--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ฟังชัดๆ ทุจริต ระบายข้าวในประเทศ ใครจริง-เท็จ !!?




ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2.525 ล้านบาท ช่วงหัวค่ำวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

บรรยากาศเต็มไปด้วยความตรึงเครียด เมื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยสร้างวีรกรรมครั้งใหญ่ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เกี่ยวกับปัญหาความไม่ชอบมาพากล การระบายข้าว แบบ รัฐ ต่อรัฐ หรือ จีทูจี ถึงคิวลุกขึ้นอภิปราย

พร้อมนำเอกสารหลักฐานความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวสต็อกรัฐบาล มาแสดงต่อสภาฯ ผู้แทนราษฎรอีกครั้ง

นพ.วรงค์ ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลจะมาขอเงินเป็นแสนล้านบาท ไปทำโครงการรับจำนำต่อ แต่เมื่อไปตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานโครงการนี้ โดยเฉพาะการระบายข้าว ก็พบหลักฐานการกระทำผิดชัดเจน คนที่รวยจากโครงการนี้ มิใช่ชาวนา แต่กลายเป็นกลุ่มนายทุนผู้ขาดข้าว ที่ร่วมมือกับนักการเมืองที่มีอำนาจ ใครจะยอมให้เงินรัฐบาลไปทำโครงการที่ไม่ดีแบบนี้อีก

“ เรื่องนี้อยากให้ทุกคนตั้งใจฟังให้ดี ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ฝ่ายค้าน หรือเพื่อนส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ถ้าท่านตั้งใจฟังจะเข้าใจ และมาร่วมมือกับผม ในการคว้า ร่าง พรบ.ฉบับนี้ ”

นพ.วรงค์ กล่าวย้ำหลายครั้งว่า ถึงเวลาแล้วที่จะแสดงพลัง ต่อต้านทุนสามานย์ข้าว ให้หมดไป

ก่อนจะเริ่มต้น อภิปรายว่า การระบายข้าวของรัฐบาล มี 4 รูปแบบ คือ 1. รัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 2. ขายให้กับผู้ประกอบ 3. ขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอแฟด) และ 4. นำไปบริจาค ทำข้าวถุง

ในส่วนของการระบายข้าวจีทูจี มีข้อมูลหลักฐานปรากฏชัดเจนแล้วว่า ข้าวไม่ได้มีการส่งออกไปนอกประเทศจริง แต่วนเวียนอยู่ในประเทศ อยู่ในมือของ เสี่ยเปี๋ยง ผู้ใกล้ชิดคนจากแดนไกล ตัวละคร ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีทั้งลูกน้อง ส.ส. และคนใกล้ชิดเสี่ยเปี๋ยงเอง

ขณะที่การเข้ามาซื้อข้าวของ บริษัท จีเอสเอสจี ส่อว่าจะมีปัญหาการฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพ.ร.บ.การค้าข้าว

(อ่านประกอบ : ดูกันจะๆ หลักฐาน “มัด” ระบายข้าว "จีทูจี" (จีเจี๊ยะ - จีโจ๊ก- จีghost) รัฐบาลยิ่งลักษณ์)

ส่วนข้อมูลล่าสุด ที่จะนำมาเปิดเผยในครั้งนี้ คือ การระบายข้าวในประเทศให้กับผู้ประกอบการ

พร้อมระบุว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีความใกล้ชิดกับ “เสี่ยเปี๋ยง” ผู้มากบารมี ในวงการค้าข้าวอีกแล้ว

นายแพทย์วรงค์ ได้โชว์เอกสารชิ้นแรก เป็นใบเสร็จขายข้าวของอคส. ที่ออกให้กับ โรงสีโชควรลักษณ์ รุ่งเรืองกิจ ในราคาที่ ตันละ 5,700 บาท


(ดูหลักฐานประกอบ)



ก่อนจะขยายความว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ขายข้าวขาว 8 แสนกิโลกรัม ราคาตันละ 5,700 บาท ให้แก่โรงสีโชควรลักษณ์ รุ่งขึ้น วันที่ 22 ธันวาคม 2554 โรงสีโชควรลักษณ์นำขายข้าวไปขายต่อแก่โรงสีแห่งหนึ่งที่ จ.กำแพงเพชร ในราคาตันละ 12,000 บาท โดยใช้แฟกซ์โอนใบมอบอำนาจแค่ใบเดียวราคา 5 บาท แต่ฟันกำไรถึง 6,300 บาทต่อตัน และเป็นการขายก่อนที่จะได้ข้าวมาจากรัฐบาล

“ตอนแรกผมคิดว่าเรื่องนี้ เกิดขึ้นในยุคนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่การขายข้าวดังกล่าว เกิดขึ้นในยุคที่นายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และโดยส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่า คนอย่างนายกิตติรัตน์ ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมาย จะไม่ฉลาดพอที่จะไม่รู้เรื่องพวกนี้”

พร้อมระบุว่า เท่าที่ทราบมีการขายแบบนี้หลายครั้ง เม็ดเงินที่สะพัดในจังหวัดกำแพงเพชร มีไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

เหตุผลที่มีการขายข้าวให้โรงสีโชควรลักษณ์ ในราคาต่ำเช่นนี้ได้ นพ.วรงค์ ระบุว่า เป็นเพราะเจ้าของโรงสีแห่งนี้ชื่อ “เสี่ยเปี๊ยก” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด “เสี่ยเปี๋ยง” ที่เป็นนายทุนผูกขาดการค้าขายรายใหญ่และมีความใกล้ชิดนายใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ

ก่อนจะโชว์เอกสารสำคัญชิ้นที่สอง คือ หนังสือสัญญา นาปรัง ไซโล อคส. 1/2555 ซึ่งเป็นสัญญาเช่าไซโลระบบควบคุมบรรยากาศเพื่อจัดเก็บรักษาข้าวสาร (โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555)

ทั้งนี้ ในสัญญาดังกล่าว เป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง พันตำรวจตรี ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผอ.อคส. "ผู้เช่า" กับนายเอนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ “ผู้ให้เช่า”

ในหนังสือสัญญาดังกล่าว ระบุว่า ผู้เช่าตกลงเช่าและผู้ให้เช่าไซโล ระบบรวบคุมบรรยากาศของผู้ให้เช่นจำนวน 24 ถัง ปริมาณความจุรวมทั้งสิ้น 288,000 ตัน เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวสารที่สีแปรสภาพจากข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ที่ผู้เช่าสั่งให้โรงสีส่งมอบ

โดยปรากฏชื่อ เคทีบี ไซโล ตั้งอยู่เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ในสัญญาดังกล่าวด้วย

(ดูหลักฐานประกอบ)



นายแพทย์วรงค์ กล่าวอ้างด้วยว่า เป็นที่รู้กันในวงการว่า เคทีบี ไซโล เป็นไซโลของ เสี่ยเปี๋ยง ในอดีตใช้ชื่ออื่น ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้

“ตอนแรกผมก็ไม่รู้ข้อมูลนี้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่อคส.รายหนึ่ง เอาเอกสารฉบับนี้ มาให้ พอเห็นแล้วก็ถึงได้เข้าใจว่า ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด เสี่ยเปี๊ยก กับ เสี่ยเปี๋ยง สองเสี่ย ป. นี่ แท้จริงแล้วมีความใกล้ชิดกัน และอาจเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ทำไม เสี่ยเปี๊ยกถึงสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ต่ำและนำไปขายต่อทำกำไรได้จำนวนมาก

ตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร จากบริการสอบถามข้อมูล 1133 ได้รับแจ้งว่า เป็นสถานที่ตั้ง บริษัท เคทีบีไซโล จำกัด

ข้อมูลจากการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด แจ้งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 ทุน 750,000,000 บาท ประกอบธุรกิจ ไซโลเก็บพืชผลทางการเกษตร ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เลขที่ 48/7-8 ซอยรัชดาภิเษก 20 ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

ปรากฏชื่อ นางสาว เรืองวัน เลิศศลารักษ์ และนางรัตนา แซ่เฮ้ง เป็นกรรมการ

นางสุดา คุณจักร ผู้ถือใหญ่ บริษัท สยามอินดิก้า ถือหุ้นใหญ่อยู่

จากการตรวจสอบพบว่า เดิมที่บริษัทแห่งนี้ มีชื่อว่า บริษัท สยามธัญรักษ์ ไซโล ปรากฏชื่อ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นผู้ก่อตั้ง

(ดูหลักฐานประกอบ)



มีทุน 100 ล้าน ตั้งอยู่ที่ 557/1 ซอยสุทธิพร ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจ มีผู้ถือหุ้น 7 คน นายอภิชาติ ถือหุ้นใหญ่สุด

ก่อนที่จะมีการแจ้งเปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ และกรรมการหลายหน รวมถึงการเพิ่มทุนเป็น 750 ล้านบาท

ขณะที่ นายอภิชาติ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 และโอนหุ้นไปให้คนใกล้ชิดถือครองแทน

จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 บริษัทฯ ได้แจ้งเพิ่มที่ตั้งสำนักงานอีกแห่งหนึ่ง คือ 23/3หมู่ที่3 ถนนบางมูลนาก -ตะพานหิน ตำบลหอไกร อ.บางมูลนาก พิจิตร อีกแห่งหนึ่ง

โดยที่ตั้งดังกล่าว อยู่ใกล้เคียงกับ เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเช่าไซโล ระหว่าง อคส. กับ นายอเนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ตามเอกสารที่นายแพทย์วรงค์นำมาเปิดเผย


สำหรับ หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 มีหุ้นส่วน3 คน นายเอนก ฉัตรไชยศิริ นางสุมาลี. ฉัตรไชยศิริ และนางสาววราภรณ์ ฉัตรไชยศิริ สำนักงานตั้งอยู่ที่ 145 หมู่ที่ 9 ตำบลโพตลาดแก้ว. อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี แจ้งประกอบกิจการโรงสีข้าว และค้าข้าว

เดิมที่มีทุน 5 ล้านบาท ก่อนจะปรับเพิ่มเป็น 100 ล้าน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 โดย นายอเนก ลงหุ้นด้วยเงิน 60 ล้าน ส่วนนางสุมาลี และนางสาววราภรณ์ลงหุ้นด้วยเงิน คนละ 20 ล้าน



ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 หจก.ฯ แจ้งทำเรื่องขอแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ ขอประกอบกิจการให้บริการในการบริหารจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้า ปรับปรุงข้าว และบรรจุ

จากการตรวจสอบพบว่า นาย เอนก ฉัตรไชยศิริ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 3 แห่ง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โชควรลักษณ์ ค้าข้าว บริษัท กนก เมทัลแลนด์ จำกัด บริษัท กู๊ด ไรซ์ อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด

แต่เลิกกิจการไปหมดแล้ว

ไม่ปรากฏข้อมูลความเขื่อมโยงกับ คนบริษัทในเครือข่าย สยามอินดิก้าแต่อย่างใด

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า นายเอนก ฉัตรไชยศิริ นำสิทธิ์อะไรมาลงนาม ให้ อคส. เช่าไซโล ของบริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด ในเครือข่ายเสี่ยเปี๋ยง เก็บข้าวจำนวน 2.8 แสนตัน หลายแสนตัน และเรียกเก็บค่าเช่าได้จำนวนหลายล้านบาทต่อเดือนแบบนี้


ล่าสุด ได้รับการยืนยันจาก นายเอนก ฉัตรไชยศิริ หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจว่า ข้อมูลที่นายแพทย์วรงค์นำมาอภิปราย ไม่ใช่ความจริง เป็นการจับแพะชนแกะ

“ผมเข้าไปประมูลข้าวตามปกติ ข้าวกองนี้เป็นข้าวเก่า ปี 2549-50 ซื้อมาได้ในราคาต่ำเพราะเป็นข้าวที่มีสภาพไม่ดี แต่ที่สำคัญที่สุดมันเป็นข้าวลม ไม่มีอยู่จริง เพราะโรงสีที่เก็บข้าวนี้ ไว้เอาข้าวออกไปขายก่อนแล้ว เมื่อผมประมูลมาได้ เขาก็กลัวคดีความ ก็เลยมาขอซื้อต่อในราคาตันละ 12,000 บาท”

“ต่อมาภายหลังจากที่มีปัญหาเกิดขึ้น ผมก็ได้ยกเลิกการซื้อข้าวกองนี้ไปแล้ว หากสื่อมวลชนไม่เชื่อขอให้ไปสอบถามข้อมูลจาก อคส.ได้ เขามีบันทึกไว้หมดเลยว่า ข้าวกองไหนมีปัญหา กองไหนเป็นลมบ้าง แต่แล้วมามีเรื่องแบบนี้ เขามาแทงหลังผม ”

ส่วนกรณีที่ปรากฏชื่อของตน ในเอกสารให้เช่าไซโล กับอคส. และมีการระบุข้อมูลว่า ไซโล นี่เป็นของ บริษัทเคทีบี ของเสี่ยเปี๋ยง นายเอนก ยืนยันว่า “ผมไปเช่าโกดัง นี้ มาจากธนาคารกรุงไทย เพราะเจ้าของเดิมมีหนี้อยู่ เช่ามาเกือบปีแล้ว ผมก็ทำธุรกิจของผม ไม่ได้มีอะไรเลย ไปเช็คประวัติผมดูได้ว่าเป็นอย่างไร”

เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป นายเอนก ตอบว่า "คงจะไม่ทำอะไรอีกแล้ว เพราะทำธุรกิจอยู่ดีๆ ไม่คิดว่าจะต้องมาเจอปัญหาอะไรแบบนี้ กลายเป็นแพะ เป็นจำเลยของสังคม ตอนนี้มีความคิดจะปิดกิจการแล้ว ไม่ทำต่อแล้ว ถอนตัวอำลาวงการข้าวไปเลยดีกว่า”

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่า ตนเชื่อมั่นในข้อมูลที่ตรวจสอบมาได้ เพราะมีการยืนยันจาก โรงสีเป็น 10 แห่ง ว่า เสี่ยเปี๊ยก คือ มือขวาในวงการค้าข้าวของ เสี่ยเปี๋ยง

“ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ราคาข้าวเก่า ไม่ว่าจะเสื่อมสภาพขนาดไหน ก็ขายอยู่ที่ตันละ 8,000 –9,000 บาท การขายในราคาตันละ 5,700 บาท เป็นราคาที่ต่ำเกินไป ส่วนที่อ้างว่า ขายข้าวให้โรงสีไปในราคาสูง เพราะโรงสีต้องการจะนำไปปกปิดหลักฐานเรื่องสต็อกลม ถ้ามั่นใจในข้อมูลก็ควรจะต้องรีบชี้แจง และต่อสู้ ไม่ใช่คิดที่จะปิดกิจการหนีแบบนี้”

นายแพทย์วรงค์ ยังกล่าวถึงเรื่องการเช่าไซโล บริษัท เคทีบี ว่า จากการสอบถามข้อมูลกับนายธนาคารหลายคน ได้รับการยืนยันว่า ต่อให้บริษัทเคทีบี เป็นหนี้สถานบันเงินกู้อยู่เท่าไร กรรมสิทธิ์ของไซโล ก็ยังเป็นของบริษัทเคทีบีอยู่ ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าแท้จริงแล้วบริษัทแห่งนี้เป็นของใคร

“คุณจะมาบอกว่า ไปเช่าจากธนาคารกรุงไทย แล้วบริษัทเคทีบีไม่รู้เรื่องด้วยมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเสี่ยเปี๊ยกไม่ได้มีความสนิทสนมกับ เสี่ยเปี๋ยง เขาจะยอมให้ไปเช่าโกดังรับฝากข้าวจำนวนมากแบบนี้หรือ” นายแพทย์วรงค์ระบุ

นี่คือ ข้อเท็จจริงจาก 2 ด้าน ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นหนังคนละม้วน

ส่วนใครจะพูดความจริงหรือพูดเท็จ คงต้องจับตาดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตา?

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
------------------------------------------------------

ศ.ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงค์ ชี้นโยบายประชานิยมยุค รบ.ปู เริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นแล้ว !!?

ศ.ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงค์  วิเคราะห์ความต่างนโยบายประชานิยมยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชี้รุ่นน้องสาวมือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นมากขึ้น ย้ำชัดจำเป็นต้องกำกับให้มือล้วงถูกกระเป๋า ขณะที่ ดร.อัมมาร มองประชานิยมทำให้การเมืองไทยถูกลง สังคมเปลี่ยน คนไทยแบมือขอรอจากรัฐบาล

 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)  จัดเสวนาสาธารณะครั้งที่ 2 “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง”  ภายใต้โครงการเสวนาสาธารณะ ‘เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้’ (Economy of Tomorrow) ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  เพื่อทบทวนชวนคิดเรื่อง ‘ประชานิยม’ ในเศรษฐกิจการเมืองไทยว่า 12 ปีผ่านไป นับตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมบ้าง

วิทยากรประกอบด้วย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์  นักวิชาการอิสระ, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbook

เริ่มต้นศ.ดร.นิธิ กล่าวถึงนิยาม “ประชานิยม”  ในเมืองไทยว่า ค่อนข้างให้ความหมายจำกัดเกินไป  พร้อมสรุปลักษณะประชานิยมที่สำคัญ คือ เอาใจประชาชนระดับล่าง กำปั้นเล็ก เสียงเยอะ โดยวิธีเอาใจก็ทำได้ทั้ง ขวาจัด หรือซ้ายจัด เผด็จการก็ได้ ประชาธิปไตยก็ได้ ตราบใดยังเอาใจประชาชนเพื่อการสนับสนุน

“ยุคหลังของนโยบายประชานิยม ที่พบเห็นเสมอ คือ กระจายทรัพยากรไปถึงประชาชน ถึงมือคนระดับล่างในรูปแบบใดก็ได้ เช่น การทำกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น”

ทำนโยบายประชานิยม มือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่น

ศ.ดร.นิธิ  กล่าวถึงนโยบายประชานิยมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จำนำข้าวทุกเมล็ด 15,000 บาท เริ่มล้วงไปกระเป๋าคนอื่นแล้ว ดีไม่ดียังไม่พูดถึง

“ความแตกต่างสำคัญระหว่างนโยบายประชานิยมยุคทักษิณ กับยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์  คือ  มือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นมากขึ้น  ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างพลังขึ้นมากำกับมือนั้น หรือสอนมือนั้นให้ล้วงให้ถูกต้อง ล้วงเอาไปใช้ในทางที่ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น”  นักวิชาการอิสระ  กล่าว และพร้อมกับเห็นว่า นโยบายประชานิยม เหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ นโยบายประชานิยมทุกประเภทจะมีเชื้อนำเราไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จได้  หากเราไม่เอาใจใส่ความเป็นธรรม ความชอบธรรมของอำนาจ

ส่วนนโยบายจำนำข้าว ศ.ดร.นิธิ  กล่าวว่า  “ทำก็ได้ ไม่ได้เสียหายมากมาย หากเริ่มต้นด้วยการระมัดระวังเรื่องการโกง การระบายข้าวออก แม้จะทำให้รัฐบาลขาดทุนแน่ แต่เป็นไรไปหากขาดทุน”

อัมมาร ย้ำชัด ประชานิยมทำให้การเมืองไทยถูกลง

ขณะที่ ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเชิงเศรษฐกิจ เสน่ห์ของประชานิยมตั้งแต่ยุคทักษิณ ถือว่า เป็นนโยบายระดับชาติที่เอาใจประชาชน ก่อนหน้านั้นนักการเมืองไทย มีแค่ประชานิยมระดับพื้นที่ เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา

“แต่ประชานิยมยุคทักษิณ เป็นนวัตกรรม ด้วยการรวบรวมนโยบายต่างๆ มาทำเป็นระดับชาติ และทำให้ประชาธิปไตยก้าวขั้นไปอีกจุดหนึ่งในทางที่ดีขึ้น โดยสัญญากับประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งมา ทักษิณก็ทำตามที่สัญญาไว้เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงรับผิดชอบต่อสัญญาที่ให้ไว้” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว และว่า ที่ค้านประชานิยมมาโดยตลอดนั่นก็คือรับผิดชอบเพียงครึ่งเดียว พูดว่า มีคนได้ แต่ไม่มีการพูดถึงข้อเสียของประชานิยม

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงพรรคฝ่ายค้านอีกว่า ก็อ่อนแอเกินไปที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงในระหว่างการหาเสียง โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แย่มาก ที่ทุกพรรคการเมืองแข่งกันออกนโยบายประชานิยม เหมือนแม่ค้าเอาของมาเร่ขาย วางกับดิน

"ผมไม่ชอบประชานิยมแบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะทำให้ “การเมืองถูกลง”  ทุกคนพูดกับประชาชนจะได้อันนั้นอันนี้ คนไทยเลยคิดว่า ฉันจะได้อะไรจากรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่ได้พูดกับประชาชนจะทำอะไรให้สังคมโดยรวมบ้าง ทั้งๆ ที่ประชานิยมที่ฉลาดต้องไม่ทิ้งส่วนไหนเลยของสังคม"

จำนำข้าว เอื้อประโยชน์ชาวนาระดับบน โรงสี

ส่วนนโยบายจำนำข้าวนั้น นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในบางโอกาสอาจเห็นด้วย แต่ระบบที่สร้างขึ้นมาปัจจุบันนั้น เป็นระบบที่เอื้อชาวนาระดับบน และบังเอิญชาวนาระดับล่างได้ด้วย ถือเป็นอานิสงส์  ขณะที่คนจำนวนมาก เช่นโรงสี ได้ประโยชน์ และกลายเป็นตัวประกอบสำคัญในระบบการเมืองท้องถิ่น จึงถือเป็นการบริหารจัดการที่ชาญฉลาดของรัฐบาลยุคนี้

“หากรัฐบาลของทักษิณ มีนโยบายชัดเจน สิ่งที่ทำ คือ การเจาะจงนโยบายประชานิยมไปให้คนยากจน  คนพิการ คำนึงถึงคนอ่อนแอที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจก่อน แทนคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว อย่างเช่น จำนำข้าว ชาวนาที่มีฐานะดี ซึ่งเป็นส่วนน้อย (ผลิตข้าวได้เป็นส่วนใหญ่) แต่กลับได้ส่วนแบ่งส่วนใหญ่ที่รัฐบาลโปรยไปให้ ผมถือว่าเป็นการออกแบบนโยบายที่ผิดพลาด”  ศ.ดร.อัมมาร กล่าว และว่า  ตลาดข้าว ครึ่งหนึ่งเป็นตลาดส่งออก หากไม่มีการส่งออกข้าว จะมีข้าวในประเทศเหลือบานตะไท ข้าวจำนวนมากที่ผลิตออกมาเพื่อให้เน่าในโกดัง เหล่านี้ รัฐบาลไม่คิดแก้ตั้งแต่ต้น เพราะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ของพ่อค้าข้าวกลุ่มเดียว สร้างล็อบบี้ทางการเมืองที่มีพลังอยู่ในใจกลางของรัฐบาล

ทั้งนี้ ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงการสร้างความรู้สึกของคนไทยให้เกิดขึ้นกับเงินที่รัฐบาลนำมาใช้ทำนโยบายประชานิยมด้วยว่า ประชาชนทุกคนต้องทราบ ต้องแค้น เวลามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเงินสาธารณะ

ขณะที่ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงประชานิยมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างความสามารถให้กับประชาชน หรือภาคธุรกิจเลย โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมรุ่นที่ 2 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งด้อยคุณภาพ และมีปัญหามาก

“ รถคันแรก นโยบายลด แลก แจก แถม ที่มีปัญหามาก เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองนักลงทุนญี่ปุ่น ธุรกิจยานยนต์ข้ามชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ต่างจากนโยบายประชานิยมรุ่นแรก (ยุคทักษิณ) ฐานกว้าง  ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ที่สร้างขีดความสามารถให้กับประชาชน ขณะที่โอท็อป ก็สร้างความสามารถให้ธุรกิจชุมชน  ผมจึงไม่เรียกนโยบายประชานิยม”

สุดท้าย ดร.เกษียร กล่าวถึงปัญหาแท้จริงของประเทศไทย ไม่ใช่ “นโยบายประชานิยม” แต่คือ “การเมืองแบบประชานิยม”  อำนาจนิยม โดยนโยบายจำนำข้าว รถคันแรก ฯลฯ นโยบายเหล่านี้เป็นปัญหาเพราะเข้าไปอยู่ในการเมืองแบบประชานิยม หากเราไม่แก้ตรงนี้ ก็แตะไม่ถูกจุด

ดร.เกษียร  กล่าวถึงปัญหาการเมืองแบบประชานิยม ปิดแคบ ขีดเส้นจำกัดมาก ฉะนั้นกระบวนการต้องเปิดให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม มีพื้นที่ให้ทะเลาะกันในเชิงนโยบาย

“ หากแก้ปัญหานโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจำนำข้าว รถคันแรก ไม่ใช่นั่งทะเลาะเรื่องนโยบาย แต่ต้องฟันลงไปที่การเมืองแบบประชานิยม  แก้การเมืองประชานิยมด้วยการที่ฝ่ายต่างๆ ต้องวาง ซึ่งหากไม่เปลี่ยนตรงนี้ เราจะไม่สามารถเปิดให้คนต่างๆ เข้ามาถกเถียงได้”

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
-------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ของจีนสร้างเมืองใหม่ ส่งอิทธิพลต่อโลกในศตวรรษ ที่ 21 !!??

คอลัมน์ คิดนอกรอบ

เมื่อไม่นานมานี้ Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อโลกในศตวรรษที่ 21 คือการสร้างเมืองใหม่ของจีน และการพัฒนาเทคโนโลยี่ขั้นสูงในสหรัฐอเมริกา

เมื่อจีนตัดสินใจเปิดประเทศก้าวสู่โลกาภิวัตน์ นักลงทุนจากนานาประเทศต่างหลั่งไหลเข้าไปลงทุน จนมีคำกล่าวว่า "ถนนทุกสายมุ่งสู่จีน" ส่งผลให้จีนมีสภาพเป็นดั่ง "โรงงาน" ของโลกเศรษฐกิจ ติดปีกทะยานจนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

ปัจจุบันวงล้อเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จีนจึงไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกเหมือนเช่นที่ผ่านมา

"มังกรที่ยิ่งใหญ่อย่างจีน จึงต้องวางแผนเปลี่ยนโฉมรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์สำคัญคือการสร้างเมืองใหม่ โดยถือเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญแห่งทศวรรษของจีน"

การสร้างเมืองใหม่ของจีนมีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหลายร้อยล้านคน

การสร้างเมืองในรูปแบบใหม่ คือการผลักดันการพัฒนาความเป็นเมืองอย่างมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพของความเป็นเมือง ลดช่องว่างระหว่างคนในชนบทและคนเมือง

"ที่สำคัญที่สุดนั้น คือการสร้างเมืองใหม่จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่สุดในการก่อให้เกิดการกระตุ้นอำนาจซื้อภายในประเทศ การจ้างงาน เกิดอุปสงค์ และนำมาซึ่งธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งด้านการค้า อสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นพลังผลักดันให้เศรษฐกิจจีนทะยานไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนนับจากนี้เป็นต้นไป"

นอกจากนี้ จีนยังถือว่าการสร้างเมืองใหม่ เป็นเรื่องของการประกาศความยิ่งใหญ่ของจีนต่อชาวโลก ดังตัวอย่าง การสร้างเมือง "ผู่ตง" สะท้อนถึงปรัชญาของ "เหมา เจ๋อ ตุง" ที่ว่า "ลมตะวันออกสามารถเอาชนะลมตะวันตก" ทำให้นานาประเทศเห็นว่า แม้แต่เมืองแมนฮัตตันที่ว่าโด่งดังของสหรัฐอเมริกา ก็ยังสู้ "ผู่ตง" ของมังกรจีนไม่ได้

"เพราะจีนได้สร้างผู่ตง (Pu Dong) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำหวงผู่ ของนครเซี่ยงไฮ้ ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจของเซี่ยงไฮ้และจีน ซึ่งเดิมทีพื้นที่บริเวณนี้เป็นเพียงหมู่บ้านชาวนา โกดังเก็บสินค้า"

เขตเมืองใหม่ผู่ตง มีพื้นที่ทั้งหมด 1,210 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 4.12 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรนครเซี่ยงไฮ้ ผู่ตงมีลักษณะตามภูมิศาสตร์เป็นสามเหลี่ยม ด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำหวางผู่ ด้านตะวันตกติดกับปากแม่น้ำแยงซีเกียง และยังเป็นจุดศูนย์กลางของท่าเรือสำคัญของประเทศจีน ที่ซึ่งแม่น้ำแยงซีเกียงไหลลงทะเลจีน อันเป็นดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์

สามารถขยายการค้าไปยังประเทศที่อยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิก และประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วได้อีกด้วย เขตผู่ตงไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของย่านศูนย์กลางการเงิน ท่าเรือ เขตพัฒนาอุตสาหกรรมจินเฉียวและจางเจียงเท่านั้น แต่จะเป็นที่ตั้งของเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนท่าเรือน้ำลึกหยางซาน ซึ่งจะทำให้ผู่ตงกลายเป็นศูนย์รวมแหล่งอุตสาหกรรมการค้าและการเงินสำคัญแห่งใหม่ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของจีน

รัฐบาลจีนใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีในการเนรมิตผู่ตงให้กลายเป็นเมืองใหม่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจีนระดมทรัพยากรจากทั่วโลก เชิญชวนวิศวกร สถาปนิกชั้นนำของโลก มาช่วยกันสร้างสรรค์ออกแบบอาคารสูง ในสไตล์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม และเชิญบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงของโลกในด้านต่าง ๆ ทั้งสถาบันการเงิน ประกันภัย น้ำมัน ฯลฯ เข้ามาลงทุน มีระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน ถนน 8 เลน สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

ผู่ตงวันนี้จึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนแสนยานุภาพของจีนและความทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายการสร้างเมืองใหม่ของจีน ก็มิใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าการสร้างเมืองของจีนก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ อาทิ สร้างเสร็จแล้วไม่มีคนอยู่ หรือบางเมืองมีการย้ายคนออกไปแล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างหรือพัฒนา เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะความเป็นเมืองไม่ได้หมายถึงจำนวนประชากร หรือขนาดของพื้นที่เท่านั้น หากยังต้องพัฒนาด้านอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ การจ้างงาน โดยเฉพาะการจะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีงานทำ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสั่งการได้ ดังนั้น การสร้างเมืองนี่จึงเป็นสิ่งท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากของจีนอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การสร้างเมืองใหม่ในอดีตที่ผ่านมา อาจจะเป็นบทเรียนที่ดีต่อจีนในเวลานี้ ดังนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ดูเหมือนว่ามังกรจีนจะไม่เน้นเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงตัวเลขเท่าใดนัก

"แต่จะเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นแกนหลัก เพื่อนำไปสู่สังคม "เสี่ยวคัง" หรือ "สังคมที่กินดีอยู่ดีอย่างทั่วหน้า""

ดังนั้น เราจึงได้เห็นการให้น้ำหนักของการสร้างเมือง เปลี่ยนจากเมืองใหญ่มาสู่การสร้างเมืองในรูปแบบใหม่ เป็นเมืองในชนบทมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก และจะมีอิทธิพลในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วย

นอกจากนี้ เมืองในรูปแบบใหม่ยังคงดำรงไว้ซึ่งอารยธรรมของสังคมเกษตรกรรม การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองในรูปแบบใหม่ ต้องไม่เป็นการทำลายนโยบาย "3 เกษตร" (ชุมชนเกษตร การเกษตร และเกษตรกร) หากแต่ต้องมีผลต่อการแก้ไขปัญหา "3 เกษตร" เพื่อให้ประชาชนจีนที่เป็นเกษตรกรกว่า 700-800 ล้านคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

และการสร้างเมืองใหม่ในทศวรรษนี้จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรของจีนให้ทันสมัย คือต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การจัดการที่สมัยใหม่ รวมถึงต้องแก้ปัญหากฎหมายที่ดิน เพื่อที่จะเอาที่ทำการเกษตรเข้ามารวมเป็นผืนใหญ่ มาทำภาคเกษตรสมัยใหม่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการท้าทายให้เข้าไปมีบทบาทในการร่วมกับภาครัฐของจีน ดำเนินโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมทันสมัยหลายแห่ง ผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่จีนต้องการก็คือความอยู่รอดของประเทศชาติ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็ทำให้อดที่จะเหลียวดูประเทศไทยของเราไม่ได้ ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะไม่มีนโยบายการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ที่ชัดเจนเช่นประเทศจีน

หากในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต นอกเหนือจากการพึ่งพาการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนต่างประเทศแล้ว เราเลือกที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กต์เท่านั้น

"อย่างล่าสุด โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งทั่วประเทศ ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร จะพัฒนาประเทศได้อย่างที่กล่าวไว้หรือไม่
  
    โดย ดร.สารสิน วีระผล รอง กก.ผจก.ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------------------------

โฆสิต มอง กนง.ลดดอกเบี้ยตอบสนองตัวเลขเศรษฐกิจระยะสั้น !!?

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ในฐานะอดีตรองนายกรฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 2.50 ว่า เป็นเรื่องของการตอบสนองตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้น

หลังจากในไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยว่าอยู่ในช่วงขาลง

อย่างไรก็ตามมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นเพียงความเชื่อว่าจะสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าหลายประเทศมีการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำ ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ซึ่งการดำเนินนโบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ จะเกิดความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวได้

นอกจากนี้  ยังมองอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะมีผลต่อการออมของประเทศให้ลดลง เนื่องจากผลตอบแทนไม่สร้างแรงจูงใจในการออม โดยในอนาคตจะมีปัญหาได้ ดังนั้นการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลของกนง.หรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้งก่อน

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสายการบินมากนัก เนื่องจากสายการมีการดำเนืนธุรกิจโดยอิงค่าดอลลาร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ได้ส่งผลดีต่อต้ยทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่มีต้นทุนถึงร้อยละ 30-35 ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด รวมถึงลดต้นทุนด้านอุปกรณ์สำนักงาน และอุปกรณ์ภาคธุรกิจการบิน

ที่มา : สำนักข่าวไทย
----------------------------------

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน !!?

alt

IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีน ฉุดราคาน้ำมันดิ่งลง
เวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน ก.ค.ปรับลดลง 1.88 เหรียญฯ ปิดที่ 93.13 เหรียญฯ ส่วนเบรนส่งมอบเดือน ก.ค.ปรับลดลง 1.8 หรียญฯ ปิดที่102.43 เหรียญฯ

-  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การเจริญเติบโตเศรษฐกิจจีนในปี 2556 ลงจาก 8% สู่ระดับ 7.75% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก สอดคล้องกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจีนลงเช่นกันจากระดับ 8.5% สู่ 7.8% ในปี 2556 และลดลงจากระดับ 8.9% เหลือ 8.4% ในปี 2557 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง

- สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐ (API) ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปิด ณ วันที่ 24 พ.ค. 56 ปรับเพิ่มขึ้น 4.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบที่คุชชิ่งปรับเพิ่มขึ้น 300,000  บาร์เรล ส่วนน้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลและน้ำมันดีเซลคงคลังเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ

- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดแรงงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความเป็นไปได้ในการปรับลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯก่อนกำหนดมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกดดันสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ต่อจากนี้ไป

-/+ การประชุมกลุ่มโอเปกที่จะมีขึ้นในวันศุกร์นี้ที่ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นักวิเคราะห์และตัวแทนจากกลุ่มประเทศโอเปกหลายคนได้คาดการณ์ว่าที่ประชุมจะมีมติให้คงปริมาณการผลิตของกลุ่มไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไป เนื่องจากระดับราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ระดับ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล อยู่ในระดับที่กลุ่มโอเปกยอมรับได้

+ สถานการณ์ความไม่สงบในซีเรียมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นแม้จะมีความพยายามจากสหรัฐฯและรัสเซียที่จะจัดให้มีการประชุมเพื่อหาทางออกในเดือนมิ.ย. อย่างไรก็ตามล่าสุดรัสเซียได้ออกมาประณามมติของสหภาพยุโรปที่จะไม่ต่ออายุสนธิสัญญาห้ามขนถ่ายอาวุธให้กับกลุ่มกบฏซีเรีย โดยรัสเซียเตรียมที่จะส่งขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน S-300 และอาวุธอื่นๆ ไปยังซีเรียเพื่อยับยั้งการแทรกแซงของต่างประเทศ

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากอินเดียและการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในอินเดีย ช่วยหนุนไม่ให้ราคาปรับลดลงมากนัก

ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไป เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนจากตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมทั้งน้ำมันดีเซลคงคลังในญี่ปุ่นที่ปรับลดลง

ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ คาดว่าเบรนท์จะอยู่ที่กรอบ 98 - 106 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนเวสต์เท็กซัสที่ 90 -98 เหรียญ ติดตามจีดีพีไตรมาส 1(ครั้งที่2) ยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขายและยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่
วันพฤหัส: จีดีพีไตรมาส 1(ครั้งที่2) ยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขายและยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน
วันศุกร์: อัตราว่างงานและดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตเมืองชิคาโก ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ ม. มิชิแกน (Revised)
วันเสาร์: ดัชนีภาคการผลิตโดยทางการจีน

- ติดตามการประชุมกลุ่มโอเปกที่จะจัดขึ้น ณ นครเวียนนา ประเทศออสเตรียว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยรวมของกลุ่มที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบดูไบให้อยู่ในระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือไม่

  - ติดตามปฎิกิริยาตอบสนองของตลาดต่อคำแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯว่ามีโอกาสที่จะลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรหรือยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากตลาดแรงงานและตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

- จับตาสถานการณ์ความไม่สงบในซีเรียที่ยังมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีความพยายามจากสหรัฐฯและรัสเซีย เรียกร้องให้ซีเรียส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าวซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเจนีวาในเดือนมิ.ย.นี้

- ติดตามความรุนแรงรายวันในอิรัก ทั้งในเมืองหลวงแบกแดดและเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดทางตอนเหนือที่มีปัญหาข้อพิพาทในการแบ่งผลประโยชน์ด้านน้ำมันกับรัฐบาลอิรัก

- ติดตามสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งในอิหร่านที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย. หลังมีการตัดสิทธิ์ตัวเต็ง 2 คนทั้งนายอัคบาร์ ฮาเชมี ราฟซานจานี อดีตประธานาธิบดีและนายเอสฟานด์ยาร์ ราฮิม มาชาอี คนสนิทประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ทำให้เหลือผู้สมัคร 8 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและมีความภักดีต่อ อยาตอลลาห์ อาลี คาเมนีผู้นำสูงสุด

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
------------------------------------------------------------------------

คลังแก้กฎคุมเงินทุน หวังกดค่าเงินบาทอ่อน !!?


กฎคุมเงินทุน,เงินไหลเข้า,ค่าเงินบาท,ธปท.,กนง.,

กิตติรัตน์. เผยเตรียมออกประกาศกระทรวงการคลัง ดูแลเงินทุน"เข้า-ออก"หวังเป็นเครื่องมือให้ธปท.ใช้ได้ทันที เพื่อดูแลค่าเงินบาท คาดประกาศใน3วัน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2556 ตามข้อเสนอของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีมาตรการที่ต้องประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลค่าเงินบาทเอาไว้ด้วย ในขณะที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันนี้ (29 พ.ค.)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการแก้ไขร่างประกาศกระทรวงการคลังควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนจากต่างประเทศจากเดิมที่มีการควบคุมเพียงเงินทุนไหลออกเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นถึงความเหมาะสมในควบคุมเงินไหลเข้า-ออกก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยรายงานให้กระทรวงการคลังทราบเท่านั้น

"การแก้ไขร่างประกาศดังกล่าว เพื่อให้ภาครัฐมีเครื่องมือดำเนินการได้ แต่ในการนำมาใช้ปฏิบัติจะต้องมีการนำเสนอจาก ธปท. มาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบ ซึ่งสามารถทำได้เลยในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ส่วนข้อเสนอในการยกร่างระดับกฎหมาย เช่น การออกเป็นร่างพระราชบัญญัติ เนื่องจากช่วงนี้สภาปิด จึงยังไม่พิจารณานำมาใช้และขอนำข้อมูลเนื้อหาภายในร่างกฎหมายมาศึกษาให้รอบคอบในช่วงนี้ไปก่อน" นายกิตติรัตน์กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (28 พ.ค.)

ได้ส่งร่างกฎหมายเพื่อควบคุมเงินทุนไหลเข้าประเทศมาในรูปแบบของร่างพระราชบัญญัติ และร่างพระราชกำหนด เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีเครื่องมือไว้ใช้เมื่อมีความจำเป็นหากต้องมีการ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เลือกใช้วิธีการแก้ไขร่างประกาศกระทรวงการคลังเพื่อกำกับดูแลเงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นการแก้ไขประกาศฉบับเดิมที่ไม่กำหนดจำนวนของเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากแต่ก่อนประเทศไทยอยากได้เงินไหลเข้า และเมื่อก่อนได้จำกัดเงินทุนไหลออก เพราะไม่อยากให้เงินไหลออก จึงได้มีการแก้ไขไหม้ โดยได้ส่งร่างแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าวมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาในอีก 2-3 วันข้างหน้าจะมีผลใช้บังคับได้ทันที"นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า มาตรการทางการเงินจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรการทางการคลัง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเท่าไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ควรมีความเหมาะสม และไม่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้เชื่อว่าจากแผนดังกล่าวจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ ตามเป้าอย่างมีเสถียรภาพ

"ทุกมาตรการที่ออกมา จะให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่พูดกันทีละครั้งสองครั้งเหมือนที่ผ่านมา โดยกรอบดังกล่าวมีต้องทำสอดคล้องกันระหว่าง การสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะสั้น และรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง เป็นหัวหน้าทีม คอยติดตามสถานการณ์ ก่อนสรุปและรายงานให้ครม.รับทราบทุกเดือน"

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าจากการหารือกันในที่ประชุมครม.มีความสบายใจมากขึ้น เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเรื่องของการดูแล เสถียรภาพเศรษฐกิจและค่าเงินบาท โดยจะมีมาตรการในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจออกมาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีทั้งมาตรการทางการเงิน มาตรการคลังควบคู่กัน โดยไม่ให้มีการหารือกันถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในที่ประชุมครม.ครั้งนี้แต่อย่างใด

การประชุม ร่วมกับ ครม.ครั้งนี้เป็นการกดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ยหรือไม่ ผู้ว่าการ ธปท.หัวเราะ ก่อนที่จะบอกว่า "พรุ่งนี้ก็จะมีการประชุมแล้วรอฟังผลพรุ่งนี้"

สศช.รายงานครม.ผลกระทบค่าเงิน

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติรับทราบมาตรการกรอบเสถียรภาพเศรษฐกิจ ปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้เศรษฐกิจของไทยมีเสถียรภาพเติบโตในระยะยาวที่ระดับ 5% โดยมาตรการทั้งหมดมีการเตรียมความพร้อมด้วยการวางแนวทางในการดูแลเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจและค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาค

ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบกรอบเสถียรภาพเศรษฐกิจ 2556 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

การประชุมในครั้งนี้มีการนำเสนอเรื่องนี้เป็นวาระจรที่ 1 ใช้เวลาในการพิจารณากว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยมาตรการทั้งหมดที่ออกมามี 22 ข้อ แบ่งเป็นมาตรการ ด้านการเงิน 7 ข้อ มาตรการด้านการคลัง 7 ข้อ และมาตรการเฉพาะด้าน 8 ข้อ นอกจากนี้ ครม.มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ เป็นหัวหน้าทีมในการดำเนินงาน และให้สศช.เป็นฝ่ายเลขานุการ ติดตามรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการให้ครม.รับทราบทุกเดือน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า สศช.ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในปีนี้ โดยมุ่งไปที่ผลกระทบจากทุนไหลเข้าเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือคิวอี ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อไปในระยะยาว โดยได้เสนอนโยบายที่เร่งด่วนใน 6 เดือน ซึ่งเป็นข้อสรุปจากนโยบายของรัฐบาลที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

"ยิ่งลักษณ์"ยัน'กิตติรัตน์-ประสาร'ไม่ขัดแย้ง

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในการประชุมครม. ทางกระทรวงการคลังและสศช. ร่วมกับนายกิตติรัตน์ นำเสนอกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีทั้งหมด 3 ด้าน คือ การเงิน การคลัง และมาตรการเฉพาะด้านที่เป็นมาตรการของแต่ละกระทรวง

"วันนี้เราเลยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมแผนงานที่ให้ทุกกระทรวงดำเนินการ และที่เราได้สั่งการให้ครม.ทั้งหมด เป็นแผนแบบบูรณาการที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและรับฟัง ซึ่งเราได้เชิญนายประสารเข้ามาฟังด้วย เพราะว่าเป็นผู้ที่ถ้าเห็นพ้องตามแผนก็จะได้นำรายละเอียดนี้ไปปฏิบัติ เพราะขั้นตอนในการปฏิบัติต้องเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องไปทำ"

นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ในการบูรณาการด้านนโยบายภาพรวม แต่ทางด้านธปท.จะเป็นในแง่เทคนิคที่เราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ ซึ่งตรงนี้เป็นที่มา โดยเบื้องต้นมติครม.และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบและรับทราบแผนว่าสอดคล้องต้องกัน ถือว่าเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม

เมื่อถามว่านายกิตติรัตน์และนายประสาร ไม่มีอะไรติดใจกันแล้วใช่หรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "ไม่มีค่ะ เพราะเราก็ทำงานกันได้ แต่บางครั้งอาจจะมีการพูดคุยกันไม่ตรงในด้านของเทคนิคมากกว่า แต่มาวันนี้ก็ชัดเจน ในแง่ของนโยบายภาพรวมก็สอดคล้องต้องกัน แต่เทคนิคนั้นก็ถือว่าต้องให้ผู้ที่รับผิดชอบนั้นดำเนินการ แต่เราก็คงคอยติดตามในเรื่องของผลมากกว่า"

ธปท.รับเศรษฐกิจชะลอตามตลาดโลก

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง "ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย" จัดโดย สภาหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ออกมา ธปท.ยอมรับว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เพียงแต่ตัวเลขที่ชะลอลงก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นไปทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ชะลอลงนั้น ธปท.เองก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพื่อดูว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังสามารถเติบโตได้หรือไม่

"เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจนั้น สิ่งที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตของหลายประเทศมีทิศทางที่ชะลอลง ของไทยจึงชะลอตามไปด้วย ทั้งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกไปจากประเทศอื่น เราไม่สามารถเดินสวนทางคนอื่นได้ ดังนั้น การชะลอลงจึงเป็นเรื่องปกติ เราก็ยอมรับว่าตัวเลขที่ออกมาชะลอกว่าที่คาด แต่ก็ต้องดูว่าที่ชะลอเกิดจากอะไร เพื่อดูว่าไตรมาส 2 จะไปต่อได้หรือไม่" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า เท่าที่ดูก็เห็นว่าการชะลอตัวเป็นผลจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง แต่การส่งออกยังอยู่ในระดับที่ไปได้โดยขยายตัวได้มากกว่า 8% ซึ่งต้องดูว่าการชะลอลงของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนนั้น ควรต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่

เอกชนย้ำกนง.พิจารณาลดดอกเบี้ย

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5-1% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา และมองว่าอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ไม่ได้ปรับตัวจนสูงมากนัก จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล แต่หากมีความกังวลปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ควรหามาตรการอื่นเข้ามาดูแล

"หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลดีกว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีการชะลอตัวซึ่งทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ภาคการเงินและการคลังจะต้องมีการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น"

ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแม้จะเริ่มอ่อนค่าลงแต่ ก็ยังถือว่าแข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งปัญหาแท้จริงขณะนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลักใหญ่ แต่มาจากปัจจัยภายนอกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ทำให้มีผลต่อออเดอร์คำสั่งซื้อลดลง จึงกระทบต่อภาคการส่งออก

บาทอ่อนประเมินกนง.ลดดอกเบี้ย

บาทร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันนี้ เพื่อหาทิศทางระยะใกล้

นักวิเคราะห์คาดว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาที่ 2.50% หลังการเปิดเผยข้อมูลจีดีพีที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาสแรก ประกอบกับแรงกดดันมากขึ้นจากรัฐบาลให้ผ่อนคลายนโยบายเพื่อสกัดกระแสเงินทุนไหลเข้า และเพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ปิดตลาดวานนี้ (28 พ.ค.) อยู่ที่ 30.01/03 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเปิดตลาดเช้า ที่ระดับ 29.90/92 บาทต่อดอลลาร์

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------------------

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เปิดกรอบ : ดูเสถียรภาพ เศรษฐกิจฉบับสภาพัฒน์ !!?

เปิดกรอบดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจปี"56 รับมือ "บาทผันผวน-โครงการรัฐแผ่ว-ฟองสบู่" ฉบับสภาพัฒน์ฯ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยปี 2556 โดยเสนอเป็นวาระจร ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28 พ.ค.) มีประเด็นสำคัญดังนี้]

กรอบการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจปี 2556

จากปัญหาความเสี่ยงและผลกระทบ มีปัจจัยที่จะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาดหวังและมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจอีก 2.การแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินของประเทศมหาอำนาจ ทำให้สงครามอัตราแลกเปลี่ยนยังดำเนินการต่อไปและส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทย 3.ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นและผันผวนส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ

4.แรงขับเคลื่อนจากมาตรการสร้างรายได้-ลดรายจ่าย-ขยายโอกาสในปีแรกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่อาจมีความล่าช้ากว่ากำหนดการ และ 5.การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ต้องดูแลให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยระมัดระวังไม่ให้เป็นการเก็งกำไรจนเกิดฟองสบู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น จึงต้องดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและสร้างความเข้มแข็ง รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจในระยะ 1 ปีข้างหน้า ดังนี้

การสร้างความเชื่อมั่น และเสถียรภาพระยะสั้น

- ดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง และประเทศคู่ค้า จนกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

- ดูแลการดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เต็มศักยภาพ และมีเสถียรภาพ โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิด ระหว่างหน่วยงานกลางที่มีบทบาทหลัก ด้านการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

- สร้างความเชื่อมั่นในต่างประเทศ โดยผ่านการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และการเยือนต่างประเทศของคณะผู้แทนของประเทศ

การรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ 5% อย่างต่อเนื่อง

- สร้างฐานการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ ด้วยการเพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย และสร้างโอกาสให้กับประชาชน ทั้งการขยายฐานรายได้เก่า และสร้างรายได้ใหม่ เพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น

- สนับสนุนการสร้างรายได้จากต่างประเทศด้านการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนในภาคธุรกิจที่เหมาะสมในต่างประเทศ

- ดำเนินนโยบายการคลังที่มีวินัย ขยายฐานภาษี และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ของภาครัฐ ลดการขาดดุลงบประมาณให้เข้าสู่สภาวะสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจัดให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ด้วยการควบคุมหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่กำหนด

- ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย

มาตรการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านการคลัง และมาตรการเฉพาะด้าน ดังนี้

มาตรการด้านการเงิน โดยประสานงานกับ ธปท.ในการดำเนินมาตรการสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการ ได้แก่

1.ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และไม่แข็งค่ามากกว่า ความสามารถในการปรับตัวของภาคการผลิต และการบริการ

2.ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

3.ดำเนินมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจโดยรวม

4.พิจารณาให้มาตรการจำกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างระมัดระวัง เมื่อมีความจำเป็น โดยมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนการดำเนินการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

5.บริหารการจัดการเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ โดยเพิ่มประเภทสินทรัพย์ที่ ธปท.สามารถลงทุนได้

6.ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ให้สามารถบรรเทาผลกระทบของค่าเงินบาท

7.สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

มาตรการด้านการคลัง ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่

1.การกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณ และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

2.ดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้ได้ตามแผนงานในครึ่งหลังของปี 2556

3.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้เริ่มดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว เช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทยฯ และ บมจ.การบินไทยฯ เป็นต้น

4.ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว

5.สนับสนุนด้านสินเชื่อ ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรับ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอี ในการเพิ่มเครื่องมือการค้ำประกันการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

6.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนไปลงทุนต่างประเทศในภาคธุรกิจที่เหมาะสม

มาตรการเฉพาะด้านเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้า และบริการ การส่งออก การลงทุนและรายได้ของประชาชนใน 8 ด้าน โดยจะแบ่งเป็นมาตรการที่จะดำเนินการในช่วง 6 เดือน และมาตรการปรับโครงสร้างการผลิต ที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ได้แก่

- ด้านการเกษตรเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร

- ด้านเอสเอ็มอี เพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ของจีดีพี

- ด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายการลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยี

- ด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 24.7 ล้านคนในปี 2556 และรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในปี 2558

- การส่งออกขยายตัว 9% ในปี 2556

- ด้านพลังงาน เพื่อให้มีแหล่งพลังงานที่มั่นคงในราคาที่เหมาะสม

- ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับเทคโนโลยี และการเข้าถึงบริการที่ให้เป็นระดับแนวหน้าในภูมิภาค

- ผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างรายได้ และกำลังซื้อขยายการเข้าถึงแหล่งทุน และลดต้นทุนการประกอบอาชีพ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------------------------------------------------

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รัฐบาล กำหนดท่าทีไทย หากกัมพูชานำประเด็นพระวิหารเข้าประชุมมรดกโลก !!?

 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีวาระสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ประเด็นปราสาทพระวิหาร โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ(ทส.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก จะเสนอขอความเห็นชอบกำหนดกรอบท่าทีของประเทศไทยในประเด็นปราสาทพระวิหาร เพื่อคัดค้านฝ่ายกัมพูชา หากกัมพูชามีการหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ที่จะมีขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 16-26 มิถุนายน 2556 ดังนี้

1. หากคณะกรรมการมรดกโลกยืนยัน ที่จะพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดินแดนและอธิปไตย เหนือดินแดนของไทย ให้ไทยคัดค้าน หรือไม่ร่วมประชุม

2. หากมีการพิจารณา และมีผลกระทบกระเทือนต่ออธิปไตยของไทย จะไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมติดังกล่าว โดยจะยึดถืออธิปไตยของชาติเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และจะดำเนินการตามขบวนการภายในของประเทศต่อไป

3. ในกรณีที่มีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณตัวปราสาท ไทยควรให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งระบุว่า ให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ข้อพิพาทในศาลฯ ทวีความรุนแรง หรือแก้ไขได้ยากขึ้น จนกว่าศาลฯ จะมีคำสั่งตัดสินในคดีตีความปราสาทพระวิหาร ปี พ.ศ. 2505 รวมทั้งควรรอผลการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (JBC) และควรเสนอให้ปราสาทพระวิหารออกจากกลไกการติดตามตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ

4. กรณีที่วาระเงินช่วยเหลือจากเงินกองทุนมรดกโลก มีการให้การสนับสนุนกัมพูชา เพื่อกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการดำเนินการในพื้นที่ของไทย ควรคัดค้าน และขอให้ศูนย์มรดกโลกและหรือคณะกรรมการมรดกโลกตรวจสอบการใช้เงินกองทุนมรดกโลกของกัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู บูรณะแหล่งมรดกโลก เช่น การซ่อมแซมตลาดบริเวณเชิงบันไดนาค หรือปรับปรุงกิจกรรมอื่นๆ ของกัมพูชา

และ 5. กรณีปราสาทพระวิหารอาจปรากฏในวาระที่ 7 B: State of Conservation of World Heritage Properties Inscribed on the World Heritage List หรือสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมปราสาทพระวิหาร

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. อาจมีการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรมต. ผู้ช่วยเลขานุการรมต. และที่ปรึกษารมต. ส่วนที่เหลือตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ  หลังจากที่มีการแต่งตั้งปรับเปลี่ยนไปแล้วจำนวน12 คนในการประชุม ครม. เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  รวมทั้งคาดว่า นายกฯ จะสั่งการให้ ครม. เตรียมพร้อมครั้งสุดท้ายก่อนการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2556 ด้วย

มท. ชงของบ 1,650 ล้านแก้ปัญหาจราจรฝั่งธน
กระทรวงมหาดไทย เตรียมเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบวงเงินโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรฝั่งธนบุรี ย่านศิริราช ย่านบ้านช่างหล่อ และย่านอรุณอัมรินทร์ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมวงเงิน 1,650 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ ดังนี้

 1. โครงการต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์พร้อมทางขึ้น – ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช ในวงเงิน 1,300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปีงบประมาณ 2557 –2559) โดยแบ่งเป็นค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และค่าก่อสร้าง จำนวน 1,270 ล้านบาท  ให้ใช้งบประมาณสัดส่วนเงินอุดหนุนรัฐบาล 100%  โดยให้กรุงเทพมหานครใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งสำนักงบประมาณได้เสนอตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว และให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558- 2559 ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายในแต่ละปีต่อไป สำหรับค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน จำนวน 30 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานของทางราชการต่อไป

2.โครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรของถนนสุทธาวาส และสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ ในวงเงิน 350 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปีงบประมาณ 2557 –2559) ให้ใช้งบประมาณสัดส่วนเงินอุดหนุนรัฐบาล 100% โดยให้กรุงเทพมหานครใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งสำนักงบประมาณได้เสนอตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว และให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 –2559 ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายในแต่ละปีต่อไป

ทั้งนี้ การกำหนดการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่นอกเหนือจากสัดส่วนเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานคร เห็นควรให้กรุงเทพมหานครนำเสนอคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ศธ. ชง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชนห้ามปฏิเสธไม่รับนักเรียนยากจน
กระทรวงศึกษาธิการขอความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. …. ซึ่งกำหนดให้สถาบันเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาโดยวิทยาลัยชุมชน ที่สำคัญคือ กำหนดห้ามมิให้วิทยาลัยปฏิเสธการรับบุคคลเข้าศึกษาในวิทยาลัยหรือยุติหรือชะลอการศึกษาของนักศึกษาด้วยเหตุเพียงว่าผู้นั้นขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาว่านักศึกษาผู้ใดเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เป็นไปตามระเบียบที่สภาสถาบันกำหนด

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะขอ ขออนุมัติโครงการความร่วมมือจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยโดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยจ่ายค่าตอบแทน สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจำนวน 10,400,000 บาท หรือ 252,000 ยูโร (อัตราแลกเปลี่ยน 39.98 บาท ต่อ 1 ยูโร) ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา แผนงานสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ผลผลิตนโยบายและแผนด้านการศึกษา งบรายจ่ายอื่น รายการค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของชาติที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว และยังมีเงินคงเหลือเพียงพอไปดำเนินการ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ก.อุตฯ เสนอ กม. คุมเข้มการปนเปื้อนในดิน-น้ำใต้ดิน
กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมขอความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดการการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน พ.ศ. …. ซึ่งจะกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจในการประกาศกำหนดค่าความเสี่ยงที่ใช้อ้างอิงในการคำนวณเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน กำหนดความเข้มข้นของสารปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงานโดยจะต้องไม่สูงกว่าเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินที่ได้จากการคำนวณ กำหนดให้ประเภท ชนิด หรือขนาดของโรงงานใดเป็นโรงงานที่ความเข้มข้นของสารปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงานต้องไม่สูงกว่าเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน กำหนดเกี่ยวกับการให้ผู้ประกอบกิจการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน รวมทั้งบุคคลที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ จะมีการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน ทั้งก่อนเริ่มประกอบกิจการโรงงาน และภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด รวมทั้งดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดด้วย

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สินเชื่อบุคคล-รถคันแรก ดันหนี้ครัวเรือน !!?

คลังยอมรับหนี้ครัวเรือนพุ่ง จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค ระบุหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้ อยู่ที่ 0.82 เท่า แต่ยังไม่พบสัญญาณหนี้เสีย รถยนต์คันแรก

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้ทำการประเมินสถานะหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน โดยดูจากฐานข้อมูลทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนขยายตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดี และปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า

"เมื่อพิจารณาข้อมูลสถานะการเงิน ยังไม่พบสัญญาณของปัญหาหนี้เสียจากหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน"

ทั้งนี้ ธปท.แสดงความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเป็นประเด็นที่นำมาโยงกับนโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยเกรงว่าหากลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้สินเชื่อภาคครัวเรือนปรับสูงขึ้นไปอีก และกำลังวิตกว่าหากเศรษฐกิจมีปัญหาจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

นายสมชัยกล่าวว่า เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างรายได้ทั้งประเทศและสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลพบว่า รายได้ทั้งประเทศในปี 2555 สามารถขยายตัวที่ 7.3% ขณะที่ สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัว 21.6% แสดงถึงประชาชนได้ก่อหนี้เพิ่มในอัตราที่มากกว่ารายได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาหนี้สินต่อรายได้ในปีดังกล่าวพบว่า หนี้สินต่อรายได้อยู่ที่ 0.82 เท่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 0.74 เท่า

สินเชื่อรวมในปี 2555 นั้น ขยายตัว 15.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 74.2% ของสินเชื่อรวมนั้น ขยายตัวได้ 13.2% และ สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ที่มีสัดส่วน 25.8% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวในระดับสูงที่ 21.6%

โครงการรถยนต์คันแรกดันหนี้พุ่ง

ในหมวดสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ขยายตัวดีมาจากสินเชื่อเพื่อการซื้อและเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นหลักที่ขยายตัว 33.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการรถยนต์คันแรกของภาครัฐที่ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคกรณีไม่รวมสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์พบว่า ขยายตัวลดลงอยู่ที่ 17.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือว่า อยู่ในระดับปกติ คือ ไม่ได้ขยายตัวมากจนน่าเป็นห่วง

ด้านข้อมูลการผิดนัดชำระหนี้หรือหนี้เสียอยู่ที่ 2.3% ของสินเชื่อคงค้าง ขณะที่หนี้เสียในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วนที่ต่ำเพียง 0.5% ของสินเชื่อรวม ส่วนหนี้เสียของสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น พบว่า อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.9% ของสินเชื่อบัตรเครดิต สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนที่ดี ขณะที่ สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวที่ 14.3% ด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอสเรโช)ของระบบธนาคารพาณิชย์ในเดือนก.พ. 2556 อยู่ที่ 15.94% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

หนี้เพิ่มต่อเนื่อง-ออมต่ำ

ทั้งนี้ สำหรับสถานะหนี้ครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2554 พบว่า ภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 134,900 บาท โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 5.8 เท่า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 6.4 เท่า

ส่วนสถานะหนี้ครัวเรือนตามข้อมูลของธปท.ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ได้จากธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงินและอื่นๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ธุรกิจนอนแบงก์ ซึ่งธปท.รายงานว่า หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยสินเชื่อครัวเรือนในปี 2555 คิดเป็น 77.7% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 61.4% ต่อจีดีพี โดยหนี้สินครัวเรือนทั้งระบบมีจำนวน 8,818,217 ล้านบาท ทำให้ภาระหนี้สินเฉพาะต่อครัวเรือนอยู่ที่ 439,490 บาท จากจำนวนครัวเรือน ณ สิ้นปี 2555 อยู่ที่ 20.06 ล้านครัวเรือน

ด้านสถานะหนี้ครัวเรือนของสศช.ซึ่งใช้ข้อมูลของธปท.ในการศึกษา สรุปว่า ครัวเรือนมีการก่อนหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ การออมภาคครัวเรือนในปี 2554 อยู่ที่ 5.3% ของจีดีพี และ เมื่อพิจารณาความสามารถในการออมพบว่า มีครัวเรือนสูงถึง 45% ของครัวเรือนทั่วประเทศจำนวน 9.09 ล้านครัวเรือนที่ไม่มีความสามารถในการออม

สำหรับสถานะหนี้ครัวเรือนของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งใช้การสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง โดยสำรวจจากกลุ่มแรงงานล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 จากจำนวนตัวอย่าง 1,237 ราย พบว่า จำนวนหนี้ครัวเรือนและผ่านการชำระหนี้ในปี 2555 อยู่ที่ 168,517 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 5.7%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และส่วนใหญ่มีปัญหาในการชำระหนี้จากการที่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายถึง 79.8%

นายสมชัยกล่าวว่าต้นเดือนมิถุนายนนี้ สศค.จะจัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อหนี้ครัวเรือน โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมวิเคราะห์ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่าอยู่ในระดับใด และ มีความน่าเป็นห่วงต่อประเด็นดังกล่าวตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้กังวลหรือไม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สมรภูมิ แย่งชิง : หน้ากาก เวนเดตต้า ความเพี้ยนในการตีความ !!?

กลายเป็นกระแสร้อนแรงทั่วโลกออนไลน์ ที่มีกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งได้เปลี่ยนรูปโพรไฟล์เป็น รูปหน้าที่เป็นใบหน้าของผู้ชายที่ดูคล้ายการ์ตูน มีหนวดโค้งแหลมพร้อมรอยยิ้ม หรือ หน้ากากเวนเดตต้า ของ "กาย ฟอว์กส์" (Guy Fawkes) จากภาพยนตร์เรื่อง "V for Vendetta" หรือชื่อภาษาไทยว่า "เพชฌฆาตหน้ากากพญายม" และยังได้โพสต์ข้อความ "ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย"

โดย เฟอร์บี้  : มติชนออนไลน์

ในทุกเฟซบุ๊คซึ่งทางกลุ่มที่เคลื่อนไหวอ้างว่าเป็นเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร หรือ เพจเฟซบุ๊กที่มีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  




ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากการ์ตูน ซึ่งกล่าวถึง ผู้ที่นิยมลัทธิอนาธิปไตย ที่ขบถต่อกรอบประเพณีการการกดขี่ของรัฐเผด็จการซึ่งค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม และใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครอง

โดยในฉากหนึ่ง ตัวเอกของเรื่อง ที่ชื่อ "วี" (V) ได้บุกเข้าไป ในสถานีโทรทัศน์ และปราศรัยออกอากาศแถลงการณ์แสดงจุดยืน ซึ่งอ้างถึง "กาย ฟอว์กส์" (Guy Fawkes) วีรบุรุษผู้พยายามระเบิดรัฐสภาของอังกฤษเมื่อสี่ร้อยปีที่แล้ว โดย หน้ากากที่ V ใส่ คือสัญญะที่แสดงถึง หน้าของ กาย ฟอว์กส์ โดย V ได้แสดงจุดยืนถึง "ความถูกต้อง ความยุติธรรม และเสรีภาพ" เพื่อเชิญชวนผู้ที่เห็นด้วย ลุกขึ้นสู้เคียงข้างเขา




ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ V for Vendetta

ส่วน กาย ฟอว์กส์ ที่ V อ้างถึงนั้น เป็นบุุคคลที่ประวัติศาสตร์ระบุว่า เป็นชายผู้พยายามวางระเบิดอาคารรัฐสภาของอังกฤษ เพื่อสังหารพระเจ้าเจมส์ที่ 1 กษัตริย์ในขณะนั้น แต่ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1605 ความพยายามของเขาก็จบลง หลังจากที่ทางการอังกฤษจับกุมตัวเขาได้พร้อมกับ ดินปืนจำนวนหลายสิบถัง พร้อมผู้สมรู้ร่วมคิด ฟอว์กส์ ถูกตัดสิน เขาถูกแขวนคอและฉีกร่างกาย และในทุกวันที่ 5 พฤศจิกายน ของทุกปี ประชาชนชาวอังกฤษจะเฉลิมฉลองที่ทางการสามารถปราบเขาได้ เป็นเทศกาลที่เรียกว่า "บอน ไฟร์ ไนท์"




บอน ไฟร์ ไนท์ - ภาพจาก tmblr

ปรากฎการณ์ "หน้ากากเวนเดตต้า" ที่เกิดขึ้นในไทยระลอกนี้ โดยการบอมบ์/ละเลงข้อความ ในเพจเฟซบุ๊กต่างๆ เกิดขึ้นหลังจากมีการรณรงค์โดยเพจ"มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้าน อยากให้ยิ่งลักษณ์ยุบสภา" ซึ่งเป็นเพจหลักในการเคลื่อนไหว และมีการเปิดเพจ "กูจะล้มล้างระบอบทักษิณออกจากประเทศไทย" เป็นเพจหลักในเวลาต่อมา

 ซึ่งหลังจากกลุ่มนี้เคลื่อนไหวเพียงแค่ 1 วัน แนวร่วม"หน้ากากเวนเดตต้า" นี้ ได้เข้าไปป่วนหน้าเพจเฟซบุ๊กจำนวนมาก ทั้ง แฟนเพจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร "Thaksin Shinawatra" แฟนเพจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "Yingluck Shinawatra" แฟนเพจของทำเนียบรัฐบาล "ไทยคู่ฟ้า Thai Khu Fah" แฟนเพจของนายพานทองแท้ ชินวัตร "Oak Panthongtae Shinawatra" และเพจของแกนนำเสื้อแดงคนต่างๆ  รวมถึงสื่อต่างๆ  

ทั้งนี้ การใช้ สัญลักษณ์ "หน้ากากเวนเดตตา" จากภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta นั้นไม่ได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงครั้งแรก แต่หน้ากากเวนเดตต้า ได้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงหลายครั้ง เช่น การประท้วงตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หรือ Occupy Wall Street ซึ่งในไทยที่ผ่านมา หน้ากากเวนเดตต้า ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ประท้วงสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยหลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ การบังคับใช้ ประมวลกฎหมาย อาญา ม.112 หรือ นักศึกษาใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ  รวมไปถึงครั้งนี้ ที่หน้ากากนี้ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อ "ล้างบาง" ทักษิณ



แต่ก็มีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ การเคลื่อนไหวผ่าน "หน้ากากเวนเดตตา"ในเฟซบุ๊กระลอกนี้ว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่บิดเบือนไปจากความหมายเดิม โดยเพจของ "Voice of Siam" ได้โพสต์ข้อความว่า 

กาย ฟอคส์ (Guy Fawkes) ต้นฉบับ และ แบบไทยๆ"

ความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งของคนรักเจ้า/เกลียดทักษิณ (หรือที่หลายคนเรียก "สลิ่ม") คือ คนเหล่านี้มักจะเอาสิ่งสิ่งของความคิดจากชาติอื่นแล้วมาตีความให้เข้ากับความคิดของตัวเอง โดยไม่ได้ศึกษาหรือคำนึงถึงความหมายต้นฉบับ หรือความเป็นมาของสิ่งของความคิดนั้นๆเลย แม้บางครั้งสิ่งหรือความคิดนั้นจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองพยายามนำเสนอก็ตาม

 หน้ากากกาย ฟอคส์ (Guy Fawkes) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คนรักเจ้าชอบเอามาทำเป็นสัญลักษณ์ของตัวเองทั้งที่ต้นฉบับ กาย ฟอคส์ เป็นคนที่พยายามจะฆ่ากษัตริย์ ส่วนที่เป็นหน้ากากกาย ฟอคส์ ในเวลาต่อมาก็เอามาจากภาพยนตร์เรื่อง V For Vendetta ที่เป็นการต่อสู้กับเผด็จการที่ไม่มีใครเลือกมา สู้เพื่อเสรีภาพและความเท่าเทียม
ซึ่งขบวนการ Anonymous เอามาเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงรัฐบาลหรือกฎหมายที่เป็นเผด็จการ ด้วยความคิดแบบอนาธิปัตย์ (Anarchy)

 แต่กลับเอามาเป็นสัญลักษณ์ในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้วาทกรรมกษัตริย์นิยม (Royalism) หรือ ชาตินิยม (Nationalism) เพื่อคืนอำนาจให้กับชนชั้นสูงที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน เรียกร้องการแทรกแซงของเผด็จการทหาร แถมเอามาปกป้องกฎหมายอย่าง ม.112 ที่ทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่ถูกประนามจากทั่วโลกอีกด้วย

หน้ากาก กาย ฟอคส์ ของประเทศอื่นเขาสู้เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน แต่ กาย ฟอคส์ แบบไทยๆกลับต่อสู้ดึงอำนาจออกไปจากประชาชน...ย้อนแย้งสิ้นดี"


ด้านเพจเฟซบุ๊กของ"บก.ลายจุด" โพสต์ข้อความว่า

"หน้ากาก วีกาย ฟอว์กส์ ที่ถูกนำมาใช้อีกครั้งคือกลุ่ม occupy wall street หมายถึง We are 99 % แต่เมืองไทยหมายถึงพวกแพ้เลือกตั้ง"

กระแสในเฟซบุ๊กต่อปรากฎการณ์ "หน้ากากเวนเดตต้า" ในครั้งนี้ จึงเป็น "สมรภูมิแย่งชิง การนิยามความหมาย" ของสัญลักษณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อ สร้างความชอบธรรม หรือบิดเบือนความหมาย เพื่อ ส่งเสริม หรือทำลาย พลังของกลุ่มที่เคลื่อนไหว

จากบทความ "หน้ากาก "เวนเดตต้า" สัญญะทางการเมืองอันทรงพลัง" ของ "เสกขภูมิ วรรณปก" ซึ่งเผยแพร่ ใน มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2554 ได้อ้างความคิดเห็นของ ลูอิส คอลล์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ โพลิเทคนิค ซึ่งระบุว่า

"สัญลักษณ์ของฟอว์กส์ หรือ หน้ากากเวนเดตต้า ได้ถูกใช้ในวิถีทาง หรือวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไป ตัวตนของฟอว์กส์ เริ่มกลับมา หลังจากที่เขาถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่พยายามทำลายอังกฤษ แต่ในวันนี้ เขาถูกมองเป็นนักสู้เพื่อสันติภาพ ความหมายทางการเมืองของหน้ากากเปลี่ยนไป"


"คุณสามารถฉกฉวยมัน และนำมาใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองได้ตามที่คุณต้องการ.. นั่นคือ พลังที่แท้จริงของมัน"


สมรภูมิ ของการนิยาม ความหมาย ภายใต้ หน้ากาก "เวนเดตต้า" ดูจะยังทอดยาวอีกไกล

และ คงเป็นเช่นเดียวกับ สมรภูมิ ในการนิยาม ความหมายของ คำหนึ่งที่ทรงพลัง ไม่แพ้กัน

คำนั้น คือ คำว่า "ประชาธิปไตย"

และหวังว่า แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คือ การก้าวข้าม "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ"


"... แต่ถ้าคุณเห็นในสิ่งที่ผมเห็น รู้สึกในสิ่งที่ผมรู้สึก และแสวงหาในสิ่งที่ผมแสวงหา ผมขอให้คุณยืนเคียงข้างผม..." V

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โจทย์ใหม่ : กนง. ลดดอกเบี้ยพยุง เศรษฐกิจ !!?

ตลาดการเงินดูจะตั้งรับรอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 29 พ.ค.นี้อย่างใจจดใจจ่อ โดยเฉพาะหลังการเปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2556 และแนวโน้มปี 2556 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

โดย สศช. ได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2556 มาอยู่ที่ 4.2-5.2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายที่ 5.3% ถือว่าต่ำกว่าที่คาดก่อนหน้า ส่อเค้าถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่ภาคต่างประเทศ หลังคำแถลงของ "เบน เบอร์นันเก้" ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อสภาคองเกรสปลายสัปดาห์

ที่ผ่านมา ส่งสัญญาณว่าอาจลดปริมาณเงินซื้อตราสาร ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMA) รอบถัดไป หากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวดีแล้ว

ทั้งนี้ การลดหรือหยุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของเฟด มีผลสร้างความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกอีกระลอก สะท้อนจากความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงสัปดาห์นี้ ตามการคาดการณ์ของธนาคารกสิกรไทยว่า จะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.80-30.30 บาท เนื่องจากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ขณะที่ "ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์" อดีต กนง. ระบุว่า แม้ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ไม่ใช่จังหวะลดดอกเบี้ยนโยบาย แม้ตัวเลข สศช.จะออกมาชะลอตัว โดยเฉพาะด้านอุปโภคบริโภครวมไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 3.9% แต่เมื่อดูการเติบโตทั้งปี จีดีพียังมีสัญญาณขยายตัว ยังสูงเหนือ 5% แต่หากให้ประเมินความคิด กนง. ก็มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยนโยบาย

"ถ้าให้ประเมินความคิด กนง. มีโอกาสสูงที่จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ให้เหลือที่ 2.50% เนื่องจาก กนง.ต้องเอาหลักเศรษฐกิจ ความเสี่ยง และอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาพิจารณา"

พร้อมชี้ว่า หากลดดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. ควรมีมาตรการเสริมด้วย เพื่อป้องกันการเกิดฟองสบู่ เช่น การควบคุมการปล่อยสินเชื่อซื้อบ้าน หรือลดวงเงินปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันฟองสบู่ในภาคต่าง ๆ

ในฟากผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ "สมิทธ์ พนมยงค์" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายเงินฝากและการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า กนง.ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยรอบนี้ เนื่องจากปัจจุบันดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักสกัดเงินต่างชาติ และสินเชื่อในประเทศยังเติบโตสูง หากลดดอกเบี้ยลงอาจส่งผลต่อภาคสินเชื่อให้ขยายตัวสูง เสี่ยงกับการเกิดปัญหาเศรษฐกิจได้

"หากลดดอกเบี้ยนโยบายจริง คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงในทันทีหรือปรับลงเล็กน้อย เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องเงินฝากยังคงตรึงตัว ทำให้มีการแข่งขันด้านเงินฝากยังสูง"

ขณะที่ "อภิศมา ณ สงขลา" ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานคอร์ปอเรตไฟแนนซ์ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี ระบุว่า หาก กนง.มีมติลดดอกเบี้ย จะเป็นผลบวกต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของบริษัทที่จะถูกลง เนื่องจากดอกเบี้ยเป็นต้นทุนหลักในการบริหารจัดการ และส่งผลทำให้ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เป็นปัจจัยบวกต่อต้นทุนการเงิน แต่ต้องดูว่าจะลดลงมากเท่าไหร่

หากลดลงเพียง 0.25% แบงก์พาณิชย์อาจไม่ลดดอกเบี้ยลงตาม หรือลดเล็กน้อย เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ทำให้ต้นทุนการเงินไม่ลดลงมากนัก

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ที่ว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์แทบไม่ได้รับผลกระทบในเชิงพื้นฐาน หากปรับลดดอกเบี้ยจริง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์น่าจะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงเช่นกัน แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหมือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพคล่องระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันที่หดตัวลงเทียบกับในอดีต จึงเป็นไปได้ที่หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงเล็กน้อยไม่เกิน 0.25% ธนาคารพาณิชย์อาจไม่ลดอัตราดอกเบี้ยตาม เนื่องจากยังจำเป็นต้องแข่งระดมเงินฝาก เตรียมสภาพคล่องไว้รองรับความต้องการสินเชื่อที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้การลดอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลให้เกิดแรงกระตุ้นความต้องการสินเชื่อของประชาชนและภาคเอกชนในประเทศมากขึ้นแต่หากดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ได้ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญผลต่อการกระตุ้นความต้องการสินเชื่อจะมีไม่มากนักผนวกกับสภาพคล่องที่ลดลง จึงเชื่อว่าธนาคารจะเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่กำลังมีความเสี่ยง เช่น การเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ หรือด้านสินเชื่อเพื่อการบริโภคจึงต้องลุ้นต่อไปว่า หาก กนง.จะลดดอกเบี้ยรอบนี้ลงสัก 0.25% แต่ต้นทุนเงินกู้ก็ยังไม่ได้กระตุกอย่างทันทีทันใด กว่าจะเห็นผลของนโยบายดอกเบี้ยก็ต้องรอดูในไตรมาสถัดไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 ไม่เสร็จเปิดไม่ทัน มิ.ย. ปรับ 5 แสน ตามสัญญา !!?


กรมทางหลวงประเมินต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือนการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) จึงจะแล้วเสร็จขณะที่สัญญาจะสิ้นสุดมิ.ย.56 นี้ ยันไม่มีการต่อสัญญาอีก หลังจากก่อนหน้านี้ขยายสัญญามาแล้วจาก สิ้นสุด 10ธ.ค.55 เป็นมิ.ย.56 จ่อปรับผู้รับเหมาประมาณวันละ 5 แสนบาทตามสัญญา
       
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) จังหวัดเชียงรายว่า จากการประเมินล่าสุดคาดว่า จะต้องใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณ 2-3 เดือนจึงจะแล้วเสร็จในขณะที่สัญญาก่อสร้างจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2556 นี้ ซึ่งกรมทางหลวงจะไม่มีการขยายสัญญาให้กับผู้รับเหมาอีก เนื่องจาก ก่อนหน้านี้ได้มีการขยายอายุสัญญาก่อสร้างออกไปแล้ว 6 เดือน จากเดิมสัญญาก่อสร้างเริ่มต้นวันที่ 11 มิถุนายน 2553 - 10 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุด เดือนมิถุนายน 2556 ดังนั้นหากพ้นกำหนดสัญญางานยังไม่แล้วเสร็จ ผู้รับเหมาจะต้องจ่ายเงินค่าปรับประมาณวันละ 500,000 บาท จนกว่าโครงการก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์
     
โดยสาเหตุของการขยายอายุสัญญาก่อสร้างเนื่องจากมีปัญหา 2 ประเด็น คือ การก่อสร้างช่วงแรกมีการเบิกจ่ายเงินล่าช้าในส่วนที่จีนรับผิดชอบ ทำให้ผู้รับเหมาต้องหยุดการก่อสร้าง และต้องชะลอก่อสร้างในช่วงเวลาที่น้ำขึ้น โดยขณะนี้โครงสร้างหลักได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว เหลืองานสะพานข้ามคลอง 2แห่ง และถนนพื้นราบในฝั่งลาวต่อเชื่อมกับสะพานข้ามแม่น้ำโขง ก่อสร้างสะดุดล่าช้ากว่าแผน เนื่องจากบริษัท กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับเหมาฝ่ายไทย ซึ่งรับผิดชอบงานก่อสร้างส่วนดังกล่าว มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่งผลทำให้การก่อสร้างสะพานไม่แล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ตามสัญญาภายในวันที่ 10 มิถุนายน นี้
       
สำหรับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ลาว และจีน โดยไทยและจีนให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างฝ่ายละ 50% วงเงิน 44.81 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีกลุ่ม CR5-KT Joint Venture (บริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 5 เอ็นจิเนียริ่งกรุ๊ป จำกัด ร่วมทุนกับ บริษัท กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 1,486.5 ล้านบาท เป็นสะพานความยาว 630 เมตร ถนนฝั่งไทยความยาว 5 กิโลเมตร ก่อสร้างขนาด 4 ช่องจราจร ฝั่งลาวความยาว 6 กิโลเมตร ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมอาคารด่านชายแดนฝั่งไทยและลาว เป็นโครงข่ายถนนสายเอเชียหมายเลข AH3 แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทำให้การขนส่งสินค้าและการบริการการท่องเที่ยวระหว่างประเทศโดยเฉพาะจากจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย กับเมืองห้วยทรายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีนทางตอนใต้มีความสะดวกรวดเร็ว

ที่มา.ผู้จัดการ
+++++++++++++++++++++++++++++++