--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

เขตเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด !!?


การพัฒนาเมืองชายแดนแม่สอดได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐและเอกชนมาหลายปีแล้ว โดยเมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้มีการวางแนวทางการพัฒนาไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมอนุมัติงบประมาณสนับสนุน เพื่อการพัฒนาไปสู่ เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก ของประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินหลายพันล้านบาท

แม้จะมีการวางแนวทางการพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่ความคืบหน้าก็เป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งตรงข้ามกับเมืองเมียวดีของพม่าที่เปรียบเสมือนเมืองคู่แฝดกับแม่สอด ที่ขณะนี้ถูกยกระดับขึ้นเป็น เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เพื่อเตรียมพร้อมรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดตั้งระเบียบดังกล่าว

พร้อมมีความเห็นชอบให้อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่นำร่องเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่แรก

ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษตามร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หมายถึงพื้นที่พิเศษหรือบางส่วนขององค์กรปกครองส่วน

ท้องถิ่นแห่งหนึ่งหรือบางแห่ง และได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการค้าสินค้าและบริการหรือการลงทุน

เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการค้าบริเวณพรมแดนและการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่สอดคล้องกับระบบ ASEAN Single Window และบทนิยามอื่น ๆ

ประโยชน์ของการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็คือจะเป็นพื้นที่มีการผ่อนปรนในเรื่องกฎระเบียบการลงทุน และมีการให้สิทธิพิเศษหลายประการแก่นักลงทุน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอันเป็นไปตามจุดประสงค์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังมีการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูล การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม บริการพื้นฐานต่างๆ ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เพียงหนึ่งวัน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่แม่สอดเพื่อตรวจดูสภาพพื้นที่แม่สอด ตรวจเยี่ยมสภาพสะพานมิตรภาพไทย-พม่า รวมไปถึงฟังบรรยายสรุปเรื่องเขตเศรษฐกิจแม่สอด และสถานการณ์ภาพรวมของสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดตาก ว่าจังหวัดตากมีรายได้เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้เทศบาลนครแม่สอดยังเสนอให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนด้านการคมนาคม เพิ่มระบบโลจิสติกส์ อุโมงค์รถไฟเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไป ตาก - แม่สอด รวมถึงการที่จังหวัดได้เตรียมพื้นที่กว่า 500 ไร่ เพื่อสร้างศูนย์กระจายสินค้ารองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ทั้งยังเป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศจีนและอินเดียได้ด้วย ซึ่งคณะรัฐบาลแสดงท่าทีที่เห็นด้วยกับการยกระดับแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ

การให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็น AEC นั่นเอง

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และตกลงเลือกให้อำเภอแม่สอดเป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ก็ได้มีตัวแทนคณะรัฐบาลลงพื้นที่อำเภอแม่สอดเพื่อศึกษาเขตจัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษอยู่หลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการเยือนแม่สอดของ นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่เดินทางมาลงพื้นที่ชายแดนไทย - พม่า ดูการส่งสินค้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า รวมไปถึงบริเวณท่าเรือขนส่งสินค้าริมแม่น้ำเมย อำเภอแม่สอด

เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลอำเภอแม่สอด พร้อมนำข้อมูลเข้าสู่คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารฯ ของสภาผู้แทนราษฎร นำไปศึกษาการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ เห็นด้วยกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ให้เป็นตัวอย่างของเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องก่อนที่จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ในอนาคต

ส่วน นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เพิ่งเดินทางมาตรวจดูสภาพพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

การเดินทางมาเยือนอำเภอแม่สอดของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อติดตามการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดูช่องทางการค้าชายแดน รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อศึกษาถึงศักยภาพและความพร้อมของแม่สอดในการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและประตูสู่อาเซียน พร้อมนำข้อมูลทั้งหมดเสนอให้คณะรัฐมนตรีเร่งออกพระราชกฤษฎีกา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด รวมไปถึงการจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวต่อไป

อำเภอแม่สอด เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นเมืองชายแดนไทย - พม่า ที่การค้าชายแดนเฟื่องฟูมานานหลายปี โดยเฉพาะการค้าผลผลิตทางด้านการเกษตรและการ

บริการ

ทั้งในส่วนการท่องเที่ยวและการขนส่ง "แม่สอด" ถือเป็นเมืองที่สำคัญบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ East - West Corridor ที่จะสามารถเชื่อมเส้นทางการคมนาคมทางบกไประหว่างอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกได้

การยกระดับ "อำเภอแม่สอด" ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเป็นโอกาสอันดีของนักลงทุนไทยและนักลงทุนอาเซียน เมื่อมีการเข้าสู่การเป็น AEC ในอนาคต

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

ขรก-พนง.ท้องถิ่นเฮ ปรับเงินเดือนใหม่ ป.ตรีให้ 1.3 หมื่น !!?


 ข้าราชการ-พนักงานท้องถิ่น เฮลั่น กรมการปกครองท้องถิ่นปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ ขยายเพดานระดับ 7-9 ส่วน ระดับ 10 สูงสุดเกือบ 7 หมื่น บาท พร้อมเปิดสอบขรก.เพิ่ม ทั่วประเทศ รวม 7,911 อัตรา ตั้งแต่ธุรการ พัสดุ ช่างโยธา งานจัดเก็บรายได้ การเงิน นิติกรยันตรวจสอบภายใน คาดเปิดรับ เม.ย.56 นี้

นายศักดิพงศ์ ธรรม-อาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการเปิดสอบข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นในปี 2556 ว่า เพิ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ.56 ที่ผ่านมา โดย กสถ.จะเป็นผู้กำหนด หลักเกณฑ์รวมไปถึงวัน เวลา เปิดรับสมัครอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคิดว่าประมาณเดือน เม.ย.56 นี้จะเปิดรับสมัครได้

"สำหรับหลักสูตรการสอบแข่งขัน ประกอบด้วย 1.ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) 2.ภาคความสามารถเฉพาะ ตำแหน่ง (ภาค ข.) และ 3.ภาคความเหมาะ-สมกับตำแหน่ง (ภาค ค.) โดยผู้สอบแข่งขัน จะต้องได้คะแนนในแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 และนำคะแนน 3 ภาคมารวมกันเพื่อเรียงลำดับ ขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ โดย จะแบ่งเป็นเขต/ภาค เขตละ 6-9 จังหวัด และขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้มีอายุ 2 ปี” นายศักดิพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับสมัคร ในระดับ 1-4 ประกอบด้วย ระดับ 1 จำนวน 27 ตำแหน่ง 1,761 อัตรา ระดับ 2 จำนวน 33 ตำแหน่ง 3,651 อัตรา ระดับ 3 จำนวน 37 ตำแหน่ง 2,498 อัตรา และระดับ 4 จำนวน 1 ตำแหน่ง 1 อัตรา รวม 98 ตำแหน่ง 7,911 อัตรา

สำหรับตำแหน่งที่มีการเปิดรับสมัครจำนวนมาก คือ ตำแหน่งงานธุรการ พัสดุ ช่างโยธา งานจัดเก็บรายได้ การเงินและบัญชี นิติกร ตรวจสอบภายใน และนักวิชาการด้าน การศึกษา และมีตำแหน่งที่เปิดใหม่ เช่น สันทนาการ นักวิชาการสวนสาธารณะ และนักวิจัยจราจร เป็นต้น

ด้านนายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับการกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง ว่า คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ได้มีการประชุม เมื่อ 21 ก.พ.56 มีมติเห็นชอบว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลาง อบจ./เทศบาล/อบต. ซึ่งเป็นอำนาจตาม มาตรา 33(1) และมาตรา 17(4) มาตรา 24 วรรค 7 และมาตรา 26 วรรค 7 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และตามประกาศ กจ./กท./ก อบต. เรื่องมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนและวิธีการจ่ายเงินเดือนและประโยชน์ตอบ แทนอื่น ลงวันที่ 22 พ.ย.2544

นายเชื้อ กล่าวอีกว่า ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามนัยหนังสือสำนักงาน ก.พ.ด่วนที่สุด ที่ นร1008.1/ว3 ลงวันที่ 21 มี.ค.55 ให้ดำเนินการได้ภายใต้โครงสร้างอัตราเงินเดือน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ ก.ถ.ให้ความเห็นชอบไปเมื่อ 21 ก.พ.56 หลัง นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ประธาน ก.ถ.ลงนามแล้วเสร็จ โดยให้ได้รับสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า ก.พ.

"ดังนั้น เป็นหน้าที่ของ ก. กลางทั้งสาม ก. จะต้องประชุมร่วมกัน เพื่อไปกำหนด อัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับการกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.พ.รับรอง โดยเงินเดือนที่กำหนดต้องไม่ต่ำกว่า ก.พ. เช่น 1 ม.ค.55 ป.ตรี ก.พ.เงินเดือนแรกบรรจุ 11,680 บาท อปท.ก็จะได้ไม่ต่ำกว่านั้น หรือ 1 ม.ค.56 ป.ตรี ก.พ.เงินเดือนแรกบรรจุ 13,300 บาท ของ อปท.ก็จะได้ไม่ต่ำกว่านี้ แต่สูงกว่าได้ ในส่วนนี้จะมีผลย้อนหลัง 3 รอบ หรือ 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ตั้งแต่ 1 ต.ค.53 ครั้งที่ 2 ตั้งแต่ 1 ม.ค.55 และ ครั้งที่ 3 ตั้งแต่ 1 ม.ค.56 เช่นเดียวกันกับ ก.พ." นายเชื้อ กล่าว

สำหรับบัญชีเงินเดือนของท้องถิ่นใหม่ ให้ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 11 ธ.ค.51 โดยที่ผ่านมา ระดับหรือซี ที่มีการเหลื่อมล้ำกันกับ ก.พ.คือ ระดับ 7-9 ที่เต็มขั้นเงินเดือน ส่วนระดับล่างลงมีความไม่แตกต่างกัน เมื่อมีการปรับบัญชีเงินเดือนท้องถิ่นใหม่ ระดับ 7 จะได้เงินเดือนตั้งแต่ 16,190-39,630 บาท ระดับ 8 เริ่มตั้งแต่ 19,860-54,090 ระดับ 9 เริ่มตั้งแต่ 24,400-63,960 และระดับ 10 เริ่มตั้งแต่ 29,980-67,500 บาท

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

บนบาทวิถี มหานครเซี่ยงไฮ้ !!?


โดย : อนันต์ ลือประดิษฐ์

บันทึกการเดินทาง เมื่อไปสัมผัสมหานครที่ได้ชื่อว่า “ปารีสแห่งตะวันออก” เป็นครั้งแรก

หลังเครื่องบิน “เทคออฟ” ออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง เวลาดูจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพียงไม่ทันไร กัปตันก็ประกาศผ่านพีเอให้ผู้โดยสารเตรียมตัวสำหรับการ “แลนดิง” ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ณ สนามบินผู่ตง แห่งมหานครเซี่ยงไฮ้

ทั้งที่เป็นลูกจีน แต่น่าเสียดายว่าผมไม่คุ้นเคยกับผืนแผ่นดินจีนแม้แต่น้อย หากเปรียบเทียบกับการเดินทางท่องไปในทวีปอื่นๆ ทั้งในอเมริกา ยุโรป และดินแดนดาวน์อันเดอร์ ผมไม่เคยย่ำเท้าท่องเมืองไหนๆ ในประเทศจีน อาจจะเคยเฉียดๆ อยู่บ้างก็แค่ “เซินเจิ้น” อันเป็นผลพวงจากทริปไปฮ่องกงเท่านั้น

ฟังแล้วดูช่างน่าหมั่นไส้ไม่น้อย แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

และแล้วโอกาสเยือนจีนก็มาถึง แถมเป็นเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) มหานครที่ผ่านกระบวนการ “ทำให้ทันสมัย” มาแล้ว โดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยม ที่ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ต่างทุ่มทรัพยากรเข้ามาลงทุนค้าขาย และแผ่ขยายอิทธิพลออกเป็นเขตต่างๆ ทำให้ที่นี่เป็นศูนยกลางทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ของจีน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สมกับฐานะ “เมืองบนทะเล” หรือ City on the sea ตามความหมายของชื่อเมืองนี้

ด้วยสถาปัตยกรรมอันสวยงาม ทั้งแบบเรอเนสซองส์ และอาร์ตเดโก โดยเฉพาะกลุ่มอาคารขนาดใหญ่อายุร่วมร้อยปี ริมแม่น้ำหวงผู่ทางฝั่งซ้าย ที่เรียกว่า เดอะ บันด์ (The Bund) หรือหาดไวทัน (Wai Tan) ถึงขนาดทำให้บางคนเรียกขานมหานครแห่งนี้อย่างไม่ลังเลว่า “ปารีสแห่งตะวันออก”

แม้จะมีหลายคนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะบรรดาเพื่อนสนิทของผม ที่พวกท่านๆ เหล่านั้นผ่านประสบการณ์ในปารีสหรือนิวยอร์กมาอย่างโชกโชน ออกอาการส่ายหัว กับสถานะดูดีของ “เซี่ยงไฮ้” ที่ว่า แต่สำหรับผม นี่คือประสบการณ์ใหม่ที่น่าลิ้มลองทีเดียว

“เซี่ยงไฮ้” (หรือ “ชางไห่” ถ้าจะออกเสียงให้ใกล้เคียงกับคนพื้นเมือง) อยู่ในไทม์โซน GMT+8 เวลาเร็วกว่าไทยเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อปราศจากอาการ “เจ็ท แล็ก” (Jet Lag) ทันทีที่เช็คอิน ณ โรงแรมใหม่ในอาคารเก่าแก่

“Peace Hotel” ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 20 ของ เดอะ บันด์ เพียงแค่ล้างหน้าล้างตา เราก็เดินออกจากโรงแรมที่พัก ลุยยามค่ำกันเลย

อากาศช่วงต้นปีของเซี่ยงไฮ้ค่อนข้างหนาวเย็นอยู่สักหน่อย แต่อุณหภูมิแค่ 3-4 องศาเซลเซียส มิใช่อุปสรรคสำหรับเหล่านักเดินทางที่พร้อมจะออกมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นราตรีไหนๆ ในต่างแดน ย่อมยาวนานเสมอ

ค่ำคืนแรก เราตัดสินใจไปหาไวน์ดีๆ ดื่มกัน ณ House of Roosevelt ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่บนชั้นบนสุดของอาคารเก่าแก่ริมชายหาด มองจากวิวออกไปทางฝั่งแม่น้ำ จะเห็นเขตผู่ตง ที่เปล่งแสงไฟเจิดจ้าออกมาอย่างตระการตา สะท้อนผ่านผืนน้ำอย่างงดงาม

ไกลออกไป อาคารที่เตะตาเป็นพิเศษ หนีไม่พ้น “หอไข่มุก” ซึ่งกลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของที่นี่ไปเสียแล้ว

เมื่ออยู่ภายในห้องอาหาร ที่ปล่อยฮีทเทอร์แบบทำให้สุก อากาศร้อนจนต้องถอดแจ็คเก็ทตัวหนา ดูจากไวน์ลิสต์ของ House of Roosevelt ที่บริกรยื่นให้ ต้องชมว่าสมกับราคาคุย เพราะที่นี่รวบรวมไวน์ชั้นดีได้มากจริงๆ แต่อาจจะต้องทำใจสักหน่อย จากราคาที่สูงกว่ากรุงเทพราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยไวน์ชั้นดีทั่วไป เกรด DOCG ของอิตาลี อยู่ราว 1000-1500 หยวน ยังไม่ต้องพูดถึงระดับซิกเนเจอร์ อย่าง “ซาซิกายา” “ติญาเนลโล” ที่พุ่งขึ้นไปสูงกว่านั้นอีกหลายเท่า

เมื่อเป็นร้านอาหารชั้นนำ ซอมเมอลิเยร์ของที่นี่ จึงค่อนข้างเป็น “มืออาชีพ” ในการให้คำแนะนำอาหารที่รับประทานคู่กับไวน์ นอกจาก ตับห่าน (Foie Gras) รสเลิศ ที่เสิร์ฟพร้อมกับเกลือหลากสีจากแหล่งผลิตชั้นดีของโลก ซึ่งมีให้เลือกถึง 8-9 อย่าง แล้วเรายังมี “Cold cut” แบบเรียบง่ายอีกจาน นั่นทำให้มื้อแรกของเราในนครเซี่ยงไฮ้ มีกลิ่นอายความเป็น “ปารีสแห่งตะวันออก” ขึ้นมาไม่น้อยทีเดียว

เซี่ยงไฮ้ยามค่ำคืนนั้น ต้องถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเต็มไปด้วยสีสัน ทั้งที่บริเวณลานกว้างริมฝั่งแม่น้ำ หรือบนถนนสายนานจิง หรือ “นานจิง ลู” ที่เชื่อมจากเดอะบันด์ยาวไปทางตะวันตกหลายกิโล จนถึงย่านชอปปิงชื่อดัง ที่มีสินค้าแบรนด์เนมมากมาย เต็มไปด้วยผู้คนออกมาเดินกันอย่างล้นหลาม

ในอาคารฟูดฮอลล์ของย่านนี้ มีร้านอาหารหลากหลาย ทั้งตลาดของสด ของแห้ง จำพวกเป็ดรมควัน ขาหมูยัดไส้ ฯลฯ รวมไปจนถึงร้านอาหารแบบต่างๆ ทั้งจีน อิตาเลียน นานาชาติ ทว่า ร้านอาหารไทยร้านเดียวเท่านั้นที่ดูจะมีผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด สังเกตจากคิวรอจำนวนมาก มากกว่าทุกๆ ร้าน ผมลองนับจำนวนหัวที่นั่งรอยืนรอ (อย่างอดทน) ประมาณ 100 คนเลยทีเดียว

บนถนนคนเดิน มีกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่เต้นแอโรบิค ดานซ์ , ลีลาศกับเครื่องเสียงราคาถูก กับกิจกรรมร้องเพลงคาราโอเกะ ที่ไม่มีมอนิเตอร์หรือจอทีวีใดๆ แต่ใช้วิธีการตั้งแผ่นฟลิบชาร์ท แล้วเปลี่ยนแผ่นเพลงที่ร้องกันแบบ “แมนนวล” ส่วนแต่เพลงที่ร้องนั้น บางครั้งก็ไม่มีดนตรีหรืออะไรเสริม มีผู้นำคนหนึ่ง ชี้ไม้ไปบนเนื้อเพลง แล้วส่งเสียงร้องกันแบบลุ่นๆ แต่การร้องรวมหมู่แบบนี้ ก็ให้ความเพลิดเพลินไปอีกแบบ

คาดคะแนด้วยสายตา ผู้คนบนบาทวิถี ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเมืองอื่นๆ ของจีน หรือจากประเทศอื่น อย่างที่ทราบกันดีว่า ในจำนวนพลเมือง 20 ล้านของเมืองนี้ มีคนท้องถิ่นเดิมๆ เพียงส่วนน้อยเท่านั้น

และอย่าคิดว่า ด้วยความเป็นคนเอเชียเหมือนกัน มีเชื้อสายจีนเหมือนกัน จะทำให้เราปะปนกลมกลืนกับคนท้องถิ่นที่นี่ได้ เพราะเหล่าผู้เสนอขายสินค้าและบริการบนบาทวิถีนั้น สามารถ “วิเคราะห์” เราได้อย่างรวดเร็ว จากเสื้อผ้า การแต่งกาย หรือแม้กระทั่งท่าเดิน

“นวดมั้ยครับ คุณมาจากไหน” กระทาชายคนหนึ่งย่างอาดเข้ามาหาอย่างมั่นใจ พร้อมภาษาอังกฤษแปร่ง เขายื่นแผ่นกระดาษขนาดใหญ่กว่านามบัตรมาให้ รายละเอียดในนั้น นอกจากชื่อ ปีเตอร์ ชาน แล้ว ก็มีภาพของอาหมวยนุ่งน้อยห่มน้อยรายล้อม

“ร้านนวดอยู่ตรงนี้ ไม่ไกล ชั่วโมงละ 100 หยวน” ผมจำคำแนะนำได้ว่า ห้ามไปข้องแวะเด็ดขาด เพราะอาจจะโดนชาร์จค่านั่นค่านี่จนหมดตัว สาเหตุหลักๆ มาจากภาษาที่สื่อสารกันไม่เข้าใจ

“หากต้องไปนวดที่โรงแรมคิดชั่วโมงละ 200 หยวน ส่วนที่เหลือคุยกันเอง....” ปีเตอร์ โต้ตอบมาทันที พร้อมเร่งฝีเท้าตามมา ขณะที่ผมเร่งเท้าให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ

“ไม่สะดวกตอนนี้ ไม่เป็นไร สะดวกตอนไหนก็โทร.มานะ ตามเบอร์โทรศัพท์บนนามบัตร ตลอด 24 ชั่วโมง” เขาผละจากไปในที่สุด แต่ไม่วายทิ้งประโยคที่แสดงความหวังแบบมืออาชีพ ขณะที่ผมอดคิดตามไม่ได้ว่า ด้วยความทันสมัยของ พีซ โฮเต็ล ที่ปรับปรุงใหม่จนทันเปิดใช้งาน “เอ็กซ์โป” เมื่อครั้งที่ผ่านมา ซึ่งต้องใช้การ์ดโรงแรม เพื่อแตะบนเซนเซอร์ในลิฟต์ จากนั้นจึงจะกดชั้นที่ต้องการได้ แล้วเขาจะส่งบริการไปถึงห้องพักของแขกได้อย่างไร

นอกจากเรื่องที่ว่าแล้ว ความน่าสนใจยังอยู่ที่ทักษะภาษาอังกฤษของ ปีเตอร์ ชาน ซึ่งคล่องแคล่ว และว่องไว กลายมาเป็นตัวอย่างชั้นดีที่ทำให้ผมไม่ประสบภาวะ “Lost in Translations” ในมหานครแห่งนี้ ทั้งที่คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาแมนดารินเป็นหลัก และมีภาษาถิ่น “ชางไห่นีส” อีกส่วนหนึ่ง แม้จะมีคำแนะนำให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ประโยคสนทนาง่ายๆ ไว้บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ด้วยความพยายามในการสื่อสารนั่นแหละ ที่ทำให้ทุกอย่างลงเอยอย่างง่ายดาย

ดังกรณีของร้าน Waya Udon & Cafe คุณป้าเจ้าของร้านพยายามสื่อสารว่า เครื่องดื่มที่สั่งไปนั้น จะเอาแบบร้อนหรือเย็น เธอพูดเป็นภาษาแมนดาริน พร้อมกับชี้ไปยังตัวหนังสือบนเมนู ที่ใกล้ๆ กันนั้น นอกจากตัวภาษาจีนแล้ว ยังมีภาษาอังกฤษคำว่า Hot และ Cold กำกับอยู่ใกล้ๆ แค่นั้น ก็ใช้สื่อสารกันได้แล้ว

ความมหัศจรรย์ใจบนบาทวิถีในนครเซี่ยงไฮ้ ณ ที่ซึ่งมีทั้งตึกเก่าและใหม่ปะปนกันไป เป็นส่วนที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่นักเดินทาง เพราะเป็นที่ซึ่งโลกใหม่กับโลกเก่าโคจรมาปะทะสังสรรค์กัน เหลื่อมซ้อนกัน และบางส่วนก็ต่างคนต่างอยู่อย่างน่าเฝ้าดูไม่รู้เบื่อ

ไม่ว่าจะเป็นตึกแถวแบบเก่า ขนาดไม่เกิน 3 ชั้น ที่เรียกกันว่า Shikumen ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมของชาวจีน หรือตึกแบบอาร์ตเดโก ที่ลงทุนโดยมหาเศรษฐีจากต่างแดน หรือจะเป็นสภาพที่อยู่อาศัยแบบเสื่อมโทรมในพื้นที่ห่างจากความเจริญเพียงนิดเดียว

สำหรับ Shikumen นั้น บางแห่งปรับปรุงให้ทันสมัย โอ่อ่าหรูหรา ตามสถานภาพของผู้อาศัย แต่ระหว่างตะลอนไปในซอกซอยต่างๆ ของมหานครแห่งนี้ เราจะได้พบอาคารชิกุเมนที่ทรุดโทรม หลายแห่งไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้าหรือฮีตเตอร์ใช้ เหตุเพราะผู้อาศัยยากจนข้นแค้นเสียเหลือเกิน

อย่างไรก็ดี นับแต่จีนเปิดประเทศ ในมหานครเซี่ยงไฮ้ มีการบูรณะตึกใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่หลักๆ จะเน้นให้อยู่ในสภาพเดิม หลายแห่งมีจารึกสลักไว้อย่างหนักแน่นว่า เป็น “สถาปัตยกรรมเชิงมรดก” (Heritage Architecture) พร้อมประวัติการสร้างอาคารคร่าวๆ ซึ่งดูแล้ว ก็ชวนให้รู้สึกสังเวชใจ เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเรา ที่ผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้ มุ่งหน้าจะทุบทำลายอาคารเก่า ด้วยเหตุผลของการพัฒนาอย่างไร้รสนิยมเสียทั้งนั้น

ตึกในกลุ่ม เดอะบันด์ ที่มีโรงแรมพีซโฮเต็ล เป็นไฮไลต์นั้น ก็เพิ่งบูรณะใหม่เมื่อปี 2007 และเสร็จสิ้นในปี 2010 ใช้เวลาไม่เกิน 3 ปีตามกฎหมายท้องถิ่น ตึกนี้มีรูปทรงเป็นอาร์ตเดโก ภายในตกแต่งอย่างหรูหรา บริเวณห้องโถงเป็นห้องแบบ 8 เหลี่ยม ผู้บริหารรู้จักเลือกนำเอาผลงานประติมากรรมของ Xie Wen Tao มาประดับไว้อย่างงามสง่า ประติมากรรมนี้มีการใช้สัญลักษณ์ของความเป็นจีน ผสมผสานกับคติความเชื่อในเรื่องโชคลางอย่างลงตัว

มาจนถึงเวลาที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมยังสืบค้นไม่ได้ว่า เหตุใดโรงแรมคาเธย์เดิม ถึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Peace Hotel ทั้งที่ ที่นี่คือสถานที่หรูหรา เต็มไปด้วยบรรยากาศแบบ Jazz Age และยังเคยเป็นที่พักของบุคคลสำคัญ อย่าง ชาร์ลี แชปลิน และ โนเอล โคเวิร์ด นักเขียนนวนิยาย ซึ่งนั่งลงเขียนเรื่อง Private Lives ที่นี่มาแล้ว

แต่เข้าใจได้ว่า นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ถือเป็นช่วงสิ้นสุดของยุคเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นได้ยึดครองที่นี่จนสิ้นสุดสงคราม ก่อนจะตกอยู่ในความดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลาหลังจากนั้น การเปลี่ยนมือนักลงทุนหลายครั้ง ทำให้ทุกวันนี้กลายมาเป็นโรงแรมสันติภาพ เมื่อเครือ “แฟร์มอนต์” เข้ามาบริหาร หรือว่าเคยเกิดอะไรขึ้นที่นี่

นอกจากสภาพการตกแต่งภายในที่พยายามรักษาบรรยากาศแห่งความเป็นอดีตเอาไว้ให้มากที่สุด อีกส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงกลิ่นอายเก่าๆ คือวงดนตรีแจ๊สแบบโบราณ ที่บรรเลงเป็นประจำที่นี่ ซึ่งถือเป็นหน้าตาสำคัญของมหานครแห่งนี้เช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมา ผมเคยพำนักในปราสาทเก่าแก่ของยุโรปมาแล้ว แต่สำหรับการพักผ่อนที่ พีซ โฮเต็ล แห่งนี้ ท่ามกลางความสะดวกสบายขององค์ประกอบทั้งหมดเท่าที่โรงแรมชั้นดีพึงจะมี แต่น่าแปลกใจว่า กลับมิอาจหลับใหลลงได้ อาจจะด้วยรับรู้สัมผัสถึงกระแสพลังภายในที่ไหลเวียนไปมา ราวกับว่าที่นี่ยังมีเรื่องราวอีกมากมายบรรจุไว้

เป็นเรื่องของกาลเวลาในสถานที่ และสถานที่ในกาลเวลา ที่บังเอิญตัวผมไปคาบเกี่ยวอยู่ในจังหวะนั้นพอดี.

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทบาทสตรียุคใหม่ จารุพรรณ กุลดิลก อาสาเปลี่ยนขั้วสมการ หญิง-ชาย !!?

โดย ดาริกา บำรุงโชค
บทบาทสตรีเติบโตขึ้นมาพร้อมกับสิทธิความเสมอภาคของมนุษย์ หลังจากถอดรหัสสังคมที่ระบุสถานะ "ผู้ชาย" กับ "ผู้หญิง" ให้เป็น "อสมการ" ที่มีสองขั้วไม่เท่ากัน ค่อย ๆ เขยื้อนขยับเข้าสู่ "สมการ" ที่มีเครื่องหมายเท่ากับหรือเท่ากันมากขึ้น

จากก้าวนำของสุภาพสตรีที่ขึ้นสู่อำนาจสูงสุด รวมถึงการเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามสิทธิมนุษยชน ทำให้บทบาทของผู้หญิงเติบโตก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ในสังคมไทยที่ยกให้ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ก็ถึงเวลาสลับผลัดกันเดินนำบ้างแล้ว

หนึ่งในสตรีที่มองว่าความละเอียดอ่อนของผู้หญิงจะช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งลงได้และเชื่อว่าผู้หญิงควรจะมีส่วนเข้าไปตัดเย็บกติกา เสริมเติมแต่งละเอียดให้สังคมได้มากขึ้น

ตามความเชื่อของ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก หรือคุ้นหูกันว่า "อาจารย์จา"ลูกสาวคนโตของ พล.ต.อ.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่รู้จักในฐานะอดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมีแห่งสำนักมหิดล

ถือเป็นนักการเมืองป้ายแดงแถมไฟแรงไม่แพ้รุ่นเก๋าสวมหมวกเป็นเลขาธิการกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาที่สมบุกสมบันทุ่มเทกับงานสวมบทบาทนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และอาสาเข้าไปดูแลเรื่องพายุสุริยะที่ส่งผลกระทบต่อโลก

ที่สำคัญ อาจารย์จายังเป็นหญิงเดียวในเอเชียที่ได้รับคำเชิญจาก "ฮิลลารี คลินตัน" ให้ขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์กระทบไหล่สตรีคนสำคัญของโลก กล่าวถึง "สิทธิสตรี" ส่งผลให้สตรีไทยเจิดจรัสในเวทีโลกและเวทีการเมืองไทย



ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย มาฟังทรรศนะจากผู้หญิงเก่งกล่าวถึง "บทบาทสตรียุคใหม่" เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ว่า ประเทศไทยหมดยุคช้างเท้าหลัง พ้นยุคแช่แข็งสิทธิสตรีหรือยัง ?


กับที่มาที่ไปของคำเชิญจาก "ฮิลลารี คลินตัน" ให้เป็นตัวแทนสตรีเอเชียแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีโลก และวาระการจัดประชุมซัมมิตเกี่ยวกับผู้หญิงในช่วงปลายปีที่เมืองไทย

เริ่มจากที่นางฮิลลารีต้องการรณรงค์ให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานทางการเมืองและเพื่อสังคมในสัดส่วน50% ของผู้หญิงทั่วโลก ภายในปี ค.ศ. 2050จนกลายเป็นอุดมการณ์อันแรงกล้าของผู้นำสตรีหลายท่านเข้ามาร่วมมือกัน เช่น แมดเดลีน อัลไบรต์ (อดีต รมว.ต่างประเทศสหรัฐ), คริสติน ลาการ์ด (ประธานไอเอ็มเอฟ), ประธานของ UNDP และบรรดานายกฯและรัฐมนตรีหญิงจากหลายประเทศ ผลักดันให้เกิดเป็นโครงการ The Women in Public Service Project ในช่วงปลายปี 2554

"ก่อนหน้านี้ดิฉันทำงานในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและเคยทำหน้าที่ช่วยประสานงานด้านสื่อสารระหว่างประเทศในช่วงหาเสียงของนายกฯยิ่งลักษณ์จนทำให้ต่างชาติเริ่มรู้จักค่อนข้างเยอะต่อมาก็เข้ามาเป็นกรรมาธิการต่างประเทศ และทางสหรัฐได้ส่งชื่อดิฉันไปเป็น 1 ใน 200 ผู้หญิงทั่วโลกเพื่อเข้าเวิร์กช็อป จึงได้ไปกล่าวเน้นย้ำประเด็นที่ว่า สิทธิสตรีก็คือสิทธิมนุษยชน และผู้หญิงจะทำหน้าที่เรียกร้องคุณค่าความเป็นมนุษย์ได้ดีด้วย"


หลังจากนั้น ฮิลลารีคัดเลือกเพียง 50 คน มีชื่ออาจารย์จา

เป็นผู้หญิงเอเชียคนเดียวที่ได้รับเลือกให้ขึ้นไปแลกเปลี่ยนทรรศนะที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. และจัดเป็นโครงการต่อเนื่อง มีเวทีจัดประชุมย่อย ๆ ต่ออีกในหลายประเทศ


ล่าสุดตัวแทนของนางฮิลลารีได้เข้าพบ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อเรียนเชิญให้มาเป็นแกนนำจัดประชุมซัมมิต

เกี่ยวกับผู้หญิงในช่วงปลายปีนี้ที่เมืองไทย

-เวทีประชุมสุดยอดผู้นำหญิงครั้งแรกที่เมืองไทยจะมีอะไรบ้าง

ใช่ จะเป็นซัมมิตครั้งแรกที่รวมผู้นำสตรีจากทั่วโลกมาประชุมที่ประเทศไทย เป็นเวทีว่าด้วยบทบาทของผู้หญิงในประเด็นต่าง ๆ ผลักดันโดยสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกา

เชื่อว่าจะทำให้ผู้นำในอาเซียนได้มารวมตัวกันด้วย เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งโลก เพราะผู้นำหญิงแถบเอเชียมีจำนวนเยอะมากกว่าฝั่งอเมริกาหรือยุโรปขณะนี้อยู่ในระหว่างการติดต่อประสานงาน ซึ่งมีสำนักนายกฯเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

- ถ้าผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมือง สังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ส่วนตัวเชื่อว่าบทบาทผู้หญิงจะช่วยลดความรุนแรงและความขัดแย้งของโลกนี้ได้แต่ไหนแต่ไรมาโลกใบนี้ถูกออกแบบโครงสร้างการปกครองต่าง ๆ โดยผู้ชายมาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบต่าง ๆ ผู้ชายก็เป็นคนร่างขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ผู้ชายเน้นหลักเหตุผล กฎหมายระเบียบส่วนใหญ่ก็ใช้เหตุผลและตรรกะเป็นหลัก ละเลยมิติทางความรู้สึกไป

ประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ที่ถูกสะสมมาเป็นพัน ๆ ปี ทำให้โลกนี้ถูกออกแบบมาอย่างไม่สมดุลบางครั้งความเป็นหญิงน่าจะเข้ามาตัดเย็บกติกาใหม่เพื่อให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมบนฐานความเป็นจริงมากขึ้น

อย่างกรณีสุขภาพของผู้หญิงกับการทำงาน8 ชั่วโมง แน่นอนว่าสรีระร่างกายของผู้หญิงย่อมสู้ผู้ชายไม่ได้อยู่แล้ว ตรงนี้ก็ไม่ได้มีการออกแบบกฎหมายเพื่อมารองรับ ผู้หญิงจึงเจ็บป่วยจากการทำงานเยอะมาก

- กฎกติกาเพื่อผู้หญิง ไม่ขัดกับหลักการความเท่าเทียม

กลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรีก็เคยตั้งคำถามประมาณนี้เหมือนกันถามถึงคำว่า"ความเท่าเทียม" แน่นอนย่อมไม่มีทางเท่าเทียมระหว่างหญิงกับชายได้ แต่เรากำลังต้องการให้เกิดคำว่า"ความเสมอภาค" ระหว่างชายกับหญิงที่จะมีโอกาสต่าง ๆ มากกว่าจะเน้นพัฒนาร่างกายหรือศักยภาพให้เท่าเทียมกันแต่ควรให้ทั้งหญิงและชายมีโอกาสให้เข้าไปอยู่ในระดับการตัดสินใจในทุกระดับของสังคมสัดส่วนเท่าๆ กัน

- ปัญหาสตรีในเมืองไทยเป็นอย่างไร

ปัญหาเกี่ยวกับผู้หญิงมีเยอะมาก บางประเด็นก็เกี่ยวข้องกับมิติวัฒนธรรมด้วย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ความรุนแรงภายในครอบครัว (Domestic Violence)

"ดิฉันทราบข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าในทุก 4 นาทีจะเกิดปัญหานี้1 ครั้ง แต่ละปีมีจำนวนประมาณ 7 หมื่นกว่าครั้งที่เป็นการทำร้ายผู้หญิง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็ต้องฟังเสียงจากผู้หญิงด้วยกัน"

- มุมมองบทบาทผู้หญิงกับการเมืองไทยในสภาเมื่อเทียบกับต่างประเทศ


ก่อนอื่นต้องดูทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพสำหรับปริมาณผู้หญิงในสภาของไทยยังมีจำนวนน้อยมาก นอกจากมีนายกฯหญิงแล้ว ก็มีรัฐมนตรีหญิงเพียงคนเดียว (ศันสนีย์ นาคพงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ) อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่เสมอภาคกันแล้ว

"สภาไทยต้องมีปริมาณผู้หญิงในระดับการตัดสินใจมากกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ผู้แทนผู้หญิงในสภามีแค่ 15% ขณะที่ในหลายประเทศมีเกิน 50% ไปแล้ว เช่น ในสภาของสวีเดน หรือสวิตเซอร์แลนด์"

ส่วนเรื่องคุณภาพ ไม่ใช่ว่าผู้ชายทำงานไม่ดี แต่ถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงจะเข้ามาช่วยเสริมเติมความละเอียดอ่อนให้สังคมมากขึ้น ต้องเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทั้งคุณภาพและปริมาณไปพร้อม ๆ กัน เพื่อปูทางสร้างผู้นำหญิงให้แก่สังคมในอนาคต สังคมไทยต้องเรียนรู้เรื่องนี้กันแล้ว

- กลุ่มสิทธิสตรีเคลื่อนไหวนอกสภาในเมืองไทย


ประเทศไทยมีนักเคลื่อนไหวหญิงที่ทำงานภาคประชาชนเข้มแข็งมากอย่างน้อยเห็นตัวอย่างจากความก้าวหน้าในรัฐธรรมนูญที่มีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับผู้หญิง พูดเรื่องสัดส่วนระหว่างหญิงกับชาย นั่นก็แสดงว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านนี้มีพลังมากจนนำคำพูดเหล่านี้ใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญได้

- เลือกตั้งสมัยหน้า หากนายกฯไม่ใช่ผู้หญิง การพัฒนาบทบาทสตรีจะสะดุดหรือไม่


อยากให้มองทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือการเรียนรู้ ถ้าเกิดความเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้แล้วเปลี่ยนกลับไปเป็นผู้นำชายอีก ก็เป็นเรื่องดีที่จะได้นำมาเปรียบเทียบระหว่างลักษณะหญิงหรือชายจะช่วยอย่างไรบ้าง ถ้าได้ผู้นำชายก็สามารถนำความเป็นหญิงเข้ามาช่วยบริหารประเทศได้

"ดิฉันเชื่อว่าประเด็นเรื่องผู้หญิงต้องมีการพูดคุยมากขึ้นคงไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ เรายังคงต้องการจำนวนผู้หญิงที่เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจให้มากกว่านี้ ถึงจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระดับประเทศได้แต่ถ้าเกิดได้นายกฯหญิงเป็นผู้นำอีกสมัยเหมือนในเยอรมนี หรือออสเตรเลีย ก็ขอให้เป็นอย่างนั้น สาธุ.." (พร้อมยกมือขึ้นไหว้)

- ชาวต่างชาติมองพัฒนาการสิทธิสตรีเมืองไทยอยู่ระดับใด


เท่าที่ได้ฟังเสียงมาจากหลายประเทศ ทั้งผู้นำ นักการทูต และสื่อต่างชาติ ค่อนข้างชื่นชอบประเทศไทยในลักษณะการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ถึงแม้ไทยต้องเผชิญวิกฤตภายในประเทศมากมาย แต่วันนี้เราได้ผู้นำหญิงแล้ว ขณะที่สหรัฐยังทำไม่ได้เลย รวมถึงผู้นำหญิงของประเทศไทยอยู่บนเวทีเศรษฐกิจจำนวนเยอะมาก เมื่อเทียบกับประเทศฝั่งอเมริกาและยุโรป

"ไทยกลายเป็นต้นแบบเรื่องนี้แล้ว ซึ่งตอนนี้ต่างประเทศกลับอยากฟังความคิดเห็นของคนไทยมากว่า ทิศทางอาเซียนจะไปทางไหน เพราะเห็นศักยภาพของไทยก้าวเป็นผู้นำอาเซียนได้ ทั้งมีต้นทุนเยอะ ต่างชาติชื่นชมทรัพยากรมนุษย์ของเรามาก ด้วยความที่คนไทยเป็นคนละเอียดอ่อนรอบคอบ (Attention to Details) ขณะที่ต่างชาติต้องเสียเงินแพง ๆ ไปเรียนรู้เรื่องนี้ ทำให้ประเทศไทยยังไปไกลกว่านี้ได้มาก"

- ผู้หญิงที่เข้ามาเล่นการเมืองต้องปรับอะไรบ้าง


"คิดว่าไม่จำเป็น แค่ทำหน้าที่ไปตามบุคลิกของตัวเอง โดยไม่ต้องเล่นบทโหด ไม่ต้องถึงขนาดไปดึงแย่งเก้าอี้ประธานสภา อย่างนั้นเรียกว่าอุปทานกันไปเอง ว่าต้องทำให้เกิดความรุนแรงถึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่จำเป็นเลย"

ปิดท้ายด้วยความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยสามารถขึ้นนำเป็นอันดับ 1 ได้ แม้ออง ซาน ซู จี จะเป็นฮีโร่หญิงของทั้งโลก แต่เมื่อเทียบภาพรวมในระดับประเทศแล้ว บทบาทผู้หญิงของไทยไม่แพ้ชาติใดในอาเซียน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

แนวโน้มธุรกิจที่ไปได้ดี SMEs 8 กลุ่ม !!?


สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้มีการ คาดการณ์SMEsที่มีแนวโน้มดีในปี 2556  ได้แก่

1. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ จากการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ ป้อนผู้สั่งจองในประเทศจากนโยบายรถคันแรก และตลาดในต่างประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัว โดยคาดว่าในปี 2556 การส่งออกรถยนต์จะขยายตัวได้มากกว่า 20% ซึ่งSMEsกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และผู้ให้บริการประดับยนต์ ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย

2. กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและพลังงานทดแทน เช่น ยางและผลิตภัณฑ์จากยางพารา มีแนวโน้มดีขึ้นจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัว และการร่วมมือเพื่อลดกำลังการผลิตจะทำให้ราคายางพาราดีขึ้น, พลังงานทดแทนจากพืช เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันจากปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

3. กลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการไลฟ์สไตล์ ที่สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคของคนเมือง คนชั้นกลาง และคนรุ่นใหม่ เช่น ของขวัญ ของชำร่วย สินค้าแฟชั่น สินค้าเชิงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งในประเทศไทยมีSMEsจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้อยู่

4.ธุรกิจในกลุ่มก่อสร้าง จะมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2556 อันเป็นผลมาจากมาตรการลงทุน ของภาครัฐตามกรอบแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งมูลค่าการลงทุนน่าจะขยายตัวได้มากกว่า 10% โดยSMEsที่เป็นผู้รับช่วงการผลิตจากผู้รับ เหมารายใหญ่ก็จะได้ประโยชน์

5. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม เป็นผลมาจากความคืบหน้าของการประมูล 3G จะทำให้มูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มเคเบิลและทีวีดาวเทียมที่คาดว่าจะมีปริมาณผู้รับชมในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น เพราะมีผู้ดำเนินการรายใหม่เข้ามาแข่งขัน ซึ่งก็มีSMEsหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มที่พัฒนาแอพพลิเคชั่น กลุ่มผู้ผลิต digital content ผู้ผลิต computer graphic กลุ่มผู้ผลิตรายการบันเทิง เป็นต้น

6. กลุ่มการผลิตและบริการเพื่อสุขภาพและความงาม เช่น อาหารเสริม สมุนไพร เครื่องสำอาง อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ บริการด้านสุขภาพ บริการด้านความงาม เป็นต้น ซึ่งในประเทศไทยมีSMEsเป็นผู้ผลิตและผู้ให้บริการทางด้านนี้จำนวนมาก

7. กลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก บริการรถรับจ้างรถเช่า เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดนักท่องเที่ยว และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจเอเชีย-อาเซียน และบางประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

8. กลุ่มธุรกิจด้านสันทนาการ เนื่องจากความต้องการบริการด้านนี้ขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับการมีลู่ทางขยายตลาดไปในเอเชียและอาเซียนมากขึ้น ธุรกิจกลุ่มนี้ ก็เช่น ภาพยนตร์ ละคร ดนตรี กีฬา ข่าวสาร สารคดี รายการทีวี และเคเบิลทีวี มีทั้งSMEsที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวนี้เอง และSMEsที่รับช่วงงานจากธุรกิจรายใหญ่ ทั้งนี้

แม้ปี 2556 นี้จะมีSMEsหลายกลุ่มที่มีแนวโน้มดี แต่ทางหน่วยงานที่คาดการณ์เรื่องนี้ก็ระบุไว้ด้วยว่า ในปีนี้ไทยก็ยังมีความเสี่ยงทั้งจากภายนอกประเทศ และภายในประเทศเอง เช่น ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศ รวมไปถึงการปรับขึ้นของค่าพลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า ค่าขนส่ง ซึ่งSMEsก็อย่าประมาท

ที่มา : เดลินิวส์
/////////////////////////////////////////

เครื่องจักรกลการเกษตร ในการผลิตข้าว

ตามที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “เครื่องจักรกลการเกษตรในการผลิตข้าว” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) FAO และผู้แทนภาคเอกชน ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ จังหวัดเชียงใหม่ นั้น มีสาระสำคัญ ดังนี้

๑. “ข้าว” (Rice/Oryza) เป็นอาหารหลักที่มีความสำคัญต่อประชากรกว่าครึ่งโลก และนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น สำหรับประชากรในโลกตะวันออก และโดยเฉพาะประชากรโลกในพื้นที่แห้งแล้งและห่างไกลซึ่งยังอยู่ในภาวะทุพโภชนาการอีกราว ๖๐๐ ล้านคน เพราะข้าวเป็นธัญพืชที่มีเปลือก สามารถเก็บรักษาได้ง่ายกว่าข้าวสาลีหรือข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรในโลกตะวันตก แม้กระนั้นประเทศในโลกตะวันตกเองก็ยังหันมาปลูกข้าวมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำข้าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น เบียร์ ขนมแท่ง Modified Starch (ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา) เป็นต้น

๒. ประชากรโลกผลิตและบริโภคข้าวปีละประมาณ ๗๐๐ ล้านตันข้าวเปลือกหรือประมาณ ๔๕๐ ล้านตันข้าวสาร ในจำนวนนี้เป็นข้าวที่มีการซื้อขายในตลาดโลกเพียงประมาณ ๓๕ ล้านตันข้าวสารหรือประมาณร้อยละ ๗ เท่านั้น การผลิตข้าวส่วนใหญ่หรือมากกว่าร้อยละ ๙๐ จึงเป็นการผลิตเพื่อบริโภคภายในแต่ละประเทศ แต่อาจมีการซื้อในตลาดโลกมากหรือน้อยตามสภาพการเพาะปลูกซึ่งแห้งแล้งหรือเพาะปลูกได้ดี สภาวะการค้าข้าวในตลาดโลกจึงค่อนข้างจะคาดการณ์ได้ยาก

๓. แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวลำดับต้น ๆ แต่ไทยก็ไม่ใช้ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก เมื่อเทียบกับ จีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมาก ยกเว้นเวียดนาม ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตข้าวและ ผู้ส่งออกข้าวลำดับต้น ๆ (ข้อมูล FAO)

 

๔. ในกรณีอินเดียซึ่งได้รับการจัดลำดับเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นั้น ที่ประชุมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นเพราะอินเดียได้มีการพัฒนาระบบการผลิตข้าวอย่างจริงจัง และจะเป็นผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญในอนาคต อีกส่วนหนึ่งแย้งว่า เป็นเพราะอินเดียประสบสภาวะแห้งแล้งเมื่อหลายปีก่อน การส่งออกในช่วง ๑-๒ ปีนี้ จึงเป็นเพียงการระบายสต๊อกข้าวที่มีเกินความจำเป็น ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามวิเคราะห์หาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

๕. กล่าวโดยสรุปประเทศผู้ผลิตข้าวในอาเซียนอาจแบ่งออกได้เป็น ๔ กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ผลิตที่มีศักยภาพในการส่งออกในปัจจุบัน คือ ไทย เวียดนามและเมียนม่า กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีอาจมีศักยภาพในการส่งออกในอนาคต คือลาวและกัมพูชา กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่พยายามเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอบริโภคในประเทศ คือ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และกลุ่มที่สี่คือกลุ่มที่ผลิตได้เพียงพอบริโภคในประเทศแล้ว หันไปเน้นการปลูกพืชอื่น คือมาเลเซีย ซึ่งเน้นการปลูกปาล์มน้ำมัน

๖. ไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ย ๔๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตข้าวในอาเซียนด้วยกันแล้วอยู่ในอันดับ ๗ จาก ๘ ประเทศที่ปลูกข้าวมาก โดยอันดับ ๑ ได้แก่ เวียดนาม ที่มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง ๘๗๔ กิโลกรัม รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว พม่า ตามลำดับ ขณะที่อันดับ ๘ กัมพูชา มีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ ๔๑๕ กิโลกรัมต่อไร่ หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐฯ ๑,๒๗๐ กิโลกรัม รองลงมาคือเกาหลีใต้ ๑,๒๐๐ กิโลกรัม นับว่าสูงกว่ามาก ปัญหา ที่สำคัญของไทยน่าจะเป็นเพราะมีการปลูกอย่างต่อเนื่องไม่มีการพักนา ทำให้ดินเสื่อมโทรม

๗. ผู้แทนเวียดนามนำเสนอว่า เวียดนามสามารถปลูกข้าวได้ดี เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ (ของไทยคือพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล) ประการสำคัญคนเวียดนามมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว จึงมีความพิถีพิถันตั้งแต่การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ เพาะกล้า จนตลอดสายการผลิต ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะการจัดตั้งไซโลจัดเก็บข้าวทั้งในระดับชุมชนและการส่งออก อนึ่งผู้แทนเวียดนามสนับสนุนไทยที่พยายามยกระดับราคาข้าว ในตลาดโลกให้สูงขึ้น

๘. ผู้แทนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์กล่าวในทำนองเดียวกันว่า รัฐบาลมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะผลิตข้าวให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ แต่จากเนื่องภูมิประเทศมีสภาพเป็นเกาะหลายพันเกาะและมักประสบภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ทั้งสองประเทศจึงยังจำเป็นต้องนำเข้าข้าวอยู่ และได้แสดงความเป็นห่วงความร่วมมือของประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่นไทยและเวียดนาม ที่จะทำให้ประชากรในทั้งสองประเทศจะต้องบริโภคข้าวในราคาที่สูงขึ้น ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วยกันเอง

๙. มาเลเซียเป็นประเทศที่มีนโยบายด้านเกษตรกรรมค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ ผลิตข้าวพอเพียงบริโภค ในประเทศแต่เน้นการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อการส่งออกและเป็นพลังงานทดแทน มาเลเซียส่งเสริมธุรกิจบริการ (Service Provider) อย่างจริงจัง จึงมีบริการด้านเกษตรค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การปักดำ การฉีดปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ตลอดจนการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง

๑๐. ในส่วนของผู้แทนจากประเทศพัฒนา คือ อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้นำเสนอเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและแปรรูปการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติในการปรับหน้าดิน การใช้หุ่นยนต์ ปักดำและหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวซึ่งสามารถปรับระดับสูงต่ำด้วยระบบเลเซอร์ แต่ยังสามารถควบคุมได้จากระยะไกล เครื่องสีข้าวระบบหินขัดหลายชั้น เครื่องคัดแยกเมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์หรือมีสีสัน ไม่สวยงามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปั้นข้าวเต็มเมล็ดจากปลายข้าว (Recomposed Rice) ส่วนจีนเน้นเทคโนโลยีการเพาะปลูกขนาดใหญ่ เช่นใช้เครื่องปักดำ ๘ แถว เครื่องฉีดยาและปุ๋ยยาว ๘๐๐ เมตร เป็นต้น


๑๑. จากการศึกษาดูงานเพิ่มเติมสรุปข้อมูลในเบื้องต้นได้ว่า การปลูกข้าว ๑ ไร่มีต้นทุนประมาณ ๓,๔๐๐ บาท ประกอบด้วยค่าไถเตรียมพื้นที่ ๕๕๐ บาท ค่าหว่าน ๖๐ บาท ค่าสูบน้ำ ๖๐๐ บาท ค่าปุ๋ย ๑,๔๐๐ บาท ค่ายาฆ่าแมลง ๒๐๐ บาท ค่าเกี่ยว ๕๕๐ บาท ค่ารถขนข้าวไปโรงสี ๑๐๐ บาท หากมีผลผลิต ๕๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ที่ความชื้นร้อยละ ๒๕ ราคาตันละ ๑๐,๐๐๐ บาท ชาวนาจะมีรายได้ไร่ละ ๓,๗๕๐ บาท หรือมีกำไรเพียงไร่ละ ๓๕๐ บาท หากมีที่น่า ๒๕ ไร่ ทำนาปีละ ๒ ครั้งจะมีรายได้ปีละ ๑๗,๕๐๐ บาทหรือเพียงเดือนละ ๑,๔๕๘ บาทต่อครอบครัวเท่านั้น

๑๒. ชาวนาบางรายอาจโชคดีอยู่ในเขตชลประทาน สามารถลดรายจ่ายค่าสูบน้ำเหลือเดือนละ ๒๐๐ บาททำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ ๗๕๐ บาท (แต่ไทยมีพื้นที่เขตชลประทานเพียงประมาณร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศประมาณ ๑๓๐ ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวประมาณครึ่งหนึ่ง เฉลี่ยมีกำไรไร่ละ ๔๓๐ บาท) หากจะมีการพักนาโดยปลูกเพียงปีละ ๑ ครั้งอาจมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐๐ กิโลกรัมต่อไร่แต่ก็จะมีกำไรลดลงเหลือไร่ละ ๖๐๐ บาท หากทำนาอินทรีย์อาจลดค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงลงได้ครึ่งหนึ่งแต่ได้ผลผลิตเพียงร้อยละ ๗๐ เหลือกำไรไร่ละ ๙๘๐ บาท หากลงทุนเพาะกล้าดำนาด้วยคนหรือเครื่องจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไร่ละ ๕๐๐ บาท แต่จะลดค่าปุ๋ยและยาได้ไร่ละ ๕๐๐ บาทเท่ากัน สรุปว่าการทำนาในลักษณะนี้จะมีกำไรปีละ ๒๔,๕๐๐ บาทหรือเดือนละ ๒,๐๐๐ บาทต่อครอบครัวสูงกว่ากรณีแรกร้อยละ ๒๗ แต่ก็มีต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำวันละ ๓๐๐ บาทหรือเดือนละประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาทต่อคน แต่การทำนาส่วนใหญ่ทำกันเป็นครอบครัว

๑๓. ในส่วนของการให้ธุรกิจบริการ (Service Provider) ที่เกี่ยวข้องกับการทำนานั้น พบว่ายังมีการให้บริการไม่ครบวงจร ตั้งแต่การเตรียมดิน หว่าน/ดำ ใส่ปุ๋ย/ฉีดยา เกี่ยว/นวด และขนส่งไปยังโรงสี ส่วนใหญ่จะใช้บริการรถเกี่ยวนวดข้าวเป็นหลัก ปัจจุบันคิดค่าบริการประมาณไร่ละ ๖๐๐ บาท ยังแพงกว่าเปรียบเทียบกับค่าแรงคนเกี่ยว ๑ คนต่อ ๑ ไร่ แต่แรงงานปัจจุบันค่อนข้างหายาก และข้าวมักสุกพร้อมเกี่ยวพร้อม ๆ กัน บริการเกี่ยว/นวดจึงค่อนข้างได้รับความนิยมมากกว่า และมีแนวโน้ม ที่จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นมากขึ้น

ธุรกิจบริการรถเกี่ยวนวดข้าวกรณีตัวอย่าง ใช้วงเงินลงทุนจัดซื้อรถขนาด ๗๐ แรงม้า ๑ คัน ราคาคันละประมาณ ๑ ล้านบาท เกี่ยวข้าวได้วันละประมาณ ๒๕ ไร่ รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายวันละ ๑๕,๐๐๐ บาท ค่าจ้างคนคุมรถ ๒ คน ๆ ละ ๖๐๐/๔๐๐ บาทรวม ๑,๐๐๐ บาท ค่าน้ำมัน ๑๐ ลิตร ๓๐๐ บาท ค่าบำรุงรักษาเฉลี่ยวันละ ๑,๗๐๐ บาท ค่าเสื่อมราคา ๕ ปีคิดวันทำงานปีละ ๑๐๐ วัน ๕ ปี ตกวันละ ๒,๐๐๐ บาท ค่าจ้างรถบรรทุกรถเกี่ยวข้าวในรัศมี ๑๐๐ กิโลเมตรวันละ ๔,๐๐๐ บาท รวมค่าใช้จ่ายวันละ ๙,๐๐๐ บาท คิดเป็นกำไรวันละ ๖,๐๐๐ บาท หรือไม่เกิน ๒ ปีได้คืนทุนค่าจัดซื้อรถ แต่หากโชคไม่ดีเกิดความเสียหายระหว่างการทำงาน โดยเฉพาะเวลานำรถขึ้นลงจากรถบรรทุก ระยะเวลาคืนทุนอาจยืดออกไปยาวกว่านี้ แต่ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจกว่าการทำนาด้วยตนเอง


ที่มา.ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม (BOC)
/////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

สมพร.ยันราคาจำนำข้าว1.3หมื่นบ.ยังขาดทุน !!?


"สมพร"เผยรัฐใช้เงินจำนำข้าวไปแล้ว4.6แสนล้าน รับจำนำด้านเดียว แต่ขายข้าวไม่ออก ลดราคาเหลือ1.3หมื่นบ./ตันก็ยังขาดทุนอยู่

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ ให้สัมภาษณ์"กรุงเทพธุรกิจทีวี" เรื่อง นักวิชาการห่วงโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลจะปรับลดราคาจำนำข้าวจาก 1.5 หมื่นล้านบาท ลดลงเหลือ1.3 หมื่นล้านบาท

นายสมพร กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันของโครงการจำนำข้าวควรจะต้องทบทวน เพราะว่าที่ผ่านมาเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าใช้เงินไปแล้วประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ในการรับจำนำทั้งฤดูนาปี นาปรังปีที่ผ่านมา แล้วก็ฤดูนาปีปีนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำ รัฐบาลทำงานด้านเดียวคือรับจำนำ แต่ไม่ได้ทำงานอีกด้านก็คือการระบายข้าวออก ซึ่งตรงนั้นเป็นด้านที่คิดว่าไม่มีประสิทธิภาพทำงานที่เกิดขึ้น

นายสมพร กล่าวว่า ถ้าเกิดว่ารัฐบาลออกมาระบุว่าปรับลดลงจาก 1.5 หมื่นบาท ถึง 1.3 หมื่นบาท คิดว่าเกษตรกรโดยทั่วๆไปคงอาจจะมีข้อคัดค้านเกิดขึ้น แล้วการปรับลดลงมาเหลือ 1.3 หมื่นบาทจะไม่แก้ปัญหา เพราะว่าถ้ายังจำนำทุกเม็ด คิดว่าทางที่ดีที่สุด คือการจำนำโดยจำกัดปริมาณ เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรมในระบบต้องการจะช่วยชาวนาขนาดเล็กที่ยากจนก็ควรจำกัดปริมาณอยู่ประมาณสัก 20 ตัน/ครัวเรือน จะเป็นผลดี

นายสมพร กล่าวว่า ถ้าเกิดว่ามองในกรณีอย่างนี้ การที่รัฐออกมาพูดถึงถึงการลดราคาเหลือ 1.3 หมื่นบาท สะท้อนว่าที่บอกคุยว่ารับจำนำ 1.5 หมื่นบาท แล้วเอาไปขาย 800 ดอลลาร์/ตัน คือว่าเป็นโลกของความฝันเป็นไปไม่ได้ เพราะราคาที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยขายได้อยู่ประมาณ 570-580 ดอลลาร์/ตัน เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ข้าวระบายออกได้บ้างจะต้องลดระดับราคาลงมา ซึ่งราคา 1.3 หมื่นบาท ถ้าทอนเป็นดอลลาร์จะอยู่ประมาณใกล้ๆ 700 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งก็ยังขาดทุนอยู่ดี

"ถ้าลดราคาลงมา ต้องดู 2 ประเด็น 1.ต้องดูว่าชาวบ้านเดือดร้อนมากน้อยขนาดไหน หรือถ้าต้องการจะช่วยชาวบ้านแค่รายเล็กๆ ที่เดือดร้อน จะเอา 1.5 หมื่นบาทก็ได้ แต่ว่าจำกัดปริมาณลงมา เพราะฉะนั้นถ้าส่วนหนึ่งมยังไหลไปสู่ตลาดเอกชนได้ ชาวนาที่ร่ำรวยหรือมีที่นาขนาด ใหญ่ก็สามารถใช้โควตาได้ภายในสิทธิของตัวเอง ที่เหลือก็ไปใช้ตลาดเอกชน เพราะฉะนั้นตลาดเอกชน ก็ยังสามารถทำงานได้ แต่ว่าตอนนี้ตลาดเอกชนทำงานไม่ได้"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวอีกว่าราคาข้าวที่จะสูงกว่าที่ 570-580 ดอลลาร์/ตัน เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะเวียดนามตอนนี้ขายข้าว 5% เหมือนกัน อยู่ที่ ประมาณ 400-410 ดอลลาร์/ตัน อินเดียอยู่ประมาณ 420 ดอลลาร์/ตัน เมื่อเร็วๆนี้ก็ขึ้นมาสูงอีกเล็กน้อย เพราะฉะนั้นข้าวไทยสูงกว่าข้าวคู่แข่งขันทั้งอินเดีย เวียดนามอยู่ประมาณประมาณ 150 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งยากมากที่จะขายได้

นายสมพร กล่าวว่า ถ้าเกิดรัฐบาลยังคงดื้อด้านที่จะเดินหน้าโครงการต่อไปรับจำนำข้าวที่ราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ปัญหาทางการคลังจะต้องเกิดขึ้นตามมา ปัจจุบันนี้ก็เห็นภาพแล้วว่ากระทรวงพาณิชย์ทำงานด้านเดียว หรือรัฐบาลทำงานด้านเดียว ก็คือด้านรับจำนำ แต่ไม่ได้ทำในเรื่องของการระบายออก จึงไม่มีเงินเข้ามา ดังนั้นเงินที่จะใช้ในแง่ของโครงการรับจำนำข้าวต่อไปนี้คิดว่าจะมีจำกัดแล้ว ไม่สามารถที่จะขยายไปได้เรื่อยๆได้อย่างที่รีฐบาลคุยไว้ เพราะตอนนี้จะขายได้อีกแสนล้านบาทเป็นข้อมูลที่ไม่จริง เพราะดูข้อมูลข้าวส่งออกแล้วที่ผ่านมาส่งออกได้ประมาณ 6.9 ล้านตัน เป็นข้าวเอกชนเป็นส่วนใหญ่ รัฐส่งออกได้ในประมาณสัก 2 ล้านตันที่ผ่านมา แล้วก็เดือนที่ผ่านมาก็อาจจะส่งออกได้บ้าง แต่ว่าเอ็มโอเอกับเอ็มโอยู ที่รัฐบาลคุยไว้ไม่ได้ส่งออกเช็คข้อมูลดูแล้ว เราส่งออกไปบังกลาเทศประมาณ 97 ตันเท่านั้นเอง จากที่เคยส่งออกได้ 7 แสนตัน

"ถ้าเป็นอย่างนี้รัฐบาควรจะต้องส่งออกโดยราคาตลาดยอมขาดทุน ซึ่งเป็นไปได้ หากจะลดความสูญเสียเกิดขึ้น แต่ว่าต้องทำให้โปร่งใส เพราะปัจจุบันนี้ความโปร่งใสในกระบวนการระบายข้าวไม่เกิดขึ้น รัฐบาลบอกว่าจะระบายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่ว่าไม่มีข้าวสักเม็ดหนึ่งที่ไปในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าตอนนี้ข้าวของรัฐบาลยังอยู่เต็มคลังสินค้าเหมือนเดิม

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++

แดงเผาเมือง จลาจล-ก่อการร้าย ดูข้อเท็จจริง !!?


วงการทนายคลายปม! คดีแดงเผาเมือง เหตุไฉนตีความ "จลาจล-ก่อการร้าย" ระบุขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ไม่สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานคดีอื่นได้

แหล่งข่าวจากวงการทนายความ เปิดเผยว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในสำนวน แต่ละคดีไม่เกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นจึงไม่สามารถนำคำพิพากษาของคดีหนึ่งที่มีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง มาเป็นบรรทัดฐานของอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมีข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งได้

อย่างกรณีที่ศาลแพ่ง (รัชดาภิเษก) เพิ่งมีคำพิพากษาให้บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จ่ายสินไหมทดแทนให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 1.78 ล้านบาท จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อปี 2553 และให้บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) จ่ายให้กับ บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1.97 พันล้านบาท โดยตีความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการจลาจล ไม่ใช่การก่อการร้าย บริษัทประกันภัยจึงต้องรับความผิดต่อความเสียหายนั้น ก็เป็นอีกแนววินิจฉัยหนึ่ง
เผย2คดีก่อนหน้า ทั้ง 'จ่าย-ไม่จ่าย'

แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ชี้ว่าคดีวางเพลิงในเหตุการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เข้าข่ายเป็นการก่อการร้ายมาแล้ว คือ คดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เลขคดี ผบ.1007/54 ซึ่งมีบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด เป็นจำเลย คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2554 แนวคำวินิจฉัยชี้ว่า การวางเพลิงหลังการสลายการชุมนุมเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล มูลเหตุของการวางเพลิงจึงไม่ได้มุ่งที่ตัวทรัพย์ แต่มุ่งผลทางการเมือง จึงเข้าข่ายเป็นการก่อการร้าย ดังนั้นไม่ต้องจ่ายสินไหมทดแทน

ต่อมา เมื่อเดือนธ.ค. 2554 ศาลแพ่ง (รัชดาภิเษก) ได้มีคำพิพากษาให้บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ จำนวน 16.5 ล้านบาท โดยมีแนววินิจฉัยว่า การก่อการร้าย คือ การใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบเพื่อให้สาธารณชนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสาธารณชนตกอยู่ในภาวะหวาดกลัว แต่ภาวะดังกล่าวปรากฏเพียงข่าวสารรายวัน ยังไม่มีองค์กรใดยืนยันว่าเป็นการก่อการร้าย จำเลย (บริษัทประกันภัย) จึงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

"การพิจารณาคดีแพ่งแต่ละคดี ขึ้นอยู่กับการนำสืบพยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย (โจทก์และจำเลย) ถือเป็นการนำเสนอพยานหลักฐานต่อศาล จากนั้นศาลจะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักควรเชื่อมากกว่า ก็จะพิพากษาไปตามนั้น ด้วยเหตุนี้คำพิพากษาแต่ละคดีจึงไม่ได้เป็นบรรทัดฐานของคดีอื่น ข้อเท็จจริงอื่น"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทเรียนจากใต้หวัน สู่ประเทศไทย !!?


โดย ศิริกัญญา ตันสกุล

ไต้หวันมีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย เช่น โครงสร้างอุตสาหกรรมของไต้หวันเต็มไปด้วยบริษัทของกลุ่มเครือญาติ  กิจการครอบครัว และ SME  โดยบริษัทเหล่านี้ผลิตสินค้าและบริการขั้นกลางให้กับธุรกิจอื่นๆ   ในทางตรงกันข้าม เกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มักจะมีเครือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการรวมตัวตามแนวดิ่งและแนวนอนอย่าง “แชโบล” (Chaebol) และ “เคเร็ทสึ” (Keiretsu)

สิ่งไต้หวันไม่เหมือนกับประเทศไทย คือ SME ของไต้หวันนั้นมีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก  ในงานศึกษาเกี่ยวกับนโยบายด้านนวัตกรรมของไต้หวันได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ความท้าทายสำคัญที่ผู้วางแผนเศรษฐกิจไต้หวันต้องเผชิญคือ จะทำอย่างไรที่จะยกระดับเศรษฐกิจที่มีความรู้ความชำนาญต่ำ  มีสถาบันวิจัยไม่เพียงพอ และยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีชั้นสูง”   จากข้อความข้างต้น ถ้าเราแทนที่คำว่า “ไต้หวัน” ด้วยคำว่า “ไทย” เราก็จะพบว่าสิ่งที่ไต้หวันต้องเผชิญนั้น เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญเช่นกัน  ดังนั้นวิธีที่ไต้หวันใช้ในการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์จึงเป็นตัวอย่างและบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย ตัวอย่างเช่น

รัฐมีบทบาทในเชิงรุกเพื่อสร้างปัจจัยพื้นฐาน: ทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยีพื้นฐาน  :  การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เป็นนโยบายที่ได้รับความสำคัญในระดับ ชาติมาตั้งแต่ช่วงปี 1960’s  แต่เนื่องจากบริษัทในไต้หวันส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กและไม่ค่อยมีนักวิจัยมากเท่าใดนัก  ไต้หวันจึงได้จัดตั้ง Industrial Technology Research Institute (ITRI) ในปี 1973 เพื่อทำหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านี้ให้กับเอกชนรายใดก็ตามที่ต้องการนำไปใช้    ITRI เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นผู้นำตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลก  แล็บ (Lab) ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของ ITRI ถือเป็นต้นกำเนิดของบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายแรกของไต้หวัน ซึ่งได้แก่บริษัท United Microelectronics Corporation (UMC) ปัจจุบัน UMC มีโรงงานและสำนักงานอยู่ 10 แห่งทั่วประเทศไต้หวันเพื่อทำการผลิตแผงวงจรไฟฟ้า  มีพนักงานมากกว่า 10,500 คน และมีมูลค่าบริษัทเกือบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ความเชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดการผลิตเชิงพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพ :  ความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลและอุตสาหกรรมของไต้หวันมีความเข้มแข็งผ่านสถาบันอย่าง ITRI  รวมไปถึงโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยนั้นยังอ่อนแอ

การถ่ายทอดความรู้ความชำนาญจาก FDI   ไต้หวันนั้นแตกต่างจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นตรงที่ FDI จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยี  (เป็นรูปแบบเช่นเดียวกับประเทศไทย)  นอกจากนี้ ชาวไต้หวันในต่างประเทศก็มีบทบาทสำคัญที่ไม่เป็นทางการในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเช่นกัน

การสร้าง hub และคลัสเตอร์   นอกจากความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์   ไต้หวันยังประสบความสำเร็จในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่น motherboard, โน้ตบุค เป็นต้น   ทั้งนี้ ภาคธุรกิจด้าน IT มีจุดเริ่มต้นมาจากอุทยานวิทยาศาสตร์ Hsinchu ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1980

/////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

คิดอะไรไม่ออกบอก สคบ.1166


สัมภาษณ์พิเศษ
               
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโรค หรือ สคบ. เรียกร้องให้ผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบ ออกมาใช้สิทธิ์ร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม 5 ประการตามกฎหมายกำหนด ที่สายด่วน สคบ.1166 หรือรับแบบฟอร์มร้องเรียนที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น พร้อมทั้งตอบรับนโยบายนายกรัฐมนตรี เพิ่มช่องทางร้องเรียนให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมต้อนรับเออีซี ด้วยการเปิดโครงการผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค และพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนา "Thai Young Consumer Leader To Asian" เชิญเยาวชนจาก 9 ประเทศกลุ่มอาเซียน ร่วมสัมมนาในเดือนกรกฎาคม
               
จิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สคบ.เป็นหน่วยกลางในการคุ้มครองผู้บริโภค ตามสิทธิที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 กำหนดไว้ โดยมีการกำหนดวิศัยทัศน์ที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภค 8 กระทรวง 20 กลุ่ม ซึ่งแต่หน่วยงานก็ทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจที่รับผิดชอบ แต่ สคบ.คุ้มครองผู้บริโภคตามสิทธิผู้บริโภค 5 ประการ ได้แก่
               
1.สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณา หรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริง และปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอ ที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยไม่เป็นธรรม

2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำ หรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้น

4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ

5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ตามข้อ 1, 2, 3 และ 4
               
กฎหมายให้อำนาจ สคบ.ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคจนถึงศาลฎีกา โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น สคบ.จะเป็นหน่วยงานกลางในการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผมมีนโยบายชัดเจน ไม่คุ้มครองตามอำเภอใจ หมายความว่า หากผู้ประกอบได้ดำเนินการชดเชยให้ผู้บริโภคตามความเหมาะสมแล้ว แต่ผู้บริโภคยังไม่พอใจ สคบ.จะปิดบัญชี ให้ผู้บริโภคไปดำเนินการฟ้องร้องเอง เพราะถือว่าผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบตามสมควรแล้ว ผมเป็นหน่วยงานภาครัฐ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย แต่ สคบ.ก็ถูกผู้บริโภคฟ้องกลับเหตุเพราะไม่พอใจในคำตัดสิน ผมขอยืนยันว่า สคบ.ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงอยากจะเรียกร้องให้ผู้บริโภคออกมาใช้สิทธิ์ร้องเรียนตามกฎหมายกำหนด คิดไม่ออก บอก สคบ.1166"
               
ด้านนโยบายที่ วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายโดยตรงจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้มาทำหน้าที่ ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นั้น เลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า รัฐมนตรีวราเทพ เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่แทน ซึ่งท่านเห็นชอบกับวิศัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของ สคบ.ที่มีอยู่เดิม แต่ขอให้เพิ่มเติมในส่วนของผู้ประกอบการที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการที่ไม่แน่ชัดว่าตั้งใจเอาเปรียบประชาชน หรืออาศัยช่องว่างของกฎหมายเอาเปรียบผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่ไม่มีผู้ร้องเรียน เช่น การคิดอัตราค่าจอดรถตามอาคารต่างๆ ที่เอาเปรียบ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยอมแก้ไข สคบ.สามารถประกาศให้สาธารณชนรับได้ และให้ สคบ.ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
               
ในส่วนของผู้บริโภค รัฐมนตรีวราเทพ อยากให้ สคบ.เพิ่มช่องทางในการร้องเรียนให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางในการร้องเรียนคือ สายด่วน สคบ.1166 หรือขอรับแบบฟอร์มร้องเรียนที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขาทั่วประเทศ แต่อยากให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สคบ.ตามห้างสรรพสินค้าทุกแห่งที่มีสาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ก็อยากให้มีการขยายเครือข่าย สคบ.จากที่มีอยู่ให้มากขึ้น ไม่อยากให้เป็นไฟไหม้ฟาง อยากให้ทำอย่างต่อเนื่อง"
               
สำหรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สคบ. เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจการให้บริการท่องเที่ยว เนื่องจากมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ประกอบกับเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเห็นควรมีการป้องปรามและทำความเข้าใจกับ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว อันจะเป็นการป้องกันการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยการจัด โครงการผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค
               
สคบ.จะออกตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มธุรกิจบริการจัดทัวร์ท่องเที่ยว ไกด์ ให้บริการเช่ารถยนต์ อุปกรณ์ดำน้ำ เรือเช่า สถานที่พัก โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าของฝาก ร้านจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณี เครื่องเงิน ทองคำ และจัดสัมมนาเพื่อทำความเข้าใจและให้ความรู้ผู้ประกอบธุรกิจถึงหลักเกณฑ์ ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายครั้ง อาทิ เชียงราย เมืองพัทยา ชลบุรี นครพนม ตรัง เป็นต้น"
               
นอกจากนี้ สคบ.ยังได้จัดการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์และนักเรียน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ โครงการ Thai Smart Young Consumer หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ อาทิ GS1 เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
               
รวมทั้งมีแนวคิดเปิดโครงการใหม่ ชื่อว่า "Thai Young Consumer Leader To Asian" ที่ได้รับแนวความคิดเมื่อครั้งไปดูงานที่ประเทศบรูไน ซึ่งบรูไนต้องการให้มีประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นแกนนำในการสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ที่ส่งเสริมการดูแลผู้บริโภค สคบ.จึงถือโอกาสนี้ เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมสัมมนา "Thai Young Consumer Leader To Asian" โดยตั้งใจว่าจะเชิญเยาวชนจาก 9 ประเทศในกลุ่มอาเซียนมาร่วมสัมมนาในเดือนกรกฎาคม เพราะมั่นใจว่า สคบ.ของไทยมีความพร้อมจากโครงการ Thai Smart Young Consumer ที่มีเครือข่ายในสถานศึกษา และมีหลายประเทศมาขอดูงาน เช่น อินโดนีเซีย โอมาน
               
โครงการ “สคบ.สัญจร” ที่จะเป็นการลงพื้นที่จาก สคบ.ส่วนกลางการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแต่เดิม สคบ.ทำเพียงให้ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ต่อจากนี้ จะแทรกเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่เออีซีด้วย และปีนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้สอดคล้องกับกิจกรรมหรือเทศกาลสำคัญๆ ของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดประโยชน์สูงสุด
               
สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต สคบ.กำลังเร่งดำเนินการในเรื่องขอการมอบตราสัญลักษณ์การคุ้มครองผู้บริโภคแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะมอบได้ในวันที่ 30 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทยให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจได้ใน 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจทองคำ ทองรูปพรรณ โรงเรียนกวดวิชา และธุรกิจขายตรง เนื่องจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ มีความพร้อม และจากการตรวจสอบ มีการปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมกับการตั้งกองทุนเยียวยา เพื่อชดเชยผู้บริโภคที่มาร้องเรียนได้ทันที โดยไม่ต้องรอผ่านกระบวนการฟ้องร้องทางศาล
               
เลขาธิการ สคบ.ย้ำว่า การทำงานของ สคบ.ดำเนินไปโดยศึกษาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสังคมในสถานการณ์ต่างๆ และพร้อมปรับตัวเพื่อให้รับมือกับปัญหานั้นๆ ให้ดีที่สุด พร้อมสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และยึดมั่นที่จะเป็นองค์กรกลางความร่วมมือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

ที่มา.คมชัดลึก
.........................................

พาณิชย์เปิดเจรจา FTA ไทย-ยุโรป !!?


บุญทรงเตรียมประกาศเปิดเจรจา FTA ไทย-ยุโรป ลั่นมีผลดีมากกว่าผลเสีย แถมยังช่วยทดแทนการถูกตัดสิทธิ์ GSP เล็งดึงสวีเดนลงทุนในไทยเพิ่ม  
   
นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 4-7 มี.ค.นี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์  รมว.พาณิชย์ ได้ร่วมคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนสหภาพยุโรป (อียู) และสวีเดนอย่างเป็นทางการ โดยระหว่างการเยือนอียู นายบุญทรงจะพบปะหารือกับ Mr.Karel De Gucht กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า เพื่อหารือถึงการเตรียมการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู
   
ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย-อียู จะส่งผลดีกับประเทศไทยมากกว่าผลเสีย โดยเฉพาะเพื่อทดแทนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ไทยจะถูกตัดสิทธิ์สิ้นปี 2557 ส่วนข้อกังวลของหลายๆ ฝ่าย กระทรวงพาณิชย์ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาแล้ว
   
นอกจากนี้ ไทยจะผลักดันให้อียูรับจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุงเพิ่มเติมอีก หลังจากที่อียูได้รับจดทะเบียน GI ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังย้ำให้อียูใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงอากร (AC) อย่างโปร่งใส เป็นธรรม และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย
   
สำหรับสวีเดนนั้น นายบุญทรงจะพบปะหารือสองฝ่ายกับ Ms.Ewa Bj?rling รัฐมนตรีการค้าของสวีเดน เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยจะใช้ช่องทางจากการที่ไทยและสวีเดนมีแผนปฏิบัติการร่วมไทย-สวีเดน ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเน้นเรื่องการเกษตร พลังงานและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เป็นต้น รวมทั้งการดึงดูดให้สวีเดนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และใช้ไทยเป็นฐานการเข้าสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC).

ที่มา.ไทยไพสต์
+++++++++++++++++++++++++

นักวิชาการลั่นไม่เห็นด้วย พงศพัศ กลับเป็น ตร.


สุขุม. ลั่นไม่เห็นด้วย"พงศพัศ"กลับไปเป็นตำรวจ เพราะการลงสมัครผู้ว่าฯสังกัดพรรค เท่ากับประกาศตัวว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง

นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นกรณี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าสังกัดพรรคเพื่อไทย อาจจะกลับไปรับราชการตำรวจ ว่า "ผมไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการกลับไปเป็นทำงานสายบัญชาการ เพราะการมาลงสมัครผู้ว่าฯสังกัดพรรค เท่ากับประกาศตัวแล้วว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง หากกลับไปเป็นตำรวจ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งการทำหน้าที่พิทักษ์ความยุติธรรม จะเป็นที่หวาดระแวง"

ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอกพงศพัศผู้สมัครผู้ว่ากทม.สามารถยื่นเรื่องขอกลับเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ภายใน 30 วัน หลังกกต. กทม. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยจะต้องทำหนังสือยื่นต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อพิจารณาก่อนที่จะส่งเรื่องมาให้ก.ตร.พิจารณา

"แม้คุณพงศพัศ จะมีสิทธิขอกลับไปได้ แต่ผู้บังคับบัญชาก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้ทางที่ดีท่านควรจะอยู่ในเส้นทางการเมืองไปเลย เพราะถือว่าตัดสินใจแล้วว่าเลือกเดินอีกหนทาง หากกลับไปอีกก็เท่ากับ "กั๊ก" กันท่าคนอื่น เพราะคนอื่นก็หวังความก้าวหน้าเหมือนกัน" นายสุขุม กล่าว

นายสุขุม บอกด้วยว่าหาก พล.ต.อ.พงศพัศ จะกลับไปเป็นข้าราชการ ก็ควรจะโอนย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม

ด้านนายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเส้นทางอนาคตของพล.ต.อ.พงศพัศ หลังจากที่ได้รับความพม่ายแพ้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา ว่า การตัดสินใจทั้งหมดคงจะต้องขึ้นอยู่กับตัวของพล.ต.อ.พงศพัศ เองว่าจะตัดสินใจที่จะเลือกอนาคตและเส้นทางชีวิตอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีความชัดเจน เพราะหากจะเลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตราชการตำรวจเหมือนเดิมนั้น ตนเห็นว่าพล.ต.อ.พงศพัศ จะต้องมีความชัดเจน และจะสลัดสีเสื้อของนักการเมืองออกไปให้ได้

"ผมคิดว่าเรื่องนี้พล.ต.อ.พงศพัศ จะต้องมีความชัดเจนไม่ควรจับปลาสองมือ คือ อยากกลับข้าราชการประจำ แต่ไม่ยอมสลัดภาพนักการเมืองออกไปให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานข้าราชการประจำได้ เพราะมันจะมีภาพเช่นเดียวกับพล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าอิงการเมือง ซึ่งหากพล.ต.อ.พงศพัศ จะเลือกแบบนี้จริง ผมเชื่อว่าจะส่งกระทบต่อการทำงานในอาชีพข้าราชการตำรวจได้ โดยเฉพาะการดูแลประเด็น เรื่องมวลชนที่อาจจะยังมีความขัดแย้งทางการเมืองดังเช่นในปัจจุบัน " นายไชยันต์ กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////