--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ธุรกิจอสังหาฯขาขึ้น แต่ต้องระวังเรื่องฟองสบู่ !!?


คอลัมน์ Smart SMEs

ในตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็จะเห็นโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีตั้งแต่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่จนถึงโครงการขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน ที่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดค่อนข้างมาก มูลค่าของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.45 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้านี้ราว 8.5%

ถือว่าสอดคล้องกับการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีศักยภาพอยู่ โดยเฉพาะตลาดตามเขตหัวเมืองใหญ่ ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น พัทยา และภูเก็ต เป็นต้น เรียกว่าเป็นแหล่งทำเลทองที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ได้กว้านซื้อที่ดินไปทำโครงการที่อยู่อาศัยกันหมด

สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ต่างจังหวัดเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในปลายปี 2554 ทำให้คนเริ่มกระจายความเสี่ยง มาหาซื้อที่พักอาศัยในต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ประกอบกับการอิ่มตัวในตลาดส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯและปริมณฑล กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้ต้องเริ่มหาตลาดใหม่ ๆ

นอกจากนี้การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทำให้จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และจังหวัดที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศในกลุ่ม AEC กลายเป็นที่ต้องการของนักลงทุน

จากความร้อนแรงของธุรกิจอสังหาริม ทรัพย์ดังกล่าว ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ผมยังไม่ค่อยกังวล เพราะมีเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการกว้านซื้อที่ดิน แต่สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่ต้องการซื้อที่ดิน ก็จะต้องไปเสาะแสวงหาสินเชื่อเพื่อมาขยายโครงการ ซึ่งถ้าโครงการได้รับความสนใจจากตลาดและสามารถขายได้หมดก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าหากเกิดสภาวะฟองสบู่แตกขึ้นมาก็จะเกิดผลกระทบต่อธุรกิจได้

ถึงแม้ว่าในตอนนี้ยังไม่ได้เกิดสภาวะฟองสบู่ก็ตาม แต่การที่ผู้ประกอบการจะขยายโครงการเพิ่มขึ้น ก็จะต้องมีต้นทุนในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง อาทิ เรื่องค่าแรง ที่เป็นต้นทุนที่สำคัญของธุรกิจก่อสร้าง เพราะส่วนใหญ่แรงงานก่อสร้างจะรับค่าจ้างเป็นรายวันตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับกับต้นทุน เพราะต้องบวกอัตราค่าแรงใหม่เข้าไปในค่าก่อสร้างด้วย

ยิ่งกว่านั้นผลกระทบของต้นทุนค่าแรงที่เกิดขึ้น ยังกระทบต่อไปยังค่าสินค้าวัสดุก่อสร้างบางรายการที่ปรับขึ้นตามค่าแรงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้กำลังการผลิตจำนวนมาก

นอกจากนี้ราคาที่ดินในปี 2556 ก็มีทิศทางการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ พื้นที่เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ในย่านธุรกิจที่สำคัญทั้งในกรุงเทพฯ และในพื้นที่หัวเมืองในต่างจังหวัดที่เศรษฐกิจเติบโตสูง

อย่างไรก็ดี ผมมองว่าแม้ว่าทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตอนนี้ยังมีแนวโน้มที่สดใส แต่ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงไม่มีความแน่นอน เพราะมีปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ความผันผวนของค่าเงินบาท ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ยังไม่แน่นอน และวิกฤตการณ์อื่น ๆ ที่เรายังไม่สามารถคาดการณ์ได้ในตอนนี้

ดังนั้น ผมขอฝากให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะรายเล็กที่คิดจะขยายธุรกิจในช่วงนี้ ต้องศึกษาตลาดให้รอบคอบและวางแผนการเงินให้รัดกุม ในฝั่งธนาคารพาณิชย์เองก็เฝ้าระวังในการปล่อยสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง หากปล่อยสินเชื่อไม่รอบคอบก็จะทำให้เกิดหนี้เสียขึ้นมาได้ ซึ่งก็ส่งผลเสียต่อตัวผู้ประกอบการและธนาคารเองด้วยเช่นกันครับ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เจรจา-วางปืน-ปกครองพิเศษ : หมายเหตุจากอาเจะห์ถึงชายแดนใต้ !!?

ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งช่วงก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผยที่รัฐบาลไทยริเริ่มกระบวนการกับแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.2556 นั้น ถูกนำไปเปรียบเทียบกับพัฒนาการของ "อาเจะห์" ดินแดนบนเกาะสุมาตรา ที่คนพื้นเมืองเปิดฉากสู้รบกับรัฐบาลกลางอินโดนีเซียมาหลายสิบปี และสุดท้ายก็จบลงด้วยการเจรจาสันติภาพเมื่อปี 2548



แม้ "อาเจะห์" จะไม่ได้รับเอกราชถึงขนาดตั้งรัฐใหม่แยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย แต่ก็ได้สิทธิในการปกครองตนเอง และคงอัตลักษณ์สำคัญๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวโยงกับศาสนาอิสลามและการใช้กฎหมายอิสลาม

หากย้อนพิจารณาการต่อสู้ของชาวอาเจะห์ผ่าน "ขบวนการอาเจะห์เสรี" หรือ กลุ่ม GAM แม้จะมีประเด็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และบาดแผลจากยุคล่าอาณานิคมคล้ายๆ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่ในรายละเอียดของการจัดการปัญหาโดยรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย โดยเฉพาะความเข้มข้นของการใช้ปฏิบัติการทางทหาร ต้องยอมรับว่าแตกต่างกับกรณีของรัฐบาลไทยพอสมควร

กระนั้น ประสบการณ์จากกระบวนการสันติภาพหลังเหตุการณ์สึนามิถล่มเมื่อปี 2547 กระทั่งนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิง ถอนทหาร และการถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจในห้วงที่รัฐบาลไทยกำลังริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น

ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมที่ชายแดนใต้กับภาคประชาสังคมที่อาเจะห์มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถอดบทเรียนซึ่งกันและกันไม่น้อย โดยบทสัมภาษณ์ข้างล่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหล่านั้น...

พัฒนาการชายแดนใต้เร็วกว่าอาเจะห์

ซาเดียร์ มาฮาบาน หญิงอาเจะห์วัย 40 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการไกล่เกลี่ย คือหนึ่งในบุคคลสำคัญของภาคประชาสังคมอาเจะห์ที่เคยเดินทางมาเยี่ยมเยือนดินแดนปัตตานี

ซาเดียร์ มองว่า ปัญหาที่อาเจะห์กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคล้ายคลึงกัน คนอาเจะห์ใช้เวลากว่า 30 ปีถึงจะเกิดโต๊ะเจรจา กระทั่งถึงวันนี้สถานการณ์ที่อาเจะห์สงบลงแล้ว ส่วนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยน่าจะมีพัฒนาการที่เร็วกว่า

"ทราบข่าวมาว่ามีการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ถ้าปัญหาได้รับการพูดคุยและตกลงกันได้ ทุกอย่างก็จะจบลง" เธอบอก

"ให้เกียรติ-เท่าเทียม" ปัจจัยเจรจาสำเร็จ

ซาเดียร์ ชี้ว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการเจรจาสันติภาพ คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และยอมรับความเป็นมนุษย์ว่ามีเท่าเทียมกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด

"สิ่งสำคัญอย่างยิ่งบนโต๊ะเจรจาคือต้องให้เกียรติกัน ที่อาเจะห์นั้นหลังจากทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกันแล้ว ก็ได้ร่วมกันยุติความรุนแรงเพื่อให้การเจรจาเดินหน้าไปได้ สิ่งที่ผ่านมาแล้วถือเป็นบทเรียนของทุกฝ่าย จากนั้นก็หาแนวทางให้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ จบลง โดยยึดหลักความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เชื้อชาติใด" เธอกล่าว

และว่าสิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญในช่วงริเริ่มเจรจาสันติภาพ คือการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะนำประสบการณ์ของอาเจะห์มาปรับใช้

เส้นทางการต่อสู้...กับวันนี้ของ "อาเจะห์"

 
 
ซาเดียร์ ย้อนอดีตให้ฟังว่า สาเหตุที่คนอาเจะห์ต้องต่อต้านรัฐบาลอินโดนีเซีย เพราะประเด็นประวัติศาสตร์ เกิดการแข็งข้อระหว่างทหารกับประชาชน หลังจากนั้นก็เกิดขบวนการอาเจะห์เสรี (กลุ่ม GAM) เพื่อกอบกู้เอกราช เนื่องจากประชาชนถูกทำร้าย ถูกกระทำเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ไม่ได้รับความยุติธรรม เกิดการปล้นฆ่า ข่มขืนเด็ก ผู้หญิง เด็กๆ ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ ผู้หญิงเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้เลยไม่อย่างนั้นจะถูกข่มขืน ผู้ชายก็ถูกทำร้าย ไม่สามารถทำมาหากินได้

"สองปีก่อนเกิดสึนามิ รัฐบาลกลางอินโดนีเซียพยายามทำให้เกิดการเจรจาที่เจนีวา (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) แต่ไม่สำเร็จ เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองต้องเอาชนะ โดยเฉพาะจากการใช้กำลัง แต่หลังจากเกิดสึนามิ ทั้ง 2 ฝ่ายก็หันหน้าเข้าหากัน เพราะแต่ละฝ่ายได้คิดว่าความรุนแรงไม่อาจแก้ปัญหาได้ จึงหันมาใช้วิธีเจรจาสันติภาพ และทำสัญญาสันติภาพร่วมกัน แต่กุญแจสำคัญอยู่ที่รัฐบาลกับการเมืองด้วย"

"ทุกวันนี้ชาวอาเจะห์ได้ปกครองตนเอง กลุ่ม GAM เป็นฝ่ายบริหาร ทำให้สามารถใช้ชีวิตปกติได้ จึงอยากให้คนปัตตานีนำปัญหาของอาเจะห์มาศึกษาเป็นบทเรียนด้วย ขณะที่รัฐบาลไทยก็ต้องเปิดใจเหมือนรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย" ซาเดียร์ กล่าว

8 ปีเลือกตั้ง 3 ครั้ง - มุ่งสร้างธรรมาภิบาล

ยูวันดา ดีจามาล (Juanda Djamal) เลขาธิการใหญ่ของอาเจะห์บารู (Aceh Baru) หรือคณะกรรมการเฉพาะกิจองค์กรภาคประชาสังคมอาเจะห์ เล่าเสริมว่า นับจากวันที่มีการเจรจาสันติภาพ ถึงวันนี้ก็ผ่านมา 8 ปีแล้ว อาเจะห์มีการเลือกตั้งท้องถิ่น 3 ครั้ง ส่วนสถานการณ์บ้านเมืองก็ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองเป็นระยะๆ

"สถานการณ์ระหว่างนั้น (หลังเจรจาสันติภาพ) แกนนำเก่าของขบวนการอาเจะห์เสรีแตกออกเป็น 2 กลุ่ม พรรคการเมืองก็แบ่งออกเป็น 2 พรรค บทบาทสำคัญจึงอยู่ที่ภาคประชาสังคมที่ต้องทำแผนระยะยาวของอาเจะห์"

ยูวันดา ขยายความว่า การทำงานของภาคประชาสังคมมุ่งเน้นการระดมความคิดเห็นของผู้คนเกี่ยวกับอนาคตของอาเจะห์ว่าอยากเห็นบ้านเมืองเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง หลังได้รับสันติภาพแล้วยังมีโจทย์ข้อสำคัญคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง เพื่อให้ประชาชนชาวอาเจะห์มีความเชื่อมั่นและมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต

"อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างหลักธรรมาภิบาล (ความโปร่งใส ยึดหลักกฎหมายในการบริหารจัดการ) คือเป็นความท้าทายใหม่ของขบวนการประชาธิปไตย จะทำอย่างไรเพื่อจัดการกับทรัพยากรทั้งคนและธรรมชาติ การสร้างกระบวนการยุติธรรม ดูแลเหยื่อจากความรุนแรง"

เมื่อถามถึงระบบการเลือกตั้งและรูปแบบการปกครอง ยูวันดา อธิบายว่า ใช้ระบบเลือกตั้งท้องถิ่น มีการเลือกตั้งนายอำเภอ ส่วนการปกครองก็เป็นแบบ Autonomy (เขตปกครองตนเอง) เรื่องเศรษฐกิจก็จะแบ่งสัดส่วน 70:30 กับรัฐบาลกลาง (ท้องถิ่น 70 รัฐบาลกลาง 30) การจัดการศึกษาและการเรียนการสอนต่างๆ ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้อย่างเคร่งครัด

"สถานการณ์ความรุนแรงบอกได้เลยว่าไม่มี เขาวางอาวุธกันหมดแล้ว แต่อาชญากรรมยังมีอยู่ ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง ทุกวันนี้เราพยายามเสริมพลังของชุมชนให้เข้มแข็ง หางานและสร้างงานให้คนในชุมชนมีงานทำ"

ส่วนเรื่องการเมือง ยูวันดา บอกว่า จากการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ประชาชนให้การสนับสนุนกลุ่ม Aceh Party ซึ่งก็คือกลุ่มเก่า แต่ต่อมาประชาชนเห็นว่ากลุ่มเก่าไม่สามารถแก้ปัญหาให้ตนได้ ก็เลยเกิดกลุ่มใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า Aceh National กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีหน้า โดยการเลือกตั้งคราวที่แล้วยังไม่มีพรรคการเมืองนี้ ตอนนี้ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าประชาชนจะสนับสนุนพรรคไหน

"ประเพณีการเมืองของอินโดนีเซียจะมีการคอร์รัปชั่นสูง ประชาชนต้องการเงิน จึงมีการซื้อเสียงพอสมควร ฉะนั้นเงินจึงกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการเข้าสู่อำนาจการเมือง ผมหวังว่าพรรคการเมืองท้องถิ่นจะไม่ทำแบบการเมืองอินโดนีเซียในการเลือกตั้งระดับชาติ"

"กฎหมายอิสลาม" บังคับใช้เข้ม 3 เรื่อง

เมื่อถามถึงการใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์ ยูวันดา อธิบายว่า กฎหมายหลักที่ใช้ในอาเจะห์เป็นกฎหมายอิสลาม แต่ยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ โดยมี 3 มาตราที่ใช้บังคับอย่างเข้มแข็งแล้ว คือ ห้ามดื่มสุรา ห้ามเล่นการพนัน และห้ามละเมิดทางเพศ

"3 ข้อนี้จะเข้มแข็งมากในเรื่องการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนอื่นๆ ยังไม่สมบูรณ์ สาเหตุที่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อน"

ปลุกเครือข่ายชุมชนสร้างวาระสันติภาพ

ส่วนบทเรียนของการเจรจาสันติภาพ ยูวันดา บอกว่า ในฐานะที่เป็นภาคประชาสังคม ต้องหลีกเลี่ยงวาระที่ถูกกำหนดโดยภาครัฐ จะต้องสร้างวิถีทางของภาคประชาสังคมขึ้นมาเองว่าประชาชนต้องการอะไร และต้องพัฒนาทัศนคติเกี่ยวกับสันติภาพในระดับชุมชน ให้การศึกษาหลักสูตรสันติภาพแก่ชุมชน

"นี่คือหลักที่ทำให้เครือข่ายชุมชนมีความเข้มแข็ง และพัฒนาเครือข่ายไปยังนานาชาติ เพราะเราต้องการใช้พลังจากนานาชาติกดดันรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย"

ยูวันดา บอกด้วยว่า ในส่วนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากให้ภาคประชาสังคมสร้างเครือข่ายกับนานาชาติ เพื่อให้รัฐบาลรับทราบว่าภาคประชาชนต้องการการเจรจาที่ยุติธรรมและเป็นธรรม ในฐานะที่เป็นคนของภาคประชาสังคม คิดว่าภาคประชาสังคมต้องเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ ทำให้รากหญ้าเข้มแข็ง ซึ่งจะต้องช่วยกันสร้างเครือข่าย ช่วยกันสนับสนุนและเผยแพร่วาระของประชาชน ให้มีสื่อสันติภาพเกิดขึ้น ต้องเรียนรู้วิธีการเจรจากับคนนอกประเทศให้สนับสนุน พร้อมนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ตลอดจนเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนไปยังรัฐบาล

รอจังหวะยื่นข้อเสนอภาคประชาชน

สำหรับเงื่อนไขที่เป็นภาวะสุกงอมนำไปสู่การเจรจานั้น ยูวันดา ให้น้ำหนักไปที่เงื่อนไขทางการเมือง...

"การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอินโดนีเซียมีผลต่อกระบวนการสันติภาพ โดยเงื่อนไขที่พลิกผันที่สุดก็คือ เมื่อประธานาธิบดีซูฮาร์โตถูกโค่นล้ม ทำให้โอกาสทางการเมืองเปิด กลายเป็นโอกาสของอาเจะห์ด้วย"

"สำหรับประเทศไทยก็เหมือนกัน ระหว่างนี้ต้องทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง สร้างพื้นที่การพูดคุยให้มาก เพื่อให้ประชาชนมีองค์ความรู้และตื่นตัว เมื่อพร้อมก็ยื่นกรอบการทำงาน (framework) ให้รัฐบาล เป็นข้อเสนอของภาคประชาชน" ยูวันดา กล่าวในที่สุด

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คลัง : ไล่บี้ ไอแบงก์ อนุมัติแผนสางหนี้ !!?


 คลังไฟเขียวแผนสางหนี้ 2.43 หมื่นล้านบาทของไอแบงก์ สั่งเข้มเร่งเดินเครื่องทันที ชี้ต้องแก้หนี้เน่าให้ได้ภายในปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท ด้าน “ทนุศักดิ์” เดือดสั่งเอสเอ็มอีแบงก์เร่งหาเอ็มดีคนใหม่ให้ได้ภายในเดือน พ.ค.56
   
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เซ็นอนุมัติแผนฟื้นฟูของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้ไอแบงก์จะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยเฉพาะการแก้ไขหนี้เสียจำนวน 2.43 หมื่นล้านบาท ซึ่งไอแบงก์ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะแก้ไขให้ได้ 1 หมื่นล้านบาท
   
นอกจากนี้ตามแผนฟื้นฟู ทางไอแบงก์จะต้องปรับปรุงการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้รัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นตามข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้เข้าไปตรวจสอบฐานะการดำเนินงานของไอแบงก์ก่อนหน้านี้
   
“เริ่มต้นของแผนฟื้นฟู ทางไอแบงก์จะได้เงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง จำนวน 445 ล้านบาท เมื่อรวมกับในส่วนของผู้ถือหุ้นรายอื่น ทั้งธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จะรวมเป็นเงินเพิ่มทุนก้อนแรกถึง 920 ล้านบาท” นายอารีพงศ์กล่าว
   
นายอารีพงศ์กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นหากทางไอแบงก์แก้ไขหนี้ได้ตามแผน ก็จะได้เงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังประมาณ 2 พันล้านบาท รวมกับเงินของผู้ถือหุ้นรายอื่นรวมเป็นเงิน 4 พันล้านบาท ซึ่งทางไอแบงก์น่าจะแก้ปัญหาหนี้เสียได้ตามเป้า เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ ต่างจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ที่หนี้เสียเป็นรายใหญ่และรายย่อยจำนวนมาก
   
สำหรับการแก้ไขหนี้เสียของเอสเอ็มอีแบงก์ในเดือน ม.ค.2556 ทำได้ไม่ดีนัก แต่ในเดือน ก.พ. และ มี.ค.ที่ผ่านมาทำได้ดีขึ้น ทำให้ภาพรวมการแก้ไขหนี้เสียในไตรมาสแรกของปีได้ตามเป้า โดยเอสเอ็มอีแบงก์มีหนี้เสียทั้งหมด 3.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะต้องใช้เวลาแก้ไขถึง 3 ปี
   
ด้านนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.การคลัง ในฐานะกำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ได้เร่งให้เอสเอ็มอีแบงก์สรรหากรรมการผู้จัดการใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ หากทำไม่ได้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่จะจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้มีคนเข้ามาเป็นผู้นำในการแก้ไขหนี้เสียของธนาคาร

ที่มา.ไทยโพสต์
/////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาธิปไตย แค่ชื่อ !!?


คงจะอยู่ยาก..จนถึงขั้นอยู่ไม่ได้
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกของพรรคการเมืองพรรคนี้..คู่ต่อสู้ของพรรคการเมืองพรรคนี้..ล้วนไม่ใช่ใครที่ไหน..ก็แตกไปจากพรรคการเมืองพรรคนี้ด้วยกันทั้งนั้น..

หัวหน้าใหญ่เสื้อแดง..คนเปิดเกมก้าวแรกให้กับการต่อต้าน..เคลื่อนขับพลังประชาชนออกมาชนกับพรรคการเมืองพรรคนี้ที่กำลังเป็นรัฐบาล..วีระ มุสิกพงษ์..หรือ วีระกานต์ มุสิกพงษ์..
ก็คืออดีตเลขาธิการพรรคการเมืองพรรคนี้..เป็นหนึ่งในขุนศึกที่กอบกู้ต่อสู้ให้กับพรรคนี้..จนยิ่งใหญ่..เป็นหน่วยกล้าตายที่อาจหาญทิ้งแผ่นดินเกิดมาสมัครเป็นผู้แทนในกรุงเทพมหานคร..และหักด่านชนในเขตทหาร..ติดคุกติดตารางมาแล้วก็หลายคุก..

อดีตนายกรัฐมนตรี...สมัคร สุนทรเวช ผู้ให้กำเนิด ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ บนเวทีปราศรัย..จนกลายเป็นแม่ทัพสนามให้กับกองทัพประชาชนเสื้อแดง..ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน..

เขาคือกระบี่หลักของพรรคการเมืองพรรคนี้..เป็นสุดยอดของผู้อภิปรายในสภา..แต่เมื่อถูกปิดกั้นความคิดและเจอกับเผด็จการในพรรค..

สมัคร ก็หักด่านมาตั้งพรรคการเมืองของตนเอง..และก็แย่งเก้าอี้ผู้แทนกรุงเทพหลายเก้าอี้..จากพรรคนี้..จนทำให้ต่ำกว่าจนไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้

สนั่น ขจรประศาสต์..ผู้สร้างพรรคนี้จนยิ่งใหญ่..ได้เป็นรัฐบาลมาแล้วสองครั้งสองครา..ก็ต้องอำลาจากพรรคการเมืองพรรคนี้..เพราะทนต่อแรงเสียดสีของความอิจฉาริษยาไม่ไหว..

ทันทีที่ พลตรี สนั่น ขจรประศาสต์ วางมือลาจาก..ความพ่ายแพ้ติดต่อกัน 21 ปี..แบบที่ อลงกรณ์ พลบุตร พูดถึงกล่าวถึงก็เป็นประดุจคำสาป..

และ พลตรี สนั่น ขจรประศาสต์..ก็คือคนที่ตกปากเชิญชวน พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคนี้..

ดำรงค์ ลัทธิพิพัฒน์..ก็ใช้ปืนระเบิดสมองตนเอง..ลาจากพรรคการเมืองพรรคนี้..ว่ากันว่าหนึ่งในเหตุผลที่ต้องคิดสั้น..ก็คือเรื่องราวปวดร้าวจากการเมืองในพรรค

ไม่แน่ว่า..วันข้างหน้า..เฉลิมชัย ศรีอ่อน..กับ อลงกรณ์ พลบุตร ก็อาจจะต้องเดินจากในทิศทางที่

ประวัติศาสตร์ของพรรคเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก..

ประชาธิปไตยเกิดได้อย่างไรในพรรคที่เป็นประชาธิปไตยแค่ชื่อ..

โดย. พญาไม้,บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

พท. พร้อมเดินหน้า ร่าง กม.นิรโทษกรรม ทันทีเมื่อสภาฯเปิด !!?


ส.ส.แดงย้ำเดินหน้าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทันทีเมื่อเปิดประชุมสภาฯไม่รอร่างพ.ร.บ.ปรองดองฉบับ"เฉลิม" ด้าน"ส.ส.อุบลฯ"ยันไม่มีความขัดแย้งภายในพรรค

ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำคนเสื้อแดง ได้แถลงยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ... (พ.ร.บ.ปรองดอง) ที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นแกนนำในการนำเสนอต่อสภา รวมถึงไม่ยืนยันว่าจะปฏิเสธหากร่างพ.ร.บ.ปรองดองฉบับดังกล่าวเข้าสู่วาระพิจารณาของสภาฯ

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าจะเดินหน้าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ฉบับที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ กับคณะ ผู้เป็นผู้เสนอ และทันทีที่เข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ช่วงเดือนสิงหาคม จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรก โดยไม่เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับร.ต.อ.เฉลิม ดังนั้นของให้พี่น้องคนเสื้อแดงสบายใจ และพรรคประชาธิปัตย์อย่าได้นำประเด็นไปตีกินกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยเล่นละครปรองดอง

"ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องเดินหน้าพิจารณาแน่นอน และแม้ว่าร่างพ.ร.บ.ปรองดองของร.ต.อ.เฉลิม จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯได้ คงไม่นำมารวมพิจารณาเรื่องเดียวกัน เพราะหลักการเป็นคนละเรื่อง อย่าไงรก็ตามในอนาคตส.ส.เสื้อแดงจะยกมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับรองนายกฯ เฉลิมหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของอนาคต" นพ.เชิดชัย กล่าว

ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าจากกรณีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ถือว่าพรรคเพื่อไทยมีความขัดแย้งระหว่างกัน อย่างไรก็ตามวานนี้ (20 พ.ค.) ตนได้คุยกับร.ต.อ.เฉลิม ถึงการเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ว่า มีเวลาอีก 3 เดือนก่อนที่สภาฯ จะเปิดประชุม ขอให้ร.ต.อ.เฉลิม ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับคนทุกกลุ่มสีก่อน เพื่อลดความระแวง ทั้งนี้ขอย้ำว่า ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ของร.ต.อ.เฉลิมนั้น ยังไม่ผ่านการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย รวมถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีเพียงการพูดผ่านสื่อฯ เท่านั้น

ขณะที่นายวรชัย กล่าวในประเด็นการเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งรายมาตราและการลงมติวาระสาม ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า จากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ทำให้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนว่า ต้องการออกมาปกป้องรัฐบาล และสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เป็นประชาธิปไตย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน

ดังนั้นขอเรียกร้องให้ สมาชิกรัฐสภาเดินหน้าลงมติวาระสามของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยลำดับแรกขอให้ลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และต่อด้วยการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ส่วนศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญไว้พิจารณานั้น ยืนยันว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาประเด็นดังกล่าว เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้

"พวกเราต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดอำนาจองค์กรอิสระ สร้างความเป็นประชาธิปไตย เพราะในองค์กรดังกล่าวพบว่าถูกอำนาจเผด็จการเข้ามาครอบงำ" นายวรชัย กล่าว

ทั้งนี้ นพ.เชิดชัย กล่าวเสริมขึ้นว่า หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโดยไม่มีอำนาจ ในยกแรกที่มีความเกรงใจ แต่เมื่อมีการตัดสินออกมา ทั้งที่ไม่มีอำนาจ อาจเปลี่ยนความเกรงใจเป็นความหมั่นไส้ และเกลียดชัง รวมถึงเป็นแรงขับให้รัฐสภาเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามต่อไป

ทีมา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////

แบงก์ชาติ กังขาตัวเลขเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ฯ


แบงก์ชาติกังขาตัวเลขเศรษฐกิจสภาพัฒน์ฯสั่งจนท.ตรวจสอบข้อมูล ด้านสศช.ยันของจริง ปัดปั้นตัวเลขเอาใจรัฐบาล คลังแก้กฎกระทรวงสกัดบาทแข็ง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความสงสัยตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่าต่ำกว่าความเป็นจริง ในขณะที่เตรียมส่งข้อมูลเศรษฐกิจให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้

ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสแรกมีผลต่อการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของ กนง. โดยก่อนหน้านี้ ธปท.ระบุว่าจะรอพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรก หากเห็นว่าขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพก็พร้อมจะลดดอกเบี้ย ในขณะรัฐบาลกดดันให้ลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2556 ที่ สศช.ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. โดยอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.3% นั้น ถือเป็นตัวเลขซึ่งต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ โดยเฉพาะตัวเลขอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียด

"เท่าที่ดูตัวเลขเบื้องต้นมีข้อสังเกตอยู่บ้าง คือ ถ้าเป็นตัวเลขการนำเข้าและส่งออกนั้นถือว่าใกล้เคียงกับที่เรามองเอาไว้ แต่ที่น่าสังเกต คือ ตัวเลขอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งตัวเลขของสศช.ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของทางแบงก์ชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตัวเลขอุปสงค์ในประเทศที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ เวลานี้ก็ให้ทีมงานดูอยู่ว่า สาเหตุมาจากอะไร"นายประสาร กล่าว

สำหรับ ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ว่าอัตราการขยายตัวประมาณ 7.1% ขณะที่ตัวเลขจริงของสศช. อยู่ที่ 5.3% ส่วนตัวเลขอุปสงค์ในประเทศของธปท. ประเมินการเติบโตไว้ที่ 6.1% ส่วนตัวเลขจริงของสศช.อยู่ที่ 3.9%

ในขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนของธปท. ประเมินไว้ที่ 5.8% แต่ตัวเลขจริงออกมาที่ 4.2% และตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนของธปท.ประเมินไว้ที่ 7.3% แต่ตัวเลขจริงของสศช.ออกมาที่ 3.1%

นายประสาร กล่าวว่า ในส่วนของตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงนั้น ประเด็นนี้ธปท.พอเข้าใจได้ เพราะไตรมาสที่ผ่านมาภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไม่สู้ดีนัก ทำให้การลงทุนลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนนั้น นายประสาร กล่าวว่าหากดูอัตราการจ้างงานและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่องมาหลายเดือน ประกอบกับสินเชื่อภาคเอกชนของธนาคารพาณิชย์ที่แม้จะชะลอลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 13% เศษ ทำให้ ธปท.ต้องพิจารณาในรายละเอียด ว่า การบริโภคภาคเอกชนที่ต่ำกว่าคาดนั้นมาจากสาเหตุใด

"เราเห็นตัวเลขอุปโภคบริโภคร่วงลง แต่ถ้าดูตัวเลขอื่น เช่น รายได้ การจ้างงานที่ยังสูง แถมยังก่อหนี้เพิ่มอีก ถ้าข้อมูลเหล่านี้เป็นจริง มันกลายเป็นว่าตัวเลขการอุปโภคบริโภคน่าจะสูง ไม่น่าจะลดลง เพราะสมมติว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มจาก 200 บาทเป็น 300 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้นมา 100 บาท แถมยังก่อหนี้เพิ่มอีก ซึ่งหนี้ที่เพิ่มก็น่าจะทำให้การบริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องไปดูในรายละเอียด"นายประสาร กล่าว

ชี้ศก.ชะลอไม่เกินคาดหมาย

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงนั้น ไม่ได้เกินความคาดหมายของธปท. เพราะก่อนหน้านี้ ธปท.ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มว่าจะชะลอลงเข้าสู่แนวโน้มปกติ ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมาจึงไม่ได้เกิดความคาดหมายมากนัก เพียงแต่มีข้อสังเกตบ้างในเรื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจด้านนโยบาย

นายประสาร กล่าวว่า การตัดสินเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น โดยปกติทาง กนง. จะดูว่าเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพหรือไม่ และแรงส่งทางเศรษฐกิจเริ่มลดลงหรือเปล่า แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ทีมเศรษฐกิจของธปท.จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นข้อมูลล่าสุดแล้วมาวิเคราะห์ดูว่าสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแท้จริงหรือไม่ ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ส่งมอบให้กับ กนง. เพื่อใช้ตัดสินใจทางด้านนโยบาย

"ตัวเลข 5.3% ก็ดูจะลดลงกว่าศักยภาพเล็กน้อย และฐานปีที่แล้วไม่ได้สูงด้วย ความจริงถ้าอยากให้เศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีโตได้เกินกว่า 5% เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกควรต้องโตมากกว่านี้ ดังนั้นตัวเลขที่ 5.3% จึงเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าคาด สาเหตุก็คือการอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสังเกต"นายประสาร กล่าว

ธปท.ไม่ติดใจตัวเลขส่งออก-นำเข้า

นายประสาร กล่าวถึงตัวเลขส่งออกและนำเข้า ว่า ธปท.ไม่ได้มีข้อสังเกตเพราะถ้าดูตัวเลขมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการที่ สศช. ประกาศออกมาที่ 8.4% นั้น เป็นตัวเลขเดียวกับที่ธปท.ประเมินไว้ ส่วนตัวเลขมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการนั้น ธปท. ประเมินไว้ที่ 7.8% ซึ่งตัวเลขของ สศช. ออกมาที่ 8.2% ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

ส่วนมูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น นายประสาร กล่าวว่า ถ้านำไปหักกับการจ่ายเงินเพื่อนำเข้าสินค้าก็ถือว่าเสมอตัว เพราะปัจจุบันสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกต่อจีดีพีของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 70%

"เวลานี้การนำเข้าและส่งออกจะใกล้ๆ กัน คือ 70% ของจีดีพี ดังนั้นเมื่อรายได้จากการส่งออกน้อยลง รายจ่ายเพื่อการนำเข้าก็ลดลงตามไปด้วย เมื่อนำ 2 ตัวมารวมกันมันก็เจ๊ากัน ไม่ได้หายไปไหน" นายประสาร กล่าว

ชี้ค่าบาทผันผวนจากปัจจัยนอก

นายประสาร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเงินเฟ้อนั้น โดยรวมในขณะนี้ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และเท่าที่ติดตามดูอยู่แรงกดดันส่วนใหญ่มาจากทางด้านอุปทาน เช่น เรื่องค่าแรงที่สูงขึ้น ภาวะการจ้างงานที่ตึงตัว ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพียงแต่แรงกดดันไม่ได้มีมากนัก

สำหรับการแกว่งตัวของค่าเงินบาทในช่วงนี้ นายประสารกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ ทำให้ตลาดเงินมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก โดยช่วง 2 วันที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงจากกระแสข่าวที่มีคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) บางคนเสนอให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยุติการใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ (QE) ก่อนกำหนด

แต่เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) มีข่าวว่า มูดี้ส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออาจปรับลดเครดิตเรทติ้งของสหรัฐลงหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาทางการคลังได้ ก็ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง เงินบาทกลับมาแข็งค่า

สศช.ยันบริโภคลดลง

นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ตัวเลขการบริโภคทุกตัวลดลงหมด เว้นแต่รถยนต์ที่ยังได้รับแรงส่งจากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล โดยยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวสูงถึง 121.8%

"ถ้าหากตัวเลขการซื้อรถยนต์ไม่ช่วยพยุงการบริโภคไว้ ยิ่งจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนต่ำมากไปกว่านี้อีก"

นายปรเมธี ออกมาชี้แจงตอบโต้ หลังจากที่นายประสาร แสดงความสงสัยตัวเลขเศรษฐกิจที่ สศช.แถลงไปเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา

ปฏิเสธแต่งตัวเอาใจการเมือง

นายปรเมธี กล่าวถึงกรณีนายประสารอ้างถึงการขยายตัวของสินเชื่อการบริโภคที่ยังสูงนั้นน่าจะแสดงถึงการบริโภคที่ขยายตัวดีว่าคนกู้เงินอาจจะนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น ไม่ได้กู้เงินมาเพื่อบริโภคก็เป็นได้

นายปรเมธี กล่าวว่า สศช. ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้จะขยายตัว 6-7% แต่ตัวเลขจริงที่ออกมา 5.3% ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจนั้น ได้หารือกันตลอดกับทีมงานของธปท. และไม่มีการแต่งตัวเลขเพื่อเอาใจรัฐบาล เพื่อบีบให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง

นายกฯปัดจับมือสศช.บี้ลดดอกเบี้ย

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากเห็นค่าเงินบาทมีเสถียรภาพและราคาที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่การลดดอกเบี้ยก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดี

"อย่ามองอย่างนั้น เพราะว่าจริงๆ แล้ว สศช. มีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงตรงนี้เราเองถือว่าทุกส่วนต้องช่วยกันชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ ส่วนการตัดสินอย่างไรนั้นทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะเป็นผู้ที่พิจารณาตัดสินใจ แต่ข้อมูลต่างหากที่เป็นข้อมูลที่ควรจะได้รับฟังอย่างครบถ้วน"นายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อถามว่ารัฐบาลสั่งให้ สศช. ลดตัวเลขเศรษฐกิจเพื่อกดดัน ธปท.ลดดอกเบี้ยหรือไม่"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากเห็นความร่วมมือทำงานไปด้วยกัน เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่อยากเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีต้องหยุดชะงัก เพราะสูญเสียโอกาสไปมากแล้วตั้งแต่อุทกภัย ซึ่งไม่อยากเห็นตัวเลขเศรษฐกิจหดตัว ในขณะที่ประเทศอื่นจะเริ่มปรับตัวแล้ว

คลังส่งรายงาน สศช. ให้แบงก์ชาติ

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แจ้งว่าจะนำรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2556 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ของสศช. ส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังจะทำหนังสือถามไปยังธปท.ว่าที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการใดบ้างในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท

ธปท.ได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้เตรียมแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการในมาตรการที่ธปท.เตรียมไว้สำหรับการแก้ปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งจะมี 2 มาตรการที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยธปท.ได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังแล้ว และส่งร่างแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังได้พิจารณา

ธปท.ขอแก้กฎหมาย2ฉบับ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่าธปท.ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมาย จำนวน 2 ฉบับ ไปยังกระทรวงการคลังเพื่อรองรับการออกมาตรการดูแลเงินบาท โดยประกอบด้วย กฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมจากการลงทุนในตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ และ การกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของเงินลงทุนในตราสารหนี้เพื่อไม่ให้ได้รับผลกำไรและขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยน

"แบงก์ชาติได้ส่งร่างแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับไปให้กระทรวงการคลัง โดยเสนอไปทั้ง 2 แบบเลย ทั้ง พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. เพราะอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา ก็อยู่ที่คลังจะไปดำเนินการอย่างไร" แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อต้นเดือนนี้ นายกิตติรัตน์ ได้รายงานมาตรการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า รวม 4 ข้อ ที่เสนอโดยธปท.ให้ครม.ได้รับทราบ คือ การห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนในพันธบัตร ธปท.,การกำหนดเวลาให้ต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาล อย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป, เก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากผลตอบแทนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ส่วนมาตรการสุดท้าย กำหนดให้นักลงทุนต่างชาติที่นำเงินเข้ามาลงทุนในไทย ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(เฮดจิ้ง) เพื่อไม่ให้ได้รับผลตอบแทนในเชิงบวก แต่ก็จะไม่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และกำหนดให้เงินทุนที่นำเข้ามานั้น ต้องถูกกันสำรองจำนวนหนึ่งไว้ที่ธปท.

"กิตติรัตน์"พร้อมทำตามข้อเสนอธปท.

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่าธปท.ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556 ชี้แจงมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่มีทั้งมาตรการที่ดำเนินการได้เองและถ้านำมาใช้จะหารือกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด และบางมาตรการต้องแก้ประกาศกระทรวงการคลังที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการให้เร็วภายในสัปดาห์นี้

"บางมาตรการต้องแก้กฎหมายระดับ พ.ร.บ.ทำให้บางคนเข้าใจว่าจะต้องแก้เป็น พ.ร.ก.ที่มีฐานะเท่า พ.ร.บ. ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการให้ตามที่ ธปท.เสนอมาและจะเสนอแก้ไขเป็น พ.ร.บ.แต่ขณะนี้สภาปิดสมัยประชุม โดยถ้าแก้ไขเป็น พ.ร.บ.จะใช้เวลาและถ้ามีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการนี้ก่อน ก็จะพิจารณาร่วมกับ ธปท.ว่ามีความจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.หรือไม่ แต่ไม่ขอเจาะจงว่าเป็นมาตรการใดเพราะเอกสารจาก ธปท.ตีตราลับมาก และยืนยันว่ากระทรวงการคลังจะดำเนินการตามที่ ธปท.เสนอมาทุกประการ"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

3 ปีแห่งการฟอกถ่านให้ขาว !!?


โดย.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

หลังจากที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวปาฐกถาที่มองโกเลียเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นปัญหาประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่เกิดจากการรัฐประหาร การคุกคามของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย และการกวาดล้างปราบปรามประชาชน ในที่สุด วันที่ 8 พฤษภาคม พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ออกแถลงการณ์ของพรรค ส่งให้กับนานาประเทศ เพื่อคัดค้านคำปาฐกถา ซึ่งแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งของการโกหกบิดเบือน ฟอกถ่านให้ขาว และใส่ร้ายป้ายสีประชาชน แถลงการณ์นี้เท่ากับว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ขยายวาทกรรมโกหกบิดเบือนในสังคมไทยให้เผยแพร่ไปทั่วโลก

ในคำแถลงของพรรคประชาธิปัตย์ ได้อ้างว่าที่มาของปัญหาการเมืองในประเทศไทยว่า เกิดจากการบริหารของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น จนทำให้ฝ่ายทหารต้องเข้าแทรกแซงในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 และแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว ซึ่งเป็นการอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร ทั้งที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ได้เลยว่า การบริหารของรัฐบาลทักษิณมีการทุจริตมากมายเช่นนั้น และยิ่งไม่สามารถที่จะเป็นข้ออ้างสำหรับการก่อรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยได้เลย ต่อมา แถลงการณ์ก็อธิบายการจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 ว่า มาจากการที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ และทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนจำนวนหนึ่งหันมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ โดยไม่อธิบายพลังทางการเมืองที่แวดล้อมกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทสำคัญในการใช้ข้อกฏหมายอันเหลวไหลมาล้มรัฐบาลพลังประชาชนและเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล

แต่การโกหกบิดเบือนเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ เรื่องการกวาดล้างปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างจนมีผู้เสียชีวิตถึง 91 คนและบาดเจ็บนับพันคน แถลงการณ์ได้ให้คำอธิบายดังนี้

“ในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ สภาพการเมืองไทยมีการเผชิญหน้า และมีความรุนแรง สืบเนื่องมาจากแนวทางแก้ว 3 ประการ ของพ.ต.ท.ทักษิณและกลุ่มผู้สนับสนุน คือ พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง และกองกำลังติดอาวุธ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรนั้นก็ได้มีส่วนร่วมในการประท้วงกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาให้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ใช่เป็นไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การชุมนุมได้มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของผู้อื่น และยังมีกองกำลังที่เรียกว่า ชายชุดดำ ใช้อาวุธสงคราม เช่น ลูกระเบิด M67 M79 และอาวุธสงครามต่างชนิด แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ,,,เป็นการชุมนุมที่มีกองกำลังติดอาวุธ ก่อการร้ายต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฝ่ายรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติด้วยกลไกต่างๆ ภายในขอบเขตของกฎหมาย ผู้เสียชีวิต 91 คน...มีทั้งข้าราชการ ทหาร และตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษากฎหมายและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และผู้ประท้วงหลายคนถูกเข่นฆ่าด้วยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ”

คำอธิบายเช่นนี้ ก็เป็นการตอกย้ำถึงการโกหกโดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่ว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 นั้นเป็นการใช้ความรุนแรงและก่อการร้ายของประชาชนต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่วนการเข่นฆ่าสังหารเกิดจากกลุ่มชายชุดดำ ซึ่งเป็นกองกำลังของฝ่ายผู้ชุมนุม โครงเรื่องในการเล่าเรื่องนี้แบบพรรคประชาธิปัตย์จึงกลายเป็นว่า กลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมประท้วงที่ถนนราชดำเนินและราชประสงค์ โดยตั้งกองกำลังติดอาวุธมาด้วย จากนั้น ก็ใช้อาวุธเหล่านั้นยิงเจ้าหน้าที่ทหาร และยิงกันเองจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการกระชับพื้นที่จนประชาชนจำนวนมากหนีไปอยู่ในวัดปทุมวนาราม คนชุดดำก็ยังตามไปยิงผู้บริสุทธิ์ในวัดอีก 6 ศพ ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)มาควบคุมสถานการณ์ ส่งทหารติดอาวุธสงครามพร้อมมาล้อมที่ชุมนุม และแม้ว่าจะมีการยิงกระสุนนับแสนนัดก็ไม่ได้สังหารใครเลย แต่ในที่สุดก็สามารถนำประเทศคืนสู่ภาวะปกติได้ด้วยกลไกกฎหมาย

การเล่าเรื่องแบบนี้อาศัยการข้ามเรื่องหรือแกล้งไม่เล่าข้อเท็จจริงจำนวนมาก เช่น การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม โดยไม่มีความรุนแรงเลย ไม่มีหลักฐานใดเลยที่แสดงว่า คนเสื้อแดงที่มาชุมนุมขนอาวุธมาจากบ้าน ข้อเรียกร้องของการชุมนุมคือ ให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ การจัดตั้งกำลังอาวุธจะไม่มีส่วนใดเลยที่จะช่วยให้บรรลุข้อเรียกร้อง ความรุนแรงเริ่มเกิดในวันที่ 10 เมษายน โดยการที่ทหารฝ่ายรัฐบาลเริมเปิดฉาก”กระชับพื้นที่”โดยการใช้อาวุธเข้าสลายฝูงชน จากนั้น ศอฉ.ได้ประกาศ”ผังล้มเจ้า”เพื่อกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมว่า ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้กองทหารปิดล้อมการชุมนุมทุกด้าน การกวาดล้างประชาชนครั้งใหญ่เรียกว่า “ขอพื้นที่คืน”เริ่มจากการสังหาร พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ด้วยการยิงด้วยสไนเปอร์ ในวันที่ 13 พฤษภาคม จากนั้น ก็ยังได้ใช้สเปอร์ยิงประชาชนจำนวนมาก การล้อมกระชับและเข่นฆ่า จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมจึงประกาศยุติการชุมนุมแล้วถูกจับกุม หลังจากนั้นจึงเกิดการเผาห้างเซนทรัลเวิร์ล และศูนย์การค้าอีกหลายแห่ง โดยคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำ จึงถูกโจมตีว่าเป็นพวก”เผาบ้านเผาเมือง” แต่ในกรณีนี้ เมื่อผ่านมาแล้ว 3 ปี ก็ไม่มีหลักฐานใดที่จะระบุได้เลยว่า คนเสื้อแดงเป็นคนเผาสถานที่เหล่านั้น คนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมดำเนินคดีก็ถูกยกฟ้องเพราะหลักฐานอ่อน และนี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การโจมตีเรื่องเผาบ้านเผาเมืองกลายเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล

สรุปได้ว่า โครงเรื่องที่เล่าแบบพรรคประชาธิปัตย์เป็นโครงเรื่องที่เหลวไหลมาก แต่โครงเรื่องแบบนี้มีความจำเป็น เพื่อที่จะปกปิดความชั่วของรัฐบาลอภิสิทธิ์และ ศอฉ. ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการกวาดล้างสังหารประชาชน แต่ที่น่าแปลกใจคือ โครงเรื่องแบบนี้ได้รับการยอมรับ และฝ่ายพันธมิตรกลุ่มเสื้อเหลือง ส่วนมากก็ยอมรับและเล่าเรื่องในแบบเดียวกัน และกลับโจมตีแกนนำของผู้ชุมนุมว่าเป็นต้นเหตุของการเข่นฆ่าสังหาร

จนมาถึงขณะนี้เมื่อถึงโอกาสครบรอบ 3 ปีของการเข่นฆ่าสังหารประชาชน การดำเนินคดีต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้รับผิดชอบในการเข่นฆ่าก็ยังคืบหน้าช้ามาก และนายทหารที่เข้าร่วมสั่งการ ก็ยังไม่มีใครถูกจับกุมดำเนินคดีเลย ทั้งยังมีข่าวถึงการเสนอกฎหมายปรองดอง ที่จะนิรโทษให้กับฝ่ายทหารและผู้สั่งการ จึงคาดหมายล่วงหน้าได้ว่า คดีสังหารประชาชนครั้งใหญ่นี้ ก็จะเป็นมวยล้ม ศาลที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่นงานประชาชนตลอดมา จะไม่มีประสิทธิภาพในการเอาผิดฆาตกรตัวจริงได้

นี่คือความอยุธิธรรมในสังคมไทย และเป็นชะตากรรมของฝ่ายประชาชนไทย

ที่มา: นสพ.โลกวันนี้วันสุข
////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ดร.โกร่ง ชวนให้คิด เหตุการณ์หลังต้มยำกุ้ง 2540 !!?


คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เหตุการณ์ต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นที่นำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ประเทศไทย เมื่อมีการประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ค่าเงินบาทที่เราต่อสู้กับ "กองทุนตรึงค่า" หรือ Hedge Funds เมื่อเราประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ค่าเงินบาทก็ดำดิ่งลงทันทีจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ ลงไปถึง 56 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเราเอาทุนสำรองไปต่อสู้จนทุนสำรองเกือบหมด เหลือเพียง 800 ล้านเหรียญเท่านั้น แล้วเราก็ต้องขอกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 17,000 ล้านเหรียญ และต้องยอมรับเงื่อนไขมหาโหดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ความผิดพลาดก่อนหน้านั้นคงไม่ต้องพูดถึง

หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็ซบเซาอย่างหนัก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างน่าใจหาย ธุรกิจสถาบันการเงิน ห้างร้านต่าง ๆ ประสบกับการขาดทุนจนต้องปิดตัวเองลงเกือบหมด มีคนเคยเปรียบเทียบความเสียหายครั้งนี้เทียบเท่ากับการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 เมืองถูกเผาราบเป็นหน้ากลอง

เศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก การนำเข้าลดลงอย่างฮวบฮาบ ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมและบริการพังพินาศราบเรียบ เหลือแต่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้นที่ยังยืนยงคงอยู่ได้ แถมขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะค่าเงินที่ตกต่ำลงทำให้สินค้าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตรสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัวแรงงานที่ถูก"ลอยแพ"จากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการหลั่งไหลกลับบ้านไปสู่ภาคเกษตรอีกครั้งหนึ่ง



ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเคยขาดดุลถึง8เปอร์เซ็นต์ก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งกลับมาเกินดุลถึง 8 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาอันสั้น คือประมาณ 12 เดือนหลังจากนั้นทางการพยายามแก้ไขโดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงจนต่ำติดดิน เพื่อหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การณ์กลับมิได้เป็นอย่างที่คาดหวังเอาไว้ แทนที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินที่ได้จากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกลับไหลออก

เข้ามาเท่าไหร่ก็ไหลออกหมด เพราะดอกเบี้ยข้างนอกสูงกว่าดอกเบี้ยข้างในมีเรื่องเรียกร้องให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยข้างนอกทางการก็ไม่ฟังเคยเปรียบเทียบว่า"เงิน" ก็เหมือน "น้ำ" น้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ เงินไหลจากที่มีผลตอบแทนต่ำไปยังที่ให้ผลตอบแทนสูง ตนเป็น "นายประตูน้ำ" น้ำไหลออกแทนที่จะตำหนิตัวเอง กลับไปต่อว่าด่าทอ "น้ำ" ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้น ไม่มีเสถียรภาพจนเริ่มกระทบต่อการส่งออกอีกครั้งหนึ่ง ทางการที่กำหนดนโยบายการเงินก็ไม่ฟัง ไม่มีใครสนใจลงทุนที่นี่ ไปลงทุนต่างประเทศดีกว่า ผลตอบแทนสูงกว่า สภาพคล่องในประเทศแห้งผาก

การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี 2544 จากรัฐบาลประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลไทยรักไทย รัฐบาลไทยรักไทยจึงตัดสินใจเปลี่ยนตัว

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการคนใหม่จึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นขั้นเป็นตอน เงินจึงหยุดไหลออก สภาพในตลาดการเงินจึงฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง และอีกปีต่อมาคือปี 2545 เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังเกินดุลมาเรื่อย ๆ เพราะเราลงทุนต่ำกว่าเงินออมที่เราทำมาขายได้ด้วยลำแข้งเราเอง ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศ ค่าเงินบาทก็แข็งตัวเรื่อย ๆ มา สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ส่งออกและเกษตรกรเป็นระยะมาเรื่อย ๆ ผู้ส่งออกและเกษตรกรก็ต้องปรับตัวเรื่อยมา

มาบัดนี้ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ลดอัตราดอกเบี้ยของตนลงจนใกล้ศูนย์ เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น จึงเพิ่มปริมาณเงินขึ้นมาจำนวนมหาศาล เงินก็หลั่งไหลมาหาที่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า จีนนั้นยังไม่เปิดเสรีทางการเงิน ประเทศบางประเทศก็ไม่น่าลงทุน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แม้แต่มาเลเซียที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า ก็เหลือแต่ไทย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนฮ่องกงก็มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ตรึงไว้กับดอลลาร์สหรัฐ

ก็เหลือไทยเราที่พื้นฐานดีกว่าคนอื่นขณะเดียวกันทางการก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยทางการไว้ที่2.75เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ดอกเบี้ยดอลลาร์สหรัฐ เยน และยูโร มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแค่ 0.0 ถึง 0.25 เปอร์เซ็นต์ เงินก็ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทจึงแข็งขึ้นมาเรื่อย ๆ จนบัดนี้

เมื่อค่าเงินแข็งขึ้น ทางการก็ออกมาเอาเงินบาทซื้อดอลลาร์ไปเก็บ พร้อม ๆ กับออกพันธบัตรดอกเบี้ยแพงตามที่ตนกำหนด เอาดอลลาร์และเงินอื่น ๆ เช่น เยนและยูโร เข้ามาเก็บเป็นทุนสำรองซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำ ก็เกิดการขาดทุนมโหฬาร เรื่องมันก็ง่าย ๆ อย่างนี้

ที่อ้างว่ากลัวเงินจะเฟ้อถ้าลดดอกเบี้ยลงเพราะค่าเงินบาทจะไม่แข็ง อย่างนี้ก็อาจจะจริงอยู่บ้าง แต่ทางการก็ไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งเกินไปไม่ใช่หรือ จึงออกมาแทรกแซงตลาดจนขาดทุนมากมายอย่างนี้ ส่วนเงินเฟ้อนั้นมันไปกับอัตราเงินเฟ้อของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่คิดเป็นเงินบาทเป็นหลัก

มีสื่อมวลชนบางคนออกมาโจมตี หรือมาถามตรง ๆ ต่อหน้าว่า เมื่อก่อนปี 2544 เห็นพูดดัง ๆ ว่าให้ทางการขึ้นดอกเบี้ย แล้วทำไมผ่านมา 10 ปีจึงกลายมาเป็นคนบ้าเลือดมาตะโกนให้ลดดอกเบี้ย จะเอาอย่างไรแน่ ถ้าเมื่อ 10 ปีก่อนถูก เที่ยวนี้ก็ต้องผิด ที่เคยเชื่อถือก็เชื่อถือไม่ได้แล้ว เพราะดูจะเปลี่ยนไป สงสัยมีเหตุผลการเมือง

ฟังแล้วก็เหนื่อย ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรกับ คนไม่รู้สถานการณ์แต่ละช่วงเวลา รู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ สุก ๆ ดิบ ๆ และไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

"ต้มยำกุ้ง" เมื่อระหว่างปี 2540-2544 กับปัจจุบัน สถานการณ์มันไม่เหมือนกัน มันกลับตาลปัตร ก่อนปี 2540 เราไปกำหนดดอกเบี้ยเอาไว้ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ ดอกเบี้ยเงินดอลลาร์มันไม่ได้คงที่ตายตัว เงินที่ไหลออกหมดเราทำมาหาได้เท่าไหร่ก็ออกไปกินดอกเบี้ยสูง ๆ นอกประเทศ เงินในประเทศจึงเหลือน้อย สภาพคล่องไม่มี ดอกเบี้ยต่ำก็จริงแต่ไม่มีใครกู้ การลงทุนก็ไม่เกิด การจ้างงานก็ไม่มี การบริโภคในเมืองก็หด เพราะความต้องการไม่มี การค้าระหว่างประเทศก็ซบเซา

หลังจากนั้นมาดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกินดุลมาตลอด เหตุการณ์ขณะนี้กลับกันกับเมื่อหลังปี 2540 กล่าวคือ อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ทยอยกันลดอัตราดอกเบี้ยลงเรื่อย ๆ มิหนำซ้ำก็เพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ เงินเยน เงินยูโรเป็นจำนวนมาก เรากลับตรึงดอกเบี้ยไว้สูง เงินก็ไหลเข้าจากการเกินดุลเพิ่มขึ้น ๆ เงินก็แข็งขึ้น ๆ ทำให้ผู้ส่งออกเดือดร้อน เกษตรกรได้ราคาต่ำลง โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรก็ต้องขาดทุนมากกว่าที่ควรจะเป็น แถมราคาสินค้าเกษตรเราในต่างประเทศก็แพงเกินเหตุ

อุตสาหกรรมรายย่อยที่ผลิตวัตถุดิบ ชิ้นส่วนส่งโรงงานใหญ่ก็เดือดร้อน เพราะโรงงานใหญ่ก็สั่งวัตถุดิบชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ราคาถูกกว่าชิ้นส่วนวัตถุดิบในประเทศ เดือดร้อนกันไปหมด
ความคิดและจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เหตุการณ์ของโลกมันเปลี่ยนไป นโยบายการเงินก็ต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่อย่างที่ถูกต่อว่า
สังคมไทยเป็นสังคมเปิด เสรีภาพในเรื่องความคิดความเห็นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสำคัญ ต้องอย่าหยุดคิด การเปลี่ยนแปลงล้วนมีเหตุปัจจัย ตามหลัก "อนิจจัง" เราอย่าหยุดอยู่กับที่ 


ตรรกะนั้นไม่เปลี่ยน ไม่มีอะไรแอบแฝง อธิบายได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////

บาทผันผวน : จับตา กนง. !!?


ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 29.82/84 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ 29.76/77 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทในช่วงเช้านี้ เงินบาทอ่อนค่าตั้งแต่เปิดตลาดตามทิศทางสกุลเงินต่างประเทศ หลังจากที่นักลงทุนยังคงตอบรับกระแสตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดของตลาดสหรัฐ ประกอบกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแสดงความเห็นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หลังจากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชุมหารือเพื่อหาทางออกที่ดีสำหรับความผันผวนของค่าเงินบาท

ปัจจุบันก็รู้สึกพอใจที่เงินบาทเริ่มอ่อนค่าอย่างสมเหตุสมผลและดูมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสหนึ่ง ประจำปี 2556 (1/56) เติบโต 5.3% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.7% โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่ไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เป็นอีกหนึ่งแรงกดดันเงินบาทในช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายหลังจากยุโรปเปิดตลาด ค่าเงินบาทได้เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังจากไม่สามารถทะยานทะลุแนวต้านที่ระดับ 29.90 บาท/ดอลลาร์ได้ จึงทำให้นักลงทุนเทขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออมา ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันอยู่ที่ระดับ 29.77-29.91 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.81/84 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.2833/34 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ 1.2887/88 ดอลลาร์/ยูโร โดยในช่วงเช้าของตลาดเอเชียสกุลเงินยูโรยังคงรับข่าวจากตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ และมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลงไปอีก ประกอบกับรับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ภายในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นผลบวกต่อเงินดอลลาร์สหรัฐและกดดันเงินยูโร อย่างไรก็ดี ในช่วงบ่ายเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากที่นักลงทุนกลับมาซื้อคืนเงินยูโร หลังจากที่เงินยูโรไม่สามารถผ่านแนวรับที่ระดับ 1.2800 ดอลลาร์/ยูโร ได้ ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินยูโรระหว่างวันนั้นอยู่ที่ระดับ 1.2820-1.2878 ดอลลาร์/ยูโร ได้ ทั้งนี้ตลอดทั้งวันกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินยูโรระหว่างวันนั้นอยู่ที่ระดับ 1.2820-1.2878 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2869/72 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 102/74/76 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ 102.29/32 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนนั้นปรับตัวอ่อนค่าหลังจากที่นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมาให้แสดงความเห็นในช่วงสุดสัปดาห์ว่า เขาจะเป็นพนักงานขายที่ดีที่สุดในการเยือนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลักดันและช่วยเหลืออุตสาหกรรมการส่งออกภายในประเทศให้มากที่สุด แต่หลังจากเปิดตลาดได้ไม่นานสกุลเงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากนายอากิระ อามาริ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกมาระบุว่า รัฐบาลรู้สึกพอใจกับระดับค่าเงินเยนในปัจจุบัน และการอ่อนค่ามากเกินไปของค่าเงินเยนอาจส่งผลเสียและทำลายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 21-22 พ.ค.นี้ ว่าจะมีการเพิ่มมาตรกรใดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับการดำเนินการของตลาดพันธบัตรเพื่อสกัดความผันผวนในตลาดหรือไม่ ทั้งนี้ตลอดทั้งวันกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเยนระหว่างวันอยู่ที่ระดับ 102.02-103.09 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดุบ 102.54/56 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมของคณะกรรมการการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) (21-22/5), รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เฟด) (22/5), ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือน เม.ย. (23.5), ตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (24/5)

อัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.5/5.75 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +8.5/9.5 สตางค์/ดอลลาร์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////

เวทีคู่ขนานจัดการน้ำที่เชียงใหม่ เรียกร้องการมีส่วนร่วมของชุมชน !!?

เครือข่ายลุ่มน้ำเหนือ-อีสานจัดเสวนาคู่ขนานเวทีจัดการน้ำที่เชียงใหม่ พร้อมอ่านแถลงการณ์-ทำหุ่นล้อ 'ปลอดประสพ' - 'หาญณรงค์' ห่วงใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน แต่ชุมชนลุ่มน้ำยังขาดข้อมูลและไม่มีส่วนกำหนดนโยบาย ด้าน 'Thai Flood' ติงเวทีประชุมเรื่องน้ำที่เชียงใหม่ขาดเรื่องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมประชาชน
19 พ.ค. 56 เวลา 10.00 น. ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานได้จัดเวทีประชาชน “การจัดการน้ำ: ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า” ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

โดยเวทีครั้งนี้เป็นการจัดคู่ขนานไปกับการจัดประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ “ความมั่นคงด้านน้ำ” โดยเวทีประชาชนได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ และแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจ ขาดการเคารพต่อประชาชนในท้องถิ่น และไม่เปิดโอกาสให้มีประชาชนมีส่วนร่วม

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่าได้ติดตามการจัดประชุมนานาชาติมาตั้งแต่ต้น แต่มีความจำเป็นของการจัดเวทีคู่ขนานนี้ เพราะการจัดนิทรรศการและไฮไลต์ของงานในครั้งนี้ เราเคยนึกว่าจะพูดเรื่องการจัดการน้ำของชุมชน วิธีอยู่กับน้ำหรือสู้กับน้ำของชุมชนต่างๆ แต่ปรากฏว่าเราเห็นแต่นิทรรศการของบริษัทเค-วอเตอร์ บริษัทจีน ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทอิตาเลียนไทย หรือบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ แต่ไม่เห็นว่าการทำงานของประชาชนว่าจะมีมีส่วนร่วมได้อย่างไร

แผนการจัดการน้ำที่เป็นอยู่ ซึ่งใช้งบเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท มีลักษณะเป็นการจัดการจากข้างบนลงข้างล่าง คนในพื้นต่างๆ ซึ่งอยู่ในแผนของพื้นที่การจัดการน้ำนี้แทบไม่ทราบข้อมูลและไม่มีส่วนร่วมใดๆ ไม่มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาชนจึงเรียกร้องให้มีการจัดประชุม ให้มีการนำเสนอข้อมูลทางเทคนิคจากทั้งนักวิชาการ และภาคประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่มีการหารือในเรื่องนี้เลย ทั้งที่จะมีการเซ็นสัญญาโครงการแล้ว และนำเรื่องเข้าครม. นี่คือสิ่งที่ตนกังวล และรัฐบาลกลับมองการเรียกร้องเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยอยากให้มีการเสียสละ แต่กลับมองว่าเราเป็นขยะทางสังคม

ตนยืนยันว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ไม่ได้ไปก่อความวุ่นวาย หรือทำลายการประชุม แต่เห็นว่ากระบวนการที่ควรจะเป็นในแผนการจัดการน้ำ 3.5 หมื่นล้าน นั้น ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนก่อน และค่อยไปดำเนินการเรื่องการออกแบบและผู้รับเหมา นอกจากนั้นยังต้องมีการคิดถึงการจัดการน้ำระหว่างประเทศ ที่มีพรมแดนใกล้กัน เช่น แม่น้ำโขง หรือสาละวิน แต่กลับไม่มีหัวข้อหรือท่าทีเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในการประชุม

xxxxxxxxxxx
มนตรี จันทรวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.เหนือ) ได้ตั้งคำถามถึงแผนการจัดการน้ำโดยภาครัฐในสามประเด็นใหญ่ ได้แก่ หนึ่ง ระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นมาหลังน้ำท่วมในปี 2554 ที่เรียกว่า “Single command” ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับลุ่มน้ำ โดยเฉพาะการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ (EIA/HIA) ทำให้เกิดคำถามในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างรัฐบาลกับบริษัทที่เข้ามาประมูลต่างๆ

แผนนี้ยังได้ทำลายโครงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ ในรูปของ “คณะกรรมการจัดการน้ำแห่งชาติ” และ “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” แต่กลับไปตั้ง “คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ” (กบอ.) ขึ้นมาแทน และแผนบริหารยังมุ่งที่ผลลัพธ์ คือน้ำต้องไม่ท่วมภาคกลางและกทม.ตลอดไป มากกว่าให้ความสำคัญกับกระบวนการ ทั้งกระบวนการวางแผน กระบวนการมีส่วนร่วม หรือกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งระบบ Single command นี้ยังสะท้อนความผิดพลาดในระดับปฏิบัติมาแล้ว เมื่อปี 2555 ที่มีการสั่งให้ระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งที่สองในอยุธยา ทั้งที่สามารถผันออกไปตามประตูระบายน้ำต่างๆ ได้ แต่กลับไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบจากความผิดพลาดนี้ได้

ประเด็นที่สอง คือ คำถามเรื่องประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้ให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นมาช่วยศึกษาการจัดการน้ำ โดย JICA ทำร่วมกับสภาพัฒน์ และได้รายงานเสนอแนะแผนการจัดการน้ำท่วมที่ใช้งบแสนกว่าล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องเงินถึง 3.5 แสนล้าน แต่มีประสิทธิภาพ และเน้นการใช้โครงสร้างเดิมที่มี ไม่เลือกวิธีการสร้างเขื่อนใหม่ แต่รัฐบาลยังไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนใดๆ ต่อสังคม ในการที่ไม่เลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาจากงานศึกษาของ JICA แต่กลับเลือกใช้แผนของ กบอ. แทน

ประเด็นที่สาม คือประเด็นสิทธิของประชาชนในทรัพยากรน้ำ รัฐบาลได้อาศัยโอกาสนี้อ้างว่าไม่มีหน่วยงานกลางในการจัดการน้ำ จึงต้องมีการตั้งกระทรวงน้ำหรือออกกฎหมายน้ำ โดยน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติเดียวที่ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม ถ้ากฎหมายนี้ออกมา ส่งผลทำให้ประชาชนทุกระดับมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าน้ำ และค่าขอใบอนุญาตใช้น้ำ เช่นเดียวกับการเก็บค่าน้ำบาดาล รวมทั้งทำลายความรู้ในการใช้น้ำของประชาชนออกไป

รวมทั้งปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งคือการจัดการลุ่มน้ำในระดับข้ามพรมแดน ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีของคุณสมบัด สมพอน นักพัฒนาของลาว ที่ได้ถูกอุ้มหายตัวไป โดยเขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการวิพากษ์วิจารณ์การสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาว เป็นตัวอย่างหนึ่งของความรุนแรงของรัฐในการเข้ามาแก้ปัญหา หวังว่าประเทศไทยจะไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น และเรายังต้องมีการพัฒนาดูแลปัญหาเรื่องนี้ในระดับภูมิภาคด้วย

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

ปรเมศวร์ มินศิริ จากศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Thai Flood) ได้เล่าถึงการเข้าไปชมนิทรรศการของงานประชุมเรื่องการจัดการน้ำ และพบบูธของบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่ เช่น บูธเกาหลีแต่งชุดเกาหลีเลย แต่ว่าเล่าเรื่องที่จะทำในเมืองไทย ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเขาได้รับงานแล้วหรือ ในกรณีเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเกิดน้ำท่วม แม้ว่าเขาจะต้องรีบแก้ปัญหามาก แต่เขาตั้งกรรมการ 600 กว่าคน โดยไม่ได้มีแต่มุมมองด้านวิศวะ แต่มีมุมมองด้านสังคม เกษตร กฎหมาย สุขภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างรวมกัน แล้วจึงบอกว่าอันนี้มีผลกระทบอะไร แต่วิธีที่ไทยใช้คือรีบๆ ทำ ให้บริษัทหนึ่งมารับไป แล้วคิดไปทำไป ในเวทีของสภาวิศวกร ในที่ประชุมน้ำครั้งนี้ ก็มีการพูดถึงความเป็นห่วงในเรื่องเหล่านี้ เช่น เรื่องเขตระยะเวลาที่ใช้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ตอนแรกระหว่างดูงานนิทรรศการเรื่องน้ำ ตนคาดหวังว่าจะเจอว่ารัฐบาลทำบูธบอกว่าหนึ่งปีหลังประสบปัญหาน้ำท่วมมา เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และแผนงานที่จะให้ประชาชนดู แล้วซีกหนึ่งจะให้เอกชนเช่าบูธขายของ หรือให้หน่วยงานต่างๆ มาออกก็ได้ แต่ปรากฏว่าพอเดินเข้าไปกลับอินเตอร์มาก มีบริษัทเกาหลี-จีน และบอร์ดนิทรรศการของรัฐบาลกลับเป็นเนื้อหาเดิมที่จัดเมื่อปีที่แล้ว แต่ย่อส่วนลง เราได้ข่าวว่ารัฐบาลบอกว่าอยากจะเป็นผู้นำทางด้านน้ำในประเทศแถบนี้ ก็เลยร่างปริญญาเชียงใหม่ขึ้นมา ซึ่งเขาบอกว่า ครม.อนุมัติแล้ว แต่ประชาชนยังไม่ได้เห็น แล้วจะเอาร่างนี้ไปให้ผู้นำโลกที่มาร่วมงานเซ็น โดยไม่ได้ใช้ความรู้นำในการเชิญชวนคนมาร่วมกันคิดกันทำเลย

นอกจากนั้นการพิจารณาเรื่องน้ำ จำเป็นต้องพิจารณาสามเรื่องร่วมกัน คือเรื่องน้ำ เรื่องอาหาร และเรื่องพลังงาน สามส่วนนี้แนวโน้มของโลกคือการคิดและพิจารณาร่วมกัน การขยายเครือข่ายเรื่องนี้จึงน่าจะคิดเรื่องเหล่านี้ด้วย

ในเวทีช่วงต่อมายังได้มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่างๆ เช่น ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่ขาน เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนชมพู เขื่อมปากมูน และเขื่อนโป่งอาง ได้กล่าวถึงผลกระทบของเขื่อนต่างๆ ต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมทั้งยังมีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในลุ่มน้ำโขงและสาละวิน ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาระบบการจัดการน้ำในระดับภูมิภาคด้วย




หลังจากนั้นในเวลาราว 12.00 น. เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค” (ดูรายละเอียดด้านล่าง) นอกจากนั้นทางเครือข่ายยังได้มีกิจกรรมการชูป้ายเรียกร้องสิทธิการจัดการลุ่มน้ำต่างๆ การแสดงออกล้อเลียนนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานบริหารกบอ. ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน

ทั้งนี้ จากที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าทางกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้มีการจัดตั้ง "กองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์เมืองเชียงใหม่" และประกาศว่าจะต่อต้านหากมีการชุมนุมของเอ็นจีโอใกล้กับประชุมผู้นำน้ำโลกนั้น ล่าสุดกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เดินทางมาในเวทีการประชุมคู่ขนานของภาคประชาชนนี้แต่อย่างใด แต่มีการชุมนุมอยู่บริเวณโรงแรมแกรนด์วโรรสแทน โดยในเวทีคู่ขนานครั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยอีกด้วย

xxxxxxxx

แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค

19 พฤษภาคม 2556

ในวาระที่มีการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2556 นั้น แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำจากหลายประเทศ แต่พบว่าการประชุมกลับมิได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และปัญหาผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีความพยายามข่มขู่ คุกคาม ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นหลักปฏิบัติของประเทศประชาธิปไตย

เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน มีข้อกังวลและข้อเสนอต่อปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค ดังนี้

กรณีโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน เป็นโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดและข้อมูลที่หลากหลาย ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเร่งรีบ ไม่มีขั้นตอนและมาตรการที่รับรองว่าจะสามารถดำเนินโครงการไปจนสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง และมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า นอกจากการคอรัปชั่นแล้ว โครงการ 3.5 แสนล้าน อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

โครงการภายใต้ชุดโครงการ 3.5 แสนล้านบาท อาทิ เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อโป่งอาง เขื่อนแก่งเสือเต้น (หรือเขื่อนยมบน ยมล่าง) เขื่อนคลองชมพู และเขื่อนแม่วงศ์ ถูกนำมาบรรจุในแผน โดยยังไม่มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ ที่ชี้ชัดว่าสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง ที่สำคัญ รัฐบาลไม่สร้างกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่ได้รับข้อมูลโครงการ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

กรณีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติของ 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานมานับตั้งแต่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกในประเทศจีนสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 ผลกระทบข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว การขึ้นลงของน้ำผิดธรรมชาติเนื่องจากการใช้งานเขื่อนทางตอนบนส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อพันธุ์ผลาธรรมชาติแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำ โดยเฉพาะพรมแดนไทย-ลาวที่จังหวัดเชียงราย สร้างความเสียหายต่อการประมง การเก็บไก การปลูกผักริมน้ำ และวิถีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปี 2551 และเหตุการณ์แม่น้ำโขงแห้งขอดในรอบ 60 ปีในปี 2553 จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีการเจรจาการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนดังกล่าวระหว่างรัฐบาลประเทศท้ายน้ำและรัฐบาลจีนแต่อย่างใด คนหาปลาและชาวบ้านริมโขงจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง

แม่น้ำโขงทางตอนล่างยังมีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาว และอีก 11 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2555 ท่ามกลางเสียงคัดค้านมากมายจนกลายเป็นกรณีความขัดแย้งในระดับนานาชาติ โครงการเขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างโดยบริษัทไทย เงินกู้จากธนาคารไทย 6 แห่ง ไฟฟ้าส่งขายประเทศไทย เป็นเขื่อสัญชาติไทยในดินแดนลาว ที่จะส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและพันธุ์ปลาธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลระบุว่าร้อยละ 70 ของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพทางไกลวางไข่และหากิน

เขื่อนไซยะบุรี เดินหน้าอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ยังไม่ผ่านข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ที่4ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างลงนามไว้ คณะมนตรีแม่น้ำโขงยังไม่ให้ความเห็นชอบ ขณะที่เขื่อนอื่นๆ อาทิ เขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากลาย กำลังจะเริ่มกระบวนการเร็วๆ นี้

แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำนานาชาติระหว่างจีน พม่า ไทย ก็เกิดโครงการเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 30 โครงการตลอดลุ่มน้ำ ทั้งในเขตทิเบตและยุฯนานของจีน ในรัฐชาติพันธุ์ของพม่า อาทิ เขื่อนกุ๋นโหลง เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน เขื่อนยวาติ๊ดในรัฐคะเรนนี และเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งทั้งหมดนี้ลงทุนโดยบริษัทและรัฐวิสาหกิจจากไทยและจีน เพื่อส่งออกไฟฟ้า

สถานการณ์ในพม่าพบว่าทุกเขื่อนที่วางแผนบนแม่น้ำสาละวิน เป็นเขื่อนกลางสนามรบ ที่ยังคงมีความขัดแย้งและการปะทะกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ ทั้งชาวไทใหญ่ คะยา กะเหรี่ยง ต้องหนีภัยความตายมายังชายแดนไทย ไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงเพื่อปกป้องทรัพยากรของตน

การเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักธรรมภิบาล มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน ดังเช่นโครงการเขื่อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ขอแสดงจุดยืนคัดค้าน การพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ไม่เคารพสิทธิของชุมชน และระบบ single-command หรือ ระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ ไม่ใช่คำตอบของการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ

เพื่อความยั่งยืนและความเป็นธรรม เพื่อทรัพยากรน้ำที่เราจะรักษาให้ลูกหลาน

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน


รายชื่อผู้ลงนามแถลงการณ์

1.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)

2.สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

3.เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

4.เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

5.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)

6.เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ

7.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

8.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.พอช.อีสาน)

9.เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

10.มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)

11.สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ

12.ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)

13.ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง

14.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

15.คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv. จ.อุดรธานี

16.กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง

17.กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย

18.กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

19.มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม จ.เชียงใหม่

20.เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม 19 สาขา จ.เชียงใหม่

21.สถาบันอ้อผะญา

22.คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่

23.กลุ่มคัดค้านใหม่

24.กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่

25.กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน หมู่บ้านแม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

26.เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอง จ.พะเยา และจ.เชียงใหม่

27.เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

28.สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล

29.สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)

30.สหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.)

31.เครือข่ายสลัม 4 ภาค

32.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

33.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)

34.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปท.)

35.เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา

36.เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล

37.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

38.ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ

39.กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่

40.โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า

41.เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น

42.กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

43.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว

44.เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลฯ

45.เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน

46.สถาบันปัญญาปีติ

47.กลุ่มเยาวชนจิตอาสาหญ้าแพรกสาละวิน

ที่มา.ประชาไท

////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ค่าเงินบาทของไทย !!?


นับตั้งแต่ปี 1960(พ.ศ. 2503) ประเทศที่เคยบอบช้ำจากผลพวงสงครามโลก ไม่ว่าเป็นประเทศในยุโรป หรือผู้แพ้สงครามอย่างญี่ปุ่น เยอรมัน เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของสหรัฐ ขณะที่ตัวสหรัฐเองกลับมีค่าใช้จ่ายมโหฬาร เช่น การให้ความช่วยเหลือประเทศที่บอบช้ำจากการทำสงคราม การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการทำสงครามเวียดนาม  การใช้จ่ายเหล่านี้นำไปสู่การขาดดุลการค้าต่อประเทศคู่แข่งทางการค้าที่เกิดขึ้นมาใหม่ ทำให้สหรัฐประสบปัญหาการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศทุกปีๆ อย่างต่อเนื่อง

เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มขาดความเชื่อมั่นเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงนำเอาเงินดอลลาร์สหรัฐที่ตนถือไว้ไปแลกเปลี่ยนกลับเป็นทองคำบริสุทธิ์แทนที่ธนาคารกลางสหรัฐเป็นจำนวนมาก ทำให้ทุนสำรองที่เป็นทองคำของสหรัฐลดลงถึงหนึ่งในสามในระยะเวลาเพียง 7 เดือนของปี1971  ดังนั้นเพื่อระงับความแตกตื่นของประชาคมโลก รัฐบาลสหรัฐจึงประกาศยกเลิกการแลกเปลี่ยนทองคำกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ15 สิงหาคม 1971 ถือเป็นการยกเลิกข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 1944 โดยปริยาย

ยุคที่สี่ : ระบบการเงินระหว่างประเทศภายหลังระบบเบรตตัน วูดส์พ.ศ. 2514 – ปัจจุบัน  (The Post-Bretton Woods  System :  1971 – Today )

ภายหลังการประกาศออกจากระบบเบรตตัน วูดส์ของสหรัฐเมื่อสิงหาคม 1971 เดือนธันวาคมปีเดียวกัน ประเทศกลุ่มผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลกได้ประชุมกันที่กรุงวอชิงตัน บรรลุข้อตกลงกำหนดให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงเหลือ 38 ดอลลาร์ต่อทองคำบริสุทธิ์หนึ่งทรอยออนซ์ และอนุญาตให้เงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวขึ้นลงได้ 2.25%จากค่าเสมอภาค (Par Value) จากเดิมที่เคลื่อนไหวได้เพียง 1% อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งปี ค่าเงินสกุลตราหลักต่างๆเกิดความผันผวนขึ้นอย่างมาก จนหลายประเทศต้องประกาศลอยตัวค่าเงินสกุลตนเอง เช่น

ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ ประกาศลอยตัวค่าเงินสกุลปอนด์ เดือนมิถุนายน ค.ศ.1972

ธนาคารกลางแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศลอยตัวค่าเงินฟรังก์สวิส มกราคมค.ศ. 1973

ธนาคารกลางสหรัฐประกาศลดค่าเงินอีกเป็นครั้งที่สอง ในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973 จาก 38 ดอลลาร์ต่อทองคำหนึ่งทรอยออนซ์ เป็น 42.22 ดอลลาร์ต่อทองคำหนึ่งทรอยออนซ์

เหตุการณ์ผันผวนของเงินตราสกุลต่างๆ นำไปสู่การประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ที่ประเทศจาไมก้า ในปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) โดยบรรลุข้อตกลงให้มีการประกาศ“ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัว”(Flexible Exchange Rate System) อย่างเป็นทางการ ซึ่งค่าเงินของแต่ละประเทศจะถูกกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดเงินตราในประเทศและต่างประเทศ โดยแต่ละประเทศต้องพยายามรักษาเสถียรภาพค่าเงินตนเองไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรในค่าเงินนั้นๆ

ปัจจุบัน ระบบการเงินระหว่างประเทศยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัวที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1976 เพียงแต่ประเทศต่างๆ เลือกใช้ระบบปริวรรต (แลกเปลี่ยน) เงินตราต่างประเทศแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของระบบเศรษฐกิจแต่ละประเทศ เพราะปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการพิจารณาเลือกระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศของแต่ละประเทศนั้น ล้วนแตกต่างกันไป เช่น อัตราว่างงาน อัตราดอกเบี้ยในประเทศ อัตราเงินเฟ้อในประเทศ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระดับการพัฒนาตลาดเงินในประเทศ ดุลการค้า ดุลชำระเงินระหว่างประเทศ โดย IMF ได้จัดกลุ่มระบบปริวรรตเงินตราในประเทศต่างๆออกเป็น 8 กลุ่มดังนี้

(1) ระบบปริวรรตเงินตราที่พึ่งพาเงินสกุลต่างประเทศหรือสหภาพการเงิน (Exchange Arrangements with No Separate Legal Tender)

(2) ระบบปริวรรตเงินตราที่ควบคุมโดยคณะกรรมการ (Currency Board Arrangements)

(3) ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับเงินสกุลอื่น (Other Conventional Fixed-Peg Arrangements)

(4) ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินไว้กับเงินสกุลอื่นแบบยืดหยุ่น (Pegged Exchange Rate within Horizontal Bands)

(5) ระบบปริวรรตเงินตราที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (Crawling Pegs)

(6) ระบบปริวรรตเงินตราที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Exchange Rate within Crawling Bands)

(7) ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบจัดการ (Managed Floating with No Pre-announced Path for the Exchange Rate)

(8) ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี(Independent Floating)

ค่าเงินบาทของไทยภายหลังระบบเบรตตัน วูดส์ ถึง ปัจจุบัน

ดังที่กล่าวมา การล่มสลายของระบบเบรตตัน วูดส์ ทำให้ระบบการเงินระหว่างประเทศเกิดความผันผวนขึ้นมาก เพราะประเทศต่างๆขาดความเชื่อมั่นเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินตราสกุลหลักของโลกที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง ประเทศไทยที่ผูกติดค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องปรับค่าเสมอภาคเงินบาทหลายครั้ง เพื่อรักษาให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐคงอยู่ในอัตรา 20.80 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเดิม โดยเริ่มจาก.....

ครั้งแรก วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ด้วย“ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่143” ข้อ 1ให้ยกเลิก พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าเสมอภาคของบาท พ.ศ. 2506 และข้อ 2 ให้กำหนดค่าของบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.03935157  กรัม

ครั้งที่สอง วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2516 ด้วย “พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าเสมอภาคของบาท พ.ศ.  2516” ได้กำหนดให้ ค่าของบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.0354164  กรัม

ครั้งที่สาม วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ด้วย “พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าเสมอภาคของบาท พ.ศ.2516(ฉบับที่ 2)”กำหนดให้ ค่าของบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.0368331  กรัม ผลของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐกลับมาคงอยู่ในอัตรา 20 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเดิมที่ประเทศเคยไทยใช้อยู่ในช่วงระบบเบรตตัน วูดส์

ในปี พ.ศ. 2519 เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศบรรลุข้อตกลงให้มีการประกาศ “ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัว” ประเทศไทยก็ต้องยอมรับกติกาใหม่ของระบบการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบลอยตัว

ในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์(พ.ย. 2520 – มี.ค. 2523)  ออก “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 พ.ศ.2521”  มีผลทำให้ไทยเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจากเดิมที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐสกุลเดียว มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับค่าของเงินตราหลายสกุลหรือ“ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับเงินสกุลอื่น”  ตามการจัดกลุ่มระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศของ IMF หรือ เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “ระบบตะกร้าเงิน” (Basket of Currencies)

ในช่วงปี พ.ศ. 2522-2524 ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมันโลก รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ต้องลาออกเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากได้ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์(มี.ค. 2523 – ส.ค. 2531) ที่เข้ามาบริหารประเทศใหม่นอกจากน้ำมันแพงแล้ว ยังเผชิญปัญหาขาดดุลการชำระเงินอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นเงินบาท ผลคือเงินบาทมีค่าลดลงมาก รัฐบาลจึงตัดสินลดค่าเงินบาทถึง 2ครั้ง

ครั้งแรก  วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทจากอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้นที่ 21 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ลงไปเป็น 23 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ครั้งที่สอง วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทอีกครั้ง จาก 23 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ลงไปเป็น 27 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปี 2540 สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ(พ.ย. 39 – พ.ย. 40) ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการณ์การเงินและสถาบันการเงิน ค่าเงินบาทถูกนักเก็งกำไรต่างชาติโจมตีอย่างหนัก รัฐบาลต้องประกาศเปลี่ยนระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศจาก"ระบบปริวรรตเงินตราที่ผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับเงินสกุลอื่น” หรือ“เงินระบบตะกร้าเงิน” ไปเป็น “ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี”เพราะไม่สามารถปกป้องค่าเงินบาทจากการถูกโจมตีได้อีกต่อไป

ภายใต้“ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี” รัฐบาลไทยต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดได้อย่างเสรี ซึ่งในระยะแรก ภายหลังประกาศปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 ก.ค. 2540 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อย ๆจากประมาณ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ตกลงไปต่ำสุดถึงประมาณ 56 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2541

ปี 2542 ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพขึ้น ได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปี 2544 - 2548  ค่าเงินบาทอ่อนลงไปอีก อยู่ที่ระดับ 40-41บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปี  2549 – 2555 ค่าเงินบาทก็แข็งขึ้นมาเรื่อยๆอยู่ที่ระดับ 33-30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

และ ขณะเขียนบทความนี้อยู่ (16 พ.ค. 2556)  ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.68 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน IMF จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ใช้ “ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบจัดการ” ซึ่งค่อนข้างมีลักษณะที่คล้ายกับ“ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบเสรี” ที่รัฐบาลต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดได้อย่างเสรี เพียงแต่ “ระบบปริวรรตเงินตราลอยตัวแบบจัดการ” นั้น รัฐบาลสามารถเข้าแทรกแซงค่าเงินตนเองได้ทันที กรณีมีความจำเป็น เพื่อให้ค่าเงินสกุลตราของตนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการและเห็นว่าเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในเวลานั้น

เรื่องราวการเดินทางของค่าเงินบาทไทย ในรอบร้อยปีที่ผ่านมาก็ขอจบลงด้วยเพียงเท่านี้ ครับ

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

ข้อพิพาท ที่ไม่สิ้นสุด !!?


โดย : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช
กรณีตำรวจตระเวนชายฝั่งทะเลฟิลิปปินส์ยิงชาวประมงไต้หวันตาย ต่อมาทางการไต้หวันมีหนังสือแจ้งไปยังรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้แสดงความรับผิดชอบรวม 4 ข้อ
     1. ขอโทษ 2.ลงโทษผู้กระทำความผิด 3.เปิดเจรจาการประมง 4.ชดใช้สินไหม
     ทั้งนี้ให้เวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งถึงกำหนดวันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 24.00 น.
   
ขณะเขียนต้นฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม รัฐบาลฟิลปปินส์ได้มีหนังสือตอบ "ยอมรับ" 3 ข้อแรก ส่วนกรณี "ชดใช้สินไหม" มิได้ระบุในหนังสือ
     ไต้หวัน "ไม่พอใจ" ต่อการตอบสนองของฟิลิปปินส์ และยืนยันจะสู้ต่อไป
     ไต้หวันถือว่าการเข้าไปจับปลายังน่านน้ำที่เกิดเหตุนั้น มิใช่เป็นการละเมิด
     เพราะเป็นน่านน้ำที่อยู่ภายในระยะทาง 170 ไมล์ทะเลของดินแดนไต้หวัน
     เป็นพื้นที่ "ทับซ้อน" ทางทะเลที่ไต้หวันและฟิลิปปินส์ใช้ทำการประมงจนกลายเป็นประเพณีมาเป็นเวลานานแล้ว
   
การที่ฟิลิปปินส์ใช้อาวุธเป็นเครื่องมือในการประกาศศักดิ์ดา เพื่อเจตนาในการครอบครองน่านน้ำ ย่อมมิชอบด้วยกฎหมาย
     รัฐบาลจีนและไต้หวันคัดค้านพฤติการณ์ของฟิลิปปินส์อย่างที่สุด
     อีกทั้งประณามการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง
   
เหตุการณ์หน่วยลาดตระเวนฟิลิปินส์ได้ทำลายชีวิตชาวประมงไต้หวันได้เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต อีกทั้งทำการปล้นสดมเรือประมงไต้หวัน และเรียกค่าไถ่ ฯลฯ
     จนกลายเป็นประเพณี
     ไต้หวันได้ทำการประท้วงและเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไร้ผล
     สุดท้ายก็เลิกรากันไป ไม่มีข้อสรุป
     แต่ครั้งนี้มิใช่ครั้งก่อน ไต้หวันดูเหมือนเอาจริง เพราะมีจีนหนุนหลังและสั่งการ
   
 จากเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ฟิลิปปินส์รับข้อเสนอของไต้หวันไม่เต็มร้อย แต่อย่างน้อยก็แสดงว่า ฟิลิปปินส์กลัว ความแข็งŽ เพราะในอดีตเมื่อเกิดเหตุแล้วก็เงียบหายไป
     ก็เพราะฟิลิปปินส์เจอกับคู่กรณีที่เสมือนขนมจีนเปล่าๆ ประการ 1
     ก็เพราะผู้บริหารไต้หวันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อีกประการ 1
     คนไต้หวันส่วนใหญ่ดีแต่พูด แต่มุ่งเน้น "ผลประโยชน์" เป็นหลัก
     ถ้าปราศจากผลประโยชน์ คนไต้หวันจะไม่ค่อยสนใจ
     แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ราชการไต้หวันคงจะ "ลักไก่" ไม่ได้อีกแล้ว
     เพราะว่ามี "รัฐบาลแม่" ดูแลกำกับอยู่อย่างใกล้ชิด
     หลายปีที่ผ่านมา ข้าราชการฟิลิปปินส์ทำร้ายชาวประมงไต้หวัน กลายเป็นกิจวัตร
   
ปี 2006 กัปตันเรือประมงไต้หวันถูกยิงตายด้วยน้ำมือของตำรวจน้ำฟิลิปปินส์ ตำรวจจะนำศพทิ้งทะเล แต่จากการร้องขอของชาวประมงในเรือลำเดียวกัน จึงยอมให้นำศพขึ้นฝั่ง
     ในที่สุด เรื่องก็หายเงียบไป
     หายเงียบเพราะการละทิ้งหน้าที่ของราชการไต้หวัน
     ดูอย่างฮ่องกง เขามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เขาทำงานด้วยความจริงใจ เขาเอาใจใส่ชีวิตมนุษย์
     กรณีรถทัวร์ฮ่องกงถูกปล้นที่ฟิลิปปินส์ เป็นนิทัศน์อุธาหรณ์ที่ดี
   
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2010 การปล้นรถทัวร์ชาวฮ่องกง เป็นเหตุให้คนฮ่องกงตาย 8 คน บาดเจ็บ 7 คน รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่แสดงความรับผิดชอบ
   
รัฐบาลฮ่องกงได้ทำการคัดค้านและต่อต้าน โดยได้ออกสัญญาณเตือนภัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ตั้งแต่คืนที่เกิดเหตุการ์ณ์ จนบัดนี้ยังไม่ได้ยกเลิก
     ผู้บริหารไต้หวันต้องเลียนแบบฮ่องกง
     แผ่นดินไต้หวันก็จะดูสูงขึ้น
     กรณีพิพาททางทะเลระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์ ความจริงไต้หวันได้เปรียบกว่าหลายขุม
   
วันนี้ รายได้สำคัญของฟิลิปปินส์คือส่งออก "แรงงาน" มีคนฟิลิปปินส์ประมาณ 10 % คือ "ขายแรงงาน" ให้ต่างชาติ แต่มิใช่เร่ขายชาติ
     มีชาวฟิลิปปินส์เกือบ 2 แสนคนรับจ้างทำงานบ้านที่ฮ่องกง
     และอีก 8.7 หมื่นคนทำงานที่ไต้หวัน
   
ฟิลิปปินส์มีรายได้จากการขายแรงงานให้ไต้หวันปีละประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน (เท่ากับประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)
     เพียงแค่ไต้หวันทำการ "แช่แข็ง" แรงงานฟิลิปปินส์
     ก็เป็นผลกระทบอย่างแรง
     เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีปัญหาโดยพลัน แต่ทำไมไม่ทำ
     ก็เพราะคนไต้หวันเห็นแก่ผลประโยชน์
     ผลประโยชน์นั้นคือ "ค่าจ้างแรงงาน"
     ถ้าจ้างคนไต้หวัน ค่าจ้างแพงกว่าหลายเท่า ถ้าจ้างแรงงานชาติอื่นก็ยังแพงกว่าจ้างชาวฟิลิปปินส์
     ถ้าให้คนไต้หวันเลือกระหว่าง "ผลประโยชน์" กับ "ชีวิตชาวประมง"
     "ผลประโยชน์" คือ "คำตอบสุดท้าย"
   
ที่มาของพิพาทที่มิสิ้นสุด

ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////////