--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

เลิกแอดมิชชั่น-รื้อหลักสูตรโจทย์ท้าทายปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ !!??

แม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษามาแล้วกว่า2 ครั้งและเกือบทุกรัฐบาลพยายามจะเข้ามาแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแก้โจทย์ในทั้งเรื่องคุณภาพและความเหลี่ยมล้ำได้

เหมือนอย่างที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ บอกในวงสนทนากับผู้บริหารในเครือเนชั่นว่า การแก้ปัญหาการศึกษาไทยยังอยู่ที่วังวนของโครงสร้างและตามแก้ปัญหาผลกระทบจากโครงสร้างที่ออกมาแบบมาทำให้แก้ไขไม่ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น

การกลับมานั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ เขาจึงพุ่งเป้าที่ไปการหาโจทย์ ที่เกิดขึ้นกับวงการศึกษาไทย และหวังว่าโจทย์ที่ถูกต้องจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง

โดยเฉพาะเมื่อ World Economic Forum (WEF)จัดอันดับการศึกษาไทยให้เกือบรั้งท้าย แพ้ทั้งกัมพูชาและเวียดนาม ยิ่งตอกย้ำว่าการปฏิรูปที่ผ่านมาอาจจะล้าหลังตามไม่ทันสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

จาตุรนต์ บอกว่า การจัดอันดับของ WEF เป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจมากนักและต้องถือเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียนใหม่ เพราะหากจะลองตรวจสอบเอาเฉพาะในเรื่องของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษก็พบว่าคนไทยเรียนภาษาอังกฤษมากว่า 16 ปี แต่ไม่สามารถสื่อสารและพูดคุยได้ ซึ่งเมื่อหากลองทบทวนวิธีการสอนในโรงเรียนและหลักสูตรจะเห็นว่าทั้ง 16 ปี ไม่มีเรื่องของการสนทนา(conversation)เลยแม้แต่นาทีเดียว

" ผมคิดว่าเริ่้มเห็นโจทย์บางอย่างในเรื่องของการสอนในโรงเรียนและหลักสูตรเพราะน่าตกใจเมื่อพบว่าหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษของเราไม่มีเรื่องของการสนทนาเลย ซึ่งในเรื่องนี้้ต้องเปลี่ยนใหม่"

การปฏิรูปการศึกษาในมุมที่ "จาตุรนต์"ต้องการทำให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งจึงมี 2 ประเด็นใหญ่คือ การปฏิรูปการเรียนการสอนและหลักสูตร ซึ่งในเรื่องนี้ระดมการแก้ไขปัญหาสจากนักวิชาการ ตั้งแต่เรื่องของการปรับมาตรฐานการทดสอบของเด็กไทยให้ได้มาตรฐานในระดับสากล เช่น การปรับการสอบโอเน็ตให้มีความสำคัญและผูกโยงกับความรับผิดชอบกับผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นครู

ในมติของการทดสอบ เขามองว่าอาจจะต้องฟื้นระบบการสอบมาตฐานกลางของชาติกลับมาใหม่อีกครั้งนอกจากนี้ยังมองถึงการทดสอบในระดับนานาชาติเช่นPISAจะต้องเลื่อนลำดับขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

ส่วนการปฏิรูปหลักสูตร "จาตุรนต์"บอกว่าจะไม่ทำแบบลงแขกเหมือนในอดีต แต่จะเชิญกระบี่มือหนึ่ง เข้ามาให้ความคิดเห็น พร้อมการตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานวิจัยพัฒนาในการปรับหลักสูตรที่มีงานวิจัยรองรับ

"เดิมการแก้หลักสูตรเราเชิญนักวิชาการด้านกฏหมายเข้ามาระดมความเห็น ซึ่งก็ถือว่าดีที่สุดเท่าที่มีในช่วงนี้ แต่ไม่มีองค์กรขึ้นมาดูแลอย่างจริงจัง ผมจึงเสนอให้ตั้งสถาบันขึ้นมาดูแลเรื่องนี้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น "

ประเด็นในเรื่องของความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา "จาตุรนต์" บอกว่า ปัญหานี้มีมากขึ้นในการศึกษาไทยเพราะมีพ่อแม่ที่มีศักยภาพในการลงทุนเพื่อให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดีและมหาวิทยาลับที่ดีต่างทุ่มไปกับการกวดวิชาซึ่งพบว่าเด็กบางคนพ่อแม่ต้องใช้เงินในการเดินทางเพื่อเรียนและสอบมากกว่า 5แสนบาท ซึ่งในเรื่องนี้เขามองว่าต้องแก้ไขระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกว่า "แอดมิชชั่น"ใหม่เพื่อลดปัญหาดังกล่าว

ส่วนจะแก้ไขไปในทิศทางเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาร่วมกันของนักวิชาการด้านการศึกษา แต่เการเปลี่ยนระบบการสอบใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเวลาทั้งครู ผู้ปกครองให้ปรับตัว เพื่อเข้าสู่กติกาแบบใหม่ และเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่จะมีแรงต้านจากประชาชนทั้ง ผู้ปกครอง โรงเรียนกวดวิชา หรือกระทั่งครูในระบบเพราะฉะนั้น จำเป็นต้องสร้างดีมานด์จากสังคมที่จะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนระบบใหม่

"ขณะนี้ช่องว่าของความเท่าเทียมมีมากทั้งในเรื่องของโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัย ด้วยเช่นกัน พ่อแม่ที่มีตังค์ส่งลูกหรือเตรียมให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพหรือส่งไปเรียนต่างประเทศ แต่พ่อแม่ที่ไม่รายได้ก็เรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน "

การปฏิรูปให้มหาวิทยาลัยปรับตัวเพื่อสร้างคุณภาพจึงเป็นอีกประเด็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งเขาคิดว่าจะใช้ระบบการจัดลำดับมหาวิทยาลัยเพื่อบีบให้มหาวิทยาลัยมีคุณภาพ โดยให้มาหวิทยาลัยยึดโยงกับความรับผิดชอบกับสังคม และถือเป็นการสร้างทัศคติของผู้ปกครองที่จะต้องเข้ามามีส่วนเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปรับตัวเพื่อสร้างคุณภาพไม่ใช่การลงทุนเพื่อสร้างทางเลือกให้กับบุตรหลานเพื่อเข้ามหาวิทยาลันดีๆโดยไม่ส่งเสียงตรวจสอบมหาวิทยาลัยในการสร้างคุณภาพ

"มหาวิทยาลัยบ้านเราเป็นอิสระจากทั้งนักการเมืองหรือรัฐบาลซึ่งในมุมนี้มีทั้งดีและไม่ดี แต่ปัญหาสำคัญคืออิสระจากสังคมและผู้ปกครองเองก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปรับตัว"

จาตุรนต์ มองว่าการปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการดำเนินการ เพราะในทางการเมืองไม่สามารถทำได้เนื่องจากวาระในตำแหน่งที่ผัดเปลี่ยนเวียนไปและส่วนใหญ่จะเข้ามาดำเนินการในสิ่งที่ตัวเองตั้งใจ ซึ่งในเรื่องนี้เขาเห็นภาคสังคมต้องมีฉันทามติในการเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาทั้งการเรียนการสอน หลักสูตร และคุณภาพที่เท่าเทียม

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่จาตุรนต์ จะเดินหน้าคือ การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้เชื่อมโยงกัน โดยจะมีการจัดประชุมใหญ่ในวันที่ 22 ก.ย. จากนั้นจะนำมายกร่างแผนการดำเนินการหรือพิมพ์เขียวขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยจะเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2557

แต่สิ่งที่เขาเห็นว่าต้องเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อยกร่างแผนการดำเนินงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังขอให้สพฐ.ไปเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการเลื่อนอันดับPISA รวมถึงเร่งตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อทำให้การปฏิรูปหลักสูตรมีความต่อเนื่องและได้มาตราฐาน

เป้าหมายที่จาตุรนต์ อยากเห็นและ ต้องการทำ 2 เรื่องให้ประสบความสำเร็จ คือ การทำให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยต้องเห็นผลลัพธ์ในปี 2558 คือ ทำให้อันดับในการประเมิน Pisa ดีขึ้น , ขยับสัดส่วนเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีพเป็น 50:50 , ทำให้มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกมากขึ้น และการกระจายโอกาสและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

บทเรียนซ้ำซาก !!??

สามล้อถูกหวย..!!

เป็นสำนวนที่รู้จักกันดี ว่าเปรียบเปรยถึงคนจนที่โชคดีมีโอกาสรวย แต่ใช้จ่ายเงินหมดภายในพริบตา
เป็นสำนวนจากเรื่องจริงเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่มีข่าวโด่งดัง เมื่อสามล้อฐานะยากจนคนหนึ่งถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ 1 จากนั้นเพียงไม่กี่วันเงินทองก็หมดลงด้วยความรวดเร็ว

เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน แต่สังคมบางส่วนก็ไม่เคยนำไปใจเป็นอุทธาหรณ์สอนใจ
เฉกเช่นกรณีอดีตนางแบบสาวชาวที่ราบสูง ผู้โด่งดังระดับโลก “ยุ้ย-รจนา เพชรกัณหา” ซึ่งมาจากครอบครัวที่ยากจนและมีปัญหารุมเร้าสารพัด จับพลัดจับผลูมีคนนำไปเจียรไน ส่งเข้าประกวด “อีลิท ซูเปอร์โมเดล ออฟ ไทยแลนด์ 1994” แล้วคว้าแชมป์ ได้เซ็นสัญญากับเอเยนซีนางแบบ จนกลายเป็นนางแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยวัย 18 ปี



ไม่ได้โด่งดังในเมืองไทย แต่ไปสร้างชื่อในต่างประเทศ ขนาดติดอันดับ 1 ใน 12 ซูเปอร์โมเดลโลก
ช่วงที่เธอโด่งดังบรรดาสื่อทั้งหลาย โดยเฉพาะแมกกาซีนหัวไทย หัวนอก ประโคมข่าวถึงความฮอตของเธอ ตลอดจนฐานะความเป็นอยู่ที่หรูหราฟู่ฟ่า มีเงินหมุนเวียนเข้ามาในชีวิตกว่า 100 ล้านบาท
แต่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบไปตลอด สังคมเลยต้องช็อคกับข่าวว่า เธอใช้ชีวิตผิดพลาด ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยจนหมดตัว แถมยังติดสุราสูบบุหรี่อย่างหนัก แรงสุดถึงขั้นติดยาเสพติดประเภทโคเคนอีกด้วย

ยุ้ยเคยเล่าว่า เคยมีเงินเก็บมากที่สุดถึง 50 ล้านบาท แต่ในวันที่หมดสภาพแล้วเดินทางกลับมาเมืองไทยมีเงินเหลือติดตัวเพียงแค่ 500 บาทเท่านั้น!!!

แถมกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย เธอก็ยังติดทั้งเหล้า ทั้งบุหรี่ ทั้งยาเสพติด กลายเป็นประสาทหลอน ทะเลาะกับแม่เป็นประจำ จากนั้นเมื่อรักษาอาการดีขึ้น หันเข้ามาทำงานรับสอนเดินแบบ และขายรองเท้าอยู่ห้างดัง ชีวิตดูเหมือนจะฟื้นให้ประคองตัวรอดได้ เพราะมีงานแฟชั่นเข้ามาบ้าง ตามประสาสังคมไทยที่มักให้โอกาสคนที่เดินชีวิตผิดพลาด โดยเฉพาะคนในวงการบันเทิง

แต่จู่ๆกลับตกเป็นข่าวดังคึกโครม เธอถูกพบขณะเร่ร่อนแบบคนไร้สติอยู่ข้างถนน บวกกับอาการป่วยด้วยโรคไบไพลาห์ คือ มีอาการเหมือนคนสองบุคลิก ดีก็ดีใจหาย ร้ายหรือเศร้าหดหู่ก็เอาเรื่องอยู่
งานนี้แน่นอนตามประสาสังคมไทย ความช่วยเหลือประดังเข้ามาในทันที ทั้งจากวงการบันเทิง และไปถึงระดับประเทศ เมื่อ ปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

ปัญหาก็คือ แม้การช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่คนเราควรจะมีน้ำใจต่อกันช่วยเหลือกัน สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีงามของสังคมไทย แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไปหรือไม่?
และที่สำคัญจะต้องตามช่วยเหลืออีกสักกี่คน?

เพราะอย่งที่บอกปัญหาทำนองนี้ไม่ใช่มีแค่ยุ้ยรจนา เพราะที่ผ่านมามีชีวิตแบบ “สามล้อถูกหวย” เกิดขึ้นไม่น้อยในแวดวงบันเทิง – ดารา – นางแบบ ที่จบอนาคตด้วยการดำเนินชีวิตผิดพลาด เพราะไม่เคยเรียนรู้บทเรียน โดยเฉพาะบทเรียนเรื่องยาเสพติด ที่ทำให้ใครต่อใครตายทั้งเป็น มานักต่อนักแล้ว

ยิ่งประเภทที่ดังตั้งแต่วัยไม่ถึง 20 ปี แล้วไม่มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ค่อยกำกับเป็นเข็มทิศนำทาง ดูแลเรื่องการดำเนินชีวิต... ก็ยิ่งน่ากลัว เพราะสิ่งแวดล้อมรอบข้าง พร้อมกระชากให้ดิ่งนรกลงเหว จบเส้นทางของดารา นางแบบ นายแบบ นักร้อง กลายเป็นตราบาปชีวิตมามากต่อมากแล้ว

สังคมบันเทิงที่ระเริงกับแสงสีเสียง ความหรูหราฟู่ฟ่า ชอบเฮฮาปาร์ตี้ พี้ยาเสพติด รวมทั้งมั่วเซ็กซ์กลายเป็นข่าวฉาวออกมาอยู่บ่อยครั้ง คนที่จัดปาร์ตี้มักเป็นไฮโซเซเล็บ ลูกหลานคนมีตังส์

เคยมีคนหลงเข้าไปในงานปาร์ตี้งานหนึ่งบอกว่า กลิ่นบุหรี่ กลิ่นกัญชายาเสพติดคลุ้งไปทั้งงาน หันไปซ้ายขวาล้วนแต่เป็นคนที่อยู่ในวงการแฟชั่นทั้งนั้น

สังคมแบบนี้ไม่ใช่ไม่มีใครรู้ แต่ตลอดมาก็ยังมีคนสมัครใจที่จะเข้าไปติดบ่วง ที่เนียน ๆ ก็รอดตัวไป ที่ไม่เนียนก็กลายเป็นข่าวถูกตำรวจจับดำเนินคดี อย่างกรณีของ อดีตนางแบบและนักแสดง ยูยี่-อลิสา พันธุสมิต ก็ตกอยู่ในวังวนของยาเสพติด

ทำให้หลายคนที่ได้รับรู้ข่าว ต้องสลดหดหู่ใจ ว่าทำไมเรื่องราวเช่นนี้จึงไม่เป็นอุทธาหรณ์ให้คนในแวดวงบันเทิงรุ่นใหม่ได้ฉุกใจคิดกันบ้างหรือ

ทำไมตัวอย่างดีๆที่เป็นดาวค้างฟ้าอยู่จนทุกวันนี้ ถึงไม่มีการมองดูกันบ้าง??
ในแวดวงนางแบบดังของเมืองไทย ตัวอย่างที่ดีก็มีเยอะ หลายคนจนวันนี้ยังมีชีวิตที่สดใส แม้ว่าจะแขวนรองเท้าไปแล้วก็ตามที เช่นไอดอล ซูเปอร์โมเดล อย่าง ลูกเกด-เมทนี กิ่งโพยม และ ซินดี้-สิรินยา เบอร์บริดจ์

ตรงนี้แหละที่ ต้องการให้ฉุกใจคิดกันให้มากๆ เพราะอย่างที่บอกว่า เห็นคนตกทุกข์ได้ยากแล้วยื่นมือช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาช่วยเหลือก็ดีแล้ว

แต่หน่วยงานที่ต้องให้ความรู้กับประชาชน กับสังคม อย่างเช่นกระทรวงศึกษาธิการ มัวทำอะไรกันอยู่ ถึงได้ไม่เคยปลูกฝังค่านิยมที่ดีๆให้กับสังคมไทยเลยในช่วงระยะเวลาหลายๆสิบปีที่ผ่านมา
คนไทยเราไม่เคยได้ชื่อเสียงในเรื่องค่านิยมรักชาติ ซึ่งผิดกับประเทศญี่ปุ่น

คนไทยเราล่าสุดถูก เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ฉีกหน้าให้ได้รับรู้ว่า การพัฒนาด้านการศึกษาของไทยตกต่ำมาก สำรวจในกลุ่มอาเซียน 8 ประเทศ ไม่รวมลาว และพม่า ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 8 หรือบ๊วยสุด

เป็นรองแม้แต่เวียดนามและกัมพูชา

นี่คือความจริงที่ชี้ให้เห็นถึงความพิกลพิการ และการดำเนินนโยบายในเรื่องการศึกษาและการให้ความรู้ที่ผิดรูปผิดร่างของสังคมไทย

จนทำให้ต้องเกิดกรณีอย่างสามล้อถูกหวย อย่าง ยุ้ย รจนา เกิดขึ้นซ้ำซาก
เกิดขึ้นทีก็ช่วยกันที เป็นการช่วยแบบไฟไหม้ฟาง ไม่ได้ยั่งยืนอะไร ไม่ได้ปลูกฝังแก่นให้คนรู้จักคิด รู้จักใช้ชีวิตในเส้นทางที่เหมาะสม

คำว่าใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เป็นเพียงคำสวยหรูที่ขยันพูดว่าจะยึดถือและทำตาม แต่ยังคงพบเห็นตลอดว่า คนดังคนในแวดวงไฮโซจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ทำอย่างที่ปากพร่ำพูด

คงต้องถามนักการเมืองไทย ถามผู้ที่ผลัดกันขึ้นมาบริหารประเทศชุดแล้วชุดเล่า ว่าได้เคยตอบแทนคุณประเทศโดยสอนให้เด็กไทยรู้จักคิดเป็นกันตั้งแต่เด็กๆบ้างหรือยัง จะได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ผิดพลาดเช่นที่เกิดขึ้น

ที่สำคัญและน่ากลัวอย่างมากที่สุดในทุกวันนี้ คือนอกจากบกพร่องในการสอนให้รู้จักเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตที่เหมาะสม มีวินัย อยู่ในกรองของศีลธรรมจรรยาแล้ว ยังกลับปล่อยให้ตื่นกระแสในเรื่องสังคมออนไลน์กันแบบไม่มีขอบเขต

นึกจะเขียนอะไร นึกจะด่าใคร นึกจะทำรูปทำภาพออกมาเล่นงานใครเพื่อความสะใจ ก็ทำกันโดยไม่มีการยับยั้งชั่งใจ ไม่สนใจผลกระทบหรือความรู้สึกของคนอื่น... ตรงนี้แหละที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงอย่างมาก
ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคำว่า “สยามเมืองยิ้ม” ที่กำลังจะหมดไปเพราะสังคมออนไลน์แล้วอย่งนั้นหรือ
แม้แต่เรื่องดีๆ เรื่องที่ต้องการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเพื่อนร่วมวงการด้วยกันแท้ๆ ยังมีการเอาไปละเลงจนคนที่ต้องการทำดีถึงกับส่ายหน้า

นั่นก็คือ กรณีที่เพื่อนสนิทนางเอกสาว "อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ" อย่าง "ยุ้ย ณัฏฐาพร อคุสุวรรณ" ที่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กับข่าว สาวอั้ม โดนใส่ไฟว่าใจแคบใจดำ ช่วยเหลือนักแสดงอาวุโสที่กำลังเจ็บป่วยเป็นข่าวดังแค่ 10,000 บาท ทั้งที่ตัวเองเป็นถึงดาราดังและมีเงินถุงเงินถัง

ก็เลยออกมาโต้แกมชี้แจงผ่านอินสตาแกรมแทนเพื่อนว่า

มีเว็บดังเขียนข่าวอั้มช่วยนักแสดงท่านนึง 10,000 บาท เอามาจากไหนเหรอคะ? งงมาก ถ้าอยากรู้จริงๆ ถามยุ้ยก่อนก็ได้นะคะ เวลาไปให้กำลังใจหรือช่วยใคร อั้มและเพื่อนๆ ก็ไม่เคยที่จะออกมาป่าวประกาศนะ (เห็นอย่างนี้แล้วทนไม่ได้จริงๆ)

ยืนยันว่าตัวเลขมากกว่านี้มากนะคะ! ไม่ได้ตั้งใจที่จะมาอวดร่ำอวดรวยอะไร แต่พอคุณลงว่า 10,000 โดยที่คุณคิดตัวเลขขึ้นมาเอง อั้มก็โดนด่าว่าใจแคบใจดำ เป็นดาราดังให้แค่นี้เองเหรอ คนที่อยากช่วยจากใจจริง เขาก็ท้อและเสียใจเป็นนะคะ) ขอบคุณค่ะ yui_papa”

นี่คืออีกความจริงที่โหดร้ายในสังคมไทยเวลานี้

ตราบใดที่สังคมไทยยังถูกปล่อยปละละเลยให้เป็นสังคมที่ไม่เข้มงวดหย่อนยานระเบียบวินัย โดยเฉพาะจากสถาบันครอบครัว ที่เป็นหน่วยย่อยหน่อยเล็กที่สุดในสังคม แต่มีความสำคัญที่สุด และการแก้ปัญหาไปไม่ถึงรากเหง้า เกาไม่ถูกที่คัน

หน่วยงานการศึกษาของชาติยังเรื่อยๆมาเรียงๆอยู่เช่นนี้

กรณีของ “ยุ้ย-รจนา เพชรกัณหา” คงไม่ใช่เป็นบทเรียนราคาแพงรายสุดท้าย คงจะมีต่อกันไปไม่มีที่สุด
กรณีของ “อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ” ก็ยังจะเกิดซ้ำซากกับใครก็ได้

และกรณีผลสำรวจคุณภาพการศึกษาของไทยก็จะฉีกหน้าคนไทยไปอีกนานแน่ๆ

ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////////////

เศรษฐกิจจีนชะลอตัว..โอกาสยังมีอยู่ !!??

โดย. ขวัญใจ เตชเสนสกุล

หลังการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัว 7.5% ชะลอลงจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 7.7% เป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับสองของโลก เริ่มส่งสัญญาณขาลง สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจีนที่ตั้งเป้าให้เศรษฐกิจ

ปี 2554-2558 โตเฉลี่ยปีละ 7% โดยมุ่งให้ความสำคัญการดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมีความสมดุลมากขึ้น แม้ต้องแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายรวมถึงตัวผู้เขียนเองประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ทีมีสัดส่วนเกือบ 12% ของมูลค่าส่งออกรวม โดยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 มูลค่าส่งออกของไทยไปจีนติดลบแล้ว 3.9%

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านโดยเฉพาะท่านผู้ประกอบการที่ค้าขายกับจีนอาจเริ่มวิตกกังวลว่า หากแดนมังกรสะเทือนขึ้นมาจะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน และจะต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างไรภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ตลอดจนยังมีโอกาสอะไรหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่ ในตอนแรกยอมรับว่ามองเห็นแต่ด้านลบ คาดการณ์แต่ผลไม่ดีที่จะเกิดขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในรอบนี้ แต่หลังจากได้ทำความเข้าใจ เปิดใจให้กว้างมองต่างมุม กลับพบว่าแท้จริงแล้วยังมีโอกาสอยู่อีกมากจากวิกฤตในคราวนี้ ตรงกับวลียอดฮิตที่ว่า "ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส"

ผู้เขียนประเมินว่าหลังจากรัฐบาลจีนมีนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยลดบทบาทของภาคส่งออกและหันมาเพิ่มสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าส่งออกดาวเด่นของไทยไปตลาดจีนเปลี่ยนไป จากเดิมมักเป็นสินค้าจำพวกวัตถุดิบและส่วนประกอบของสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และยางพารา ซึ่งผู้นำเข้าจีนมักนำสินค้ากลุ่มนี้ไปผลิตและประกอบเพื่อส่งออกต่อ

แต่หลังจากนี้สินค้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญน่าจะเป็นจำพวกสินค้าเกษตรและอาหารที่ชาวจีนนิยมเป็นอย่างมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเล ลำไย ทุเรียน และผลไม้กระป๋องต่าง ๆ เห็นได้จากมูลค่าส่งออกสินค้าเหล่านี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ยังขยายตัวได้ ขณะที่มูลค่าส่งออกกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและส่วนประกอบในภาคอุตสาหกรรมกลับติดลบสินค้า OTOP จะเป็นอีกกลุ่มที่ขายดีมากในตลาดจีน โดยเฉพาะปัจจุบันที่สินค้า OTOP ของไทยเน้นพัฒนาและ

ยกระดับสู่ตลาดโลกมากขึ้น ล่าสุดผู้เขียนทราบมาว่างานเทศกาลไทย ณ เมืองคุนหมิง ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สินค้า OTOP ไทยสามารถจำหน่ายในงานได้ถึง 100 ล้านบาท และมีผู้ค้าจีนสั่งซื้อต่อหลังการจัดงานมากกว่า 40% ของสินค้า OTOP ที่นำไปจำหน่าย ชี้ให้เห็นว่าสินค้า OTOP ที่ใช้เอกลักษณ์ความเป็นไทยก็สามารถเจาะตลาดจีนได้ไม่ยากเลย หากเข้าถูกช่องทางและเจาะตลาดได้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

อีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลจีนจะเร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้การบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือการเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรให้สูงขึ้นอีกเท่าตัวภายในปี 2563 จากปัจจุบันอยู่ที่ 6,076 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ดังนั้น สินค้าไทยที่มีราคาสูงหรือกลุ่มสินค้า Luxury ย่อมมีโอกาสขายดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัญมณี/เครื่องประดับ และเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย ที่เน้นเจาะตลาดผู้มีรายได้สูง ยังรวมไปถึงภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ซึ่งในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยมากเป็นอันดับ 1 ถึง 2.8 ล้านคน แซงหน้านักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เคยครองอันดับ 1 นักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงมองว่า หลังจากนี้ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ คงต้องหาพนักงานที่พูดภาษาจีนและเข้าใจวัฒนธรรมจีน เพื่อรับมือกับกองทัพนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมหาศาล

สุดท้ายนี้อยากฝากว่า แม้โอกาสในตลาดจีนยังมีอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะคว้ามาง่าย ๆ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคจีนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อผลิตสินค้าและบริการได้ตรงกับความต้องการมากที่สุด อย่าลืมว่าจีนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน แตกต่างกันทั้งเชื้อชาติและวัฒนธรรม รสนิยมและความต้องการของชาวจีนในแต่ละพื้นที่จึงต่างกันด้วย นอกจากนี้อยากฝากถึงผู้ที่จะส่งสินค้าไปขายที่จีน ควรนึกถึงผลิตภัณฑ์สีเขียว หรือผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากรัฐบาลจีนเริ่มออกมาประกาศนโยบาย China Go Green Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

ถามตอบ!!!??

โดย. พญาไม้

สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำในเรื่องการเรียกร้องของชาวสวนยางพารากับราคาของยาง..ก็คือ..ตอบคำถามเหล่านี้

สวนหรือป่ายางพาราในเวลานี้ของประเทศไทย..เป็นของคนไทยที่ยากจนหรือมั่งคั่ง..ในจำนวนทั้งสิ้นทั้งหมดของยางพาราที่ไทยผลิตได้นั้นมีอยู่เท่าใด..และยางพาราของคนไทยที่ไปปลูกอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีอยู่เท่าใด

คำตอบก็คือ..เศรษฐีใหญ่คนไทยที่รวยติดอันดับโลก..นักการเมืองที่แสดงบัญชีว่าเงินเป็นร้อยเป็นพันล้านก็เป็นเจ้าของสวนยางพาราขนาดหลายร้อยหลายพันไร่ไปจนถึงหมื่นไร่

ถามว่า..คนกรีดยางหรือตัดยางเพื่อเอาน้ำยางนั้นเป็นใคร

คำตอบก็คือ..ใกล้เพื่อนบ้านทางไหนก็จะเป็นประชนคนเพื่อนบ้านมารับจ้างตัดยาง..ในราคาที่ฝ่ายคนรับจ้างเป็นต่อนายจ้าง..

ความเป็นจริงของประเทศไทยในขณะนี้ก็คือ..ในตลาดแรงงานนั้นผู้แรงงานเป็นเจ้าของและอยู่เหนือกว่าผู้ว่าจ้างในแทบจะทุกชนิดของตลาดแรงงาน

ถามว่า..ราคายางในปัจจุบันนี้ทำให้ผู้ปลูกสวนยางขาดทุนจริงหรือ.

คำตอบก็คือไม่จริง..ยางมีความเสี่ยงในเรื่องการลงทุนต่ำกว่าพืชพันธุ์ชนิดอื่น..ถึงแม้ว่าจะไม่ได้การทำนุบำรุงต้น ยางก็ตายยากและยังให้ผลผลิตได้..
ยางแต่ละต้นมีอายุยาวนานกว่ายี่สิบปีการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับเวลาและในระหว่างที่รอการเติบโตของต้นยางแผ่นดินตรงนั้นก็ยังสร้างผลผลิตอื่นๆ ได้

ถามว่า..กำไรสุดท้ายของยางอยู่ที่ไหน
ตอบว่า..เมื่อยางพาราหมดอายุเป็นไม้ยางแก่แล้ว ราคาสูงสุดของผลตอบแทนคือต้นยางที่เอาไปใช้ทำไม้สำเร็จรูปเกือบทุกชนิด..
รายได้ตรงนี้เจ้าของสวนยางได้ไปเต็มๆ แทบจะไม่ต้องแบ่งใครและไม่ต้องเสียภาษี

ถามว่า..ข้าวกับยางต่างกันหรือไม่..ตอบว่าต่างกันเหมือนฟ้ากับเหว
ถามว่า..แล้วทำไมมันถึงมีปัญหา..ตอบว่าเพราะเขาเอามันมาเล่นการเมือง
ถนมว่า..แล้วมันจะเป็นอย่างไรต่อไป...ตอบว่าก็วอดวายกันทั้งแผ่นดิน

ที่มา.บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////

รมว.ศึกษาฯ จี้ จัดสอบทุกชั้น ป.1 ถึง ม.6 !!??


จาตุรนต์" จี้สอบทุกชั้นปี-ทุกคนวัดผลอุดรอยรั่ว/มอบ สทศ.-สพฐ.ดรีมทีม

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีข้อเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แก้ไขประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการใช้ผลการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยให้ยกเลิกการนำคะแนน O-NET มาเป็นส่วนหนึ่งในการจบการศึกษาของนักเรียนชั้น ป.6 เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ว่าทำให้เด็กเกิดความเครียด และครูเน้นติววิชาการ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพเด็กว่า ยังไม่ทราบข้อเสนอดังกล่าว แต่ที่ผ่านมามีการหารือว่าจะเพิ่มการวัดผลให้ครบทุกชั้นปี ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.6 เนื่องจากที่ผ่านมาเราจัดการศึกษา โดยไม่เคยมีระบบการทดสอบวัดผลที่เป็นระบบกลางที่ได้มาตรฐาน จนกระทั่งมี สทศ.ที่เริ่มมีการจัดสอบวัดมาตรฐาน และพัฒนาจนการสอบเริ่มมีมาตรฐานขึ้น ทำให้โรงเรียนได้รู้จุดบกพร่อง เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด

ดังนั้น โดยส่วนตัวคิดว่าระบบการทดสอบวัดผลยังเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อไป และควรจัดสอบทุกคนไม่ใช่การสุ่มสอบ ส่วนเรื่องที่มีผลวิจัยระบุว่าการสอบ O-NET ชั้น ป.6 ทำให้เด็กเกิดความเครียดนั้น เป็นอีกปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม ได้ขอให้ สทศ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปหารือร่วมกันว่าระบบการวัดผลกลางนั้นควรจะเป็นรูปแบบใด ซึ่งก็อาจจะเป็น O-NET ที่จัดสอบโดย สทศ. หรือเป็นระบบที่ดำเนินการโดย สพฐ.ก็ได้ แต่จะต้องเป็นระบบที่ได้มาตรฐาน

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับคะแนน O-NET อย่างแท้จริง ส่วนงานวิจัยที่ระบุว่าการสอบทำให้เด็กเครียด และครูเน้นติวแต่วิชาการนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมกันหาทางแก้ไข ไม่ใช่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะต้องเดินถอยหลัง ซึ่งเวลานี้ทุกอย่างจะต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อให้การดำเนินการประเมินผลระดับชาติ มีผลต่อวงจรการพัฒนาการศึกษาของเด็ก

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอที่จะใช้วิธีการสุ่มสอบ O-NET นักเรียนชั้น ป.6 โดยไม่ให้สอบทุกคนเช่นปัจจุบันนั้น คงต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียทั้งหมดก่อน ซึ่งตามหลักวิชาการก็สามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติจะทำให้เด็กขาดความตั้งใจ ไม่เอาใจใส่และเอาจริงเอาจังกับการสอบ O-NET เพราะไม่ได้มีผลต่อการเรียน นอกจากนี้หากเด็ก ป.6 ไม่ได้สอบ O-NET ทุกคน ก็จะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 ด้วย เพราะขณะนี้โรงเรียนกำหนดให้คะแนน O-NET เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อในชั้น ม.1 ดังนั้นจึงคิดว่าควรจะใช้คะแนน O-NET ให้เกิดประโยชน์ต่อไปไม่ใช่เดินถอยหลัง

นายประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบันเก่าแก่ กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้ยกเลิกการ ใช้ O-NET มากำกับการจบการศึกษาชั้น ป 6 เพราะปรัชญาการศึกษาระดับประถม คือการสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ดังนั้นถ้าเอาวิชาการไปใส่เด็กมากเกินไป ก็จะเกิดเครียดและเบื่อการเรียนในอนาคต

ที่มา.สยามรัฐ
///////////////////////////////////////////////////////

ลงทุนตลาดอาเซียน..ต้องรู้จริง !!??

เซเว่น อีเลฟเว่น หรือ 7-11 กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนไทยไปแล้ว ไม่มีใครไม่เคยเข้า 7-11 นอกจากประเทศไทยแล้ว 7-11 สนใจเข้าไป เจาะตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย

วิเชียร จึงวิโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย บมจ.ซีพี ออลล์ เทียวไล้เทียวขื่อ เข้าประเทศนั้นออกประเทศนี้นับครั้งไม่ถ้วน เพื่อศึกษาพฤติกรรมและเตรียมพร้อมหากวันหนึ่งต้องรุกเข้าไปในกลุ่มประเทศอาเซียนจริงๆ

+ เวียดนามตลาดในฝัน

แม้ 7-11 จะยิ่งใหญ่ในเมืองไทยมากเพียงใด หากนั่นไม่ใช่คำตอบแห่งความสำเร็จ เพราะแผนการตลาดวันนี้ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ขวานทอง แต่เป็นแผนที่ ทั้งอาเซียน

"ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ บอกว่าตลาดคือโลกนี้ทั้งใบ ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้น เรามีหน้าที่เสิร์ฟอาหารให้กับคนทั้งโลก" คุณวิเชียรเท้าความ ก่อนจะอธิบายต่อว่า

"ตอนผมไปเซอร์เวย์ตลาดในเวียดนาม เห็นมอเตอร์ไซค์วิ่งเต็มถนน ต้องใช้คำว่ามากเหมือนปลวก มอเตอร์ไซค์เยอะมาก รถยนต์กลายเป็นของประหลาดไปเลย สิ่งที่เห็นหมายความว่าพฤติกรรมของเขา ไม่เหมือนเราแน่นอน ถ้าจะไปบุกตลาดเขาจะต้องทำยังไงบ้าง 7-11 เรามีข้อจำกัดที่ได้ไลเซ่นส์ เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น นอกดินแดนไทย เราไม่สามารถ เปิดร้าน 7-11 ได้ แต่ผมก็ยังไปเซอร์เวย์เพราะว่าถ้า วันหนึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ 7-11 เขาอนุญาตให้เปิดแฟรนไชส์ในอาเซียน ต้องเป็นเราเท่านั้นที่ไปเปิดคงไม่ใช่ 7-11 ของญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่จะมาทำแถบนี้"

คุณวิเชียร กล่าวว่า อาเซียนถือเป็นนิวมาร์เก็ต เป็นตลาดใกล้ตัวที่เรายังไม่เคยสัมผัส เป็นคนที่เราคุ้นเคย แต่เราไม่เคยเข้าไปค้าขายกับเขา ทำยังไงที่จะเข้าไปสู่ตลาดใหม่เหล่านี้ได้ ถ้าเอาตามทฤษฎี แน่นอนเราต้องเรียนรู้ภาพใหญ่ก่อน คือหาข้อมูลที่มีบันทึกไว้หลายแหล่ง แม้กระทั่งการไปหัดขี่มอเตอร์ไซค์ในเวียดนาม เพื่อสัมผัสว่าสินค้าของเรามีโอกาสเข้าไปได้ยังไง แล้วพิจารณาว่ากฎหมายกฎระเบียบ เปิดโอกาสให้ทำได้หรือไม่

"เราไปเจอที่เวียดนามถ้าจะเปิด 7-11 จำนวน 720 สาขา ต้องทำการขอ อนุญาตเปิดธุรกิจ 720 ครั้งต่อปี เพราะเขานับ 1 ต่อ 1 ถามว่าในทางปฏิบัติเราจะเปิดได้หรือเปล่า เปิดได้ แต่ปีหนึ่งอาจจะเปิดได้แค่ 2-3 สาขา เมื่อกฎหมายไม่อำนวยความสะดวก เรา ต้องวิเคราะห์โอกาสใหม่ เพราะสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือต้องไม่มีคำนี้ออกจากปากว่า "ถ้ารู้อย่างนี้ไม่มาดีกว่า"

การเข้าสู่ตลาดใหม่โดยเฉพาะในต่างประเทศคือการหาตลาดเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น หรือค่าแรงที่ต่ำลง ทำให้เกิดโอกาสและกำไรที่มากขึ้น 7-11 มองว่าปัจจุบัน ในเมืองไทยมี 7,772 สาขา ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน ในอนาคตอีก 4-5 ปีจะมีประมาณ 10,000 สาขา ถามว่าถ้าเปิดไปเรื่อยๆ แบบไม่จำกัดได้ไหม ไม่ได้ เพราะถ้าแข่งขันกันมากก็ต้องมีการปิดตัว แต่การเข้าไปในตลาดใหม่ต้องวิเคราะห์ให้ชัดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ตกไม่ได้ ถ้าตกข้อนี้ถือว่าสอบตกตั้งแต่แรก เราไปเซอร์เวย์ทั้งที่ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา จ้างบริษัทท้องถิ่นหาข้อมูลเบื้องต้นให้ เก็บข้อมูลเรื่อยๆ จนกว่าจะพร้อมและได้ไลเซ่นส์แล้วจึงจะไป

+ ลาวตลาดแห่งความท้าทาย

พฤติกรรมคนลาวชอบสินค้าไทยอยู่แล้ว ปัจจุบันเขาก็ข้ามมาซื้อจากฝั่งไทย สินค้าเมดอินไทยแลนด์ขายได้แน่นอน ตอนผมเซอร์เวย์ไปทางเวียงจันทน์พบว่าเขา มีร้านคล้ายกับ 7-11 เป็นมินิมาร์ต แต่ผมว่าเขาข้ามชายแดนมาดูเรา เพราะเราสร้างแบบไหนเขาสร้างแบบ นั้น แตกต่างกันแค่สีเท่านั้น ทำเลหนึ่งที่เราไปศึกษาคือปั๊ม ปตท. ในลาว ว่าเราสามารถเปิดร้าน 7-11 ใน ปตท. ได้ไหม ผมเซอร์เวย์จากเวียงจันทน์-สุวรรณเขต-ปากเซ ระยะทาง 700 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 วันเพราะว่าสภาพถนนค่อนข้างแย่ มีสัตว์ทุกชนิดเดินไปเดินมา การสำรวจครั้งนั้นเราพบว่าสามารถเปิดร้าน 7-11 ได้ แต่ไม่มาก อีโคโนมีออฟสเกลไม่ได้ เราก็เลยได้คำตอบว่ารู้อย่างนี้อย่าเพิ่งไปดีกว่า นี่คือประโยชน์ของการสำรวจ

อย่างไรก็ตาม คุณวิเชียรปิดท้ายว่า การไปหรือไม่ ไปลงทุนของ 7-11 ไม่เกี่ยวกับธุรกิจประเภทอื่น เพราะ การลงทุนในอาเซียนเป็นเรื่องของ "โอกาสใคร โอกาสมัน" ยกตัวอย่างในเวียดนามไม่มีร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์ แต่ห้องแถวค่าเช่าแพงมาก และสร้างกันอย่างไม่เป็นระเบียบ บางห้องสูง บางห้องต่ำ การเข้าไปเปิด 7-11 อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับเปิดร้านขายกล้วยแขก เหมือนแถวนางเลิ้งที่วิ่งขายตามรถ ขายดีแน่ เพราะที่เวียดนามมอเตอร์ไซค์วิ่งกันเต็มถนน อาจจะขายง่ายกว่าแถวนางเลิ้งอีก

"ถึงแม้ท่านจะเป็น SMEs ก็สามารถขยายขอบ เขตเข้าไปในอาเซียนได้ถ้ารู้ลึก รู้จริง สิ่งหนึ่งที่อยาก ฝากคือจะไปยังไงให้กลับมาแล้วรอด ไม่เจ็บตัว"

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

วสันต์ : ฟันธง จำนำข้าว ขัด รธน !!??

วสันต์. ฟันธงรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ ไม่แถลงผลงาน-จำนำข้าว

สถาบันพัฒนาภาวะผู้นำการปกครองท้องถิ่น จัดเสวนาเรื่อง "ระบบนิติรัฐกับทางรอดของประเทศไทย" และการอภิปรายร่วมหัวข้อ "วิพากษ์กฎหมายไทยเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่" ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรยายเรื่อง "ระบบนิติรัฐกับทางรอดของประเทศไทย" ว่า นิติรัฐหมายถึง รัฐที่มีการปกครองโดยยึดหลักกฎหมาย การชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่าให้มาบริหารประเทศอย่างเดียว เพราะแม้แต่การบริหารท้องถิ่น อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) ล้วนแต่ต้องบริหารตามกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เปรียบเทียบองค์กรเอกชนก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องบริหารตามข้อบังคับของบริษัท หากมีปัญหาเรื่องข้อบังคับก็ต้องแก้ไข แต่บริษัทแก้ไม่ยาก แค่ประชุมผู้ถือหุ้น ทนายความ แต่ถ้าเป็นการบริหารองค์กรของรัฐ เทศบาล อบต. รวมถึงรัฐบาลจะต้องบริหารตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลจำเป็นต้องมีมือกฎหมายที่เก่ง มีความรู้ และแก้ปัญหาได้ดีไว้ใกล้ตัว นักกฎหมายที่เก่งควรรู้กฎหมายและผูกโยงกฎหมายหลายฉบับที่เชื่อมโยงกันเพื่อให้บริหารถูกต้อง และเพื่อใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ ไม่ใช่เอาช่องโหว่ของกฎหมายมาหาประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง แต่ต้องบริหารตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บริหารตามอำเภอใจ

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า องค์กรศาลมาตามตัวบทกฎหมายที่สภาออกมา สภาต้องการให้เป็นอย่างไรก็ออกมา แต่ประชาชนต้องยอมรับ ไม่อย่างนั้นมีปัญหา ที่องค์กรตุลาการอยู่มาได้ทุกวันนี้ เพราะความเชื่อมั่นที่สังคมให้ ไม่ใช่ว่าตุลาการดีทุกคน เสียก็มี ไล่ออก ปลดออก ก็มี เพียงแต่คนเลวยังน้อยจึงทำให้อยู่กันได้

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หน้าที่หลัก คือ ตัดสินว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดหรือไม่ การตัดสินของศาลอาจมีคนที่พอใจและไม่พอใจ ฝ่ายที่ไม่พอใจจะบอกว่าศาลไม่ยุติธรรมบ้าง ลำเอียงบ้าง แต่ตนคิดว่าคิดไปเองมากกว่า เพราะกว่าจะตัดสินแต่ละเรื่อง พวกเราคิดกันนาน และเถียงกันมากพอสมควร

"เรื่องการกระทำที่อาจขัดต่อมาตรา 68 ถือเป็นอำนาจที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่ขนาดเป็นอำนาจศาลยังงอแงกันว่า ต้องผ่านอัยการ ตกลงเป็นสิทธิประชาชนหรืออัยการ เพราะในมาตรา 68 เป็นสิทธิเสรีของประชาชนชาวไทย พอรับคำร้องก็จะตายกันให้ได้ ทั้งเวลาที่รับฟ้องมีการยกคำร้องบ่อยไป เช่น การแก้ไขมาตรา 291 แล้วมางอแงว่าจะโหวตวาระ 3 ได้หรือไม่ ก็ไปดูกันเอง เก่งๆ กันทั้งนั้น"

"ในการตัดสินไม่สามารถทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจได้ พอผลตัดสินออกมาฝ่ายที่ไม่พอใจก็มีการพูดว่าสองมาตรฐาน ไม่ยุติธรรม ถ้าเนื้อหาเหมือนกันหมดและตัดสินออกมาคนละแบบ แบบนั้นถึงแปลว่าสองมาตรฐาน แต่ต้องเนื้อหาเหมือนกันเป๊ะ แต่ถ้าเนื้อหาไม่เหมือนเดิม มีอะไรเปลี่ยนแปลงและตัดสินไม่เหมือนเดิม ไม่ได้แปลว่าสองมาตรฐาน"

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ผมฟันธง ตอนนี้รัฐบาลทำขัดรัฐธรรมนูญแล้ว 2 เรื่อง แต่ไม่มีกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงไปวินิจฉัย คือ ไม่แถลงผลงานปีละ 1 ครั้งต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสองที่กำหนดไว้ ตรงนี้ไม่เหมือนศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ที่มีอำนาจจะเข้าไปตรวจสอบ เรียกไต่สวน หรือออกคำสั่งห้ามได้ โดยที่ไม่ต้องมีคนร้องหากเห็นว่ารัฐบาลหรือรัฐสภากำลังทำผิด

นอกจากนี้ ที่น่าหงุดหงิดคือ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตั้งแต่เดือนก.พ.2555 เมื่อครั้งขอออกเป็น พ.ร.ก.ถือว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ วันนี้พ.ร.ก.ดังกล่าวออกเป็น พ.ร.บ.แล้ว โดยมาตรา 3 เขียนให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และในวรรคหนึ่งกำหนดให้การกู้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.2556 แต่จนถึงขณะนี้มีคำยืนยันจากรองปลัดกระทรวงการคลังว่า ไปเซ็นสัญญากับ 4 ธนาคารแล้ว

มีคำถามว่าการกู้เงินตามพ.ร.บ.กำหนดให้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.2556 การเซ็นสัญญากับธนาคารแล้ว ถือว่าเป็นกู้หรือยัง ซึ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เขียนไว้ว่าสัญญานี้จะบริบูรณ์ เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นไปตามที่รองปลัดกระทรวงการคลังบอกว่า ยังไม่มีการส่งมอบเงิน จึงเท่ากับว่ายังไม่มีการกู้เงินเกิดขึ้น ปัญหาคือ ถ้าหลังจากเดือนมิ.ย.แล้ว ธนาคารจะเสี่ยงกล้าให้เงินกับรัฐหรือไม่ เพราะถ้ายึดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การเสี่ยงให้เงินของธนาคารก็อาจนำมาสู่การไม่ได้รับเงินต้นคืนและดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน รัฐจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า เป็นห่วงบริษัทอิตาเลี่ยนไทย และเค วอเตอร์ ไม่ทราบว่าเกาหลีมีแห้วขายไหม แนะนำว่าหากรัฐทวงเงินกู้ตามสัญญาจากธนาคาร วิธีที่ดีที่สุดสำหรับธนาคารคือไม่ส่งมอบเงินให้กับกระทรวงการคลัง แต่ให้กระทรวงการคลังไปฟ้องแพ่งเอา เพราะถ้าให้ก็ไม่แน่ว่าจะได้เงินคืน นี่คือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ถามว่า ปีครึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ มัวไปทำอะไรกันอยู่ มัวแต่ไปเล่นละครพญาเม็งรายหรือไม่ มีคนไปฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองก็มีคำสั่งว่าจะต้องทำรายงานวิจัยศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก็ไปด่าศาลว่า ถ้าน้ำท่วมศาลปกครองต้องรับผิดชอบ ผมบอกได้เลยว่า ถ้าตอนนี้น้ำท่วมขึ้นมา คนที่รับผิดชอบ คือรัฐบาลอย่างเดียว เพราะปีกว่าๆ ไม่ทำอะไรเลย ทั้งที่ความจริงบ้านเรามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ต้องทำประชาพิจารณ์ในโครงการที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2535 และมีรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 กำหนดว่าโครงการที่มีผลกระทบกับชุมชนต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย

ซึ่งกรณีก็โยงไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะมีการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถามว่า วันนี้จะทำรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ต้องขุดลงใต้ดินผ่านอุทยานฯ ป่าสงวน และชุมชนไหนบ้าง รัฐก็ตอบไม่ได้ พูดอย่างเดียวจะเอาเงินกู้ โดยการกู้เงินเอามาทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรัฐ ระบุเป็นโครงการ 7 ปี ถ้าเฉลี่ยรายปี จะต้องใช้งบประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท ทำไมไม่กู้ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี คำตอบคือ ถ้าทำตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การยื่นคำขอในแต่ละปี ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน และจะถูกตรวจสอบได้ง่าย จึงเลี่ยงที่จะถูกตรวจสอบ ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 169 และถ้าเรื่องนี้ผ่านไปได้ ต่อไปรัฐบาลจะไม่เลือกใช้การกู้ผ่านวิธีการงบประมาณแล้ว

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผิด แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคือ โครงการรับจำนำข้าว เพราะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (5) ที่บัญญัติเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ว่า นโยบายที่รัฐกำหนดขึ้นต้องให้มีการแข่งขันเสรีเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาด ตัดตอน แต่โครงการรับจำนำข้าวที่ทำกันอยู่ถือว่ารัฐตัดตอนเสียเอง เพราะแท้จริงแล้วไม่ใช่การรับจำนำ แต่เป็นการรับซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนา กลายเป็นโรงสีของรัฐเท่านั้นที่มีสิทธิได้ซื้อ แต่โรงสีเอกชนบางรายจะไม่ได้สิทธิรับซื้อ ขัดกับหลักของการรับจำนำ เพราะการจำนำคือ การเอาทรัพย์ไปประกันหนี้กับเจ้าหนี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องมีการไถ่ถอนหรือมีการต่อรอง แต่นี่กลับเป็นการตั้งโต๊ะรับซื้อทั้งหมด ถือเป็นการโกหกตั้งแต่ต้น

นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มีประเด็นอยู่ 3 มาตรา คือ 1.มาตรา 3 วรรคสอง เรื่องหลักนิติธรรม เช่น คดีที่เกิดพิพากษามาแล้ว อยู่ๆ จะยกเลิกมาพิจารณาใหม่ไม่ได้ 2.การออกกฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป จะบังคับใช้กับคนเดียวๆ หรือบางกลุ่มไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 29 และ 3.ในมาตรา 30 กำหนดไว้ว่า กฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะสถานะของบุคคล ฟันธงเลยผู้ใช้จ้างวาน ผู้โฆษณาก่อให้เกิดความผิด ถ้าจะมีการนิรโทษกรรมจะต้องไปทั้งยวง ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะยกเว้นให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ หากออกกฎหมายแล้วยกเว้นแกนนำจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เรื่องนี้หากจะวินิจฉัยไม่ยากเลย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

มาดูโซเชียลป่วน.. หาผัวให้ว่อน หวั่นโดนเก็บภาษี คนโสด !!??


ตื่นตัวสุดๆ !! หลังมีกระแสข่าว "เก็บภาษีคนโสด" ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์คไม่รอช้า ทำภาพการ์ตูนล้อเลียนสุดฮา "ต้องรีบมีผัว เพราะกลัวภาษี" มาให้ได้ฮากันกระจาย
สืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวแพร่สะพัดออกมาว่ารัฐบาลจะมีการประกาศเก็บภาษีคนโสด เพื่อลดภาระงบประมาณ การใช้สวัสดิการดูแลของภาครัฐในอนาคต ทำให้ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์ค ตื่นตัวกันยกใหญ่ โดยการทำภาพการ์ตูนล้อเลียน เช่น "ต้องรีบมีผัว เพราะกลัวภาษี" โดยล่าสุดทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกมาปฏิเสธแล้วโดย ชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น




ที่มา.ทีนิวส์

////////////////////////////////////////////////////////////////////

โพลล์ชี้ ส.ส.ทุ่มเก้าอี้เป็นพฤติกรรมแย่มาก !!??

ผลสำรวจระบุส.ส.ทุ่มเก้าอี้ในสภาฯเป็นพฤติกรรมที่แย่มากขณะเดียวกันยังเห็นว่าควรตั้งกก.สอบการทำหน้าที่ของประธานสภาด้วย

ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดโครงการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความเป็นแบบอย่างให้เด็กและเยาวชนของสมาชิกผู้ทรงเกียรติ และการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.6 ทราบข่าว ส.ส.ฝ่ายค้านทุ่มเก้าอี้แสดงความไม่พอใจการทำหน้าที่ของประธานในสภาผู้แทนราษฎร มีเพียงร้อยละ 7.4 ยังไม่ทราบข่าว

โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.5 ระบุกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ส.ส.ฝ่ายค้าน หลังมีพฤติกรรมทุ่มเก้าอี้ของ ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.0 ระบุกระทบต่อการเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของสุภาพบุรุษ สมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาผู้แทนราษฎรต่อเด็กและเยาวชน ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.1 ระบุพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่แย่มาก ถึง มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 32.9 ระบุน้อย ถึง ไม่แย่เลย โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.6 ระบุควรตั้งกรรมการสอบเอาผิดด้านจริยธรรม ความประพฤติของ ส.ส. ที่ทุ่มเก้าอี้ในสภาผู้แทนฯ

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.9 เห็นควรตั้งกรรมการสอบการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ในขณะที่ ร้อยละ 38.1 ระบุไม่ควร ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.5 คิดว่า ผู้ใหญ่ในสังคมคงปล่อยให้เกิดพฤติกรรมเสื่อมเสีย ของสมาชิกเกิดขึ้นต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 37.5 คิดว่า ผู้ใหญ่ในสังคมจะเอาจริงเอาจังแก้ไขในสิ่งผิด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

สงคราม ที่มิอาจหลีกเลี่ยง !!??

นั่งรอฟังข่าวม็อบสวนยางอยู่ซักพักใหญ่ๆ...แต่ขณะยังไม่มีอะไรคืบหน้า เลยต้องขออนุญาตเลี้ยวซ้ายออกนอกประเทศ ไปปุจฉา-วิสัชนาว่าด้วยเรื่องสถานการณ์ซีเรียต่อไปอีกซักนิด โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดีผิวสี จอมลื่นไหลอย่าง  บารัค โอบามา ท่านตัดสินใจโยนขี้ไปให้รัฐสภา คำถามในเรื่องสหรัฐจะบุกหรือไม่บุกซีเรีย จึงกลายมาเป็นคำถามยอดฮิต ที่พอจะเอามาพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกำลังรอๆ ว่าระหว่างตำรวจกับม็อบยางพารา ใครจะบุกใคร กันแน่!!!
   
เอาเป็นว่า...ไม่ว่าจะโดยรัฐสภาหรือโดยตัวประธานาธิบดีก็แล้วแต่ แต่ถ้าหากประเทศที่พยายามดำรงลักษณะความเป็น  จักรวรรดินิยม มาโดยตลอดอย่างสหรัฐ เกิดบรรลุโมกขธรรม หรือบรรลุสัมโพธิญาณใดๆ ขึ้นมาก็แล้วแต่ เกิดไม่คิดจะบุกซีเรีย หรือยืดเวลาการบุกออกไปเป็นเดือนๆ ปีๆ แล้วละก็ สิ่งที่จะปรากฏตามมาต่อความเป็นอภิมหาอำนาจสูงสุดของสหรัฐ ก็คงหนีไม่พ้นไปจาก ความเสื่อม ในสายตาของชาติพันธมิตร ไม่ว่าในแง่ใดแง่หนึ่งก็ตาม เนื่องจากความเป็นจักรวรรดินิยมใดๆ ก็แล้วแต่ มันแทบไม่ต่างอะไรไปจากการ ขี่หลังเสือ โอกาสที่จะลงจากหลังเสือโดยไม่ให้เสือขบหัว ออกจะยากลำบากเอามากๆ มีแต่ต้องห้อตะบึงไปจนทั้งเสือทั้งคนขี่หมดเรี่ยว หมดแรง โทรมลงไป ด้วยกันทั้งคู่...
     
โดยเฉพาะถ้าหากชาติพันธมิตรรายสำคัญในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย ที่ไม่เพียงแต่หวังจะให้สหรัฐบุกซีเรียเท่านั้น แต่ยังหวังให้ลุยทะลุไปถึงอิหร่าน ไปทุบโรงงานนิวเคลียร์ ไปลดอิทธิพลของพวกอิหม่ามชีอะห์ที่เป็นหอกข้างแคร่ของพวกสุหนี่และลัทธิวาฮ์ฮะบีมาโดยตลอด เกิดความรู้สึกถึง ความเสื่อม เหล่านี้ ความเป็นจักรวรรดินิยมของสหรัฐ ก็อาจต้องเจอกับภาวะแบบที่นาย ชาร์ลส์ ดับเบิลยู ฟรีเมน อดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำซาอุดีอาระเบีย และอดีตประธานสภานโยบายด้านตะวันออกกลาง (Middle East Policy Council) เคยตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ว่า... “สิ่งสำคัญที่ประเทศซาอุดีอาระเบียได้สร้างเอาไว้อย่างชนิดต้องจดจารึกเป็นประวัติศาสตร์ ก็คือการยืนหยัด ยืนกราน ที่จะซื้อขายน้ำมันของพวกเขาด้วยเงินสกุลดอลลาร์ เพราะฉะนั้นรัฐบาลของเรา จึงยังคงสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาซื้อน้ำมันได้เรื่อยๆ โดยอาศัยความได้เปรียบที่ประเทศอื่นไม่ได้มีเหมือนเรา แต่ด้วยการปรากฏตัวขึ้น มาของเงินสกุลอื่น และด้วยสัมพันธภาพอันตึงเครียด (หรือด้วยความเสื่อม) ระหว่างเรากับประเทศนี้ ซึ่งนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ...ผมกังวลว่า ในอีกไม่นานไม่ช้า พวกเขาอาจไม่คิดที่จะทำสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อประชาชน (หรือรัฐบาล) ในซาอุดีอาระเบีย ต่างร้องถามขึ้นมาว่า...ทำไมเราจะต้องใจดีกับพวกอเมริกันถึงขนาดนั้น...”
   
พูดง่ายๆ ว่า...ถ้าหากรัฐบาลซาอุฯ ที่เคยหวังจะอาศัยไหว้วานให้จิ๊กโก๋อย่างสหรัฐไปช่วยถีบใครต่อใคร เกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลสหรัฐชักใจไม่ถึง หรือไม่มีบารมีพอที่จะคุมปากซอย ท้ายซอย ได้อีกต่อไป แทนที่จะยอมเป็นมือ เป็นตีน  ให้กับอภิมหาอำนาจสูงสุดรายนี้ต่อไปเรื่อยๆ มันก็อาจก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ แบบที่นาย วิลเลียม อิงดาลห์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “A Century of War: Anglo American Oil Politic and the New World Oder” ได้เคยสรุปเอาไว้ว่า “พวกประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย) ต่างรู้สึกเต็มกลืนมานานเต็มที สำหรับการกำหนดราคาน้ำมันของตัวเองเป็นเงินสกุลดอลลาร์ และเริ่มคิดว่าหากยังมัวหวาดกลัวต่อการเผชิญหน้า การตอบโต้ แก้เผ็ด จากสหรัฐ พวกเขาก็คงต้องขาดทุนต่อไปเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่มีแต่จะอ่อนลงๆ เมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่น และเมื่อเทียบกับทองคำ...” ข่าวลือในช่วงเดือนตุลาคมปี ค.ศ.2009 ว่าด้วยกรณีที่บรรดาผู้นำของกลุ่ม ประเทศอ่าวฯ ไม่ว่าจะเป็นซาอุฯ บาห์เรน โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้จัดการประชุมอย่างลับๆ ร่วมกับรัสเซีย จีน รวมทั้งญี่ปุ่น เพื่อที่จะหารือถึงความเป็นไปได้ ในการเปลี่ยนระบบการซื้อ-ขายน้ำมันโดยใช้เงินดอลลาร์ เป็นหน่วยชำระทางบัญชี มาเป็นการใช้ระบบตะกร้าเงินกันแทนที่ มันอาจกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ย่อมได้!!!

และถ้าหากมันเป็นจริงขึ้นมาตามนั้น...นั่นย่อมทำให้อนาคตของเงินดอลลาร์สหรัฐย่อมต้องเป็นไปตามที่ผู้ปล่อยข่าวลืออย่าง นาย โรเบิร์ต ฟิกส์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษที่คลุกคลีอยู่ตะวันออกกลางมานานกว่า 30 ปี ได้จั่วหัวเอาไว้ในรายงานในหนังสือพิมพ์ ดิอินดิเพนเดนต์ นั่นแหละว่า The Demise of the Dollar หรือ อวสานของเงินดอลลาร์ และนั่นอาจทำให้เกิด ฉากสถานการณ์จำลอง อย่างที่ศาสตราจารย์  อัลเฟรด แมคคอย แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ได้วาดเอาไว้ก่อนล่วงหน้าว่า  “เงินดอลลาร์ที่เคยแพร่สะพัดไปยังซีกโลกต่างๆ จะหวนกลับมาสู่ประเทศเป็นสายๆ และด้วยค่าเงินเท่าที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดในมือชาวอเมริกันแต่ละราย จะถูกนำไปใช้เพื่อแลกมากับน้ำมันแค่ไม่กี่ลิตร และแล้วระบบเศรษฐกิจทั้งระบบของอเมริกาจึงถึงกาลอัมพาต เมื่อการทะเลาะเบาะแว้งกับชาติพันธมิตรสิ้นสุดลง พร้อมๆ กับแรงกดดันอันท่วมทับปานขุนเขา ท้ายที่สุด...กำลัง ทหารสหรัฐที่เคยกระจัดกระจายอยู่ทุกซีกโลก ก็จะต้องถอนกำลังกลับมาอย่างเงื่องหงอย และอีกไม่กี่ปีนับจากนั้น จักรวรรดิอเมริกาอันเคยมั่งคั่ง ยิ่งใหญ่ มาหลายต่อหลายศตวรรษ ก็จะตกอยู่ในภาวะล้มละลาย เข็มนาฬิกาแห่ง ศตวรรษของชาวอเมริกันเคลื่อนสู่ช่วงเวลาเที่ยงคืน...”
   
ด้วยเหตุนี้...ถ้าไม่ต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปในรูปนี้ สุดท้าย...ไม่ว่าจะโดยรัฐสภาหรือโดยตัวประธานาธิบดี อเมริกาคงหนีไม่พ้นที่จะต้องหาทางบุกซีเรียจนได้ แต่บุกแล้วมันจะทำให้สถานการณ์ของตัวเองดีขึ้น หรือเลวลง นั่นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ...มันย่อมส่งผลให้สถานการณ์ของโลกทั้งโลกมีแต่ต้องเลวร้ายตามไปด้วย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้เลย เพราะไม่เคยมี สงคราม ใดๆ ในโลกนี้ที่มันสามารถนำมาซึ่ง สันติภาพ อันมั่นคง ยั่งยืนถาวร  มีแต่ยิ่งนำมาซึ่งสงครามอันไม่รู้จักจบจักสิ้น จนทำให้คำว่าสันติภาพมีความหมายไปในทำนองที่  ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านได้ให้คำนิยามเอาไว้นั่นแหละว่า “คือสันติภาพเพื่อเตรียมการรบครั้งใหญ่ ยิ่งยืดเวลาออกไปยาวนานเพียงใด ก็ยิ่งจะมีการรบใหญ่ตามมาเบื้องหลัง...เพียงนั้น...”

 ปิดท้ายด้วยวาทะวันนี้ จาก Plato (อีกครั้ง)... “Only the dead have seen the end of war.- มีแต่คนตายเท่านั้น ที่มีโอกาสได้เห็นอวสานแห่งสงคราม...”

ที่มา.ไทยโพสต์
//////////////////////////////////////////////////////////

อนาคตของยางพารา !!??

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน ราคาสินแร่ เงิน ทองแดง อะลูมิเนียม รวมทั้งยางพาราได้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเศรษฐกิจประเทศจีนขยายตัวในอัตราเลข 2 หลักมานานหลายปี

เคยเดินทางไปมณฑลยูนนานของจีน มองลงไปจากเครื่องบินเห็นพื้นที่จำนวนมากมายกลายเป็นสวนยางพารา เนินเขาเป็นลูกๆ ปลูกกันแต่ยางพารา ที่ประเทศลาว แขวงทางเหนือตั้งแต่แขวงหลวงพระบาง หลวงน้ำทา พงสาลี ไซยะบุลี ลงมาจนถึงแขวงเวียงจันทน์ บอริคำไซย ก็เห็นสวนยางพาราเต็มไปหมด

ประเทศไทยในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมาก็นิยมปลูกยางพารากัน ทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ ยังนึกในใจว่ายางพารานั้นปลูกได้แต่ที่ภาคใต้ของไทย ที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะยางพาราต้องการภูมิอากาศที่ฝนชุก ความชื้นสูง

ที่เมืองไทยนอกจากภาคใต้ ก็มีภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง และตราด

เมื่อไปเห็นสวนยางที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่ประเทศลาว และที่ยูนนาน ประเทศจีน ก็นึกในใจอยู่แล้วว่า เมื่อต้นยางพาราที่ปลูกใหม่นี้สามารถกรีดเอาน้ำยางได้ ปริมาณน้ำยางก็คงจะล้นตลาด นึกเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา แต่คิดว่าเศรษฐกิจของจีน อินเดีย และรัสเซีย คงจะขยายตัวต่อไป ขณะเดียวกันราคาน้ำมัน ก็คงจะไม่อ่อนตัวลงเพราะถ้าราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลง ราคายางเทียมหรือยางสังเคราะห์ ก็จะอ่อนตัวด้วย ทำให้ราคายางธรรมชาติ อ่อนตัวตามลงไปตามกัน

เหตุการณ์ก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง เศรษฐกิจรัสเซียและจีนมีปัญหา สหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ยังไม่ฟื้นตัว ความต้องการซื้อยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ยางพาราก็ลดลง ราคายางพาราก็พลอยร่วงลงไปอย่างรวดเร็วด้วย

ปัญหาของสินค้าเกษตรกรรมที่เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นพืชล้มลุกอย่าง ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือพืชยืนต้น เช่น ผลไม้ต่างๆ รวมทั้งยางพารา และการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ สุกร ล้วนเป็นไปตามกฎหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์

กฎหรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่าก็คือ เมื่อราคาสินค้าประเภทนี้สูงขึ้น เกษตรกรก็หันมาปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะเห็นเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้มากขึ้น

เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ปริมาณสินค้าก็จะออกมาพร้อมๆ กัน ทำให้มีสินค้าล้นตลาด เมื่อสินค้าล้นตลาดราคาก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับเกษตรกรผู้ผลิตอย่างมาก

เมื่อราคาลดลงติดต่อกันสักพัก เกษตรกรก็ลดการปลูกหรือปริมาณสัตว์ที่เลี้ยงลง สินค้าก็จะเริ่มขาดตลาดราคาก็จะเริ่มสูงขึ้นหรือเกิดกรณีที่เศรษฐกิจของภูมิภาคหรือของโลกฟื้นตัวขึ้น ความต้องการสินค้าก็เริ่มสูงขึ้น ราคาก็ถีบตัวสูงขึ้น

แต่เศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจของโลกก็มีวัฏจักร เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเฟื่องฟูขึ้น การลงทุนก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ตลาดอิ่มตัว การลงทุนมากเกินตัว เศรษฐกิจก็ชะลอตัวแล้วก็กลายเป็นเศรษฐกิจขาลง

ดังนั้น วัฏจักรทางด้านการผลิต วัฏจักรทางด้านความต้องการของตลาด จึงเป็นปัจจัยสำคัญทั้ง 2 ด้าน ที่ทำให้ราคามีขึ้นมีลงเป็นวัฏจักร สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรผู้ผลิตอยู่เป็นประจำ เป็นปรากฏการณ์ที่เราจะพบเห็นอยู่เสมอถ้าเราสังเกต

ยางพาราก็เป็นพืชที่ไม่พ้นไปจากกฎทางเศรษฐศาสตร์เช่นว่านี้ เราเคยเห็นราคายางตกต่ำมาแล้วหลายรอบในช่วง 20 ปีมานี้ ราคายางพาราตกต่ำจนประเทศมาเลเซียสนับสนุนให้เกษตรกรของเราเปลี่ยนสวนยางมาเป็นสวนปาล์มน้ำมันแทน ไทยเราก็ทำบ้างบางส่วน

สำหรับสินค้าเกษตรอย่างอื่น เกษตรกรอาจจะปรับตัวได้ง่าย เช่น สุกร ไก่ วัฏจักรราคาอาจจะไม่ยาว 2-3 ปีมีครั้งหนึ่งเพราะการเพิ่มการผลิตทำได้เร็ว สำหรับไก่ก็ไม่กี่เดือน สำหรับสุกรก็ไม่นาน แต่สำหรับไม้ยืนต้นอาจจะนาน

ยางพาราตั้งแต่เริ่มปลูกจนสามารถกรีดเอาน้ำยางต้องใช้เวลาถึง 6 ปี เมื่อต้นยางโตพอที่จะกรีดน้ำยางได้ก็พอดีถึงวัฏจักรราคา อยู่ในช่วงขาลงพอดี การปรับตัวก็อาจจะทำได้ยากเพราะเกษตรกรได้ลงทุนมาแล้วเป็นเวลานาน

กิจการสวนยางเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เมื่อปลูกจนโตแล้วก็ต้องใช้แรงงานกรีดยาง ลำพังตัวเกษตรกรเองไม่สามารถจะกรีดยางในสวนของตนได้หมด อีกทั้งบุตรหลานที่มีการศึกษาสูงๆ ก็ไม่นิยมกลับบ้านไปกรีดยาง ดังนั้น การกรีดยางจึงต้องอาศัยแรงงานจากภายนอก และวิธีจ้างก็ไม่มีอะไรดีกว่าการแบ่งผลผลิตกัน เช่น 60-40 หรือ 50-50 แทนที่จะจ้างด้วยการออกค่าจ้าง เช่น การจ้างเกี่ยวข้าว หรือหักข้าวโพด

การปรับตัวต่อราคาจึงมีเพียงจะกรีดยางมากหรือน้อยเท่านั้นในระยะแรก เมื่อเศรษฐกิจภาคใต้เจริญขึ้น แรงงานที่เข้ามากรีดยางก็มักจะเป็นแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเจริญขึ้น แรงงานจากภาคอีสานมีน้อยลง แรงงานจากประเทศพม่าและอินโดนีเซียก็มาแทนที่

ขณะนี้แรงงานในภาคอีสานและภาคเหนือก็กลับไปปลูกยางพาราที่บ้าน เมื่อต้นยางโตพอจะกรีดได้ก็คงมีปัญหาอย่างเดียวกัน จะหาแรงงานจากที่ไหนมากรีด ถ้าราคายางพาราอยู่ในระดับเกินกว่า 100 บาท รายได้จากการรับจ้างกรีดก็คงจะพอเป็นแรงจูงใจให้มีคนทำ แต่ถ้าราคายางพาราในตลาดโลกตกต่ำลงมาอยู่ในระดับ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ปัญหาก็คงจะเกิดขึ้นทันที

สวนยางที่ประเทศลาวจำนวนมากก็ไม่มีแรงงานเพียงพอที่จะกรีด คงต้องใช้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำการกรีดเช่นเดียวกับประเทศไทย

การกรีดยางก็ไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ ยังต้องใช้คนเดินกรีด และเดินเก็บน้ำยางไปทีละต้น ไม่เหมือนการปลูกข้าว ข้าวโพดและมันสำปะหลังรวมทั้งถั่วเหลือง ที่สามารถใช้เครื่องจักรมาแทนแรงงานได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าประเทศไทยของเรา ซึ่งเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานแล้วในขณะนี้ มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในภาคเศรษฐกิจใช้แรงงานมาก ในอนาคตจะทำอย่างไร

ถ้าพม่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศหลังจากที่ได้เปิดประเทศ และแรงงานจากพม่ากลับบ้าน ไปทำงานที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว เราจะยังสามารถรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานมากๆ เช่น การทำสวนยางไว้ได้หรือไม่ หรือถ้าพม่าเริ่มปลูกยางพาราบ้างเช่นเดียวกับ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชาและจีน ทำและดูดแรงงานไว้ที่บ้านเขา เราจะทำอย่างไร

สถานการณ์ที่ว่าจะมีทั้งวัฏจักรราคา อันเกิดจากการขึ้นลงของเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก การเพิ่มขึ้นของค่าแรงงานในประเทศ ในขณะที่ระยะยาวราคาที่แท้จริงของสินค้าเกษตร กล่าวคือราคาของสินค้าปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อไม่เพิ่มแต่กลับตกลง รวมทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นในระยะยาว อนาคตของยางพาราซึ่งเป็นต้นไม้ยืนต้น มีวัฏจักรปรับตัวจากปริมาณน้อยหรือช้ากว่าสินค้าอื่นๆ น่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน

เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้นในปี 2558 ที่จะมีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรหลายๆ อย่าง สินค้าทุกอย่างถ้าจะไปรอดคงต้องปล่อยให้การผลิต การส่งออกและราคาเป็นไปตามกลไกตลาด รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงคงต้องใช้งบประมาณมากและอาจจะไม่ได้ผลอย่างที่เห็นอยู่ ควรจะคิดล่วงหน้าเอาไว้ เพราะปัญหานี้คงจะเกิดขึ้นแน่ในอนาคต

ยางพาราก็เป็นสินค้าอีกตัวที่จะเป็นปัญหา


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

เด็กกู้ต้องอ่าน. มหากาพย์ชักดาบเงินกู้กยศ. หมดเวลาสนุกแล้วสิ !!??



ไม่ใช่เพิ่งลุกขึ้นมาตีปี๊ปเรื่องเงินกู้ยืมเรียน แต่กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ทำมาตลอดหลายปีแล้ว แต่ปีหลังๆ มานี้ เริ่มถังแตก เพราะเบี้ยวหนี้อื้อ ล่าสุดพบเบี้ยวสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จนต้องคลอดแนวทางเอาจริง หากค้างจ่ายหนี้ 5 ปี จะส่งชื่อเข้าเครดิตบูโร และไม่สามารถทำธุรกรรมทางเงินกับสถาบันการเงินใดๆ ได้เลย
     
       มหากาพย์ชักดาบเงินกู้กยศ. ที่ยืดเยื้อมานาน คงจะหมดเวลาสนุกแล้วสิ..
     
        ปล่อยจนเสียนิสัย ถึงเวลาเอาจริง!
     
        คงจะสุดๆ เต็มทีแล้ว กับกรณีบัณฑิตเบี้ยวหนี้ที่กลายเป็นมหากาพย์กยศ. ต้องตามทวง และโชว์ยอดเบี้ยวหนี้กันทุกปี ยิ่งพอมาดูยอดหนี้ล่าสุดที่ทาง กยศ. เปิดให้ดู ก็ยิ่งพบความน่าตกใจ เพราะมียอดค้างกว่า 1.485 ล้านราย เป็นวงเงินกู้ 136,237 ล้านบาท จากจำนวนผู้กู้ทั้งหมด 2.15 ล้านราย วงเงินกู้ 194,711 ล้านบาท ถือเป็นยอดเบี้ยวหนี้เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมาก
     
        ด้วยเหตุนี้ ทำให้ กยศ. ค่อยๆ ถังแตก และอาจต้องประสบกับปัญหาสภาพคล่องในอนาคต เพราะบัณฑิตที่กู้ยืมเงิน ไม่ผ่อนชำระคืน ในขณะที่ กยศ. ต้องปล่อยกู้ให้แก่นักเรียนและนักศึกษารายเก่าจนกว่าสำเร็จการศึกษา ส่วนนักศึกษาใหม่ที่จะได้ก็จะมีจำนวนรายลดน้อยไปด้วยเพราะ กยศ.ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะปล่อยกู้ให้แก่ผู้กู้ได้ครบทุกราย
     
        ล่าสุด หากใครได้ติดตามข่าว หลังๆ มานี้มีการกระพือข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมาก สุดท้ายก็คลอดแนวทางออกมาแก้ปัญหาอย่างเอาจริง เห็นได้จากมติบอร์ด กยศ.ล่าสุด (27 ส.ค.2556) โดยมีอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สั่งแก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัด โดยมีแนวทางสรุปง่าย ๆ ดังนี้
     
        - กรณีที่ผู้กู้ที่ไม่เคยมีประวัติติดหนี้ค้างชำระเลย หากนำเงินมาชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมด หรือปิดบัญชี จะได้รับส่วนลดพิเศษ 3.5% จากยอดเงินคงเหลือ
     
        - กรณีที่ ผู้กู้มีหนี้ค้างชำระ นำเงินมาชำระหนี้ทั้งหมด หรือปิดบัญชี จะได้รับการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยปรับลง 50% ซึ่งปัจจุบัน กยศ.คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ปกติ แต่หากเป็นผู้หนี้ผิดนัดชำระหนี้ เกิน 12 เดือนจะคิดเบี้ยปรับ 18% ต่อปี
     
        - กรณีที่ผู้กู้มีเงินไม่เพียงพอ แต่ขอกลับมาเป็นลูกหนี้ที่ดี กยศ.จะงดคิดอัตราดอกเบี้ยปรับตั้งแต่งวดที่ค้างชำระหนี้ เช่น ในปีนี้ ครบกำหนดชำระหนี้ วันที่ 5 ก.ค.จนถึงปัจจุบัน ค้างชำระหนี้มาเป็นระยะเวลา 1 เดือน ก็จะไม่ถูกเรียกเบี้ยปรับในอัตราดอกเบี้ย 12% กรณีค้างไม่เกิน 12 เดือน ส่วนกรณีที่ค้างเกินกว่า 12 เดือนจะเสียดอกเบี้ยขึ้นเป็น 18% สำหรับมาตรการนี้ จะเปิดให้ผู้กู้สมัครใจเข้าแก้ไขหนี้กับ กยศ.ตั้งแต่เดือนพ.ย.นี้ จนถึงเดือน มี.ค.ปี 57
     
        ส่วนการขึ้นบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์กับเครดิตบูโรนั้น ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ หากผู้กู้ไม่ชำระหนี้เกิน 5 ปี ถึงจะขึ้นแบล็กลิสต์ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่เข้มงวด เพราะผู้กู้จะไม่สามารถทำธุรกรรมทางเงินกับสถาบันการเงินใดๆ ได้
     
        "ผู้กู้เงินจาก กยศ.ต้องมาติดต่อ กยศ.ระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงมีนาคมปีหน้า จึงจะได้รับเงื่อนไขตามที่ประกาศ ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ กยศ.สามารถจัดการกับปัญหาหนี้คงค้างได้ในคราวเดียว เพื่อความชัดเจนด้านฐานะทางการเงิน และลดภาระการติดตามทวงหนี้ เพื่อจะได้เดินหน้ากับเกณฑ์ใหม่ ที่อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เพื่อการจัดส่งรายชื่อของผู้กู้เงินจาก กยศ.ไปให้เครดิตบูโร ในกรณีที่ไม่ชำระหนี้ กยศ.ใน 5 ปี หลังครบกำหนด จะถูกประกาศรายชื่อในเครดิตบูโร ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในปีการศึกษาหน้า" นายอารีพงศ์กล่าว
     
        ชักดาบเงินกู้! สะท้อนอะไรในตัวบัณฑิตไทย
     
        ลึงลงไปถึงปัญหาเงินกู้ยืมเรียน แล้วไม่ชำระหนี้คืน กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ บัณฑิตหลายคนจบออกไปแล้วไม่ใช้เงินคืน บางคนเข้าไปผ่อนผันเพราะยังไม่มีงานทำ หรือบางคนมีงานทำแล้ว แต่ชำระหนี้คืนมาบางส่วน ซึ่งตรงนี้อาจพอรับได้
     
        แต่ในกรณีที่ชักดาบหนีหนี้ เพราะคิดว่า "ไม่ใช้คืนก็ไม่เป็นไร" ดูจะเห็นแก่ตัวเกินไป ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางคนนำเงินไปซื้อสิ่งของหรือนำไปใช้อย่างอื่นแทนที่จะนำเงินมาชำระหนี้คืน เกิดเป็นวัฒนธรรมชักดาบจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่คิดถึงบุญคุณเงินกู้ยืมเรียนที่ช่วยส่งเสียให้เรียนจนจบ ทำให้รุ่นน้องหลาย ๆ คนเสียโอกาสในการกู้เงินเรียน เนื่องจากทางกองทุนฯ ค่อยๆ ประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้น
     
        ก่อนหน้านี้ เคยมีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายต่อหลายท่านด้วยกัน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมและความรับผิดชอบของเด็กไทย ซึ่งไม่เพียงแต่การเลี้ยงดูจากครอบครัวเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากบริบททางสังคมด้วย
     
        ยกตัวอย่างความเห็นของ ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพรฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนักวิชาการท่านนี้มองว่า ทุกวันนี้จะเห็นโพลต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แม้จะมีเปอร์เซ็นต์สูง แต่คนในสังคมไทยกลับรู้สึกว่า มันปกติ รู้สึกเฉยๆ ไม่มีใครเดือดร้อน จึงไม่แปลกที่เด็กกู้เงินเรียนแล้วมีความรู้สึกว่า คืนหรือไม่คืนก็ไม่เป็นอะไร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมของการยอมรับได้ในสังคม
     
        ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวนนโยบาย ในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องทบทวนหลักสูตร และผลิตบัณฑิตไม่ให้มีเชื้อโกงอย่างที่ ผศ.ดร.วิรัช อยากเห็นมหาวิทยาลัยมีความพยายามที่จะสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปในระบบการเรียนการสอนให้มากขึ้น เช่นเดียวกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สถาบันต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ควรผลิตคนประเภทนี้ออกไปสู่สังคม
     
        รุกแก้ปัญหาเด็กจนเข้าไม่ถึงทุน
     
        อีกหนึ่งปัญหาที่หากเจาะลึงลงไป นอกจากการเบี้ยวหนี้เงินกู้ยืมเรียนแล้ว คือคนจนจริง ๆ มักไม่มีโอกาสเข้าถึงทุน ส่วนหนึ่งมาจากบางคนไม่ค่อยเปิดเผยตัว เพราะอายเพื่อน ส่วนอีกกลุ่มก็ถูกเอาเปรียบจากเด็กที่ไม่ได้จนจริง แต่รู้ช่องทางการขอทุนต่างๆ เพื่อเอาเปรียบเด็กด้อยโอกาส
     
        เรื่องนี้ สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านสังคม เคยออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมา และวอนขอให้ผู้เกี่ยวข้องต้องเป็นฝ่ายรุก และหาโอกาสเข้าถึงและช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะครูที่ปรึกษา ครูแนะแนว และพ่อแม่ผู้ปกครองที่รู้ปัญหาดี ควรเป็นฝ่ายรุกแก้ปัญหา ไม่ใช่มัวแต่ตั้งรับปัญหา
     
        นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส ช่วงรอยต่อระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอุดมศึกษา อาจจะให้ทุนเรียนอย่างต่อเนื่อง หรือให้กู้ยืมโดยปลอดดอกเบี้ย ให้ครูประจำชั้นและครูแนะแนวเป็นผู้บริหารกองทุนนี้ เนื่องจากจะรู้ปัญหาของเด็กแต่ละคนว่ายากจนแค่ไหน มีอุปสรรคในการศึกษาต่อหรือไม่
     
        นี่คือสิ่งที่นักวิชาการท่านนี้เคยฝากเอาไว้ด้วยความห่วงใย เพราะการลงทุนสำหรับการศึกษาในยุคสมัยนี้ มีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่พยายามจะหาแต่กำไรจากเด็ก อาจทำให้เด็กต้องไปหาไซด์ไลน์ ทำงานพิเศษ โดยเฉพาะงานที่ไม่พึงประสงค์และเสี่ยงต่อการขายบริการทางเพศ หรือบางคนก็อาจจะสอบได้แล้วไม่ได้เรียนต่อ หรือไม่ก็ต้องอยู่ในภาวะซึมเศร้าจนต้องก่อเหตุร้ายแรงในอนาคต อย่างกรณีข่าวอันน่าสลดใจที่หากใครยังจำกันได้ นักเรียนสาว ม.6 พ่อแม่ยากจนแต่สอบติด ม.ศิลปากร ต้องผูกคอตายประชดชีวิตเพราะไม่มีเงินไปลงทะเบียนเรียน
     
        มองตัวเองก่อนโทษระบบ
     
        อย่างไรก็ดี ปัญหาบัณฑิตเบี้ยวหนี้ ไม่ยอมมาชำระเงินคืนเมื่อถึงกำหนด แม้จะมีลูกหนี้หลายคนออกมาบอกว่า ไม่มีเจตนาโกง แต่ผิดที่ระบบที่ทางกยศ.ไม่ได้แจ้งชำระคืนให้ชัดเจน เรื่องนี้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ได้สอบถามไปยังลูกหนี้ที่ไม่เคยเบี้ยวหนี้เงินกู้ยืมเรียนเลยอย่าง ผุสราภรณ์ ทิมวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้คำตอบว่า มหาวิทยาลัยมีการแจ้งรายละเอียดทั้งหมดอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการชำระหนี้ที่จะมีการปลอดหนี้ 2 ปี หลังจากจบการศึกษา และจะเริ่มชำระหนี้ในปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี แต่ถ้ายังไม่มีรายได้สามารถขอผ่อนผันชำระหนี้ได้
     
        "คนที่พูดว่า ไม่ได้แจ้งรายละเอียดการชำระหนี้ แสดงว่าไม่ได้ใส่ใจฟังตั้งแต่ต้น เพราะตอนกู้ใหม่ๆ ก็จะมีการชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร พอจบมาแล้วก็จะมีจดหมายส่งมาถึงบ้านว่าจะต้องจ่ายปีละเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร เป็นเวลานานกี่ปี ซึ่งบางทีก็ต้องมีสำนึกด้วยตัวเอง ติดตามข่าวสารอยู่ตลอด โตๆ กันแล้ว บรรลุนิติภาวะกันแล้ว อยากให้มีสำนึกกันค่ะ เพราะจบและมีงานทำได้ก็เพราะบุญคุณจากเงินกู้ยืมเรียน" ผุสราภรณ์ชี้แจงพร้อมกับฝากถึงลูกหนี้ทุกท่านให้นึกถึงบุญคุณของเงินกู้ยืมเรียน
     
        ด้าน พนักงานอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง ยอมรับว่า ไม่เคยชำระหนี้เงินกู้ยืมเรียนเลย แม้จะมีจดหมายส่งมาที่บ้านก็ตาม แต่ก็ให้เหตุผลว่า ลำพังชีวิตทุกวันนี้มีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเจียดเงินมาชำระหนี้ได้ ส่วนตัวไม่ได้คิดจะเบี้ยว หรือชักดาบหนี แต่มีปัญหาเรื่องเงินจริงๆ หลังจากนี้จะพยายามเก็บเงิน และค่อยๆ ทยอยชำระหนี้ให้ครบ เพื่อน้องๆ รุ่นต่อไปจะได้มีกองทุนให้กู้ยืมเรียน
     
        ปัจจุบัน นอกจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้ว ยังมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ด้วย โดยจะให้กู้ยืมค่าเล่าเรียนแก่นักศึกษาระดับ ปวส.ทุกสาขา ส่วนระดับปริญญาตรี เรียนในหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนจำนวน 90 กลุ่มสาขาวิชา หรือ 1,313 หลักสูตร/สาขาวิชา หากผู้กู้ยืมมีฐานะยากจนมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ก็สามารถขอกู้ยืมค่าครองชีพเพิ่มเติมจากค่าเล่าเรียนได้
     
        ส่วนการชำระหนี้นั้น จะต้องชำระหลังจากจบการศึกษา และเมื่อมีรายได้ถึง 16,000 บาทต่อเดือน ต้องผ่อนจ่ายชำระคืนกองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ภายในระยะเวลา 15 ปี โดยต้องรายงาน สถานะรายได้ต่อกองทุนฯ ในเดือนมีนาคมของทุกปี
     
        วางแผนชำระหนี้ง่ายๆ คุณทำได้
     
        ท้ายนี้ คงต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ไม่มีชำระหนี้เงินกู้ยืมเรียน มาจากทัศนคติด้านการเงิน และไม่มีการวางแผนการชำระหนี้ กยศ. อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจในการชำระหนี้ แล้วมักจะนำเงินก้อนมาชำระหนี้หรือไม่ก็เบี้ยวหนี้ ทำเฉยๆ ไป ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกและเป็นการชี้ให้เห็นว่าคนที่กระทำแบบนี้ไม่มีความรู้ทางการเงิน และจะหลงไปติดกับดักหนี้สินอื่นๆ
     
        สำหรับการวางแผนชำระหนี้ โสภณ มหาเจริญ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้สร้างเพจ "คุยหนี้ กยศ.กับ อ.โส" ได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าปีนี้ต้องชำระหนี้ กยศ. ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 30,000 บาท จะต้องเก็บเงินไว้วันละ 100 บาทจนครบ 1 ปี แต่สำหรับคนที่ไม่มีแผน เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ต้องจ่ายแล้วหาเงินไม่ทัน ปัญหาที่ตามมาคือ เบี้ยวหนี้ เมื่อเบี้ยวหนี้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็จะแพงขึ้น
     
       ดังนั้น การวางแผนชำระหนี้คือสิ่งสำคัญ หากใครยังไม่รู้ หรือไม่เคยรู้เลยว่า ยอดเงินที่ต้องผ่อนชำระหนี้มีจำนวนเท่าไร เข้าไปใช้ตารางคำนวณยอดเงินที่ต้องผ่อนชำระหนี้ได้ที่ www.studentloan.or.th โดยใส่จำนวนเงินกู้ยืมที่ช่องบนของตาราง หากไม่ทราบ โทรสอบถามได้ที่ Help Desk ธนาคารกรุงไทย ที่เบอร์ 0 2208 8699 หรือ ตรวจสอบยอดเงินกู้ได้จากเครื่อง ATM ธนาคารกรุงไทย จากนั้นเลือกจำนวนปีที่ต้องการผ่อนชำระ และระบุปี พ.ศ. ที่จบการศึกษาแล้วเลือกทำการคำนวณ
 
.....................................................................  
     
        ข้อมูลประกอบข่าว
     
        4 ช่องทางสะดวก ชำระหนี้ กยศ.
     
        1. ชำระหน้าเค้าน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา
     
        2. ชำระที่เครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ ADM/ATM
     
        3. ชำระทาง KTB ONLINE หรือชำระทาง KTB ONLINE @ MOBILE
     
        4. หักบัญชีอัตโนมัติจากบัญชีออมทรัพย์ของผู้กู้ โดยนำเงินเข้าบัญชีก่อนวันที่ 5 กรกฎาคม และไม่ต้องนำเงินไปชำระที่เค้าน์เตอร์อีก เพราะจะเป็นการชำระหนี้ซ้ำ

ที่มา.ผู้จัดการออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////