--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มาเฟียบู๊ลิ้ม นิยายกำลังภายในจีน ที่ไร้ซึ่งวีรบุรุษ และโลกความจริงที่รันทดหดหู่แห่งศตวรรษที่ 21

โลกนี้ไม่มีวีรบุรุษ มีเพียงผู้ชายธรรมดาที่ดิ้นรนทำกินไปวันๆ

มาเฟียบู๊ลิ้ม นับเป็นนวัตกรรมชิ้นหนึ่งในแวดวงนิยายกำลังภายในจีน ที่หาญกล้าแหกกรอบขนบธรรมเนียมสูงส่งแห่งโลกวีรบุรุษ นิยายเรื่องนี้ไม่เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างในโลกล้วนคลี่คลายได้ด้วยคุณธรรมและพลังฝีมือล้ำเลิศ มนุษย์คนหนึ่งจะต้องเข้าใจโครงสร้างสังคมที่สลับซับซ้อนด้วย จึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และมีเรี่ยวแรงเหลือพอจะช่วยเหลือจุนเจือผู้อ่อนแอ



หวังเทียนอี้ นับเป็นตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องมาเฟียบู๊ลิ้ม เพราะเต็มไปด้วยพัฒนาการและความย้อนแย้ง

ประสบการณ์ชีวิตที่อ่อนด้อยของหวังเทียนอี้และความยึดมั่นในกระบวนท่ากระบี่ที่สวยงามล้ำเลิศของสำนักอาจารย์ ก็เกือบทำให้เขาต้องทิ้งชีวิตไว้เมื่อเผชิญกับอันธพาลข้างถนนที่ไร้วิทยายุทธ์ แต่เต็มไปด้วยความฉับไวและเหี้ยมโหดของโลกความจริง

หลังจากวันนั้น หวังเทียนอี้ก็เริ่มตั้งคำถามกับทฤษฎีและวิชาฝีมือของสำนักอาจารย์ ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างเชื่องช้าและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง จนกระทั่งถูกลดชั้นไปอยู่ในกลุ่มเด็กเรียนอ่อนที่ไร้อนาคต
หากทว่าความรู้ที่หวังเทียนอี้ได้รับจากการต่อสู้กับอันธพาลข้างถนน กลับช่วยชีวิตของเขาไว้เมื่อต้องออกไปเผชิญกับศัตรูนอกสำนักเป็นครั้งแรก แถมยังทำให้เขาได้รับไมตรีคบหากับลูกหลานของตระกูลใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นติงอี้จั่น ถังป๋อ และมู่หยิงชิวสุ่ย

โชคชะตาของหวังเทียนอี้เริ่มเข้าสู่ภาวะโชติช่วงเมื่อกลับสู่สำนักอาจารย์อีกครั้ง ชื่อเสียงจากการผจญภัยในยุทธจักรและสายสัมพันธ์กับลูกหลานตระกูลใหญ่ ทำให้หวังเทียนอี้กลายเป็นที่โจษจันและยกย่องของคนทั้งสำนัก อย่างไรก็ตาม บุญคุณความแค้นที่เพาะสร้างไว้ในคราวท่องยุทธจักรก็กลับมาทำร้ายเขาในที่สุด ซึ่งแม้แต่สายสัมพันธ์กับลูกหลานตระกูลใหญ่ก็ช่วยเอาไว้ไม่ได้

หวังเทียนอี้จึงเริ่มตระหนักว่าเขาเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆตัวหนึ่งของสำนักอาจารย์ คุณความดีและความสามารถล้วนไม่มีความหมายใด เมื่อโครงสร้างผลประโยชน์ของสำนักอาจารย์มีความเปลี่ยนแปลง มันก็พร้อมจะเสียสละและทอดทิ้งหวังเทียนอี้ไปได้ทุกเมื่อ

ติงอี้จั่น ที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางกองเงินกองทองและความยิ่งใหญ่ของวงศ์ตระกูล แรกเริ่มเดิมทีก็ดูเหมือนว่าจะใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรี สามารถประกอบคุณธรรมความดีตามที่ใจนึกฝัน หากทว่า โครงสร้างสังคมและผลประโยชน์ของมนุษย์ที่สลับซับซ้อนก็ทำให้ลูกหลานตระกูลใหญ่ที่เย่อหยิ่งถือดีเช่นนี้ ยังมิอาจกระทำสิ่งใดตามชอบใจ

ภารกิจของติงอี้จั่น เพื่อช่วยเหลือชาวเมืองซิ่วโจวที่อดอยากเพราะการเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ถึงแม้จะได้รับข้าวสารบริจาคมากมายจากผู้ใจบุญ แต่การลำเลียงไปส่งให้ถึงที่หมายก็กลับต้องเผชิญอุปสรรคกับพ่อค้าและอันธพาลท้องถิ่นขัดขวางไว้ สุดท้ายเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากสำนักคุนหลุนในการจัดการกับตระกูลหงซึ่งเป็นพ่อค้าข้าวที่กักตุนสินค้า แต่ก็กลับกลายเป็นการเพาะสร้างความแค้นจากลูกหลานที่ถูกฆ่าล้างตระกูล

ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าก็คือ หวังเทียนอี้ซึ่งเป็นสหายเก่าและครั้งหนึ่งเคยเป็นคนที่ยึดมั่นในคุณธรรม ก็กลับต้องจำใจสังหารทายาทคนสุดท้ายของตระกูลหง เพื่อที่จะปกป้องติงอี้จั่นไม่ให้ถูกตามล่าล้างแค้นในอนาคต
สุดท้าย ข้าวสารที่อาศัยการต่อสู้มาอย่างลำบากยากเย็น มีคนสังเวยชีวิตไปมากมาย ก็กลับถูกพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ของติงอี้จั่น นั่นคือ สำนักคุนหลุน ซึ่งได้นำไปเร่ขายทำกำไรเข้ากระเป๋าเสียมากมาย แม้ควรจะก่นประณามยิ่งนัก แต่ก็แฝงไว้ด้วยความน่าเห็นใจแบบอับจนปัญญา เพราะนี่เป็นค่ายสำนักที่พึ่งฟื้นตัวขึ้นใหม่จากวิกฤตการล่มสลายในอดีต จึงต้องการเงินทองมาจับจ่ายใช้สอยมากเป็นพิเศษ เพื่อจะได้มีเรี่ยวแรงไว้ผดุงคุณธรรมตามอุดมการณ์ของจางเกาฉาน เจ้าสำนักหนุ่มที่เลิศล้ำทั้งความดีงามและพลังฝีมือ

นวัตกรรมของนิยายกำลังภายในเรื่องมาเฟียบู๊ลิ้ม ไม่ได้อยู่ที่ความกล้าหาญในการเล่าถึงสันดานดิบชั่วร้ายของมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา เพราะนิยายกำลังภายในตามขนบเดิมก็กระทำกันเป็นปรกติ แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ มาเฟียบู๊ลิ้ม ได้ชี้ให้เห็นว่า ความชั่วร้ายของมนุษย์ไม่ได้เป็นความเห็นแก่ตัวของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นโยงใยที่สลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสถาบันที่ตนเองสังกัด แม้แต่ผู้นำองค์กรที่มีอำนาจล้นฟ้าก็ยังไม่มีปัญญาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องราวบางประการตามใจนึก
ฉินหมิงเยี่ย เป็นตัวละครที่ลักลั่นย้อนแย้งอีกตัวหนึ่ง เริ่มจากการเป็นองค์รักษ์ซ้ายของสำนักคุนหลุน ครั้นแล้วก็เข้ายึดครองตำแหน่งเจ้าสำนักไว้ด้วยความทะเยอทะยาน ภายหลังจากที่เจ้าสำนักคนเก่าสิ้นชีวิตลง ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกของสำนักเพราะองค์รักษ์ขวาและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่เมื่อคลื่นลมเปลี่ยนทิศ ลูกชายของเจ้าสำนักคนเก่าที่สูญหายไป ได้พลันปรากฏตัวขึ้นพร้อมด้วยวิทยายุทธ์ที่น่าตระหนก ฉินหมิงเยี่ย ก็ชาญฉลาดพอที่จะสละตำแหน่งเจ้าสำนักที่ตนเองยึดครองชั่วคราวนี้ให้ พร้อมกับวางแผนหลอกใช้พลังฝีมือสุดยอดของเจ้าสำนักหนุ่มให้เป็นประโยชน์ต่อสำนักให้มากที่สุด จึงค่อยอาศัยจังหวะทางการเมืองและสมัครพรรคพวกช่วงชิงตำแหน่งมาในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาบริหารและฟื้นฟูสำนักอย่างเต็มตัว ฉินหมิงเยี่ยก็กลับค้นพบว่าแผนการแยบยลที่วางไว้แต่แรกยังไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แถมยังกลับกลายเป็นภาระหนักอึ้งไปอีก เพราะหลังจากความเสื่อมโทรมของสำนักมาหลายปี ก็ย่อมทำให้เงินทองที่สะสมไว้ร่อยหรอลง กิจการค้าก็ถูกสำนักอื่นช่วงชิงพื้นที่ทำกินไปหมดสิ้น ยังไม่นับว่า สมุนบริวารและศิษย์ที่เข้าสังกัดเพราะความศรัทธาในตัวเจ้าสำนักหนุ่ม ก็กลับกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือ นโยบายพันธมิตรกับสำนักอู่ตังที่ร่วมกันผนวกกลืนค่ายพรรคเล็กสำนักน้อยทั้งหลายเข้ามา ก็กลับเป็นรายจ่ายมากกว่ารายรับ เพราะค่ายพรรคเหล่านั้น มีผลกำไรต่อสินทรัพย์อย่างจำกัดจำเขี่ยยิ่ง ไม่ได้มีกิจการค้าขายที่ใหญ่โตและสร้างกำไรมหาศาลเหมือนค่ายพรรคใหญ่ที่ยึดครองสินทรัพย์และทำเลชั้นดีไว้ทุกหนแห่ง

ฉินหมิงเยี่ย ที่นับว่าเป็นผู้ร้ายคนหนึ่งของเรื่อง ก็กลายเป็นว่าต้องเป็นผู้กระทำความดีให้สำนักไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายภารกิจอาจเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ก็เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของสำนัก แม้ว่าตนเองจะวางแผนครอบครองสำนักไว้ในอนาคต แต่ก็กลับมีต้นทุนที่ต้องจ่ายออกไปก่อน นั่นคือ การทุ่มเททำงานให้สำนักฟื้นตัวไปสู่สถานะอันสูงส่ง อย่างน้อยก็เท่ากับในสมัยก่อนที่จะเผชิญวิกฤต

คนชั่วร้ายคนหนึ่ง กลับถูกหลอกใช้ให้ต้องกระทำความดีเพื่อสำนัก แม้ว่าการกระทำนั้นจะเกิดจากความโลภและทะเยอทะยานของตัวเองก็ตาม

มาเฟียบู๊ลิ้ม แม้จะเน้นไปยังด้านที่มืดมิดที่สุดของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ หากกระนั้นก็ยังมีคุณธรรม น้ำใจ และความดีงามปรากฎขึ้นมาให้เห็นเป็นระยะ

หวังเทียนอี้ อาจแปรเปลี่ยนจากเด็กหนุ่มที่บริสุทธิ์ดีงามกลายเป็นนักฆ่ากระหายเลือดของพรรคสุขยืนยาว แต่ก็ยังมีน้ำใจกับมิตรสหายเก่า หากไม่ขัดกับภารกิจหรือผลประโยชน์ของพรรคมากเกินไป

เขายินดีปลดปล่อยชีวิตของจั่วเฟย ซึ่งเป็นสหายที่เคยมีบุญคุณกันอย่างลึกล้ำไป แม้ว่าอาจต้องเผชิญกับการล้างแค้นคืนในภายหลัง โทษฐานที่ทรยศหักหลังและฆ่าอาจารย์ที่รักของจั่วเฟยทิ้งไป แต่หวังเทียนอี้ก็หักใจลงมือต่อเพื่อนเก่าไม่ได้

เขายินดีทรยศต่อติงอี้จั่นที่เป็นสหายซึ่งไว้ใจกันและกันอย่างยิ่ง ก็เพื่อพรรคสุขยืนยาวที่ตนเองฝากชีวิตและศรัทธาทั้งมวลไว้ ครั้นเมื่อปรากฎว่าภารกิจนี้เป็นการหลอกใช้เพื่อการแก้แค้นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องราวของพรรคสุขยืนยาว หวังเทียนอี้ก็กลับยินดีสละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องติงอี้จั่น แม้จะต้องทรยศต่อหลิงหานโกวอาจารย์ผู้มีพระคุณก็ตาม
“ข้าพเจ้าคิดเป็นวีรบุรุษผู้กล้า เป็นวีรบุรุษผู้กล้าที่ถือคุณธรรมล้ำฟ้า ติงอี้จั่นเป็นสหายข้าพเจ้า ทั้งเป็นจอมยุทธ์ ไม่ว่าหลังจากนี้มันจะเป็นอะไร แต่ตอนนี้มันเป็นจอมยุทธ์ที่แท้จริง เป็นบุคคลที่คู่ควรแก่การยกย่อง เพราะเพื่อมัน ต่อให้ข้าพเจ้าต้องจบชีวิตจะเป็นอะไร ? ก่อนนี้ข้าพเจ้าสู้เสี่ยงชีวิต แต่นั่นล้วนเพราะเพื่อค่ายพรรค เพื่อผลประโยชน์ เพื่อความซื่อสัตย์ภักดี และเพื่อตัวเอง ตอนนี้ข้าพเจ้ากำลังจะตาย ข้าพเจ้าไม่นำพากับการสละชีวิต เพื่อบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องคนหนึ่ง”

(มาเฟียบู๊ลิ้ม เล่ม 10 หน้า 251)
คุณธรรมจากคนดี แม้จะน่ายกย่อง แต่ก็เป็นความสว่างในความสว่าง ไม่อาจกระตุ้นจิตใจมนุษย์ให้พลุ่งพล่านได้มากนัก หากว่าเป็นคุณธรรมจากคนเดนตาย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่พร่ำบูชาคำว่าวีรบุรุษอย่างไร้เดียงสา ย่อมเรียกร้องน้ำตาและความตื้นตันที่ฝังในอกของผู้อ่านได้ดียิ่งกว่า โดยเฉพาะผู้ได้เคยลิ้มรสชาติแห่งความโหดร้ายและอับจนปัญญาของชีวิตมาจนชาชิน
เปรียบประดุจเปลวไฟที่สาดส่อง ในคุกตะรางที่มืดมิดและเย็นชา

มู่หยิงชิวสุ่ย อาจจะมีความผิดมหันต์ ที่รู้ข่าวการลอบสังหารบิดาบังเกิดกล้าของตน แต่กลับปกปิดไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว แต่ก็น่าเห็นใจเพราะหากไม่ทำเช่นนี้ตนเองจะไม่มีที่ยืนในกิจการของวงศ์ตระกูล และอาจต้องถูกจำกัดทิ้งเพราะเป็นภัยคุกคามต่อการขึ้นสู่อำนาจของมู่หยงเฉิงลูกชายคนโตซึ่งเป็นที่โปรดปรานของบิดายิ่งกว่า แม้แต่มารดาที่ระทมทุกข์มาตลอดชีวิตก็ปกป้องไว้ไม่ได้

นี่เรียกว่าชะตาบีบคั้นคน ลูกที่พ่อไม่ได้ตั้งใจให้เกิด แม้จะสร้างผลงานความชอบเพียงใด ก็ไม่มีคุณค่าความหมายอันใด

ฉากที่สะท้อนใจยิ่ง คือ ตอนที่มู่หยิงชิวสุ่ยและมู่หยงเฉิงเริ่มรู้สึกถึงภัยคุกคามของกันและกันอย่างชัดแจ้งแล้ว แต่ละฝ่ายก็คิดไม่ตก ใจหนึ่งก็อยากได้ชัยชนะและอำนาจมาครอบครอง อีกใจหนึ่งก็อยากจะลงให้กับพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน แล้วไปใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเงียบสงบ

ใครจะคาดคิดว่า “มู่หยงชิวสุ่ย” ที่ได้ชื่อว่าอัจฉริยะในการช่วงชิงอำนาจและสร้างตระกูลมูหย่งให้กลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่เทียมฟ้า บุรุษที่ประมุขตระกูลเสิ่นเคยเสียดสีแกมชื่นชมไว้ว่า แม้แต่ให้แต่งงานกับหมูหมา มู่หยิงชิวสุ่ยก็จะยอมกระทำโดยไม่ลังเลเพื่อรักษาและเพิ่มพูนอำนาจของตน บุรุษที่ใจแข็งดั่งหินผาและหายใจเป็นผลประโยชน์เช่นนี้ ก็มีวันเวลาที่ครุ่นคิดและลังเลใจในการหักเล่ห์ชิงเหลี่ยมเพื่อช่วงชิงกับพี่ชายของตน

มนุษย์ย่อมมีน้ำใจและด้านมุมที่อ่อนไหว แม้แต่คนที่กระหายอำนาจอย่างมู่หยิงชิวสุ่ยก็ตาม
นี่คือ ความละเมียดละไมในการเข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้งของนิยายเรื่องมาเฟียบู๊ลิ้ม
หากสุดท้าย มู่หยิงชิวสุ่ย ผู้ที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ของผู้ยิ่งใหญ่ ก็ต้องตัดสินใจเลือกเดินสู่เส้นทางวีรบุรุษที่ข้ามซากศพนับพันโดยไม่ลังเลกระพริบตา

นี่อาจเป็นมุมมองที่โหดร้าย แต่นั่นก็สำหรับญาติพี่น้องและฝ่ายตรงข้ามในกิจการของตระกูลมูหย่ง แต่ถ้ามู่หยงชิวสุ่ยเห็นแก่พี่น้อง ไม่ยอมช่วงชิงอำนาจเพื่อตัวเอง ก็เท่ากับทรยศอย่างโหดร้ายกับสมุนบริวารและญาติพี่น้องที่ยอมขายชีวิตให้มู่หยงชิวสุ่ย ติดตามบุกน้ำลุยไฟโดยมิพรั่นพรึงเพราะศรัทธาในพระเดช พระคุณ และบารมีของเขา

เกิดเป็นมนุษย์ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงจากความชั่วร้ายได้ แต่สิ่งที่พึงระลึกไว้ก็คือ เราควรจำกัดขอบเขตความชั่วร้ายไว้ให้อยู่ในวงที่แคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แน่นอนว่า บางครั้งเมื่อคิดกระทำก็ต้องทำให้ถึงที่สุด ที่เรียกว่า ขุดรากถอนโคนไม่ให้เหลือเภทภัยไว้ แต่กรณีแบบนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างสุดขั้ว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก

ยิ่งในศตวรรษที่ 21 ที่การจัดสรรผลประโยชน์มีการแบ่งปันกันได้อย่างลงตัวกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อมีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินไม่ให้ใช้กำลังแย่งชิงกันได้ง่ายดายเหมือนในอดีต มีสื่อมวลชนน้ำดีที่กล้าเปิดโปงพฤติกรรมชั่วร้ายของผู้มีอำนาจในบางจังหวะที่เหมาะสม มีตลาดหลักทรัพย์ที่ทำให้ผู้ก่อตั้งบริษัทที่เริ่มมีความเห็นไม่ลงรอยกันสามารถถอนตัวไปได้โดยการขายหุ้นทิ้ง แล้วก็แยกย้ายกันไปตามอุดมการณ์และความนึกฝันส่วนตัว

โศกนาฏกรรมของ 5 พี่น้องร่วมสาบานแห่งพรรคสุขยืนยาว ก็อาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น หากมีตลาดหุ้นและกฎหมายคุ้มครองให้อีกฝ่ายได้ถอนตัวล่าถอยไป โดยไม่ต้องกลัวว่าอีกฝ่ายจะกลับมาลอบทำร้ายถึงแก่ชีวิตเลือดเนื้อในภายหลัง

การประหัตประหารเพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้บริหารที่หากไม่ชนะก็พ่ายแพ้ (Winner takes all) ในยุคสมัยศตวรรษที่ 21ก็ยิ่งกลายเป็นกรณีส่วนน้อยขึ้นทุกที เราสามารถมีกรณีที่ Win-Win ได้อย่างมากมาย แม้ฝ่ายที่ Win น้อยกว่าจะไม่พอใจอยู่บ้างก็ตาม

โลกในมาเฟียบู๊ลิ้ม เป็นโลกของคนยุคโบราณ ที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ ผูกติดกับการเมือง การสงคราม และการประหัตประหารช่วงชิง แต่โลกในศตวรรษที่ 21 มีการแยกส่วนระหว่างธุรกิจและการเมืองได้ดีกว่าเดิม จึงไม่จำเป็นต้องเสียเลือดเนื้อมากมายถึงปานนั้น

มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 จึงสามารถมีเมตตากันได้มากกว่าเดิม หากไม่โลภโมโทสันกันเกินไป
มาเฟียบู๊ลิ้ม อาจไม่ใช่นิยายที่อ่านแล้วรื่นรมย์ประโลมโลก ยิ่งไม่ใช่นิยายที่ดีเลิศจนถึงขั้นได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิค แต่กระนั้นมาเฟียบู๊ลิ้ม ก็ยังมีคุณค่าวรรณศิลป์ในการชี้ให้เห็นชีวิตจริงของสังคมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน ปัจเจกชนไม่สามารถมีเจตจำนงเสรี (Free Will) และตัดสินใจกระทำทุกอย่างได้ตามปรารถนาแห่งหัวใจ โดยผู้เขียนสามารถผูกโยงเล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนานมีสีสัน แม้ในบางสถานการณ์จะขาดความประณีตและสมจริงไปบ้าง แต่ก็นับว่าเป็นความเกินจริงที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมซับซ้อนของสังคมมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น

นิยายเล่มนี้อาจไม่ช่วยอบรมกล่อมเกลาคุณธรรมให้ใครเป็นคนดีกว่าเดิม แต่อย่างน้อยก็อาจช่วยให้คนดีที่เคยเพ้อฝันว่าจะเป็นวีรบุรุษ ได้กลายเป็นคนดีที่เข้าใจมนุษย์และความซับซ้อนของสังคมได้สุขุมกลมกล่อมขึ้น ที่จะทำให้การกระทำดีของเขามีประสิทธิภาพกว่าเดิม แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่าเทียมที่เคยตั้งอุดมคติไว้

ความดีที่สุกงอมและกินได้ ย่อมดีกว่าองุ่นเปรี้ยวที่อยู่ไกลเกินฝัน

ที่มา. Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ส่ง ตร.เคลียร์กองทัพบก เรียกสอบมือยิงสไนเปอร์สลายเสื้อแดง !!?

เฉลิม” เผยส่ง “ภาณุพงศ์” เคลียร์กองทัพบก หลัง ผบ.ทบ. แสดงความไม่พอใจที่พนักงานสอบสวนจะเรียกมือยิงสไนเปอร์สลายเสื้อแดงไปสอบปากคำ ย้ำทหารเป็นฝ่ายปฏิบัติมีกฎหมายคุ้มครอง แต่จำเป็นต้องหาคนสั่งยิงให้ได้ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะเช็กบิลใครเป็นพิเศษ รอง ผบช.น. มั่นใจการไต่สวนสาเหตุการตายในชั้นศาลจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในปีนี้ ยังติดปัญหากรณี “เสธ.แดง” ที่ยังสรุปสำนวนชันสูตรพลิกศพไม่ได้ “อภิสิทธิ์” เตือนให้ทำตรงไปตรงมา หากกลั่นแกล้งเจอฟ้องกลับแน่ ยืนยันไม่หนักใจเพราะรู้ข้อเท็จจริงดีอยู่แล้ว

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ส่ง พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปทำความเข้าใจกับกองทัพแล้ว หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไม่สบายใจที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียกทหารมาสอบกรณีมีการยิงสไนเปอร์ช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง

“จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งการมีเพียงฝ่ายการเมืองเท่านั้น ซึ่งผู้สั่งการจะต้องรับผิดชอบถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นการทำตามคำสั่ง ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว”

รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือเพื่อเช็กบิลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการดำเนินคดีตามข้อเท็จจริงและตามพยานหลักฐาน

ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองพยายามตั้งธงในการสอบสวน ยืนยันว่าไม่มีใครออกคำสั่งให้ไปทำอย่างนั้น

“อยากให้การสอบสวนตรงไปตรงมา พวกผมก็มีสิทธิทางกฎหมาย หาก ร.ต.อ.เฉลิมและพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่มิชอบก็ถูกฟ้องได้เช่นกัน ยืนยันว่าเรื่องนี้ทั้งผมและนายสุเทพไม่หนักใจเพราะรู้ข้อเท็จจริงดีอยู่แล้ว”

พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิต 91 ศพ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเรียกพยานผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เห็นเหตุการณ์ที่เคยเรียกมาสอบปากคำในสำนวนเดิม หากยืนยันในคำให้การเดิมจะสอบสวนใหม่ในฐานะเป็นผู้กล่าวหา

พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวว่า การชันสูตรพลิกศพทำเสร็จแล้ว 19 สำนวน เหลือ 3 สำนวน หนึ่งในนั้นคือสำนวนชันสูตรพลิกศพ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ซึ่งการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตต่อศาลทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในปีนี้ ส่วนการสอบสวนหาตัวคนสั่งยิงนั้นสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ตำรวจไปร่วมทำสำนวนกับดีเอสไอ 50 นาย ขณะนี้มีพยานหลักฐานในสำนวนบางคดี สามารถยืนยันตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติซึ่งใช้อาวุธปืนในวันสลายการชุมนุมเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมาให้ปากคำในเร็วๆนี้ เชื่อว่าจะขยายผลไปถึงผู้สั่งการได้ในที่สุด

ที่มา.หนังสื่อพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กอร์ปศักดิ์ พักยกการเมือง หันหลังให้สภา หันหน้าสู่วิกฤต ศก.

2553 เขานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี-เลขาธิการนายกรัฐมนตรี คอยกำกับ-จัดการนโยบายเศรษฐกิจ ในยุคที่ "รัฐบาลอภิสิทธิ์" กุมอำนาจฝ่ายบริหาร

ปี 2554 หลังประกาศยุบสภา เขาเป็นประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง และคุมเกมการนำเสนอนโยบาย

เมื่อ เกมที่เขากำหนด ทำให้พรรคแพ้การเลือกตั้ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยกำชัยชนะส่ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไปถึงฝั่งฝันนั่งบัลลังก์ที่ตึกไทยคู่ฟ้า

เขาแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง เหลือตำแหน่งห้อยท้ายไว้เพียง "สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์"

ชื่อ "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี-เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หล่นหายไปจากสภาผู้แทนราษฎร และเงียบไปจากพรรคประชาธิปัตย์

แต่ความจริงเขายังเฝ้าติดตามวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจผ่านสื่อหลายแขนง และยังพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ "พรรคเพื่อนอภิสิทธิ์" อย่างสม่ำเสมอ

หาก สนทนาการเมืองกับ "กอร์ปศักดิ์" อาจได้ข้อมูล-ความเคลื่อนไหวไม่ลึก ไม่ลับ แต่ถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจต่างประเทศ อาจได้ความคืบหน้าที่เร็วยิ่งกว่าพายุ เพราะเขารับข่าว-ส่งข่าวต่อผ่าน http://twitter.com/korbsak วันละหลายข้อความ มีผู้ติดตามข่าวโดยตรงจากเขาเกือบ 3 หมื่นคน

สื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ จึงไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของเขา

"ผม มีโอกาสได้คุยกับหัวหน้า อ่านข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศทุกวัน ทุกเช้าที่มีประเด็นผมจะย่อยทั้งหมดลงทวิตเตอร์ ให้ความรู้กับทุกคน โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป เป็นเรื่องที่เราปล่อยทิ้งไม่ได้"

"มัน ไม่ได้เป็นปัญหาของกรีซคนเดียว แต่โซนยุโรปจะสะเทือนกันหมด ดังนั้นนโยบายทุกอย่างตอนนี้ จึงเหมือนให้ยาเพื่อเลี้ยงไข้ แต่กรีซเป็นเหมือนคนป่วยระยะสุดท้าย อีกไม่นานก็จะตาย และปัญหาก็จะมาถึงไทย"

"หลังกลุ่มสกุลเงินยูโรเกิดขึ้น กรีซและสเปนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ก็ค้าขายสู้เยอรมนีไม่ได้ นั่นคือปัญหาที่หลบซ่อนมา 8 ปี ทางออกตอนนี้คือต้องให้เยอรมนีออกจากกลุ่ม แต่แน่นอนว่าเขาจะไม่ทำ เพราะปัญหาการเมืองในประเทศตามมาแน่ ทุกอย่างจึงเหมือนคนอมไข้ตลอดเวลา"

แต่ในระยะสั้นไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่ปัญหานี้จะกัดกร่อน และเกิดผลชัดในอีก 2-3 ปี

ยิ่ง เมื่อเทียบกับการรับมือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เขาบอกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ประเทศไทยอาจเหนื่อยกว่าอีกหลายเท่าตัว

"ครั้ง ก่อนเราโชคดีที่มีจีนเป็นคู่ค้า เขาสร้างรถไฟความเร็วสูง สร้างตึก เรายังได้รับประโยชน์ มีตัวเลขการส่งออกไปได้ดี แต่ครั้งนี้ประเทศมหาอำนาจทั้งจีน อเมริกา มีปัญหาของตัวเองหมด สภาพการณ์มันจึงแย่กว่า"

ในฐานะคนข้างฝ่ายค้าน เขาวิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของ "ยิ่งลักษณ์และคณะ" ว่ารัฐมนตรีแถว 3 ส่วนใหญ่ไม่เก๋า ไม่เก่ง ขาดคนเชี่ยวชาญด้านแมโครอีโคโนมิกส์ ทำให้ภาพการแก้ปัญหาเศรษฐกิจขาดรูปธรรม

ชื่อคนมีฝีมือของฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่ใช่อยู่ในแถวคณะรัฐมนตรีที่ "กอร์ปศักดิ์" นึกชื่อได้ทันทีคือ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

การบริหารนโยบายที่ ผิดพลาด ที่อาจยังไม่เห็นผลลบเป็นตัวเลข ในสายตาเขาคือ โครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง "กอร์ปศักดิ์" บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คิดและทำผิดตั้งแต่ต้น ที่ต้องการให้รัฐบาลค้าข้าวแข่งกับเอกชน

"เขาคิดจะให้องค์การคลัง สินค้า (อคส.) ถือข้าวอยู่ในมือทั้งหมด เพื่อจะควบคุมกลไกราคาในตลาด แต่เขาคิดผิด เพราะข้าวไม่ใช่น้ำมัน ทอง หรือโลหะ หากสต๊อกไว้นานมันมีแต่ราคาจะตก ยากมากที่จะทำให้ราคาขึ้นไปตามที่ต้องการ"

"ข้าว เป็นสินค้าที่มีหมุนเวียนตลอด แค่มีดิน มีน้ำ ประเทศไหนก็ปลูกข้าวได้ หากรัฐบาลกักตุนไว้นานเกินไป จะเป็นการบีบให้ต่างชาติต้องหันไปปลูกข้าวกินกันเอง เราก็จะไม่เหลือประเทศคู่ค้า และในที่สุดประเทศก็ต้องแบกรับหนี้สินหลายแสนล้านบาทที่เกิดจากโครงการรับ จำนำข้าว"

จังหวะที่ ปชป.เตรียมเซตอัพข้อมูล "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" กอร์ปศักดิ์วิจารณ์ว่า หากต้องการอภิปรายให้ได้เนื้อหา และนำเสนอเรียบเรียงประเด็นให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เช่น

1.ฉายภาพให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริงของพรรค ไม่เก่งจริงเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริหารนโยบายที่ผิดพลาด

2.ต้องให้ข้อมูลเชิงลึกว่า โครงการรับจำนำจะทำลายระบบข้าวของประเทศทั้งระบบ โดยเฉพาะเสถียรภาพทางราคา

3.ชำแหละงบประมาณ ให้สังคมเห็นว่าภาษีของประเทศที่เสียไปหลายแสนล้านบาท สุดท้ายเดินทางไปไม่ถึงมือชาวนา

4.เปิดข้อมูลการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการสมประโยชน์ของนักการเมือง ที่อยู่เบื้องหลังการครอบครองเก้าอี้ รมว.พาณิชย์

แม้ ในเชิงบริหารโครงการรับจำนำข้าวอาจมีผลลบมากกว่าบวก แต่ "กอร์ปศักดิ์" ยอมรับว่า ในมุมมองชาวนา ประมาณ 8 ล้านคน 3 ล้านครัวเรือน พึงพอใจจากการมีเงินในมือที่เพิ่มขึ้น

แต่ในกติกาประชาธิปไตย ฝ่ายที่แพ้ก็ต้องเตรียมตัวลงสนามแข่งใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เขาเชื่อว่า หากอีก 3 ปี วิกฤตเศรษฐกิจหนัก จนยากจะบริหาร ถึงตอนนั้น ชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อาจเป็นตัวเลือกอีกหน

ที่มา.ประชาชาติออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธาริษา ห่วงการเมืองแทรก ธปท. ย้ำต้องอิสระ !!?

"ธาริษา"ออกโรงป้องแบงก์ชาติ ย้ำนโยบายการเงินต้องมี"อิสระ" ห่วงการเมืองแทรกแซง! ปัดข่าวไอเอ็มเอฟไม่เห็นด้วย Inflation targeting

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เธอค่อนข้างเป็นห่วงถึงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของ ธปท. เพราะเวลานี้ดูเหมือนว่า มีแรงกดดันจากภาคการเมืองเข้ามาค่อนข้างมาก และนักลงทุนต่างชาติก็เริ่มตั้งคำถามในเรื่องดังกล่าวขึ้นมาบ้างแล้วเช่นกัน

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธปท. ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “พลวัตรเศรษฐกิจไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก” ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ธปท.จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดในการดำเนินนโยบายใหม่ เพราะการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ(Inflation targeting) กับสถานการณ์ในปัจจุบัน ถือว่าใช่ไม่ได้แล้ว

"ตอนนี้ต่างชาติเริ่มมอง และเป็นห่วงในเรื่องความมีอิสระของธนาคารกลางว่า จะลดน้อยถอยลงไปหรือไม่ เพราะการทำนโยบายการเงินต้องมีความน่าเชื่อถือ ถ้าคนไม่เชื่อถือว่าถูกต้องแล้ว แบงก์ชาติจะทำอะไรเขาก็เดาใจไม่ถูก ส่งสัญญาณอะไรไปก็ล้มเหลว ประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงินก็จะด้อยลงด้วย"

เธอกล่าวย้ำว่า การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางนั้น สิ่งสำคัญสุด คือ ต้องไม่ให้เกิดภาพว่า ขาดความเป็นอิสรภาพในการดำเนินงาน เพราะจะมีผลข้างเคียงต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ดังนั้นการทำให้นโยบายการเงินได้ผลดี ความเชื่อมั่นถือว่ามีความสำคัญ

ส่วนการแสดงความเห็นของ นายวีรพงษ์ ที่มีต่อนโยบายการเงินของธปท.นั้น นางธาริษา กล่าวว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ นายวีรพงษ์ มีบทบาททางการเมืองค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการธปท.ของนายวีรพงษ์ จึงอาจยังมีความสับสนในเรื่องตำแหน่งอยู่บ้าง

เธอกล่าวด้วยว่า การทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการธปท. หรือแม้แต่การประธานกรรมการขององค์กรใดๆ นั้น หน้าที่หลัก คือ สนับสนุนให้องค์กรนั้นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกรณีที่ตัวประธานกับองค์กรมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่การหารือควรต้องเป็นการหารือกันภายใน ไม่ควรให้คนนอกรับทราบเพราะอาจเกิดความสับสนได้

"เท่าที่ฟังความเห็นของท่าน ดูเหมือนท่านยังแยกไม่ออกว่าพูดในฐานะอะไร เข้าใจว่าท่านพูดในฐานะประธานกรรมการแบงก์ชาติ แต่เนื้อหาที่พูดส่วนใหญ่เป็นมุมมองทางการเมือง ซึ่งอันนี้อาจสร้างความสับสนให้กับตลาดได้"

ส่วนกรณีที่ นายวีรพงษ์ ระบุว่า นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า Inflation targeting ในเวลานี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเงินเฟ้อตอนนี้มันเชื่อมโยงกันทั่วโลก(Globalize Inflation) นั้น เรื่องนี้ นางธาริษา บอกว่า ได้สอบถามไปยังไอเอ็มเอฟเช่นกัน ซึ่งก็ได้รับการปฎิเสธกลับมาว่าไม่ได้พูดเช่นนั้น และทางไอเอ็มเอฟก็อยู่ระหว่างทำหนังสือชี้แจงไปยังธปท.ด้วย

"ที่บอกว่า ไอเอ็มเอฟ เขาเปลี่ยนแนวคิดมาบอกว่าเงินเฟ้อไม่จำเป็นต้องดูแลนั้น อันนี้พอได้อ่านแล้วก็รู้สึกแปลกใจมาก จึงได้สอบถามไปทางโน้น เพราะไม่เคยได้ยินแนวคิดนี้มาก่อน ไม่ว่าจะจากทั้งไอเอ็มเอฟ หรือประเทศไหนในโลกก็ตาม เพราะทุกคนรู้ดีว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องมีบทบาทในการดูแล และการดูแลก็ต้องดูให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ดีโดยไม่มีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ"นางธาริษากล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ยักษ์ธุรกิจ ขยับรับ AEC ช้าง เปิดศึกชน ไฮเนเก้น..

ตลาดเครื่องดื่มเดือด!

ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า เป็นเรื่องใหญ่ ลากยาว และน่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่งสำหรับบิ๊กดีลแห่งปี ช้างเปิดศึกไฮเนเก้น

ย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของบิ๊กดีลแห่งปีพบว่า เริ่มต้นจากปฏิบัติการแหย่หนวดเสือของกลุ่ม "นายเจริญ สิริวัฒนภักดี" เจ้าของฉายา เจ้าพ่อน้ำเมา, นักซื้อ, จอมเทกโอเวอร์ ด้วยการให้บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องดื่มตรา "ช้าง" เข้าซื้อหุ้นบริษัทเฟรเซอร์แอนด์นีฟ หรือเอฟแอนด์เอ็น ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ร้อยละ 22 จากธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือโอซีบีซี

กับอีกดีลให้บริษัท ไคน์เดสท์ เพลซ กรุ๊ป ของนายโชติพัฒน์ พีชานนท์ บุตรเขย เข้าซื้อหุ้นโดยตรงจาก บริษัท เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ (เอพีบี) ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์ไทเกอร์ อีก 8.6%

และมีตัวเร่งให้กลายเป็น "ดีลเดือด" บิ๊กดีลแห่งปี เมื่อไฮเนเก้น ผู้ผลิตเบียร์พรีเมียมรายใหญ่จากประเทศฮอลแลนด์ ประกาศทุ่มเงิน 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 1 แสนล้านบาท เข้าซื้อหุ้นในเอพีบี ส่วนที่เหลือทั้งหมดราวร้อยละ 40 ในราคาหุ้นละ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ ถือครองอยู่โดยเอฟแอนด์เอ็น

ความน่าสนใจของสงครามแย่งชิงธุรกิจเอพีบีระหว่างไทยเบฟและไฮเนเก้น ไม่ใช่แค่บิ๊กดีลมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็นเงินก้อนใหญ่มากกว่าแสนล้านบาทเท่านั้น

ทว่านี่คือสัญญาณบอกให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตลาดสินค้าบริโภคกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคนี้ทั้งในมิติของโครงสร้างตลาด สินค้า การแข่งขัน มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับปากท้อง เงินในกระเป๋า

และยังเป็นเป็นการตอกย้ำความสำคัญของตลาดผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อบริษัทระดับโลก อันเป็นผลจากพลวัตความเปลี่ยนแปลงสองด้านหลักคือ วิกฤตในสหภาพยุโรป (อียู), สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, วิกฤตที่กำลังจะตั้งเค้าขึ้นในประเทศจีน และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ในอีกสามปีข้างหน้านั่นเอง

เริ่มต้นทำความเข้าใจบิ๊กดีลนี้ด้วยการมองข้ามเรื่องรายละเอียดการซื้อหุ้น เพราะซับซ้อนไขว้กันไปมา ตามกลเกมทางการเงินสมัยใหม่

ให้ยึดเรื่องไฮเนเก้นเดินหน้าสวนกลับปฏิบัติการเปิดเกมรุกกระตุกหนวดเสือของกลุ่มเจริญ ด้วยการทุ่มเงินก้อนโตเพื่อผลักดันตัวเองสู่ผู้คุมนโยบายสูงสุดในเอพีบีแต่เพียงผู้เดียวว่า "คือการประกาศรักษาหน้าตักของผู้ผลิตเบียร์ในตลาดอาเซียน ชนิดที่เรียกว่าไม่มีใครยอมใคร"

กล่าวสำหรับเอพีบี เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไฮเนเก้นและเอฟแอนด์เอ็น มีโปรดักส์สำคัญคือ เบียร์ไทเกอร์ สร้างขึ้นมาเพื่อทำตลาดในเอเชีย หรือรีจินัล แบรนด์ (regional brand) เป็นการเฉพาะ

เอพีบี มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 10,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 342,000 ล้านบาท มีฐานการตลาดอยู่ใน 14 ประเทศทั่วเอเชีย โดยเฉพาะถือเป็นผู้นำส่วนแบ่งการตลาดในตลาดเกิดใหม่อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ประเทศสำคัญในอาเซียน ภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตและการบริโภคเบียร์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ชี้ว่า การบริโภคเบียร์ใน 9 ประเทศอาเซียน มียอดรวม 6,840 ล้านลิตร ในปี 2554 เพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 2553 ตลาดนี้มีเวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ ติดกลุ่มนักบริโภคเบียร์ตัวยง เฉพาะเมืองไทยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการบริโภคหรือตลาดรวมกันถึง 130,000 ล้านบาท หรือ 2,000 ล้านลิตรต่อปีเลยทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของเอพีบี ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญในตลาดเอเชียและอาเซียน ตลาดที่กำลังจะรวมเป็นหนึ่งเดียวมีประชากรสูงถึง 600 ล้านคน ในปี 2558 ส่งผลให้ไฮเนเก้นอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตอบโต้ด้วยการทุ่มเงินผลักดันตัวเองขึ้นสู่ผู้คุมนโยบายสูงสุด บล็อกไม่ให้กลุ่มเจริญเข้ามาเกี่ยวในเรื่องกำหนดโยบายบริหารบริษัท

นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทางการเงินในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์หลายราย เห็นในทางตรงกันว่าไฮเนเก้นคงต้องเพิ่มราคาแข่งขึ้นไปอีกกันไม่ให้กลุ่มเจริญเข้ามา หลังจากกลุ่มนี้ขอซื้อหุ้นเพิ่มในเอพีบีอีกราวร้อยละ 7 ในอัตราหุ้นละ 55 ดอลลาร์สิงคโปร์ สูงกว่าราคาซื้อเดิมของไฮเนเก้นที่ระดับ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์

นั่นประการแรก เป็นการรักษาฐานธุรกิจในห้วงเวลาเศรษฐกิจยุโรป สหรัฐอเมริกาดิ่งตัวลง ธุรกิจต่างชาติหลากหลายภาคส่วน พาเหรดเข้าสู่เออีซี ภูมิภาคที่คาดการณ์กันว่าจะเป็นอีกหนึ่งเสาหลักในการฉุดดึงเศรษฐกิจโลก นำไปสู่สงครามแย่งชิงหุ้นกันในบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในที่สุด

อีกประการถัดมา การเข้าซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นของกลุ่มเจริญยังจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคอาหารเครื่องดื่มในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วย

กลับมาทางฝั่งเอฟแอนด์เอ็น เวลานี้ไทยเบฟขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 24% หลังซื้อเพิ่มอีกจากรายย่อยในตลาด ตามด้วย "คิริน โฮลดิ้ง" ผู้ถือหุ้นลำดับสองในสัดส่วน 15%

กล่าวสำหรับคิริน ถือเป็นบริษัทผู้ผลิตเบียร์และเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ได้ซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นจากเทมาเส็ก หรือกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างฐานที่มั่นในธุรกิจเครื่องดื่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังตลาดเบียร์ในญี่ปุ่นถดถอยลงตามภาวะเศรษฐกิจ

นอกจากแผ่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเข้าไปถือหุ้นในเอฟแอนด์เอ็น และยังบุกเข้าไทยโดยผนึกเข้ากับทางโอสถสภา เปิดตัวสินค้าแบรนด์แรกอย่างยิ่งใหญ่ "ชาเขียวนามาชะ" ยอมทุ่มจ้าง "เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์" มาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าด้วยเงินลงทุนก้อนโต แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จทางตลาด

กระนั้น คิรินยังได้เข้าซื้อกิจการเบียร์มาแล้วหลายครั้งในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ไล่เรียงมาตั้งแต่ การซื้อหุ้นในบริษัทไลอ้อน นาธาน บริษัทผู้ผลิตเบียร์อันดับ 2 ในออสเตรเลีย การเข้าซื้อกิจการของชินคาริโอล บริษัทผู้ผลิตเบียร์และเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของบราซิล เป็นต้น

การรุกเข้าไปไปถือหุ้นในเอฟแอนด์เอ็นของไทยเบฟบริษัทในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มเหมือนกัน ทำให้คิริน รู้สึกอึดอัดและไม่อาจนิ่งเฉยได้ เวลานี้ผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นเหลือทางเลือกอยู่ไม่มากนัก หนึ่งในทางนั้นคือผนึกเข้ากับไทยเบฟไม่รับข้อเสนอขายหุ้นเอฟแอนด์เอ็นในเอพีบีให้ไฮเนเก้น บล็อกไฮเนเก้นไม่ให้กุมอำนาจการบริหารสูงสุดในตลาดเบียร์เอเชียแปซิฟิก กับการขยายแบรนด์เครื่องดื่มเพิ่มเติมขอซื้อกิจการเครื่องดื่มในกลุ่มซอฟต์ดริงก์ภายใต้แบรนด์ฟรุตทรี ของเอฟแอนด์เอ็นในประเทศมาเลเซีย

...ถึงจะไม่ใช่บิ๊กดีล ทว่าการขยับตัวของคิรินยังสะเทือนไปถึงผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลกอีกรายคือ "โคคา โคล่า"

ผู้ผลิตชั้นนำจากอเมริการายนี้ จะมีท่าทีสนใจซื้อแบรนด์ซอฟต์ดริงก์ของเอฟแอนด์เอ็น ประกอบด้วย 100พลัส น้ำผลไม้ น้ำแร่ และผลิตภัณฑ์นมตราหมีเช่นกัน เพียงแต่รอดูสถานการณ์การแย่งชิงหุ้นเอฟแอนด์เอ็นถืออยู่ในเอพีบี ระหว่างไฮเนเก้นและไทยเบฟเวอเรจ ว่าจะลงเอยอย่างไร

สิ่งที่ทาง "คิริน" และ "โคคา โคล่า" ทำมีเป้าหมายเช่นเดียวกับ "ไฮเนเก้น" คือ การรักษาหน้าตักอาเซียน ตลาดที่มีการประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีในอีก 18 ปีข้างหน้าจะเพิ่มจาก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 71.3 ล้านล้านบาท ในสิ้นปีนี้เป็น 10 ล้านล้านดอลลาร์หรือประมาณ 310 ล้านล้านบาท ในปี 2573

..ในฟากธุรกิจสองเหตุผลหลักในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลกกับเออีซี กำลังจะเป็นตัวเร่งให้สงครามธุรกิจในภูมิภาคนี้กำลังลุกลาม ดึงเอาอีกหลายบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มอีกหลายรายเข้าสู่เกมนี้

เกิดการต่อสู้แย่งชิงธุรกิจในสองฟากหลัก คือการรุกคืบเข้าไปในกิจการของยุโรป อเมริกา ที่เข้ามาปักธงในภูมิภาคนี้โดยกลุ่มบริษัทข้ามชาติทั้งคนไทย ญี่ปุ่น จีน กับอีกทางข้อเสนอซื้อหุ้นจากกลุ่มเจริญสะท้อนแนวโน้มบริษัทข้ามชาติในไทยรวมทั้งเอเชียต้องการแผ่ขยายุรกิจ เข้าสู่ภูมิภาค ตลาดโลก โดยเลือกช็อปของถูกเอาจากวิกฤตอียู และอเมริกา

..แล้วถามว่า ผู้บริโภคจะได้อะไรบ้างจากสนามรบอันเดือดพล่านนี้

ตอบว่าได้ประโยชน์แน่ การผนึกเข้ากับบริษัทในภูมิภาคเดียวกันในลักษณะไทยเบฟเข้าซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นช่วยเพิ่ม economy of scale กดต้นทุนการดำเนินงานให้ต่ำลง และเมื่อมีสินค้าบริการเพิ่มขึ้นในตลาดที่แข่งขันกันอย่างเสรี ผู้บริโภคคือกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองสูงสุด

...เว้นแต่เสียว่า การได้มาของธุรกิจนั้นๆ จะทำให้เกิดการผูกขาด โดยผู้ผลิตเพียงรายเดียว และไม่มีใครคาดเดาได้ซะด้วยว่าเกมนี้จะลงเอยอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

น้ำเน่าหลังน้ำท่วม สานตะแกรงกรองคอร์รัปชั่น !!?

ข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) รายงานถึงสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ภาค เหนือมีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดนครพนม, สกลนคร, มุกดาหาร ภาคตะวันออกบริเวณจังหวัดตราด, จันทบุรี, ระยอง ภาคตะวันตกบริเวณจังหวัดตาก และกาญจนบุรี ภาคใต้บริเวณจังหวัดระนอง สำหรับภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนในบางพื้นที่ ซึ่งพิจารณาแล้วว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้เชี่ยวชาญด้าน การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศออกมาเตือนว่า “สองเดือนนี้ ยังมีพายุเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งจากนี้ไปมีการคาดการณ์ว่า พายุจะก่อตัวอีก 20 ลูก และแน่นอน 20 เปอร์เซ็นต์ พายุจะต้องพัดเข้าประเทศไทยและส่งผลกระทบ ซึ่งจากนี้ไปจะต้องเฝ้าระวังพร้อมๆ กับการประเมินว่า เมื่อฝนตกปริมาณเท่านี้ จะเกิดผลกระทบอย่างไร โดยคาดว่าเลว-ร้ายที่สุดคงไม่เกินปีพ.ศ.2553”..แน่นอนว่าสำหรับคนไทย แม้แต่จิ้งจกทักก็ยังฟัง นี่คน ระดับมีความรู้ทักจะไม่หวั่นใจได้อย่างไร โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมาเราได้รับบทเรียนมาเพียงใดคงไม่ต้องพูดถึง

หลังมหาอุทกภัยปี 2554 มีแผนดำเนินการมากมายหลายอย่าง จะทำพื้นที่ รองรับน้ำ หรือ Floodway ที่มีความกว้าง ถึง 200 เมตร อันตรายที่มองเห็น คือ Flood way จะระบายน้ำท่วมได้ก็เมื่อระดับน้ำในทะเลอยู่ต่ำกว่าเท่านั้น 2.การ สร้างพนังคอนกรีตสูงรอบนิคมอุตสาหกรรม น้ำก็จะไหลไปท่วมพื้นที่อยู่อาศัยรอบๆ

เราจะต้องแก้ปัญหาอย่างองค์รวม (Integrated Approach) ไม่เพียงนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะได้รับการป้องกันแต่ต้องรวมพื้นที่อยู่อาศัยด้วย การบริหาร จัดการน้ำที่ผสมผสานบูรณาการเท่านั้นที่จะเกิดประสิทธิภาพและความสำเร็จ พื้นที่ กรุงเทพฯ มีการทรุดตัวลงเรื่อยๆ ควรนำระบบ Polder System มาใช้

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาอย่างที่ทราบกันดีว่าสูงถึง 350,000 ล้านบาท เพื่อออกแบบการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ และด้วยวงเงินขนาดนี้ย่อม ก่อให้เกิดการเพ่งเล็งในเรื่องของความโปร่งใสซึ่งในเรื่องดังกล่าว

ในเรื่องนี้ “สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” รองปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันในงานเสวนา “งบน้ำท่วม 350,000 ล้านบาท... รวดเร็ว คุ้มค่า โปร่งใส?” ว่า งบประมาณ 350,000 ล้านบาท ที่ใช้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม หรือที่นำมาใช้ในการลงทุนตามการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลจำนวน 3.5 แสน ล้านบาท มีความโปร่งใส โดยจะใช้งบประมาณในการจัดทำแบบบริหารจัดการน้ำ โครงสร้างระบบการไหลของน้ำ การจัดพื้นที่รับน้ำ ปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย รวมถึงการปรับปรุงองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดถือเป็นโครงการระยะยาว 8 โครงการ ตามแผนบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และเป็นเพียงการดำเนินงานระยะแรก หรือแค่ เสนอกรอบแนวคิด ซึ่งยังไม่มีการประมูลหรือการจัดจ้างแต่อย่างใด โดยการจัดจ้าง จะเริ่มหลังมีการเสนอกรอบแนวคิดแล้ว และทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามระเบียบ

พร้อมกล่าวถึงกรอบการดำเนินงาน ว่า ยังไม่มีการจัดซื้อ จัดจ้าง หรือคัดเลือก กลุ่มบริษัทร่วมทุนใด จนกว่าจะถึงวันที่ 31 ม.ค. 2556 โดยระหว่างนี้รัฐบาลก็จะรวบรวมข้อมูล ปัญหา หรือรายละเอียดโครงการต่างๆ และภายในสิ้นเดือนนี้ รัฐบาลจะแถลงข่าวถึงรูปแบบนิทรรศการ น้ำเพื่อให้ประชาชนเข้ามารับรู้รายละเอียด ข้อมูลแต่ละโครงการอย่างละเอียด รวมถึงสร้างระบบให้ภาคประชาชนตรวจสอบ แบบเรียลไทม์ ภายใต้ชื่อแอพพลิเคชั่นว่า water4thai และมี 2 เว็บไซต์สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำ ได้แก่ http://www.thaiwater.net และ http://www. waterforthai.go.th ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีภาพแผนที่ขนาดใหญ่ หรือสามารถติดตามความคืบหน้าโครงการทั้งหมด ตั้งแต่คันกั้นน้ำไปจนถึง การขุดลอกคลอง

> หวั่นต่างชาติชุบมือเปิบ

“ต่อตระกูล ยมนาค” ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องขั้นตอนการจัดทำมากกว่า เนื่องจากมีราย ละเอียดเพียงแค่ 10 กว่าหน้า ซึ่งข้อมูลใน การเสนอกรอบแนวคิดไม่เพียงพออย่างแน่นอนสำหรับบริษัทต่างชาติ รัฐบาลต้อง ยอมให้ราชการเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีโออาร์ให้ได้ แต่ในเชิงวิศวกรรมเห็น ว่า กรมชลประทานมีอิทธิพลมาก เขื่อนที่ สร้างไม่ได้ก็ได้สร้าง เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนแม่วงก์ ข้อเป็นห่วงต่อมาก็คือ หากจัดให้โครงการนี้เป็นแผนเร่งด่วน ขั้นตอนของพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะถูกละเลย ในทางกลับกันจะเป็น การเปิดโอกาสให้มีการทุจริตเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ นายต่อตระกูล ยังกล่าว อีกว่า ทราบว่ามีบริษัทข้ามชาติประเทศหนึ่ง ในเอเชียที่เคยมาตกลงเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวแล้วเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้มองว่า ไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่รู้ช้า สุดท้ายก็คือ งานนี้เป็นงานแรกที่วิศวกรไทยเห็นตรงกันว่า ข้อมูลไม่เพียงพอจนนำไปสู่การเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นได้ ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ และอยากให้คนไทยมีโอกาสทำงานหรือใช้เงินจำนวน 3.5 แสนล้าน มากกว่าไปกระจุกตัวอยู่ที่ผู้รับเหมาประเทศใดประเทศหนึ่ง

> เงินของปชช./รัฐต้องตอบคำถามได้

“เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ แม้ว่าเขื่อนจะพร่องน้ำไปเหลือแค่ 40% ถามว่า ถ้าเกิดฝนตกใต้เขื่อน ก็ไม่สามารถประเมินได้ เพราะโครงการขุดลอกคลองที่รัฐบาลเตรียมไว้ ผู้รับเหมาก็ขุดลอกไป โดยไม่มีวิธีการตรวจสอบว่าขุดไปลึกขนาดไหน และสามารถรับได้จริงตามสเปกที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมถึงไม่มีการศึกษาเรื่องระดับ ความลึกของคลองอย่างจริงจัง ซึ่งก็น่ากังวลว่าหากปริมาณน้ำฝนมามากจะรับมือกันอย่างไร

ส่วนประเด็นที่ภาคีเครือข่ายต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชั่นนำเรื่องนี้มาถกเถียงในวงเสวนา ที่เกรงว่าอาจจะมีการทุจริตนั้น ถือเป็นประโยชน์มาก อย่างน้อยประชาชน เป็นเจ้าของเงิน รัฐบาลต้องตอบข้อสงสัย เกี่ยวกับการเสนอกรอบแนวคิดเพื่อให้เกิดความชัดเจน และหลายเรื่องๆ เช่น เรื่องเวลา ถ้าบอกว่าใช้เวลา 3 เดือน ก็มีคำถามต่อว่า จะได้คำตอบที่ดีที่สุดหรือเปล่า ซึ่งส่วนตัวมองว่า รัฐบาลควรจะขยายเวลาไปอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้มีการศึกษาอย่างถ่องแท้ คืออย่างน้อยรัฐบาลก็ไม่ได้เสียอะไร ทั้งนี้ จากประสบการณ์การของตนแล้ว แค่ลุ่มน้ำเล็กๆ ยังใช้เวลา 2 ปี แต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่มาก ซึ่งการจะได้ตอบที่ดีก็คือ การใช้มาตรการแบบผสมผสาน ไม่ใช้แค่ขุดลอกคูคลอง หรือสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเดียว ต้อง ใช้หลายๆ มาตรการ ฉะนั้น ทั้งหมดที่กล่าวมาตนจึงรู้สึกว่ากังวล

ต่อคำถามที่ว่า จะมีวิธีการคัดเลือก อย่างไร เพราะแต่ละกลุ่มที่เสนอเข้ามามีพื้นฐานที่แตกต่างกัน รศ.เสรี มองว่า ภาค ประชาชนรู้สึกกังวลถึงการใช้เงิน ความโปร่งใส เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องทำให้โปร่งใส หากจะให้ภาคเอกชนเข้าไปร่วมตรวจสอบด้วยก็จะดี เพื่อให้ได้สิ่งที่คาดหวังไว้ เพราะเมื่อตัดสินใจไปแล้ว ประชาชน ไม่ยอมรับก็จะเกิดปัญหาตามมาอีก อย่างไร ก็ตาม ตนเชื่อว่าเงื่อนไขเวลาที่ยาวขึ้นจะทำให้เราได้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากขึ้น

> ภาคอุตฯ ห่วงผู้ประกอบการ

“เจน นำชัยศิริ” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มีความกังวลในการใช้งบของรัฐ โดยเฉพาะในส่วนการดำเนินการก่อสร้าง จะมีความคุ้มค่าในเม็ดเงินที่ใช้ลงไปหรือไม่ เพราะน้ำท่วมครั้งล่าสุดภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบมากถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่ง อยากให้การใช้งบประมาณที่ลงไปสามารถ ป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมได้จริง และไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอีก

นอกจากนี้ แนวทางระยะสั้นอยากให้มีการติดตามการทำงานด้านการฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขุดลอกคูคลองว่าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ทำแบบ บังหน้า โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป เข้ามีส่วนร่วมในการติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายหรือเบอร์โทรศัพท์ฮอตไลน์ที่สามารถแจ้งเข้าไปบอกข้อเท็จจริงกับภาค รัฐในการดูแลแก้ไข ซึ่งจะทำให้โครงการเกิดผลมากที่สุดในการใช้งบ

โครงการพัฒนาประเทศหลังน้ำท่วม ถือเป็นการยกระดับประเทศอย่างบูรณาการ เพราะความเดือดร้อนจากอุทกภัยแล้ว แน่นอนว่า ทุพภิกขภัยย่อมตามมา ความ เดือดร้อนจากหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น ส่งผล ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมความเป็นอยู่แล้วยังสั่นคลอนถึงเสถียรภาพของรัฐบาล

หากโครงการนี้ยังถูกรุมทึ้งจากแร้งกาอย่างตะกรุมตะกราม แล้วก็ถือว่า เป็นการทรยศต่อประเทศอย่าสาหัส รวมถึงทรยศต่อพวกพ้องด้วยดังนั้นในโครงการนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร ในขณะที่กรอบเวลากลับเร่งรัดเข้ามาทุกวินาที

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สะท้อน ยุติธรรมไทยล้มเหลว ฆ่าตัดตอน-สังหารหมู่ ทวงแค้นใน ศาลโลก !!?

ตราบเท่าที่ยัง “ปรองดอง” กันไม่ได้ ก็เอากันให้ตายไปข้าง... นี่คงเป็นวิวาทะ!! ใต้ภาวะ “ความ ขัดแย้งทางการเมือง” ที่หวนกลับมาสู่ “วิกฤติ” อีกครั้ง โดยเฉพาะการจุดชนวน “ความขัดแย้งรอบใหม่” เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ประกาศจับมือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย “ขัดขวาง ปรองดอง” ของรัฐนาวาเพื่อไทย

เปิดเกมรุก-ไล่หนักหน่วง เขย่า กันทั้งในและนอกสภา ยิ่งไปกว่านั้น “วาระปรองดองแห่งชาติ” ยังเป็นปมปัญหาใน “จุดยืนที่ไม่ตรงกัน” ระหว่างคนสองกลุ่ม ด้านหนึ่งคือ “ประชาธิปัตย์-กลุ่มพันธมิตร” กับอีกข้างหนึ่งคือ “เพื่อไทย” และคนเสื้อแดง ที่แม้จะเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงในทางการเมือง แต่ก็ยังมี “มุมความคิดที่แตกต่าง” ขัดกันเองอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นปัญหาขอบเขต “การนิรโทษกรรม”....!!

เมื่อเกมการเมืองข้างถนนพักยกไปชั่วคราว ก่อนเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ “ประชาธิปัตย์” ก็เพิ่งจะฉุกคิดขึ้นได้ เลยตั้งคณะทำงานเตรียม ฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มุ่งเอาผิด “คนแดนไกล” อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในคดีฆ่าตัดตอน ยาเสพติดกว่า 2,500 ศพ โดยเป็นอาการ...แก้เกี้ยว! ของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากถูก “แกนนำเสื้อแดง” หอบคดีพฤษภาเลือด 2553 ไปฟ้องศาลโลก

แม้การไต่สวนของศาลยังดำเนินอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ฝ่ายกลุ่มเสื้อแดง นำโดย “ธิดา โตจิราการ” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) และ น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางนำคดีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก เป็นการยื่นเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ซึ่งรับผิดชอบการสั่งให้ทหารออกมาปราบผู้ชุมนุม ถึงแม้ว่าประเทศ ไทยจะไม่มีข้อตกลงรับเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่เนื่องจาก “อภิสิทธิ์” มีอีกสถานะหนึ่งคือได้สัญชาติ อังกฤษ และยอมรับสัญชาติอังกฤษ ตั้งแต่แรกเกิด รวมทั้งใช้สิทธิ์การเป็นพลเมืองอังกฤษในเรื่องการศึกษา และ ยังไม่มีการยื่นเพิกถอนสัญชาติ จึงเป็นช่องทางให้ทนายความยื่นฟ้อง “อภิสิทธิ์” ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้นั่นเอง

เมื่อฝ่ายหนึ่งนำกลไกยุติธรรมระหว่างประเทศมาเป็น “เครื่องมือ” ทำให้ “จังหวะก้าว” ของฝ่ายค้านเต็มไปด้วยอารมณ์อยากบลัฟคืน ด้วยการลากคดี “ฆ่าตัดตอน” ไปยื่นฟ้องบ้าง แม้คดีดังกล่าวจะมีการตั้งคณะกรรมการ “คตน.” ขึ้นมาสอบสวนแล้วก็ตาม ซึ่ง คตน.ชุดที่มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็ได้สอบสวนแล้วเสร็จ ปิดสำนวนกันไปนานแล้ว แต่ยังมีบทสรุปแบบ “ไว้เชิง” ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่าย “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ซึ่งเป็นฐานความผิดที่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามีการนำคดีฆ่าตัดตอน! ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่าง ประเทศ และศาลเกิดรับพิจารณาขึ้นมา ประเทศไทยก็จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน ตกเป็นจำเลยในข้อหา “อาชญากร มือเปื้อนเลือด”

แต่จะว่าไป... ปัจจุบันรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ให้ “สัตยาบัน” ธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เท่ากับว่าคดีจากประเทศไทยยังไม่อยู่ใน “เขตอำนาจศาล” ซึ่งในข้อกำหนดอีกประการของศาลอาญาโลก ที่ว่าคดีที่จะ นำขึ้นสู่ศาลระดับโลกต้องไม่อาจแสวงหา ความเป็นธรรมผ่านกระบวนการใดๆ ภายในประเทศของตนเองได้แล้ว ที่น่าแปลกก็คือ คดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ยังคงอยู่ในกระบวน การ “ไต่สวนการตาย” ตาม ป.วิอาญามาตรา 150 จำนวนกว่า 10 สำนวน ขณะที่คดี “ฆ่าตัดตอน” ก็ผ่านขั้นตอนการสอบสวน ไกลไปถึงชั้นศาล ตัดสินกันไปแล้วก็หลายคดี จึงมีคำถามว่า การลากคดีที่กระบวนการยุติธรรมภายในยังทำหน้าที่ ได้ เอาไปสร้างเรื่อง “อื้อฉาว” ในเวทีโลกเช่นนี้ จะเข้าข่ายดูถูกกระบวนการยุติธรรมไทย...หรือไม่?!

ต่อเรื่องดังกล่าว “ดร.จารุพรรณ กุลดิลก” คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ตอบโต้การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นนี้ ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว กรณี ที่ ปชป.เพิ่งจะมาสนใจเรื่องฆ่าตัดตอน โดยไปศาลอาญาโลกตามรอยเสื้อแดง พร้อมประกาศส่ง “กษิต ภิรมย์” อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และผู้ต้องหา ในคดีก่อการร้ายปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ไปเป็นผู้ดำเนินการนั้น ต้องขอไว้อาลัย ต่อการตัดสินใจของ ปชป.ครั้งนี้ เพราะ มองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายที่ ปชป.มีแต่เสียกับเสีย

โดยข้อเสียประการแรก คนทั้งโลกจะตั้งคำถามว่าทำไมเพิ่งจะมาสนใจ ไอซีซี ความจริงใจต่อเรื่องฆ่าตัดตอนแทบจะไม่มี เป็นแค่เกมทางการเมืองที่ตอบโต้ไปวันๆ ส่วนประการที่ 2 คงไม่พ้นข้อหาเด็กลอกการบ้านตามเคย ลอกหนทางของเสื้อแดงที่จะแสวงหาความเป็นธรรมสากลให้กับประเทศไทย ประการที่ 3 การที่จะไปฟ้องไอซีซีบ้าง ก็เท่ากับยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว ก็ควรยินดีที่จะส่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ไปประเดิมสอบสวนเป็นคนแรก และสุดท้ายขอ บอกว่า ช่วยดำเนินการให้ฉับไว เพราะ อยากเห็นปรากฏการณ์เปรียบเทียบ “ความเป็นธรรมของไทย” กับ “ความเป็นธรรมสากล”

“จารุพรรณ” ยังทวีตอีกว่า “เท่ากับไม่ต้องออกทุนการศึกษาให้ ปชป.ในการเรียนระบบกฎหมายสากล จะได้เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่เขาอดทนกับวิธีคิดเรื่องนิติรัฐแบบไดโนฯ ของ ปชป.มากพอแล้ว เมื่อนายกษิตไปไอซีซี กลับมา ก็ควรถ่ายทอดให้เร็ว เพราะหาก ปชป.ได้สัมผัสความเป็นธรรมสากล แล้ว อาจจะเกิดสำนึกได้ว่าได้ก่อกรรมทำเข็ญกับประเทศนี้ขนาดไหน รู้สึกตื่นเต้นอย่างยิ่ง เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าอย่างไร ปชป.ก็ต้องเดินมาตามเส้นทาง นี้ ทางที่ไม่เหลือทางเลือกอื่น และในที่สุดเสื้อแดงก็ทำสำเร็จ การปฏิรูปความ เป็นธรรมของไทยเริ่มแล้วและจะเปลี่ยน แบบไม่มีวันหวนคืน ขอให้ทุกคนช่วยกัน ให้ความรู้เรื่องไอซีซีให้กระจ่างแจ้งไปทั้งหมดทุกสีเสื้อ โดยเฉพาะหลักปรัชญา เพื่อกรุยทางกันต่อไป”

ล่าสุด สหภาพเพื่อประชาธิปไตย ประชาชน หรือ “ยูพีดี” ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของคนเสื้อแดงที่อาศัยอยู่ในยุโรป ได้จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่า 1 แสน รายชื่อ เพื่อให้ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาล อาญาระหว่างประเทศ “กรรณิการ์ นีลเซ่น” ผู้แทนสหภาพ “ยูพีดี” ย้ำหัวตะปูว่า การล่ารายชื่อนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. ตอนนี้ได้รายชื่อเพียงสองพันกว่ารายชื่อ โดยตามรัฐธรรมนูญกำหนดกำหนดไว้หนึ่งหมื่นรายชื่อในการยื่นเสนอกฎหมาย ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยได้เท่าไหร่ก็จะยื่นเท่านั้นก่อน แม้รายชื่อจะยังไม่ครบตามเงื่อนไข และหลังจากยื่นรายชื่อ แล้วจะมีการล่ารายชื่อต่อไปเรื่อยๆ เพื่อทำการจัดส่งภายหลัง โดยหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ทหารออกมาเข่นฆ่าประชาชนเหมือนกับปี 2552-2553 อีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ ทางยูพีดีได้มีการยืนหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันในประเด็นดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.54 โดยทางรัฐบาลได้ตอบกลับมาว่าติดกฎหมาย ภายในประเทศหลายมาตรา ซึ่งทางสหภาพฯ ได้มีการตอบโต้ไปแล้วว่า ไม่จริง! ทั้งนี้ “ผู้แทนยูพีดี” ได้นำจดหมายของทางสหภาพฯ ที่ส่งถึง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดย ให้เหตุผลว่า...เป็นข้ออ้างที่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนด การให้เกิดความคืบหน้าสู่การให้สัตยาบันฯ เพราะในประเทศที่มีระบอบ การปกครองเช่นเดียวกับไทย ต่างก็มีข้อบัญญัติในลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 8 ของไทย แต่ก็ให้สัตยาบันฯ ไปแล้ว ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของบางประเทศก็มีบัญญัติไว้ในหมวดพระมหากษัตริย์ ว่าจะถูกล่วงละเมิดมิได้!!

ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องบทบาทและอำนาจ หน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยกับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ” โดย “วารุณี ปั้นกระจ่าง” ผู้อำนายการกองกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามถึงสาเหตุที่ประเทศไทยไม่เข้าเป็นภาคีของรัฐธรรมนูญ กรุงโรมว่า...

“ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรม กำหนดให้ประมุข ของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากความรับผิดทางอาญาตามธรรมนูญศาลนี้ ไม่ว่ากรณีใดและจะไม่เป็นมูลเหตุให้ลดหย่อนโทษ หมายความว่าถ้าไทยเข้าเป็นภาคีก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีข้อนี้ด้วย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 ระบุ ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ใน ฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้อง พระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

และเป็นข้อติดขัดประการหนึ่ง ซึ่งหากไทยจะเข้าเป็นภาคี ก็จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการเพื่อรองรับพันธกรณีตามข้อ 27 ซึ่งไทยจะต้องคำนึงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีสถานะพิเศษในบริบททางสังคม การเมืองและกฎหมายของไทย จะต้องมีการศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อย่าง ละเอียดรอบคอบ โดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หลักฐานเท็จ ใบเสร็จมั่ว !!?

ย้ำไปถึง “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค คุมสาวกลิ่วล้อ อย่าให้เกิดการ “ชกใต้เข็มขัด” อีกนะทูนหัว
พฤติการณ์หน้ามืดตามัว ควักกระเป๋าแผ่นเดียว กล่าวหา “มังกรพันปี” บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็น “คนต่างด้าว” ไร้สิทธิ์การเป็น “นายกรัฐมนตรี”
สันดานห่าม การกระทำต่ำ พึงอย่าให้เกิดขึ้นต่อ “นายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” คนนี้
“นายกฯปู” ประกาศชัด ยืนหยัดตอบข้อกล่าวหา การซักฟอกอภิปรายของ “ประชาธิปัตย์” เต็มเหนี่ยว..พร้อมประกาศเด็ดขาด ไม่ต้องมี “องครักษ์” เป็นตัวช่วยประคองปีก
ฉะนั้น,เมื่อกล่าวหา “นายกฯปู”..ควรเอาหลักฐานทุจริตมาให้ดู...อย่าเที่ยว “ตู่”เอาหลักฐานเท็จ ขึ้นมาอีก

-------------------------------

แค่ ๘ ปี..ใช้งบ “ป่นปี้”น่าดู
เป็นเรคคอร์ด.. แค่ ๘ปีหลัง ทุกรัฐบาลทุ่มเงินประมาณ ๑.๖แสนล้านบาท..เพื่อดับไฟใต้ ๓ จังหวัด แต่ก็ไร้ผลอย่างจมหู
นโยบายอันเป็นมาตรการ ที่ใช้ “ทหารนำหน้าการเมือง” ล้มเหลวไม่เป็นสับประรดขลุ่ย
ฉะนั้น, “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพใหญ่กองทัพบก จึงหมดราคาที่จะมาคุย
น่าใช้มาตรการที่โลกเสรี ปราบกลุ่มก่อการร้ายอย่างอยู่หมัด ตั้ง “ขบวนการล่าไล่” ขุดรากถอนโคลน ไล่ล่าเข้าหาทุกแห่ง ที่มันซ่อนตัว และกบดานทุกที่
“พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี” พร้อมลุยไล่ล่า..ที่ “บิ๊กประยุทธ์”ประกาศท้า...ถ้าท่านลาออกไป นโยบายนี้เดินหน้าทันที

---------------------------

โยนหินถามทาง
ที่จะให้ “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผบ.ทบ. เพื่อนรักร่วมรุ่น จปร. ๑๒ ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “ปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่” น่าจะผิดหวัง
คำตอบรู้กันก่อนถามแล้วว่า “พล.อ.ดาว์พงษ์” ต้องถูกตี ดีดกลับ
แต่หมากนี้ เขาวางเกมกันลึก ๆ เป็นอันมากส์ขอรับ
เมื่อ “พล.อ.ดาว์พงษ์” ถูกส่งเข้าประกวดเป็น “ปลัดกลาโหม” ไม่สำเร็จ..น่าจะขอเก้าอี้ “กอ.รมน.” ที่มีอำนาจครอบจักรวาล มาให้แทนที่
โถ,เก้าอี้ปลัดกลาโหมยังไม่ให้...แต่ที่นี่อำนาจยิ่งใหญ่.. “นายกฯปู”เธอจะให้ ได้ยังไงล่ะพี่

-----------------------------

ค้านเข้าสายเลือด
พอมีช่องทาง “คุณพี่อัมมาร์ สยามวาลา” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย “ทีดีอาร์ไอ” เป็นกระโดดเข้าร่วมวง ออกมาเชือด
คราวนี้, ก็สวมบทเป็นกองหนุน “พรรคประชาธิปัตย์”อีกตามเคย ว่า นโยบายการรับจำนำข้าว โกงกันเละ มีใบเสร็จฟ้องตามมาเสร็จสรรพ
ประณามหยามเหยียด “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลาญเงิน ๒.๗ แสนล้านเชียวครับ
ผิดกับ “เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์” ซูเปอร์บิ๊กบอสใหญ่แห่งซีพี..ที่ชื่นชม การรับจำนำข้าวของ “รัฐบาลปู” ที่ทำให้ชาวนาอยู่ดี กินดี
“คุณพี่อัมมาร์” เอ๋ย...สงบปากนั่งเฉย ๆ ..ยิ่งค้าน ธาตุแท้ยิ่งเผย เฉลยตัวตนหมดสิ้นกันเที่ยวนี้

-------------------------------

เผด็จการฆ่าประชาชน
หนุน “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมดีเอสไอ..ตั้งกรรมการซอยย่อย เพื่อเร่งสอบคดีฆ่าประชาชน ๙๘ ศพ ให้เห็นผล
คดีร้าง วางวาระกันมาเนิ่นนานแล้ว..ผลสอบยังประเดิดประดัก ไม่ไปไหนเสียที
นักการเมือง ที่ออกคำสั่ง ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนกลางเมือง น่ารับกรรมกันด่วนจี๋
มิใช่ปล่อยให้ “ฆาตกรใจเย็น” มันลอยนวล..เหมือนกับการ “ฆ่าประชาชน” มันได้อภิสิทธ์ชน คุ้มกบาล
เมื่อดีเอสไอขยับเร่งคดีให้ด่วน...เชื่อว่าไอ้สุนัขหางด้วน..กำลังกระอักกระด่วน แล้วล่ะท่าน

ที่มา.คอลัมน์ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กบฏซีเรีย อ้างยิงเครื่องบินรบรัฐบาลตก !!?

กลุ่มกบฏในซีเรียได้เผยแพร่ภาพการจับกุมตัวนักบินฝ่ายรัฐบาลไว้ได้ ขณะที่ภาพวีดิโออีกชิ้นเผยให้เห็นเครื่องบินรบ MiG จากรัสเซียถูกอาวุธต่อต้านอากาศยานยิงตก

13 ส.ค. 2012 - สำนักข่าว BBC รายงานว่า กลุ่มกบฏของซีเรียได้เผยแพร่ภาพของชายที่เป็นนักบินฝ่ายรัฐบาลที่ถูกจับตัวไว้หลังจากเครื่องบินถูกยิงตก

กลุ่มกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (FSA) บอกว่าพวกเขายิงเครื่องบินของกองทัพฝ่ายรัฐบาลตกที่แถบชายแดนอิรัก แต่ทางด้านสื่อของรัฐบาลรายงานว่าเครื่องบินตกเนื่องมาจากเหตุขัดข้องทางเทคนิค และกำลังตามหาตัวนักบินอยู่

สำนักข่าวซานาของรัฐบาลซีเรียเปิดเผยว่า เครื่องบินตกหลังจากที่เกิดเหตุขัดข้องด้านระบบการควบคุม ในขณะที่เครื่องบินกำลังบินเพื่อซ้อมรบตามกิจวัตร ทำให้นักบินต้องหนีออกจากเครื่องบิน

เครื่องบินตกลงใกล้กับเมืองอัล-มูฮัสซัน ในเขตปกครอง ดิแอร์ อัล-ซอร์ ห่างจากชายแดนอิรัก 120 กม. กลุ่ม FSA บอกว่า นักบินคนหนึ่งเสียชีวิตขณะที่อีกคนหนึ่งถูกจับตัวไว้

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะยุวชนปฏิวัติแห่งดินแดนยูเพรตีส" ได้อัพโหลดวีดิโอบนยูทูบ แสดงให้เห็นภาพนักบินถูกจับตัวไว้โดยมีกลุ่มกบฏติดอาวุธ 3 คนอยู่รอบตัว นักบินบอกว่าภารกิจของเขาคือการทิ้งระเบิดใส่เมืองอัล-มูฮัสซัน

ภาพวีดิโอดังกล่าวยังไม่สามารถตรวจสอบตัวบุคคลชัดเจนได้ แต่ชายในวีดิโอบอกว่าตนเป็นนักบินชื่อ พ.อ. ฟาเรียร์ โมฮัมหมัด สุไลมาน เขามีแผลเล็กน้อยที่หน้าซึ่งเขาบอกว่ามาจากเหตุเครื่องบินตก

ในภาพวีดิโอดังกล่าว ผู้บัญชาการกลุ่มกบฏกล่าวว่า นักบินที่ถูกจับตัวไว้จะได้รับการปฏิบัติตามหลักของอนุสัญญาเจนีวาในฐานะนักโทษสงคราม

เครื่องบิน MiG ถูกยิงตก

มีวีดิโออีกชิ้นหนึ่งที่นำเสนอโดยกลุ่มกบฏ BBC รายงานว่าน่าจะเป็นเครื่องบินรุ่น MiG-23 ของรัสเซีย ที่มีรังเก็บอาวุธสองแห่ง ซึ่งน่าจะเป็นอาวุธจรวดยิงจากอากาศสู่พื้นดิน หลังจากนั้นก็มีเสียงอาวุธต่อต้านอากาศยานก่อนที่เครื่องบินจะระเบิดลุกเป็นไฟ มีเสียงโห่ร้องยินดีจากผู้ใช้อาวุธฝ่ายกบฏ

เควิน คอนโนลลี ผู้สื่อข่าว BBC ในประเทศเลบานอนรายงานว่าหากกลุ่มกบฏสามารถยิงเครื่องบินรบ MiG-23 ตกได้จริง มันจะเป็นช่วงเวลาสำคัญของความขัดแย้งในครั้งนี้

ไม่นานมานี้มีรายงานข่าวว่ามีอาวุธต่อต้านอากาศยานตกมาถึงมือของกลุ่มกบฏ และมีเครื่องบินรบเเข้ามาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายในเมืองอเล็ปโปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา


เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายกบฏได้โพสท์รูปบนอินเตอร์เน็ตแสดงให้เห็นภาพพวกเขากับอาวุธยิงจรวดมิสไซล์จากพื้นดินสู่อากาศ ซึ่งเป็นภัยต่อกองกำลังอากาศยานของรัฐบาลมาก

สถานการณ์สู้รบ

BBC รายงานอีกว่า มีวีดิโออื่นๆ ที่แสดงให้เห็นการสังหารโดยกลุ่มกบฏ มีร่างมนุษย์ถูกโยนลงมาจากดาดฟ้าของสำนักงานไปรษณีย์และถูกรุมทำร้ายจากฝุงชนเมื่อร่างตกถึงพื้น มีวีดิโออีกชิ้นที่เผยให้เห็นชายคาดตาถูกตัดคอ แต่ทางนักกิจกรรมก็ปฏิเสธว่ากลุ่มกบฏไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวีดิโอเหล่านี้

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในซีเรียเปิดเผยว่า กองกำลังของรัฐบาลได้พยายามบุกอเล็ปโปอีกครั้ง โดยใช้รถถังและรถหุ้มเกราะเข้ามาทางย่าน ซาอีฟ อัล-ดาวลา ส่วนย่านซาลาอัลดินทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองถูกถล่มด้วยอาวุธหนักมาตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 13

สื่อรัฐบาลซีเรียเปิดเผยอีกว่ากองทัพสามารถสังหาร 'นักรบรับจ้างก่อการร้าย' จำนวนมากได้ในเขตปกครองฮอม แต่ทางกลุ่มนักกิจกรรมในพื้นที่บอกว่า ที่ๆ มีคนเสียชีวิตมากที่สุดคือในเมืองหลวงดามาสกัส มีประชาชนถูกสังหาร 55 ราย



ที่มา:

Syria crisis: Rebels 'shoot down' warplane, BBC, 13-08-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-19246708
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ท้าดวลคดี.สลายแดง VS ตัดตอนค้ายาขึ้นศาลโลก !!?

คดีดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่านโยบายการฆ่าตัดตอนถือว่าเข้าข่าย 2 ใน 4 ฐานความผิด ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับฟ้อง คือเป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม และภัยรุกราน กรณีนี้เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และภัยต่อมวลมนุษยชาติ จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง ผู้เสียหายสมควรได้รับการเยียวยา 7.75 ล้านบาททันที ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณ กว่าหมื่นล้านบาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เคย เอาเงินมาไถ่บาปกรณีรับจำนำลำไยให้พี่ชายมาแล้ว เรื่องนี้ก็ควรช่วยไถ่บาปเรื่องฆ่าตัดตอนให้พี่ชาย หาเงินมาดำเนินการเรื่องนี้ด้วย บาปหนาจะได้ลดลงบ้าง”

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 31 กรกฏาคมที่ผ่านมา หลังจากศาลอาญาชั้นต้นพิพากษาคดีความผิดต่อชีวิตที่อัยการฝ่ายพิเศษฟ้องตำรวจ 6 นายที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยตำรวจ 3 นายถูกตัดสินประหารชีวิต และที่เหลือให้จำคุก กรณีฆ่าอำพรางเด็กอายุ 17 ปี ที่สืบเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดและเกิดการฆ่าตัดตอนในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ที่กาฬสินธุ์มีผู้ถูกยิงทิ้งช่วงปี 2546-2548 ถึง 21 คน

คำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นหลักฐานชั้นดีที่ทำให้เห็นว่า 2,500 ศพในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณมีจริง ถือเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เข้าข่าย 2 ใน 4 ฐานความผิดที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับไว้พิจารณา ซึ่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือยื่นต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (Interna tional Criminal Court หรือ ICC) เพื่อเอาผิดผู้ที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการฆ่าตัดตอนไปแล้ว

นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังตั้งคณะทำ งานเพื่อรวบรวมคดีการฆ่าตัดตอน เฉพาะในภาคอีสานมีผู้เสียชีวิตถึง 1,440 ศพ ซึ่งทั้งหมดพิสูจน์แล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ดังนั้น ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการฆ่าตัดตอนสามารถเป็นโจทก์ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเอาผิดผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังได้ โดยจะใช้หลักฐานจากคดีที่ศาลตัดสินครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสืบหาว่ากระบวนการมาจากนโยบายฆ่าตัดตอนของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ และมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด

ยัน “ทักษิณ” เป็นผู้ก่อการร้าย

นายชวนนท์ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณและนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความแนวร่วมประชา ธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บิดเบือนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2553 เพราะข้อเท็จจริง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหมดและถูกตั้งข้อหาการก่อการร้าย จึงกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าหลบเลี่ยงการตรวจสอบ ทั้งที่นายอภิสิทธิ์ยืนยันพร้อมให้ตรวจสอบทุกขั้นตอนและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมา แต่ พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้างผิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศและอัยการได้รับทราบข้อมูลตรงนี้แล้ว จะทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นว่าใครที่อยู่เบื้องหลัง และใครพยายามจะล้างผิดโดยไม่มีกระบวนการสอบสวนตามกฎหมายในประเทศ

ขณะที่นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะนำคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติดฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศว่า ขณะนี้มีจำนวน 40 คดีที่อยู่ในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถือว่ายังมีความล่าช้ามาก ขณะที่อีก 8 คดีที่อยู่ในการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพิ่งจับคนผิดได้ 1 คดีคือ กรณีที่ตำรวจร่วมกันฆ่าตัดตอนเยาวชนอายุ 17 ปีที่กาฬสินธุ์

“กรณีนี้ถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าข่ายที่จะสามารถนำ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและคดีฆาตกรรมระดับสากลได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงสามารถนำเข้าสู่การพิ จารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้เหมือนกัน”

นายไกรศักดิ์กล่าวว่า วิธีการฟ้องร้องเอาผิดมีอยู่หลายช่องทาง อาทิ ศาลอาญาประเทศเยอรมนี ศาลกลางสหรัฐอเมริกา ก็สามารถรับฟ้องคดีเหล่านี้ได้หากเห็นว่าเป็นคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าประเทศใดในโลกก็สามารถเข้ามาคุ้มครองมนุษยชาติได้หากมีกลุ่มผู้ได้รับความเสียหาย และพยานสามารถดำเนินการยื่นฟ้องร้องได้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นหน่วยงานหรือบุคคลใดดำเนินการ ส่วนการจะนำไปยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในทางปฏิบัติแม้จะไม่มีผลผูกพัน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบันและรัฐสภายังไม่ได้รับรอง แต่การไปยื่นไว้ก่อนก็สามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานได้

“เหวง” ท้า ปชป. สู้ในศาลโลก

ในขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐ มนตรี ได้ถากถางพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่จะนำคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติดสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไปขึ้นศาลโลกว่า “เปลืองค่าเครื่องบิน”

เช่นเดียวกับนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่า ไม่รู้สึกหวั่นไหวแม้แต่น้อย เพราะรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยมีนโยบายหรือสั่งให้ใครไปฆ่าใคร และมีการตั้งกรรม การตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายชุดและสรุปว่าไม่มีรัฐบาลใดสั่งให้ฆ่าตัดตอน ทั้งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตในทุกคดีเกิดจากสาเหตุใดบ้าง เป็นการตายที่เกี่ยวกับยาเสพติด หรือเป็นการฆ่ากันเองในระหว่างผู้ค้ายา หรือเกิดจากการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐเท่าใด การตายของแต่ละ คนจึงต้องพิสูจน์และสอบสวนแต่ละคดีไป ใครถูกว่าไปตามถูก ใครผิดว่าไปตามผิด ตรงข้ามกับนายอภิ สิทธิ์กรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งน่าสนใจว่าหากขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศจริง คดีใดจะถึงมือศาลก่อนกัน

โดย นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้แถลงท้าพรรคประชาธิปัตย์ให้เอาเรื่องฆ่าตัดตอนและการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาคู่ไปเลยว่าใครจะถูกลงโทษ ใครเป็นฆาต กรสั่งฆ่าประชาชน โดยได้ขอให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประ เทศ พิจารณายอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่าง ประเทศ เพื่อให้ดำเนินคดีกับการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ในฐานะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งนายสุรพงษ์รับปากจะสั่งการให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศพิจารณา หากไม่มีปัญหาอะไรจะเดินหน้าทันที และในเวลา 1-2 เดือนอาจได้เห็นฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนถูกเรียกตัวไปสอบ สวนที่กรุงเฮก

ให้อำนาจศาลย้อนหลังเฉพาะกรณีได้

กรณีรัฐบาลไทยสามารถยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีโดยไม่ต้องลงสัตยาบันได้หรือไม่นั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า ทำได้ทั้งรัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคี โดยสามารถทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี ซึ่งมีประ เทศที่ทำสำเร็จมาแล้วคือยูกันดาและไอวอรีโคสต์

โดยยกตัวอย่างกรณีไอวอรีโคสต์ที่ไม่ได้ให้สัตยาบัน โดยทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 ให้รับเขตอำนาจศาลตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2545 เพื่อให้ศาลโลกจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้นย้อนหลังได้ แต่ไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะได้ลงนามธรรมนูญกรุงโรมไว้แล้ว โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสามารถลงนามในสัตยาบันได้ทันที ไม่ต้องผ่านช่องทางรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่คดีต้องเข้าข่าย 4 ฐานความผิดร้ายแรงคือ การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาช ญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม สหภาพเพื่อประชา ธิปไตยประชาชน (Union for People’s Demo cracy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของคนเสื้อแดงในยุโรป ได้จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่า 100,000 รายชื่อ เพื่อให้ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยนางกรรณิการ์ นีลเซ่น ผู้แทนสหภาพ เปิดเผยว่า การล่ารายชื่อนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม ซึ่งขณะนี้ได้เพียง 2,000 กว่ารายชื่อ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 10,000 รายชื่อ จึงจะยื่นเสนอกฎหมายต่อสภาได้ แต่สหภาพกำหนดจะยื่นต่อรองประธาน รัฐสภาในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ได้เท่าไรก็จะยื่นเท่า นั้นก่อน แล้วจะล่ารายชื่อส่งให้ในภายหลัง

นอกจากนี้สหภาพยังยื่นหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐไทยให้สัตยาบันตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2554 ซึ่งรัฐบาลตอบกลับมาว่าติดกฎหมายภายในประเทศหลายมาตรา ทางสหภาพจึงส่งจดหมายถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ให้รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาว่า เป็นข้ออ้างที่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนดให้เห็นความคืบหน้า เพราะประเทศที่มีระบอบการปกครองเช่นเดียวกับไทย เช่น อังกฤษ เบลเยียม แคนาดา ญี่ปุ่น ลักเซม เบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน และสวีเดน ก็มีข้อบัญญัติในลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 8 ของไทย แต่ก็ให้สัตยาบันไปแล้ว และข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของบางประเทศ เช่น เบลเยียม บัญ ญัติไว้ใน Article 91 ที่ว่าพระมหากษัตริย์จะถูกละเมิดมิได้และเหล่ารัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองแทน หรือเดนมาร์กบัญญัติคล้ายกับ Section 13 ที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะจะล่วงละเมิดมิได้และรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองเช่นกัน

ปัญหาขณะนี้จึงอยู่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ตระหนักดีว่าอะไรเป็นอะไร จะกล้า “ทำความจริงให้ปรากฏ” หรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมักจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตยาบัน มิใช่เพียงเพราะฝ่ายความมั่นคงและกองทัพท้วงติงว่าจะมีผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูงเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าเพราะรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยกลัวว่าจะมีการโยงไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณกรณีฆ่าตัดตอนอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาขู่ในขณะนี้ก็เป็นได้ ทั้งที่หลักฐานและความผิดกรณีฆ่าตัดตอนในทางคดีนั้นถือว่าอ่อนมากเมื่อเทียบกับกรณีสังหารโหด 98 ศพที่มีหลักฐานมากมาย ทั้งพยานบุคคล ภาพถ่าย วิดีโอ และข่าวต่างๆที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องกล้า!

เมื่อวิเคราะห์จากช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้ากรณีฆ่าตัดตอนสามารถเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณได้จริง พรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่ปล่อยไว้ และคงจะให้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งแต่เป็นรัฐบาลแล้ว หรือใช้กระบวนการยุติธรรมในประเทศดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว แต่พรรคประชาธิปัตย์ทำไม่ได้เพราะแม้แต่คณะกรรมการที่มีคนของพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังไม่สามารถระบุความผิดประเด็นนี้ได้ชัดเจน ยิ่งนำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์จึงเข้าทำนอง “ปากกล้าขาสั่น” มากกว่า

ดังนั้น การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาขู่เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ตามคำท้าทาย หรือแม้แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เคยเรียกร้องให้เอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณกรณีฆ่าตัดตอน จึงไม่น่าจะออกมาคัดค้าน ตรงกันข้ามกลับควรส่งเสริมให้รัฐบาลประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเพื่อเอาผิดทักษิณหากมีความผิดจริง

จึงเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่งหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดแต่ถอยและเกี๊ยะเซียะกับกลุ่มผู้มีอำนาจทั้งในระบบและนอกระบบเพียงเพื่อให้ได้เป็นรัฐ บาลนานที่สุด ขลาดกลัวแม้แต่จะ “ทำความจริงให้ปรากฏ” ทั้งที่มีโอกาสและหลักฐานชัดเจนที่จะเอาผิดกับคนสั่งและคนฆ่าประชาชน และเป็นโอกาสที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะยุติวิกฤตบ้านเมืองโดยการ “ทำความจริงให้ปรากฏ” ใครผิดก็ว่าตามผิด ใครถูกก็ว่าตามถูก ซึ่งการยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศคงไม่มีใครหรือสีใดไปประท้วงถึงกรุงเฮก หรือจะมีอำนาจนอกระบบใดๆเข้าไปแทรกแซงศาลอาญาระหว่างประเทศได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นกระทู้เรียกร้องเรื่องการรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวไว้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะสานต่อได้ทันที

นอกจากนี้ น.ส.จารุพรรณยังทวีตตอบโต้การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เพิ่งจะมาสนใจเรื่องฆ่าตัดตอน ส่งให้ ICC ตามรอยเสื้อแดง โดยส่งนายกษิต (ผู้ก่อการร้ายปิดสนามบิน, จำเลย ICJ, ขึ้นชื่อเรื่องมาร ยาททรามกับประเทศเพื่อนบ้าน) ไปเป็นผู้ดำเนินการ นั้น ต้องขอไว้อาลัยต่อการตัดสินใจของพรรคประ ชาธิปัตย์ครั้งนี้อย่างสุดจิตสุดใจ เพราะมองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายที่มีแต่เสียกับเสียแบบกู่ไม่กลับคือ

ประการแรก คนทั้งโลกจะตั้งคำถามว่าทำไมเพิ่งมาสนใจ ICC ความจริงใจต่อเรื่องฆ่าตัดตอนแทบจะไม่มี เป็นแค่เกมตอบโต้ไปวันๆ ประการที่ 2 ไม่พ้นข้อหาเด็กลอกการบ้านตามเคย ลอกหนทางของเสื้อแดงที่จะแสวงหาความเป็นธรรมสากลให้กับประเทศไทย โถ..พรรคนักกฎหมายขี้คุย ประการที่ 3 การจะไปฟ้อง ICC บ้างก็เท่ากับยอมรับอำนาจ ICC แล้ว ก็มีความยินดีที่จะส่งนายอภิสิทธิ์ไปประเดิมสอบสวนคนแรก ประการที่ 4 การส่งนายกษิตไปนับว่าเลือกได้ถูกคนแล้ว ดิฉันไม่กังวลอะไรเลย นอกจากจะทำให้ประเทศไทยขายหน้าอะไรอีก และสุดท้าย ขอบอกว่าช่วยดำเนินการให้ไว เพราะอยากเห็นปรากฏการณ์เปรียบเทียบ “ความเป็นธรรมไทย” กับ “ความเป็นธรรมสากล”

รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไม่ควรทำเหมือน “หลับตา ข้างหนึ่ง” และปล่อยให้ “คนตายนอนตาสว่าง” ต่อไป เพราะอาจเสียมวลชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะญาติวีรชนคนเสื้อแดงที่ต้องสูญเสียจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภา 2553”

การ “ทำความจริงให้ปรากฏ” โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจรับคำท้าจากพรรคประชาธิปัตย์ และประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ความจริง และพิจารณาคดีทั้งกรณี “มีคนตาย 98 ศพภายในรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมน ตรี” และกรณีที่ “พรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวหานโย บายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีคนบริสุทธิ์ต้องตายไปเป็นจำนวนมาก” จึงเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นแม้ว่าจะต้องกระทบกับ พ.ต.ท.ทักษิณก็ตาม

คำถามถึง “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” ก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์กล้าพอหรือไม่? พ.ต.ท.ทักษิณใจถึงพอหรือไม่?

ส่วนคำถามถึง “อภิสิทธิ์” นั้นไม่มี เพราะไหนจะเรื่อง “วิบากกรรม สด.9” ในอดีต จนถึงข้อหา “ฆาตกร (เกือบ) ร้อยศพ มือเปื้อนเลือด..” ถ้ายังอยู่เย็นเป็นสุขได้..ก็ไม่ปรกติแล้ว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สมานรอยร้าว. ด้ามขวานนิติธรรม+ความมั่นคง !!?

สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม..สองคำนี้เปรียบเสมือน วาจาศักดิ์สิทธิ์แห่งอิสรภาพ ใน ยูโธเปีย หากแต่ในโลกแห่งความ เป็นจริง..แม้แต่ความยุติธรรมยังห่างไกลยิ่งนัก

นักการเมืองมักใช้คำว่า “นิติธรรม” ในทางผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อสร้างความ ชอบธรรมตัวเอง หรือการหาเสียง ซึ่งหากพิจารณาจากความหมายแล้ว.. “สิทธิมนุษยชน” หมายถึง สิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่สามารถ จำหน่าย จ่าย โอน หรือแจกให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้ สิทธิดังกล่าวนี้มีความเป็นสากลและเป็นนิรันดร์

จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า “มนุษยทั้งหลาย เกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรี และสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ ประสาท เหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง” ความดำรงอยู่ ความถูกต้อง และเนื้อหาของสิทธิมนุษยชน เป็นหัวข้อที่เป็น ที่โต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางปรัชญาและรัฐศาสตร์ ตามกฎหมายแล้ว สิทธิมนุษยชนได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ และในกฎหมายภายในของหลายรัฐ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนจำนวนมากแล้ว หลักการ ของสิทธิมนุษยชนนั้นกินขอบเขตเลยไปกว่ากฎหมาย และก่อร่างขึ้นเป็นหลักศีลธรรมพื้นฐานสำหรับวางระเบียบภูมิศาสตร์ การเมืองร่วมสมัย สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว สิทธิมนุษยชนคือความเสมอภาคในอุดมคติ

ส่วน “หลักนิติธรรม” คือ การตรากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกติกา ต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของสังคม และสมาชิก โดยมีการยินยอมพร้อมใจและให้ถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม กล่าว โดยสรุปคือ สถาปนาการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่กระทำกันตามอำเภอใจหรืออำนาจของบุคคล

“วิทิต มันตาภรณ์” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง หลักนิติธรรมว่า ในระดับสากลนั้น หากมีการตีความความหมายอย่างกว้างก็จะครอบคลุมทั้งเรื่องสิทธิทางการเมือง การแสดงออกสิทธิมนุษยชน การขึ้นศาล กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ ความ เป็นธรรมและธรรมาภิบาล ซึ่งเมื่อเกิดสหประชาชาติขึ้นก็ทำให้หลักนิติธรรมมีหลักประกันที่แน่ชัดผ่านสนธิสัญญา ข้อตกลงต่างๆ

“ในส่วนของประเทศไทยนั้น แม้ปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี 2550 เช่น มาตรา 3 จะกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ การมองเรื่องสิทธิมนุษยชนจากรัฐธรรมนูญ ไทยอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่มาจากพลังบางอย่าง หรือการใช้ความรุนแรงบางส่วน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้อาจมีปัญหาเรื่องหลักสากล การเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นเห็นว่า การมองเรื่องหลักนิติธรรมจึงต้องดูกระแสสากลควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ เมื่อหลักนิติธรรมเป็นเรื่อง ของการใช้อำนาจ การตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) จึงเป็นคานสำคัญ ในการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ”

ปัจจุบันไทยเป็นภาคีสมาชิกสนธิสัญญาในเรื่องสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมือง พลเรือนและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิสตรีฯ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฯ อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติที่กีดกั้น ทางเชื้อชาติ อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการกระทำที่เหยียดหยาม และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ

“นอกจากนั้นยังมีความสนใจในกฎหมายอีก 2 ฉบับคืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิแรงงานต่างด้าว และอนุสัญญาว่าด้วย การห้ามอุ้ม เช่นกรณีคดีนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการเป็นภาคีอย่างเต็มตัว”

ทั้งนี้ ผลของการเป็นภาคีคือ ต้องปฏิรูปกฎหมาย นโยบายและการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้ง ถูกตรวจสอบตรง จากกรรมการของสหประชาชาติ โดยส่งรายงานแห่งชาติเป็นครั้งคราว ซึ่งหากมีคำแนะนำจากกรรมการ ดังกล่าวก็ควรปฏิบัติตาม

เช่นในส่วนของกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิของพลเมือง พลเรือนและสิทธิ ทางการเมืองนั้น พบว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้ฝากข้อคิดให้กับหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย ว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลายส่วนนั้น สามารถจำกัดได้ แต่ในส่วนที่เป็นสิทธิเด็ดขาดไม่สามารถจำกัดได้เลย เช่น ห้าม ทรมาน ห้ามค้าทาส สิทธิในการมีชีวิตไม่ถูกประทุษร้าย ไม่ถูกอุ้ม รวมทั้งการประหาร ผู้ที่ต่ำกว่าอายุ 18 ปี

ขณะที่การประกาศกฎอัยการศึก ในเหตุฉุกเฉินต่างๆ นั้น จะต้องมีความโปร่งใส พร้อมทั้งแถลงให้สหประชาชาติได้รับทราบ ซึ่งที่ผ่านมาคาดว่าในประเทศ ไทยมีการแถลงประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น คือในช่วงปีเหตุการณ์ความขัดแย้งช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ปี 2553 โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าต่อไปจะต้องมี การแถลงประกาศใช้ หรือขยายเวลาการใช้กฎหมายดังกล่าว พร้อมทั้งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการจำกัดสิทธินั้นมีความจำเป็นจริงๆ มีกฎหมายรองรับ ไม่ใช่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้บริหาร ที่สำคัญต้องมีวัตถุประสงค์ตามหลักสากลคือ มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม”

>> กฎหมายลิดรอนสิทธิ์

ส่วนการใช้หลักนิติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น ก็ถูกติงจากคณะกรรมการของสหประชาชาติ เรื่องการใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเนื่องจาก กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้นเมื่อใช้ร่วมกันแล้วสามารถกักตัวคนได้ โดยไม่ต้องขึ้นศาลนาน ถึง 37 วัน ทั้งที่ตามหลักนิติธรรมกำหนดให้การขึ้นศาลต้องกระทำโดยทันที และ ถึงแม้ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐจะยินยอมให้ครอบครัวเข้าถึงบุคคลที่ถูกกักขังได้ภายใน 3 วัน แต่อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องว่า บุคคลที่ถูกกักตัวต้องสามารถเข้าถึงทนายได้โดยทันที ระยะเวลา 3 วันนั้นนาน เกินไป

ส่วนที่จะมีการนำพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงแห่งรัฐใหม่ มาใช้แทนกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น อยาก ฝากข้อคิด โดยเฉพาะมาตรา 22 เรื่องการ กำหนดให้สามารถฝากตัวบุคคลที่ต้องสงสัยเข้าสู่การอบรมได้ แม้จะเป็นไปโดยความยินยอม แต่ผู้ที่ติดแบล็กลิสต์อาจประเมินแล้ว เห็นว่าจำเป็นต้องเลือกเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ทำให้ความยินยอม ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ศ.วิทิต กล่าว และทั้งนี้ สำหรับมาตรการในการแก้ปัญหา ชายแดนภาคใต้ต่อไปนั้น ตนเห็นว่าการเยียวยาที่แท้จริงตามหลักนิติธรรมนั้น ต้อง เป็นการเยียวยาทางพลเรือน ไม่ใช่การเยียวยาฉุกเฉิน ขณะเดียวกันต้องหาทาง ออกโดยวิธีทางที่สันติควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่ทุกวันนี้ยัง ไม่เห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากนัก

>> กรณีภาคใต้ต้องใช้ยาแรง!..

“พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงหลักนิติธรรมระหว่างประเทศกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ว่า การปกครองของรัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ของสหประชาชาติต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม ซึ่งก็คือหลักของความถูกต้อง ความ ชอบธรรมทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน รวมถึงป้องกันการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด

“แม้ในรัฐธรรมนูญของไทยจะมีการพูดถึงหลักนิติธรรม แต่ไม่ได้มีการอธิบายในรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องยึดแนวทางของต่างประเทศที่เป็นสากล”

ส่วนที่มีการใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงทางภาคใต้ของไทย นั้น แม้เรื่องนี้จะกระทบกระทั่งขอบเขตของระบบนิติธรรมอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าสามารถยกเว้นได้ในบางข้อ เนื่องจากหลักความมั่นคงของรัฐ และสาธารณชนคงต้องมาก่อนหลักนิติธรรม เพราะความมั่นคงถือเป็นของส่วนรวม ถ้าความมั่นคงอยู่ไม่ได้ สาธารณชน อยู่ไม่ได้ หลักนิติธรรมคงอาศัยอยู่ในบ้านที่ไฟไหม้ไม่ได้เช่นกัน

>> สิทธิมนุษยชนของใคร?

“ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าในเรื่องหลักนิติธรรม ประเทศไทยต้องไม่ยึดติดกับนิยามที่แคบและตายตัว แต่ต้องเข้าใจพื้นฐาน มีความเป็นธรรมและระบบที่เป็นธรรมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน ประชาชาติ

“การทำความเข้าใจหลักนิติธรรมในยุคนี้ต้องไม่ตีความแบบเกาะ อย่ามองอะไรแบบเดียว เพราะกฎหมายไม่ใช่เรื่อง ทางเทคนิคเท่านั้น มีบริบทภายใต้สถานการณ์ที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความหมายเชิงเนื้อหาที่ดี ในเรื่องนิติธรรม สิทธิมนุษยชน แต่กระบวนการนั้นมีการสงวนไว้ ทำให้ไม่มีบททดลองความพึงพอใจของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนต้องลุกขึ้นมา อย่าปล่อยให้ภาครัฐเล่นอยู่ข้างเดียว”

สำหรับสถานการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทย นึกแล้วก็ปวดใจพอสมควร มี การพูดพาดพิงจากรองนายกรัฐมนตรีว่าคนของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้ลงไปทำงาน ในจังหวัดภาคใต้เลย ขณะที่ทหารในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ก็ตั้งคำถามว่าจะเอาหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนตรงไหนมาผสมผสานในการทำงาน เมื่อเหล่าทหาร ต้องแต่งเครื่องแบบมาล่อเป้าถูกระเบิด

ดังนั้น ตรงนี้จึงกลายเป็นประเด็นปัญหา เพราะประชาชนทุกคนต้องการความคุ้มครองความเป็นมนุษย์เช่นกัน แต่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้ ยังมีประเด็นคำถาม ว่า ตกลงจะคุ้มครองใคร และเรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกหยิบมาพูดถึง เพราะไม่อยากให้เรื่องภาคใต้ยกระดับเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ไม่รู้เพราะอายหรือกลัว แต่ฟังดูเหมือนกับว่า ขณะนี้หลักนิติธรรมของไทย ขัดกับหลักมาตรฐานสากลอยู่
ปัญหาชายแดนภาคใต้ยังถือเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนในหลายๆปัจจัย ซึ่งบางอย่างก็พูดได้ ในขณะที่หลายอย่างก็เหมือนน้ำท่วมปาก

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปกครองกดขี่ . เงื่อนไขแยกดินแดน !!?

กลายเป็นประเด็นขึ้นมา หลังจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยเปรยถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำนองว่าต้องบังคับใช้กฎหมายพิเศษเต็มพื้นที่ ตอนนี้ยังไม่เสียดินแดน แต่ถ้าชะล่าใจจะเสียดินแดนแน่ในอนาคต โดยเฉพาะหากมีการ "ลงประชามติ"

ประเด็นว่าด้วยการลงประชามติเพื่อแยกดินแดนหรือแยกตัวตั้งรัฐใหม่ หรือ Self-determination นั้น เป็นเรื่องที่พูดกันมาและส่งสัญญาณเตือนกันมาระยะหนึ่งแล้วว่ามีความอ่อนไหวอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบ้านเรา โดยเฉพาะ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยพูดเอาไว้หลายครั้งบนเวทีสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้และความมั่นคง

แม้ที่ผ่านมา จะยังไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนจากกลุ่มผู้ก่อการในสามจังหวัด แต่ความพยายามย่อมมีแน่ โดยเฉพาะจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่าขบวนการเหล่านั้นจะยังมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานหรือไม่ เพราะการช่วงชิงจังหวะ โอกาส และการนำ เป็นผลประโยชน์ทางการเมืองและอำนาจที่ทุกฝ่ายจ้องตาเป็นมัน!

ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 59 เรื่อง "หลักการกำหนดใจตนเอง" หรือ The Principle of Self-Determination ซึ่งเขียนโดย ณัฐกฤษตา เมฆา และมี รศ.ดร.สุรชาติ เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ได้อรรถาธิบายเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ สรุปได้ว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (The Rights of Self-Determination) เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ แต่ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อมีการนำสิทธิในการกำหนดใจตนเองไปกล่าวไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ทำให้สิทธิในการกำหนดใจตนเองมีผลบังคับใช้แก่รัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไปด้วย

แต่เนื่องจากในตัวกฎบัตรไม่ได้ระบุถึงเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเองเอาไว้มากนัก ทำให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติต้องมีมติต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดใจตนเองออกมาเพื่อเป็นการอธิบายและแสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง

รายละเอียดและเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”

ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดใจตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ นอกจากนั้น สิทธิในการกำหนดใจตนเองยังถูกใช้ในกรณีสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย

สำหรับประเด็นการกำหนดใจตนเอง หรือ Self-determination กับการแบ่งแยกดินแดนนั้น มีอธิบายไว้ในตอนท้ายของจุลสาร ระบุว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเองภายนอก หรือการแบ่งแยกดินแดน (secession) ถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก ในการอภิปรายเกี่ยวกับคำแถลงการณ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตร กล่าวกันว่า มีสถานการณ์ 3 แบบที่อาจทำให้เกิดสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนขึ้น สองสถานการณ์แรกที่เกี่ยวกับสถานการณ์ของการตกเป็นอาณานิคมและการเข้าครอบครองของต่างชาติ สองสถานการณ์นี้ได้รับโดยฉันทามติว่าสิทธิการแบ่งแยกดินแดนในกรณีเหล่านี้เป็นกฎหมายจารีตประเพณี

ขณะเดียวกัน ก็มีความไม่เห็นด้วยกับคำแปลของข้อยกเว้นของแถลงการณ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตร (the Saving Clause of the Declaration on Friendly Relations) ซึ่งกล่าวว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวได้รวมสิทธิการแบ่งแยกดินแดนที่ยอมรับโดยหมู่ชนหนึ่ง (a people) ซึ่งสิทธิในการกำหนดใจตนเองภายในของหมู่ชนดังกล่าวได้ถูกละเมิดอย่างสิ้นเชิงโดยรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มชนทั้งปวงชน (peoples) ของหมู่ชนนั้น

ขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศมิได้ให้สิทธิตามกฎหมายโดยเจาะจงในการแยกตัวออกมาเพียงฝ่ายเดียวจากรัฐ “แม่” แก่ส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐาธิปัตย์ และกฎหมายดังกล่าวก็มิได้ปฏิเสธสิทธิดังกล่าวอย่างชัดเจนอีกด้วย เหตุผล คือ กฎหมายระหว่างประเทศให้ความสำคัญแก่บูรณาการทางอาณาเขตของรัฐชาติ และโดยทั่วไปจะทิ้งภาระการสร้างรัฐใหม่ให้ตกอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของกฎหมายภายในประเทศของรัฐที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีดินแดนที่จะแยกตัวออกไปเป็นส่วนประกอบ

ขณะเดียวกัน เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า การแบ่งแยกดินแดนเป็นหนึ่งในรูปแบบของการใช้สิทธิการกำหนดใจตนเองนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ปัญหาเช่นนี้เป็นการเผชิญหน้าของสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นมาอย่างรอบคอบกับสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ในบางสถานการณ์รัฐจึงมีหน้าที่ทางอ้อมในการยอมรับความชอบธรรมในการเรียกร้องขอแบ่งแยกดินแดน แต่ประเด็นสำคัญ ก็คือ กฎหมายระหว่างประเทศตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า การใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเองจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐาธิปไตยที่ดำรงอยู่ และสอดคล้องกับการดำรงไว้ซึ่งบูรณาการทางอาณาเขต

นอกจากนี้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้กำหนดขอบเขตของสิทธิในการกำหนดใจตนเองในแง่ที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ภายใต้กรอบของรัฐที่ดำรงอยู่ แม้จะไม่อ้างอิงโดยตรงกับการคุ้มครองการบูรณาการอาณาเขตก็ตาม

การดำรงไว้ซึ่งการบูรณาการอาณาเขตของรัฐที่ดำรงอยู่ และสิทธิของ “หมู่ชนหนึ่ง” เพื่อให้บรรลุมาตรการที่ครบถ้วนของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง จึงมิใช่สิทธิที่สามารถเลือกเพียงอย่างเดียวได้ จากคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งแคนาดา (ในคดีว่าด้วยการแบ่งแยกดินแดนของควิเบก) คำกล่าวนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อรัฐปกครองโดยใช้หลักการของตัวแทนของประชาชน (people) หรือกลุ่มชน (peoples) ที่พำนักในอาณาเขตดังกล่าวโดยเท่าเทียมกัน และโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น วิธีการปกครองจะต้องเป็นไปตามหลักการของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการภายในรัฐดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐได้ปฏิบัติตามปัจจัยเหล่านี้อย่างครบถ้วนแล้ว จึงจะถือว่ารัฐมีสิทธิได้รับความคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการบูรณาการอาณาเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการสร้างสิทธิในการกำหนดใจตัวเองโดยที่หมู่ชนหนึ่ง (a people) ที่ถูกปกครองอย่างกดขี่ หรือโดยที่กลุ่มชนที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการถูกปฏิเสธในการเข้าถึงรัฐบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม มีสิทธิในการกำหนดใจตนเองภายนอก (external self-determination) เนื่องจากประชาชนถูกปฏิเสธความสามารถในการใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเองเป็นการภายใน ซึ่งหมายถึงสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++