แหล่งข่าวในแวดวงตุลาการ เล่าว่า นายพรเพชรอยู่ในตระกูลตุลาการ เพราะบิดาก็เป็นผู้พิพากษา
ในการแถลงข่าวเพื่อชี้แจง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557" ครั้งนี้ หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. เจ้าของสมญานาม "เนติบริกร" เป็นอย่างดี
แต่กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งนั่งร่วมโต๊ะแถลงความเป็นมาของการจัดทำกฎหมายสูงสุดของประเทศในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัวต่อสาธารณะ จึงทำให้เกิดความกระหายใคร่รู้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายผู้นี้เป็นใคร
และที่สำคัญเหตุใดเขาจึงได้รับความไว้วางใจจาก คสช.ให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชี้แจงเรื่องสำคัญๆ อย่างนี้ต่อสังคม
คลิ๊กเปิดแฟ้มประวัตินายพรเพชร จากเว็บไซต์สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พบประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานแล้วบอกได้คำเดียวว่าคุณภาพคับแก้ว
นายพรเพชร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก วชิราวุธวิทยาลัย ส่วนในระดับอุดมศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทย ได้รับทุนรัฐบาล (ก.พ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐ ต่อมาได้รับการโปรดกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังผ่านการฝึกอบรมได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงวิธีดําเนินคดีแพ่ง และวิธีดําเนินคดีอาญาจากสหรัฐ และประกาศนียบัตรทรัพย์สินทางปัญญา หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.41) และสถาบันพระปกเกล้า (ปปร.11)
ด้านหน้าที่การงานเขาเริ่มรับราชการตำแหน่งนิติกรตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2516 จากนั้นปี 2519 เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ก่อนมาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2521
เริ่มเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2530 รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 5
ต่อมาปี 2547เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา จากนั้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ตามลำดับ ปัจจุบันเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินแทนนายประวิช รัตนเพียร ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ทั้งนี้ในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 สมัยเคยดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนหน้าที่การงานในตำแหน่งอื่นๆ นั้นก็ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งสวมหมวกอาจารย์สอนกฎหมายให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง
ในการทำหน้าที่ผู้พิพากษา เขาเป็นผู้พิพากษาในคดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจ ชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เคยเป็นองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตกล้ายาง
แหล่งข่าวในแวดวงตุลาการ เล่าว่า นายพรเพชรอยู่ในตระกูลตุลาการ เพราะบิดาก็เป็นผู้พิพากษา ขณะที่ตัวเขาเองรับราชการเป็นผู้พิพากษาจนกระทั่งเกษียณอายุ
ด้วยเหตุที่จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งจบนิติศาสตร์ จุฬาฯ เช่นเดียวกัน
แหล่งข่าวคนเดิม เล่าอีกว่า นายพรเพชรเป็นผู้พิพากษาน้ำดี ไม่มีประวัติในทางเสื่อมเสีย จุดเด่นคือมีมนุษยสัมพันธ์ดี ชอบทำกิจกรรม จึงเป็นคนกว้างขวาง รู้จักคนมาก เมื่อครั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส เคยสมัครเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในสายที่คัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน กระทั่งไปจบที่ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
อย่างไรก็ดี ในปี 2549 นายพรเพชร เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นสภาที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จึงรู้จักและมีสายสัมพันธ์อันดีกับทหารหลายกลุ่ม กระทั่งได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในการรัฐประหารอีกครั้งในปีนี้
สำหรับ นายวิษณุ เครืองาม เจ้าของสมญา "เนติบริกร" ได้รับความไว้วางใจจาก คสช. ให้เป็นหัวหน้าทีมยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพราะนอกจากมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแล้วยังเป็นที่ไว้วางใจของกลุ่มชนชั้นนำ และมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทางการเมืองและนักธุรกิจระดับชาติ
ทบทวนความจำเกี่ยวกับประวัติของนายวิษณุ เริ่มจากการเป็น "โฆษกรัฐบาล" เมื่อปี 2535 ในรัฐบาลยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร เขาวนเวียนอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้กับนายกรัฐมนตรีถึง 7 คนจากทั้งหมด 10 รัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ไม่เพียงแต่ในรัฐบาลในภาวะปกติอย่างเดียว กับช่วงภาวะการปกครองบ้านเมืองไม่ปกติ นายวิษณุก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนในฐานะ "มือกฎหมาย" คู่ใจคณะรัฐประหารมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2534 สมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2549 ยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และกับการรัฐประหารโดย คสช.ในครั้งนี้
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น