--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

น.พ.สุรพงษ์ เช็กจุดอ่อน พท. วัดไข้ปฏิรูป ปชป. ถ้าอยากชนะต้องเปลี่ยน หน.พรรค

อีกไม่ถึง 40 วัน คนการเมือง จำนวน 109 คนกำลังจะได้รับอิสรภาพ-กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งสมาชิกบ้านเลขที่ 109 ผู้ถูกพันธการเว้นวรรคทางการเมืองเมื่อ 5 ปีก่อน หลายคนยังปูเส้นทางกลับคืนสู่แสงไฟ ขณะอีกหลายคนยังคงเลือกที่จะหลบฉาก-เลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต

"น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน อาจเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เลือกอยู่เบื้องหลังมากกว่าเบื้องหน้า

กว่า 5 ปีที่ถูกเว้นวรรค "น.พ.สุรพงษ์" มิได้แสวงอำนาจเหมือนคนอื่น ๆ กลับปลีกวิเวกเข้าวัด ปฏิบัติธรรม พร้อมนำเสนอโครงการทำนุบำรุงพุทธศาสนามากมาย

"น.พ.สุรพงษ์" ตอบปัญหาการเมืองตามที่ "ประชาชาติธุรกิจ" ร้องขอ เขาตอบแบบทางสายกลางตามวิถีพุทธ ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งแนะวิธีบริหารการเมือง-เศรษฐกิจให้พรรคเพื่อไทย และชี้ช่องปฏิรูปให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

เส้นทางสายกลางของทั้ง 2 พรรคใหญ่ควรเป็นอย่างไร โปรดติดตาม

- ทำไมถึงเลือกใช้ชีวิตแบบหันเข้าวัด

ทำบุญ เดินสายทำบุญ ชีวิตมันมีความสุขนะ ถ้าเทียบกับสมัยชีวิตปี 2544-2551 ชีวิตอย่างนั้นเป็นชีวิตที่...มันสูญเสียความเป็นส่วนตัว แล้วเรากำหนดตารางของชีวิตไม่ได้ แต่ละวันบอกไม่ได้เลยว่าวันหยุด

เราจะไปไหน และไปแบบไม่เป็นสุขหรอก มันเป็นชีวิตที่...อาจสนุกกับการทำงาน แต่ในเรื่องความเป็นส่วนตัวอะไรหลายอย่างรัดกุมมากจนเราไม่มีความสงบ

วันนี้ชีวิตสงบกว่าเยอะ เป็นส่วนตัว อยากไปทำบุญ อยากไปช่วยภรรยาทำงานก็ทำได้ อยากไปหาโอกาสเรียนรู้พัฒนาตัวเอง ดูนู่น ดูนี่ เราสามารถทำได้ตลอดเวลา ดังนั้น ใครถามผม ผมบอก...มีความสุขมาก Happy อาจเป็นเพราะเราผ่านมาหมดแล้ว ได้รู้แล้วว่าประสบการณ์ของการอยู่ในตำแหน่งเป็นอย่างไร สุดท้ายพวกนี้มันก็ไม่ได้ทำให้เรามีรู้สึกว่าเราสุขหรอก

- เรียกได้ว่าไม่กลับมาเล่นการเมืองแล้ว

ตอนปี 2544 ผมอายุ 44 ปี ตอนนี้อายุ 56 ปี ระยะเวลา 12 ปีมันทำให้เรื่องของสังขารไม่เหมือนเดิมหรอก ไม่ Fresh เท่าเดิม ร่างกายมันล้า ต้องใช้คนที่มีพลังในการผลักดันงาน ยกตัวอย่าง ท่านชัชชาติ (สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม) อยู่ในวัยที่มีพลัง เราอาจแนะนำได้เป็นที่ปรึกษาได้

- 8 ปีบนชีวิตการเมืองถือว่าพอแล้ว

พูดไว้นานแล้วและยังคิดอย่างนั้น เพราะผมรู้สึกว่าถ้าทุกคนตั้งเป้าหมาย ตั้งเวลาของเราไว้ชัดเจน และใช้เวลาที่เราตั้งไว้นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุ่มสุดตัว 8 ปี ของผมทุ่มสุดตัว หลังจากนั้นก็เป็นเวลาที่เราทำอย่างอื่น ไปทำบุญไปเรียนรู้โลก

- ชัด ๆ เลยคือรีไทร์ทางการเมือง

ผมเคยบอกกับทุกคนอยู่แล้ว ถ้าเป็นการเมืองในรูปลักษณ์เดิม ผมว่าไม่สอดคล้องกับสภาพของตัวเราในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นการเมืองในสภาพที่ปรึกษา อย่างไรก็เกี่ยวข้องกับเราแน่ ผมก็อยากให้การเมืองเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ผมอยากเห็น ประเทศมีประชาธิปไตย มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีโอกาสที่ทำให้ทุก ๆ คนได้โอกาสนั้นอย่างเท่าเทียม ถ้าส่วนหนึ่งต้องใช้ประสบการณ์ผมก็โอเค...ยินดีทำ

- มองว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อสมาชิกบ้านเลขที่ 109 กำลังจะกลับมา

ก็คงเหมือนบ้านเลขที่ 111 คือ มีส่วนหนึ่งที่มาช่วยทำงาน ส่วนหนึ่งก็เป็นที่ปรึกษา ไม่จำเป็น 111 หรือ 109 พ้นจากการถูกตัดสิทธิจะต้องกลับมาทำงาน แล้วท่านที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันต้องออกไปเลยคงไม่ใช่ บางคนที่เขาทำงานได้ดีก็ควรส่งเสริมให้เขาทำงานต่อไป พวก 111 และ 109 สามารถอยู่ในบทบาทให้คำปรึกษา สนับสนุน อยู่เบื้องหลังก็ได้

- พรรคเพื่อไทยอาจพบศึกชิงเก้าอี้รัฐมนตรีจนฝุ่นตลบอีกครั้ง

ไม่มากมั้ง เพราะหลายท่านมาถึงจุดที่ตำแหน่งไม่ใช่เรื่องสำคัญอย่างท่านสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) ที่ให้สัมภาษณ์ก็บอกว่าตำแหน่งไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย ถามว่าจำเป็นไหมจะต้องไขว่คว้าทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ไปอยู่ตรงนั้นอีกหรือเปล่า ผมว่าอาจจะไม่จำเป็น

ก็อย่างที่เรียนว่าไม่ทุกคนหรอกที่ดิ้นรนต้องหาตำแหน่ง คือ...ยิ่งพอมาเห็นยุคนี้ เห็นการเมืองแบบนี้ เราก็ยิ่งเข้าใจว่าเรื่องตำแหน่งมันเป็นเรื่องเล็กมาก ถ้าเปรียบเทียบกับปัญหาของบ้านเมือง

- มองสถานการณ์การเมืองช่วงนี้อย่างไร

เป็นการเมืองหลัง 19 กันยา ที่ปัญหายังคงยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน เหมือนกับยังไม่เห็นแสงสว่างชัดเจน ความพยายามปฏิรูปการเมืองของท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามทำอยู่ ก็เป็นความตั้งใจดีที่อยากเห็นการปฏิรูปที่นำไปสู่การนำประเทศกลับมาสู่หนทางที่ควรจะเป็นอีกครั้ง แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่ง่ายหรอก

ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ณ วันนี้ เชื่อว่าทุกคนเบื่อความขัดแย้ง ทุกคนอยากให้ถึงบทสรุปที่เรากลับไปสู่ทิศทางการเมืองที่ถูกต้อง ดังนั้น เราจะเห็นพวกม็อบอาจไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน เพราะคนรู้สึกว่าเบื่อหน่ายแล้ว

ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคเพื่อไทย ต้องยอมรับว่าลักษณะความนิยมของ ปชป.ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ วิเคราะห์กันได้ว่า เพราะ ปชป.ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูปตัวเองเพื่อแข่งขันในยุคของการแข่งขันในการเมืองแบบใหม่ได้

ถ้าเราดูประสบการณ์ในประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษคิดว่าเป็นบทเรียนที่สอนว่าเราอยากเห็นการเมืองที่มีการแข่งขันกันในการนำเสนอนโยบาย เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก

สมัยมาร์กาเรต แทตเชอร์ ครองอำนาจเป็นทศวรรษ คนคงนึกไม่ออกว่าพรรคเลเบอร์จะสู้อะไรได้ แต่ที่พรรคเลเบอร์สามารถชนะในยุคของโทนี่ แบลร์ เพราะมีการปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามานำพรรค และนำเสนอประเด็นที่โดนใจประชาชนอังกฤษคือเรื่องการศึกษา สุดท้ายเขาอยู่ในตำแหน่ง 2 สมัย

ถ้าวันนี้ ปชป.จะแข่งกับพรรคเพื่อไทย ก็ต้องเริ่มปฏิรูปจริง ๆ ที่สำคัญประการแรกคือ ต้องมีผู้นำคนใหม่ ต้องยอมรับว่าท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีปัญหาหลายอย่าง และสำคัญที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับท่าน ก็คือปัญหาพฤษภาคม 2553 ที่ทำให้คนรู้สึกว่ารับไม่ได้

ดังนั้น ปชป.จะปฏิรูปก็ต้องทำอย่างจริงจังในเรื่องนโยบาย วันนี้หลายคนเห็นความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ และคาดหวังจากพรรคการเมืองที่มาแก้ไขปัญหาประเทศมี 3 เรื่อง 1.เศรษฐกิจมีปัญหาพอสมควรจากผลกระทบหลายอย่าง 2.การศึกษาทุกคนรู้สึกว่ามันถึงจุดที่ไม่มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง และ 3.คอร์รัปชั่น วันนี้ทุกคนพูดกันอย่างจริงจังมาก แต่ Solution (ทางแก้) คืออะไร ทุกคนอยากเห็น Solution ที่ชัดเจน ทุกวันนี้ที่ทำให้ผมคิดว่ามันไม่จริง มันยังมีสองมาตรฐานอยู่

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยได้รับอานิสงส์จากฝ่ายค้านไม่เข้มแข็ง พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่มีการสปีดตัวเองในการพัฒนา คนอยากเห็นพรรคสปีดตัวเองให้เร็วกว่านี้ สมมติถ้าเกิด 2 พรรคไม่ปฏิรูปเลย อาจมีคนพูดถึงทางเลือกที่ 3 ซึ่งมีคนพูดมากขึ้นเรื่อย ๆ

- พรรคเพื่อไทยควรปฏิรูปอะไร

ถ้าพูดในสิ่งที่เราอยากเห็น จริง ๆ ในพรรคไทยรักไทยตอนปี 2548-2549 อยากจะสร้างพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองแท้จริง มีระบบโครงสร้างชัดเจน มีการกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ นโยบาย ในลักษณะองค์กร ตอนนั้นมีการพูดถึง Primary Vote จะทำอย่างไรให้มีสมาชิกแต่ละที่มีส่วนร่วม วันนี้ต้องยอมรับว่าตรงนั้นยังไม่เกิดก็ควรต้องทำ หรือการเลือกคนดี ๆ เข้ามาช่วยทำงานกรองที่เห็นการเปิดโอกาสให้มากขึ้นกว่านี้

- ปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นทางออกความขัดแย้ง

ถามว่ามันเป็นทางออกของความขัดแย้งหรือเปล่า...ไม่ เพราะความขัดแย้งในวันนี้มันเกินเลยจาก 3 มาตรานี้ไปแล้ว ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีหลายอย่างต้องแก้ไข ที่ถูกคือควรร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาด้วยซ้ำไป จนวันนี้ใช้มา 6 ปีแล้ว เราได้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว

ถ้าเราจะทำรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดสำหรับปัจจุบันและเป็นที่ยอมรับ การร่างขึ้นมาใหม่น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด แต่ตรงนั้นยังคาอยู่ในวาระ 3 ยังไปต่อไม่ได้ มันก็เหมือนกับระหว่างนี้ถ้ายังให้ยารักษาตามอาการไม่ได้ ก็ให้ยาบรรเทาไปก่อนแล้วกัน

- มอง 2 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างไร

หลายอย่างก็สอดคล้องกับสภาพปัญหา ณ เวลานั้น แต่นายกฯยิ่งลักษณ์เข้ามาในช่วงที่ความขัดแย้งขึ้นสู่กระแสสูง เพราะฉะนั้น บุคลิกของนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่เป็นผู้ที่อดทนรับฟังความคิดเห็น อดทน และไม่โต้ตอบ ก็เป็นบุคลิกที่สอดคล้องกับสถานการณ์

แต่ 2 ปีหลังจากนี้ ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน คนคาดหวังว่ารัฐบาลจะต้องทำอะไร ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้สถานการณ์แต่จะต้องวางรากฐานการพัฒนาทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจกับการศึกษา จะต้องเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น เรื่องเศรษฐกิจระยะสั้นที่มันชะลอตัว ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับ ถ้าเรายังไม่ยอมรับว่าเศรษฐกิจยังไม่ชะลอตัว...มันไม่ได้ เริ่มต้นต่อได้แล้วว่าเศรษฐกิจเรามีปัญหา เพราะฉะนั้น ระยะสั้นต้องทำอะไร มันต้องทำ ต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำออกมาเพื่อให้มันไม่เกิดความรู้สึกว่าสูญเสียความเชื่อมั่นของผู้บริโภค สูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงต้องมีบางอย่างที่ทำ ผมเชื่อว่ามันทำได้ แล้วแง่ระยะยาวมันอาจเห็นผลในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะต้องหวังผลตั้งแต่วันนี้ แต่ระยะสั้นไม่ทำไม่ได้ ต้องทำ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------------------------

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เงียบ !! MOU ค้าข้าวไทย-จีน

ไม่มีใครกล้าถามปมจีนเซ็นเอ็มโอยูซื้อข้าวไทยปีละ 1 ล้านตัน รมว.พาณิชย์ก็ไม่ชี้แจง

ที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า  มีวาระที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอขอเพิ่มวงเงินในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 จำนวน 6,660 ล้านบาท ซึ่งครม.ก็ให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ในวาระดังกล่าวนายนิวัฒน์ธำรงซึ่งเป็นเสนอเข้ามาเองกลับไม่ได้เอ่ยปากพูดแม้แต่ประโยคเดียว เพราะผู้ที่อ่านวาระนี้ก็คือหน้าที่ของนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่แล้วตามปกติ แต่ทว่ารมว.เจ้าของเรื่องกลับไม่เป็นผู้เสนอหรือแสดงความเห็นอะไรเลย แต่ก็ทำให้วาระผ่านไปได้โดยง่าย

นอกจากนี้ในที่ประชุมครม. ไม่ได้มีการพูดถึงกรณีที่จีนทำบันทึกความตกลงกับขอซื้อข้าวจากไทยแบบจีทูจีจำนวน 1 ล้านตันต่อปี โดยไม่มีใครสอบถาม รวมทั้งนายนิวัฒน์ธำรงเองก็ไม่ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวให้ ครม.ฟังด้วย อย่างไรก็ตามในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาที่มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมครม.แทนนายกรัฐมนตรีที่ติดภารกิจในการไปประชุมเอเปคและอาเซียนซัมมิทนั้น ครม.ได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 6 ฉบับด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดมีการเสนอเข้ามาเป็นวาระจร คือเพิ่งเสนอเข้ามาก่อนการประชุมในเช้าวันนั้น ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียด จนในที่สุดครม.ก็ให้ความเห็นชอบร่างฯทั้ง6ฉบับ แต่ทั้งนี้นายอำพน กิตติอำพน ได้กล่าวในที่ประชุมครม.ฝากรัฐมนตรีทุกคนว่า ถ้าเป็นวาระที่เป็นหนังสือสัญญากับต่างประเทศไม่อยากจะให้เสนอมาเป็นวาระจร เพราะสำนักเลขาครม.ไม่ได้อ่านล่วงหน้าและไม่ได้กระจายให้ครม.ช่วยกันดูรายละเอียดล่วงหน้าด้วย จึงอยากจะให้เสนอเข้ามาเป็นวาระปกติเพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบ

อย่างไรก็ตามหนึ่งวาระที่มีการลงนามร่วมกับจีนที่ครม.ให้ความเห็นชอบและมีการลงนามกันไปแล้วคือ วาระที่ "ขออนุมัติการจัดทำเอกสารบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยโครงการความร่วมมือของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตร

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หม่อมอุ๋ย. ร่อน จม.เปิดผนึกจี้นายกฯเลิกจำนำข้าว !!

ปรีดิยาธร.สุดทนรัฐเจ๊งจำนำข้าว-คอร์รัปชัน ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ จี้ยกเลิกโครงการรับจำนำ 2 ปี เสียหายไม่น้อยกว่า 4.25 แสนล้า

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เสนอให้ยกเลิกโครงการจำนำข้าว โดยระบุว่า ในฐานะคนไทยคนหนึ่งได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการรับจำนำข้าวราคาสูงด้วยความวิตกกังวลว่าจะเกิดผลสูญเสียต่องบประมาณของประเทศชาติเป็นจำนวนมากและมีการคอร์รัปชันกันมากมาย จากการวบรวมข้อมูลที่หน่วยราชการประกาศออกมาขากข้อมูลใฝนวงการค้าค้าของเอกชนและจากการสำรวจข้อมูลชาวนาเพิ่มเติม สามารถสรปุผลของการจำนำใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณรับจำนำปี 2554/2555 ปริมาณ 21,640,000 ตัน ปี 2555/2556 ปริมาณ 22,230,000 ตัน รวม 48,870,000 ตัน

ปริมาณที่ช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ส่วนเพิ่มจริงปี 2555/2556 ปริมาณ 890,000 ตัน เกิดผลสูญเสียจนถึงวันที่ขายข้าวหมด ปี 2554/2555 มูลค่าอย่างน้อย 205,000 ล้านบาท ปี 2555/2556 มูลค่าอย่างน้อย 220,000 ล้านบาท รวมผลสูญเสีย 425,000 ล้านบาท โดยเกิดประโยชน์กับชาวนา ปี 2554/2555 วงเงิน 103,277 ล้านลบาท ปี 2556/2556 วงเงิน106,849 ล้านบาท รวมประโยชน์ชาวนาได้รับ 210,126 ล้านบาท

โดยมีประโยชน์ส่วนอื่นที่ไม่ตกถึงมือชาวนา ปี 2554/2555 วงเงิน 56,967 ล้านบาท ปี 2555/2556 วงเงิน 58,864 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 115,831 ล้านบาท มีครัวเรือนที่เข้าโครงการปี 2554/2555จำนวน 2163,000ครัวเรือน ปี 2555/2556 จำนวน 2,108,000ครัวเรือน มีจำนวนครัวเรือนที่ไม่ได้รับเงินโครงการปี 2554/2555 จำนวน 1,839,000 ครัวเรือน ปี 2555/2556 จำนวน 1,894,000 ครัวเรือน

ข้อมูลที่เสนอคิดจากพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่สามารถยืนยันได้จากข้อมูลหน่วยงานรัฐมีอยู่ แม่แต่ผลของอนุนกรรมการปิดบัญชีของรัฐก็สอดคล้องรองรับผลสูญเสียที่เกิดขึ้น

เมื่อเริ่มโครงการเดือนต.ค. 2554 ท่านนายกฯ คงมองไม่เห็นผลสูญเสียต่องบประมาณมากมายขนาดนี้ เพียง 2 ปีสูญเสียไปแล้วไม่น้อยกว่า 425,000 ล้านบาท ขณะที่ชาวนาได้รับผลประโยชน์ไม่ถึงครึ่ง แต่กลับมีผู้อื่นที่มิใช่ชาวนาใช้ช่องโหว่ทำการคอร์รัปชัน หาประโยชน์เข้าตนเองไปมากกว่า 110,000 ล้านบาทในเวลา 2 ปี กาลเวลาได้พิสูจนืแล้วว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามรารถสกัดกั้นการหาประโยชน์ หรือคอร์รัปชันในโครงการนี้ได้เลย

เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว ถ่้าท่านนายกฯยังเชื่อบุคคลที่อยู่รอบข้าง ยินยอมให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปเป็นปีที่ 3 (2556/2557)ก็เท่ากับว่าท่านกำลังปล่อยให้มีการบริหารงานแผ่นดิน ในลักษณะที่เกิดความเสียหายต่องบประมาณของชาติจำนวนสูงๆ ทั้งๆที่รู้แล้วว่าจะเสียหายเช่นนั้น

ผมเข้าใจดีว่าท่านต้องการช่วยให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น ท่านก็น่าจะหาวิธีช่วยเหลือในลักษณะที่เกิดผลสูญเสียเงินของแผ่นดินไม่มากไปกว่าผลประโยชน์ส่วนที่ชาวนาจะได้รับเพิ่ม โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นเกาะหลังชาวนาหาประโยชน์ได้เลยและควรจะเป็นวิธีการกระจายประโยชน์ไปถึงชาวนาที่มีฐานะยากจนให้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้เพื่อป้องกันไม่มิให้เกิดความเสียหายจากการเน่าเสียของข้าวก็ควรใช้วิธีช่วยเหลือชาวนาในลักษณะที่มิได้ไปดึงดูดให้ข้าวมารวมกันอยู่ในมือรัฐบาล แต่ควรให้มีการค้าขายข้าวผ่านระบบการค้าของเอกชนที่ทำได้ดีอยู่แล้ว โดยไม่เกิดความเสียหายแก่รัฐแต่อย่างใดเลย

วิธีการช่วยเหลือที่จะให้เกิดผลดังกล่าวนั้น รัฐบาลของท่านได้เริ่มนำมาใช้แล้วในกรณีของยางพารา ที่จ่ายเฉพาะส่วนเพิ่มที่ต้องการให้ชาวสวนยางได้รับโดยตรง ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นหาผลประโยชน์ได้ และระบบการค้ายางก็ยังดำเนินไปปกติ ไม่ได้ดึงดูดยางเข้ามาอยู่ในมือรัฐ ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือคอร์รัปชันในช่วงการขายออก นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ก็เริ่มใช้วิธีเดียวกันนี้ในการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวนาสำหรับข้าว 890,000 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนสุดท้ายที่ให้ความช่วยเหลือในปีการผลิต 2555/2556 นี้เอง ดดยจ่ายเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง เฉพาะผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม จำนวน 2,500 บาทต่อเกวียนเท่านั้น ไม่ได้รับจำนำในราคา 15,000 บาทต่อเกวียนแต่อย่างใด

ผมจึงใคร่ขอร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยังไม่สายเกินไปที่จะยกเลิกวิธีการรับจำนำแล้วกันมาใช้วิธีจ่ายผลประโยชน์ส่วนเพิ่มให้ชาวนาโดยตรงแทน โดยกำหนดยอดสูงสุดต่อครัวเรือนและตั้งกฎเกณฑ์ให้กระจายไปถึงครัวเรือนที่มีฐานะยากจนเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าท่านทำได้เช่นนี้ ท่านก็จะได้ชื่อว่าได้ทำงานสมกับตำแหน่งนากยรัฐมนตรี ที่ดูแลป้องกันมิให้เงินของแผ่นดินต้องสูญเสียมากเกินความจำเป็นและยังสามารถช่วยชาวนาได้ทั่วถึงมากขึ้นอีกด้วย

ขอแสดงความนับถือ
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
--------------------------------------

แอปเปิล.. ขึ้นแท่น แพงที่สุดในโลก !!

ค่ายแอปเปิลสร้างปรากฏการณ์สะท้านโลกอีกครั้ง ด้วยการล้มแชมป์ ยี่ห้อ "โคคา-โคล่า" ที่ครองตำแหน่งตราผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าแพงที่สุดในโลกต่อเนื่อง มายาวนานถึง 13 ปีลงได้อย่างราบคาบ

รายงานฉบับล่าสุดว่าด้วยการจัดอันดับตราผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก (Best Global Brands)100 อันดับ ซึ่งจัดทำโดย "อินเตอร์แบรนด์คอร์ป" ภายใต้หลักเกณฑ์การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล 3 ส่วนคือขีดความสามารถในการสร้างหลักประกันที่ดีทางด้านรายได้ ฐานะการเงินที่มั่งคั่งมั่นคง และความมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย มีบทสรุปสุดท้ายระบุว่า "แอปเปิล" คือตราผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกประจำปีนี้ โดยมีมูลค่าสูงถึง 98,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าเมื่อปีที่แล้วถึงร้อยละ 28

ตราผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 2 ได้แก่ "กูเกิลอิงค์" ซึ่งมีมูลค่าตราผลิตภัณฑ์ขยับตัวสูงขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 34 เป็น 93,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

"โคคา-โคล่า" ซึ่งเคยครองตำแหน่งตราผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกติดต่อกันมาถึง 13 ปี 13 สมัย ถูก "แอปเปิล" เบียดหล่นตุ๊บจากที่ 1 มาอยู่ที่ 3 ด้วยมูลค่า 79,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าเมื่อปีที่แล้วเพียงแค่ร้อยละ 2

สำหรับตราผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 4 ใน 10 อันดับสูงสุดของทำเนียบตราผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลกได้แก่ "ไอบีเอ็ม"

อันดับ 5 ได้แก่ "ไมโครซอฟท์"
อันดับ 6 ได้แก่ "ยีอี"
อันดับ 7 ได้แก่ "แมคโดนัลด์"
อันดับ 8 ได้แก่ "ซัมซุง"
อันดับ 9 ได้แก่ "อินเทล"
อันดับ 10 ได้แก่ "โตโยต้า"

ในจำนวน 10 อันดับแรกของทำเนียบ100 ตราผลิตภัณฑ์ที่ดีสุดในโลกประจำปีนี้ ชัดเจนว่ามีการกระจุกตัวอยู่ในตราผลิตภัณฑ์ ของกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศมากที่สุดถึง 5 อันดับ

ยิ่งไปกว่านั้น สาระสำคัญในรายงานฉบับเดียวกันของอินเตอร์แบรนด์คอร์ป ยังประมวลมูลค่ารวมของตราผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศอีกด้วยว่ามีมูลค่ารวมกันถึง 448 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่ารวมของ 100 ตราผลิตภัณฑ์ จำนวน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ตราผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่น่าตื่นเต้น แต่ยังไม่ติด 10 อันดับแรกของทำเนียบ ได้แก่ "เฟซบุ๊ก" ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 52 มีมูลค่าตราผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 และ "อเมซอน" ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 29 มีมูลค่าตราผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 27

ความเคลื่อนไหวของมูลค่าตราผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ มีทั้งสดใส สวยงาม และน่าสลดหดหู่

ตราผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีความเคลื่อนไหวของมูลค่าย่ำแย่ลง แต่ยังสามารถรักษาอันดับในทำเนียบ 100 ตราผลิตภัณฑ์ที่ดีสุดในโลกเอาไว้ได้คือ "โนเกีย" "ยาฮู" และ "แบล็คเบอร์รี่"

เฉพาะ "โนเกีย" ที่ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการถ่ายโอนสัญชาติจาก "ฟินแลนด์" ไปเป็น "อเมริกัน" หลังจากบรรลุข้อตกลงขายกิจการให้เป็นทรัพย์สินของ "ไมโครซอฟท์" สัญชาติอเมริกัน ดูจะมีมูลค่าตราผลิตภัณฑ์ตกต่ำรุนแรงที่สุด กระทั่งอันดับในปีนี้ดิ่งพสุธาจากอันดับที่ 19 เมื่อปีที่แล้ว ไหลไปหยุดอยู่ที่อันดับ 57 ในปีนี้

สำหรับตราผลิตภัณฑ์รายใหม่ที่เลื่อนขั้นขึ้นมาอยู่ในทำเนียบ 100 ตราผลิตภัณฑ์ที่ดีสุดในโลกในรอบปีนี้มีอยู่ 3 รายด้วยกันคือ "ดิสคัฟเวอรี่" "ดูราเซลล์" และ "เชฟโรเลต"

ที่มา.สยามธุรกิจ
--------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สร้างวินัย ใช้กฎหมายเข้ม กู้วิกฤตจราจร !!?

แค่โยนก้อนหินถามทางเสนอแนวคิดห้ามรถยนต์อายุใช้งานเกิน 7-10 ปี เข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็โดนรุมคัดค้านหนัก ทำให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องออกโรงชี้แจงว่าเป็นเพียงนำเสนอทางเลือกแก้ไขปัญหาการจราจรที่กำลังวิกฤต แต่ที่จะนำร่องปฏิบัติ คือ การจับ ปรับ ข้อหาจอดรถในพื้นที่ห้ามจอดบางจุดในถนนสายหลัก 10 สาย ประกอบด้วย ถนนลาดพร้าว พระราม 4 รัชดาภิเษก พหลโยธิน วิภาวดีรังสิต สาทรเหนือ เพชรบุรี และรามคำแหง เริ่มตั้งแต่ 21 ตุลาคมนี้ ซึ่งกระแสการตอบรับของสาธารณชนมีมากกว่า

ที่ผ่านมามีความพยายามหลายต่อหลายครั้ง จะแก้วิกฤตจราจรย่านใจกลางเมือง ด้วยการจำกัดปริมาณรถ แต่ไม่อาจต้านเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีตามมา เลยมักจบลงคล้าย ๆ กัน คือ เงียบหายไปกับสายลม เช่น จะให้รถทะเบียนเลขคู่กับเลขคี่สลับวิ่ง ซึ่งถูกจุดประกายนับครั้งไม่ถ้วน สุดท้ายก็ไม่สามารถผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้ ไม่ต่างไปจากครั้งนี้ที่ไม่ทันนับหนึ่งก็ต้องถอยตั้งหลัก

แม้ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องตรงกันปัญหาการจราจรใน กทม.ขณะนี้หนักเลยจุดวิกฤตไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปริมาณรถเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า สาเหตุที่การจราจรใน กทม.ติดขัดหนักขึ้นส่วนหนึ่งมาจากโครงการรถยนต์คันแรกที่ออกสู่ถนนมากขึ้น โดยสถิติจำนวนรถยนต์จดทะเบียนปี 2555 มีรถยนต์ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรกใน กทม.มากถึง 244,172 คัน ขณะเดียวกันจำนวนรถยนต์ใน กทม.เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยสิ้นปี 2555 มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรวม 2,975,548 คัน รถจักรยานยนต์ 2,845,973 คัน และรถอื่น ๆ รวม 7,381,714 คัน ส่งผลให้ถนน

ทั้งสายหลักสายรองซึ่งแม้จะมีความยาวรวม 5,400 กิโลเมตรไม่พอรองรับ ประกอบหลายสายถูกปิดกั้นช่องทางจราจรก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ทำให้ปัญหารถติดที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ววิกฤตหนักยิ่งขึ้น

ถือเป็นเรื่องดีที่ ผบ.ตร.ในฐานะผู้รักษากฎหมายพยายามหาทางแก้ โดยนำระเบียบข้อกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การจราจรใน กทม.ติดขัดหนักมาจากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่เคารพกฎหมาย ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร กทม. เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก ฯลฯ ก็ปฏิบัติหน้าที่หย่อนยานไม่เข้มงวด กลายเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ และปัญหาการจราจร

ดังนั้น หากปรับรื้อใหญ่คุมเข้มการใช้รถใช้ถนน โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืน ควบคู่กับการรณรงค์ให้คนทุกเพศทุกวัยมีวินัยการจราจร น่าจะช่วยแก้การจราจรที่วิกฤตให้บรรเทาลงได้บ้าง

ขณะเดียวกัน อาจต้องยกเครื่องการบริหารจัดการโครงข่ายเส้นทางคมนาคมทั้งระบบ โดยนำสถิติข้อมูล ตลอดจนเทคนิคทางด้านวิศวกรรมการจราจรมาปรับใช้ พร้อมเร่งปรับปรุงพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองรับการเดินทางของประชาชน เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยแก้รถติด ลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดมลพิษ รวมทั้งประหยัดการนำเข้าพลังงาน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยากจะเกิดผลในทางปฏิบัติได้ ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีนโยบายที่ชัดเจน และลงมือปฏิบัติตั้งแต่วันนี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------

พงษ์เทพ เทพกาญจนา ชี้ประชาธิปไตยไทยต้องใช้เวลา !!?

มูลนิธิ 14 ตุลา จัดงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา "พงศ์เทพ"เข้าร่วม ชี้มีประชาธิปไตยไทยต้องใช้เวลา มั่นใจได้มาเมื่อไหร่ประเทศแข็งแรง

มูลนิธิ 14 ตุลา จัดงานรำลึกครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา 16 ที่อนุสรณ์สถาน(แยกคอกวัว) โดยบรรยากาศในช่วงเช้าได้มีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ด้านหน้าอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 จำนวน 14 รูป ต่อมาได้มีพิธีกรรมทางศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพิธีวางพวงมาลาและกล่าวสดุดีวีรชนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยได้มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีวางพวงมาลาและกล่าวสดุดี

โดยนายพงศ์เทพ กล่าวสดุดีว่า วันนี้ 14 ตุลา เป็นวันที่ครบรอบ 40 ปี ที่มีนิสิตนักศึกษาออกมาต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย เป็นความเสียสละของคน 14 ตุลา ที่กล้าเผชิญหน้ากับอาวุธด้วยมือเปล่า ทำให้ประชาธิปไตยไทยไปสู่อีกยุคหนึ่ง ทั้งนี้ประชาธิปไตยต้องใช้เวลา ไม่สามารถสำเร็จได้ทันที อย่างไรก็ตามเมื่อมีประชาธิปไตยประเทศก็จะแข็งแรงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา เป็นผู้แทนประธานรัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นผู้แทนประธานวุฒิสภา นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้แทนผู้นำฝ่ายค้าน นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง ผู้แทนญาติวีรชน 14 ตุลา ผู้แทนฝ่ายประชาธิปไตยและแรงงาน ผู้แทนชาวบ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ผู้แทนเยาวชน/นิสิต-นักศึกษา วางพวงมาลาและกล่าวสดุดีด้วย ทั้งนี้ยังได้มีญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์และประชาชน ได้จุดประทัดเพื่อเป็นการสดุดีด้วย อย่างไรก็ตามได้มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

และในเวลาต่อมา 10.00 น. ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวแสตมป์ที่ระลึกชุด "ตราไปรษณียากร วัน 14 ตุลาประชาธิปไตย" และ "แสตมป์เพื่อการสะสม 20 ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปิดฉาก ส.ว.สรรหา สิ่งปฏิกูลการเมือง !!?

โดย.นพคุณ ศิลาเณร

ทุกความพยายามของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหาเพื่อล้มการ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนล้วนล้มเหลว ไม่เป็นท่า

ความหวังสูงสุดของ ส.ว.สรรหาหรือพวกลากตั้งฝากไว้กับศาลรัฐธรรมนูญ แต่การตัดสิน "ยกคำร้อง" ข้อหา "ขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 154 (1)" และปราศจากคำสั่งให้ชะลอการทูลเกล้าฯ

ไม่เพียงเท่านั้น ความอยากเล่นงาน รัฐบาล ด้วยการยื้อกฎหมายงบประมาณปี 2557 ว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน "ไม่ขัด" ย่อมทำให้ ส.ว.กลุ่มนี้หมด หนทางตีรวนการเมืองไปเรื่อยๆ

นั่นสะท้อนถึงเวลาจวนเจียน "ปิดฉาก" ส.ว.ลากตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ

สิ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ คงเป็นเพียงข้อกล่าวหา "ล้มการปกครอง" ตามมาตรา 68 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ไว้พิจารณา แต่ต้องคาบเกี่ยวกับเงื่อนเวลาการลงพระปรมาภิไธยด้วย

ระหว่างขั้นตอนลงพระปรมาภิไธย กับการตัดสินตามมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญจึงเต็มไปด้วยอาการลุ้นทั้ง ส.ว.ลากตั้งและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ยื่นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอน มาตรา 291 (7) ประกอบมาตรา 150 ที่กำหนดไว้ภายใน 20 วัน

ขั้นตอนนี้ ต้องรอด้วยความระทึก เพราะทุกความเป็นไป ย่อมเกิดเป็นจริงได้เสมอ

นับตั้งแต่ปี 2475 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันไทยมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 18 ฉบับ ในจำนวนนี้กำหนดให้มี ส.ว.เพียง 9 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ 2489, 2490, 2492, 2511, 2517, 2521, 2534, 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับของกลุ่มยึดอำนาจ เมื่อกันยายน 2549 ผลักดันให้เกิดขึ้น

หากลงในรายละเอียดแล้ว ทั้ง 9 ฉบับเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.นั้น มาจากการ เลือกตั้งเพียง 3 ฉบับเท่านั้น คือ รัฐ-ธรรมนูญ 2489, 2540 และฉบับ 2550 (มีทั้งการเลือกตั้งและสรรหา) นอกนั้นล้วนมาจากการลากตั้งทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง ส.ว.ที่โดดเด่นที่สุดคือ รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนด ให้มี ส.ว.จำนวน 200 คน แต่ใช้ได้เพียง 9 ปี ก็ถูกคณะทหารยึดอำนาจฉีกทิ้งเมื่อปี 2549

แล้วคลอดรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับ ปัจจุบันขึ้น และกำหนดให้ ส.ว.มาจากการ เลือกตั้งอีกครั้งแต่ไม่ทั้งหมด โดยผสมส่วน ระหว่างการเลือกตั้งกับลากตั้งในสัดส่วน เลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนจำนวน 76 คน และลากตั้งอีก 74 คน รวมเป็น 150 คน

ในปัจจุบัน ส.ว.ลากตั้งมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ประกอบ ด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานกรรมการการเลือกตั้ง, ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน, ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธาน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตัวแทนตุลาการศาลปกครอง สูงสุด

นั่นแปลความว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจคน 7 คน แต่งตั้ง ส.ว. 74 คน ดูเหมือนจงใจที่จะเป็นปรปักษ์กับอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศที่เลือกตั้ง ส.ว. 76 คน

ความน่าสนใจของ ส.ว.ลากตั้งปัจจุบันคือ มีที่มาจากอดีตตำรวจ 6 คน อดีตทหาร 11 คน อดีตข้าราชการพลเรือน 18 คน รวมจำนวนอดีตข้าราชการทั้งหมด ถึง 35 คน นอกจากนี้ มีนักกฎหมายถึง 11 คน

แสดงว่ามีการลากตั้งแบบ "กระจุก" ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของคณะกรรมการสรรหาทั้ง 7 คน มีกระบวนการเลือกพวกมากกว่าเน้น "ความหลากหลาย" จากกลุ่มอาชีพ

โปรดสังเกตว่า ส.ว.ลากตั้งเกิดจากการเลือกของคน 7 คน ที่ "ไม่ถูกใจ" รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย

ย่อมทำให้ ส.ว.ลากตั้งกลายเป็น "ปรปักษ์" ทางการเมืองอย่างน่ารำคาญ เพราะงัดข้อหาตีรวนให้ศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานรัฐบาลได้ทุกเรื่อง

ด้วยเหตุนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ไม่เพียงแต่มีมิติ "ความเท่าเทียมทางการเมือง" เท่านั้น แต่มีเป้าหมาย "ล้ม" อำนาจกลุ่มอภิสิทธิ์ชนทั้ง 7 คนอย่างสำคัญด้วย

เมื่อปัญหามาจากเหตุ ย่อมต้องแก้ที่ ต้นเหตุ เพื่อล้างสิ่งปฏิกูลของเหตุให้สิ้นซาก

ส.ว.ลากตั้งขึ้นชื่อว่า เป็นปรปักษ์กับ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลนั้น รวมตัวกันใน "กลุ่ม 40 ส.ว." แกนนำโดดเด่นล้วนเป็นคนหน้าเดิมๆ ประกอบด้วย นายไพบูลย์ นิติตะวัน, พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ, นายสมชาย แสวงการ, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายประสาร มฤคพิทักษ์, นายวันชัย สอนศิริ และ ส.ว. เลือกตั้ง รสนา โตสิตระกูล เข้ามาเป็นพวกด้วย

ส.ว.กลุ่มนี้เริ่มแสดงบทบาท "ปรปักษ์" กับรัฐบาล มาตั้งแต่พรรคพลังประชาชน แล้วเรื่อยมาถึงรัฐบาลจากพรรค เพื่อไทย โดยมีเบ้าหลอมอารมณ์ปรปักษ์อยู่ที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในรหัส ล้มระบอบทักษิณ

ผลงานของ ส.ว.ลากตั้งกลุ่มนี้ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 เริ่มจากปฏิบัติ การเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แล้วยื่นวินิจฉัยกรณีจัดรายการ ชิมไปบ่นไปเพื่อถอดถอนนายสมัครพ้นจากนายกรัฐมนตรี

เมื่อ ส.ว.ลากตั้งกำหนดบทบาทอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลแล้ว พวกเขาจึงสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แล้วเรียกร้อง ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกหรือยุบสภา เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การสลายม็อบพันธมิตรฯ รุนแรงในวันที่ 7 ตุลาคม 2551

มาถึงรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ส.ว.พวกนี้ยังคงบทบาทต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างเข้มข้น พวกเขาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จนศาลรัฐธรรมนูญ มีคำแนะนำให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ไว้กระทั่งปัจจุบัน

ในสถานการณ์ต้านรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ พรรคประชาธิปัตย์ได้จับมือกลุ่ม 40 ส.ว. สร้างความตื่นตระหนกอีกครั้ง ด้วย การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อล้มการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. จากการเลือกตั้งว่า อาจขัดมาตรา 154 และฝ่าฝืนมาตรา 68 ซึ่งเป็นการล้มการปกครอง

โอกาสของ ส.ว.ลากตั้งกับพรรคประชาธิปัตย์ที่จะล้มรัฐบาลริบหรี่อย่างยิ่ง ความหวังเดียวที่เหลืออยู่ขณะนี้คือ ลุ้นให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 68 ออกมาด้านบวกกับพวกเขา แต่เป็นเพียงความปรารถนาเล็กๆ ที่พอจะคว้ามา ปลอบใจได้

เพราะความอยากในอำนาจของกลุ่ม ส.ว.ลากตั้งกว่า 7 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้ประชาชนตาสว่างกับการทำหน้าที่อย่างแจ่มแจ้ง โพลของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัย กรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เมื่อ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมาระบุว่า ประชาชนร้อยละ 59.2 ต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

นั่นเท่ากับสะท้อนว่า ส.ว.ลากตั้งไม่พึงประสงค์ของประชาชนในยุค 2556 ราวกับเป็น "สิ่งปฏิกูล" ที่ต้องถูกทำลายทิ้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 ขณะ นี้อยู่ในขั้นตอนทูลเกล้าฯ ย่อมเป็นกระบวน ล้างปฏิกูลนี้ให้เส้นทางประชาธิปไตยประชาชนสะอาดหมดจน

ที่สำคัญคือ สัญญาณบ่งบอกถึงการเริ่มต้นเก็บกวาดอำนาจของคน 7 คน ในชื่อ "องค์กรอิสระ" นั่นเอง

ที่มา.สยามธุรกิจ
-----------------------------------------

ปตท.เหงื่อตก หลังปิดทะเลบางแสนพบคราบน้ำมันทะลักอื้อยาว 7 กม. !!?



ท่าไม่ดี..  นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข ประกาศปิดทะเลบางแสนหลังพบคราบน้ำมันทะลักยาว 7 กม.ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้ง เร่งสอบแหล่งที่มา

นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ออกประกาศแจ้งนักท่องเที่ยวและประชาชนให้หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำและงดทำประมง บริเวณหาดวอนนภา หาดบางแสน และหาดแหลมแท่น หลังพบคราบน้ำมันจำนวนมากกระจายในทะเลและพื้นทราย ส่งผลให้น้ำทะเล ปนเปื้อนสารเคมี ลักษณะเป็นสีดำตลอดแนวทั้ง 3 ชายหาด ระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร ส่งกลิ่นเหม็น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แสบตา จมูกและผิวหนังระคายเคือง ส่วนรัศมีของคราบน้ำมันยังไม่ทราบแน่ชัด ต้องรอผลการตรวจสอบทางอากาศ
       
อย่างไรก็ตาม หลังรับแจ้ง เทศบาลเมืองแสนสุขประสานตำรวจน้ำศรีราชา ตำรวจสภ.แสนสุข เจ้าท่าภูมิภาคจังหวัดชลบุรี สำนักทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี สิ่งแวดล้อม ภาค 13 คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา เข้าตรวจสอบพื้นที่ชายหาดเบื้องต้น พบลักษณะคราบน้ำมันเหมือนผ่านการสังเคราะห์แล้ว เนื่องจากแตกตัวเป็น ละอองเล็กๆ เมื่อเจอแสงแดด แต่ยัง ไม่ทราบว่าเป็นน้ำมันชนิดใด ต้องรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ  ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถหาที่มาของน้ำมันทั้งหมดได้ แต่แจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว เพื่อติดตามหาผู้ก่อเหตุมารับผิดชอบ อีกทั้งยังไม่ทราบด้วยว่ามีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ มากหรือน้อยเท่าใด
       
ด้านนายอำนวย สิทธิบุญ รองปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข กล่าวว่า สถานการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลบางแสนนั้น  เทศบาลได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวที่เดินเล่นบริเวณชายหาดบางแสน เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. วันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา  เมื่อไปตรวจสอบคราบน้ำมันมีปริมาณอยู่ในเกณฑ์ปกติ ที่น้ำมันจากเรือสกู๊ตเตอร์และเรือเล็กหาปลาในพื้นที่รั่วไหล กระทั่งช่วงเช้าวันที่ 10 ตุลาคม คราบน้ำมันเริ่มไหลทะลักมากขึ้น ทาง เทศบาลฯจึงออกประกาศปิดทะเลบางแสน ทั้ง 3 พร้อมส่งเจ้าหน้าที่โกยทรายปนเปื้อน คราบน้ำมันไปตรวจสอบว่าเป็นน้ำมันชนิดใดและเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจหาสารพิษปนเปื้อน คาดจะทราบผลภายใน 1-2 วันนี้  จึงต้องปิดไม่มีกำหนด เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะกำจัดคราบน้ำมันออกหมดเมื่อใด อีกทั้ง รอผลทางห้องปฏิบัติการว่าชายหาดมีสารเคมีตกค้างที่จะกระทบต่อนักท่องเที่ยวหรือไม่
       
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะนี้ พ่อค้าแม่ค้าบริเวณชายหาดต่างวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหวั่นซ้ำรอยเหตุน้ำมันรั่วที่จ.ระยอง ทำให้ นักท่องเที่ยวน้อยลง ต้องขาดรายได้ ทุกคนจึงช่วยกันทำความสะอาดเก็บคราบน้ำมัน โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านตัดกิ่งต้นมะพร้าวดักจับคราบน้ำมัน
       
ทั้งนี้ จากการลงสำรวจพื้นที่ของ ผู้สื่อข่าวประจำจ.ชลบุรี พบว่าคราบน้ำมันกระจายเป็นบริเวณกว้าง แต่ไม่ทราบที่มาที่ชัดเจน เมื่อสอบถามพนักงานของเทศบาลเมืองแสนสุขรายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเรือใหญ่ที่ลอยลำอยู่ด้านนอกชายฝั่งถ่ายเททิ้งลงมาก็เป็นได้ เพราะคราบน้ำมันที่ลอยมาขนาดนี้ ปริมาณไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 ลิตรเป็นอย่างน้อย
       
ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงาน สิ่งแวดล้อม ภาค 13 ระบุว่า ลักษณะคราบน้ำมันคล้ายน้ำมันเตา เริ่มพบมาตั้งแต่บริเวณแหลมแท่นไล่ลงมาถึงหาดบางแสน เห็นได้ชัดเจนบริเวณห่างจากฝั่งประมาณ 100 เมตร จึงได้เก็บตัวอย่างคราบน้ำมันไปตรวจสอบว่ามีสารเคมีอื่นอีกหรือไม่
       
อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นักท่องเที่ยวออกมาเดินและลงเล่นน้ำทะเลกันอย่างสนุกสนาน โดยไม่พบคราบน้ำมันที่ตกค้าง เนื่องจากเทศบาลระดมเจ้าหน้าที่เร่งกำจัด ป้องกันความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว


ที่มา.ทีนิวส์
-------------------------------------------

จีนเซ็น MOU ไทย ดันการค้าพุ่ง แสนล.ดอลล์ !!?

หลี่ เค่อเฉียง.ลงนามบันทึกข้อตกลงกับไทย6ฉบับ เพิ่มมูลค่าการค้า-การลงทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2558 เตรียมนำเข้าข้าว-ยางพาราเพิ่ม

การเดินทางเยือนประเทศไทย ของ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน วานนี้ (11 ต.ค.) ได้หารือเกี่ยวกับการค้าการลงทุนร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมกันนี้สองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) 6 ฉบับ ทั้งในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตรและความร่วมมือ ภายใต้โครงการความเป็นหุ้นส่วนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-จีน

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้การต้อนรับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. นี้ เมื่อเดินทางมาถึงรัฐสภา นายกรัฐมนตรีจีน ได้หารือกับประธานรัฐสภา เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ขณะที่ความสัมพันธ์กับทางรัฐสภาไทยอยู่ในระดับที่ดี

พร้อมกันนี้ยังได้มีการตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-จีน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี สำหรับความสัมพันธ์ในระดับพหุภาคีรัฐสภาทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบการเป็นภาคีสมาชิกสหภาพรัฐสภา หรือ ไอพียู และการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอพีพีเอฟ ร่วมกัน จีนยังมีสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน และยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการเป็นหุ้นส่วนของรัฐสภาเอเชียยุโรปด้วย

จากนั้น เวลา 16.15 น. นายกรัฐมนตรีจีน ได้เข้าร่วมประชุมรัฐสภา พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ ถือเป็นผู้นำประเทศคนแรก ที่ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในห้องประชุมรัฐสภาของไทย เนื้อหาโดยสรุปว่า 5 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาเที่ยวไทยถึง 2.5 ล้านคน และเมื่อหลายปีที่แล้วตนได้เดินทางเยือนไทยรู้สึกประทับใจ ซึ่งไทยมีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา พระราชวัง เจดีย์ มีศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์

นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า ไทยได้พบวิกฤติต่างๆ ทั้งอุทกภัยและเศรษฐกิจ แต่ผ่านพ้นมาด้วยความมุ่งมั่นและพยายาม ขณะที่ไทยและจีนมีภูมิประเทศและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ทำให้เรามีความใกล้ชิดกันหลายสิบปี มีมูลค่าทางการค้า 70,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8 เท่า ไทยเป็นประเทศคู่ค้าทางการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะยางพารา ในอาเซียนไทยเป็นประเทศแรกที่มีสนธิสัญญาความร่วมมือ เป็นคู่แรก ไทยถือเป็นประเทศที่เปิดสถานกงสุลไทยมากที่สุดในจีน

เพิ่มการค้า-ลงทุนแสนล้านดอลล์ปี2558

นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ จริงใจ ไปมาหาสู่กันมากขึ้น พร้อมยกระดับความสัมพันธ์สูงขึ้น ทั้งพันธมิตรและยุทธศาสตร์ ขณะที่มีข้อเสนอให้สืบสานวัฒนธรรมที่ผู้นำระดับสูง 2 ประเทศจะเดินทางเยือน และแผนความร่วมมือสร้างมูลค่าการค้าการลงทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2558

อย่างไรก็ตาม ภายใน 5 ปี จีนจะนำเข้าข้าวไทย 1 ล้านตัน และจะขยายมากขึ้น และจะนำเข้ายางพารามากขึ้น สร้างกลไกทางการจัดการที่สำคัญเพื่อความร่วมมือทางสินค้าเกษตรมากขึ้น พร้อมเสนอให้สร้างธนาคารที่จะสามารถใช้เงินตราระหว่างประเทศชำระหนี้ เพื่อสร้างสิ่งอุปโภคบริโภคได้

นายกรัฐมนตรีจีน ยังหวังว่า นายกรัฐมนตรีไทยจะร่วมหารือตกลงความร่วมมือโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นรูปธรรมกับจีน ที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งนี้ ขอให้สมาชิกรัฐสภาไทยร่วมสนับสนุนกฎหมายที่เกี่ยวข้องระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสานสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ

เล็งเลิกวีซ่านักท่องเที่ยวไทย

นอกจากนี้ จีนยังเสนอให้ยกเลิกวีซ่าสำหรับหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของรัฐบาลไทย และจะทำให้ประชาชนไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือน่านน้ำทะเล การรักษาสิ่งแวดล้อม และคาดหวังจะบูรณาการกับไทยได้ทุกด้าน

จีนใช้สันติวิธีในแก้ปัญหาความขัดแย้ง รักษาเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาคนี้ให้พัฒนายั่งยืนต่อเนื่อง เติบโตมั่นคง โดยผ่านการปฏิรูปกลไกและโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมาย ให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตมั่นคง ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยและอาเซียนจะเติบโตไปพร้อมกัน

หนุนนำเข้าข้าวไทยล้านตันใน 5 ปี

นายหลี่ กล่าวว่า จีนยินดีสนับสนุนที่จะให้บริษัทภายในประเทศนำเข้าข้าวจำนวน 1 ล้านตัน จากไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเว็บไซต์ของรัฐบาลกลางจีน ระบุว่านายหลี่ ได้กล่าวถ้อยคำดังกล่าวในบทความที่มีการตีพิมพ์ในสื่อไทย ก่อนการเดินทางเยือนไทยของเขา

นายหลี่ กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แสดงสัญญาณการขยายตัวที่แข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง รวมถึงการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งกำไรของภาคธุรกิจและรายได้ของรัฐบาล

จีน เตรียมเปิดเผยรายงานการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3 ในวันศุกร์ที่ 18 ต.ค. นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 7.8% เทียบจากปีก่อน

"ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเรามีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน จะอยู่เหนือระดับ 7.5% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวระดับกลางถึงระดับสูงนั้น จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจในปีนี้"

ทั้งนี้ จีน มีเป้าหมายการขยายตัวที่ 7.5% ต่อปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จีนแสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุได้ แม้อัตราดังกล่าวเป็นการขยายตัวที่ "อ่อนแอที่สุด" ในรอบกว่า 20 ปี หลัง "ชะลอตัว" 9 ใน 10 ไตรมาสที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจีนดูเหมือนจะมีเสถียรภาพนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากจีนดำเนินมาตรการสกัดกั้นการชะลอตัว

แต่นักวิเคราะห์ เตือนว่า การดีดตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะดำเนินไปเพียงระยะสั้น หากรัฐบาลยังคงดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจตามที่ได้ให้สัญญาไว้

'คอฟโก้'เซ็นซื้อข้าวเอกชนไทยล้านตัน

นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้าข้าวเสื่อมคุณภาพ (ศปขส.) ว่าการเดินทางเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีจีน คาดว่าเอกชนของจีนจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ราว 1 ล้านตัน เป็นข้าวของเอกชน ไม่ใช่ข้าวที่ซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในการหารือร่วมกับบริษัท คอฟโก้ (COFFCO Corporation) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนเมื่อต้นสัปดาห์ ได้สอบถามเกี่ยวกับคุณภาพข้าวไทย โดยได้ชี้แจงให้มั่นใจในข้าวไทย เพราะว่ามีการตรวจสอบคุณภาพเป็นประจำ และไม่พบสารปนเปื้อน หรือสารตกค้างในปริมาณที่เกินกำหนด และหากไม่มั่นใจ จีนสามารถส่งบริษัทตรวจสอบคุณภาพมาตรวจสอบข้าวไทยร่วมกับบริษัทตรวจสอบของไทยได้

ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวกับบริษัท คอฟโก้ จากจีน เพื่อซื้อข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และข้าวเหนียวจากไทย ปีละ 200,000 ตัน ภายในเวลา 5 ปี รวม 1 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อไม่ได้กังวลคุณภาพข้าวไทย เพราะว่าซื้อขายกันมานานแล้ว และเอกชนไทยก็พยายามรักษาคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของเขื่อน !!??

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

แม่วงก์เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในลุ่มน้ำสะแกกรัง วงก์เป็นคำสันสกฤตและคำบาลีด้วย ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เบ็ด ถ้าเป็นคำวิเศษณ์ หรือคุณศัพท์ แปลว่า คดโค้ง ลดเลี้ยวไปมา ฟังชื่อก็เดาเอาได้ว่าคงจะเป็นแม่น้ำที่คดเคี้ยว เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามซอกหรือหุบเขา อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์

เมื่อน้ำท่วมใหญ่ หรือเมื่อมหาอุทกภัยในปลายปี 2554 คณะทำงานที่จะวางแผนป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน มีความเห็นว่าจะต้องสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยม เพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำซาก ที่จังหวัดสุโขทัย และเขื่อนแม่วงก์ ที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้เป็นระบบที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างครบวงจรของแม่น้ำเจ้าพระยา

ทันทีที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะก่อสร้างเขื่อนก็จะมีเอ็นจีโอออกมาประท้วงคัดค้าน สมัยก่อนก็จะมีแต่เสียงคัดค้านจากเอ็นจีโอในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆ ส่วนชาวบ้านที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝนก็ดี ภาวะภัยแล้งในฤดูแล้งก็ดี จะเงียบไม่มีปากเสียง ส่วนชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดินก็จะร่วมกับเอ็นจีโอคัดค้าน

สื่อมวลชนก็จะไปสัมภาษณ์ฝ่ายที่คัดค้าน ลงข่าวฝ่ายคัดค้าน อีกทั้งนักข่าวสายสิ่งแวดล้อม

ส่วนมากนานๆ จะมีข่าวให้เล่นเสียที จึงมีทัศนคติเอนเอียงไปในทางฝ่ายอนุรักษ์และเอ็นจีโอ โครงการสร้างเขื่อนหลายๆ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนผามอง เขื่อนน้ำโจน และเขื่อนอื่นๆ จึงต้องพับไป

แต่เมื่อเกิดมหาอุทกภัยครั้งหลังนี้ ปรากฏว่าจะมีการสร้างเขื่อนกันอีก กรณีเขื่อนแม่ยมและเขื่อนแม่วงก์มีชาวบ้านที่จะได้รับประโยชน์จากภัยน้ำท่วมและฝนแล้งออกมารวมตัว สนับสนุนโครงการทั้ง 2 โครงการ กลายเป็นมี 2 พวก พวกที่คัดค้านและพวกที่สนับสนุน

เท่าที่ติดตามข่าวทางสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นคนในกรุงและเมืองใหญ่ คัดค้านด้วยอุดมคติของนักอนุรักษ์ที่เป็นนามธรรม เหมือนๆ กับคนในประเทศตะวันตกที่เจริญมั่งคั่งแล้ว ประเทศเหล่านั้นทั้งในยุโรปหรืออเมริกาได้สร้างเขื่อน สร้างโครงการพื้นฐานต่างๆ อย่างเต็มที่แล้ว แม่น้ำทุกสายไม่ว่าใหญ่หรือเล็กได้ทำการสร้างเขื่อนหรือฝายเพื่อการผลิตไฟฟ้า หรือการชลประทานเต็มไปหมด

แม่น้ำดานูบก็ดี แม่น้ำสายอื่นๆ ก็ดี ล้วนแต่มีการก่อสร้างเขื่อนหรือฝาย เพื่อการชลประทานและผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งสาย มลรัฐนิวยอร์ก เกาะแมนฮัตตันทั้งเกาะ ก็ใช้ไฟจากเขื่อนและฝายจากน้ำตกไนแอการา เทือกเขาร็อกกี้ทั้งสายมีทั้งเขื่อน ทั้งฝาย ทั้งท่อ ทำกาลักน้ำตลอดทั้งแนว ทั้งนี้เพราะทั้งทวีปยุโรปและอเมริกาพัฒนาก่อนเอเชีย เขาก้าวข้ามพ้นเรื่องผลผลิตทางการเกษตรและไฟฟ้าสะอาดราคาถูกแล้ว สังคมของเขาจึงมาคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอุดมคติ เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องโลกร้อน เรื่องป่าธรรมชาติ เพราะบ้านเขาที่ยุโรปล้วนแต่เป็นป่าปลูก ป่าที่เป็นป่าธรรมชาติหมดไปนานแล้ว จะตัดโค่นก็ไม่คุ้มเพราะค่าแรงแพง ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เคยปลูกป่าสมัยเมจิเพื่อเอาไม้แต่ปรากฏว่าค่าแรงแพงขึ้น จึงสงวนไม้เอาไว้แล้วนำเข้ามาดีกว่า

แต่สำหรับเอเชียรวมทั้งบ้านเรา ปัญหาเรื่องการผลิต ปัญหาเรื่องน้ำท่วมฝนแล้ง ยังเป็นปัญหาสำคัญ สำคัญกว่าจะคิดถึงเรื่องสัตว์ป่า ซึ่งก็ยังอยู่ได้ เพราะในกรณีอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมนั้นเป็นพื้นที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ ของป่าทั้งหมด พื้นที่ที่อยู่เหนือเขื่อนน้ำท่วมเพียงหมื่นไร่เมื่อเทียบกับพื้นที่ล้านไร่ของอุทยาน

ที่เกรงว่าเสือก็ดี กวางก็ดี นกชนิดต่างๆ ก็ดี จะถูกน้ำท่วมตาย ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญ สัตว์ต่างๆ เหล่านั้นหลายคนก็ไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป เคยเห็นแต่รอยตีนสัตว์ในพื้นที่ที่ห่างออกไป ที่สำคัญเป็นพื้นที่หุบเขา ไม่ต้องเวนคืน ไม่ต้องอพยพผู้คนให้เป็นที่เดือดร้อน จะเดือดร้อนก็แค่ขัดกับอุดมการณ์ ขัดกับความรู้สึก ซึ่งเป็นนามธรรม เหตุผลในรูปธรรมจึงเป็นเรื่องที่จริงบ้างเท็จบ้าง แต่ก็เร้าอารมณ์ของสื่อมวลชนและคนในเมืองได้ดี

ส่วนเหตุผลของชาวบ้านที่ออกมาสนับสนุนนั้น เท่าที่อ่านและฟัง เป็นเหตุผล เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เพราะกระทรวงเกษตรฯทำการศึกษาทุกแง่มุม ตามที่่ฝ่ายคัดค้านรุ่นก่อนๆ เรียกร้อง เพราะโครงการนี้ได้ริเริ่มมากว่า 30 ปีแล้ว จะมีปัญหาบ้างก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ อาจจะต้องยอมเสียบ้าง เพราะโครงการพัฒนาทุกโครงการจะมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ ส่วนเสียก็ต้องมี เช่น จะต้องเสียต้นไม้จำนวนมากในพื้นที่น้ำท่วมกว่าหมื่นไร่ แต่ก็จะได้น้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำ สัตว์ป่าที่อยู่ในแถบนั้นอาจต้องอพยพไปที่อื่นที่กว้างใหญ่ไพศาล ปลาที่จะว่ายทวนน้ำไปวางไข่เหนือเขื่อนก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้ถ้ามี ซึ่งก็คงจะมีไม่มากก็น้อย ฝ่ายคัดค้านไม่ได้ทำการศึกษาและบอกอย่างแจ้งชัด

การถกเถียงกันจึงไม่มีทางจะตกลงกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดหมายแตกต่างกัน ขืนมานั่งประชุมเถียงกันก็มีหวังตีกันตาย เรื่องความขัดแย้งกันสำหรับโครงการพัฒนานี้ เป็นหัวข้อสำคัญในวิชาเศรษฐศาสตร์การคลังหรือ Public Finance เพราะเป็นวิชาที่คาบเกี่ยวกันระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์และวิชารัฐศาสตร์ จะว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจสำคัญอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะว่าเหตุผลทางรัฐศาสตร์อย่างเดียวก็ไม่ได้ มิฉะนั้นโครงการพัฒนาต่างๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเพราะเสนอทฤษฎีทางด้านนี้ก็มี เช่น ดร.บูแคนัน

ถ้าเป็นโครงการสาธารณะอื่นๆ เช่น การสร้างถนนหนทาง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ถ้าสามารถชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการตามทฤษฎี Second Best Theory เช่น การจ่ายค่าเวนคืน จ่ายค่าผลกระทบอย่างอื่น เช่น เสียงรบกวน ถึงสายลม แสงแดด หลังจากที่ได้ดำเนินการในขบวนการประชาธิปไตยทั้งในรัฐสภา โดยมติ ครม.ผ่านทางการอนุมัติงบประมาณควบคุมรัฐบาล และนอกรัฐสภาผ่านทางประชาพิจารณ์ และได้นำข้อท้วงติงไปแก้ไขปรับปรุง แม้จะไม่ได้ผลตอบแทนทางวัตถุหรือทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดก็ตาม ข้อสำคัญต้องผ่านขบวนการประชาธิปไตยในการตัดสินใจ ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายเอ็นจีโอมักจะไม่ยอมรับ และตนเองก็ไม่เชื่อการตัดสินใจผ่านขบวนการประชาธิปไตย แม้จะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เรียกว่าพรรคสันติเขียวหรือ Green Peace ก็ไม่แพร่หลายมีคะแนนนิยมมากนัก ในเมืองไทยพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ไม่เข้มแข็ง ส่วนใหญ่ "รัฐ" ต้องทำการศึกษาเอง แต่ก็ถูกโจมตีว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือ conflict of interest ผลการศึกษาฝ่ายอนุรักษ์และเอ็นจีโอจึงไม่ยอมรับฟัง แต่ก็ไม่มีผลงานการศึกษาของตน เพียงแต่เหตุผลทางจิตใจที่วัดออกมาเป็นมูลค่าไม่ได้ ส่วนผลประโยชน์มักจะไม่มีการพูดถึง แต่ก็บอกว่าไม่คุ้มเพราะสัตว์ป่าจะไม่มีที่อยู่

ในอนาคตความขัดแย้งดังกล่าวย่อมจะมีมากขึ้นสำหรับประเทศกึ่งพัฒนา ที่ยังต้องการเพิ่มผลผลิตต่อหัว ต้องการเพิ่มรายได้จากภาษีอากร ต้องการพัฒนาการขยายตัวที่สูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ขณะเดียวกันก็ต้องการบรรลุความรู้สึกทางจิตใจว่า มีระดับความรับผิดชอบในมาตรฐานสากล ตามความเห็นของนักอนุรักษนิยมและกลุ่มเอ็นจีโอสากลด้วย

กลไกประชาธิปไตยที่กลั่นกรองเพื่อหา "second best solution" ที่ทางการเมืองรับได้ กล่าวคือผลประโยชน์ของส่วนรวมที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในท้องถิ่นรับได้ หรือผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นที่ประชาชนส่วนรวมรับได้ กลไกดังกล่าวไม่มีทางอื่นนอกจากขบวนการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยในความหมายอย่างกว้าง ถ้าใช้การเดินขบวนประท้วงหรือขบวนการสร้างกระแสผ่านทางสื่อมวลชน ซึ่งมักจะเป็นวิธีคิดแบบ "อัตวิสัย" ไม่ใช่แบบ "ภาววิสัย"

การตัดสินใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างนี้ จะมีต้นทุนต่อสังคมส่วนรวมอย่างมหาศาล ทั้งต้นทุนโดยตรงคือน้ำท่วมฝนแล้งและต้นทุนของการเสียโอกาส

การทำให้ขบวนการตัดสินใจผ่านทางระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่การศึกษาตรวจสอบของหน่วยงานเจ้าของโครงการ การตรวจสอบระดับคณะรัฐมนตรี ขบวนการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงขบวนการนอกรัฐสภา เช่น การประชาพิจารณ์ การถามประชามติ และอื่นๆ แทนการเดินขบวนประท้วงปิดถนนหรือการใช้กำลัง ต้องเข้มแข็ง ตรงไปตรงมา เปิดเผยและเชื่อถือได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ข้อสำคัญคือความเชื่อถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องสร้างให้ได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------

ปมปัญหาโลกยุคใหม่ : ความเหลื่อมล้ำ-ตลาดเสรี

ไมเคิล แซนเดล"นักปรัชญาการเมืองชื่อดัง ชาวอเมริกัน ชี้ความไม่เท่าเทียม-ตลาดเสรี ปมปัญหา"ใหญ่"ในโลกยุคใหม่

สุทธิชัย สัมภาษณ์ ไมเคิล แซนเดล นักปรัชญาการเมืองชื่อดัง ชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและเป็นที่รู้จักกันจากคอร์ส "Justice" ที่เขาสอนมานาน 20 ปี รวมกันแล้วมีนักศึกษากว่า 15,000 คนที่เข้าเรียนคอร์สนี้ ทำให้เป็นคอร์สที่มีนักศึกษาเข้าเรียนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮาวาร์ด โดยคอร์สดังกล่าวมีการเผยแพร่ทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ยูทูบด้วย]

ผมติดตามการสอนของคุณทางยูทูบมาตลอด หนังสือเรื่อง What money can't buy ที่คุณแต่งก็มีเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก คุณมาไทยครั้งนี้เพื่อทำอะไร

มาร่วมพูดในงาน "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ซึ่งเวทีนี้ผมได้พูดคุยเกี่ยวกับแง่มุมของความยุติธรรม จริยธรรม และค่านิยม ซึ่งเราต้องเพิ่มเติมเข้าไปในการดำเนินชีวิต รวมถึงในสังคมประชาธิปไตย ผู้คนในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกมีความคับข้องใจอย่างมากจนเกิดพรรคการเมืองทางเลือกขึ้นมา ส่วนหนึ่งน่าจะเนื่องจากผู้คนต้องการเห็นความยุติธรรม คุณค่า และความเท่าเทียมกัน

สิ่งที่ขาดไปคือแง่มุมด้านจริยธรรม-คุณธรรมของการเมืองใช่ไหม

ใช่

หมายถึงในสหรัฐหรือเปล่า

ทำนองนั้น โดยเฉพาะในขณะนี้ที่หน่วยงานของรัฐบาลต้องปิดทำการ

ในสายตานักปรัชญาการเมือง มองการปิดหน่วยงานรัฐว่าอย่างไร

ผมว่าสิ่งดังกล่าวสะท้อนความล้มเหลวของระบบการเมือง สหรัฐหาทางออกเรื่องงบประมาณไม่ได้เพราะพรรครีพับลิกันยืนยันที่จะกำจัดกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพ "โอบามาแคร์" โดยหากไม่ได้อย่างที่ต้องการก็จะไม่ยอมผ่านงบประมาณ จนต้องมีการปิดหน่วยงานรัฐในที่สุด และล่าสุดที่เป็นประเด็นคือการเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งเปรียบได้กับการนำการเมืองและเศรษฐกิจมาเป็นตัวประกัน ต่อรองกับวาระทางการเมืองของรีพับลิกัน

ผมคิดว่านี่ไม่ใช่แนวทางตามหลักประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยจะได้ผลเมื่อคนมาอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็นกัน หรือประนีประนอมกัน ซึ่งที่ผ่านมาพรรครีพับลิกันก็มีโอกาสในการคัดค้านกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพแล้วในสภา ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตย

คุณคิดว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามา ควรทำอย่างไรในตอนนี้

ผมเห็นด้วยกับที่ประธานาธิบดีโอบามาทำอยู่ขณะนี้ นั่นคือเสนอว่าทันทีที่หน่วยงานภาครัฐเปิดทำการได้อีกครั้งและมีการเพิ่มเพดานหนี้ จะนั่งเจรจาเรื่องงบประมาณระยะยาวรวมถึงการใช้จ่ายด้านสังคม บำนาญ สุขภาพ กับพรรครีพับลิกัน แต่ประธานาธิบดีโอบามาจะไม่ยอมเจรจาหากพรรครีพับลิกันยังเศรษฐกิจทั้งหมดมาเป็นตัวประกันหรือเครื่องต่อรอง

แต่การกระทำดังกล่าวก็เสี่ยงที่จะให้มีการผิดนัดชำระหนี้ หากตกลงกันไม่ได้ภายในวันที่ 17 ต.ค.

ประธานาธิบดีน่าจะกำลังหวังว่าคนอเมริกันจะบีบให้พรรครีพับลิกันต้องผ่อนปรนท่าที จริงๆ แล้วสมาชิกหลายคนของพรรครีพับลิกันก็ต้องการเห็นชอบให้มีการเพิ่มเพดานหนี้

คนอเมริกันทั่วไปคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ผมคิดว่าคนอเมริกันรู้สึกคับข้องใจกับระบบการเมือง ผลการสำรวจระบุว่าคนจำนวนมากตำหนิว่าเป็นความผิดของพรรครีพับลิกันมากกว่าประธานาธิบดีโอบามา

คุณจะใช้เหตุการณ์นี้มาประกอบการสอนเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมอย่างไร

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการปะทะกันของหลักการและความเชื่อเกี่ยวกับระบบปฏิรูปประกันสุขภาพหรือระบบภาษี ซึ่งการมีความเห็นขัดแย้งกันถือเป็นเรื่องปกติในการอภิปรายทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแต่คำถามคือจะจัดการกับความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างไร แต่กลุ่มทีพาร์ตี (Tea Party) ในพรรครีพับลิกันไม่ได้โน้มเอียงไปทางการประนีประนอมหรืออภิปรายตามแนวทางประชาธิปไตยมากนัก และยืนกรานว่าหากไม่ได้ตามต้องการก็จะไม่ยอม

เหตุการณ์นี้เทียบเคียงกับเรื่องราวในหนังสือ What money can't buy ได้อย่างไรบ้าง ถือเป็นข้อจำกัดทางศีลธรรมในการเมืองได้หรือไม่

ถูกต้องเลย ผมคิดว่าปัญหาหนึ่งในระบบการเมืองของเราที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือเรื่อง What money can't buy คือเงินมีบทบาทและอิทธิพลมากเกินไปในการหาเสียง

เงินกำลังมีอิทธิพลมากในการเมืองทุกวันนี้อย่างนั้นหรือ

ใช่ในหลายประเทศ แต่บางประเทศในยุโรปและเอเชียจำกัดบทบาทของเงินในทางการเมืองได้อย่างประสบความสำเร็จมากกว่าในสหรัฐ ผ่านการจำกัดการบริจาคเงินเพื่อพรรคการเมือง โดยเฉพาะจากภาคธุรกิจ และผมคิดว่าเราปล่อยให้เงินมีบทบาทมากเกินไป

แล้วตอนนี้ทำอะไรได้บ้าง

ผมอยากให้มีกฎหมายจำกัดจำนวนเงินสำหรับช่วยในการหาเสียง เพราะปัจจุบันมีข้อจำกัดน้อยมาก ขณะที่หลายประเทศสามารถหาวิธีมาจำกัดบทบาทของเงินในการเลือกตั้ง บางประเทศก็เปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ไปนำเสนอวิสัยทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ และไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองซื้อเวลาหาเสียงทางโทรทัศน์อย่างไม่จำกัด

คงเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะไปลอบบีให้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะท้ายที่สุดนักการเมืองจะเป็นผู้ลงคะแนนเสียงว่าอยากเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอะไร

ถูกต้อง

แล้วคุณจะออกจากวงจรชั่วร้ายนี้ได้อย่างไร

ทางเดียวคือการท้าทายให้ประชาชนและสถาบันต่างๆ ในภาคประชาสังคม ทำหน้าที่แกนนำของกลุ่มประชาชนที่สนใจในเรื่องนี้และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงภาคการเมือง

ในฐานะอาจารย์ด้านปรัชญาการเมือง คุณสามารถผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าอิทธิพลของผมในฐานะอาจารย์ ผู้ให้การศึกษา และนักเขียน อาจเป็นในรูปแบบระยะยาวมากกว่า โดยในหนังสือที่ผมเขียน ผมพยายามเขียนให้ชัดเจนและเข้าใจได้สำหรับคนทั่วไป ไม่ใช่เขียนให้อ่านกันในแวดวงนักวิชาการ

จากการอ่านหนังสือของคุณ ผมสามารถเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการสื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาปรัชญาอย่างโสเครติส และผมก็ติดตามการสอนของคุณทางยูทูบมาตลอด วิธีการสอนของคุณสร้างแรงบันดาลใจได้มาก วิธีการสอนของคุณแตกต่างออกไปมากจากอาจารย์คนอื่นๆ คุณค้นพบวิธีการสอนแบบนี้จากไหน

ผมสอนและก็เชื้อเชิญ ท้าทายให้นักศึกษาตอบคำถามยากๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากการมีส่วนร่วม สมัยเป็นเด็กผมคิดว่าการสอนเป็นเรื่องน่าเบื่อ พอโตมาก็อยากใช้วิธีการสอนให้วิชาปรัชญาเป็นรูปธรรมและเชื่อมโยงกับทั้งโลก เป็นเหตุการณ์หรือปัญหาที่ประสบพบเจอกันในชีวิตประจำวัน นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเชื้อเชิญให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น หรือหาทางออกสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจประสบพบเจอ

ผมสังเกตเห็นว่าบางคำถามที่คุณถามเด็กนั้น ยากมาก และเด็กก็ไม่แน่ใจว่าที่ตอบไปถูกหรือเปล่า

จริงๆ แล้วไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดไปหมดเสียทีเดียว เพราะบางคำถามเกี่ยวข้องกับจริยธรรมหรือค่านิยมที่นักปรัชญาถกเถียงกันมาเป็นร้อยปี สิ่งที่ผมทำคือพยายามตั้งคำถามให้เด็กเห็นปัญหาและแสดงความคิดเห็น

แล้วตอนให้คะแนนล่ะ ถ้าคำตอบมีหลากหลาย นักศึกษาจะทำคะแนนจากไหนเพราะไม่ได้ใช้การท่องจำแต่ตอบในเรื่องเกี่ยวกับการนำหลักการมาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน

นักศึกษาจะได้คะแนนจากการเขียนว่าจะนำหลักการทางปรัชญาไปใช้กับเรื่องหรือประเด็นที่มีการถกเถียง หรือเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หรือในชีวิตประจำวันอย่างไร การให้คะแนนไม่ได้ยึดจากจุดยืนของนักศึกษา แต่พิจารณาว่าคำตอบนั้นมีการเชื่อมโยงกับหลักการด้านปรัชญาหรือไม่ รวมถึงพิจารณาว่านักศึกษามีแนวทางชี้แจงหรือไม่ในกรณีที่มีคนเห็นต่าง เพราะนักปรัชญาหลายคนเรียนรู้ที่จะฟัง และอธิบายเหตุผลให้กับผู้เห็นต่าง ซึ่งสิ่งนี้เป็นทักษะที่จำเป็นมาก เพราะในชีวิตประจำวันนั้นมีหลายครั้งที่คนไม่ฟังความเห็นต่าง จึงมีภาพของการตะโกนใส่กันหรือขัดมากลางคัน

อะไรคือคำถามด้านปรัชญาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้

การรับมือความไม่เท่าเทียมกันที่มากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนที่มีมากขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะหาทางกระจายความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างไร อีกอย่างคือเราต้องมานั่งหารือหรือถกกันเกี่ยวกับบทบาทของเงินและตลาดเสรี โดยต้องนำคำถามเรื่องจริยธรรมรวมเข้ามาด้วย ว่าตลาดสามารถตอบสนองความต้องการของสาธารณชนได้หรือไม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

2 รากเหง้า เผด็จการ !!?

โดย:พญาไม้

ไม่มีอะไรใหม่..สำหรับการเมืองไทย

เรื่องที่จะเกิดข้างหน้าก็ใช่ว่าจะไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน..ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือการแย่งอำนาจกันไปมา..

บางครั้งก็ไม่กี่ฝ่าย บ้างครั้งก็มากมายจนนับแทบไม่ได้..

อย่างคราวล่มสลายของเผด็จการถนอม-ประภาส..ก็มีแต่ถนอมกับประภาสเท่านั้น ที่เป็นฝ่ายเดียวกัน
นอกจากนั้นเป็นฝ่ายตรงกันข้าม..ทั้งหมด

พลเอก กฤษณ์ สีวะรา..พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์..พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์..หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช..พรรคประชาธิปัตย์..ครูบาอาจารย์ทุกมหาวิทยาลัย..ฯลฯ

เหตุผลเดียวที่เป็นเช่นนั้น..เพราะประเทศไทยในขณะนั้น..ทุกสรรพสิ่ง..ทุกๆ งบประมาณ..ทุกๆ ใบอนุญาติ..เป็นสมบัติของคนแค่​​​ 2 นามสกุล....

กิตติขจร

จารุเสถียร

ประเทศใหญ่เกินไปสำหรับคนแค่ 2 รากเหง้า..และเมื่อทั้ง 2 รากเหง้า..ปรองดองเป็นครอบครัวเดียวกัน..

อวสานจึงเรื่มต้น..

ว่ากันไปแล้ว..อำนาจปกครองของ ถนอม-ประภาส..ไม่ใช่เป็นเผด็จการ...เพราะรัฐบาลของเขาก็มาจากการเลือกตั้ง..มีการผสมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อเป็นรัฐบาล..แต่..เผด็จการก็คือเผด็จการ...
รูปแบบการใช้อำนาจต่างหาก..ไม่ใช่ที่มาของอำนาจ..

ก็อย่างที่กล่าวกันว่า..ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง..

ยามใดเมื่อใด..ที่รูปแบบการใช้อำนาจเป็นเผด็จการ..มันก็คือเผด็จการ...ไม่ว่าอำนาจนั้นมันจะก่อเกิดขึ้นมาแบบใด..

และหากมันเป็นอำนาจที่ใช้กันแค่2 รากเหง้า..ในที่สุดประเทศมันคงรับไม่ได้..

ที่มา.บางกอกทูเดย์
-------------------------------