรคการเมืองที่ตนไม่ได้เลือกการสร้างกระแสต่อต้านการลงทุนของภาครัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงการใหญ่จะสามารถทำได้อย่างไร แม้ว่าข้อมูลที่ถูกปล่อยให้กับสาธารณชนเป็นข้อมูลที่ไม่จริง เป็นข้อมูลที่ไม่ได้วิเคราะห์ แม้ว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ฝ่ายรัฐบาลมีหน้าที่อธิบาย มีหน้าที่ชี้แจง ฝ่ายองค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดการกระทำมิชอบหรือไม่ เมื่อรัฐบาลได้ทำก็ดูเหมือนทุกฝ่ายจะเชื่อว่า ถ้ามีการลงทุนลงไป ก็จะมีการทุจริตปฏิบัติไม่ชอบเกิดขึ้นแน่

การตราพระราชกำหนดก็ดี การตราพระราชบัญญัติให้อำนาจกู้ยืมเงินจากประชาชนคนไทยเพื่อนำมาลงทุน ก็ถูกโจมตีว่าสร้างหนี้ให้กับลูกหลาน ทั้ง ๆ ที่เป็นการกู้เงินบาท กู้จากประชาชนภายในประเทศ ไม่ใช่การกู้จากต่างประเทศ รัฐบาลเป็นผู้ออกพันธบัตรเป็นลูกหนี้ ประชาชนคนไทยเป็นเจ้าหนี้ แต่ไม่มีใครนำมาพูดกัน ทุนสำรองก็มั่นคง เมื่อกู้เงินบาทมาแล้ว หากจะต้องชำระเงินเพื่อการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เอาเงินบาทซื้อเงินตราต่างประเทศจากตลาดภายในประเทศ ตลาดและธนาคารกลางก็จะปรับไปตามระบบเอง ไม่มีอันตรายอะไร แต่ในระบอบการปกครองในรูปแบบที่ผ่านมา รวมทั้งโครงสร้างของผู้ออกเสียงเป็นอย่างที่เป็น กล่าวคือคนกรุงเทพฯ ยังมีเสียงดัง มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นกระบอกเสียง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่คงจะไม่เกิด ที่จะเกิดได้ก็มีโครงการรถไฟฟ้าหรือรถใต้ดินในกรุงเทพฯและชานเมืองเท่านั้น เพราะคนกรุงเทพฯได้ประโยชน์

คุณูปการที่คณะรัฐประหารจะทำได้และน่าทำ ก็คือผลักดันโครงการพัฒนาประเทศขนาดใหญ่ เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการรางรถไฟความกว้างมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนระบบราง 1 เมตร น่าจะเลิก รื้อทิ้งไปเสียดีกว่า เพราะเป็นระบบเก่า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาซ่อมแซม ก็น่าจะไม่ต่างกันมาก ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะเก็บรักษาเอาไว้ทำไมกัน เคยไปเห็นระบบขนคนโดยระบบรางของอังกฤษ ของยุโรป รวมทั้งของญี่ปุ่น ที่เขาทำเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันหมด แล้วเขาก็เลิกใช้หัวรถจักรดีเซลที่ใช้น้ำมัน เปลี่ยนไปใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมด เป็นการประหยัดพลังงานไปในตัวด้วย

ถ้าสามารถผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่เป็นโครงการจัดการบริหารน้ำและโครงการพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมขนส่ง ทั้งท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ระบบโทรคมนาคม 3 จี 4 จี ระบบขนส่งทางราง รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง เพราะถ้าพ้นจากนี้ไป เมื่อมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ก็คงไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้อีก เพราะการคัดค้านของฝ่ายค้านที่ค้านทุกเรื่องไป แต่คงไม่กล้าค้านการปกครองระบบทหาร หรือ "Military Junta" ดูแล้วเหมือน ๆ จะชอบเสียด้วย เพราะถ้าสามารถผลักดันโครงการคมนาคมขนส่งสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเปลี่ยนโฉมการพัฒนาของประเทศไทยไปอีกแบบหนึ่งเลย

เท่าที่ได้ยินมา ที่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ก็คือการปฏิรูประบบภาษีอากรที่ไม่ใช่ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะเป็นภาษีอากรอย่างอื่น เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ภาษีทรัพย์สิน เช่น ภาษีอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งภาษีมรดก เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน และมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ตามกลไกของโลก สำหรับหลักการความคิดในเรื่องภาษีอากร รวมทั้งหน้าที่ของภาษีอากรแต่ละอัน

การคิดเอาอย่างง่าย ๆ ตามกระแสการเมือง ที่มิได้มาจากรากฐานตามหลักการ การจะตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจโดยจะใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องมือ ดูเผิน ๆ ก็อาจจะดี ภาษีเป็นเครื่องมือที่เลวที่สุดที่จะใช้เพื่อเป้าหมายในการกระจายรายได้ ได้มีหลักฐานพิสูจน์กันแล้วว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีที่มีลักษณะถดถอยที่สุด กล่าวคือ ส่วนใหญ่ของผู้ที่เสียภาษีเงินได้คือผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนและค่าจ้าง ซึ่งไม่ใช่คนที่รวยที่สุด ส่วนคนที่รวยที่สุดคือผู้ที่มีรายได้เป็นดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า และ Capital Gains คือจากการที่ทรัพย์สินของเขามีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งรายได้ประเภทนี้ไม่ต้องเสียภาษี หรือไม่ก็เสียภาษีในอัตราต่ำ เพราะประเทศต่าง ๆ เขาไม่เก็บกัน ถ้าเราเก็บในอัตราสูงอยู่ประเทศเดียว เงินทุนก็ไหลออกไปนอกประเทศหมด ฉะนั้น เป้าหมายของภาษีเกือบทุกชนิดคือการสร้างความสามารถที่จะแข่งขันได้

ภาษีที่ไม่เกี่ยวกับการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งคือภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ก็เป็นภาษีที่ได้รับการต่อต้านจากนายทุนผู้ผลิตและผู้ขายส่งขายปลีกรวมทั้งสื่อมวลชนด้วย จึงเป็นภาษีที่แตะต้องไม่ได้

ถ้าฝ่ายทหารจะหันมาดูโครงสร้างภาษี ก็คงต้องตระหนักถึงเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่อง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจะมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประสิทธิภาพของการบริหารการจัดเก็บภาษี ที่สำคัญก็คือความซื่อสัตย์สุจริตของพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บ ต้องพยายามให้มีการใช้ดุลพินิจของพนักงานจัดเก็บภาษีให้น้อยที่สุด เพราะถ้าให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจในการประเมินมูลค่าก็ดี ประเมินจำนวนเงินภาษีก็ดี ประเมินข้อยกเว้นลดหย่อนภาษีก็ดี ซึ่งล้วนเป็นช่องโหว่ของกฎหมายภาษีทั้งสิ้น และถ้ามีช่องโหว่ทางกฎหมายทำให้บางคนหนีภาษีได้ บางคนเลี่ยงภาษีได้ ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษี ความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษี ก็ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ผู้ที่เสียภาษีโดยสุจริตก็จะอยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็จะถูกบังคับให้หนีหรือเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกับคู่แข่งของตน อย่างที่เคยเป็นมาในกรณีภาษีการค้าในสมัยก่อน

ทางที่ดี เรื่องสำคัญทางเศรษฐกิจที่ต้องตราเป็นกฎหมาย ก็น่าจะรอให้มีสภานิติบัญญัติช่วยกลั่นกรองเสียอีกที แม้ว่าจะเสียเวลาไปบ้าง แต่ก็คิดว่าไม่น่าจะนานเกินรอ แต่ก็ไม่ควรจะนานเกินไปจนหมดอายุสภา

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็น่าจะเป็นคุณูปการพอแล้ว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ใช้มือถือขณะรถติดรอสัญญาณไฟไม่ผิดกฎหมาย !!?



นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก  Chuchart Srisaeng วันที่ 8 สิงหาคมว่า

....การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบาย จับจริง จอมแชต คือการจับกุมผู้ขับขี่รถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการป้องกันอุบัติเหตุให้แก่ผู้ขับขี่รถและผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนทุกคนรวมทั้งจะฝึกให้ผู้ขับขี่รถมีวินัยในการขับขี่รถและปฏิบัติตามกฎหมายจราจรซึ่งจะช่วยให้การจราจรลดการติดขัดลงได้มาก

.....ผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่คงเห็นด้วยอย่างไรก็ดี การปฏิบัติงานหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมาย

.....พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ
.....มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ ฯลฯ (๒๘) “ผู้ขับขี่” หมายความว่า ผู้ขับรถ
.....มาตรา ๔๓ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
.......ฯลฯ
.......(๙) ในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
.....มาตรา๑๕๗ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ (๙) ฯลฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๔๐๐ บาทถึง ๑,๐๐๐ บาท

.....เนื่องจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก ไม่ได้ให้คำนิยาม คำว่า ขับ และ ขับขี่ ไว้ จึงต้องดูความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔
.....คำว่า ขับ หมายความว่า บังคับให้ไป, บังคับให้เคลื่อนไป เช่น ขับรถ ขับเรือ
.....คำว่า ขับขี่ หมายความว่า สามารถบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้

.....เมื่อดูบทบัญญัติของกฎหมายและพจนานุกรมแล้วก็สรุปได้ดังนี้
.....ห้ามไม่ให้ผู้ที่กำลังขับขี่รถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
.....การขับขี่รถก็คือการบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะคือรถเคลื่อนที่ไป
.....ถ้ารถไม่เคลื่อนที่คือจอดอยู่เฉยๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ เช่น รถเสีย จอดรอผู้ที่นัดกันไว้ จอดรอสัณญาณจราจร หรือการจราจรติดขัดจนต้องจอดอยู่กับที่ ย่อมไม่ใช่การขับขี่รถ

.....การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะจอดรถ จึงสามารถกระทำได้เพราะในขณะนั้นไม่ใช่การขับขี่รถ ย่อมไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ครับ

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

จับตาสงครามโลกครั้งใหม่ ในมหาสงคราม 3 ฝ่าย !!?

หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาก็สถาปนาตนเองเป็นผู้นำโลกเสรีนิยมยุคใหม่ กลุ่มทุนเหนือรัฐได้กำกับให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ทองคำค้ำประกันการพิมพ์ธนบัตร และเป็นชาติเดียวในโลกที่สามารถทำเช่นนั้นได้จนถึงวันนี้ เพราะการค้าขายในตลาดโลกขณะนั้นต่างอ้างอิงเงินตราสหรัฐ จนอเมริกาสามารถใช้เงินสกุลดอลลาร์ของตนเองเป็นมาตรฐานรองรับเทียบเท่าทองคำในเวลาต่อมา



เหมือนกับว่าที่ผ่านมานั้น ระบบการเงินของโลกจะมีเสถียรภาพหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเงินสกุลดอลลาร์และเศรษฐกิจของอเมริกาด้วยเช่นกัน ภายหลังจากโลกของเราเคยใช้ระบบป้องกันเงินเฟ้อด้วยการใช้ทองคำที่มีจำกัดเป็นสินทรัพย์หนุนหลังเงินกระดาษ และอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรฐานดังกล่าวจนเป็นสกุลเงินตราที่ทรงมูลค่าที่สุดในยุคนั้น ก่อนสหรัฐอเมริกาจะขึ้นมาเป็นผู้นำโลกใหม่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนายทุนที่มีศักยภาพเหนือรัฐในสมัยแรกๆ คือนายธนาคารตระกูล Rothschild ซึ่งส่งลูกหลานไปตั้งธนาคารกลางทั่วยุโรป ว่ากันว่าปัจจุบันเครือข่ายของพวกเขาน่าจะมีสินทรัพย์มากกว่าทรัพย์สินครึ่งหนึ่งบนโลกใบนี้รวมกัน ภายหลังได้เข้าครอบครองระบบการเงินของอังกฤษ และแผ่ขยายสินทรัพย์มหาศาลไปยังดินแดนอเมริกา จนกลายเป็นเจ้าของตลาดการค้าทองคำลอนดอนตัวจริงที่มีอำนาจเหนือตลาด สามารถปรับราคาขึ้น-ลงเป็นรายวัน และเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมการรถไฟในอเมริกาและยุโรป เหมืองแร่ทองคำและเพชร DeBeers, Rio tino ธนาคารขนาดใหญ่ เช่น Goldman Sachs, GE Capital และ Lehman Brother รวมถึงอุตสาหกรรมอาวุธ อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน และอื่นๆ อีกมากมาย

จะว่าไปแล้ว พวกเขาเติบโตมาจากการยึดครองระบบการเงินของโลกจากเศรษฐกิจสงคราม โดยการตั้งธนาคารกลางและเป็นนายทุนการเงินให้ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาร่ำรวยขึ้นจากสงครามที่นำโดย นโปเลียน ของฝรั่งเศส และ ลอร์ดเวลลิงตัน ของอังกฤษ ในปี 1815 จากการที่พวกเขาปั่นราคาซื้อขายพันธบัตรของอังกฤษจนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ และสามารถเข้ายึดครองธนาคารกลางในเวลาต่อมา จนสำนักสมคบคิดเชื่อกันว่า เครือข่ายของพวกเขากำกับเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเกือบทั้งใบในเวลานี้

แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น ท่ามกลางวิกฤติการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ยากแก่การหลีกเลี่ยง จากการเปลี่ยนแปลงเสถียรภาพทางการเงินโดยการใช้อุปสงค์-อุปทานในการควบคุมการพิมพ์ธนบัตรโดยไร้หลักประกัน ทำให้ความคล่องตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลกและระบบธนาคารลดลง ทำให้เห็นความอ่อนแอในระบบการเงินทั่วโลกจากผลิตผลของสหรัฐ ทำให้ผู้นำเศรษฐกิจโลกที่กำลังเติบโตขึ้นใหม่ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล จึงได้เข้าต่อรองอำนาจทางเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ในรอบร้อยปี ซึ่งนั่นคือการชิงความเป็นใหญ่ของรัฐมหาอำนาจ ที่อาจทำให้เกิดสงครามเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในไม่ช้านี้



แนวรบด้านหนึ่ง พันธมิตรทางการเมืองอย่าง BRICS กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อันประกอบด้วยบราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) ได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เตรียมปฏิวัติเงินตราโลก เพื่อย้ายอำนาจฐานเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มพัฒนาแล้วอย่าง G7 มาสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยให้ศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอยู่เปลี่ยนไปสู่อำนาจการเมืองทางภูมิภาคต่างๆ ของโลกบ้าง นอกจากพวกเขากำลังเปลี่ยนการซื้อขายระหว่างประเทศด้วยเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นค่าเงินอื่นแล้ว พวกเขายังกำลังวางแผนตั้งธนาคารกลางใหม่ของกลุ่มประเทศ BRICS โดยตรงอีกด้วย

ก่อนหน้านี้นั้น รัสเซียจับมือกับจีนประกาศท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐเมริกา ด้วยการประกาศยกเลิกการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการซื้อ-ขายพลังงานร่วมกัน และรัสเซียผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในทางบัญชีอย่างสิ้นเชิงในอุตสาหกรรมก๊าชและพลังงาน ท่ามกลางสงครามตัวแทนในดินแดนยูเครนซึ่งแบ่งเป็นสองขั้วข้าง และทำสงครามพื้นที่กันอยู่ในขณะนี้

กลุ่มประเทศ BRICS ได้ประกาศเรียกร้องให้ระเบียบโลกใหม่มีหลายขั้วอำนาจ ซึ่งแน่นอน ท้าทายมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างกลุ่มทุนเหนือรัฐที่พยายามกำกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรปโดยตรง อาจจะคล้ายเรื่องความขัดแย้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ในประเทศไทย แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ต้องกระทบโดยรวมต่อประเทศไทยโดยตรงทุกกลุ่มอย่างแน่นอน

แนวรบอีกด้านหนึ่ง ในกลุ่มประเทศอาหรับซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาของมหาอำนาจโลกตะวันตกมานาน ท่ามกลางสงครามความเชื่อทางศาสนาและการต่อต้านจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดในการประชุม กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันส่งออก หรือโอเปก (OPEC) อิหร่านได้เสนอให้ตั้งธนาคารโอเปก และขอให้เลิกซื้อขายน้ำมันในตลาดโลกด้วยเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือการคุกคามต่อเศรษฐกิจสหรัฐโดยตรง



การเปลี่ยนสกุลเงินถือครองในเงินสำรองระหว่างประเทศนั้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตเพราะเมื่อแต่ละประเทศเลิกใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลอ้างอิง ระบบเงินดอลลาร์ก็อาจจะพังทลายลงได้ โดยเงินสกุลใหม่ไม่ว่าจะเป็นรูเบิล, หยวน หรือยูโร ก็อาจจะถูกอ้างอิงแทนทองคำในเวลาต่อมา แน่นอนก่อนหน้านั้นคงมีการต่อสู้ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การโจมตีค่าเงินอาจจะเกิดขึ้นไปทั่วโลก ท้ายที่สุด เมื่อไม่มีใครยอมใคร และมหาอำนาจใหญ่ไม่มีวันยอมแพ้ เศรษฐกิจสงครามก็อาจถูกสร้างขึ้นใหม่บนซากปรักหักพัง

วันก่อนนั้นผู้นำรัสเซียออกมาให้สัมภาษณ์อย่างเจ็บแปลบแสบคันว่า เวลานี้สถานะและความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลกกำลังเสื่อมถอยลงอย่างมาก และเป็นสัญญาณเตือนว่าทั่วโลกกำลังหันหลังให้อเมริกา เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวรบอีกด้านหนึ่งกำลังปะทุขึ้นอย่างช้าๆ เป็นจังหวะพอดีกับโน้ตดนตรีทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ เมื่อสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสในแผ่นดินปาเลสไตน์ ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าพันคนแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจมีการขยายวงลุกลามตามมาเมื่อรัฐบาลอเมริกาประกาศขายอาวุธให้อิสราเอลเพิ่มเติมเมื่อสองวันก่อน

อย่าลืมว่าเศรษฐกิจสงครามเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้นายทุนเหนือรัฐผู้กำกับตลาดโลก ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ในตลาดสงคราม พวกเขาช่วงชิงชัยชนะต่อความมั่งคั่งและเงินตราด้วยความสูญเสียของผู้คนมาโดยตลอด นับตั้งแต่สงครามแย่งชิงดินแดนอาณานิคมในอดีต ยกตัวอย่างเรื่องสงครามอิรัก ที่รัฐบาลสหรัฐเข้าโจมตีภายหลังที่อิรักประกาศขายน้ำมันของตนด้วยเงินยูโรแทนดอลลาร์ ในปี 2000 และเปลี่ยนเงินสำรองประเทศของตนเป็นยูโรด้วย ทำให้หลายประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิรักต้องเปลี่ยนตามไปด้วย จนสหรัฐสามารถเข้าไปควบคุมการผลิตและส่งออกน้ำมันปริมาณมหาศาลในอิรักได้ และควบคุมกลไกการกำหนดราคาน้ำมันของโลกได้มากขึ้น เพื่อลดบทบาทของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ลงนอกจากนี้ สงครามยังได้สร้างมูลค่าของเศรษฐกิจสงครามในอุตสาหกรรมอาวุธและยุทโธปกรณ์หลายแสนล้านดอลลาร์อีกด้วยเช่นกัน

มีความเป็นไปได้สูงว่า นายทุนเหนือรัฐบาลสหรัฐอาจพยายามสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เพื่อขยายวงไปสู่โลกอาหรับ โดยเฉพาะซีเรียและอิหร่าน กลายเป็นสงครามระหว่างพวกเขากับอิหร่านโดยตรง ที่เป็นเป้าหมายในเศรษฐกิจสงครามในอนาคต เพื่อสถาปนาอำนาจนำของโลกอย่างแท้จริง

ดูเหมือนว่า สถานการณ์โลกตอนนี้อาจจะเผชิญวิกฤติครั้งใหม่ไม่เร็วก็ช้า เมื่อสหรัฐอเมริกาหวังสถาปนาอำนาจนำของโลกอีกครั้งหลังจากบาดเจ็บจากพิษเศรษฐกิจ และอาจกลายเป็นมหาสงคราม 3 ฝ่าย นั่นคือสงครามระหว่าง อาหรับ &อิหร่าน VS สหรัฐอเมริกา &อังกฤษ VS รัสเซีย &จีน.

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คุณค่าทางเศรษฐกิจ กับคุณค่าความเป็นมนุษย์ !!?



โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

เช้าวันหนึ่ง ในรายการของ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีข่าวเล็กๆ ที่ได้จากคลิปวิดีโอที่ผู้ชมส่งให้ อุบัติเหตุทางรถยนต์เกิดขึ้นบนถนนแห่งหนึ่ง รถบัสชนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขี่ตกไปถูกล้อรถบัสทับตาย ส่วนผู้โดยสารเป็นผู้หญิง ตกจากรถขาซ้ายหักและคงจะสลบไป จึงนอนอยู่กลางสี่แยกแห่งหนึ่ง ส่วนรถบัสขับต่อไปโดยไม่หยุด

สี่แยกนั้นไม่ถึงกับรถติด แต่การจราจรขวักไขว่พอสมควร มีรถยนต์นั่งหลายชนิด, กระบะตู้, มอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล และอื่นๆ ขับผ่านตลอด ต่างหลบหลีกไม่ทับร่างของหญิงผู้นั้น แต่ไม่มีคันใดหยุดให้ความช่วยเหลือเลย ซึ่งคุณสรยุทธอุทานออกมาดังๆ ว่า อ้าว ทำไมไม่หยุด

แล้วก็มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างคันหนึ่ง ขับฝ่าการจราจร (คงจากมุมใดมุมหนึ่งของสี่แยก) ออกมาจอดขวางร่างหญิงผู้นั้นไว้ แล้วลงจากรถเพื่อให้ความช่วยเหลือ ทันใดก็มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีก 2 คันตามมาทำอย่างเดียวกัน คือเอารถของตนเองช่วยจอดล้อมวงร่างของผู้หญิง เพื่อเป็นสัญญาณให้รถคันอื่นระมัดระวัง ลงจากรถเพื่อให้ความช่วยเหลือร่วมกัน

พวกเขาจะช่วยอย่างไรไม่ทราบได้ เพราะคลิปหมดแค่นั้น คุณสรยุทธก็รู้ดีว่าไม่จำเป็นต้องพูดอะไรอีก เพราะภาพเล่าไว้โดยไม่ต้องใช้เสียงหมดแล้ว

เป็นปรากฏการณ์ที่ปกติธรรมดามากสำหรับคนที่อยู่เมืองไทยมากว่า70 ปีอย่างผม เราจะเห็นสำนึกคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนเล็กคนน้อยที่ถูกเรียกว่าควาย มากกว่าคนนั่งรถเก๋งเสมอ แม้กระนั้นคำถามเชิงอุทานของคุณสรยุทธก็ยังก้องอยู่ในใจ

ผมพยายามหาคำตอบที่ตัวเองพอใจอยู่นานและในที่สุดก็มาลงเอยที่มิติทางเศรษฐกิจ

คนขับกระบะตู้จอดให้ความช่วยเหลือไม่ได้เพราะบริษัทมีกำหนดส่งของไว้แน่นอนแล้ว หากลงมาให้ความช่วยเหลือก็ไม่สามารถทำตามกำหนดเวลาของบริษัทได้ บางบริษัทมีจีพีเอสติดบนรถส่งของด้วย ฉะนั้น ผู้จัดการฝ่ายโลจิสติกส์ของบริษัทย่อมรู้ว่าเขาหยุดรถเป็นเวลานานระหว่างทาง คำอธิบายของคนขับว่าเพื่อช่วยคนบาดเจ็บจะเป็นที่ยอมรับของผู้จัดการหรือไม่ก็ไม่แน่ จึงถือว่าเสี่ยงต่ออาชีพการงานของตน

คำอธิบายนี้คงใช้ได้หมดกับแท็กซี่และตุ๊กตุ๊กซึ่งมีผู้โดยสาร,จักรยานยนต์ของพ่อค้าแม่ขาย ฯลฯ แต่จะใช้อธิบายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยเฉพาะคันใหญ่ๆ ได้หรือไม่?

ผมคิดว่าไม่ได้โดยตรง แต่ก็ใกล้ๆ ล่ะครับ การหยุดให้ความช่วยเหลือต้องใช้เวลามากพอสมควร สมมุติว่าใช้รถยนต์หรือคนขับรถกันการจราจรเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงคนนั้น แล้วโทรศัพท์เรียกตำรวจหรือหน่วยงานสาธารณกุศล ก็ต้องรอจนกว่าเขาจะมา หากถึงกับเอาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอง ก็ยิ่งเสียเวลาหนักขึ้นไปอีก เพราะต้องแจ้งความด้วย ทั้งหมดนี้อาจหมดไปครึ่งวัน

ครึ่งวันหรือสี่ชั่วโมงสำหรับคนทำงานระดับนั้น หมายถึงขาดทั้งรายได้และ "โอกาส" ไปไม่รู้เท่าไร ("โอกาส" ในทางเศรษฐกิจแปลว่าความเป็นไปได้ที่จะทำรายได้เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่แคบมาก เพราะ "โอกาส" ช่วยชีวิตคนอื่น ไม่นับรวมอยู่ใน "โอกาส" ทางเศรษฐกิจ) ดังนั้น การหยุดให้ความช่วยเหลือจึงมีต้นทุนที่สูงมาก (อย่างน้อยก็ในการประเมินของตนเอง) ต้องคิดไตร่ตรองและชั่งน้ำหนักให้ดี รถมันผ่านไปเร็วครับ คิดไม่ทัน แต่เมื่อผ่านไปแล้ว ก็ถือเป็นคำตอบไปในตัว

อันที่จริงมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เสีย "โอกาส" ทางเศรษฐกิจไปไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะแทนที่จะคิดจากเม็ดเงินที่ต้องเสียไปในการหยุดให้ความช่วยเหลือ แต่คิดถึงสัดส่วนของรายได้ว่าเขาต้องสละไปกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะเห็นว่าเขาสูญเสียเพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากกว่าคนนั่งรถเก๋งหลายเท่า แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคิดได้เร็ว เพราะเขาไม่ทันประเมิน "โอกาส" ทางเศรษฐกิจของเขาเอง มันมีปุ่มอัตโนมัติที่พ่อแม่และสังคมของพวกเขาสอนมาแต่อ้อนแต่ออกว่า คุณค่าความเป็นมนุษย์ย่อมสูงกว่าคุณค่าอื่นใดทั้งสิ้น

(น่าเสียดายที่พวกเขาคงไม่ถูกเชิญไปร่วมในการปฏิรูปการศึกษาซึ่งสนใจที่จะปลูกฝัง "ความเป็นไทย" มากกว่า "ความเป็นคน")

เมื่อคิดได้อย่างนี้ ผมจึงอดไม่ได้ที่จะนำประเด็นนี้ไปคุยกับเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจ แต่อาจเป็นเพราะคำอธิบายจากมิติทางเศรษฐกิจของผมดูน่ารังเกียจชิงชังเกินไปหรืออย่างไรไม่ทราบ เขากลับพยายามยกปัจจัยที่ไม่ใช่เศรษฐกิจมาอธิบายแทน

เขาบอกว่าคนนั่งรถเก๋งคงยังจำได้กระมังว่า ดาราทีวีท่านหนึ่งที่หยุดรถไปช่วยผู้บาดเจ็บ กลับถูกรถอื่นชนจนพิการ จึงไม่อยากลงไปช่วยใคร ผมท้วงว่านั่นมันบนทางหลวง ไม่ใช่สี่แยกกลางกรุงอย่างนั้น และการที่ดาราท่านนั้นได้รับการยกย่องจากสังคมอย่างกว้างขวาง ก็แสดงอยู่แล้วไม่ใช่หรือว่า คนนั่งรถเก๋งไม่ค่อยหยุดรถไปช่วยใคร

เขาจึงยกอีกปัจจัยหนึ่งขึ้นมาว่า ด้วยเหตุใดก็ตาม คนมีฐานะและมีการศึกษามักไม่ค่อยมีทักษะชีวิตในเรื่องเหล่านี้ เช่นลงไปแล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป เป็นต้น ฝากความหวังไว้กับรัฐว่าเดี๋ยวตำรวจและหน่วยสาธารณกุศลคงมาเอง เขาอาจยกโทรศัพท์ไปแจ้งหน่วยงานเหล่านั้นแล้วก็ได้ ผมยอมรับว่าผมไม่รู้ว่าเขาได้โทร.แจ้งหรือไม่ และยอมรับว่าหากขาดทักษะชีวิตในเรื่องเช่นนี้ เขาคงไม่รู้ว่า เมื่อเขาหยุดรถลงมาช่วย จะมีคนอีกมากมา "มุง" และให้คำแนะนำว่าควรทำอย่างไรต่อไป

แม้ว่าเพื่อนผมไม่สนใจปัจจัยที่เป็นมิติทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเราคุยถึงความยั่งยืนของอำนาจ คสช. เขากลับพูดว่า ปัจจัยเดียวที่จะตัดสินว่า คสช.จะดำรงอำนาจของตนสืบไปได้หรือไม่ คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ หมายความว่าหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คสช.ก็จะได้รับการยอมรับจากคนต่างๆ มากขึ้น จนกระทั่งอาจตั้งอยู่ต่อไปได้อีกนาน เหมือนสมัยสฤษดิ์

ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นนี้กว่าครึ่ง คือยอมรับเหมือนกันว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมีความสำคัญ และ คสช.เองก็รู้ว่าสำคัญ แต่อำนาจใดก็ตามที่จะดำรงอยู่ได้อย่างสืบเนื่องยาวนานนั้น ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อีกมากกว่าความจำเริญทางเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ ที่ผมคิดถึงนั้น สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ ปัจจัยของความเป็นคน หรือคุณค่าความเป็นมนุษย์นั่นเอง เพราะเป็นปัจจัยของระบอบปกครองนานาชนิดที่เราพบตั้งแต่สมัยหินลงมา

ผมไม่ได้แจกแจงปัจจัยเหล่านั้นแก่เพื่อนนักธุรกิจ(เพราะคิดไม่ทัน) แต่ขอแจกแจงในที่นี้

ปัจจัยแรกที่จะทำให้อำนาจใดดำรงอยู่ได้ก็คือ การใช้อำนาจอันประณีต น่าประหลาดที่ว่าไม่ว่าจะมีอำนาจเด็ดขาดสักเพียงไร การใช้อำนาจกลับต้องทำโดยประณีตอย่างยิ่ง คนจำนวนมากมักเข้าใจว่า สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปกครองด้วยความเด็ดขาด แต่ผมคิดว่าเราต้องแยกระหว่างบุคลิกภาพของสฤษดิ์ กับวิธีปกครองของสฤษดิ์ เขาใช้กลวิธีอันประณีตหลายอย่างมาก เพื่อให้คนยอมรับอำนาจของเขา เช่น หลังจากการปกครองแบบประชาธิปไตย (อย่างน้อยโดยรูปลักษณ์) ต่อเนื่องกันมา 25 ปี การเปลี่ยนไปสู่ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบไม่ใช่เรื่องง่าย เขาใช้คนมีฝีมือจำนวนไม่น้อย ในการทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตย จริงอยู่บริวารของเขามีโอกาสพูดฝ่ายเดียวก็จริง แต่การพูดฝ่ายเดียวนั้นยากนะครับ เพราะถึงคนอื่นไม่กล้าเถียงดังๆ เขาก็อาจเถียงในใจได้ บริวารของสฤษดิ์ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เถียง และยอมรับ (มาจนบัดนี้) ว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่เหมาะกับสังคมไทย ต้องสร้างระบอบปกครองขึ้นมาใหม่และตั้งชื่อว่าประชาธิปไตยแบบไทย (ซึ่งไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตรงไหนเลย)

นี่คือความประณีตของการใช้อำนาจอย่างหนึ่งครับ

จอมพลป.พิบูลสงคราม นั้น ถืออำนาจเด็ดขาดต่อเนื่องกันหลายปีเมื่อก่อนและระหว่างสงคราม แต่ใครที่ได้มีโอกาสพบท่านต่างเห็นตรงกันว่า ท่านเป็นคนอ่อนหวาน มีเสน่ห์ในการพูดโน้มน้าวใจคนมาก โดยไม่ต้องมีมาตรา 17 (ของสฤษดิ์) ศัตรูทางการเมืองของท่านถูกพิพากษาประหารชีวิต และเนรเทศไปอยู่ในดินแดนกักกัน โดยศาลยุติธรรมจำนวนมาก... จะสั่งเองหรือให้ศาลสั่ง ก็ได้ผลเท่ากัน แต่เป็นการใช้อำนาจอย่างประณีตกว่ากันมาก

"พิธีกรรม" เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในการใช้อำนาจอย่างประณีต สฤษดิ์รื้อฟื้นพิธีกรรมเก่า เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมแห่งอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของตนได้อย่างแนบเนียน จอมพล ป.สร้างสรรค์พิธีกรรมใหม่อีกหลายอย่าง เพื่อทำให้อำนาจของท่านเป็นอำนาจแห่งความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นอารยะ นั่นคือการให้เหตุผลแก่อำนาจที่อาจละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อเป้าประสงค์ที่เราทุกคนต้องการร่วมกัน เราอาจชอบหรือไม่ชอบ "พิธีกรรม" เหล่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลยั่งยืนไปยาวนานกว่าระบอบปกครองของคนทั้งสองด้วยซ้ำ อำนาจดิบถูกทำให้ประณีตจนใครๆ ก็ลืมไปว่านั่นคืออำนาจดิบ แต่จดจำและใช้พิธีกรรมที่อำนาจดิบสร้างขึ้นสืบมา

นอกจากการใช้อำนาจอย่างประณีตแล้ว ยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ อันจะทำให้อำนาจปกครองใดๆ ยั่งยืนได้ ความคาดการณ์ได้ของกฎหมายและการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ความกลัวของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากการคาดไม่ได้ เช่นกลัวผีเพราะไม่แน่ใจว่ามันจะมาใบ้หวยหรือจะมาแลบลิ้นปลิ้นตาให้เราช็อกตาย เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับระบอบปกครองเป็นเผด็จการหรือไม่นะครับ ถึงเป็นเผด็จการอย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องคาดการณ์ได้ว่าทำอะไรแล้วผิด รวมทั้งผิดแล้วจะโดนอะไรบ้าง ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงธุรกิจนะครับว่า อัตราการรีดไถต้องคาดการณ์ได้ ไม่อย่างนั้นทำธุรกิจไม่ได้ เพราะไม่รู้จะคำนวณการลงทุนและผลกำไรอย่างไร

ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ระบอบเผด็จการที่รักษาความคาดการณ์ไม่ได้เพื่อทำให้อำนาจของตนเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน แล้วยังรักษาอำนาจสืบมาได้นานๆ เช่น สตาลิน, ฮิตเลอร์ หรือเหมา เป็นต้น ก็มีอยู่ แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีอะไรแลกครับ และสิ่งที่จอมเผด็จการเหล่านี้เอามาแลกคือ "ความสำเร็จ" หนึ่ง กับอุดมการณ์อีกหนึ่ง ในท่ามกลางความล่มสลายของเศรษฐกิจสังคมรัสเซีย, เยอรมันหลังสงคราม และจีน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจอมเผด็จการทั้ง 3 สร้างความแข็งแกร่งอันใหม่ให้บนความหวาดกลัวของผู้คน

ทางด้านอุดมการณ์ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่าทั้ง 3 กรณีต่างอ้างอุดมการณ์ของความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนทั้งสิ้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ในนามของการ "ปฏิวัติ" ทุกคนต้องเสียสละที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย ต้องยอมรับว่าชีวิตในสังคมปฏิวัติคือ ชีวิตที่ถูกปิดล้อมทุกด้าน เพื่อให้ลูกหลานได้พบสังคมใหม่ที่ดีกว่าเก่า ผมไม่คิดว่าอุดมการณ์ที่จะนำสังคมย้อนกลับไปหาอดีตมีพลังพอจะรักษาความคาดการณ์ไม่ได้ไว้เป็นเครื่องมือของอำนาจได้นานๆแน่

นอกจากเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่จะทำให้ระบอบอำนาจใดๆ สามารถดำรงอยู่ได้ ผมคิดว่าการวิเคราะห์การเมืองไทยในปัจจุบัน โดยดูจากความสำเร็จหรือความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเข้าใจหรือคาดการณ์อะไรได้

 ที่มา.มติชน
-------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ความงุนงง !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ความงุนงงเกิดขึ้นได้เสมอแม้ว่าเหตุการณ์หรือเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นแล้วหรือกำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ความงุนงงอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอกับบุคคล เป็นประสบการณ์ชีวิต และสังคมใดสังคมหนึ่งก็เกิดความงุนงงขึ้นได้เสมอ

ความงุนงง หรือความประหลาดใจ เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอย่างน้อย 2 อย่าง อย่างแรก คือการไม่มีข้อมูลข่าวสาร หรือมีข้อมูลข่าวสารแต่ไม่สมบูรณ์ หรือมีข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ เป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่จริง ประการที่สอง คือความไม่มี "เหตุผล" หรือความไม่สอดคล้องกับ "ตรรกะ"

บุคคลไม่ว่าจะมีความฉลาดเฉลียวมากน้อยขนาดไหน หรือแม้แต่บุคคลที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะ บางครั้งก็เกิดความงุนงงได้ ถ้าตั้งสติไม่ทัน

เคยได้ยินเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งผู้ที่ไปเยี่ยมอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่บ้าน เห็นเจ้าของบ้านกำลังเจาะฝาบ้านเป็นสองรู รูหนึ่งเป็นรูเล็ก อีกรูหนึ่งเป็นรูใหญ่ เพื่อนผู้ที่ไปเยี่ยมถามว่าเจาะรู 2 รูนี้ไว้ทำไม ได้ความว่า เจาะไว้ให้แมวผ่านได้ จะได้ไม่ต้องเปิดปิดประตูใหญ่ ทำไมต้องเจาะ 2 รู ได้รับคำตอบว่า รูใหญ่เจาะเอาไว้ให้แมวที่เป็นตัวแม่ออกเพราะเป็นแมวตัวใหญ่ ตอนนี้มันมีลูกก็เลยต้องเจาะรูเล็กไว้ให้ลูกแมวลอดเข้าออกได้ เพื่อนที่ฟังไอน์สไตน์กล่าวก็หัวเราะแล้วก็บอกว่า บางทีอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ก็เกิดความงุนงงได้เหมือนกัน เพราะลูกแมวตัวเล็กก็ลอดเข้าออกรูใหญ่ที่แม่ของมันใช้ลอดเข้าออกได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเจาะรูเล็กเพื่อลูกแมวโดยเฉพาะก็ได้

ความงุนงงแล้วตัดสินใจ เพราะการขาดข้อมูลข่าวสาร หรือได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จนั้นเกิดขึ้นได้อยู่เสมอในทุกสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเมืองและวงการปกครอง ความงุนงงจากเหตุการณ์ในอดีตกับความงุนงงจากเหตุการณ์ปัจจุบันนั้น บางทีก็ทำให้เกิดความงุนงงไปถึงเหตุการณ์ในอนาคต ทั้งที่เป็นอนาคตอันใกล้

สาเหตุที่มีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดความงุนงง เพราะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันบ้าง เกิดอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยบ้าง ถึงแม้จะมีคำพังเพยที่กล่าวว่า "มีไฟจึงมีควัน" แต่ปรากฏการณ์หลายอย่าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่เห็นได้ทั่วกันกลับไม่ได้เป็นผู้วางแผนให้เกิดขึ้นมาก่อน ในกรณีอย่างนี้ ความงุนงงก็จะเกิดขึ้นไปทั่ว จะรับเคราะห์ผลดีผลเสียอย่างไร จะใช้ตรรกะอย่างไรก็คิดไม่ออก กับการไม่ลงตัว

แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดก็เป็นไปตามตรรกะ มีควันก็ต้องมีไฟ มีไฟก็ต้องเกิดควัน มีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้า มีการแบ่งงานกันทำ งานที่ทำมาแต่ละขั้นตอนก็กำหนดเวลา สถานที่ที่แน่นอน เพื่อให้สอดคล้องกัน มีแผนรุกและแผนรับที่แยบคาย ถ้าการดำเนินงานแต่ละส่วนแต่ละขั้นตอนมีอุปสรรคติดขัด ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนให้เดินหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสุดท้ายของแผนได้

การที่ผู้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ จะทำให้การดำเนินการเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายมีโอกาสที่จะล้มเหลวเสียกลางคันน้อยลง โอกาสที่จะบรรลุถึงเป้าหมายขั้นสุดท้ายมีสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามหรือผู้สังเกตการณ์สังเกตให้ดี ใช้ข้อมูลข่าวสารเท่าที่มีร่วมกับการใช้ตรรกะก็อาจจะเดาได้ เหตุการณ์จะพัฒนาไปในทางใด

แม้ว่าจะเป็นสังคมที่ขึ้นชื่อว่ามีความโปร่งใส เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ความลับลมคมในก็มีอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าในสังคมดังกล่าว สื่อมวลชนที่เข้มแข็งจะเป็นผู้ที่สืบเสาะและนำเสนอต่อสาธารณชน แม้ในสถานการณ์สู้รบในภาวะสงคราม เช่น สงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐก็ไม่สามารถปิดบังการกระทำหลายอย่างของตนต่อสาธารณชนของโลกได้ ก็ต้องยอมรับความจริงและต้องถอนตัวออกจากสงครามในที่สุด

ความงุนงงสงสัยจะมีมากขึ้นสำหรับสังคมที่ระบอบการเมืองยังไม่พัฒนา ยังเป็นสังคมที่มีความลับลมคมในอยู่ทั่วไป เป็นสังคมที่อึมครึมไปหมด ฉะนั้นแล้ว "ข่าวลือ" จะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดในการสร้างกระแส สร้าง "คุณค่า" ใหม่ให้กับสังคมได้มาก

ในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสะดวกและรวดเร็ว การสร้างข่าวร้าย ปล่อยข่าวเท็จ เสพข่าวลือ ให้กลายเป็นกระแสจนผู้คนเชื่อว่าเป็นความจริงเกิดขึ้นได้เสมอ และอาจจะสร้างความเสียหายให้กับบุคคลหรือครอบครัว และแม้แต่สังคมโดยส่วนรวมได้ง่ายๆ การป้องกันสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากแต่ก็ต้องทำ เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ

เมื่อเกิดความงุนงงขึ้น ทำอย่างไรถึงจะมีกลไกที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อขจัดความงุนงงเหล่านั้นอย่างทันท่วงที อย่างมีประสิทธิภาพ ความจริงน่าจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สังคมโดยส่วนรวมจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแท้จริงและไม่ถูกเบียดเบียน และน่าจะเป็นหน้าที่ของ "รัฐ" เสียด้วยซ้ำ

ถ้า "รัฐ" ไม่ทำหน้าที่อันสำคัญนี้ หรือทำได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็คงจะต้องเป็นหน้าที่ขององค์กรประชาชนที่ไม่ใช่องค์กรรัฐบาล ทำหน้าที่นี้แทน แต่อย่างไรก็ตาม ในบรรดาประเทศที่การพัฒนาทางการเมืองยังต่ำ สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น บางครั้งองค์กรระหว่างประเทศก็ยังจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทน

บางครั้งปัญหาเกิดขึ้นในทิศทางที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ รัฐบาลนั้นกลับไม่ได้รับความเชื่อถือ แม้จะมีข้อมูลข่าวสารมากมายแต่ประชาชนฝ่ายต่อต้านก็ไม่รับฟัง แต่พร้อมที่จะเลือกเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ตนพอใจอยากจะเชื่อ สถานการณ์ดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย เหตุการณ์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในประเทศยูเครน ที่ประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการแยกตัวกลับไปรวมกับรัสเซีย เพราะยูเครนเคยร่วมอยู่ในจักรวรรดิรัสเซียมานาน มีคนเชื้อสายรัสเซียอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ภาษาที่พูดกันในยูเครนกับภาษารัสเซียก็ใกล้เคียงกันมาก

สิ่งที่น่าจะงุนงงอีกเรื่องหนึ่งก็คือ สังคมของเราได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 40 ปีในการสถาปนาระบอบการปกครองที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยย้อนกลับไปที่เดิมได้อย่างสงบเงียบเรียบร้อย เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนสถานการณ์ราวกับว่าประเทศไทยกำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

หลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน โครงการพัฒนาต่างๆ เป็นเรื่องร้อนที่ราวกับว่าถ้าเกิดขึ้นประเทศจะเสียหายล่มสลาย แต่บัดนี้มีการประกาศโครงการที่มีมูลค่ามากกว่าเดิมกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าข้างในนั้นมีโครงการอะไรบ้าง ที่งุนงงเพราะบัดนี้เงียบสนิททั้งพรรคฝ่ายค้านและสื่อมวลชน

จะว่าเป็นเรื่องระยะสั้นชั่วคราว เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับย่อ หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูป หรือรัฐบาลก็คงไม่ใช่ เพราะโครงการต่างๆ เหล่านี้คือนโยบายทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมมากมายต่างๆ จะมีผลต่อไปในระยะยาว ชั่วลูกชั่วหลาน

ถ้าไม่งุนงงก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

ที่มา:มติชน
////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กับดักสภาพคล่อง ยุโรปและอเมริกา !!?



โดย วีรพงษ์ รามางกูร

บัดนี้เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมีปริมาณมากกว่าความต้องการในตลาด ใช้คำศัพท์ที่หรูหราว่าเป็น "นโยบายผ่อนคลายทางปริมาณ" จุดประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นความต้องการ ทั้งการบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ให้มีภาระดอกเบี้ยแพงและภาวะเงินตึงตัวในระบบเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นเองในที่สุดก็ประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

ช่วงหลังเกิดความกลัวว่าเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยุโรปมีปริมาณเพิ่มถึงจุดหนึ่งแล้ว ความเชื่อมั่นในเรื่องค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโรจะสั่นคลอน

ขณะนี้สัดส่วนของความต้องการเงินสกุลต่างๆ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการนั้น เงินดอลลาร์สหรัฐก็ยังมีสัดส่วนสูงที่สุด คือประมาณ 82 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินเยนของญี่ปุ่นมีสัดส่วนน้อยลง กล่าวคือ มีสัดส่วนเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ เงินหยวนของจีนกลับมีความสำคัญเพิ่มขึ้นถึง 8.7 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นสกุลสำคัญอันดับที่ 2 ในการเป็นเงินที่ใช้ในการชำระหนี้การค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่เงินยูโรมีสัดส่วนในการชำระหนี้เพียงร้อยละ 6.7 เท่านั้น

แต่ถ้ารวมความต้องการถือเงินดอลลาร์ ในฐานะที่เป็นเงินสกุลเดียวที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แม้จะเป็นประเทศที่มีฐานะเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐแล้วก็ตาม เงินดอลลาร์ก็ยังถือได้ว่าเป็นเงินสกุลเดียวที่มีความสำคัญมากที่สุด ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และคงจะยังมีความสำคัญต่อไปในอนาคตอีกด้วย

การที่ธนาคารกลางของสหรัฐประกาศเพิ่มปริมาณเงินอย่างมหาศาลในระบบโดยหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำสุดมาเป็นเวลานาน

เมื่อเวลาผ่านมาถึง 6-7 ปี เศรษฐกิจของสหรัฐเองก็ยังไม่สามารถจะกล่าวว่าได้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เพียงแต่บางครั้งมีความรู้สึกว่าฟื้นตัวขึ้นบ้าง แล้วก็ฟุบตัวลงไปอีก การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐอเมริกา แม้จะมีปัญหาน้อยลงบ้าง แต่ก็ยังเป็นปัญหา ยังแก้ไม่ตก

ในบรรดากลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกก็เหมือนกัน ดูจะยิ่งย่ำแย่ยืดเยื้อกว่าสหรัฐเสียอีก อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูง และดูท่าจะไม่มีทางกระเตื้องขึ้นเลย ในขณะที่อัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกา บางครั้งบางตอนก็มีอาการกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แล้วก็กลับฟุบตัวลงอีก

มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนอเมริกันนั้น อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก รองลงไปก็เห็นจะเป็นยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น เมื่อประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจให้เสรีมากขึ้น ประเทศพัฒนาเดิมก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการให้

กับภูมิภาคในเอเชียไปจนหมดสิ้นรายได้ของคนอเมริกันส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ทรัพย์สินทางปัญญา อาศัยที่อเมริกายังสามารถผูกขาดการเป็นเจ้าของตลาดทุนและตลาดเงินได้อยู่ การระดมทุนก็ดี การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนก็ดี ยังอยู่ในมือของบริษัทอเมริกันเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นิมิตสิทธิ์ และอื่น ๆ อยู่บ้าง

เมื่ออเมริกาประกาศว่าสามารถใช้เทคโนโลยีของตนเจาะพื้นพิภพลึกลงไปกว่า 10 กม. เพื่อนำเอาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาใช้ได้ ก็ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกากระเตื้องขึ้น ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ยั่งยืน

ราคาหุ้นในตลาดสหรัฐจึงขึ้นลงไปตามกระแสข่าวในระยะสั้น มากกว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน นับเป็นเวลากว่า 6-7 ปีมาแล้ว เศรษฐกิจของยุโรปก็อยู่ในลักษณะอาการอย่างเดียวกัน

เมื่อทศวรรษที่แล้ว จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เพราะความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่ายุโรปและอเมริกา แต่ความสามารถก็ทำให้ฐานะทางการเงินของภูมิภาคอื่น ๆ อ่อนแอลง

การที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น ใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินจนกลัวว่าจะท่วมตลาด ดึงดอกเบี้ยต่ำลงจนเกือบจะเข้าใกล้ศูนย์ แต่ภาวะเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐและยุโรปก็ยังซบเซาซึมอยู่ เป็นเวลานานจนกระทั่งบัดนี้

ที่หลายคนเกรงว่าในระยะยาว นอกจากนโยบายเพิ่มปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ได้ผลแล้ว น่าจะมีความเสี่ยงในระยะยาวว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ เงินดอลลาร์และเงินยูโรจะกลายเป็นเศษกระดาษ แต่การณ์ก็มิได้เป็นไปอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ คนเป็นห่วง ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังทรงตัวอยู่ได้ แม้จะมีความผันผวนอยู่มากก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นและราคาทองคำ

บัดนี้มีคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างค่อนข้างรุนแรงจากธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศว่ามาตรการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ และการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ใกล้ ๆ ระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์ อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้บ้างในระยะสั้น แต่เป็นผลเสียในระยะยาว เพราะตลาดการเงินถูกบิดเบือน ทั้งปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามธรรมชาติหรือกลไกตลาด ทำให้ตลาดใช้เงินทุนจากเงินออมของสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพในการลงทุน จึงเท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาของการตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปให้ยาวนานเกินกว่าความจำเป็น

ปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ตลอดมาตั้งแต่สหรัฐอเมริกาและยุโรปประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อนำมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาลและของเอกชนที่มีคุณภาพดีกลับคืนไป เริ่มจากเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาลดลงเหลือเดือนละ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และจะหยุดเพิ่มปริมาณเงินดังกล่าวในเดือนตุลาคมปีนี้เป็นต้นไป หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับขึ้นไปอยู่ที่อัตราที่สูงขึ้นแต่ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์

ทันทีที่นางเยลเลนประกาศ แทนที่ราคาหุ้นในตลาดสหรัฐจะลดลง ราคาหุ้นกลับดีดสูงขึ้น สร้างความแปลกใจให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นอันมาก ความเป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นของสหรัฐตอบสนองต่อท่าทีของผู้ว่าการธนาคารกลางในระยะสั้น เพราะปฏิกิริยาของนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่ในระยะปานกลางและระยะยาว ดัชนีราคาหุ้นก็คงจะปรับตัวลง

ข้อถกเถียงในเรื่องนโยบายคิวอีของสหรัฐ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในแง่ทฤษฎีมหเศรษฐศาสตร์ว่า นโยบายการเงินนั้น ไม่น่าจะมีประโยชน์ในการกระตุ้นในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ฟื้นตัวได้ เป็นแต่เพียงพยุงระบบเศรษฐกิจไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันการบิดเบือนตลาดดังกล่าว ทำให้ยืดอายุของการตกต่ำทางเศรษฐกิจให้ยืดยาวออกไปนานกว่าที่ควรจะเป็น

การคาดหวังว่าเศรษฐกิจของสหรัฐยุโรป และญี่ปุ่น จะฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้นี้ คงจะยังไม่จริง ต้องรอกันต่อไป

ที่มา.ปรชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

9 สิ่งมีชีวิต บางทีอาจจะอาศัยอยู่ ในตัวคุณ !!?

เคยได้ยินหรือไม่ คำกล่าวที่ว่า “เราจะกลืนลูกแมงมุมตัวเล็กๆตอนเราหลับ” คำกล่าวนี้ไม่เป็นจริงอีกต่อไป เรานักวิทยาศาสตร์ค้นพบ 9 สิ่งมีชีวิต ที่อาศัยอยู่ในร่างกายเราจริงๆ เหมียวบอกตามตรงว่า ให้แมงมุมให้ไปอยู่ในร่างกายเราดีกว่า

1. พยาธิตัวตืด – อาศัยอยู่แถวๆทางเดินอาหาร มีหน้าที่เป็นปรสิต



2. ตัวหิด – ไอ่ตัวจิ๋วนี่ฤทธิ์ร้ายแรงมากนะจ๊ะ โดนทีอาจเป็นผื่นแสบคันได้เลย



3. ปีเตอร์ หรือ แมลงสาบ – ระวัง มันจะเข้าไปในหูคุณตอนหลับ!!



4. พยาธิตัวกลม – สุดยอดแห่งความน่ากลัว ดูจากภาพก็สยองละ



5. แมลงหางหนีบ – ถึงแม้ว่ามันจะหาได้ยาก แต่มันก็พร้อมที่จะมุดเข้าไปในรูหูของคุณ




6. แคนดิรู – ผู้ชื่นชอบฉี่เป็นพิเศษ เป็นปรสิตที่อยู่ในน้ำ ใครที่ชอบเล่นน้ำบ่อยก็ระวังมันเลื้อยเข้าไปนะ



7. พยาธิปากขอ – มันคือแวมไพร์ในคราบพยาธินี่เอง แต่ไม่ต้องห่วง เวลาคุณโดนกัดคุณจะไม่ได้กลายเป็นพยาธิหรอกนะ





8. ผีเสื้อกลางคืน – ในความสวยงามย่อมมีอันตรายแฝง เข้าหูทีนี่เอาออกยากมาก



9. หนอนแมลง – ส่วนใหญ่พบในอาหารที่เน่าเสีย ไม่น่าเชื่อว่าจะพบในร่างกายมนุษย์ด้วย



ที่มา viralnova
/////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พลิกปูม : พรเพชร วิชิตชลชัย - วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายเบื้องหลัง คสช.


พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายาxวิษณุ เครืองามxพรเพชร วิชิตชลชัยxรัฐธรรมนูญชั่วคราวxเนติบริกรxตุลาการxมือกฎหมาย

แหล่งข่าวในแวดวงตุลาการ เล่าว่า นายพรเพชรอยู่ในตระกูลตุลาการ เพราะบิดาก็เป็นผู้พิพากษา

ในการแถลงข่าวเพื่อชี้แจง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557" ครั้งนี้ หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. เจ้าของสมญานาม "เนติบริกร" เป็นอย่างดี

แต่กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งนั่งร่วมโต๊ะแถลงความเป็นมาของการจัดทำกฎหมายสูงสุดของประเทศในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัวต่อสาธารณะ จึงทำให้เกิดความกระหายใคร่รู้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายผู้นี้เป็นใคร

และที่สำคัญเหตุใดเขาจึงได้รับความไว้วางใจจาก คสช.ให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชี้แจงเรื่องสำคัญๆ อย่างนี้ต่อสังคม

คลิ๊กเปิดแฟ้มประวัตินายพรเพชร จากเว็บไซต์สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พบประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานแล้วบอกได้คำเดียวว่าคุณภาพคับแก้ว

นายพรเพชร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก วชิราวุธวิทยาลัย ส่วนในระดับอุดมศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทย ได้รับทุนรัฐบาล (ก.พ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐ ต่อมาได้รับการโปรดกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ยังผ่านการฝึกอบรมได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงวิธีดําเนินคดีแพ่ง และวิธีดําเนินคดีอาญาจากสหรัฐ และประกาศนียบัตรทรัพย์สินทางปัญญา หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.41) และสถาบันพระปกเกล้า (ปปร.11)

ด้านหน้าที่การงานเขาเริ่มรับราชการตำแหน่งนิติกรตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2516 จากนั้นปี 2519 เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ก่อนมาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2521

เริ่มเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2530 รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 5

ต่อมาปี 2547เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา จากนั้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ตามลำดับ ปัจจุบันเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินแทนนายประวิช รัตนเพียร ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ทั้งนี้ในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 สมัยเคยดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนหน้าที่การงานในตำแหน่งอื่นๆ นั้นก็ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งสวมหมวกอาจารย์สอนกฎหมายให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง

ในการทำหน้าที่ผู้พิพากษา เขาเป็นผู้พิพากษาในคดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจ ชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เคยเป็นองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตกล้ายาง

แหล่งข่าวในแวดวงตุลาการ เล่าว่า นายพรเพชรอยู่ในตระกูลตุลาการ เพราะบิดาก็เป็นผู้พิพากษา ขณะที่ตัวเขาเองรับราชการเป็นผู้พิพากษาจนกระทั่งเกษียณอายุ

ด้วยเหตุที่จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งจบนิติศาสตร์ จุฬาฯ เช่นเดียวกัน

แหล่งข่าวคนเดิม เล่าอีกว่า นายพรเพชรเป็นผู้พิพากษาน้ำดี ไม่มีประวัติในทางเสื่อมเสีย จุดเด่นคือมีมนุษยสัมพันธ์ดี ชอบทำกิจกรรม จึงเป็นคนกว้างขวาง รู้จักคนมาก เมื่อครั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส เคยสมัครเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในสายที่คัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน กระทั่งไปจบที่ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน

อย่างไรก็ดี ในปี 2549 นายพรเพชร เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นสภาที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จึงรู้จักและมีสายสัมพันธ์อันดีกับทหารหลายกลุ่ม กระทั่งได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในการรัฐประหารอีกครั้งในปีนี้

สำหรับ นายวิษณุ เครืองาม เจ้าของสมญา "เนติบริกร" ได้รับความไว้วางใจจาก คสช. ให้เป็นหัวหน้าทีมยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพราะนอกจากมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแล้วยังเป็นที่ไว้วางใจของกลุ่มชนชั้นนำ และมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทางการเมืองและนักธุรกิจระดับชาติ

ทบทวนความจำเกี่ยวกับประวัติของนายวิษณุ เริ่มจากการเป็น "โฆษกรัฐบาล" เมื่อปี 2535 ในรัฐบาลยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร เขาวนเวียนอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้กับนายกรัฐมนตรีถึง 7 คนจากทั้งหมด 10 รัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ไม่เพียงแต่ในรัฐบาลในภาวะปกติอย่างเดียว กับช่วงภาวะการปกครองบ้านเมืองไม่ปกติ นายวิษณุก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนในฐานะ "มือกฎหมาย" คู่ใจคณะรัฐประหารมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2534 สมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2549 ยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และกับการรัฐประหารโดย คสช.ในครั้งนี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////