--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กองทัพสหรัฐฯถอนเรือช่วยน้ำท่วมกลับ เหตุ รบ.ไทยท่าทีไม่ชัด ด้านทูตสหรัฐยันนาวิกฯยังทำงานอยู่ในพื้นที่ !!?

เรือขนส่งอากาศยานของสหรัฐ 'ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน' ที่เตรียมช่วยอุทกภัยในไทย ถอนกลับแล้ว หลังจากรบ.ไทยส่งสัญญาณไม่ชัดเจนในการขอความช่วยเหลือ ด้านไทยปฏิเสธ ไม่ได้ปัดความช่วยเหลือ ทูตสหรัฐระบุ ทีมนาวิกฯ สหรัฐ ยังช่วยน้ำท่วมในพื้นที่

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กองทัพเรือสหรัฐได้ถอนเรือจำนวนหนึ่งที่ส่งมาให้ความช่วยเหลืออุทกภัยน้ำท่วมในประเทศไทย กลับฐานทัพของสหรัฐไปแล้ว เนื่องจากได้รับสัญญาณที่ "ไม่ชัดเจน" จากรัฐบาลไทย

โฆษกกองทัพเรือสหรัฐ ชี้ กลับเพราะไม่ได้รับคำขอที่ชัดเจน

รายงานดังกล่าว อ้างคำพูดของโฆษกกองทัพเรือสหรัฐ นาวาตรีจอห์น เพอร์กิน ซึ่งระบุว่า เรือบรรทุกเครื่อบินยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน และเรืออื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ถูกส่งมาในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเตรียมพร้อมการให้ความช่วยเหลือต่ออุทกภัยในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กองทัพสหรัฐ ไม่เคยได้รับคำขอร้องอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทย ทำให้สหรัฐตัดสินใจถอนเรือขนส่งเครืองบิน และเรือลำที่สี่ ออกจากพื้นที่ดังกล่าว และถอนกลับไปประจำที่กองทัพสหรัฐ

พวกเราเตรียมพร้อมที่จะช่วยอยู่แล้ว หากแต่เราไม่ได้รับคำร้องขอ" เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐรายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าว "มีสองช่องทาง (สำหรับรัฐบาลไทย) หนึ่งก็คือตอบรับว่า 'รับ' และอีกอัน ก็คือ 'ไม่รับ'"
เรือขนส่งอากาศยานขนาดใหญ่ ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน ได้เดินทางมาถึงท่าเรือประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม และสี่วันถัดจากนั้น ก็ได้รับคำสั่งให้หันหัวเรือและเดินทางต่อมายังประเทศไทย เพื่ออยู่ในตำแหน่งที่เตรียมพร้อมหากได้รับการขอความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐจำนวนสิบคน ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อขนส่งถุงทรายหลายพันถุง และเพื่อประเมินว่า กองทัพสหรัฐจะสามารถช่วยเหลือไทยได้อย่างไร
ในขณะนี้ เรือขนส่งเครื่องบิน ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน อยู่ในระหว่างการเดินทางไปยังญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการฝึกทหารประจำปี

ทางการไทยแจง ไม่ได้ปฏิเสธความช่วยเหลือ

ด้านสุรพงษ์ โตจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน แต่จะกลับไปหารือที่กระทรวงว่าเป็นอย่างไร และกล่าวว่า ทางกองทัพสหรัฐและทหารไทยได้เดินทางลงไปยังพื้นที่ และมีข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งเขายังไม่เห็น แต่ตอนแรกที่สหรัฐประสงค์จะให้ความช่วยเหลือ ประเทศไทยก็ยินดี อย่างไรก็ตาม ต้องขอดูรายงานในรายละเอียดล่าสุด
รมว. กระทรวงต่างประเทศกล่าวต่อว่า จนถึงขณะนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ยังไม่ติดต่อมา และทราบว่า เรือดังกล่าวของสหรัฐจะเดินทางกลับ แต่ประเทศอื่นๆ เช่น จีน ไม่มีปัญหาอะไร

นอกจากนี้ มติชนออนไลน์รายงานว่า ฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว โดยกล่าวว่า ไทยยินดีรับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ ส่วนที่มีข่าวว่าเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐจะเดินทางไปประเทศอื่น แปลว่าสหรัฐถอนความช่วยเหลือจากไทยจึงไม่เป็นความจริง เพราะเรือดังกล่าวจะแวะผ่านภูมิภาคนี้อยู่แล้ว มีความคิดจะเข้ามาช่วยเหลือไทยจริง แต่เนื่องจากช่วงเวลากระชั้นชิดและมีกำหนดการเดินทางไปประเทศอื่น จึงเดินทางออกไปโดยไม่เกี่ยวกับการถอนความช่วยเหลือแต่อย่างใด

ด้านคริสตี เคนนี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงต่อข่าวดังกล่าวในทวิตเตอร์ส่วนตัว ราว 10 นาฬิกาของวันนี้ (25 ต.ค. 54) ว่า ในขณะนี้ ทีมให้ความช่วยเหลือของนาวิกโยธินสหรัฐ ยังคงทำงานในพื้นที่กับทางการไทยอย่างต่อเนื่อง และเรือยูเอสเอส มัสติน ยังคงจอดอยู่ที่ท่าเรือในประเทศไทย

คริสตี เคนนี @kristiekenney ทวีตชี้แจงเมื่อเวลาประมาณ 10.00น. วันนี้

ที่มา:ประชาไท
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองโลกหลังวิกฤตน้ำท่วมประเทศไทย !!?

โดย:เบ๊นซ์ สุดตา
ปี 2011 ถือเป็นปีแห่งภัยพิบัติโดยแท้จริง โดยหลังจากที่ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตนิวเคลียร์หลังแผ่นดินไหวรุนแรงและสึนามิเข้าซัดฝั่งตะวันออก ไทยก็เกิดน้ำท่วมใหญ่กินพื้นที่ไปทั่วทั้งภาคกลาง และมีโอกาสสูงที่กรุงเทพฯ อาจมีน้ำท่วมสูงเป็นประวัติการณ์ไปทั่ว หากว่าภาครัฐนำโดย ศปภ. และกรุงเทพมหานครไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้ทันท่วงที โดยใช้วิธีที่เหมาะสมกับธรรมชาติของน้ำและชัยภูมิของพื้นที่ ทั้งนี้หากน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในและสถานที่สำคัญต่างๆ ก็ย่อมทำให้ระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศรวนหนักและชะงักงันครั้งใหญ่ได้

ความเสียหายจากภัยน้ำท่วม ข้อมูลล่าสุดระบุว่า มีประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนเดือดร้อน โรงงานกว่า 14,000 แห่งโดยเฉพาะ 6 นิคมที่จมไปกับสายน้ำไล่ตั้งแต่สหรัตนนคร โรจนะ บ้างหว้า (ไฮเทค) บางปะอิน นวนคร และบางกระดี รวมมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 200,000 ล้านบาท แรงงานได้รับผลกระทบทันทีไม่ต่ำกว่า 400,000 คน เรือกสวนไร่นากว่า 10 ล้านไร่ที่เสียหายในภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วมที่เริ่มก่อตัวขึ้นในภาคอีสาน ซึ่งมีแนวโน้มว่าความเสียหายในภาคเกษตรจะยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกหลายพื้นที่

แต่สิ่งที่น่าคิดวิเคราะห์คือ เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเองมีประวัติของการที่เป็นจุดเล็กๆ ในแผนที่โลกแต่กลับเป็นจุดปะทุชนวนไปสู่เหตุการณ์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกเช่น วิกฤตการเงินปี 1997 หรือ เหตุการณ์รัฐประหารปี 2006 ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ส่งผลให้เกิดการกระจายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย

ถ้าเราวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า การที่สื่อระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Wall Street Journal, Bloomberg หรือ Reuters ให้ความสำคัญกับข่าวอุทกภัยในประเทศไทยมากเป็นพิเศษ ทั้งที่ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกัมพูชาหรือประเทศในแถบอเมริกากลางต่างก็ประสบปัญหาอุทกภัยแต่กลับไม่มีข่าวมากเท่า ก็เนื่องมาจากว่าในทางปฏิบัติแล้ว ประเทศไทยมีความสำคัญไม่น้อยใน “ระบบระหว่างประเทศ” (International System)


น้ำท่วมโรงงานผลิตกล้อง Nikon ที่อยุธยา ส่งผลต่อการเปิดตัวกล้องรุ่นใหม่ของบริษัท (ภาพจาก @noppatjak)

สถานะของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลก

ภายใต้กระบวนการโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ถึงแม้ศูนย์กลางของ “ระบบระหว่างประเทศ” จะอยู่ที่สหรัฐฯ และมีตัวแปรอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ยุโรป รัสเซีย เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากมองในแง่เศรษฐกิจแล้ว ประเทศไทยมีความสำคัญมากในเวทีโลก เหตุเพราะประเทศไทยมีฐานะเป็นทั้ง ฐานอุตสาหกรรม (Industrial Base), ฐานเกษตรกรรม (Agricultural Base) และฐานการค้า (Trade Base) แถมเป็นประเทศที่ถือเงินทุนสำรองสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางเป็นทางผ่านสำคัญของภูมิภาค

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยย่อมส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างตามมาด้วย ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่จะเห็นมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯกับจีนเข้ามาประชันแข่งขันกันในชั้นเชิงการทูตเพื่อแย่งชิง “ความเป็นผู้นำในการช่วยเหลือประเทศไทยในยามวิกฤต” ด้วยเหตุผลด้านการต่างประเทศและความมั่นคงดังที่กล่าวมานี้

มองในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ประเทศไทยถือเป็นชาติการค้าที่สำคัญของโลก เป็นฟันเฟืองที่แม้จะไม่ใหญ่ในระบบเศรษฐกิจโลก แต่กลับเป็นชิ้นส่วนที่ขาดไม่ได้และใช่ว่าจะทดแทนได้ง่ายด้วย เพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นแหล่งผลิต Hard Disk Drive ป้อนตลาดกว่า 60% ของทั้งโลก ทำให้ไทยมีความสำคัญด้านอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์มาก ผลจากการที่น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ส่งผลให้ระบบ Supply Chain ของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาค ASEAN และอินเดียสะเทือนไปทั่ว ขณะที่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว เช่น บริษัทแอปเปิลออกมาแสดงความกังวลเรื่องการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช
การที่ไทย ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศในภูมิภาค ASEAN และเอเชีย เชื่อมต่อกันผ่านการค้าและการผลิต ผลกระทบจากอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทยหยุดสายผลิต ย่อมค่อยๆ กระเพื่อมไปทั่วทั้งระบบ Supply Chain ในภูมิภาค เฉกเช่นเดียวกับก้อนหินที่ถูกโยนลงน้ำ

จับตา ‘ค่าเงินบาทอ่อน’ กระทบทั้งเอเชีย

เราต้องไม่ลืมว่าประเทศญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่-สึนามิ-วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ ลากญี่ปุ่นสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ส่งผลสะเทือนตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์จำนวนมากจากการที่เงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นหากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยยืดเยื้อมาก ก็ย่อมสร้างความเสียหายโดยตรงทั้งต่อไทยและญี่ปุ่นแน่นอน ค่าเงินบาทย่อมมีโอกาสอ่อนค่าลงจากการที่ประเทศไทยต้องระดมทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูประเทศ ทั้งจากการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์จำนวนมาก การเร่งการส่งออก แม้แต่การเทขายเงินดอลลาร์ในทุนสำรองออกมาเพื่อขนเงินกลับไปซ่อมประเทศก็มีความเป็นไปได้

ถ้าหากเหตุการณ์นี้นำไปสู่การลดค่าเงินระดับที่สูงมาก และเกิดขึ้นพร้อมกับการที่ญี่ปุ่นตัดสินใจเริ่มขนเงินที่มีอยู่ทั่วโลกกลับไปฟื้นฟูความเสียหายของประเทศตัวเอง ย่อมจะส่งผลสะเทือนมากต่อตลาดการเงินโลก และการลดค่าเงินของไทยอาจจุดชนวนให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีการปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนขนานใหญ่ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกเอาไว้ และย่อมทำให้ “สงครามค่าเงินระหว่างประเทศ” (International Currency War) กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง

สถานการณ์น้ำท่วมยังคงน่าเป็นห่วง

วิกฤตอาหารและสินค้าเกษตร

แต่สิ่งอื่นที่น่ากังวล และมีโอกาสความเป็นไปได้มากกว่าผลกระทบในระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงิน คือ ความปั่นป่วนและความเสี่ยงในภาคเกษตร เพราะไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 30% ของตลาดโลก ความเสียหายของผลผลิตในประเทศ และการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเพื่อไทย ย่อมเป็นแรงกดดันให้ราคาข้าวสูงขึ้นซึ่งนั่นย่อมกระทบชีวิตคนมากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วเอเชียและประเทศยากจนอื่นๆ

ทั้งนี้หากเอาบทเรียนในอดีตมาไล่เรียงดูจะพบว่าในปี 2008 ภาวะของการเก็งกำไรและการห้ามการส่งออกข้าวในประเทศใหญ่ๆ เช่น อินเดีย ส่งผลให้ราคาข้าวทะยานมากกว่า 200% ขณะที่สินค้าเกษตรตัวอื่นก็พุ่งในหลักหลายร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกันในช่วงเวลาสั้นๆ ส่งผลให้เกิดจลาจลอาหารกว่า 30 ประเทศทั่วโลกไล่ตั้งแต่เฮติไปจนถึงประเทศอิยิปต์

ปี 2010 ภาวะที่คลื่นความร้อนพาดผ่านแถบทะเลดำจนส่งผลให้เกิดภาวะแล้งจัด ผลผลิตข้าวสาลีในประเทศรัสเซียและยูเครนเสียหายหนัก จนทั้ง 2 ประเทศสูญเสียความสามารถในการส่งออก ต้องประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีพุ่งทะยานขึ้นจนเกิดจลาจลเผาเมืองในโมซัมบิก แอลจีเรีย และเรื่อยมาจนถึงประเทศตูนิเซีย ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่วัยรุ่นเจ้าของแผงขายผักจุดไฟประท้วงฆ่าตัวตาย และนำไปสู่การประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีเบน อาลีเป็นผลสำเร็จ เหตุการณ์นี้ยังแพร่ไปยังอิยิปต์ ลิเบีย เยเมน ตะวันออกกลาง และซีเรีย ซึ่งในกรณีประเทศอิยิปต์นั้นปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากค่าครองชีพที่แพงจากการที่อาหารราคาสูงด้วย ทำให้ผลจากอิยิปต์สะเทือนไปทั่วโลกอาหรับจนกลายเป็นเหตุการณ์ Arab Spring

เหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยนั้นย่อมซ้ำเติมสถานการณ์อาหารโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ และข้าวนั้นมีจำนวนผู้บริโภคสูงกว่าข้าวสาลีมาก แถมยังเป็นอาหารหลักของคนจนทั่วโลก การที่เกิดภาวะขาดแคลนข้าวและราคาข้าวที่สูงขึ้น ย่อมทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องกักตุนสินค้า และเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะดึงดูดนักเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ให้โจมตีตลาดสินค้าเกษตร ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก
ดังนั้นในปี 2012 โอกาสที่จะเกิดเหตุซ้ำรอย Arab Spring อันมีเหตุจากวิกฤตอาหารในประเทศไทย แล้วกระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากโลกอาหรับย่อมมีโอกาสไม่น้อย และถ้าหากเกิดวิกฤตอาหารในประเทศอาหรับที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันด้วยแล้ว วิกฤตอาหารในประเทศไทยย่อมลามไปสู่การเกิดวิกฤตพลังงานโลกได้ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าในปีหน้าราคาอาหารจะเป็นตัวดันราคาพลังงานจากการเชื่อมโยงทางปัจจัยการเมือง ซึ่งต่างจากปี 2008 ที่ปัจจัยจากพลังงานดันราคาอาหาร เนื่องจากความเชื่อมโยงของโครงสร้างต้นทุนและการเก็งกำไรในภาคการเงิน

เพราะเหตุนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยย่อมเป็นที่สนใจจากต่างประเทศ ตัวแปรจากการควบคุมสถานการณ์ในประเทศไทยย่อมมีผลสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมืองโลกอันเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ให้เผชิญกับความผันผวนและความเสี่ยงให้สูงขึ้นไปอีกขั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา:Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บ้านคุณ..น้ำท่วมแล้วรึยัง !!?

เพราะน้ำมามากกว่าทุกปีถึง 3 เท่า และเราไม่สามารถระบายออกไปได้เลย ขณะเดียวกันก็มีพายุสะสมมา 2-3 เดือนแล้ว จะมาให้แก้ในเดือนที่ 3 คงเป็นไปไม่ได้ และสภาพภูมิประเทศปัจจุบันก็ไม่เอื้อต่อการระบายน้ำ ซึ่งในระยะยาว ต้องวางแผนในภาพรวมให้ทิศ ทางการไหลของน้ำมีความสัมพันธ์กันกับการวางผังเมือง..

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิง ที่ต้องแบกรับมวลน้ำมหาศาลที่ถล่มประเทศไทยมากที่สุดในรอบ 50-100 ปี ยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ไม่ได้ท้อแท้ที่จะแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนหลายล้านคนขณะนี้เดือดร้อนและทนทุกข์น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงของการบริหารจัดการน้ำที่ไม่สามารถสู้กับน้ำได้เลยแม้แต่จุดเดียว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายข้าราชการทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับกระทรวง ทบวง กรม

ไม่เชื่อข้อมูล ศปภ.

โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการถูกโจมตีอย่างมาก ทั้งการแถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และข้อมูลที่ล่าช้า ซึ่งบางครั้งก็ไม่ตรงกับสถานการณ์ แม้แต่ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆในเว็บไซต์ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ระบบราชการ จึงไม่แปลกที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อข้อมูลของ ศปภ.

อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขอความเห็นใจจากประชาชนและพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะขณะนี้ ศปภ. เป็นศูนย์รวมของทุกองค์กร จึงอาจทำให้มีมุมมองแตกต่างกัน ส่งผลให้ประชาชนที่รับรู้ข่าวสารเกิดความตกใจ ซึ่ง ศปภ. จะปรับปรุงและตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อให้ประชาชนสามารถยึดถือข้อมูลของ ศปภ. อย่างเป็นทางการได้

“ยืนยันว่าข้อมูลที่ ศปภ. ได้เข้ามาไม่มีความผิดพลาด แต่บางครั้งขอความกรุณาสื่อมวลชนเวลาสัมภาษณ์คนเดียวอาจจะมีแค่มุมเดียว ไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด พอข้อมูลออกไปอาจทำให้ประชาชนตกใจ ดังนั้น เราต้องปรับปรุงการแถลงข่าวของ ศปภ. ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น สื่อมวลชนจะได้ไม่แปลงและใช้ข้อเท็จจริงนั้นในการอ้างอิงได้ วันนี้ยืนยันว่าพูดความจริง ไม่ได้ปิดบังพี่น้องประชาชน แต่ดิฉันต้องบอกว่าครั้งนี้เป็นวิกฤตใหญ่ของประเทศ ลำพังคนเดียวเราทำไม่ได้ ต้องรวมพลังจากทุกภาคส่วน และต้องเอาเกมการเมืองออกไป เราต้องแก้ไขปัญหาและสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนไทย”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยอมรับว่ามีมุมมองแตกต่างจาก กทม. และกรมชลประทานเกี่ยวกับการระบายน้ำ จึงต้องเอาทุกหน่วยงานมารวมกัน แต่ปริมาณน้ำฝนไม่สามารถประมาณการได้จริงๆ จึงตอบได้ยากว่าปริมาณน้ำจะเข้า กทม. เท่าไร ไม่รู้ว่าพายุลูกใหม่จะเข้ามาเป็นอย่างไร วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการในการประมาณการปริมาณน้ำที่แม่นยำ ซึ่งต้องนั่งคุยพร้อมกับผู้ที่มีความรู้

“ดิฉันเป็นผู้ที่มารับหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ประสานงานทุกหน่วยงาน ดังนั้น เราควรจะคุยกันพร้อมกับผู้ที่มีความรู้และให้ข้อมูลที่ถูกต้องขอความกรุณา ดิฉันอาจไม่สามารถให้ข้อมูลสื่อมวลชนได้ครบ เพราะเกรงว่าการสื่อสารในมุมที่มองจากความรู้สึกส่วนตัวหรือจากการสัมผัสจะทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจและไขว้เขว”

ป้องกัน-แก้ไข 4 ระยะ

คำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงสะท้อนชัดเจนถึงคำว่า “บูรณาการ” ซึ่งยังไม่ปรากฏในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ ศปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเลย แต่ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ นอกจากนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันอีก การประชุมระหว่างรัฐมนตรีกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาจึงมีข้อสรุประยะการแก้ไขและป้องกันน้ำท่วมเป็น 4 ระยะคือ

ระยะแรก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบเร่งด่วน โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานได้ทันทีอย่าง เต็มที่ และสั่งการให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ดูแลจังหวัดที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปทุมธานี นนทบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

ระยะที่ 2 ช่วงที่น้ำท่วมสูงและประชาชนอาจต้องอยู่กับน้ำนาน 4-6 สัปดาห์ จึงต้องปรับการทำงานของรัฐบาลและทุกกระทรวง ทบวง กรมต่างๆที่เกี่ยวข้องให้รองรับกับวิถีชีวิตของผู้ประสบภัยในบ้านที่ถูกน้ำท่วมหรือในศูนย์พักพิง ซึ่งต้องมีการจัดการให้เป็นอย่างดี

ระยะที่ 3 การฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟู 3 คณะเร่งดำเนินการฟื้นฟู และระยะที่ 4 ปรับโครงการต่างๆ โดยนำมาบูรณาการร่วมกันและป้องกัน โดยมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เร่งรัดให้คณะกรรมการดังกล่าวมีผลงานออกมาโดยด่วน เพื่อใช้ตัดสินใจในการวางแผนการทำงาน เช่น ทำแก้มลิงหรือเขื่อน เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทย และดูแลประชาชนให้ได้

ฐานข้อมูลโคตรมั่ว

แม้แผนการแก้ไขและป้องกันน้ำท่วมทั้ง 4 ระยะจะควบคุมทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะกลาง แต่ยังเป็นแค่ภาพกว้างๆที่ยังยากจะให้ประชาชนมั่นใจในวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ เพราะรัฐบาล เองก็ยอมรับปัญหาการจัดระบบฐานข้อมูล จึงให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่รู้เรื่องประชาชนย้ายที่อยู่อาศัยไปที่ใดบ้าง ศูนย์อพยพใด จำนวนเท่าใด เพศและวัยอะไร เป็นประชาชนจังหวัดใด ประกอบอาชีพอะไร เป็นธุรกิจขนาดใด ซึ่งการช่วยเหลือและฟื้นฟูต้องมีฐานข้อมูลประชาชนแต่ละกลุ่มชัดเจน

โดยเฉพาะศูนย์อพยพต่างๆ ขณะนี้ต้องใช้คำว่า “โคตรมั่ว” เพราะไม่มีการแยกแยะหรือกำหนดผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพแล้ว ยังไม่มีแผนการอพยพและการรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจนอีก

เช่นเดียวกับข้อมูลเกี่ยวกับน้ำที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่นิคมอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนนับหมื่นล้านบาทยังตำหนิรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ จนการป้องกันทุกแห่ง ทุกพื้นที่ต้องจมอยู่ใต้บาดาล และถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อทั่วโลก พร้อมตั้งคำถามถึงความหายนะครั้งนี้เป็นความผิดพลาดของการบริหารจัดการหรือภัยจากธรรมชาติ

บทเรียนต่างประเทศรับมือวิกฤต

ภาพการอพยพประชาชนออกจาก “พื้นที่ภัยพิบัติ” ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้งในประเทศไทย แต่ภาพความตื่นตระหนก โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ถือเป็นอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์คือภาพที่สื่อทั่วโลกนำไปเผยแพร่การกักตุนสินค้า การแห่ซื้อวัสดุต่างๆ เพื่อทำแนวปราการป้องกันน้ำ จนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนไปทั่ว แม้โดยธรรมชาติของผู้ที่อยู่ในข่ายความเดือดร้อนจะต้องตื่นตระหนกก็ตาม แต่ไม่ใช่อาการแตกตื่นเหมือนกระต่ายตื่นตูม

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้จึงยิ่งทำให้เห็นถึงการบริ-หารจัดการวิกฤตต่างๆของประเทศไทย ทั้งระดับรัฐบาลที่เป็นฝ่ายนโยบายและข้าราชการที่เป็นฝ่ายปฏิบัตินั้น “สอบตก” เพราะมีปัญหาและจุดบกพร่องมากมาย ทั้งที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี เพียงแต่ไม่หนักและรุนแรงเท่าครั้งนี้เท่านั้น

รัฐบาลที่เป็นฝ่ายนโยบายจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องแก้ปัญหาการบริหารจัดการวิกฤตให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติใดก็ตาม โดยเฉพาะระบบข้อมูลในการป้องกันและการเตือนภัย ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศที่มีปัญหาภัยพิบัติร้ายแรง เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่เกิดภัยพิบัติร้ายแรงนับไม่ถ้วน ทั้งอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ เขื่อนพัง หรือแผ่นดินไหว

อย่างการบริหารจัดการน้ำจีนจะมีศูนย์บรรเทาภัยแล้งและควบคุมอุทกภัยแห่งชาติ (State Flood Control and Drought Relief Head Quarters) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าศูนย์ในการกำกับดูแลและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ หรือฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติเป็นอันดับ 12 ของโลกก็อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทในการควบคุมอุทกภัยบนเกาะมินดาเนา โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปฏิรูปเชิงโครงการและประเด็นธรรมาภิบาลต่างๆ อาทิ การวางแผนการใช้ที่ดิน การบริหารจัดการน้ำ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

การเมืองกับกระแสน้ำ

ที่สำคัญปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ยังทำให้เห็นถึงการยึดโยงกับปัญหาการเมืองอย่างแยบยลอีกด้วย อย่างที่ “นักปรัชญาชายขอบ” นักเขียนอิสระที่เขียนบทความ “กระแสน้ำ กระแสประชาธิปไตย และกลุ่มชนชั้นนำเก่า” ว่าภาวะน้ำท่วมเกือบครึ่งประเทศและท่วมอย่างยาวนานย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์ ธรรมชาติล้วนๆ หากแต่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับปัญหาระบบการจัดการน้ำที่จำเป็นต้องถูกหยิบ ยกขึ้นมาทบทวนอย่างหนักไม่น้อยไปกว่าปัญหาการจัดระบบสังคมการเมือง

เพราะพื้นฐานทางความคิดในการจัดการน้ำกับการจัดระบบสังคมการเมืองของสังคมไทยนั้นอยู่บนฐานคิดเดียวกัน ซึ่งกระแสน้ำทะลัก กระแสประชาธิปไตยบ่าล้น และกลุ่มชนชั้นนำเก่าที่ยังถนัดแก้ปัญหาด้วยการแจกสิ่งของและการอบรมสั่งสอนที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะไม่ใช่อยู่ๆน้ำจะไหลบ่าท่วมทะลักโดยไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายการสร้างเขื่อน การเก็บกักน้ำ การปล่อยน้ำ การเปิด-ปิดทางน้ำ การขุดคลอง การสร้างถนน การวางระบบผังเมือง และ/หรือนโยบายการจัดการน้ำโดยรวม

เช่นเดียวกันไม่ใช่อยู่ๆนักศึกษา ประชาชน นักวิชาการจะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือเรียกร้องอำนาจในฐานะเจ้าของประเทศ หากความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค และอำนาจในฐานะเจ้าของประเทศของพวกเขาไม่ได้ถูกฉ้อฉลโดยกลุ่มชนชั้นนำเก่าที่รวบอำนาจในการจัดการระบบสังคมการเมืองมาอย่างยาวนานด้วย “อุดมการณ์สามรัก” คือรักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์ จนเสมือนประเทศนี้จะเป็น “ประเทศล้นรัก” เพราะแทบทุกอย่างถูกอธิบายได้ด้วยความรัก

แม้แต่ข่าวน้ำท่วมสื่อก็สร้างกระแส “ดราม่า” จนแทบไม่ตั้งคำถามต่อสาเหตุที่แท้จริง เช่น คนไทยรักกัน คนไทยไม่ทิ้งกัน นายกฯพบผู้นำฝ่ายค้านเป็นสัญญาณความปรองดอง ฯลฯ ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านพังคูกั้นน้ำกลับถูกนำเสนอเสมือนว่าเป็นความไม่เข้าใจสถานการณ์ ความไม่เสียสละของชาวบ้านกลุ่มนั้นๆ โดยที่สื่อไม่ตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม

ที่สำคัญสื่อแทบไม่ตั้งคำถามต่อปัญหาการจัดการน้ำตั้งแต่ระดับแนวคิด นโยบายการปฏิบัติที่เป็นการผลักภาระให้คนบางกลุ่มต้องจำทนต่อสภาพน้ำท่วมแทนคนกลุ่มอื่นๆ หรือภาคธุรกิจสำคัญๆ โดยที่พวกเขาไม่มีหลักประกันความเสี่ยงและการชดเชยใดๆ

กระแสน้ำท่วมทะลักและกระแสประชาธิปไตยบ่าล้นจึงถือเป็นกระแสที่ท้าทายสังคมไทยว่าจะสามารถจัดการกับภัยธรรมชาติและจัดการระบบสังคมการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพที่ตรวจสอบได้อย่างไรบนจุดยืนที่พ้นไปจากเรื่อง “รัก-ไม่รัก” สู่จุดยืนเรื่องความเป็นธรรม เสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย

เทวดา...ช่วยด้วย

ความตื่นตระหนกพร้อมๆกับการเรียกร้องสารพัดของคนไทยจึงไม่ต่างจากภาพการเมืองที่คนไทยและสังคมไทยเองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ได้ทำอะไรเพื่อตัวเองและส่วนรวมได้บ้าง หลายคนอยู่เฝ้าบ้าน เฝ้าทรัพย์สิน ในสถานะ “ผู้ประสบภัย” รอความช่วยเหลือ แต่อีกหลายคนออกจากบ้านยอมเป็น “ผู้อพยพ” ช่วยเหลือตนเองเพื่อลดภาระจากหน่วยงานของภาครัฐที่มิอาจดูแลทั่วถึง

โดยเฉพาะภาวะวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ที่กำลังส่งผลกระทบถึงคนกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ภาพการแย่งการซื้ออาหารเพื่อกักตุน การออกมาเรียกร้องและร้องขอของผู้ประสบภัยถูกนำมาเปรียบเทียบกับคนญี่ปุ่นครั้งถูกสึนามิถล่ม ซึ่งรุนแรงไม่น้อยไปกว่าอุทกภัยน้ำท่วมของไทย แต่คนญี่ปุ่นกลับถูกยกย่องไปทั่วโลก เพราะแม้แต่การซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เกตขณะที่ทุกคนต่างก็อยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัวยังยืนเข้าแถวกันยาวเหยียดอย่างอดทน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ผู้หญิง หรือคนชรา แบ่งปันซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น แต่คนไทยกลับแห่กันซื้อสินค้าเพื่อกักตุนจนเกลี้ยงซูเปอร์มาร์เกต บางคน บางครอบครัวกักตุนชนิดกินใช้ทั้งปียังไม่หมด

เมื่อย้อนมามองสังคมไทยจะพบสาเหตุที่เกิดจาก “ความไม่เท่าเทียมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม” ที่แบ่งชนชั้นที่ถับถมกันมานานจนเป็นเรื่องชาชิน

คนต่างจังหวัดในชนบท ชนชั้นรากหญ้า และผืนแผ่นดินของเขาต้องถูกน้ำท่วมซ้ำซาก อยู่อย่าง “โง่-จน-เจ็บ” เป็นแอ่งรับน้ำ เป็นเขื่อนป้องกันมิให้คนเมือง “คนชั้นกลาง-คนชั้นสูง” ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครต้องจมอยู่ใต้บาดาล

ภาพข่าว “ดราม่า” มากบ้าง น้อยบ้าง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะปรากฏบนจอโทรทัศน์ น้ำใจคนไทยท่วมท้นไม่แพ้น้ำจากอุทกภัย

โซเชียลเน็ตเวิร์คหรือสังคมไซเบอร์ก็มิเว้นที่จะถูก “ท่วม” ไปด้วย “น้ำลาย” การแบ่งสี แบ่งฝ่าย ยังคงรักษาระยะไว้อย่างปรกติ ข้อมูลถูกขุดออกมาประจานกันแบบไม่ยั้ง

ต้นเหตุที่มาที่ไปของ “มวลน้ำ” ขนาดมหึมาที่ไหลบ่าท่วมบ้านเมืองและนิคมอุตสาหกรรมที่ปรากฏเป็น “ข่าวเชิงลึก” ถูกเผยแพร่ออกไป ซึ่งไม่แพ้ “มวลน้ำ” ที่ไหลบ่าท่วมไปค่อนแผ่นดิน

หลายคนอยากเห็นความเท่าเทียม จึงอยากเห็น “น้ำท่วมถ้วนหน้า” แต่นั่นคือความคิดชั่ววูบที่เกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมต้องท่วมที่เรา แต่ที่อื่นไม่ท่วม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ

สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงที่ยังคงซ่อนลึกเอาไว้เพื่อรอการสะสางหลังน้ำลด

แม้ความสะใจ อยากเห็นกรุงเทพฯจมบาดาล เพื่อวานธรรมชาติสั่งสอนให้เห็นถึงความเท่าเทียม แต่ด้วยความจริงที่ประเทศไทยมีกรุงเทพฯเป็นศูนย์ กลางของสรรพสิ่งทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง

จึงเป็นเรื่องหายนะแน่ ถ้าภัยพิบัติท่วมท้นเมือง หลวง เพราะความช่วยเหลือต่างๆจะถูกตัดขาดทันที และนั่นคือหายนะของประเทศ มิใช่แค่กรุงเทพมหานคร

ถึงเวลาแล้วที่คนเมืองและชนบท หรือ “สองนครา” ต้องหันมาหยุดคิด เลิกดัดจริตมายอมรับความจริงที่ว่า “ระบอบอุปถัมภ์” มิอาจแก้ปัญหา “ความไม่เท่าเทียม” ได้ โดยไม่ต้องรอให้น้ำท่วมสองนคราเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน

เพราะมีแต่ “ระบอบประชาธิปไตย” เท่านั้นที่จะสร้าง “ความเท่าเทียม” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

มีแต่ “การบริหารจัดการที่ดี” เท่านั้นที่จะรับมือกับภัยพิบัติร้ายแรงได้...ไม่ใช่ “อภินิหาร” จากเทวดาหน้าไหน!

ว่าแต่วันนี้...“บ้านคุณ...น้ำท่วม (เหมือนบ้านเรา) แล้วรึยัง?”


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ถึงเวลา ศปภ. ต้องยกของขึ้นที่สูง !!?

สถานการณ์ “น้ำท่วม” มาถึงขณะนี้ หากใครพูดว่าน้ำไม่ท่วม กทม.เด็ดขาด ต้องบอกกับคนคนนั้นว่า ใช้สมองส่วนไหนคิด

เมื่อทุกฝ่ายเชื่อว่าอย่างไรเสีย กทม.ก็หนี“น้ำท่วม” ไม่พ้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดวันนี้คือแผน “รองรับ” กับความโกลาหลที่จะเกิดขึ้น

ต้องเอาบทเรียนจาก “เกาะเมือง” จ.พระนครศรีอยุธยา เทศบาลนครนครสวรรค์ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และเทศบาล
อ.บางบัวทอง มาเป็น “แนวทาง”

ที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เจตนาดีแต่ทำให้คนแตกตื่นไปเมื่อสัปดาห์ก่อน มาสัปดาห์นี้ทำท่าจะเป็นจริงอย่างที่ท่านว่าไว้

ล่าสุดท่านก็พูดอีกว่า “กรุงเทพฯที่เลวร้ายที่สุดคือท่วม และท่วมยาวประมาณเดือนเศษ ๆ เพราะน้ำมันเยอะ เอาอย่างนี้ จ.พระนครศรีอยุธยา ท่วมนานแค่ไหน กรุงเทพฯก็เหมือนกัน อย่าลืมว่ากรุงเทพฯต่ำกว่า และเตี้ยที่สุดแถมยังโดนอิทธิพลน้ำทะเลอีก แต่อาจจะไม่รุนแรงในแง่กระแสน้ำเพราะเป็นน้ำทุ่งแต่จะสูงและยาว”

ไม่มีใครตกใจ เพราะส่วนใหญ่เตรียมใจยอมรับ “ชะตากรรม” กันไว้แล้ว

พูดถึงเรื่องความเชื่อมั่น ลำพังวันนี้ ศปภ. ที่มีที่อยู่ที่สนามบินดอนเมือง ยังถูกเตือนว่า ’ให้เตรียมยกของขึ้นที่สูง“
แล้ววันนี้เป็นไง “น้ำทุ่ง” มาจ่อที่ปากประตูทางเข้าแล้ว จนเกิดข่าวลือสารพัดว่าจะย้ายไปตั้งศูนย์ที่ จ.ชลบุรี บ้าง จะย้ายไปใช้หอประชุมกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต บ้าง

น่าสนใจว่า ศปภ.เองเคยประเมินหรือไม่ว่า ดอนเมืองกำลังจะถูก “น้ำท่วม”

ความสับสน ขาดระบบเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ “ความร่วมมือ” จากภาคส่วนต่าง ๆกำลังจะลอยหายไปจาก ศปภ. อย่างล่าสุด ภาคประชาชน อย่าง นายปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอตคอม ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ไทยฟลัดดอตคอม www.thaiflood.com ได้ชี้แจงหลังถอนตัวอีกครั้งว่า

“การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะต้องก้าวข้ามความเห็นต่าง หลายหมู่บ้านบ่นกันเยอะว่ารถส่งของบริจาคไม่ยอมจอด ถ้าไม่ยอมติดธงแดง อีกทั้งของบริจาคเข้าสำนักนายกรัฐมนตรีจำนวนมาก ถูกขนไปร่วมคาราวานเสื้อแดง ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว จริงหรือไม่”

“ผมรู้สึกยินดีกับพี่น้องเสื้อแดงที่อาสามาช่วยงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่กล่าวมาไม่ได้จะเหมารวมว่าทุกคน แต่มีคนคิดฉวยโอกาสสร้างความเข้มแข็งให้กับ “ตำบลเสื้อแดง” ในช่วงที่มีผู้ประสบภัยมากขนาดนี้ผ่านกลไกของรัฐ โปรดจับตาให้ดี”

นี่เป็นคำถามที่ภาคประชาชนมีถึง ศปภ.

อีกกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็ท่าทีสุดกร่างของ ’ขาใหญ่“ ในรัฐบาลต่อหน้าต่อตาสื่อมวลชน ถึงขนาดพูดว่า “ผมคุม ปภ. และใหญ่กว่าอธิบดี ปภ.”

ปภ. ย่อมาจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดกระทรวงมหาดไทย

ลำพังเรื่องแค่นี้ คนได้ยินก็หมดศรัทธา แล้วถามหน่อยจะเอา เครดิตที่ไหนไปบอกให้ “ประชาชน” เขาเชื่อถือ

สนิมเนื้อในกัดกร่อนรัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยแท้.


ต้นฉบับ: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=8&contentId=171707

ที่มา: เดลินิวส์
////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ธนาคารโลก-TDRI เห็นพ้องหลังน้ำท่วมดันเศรษฐกิจโต !!?

ธนาคารโลก และ TDRI เห็นตรงกันว่าหลังจากน้ำลดจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เกิดขึ้นมากมายจากการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ การจับจ่ายเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงงาน ซื้อครื่องใช้ไฟฟ้าแทนของเดิมที่เสียหาย การซ่อมรถยนต์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นในปีหน้า คาดว่าจะขายได้มากกว่า 4.4% ส่วนในปีนี้อัตราการเติบโตจะต่ำกว่า 3.6% ที่ประเมินเอาไว้ช่วงต้นปี กระทรวงการคลังเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยระดมเงินจากประชาชน ให้สิทธิพิเศษงดเว้นภาษีจากเงินปันผลเป็นสิ่งจูงใจให้ซื้อหน่วยลงทุน แต่ยังไม่ได้กำหนดขนาดกองทุนว่าจะระดมเงินเท่าไร เพราะต้องรอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปความต้องการเงินทุนฟื้นฟูแต่ละด้านก่อน

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกประเมินความเสียหายเศรษฐกิจไทยจากปัญหาอุทกภัยเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท และจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายอยู่ในระดับติดลบ เนื่องจากความเสียหายในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจะส่งผลให้เศรษฐกิจในปีหน้าเติบโตได้สูงกว่าระดับ 4.4% แต่ในปีนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่า 3.6% ที่ประเมินเอาไว้เมื่อต้นปี

รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติคนทั่วไปมักคาดการณ์กันว่าจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นมักตรงข้าม เราจะพบว่าเมื่อประเทศเกิดปัญหาภัยพิบัติอย่างรุนแรง เผชิญความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ในไตรมาสต่อๆไปกลับมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

“สิ่งที่พบช่วงหลังภัยพิบัติคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้บางประเภทลดลงเพราะเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะภาคการผลิต แต่ขณะเดียวกันจะมีกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นอีกมาก เช่น อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มบรรจุขวด ปั๊มน้ำ อุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้เย็น ทีวี. เครื่องซักผ้า ธุรกิจจัดสวน ไม้ดอกประดับ อู่ซ่อมรถ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจประกันภัย เวชภัณฑ์ การรักษาพยาบาล รวมไปถึงการเร่งจ่ายงบประมาณภาครัฐเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำท่วม ซึ่งการเพิ่มขึ้นของยอดขายเหล่านี้จะมีผลทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น และทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นด้วย”

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงหลังประชุมจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอจัดตั้งกองทุน Infrastructure Fund เพื่อใช้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหลังจากการเกิดอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรม 6-7 แห่ง โดยกองทุนดังกล่าวจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกำหนดมาตรการจูงใจให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีเงินปันผล ส่วนขนาดของกองทุนยังต้องหารือกับอีกหลายหน่วยงาน

นอกจากนี้กระทรวงการคลังเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อกำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งจะต้องลงทุนสร้างเขื่อนถาวรเป็นคอนกรีตมีความสูงกว่าระดับน้ำที่ท่วมในปีนี้ และมีความแข็งแรงเพียงพอ

ที่มา:หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เกาะติดท้องถิ่น จับตา อาฟเตอร์ช็อก.. ท้องถิ่นหลังน้ำลด !!?

ปัญหาหลังน้ำลดยังเป็นปัญหาใหญ่ไม่ต่างกับปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้

เพราะการฟื้นฟูความเสียหาย ถนน สถานที่ราชการ หรือแม้แต่การฟื้นฟูสภาพจิตใจต้องใช้งบประมาณทั้งนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว. มหาดไทย ได้ระบุว่า รัฐบาลอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 8 หมื่นล้านบาทในการฟื้นฟูหลังน้ำลด

ส่วนความเสียหายได้ขยายวงกว้างไปกว่า 27 จังหวัด 186 อำเภอ 1,463 ตำบล 10,999 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 779,522 ครัวเรือน 2,320,169 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 10,209, 891 ไร่

ขณะเดียวกันเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)” จะมีงบประมาณ เข้าไปฟื้นฟูท้องถิ่นของตนเองหรือไม่? เพราะขณะนี้บางแห่งได้เทงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจนแทบจะเกลี้ยงคลัง

“อบต.บางแห่งใช้เงินจ่ายขาดสะสมที่มีอยู่ไปจนหมด เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ทันท่วงทีกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน” เสียงสะท้อน

จาก “กำนันตั๊ม” นพดล แก้วสุพัฒน์นายกสมาคมองค์การบริหาร ส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

ส่วน “นายหัวชวน” นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาเสนอแนะให้ทางการและภาคเอกชนเตรียมการช่วยเหลือหลังสถาน-การณ์น้ำลดลง ซึ่งจะเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย

“ในท้องถิ่น โดยเฉพาะนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และผู้ใหญ่บ้าน จะต้องรู้รายละเอียด เป็นอย่างดีว่า บริเวณ นั้นมีบ้านเรือนประชาชนอยู่กี่หลัง ซึ่งต้องให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากๆ เพราะคนนอกจะไม่มีข้อมูล เหล่านี้” นายชวนกล่าว

คำถามที่ตามมาคือ งบประมาณ “ก้อนต่อไป” จะถึงมือท้องถิ่นเมื่อไหร่ และอย่างไร ลำพังงบประมาณที่ท้อง ถิ่นได้รับการจัดสรรนั้น ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ ส่วนรายได้ที่ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บได้ ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม

ไม่ว่าจะเป็นกรณีน้ำท่วมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเทศบาล น้ำท่วมแหล่งท่องเที่ยว ล้วนแต่กระทบ กับรายได้ท้องถิ่นทั้งนั้น

“หลังจากน้ำลดมาตรการฟื้นฟูทุกด้านคงต้องใช้งบประมาณ อีกหลายพันล้านบาท ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเหลือก็คงไม่มีงบฯ ดำเนินการและไม่ทราบว่ารัฐบาลจะชดเชยงบฯส่วนนี้ให้อบต.หรือไม่” นายกสมาคม อบต. ระบุ

ด้านกรมส่งเสริมการปก-ครองท้องถิ่น หรือสถ. ได้ร่อนหนังสือแจ้งให้ท้องถิ่นทุกแห่ง เร่งสำรวจความเสียหายทันที หลังน้ำลด เพื่อขอรับงบประมาณช่วยเหลือจากภาครัฐ

วันนี้ท้องถิ่นยังคงนั่งรอความหวังจากรัฐบาลที่จะปล่อยงบ “ก้อนโต” ลงมาให้เพื่อฟื้นฟูท้องถิ่นของตนเอง ท่ามกลางสายตาที่มองมายังท้องถิ่นว่าจะบริหารจัด การงบถึงมือผู้ประสบภัยหรือไม่ ลำพังแค่เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ยังเป็นปัญหาและยังไม่ทั่วถึง

งานนี้จึงต้องจับตาว่า “อาฟเตอร์ช็อก” รอบนี้จะรุนแรงแค่ไหน

ที่มา:สยามธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นักวิชาการเชื่อหลังน้ำท่วม เศรษฐกิจไทยรุ่ง..!!?




ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ เปิด'มุมต่างหลังภัยน้ำท่วม GDP โตบนความสูญเสีย'มั่นใจหลังน้ำท่วมเศรษฐกิจพุ่ง

รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เขียนบทความชื่อ"มุมต่างหลังภัยน้ำท่วม GDP โตบนความสูญเสีย" ระบุว่า

ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วันที่ 18 ต.ค. 54 ระบุมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง 62 จังหวัด 621 อําเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,742,310 ครัวเรือน 8,795,516 คน เสียชีวิต 315 ราย สูญหาย 3 คน มีการประมาณการเบื้องต้นว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 100,000 ล้านบาท จะฉุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดไว้ว่าจะโตร้อยละ 4 ให้ลดลง ซึ่งเป็นการคาดประมาณตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวไว้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นมักตรงข้าม โดยจะพบว่า เมื่อประเทศเกิดปัญหาภัยพิบัติอย่างรุนแรง เผชิญความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ในไตรมาสต่อๆมากลับมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เช่น จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 4 มาเป็นร้อยละ 4.5 เป็นต้น ซึ่งสาเหตุแท้จริงก็ไม่ได้เป็นเพราะปัญหาพิบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยดูจากรายได้ประชาชาติปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นเพราะบัญชีรายได้ประชาชาติมิได้ถูกออกแบบมาเพื่อวัดมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติเหล่านี้

สิ่งที่มักพบช่วงหลังภัยพิบัติหรืออุกทกภัยคือ แน่นอนมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้บางประเภทประสบปัญหาและทำให้รายได้ประชาชาติปรับลดลง เช่น รายได้จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นอีกมาก เช่น อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มบรรจุขวด ปั๊มน้ำ สูบน้ำ อุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า ธุรกิจจัดสวน ไม้ดอกประดับ อู่ซ่อมรถ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจประกันภัย เวชภัณฑ์ การรักษาพยาบาล

รวมไปถึงการเร่งจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำท่วม ซึ่งการเพิ่มขึ้นของยอดขายเหล่านี้ จะมีผลทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นและทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เพิ่มสูงขึ้นด้วย

แม้ประชาชนจะสูญเสียทรัพย์สินมีค่าที่ใช้เวลาสะสมมานานอย่างบ้าน ที่อยู่อาศัย สถานประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์ ที่สวน ไร่นา มูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึกในรายการในบัญชีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จึงไม่ส่งผลฉุดให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ลดลง อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ อย่างไรก็ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและให้ผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งในภาวะปรกติจะสะท้อนความกินดีอยู่ดี แต่ในสภาวะการณ์ภายหลังภัยพิบัติ GDP ที่เติบโตจะสะท้อนความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องนำทรัพยากรไปใช้ในกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมโดยไม่ต้องอิงการเปลี่ยนแปลงของ บัญชีรายได้ประชาชาติ.

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

4 นิคมฯฝั่งตะวันออกระทึก.. ผุดเขื่อน 3 เมตรสู้ /1,000 โรงงานตั้งวอร์รูมลุ้น 24 ชั่วโมง !!?

นิคมอุตสาหกรรมฝั่งตะวันออกเตรียมรับมือสู้ภัยกระแสน้ำหลาก หลัง 5 นิคมฯ ใหญ่พระนคร ศรีอยุธยาล่มมาก่อนหน้านี้ เตรียมสร้างเขื่อน-คันกั้นน้ำ สูง 1.5-3.0 เมตร เพื่อป้องกัน พร้อมตั้งวอร์รูมจับตาสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมวางแผนอพยพคน งานหากถูกกระแสน้ำทะลักใส่ เผยข่าวดีสหรัฐฯ เตรียม ยืดสิทธิ์จีเอสพี “เฟอร์นิเจอร์-ชิ้นส่วนยานยนต์-เตาไมโครเวฟ-เลนส์แว่นตา” ซับน้ำตา

จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกกระแสน้ำทำลาย สร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนคร ศรีอยุธยาหลายแห่งถูกน้ำท่วมได้รับความเสีย หายอย่างหนัก อาทิ นิคมอุตฯ สหรัตนนคร, นิคมฯ โรจนะ, นิคมฯ ไฮเทค, นิคมฯ บางปะอิน,แฟคตอรี แลนด์ นิคมขนาดเล็กก็ถูก น้ำท่วม นอกจากนี้น้ำยังได้ลามมายังจังหวัดปทุมธานี จนต้องป้องกันอย่างแข็งขันในขณะนี้ รวมทั้งบางกระดี ส่วนนิคมทางโซนตะวันออกก็ยังวางใจไม่ได้

ล่าสุดนายศรณ์พงษ์ ชูอาตม์ ผอ. สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางพลี เปิดเผย ว่า ขณะนี้นิคมฯได้รับหนังสือจากกรมชลประทานแจ้งเตือนให้เตรียมความพร้อมรับมือน้ำจากรังสิตที่กำลังจะไหลลงมาด้านฝั่งตะวันออก จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ และร่วมประชุมกันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมาได้เสริมเขื่อนกั้นน้ำด้านหลังนิคมฯ สูงขนาด 1.50 เมตร ระยะทาง 4 กิโลเมตร ส่วนด้านหน้ามีถนนของกรมทางหลวงชนบทกั้นน้ำอยู่แล้วจึงไม่ต้องมีเสริมเขื่อนกันน้ำแต่อย่างใด
ขณะที่นิคมอุตฯบางพลีมีพื้นที่ 1,004 ไร่ มีโรงงาน 130 แห่ง เป็นแหล่งผลิตอะไหล่ชิ้น ส่วนยายนต์ อาหาร พลาสติก นมผงดูเม็กซ์ ครีมบำรุงผิวนีเวีย ล้อแม็กซ์เอ็นโก มีแรงงาน ทั้งหมด 25,000 คน วงเงินลงทุน 14,000 ล้านบาท ส่วนที่นิคมอุตฯบางปูก็ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติ การติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด และได้เตรียมรถแบ็กโฮ ปั๊มสูบน้ำ สถานีสูบน้ำ 11 จุดน่าจะเพียงพอสำหรับการระบายน้ำ

สำหรับนิคมที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ 2 แห่งคือ นิคมอุตฯบางชันและนิคมอุตฯลาด กระบังนั้น นายประภาส คล้ายศรี ผอ.สำนักงาน นิคมอุตสาหกรรมบางชัน กล่าวว่า เนื่องจาก นิคมฯแห่งนี้อยู่ในแนวกั้นน้ำของกรุงเทพฯ จึงมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมนิคมฯอย่างแน่นอน อย่าง ไรก็ตาม ได้เสริมคันกั้นน้ำไว้สูงถึง 2.10 เมตรแล้ว ถ้าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็จะสามารถอพยพคนงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีทางเข้า-ออกหลายทาง

ส่วนนิคมอุตฯลาดกระบัง ขณะนี้มีน้ำฝนท่วมขังในนิคมฯบางพื้นที่ แต่เป็นห่วงหลังจากได้รับแจ้งจากประตูน้ำชลหารพิจิตรว่าจำเป็นต้องระบายน้ำที่มาจากด้านเหนือลง มา ซึ่งจะทำให้น้ำรอบนิคมฯสูงขึ้น 50-80 ซม. ตอนนี้ได้วางเขื่อนกั้นน้ำแล้วสูง 1 เมตร ทำให้เป็นห่วงน้ำจะเข้าท่วมในเขตนิคมฯ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางนิคมฯร่วมกับทหารจากกอง พลทหารราบที่ 11 จำนวน 80 นายกำลังเตรียมพร้อม และกำลังจะเข้ามาเสริมอีก 100 นาย ตรึงกำลังป้องกันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ นิคมอุตฯลาดกระบัง ผลิตอิเล็ก ทรอนิกส์ ชิ้นส่วน อาหาร อัญมณี มีโรงงาน 254 แห่ง วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท มีแรงงานทั้งหมด 45,000 คน ขณะที่ทางฝั่งตะวันตก นางนงนุช ศรีประเสริฐ ผอ.สำนักงาน นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำที่ระบาย จากด้านทิศเหนืออย่างใกล้ชิด และได้สร้างเขื่อนกั้นน้ำสูง 2.80 เมตรไว้พร้อมแล้ว และต้องรายงานความเคลื่อนไหวให้ผู้บังคับบัญชาทราบวันละ 4 ครั้ง จึงมั่นใจว่าสามารถจะแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิคมอุตสาหกรรม ฝั่งตะวันออก 4 แห่งที่ถือเป็นนิคมฯขนาดใหญ่ ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่ก็อยู่ในแนวเส้นทางน้ำไหลผ่าน โดยทุกฝ่ายพยายามหาทางปกป้องนิคมฯเหล่านี้เต็มกำลังความสามารถ ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีโรงงานภายในนิคมฯจำนวน 231 โรงงาน เงินลงทุน 89,491 ล้านบาท นิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีโรงงาน 93 โรงงาน เงินลงทุน 19,848 ล้านบาท นิคมอุตสาหกรรมบางพลี มีโรงงาน 137 โรงงาน เงินลงทุน 54,291 ล้านบาท และนิคมอุตสาหกรรมบางปู มีโรงงาน 456 โรงงาน เงินลงทุน 105,502 ล้านบาท ผู้ประกอบการย้ายฐานผลิตจ้าละหวั่น

นายสาธิต เกียรติกำจร เจ้าหน้าที่ประจำนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร กล่าวว่า หลังจากน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ปรากฏว่ามีผู้ผลิตสินค้าหลายยี่ห้อ อาทิ นิคอน ฟูจิกูระ รองเท้าเอ็นโก เข้ามาติดต่อขอซื้อพื้นที่เพื่อผลิตสินค้า แต่ทางนิคมฯมีนโยบายให้เช่าไม่ได้ขาย จึงมีโรงงานบางรายกลับไป มีเพียงเอ็กโกเท่านั้นที่สนใจจะขยายโรงงานจาก 25 ไร่ เป็น 45 ไร่ และจะเปิดกำลังการผลิต วันที่ 19 ตุลาคมนี้

ขณะที่นายปรีชา จรเณ ผอ.สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง กล่าวว่า พื้นที่นิคมฯแหลมฉบังเต็มหมดแล้วที่พอเหลืออยู่จะเป็นนิคมฯปิ่นทองและอมตะซิตี้ อย่างไรก็ ตาม ที่แหลมฉบังยังต้องการแรงงานจำนวนมาก 1,000-2,000 คน ซึ่งคาดว่าจะรองรับแรงงานที่จะมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีได้

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วงหลังน้ำลด กระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการช่วยเหลือโดยการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรนำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหาย และอากรขา เข้าสำหรับวัตถุดิบนำเข้าที่เสียหายจากน้ำท่วม รวมทั้งอนุญาตให้ย้ายโรงงานไปอยู่ที่นิคมฯ/เขตประกอบการอุตสาหกรรมอื่นได้ รวมทั้งจะมีการเสนอเพิ่มเติมต่อบีโอไอให้ยกเว้นอากรขาเข้า ในกรณีวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตเพื่อ การส่งออก หากเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติทุกกรณี นอกจากนี้ ยังได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีแก่สถานประกอบการ และยกเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมการต่อใบ อนุญาตเป็นระยะเวลา 5 ปี สหรัฐขยายสิทธิจีเอสพีช่วยน้ำท่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมได้สร้างความเสียหายให้กับภาค อุตสาหกรรมของไทยนั้น ยังมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อมีรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าใน ต่างประเทศ ณ นครชิคาโกว่า สหรัฐอเมริกาได้ต่ออายุจีเอสพี หรือโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ให้สิทธิกับประเทศไทย โดยส่งสินค้าไปสหรัฐจะไม่เสียภาษีศุลกากรนำเข้า ไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค.2556 และให้มีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2553 ซึ่งส่งผลดีต่อสินค้าไทยหลายรายการ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เตาอบไมโครเวฟ เลนส์แว่นตา เป็นต้น สอดคล้องกับราย งานข่าวก่อนหน้านี้ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรของสหรัฐ อเมริกาได้อนุญาตให้ประเทศไทยสามารถส่งออกผลแก้วมังกรสดไปยังสหรัฐแล้ว การที่สหรัฐยอมรับแก้วมังกรนำเข้าจากไทยทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปยังสหรัฐเพิ่มจากเดิม 6 ชนิด เป็น 7 ชนิด ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด เงาะ สับปะรด มะม่วง และแก้วมังกร ซึ่งเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกรของไทยที่จะสามารถขยายช่องทางการตลาดและจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า จากกรณีน้ำท่วมในกว่า 20 จังหวัดของไทย ส่งผลทำให้วัตถุดิบสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมไม่สามารถป้อนเข้าโรงงานผลิตได้ รวมถึงเส้นทางการขนส่งถูกตัดขาด อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมไม่น่าจะกระทบตัวเลขการส่งออกปีนี้ที่ 20% แต่อาจจะต้องทบทวนตัวเลขเป้าหมายปีหน้า ไม่น่าจะโตได้ 15% เพราะความเสียหายเกิดขึ้นหลายจุด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาจากอุทกภัยโดยตรงจนผลิตต่อไม่ได้ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่มีพื้นที่เพาะปลูก เพาะเลี้ยง หรือสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบจากท้องที่ เช่น หนังสัตว์ รวมทั้งอุตสาหกรรมหนักประเภทชิ้นส่วนยาน ยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เบา เช่น เครื่องสำอาง เป็นต้น “ได้ประสานไปยังสมาคมต่างๆ เพื่อให้ทำการสำรวจคลังสินค้าของสมาชิกที่ยังมีพื้นที่ว่างสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมได้ และทางกรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ประสบ ปัญหาต่อไป” นางนันทวัลย์ กล่าว

ที่มา:สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ !!?

มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ!!!
ฟันธง คอนเฟิร์มเลยว่า..นี่เป็นพฤติการณ์ แห่งแผนเลวระยำ??
ไอ้นายหมู นายหมา สับปะรังเคตัวไหนก็ไม่ทราบ ไปด่ากราดชี้หน้า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ขณะนำกำลังพล ช่วยน้ำท่วมที่จังหวัดปทุมธานี
สมควรหรือ ที่ “นักเล่าข่าว” ผู้สร้างเร็ตติ้งดราม่า ถึงได้ โหวกเหวกว่าเป็น “สาวกคนเสื้อแดง” ทั้งที่ไร้หลักฐาน พยานอ้างอิง ในข้อมูล
อาจจะมีคน “สวมรอย” สร้างความแยกแตกก็ได้..ใยไม่คิดกันมั่งล่ะคุณ
ดูแล้วทุกอย่างเขาเตี๊ยม..เพื่อที่จะเสี้ยม?...เพื่อให้รัฐบาลไหม้เกรียม จะล้มได้ง่าย ๆ ??

----------------------------

“จุดชนวน” ให้ “บ้านเมืองยุ่ง”!!
สร้างอารมณ์ความเกลียดชัง ให้คนไทยที่น้ำท่วมต่อน้ำท่วม ขัดแย้งกันให้ได้สิคุณลุง
นำเสนอความแยกแตก...คนบ้านเหนือเข้ารื้อเขื่อน ทำนบ พังคันนา เพื่อให้ท่วมเสมอภาค
“นักเล่าข่าว” โทรทัศน์.. สร้างเงื่อนไข ให้คนไทยต่อคนไทย เผชิญหน้ากันเป็นอันมากส์
ทำให้ “ไทยต่อไทย” แตกกันเป็นขั้ว...หลังจากศึกสีเสื้อ “แดง-เหลือง”เริ่มเบาบาง!!
ดูแล้วเหมือนมีวาระแฝง....สร้างสถานการณ์แรง?..เพื่อให้ทอปบู๊ตแทรกแซง อีกครั้ง??

----------------------------

โมเดลที่ “ปทุมธานี”!!
ถ้าผู้นำ ผู้ว่าราชการจังหวัด สิ้นน้ำอิ๊ว ควรที่จะย้าย “พ่อเมืองพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า” พ้นไปจากตำแหน่ง เสียที???
โอดกาเหว่า คร่ำครวญอย่างแรง เรียกร้องให้ “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข็น “พรบ.ฉุกเฉิน” ออกมาให้ เพื่อให้ “ทหาร” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เข้ามาควบคุมสถานการณ์น้ำ ที่เอ่อนอง จนอ่วม
แต่ก่อนหน้านี้ ส่งสัญญาณใสปิ๊ง คุยเจ็ดย่านน้ำ “เมืองปทุม” อย่างไรก็ดี.. น้ำไม่ท่วม
ครั้นน้ำเหนือหลากมา จาก อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ก็เจิ่งนองสามโคกคุมไม่ได้... ซึ่งก็ไม่ได้เป็นความผิด..แต่ที่เอะอะมะเทิ่ง ให้ออก “พรบ.ฉุกเฉิน” ทหารเข้ามากระชับพื้นที่ ดูแลน้ำท่วม โดยเน้นว่า ได้บารมี “พล.อ.ประยุทธ์” จึงทำให้ทุกอย่าง คลี่คลายลงไป
ตีความหมายอย่างหนักแน่น...เหมือนท่านดูแคลน?..อยากให้ทหารมาทดแทนผู้ว่าฯนั่นไง

----------------------------

อำนาจผลัดกันชม!!
มีอำนาจมาก ก็ไม่ใช่สิ่ง ที่รื่นอภิรมย์??
“ซีซ่าร์ แห่งกรุงโรม” นักรบผู้ยิ่งใหญ่..ได้อำนาจบุญบารมีใหญ่คับฟ้า..สุดท้ายก็ดิ่งร่วงพสุธา กลิ้งโค่โร่
ลงจากหลังเสืออย่างสมเกียรติไปแล้ว “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ในฐานะพี่ใหญ่ทหารบูรพา คนโต
ชีวิตหลังเกษียณ ไม่ต้องมาถือดาบอาญาสิทธิ์คุมอำนาจแผ่นดิน ดูแล้วท่านชื่นบาน!!!
ละจากการเมืองได้....ชีวิตมีแต่ยิ่งใหญ่?....เป็นสุขใจจะมีอะไร ดีกว่าหรือล่ะท่าน??

----------------------------

เป็น “แชมป์กระโดดค้ำถ่อ”!!
สำหรับ “คุณพี่ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ” สมาชิกบ้านเลขที่ ๑๑๑ ที่ถูกเว้นวรรค โดนแชวน นั่งตัวลีบตัวงอ
จากแต่ก่อน เป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ “เสี่ยสุวัจน์ ลิมปพัลลภ” นักการเมืองเก่งผู้ยิ่งใหญ่
เมื่ออนาคตการเมือง หดสั้นจู๋เป็นรูเข็ม “เสี่ยปรีชา” ก็โบกมือบ๊ายบาย
มาตั้งป้อมกับ “กลุ่ม ๓พี” เสี่ยพินิจ จาสุสมบัติ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี (วายชนม์ไปแล้ว) และตัวเอง “เสี่ยปรีชา เลาหพงศ์ชนะ” ร่วมตั้งกลุ่มเป็นที่กล้าแกร่ง..แต่บัดนี้เริ่มโรยรา นัยว่า “คุณพี่ปรีชา” เตรียมชิ่งไปอยู่กับ “เสี่ยจาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จอมเก๋าส์
ถ้าจาตุรนต์หมดแรงห้อ..ไม่รู้เสี่ยปรีชาจะค้ำถ่อ?..กระโดดต่อ ไปอีกหรือเปล่า???

ที่มา:คอลัมน์ ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แค้น : ไม่อาจสะท้อน ไม่พอสะท้าน !!?

โดย ชญานิน เตียงพิทยากร
ที่มา:Siam Intelligence Unit

แค้น ศุภวัฒน์ หงษา

เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ครั้งที่ 4 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ เพิ่งคลี่ม่านปิดฉากไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
ผมได้ไปร่วมงานมาบ้างประปราย และไม่ได้ชมการแสดงกับงานศิลปะทั้งหมด แต่มีงานละครเวทีสองเรื่องในเทศกาลนี้ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจนำมาขยายผลต่อ ได้แก่ ‘แค้น’ (ศุภวัฒน์ หงษา) และ ‘อัสลาม… จากเจ้าหญิงเสียงเศร้าแห่งดาวดวงที่ ๔’ (ฟารีดา จิราพันธุ์)

จุดร่วมของละครทั้งคู่คือเป็นละครที่สอบผ่านในแง่มุมด้านศิลปะ ไม่มีใครบริภาษว่าละครสองเรื่องนี้ย่ำแย่เลวร้าย หากแต่จุดบอดบางประการที่ปรากฏอยู่และแทบจะซ้อนทับกัน ทำให้รู้สึกว่าควรบันทึกไว้ให้เห็นชัด เนื่องด้วยทั้งศุภวัฒน์และฟารีดาต่างเลือกหยิบจับประเด็นทางสังคมการเมืองที่ร้อนแรงมานำเสนอ และผมเห็นว่าทั้งคู่มี ‘กำแพงส่วนตัว’ แบบเดียวกัน ที่กั้นไม่ให้ละครของพวกเขาขึ้นไปสู่จุดสูงสุดได้
ในบทความตอนนี้ ขอกล่าวถึงเรื่อง แค้น ก่อน และจะกล่าวถึง อัสลาม ในบทความชิ้นต่อไป


แค้น ศุภวัฒน์ หงษา
อิ่ม (รับบทโดย สิทธยา นักปราชญ์) / ศักดิ์ (รับบทโดย วสุ วรรลยางกูร)

‘แค้น’ เล่าเรื่องชีวิตชาวสลัมยากจนในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยในเวอร์ชั่นของศุภวัฒน์นี้เป็นงานสำเร็จการศึกษาที่แสดงไปเมื่อช่วงกลางปี ก่อนจะ re-stage ในงานรำลึก 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ดัดแปลงจากบทละครเดิมของ วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ ซึ่งเคยถูกสร้างเป็นละครเวทีโดย ยุทธนา มุกดาสนิท เมื่อปี 2518 – ยุครอยต่อทางการเมืองที่นักศึกษามีบทบาท ตื่นตัวทางการเมือง ตั้งคำถามกับความเป็นไปของสังคม ณ ตอนนั้น และสถานการณ์เริ่มคุกรุ่นอีกรอบ และไปปะทุเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ตรงนี้แหละปัญหา… ตรงความเป็น 2516, 2518, 2519 นี่แหละปัญหา
ผมพูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่า ศุภวัฒน์ซื่อสัตย์กับบทละครต้นฉบับมากเพียงใด (เพราะไม่เคยอ่านบท และเกิดไม่ทันจะมีโอกาสได้ดูเวอร์ชั่นของยุทธนา) แต่จากที่ดูแล้วผมพบว่า แทบไม่พบการตีความเพิ่มเติมหรือต่อยอดจากบริบทสังคมเมื่อ 36-37 ปีก่อนมากเท่าไรนัก -อาจไม่ใช่สาระสำคัญ- แต่เมื่อทางผู้กำกับและคนเขียนบทของเวอร์ชั่นปี 2554 ได้เชื่อมโยงชิ้นงานของตนเข้ากับเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 แต่กลับไม่ได้ดัดแปลงบทละครให้สอดรับหรือต้านค้านกับบริบทสังคมร่วมสมัย ย่อมเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถาม
เรายังพบการ romanticize คนจนในลักษณะที่อีหลักอีเหลื่อพอสมควร ละครเสนอว่าที่คนจนต้องทำอะไรที่ถูกหมายรวมว่าเป็น ‘ความเลว’ (เช่น เสพยา, ปล้นจี้, ขายตัว หรือฆ่าคน) เป็นผลจากการที่ถูกคนที่อยู่ในสถานะทางสังคมเหนือกว่ากดขี่ข่มเหง ซึ่งมันแหลมคมและส่งผลรุนแรงกับผู้ชมได้ในบริบทของต้นฉบับ แต่ไม่ใช่ในปี 2554

ดูเหมือนศุภวัฒน์เองก็จะรู้ว่าการใส่ฉากคนจนถูกย่ำยีบีฑา เหยียดประนามหยามหมิ่น ใน พ.ศ. นี้เป็นอะไรที่ดูเชย ล้าสมัย และไร้พลัง (ลองนึกถึงฉากประเภทเจ้าแม่เงินกู้มาด่าคนสลัมว่า “ก็เพราะแกมันขี้เกียจถึงไม่มีเงินมาใช้หนี้ฉัน” ดูสิครับว่ามัน ‘ละครทีวี’ ขนาดไหน) ระหว่างที่เราดูละครก็ไม่พบฉากทำนองนี้ปรากฏอยู่ในเรื่องเลย ฟังดูเหมือนจะดีที่ละครลดทอนสิ่งที่ล้าสมัยและไม่จำเป็นออกไปเสีย แต่ผลสะท้อนของมันคือกลายเป็นว่า คนจนคนสลัมพวกนี้ก็ก้มหน้าด่าตัวเอง กดตัวเอง ดูถูกตัวเอง มโนไปเองว่าคนอื่นเขามองว่าตัวเองต่ำ dramatize ความยากจนของตัวเองไปเรื่อยๆ จนทุกอย่างเกิดจากการย้ำทัศนคติฝังหัวตัวเองทั้งสิ้น

ด้วยวิธีการเล่าและนำเสนอ กลายเป็นว่าชะตากรรมของตัวละครชาวสลัมทั้งหลายในเรื่องเกิดจากพวกเขาทำตัวเองทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก (อย่างที่ผู้กำกับตั้งใจ) เพราะเมื่อละครอ่อนพลังในการชูประเด็นรายรอบไป ขาดความละเอียดประณีตในทางประเด็นไป มันก็เลยเหลือสารเพียงเท่านี้ที่ส่งมาถึงคนดู เราไม่ได้เห็นอาการง่อยเปลี้ยเสียขาอันเกิดจากสถานะทางสังคมชัดเท่ากับการที่ตัวละครพูดกรอกหูตัวเอง (มีตัวละครถึง 3 ตัวที่มีหน้าที่เพียงแค่เดินเข้าฉากแล้วพูดประเด็นออกมาอย่างทื่อตรง โดยไม่ได้อยู่ในลักษณะ ‘ยั่วให้คิด’ แต่เป็น ‘พูดให้เชื่อ’) แม้กระทั่งฉากที่ตัวละครถูกประหารชีวิต แล้วโยงไปถึงการใช้ มาตรา 17 อันเป็นอำนาจประกาศิตในสังคมเผด็จการทหาร ก็ไม่ได้มีพลังพอที่จะให้เห็นโครงสร้างอำนาจรัฐที่กดทับประชาชน เนื่องด้วยสิ่งที่ตัวละครทำต่อให้ไม่ใช้มาตรานี้จัดการ ก็เข้าข่ายให้ถูกตัดสินประหารชีวิตได้อยู่ดี

พยอม แค้น ศุภวัฒน์ หงษา
พยอม (รับบทโดย เศรษฐินันท์ กนิกาจิรานันท์)

ฟังก์ชั่นของตัวละครไม่ถูกขับเน้นให้เห็นความเป็นมนุษย์มากนัก เพราะดูเหมือนผู้กำกับจะพึงใจกับลักษณะที่ตัวละครเป็นตัวแทนความคิดในจุดยืนต่างๆ มากกว่า (มีเพียงตัวละคร ‘พยอม’ เมียเก่าของพระเอกซึ่งกลายเป็นโสเภณีจีไอเท่านั้นที่ดูเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อในละครเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงตัวหนังสือในบทละคร แต่ต้องยกประโยชน์ให้ผู้แสดงที่ตีความตัวละครได้ละเอียดน่ายกย่องด้วย) เราก็จะเห็นแม่จนๆ ที่รู้สึกต่ำต้อยในความจน พระเอกที่เพิ่งออกจากคุกและลืมตาอ้าปากไม่ได้เพราะความจน น้องสาวพระเอกที่ไม่มีอะไรทำเพราะความจนเลยต้องเป็นกะหรี่ตามเพื่อน เพื่อนพระเอกที่มีเงิน มีฐานะขึ้น เพราะขายของเถื่อน ฯลฯ

รวมถึงประเด็นเรื่อง ‘ความแค้น’ (ของชนชั้นล่าง ต่อชนชั้นที่สูงกว่า ซึ่งน่าจะเป็นแกนหลักของเรื่อง) ก็ไม่ได้ถูกเน้นให้เห็นชัดเจนมากไปกว่าบทพูดยาวๆ ใช้ศัพท์ซ้ายๆ การเมืองๆ (ประเภทว่า ‘เงินคือพระเจ้าในโลกทุนนิยม’ อะไรแบบนั้น) ไม่ได้เห็นความคับข้องเคียดแค้น น่าเห็นใจ หรือสภาวะที่ตัวละครต้องแบกรับอยู่ มากไปกว่าการบิลด์ให้ตัวเองแค้นแล้วก็ลงมือกระทำการอันโหดเหี้ยม ก่อนจะใช้ไดอะล็อกต่างๆ มาเป็นเครื่องมือเรียกร้องความน่าสงสารน่าเห็นใจ ซึ่งไม่ได้ผลเท่าที่ควร

บางที scope ของละครอาจดูกลมกล่อมลงตัวกว่านี้ในทางประเด็นตัวบทถ้าไม่พยายามพูดออกนอกเขตสลัมมากนัก และไปขับเน้นอารมณ์ให้ชัดๆ ดีกว่า เช่น เคี่ยวให้เห็นว่าอำนาจรัฐกดขี่ผู้คนอย่างไร ไม่ใช่นำเสนอเพียงบางๆ อย่างที่เป็น เพราะนอกจากตัวละครมากมายในสลัมแล้ว ละครยังพาเราไปให้เห็นทหารไทยปะทะคารมทางอุดมการณ์กับทหารคอมมิวนิสต์ลาวด้วย ซึ่งกลายเป็นว่าประเด็นเรื่องอำนาจรัฐยิ่งเบาบาง แตกกระจาย และไม่แหลมคมมากขึ้นไปอีก ผมลองคิดเล่นๆ ดูว่าทำไมไม่ให้เป็นบทสนทนาของทหารรัฐไทยกับคอมมิวนิสต์ไทยไปเลย เราอาจเห็นมุมที่รัฐกระทำต่อคนในชาติชัดเจนมากขึ้นด้วยซ้ำ และจะช่วยเสริมให้สารของเรื่องแข็งแรงขึ้น น่าคิดตามมากขึ้น (อย่างจุดประสงค์ของละครที่บอกว่าจะ ‘สะท้อนชนชั้น สะท้านอคติ’)

ผมไม่มีสิทธิ์ไปบอกผู้กำกับอยู่แล้วว่า เขาจะต้องคิดหรือเชื่อแบบเดียวกับที่ผมอยากให้เป็น การทำงานศิลปะไม่ได้หมายความว่าจะต้องแหลมคมหรือก้าวหน้า (ในความคิดของคนดู) เสมอไป แต่ข้อกังขาที่เกิดขึ้นกับตัวผมก็คือ ในสภาวะสังคมเช่นนี้ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 (หรือถ้าไกลไป ตีแคบเข้ามาเป็นหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2552 ก็ได้) ผมไม่เชื่อว่าผู้กำกับจะยังเชื่อในชุดความคิดที่ใช้อธิบายสังคมในสมัยปี 2518 และไม่คิดว่าชุดความคิดดังกล่าวจะทาบทับซ้อนสนิทกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2553

จากภาพของละครที่เสนอออกมา ผมไม่รู้สึกว่าสิ่งที่สื่อสารออกมานั้นจะต่างกับวาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่ระบาดอยู่ในสังคมไทยสักกี่มากน้อย (อีกทั้งวาทกรรมนี้ก็ถูกรื้อสร้าง ตั้งคำถาม นิยามใหม่ จากหลายฝั่งความคิดในปัจจุบัน) และเมื่อผนวกกับความเคลื่อนไหวอันฉับไวของความคิดทางสังคมการเมืองในประเทศไทยปัจจุบัน นั่นทำให้ละครเรื่องนี้ไม่มีพลังและไม่ได้ส่งผลสะท้านสะเทือนใดๆ นอกจากการเป็นเวอร์ชั่นรีเมคของละครดังเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ที่ถูกแช่แข็งอยู่เช่นนั้นในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มากกว่าที่จะเป็นบทวิพากษ์สังคมร่วมสมัยที่แหลมคม พลังของงานศิลปะทั้งการทำหน้าที่สะท้อนและสะท้านผู้ชมจึงไม่ได้ทำหน้าที่ เมื่อคำถามในละครนั้นตามหลังคำถามในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่หลายก้าว

หากจะตอบคำถามที่ว่า “ทำไมคนจนถึงต้องทำแบบนั้น” ด้วยคำตอบแบบที่ ‘แค้น’ เสนอ ก็ไม่ใช่การอธิบายสถานการณ์ที่ทันสมัยเอาเสียเลย คำตอบทำนองว่า “เพราะคนจนถูกสถานภาพทางสังคมและอำนาจรัฐกดทับ ไม่เอื้อให้เขาลืมตาอ้าปากได้ในโครงสร้างสังคมไทยที่เป็นเช่นนี้” ได้กระจายไปทั่วสังคมไทยมานานแล้ว และคำตอบนี้ไม่ใช่ผลที่น่าพึงพอใจสำหรับคนที่ยังคงมีคำถามอยู่ ปัจจุบันคำถามที่ร่วมสมัยในประเด็นนี้คือ “การที่เราจนอยู่อย่างนี้ เป็นผลจากอะไร หรือจากใคร และใครเป็นผู้กำหนดโครงสร้างที่กดทับเราเช่นนี้” ต่างหาก

การพูดถึงเหตุการณ์ในอดีต ไม่ได้เป็นตัวบีบบังคับว่าเราจะต้องตั้งคำถามที่เป็นอดีตไปด้วย เรานำอดีตมาวิพากษ์ปัจจุบันได้ ใช้เป็นเครื่องมือในการตอบคำถามที่เป็นปัจจุบันได้ น่าสงสัยว่าที่ศุภวัฒน์ไม่ทำเช่นนี้เพราะเขาเชื่อจริงๆ ว่าเราสามารถใช้ชุดความคิดแบบ 37 ปีก่อนมาอธิบายปัจจุบันได้ หรือเพราะคำอธิบายของปี 2554 มันเป็นคำตอบที่นำมาใส่ในละครเวทีไม่ได้กันแน่?


[วิดีโอการแสดงทั้งเรื่อง, วันที่ 5 ตุลาคม 2554, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิษณุ.เล่าเรื่องน้ำทิพย์จาก 'ฟ้า' ซับน้ำตา ปู.. วันไร้คุณสมบัติผู้นำ !!?

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2554



"..พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาต่อรัฐบาลทุกรัฐบาลเท่าเทียมกัน ในความหมายที่ว่าต้องการให้ท่านช่วยอะไร ท่านช่วยเสมอเหมือนกัน และไม่ต้องไปดูว่าพรรคไหน ใคร มาจากไหน เรื่องอย่างนี้คนอย่างคุณทักษิณรู้แก่ใจ คนอย่างคุณบรรหาร คุณชวน พล.อ.ชวลิตรู้อยู่แก่ใจทั้งหมดว่าหากไม่ได้พระมหากรุณา รัฐบาลจะเป็นอย่างไร..."

"ในแวดวงการเมือง รักใครอย่ารักจนหมดหัวใจ และเกลียดใครก็อย่าเกลียดเขาจนหมด ทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งนั้น"

คือคำแนะนำถึงคนดู-คนฟัง-คนติดตามการเมือง ที่หลุดจากปากบุรุษผู้เคยอยุู่ทั้ง "เบื้องหน้า" และ "เบื้องหลัง" ม่านการเมือง

เคยสัมผัสบุคคลระดับ "เบื้องบน" และ "เบื้องล่าง"

จนสามารถเก็บรายละเอียด-ข้อเท็จจริง-บทสนทนาประวัติศาสตร์ ก่อนถ่ายทอด "เบื้องลึก" ในทุกแง่มุมผ่านหนังสือ "เรื่องเล่าจากเนติบริกร"

แม้ "วิษณุ เครืองาม" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไม่เคยร่วมงานกับ "นายกฯหญิง" นาม "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

แต่ประสบการณ์รับใช้ 7 นายกฯ 10 รัฐบาล ทำให้เขาอดติดตามลีลา-ท่วงท่าของ "นักแสดงนำ" บนเวทีการเมืองไม่ได้

"วิษณุ" เปิดปากรับสารภาพว่า รู้สึกเข้าใจ-เห็นใจ "ยิ่งลักษณ์" ที่ต้องขึ้นเป็น "นายกฯ คนที่ 28" ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง

มิหนำซ้ำ เข้ามาไม่ทันไร ก็ต้องรับมือกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติไทย

"ถ้าจะให้ประเมิน ให้มอง อย่างไรเสียมันก็ดีไปไม่ได้หรอก ต้องให้เวลาหน่อย แต่ถ้าให้มองเฉพาะตัวคุณยิ่งลักษณ์คนเดียว เรื่องการปฏิบัติการในขีดความสามารถที่จำกัด หรือที่มีอยู่ ท่านทำได้ดีพอสมควร หรือเกินกว่าที่ผมคิดเอาไว้เยอะเลย ผมยังนึกว่าถ้าน้ำซัดมาตูมแรก คุณยิ่งลักษณ์คงนั่งร้องไห้ 7 วัน บังเอิญแกร้องอยู่วันเดียวแล้วจบ จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน ใครแนะอะไรก็ทำ แต่บังเอิญคนแนะมันมีหลายคน แนะคนละอย่าง แกเลยทำอะไรไม่ถูก ก็ได้ทำไปดีเท่าที่คนคนหนึ่งจะพึงทำได้ในเวลาอันจำกัด และขีดความสามารถอันจำกัด ถ้าเป็นคนอื่น เขาอาจทำได้ดีกว่านี้ หรือถ้าเป็นคนอื่นแล้วดันทำได้เหมือนคุณยิ่งลักษณ์ ต้องโดนตำหนิมากแน่เพราะคุณเจนเวที นี่เขาทำได้แค่นี้ ผมถึงได้ให้คะแนนด้วยความเห็นใจ"

คือเสียงเชียร์จาก "วิษณุ" หลังสลัดบท "เนติบริกร" แล้วมานั่งชมละครการเมืองในฐานะ "คนดู" มาได้ 5 ปีแล้ว

ไม่ว่า "ยิ่งลักษณ์" จะแสดงดี-มีเรตติ้งหรือไม่ แต่ "วิษณุ" ยอมคารวะให้ในฐานะที่ "เธอ" คือ "ผู้นำ"

"เมืองไทยเราเสียอย่าง ใครเป็นผู้นำ เราไม่เรสเปก (เคารพนับถือ) มีแต่จะเหยียบย่ำทำลาย หรือเหยียดหยาม ซึ่งมันผิดทั้งมารยาทและผิดวัฒนธรรมไทย"

ในภาวะวิกฤตธรรมชาติ ผู้นำแบบไหนจะสามารถนำพาประเทศให้ก้าวพ้นภัยได้?

เขาบอกว่า นิยาม "ผู้นำ" ที่ง่ายที่สุดคือคนที่คนเขายอมตาม ใครที่ขึ้นมาแล้วคนไม่ยอมตาม แปลว่าคนคนนั้นสักแต่ว่าเป็นผู้นำเพราะมีคนตั้งให้เป็น แต่เมื่อคนไม่ตาม คุณก็นำใครไม่ได้ วัวก็เป็นผู้นำได้ ถ้าฝูงโคยอมตาม แต่ถ้าผู้นำโคจะเลี้ยวซ้าย ฝูงโคจะเลี้ยวขวา หัวหน้าโคก็นำไม่ได้ฉันใด ผู้นำจึงต้องยอมทำให้คนตามฉันนั้น เราจะเห็นเทคนิคของผู้นำหลากหลาย บางคนใช้เงินเพื่อจะให้คนตาม บางคนใช้สติปัญญา บางคนใช้ความกล้า บางคนใช้คุณธรรม ดังนั้น สไตล์ใคร ศักยภาพของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

"หากใช้สไตล์คนอื่นมาเทียบกับคุณยิ่งลักษณ์ ก็เป็นการไม่ยุติธรรม ต้องใช้ที่คุณยิ่งลักษณ์เองว่าสามารถทำให้คนตามได้หรือไม่ ผ่านมา 2 เดือนเศษ ผมมองว่ายังไม่เต็มที่ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนยังมองว่าเหนือคุณยิ่งลักษณ์มีคนอื่น ถ้าจะตามคือตามคนอื่นดูจะถูกเป้า และตรงประเด็นกว่า แต่คุณยิ่งลักษณ์เองก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างภาวะผู้นำของตัวขึ้นมา เท่าที่เห็นและเท่าที่ผมทราบมา มีหลายเรื่องที่ใครจะว่ายังไงก็ตาม แต่คุณยิ่งลักษณ์คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ แล้วแกก็ชนะด้วย แกก็ได้ด้วย"

อดีตเสนาธิการ ครม.ชี้ว่าคุณสมบัติที่ "ผู้นำ" พึงมี-พึงเป็น มีอย่างน้อย 4 ประการ

1.มีเวลาในการทำงาน แต่ของไทยอยู่ 3 เดือน 6 เดือน เดี๋ยวก็ยุบสภา เดี๋ยวก็ลาออก ทำอะไรยังไม่ทันเห็นผลสำเร็จก็ไปแล้ว "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เปรียบเพราะเป็นผู้นำคนแรกที่อยู่ครบเทอม 4 ปี ชนิดไม่มีรัฐบาลไหนเสมอเหมือน จึงได้ประโยชน์จากเวลา

2.มีเสนาคือ มีลูกมือเอาไว้คอยช่วยงาน ผู้นำที่เก่งคนเดียว คิดคนเดียว เหนื่อยคนเดียว ก็บ้าอยู่คนเดียว นายกฯไทยหลายคนคิดแล้วไม่มีคนเอาไปทำต่อ แต่หลายคนคิดแล้วมีคนเอาไปทำต่อ อย่าง "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มีบุญตรงนี้ พอคิดก็จะมีคนเอาไปทำต่อ ถ้าเศรษฐกิจ "เสนาะ อูนากูล" เอาไปทำต่อ ถ้ากฎหมาย "มีชัย ฤชุพันธ์" เอาไปทำต่อ การเมืองมีอีกคนเอาไปทำต่อ ดังนั้น ไม่ต้องคิดจนจบ คิดสัก 2 ประโยค ก็จะมีคนมาต่อให้ 3, 4, 5

3.มีวิสัยทัศน์ ซึ่งต้องยกให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ที่เห็นอะไรนิดเดียว คิดไปคืบหนึ่ง พอเห็นคืบ คิดไปศอก

4.มีธรรมะ ซึ่งผู้นำไทยหาไม่ค่อยเห็นในเรื่องนี้

"ถ้าผู้นำมีสิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ง่าย จริงๆ นายกฯอย่างคุณชวน (หลีกภัย) คุณบรรหาร (ศิลปอาชา) คุณทักษิณ (ชินวัตร) ก็มีสิ่งเหล่านี้ แต่อาจจะยังไม่ครบ แต่คุณยิ่งลักษณ์อาจยังไม่มีเลยสักข้อ ก็ต้องใช้เวลาสร้างขึ้นมาให้ได้ ทำอย่างไรจะให้มีครบทุกข้อ หรือไม่ครบ แต่ทำได้สัก 2 ใน 4 ก็จะเป็นผู้นำที่นั่งอยู่ในใจคนได้"

นอกจาก "คุณสมบัติเฉพาะตัว" ซึ่งเป็นเรื่องที่ "ผู้นำ" แต่ละคนต้องสร้าง-สั่งสมขึ้นเองแล้ว หลายครั้งเมื่อต้องเผชิญวิกฤต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทานกำลังใจให้รัฐบาล ดุจ "น้ำทิพย์ชโลมใจ"

ทว่าในช่วงที่ผ่านมาพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ที่รับสั่งกับคณะบุคคลต่างๆ มักถูกนำไปแปลความเข้าข้างตนเอง โดย "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" อดีตรองนายกฯ ใช้คำว่า "รู้สึกว่าเจ้านายท่านไม่กลับรับสั่งอะไรแล้ว?"

ในฐานะที่เคยทำงานใกล้ชิดราชสำนัก มีโอกาสเข้าเฝ้าฯพร้อมนายกฯหลายคน "วิษณุ" กล่าวยืนยันว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาต่อรัฐบาลทุกรัฐบาลเท่าเทียมกัน ในความหมายที่ว่าต้องการให้ท่านช่วยอะไร ท่านช่วยเสมอเหมือนกัน และไม่ต้องไปดูว่าพรรคไหน ใคร มาจากไหน เรื่องอย่างนี้คนอย่างคุณทักษิณรู้แก่ใจ คนอย่างคุณบรรหาร คุณชวน พล.อ.ชวลิตรู้อยู่แก่ใจทั้งหมดว่าหากไม่ได้พระมหากรุณา รัฐบาลจะเป็นอย่างไร และในฐานะที่ท่านเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้นำ ท่านมีอำนาจที่เราเปิดไม่เจอในรัฐธรรมนูญ แต่เขาพูดกันมาตั้งแต่โบราณ พูดมาตั้งแต่อังกฤษว่าพระมหากษัตริย์แม้จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีอำนาจตักเตือนรัฐบาล มีอำนาจจะให้กำลังใจรัฐบาล มีอำนาจจะแนะนำรัฐบาล เป็นอำนาจ ไม่ใช่หน้าที่ ดังนั้น ถ้าจะมาบอกว่าอ้าว! ทำไมไม่เห็นทรงแนะนำเลย ก็มันไม่ใช่หน้าที่ท่าน เมื่อเป็นอำนาจ ท่านจะทรงใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ ทางที่ดีเนี่ย รัฐบาลขอพระราชทานให้ทรงใช้อำนาจเสียเองสิ ถ้าไม่ขอ ท่านก็ไม่พูด เพราะเมื่อพูดไปแล้วก็ไม่รู้ใครจะเอาไปทำตามหรือเปล่า นายกฯหลายคนกล้ากราบบังคมทูลฯขอ แล้วได้รับสิ่งดีๆ กลับคืนมาทั้งนั้น"

ไม่ว่าจะเป็น "บรรหาร" ที่ก้มลงกราบพระบาท เมื่อได้เข้าเฝ้าฯ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ในปี 2538 โดยบอกว่า "ข้าพเจ้าเกิดมาไม่เคยเป็นนายกฯ ข้าพเจ้าหนักใจเหลือเกินว่าจะไม่สามารถจัดการปกครองบ้านเมืองให้ดีได้ กลัวเหลือเกิน ไม่มั่นใจ" ท่านรับสั่งเลยว่า "ไม่ต้องคิดอะไรมาก คุณบรรหารทำสุพรรณบุรีได้ คุณบรรหารก็ทำกรุงเทพฯได้ คุณบรรหารทำกรุงเทพฯได้ ก็ทำประเทศไทยได้ ช่วยทำกับประเทศไทยเหมือนที่ทำกับสุพรรณฯน่ะพอแล้ว" แค่นี้ชื่นใจแล้ว

หรือในรัฐบาล "พล.อ.ชวลิต" ซึ่งเกิดเรื่องใหญ่ จะรบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลคิดว่าควรจะลงพระปรมาภิไธย พอถวายขึ้นไป รับสั่งว่านายกฯ กลับเมื่อไรให้มาพบ จากนั้นเมื่อนายกฯได้เข้าเฝ้าฯ หายไป 2 ชั่วโมง

"พอกลับออกมาทุกคนรุมถามท่านว่าทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ พล.อ.ชวลิตถือกระดาษเปล่าออกมา บอกว่าไม่ทรงลง แต่พระราชทานสิ่งที่ดีกว่านั้น เอาไปทำกันเถอะ แล้วก็มาจัดการทำกัน หายไป 1-2 เดือน วิกฤตการณ์ผ่านไปโดยเรียบร้อย ไม่มีเหตุเภทภัยใดๆ เกิดขึ้น พล.อ.ชวลิตจึงลงมือร่างหนังสือด้วยตนเอง กราบบังคมทูลฯว่า "ถ้าไม่ได้อาศัยพระมหากรุณาธิคุณ เหตุเภทภัยจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณในวันนั้น ภยันตรายจึงผ่านพ้นไปด้วยดี" ในเวลาต่อมาเมื่อนายกฯไปเฝ้าฯ ท่านทรงถือจดหมายนั้นแล้วถามว่าท่านนายกฯคิดอย่างนี้จริงๆ หรือ พล.อ.ชวลิตบอกว่าคิดอย่างนั้นจริงๆ ก็ทรงพระสรวลอย่างพอพระทัย

"ดังนั้น คนเป็นรัฐบาล ถ้าขอพระมหากรุณาก็จะได้มหากรุณา ในช่วง 3-4 วันนี้ เห็นภาพข่าวหนังสือพิมพ์ นายกฯยิ่งลักษณ์ก็ไปเข้าเฝ้าฯ ขอประทานพระราชกระแสเรื่องน้ำท่วม ก็กลับออกมาก็อิ่มเอิบยิ้มแย้มแจ่มใส รู้แล้วว่าควรต้องทำอย่างไร เรื่องอย่างนี้เวลาจะทรงแนะนำอะไร จะจบด้วยประโยคหนึ่งเสมอว่า "ก็แนะไปอย่างนั้น แต่เอาไปคิดดู ถ้าคิดว่าไม่ถูกก็ไม่ต้องทำตามนะ และถ้าคิดว่ามันไม่ถูกก็ช่วยมาบอกหน่อย คราวต่อไปฉันจะได้แก้ไขเสียใหม่ แต่ถ้าคิดว่าดีก็ลองทำเถิด" นี่คือพระเจ้าแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยครับ"

ท้ายที่สุดก่อนรูดม่านบนเวทีสนทนา "วิษณุ" ถูกถามถึงโอกาสหวนคืนเวทีทางการเมืองอีกครั้ง?

"คงได้เห็นผมบนเวทีที่มานั่งคุยเรื่องหนังสือ มานั่งเซ็นหนังสือแน่ เพราะเขียนไว้อีกหลายเล่ม ส่วนเวทีการเมืองนั้น ผมไม่ได้คิดอยากจะเข้าไปตั้งแต่ต้น แต่มีความจำเป็นต้องเข้าไป และเมื่อออกมาแล้วยังจะดันดิ้นรนกลับเข้าไป โดยไม่ได้มีความจำเป็นอีกเนี่ย ผมก็ไม่รู้จะหาเรื่องไปทำไม ทุกวันนี้ก็สบายดีอยู่แล้ว"

เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า "วิษณุ" ไม่สนใจรับบท "เนติบริกร" ให้รัฐบาลไหน เว้นแต่ "มีความจำเป็น"!!!

ที่มา - ส่วนหนึ่งของเนื้อหาบนเวทีเสวนาในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 16 หัวข้อ "เรื่องเล่าจากเนติบริกร : ความลับและความจริงในทำเนียบที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

บูรณาการน้ำท่วม..การเมืองน้ำเน่า+ราชการล้าหลัง !!?

ครั้งที่น้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 ซึ่งเริ่มต้นที่ภาคอีสานและตาม มาด้วยภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายฝ่ายระบุว่าเป็นอุทกภัยที่หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่อง จากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน สถานการณ์ครั้งนั้นคลี่คลาย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า พื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2553 ในภาคอีสานมีทั้งสิ้น 39 จังหวัด 425 อำเภอ 3,098 ตำบล 26,226 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2 ล้านครัวเรือน 7 ล้านคน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหายกว่า 7.7 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 180 ราย

ส่วนภาคใต้มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 12 จังหวัด 133 อำเภอ 874 ตำบล 6,197 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 600,000 ครัวเรือน เกือบ 2 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 80 คน

“อภิสิทธิ์” ใช้เงินกว่า 40,000 ล้าน

ปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีมติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมออกมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 42 นัด และปี 2554 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ประชุม ครม. ทั้งสิ้น 24 ครั้ง ใช้งบกลางฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปกว่า 40,000 ล้านบาท โดยใช้งบกลางของปี 2554 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั้งสิ้นประมาณ 28,000 ล้านบาท แยกเป็นช่วยเหลือภาคการเกษตรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 20,000 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวน 8,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน ไม่รวมงบที่ส่วนราชการอื่นๆให้ความช่วยเหลือ และการเบิกจ่ายเงินทดรองจากกรมบัญชีกลางงบประมาณปี 2554 รวม 16,128 ล้านบาท

ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมรัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแก้ปัญหาช้า ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ยังทำงานลักษณะต่างคนต่างทำ แม้แต่นายอภิสิทธิ์ยังถูกนำมา เปรียบเทียบกับนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าว ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่กลายเป็นขวัญใจผู้เดือด ร้อนจากน้ำท่วม และน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า

ขณะที่นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงในปี 2553 ว่าเกิดจากภาครัฐไม่มีนโยบายการเตือนภัยธรรมชาติที่ชัดเจน ทำให้หน่วยงานต่างๆไม่สนใจ หรือขาดการประสานงานกัน ทั้งที่มีข้อมูลทำนายล่วงหน้านับเดือนแต่กลับไม่นำไปใช้

“การเตือนภัยธรรมชาติหลักๆต้องมี 3 อย่างด้วยกันคือ ข้อมูลผู้ที่นำข้อมูลนี้ไปใช้ในการปฏิบัติและการเตือนภัย แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำ สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา กรมอุตุนิยม วิทยาเตือนภัยมาแล้ว 20 กว่าฉบับ มีการบอกถึงขั้นฝนจะตกหนักตรงนั้นตรงนี้ ปริมาณแบบนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถ้าคนที่ได้รับการเตือนถือไปปฏิบัติตาม เอาไปบอกผู้บริหารท้องถิ่นให้มีคำสั่งอพยพ หรือหาทางป้องกัน หากระสอบทราย ขุดลอกหนองบึงให้ทางน้ำไหลได้คล่อง รวมทั้งเตือนประชาชนให้ยกของไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมอาหารกักตุนไว้ ความเสียหายก็จะน้อยลง”

ปี 54 น้ำท่วมรุนแรงในรอบ 100 ปี

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาอุทกภัยในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่ารุนแรงกว่าปี 2553 และถือเป็น วิกฤตน้ำท่วมที่หนักที่สุดในรอบ 50-100 ปี จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (วันที่ 11 ตุลาคม 2554) ระบุว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางรวม 60 จังหวัด 592 อําเภอ 4,246 ตําบล ประชาชนเดือดร้อนกว่า 2.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชาชนกว่า 8.2 ล้านคน และเสียชีวิต 269 ราย

การแก้ปัญหาระยะแรกรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ถูกโจมตีว่าล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน แม้ทุกฝ่ายจะยอมรับว่าน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงและมาเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน โดยเฉพาะปริมาณน้ำทุกเขื่อนล้นจนต้องระบายออก แต่กว่ารัฐบาลจะตั้งตัวติดโดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่า การกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ถูกมองว่า “ช้าไป” หลังจากเกิดอุทกภัยมาแล้วถึง 1 เดือนเต็มๆ

“บางระกำ” ดีแต่โม้?

ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องประเมินภาวะน้ำ ทั้งปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง และปริมาณน้ำในเขื่อนผิดพลาด ระยะแรกเหมือนรัฐบาลวิ่งตามปัญหาไม่ทันแล้ว ระยะหลังยังถูกปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลถล่มในทุกจังหวัด โดยเฉพาะความประมาทของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ เขื่อนและคันกั้นน้ำหลายแห่งจึงพังทลาย จนหลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ที่ต้องทำทุกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วม แม้แต่การทำพิธีไล่น้ำหรือไล่เรือ

แต่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผิดพลาดชัดเจนคือการมองปัญหาไม่ทะลุและหวังผลทางการเมืองมากเกินไป นั่นคือ “บางระกำโมเดล” บางระกำคือ 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลกที่เป็นแหล่งรับน้ำจากแม่น้ำน่าน ยม และปิงบางส่วน ซึ่งทุกปีน้ำต้องท่วมอยู่แล้ว รัฐบาลจึงชูแผนต้นแบบที่จะแก้ปัญหาอย่างถาวร ทำให้กองทัพ สื่อมวลชน และหน่วยงานต่างๆกรูกันไปที่บางระกำ ทั้งที่ขณะนั้นน้ำยังท่วมหนัก แม้แต่ภาคประชาชนก็เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่น้ำก็ยังท่วมเหมือนเดิม เพราะรัฐบาลเองไม่มีแผนดำเนินการที่ชัดเจน และไม่ใช่การแก้ปัญหาได้ทันที แต่ต้องศึกษาก่อน

“บางระกำโมเดล” จึงทำให้รัฐบาลถูกตอกย้ำ จากฝ่ายค้านทันทีว่า “ดีแต่โม้” ทั้งยังเกิดวิวาทะระหว่างภาคประชาชนกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่อีกด้วย เพราะกระทรวง ทบวง กรม ต่างเสนอนโยบาย และแผนงานแก้ปัญหาแบบรายวัน ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต่างคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากมาย และความเดือดร้อนจะได้รับการแก้ไข ทั้งที่ทั้งหมดเป็นแผนระยะยาว แต่รัฐบาลกลับพูดโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ

ข้าราชการล้าหลัง

ที่สำคัญ 2 เดือนที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า การทำงานของข้าราชการยังทำแบบของใครของมัน ไม่มีการประสานกันเหมือนที่ผ่านมาทุกครั้ง ทุกอย่างต้องรอ “เจ้านายสั่ง” จึงเป็นที่มาของการตั้ง ศปภ. ที่ต้องการระดมการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้มีหน่วยงานและงบประมาณชัดเจน เพราะปัญหาอุทกภัยเป็นปัญหาซ้ำซากและซับซ้อนที่เกิดขึ้นทุกปี และแต่ละปีต้องเสียเงินงบประมาณนับหมื่นล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ข้าราชการเป็นแกนนำในการแก้ปัญหา

ส่วนรัฐบาลทำได้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวหลังจากการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับข้าราชการทุกฝ่ายเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเน้นนโยบายเชิงปฏิบัติการให้เห็นผลทันที 9 มาตรการ ซึ่งเป็นแค่นโยบายกว้างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งระบายน้ำที่ท่วมออกทะเลให้หมดโดยเร็วที่สุด การบริหารทางเทคนิคอย่างมีประสิทธิภาพ การให้กองทัพเข้ามาช่วยเหลือประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสารตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง การรักษาเขตตัวเมืองให้แข็งแรง ให้กรมชลประทานขุดลอกคันกั้นน้ำ และให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ โดยให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีชุมชนทุกภาคส่วนและตัวแทนส่วนราชการระดับท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลในทางปฏิบัติทันที

“มือใหม่” แก้วิกฤตไม่ได้

แม้อุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสและสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางกว่าค่อนประเทศ เพราะไม่ใช่แค่พื้นที่การเกษตร แต่ยังถล่มนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 แห่ง ทำให้เสียหายนับแสนล้านบาท นอกจากนี้ยังทำให้คนว่างงานอีกนับแสน ซึ่งกว่าอุตสาหกรรมต่างๆจะกลับมาดำเนินการได้เหมือนเดิมต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 3-4 เดือนหลังน้ำลด ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้จึงลดลงอย่างแน่นอน

ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เข้ามาทำงานได้ไม่ทันครบ 2 เดือน ถือเป็นความโชคร้ายอย่างมากที่ต้องแบกภาระอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี แต่จะอ้างว่าเป็น “มือใหม่” ไม่ได้ เพราะประชาชนหลายล้านคนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการตามนโยบาย 2P2R ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการให้ทำงานแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจนในแต่ละขั้นตอน และทำงานแบบบูรณาการรวม เพื่อให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว โดย P แรกคือ Preparation การเตรียมการ P สอง Prevention การป้องกันล่วงหน้า R แรก Response การเผชิญเหตุ และ R สุดท้าย Recovery การฟื้นฟู ยังเป็นแค่วาทกรรมที่ดูสวยหรูและถูกโจมตีว่า “ดีแต่โม้” รัฐบาลยังทำได้แค่วิ่งไล่ตามปัญหา เช่นเดียวกับข้าราชการในแต่ละพื้นที่ก็ทำได้แต่ตั้งรับ อีกทั้งบางพื้นที่ยังประมาทและประเมินสถานการณ์ผิดพลาดอย่างมากอีกด้วย

ในข้อเท็จจริงสถานการณ์น้ำท่วมเกือบทุกพื้นที่ขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาแบบ “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือประชาชนที่ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะพื้นที่น้ำท่วมรุนแรงและกว้างมาก แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่มีความพร้อมทั้งเงินและคนยังไม่สามารถรับมือได้

น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงต้องยอมรับความจริงว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ทำได้ดีที่สุดคือทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด และเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ให้มากที่สุด ไม่ใช่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลปกป้องเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เพราะประชาชนทุกคนมีความเดือดร้อนและทนทุกข์แสนสาหัส ไม่ใช่แค่บ้านเรือนและทรัพย์ สินเสียหาย แม้แต่ที่นอนยังแทบไม่มี บางคนไม่มีอะไรจะกิน เพราะการช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง

ไร้บูรณาการ

แม้แต่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งประชุมทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมยังเห็นว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานให้ทำงานร่วมกัน และต้องบอกถึงสถานการณ์น้ำท่วมให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลความจริง ไม่กั๊กข้อมูล แม้จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดก็ตาม เพื่อเป็นการแนะนำหรือเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้เตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงที รวมถึงในพื้นที่กรุงเทพฯด้วย

นายนพดลยังตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดการแก้ปัญหาไม่เป็นระบบ และปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการอย่างเต็มที่ รวมถึงช่วงแรกไม่ได้รับความร่วมมือจากกองทัพและกรุงเทพฯเท่าที่ควร การทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีวันนี้ต้องยอมรับว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร

ส่วน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องสั่งให้รัฐมนตรีไปนอนกับชาวบ้าน เพราะได้แค่ภาพบนเรือ ตกน้ำตกท่ากันแล้วก็รีบกลับ ไม่เห็นมีอะไรเป็นเนื้องานได้ โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีไม่ต้องวิ่งตามปัญหาและตระเวนไปดูน้ำท่วมให้มากนัก เพราะ สถานการณ์อุทกภัยทุกหน่วยงานทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่ให้งบประมาณแล้วปล่อยให้เขาจัดการเอง อย่าคิดว่ารัฐบาลนี้จะต้องทำดีกว่ารัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ได้ว่าจะแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างไร ทุกโครงการศึกษาไว้หมด ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว ไม่จำเป็นต้องมีโมเดลอะไรใหม่ๆขึ้นมาอีก ควรทุ่มเทกับการแก้ไขปัญหาในอนาคตจะเป็นประโยชน์มากกว่า และมอง หามาตรการแนวทางแก้ไขที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรง ทั้งภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจของประเทศที่เสียหายไปกับอุทกภัยปีละหลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะปีนี้ประชาชนได้รับความทุกข์มาก แม้แต่กรุงเทพฯก็อาจจะป้องกันไม่อยู่

คนไม่รู้เรื่องมาบริหารน้ำ

ด้านนักวิชาการ นายทวีวงศ์ ศรีบุรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย เห็นว่า การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาทุกรัฐบาลล้มเหลว เพราะพูดกันเฉพาะเรื่องทฤษฎี แต่พอเอาเข้าจริงกลับนำไปปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน ทั้งที่นักวิชาการศึกษาพื้นที่มากมาย และเสนอมาตรการกันมานานแล้ว แต่ไม่มีการนำเอามาใช้ให้เกิดผลขึ้นจริง

ไม่ว่าจะเป็น 2P2R หรือบางระกำโมเดลก็ไม่ได้นำเอามาใช้ประโยชน์จริงๆ ทุกรัฐบาลต่างแก้ไขปัญหาน้ำล้มเหลว การศึกษาเรื่องน้ำเกิดขึ้นมานานกว่า 50-60 ปี มีแผนปฏิบัติเสนอกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เวลาทำงานจริงกรมโยธาธิการก็แยกไปทำเฉพาะเรื่องชุมชน สร้างกำแพงกั้นน้ำในแต่ละเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนการศึกษาไม่ได้ดำเนินการตามแผน ทั้งยังรื้อเอาแผนปฏิบัติการเก่าๆขึ้นมาดูแล แล้วจะสามารถที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างไรในการประสานงานของแต่ละหน่วยงาน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่ตั้งขึ้นยังไม่ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาใดๆเลย เนื่องจากส่วนหนึ่ง พ.ร.บ.น้ำยังไม่เกิด ทำให้บทบาทความรับผิดชอบยังไม่มีความ ชัดเจน กฎหมายฉบับนี้ยังค้างอยู่ ในสมัยที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้ หากไม่จัดตั้งกระทรวงน้ำก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะรัฐบาลมักเอาคนที่ไม่รู้เรื่องน้ำมาบริหาร ดังนั้น ปัญหาขณะนี้นอกจากฝนฟ้าอากาศที่ผิดปรกติแล้ว สิ่งที่ทำให้น้ำท่วมคือการจัดการน้ำไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ต้องให้ความสำคัญ

“ที่ผ่านมากฎหมายไม่เดินหน้า แต่ถ้ามองในเชิงอำนาจเดิมมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำ 13 กระทรวง และ 30 กรม โครงสร้างใหญ่มาก ไม่สามารถ สั่งใครและกำกับใครได้ เวลาน้ำแล้งการไฟฟ้าฯจะปล่อยน้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็สั่งไม่ได้ เลยมองว่าถ้ามีอำนาจรวมที่หนึ่งที่ใดในการจัดการก็จะดีขึ้น”

น้ำท่วมกับน้ำเน่าการเมือง

ปัญหาน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้งจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้นำประเทศอย่างยิ่งด้วย เพราะปัญหาน้ำไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจและอุทกภัยที่ต้องไล่ตามแก้ปัญหาซ้ำซาก แต่ยังเป็นปัญหาการเมืองที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเสถียรภาพของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงต้องทำ “วิกฤต” ให้เป็น “โอกาส” สร้างผลงานให้กับตัวเองและรัฐบาล แม้ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

ความล้มเหลวไม่ใช่เพราะระบบราชการและข้าราชการที่ยังล้าหลัง ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หรือผักชีโรยหน้าเท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าวันนี้มีแต่นักการเมือง “หางกะทิ” เพราะพวก “หัวกะทิ” ถูกดองไว้หมด และว่ายแหวกอยู่ในบ่อการเมือง “น้ำเน่า” ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย หาใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องใช้โอกาสนี้ประกาศการแก้ปัญหาน้ำเป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูว่า “บูรณาการ” แต่ต้องโละระบบข้าราชการที่ล้าหลัง และเอานักการเมืองระดับ “หัวกะทิ” มารับผิดชอบ ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่จะแก้กฎหมายกลาโหมฉบับเดียวก็ยังผวากันไปทั้งรัฐบาล หลังประชาชนต้องผจญน้ำท่วมก็คงจะต้องผจญกับน้ำเน่าต่อไปอย่างแน่นอน

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วันนี้ประชาชนตาดำๆก็อย่าหวังพึ่งใครทั้งสิ้น ช่วยตัวเองได้ให้ช่วยก่อน ถ้ามีเหลือก็ช่วยคนอื่น แบ่งปันบรรเทาทุกข์กันไป

“อัตตาหิ อัตตโน นาโถ”

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน...นั้นแล

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข

/////////////////////////////////////////////////////////////////