--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ใบหน้า ม็อบ เสธ.อ้าย !!?


โดย.ประชา บูรพาวิถี

โดนฝ่ายรัฐบาลเล่นสงครามข่าวมาหลายวัน "เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เพิ่งตั้ง พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี โฆษกองค์การพิทักษ์สยาม

คนไทยส่วนใหญ่รู้อย่างเดียวว่า "ม็อบ เสธ.อ้าย" ชนะแล้วจะ "แช่แข็งประเทศไทย" ซึ่งประเด็นเนื้อหาของการชุมนุม 24 พ.ย.2555 ยังคลุมเครือ และการเคลื่อนไหวยังไม่มีลักษณะที่เด่นชัด

ขนาดวันก่อน องค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่าย ได้ประกาศ "ปฏิญญาปวงชนชาวไทยพิทักษ์สยาม" ก็ยังไม่มีสื่อสำนักไหน นำปฏิญญานางเลิ้งไปเผยแพร่
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญของ "คนทำม็อบ" หากแต่การระดมพลเข้าร่วมชุมนุมมากน้อยเท่าใด เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า และฝ่ายการข่าวของรัฐบาลก็วิ่งเช็คข่าวกันฝุ่นตลบ
ปรากฏว่า "ตัวเลข" ของฝ่ายทำม็อบกับฝ่ายการข่าวของรัฐใกล้เคียงกัน คือประมาณ 5-6 หมื่นคน

"ม็อบ เสธ.อ้าย" ต่างจาก "ม็อบพันธมิตร" ตรงที่ไม่ต้องไหว้ครูนาน ไม่ต้องโหมโรงเยอะ พอยกแรกคนมาร่วม 2-3 หมื่นคน ก็ประกาศชุมนุมยกที่สองทันที เพราะมั่นใจใน "ขุมกำลัง" ที่มีอยู่

กลุ่มแรกคือ "คนไม่เอาระบอบทักษิณ" ที่เคลื่อนไหวร่วมกับพันธมิตรฯ มาตั้งแต่ปี 2549 แต่ช่วงหลังมีความคิดเห็นต่างกัน จึงแยกออกไปเป็น "กลุ่มเสื้อหลากสี" , "กลุ่มเสื้อสีฟ้า" และกลุ่มก้อนเดิม "กลุ่มเสื้อเหลือง"

ปัจจุบัน "ทีนิวส์ทีวี" ของ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นศูนย์กลางข่าวสารของคนกลุ่มนี้ และมี พิพัฒน์ ชนะสงคราม มือขวาของ "ต้อย ทีนิวส์" เข้าไปร่วมบริหารจัดการม็อบ เสธ.อ้าย เต็มตัว

ที่น่าสนใจ เมื่อ 28 ต.ค.2555 มีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในการระดมคนไปร่วมชุมนุมอย่างได้ผล จึงทำให้กลุ่มแกนนำมั่นใจในเสียงตอบรับจากผู้คนที่เข้ามากดไลค์ และยืนยันว่าจะไปลานพระบรมรูปทรงม้าฯ

กลุ่มที่สอง "กองทัพธรรม" ที่มีความพร้อมในการสนับสนุนเรื่องน้ำ อาหาร ที่พักอาศัย และการรักษาพยาบาลแก่ผู้ชุมนุม โดยมี "เอฟเอ็มทีวี" เป็นกระบอกเสียงในการปลุกเร้าให้ชาวอโศกทุกสาขา ให้หยุดกิจกรรมทุกอย่างมาเข้าร่วมชุมนุม ทั้งสมณะและฆราวาส

กลุ่มที่สาม "เครือข่ายช่อง 13 สยามไท" ของ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ที่รวมดาวนักไฮด์ปาร์กฝีปากกล้า พร้อมด้วย "กลุ่มนักรบย่าโม" และใช้ทีวีดาวเทียม "ช่อง 13 สยามไท" ปลุกระดมมวลชนด้วยเพลง "หนักแผ่นดิน" กระหึ่มจอ

กลุ่มที่สี่ "กลุ่มแรงงานรัฐวิสาหกิจ" นำโดย สมศักดิ์ โกศัยสุข ที่หายหน้าหายตาไปจากแกนนำพันธมิตรฯ วันนี้ "สมศักดิ์" กลับมาแล้ว ในภารกิจไล่รัฐบาลนอมินีทักษิณ

กลุ่มที่ห้า "รากหญ้าในเมือง" ที่รวบรวมมวลชนฐานรากในเมืองใหญ่ โดยแกนนำบางปีกของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสภาองค์กรชุมชน

กลุ่มที่หก "มวลชนต่างจังหวัด" เป็นกลุ่มพลังที่มีการบริหารจัดการ และในรายงานของการข่าวสันติบาล หรือสำนักข่าวกรองฯ ยืนยันตรงกันว่า "มวลชนภาคใต้มาเยอะแน่ เหมือนสมัยมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ"

สำหรับมวลชนภาคอีสานคงเดินมาทางมาร่วมไม่มากนัก เพราะเป็นพื้นที่ยึดครองของคนเสื้อแดง แม้แต่กลุ่มกองทัพปลดแอกฯ ก็จะมาร่วมจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากแกนนำกองทัพปลดแอกฯ ยังกังขาในแนวทางการต่อสู้ของ เสธ.อ้าย

ทั้งหมดนี้เป็นภาพกว้างๆ ของใบหน้า "ม็อบ เสธ.อ้าย" และเหลือเวลาอีกไม่กี่เพลา ยุทธการไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อันโลดโผนและสุดพิสดารก็จะเริ่มขึ้น!

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
******************************************************************************

แกะรอยม็อบใคร !!?


เดือน พ.ย. เป็นเดือนหฤโหดวิปโยคที่แท้จริงสำหรับคนไทย การเมืองของไทยเต็มไปด้วยความผันผวน เผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างหนัก แต่ขอให้จับตาดูในเดือน ธ.ค. นี้ เพราะมีผู้เป็นใหญ่กำลังชะตาขาดเคราะห์ร้าย

จะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจนเกิดการจลาจลนองเลือด จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน บ้านเมืองคับขันอย่างเต็มที่ภายในเดือน ธ.ค. การเมืองไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อาจมีคนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง อาจเกิดการยุบสภา หรือการปฏิวัติรัฐประหาร...”

เป็นคำทำนายทายทักจากนายโสรัจจะ นวลอยู่ นักโหราศาสตร์ชื่อดัง ที่ระดับความแม่นยำอยู่ในเกณฑ์เชื่อขนมกินได้

เป็นคำทำนายที่สอดคล้องกับหมอนิด นายกิจจา ทวีกุลกิจ นักโหราศาสตร์ชื่อดังของเมืองไทยอีกคน ที่ระบุว่า ประเทศไทยจะเกิดความรุนแรงขึ้น และเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย อาจถึงขั้นนองเลือดครั้งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้าทหารออกมาทำการรัฐประหารหรือปฏิวัติ การเลือกตั้งอาจต้องหยุดไปพักหนึ่ง และจะมีบุคคลสำคัญหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองออกนอกประเทศ

จิ้งจกทักยังต้องฟัง

คำทำนายทายทักที่ออกมายิ่งช่วยเพิ่มดีกรีความหวาดหวั่นต่อสถานการณ์เบื้องหน้าทบเท่าทวีคูณ

ม็อบ 50,000 คน ไม่ต่ำกว่านั้นแน่จะมารวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 24 พ.ย. เพื่อขับไล่รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยข้อกล่าวหา 3 ข้อสั้นๆคือ

1.รัฐบาลปล่อยให้มีการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน โดยไม่มีการป้องกัน แต่ดูเหมือนว่าจะมีการส่งเสริมมากกว่า

2.รัฐบาลเป็นหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อีกทั้งไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร และขาดธรรมาภิบาล

3.รัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น

ข้อกล่าวหาเก่าๆกว้างๆ แต่เรียกคนออกมาร่วมชุมนุมได้มาก เป็นอะไรที่น่าคิด

จากการติดตามเบาะแสการก่อกำเนิดของม็อบไล่รัฐบาล พบว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากมีนายทหารคนสนิทของใครบางคน ไปทาบทามให้ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ออกหน้าขับไล่รัฐบาล

ที่ไม่ใช้คนกลุ่มเก่าที่เคยทำงานสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง เพราะหน้าช้ำ เกรงคนที่เป็นกลางๆไม่มีสีจะไม่ยอมรับแล้วหันไปเข้าร่วมกับฝ่ายตรงข้าม จะกลายเป็นการเพิ่มกำลังให้ศัตรูโดยไม่จำเป็น จึงให้ไปรับบทบาทเป็นกองหนุนอยู่เบื้องหลังแทน

เหตุผลหลักที่ใช้หว่านล้อม เสธ.อ้ายคือ เหตุผลข้อที่ 1

หน้าที่ของ เสธ.อ้ายมีอย่างเดียวคือแสดงบทบาทเป็นผู้นำ ส่วนที่เหลือทั้งเรื่องคน ทุน และยุทธศาสตร์ คนที่มาติดต่อจัดการให้หมด

การชุมนุมใหญ่วันที่ 24 พ.ย. ตั้งใจจะเล่นแรงแบบม้วนเดียวจบ ยั่วยุให้ปะทะ สูญเสีย โดยมีนายทหารระดับพลตรีซุ่มเตรียมกำลังไว้รอจังหวะเหมาะออกมาแสดงตนเป็นฮีโร่

นี่คือที่มาของการประกาศระดมตำรวจไมต่ำกว่า 50,000 นายเข้ามาดูแลการชุมนุม

จำนวนตำรวจกับจำนวนม็อบเกือบเท่ากันแทบจะประกบกันหนึ่งต่อหนึ่ง แต่จริงๆไม่ใช่ต้องการใช้ตำรวจกำราบม็อบ เพียงต้องการส่งสัญญาณถึงนายทหารยศพลตรีคนนั้นว่าถ้าจะยึดอำนาจต้องมีกำลังมากกว่า

ในชั้นนี้รัฐบาลมั่นใจว่าส่วนหัวๆของกองทัพยังนิ่ง แต่ก็ไม่ชัวร์ 100% ว่าจะเอาอย่างไรหากมีการปะทะ

การระดมกำลังตำรวจ 50,000 นาย นอกจากการเป็นการส่งสัญญาณถึงนายทหารยศพลตรีที่กำลังจะรับงานใหญ่ ยังเป็นการโยนก้อนหินถามทางเพื่อจับอาการของผู้นำเหล่าทัพด้วย

สงครามใหญ่ใกล้เข้ามาทุกขณะ ถึงเวลาที่ประชาชนต้องตัดสินใจแล้วว่าจะนั่งดูเขาจับประเทศแช่แข็ง ออกกฎ กติกาปกครองประเทศตามใจชอบ เพื่อยึดกุมให้เบ็ดเสร็จ

หรือจะออกมาช่วยกันปกป้องประชาธิปไตย ที่ยังไงก็ดีกว่าอยู่ภายใต้เผด็จการ

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เวทีประชาสังคมอาเซียน. ที่พนมเปญเตรียมเสนอ ปฏิญญาสิทธิมนุษยชน คู่ขนานกับฉบับรัฐ !!?


จัดเวทีประชาสังคม/ภาคประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) ที่กัมพูชา หลังต้องย้ายที่จัดงานถึง 3 ครั้ง โดยอภิปรายกันหลายหัวข้อ ตั้งแต่เรื่องเพศสภาพไปจนถึงเรื่องความมั่นคง พร้อมนำเสนอ "ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน" ฉบับประชาชน หวังใช้คู่ขนานไปกับฉบับที่ผู้นำอาเซียนจะลงนามในวันที่ 18 พ.ย.
พนมเปญ  - เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการจัดเวที "การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน/ภาคประชาชนอาเซียน" (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN Peoples' Forum 2012) หรือ ACSC/APF ที่ศูนย์ SOVANN KOMAR ชานกรุงพนมเปญ โดยในวันเปิดงานมี Sok Sam Oeun ผู้อำนวยการบริหาร Cambodian Defenders Project
โดยระหว่างกล่าวเปิดงาน นาย Sok Sam Oeun กล่าวขออภัยที่ต้องย้ายที่จัดงานหลายครั้ง เนื่องจากเจ้าของสถานที่มาขอยกเลิกสัญญาจัดงาน ทำให้ต้องหาสถานที่ใหม่ เขากล่าวว่า "ตามกฎหมายกัมพูชา ไม่มีกฎหมายใดห้ามการรวมตัวแบบนี้ ทั้งการจัดเวิร์คชอบ หรือประชุม กัมพูชามีแต่กฎหมายห้ามการชุมนุม แต่ในวันนี้ไม่ได้เป็นจัดการชุมนุม เราแค่มาประชุม อภิปราย และพูดคุยกันเท่านั้น"
ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ จากมูลนิธิศักยภาพชุมชน และกรรมการอำนวยการ การประชุม ACSC/APF ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลกัมพูชาได้ปิดกั้นไม่ให้มีการรวมตัวของประชาชน ทั้งกรณีของสมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน "AGPA" ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตัดไฟทำให้การประชุมไม่สามารถใช้เครื่องเสียงได้ และแม้เจ้าหน้าที่จะยังไม่ใช้ความรุนแรง แต่เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ปิดกั้นอย่างมากในการให้ประชาชนมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เพื่อนำเสนอข้อเสนอต่อรัฐบาล เช่นเดียวกับการประชุม "ACSC/APF" ต้องย้ายที่ 3 ครั้งเพราะเจ้าของสถานทีปฏิเสธไม่ให้ใช้ เพราะมีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐขอไม่ให้มีการใช้สถานที่
ทั้งนี้รู้สึกว่าเรื่องแบบนี้ไม่สมควรจะเกิดขึ้น เพราะภาคประชาชนอาเซียนถูกบรรจุอยู่ในกฎบัตรอาเซียน ว่าการทำงานของอาเซียนทุกอย่างจะมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ในความเป็นจริงอาเซียนไม่ได้สนับสนุนประชาชนและไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนพูดคุยเลย
นอกจากนี้ กรณีที่จะมีการออกปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งจะมีการลงนามในวันที่ 18 พ.ย. โดยผู้นำประเทศของอาเซียนนั้น ภาคประชาชนที่ติดตามปฏิญญานี้เห็นว่า ปฏิญญาที่จะออกมานี้ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ทั้งนี้อาเซียนมักอ้างว่ามีค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคมีความต่างจากค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนของยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ค่านิยมสิทธิมนุษยชนในโลกนี้มีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ไหน นับถือศาสนาใด ทั้งนี้กรอบแนวคิดที่มีความต่างกันจึงทำให้การยกร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของภาครัฐเน้นไปที่ตัวสิทธิมนุษยชนที่ตัวกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งมองว่าสิ่งนี้จำกัดการเคารพสิทธิมนุษยชน จึงมีการผลักดันและยกร่างอีกฉบับเป็นร่างสิทธิมนุษยชนอาเซียนฉบับประชาชน โดยจะมีพิจารณากันในการประชุม ACSC/APF ปฏิญญาภาคและภาคประชาชน เอกสารสำคัญของอาเซียนที่จะใช้คู่กันไป ทั้งปฏิญญาสิทธิมนุษยชนจากรัฐ และฉบับที่มาจากประชาชน
ทั้งนี้ตลอด 3 วันของการประชุมนอกจากการเสวนาที่เวทีหลัก แล้วจะมีการแบ่งหัวข้อสัมมนาย่อยออกเป็นหลากหลายประเด็นทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การค้ามนุษย์ สิทธิมนุษยชน สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ เยาวชน สันติภาพ ความมั่นคง การศึกษา การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในอาเซียน และในวันสุดท้ายของการประชุมจะมีการออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งรวบรวมมาจากข้อเสนอของเวทีประชุมดังกล่าว มีในวันศุกร์นี้จะมีการนำเสนอปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนฉบับภาคประชาชน และกรอบของกลไกการติดตามและตรวขสอบข้อเสนอที่มาจากแถลงการณ์ร่วม
สำหรับการประชุม ACSC/APF ดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในหลายการประชุมที่จัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มประชาสังคมจากกัมพูชาและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการจัดคู่ขนานไปกับการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ขณะที่มีรายงานด้วยว่าการประชุมของ "สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน" หรือ "(ASEAN Grassroots People's Assembly - AGPA)" ก็ถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ที่มา.ประชาไท
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พม่าปล่อยนักโทษการเมือง รับ โอบามา เยือน !!?


เมียนมาร์เริ่มปล่อยนักโทษกว่า 450 คนในวันพฤหัสบดี ก่อนประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา เดินทางเยือนในวันจันทร์

บรรดาญาติของผู้ต้องขังในคดีการเมืองยังคงเฝ้ารออยู่ตามเรือนจำต่างๆ คอยฟังข่าวว่าญาติของตนจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ รัฐบาลปฏิเสธที่จะระบุจำนวนนักโทษที่จะได้รับอิสรภาพ แต่เจ้าหน้าที่กรมเรือนจำผู้หนึ่งเผยว่า ผู้ต้องขังจะได้ออกจากคุกเป็นจำนวน 452 คน รวมถึงชาวต่างชาติบางราย

เมียนมาร์ได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองแล้วหลายร้อยคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป อันทำให้ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกกระเตื้องขึ้น

ออน เค็ง โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี แสดงความยินดีที่จะมีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง แต่ตั้งคำถามถึงจังหวะเวลา

"เป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลจะปล่อยตัวก่อนหน้าการมาเยือนของโอบามา รัฐบาลน่าจะปล่อยก่อนหน้านี้ เป็นการแสดงเจตจำนงที่แท้จริงที่จะนิรโทษกรรม"  เขากล่าว และว่า ยังไม่รู้ว่าสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีจะได้รับการปล่อยตัวด้วยหรือไม่

รัฐบาลพม่าได้ปล่อยนักโทษการเมืองครั้งใหญ่รอบหลังสุดเมื่อเดือนกันยายน ก่อนที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่งจะไปเยือนสหประชาชาติในนิวยอร์ก แต่ยังคงมีนักโทษการเมืองถูกจองจำอีกเป็นจำนวนมาก

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ในประเทศไทย ระบุข้อมูลเมื่อ 31 ตุลาคม ว่า ยังมีนักโทษการเมืองอยู่ในคุกของพม่าจำนวน 283 คน

Source : AFP
by sathitm
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สถานการณ์ข้าว : จากระดับอาเซียนสู่ระดับโลก นัยสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหาร !!?


กรวิจัยข้าว ภาพจาก cp e-news

สำหรับในประเทศไทยได้หยิบยกโครงการจำนำข้าวมาพูดถึงกันอย่างมากและต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เรามาดูกันบ้างว่า สถานการณ์ข้าวในโลกและเอเชียเป็นอย่างไรบ้าง??

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้นำประเด็น “ข้าว” มาศึกษาและนำเสนอไว้ในรายงานหลายชิ้นด้วยกัน เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขาเห็นว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า รัฐสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญมากในตลาดข้าวของโลก

อาเซียนจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 53%

นำเข้า 14%

มีพื้นที่เพาะปลูกโดยรวมประมาณ 29%

ผลิตได้ 25% และ

บริโภคเพียง 22%

รายงานชิ้นนี้ประเมินภาพรวมและชี้ให้เห็นข้อถกเถียงถึงทิศทางของอุปทานและอุปสงค์ในเรื่องข้าว ตลอดจนการจัดการความเสี่ยงว่าด้วยความผันผวนในราคาข้าว รวมทั้งนโยบาย การบิดเบือนอุปทาน และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ADB นำเสนอกรอบตัวแบบที่เรียกว่า “Arkansas Global Rice Model” หรือ AGRM ที่ให้อาเซียนเป็นเสมือนตัวแทน เช่น การก่อตั้งคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Reserve Board: AFSRB) โมเดลดังกล่าวจะสามารถเข้าถึงการเป็น คนกลาง และเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว โมเดลนี้จะออกแบบให้เห็นความสอดคล้อง เกี่ยวพัน และร่วมมือกันในเชิงนโยบายภายในอาเซียนมากยิ่งขึ้น

ข้าวถือเป็นอาหารหลักของประเทศในอาเซียน และยังมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคด้วย โดยในปี 2007-2008 ที่เกิดวิกฤตราคาข้าวนั้น เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านนี้ หันมาร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตเช่นเดิมอีก

การจัดการเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตราคาข้าวนั้น จะประกอบด้วยปัจจัยสำคัญหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านของนโยบาย การบิดเบือนอุปทาน และความเปลี่ยนแปลของสภาพภูมิอากาศ ในอาเซียนนั้นมีการบริโภคข้าวประมาณ 22% ของทั้งโลก และการบริโภคในอีก 10 ปีข้างหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ต่อปี

การส่งออกข้าวของอาเซียนนั้นเสื่อมถอยลงจากปี 2010 ถึง 16.6% เราจะเห็นว่าน้ำท่วมที่นาในหลายประเทศของอาเซียนเมื่อปี 2011 นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำลง และในปีที่ผ่านมานั้น นโยบายทั้งด้านการค้า การส่งออก และการนำเข้าข้าวยังมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจข้าวในอาเซียน ซึ่ง 5 ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญของโลกคือ ไทย อินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนครองตลาดข้าวของโลกถึง 87%

อีก 10 ปีข้างหน้าราคาข้าวเมล็ดยาวจะเสื่อมลง จาก 486 เหรียญสหรัฐต่อ 1,000 กิโลกรัม เป็น 421 เหรียญสหรัฐต่อ 1,000 กิโลกรัม ราคาจะตกไปจากเดิมประมาณ 65 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ราคาข้าวเมล็ดกลางนั้น คาดว่าราคาจะคงตัวอยู่ที่ 800 เหรียญสหรัฐต่อ 1,000 กิโลกรัม ถ้าเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ราคาอ้างอิงจากตลาดโลกระบุว่า ราคาข้าวขาวเมล็ดยาวจะเสื่อมลงมากขึ้น

ทั้งนี้ รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย สรุปว่า การเป็นแหล่งสำรองข้าวของโลก อาจต้องเพิ่มเครื่องมืออุปกรณ์ในการดูดซับความชื้นจากข้าว การเพิ่มแหล่งจัดเก็บข้าว การเพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนา การทำระบบโลจิสติกส์ให้ดีมากขึ้น และจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานภายในให้ดีขึ้น เพื่อขยายความเข้มแข็งในด้านนี้มากขึ้น และสร้างบรรยากาศในการค้าข้าวเพื่อตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่เป็นอยู่ และขยายตลาดให้กว้างมากขึ้น

ภายในภูมิภาคอาเซียนเองก็ต้องมีความชัดเจนในความสามารถด้านการผลิตภายในประเทศ เช่น กัมพูชา ลาว และพม่า ต้องพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใน เพื่อสนับสนุนให้ชาติสมาชิกแห่งอาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางผลิตข้าวรายใหญ่ที่ยั่งยืนมากขึ้น

นอกจากนี้ รายงานอีกหนึ่งชิ้นที่พูดถึงความไม่แน่นอนและความยืดหยุ่นของราคาข้าวในอาเซียนนั้น เขาก็ชี้ให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวจะมีมากขึ้น แต่จะสามารถลดปัญหาดังกล่าวลงได้ หากอาเซียนมียุทธศาสตร์ด้านการค้าในเชิงลึก มีสถานที่สำหรับจัดเก็บข้าวในขนาดที่เหมาะสมทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค มีหน่วยข่าวตลาดที่เฉียบคมพอ และการจะสร้างความเชื่อมั่นในด้านการค้านั้นถือเป็นภารกิจหลักในอาเซียน โดยยกข้อเสนอแนะที่สำคัญให้เห็น 4 ประการ ดังนี้

1. ให้มีการจัดการประเทศต่างๆ ที่นำเข้าข้าวและมีการลดการพึ่งพาตนเองในด้านข้าว โดยเฉพาะประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนการประกันการนำเข้าข้าวจากประเทศผู้ส่งออก
2. ปรับเงื่อนไขสำหรับการสละสิทธิ์ในด้านข้าวภายใต้ความตกลงด้านสินค้าในการค้าของอาเซียน
3. การเปลี่ยนแปลงโครงการต่างๆ ด้านข้าวในประเทศไทย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นใด
4. ส่งเสริมให้มีการขยายความร่วมมือด้านนโยบายข้าวกับอินเดียและปากีสถาน

การกระทำเหล่านี้ล้วนรวมมาตรการขยายการผลิตข้าวและกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะในกัมพูชาและพม่าเข้าไว้ด้วย เขายังชี้ให้เห็นว่าไทยเองก็จะกลับมารั้งตำแหน่งผู้ผลิตข้าวได้มากที่สุดของโลก และชาติอาเซียนทั้งหลายก็สามารถที่จะช่วยกันเลี่ยงภาวะที่จะเกิดภาวะของการช็อกที่เกิดขึ้นกับราคาข้าวได้ ด้วยการลดมาตรการเข้มงวดด้านการส่งออก และหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น

ที่มา: Asean and Global Rice Situation and Outlook & Enhancing ASEAN’s Resiliency to Extreme Rice Price Volatility
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ปิดกิจการ-เลิกจ้าง-ย้ายฐาน SME พลิกกลยุทธ์สู้ค่าแรง 300 บาท !!?



ใกล้ ดีเดย์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฟสที่ 2 วันที่ 1 มกราคม 2556 แรงกดดันทั้งจากนายจ้างและผู้ใช้แรงงานยิ่งมีเพิ่มขึ้น แม้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะการันตีว่าจะเดินหน้าขึ้นค่าแรงรอบใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ ตาม 7 จังหวัดนำร่องคือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และภูเก็ต ซึ่งปรับขึ้นค่าแรงล่วงหน้าตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา โดยไม่เลื่อนหรือชะลอตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ ก็ไม่ทำให้ตัวแทนผู้ใช้แรงงานวางใจ

ไม่แปลกที่ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน อาทิ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศ, สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างเสรีแห่งชาติ, สภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ตลอดจนกลุ่มสหภาพแรงงานหลายแห่ง นำโดย นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างเสรีแห่งชาติ จะเข้าพบยื่นหนังสือสนับสนุนนโยบายขึ้นค่าแรงต่อ รมว.แรงงาน

ขณะที่ ตัวแทนของฝ่ายนายจ้างก็เคลื่อนไหวผลักดันผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยื่นคัดค้านการขึ้นค่าแรง พร้อมนำเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่อ รมว.แรงงาน ควบคู่กับส่งตัวแทนคือ นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้ายื่นหนังสือถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสนอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐและเอกชนพิจารณาผลกระทบ และกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม คงเป็นไปได้ยากที่นโยบายดังกล่าวจะถูกดึงกลับไปทบทวน นายจ้างในกิจการทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็กจึงต้องทำใจยอมรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเร่งปรับตัวท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้าน

เอสเอ็มอี ภาคเหนือฮึดสู้วิกฤตค่าแรง

นาง เปรมฤดี กุลสุ นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือกล่าวว่า แม้จะทราบล่วงหน้าว่าอีก 70 จังหวัดที่ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จะต้องปรับขึ้นค่าแรงวันที่ 1 ม.ค. 2556 นี้ แต่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะสมาชิกของสมาคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับผลกระทบมาก และปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากสินค้าหัตถกรรมมีลักษณะเฉพาะต้องใช้แรงงานฝีมือในการผลิต ไม่สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรผลิตแทนได้

ดังนั้นเมื่อต้นทุน เพิ่มขึ้นจากค่าแรง ก็ต้องขึ้นราคาสินค้า แต่จากที่มีการแข่งขันกันรุนแรง โดยเฉพาะกับผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ประกอบการเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังมีปัญหา การขึ้นราคาสินค้าจึงเป็นไปได้ยาก อาจต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้โดย 1.หาทางลดต้นทุนโรงงาน 2.หาวัตถุดิบใหม่มาใช้ในการผลิต ซึ่งค่อนข้างลำบาก เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่มีราคาแพง 3.ปรับเปลี่ยนการจ้างแรงงานจากเดิมจ้างเป็นรายวัน มาจ้างเป็นรายชิ้น ให้ลูกจ้างรับงานไปทำที่บ้านแทน แต่มีปัญหาเนื่องจากลูกจ้างจะหันไปทำงานในโรงงานอื่นที่จ่ายค่าจ้างได้ 300 บาทต่อวัน เป็นต้น

ชี้มาตรการรัฐสวยหรูแต่เข้าไม่ถึง

ถาม ถึงมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ที่กระทรวงแรงงานออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2556 และเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ SMEs 6 มาตรการ นางเปรมฤดีมองว่า ในทางปฏิบัติเอสเอ็มอีคงไม่ได้ประโยชน์เท่าใดนัก และอาจมีปัญหาเหมือนหลาย ๆ มาตรการที่ผ่านมา ที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ยาก ผู้ประกอบการจึงต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเองเป็นหลักมากกว่าที่จะรอพึ่งมาตรการ รัฐ

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้สมาคมได้เคลื่อนไหวเรียกร้องปัญหาขึ้นค่า แรงขั้นต่ำ ผ่านหอการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มเอสเอ็มอีอีก 69 จังหวัด ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วยสมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยดำเนินการในนามสมาชิกของสมาคมซึ่งมีทั้งหมดกว่า 250 ราย คิดเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปี

ผู้ผลิตเครื่องสำอางเลิกจ้างงานใหม่

นาง เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การปรับขึ้นค่าแรงต้นปีหน้า ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเครื่องสำอางไทยแน่นอน เพราะอุตฯนี้ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนในเกือบทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่บรรจุ ติดฉลาก และขนส่ง ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวอาจจะทำให้ระบบการจ้างงานป่วน เพราะจะเกิดความเหลื่อมล้ำด้านความสามารถของกลุ่มแรงงานเดิมและแรงงานใหม่

จาก ต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นการบริหารจัดการภายในองค์กรแทนการปรับ ขึ้นราคาสินค้า โดยจะมีการเปลี่ยนจากแรงงานคนเป็นเครื่องจักร ซึ่งจะไม่เกิดการจ้างแรงงานใหม่ ทำให้เกิดปัญหาว่างงานเพิ่มขึ้น ส่วนระยะยาวเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งผู้ประกอบการต้องหากลยุทธ์เพื่อปรับขึ้นราคา ผลิตภัณฑ์ ด้วยการหาลูกเล่นทางการตลาดเข้ามาเสริม หรือสร้างนวัตกรรมเข้ามาสอดแทรกในผลิตภัณฑ์ ปรับราคาขึ้น

ขณะเดียว กันรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน คือ การหาจัดช่องทางการจำหน่ายเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย เพราะช่องทางจำหน่ายเดิมที่เป็นร้านโชห่วยเริ่มล้มหายไป จากการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติที่รุนแรงขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้ขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศด้วย

จี้พัฒนาฝีมือ-จัดเกรดอัตราค่าจ้าง

ด้าน นางสาวพฤทธิดา ศรีสันติสุข ผู้ประกอบการเครื่องหนังเจ้าของแบรนด์ ARTTY กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีโรงงานได้ปรับค่าแรงเป็น 300 บาทแล้ว แต่ขึ้นให้เฉพาะกลุ่มที่เป็นช่างฝีมือ ซึ่งก็มีผลกระทบบ้าง เนื่องจากบางเดือนที่มียอดสั่งซื้อมากโรงงานถึงจะคุ้มกับค่าแรง แต่ช่วงเดือนที่ออร์เดอร์น้อยโรงงานขาดทุนได้ แต่ปีหน้านอกจากจะมีการขึ้นค่าแรงทั่วประเทศแล้ว ในส่วนของวัตถุดิบหลาย ๆ อย่างก็จะมีการปรับราคาเพิ่ม ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับราคาสินค้าขึ้น เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวอยากให้ชะลอการขึ้นค่าจ้างออกไปก่อน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรจะเข้ามาช่วยเหลือเช่นการกำหนดระดับค่าแรงเป็นเกรด ๆ ไป รวมทั้งพิจารณาเรื่องค่าแรงของแรงงานต่างด้าว ควรเป็นคนละระดับกับแรงงานคนไทย เพื่อให้ทางผู้ประกอบการมีทางเลือกในการลดต้นทุน

"ตอนนี้แรงงานคนไทยค่อนข้างเลือกงาน ขณะที่แรงงานบางส่วนเมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวก็มักจะลางานกลับไปทำงานภาคการเกษตรของตน"

ขณะ ที่ นายปพนพัธน์ พลานุสนธิ์ เจ้าของแบรนด์เครื่องหนังแบรนด์ Seastar กล่าวว่า โดยส่วนตัวต้องการแรงงานไทยมากกว่าการจ้างงานแรงงานต่างด้าว แต่เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยเลือกที่จะทำงานด้านบริการมากกว่างานด้าน ฝีมือ หรือแรงงานที่เข้ามาจริง ๆ ก็เป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ จึงอยากให้รัฐเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่ระบบการศึกษาสายอาชีพเพื่อสร้างแรงงาน ฝีมือในอนาคตเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจในอนาคต

รายงานข่าวจากจังหวัด มหาสารคามแจ้งว่า การเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเจ้าของกิจการแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา โรงงานผลิตชุดกีฬาใน อ.โกสุมพิสัย ปิดโรงงานแล้วเพื่อย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ มีการเลิกจ้างคนงานจำนวน 1,048 คน จ่ายเงินชดเชยกว่า 34 ล้านบาท และบริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม ซึ่งมีพนักงานกว่า 1,000 คนก็เตรียมแผนย้ายฐานการผลิตไปประเทศพม่า ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างโรงงานรองรับใกล้เสร็จแล้ว

ขณะที่ผู้ผลิต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องใช้พนักงานจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบหนัก เบื้องต้นใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการส่งงานไปให้กลุ่มผู้ต้องการรายได้เสริมทำที่ บ้าน และเตรียมปลดคนงาน โดยจะเริ่มประมาณเดือนธันวาคมเป็นต้นไป เพราะออร์เดอร์จากบริษัทแม่ลดลงกว่า 20%

เช่นเดียวกับเอสเอ็มอีอีก หลายธุรกิจ ที่ต่างเร่งปรับตัวขนานใหญ่รับมือต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในตลาด แม้เวลานี้ทางเลือกจะมีไม่มากนัก

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
*********************************************************************************

ยุทธศาสตร์ : จีน-สหรัฐ กับบทบาทไทยในการวางตัว เป็นพันธมิตรมหาอำนาจโลก !!?


โดย : ไพศาล เสาเกลียว, ปกรณ์ พึ่งเนตร

ยุทธศาสตร์จีน-สหรัฐกับบทบาทไทยในหว่างเขาควาย

สถานการณ์ของบ้านเราขณะนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศจะต้องใช้สติปัญญาอย่างมาก เราจะต้องไม่เอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"

"อย่าดีใจที่โอบามามาบ้านเรา เพราะคุณจะถูกรุกทางการทหารมากขึ้น" เป็นเสียงเตือนจาก พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ นักสันติวิธีชื่อดังที่สวมหมวกอีกใบหนึ่งเป็นอาจารย์สอน "ยุทธศาสตร์การทหาร" ในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) มาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี

พล.อ.เอกชัย มองเรื่องนี้ในบริบทของ "ภูมิรัฐศาสตร์" หรือ Geopolitics ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ไม่ค่อยมีการเรียนการสอนในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ในอีกซีกโลกหนึ่งทั้งอเมริกาและยุโรปให้ความสำคัญถึงขนาดนำมาจัดทำเป็น "ยุทธศาสตร์ชาติ"

แม้หลายคนจะมองว่าการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีนี้อาจล้าสมัยไปแล้ว เพราะสิ้นสุดยุคสงครามเย็น แต่ พล.อ.เอกชัย กลับเห็นว่าแม้สงครามตามแบบจะค่อยๆ เลือนหายไปและเปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ ทว่าเป้าหมายของสงครามกลับยังคงเดิม นั่นคือการแย่งชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร และการทหาร

ฉะนั้น "ทฤษฎีใจโลก" หรือ Heartland Theory กับ "ทฤษฎีขอบโลก" หรือ Rimland Theory ที่กำหนดให้ดินแดน "ยูเรเซีย" หรือเกือบทั้งหมดของยุโรปกับเอเชียตอนบนเป็นพื้นที่ "ใจโลก" อันอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีดินแดนโดยรอบรวมทั้งไทยเป็น "พื้นที่ขอบโลก" และเป็น "ทางผ่าน" สู่ใจโลก จึงยังคงอธิบายการขยับตัวของมหาอำนาจได้เสมอ โดยเฉพาะการมาไทยพร้อมๆ กันของ "สองพี่เบิ้ม" อย่างสหรัฐและจีนใน ค.ศ.2012

"ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ พื้นที่แถบรัสเซีย จีน มองโกเลีย อินเดีย และยุโรปตะวันออก ถือเป็นดินแดน Heartland หรือใจโลก เพราะเป็นแผ่นดินผืนใหญ่ที่สุดของโลก และมีทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด จึงเป็นพื้นที่ที่ใครก็ต้องการครอบครอง แต่การจะเข้าไปสู่ใจโลกนั้นต้องผ่านพื้นที่ขอบโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ถัดลงมา เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง ทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สู้รบและตกอยู่ในแวดวงสงครามมาตลอด ไม่มีวันยุติได้ เพราะเป็นทางผ่านสู่ใจโลก" พล.อ.เอกชัย กล่าว

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไทยถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในการรุกเข้าสู่ "ใจโลก" และในทางกลับกันก็เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับประเทศที่อยู่ใน "ใจโลก" ที่ต้องหาช่องทางออกสู่น่านน้ำเพื่อประโยชน์ทางการค้าและการทหารด้วย

"ประเทศไทยเป็นพื้นที่ขอบโลก เมื่อมหาอำนาจต้องการสู้รบเพื่อยึดใจโลก ก็ต้องใช้พื้นที่ขอบโลกเป็นทางผ่าน และนี่คือคำตอบว่าทำไมอเมริกาถึงต้องมาที่ประเทศไทย เขาจะใช้ไทยเป็นทางผ่านเข้าไป และขณะเดียวกันก็ใช้เป็นพื้นที่สกัดประเทศในใจโลกซึ่งในทีนี้คือจีนไม่ให้ออกไปไหนได้ ขณะที่จีนก็เข้าใจยุทธศาสตร์ตรงนี้ดี จึงต้องมาที่ไทยเหมือนกัน เพื่อใช้ไทยในการสกัดกั้นยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนของสหรัฐ" พล.อ.เอกชัย ระบุ

ในทัศนะของนักยุทธศาสตร์ทางทหาร เขาเห็นว่ายุทธศาสตร์ที่สองชาติมหาอำนาจกำลัง "เบ่งกล้าม-วัดพลัง" กันอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปรากฏการณ์สืบเนื่องมา เพียงแต่ปรับเปลี่ยน "ยุทธวิธี" ในการต่อสู้เท่านั้นเอง

เขาอธิบายว่า ในยุคแรกการแย่งชิงพื้นที่ใจโลกใช้ "กำลังทหาร" เป็นหลัก ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรดูจะเป็นฝ่ายชนะในยุคนั้น แต่ก็ไม่ถือว่าเด็ดขาด

ต่อมาได้มีการปรับยุทธวิธีใช้ "การเมือง" เป็นเครื่องมือ คือใช้ระบอบประชาธิปไตยต่อสู้กับสังคมนิยม จะสังเกตได้ว่าพื้นที่ "ใจโลก" ส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ช่วงนี้เป็น "ยุคสงครามเย็น" สหรัฐใช้ยุทธศาสตร์ "ป่าล้อมเมือง" ด้วยการทำให้ประเทศต่างๆ ที่อยู่ "ขอบโลก" เป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด เพื่อกดดันให้พื้นที่ "ใจโลก" เป็นประชาธิปไตยด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จทั้งหมด คือทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายได้ แต่ไม่สามารถทำอะไรจีนได้

หลังจากต่อสู้ด้วยระบบการเมืองไม่สำเร็จ สหรัฐก็เปลี่ยนมาต่อสู้ด้วยระบบเศรษฐกิจ คือแผ่ขยายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้าไป มีมาตรการกดดันทางการค้าต่างๆ นานา แต่จีนสู้ด้วยเศรษฐกิจแบบ "1 ประเทศ 2 ระบบ" ไม่ยอมใช้ทุนนิยมเสรี และการต่อสู้แบบนี้กลับทำให้จีนแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่สหรัฐกับยุโรปกำลังล่มสลายเสียเอง ถึงวันนี้นักวิชาการหลายสำนักฟันธงตรงกันว่า ไม่เกินปี ค.ศ.2025 เศรษฐกิจของจีนจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก อินเดียเป็นอันดับ 2

"ขณะนี้ก็เริ่มมองเห็นเค้าลางแล้ว และสหรัฐซึ่งเคยเป็นเจ้าแห่งการทหาร เจ้าแห่งเศรษฐกิจ กำลังถูกลบล้างโดยจีน ระบบทุนนิยมเสรีล้มระเนระนาด แต่ระบบเศรษฐกิจ 2 ขาแบบจีนกำลังเป็นระบบที่ดีที่สุด เวียดนามและพม่ากำลังทำตาม แต่ไทยกลับยังคงยึดติดกับแนวทางของอเมริกาทั้งๆ ที่ใกล้ล่มสลายเต็มที"

พล.อ.เอกชัย กล่าวต่ออีกว่า ระยะหลังการต่อสู้เข้าสู่ยุค "สงครามจิตวิทยา" ใช้สื่อ หรือ "มีเดีย พาวเวอร์" เป็นเครื่องมือ ใครคุมสื่อได้ก็จะสามารถครองโลกได้ แล้วก็บูรณาการทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เพื่อสร้างสังคมโลกที่เป็นแบบเดียว เช่น "อเมริกันไนเซชั่น" ทำให้คนต้องดูหนังอเมริกัน เรียนหนังสือต้องใช้ตำราอเมริกัน คิดต้องคิดแบบอเมริกัน สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยบริโภคเกือบหมดแล้ว จนแทบไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองได้ นี่คืออันตราย

"แต่ความเป็นอเมริกันกำลังถูกท้าทาย หากไม่ยับยั้งการเติบโตแบบก้าวกระโดดของจีน สหรัฐอาจถึงกาลล่มสลาย นี่คือเหตุผลสำคัญที่สหรัฐต้องมุ่งมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุด มีชัยภูมิเหมาะกับการเป็นศูนย์กลางการบิน การคมนาคม ทั้งยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อของ 2 ทะเลอีกด้วย"

"สหรัฐต้องเดินแผนปิดล้อมจีนโดยใช้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ แล้วก็เข้าไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับเวียดนาม อินเดีย หรือแม้แต่ปากีสถาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยทะเลาะกัน ขณะที่จีนก็พยายามหาทางออก ด้านหนึ่งก็ไปเชื่อมกับไต้หวัน อีกด้านหนึ่งก็วางท่อแก๊ส ตัดถนนเข้าพม่าไปถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย และพยายามลงมาที่ท่าเรือแหลมฉบังของไทยเพื่อหาทางออกทะเลให้ได้ ให้สามารถขนถ่ายสินค้าได้สะดวกรวดเร็วที่สุด นี่คือยุทธศาสตร์ของจีน"

สำหรับจังหวะก้าวของสหรัฐ พล.อ.เอกชัย คาดการณ์ต่อไปว่า หลังจากนี้่จะมุ่งไปที่ "กลุ่มประเทศซีไอเอส" หรือกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ที่แตกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต เช่น คาซัคสถาน คีร์กิสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน ยูเครน เป็นต้น เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรมาก และเป็นเส้นทางเข้าสู่โจโลกเช่นกัน ส่วนอีกจุดหนึ่งที่สหรัฐต้องรีบเปิดเกมรุกเพื่อชิงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ให้สำเร็จคือ "อิหร่าน" เพราะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอิรักกับอัฟกานิสถาน และต่อเข้าไปยังดินแดนใจโลก

เมื่อมอง "หมากกระดานโลก" ทั้งกระดานแล้ว จะเห็นว่าประเทศไทยเป็น "ตัวเล่น" หนึ่งที่มหาอำนาจระดับ "ขุน" ต้องการ "เก็บกิน" หรือ "ดึงเป็นพวก" ปัญหาก็คือรัฐบาลและองคาพยพต่างๆ ของเราพร้อมหรือยังกับสถานะที่กำลังเป็นอยู่ โดยเฉพาะการเตรียมวางแผนและกำหนดท่าทีเพื่อแสวงประโยชน์จากการเป็น "จุดยุทธศาสตร์" ให้มากที่สุด แทนที่จะปล่อยให้ถูกกินง่ายๆ แบบ "เบี้ย"

"ประเทศไทยขณะนี้อยู่หว่างเขาควาย จะขยับไปทางไหนก็ไม่ได้ คำถามที่ว่าเราจะเดินไปอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศจะต้องใช้สติปัญญาเป็นอย่างมาก จะทำเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ เราจะต้องไม่เอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เหมือนกับที่ผ่านมาเราเอียงข้างสหรัฐมากเกินไป การที่เราไม่เทคไซด์ จะทำให้เราไม่เสียหาย และจะเป็นฝ่ายได้ตลอด ได้จากทั้งสองฝั่ง อาจจะเรียกว่านโยบายเหยียบเรือสองแคมก็ได้ ซึ่งเราถนัดและเคยใช้จนประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต"

พล.อ.เอกชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ว่าประเทศไทยอยู่รอดมาได้เพราะอะไร พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศเอาไว้อย่างไร จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในย่านนี้ที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้น เราไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง แต่ให้ความสำคัญกับทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน และควรหันมองพันธมิตรใกล้ตัว เช่น มาเลเซีย กับมิตรประเทศในอดีตอย่างรัสเซียบ้าง เพื่อใช้โอกาสตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"โอกาสมาถึงแล้ว หากเราวางยุทธศาสตร์ให้ดีจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าเรายังขัดแย้งกันเองภายใน อาจเป็นจุดจบของประเทศไทยได้เหมือนกัน"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หายนะอีกไม่นาน !!?


โดย:เสรี พงศ์พิศ

ปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยวันนี้ไม่มีอะไรร้ายแรงไปกว่าการคอร์รัปชั่น รัฐบาลพลเรือนในประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมดที่ล้มไปด้วยรัฐประหาร เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือการคอร์รัปชัน

     ทุกรัฐบาลพลเรือนที่เข้ามา ต่างก็เตือนสติกันเองว่า อย่ามูมมาม แต่เข้าไปแล้ว โอกาสมีมาก สติหายเพราะอยากได้สตังค์ ความโลภเข้าครอบงำ กินกันไม่ยั้ง จนได้ชื่อติดหูติดปากกันมาอย่าง บุปเฟ่ต์คาบิเน็ต ฟาสฟู้ดคาบิเน็ต กินกันอย่างบ้าคลั่งจนสังคมทนไม่ได้

     เมื่อทหารออกมาทำรัฐประหาร ชาวบ้านจำนวนมากดีใจที่มีคนมาล้มงานเลี้ยงที่กินกันเอิกเกริก ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 2534 หรือปี 2549 และคงไม่แปลกถ้าหากวันหน้ายังจะมีรัฐประหารอีก ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ การโกงกินบ้านเมือง

     ความจริง คนทั่วไป (โพลล์บอกว่าร้อยละ 60-80) รับได้ถ้าโกงกินบ้าง แต่ไม่ใช่โกงกินกันพุงกางอย่างชูชก สร้างความเดือดร้อนให้สังคมที่แทนที่จะได้ส่วนแบ่งที่ “พอรับได้” กลับได้แต่เศษเนื้อข้างเขียง หรือไม่ก็ได้แต่กระดูก  ก่อนเลือกตั้งนักการเมืองนับถือว่าชาวบ้านเป็นเทวดา หลังเลือกตั้งเป็นหมาข้างถนน

     คงไม่ต้องหาใบเสร็จ เพราะพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องล้วนยืนยันว่า การโกงกินงบประมาณบ้านเมืองวันนี้รุนแรงและสูงขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยให้จอบ เสียม ร้องเท้าแตะ เมื่อ 50 ปีก่อน วันนี้ให้ทั้งก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง ให้ทั้งเงิน ทั้งโครงการประชานิยม ทำกันแนบเนียนด้วยการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ออกกฎหมายออกระเบียบให้กินอย่างถูกต้องและปลอดภัย

     ก่อนนี้ “เงินทอน” ขอแค่ร้อยละ 10 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนหลายแห่งหลายกรณีไปถึงร้อยละ 50 แบบไม่อายฟ้าอายดิน อบจ.แห่งหนึ่งให้งบส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาเพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว บอกว่าให้ไป 1 ล้าน แต่ให้จริงเพียงห้าแสน ปีนี้ไปหาเสียงว่า ถ้าได้เป็นนายกอบจ.จะให้ล้านห้า และได้เป็นสมใจ ต้องคอยดูว่าจะเป็นวัดครึ่งอบจ.ครึ่งอีกหรือไม่

     ความจริง ปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่แสดงว่าสังคมเป็นประชาธิปไตย (อย่างแท้จริง) คือ กลไกการตรวจสอบ อำนาจการตรวจสอบ กระบวนการตรวจสอบ ที่เป็นอิสระ โปร่งใสและมีประสิทธิภาพจนไม่สามารถโกงกินได้ไม่ว่าเท่าไร

     สังคมประชาธิปไตยแบบเผด็จการทำลายกลไกนี้ด้วยการครอบงำ ทำให้อำนาจการตรวจสอบไม่มีจริง คนโกงกินลอยหน้าลอยตาในสังคม ผู้คนยังเคารพนับถือเพราะมีเงินมาก ไม่ได้ตั้งคำถามว่า เอาเงินมาจากไหนมากมายปานนั้น ทั้งๆ ที่อาชีพเป็นเพียงนักการเมือง ข้าราชการ ที่รายได้เดือนละไม่กี่หมื่น

     สังคมประชาธิปไตยไม่เกิด ถ้าหากคนส่วนใหญ่ยังลำบากยากจน เป็นหนี้เป็นสิน ยังต้องพึ่งรัฐ พึ่งนักการเมือง พึ่งคนมีเงิน คนมีอำนาจ จึงมีคนสงสัยกันว่า นักการเมือง ข้าราชการจำนวนมากไม่อยากเห็นคนฉลาดขึ้น ไม่อยากเห็นชาวบ้านแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจนได้อย่างเด็ดขาด เพราะเห็นวงจรอุบาทว์ของหนี้สินและความยากจนของชาวบ้านเป็นเงื่อนไขเอื้ออำนาจของตนเอง

     วันนี้ อบต. เทศบาล อบจ. ต่างก็แย่งชิงอำนาจกันเป็นใหญ่ จะได้เข้าไปบริหารงบประมาณ บริหารอำนาจที่นำไปสู่ผลประโยชน์ต่างๆ ถึงได้ฆ่ากันตายเป็นข่าวแทบทุกวัน

     แค่เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านยังใช้เงินเป็นแสน กำนันเป็นล้าน นายกอบต. เทศบาล มากกว่าสิบล้าน ไม่ต้องพูดถึงนายกอบจ. ที่บางแห่งลงกันหลายร้อยล้าน ไม่ใช่ลงทุนประชาสัมพันธ์แบบที่อเมริกันเขาทำกัน แต่ไปลงทุนซื้อเสียง แล้วคนเหล่านี้ที่เข้าไปอยู่ในอำนาจจะไม่ถอนทุนทุกวิถีทางได้อย่างไร
     คงไม่ต้องพูดถึงผู้แทนราษฎร ซึ่งบางพรรคลงทุนลงขันกันเป็นหมื่นๆ ล้าน เพื่อจะได้ถอนทุนเป็นแสนล้าน หาทุนไว้เตรียมเลือกตั้งครั้งต่อไป

     ข้าราชการก็ไม่น้อยหน้า ซื้อขายตำแหน่งแพงขึ้นทุกวัน มากน้อยแล้วแต่ผลประโยชน์ที่จะได้จากอำนาจหน้าที่ เข้าไปแล้วก็ต้อง “เอาคืน”

     ปัจจัยพื้นฐานสำคัญของปัญหาระบบโครงสร้างสังคมที่เน่าเฟะเหล่านี้ คือ คุณภาพการศึกษาของประชาชน และคุณภาพทางศีลธรรมของประชากร ทั้งหมดนี้เป็นตัวเหนี่ยวรั้งความเจริญพัฒนาของสังคมไทยโดยรวม ที่มีความรู้น้อย เศรษฐกิจจึงวนเวียนอยู่ในอุ้งมือของนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจขี้ฉ้อที่สุมหัวกันโกงกิน

     ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์เขียนไว้ในหนังสือบูรพาภิวัตน์ว่า โกลแมนแซคส์คาดการณ์ว่า 11 ประเทศต่อไปที่จะผงาดขึ้นตามบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน (BRIC) มีบังคลาเทศ อิยิปต์ อินโดนิเซีย อิหร่าน เกาหลีใต้ ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ตุรกี เวียดนามและแม็กซิโก ไม่มี “ไทย” ในจำนวนนี้

    หรือว่าประเทศนี้เป็นเหมือนบ้านที่ปลวกกำลังกินเสา ขื่อ แป และกำลังจะพังลงมา


ที่มา.สยามรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทักษิณ.กำหนดเกมการเล่น !!?


 จริงอยู่ แม้มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวจากฟากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า "สายข่าว" กำลังทำงานกันอย่างหนัก โดยเฉพาะสายข่าวในมือของ "พล.อ.สุเมธ โพธิ์มณี" เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร

 สืบเนื่องมาจาก"ความแรง"ของม็อบสนามม้านางเลิ้ง ที่นำโดย"เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธประธานองค์การพิทักษ์สยาม ระดมพลจากทั่วสารทิศมาร่วมงานเปิดเวทีขับไล่รัฐบาล ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ แน่นอนว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่นำเสนอต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมาอาจเกินจากเป้าที่แกนนำรัฐบาลและคนในพรรคเพื่อไทยเคยปรามาสเอาไว้เพียงหลักใกล้หมื่น
   
ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว หากตัวเลขออกมาในจำนวนที่ว่าจริง เหตุใดการข่าวของพรรคเพื่อไทยจึงยังคงวิ่งวุ่นหาตัวเลขม็อบสนามม้านางเลิ้งที่กำลังจะยกพลมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลเป็นรอบสองในเร็วๆ นี้ กันจ้าละหวั่น นั่นเป็นเพราะปริมาณมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลย่อมประกอบด้วยคนหลากหลายกลุ่ม และบางกลุ่มก็ไม่น่าวางใจนัก สำหรับรัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมี"เงาดำ" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรคอยบงการอยู่เบื้องหลัง ภายใต้ความคาดหวังที่จะให้รัฐนาวาของน้องสาวอยู่ยาวนานที่สุด
   
ขณะที่"วอร์รูม" ในพรรคเพื่อไทย ยังคงทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแน่นอนว่า วันนี้ "เสธ.อ้าย"ทำหน้าที่เป็นเพียง "ฉากหน้า" เล่นบท " นอมินี" ได้อย่างสนุกและเร้าใจ
   
ทว่า การมาของม็อบสนามม้านางเลิ้ง ของ เสธ.อ้าย ไม่เพียงแต่เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า วันนี้การเมืองไทยยังคงอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง หากแต่ยังดูเหมือนว่า ฝ่ายรัฐบาลของอดีตนายกฯ ทักษิณ กำลังอยู่ในอาการ"หลอน" ไปตามๆ กัน เมื่อยิ่งพยายามค้นหาคำตอบว่า เสธ.อ้าย กำลังรับบทนอมินีแทน"ใคร"?การออกมาปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องโยงใยม็อบล้มรัฐบาลจาก"บิ๊กแอ้ด" พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า การแสดงออกทางการเมืองของเพื่อนรักร่วมรุ่นเตรียมทหาร รุ่นที่ 1 อย่าง เสธ.อ้าย นั้นเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถทำได้นั้น จะหักล้าง"สมมติฐาน" ของฝ่ายรัฐบาลถึง
     "ความเชื่อมโยง"ว่าม็อบล้มรัฐบาล
   
รอบนี้นั้นมี"อำมาตย์" ให้การหนุนหลังได้หรือไม่ !
 
ขณะที่หลายต่อหลายฝ่ายพยายามค้นหาคำตอบเบื้องลึกเบื้องหลังที่มาของม็อบสนามม้านางเลิ้ง ให
    ชัดเจนออกมาก่อนถึงวันนัดชุมนุมใหญ่รอบสอง ในเร็วๆ นี้ กลับดูเหมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เองได้เปิด "เกมใหม่" ด้วยการยึดพื้นที่ข่าวอย่างจงใจ !
 
การเดินทางไปเยือนประเทศพม่า พร้อมด้วยโปรแกรมการเข้าพบกับ"เต็ง เส่ง" ประธานาธิบดีพม่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย. นี้ กลายเป็นคิวงานที่นำมาซึ่งการจุดพลุความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำ
 
เอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่5-6 พ.ย. ที่นครหลวงเวียงจันทน์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ยังถูกกลบไปโดยปริยาย การเดินทางเยือนพม่าของ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ดูเหมือนว่าเขาเองเป็นฝ่าย "ได้แต้มต่อ" ในหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสได้ "ปลอบใจ" คนเสื้อแดงให้อยู่ใน "คาถา" แม้ "แกนนำแดง"บางรายจะพลาดหวัง ตกขบวนเข้าร่วม ครม. ในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 3"ก็ตาม
 
ทั้งที่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแดงคนสำคัญจะพลาดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เหตุไฉนทุกวันนี้เขายังจงรักภักดีกับ"นายใหญ่" เป็นเพราะเพียงแค่เหตุผล"ไปไม่รอด"เท่านั้นหรือ ?? ขณะเดียวกัน การเยือนพม่าของอดีตนายกฯ ทักษิณ ในรอบนี้ได้กลายเป็น "จุดสังเกต" จากบรรดาฝ่ายต่อต้านอย่างประชาธิปัตย์ที่ระบุว่า เป็นการเจรจาเพื่อหารือถึง"ผลประโยชน์" จากทรัพยากรในพม่าระหว่างฝ่ายอดีตนายกฯ ทักษิณ กับรัฐบาลพม่าเท่านั้น
 
ความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ข้างประเทศเพื่อนบ้านของไทยในรอบสัปดาห์หน้า พ่วงไปกับข่าวคราวที่บรรดามิตรรักแฟนคลับ"คนรักทักษิณ" ทั้งเสื้อแดงและแกนนำในพรรคเพื่อไทย เตรียมตัวหอบของฝากไปหาที่พม่านั้น กำลังชี้ให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงเป็นฝ่าย"กำหนดเกม" และเลือกที่จะเล่นในเกมของตัวเอง มากกว่าที่จะหันไปเล่นเกมของคนอื่นอย่างม็อบสนามม้านางเลิ้ง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมประเมินแล้วว่า บัดนี้ จากคนบางกลุ่มที่เคยเป็น "ศัตรู" ก็แปรพักตร์มาสู่"พันธมิตร" จากคนบางคนที่เคยนำการปฏิวัติยึดอำนาจจากเขาในปี 2549 ก็เปลี่ยนสถานะมาสู่หัวขบวน ร่วมออกแรงนับหนึ่งการผลักดันเรื่องการปรองดอง
 
ส่วนรัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปีเศษ ผู้นำรัฐบาลยิ่งกล้าแข็งมากขึ้นทุกวัน ทานทนต่อแรงเสียดทานรอบด้าน ชนิดที่เขาเองอาจทำไม่ได้ด้วยซ้ำ และยังไม่นับความพร้อมจากกลไกรัฐที่พร้อมตอบสนองภารกิจหลักของรัฐบาล ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลบวกต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรื้อโละ "ขวากหนาม" ทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย และการเดินหน้าร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้การเคลื่อนไหวเพื่อเดินหน้างานใหญ่ทั้งสองงานได้รุดหน้ามากขึ้นทุกขณะอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องรอกระบวนการขั้นตอนจากเวทีรัฐสภาด้วยซ้ำ !
 
ด้วยเหตุนี้ การหันไปเล่นตามเกมของคนอื่น โดยเฉพาะ "ฝ่ายตรงข้าม" ที่ประกาศล้มรัฐบาลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงถือเป็นเรื่องที่เสียเวลาเป็นอย่างยิ่ง
 
แต่ย่อมไม่ได้หมายความว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เองจะไม่ "ชำเลืองตา"และ "เงี่ยหูฟัง" พร้อม สั่ง "การข่าว" ที่ไว้ใจได้ติดตาม เกาะติดทุกการเคลื่อนไหวของ "ตัวจริง เสียงจริง" หลังฝ่ายต่อต้านใช้แผนเปลี่ยนตัวเล่น เปลี่ยนศูนย์การนำ จากม็อบเสื้อเหลือง มาสู่ม็อบสนามม้า !

ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ICC วัดใจ รบ.ไทย !!?


ประเด็นการขับไล่ยังเดินหน้าต่อไป แม้จะมีการยอมรับหรือลงสัตยาบัน การขับไล่ก็ยังเดินหน้าเป็นปรกติ แต่รัฐมนตรีปึ๋ง (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) จะตัดสินใจแบบปึ๋งๆหรือเปล่า ไม่ว่าตัดสินใจทางไหนก็ต้องมีคำตอบให้เห็นว่ารัฐ บาลนี้ไม่ได้คิดเพื่อตัวเอง แต่มองไปวันข้างหน้า ถ้าประ เทศเราต้องกลับไปถูกกระ บวนการคว่ำรัฐบาลในวิถีทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างน้อยก็จะมีภูมิต้านทาน โดยรัฐมนตรีปึ๋งควรจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดใน 2 ข้อนี้ จะประกาศชัดเจนก็ได้ แต่ถ้าลังเลเรื่องการยอมรับหรือไม่ยอมรับเขตอำนาจศาล ก็ร่วมลงสัตยาบันไปเลย ก็ไม่มีปัญหา แต่ไม่ใช่อยู่ในภาวะไม่ตัดสินใจอะไรเลย อีกฝ่ายหนึ่งเขาต้องการให้รัฐบาลพ้น วันนี้เราต้องอยู่อย่างมีเกียรติ คิดถึงคนที่ตาย รวมถึงเรื่องที่เกิดความไม่เป็นธรรมในประเทศ ถ้าวันหน้าเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชน จะให้เหตุผลกับประชาชนเขาอย่างไร”

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้ความเห็นเรื่องการรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC-International Criminal Court) ว่าไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 แต่ถ้าจะลงสัตยาบันก็เข้าข่ายมาตรา 190 ถ้ารัฐบาลวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมืองก็ยื่นให้รัฐสภาเห็นชอบตามมาตรา 190 ไปเลย เพราะไม่ได้มีผลแค่คดี 98 ศพเท่านั้น แต่ทุกคดีที่ฝ่ายค้านสงสัย อย่างเรื่องฆ่าตัดตอน การยอมรับเขตอำนาจ ICC หรือลงสัตยาบันจึงเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ฝ่ายค้านจะได้พิสูจน์เรื่องข้อกล่าวหา “นี่คือวัคซีนประชาธิปไตยและป้องกันการรัฐประหารในอนาคต”

นายจตุพรเตือนคนเสื้อแดงและรัฐบาลว่า ขณะนี้สถานการณ์กำลังคืบคลานเข้าสู่การรัฐประหาร ฝ่ายตรงข้ามกำลังจัดเตรียมอย่างเป็นระบบ ก่อนหน้านี้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจอ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เปรียบเทียบเป็น “จ๊อกกี้” แต่ตอนนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเจอกับ “สนามม้า” จึงอย่าประมาทหรือประเมินแค่ “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม เพราะมีการสลับฉากหน้าให้ดูเหมือนว่าไม่มีกำลัง แต่เบื้องหลังไม่ได้มีแค่สนามม้า แต่มีทุกคอก ทุกสังกัดที่จะรวมตัวกันโค่นล้มรัฐบาลเพื่อตัวเองจะได้ประโยชน์ การลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC จึงเป็นทางออกหนึ่ง แต่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ด้วย แม้จะถูกขับไล่แต่ได้หัวใจประชาชน ดีกว่ากลัวและนั่งลุ้นอยู่ทุกวัน

อัยการ ICC รับคำร้อง

ม็อบ เสธ.อ้ายจึงไม่ใช่ “ม็อบกระจอก” อย่างที่คนเสื้อแดงหรือคนในรัฐบาลเคยดูถูกดูแคลน แต่ยังสะท้อนชัดเจนว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะเป็น “มหากาพย์” ไปอีกนาน เพราะ “กลุ่มเกลียดทักษิณ” ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นยังคงเดินหน้าตามล้างตามเช็ด พ.ต.ท.ทักษิณและล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เหมือนข่าวการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณที่ จะเดินทางมาท่าขี้เหล็ก ไม่ว่าจะเป็นข่าวจริงหรือเท็จ แต่ก็ทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนระอุ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็เตรียมจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ขณะที่ เสธ.อ้ายก็คึกคักกับการปลุกกระแสม็อบให้มาชุมนุมขับไล่รัฐบาล ปัญหาอยู่ที่ว่าจะมีคนมาชุมนุมล้านคนหรือแสนคนเท่านั้น

แต่ข่าวที่ต้องจับตามองไม่น้อยไปกว่าม็อบ เสธ.อ้ายและการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณคือ กรณีที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. นำหนังสือของสำนักงานอัยการ ICC ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 มาเปิดเผยว่า ได้แจ้งมาว่ารับคำร้องของ นปช. ก่อนหน้านี้ที่เดินทางไปเข้าพบอัยการ ICC เพื่อเรียกร้องให้รับคดีการปราบปรามประชาชนเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไว้แล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ใช่สมาชิกสนธิสัญญากรุงโรม จึงไม่สามารถเข้ามาสอบสวนได้ นอกจากจะได้รับมอบหมายจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสห ประชาชาติตามมาตรา 13 (b) ของสนธิสัญญากรุงโรมแล้ว ประเทศไทยต้องลงนามยอมรับเขตอำนาจของศาลก่อน โดยการประกาศและบันทึกที่สำนักทะเบียนตามมาตรา 12 (3) ของสนธิสัญญากรุงโรม ตามข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติปี พ.ศ. 2553 เพื่อให้ศาลมีขอบเขตอำนาจ และหากจะมีการเปิดการสอบสวนก็ต้องผ่านอัยการพิจารณาใช้ดุลยพินิจเองตามมาตรา 15

นพ.เหวงจึงเรียกร้องให้รัฐบาลลงนามรับรองเขตอำนาจ ICC ซึ่งทำได้ทันทีโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยเขตอำนาจ ICC ครอบคลุม “อาชญา กรรมทำลายล้างมนุษยชาติ” ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและศาลไทยยังสามารถเดินหน้าไต่สวนการเสียชีวิตคดี 98 ศพได้ต่อไป ซึ่งนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนาย นปช. ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการ ICC เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 ให้เปิดการสอบสวนเบื้องต้นเหตุการณ์ระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตและถูกทำร้ายโดยกองทัพ โดยในคำร้องระบุว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ต่อผู้ชุมนุมที่เป็นพลเรือน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้นถือ 2 สัญ ชาติ “ไทย-อังกฤษ”

ปมมาร์ค 2 สัญชาติ

นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. ชี้แจงว่า การ ถือ 2 สัญชาติ “ไทย-อังกฤษ” ของนายอภิสิทธิ์คือจุดสำคัญที่สำนักอัยการ ICC รับเรื่องร้องเรียนของ นปช. แต่เพื่อให้ ICC สามารถขยายขอบเขตการตรวจสอบไปยังส่วนอื่นๆ ไม่ใช่แค่ตรวจสอบเฉพาะนายอภิสิทธิ์คนเดียว นปช. จึงเรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีประกาศรับรองเขตอำนาจ ICC เฉพาะเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ตามมาตรา 12 (3) สนธิสัญญากรุงโรมด้วย

“เรื่องนี้ไม่ทำให้ประเทศเสียหาย แต่จะทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถตรวจสำนวนเบื้องต้นและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ไทยได้ นอกจากนี้ยังเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ปราบปรามประชาชนหรือฆ่าคนกลางถนนอีกต่อไป การลงนามรับรองครั้งนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว ยกเว้นว่ารัฐบาลตั้งใจจะฆ่าประชาชนอีกเท่านั้นเอง เรายินดีให้รัฐบาลเร่งพิจารณาและทำหนังสือไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมรัฐสภา ไม่ต้องผ่านมาตรา 190 เพราะไม่ใช่การทำสนธิสัญญา และรัฐบาลไทยมีสิทธิยกเลิกเมื่อไรก็ได้ เราจะส่งรายละเอียดทั้งหมดให้รัฐบาลดู และในเวลาที่เหมาะสมอาจเดินทางไปพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อบอกให้ท่านลงนามในประกาศนี้” นางธิดากล่าว

ดึง “ศาล-สถาบัน” ต้าน ICC

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่กล้าลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC ขณะนี้แน่นอน เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นปลุกกระแสมวลชนล้มรัฐบาลได้ โดยเฉพาะ ข้ออ้างว่าจะกระทบต่ออธิปไตยของประเทศไทย ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยถูกแทรกแซง และกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะธรรมนูญกรุงโรมไม่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ แม้รัฐธรรมนูญของไทยบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและฟ้องร้องไม่ได้ก็ตาม แต่ถ้ามีใครยื่นฟ้องเบื้องสูง ICC ก็สามารถนำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้ แม้นักกฎหมายและนักวิชาการยืนยันว่าการยอมรับเขตอำนาจ ICC หรือการลงสัตยาบันจะไม่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือศาลไทยก็ตาม

อย่างที่นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาการสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ยืนยันว่า หากมีการลงนามรับรองเขตอำนาจร่วมระหว่าง ICC กับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเข้ามาสอบสวนเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ก็เป็นคนละส่วนกัน และไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจของ ป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช. เน้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้เกี่ยวข้องว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ และคำสั่งสมควรแก่เหตุหรือไม่

ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หากมีการลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC ก็เท่ากับว่านายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จงใจใช้อำนาจของตัวเองบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เพราะคดี 98 ศพอยู่ระหว่างการไต่สวนในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ ICC จะรับพิจารณา เป็นการใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรัฐบาลทราบดีว่าไม่สามารถหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ จึงต้องสร้างละครตบตาคนเสื้อแดง

นายชวนนท์กล่าวว่า คดีที่เข้าข่ายที่ ICC จะรับไว้พิจารณาคือคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น คดีการฆ่าตัดตอน เหตุการณ์กรือเซะและตากใบ โดยจะรวบรวมรายชื่อญาติของผู้ได้รับความเสียหายยื่นต่อนายสุรพงษ์เพื่อให้รับอำนาจศาลในกรณีนี้เช่นกัน

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ออกแถลงการณ์ว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่เรียกร้องให้รัฐบาลรับรองเขตอำนาจ ICC มีขบวนการหมกเม็ดและมีวาระซ่อนเร้นทาง การเมือง คนเสื้อแดงต้องการให้คดี 98 ศพขึ้นสู่ ICC แต่ไม่ต้องการให้คดีฆ่าตัดตอนสมัย พ.ต.ท.ทักษิณถูกดำเนินคดีใน ICC

ขณะที่นายสุรพงษ์เปิดเผยหลังจากหารือกับตัวแทน ICC ที่เข้าพบเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มองว่าคดีฆ่าตัดตอนการปราบปรามยาเสพติดสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าข่ายที่ ICC จะรับไว้พิจารณา เนื่องจากจะรับร้องเรียนใน 4 เรื่องคือ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม รุกราน และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งได้ให้ ICC สรุปรายละเอียดส่งมาให้อีกครั้ง

เตือน “ตุลาการภิวัฒน์”

อย่างไรก็ตาม การประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ท้วงติงว่า แม้การตีความ “ตามตัวบท” อาจสรุปว่าไม่เข้าลักษณะ “หนังสือสัญญา” ตามมาตรา 190 แต่การตีความ “ตามเจตนารมณ์” อาจทำให้คณะรัฐมนตรีต้องยั้งคิดพิจารณาให้ดีว่าการแถลงยอมรับอำนาจ ICC จะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางและมีนัยสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมไทย และจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่

เพราะมาตรา 190 บัญญัติว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่หากวันหนึ่งประเทศไทยมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และรัฐบาลไทยจะแถลงยอมรับอำนาจศาลโลกโดยทำคำแถลงฝ่ายเดียวให้ศาลโลกวินิจฉัยข้อพิพาทเขตแดนได้ หากสุดท้ายศาลโลกตัดสินคดีเขตแดนในทางที่เป็นคุณต่อประเทศเพื่อนบ้านก็อาจจะกระทบต่ออาณาเขตไทยได้ หากเป็นเช่นนี้คณะรัฐมนตรีจะแถลงยอมรับอำนาจ ICC โดยไม่ปรึก ษาหารือกับรัฐสภาเพียงเพราะการแถลงดังกล่าวไม่ใช่ “หนังสือสัญญา” กระนั้นหรือ?

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยชุดปัจจุบันได้ขยายอำนาจการตีความของตนให้ไปไกลกว่าเพียง “ตัวบท” รัฐ ธรรมนูญ คือพร้อมจะอ้างการตีความ “ตามเจต นารมณ์” แม้จะขัดแย้งกับตัวบท แต่ก็ปลุกเสกให้เกิด “ผลทางการเมือง” ตามที่ใจปรารถนาได้

นายวีรพัฒน์จึงเสนอว่า คณะรัฐมนตรีอาจแก้ปัญหาโดยใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 179 เปิดอภิ ปรายทั่วไปฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ

บทเรียนผู้นำเคนยา

น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า การให้ ICC มาสอบสวนข้อเท็จจริงจะทำให้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้รับความ เป็นธรรมในระดับสากล ทั้งจะเปิดโอกาสให้ ICC ทำงานร่วมกับศาลไทย และเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล หรือเกิดรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทยอีก ข้อเสียจึงแทบไม่มี นอกจากคนที่กระทำผิดเท่านั้นที่หวาดกลัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในต่างประเทศก็เกิดขึ้นเช่นกัน จึงมีกระบวนการต่อต้านในแง่ข้อกฎหมาย กระบวนการปกป้องนายอภิสิทธิ์และคนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ หรืออาจถึงขั้นให้การเท็จต่อ ICC

ส่วนคดีฆ่าตัดตอนหรือคดีตากใบที่ฝ่ายค้านดึงขึ้นมานั้น น.ส.จารุพรรณกล่าวว่า ตามความเห็นคิดว่าปราศจากเจตนา แตกต่างกับคดีสลายการชุมนุมที่ประกาศชัดเจนว่ามีเขตใช้กระสุนจริง และมีกระบวนการต่างๆที่ทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งเทียบเคียงได้กับในเคนยาที่มีการปราบปรามกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยนั้น และเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง โดยกระบวนการพิจารณาคดีหรือการตัดสินของ ICC จะดู 2 ลักษณะคือ เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการ กับเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการแต่มิได้ห้ามให้กระทำการนั้น ซึ่งมีอัตราโทษต่างกันตามแต่ละกรณี เช่น กรณีเคนยาประธานาธิบดีถูกตัดสินจำคุก 30 ปี

อย่างไรก็ตาม นายวีรพัฒน์มองว่าแม้จะมีการยอมรับเขตอำนาจ ICC แล้ว แต่หากกระบวน การยุติธรรมไทยทำงานได้ตามปรกติและมีความคืบหน้าตามลำดับขั้น อย่างคดีนายพัน คำกอง ICC อาจเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาคดีให้ซ้ำซ้อนอีก แม้คดีดังกล่าวจะอยู่ในเขตอำนาจของ ICC ก็ตาม

วัดใจ “เพื่อไทย”

การให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC จึงอาจเป็นแค่ “ความฝัน” ของคนเสื้อแดง อย่างที่นายใจ อึ๊งภากรณ์ เชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงไม่กล้าลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC เพราะไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับกองทัพ จึงไม่เคยพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. ว่ามีส่วนในการฆ่าคนเสื้อแดง พูดแต่นายอภิสิทธิ์เท่านั้น ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่าไม่มีข้อขัดแย้งกับทหาร แต่ขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ นปช. ก็คล้อยตาม

การลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC จึงไม่ใช่แค่ “ห่วงแขวนคอ” นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในฐานะ “ฆาตกร 99 ศพ” เท่านั้น แต่ยัง “วัดใจ” พรรค เพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าจะเลือก “แขวนคอตัวเอง” โดยยืนอยู่หลังกองทัพและกลุ่มอำมาตย์เพียงเพื่อให้มีอำนาจต่อไป และรอวันเสื่อมถอย

หรือพร้อมจะยืนเคียงข้างประชาชนและ “คนเสื้อแดง” เพื่อเอา “ฆาตกร 99 ศพ” มาลงโทษ และเปิดประตูประเทศไทยให้ก้าวสู่สัง คมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ศาล รธน.ไม่ปิดทางเร่ง ไต่สวนคุณสมบัติ อภิสิทธิ์ !!?


ศาล รธน.ไม่ปิดทางเร่งไต่สวนคุณสมบัติ"อภิสิทธิ์"เผยหากจำเป็นอาจลัดคิวคดีอื่น ถ้าคำร้องอ้างเหตุผล ความสำคัญเพียงพอ

รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่าจากกรณีที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทยจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมูญเพื่อให้พิจารณาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎ สมาชิกภาพความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงหรือไม่จากการที่กระทรวงกลาโหม มีคำสั่งถอดยศและปลดออกจากราชการ นั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาได้หรือไม่ต้องดูว่ายื่นมาในช่องทางใด ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะยื่นมาตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่ระบุให้ ส.ส. เข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อขอให้วินิจฉัย หรืออาจจะยื่นผ่านช่องทางอื่นเช่น กกต. แต่อาจจะทำให้เรื่องขึ้นสู่ศาลล่าช้ากว่าที่ต้องการ

สำหรับกรณีที่นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนฉุกเฉินนั้น ตามระเบียบวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการไต่สวนฉุกเฉินในลักษณะเดียวกับศาลปกครอง แต่การพิจารณาจะทันก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นกับศาลว่าจะพิจารณาอย่างไรจะเร่งให้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าคำร้องที่ยื่นมานั้นมีน้ำหนักพอที่จะให้เร่งพิจารณาหรือไม่ โดยต้องดูจากเหตุผลและความสำคัญ ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นกับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญไม่มีธรรมเนียมปฎิบัติในการไต่สวนฉุกเฉิน เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะไม่นำวิธีการไต่สวนแบบคดีแพ่งมาใช้ ที่ไม่ให้อีกฝ่ายได้ชี้แจง และตัดสินคดีภายในวันเดียว เราไม่มีวิธีนั้น แต่ถ้าจะทำจริงๆกฎหมายก็เปิดช่องไว้ ทั้งนี้เบื้องต้นหากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ก็ต้องผ่านขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ในชั้นของสำนักงานก่อนที่จะส่งเรื่องมายังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งหลังจากนั้นตุลาการก็จะมาพิจารณาตามคำร้องและสถานการณ์ว่าจำเป็นหรือไม่ หากเห็นว่าจำเป็นก็อาจจะลัดคิวคดีอื่น เพื่อเร่งรัดในการพิจารณาให้ทันเวลาได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
******************************************************************************

ราคาหุ้น BEC ร่วง 6 เปอร์เซนต์ ผลพวง คดีไร่ส้ม !!?



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหาร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) (BEC) ได้เรียกประชุมนักวิเคราะห์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงผลการดำเนินงานไตรมาส 3 และทิศทางการเติบโตของบริษัทปี 2556 โดยมีนักวิเคราะห์ได้สอบถามถึงประเด็นผลกระทบจากการเรียกร้องให้ภาคเอกชน ระมัดระวังการทำธุรกรรมกับบริษัทไร่ส้ม ของนายสรยุทธ์ สุทัศนจินดา ผู้ดำเนินรายการของช่อง 3 หลังถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

ด้านบล.ธนาชาติระบุว่าบีอีซี ชี้แจงประเด็นนายสรยุทธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบกรณีทุจริตว่า บริษัทยังคงไม่เห็นการเพิกถอนสัญญาโฆษณาใดๆ จากทั้งมีเดียเอเจนซี่ และจากลูกค้าของบริษัท บีอีซี

ส่วนแนวโน้มกำไรไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่า จะเติบโตแข็งแกร่งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่ต่ำมาก เพราะปีก่อนมีผลกระทบจากน้ำท่วม และเติบโตจากรายการข่าวของครอบครัวข่าว 3 ผลกระทบจากน้ำท่วมปี 2556 นั้น บริษัทมีแผนที่จะผลักดันรายได้โฆษณา โดยปรับขึ้นค่าโฆษณาสำหรับรายการละครช่วง ซูเปอร์ไพรม์ไทม์ โดยตัดนาทีที่ให้ฟรีออกไป ซึ่งหมายความว่าอัตราค่าโฆษณาจะเพิ่มขึ้น 12.5% ขณะที่ช่อง 7 เพิ่งจะปรับขึ้น 4%

ด้านบล.เกียรตินาคิน วิเคราะห์ปี 2556 บีอีซี จะโตด้วยอัตราชะลอตัวลง เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ และความไม่แน่นอนจากการต่อต้านการใช้โฆษณาในรายการของนายสรยุทธ จึงคาดกำไรจะเติบโต 4% จากปีนี้ที่คาดกำไรจะโต 22% แม้จะรักษาส่วนแบ่งระดับสูงต่อเนื่องในปีนี้ รวมถึงมีแผนปรับผังรายการที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ราคาหุ้น บีอีซี ถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยงรายการนายสรยุทธ์ นับตั้งแต่ช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวลดลงแล้ว 6%

ที่มา.เนชั่น
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////