--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

นายกฯปู. บินพบ เหวินเจียเป่า 17 เม.ย. ชักชวน 14 เอกชนชั้นนำ จีนลงทุนในไทย !!?


ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17-20 เม.ย.2555 คณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จะเดินทางไปจัดกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนำคณะผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ของไทย เข้าร่วมหารือข้อราชการกับนายเหวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน และวันที่ 18 เม.ย.2555 จะมีกิจกรรมการจัดสัมมนา "โอกาสการลงทุนในไทย" และการประชุมธุรกิจไทย-จีน โดยนายกฯ จะร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การสร้างอนาคตของประเทศไทย" ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชั้นนำของจีนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังทิศทางและนโยบายของการส่งเสริมการลงทุน โอกาสและศักยภาพของการลงทุนในประเทศไทย

นอกจากนี้ นายกฯ จะพบปะกับผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของจีน 14 บริษัท เพื่อหารือถึงแผนการลงทุนในไทย นโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและการให้ความช่วยเหลือในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง อุตสาหกรรมเครื่องจักรอุตสาหกรรม พลังงานทดแทน ยานยนต์ เป็นต้น ตลอดจนนโยบายด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน

"การเยือนจีนครั้งนี้จะมุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนและต่อเนื่องของไทย รวมถึงการจูงใจให้กลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของจีนทั้งที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกที่จะเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในภูมิภาคภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ในปี 2558 รวมถึงพิจารณาการเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์และการลงทุนจากจีนเพิ่มมากขึ้น" ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์กล่าว

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า จีนเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดกิจกรรมกระตุ้นการลงทุนทั้ง 2 ทางระหว่างจีนและไทยเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ พลังงานทดแทน เป็นต้น ขณะเดียวกันมุ่งส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมบริการ เกษตรแปรรูปและอาหาร เป็นต้น สำหรับภาพรวมการลงทุน 2 ฝ่ายมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2554 มีการยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนของจีนในไทยอยู่ที่ 36 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 28,495 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ในขณะที่ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 7 โครงการ มูลค่า 1,945 ล้านบาท

ที่มา:ข่าวสดรายวัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บ้าน 111 จ่อร่วมรัฐบาลพ.ค.นี้ สุดารัตน์-ภูมิธรรม นำทีมช่วย ยิ่งลักษณ์. ปั๊มผลงาน !!?

ยิ่งลักษณ์. จ่อปรับ ครม. รับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นโทษเว้นวรรคการเมืองเดือน พ.ค. นี้ สะพัด “สุดารัตน์-ภูมิธรรม-พงษ์เทพ-วราเทพ” คัมแบ็กคุมงานใหญ่เพื่อช่วยปั่นผลงานให้กับรัฐบาล ทั้งในกระทรวงคมนาคม ยุติธรรม ไอซีที และคลัง ด้าน “สนธยา” ได้เวลาแสดงเอง โยก “สุกุมล” พ้นรัฐมนตรีวัฒนธรรม พร้อมขอเปลี่ยนโควตาพรรคพลังชลคุมงานใหญ่ขึ้น ขณะที่ “ชูศักดิ์” กลับมารับงานเป็นมือกฎหมายให้รัฐบาลเหมือนเดิม

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยคาดหมายว่าใกล้เวลาที่การเมืองจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังจากที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นโทษเว้นวรรคทางการเมืองในช่วงเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ โดยจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ประมาณ 5-6 ตำแหน่ง

“เท่าที่ทราบนายภูมิธรรม เวชชัย คนสนิทคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แทนนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรค ที่จะถูกโยกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายวราเทพ รัตนากร จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แทนที่นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ และนายชูศักดิ์ ศิรินิล จะมารับงานเป็นมือกฎหมายให้รัฐบาล ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แทน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีคนปัจุบัน และจะมีการเพิ่มโคตารองนายกรัฐมนตรีให้กับกลุ่มกรุงเทพฯอีก 1 ตำแหน่ง”

แหล่งข่าวคนเดิมระบุอีกว่า ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยพรรคพลังชลจะให้นายสนธยา คุณปลื้ม ที่พ้นโทษเว้นวรรคทางการเมืองมารับตำแหน่งรัฐมนตรีแทนนางสุกุมล คุณปลื้ม ภรรยา ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒธรรม แต่นายสนธยาจะได้โควตารัฐมนตรีในกระทรวงที่ใหญ่ขึ้น

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ถอดบทเรียนยักษ์ล้ม-เกิดอะไรขึ้นกับ โซนี่ !!?

โซนี่"เคยเป็นแบรนด์ที่ชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจแต่วันนี้อาณาจักรที่เคยมั่นคงกำลังซวนเซและยังไม่แน่ว่าจะกลับมายืนแถวหน้าได้อีกหรือไม่

ปัญหาที่รุมเร้าของโซนี่ สะท้อนผ่านการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูง โดย "คาซูโอะ ฮิราอิ" เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของโซนี่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แทนที่ "โฮเวิร์ด สตริงเจอร์" อดีตซีอีโอต่างชาติที่พยายามจะกอบกู้อาณาจักรแห่งนี้ แต่ไม่เป็นผล

แม้ฮิราอิ จะให้คำมั่นว่า โซนี่จะต้องกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ แต่ถึงเวลานี้ ทั้งคนในและนอกองค์กรยังไม่อาจมั่นใจได้เต็มที่นัก เพราะโซนี่ ที่เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ด้วยผลิตภัณฑ์สุดเจ๋งอย่างวอล์คแมน ทีวีไตรนิตรอน และถือครองกิจการโคลัมเบีย พิกเจอร์ส ตอนนี้กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

"นิวยอร์ก ไทม์" ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนภาวะขาลงของเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งครั้งหนึ่งบรรดา "เจแปน อิงค์" ที่ไม่ได้มีเพียงแค่โซนี่ ดูเหมือนจะไม่มีวันตาย แต่ทุกวันนี้ทั้งโซนี่และผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นต่างเผชิญกับแรงกดดันสารพัด ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งในเอเชียที่เพิ่มขึ้น เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาก และในกรณีของโซนี่ ปัญหาสำคัญ คือ การขาดไอเดียใหม่ๆ ซึ่งดูเหลือเชื่อ แต่เป็นเรื่องจริง

ความยากลำบากของโซนี่ เห็นได้จากการที่บริษัทประกาศว่า ในปีนี้บริษัทอาจขาดทุนหนักหนากว่าที่ประเมินไว้ โดยอาจขาดทุนมากถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่โซนี่ไม่เคยทำกำไรได้เลยนับตั้งแต่ปี 2551 และเหตุผลก็อยู่ที่โซนี่ไม่มีผลิตภัณฑ์ยอดฮิตบุกตลาดเลยในรอบหลายปีมานี้

ราคาหุ้นของโซนี่ แตอยู่แถวๆ 1,444 เยน หรือราว 1 ใน 4 ของมูลค่าเมื่อทศวรรษก่อน และเมื่อสมัยวอล์คแมนอาละวาด ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาดของโซนี่คิดเป็น 1 ใน 9 ของซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และมีสัดส่วนแค่ 1 ใน 30 ของแอปเปิล

แม้แต่ในญี่ปุ่น ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากยังคงภักดีต่อแบรนด์ ผู้บริโภคหลายรายเริ่มปันใจจากโซนี่ จังหวะก้าวที่ผิดพลาดของโซนี่ สะท้อนถึงเรื่องราวของบริษัทที่ภูมิใจในตัวเองมาก จนไม่ต้องการหรือไม่สามารถปรับตัวรับความจริงที่เกิดขึ้น โดยความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ของโซนี่อยู่ที่ความล้มเหลวในการขี่ยอดคลื่นยักษ์ของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี นั่นคือ กระแสดิจิทัล ซึ่งเปลี่ยนสู่ยุคซอฟต์แวร์และอินเทอร์เน็ต

ทุกๆแนวรบของโซนี่ ไล่ตั้งแต่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การสื่อสาร จนถึงเนื้อหา ยิ่งน่าปวดหัวมากขึ้นจากคู่แข่งรายใหม่ๆ และความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างความขัดแย้งและแตกแยกภายในองค์กร

ที่จริงแล้ว โซนี่ มีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับสร้างสรรค์เครื่องเล่นเพลงแบบไอพอดได้ก่อนแอปเปิล เพราะผู้ก่อตั้งร่วม "อากิโอะ โมริตะ" มองเห็นการผนวกรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับเนื้อหาบนสื่อ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้ใช้ ตั้งแต่ต้นยุค 1980 แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพราะฝ่ายวิศวกรคานอำนาจกับแผนกมีเดีย แต่ก็ได้คิดค้นระบบเครื่องเล่นเพลิงดิจิทัลของตัวเอง ที่ไม่เกี่ยวกับรูปแบบไฟล์เอ็มพี3 ซึ่งอาจกระทบต่อยอดดาวน์โหลดเพลงหรือทำร้ายศิลปิน

แต่กว่าโซนี่จะผลักดันให้แผนกต่างๆ ร่วมมือกันได้ บริษัทก็สูญเสียที่ยืนในธุรกิจทีวีและเครื่องเล่นเพลงพกพา ซึ่งจอแบนและไอพอดมาแรงมาก

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตจากเกาหลีใต้ จีน และที่อื่นๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และตัดราคาแข่งกับโซนี่และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ไฮเอนด์รายอื่นๆ ดังนั้น เมื่อแบรนด์โซนี่ไม่เปล่งประกาย ก็เป็นเรื่องยากที่จะตั้งราคาสินค้าแบบพรีเมี่ยม

"ซี-จิน ชาง" ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "โซนี่ ปะทะ ซัมซุง: เรื่องราวการต่อสู้ของยักษ์อิเล็กทรอนิกส์สู่ความยิ่งใหญ่ระดับโลก" ระบุว่า ณ จุดนี้ โซนี่ต้องการกลยุทธ์ เป็นกลยุทธ์อะไรก็ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ดีกว่าไม่มีเลย

หนึ่งในพื้นที่ที่โซนี่ยังประสบความสำเร็จในตอนนั้น คือ วิดีโอเกม ที่เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและโลกที่อินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลาง "เพลย์สเตชั่น 3" เป็นระบบความบันเทิงในบ้านที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและทีวีได้ แต่ความล่าช้าในการพัฒนาเทคโนโลยีบลูเรย์ กลับทำให้คู่แข่งอย่างนินเทนโดและไมโครซอฟท์แซงหน้าไปไกล

กรณีของโซนี่ สะท้อนปัญหาที่หยั่งลึกของบริษัทที่เคยร่ำรวยนวัตกรรม ทว่าตอนนี้กลับขาดแคลนไอเดีย เมื่อบวกกับเงินเยนที่แข็งค่าจนกระทบการส่งออก และไม่สามารถแข่งขันเรื่องต้นทุนราคาถูก

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นสูญเสียความเป็นผู้นำในหลายๆ ด้าน ทั้งที่เมื่อ 10 ปีก่อน บริษัทเหล่านี้เป็นผู้กำหนดเทรนด์ผลิตภัณฑ์อย่างทีวี กล้องดิจิทัล เครื่องเล่นเพลงพกพา และคอนโซลเกม ผิดกับตอนนี้ที่บทบาทลดลงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างแอปเปิลและซัมซุง

วัฒนธรรมองค์กร ที่มีแต่วิศวกรและผู้บริหารมั่นใจในตัวเองมากๆ ทำให้ไม่เกิดความร่วมมือระหว่างกัน และมีแนวคิดว่าการลดต้นทุนเป็นศัตรูของความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแม้ในอดีตความเป็นอิสระตรงนี้มีความสำคัญ แต่สถานการณ์ตอนนี้แตกต่างไปมาก

นอกจากนี้ สินค้าของโซนี่ ยังมีมากเกินไป และบางทีก็แข่งกันเอง อาทิ ทีวีกว่า 30 รุ่น ซึ่งสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค เทียบกับค่าย "แอปเปิล" ที่ผลิตมือถือแค่ 2 สี ซึ่งดีที่สุด รวมถึงกลยุทธ์ออนไลน์ที่บูรณาการแพลตฟอร์มเพลง หนัง และเกม ก็ใช้เวลานานกว่าจะปรับให้ใช้ร่วมกันได้

ความเป็นไปได้ที่โซนี่ จะเดินหน้าต่อคือ การลดไลน์ผลิตภัณฑ์ลง อาทิ ธุรกิจเคมีคัล แต่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของธุรกิจทีวี ซึ่งแม้ซีอีโอป้ายแดงจะประกาศโฟกัส 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอุปกรณ์พกพา อาทิ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ธุรกิจกล้องถ่ายภาพและกล้องวิดีโอ และธุรกิจเกม แต่เขาก็จะไม่ทิ้งทีวี ทั้งที่ขาดทุนมหาศาล

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

เปิดคำแปรญัตติแก้ไข รัฐธรรมนูญ ม.291 ..



ประชุมร่วมรัฐสภาเคาะสเป็ก ส.ส.ร. ปชป.-ส.ว. เสนอเพิ่มจำนวน ห้ามยุ่งการเมือง ไม่เเตะหมวดสถาบัน

การประชุมร่วมกันของสมาชิสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ในวาระ 2 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการ(ปธ.กมธ.)พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยในการพิจารณาของกมธ.เรียงลำดับ ตามมาตราทั้ง 5 มาตรา และที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนให้ยึดเสียงข้างมาก ซึ่งกมธ.เสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็น โดยมีผู้แปรญัตติสงวนคำแปรญัตติจำนวน 178 คน มานำเสนอในที่ประชุมร่วม วาระ 2 ในวันที่ 10-11 เมษายน 2555 ซึ่งผู้แปรญัตติส่วนใหญ่เป็นกรรมธิการเสียงข้างน้อยของพรรคประชาธิปัตย์และส.ว. ส่วนเนื้อหาในมาตรา 291/1 ที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ตามร่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ คณะกมธ.เห็นชอบ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1.สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละหนึ่งคน
2. สมาชิกซึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองตามมาตรา 291/6จำนวนยี่สิบสองคน ดังต่อไปนี้ (ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนจำนวน 6 คน(ข) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวน 6 คน(ค) ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินเศรษฐกิจ สังคมกฎหมายหรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนดจำนวน10คน

สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาผู้แปรญัตติอภิปรายโดยมีสาระสำคัญดังนี้

นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาในฐานะประธานวิปวุฒิสภามาตรา 291/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน ในกรณีตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆให้สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

ส่วน ส.ว.สรรหา อาทิ นายวันชัย สอนศิริ, นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย,รศ.นรีวรรณ จินตกานต์,นางกีระณา สุมาวงศ์, รศ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา เสนอให้ มาตรา 291/1 มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณจำนวนสมาชิกของแต่ละจังหวัดให้คำนวณตามสัดส่วนของจำนวนประชาชนทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิก200คนจำนวนสมาชิกที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีให้นำจำนวนประชาชนในจังหวัดนั้นมาคำนวณเฉลี่ยตามวรรคสองจังหวัดใดมีประชาชนไม่ถึงเกณฑ์ต่อสมาชิก1คน ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกได้1คนจังหวัดใดมีประชาชนเกินเกณฑ์สมาชิก1คนให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนประชาชนที่ถึงเกณฑ์จำนวนประชาชนต่อสมาชิก1คน

นายกรณ์จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอ มาตรา 291/1ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้ 1.สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในเขตจังหวัดนั้นๆได้1คนให้แต่ละจังหวัดมีจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนราษฎร 300,000 คนต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ1คน เมื่อได้ที่จำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่พึงมีในแต่ละจังหวัดตามวรรคสามแล้วหากจังหวัดใดมีเศษของจำนวนราษฎรที่เหลือจากการคำนวณมากกว่า 150,000 คน ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง 2.สมาชิกซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมของรัฐสภาจำนวน 22 คน ดังต่อไปนี้ (ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนจำนวน 6 คน (ข) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวน 6 คน(ค) ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนด จำนวน 10 คน

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. เสนอ มาตรา 291/1ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้1.สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จังหวัดละ 1 คน 2.สมาชิกซึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองตามมาตรา 291/6 จำนวน 22 คน ดังต่อไปนี้ (ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน จำนวน 6 คน (ข)ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 6 คน (ค)ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจสังคมกฎหมายหรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนดจำนวน 10 คน

โดยส่วนใหญ่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ มาตรา 291/1ให้มีสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่แก้ไขจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามหมวดนี้ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้1.สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยการคำนวณราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายโดยให้ใช้เกณฑ์ประชากรจำนวน 300,000 คน ต่อจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 1 คน จังหวัดใดมีประชากรไม่ถึงจำนวนดังกล่าวให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ 1 คน จังหวัดใดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณดังกล่าวหากมีจำนวนประชากรเกิน 100,000 คน ขึ้นไปก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้อีก 1 คน (2)สมาชิกซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตาม (1)จำนวน 25 คน ดังต่อไปนี้(ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนจำนวน 6 คน (ข) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวน 6 คน (ข/1) ผู้เชี่ยวชาญสาขาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและการศึกษาจำนวน 3 คน (ค) ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด จำนวน 10 คน

สำหรับมาตรา 291/2 บุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร. ตามมาตรา 291/1(1) ผู้ขอแปรญัตติในมาตรานี้ส่วนใหญ่เป็นกรรมาธิการและส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอให้เพิ่มเติมข้อความ โดยนายเทพไท เสนพงศ์ เสนอเพิ่มข้อความว่า ไม่เป็นส.ส. ส.ว.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง, ไม่เป็นสมาชิกพรรคมาแล้ว 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง และไม่เป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ขณะที่ ส.ว. อาทิ นายเจริญ ภักดีวานิช นายประเสริฐ ชิตพงษ์ นายนิคม ไวยรัชพานิช นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ นายวันชัย สอนศิริ นางทัศนา บุญทอง ขอแปรญัตติให้เพิ่มเติมในส่วนวุฒิการศึกษาว่าจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

มาตรา 291/3 บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร.นั้น ส่วนใหญ่จะขอแปรญัตติให้เพิ่มเติมข้อความ อาทิ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ (กมธ.) เสนอให้เพิ่มข้อความคุณสมบัติต้องห้ามคือ เป็นบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งส.ส. ส.ว.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นสมาชิกพรรคหรือดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคและพ้นจากตำแหน่งใดๆ ในพรรคมาแล้วยังไม่เกิน 3 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายธนา ชีรวินิจ นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายวิรัช ร่มเย็น (กมธ.) เสนอให้ระบุเป็นสมาชิกพรรคหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคแล้วยังไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งเป็นบิดามารดา คู่สมรส พี่น้องและบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ส่วนนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ขอแปรญัตติโดยให้ตัดบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งส.ส.ตามมาตรา 102 (1) (2) (3) (4) (6) (7) (9) (12) (13) หรือ (14) มาเป็นเรื่องติดยาเสพติดให้โทษ, บุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต, ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล, เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง, เคยถูกไล่ออกหรือปลดออกจากราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริต, เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 263 และเคยถูกวุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง มาตรา 291/5 ให้กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร.ตามมาตรา 291/1(1) ให้เสร็จภายใน 75 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ และให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม การวินิจฉัยขาดเกี่ยวกับการตัดสิทธิการเลือกตั้ง การเพิกถอนผลเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ร.ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์ได้รับคำร้อง

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รวมทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เสนอให้กกต.จัดการเลือกตั้งส.ส.ร.เสร็จภายใน 90 วัน และเมื่อเลือกตั้งเสร็จให้กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นส.ส.ร.จังหวัดนั้น ส่วนมาตรา 291/11 สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน นับแต่วันถัดจากวันประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก

ขณะเดียวกัน กมธ.จากพรรคปชป. ส่วนใหญ่จะเสนอให้ขยายเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จ ภายใน 300 วัน และให้ส.ส.ร.นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเป็นต้นแบบในการยกร่างและให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกจังหวัดโดยทั่วถึงก่อน นายวิรัช ร่มเย็น เสนอให้เสร็จภายใน 360 วัน เช่นเดียวกับนายวิรัตน์ กัลยาศิริ เสนอให้เพิ่มข้อความด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ยกเลิก ยุบ ปรับ เปลี่ยน องค์กรอิสระ ศาลทั้งหลายจะกระทำไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นการแก้ไขจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนิรโทษกรรมบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งมีความผิดหรือต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลใดๆ และจะต้องไม่จัดทำในลักษณะให้มีผลย้อนหลังลบล้างความผิดใดๆ ซึ่งองค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 วินิจฉัยหรือลงมติว่าบุคคลนั้นมีความผิด ด้านนายอภิสิทธิ์ขอแปรญัตติว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่ต้องให้อิสระกับองค์กรตุลาการและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และต้องไม่มีผลให้ลบล้างอำนาจตุลาการที่ผ่านมา

มาตรา 291/13 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเสนอต่อประธานรัฐสภา และให้กกต.กำหนดวันออกเสียงประชามติไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน กมธ.เสียงข้างน้อย และส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้สงวนคำแปรญัตติ โดยเสนอว่ากรณีส.ส.หรือส.ว.จำนวน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิก เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 291/11 วรรคห้า ให้เสนอร่างนั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 7 วัน และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน หากร่างดังกล่าวมิได้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 291/11 วรรคห้า ก่อนส่งร่างให้กกต.จัดทำประชามติ ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนทำประชามติ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอแปรญัตติว่า การวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ ควรให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ประธานรัฐสภา

มาตรา 291/14 เมื่อมีประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กมธ. อาทิ นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ขอสงวนคำแปรญัตติโดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอแปรญัตติ 60 คน ให้ตัดประธานรัฐสภาเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยระบุว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของส.ส.ร. ต้องไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

มาตรา 291/16 ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตกไป ให้ ครม. โดย ส.ส. มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภามีมติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามความในหมวดนี้อีกได้ นายอภิสิทธิ์และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอสงวนคำแปรญัตติโดยเสนอให้ตัดมาตรานี้ทิ้ง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ใช่หลักที่ถูกต้องที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่บ่อยครั้ง

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมพิจารณาได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศอินโดนีเซีย โดยทางวิป 3 ฝ่ายได้หารือกัน ให้ปิดการประชุมเพื่อให้ส.ส. ลงพื้นที่ดูแลประชาชน และจะมีการประชุมพิจารณาต่อในวันที่ 18-19 เม.ย.

โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า จะมีการลงมติวาระ 3 ใน วันที่ 8 พ.ค.นี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

บทบาทผู้นำ: ในสถานการณ์วิกฤตของประเทศจากเหตุภัยพิบัติ !!?

หลังจาก SIU ได้นำเสนอบทความวิพากษ์บทบาทสื่อกระแสหลักในยามที่ประเทศต้องประสบภัยพิบัติไปแล้ว อีกบทบาทสำคัญที่เราต้องหันกลับมามอง คงไม่พ้นบทบาทของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อปกป้องพลเมืองภายในประเทศบ้างว่า ในภาวะวิกฤตที่ทั้งไทยและเทศต้องเผชิญมาหลากหลายนั้น ความเป็นจริงต้องเป็นเช่นใด ควรเล่นบทบาทใดให้พลเมืองรู้สึกได้ถึงความมั่นคง ปลอดภัย

ไม่ว่าประเทศใดจะมีการปกครองแบบเผด็จการ แบบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย หรือแบบคอมมิวนิสต์ ฯลฯ ล้วนแต่ต้องนำพาประเทศให้มีความกินดีอยู่ดี หรืออย่างน้อยก็ต้องตอบสนองความต้องการหลักของพลเมืองภายในประเทศเพราะความต้องการพื้นฐานหลักของชีวิตมนุษย์หรือแม้แต่ชีวิตสัตว์ไม่ว่าชนิดใด ต่างก็ต้องการความรู้สึกที่มั่นคง ปลอดภัย แม้ในห้วงยามที่พลเมืองยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจนกระทั่งบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต แต่การขาดความรู้สึกปลอดภัยเพราะขาดข้อมูลในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตต่อ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจ

ประสบการณ์ในภาวะวิกฤตจากภัยพิบัติของประเทศอื่น

นิตยสาร TIME เล่าถึงญี่ปุ่น เมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๐๑๑ ว่า สาเหตุใดที่ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำในการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติ สาเหตุสำคัญเกิดขึ้นเมื่อสายวันหนึ่ง ของวันที่ ๑ กันยายน ๑๙๒๓ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเขตคันโต สร้างความปั่นป่วนและส่งผลกระทบทั่วเมืองอุตสาหกรรมทั้งโตเกียวและโยโกฮามา กระแสลมแรงจากพายุใต้ฝุ่น สร้างความเสียหายทั่วทุกพื้นที่

ภาพโดย USGS/George A Lang Collection จาก theatlantic

ข่าวลือแพร่สะพรัดไปทั่วทุกหัวระแหง อาทิ ชาวเกาหลีถูกปล้นสะดมภ์และคนนับพันรายถูกฆาตกรรมหมู่ ช่วงเวลานั้น บริเวณเขตคันโตมีผู้คนเสียชีวิตนับ ๑๐๐,๐๐๐ ราย พื้นที่ส่วนใหญ่ ถูกทำลายจากหายนะของภัยพิบัติจนเหลือแต่ซากปรักหักพัง ด้วยความแรงของแผ่นดินไหวขนาด ๗.๙ ริกเตอร์ ดูเหมือนว่า ญี่ปุ่นจะกลายเป็นผู้นำโลกในด้านการเตรียมความพร้อม จะเห็นได้ว่า ทุกๆ ปี นับจาก ค.ศ. ๑๙๖๐ ญี่ปุ่นได้กำหนดให้วันที่ ๑ กันยายน เป็นวันแห่งการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ (Disaster Prevention Day) ทั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศผู้เชี่ยวชาญในการตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นมา (early-warning system) ระบบเตือนภัยสึนามิของญี่ปุ่น ตั้งขึ้นในปี ๑๙๕๒ ถูกออกแบบเพื่อคาดการณ์ความสูง ความเร็ว พื้นที่ และบริเวณที่สึนามิจะเคลื่อนตัวมาถึง กล่าวคือ ก่อนที่จะกลายเป็นผู้นำระดับโลกว่าด้วยการเตือนภัยสถานการณ์จากเหตุภัยพิบัติ ต้องสูญเสียอย่างมหาศาลก่อน แล้วประเทศอื่นๆ ที่เห็นความเลวร้ายจากภัยพิบัตินั้น จะไม่คิดนำมาปรับแก้ หรือใช้บทเรียนของประเทศอื่นให้เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองในประเทศที่ตนปกครองบ้างเลยหรือ

ภาพโดย USGS/George A Lang Collection จาก theatlantic

ขณะที่ The Economist ก็ออกบทความในห้วงเวลาเดียวกันเมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๐๑๑ โดยพูดถึงอีกด้านหนึ่งของญี่ปุ่น หรือความล้มเหลวจากการดำเนินนโยบายของญี่ปุ่น เขาพูดถึงหายนะจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น และสะท้อนภาพถึงวิกฤตจากภาวะความเป็นผู้นำ เขาฉายภาพให้เห็นถึงความเสียหายจากภัยพิบัตินั้น นำไปสู่ความหวาดกลัว ความรู้สึกตื่นตระหนก และการขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำ และพูดถึงลัทธิสโตอิก (stoic) ที่เป็นการแสวงหาความสงบทางจิตใจของผู้อยู่รอด ที่เป็นการตอบสนองต่อโชคชะตาที่พานพบ ด้วยการทำใจให้สงบ

ทั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากที่ดูจะเกรี้ยวกราดมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่รัฐบาลนาโอโตะ คัง ที่พยายามจัดการกับสถานการณ์ที่อันตรายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima Dai-Ichi No. 1 หากเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวเมื่อปี ๑๙๙๕ มีผู้เสียชีวิต ๖,๔๐๐ ราย ช่วงนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นตอบสนองช้ากว่าเกาหลีใต้ในการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อให้ความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนเสียอีก แถมกลุ่มยากุซ่า ที่เป็นมาเฟียของญี่ปุ่น ยังเป็นกลุ่มแรกที่ตั้งครัวสำหรับทำซุปให้เหยื่อ (จากภัยพิบัติแผ่นดินไหว) ได้ทานกัน

The Economist เห็นต่างจากนิตยสาร TIME ที่ว่า ญี่ปุ่นสูญเสียความเป็นผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพมาเนิ่นนานแล้ว จนทำให้ญี่ปุ่นติดกับดักทศวรรษที่สูญหายไป (lost decade) นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ที่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง “ผมอยากจะทำให้แน่ใจได้ว่า รัฐบาลจะเตรียมการสำหรับภัยพิบัติร่วมกับประชาชน ดังนั้น อาจทำให้ท่านมั่นใจได้ว่า การเตรียมพร้อมคือการป้องกัน” สุดท้ายก็จำต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยพิบัติที่ล่าช้าเกินไป จนทำให้เกิดความสูญเสียมหาศาล ผู้คนล้มตายถึง ๒๐,๐๐๐ ราย ที่พักอาศัยพังพินาศ ๑๒๕,๐๐๐ หลังคาเรือน สูญงบประมาณราว ๒๕ ล้านล้านเยน (๙.๔ ล้านล้านบาท)

ภาพจาก AssignmentHelpExperts

บทบาทที่พึงเป็นในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญภัยพิบัติ: ของผู้นำ/ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อปกครองประเทศ

ขณะที่ เว็บไซต์ Margaretwhealey เรื่อง The Real World: Leadership Lessons from Disaster Relief and Terrorist Networks ได้พูดถึง ความเป็นผู้นำในยามที่เกิดภัยพิบัติ กรณีศึกษาจากพายุเฮอริเคนแคทรีนา ระบุว่า โลกมีประสบการณ์จากภัยพิบัติที่หลากหลาย ในยามที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เป็นช่วงเวลาดีที่สุดที่จะสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์พร้อมกับสะท้อนให้เห็นความย่ำแย่และความผิดพลาดของระบบราชการ สิ่งแรกที่ต้องตอบสนองต่อประชาชน คือ ทำทุกวิถีทางที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือ ช่วยชีวิต และรักษาชีวิตของประชาชนไว้ให้ได้

โดยอ้างถึง TIME ที่กล่าวไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังพายุเฮอริเคน คือ ในทุกระดับของภาครัฐ มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น กล่าวคือ สับสนว่า ใครคือผู้มีความสำคัญในห้วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติ “ผู้นำหวั่นเกรงที่จะแสดงบทบาทนำ รวมทั้งการแสดงให้เห็นถึงขอบเขตอำนาจในการปกครอง และในตัวบทกฎหมาย” ผู้นำจำเป็นต้องมีความอิสระในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด โดยตั้งอยู่บนการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้าน

งานของผู้นำคือ การทำให้แน่ใจว่า พวกเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้และต้องทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าตนมีชีวิตที่ปลอดภัยและมั่นคงท่ามกลางภัยพิบัติด้วย บทความน่าสนใจจาก preservearticles พูดถึงหลักสำคัญที่สัมพันธ์กับภาวะผู้นำ ๕ ประการ คือ ๑. ต้องมีบุคลิกภาพที่สามารถปกครองผู้อื่นได้ ๒. ความชาญฉลาด ๓.ความมั่นใจในตนเอง ๔.มีสมรรถนะสูง ๕.มีความรู้ทั้งในด้านการเมืองหรือการจัดการ ภาวะความเป็นผู้นำในสถานการณ์ภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทั้งในระดับท้องถิ่น หรือในระดับประเทศ ที่ต้องประสบกับภาวะเข้าตาจนเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติท่ามกลางขนบธรรมเนียมในสังคม เป็นเรื่องยากยิ่งที่ต้องตัดสินใจ

แต่การขาดแคลนข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน และการติดต่อสื่อสารที่ถูกขัดจังหวะเพราะสภาพปัญหาจากภัยพิบัติ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการในการตัดสินใจต้องประสบภาวะชะงักงัน อีกทั้งการสูญเสียหรือการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ เครื่องมือ การขนส่ง ก็ยิ่งทำให้ส่งความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยได้ยากยิ่ง

นอกจากนี้ บทความ “การตอบสนองต่อภัยพิบัติ บทบาทผู้นำในห้วงวิกฤต” ใน Excellent Leadership ของ Point Eight Power ได้อ้างถึงความเป็นผู้นำ ในห้วงที่เกิดความเสียหายจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาว่า ส่งผลกระทบในหลายระดับทั้งมนุษย์ ทรัพย์สิน และสถานะทางเศรษฐกิจ เขาได้กำหนดแผนการ ๕ เสาหลัก ที่ผู้นำจำต้องทำ (แม้ว่า ภัยพิบัติจากสึนามิยังไม่กระทบต่อไทยมาก แต่จะไม่ดีกว่าหรือ หากจะเรียนรู้)

ภาพจาก TSUNAMI LABORATORY

๑.ประชาชนต้องมาก่อน นั่นคือ การตอบสนองแรกที่ผู้นำพึงกระทำต่อประชาชนของเขา อย่างน้อย ก็ตอบสนองด้วยการสร้างเกราะคุ้มกันภัยให้แก่เขา จัดเตรียมอาหาร น้ำ ยา หรือเงิน

๒.การติดต่อสื่อสารคือประเด็นสำคัญยิ่ง การขาดหายของช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ทำให้เกิดข่าวลือและเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด เราต้องรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน และมีการติดต่อสื่อสารในเชิงลึก

๓.ความชาญฉลาดที่ต้องประสานเข้าด้วยกัน ในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอนอย่างช่วงที่เกิดภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมียุทธศาสตร์ร่วมที่ดี

๔.การจัดการด้านกำลังใจหรือการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องเรียกคืนกำลังใจกลับคืนมา โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอน

๕.ชื่อเสียง เกียรติยศ และความพยายามที่กล้าหาญ ในภาวะวิกฤตจะนำมาซึ่งโอกาสในการแสดงความกล้า อยู่ที่ว่า ความเป็นผู้นำจะผลักดันให้ผู้นำมีความกล้าที่จะแสดงออกถึงความกล้าแค่ไหน
ความไม่กล้าตัดสินใจของผู้นำจะฉายภาพชัดเจนในภาวะวิกฤต แน่นอนช่องทางสื่อสารทางสังคมที่มาจากสื่อมวลชน จะแสดงออกในห้วงเวลาที่เหมาะสมช้าหรือเร็วเพียงใด เราได้เห็นภาพกันแล้ว แต่การลำดับความสำคัญในการตัดสินใจของผู้นำ ในการแสดงบทบาทนำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาประเทศให้พ้นภัยจากภาวะวิกฤตของภัยพิบัติเช่นกัน


ที่มา.Siam Intelligence Unit

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

ค่าแรง 300 บาท กับก้าวแรกของโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ !!?

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยจดจ้องไปยังวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาว่าการประกาศการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในจังหวัดนำร่อง 7 จังหวัดนำโดยกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดภูเก็ตจะเป็นเช่นไรบ้าง

ตัวนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่การเลือกตั้งโดยพรรคเพื่อไทยในครั้งที่ผ่านมาและทำการประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด แต่ทว่าในมุมของนักธุรกิจซึ่งมองว่าค่าแรงขึ้นต้นทุนสำคัญตัวหนึ่งในการบริหารธุรกิจทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่ค้านรัฐบาลอย่างเต็มที่หลังจากพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว
แน่นอนว่าไม่ว่าใครทำธุรกิจทุกวันนี้ล้วนต้องคุมเข็มขัดของค่าใช้จ่ายไว้อย่างระมัดระวังไว้อย่างมาก ยิ่งการขึ้นค่าแรงคนงานในองค์กรธุรกิจไม่น้อยมีการพิจารณาผลประกอบการ ผลการทำงานของแรงงานอย่างเข้มงวดใครไม่สามารถสร้างผลงานได้อย่างดีก็อาจกระเด็นออกมาหรือถูกปรับเงินเดือนขึ้นมาน้อยมากเพราะทุกธุรกิจล้วนยังมีความทรงจำต่อวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ไว้และรวมทั้งวิกฤติการเงินล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมาเป็นตัวตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงการบริหารกิจการที่ยากลำบากมากขึ้นในทุกวันนี้

แต่เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและค่าแรงของผู้จบปริญญาตรีไว้ที่ 15,000 บาท ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น ต้นทุนธุรกิจและต้องโดนต่อต้านอย่างแน่นอน เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาลไม่รู้หรือว่าจะเกิดแรงต้าน และกระแสการไม่เห็นด้วยนี้ ทำไมเราไม่เอาค่าแรงที่ยังน้อยอยู่มาเป็นจุดเด่นของธุรกิจไทยซึ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักต่อไป
ถ้ามองไปรอบบ้านของไทยจะพบว่าประเทศที่ค่าแรงถูกนี้อยู่รอบประเทศไทยไม่ว่ามองไปทางซ้ายเราก็เจอพม่า มองไปทางขวาก็เจอทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ค่าจ้างต่ำกว่าไทยมาก

ตารางเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ข้อมูลจาก National Wages and  Productivity Commission Philipines
ข้อมูลจาก National Wages and Productivity Commission Philipines

ขณะที่ประเทศลาวมีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 31,700 บาทต่อปี พม่าอยู่ที่ 401 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ 12,030 บาทต่อปี ถ้าดูจากตารางจะยิ่งชัดว่าประเทศรายรอบเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ค่าจ้างต่ำที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก และจากสภาพที่เป็นเช่นนี้เราจึงใช้นโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวราคาถูกเข้ามาทำงานในภาคเกษตร อุตสาหกรรม ประมงหรือภาคบริการหลายสาขาในประเทศไทยโดยเฉพาะตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา ทำให้เรายังคงค่าจ้างต่ำมาได้กว่าทศวรรษ การขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งถูกจำกัดไว้มาก ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงที่ขึ้นมาตลอด

ด้วยสภาพที่เป็นเช่นนี้ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ถูกกดทับไว้มายาวนาน ทั้งเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ยังต่ำอยู่มาก ถ้าแรงงานไม่ได้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ต้องการแรงงานมีทักษะฝีมือสูง แต่ถ้าแรงงานอยู่ในกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กการพัฒนาฝีมือมีน้อยมาก

การพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวในระบบเศรษฐกิจไทยจึงกลายเป็นตัวฉุดรั้งหนึ่ง ทั้งจากต้นทุนต่ำ ไม่จำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงานเพราะจากสภาพธุรกิจที่ไม่ต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยีมากนัก เมื่อดูตัวเลขแรงงานต่างด้าวในประเทศกว่า 4 ล้านคนทั้งในและนอกระบบนั่นหมายถึงเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานต่างด้าวอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากๆ (high labor intensive)
แต่ทว่าเมื่อมองรอบบ้านในเวลานี้การพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มมีมากขึ้นการเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เวียดนาม ลาว และในพม่าหลังการเปิดประเทศครั้งใหญ่ แนวโน้มการไหลกลับของแรงงานต่างด้าวไปยังประเทศตนเองจะเกิดขึ้นแน่นอน การขาดแคลนแรงงานในระบบโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นมีแนวโน้มเกิดมากขึ้น

ถ้ามองว่าเป็นกับดักก็เป็นกับดักที่เตรียมวางไว้ และถ้าไม่เตรียมการเราคงเหยียบกับดักนี้จังๆ อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะกลุ่มระบสาธารณูปโภคได้เริ่มประสบปัญหาแล้ว

อีกด้านหนึ่ง ประเทศหนึ่งที่เรามองมาตลอดว่าเป็นประเทศค่าแรงถูก ส่งออกสินค้าราคาถูกไปทั่วโลกโดยชูจุดเด่นที่แรงงานราคาถูกมากๆมาหลายทศวรรษอย่างจีนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายโดยรัฐบาลจีนล่าสุดได้ให้ความสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากๆไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นโดยในประเทศจะเริ่มให้ภาคธุรกิจเพิ่มมูลค่าของสินค้าผ่านเทคโนโลยีระดับสูง การออกแบบ การบริหารจัดการ พร้อมทั้งเตรียมขึ้นค่าจ้างในประเทศให้สูงขึ้นเพื่อลดช่องว่างรายได้ที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆให้ลดลง

การขยับตัวของยักษ์ใหญ่อย่างจีนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปยังเศรษฐกิจฐานความรู้ เศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยไม่สามารถสู้ค่าแรงถูอย่างจีนได้ และถัดจากนี้เราก็อาจไม่สามารถแข่งในด้านนวัตกรรมได้เช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นของการขึ้นค่าแรงรอบนี้จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและทางเลือกของไทยที่จะเลือกเดินว่าจะเป็นอย่างไร จะเลือกไปยังประเทศที่ใช้ฐานแรงงานมีฝีมือสูง ใช้เทคโนโลยี ใช้ความรู้ในการเพิ่มมูลค่าแรงงานและสินค้า หรือเลือกเดินในเส้นทางของประเทศฐานการผลิตของประเทศพัฒนาแล้วแทนใช้เทคโนโลยีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ใช้แรงงานราคาต่ำต่อไป

การปรับตัวของการขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้เป็นสัญญาณการเตือนของการที่ต้องปรับตัวและเริ่มวางทิศทางของตนเอง และอาจเป็นจุดเริ่มของการปรับทิศทางในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สำคัญที่สุดเพราะทางเลือกของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีน้อยลงไปเรื่อยๆ และถ้าไม่รีบปรับตัววันนี้วันหน้าเราปรับตัวไม่ทัน เพราะการถูกให้ปรับโดยรู้ตัวย่อมดีกว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้ต้องปรับตัว

ที่มา.Siam Intelligence Unit
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

นักเศรษฐศาสตร์ไทยหายไปไหน !!?

ประเทศไทยขณะนี้ยังมีวัฒนธรรม mob เป็นใหญ่ การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจหลายครั้งจบลงด้วยการวัดจำนวนคนได้ประโยชน์มากกว่าคำนวณให้ชัดเจน

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนโยบายเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาค และมหภาคหลายนโยบายที่กระทบต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความมั่นคงด้านการเงินการคลังในระยะยาว นโยบายเหล่านี้ ทำให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และคนบางกลุ่มเสียประโยชน์ ซึ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์มักออกมาสนับสนุน กลุ่มที่เสียประโยชน์อาจออกมาต่อต้านบ้าง แต่ไม่เข้มแข็งเท่ากับกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ เพราะหลายนโยบายมีลักษณะ ได้กระจุก เสียกระจาย หรือกลุ่มคนเสียประโยชน์ อาจมองไม่เห็นผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ประเทศไทยขณะนี้ยังมี วัฒนธรรม mob เป็นใหญ่ การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจหลายครั้งจึงจบลงด้วยการวัดจำนวนคนที่ได้ประโยชน์ มากกว่าที่จะคำนวณให้ชัดเจน และถกเถียงกันอย่างโปร่งใสว่า คนไทยโดยรวมได้หรือเสียประโยชน์อย่างไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ที่น่าประหลาดใจ คือ บทบาทของ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งควรทำหน้าที่สร้างความกระจ่างให้สังคมเกี่ยวกับผลได้ผลเสียของนโยบายเศรษฐกิจค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย ในประเทศใดก็ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ทำหน้าที่นักเศรษฐศาสตร์ (หรือถูกกีดกันไม่ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา) ประเทศนั้น มักมีปัญหาระยะยาวทั้งด้านขีดความสามารถแข่งขัน และเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ความน่ากลัวนี้จะทวีคูณถ้ารัฐบาลนิยมดำเนินนโยบายแทรกแซงกลไกตลาด ชอบดำเนินนโยบายเชิงรุกแบบรวบรัด โดยหวังผลระยะสั้น (เพราะคำนึงแต่ผลทางการเมืองเป็นหลัก) หรือนิยมที่จะใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์มหภาค เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐศาสตร์จุลภาค (เช่น ชอบให้ค่าเงินอ่อน เพื่อช่วยผู้ส่งออกที่ความสามารถการแข่งขันลดลงจากนโยบายบิดเบือนในประเทศ)

การแยกไม่ออกระหว่างปัญหาระดับมหภาคกับจุลภาคเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก นักการเมืองชอบแก้ปัญหาจุลภาคด้วยมาตรการเศรษฐกิจมหภาค เพราะการออกมาตรการเศรษฐกิจมหภาคไม่ต้องคิดซับซ้อนยุ่งยาก ต่างจากมาตรการเศรษฐกิจจุลภาค ที่ต้องเข้าใจกลไกตลาด ต้องแก้ปัญหาทีละเปลาะ และต้องจัดแรงจูงใจและการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ลงตัว แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจุลภาคด้วยมาตรการมหภาค มักจะขาดความรอบคอบ เพราะนิยมดูผลดีเฉพาะส่วน มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบ

ผมเชื่อว่าสังคมในวันนี้ ต้องการให้นักเศรษฐศาสตร์มีส่วนร่วมวิเคราะห์ผลดีผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลและวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา แต่บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ กลับเลือนหายไปตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในระยะหลังมักจะถูกกำหนดจากบนลงล่าง โดยทีมงานยุทธศาสตร์การตลาดของพรรคการเมือง ที่ให้ความสำคัญต่อฐานเสียง ที่จะได้ประโยชน์และความง่ายในการนำแต่ละมาตรการไปโฆษณาหาเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลของเศรษฐกิจโดยรวม

ช่วงหลังนี้ เราไม่ค่อยเห็นนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนักเศรษฐศาสตร์เป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยกลั่นกรองนโยบายเศรษฐกิจจริงจัง ข้าราชการในหน่วยงานที่ควรทำหน้าที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ มักทำตามที่นักการเมืองสั่ง มากกว่านำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ จากล่างขึ้นบน นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะหลัง จึงเป็น แบบแยกส่วน เป็นการบริหารเศรษฐกิจทีละมาตรการ มากกว่ามียุทธศาสตร์ภาพใหญ่ ไม่คำนึงว่าแต่ละมาตรการจะสร้างความเบี่ยงเบน และเกิดผลกระทบอย่างไร มาตรการเศรษฐกิจจึงตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทีละเรื่อง แทนจะชี้นำตลาด ที่สำคัญ แทบไม่ได้ยินนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเลย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยต้องการการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างแรงหลายด้าน เพื่อให้หลุดจากกับดักประเทศกำลังพัฒนา และวิ่งตามเพื่อนบ้านทัน ในทางตรงกันข้าม กลับเห็นรัฐบาลชอบหยุดการปฏิรูปที่กำลังเกิดขึ้นไม่ให้เดินหน้าต่อไป

คงต้องยอมรับความจริงว่า เมืองไทยวันนี้ขาดนักเศรษฐศาสตร์ช่วงอายุสี่สิบกลางๆ ถึงห้าสิบกลางๆ เราไม่มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลัง ที่เป็นผู้นำทางความคิด และได้รับการยอมรับทางสังคมเหมือนคนรุ่น ดร.อัมมาร สยามวาลา หรือ ดร.เสนาะ อูนากูล เพราะคนช่วงอายุดังกล่าวในวันนี้ จบปริญญาตรีช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ จึงไม่ค่อยนิยมเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะผลตอบแทนของคนที่เรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ต่ำกว่าคนที่เรียนต่อด้านการเงิน หรือบริหารธุรกิจมาก สถานที่ทำงานสำหรับคนที่ต้องการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายมีจำกัด หลายคนที่จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ เข้าไปรับราชการสักระยะหนึ่ง จะถูกกลืนโดยระบบราชการ งานหลักมักเป็นการช่วยหาเหตุผลสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง มากกว่าเสนอความเห็นต่าง หรือเสนอนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้มั่นคง

ระบบอุดมศึกษาของไทยไม่ส่งเสริมให้นักเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทำงานด้านนโยบาย เพราะต้องให้ความสำคัญกับการผลิตผลงานวิจัย เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ในภาคธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์กลับได้รับความสำคัญมากขึ้น สถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง มีนักเศรษฐศาสตร์ประจำ แต่นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ ทำหน้าที่หลักเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ และมักไม่กล้าวิจารณ์มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาล

วันนี้อาจมีเพียงสองสถาบันในไทยที่มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ เข้ามาเสริมทัพเพื่อทำงานนโยบายโดยต่อเนื่อง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แต่บทบาทการชี้นำ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และการวิจารณ์นโยบายของทั้งสองสถาบันดูจะลดลงไปจากเดิมมาก ธปท.มีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ จำนวนมาก แต่การทำงานถูกตีกรอบอยู่เพียงเรื่องของนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงิน ขาดการสร้างองค์ความรู้ในมิติอื่นของเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรทำให้พนักงานค่อนข้างเก็บตัว คนไทยจะไม่รู้จักนักเศรษฐศาสตร์ของ ธปท. จนกว่านักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้น จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงพอ เกือบทุกรัฐบาลมักแกล้งไม่เข้าใจบทบาทของ ธปท. การเสนอความคิดเห็นของ ธปท.อย่างตรงไปตรงมา จึงถูกมองว่าไม่สนองนโยบาย ต้องไม่ลืมว่า ธปท.มีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในหลายสถานการณ์ จึง ต้องทำหน้าที่ทวนกระแส เมื่อเห็นว่าระบบเศรษฐกิจมีความเสี่ยงในระยะยาว

โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย คือ ทำอย่างไรที่นักเศรษฐศาสตร์จะมีบทบาทในการกำหนดและชี้นำนโยบาย รวมทั้งวิเคราะห์ และวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจได้สร้างสรรค์ เพื่อให้คนไทยเข้าใจถึงผลดีผลเสียของแต่ละนโยบายได้ชัดเจน ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น ถ้าปล่อยให้บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์ไทยเลือนหายแล้ว ไม่เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์ไทยจะสูญพันธุ์ เศรษฐกิจไทยอาจพังลงได้ในระยะยาว เหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติปี 2540 และที่กำลังเกิดอยู่ในหลายประเทศ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ต้องขอร้องท่านรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติด้วยนะครับ

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

2 ปี ตอแหล !!?


ครบ 2 ปีเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ที่เป็นจุดเริ่มต้นความรุนแรงและนำมาสู่การฆ่าหมู่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยเฉพาะการสังหาร 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ก่อนจบลงที่การเผาบ้านเผาเมือง ที่วันนี้ยังเป็น “ปริศนาที่มืดมน” ว่าใครคือ “ไอ้โม่งชุดดำ” ที่ใช้เอ็ม 79 ยิงใส่ผู้ชุมนุมและทหาร ใครใช้สไนเปอร์ และใครคือผู้สั่งการ

ในสายตาของประชาคมโลก รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจใช้กองทัพสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนดินสอ และถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการใช้กำลังทหารนับหมื่นนาย พร้อมอาวุธสงคราม รวมถึงการใช้เฮลิคอปเตอร์ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

ผลปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 26 คน เป็นทหาร 6 นาย และประชาชน 20 คน บาดเจ็บอีกกว่า 800 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมี พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (ยศขณะนั้น) รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) และนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น
แต่รัฐบาล “มือเปื้อนเลือด” กลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ แม้แต่คำว่า “เสียใจ” ทั้งยังโยนความผิดทั้งหมดให้ “ไอ้โม่งชุดดำ” เป็นผู้ก่อความรุนแรงที่ฆ่าทั้งคนเสื้อแดงและเจ้าหน้าที่
ดังนั้น ตราบใดที่ความจริงยังไม่ปรากฏ และ “ผังล้มเจ้า” จะพิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นแค่ “ผังกำมะลอ” แต่ “คนสั่งฆ่า” ยังลอยหน้า “คนฆ่า” ก็ยังลอยนวล

ที่มา:หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

**********************************************************************

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

ความยุติธรรมและการปรองดอง !!?

ระหว่างนั่งชมการประชุมพิจารณารายงานของ กมธ.ปรองดอง โดยสภาผู้แทนราษฎร

มีโอกาสได้ยินคำว่า "ความยุติธรรมของผู้ชนะ" หลายครั้ง

ฟังแล้วก็เกิดคำถามขึ้นมา

ไม่ได้เป็นข้อคลางแคลงใจต่อสถาบันพระปกเกล้าหรือพรรคประชาธิปัตย์

แต่เป็นคำถามว่า ใครบ้างคือ "ผู้ชนะ" ที่จะได้รับความยุติธรรม หากรัฐบาลนำข้อสังเกตของ กมธ.ปรองดองไปปฏิบัติ?

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, พรรคเพื่อไทย, แกนนำ นปช. และชนชั้นนำอื่นๆ

หรือจะรวมถึงผู้ซึ่งลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล "คนเสื้อแดง" ที่บาดเจ็บ ล้มตาย ถูกจับกุมคุมขังในคดีการเมือง ตลอดจนประชาชนฝ่ายอื่นๆ

ถ้า "ผู้ชนะ" หมายถึงคนกลุ่มหลังด้วย

การปรองดองจะดำเนินไปถึงระดับไหน?

ข้อสังเกตสำคัญของ กมธ.ปรองดอง ที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

คือ การเสนอให้นิรโทษกรรมบุคคลทุกฝ่าย ทุกระดับ ที่มีคดีการเมืองติดตัว ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ

"คนเสื้อแดง" หรือประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทย

จะยอมรับได้ไหม?

ถ้ากลุ่มบุคคลซึ่งเขามองว่าเป็น "ฆาตกร" จะได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย

เช่นเดียวกับที่ประชาชนอีกฝ่ายก็คงรับไม่ได้ หากอดีตนายกฯทักษิณ และกลุ่มคนที่เขามองว่าเป็น "พวกเผาบ้านเผาเมือง" จะได้รับการนิรโทษกรรม

เมื่อปัญหาติดขัดตรงจุดนั้น ความปรองดองหรือการนิรโทษกรรมใดๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น

สุดท้าย "คนธรรมดา" ของทุก "สีเสื้อ" ที่มีชะตากรรมเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์บ้านเมือง กระทั่งต้องถูกคุมขังในเรือนจำ หรือต้องเสียเวลาและกำลังทรัพย์ในการต่อสู้คดี

ก็ยังไม่พ้นมลทิน และเฝ้ารอคอยอิสรภาพกันต่อไป

แนวโน้มดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอของนักวิชาการอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เสนอให้

หนึ่ง แยกกรณีทักษิณ รวมทั้งบุคคลระดับนำทุกฝ่าย เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์ กองทัพ แกนนำพันธมิตร และ นปช.ออกมา แล้วนิรโทษกรรมให้แก่คนธรรมดาของทุกฝ่าย

สอง ให้มีการ "ลบล้างผลพวงรัฐประหาร" ตามข้อเสนอของ "คณะนิติราษฎร์" รวมถึงการยกเลิกคดีต่างๆ ของ คตส.

ถ้าทำตามข้อเสนอของสมศักดิ์ หมายความว่า

หนึ่ง คนทำรัฐประหาร 19 กันยาฯ ยังต้องถูกดำเนินคดี

สอง ทักษิณจะหลุดคดีของ คตส. แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่

สาม คนระดับธรรมดาของทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง และทหารชั้นผู้น้อย จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด

สี่ คนระดับนำ อย่างอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ, นายทหารชั้นผู้ใหญ่,

แกนนำพันธมิตร และแกนนำ นปช. ยังต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

ตามความเห็นของนักวิชาการผู้นี้ ผลลัพธ์อันเกิดจาก

ข้อเสนอของเขาจะครอบคลุมทุกประเด็นซึ่งเป็นวิกฤตในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

ตลอดจนเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถูกหลักประชาธิปไตยและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ฟัง อ.สมศักดิ์แล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่าคำอภิปรายของคุณอภิสิทธิ์ เมื่อค่ำวันที่ 5 เมษายน

ซึ่งท้าว่าตนเองและคุณสุเทพ จะไม่รับการนิรโทษกรรม เพื่อแลกกับการไม่นิรโทษกรรมให้อดีตนายกฯทักษิณ ส่วนคนอื่นที่เหลือให้นิรโทษทั้งหมดนั้น

ดูเข้าทีอยู่ไม่น้อย

ที่มา:คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 มติชนออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ศพไม่สวย !!?

มอดมรณา เมื่อคนไม่ศรัทธา ...เขาไม่เล่นด้วย

แทนที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” บุรุษ ๒ สัญชาติ..จะเดินสง่างาม เข้าทำเนียบทำเนียบรัฐบาล เปิดข้อมูลปัญหาคาร์บอมบ์ระเบิดภาคใต้ ให้กับ “นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ย่อมมีเสียงสรรเสริญ

กรีดกรายฉายเงา เร่งเร้าสร้างภาพ จึงโดนถูกด่ายับเยิน

ปัญหาภาคใต้ ที่ “ประชาธิปัตย์” รู้คำตอบครอบจักรวาล หากนำมาแบแชร์ บอก “รัฐบาลปู” ให้กระจ่าง ย่อมมีแต่ผลดี

มีปัญหาอะไรไม่ยอมบอก..ไม่เคยชี้โพรงให้กระรอก?..พอเกิดเหตุช็อค วิ่งรอกหาเสียงเต็มที่

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เทพเจ้าปักษ์ใต้

เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่พ่อแม่พี่น้องชาวสะตอ ยก “ซุปเปอร์ชวน หลีกภัย” เหนือกว่าใคร ๆ

ท่านน่าจะเป็น “ศูนย์รวม-ศูนย์กลาง” คีย์แมนหลัก เพื่อดับ “ไฟใต้ ๓ จังหวัด”ให้มอด

อย่าให้ใครคิดอคติ ยามแม่ธรณีบีบมวยผม เป็นฝ่ายค้านรากงอก สถานการณ์ก็ดุเดือดตลอด

นักรบขุนศึกทหาร ข้าราชการ พลเรือน...เชื่อสนิทใจ มีเพียง “ท่านชวน” ที่จะกู้สถานการณ์ใต้จากร้าย ให้กลายเป็นดี

ถ้าท่านชวนเดินหน้าเสียอย่าง..เหตุการณ์ใกล้เกลือกินด่าง?...พังบ้านเมืองไม่น่าจะมี

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เลือดต้องข้นกว่าน้ำ

แต่ผิดฝาผิดตัว “ประชาธิปัตย์” ยุค “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จึงเกิดสภาพตกต่ำ

เป็นผู้เฒ่าที่ทรงหลักการ มีผลงานเป็นที่รับรอง ว่า “ท่านสัมพันธ์ ทองสมัคร” คนดีแห่งนครศรีธรรมราช เป็นที่เชิดชูได้ ต่อทุกคน

แต่เพราะเขาเล่นพรรคเล่นพวก “ท่านสัมพันธ์” จึงลี้ภัย ลาออกหนีไปให้พ้น

ท่านเป็นคนเก่าคนแก่ ที่มีคุณูปการ เป็นปูชนียะบุคคล ที่สร้างเกียรติคุณ แก่ประชาธิปัตย์ เอาไว้ มากมายก่ายกองจ๊ะคุณพี่

แต่เพราะมีจอมจุ้น...ทำตัวเป็นพวกโง่เง่าเต่าตุ่น... “ท่านสัมพันธ์”จึงเคืองขุ่นลาออกจากพรรค ด้วยประการฉะนี้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

คนที่รัก ก็ออกอาการมัวขุ่น

ไม่ปึ้กปั๊กรักกัน เหมือนกินข้าวหม้อเดียวกัน อีกแล้วล่ะคุณ

ว่ากันว่า “นายพลแม็คอาร์เธ่อร” พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กับ “บิ๊กมนูญ” พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร เพื่อนรัก จปร.๗ ยังเติร์ก นามกระฉ่อน

อายุต่างชำระเฒ่าชะเราด้วยกัน มีเค้า จะหันหลังให้กัน อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี, อยากให้ ๒ ท่านผู้อาวุโส กับมาเป็นเพื่อนน้ำมิตร เป็นเพื่อนคู่คิด กันดีกว่า

อยากให้สองท่านทบทวนให้ดี...เคยขอกันกินมากกว่านี้...อยู่ ๆ มานี่ มากินใจทำไมล่ะจ้า

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปฏิกิริยาหลังคาร์บอมบ์

คราวเมื่อระเบิด สถานีรถไฟหาดใหญ่ เขาก็ประชุมยกกำลัง มาปฏิวัติโค่น “ทักษิณ ชินวัตร” ซะประเทศเสียหาย สะบักสะบอม

ระเบิดคราวนี้อานุภาพรุนแรง...เมื่อฝ่ายจ้องล้มกระดาน “นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เปิดวอรลุ่ม เพื่อสะกรัม “รัฐบาลปู” ให้อยู่หมัด

ล้วนขาเก่าขาแก่..ที่อ้างตัวเองเป็น “ผู้ดี” นั่นแหละ ที่ร่วมกันจุดชนวนปฏิวัติ

อยากบอก “ท่านผู้ดี” ที่คุยอวดว่าตัวเองเป็นคนเลือกข้าง สิ่งไหนเป็นสิ่งดีตัวก็เลือกข้างโดยที่ไม่เกรงกลัวปัญหา

อย่ามาพูดทำเป็นประจบ...ท่านมันพวกเต่าใหญ่ไข่กลบ?..หวังตะปบเก้าอี้นายกฯมากกว่า

ที่มา:คอลัมน์ ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

ศุภชัย เจียรวนนท์. ทรู ธุรกิจ-การแข่งขัน และเกมเอาคืน แผนสำรองไม่มี แค่ สู้เต็มที่ !!?


บริการ 3G ของทรูภายใต้แบรนด์ "ทรูมูฟ เอช" กลับมาสะบัดร้อนสะบัดหนาวอีกครั้ง เมื่อกระทรวงไอซีทีออกโรงแถลงผลการตรวจสอบ

"อภิดีลระหว่างกลุ่มทรู-กสท โทรคมนาคม" ชัดถ้อยชัดคำว่าพบความผิดปกติหลายจุด และเชื่อได้ว่าอิทธิพลการเมืองเข้ามามีเอี่ยวเอื้อประโยชน์เอกชน ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างธุรกิจโทรคมนาคมไทย

รัฐมนตรี "ไอซีที" ยังสั่งการเสียงเข้มไปยัง "ซีอีโอใหม่ กสทฯ" ให้รับลูกดำเนินการต่อ ขีดเส้นให้ได้ข้อสรุปภายใน 15 วัน

ไม่ใช่แค่กระทรวงไอซีที ดีลนี้ "ป.ป.ช." ตรวจสอบเอาผิดทางอาญากับผู้บริหาร กสทฯในอดีตเช่นกัน

เรียกว่า ผจญศึกรอบทิศกันเลยทีเดียว

จะว่าไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับ "ทรู" ไม่ต่างไปจากที่ "เอไอเอส" เคยเจอมาก่อนสมัยรัฐบาลที่แล้ว เทียบกัน "ทรู" อาจเบากว่าด้วยซ้ำไป ด้วยสไตล์เจ้ากระทรวงต้นสังกัดระหว่าง "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" และ "จุติ ไกรฤกษ์"

มากกว่าเนื้อหาสาระและความถูกต้อง หลายฝ่ายมองว่าเป็นการเอาคืนทางการเมือง

นอกจากต้องลุ้นระทึกกับภารกิจสร้างแต้มต่อในธุรกิจโทรศัพท์มือถือด้วยบริการ "3G" ที่พร้อมกว่าใครแล้ว

สมรภูมิธุรกิจเคเบิลทีวี ดูท่าว่า "ทรู" ยังต้องเหนื่อยขึ้นด้วยจากคู่แข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นมาก จากการตบเท้าเข้าสู่สังเวียน "ทีวีดาวเทียม" ของค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่หลายราย ส่งผลถึงการชิงลิขสิทธิ์รายการต่างประเทศอันถือเป็นจุดขายสำคัญอย่าง "ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ" ที่ร้อนแรงเป็นอย่างยิ่ง

ในฐานะแม่ทัพธุรกิจของกลุ่มทรู "ศุภชัย เจียรวนนท์" มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเตรียมแผนรับมืออย่างไร มีรายละเอียดใน "ประชาชาติธุรกิจ" บรรทัดถัดไป

- ถ้ามีการรื้อสัญญาจะทำให้แผนทรูมูฟ เอชสะดุดไหม

เรื่องการตรวจสอบ คิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการขยายเครือข่ายยังเดินหน้าได้ตามปกติ (เงินลงทุนทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท เฉพาะปีนี้ 2 หมื่นล้าน ขยายสถานีฐานให้ได้ 13,500 แห่ง ภายในสิ้นปี เพิ่มฐานลูกค้าเฉพาะปีนี้อีก 4 ล้านราย)

โดยตัวสัญญาที่ทำกับ กสทฯคงไม่ผิด เพราะไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องมาตรา 46 (ห้ามโอนคลื่น) หรือกรณีเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน และอื่น ๆ ชี้แจงได้ ไม่น่าเป็นประเด็นหลัก

- มีโอกาสพบรัฐมนตรีไอซีทีแล้ว

ยังครับ ก็คงต้องขอเข้าไปคุยไปหารือ ชี้แจงข้อมูลอะไรต่าง ๆ กับท่านรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้

- หลายคนมองว่าเป็นการเอาคืนทางการเมือง

ไม่คิดว่านะครับ ไม่คิดว่าถึงขั้นนั้น ไม่น่ามีแรงจูงใจเป็นเรื่องแรก น่าจะเป็นเรื่องเพื่อความโปร่งใสเป็นหลัก แต่ถ้าจะบอกว่าเปลี่ยนพรรคเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นแบบนี้ สลับกันไปมา ก็ไม่เป็นไร เพราะการตรวจสอบก็เป็นเรื่องดี เป็นกลไกตามระบอบประชาธิปไตยที่ดี

- มีแผนสำรองอะไรไหมถ้ามีผลกับการให้บริการ

ไม่มีครับ อย่างที่บอกคิดว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบปกติ ซึ่งเราเองก็มั่นใจว่าได้ดำเนินการทุกอย่างโดยถูกต้อง

- ป.ป.ช.ก็จะสรุปเรื่องนี้

คงไม่ใช่สรุปนะครับ เพราะก็ยังไม่ได้มีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องไปสอบสวนหรือชี้แจงอะไร น่าจะเป็นการสรุปว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องนี้ไปพิจารณาต่อมากกว่า ถือว่าอยู่ในกระบวนการ ซึ่งก็คงต้องมาดูกันไปว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ามีการพิจารณาต่อก็ต้องมีการสืบสวนให้ปากคำเหมือนกระบวนการทางศาล

- มีผลกระทบต่อลูกค้าและพนักงาน

ไม่มีครับ ทุกอย่างยังเดินหน้า กับพนักงานเราก็มีการชี้แจงว่า ทุกอย่างที่ทำมาถูกต้องโปร่งใสอยู่แล้ว เพียงรัฐบาลใหม่ที่มาอาจไม่เห็นด้วยกับชุดที่แล้วก็ต้องมาตรวจสอบ ก็อาจมีความกังวลใจบ้าง แต่ช่วงนี้ของปีที่แล้วเอไอเอสก็โดนไม่เยอะเหมือนกัน ไม่เป็นไร เป็นกระบวนการตรวจสอบก็ยินดีครับ

- กรณีคืนคลื่น 3G ของทรูมูฟจะดำเนินการอย่างไร

กสทฯต้องการให้ทรูมูฟคืนคลื่น (850MHz ที่นำมาทดลองบริการ) การย้ายลูกค้า 3G จากทรูมูฟไปทรูมูฟ เอชก็จะเป็นไปตามกระบวนการบริการคงสิทธิ์เลขหมาย (mobile Number Portability) ตามกฎ กสทช.ต้องให้เวลา 1 ปี แต่เราวางแผนกับ กสทฯว่าอยากให้สั้นกว่านั้น

- ขอเลขหมายใหม่ผ่านกสทฯไป 16 ล้านเพื่อ

ขอกสทช. ในนามกสทฯ ทั้งหมด 16 ล้านเลขหมาย ครอบคลุมไปถึงกันยายนปีหน้า เมื่อสัญญาสัมปทาน (ทรูมูฟ) หมดอายุ ก็เป็นแผนสำรองที่จะต้องไมเกรทลูกค้าไปยังทรูมูฟเอช ถ้ามีความต้องการ แต่ 16 ล้านนี่ คงไม่ใช่เผื่อของทั้งหมด เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งคงใช้เบอร์เดิม อีกบางส่วนก็ไม่ต้องใช้เบอร์เดิมเป็นเบอร์ใหม่เลย

- ปัจจุบันมีลูกค้าเท่าไร

ทรูมูฟ 17-18 ล้านราย ทรูมูฟเอช 1 ล้านกว่าราย เป็นลูกค้าที่ย้ายมาจากฮัทช์ 4 แสน ลูกค้าใหม่ 6 แสน

- ลิขสิทธิพรีเมียร์ลีกมีคนสนใจเยอะมาก

มีคู่แข่งก็ไม่เป็นไร สำหรับทรูก็เป็นคอนเทนต์ที่สำคัญกับเรา เราก็อยากจะได้ ใครชนะก็คงจะแชร์กันอยู่แล้ว ในแง่เราก็ต้องสู้เต็มที่ก่อน แต่ไม่ว่าใคาจะชนะก็คงต้องหาทางระบาย

- แพ้ได้

ถ้าแพ้เราก็ไปรอรับอีกทอด เช่นกันถ้าเราชนะเราก็อาจพิจารณาส่งต่อให้คนอื่น เราไม่ได้ปิดเรื่องการมีพันธมิตรอยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูโพสิชั่นของแต่ละฝ่ายด้วย มีความตั้งใจว่า ที่ผ่านมาเราถือหลักการประมูลเอง การแข่งขันมีแพ้มีชนะ ในการประมูลครั้งที่ผ่านๆ มาเราก็แข่งประมูลในระดับภูมิภาคมาแล้ว คู่แข่งก็มีกำลังเงินสูงๆ ทั้งนั้น

- คึกคักกว่าทุกครั้ง

ก็ไม่แน่ใจนะครับ หลายคนมองว่า เรื่องบอลบ้านเราเริ่มครึกครื้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

โค่นรัฐบาลทักษิณ เหตุ รธน.ปี 40 พลังทุนเพิ่มความชอบธรรม !!?

โดย : พิรอบ แต้มประสิทธิ์


ศึกษางานวิจัย"ยูชิฟูมิ ทามาดะ"ประเด็น"สุเทพ"อ้าง"ทักษิณ"ต้องการระบอบประธานาธิบดี ค้นพบรธน.ปี40เป็นประชาธิปไตย-พลังทุนเพิ่มความชอบธรรม

ต่อกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายการปรองดองแห่งชาติ ที่คณะกรรมาธิการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

นายสุเทพกล่าวตอนหนึ่งว่า "เราต้องพูดความจริง หากไม่พูดก็ไม่สามารถเกิดความปรองดองได้ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ มีบริวาร เครือญาติ พรรคการเมือง คนเสื้อแดง กลุ่มกองกำลังติดอาวุธหรือที่พวกเขาเรียกว่าแก้ว 3 ประการ และทำให้ฝ่ายอื่นได้รับบาดเจ็บ ล้มตายและสร้างความไม่พอใจ ที่สำคัญแนวทางการเมืองของระบอบทักษิณ แตกต่างจากพวกตน และคนไทยอื่นๆ เพราะความคิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองของประเทศนี้ เพื่อสร้างรัฐไทยใหม่ และเลยเถิดไปในระบอบประธานาธิบดี ให้พรรคเสื้อแดงครองประเทศและประชาชนรับไม่ได้ "

จะเชื่อตามนายสุเทพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อมูลและความรู้ที่แต่ละฝ่ายอ้างความชอบธรรม แต่เมื่อกลับไปค้นคว้างานวิจัยของ"ยูชิฟูมิ ทามาดะ"นักวิชาการชาวญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่ศึกษา"ประชาธิปไตย การกลายเป็นประชาธิปไตย และการออกจากประชาธิปไตยของประเทศไทย" ต่อกรณีที่นายสุเทพ เชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองเป็นรัฐไทยใหม่ หรือที่ว่าต้องการปกครองแบบประธานาธิบดี

"ทามาดะ"ระบุว่าสาเหตุสำคัญอยู่ที่ความไม่พอใจต่อรัฐบาลทักษิณ หากคนจำนวนมากไม่พอใจรัฐบาล จะทำให้รัฐบาลแพ้การเลือกตั้งเป็นวิธิการเปลี่ยนรัฐบาลแบบประชาธิปไตย แต่กรณีรัฐบาลทักษิณ คนที่ไม่พอใจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ จึงเป็นการยากที่ที่รัฐบาลจะแพ้ในการเลือกตั้ง

แม้ว่าจะมีการรณรงค์โจมตีอย่างหนัก เพื่อโจมตีรัฐบาล แต่ไม่สามารถทำให้รัฐบาลสูญเสียความนิยมชมชอบจากคนส่วนใหญ่ และประการหนึ่งคือ ระบอบการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ยิ่งช่วยให้มีเป้าหมายให้รัฐบาลทักษิณมีเสถียรภาพสูงขึ้น และปัจจัยที่ไม่ต้องกล่าวถึงคือรัฐบาลทักษิณมีเงินทุนทางการเมือง ซึ่งต่างจากรัฐบาลที่ช่วงก่อนหน้ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก และเป็นรัฐบาลผสมที่ขาดเสถียรภาพ ทำให้พรรคการเมืองอื่นที่ต้องระดมทุนสู้กับพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นสู้ได้ยาก

ด้วยเหตุนี้การที่พ.ต.ท.ทักษิณ ทุ่มทุนลงไปในพรรคของตัวเอง จึงแน่ใจได้ว่าไม่มีใครหักหลังเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด แต่หากเป็นพรรคการเมืองไม่ใช่ของตัวเองย่อมไม่มั่นใจถึงเพียงนั้น และหากหันไปช่วยเหลือพรรคอื่นก็เสียประโยชน์

"อำนาจเงินจึงช่วยพรรคไทยรักไทยในการซื้อพรรคเล็ก จนส.ส.พรรคอื่นให้เข้ามาอยู่พรรคไทยรักไทย และเมื่อพรรคการเมืองเข้ามาอยู่มในพรรคไทยรักไทยจึงหนีออกยาก เพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 2540 "

นอกจาก อำนาจเงินแล้ว นโยบายรัฐบาลทักษิณ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ทำให้ประชานิยมชมชอบ ให้การสนับสนุนสุดใจ ที่นโยบายนี้มุ่งสนับสนุนทั้งคนรวยและคนจน ทั้งในภาคเมืองและภาคชนบท จึงทำให้ประชาชนเทคะแนนเสียงจากทุกกลุ่มอาชีพ จึงไม่แปลกเพราะการเลือกตั้งเป็นกลไกตรวจสอบนักการเมืองที่ดีที่สุด นัการเมืองจึงต้องเอาใจประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เพื่อจะได้ไม่สอบตก

"ทามาดะ" ยังค้นคว้าพบว่าการที่รัฐบาลทักษิณ ถูกโค่น สาเหตุหลักอยู่ที่การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะเมื่อการเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว วิธีการเปลี่ยนรัฐบาลที่ถูกต้องตามกติกา คือการเลือกตั้ง หากเอาชนะครั้งเดียวไม่ได้ก็ต้องมีการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง ฝ่ายค้านสามารถรณรงค์ว่ารัฐบาลไม่ดีอย่างไร และฝ่ายค้านดีกว่าอย่างไร และรัฐบาลที่เลวจริงก็มีสิทธิจะแพ้การเลือกตั้ง

"แต่มีคนบางกลุ่มรอคอยไม่ได้ กลับเลือกทำการรัฐประหาร ถ้าหากว่ารัฐบาลที่ถูกขับไล่ออกไปนั้นเป็นรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ยอมจัดให้มีการเลือกตั้ง การขับไล่ด้วยวิธีการรัฐประหารก็ไม่เลวนัก แต่รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐประหารจึงถูกสังคมโลกด่า ผู้นำไปต่างประเทศก็ไม่สามารถจัดประชุมอย่างเป็นทางการกบผู้นำประเทศตะวันตกได้ "

ประเด็นดังกล่าวข้างต้น สอดรับกับที่นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ระบุว่า "แท้จริงแล้วไม่ใช่อะไรอื่นไกล การที่นายสุเทพ ชูประเด็นพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการปกครองระบอบประธานาธิบดี ก็คือพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งตลอดนั่นเอง จึงต้องอ้างความไม่จงรักภักดี ต้องการล้มสถาบัน เพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักเรียนนายร้อย รู้อยู่แล้วว่ามีความจงรักภักดี"

เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบอบการปกครองประชาธิปไตยได้แก่ระบอบประธานาธิบดี กับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่สองระบอบนี้ความชอบธรรมของผู้นำประเทศแตกต่างกัน การปกครองระบอบประธานาธิบบดี ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง ส่วนระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประชาชนเลือกส.ส.แล้ว ให้ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีความชอบธรรมนายกรัฐมนตรีจึงมาจากรัฐสภา แต่กฏมายรัฐะรรมนูญปี 2540 มีลักษณะทั้งสองระบอบผสมผสานกัน

โดยที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ มาจากสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ได้รับความชอบธรรมเพิ่มพิเศษจากระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้นายกรัฐมนตรีมีความชอบธรรมสูงขึ้นเป็นสองเท่า เท่ากับว่ามีความชอบธรรมแบบประธานาธิบดี

รัฐบาลไทยรักไทย และนายกรัฐมนตรีทักษิณ ขณะนั้นจึงมีลักษณะตรงกับกระบวนการ presidentialization ทำให้ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดินสูงขึ้น และนี่คือที่มาที่กลุ่มไม่พอใจรัฐบาลทักษิณ โค่นล้ม เพราะเป็นรัฐบาลแข็งแกร่ง ต่างจากรัฐบาลผสมที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++