--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คำต่อคำ : อภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ BBC ถูกฟ้องร่วมกันก่อให้ผู้อื่น ฆ่าคนตาย !!?


อภิสิทธิ์ : ผมคิดว่าผู้คนทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็สามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการไปได้ เพื่อสอบสวนการเสียชีวิตของผู้ประท้วงและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น จะต้องแสดงความรับผิด (accountability)
Q: คุณไม่ใช่เป็นผู้ต้องรับผิดชอบเช่นนั้นหรือ เพราะคุณอยู่ในอำนาจในขณะนั้น
อภิสิทธิ์ : แน่นอนครับ
 Q: และมีผู้เสียชีวิตถึง 90 ศพ
อภิสิทธิ์ : แน่นอนครับ เราได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และในขณะเดียวกัน ทั้งตำรวจ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทั้งหมด ก็จะต้องทำงาน แต่คำกล่าวหาต่อผมนั้นดูจะ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ (far-fetched)
 Q: ทำไมถึงเป็นคำกล่าวหาที่ไม่น่าเชื่อถือ คุณเป็นคนที่อยู่ในอำนาจ
อภิสิทธิ์ : เพราะว่า…
 Q: คุณจะต้องเป็นผู้อนุมัติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เพื่อสลายการชุมนุมไม่ใช่หรือ
อภิสิทธิ์ : แต่ว่า ถ้าคุณยังจำได้ เรามีสถานการณ์ที่โดยพื้นฐานแล้ว มีประชาชนจำนวนหนึ่ง เข้ายึดพื้นที่ใจกลางเมือง และยังมีกองกำลังติดอาวุธแทรกซึมอยู่ในขบวนผู้ชุมนุมอีกด้วย คนพวกนี้มีการขว้างปาระเบิด ใช้อาวุธยิงเข้าใส่ผู้คน เราไม่ได้เข้าไป (ในที่ชุมนุม) เพื่อขับไล่พวกเขาด้วยซ้ำ สิ่งที่เราทำก็เพียงแต่การจัดวางจุดตรวจ แล้วจุดตรวจพวกนี้ก็ถูกโจมตี แล้วก็มีการต่อสู้กันบนท้องถนน และผู้คนก็ โชคร้ายครับ ที่มีบางคนเสียชีวิต และ…
 Q: (ไม่สามารถถอดเสียงได้) มีองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าตรวจสอบสถานการณ์แล้วพบว่า การเสียชีวิตที่เกิดขึ้น
อภิสิทธิ์ : กรณีส่วนใหญ่…
 Q: ส่วนใหญ่แล้วการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากกระสุนปืนของกองทัพ
อภิสิทธิ์ : กรณีส่วนใหญ่ ได้มีการตรวจสอบโดย คอป. และจากการปะทะกันที่เกิดขึ้นราว 20 เหตุการณ์ มีความเกี่ยวข้องกับกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร
 Q: แต่จากกรณีโดยส่วนใหญ่เลย คุณจะต้องยอมรับนะว่า โดยส่วนใหญ่ของผู้ประท้วงที่เสียชีวิตเกิดจากการใช้กำลังทหาร
อภิสิทธิ์ : ไม่ ไม่ครับ ตอนนี้ เท่าที่มีการสอบสวนทั้งสิ้น 20 คดี เราพึ่งได้ข้อสรุปเพียง 2 กรณี ที่ผู้เสียชีวิตจากทั้งสองกรณีเกิดขึ้นจากกระสุนปืนที่ใช้อยู่ในกองทัพ แต่คุณก็คงจำได้เช่นกันว่า มีผู้ชุมนุมที่มีการปล้นอาวุธที่ใช้ในกองทัพไป และ…
 Q: ดังนั้นคุณ…
อภิสิทธิ์ : การฟ้องร้อง…
 Q: คุณไม่รู้สึกว่าจะต้องมีความรับผิดชอบ….
อภิสิทธิ์ : การฟ้องร้องคดีแรกที่เกิดขึ้นกับผม เป็นกรณีของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในการชุมนุมประท้วงด้วยซ้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีรถตู้พยายามแล่นฝ่าเครื่องกีดขวางที่ตั้งขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ทหาร แล้วก็มีการยิงกันขึ้น ผู้เสียชีวิตรายนี้ วิ่งออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น และโชคร้ายที่เขาถูกยิง
 Q: นี่เป็นกรณีฟ้องร้องคดีแรก
อภิสิทธิ์ : ใช่ครับ แต่…
 Q: (ไม่สามารถถอดเทปได้)
อภิสิทธิ์ : แต่จะพูดว่ารัฐบาล มีคำสั่งให้ฆ่าประชาชน ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง
 Q: คุณอนุมัติให้มีการใช้กระสุนจริง
อภิสิทธิ์ : เราได้อนุมัติให้ใช้กระสุนจริง แต่…
 Q: คุณเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นบ้างไหม
อภิสิทธิ์ : แต่… แล้วคุณจะต่อสู้กับคนที่เขาใช้อาวุธได้อย่างไรล่ะ
 Q: คุณไม่เสียใจที่มีการใช้กระสุนจริงเลยหรือ
อภิสิทธิ์ : ผมเสียใจที่มีผู้คนที่ต้องสูญเสียชีวิต แต่ก็มีคำสั่งระบุถึงวิธีการใช้อาวุธอย่างชัดเจน
 Q: คำสั่งนั้นมีว่าอย่างไร
อภิสิทธิ์ : คำสั่งที่ออกโดย รองนายกรัฐมนตรีนั้น อย่างแรกเลยคือให้ใช้ในการป้องกันตนเอง เพื่อปกป้องการสูญเสียชีวิตของบุคคลอื่น และพวกเขาจะต้องใช้มันอย่างระมัดระวังอย่างที่สุด และพวกเขาจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธกับฝูงชน แล้วถ้าจะบอกว่าคำสั่งพวกนี้ หมายความว่า เราสั่งให้มีการฆ่าคน ผมไม่คิดว่ามันยุติธรรม
 Q: โอเค คุณ…
อภิสิทธิ์ : ขอให้ผมพูดนะครับ ผมได้เข้าร่วมประชุมในหลาย ๆ แห่ง ทั่วโลก รวมทั้งการประชุม G20 ที่นี่ด้วย มีบางคนเสียชีวิต เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง พวกเขาก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจะต้องมีคำอธิบายที่เหมาะสมตามกฎหมาย แต่ผมก็ไม่เห็นมีที่ไหน ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงความรับผิดชอบอะไรเลย สำหรับปฏิบัติการที่เกิดขึ้น
 Q: แต่กรณีที่เกิดขึ้นมันเลวร้ายมาก สำหรับความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศของคุณ
อภิสิทธิ์ : แน่นอนครับ…
 Q: และนี่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณากัน ถึงช่วงเวลาที่คุณอยู่ในตำแหน่ง…
อภิสิทธิ์ : นี่เป็นครั้งแรกนะครับ ที่เรามีการประท้วงที่มีคนที่ใช้อาวุธอยู่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ถ้านี่เป็นการประท้วงอย่างสันติ การประท้วงที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การประท้วงที่อยู่ภายใต้กฎหมาย สิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย…
 Q: คุณรู้สึกอย่างไร…
อภิสิทธิ์ : มีคนชุดดำ ใช้อาวุธยิงเข้าใส่ผู้คน ยิงเข้าใส่ตำรวจ ยิงเข้าใส่ทหาร จะไม่มีเหตุอย่างนี้เกิดขึ้นเลย
 Q: คุณรู้สึกอย่างไร ถ้ากรณีเหล่านี้จะกำหนดถึง สิ่งที่ผู้คนจดจำตัวคุณในขณะที่อยู่ในตำแหน่ง
อภิสิทธิ์: ผมไม่คิดว่ามีปัญหาอะไรนะครับ ผมคิดว่ามีหลายคนที่ทราบเป็นอย่างดีว่าเกิดอะไรขึ้น ในช่วงปี 2552 – 2553 และสิ่งที่แตกต่างคืออย่างนี้ครับ ในฐานะรัฐบาลแล้ว เราเป็นรัฐบาลแรกที่เมื่อมีเหตุรุนแรงขึ้น เราได้อนุญาตให้ตำรวจ สำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ และศาล ได้ทำหน้าที่ของตนเอง และผมยอมรับคำตัดสินที่จะมีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นคำตัดสินประหารชีวิต ผมก็ยอมรับคำตัดสินนั้น และผมก็ขอให้อดีตนายกรัฐมนตรี และสมาชิกบางคนในรัฐบาลปัจจุบันให้พวกเขาปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน เพราะพวกเขามักจะหาทางในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมจะไม่ยอมทำ ถ้าผมถูกฟ้องร้อง ผมก็จะพิสูจน์ตนเองในศาล และถ้าหากศาล โดยไม่ว่าเหตุผลใดก็ตามได้ออกคำพิพากษาว่าผมมีความผิด ผมก็จะยอมรับคำพิพากษานั้น.
ที่มา.Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ย้อนรอย รธน. รัฐประหาร ทำประชาธิปไตยไม่เบ่งบาน !!?



โดย : ไพศาล เสาเกลียว

ย้อนรอย รธน.ไทยกำเนิดจากกษัตริย์ และ"คณะราษฎร" ชี้สาเหตุประชาธิปไตยไม่เบ่งบาน คือ"การทำรัฐประหาร"

วันที่ 10 ธ.ค.เป็นวันรัฐธรรมนูญ สัญลักษณ์หนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประเทศไทยก้าวเดินอย่างล้มลุกคลุกคลานมาแล้วถึง 80 ปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยบ้านเราไม่เติบโตเบ่งบานเหมือนกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ก็คือการปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้ประชาชนไม่ได้เรียนรู้ประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเมื่อรัฐประหารแล้วก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 18 ฉบับ ติดอันดับมากที่สุดในโลก

ในวาระแห่งวันรัฐธรรมนูญ  จะพาย้อนกลับไปดูรากเหง้าของรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ "ราก" ของภาษา และประวัติความเป็นมา ถือเป็นการเรียนรู้อดีตเพื่อตอบโจทย์ปัจจุบัน และวางแผนสู่อนาคต ในยามที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังเตรียมลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 (หรือ ส.ส.ร.3) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อ้างว่าต้องการให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม

ในงานสัมมนาเรื่องรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งจัดโดยสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงความเป็นมาของรัฐธรรมนูญไทยว่า คำว่า "รัฐธรรมนูญ" เป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้่นใหม่ของ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ นักเขียนและคอลัมนิสต์ ซึ่งกว่าจะมาเป็นคำนี้ได้ ต้องโต้แย้งด้วยเหตุและผลกับคนจำนวนมากเกี่ยวกับศัพท์ทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ. 2475 ที่คณะราษฎรกำลังยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม

ในครั้งนั้น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ได้โต้แย้งคณะราษฎรว่า ร่างดังกล่าวจะเรียก "พระราชบัญญัติ" หรือ "ธรรมนูญ" ไม่ได้ เพราะสิ่งที่ทำอยู่เป็นคือ "ธรรมนูญของรัฐ" จึงเสนอให้ตั้งชื่อใหม่ว่า "รัฐธรรมนูญ" ข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ดังกระหึ่มไปทั่วประเทศ ถึงขนาดที่คณะยกร่างธรรมนูญการปกครองฯ ต้องยอมใช้ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญ" ในเดือน ก.ย.2475 ดังนั้นวันที่ 24 มิ.ย.2475 หากพิจารณาในแง่นี้แล้วจึงไม่ใช่วันปฏิวัติรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว เพราะมีหลักฐานคือ ร่างกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม ซึ่งร่างฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาพยายามจัดระเบียบของสถาบันพระมหากษัติย์และองค์กรทางการเมือง

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีร่างกฎหมายดุสิตธานี ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าเป็นกฎกติกาการปกครองเขตดุสิตธานี
จากนั้น สมัยรัชกาลที่ 7 ก็มีการยกร่างกฎหมายที่คาดว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญอยู่ 2 ครั้ง โดยเมื่อปี พ.ศ.2469 หลังจากที่รัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 1 ปี พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาฉบับยาวเป็นภาษาอังกฤษถึงปัญหาของสยาม (Problems of Siam) ซึ่งมีเนื้อหาอยู่ 9 ข้อ

"หลายคนอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่เห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเลย แต่ถ้าใครเคยอ่านพระราชหัตถเลขาฉบับดังกล่าว ต้องอ่านตอนที่ 1 เขียนว่า The consititutation (กฎหมายสูงสุดของรัฐ) ซึ่งเข้าใจว่ารัชกาลที่ 7 ทรงคิดว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่รัฐธรรมนูญที่พระองค์มียังไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย" ศ.ดร.นครินทร์ กล่าว และว่าจากนั้นในปี พ.ศ.2474 ได้มีการเขียนกฎหมายอีกฉบับหนึ่งอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพราะมีการเขียนเป็นมาตรา ซึ่งเป็นที่น่าขบคิดว่าร่างดังกล่าวน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญของไทยเช่นกัน แต่สมัยนั้นยังไม่มีการใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ”
ศ.ดร.นครินทร์ อธิบายต่อว่า ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนปี พ.ศ.2475 มีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2470 คือ พระราชบัญญัติองคมนตรี ที่มีกว่า 200 คนในขณะนั้น รัชกาลที่ 7 ได้ทรงแก้กฎหมายดังกล่าวให้จำนวนองคมนตรีลดลง และมีการประชุมแบบถาวร เรียกว่ากรรมการองคมนตรีสภา กฎหมายฉบับนี้เข้าข่ายเป็น Constitutional law (กฎหมายรัฐธรรมนูญ)

นอกจากนั้น รัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบโต้บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับพระองค์ คือ Democracy in Saim (ประชาธิปไตยในสยาม) ดังนั้นเอกสารเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติองคมนตรี กับจดหมาย Democracy in Saim ได้นำประเทศไทยเข้าสู่ Constitutional law แล้ว

“รัฐธรรมนูญที่พวกเราเข้าใจคือปี พ.ศ.2475 คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ที่ร่างโดย นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ถ้าได้อ่านคำปรารภของรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการตอนหนึ่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเพื่อให้บ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และพระองค์ทรงรับคำขอร้องของคณะราษฎร จึงให้มีการตรากฎหมาย โดยมาตราที่ 1 คืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”

"ส่วนรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นร่างที่ประกาศในวันที่ 10 ธ.ค.2475 มีคนร่างอยู่ 9 คน หนึ่งในนั้นคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 นี้ มีการแก้ไขอยู่ 3 ครั้ง คือ 1.เปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย 2.แก้บทเฉพาะกาล และ 3.แก้เพื่อขยายบททั่วไป ที่สำคัญถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุยืนยาวที่สุด นานกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น ดังนั้นรัฐธรรมนูญไทยจึงเกิดขึ้นจากพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎร"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เตียง ศิริขันธ์ กับ เอมีล ..


เตียง ศิริขันธ์  ขุนพลภูพานและผู้นำเสรีไทยสายอีสาน ผู้มีคุณูปการต่อบ้านเมืองไทย จึงอยากเล่าถึงบทบาทบางด้านของ “เตียง ศิริขันธ์” ในด้านเกี่ยวกับการสนับสนุนอุดมการณ์คณะราษฎรและในด้านการศึกษา

ก่อนอื่นคงต้องขอเริ่มจากประวัติย่อของ “เตียง ศิริขันธ์” ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ. 2452 ที่สกลนคร ได้เข้ารับการศึกษาแบบสมัยใหม่จนจบชั้นมัธยมฯ 6 โรงเรียนอุดรพิทยานุกูร ต่อมาได้เข้ามาเรียนเป็นนิสิตรุ่นแรกที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบวุฒิประกาศนียบัตรครูมัธยมฯ ได้บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมฯหอวัง ต่อมาได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูร จังหวัดอุดรธานี

ในระหว่างนั้นได้ร่วมกับ “สหัส กาญจนพังคะ” ออกหนังสือเพื่อนครู 5 เล่ม เพื่อช่วยให้ครูต่างจังหวัดได้สอบเลื่อนวิทยฐานะ

เมื่อเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 “เตียง ศิริขันธ์” เป็นผู้หนึ่งที่เห็นด้วยและให้การสนับสนุน และมีความสนใจในแนวคิดแบบประชาธิปไตย ต่อมาได้ศึกษาแนวความคิดเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) จึงเห็นด้วยและมีความศรัทธาในแนวคิดแบบสังคมนิยมของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

แต่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2478 ครูเตียงได้ถูกข้อหาการเมืองครั้งแรก โดยถูกจับกุมพร้อมกับครูอีก 3 คนคือ ครูปั่น แก้วมาตย์ ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา ในข้อหามีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในโรงเรียน

ครูเตียงถูกขังอยู่ราว 2 เดือนก็ถูกศาลยกฟ้อง แต่กระนั้นครูเตียงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการใน พ.ศ. 2479 และมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ ในระหว่างนั้นก็ได้ศึกษาและเขียนหนังสือเกี่ยวกับมุสตาฟา เคมาล และเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2480 “เตียง ศิริขันธ์” ได้สมัครเป็นผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสกลนคร และได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมัยแรกทันที ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดสกลนครอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481

ในระหว่างทำหน้าที่ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรนั้น “เตียง ศิริขันธ์” ได้ตั้งกลุ่มร่วมกับ ส.ส. อีสานและ ส.ส. ภาคอื่นที่มีหัวก้าวหน้าส่วนหนึ่ง กลายเป็นกลุ่ม ส.ส. ที่มีบทบาทนำในสภาในการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชน ส.ส. ในกลุ่มนี้ที่สำคัญ เช่น ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี) ถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด) จำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม) พึ่ง ศรีจันทร์ (อุตรดิตถ์) ทอง กันทาธรรม (แพร่) ชิต เวชประสิทธิ์ (ภูเก็ต) ดุสิต บุญธรรม (ปราจีนบุรี) เยื้อน พานิชวิทย์ (อยุธยา) เป็นต้น

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา “เตียง ศิริขันธ์” ได้ร่วมกับจำกัด พลางกูร ก่อตั้งคณะกู้ชาติเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและรักษาเอกราชอธิปไตยแห่งชาติ โดยคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น ต่อมาได้ร่วมมือกับกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ ตั้งขบวนการเสรีไทยใต้ดินขึ้น โดย “เตียง ศิริขันธ์” เป็นหัวหน้าใหญ่ของเสรีไทยภาคอีสาน เพื่อทำการฝึกกองกำลังลับต่อต้านญี่ปุ่นที่เขตเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร

หลังสงครามโลก “เตียง ศิริขันธ์” ได้ร่วมกับ ส.ส. ฝ่ายก้าวหน้าหลายคนตั้งพรรคสหชีพ โดยนำแนวทางตามเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ มาเป็นนโยบายพรรค และสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ เมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 “เตียง ศิริขันธ์” พยายามต่อต้านแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และถูกจับในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนภาคอีสาน

ต่อมาเมื่อพ้นคดีได้จัดตั้งพรรคสหไทยลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็น ส.ส.จังหวัดสกลนคร จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 “เตียง ศิริขันธ์” ถูกตำรวจเชิญตัวจากที่ทำการรัฐสภาและหายสาบสูญไป

จากหลักฐานต่อมาปรากฏว่า “เตียง ศิริขันธ์” ถูกตำรวจภายใต้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ สังหารชีวิตในวันที่ 15 ธันวาคม โดยศพถูกนำไปเผาทิ้งที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

เรื่องที่อยากเล่าต่อคือ ผลงานแปลของ “เตียง ศิริขันธ์” เรื่อง “เอมีล” ซึ่งเป็นผลงานของ “ฌอง ฌาร์ค รุสโซ” นักปรัชญาฝ่ายประชาธิปไตยคนสำคัญ หนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในฝรั่งเศสสมัยกษัตริย์ปกครอง เรื่อง “เอมีล” มี 5 บรรพ “เตียง ศิริขันธ์” แปลออกมา 2 บรรพ แต่ได้ตีพิมพ์เพียงบรรพเดียวคือ บรรพแรก ส่วนบรรพที่ 2 สูญหายไปแล้ว

แนวคิดสำคัญของเอมีลคือ เรื่องการศึกษา โดยรุสโซเห็นว่ามนุษย์บริสุทธิ์ในสภาพธรรมชาติ การให้การศึกษาจึงไม่ควรบังคับหรือเอาใจเด็กมากเกินไป ควรให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ แล้วเด็กนั้นจะพัฒนาได้ดีเอง

แนวเสนอของรุสโซนี้เองที่นำมาสู่การปฏิวัติในด้านการศึกษาของยุโรปหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส และยังถือว่าหนังสือเอมีลเป็นหนึ่งในหนังสือปรัชญาการศึกษาเล่มสำคัญ

แม้ว่า “เตียง ศิริขันธ์” จะถูกสังหารภายใต้อำนาจของตำรวจของยุคเผด็จการ แต่อุดมการณ์และวีรกรรมของเขาจะเป็นที่จดจำตลอดไป เขาได้แสดงแนวคิดของเขาในหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ว่า

“ข้าพเจ้าเป็นคนไทย ข้าพเจ้าเป็นไทแก่ตัวเอง ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทยราษฎรสยาม ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆคนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชาอันหนึ่ง”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข  คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



วาทกรรม : การเมืองเรื่อง แรงเงา !!?


มีเสียงเรียกร้องจากชาวอีสานอยากให้วิเคราะห์ (Analysis) ถึงละครเรื่อง “แรงเงา” ทางช่อง 3 ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ขณะนี้ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเขียนถึงละครเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” บ้าง วันนี้ขอทำตามคำขอเล็กน้อย

ก่อนอื่นขอเล่าสั้นๆถึงเรื่องนี้เพื่อความเข้าใจสำหรับคอการเมืองที่ไม่เคยสนใจละเม็งละครเล็กน้อย เนื้อหาเป็นเรื่องที่สามารถพบเห็นได้ในสังคมไทย ที่ดูเหมือนว่าจะมีการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อ “เจนภพ” ผู้อำนวยการกองงานหนึ่ง แอบไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ “มุตตา” เจ้าหน้าที่ในกองของตน แล้วถูก “นพนภา” ภรรยาของเจนภพจับได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องคือ หากเป็นละครสมัยก่อนผู้ที่เป็นภรรยาหลวงมักเป็นฝ่ายที่ต้องนิ่ง ปล่อยให้ภรรยาน้อยแสดงบทบาทเหนือตน กระทำตัวให้น่าสงสาร แต่ละครเรื่องนี้กลับกันทั้งหมด “นพนภา” ภรรยาหลวง ออกมาอาละวาดตามตบตีทั้งสามีและภรรยาน้อยถึงที่ทำงาน จน “มุตตา” ต้องออกจากงานทั้งที่ตั้งท้องและกลับบ้าน แต่สังคมเล็กๆที่บ้านนอกรับไม่ได้กับการท้องไม่มีพ่อ ในที่สุด “มุตตา” จึงฆ่าตัวตาย

ละครอาจจบลงเพียงนี้ แต่คงเป็นการทิ้งคำถามให้ผู้ชมสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าละครเรื่องนี้ต้องการสอนอะไร ดังนั้น “มุนินทร์” ฝาแฝดของ “มุตตา” จึงเกิดขึ้น ในภาคที่เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ชม “มุนินทร์” ปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อแก้แค้นให้กับ “มุตตา” จนทำให้ “เจนภพ” และ “นพนภา” เกือบต้องแยกทางกัน แต่สุดท้าย “มุนินทร์” ก็พบว่าสิ่งที่ดีที่สุดแล้วคือการให้อภัยต่อกันนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าละครเรื่องนี้ได้สอดแทรกธรรมะที่สอนสังคมไทยง่ายๆ 2 เรื่องคือ การรักษาศีล 5 โดยเฉพาะเรื่องการไม่ประพฤติผิดในกาม และการไม่ดื่มสุรา อันจะนำไปสู่สิ่งเสพติดได้ กับอีกเรื่องคือ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เพราะกรรมจะสนองต่อผู้กระทำเอง

“มุตตา” กลายเป็นภาพสะท้อนของนางเอกในยุคก่อนที่ต้องทนถูกโขกสับตลอดเวลา ขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนไป ผู้หญิงสามารถพึ่งพาตนเองได้ “นพนภา” จึงกลายเป็นภรรยาหลวงที่มีอำนาจเหนือสามี แม้จะพยายามอธิบายว่าเนื่องจากมีฐานะทางครอบครัวเดิมที่ดีกว่าสามีจนสามารถช่วยสนับสนุนความก้าวหน้าของสามีได้ก็ตาม ส่วน “มุนินทร์” กลายเป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับความไม่ถูกต้อง แม้บางครั้งจะถูกความแค้นเข้าครอบงำจนตัดสินใจผิดไปบ้างก็ตาม

สังคมไทยยังมีความเห็นใจผู้ที่เสียเปรียบหรือผู้แพ้อยู่ตลอดเวลา ประการหนึ่งอาจเนื่องมาจากการถูกอบรมกล่อมเกลาให้รู้จักการ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากคำสอนในพุทธศาสนา แน่นอนว่าทั้งประเทศมิได้นับถือพุทธศาสนากันหมด แต่ความที่มีชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ทำให้สังคมรู้จักการประนีประนอม ยอมให้อภัย และเห็นใจผู้เสียเปรียบ แต่ด้วยความเป็นโลกาภิวัตน์ (Globalization) ทำให้เราเห็นภาพการต่อสู้ของสองฝ่ายที่ไม่มีการยอมแพ้กันในซีกโลกทั้งหลาย เกิดการซึมซับความรุนแรง และเชื่อมั่นในศักยภาพของตน จึงเกิดการเลียนแบบขึ้นในสังคมไทย

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ อุดมการณ์ทางการเมือง เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายหนึ่ง จึงเกิดการปะทะกันทางความคิด เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต่างฝ่ายต่างหาพรรคพวกเพื่อสนับสนุนการกระทำของตน ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็กระทำตนเป็นผู้ชมไป กลุ่มหลังนี่เองที่จะเป็นผู้ให้คะแนนสงสารกับผู้แพ้หรือผู้เสียเปรียบในการต่อสู้กัน

ลองนึกถึงเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว ขอแบ่งเป็น 2 เรื่องคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการชุมนุมที่หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นรัฐบาลถูกฝ่ายค้านยกกรณีต่างๆที่แสดงถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารงานขึ้นมาอภิปราย คอการเมืองอาจรู้สึกว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แต่คนที่ไม่สนใจกลับรู้สึกเบื่อที่มีแต่การประท้วงมากกว่าการอภิปรายในเนื้อหาสาระ ขณะเดียวกันก็เห็นใจนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง แต่กลับถูกผู้อภิปรายที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมาอภิปรายกัน 3 วัน 3 คืน

ส่วนนอกสภา การชุมนุมของ “เสธ.อ้าย” อาจได้รับความสนใจจากคนกลุ่มหนึ่ง แต่ด้วยองค์ประกอบที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผู้ชุมนุมมีจำนวนไม่มากพอที่จะแสดงพลัง หากแต่ภายหลังที่ เสธ.อ้ายประกาศยุติการชุมนุมเนื่องจากผู้ชุมนุมไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้คะแนนสงสารเทไปที่ เสธ.อ้าย แม้จะมีเสียงตำหนิจากผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ยังไม่ต้องการยุติการชุมนุมก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องทางการเมืองนี้แม้จะมีกลุ่มประชาชนผู้เป็นกลางเฝ้าจับตามองคอยเทคะแนนให้ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ โดยที่อีกสองฝ่ายออกมาแสดงบทบาทฟาดฟันกันให้สังคมได้ประจักษ์และเป็นกำลังใจ กลับไม่ใช่เรื่องที่ดีแต่อย่างใด ประเทศไทยไม่ใช่จอโทรทัศน์ที่จะแสดงบทบาทเป็นรายวันเหมือนละครแล้วคอยเช็กความนิยม รอดูว่าใครจะให้คะแนนฝ่ายไหน หากแต่เราต้องแสดงตัวตนในความเป็นจริง รวมทั้งในเวทีโลกด้วย

ขณะที่เรากำลังตั้งท่าชุมนุมประท้วงเป็นรายวัน ขัดขวางการทำงานของฝ่ายตรงข้ามในทุกเรื่องที่เราไม่ได้ผลประโยชน์ โดยอ้างเรื่องของความโปร่งใส เป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) อยู่ตลอดเวลานั้น เราได้หันไปมองเพื่อนบ้างบ้างหรือไม่ว่าเขาก้าวไปเพียงใดแล้ว

การประมูลคลื่น 3G ที่ได้ผลการประมูลแล้ว แต่ก็มีการยื่นเรื่องให้เป็นโมฆะ ขณะที่ลาวใช้ 4G แล้ว ประเทศไทยที่ภูมิใจว่ามีความก้าวหน้าอย่างยิ่งยวด ยังมีแค่คลื่น 2G ใช้เท่านั้น ภาษาอังกฤษยังหาวิธีสอนให้คนพูดกันได้ไม่ทั่วประเทศ หันไปดูพม่าที่เปิดประเทศมาพร้อมกับสำเนียงภาษาอังกฤษที่ลื่นไหล ไม่เชื่อลองไปคุยกับแรงงานพม่าที่ทำงานในบ้านเราก็ได้ ผู้เขียนเคยได้ยินแรงงานพม่าที่ทำงานที่ปั๊มน้ำมันหลุดปากบอกให้ผู้เขียนจอดรถให้ตรงกับเครื่องจ่ายน้ำมันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “stop” ฟังแล้วต้องสะดุ้ง นึกถึงแรงงานไทยที่ไปเมืองนอก จะสามารถสื่อสารกับเขาได้สักเท่าใด

แรงเงาคงเป็นเพียงละครที่สะท้อนสังคมไทยให้เห็นในจอโทรทัศน์เท่านั้น แต่คงไม่ต้องนำมาใช้ในชีวิตจริง เพราะเพียงเท่าที่เป็นอยู่นี้เราก็ตกต่ำไม่ทันเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ผู้เขียนอยากเห็นสังคมไทยเหมือนละครเรื่องนี้ในตอนท้ายที่ทุกฝ่ายหันมาสำนึกถึงความเป็นจริง และให้อภัยกันและกัน นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการเป็นเช่นเดียวกัน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข  คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สธ.บุรีรัมย์เตือนกินสัตว์มีพิษ-ดื่มเหล้าคลายหนาว เสี่ยงตาย !!?


กระทรวงสาธารณสุข จ.บุรีรัมย์ เตือนประชาชนและเกษตรกรที่เข้าใจผิดกินสัตว์มีพิษ พร้อมดื่มสุราคลายหนาว ระวังเป็นอันตรายต่อสุขภาพอาจถึงขั้นเสียชีวิต เผยช่วงหน้าหนาวแต่ละปีจะมีผู้ป่วยที่เกิดจาการดื่มสุราเข้ามารับการตรวจรักษาเป็นจำนวนมาก

     นายแพทย์โกเมนทร์ ทิวทอง รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าหนาว ขอแจ้งเตือนประชาชน และเกษตรกรที่กำลังเก็บเกี่ยวข้าว ที่เข้าใจสำคัญผิดว่าการดื่มสุรา และกินสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง และสัตว์อื่นๆ ที่มีพิษอีกหลายชนิด จะสามารถคลายความหนาวเย็นได้ ในช่วงที่มีอากาศหนาว ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิดไม่เป็นความจริง แต่จะมีผลกระทบตรงกันข้าม ผู้ที่ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ทำลายตับ และเหยื้อบุกระเพาะลำไส้อักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร

      โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอมีภูมิต้านทานต่ำ หากดื่มสุรามาก ๆ ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นอาจเกิดอาการช็อค ถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งในช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะมีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการดื่มสุรา เข้ามาตรวจรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ เป็นจำนวนมาก พร้อมแนะให้ประชาชนหากต้องการคลายหนาวควรสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ และออกกำลังกายสม่ำเสมอจะดีกว่า

      ส่วนผู้ที่นิยมนำสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ คางคก หรือแมงป่อง มาดองเหล้ากินเพื่อคลายหนาว อาจจะทำให้ติดเชื้อไวรัส หรือได้รับพิษจากสัตว์ดังกล่าว ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้” นายแพทย์โกเมนทร์ กล่าว

ที่มา.สยามรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กับดักรัฐธรรมนูญ !!?


โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ’ 2555

1. ความหมายและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญถูกให้ความหมายว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุด กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ นี้เป็นความหมายโดยทั่วไปของรัฐธรรมนูญ แต่ในที่นี้ขอให้ความหมายของรัฐธรรมนูญใหม่ว่า รัฐธรรมนูญเป็น “พื้นฐานของการเคลื่อนไหวของมวลชน กลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ทรัพยากรที่สำคัญในการดำรงชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ภายใต้เงื่อนไขของการให้สำคัญคุณค่าของความเป็นคน รัฐธรรมนูญจึงมีความหมายอย่างที่นำเรียน
รัฐธรรมนูญไทย ภาพจาก wikipedia
ประการต่อมา คือ รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนบทบัญญัติที่จัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบุคคล องค์กรทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตว่ามีตำแหน่งแห่งที่ หรือที่ยืนของตนเองอย่างไร องค์กร/คนไหนมีอำนาจมาก องค์กร/คนไหนมีอำนาจน้อย หรือองค์กร/คนไหนไม่มีอำนาจเลย หรือพูดง่ายๆ ว่าท่านควรเป็นไพร่ที่ไร้อำนาจ หรือมีอำนาจน้อย หรือเป็นเจ้าศักดินา ขุนนางผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ศฤงคาร ด้วยการใช้อำนาจที่อาจฉ้อฉล รัฐธรรมนูญจึงเป็นเสมือนบทบัญญัติที่จัดตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรต่างๆ ตราบที่ยังไม่มีใครฉีกทิ้ง
กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุดที่กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งไม่ได้ (โดยที่เราจะมองว่ามันทำงานได้จริงหรือไม่ก็ตาม) รวมถึงเป็นตัวจัดความสัมพันธ์ของคน/องค์กรต่างๆ กฎหมายรัฐธรรมจึงมีผลต่อการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่ถือใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญเป็นเสมือนตรายางประทับความชอบธรรมของการกระทำต่างๆ ที่บอก/อ้างว่าชอบธรรม โดยรัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่กำหนดแต่ถูกตีความโดยเนติบริการก็ตาม
รัฐธรรมจึงมีความสำคัญทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของคน/องค์กรต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. ที่มาไม่ชอบธรรม: กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การมีส่วนร่วมของประชาชน

ในอดีต การร่าง หรือการเขียนรัฐธรรมนูญล้วนเกิดจากผู้มีอำนาจที่ครอบครองอำนาจรัฐ ทั้งคณะปฏิวัติ รัฐประหารชุดต่างๆ ที่ต่างอ้างตัวว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ซึ่งชอบธรรมบ้างไม่ชอบธรรมบ้าง ตั้งคณะกรรมาธิการฯ บ้าง เขียนโดยคน 2-3 คนบ้าง ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. … ออกมาบังคับใช้ เพื่อสนองต่ออำนาจของกลุ่ม/องค์กร/คณะบุคคล แห่งตน โดยประชาชนคนเดินดินกินข้าว หาเช้าบ้างไม่พอถึงค่ำ ไม่ได้มีส่วนในการเข้าไปร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญที่จัดความสัมพันธ์ระหว่าง “เขา” กับ “รัฐ” เลย
แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มีการทำประชาพิจารณ์ และให้ประชาชนเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวางตามจังหวัดและภูมิภาค โดยคณะกรรมาธิการฝ่ายรับฟังความคิดเห็นของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯด้วยกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างอย่างกว้างขวาง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความคิดเห็น นำมาซึ่งบทบัญญัติด้านสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ การเข้าถึง และรักษาทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใดก่อน (แม้รัฐบาลที่ได้ชื่อว่ารัฐบาลพระราชทานก็ตาม)
รวมถึงการเกิดองค์กรใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการจรรโลงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในหลายๆด้าน (แม้จะมีข้อบกพร่องไปบ้างก็อยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้ไม่ใช่กลุ่ม/คณะใดจะลุแก่อำนาจในการฉีกทิ้งอย่าง คมช. กระทำ) จนเกิดกลุ่มที่เห็นด้วย (ใช้ธงเขียวเป็นสัญลักษณ์) และกลุ่มไม่เห็นด้วย (ใช้ธงเหลืองเป็นสัญลักษณ์) ต่อเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 40 แต่การแสดงออกของประชาชนทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแสดงให้เห็นการมีส่วนร่วม รับรู้ และสนใจต่อรัฐธรรมนูญ 40 อย่างกว้างขวาง ท้ายสุดกลุ่มธงเขียวสามารถกดดันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้ลงมติผ่านร่างได้ในที่สุด ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 40 จึงได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
ส่วนรัฐธรรมปี 2550 เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการรัฐประหารของ คมช. ที่ทำการโค่นอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทุนนิยม? ที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (คนดีศรีเชียงใหม่ ขวัญใจรถแดง…) ที่ฉ้อฉล ตีความ บิดพลิ้ว เล่นแร่แปรธาตุรัฐธรรมนูญปี 40 โดยความร่วมมือของเนติบริการ ที่แม้ปัจจุบันก็กลับมามีอำนาจอีกครั้ง จนทำให้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจของ คมช.
ฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญ 50 จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นสถานการณ์ของบ้านเมืองที่ปกคลุมด้วยเผด็จการของคนดี? ที่อ้างว่าจะเข้ามาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง (แต่ ณ เวลานี้คนทั่วไปเริ่มรู้สึกว่ามาสร้างวิกฤติอีกรูปแบบหนึ่ง)
ภายใต้เงื่อนไขข้างต้น จึงได้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และในสภาร่างรัฐธรรมนูญใช้วิธีการเลือกกันเองจากสมาชิกกลุ่มสาขาอาชีพ องค์กรต่างๆ ให้เหลือ 200 คน แล้วให้ คมช. เลือกให้เหลือ 100 คน แล้วให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญคัดเลือกสมาชิกสภาร่างฯ ขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับตัวแทนที่ คมช. ส่งมาอีก 10 คน ซึ่งกระบวนการนี้มีผู้ออกมายกย่องว่าเป็นการเลือกที่กระจายตามกลุ่มอาชีพอย่างทั่วถึง
ในขณะที่ร่างฯ ก็ได้มีการออกรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนบ้าง แต่พึงสังเกตว่ากระบวนการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นสภาร่างฯ และกรรมาธิการยกร่างฯ คมช. ล้วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทั้งสิ้น
ท้ายสุดของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมเป็นเหมือนตัวหนังสือเปื้อนกระดาษที่ชอบธรรม ก็ให้มีการลงประชามติโดยประชาชน เพื่อเป็นตราประทับรวมถึงมัดมือชก ว่าประชาชนเห็นชอบและมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับ 50 แล้ว ถ้าประชามติไม่ผ่าน ทาง คมช. ก็มีสิทธิ์ที่จะยกเอารัฐธรรมนูญปีไหนก็ได้ในอดีตมาใช้
รัฐธรรมนูญ 50 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่แปลกแยกจากผู้คนและสังคม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญ 40 และร่างรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งกระบวนการและเป้าหมาย วิธีคิด ฯลฯ รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ชื่อว่า “ฉบับประชาชน” ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมาก ส่วนฉบับหลังน่าจะได้ชื่อว่า “ฉบับเผด็จการของคนดี” เพื่อคนดี? และความสมบูรณ์พูนสุขของคนดีกระมัง
รัฐธรรมนูญของไทยหลายต่อหลายฉบับที่ว่าดีแต่ก็ถูกฉีกทิ้งอย่างง่ายดาย รวมทั้งฉบับปี พ.ศ.2540 ด้วย โดยผู้กระหายอำนาจที่อ้างความสงบสุขของประชาชนและประเทศ เพราะเหตุใดเล่ารัฐธรรมนูญที่ว่าดีจึงถูกฉีกได้อย่างง่ายดาย โดยประชาชนคนไทยไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านผู้กระทำการนั้นๆ คำตอบก็อยู่ในสายลม คือ “ประชาชนคนไทยไม่มีส่วนในความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นทั้งในสำนึก และในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ในความหมายไม่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมให้คนตัวเล็กตัวน้อยผู้เข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่าผู้ลากมากดี/ขุนศึกศักดินา/พ่อค้านายทุนยังไงล่ะ” รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ควรหวงแหนในเมื่อมันไม่ให้อะไรแก่เขาเหล่านั้นเลย แล้วจะเสียเวลาออกมาปกป้องเพื่ออะไร
การแสดงความคิดเห็นข้างต้นอาจถูกตีความได้ว่าแล้วเราในฐานะประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องสนใจ และไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเลยก็ได้ ในเมื่อมันไม่เกิดประโยชน์แก่เรา “ผิดถนัด” ครับ เพราะอย่างไรเสีย เราก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ยกเว้นเราเนรเทศตัวเองไปอยู่ ณ โลกอื่นเสีย
การรัฐประหาร 19/9/49 ได้ชี้เห็นถึง “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่สร้างบรรทัดฐานของการใช้อำนาจในการล้มล้างสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภา รัฐบาล ฯลฯ รวมถึง “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นเสมือนเครื่องมือจัดความสัมพันธ์อำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม และการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังแสดงให้เห็นวุฒิภาวะของสังคมไทย ที่เป็น “สังคมพึ่งพิง” ที่ต้องการใช้ “อำนาจอื่น” ทั้งในระบบและนอกระบอบมาแก้ปัญหาของชาติมากกว่าใช้วิถีทางตาม “ครรลอง”
ถ้าตราบใดเรายังร้องหา “อำนาจอื่น” มาแก้ไขปัญหา สังคมไทยย่อมไม่เกิดการเรียนรู้ ปล่อยให้ชนชั้นนำเป็นผู้เล่น “เกมส์แห่งอำนาจ” กำหนดทิศทางประเทศที่พวกเราเป็นเจ้าของ ไปตามใจชอบ พอได้อำนาจก็ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ นำประเทศ “ตกเหว” อย่างนี้ต่อไปนะหรือ
อำนาจในวิถีทางประชาธิปไตยย่อมมาจาก “มวลมหาชน” องค์กร หรือกลุ่มคนใดที่จะเป็นตัวแทนของประชาชน ในการร่างรัฐธรรมนูญย่อมมาจากประชาชน มิใช่มาจากการรัฐประหาร และด้วยเหตุผลข้างต้น รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 จึงเป็น “องค์กรเถื่อน” ในวิถีทางประชาธิปไตย ไม่มีความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เพราะมาจากรัฐประหารมิใช่มาจากประชาชน
ฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่ร่างโดย “องค์กรเถื่อน” ในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่มีความชอบธรรม และไม่สามารถเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองประเทศได้อย่างชอบธรรม
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในอดีต ภาพจาก wikipedia

3. กับดักรัฐธรรมนูญ: ความไม่สมดุลในการจัดโครงสร้างเชิงอำนาจในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญในสังคมต่างๆ เป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนกลุ่มต่างๆในสังคม เพื่อสร้างความเสมอภาค เท่าเทียมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดดุลยภาพ และเกิดสันติประชาธรรม
รัฐธรรมนูญจึงมีความจำเป็นต้องสร้างดุลแห่งอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (เท่าที่จะเป็นไปได้) จะให้อำนาจตกแก่กลุ่มใดมากไปไม่ได้
แต่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างจากความกลัว “ระบบทักษิณ” จึงสร้างระบบที่ดึงอำนาจสู่ชนชั้นนำ (ที่อ้างว่ามีคุณธรรม ความดีมากกว่าคนอื่นในสังคม แต่ก็พิสูจน์มานักต่อนักว่าไม่จริง) การดึงอำนาจไปแขวน หรือฝากไว้กับชนชั้นนำ หรือองค์กรต่างๆ ที่ต่างอ้างคุณงามความดี นำมาสู่ปัญหาในการตรวจสอบ ปัญหาในการจัดความสมดุลของอำนาจ ความลักลั่นของบทบัญญัติที่ไม่อาจเป็นจริงได้ เช่น
3.1 การคัดสรรวุฒิสมาชิกจำนวน 74 คนจากจำนวน 150 คน
เราไม่อาจตรวจสอบได้ว่าบุคคลที่ถูกคัดสรรเป็นคนที่ “ดี” และทำงานให้แก่ประชาชนได้จริงหรือไม่ รวมถึงวุฒิสมาชิกที่มาจากการคัดสรร (แต่งตั้ง) หลุดลอยจากการตรวจสอบของประชาชน เพราะคนเหล่านี้จะไม่คำนึงถึงคะแนนนิยมจากประชาชน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่จำเป็นต้องห่วงคะแนนเสียง และเมื่อเกิดญัตติสาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ไม่มีกระบวนการกดดันวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งนี้ได้เลย
ระบบสรรหาเป็นระบบที่ประชาชนไม่สามารถกำหนดได้ อำนาจการสรรหาตกไปอยู่ในมือชนชั้นนำไม่กี่คน ที่ประกันได้หรือไม่ว่าจะได้คนที่เรียกว่า “ดี”??? และดีของใคร??? ซึ่งก็ไม่พ้นข้าราชการแก่บ้าง หนุ่ม (ที่มากกว่า 50) บ้าง และข้าราชการเหล่านี้ก็ไม่พ้นมองชาวบ้านว่าโง่ แล้วชาวบ้านประชาชนจะใช้เครื่องมืออะไรควบคุมคนเหล่านี้ในเมื่อประชาชนไม่ใช่คนแต่งตั้ง ไม่ต้องคำนึงถึงฐานเสียง สุดท้ายวุฒิสภาก็เหมือนที่แล้วๆ มาที่เป็นเพียงแต่สภาตรายาง วุฒิสภาจึงเป็นกับดักอีกตัวหนึ่งของ รัฐธรรมนูญ 50
แม้ว่าระบบเลือกตั้งจะมีปัญหา แต่ในอีกแง่หนึ่งประชาชนก็สามารถใช้อำนาจในการตรวจสอบ ควบคุมนักการเมืองได้ในระดับหนึ่ง เพราะนักการเมืองย่อมต้องคำนึงถึงฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยในที่นี้ขอเรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” ซึ่งในการเลือกตั้งประชาชนไม่ได้โง่ ประชาชนรู้ว่าใครมีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ และไม่จำเป็นที่จะมีใครมาตัดสินแทนว่าใครคือตัวแทนของเขา แต่ถ้ายังดื้อที่จะให้มีการสรรหาต่อไป การสรรหาวุฒิสภาก็เป็นเหมือนกับดักที่พร้อมจะให้สังคมไทยติดกับได้ทุกเวลาในอนาคต 
นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังสร้างองค์กรอิสระมาควบคุม ตรวจสอบ องค์กรต่างๆ ที่ล้วนเลือกสรรจากชนชั้นนำ เช่น ผู้พิพากษา อธิบดี ปลัดกระทรวง เข้ามาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งองค์กรเหล่านี้หลุดลอยจากการตรวจสอบของประชาชนโดยสิ้นเชิง
 3.2 รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในหลายที่ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงเลย
เนื่องจากองค์กรปฏิบัติต่างๆ เช่น ข้าราชการไม่นำพาต่อเสียงของประชาชน ยิ่งหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยิ่งมีการเอ่ยอ้างว่าเป็นคณะรัฐประหารภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าข้าราชการไม่จำเป็นต้องรับใช้ประชาชน ทั้งๆ ที่มีเงินเดือนจากภาษีประชาชน แต่ในทางกลับกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างให้ข้าราชการเป็น “นาย”ประชาชน
รวมถึงการอ้างว่าเป็นข้าราชการ “ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ยังเป็นกระบวนการสร้างเกราะป้องกันการตรวจสอบของข้าราชการ ดังมีตัวอย่างข้าราชการหญิงนางหนึ่งอ้างว่าเป็นข้าราชการ “ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” เพื่อปฏิเสธคำถามต่อสื่อมวลชน ข้าราชการจึงมีสถานะเป็น “นาย” ของประชาชน มิใช่ผู้รับใช้ประชาชน!?
รวมถึงการนำ “ข้าราชการแก่ๆ” ที่มีความคิดแบบ “ดึกดำบรรพ์” ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมาเป็นรัฐมนตรีที่วันๆ ยุ่งแต่เครื่องแต่งกายของเด็กนักเรียนนักศึกษาคุณธรรม และมารยาทไทยแท้ซึ่งไม่แน่ว่ามีจริงหรือเปล่ามาบริหารประเทศ จนทำให้เกิดวิกฤตค่าเงิน บริษัทล้มระนาว คนตกงานเป็นเบือ ไม่เห็นอดีตข้าราชการแก่ๆ ที่อ้างว่ามีคุณธรรมแก้ปัญหาได้แม้แต่น้อย
แม้แต่การกำหนดให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการบัญญัติเรื่องสิทธิ อำนาจของท้องถิ่น แต่ก็ไม่อาจเป็นจริงได้เลย เมื่ออำนาจในการปฏิบัติยังอยู่ในมือข้าราชการ และก็ได้พิสูจน์มานักต่อนักแล้ว เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ข้าราชการไม่เห็นด้วย สุดท้ายก็ตกไป
3.3 ระบอบการอ้างคุณงามความดีอย่างพร่ำเพรื่อในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
คำว่า ธรรมาภิบาล คุณธรรม พอเพียง โปร่งใส สุจริต ฯลฯ ล้วนเป็นคำที่ “โตๆ” และตรวจสอบ หาเกณฑ์มาตรฐานมาวัดไม่ได้ทั้งสิ้น และเป็นรัฐธรรมนูญที่คนร่างรัฐธรรมนูญมองว่า “โง่” “เลว” “ต่ำ” กว่าพวกที่ร่างฯ และกำลังจะใช้อำนาจในองค์กรอิสระต่างๆ
คุณธรรม และความดีจึงไม่ใช่มาตรฐานในการวัดคนในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำงานให้แก่ประชาชน เพราะคุณธรรมความดีเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน รวมถึงวางอยู่บนฐานการตรวจสอบของสังคมนั้นด้วยมิใช่คำที่โต และโก้อยู่ลอยๆ เหมือนดังที่อ้างกันอยู่ ณ ปัจจุบัน และบางครั้งก็พิสูจน์แล้วว่าไอ้ที่อ้างว่ามีคุณธรรมความดี แต่แท้จริงโคตรโกง “หน้าเนื้อใจเสือ” เอาคุณธรรมความดีบังหน้าก็มีถมไป
 3.4 การดึงอำนาจออกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารวมศูนย์อยู่ในระบบข้าราชการ ตามรัฐธรรมปี 2540
มีบทบัญญัติที่ต้องการให้พี่น้องประชาชนมีองค์กรที่ปกครองกันเองในท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. เทศบาล ฯลฯ เพื่อให้เกิดประชาสังคม คนท้องถิ่นตรวจสอบ ควบคุม คัดเลือกจากคนท้องถิ่น โดยการโอนกิจการบางอย่างให้ท้องถิ่นดำเนินการ และองค์กรเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นพัฒนาการมาในระดับหนึ่ง
แต่หลัง 19 กันยายน คณะรัฐประหารและรัฐบาลมีความไม่วางใจองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้มองว่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจึงมีการสลาย และทำลายให้องค์กรเหล่านี้อ่อนแอ โดยผ่านมติคณะรัฐมนตรีต่ออายุกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ สามารถดำรงตำแหน่งได้ถึงอายุ 60 ปี จากเดิมที่มีวาระ 4 ปี เพื่อคานกับกลุ่มองค์กรท้องถิ่นจากเดิมที่ผู้ใหญ่บ้านเป็นองค์กรหนึ่งในการ “เล่นการเมืองของชาวบ้าน” ก็หลุดลอยกลายเป็น “ข้าราชการจำแลง” ไปในที่สุด
นอกจากนี้เหล่าผู้ดีเก่าที่อ้างคุณงามความดีก็ “ใส่ป้าย” ว่าสมาชิกองค์กรส่วนท้องถิ่น คือ ที่มาของการทุจริต ต้องควบคุม ปราบปราม ต้องเอาข้าราชการที่อาจจะโกงยิ่งกว่ามาปราบโดยให้อำนาจในทางต่างๆ…พูดง่ายๆ คือ “ใช้โจรมาปราบโจร” นั่นเอง
3.5 รัฐธรรมนูญปี 2550 สร้าง “รัฐซ้อนรัฐ”
กล่าวคือ ในร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายที่ เป็นรัฐธรรมนูญที่ในปฏิบัติไม่สามารถใช้ได้เลย เนื่องด้วยเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของบ้านเมือง เป็นร่างรัฐธรรมนูญของเผด็จการที่ทหารร่วมกับกลุ่มขุนนางข้าราชการ เสนอให้ออก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ ที่มีบทบัญญัติที่ขัดและแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การเข้าตรวจค้นบ้านประชาชนในกรณีที่อ้างความมั่นคงโดยไม่ต้องมีหมายศาล การจำกัดการชุมนุมของประชาชน หรืออะไรก็ตามที่อ้างเรื่องความมั่นคงก็สามารถดำเนินการได้
การให้นิยามความมั่นคงโดยทหาร หรือผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว ประชาชนไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ “ความมั่นคง” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นความมั่นคงของรัฐบาล หรือความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชนกันแน่
นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังได้สร้างระบบ “นายกฯ สองคน” คือ “นายกฯ ฝ่ายพลเรือน” ที่อาจถูกทหารแทรกแซงเพราะไม่มีอาวุธในมือและอ่อนแอ รวมถึงรักษาผลประโยชน์ของตนเองเกินกว่าจะยอมทัดทานการใช้อำนาจของนายกฯ ทหาร
และ “นายกฯ ทหาร” หรือผู้บัญชาการทหารบกที่เป็น ผอ.รมน. ตาม พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในฯ ที่มีทั้งกำลังรบและอาวุธในมือ ซึ่งจะเป็นผู้นิยาม “ความมั่นคง” ของประเทศชาติและพวกพ้อง ซึ่งอาจมีอำนาจเหนือ “นายกฯ พลเรือน” เพราะมีอาวุธในกำมือ (ซึ่งก็ซื้อโดยภาษีประชาชนนี้ละ)
การทำให้ประเทศไทยมี “นายกฯ สองคน” แบบเขมร (ซึ่งก็น่าจะดีไม่หยอกครับเจ้านาย) และ พ.ร.บ. “ความมั่นคง” นี้ละจะเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการชุมนุมเรียกร้อง การตรวจสอบ เคลื่อนไหวเพื่อรักษาความเป็น “คน” ก็จะถูกจำกัด
3.6 กระบวนการและเป้าหมายที่แยกจากกันนำสู่ความแปลกแยกของรัฐธรรมนูญฉบับ50
รัฐรัฐธรรมปี 50 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดภายใต้เงื่อนไขของการทำรัฐประหาร ดังที่ได้อธิบายข้างต้น ซึ่งนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่อาจมีเป้าหมายเพื่อจัดโครงสร้างทางอำนาจในสังคมใหม่? ซึ่งอาจเป็นเจตนาที่ดี? แต่มีวิธีคิดที่เป็นปัญหา คือ “การแยกระหว่างเป้าหมายออกจากกระบวนการ”
เป้าหมายที่ดีนั้นไม่มีใครมองว่าผิด แต่กระบวนการที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังที่อธิบายข้างต้นการที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 50 ประชาชนถูกตัดตอนออกจากกระบวนการร่างฯ ถึงมีก็น้อยมาก จะส่งผลต่อความเป็นเจ้าของในรัฐธรรมนูญ 50 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชาชนไม่มีส่วนในการกำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ 50 เลย
โดยแท้จริงแล้วภายใต้สถานการณ์การรัฐประหารที่ชาวประชามองว่าไม่ชอบธรรม เพื่อนำสู่เป้าหมายบางอย่าง ผู้กระทำการย่อมต้องพึงสำเหนียกถึงกระบวนการที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น
ในที่นี้ก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญย่อมต้องนำเข้ามาสู่กระบวนการที่ชอบธรรม คือ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากที่สุด เพื่อกำหนดทิศทางของ รัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลย กระบวนการที่ไม่ชอบธรรมจะนำสู่เป้าหมายที่ชอบธรรมย่อมยากยิ่ง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็น รัฐธรรมนูญ ที่แปลกแยกจากสังคมและประชาชน ใครมาฉีกทิ้งหรือทำลายก็ไม่เกี่ยวเพราะไม่ใช่ของประชาชน (แม้จะอ้างกันว่ามาจากประชามติก็ตาม) เนื่องจาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนไม่มีส่วนในกระบวนการร่าง และไม่มีความเป็นเจ้าของด้วยครับ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปัจจุบัน ภาพจาก wikipedia
3.7 มโนทัศน์การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550
รัฐธรรมนูญปี 50 เกิดภายใต้สถานการณ์พิเศษ (นำมาสู่การใช้อภิสิทธิ์อย่างพิเศษของคนพิเศษด้วย) ดังอธิบายข้างต้น โดยมีแนวคิดหลักในการร่าง คือ
ประการที่หนึ่ง กำจัด หรือป้องกันการกลับมาของ “ระบบทักษิณ” นำมาสู่การสร้างระบบป้องกัน และกำจัด “ระบบทักษิณ” ในวิถีทางต่างๆ และจากแนวคิดทำนองนี้ทำให้การร่าง รัฐธรรมนูญ เป็นการร่างเพื่อเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อกำจัดระบบที่ไม่พึงประสงค์นี้ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญที่ท่านร่างนี้จะส่งผลต่ออนาคตอย่างมหาศาล (จะกล่าวครั้งหน้า) เพราะเมื่อเราคิดกลไกในการกำจัดระบบใดระบบหนึ่งย่อมต้องคิดเครื่องมือเพื่อกำจัด ทำลายเป้าประสงค์นั้นๆ
โดยทำให้ละเลยหนทางแก้ปัญหาในวิกฤต หรือระบบแบบอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเครื่องมือที่ท่านสร้างอาจเป็นตัวทำลายระบบที่ท่านสร้างเอง เช่น การเอาอำนาจต่างๆ ทั้งการแก้วิกฤตของประเทศ การเลือกองค์กรอิสระ ฯลฯ ไปแขวนไว้ที่ศาลซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษาความเป็นกลางของศาล และการถูกแทรกแซงจากองค์กรทางการเมือง จนนำสู่ความไม่น่าเชื่อถือของศาลดังปรากฏชัดในปัจจุบัน
ฉะนั้นการร่าง รัฐธรรมนูญ ที่เป็นเครื่องมือจัดความสัมพันธ์ทางสังคมจึงต้องพึงระวังในการประดิษฐ์สร้างเครื่องมือที่มิใช่ตอบสนองผลประโยชน์ในปัจจุบัน แต่ในทางตรงกันข้ามย่อมต้องคิดถึงอนาคตให้มากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นรัฐบาลทักษิณ เป็นรัฐบาลพลเรือนที่ได้อำนาจมาด้วยฉันทานุมัติจากประชาชน ฉะนั้น การจะล้มล้าง หรือทำลาย (ไม่ไว้วางใจย่อมเป็นอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบเคลื่อนไหวตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ และกระบวนการกำลังจะดำเนินไป?) มิใช่เกิดจากคมหอกกระบอกปืนที่จะมาโค่นล้ม  (ที่ซื้อมาจากภาษีประชาชน) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีอำนาจมากกว่า “เสียงและสิทธิ” ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ
ประการที่สอง การไม่ไว้ใจประชาชน เป็นความเข้าใจของผู้เขียนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้ คมช.คณะรัฐมนตรี ฯลฯ (ส่วนใหญ่) มองประชาชนในชนบทว่าโง่ และถูกหลอกจาก “ระบบทักษิณ” เป็นผู้เสพติดประชานิยม จึงมองประชาชนอย่างไม่ไว้วางใจ จนนำมาสู่การให้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญน้อยมากดังที่ได้เสนอไว้ข้างต้น และนำมาสู่การสร้างเครื่องมือเพื่อควบคุมการใช้อำนาจประชาชน เช่น การเลือกตั้ง สว. ที่เป็นบทบัญญัติใน รัฐธรรมนูญ ปี 40
ในฉบับปี 50 ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบสรรหา รวมถึงการออกมากร่นด่า ประณามผู้ไม่เห็นด้วย ที่บอกว่าผู้ต่อต้าน หรือจะลงมติไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญ 50 เป็นพวกทักษิณ โดยไม่มองว่าเขาไม่เห็นด้วยในประเด็นใด มองเหมารวมว่าเป็นพวกทักษิณหมด คนที่ออกมาต่อต้านเป็นคนเลว ไม่รักชาติ (ชาติจึงเป็นสมบัติของผู้เห็นด้วยเท่านั้น) ประชาชนจึงเป็นส่วนเกินของรัฐธรรมนูญ 50
ประการที่สาม การเมืองของคนดี นิยามของการเมืองถ้ายึดตามร่าง รัฐธรรมนูญ 50 ที่กำลังร่างกันอยู่นี้ต้องเป็นการเมืองของคนดี? เป็นการเมืองของผู้ไม่โลภ? เป็นผู้ใสสะอาดบริสุทธิ์ดังผ้าขาวที่ไม่มีมลทิน เป็นผู้ที่ไม่ต้องการแสวงหาอำนาจแต่ชักใยอยู่เบื้องหลัง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การเมืองแบบไทย” ต้องเอาคนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง โครงสร้าง/ระบบมันจะเสียหายอย่างไร ถ้าคนดีเข้ามาปกครองดีหมด พูดง่ายระบบไม่เกี่ยว “คนดี”?? ที่กำลังจะเนรมิตความเจริญ ความเท่าเทียมให้สังคมไทย
ประชาชนต้องคอยช่วยคนดีปกครอง ห้ามถาม ห้ามเรียกร้อง น้ำจะท่วมนา ปลาจะตายลอยน้ำ ฝนจะแล้ง หมอกควันจะทำให้หายใจไม่ออก โจรผู้ร้ายจะฆ่าผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ ท่านทั้งหลายอย่าได้ปริปากเดี๋ยวจะหาว่าไม่รักชาติ “ชาติ” “การเมือง” จึงเป็นของคนดีเท่านั้น
ปัญหาของคนดีที่ รัฐธรรมนูญ มองไม่เห็น คนดีไม่จำเป็นต้องทำงานเป็น คนดีอาจไม่ดีจริง คนดีในมุมมองต่างๆ อาจไม่เหมือนกัน บางสถานการณ์เราอาจต้องการคนดีที่เก่งด้วย ทำงานเป็นด้วย บ้างครั้งเราอาจต้องการคนดีที่โง่แต่ตรวจสอบได้ บางครั้งเราอาจต้องการคนดีที่เข้มแข็ง ฯลฯ ฉะนั้นคนดีจึงไม่จำเป็นต้องถึงพร้อมสมบูรณ์แบบ? แต่ในเมื่อเราบอกว่า “ดี” ที่ไม่ต้องตรวจสอบถูกรับประกันโดยใครบางคนแล้วเราก็บอกว่า “ดี” แล้วอย่างนี้มีดีให้ประชาชนไหม?

4. สรุป

วิถีทางเดียวที่เราในฐานะประชาชนตัวเล็กตัวน้อยจะทำได้ คือ “การตั้งคำถาม” ตั้งคำถามกับอำนาจที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเรา รวมถึงตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นๆ
รัฐธรรมนูญจึงเป็นฐานของการใช้สิทธิ เสรีภาพของเราในการต่อสู้กับอำนาจ แต่เหนือสิ่งอื่นใด “สิทธิความเป็นมนุษย์” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในฐานะมนุษย์ การต่อสู้ในหนทางสันติวิธีเพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้
รัฐธรรมนูญแม้จะอธิบายกันว่าเป็นกฎหมายสุดสูง กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งมิได้ แต่เมื่อมันเป็นแต่เพียงกระดาษที่เปื้อนหมึกหากไม่มีการนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง ความศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมมลายหายเป็นธรรมดา
รัฐธรรมนูญฉบับ 50 นี้โดยคณะผู้ร่างฯ จะสำนึกหรือไม่สำนึกก็ดีท่านได้วางกับดักให้สังคมไทยในหลายประเด็นดังที่ได้อธิบายมาข้างต้น และประเด็นเหล่านี้ที่ท่านวาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาให้แก่สังคม อาจกลับมาเป็นเครื่องมือที่ทำลายสังคมเองก็ได้ ก็ในเมื่อท่านไม่ไว้วางใจในประชาชนเสียแล้ว ยกอำนาจ มั่นใจนักมั่นใจหนาในความดีของชนชั้นนำ พวกไพร่ชาวดินก็คงหมดความหมาย แล้วเขาจะหวังอะไรเล่า
*หมายเหตุ บทความนี้เป็นการนำบทความ 2 ชิ้น มาเรียบเรียงเขียนใหม่ และทำให้เนื้อเรื่องเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง “บทความ: เมื่อ นศ.ป.โท มช. วิพากษ์ต้องโหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญทองเค พ.ศ. 2550” และ “บทความวิพากษ์ รัฐธรรมนูญ 50: กับดักรัฐธรรมนูญ
แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ (4 ปีผ่านไป) สาระสำคัญของเรื่องก็ยังไม่เก่า แต่เหตุการณ์อาจวุ่นวายไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ การเอาบทความ 2 ชิ้น มา “ตัดแต่งใหม่” ซึ่งไม่ได้ทำให้ล้าสมัยไปเลย แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังอยู่ใต้กับดักรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2550 อยู่ และผมจะเขียนในตอนที่ 2 ต่อไปเรื่องความวุ่นวายหลังรัฐธรรมนูญ 2550 นี้
ที่มา.Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

(หยุด)วัฒนธรรม สร้างหนี้ !!?


โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

เดี๋ยวนี้คนไทยเป็นหนี้กันง่ายเหลือเกิน เพราะมีช่องทางเอื้ออำนวยให้เป็นหนี้มากมาย ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ
น่ายินดีอย่างยิ่งที่หน่วยงานหลักด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศชักเป็นห่วงว่าคนไทยกำลังเป็นหนี้เป็นสินมากเกินไปหรือเปล่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไม่ถึงเดือนละ 1 หมื่นบาท

หน่วยงานแรกที่ออกมาส่งสัญญาณดังกล่าวคือ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์
อีกหน่วยงานหนึ่งที่ตามมาติด ๆ คือแบงก์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นกระทั่งว่าแบงก์ชาติต้องขอหารือกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ขอให้เพลา ๆ มือการส่งเสริมการขายลงสักหน่อยเรื่องนี้มีที่มา สืบเนื่องจากแบงก์ชาติตรวจสอบพบว่า นับแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 สินเชื่อเพื่อการบริโภค (บรรดาเงินด่วน หรือบัตรเงินสดทั้งหลาย) เติบโตจากต้นปีถึง 23.67% และมียอดค้างชำระยังใช้หนี้ไม่หมดสูงถึง 643,889 ล้านบาท
เทียบกับปีก่อนๆ ที่ว่าร้อนแรงแล้วยังมีอัตราการเติบโต 15-20% เท่านั้นที่สินเชื่อเพื่อการบริโภคโตพรวด ๆ เป็นประวัติการณ์ เช่นนี้ นอกจากเป็นสินเชื่อที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน มองกันว่าเป็นผลจากที่ผ่านมาบรรดาแบงก์และน็อนแบงก์แข่งขันกันดุเดือดเหลือเกิน มีการออกแคมเปญโฆษณาเร่งเร้าถี่ยิบ

ขณะที่เครดิตบูโร หน่วยงานผู้มีหน้าที่รวบรวมรายละเอียดการก่อหนี้ของประชาชน เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ยืนยันในสิ่งที่แบงก์ชาติวิตกกังวล นั่นคือหนี้ภาคครัวเรือนมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปแบบนี้ก็อาจเป็นปัญหาลุกลาม ประมาณว่ากู้หนี้นอกระบบมาชำระหนี้ในระบบกลายเป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อย ๆ จริงอยู่ แม้ว่าการเรียกประชุมผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ของแบงก์ชาติครั้งนี้จะเป็นเพียงแค่การ "ป้องปราม" และไม่ครอบคลุมถึง "น็อนแบงก์" ในลักษณะของการขอความร่วมมือ โดยให้แต่ละแบงก์กลับไปใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสม ไม่ไปออกแคมเปญโฆษณา โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตมากเกินไป ซึ่งคงมีผลในทางปฏิบัติอยู่พอสมควร

แต่กับเงินกู้นอกระบบคงเป็นอีกเรื่อง เพราะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดเรียกว่าท้าทายกฎหมายกันอย่างเปิดเผย มีป้ายโฆษณาเงินด่วนติดให้เห็นทุกเสาไฟฟ้าพอมีข่าวลูกหนี้ถูกทำร้ายปางตายจากแก๊งทวงหนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจถึงได้เอาจริงกันที จากนั้นก็เงียบกันไป เป็นวัฏจักรหมุนเวียนอยู่แบบนี้ ซึ่งถ้าจะไล่ปราบปรามกันจริง ๆ หลักฐานก็เห็นอยู่ทนโท่ แต่น่าแปลกใจที่ไม่เห็นมาตรการใด ๆ ที่ต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม ทั้งที่เงินกู้นอกระบบโหดร้ายกว่าเงินกู้ในระบบมากมาย ถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว

ขณะเดียวกันเรากลับได้เห็นโครงการแนว "ประชานิยม" ทั้งบ้านและรถยนต์คันแรก ฯลฯ ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย กระตุ้นให้คน "เป็นหนี้" โดยที่ตัวเองไม่มีความพร้อมเพียงพอ

ด้านหนึ่งเราเห็นความพยายามของรัฐ ขับเคลื่อนนโยบายสร้างงานต่าง ๆ ออกมากมาย หาวิธีการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น แต่กับการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ เรายังไม่เคยได้ยินคำว่า "บูรณาการ" เกิดขึ้น
รัฐบาลมีเพียงแค่การพักหนี้ การปลอดหนี้

การแก้ปัญหาด้วยแนวทางดังกล่าว นอกจากจะไม่สร้างวินัยให้คนในชาติ มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย ยังก่อให้เกิดความคิดที่ว่าการ "สร้างหนี้" เป็นเรื่องปกติธรรมดา ใคร ๆ ก็มีหนี้กันได้

ถ้าเป็นถึงขนาดนี้ ไม่ช้าก็เร็ว มีหวังได้พบกับหายนะแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไขกระจ่าง ทุ่งยั้ง ที่ตั้งเมืองราด สมัยสุโขทัย !!?


ทุ่งยั้งที่ตั้งเมืองราด . พ่อขุนผาเมือง กรุงสุโขทัย
 เรื่องเมืองราดสมัยพ่อขุนผาเมืองกรุงสุโขทัย ยังเป็นคำถามว่าตั้งอยู่ที่ใด?
     เนื่องจากนักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์หลายท่านเสนอไว้ เช่น เมืองราด คือ เมืองหล่มสัก (อ. หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์), เมืองนครไทย (อ. นครไทย จ. พิษณุโลก) เมืองทุ่งยั้ง (อ.ลับแล จ.อุครดิตถ์) ฯลฯ
     ในเรื่องนี้ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีกรมศิลปากรได้มีการศึกษาที่ตั้งของเมืองราดว่าอยู่ที่ใดเช่นกัน ได้สืบค้นจากข้อมูลจากเอกสารเก่า ลายลักษณ์อักษรศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม สุโขทัย จารึกหลักอื่น สุโขทัย และสภาพภูมิศาสตร์ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนเชื่อมโยงว่า เมืองราด คือเมืองทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน ท่านได้เขียนขึ้นไว้ในหนังสือ “เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง กรุงสุโขทัย และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย” กรมศิลปากร ก.ค. 2555 พิมพ์และเผยแพร่อยู่ขณะนี้ เพื่อที่ช่วยกันไขความกระจ่าง จึงขอคัดบทคำนำมาเป็นสังเขป
      
     อ.พิเศษ กล่าวประวัติศาสตร์ตอนต้นสุโขทัยหรือก่อนสมัยสุโขทัยนี้ ดูจะเป็นเรื่องมืดมนที่จะหาคำอธิบายในหลายปัญหา เช่น การหายไปจากดินแดนแคว้นสุโขทัยของตระกูลพ่อขุนผาเมือง การที่ตระกูลพ่อขุนบางกลางหาวเข้าแทนที่อำนาจในแคว้นสุโขทัย และเรื่องเมืองราดของพ่อขุนผาเมืองที่ท่านกลับไปครองว่าอยู่ที่ใด โดยบันไดขั้นแรกของการคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ น่าจะอยู่ที่ว่าหาเมืองราดให้ได้เสียก่อน เมื่อหาได้แล้วก็อาจจะพบแสวงสว่างที่จะฉายเข้าสู่ความมืดมนของปัญหาอื่นๆ ได้
       ทั้งนี้ได้ฉายแนวคิดภาพรวมของเมืองราดโดยอ้างอิงกับหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ ในลักษณะที่ 1 สถานที่อันจะเป็นเมืองราดได้นั้นควรจะมีหลักฐานประเภทใดประเภทหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์กับขอมเมืองพระนครธม หรือเมืองลพบุรี อันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมขอมในที่ราบลุ่มภาคกลาง ทั้งนี้ เพราะในศิลาจารึกหลักที่ 2ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน ว่าพ่อขุนผาเมืองผู้ครองเมืองราดนั้นเป็นลูกเขยกษัตริย์ขอม ถึงกับได้พระราชทานามสถาปนาว่า ศรีอินทรบดินทราทิตย์ จากนามเดิมว่ากมรเตงอัญผาเมือง พร้อมทั้งพระขรรค์ชัยศรีด้วย
        ลักษณะที่ 2 เมืองราดควรจะเป็นเมืองที่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าหรือมากกว่าเมืองสุโขทัยเมื่อเริ่มแรก ทั้งนี้โดยพิจารณาจากความในศิลาจารึกหลักที่ 2 เล่าเรื่องการชิงเมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองของบิดาของพ่อขุนผาเมืองกลับคืนมาจากขอมเสมาสโขลญลำพง เมื่อยึดครองเอาไว้แล้วก็ได้ทำการอภิเษกให้พ่อขุนบางกลางหาวครองเมืองสุโขทัย ส่วนตัวท่านเองกลับไปครองอยู่ที่เมืองราดของท่านตามเดิม อันเป็นการแสดงว่าเมืองราดของท่านนั้นมีศักดิ์ศรีไม่น้อยไปกว่าเมืองสุโขทัย
        ลักษณะที่ 3 เมืองราดควรเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับเมืองสุโขทัย ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกหลักที่ 8 พบที่เขาสุมนกูฏ สุโขทัย ปรากฏรายชื่อของเมืองต่างๆ ล้วนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โดยรอบจังหวัดสุโขทัยทั้งนั้น คือในพื้นที่เขตจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ในศิลาจารึกหลักนี้นั้น มีชื่อเมืองราดรวมอยู่ด้วย
        อ.พิเศษ กล่าวถึงมูลเหตุจูงใจเสนอเรื่องที่ตั้งของเมืองราด ในการหาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้พบข้อสะดุดใจบางประการเกี่ยวกับเรื่อง เมืองทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่มีเขตติดต่อทางทิศเหนือของ จ.สุโขทัย ดังนั้น ตามแนวคิดในลักษณะที่ 3 ทุ่งยั้งนั้นอยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยของแคว้นสุโขทัยประมาณ 35 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตการปกครองท้องที่อำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ ระยะทางจากวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งจะอยู่ห่างจากแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านที่ตั้งตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า บางโพ ประมาณ 5 กิโลเมตร
       ที่เมืองทุ่งยั้งมีร่องรอยของคูน้ำคันดินหลายชั้นซับซ้อนกันอยู่ยากที่จะบอกว่ารูปร่างของเมืองเป็นเช่นไร อย่างไรก็ดี ที่เรียกว่า เวียงเจ้าเงาะ ที่เห็นเป็นรูปร่างของเมืองอย่างชัดเจน และอยู่ติดกัยวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งก็เป็นส่วนตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองทุ่งยั้งอย่างแน่นอน
       ชื่อเมืองทุ่งยั้งจะปรากฏอยู่ในหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งของแคว้นล้านนาที่อยู่ทางทิศเหนือถัดไป เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารโยนก ตำนานพระธาตุบางเรื่อง ฯลฯ และเอกสารที่อยู่ทางใต้ของแคว้นสุโขทัย เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ หนังสือกฎหมายของอยุธยา พงศาวดารเหนือ ฯลฯ ซึ่งเอกสารทั้งหมดที่กล่าวนี้มิได้เป็นเอกสารของแคว้นสุโขทัย
       แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าศิลาจารึกอันเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรของแคว้นสุโขทัยเอง ซึ่งเป็นที่แน่นอนอีกด้วยว่าเมืองทุ่งยั้งในอดีตเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอาณาเขตของแคว้นสุโขทัยด้วยนั้นกลับไม่ปรากฏชื่อของเมืองทุ่งยั้งอยู่เลย (ซึ่งอาจจะเป็นการบังเอิญก็ได้ที่ชื่อเมืองทุ่งยั้งจะมีอยู่ในส่วนที่เป็นรอยกะเทาะหลุดออกไปของศิลาจารึกสุโขทัยเหล่านั้น)
       มีศิลาจารึกอยู่เพียงหลักเดียวที่มีชื่อเมืองทุ่งยั้ง คือศิลาจารึกหลักที่ 38 วัดสระศรี สุโขทัย อันเป็นจารึกกฎหมายที่มีชื่อเมืองทุ่งยั้งอยู่ด้วย ...อย่างไรก็ตาม ศิลาจารึกหลักนี้แม้จะพบที่สุโขทัยแต่ก็มิได้กระทำขึ้นโดยชาวสุโขทัยอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอาจที่จะกล่าวได้โดยไม่ผิดว่า ชื่อเมืองทุ่งยั้งยังไม่พบว่าปรากฏอยู่บนเอกสารลายลักษณ์อักษรที่เป็นของชาวสุโขทัย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ชื่อทุ่งยั้ง อาจเป็นชื่อที่ผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงทางทิศเหนือและใต้เป็นผู้เรียก ส่วนชาวท้องถิ่นเองอาจมีชื่อเรียกที่แท้จริงเป็นอย่างอื่น
       ความคล้ายคลึงกันกับปัญหากรณีชื่อเมืองทุ่งยั้ง แต่เป็นไปในลักษณะกลับกันปรากฏขึ้นในกรณีของชื่อเมืองราดด้วย ดังได้กล่าวแล้วว่า ชื่อของเมืองราดปรากฏอยู่ในเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อันเป็นเอกสารของแคว้นสุโขทัยโดยอาศัยอยู่บนศิลาจารึกหลัก 2 หลัก คือศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม สุโขทัย ที่เล่าเรื่องว่าเมืองราดเป็นเมืองของพ่อขุนผาเมือง อีกหลักหนึ่งคือศิลาจารึกหลักที่ 8 เขาสุมนกูฏ สุโขทัย ที่เล่าว่าเมืองราดเป็นเมืองหนึ่งซึ่งมีไพร่พลร่วมไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สุโขทัยกับพระมหาธรรมราชาลิไท
        ชื่อของเมืองราดปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ตามศิลาจารึกทั้งสองหลักนั้น ห่างกันประมาณ 150 ปี นั่นคือ ในความรู้สึกนึกคิดของชาวสุโขทัยนั้นเมืองราดไม่เคยหายไปไหนตลอดระยะเวลา 150 ปีนั้น แต่ก็เป็นน่าประหลาดใจอีกว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ นอกจากศิลาจารึกแล้วเหตุใดในเอกสารประเภทอื่นๆ ของท้องถิ่นอื่นที่มิใช่แคว้นสุโขทัยทั้งของฝ่ายล้านนาและของทางภาคกลาง จึงไม่ปรากฏชื่อของเมืองราดอยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นในรูปของตำนานปรัมปรา บันทึกจดหมายเหตุต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ จึงน่าที่จะเป็นไปได้ว่าในลายลักษณ์อักษรประเภทอื่นๆ ที่มิใช่จารึก อันเป็นเอกสารของคนท้องถิ่นอื่นที่มิใช่สุโขทัยทำขึ้นนั้น มิได้เรียกชื่อเมืองราดว่าเมืองราด แต่ได้เรียกชื่อของเมืองอยู่ในนามอื่น
        อ.พิเศษ กล่าวให้เห็นว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งในกรณีของชื่อเมืองราดและเมืองทุ่งยั้ง จึงเป็นความปฏิสัมพันธ์ของหลักฐานที่อาจนำมาตั้งเป็นข้อสมมติฐานได้ว่า ในขณะที่คนในท้องถิ่นซึ่งอยู่ในแคว้นสุโขทัยนั้นรู้จักชื่อของเมืองๆ หนึ่งว่าชื่อเมืองราด จึงปรากฏชื่อของเมืองราดอยู่ในศิลาจารึกอันเป็นเอกสารของชาวแคว้นสุโขทัยเอง แต่คนใกล้เคียงกับแคว้นสุโขทัยคือชาวล้านนาและภาคกลางกลับรู้จักและเรียกชื่อเมืองๆ นั้นในชื่ออื่น คือเรียกว่าเมืองทุ่งยั้ง ดังนั้น จึงปรากฏชื่อเมืองทุ่งยั้ง และไม่พบชื่อเมืองราดอยู่ในเอกสารที่เป็นของคนถิ่นอื่นที่มิใช่เป็นของชาวสุโขทัย
         นั่นคือเมืองราดคือเมืองๆ เดียวกับเมืองทุ่งยั้งนั่นเอง
ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ฆ่าคนตายโดยเจตนาชนักปักหลัง อภิสิทธิ์-สุเทพ !!?


คณะพนักงานสอบสวนที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตำรวจ และอัยการ ที่ประชุมมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่าร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288

เสียงจากห้องแถลงข่าวของดีเอสไอ ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมีสถานะเป็นผู้ต้องหา เท่าเทียมกับอีกฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเผาบ้านเผาเมือง ก่อการร้าย

พลิกดูฐานความผิดตามข้อกล่าวหาในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ระบุเอาไว้ว่า

บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สึกนึกในการที่กระทำ และขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

มาตรา 83, 84 อยู่ในหมวดตัวการและผู้สนับสนุน

มาตรา 83 กำหนดว่า ในกรณีความผิดใดที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามกฎหมายกำหนดไว้

มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าจะโดยการบังคับขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไปไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ในขณะที่มาตรา 288 อยู่ในหมวดความผิดต่อชีวิต ระบุว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี

นี่เป็นเพียงคดีแรกที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาต่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ซึ่งเป็นไปตามตามแนวทางที่ศาลได้มีคำสั่งกรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่

ที่เสียชีวิตหน้าคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ระหว่างการกระชับพื้นที่ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง ที่พยานหลักฐานชี้ชัดว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ.

พนักงานสอบสวนให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมารายงานเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 12 ธ.ค.

แต่ดูตามรูปการณ์แล้วคงน่าจะมีการขอเลื่อนออกไปก่อน อย่างน้อยๆก็น่าจะยื้อให้ถึงวันที่ 21 ธ.ค. ที่จะเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ซึ่งจะทำให้ทั้งสองคนได้รับเอกสิทธิ์ความเป็น ส.ส. คุ้มครอง ไม่ถูกดำเนินคดีระหว่างสมัยประชุมสภา เพื่อตั้งหลักหาแนวทางต่อสู้คดีกันต่อไป

เพราะหลังจากนี้ศาลจะทยอยมีคำสั่งหลังการไต่สวนสาเหตุการตายของคนเสื้อแดงออกมาอีกหลายศพ ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต้องถูกตั้งข้อหาฆ่าคนอื่นตายโดยเจตนาอีกหลายคดี

ส่วนผลสรุปของคดีนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องใจเย็นๆ ติดตามกันไปเรื่อยๆ เพราะเป็นหนังชีวิตเรื่องยาวที่ต้องต่อสู้กันไปอีกเป็น 10 ปี

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

**********************************************************************

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปัญหา 3 จังหวัด ภาคใต้ !!?


ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม(โอไอซี) ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ประเทซจิบูติ องค์การดังกล่าวได้มีมติตำหนิว่า ไทยเราไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
มติดังกล่าวได้แสดงความกังวลใน ๓ เรื่อง คือ

๑.การคงกำลังทหารที่โอไอซีเห็นว่ามากเกินไป รวมถึงการใช้ทหารพรานด้วย
๒.การคงไว้ซึ่งพรก.ฉุกเฉินในพื้นที่ และ
๓. ปัญหาการมีสิทธิ์ตัดสินใจพัฒนาพื้นที่ของคนในพื้นที่ รวมถึงการใช้ภาษามลายู

โอไอซีได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการประชุมทุกปี
ท่าทีของโอไอซีดังกล่าวแม้ฟังแล้วจะรู้สึกแสลงใจ แต่มันเป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องครุ่นคิด เพราะต้องยอมรับความจริงว่า แม้แต่คนไทยเราเองก็มีความรู้สึกว่า สถานการณ์ในบริเวณดังกล่าวมันมีแต่ความยืดเยื้อน่าเบื่อหน่าย และมองไม่เห็นเลยว่า จะดีขึ้นหรือยุติลงเมื่อใดกัน
แถมบางครั้งก็รู้สึกว่า มันหนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน

พร้อมๆ กับคำแถลงของโอไอซีดังกล่าว องค์การนิรโทษกรรมสากลซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงลอนดอน ก็ได้ออกคำแถลงเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ศกนี้

เรียกร้องให้สมาชิกที่มีอยู่ทั่วโลกกว่า ๒ ล้านคน เขียนจดหมายถึงรัฐบาลไทย ให้จัดระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่าแก่ครูและนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรียกร้องให้กลุ่มก่อความไม่สงบยุติการใช้ความรุนแรง

คำแถลงขององค์การนิรโทษกรรมสากลมีขึ้นภายหลังจากผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีถูกสังหารเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ทำให้โรงเรียนกว่า ๓๐๐ แห่งปิดการเรียนการสอนจนถึงวันที่ ๓ ธันวาคม

ทั้งนี้ ครูในบริเวณ ๓ จังหวัดได้ถูกฆ่าไปแล้วกว่า ๑๕๕ ราย รวมทั้งกรณีครูจูหลิงที่สะเทือนใจคนทั้งประเทศ

คำแถลงของโอไอซีและองค์การนิรโทษกรรมสากลดังกล่าวข้างต้น แม้ฟังแล้วจะเกิดความรู้สึกไม่ดีเท่าใดนัก แต่คำพูดของคนนอกทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา ไม่ใช่กล่าวเพียงว่า เราทำถูกแล้ว เขากล่าวหาไม่ถูก เพียงอย่างเดียว

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะบรรเทาเบาบางลงได้ก็ต่อเมื่อประชาชนในบริเวณนั้นบังเกิดความรู้สึกว่า เขาได้รับความเป็นธรรมเฉกเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป

และความจริงข้อหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ การแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลังอาวุธไม่มีทางบรรลุผลได้เลย

โดย.ศรี อินทปันตี,บางกอกทูเดย์
ssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssss

ถูกรุม-เข้ามุมไม่ถูก


ยามนี้ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เจอคนในพรรควางสนุ๊ก
ต้านหัวชนฝา ที่ไม่ให้ลงสมัคร “ผู้ว่าฯ กทม” อีกรอบ??
เป็นการ “เตะตัดขา” ที่เล่นด้วยวิธีการอันไม่ชอบ
ลามไปถึง “กรุงเทพธนาคม” นายทุนใหญ่ ที่หนุนให้เป็น “ผู้ว่าฯ”อีกหน ถอนตัว
เรื่องวิชามารใต้ดิน..ถล่มกันอย่างเหลือกิน..ทำเอา “คุณชายหมู” ดิ้นออกอาการกลัว

-------------------------------------

มีแต่คน “จ้องเสียบ”
“กรณ์ จาติกวณิช” อดีตขุนคลัง ยังคั่วเก้าอี้ “ผู้ว่าฯ กทม.” อย่างเงียบ..เงียบ
โชว์มาดเฉียบพร้อมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนกัน
“องอาจ คร้ามไพบูลย์”, กับ “อลงกรณ์ พลบุตร” ก็เหล่เก้าอี้นี้เหมือนกันนะท่าน
แต่ที่มาแรงแซงทางโค้ง “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” ที่เปิดตัวหาเสียง เป็น “ผู้ว่าฯกทมเต็มที่
“ท่านสุขุมพันธ์” ทำเพื่อพรรคทุกอย่าง..แต่โดนเจาะยาง...ช่างใจดำ กันเสียไม่มี

-------------------------------------

ทะเลนั้นเป็นเหมือนถิ่นของเรา
ข้อแถลงจริงชัดแจ้ง แต่ “ศิริโชค โสภา” สส.ประชาธิปัตย์ ก็แถตลอด ที่จะไม่เอา
“จอร์สหรุ่น” พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ แม่ทัพเรือ ยืนยันทุกอย่างโปร่งใส
การจัดซื้อ “เรือฟรีเกต” ถูกต้องตามสเป็ค ไม่มีเลศนัย
แต่ “ซุเปอร์วอลเปเปอร์” ศิริโชค โสภา ยังดันทุรังเสนอให้ “ปปช.” เล่นงานตามกระชุ่น
ยื่นไปก็เสียของ.. “บิ๊กโอ้” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ไม่มัวขมอง..ยื่นไปจะหงายท้องกลับมานะคุณ

-------------------------------------

แดดส่องฟ้าเป็นสัญญาวันใหม่
“เสี่ยเอี้ยง” ดำรง พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยาน เปิดซิง เปิดบริสุทธิ์ ทางการเมืองขอรับเจ้านาย
ตั้งพรรคเอี่ยมอ๋องโก้หรู ชื่อว่า “พรรคทวงคืนผืนป่า”
เข้าตามตรอกออกตามประตู ...ไม่เป็น “ลิ่วล้อ-ม้าใช้-เบ๊ของใคร”.. จึงไม่มีคนว่า
อยากเรียกร้อง “หมอตุลย์” ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์
อย่าเล่นการเมืองข้างถนน
คิดจะมีอำนาจ...อย่าเล่นการเมืองทางลัด..หัดลงสมัคร สส.กันสักหน

-------------------------------------

กลัว “เจ้าสัว” จะเจ๊ง
“หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” สส.ประชาธิปัตย์ ยังสำแดงศักดา ถึงความอวดเก่ง
แมวสีอะไรขอให้จับหนูได้ เท่านั้นเป็นพอ
ขายข้าวระบบ “จีทูจี” ได้เงินเข้าประเทศเป็นกระตั๊ก ยังตามจับผิด แสนอนาถจริงหนอ
ที่รวยขึ้น เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ..ชาวนาที่ปลดหนี้สิน พากันลืมตาอ้าปาก
เริ่มเจ๊งกันมั่ง...ก็อภิมหาขายข้าวตระกูลดัง....ที่สูญเสียสตางค์ พากันร้องจ๊าก

โดย:คอลัมน์ ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อุดมเดช. เผยแจ้งผลการศึกษาแก้รธน.กับพรรครัฐบาลแล้ว !!?


นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาลและคณะทำงานพรรคร่วมศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า คณะทำงานพรรคร่วมฯได้ทำการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมมาเป็นเวลา 3-4 เดือน จนเสร็จสิ้นสามารถนำเสนอให้แต่ละพรรคการเมืองใช้เป็นแนวทางพิจารณาตัดสินใจ หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะเอาอย่างไรต่อ จะเอาด้วยกับความเห็นของคณะทำงานพรรคร่วมฯ หรือไม่เอาก็ไม่ว่ากัน หรือจะมีแนวทางอื่นใดก็สามารถทำได้ พรรคเพื่อไทยเองก็ต้องนำผลการศึกษาตรงนี้ไปตัดสินใจภายในอีกครั้ง อย่างไรก็ตามการโหวตลงมติวาระ 3 ที่ค้างคาอยู่นั้น ตามหลักการแล้วควรทำให้มันจบ ความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ต้องทำให้เสร็จสิ้นกระบวนการไป

ส่วนข้อกังวลว่าการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนเหตุให้มีการต่อต้านถึงขั้นก่อม็อบประท้วงอีกครั้งนั้น ต้องยอมรับว่าความเห็นของคนในสังคมไม่มีทางตรงกันทั้งหมด แต่ต้องถามคนที่ออกมาต่อต้านว่าคิดอะไร เพราะทุกคนทราบดีว่ารัฐธรรมนูญที่เรากำลังใช้อยู่นี้เป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร การที่เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีที่มาจากประชาชนนั้นมันไม่ดีอย่างไร จะออกมาทักท้วงด้วยเหตุผลใด หรือเป็นเพราะชอบรัฐธรรมนูญที่เผด็จการร่างมาใช่หรือไม่ หรือกลัวว่าถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วตัวเองจะเสียประโยชน์

ที่มา.เนชั่น
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++