--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศาล…บนทางแพร่ง

เจริญ คัมภีรภาพ


คนที่คิดและมองว่า “กฎหมาย” “ศาล” และ“ความยุติธรรม” (Justice) เป็นสิ่งเดียวกันหนึ่งหรือ เป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้อีกหนึ่งนั้น มักจะมีกรอบและกระบวนคิดเชิงวิเคราะห์ที่รู้จักกันในแวดวงวิชาการว่าเป็นวิธีคิดแบบเชิงโครงสร้าง (structural analysis) ซึ่งมีหนทางการพิจารณาปัญหาอย่างเป็นเหตุปัจจัยต่อกันในมุมมองที่กว้างขวาง ยืดหยุ่นและ อย่างมีพลวัตเมื่อถึงเวลาที่ต้องให้เหตุผลทางกฎหมายต่อการปรับใช้

 “กฎหมาย” และ “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองจึงมุ่งและให้ความสำคัญไปที่ความเป็นธรรมและยุติธรรมในปลายทาง มากกว่าความต้องการเชิงสัญลักษณ์ตามรูปแบบพิธีเพียงเพื่อให้ได้รู้ว่า มีการบังคับใช้อำนาจจากศาล ให้ปรากฎแก่สังคมถึงการมีอยู่ของกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่ว่านั้น บ้างก็ว่าเพื่อต้องการให้เกิดความศักดิ์สิทธิของกฎหมาย และ การมีอยู่ของกฎเกณฑ์ที่ได้ประกาศใช้ในขณะที่อีกกลุ่มความคิดซึ่งไม่ให้ความสนใจหรือเคร่งครัดพิจารณาใคร่ครวญกับความเป็นกฎหมายที่จะต้องนำมาบังคับใช้ว่าเป็นกฎหมายหรือ กฎเกณฑ์ ที่มีที่มาที่ไปจากสถาบันทางการเมืองที่มี

อำนาจหน้าที่โดยถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ วัฒนธรรมทางกฎหมายแบบหลังนี้จึงติดหล่มมัวเมาอยู่แต่ในกับดักทางความคิดทางกฎหมาย เป็นไปตามวาทะกรรมที่บันดากลุ่มนิติบริกรมักอ้างความชอบด้วยกฎหมายในแนวทางของตนเองอยู่เสมอว่า เป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย หรือ Justice by Laws ที่จะโอนอ่อนผ่อนตามแบบต้นอ้อลู่ไปตามลมซึ่งขึ้นกับว่าใครมีอำนาจในเวลานั้น ๆ เป็นผู้สร้างกฎหมายนั้นมา เช่นถ้าผู้มีอำนาจเป็นคณะรัฐประหารยึดอำนาจรัฐมาโดยวิธีนอกรัฐธรรมนูญฯ ประกาศ คำสั่งใด ๆ ออกมาก็จะถือว่า ประกาศหรือคำสั่งนั้น ๆ เป็น “กฎหมาย” เทียบเคียงกับกฎหมายที่ตราขึ้นจาก“รัฐสภา” ซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจหน้าที่ที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทำนองเดียวกันกับการประกาศ คำสั่ง ฉุกเฉินใด ๆ ที่ประกาศใช้จากสถานการณ์พิเศษใด ๆ ก็คงยึดถือเป็น

 “กฎหมาย” อยู่อย่างนั้น ผลผลิตของวัฒนธรรมทางความคิดในการใช้กฎหมาย (Legal Culture) เช่นนี้ส่งผลอย่างมีนัยะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวิทยาการเมือง จากการไม่ยอมรับรู้และยินดียินร้ายต่อกกฎหมายหรือคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม หรือ เป็นกฎหมายที่มีที่มาที่ไม่ถูกต้องที่คงเป็นเรื่องยากที่จะหาความยุติธรรม ๆ ได้ ในประการสำคัญการใช้กฎหมายตามวัฒนธรรมตามความคิดดังกล่าวนี้ ยิ่งกลับมีส่วนช่วยบ่มเพาะและสร้างเผด็จการอำนาจนิยมพลเรือนขึ้นมาในสังคม

ซึ่งมักใช้วาทะกรรมเพื่อแอบอ้างซ่อนเร้นอำพรางตัวเองแบบข้าง ๆ คู ๆ รองรับการครองอำนาจของตนเองและคณะ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับหรือถูกต้องตามทำนองคลองธรรมว่าเพื่อปกป้องหลักนิติรัฐ (Legal State) หรือ ปกป้องหลักนิติธรรม Rule of law ซึ่งแท้ที่จริงคือการปกป้อง การกระทำและบรรดากฎหมายและคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมที่พวกตนได้ประกาศใช้ ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับหลักการที่กล่าวอ้างมาทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง ชนิดที่เจ้าของทฤษฎีที่วางรากฐานความคิดได้ยินได้ฟังแล้ว ต้องเป็นลมล้มพับที่ได้รู้ได้เห็นการบิดเบือนหลักการของตนเองแบบหน้าตาเฉย ยิ่งถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ จากอำนาจศาล (Judicial power) ด้วยแล้วยิ่งก่อผลกระทบที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

การปรับและประยุกต์ใช้ กฎหมายภายใต้วัฒนธรรมทางกฎหมายข้างต้นนี้ ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนและสังคม ที่มักมีความเชื่อที่คล้าย ๆ กันว่า“ศาล” เป็น “สถานที่” ที่ความขัดแย้งมายุติ อย่าง “ยุติธรรม” หรือ“เป็นธรรม”ไม่ใช่ สถานที่ ที่ทำหน้าที่ “ยุติความเป็นธรรม” หรือที่ ๆ ทำให้ความยุติธรรมเป็นธรรมนั้นหมดไป แม้แต่การยกย่องและให้ความสำคัญต่อศาลอยู่ในฐานะที่สูงกว่าสถาบันทางสังคมอื่น ว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนก็ล้วนสะท้อนบทบาทและความสำคัญของศาลว่ามีความสำคัญอย่างไรด้วยเหตุนี้คุณค่าและเยื่อใยของสังคมและประชาชนที่มีต่อศาลจึงอยู่ที่ ความยุติธรรม เป็นธรรม มากกว่า กฎหมายเพราะ กฎหมายอาจจะไม่เป็นธรรมก็ได้ จึงไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับความยุติธรรม ความในข้อนี้ผู้เขียนเคยสนทนาแลกเปลี่ยนและได้ฟังเสียงสะท้อนทำนองเดียวกันนี้จาก อดีตท่านประธานศาลฏีกาของอินเดียที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง โดยท่านกล่าวเชิงตำหนิสถานศึกษาด้านนิติศาสตร์ทั่วโลกที่มัวแต่อบรมสั่งสอนกฎหมาย แต่ไม่ได้สอนเกี่ยวกับความยุติธรรม (They study laws but not for justice) เลยทำให้การใช้กฎหมายของรัฐเป็นไปแบบเทคนิคกลไกหลีกหนีออกจากความยุติธรรมและเป็นธรรม (ผู้เขียนเพิ่มเติมเอง)

เมื่อพิจารณาแนวคิดที่มองความยุติธรรมแตกต่างกันในสังคมระหว่างคนที่ใช้กฎหมาย กับสังคมที่ถูกกฎหมายมาบังคับ กลับพบสิ่งที่เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ ประชาชนและสังคมพิจารณากฎหมาย ความยุติธรรมและศาลเป็นแบบองค์รวมเกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในขณะที่มีนักกฎหมายจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นผลผลิตของระบบการศึกษากฎหมายแบบอดีตประธานศาลฎีกาอินเดียท่านว่า กลับมองความยุติธรรมและศาลอยู่ที่ “กฎหมาย” ยิ่งเป็นและมาจากความคิดเห็นที่มาจากศาลด้วยแล้วที่ว่า เมื่อมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างไรก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย ประหนึ่งว่าศาลมีบทบาทหน้าที่ทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย กฎหมายจะดีเป็นธรรมหรือไม่ก็เป็นคนละเรื่องกับการรักษาบังคับใช้กฎหมาย

ปัญหาวิกฤติบ้านเมืองของเราเวลานี้หลาย ๆ เรื่อง กำลังถูกผลักดันเข้าสู่ข้อพิจารณาทาง“กฎหมาย” ในท้ายที่สุด เพราะสถานการณ์ทางสังคมวิทยาการเมืองกำลังผลักดันปัญหาที่หมักหมมซับซ้อนให้ไปจบหรืออาศัยการวินิจฉัยชี้ขาดโดย“ศาล” ในทุกข้อขัดแย้งโดยไม่สนใจว่าจะเป็นความขัดแย้งในเรื่องอะไร เพื่อหวังอย่างเดียวว่า ให้ทุกอย่างจบลงเอยเสียทีภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้เองจึงเป็นการชักนำ “ศาล” เข้าสู่ขบวนการขัดแย้งที่สลับซับซ้อนหลายเงื่อนปมที่หลายฝ่ายเป็นผู้ก่อขึ้น ทั้งนี้ไม่รวมถึงปัญหาเรื่อง“เขตอำนาจศาล” และ “ความสามารถของศาล (Competent court)” ก็เป็นปัญหาใหญ่ต่างหากอีกเรื่องที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย ทำให้สถานะศาลในเวลานี้อยู่บนทางแพร่งที่ศาลต้องต้องเลือกเดินอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง ถึงกับเป็นบทชี้อนาคตของคำว่า “มีมาตรฐาน” และ “ไม่มีมาตรฐาน” ของอำนาจศาลในประเทศไทยว่า จะเดินไปในทิศทางใด

ถึงกระนั้นก็ตามความขัดแย้งที่พัฒนาคลี่คลายมาถึงเวลานี้ แม้การจำต้องพิพากษาตัดสินชี้ขาดข้อขัดแย้งซึ่งศาลยังไม่สามารถสลัดตัวเองออกจากวัฒนธรรมการใช้กฎหมายแบบเก่า ๆ อย่างที่กล่าวมา ที่มุ่งตอบสนองและให้ความสำคัญ

กับ“กฎหมาย” อันเป็นรากฐานของการระงับข้อขัดแย้งหรือการบังคับใช้กฎหมายก็ตาม ปัญหาที่จะทำให้ศาลไทยหนักอกและเป็นภาระที่ต้องทำมากยิ่งขึ้น เมื่อคู่กรณียกระดับความขัดแย้งโดยใช้สิทธิโต้แย้งหรือขยายขอบเขตประเด็นการต่อสู้คดีถึง ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายหรือกฎหมายที่ว่าจะนำมาปรับใช้กับข้อเท็จริงไม่มีความถูกต้อง ขาดความสมบูรณ์ ไม่เป็นกฎหมาย หรือ เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (International Standard)หรือ เป็นไปตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ (International obligations) ที่ผูกพันธ์ประเทศไทยหรือแม้แต่กฎหมายที่จะนำมาปรับใช้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฯแล้วแต่กรณี ย่อมทำให้กระบวนการใช้ดุลพินิจหรือการพิจารณาพิพากษาของศาลต้องมีความรอบคอบรัดกุมชนิดแบบมั่วไม่ได้เลย ทั้งกระบวนการก่อนมาสู่ศาล (before the court) และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล เพราะแม้ศาลยังอยู่ในวัฒนธรรมการใช้กฎหมายแบบเดิม ๆ แต่คำว่า

 “กฎหมาย” ที่ศาลต้องนำมาปรับใช้ (must be used) นั้นมีบริบทกว้างขวางมากกว่าไกลกว่า มีมาตรฐานและหลักประกันมากกว่า ในประการสำคัญหากศาลจะต้องเดินตามแนวทางอย่างที่นิติบริกรว่า เป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย ศาลต้องเลือกเส้นทางเดินอยู่ดีว่า จะพิพากษาตามกฎหมายที่บังคับใช้ในเรื่องนั้น ๆ อย่างเดียว หรือต้องพิจารณาควบคู่กับกฎหมายที่ถูกต้องตรงตามหลักมาตรฐานสากล หรือ พันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องยึดถือและปฏิบัติตามด้วย ฟันธงคือ ศาลต้องดูทั้งสองส่วนประกอบกัน โดยมิพักต้องตรวจสอบความสามารถของศาลที่จะพิจารณาพิพากษาข้อขัดแย้งในแต่ละเรื่องอีกด้วย

ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผมจึงเห็นว่า “ศาล” (Court) และ “อำนาจศาล” (Judicial power) ของประเทศไทยเวลานี้กำลังยืนอยู่ท่ามกลางทางแพร่งที่จะต้องเลือกเดิน บนทางแพร่งที่จะเลือกทางหนึ่งทางใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการใช้กฎหมาย (legal culture) อย่างที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น สังคมไม่อาจล่วงรู้เดาใจศาลได้ว่าในท้ายที่สุดศาลจะเลือกเส้นทางใด ระหว่าง ความยุติธรรม และกฎหมายที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเลือกทางหนึ่งทางใดในแง่เหยื่อผู้ได้รับเคราะห์กรรมจากผลผลิตทางวัฒนธรรมการใช้กฎหมายที่ว่านี้นั้น ยังมีภาระที่ต้องค้นหาความยุติธรรมที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

ผมดีใจที่ยังมีตุลาการจำนวนหนึ่งที่พยายามตั้งคำถาม ๆ ทำนองเดียวกันนี้ และได้แสดงความสนใจชักชวนให้ช่วยมองอนาคต“ความยุติธรรม” ไปข้างหน้า ซึ่งผมก็ไม่มั่นใจว่า ตุลาการตัวเล็ก ๆ อย่างเขาจะไปทำอะไรที่ส่งผลกระเทือนในทางสร้างสรรค์ต่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ในสถาบันศาลเพราะทั้งสิ้นทั้งปวงเป็นเรื่องที่ฝังรากลึกเข้าถึงวัฒนธรรมการใช้กฎหมาย ที่ไม่รู้จะมีเครื่องมืออะไรมาเปลี่ยนรากทางวัฒนธรรมนี้ได้

ที่มา.Unrest in Bangkok

ปฐมพงษ์ ท้าจับข้อหามั่วสุม ปิดสนามบิน

พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย ระบุว่า ไม่รู้สึกหวั่นไหว หลังศาลออกหมายจับ พร้อมกับ จอย-ศิริลักษณ์ ผ่องโชค ดารานักแสดง ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป กรณีปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม - 3 ธันวาคม 2551 พร้อมท้าให้มาจับตนที่บ้านพักได้เลยเพราะตนไม่กลัว เนื่องจากในชีวิตทหารเคยผ่านสนามรบมาแล้ว ซึ่งถือว่าหนักกว่านี้ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า หากพบตัวที่ใดจะทำการจับกุมทันที

ขณะเดียวกัน ก็ตั้งขอสังเกตด้วยว่า ทำไมจึงมีการออกหมายจับในช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 7 ตุลา และแปลกใจว่า ทำไมจึงออกหมายจับแค่ตนกับ จอย-ศิริลักษณ์ เท่านั้น เพราะคนที่ไปร่วมชุมนุมมีเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้หารือเรื่องนี้กับ จอย-ศิริลักษณ์

อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 7 ตุลา ที่จัดขึ้น ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า และที่สถานีโทรทัศน์ ASTV นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะเดินทางไปร่วมงานหรือไม่ โดยจะขอประเมินสถานการณ์ก่อน

ด้าน จอย-ศิริลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนกิจกรรมในวันนี้คงไม่ไปร่วมงาน โดยจะขอปรึกษาทนายความก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ที่มา.เนชั่น

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข่าวลวง...

โดย.นักวิชาการ ลูกพ่อขุน

หลังการให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศของนายกสุดหล่อขวัญใจแม่ยก ที่กล่าวหาคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ที่ทำเอานักข่าวต่างประเทศบางรายแอบอมยิ้มไม่ได้ ซึ่งก็ทำให้นายกของเราหน้าเจื่อนไปพอสมควรแต่ยังกัดฟันฟันธงต่อว่าทุกอย่างเป็นเพราะนายกทักษิณ

จากคำบอกเล่าของนักข่าวต่างประเทศก็ออกมาในทำนองที่ว่าไม่มีใครให้น้ำหนักกับคำกล่าวอ้างครั้งนี้ และที่ร้ายไปกว่านั้นส่วนใหญ่กลับคิดว่าเป็นเพียงการแก้ตัวเพื่อให้พ้นข้อหาฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์

หลังจากเหตุการร์ครั้งนั้นนำมาสู่การจับชายชุดดำ 11 คนที่รีสอร์ทภาคเหนือ และยังไม่ทันจะได้สืบสวนสอบสวนแต่ประการใดทางฝ่ายความมั่นคงออกมาตีตราว่าเป็นคนเสื้อแดง ใส่บทบาทกลุ่มคนชุดดำที่สังคมโลกเคยสงสัยให้หมดไปว่าเป็นคนเสื้อแดง พร้อมตั้งชื่อเสร็จศัพท์ว่าเป็น "กลุ่มนักรบแดง"

แต่ทว่าการจับกุมก็ไม่ได้สร้างผลต่อกระแสความเชื่อมั่นของสังคมโลกมากมายอย่างที่ฝ่ายความมั่นคงคาดหวังไว้ ด้วยการที่พื้นที่ที่ถุกจัดฉากว่าเป็นที่ซ่องสุมกำลังของนักรบแดงตามคำกล่าวนั้น เป็นที่ในโครงการพระราชดำรัสของสมเด็จฯท่าน แถมรีสอร์ทนั้นก็เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีองค์มนตรีเป็นผูดูแลอยู่ด้วย คำถามจึงเกิดขึ้นว่ามันสมควรจะเป็นพื้นที่ซ้อมรบหรือฝึกยุทธวิธีการลอบฆ่าตรงไหน

มาวันนี้มีการระเบิดที่บางบัวทอง มีผู้จากภูมิใจไทยออกมาโยงใยว่านี่คือสิ่งที่ถูกวางแผนไว้แล้วโดยคนเสื้อแดง สุดท้ายถึงกับอ้างว่ามีชาวตะวันออกกลางเข้าออกห้องที่เกิดเหตุระเบิดหลายครั้ง

เหมือนจะเป็นการจงใจให้เกิดเหตุการ์ทั้งสองเพื่อสร้างน้ำหนักและหลักฐานในเวทีโลก แต่ความเดือดร้อนกลับลงเต็มๆกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรีสอร์ทหรือลุกจ้างที่ต้องนั่งตบยุงเพราะไม่มีใครกล้าไปเที่ยว

หรือแม้แต่ผู้อาศัยในแมนชั่นที่ต้องจบชีวิตลงไปทั้งๆที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร รวมถึงชาวบ้านที่ต้องอกสั่นขวัยหายกับเหตุการณ์ร้ายที่ไม่ควรเกิดขึ้นในแผนดินนี้

หลายคนอาจกล่าวหาฝั่งตรงข้ามกันไปต่างๆนานา แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ทุกคนทำคือการร่วมกันหยุดกล่าวหาใส่ร้าย แล้วลองนไข้อมูลที่มีมาแบกันบนโต๊ะ ถกเถียงด้วยสติปัญญาและหลักฐาน

วันนี้เรากำลังโดนต้มอยู่หรือไม่มันขึ้นอยู่กับผู้รับสารว่าเลือกจะคิดเช่นไร เพราะหากมองกันตามความเป็นจริงแล้วการกระทำเช่นนี้ไม่สามารถล้มรัฐบาลนี้ได้ ที่สำคัญยังเป็นการยืดเวลาให้รัฐบาลอยู่ได้อย่างราบรื่นสบายใจอีกต่างหาก

ผิดกับคนเสื้อแดงที่กลายเป็นจำเลยสังคม ผมแค่อยากสื่อว่าหากวันนี้แค่คนเสื้อแดงรวมพลังกันบอกเล่าความจริงที่ถุกบิดเบือน เลิกคิดว่าคนอื่นไม่ใช่พวกและไม่ยอมพยายามอธิบายความจริงให้คนที่ไม่เชื่อเรา พวกคนเสื้อแดงก็จะเป็นจำเลยสังคมด้อยปัญญาอย่างนี้ต่อไป

ปราปต์ บุนปาน สุดท้ายแล้วคนรุ่นเราก็ต้องเลือกชนหรือเดินไปบนทางแยกสักทางในสักวันหนึ่งอยู่แล้ว


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

OCTOBER 09 ของ โอเพ่นบุ๊ค  เล่มล่าสุด   ธิติ มีแต้ม สัมภาษณ์  "ปราปต์ บุนปาน"
 
...ปราปต์ บุนปาน ผู้พยายามทำงานศิลปะควบคู่ไปกับงานข่าว ทั้งหนังสั้น เขียนบทความ และสถานะล่าสุดคือบรรณาธิการบริหารมติชนออนไลน์ ที่เขาต้องดูแลเกือบ 20 ชีวิต และเสาะหาที่ทางของตัวเอง เพื่อที่ความเชื่อส่วนตัวจะได้รับการถกเถียงแลกเปลี่ยน    
ต่อไปนี้ คือ บทสัมภาษณ์ที่สะท้อนความคิดของคนทำสื่อรุ่นใหม่
 
คุณเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ แต่มาสนใจสื่อ ทั้งหนังสั้นและข่าว ทำไมจึงข้ามสายมาได้
 
กับมติชนออนไลน์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของครอบครัวที่อยากให้มาช่วยดูงาน แต่อีกส่วนหนึ่งผมเห็นว่าท้าทายดี เราสามารถเรียนรู้อะไรจากมันได้หลาย ๆ อย่าง เราจะใช้พื้นที่ตรงนี้อย่างไรให้สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง คือเล่นการเมืองอีกแบบหนึ่ง พยายามนำเสนอความคิดทางการเมืองที่เราเชื่อ หรือพยายามเปิดพื้นที่สำหรับความแตกต่างหลากหลาย ในช่วงที่ผ่านมามันก็เห็นชัดขึ้นว่าสังคมไทยมีลักษณะอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความแตกต่างหลากหลายอาจเป็นพื้นฐานทางความคิดที่นำมาใช้ทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ดีกว่า
 
ส่วนภาพยนตร์นั้นผมสนใจมาตั้งแต่เรียนรัฐศาสตร์ รวมถึงวรรณกรรมด้วย จึงอยากลองทำดูด้วยมุมมองของเรา ถือเป็นวิธีคิดหรือการเข้าใจโลกอีกแบบหนึ่ง แล้วค่อย ๆ ขยับเข้าประเด็นการเมือง ซึ่งเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ซึ่งสำหรับผม มันเป็นสถานการณ์ที่แหลมคมและสอดคล้องกับการทำหนังพอดี เพราะช่วงนั้นไม่มีช่องทางสื่อสารอื่น ๆ ที่จะเปิดโอกาสให้เราแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารดังกล่าว
 
พอมาเป็นเว็บไซต์ก็เป็นภารกิจส่วนตัวที่ผูกพันอยู่กับครอบครัว ตอนแรกผมยังไม่เห็นว่าเราจะสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง แต่พอเข้ามาแล้วก็เห็นว่าพอจะมีช่องทางอะไรบางอย่างที่สามารถทำได้ และมีผลกระทบต่อสาธารณะมากกว่า เพราะถ้าเป็นหนังที่ผมทำ คนดูจะอยู่แค่หลักร้อยหรือหลักพันเท่านั้น แต่เว็บไซต์ของเรามีคนอ่านมากกว่านั้น และยืดหยุ่นได้มากกว่าหนังสือพิมพ์
 
ย้อนกลับไปในช่วงก่อนรัฐประหาร ตอนนั้นคุณทำอะไรอยู่ 
ตอนนั้นผมเรียนปริญญาโทอยู่ ก่อนหน้านั้นผมสนใจเรื่องวิชาการอย่างเดียว อ่านทฤษฎีใหญ่ ๆ โต ๆ อ่านวรรณกรรมทั่วไป แล้วก็ลองเริ่มทำหนัง รู้สึกว่าเป็นการทวนกระแสในแง่หนึ่ง
 
 ทวนกระแสอะไร
 
ทวนกระแสการเมืองกระแสหลัก สมัยนั้นผมมักคิดว่าการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นการเมืองเชิงสถาบัน ซึ่งให้ความสำคัญเพียงแค่เรื่องของนายกรัฐมนตรี ส.ส. รัฐสภา หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนเท่านั้น แต่การเมืองแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันทุกมิติ รวมทั้งศิลปะ หนัง วรรณกรรม ขณะเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนเป็นต้นมา สิ่งแรกที่ผมรู้สึกคือช็อกว่าเมืองไทยมันกลับไปเป็นอย่างนี้อีกแล้วเหรอ หลังจากคิดว่าเหตุการณ์อย่างพฤษภาทมิฬ 2535 คงจบไปแล้ว คงจะไม่มีทหารออกมายึดอำนาจอีก แต่สุดท้ายก็กลับมา ผมก็เลยลองถามตัวเองถึงจุดยืนทางการเมืองที่เราคิดว่าเราทวนกระแสหลักอยู่ ทำให้พบว่าเราคงละเลยการเมืองเชิงสถาบันหรือเรื่องอำนาจรัฐไปไม่ได้ แต่เมื่อเราสนใจเรื่องศิลปะ ก็คิดว่าทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงศิลปะเข้าหาประเด็นหรือเหตุการณ์ที่เรากำลังช็อก จึงเริ่มทำหนังสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น
 
ในช่วงที่มีกระแสเกลียดคุณทักษิณ ผมก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐ ทั้งชายแดนใต้ ประชานิยมบางอย่าง และเรื่องฆ่าตัดตอน ตามกระแสสังคม แต่พอหลัง 19 กันยา มันน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ กลายเป็นว่าคนใกล้ตัวเรากลับเป็นผู้สนับสนุนอำนาจที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารจนถึงในปัจจุบัน ซึ่งผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นแค่กลไกหลักอันหนึ่งของเครือข่ายอำนาจดังกล่าว ขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างก็ดี คนชั้นล่างก็ดี พวกเขากลับพยายามท้าทายต่อต้านอำนาจที่มาจากรัฐประหารอย่างชัดเจน
 
อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยตั้งคำถามว่า ไม่แน่ใจว่าคนชั้นกลางที่ไปทำความสะอาดกรุงเทพฯ จงใจจะลืมเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนพันธุ์ใหม่ ซึ่งเราน่าจะทำการศึกษาต่อไป หรือว่าคนพวกนี้ถูกปิดหูปิดตาจนไม่เห็นอะไรเลยกันแน่ คือมีชีวิตที่ดีในกรุงเทพฯ แต่อยู่ดี ๆ ก็มืดบอด มองไม่เห็นอะไรเลย ผมคิดว่าคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ สัมผัสปัญหาหรือเรื่องบางอย่างได้
 
พูดตรง ๆ เลยก็คือ อย่างพวกเราคนชั้นกลางก็รู้ว่าสังคมกำลังเปลี่ยน และในความเปลี่ยนแปลงนั้นมันคงไม่ราบรื่น ทุกคนสัมผัสกับบรรยากาศได้ โดยเฉพาะที่ผ่านมา ผมคิดว่าคนจำนวนมากรู้ เริ่มจับอารมณ์ตรงนี้ได้ คาดการณ์ได้ แต่มันขึ้นอยู่กับเขาว่าจะเลือกอะไร บางคนอาจมองเรื่องเฉพาะหน้าไปก่อนเพื่อความอยู่รอด แต่เท่าที่ผมสัมผัส ผมรู้สึกว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ได้มืดบอดขนาดนั้น หรือไม่ได้งี่เง่าขนาดว่า "พี่ไก่อูรูปหล่อจังเลย" หรือไม่รู้ไม่เห็นถึงการตาย คืออาจจะเริ่มเห็น แต่วิถีชีวิตหรือวิธีคิดของเขาทำให้เขาไม่สามารถหลุดออกจากกรอบบางอย่างได้
 
บอกชัด ๆได้ไหมว่าจุดยืนทางการเมืองในช่วงก่อนที่จะมีสื่อในมือแบบในตอนนี้เป็นอย่างไร 
ผมวิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณเหมือนคนอื่นทั่วไป โดยเฉพาะกรณีฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ หรือเรื่องตากใบ ผมคิดว่าสุดท้ายคุณทักษิณก็ต้องหลุดออกไปด้วยการถูกกดดันไปตามระบบ ซึ่งก็เห็นชัดว่าคุณทักษิณเป๋ไปแล้ว และก็ลุ้นว่าสังคมต้องเดินไปสู่การเลือกตั้ง แต่พอมีการยึดอำนาจ ผมจึงถามตัวเองว่าจุดยืนคืออะไร ก็คือต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของสังคม ต้องฟังเสียงของชาวบ้านไม่ใช่เหรอ การตัดสินใจไม่น่าจะอยู่ที่ชนชั้นนำเพียงกลุ่มเดียว ผมคิดว่าการทำรัฐประหารไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม
 
พอลองปล่อยเวลาผ่านไปจนมาถึงปัจจุบันจึงยิ่งชัดเจนขึ้นว่า การที่คุณเลือกเส้นทางยึดอำนาจ มันไม่ใช่ทางออก มันไม่มีพื้นที่ให้คนธรรมดาหรือคนเล็กคนน้อยได้แสดงความเห็นหรือกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แม้กระทั่งการเห็นต่างก็ยังถือว่าน้อย ไป ๆ มา ๆ ปัญหาตอนนี้มันยิ่งกว่าสมัยคุณทักษิณอีก คือไม่เห็นทางไป
 
ข้อจำกัดที่ว่าคืออะไร 
ก็อย่าที่รู้ ๆ กัน คือสังคมไทยมันเปลี่ยนไป เช่น คนในสังคมชนบทเริ่มปรับตัว พวกเขาไม่ได้ยังชีพอยู่ในภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้วย พวกเขาอยากมีส่วนในการกำหนดนโยบายของประเทศหรืออยากมีส่วนแบ่งจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้มากกว่านี้ ขณะที่ประเด็นการบริโภคก็มีความสำคัญสำหรับพวกเขาเหมือนกับคนชั้นกลางในเมืองทั่วไป แต่ชนชั้นนำบางกลุ่มพยายามจะยื้อความเปลี่ยนแปลงไว้ หรือทำให้มันไม่เปลี่ยน ด้วยกรอบคิดของพวกเขา พูดอย่างรว ๆ ก็คือ ต้องอนุรักษ์หรือรักษาสถานะดั้งเดิมไว้
 
โดยส่วนตัว ผมไม่ได้คิดว่าจะทวนกระแสอนุรักษ์ดังกล่าวไหวหรือไม่ไหว แต่เชื่อมั่นว่ามันมีพื้นที่ เราสร้างพื้นที่ใหม่บางพื้นที่ได้ เอาความคิดแต่แนวมาปะทะกัน หรือแม้แต่ใน มติชน ก็ยังมีความคิดสองด้าน บางส่วนอาจเห็นว่าคุณทักษิณเป็นศัตรูเบอร์หนึ่งของประเทศ แต่บางส่วนไม่ได้เชื่อแบบนั้น และสุดท้าย สำหรับการปะทะกันทางความคิด ความคิดอันไหนที่แหลมคมกว่าก็จะเห็นชัดกว่า ว่ากันถึงที่สุด ผมอาจจะจริงจังกับการสร้างพื้นที่มากกว่าการสร้างประเด็นอะไรขึ้นมา
 
ที่ผ่านมามีคนบอกว่าทำไมเว็บไซต์มติชนออนไลน์มันแดงจัง แต่ความจริงก็คือ ในบรรดาคนทำงานทั้งหมด มีที่ติดตามเสื้อแดงน้อยมาก นับนิ้วมือได้ไม่ครบด้วยซ้ำ คือที่ผ่านมาข่าวของเสื้อแดงมีความแหลมคม หรือมีวิธีคิดที่แตกต่างจากวิธีคิดกระแสหลักของสังคม เพราะส่วนหนึ่งคือสื่อของเสื้อแดงถูกปิด พื้นที่ในมติชนออนไลน์ที่มีเรื่องคนเสื้อแดงอยู่แล้วจึงยิ่งชัดขึ้นไปอีก คนก็เลยมองเห็นว่ามันแดง
 
โดยส่วนตัว เคยอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ไหม ก่อนจะมาทำสื่อออนไลน์ที่มันกำลังเติบโตขึ้น วิธีคิดของการเป็นนักหนังสือพิมพ์อาจจะเป็นเบ้าหลอมบางอย่าง หรือมันเชยไปแล้ว 
 
มันก็มีบางส่วน ทั้งผมหรือคนทำงานส่วนใหญ่ในมติชนออนไลน์ จริง ๆ แล้วเรียนจบมหาวิทยาลัยก็เข้ามาทำงานข่าวในออฟฟิศตรงนี้เลย ยังไม่ได้เป็นนักข่าวภาคสนามกันเลย ตัวผมเคยเป็นนักข่าวอยู่ประมาณหนึ่งปีตอนปี 2547 ช่วงแรก ๆ ข่าวของเว็บก็จะดึงมาจากหนังสือพิมพ์ แต่ขณะนี้ก็พยายามเปลี่ยนให้กลับไปสู่ระบบที่นักข่าวอายุน้อย ๆ ควรจะออกไปทำงานภาคสนามบ้าง เพื่อจะได้พบปะผู้คน
 
ขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่ามันขึ้นอยู่กับการมองโลกด้วย เช่น ทีมงานบางส่วนจะไม่ได้ออกไป แต่ผมคิดว่าพวกเขาก็อาจจะได้เห็นโลกอีกด้านมากกว่า เราสามารถหาบทความบางอย่างจากเว็บไซต์อื่นมาลงได้ แล้วมันก็ทำให้เห็นโลกต่างออกไป จนคนข้างนอกบางส่วนเขามองเห็นก็เริ่มส่งบทความเข้ามา อย่างคุณวิจักขณ์ พานิช เคยส่งบทสัมภาษณ์เข้ามาหลายชิ้น คนอ่านก็จะเห็นโลกอีกเฉดหนึ่ง ซึ่งถ้าเราทำงานในลักษณะของหนังสือพิมพ์ ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่า
 
ผมรู้สึกว่าหนังสือพิมพ์หรือสื่อกระแสหลักทั้งหมดตอนนี้มันถูกดูดเข้าไปหาชนชั้นนำโดยอัตโนมัติ ทั้งชนชั้นนำในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ หรือชนชั้นนำในองค์กรทางการเมือง ทิศทางข่าวของเขาจะเป็นแบบนั้น ต้องตามสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือนักการเมืองฝ่ายค้านคนดัง ๆ หรือแกนนำ นปช. พอเป็นภาคธุรกิจก็ต้องเข้าหาผู้บริหารองค์กร
 
ช่วงที่คนเสื้อแดงชุมนุม เรามีนักข่าวที่ค่อนข้างเห็นอกเห็นใจผู้ชุมนุม เราจับจุดนี้ได้ ก็เปิดโอกาสให้เขาไปสัมภาษณ์ผู้ชุมนุม แล้วเขาก็ทำออกมาได้น่าสนใจ คนอ่านก็เยอะ แต่สำหรับหนังสือพิมพ์ ผมไม่แน่ใจว่ามันจะมีข้อจำกัดอะไรบางอย่างหรือไม่ ถ้าจะนำเสนอประเด็นอย่างนี้ นี่ยังไม่นับปัจจัยเรื่องอายุ คือสมมติว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน นักหนังสือพิมพ์ที่รีไรต์ข่าวข้างในออฟฟิศก็อาจจะเป็นคนรุ่นอายุ 30-40 ปีขึ้นไป และเขาก็อาจจะมีมุมมองต่อโลกอีกแบบหนึ่งด้วย เช่น คนรุ่นเราอาจเชื่อและเข้าใจได้ว่าความจริงมันมีหลากหลาย แต่คนทำหนังสือพิมพ์ระดับอาวุโสจำนวนมากก็คงไม่สามารถทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ได้อย่างง่ายดายหรอก สำหรับคนอายุ 40 ปลาย ๆ ถึง 50 มันอาจไม่ใช่เรื่องที่เขาจะเข้าใจได้
 
เข้าใจว่า ? 
 
ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้สมัยใหม่บางอย่างที่สามารถนำมาใช้อธิบายหลาย ๆ ปรากฏการณ์ในสังคมไทยยุคปัจจุบันได้ เท่าที่สัมผัสมา ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ สำหรับคนในอีกรุ่นอายุหนึ่ง เราอ่านหนังสือหรือเรียนหนังสือมา แม้เราเองจะรู้สึกว่าพอจะเข้าใจในเรื่องนี้ แต่การอธิบายก็ยังต้องไปค้นหาหรืออ้างอิงกับหนังสือหรือหนังจากตะวันตก
 
ผมคิดว่าความจริงอันหลากหลายหรือชาติไม่ได้มีหนึ่งเดียว ไม่ได้เป็นสิ่งจริงแท้ตามธรรมชาติ แต่เป็นประดิษฐกรรมของสังคมสมัยใหม่ มันเพิ่งมาอธิบายได้ในสังคมไทยเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ด้วยกรณีตัวอย่างในสังคมไทยเอง ทั้งในแง่การเมืองหลัง 19 กันยา การเกิดขึ้นของเว็บบอร์ดทางการเมืองต่างๆ การแพร่กระจายของคลิปวิดีโอจำนวนมากท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เราสามารถนำแนวคิดสมัยใหม่พวกนั้นมาอธิบายได้หรือกรณีสามจังหวัดภาคใต้ คนรุ่นผมสามารถทำความเข้าใจกับมันได้

 
ด้วยคู่มือบางอย่าง ขณะที่คนรุ่นก่อนหน้านี้เขาอาจไม่มีเครื่องมือนี้ แต่จะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะเขาก็โตมาในอีกสภาพหนึ่ง ข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ หลายคนก็ยังติดความเป็นชาตินิยมอยู่ ยังพาดหัวสรรเสริญทหารกล้าและประณามโจรใต้อยู่ เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่เราจะค่อย ๆ เข้าไปแลกเปลี่ยน คือยังไม่ต้องถึงกับเปลี่ยน แค่เข้าไปแลกเปลี่ยนก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ยิ่งสภาวะปัจจุบันยิ่งค่อนข้างยาก
 
เครื่องมือที่คนรุ่นคุณค้นพบและสามารถนำไปใช้ได้ในบางกรณีคืออะไร
 
 
คือการทำความเข้าใจโลก สุดท้ายแล้วผมคิดว่าอย่างน้อยการเชื่อในเรื่องความหลากหลาย ทำให้เราไม่ฝากความหวังไว้กับคนคนเดียวหรือคนกลุ่มเดียว ไม่เชื่อว่าสังคมจะอยู่ได้โดยมีอำนาจนำโด่อยู่เท่านั้น ไม่สามารถแตะต้องได้เลย ซึ่งในปัจจุบันผมคิดว่าความเชื่อแบบนั้นมันไปไม่รอด โดยเฉพาะคนที่เป็นสื่อ ถ้าคุณเชื่อแบบนั้น มันจะทำให้อำนาจนำยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น และสังคมไทยก็ไม่เปลี่ยนไปไหน
 
ผมยังเห็นความหวังอยู่ หากมองไปที่คนรุ่นใหม่ ๆ ที่มีที่ทางเป็นของตัวเอง แม้จะไม่มีสื่อในมือ แต่การตั้งคำถามของเขาเท่าที่ผมเห็นในเว็บบอร์ดหรือในเฟซบุ๊ก มันทำให้เห็นว่ามีคนที่รู้เท่าทันและกำลังต่อสู้ในสิ่งที่เขาเชื่ออยู่จำนวนมาก
คุณพูดถึงนักหนังสือพิมพ์รุ่นอายุ 40-50 ขึ้นไปบางส่วน ซึ่งวิธีการมองโลกอาจจะเป็นเรื่องชาตินิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พวกเขาอยู่ในองค์กรสื่อกระแสหลักที่เป็นทุนนิยม ก็น่าจะเชื่อในความหลากหลายมากกว่าไม่ใช่เหรอ
 
 
มันคล้าย ๆ กับว่าสังคมไทยมีสภาวะอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ด้านหนึ่งเป็นทุนนิยม ดูเหมือนจะก้าวหน้า มีการสื่อสารกันทางอินเทอร์เน็ต แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็เห็นอยู่ตลอดในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เฟซบุ๊ก ที่ในขณะนี้มันอาจจะป็อปปูลาร์ก็จริง แต่มันก็มีการล่าแม่มดในนั้นด้วย หรือกรณีมาร์ค V11 ในอะคาเดมี แฟนเทเชีย ก็เป็นประเด็นที่โบราณมาก
 
ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับมติชน ในช่วงเหตุการณ์ตึงเครียดก็คือ เรานำเสนอเนื้อหาของคนเสื้อแดงบางส่วน ทั้งทางเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ ที่เห็นได้ชัดก็จะเป็นข่าวสด ในทางธุรกิจ ปรากฏว่ายอดขายหนังสือพิมพ์ของเราเพิ่มขึ้นมากอย่างน่าพอใจ ขณะที่เว็บไซต์ก็มีคนอ่านเพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่กลายเป็นว่ามีเสียงสะท้อนมาจากฝ่ายโฆษณาว่าเขามีปัญหา บริษัทเอเจนซี่ก็บ่นว่าทางเราแดง แต่ถ้าเราลองตั้งคำถามกลับไป โลกของโฆษณา โลกของทุนนิยม คุณให้ความสำคัญกับผู้บริโภคไม่ใช่เหรือ เมื่อเรามีผู้บริโภคเพิ่มขึ้น คุณก็ควรจะให้โฆษณาตรรกะมันควรจะเป็นอย่างนั้น แต่เขามองว่าเราเป็นแดง ก็เลยลังเลใจที่จะลงโฆษณา ซึ่งมันแปลกดี และเป็นเฉพาะในเมืองไทยหรือเปล่าก็ไม่รู้
 
คุณทำความเข้าใจกับเรื่องแบบนี้อย่างไร 
 
ผมเองก็ยังไม่แน่ใจ ยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับมันได้มากนัก หรือว่าสุดท้ายเราต้องไปทำความเข้าใจกับเอเจนซีโฆษณา ว่าเราพยายามนำเสนอเนื้อหาของทั้งสองฝ่าย หรือมีเนื้อหาที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนที่ถูกกระทำในช่วงเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาบ้าง ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ เพราะยิ่งคุณพยายามจะตัดโฆษณา คุณก็จะยิ่งไม่เข้าใจเหตุผลที่เรานำเสนอข่าวเหล่านี้ คุณมองราวกับว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นคนนอกระบบสังคมนี้ นอกโครงสร้างสังคมนี้เป็นคนแปลกแยก ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ คนเสื้อแดงจำนวนมากก็มีกำลังซื้อ เป็นคนในระบบทุนนิยม พวกเขาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคม แต่ไม่ได้ต่อต้านระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้
 
 
คนเสื้อแดงจำนวนมากแยกไม่ออกจากภาคการผลิตสมัยใหม่ถึงแม้จะเป็นเกษตรกร แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในระบบ Contract Farming หรือจำนวนมากก็อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ ส่วนนี้มันเชื่อมกับโฆษณาที่คุณจะลงทั้งนั้น ส่วนปัญญาชนที่ถูกมองว่าเป็นแดงเขาก็ใช้แอร์หรือใช้รถไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า เขาก็ใช้ชีวิตอย่างนี้ทั้งนั้น แต่นี่อาจเป็นลักษณะสองด้านของสังคมไทย ในด้านหนึ่งก็ทุนนิยม ในด้านหนึ่งก็มีหลักยึดดั้งเดิมอะไรบางอย่างอยู่
 
แต่เรื่องทำนองนี้ นักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่เขาอาจจะมองมันทะลุแล้วก็ได้ ส่วนเราอาจเพิ่งทำความเข้าใจอยู่ 
ก็เป็นได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าพอเราโตขึ้นจะกลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มองเรื่องพวกนี้ทะลุหรือเปล่า อย่างที่พูดไปแล้ว ผมรู้สึกว่าบางทีการทำหนังสือพิมพ์ไทยอาจหมกมุ่นกับชนชั้นนำมากเกินไป ยิ่งพอมาเป็นผู้บริหารหรือระดับคนข้างในแล้ว โลกของคุณก็จะยิ่งอยู่บ้างในออฟฟิศ รับข่าวจากข้างนอก วันดีคืนดีก็จะต้องเจอชนชั้นนำ เราก็รู้สึกเหมือนกันว่าโลกมันก็จะยิ่งเล็กลง ๆ วันหนึ่งคุณก็จะกลายเป็นชนชั้นนำเสียเอง
 
แน่นอนว่าการคบหากับชนชั้นนำหรือการขยับตัวเองขึ้นเป็นชนชั้นนำมันมีประโยชน์ในบางแง่ ทั้งการเข้าถึงแหล่งข่าว ซึ่งเราไม่สามารถตัดชนชั้นนำออกจากวงจรการนำเสนอข่าวได้ การเข้าถึงแหล่งรายได้ทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผมไม่แน่ใจว่าสังคมไทยในปัจจุบันและในอนาคตการเลือกเกาะเกี่ยวกับชนชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียวเป็นหลัก จะเพียงพอสำหรับการทำงานในฐานะสื่อมวลชนหรือไม่ แต่สักวันผมคงเป็นแบบนั้น ถึงแม้ว่าในวัย 20-30 ปี เราจะมีความคิดอะไรอย่างนี้ แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้า ความคิดของเราอาจจะแคบสำหรับเด็กอีกรุ่นอยู่ดี คงหลีกไม่พ้น
 
ในขณะที่คุณเชื่อในความแตกต่างหลากหลาย และไม่เชื่อในอำนาจนำ แต่คุณอยู่ในองค์กรสื่อที่จริงจังกับการเปิดโปงนักการเมืองที่คอร์รัปชั่น ซึ่งอาจจะมองข้ามบางประเด็นที่คุณสนใจไป คุณเรียนรู้มันอย่างไร 
ผมยังโอเคนะ ถ้าโจทย์เริ่มแรกของเราตอนที่เข้ามาคือการหาพื้นที่ที่มันแตกต่างหลากหลาย เราก็คิดว่าสภาพของคนที่เข้ามาทำงานออนไลน์มันมีทั้งชอบสืบสวน บางคนชอบข่าวทั่วไป หรือบางคนก็ถนัดบันเทิงไปเลย
 
โดยแนวคิดทางการเมืองก็ไม่ได้มีปัญหา ต่างคนต่างยอมรับในประเด็นเฉพาะที่แต่ละคนสนใจ ถึงแม้คุณจะมีเนื้อหาไปทางเสื้อแดง แต่ก็ไม่ได้มีปัญหากัน เราก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากงานข่าวแบบสืบสวนสอบสวน อย่างพี่เก๊ (ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์) เขาก็ต้องหาพื้นที่ที่เขาจะแสดงความเชื่อของตัวเองออกมาเหมือนกัน ตำแหน่งของพี่เก๊คือรองบรรณาธิการอำนวยการของมติชน และเป็นบรรณาธิการข่าวให้มติชนออนไลน์ ทำให้มติชนออนไลน์เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมากขึ้น ส่วนเราก็เป็นพื้นที่อีกมุมหนึ่งหรืออีกเฉดหนึ่งมากกว่า ซึ่งสามารถทำงานร่วมกันได้
 
ทีมมติชนออนไลน์มีทั้งหมดกี่คน แบ่งเป็นฝ่ายชัดเจนหรือช่วยกันดู 
รวมผมด้วยก็มีทั้งหมด 17 คน แต่รูปแบบมันยังไม่ชัด มีผมกับพี่เก๊ที่โผล่ขึ้นมา แล้วก็จะมีคนระดับหัวหน้าข่าว ผู้ช่วยหัวหน้าข่าว แต่เดิมเขาทำอยู่ที่ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งคนเหล่านี้และนักข่าวอาวุโสอีก 2-3 คน จะผลัดกันทำหน้าที่หัวหน้าข่าวในแต่ละวัน นอกจากนั้นก็จะมีนักข่าวที่หมุนกันมายิงข่าวที่นักกข่าวภาคสนามของหนังสือพิมพ์ส่งเข้ามา และทำสกุ๊ปต่าง ๆ ที่ตนเองถนัดและสนใจ ที่แยกชัดหน่อยก็จะมีนักข่าวไว้แปลข่าวต่างประเทศ นอกนั้นก็รวม ๆ กันไป แต่บางคนก็มีความสนใจพิเศษ เช่น บางคนทำเรื่องบันเทิงได้ บางคนทำเรื่องกีฬาได้
 
จุดเริ่มต้นของเว็บไซต์มติชนออนไลน์ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนคือดังข่าวมาจากหนังสือพิมพ์แล้วยิ่ง SMS คือมีหน้าที่สองส่วน ตอนที่รับนักข่าวกลุ่มใหญ่ของกอง บ.ก.เข้ามาทำงานเมื่อสองปีก่อน พวกเขาก็เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาใหม่ ๆ ตอนนี้อายุก็เกือบ ๆ 25 พอเขาเข้ามางานก็คืออยู่กับคอมพิวเตอร์เลย แต่ผ่านมานักพักเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรมา 2-3 ปี และจะขยับขยายไปไหนต่อ พอได้พี่ ๆ ระดับหัวหน้าข่าวมาเราก็สามารถให้พี่พวกนั้นมอบหมายงานให้กับนักข่าวรุ่นน้องกลุ่มนี้ หรือทำให้พวกเขามีเวลาไปแสวงหาประเด็นที่ตัวเองสนใจอยากจะทำได้
 
สิ่งที่คุณทำอยู่ตอนนี้คิดว่าสร้างชุมชนของการแลกเปลี่ยนได้แค่ไหน
 
ลักษณะเด่นของอินเทอร์เน็ตคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่มติชนออนไลน์ยังทำได้ไม่ดี ที่ผ่านมามีการแสดงความคิดเห็นท้ายข่าว ซึ่งบางครั้งก็ไม่เกี่ยวกับข่าว แต่เป็นด่าพ่อล่อแม่อะไรกันไป บางคนเหมือนไม่ได้เข้ามาอ่านข่าวนั้น ๆ แต่หวังจะมาโพสต์ความคิดเห็นของตัวเองที่ไม่เกี่ยวกับข่าวเลย ที่ผ่านมาก็ปิดการแสดงความคิดเห็นไป เพราะ ศอฉ.แจ้งเตือนมาเรื่องการแสดงความคิดเห็นของคนอ่านในบางข้อความ เราก็ตัดสินใจระงับไปก่อน แต่คิดว่าต่อไปอาจจะเปิดเป็นลักษณะของกระดานแสดงความคิดเห็น ซึ่งมันก็ท้าทายเราเหมือนกันในการที่จะช่วยสนับสนุนพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเปิดกว้าง
 
จะเห็นว่าบางครั้งมติชนออนไลน์ลงบทความหรือความคิดเห็นของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งคนอ่านทั่วไปอาจไม่คุ้น และเขาเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในแผนผังล้มเจ้าของ ศอฉ. กรณีนี้คุณเอามาลงเองหรือเปล่า 
ใช่ ผมเห็นว่ามันน่าสนใจ คนบางส่วนอาจรู้สึกแปร่ง ๆ หรือไม่สบายใจด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายเราก็เลือกมา ที่เลือกมาเป็นบทความวิจารณ์ นปช. หรือวิจารณ์รัฐบาลตอนที่มีแนวโน้มว่าจะล้อมปราบ เราก็เลือกความคิดที่แหลมคม ซึ่งก็สองจิตสองใจว่าจะเอามาลงดีไหม แต่ถ้าเราไม่ทำคนจำนวนมากก็ไม่มีโอกาสได้อ่านเหมือนกัน ผมเห็นว่ามันเป็นประเด็นหนึ่งที่ท้าทาย คือเราจะทำอย่างไรให้คนอ่านเปิดรับความเห็นที่หลากหลาย รวมทั้งคนในองค์กรเอง ที่จะมีโอกาสได้อ่านความเห็นที่พวกเขาไม่คุ้นเคย
 
ผมมีเพื่อน ๆ ทำนิตยสารหนังอยู่ฉบับหนึ่ง ก็สงสัยว่าทำไมเนื้อหามันเข้มข้นจัง พอได้พูดคุยจึงรู้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาจะเชิญนักวิชาการมาคุยกับกอง บ.ก. เป็นระยะ ทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง ณ ช่วงนั้น  ๆ ไปจนถึงเรื่องยาก ๆ หรือประเด็นความรู้ใหม่ ๆ ในทางวิชาการ ผมรู้สึกว่าเข้าท่าดี ทำให้คนที่เป็นสื่อได้เปิดรับแนวความคิดต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น หรือมีวิธีการมองโบกแบบใหม่ ๆ ในขณะที่สังคมไทยมันเปลี่ยนไปหลาย ๆ ด้าน
 
แต่นั่นเป็นกอง บ.ก.ของนิตยสารที่มีคนจำนวนไม่มาก ส่วนมติชนทั้งองค์กรมันใหญ่ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าจัดอย่างนี้จะเป็นไปได้ไหม คงมีบางคนที่พร้อมและไม่พร้อมจะรับความคิดใหม่ ๆ พวกนี้เหมือนกัน
 
วัฒนธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในมติชนบ้างไหม 
ผมคิดว่ามันน่าจะมี ตอนที่ผมเริ่มมาทำข่าว ก็มีคนให้เอกสารมาเป็นเอกสารอบรมแนวคิดทางสังคมการเมือง โดยมีอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี คุณเสถียร จันทิมาธร และคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ มาบรรยาย เอกสารนั้นตอนนี้คงเกือบสิบปีแล้ว แต่ช่วงหลัง ๆ นี้ผมไม่เห็นว่ามีระบบงานหนังสือพิมพ์ที่ผมเห็นมาก็คือ รับเด็กรุ่นใหม่เข้ามา แล้วก็ส่งลงสนามเลย ขณะเดียวกัน คนข้างในก็อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปทั้งนั้น วิธีคิด วิธีการอ่านหนังสือ วิธีการมองโลก อาจจะไม่สอดคล้องลงรอยกันกับเด็กรุ่นใหม่เสียทีเดียว ผมไม่แน่ใจว่าเขาสื่อสารกันอย่างไร
 
ตอนที่สถานการณ์ยอดขายหนังสือพิมพ์เริ่มแผ่วลง หลายคนมักโทษว่าคนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์แล้ว คนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เล่นอินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าไปดูบล็อกของแต่ละคน ผมก็เกิดคำถามว่าคนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์แล้วจริงเหรอ หรือเพราะว่าสิ่งที่หนังสือพิมพ์นำเสนอเป็นสิ่งที่เขาไม่สนใจ ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องอ่าน ทั้งในแง่ของข้อมูลและวิธีการเล่าเรื่อง
 
 
 
สิ่งเหล่านี้ต้องถามว่าเวลานี้หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวสารได้ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่แค่ไหน หรือเผลอ ๆ คนรุ่นใหม่อาจจะอ่านอะไรมากกว่าคนทำหนังสือพิมพ์เองด้วยซ้ำ หรือเผลอ ๆ เขาอาจจะรู้อะไรมากกว่านักหนังสือพิมพ์หรือเปล่า เพราะช่องทางในการเข้าถึงเนื้อหาสาระมันไม่ต้องคาดหวังเอาจากหนังสือพิมพ์เหมือนเมื่อก่อน ปัญญาชนส่วนหนึ่งก็หันไปใช้สื่อใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น ผมสนใจการเมืองผ่านแง่มุมศิลปะบันเทิง ตอนที่ทำหนังสั้นก็พยายามขบคิดและนำเสนอประเด็นการเมืองให้แนบเนียนเราจะยิ่งเห็นว่าตัวหนังมันมีอะไรที่ลึกขึ้น
 
 
แม้แต่เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ไม่ว่าผู้กำกับจะตระหนักหรือไม่ แต่ผมเห็นว่ามีประเด็นเรื่องความตาย ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมันเชื่อมกับสังคมไทยปัจจุบันได้ นอกจากนั้น หนังเรื่องนี้ยังตั้งคำถามว่าเราจะอยู่กับความทรงจำที่มันหลอกหลอนอย่างไร ซึ่งสำหรับผม มันก็เหมือนกับเป็นการรำลึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องคอมมิวนิสต์ที่ภาคอีสาน ตัวละคนลิงผีมันคืออะไร บางคนก็บอกว่ามันคือุปลักษณ์ของคนรุ่นลูกที่เข้าป่า ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการประมวลความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ในบางแง่ หนังสั้นจำนวนหนึ่งที่ผมได้ดูก็กล้าพูดถึงประเด็นเสี่ยง ๆ มากขึ้น ผมก็คิดว่าทำอย่างไรจึงจะโยงประเด็นเหล่านั้นมาในพื้นที่ข่าวของเรา
 
เป็นไปได้ไหมว่าหนังสั้นจะมาอยู่ในมติชนออนไลน์ 
น่าสนใจ เพราะมันมีลักษณะแหลมคมของมัน แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะลงสื่อสาธารณะได้เต็มที่แค่ไหน แต่อยากลองดู
 
 
เป็นต้นว่า หนังสั้นเรื่องหนึ่งมีประเด็นที่แหลมคมเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการรับรู้อีกแบบหนึ่ง คนที่ชื่นชมก็คลิกถูกใจหรือโพสต์ข้อความกันไป แต่ถ้าอยู่ในมติชนออนไลน์ อาจจะมีการเรียนรู้ที่เข้มข้นกว่า
 
เฟซบุ๊กมันออกแนวเป็นเครือข่ายพรรคพวกกัน ถ้าชอบก็มีแนวโน้มว่าจะชอบต่อไปเรื่อย ๆ หรือไม่ก็คงจะล่าแม่มดกันไปเลย
 
กรณีหนังสั้นหรือคลิปวิดีโอทางอินเทอร์เน็ต มีอยู่คลิปหนึ่ง เป็นผลงานของคุณก้อง ฤทธิ์ดี คอลัมนิสต์ทางด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งถ่ายบรรยากาศในตลาดนัดสีขาว แต่เสียงในคลิปมันเป็นเสียงยิงปืนและเสียงกรีดร้องในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แบบนี้ผมคิดว่ามันอาจจะท้าทายคนดูพอสมควร และนี่อาจเป็นอีกลักษณะเฉพาะหนึ่งของสื่อออนไลน์
 
อนาคตของมติชนออนไลน์จะกลายเป็นสถาบันเหมือนอย่างหนังสือพิมพ์ไหม 
 
ในแง่ของการเป็นสถาบันอาจไม่จำเป็น ในแง่ของการเป็นคนทำสื่อ คุณอาจไม่ต้องอยู่นานถึงจะกลายเป็นสถาบันหลักอันมั่นคงก็ได้ ขอแค่วิธีคิดของคุณมันยังมีชีวิตอยู่ อย่างคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ไปทำรายการ ตอบโจทย์ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหน่อเนื้อที่มาจากวิธีสัมภาษณ์แบบที่ open เป็น และสุดท้ายถามว่า open ตายไหม ผมคิดว่าไม่ตาย แม้ตัวนิตยสารจะไม่อยู่แล้ว เหลือเพียงแค่การออกพ็อกเก็ตบุ๊ก รวมถึงวารสารต่าง ๆ อย่างเช่น ฟ้าเดียวกัน อ่าน ผมก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน แต่สิ่งที่พวกคุณทำได้คือสามารถบ่มเพาะความคิดให้แก่คนบางกลุ่มได้ ผมคิดว่าตรงนี้ต้องให้ความสำคัญ ที่น่าสนใจก็คือ กลายเป็นว่าสื่อรุ่นใหม่ ๆ สามารถทำตรงจุดนี้ได้อย่างมีพลัง
 
คือไม่ได้แข็งตัวทางด้านรูปลักษณ์ แต่วิธีคิดมันอาจซึมลึก 
 
ใช่ วิธีคิดอย่างนั้นมันซึมลึก ผมคิดว่าถ้ามองในภาพรวมของการเกิดสื่อใหม่ ๆ หรือการเกิดขึ้นของนิตยสารทางเลือกต่าง ๆ ผมคิดว่าแค่ได้นำเสนอความคิดหรือจุดยืนที่คนทำเชื่อออกไปสู่สาธารณะก็ประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนคนที่ได้รับอิทธิพลแล้วจะนำไปสานต่ออย่างไร นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ผมคิดว่าคนอ่านกลุ่มนี้คงเข้มแข็งระดับหนึ่ง
 
 
ถ้าพูดในแง่ของหนังสือ ก็คือคนที่อ่าน ฟ้าเดียวกัน อ่านปาจารยสาร เชื่อมโยงมาถึงเรื่องหนังสั้น ผมคิดว่าเป็นคนกลุ่มใกล้ ๆ กัน หรือมีการเชื่อมโยงกันอยู่บ้าง และมันก็น่าจะมีเยอะอยู่ ส่วนหนึ่งผมยอมรับว่าพอเข้ามาทำมติชนออนไลน์ก็คิดถึงคนกลุ่มนี้เหมือนกัน เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย และเท่าที่สัมผัสด้วยตัวเองก็คิดว่าพอมาเพิ่มเติมองค์ประกอบบางอย่างเข้าไปในมติชนออนไลน์ ก็มีกลุ่มคนอ่านใหม่ ๆ เข้ามาเหมือนกัน เช่น กลุ่มคนบางส่วนที่เคยรู้จักจากแวดวงหนังหรือหนังสือ รวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางสังคมบางส่วน
 
 
บางคนอาจจะรู้สึกว่าพวกที่อ่านนิตยสารทางเลือกทั้งหลายมันไม่เยอะหรอก มีอยู่ไม่กี่ร้อยไม่กี่พัน แต่พอมารวม ๆ กันแล้วก็เยอะ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเติบโตมาในลักษณะปัญญาชน เป็นคนที่อาจจะสามาถรคิดเขียนหรือทำงานด้านสังคมการเมืองอย่างจริงจังต่อไปได้ ก็มีคนกลุ่มนี้ที่ผมคิดว่ามีพลังพอสมควร
 
มองไม่เห็นจุดอ่อนเลยหรือ
 
ผมรู้สึกว่าจุดอ่อนของคนกลุ่มนี้ก็เหมือนกับคนอีกหลายกลุ่ม คือ การมีโลกของตัวเอง อย่างหนังสั้น ต่อให้ประเด็นดีแค่ไหน มันก็อยู่แค่นั้น มันจะซึมลึกอยู่กับคนกลุ่มหนึ่ง อย่างมากก็หลักพัน มันไม่เคยหลุดไปถึงเวทีที่มีผลต่อคนในวงกว้างเลย หรือหากพูดถึงหนังยาว อย่างหนังของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผมก็ไม่เห็นว่าแวดวงอื่น ๆ จะมองมันอย่างไร รู้สึกกับมันอย่างไร แม้แต่งานวิจารณ์หนังของเขาก็ไม่หลากหลาย อาจจะมีงานดี ๆ สักชิ้นสองชิ้น นี่ยังไม่ต้องพูดถึงคำวิจารณ์ในแง่ลบอย่างสมเหตุสมผล ที่ผ่านมา งานของคุณอภิชาติพงศ์ยังไม่ก่อให้เกิดงานวิจารณ์ดี ๆ มากเท่าไร
 
คุณเคยบอกว่าอารมณ์ขันและตลกร้ายจำเป็นสำหรับการสื่อสาร ประเด็นที่ยาก ๆ บางประเด็นมันหมายความว่าอย่างไร 
มันเป็นวิธีการต่อสู้แบบหนึ่งของผม คือพูดตรง ๆ ไม่ได้โดยเฉพาะการเป็นสื่อกระแสหลัก ต้องหาวิธีต่อสู้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็ทำอยู่ แต่อาจเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่น ๆ หรือไม่ได้ทำเป็นประจำในเว็บไซต์
 
 
คือบางทีข่าวที่มติชนออนไลน์เลือกมาบางส่วน เช่น หลาย ๆ คอลัมน์เกี่ยวกับดารา ซุบซิบดาราฝรั่ง คนเขียนเขาก็มีธีมอะไรบางอย่าง ในงานแต่ละชิ้น เช่น ธีมการต่อต้านสังคมหรือต่อต้านบรรทัดฐานหลักของสังคม หากเราทำอะไรไม่ได้มาก ก็ต้องมาเล่นผ่านวิธีการเขียน วิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ ถ้ามีก็มี หรือบางครั้งเราจะใช้ผ่านเพลง ผ่านคลิปวิดีโอก็ได้
 
ทำไมจึงเลือกที่จะใช้ comedy ทำไมจึงไม่ใช้ drama 
หัวเราะใส่ผู้มีอำนาจมันได้ผลกว่าไปทำท่าอ้อนวอนเรียกร้องความเห็นใจ ถ้าใช้อย่างหลังมันอาจเข้าทาง ยิ่งทำให้ผู้มีอำนาจมีอำนาจมากขึ้นไปอีก ถ้าเขาเกิดเล่นเป็น
 
สถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา มติชนออนไลน์สรุปบทเรียนของตัวเองอย่างไรบ้าง 
เท่าที่ผมได้ฟังจากเพื่อน ๆ คนอ่านบางคนเขาก็รู้สึกว่าแดงไป บางส่วนก็ไม่พอใจ แต่คนทำงานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เอียงหรอก
 
ในแง่หนึ่ง สถานการณ์ช่วงนั้นทำให้เราได้เห็นคนทำงานชัดขึ้นว่า คนคนนั้นมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ต่อไปเราจะได้รับมือถูก ที่ผ่านมาความขัดแย้งทางการเมืองมันก็อยู่แค่นั้น มันไม่ค่อยเกี่ยวกับชีวิตส่วนอื่นของเรา ไม่ค่อยเกี่ยวกับความเป็นเพื่อนของเรา แต่พอมันเข้มข้นขึ้นมามันก็เห็นผลเหมือนกัน บางคนแดงมาก บางคนไม่ชอบแดง เขาก็มีความรู้สึกว่าทำไมเพื่อนร่วมงานของเขาเป็นแบบนั้น แต่หลังจากนั้นแต่ละคนก็มีงานมีหน้าที่ของตัวเอง และค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหากัน เช่น ใครอยากเขียนเรื่องแดง อยากพูดเรื่องแดง ก้ออกไปสัมภาษณ์ ก็ได้งานออกมาน่าพอใจ ส่วนใครที่เห็นใจทหาร เห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐ เขาก็ไปสัมภาษณ์ทหารที่บาดเจ็บ ซึ่งก็ทำให้บรรยากาศการทำงานมันไม่คุกรุ่นเกินระดับ เพราะสามารถใช้งานมาปะทะกันได้
 
นอกจากนี้ เราก็ได้ทำหน้าที่ในส่วนที่หนังสือพิมพ์ไม่ค่อยได้ทำ คือในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ ทั้ง ๆ ที่หนังสือพิมพ์มีนักข่าวภาคสนามเยอะมาก แต่เรื่องของคนธรรมดาที่ไปร่วมชุมนุมกลับถูกพูดถึงน้อยมาก เราไม่ค่อยเห็นชีวิต ไม่ค่อยเห็นวิธีคิดของคนธรรมดาเท่าไร เพราะนักข่าวจะไปอยู่หลังเวทีเพื่อรอสัมภาษณ์แกนนำ นปช. กันเป็นส่วนใหญ่ มันก็นำมาสู่เรื่องของชาวบ้านผู้ร่วมชุมนุมที่นักข่าวมติชนออนไลน์ทำขึ้นเอง และอีกส่วนที่พยายามทำก็คือการแปลข่าวต่างประเทศหรือบทความที่น่าสนใจของนักวิชาการต่างชาติ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่านักข่าวฝรั่งเขาจริงจังกว่าเรามาก แม้เหตุการณ์จะจบไปแล้ว แต่เขาก็ยังตามชาวบ้านไปถึงอุดรธานี ซึ่งเราไม่เห็นว่านักข่าวไทยจะทำอะไรตรงจุดนี้
 
ช่วงหนึ่งในแวดวงสื่อกลุ่มเล็ก ๆ มีการชูประเด็นเรื่องการทำข่าวในมิติทางชนชั้น คุณมองประเด็นนี้อย่างไร 
ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าสังคมไทยมันมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก แต่ในแง่หนึ่งอาจต้องมองวิถีชีวิตของคนแต่ละรุ่น อย่างคนทำสื่อในยุคนี้ที่กำลังเป็นบรรณาธิการของสื่อหลัก ๆ ทั้งหมด ก็เติบโตมาในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา โตขึ้นมาในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เขาจะมีวิธีคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งหลังจากป่าแตก แนวความคิดเรื่องชนชั้นอาจไม่มีพลังมากพอสำหรับพวกเขา แม้แต่คนที่เติบโตมาในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ภาพจำของพวกเขาก็อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ แต่เป็นจุดคลี่คลายมากกว่า
 โดยรวมแล้ว คนทำสื่อรุ่นปัจจุบันเป็นคนชั้นกลาง เพราะองค์กรสื่อหลัก ๆ นั้นเป็นทุนนิยมหมดแล้ว คนทำงานในองค์กรจึงมีสิทธิที่จะขยับฐานะตัวเองขึ้นไปได้ และเผลอ ๆ อาจมีอภิสิทธิ์กว่าคนชั้นกลางทั่วไปด้วยซ้ำ และเมื่อทิศทางขององค์กรสื่อส่วนใหญ่มันมุ่งไปสู่ชนชั้นนำของทุก ๆ ภาคส่วน ข่าวที่มีมิติทางชนชั้นหรือการตั้งคำถามเรื่องความไม่เป็นธรรมของคนชั้นล่างก็ไม่มีน้ำหนักเท่ากับเรื่องของชนชั้นนำ
 
 
คุณสนใจศิลปะและอยู่ในโลกของข่าวสาร รวมทั้งยังต้องบริหารคนไปด้วย คุณรักษาสมดุลของตัวเองอย่างไร ไม่ให้กลายไปเป็นศิลปินสุดโต่ง หรือกลายเป็นนายทุนเต็มตัว หรืออาจกลายเป็นชนชั้นนำเสียเอง 
 
ผมไม่ได้ชอบออกงานสังสรรค์กับใครมากมาย เพราะฉะนั้น มันระวังได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรร เช่น เวลาที่เจอกับคนทำงาน มันก็ได้เห็นความหลากหลายในตัวคนที่ไม่ได้คิดเหมือนกับเรา เราจะทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันได้ หรือกับเพื่อนก็ขึ้นอยู่กับประเด็น เพื่อนที่คุยกันจริง ๆ เป็นเพื่อนที่เจอกันด้วยเรื่องหนังมากกว่า หรือเป็นเพื่อนที่ติดพันมาตั้งแต่ตอนเรียน ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองมันก็มีผล แต่ไม่ถึงกับตัดขาดเพื่อน บางคนก็เข้าใจว่าต้องรักษาระยะห่างกันไว้บ้าง แต่ไม่ถึงกับตัดขาดกัน เราพยายามจะรักษาความสัมพันธ์กันไว้ และพยายามหาพื้นที่ให้ชีวิต หรือไม่ให้จมไปกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือจมอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเราอยากแสดงความคิดเห็น อาจจะอยากคุยเรื่องหนังสือหรือเรื่องหนัง เราก็ไปคุยกับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งได้เลย
 
นิสัยหรือความสนใจของคุณ ทำให้มีปัญหากับเครือญาตหรือรุ่นพี่อาวุโสบ้างไหม กระทั่งเคยตั้งคำถามกับพ่อ (ขรรค์ชัย บุนปาน) ในบางเรื่องที่คิดต่างกันบ้างไหม หรือว่าต่างคนต่างทำงาน 
ต่างคนต่างทำงานมากกว่า เพราะโดยนิสัยส่วนตัว ผมเป็นคนไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว หรือไม่ได้สุงสิงกับใครบ่อยนัก เรามีกรอบอยู่ส่วนหนึ่ง ก็ยืดหยุ่นบ้างเวลาเจอกับคนอื่น แต่ทัศนคติชัด ๆ ของผมมันอยู่ในงานเขียนอยู่แล้ว
 ในแง่หนึ่งก็เหมือนกับยังไม่กล้าเผชิญกับอะไรตรง ๆ เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าถ้าเราเลือกกล้าหาญเปิดตัว กล้าเผชิญอะไรไปเลย มันจะเป็นอย่างไร
 
ความท้าทายก็มีข้อจำกัดอะไรบางอย่าง 
มันก็มีอะไรอีกเยอะที่สามารถเดินต่อไปได้ หรือยังเดินไปไม่ถึงสุดทางที่ควรจะไป
 
ไม่จำเป็นต้องชนกับสิ่งที่ไม่จำเป็น
 
เท่าที่เห็นอนาคตของสังคมไทยอยู่ราง ๆ สุดท้ายแล้วคนรุ่นเราก็ต้องเลือกชนหรือเดินไปบนทางแยกสักทางในสักวันหนึ่งอยู่แล้ว
 
 
หรืออาจจะไปด้วยกัน 
โดยส่วนตัว ผมยังเชื่อว่าเราจะต้องเจอกับภาวะปริแยกบางอย่างและที่ผ่านมา สังคมไทยในยุคปัจจุบันก็กำลังเผชิญหน้ากับภาวะนั้นอยู่แล้ว

ขายฝัน

ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ เหล็กใน

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาจากการจุดพลุของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่ประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

นายอภิสิทธิ์เปรยเรื่องนี้เมื่อครั้งประกาศขึ้นเงินเดือนราชการ และเงินเดือนครู

แนวคิดเหมือน (จะ) ดี แต่กลายเป็นสร้างความปั่นป่วนให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง รวมไปถึงคนกลางอย่างคณะกรรมการเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

กกร.ต้องรีบแถลงว่าไม่ได้เห็นชอบกับการประกาศของนายกฯ เพราะมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง

และแนะว่ารัฐไม่ควรแทรกแซง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาค่าแรง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาค่าแรงของแรงงานไร้ฝีมือจะไม่เท่ากันทั่วประเทศ โดยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จะได้สูงสุด คือ 206 บาท/วัน และลดหลั่นกันไปตามพื้นที่ต่างๆ

ต่ำสุดที่พิจิตร, พะเยา, แพร่ และแม่ฮ่องสอน อยู่ที่วันละ 151 บาท

นึกภาพง่ายๆ ว่าจังหวัดที่มีรายได้ขั้นต่ำ 151 บาท/ วัน/คน แต่ต้องปรับขึ้นถึงเกือบๆ 100 บาท/วัน/คน มันจะเป็นอย่างไร!?

ไม่ใช่เพียงการปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น หากแต่ต้องปรับค่าแรงแรงงานมีฝีมือหนีขึ้นไปอีกเป็นทอดๆ

นี่ยังไม่นับสินค้าและบริการต่างๆ ต้องปรับราคาขึ้น เพราะต้นทุนที่เพิ่มอย่างมหาศาลนั่นเอง

เห็นภาพชัดเจนที่สุดต้องนายสมมาต ขุนเศษฐ เลขา ธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ฟันธงว่าหากปรับขึ้นค่าแรงเท่าที่นายอภิสิทธิ์ ต้องการ

สิ่งที่จะตามมาคือการล่มสลายของภาคอุตสาหกรรม และปัญหาคนตกงาน!!

แน่นอนว่าการให้แรงงานมีรายได้มากขึ้นย่อมเป็น การดี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและอื่นๆ

แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบในทางลบด้วย

กูรูด้านการเมืองเชื่อว่าที่นายอภิสิทธิ์ ประกาศไปเช่นนั้นเพื่อซื้อใจชนชั้นแรงงาน หรือรากหญ้าในภาคอีสาน เพราะเป็นกลุ่มคนที่ขายแรงงานมากที่สุด

บุคคลเหล่านี้เป็นฐานเสียงใหญ่สุดที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังเจาะไม่เข้า!?

แต่ดูแนวโน้มแล้วยากที่จะเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านๆ มาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นเลขแค่หลักเดียว เท่านั้น

แม้แต่ตัวแทนลูกจ้าง ซึ่งต้องการค่าจ้างสูงสุดยังไม่กล้าเสนอขอปรับเยอะขนาดนี้เลย

เพราะรู้ดีถึงสิ่งที่จะตามมาหากมีการปรับค่าแรงมากเกินไป

สุดท้ายแล้วเชื่อว่าค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท เท่ากันทั่วประเทศ เป็นเพียงการ 'ขายฝัน' ของนายอภิสิทธิ์เท่านั้น!?

ระวัง “ยิ้มสยาม” ของรัฐบาลไทย

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม

ในสัปดาห์นี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ได้เดินทางเยือนกรุงบรัสเซลล์เพื่อร่วมการประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 8 โดยจะมีการอภิปรายเรื่องความเท่าเทียมและการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกับผู้นำร่วมภูมิภาค นายอภิสิทธิ์จะมีโอกาสเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีเยอรมันนาง Angela Merkel นาย Herman Van Rompuy และนาย José Manuel Durao Barroso รวมถึงผู้นำประเทศอื่นในยุโรป

สำหรับบุคคลภายนอก การเยือนครั้งนี้อาจดูเหมือนการสานสัมพันธ์ทางการทูตทั่วไป แต่สำหรับรัฐบาลอภิสิทธิ์ การเยือนครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยจะหาความชอบธรรมให้กับตนเองจากกลุ่มประเทศยุโรป

แน่นอนว่าไม่มีใครที่ทำหน้าในการหว่านเสน่ห์ใช้คำพูดหว่านล้อมโน้มน้าวผู้นำเหล่านี้โดยใช้ภาษาแห่งสันติภาพและความสมานฉันท์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำเหล่านั้นอยากจะได้ยินได้ดีเท่านายอภิสิทธิ์ นายกผู้เฉลียวฉลาดและได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำผู้แทนประเทศยุโรปที่ได้มีโอกาสพูดคุยทำความรู้จักกับนายกอภิสิทธิ์ไม่ควรที่จะเชื่อสิ่งที่นายกอภิสิทธิ์นำเสนอพร้อมกับรอยยิ้มมากนัก เพราะเราควรจะกังขาในจริยธรรมของผู้นำประเทศที่มีส่วนรู้เห็นกับการฆ่าหมู่กลุ่มผู้ชุมนุมเกือบ 90 ราย และคุมขังฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอีกนับร้อย การสานความสัมพันธ์กับประชาชนชาวไทยจะสำเร็จได้นั้น ตัวแทนประเทศยุโรปมีหน้าที่ที่จะถามคำถาม 2-3คำถามต่อนายอภิสิทธิ์

คำถามแรกคือ เหตุใดประเทศจึงยังคงกฎหมายทีเคร่งครัดอย่าง “พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินฉุกเฉิน” หลายเดือนหลังจากการชุมนุม เพราะคำนิยามทางกฎหมายดังกล่าวคือกฎหมายที่ประกาศใช้ชั่วคราว และจะต้องมีภัยร้ายแรงคุกคามประเทศเท่านั้น สัปดาห์ที่แล้วองค์การนิรโทษกรรมระหว่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างรุนแรงถึงการใช้พรก.ฉุกเฉิน ในแถลงการณ์ระบุว่า “รัฐบาลจะต้องยกเลิกการบิดเบือนการใช้กฎหมายฉุกเฉินที่ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชน”

คำถามต่อมาคือ แทนที่จะลงโทษทหารที่เกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชน เหตุใดรัฐบาลไทยจึงเลื่อนตำแหน่งให้บุคคลเหล่านั้น? พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายทหารหัวเก่าและเป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้ร่างแผนการการสลายการชุมนุมซึ่งนำไปสู่การนองเลือด ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้ขึ้นเป็นผู้บังคับบัญชาการทหารบก นอกจากนี้พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณผู้ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นผู้สั่งการให้มือปืนซุ่มยิงทหารขึ้นไปยังดาดฟ้าของอาคารต่างๆเพื่อที่จะซุ่มยิงประชาชน (ซึ่งรวมถึงผู้ชุมนุม นักข่าว และอาสาพยาบาลผู้ซึ่งหลบภัยอยู่ในวัด) ในระหว่างการสลายการชุมนุม ยังได้รับการเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงภริยาของพล.ท.ดาว์พงษ์ด้วย

ผู้แทนกลุ่มประเทศยุโรปควรจะถามนายอภิสิทธิ์ว่า เหตุใดรัฐบาลไทยยังคงทำลายเสรีภาพในการแลดงออกและคุกคามชีวิตนักข่าว แม้ข้อความที่ตีพิมพ์เหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด นอกจากนี้นายกอภิสิทธิ์อาจจะบรรยายด้วยคำพูดที่สวยงามเกี่ยวกับวิธีการพูดคุยและการค้นหาความจริงหลังปัญหาความขัดแย้งในการประชุมอาเซ็ม แต่ผู้นำเหล่านั้นควรจะถามนายอภิสิทธิ์ว่าเหตุในรัฐบาลของเขาถึงปิดเวปไซต์กว่า 100,000เวปไซต์ และจับกุมบรรณาธิการเวปไซต์ข่าวอย่างประชาไท ซึ่งกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดนเอ็นจีโอในกรุงปารีสกล่าวว่าการจับกุมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้” และ “ไม่ต่างจากประเทศพม่า”

อย่างไรก็ตามความรับผิดชอบหลักของผู้นำประเทศยุโรปคือการตั้งคำถามในที่ประชุมถึงความคืบหน้าของการสอบสวนของการเสียชีวิตของช่างภาพอิสระชาวอิตาลีนายฟาบิโอ โปเลงกี ซึ่งถูกยิงที่ช่องท้องจนเสียชีวิตในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ในขณะที่ทำข่าวการชุมนุมของคนเสื้อแดง แม้ว่าอลิซาเบธ โปเลงกี พี่สาวผู้ปวดร้าวจากสูญเสียน้องชายอย่างนายฟาบิโอจะพยายามประสานงานกับสถานทูตอิตาลีในประเทศเพื่อกดดันในเจ้าหน้าที่รัฐไทยเปิดเผยข้อมูลและการสอบสวน แต่ความคืบหน้าของการสอบสวนถึงการเสียชีวิตของพลเมืองสัญชาติยุโรปนายฟาปิโอนั้นเป็นที่น่าผิดหวัง อลิซาเบธ โปเลงกีสมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือจากผู้นำประเทศยุโรปในการทวงถามความคืบหน้าของการสอบสวน

ตัวแทนของกรรมาธิการยุโรปอาจจะทราบว่าการสอบสวนดังกล่าวนั้นได้เดินทางมาถึงทางตันและมีการปกปิดหลักฐานเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้อ้างคำกล่าวของเอกอรรคราชทูตนายเดวิด ลิปแมน ที่กล่าวว่า “สหภาพยุโรบต้องการที่เห็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงที่มีนายคณิต ณ นครเป็นประธาน และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มีนายอนันต์ ปันยารชุนเป็นประธาน รวมถึงคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่มีนายประเวศ วสีเป็นประธาน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระและจริงจัง”

อย่างไรก็ตาม นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการดังกล่าวได้กล่าวอย่างชัดเจนต่อสื่อมวลชนว่าการสอบสวนดังกล่าวจะไม่มีการกล่าวโทษฟ้องร้องใคร ซึ่งถือว่าเป็นความล้มเหลวในหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่มีพันธกรณีในการสอบสวนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองขององค์การสหประชาชาติ (ICCPR) แต่กระนั้นรัฐบาลไทยยังคงดำเนินคดีที่น่าเคลือบแคลงต่อฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการดำเนินคดีต่อผู้นำนปช.ทั้ง 19คน ในข้อหาที่ไร้สาระอย่างข้อหาก่อการร้าย โดยโทษว่าบุคคลดังกล่าวทำให้เพื่อนร่วมชาติเสียชีวิต ในการดำเนินคดีดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดถูกปฏิเสธสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงและตรวจสอบพยานหลักฐานอย่างเป็นอิสระ โดยศาลได้ปฏิเสธคำร้องขอให้มีการชันสูตรศพที่เป็นอิสระ หากรัฐบาลไทยสนใจที่จะแสวงหาความจริง รัฐบาลไทยควรเปิดให้มีการเข้าถึงพยานหลักฐานอย่างกว้างขวาง

นายอภิสิทธิ์และพรรคพวกขึ้นสู่อำนาจโดยการทำรัฐประหารของทหารหนุนหลังเดินทางเยือนประเทศยุโรปเพื่อที่จะเดินเกมที่พวกเขาได้วางไว้ พวกเขาทราบดีว่าผู้นำประเทศยุโรปมักเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสิ่งที่ผู้นำเหล่านี้ต้องการได้ยินคือคำมั่นสัญญาในการดำเนินกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ และการจัดให้มีการเลือกตั้งในที่สุด เราจึงได้เพียงแต่หวังว่าผู้นำประเทศยุโรปที่เข้าร่วมการประชุมจะมองเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้มอันน่าหลงใหลของรัฐบาลไทย
***********************************************

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แจ้งจางปาง

แค่...ประโยคเดียว

ประโยคของ ชวน หลีกภัย...ที่อุปมาอุปมัยกันกับคำถามของนักข่าว...เกี่ยวกับการ...ขอลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี...นักข่าวถามว่า...เป็นการสำรองตัวนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่...หากพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบและนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกแขวน...

สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นไข้หวัดนกตายยกพรรคซะก่อน...

ประโยคนี้ประโยคเดียว...ก็ยืนยันได้ว่า...ความแตกแยกในสมาชิกระดับสูงของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้นั้น

ยากจะเยียวยา

ยังไม่นับกรณีที่...เสียดสีกันระหว่าง เสาชิงช้า กับตึกไทยคู่ฟ้า...เมื่อฝ่ายหนึ่งปลดคนนามสกุลเวชชาชีวะออก อีกฝ่ายก็รับปลัดกรุงเทพเข้าไปเป็นที่ปรึกษา พร้อมกับมอบงานสำคัญให้ทำ

ประเมินกันว่า...ในพรรคประชาธิปัตย์วันนี้...มีสมาชิกที่พร้อมจะอยู่พร้อมจะไปกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ มากกว่า 40 คน...

หากนำ 40 คนนี้ไปรวมกับพรรคภูมิใจไทย...ก็จะเกิดพรรคใหญ่หมายเลข 3 หรืออาจจะขึ้นถึงหมายเลข 2 เมื่อรวมกับปาร์ตี้ลิส

ประชาธิปัตย์เคยผ่านการแตกแยกและแยกพรรคมาแล้วหลายครั้ง...แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุด...เพราะ สุเทพ เทือกสุบรรณ...นั้นไม่ธรรมดา

และประชาธิปัตย์ยามนี้...ความเข้มข้นในภาคใต้ก็ไม่เหมือนเก่า...การเมืองท้องถิ่นมีส่วนแปลกปลอมมากขึ้น

ถ้า สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพลพรรคของเขา...เดินจากประชาธิปัตย์มารวมกับพรรคภูมิใจไทย...พรรคใหญ่จะเกิดขึ้น...และมีโอกาสที่จะเป็นแกนจัดตั้ง...

การเมืองเรื่องเลือกตั้งข้างหน้า...จึงเป็นเรื่องคาดหมายไม่ได้...

แต่ที่แน่ๆ นั้น...โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้าน...มีโอกาสสูงยิ่ง

โดย.พญาไม้ทูเดย์พญาไม้
ที่มา.บางกอกทูเดย์

๒ มาตรฐาน ขาดคุณธรรม!!

ไฉนกลืนน้ำลายลงคอเอื๊อกๆ โดยที่ “ฯพณฯ ทั่นนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ไม่จดไม่จำ??

ท่านตั้งเกณฑ์สูงเพอร์เฟค ข้าราชการผู้ใหญ่ ที่จะไต่บันไดลิง ขึ้นไปเถลิงอำนาจกินตำแหน่ง ต้องดีครบบริบูรณ์ปาล์ม..ถึงขั้นที่เบรกหัวทิ่ม คนพรรคภูมิใจไทย “มงคล สุระสัจจะ” ไม่ให้เป็น “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” เพราะประมูลคอมฯฉาว วงเงินกว่า ๓ พันล้าน

ทีกับ “กระทรวงไอซีที” ของ “รัฐมนตรีจุติ ไกรฤกษ์” ที่ท่านคุมบังเหียน ขี่หลัง สั่งการเอง กับ แต่งตั้ง “ต่อศักดิ์ วานิชขจร” เป็นอธิบดีกรมอุตุฯ ด้วยชนักที่ติดหลัง ท่านกลับให้ปล่อยผ่าน

อย่าลืม หรือเป็นอัลไซเมอร์ ช่วง “ต่อศักดิ์” นั่งเขมือบ ขย้อน “รักษาการอธิบดีกรมอุตุฯ” เกิดเรื่องฉาว ประมูลติดตั้งสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ ๘๗ แห่ง วงเงิน ๑๘๕ ล้าน มีกลิ่นโชย ..เพราะประมูลแพงสุดเหยียด!!

กับภูมิใจไทยด่าเขาป่นปี้..แต่ตัวเองลักหลับทำเองเสียนี่?..ทีหยั่งงี้ บอกว่า ไม่น่าเกลียด???

_______________________________

ทุบ‘หลักการ’บุบบี้!!

แท้จริง การตั้ง “อธิบดีกรมอุตุฯ”.. “รัฐมนตรีจุติ ไกรฤกษ์” ตั้งคณะกรรมการสรรหา ขึ้นมาเลือกเฟ้น เค้น เน้นหาคนดี มีคุณภาพคับแก้ว..โดยได้ “สมพล เกียรติไพบูลย์” อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นประธานใหญ่ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ชั้นดี

โดยมีมติเอกฉันท์ เสียงเอกเทศ ให้ “คุณพี่สมชาย ใบม่วง” โชติช่วงรับตำแหน่ง เป็น “อธิบดี” เพราะเกียรติประวัติ ขาวผุดผ่อง เป็นยองใย

พอนำเสนอ ครม. “รัฐมนตรีจุติ” กลับแปลงสาร เปลี่ยนตัวปุบปับ ให้ “ต่อศักดิ์” โซ้ยตำแหน่งแทนซะงั้น.. โดยที่ “กก.สรรหาอธิบดีกรมอุตุฯ” ท่านตั้งมากับมือ แต่กลับมาลบด้วยปลายเท้า คนจึงพากันข้องใจ

ทำให้ “คุณพี่สมชาย” เฮิร์ตฟิลลิ่งที่ถูกแป้ก ไม่ได้เป็นอธิบดี ตามที่สรรหา.. จึงฟ้อง “ศาลปกครอง” เรียกร้องความเป็นธรรม..ว่าไปแล้ว ได้แต่เห็นใจ คนกระทรวงไอซีที ใครคิดจะใหญ่ ต้องพินอบพิเทา เดินตัวลีบไปพะเน้าพะนอ กับ “แม่เลี้ยง ต. เต่า?” ถึงจะได้ดี และมีอำนาจ!!

แม้ผลงานไม่เข้าตากรรมการ..หากมีเงินจ่ายมา ๓๐ ล้าน?..รับประกันได้ตำแหน่ง ไม่มีพลาด

________________________________

‘ตาแดง’ขี้อิจฉา เป็นไฟ!!!

เปิดใจให้กว้างเป็นทางช้างเผือกเสียหน่อย..จะไม่ได้เชียวหรือ? “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ผู้ยิ่งใหญ่???

ทำตัวเป็น จระเข้ขวางคลอง ออกอาการขึงขัง ขึงพืด พฤติการณ์ ขัดขวาง “การปรองดอง” ที่ “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ขงเบ้งประจำพรรค ของ “บรรหาร ศิลปอาชา” ที่เดินหน้าฉลุย ผ่านฉลิว ไปด้วย ความฉลวย อย่างงดงาม

แทนที่ นายกฯ มาร์ค จะให้โอสถทิพย์เป็นกำลังใจ..หางเครื่องท่าน กลับแว้งกัด ระวังเป็น “กิ้งกือตกท่อ” ลงมานอนคว่ำ

หนำซ้ำ “นายกฯ อภิสิทธิ์” ยัง เจี๊ยวจ๊าว เจ่าจุก จวกและจ้วง “เสธ.หนั่น” จนมิดด้าม...จะไปพบกับ “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” ที่ต่างแดน ใช้อำนาจอะไรไปประสาน!!

ผลงานปรองดองท่านไม่ค่อยมี...แต่ที่เห็นอยู่ตลอดนี้?..มีแต่ความ ขี้อิจฉา” เป็นตัน??

___________________________

คำพูดเป็นนายของเรา!!!

จะพูดต่อหน้าธารกำนัล หรือกล่าวสุนทรพจน์อะไร.. อย่าให้ผูกมัดลูกกระเดือก ประเดี๋ยวจะเสียสัจจะ กันเปล่าๆ??

มีคนเขาทวง สัญญาสุภาพบุรุษ จาก “มังกรเติ้ง” ท่านบรรหาร ศิลปอาชา ก็อดฟาเธอร์แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า จำคำพูด ได้หรือไม่??

ถ้ารัฐบาลเทพประทาน ของ “นายกฯ มาร์ค” ใช้กำลังเข้าปราบชุมนุม ที่ราชประสงค์ โดยมีประชาชนพลีชีพ แล้วล่ะก้อ.. “พรรคชาติไทยพัฒนา” จะวอล์กเอาท์ตบเท้าออกจากรัฐบาลไป

ผ่านไป ๓ เดือนเศษ ไวเหมือนโกหก มีประชาชนตายเป็นใบไม้ร่วง ๙๑ ศพ บาดเจ็บป่วยพิการ กว่า ๒ พันชีวิต ..แต่ “อดีตนายกฯ บรรหาร” เงียบกริบ นิ่งเป็นเป่าสาก!!!

จนแล้วจนรอด....ท่านทั้งซุกทั้งกอด?...หอมฟอดๆ อยู่กับ “รัฐบาลมาร์ค”??

____________________________________

ไม่ใช่ตะเกียงที่ขาดไส้!!

ถือสเปโต พร้อมน็อคมือได้ทุกเมื่อ?.. “เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้จัดการรัฐบาล จึงไม่แคร์ หรือ วอรี่ ว่าจะได้กลับมา เป็น “รองนายกรัฐมนตรีคุมฝ่ายความมั่นคง” หรือไม่???

เพราะมั่นใจ ถึงตีนลอย เท้าจะไม่ได้เหยียบบัลลังก์อำนาจ เป็น “ผู้อำนวยการ ศอฉ.”..แต่ก็ยังถือไพ่ในมือเหนือกว่า “นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อยู่หลายตัว

ขาด “สุเทพ” คอยประสานกับ “เนวิน ชิดชอบ” .. “นายกฯ มาร์ค” ก็เป็นมังกร ที่ไร้หัว

ถึงในพรรคประชาธิปัตย์ จะมี ส.ส.เขต และ ส.ส.สัดส่วน ตั้ง ๑๗๒ คน..แต่หาทูตสันติภาพเจรจาภาษาดอกไม้กับ “ติงลี่ห้อยเนวิน” ไม่มี..คงมีแต่สุเทพ ที่ผูกมัดเนวิน เอาไว้ได้กลมเกลียว!

อำนาจยังอยู่กับ “สุเทพ” อื้อ..“อภิสิทธิ์” แค่ลูกไก่ในกำมือ?..จะบีบหรือก็ ตายสถานเดียว
------------------------------------

คอลัมน์.ตอดนิดตอดหน่อยการบูร
ที่มา.บางกอกทูเดย์

ตอกย้ำน้ำเน่า

โดย. หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน

ไม่ว่าจะมีการสำรวจกี่ครั้งถึงเรื่องการเมืองและพฤติกรรมของนักการเมืองไทย ก็จะได้ผลออกมาไม่แตกต่างกัน คือประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองและพฤติกรรมของนักการเมืองไทยที่ถูกมองว่ามีแนวโน้มในทางที่ไม่ดีมากกว่าดี โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน จึงทำให้ทหารใช้เป็นเหตุผลในการทำรัฐประหารทุกครั้งตลอด 78 ปีที่ผ่านมา

อย่างล่าสุดศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่องแนวโน้มความสุขมวลรวม GDH ของคนไทยภายในประเทศประจำเดือนกันยายน 2553 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้พักอาศัยอยู่ใน 28 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 5,059 คน พบว่าดัชนีความสุขของคนไทยภายในประเทศเดือนกันยายนปีนี้ “ลดต่ำลง” จากระดับความสุขที่เคยสำรวจในเดือนกรกฎาคม คือจาก 6.77 มาอยู่ที่ 6.57 จากคะแนนความสุขเต็ม 10 คะแนน แม้จะสูงกว่าช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้วก็ตาม

ที่น่าเป็นห่วงคือ สถานการณ์การเมือง ความไม่เป็นธรรมทางสังคม สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่เป็นปัจจัยสำคัญให้ระดับความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศลดต่ำลง โดยเฉพาะประชาชนในกรุงเทพฯที่มีค่าคะแนนความสุขระดับที่ “น่าเป็นห่วงมากที่สุด” เพราะต่ำกว่าทุกภาค

ขณะที่การสัมภาษณ์เจาะลึกเชิงคุณภาพกับคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ระบุว่า นักการเมืองมีแต่เรื่องวุ่นวาย น่าเบื่อหน่าย มองหานักการเมือดีๆได้ยาก มีแต่ทุจริตคอร์รัปชัน แก่งแย่งผลประโยชน์และอำนาจ ไม่มีใครจริงใจจริงจังเพื่อบ้านเมือง พูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น ความวุ่นวายจึงไม่จบสิ้น

ส่วนเรื่องแผนปรองดองที่ฝ่ายการเมืองต่างก็ชูมาหาเสียงนั้น ถูกประชาชนย้อนกลับว่า แม้แต่นักการเมืองยังปรองดองกันไม่ได้เลย แล้วจะให้ประชาชนปรองดองกันได้อย่างไร ซึ่งไม่มีประชาชนคนใดที่ไม่ต้องการให้เกิดความปรองดอง เพราะประชาชนทุกคนต้องการมีความสุข ไม่ใช่ดีแต่พูด หรือเป็นพวกกะล่อนลิ้นทอง โกหกตอแหล

ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่เชื่อเรื่องนิรโทษกรรมว่านักการเมืองจะมีความจริงใจทำเพื่อประชาชน ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นความสามัคคีปรองดองและให้อภัยกัน

แต่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งก็ต้องการให้ว่ากันไปตามครรลองของกฎหมายบ้านเมือง ใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกต้องก็ให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งก็ไม่จบหรือจะกลับมาทะเลาะกันใหม่

โดยเฉพาะเหตุกาณณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คนนั้น ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องถามตัวเอง ถามรัฐบาล และคนในกองทัพเช่นกันว่า ถ้าจะให้ทุกอย่างผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยนั้น สังคมไทยจะสงบและดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุขจริงหรือ

**********************************************************************

เดิมพัน..ใจนักเลง!

นายกรัฐมนตรี ถือเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติเพราะถือเป็นประมุขฝ่ายบริหารแต่ในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาดูเหมือนประเทศไทยจะใช้นายกรัฐมนตรีเปลืองเป็นพิเศษอันเป็นที่มาแห่งเสียงวิพากษ์ว่า“นายกฯ ประเทศไทยใครก็เป็นได้”

นั่นคงจะเป็นเพราะการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดบนชีวิต การเมืองอย่างคาดไม่ถึงของ “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกฯ ผู้ล่วงลับ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ผู้นำส้มหล่น หรือแม้กระทั่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เองที่หลายฝ่ายเคยปรามาสไว้ว่า “เร็วเกินไปสำหรับการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ”

เมื่อใช้อะไหล่ตัวใดก็ได้ ส่งผลให้เก้าอี้นายกฯ ของไทยคลายความขลังลงไปทุกขณะจิต ประจวบเหมาะ กับสายป่านของ “รัฐบาลเทพประทาน” ดำเนินเข้า มาจวบจนจะถึงปลายทาง ชื่อของนายกฯ ภายใต้เงื่อนไข “ใครก็เป็นได้” จึงพรั่งพรูออกสู่โสตประสาท ของประชาชน จนกลายเป็นอาการกระเหี้ยนกระหือรือ ของนักเลือกตั้งผู้ลุ่มหลงอำนาจไปโดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่มีใครทราบว่า ชื่อที่ถูกพาดพิงคิดเห็นเป็นประการใด

“พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” เดินสายปรองดอง สังคมก็มองว่าเป็นการเดินเกมกั๊กเก้าอี้นายกฯ คนกลาง “เนวิน ชิดชอบ” เดินลุยไฟฝ่าดงบาทาล่าชื่อนิรโทษกรรม สังคมก็มองว่าปลุกผี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ขึ้นมาเป็นนายกฯ ฝ่าวิกฤติ

ในระยะเผาขน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ทิ้งเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง โดดลงสนามเลือกตั้งซ่อมเมืองสุราษฎร์ธานี สังคมก็มองว่า “เทพเทือก” กระชับพื้นที่ภายในพรรครอเสียบแทน “นายกฯ อภิสิทธิ์” หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องประสบอุบัติเหตุจากคดียุบพรรค 2 ใน 3 คนที่ระบุถึง แม้จะมีการออกมาเคลียร์ ตัวเองต่อสาธารณชน แต่ก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้บรรดาคอการเมืองปักใจเชื่อแต่หากพิเคราะห์อย่างสังเคราะห์ โดยลบชุดความคิดที่ว่า “นักการเมืองชั่วทั้งหมด” ออกจากสมอง และเข้าให้ถึงตัวตนที่แท้จริงของ “เสธ.หนั่น” จะพบว่าสิ่งที่นักการเมืองผู้นี้ระบุ “ในสมองไม่เคยคิดเรื่องเหล่านี้ เพราะอายุใกล้ 76 ปี แล้ว” มันก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่า “แผนปรองดองฉบับชาละวัน” ไม่ได้ล้ำลึกถึงขั้นแผนจองกฐินเก้าอี้ “นายกฯ คนกลาง”

เสียงวิพากษ์ในลักษณะเดียวกันที่ดังขึ้นมาจาก การเคลื่อนของ “เทพเทือก” และดูเหมือนว่าจะกระหึ่มดังยิ่งเสียกว่า การเคลื่อนของ “เสธ.หนั่น” ซะอีก เพราะด้วยชัยภูมิที่ยืน บวกรวมกับสถานะอันสุ่มเสี่ยงของพรรคประชาธิปัตย์ มันย่อมทำให้น่าเชื่อได้ว่า นี่ไม่ต่างจากแผนวางตัว “นายกฯ สำรอง”

กระนั้น ในเสียงวิพากษ์แห่งวิพากษ์ และครุ่นคิด ในสมมติฐานเดียวกันกับ “เสธ.หนั่น” ย่อมพบว่า ด้วยสภาพที่แผลเหวอะหวะเต็มตัว และด้วยอุปนิสัยใจนักเลงปักษ์ใต้ของ “เทพเทือก” หากไม่มีอคติ เหตุและผลที่เกิดจากเสียงวิพากษ์ มันล้วนดูขัดแย้งกับสิ่งที่สังคมกำลังจับจ้องนักการเมืองผู้นี้

และยิ่งหากมองลงไปให้ลึกในเงื่อนไขที่กำลังเกิดขึ้นกับ “เทพเทือก” โดยเฉพาะความสัมพันธ์ภาย ในพรรคที่ยิ่งดูห่างเหินและห่างไกลจาก “นายหัวชวน หลีกภัย” มากและมากขึ้นทุกวัน

การตัดสินใจโยนเสื้อคลุมรองนายกฯ และเปลี่ยนมาเป็นราษฎรเต็มขั้น มันย่อมไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่า เขาจะได้รีเทิร์นกลับมานั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเก่า ยิ่งจังหวะการขยับของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ที่ประกาศพร้อมเสียบตำแหน่งรองนายกฯ อย่างเปิดเผย มันย่อมสะท้อนให้เห็นเกมการเมืองภายในประชาธิปัตย์ได้อย่างถนัดถนี่ลูกตาเสียนี่กระไร

และนั่นคือมุมมองที่ต้องยอมรับโดยดุษณีว่า นี่ แหละคือการเมืองฉบับประชาธิปัตย์ตัวจริง!!!แต่ถ้าหากคิดในสมมติฐานเดียวกันในความเป็น การเมืองฉบับประชาธิปัตย์ บนตรรกะ “ยามศึกเรารบ ยามสงบเราฟัดกันเอง” และยึดโยงไปผูกติดกับสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยงจากคดียุบพรรค มันย่อมน่าเชื่อเหลือเกินว่า การทิ้งเก้าอี้ของ “เทพเทือก” หรือแม้กระทั่ง กรณีการเสียบของ “น้าหยัด” รวมไปถึงวลี “หวัดนกถล่มประชาธิปัตย์” ของ “นายหัวชวน” มันย่อมมีอะไรแยบคายไปกว่า มิติแห่ง “นายกฯ สำรอง” ที่กำลังดำเนินอยู่

สมมติว่า การลาออกของ “เทพเทือก” เพื่อเปิดทางให้มีการปรับ ครม. ตัดหาง “ภูมิใจไทย” และเสริมหล่อสร้างภาพสีขาวให้ประชาธิปัตย์ ก่อนประกาศ ยุบสภา การสลับให้คู่กัดอย่าง “น้าหยัด” มานั่งเสียบ แทนในเก้าอี้รองนายกฯ มันย่อมดูประนีประนอมกว่า ใช่หรือไม่???

สมมติว่า คิวเดินทางไปต่างประเทศถึง 3 ไฟลต์ติดๆ ในระยะเวลาอันใกล้ อุบัติอาถรรพ์เดือนตุลาฯ การให้ “น้าหยัด” ที่ไม่ค่อยอี๋อ๋อกับกองทัพสักเท่าไร มาปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ก่อนประกาศยุบสภา ในกรณีฉุกเฉิน อาถรรพ์ดังกล่าวจะมีสิทธิ์เฮี้ยนขึ้นมา อีกครั้งใช่หรือไม่???

สมมติว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบพรรคหรือยุบพรรค แต่เผอิญมีการชี้ผิดชี้ถูกในลักษณะต่างกรรม ต่างวาระ และไม่เข้าข่ายเดียวกันกับพรรคที่โกงเลือกตั้งและถูกยุบไปก่อนหน้านี้ เหล้าเก่าในขวดใหม่แห่งพระแม่ธรณีบีบมวยผม จะยังจำเป็นต้องใช้ “นายกฯ สำรอง” อีกต่อไปใช่หรือไม่???

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า ในอดีตแม้ “เทพเทือก” จะสนิทสนมกับ “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” สักปานใด แต่ก็ไม่เคยมีสักครั้งที่บุรุษผู้นี้ คิดจะเอาใจออก ห่างสถาบันการเมืองที่ปลุกปั้นเขาขึ้นมา และด้วยเหตุฉะนี้ ลำพังเพียงความสัมพันธ์ระดับกิ๊กครั้งใหม่ที่ เกิดกับ “เนวิน ชิดชอบ” มันจะทำให้ “เทพเทือก” เปลี่ยนใจได้กระนั้นหรือ

การเมือง “ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร” ก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า คนอย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แม้จะดีจะชั่วมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านสมุทร แต่อดีตกำนันผู้นี้ก็ไม่เคยทิ้งดีเอ็นเอสายพันธุ์นักการเมืองใจนักเลงตัวจริง!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ

มองการณ์ไกล..

เห็นข่าว “ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ ธปท. หรือ “แบงก์ชาติ” โดยฝีมือของ “ธาริษา วัฒนเกส” ผู้ว่าฯ ที่ออก โรงหารือถึงเรื่อง “การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมการให้ บริการทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม” หรือที่นิยามกันว่า “ค่าต๋ง”

ซึ่ง “ธาริษา” ได้ร่วมถกหาทางออกกับสมาคมธนาคารไทย ก่อนจะลาตำแหน่ง จนเป็นที่มาของการยอมลดค่าธรรมเนียมการโอนเงิน...ตามสัดส่วนที่แตกต่างกันไป แต่กว่าจะเริ่มก็ต้อง โน่น “ปีหน้า”

งานนี้ไม่รู้ว่า “ธาริษา” ความรู้สึกช้า...เพิ่งจะเห็นวิธีเอารัดเอาเปรียบ และเริ่มแก้ปัญหา...ก่อนตัวเองเกษียณ...ทั้งๆ ที่ เรื่องแบบนี้ คนที่คลุกอยู่ในธุรกิจการเงิน ต่างรู้กันดีว่า คือหนทาง “ทำรายได้” เป็นกอบเป็นกำ...ของพวกเสือนอนกิน!!! แต่ทำช้าก็ยัง ดีกว่า “ไม่ทำ”

และอย่างน้อยก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึง “นายทุนศักดินา” ที่ครอบงำเศรษฐกิจไทย...และคิดแต่เอารัดเอาเปรียบสังคม และประชาชน...โดยอ้างเรื่อง “การแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี”

เห็นชัดเจนสุดคือ “นายทุนศักดินาภาคธนาคาร” นี่แหละ... คือตัวดี ที่ทำลายระบบเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ในอดีตที่ผ่านมา หากมี “ตระกูลใด” ทำผิดพลาด...รัฐบาลก็ต้องเข้าไปโอบอุ้ม...ทั้งๆ ที่ “ตระกูลเหล่านั้น” ก็ร่ำรวยมาได้ ด้วยวิธีการ “เสือนอนกิน” และมีวิธีบริหารจัดการที่ใช้ไม่ได้ หรือไม่ได้เรื่องต่างหาก แล้วทำไมต้องเข้าไปโอบอุ้ม ด้วยคำอ้าง...“เพราะไม่ต้องการให้กระทบเศรษฐกิจ โดยรวม” ซึ่งเป็นข้ออ้างที่เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง

เหมือนกับ “นายทุนศักดินาภาคที่ดิน” ที่เอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน จนได้ที่ดินมากมาย มีทั้งบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ สร้างรีสอร์ต เพื่อความร่ำรวยให้ตระกูลตัวเอง แต่พอเกิดปัญหาตรวจสอบ ก็จะใช้ “มวลชน” ที่ตัวเองเลี้ยงไว้มากดดัน รวมถึงคัดค้านการจัดเก็บภาษี ที่ดิน เพราะถ้าเกิดขึ้นได้จริงๆ “นายทุนศักดินาภาคที่ดิน” ก็จะเสียเปรียบ

งานนี้เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์คนหนุ่มรุ่นใหม่ ทั้ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี และ “กรณ์ จาติกวณิช” รมว.คลัง มี “น้ำยา” ว่าจะ “กล้าเข้าไปแตะของร้อน” อย่างเต็มรูปแบบและจัดการให้มีประสิทธิภาพหรือไม่

เพราะเศรษฐกิจจะดีได้ “รัฐ” ต้องเป็นฝ่ายเข้าไปกำหนดเกม กำหนดกติกา กำหนดเงื่อนไข เพื่อความเสมอภาคแก่ทุกฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดความร่ำรวยเพียง “ไม่กี่ตระกูล” และเวลาคิดจะทำอะไร ก็จะมีการอ้างสารพัด รวมถึงการล็อบบี้ใต้ดิน... ไม่เช่นนั้นจะไม่สนับสนุน???...ให้เติบโตทางการเมือง

“เหลือบนายทุนศักดินา”...เหล่านี้ ดูไปแล้ว ก็ไม่ต่างจาก “เหลือบข้าราชการนักการเมือง” ที่จ้องแทะ จ้องเกาะกิน จ้องผลาญงบประมาณชาติ แบบเมามันส์ ทั้งการโกงกินคอร์รัปชั่น ในสารพัดอภิมหาโปรเจกต์ทั้งหลาย

แต่ที่น่าอดสูก็คือ การเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ที่ร้อย ทั้งร้อยจะอ้างเรื่อง “งาน” เพื่อจะนำกลับมาใช้พัฒนา แต่ “คนไม่โง่” ต่างก็รู้ดีว่า คือการไปเที่ยว ไปหาความสุขส่วนตัวแบบร้อยแปด ทั้งเรื่องผู้หญิงและการพนัน จะมีน้อยรายน้อยคณะ มาก...ที่เดินทางไปแล้ว กลับนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เห็นอย่างนี้แล้ว....อยากมีส่วนร่วมกำจัดเหลือบกากเดน เหล่านี้ ไม่ให้เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ...จริงๆ

ที่มา.สยามธุรกิจ

ไอโอดีนและการปฏิรูป

ที่มา. มติชนออนไลน์
โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตามสถิติขององค์การอนามัยโลกใน พ.ศ.2550 มีประชากรเกือบ 2 พันล้านคนทั่วโลก ได้รับไอโอดีนน้อยเกินไป หนึ่งในสามของจำนวนนี้เป็นเด็กในวัยเรียน ทั้งๆ ที่สภาพการขาดสารไอโอดีนจนทำให้สมองบกพร่องนี้ เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ง่ายมาก

คุณอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีซึ่งพ้นตำแหน่งได้กล่าวในปาฐกถาอารี วัลยะเสวีในวันที่ 10 กันยายนว่า "ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า หญิงมีครรภ์กว่าร้อยละ 70 ในประเทศไทยไม่ได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ ... ยิ่งไปกว่านั้น... เด็กแรกเกิดทุกจังหวัดในประเทศไทยมีภาวะขาดสารไอโอดีนในจำนวนที่สูงกว่าเกณฑ์"

การขาดสารไอโอดีนเป็นสาเหตุสำคัญของโรคคอพอกดังที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากการขาดสารดังกล่าวและจากโรคคอพอกก็คือ เด็กที่ขาดสาร อาจมีตัวแกร็นและ/หรือมีความบกพร่องด้านสมอง คุณอานันท์ได้ชี้ให้เห็นสถิติอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมีส่วนบ่งบอกให้รู้ว่า ภาวะขาดสารไอโอดีนอย่างกว้างขวางในประเทศไทยนำมาซึ่งผลลัพธ์อะไร

จากสถิติของกรมอนามัย เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีระดับพัฒนาการต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา งานวิจัยของโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า ค่าเฉลี่ยของเด็กไทยลดลงจาก 91 จุดใน พ.ศ.2540 เหลือ 88 จุดใน พ.ศ.2545 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงเหลือเพียง 85.9 จุดเท่านั้น ต่ำกว่าเกณฑ์สากลที่ 90-110 จุด

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ โลกได้พบความสำคัญของไอโอดีนในการเจริญเติบโตของเด็กมากว่า 100 ปีแล้ว ในประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องนี้ไม่ต่ำกว่า 60 หรือ 70 ปี และกว่า 30 ปีมาแล้วที่ได้มีการย้ำให้เห็นถึงภยันตรายด้านสมรรถภาพทางสมองของการขาดสารไอโอดีน แม้แต่หนทางแก้ไขก็ได้ริเริ่มและดำเนินการไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ใช้บังคับกันอย่างถ้วนทั่วเท่านั้น

หนทางแก้ไขที่ใช้ได้ผลมาในทุกสังคมคือการผสมโซเดียมไอโอไดต์, โปแตสเซียมไอโอไดต์ หรือไอโอเดตลงไปในเกลือที่ใช้บริโภค เรียกว่าเกลือไอโอดีน เกลือเป็นธาตุอาหารที่ขาดไม่ได้ แม้ในบางสังคมไม่ได้บริโภคเกลือในรูปของเกลือโดยตรง แต่ก็ต้องผสมไปในเครื่องปรุงชนิดต่างๆ ในประเทศที่ภาวะขาดไอโอดีนมีสูงมาก อาจต้องผสมลงในอาหารอื่นๆ ด้วย เช่น แป้งสาลี, น้ำ และนม เป็นต้น

การผสมสารไอโอดีนลงในเกลือจึงเป็นวิธีที่ถูกที่สุด (ประมาณกันว่าจะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือ "ไม่กี่เซ็นต์ต่อเกลือ 1 ตัน") และเป็นวิธีที่ให้ผลคุ้มต่อการลงทุนที่สุด

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนไม่ได้อยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว เพราะต้องให้การศึกษาแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเกลือ หรือต้องเข้าไปกำกับควบคุมการผลิตและจำหน่าย ต้องมีการรณรงค์กับสาธารณะ กลุ่มพ่อค้า นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายต่างๆ หากคิดจะลงทุนเพียงการผลิตเกลือไอโอดีนเพียงอย่างเดียว ผลก็จะได้เพียงน้อยนิด ดังกรณีประเทศไทยซึ่งได้ชักจูงการผสมสารไอโอดีนลงในเกลือมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า ใน พ.ศ.2548-9 ครัวเรือนไทยเพียง 58 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่บริโภคเกลือผสมไอโอดีน ในภาคอีสานกลับน้อยกว่านี้เกินครึ่ง

(และซ้ำยังต้องเตือนด้วยว่า อาหารไทยใช้เกลือในรูปของเกลือโดยตรงน้อยมาก แต่ใช้เกลือผสมลงในเครื่องปรุงซึ่งมักซื้อหาที่ผลิตสำเร็จรูปมาแล้ว ฉะนั้นแม้แต่ครอบครัวที่ใช้เกลือไอโอดีนแล้ว ก็อาจไม่ได้บริโภคเข้าไปในปริมาณที่เพียงพอ เพราะน้ำปลาไม่ได้ผสมไอโอดีน)

ควรกล่าวด้วยว่า สภาพขาดสารไอโอดีนที่เพียงพอนี้ นอกจากเกิดในประเทศโลกที่สามเป็นส่วนใหญ่แล้ว แม้ในประเทศพัฒนาแล้ว ก็เริ่มมีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะคำแนะนำของแพทย์ด้านโรคหัวใจให้ลดการบริโภคเกลือลง ทำให้ได้รับสารไอโอดีนจากอาหาร (ที่ไม่ใช่อาหารทะเล) น้อยลง ในขณะที่ความนิยมบริโภคอาหารสำเร็จรูปซึ่งจำนวนมากนำเข้าจากต่างประเทศ ก็เป็นอาหารที่เครื่องปรุงไม่ได้ผสมไอโอดีนเช่นกัน

ประเทศไทยซึ่งนับถือศาสนาส่งออก จึงควรคิดเรื่องนี้ไว้แต่เนิ่นๆ ด้วย เพราะหลังจากข้อเท็จจริงนี้ปรากฏในประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ก็คงมีกฎหมายที่บังคับให้ต้องผสมไอโอดีนในอาหารนำเข้าอยู่ดี ถึงตอนนั้นไทยก็จะตื่นตัวและหันมาออกกฎหมายบังคับให้เกลือที่ขายในประเทศต้องผสมไอโอดีน แต่กว่าจะได้ผลจนสามารถส่งออกได้อีก ก็ต้องเสียเวลาในการสักการบูชาศาสนาส่งออกไประยะหนึ่ง

นับเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน ที่หน่วยงานบางแห่งของไทยได้พยายามผลักดันให้ออกกฎหมายบังคับให้ต้องผสมไอโอดีนลงในเกลือที่ขายในท้องตลาด รวมทั้งสร้างสมรรถนะในการตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ความพยายามนี้ไม่เคยบังเกิดผลเลย

น่าอัศจรรย์ที่อนาคตของประเทศที่มีความสำคัญเช่นนี้ กลับถูกละเลยตลอดมา ทั้งๆ ที่เกลือไอโอดีนไม่ได้เพิ่มต้นทุนการผลิตอีกกี่มากน้อย ซ้ำกระบวนการยังทำได้ง่ายจนกระทั่งผู้ผลิตเกลือรายย่อยก็สามารถทำเองได้ (หรืออย่างน้อยก็ลงทุนร่วมกันในราคาที่ไม่แพงนัก)

ต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือการผลิตเครื่องปรุงต่างๆ ซึ่งใช้ในครัวไทยเป็นอันมาก เช่น น้ำปลา การใช้เกลือไอโอดีนไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้นนักก็จริง แต่ผู้ผลิตเชื่อว่าเกลือไอโอดีนจะทำให้กลิ่นของเครื่องปรุงเปลี่ยนไป การลงทุนจึงไปอยู่ที่ต้องแต่งกลิ่นให้กลับมาเหมือนเดิม แม้กระนั้นทุนที่ต้องลงตรงนี้ก็คงไม่มากนัก ที่มากกว่าก็คือการโฆษณาเพื่อสร้างความเชื่อถือในหมู่ผู้บริโภค

แม้กระนั้น เมื่อดูโรงน้ำปลาซีอิ๊ว ในเมืองไทยแล้ว ก็ให้น่าสงสัยว่า การผลักดันล้มเหลวลงไม่น่าจะเป็นเพราะอิทธิพลทางการเมืองของนายทุนเจ้าของโรงน้ำปลา-ซีอิ๊ว เพราะคนเหล่านี้ไม่มีอิทธิพลทางการเมืองมากนัก (ผู้นำเข้าเครื่องปรุงจากต่างประเทศหรือซื้อสิทธิการผลิตเข้ามาผลิตเองในเมืองไทย แม้มีอิทธิพลทางการเมืองมากกว่า แต่ผลกำไรจากส่วนนี้ไม่สู้จะมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์นม หรือเครื่องดื่มอื่นๆ) ผลกำไรหลักน่าจะมาจากเครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเสริมเกลือแร่ของนักกีฬา ซึ่งส่วนหนึ่งต้องผสมเกลือลงด้วย

เหตุใดความรู้ที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วในเมืองไทยจึงเป็นหมัน แม้ว่าการไม่ใช้ความรู้ทำให้บ้านเมืองไร้อนาคต เพราะเรากำลังทำให้เกือบครึ่งของลูกหลานของเราไร้สติปัญญาที่จะเรียนรู้อะไรได้ ทั้งๆ ที่หนทางจะแก้ไขเรื่องนี้ทำได้ง่ายมาก คือการออกกฎหมายบังคับให้เกลือที่ผลิตหรือนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทย ต้องเป็นเกลือผสมไอโอดีนทั้งหมด

แต่การกระทำง่ายเพียงเท่านี้กลับไม่ประสบความสำเร็จ โดยที่แรงต่อต้านทางการเมืองไม่ได้มีมากเท่าไรนัก

ในระบบการเมืองซึ่งนโยบายระดับชาติมักไม่ได้เกิดจากการผลักดันในสังคม แต่เกิดขึ้นจากการผลักดันของหน่วยราชการ หรือการผลักดันของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น นโยบายที่ไม่ให้ผลประโยชน์แก่ข้าราชการและนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางอำนาจ, ทางธุรกิจ หรือทางคะแนนเสียงมักถูกละเลย แม้ว่านโยบายสาธารณะเช่นนั้นมีความสำคัญอย่างไรก็ตาม

การผลักดันของผู้ที่ห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ทำกันมาเป็นเวลานาน ก็อาจไม่บังเกิดผลเป็นพลังเพียงพอ ที่จะทำให้สังคมเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันร่วมด้วย จนกระทั่งนักการเมืองต้องตอบสนองเพื่อหาเสียง โดยเฉพาะหากประเด็นที่ผลักดันนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าตื่นเต้น เช่นภาวะขาดสารไอโอดีนดังที่กล่าวแล้วนี้ เพราะสื่อไม่สนใจนำเสนอต่อสังคม จึงไม่เป็นที่สนใจกว้างขวางนัก และพลังขับเคลื่อนสังคมก็ยิ่งน้อยลง

ความรู้ใดๆ ก็เป็นเพียงรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ไม่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนสังคมได้

เช่นเดียวกับความสำเร็จในการปฏิรูปใดๆ ก็ตาม ไม่ได้อยู่ที่จะผลักดันรัฐบาลชุดใดๆ รับภารกิจการปฏิรูปไปดำเนินการ แต่อยู่ที่ว่าจะสามารถสื่อสารกับสังคมได้มากน้อยและต่อเนื่องเพียงไร และอยู่ที่ว่าแนวทางการปฏิรูปนั้น จะมีพลังพอขับเคลื่อนให้สังคมร่วมเคลื่อนไหวเป็นพลังทางการเมืองได้หรือไม่

หากทำไม่สำเร็จ ไม่ว่าแนวทางการปฏิรูปจะดีวิเศษอย่างไร ก็จะเป็นความรู้ที่เป็นหมัน อย่างเดียวกับความรู้อีกมากที่เป็นหมันในสังคมไทยตลอดมา

เรื่องที่แก้ได้ง่ายๆ อย่างภาวะขาดสารไอโอดีนในหมู่ประชากร จึงเป็นตัวอย่างอันดีของการแก้ปัญหาด้วยความรู้ แต่ขาดพลังของสังคมหนุนหลัง