--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ค้านการตั้ง กระทรวงน้ำ !!?

ครบรอบ 2 ปีวิกฤตน้ำท่วม 2554 อยากจะสะท้อนข้อมูลปัญหาการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามิได้ตั้งใจ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบ หรือกลไกเดิมที่มีอยู่แล้วของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพสามารถการันตี เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้ว่า "จะไม่มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่อีกต่อไปในประเทศไทย"
   
แต่ดูเหมือนว่า การเกิดน้ำท่วม ความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน กำลังเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักการเมือง เพื่อที่จะใช้เป็นเหตุผลแบบมัดมือชก ในการผลักดันเมกกะโปรเจกต์ และใช้เงินจากภาษีของประชาชนอย่างสบายมือ โดยไร้การตรวจสอบ เงินกว่า 3.5 แสนล้าน มั่นช่างเป็นอะไรที่หอมหวนชวนอยากเร่งรีบใช้เสียเหลือเกิน กลางคืนก็นอนฝันเคลิ้มและหลงละเมอออกมาว่า "เมื่อไรจะได้เซ็นต์สัญญาซักที"
   
ก่อนหน้านี้งบกลาง 1.2 แสนล้านบาท ถูกนำมาใช้เป็นงบฉุกเฉิน หลังน้ำท่วมปี 2554 ใหม่ ๆ โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อรีบเร่งในการชดเชย เยียวยา และป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า ถูกนำไปเยียวยาผู้ประสบภัยเพียง  37.51% นอกนั้นทั้งหมดถูกนำไปละลายเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคม เสริมถนนหนทางถึง 22.49% สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ 21.26% นำไปซ่อมแซมฟื้นฟูสถานที่ราชการ 6.65% นำไปซ่อมแซมสถานที่ศึกษา การบริการทางการแพทย์ 5.27% นำไปซื้ออุปกรณ์เครื่องมือในการช่วยน้ำท่วม 4.08% นำไปซ่อมแซมศาสนสถาน โบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยว 2.33% และอื่น ๆ อีก 0.39%
   
โครงการ สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นมีใครตรวจสอบหรือไม่ว่ามีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วหรือไม่ ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้วหรือไม่ ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่แล้วหรือไม่
   
ณ วันนี้ เราจึงเริ่มเห็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นอุจาดทัศน์กันทั่วท้องถนนเกือบทุกสายในภาคกลาง และริมแม่น้ำ คือ "กำแพงกั้นน้ำริมแม่น้ำ ริมคลอง" และ "ผนังกั้นน้ำบนเกาะกลางถนน" ซึ่งมิได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายเลย ข้อมูลที่ภาครัฐพยายามกรอกหูโฆษณาชวนเชื่อต่อชาวบ้านคือ ถ้าสร้างแล้วน้ำจะไม่ท่วม
   
ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงคือ กำแพงกั้นน้ำจะเป็นตัวกีดกันทางเดินของน้ำ จะทำให้น้ำถูกกั้นยกระดับให้สูงขึ้นเอ่อล้นไปในพื้นที่เหนือน้ำ โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมจะมีมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีใครบอกชาวบ้าน
   
หลังปี 2554 ทำให้รู้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับน้ำเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมและนำมาบิดเบือนอย่างบูรณาการ ด้วยกลุ่มคนที่มีเครือข่ายถึงกัน ทั้งข้าราชการ และนักการเมือง รวมไปถึงนายทุนใหญ่ด้านการเกษตร การบูรณาการข้อมูลนี้นำไปสู่การจัดการกับทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการให้เกิดผลด้านลบกับประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเขียนและพัฒนาเมกกะโปรเจกต์ต้องการ
   
ยิ่งน้ำท่วมมากเท่าไร ก็ยิ่งบูรณาการผลักดันเมกกะโปรเจกต์ออกมาได้มากเท่านั้น โดยไม่สนใจเลยว่าโครงการเหล่านั้นเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วในอนาคต จะส่งผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลข้างหน้า แต่ ณ วันนี้ขอให้ข้าได้เซ็นต์สัญญาว่าจ้างก่อนเป็นพอ
   
น้ำท่วมกว่า 30 จังหวัดในปีนี้เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ อีกตามเคย เพราะระบบสั่งการถูกรวบอำนาจมาไว้ที่ กบอ. พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่เฝ้าดูแล บริหารประตูระบายน้ำต่าง ๆ ไม่กล้าแม้กระทั่งจะเปิดปิดประตูระบายน้ำ ให้น้ำเอ่อล้นขนาดไหนก็ตาม เพราะกลัวถูกชาวบ้านฟ้องร้อง หากเปิดไปแล้วไปทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อื่น จึงต้องรอการสั่งการจากส่วนกลาง จาก กบอ. ทั้ง ๆ ที่ในอดีตปัญหาเหล่านี้ไม่เคยเกิด
   
บางพื้นที่รู้ทั้งรู้ว่าถ้าเร่งระบายน้ำจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ก็มีความพยายามของใครบางคนที่ต้องการให้ทุกประตูน้ำปิดกั้นน้ำไว้ จนในที่สุดน้ำต้องมีทางไป จึงไปเอ่อล้นท่วมพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน หลังจากนั้นก็ต่อสายส่งซิกให้แกนนำหัวคะแนนไปบอกกับชาวบ้านว่า เป็นเพราะเราไม่มีเขื่อน น้ำจึงท่วมบ้าน ท่วมไร่นาเรา ดังนั้นชาวบ้านต้องช่วยกันออกมาสนับสนุนการสร้างเขื่อน และด่าพวกนักวิชาการ พวกเอ็นจีโอที่ต่อต้านเขื่อน
   
ในที่สุดปีนี้น้ำก็เกิดท่วมอีกในหลาย ๆ พื้นที่ ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะท่วม จึงไม่น่าแปลกใจ ที่กระแสการดันกระทรวงน้ำ กระแสให้เร่งรีบในการสร้างเขื่อน จะปรากฏออกมาในช่วงนี้ เพื่อใช้เป็นทางออกให้กับทางตัน ในการจัดการน้ำในวันนี้ เพื่อซื้อเวลา ต่อรองผลประโยชน์ สร้างภาพที่สับสนให้คนไทยทะเลาะกันเอง และยืมมือบริษัทต่างชาติมาเอี่ยวด้วย ทั้งจีน และเกาหลี
   
กระทรวงน้ำนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในการทำงานระดับชาติ เรามีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกรมชลประทาน อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแยกออกมา แต่เพื่อการจัดการกับงบประมาณที่ต้องเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ตรงนี้จำเป็นและเข้าใจได้ แต่ผลกระทบทั้งแบบสะสม แบบเฉียบพลันจากการทำงานที่ไร้รูปแบบ ไร้กึ๋น และไร้ประสบการณ์เช่นนี้ เราจะสูญเสียอะไรอีกมาก และนี่จะกลายเป็นต้นแบบในการอ้างการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม มาสู่การจับเอาคนไทยเป็นข้ออ้าง เพื่อกระทำ และละเว้นการกระทำ อะไรบางอย่างต่อไปหรือไม่
   
การตั้งกระทรวงน้ำครั้งนี้ อยู่ในรูปแบบการคิดเดิมๆ เปลี่ยนเพียงกิจกรรม และรูปแบบของผลกระทบ แต่จะสร้างปัญหาออกมาแบบไร้รูปแบบ เพราะจะเป็นการลากเอาเรื่องสำคัญ เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศไปไว้ในระบบงานของนักการเมืองที่กระสันอยากจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการน้ำ ไม่อยากจะเชื่อว่าผู้กุมอำนาจใน กบอ. เคยเป็นถึงอาจารย์พิเศษ ในสถาบันการศึกษา ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรศาสตร์ มาแล้ว ถ้าท่านคิดว่านี่เป็นคำตอบของปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำของไทย ขอให้ท่านคิดถึงวันที่มาสอนหนังสือนักศึกษา วันนั้นท่านคิดอะไร ท่านสอนคนเหล่านั้นว่าอะไร
   
กระทรวงน้ำหากคิดจะตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของใครบางคนแล้ว ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 วรรคสอง โดยการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ
   
กระทรวงน้ำ หากจะตั้งขึ้นมาก็เพียงเพื่อสนองตอบต่อความทะยานอยากที่ต้องการเป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรกของใครบางคน คงไม่ใช่มีไว้สำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่มีไว้เพื่อเป็นกระทรวงพ่นน้ำลาย หรือกระทรวงปั้นน้ำเป็นตัวตามสไตล์ของผู้อยากเป็นรัฐมนตรีอย่างแน่นอน เพราะปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ไม่อาจแก้ได้ด้วยการตั้งกระทรวงเพื่อเพิ่มโควต้ารัฐมนตรีให้กับพรรคของตน เพราะการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีทั้งหลาย แต่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่มีอำนาจและมีความจริงใจในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งอาจเป็นแก่ระดับหัวหน้าหน่วยงาน เช่น ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี ส่วนตำแหน่งทางการเมืองอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่สวมชุดเทวดาเป็นพญาเม็งรายชาตินี้หรือชาติไหนไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เลย

ที่มา.สยามรัฐ
---------------------------------------------

ความเสี่ยงจากสหรัฐที่ควรจับตา ในช่วงที่เหลือของปี !!?

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตทักทายสวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสเขียนบทความลงในประชาชาติธุรกิจ แน่นอนครับว่าช่วงนี้สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ความเคลื่อนไหวของการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผมคิดว่ามี 3 ประเด็นที่น่าจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนทั่วโลก

โดย ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

Government Shutdown ไม่น่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก โดยจากการต่อรองที่ไม่เป็นผลสำเร็จในการจัดทำงบประมาณประจำปีของสหรัฐ ระหว่างพรรค Democrat ซึ่งคุมเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา และพรรค Republican ซึ่งคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาล่าง ทำให้ท้ายที่สุดรัฐบาลสหรัฐต้องประกาศหยุดทำการ (Government Shutdown) ซึ่งนับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายงบประมาณใหม่ของสหรัฐในปี 1976 ความขัดแย้งของสภาได้นำไปสู่ Government Shutdown ทั้งหมด (รวมครั้งนี้ด้วย) เป็นจำนวน 18 ครั้ง

โดยครั้งล่าสุดเกิดในปี 1995 สมัยประธานาธิบดีคลินตัน โดยหยุดทำการเป็นเวลา 21 วัน อย่างไรก็ตาม ในอดีตการปิดทำการมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการปิดทำการระยะเวลาสั้น ๆ (น้อยกว่า 3 วัน) ซึ่งเราคาดว่าในครั้งนี้ก็น่าจะเป็นการปิดทำการในช่วงสั้นเช่นกัน และจะมีผลกระทบที่จำกัดต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ (ไม่แน่ครับในขณะที่ท่านอ่านบทความนี้อยู่ การหยุดทำการอาจจบไปแล้ว)

สิ่งที่น่าจะมีผลมากกว่าคือ การยกเพดานหนี้สาธารณะในช่วงปลายตุลาคม โดยความเสี่ยงทางการคลังอีกความเสี่ยงหนึ่งที่

นักลงทุนต้องลุ้นว่าทางสภา Congress จะจัดการยังไงคือการขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ (Public Debt Ceiling) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐและเดนมาร์ก เป็น 2 ประเทศที่มีกฎหมายเพดานหนี้สาธารณะ โดยในสหรัฐกฎหมายนี้เริ่มบังคับใช้ในปี 1917 ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมามีการยกเพดานหนี้มาแล้วถึง 91 ครั้ง ครั้งล่าสุดก็คือเมื่อต้นปี 2013 นี้เอง นั่นหมายความว่าการยกเพดานหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาทำกันบ่อยอยู่แล้ว

แต่ที่ต้องลุ้นคือจะทำทันรึเปล่า ? เพราะในช่วงวันที่ 17 ตุลาคม ทาง Congressional Budget Office (CBO : คล้าย ๆ กับสำนักงบประมาณบ้านเรา) ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นช่วงที่เงินสดของรัฐบาลสหรัฐจะเหลือค่อนข้างน้อย และอาจจะหมดลงในช่วงตั้งแต่วันที่ 22-สิ้นเดือนตุลาคม

นั่นหมายความว่าถ้าจะยกเพดานหนี้ก็ควรจะยกก่อนวันที่ 17 ตุลาคม น่าจะทำให้ตลาดตกใจน้อยที่สุด

Fed ไม่น่าจะลดขนาด QE ในการประชุมเดือนตุลาคม อย่างเร็วน่าจะเป็นเดือนธันวาคม จากความเสี่ยงทางการคลัง

ที่มีค่อนข้างสูง TISCO ESU เชื่อว่าโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (The Federal Reserve : Fed) จะประกาศการลดขนาดของโครงการ Quantitative Easing (QE) ในการประชุมวันที่ 30 ตุลาคมนั้นน่าจะเป็นไปได้น้อยมาก อย่างเร็วก็น่าจะประกาศในการประชุมวันที่ 18 ธันวาคม อีกสาเหตุหนึ่งที่เราเชื่อว่า Fed น่าจะประกาศลดขนาด QE ในเดือนธันวาคม เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคมนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจหลาย ๆ ตัวที่ Fed ใช้เป็นตัวชี้วัดในการทำนโยบาย อาจไม่ได้มีการประกาศตัวเลขออกมา เนื่องจากหน่วยงานที่เก็บตัวเลขเหล่านี้ก็ถูกผลกระทบจาก Government Shutdown เช่นเดียวกัน

โดยรวมเรายังคงมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ความเสี่ยงทางการคลังดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นความเสี่ยงระยะสั้น โดยรวมแล้วจากตัวเลขการจ้างงาน การผลิต และภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ท่าทีล่าสุดของ Fed ที่ตัดสินใจคงขนาดโครงการ QE ต่อก็แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะยังดำเนินนโยบาย

ผ่อนคลายทางการเงินต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ TISCO ESU จึงยังคงมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สับขาหลอกหรือกดดัน !!??

คงติดตามค้นหาความจริงกรณีที่นายกฯ  ยังไม่นำเอาร่างแก้ไขรธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งที่ก่อนนี้มีการยืนยันค่อนข้างชัดเจน ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่าเป็นเกมสับขาหลอกหรือเป็นเพราะสภาวะที่กดดันกันแน่

ต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาในช่วงเวลาของรายการเจาะข่าวร้อนล้วงข่าวลึกประจำวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556

เรายังคงติดตามค้นหาความจริงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่นำเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของส.ว.ขึ้นทูลเกล้าทูกระหม่อม ทั้งที่ก่อนนี้มีการยืนยันค่อนข้างจะชัดเจนว่ามีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าไปแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงเกิดข้อคำถามว่าสาเหตุที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้มีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้านั้นเป็นเพราะเป็นเกมสับขาหลอกหรือเป็นเพราะสภาวะที่กดดันกันแน่

หลังจากที่รัฐสภาลงมติวาระ3 แก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของส.ว.เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กันยายน หลังจากนั้นนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนากยกรัฐมนตรีก็ออกมาเปิดเผยว่าน่าที่จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯในวันที่ 1 ตุลาคม

หลังจากนั้นวันที่ 1 ต.ค.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาของ ส.ว. ว่า ในเบื้องต้นฝ่ายเลขาธิการ ครม.ได้รับเรื่องจากทางรัฐสภาแล้ว โดยฝ่ายเลขาฯครม. ได้ร่วมตรวจสอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญแล้ว ดำเนินการเรียบร้อย
       
ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “ใช่ ทางฝ่ายเลขาครม.ได้ตรวจสอบทุกอย่างถูกต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นก็ต้องทำตามหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ ในการนำเสนอ”

2 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาย้ำอีกครั้งว่ากระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและได้มีหนังสือแจ้งมาว่ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบวาระ 3 ซึ่งถือเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ในส่วนของรัฐบาลโดยฝ่ายเลขานุการ ครม.ก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวต้องตรวจสอบ อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ได้ดำเนินการตรวจสอบในข้อกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่นำเสนอตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ โดยไม่สามารถไปยึดตามหลักอื่นได้ ตนก็ต้องยึดหลักตามข้อกฎหมาย ในส่วนของความเห็นนั้นก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องยึดตามหลักของข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งขั้นตอนต่างๆถือว่าเสร็จสมบูรณ์

นายกรัฐมนตรีพยายามอธิบายว่า อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติคืออำนาจของประชาชนและรัฐสภา อำนาจของฝ่ายบริหารก็ต้องแยกกัน และตนเองก็มีหน้าที่ทำตามของรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงนามเอกสาร ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ของ ส.ว.แล้ว หลังจากเลขาธิการคณะกรรมการฤษฎีกา และเลขาธิการคณะรัฐมมนตรี  ได้จัดทำเอกสารและตรวจสอบความเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประสานกับสำนักพระราชวัง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ลงพระปรมาภิไธย

แต่ปรากฎว่าในวันที่ 3 ตุลาคม นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่ได้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยระบุว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับสำนักราชเลขาธิการ

ขณะที่ นายพงษ์เทพ เทพกาจนา รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ สว.ขึ้นทูลเกล้า เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พร้อมระบุว่า นายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า กระแสข่าวดังกล่าวเป็นเพียงแค่ข่าวลือ รวมถึงได้ปฏิเสธกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการสอดไส้ เนื้อเพิ่มเติมโดยที่ รัฐสภาไม่รับทราบ

พิจารณาจากลำดับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะพบเห็นได้ถึงความผิดปกติอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นการค้นหาคำตอบถึงอาการลังเลของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ก็ต้องมาดูว่าเกิดจากแผนสับขาหลอกหรือเป็นเพราะแรงกดดันทางการเมืองกันแน่

พิจารณาจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา ๑๕๐ ที่ระบุว่าร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

การนับ  20 วันตามบทบัญญัตินั้นเป็นการเริ่มต้นนับตั้งแต่ที่สภาส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้นายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าแบบไม่มีเงื่อนไขจริงๆ ก็ไม่ควรให้สภารีบส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้นายกรัฐมนตรีตั้งแต่แรก

เพราะฉะนั้นเมื่อมีการส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ปรากฏว่าสถานการณ์หลังจากนั้นมีกลุ่มต่างๆออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในลักษณะกดดันให้นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในการกระทำที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท วึ่งอาจเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยังไม่นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า

อย่างไรก็ตามหากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าแล้ว ตามบทบัญญัติ มาตรา ๑๕๑ ระบุว่าร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน

ที่มา.ทีนิวส์
--------------------------------------

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เฟดส่อเลื่อนลด QE !!??

หุ้น-เงินเอเชียขยับขึ้น หลังวิกฤติการคลังสหรัฐส่อยืดเยื้อ ส่งผลเฟดส่อเลื่อนคิวอี "โอบามา"ลั่นไม่เจรจาต่อรอง ธาริษา"เตือนรับมือตลาดผันผวน

วิกฤติงบประมาณและเพดานหนี้ของสหรัฐส่อเค้ายืดเยื้อ หลังจากประธานาธิบดีบารัก โอบามา ปฏิเสธเจรจาหรือต่อรองกับพรรครีพับลิกัน เรื่องปัญหางบประมาณจนนำไปสู่การปิดหน่วยงานรัฐบาลเป็นวันที่ 3 และคองเกรสพิจารณาเพิ่มเพดานหนี้ในวันที่ 17 ต.ค.

ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวย้ำต่อบรรดาผู้นำสภาคองเกรสว่าจะไม่เจรจาต่อรองใดๆ หลังจากเจรจามากกว่า 1 ชั่วโมงที่ทำเนียบขาว ซึ่งทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า"ท่านประธานาธิบดีได้บ่งชี้อย่างชัดเจนต่อบรรดาผู้นำว่าท่านจะไม่เจรจาต่อรองเกี่ยวกับความต้องการให้สภาคองเกรสดำเนินการเพื่อเปิดทำการหน่วยงานรัฐบาลหรือเพื่อเพิ่มเพดานหนี้"

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามา จัดการเจรจาที่ห้องทำงานรูปไข่กับผู้นำระดับสูงของพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้แก่นายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และนายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน รวมทั้งสมาชิกสภาระดับสูงของพรรคเดโมแครตซึ่งได้แก่ นายแฮร์รี รีด ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา และนางแนนซี เพโลซี ผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นการเจรจากันแบบเผชิญหน้ากันครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีโอบามาและผู้นำสภาคองเกรส นับตั้งแต่เริ่มการปิดหน่วยงานรัฐบาลเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ท่าทีของแข็งกร้าวของประธานาธิบดีโอบามา ได้ส่งผลต่อค่าเงินและตลาดหุ้น เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าหากสหรัฐไม่สามารถตกลงเรื่องงบประมาณและขยายเพดานหนี้ได้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลื่อนกำหนดการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29-30 ต.ค.นี้

สกุลเงินเอเชียปรับตัวขึ้นในวานนี้ (3 ต.ค.) ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงอันเนื่องมาจากความวิตกที่ว่าการปิดหน่วยงานรัฐบาลบางส่วนของสหรัฐอาจดำเนินต่อไป

นักวิเคราะห์กล่าวว่ามีแรงเทขายดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ซึ่งทุกคนกำลังเทขายขณะที่ไม่มีใครต้องการซื้อ

นักวิเคราะห์เห็นว่าการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐอาจยืดเยื้อออกไปและลดโอกาสที่เฟด จะลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะใกล้ ได้ช่วยหนุนสกุลเงินเอเชียเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

"หากการปิดหน่วยงานรัฐบาลดำเนินต่อไปหลายสัปดาห์ ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวอยู่ใกล้ระดับ ณ สิ้นปี 2555"

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวันก่อน แม้ว่าช่วงท้ายตลาดวานนี้ (3 ต.ค.) อยู่ที่ 31.25/30 อ่อนจาก 31.14/20 ในช่วงเช้า และขณะที่ตลาดต่างประเทศ (offshore) อยู่ที่ 31.25/29 จาก 31.12/19 ในช่วงเช้า

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่สหรัฐ มีปัญหาเรื่องงบประมาณ โดยวานนี้ ปิดบวก 20.19 จุด หรือ 1.43% อยู่ที่ 1,429.18 แม้นักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิ แต่ได้แรงหนุนจากกลุ่มสถาบันเข้าซื้อ โดยคาดว่าเฟดจะชะลอการลดวงเงินคิวอี

คำกล่าวของนายเอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตัน ช่วยย้ำว่าเฟดจะยังคงคิวอีต่อไป โดยกล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังชะลอตัว และตลาดจ้างงานที่ย่ำแย่ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงต้องได้รับมาตรการหนุนจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกหลายปี

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29-30 ต.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าจะยังคงมาตรการคิวอี ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมกัน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ทุกเดือนเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

ชี้เฟดอาจเลื่อนปรับลดคิวอี

นายโรเซนเกรน ยังกล่าวว่า การปิดหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐ อาจส่งผลให้เฟดประเมินสภาพเศรษฐกิจสหรัฐได้ล่าช้ากว่าเดิม และอาจทำให้เฟดต้องเลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในมาตรการคิวอีออกไป

นายโรเซนเกรน กล่าวว่า เฟดอาจจะต้องรอจนกว่าได้เห็นข้อมูลในเดือนต.ค. เพื่อประเมินความเสียหายจากการปิดทำการของหน่วยงานรัฐบาล และความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้นกรณีการเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ

"ถ้าเศรษฐกิจมีการพัฒนาตามที่คาดไว้ ก็มองว่า นโยบายของเฟดก็น่าจะรวมถึงการยกเลิกมาตรการผ่อนคลายอย่างช้าๆ ในช่วงหลายปีข้างหน้า และน่าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อข้อมูลสนับสนุนการคาดการณ์ของเราที่ว่า จีดีพีที่แท้จริงและการจ้างงานได้ปรับตัวดีขึ้น" นายโรเซนเกรน กล่าว

ย้ำเศรษฐกิจยังแย่ ไม่ลดคิวอี

นายโรเซนเกรน กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลรวมถึงความไม่แน่นอนในนโยบายการคลัง อัตราการเติบโตที่ระดับต่ำของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในตลาด เพราะได้พุ่งขึ้นสู่ระดับที่สูงมากจนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

นายโรเซนเกรน ย้ำว่า "หากเศรษฐกิจไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นตามคาด เราก็จะไม่ปรับลดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย"

ด้าน โกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยว่า การปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ (ชัทดาวน์) ในระยะสั้น จะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง ประมาณ 0.2% แต่การปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ อาจถ่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงมากถึง 0.4% เนื่องจากพนักงานภาครัฐที่ถูกพักงานจะทำการปรับลดการใช้จ่ายส่วนบุคคล

ขณะนี้ การปิดหน่วยงานของรัฐบาลได้ย่างเข้าสู่วันที่สามแล้ว

"ธาริษา"เตือนรับมือสหรัฐป่วน

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมีผลต่อตลาดเงินในระยะสั้น และน่าจะหาข้อสรุปได้ในที่สุด

แต่ปัญหาที่น่ากังวล คือ การขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ ที่หากตกลงกันไม่ได้จะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก ซึ่งในที่สุดรัฐบาลสหรัฐต้องหาทางแก้ปัญหาให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการชำระหนี้ และการลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งเป็นการยากที่จะฟื้นความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลกกลับมาได้

"ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตลาดเงินทั่วโลก จะยังคงเชื่อและลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรวมถึงค่าเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง เพราะเป็นสกุลเงินและสินทรัพย์หลักของโลก

นางธาริษา กล่าวถึงผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ว่าเป็นเรื่องคาดเดาได้ยากว่าเงินทุนจะไหลเข้าออกอย่างไร เพราะที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับผลจากภาวะเศรษฐกิจแตกต่างไปจากอดีต แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัว แต่ยังกังวลว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในสถานการณ์ที่แย่กว่า ทำให้เงินทุนมีโอกาสที่จะไหลออกได้

แนะเก็บมาตรการกระตุ้นยามจำเป็น

นางธาริษา มองว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังมีความผันผวน แต่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐ หากไม่นับปัญหางบประมาณ ยังเห็นการฟื้นตัวได้ดี

ส่วนเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะยังเติบโตไม่สูงมากนัก แต่ปีหน้ามีทิศทางดีขึ้นจากกำลังซื้อของโลก ซึ่งจะทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น

นางธาริษา กล่าวอีกว่า ธปท.มีเครื่องมือดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศได้ แม้จะมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น แต่จะดูแลให้เป็นไปตามกลไกตลาด และไม่ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปในทิศทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป

"ผลกับเศรษฐกิจไทยที่แน่ๆ คือความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ทุกฝ่ายต้องตั้งรับให้ดี ทำตัวเองให้แข็งแกร่งโดยเฉพาะเศรษฐกิจ ภาคสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต้องรักษาสภาพคล่องให้ดี อย่าให้หนี้เสียมากเกินไป ทำตัวให้เบา นโยบายการเงินต้องติดตามใกล้ชิด เก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น และติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในทุกประเทศด้วย"

ด้าน นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐจะมีแนวทางแก้ไขปัญหางบประมาณ รวมถึงการขยายเพดานหนี้ได้ในที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งเฟดต้องทำหน้าที่ดูแลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐให้ต่อเนื่อง แม้ในอนาคตเฟดจะต้องลดขนาดคิวอี ลงตามแนวทางที่วางไว้

เอกชนชี้ไม่กระทบภาคผลิต-ส่งออก

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่าปัญหาในสหรัฐ จะทำให้การบริโภคเอกชนสหรัฐชะลอในระยะสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย เพราะเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วและตลาดก็คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจาน่าจะจบและผ่านร่างงบประมาณปี 2557 ออกมาได้ก่อนวันที่ 17 ต.ค. ที่สภาจะต้องมีการหารือเรื่องเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจมีการพิจารณาเพิ่มเพดานหนี้หรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้บางส่วนออกไป อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่พื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐตอนนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ไม่น่าจะมีการทำนโยบายที่ไปทำให้การฟื้นตัวดังกล่าวสะดุด

"ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวนี้ได้ทำให้การส่งออกของไทยบางกลุ่มปรับตัวดีขึ้นตาม ที่เห็นได้ชัดคืออิเล็กทรอนิกส์และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งหากการฟื้นตัวต่อเนื่องก็น่าจะทำให้การส่งออกภาพรวมดีขึ้นด้วย"

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าไม่น่ากังวลว่าจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและส่งออกไทย ซึ่งตอนนี้ยังไม่พบข้อมูลว่ามีผู้ส่งออกได้รับความเสียหายจากปัญหาในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสหรัฐจะหาทางออกร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนฯ และสภาคองเกรสได้ภายในไม่เกิน 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เคยเกิดการชัทดาวน์นานที่สุดเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะหากปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นนาน จะยิ่งสร้างความเสียหายมาก เนื่องจากปัจจุบันปัจจัยทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว และพื้นฐานของสหรัฐก็ไม่ได้แข็งแรงเหมือนอดีต

"ประเด็นที่ไทยต้องระวัง คือ เรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่แบงก์ชาติในฐานะหน่วยงานที่ดูแลตลาดคงทราบถึงสถานะอัตราแลกเปลี่ยนเงินไหลเข้าไหลออก และมีเครื่องมือที่รองรับอยู่แล้ว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
--------------------------------------------

ค้ำเงินกู้สตาร์ทอัพเหลว บสย.ลุยแก้เงื่อนไขใหม่ !!??

 บสย.เดินเครื่องปรับเกณฑ์เงื่อนไขค้ำประกันโครงการ “สตาร์ท อัพ” หลังมีผู้เข้าร่วมโครงการต่ำผิดคาด พร้อมเสนอคลังพิจารณา 2 โครงการค้ำประกันใหม่สำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อม-โอท็อป
   
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้เงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อสตาร์ท อัพ (Start-Up) ที่มีวงเงินดำเนินการ 1 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 สามารถค้ำประกันสินเชื่อได้เพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น โดยการปรับแก้เงื่อนไขดังกล่าว เพื่อให้เกิดความน่าสนใจในการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ซึ่งแนวทางการปรับแก้เงื่อนไขเบื้องต้น บสย.จะรับผิดชอบในการจ่ายประกันชดเชยเพิ่มขึ้นเป็น 100% จากเดิม 80% และอีก 20% เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงิน โดย บสย.จะจ่ายพอร์ตสูงสุดไม่เกิน 30% จากเดิมที่ 37%
   
คาดว่าจะสามารถเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางดังกล่าวได้เร็วๆ นี้ โดยโครงการดังกล่าวเน้นการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจส่วนตัว แต่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงิน” นายวิเชษฐกล่าว
   
นายวิเชษฐกล่าวอีกว่า บสย.ยังเตรียมเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อย (ไมโคร) ซึ่งมีวงเงินดำเนินการ 5 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ราว 5 หมื่นราย และโครงการค้ำประกันสินเชื่อโอท็อปและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีวงเงินดำเนินการ 1 หมื่นล้านบาท โดยลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องมีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน
   
นอกจากนี้ ในปี 2556 บสย.คาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินการทั้งสิ้น 200 กว่าล้านบาท จากปีก่อนที่ 300 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สามารถค้ำประกันสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 5.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะเป็นไปตามเป้าที่ 8.4 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีการจ่ายเงินประกันชดเชยไปแล้วทั้งสิ้น 2.2 พันล้านบาท จากวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวมที่ 2.3 แสนล้านบาท และคาดว่าจนถึงสิ้นปี จะมีหนี้เสีย (เอ็นพีจี) อยู่ที่ 4%.

ที่มา.ไทยโพสต์
-----------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จับตา อำนาจที่ 4 !!??

หลังจากเอาตัวรอดจากการเมืองอันดุเดือดในสภา ในถนนมาได้

เริ่มมีเสียงกล่าวขวัญว่า สุดท้าย รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องไปจุดจบ ที่ "องค์กรอิสระ" ซึ่งมีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย และทำให้นายกฯตกเก้าอี้มาแล้ว อย่างน้อย 2 คน

ยุบพรรคการเมืองหลักๆ ไป 4-5 พรรค

ตามมาด้วยคำพยากรณ์ของบรรดาโหรานุโหร ที่ระบุเวลาล่มสลายของรัฐบาล

โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมนี้

ทำให้เริ่มมีเสียงกล่าวขวัญถึง "อำนาจที่ 4"

ไม่เฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน แห่งพรรคเพื่อไทย

แม้แต่ นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ก็ยังมีความเห็นว่า มีการดำรงอยู่ของ "อำนาจที่ 4"

และเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข


เป็นที่รับรู้ และระบุในรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยว่า อำนาจอธิปไตย อันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ

แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย หรือ 3 อำนาจ

ได้แก่ 1.อำนาจนิติบัญญัติ 2.อำนาจบริหาร 3.อำนาจตุลาการ

ตามทฤษฎีกฎหมายและรัฐศาสตร์ อำนาจทั้งสาม แบ่งแยกหน้าที่ของตนเป็นอิสระ อาจเกี่ยวพันกัน แต่ไม่ก้าวก่ายกัน

ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ปกครองประเทศ และบังคับใช้กฎหมาย

ฝ่ายตุลาการ มีหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย

โดยวิธีนี้เท่านั้น สิทธิเสรีภาพของประชาชน และความเป็นธรรมในสังคม จึงจะได้รับการประกัน


ขณะที่รัฐสภา อันเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ กำลังคับข้องใจในขณะนี้ว่า ถูกอำนาจอื่นเข้าแทรกแซง ไม่สามารถแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญได้ด้วยตนเอง

ฝ่ายบริหารเองก็อยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน เมื่อการตัดสินใจในเชิงบริหารกลายเป็นคดีความ

เป็นการแทรกแซงในนามของ "การตรวจสอบ" ภายใต้สมมติฐานว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งบางกลุ่มบางพรรค มัก "โกง"

ในอดีตของประเทศไทย ปัญหาการแทรกแซงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่มาจากรัฐประหาร เข้าแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ

และแทรกแซงอำนาจฝ่ายตุลาการ โดยใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ ออกคำสั่งอันมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี

ตัวอย่างมาจากการรัฐประหาร ที่คณะทหารจะยกเลิกสภา เขียน "ธรรมนูญการปกครอง" เอง เปิดโอกาสให้คณะรัฐประหาร รวบ 3 อำนาจไว้ในตัวเอง

เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ให้อำนาจตัวเองออกคำสั่งประหารชีวิต ทำหน้าที่ตุลาการตัดสินประหาร

แล้วตัวเองในฐานะฝ่ายบริหารก็รับคำสั่งไปดำเนินการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496, 1162/2506 วางหลักว่า เมื่อคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง หรือเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ผลแห่งการแทรกแซง ก่อให้เกิดผลอย่างไร คงเป็นที่ประจักษ์ชัด


"อำนาจที่ 4" จึงเป็นอำนาจนอกระบบ

แน่นอนว่า "องค์กรอิสระ" เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ การตรวจสอบเป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ สำหรับระบอบประชาธิปไตย

แต่จะต้องอยู่ภายใต้หลักของการใช้กฎหมายอย่างเที่ยงธรรม ไม่ 2 มาตรฐาน และอยู่ในหลักของการไม่แทรกแซง

เพราะอะไร จึงเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นได้ในการเมืองประเทศไทย

กรณีนี้ ต้องย้อนกลับไปพิจารณากฎหมายแม่บท หรือรัฐธรรมนูญอย่างพินิจพิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง

ที่มา.มติชนออนไลน์
---------------------------------------------

บางมุมของ : พระสังฆราช ที่ชาวพุทธยังไม่รู้ !!?



วันนี้เป็นวันที่เหล่าพุทธศาสนิกชนชาวไทย ล้วนปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้น เนื่องด้วยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี พระองค์ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
     
       ด้วยพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพุทธศาสนิกชนไทยเป็นล้นพ้น ทรงประกอบศาสนกิจเป็นคุณประโยชน์เอนกอนันต์ มิเพียงแต่ชาวพุทธในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังทรงแผ่พระเมตตาบารมีไปทั่วโลก พระองค์ท่านจึงได้รับการยกย่องจากทั้งชาวพุทธในประเทศไทยและในต่างประเทศ
     
       พระประวัติชีวิตและผลงานของพระองค์ จึงมีผู้นำมาเขียนเผยแพร่อยู่มากมาย แต่ก็ยังมีบางมุมในพระประวัติ ที่เชื่อว่าชาวพุทธหลายคนยังอาจจะไม่เคยรับทราบมาก่อน โอกาสนี้ กองบรรณาธิการ เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน ได้รับความกรุณาจาก พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตาเล่าถึงพระประวัติส่วนพระองค์ ที่สะท้อนถึงพระจริยวัตรอันงดงาม มีคุณค่าแก่ชาวพุทธ ให้ได้ยึดถือเป็นแบบอย่างสืบเนื่องต่อไป
     
       อนึ่ง พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ เป็นชาวเนปาล สมเด็จพระสังฆราชทรงรับอุปถัมภ์ตั้งแต่เป็นสามเณรอายุ 14 ปี ทรงสั่งสอนหลักธรรม และส่งเสริมให้เรียนรู้จนจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ด้วยพระ ดร.อนิลมาน รับใช้สมเด็จพระสังฆราชมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนเจริญวัยในปัจจุบัน จึงเป็นท่านหนึ่งที่ทราบถึงพระประวัติส่วนพระองค์ทุกเรื่องได้เป็นอย่างดี
     
       พระจริยวัตรประจำวัน
     
       พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงตื่นบรรทมทุกเช้าเวลา 03.30 น. จากนั้นจะทรงนั่งสวดมนต์ภาวนาไปจนถึงเวลา 05.00 น. บทสวดมนต์ที่พระองค์ท่องประจำ มีตั้งแต่สวดพระปาติโมกข์ ท่องพระสูตรและพระคาถาต่างๆ
     
       “ถ้าวันไหนมีกิจกรรมเยอะๆ จะต้องทำ พระองค์จะรับสั่งกับอาตมาว่า...วันนี้สวดยังไม่จบคอร์สเลย...เพราะทรงพระอารมณ์ดี”
     
       หลังจากสวดมนต์เสร็จ พระองค์จะทรงนั่งสมาธิเพื่อฝึกจิตให้นิ่งและมั่นคง ต่อไปจนถึง เวลา06.00 น. จากนั้นจึงเสด็จออกจากพระตำหนัก เพื่อรับแขกที่มาเข้าเฝ้าหรือเสด็จบิณฑบาต แม้ตอนที่พระองค์เป็นพระสังฆราชก็ยังเสด็จออกบิณฑบาตเป็นประจำ
     
        “พระสังฆราชทรงพระเมตตามาก หลังจากบิณฑบาตกลับมาทรงเห็นเณรน้อยหลายรูป ที่ไม่ค่อยมีใครใส่บาตร ส่วนพระองค์ของเต็มบาตรเพราะมีประชาชนมาถวายกันเยอะ พระองค์จะทรงแบ่งอาหารจากบาตรให้แก่เณรด้วย หรือบางทีพระรอบกุฏิที่ไม่ออกบิณฑบาต พระองค์ทรงกลัวว่าพระเหล่านั้นจะไม่มีอาหารฉัน ก็จะทรงแบ่งอาหารในบาตรให้ พร้อมพูดติดตลกว่า แทนที่ลูกศิษย์จะเลี้ยงอุปัชฌาย์ กลายเป็นอุปัชฌาย์เลี้ยงลูกศิษย์แทน”
     
       ในทุกๆ วัน จะมีทั้งแขก ผู้มีชื่อเสียงและเหล่าพุทธศาสนิกชน มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าตั้งแต่ 07.00 น. เป็นต้นไป จนถึง 09.30น. จึงจะเสวยพระกระยาหาร โดยเสวยมื้อเดียวมาตลอด
     
       พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า แขกที่มาเข้าเฝ้าพระองค์ บางวันมีจำนวนมากจนบางครั้งขณะที่พระองค์ทรงเสวยก็ยังมีมาเข้าเฝ้า
     
       “วันหนึ่งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมา ทอดพระเนตรเห็นมีแขกมาเข้าเฝ้า ขณะที่ สมเด็จพระสังฆราชกำลังเสวย สมเด็จพระเทพฯ ทรงเขียนป้ายบอกว่า ห้ามเข้าเฝ้าจนกว่าจะเสวยเสร็จ...เพราะทรงเห็นว่า พระองค์มีเวลาเสวยเพียงวันละมื้อเท่านั้น”
     
       สมเด็จพระสังฆราชจะบรรทมอีกทีประมาณ 1 ชั่วโมงหลังเสวยเสร็จ เมื่อตื่นบรรทมแล้วถ้ามีงานนิมนต์ก็จะเสด็จไป หรือถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษา พระองค์จะเสด็จไปสอนพระใหม่ แต่ถ้าไม่ได้เสด็จไปไหน พระองค์จะใช้เวลาตลอดช่วงบ่าย ค้นคว้าตำรา ทรงอ่านหนังสือหรือทรงพระนิพนธ์
     
       ช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ทรงเปิดพระตำหนักให้ญาติโยมได้เข้าเฝ้าอีกครั้ง จากนั้นถ้ามีเวลาเหลือ จะทรง
       ค้นคว้าและทรงพระนิพนธ์งาน หรือทรงเตรียมงานสำหรับวันต่อไป
     
       สมเด็จพระสังฆราชจะเข้าบรรทมทุกวันในเวลา 21.00 น. โดยก่อนบรรทมจะสวดมนต์เจริญภาวนาอีกครั้ง
     
       ทรงเป็นนักสื่อสารมวลชน
     
       หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชเคยเป็น “นักจัดรายการวิทยุ” ด้วย โดย พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ทรงเคยขอให้สมเด็จพระสังฆราชจัดรายการวิทยุ ที่สถานี อส. เกี่ยวกับเรื่องธรรมะเมื่อปี 2510 เป็นต้นมา
     
       “พระองค์จะทรงเขียนบทวิทยุเอง เป็นบทสั้นๆ ประมาณ 10 นาที แล้วทรงอ่านอัดเทปเพื่อนำไปเปิดในรายการ ครั้งหนึ่งสมเด็จย่าทรงให้พระองค์ทรงเขียนเรื่องธรรมะสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อนำไปออกอากาศ พระองค์จึงทำบทวิทยุเรื่อง “การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่” โดยทำเป็นตอนๆ และในช่วงท้าย พระองค์กทรงนิพนธ์เรื่องจิตตนครขึ้นมา”
     
       นอกจากนี้ พระ ดร.อนิลมาลยังเปิดเผยว่า สมเด็จพระสังฆราชทางเป็นคนทันสมัยมาก เพราะครั้งหนึ่งพระองค์เคยเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความลงใน “ศรีสัปดาห์” ซึ่งเป็นนิตยสารของผู้หญิง
     
       ทรงเป็นกวีเอก
     
       อีกเรื่องหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นกวีที่เก่งมาก ทรงแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทุกประเภท ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทยได้อย่างสละสลวย โดยเฉพาะ วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระสังฆราชทรงพระนิพนธ์กลอนถวายทุกปี
     
       เมื่อสมัยที่ทรงผนวชเป็นพระใหม่ สมเด็จพระสังฆราชเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473
     
       แต่ครั้นสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ผลปรากฏว่า ทรงสอบตกทั้งๆ ที่ทรงตั้งพระทัยมาก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้มาก พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ทรงระบายความรู้สึกผิดหวังออกมาเป็นกลอน หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงใช้ความผิดหวังเป็นพลังกลับไปสอบใหม่จนจบเปรียญ 9
     
       รับสั่งได้ถึง 4 ภาษา
     
       พุทธศานิกชนมักจะเห็นว่า เหล่าแขกที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชนั้น มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย คำถามคือ สมเด็จพระสังฆราชทรงรับสั่งภาษาอังกฤษได้หรือไม่ เรื่องนี้ พระ ดร.อนิลมาน ได้เล่าว่า พระองค์มีพระปรีชามาก ทรงฝึกหัดภาษาต่างประเทศด้วยพระองค์เอง จนสามารถรับสั่งอย่างคล่องแคล่ว และทรงเขียนได้ 4 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ จีน นอกจากนี้ ตัวอักษรที่ทรงอ่านและเขียนได้คล่องคืออักษรขอมโบราณ อักษรพม่า อักษรสิงหล และอักษรเทวนาครี
     
       พระนิพนธ์อันทรงคุณ
     
       พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา นิยายทั่วไป โดยพระนิพนธ์ล่าสุดเรื่อง “จิตตนคร” โดย พระธีรโพธิ ภิกขุ ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือภาพในชื่อ “จิตรกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” เพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี
     
       “พระนิพนธ์มีมหาศาลมากที่กำลังจัดพิมพ์ขณะนี้ มีถึง 32 ซีรีย์ แต่ละเล่มหนาถึง 500หน้า ซึ่งเป็นธรรมะทุกระดับ”
     
       ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับฟังเทปของสมเด็จพระสังฆราชเรื่อง “สัมมาทิฏฐิ” ซึ่งเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง และทรงสนพระทัยมากจนขอประทานอนุญาตสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพิมพ์ถวาย โดยในหลวงทรงพิสูจน์อักษรด้วยพระองค์เอง
     
       ส่ง”พระธรรมทูต”เผยแผ่ศาสนา
     
       สมเด็จพระสังฆราชทรงทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ในเรื่องพระศาสนาอย่างกว้างไกล ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีพระไทยและวัดไทยที่ไปเผยแผ่พระพุทธทั่วโลก อันเนื่องมาจากพระดำริที่มองการณ์ไกลของพระองค์นั่นเอง
     
       เมื่อปี พ.ศ.2509 สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระองค์แรก ที่ทรงดำริที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการ ฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ
     
       “ตอนนั้นพระองค์ท่านทรงริเริ่มฝึกพระธรรมทูต โดยเลือกจากพระเณรให้ฝึกพูดภาษาอังกฤษก่อน จากนั้นก็ฝึกให้ใช้ชีวิตที่เปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมได้ เพื่อง่ายต่อการส่งไปเผยแพร่ศาสนายังวัดในต่างประเทศ”
     
       จากพระธรรมทูตองค์แรกเมื่อปี 2509 จนถึงปัจจุบัน มีพระธรรมทูตที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสร้างวัดทั่วโลกถึง 200 แห่ง และในโอกาสฉลองพระชันษา 100 ปี เหล่าพระธรรมทูตก็ได้กลับมาที่วัดบวรฯ เพื่อสัมมนาตรวจสอบจิตวิญญาณแห่งพระธรรมทูตครั้งใหญ่ร่วมกัน
     
       เนื่องในวโรกาสที่ใต้ฝ่าพระบาทเจริญพระชนมายุ 100 พรรษา กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน ขอตั้งจิตอธิษฐาน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจพระกุศลบารมี ที่ใต้ฝ่าพระบาททรงกระทำบำเพ็ญมา จงอภิบาลรักษาใต้ฝ่าพระบาทให้เสด็จสถิตเป็นบุญยฐานและประทีปธรรมของปวงพุทธบริษัทตลอดไป

ที่มา.ผู้จัดการ
----------------------------------------

อัยการของประชาชน !!??

นับตั้งแต่ยุค "กรมอัยการ" จนมาเป็นองค์กรอิสระ อันเป็นระยะเวลายาวนานนั้น เราแทบจะไม่เคยได้ยินคำว่า "อัยการของประชาชน" แต่ก็มีอย่างน้อยครั้งหนึ่งที่ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ควรจะมี "อัยการเพื่อประชาชน"ความนัยก็คือ อยากเห็นอัยการทำงานเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนจริง ๆ

 ทางแก้ปัญหาของเมืองไทยทุกวันนี้มีอยู่ทางเดียว ไม่ชั่วแต่ปัญหาเยาวชนเท่านั้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ปัญหาคอร์รัปชันสารพัด ทางนั้นคือตั้ง "ศาลตาแก่" และสถานพินิจมัชฌิมาชน" ขึ้น
   
ความจริงความผิดต่าง ๆ ของตาแก่นั้น หากจะเอาเรื่องกันจริง ๆ เพียงส่งตัวฟ้องศาลหลวงก็เอาเข้าคุกกันได้ถมเถไป แต่บางเรื่องก็ฟ้องไม่ได้ เป็นต้นว่าตาแก่เอาเด็กนักเรียนรุ่นสาวที่ยังเป็นเด็กนักเรียนรุ่นสาวที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ไปเป็นเมียน้อย เมื่อตาแก่ชอบทำดังนี้ เด็กหนุ่มที่มันมอง ๆ กันอยู่ มันก็หัวเสีย พอร้อยพอดี ก็เข้าแก๊งประพฤติตนเป็นพวกไปเลย เรื่องพรรค์นี้แหละครับ ที่ "ศาลตาแก่" จะมีประโยชน์

 ปัญหาเรื่องตาแก่ที่เลวทรามยังลอยนวลอยู่ได้นั้น เป็นปัญหาใหญ่ เพราะตาแก่ไม่ทำตาแก่ด้วยกันทุกวันนี้ถ้าจะทำให้เป็นตัวเยี่ยงตัวอย่างกันจริงแล้ว ก็จะลากคอเข้าตะรางได้เป็นโขยง ๆ ขนาดเอาเงินสืบราชการลับที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่าย มาแจกลูกพรรคฝักถั่วเดือนละ ๒๐๐๐ บาทนั้น มันก็ตะรางแล้ว ที่ลอยนวลกันอยู่ได้ก็เพราะไม่มีใครฟ้อง

 ฉะนั้นพูดกันจริง ๆ ผมจึงอยากให้ใครออกกฎหมายตั้งคณะ "อัยการของประชาชน" ขึ้นสักคณะหนึ่ง ให้มีหน้าที่ฟ้องร้องเอาผิดเหล่านี้ได้ หากมีอัยการของประชาชนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมี "ศาลของประชาชน" หรอกครับ เพียงศาลหลวงเท่าที่มีอยู่ ก็เอาตาแก่เลว ๆ เข้าตะรางได้หมด" (ตอบปัญหาประจำวัน วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑)

 ข้อความนี้มีประเด็นสำคัญตรง "อัยการของประชาชน"ความจริงรัฐก็มีอัยการอยู่แล้ว แต่ทำไม "คึกฤทธิ์ ปราโมช" จึงคิดขึ้นว่าควรมี "อัยการของประชาชน" ขึ้นมาอีกถ้าอัยการของรัฐ ทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่ ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นอัยการของประชาชนน่าคิดว่าอัยการของรัฐทุกวันนี้ ทำงานเพื่อประชาชนได้ดีเพียงใด ?

 ผมจึงอยากให้ใครออกกฎหมายตั้งคณะ "อัยการของประชาชน" ขึ้นสักคณะหนึ่ง ให้มีหน้าที่ฟ้องร้องเอาผิดเหล่านี้ได้ หากมีอัยการของประชาชนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมี "ศาลของประชาชน" หรอกครับ เพียงศาลหลวงเท่าที่มีอยู่ ก็เอาตาแก่เลว ๆ เข้าตะรางได้หมด" (คึกฤทธิ์ ปราโมช)

 สมัยก่อน เราอยากเห็นอัยการของประชาชนครั้นเมื่อเห็นอัยการเป็นองค์กรอิสระแล้ว ก็ยังไม่เห็น "อัยการของประชาชน" อยู่นั่นเอง

ที่มา.สยามรัฐ
------------------------------------------------

ปมขัดแย้ง:ร่างกฏหมายงบประมาณสหรัฐ เสี่ยงตกหน้าผาการคลัง !!??

ปมขัดแย้ง "โอบามาแคร์" สหรัฐถึงจุดเสี่ยง"ตกหน้าผาการคลัง"

ภายใต้กฎหมายงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบ 39 ปีที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องอนุมัติร่างกฎหมายจัดสรรงบประมาณสำหรับรัฐบาล จำนวน 12 ฉบับ ภายในวันที่ 30 ก.ย. อันเป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ

แต่สิ่งดังกล่าวแทบไม่เคยทำได้จริง เพราะในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรครีพับลิกันและเดโมแครต จนไม่สามารถอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณตามเส้นตาย

ในช่วงเวลาดังกล่าว สภาอยู่ภายใต้การนำของพรรครีพับลิกัน 10 ปี และอยู่ภายใต้การนำของพรรคเดโมแครต 4 ปี แต่ในช่วง 2 ปี ซึ่งสองพรรคมีเสียงข้างมากในคนละสภา คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ปรากฏว่าไม่สามารถอนุมัติร่างกฎหมายใช้จ่ายได้ทันตามกำหนด

มาในปีนี้ พรรครีพับลิกันซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ใช้โอกาสนี้ขัดขวาง "โอบามาแคร์" หรือการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ อันเป็นผลงานชิ้นสำคัญของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ขยายการประกันสุขภาพให้แก่ผู้ไม่มีประกัน โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างกฎหมายใช้จ่ายชั่วคราวเพื่อให้รัฐบาลเปิดทำการต่อไปได้แต่ไม่ให้เงินอุดหนุนโอบามาแคร์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. แต่วุฒิสภาซึ่งอยู่ภายใต้การนำของพรรคเดโมแครตไม่ผ่านร่างกฎหมายใช้จ่ายดังกล่าวในกรณีที่มีการพ่วงการตัดงบโอบามาแคร์

ตอนแรกนายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลังเลที่จะพ่วงโอบามาแคร์ไปกับร่างการใช้จ่าย เพราะกลัวว่าการปิดหน่วยงานรัฐจะทำให้พรรครีพับลิกันสูญเสียคะแนนนิยมและตัดโอกาสตัวเองในการเลือกตั้งอีกสมัย แต่สมาชิกกลุ่มที พาร์ตี (Tea Party) ซึ่งมีแนวคิดสุดขั้วและมีอิทธิพลในสภาผู้แทนราษฎร จับมือกับวุฒิสมาชิกเทด ครูซ บีบให้นายโบห์เนอร์พ่วงการตัดงบโอบามาแคร์เข้าไปด้วย

เมื่อสภาสูงตีกลับร่างใช้จ่ายของสภาล่างที่พ่วงเงื่อนไขมาด้วย หน่วยงานภาครัฐจึงต้องปิดทำการเมื่อเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่

อย่างไรก็ตาม ในการปิดทำการนั้น หน่วยงานภาครัฐไม่ได้ยุติการทำหน้าที่อย่างสิ้นเชิง เพราะตามกฎหมายนั้นบางหน่วยงานต้องเปิดทำการโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้เงินเดือน เจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ได้แก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงผู้มีหน้าที่ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่จ่ายเงิน เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่จำเป็นในการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนการดำเนินงานที่ไม่ได้งบโดยตรงจากกระทรวงการคลังจะเปิดทำการต่อไป ในจำนวนนี้การไปรษณีย์

จริงๆ แล้ววุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร งัดข้อกันเรื่องงบประมาณของรัฐบาลกลางมาตั้งแต่พรรคเดโมแครตสูญเสียเสียงข้างมากในสภาล่างเมื่อปี 2553 รวมถึงเมื่อกรณีเกิดหน้าผาการคลัง และเมื่อปี 2554 ซึ่งทั้งสองพรรคตกลงตกลงกันได้ในนาทีสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม นอกจากร่างกฎหมายใช้จ่ายแล้ว ยังมีการเพิ่มเพดานหนี้เพื่อให้รัฐบาลกู้ยืมเงินได้มากขึ้นภายในกลางเดือนต.ค. จากเพดานปัจจุบันที่ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์ โดยนับจากปี 2544 มีการเพิ่มเพดานหนี้มาแล้ว 13 ครั้ง

หากการปิดหน่วยงานรัฐไม่ได้รับการแก้ไขภายในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งสองประเด็นจะกลายเป็นการเผชิญหน้าที่อาจไม่ส่งผลต่อข้าราชการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจโลกด้วย

สำหรับ "โอบามาแคร์" ที่พรรครีพับลิกันคัดค้านมาตลอด และล่าสุดพ่วงเงื่อนไขการตัดงบสำหรับโอบามาแคร์เข้าไปในร่างใช้จ่ายแต่สภาสูงภายใต้การนำของพรรครีพับลิกันตีกลับนั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า กฎหมายดูแลสุขภาพที่เข้าถึงได้

นับเป็นความสำเร็จด้านนโยบายภายในประเทศครั้งใหญ่ของโอบามา ซึ่งมุ่งที่จะให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่ไม่ได้ทำประกันจำนวนหลายล้านคน จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นโครงการสวัสดิการสังคมของสหรัฐที่มีความครอบคลุมมากที่สุดนับตั้งแต่โครงการ "เมดิแคร์" เมื่อทศวรรษ 60

โครงการนี้กำหนดให้มีแผนการสุขภาพในวงกว้างแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนั้นยังกำหนดให้ชาวอเมริกันต้องมีประกัน ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับ

พรรครีพับลิกันพยายามต่อสู้มาหลายเดือนเพื่อยืดเวลาหรือหยุดยั้ง "โอบามาแคร์" พร้อมกล่าวหาว่าข้อกำหนดในโอบามาแคร์ ทำให้ภาคธุรกิจและกลุ่มบุคคล ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านประกันสุขภาพมากขึ้น

ข้อดีของโอบามาแคร์คือลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยรวมลง เพราะทำให้คนจำนวนมากขึ้นสามารถทำประกันได้ แต่ข้อเสียคือจะเพิ่มต้นทุนการดูแลสุขภาพในระยะสั้น ขณะที่พรรครีพับลิกันระบุว่าโอบามาแคร์จะดันค่าใช้จ่ายด้านประกันให้สูงขึ้น และทำให้คนอเมริกันทั่วไปดำรงชีวิตอย่างยากลำบากมากขึ้น

นอกจากนั้น "โอบามาแคร์" ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก และกลุ่มต่อต้านโอบามาแคร์ได้ใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อจัดทำโฆษณาทางโทรทัศน์ ขณะเดียวกัน ผู้ที่น่าจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้จำนวนหลายล้านคน กลับไม่ทราบว่ามีการปฏิรูประบบประกันสุขภาพครั้งใหญ่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------------

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาไทย : ถึงตกอันดับ ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด !!??

ความเห็นต่าง: การศึกษาไทยไม่ได้แย่อย่างที่คิด

โดย ชนาธิป สุกใส
มหาวิทยาลัยสยาม

“ตื่นตระหนก” กันยกใหญ่ในสังคมไทย และกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ชั่วข้ามคืน ทันทีที่ทราบว่า World Economic Forum (WEF) หน่วยงานอิสระระดับโลก ได้ออกมาระบุว่า คุณภาพการศึกษาของไทยอยู่ในอันดับที่ 78 จาก 144 อันดับ ตามหลังกัมพูชาและเวียดนาม

รายงานที่ WEF ตีแผ่มีชื่อว่า Global Information Technology Report 2013 ความยาว 381 หน้า แบ่งหัวข้อหลักในการนำเสนอเป็น 4 บทใหญ่ ๆ แต่ส่วนที่จะนำมาวิเคราะห์และแตกประเด็นในบทความฉบับนี้ คือ

บทที่ 4 ว่าด้วยข้อมูลตาราง (Part 4: Data Tables) ดัชนีย่อยที่ 2 ด้านความพร้อม (Readiness Subindex) เสาหลักที่ 5 ทักษะความชำนาญ (5th pillar: Skills) ส่วนของมาตรฐานของระบบการศึกษา (Quality of the Educational System) เกณฑ์การให้คะแนนของ WEF คือ มีคะแนนเต็ม 7
สิ่งที่สื่อไทยนำเสนอ

คุณภาพของระบบการศึกษาอันดับที่ 1 ของโลก คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้คะแนนเต็ม 7 อันที่ 2 และ 3 คือ ฟินแลนด์ และสิงคโปร์ โดยมีคะแนนเท่ากันที่ 5.8 ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 78

สื่อไทยขีดเส้นใต้และเน้นย้ำว่า คุณภาพระบบการศึกษาไทยล้มเหลวตามหลังกัมพูชาและเวียดนาม ที่รั้งอันดับที่ 58 และ 72 (Benat Bibao-Osorio, Soumitra Dutta, and Bruno Lanvin (2013), The Global Information Technology Report 2013)

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ยังออกมายอมรับอีกว่า “การศึกษาไทยห่วยจริงและกล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาไทยถูกประเมินในระดับนานาชาติหลายครั้ง ผลที่ได้ก็แสดงให้เห็นว่าเรายังทำได้ไม่ดีจริง ๆ แม้ผลอาจไม่ตรงร้อยเปอร์เซ็นว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับนั้นจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยมีปัญหาอยู่มาก”

ดังนั้น ความตระหนกตกใจจากข่าว ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ในการจัดการระบบการศึกษาของประเทศออกมายอมรับ ผสมกับความเชื่อดั้งเดิมและทัศนคติเชิงลบของคนไทยที่มีต่อระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน จึงได้ข้อสรุปในใจขึ้นมาทันทีว่า ระบบการศึกษาไทยนั้นล้มเหลว ความจริงก็คือ นี่แหละสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้ (เพียงมุมหนึ่ง)



The Global Information Technology Report 2013

สิ่งที่สื่อไทยไม่ได้นำเสนอ

จากรายงานฉบับเดียวกันนี้ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 27, 28, 41 และ 43 ตามลำดับ ส่วนประเทศชั้นนำที่ตามหลังไทย แต่สื่อไทยไม่ได้กล่าวถึง คือ สเปน รัสเซีย และอิตาลี ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 81, 86 และ 87 มาถึงจุดนี้ หลายท่านคงแปลกใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สเปนและอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำไมไม่อยู่ใน Top Ten และอยู่ห่างจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ 3 และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับ 14 อย่างไม่เห็นฝุ่น

ขัดกับความเชื่อเดิมมาโดยตลอดว่า ระบบการศึกษาของอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นต้องเป็นที่หนึ่ง เนื่องจากมีความเป็นเลิศทางวิชาการที่ยาวนาน มีงานวิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก และคนไทยนิยมส่งลูกหลานไปเรียนต่อ ตั้งแต่ระดับ High School จนถึงระดับ Ph.D

ยิ่งไปกว่านั้น เกิดอะไรขึ้นในแดนหมีขาวรัสเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์เอกชั้นนำของโลก แต่ทำไมระบบการศึกษาของรัสเซียจึงแย่กว่าไทย? เกิดอะไรขึ้นกับคุณภาพการศึกษาของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา? รายงานฉบับนี้ใช้เกณฑ์ใดเป็นตัววัดตัดสิน?

มีประเทศใดหรือไม่นอกจากประเทศไทยที่เดือดร้อนกับรายงานของ WEF? และที่สำคัญที่สุดผลการศึกษานี้เชื่อถือได้หรือไม่?

ข้างต้นคือสิ่งที่สื่อไทยไม่ได้นำเสนอเลยแม้แต่น้อย ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีการตั้งคำถามเชิงโต้แย้ง ไม่มีการนำเสนอข้อมูลในชุดเดียวกันนี้ให้ครบถ้วน ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้อยู่ในหน้าเดียวกัน

ความจริงคืออะไร?

ความจริงคือ รายงานฉบับนี้เป็นเพียง “การสำรวจความคิดเห็น (Opinion Survey)” ดังนั้น การเก็บข้อมูลต่าง ๆ จึงได้มาจากการสอบถามความคิดเห็นล้วน ๆ โดยไม่ได้มีการอภิปรายผลการวิเคราะห์ข้อมูลเหมือนงานวิจัยเชิงวิชาการทั่วไป และไม่ได้มีการเก็บข้อมูลในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง



5th pillar: Skills / The Global Information Technology Report 2013, p.363

ดังนั้น เมื่อทราบความจริงดังนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องประหลาดใจ ตกใจ หรือเศร้าใจว่า ทำไมคุณภาพของระบบการศึกษาไทยถึงเป็นเช่นนั้น เพราะการได้มาซึ่งข้อมูลของ WEF ถือเป็นอัตวิสัย (Subjective) โดยแท้ ผลการสำรวจจึงออกมาเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ดี นี่ก็ถือว่าเป็นผลสะท้อนกลับให้พิจารณาถึงความรับรู้ของคนไทยต่อระบบการศึกษาไทยว่า คนไทยเองไม่มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของระบบการศึกษาไทย และคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีทัศนะเชิงลบต่อระบบการศึกษาไทยในภาพรวม
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่ง: รายงาน “นักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย”

ผมในฐานะคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงการศึกษาไม่เชื่อว่า คุณภาพของการศึกษาไทยจะย่ำแย่ถึงขนาดนั้น เนื่องจากได้มีโอกาสอ่านรายงานของสำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เรื่อง นักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดศึกษา ปีการศึกษา 2555 (ธีรธร ลิขิตพงศธร, (2556), น. 7-10, นักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2555)

รายงานนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกแง่มุมหนึ่ง และผมขอเรียนสรุปในประเด็นสำคัญ ดังนี้
รายงานฉบับนี้โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในสังกัดและในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
รวบรวมจากสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชนที่มีนักศึกษาต่างชาติอยู่ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 – เดือนกรกฎาคม 2554 จำนวนทั้งสิ้น 103 แห่ง
ผลการศึกษาที่สำคัญของรายงานฉบับนี้ พบว่า
นักศึกษาต่างชาติอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาไทย จำนวน 20,309 คน จาก 130 ประเทศ
นักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยมากที่สุด ได้แก่ นักศึกษาจากประเทศจีน (8,444 คน) รองลงมาได้แก่ พม่า (1,481 คน) ลาว (1,344 คน) เวียดนาม (1,290 คน) และกัมพูชา (955 คน) ตามลำดับ
สาขาที่นักศึกษาต่างชาติเลือกเรียนในสถาบันอุดมศึกษาไทยมากที่สุด ได้แก่ สาขาบริหารธุรกิจ รองลงมาได้แก่ ธุรกิจระหว่างประเทศ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการตลาด ตามลำดับ
นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยและของรัฐและเอกชน เข้ามาศึกษาด้วยทุนส่วนตัว รองลงมาได้แก่ ทุนจากหน่วยงานไทย และทุนจากต่างประเทศ

ผลการศึกษาของรายงานฉบับนี้สามารถสรุปได้ว่า การศึกษาของประเทศไทยยังเป็นที่น่าดึงดูดต่อนักศึกษาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาจากทวีปเอเชีย บอกเป็นนัยได้ว่า ระบบการศึกษาไทยในสายตาคนต่างประเทศนั้นไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่คิด มีนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งจากพม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา รวมทั้งสิ้นมีจำนวนหลายพันคนตั้งใจที่จะมาศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทย

โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ใช้เงินทุนส่วนตัวของตนเองเป็นเงินสนับสนุนทั้งสิ้น จากข้อนี้เองก็ได้ข้อสรุปอีกประการหนึ่งที่สำคัญว่า การที่นักศึกษาต่างชาติตัดสินใจมาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาไทย ไม่ได้เป็นเพราะว่ามีทุนการศึกษา (Scholarship) หรือทุนให้เปล่า (Grant) ให้ เขาจึงมาเรียน แต่เป็นเพราะว่า เขาเล็งเห็นว่าการศึกษาของไทยในหลาย ๆ สาขามีศักยภาพ เช่น สาขาบริหารธุรกิจ ธุรกิจระหว่างประเทศ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการตลาด



photo from thoughtsofaindianteenager

บทความฉบับนี้ จึงเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนมุมมองของนักศึกษาต่างชาติต่อระบบการศึกษาของไทยว่า การศึกษาของไทยยังมีความน่าดึงดูดอยู่พอสมควร และไม่ได้แย่อย่างที่รายงานของ WEF ได้ระบุ

ดังนั้น การจะสรุปความว่าคุณภาพการศึกษาไทย “ดีหรือไม” มีความจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายองค์ประกอบทั้งในมิติด้านลึกและด้านกว้าง บางครั้งต้องตัดในส่วนของความรู้สึกและความรับรู้ดั้งเดิมออกไป

แน่นอนว่าการสรุปความนั้น เราคงไม่สามารถมองตัวเองแล้วสรุปความด้านเดียวได้ ทว่า ต้องมองให้รอบด้านไปถึงทัศนคติและความคิดของนักศึกษาต่างชาติที่มองมาที่เรา รวมทั้งการใช้ข้อมูลและสถิติเชิงตัวเลขเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการสรุปความด้วย

ที่มา.Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++

จีน : หัวรถจักรสายบูรพา !!



ถึงแม้ว่าในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศจีนเกิดการชะลอตัว และกลายเป็นความกังวลของนักธุรกิจบ้าง แต่ไม่ทันไร จีนก็สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าชื่นชม ทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาผงาดเป็น "พี่ใหญ่" ในเอเชียอีกครั้ง

โดย ดร.สารสิน วีระผล รอง กก.ผจก.ใหญ่บริการเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

"จีน" ไม่เพียงแต่เป็นโรงงานของโลก แต่ในวันนี้ จีนได้เปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นนักลงทุนใหญ่สุดของโลก เพราะมีทั้งเม็ดเงินและเทคโนโลยีทันสมัย ก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เป็นผู้สร้างพลังทางเศรษฐกิจแก่เอเชีย โดยผงาดขึ้นเป็น หัวรถจักรขบวนใหญ่ที่สุดในบูรพาภิวัฒน์ ยุคปัจจุบันนับจากนี้ต่อไปเงินทุนของจีนจะไหลเทไปยังทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะซีกโลกตะวันตกอย่างต่อเนื่องไปหลายทศวรรษ สิ่งท้าทายสำหรับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทย คือ การสร้างพันธกิจใหม่ (New Mission) ของบูรพาภิวัฒน์ เพื่อให้มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ในยุคใหม่ ซึ่งจะเป็น พลังสำคัญ ในการทำให้เอเชียผงาดขึ้นมาอีกครั้ง

โดยเฉพาะประเทศไทย หากไม่ปรับเปลี่ยนหัวรถจักรให้ไปได้กับจีน ก็อาจจะตกขบวนรถสายบูรพาภิวัฒน์นี้ก็เป็นได้ การสร้างพันธกิจใหม่แห่งบูรพาภิวัฒน์นั้นจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือผู้นำและความพร้อมของคน

ประการแรก "ผู้นำ" ทุกประเทศในเอเชียจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการผลักดันประเทศให้พัฒนา และเติบโตไปพร้อมกับกระแสบูรพาภิวัฒน์ ผู้นำประเทศจะต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้ชัดเจน มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมต่อการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประการที่สอง "คน" หรือความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ ปัจจุบันโลกมีโอกาสรออยู่ และต้องการคนที่มีคุณสมบัติพร้อม แต่ในโลกจริงของธุรกิจไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดต่อการอยู่รอดขององค์กรในยุคโลกาภิวัตน์อยู่ที่การเตรียมพร้อมของคน

แต่ปัจจุบันพบว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างรู้สึกว่า "งาน" กับ "คุณสมบัติ" ของคนทำงานไม่ตรงกัน มหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

ไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงเรื่องการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจและท้าทายต่อระบบการศึกษาซึ่งเป็นระบบสำคัญของสังคมในการพัฒนาคน นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กกล่าวว่า ต่อไปนี้ ถ้ามีลูกมีหลานจะไม่ส่งให้เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว จะส่งไปเรียนด้านวิชาชีพ เพราะการเรียนมหาวิทยาลัยสิ้นเปลืองและไม่คุ้มกับที่ต้องลงทุนเรียนถึง 4 ปี จบมาแล้วก็ยังหางานทำยาก ในขณะที่จบด้านวิชาชีพ เช่น ช่างไฟ ช่างประปา สามารถหางานทำได้ทันที

มองกลับมาที่ประเทศไทย การปรับตัวของธุรกิจไทยเพื่อรองรับการเติบโตของประเทศในโลกตะวันออกภายใต้บูรพาภิวัฒน์รอบใหม่ ต้องยอมรับว่า "สถาบันการศึกษา" มีบทบาทสำคัญมากในการผลิตบุคลากรออกมาให้รองรับกับงานภายใต้การผงาดขึ้นของเอเชียครั้งนี้ ระบบการเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทางออกในการสร้างคน

แต่ทางออกที่น่าสนใจ คือพัฒนาระบบการเรียนการสอนในลักษณะ Dual Track คือเรียนไปด้วยเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานไปด้วย คือการปฏิบัติงานจริงไปด้วย เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งในเชิงวิชาการและสามารถปฏิบัติงานได้จริง โดยเน้นหลักสูตรการเรียนทฤษฎีควบคู่กับการเรียนปฏิบัติ หรือฝึกงานตรงกับสาขาวิชาที่เรียนจริง ๆ (Work Based Learning)

ยกตัวอย่าง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย บมจ.ซีพี ออลล์ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างคนให้กับภาคธุรกิจ ป้อนคนให้กับธุรกิจของตัวเอง และยังมีหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ อีกหลายองค์กรที่ได้ปฏิบัติสร้างหน่วยงานผลิตบุคลากรเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อมองดูภาพรวมของเศรษฐกิจเอเชียแล้วจะเห็นว่า "หัวรถจักร" ของประเทศไทยจะเป็นแบบถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะมีคำถามว่าไทยจะตกขบวนหรือไม่ ?

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนหัวรถจักรให้เข้ากันได้กับหัวขบวนใหญ่อย่างจีน เพราะรถไฟขบวนนี้จะนำไทยให้ก้าวไปถึงรถไฟขบวนโลก เพราะมิเช่นนั้นเชื่อได้ว่าประเทศไทยจะต้องตกขบวนอย่างแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจ ต่ำรอบ 20 เดือน !?

ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจต่ำสุดในรอบ 20 เดือน ธปท.เตรียมหั่นเป้าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง จากเดิมคาดขยายตัว4.2% เผยเงินไหลออก 4.6 พันล้านดอลลาร์

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนส.ค. 2556 ดุลบัญชีเดินสะพัด เริ่มกลับมาเกินดุลอีกครั้งที่ 1,285 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการเกินดุลครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากที่เดือนก่อนติดลบ 1,639 ล้านดอลลาร์

"ตัวเลขในเดือนส.ค. เริ่มมีสัญญาณทรงตัวขึ้นจากเดือนก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยนั้น ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว"

นายเมธี กล่าวว่า ในเดือนส.ค. การส่งออกปรับตัวดีขึ้น และดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.1% ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวขึ้น โดยภาพรวมในช่วงไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในภาวะที่ทรงตัว

นายเมธี กล่าวว่า แม้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล และอาจมีผลให้ดึงดูดเงินทุนต่างประเทศไหลกลับเข้ามาในไทยมากขึ้น แต่ภาวการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น ยังคงมีปัญหาอยู่ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่มีปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐใกล้เต็มเพดาน

"เชื่อว่าสหรัฐจะผ่านปัญหานี้ไปได้ แต่อาจเป็นการตัดสินใจในนาทีสุดท้าย และเศรษฐกิจในยุโรปยังชะลอตัวอยู่ อาจทำให้เงินทุนยังไม่เคลื่อนย้ายกลับเข้ามาในไทยอย่างรวดเร็ว"

จ่อหั่นเป้าเศรษฐกิจลงต่ำ 4.2%

นายเมธี กล่าวอีกว่า การลงทุนภาครัฐนั้นเริ่มมีปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนด้านชลประทาน และคมนาคมค่อนข้างล่าช้า และมีความห่วงในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณจากโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทได้ล่าช้านั้น ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรกับเศรษฐกิจมากนัก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็มีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าในหลายโครงการ แต่ก็มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณที่ทรงตัว แต่ ธปท.จะยังคงทบทวนประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 4.2% ซึ่งการทบทวนครั้งต่อไปจะมีการปรับลดประมาณการลงแน่นอน แต่จะลดเท่าไรต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.ย.-ต.ค. อีกครั้ง โดย ธปท.จะมีการแถลงข่าวในกลางเดือนต.ค. นี้

เงินไหลออก 4.6 พันล้านดอลล์

ในเดือนส.ค. มีดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย มีเงินไหลออกสุทธิ 4,612 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ที่มีเงินไหลออก 674 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นด้านสินทรัพย์ที่ไหลออกสุทธิ 1,799 ล้านดอลลาร์ และเป็นการไหลออกจากการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ การให้สินเชื่อการค้าของผู้ส่งออกที่มากขึ้นตามมูลค่าการส่งออก และการฝากเงินในต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน และเงินเคลื่อนย้ายด้านหนี้สินที่ไหลออกสุทธิ 2,813 ล้านดอลลาร์

ส่วนใหญ่มาจากการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ และการขายตราสารหนี้ เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับลดวงเงินการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ นอกจากนี้ดุลการชำระเงินยังขาดดุล 3,435 ล้านดอลลาร์

นายเมธี กล่าวว่า ในส่วนการส่งออกนั้นเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากอุปสงค์ด้านต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกไม่รวมทองคำนั้น มีมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.4% จากเดือนก่อน โดยมาจากภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการฟื้นตัวมากขึ้นตามความต้องการของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

แต่ในส่วนที่ส่งออกได้ลดลง ยังคงเป็นสินค้าการเกษตร ทั้งข้าวและยางพารา รวมถึงการส่งออกกุ้งที่ชะลอตัวลงจากโรคระบาดที่ยังไม่ดีขึ้น โดยกลุ่มประเทศไทยมีการส่งออกฟื้นตัวอย่างชัดเจน คือ กลุ่มประเทศอาเซียน ที่ขยายตัว 17.3% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 8.6% และการส่งออกไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 14% จากเดือนก่อน ที่ 1.1%

ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจต่ำสุดรอบ 20 เดือน

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือนส.ค. ที่ 47.5 ลดลงจาก 48.3 ในเดือนก.ค. และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 20 เดือน ตามความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้ประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อ ที่ลดลงในเดือนส.ค. เป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ของทั้งคำสั่งซื้อภายในประเทศและต่างประเทศ ในเกือบทุกภาคธุรกิจ

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุน และการจ้างงาน ชี้ว่าประกอบการยังคงลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ทิศทางของดัชนีทั้ง 2 ตัว มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนับจากต้นปี สะท้อนภาวะการลงทุนและการจ้างงานของธุรกิจเอกชนที่ชะลอลง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสำรวจในเดือนส.ค. อยู่ที่ 51.7 ลดลงจาก 53.3 ที่สำรวจเมื่อเดือนก.ค. และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

ทั้งนี้ ทิศทางดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ในเกือบทุกองค์ประกอบ ลดลงต่อเนื่องนับจากช่วงต้นปี โดยเฉพาะด้านคำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจในอนาคตที่ลดลงเป็นลำดับ

สภาผู้ส่งออกหั่นเป้าเหลือ 2.5%

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ กล่าวว่า การส่งออกไทย เดือนส.ค. 2556 มีมูลค่า 20,467.9 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.92% ในรูปเงินบาท มีมูลค่า 152,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.03% โดยตัวเลขการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก หลังจากติดลบต่อเนื่องกันถึงสามเดือน

หากการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ สามารถทำได้โดยเฉลี่ยเดือนละ 20,500 ล้านดอลลาร์ ก็คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.5%

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาดู ยังคงเป็นความผันผวนของตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยน และอาจจะมีผลไปถึงปี 2557 รวมถึงความไม่แน่นอนของการเมืองในตะวันออกกลางที่มีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และขีดความสามารถของไทยในหมวดสินค้าเกษตรที่ติดลบมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนค่าแรง 300 บาท และวัตถุดิบที่สูงขึ้น

"คาดว่าส่งออกปีนี้ อยู่ที่ 2.5% และจะมีผลทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 3-3.5% แต่ถ้าต้องการให้การส่งออกขยายตัวถึง 3% โดยเฉลี่ยแต่ละเดือน ต้องทำให้ได้ประมาณ 20,800 ล้านดอลลาร์ แต่คงเป็นไปได้ยาก โดยในไตรมาส 4 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เพราะว่าได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของคู่ค้าในตลาดหลัก ทั้ง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป และแรงหนุนจากราคาสั่งซื้อในช่วงปลายปีต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งจะส่งให้ยอดส่งออกในช่วงสุดท้ายของปีมีทิศทางสดใส"

นายนพพร กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกปี 2557 มีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 5-7% โดยมีเงื่อนไขว่าความผันผวนของตลาดเงินไม่มากนัก และอัตราแลกเปลี่ยนต้องสามารถแข่งขันกับภูมิภาคได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------------