--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แฉ !!? แผนบิดเบือนข้อเสนอนิติราษฎร์ล้มรัฐบาลก่อน เม.ย.

“จตุพร” อ้างมีกลุ่มคนจ้องบิดเบือนข้อเสนอแก้มาตรา 112 ของนิติราษฎร์ เพื่อกล่าวร้ายและขยายผลไปสู่การล้มล้างรัฐบาลให้ได้ภายในเดือน เม.ย. นี้ ยอมรับเพื่อไทย เสื้อแดง นิติราษฎร์พวกเดียวกัน แต่ต่างมีจุดยืนของตัวเอง “เฉลิม” ไล่นักวิชาการ 16 ประเทศ หากอยากแก้มาตรา 112 ให้แก้ในประเทศตัวเอง ย้ำเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภา หากไม่สนับสนุนไม่มีทางสำเร็จ “มาร์ค” ห่วงความขัดแย้งในธรรมศาสตร์บานปลาย ไม่เห็นด้วยจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ
+++++++++++++++++
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กลุ่ม “วารศาสตร์ต้านนิติราษฎร์” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รวมตัวแสดงพลังคัดค้านคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ที่เคลื่อนไหวเสนอแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ โดยนายยุทธนา มุกดาสนิท เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ถึงอธิการบดี ขอให้ตั้งกรรมการสอบความเหมาะสมของนิติราษฎร์ เพราะเห็นว่าแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยไปสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวล่วงละเมิดสถาบัน ขอให้สอบเอาผิดทั้งวินัยและอาญา ขอให้รัฐบาลแสดงจุดยืนปกป้องสถาบัน ขอให้สื่อมวลชนใช้วิจารณญาณเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรา 112 และขอให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันต่อต้านแนวคิดแก้มาตรา 112

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง ระบุว่า กำลังมีความพยายามบิดเบือนข้อเสนอของนิติราษฎร์เรื่องมาตรา 112 เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการล้มล้างรัฐบาลให้ได้ก่อนเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้

“ข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นข้อเสนอที่ต้องการปกป้องสถาบัน แต่ถูกบิดเบือนให้ร้าย เราไม่เคยปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกัน แต่พรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง และนิติราษฎร์ ต่างก็มีเสรีภาพทางความคิดของตัวเอง ผมไม่ใช่พวกตกใจชิ่งหนี แต่ผม เพื่อไทย และนิติราษฎร์ ต่างคนต่างก็ยืนอยู่ที่จุดของตัวเอง”

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีนักวิชาการ 244 คน จาก 16 ประเทศ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 และสนับสนุนให้แก้ไขว่า หากนักวิชาการต่างประเทศอยากแก้ก็ให้ไปแก้ที่ประเทศของเขา พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรานี้ และจากการลงพื้นที่ก็ไม่พบว่ามีประชาชนสนับสนุน

“แก้กฎหมายต้องทำกันในสภา พรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภา มีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใครจะไปเคลื่อนไหวกันอย่างไรไปห้ามไม่ได้”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ผู้บริหาร มธ. ควรเชิญผู้เกี่ยวข้องมาทำความเข้าใจก่อนเรื่องจะบานปลาย การแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการต้องมีอยู่ ถ้าเห็นรูปแบบกิจกรรมมีปัญหาค่อยเรียกมาตกลงกันว่าจะทำแบบไหน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าไปสั่งห้ามทั้งหมด ไม่อยากให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และอาจารย์ทะเลาะกัน ส่วนตัวเชื่อว่าที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง และกำลังขยายความขัดแย้งออกไปโดยไม่จำเป็น

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************

จตุพร-ก่อแก้ว..ไม่ร่วมเวทีเสื้อแดงอุดร !!?

กลุ่มเสื้อแดงส่อแตกแยก “จตุพร-ก่อแก้ว” ไม่ร่วมขึ้นเวทีปราศรัยที่จัดโดย “ขวัญชัย” อ้างไม่ใช่กิจกรรมของคนเสื้อแดง ระบุ “ณัฐวุฒิ” ต้องไปร่วมในฐานะรัฐมนตรี ด้าน “ประชาไท” แพร่จดหมายเสื้อแดงถาม “จตุพร” ยังมีอุดมการณ์เหมือนเดิมหรือเปล่าหลังลอยแพนิติราษฎร์

+++++++++++++++

นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การจัดปราศรัยใหญ่ที่จังหวัดอุดรธานีในวันที่ 21 ก.พ. ที่ตรงกับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ซึ่งจัดโดยนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร จะไม่มีแกนนำคนเสื้อแดงอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง เข้าร่วม เพราะถือว่าไม่ใช่งานของคนเสื้อแดง

“น่าจะมีเพียงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เข้าร่วม เพราะเป็นหนึ่งในรัฐมนตรี และเวทีนี้ก็มีเป้าหมายให้รัฐมนตรีและ ส.ส. ได้พบปะประชาชน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การแตกคอของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง แต่เป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้”

ด้านเว็บไซต์ประชาไทได้เผยแพร่จดหมายจากผู้อ่าน : ความในใจสุดท้ายจากคนเสื้อแดงคนหนึ่งถึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ “กูคือไพร่แต่ไม่ใช่ทาส” มีเนื้อหาสรุปได้ว่า หลังจากได้ฟังนายจตุพรแถลงเรียกร้องให้นิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขการทำรัฐประหาร และถึงเดินหน้าต่อไปก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะไม่มี ส.ส. หรือ ส.ว. คนไหนกล้ายกมือโหวตให้นั้น อยากฝากคำถามไปถึงนายจตุพรว่าหากนิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหว นึกหรือว่าเขาจะไม่เอาเรื่องอื่นมาหาเรื่องปฏิวัติ และที่บอกว่าไม่มีใครกล้ายกมือโหวตให้กฎหมายข้อนี้ แล้วอุดมการณ์ที่นายจตุพรและพรรคพวกพร่ำเพ้อวันละ 3 เวลาหลังอาหารและก่อนนอนให้คนเสื้อแดงต้องออกไปเจ็บไปตายแทน ที่ว่าจะต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ภราดรภาพ และความเท่าเทียมกันของคนไทยทุกคนหายไปไหน

จดหมายระบุอีกว่า สิ่งที่นิติราษฎร์เคลื่อนไหวทั้งหมดตอบโจทย์ได้ทุกข้อสำหรับคนเสื้อแดงที่เสียเลือดเสียเนื้อต่อสู้กันมา แล้วทำไมท่าน (รัฐบาลพรรคเพื่อไทย) ไม่ร่วมสู้ไปกับนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุดในตอนนี้ แทนที่จะมัวกลัวซ้ายกลัวขวาว่าจะโดนปฏิวัติ ก็ในเมื่อมีอำนาจรัฐอยู่ในมือแล้ว ทำไมถึงไม่หาทางป้องกันหรือหยุดยั้ง และแทนที่นายจตุพรจะออกมากลัวการปฏิวัติให้เสียภาพลักษณ์ ทำไมไม่อธิษฐานให้รีบปฏิวัติไวๆ ทุกอย่างจะได้จบลงไปในคราวเดียว เหมือนที่นายจตุพรเคยพร่ำบ่น หรือว่าเมื่อได้เป็น ส.ส. แล้วความรู้สึกแบบนั้นหายไป

การออกมาลอยแพ (แถมยังแอบกระทืบซ้ำ) นิติราษฎร์นั้น คือการทรยศต่ออุดมการณ์ในการต่อสู้ของพี่น้องเสื้อแดงทั้งหมด เพราะทุกข้อที่อาจารย์นิติราษฎร์คิดและเขียนออกมาคือความต้องการและความในใจของคนเสื้อแดงทั้งนั้น จริงอยู่ ก่อนเลือกตั้งเราคือคนสำคัญของพวกท่าน แต่พอหลังเลือกตั้ง แม้แต่กฎหมายที่ประชาชนต้องการแก้ที่สุด ท่านยังกล้าประกาศว่าจะคว่ำเสียตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่ม ไม่ทำร้ายจิตใจกันไปหน่อยหรือ

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************

วิชาการ วิชามาร การเมืองแอบแฝง ถึงเวลา มธ. พิสูจน์ตัวเอง !!?



วิชาการ วิชามาร การเมืองแอบแฝง ถึงเวลา'ธรรมศาสตร์'พิสูจน์ตัวเอง

จะกลายเป็นเรื่องโอละพ่อหรือไม่ เมื่อน้ำผึ้งหยดเดียวแต่หยดใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากกลุ่มนิติราษฎร์ได้ทำการใช้พื้นที่เพื่อถกประเด็นเสวนาเรื่องวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในตอนแรกดูว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่กลับกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังจากไปแตะโดนมาตรา 112 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ถึงเรื่องเรื่องดังกล่าวจะเป็นการพูดคุยในเชิงวิชาการก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมากในสังคมไทย ที่มีขนบธรรมเนียมและประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนิติราษฎร์ได้ออกมาระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเสนอเพื่อต่อยอดทางความคิด และควรตกผลึกให้สังคมได้คิดต่อออกแขนงไปสู่มวลชน แต่สำหรับคนในสังคมบางกลุ่มนั้น เขาอาจจะมองไม่เห็นว่า เรื่องที่ทำการเสนอของนิติราษฎร์ ไม่ใช่วิชาการและมีแนวโน้มว่าเป็นการอิงการเมืองมากกว่า ทำให้ตกผลึกทางความคิด และที่รับไม่ได้คือความเห็นที่หมิ่นเหม่ว่าสุ่มเสี่ยง จึงยอมไม่ได้ที่จะให้นิติราษฎร์ได้เคลื่อนไหวในการใช้พื้นที่กระจายความคิดอันแยบยล และมีความเคลือบแคลงสงสัยในเป้าหมายที่แท้จริงตามที่คนกลุ่มหนึ่งคิด

แม้ก่อนหน้านี้ กลุ่มนิติราษฎร์จะออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกโยธิน โดยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นโต๊ะแถลง เหตุหนึ่งก็เพราะว่าอาจารย์และผู้ที่เสนอแนวทางต่างๆ นั้น มาจากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นการสะดวกที่จะใช้พื้นที่ของตนเอง ในการแสดงความคิดเห็น เมื่อมีการแถลงการณ์ออกมาหลายครั้ง ในการเคลื่อนไหวทุกครั้ง จึงทำให้บุคคลภายนอกนั้นไม่เข้าใจ จะคิดว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดจากธรรมศาสตร์ทั้งหมด ที่สุดแล้วกลุ่มที่ไม่สามารถทนได้ในพวกเดียวกันเอง จึงต้องลุกขึ้นมาเพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการที่มีความคิดเห็นสวนทาง และบอกผ่านการตรงๆ ว่าไม่เห็นด้วยในครั้งนี้ เช่นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์’ หรือขยายความว่าเป็นกลุ่มของศิษย์เก่าคณะวารสารศาสตร์และการสื่อสารสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเอง

หลังจากเกิดกระแสก่อนการรับลูกของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะออกมามาเบรกเกม เพื่อไม่ให้มีการใช้มหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มบางกลุ่ม ที่ต้องการความมุ่งหวังทางการเมือง เพราะเชื่อว่าเป็นการตัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ที่อาจจะมีความหวั่นเกรงว่าจะลุกลาม และเกิดการควบคุมไม่ได้ก็ตาม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ว่านี่จะถือว่าเป็นการปิดกั้นทางความคิดหรือไม่อย่างไร เพราะธรรมศาสตร์นั้น ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับออกกฎที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของบุคลากรตนเองเสียนี่

เชื่ออย่างสุจริตใจว่า กลุ่มนิติราษฎร์เองนั้น มีการเสนออะไรก็แล้วแต่ หลายอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่หนทางที่ดีขึ้นในสังคม แต่ก็ต้องยอมรับว่าบาง ‘ข้อเสนอ’ ก็สุดแสนจะเกินทำใจรับได้ของคนในสังคม และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เกิดทนไม่ไหว ทำให้เหตุการณ์รุนแรงเพราะทั้งสองฝ่าย ต่างมีความสุดโต่งกันทั้งคู่ อยากถามว่าจะรับผิดชอบไหวหรือไม่? กับการกระทำที่ได้ทำลงไป จะเอาอยู่หรือไม่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ในฐานะคนกลางอย่างอธิการบดี ย่อมเล็งเห็นว่ากรณีดังกล่าว ควรจะตัดไฟเสียแต่ต้นลม แต่กระนั้นก็ทำให้โดนมองว่า เป็นเกมการเมืองที่ถูกสั่งมาให้หยุดพวกนิติราษฎร์เช่นกัน เมื่อมองได้สองมุม แต่ละกลุ่มก็มีมุมในการเลือกมองของตน ย่อมทำให้ความเห็นไม่ตรงกันบังเกิดขึ้น ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ แต่มันกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้ จึงทำให้ธรรมศาสตร์ในวันนี้เกิดเสน่ห์ขึ้นอีกครั้ง ของความประชาธิปไตยที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ในการนำเสนอของแต่ละคนที่เป็นศิษย์ก้นกฏิของลูกหลาน นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งธรรมศาสตร์และการเมืองเอง

ณ ขณะนี้ ธรรมศาสตร์กำลังต้องพิสูจน์ตัวเอง ในการสนับสนุนแนวทางตามประชาธิปไตย ว่าจะสามารถจัดการระบบภายในตัวเองได้หรือไม่ กับการแสดงความคิดเห็นที่ขัดกันเอง แต่อย่างหนึ่งที่น่ายอมรับ คือ การกล้าลุกขึ้นมาสู้กันแบบปัญญาชนของแต่ละกลุ่มในสถาบันเดียวกัน โดยไม่คิดจะใช้ความรุนแรงนำมวลชนกดดัน และสามารถจัดการให้ความจำกัดความอย่างไร กับการเดินตามเจตจำนงคำว่า ‘วิชาการต่อยอดความคิด’ หรือเป็น ‘เกมการเมืองแอบแฝง’.
ที่มา: ไทยรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

คณะวารสารฯ มธ.สั่งห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหว แจงคณะไม่มีส่วนสนับสนุนหรือคัดค้านกรณี ม.112

ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ www.jc.tu.ac.th เรื่อง จุดยืนในการใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการแสดงออกทางความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการนำเสนอความเห็นทางวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์เพื่อแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ให้สังคมทั่วไปได้แสดงความคิดเห็น พบว่าจากข้อเสนอดังกล่าวได้มีกลุ่มประชาชนในแวดวงต่างๆ ที่มีความเห็นสนับสนุนและคัดค้านข้อเสนอทางวิชาการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ในการนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับสาธารณชน ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอชี้แจงถึงจุดยืนในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

ประการที่หนึ่ง เรื่องการใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องกฎหมายมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะปฏิบัติตามมติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 ในการไม่อนุญาตให้บุคคล/กลุ่มบุคคลต่างๆ ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวในกรณีที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในมหาวิทยาลัย จนอาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่ได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ราชการ อีกทั้งการอนุญาตต่อไปอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น

ประการที่สอง จุดยืนเรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็นคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการ ตราบใดที่ความคิดเห็นนั้นๆเป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อหลักการของสังคมประชาธิปไตย

ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ขอแสดงจุดยืนทั้ง 2 ประการข้างต้น และขอทำความเข้าใจว่า คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนและคัดค้านการแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ

ทั้งนี้คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มุ่งให้เกิดสังคมที่มีความเข้าใจ ใช้ตรรกะและเหตุผลในการแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสื่อสารที่สมานฉันท์ในระยะยาว
อนึ่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค.กลุ่มศิษย์เก่าและปัจจุบันของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ ได้ประกาศนัดรวมตัวกันชุมนุมเพื่อต่อต้านไม่ให้กลุ่มนิติราษฎร์หน้าคณะวารสารฯ ม.ธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ในวันที่ 2 ก.พ. นี้ เวลา 14.00 น.

26 นักวิชาการชี้มติผู้บริหารมธ.เป็น "อธรรมศาสตร์" อย่างยิ่ง แนะเปิดมหาวิทยาลัยเป็นพท.กลางให้แต่ละฝ่ายเสนอความเห็นเรื่อง 112

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการจำนวน 26 คน โดยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย กรณีคณะกรรมการบริหารมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112 จดหมายดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้

สืบเนื่องจากอธิการบดีธรรมศาสตร์แจ้งในเฟสบุ๊กเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีมติจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป โดยอ้างว่าการอนุญาตอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยเอง หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนมหาวิทยาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้

พวกเรานักวิชาการซึ่งมีรายชื่อด้านล่างนี้มีความเห็นว่า

1. มติดังกล่าวทำลายหลักเสรีภาพทางวิชาการและพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งเป็นหลักประกันให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถทำหน้าที่เป็นเสาหลักทางปัญญาและแก้ไขปัญหาสาธารณะให้กับสังคมผ่านการถกเถียงทางวิชาการ หากขาดหลักประกันนี้แล้วมหาวิทยาลัยย่อมไม่มีเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น มติดังกล่าวยังขัดต่อปรัชญาการก่อตั้งและจิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ นับแต่การก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นปราการปกป้องสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด จนกระทั่งมีคำขวัญกล่าวว่า "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" มติดังกล่าวจึงมีลักษณะ "อธรรมศาสตร์" เป็นอย่างยิ่ง

2. ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นเวทีสาธารณะให้แก่กลุ่มต่างๆ ในการถกเถียง เคลื่อนไหว และดำเนินกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสาธารณชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ในทางตรงข้ามการเปิดเวทีสาธารณะของธรรมศาสตร์กลับสร้างเกียรติภูมิให้แก่มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด

3. มติดังกล่าวเท่ากับเป็นการผลักให้การถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อสังคม ออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัย และหลุดลอยจากวงวิชาการออกไปสู่ท้องถนน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าและความรุนแรงมากกว่าการที่มหาวิทยาลัยจะเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล และเป็นวิชาการ

4. เห็นได้ชัดเจนว่า สังคมไทยกำลังต้องการทำความเข้าใจให้กระจ่างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ทำให้เกิดฝ่ายที่หวาดระแวงว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแสดงบทบาทนำในการให้ความรู้แก่ประชาชน โอกาสนี้จึงถือเป็นวาระสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีส่วนดับอุณหภูมิความร้อนของความแตกต่างทางความคิด ให้กลายปัญญาเพื่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

5. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยห่วงใยข้างต้น เราขอเสนอรูปธรรมของการแก้ปัญหา โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพและตัวกลางในการจัดกิจกรรมทางวิชาการหลากหลายรูปแบบในประเด็นมาตรา 112 เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เช่น การจัดเวทีให้แต่ละฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างกันผลัดกันนำเสนอความคิดของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องตกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการโต้วาทีที่มุ่งเอาชนะซึ่งกันและกัน เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสร้างตัวอย่างให้แก่สาธารณะว่าการถกเถียงปมปัญหาใดๆ ก็ตาม และไม่ว่าจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคมเพียงใด ก็สามารถทำได้อย่างสุภาพ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม การจัดกิจกรรมเช่นนี้กลับจะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดของสาธารณชนที่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยกังวลได้เป็นอย่างดี

จึงเรียนมาเพื่อขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาธรรมศาสตร์ทบทวนมติดังกล่าว และส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น


วันที่ 31 มกราคม 2555


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สลิสา ยุกตะนันทน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์)
พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอุมา เตพละกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มรกต ไมยเออร์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รัตนา โตสกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาดาดล อิงคะวณิช Centre for Research and Education in Arts and Media, University of Westminster
สร้อยมาศ รุ่งมณี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา.มติชนออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เขาควาย

การจับกุม นายอาทริส ฮุสเซน ชาวสวีเดนสัญชาติเลบานอน ในความผิดตามพระราชบัญญัติการควบคุมยุทธภัณฑ์ เพราะมีแอมโมเนียมไนเตรทอยู่ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาติ

นับเป็นข่าวใหญ่ของโลกและทำให้ประเทศต่างๆ 18 ประเทศ รวมทั้งอเมริกาออกประกาศเตือนมิให้พลเมืองของตนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย

เพราะข่าวที่ปรากฎออกไปนั้นมีว่า...ผู้ก่อการร้าย “กลุ่มฮิซบอลเลาะห์” ได้วางแผนจะก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ

นายอาทริส ฮุสเซน ถูกจับจากการชี้เป้าของหน่วยสืบราชการลับอิสราเอล แต่หากสังเกตให้ดีแล้วจะพบความเหมือนและความต่างของเรื่องนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับการจับกุม นายวิคเตอร์ บูธ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อค้าอาวุธระดับโลกชาวรัสเซีย และการยึดเครื่องบินยูเครนที่ขนอาวุธจากเกาหลีเหนือจะไปส่งอิหร่าน ที่เกิดจากการชี้เป้าของหน่วยสืบราชการลับอเมริกา

แม้จะเกิดจากการชี้เป้าของหน่วยสืบราชการลับต่างชาติ และสองกรณีแรก หน่วยงานความมั่นคงของไทยเรา ก็ทำอะไรลงไปอย่างผลีผลาม จนในที่สุดเกิดผลเสียมากกว่าผลดีแก่ตัวเองเอง

แต่กรณีหลังนี้เห็นได้ชัดเจนว่า...ไทยเราทำอะไรลงไปด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา อันรวมถึงการตั้งข้อกล่าวหาที่มิได้ระบุลงไปว่า...ผู้ถูกจับเป็นพวกก่อการร้ายแต่อย่างใดด้วย

เหตุนี้กระมังจึงมีการเปิดเผยว่า...รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของทางการสหรัฐฯ เพียงเพราะไปช่วยต้อนรับขับสู้ประธานาธิบดีซิมบับเวและภริยา

และทำให้ต้องให้ความสนใจต่อคำให้สัมภาษณ์ของ นายอาทริส ต่อสื่อมวลชนสวีเดนที่อ้างว่า...

แอมโมเนียมไนเตรทจำนวน 4 ตันที่ตำรวจไทยยึดจับได้ น่าจะเป็นการจัดฉากของหน่วยสืบราชการลับอิสราเอล

พร้อมๆ กับการจับกุม นายอาทริส ก็มีรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโลกอาหรับ

โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม มะห์มุด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ได้ส่งสารมาแสดงความขอบคุณที่ประเทศไทยรับรองความเป็นเอกราชของปาเลสไตน์

หลังจากมี 125 ประเทศขานชื่อรับรอง...ขณะที่ไทยเป็นประเทศแรกในศักราชใหม่ปี 2555 ที่ให้การรับรองความเป็นเอกราชของปาเลสไตน์

และในวันเดียวกันนั้น นายเอกเม เลดดิน อิชาโนกลู เลขาธิการองค์กรความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี ก็ได้แถลงชื่นชมประเทศไทยที่รับรองฐานะของปาเลสไตน์

และก่อนหน้าเมื่อวันที่ 17 มกราคม ผู้แทนถาวรของไทยประจำสหประชาชาติ ได้ส่งสารถึงปาเลสไตน์แจ้งให้ทราบว่า...

ประเทศไทยยอมรับในสถานะความเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยของตนเองอย่างเป็นทางการ และรัฐบาลไทยประสงค์ที่จะเริ่มกระบวนการสถาปนาความสัมพันธ์ทุกอย่างที่เป็นทางการกับปาเลสไตน์ในระยะเวลาอันใกล้นี้

ซึ่งจากสารฉบับนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศปาเลสไตน์กล่าวว่า เป็นการรับรองฐานะของรัฐเอกราชปาเลสไตน์เหนือดินแดนที่ครอบครองอยู่ในปี 2510

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปาเลสไตน์ได้ยื่นคำร้องขอเป็นสมาชกสหประชาชาติ แต่สหประชาชาติยังไม่ได้ลงมติในเรื่องนี้ และสหรัฐยืนยันว่า...จะขัดขวางโดยใช้สิทธิ์ยับยั้ง

โดย:คนชายขอบ(ศรี อินทปันตี),บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เมื่อ ดร.โกร่ง คุยเรื่องหนี้สาธารณะ!!?

หมู่นี้มีข่าวเรื่องหนี้สาธารณะ หลายคนที่เคยเกี่ยวข้องกับการสร้างหนี้สาธารณะดูจะเดือดร้อน กระโจนเข้ามาร่วมวงถกเถียงกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งก็นับว่าเป็นผลดีต่อประชาชน ต่อสภาผู้แทนราษฎร ต่อวุฒิสภา และผู้คนที่สนใจจะได้ไม่ลืม

ปกติหนี้สาธารณะถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้าน ก็คือข้อผูกพันที่รัฐบาลมีต่อผู้อื่นที่จะต้องชำระหนี้ทั้งในปัจจุบันและ อนาคต ข้อผูกพันที่ว่ามีคำจำกัดความหลายแบบหลายอย่าง บางประเทศก็ให้หมายความรวมไปถึงข้อผูกพันที่รัฐบาลมีกับข้าราชการ พนักงานของรัฐ ที่จะต้องจ่ายค่าสวัสดิการ บำเหน็จบำนาญ ฯลฯ ด้วย

แต่ ที่ใช้กันทั่วไปก็คือ ข้อผูกพันของรัฐบาลที่อาจจะผูกพันงบประมาณแผ่นดิน อันได้แก่หนี้ของรัฐบาลโดยตรงในกรณีที่รัฐบาลออกพันธบัตรขายให้กับสถาบันการ เงินและประชาชน ทั้งที่เป็นเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ ถ้าเป็นเงินบาทก็เรียกว่าหนี้ในประเทศ ถ้าเป็นเงินตราต่างประเทศก็เรียกว่าหนี้ต่างประเทศ

มีหนี้สาธารณะอีก ประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่หนี้ของรัฐบาลโดยตรง แต่ก็ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะด้วย คือหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจนั้นจะอยู่ในรูปองค์การ หรือบริษัทจำกัดทั้งที่เป็นบริษัทมหาชน บริษัทจำกัดธรรมดา หนี้ที่รัฐวิสาหกิจไปก่อขึ้นไม่ว่ากระทรวงการคลังจะค้ำประกันหรือไม่ ก็ถือเป็นหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลคงไม่ยอมให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นล้ม เพราะถ้ารัฐบาลปล่อยให้รัฐวิสาหกิจผิดสัญญาชำระหนี้ สถาบันการเงินต่าง ๆ ก็จะสามารถเรียกให้รัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ให้ชำระหนี้ได้ ทั้ง ๆ ที่หนี้อื่น ๆ รวมทั้งหนี้รัฐบาลโดยตรงยังเป็นหนี้ดีอยู่

สำหรับหนี้ที่รัฐบาลค้ำ ประกันนั้นก็ต้องถือว่าเป็นหนี้ของรัฐบาลโดยตรง เพียงแต่รัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้ให้ นอกเสียจากรัฐวิสาหกิจ นั้น ๆ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สำหรับบริษัทจำกัดหรือบุคคลใด ๆ ห้ามไม่ให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน เพราะสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลเคยไปค้ำประกันหนี้ของบริษัท บูรพาสากล จำกัด เป็นบริษัทจำกัดเอกชน ธนาคารก็ยินดีให้กู้โดยรัฐบาลค้ำประกัน ในที่สุดบริษัทล้มไม่สามารถชำระหนี้ได้ รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดใช้หนี้ให้

สำหรับ ยอดหนี้สาธารณะยิ่งต่ำก็ยิ่งดี เพราะไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษีอากร แต่ในขณะเดียวกันประเทศชาติก็ต้องพัฒนาก้าวหน้าต่อไป การลงทุนของภาครัฐซึ่งหมายความรวมทั้งการลงทุนโดยรัฐบาลโดยตรงหรือการลงทุน โดยองค์กรของรัฐ หรือโดยรัฐวิสาหกิจก็ยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ การลงทุนของภาคเอกชนยังมีน้อยหรือไม่มี ก็ควรเป็นภาระของภาครัฐบาลที่จะลงทุนเองให้มากขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อจะไม่เกิดภาวะการว่างงาน

ยิ่ง ตอนนี้อเมริกาเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ยุโรปก็มีทีท่าว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ยังไม่เห็นทางออก ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ของราคาถูก เพราะเครื่องจักร การประมูลก่อสร้าง จะมีราคาถูกลง เพราะยุโรปต้องแข่งขันกับจีนเพื่อความอยู่รอด

สำหรับ เอเชียไม่ได้อยู่ในฐานะเดียวกับอเมริกาและยุโรป จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลควรจะเพิ่มการลงทุนในการพัฒนายกระดับมาตรฐานโครง สร้าง พื้นฐานที่ประเทศไทยล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน หมดแล้ว ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ขยับขยายลงทุนในด้านต่าง ๆ ได้อย่างไม่เป็นอันตรายต่อฐานะการเงินและ การคลังของประเทศ เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศของเราก็อยู่ในระดับสูง เพราะความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนของผู้ส่งออกของเรา ไม่ใช่ความสามารถของรัฐบาลในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐบาลเป็นตัวถ่วงด้วยซ้ำไป

การระดมทุนของภาครัฐบาลก็มีวิธีใหญ่ ๆ อยู่ 3 วิธี วิธีแรกคือการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มอัตราภาษี แต่ก็ไม่ควรทำในช่วงเวลาเศรษฐกิจไมค่อยจะรุ่งเรืองนัก วิธีที่สองคือระดมทุนจากประชาชนผ่านตลาดทุน วิธีที่สามคือกู้จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกู้จากสถาบันการเงินต่างประเทศ หรือระดมทุนจากตลาดทุนในต่างประเทศ

หนี้สาธารณะที่เป็นการระดมทุนจาก ภายในประเทศจะเป็นวิธีที่เสี่ยงน้อยที่สุด เพราะไม่มีผลเสียทางด้านวินัยทางการเงิน ไม่ทำให้ปริมาณเงินในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะในขณะที่ขายพันธบัตรในประเทศก็เท่ากับดูดเงินจากมือประชาชน เมื่อภาครัฐใช้จ่ายในการลงทุนก็เท่ากับปล่อยเงินกลับไปสู่มือประชาชนตามเดิม ปริมาณเงินในมือของประชาชนจึงมีเท่าเดิม เพียงแต่ยอดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทรัพย์สินของภาครัฐบาลก็เพิ่มขึ้น กล่าวคือถนนหนทางระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น ทางรถไฟเพิ่มขึ้น มีระบบขนส่งสินค้า ขนส่งประชาชนเพิ่มขึ้น การลงทุนภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง หรือกรมชลประทานก็ใช้จากการกู้ยืมในประเทศ จึงเป็นวิธีชดเชยการลงทุนที่เกือบจะไม่มีผลเสีย ถ้าฐานะการคลังอยู่ในระดับที่รับชำระดอกเบี้ยได้

การลงทุนภาครัฐโดย ระดมทุนจากต่างประเทศจะมีผลเสีย คือทำให้ประเทศมียอดหนี้ต่างประเทศมากขึ้น และจะมีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศโดยตรง ยิ่งถ้าดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่แข็งแรง ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับไม่แข็งแรงเมื่อคิดเป็นจำนวนเดือนของ มูลค่าการนำเข้า ในสมัยก่อนที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศยังอ่อนแอ ยังขาดดุลอยู่อย่างต่อเนื่อง ทุนสำรองเกิดจากการเกินดุลบัญชีเงินทุน เราจึงบังคับรัฐวิสาหกิจว่าถ้าจะนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ก็ต้องมีแหล่งเงิน กู้จากผู้ขายหรือผู้นำเข้าด้วย จะได้ไม่ไปกระทบต่อบัญชีเงินทุนและดุลการชำระเงิน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

ส่วนยอดหนี้สาธารณะควรจะมี เพดานเท่าใด ปกติยอดหนี้สาธารณะจะวัดว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ เพดานของหนี้สาธารณะควรจะเป็นเท่าใดจึงจะไม่เป็นอันตรายต่อฐานะทางการคลัง ของประเทศนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ถ้าประเทศนั้นมีฐานะทางการเงินอ่อนแอกล่าวคือ แนวโน้มภาวะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่แข็งแรงและเป็นทุนสำรองที่เกิดจากการกู้ยืมระยะ สั้นจากต่างประเทศมาเป็นทุนสำรอง ไม่ได้เกิดจากการทำมาค้าขายกับต่างประเทศจน เกินดุล หนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วนของ รายได้ประชาชาติ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะสูงเกินไป แต่ถ้าดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล ทุนสำรองยังสูง รายได้ประชาชาติยังขยายตัวในอัตราสูงกว่า 4-5 เปอร์เซ็นต์ ยอดหนี้สาธารณะจะสูงถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังไปได้

ที่สำคัญงบประมาณชำระต้นและดอกเบี้ยของรัฐบาลไม่เกิน 15-20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายก็ยังนับว่าปลอดภัย เคยมีช่วงหนึ่งที่งบประมาณใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่าย ทำให้ไม่มีงบประมาณเหลือสำหรับการลงทุนเลย เงินเดือนข้าราชการก็ขยับไม่ได้ รัฐบาลต้องคอยแต่ตัดงบประมาณกลางปีทุกปี เพราะภาษีไม่เข้าเป้า แต่ทุกวันนี้พอถึงกลางปีต้องตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มขึ้น เพราะรายได้รัฐบาลเกินเป้าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ เมื่อสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศเปลี่ยนไป วิธีคิดของการบริหารเศรษฐกิจมหภาคก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย จะมานั่งคิดเหมือนเดิมไม่ได้

ส่วนรัฐวิสาหกิจหากจะหลุดจากการเป็นรัฐ วิสาหกิจโดย "กองทุนวายุภักษ์" ซึ่งเป็นกองทุนที่ยังอยู่ในการควบคุมของกระทรวงการคลัง ก็จะทำให้เกิดความคล่องตัวของฝ่ายบริหารทั้งฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายการเงินและฝ่ายพนักงาน เรื่องสวัสดิการเงินเดือนค่าจ้างโบนัสยืดหยุ่นได้มากกว่า คนที่ห่วงควรจะเป็นเจ้าหนี้ บางกรณีเจ้าหนี้มักจะมีเงื่อนไขอยู่ว่า ต้องยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจจึงจะให้กู้ แต่บางแห่งก็ไม่มีปัญหาเพราะเครดิตดีกว่าของประเทศเสียอีก

ลองคิดดูให้ดี ๆ เป็นการบ้าน

โดย วีรพงษ์ รามางกูร
คอลัมน์ คนเดินตรอก
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โรคผวาน้ำ !!?

หลังจากที่ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เดินทางกลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากที่เดินทางไปต่างประเทศนานถึง 6 วันติดต่อกันเพื่อร่วม การประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส ก่อนจะเลี้ยวไปเยือนประเทศอินเดียเพื่อร่วมฉลองวันชาติ อย่างเป็นทางการ

ทันทีที่ล้อแตะพื้น กระแสข่าวที่ไม่น่า ฟังก็พรั่งพรูเข้าสู่โสตประสาทพาลให้จิตขุ่นมัวจากปัญหาเนื่องด้วยปัญหาความขัดแย้ง ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เมื่อสารพัด Professor ต้องออกมา บริภาษถึงการทำงานภายในองค์กรที่ไม่ค่อยจะต้องตา ต้องใจเสียเท่าไหร่นัก

โดยเรื่องราวดังกล่าวออกมาจากปากของ ดร.สมิทธ ธรรมสาโรช กรรมการ กยน. ซึ่งออกมาบ่นถึงการทำงานในขณะนี้ว่าแผนบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เป็นแค่แผนแบบกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า จะบริหารจัดการอย่างไร แต่หากแผนออกมาและเห็นว่าไม่น่าจะคุ้มค่ากับงบประมาณก็จะขอ ลาออกทันที ซึ่งนอกจากตนเองแล้ว ยังมีนายปราโมทย์ ไม้กลัด และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ก็คงจะถอยออกมาเช่นกัน

ซึ่งเรื่องนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เอง แม้จะยืนยันว่าไม่ได้ลาออกแต่ก็ยอมรับว่า ระยะหลังๆ มานี้ ก็หาได้เข้าร่วมประชุมกับ กยน.ไม่..ด้วยเหตุผลโดยส่วนตัวแล้ว โดยตำแหน่งของท่านที่รับผิดชอบอยู่คือ เป็นที่ปรึกษา เมื่อขอคำปรึกษาก็ได้ให้ไปตลอด ขณะนี้แผนเสร็จแล้วและเริ่มออกมาเป็นรูปธรรม จึงเหลือการปฏิบัติให้เป็นไปตาม ที่วางไว้ให้เร็วที่สุด เร่งด่วนคือต้องขุดลอก คูคลอง งานจะลงไปที่กระทรวง กทม.และ หน่วยงานต่างๆ การรับมือกับน้ำที่จะมา ต้องลงมือทำ ไม่ใช่ใช้กระดาษรับน้ำ!!..

ด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานและกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) แม้จะยืนยันว่าอย่างไรก็จะยังไม่ลาออกจาก กยน.แต่ ก็เคยพูดถึงการทำงานของ กยน.ว่า สำหรับการทำงานร่วมกับรัฐบาลนั้น ได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดแผนแม่บท หรือยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ ตนมองว่าในส่วนของแผนแม่บทและกระบวน การทำงานต่างๆ ในระยะยาวนั้น ยังไม่มีการจัดทำอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

ส่วนใหญ่มีแต่การออกมาพูดเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสำรวจและทำอย่างเป็นระบบโดยเร็วอีกทั้งยังมองด้วยว่า การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น อาทิ การซ่อมแซมสิ่งที่พังเสียหายไม่ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เสียหาย และไม่มีอะไรใหม่ ซึ่งหากในปี 2555 นี้ ปริมาณน้ำมากเท่าเดิม ก็ต้องพังเหมือนเดิม เช่น เดียวกับกรณีของประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ที่ไปสร้างขวางทางน้ำ หากน้ำมาเท่าเดิมก็สู้กระแสไม่ได้แน่นอน และต้องนำความผิดพลาด ในปี 2554 มาแก้ไข และโดยตามจริงแล้วมีหลายหน่วยงานที่มีการนำข้อมูลออกมาแสดงแต่ข้อมูลกลับไม่ตรงกันเลยเสียงสะท้อนจาก Professor ทั้ง 3 ท่านเหมือนกับจะบอกว่าที่ยังอยู่ไม่ใช่เพราะอยากอยู่ แต่ทนอยู่เพื่อประชาชน ในขณะที่ท่านนายกฯ เองก็ได้แต่วอนขอว่า อย่าเพิ่งทิ้งกันเพราะแค่เรื่องเข้าใจผิด

ตอนนี้รัฐบาลถือว่า การบริหารจัดการน้ำถือเป็นเรื่องใหญ่ จึงค่อยๆ ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการไปแล้ว และ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทุกอย่างมีแผน งานที่ชัดเจน แต่อาจจะไม่ทันใจคณะกรรมการที่มีความเป็นห่วง จึงต้องทำความเข้าใจกัน และเห็นใจคณะกรรมการที่ทำงานด้วย เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นภารกิจหลักของประเทศที่ต้องติดตาม แต่ยืนยันได้ว่า ได้มีการเตรียมความพร้อม และมีการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับฤดูฝนที่ใกล้จะมาถึงนี้

อย่างไรก็ดี เรื่องของการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ถือเป็นเรื่องที่ชี้ชะตาของรัฐบาล เชื่อว่างานนี้จะทำเป็น เล่นไม่ได้ เพราะถ้าปีนี้น้ำมาปูเจ๊ง!!..ที่ว่ากลัวนี่กลัวจริง กลัวถึงขนาดยอม เสียวินัยการคลังแบบไม่ฟังเสียงใครถึงขนาด ออกร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหาร หนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสาธารณะการเงิน ร่างพระราชกำหนดเงิน กู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย ร่างพระราชกำหนดจัดตั้งกองทุนประกันภัย และร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย คือการพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาทไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเปิดทางรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม โดยมี “อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง” นำทีม จับคู่กับ “นิพัทธ พุกกะณะสุต” เตรียมขายหุ้นที่คลังถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจทั้ง ปตท.และการบินไทยจาก 51% เหลือ 49% เพื่อให้ทั้งสองบริษัทสิ้นสุดสถานะรัฐวิสาหกิจ

โดยมีเป้าหมายเดียวกับ พ.ร.ก.คือเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลสร้างหนี้สาธารณะได้มากขึ้น ของปตท. 252,000 ล้าน ของการ บินไทย 132,000 ล้าน ก็แปรสภาพเป็นหนี้ บริษัท เปิดช่องกู้สนองนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขนเงินไปถมน้ำท่วมรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลได้เต็มที่ซึ่งงานนี้เท่ากับตีเช็คล่วงหน้า ซึ่งอนาคตเราอาจมีสภาพไม่ต่างจากประเทศกรีซ!!..งานนี้นอกจากจะน่าเป็นห่วงในเรื่อง วินัยการคลังของประเทศแล้ว พ.ร.ก. ฉบับ นี้ยังอาจเป็นโมฆะด้วยในอนาคต

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ห้ามเคลื่อนไหวม.112มธ.กลัวขัดแย้งรุนแรงภายในสถาบัน

สมคิด. เผยมติกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สั่งห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับ
ม.112 อ้างกลัวเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการดำเนินการของสถาบันจนก่อให้เกิดความขัดแย้ง
ซึ่งยากต่อการควบคุม “ยิ่งลักษณ์” วอนทุกฝ่ายเลิกขยายความเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แนะ
หันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมดีกว่า ปชป. ยื่นดีเอสไอ
เอาผิด “ยิ่งลักษณ์-เฉลิม-อนุดิษฐ์-เพรียวพันธ์” ละเว้นฟันเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูง

*************************
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวันที่ 30 มค. ที่ผ่านมา ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีความพยายามผูกโยงข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร มาเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อใช้โจมตีกัน ทั้งที่ผู้เสนอยืนยันชัดเจนแล้วว่าทำในนามนักวิชาการและเสนอตามหลักวิชาการ ไม่เกี่ยวกับการเมือง

วอนหยุดเรื่องสถาบัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอย่าพยายามนำสถาบันมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าที่จะแก้ไขกฎหมายใดๆ

“ข้อเสนอของทุกฝ่ายเชื่อว่ามาจากความปรารถนาดี แต่ก็ขอให้อยู่ในข่ายที่ไม่ควรนำเรื่องสถาบันมาใช้ และขอให้ช่วยกันปกป้องสถาบัน”

ไม่อยากตอบโต้ทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถูกโยงให้เกี่ยวข้องกับเรื่องไม่เหมาะสมต่อสถาบันอยู่เรื่อยๆ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่อยากตอบโต้ทางการเมือง และไม่เชื่อว่าประเด็นนี้จะทำให้เกิดการปะทะกันของมวลชน 2 ฝ่าย เพราะเป็นแค่เรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

“อยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนด้วย ตอนนี้เรากำลังฟื้นฟูความมั่นใจหลังจากมหาอุทกภัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวนักลงทุนกลับเข้ามา”

ควรพูดเรื่องแก้ปัญหาประเทศ

เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยออกมาแฉขบวนการจ้องล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์นิ่งก่อนตอบว่า “นี่ก็เรื่องการเมือง เราอย่าพยายามเอาเรื่องการเมืองมานำเลย เราควรคุยกันเรื่องการแก้ปัญหาประเทศดีกว่า อะไรที่ไม่ใช่ประเด็นอย่าไปต่อให้ยาวดีกว่าจะไม่จบ คิดว่าประชาชนอยากฟังว่าเราจะฟื้นฟูประเทศกันอย่างไร มาคุยกันเรื่องนี้ดีกว่าเพื่อช่วยเรียกความมั่นใจ”

พท.ไม่แตะกฎหมายสถาบัน

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำอีกครั้งว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีแนวคิดแก้มาตรา 112 หรือกฎหมายใดๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอยืนยันว่าหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันจะพยายามสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นเรื่องให้ตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ด้วยการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112

ยื่นฟันนายกฯละเว้นหน้าที่

“เคยยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แล้วหลังจากตรวจสอบพบข้อมูลจากชมรมนักรบไซเบอร์ที่พบเว็บไซต์ที่มีข้อความไม่เหมาะสมจำนวน 280 URL แต่ผ่านมา 2 เดือนยังไม่มีการดำเนินการ แถมยังพบเว็บไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมาร้องให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีไอซีที และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 และขอให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับเว็บไซต์ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตามมาตรา 112 รวมถึงขอให้รวบรวมเป็นคดีพิเศษด้วย”

เพื่อไทยแจ้งเอาผิดเว็บหมิ่น

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางไปยื่นเรื่องที่ดีเอสไอเพื่อขอให้สืบสวนสอบสวนกรณีที่มีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อความหมิ่นสถาบัน ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ยังยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดแก้มาตรา 112 โดยนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งว่า จะต้องแก้ไขกฎหมายนี้ เพราะไม่ต้องการให้นำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้นิติราษฎร์ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้

ยันเพื่อไทยหาเสียงแก้ ม.112

“ในการหาเสียงเลือกตั้ง แกนนำพรรคเพื่อไทยพูดชัดเจนว่าจะต้องมีหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลเกี่ยวกับการยื่นฟ้องตามมาตรา 112 จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าที่นิติราษฎร์และผู้สนับสนุนออกมาเคลื่อนไหว เพราะเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดเรื่องนี้ แต่เมื่อกระแสสังคมต่อต้านมากจึงกลับลำ และชิ่งหนีจากนิติราษฎร์”

มธ.สั่งห้ามเคลื่อนไหว ม.112

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติเอกฉันท์ว่ามหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จนไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยได้


ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************

ปลุกผีปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อพ่ายแพ้หลักการนิติราษฎร์...

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ไม่สำเร็จแล้วจะทำอย่างไร ผมคิดว่าก็เหมือนจุดไฟ ถ้ามันดับก็ต้องจุดใหม่ ให้มันรู้ไปว่าจะไม่ติดสักวันหนึ่ง นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งใน

คณะนิติราษฎร์ กล่าวถึงการรณรงค์ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “ลบล้างผลพวงรัฐประหารนิรโทษกรรม-ปรองดอง” เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากเมื่อวันที่ 15 มกราคมได้จัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคลให้ได้ 10,000 คน เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ซึ่งการจัดกิจกรรม 2 ครั้งได้รับความสำเร็จอย่างยิ่ง ทั้งกระแสตอบรับอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และกระแสต่อต้านมากมาย “สนธิ” ปลุกทหารรัฐประหาร โดยเฉพาะการ “ปลุกผีวงจรอุบาทว์” ให้ทหารออกมาทำ “รัฐประหาร” โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศบนเวทีเสวนาปีใหม่-ตรุษจีนที่บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม และเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสื่อ ASTV ผู้จัดการ โดยยังคงอ้าง “ในหลวง” ว่า “ผมจะบอกให้รู้ว่าผมไม่ได้นั่งเฉยๆแล้วสู้ ครั้งนี้พี่น้องไม่ใช่มาประท้วงที่ถนน จะต้องสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐเลย ต้องสู้เพื่อแตกหัก เพราะถ้าไม่แตกหักแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเราไปไม่รอด ผมเป็นคนแรกที่บอกว่าทหารเท่านั้นที่จะเป็นเสาค้ำพระเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าทหารไม่สามารถจะค้ำได้ อีกไม่นานพวกเราคงต้องออกมาค้ำพระเจ้าอยู่หัว และถ้าออกมาครั้งนี้ต้องชนะอย่างเด็ดขาด ไม่มีการตีงูให้กากิน แล้วก็ไม่มีการให้แมลงสาบตีกินพวกเราอีก ผมเชื่อว่าในที่สุดจะมีเพียงพลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะค้ำจุนประเทศชาติได้ ทหารอย่านั่งเฉย รีบออกมาปฏิวัติเสีย แล้วพันธมิตรฯทั่วประเทศจะออกมาร่วมกับทหารยึดประเทศไทยคืนมาจากไอ้พวกชั่วๆ” เปอร์เซ็นต์สูงรัฐประหาร ขณะที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร ออกมาย้ำในรายการ “ลับ ลวง พราง” ทางวิทยุ อสมท 100.5

หลังจากนายสนธิเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจว่า เห็นด้วยที่ทหารจะทำรัฐประหารอีกครั้ง และมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะเกิดการปฏิวัติถ้ายังไม่เลิกดูหมิ่นสถาบัน จึงอยากให้ทหารออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มากๆ เพราะไม่ควรแก้ไขมาตรา 112 หรือแตะต้องอะไรที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ “ถ้ามันถึงที่สุด ทางกองทัพก็ต้องพูดกันบ้าง ไม่ใช่พูดแค่มันปาก ต้องเอาจริง หากเกินเลยจนทหารทนไม่ได้ เพราะใน 7-8 ปีมีการทำลายสถาบันกษัตริย์มากเหลือเกิน ถ้าถึงที่สุด ถ้ามันมากเกินไปจนทนไม่ไหว ทหารก็อาจจะปฏิวัติแน่นอน” เนรคุณแผ่นดิน?

การปลุกกระแสให้ทหารออกมาจึงไม่ควรมองแค่กลุ่มพันธมิตรฯ ที่แม้วันนี้จะมีมวลชนสนับสนุนน้อยกว่าในอดีต เนื่องจากเกิดความแตกแยกและขัดแย้งกันเอง แต่คำพูดของนายสนธิก็ไม่ใช่เลื่อนลอยและเป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีกลุ่มขาประจำ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่มสลิ่มที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการกล่าวหาแบบเดิมๆว่าคณะนิติราษฎร์และผู้สนับสนุนเป็นพวก “ล้มเจ้า” และต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทั้งที่คนกลุ่มเหล่านี้รู้ดีแก่ใจว่าใครหรือกลุ่มใดที่ดึง “สถาบันเบื้องสูง” มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม

โดยเฉพาะการโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง คนเสื้อแดงจึงถูกอุปโลกน์ให้เป็นเครือข่าย “ขบวนการล้มเจ้า” จาก “ผังล้มเจ้า” ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ทั้งที่เป็น “ผังกำมะลอ” ที่ผู้มีอำนาจในขณะนั้นสร้างความชอบธรรมเพื่อปราบปรามคนเสื้อแดงและลบล้างความผิดจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีคนตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน การคัดค้านและกล่าวถึงประเด็นมาตรา 112 จึงเป็นคนละเรื่องที่ไร้เหตุผลหรือหลักการทางวิชาการ ต่างจากที่คณะนิติราษฎร์พยายามชี้แจง เพราะฝ่ายที่ต่อต้านไม่ได้ต่อสู้ด้วยเหตุผลและหลักการ แต่พยายามทำให้มาตรา 112 เป็นเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่ห้ามแตะต้องอย่างเด็ดขาด อย่างเช่นกรณีของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการสถาบันพระปกเกล้า ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวถึงข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาล กองทัพ และสถาบันการเมือง ซึ่งมีบางมาตรากำหนดให้พระมหากษัตริย์ ต้องสาบานตนว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่งว่า “ผมว่าก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญตามที่พวกคุณเสนอ ควรแก้ข้อบังคับทุนอานันทมหิดลให้ผู้รับทุนสาบานว่าจะไม่เนรคุณและไม่ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานทุนจะง่ายกว่ามั้ย ข้อเสนอผมไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลย!!!”

นิติราษฎร์ปกป้องสถาบัน? ข้อเขียนของนายบวรศักดิ์จึงต้องการสะท้อนถึงนายวรเจตน์โดยตรงในฐานะที่ได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี ซึ่งนายวรเจตน์กล่าวถึงการเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลว่า เพราะเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวทางวิชาการเพื่อให้ใช้เหตุผลมาแก้ปัญหาเพื่อปกป้องสถาบัน ไม่ใช่ล้มล้างสถาบัน “สิ่งที่ผมทำอยู่คือการตอบแทน กตัญญูต่อผู้ที่ให้ทุนอานันทมหิดลแก่ผม ที่ผมทำทุกอย่างก็เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่รู้ว่านักเรียนคนอื่นๆที่ได้ทุนนี้มีจินตนาการเรื่องนี้อย่างไร แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ผมทำก็เพื่อความดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป ผมชัดเจนเสมอว่าผมต้องการรัฐธรรมนูญในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร”

ด้านนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ที่รณรงค์เรื่อง “ฝ่ามืออากง” และสนับสนุนคณะนิติราษฎร์ ตอบโต้นายบวรศักดิ์ผ่านเฟซบุ๊คว่า รู้สึกผิดหวังที่นายบวรศักดิ์สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายจากปารีส แต่กลับตอบโต้คณะนิติราษฎร์ด้วยคำพูดที่ childish แทนที่จะใช้มุมมองด้านวิชาการมาหักล้าง “ทำให้ผมรู้ว่าตำแหน่ง “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” น่าจะได้กันมาง่ายๆอย่างนี้นี่เอง แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผมคิดว่านายบวรศักดิ์จนด้วยปัญญาในการโต้เถียงกับนิติราษฎร์ก็เท่านั้น” นายปวินยังพูดเรื่องทุนการศึกษาว่า ไม่ได้ห้ามให้คิดต่างว่าเป็นการเนรคุณ และคิดว่าหากในหลวงอานันทมหิดลยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ พระ องค์คงปลาบปลื้มใจที่นิติราษฎร์ได้สร้างคุณประโยชน์ในการปกป้องสถาบันประชาธิปไตย “ผมว่าในหลวงอานันท์รักและต้องการ “ความถูกต้อง” และ “ความยุติธรรม” ครับ” นิติราษฎร์เสียเปล่า!

ส่วนนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ถูกโยงใน “ผังล้มเจ้า” และถูกกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 ยืนยันว่า ควรยกเลิกมาตรา 112 มากกว่าแก้ไข ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เชื่อว่าไม่มีทางที่สภาจะผ่านร่างกฎหมายที่คณะนิติราษฎร์กำลังล่ารายชื่อในขณะนี้ ที่สำคัญจะไม่สามารถช่วย “อากง” และผู้ต้องหาคนอื่นๆได้อีกด้วย แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ 6 ตุลา จะเป็นไปได้จริงก็ต้องมีเหตุการณ์ “ระดับปาฏิหาริย์” เท่านั้น แต่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นั้นต้อง “ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์”

ดังนั้น ความเห็นของนายสมศักดิ์ที่ระบุว่า การรณรงค์ของคณะนิติราษฎร์จะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ในที่สุดก็จะไม่ได้อะไรเลย และเสนอว่าควรรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั่วไป” ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเดินทางไปเยือนอินเดียว่า รัฐบาลจะไม่แก้ไขมาตรา 112 ทั้งยังระบุว่าไม่ควรดึงสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และทุกฝ่ายควรร่วมกันปกป้อง เช่นเดียวกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าหากใครคิดแก้มาตรา 112 จะคัดค้านเต็มที่ อย่าดึงทหารยุ่งการเมือง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นมาตรา 112 ถือเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองมากกว่าการเคลื่อนไหวร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่หลายฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่จะเป็น “ระเบิดเวลา” หรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่คณะนิติราษฎร์และฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 112 เท่านั้น แต่อยู่ที่กลุ่มที่ต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 ว่าจะเล่นนอกกติกาและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกเหมือนก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือไม่มากกว่า อย่างที่นายสนธิประกาศชัดเจนให้ทหารล้มกระดาน อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยอมรับว่า มีความพยายามจะดึงทหารลงมายุ่งกับการเมือง แต่ถ้าทหารทำหน้าที่ของตนเองก็ไม่มีใครดึงไปไหนได้ ทหารมีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน ใครเป็นผู้บังคับบัญชาก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่เช่นนั้นก็รบไม่ได้ จึงต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งตนก็มีผู้บังคับบัญชา “อย่าเอาทหารไปยุ่งเสียทุกเรื่อง หรือถือเป็นเรื่องสนุก ถ้าเอาทหารไปยุ่งทุกเรื่องก็ยุ่งทุกเรื่อง ไม่เป็นผลดีกับกองทัพ และไม่เป็นผลดีกับตัวผม”

ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้ความเห็นกว้างๆว่า เป็นเรื่องของกระบวนการ และเจ้าหน้าที่ต้องดูว่าหากผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ เพราะปัจจุบันมีกฎหมายที่คาบเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีของคนไทย เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งมีคณะกรรมการเฝ้าจับตาดูอยู่แล้ว ส่วน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกปล่อยข่าวว่าอาจเข้ามาเพื่อรื้อใหญ่ในกองทัพนั้น ยืนยันว่าไม่มีและไม่ต้องหวาดระแวงหรือกลัวอะไร โดยเฉพาะข่าวการย้าย พล.อ.ประยุทธ์เพื่อถอดสลักการปฏิวัติรัฐประหารนั้นไม่มีแน่นอน ซึ่งถ้าสื่อไม่พูด ไม่ถาม บรรยากาศก็จะดีขึ้น

“ถ้าปฏิวัติเพราะเรื่องหมิ่นสถาบัน ผมว่าไม่น่าจะใช่เหตุผลนะ แต่ผมขอร้องให้
เลิกพูดเรื่องปฏิวัติอีก ไม่มีใครอยากทำ ผมเป็นทหาร แม้ไม่ใช่ ทบ. แต่ก็รู้ว่าไม่มีใครอยากทำ ไม่ใช่เรื่องดี มีประ-สบการณ์มาแล้วทั้งนั้น” พล.อ.อ.สุกำพลกล่าว พ.ร.บ.กลาโหมไม่ชอบธรรม ขณะที่ความเห็นของ พล.อ.อำนวย ถิระชุณหะ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและนายทหาร ตท.10 ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขมาตรา 112 เพราะล่อแหลมและจะทำให้เกิดความวุ่นวาย กลายเป็นเหยื่อในการปลุกระดม แต่ต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา คือคนที่เอาพระราชอำนาจไปกลั่นแกล้งทำลายผู้อื่น เพราะฉะนั้นต้องออกกฎหมายการแจ้งเท็จ ฟ้องเท็จเรื่องนี้ ถ้าไม่มีหลักฐานต้องลงโทษให้หนัก หรือจับไปขังเป็นปีเพียงกล่าวหาว่าล้มเจ้าก็ไม่มีความยุติธรรม

แต่ที่น่าสนใจคือ พล.อ.อำนวยกลับเห็นด้วยที่จะแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพราะเห็นว่าไม่ได้มาจากสภาของประ-ชาชน จึงไม่ชอบธรรม หากสมัยโบราณกฎหมายฉบับนี้ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ต้องลงโทษตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร เพราะเท่ากับไปหลอกเบื้องสูง เอาไปทูลเกล้าฯให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะกองทัพกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ไม่ใช่ “กองโจร” ที่ไร้ขื่อแป ไร้กฎระเบียบ พล.อ.อำนวยมั่นใจว่าขณะนี้ทหารไม่กล้าปฏิวัติรัฐประหารแน่ ถ้าจะล้มรัฐบาลก็ต้องมาจากองค์กรอิสระแบบนิ่มๆ ถ้าล้มด้วยกำลัง แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีเอก-ภาพในการบังคับบัญชาหรือไม่ เพราะไม่ได้มีแค่เตรียมทหารรุ่น 12 แต่ยังมีรุ่นอื่นอีก “กองทัพเหมือนม้า อยู่ที่จ๊อกกี้จะพาไปทางไหน คราวที่แล้วจ๊อกกี้บอกให้กองทัพปฏิวัติก็ปฏิวัติ ลำพังม้าเองไม่กล้า อยู่ที่จ๊อกกี้” พล.อ. อำนวยกล่าว กลียุคและหายนะ!

แต่การเมืองไทยไม่เคยมีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เพราะนักการเมืองพร้อมจะเปลี่ยนพรรค เปลี่ยนอุดมการณ์ตามผลประโยชน์เท่านั้น แต่การรัฐประหารที่อ้างทุกครั้งว่าเพราะนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันและปกป้องสถาบันนั้น กลุ่มที่ทำรัฐประหารกลับทุจริตคอร์รัปชันเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณลับมหาศาลที่ไม่เคยมีการตรวจสอบได้เลย ขณะเดียวกันยังแต่งตั้งพวกพ้องเข้ามาดูแลผลประโยชน์ต่างๆอีกด้วย นอกจากนี้การทำรัฐประหารส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งภายในกองทัพ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายซึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเดิม อย่างการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณถือเป็นบทเรียนให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการดึง “สถาบันเบื้องสูง” มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยการพยายามบิดเบือนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าเป็น “ขบวนการล้มเจ้า” หรือรับจ้าง พ.ต.ท.ทักษิณ แทนที่จะใช้หลักการทางวิชาการต่อสู้กันในเวทีสาธารณะหรือตามกระบวนการในรัฐสภา แต่กลับ “ปลุกผีปฏิวัติรัฐประหาร” หากเป็นจริงก็มีแต่ทำ ให้บ้านเมืองเกิดกลียุคลุกเป็นไฟและหายนะยิ่งกว่าที่ผ่านมาแน่นอน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วรเจตน์-ปิยบุตรนิติราษฎร์นัดหารือประเมินสถานการณ์ !!?

แกนนำนิติราษฎร์แฉมีอีเมล์จากทหารสังกัด พล.1 รอ. ข่มขู่ให้หยุดเคลื่อนไหว อ้างคนในกองทัพเริ่มทนไม่ไหวแต่ยังไม่ปักใจเชื่อเป็นทหารจริงหรือไม่ เผย “วรเจตน์-ปิยบุตร” ถูกคุกคามหนักถึงขนาดขู่เอาชีวิต ผิดหวังสังคมไทยยังไม่พร้อมเปิดรับฟังความเห็นเพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาธิปไตย ยืนยันไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง นำเสนอทุกอย่างตามหลักวิชาการ หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยถือว่าจบ อยากให้คนถืออาวุธทุกกลุ่มอดทนฟังอย่างสันติ

เตรียมนัดสมาชิกหารือในสัปดาห์นี้เพื่อประเมินสถานการณ์และทบทวนท่าทีการเคลื่อนไหว หลังจากที่คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนนำไปสู่การรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ ของคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาภายในเวลา 112 วัน รวมทั้งข้อเสนอการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาล กองทัพ และสถาบันทางด้านการเมือง จนเกิดกระแสคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งจากกองทัพ ฝ่ายการเมือง รวมถึงภาคประชาชนบางกลุ่ม ล่าสุดมีผู้อ้างว่าเป็นทหารจาก พล.1 รอ. ส่งข้อความข่มขู่เข้ามาในอีเมล์ของคณะนิติราษฎร์ระบุว่าสายทหารเริ่มทนไม่ไหวแล้ว ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในแกนนำนิติราษฎร์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มยังไม่แน่ใจว่าผู้เขียนอีเมล์ที่ส่งมาเป็นทหารจริงหรือไม่ และข้อมูลที่ให้มาเป็นจริงหรือไม่ “ถ้าเป็นทหารจริงและมีแนวคิดอย่างนี้เกิดขึ้นในค่ายทหารจริง อยากชี้แจงว่าคณะนิติราษฎร์เป็นนักวิชาการ เสนอความเห็นตามหลักวิชาการที่ถูกต้องทั้งในหลักสากลและหลักวิชาการที่ศึกษามา เมื่อเห็นว่าอะไรที่ถูกต้องสำหรับสังคมไทยก็เสนอออกมา ทหารหรือกลุ่มใดก็ตามที่มีอาวุธอยากขอให้อดทนฟังความเห็นของเราแบบเป็นพี่น้องกันในสังคม” ผศ.ดร.จันทจิรากล่าวและว่า ข้อเสนอของเราเป็นเพียงความเห็นหนึ่ง

หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ถือว่าจบ ไม่มีผลอะไรต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงของสถาบันใด อย่างไรก็ตาม การมีอีเมล์นี้เข้ามาเราถือว่ามีคนที่มีไมตรีจิตกับเราเตือนมาด้วยความหวังดี ผศ.ดร.จันทจิรากล่าวอีกว่า สมาชิกนิติราษฎร์ไม่มีใครหวาดกลัวกับการข่มขู่ แต่ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล จะเจอหนักกว่าคนอื่นๆ ต้องไปถามทั้ง 2 ท่านว่ากลัวหรือไม่ เพราะมีถึงขู่เอาชีวิต เราไม่ได้ท้าทายแต่ตั้งใจจะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย “เราเศร้าใจกับการข่มขู่ เพราะสิ่งที่เราเชื่อว่าสังคมไทยพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าไปอย่างสงบสันติ เป็นสังคมที่เปิดกว้างให้ทุกคนทุกฝ่ายมาร่วมกันแสดงความเห็นไม่ใช่เรื่องจริง

แต่ก็ยังเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะสามารถเลือกสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยตัวเอง” ผศ.ดร.จันทจิรากล่าวและว่า ในสัปดาห์นี้สมาชิกในกลุ่มได้นัดหารือเพื่อประเมินสถานการณ์และท่าทีของตัวเองว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป นิติราษฎร์ได้ออกประกาศถึงประชาชนผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายไม่เห็นด้วยจำนวนมากไม่ได้ตั้งอยู่บนเนื้อหาและหลักวิชาการ แต่มุ่งโจมตีและกล่าวหาตัวบุคคลโดยไร้เหตุผลและพยานหลักฐาน หลายกรณีมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย จนอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน นิติราษฎร์

ขอแจ้งให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับข้อเสนอทราบ และสบายใจว่าข้อเสนอทุกข้อของนิติราษฎร์เป็นเรื่องที่วางอยู่บนหลักวิชาการและอำนาจตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 นั้นไม่ถือเป็นความผิดใดๆทั้งสิ้น มาตรา 112 มีสถานะเป็นเพียงบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาญามาตราหนึ่งเท่านั้น จึงย่อมเป็นสิทธิและอำนาจโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนผู้เห็นปัญหาของมาตรานี้จะเข้าชื่อเสนอให้รัฐสภา ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงให้ปรับปรุงแก้ไขเสีย

การรวบรวมรายชื่อจะคงดำเนินต่อไปไม่ยุติจนกว่าจะครบ 10,000 ชื่อ ตามกฎหมาย (หรือมากกว่านั้น) โดยแม่งานผู้รวบรวมคือ ครก.112 ทั้งนี้ ผู้เห็นด้วยและประสงค์ลงชื่อ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ http://www.ccaa112.org/contact-us.html หรือทาง Facebook https://www.facebook.com/ccaa112 กรอกรายละเอียดพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมเซ็นรับรองสำเนา ส่งไปรษณีย์ไปที่คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ตู้ ปณ.112 ปณฝ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค แถลงยืนยันว่า ไม่เคยใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยเรื่องต้องการแก้มาตรา 112 แต่มีการแสดงออกต่างกรรมต่างวาระกันของสมาชิกพรรคในที่ต่างๆว่าต้องการแก้ไขอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ อดีตผู้สมัคร ส.ส.สุราษฎร์ธานี (เปิดคลิปยืนยัน) “การออกมาแสดงท่าทีคัดค้านของพรรคเพื่อไทยเพื่อชิ่งหนีจากนิติราษฎร์ที่ถูกต่อต้านอย่างหนักเท่านั้น หากไม่เห็นด้วยทำไมต้องรอดูกระแสสังคมก่อน จนเห็นว่าไปไม่ได้แล้วจึงออกมาแสดงท่าที”

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังพยายามปล่อยข่าวว่ามีการลงขันกันของ 4 กลุ่มล้มรัฐบาล เพื่อกลบกระแสเรื่องแก้มาตรา 112 ที่เดินเกมพลาดจนถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในสังคม นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงยืนยันว่า มีขบวนการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลและใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยเรื่องแก้มาตรา 112 ขอยืนยันอีกครั้งว่าพรรคไม่มีนโยบายแก้ไข ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์จะเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานไม่ปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ดูข้อเท็จจริง เพราะตั้งแต่รัฐบาลทำงานมา 5 เดือน ปิดเว็บเหล่านี้ไปแล้วกว่า 60,000 URL และยังคงเร่งปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ **********************************************************************

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ดอกไม้หลากสีที่ปลายฟางเส้นสุดท้าย !!?

ดับเครื่องชนกันทางชุดความคิด จากเฟซบุ๊กพิฆาตไปสู่การแถลงอย่างหมดเปลือกแบบสุดสะเทือนใจของนักวิชาการสายนิติราษฎร์ “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” ถึง “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” มาตราร้อน 112 ที่ยังคงปริศนาในเครื่อง หมายคำถามว่า ความจริงแล้วแก่นแกน มันคืออะไร???

“การปฏิรูปนั้นประเทศไทยยังเป็นราชอาณาจักร ยังมีประมุขของรัฐ คือพระมหากษัตริย์ โดยจะต้องจัดวางโครง สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับองค์กรผู้ใช้อำนาจอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน โดยกำหนดให้ประมุขของรัฐ จะต้องสาบานตนว่า จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และพิทักษ์รัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่ง”

ข้อเสนอของแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลั่นดาลวาระรัฐประหาร มันได้กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่สะท้านสะเทือนไปทั้งปริมณฑลการเมืองไทยในพลันที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แสดงความคิดเห็นส่วนตัวทางเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “Borwornsak Uwanno” โดยระบุถึง ข้อเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของกลุ่มนิติราษฎร์ว่า..

“ผมว่าก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่พวกคุณเสนอ ควรแก้ข้อบังคับทุนอานันทมหิดลให้ผู้รับทุนสาบานว่า จะไม่เนรคุณและไม่ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานทุนจะง่ายกว่ามั้ย ข้อเสนอผมไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลย.!!!”

ขยายความจากเฟซบุ๊ก “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อจนจบการศึกษา ระดับปริญญาเอก จากประเทศเยอรมนี

“ผมเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล ผมจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว สิ่งที่ผมทำอยู่ คือ การตอบแทนกตัญญูต่อผู้ที่ให้ทุนอานันทมหิดลแก่ผม ที่ผมทำทุกอย่างก็เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่รู้ว่านักเรียน คนอื่นๆ ที่ได้ทุนนี้มีจินตนาการเรื่องนี้อย่างไร แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ผมทำก็เพื่อความดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป ผมชัดเจนเสมอว่าผมต้องการรัฐธรรมนูญ ในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร” เสียงสะท้อนกลับจากนักเรียนทุนอานันทมหิดล ไม่ต่างจากวิวาทะทางวิชาการของนักกฎหมายระหว่างมวยเก๋ารุ่นใหญ่อย่าง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” กับดาวโรจน์รุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง “วรเจตน์ ภาคีรัตน์”

“ปกป้อง” หรือ “ล้ม” กลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถาม แต่เนื่องด้วย ที่ทั้ง 2 ชุดความคิด ต่างมีมวลชนสนับสนุนอยู่ไม่ใช่น้อย มันจึงกลายเป็นเงื่อน ปมว่าด้วยน้ำผึ้งหยดน้อยนิดมหาศาลนี้ จะถูกขยายความขยายผลไปสู่การฉกฉวยผลประโยชน์ทางการเมืองในอนาคตหรือไม่???

ยุคสมัยเปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนจาก “ไพร่ฟ้าประชาชน” ยังถูกเบี่ยงเบนให้เป็น “ไพร่อำมาตย์” ได้???

กระนั้นหากตีความให้แตก ว่ากันให้ ตกผลึกถึงแนวความคิดของ “บวรศักดิ์” และ “วรเจตน์” หากพินิจพิเคราะห์อย่างสังเคราะห์ต่างมีข้อดีของแต่ละฝักฝ่ายอยู่ในทีแต่ด้วยมุมมองและมิติที่ต่างที่ต่างเวลากัน มันจึงสุ่มเสี่ยงยิ่งที่จะกลายเป็น ชนวนความขัดแย้ง ยิ่งในเมื่อฝ่ายที่เห็นต่าง กันต่างมีผนังทองแดงกำแพงเหล็กเป็นคู่ขัดแย้งดั้งเดิมกันอยู่แล้ว

อีกทั้งความเคลื่อน ไหวในทางการเมืองที่เหมือนดูจะเป็นน้ำนิ่ง ก็กลับเสมือน “น้ำนิ่ง” ที่กำลัง “ไหลลึก” และเหมือนจะ “WAIT & SEE” เพื่อรออะไรบางอย่าง เงื่อนไขแห่ง 2 ขั้วอำนาจ ที่กำลังเล่นเอาล่อเอาเถิดกันอยู่อย่างเงียบๆ ต้องยอมรับโดยดุษณีว่าต่างฝ่ายต่างมีตัวประกันความเสี่ยง!!!

ว่ากันว่า หากความขัดแย้งรอบนี้ ถึง จุดสุกงอม ไม่ว่าจะรัฐประหารโดยกองทัพ หรือปฏิวัติโดยภาคประชาชน ต่างบังเกิดความเสียหายไม่ต่างกัน!!! โมเดลประชาธิปไตยในทฤษฎีดอกไม้หลากสีคือสิ่งที่สวยงาม แต่สิ่งสวยงามที่คู่ขนานอยู่กับความเป็นจริงในสังคมบนฟางเส้นสุดท้าย..บางครั้งมันก็ไม่สวยสดงดงามเสมอต้นเสมอปลายตลอดไป!!!

ที่มา:สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

โพล ชี้ประชาชน 40.69% เห็นว่าปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พอใจ รบ.ทักษิณ มากสุด !!?

สวนดุสิตโพล. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,443 คน ระหว่างวันที่ 20 - 28 มกราคม 2555 สรุปผลได้ดังนี้
 1.ความคิดเห็นของประชาชนต่อการปราบปรามยาเสพติดที่รัฐบาลดำเนินการขณะนี้

อันดับ 1 หรือ 40.28% อยากให้รัฐบาลและจนท.ที่เกี่ยวข้องปราบปรามอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ไม่มีข้อยกเว้นหรือเลือกปฏิบัติ

อันดับ 2 หรือ 34.73% มองว่าเป็นเรื่องที่ดียาเสพติดจะได้ลดลงหรือหมดไปจากประเทศ เพราะมีแต่บ่อนทำลายชาติและเยาวชน

อันดับ 3 อยากให้มีกฎหมายหรือบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดในเรื่องนี้ที่รุนแรงและเด็ดขาด 13.59%
อันดับ 4 เป็นการทำเพื่อสร้างผลงาน แต่ถึงอย่างไรก็คิดว่าไม่น่าจะปราบได้หมด 11.40%

2."สาเหตุ" ของการแพร่ระบาดของยาเสพติด ณ วันนี้
 อันดับ 1 หรือ 68.54% เห็นว่า เป็นการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็รู้เห็นเป็นใจและมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

อันดับ 2 หรือ 18.23% เห็นว่าสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เสื่อมโทรม ครอบครัวขาดการดูแลเอาใจใส่ พ่อแม่ไม่มีเวลาให้

อันดับ 3 มองว่าเป็นเรื่องของกฎหมาย บทลงโทษไม่เด็ดขาด เป็นสาเหตุให้ยาเสพติดและผู้เสพมีเพิ่มมากขึ้น 7.80%
และอันดับ 4 มากจากการถูกชักชวนจากเพื่อน อยากลอง สามารถหาซื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นและนักเที่ยว 5.43%

3. ประชาชนคิดว่า "แนวโน้ม" ปัญหายาเสพติดจะเป็นอย่างไร?
อันดับ 1 หรือ 40.69% เชื่อว่า มีแนวโน้มว่าจะมากขึ้น เพราะ ปัญหาสังคมที่เสื่อมถอย ความเครียด ชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก ทำให้มีผู้เสพมากขึ้น, มาจากความเชื่อที่ผิดของผู้เสพยังคงพบเห็นหรือได้ยินข่าวยาเสพติดอยู่บ่อยๆ ฯลฯ
อันดับ 2 เหมือนเดิม 38.73% เพราะ ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดจะเข้ามาแก้ปัญหาหรือปราบปรามยาเสพติดก็ยังคงมีเหมือนเดิม, เป็นช่องทางที่หาเงินได้จำนวนมาก ฯลฯ
อันดับ 3 มีแนวโน้มว่าจะลดลง 20.58% เพราะ รัฐบาลมีการปราบปรามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สามารถจับกุมผู้ค้าและยึดยาเสพติดได้จำนวนมาก ฯลฯ

4.ประชาชน "พึงพอใจ" ผลงานการปราบปรามปัญหายาเสพติดของรัฐบาลใด? มากที่สุด
อันดับ 1 หรือ 64.77% พอใจการปราบปรามของรัฐบาลทักษิณมากที่สุด เพราะ มีการปราบปรามที่เด็ดขาด เอาจริงเอาจัง, จับกุมผู้ค้ารายใหญ่ได้มาก, ปัญหายาเสพติดลดลง ฯลฯ
อันดับ 2 หรือ 19.41% พอใจการปราบปรามของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากที่สุด เพราะ ดูจากผลงานในช่วงนี้เห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ถูกใจประชาชน ฯลฯ

อันดับ 3 พอใจการปราบปรามของรัฐบาลอภิสิทธิ์มากที่สุด 15.82% เพราะ เป็นการปราบปรามที่ยึดปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง ไม่ใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ฯลฯ

ที่มา.มติชนออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++