--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โพลล์สำรวจ ประชาชนไม่เข้าใจโครงสร้างราคาน้ำมัน !!??

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นกับเกี่ยวกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประชาชน โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,238 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 2 กรกฎาคม 2556 ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,099 กลุ่มตัวอย่าง

นายสิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ดำเนินการสำรวจโครงการสำรวจความคิดเห็นกับเกี่ยวกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประชาชน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการถกเถียงกันในเรื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในประเทศไทยมีราคาแพงกว่าประเทศอื่นๆ จากข่าวที่ทางบลูมเบิร์กได้เปิดเผยผลการจัดอันดับประเทศที่มีราคาน้ำมันแพงที่สุดในโลกประจำปี 2556 จากทั้งหมด 60 ประเทศ  "ประเทศไทย" ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 47 มีราคาน้ำมันอยู่ที่ 4.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อแกลลอน คิดแล้วก็ตกลิตรละประมาณ 34 บาท เปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน "สิงคโปร์" น้ำมันตกลิตรละ 50 บาท "ฟิลิปปินส์" ค่าน้ำมันลิตรละ 38.50 บาท แต่"มาเลเซีย" ค่าน้ำมันลิตรละ 19 บาท

หากจะศึกษาข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน ได้มีการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างละเอียดในแต่ละวัน ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซด์ http://www.eppo.go.th/retail_prices.html ทำให้เห็นว่าในน้ำมันหนึ่งลิตรมีการจัดเก็บภาษีอยู่ 3 ส่วนซึ่งมีภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการเก็บเงินเข้ากองทุน 2 กองทุนซึ่งมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงาน และค่าการตลาดของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน ยังไม่รวมถึงการจัดเก็บภาษีและการเก็บเงินเข้ากองทุนที่มีความไม่เท่ากันในแต่ละชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิง

ยกตัวอย่าง
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ 95 ที่สถานีบริการน้ำมันของวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ราคา 38.83 บาท
ราคาน้ำมันแก็สโซฮอล์ 95 ที่โรงกลั่นน้ำมันขาย(ราคา ณ โรงกลั่น) 23.75 บาท คิดเป็นร้อยละ 61.14
มีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นจำนวน 6.30 บาท คิดเป็นร้อยละ 16.22
มีการเรียกเก็บภาษีเทศบาล(ภาษีท้องถิ่นเพื่อบำรุงท้องที่ที่โรงกลั่นตั้งอยู่)เป็นจำนวน 00.63 บาท คิดเป็นร้อยละ 1.62
มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(มีการจัดเก็บก่อนและหลังค่าการตลาดของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน)เป็นจำนวน 2.54 บาท คิดเป็นร้อยละ 6.54
มีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นจำนวน 3.50 บาท คิดเป็นร้อยละ 9.01
มีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงานเป็นจำนวน 0.25 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.64
มีการเรียกเก็บเงินค่าการตลาดของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเป็นจำนวน 1.86 บาท คิดเป็นร้อยละ 4.79
เท่ากับว่าในน้ำมันเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ 95  1 ลิตร ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บเงินภาษี เงินเข้ากองทุน และค่าการตลาด เป็นจำนวน 15.08 บาท คิดเป็นร้อยละ 38.83

จากผลการสำรวจทำให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงรายละเอียดของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายในสถานีบริการน้ำมันว่ามีการการเรียกเก็บเงินภาษี เงินเข้ากองทุน และค่าการตลาด โดยอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจว่าทำไมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายในสถานีบริการน้ำมันในประเทศไทยถึงมีราคาแตกต่างกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายในสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศ

ทั้งนี้ รายละเอียดของโครงการสำรวจความคิดเห็นกับเกี่ยวกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประชาชน มีดังนี้
1. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ที่ขายในสถานีบริการน้ำมัน รวมภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทราบ ร้อยละ 61.9
ไม่ทราบ ร้อยละ 21.6
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 16.5

2. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ที่ขายในสถานีบริการน้ำมัน รวมการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงาน
ทราบ ร้อยละ 29.2
ไม่ทราบ ร้อยละ 54.8
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 16.0

3. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ที่ขายในสถานีบริการน้ำมัน รวมค่าการตลาดของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน
ทราบ ร้อยละ 34.9
ไม่ทราบ ร้อยละ 52.9
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 12.2

4. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95  ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นจำนวน 6.30 บาท
ทราบ ร้อยละ 14.2
ไม่ทราบ ร้อยละ 61.5
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 24.3

5. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บภาษีเทศบาล(ภาษีท้องถิ่นเพื่อบำรุงท้องที่ที่โรงกลั่นตั้งอยู่)เป็นจำนวน 00.63 บาท
ทราบ ร้อยละ 15.9
ไม่ทราบ ร้อยละ 69.5
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 14.5

6. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวน 2.54 บาท
ทราบ ร้อยละ 9.7
ไม่ทราบ ร้อยละ 57.9
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 32.4

7. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นจำนวน 3.50 บาท
ทราบ ร้อยละ 2.7
ไม่ทราบ ร้อยละ 67.3
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 30.0

8. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงานเป็นจำนวน 0.25 บาท
ทราบ ร้อยละ 4.7
ไม่ทราบ ร้อยละ 67.7
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 27.6

9. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บเงินค่าการตลาดของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเป็นจำนวน 1.86 บาท
ทราบ ร้อยละ 6.5
ไม่ทราบ ร้อยละ 73.0
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 20.5

10. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บเงินภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นจำนวน 9.47 บาท
ทราบ ร้อยละ 2.0
ไม่ทราบ ร้อยละ 74.8
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 23.2

11. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงาน เป็นจำนวน 3.75 บาท
ทราบ ร้อยละ 1.7
ไม่ทราบ ร้อยละ 77.7
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 20.6

12. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95  ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บเงินภาษีและกองทุนรวมเป็นจำนวน 13.22 บาท
ทราบ ร้อยละ 2.9
ไม่ทราบ ร้อยละ 76.4
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 20.7

13. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ราคา 38.83 บาทจะมีการเรียกเก็บเงินภาษี เงินเข้ากองทุน และค่าการตลาด เป็นจำนวน 15.07 บาท
ทราบ ร้อยละ 2.4
ไม่ทราบ ร้อยละ 75.9
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.7

14. ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอล์ 95 ราคา 38.83 บาท หากราคาน้ำมันไม่รวมภาษี เงินเข้ากองทุน และค่าการตลาด ราคาน้ำมันแก็สโซฮอล์ 95 จะเหลือเพียง 23.75 บาท
ทราบ ร้อยละ 5.6
ไม่ทราบ ร้อยละ 77.3
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.1

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
//////////////////////////////////////////////////////

รัฐบาลปัดโลเล ราคาจำนำข้าว !!?

รัฐบาลปัดข่าวกลับลำราคาจำนำข้าวเป็น 15,000บาท/ตันตามเดิม เพราะกลัวฐานเสียงตก ยัน "นิวัฒน์ธำรง" ไม่ใช่แพะ

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกลับมาใช้ราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาทเท่าเดิมนั้น เพราะรัฐบาลเห็นว่าในขณะนี้ยังสามารถทำได้ หลังจากที่ได้มีการพูดคุยเพื่อหามติกันแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย และจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุด หากจะถูกมองว่ารัฐบาลทำเพื่อกู้คืนฐานเสียงก็สุดแล้วแต่ เพราะรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนั้น แต่ทุกวันนี้มองเพียงว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

"ขอยืนยันว่าการปรับขึ้นลงของราคารับจำนำข้าวไม่ได้เกิดจากความโลเลใจของรัฐบาล ทุกอย่างที่รัฐบาลกระทำย่อมมีเหตุมีผลเสมอ ซึ่งเราได้กำหนดวันสิ้นสุดในการรับจำนำถึงวันที่ 15 ก.ย.และส่วนของภาคใต้สิ้นสุด 30 พ.ย.56 หลังจากนี้ต้องมาดูอีกว่าจะมีทิศทางของโครงการรับจำนำข้าวอย่างไร จะคงราคาเดิมไว้หรือปรับลดอย่างไร ต้องรอดูราคาข้าวในตลาดโลก การผันผวนของค่าเงินบาท และวินัยทางการคลังอีกครั้งหนึ่ง"

อย่างไรก็ตาม การที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ แทนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ก็ไม่ได้เข้ามาเป็นเพียงแพะตัวใหม่ให้นายกรัฐมนตรีได้ลอยตัวเหมือนเดิม และเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับโครงการรับจำนำข้าวให้ดูดีตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา

"ท่านเข้ามาทำงานไม่ได้มาเป็นแพะ ท่านเพิ่งจะเริ่มงานได้วัน 2 วัน อย่าเพิ่งมาตัดสิน ภาพลักษณ์โครงการนี้ดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น และยังคงดีอยู่ ไม่จำเป็นที่จะต้องมาสร้างภาพลักษณ์อะไรมากมาย แค่เพียงกู้ภาพลักษณ์ที่ดีคืนจากพวกที่โจมตีและแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการนี้เท่านั้น"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปมชนวน ปลด เฉลิม อยู่บำรุง !!?

เปิด 5 ปมชนวนปลด "เฉลิม" สัญญาณเตือนจาก "คนแดนไกล" สะท้อนธาตุแท้การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

แม้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะไม่ได้ถูกปรับพ้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเลยเหมือนกับอดีตรัฐมนตรีอีกสิบกว่าคน เพราะยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงแรงงาน รองรับอยู่ แต่ผลสะเทือนจากการเปลี่ยนตำแหน่ง "รองนายกฯคุมตำรวจ" ของเขา ไปเป็น "รัฐมนตรีจับกัง" ดูจะเขย่ารัฐนาวายิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสมือนหนึ่งกลายเป็นศัตรูกันไปแล้วจริงๆ

ถ้อยคำผรุสวาทที่ส่งถึงรัฐบาล โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ข้าราชการสายตรง คนแดนไกล คือเครื่องยืนยันที่ดี ทั้งยังสะท้อนภาพการบริหารราชการและบริหารงานบุคคลของผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลได้แจ่มแจ๋วชัดเจนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ชนวนเหตุที่ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ถูกปลดพ้นเก้าอี้ "รองนายกฯคุมตำรวจ" ซึ่งเป็นตำแหน่งในฝันของอดีตสารวัตรกองปราบ เพราะมีอำนาจบารมียิ่งกว่า ผบ.ตร.เสียอีกนั้น ย่อมไม่ใช่แค่เรื่องถูก พ.ต.อ.ทวี โทรศัพท์ฟ้อง "คนแดนไกล" เรื่องพฤติกรรมส่วนตัวตามที่อ้างเป็นแน่

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ร.ต.อ.เฉลิม ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ วางตัวไว้ให้เป็นกันชนของรัฐบาลในสภา โดยเฉพาะการปกป้องน้องสาวสุดที่รัก คือ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นการตอบแทนทางการเมืองที่ ร.ต.อ.เฉลิม ร่วมลุยหาเสียงอย่างหนักกับพรรคเพื่อไทยไปในตัวด้วย ซึ่งเจ้าตัวเป็นนักปราศรัยที่เรียกเสียงเฮจากแฟนคลับได้มาก โดยเฉพาะภาคอีสาน

แม้เจ้าตัวจะพลาดหวังที่ไม่ได้หวนกลับไปนั่งเก้าอี้ มท.1 หรือ รมว.มหาดไทย อันเป็นยอดปรารถนาอีกคำรบ แต่การได้เป็น "รองนายกฯคุมตำรวจ" ก็เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งในฝัน เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นอดีตตำรวจกองปราบ การที่ "ร้อยตำรวจเอก" กลายเป็นผู้บังคับบัญชาของ "พลตำรวจเอก" ย่อมต้องมีอาการครึ้มอกครึ้มใจอยู่ไม่มากก็น้อย

ช่วงแรกๆ ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และนายกฯยิ่งลักษณ์พอใจผลงาน "องครักษ์พิทักษ์นายกฯ" ในสภา โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ระดับเขี้ยวลากดินอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ต้องถือว่าเป็นคู่ต่อสู้ที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน

ทว่าในอีกด้านหนึ่งคือการประเมินผลงานการบริหารในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเจ้าตัวจำใจเข้าไปรับผิดชอบภายหลัง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ถูกปลดพ้นเก้าอี้รองนายกฯไปในการปรับ ครม.เมื่อปลายปีที่แล้ว ปรากฏว่าผลประเมินที่ทางพรรคทำส่งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับสอบตกหลายเรื่อง

เมื่อพิจารณาจากผลประเมินพบว่า ประเด็นที่กลายเป็นชนวนเหตุให้ต้องปรับ ร.ต.อ.เฉลิม ออกจากเก้าอี้รองนายกฯมีหลายประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ

1.ล้มเหลวในงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะกรณีการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แกนนำในพรรคเพื่อไทยมองว่า ร.ต.อ.เฉลิม มีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบชัดเจนแต่กลับไม่ทำ พยายามชักเข้าชักออก โดยเฉพาะการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังลงไปน้อยกว่านายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ กระทั่งไม่ได้รับการยอมรับจากทีมงาน และไม่มีใครฟังคำสั่ง ร.ต.อ.เฉลิม

2.เมื่อคีย์แมนหลักในภารกิจดับไฟใต้ไม่ฟังคำสั่ง โดยเฉพาะเรื่องเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ต้องสร้าง "อาณาจักรส่วนตัว" ขึ้นมา ด้วยการดึงคนใกล้ชิดหลายๆ คนเข้าไปมีตำแหน่งแห่งหนใน "ศปก.กปต." หรือศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตนเองเป็นผู้อำนวยการ (ผอ.)

เริ่มจากอดีตรองผบ.ตร.ที่สนิทแนบแน่นกันมานานอย่าง พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามด้วย "แรมโบ้อีสาน" นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ที่ได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย ที่มาในโควตากระทรวงมหาดไทย หนึ่งในหน่วยงานหลักของ ศปก.กปต.

แต่ที่เจ้าตัวพลาดแบบเต็มๆ คือการไปตั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผบ.ทบ. เข้าไปเป็นผู้ช่วย ผอ.ศปก.กปต. ทั้งๆ ที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ ไม่ต่างอะไรกับ "ของแสลง" ของคนเสื้อแดง งานนี้ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ ร.ต.อ.เฉลิม

3.การบริหารงานในส่วนที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปรากฏว่ามีการรายงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ร.ต.อ.เฉลิม เข้าไปแทรกแซงการทำงานของตำรวจมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บางประการ ซึ่งประเด็นนี้ผู้มีอำนาจเหนือพรรคไม่ต้องการให้ ร.ต.อ.เฉลิม เข้าไปยุ่งมาก เนื่องจากตำรวจคือขุมกำลังของรัฐบาลอย่างแท้จริง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นอดีตตำรวจเช่นกัน ฉะนั้นสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม พูด กระทำ หรือแสดงท่าที ทุกเรื่องถึงหู พ.ต.ท.ทักษิณ หมด

4.ระยะหลังมานี้ ร.ต.อ.เฉลิม เล่นเกินบท มีการแสดงความเห็นหลายๆ ครั้งที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะการสร้างปัญหาทางการเมือง เช่น การให้สัมภาษณ์เรื่องกลุ่มที่จ้องโค่นล้มรัฐบาล จนกลายเป็นการ "เรียกแขก" หนักขึ้น หรือการให้สัมภาษณ์ชี้นำคดีอุ้มฆ่า นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดัง จนทำให้ไม่มีใครเชื่อตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แถมคดียังถูกโยงไปถึงฝ่ายการเมืองอีกด้วย

5.ข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม พูดเอง โดยพาดพิงถึง พ.ต.อ.ทวี ทำนองว่ามีการไปฟ้องเรื่อง "บ่อนการพนัน" ความจริงเจ้าตัวจะมีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก แต่เมื่อเป็นกระแสขึ้นมาย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลโดยรวม

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลสำคัญของการ "ลดชั้น" ร.ต.อ.เฉลิม ด้วยการโยกออกจากเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี (อันดับ 1) ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนแบบเบาะๆ จากผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลตัวจริง

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้พูดทิ้งท้ายกับคนใกล้ชิด คล้ายเป็นการตอบโต้หลังรู้ว่าถูกปรับออกจากตำแหน่งรองนายกฯแน่ๆ ว่า "ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก..."

วาทกรรมโบร่ำโบราณที่ว่าการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร...ยังคงใช้ได้จนถึงวันนี้จริงๆ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

พาณิชย์ ตั้งเป้าเร่งระบายสต๊อกข้าวรัฐ 4-5 ล้านตันภายใน ก.ย. !!?

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การเข้ามารับตำแหน่งครั้งนี้มีความตั้งใจ 3 ประการ คือ ประการแรก มีความตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานที่กระทรวงพาณิชย์อย่างมาก ประการที่สอง จะเร่งแก้ภาพลักษณ์ของกระทรวงฯ หลังจากที่ผ่านมามีการกล่าวหาว่ามีความไม่โปร่งใสในเรื่องของโครงการรับจำนำข้าว และประการสุดท้าย จะนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการเก็บข้อมูลเกษตรกร รวมถึงการรับทราบปริมาณที่นา และผลผลิตให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

"เรื่องข้าวในตอนนี้จะเร่งระบายข้าวที่ค้างสต็อกให้เร็วที่สุดและให้มากที่สุด โดยต้องหาแนวทางที่จะทำให้ราคาข้าวสารไทยสามารถกลับมาแข่งขันในตลาดโลกได้อีกครั้ง เพราะหากมีราคาสูงมากๆ ก็ไม่มีใครซื้อ จะส่งผลให้ปริมาณข้าวในสต็อกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องทำให้ชาวนาขายข้าวในราคาดีด้วย ซึ่งทั้งสองเรื่องสวนทางกัน แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด รวมถึงต้องเร่งลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนา เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น" นายนิวัฒน์ธำรงกล่าว

ขณะที่นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ช่วยกันหามาตรการเร่งระบายข้าวให้ได้อย่างน้อย 4-5 ล้านตันในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ (ก.ค.-ก.ย.56) พร้อมกันนั้นได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศทำแผนระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเป็นรายเดือน โดยให้กำหนดว่าแต่ละเดือนจะระบายข้าวแต่ละชนิดออกอย่างไรในปริมาณเท่าไร เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางการทำงานที่ชัดเจน โดยข้าวในสต๊อกจะเน้นการระบายทั้งรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) หรือการที่ภาครัฐนำภาคเอกชนเดินทางไปเจรจากับต่างประเทศ โดยเน้นขายให้ประเทศที่มีความต้องการซื้อมาก ๆ อย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

"เป้าหมายของรัฐบาลคือต้องขายข้าวออกให้ได้มากที่สุดในราคาดีที่สุด ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะปล่อยให้กระทรวงพาณิชย์ระบายได้อย่างผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งเรื่องของราคาและเรื่องวิธีการระบาย โดยประเทศใดสามารถชำระเงินได้เร็วก็อาจจะใช้วิธีในการลดราคาให้เพื่อเป็นการจูงใจ แต่หากประเทศใดที่มีฐานะไม่ดีนัก ก็อาจจะใช้วิธีในการยืดการชำระหนี้ออกไป ส่วนราคาขายจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่การต่อรอง แต่ไม่น่าจะต่ำมากเกินไป"นายยรรยงกล่าว

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กล่าวระหว่างเดินทางมาอำลาผู้บริหาร และข้าราชการของกระทรวงพาณิชย์ ว่า ขอให้ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ช่วยงานนายนิวัฒน์ธำรงในการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ของกระทรวงให้ประสบความสำเร็จต่อไป พร้อมทั้งขอบคุณข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยทำงานมาด้วยดีโดยตลอด

"ผมมาจากการเมือง พอถึงเวลาก็ต้องไปเพราะการเมือง ไม่ท้อ หรือหมดกำลังใจ จากนี้จะกลับไปทำงานบริหารพรรคเพื่อไทย การทำงานในกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมาถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากในทางการเมือง มีทั้งความสุข และความสนุก แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ อยากให้ข้าราชการเดินหน้าทำงานช่วยเหลือ และดูแลประชาชนต่อไปอย่างต่อเนื่อง" นายบุญทรงกล่าว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เงินกู้ 2 ล้านล้าน ดันธุรกิจ ภาคอีสาน โตยิ่งกว่า กรุงเทพฯ !!?

จับตาภาคอีสานเนื้อหอม หลังรัฐบาลเดินหน้าลุยสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน ระบุเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 50 ดันจีดีพีพุ่ง 40% แตะแสนล้านบาท เผย นักธุรกิจแห่ลงทุนทั้งบ้าน-คอนโดฯ ยันโรงไฟฟ้า ชี้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ผ่านฉลุยดันอีสานกระหึ่มแน่ เผยนโยบาย "เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร" ดันที่ดินพุ่ง 10 เท่าตัว

สำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่สารคดีที่ชี้ให้เห็นว่า เวลานี้ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมกำลังเริ่มชะลอตัวลง แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับมีอัตราการเติบโตขยายตัว อย่างสูงลิ่ว จนเป็นที่สนใจจับตาของพวกนักลงทุนและบริษัทธุรกิจทั้งหลาย ทั้งนี้เหตุ ผลสำคัญประการหนึ่งมาจากปัจจัยทางการเมือง ที่ได้รับประโยชน์มากมายจากนโยบายต่างๆ ในยุค "ยิ่งลักษณ์" นอกจากนั้นแล้ว การเดินหน้า ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ก็ยังทำให้ภาคอีสาน ยิ่งมีเสน่ห์มากขึ้นไปอีก

อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือนั้นกระโจนขึ้นไปถึง 40% นับ ตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2011 นับเป็นการพุ่งพรวด มากที่สุดไม่ว่าจะเทียบกับภูมิภาคไหนของประเทศไทย และจากการสัมภาษณ์สอบถาม พวกนักธุรกิจตลอดจนจากข้อมูลการลงทุนก็บ่งบอกว่าแนวโน้มเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป

จำนวนโครงการการลงทุนของภาคเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้น 49% ในปี 2012 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดย มียอดการลงทุนสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว จนอยู่ในระดับ 2,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 71,300 ล้านบาท) ทั้งนี้ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนเหล่านี้จำนวนมากกระจุกอยู่ในด้านอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่อาคาร คอนโดมิเนียมไปจนถึงทาวน์เฮาส์และช็อปปิ้งพลาซ่า

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของภาค ตะวันออกเฉียงเหนืออาจไม่ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาก็ได้ ถ้าหากโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ารวม 2.2 ล้านล้านบาท ไม่สามารถ เดินหน้าได้

นายราหุล บาจอเรีย (Rahul Bajoria) นักเศรษฐศาสตร์ แห่ง บาร์เคลย์ส แคปิตอล (Barclays Capital) ให้ความเห็นว่า หากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้เดินหน้า ต่อไปได้ตามที่คาดหมาย ก็จะสามารถเปลี่ยน แปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งหมดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ด้านนายสมศักดิ์ สีบุญเรือง เลขาธิการ หอการค้าจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า นโยบายของรัฐบาลที่จะยกระดับมุกดาหารเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ควบคู่กับสะหวันนะเขต ส่งผลให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นถึง 10 เท่าตัว ส่งอานิสงส์ถึงจังหวัดใกล้เคียงอย่างสกลนครและนครพนมด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังอนุมัติทางรถไฟ ซึ่งสำรวจมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตัดแยกจากอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร สิ้นสุดนครพนม ทำเป็นรถไฟรางคู่ เชื่อมต่อกับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ทำให้อนาคตเศรษฐกิจละแวกนี้เต็มไปด้วยความสดใส

ดร.จรัสกวินทร์ รักษ์วิเชียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ENSOL จำกัด ผู้ให้คำปรึกษาการวางแผนและการจัดการพลังงานทดแทนทุกประเภท เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า การลงทุนทางด้านพลังงานทดแทน มีความคึกคักมาก โดยเฉพาะพลังงานทดแทน เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ได้ออกใบอนุญาตทั่วประเทศไปแล้วจำนวน 800 เมกะวัตต์ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและลพบุรี แต่หลังจากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนได้ย้ายฐานการตั้งโซลาร์ฟาร์มไปอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานไม่ว่าจะเป็น อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ และหนองคาย รวมไปถึงนครราชสีมา และปราจีนบุรี

ด้านนายวิเชียร อุษณาโชติ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของบริษัทจะใช้งบลงทุนในช่วงปี 2556-2557 อยู่ที่ 8,900 ล้านบาท แบ่งเป็น ลงทุนโซลาร์ ฟาร์ม เฟส 3 กำลังผลิต 48 เมกะวัตต์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 5,700 ล้านบาท

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคม ไทยรับสร้างบ้าน (THCA) เปิดเผยว่า เศรษฐ-กิจภาคอีสานมีอัตราการเติบโตที่ดีมาตลอด เนื่องจากมีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรมากกว่าภูมิภาคอื่น ขณะเดียวกันมีความ พร้อมด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เส้นทางคมนาคม ถนน โรงพยาบาล สถานศึกษาต่างๆ และเมื่อนิสิตนักศึกษาเรียนจบ ก็มีงานในพื้นที่รองรับ ปัจจุบันบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดศูนย์สาขารับสร้างบ้านในนามพีดีเฮ้าส์ในพื้นที่ภาค อีสาน อยู่จำนวน 6 สาขา ได้แก่ โคราช อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์ และสกลนคร และเมื่อเปรียบเทียบยอดขายกับภูมิภาคอื่นแล้ว สาขาภาคอีสานมียอดขายรวมสูงเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด

น.ส.รัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวย การศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัด ขอนแก่น (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในรอบปี 2555 ตั้งแต่ม.ค.-ธ.ค. ขยาย ตัวเพิ่มขึ้นเกินความคาดหมาย มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 58 โครงการ เงินลงทุนรวม 15,500 ล้านบาท ส่วนโครงการ ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมในรอบปีมีจำนวน 66 โครงการ เงินลงทุน 23,256 ล้านบาท มีการจ้างงานคน 4,178 คน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ถือว่าเพิ่มขึ้น 65% เงินลงทุนเพิ่มสูงถึง 163.4%

สำหรับกิจการที่ได้รับความสนใจลงทุนมากเป็นพิเศษ เป็นด้านการผลิตไฟฟ้าจากกิจการกลุ่มเกษตรกรรมและผลิตผลทาง การเกษตร รวมถึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

น.ส.รัตนวิมล กล่าวด้วยว่า จ.ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่นักลงทุนจากต่างพื้นที่และนักลง ทุนต่างชาติให้ความสำคัญมากที่สุดของอีสานตอนบน มีการลงทุน 28 โครงการ เม็ดเงินลงทุน 15,569 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 39.29% รองลงมาเป็น หนองคาย 8 ส่วนแนวโน้มการลงทุน ปี 2556 คาดว่าจะเท่ากับปีที่ผ่านมา

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////

จัดทัพสู้ศึก : แก้จุดอ่อนเพิ่มจุดแข็ง งานเฉพาะหน้า การรับจำนำข้าว !!??

เป็นครึ่งทางที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ฝ่ามรสุมทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ทั้งการเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านในสภา การสุมหัวแก้ปัญหาปัจจัยที่เหนือการควบคุมทั้งภัยธรรมชาติ-เศรษฐกิจ รวมถึงการงัดข้อสู้กับทุกขั้วอำนาจภายในพรรคเพื่อไทย

เป็นครึ่งทางที่นายกรัฐมนตรีใช้พละกำลังสับ-เปลี่ยนเก้าอี้ ครม.มาแล้ว 4 หน และกำลังเข้าสู่วาระการทำงานของ "ครม.ปู 5" อย่างเป็นทางการในเวลาอันใกล้

เป็นการจัดทัพครั้งใหม่ที่ "ยิ่งลักษณ์" คาดหวังว่า อีกครึ่งทางหลังจากนี้จะสามารถฝ่ามรสุม ผลักดันภารกิจหลักทั้ง 16 ข้อเร่งด่วน ตามถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีที่ผลงานยังไม่คืบหน้า

ทั้งปมกฎหมายเพื่อสร้างความปรองดองที่ยังค้างรัฐสภา ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ไกลกว่าความขัดแย้งภาพเก่า

ทั้งชนวนความขัดแย้งกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แม้จะมีการรุกคืบเจรจากับฝ่ายผู้ก่อการร้าย แต่สุดท้ายผลลัพธ์ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา ยังเต็มไปด้วยรอยกระสุน เสียงปืน และควันไฟ

2 ภารกิจข้างต้น ถูกอ้างอิงถึงผู้ขับเคลื่อนคนเดียวกัน ภายใต้ชื่อ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

และที่เป็นปัญหาที่สุดคือ อภิมหานโยบายประชานิยมอย่างโครงการรับจำนำข้าว ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงความมั่นคงของรัฐบาล กระทั่ง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจจากดูไบต้องส่งสัญญาณถึงนายกรัฐมนตรีให้รีบแก้ไข

เมื่อเป็นเช่นนี้ รายชื่อ-หน้าตา "ครม.ปู 5" จึงเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน เพราะ "คำสั่งตรง" ถึงนายกรัฐมนตรีคือ ต้องเฉือนเนื้อร้ายที่บั่นทอนคะแนนนิยมและเสถียรภาพของรัฐบาลโดยเร็ว

ทั้งการดึง "มือทำงาน" ระดับข้าราชการ "รุ่นเก๋า" ในกระทรวงเศรษฐกิจ ทั้งการผลักดันมันสมองเบื้องหลังให้กลับสู่ถนนเบื้องหน้า ที่ต่างก็เป็นคนการเมืองระดับ "หัวกะทิ" จากอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111

ทั้งหมดเพื่อดันผลลัพธ์การบริหารของรัฐบาลไปสู่ภาพความสำเร็จในอีก 2 ปีหลังจากนี้

โดยโครงการรับจำนำข้าวจะมอบหมายให้ "นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" รมต.ประจำสำนักนายกฯ คนไว้ใจได้ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" และเป็นมือไม้-แขนขาให้ "ยิ่งลักษณ์" นั่งเก้าอี้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อคุมเกมแก้ปัญหาจำนำข้าว

เพราะ "บุญทรง" ถูกตำหนิทั้งในและนอกพรรคเพื่อไทยว่าอ่อนการชี้แจง เช่นเดียวกับ "เผดิมชัย สะสมทรัพย์" รมว.แรงงาน หัวขบวน ส.ส.ภาคกลาง ที่เผชิญปัญหาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท

ทั้ง "บุญทรง-เผดิมชัย" ถูกติติงความนิ่งสงบ เสมือนการลอยแพนายกรัฐมนตรีฉายเดี่ยว

แต่ภารกิจเรื่อง "จำนำข้าว" ถือว่าเร่งด่วนและสุ่มเสี่ยงกว่า ฉะนั้น นอกเหนือจากการปรับทัพ ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยจึงผุดสารพัดอีเวนต์เข้ามาบริหารจัดการทันที

เริ่มตั้งแต่โครงการเสวนาจำนำข้าวสัญจร ที่เตรียมให้ "ทีมพาณิชย์" ลงพื้นที่จัดเวทีระดมความเห็น พร้อมคำอธิบายสารพันปัญหา พร้อมกับการเสริมแรงด้วยอดีตข้าราชการ "รุ่นเก๋า" คนเก่าคนแก่ประจำกระทรวง

อีกทั้งยังแต่งตั้ง "พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง" รองเลขาธิการนายกฯ ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกข้าวพร้อมกัน 2,506 จุดทั่วประเทศว่าล่องหนไปไหน

รวมถึงแผนจากกรมการข้าว โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องจัดทำคู่มือ "การลดต้นทุนการผลิตข้าว" ลอตแรกจำนวน 20,000 เล่ม แจกชาวนาทั่วประเทศ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ชาวนาลดต้นทุนได้ไร่ละ 1,500-3,000 บาทต่อไร่

ล่าสุด สำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่มี "ภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรคบัญชาการ ได้จัดทำ "สคริปต์" เรื่อง "การรับจำนำข้าว" ให้ ส.ส.-รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยไปชี้แจงชาวบ้านในพื้นที่

โดยจัดทำเป็นไกด์ไลน์คำถาม-คำตอบ ที่ ส.ส.-รัฐมนตรีทุกคนจะต้องท่องให้ขึ้นใจ และไปอธิบายให้ประชาชน อันมีเนื้อหาระบุ 5 ข้อใหญ่ ดังนี้

1.สาเหตุที่ต้องชี้แจงให้เกษตรกรและประชาชนรับทราบ ในฐานะตัวแทนของพรรค ตัวแทนของประชาชน มีความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สบายใจและความเดือดร้อนของชาวนา ชาวนาเป็นกลุ่มคนและอาชีพที่น่าเห็นใจที่สุด ทำงานหนักที่สุด และมักถูกเอาเปรียบตลอดเวลา

"เรามักพูดกันอยู่เสมอว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เราเห็นอกเห็นใจชาวนา แต่พอเราคิดถึงพวกเขา พยายามคิดนโยบายเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้เขา กำหนดราคาจำนำข้าวเพื่อจะให้ประโยชน์และผลตอบแทนกับเขา ก็มีคนบางส่วนออกมาคัดค้านไม่สนับสนุนนโยบายจำนำข้าว"

2.กรณีที่มีข่าวว่าชาวนาไม่พอใจและจะออกมาประท้วง การรวมตัวของชาวนาและการลุกขึ้นออกมาแสดงความคิดเห็นของชาวนา เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย "เมื่อเขาทุกข์ยากเดือดร้อน เขาก็อยากออกมาบอกให้สังคมรู้"

เขาก็อยากบอกสังคมว่า "พวกเขาเดือดร้อน" / "เขาสนับสนุนนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล" / "อยากได้ 15,000 บาท"

เพียงแต่อยากให้การแสดงออกของชาวนาครั้งนี้เป็นการแสดงออกโดยสงบ สันติ หลีกเลี่ยงที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น อยากให้สังคม...ไม่ว่ารัฐบาล ฝ่ายค้าน คนเมือง หรือสื่อมวลชนต่าง ๆ เข้าใจความเดือดร้อนของพวกเขา

3.ตอกย้ำนโยบายจำนำข้าวคือนโยบายที่ดี และสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้

ต้องเข้าใจและเห็นใจชาวนา ขณะเดียวกันก็เข้าใจและรับรู้ถึงความยุ่งยากของรัฐบาล/รัฐบาลเริ่มต้นนโยบายจำนำข้าว 15,000 ด้วยความประสงค์ที่อยากสนับสนุนช่วยเหลือชาวนา/หลัก พื้นฐานของการคิดนโยบายจำนำข้าวจึงไม่ควรเริ่มต้นคิดจากเรื่อง "กำไร-ขาดทุน" แต่เป็นเรื่อง "การสนับสนุนของรัฐเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ชาวนา"

รัฐบาลตัดสินใจจำนำข้าว 15,000 บาท ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพของชาวนาให้มีเงินจับจ่ายใช้สอย แก้ปัญหาชีวิตของพวกเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น/มีตัวเลขทางเศรษฐกิจชัดเจนว่า "นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย" ชาวนาได้ประโยชน์ สามารถลดหนี้สินของครอบครัว/มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น/กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น/มีเงินออมมากขึ้น

ตลอดทั้งชีวิตของชาวนาเริ่มจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง "แล้วทำไมฝ่ายค้าน หรือคนบางส่วนจึงแสดงท่าทีคัดค้านมาโดยตลอด"

"ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์" ประกาศชัดเจนว่า เหตุผลการที่รัฐบาลผลักดันนโยบายจำนำข้าว เพราะเจตนาที่จะทำให้ข้าวมีราคาที่เป็นธรรม แก้ไขปัญหาให้ชาวนาซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ทำให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น การที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณก็เพื่อให้ความช่วยเหลือและดูแลชาวนา "เป็นเงินสนับสนุนเพื่อชีวิตของเกษตรกรและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพื่อสร้างกำไร-ขาดทุน เหมือนการลงทุนทางเศรษฐกิจทั่วไป"

ด้านการใช้จ่ายเงินเพื่อเยียวยาความขาดแคลนของชีวิตชาวนา ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของคนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนของประเทศ และการใช้จ่ายเงินของชาวนาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 5-6 รอบ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น GDP สูงขึ้นอีกหลายเปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม "ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์" ประกาศชัดเจนว่า รัฐบาลยังยืนยันที่จะสร้างความสมดุลในหลาย ๆ มิติ

มิติที่ 1 ชาวนาต้องขายข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรม คือ ต้องขายข้าวได้ไม่ขาดทุน เมื่อคำนวณจากราคาต้นทุน

มิติที่ 2 รักษาความสมดุลของต้นทุนการผลิตข้าวกับราคาข้าว "ข้าวใดราคาสูง ต้นทุนสูง ราคาขายต้องสูงตามคุณภาพข้าวที่ได้ด้วย"

มิติที่ 3 การปรับเพิ่ม ลดราคาจำนำข้าว คำนึงถึงผลกระทบจากราคาผลิตผลในตลาดโลก + ภาวะค่าเงินบาท และปริมาณข้าวที่ผลิตขึ้นได้ในตลาด

มิติที่ 4 คำนึงถึงความสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายที่รัฐช่วยเหลือเกษตรกรกับวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไม่มีผลกระทบในระยะยาว และเติบโตอย่างยั่งยืน

และที่สำคัญ "ท่านนายกฯยืนยันที่จะปรับปรุงขั้นตอนและกระบวนการจำนำข้าวให้เกิดความโปร่งใสในทุกขั้นตอน และยืนยันว่าที่ผ่านมาเงินทุกบาทโอนถึงมือชาวนาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้"

สำหรับการตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ข้อจำกัด และความยุ่งยากที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญอยู่กับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบมา สถานการณ์วันนี้จึงอยากให้ทุกฝ่ายใช้สติ ใช้เหตุผล หันหน้ามาเข้าหารือกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออก ว่าทุกคนมีความปรารถนาดี ประเทศจะมีทางออกที่สมเหตุสมผลที่ทุกฝ่ายยอมรับและสบายใจ

4.ความคิดเห็นต่อท่าทีของฝ่ายค้าน-ท่าทีผู้นำฝ่ายค้าน

ต้องร้องขอเรื่องอยากเห็นการทำงานของฝ่ายค้าน ตั้งอยู่บนเหตุผล และการร่วมกันทำงานกับรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของชาวนาและคนยากคนจน มิใช่เหตุผลทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

"ขอให้คิดว่าปัจจุบันฝ่ายค้านก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น จากการค้านนโยบายจำนำข้าวอย่างหัวชนฝา ปัจจุบันก็ได้ยินและได้เห็นท่าทีของผู้นำฝ่ายค้านที่เห็นด้วยกับรัฐบาลว่า นโยบายจำนำข้าวควรจะยืนที่ 15,000 บาท เพื่อให้ชาวนาได้ประโยชน์"

5.ข้อเสนอสนับสนุนรัฐบาลให้เดินหน้าโครงการจำนำข้าวต่อไป ในฐานะตัวแทนของพี่น้องชาวนาและประชาชน ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาและดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องเหล่านี้

ปรับปรุงกระบวนการขายข้าวและระบายข้าวให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ให้ประชาชนทุกฝ่ายได้รับรู้และสบายใจ ปรับปรุงกระบวนการจัดระบบ และดูแลงบประมาณที่นำมาใช้ให้เกิดการหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ปรับปรุงกระบวนการในการควบคุม และดูแลการจำนำข้าวให้ผลประโยชน์ตกแก่ชาวนาอย่างเต็มที่

ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องทุจริตอย่างเต็มที่หากตรวจพบ และสุดท้าย สนับสนุนนโยบายท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่จะมีการปฏิรูปภาคการเกษตร/ปรับสมดุลเรื่องเกษตรโซนนิ่งที่ได้มีการริเริ่มแล้ว ที่มีการสำรวจว่าพื้นที่ไหนเหมาะกับการเพาะปลูกอะไร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร และสนับสนุนให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ ส.ส.พลิกคู่มือดังกล่าวเปิดอ่าน บางคนขำ บางคนวิจารณ์ เพราะเนื้อหาในคู่มือไม่สามารถนำไปพูดคุยกับชาวบ้านได้ เพราะ "วิชาการเกินไป"

ส.ส.ในพรรคหลายคนระบุตรงกันว่า ถ้าไปอธิบายให้ชาวบ้านฟังตามเอกสาร ชาวบ้านไม่เข้าใจแน่นอน

แม้สารพัดอีเวนต์จะถูกเข็นออกมา แต่เมื่อโครงการรับจำนำข้าวยังมีสถานะจุดตาย-จุดสลบของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องสลัดบ่วงสารพัดปัญหาให้หลุด

แต่การปรับ ครม.เปลี่ยนคนรับผิดชอบ จาก "บุญทรง" มาเป็น "นิวัฒน์ธำรง" จะทำให้รัฐนาวาพรรคเพื่อไทยรอดพ้นปัญหา ขจัดเสียงครหาต่าง ๆ และเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาได้หรือไม่...
ต้องจับตา

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คนเสื้อเหลืองในคราบหน้ากากขาว !!?

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่ม “ผู้ชุมนุม” ขนาดเล็กแต่มีการวางแผนมาอย่างดีและมีศักยภาพได้เดินขบวนบนท้องถนนกรุงเทพฯและในจังหวัดอื่นพวกเขาขนานนามตนเองว่า “หน้ากากขาว” เพราะพวกเขาใช้หน้ากากวีกาย ฟอกส์สีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวชุมนุมกลุ่มนิรนามที่ก้าวหน้า การเกิดใหม่ของกลุ่มนี้ยังคงห่างไกลจากแนวความคิดเรื่องความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตย ความเป็นธรรมชาติ และการเมืองแบบก้าวหน้าอย่างมากมาย

ตามที่ New Mandela ระบุในบทความสองบทความล่าสุดว่ากลุ่มหน้ากากขาวไม่ใช่อะไรนอกจากกลุ่มฝ่ายขวาหัวรุนแรงคลั่งชาติที่มาจากการรวมตัวของกลุ่มพธม. พิทักษ์สยามและกลุ่มที่มีแนวคิดคล้ายกัน กลุ่มเหล่านี้เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “ต่อต้านทักษิณ” แต่ศัตรูที่แท้จริงของพวกเขาคือประชาธิปไตย กลุ่มหน้ากากขาวเรียกร้องให้ “ล้มล้าง” รัฐบาลเพื่อไทยซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย กลุ่มหน้ากากขาวยังไม่อายที่จะใช้ความรุนแรงต่อนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยตามรายงานของหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วในใจกลางกรุงเทพฯ พวกเขาพยายามทุบตีคนเสื้อแดงด้วยแท่งเหล็ก

การสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างกลุ่มหน้ากากขาวและกลุ่มฝ่ายขาวหัวรุนแรง ซึ่งมีรายงานว่ากลุ่มนักกิจกรรมเหล่านี้ทำกิจกรรม เช่นการร้องเพลงแนวเผด็จการฟาสซิสต์ “หนักแผ่นดิน” เป็นประจำ นอกจากนี้ แกนนำที่เข้าร่วมกับกลุ่มหน้ากากขาว เช่น ผู้ประสานงาน “กลุ่มกรีน” นายสุริยะใส กตะศิลาเริ่มหาข้ออ้างที่แปลกประหลาดและวิตถารว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ “กำลังสร้างเงื่อนไขเพื่อทำรัฐประหาร” ตนเอง

เราไม่ควรประเมินความซับซ้อนของกลุ่มหน้ากากขาวต่ำจนเกินไป บรรยากาศของ “ความเป็นธรรมชาติ” ทำให้กลุ่มนี้มีภาพลักษณ์การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรากหญ้า” คล้ายคลึงกับกลุ่มอาหรับสปริงเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ การใช้สัญลักษณ์การชุมนุมแบบก้าวหน้าและนิรนามนำไปสูภาพลักษณ์ที่ดีในหน้าสื่อ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม การรายงานข่าวในแง่ดีถูกผลักดันโดยกระบอกเสียงของพรรคประชาธิปัตย์หนังสือภาษาอังกฤษ “บางกอกโพสต์” ซึ่งได้พยายามหลอกลวงผู้คนโดยนำเสนอว่ากลุ่มหน้ากากขาวคือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย มากมายจะเป็นกลุ่มที่ผสมผสานกันของกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยมากที่สุดในประเทศไทย

แล้วใครอยู่เบื้องหลังกลุ่มหน้ากากขาว? บุคคลสำคัญในวงการสื่อที่มีอำนาจและร่ำรวย นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวอิสระทีนิวส์กลุ่มทีนิวส์ สองสำนักข่าวนี้เต็มไปด้วยคำด่าทอหยาบคายและมีแนวความคิดฝ่ายขวาหัวรุนแรง เป็นกลุ่มซึ่งให้การสนับสนุนอย่างลับๆต่อกลุ่มหน้ากากขาว

ไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่านายสนธิญาณกล่าวว่า “เขาสนับสนุนกลุ่มนี้ เชื่อว่าพวกเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเชื่อมั่นว่ากลุ่มนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” นายสนธิญาณกล่าวต่อว่าบริษัทของเขาขายหน้ากากขาวให้ผู้ชุมนุมและ “มีคนซื้อหน้ากากราว 10,000 ใบ และยังมีการสั่งซื้อมาเรื่อยๆ” อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านายสนธิญาณจะพูดจาล้ำเส้น เมื่อเข้าพูดถึงเพื่อนร่วมชาติ โดยเขาแนะนำว่า “ทักษิณและครอบครัวจะต้องถามตัวเองว่าพวกเขาสามารถอาศัยอยู่ในที่ที่มีแต่คนเกลียดพวกเขาได้อย่างไร” บางทีนายสนธิญาณอาจตั้งใจลืมว่าการเลือกตั้งทั่วไปทั้ง 5 ครั้งใน 12 ปีที่ผ่านมาให้ประชามติตามระบอบประชาธิปไตยต่อรัฐบาลที่นำโดยทักษิณ และการเคลื่อนไหวของหน้ากากขาวในกรุงเทพฯก็ไม่ได้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากนัก

แม้กลุ่มหน้ากากขาวไทยจะแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนมากขึ้นในเรื่องของการสื่อสารข้อความ แต่กลุ่มนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากกลุ่มนิยมอำนาจเก่าซึ่งเป็นกลุ่มพลังต่อต้านประชาธิปไตยอันเกิดจากการรวมตัวในรูปแบบใหม่โดยใช้การสื่อสารที่เป็นมิตร เราไม่ควรประเมินกลุ่มนี้ต่ำเกินไป การยืมเอาสัญลักษณ์ที่กำลังเป็นที่นิยมของการเคลื่อไหวของกลุ่มหัวก้าวหน้าทั่วโลกไม่ช่วยทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มหัวก้าวหน้าไปได้

Read more from ประเทศไทย, โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ย้อนรอย : วิกฤติต้มยำกุ้ง จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย !!?

ไทยรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ-สถาบันการเงินครั้งใหญ่ หลักประกันศก.ไทยไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อันบอบช้ำ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 นี้ ถือเป็นวันครบรอบ 16 ปี ที่ทางการไทยตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 โดยการตัดสินใจครั้งดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและการเงินไทยในระยะถัดมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงขอใช้โอกาสนี้ในการมองย้อนกลับไปที่วิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 พร้อมสรุปการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

บทเรียนจากวิกฤตการณ์ปี 2540 ... นำมาสู่โครงสร้างเศรษฐกิจและระบบการเงินไทยที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้น

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 นั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยมีจุดอ่อนสำคัญ 3 ประการที่เกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงและเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำมาสู่วิกฤตการณ์ค่าเงินและวิกฤตการณ์สถาบันการเงินปี 2540 ประกอบด้วย

- การเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ท่ามกลางสภาพคล่องจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่ระบบการเงินไทยอย่างรวดเร็ว เพื่อหาผลตอบแทนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

- การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงินที่ไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ซึ่งทำให้ค่าของเงินบาทไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ ซึ่งเผชิญปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอย่างเรื้อรัง จนนำมาสู่การโจมตีค่าเงินบาทจากนักเก็งกำไร และทำให้ทางการต้องประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

- ระบบการเงินไทยยังคงเปราะบาง โดยขาดการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบและการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินกิจการวิเทศธนกิจ (BIBFs) ของสถาบันการเงินที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งจากการกู้ยืมเงินทุนระยะสั้นมาปล่อยกู้ระยะยาว และความเสี่ยงจากการปล่อยกู้สกุลเงินที่แตกต่างกัน (Maturity and Currency Mismatch) ซึ่งเมื่อผนวกกับการขาดการกำกับดูแลที่ดีเพื่อป้องกันพฤติกรรมการปล่อยกู้ที่เสี่ยงของสถาบันการเงิน ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนกระทบความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน และนำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในที่สุด

ทั้งนี้ ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมานั้น จุดอ่อนเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยที่นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ปี 2540 ได้รับการพัฒนาปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะปัจจุบัน ดังนี้

- ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ท่ามกลางการบริหารจัดการความเสี่ยงและการกำกับดูแลจากทางการที่ตรงตามมาตรฐานสากล โดยผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน การบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ของสถาบันการเงินก็เป็นไปในลักษณะที่ระมัดระวัง และเมื่อผนวกกับการนำหลักเกณฑ์สากลมาใช้ในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก็เป็นที่แน่ใจได้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความเข้มแข็งขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตปี 2540

- เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี รวมถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนภาพความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์อันไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

กระนั้นก็ดี เส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อาจมีบางประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเป็นประเด็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจบางอย่างที่มีความคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และการสะสมของปัญหาหนี้ครัวเรือน ท่ามกลางการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการซึ่งแตกต่างจากช่วงปี 2540 ดังนี้

- การสะสมของหนี้ครัวเรือน...อาจสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมและการดำรงชีวิตของครัวเรือน ทั้งนี้ แม้ว่าหนี้ครัวเรือนไทยอาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 77.6% ต่อจีดีพีในปี 2555 แต่ต้องยอมรับว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนดังกล่าว อาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งการเข้าสู่สังคมเมือง ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น รายได้ที่สูงขึ้นของภาคชนบท รวมไปถึงการเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบที่เพิ่มขึ้น (ซึ่งทดแทนการก่อหนี้นอกระบบ) ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้น

- ความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน...เป็นผลจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของครัวเรือน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว พบว่า สัดส่วนสินเชื่อของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (รวมผู้ประกอบกิจการก่อสร้าง) มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ขณะที่ สัดส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อจีดีพีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2555 ที่ระดับ 19.9% ต่อจีดีพี โดยการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าวเป็นผลจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของครัวเรือนไทยที่มีแนวโน้มเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รวมไปถึงความต้องการที่อยู่อาศัยตามแนวระบบขนส่งมวลชนระบบราง ซึ่งแตกต่างจากปี 2540 ที่เป็นไปเพื่อการเก็งกำไรเป็นหลัก

ดังนั้น เมื่อผนวกประเด็นดังกล่าวกับราคาที่ดินและวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยในตลาดปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกัน กระนั้นก็ดี ด้วยการคัดกรองลูกค้าของสถาบันการเงินและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของทางการ ตลอดจนโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงจนกระทั่งกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้มีค่อนข้างจำกัด จึงทำให้คาดได้ว่าการปรับตัวขึ้นของสินเชื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าวจะไม่เป็นประเด็นเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

สรุป ครบรอบ 16 ปี หลังเศรษฐกิจไทยที่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ปี 2540 การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและพัฒนาการของระบบสถาบันการเงินไทยที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น น่าจะช่วยเป็นหลักประกันได้ในระดับหนึ่งว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่เคยบอบช้ำ และสถาบันการเงินจะมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์อันไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////

ครม.ปู 5 ปรับเพื่อรับ หรือปรับเพื่อรุก!!?

กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลภายใต้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการปรับครั้งที่ 5 โดยเป็นการปรับครั้งใหญ่กว่าครั้งที่ผ่านมา จากในโผปรับกว่า 18 ตำแหน่ง โดยใน ครม.ชุดนี้ ประกอบด้วยบุคคลจากหลายส่วน ทั้งฟากของรัฐบาลของอดีตพรรคไทยรักไทย สัดส่วนโควตาพรรคร่วมรัฐบาลเอง และคนนอกที่มีประสบการณ์ในการบริหารกระทรวง กรมต่างๆ เพื่อศักยภาพในการบริหารประเทศที่เพิ่มขึ้น



คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อมองดูถึงแผนนโยบายบริหารของพรรคเพื่อไทยในด้านต่างๆ ครั้งที่เคยหาเสียงสัญญาไว้ ซึ่งบางนโยบายประสบความสำเร็จ บางนโยบายกำลังดำเนินการ และบางนโยบายต้องประสบปัญหาด้านต่างๆ โดยไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ด้านสังคมวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่ต้องผ่านฝ่ายบริหารอย่างรัฐบาลที่มีหน้าที่โดยตรง
ปัญหาที่รัฐบาลประสบ
ด้านเศรษฐกิจ

จากปัญหาด้านต่างๆ จะเห็นได้ว่าเรื่องที่รัฐบาลประสบปัญหามากที่สุด คงจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ตั้งให้เป็นวาระหลักในการบริหารประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและเร่งปรับแนวเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าว โครงการรถคันแรก โครงการปรับปรุงสาธารณูปโภค ฯลฯ

ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องมีนำเม็ดเงินของรัฐลงทุนก่อน ซึ่งหากมองตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วหากการกระตุ้นนั้นได้ผล รัฐก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไปด้วย ทั้งด้านการสนับสนุน และเสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหารงานด้านอื่นๆ ต่อไป แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องประสบปัญหาสำคัญด้านเศรษฐกิจ จาก 2 ส่วน



ส่วนแรกเป็นปัญหาภายใน จากการกระจุกตัวของเงินเฉพาะคนรวย และเม็ดเงินเหล่านั้นไปไม่ถึงประชาชนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องการนำลงไปอัดฉีด เช่น นโยบายจำนำข้าวที่ก็เม็ดเงินก็ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะโรงสีและพ่อค้าข้าวรายใหญ่ทำให้เม็ดเงินเหล่านั้นไปไม่ถึงชาวนา ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการยอมขาดทุนของรัฐบาล โดยให้ชาวนาเป็นผู้กระตุ้นเศรษฐกิจจากการจับจ่ายใช้สอยนั้นก็ต้องมีปัญหาเกิดขึ้น

ส่วนสองเป็นปัญหาจากภายนอก ด้วยสภาพของเศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในช่วงซบเซา และตลาดค้าหลักของไทยนั้นก็อยู่ในช่วงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ซึ่งแม้จะมีการกระตุ้นจากประเทศเหล่านี้ สภาพเศรษฐกิจโลกก็ดูท่าที่จะไม่ดีขึ้น ทำให้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ต้องประสบปัญหานี้อย่างปฏิเสธไม่ได้
ด้านการเมือง

ปัญหาที่รัฐบาลต้องประสบด้านการเมืองคงหนีไม่พ้นปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องประสบปัญหาอย่างมากในการบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเป็นวาระหลักที่หลายฝ่ายมีความต้องการให้แก้ แต่การแก้เหล่านั้นรัฐบาลต้องรับมือกับกระแสโต้จากหลายฝ่าย ด้วยเหตุผลหลักว่าเป็นการแก้ให้พวกพ้องตัวเอง

ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น หากเรามองล้วนมีปัญหาทั้งด้านที่มาและเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจของศาล องค์กรอิสระที่มากเกินไป ทำให้ฝ่ายบริหารทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะกลัวว่าจะผิดกฎหมาย หรือต้องระวังการถูกฟ้องร้องจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งไม่ผิดจากครั้งที่ก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 อำนาจบริหารไม่มี ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มิได้เป็นเช่นนั้น

ด้านฐานมวลชน จะเห็นได้ว่าเป็นวาระหลักของมวลชนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลให้มีการแก้ไข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับฝ่ายบริหารและลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร ซึ่งมีรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเสมือนตัวประสานทางอำนาจของกลุ่มอำนาจฝ่ายทำรัฐประหารที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ปรับเพื่อรุก/ปรับเพื่อรับ:

หากมองดูถึงหน้าตาของคณะรัฐมนตรีในโผชุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5 จะทำให้เห็นอะไรบางอย่างและใครคุมกระทรวงใด ซึ่งหากมองในตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งควบกระทรวงกลาโหม การกลับมาของคุณปวีณา หงสกุล ที่มานั่งคุมกระทรวงพัฒนาสังคม โยกคุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ไปนั่งกระทรวงพาณิชย์ โยกคุณเฉลิม อยู่บำรุง จากรองนายกรัฐมนตรีไปนั่งกระทรวงแรงงานและให้คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งคุมกระทรวงการคลังและรองนายกเช่นเดิม แต่เพิ่มบทบาทให้ไปดูแลด้านนโยบายจำนำข้าวโดยเฉพาะ และอีกหลายท่านตำแหน่งอื่นๆ


คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล

สิ่งที่จะชี้ของการปรับครั้งนี้ คงต้องพุ่งเป้าไปที่หน้าตาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ใช้เลือก คือ ความสามารถของบุคคลที่ต้องใช้ในการบริหารกระทรวงดังกล่าวและความใสสะอาดในการบริหารงานที่ผ่านมา เพื่อไร้ข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นการลดจุดบอดของรัฐบาล และลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในการบริหารงานของรัฐบาล เช่นฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ที่มองว่าการปรับคณะรัฐมนตรีชุดนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนหน้าเค้กเท่านั้น แต่เนื้อเคยยังเป็นเช่นเดิม และการปรับคณะรัฐมนตรีชุดเก่าเพื่อลดความขัดแย้งในด้านการตรวจสอบ

แต่แน่นอนว่า จุดมุ่งหมายที่รัฐบาลต้องทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเสมือนการลุกคืบของรัฐบาล และต้องทำเพื่ออนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในสมัยต่อไป คือ ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพรัฐบาลให้เพิ่มขึ้น และด้านการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าจะเป็นจุดสกัดกั้นรัฐบาลในอนาคต หากถูกโจมตีในอนาคต นี้จึงเป็นการปรับทั้งเพื่อรุกและเพื่อรับต่อไปในอนาคตของรัฐบาล

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มาม่า VS นโยบายรัฐ

 สหพัฒนพิบูลปรับเป้าโตเป็น 10% จากเดิม 15% เหตุกำลังซื้อคนไทยหด เพราะหนี้เพิ่มจากนโยบายรถคันแรก ส่งผลให้ประชาชนเดินห้างสรรพสินค้าน้อยลง ยอดขายมาม่าตก
   
นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สหพัฒนพิบูล เปิดเผยว่า ผลพวงจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อของคนไทยลดน้อยลงตามไปด้วย แม้ว่าจะมีประชาชนบางส่วนเริ่มทิ้งใบจองกันไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ขณะที่ห้างสรรพสินค้าร้อยละ 90 ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในตอนนี้คนเริ่มมาเดินห้างน้อยลง สินค้าภายในห้างสรรพสินค้ายอดก็ลดลงไปเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะมีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเข้ามา ทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าก็ขึ้นตามไปด้วยเหมือนกัน ประโยชน์ที่จะเพิ่มกำลังซื้อจากนโยบายดังกล่าวจึงแทบจะไม่มีเลย ขณะนี้บริษัททำงานเหมือนแข่งกับนโยบายของรัฐบาลด้วยซ้ำ
   
สำหรับยอดการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ในตอนนี้ยอดก็ตกลงไปด้วย แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในการรับประทานมากขึ้น เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมิได้เป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่อย่างแท้จริง โดยการบริโภคของคนไทยที่ผ่านมานิยมซื้อแบบเป็นแพ็ก ซึ่งนั่นหมายถึงการบริโภคจำนวนมาก แต่ในขณะนี้ผู้บริโภคนิยมซื้อแบบทีละซอง การบริโภคลดลง ทำให้ยอดมาม่าตกลงไปด้วย
   
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจรองเท้าและถุงเท้าต้องปิดกิจการไป เนื่องจากสู้กับการปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว เพราะธุรกิจดังกล่าวต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจส่งออก เพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานคน จึงได้มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผลิตมากขึ้น อย่างโรงงานไลออน ก็เริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์แทนการใช้คนมากขึ้น และก็ยังคาดว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในอีกหลายโรงงานในอนาคต
   
ขณะที่ครึ่งปีที่ผ่านมาตัวเลขการเติบโตตกลงเหลือแค่ 8% จากเดิมต้องโตประมาณ 10% ขึ้นไป โดยเป้าการเติบโตในแต่ละปีตั้งไว้ที่ประมาณ 15% แต่ในปีนี้คงต้องลดเป้าลงเหลือแค่ 10% เท่านั้น จากสภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกที่ส่อแววไม่ดีนัก รวมถึงกำลังซื้อของคนไทยในครึ่งปีหลังนี้ก็ยังมองไม่เห็นปัจจัยที่จะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นได้แต่อย่างใด.

ที่มา.ไทยโพสต์
//////////////////////////////////////////////////////////////

ปรัชญา :ในศาสนาที่สำคัญ ในการสร้างกรอบวินัยการเงินการคลัง !!?

การมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่หลวงเป็นราชพลี มีนิทัสนะในชาดกที่เล่าไว้ว่า ได้แก่ “บ้านส่วย” อันเป็นสถานที่เก็บภาษีอากรที่มีมาแล้วในพุทธกาล  ผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจใน  บ้านส่วย”  ที่จะต้องได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้ที่มีความสื่อสัตย์สุจริตมีความชอบถึงขนาดเป็นที่ประสบพระราชอัธยาศัยจึงจะได้รับพระราชทาน “บ้านส่วย”  ดังมีนิทัศที่เล่าไว้อย่างน่าใคร่ครวญเพื่อเป็นแนวทางพิจารณาวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องความ “พอใจ” และ “กิเลส ของมนุษย์ที่เป็น “นานาจิตตัง”  ดังนี้

“ท่านปุโรหิตแห่งพาราณสีนอกราชการ  กระทำความชอบขนาดเป็นที่สบพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าพระพาราณสี  จึงได้รับพระราชทานพรให้เลือกขอรับพระราชทานในสิ่งที่ตนประสงค์ได้  ท่านขอโอกาสกลับมาหารือกันดูก่อนว่าจะขอรับพระราชทานสิ่งใด  เพื่อมิให้เป็นที่ขัดใจกันในระหว่างผู้อยู่ร่วมกัน  เมื่อมาถึงบ้านแล้ว  ท่านก็เรียกประชุมคนในบ้าน คือ ภรรยา ลูกชาย ลูกสะใภ้ และนางปุณณทาสี ตนเอ็งเป็นประทานในที่ประชุม  ท่านปุโรหิตผู้เป็นประทาน  เปิดประชุม  กล่าวถึงที่ได้รับพระราชทานพรจากพระราชา ดำเนินอนุสนธิว่า เราจะขอรับพระราชทานอะไรถึงจะดีและเสนอขึ้นก่อนว่า 
“เราจะขอรับพระราชทานบ้านส่วยจะเห็นเป็นอย่างไร”

ภรรยา “ดิฉันใคร่ขอรับพระราชทานรถเทียมโคนมสัก ๑๐๐” 
ลูกชาย“ผมใคร่จะขอรับพระราชทานรถเทียมม้าอาชาไนย” 
ลูกสะใภ้“ดิฉันใคร่ขอรับพระราชทานเครื่องประดับงามๆ” 
นางปุณณาทาสี“ดิฉันใคร่ขอรับพระราชทาน ครกและสาก” 

ท่านปุโรหิตไม่ได้รับความเห็นร่วมจากคนของตนเลย  ความพอใจของท่านที่จะขอรับพระราชทาน “บ้านส่วย” ไม่อาจทำให้ผู้อื่นคล้อยตามได้  ครั้นจะถือความพอใจของตนเป็นประมาณก็จะเป็นเหตุทำลายความอยู่เย็นเป็นสุขอันเคยมีมาแต่ก่อน  ท่านปุโรหิตต้องพิเคราะห์หนักในที่สุดไม่รู้จะชี้ขาดได้อย่างไร  ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงความพอใจที่ต่างกันนั้นๆ ดังนี้ 

-ขอเดชะพระบารมีปกเกล้า 
                ข้าพระพุทธเจ้า จะรอรับพระราชทานบ้านส่วย 
                ภรรยา อยากรวยให้รับพระราชทานโคนมหนึ่งร้อย 
                ลูกชายสำออยให้ขอรับพระราชทานรถม้าอาชาไนย 
                ลูกสะใภ้อ้อนใหญ่ให้ขอรับพระราชทานอลังการดีๆ 
                นางปุณณาทาสี  คะยั้นคะยอให้ขอรับพระราชทานครกและสาก
               
 เป็นความยากล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่แล้ว  สุดแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า เถิดพระเจ้าข้า
                พระเจ้าพาราณสีทรงพระสรวล และพระราชทานให้ทุกอย่างแก่ทุกคน 
                จากเรื่องนี้แสดงว่า  ความพอใจแล้วแต่อัธยาศัยของคน  ความพอใจที่ประกาศออกมานั้นเป็นเครื่องส่องอัธยาศัย  และความพอใจของคนในบ้านเดียวกัน อยู่ร่วมร่มไม้ชายคายังต่างกัน ๕ คน เป็น ๕ อย่าง  หากกว้างกว่านั้น เป็นเมือง เป็นประเทศ เป็นโลก จะต่างกันประการไร

อนึ่ง ผู้เขียนขออนุญาตมีความเห็นเพิ่มเติมว่า นางปุณณาทาสีเป็นผู้มีความต้องการตามอัตภาพของตนถึงขนาดคะยั้นคะยอเพียงขอรับพระราชทานเพียง ครกและสาก เท่านั้น ทั้งๆที่ถ้ามีความโลภหรือไม่มีความ “พอ” เหมือนเช่นบุคคลอื่นๆแล้วจะขอพระราชทานมากกว่านั้นก็ได้ จึงเป็นบุคคลน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญเพราะเป็นผู้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เรื่องนางปุณณทาสีอาจเปรียบเทียบได้กับลูกศิษย์ที่ขงจื๊อโปรดปรานคนหนึ่งชื่อ “เหยียนหุย” ซึ่งครอบครัวจนมากอาศัยอยู่ในตรอกซอยที่เป็นสลัม ชีวิตของเขายากเข็ญ  แต่ลูกศิษย์ผู้นี้ก็มีความพอใจ ซึ่งบางคนอาจอ้างว่าความรวยความจนก็คือชีวิตและคนจนก็ต้องทนอยู่ไปวันๆ  แต่ทว่าเหยียนหุยผู้นี้ได้รับความชมชอบนับถือไม่ใช่เพราะเขาทนได้กับภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่เป็นเพราะทรรศนะของเขาต่อการดำรงชีวิตซึ่งคนทั้งหลายจะรู้สึกว่าวิถีชีวิตเช่นนี้ก็คือความยากลำบาก  แต่สำหรับเหยียนหุยแล้ว  เขารักษาทรรศนะที่เป็นรูปธรรมได้เสมอ ขงจื๊อจึงสรุปว่า บุคคลที่เป็น

ผู้เป็นเลิศ (เสียนเจ่อคือคนที่ไม่เคยให้วัตถุปัจจัยมากำหนดชีวิตของตนซึ่งทำให้เขาสามารถรักษาชีวิตอันสงบนิ่งได้

ในสังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน  หรือราชสังคหวัตถุ  ๔  คือหลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ปกครอง  
                 ๑ สัสสเมธะ  คือ พระปรีชาฉลาดในอันบำรุงที่เป็นสมบัติใหญ่ของบ้านเมือง  ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร  ส่งเสริมการเกษตร
                 ๒ สัมมาปาสะ ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ  เช่นให้คนจนกู้ยืม  บำรุงพานิชยกรรมการค้าขายอันเป็นอุบายดังบ่วงคล้องน้ำใจพวกพานิชภายในภายนอกไว้โดยชอบ  เป็นทางประกอบพระราชทรัพย์ขึ้นพระคลังและทำความมั่งคั่งสมบูรณ์แห่งพระราชอาณาเขต      
              ๓  ปุริสเมธะ  ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ  รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามรถ 
              ๔  วาชเปยะ  หรือ  วาจาเปยยะ  ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม  คือ  รู้จักพูด  รู้จักปราศรัย  ไพเราะ  สุภาพนุ่มนวล  ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์  เป็นทางแห่งสามัคคี  ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี  และความนิยมเชื่อถือ

นอกจากนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนข้อปฏิบัติสำคัญที่จะทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่า “ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน” หรือธรรมที่เป็นไปเพื่อ
 ทิฎฐธัมมิกัตถะ เรียกชื่อเต็มว่า “ทิฎฐธัมมิกัสังวัตตนิกธรรม” มีสี่ข้อด้วยกัน

๑ อุฎฐานสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต  มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง  ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินให้ได้ผลดี

๒  อารักขสัมปทา  หมายถึงความพร้อมด้วยการรักษา  คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์ทรัพย์  และ ผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม  ด้วยกำลังงานของตนไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย 

๓  กัลยาณมิตตตา  คบคนดีเป็นมิตร  คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา 

๔  สมชีวิตามีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี  มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้      
                
นอกจากนี้ยังมีหลักการจัดสรรแบ่งทรัพย์ที่ชื่อว่า “โภควิภาค ๔”  คือ การแบ่งโภคะโดยจัดสรรออกเป็น ๔ ส่วน ที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (..ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้หนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลธรรม  ดังนี้  
                
โภควิภาค  ๔  คือ การแบ่งโภคะออกเป็น  ๔  ส่วน  หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น ๔ ส่วน(Bhogavibhaga fourfold division of money)                       
         
 ๑ เอเกน โภเค  ภุญเชยฺย ๑ ส่วนใช้เลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์(On  one  part  he  should  live  and  do  his  duties  towards  others)
          
๒.-๓.  ทฺวีหิ กมฺมํ  ปโยชเย ๒ ส่วนใช้ลงทุนประกอบงาน(With  two  parts  he  should  expand  his  business)
                
๔.จตุตฺถญจ นิธาเปยฺย อีก ๑ ส่วนเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น (And he should save the fourth a rainy day)

จะเห็นได้ว่าหลักพุทธจริยธรรมทางการเงินและการคลังที่ได้อัญเชิญมาบางส่วนนี้ล้วนเป็น “อกาลิโก”  ทั้งสิ้น ถ้าจะได้นำมาปรับใช้เป็นหลักและแนวคิดในการจัดทำนโยบายการสร้างวินัยทางการคลังและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามนโยบายของรัฐบาลที่เป็นไปตามกฎอนิจจังเพราะทรัพยากรของชาติโดยเฉพาะเงินแผ่นดินที่จะนำไปพัฒนามีอยู่อย่างจำกัดและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น ถ้ามนุษย์ใช้มันด้วย “สติ” และ “ปํญญา” มี “โยนิโสมนสิการ”  ดังที่ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) อธิบายว่าคือ......การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยโดยปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้องก็จะเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลทั้งในการพัฒนาตัวมนุษย์เองและในการนำการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่จุดหมาย

ฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยและชีวิตของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่คงจะไม่ตกอยู่ความ “อัตคัดขัดสน ดังในสภาพเช่นในปัจจุบันนี้

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
////////////////////////////////////////////////////////////////////

แพ้ทุกแนวรบ !!??

โดย : นพคุณ ศิลาเณร

การถอยร่นของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในท่วงทำนองยอมลดราคาจำนำข้าวเปลือกลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน และจำกัดวงเงินเพียง 500,000 บาทต่อครอบครัว คือการทำลาย “จุดแข็ง” จำนำข้าวทุกเมล็ด ไม่จำกัดปริมาณอย่างย่อยยับ

นั่นสะท้อนถึงความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าว และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเสียหายยับเยิน

โครงการจำนำข้าวเปลือก เป็นนโยบายสร้างมวลชนคนชนบทให้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจนชนะเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 แล้วก่อเกิดรัฐบาลตระกูล “ชินวัตร” รุ่น 3 มาบริหารประเทศ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงมือทำนโยบายจำนำข้าวเปลือกราคา 15,000 บาทต่อตันได้เพียง 3 ครั้ง คือ ในฤดูข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 ข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 และข้าวเปลือกนาปี 2555/2556

ส่วนข้าวนาปรังปี 2556 ซึ่งใกล้เก็บเกี่ยว แต่รัฐบาลปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสำคัญ โดยลดราคาเหลือ 12,000 บาทต่อตัน ทำให้ชาวนาไม่พอใจ เริ่มก่อหวอดชุมนุมประท้วง เรียกร้องให้รับจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทต่อตันตามเดิม จนรัฐบาลอยู่ในอาการ “หลังผิงฝา” ไร้หนทางเดินอย่างราบรื่น

นี่เป็นการแพ้เชิงนโยบายครั้งสำคัญ อันมีสาเหตุมาจากถูกโจมตีว่า “ขาดทุน”

อันที่จริง นโยบายจำนำข้าวเปลือก เป็นมาตรการแทรกแซงราคาข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ขายข้าวได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดของพ่อค้าคนกลางรับซื้อ

เมื่อราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดข้าว ย่อมต้องขาดทุนสถานเดียว ยากจะเป็นอย่างอื่นได้

แต่การขาดทุนจำนวน 1.3 แสนล้านบาทตามข้อมูลของรัฐบาล หรือขาดทุนบักโกรกถึง 2.6 แสนล้านบาทจากการโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น

ทุกข้อมูลการขาดทุน ล้วนพุ่งตรงไปสู่เป้าหมาย “แก้ปัญหาความยากจน” ของประเทศทั้งสิ้น หากพิจารณาเม็ดเงิน 1-2 แสนล้านบาทที่รัฐบาลใช้แก้ไขความยากจนของชาวนากว่า 16 ล้านคนแล้ว ย่อมเป็นสิ่งคุ้มค่าเหนือคำบรรยายใดๆ

เพราะความยากจนเป็นทุกข์ของชาวนา และเป็นทุกข์ของชาติ การช่วยเหลือชาวนาผ่านนโยบายจำนำข้าวเท่ากับแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศ

แม้นโยบายจำนำข้าวเกิดผล “ขาดทุน” แต่เงินที่ลงสู่คนยากจนไม่เสียเปล่า เงินกว่าแสนล้านบาทล้วนถูกหมุนย้อนกลับมาสู่ระบบเศรษฐกิจตลาด และสร้างมูลค่ากลับคืนได้หลายแสนล้านบาท นี่เป็นผลทางการเมือง ซึ่งผู้นำต้องเข้มแข็ง มีจุดยืนแน่วแน่

เพราะสิ่งนี้คือ “กำไร” ที่เกิดจากผลการขาดทุนของนโยบายจำนำข้าว แต่รัฐบาลเมื่อถูกรุกทางการเมืองจากคนชั้นกลาง แล้วรวนเร ไปไม่เป็นมืดแปดด้าน จิตวิตก ยอมสูญเสียทางการเมือง สาเหตุเกิดจากผู้นำไร้จุดยืนกับคนยากจน

แล้วเมื่อถูกพรรคประชาธิปัตย์รุกกระหน่ำ โจมตีซ้ำว่า การขาดทุนเท่ากับการทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไปไม่เป็น เพราะประเด็นโกงกินเมื่ออธิบายผ่านการขาดทุนโครงการจำนำข้าวจึงเป็นรูปธรรม ทำให้สังคมคล้อยตาม สถานการณ์รัฐบาลจึงลำบาก

เมื่อแนวรบการทำงานตามนโยบายช่วยเหลือคนจนถูกตีแตกกระเจิงด้วยข้อหาโกงกิน นับประสาอะไรนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยเงิน 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานจากเงินกู้จำนวน 2.2 ล้านล้านบาทจะไม่ถูกโจมตี จนหมดความน่าเชื่อถือ

แน่นอนการโจมตีด้วยข้อหา “โกงกิน” จากนโยบายของรัฐบาลต้องดังกระหึ่มขึ้น เสียงเรียกร้องไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงมีแนวโน้มจุดติด

ย่อมเป็นธรรมดา เมื่อรัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมจากนโยบายจำนำข้าวแล้ว การเชื่อมโยงปม “โกงกิน” ไปสู่การอธิบายยุทธศาสตร์โค่น “ระบอบทักษิณ” จึงมีพลังอยู่ไม่น้อย

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในชื่อ “กลุ่มหน้ากากขาว” ชูรหัสล้มระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นจน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เกิดข้อกังขา แล้วควานหา “อักษรย่อ” ของผู้อยู่เบื้องหลังมาประจาน

ตามความเชื่อของกลุ่มหน้ากากขาวมีพื้นฐานการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ที่ “การโกงกิน” แม้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แต่รัฐบาลตาม “วิถีการเลือกตั้ง” กลับมาสร้างระบอบทักษิณเข้าแทนที่ระบอบประชาธิปไตยนั่นเท่ากับ “หมดท่า” ทางการเมือง กลายเป็นประชาธิปไตยซ่อนรูปแบบ

กลุ่มหน้ากากขาวมองว่า ระบอบทักษิณแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การล้มระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเท่ากับการสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นและมีความชอบธรรม

เพราะระบอบทักษิณติดอาวุธทุนสามานย์ มีพฤติกรรมกอบโกยผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อพรรคพวกและครอบครัวการเมือง

ด้วยวิธีคิดเยี่ยงนี้ เมื่อถูกตอกย้ำถี่ขึ้น ย่อมกลายเป็นความเคยชิน เกิดความคล้อยตาม และกลายเป็นความเชื่อฝังหัวยากต่อการสลัดทิ้ง

นี่เป็นอีกแนวรบหนึ่ง ที่เริ่มก่อรูปมาโจมตีรัฐบาลอย่างมีพลัง และบ่งบอกถึงแนวโน้มรัฐบาลกำลังแพ้ไม่เป็นท่าในอนาคต

ไม่เพียงเท่านั้น แนวรบด้านจุดยืนทางการเมืองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย แพ้อย่างหมดรูปมาแล้วในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสร้างสังคมปรองดองขึ้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 291 ถูกศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานจนรัฐบาลไม่กล้ากระดิกตัวและขยาดกับการเดินหน้าลงมติวาระ 3 ดังนั้น หนทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม รวมทั้งการพิจารณากฎหมายปรองดองฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม ในช่วงสมัยประชุม ซึ่งจะเริ่มขึ้นเดือนสิงหาคมนี้ ย่อมมองเห็นอาการ “ถอย” ของรัฐบาลอีกเช่นเคย

การแพ้ทุกแนวรบของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้น ราวกับเป็นการรักษา “จุดแข็ง” ในยุทธศาสตร์ “เลือกตั้ง” เอาไว้ เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งทำให้ “ชนะทางการเมือง” และกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง...พวกเขาคิดเพียงแค่นี้ !!?

คิดง่ายๆ เพียงว่า แนวรบการเลือกตั้งทำให้ได้ “อำนาจ” บริหารประเทศ แม้ได้คุมรัฐบาลและสภาไว้ในกำมือ แต่ไร้ศักดิ์ศรีทางการเมือง หากไม่มีจุดยืนสร้างสรรค์พลังประชาธิปไตยให้เติบใหญ่ในสังคมไทย

“อำนาจ” ที่ได้มา ย่อมหมดราคา

สิ่งนี้จึงเป็นข้อแตกต่างอย่างน่าสนใจยิ่งระหว่างระบอบทักษิณกับระบอบประชาธิปไตย และความแตกต่างเช่นนี้จึงเป็นจุดอ่อนให้ถูกรุกทางการเมือง จนตกอยู่ในสถานการณ์ “แพ้ทุกแนวรบ” ในปัจจุบัน

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////