--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ป.ป.ช. ลงดาบ คุณหญิง จารุวรรณ.. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เตรียมส่งอัยการฟ้องอาญา..!!?

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติ เอาผิดคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในกรณีจัดสัมมนาบังหน้า เพื่อให้ข้าราชการ สตง. สามารถเบิกค่าเดินทางสำหรับไปทอดกฐินได้
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา (ภาพจาก สตง.)

สตง. จัดสัมมนาบังหน้า เพื่อทอดกฐินพระราชทาน

คดีเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2546 โดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องการจัดการทอดกฐินพระราชทาน ประจำปี 2546 ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพญาภู และวัดศรีพันต้น (วัดราษฎร์) อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งผู้เข้าร่วมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักเอง
ทางสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของ สตง. จึงได้เสนอให้จัดงานสัมมนา เรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ในวันเดียวกัน ระหว่างเวลา 8.30-18.30 น ที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค จังหวัดน่าน ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณเป็นคนเซ็นอนุมัติ
แต่ในวันงานจริง คณะผู้จัดงานสัมมนาได้เสนอให้รวมหัวข้อสัมมนาช่วงเช้าและบ่ายเข้าด้วยกัน เปลี่ยนเวลาเป็น 15.45-19.00 โดยผู้เข้าร่วมสัมมนา (ซึ่งเป็นคณะเดียวกับที่จะไปทอดกฐิน) ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ทำให้ช่วงเช้าและบ่ายคณะของ สตง. เดินทางไปทอดกฐินตามที่ตั้งใจไว้
ส่วนช่วงเย็นคณะได้เดินทางไปที่สโมสรหมู่บ้านสันติภาพ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดเลี้ยงติดสระว่ายน้ำ และลงทะเบียนว่าเข้าร่วมงานสัมมนา “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่มีเอกสารขอเปลี่ยนสถานที่หรือกำหนดการอย่างเป็นทางการอยู่ในระบบของ สตง.

ป.ป.ช. ฟัน “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพญาภู จังหวัดน่านในวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2546 และทราบกำหนดการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2546 แต่ยังมีการจัดโครงการสัมมนาในวันเวลา เดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมงานกฐินพระราชทานเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับกลุ่มบุคคลผู้เข้าร่วม สัมมนา ย่อมเล็งเห็นได้ว่าไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานได้ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนานำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไปถวายผ้าพระกฐิน พระราชทาน โดยจัดโครงการสัมมนาเพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากทางราชการได้ โดยมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
1. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
2. นายคัมภีร์ สมใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล มีมูลความผิดทางวินัย ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตาม กฎหมาย ระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคสอง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
3. นางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย ไม่มีหน้าที่ในการจัดสัมมนาดังกล่าว พฤติการณ์และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ยังฟังไม่ได้ว่า ได้ร่วมกระทำผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา ดำเนินการทางวินัย กับนายคัมภีร์ สมใจ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ฟ้องคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจกับคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา และนายคัมภีร์ สมใจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

รู้จัก สตง.

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นหนึ่งสี่ใน “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” (ถ้ายึดตาม รธน. พ.ศ. 2550) อันประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน โดย พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่น (มาตรา 252)
ส่วนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นสำนักงานธุรการของคณะกรรมการ โดยมี “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” เป็นผู้บังคับบัญชา และขึ้นตรงต่อประธาน คตง.
หลักเกณฑ์ของ คตง. และ สตง. รวมถึงหลักการตรวจเงินแผ่นดิน มีบัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีกำเนิดมาจากพระราชดำริของพระบาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ตั้ง “ออฟฟิศหลวง” หรือ “ออดิตออฟฟิศ” (audit office) ขึ้นสำหรับตรวจบัญชีคลัง และให้มีฐานะเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับกรมพระคลังสมบัติ โดยมีเจ้าพนักงานใหญ่คือ “ออดิเตอเยเนราล” (auditor general) ทำหน้าที่ตรวจบัญชีเงินทองของแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร และต้องทูลเกล้าฯ ถวายรายงานโดยตรงต่อพระองค์
เจ้าพนักงานผู้ตรวจใหญ่และผู้ช่วย จะต้องสาบานตนก่อนรับตำแหน่ง โดยกล่าวว่า
“…เจ้าพนักงานผู้ตรวจใหญ่ ฤาที่ ๒ ทั้งสองนายต้องสาบาลถวายความซื่อสัจแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความจริงใจว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะรับราชการตรวจบาญชีสอบสวนจำนวนเงินแลสิ่งของซึ่งในแผ่นดินทั่วพระราชอาณาจักร จะตรวจตราโดยละเอียดไม่ให้พลาดพลั้งเสียประโยชน์ในแผ่นดินได้ และจะตั้งใจทำให้เต็มกำลังเต็มปัญญาของข้าพระพุทธเจ้าทุกเรื่องทุกราย…”
ประเพณีการสาบานตนของผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเจ้าหนักงานจะต้องเข้าไปในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวัน 8 ค่ำ 14 ค่ำ15 ค่ำ เพื่อสาบานตนต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า
“…จะนับต้นไม้ของราษฎร และบัญชีแต่ตามสัจตามจริง อย่าให้เอาของหลวงมาเป็นของราษฎร ๆ มาเป็นของหลวง มากเป็นน้อย ๆ เป็นมาก ไม้ใหญ่ว่าเล็ก ๆ ว่าใหญ่ และเบียดบังเอาสินจ้างสินบนเป็นอาณาประโยชน์ตนเป็นอันขาดทีเดียว…”
(ข้อมูลจากรายงานประจำปีของ สตง. พ.ศ. 2551)
ภายหลังออดิตออฟฟิศได้เปลี่ยนรูปแบบไปหลายครั้ง เช่น กลายเป็น กรมตรวจเงินแผ่นดิน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ย้ายไปสังกัดกรมบัญชีกลาง, กลายเป็นสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในปัจจุบัน (อ่านประวัติจากเว็บไซต์ สตง.)

ที่มา:Siam Intelligence Unit
**************************************************************

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

สัญญาณอันตราย อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า.. รัฐบาลปู 1..!!?

รีบร้อนเกินไปหรือไม่ ??? ...

กับลีลา การตัดสินใจเคลื่อนไหวในก้าวย่างนี้ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ 1 กรณีที่กรมราชทัณฑ์ ที่นำโดยนายชาติชาย สิทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่ออกมาเผยความคืบหน้า การตรวจสอบรายชื่อผู้ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ยอมรับตอนนี้มีความก้าวหน้าไปมาก ตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่ส่งรายชื่อร่วมถวายฎีกาแล้ว พบว่าราษฎรจำนวนถึง 2 ล้านรายชื่อ ถูกต้องมีตัวตนอยู่จริง

หลังจากส่งข้อมูลที่ยืนยันความถูกต้องแล้วให้กับพล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รมว. ยุติธรรม พิจารณาทำความเห็น เสนอประกอบการนำเสนอฎีกาตามกฎหมาย ทั้งนี้ รมว.ยุติธรรม มีความเห็นอย่างไร เป็นส่วนของรมว.ยุติธรรม หน่วยงานไม่เกี่ยวข้องเพราะถือว่าหมดหน้าที่แล้ว" อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว...

โยนเผือกร้อนให้กับ พล.ต.อ. ประชา เจ้าของฉายา"อินทรีอีสาน" เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ต้องยอมรับเมื่อรูปเกมถูกกำหนดออกมาเป็นอย่างนี้ สังคมไทยหรือผู้ที่เฝ้าติดตามการเมืองมาโดยตลอด ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า เหมือนมีความพยายามรีบร้อนลุกลี้ลุกลนอย่างไรชอบกล ในการเข็นกระบวนการขอนิรโทษกรรมให้กับนายใหญ่ หากคิดไปก็เหมือนจะรู้ตัวอย่างไรก็ไม่ทราบว่า รัฐบาลปู 1 อาจอายุสั้น อยู่ได้ไม่นานในที่นี้ตามข่าวว่า ไม่เกิน 6 เดือนถึงประมาณ 1 ปี

ยิ่งเกิดกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปชป.ไปไหว้พระพุทธชินราชและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร จ.พิษณุโลก แล้วปรากฎว่าระหว่างที่เข้ากราบนมัสการพระธรรมเสนานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระศรีฯ ทั้งนี้เจ้าอาวาสได้ทักนายอภิสิทธิ์ว่า หากได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ สิ่งแรกที่จะต้องปรับปรุงคือต้องเป็นคนกล้า ต้องเสี่ยง หมดแล้วหมดไปไม่ต้องห่วง ต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว เข้าใจประชาชน และต้องใช้ปัญญา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนที่เชื่อถือเรื่องโชค- ลาง เมื่อได้ฟังคำพูดนี้ โดยเฉพาะส.ส.เพื่อไทยด้วยแล้ว ต้องบอกว่าเกิดความเสียวในหัวใจขึ้นมาทันที เพราะเหมือนเห็นเค้าลางยุ่งยากอะไรที่รออยู่เบื้องหน้า หากรัฐบาลยังคงใช้ความพยายาม แบบที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า"ดันทุรัง"ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาให้ได้ เสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมาอีกรอบ เพราะหากไปกระตุกต่อมความไม่พอใจของประชาชนเข้า รัฐเองจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี จะออกมาปฏิเสธการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาทวงถามความคืบหน้าการถวายฎีกาขออภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าทุกอย่างเป็นไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะทำเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องที่ตกค้าง เป็นการนำมาพิจารณาตามขั้นตอน ไม่มีการเร่งรัดเป็นกรณีพิเศษก็ตาม

แต่กับคำถามการเร่งเรื่องของการขออภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ จะทำให้รัฐบาลไปเร็วขึ้นหรือไม่? และคำถาม การถวายฎีกาอภัยโทษได้ผู้ต้องหาต้องกลับมาติดคุกก่อนหรือไม่? นายกฯ ก็ยังคงมีท่าทีปัดไม่ขอตอบคำถาม เพียงแต่ระบุว่า "ยังไม่ได้ดูเลย ทุกอย่างอยู่ในกระทรวงเป็นเรื่องของหน่วยงานนั้นพิจารณา ขอให้หน่วยงานเขาศึกษาเรื่องก่อนดีไหม?"

จากท่าทีการให้สัมภาณ์ของนายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้น ขอฟันธงว่า ไม่ได้ช่วยที่จะทำให้ประชาชนในสังคม ลดความเคลือบแคลงสงสัยการกระทำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในกรณีดังกล่าวจึงช่วยไม่ได้ที่สังคมจะยังคงเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะสิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นจุดตายของพรรคเพื่อไทยอย่างแท้จริง

มากกว่า กรณีโยกย้าย ผบ.ตร. ไปเป็นเลขาธิการ สมช. โดยส่งญาติสนิทของพี่สะใภ้มาเสียบแทน หรือจะเป็นการย้ายล้างบางกระทรวงมท.ที่มีข่าวแซะ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงออกไป ส่งนายพระนาย สุวรรณรัฐเข้ามาแทนที่ แม้แต่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI โดย ดร.อัมมาร สยามวาลา ออกมาสับนโบายรัฐบาลแบบไม่ไว้หน้าว่า "เป็นรัฐบาลดีแต่โม้"

ยิ่งเมื่อ นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการ รมว.ยุติธรรม ออกมาขอเอาหัวเป็นประกันรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่มีการสั่งการให้กระทรวงยธ.เร่งกระบวนการถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อเป้าหมายต่อไปนิรโทษกรรม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งอ้างว่าตัวเองรู้สึกมึนงงกับข่าวที่ออกมาด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นที่จับตาของสังคมไทยมากยิ่งขึ้นว่า รัฐบาล ปู 1 จะทำนโยบายแบบที่เรียกว่า "ตีสองหน้า" หรือไม่?

สุดท้ายแล้ว ก็อยู่ที่รัฐบาลยังจะกล้าผลักดันการขอพระราชทานอภัยโทษแบบท้าทายกระแสสังคมหรือไม่? หรือจะอดทนรอจังหวะ บริหารบ้านเมืองพิสูจน์ผลงานไปก่อน จนถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมสุกงอมเต็มที่แล้วค่อยๆดำเนินการ ตามสำนวนไทยโบราณ "อดเปรี้ยวไว้กินหวาน" ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสสำเร็จ ดีกว่าทำเหมือนสุภาษิต "ชิงหักด้ามพร้าด้วยเข่า" ซึ่งสุดท้ายก็คงมีแต่เข่าจะพังไปเอง

ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทหาร..ยึดพื้นที่ กสทช.!!?

คลอด 11 กสทช. เผยทหารยึดพื้นที่ถึง 5 คนคาดเข้ามาดูแลผลประโยชน์กองทัพและความมั่นคง ด้าน"พลอากาศธเรศ" สายตรงเต็งเก้าอี้ประธาน

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา เมื่อวานนี้นั้น เป็นที่น่าสังเกตุว่า ปรากฏว่ากรรมการ กสทช.ที่ได้รับคัดเลือกด้านกิจการกระจายเสียงมีได้ 1 คน คือ พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี จากบัญชี 2 ได้ 73 คะแนน

ด้านกิจการโทรทัศน์มีได้ 1 คน คือ พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ จากบัญชี 1 ได้ 62 คะแนน ด้านกิจการโทรคมนาคมมีได้ 2 คน คือ พันเอกเศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ จากบัญชี 1 ได้ 118 คะแนน และพันเอกนที ศุกลรัตน์ จากบัญชี 2 ได้ 112 คะแนน ด้านกฎหมายมีได้ 2 คน คือ นายสุทธิพล ทวีชัยการ จากบัญชี 2 ได้ 109 คะแนน พันตำรวจเอกทวีศักดิ์ งามสง่า จากบัญชี 1 ได้คะแนน 67 คะแนน

ด้านเศรษฐศาสตร์ได้รับเลือก 2 คน คือ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ จากบัญชี 1 ได้ทั้งหมด 110 คะแนน และ 2. นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ จากบัญชี 1 ได้ทั้งหมด 58 คะแนน ด้านคุ้มครองผู้บริโภค (ภาคกระจายเสียงและโทรทัศน์) ได้รับเลือก 1 คน คือ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ จากบัญชี 2 ได้ 95 คะแนน ด้านคุ้มครองผู้บริโภค (ภาคโทรคมนาคม) ได้เลือก 1 คน คือ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา จากบัญชี 2 ได้ 78 คะแนน และด้านการศึกษา วัฒนธรรม หรือการพัฒนาสังคม ได้รับเลือก 1 คน คือ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร จากบัญชี 1 ได้ 72 คะแนน

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. กสทช. กำหนดให้มีคณะกรรมการ กสทช.ทั้งหมด 11 คน จำนวน 8 สาขา ประกอบด้วย กิจการกระจายเสียง 1 คน กิจการโทรทัศน์ 1 คน กิจการโทรคมนาคม 2 คน ด้านกฎหมาย 2 คน ด้านเศรษฐศาสตร์ 2 คน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (กระจายเสียงและโทรทัศน์) 1 คน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (โทรคมนาคม) 1 คน ด้านการศึกษา วัฒนธรรม หรือการพัฒนาสังคม 1 คน

เป็นที่น่าสังเกตุว่าคณะกรรมการ กสทช.รุ่นแรกนี้มีนายทหารเข้ามาถึง 5 นายกับ 1 ตำรวจ ซึ่งเป็นไปตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า ทหารหลายฝ่ายเป็นห่วงคลื่นในส่วนของกองทัพ ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนที่ทำผลประโยชน์อยู่ในปัจจุบันมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นคลื่นวิทยุ คลื่นทีวีและดาวเทียมซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวนมากและทำรายได้อย่างงาม รวมเป็นถึงเป็นห่วงเรื่องของคลื่นกับความมั่นคงของชาติหากมีการกระจายความถี่ ดังนั้นจึงหวังที่จะเข้ามากุมชะตากรรมใน กสทช.

ขณะเดียวกันในส่วนประธาน กสทช.ชุดแรกนี้ก็มีความเป็นไปได้มากว่า พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี จะเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งที่จะคว้าตำแหน่งประธาน

ทั้งนี้พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอากาศยาน โรงเรียนนายเรืออากาศ เลขาธิการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ ประเทศอังกฤษ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปัจจุบันอายุ 64 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ผลงานที่ผ่านมาคือการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกองทัพอากาศ ฉบับที่ 2 (2545-2549)

พล.อ.ธีรเดช กล่าวหลังจากที่ได้กรรมการ กสทช. ครบ 11 คนแล้ว ว่าตาม พ.ร.บ.กสทช.กำหนดให้กรรมการทั้งหมด ต้องลาออกจากตำแหน่งทางราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ภายใน 15 วัน ในระหว่างนั้นก็ให้มีการจัดประชุมร่วมกันเพื่อเลือกประธาน กสทช.และรองประธานอีก 2 คน ประกอบด้วย รองประธานด้านกิจการโทรคมนาคม และกิจการวิทยุกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ จากนั้นให้นำรายชื่อเสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ ต่อไป

ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หลังจากที่คณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช.

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

ถวิล เปลี่ยนสี มาด้วยการเมือง ก็ต้องไปด้วยการเมือง !!?

ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)แสดงออกแล้วว่า ไม่ยอมโดนเด้งออกจากเก้าอี้เลขาฯ สมช. ง่ายๆ ประกาศพร้อมจะสู้ให้ถึงที่สุด

ด้วยการใช้ช่องทางที่มีอยู่ตามระบบที่กฎหมายเปิดช่องให้ข้าราชการคนไหนที่ถูกย้ายออกจากตำแหน่งแล้วเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) เหมือนกับที่วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พานิชย์ ที่ถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย้ายออกจากอธิบดีกรมการปกครองไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย

วงศ์ศักดิ์ยื่นเรื่องร้องต่อก.พ.ค.แล้วในที่สุด ก.พ.ค.ก็มีความเห็นให้มหาดไทยต้องคืนตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองให้วงศ์ศักดิ์ แม้กระทรวงมหาดไทยจะยื้ออยู่นานแต่ก็ไม่สำเร็จ

อีกทั้งยังมีอีกหนึ่งช่องทางคือยื่นต่อศาลปกครอง หากว่าก.พ.ค.ไม่รับคำร้องหรือรับแล้วแต่มีมติไม่เป็นอย่างที่ข้าราชการที่ยื่นเรื่องต้องการก็ร้องศาลปกครองได้เหมือนกับที่จาดุร อภิชาติบุตร ที่ถูกรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เด้งจากรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปเป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยมาร่วม3ปีกว่า

สุดท้ายเมื่อเดือนที่แล้ว ศาลปกครองก็เพิ่งตัดสินให้จาดุรชนะได้กลับไปเกษียณในตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนเกษียณไม่กี่อาทิตย์

ใครเห็นด้วยกับ ถวิล เปลี่ยนศรี ก็คงเอาใจช่วยกันไป ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะอย่างน้อย ข้าราชการเองก็มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ว่านึกอยากย้ายอยากปลดใคร นักการเมืองก็สั่งได้ตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งข้าราชการไม่มีหัวจิตหัวใจ ต้องคอยเป็นลูกไล่นักการเมืองร่ำไป

ทว่าสำหรับคนในสมช.เองแล้วดูจะไม่ค่อยแปลกใจนักที่ “ถวิล” โดนเด้ง และเจ้าตัวจริงๆ ก็น่าจะเข้าใจสัจธรรมอยู่แล้วว่าเมื่อการเมืองเปลี่ยน เก้าอี้ที่ตัวเองได้มาก็ต้องโยกเป็นธรรมดา

เนื่องเพราะ “ถวิล” ได้เป็นเลขาธิการสมช.ก็เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ไปเด้ง พลโท สุรพล เผื่อนอัยกา จากเลขาธิการสมช.ไปนั่งตบในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประจำทำเนียบรัฐบาล

แล้วเอา “ถวิล”จากรองเลขาสมช.ขึ้นมาแทน

สาเหตุที่พลโท สุรพลโดนย้ายก็ไม่มีอะไรมากปัจจัยหลักคือรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ไว้ใจ หวั่นข้อมูลการข่าวต่างๆ จะไม่เป็นความลับ เพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียม 10 กับทักษิณ ชินวัตร

มองว่าพลโท สุรพลเป็นคนของฝ่ายตรงข้ามเพราะได้เป็นเลขาธิการสมช.ในสมัยรัฐบาลพลังประชาชน-สมัคร สุนทรเวช ที่ตั้งพลโท สุรพล ให้เป็นเลขาธิการสมช.ด้วยการเด้ง พลโทศิรพงศ์ บุญพัฒน์ ที่ได้เป็นเลขาธิการสมช.สมัยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี

จึงเห็นได้ว่า ในเวลาไม่กี่ปี มีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการสมช.มาแล้วหลายคนด้วยเหตุผลการเมืองทั้งสิ้น พอรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็ต้องจัดการเด้งเลขาธิการสมช.ที่ตั้งโดยรัฐบาลชุดเก่าออกไป

ถ้าอภิสิทธิ์ไม่เด้ง บิ๊กเผื่อน ออกจากเลขาธิการสมช.เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ด้วยเหตุผลการเมือง “ถวิล” ก็คงไม่ได้เป็นเลขาธิการสมช.

พลโท สุรพล ที่หลายคนมองว่ามีความเป็นมืออาชีพในเรื่องการข่าวความมั่นคงมากกว่า “ถวิล”ลูกหม้อสมช.มากนัก เพียงแต่ติดที่ว่า พลโท สุรพลเป็นเตรียม 10 มีพรรคพวกในพรรคเพื่อไทยจำนวนมาก พลโท สุรพลจึงอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสมช.ไม่ได้ เมื่อถูกเด้ง บิ๊กเผื่อน ก็ไม่ได้โวยวายอะไร แถมพูดไว้น่าคิด

“ชีวิตก็เหมือนละคร เปลี่ยนบทใหม่ก็สวมหน้ากากใหม่ ก็เต้นให้ถูกบทบาทตามเวลา”

มาด้วยการเมือง ก็ไปด้วยการเมือง

ถวิล เปลี่ยนศรี ไม่เข้าใจ หรือเพราะไม่อยากเข้าใจ?


ที่มา: ผู้จัดการ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

เดือด.. ธีระชัย.อัดแบงก์ชาติบริหารขาดทุน !!?

ธีระชัย..ลุย ประสาร ผ่านเฟซบุ๊กกดดันให้ตั้งกองทุนมั่งคั่งยั่นไม่มีความเสียงและปัจจุบันการลงทุนก็เสี่ยงอยู่แล้วปี 53แบงก์ชาติทุนติดลบ 4แสนล้าน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงลุยแนวคิด กดดันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ อย่างต่อเนื่อง เมื่อล่าสุดได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กตัวเองที่ชื่อ" Thirachai Phuvanatnaranubala"เมื่อ 22:45น.ของวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมาชื่อหัวข้อว่า "ตอบคำถามบางเรื่องเกี่ยวกับกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ"

โดยระบุว่า...

1 การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนแบบกองทุนมั่งคั่งของชาติจะมีความเสี่ยงหรือไม่

ต้องยอมรับว่าการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยงทั้งนั้น เช่นสมมุติให้กู้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูงในเอเชีย ลักษณะความเสี่ยงก็อาจเกิดจากจำนวนผู้โดยสารมีน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่ก็น่าจะเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เนื่องจากเอเชียเป็นประเทศกำลังพัฒนา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น โครงการใดที่สนองความจำเป็นพื้นฐานถึงแม้หากจะบังเอิญมีปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็จะมีโอกาสฟื้นได้แน่นอน

แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการที่ ธปท. นำเงินทุนสำรองไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและยุโรปดังที่ปฏิบัติอยู่ขณะนี้ไม่มีความเสี่ยงนะครับ เพราะที่แท้จริงมีความเสี่ยงทั้งในด้านราคาที่ขึ้นๆลงๆ และในด้านค่าเงินต่างประเทศที่อ่อนตัวเพราะมีการพิมพ์เงินออกมามากเกินไป

ทั้งนี้ ท่านทราบหรือไม่ว่าปี 2553 ธปท. มีผลขาดทุนจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 117,473 ล้านบาท และยังมีขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์อีก 260,211 ล้านบาท จำนวนเงินที่สูงมหาศาลเช่นนี้คือปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไขครับ

2 การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนแบบกองทุนมั่งคั่งของชาติเป็นการแทรกแซง ธปท. หรือไม่

ไม่เป็นการแทรกแซง ธปท. ครับ แต่เป็นการช่วยกันคิดเพื่อแก้ปัญหา เพราะ ณ สิ้นปี 2553 ธปท. มีส่วนของทุนติดลบเป็นจำนวนเงินมหาศาล สูงถึง ติดลบ 431,829 ล้านบาท ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนก็จะต้องปิดกิจการไปแล้ว นี่ไม่ใช่สี่แสนบาทนะครับ แต่เป็นสี่แสนล้านบาท

ถึงแม้ ธปท. ไม่ได้ขอให้รัฐบาลช่วยตั้งงบประมาณมาช่วยแก้ไขขาดทุนของ ธปท. แต่ทรัพย์สินของ ธปท. ก็เป็นทรัพย์สินของชาติ ซึ่งควรมีการบริหารจัดการให้ดีที่สุด นอกจากนี้ การที่ ธปท. ขาดทุนจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ก็ทำให้ ธปท. ไม่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูซึ่งมีอยู่กว่าหนึ่งล้านล้านบาทได้ ทำให้รัฐบาลมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อกองทุนฟื้นฟูแต่ละปี 50,000-60,000 ล้านบาท และขณะนี้ ธปท. ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายให้แก่กองทุนฟื้นฟูต้องสูงขึ้นไปด้วยทุกวัน จึงเป็นภาระต่อนโยบายทางการคลังอย่างมากครับ

3 จำนวนที่จะกันไปเป็นกองทุนมั่งคั่งของชาติควรจะมาจากบัญชีใดใน ธปท.

ผมได้ให้ ธปท. ไปศึกษา โดยในหลักการ จะไม่แตะต้องทองคำและเงินบริจาคของหลวงตา และจะไม่แตะต้องจำนวนที่ต้องใช้หนุนหลังการออกธนบัตร

4 ธปท. จำเป็นต้องกันทุนสำรองสภาพคล่องเอาไว้เท่ากับเงินที่ต่างชาติได้นำมาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรหรือไม่ เพื่อรองรับในกรณีที่ต่างชาติอาจจะขายและนำเงินกลับออกไป

ไม่จำเป็นครับ ต่างชาติที่หากจะรุมกันขายหุ้น ก็จะทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็จะทำให้ต่างชาติชะลอการขายกันเอง ส่วนคนไทยก็ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับเขาและคอยรอรับซื้อเมื่อราคาลงต่ำก็พอ

นอกจากนี้ หากต่างชาติรุมกันนำเงินกลับออกไป เงินบาทก็จะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ธปท. ก็ไม่ควรจะไปฝืนสภาพตลาด ธปท. ควรจะปล่อยให้ค่าเงินปรับลดลงตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินทุนสำรองเข้าไปรองรับเอาไว้ดังเช่นในปี 2540

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

ไทย-เขมรเจรจา กำหนดประเภทสินค้าก่อนดีเดย์เปิดด่านชายแดน 14 ก.ย.นี้

นายสุจิน วาจากิจ นายอำเภอบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วย พ.อ.นัฏฐ์ ศรีอินทร์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 26 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ของฝ่ายไทย ได้เจรจาร่วมกับตัวแทนฝ่ายกัมพูชาอีกรอบ นำโดย พ.อ.ยึม พาน รองผู้บังคับการทหารประจำจ.อุดรมีชัย นายฮิง เฮือน ผู้ช่วยนายอำเภอบันเตียอำปึล จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ร่วมกันกำหนดประเภทสินค้าที่จะนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน หลังทั้งสองฝ่ายได้เจรจาเห็นชอบร่วมกันในการเปิดจุดผ่อนหรือจุดแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อมนุษยธรรม ที่บริเวณช่องสายตะกู ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด โดยผลการเจรจาเป็นไปด้วยความราบรื่น ทั้งสองต่างฝ่ายเห็นชอบให้มีการนำสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารพื้นบ้านในพื้นที่มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน แต่สิ่งของที่ห้ามนำมาจำหน่าย คือ ไม้ป่า สัตว์ป่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ และสิ่งของที่จะสามารถใช้เป็นอาวุธได้

ทั้งนี้ทางฝั่งกัมพูชาเองยังเสนอความต้องการที่อยากให้ฝั่งไทย นำมาจำหน่าย 4 ประเภทหลัก คือ ปุ๋ย ยางรถยนต์ อุปกรณ์ก่อสร้าง และน้ำมันเครื่อง แต่ทางฝั่งไทยขอหารือกับทางกรมศุลกากรอีกครั้ง เพราะสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ส่วนปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการเปิดจุดผ่อนปรน คือ ปัญหายาเสพติด การดัดแปลงภูมิประเทศหรือขยายเขตชุมชน เช่น การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ถาวร ที่อาจจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนตามมาในภายหลังได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวทั้งสองฝ่ายจะต้องดูแลและแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการควบคุมดูแลด้านคุณภาพสินค้า จำนวนพวกเนื้อสัตว์ทุกชนิด ที่จะนำมาจำหน่ายเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลังด้วย

โดยนายสุจิน ระบุว่า ผลการเจรจากำหนดประเภทสินค้าร่วมกันในวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี และยืนยันว่าจะสามารถเปิดจุดผ่อนปรนช่องสายตะกูหรือจุดแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อมนุษยธรรม ในวันที่ 14 ก.ย.54 นี้อย่างแน่นอน โดยในเบื้องต้นจะเปิดสัปดาห์ละ 1 วัน ทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 14.00 น. หากในอนาคตประชาชนมีความต้องการให้เปิดหลายวันมากขึ้น และไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ก็อาจจะมีการพัฒนายกระดับให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร เพราะเชื่อว่าการจุดการค้าชายแดนดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจชายแดน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศให้ดีขึ้น

ที่มา.เนชั่น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ศึกวันพรุ่ง !!?

คงจะต้องเป็นศึกแน่ๆ สำหรับหัวข้อการเมืองใหม่..เพราะพรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ว่า..จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ..เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เอื้อเฟื้อและสนองตอบต่อคำว่าประชาธิปไตย

แน่นอนว่า...คงจะไม่มีพรรคการเมืองใด เห็นด้วยกับการให้อำนาจ "เผด็จการ" หรือรากเหง้าของเผด็จการ..สามารถปรับปลดลดจำนวนและยกเลิกพรรคการเมืองได้ โดยอิสระภายใต้คำว่าองค์กรอิสระ

แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคเพื่อไทย

ด้วยจำนวนมือไม้ในสภาที่มากกว่า 300 เสียง..จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่พรรคเพื่อไทยจะไม่นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเริ่มต้น..เพียงแต่ว่าจะใช้กรรมวิธีใดเท่านั้น

หากใช้พรรคเพื่อไทยเองเป็นหัวขบวนในการเริ่มต้น..ก็จะกลายเป็นว่า..เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนๆเดียว..หรืออย่างที่กล่าวกันว่า...

"พาทักษิณกลับบ้าน"

หากให้พรรคร่วม..อย่างพรรคชาติไทยเป็นตัวเริ่มต้น..เรื่องราวก็น่าจะคล้ายๆกัน..

หากให้พรรคภูมิใจไทย..ที่กำลังจะกลายเป็นพรรคที่ถูกยุบเป็นหัวขบวนในการแก้ไข..พรรคเพื่อไทยก็จะได้เสียงรวมกันเกินกว่าครึ่งรัฐสภาทันที..

แต่ในกรณีนี้..พรรคเพื่อไทยก็อาจจะต้องขยับที่นั่งในคณะรัฐมนตรีทันทีที่มีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นมา

ถ้าจะให้ดีแล้ว..พรรคเพื่อไทยพรรคใหญ่ของประเทศทีี่มีผู้แทนเกินครึ่งสภา..น่าจะทำประชาพิจารย์ถามไปยังประชาชนก่อนว่า..จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่..

เพราะประชาชนเกินกว่า 5 หมื่นชื่อ..สามารถร่วมตัวกันเสนอกฏหมายได้..ก็ถ้าประชาชน 16 ล้านคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยยืนยัีนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

เรื่องมันก็ง่าย

พรรคฝ่ายค้าน..จะออกมาต้านเพื่อสนับสนุนรัฐธรรมนูญเผด็จการ..ก็ต้องตอบคำถามมากมาย..ทำไม..ถึงสนับสนุนเผด็จการและรัฐธรรมนูญฉบับทหาร และเชื่อว่าเสียงสนับสนุนจะไม่มากมายดังเก่า

เหตุที่ต้องแก้ไข..ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า..สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาในทุกวันนี้นั้น..ล้วนเป็นผลมาจากเผด็จการ..อำนาจปกครองที่ยาวนานในกรรมการแต่ละคณะ..บอกเจตนารมณ์ของคนร่างว่าประสงค์อะไรและใครเป็นผู้ประสงค์

แก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย...แต่การไม่แก้ก็เท่ากับว่ารอวันตาย

เพราะ..อำนาจที่จากไปก็หวังในวันที่จะกลับมา..

สงครามเรื่องอำนาจเปลี่ยนไม่ได้หลายใบหน้า..เพราะไม่ช้าก็เร็ว..เทียนที่หล่อก็จะต้องหลอมละลาย..ใต้หน้ากากแห่งอำนาจ..ไม่เคยมีเทพสวมใส่..ใต้ครอบนั้นมีแต่อสูร..

ใครจะเป็นผู้ชนะในศึกแก้รัฐธรรมนูญ..ใครก็ทายไม่ได้..แต่หลังสงครามสงบ..เราจะพบกับความหายนะนั้นแน่นอน


โดย:พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ฐิติมา. ทิ้ง บทนางมาร สวมวิญญาณ องครักษ์ ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ !!?

สัมภาษณ์พิเศษ


เมื่อตระกูล "ฉายแสง" สอบตกยกตระกูลในรอบ 19 ปี

มีชื่อ ฐิติมา ฉายแสง เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และชื่อวุฒิพงษ์ ฉายแสง ประจำการที่กระทรวงมหาดไทย

ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงมาพร้อมกับบทบาทและสคริปต์ ที่ส่งตรงมาจากพรรค

เธอจึงอาจต้องรับทั้งบทองครักษ์พิทักษ์คนในตระกูล "ชินวัตร" และตอบโต้ประเด็นการเมืองของรัฐบาล

"ฐิติมา" ตอบทุกข้อสงสัย ไขข้อข้องใจ ดังนี้

- คิดว่าตนเองเข้ามาเป็น "โฆษกรัฐบาล" ได้อย่างไร
ดิฉันเป็นคนอธิบายอะไรให้คนเข้าใจได้ง่าย พรรคก็เลยดึงมาทำงานตรงนี้ อีกอย่างคือเป็น ส.ส.สอบตก และเขาต้องการผู้หญิงให้ทำหน้าที่ตรงนี้พอดี ดิฉันก็เลยมีโอกาสได้ทำงาน

- สถานการณ์การเมืองดุเดือดมากขึ้น โฆษกรัฐบาลต้องเตรียมตัวอย่างไร
เรื่องการเมืองที่กำลังถาโถมเข้ามา ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานของรัฐบาล ว่าเป็นอย่างไร วันนี้ไม่ใช่เรื่องของ เสื้อเหลืองเสื้อแดง เว้นแต่จะมีอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมา เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ ผ่านมาอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามีก็คงมีการตอบโต้กันเป็นปกติ คงไม่ใช่แบบฮาร์ดคอร์ที่ตอบโต้รุนแรง และท่านนายกรัฐมนตรีก็คงไม่ตอบโต้มากมายเหมือนรัฐบาลสมัยท่านสมัคร (สุนทรเวช)

- สังคมยังติดภาพ "นางมารร้าย" ในสภาผู้แทนราษฎร
ต้องเข้าใจบทบาทของการเป็นโฆษกรัฐบาลเสียก่อน พออยู่ในสภาจำเป็นต้องเป็นแบบนั้น แต่เบื้องหลังความเป็นจริงก็เป็นคนธรรมดา เป็นตัวเอง จะอยู่ตำแหน่งไหนก็ต้องเล่นตามบทบาท

- นายกรัฐมนตรีหญิงกับโฆษกรัฐบาลหญิง ถูกวางตำแหน่งไว้ตั้งแต่ต้น
ถ้าดิฉันไม่สอบตกคงไม่ได้เป็น แต่พรรคก็นั่งหาโฆษกมานาน ซึ่งเขาอยากได้ผู้หญิง เมื่อเขาหาไม่ได้และก็มีคน เชียร์เยอะ ก็เลยเข้ามาทำหน้าที่เป็นความบังเอิญ ที่ดิฉันสอบตกและเป็นผู้หญิง ทำให้สะดวกในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีได้ตลอด

- ในทางการเมือง ภาพลักษณ์ของผู้หญิงจะทำให้สถานการณ์เบาบางลง
นายกรัฐมนตรีก็เพิ่งพูดกับดิฉันว่า ผู้หญิงไม่มีความรุนแรงนี่คือประโยชน์ที่จะเอามาใช้ในการสร้างความปรองดอง และผู้หญิงเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการจะเป็นประโยชน์ในการทำงานอย่างมาก

หากคู่ตรงข้ามโจมตีรัฐบาลก็เหมือนรังแกผู้หญิง เพราะเราเป็นผู้หญิง เขา กลัวผู้หญิงด่า ถ้าด่าผู้หญิงก็เหมือนรังแก

- โฆษกจำเป็นต้องมีที่ปรึกษา
ต้องมีที่ปรึกษา มีทีม ท่านนายกฯ เคยพูดว่า เราใหม่กันทั้ง ครม. อย่างพี่ปึ้ง (สุรพงษ์ รมว.ต่างประเทศ) ก็ไม่รู้จับพลัดจับผลูมาอย่างไรที่ได้รับตำแหน่ง

ส่วนตำแหน่งโฆษก เป็นจุดที่ต้องมีองค์ความรู้ครอบจักรวาล ดิฉันก็มีคนคอยให้ปรึกษา อย่างคุณนิวัฒน์ธํารง (บุญทรงไพศาล) เพราะท่านเชี่ยวชาญงานด้านประชาสัมพันธ์ รวมถึงรุ่นพี่ในบ้าน 111 อย่าลืมนะว่าอีก 1 ปีพวกเขาก็กลับมาแล้ว

- ประเด็นเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกโยงเข้ากับการทำงานของรัฐบาล
มันคงหนีไม่พ้นที่เขาจะหยิบยกมาโจมตี แต่ต้องคิดว่าบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวของท่านทักษิณ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่เห็นต้องไปกังวลเรื่องคุณทักษิณมากมาย เดี๋ยวจะกลายเป็นข้อกล่าวหาพี่ชายช่วยน้องสาว

- มีคำวิจารณ์ว่าคุณทักษิณเป็นคน สั่งการ โฆษกรัฐบาลจะแก้ต่างอย่างไร
(นิ่งคิด) คือไม่รู้เหมือนกันว่าจะสวนกลับอย่างไร แต่ท่านทักษิณก็เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ จะปฏิเสธว่าไม่ได้พูดจากันเลยคงจะไม่ใช่ แต่ถ้าเอาความรู้ความสามารถของท่านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่ดีกว่าหรือ เป็นน้องคนเล็กของท่านทักษิณ แล้วมันทำไม ทำไมต้องออกมาแอนตี้กันขนาดนี้ หรือคำว่า "ทักษิณ" มันเป็นคำแสลงใจหลายคน

- โดนข้อกล่าวหาพี่ชายเดินเกมข้างนอก น้องสาวเดินเกมข้างในประเทศ
ก็การสร้างข่าวกันไป กำหนดการไปญี่ปุ่นของท่านทักษิณก็มีตั้งนานแล้ว ทำไมถึงเพิ่งมาพูดกัน ส่วนที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นออกมาพูดนั้น ดิฉันก็ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้จะตอบโต้อย่างไร

- "ฐิติมา-ยิ่งลักษณ์" เป็นน้องสาวเป็นผู้แบกภาระตระกูล "ชินวัตร-ฉายแสง" เหมือนกัน
เราเป็นองคาพยพกันมานาน ดิฉันเคยได้ทำงานร่วมกับท่านทักษิณ ส่วนคุณจาตุรนต์ เขาก็เป็นแกนหลักในพรรค ถึงขั้นเคยเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค

คุณยิ่งลักษณ์ก็ได้รับมาจากพี่ชาย แถมมีความสามารถในด้านธุรกิจพ่วงเข้ามาอีก ซึ่งมุมการเมืองท่านที่ปรึกษาส่วนตัว คงจับทางได้ เอาตัวรอดได้

ท่านแบกมากกว่าดิฉัน ท่านแบกประเทศทั้งประเทศ ส่วนดิฉันถือว่าอยู่ในตำแหน่งนี้ก็ยิ่งใหญ่มาก เป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล เคยเป็น ส.ส.เหมือนกันรุ่นพี่ชายก็เป็น ตรงนี้ท่านก็เลยหวังว่า จะให้ดิฉันตอบโต้ทางการเมืองให้

- ต้องวางตัวอย่างไรในการพูดไม่ให้กระทบกับคนเสื้อแดง
คนเสื้อแดงก็เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงดิฉันไม่มีทางที่จะแสดงอาการรังเกียจคนเสื้อแดง เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่ไม่ใช่ชื่นชม

อย่าลืมว่าดิฉันไม่ใช่โฆษกเสื้อแดง ฉะนั้นทุกประเด็นต้องเกี่ยวกับงานรัฐบาล

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ละคร เหลิม-ชูวิทย์ สุดคุ้ม เด้ง วิเชียร..สยบบ่อนพนัน !!?

ละครแฉกลางสภาที่ “เสี่ยอ่าง” ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ เล่นบทพระเอกเดินหน้าชนตำรวจนครบาลระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในช่วงแรก กำลังถึงจุดไคลแม็กซ์ที่ความจรืงเริ่มเปิดเผยตัวตนของ “เสี่ยอ่าง”แล้วว่า

แท้จริงแล้วเขาหาใช่พระเอกของเรื่องไม่ แต่เขาคือหนึ่งในขบวนการล้ม ผบ.ตร. ร่วมตีเมืองขึ้น ใช้บ่อนเป็นที่ฟอกเงินเก็บไว้เป็นทุนทางการเมือง

“เสี่ยอ่าง”บอกว่าไม่ได้รับใบสั่งทำงานให้รัฐบาลเพื่อเลื่อยขาเก้าอี้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร. ก็ต้องบอกว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะจอมแหลร้อยเหลี่ยมอย่าง “เสี่ยอ่าง”ที่คร่ำหวอดในแวดวงน้ำกามและธุรกิจด้านมืดมาเป็นเวลาหลายสิบปี ย่อมมองทะลุว่า จะวางบทบาทตัวเองอย่างไร เนื่องจากเล่นบทว่าเป็นฝ่ายค้านอิสระตรวจสอบตามสไตล์ของตัวเองมาโดยตลอด

ดังนั้นงานนี้จึงไม่ใช่การทำตาม “ใบสั่ง” เหมือนว่าเป็นลูกจ้างประจำ แต่เป็นการรับงานเป็นจ๊อบในประเด็นที่สมประโยชน์ร่วมกันทั้งคู่ แฉกลางสภา “เสี่ยอ่าง”ได้เป็นฮีโร่ชั่วข้ามคืน

ยังไม่นับว่าจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์อื่นใด หลังการตีเมืองขึ้นกวาดล้างบ่อนการพนันกลางกรุงให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางจ่ายส่วยไปที่ฝ่ายการเมืองโดยตรง แทนที่จะอยู่ในวงแคบ ๆ เฉพาะคนในสีกากีเท่านั้น

ที่สำคัญคือ หลังกวาดล้างคราวนี้ทำให้บ่อนชายแดนคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น มีเจ้าของบ่อนรายใดแบ่งค่าคอมมิสชั่นในฐานะช่วยเรียกแขกให้กับนักการเมืองบางคนหรือไม่เป็นเรื่องที่น่าคิด

แต่ที่เขาพูดกันให้แซ่ดกลางวงไพ่ คือ มีนักการเมืองใหญ่กำลังใช้บ่อนการพนันเป็นที่ผ่องถ่ายฟอกเงินทุจริตให้เป็นเงินที่มีที่มาที่ไป เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมทางการเมือง

เหล่านี้้เป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบในระยะยาว เพื่อไมให้มีการหลอกลวงสังคมว่า บ่อนการพนันหมดไปพร้อมการจากไปของ พล.ต.อ.วิเชียร แต่ความจริงบ่อนกลับมาเปิดเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนเส้นทางจ่ายส่วยไปที่นักการเมืองแทนหรือไม่

สำหรับสิ่งที่ต้องชี้ให้สังคมเห็นในขณะนี้จากเหตุการณ์เดียวกัน คือ การสยบยอมต่อฝ่ายการเมืองของ พล.ต.อ.วิเชียร ที่กำลังทำลายศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของข้าราชการไทยให้มีค่าเพียงธุลีดินใต้อุ้งเท้านักการเมืองอย่างร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงเท่านั้น

กล่าวเช่นนี้เพราะ พล.ต.อ.วิเชียร ไม่ได้คิดที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจที่ไร้ความเป็นธรรมของฝ่ายการเมืองมาตั้งแต่ต้น หากมีการเกี้ยเซี๊ยะร่วมกันวางแผนตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

คงต้องท้าวความก่อนว่าในสื่อแฉถึงการเดินทางไปดูไบของ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมาโดยสายการบินเอมิเรทส์ เที่ยวบินที่ EK375 และกลับประเทศไทยในวันที่ 24 ก.ค. ด้วยเที่ยวบิน EK 374 จากนั้น 16 ส.ค.พล.ต.อ.วิเชียร มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ไปรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ย่อมเป็นการส่งสัญญาณแล้วว่า พล.ต.อ.วิเชียร ยินดีที่จะทำตามใบสั่งจากดูไบ

นอกจากจะเป็นการประเคนตำแหน่งให้ นายพลเสื้อแดงแล้ว ยังมีการเจรจาลับต่อรองให้ พล.ต.อ.วิเชียร ลุกจากเก้าอี้เปิดทางให้พี่ชายคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร มาเป็น ผบ.ตร.แทน

การเจรจาเป็นไปด้วยดีจบที่ยกตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ชดเชยให้ พล.ต.อ.วิเชียร แต่ที่เกิดปัญหาในภายหลัง เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสั่งการไม่ค่อยมั่นใจในตัวพล.ต.อ.วิเชียร ที่จะให้คุม สมช. จึงพยายามเสนอตำแหน่งปลัดกระทรวงอื่นแทน
การฮั้วจึงไม่ลงตัวเมื่อพล.ต.อ.วิเชียรทำท่าแข็งข้อ การตีกระหนาบเพื่อให้หลาบจำจึงเกิดขึ้น ผ่านการแฉบ่อนกลางสภา เพิ่อส่งสัญญาณให้ยอมลุกจากเก้าอี้ดี ๆ ไม่เช่นนั้นจะต้องไปนั่งตบยุงอยู่ที่สำนักนายกฯ

พล.ต.อ.วิเชียร ก็ทำท่าขึงขังเหมือนจะต่อสู้กับการใช้อำนาจเกินขอบเขตของฝ่ายการเมือง อ้างถึงการทำหน้าที่เพื่อชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ จนผู้คนในสังคมหลงเชียร์กันทั้งประเทศ แต่หม้อข้าวไม่ทันดำท่านผบ.ตร.ก็ออกมาตีหน้าเศร้ายอมจำนนพร้อมออกจากเก้าอี้หากได้ตำแหน่งที่เหมาะสม

วันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า กลับไปที่ข้อตกลงเดิม คือ พล.ต.อ.วิเชียรโยกไปนั่งเลขาฯสมช.

จะเอากันอย่างนี้ใช่ไหมบ้านเมืองนี้ ตำแหน่งราชการยกให้กันได้ง่าย ๆ อย่างนี้เอง บรรดาตำรวจแก่ทั้งหลายที่เคยเคลื่อนไหวหนักในช่วงก่อนหน้านี้หายหัวไปไหนหมด ศักดิ์ศรีข้าราชการไทยย่ำยีกันได้กระนั้นหรือ

คนที่สมควรถูตำหนิมากที่สุด คือ พล.ต.อ.วิเชียร โดยขอย้ำอีกครั้งวพล.ต.อ.วิเชียร ถือเป็นนายตำรวจที่เติบโตได้ดิบได้ดีจากการรับใช้สถาบันเบื้องสูง จนทำให้ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งรวดเร็วกว่าเพื่อนร่วมรุ่น กระทั่งชะตาพลิกผันทำให้ต้องออกจากในรั้วในวังกลับสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จึงส่งผลให้ พล.ต.อ.วิเชียรกลายเป็นนายตำรวจที่มีอาวุโสสูงสุดในองค์กรนี้ เพราะได้ติดยศนายพลก่อน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เสียอีก

ถ้า พล.ต.อ.วิเชียร แยกแยะไม่ได้ว่า ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการเกิดจากใครและควรทดแทนบุญคุณกับใคร ก็ต้องถือว่าแย่มาก และตำแหน่งไหนก็ไม่ควรได้

ที่มา: ผู้จัดการ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ปู..มอบดาบให้ เหลิม..เด้ง ผบ.ตร. !!?



“ปู”มอบดาบให้ “เหลิม”เด้ง ผบ.ตร.

นายกฯ ย้ำให้สิทธิ์ “เฉลิม” พิจารณาเด้ง ผบ.ตร. ยอมรับที่ผ่านมาทำงานดี แต่ต้องขันน็อตปราบยา-อาชญากรรม

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนเรื่องการโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่า วันนี้ยังไม่ได้มีนโยบายอะไร ทั้งหมดจะเป็นเรื่องของหน่วยงานที่จะนำมาพิจารณา เมื่อถามว่า แต่ ผบ.ตร.บอกว่ามีฝ่ายการเมืองกดดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่จริง ตนยังไม่ได้หารือกับท่านในเรื่องนี้ คุยกันแต่เรื่องนโยบาย อย่างไรก็ตามได้มอบอำนาจให้กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้ไปดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แล้ว เพราะตนมีภารกิจหลายอย่างที่ต้องทำในภาพรวม

เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่าจะย้ายให้ พล.ต.อ.วิเชียร ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกัน เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าจะให้อำนาจ ร.ต.อ.เฉลิม ตัดสินใจคนเดียวใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวยอมรับว่า ใช่ เพราะโดยบทบาทแล้ว ร.ต.อ.เฉลิม ดูแล สตช. เรื่องนี้ต้องมาจากต้นสังกัด

เมื่อถามอีกว่า ในสายตานายกฯ มองการทำงานของ พล.ต.อ.วิเชียรที่ผ่านมาเป็นอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ท่านทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แต่ช่วงนี้อาจมีเรื่องข่าวคราว ที่จะต้องตามให้กระชับขึ้น และนโยบายของรัฐบาลก็เน้นปราบปรามยาเสพติด และการดูแลความสงบเรียบร้อย ดังนั้นต้องเคร่งครัดในส่วนนี้ เมื่อถามว่า มีชื่อของ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงษ์ รอง ผบ.ตร. เข้ามาเกี่ยวพันในการโยกย้ายครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยังไม่มีอะไร ยังไม่ได้คุยเรื่องการโยกย้าย เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่มีชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ซึ่งเป็นเครือญาติมาเกี่ยวข้องด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบเพียงว่า ยังไม่ได้คุยกัน

ที่มา: เดลินิวส์
///////////////////////////////////////////////////////////////

เปิดโฉมหน้ากุนซือบ้านพิษยุค ยิ่งลักษณ์ ..!!?


บ้านพิษณุโลกถูกปัดกวาดเป็นที่อยู่ของ "กุนซือ" การเมืองที่ หวือหวาอีกครั้งในยุค "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

หลังจากก่อสร้างมาครบ 111 ปี (2443-2554) เพื่อเป็นที่พำนักของข้าราชบริพาร ของพลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ทหารมหาดเล็กส่วนพระองค์ ที่รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

บ้านอันเป็นตำนานแห่งทีมที่ปรึกษาข้อราชการแผ่นดินนานถึง 4 รัชสมัย

เมื่อ 23 ปีก่อน ยุคอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่บ้านพิษณุโลกคลาคล่ำไปด้วยขุนพลเศรษฐกิจ-นักกฎหมาย-การต่างประเทศ-นักกลยุทธ์การเมือง อย่างนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี, ดร.ชวนชัย อัชนันท์, ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และนาย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

ย้อนไปเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เคยใช้บ้านแห่งนี้พำนักเป็นช่วงสั้น ๆ

เมื่อคราว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประชุม "ลับ" เพื่อเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท แล้วเกิดปรากฏการณ์ "ข่าวรั่ว" ไปถึงหูนักธุรกิจ-การเมืองระดับ 7 หมื่นล้าน ก็มาจากห้องประชุมในบ้านพิษณุโลก

บ้านพิษณุโลกแห่งนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ 10 ปีก่อน ยุคที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ อดีต ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ปัดฝุ่นปรับปรุงบ้านหลังนี้ให้เป็นที่รับรองแขกต่างประเทศ และใช้เป็นห้องประชุมนัดสำคัญ

การประชุมที่ พ.ต.ท.ทักษิณนั่งหัวโต๊ะ แล้วออกมติทางการเมืองที่สำคัญเป็นจุดเปลี่ยนพรรคไทยรักไทยยุค 377 เสียง ให้แกนนำพรรค "กางมุ้ง" ในพรรคได้ ก็มาจากการประชุมในบ้านหลังนี้

ยุคที่บ้านพิษณุโลกบรรจุปัญญาชนไว้มากที่สุดเป็นยุค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่แห่งนี้เป็นห้องทำงาน ห้องประชุมของอดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และสมัชชาปฏิรูปประเทศที่ น.พ.ประเวศ วะสี เป็นหัวขบวน

ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้มีการประกาศแต่งตั้งข้าราชการการเมืองไปแล้ว 32 ราย เฉพาะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมี 4 ราย ทั้ง พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี, นายโอฬาร ไชยประวัติ, นายสุชน ชาลีเครือ และ พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร

ยังมีนักการเมืองอกหัก-สอบตกขุนพลเสื้อแดง และที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องใช้หนี้บุญคุณทางการเมืองอีก 13 ราย ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อาทิ นางไพจิตร อักษรณรงค์, นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ และ นายอรรถชัย อนันตเมฆ เป็นต้น

บรรดาทีมที่ปรึกษาทั้ง 1 โหลกว่ายังไม่มี Job description และอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่มีที่นั่งประจำการ ประจำตำแหน่ง

ต่างจากนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 จำนวนนับ 10 คน ที่ได้รับ คำสั่งเป็นการภายในพรรคเพื่อไทย ให้ประจำการเป็น "ทีมงานบ้านพิษณุโลก" ประจำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว

บุคคลมีตำแหน่งหมายเลข 1 นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานทีมที่ปรึกษาชื่อ นาย นพดล ปัทมะ มีความสามารถพิเศษโดดเด่นเรื่องกฎหมาย ทนายความประจำตระกูลชินวัตร เคยปฏิบัติหน้าที่โฆษกตอบโต้ ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณในต่างประเทศ และแถลงเรื่องคดีความของอดีตภริยาอดีตนายกรัฐมนตรีสม่ำเสมอ

บุคคลที่อยู่ในแถวที่ 2 ชื่อ นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ที่หายตัวไปในช่วงที่เพื่อไทยต้องต่อสู้ทางการเมืองจากรอบทิศทาง แต่เขาไปปรากฏตัวร่วมทีมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพื่อแถลงข่าวส่วนตัวเรื่องที่พัวกันกับการจงรักภักดี

บุคคลที่อยู่ในลำดับที่ 3 ชื่อ นาย พงศ์เทพ เทพกาญจนา ตำแหน่งทางการเมืองที่ปรากฏหลังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง คือ โฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ

นอกจากนี้ยังมีนักการเมือง ทีมงาน การเมืองอีกนับ 10 คน ร่วมเป็นทีมงานยุทธศาสตร์การเมือง

คำสั่ง "ลับ" ภายในพรรคเพื่อไทยครั้งนี้มาจากกรอบแนวคิด-ข้อเสนอของนักการเมืองฝ่ายซ้าย อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่เสนอขึ้นในช่วงหลังชนะเลือกตั้งว่า "รัฐบาลควรมีทีมที่ปรึกษาพิเศษ เพราะมีภารกิจหลายอย่างที่ต้องนำนโยบายไปปฏิบัติ และยากมากที่จะขับเคลื่อนได้ด้วยฝ่ายรัฐมนตรีฝ่ายเดียว"

ข้อเสนอมีหลักการ-เหตุผลแนบท้ายว่า นโยบายหลายข้อจาก 16 ข้อเร่งด่วนที่ต้องทำทันที จำเป็นต้องมีทีมที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์การเป็นรัฐมนตรี รอบรู้เรื่องกฎหมาย รู้ขั้นตอนในการขับเคลื่อนเข้ามาช่วยเสริมจึงจะทำงานได้ราบรื่น

โมเดลในการทำงานของทีม "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" จะรวบรวมข้อมูลการขับเคลื่อนนโยบาย แล้วส่งผ่านไปที่ทีม "เลขาธิการนายกรัฐมนตรี" นำไปประสานสั่งการระดับกระทรวง

วาระและประเด็นที่อยู่ในมือของทีมงานบ้านพิษณุโลกยุค "111+109" มีวาระร้อน 2 ประเด็นด่วน คือ 1.ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ 2.ขับเคลื่อนแนว ทางปรองดอง ด้วยโรดแมปที่ชัดเจน โดยมีทีมงานระดับ "ทีมเนติบริกร" ระดับนักกฎหมายมหาชน-นักกฎหมายเอกชน และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายธุรกิจร่วมขบวน

จังหวะการทำงานจะคล้ายกับยุค "พ.ต.ท.ทักษิณ-ไทยรักไทย" คือขับเคลื่อนควบคู่ระหว่างการทำงานการ เมือง-มวลชนของพรรค แล้วส่งต่อไป เป็นนโยบาย มาตรการของรัฐบาล ซึ่ง มีทีมงานสนับสนุนทั้งสายข้าราชการ และสายของการปฏิบัติการระดับทีมงานของพรรค

โปรดรอคอยติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของทีมกุนซือบ้านพิษณุโลกยุคยิ่งลักษณ์ที่หวือหวาด้วยความระทึก
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปู-1 หมดเวลาฮันนีมูน-สารพัดข่าวลบประดังเข้าใส่ !!?

ผ่าประเด็นร้อน

เพิ่งผ่านมาแค่เดือนเศษเท่านั้น ที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายทำให้คนในครอบครัวชินวัตรได้กลับมายึดอำนาจรัฐอีกรอบ อย่างไรก็ดี การเข้าบริหารราชการแผ่นดินในฐานะรัฐบาลอย่างเป็นทางการต้องผ่านการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสียก่อน ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นมาเพียงแค่ไม่ถึงสองสัปดาห์เท่านั้น

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ ทำไมรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรีหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงถูกจับจ้องและถูกวิจารณ์มากเป็นพิเศษ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันเฉพาะรัฐบาลใน “เครือข่าย” เดียวกัน อย่าง รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นพี่ชายในยุคพรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้งเหนือ

พรรคประชาธิปัตย์ในปี 2544 อย่างขาดลอย แม้จะไม่ถล่มทลายแบบยุคปัจจุบัน แต่บรรยากาศต่างกันลิบลับ ในยุค ทักษิณ ตอนนั้น มีช่วงจังหวะฮันนีมูนอย่างน้อย 6-7 เดือนหรือนานนับปี และในช่วงแรกมีเสียงฮือฮากับนโยบายประชานิยมที่ปล่อยออกมาเป็นชุด เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค พักหนี้ กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ชาวบ้าน “ซี๊ดปาก” ปรบมือดังลั่น อาจเป็นเพราะมีความแปลกใหม่ มีความฉับไว เมื่อเปรียบเทียบกับยุค “ชวนเชื่องช้า” ที่ต้องรอรายงานก่อน อีกทั้งในเวลานั้นชาวบ้านยังไม่รู้เท่าทัน “เล่ห์เหลี่ยมจัด” ของ ทักษิณ และที่สำคัญทุกนโยบายประชานิยมล้วนใช้งบประมาณของรัฐ หน่วยงานของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อนสามารถสั่งได้ทันที แต่มาในยุค “โคลนนิ่ง” รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ต้องไปเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องค่าแรง 300 บาท จบปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาท มันก็ทำให้การขับเคลื่อนได้ยาก จนล่าสุดเริ่มออกมาในแนวทางบิดพลิ้ว เป็น “รายได้รวม” และ “เพิ่มเงินค่าครองชีพ” อีกทั้งยังไม่มีการประกาศออกมาให้ชัดเจนว่าทำได้เมื่อใด การรู้ทันของชาวบ้าน เนื่องจากได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของคนในครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ผ่านมาต่อเนื่องเกือบสิบปี มีแต่เกี่ยวข้องกับคดี ทุจริตทำผิดกฎหมาย

โดยเฉพาะจะเกี่ยวข้องกับ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” คดี “เลี่ยงภาษี” หรือ “ซุกหุ้น” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็พัวพันมาถึง น้องสาว คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นมันก็ช่วยไม่ได้ที่จะต้องถูกจับตามองทุกฝีก้าว ว่าจะ “รับงาน” มาจากพี่ชายในลักษณะ “วาระซ่อนเร้น” อย่างไรหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยและเธอชนะการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผิดหวังที่เคยมีต่อรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีผลงาน “ห่วยแตก” และทุจริตกันอย่างมโหฬาร แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไฟเขียวให้รัฐบาลใหม่มาปู้ยี่ปู้ยำบ้านเมืองอย่างไรก็ได้ แต่ในช่วงระยะไม่กี่วันที่ผ่านมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ทำให้สังคมเกิดความระแวง และเกิดความไม่มั่นใจเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วไม่น่าเชื่อ เพราะสิ่งที่บอกว่า “ทำทันที” นั้นกลับเป็นเรื่องที่เอื้อต่อประโยชน์ส่วนตัวของครอบครัวชินวัตรและพวกพ้องกันเองทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานล็อบบี้ให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกวีซ่าให้ ทักษิณ เข้าประเทศ ข่าวการเจรจาเรื่องฮุบผลประโยชน์ทางด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย และล่าสุดมีการบำเหน็จรางวัลให้กับ “หัวโจก” คนเสื้อแดงโดยไม่เลือกหน้า ขอเพียงแต่สร้างประโยชน์ ใช้เป็นฐานมวลชนสนับสนุนรัฐบาลเท่านั้นเป็นพอ ไม่สนใจต่อความรู้สึกของชาวบ้านทั่วไป ล่าสุดกำลังไฟเขียวให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี สร้างเงื่อนไขเพื่อ “ขับไล่” พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพียงแค่จะผลักดัน “พี่เมียทักษิณ” คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปีหน้าเท่านั้น หรือก่อนหน้านี้ หากพิจารณาจากรายชื่อคณะรัฐมนตรีแต่ละคนล้วนแล้วแต่น่าผิดหวังทั้งสิ้น มีแต่ออกมาในลักษณะเป็นพวก “คนรับใช้” หรือ ประเภท “เด็กในบ้าน” ที่พร้อมจะรับคำสั่งซ้ายหันขวาหันทั้งสิ้น ขณะเดียวกันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ บ้านเมืองกำลังเข้าสู่ยุค “บรรยากาศแห่งความกลัว” มีแนวโน้มจะมีการฟื้นฟู “รัฐตำรวจ” ขึ้นมาอีกครั้ง รวมไปถึง “ขบวนการเรดการ์ด” ออกมาข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่งสื่อมวลชนก็เริ่มถูกคุกคาม ดังกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวสาวรายหนึ่งของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

ปรากฏการณ์และความเคลื่อนไหวดังกล่าวรับรองว่าไม่เป็นผลบวกกับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอย่างแน่นอน แม้ว่าจะมีบางเรื่องอาจจะสร้างความพึงพอใจกับชาวบ้านแบบเฉพาะหน้านั่นคือการลดราคาน้ำมันลงมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีการคงไว้ในลักษณะแบบนี้อีกนานแค่ไหน และในอนาคตจะต้องกู้เงินมาโปะอีกจำนวนเท่าได ดังนั้น ถ้าให้พิจารณาบรรยากาศที่เป็นอยู่ในเวลานี้ รับรองว่าไม่ใช่เป็นบรรยากาศฮันนีมูนอันแสนหวานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างแน่นอน แต่เริ่มเข้าสู่การตรวจสอบและเสียง

วิจารณ์ก็เริ่มดังขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันนี่อาจเป็นความจงใจต้องการให้เกิดขึ้นก็เป็นได้ เพราะมั่นใจในเสียงสนับสนุนจากมวลชน และกลไกอำนาจรัฐที่รุกเข้าไปยึดกุมในทุกหน่วยงานหลักไว้หมดแล้วก็เป็นได้ ที่มา: ผู้จัดการ ////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////