--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

111คืนบัลลังก์ จาตุรนต์. จ่าฝูงเพื่อไทย พงษ์ศักดิ์. นั่งแม่บ้าน !!?

ย้ำเป็นรอบที่ร้อย “นายกฯ ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร” นั่งยันนอนยัน ไม่ปรับ ไม่โละ ไม่ยกเครื่องทีมเสนาบดี..ตอกลิ่มอาการอ่อนนอกแข็งใน ที่ “น้องสาว” เล่นบทดื้อตาใสกับ “พี่ชาย” อย่าง “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” แต่จะด้วยเงื่อนไขส่วนตัวที่ต้องการกระเตงหิ้ว “เสี่ยโต้ง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคู่ใจเพียง 1 เดียวใน ครม. หรือเงื่อนไขเหนือการควบคุม เกรงรัฐบาลจะติดหล่มใหญ่ในก้นเหวลึกบนมาตราอันละเอียดอ่อน มันก็ล้วนไม่มีผลดีกับฝ่ายบริหาร เมื่อตำแหน่งใหญ่อย่าง มท.1 ต้องเกิด สุญญากาศจากกรรมเก่าที่ติดจรวดไล่ทันของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ”..ยิ่งฟางเส้นสุดท้ายตกลงบนหลัง อูฐ พลันที่ “ยงยุทธ” สละทุกอย่างด้วยการลาออกจากสถานะผู้ทรงเกียรติและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทอดยอดเป็นเอลนีโญ่โดยอัตโนมัติ เนื่องด้วยกรรมการบริหารพรรคย่อมหมดสภาพไปในคราวเดียวกัน ในพลันที่จ่าฝูงเพื่อไทยโยนติ้วไขก๊อก ลำดับความใหม่ตั้งแต่ต้น ยึดตามเงื่อนไขที่เกินกำลังที่จะควบคุมได้ “พี่ชาย” กับ “น้องสาว” ยื้อยุดเกมปรับ ครม. มาตั้งแต่พฤษภาป่าช้าแตก มันย่อมเห็นเค้าลางการประลองกำลังภายในบนเวทีศึกสายเลือดได้อย่าง น่าดูชม

“อดีตนายกฯ ทักษิณ” ย้ำนักย้ำหนาว่าอย่างไรเสีย “บ้าน 111” ต้องมีส่วนร่วมในหมากกระดานนี้..“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ก็ย้ำนักย้ำหนาว่าอย่างไรเสียก็จะไม่มีการ ปรับ ครม.ในเร็ววันนี้เช่นกัน..ผลการเอาเถิดเจ้าล่อเฉพาะหน้า ก็พอจะทราบบ้างแล้วว่าวาระ “ดื้อตาใส” แกล้งหูดับไม่รับสัญญาณจาก “รีโมต” คนไกล แต่ปรากฏการณ์การจากไปในทุกตำแหน่งของ “ยงยุทธ” มันล้วนไม่ต่างจากจุดหักเห ที่โมเมน ตั้มจะสวิงกลับไปที่คนไกลแต่ไม่ใช่คนอื่นอย่างน่าสนใจยิ่ง

หากว่ากันตามทฤษฎีเบาไปหาหนักในการกระชับอำนาจ ประหนึ่งว่า จิ๊กซอว์เกมนี้ถูกวางไว้อย่างแยบคาย จะด้วยปฏิบัติการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส หรือ จงใจวางยาทางอำนาจ..แต่เคราะห์กรรมของ “ยงยุทธ” ซึ่งเป็นสายตรงของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ” มันก็ได้สร้างความผันผวนทางอำนาจการต่อรองที่เริ่มสะบัดหลุดออกจากมือทีละนิดละน้อยการทิ้งเก้าอี้รองนายกฯ และ มท.1 ของ “ยงยุทธ” มันพอจะมีเหตุผลเพียงพอที่ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” จะชักแม่น้ำทั้งห้ากับพี่ชาย ในการยื้อออกไปหลังอภิปรายไว้วางใจได้ แต่ในมุมอำนาจทาง การเมืองการไขก๊อกจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค และทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเกิดสุญญากาศ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ผู้มีสถานะเป็นเพียงปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ย่อมไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนักในการเล่นเกมการเมืองภายในพรรค มองไปรอบๆ โดยรวม วัดจากพรรษาบารมี มองกัน ณ ขณะนี้ ดูยังไง คนที่เหมาะสมมันก็ไม่พ้นสมาชิกบ้าน 111 นั่นมันก็เป็นข้ออ้างโดยง่ายทำให้ละม่อมได้ไม่ยาก ในเมื่อ “น้องสาว” ไม่ยอมปรับ ครม.ในห้วงนี้ มันก็น่าจะมีตำแหน่งมีสถานะให้สมาชิกบ้าน 111 บ้าง

ลำดับชื่อวัดเครดิต มันก็มีหัวหมู่ทะลวงฟันหลายคนที่พร้อมสำหรับ เก้าอี้ตัวนี้ แต่ถ้าหากมองอย่างเป็นกลางและภาพลักษณ์ในสังคมที่ไม่สุดโต่ง และกล้าออกหน้าอย่างพอดี ชื่อของ “เสี่ยอ๋อย-จาตุรนต์ ฉายแสง” ย่อมเข้า ข่ายน่าสนใจที่จะหยิบจับมาใช้ในช่วงเฉพาะหน้า

แม้ประวัติที่ผ่านมาในทางการเมืองช่วงไทยรักไทยรุ่งโรจน์ สเปกอย่าง “เสี่ยอ๋อย” อาจจะไม่ใช่ประเภทที่ “นายใหญ่” จะสามารถกดรีโมตหันซ้ายหัน ขวาได้ แต่หากมองในเรื่องความทะยานอยากในอุดมการณ์ทางการเมือง บวกกับการที่ต้องอยู่นิ่งๆ ไปถึง 5 ปีเพราะโดนโทษแบนยุบพรรคมันก็น่าจะเป็นเงื่อนไข ที่พอจะพูดจาพูดคุยกันได้ กระนั้นถ้ามองในแง่เฉพาะหน้า เพื่อเอาภาพสร้างความเชื่อมั่นให้พรรคเพื่อไทยมีสภาพเป็นสถาบันทางการเมืองแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ มันก็ไม่น่าจะเป็นใครอื่นไปได้ เพราะบ้าน 111 ที่เหลือ ซึ่ง “นายใหญ่” วางใจได้ ก็ล้วนเป็นสเปก “สหาย สายป่า” ที่นอกจากจะไม่ยอมเปลืองตัว แต่ลำพังเพียงแค่ภาพลักษณ์มันก็ไม่เหมาะที่จะมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคหรืออาจจะมองไปข้างหน้า ในกรณีที่รีโมต “นายใหญ่” เกิดอาการสัญญาณขัดข้อง ไม่สามารถเทก-คอนโทรล “เสี่ยอ๋อย” ได้อย่างถนัดใจ ว่ากันในเรื่องซื้อเวลาสร้างภาพให้พรรค มันก็สามารถยื้อไว้จนกว่า “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” จะหลุดเดดล็อก “บ้าน 109” อีก 1 ปีข้างหน้าได้

เมื่อระยะเวลา บวกกับโอกาสลงล็อกเหมาะเหม็ง แถมมีแผนรองรับเพื่อผ่อนสั้นผ่อนยาวในทางอำนาจ แคนดิเดตผู้มาแทน “ยงยุทธ” สปอตไลต์ดูไบย่อมฉายจับมาที่ “เสี่ยอ๋อย” อีกตำแหน่งที่น่าสนใจคือ เก้าอี้เลขาธิการพรรคที่ว่างลง ว่ากันด้วยสภาพแวดล้อมทางบารมี และทางธุรกิจ ชื่อของ “เสี่ยเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” กุนซือใหญ่ผู้มีกระทรวงในอาณัติคุมถึง 7 กระทรวงหลัก แถมยังเป็นสายตรง “นายหญิง” แห่ง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” รวมไปถึงการเป็นนอมินีแอดวานซ์กระเป๋าเงินใบเขื่องให้ “คนไกล” แถมมาก ด้วยคอนเน็กขั้นเทพ มันย่อมรวมมาเป็นคุณสมบัติอันเป๊ะเว่อร์ ที่จะดันให้ “เสี่ยเพ้ง” ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้แม่บ้านพรรคแดงอย่างไม่เก้อเขินและไม่มีใครกล้าถกเถียง

สำหรับในบรรดาเก้าอี้กรรมการบริหารพรรค มันก็ไม่ต้องคิดมากว่าทีมเทพบ้าน 111 ที่เดินอยู่ข้างหลังมาอย่างยาวนาน ย่อมได้รับโอกาสจาก “นายใหญ่” ให้ขึ้นมายืนแถวหน้า ประมาณว่าเป็นการเรียกน้ำย่อยทางอำนาจ เพื่อรอเงื่อนเวลาปรับครม.ตกผลึก ซึ่งมันย่อมไม่ใช่เรื่องน่าเกลียด ซึ่งคนที่เป็นกรรมการบริหารพรรค แถมมากด้วยความสามารถ จะก้าวข้ามบันไดขั้น สุด ท้าย..กลายร่างเป็นเสนาบดีในท้ายที่สุดเรียกได้ว่า “พี่ชาย” กระชับอำนาจ “น้องสาว” ไปอย่างเนียนๆ ด้วยการปูพรมแดงให้ “บ้าน 111” คืนบัลลังก์..วิน วิน!!!
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นักวิชาการ-ทุนผูกขาด ล้มจำนำข้าว..ซ้ำเติมชาวนา !!?

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อคณาจารย์จากสถาบันนิด้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษาจำนวน 146 คน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 เพื่อยับยั้งหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นักวิชาการกลุ่มนี้อ้างว่า ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (1) ที่ระบุว่า “รัฐต้องสนับสนุนระบบ เศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน”

เป้าหมายของนักวิชาการกลุ่มนี้ คือ ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญ “ยุติหรือชะลอ” โครงการจำนำ ข้าวของรัฐบาล และให้รัฐบาลเปลี่ยนเงื่อนไขของโครงการ 3 ประการ คือ 1.ปรับราคาการรับซื้อที่ไม่ขัด กับกลไกการค้าเสรี 2.ทำให้โครงการรับจำนำข้าวเป็น การจำนำข้าวอย่างแท้จริง และ 3.มีการจำกัดจำนวน การรับซื้อข้าว ถัดมาอีกวัน คือ 28 กันยายน 2555 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นสนับสนุน กลุ่มนักวิชาการจากนิด้าทันที

สรุป การต่อต้านการรับจำนำข้าวที่เปิดตัวจาก ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธาน ทีดีอาร์ไอ สมาคมผู้ส่งออกข้าว บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคมชั้นสูงอย่างนาย อานันท์ ปันยารชุน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล และสื่อมวลชนโหมโจมตีการ ทุจริตของการรับจำนำข้าวมาต่อเนื่องนั้น ถึงขณะนี้ความคิดทั้งมวลได้เชื่อมประสานมาสู่ กลุ่มนักวิชาการจากนิด้า ให้กลายเป็น “นักแสดงอำนาจ” ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรับจำนำข้าวให้เป็นรูปธรรม

ความจริงคือ ราคาข้าวในประเทศถูกกำหนด โดยธุรกิจส่งออกข้าว ย่อมสะท้อนว่า การส่งออกข้าวก็คือธุรกิจผูกขาดข้าวของไทย เมื่อกลุ่มนักวิชาการจากนิด้าและพรรคประชาธิปัตย์เจตนาต้องการล้มโครงการรับจำนำข้าว จึงเป็นฝ่ายสนับสนุนยืนเคียงข้างกลุ่มธุรกิจส่งออกข้าว และต้องการให้กลุ่ม ธุรกิจส่งออกข้าวผูกขาดราคาข้าวอีกตามเดิม

- กลุ่มนักวิชาการ กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ในประเด็นข้อกฎหมาย ที่กลุ่มนักวิชาการนิด้า อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) และการยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้สะท้อนถึงเจตนาอย่างรีบเร่ง คือ มีเป้าหมายอยู่ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจมาชะลอโครงการรับจำนำข้าวไว้ก่อน โดยกลุ่มนักวิชาการเหล่านี้นำปัญหาการใช้มาตรา 68 มาต่อต้านการ แก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 มาเทียบเคียงการเคลื่อนไหว จนศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ชะลอการลงมติ สำหรับการต่อต้านการรับจำนำข้าวก็มุ่งหวังว่าจะเกิดขึ้นเช่นนั้น

ผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการนิด้าคือ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะ นิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เขาคนนี้เป็นทั้งผู้ให้ความคิด ชี้ช่องทางรัฐธรรมนูญ และกำหนดการเคลื่อนไหว หลังยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ดร. อดิศร์ ให้สัมภาษณ์ว่า จะปรึกษากับนายบรรเจิดถึงแนวทางการต่อสู้ทางข้อกฎหมายในอนาคต

ดร.บรรเจิด เป็นคนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อต่อต้านการรับจำนำข้าว และเขาให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ FM 97 โดยยอมรับว่า ได้แนะนำกระบวนการที่ถูกต้องในการยื่นหนังสือ ควรไปยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่การที่ไปศาลรัฐธรรมนูญคงจะไปในเชิงสัญลักษณ์และคิดว่าคง ไม่ได้ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดย ตรง เพราะกรณีนี้จะต้องไปยื่น เรื่องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องนี้ไปศาลรัฐธรรมนูญ

ดร.บรรเจิด เป็นนักวิชาการสนับสนุน และขึ้นเวทีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เขาสนับสนุนให้ทหารยึด อำนาจจนได้ เป็นคณะกรรมการ ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิด ความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ปัจจุบันตั้งกลุ่ม “สยามประชาวิวัฒน์” เผยแพร่แนวความคิดต่อต้านคณะนิติราษฎร์

เมื่อนายอานันท์ ต่อต้านการรับจำนำข้าว ดร. บรรเจิด ก็ใช้ “นิด้า” สถาบันการศึกษาที่สนับสนุนกลุ่มอำนาจชนชั้นสูง เป็นฐานเคลื่อนไหวกับหมู่ปัญญา ชนเสื้อเหลือง และนำ ดร.อดิศร์ ในฐานะผู้อำนวย การศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแกนกลางสะท้อนการเชื่อมโยงการต่อสู้เชิงแนวคิดระหว่าง “เศรษฐกิจพอเพียงกับประชานิยม”

ด้วยเหตุนี้ ดร.บรรเจิดจึงเป็นผู้ให้ทั้งความคิด และวางแผนอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการนิด้าไปยื่นหนังสือกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์

- แนวคิดคู่ขัดแย้ง : แย่งชิงมวลชน

ในฐานะหน้าที่นักวิชาการแล้ว ดร.อดิศร์ได้สะท้อนแนวคิดว่า สนใจการพัฒนาสังคมตามกรอบคิด “ความพอเพียง” แต่เหตุผลที่เขาเคลื่อนไหวยื่น หนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญกลับอ้างระบบเศรษฐกิจเสรี กลไกตลาด ซึ่งเป็นกรอบคิดพื้นฐานของระบบทุนนิยม ที่มีแก่นหลักอยู่ที่ “การสะสมกำไร” แล้วใช้กำไรไป “หมุน” ความมั่งคั่งของเอกชน นั่นย่อมบ่งบอกถึงการ “ขัดกัน” ของจิตสำนึก สาธารณะในเนื้อสมองและจิตใจ เพราะดูประหนึ่งว่า เขาอำพรางแนวคิดทุนนิยมของตัวเองไว้ในภาพความพอเพียงว่ากันตรงๆ แล้ว แนวคิดความพอเพียงเป็นคู่ขัดแย้งกับประชานิยม เพราะต้องแย่งชิงมวลชนระดับรากหญ้า หรือชาวนาชาวไร่ ที่เรียกว่า “เกษตรกร” มาเป็นฐานการเคลื่อนไหวและครอบงำสังคม

เมื่อนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาสูงกว่า ราคาตลาดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีกลุ่มเป้าหมายมวลชนกลุ่มเดียวกันกับ “ความพอเพียง” จึงไปขัดขวางการขยายฐานและช่วงชิงมวลชนจากเศรษฐกิจ พอเพียง จนทำให้กลุ่มนักวิชาการออกมาต่อต้าน เพื่อดำรงเป้าหมาย 3 ระดับ คือ หนึ่ง ขัดขวางการแย่งชิงมวลชนจากนโยบาย รับจำนำข้าว สอง เป็นแนวร่วม ในการต่อต้านนโยบาย รัฐบาลกับกลุ่มธุรกิจส่งออกข้าว และสาม เป็นนักแสดงทางอำนาจแทนกลุ่มอำนาจเบื้องหลัง เพื่อกระตุ้น จุดยืนของระบบยุติธรรมและกำลังทหารในการต่อต้านรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

กล่าวโดยสรุปแล้ว หากเชื่อมความสัมพันธ์ย้อนกลับจาก ดร.บรรเจิด ถึง ดร.สุรพล ถึงกลุ่มอำนาจเบื้องหลัง และการเคลื่อนไหวของ ดร.อดิศร์ จากนิด้า จึงสะท้อนถึงกลุ่มอำนาจเบื้องหลังที่แสดงผ่านการต่อต้านรับจำนำข้าวว่า ได้พัฒนาไปสู่การลงลึกในด้านมวลชน ดังนั้น รหัสการเคลื่อนไหวย่อมมีแนวโน้มไปสู่การลากสถาบันอำนาจทหารและกระบวนการยุติธรรมให้มาเป็นแนวร่วมการต่อสู้ในอนาคต ย่อมเป็นไปได้สูงยิ่ง

- จุดอ่อนข้อกฎหมายของกลุ่มต่อต้าน

กลุ่มนักวิชาการจากนิด้า อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) มาใช้สิทธิ์ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อต่อต้านการรับจำนำข้าวว่า เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐไปผูกขาดการค้าข้าว

ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ประชาชนไม่สามารถฟ้อง ศาลรัฐธรรมนูญได้ เว้นแต่อาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ในกรณีมีข้อโต้แย้งว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ใช้ช่องทางอื่น จนสิ้นทุกเส้นทางแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ความเห็นสิทธิการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญของประชาชนเช่นกัน แต่จุดอ่อนของความเห็นทั้งดร. บรรเจิดและนายสมฤทธิ์ อยู่ที่การอธิบาย รัฐธรรมนูญมาตรา 212 ไม่จบกระบวนความหมายสำคัญ เพราะมาตรา 212 กำหนด เนื้อหาไว้ “สองวรรค” ดังนี้

“บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำ ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ” โปรดขีดเส้นใต้หนาๆ ที่ข้อความ “คำวินิจฉัย ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐ ธรรมนูญได้” ซึ่งสะท้อนถึงสาระสำคัญในการใช้สิทธิ ของประชาชนไป “ฟ้องตรง” กับศาลรัฐธรรมนูญได้กระจ่างชัดว่า ต้องเป็นกรณี “บทบัญญัติของกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของ รัฐบาล ไม่ใช่ข้อกฎหมาย ดังนั้น การใช้สิทธิประชาชนมา “ฟ้องตรง” ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 212 จึงทำไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ นโยบายรัฐบาลเป็นกรณีการบริหารงาน แถลงต่อสภา และการรับผิดชอบต่อสภา ต่อประชาชน รวมทั้ง “ผลทางการเมือง” ที่จะเกิดตามมาในกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น

จุดอ่อนสำคัญอีกประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มนักวิชาการนิด้าเลือกใช้ มาตรา 84 (1) มาเพื่อ “สร้างภาพ” และต้องการเพียงให้สื่อกดดันการรับจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง เพราะความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดเนื้อหามาตรา 84 มีถึง “สิบสี่วงเล็บ” และอีกวงเล็บที่สำคัญบรรจุในมาตรา 84 (8) ที่กำหนดว่า

“คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้ผลตอบแทนสูงสุด รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกรเพื่อวางแผน การเกษตรและรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกร”

โปรดขีดเส้นใต้อีกครั้งในข้อความ “ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้ผลตอบแทนสูงสุด” ย่อมบ่งชี้ได้ เป็นอย่างดีว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลไม่ได้ขัด กับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 84 (1) แต่ประการใดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนำมาตรา 84 (8) มาพิจารณาประกอบมาตรา 84 (1) แล้ว สะท้อนถึงเจตนา ของมาตรา 84 (8) ได้ดียิ่งว่า เป็นการถ่วงดุลเศรษฐกิจ เสรีและกลไกตลาด (ในมาตรา 84 (1)) ตามระบบทุน นิยม เพราะรัฐธรรมนูญต้องการให้รัฐบาลสร้างหลักประกันรายได้ให้กับเกษตรกรประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น มาตรา 84 (8) เทียบเคียงได้กับ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ไร้โอกาสในการกำหนดราคาผลผลิต ดัวยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อยกระดับมาตรฐานราคาผลผลิตที่มีราคาในระดับการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม แปลความได้ว่า นโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดด้วยราคาสูงกว่าตลาดจึงสอดคล้องและไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่ประการใด เพราะฉะนั้น การที่กลุ่มนักวิชาการนิด้าเคลื่อนไหว จึงน่าจะมีเจตนาแอบแฝง

- สรุป จิตสำนึกประชาชนนักวิชาการกลุ่มต่อต้านข้าว

เมื่อพิจารณาเป้าหมายหลักของกลุ่มนักวิชาการนิด้าที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว ต้องพิจารณา ตรงเหตุผลที่บอกผ่านสื่อของ ดร.อดิศร์ ที่ต้องการคือ 1.ปรับราคาการรับซื้อที่ไม่ขัดกับกลไกการค้าเสรี 2.ทำให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นการจำนำข้าวอย่างแท้จริง 3.มีการจำกัดจำนวนการรับซื้อข้าวความต้องการทั้ง 3 ข้อนั้น สะท้อนได้ทันทีว่า กลุ่มนักวิชาการนิด้า ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่การ “ล้มโครงการรับจำนำข้าว” แต่ต้องการ “ล้มราคา” รับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อคงรูปนโยบายรับจำนำข้าว ในรูปแบบเดิมๆ เมื่อ 20 ปีเอาไว้

สิ่งที่นักวิชาการต้องการอย่างมากคือ ให้รัฐบาล กำหนดราคารับจำนำต่ำกว่าราคาตลาด และรัฐบาลต้องจำกัดปริมาณการรับจำนำข้าวของเกษตรกรแต่ละ รายด้วย ทั้งหมดนั้น เป็นข้อสรุปได้ชัดเจน และแสดงถึงความต้องการให้กลุ่มธุรกิจส่งออกข้าวได้เข้าไปแทรกแซงการรับซื้อข้าวแข่งกับรัฐบาล เพื่อจะได้ “กดราคาข้าว” และมีข้าวส่งออกตามสัญญาการซื้อ ขายล่วงหน้าที่ทำไว้กับต่างประเทศ ดังนั้น ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักวิชาการนิด้า จึงเคลื่อนไหวไปเพื่อกลุ่มธุรกิจส่งออกข้าว และยังบ่งบอกถึงจิตใจของกลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้ด้วยว่า ยังต้องการให้ระบบทุนนิยมเอาเปรียบชาวนาหรือเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความต้องการของกลุ่มนักวิชาการแล้ว ย่อมเห็นความชัดเจนใน 2 ระดับว่า..หนึ่งต้องการใช้นโยบายรับจำนำข้าว เป็นเงื่อนไข นำไปสู่การสร้างและสะสมพลังกดดันชุดใหม่ต่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์สอง การสร้างพลังกดดันนั้น ต้องการให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม พร้อมๆ กับสร้างภาพรัฐบาล ทุจริตผ่านนโยบายรับจำนำข้าว เพื่อตอกย้ำให้เกิดภาพการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย หรือกำหนดนโยบาย เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง โดยทั้งหมดทั้งปวงมีเป้าหมายการกดดันอยู่ที่การล้มรัฐบาลอีกครั้งด้วยพลังอำนาจสถาบันทหาร เพื่อช่วงชิงอำนาจกลับมาสู่กลุ่มอำนาจเดิม

แต่มียุทธศาสตร์ใหม่ในสังคม เป็นยุทธศาสตร์ ระดับสูงคือ สร้างกติกาเข้าสู่อำนาจใหม่ของสถาบัน โดยผ่านเงื่อนไขการกดดันและล้มรัฐบาลนั่นเอง ซึ่งสะท้อนถึงระบบคิดเก่าๆ พยายามฟื้นกลับมามีอำนาจอีกครั้งกลุ่มนักวิชาการนิด้า ใช้การแสดงออกแบบเศรษฐกิจพอเพียงมารับใช้ระบบทุนนิยมผูกขาด พวกเขาต้องการนโยบายที่ส่งเสริมให้นายทุนผู้ส่งออกข้าวได้กดราคาข้าวไว้เพียงตันละ 8,000 บาท พวกเขามีความสุขกับความร่ำรวยและมั่งคั่งของผู้ส่งออกข้าว..ส่วนเกษตรกรกลับมีชีวิตเป็นแค่ปุ๋ยการสร้าง “กำไร” ให้พ่อค้าข้าวส่งออก นักวิชาการไหน เป็นอย่างไร ต้องวัดกันที่ “จิตสำนึกประชาชน” จึงจะรู้ว่าเป็นของแท้หรือของปลอมที่เอาแต่สร้างภาพ ปั่นราคาให้เกิดกระแส กับสื่อเท่านั้น

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ลาออก หน.-สส. จารุพงศ์ รักษาการแทน !!?

ยงยุทธ"โชว์จริยธรรม ไขก๊อกหัวหน้า พท.-ส.ส.บัญชีรายชื่อ อ้างไม่อยากใฟ้พรรคที่รักถูกวิพากษ์วิจารณ์ แจ้ง"แม้ว-ปู"ก่อนประกาศทิ้งตำแหน่ง "ยิ่งลักษณ์"บอกเสียดาย แต่เคารพการตัดสินใจ

"ยงยุทธ"ไขก๊อกหน.พรรค-ส.ส.


นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมเป็นต้นไป หลังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นเรื่องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส.ของนายยงยุทธ ที่เชื่อว่าขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (6) กรณีอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติไล่ออกจากราชการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีที่ดินอัลไพน์ สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ นายยงยุทธพร้อมนายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้า พท. และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. ร่วมแถลงข่าวที่ พท. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม โดยนายยงยุทธกล่าวว่า ขอลาออกจากหัวหน้า พท.และจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตั้งแต่วันนี้ (4 ตุลาคม) เป็นต้นไป แม้ว่าจะมีหน่วยงานราชการ ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เป็นหน่วยงานที่ตีความกฎหมาย และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่เป็นผู้คุมกฎและดูแลวินัยข้าราชการพลเรือนจะยืนยันแล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ดักคอสื่อซัดขาดจริยธรรม

นายยงยุทธกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดซึ่งมีอำนาจทางกฎหมายออกมายืนยันว่าไม่มีคุณสมบัติ มีแต่พรรคตรงข้ามและกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ออกมาบอกว่าไม่มีคุณสมบัติ ทั้งที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย แต่ พท.เป็นพรรคของประชาชนจำนวนมากของประเทศ จึงไม่อยากให้มาวิพากษ์วิจารณ์พรรคที่ตนรักว่าขาดจริยธรรม ไม่ทำตามกฎหมาย หรือหลักนิติรัฐนิติธรรม และเพื่อความชัดเจน จึงแสดงจริยธรรมเพื่อไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ พท.ไปในทางเสียหาย

"ผมได้ปรึกษาผู้ใหญ่สองท่าน และได้เรียนท่านนายกฯ ขณะที่นายกฯก็รับทราบและเคารพการตัดสินใจของผม หลังจากนี้การพาดหัวข่าวของผมคงมีไม่กี่วัน หากผมไม่ออกก็จะลงข่าวว่าผมหน้าด้านหน้าทน แต่ถ้าออกก็บอกว่าหนี ดังนั้น ขอให้สื่อเขียนให้คนอ่านทราบความจริงบ้าง เชื่อว่าสื่อจะมีจรรยาบรรณ" นายยงยุทธกล่าว และว่า เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างพรรคและอยู่มานาน ดังนั้น จะเป็นสมาชิกเพื่อช่วยงานพรรคต่อไป ส่วนจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่ เป็นเรื่องอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการแถลงข่าวได้มีกรรมการบริหารพรรค ส.ส. เจ้าหน้าที่พรรค และประชาชน มอบดอกกุหลาบให้กำลังใจนายยงยุทธเป็นจำนวนมาก

"พร้อมพงศ์"ยกสปิริต-ไร้กดดัน

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ถือเป็นมาตรฐานทางการเมืองของ พท. ที่นายยงยุทธแสดงสปิริตโดยไม่มีใครกดดัน การลาออกของนายยงยุทธครั้งนี้จะเป็นการปรับโครงสร้างพรรคเพื่อขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาประชาชน อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้น นี่คือสปิริตและมาตรฐานทางการเมืองของ พท.ที่ไม่ยึดติดตำแหน่งแต่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ ไม่อยากให้ ปชป.ออกมากล่าวหาว่า การลาออกครั้งนี้เพื่อหนีการตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายยงยุทธ เป็นผลให้กรรมการบริหาร พท. ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 18 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่จะทำหน้าที่รักษาการจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองการลาออกของนายยงยุทธ จากนั้น พท.ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายใน 60 วัน โดยระหว่างนี้กรรมการบริหารพรรคจะเรียกประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคแทนนายยงยุทธ ทั้งนี้ มีรายงานว่าจะเป็นนายจารุงพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรักษาการเลขาธิการ พท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อของนายยงยุทธ จะทำให้นางมาลินี อินฉัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 71 เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน

เผยแจ้ง"ปู-แม้ว"ก่อนลาออก

รายงานข่าวจาก พท.แจ้งว่า ก่อนนายยงยุทธจะประกาศลาออกจากหัวหน้า พท.และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้แจ้งต่อนายสาโรจน์ หงษ์ชูเวช รองผู้อำนวยการ พท. นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. เพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน และตัดสินใจทางการเมือง ทั้งนี้ นายยงยุทธแจ้งว่า ต้องการแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.และหัวหน้าพรรรค แม้ฝ่ายกฎหมายจะยืนยันต่อนายยงยุทธว่าในข้อกฎหมายนายยงยุทธจะยังสามารถอยู่ในตำแหน่ง ส.ส.และหัวหน้าพรรคต่อไปได้ แต่นายยงยุทธยังยืนยันจะแสดงสปิริตลาออกเพื่อเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง ทั้งนี้ นายยงยุทธได้แจ้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพื่อขอลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.และหัวหน้าพรรคในก่อนหน้านี้แล้ว

"การลาออก ก็เพื่อให้พรรคมีการปรับโครงสร้างพรรคในปีที่ 2 และต้องการให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งเดินหน้าในการแก้ปัญหาให้ประเทศชาติและประชาชนต่อไป ในเมื่อขณะนี้ยังมีความเห็นในข้อกฎหมายอยู่ หากผมอยู่ในตำแหน่ง ส.ส.และหัวหน้าพรรคต่อก็จะเป็นภาระข้อกฎหมายที่อาจมีการโจมตีพรรคและรัฐบาลได้ ผมจึงขอแสดงสปิริตไม่ยึดติดต่อตำแหน่งด้วยการลาออก" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายยงยุทธ

"ปู"เสียดาย-เคารพการตัดสินใจ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเสียดาย เพราะนายยงยุทธทำงานกับพรรคมานานและทุ่มเทให้พรรค ทั้งนี้ นายยงยุทธมีความปรารถนาที่จะเข้ามาช่วยงาน ไม่ว่าจะในด้านสังคมหรือด้านต่างๆ เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาก เชื่อว่าจะมีโอกาสเข้ามาช่วยเหลืองานด้านอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม เคารพในการตัดสินใจของนายยงยุทธ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการกดดันอะไรหรือไม่ที่ทำให้นายยงยุทธต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.และหัวหน้าพรรค น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "จริงๆ ก็มาก แต่เรื่องดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของนายยงยุทธที่มีความประสงค์ดี และไม่ต้องการให้ทุกคนเป็นกังวล"

เมื่อถามว่า นายกฯยังรับไหวใช่หรือไม่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวย้ำว่า "วันนี้ก็ทำเต็มที่ค่ะ ดิฉันเองก็ยังแข็งแรงอยู่ ขอเรียนว่าจะทุ่มเทด้วยความสามารถที่ตัวเองจะทำได้ แต่แน่นอนคนเดียวก็คงจะไม่มีความแข็งแรงพอ เพราะเราต้องทำกันเป็นทีม มีทั้งคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการต่างๆ ที่จะต้องทำงานร่วมกัน"

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงการเลือกหัวหน้า พท.คนใหม่ว่า ขึ้นอยู่กับกระบวนการของพรรค และขั้นตอนของคณะกรรมการบริหารพรรค ขณะนี้ยังไม่มีการคุยกันหรือวางตัวใครไว้ เมื่อถามว่า จะต้องปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "ไม่ค่ะ ท่านไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวหรอกค่ะ เรื่อง ครม.เป็นเรื่องของดิฉันเอง ต้องมาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเมืองไทย ยืนยันว่าทุกอย่างอยู่ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น ครม.หรือหัวหน้าพรรค"

โฆษกมท.ชี้ยังมีพวกจ้องล้ม

นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รู้สึกเสียดาย แต่ต้องเคารพในการตัดสินใจของนายยงยุทธ เชื่อว่าเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกเพื่อเป็นการรักษาบรรทัดฐานและจริยธรรมทางการเมืองให้ดีที่สุด การลาออกในครั้งนี้ นายยงยุทธได้เสียสละอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า การลาออกในครั้งนี้เป็นเพราะ ปชป.ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส.หรือไม่ นายพิพัฒน์ชัยกล่าวว่า คิดว่าคงไม่มีผลให้นายยงยุทธตัดสินใจ แต่ต้องขอชื่นชม ปชป.ที่ได้ทำหน้าที่ได้อย่างเหี้ยมโหดมาก และเล่นการเมืองแบบเอาเป็นเอาตาย คิดว่าเมื่อถึงที่สุดปลายทางสังคมก็จะเห็น เพียงแต่ขณะนี้รู้สึกเป็นห่วงหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ พท.ตั้งหลักจัดทัพไม่ดี เพราะกระบวนการที่จ้องจะล้มล้างรัฐบาลยังมีอยู่

ปชป.ชี้ตัดไฟไม่ให้ลามพรรค

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ปชป. กล่าวถึงการลาออกจาก ส.ส.และหัวหน้า พท.ของนายยงยุทธ ว่า ถือว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้ลามไปถึงพรรค และสกัดไม่ให้มีการตีความคุณสมบัติ เพราะถ้า กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายยงยุทธขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. จะทำให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงเรื่องที่ส่ง ส.ส.ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีการตีความกันอีกว่า เรื่องที่นายยงยุทธได้ทำมานั้นชอบหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้แค่การป้องกันไม่ให้มีปัญหากระทบต่อ พท.เท่านั้น

นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง ปชป. กล่าวว่า การลาออกของนายยงยุทธ คงส่งผลต่อคำร้องที่กลุ่ม ส.ส.ปชป.ยื่นต่อประธานสภา เพราะเมื่อนายยงยุทธลาออกก็ถือว่าเป็นที่ยุติแล้ว เมื่อประธานสภาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะจำหน่ายคดีออกจากสารบบ

"การที่นายยงยุทธบอกว่าลาออกเพื่อจริยธรรมการเมือง ถือว่าเป็นการโกหก เพราะถ้าทำเพื่อจริยธรรมจริงๆ ควรลาออกตั้งแต่ อ.ก.พ.มหาดไทยมีมติแล้ว แต่สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะ พท.พลาดเอง เนื่องจากไปเขียนข้อบังคับพรรคโดยลอกจากรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของพรรคจะขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (6) คือต้องไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการ ดังนั้นการกระทำการในตำแหน่ง ส.ส.หรือหัวหน้าพรรคจะกลายเป็นโมฆะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หรือการส่งผู้สมัคร ส.ส. นายยงยุทธจึงจำเป็นต้องประกาศลาออก โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมใดๆ" นายสาธิตกล่าว

ส.ว.ชื่นชมเป็นตัวอย่างที่ดี

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การลาออกของนายยงยุทธ เป็นความพยายามหาทางออกจากปัญหาของ พท.และถอยตัวเองออกจากการตกเป็นข่าว การประกาศลาออกก่อนที่กระบวนการทางกฎหมายจะแล้วเสร็จ ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นักการเมืองหรือผู้นำต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยส่วนตัวมองด้วยว่าการประกาศลาออกของนายยงยุทธอาจเป็นการยอมรับว่าคุณสมบัติอาจจะมีปัญหาจริง

นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี กล่าวว่า เป็นการแสดงสปิริตทางการเมืองที่น่าชื่นชม เพราะการตัดสินใจของนายยงยุทธ ที่ลาออกก่อนการพิจารณาของ กกต.เป็นสิ่งที่นักการเมืองรุ่นใหม่ควรนำไปเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ไม่คิดว่าฝ่ายค้านจะนำประเด็นการลาออกไปโจมตีกันทางการเมืองอีกว่าเป็นการเอาตัวรอด หรือตัดตอนกระบวนการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติการเป็น ส.ส.

กกต.ยุติตรวจสอบคุณสมบัติ

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า เมื่อนายยงยุทธลาออกจาก ส.ส.และหัวหน้า พท. กกต.ได้จำหน่ายคำร้องของนายยงยุทธที่เคยยื่นให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็น ส.ส.และหัวหน้า พท.เพราะเรื่องยุติไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม กรณีของนายยงยุทธยังมีผู้ร้องยื่นเรื่องเข้ามาให้ กกต.ตรวจสอบอีก 3 คำร้อง ที่อาจเกี่ยวโยงไปถึงการยุบพรรคการเมือง รวมถึงประเด็น พ.ร.บ.ล้างมลทิน ซึ่งทั้ง 3 คำร้อง ต้องเข้าที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณาให้ครบถ้วนทุกประเด็น โดยหลังจากนี้จะพิจารณาว่ามีประเด็นใดบ้างที่จะต้องยุติการพิจารณาต่อไป ไม่ใช่ว่านายยงยุทธจะประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส.และหัวหน้าพรรคแล้ว คำร้องทุกคำร้องจะต้องยุติไปทั้งหมด

"เฉลิม"บินฮ่องกงอ้างไปเที่ยว

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนเดินทางไปเกาะฮ่องกง ว่าไม่ได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พำนักอยู่ที่เกาะฮ่องกง โดยพาภรรยา ลูก และหลานชายไปเที่ยวแค่ 2 วัน แต่บังเอิญมีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางมาฮ่องกงด้วยพอดี และไม่ทราบว่าจะมาจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้นัดหมายกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และถ้าจะไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณจริงๆ คงไม่พาครอบครัวไปด้วย

นายกฯชี้พบ"แม้ว"เรื่องส่วนตัว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับ ครม.ว่ายังไม่มี ส่วนที่มี ส.ส.และแกนนำ พท.เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เกาะฮ่องกง คงเป็นเรื่องส่วนตัว ครม.ไม่สามารถหารือตรงนั้นได้ ยืนยันเหมือนเดิมว่ายังไม่มีการปรับ ครม.

เมื่อถามว่าไม่มีใครสามารถกดดันนายกฯ ได้ใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "ใช่ค่ะ อย่าใช้คำว่ากดดันเลย เพราะต้องดูที่ความเหมาะสม การเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ จริงๆ มันไม่ถึงกับเป็นการเคลื่อนไหวอะไรหรอก แต่คงอาจจะอยากเสนอความคิดเห็นมากกว่า ก็รับไว้แต่เวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวบอก"

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเตือนพวกที่ออกข่าวกดดันนายกฯ ว่าสุดท้ายแล้วจะไม่ได้รับตำแหน่งเลย นายกฯ ยืนยันว่า ยังไม่ปรับก็แปลว่าไม่ปรับ ต้องฟังนายกฯ คนอื่นมาพูดออกข่าว ถามว่ามีอำนาจหรือเปล่า ก็ไม่มี แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่เคยมาเกี่ยวข้อง

พท.รอเฟ้นคนชิงผู้ว่าฯกทม.

นายภูมิธรรม เวชยชัย ผู้อำนวยการพรรค เพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการคัดเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของ พท.ว่า พท.ไม่ได้เฉยเมยการส่งผู้สมัครแต่ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำนโยบาย อีกทั้งจะต้องดูว่าจะเลือกใครที่เหมาะสม โดย ปชป.ก็ยังไม่ได้เลือกใครว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. แม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. จะพร้อมลงสมัคร แต่ ปชป.ก็ยังไม่ตอบรับ ทั้งนี้ เรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่ พท.จะต้องทำนโยบายก่อน การเลือก พท.จะต้องเป็นการเลือกอนาคตด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องรอให้ ปชป.เปิดตัวผู้สมัครก่อนหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า พท.ไม่ได้เอา ปชป.เป็นที่ตั้ง การเมืองที่ พท.ทำ ไม่ได้เอาคู่ต่อสู้กำหนดทิศทาง การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของพรรคมากกว่า และอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะพิจารณาตัวผู้สมัคร ส่วนกรณีที่มีชื่อของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะลงสมัครในนาม พท.นั้น เพิ่งเห็นจากสื่อเสนอมาเท่านั้น ทั้งนี้ พรรคมีการทำโพลและดูความคิดเห็นจากสื่อ ขณะนี้ยังมีเวลาอยู่

อวยพรวันเกิด"เนวิน"54ปี

ด้านนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้เปิดบ้านพัก ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ ให้ ส.ส.ภท. นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ และคนใกล้ชิดเข้าอวยพรเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 54 ปี โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการจัดงานเลี้ยงวันเกิด

นายเนวินให้สัมภาษณ์หลังพ้นโทษเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ว่า จะไปที่ชอบที่ชอบ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขดีอยู่แล้ว เลิกเล่นการเมืองชีวิตก็มีความสุขดี ทุกวันนี้ชีวิต 70 เปอร์เซ็นต์คือ ฟุตบอล อีก 30 เปอร์เซ็นต์คือ มอเตอร์ไซค์ การดำรงตำแหน่งทางการเมือง การลงรับสมัครเลือกตั้ง ไม่มีอีกแล้วในชีวิตต่อจากนี้ไป ถึงจะถูกเชิญไปเป็นรัฐมนตรีก็จะไม่เป็น ถามหน่อยเป็นไปทำไม เอาทุกข์มาใส่ตัวทำไม

"การเมืองถ้ายังเวียนว่ายอยู่แต่นักการเมืองกลุ่มเดิมๆ ที่ยังคงติดอยู่กับความขัดแย้งอยู่อย่างนี้จะไม่มีวันจบสิ้น ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนสู่รุ่นใหม่ที่ไม่มีความขัดแย้ง ตัวผมยอมรับว่ามีความขัดแย้งในสังคมการเมืองสูง ดังนั้นการกลับเข้าไปสู่เส้นทางการเมืองของผม จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ถ้านักการเมืองที่รู้ตัวว่าเป็นชนวนความขัดแย้ง ช่วยกันชักฟืนออกจากไฟคนละท่อน ไฟในสังคมก็จะสามารถมอดลงได้ สังคมจะกลับสู่ความสงบสุข" นายเนวินกล่าว

มัชฌิมาคุย"แม้ว"ขอร่วมรบ.

รายงานข่าวจาก ภท.แจ้งว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองใน ภท.เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล ทั้งกลุ่มของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา และกลุ่มของนายอนุทิน

ชาญวีรกูล ว่าที่หัวหน้า ภท. โดยนายอนุทินมีความเคลื่อนไหวอย่างหนักเพื่อที่จะเข้าร่วมรัฐบาล ก่อนที่จะมีการปรับ ครม.ในครั้งหน้า อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมัชฌิมาก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยนายสมศักดิ์ได้มีการส่งคนเดินทางไปเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เกาะฮ่องกง โดยมีการยืนยันท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณว่าต้องการที่จะให้กลุ่มมัชฌิมาเข้าร่วมรัฐบาลมากกว่า

ดีเอสไอนัด"เหวง"ให้ปากคำ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ในวันที่ 5 ตุลาคม เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้นัด พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองจเรตำรวจ (สบ 7) เข้าให้ปากคำกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 มีผู้เสียชีวิต 98 ศพ จากนั้นเวลา 14.00 น. นัด นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดงเข้าให้ปากคำที่ห้องประชุมชั้น 7 ดีเอสไอ ทั้งนี้มีรายงานว่า พล.ต.ต.วิชัยได้แจ้งเลื่อนการให้ปากคำออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

โกตี๋ แดงนอกคอก !!?

โดย.ประชา บูรพาวิถี

ก่อนเคลื่อนพลสู่ทำเนียบและบุกนิด้า "โกตี๋ แดงนอกคอก" ดีเจเสียงดังแห่งสถานีวิทยุประชาชน

เอฟเอ็ม 104.10 คลองสาม ปทุมธานี ได้ประกาศผ่านเครือข่ายออนไลน์

"ชาวนาทั่วแผ่นดินควรลุกขึ้นสู้ เพื่อปลดพันธนาการจากระบอบทุนนิยมเผด็จการอำมาตย์"

ศัพท์แสงภาษาซ้ายโบราณถูกนำมาใช้ใน "สงครามชนชั้น 2012" โดยเฉพาะกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และแนวร่วมที่ยกขบวนไปประท้วงที่หน้านิด้า (ก่อนที่ "โกตี๋" จะตามมาสมทบทีหลัง) ก็เขียนป้ายคำขวัญทำนองเดียวกัน

"ชีวิตชาวนาต้องดีขึ้น นักวิชาการมาขวางทำไม? จะกดหัวชาวนาไปอีกนานแค่ไหน?"

ในหมู่คนเสื้อแดงเชื่อว่า นักวิชาการที่คัดค้านโครงการรับจำนำข้าว เป็นตัวแทนแนวคิดกลุ่มทุนอำมาตย์ ที่เอารัดเอาเปรียบชาวนามานาน

สำหรับบทบาท "โกตี๋ แดงนอกคอก" วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ดีเจวิทยุเสื้อแดงนั้น ในชั่วโมงนี้ เขากลายเป็น "ฮีโร่" ของกลุ่มแดงอิสระหรือกลุ่มแดงไม่เอา นปช.

โกตี๋เป็นใคร? มาจากไหน? และเขาเป็นคนสนิทของนักการเมืองเพื่อไทยหรือเปล่า?

เดิมทีคนเสื้อแดงปทุมธานี มีองค์กรเดียวคือ "กลุ่มปทุมธานีรักษ์ประชาธิปไตย" ที่มีการจัดตั้งเมื่อต้นปี 2552 โดยได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ปทุมธานี อาทิ ชูชาติ หาญสวัสดิ์ ,สุเมธ ฤทธาคณี และพรพิมล ธรรมสาร

"กำนันต้อย" สมบุญ ขุนทองไทย รับบทประธานกลุ่มปทุมธานีรักษ์ประชาธิปไตย ซึ่งแดงปทุมได้แสดงพลังเป็นทัพหน้าในยุทธการต้านอำมาตย์ปี 2552 ตั้งแต่พัทยาจนถึงราชดำเนิน จึงได้รับความไว้วางใจจากแกนนำ นปช.ให้เป็นกำลังหลักในการบุกยึดสถานีไทยคม ลาดหลุมแก้ว ในเดือนเมษายนปีต่อมา

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ ชื่อของ "กลุ่มกำนันต้อย" ก็ค่อยๆหายไปยุทธจักรคนเสื้อแดง และเริ่มมีแดงกลุ่มใหม่เกิดขึ้นมาจาก "คลื่นวิทยุชุมชน" 3-4 แห่ง

ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 สองดีเจวิทยุเสื้อแดง "โกตี๋" กับ "ศรรักษ์ มาลัยทอง" สร้างความฮือฮาด้วยการเปิด "หมู่บ้านเสื้อแดง" ขึ้นที่ปทุมธานี

อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านเสื้อแดงของโกตี๋ ไม่ได้ขึ้นตรงกับสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่มี ร.ต.ต.กมลศิลป์ สิงหะสุริยะ เป็นประธาน และ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงษ์ เป็นประธานที่ปรึกษา

"โกตี๋" และคู่หู "ศรรักษ์" มิเพียงจะประกาศตัวเป็น "แดงอิสระ" ไม่ขึ้นต่อ นปช.ส่วนกลาง เขายังตัดพ้อต่อว่านักการเมือง "บ้านใหญ่" แห่งเมืองปทุม ที่ปล่อยให้ กอ.รมน. กับดีเอสไอยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ บุกเข้ายึดเครื่องส่งวิทยุชุมชนเสื้อแดงเมืองปทุมฯ

อย่างไรก็ดี โกตี๋มีความสนิทสนมกับแกนนำ นปช. สายไม่เอาธิดา อาทิ ชินวัฒน์ หาบุญพาด, พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์, พายัพ ปั้นเกตุ, ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ และ 'โด่ง' อรรถชัย อนันตเมฆ

ช่วงน้ำท่วมปีที่ผ่านมา "โกตี๋-ศรรักษ์" ร่วมกับ พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ นำมวลชนออกมาชุมนุมกดดันให้ กทม.เปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ จนกลายเป็นคดีความกับผู้ว่าฯ กทม.

เมื่อการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 ปทุมธานี และการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี กลุ่มโกตี๋ และเครือข่ายวิทยุชุมชนเสื้อแดง ได้ให้บทเรียนแก่พรรคเพื่อไทย จนประสบความพ่ายแพ้ทั้งสองสนาม เนื่องจากไม่พอใจ ส.ส.สุเมธ ที่ลาออกกลางคัน

3-4 เดือนที่ผ่านมา โกตี๋ผนึกกำลังวิทยุเสื้อแดงเขตปริมณฑล ตามไล่บี้ "อภิสิทธิ์" ในทุกเวที รวมถึงการยกพลไปท้าทายอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่สนใจ นปช.ส่วนกลาง

โกตี๋มีอิสระในการเคลื่อนไหว และบ่อยครั้งที่เขาชื่นชมในแนวทางการปฏิรูป 3 สถาบันของคณะนิติราษฎร์ผ่านคลื่นวิทยุชุมชน

นี่เป็นบางเสี้ยวในฉากชีวิตอันโลดโผนของ "แดงนอกคอก" ที่กำลังถูกจับตามองว่า เขารับใช้ใคร?

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วีรพงษ์ ย้ำเป้าส่งออก-ค่าเงิน เรื่องเดียวกัน !!?

"วีรพงษ์"ย้ำเป้าหมายส่งออก-อัตราแลกเลี่ยน เรื่องเดียวกัน ลั่นบาทต้องอ่อน! หวังสูงสุด 8 เดือนที่เหลือในตำแหน่งประธานบอร์ด ปรับความเข้าใจธปท.

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ ว่า  ขณะเหลือเวลาทำงานอีก 8 เดือนเต็ม ระบุห่วงการขาดทุนของธปท. และหวังว่าจะปรับความเข้าใจนโยบายการเงินกับธปท.ได้ บอกหากทำได้ถือเป็นผลงานยิ่งใหญ่ไม่แพ้สมัยขอ “ป๋าเปรม” ลดค่าเงิน มีรายละเอียดดังนี้

 นายวีรพงษ์ กล่าวว่าค่อนข้างเป็นห่วงผลการขาดทุนของ ธปท. เพราะจนถึงขณะนี้เชื่อว่าผลการขาดทุนคงไม่น้อยกว่าระดับ 5 แสนล้านบาทแล้ว

"เวลาที่ผมเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการไม่ว่าบริษัทไหน วันแรกที่ผมจะดู คือ งบดุล พอมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติวันแรก ผมก็ขอดูงบดุลเลย ซึ่งก็พบว่าขาดทุนบักโกรก โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. แบงก์ชาติมียอดขาดทุนสะสมกว่า 4.7 แสนล้านบาท และตอนนี้คงเป็น 5 แสนกว่าล้านบาทแล้ว เพราะมันขาดทุนทุกเดือน"นายวีรพงษ์กล่าว
การขาดทุนของธปท.นั้น แม้วันนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน แต่อนาคตหากยังขาดทุนต่อเนื่องก็อาจส่งผลกระทบได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธปท.ขาดทุน คือ ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการดูดซับสภาพคล่องในระบบ ซึ่งตรงนี้ธปท.ต้องพิมพ์เงินออกมาจ่าย การพิมพ์เงินออกมาเยอะๆ ก็ควรต้องระมัดระวังเพราะอาจเป็นการแพ้ภัยตัวเองได้

"ตามอุคมคติแล้ว ธนาคารกลางไม่ควรขาดดุล และไม่ควรกำไร งบดุลควรเป็นศูนย์ บางปีอาจขาดทุนบ้าง บางปีกำไรบ้าง แต่ระยะยาวต้องเป็นศูนย์ แต่ถ้ามันขาดทุนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การตีกลับมาก็คงยาก ตอนนี้ติดลบ 5 แสนล้านบาท ยังพอตีกลับมาได้ แต่ถ้าเป็น 1 ล้านล้านบาทแล้ว การตีกลับมาคงจะยาก"นายวีรพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ นายวีรพงษ์ ยังตั้งคำถามขึ้นมาด้วยว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้จริง การกำหนดดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% เท่ากับเป็นการทำร้ายตัวเอง เพราะเวลาออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง ธปท.ต้องออกที่อัตราดอกเบี้ย 3% ด้วย

ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่สูง ยังเป็นช่องทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคา (Arbitrage) ได้ด้วย เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยต่างประเทศอยู่ที่ 1% ทำให้นักลงทุนต่างชาติบางกลุ่ม กู้เงินต่างประเทศมาเพื่อมารับดอกเบี้ยในประเทศไทยที่ 3%

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา ได้เสนอให้ธปท.จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเพื่อศึกษาแผนลดขาดทุนของธปท. ซึ่งขณะนี้ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยแนวทางเบื้องต้นที่จะดำเนินการ คือ หาแนวทางเพิ่มผลตอบแทน และลดรายจ่ายลง ซึ่งความพยายามในการเพิ่มผลตอบแทนนั้น จะเน้นไปที่ตราสารหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก ส่วนตราสารทุนนั้นยังไม่อยากให้มีการลงทุน เพราะความเสี่ยงยังมีอยู่มาก

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้เชิญเจ้าหน้าที่ของธปท.ที่ดูแลเรื่องการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศมาหารือ ซึ่งเขาได้อนุมัติเรื่องเรทติ้งของประเทศในการลงทุน โดยอนุญาตให้ลงทุนในประเทศที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าประเทศไทยได้ไม่เกิน 2 ขั้น

"เดิมนั้นเราเอาประเทศไทยเป็นที่ตั้ง หากเครดิตต่ำกว่าไทยก็ลงไม่ได้ ซึ่งทำให้เหลือประเทศที่ลงทุนได้ไม่กี่ประเทศเท่านั้นและผลตอบแทนก็ต่ำมากด้วย ผมก็ถามไปว่าแล้วกลุ่ม BRIC อย่าง บราซิล ลงทุนได้หรือไม่ เขาก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเครดิตต่ำกว่าไทย 2 ขั้น ผมจึงเสนอให้เอาขั้นสุดท้ายเป็น บราซิล" นายวีรพงษ์กล่าว

ส่วนอีกประเด็นที่ นายวีรพงษ์ เสนอให้สามารถนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนได้ คือ พันธบัตรกึ่งรัฐบาล เช่น ตราสารหนี้ที่ออกโดยมลรัฐต่างๆ ที่อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ดี เช่น ตราสารหนี้ของลอนดอน เป็นต้น และอีกอันที่เสนอ คือ พันธบัตรของรัฐวิสาหกิจประเทศต่างๆ ที่อันดับเครดิตไม่น้อยกว่าประเทศนั้น เพราะเชื่อว่ารัฐบาลของประเทศนั้นคงไม่ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจตัวเองเบี้ยวหนี้(Default) อย่างแน่นอน

สำหรับข้อเสนอเรื่องให้ลงทุนในตราสารทุนนั้น เรื่องนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ได้เสนอให้ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ ทริปเบิ้ลเอ ขึ้นไปได้ แต่ในความเห็นของเขาแล้วมองว่ามันยังมีความเสี่ยงอยู่จึงขอไว้ว่าอย่าเพิ่งไปลงทุนในตราสารประเภทนี้เลย แต่ให้เน้นไปที่ตราสารหนี้เป็นหลักก่อน

นายวีรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธปท.นั้น เพราะต้องการทราบแนวคิดด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจการเงินของธปท. เพื่อที่จะจูนเข้าหากัน ซึ่งหลังเขาเข้ารับตำแหน่งนี้ได้ 4 เดือน ก็ทำให้ทราบอย่างชัดเจนแล้วว่า มีตรงไหนที่ไม่ตรงกันบ้างและเพราะอะไร

"ผมเข้าไปเพราะเห็นว่าหลักคิดและเหตุผลของนโยบายมหภาคกับนโยบายการเงิน ของผมกับทีมงานผู้ว่าการฯ ในแบงก์ชาติไม่ตรงกัน ซึ่งก็คือ การมองเป้าหมายนโยบายการเงินว่าควรอยู่ที่ใด ตัวผมเห็นว่าไม่ควรดูเงินเฟ้อ แต่ควรดูอัตราแลกเปลี่ยน การส่งออก และการขยายตัวของเศรษฐกิจบ้าง" นายวีรพงษ์กล่าว

นายวีรพงษ์กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของธปท.มา 15 ปีแล้ว นับตั้งแต่ ธปท. เริ่มศึกษาแนวนโยบายการเงินโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเมื่อ 14 ปีก่อน และตัวเขาก็ค้านแนวคิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน
"สำหรับผม เป้าส่งออกกับอัตราแลกเปลี่ยนมันเป็นของอย่างเดียวกัน ถ้าเราจะหนุนการส่งออก เงินบาทก็ควรต้องอ่อนลง ซึ่งนโยบายการเงินหากดูตรงนี้เป็นกรอบ แนวคิดก็จะตรงกัน"นายวีรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ภาคการส่งออกถือเป็นหัวจักรหลักของเศรษฐกิจไทย เพราะไทยเป็นตลาดเล็ก ผลิตอะไรนิดเดียวก็เกินความต้องการใช้ในประเทศแล้ว เนื่องจากความสามารถการผลิตเรามีสูงกว่ากำลังการบริโภคในประเทศ ดังนั้นการส่งออกจึงถือเป็นทุกอย่างของประเทศไทย และสัดส่วนการส่งออกของไทยในปัจจุบันที่ 70% ของจีดีพี ยังถือเป็นระดับที่ต่ำ เพราะตัวเลขนี้มีโอกาสสูงเกินกว่า 100% ของจีดีพีได้
นายวีรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไทยเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ซึ่งไม่มีเรื่องกำแพงภาษี ดังนั้นราคาสินค้าทุกอย่างจึงถูกกำหนดโดยตลาดโลก ซึ่งไทยเป็นประเทศเล็กไม่สามารถฝืนราคาตลาดโลกได้ อย่างกรณีน้ำมัน แม้เราไปฝืนมัน แต่ทำได้เพียงเล็กน้อยพอประทังไม่ให้ราคาปรับขึ้นเร็วเกินไปเท่านั้น ดังนั้นแล้วในเรื่องเงินเฟ้อระยะยาวเราจึงทำอะไรได้ไม่มาก เมื่อเป็นอย่างนี้จะไปดูแลทำไม ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันดีกว่า

"ถามว่าเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เสถียรภาพของเศรษฐกิจหรือ เสถียรภาพที่สำคัญไม่ได้มีแต่เงินเฟ้อเท่านั้น อย่างอเมริกาเสถียรภาพที่สำคัญของเขา คือ การว่างงาน ถ้าเป็นประเทศด้อยพัฒนา เสถียรภาพ คือ การขยายตัวเศรษฐกิจ แต่ประเทศกลางๆ แบบเรา เสถียรภาพควรมุ่งไปที่อัตราแลกเปลี่ยน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้เงินเฟ้อและการส่งออก สามารถโยกเยกได้"นายวีรพงษ์กล่าว

สำหรับช่วงเวลาที่เหลืออีก 8 เดือนในตำแหน่งประธานคณะกรรมธปท.นั้น เขาหวังว่าจะสามารถปรับความเข้าใจเรื่องการดำเนินนโยบายต่างๆ ระหว่างเขากับธปท.ให้ตรงกันได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นความหวังอันสูงสุดของเขา หากทำได้จะถือเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้สมัยที่เขาขอให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ลดค่าเงินบาทเลย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

รับจำนำข้าว รัฐบาลระวัง ตายน้ำตื้น !!?

แปลกแต่จริง! บ้านนี้เมืองนี้กำลังมีคนจะเป็นจะตายเพราะชาวนาขายข้าวได้ราคา อันเป็นผลมาจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นักการเมือง นักวิชาการ พ่อค้านายทุน ต่างออกมากดดันให้รัฐบาลล้มเลิกโครงการ

มีทั้งเรียกร้องปรกติ ออกมาให้ข้อมูลเชิงลบ และใช้กฎหมายเพื่อหยุดยั้งการรับจำนำ

ไม่เว้นแม้แต่นายวีรพงษ์ รามางกูร ที่มีตำแหน่งเป็นถึงประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)

สื่อพาดหัวกันเอิกเกริก “โกร่ง” เตือนรัฐบาลจะพังเพราะจำนำข้าว แม้จะออกตัวว่าไม่อยากให้สัมภาษณ์ เดี๋ยวจะเสียน้ำใจกับคนอื่น ซึ่งได้เขียนไปแล้วส่งให้นายกฯและคนที่เกี่ยวข้องกับมือ

ไม่ตอกย้ำไม่ซ้ำเติม เพราะเขากำลังจะพัง และพังแน่ เพราะเป็นโครงการที่ควบคุมคอร์รัปชันไม่ได้ ให้แน่มาจากไหนก็ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าจะถอยก็ต้องยกเลิกไปเลย

คำทักท้วงของนายวีรพงษ์ไม่ต่างจากฝั่งประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อ้างว่า มีชาวนามาร้องเรียนเอาข้าวไปจำนำเป็นเดือนแต่ไม่ได้เงิน แสดงให้เห็นว่ามีการคอร์รัปชัน

การรับจำนำในราคาสูงยังต้องใช้เงินหมุนเวียนหลายแสนล้านบาท รัฐบาลจะได้เงินคืนเมื่อขายข้าวได้ แต่ประมูลข้าวทีไรขายไม่ค่อยได้ หากถลำลึกไปเรื่อยๆ ระบบการค้าข้าวจะเสียหาย ข้าวที่เก็บไว้จำนวนมากก็จะเสื่อมคุณภาพ เกิดความเสียหายซ้ำซ้อน

ไม่คุ้มทุน ทุจริต คือมุมมองของฝ่ายค้าน

แล้วก็เป็นอะไรที่จะตามแห่กันมาเป็นขบวน

นายอดิศร อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รวบรวมรายชื่อนักวิชาการจากนิด้า 60 คน ธรรมศาสตร์ 20 คน ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการรับจำนำข้าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 วรรค 1 ที่ห้ามรัฐทำธุรกิจแข่งกับเอกชน

การรับจำนำข้าวจึงไม่อาจทำต่อไปได้แม้จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เห็นว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายใหญ่ มากกว่าเกษตรกรรายย่อย

คือมุมมองของนักวิชาการกลุ่มนี้

ไม่ต่างจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท จะขาดทุนราว 110,000 ล้านบาท และเป็นเงินที่จ่ายให้เกษตรกรจริงๆแค่ประมาณ 1,000,000 กว่าครัวเครือน เม็ดเงินประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท ที่เหลือเข้ากระเป๋าโรงสี

สรุปแนวความคิดของฝ่ายต้านคือ หาเสียง ไม่คุ้มทุน ทำลายระบบ และทุจริต

แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักแต่รัฐบาลก็เดินหน้ารับจำนำต่อ เพราะเห็นว่าผลประโยชน์ตกอยู่กับชาวนาโดยตรง

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีอนุมติงบประมาณอีก 240,000 ล้านบาท เพื่อใช้รับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2555-2556 จำนวน 15 ล้านตัน

ไม่ใช่ว่าไม่ฟังคำคัดค้าน ไม่รู้จุดบกพร่อง แต่รัฐบาลเลือกที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดไปพร้อมกับเดินหน้าโครงการมากกว่าการล้มเลิกตามกระแสเรียกร้อง

ครั้งนี้รัฐบาลสั่งตรวจสอบชาวนาที่นำข้าวมาจำนำเกิน 500,000 บาท เพราะเกรงว่าจะมีการนำข้าวที่อื่นมาสวมสิทธิ

ตั้งคณะกรรมการระดับโรงสีเพื่อตรวจสอบคุณภาพข้าว

ขยับเพื่อปิดจุดอ่อนที่ถูกโจมตีเรื่องทุจริต

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า เดือนต.ค. นี้จะมีเงินเข้ามาจากการระบายข้าวออก 40,000 ล้านบาท และสิ้นปีจะมีเงินจากการระบายข้าวอีก 100,000 ล้านบาท

ตัวเลขรายได้จากการขายข้าวในสต็อกรัฐบาลได้แน่ๆ 140,000 ล้านบาท

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การรับจำนำข้าวเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกร ทุกข้อห่วงใยเรารับไว้พิจารณา และจะปรับปรุงข้อบกพร่อง ต้องขอเวลาในการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

นายกฯยังเล่นบทนอบน้อมไม่ชนตรงๆกับฝ่ายต่อต้าน แต่ที่ได้ใจชาวนาคงเป็นคำพูดที่ว่า

“ทำให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถใช้หนี้สินต่างๆได้ จะเป็นวงจรหมุนเวียนเศรษฐกิจ อยากให้ดู 2 ส่วนนี้ประกอบกัน”

ยังไงก็มองประโยชน์ที่ชาวนาเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะมองประโยชน์ชาวนาป็นหลัก และการทุจริตยังอยู่แค่ระดับปฏิบัติไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรง

แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีกลับคำร้องของนักวิชาการจากนิด้าและธรรมศาสตร์

แต่รัฐบาลก็วางใจไม่ได้โดยเฉพาะเรื่องแง่มุมกฎหมาย เพราะการตีกลับคำร้องไม่ใช่ปฏิเสธไม่รับคำร้อง

แค่ให้กลับไปเขียนให้ชัดว่าร้องเรื่องอะไร และจะให้ศาลสั่งว่าอะไร ยังเปิดช่องรอรับเรื่องอยู่

ทราบมาว่าประเด็นที่จะส่งกลับเข้าไปใหม่จะให้ตีความคำว่า “จำนำ” เพราะหลักการของการ “จำนำ” คือต้องรับของไว้ในราคาที่ต่ำกว่าตลาด เพื่อให้คนจำนำมาไถ่ถอนไปขายเมื่อราคาขึ้นถึงในจุดที่ต้องการ

การให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าราคาตลาดจึงไม่ถือเป็นการ “จำนำ” แต่เป็นการ “ซื้อ”

เมื่อเป็นการ “ซื้อ” แล้วเอาไป “ขาย” ก็เข้าข่ายทำธุรกิจ ผิดรัฐธรรมนูญแน่นอน

รัฐบาลอาจตายน้ำตื้นเพราะการเปิดพจนานุกรมตัดสินด้วยการตีความคำว่า “จำนำ” ซ้ำรอยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่เปิดพจนานุกรมตีความคำว่า “ลูกจ้าง” อีกครั้งก็เป็นได้

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จับตา จริยธรรมนักการเมือง จับทางอนาคต ยงยุทธ !!?

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ กระทำผิดวินัยร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กรณี ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์เมื่อครั้งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยปี 2543 ป.ป.ช.ส่งหนังสือสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา “ลงโทษ” นายยงยุทธ และที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย เมื่อ วันที่ 14 กันยายน 2555 จึงอยู่ใน “ภาวะจำยอม” มีมติ “ลงโทษไล่นายยงยุทธออกจากราชการ” แต่ห้อยท้ายด้วย “ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 30 กันยายน 2545”

กรณีของนายยงยุทธ คณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน ได้อ้างเหตุผลตามความ เห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เข้าข่าย เงื่อนไขของกฎหมายล้างมลทินปี 2550 การอธิบายของ อ.ก.พ. เหมือนง่ายๆ เพื่อให้ทุกอย่างจบและสงบเงียบ แต่ตรงกัน ข้ามกลับเต็มไปด้วยความยุ่งยาก คลุมเครือ จนเกิดช่องว่างให้พรรคประชาธิปัตย์แทรกตัว มาหยิบ “ความยุ่งยาก” ไปขยายผลสู่เกมการเมืองถล่มนายยงยุทธว่า เป็นบุคคลมีสถานภาพขัดรัฐธรรมนูญ

* เกมรุก “ประชาธิปัตย์”

ลึกๆ แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ต้องการเล่นงานนายยงยุทธ ใน 2 ระดับ คือ 1 ให้สังคมวิจารณ์ โจมตีจริยธรรมทางการเมือง และ 2 ให้นายยงยุทธหลุดจาก ส.ส. และ รัฐมนตรีมหาดไทย เพื่อทำให้ความเชื่อมั่นของรัฐบาลระส่ำระสาย นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคได้พิจารณาความผิดของนายยงยุทธ และเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ “การเป็น ส.ส.และรัฐมนตรี” ว่า “ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่”

สิ่งนี้ กลายเป็นจุดเริ่มของเกมการ เมืองที่โหมรุกให้ตำแหน่ง “ส.ส.และรัฐมนตรี” ของนายยงยุทธต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมอย่างยิ่ง การตีความ “การเป็น ส.ส.และรัฐมนตรี” นั้น พรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่า โทษ “ไล่ออก” ของนายยงยุทธ เข้าข่ายลักษณะ “ต้องห้าม” ในตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งควรส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นข้อยุติ

แนวโน้มท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ มีความเป็นไปได้ว่า ต้องนำเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังผล “วัดใจ” ตุลาการศาล รัฐธรรมนูญในข้อกฎหมายและต้องการเน้น ให้สังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จริยธรรมนักการเมือง โดยเฉพาะบุคคลดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีบริหารประเทศจึงต้องมีจริยธรรมที่สูงกว่านักการเมืองทั่วๆ ไป

ประเด็นในข้อกฎหมายขึ้นอยู่กับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 102 (6) ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามสำคัญในการใช้ เล่นงานนายยงยุทธ สาระสำคัญของมาตรา นี้อยู่ที่ “โทษทางวินัยข้าราชการ” ซึ่งไม่ใช่ “ความผิด” รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.และรัฐมนตรี เชื่อมโยงกัน ไว้หลายมาตรา นับตั้งแต่มาตรา 182, 174, 102 และประกอบด้วยมาตรา 91

พิจารณา “โทษ” ของนายยงยุทธ ย่อมเข้าข่ายตามมาตรา 182 (5) ซึ่งกำหนด ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว “เมื่อ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 174” ในมาตรา 174 (4) กำหนดคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีว่า “ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 102 (6)” แก่นกลางของมาตรา 102 เป็นลักษณะต้องห้ามบุคคล มิให้ใช้สิทธิสมัครรับ เลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ใน (6) กำหนดว่า “เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือ ถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ”

ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างของนายยงยุทธ เข้าข่ายรัฐธรรมนูญทุกมาตราที่กำหนด “คุณสมบัติต้องห้าม” ไว้ จนยากจะดิ้นหลุด ไม่เพียงเท่านั้น กรณีนายยงยุทธยังถูกลากยาวไปสู่การสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามมาตรา 106 (5) ที่กำหนดว่า “มีลักษณะ ต้องห้ามตามมาตรา 102” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม “โทษไล่ออก” ของนายยงยุทธ แม้มีคำสั่งให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ 30 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นวันเกษียณ ราชการนั้น แต่ได้รับผลของกฎหมายล้างมลทินปี 2550 ตามมาตรา 5 ซึ่งกำหนดว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษ ทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้รับโทษหรือทัณฑ์บนทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่ที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่า ผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์บนในกรณีนั้นๆ” ดูเหมือนนายยงยุทธมีตัวช่วยให้รอด ตัวจากคุณสมบัติข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหายังไม่จบง่ายๆ

ควรขีดเส้นใต้หนาๆ กับวลี “เคย” เพราะเป็นการบ่งชี้ถึงลักษณะโทษที่มีมิติกว้างขวางอย่างยิ่ง และวลีนี้ยังบ่งถึงตำแหน่ง ทางการเมืองของนายยงยุทธอย่างยิ่ง อาจ ตกอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมวลีว่า “เคยถูกไล่ออก” นั้น พรรคประชาธิปัตย์มุ่งหวังให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความในด้านการบังคับแบบเด็ดขาดเป็นการเฉพาะกับนักการเมือง เพื่อนำมาเล่นงานนายยงยุทธ พร้อมๆ กับเป็นการ สร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองขึ้นมาใหม่ให้เป็นมาตรฐาน

หากพรรคประชาธิปัตย์นำกรณีนายยงยุทธไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญจริงแล้ว ย่อมมี ความเป็นไปได้สูงว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้ “พจนานุกรม” มาหาคำจำกัดความคำว่า “เคย” แล้วมัดเป็นข้อกฎหมายมาใช้เล่นงานนายยงยุทธได้ คำว่า “เคย” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี 2542 ให้ความหมายว่า ได้เป็นมาแล้ว, ปฏิบัติมาแล้ว โดยอธิบาย ถึงคำที่ใช้เป็นคำประกอบหน้ากริยาแสดงว่ากริยานั้นๆ ได้เป็นมาแล้ว เช่น เคยทำ = ได้ทำมาแล้ว หรือ เคยเห็น = ได้เห็นมาแล้ว

การใช้พจนานุกรมมาให้คำนิยามข้อกฎหมายนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเหตุการณ์ ทางการเมือง 2 กรณี กรณีที่ชัดเจนคือ เหตุการณ์นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นิยามคำว่า “ลูกจ้าง” ตามความหมายของ พจนานุกรม อีกกรณีล่าสุด ป.ป.ช.ใช้พจนานุกรมมานิยามคำว่า “แทรกแซงหรือก้าวก่าย” มาอธิบายข้อกฎหมายชี้ความผิดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จนนำไปสู่การยื่นเรื่อง ให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือไม่ด้วย ดังนั้น ในด้านกฎหมายนายยงยุทธอาจมีโอกาสรอดข้อกล่าวหา เพราะมีกฎหมาย ล้างมลทินปี 2550 มาเป็นตัวช่วย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญคำนึงถึงด้าน “จริยธรรมนักการเมือง” แล้วนำมาเป็นองค์ ประกอบการการวินิจฉัย ย่อมทำให้ตำแหน่ง ทางการเมืองมีโอกาสสั่นสะเทือนได้สูง

*  ก้าวข้ามข้อกฎหมาย

เป็นไปตามคาดว่า นายยงยุทธ ลาออกจาก รมว.กระทรวงมหาดไทย และรองนายกรัฐมนตรี ตามเสียงเรียกร้องของพรรคประชาธิปัตย์และวุฒิสภากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กดดันอย่างหนักในขณะนี้ เพราะนายยงยุทธได้หันหน้ามาต่อสู้ และดูเหมือนเขามั่นใจความบริสุทธิ์ของตัวเองว่า ไม่ผิดข้อกฎหมาย เนื่องจากได้กฎหมาย ล้างมลทินปี 2550 มาปกป้องสถานภาพทาง การเมืองของเขาไว้

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจเปิดเกมรุกทางการเมืองก่อนพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยื่นหนังสือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติทาง การเมืองของตัวเอง เกมนี้คือ ช่วงชิงเหตุผลมาเป็นข้ออ้าง จากแรงกดดันให้ลาออก

หากพิจารณาบนพื้นฐาน “เกมการเมือง” แล้ว มีความเป็นไปได้ว่า กกต.คงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตาม ช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคสาม ที่กำหนดให้กระทำได้ ดังนั้น กรณีของนายยงยุทธ อย่างน้อยมีข้อพิจารณา 2 ประการสำคัญ คือ 1.นายยงยุทธ ในฐานะข้าราชการกระทรวง มหาดไทยได้รับโทษ “ไล่ออก” จากราชการแล้วหรือไม่ และ 2.โทษของนายยงยุทธจะกระทบต่อตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบันนี้หรือไม่

เมื่อพิจารณาเฉพาะ “โทษไล่ออก” ของนายยงยุทธแล้ว ย่อมเข้าข่ายตามลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่เป็น ส.ส.และรัฐมนตรีอย่างชัดเจน แต่ได้ประโยชน์จากกฎหมายล้างมลทินปี 2550 ตามมาตรา 5 ซึ่งกำหนดว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้รับโทษหรือทัณฑ์บนทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ โดยให้ถือว่า ผู้นั้น “มิได้เคยถูกลงโทษ” หรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ”

ผลของคำสั่งให้ย้อนหลังจึงเท่ากับว่า นายยงยุทธ “ได้รับโทษ” แล้ว และโทษ ดังกล่าวนั้นได้เปลี่ยนสถานภาพ “ข้าราชการ” จาก “เกษียณราชการ” กลายเป็นถูกไล่ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2545 แต่ความผิดของนายยงยุทธ เกิดขึ้นเมื่อปี 2543 และถูกลงโทษเมื่อกันยายน 2545 ในระหว่างมีความผิดและการลงโทษที่เกิดขึ้นนั้น ในปี 2550 มีกฎหมายล้าง มลทินมาบังคับใช้

นายยงยุทธจึงเข้าข่ายตามเงื่อนไขของกฎหมายนี้ทุกประการ ประกอบกับกฤษฎีกาได้ยกกรณีคดี ที่ 440/2526 มาเทียบเคียงกรณีผู้กระทำผิดได้เกษียณราชการ ซึ่งระบุว่า “ผู้บังคับบัญชาจะมีคำสั่งลงโทษภายหลังจากที่พระราชบัญญัติล้างมลทินใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่ถ้าผลของคำสั่งลงโทษนั้น ทำให้ข้าราชการผู้ใดได้รับโทษก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ใช้บังคับแล้ว ข้าราชการผู้นั้นย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย”

นายยงยุทธ เกษียณราชการเมื่อ 30 กันยายน 2545 ดังนั้นมติ อกพ.มหาดไทยจึงย้อนหลังไปในวันที่ 30 กันยายน 2545 เขาโชคดีได้ประโยชน์จากกฎหมายอีก แต่ความจริงในปัจจุบันคือ สถานภาพ ของนายยงยุทธ ในฐานะ “ความเป็นมนุษย์” เขายัง “มีความผิดวินัยร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ” ติดตัว นั่นเท่ากับบ่งบอกพื้นฐานจิตใจอยู่ลึกๆ และยากจะสลัดออกได้ ส่วนการบังคับใช้โทษบนฐานความผิด นี้ ได้ถูกลบล้างด้วยกฎหมายล้างมลทินปี 2550 ตามมาตรา 5 มนุษย์เมื่อมีปมความผิดร้ายแรงอันเป็นที่ชิงชังของสังคมถูกทับถมอยู่ในใจลึกๆ แม้มีอิสระจากโทษ แต่ไม่สามารถล้างประวัติ ในเครดิตบูโรชีวิตให้ขาวสะอาดได้ ช่างเป็น อาการทรมานยิ่ง

* สถานการณ์อันตราย

กรณีของนายยงยุทธ นอกจากข้อกฎหมายมีความสำคัญแล้ว ในด้านจริยธรรมนักการเมืองอาจทำให้ลากไปเกี่ยวข้อง กับประเด็นข้อกฎหมายได้อย่างระทึกและน่าสนใจ น่าสนใจกับวลีที่ว่า “เคยถูกไล่ออก” แม้ความหมายตามตัวอักษรเข้าใจได้ง่ายๆ แต่สาระสำคัญในข้อกฎหมายตามมาตรา 102 (6) มีลักษณะเป็นการกำหนดคุณธรรม ของนักการเมืองที่ควรจะมีในระดับสูงเหนือ กว่าบุคคลทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้การตีความกฎหมายอย่าง เคร่งครัด เพื่อกำหนดคุณธรรมและจริยธรรม ของนักการเมืองไว้เป็นมาตรฐาน และสิ่งสำคัญคือ กฎหมายล้างมลทิน มีสาระหลักอยู่ที่การ “ล้างโทษ” ไม่ได้ล้าง “ความผิด” ซึ่งความผิดเป็นการสะท้อนถึงคุณธรรมและจริยธรรมของพฤติกรรมมนุษย์

แม้นายยงยุทธได้รับการล้างโทษตาม กฎหมายล้างมลทิน แต่ในด้านจริยธรรมนักการเมืองแล้ว อาจมีความเป็นไปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่นำมา “ลบล้าง” วลี “เคยถูกไล่ออก” ดังนั้น ในด้านคุณธรรมและจริยธรรมนักการเมืองนายยงยุทธจึงมีความเสี่ยงสูง และมีแนวโน้ม “ตายน้ำตื้น” กับการตีความกฎหมายแบบเด็ดขาด

ขณะนี้ สถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในช่วงกลุ่มอำนาจต่อต้านพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลพยายาม “สะสมพลัง” ให้มีคุณภาพเพื่อกดดันรัฐบาล ปัจจัยที่จะทำให้กลุ่มต่อต้านมีพลังมากขึ้นคือ การทำลายความเชื่อมั่นรัฐบาล รัฐมนตรี ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม พลังอื่นๆ จึงเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบไม่ ต้องคิดมาก เพราะไม่มีอะไรต้องสูญเสียอีกการกดดันให้ล้มโครงการจำนำข้าว การโจมตีด้านการทุจริต แล้วมาถึงกรณีของ นายยงยุทธ ที่เป็นการโจมตีด้านจริยธรรมนักการเมืองเป็นหลัก มากกว่าจะมุ่งเล่นงาน ด้านกฎหมาย บนสถานการณ์ความกดดันเหล่านี้ พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพลังต่อต้านได้รับการตอบรับจากสื่อมวลชนนำไปขยายผลและวิจารณ์ให้รัฐบาลเกิดการเสียหายทางการเมืองอย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกล่าวเฉพาะกรณีนายยงยุทธแล้ว นับว่าเป็นเกมที่กลุ่มพลังต่อต้านได้รุกกดดัน และมีอำนาจในการกำหนดผล คือการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมี “เกม” อำนาจการ เมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น การวินิจฉัย ในข้อกฎหมายจึงเป็นด้านรอง สิ่งสำคัญอยู่ที่การนำเหตุผลด้านคุณธรรมและจริยธรรมนักการเมืองมาตีความข้อกฎหมาย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน ย่อมมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้น เครดิตบูโรชีวิตของนายยงยุทธที่ไม่อาจล้างให้หมดจดได้ ย่อมส่อสัญญาณให้ตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรีอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมและอันตรายยิ่งดิ้นรอดยากจริงๆ นอกจากตัดใจ “ลาออก” หรือจะปล่อยให้ถูก “ปลดออก” ซ้ำสองก็ควรเลือกเอา


ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พม่าแซงไทยใน UNGA .





คอลัมน์ : วิเทศวิถี โดย วรรัตน์ ตานิกูจิ

ใครต่อใครที่จับตาดูการเดินทางไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งแรกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คงมองผลการเดินทางเยือนครั้งนี้แตกต่างกันไป สำหรับคนเสื้อแดงที่มีบางส่วนมาต้อนรับและรอส่งที่หน้าโรงแรมพลาซ่า แอทธินี ในนครนิวยอร์ก กับคนเสื้อเหลืองที่ขนคนมาประท้วงต่อเนื่องกันหลายวันหน้าโรงแรมที่พักแห่งเดียวกัน

การเดินทางครั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จŽ หรือไม่ ย่อมเป็นมุมมองที่ต่างกันคนละขั้ว ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไร นาทีนี้ประเทศไทยก็ยังมีนายกรัฐมนตรีหญิงที่ชื่อยิ่งลักษณ์ ซึ่งแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามักจะพูดไม่ค่อยคล่องแคล่วในที่สาธารณะ หรือเป็นนายกรัฐมนตรีนอมินีของพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ระหว่างการมาร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) สมัยที่ 67 ครั้งแรกนี้ คือ นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยมีความ อึดŽมากกว่าที่ใครต่อใครคาดคิด เห็นได้จากการเข้าร่วมกำหนดการที่ค่อนข้างอัดแน่นในทุกๆ วันตั้งแต่เช้ายันค่ำ

ใครที่อยากรู้ว่าการขึ้นพูดในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยที่ 67 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นอย่างไร สามารถเปิดดูที่เว็บไซต์ของสหประชาชาติได้ตามสะดวก

หากจะให้คำจำกัดความสั้นๆ คงต้องบอกว่าไม่มีอะไรที่เหนือความคาดหมาย และถือว่าเอาตัวรอดไปได้ เพราะขนาดในเวทีเอเปคซึ่งมี 21 เขตเศรษฐกิจ มาตรฐานการ อ่านŽ หรือ พูดŽ ภาษาอังกฤษของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้ถือว่าย่ำแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับผู้นำอีกหลายชาติ แต่จะถูกใจคนฟังแค่ไหนก็ขึ้นกับจริตของแต่ละคน

ขณะที่ในเวทีอื่นๆ ที่เดินทางไปเข้าร่วมนอกเหนือจากนั้นในกรอบสหประชาชาติ อาทิ การเข้าร่วมงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมโครงการ Every Woman Every Child ที่เป็นความริเริ่มของ นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของสตรีและเด็กให้ได้ถึง 16 ล้านคนภายในปี 2558 น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์คนแรกในงานดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หากจะถามว่าอะไรน่าจะเป็น ความสำเร็จŽ ที่แท้จริงของการเดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ความสนใจของผู้คนควรเปลี่ยนมาจับจ้องที่การพบปะกันระหว่าง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับ เจ้าชายอับดุลอาซิส บิน อับดุลลาห์ อับดุลอาซิส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่คณะทูตถาวรซาอุดีอาระเบียในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่25 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐมากกว่า

เพราะนี่คือการพบปะกันในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอย่าง เป็นทางการŽ ครั้งแรกในรอบ 21 ปี

ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ทราบดีว่าสิ่งที่จะหารือกันคือปัญหาที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศประสบภาวะชะงักงันมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เพียงการหารือกันระหว่างไปร่วมงานหรือด้วยเหตุผลอื่นเช่นที่ผ่านมาในอดีต

สิ่งที่เห็นทำให้เข้าใจว่าดูเหมือนฝ่ายซาอุดีอาระเบียก็ต้องการเผยแพร่ข่าวการพบปะหารือครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่เพียงแต่จะอนุญาตให้สื่อมวลชนไทยสามารถขึ้นไป เก็บภาพŽ การหารือได้เท่านั้น แต่ยังมีสื่อซาอุดีอาระเบียอีกหลายสำนักพากันขึ้นไปถ่ายภาพการหารือที่มีขึ้นเช่นกัน

แน่นอนว่าคงไม่อาจมีข้อสรุปใดๆ ที่ชัดเจนได้ในการพูดคุยเพียงครั้งเดียว หลังจากนี้ คงต้องมีการเดินหน้าแก้ไขสิ่งที่ยังค้างคาความรู้สึกกันต่อไป แต่อย่างน้อยประตูอีกบานหนึ่งก็ถูกแง้มออกมาให้ได้เห็นแสงสว่างกันบ้าง แม้จะเป็นเพียงแสงแรกก็ตามที

สัจธรรมหนึ่งในชีวิตคือหากไม่คาดหวัง จะไม่ผิดหวัง เพียงแต่คิดว่าเมื่อมีโอกาส เราได้ทำอย่างดีที่สุด แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็คงต้องคอยดูกันต่อไป

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเอกภาพในการทำงานของหน่วยราชการไทย โดยเฉพาะความพยายามที่จะแข่งกันให้ข่าว อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการและความพยายามในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้เช่นกัน

อีกเรื่องสำคัญที่มีความคืบหน้าคือการหารือระหว่างผู้นำไทยและพม่าในความร่วมมือเพื่อการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่สองฝ่ายได้ตกลงจะตั้งคณะกรรมการขึ้นเป็น 3 ระดับ เพื่อเดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศความร่วมมืออีกครั้งในการประชุมผู้นำอาเซียนเดือนพฤศจิกายนนี้ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ประเด็นหลักที่ผู้นำชาติต่างๆ พูดถึงอย่างมากในเวทียูเอ็นจีเอครั้งนี้คงไม่มีเรื่องใดร้อนแรงเท่าปัญหาในซีเรีย ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ยังหาทางออกแบบสันติวิธีใดๆ ไม่ได้ และยังมองไม่เห็นหนทางเช่นกันว่าจะยุติลงเมื่อใด ขณะที่ชาติมุสลิมหลายชาติตั้งคำถามถึง เสรีภาพŽ ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐยังคงยกย่องเชิดชู หลังเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกอันมีสาเหตุจากวิดีโอเจ้าปัญหา อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิมส์Ž ที่ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวเป็นผู้นำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ

ขณะที่หนึ่งในผู้ที่ได้รับความสนใจเป็นลำดับต้นๆ ย่อมต้องมีชื่อประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ที่เดินทางมากล่าวถ้อยแถลงในเวทียูเอ็นจีเอปีนี้ หลังผลักดันการปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตยจนได้รับความยอมรับจากประชาคมโลก แม้จะยังมีการตั้งเงื่อนไขอะไรบางอย่างก็ตามที ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่าเดินทางเยือนสหรัฐเช่นกัน ซึ่งข่าวว่าทั้งคู่ยังได้พบกันในโรงแรมที่พักของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ด้วย

แต่ที่สร้างความตกตะลึงมากกว่าการมาปรากฏตัวในเวลาเดียวกันของผู้นำรัฐบาลและผู้นำฝ่ายค้านพม่าในสหรัฐคือคำพูดของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่ชื่นชมยกย่องการแสดงบทบาทของซูจีในด้านประชาธิปไตยกลางเวทียูเอ็นจีเอ ที่เชื่อเถิดว่าหากเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้ฟังคำยกย่องชื่นชมซูจีออกจากปากผู้นำพม่าเป็นแน่

พม่าที่ว่าเปลี่ยนยากเขายังเปลี่ยนแปลงแล้ว

ส่วนไทยไม่รู้ต้องรอถึงเมื่อไหร่จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประเทศเราพ้นจากความขัดแย้งไปและเดินไปข้างหน้ากันได้เสียที

 ที่มา มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ปลัดพาณิชย์ โต้อาจารย์นิด้าจำนำข้าว ไม่ขัด รธน. !!?

ปลัดพาณิชย์คนใหม่ โต้อาจารย์นิด้า โครงการรับจำนำข้าว เพราะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ว่าจากการหารือระหว่างทีมที่ปรึกษาของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับนักวิชาการหลายสถาบัน ถึงข้อท้วงติงของอาจารย์สถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า มีความเห็นตรงกันว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (1) โดยเห็นว่าเป็นการดำเนินการแบบเสรี และเป็นธรรมอีกทั้ง ยังอาศัยกลไกตลาด ในขณะที่มองว่านโยบายแทรกแซงราคาข้าวที่ผ่านมา ไม่เป็นธรรม และมีจุดอ่อนมาก อีกทั้ง ตลาดยังเป็นของผู้ซื้อและผู้ขาย ถูกกดราคาข้าวมาตลอด แต่นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินนโยบายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวนาไทย

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่สำรวจมาพบว่าโครงการรับจำนำ สามารถช่วยให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้นรวมทั้งระบบ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ 140,000 ล้านบาท และรายได้ของเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำแต่ได้รับอานิสสงส์จากการที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอีกประมาณ 57,000 -6 หมื่นล้านบาท

ช่วงท้ายปี กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ดำเนินนโยบายเร่งรัดการส่งออกข้าว โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลให้การส่งออกข้าวลดลง มาจากเรื่องการรับจำนำข้าว ทำให้ราคาข้าวของไทยสูง ทำให้ผู้ซื้อชะลอการซื้อ และคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าว เช่น อินเดีย ขายตัดราคา แต่ในอนาคต

มั่นใจว่าจะรักษาแชมป์ส่งออกข้าวได้อย่างแน่นอน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อย่า : อกตัญญูประชาชน !!?

ในสังคมประชาธิปไตยของโลกนั้น..สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการเอาชนะการเลือกตั้ง..เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ..เพราะจะต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจำนวนที่มากกว่า..
ดังนั้น..ตำแหน่งที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงมีความสำคัญสูงสุด..อย่างเช่น..ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา..หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรอังกฤษ

เมื่อใดที่การเลือกตั้ง..คือความสำคัญสูงสุด..และได้รับการยอมรับจากมวลชนทุกฝ่าย..การเมืองในประเทศนั้นก็จะเป็นเพียงกลไกเพื่อจะให้ได้มาซึ่งส่วนที่ดีที่สุดของการพัฒนาประเทศ.
การเมืองในประเทศนั้นก็จะราบนิ่ง..ไม่วุ่นวายไม่บ่อนทำลายความมั่งมีศรีสุขของประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติ

ทว่าหากว่า..อำนาจจากการเลือกตั้ง..เป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมหรือการย้อมแมว..และมีอำนาจอีกมากมายที่เหนือกว่ายิ่งใหญ่กว่า..และสามารถดลบันดาลให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งล่มสลายหรือกลายเป็นอื่นได้..
ประเทศนั้นก็จะจมอยู่ในปลักตมแห่งความวุ่นวายไร้ความสงบ ไม่บังเกิดสันติสุขล้นพ้นไปด้วยความทุกข์และท่วมทันไปด้วยไฟแห่งความแตกแยก..ในที่สุดจะแหลกยับ

วันนี้ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น..เลือกนาย ยงยุทธ วิชัยดิษฐ..หัวหน้าพรรคให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย..เช่นเดียวกับที่อดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช เคยได้รับ..เป็นอำนาจที่ประชาชนมอบให้..
แต่ สมัคร สุนทรเวช..หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี..เพราะการกล่าวหาในข้อหาที่จิ๊บจ๊อยจนเรียกได้ว่าไร้สาระ..วันนี้ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ..กำลังโดนในแบบเดียวกัน

เป็นคำกล่าวหา..ที่ไม่ถูกนำขึ้นสู่ศาลสถิตยุติธรรมอันเป็นปรกติธรรมเนียม..แต่เพียงเพราะคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า..และบอกว่า..ผิด

และแม้ว่าความผิดนั้นจะได้รับการผ่อนผันไปแล้ว..จากพระบรมราชโองการแห่งองค์พระมหากษัตริย์..แต่ขบวนการไล่ล่า..ก็ยังบิดเบือนไม่ยอมรับ..

หากพรรคเพื่อไทย..ยอมจำนนต่อขบวนการไล่ล่า..ไม่กล่าเผชิญหน้ากับ..สิ่งแปลกเปื้อนปลอมปน..ก็จงประกาศยุบพรรคและล้างมือไปจากการเมืองเสีย..และนั่นเป็นการอกตัญญูต่อชีวิตและการบาดเจ็บล้มตายของประชาชน..ที่ต่อสู้เพื่อจะให้พรรคเพื่อไทยได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้..
เพราะถึงไม่มีพรรคเพื่อไทย..ประชาชนก็จะสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป..

โดย.พญาไม้,บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

หัวเว่ย จ้องฮุบสุวรรณภูมิ 2 ซินเซียง ผุดคลังสินค้า 3 พันไร่ ทุนจีนถือฤกษ์ AEC บุกไทย !!?

ทำเนียบฯ - ยักษ์ใหญ่ “แดนมังกร” รุกขยาย ฐานลงทุนในไทย “หัวเว่ย” จ้องฮุบงานใหญ่ สุวรรณภูมิเฟส 2 ด้าน “ไทยแลนด์ ซินเซียง รับเบอร์” กว้านซื้อที่ดินใกล้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย กว่า 3,000 ไร่ สร้างคลังกระจายสินค้ารับ AEC "เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ ออโตโมบิล" ทุ่ม 15,000 ล้านบาท ลงทุนในไทยผลิตรถเก๋งภายใต้แบรนด์ ็เอ็มจีิ เผย 6 เดือนแรกของปีนี้นักธุรกิจ จีนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 18 โครงการ

ภายหลังจาก 10 ประเทศอาเซียนได้มีการตกลงเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน Economics Community (AEC) เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และมีจะผลวันที่ 1 มกราคม 2558 ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีนได้เข้าลงทุนในประเทศไทยกันอย่างคึกคัก

ล่าสุดแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง "หัวเหว่ย" ยักษ์วงการสื่อสารจากสาธารณรัฐประชา ชนจีนได้ประสานติดต่อกับนักการเมืองเพื่อเข้ามาขอรับทราบข้อมูลโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทย หนึ่งในนั้นก็คือโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่ากว่า 62,000 ล้านบาท ที่กำลังจะเปิดประมูลในเร็ว ๆ นี้ ตามคำสั่งของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความแออัดสนามบินสุวรรณภูมิ

"หัวเหว่ยได้มอบหมายให้ตัวแทนประสานไปยังผู้รับเหมาฯที่จะเข้ามารับช่วงงานแต่ละส่วน เพื่อเตรียมพร้อมรับงานใหญ่นี้แล้ว โดยในส่วนของงานก่อสร้างก็ได้มีการสั่งซื้อทรายและวัสดุก่อสร้างไว้ล่วงหน้าเพื่อยืนยันถึงความพร้อม โดยมั่นใจว่าจะคว้างานใหญ่นี้ได้อย่างแน่นอน"

นายชวลิต สุธรรมวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ผ่านมาเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มนักลงทุนประเทศจีนได้ขยายมายังประเทศในในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีชัยภูมิที่เป็นเหมาะแก่การลงทุกกว่าประเทศข้างเคียง ซึ่งเชียงรายถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการลงทุน เนื่องจากมีชายแดนสำคัญ 3 จุด นั่นคือ ที่อำเภอแม่สาย เขตติดต่อกับท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ที่อำเภอเชียงแสน ติดกับแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว และที่อำเภอเชียงของ ติดกับแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว

ปัจจุบันการค้าชายแดนจังหวัดเชียงรายแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท หากเปิดเสรีการค้าแล้วเชื่อว่าจะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทอย่างแน่นอน นอกจากมีจุดค้าชายแดนใหญ่ๆ ทั้ง 3 จุดแล้ว ยังมีปัจจัยเอื้ออื่นๆ อีก เช่น การคมนาคมในแม่น้ำโขง สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงของ ท่าเรือแห่งใหม่ที่เชียงแสน ที่เปิดใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา รองรับเรือสินค้าจากจีน และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง นอกจากนี้ เชียงรายยังมีถนนเชื่อมระหว่างประเทศสายสำคัญอีกคือ อาร์สามเอ ลากจากจีน ผ่านลาวสู่ไทยที่เชียงของ และอาร์สามบี ลากเส้นจากจีน ผ่านพม่า เข้าไทยที่แม่สาย โดยเฉพาะบริเวณถนนอาร์สามเอ ผ่านลาวเข้ามาเชียงของนั้น มีสะพานข้ามโขงเชื่อมโยง จุดนี้นักธุรกิจไทยเข้าไปจับจองพื้นที่ทำธุรกิจกันคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นสหฟาร์มที่เข้าไปตั้งโกดังซื้อข้าวโพดผลิตอาหารสัตว์ และโครงการนาคราช นคร ของ ดร.สิชา สิงห์สมบุญ เข้าไปเช่าพื้นที่ฝั่งลาวระยะยาว พัฒนาเป็นแหล่งสินค้าปลอดภาษี โรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

"ตอนนี้มีกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีนได้เข้ามาซื้อที่ดินไว้ในพื้นที่อำเภอเชียงของกว่า 3,000 ไร่ เพื่อจัดสร้างเป็นคลังและศูนย์กระจายสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยดำเนินในนามบริษัท ซินเซียง รับเบอร์ จำกัด ขณะที่ห้างฯโลตัส และไทวัสดุในเครือเซ็นทรัลก็ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่แล้ว" นายชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ ัเซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ ออโตโมบิล็ เตรียมเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถเก๋งภายใต้แบรนด์ ัเอ็มจี็ โดยใช้เงินลงทุนราว 15,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตปีละ 100,000 คัน ทั้งขนาดเครื่องยนต์ 1,300 ซีซี, 1,500 ซีซีและ 1,800 ซีซี เน้นส่งออกไปยังประเทศอาเซียน จากข้อมูลการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ นักธุรกิจจีนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 18 โครงการ มูลค่าการลงทุน 5,532 ล้านบาท

แหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลจีน เปิดเผยว่า การลงทุนของนักธุรกิจจีนในช่วงนี้ที่คึกคักอย่างมาก เพราะรัฐบาลจีนมองว่าการเมืองไทยเริ่มนิ่ง ที่ผ่านมาจีนมีเม็ดเงินจำนวนมากอยากขนเข้ามาลงทุนในเมืองไทย แต่ยังกังวลในเสถียรภาพของรัฐบาลไทย ซึ่งยังมีอีกหลายธุรกิจจ่อเข้ามาลงทุนในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้


ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ธาริต.จัดแบบไม่มีกั๊ก’ มาร์ค-เทือก กระอักเลือด 98 ศพ !!?

รายงานตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน กำลังได้รับการตรวจสอบซ้ำจากกลุ่มพลังอีกหลายกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ย่อมวิพากษ์อย่าง มีอารมณ์ไม่พอใจกับความเห็นเชิงความจริงของ คอป. ที่มีสีสันแบบให้ร้าย พร้อมๆ กับมีความเห็นออกไปแนวให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์ นักวิชาการ และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่ม ล้วนตรวจสอบและพุ่งเป้าแบบ ประชดประชันและใช้วาทะแรงๆ ว่า รายงาน คอป.เป็นใบอนุญาตให้ฆ่าคน

นั่นเป็น “ดับเบิลตรวจสอบ” เพื่อให้ได้ความจริงที่กระจ่าง และอย่างเที่ยงตรง ชัดเจนมากที่สุด ถึงที่สุดแล้วการตรวจสอบพร้อมกับวิพากษ์กลับมีเป้าหมาย ลึกๆ อยู่ที่ต้องการ “ปัด” ความเห็นในเชิงประเด็นทางการเมืองออกไปให้มากเพราะความจริงเชิง “ปัญหาทาง การเมือง” ของรายงาน คอป.มีข้อสรุปความรุนแรงวางน้ำหนักไว้ที่ต้นเหตุปัญหา เกิดจาก “ชายชุดดำ” ที่ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม ทางการเมืองเป็น “กลุ่มกระทำการ” ให้เกิดความตาย 98 ศพ และบาดเจ็บอีกมากกว่า 2,000 คน

- ความเห็นที่ถูกปั่นให้เป็น “ความจริง”

ข้อสรุปของ คอป.สอดคล้องกันชนิดบรรทัดต่อบรรทัดกับชุดข้อมูลบ่งชี้ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้อย่างมากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับ “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)” ที่ออกคำสั่งให้สลายการชุมนุมของ นปช. หนำซ้ำยังเป็นข้อสรุปที่ตรงกับคำให้การในชั้นศาลของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ไก่อู) โฆษกกองทัพบก ที่ยืนยันว่า ชายชุดดำเป็นผู้ก่อความรุนแรงขึ้น

บัดนี้ “ชายชุดดำ” และ “ความตาย 98 ศพ” กลับฟื้นขึ้นมามีชีวิตตามจินตนาการของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ศอฉ. ซึ่งจัดตั้ง ขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ตามอำนาจ ใน พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2548 เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการชุมนุมของ นปช. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เป็นกรรมการรวมอยู่ใน ศอฉ.ด้วย และตามกติกามารยาทต้องรับผิดชอบทุกการกระทำอันเป็นผลงานของ ศอฉ. ด้วยทุกกรณี

ผลงานที่โดดเด่นของ ศอฉ. คือ ออก คำสั่งให้กองกำลังทหารเข้า “กระชับพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” เพื่อกดดันให้ นปช. สลายการชุมนุมเมื่อเมษายนและพฤษภาคม 2553 แต่ด้วยภาษาอันไพเราะนั้น กลับเต็ม ไปด้วยใจเหี้ยมโหด ชอบความรุนแรง จึงใช้อาวุธสงครามมาจัดการผู้ชุมนุมทาง การเมือง และมีความตาย “98 ศพ” บาดเจ็บมากกว่า 2,000 คน ตามมา

หากทหารแบกปืน ไม่ยิงปืนแล้วความตาย 98 ศพ เกิดจากอะไรกัน ในส่วน นี้ คอป. ศอฉ.และนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพ ตอกย้ำชุดความเห็นที่ค่อนไปทางความเชื่อว่า เป็นการกระทำของชายชุดดำ กระทั่ง “ความเห็น” ในปฏิบัติการของชายชุดดำ ได้ถูกแปรรูปให้เป็น “ความจริง” ที่บรรจุในรายงาน คอป.

- ดีเอสไอ เชื่อศาล-เจ้าหน้าที่ฆ่า

ดีเอสไอ หน่วยงานที่ “ธาริต” บังคับบัญชาอยู่รับผิดชอบคดีคนตาย 98 ศพ เขา พิจารณาบาดแผลที่เกิดจากวิถีความรุนแรง ของอาวุธสงคราม ทำให้เขาเชื่อว่า เป็นความตายที่มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐความเชื่อของ “ธาริต” แตกต่างจากข้อสรุปของ คอป. ไม่ตรงกับข้อมูลของ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ พ.อ.สรรเสริญ และ พวก ศอฉ.

ดังนั้น ความเชื่อของ “ธาริต” จึงเป็นชุดข้อมูลการตรวจสอบแบบดับเบิลตรวจสอบ ที่น่ารับฟังอย่างใส่ใจสิ่งสำคัญคือ ธาริตมีความเชื่อบนฐานข้อมูลที่ตรงกันกับคำวินิจฉัยของศาลอาญาที่ไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ชาวจ.ยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ว่า ตายจากการกระทำ ของเจ้าหน้าที่รัฐ

สาเหตุการตายของนายพัน เป็นข้อยุติในกระบวนการยุติธรรม แต่ความตาย 98 ศพของ คอป.ยังพร่ามัวผสมส่วน กับจินตนาการบรรจงสร้างขึ้น ไม่เป็นข้อยุติ นายพัน เป็นศพหนึ่งในจำนวน 98 ศพ ที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้อง ให้นายอภิสิทธิ์ใชอำนาจนายกรัฐมนตรียุบสภาเพื่อยุติความขัดแย้งในสังคมการเรียกร้องตามครรลองประชาธิปไตย กลับได้รับความตายที่ศาลอาญาวินิจฉัยว่า มาจากเจ้าหน้าที่กระทำ นั่นเท่ากับโยงไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธสงครามออกมาปฏิบัติงานตามคำสั่งของ ศอฉ. และเป็น ศอฉ.ที่มีนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเด่นชัด ด้วยเหตุนี้ ความตายของนายพันจึง เท่ากับทำให้นายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพต้อง มีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย

นายธาริตกล่าวว่า ความตายเพียงหนึ่งศพของนายพัน ย่อมเพียงพอกับการตั้งข้อหาดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์กับ นายสุเทพเพื่อให้ศาลวินิจฉัยเป็นข้อยุติ นั่นเท่ากับเป็นปฐมบทของเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภา อำมหิต” ที่กำลังจะเริ่มต้นกลายเป็นคดีอาญา “ฆาตกรรม” กับผู้ต้องหาที่ชื่อ ศอฉ. แล้วการตอบโต้ชนิดกล่าวหา “ธาริต” ให้เสียผู้เสียคน และเลยเถิดไปสู่ “คนเปลี่ยน สี” ทำงานตามใบสั่งทางการเมืองจึงเกิดขึ้น

แน่ละ การเมืองเพื่อความได้เปรียบ และต้องการเป็นผู้ชนะมากกว่าแพ้ ย่อมทำ ได้ทุกอย่าง แม้แต่กล่าวหาและทำให้คนเปลี่ยนสี เลือกข้างก็ยังได้

- “ธาริต” จัดให้ไม่มีกั๊ก

ธาริต เคยให้สัมภาษณ์ “สยามธุรกิจ” ชนิดที่ไม่เคยพูดที่ไหนว่า เขาไม่เคยเปลี่ยน สี เพราะสีของเขาคือ สีข้าราชการ แน่ละ “ข้าราชการ” ย่อมมีสีมีศักดิ์ มีหน้าที่ มีผู้บังคับบัญชา มีชุดอุดมการณ์ในการปฏิบัติงานเฉพาะ ยากที่คนทั่วไปจะ เข้าใจ “นิสัยเถรตรง” ของนายธาริตในคราบของสีข้าราชการที่ไม่เคยเปลี่ยนได้ถึงแก่นนัก

สีข้าราชการของ “ธาริต” อยู่ในตัว เขามาตลอดในยามทำหน้าที่ให้ “ความเป็นธรรม” กับประชาชน แม้การเมืองเปลี่ยนสี พลัดกลุ่มอำนาจ เลือกข้างแบ่งฝ่ายเข้ามาเป็นรัฐบาล ธาริตก็ยังเป็นข้าราชการทำหน้าที่ตามสีเดิม คือ ยังคุม หน่วยงาน ดีเอสไอ

อันที่จริงแล้ว ทั้งพรรคเพื่อไทย (ยุค พรรคไทยรักไทย) และพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนมีส่วนทำให้หน้าที่การงานของธาริตเติบใหญ่ในดีเอสไอทั้งสิ้น ธาริต มีชื่อเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทย รักไทยในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และมีบทบาทให้ช่วยราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี ทำงานกับน.พ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช รองนายกรัฐมนตรี และเคยเป็น คณะที่ปรึกษาของนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อีกด้วย ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ เขาถูกโอนมาเป็นรองอธิบดี ดีเอสไอ และได้เป็น “อธิบดี” ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แต่งตั้ง

แต่เมื่อธาริตทำหน้าที่ในสีของข้าราชการแล้ว ทั้งนักการเมืองในซีกประชาธิปัตย์และฝ่ายเพื่อไทยล้วนถูกเขาเล่นงาน แบบไม่เลือกที่รักมักที่ชังทั้งสิ้น ในยุคพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ธาริต ตั้งข้อหาผู้ก่อการร้ายกับแกนนำ นปช. ต้องติดคุกนานหลายเดือน และข้อหา ก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในปัจจุบัน ในยุคพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ธาริตยังอยู่ดีเอสไอแบบมีความสุข รับคดี 98 ศพ มาสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำการอันเหี้ยมในชั้นศาล เขาเรียก นายอภิสิทธิ์, นายสุเทพ, พ.อ.สรรเสริญ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับ ศอฉ. มาสอบสวนอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาไม่ต่ำกว่าคนละ 10 ชั่วโมงทุกอย่างที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ธาริต ดำเนินการมาเป็นขั้นตอนหมด แล้ว เมื่อศาลอาญาวินิจฉัยความตายของ นายพัน จึงเท่ากับเริ่มตั้งธงให้เขาเดินหน้า ตั้งข้อหาดำเนินคดีกับ ศอฉ. และผู้เกี่ยวข้องนั่นคือ คิวบังคับไปถึงนายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพในฐานะ “ผู้ต้องหา” ที่ธาริต กำลังเดินหน้านำตัวไปขึ้นศาลไต่สวน ลงโทษสังเวยความตาย 98 ศพ
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++