--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หลงยศ หลงอำนาจ หลงบารมี ความอุบาทว์มักตามมา

คอลัมน์.บางกอกกอสซิบภูผาหิน

วันที่ประเทศไทยเดินหน้าหนึ่งก้าว แต่ถอยหลังสามก้าว คล้ายพวกขี้เหล้าเมายา เพราะผู้มีอำนาจบริหารประเทศอย่างไร้สติ.

ใครกันคือคนบ้า? หนึ่ง...คนไทย สอง...คนเขมร สาม...ข้าหลวงยูเนสโก กับประเด็นร้อนข้ามชาติ “เขาพระวิหาร” ที่โต้เถียงกันยาวนาน “ครึ่งศตวรรษ” สรุปแล้วใครผิดหรือใครถูก ทำไมไม่ไปเปิดดู “คำตัดสินศาลโลก 15 มิถุนายน 2505” เขาเขียนเพื่อให้คนอ่านหนังสือ (เป็น) ได้รับรู้...ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของประเทศกัมพูชา และการตัดสินใช้แผนที่ฝรั่งเศสอย่างที่ใครหลายคนทราบ.

น่าแปลกมั้ย? ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังรับข้อมูลใส่สมอง “ปราสาทนั้นเป็นของเขมร...แต่พื้นที่เป็นของไทย” หรือไทยกำลังหลอกไทยด้วยกันเอง...เพราะใครกันที่ไปละเมิดคำตัดสินของศาลโลก...เกมการเมืองแบบนี้มิใช่หรือ? ทำให้ไทยต้องเสียดินแดน...และถ้านักการเมืองยังไม่ปลุกจิตสำนึกรักชาติอย่างจริงใจ...เชื่อเถอะว่า อีกไม่นานเราจะไม่เหลือแผ่นดินใดให้เหยียบ...ไม่มีพื้นที่ใดให้เดิน!.

ยังไม่จบ! กับมหากาพย์เรื่องยาวภายใน สตช. หลังได้ ผบ.ตร. ที่ชื่อ “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” ...โดยเฉพาะนายตำรวจ “ยศนายพล” ที่ถูกวางไลน์ให้ขึ้นสืบทอดอำนาจ...ซึ่งต้องจับตาดูว่า “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” พี่ชาย “คุณหญิงอ้อ” จะมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งในลำดับ “อาวุโส” อีกหรือไม่?...เพราะชื่อนี้นามสกุลนี้เป็น “ของแสลง” ผู้จัดโผ...ไม่เชื่อไปถามประธาน ก.ตร.ที่ชื่อ “เทพเทือก”.

มนุษย์นี้เปลี่ยนแปลงกันได้. “น้องเดียร์” ขัตติยา สวัสดิผล ลูกสาวสุดเลิฟของ เสธ.แดง ที่ประสานเจตนารมย์ “คุณพ่อ” ประกาศเป็น “เสื้อแดงเต็มตัว” พร้อมอยู่เคียงข้าง “พรรคเพื่อไทย” ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน...คำพูดแบบนี้ไม่ต้องแปลไทยให้เป็นไทย...ไม่ว่าก่อนหน้านี้ “น้องเดียร์” จะใส่เสื้อสีอะไร...แต่ที่รู้ๆ คนเป็นพ่อยิ่งถูกกดดัน ยิ่งถูกกดขี่ ตอนนี้ในตู้เสื้อผ้าเลยมีแต่ “สีแดง”.

บางคนเห็นข่าวนี้แล้วอยาก “สละโสด” จัดงานเลี้ยงฉลองแต่งงาน...องอาจ คล้ามไพบูลย์ กับการถูกสอบบัญชีทรัพย์สิน...เพราะมีเงินเพิ่มขึ้นผิดปกติจากตอนเข้าเป็น ส.ส....องอาจ แจงเรื่องเงินที่เพิ่มขึ้นมา 10 ล้าน...เพราะเป็นเงินใส่ซองวันแต่งงาน...เรื่องนี้ คิดไปคิดมาน่าจะเป็นเรื่องจริง...เพราะนิสัยคนไทย “ฆ่าได้หยามไม่ได้” เป็นถึงระดับบิ๊กนักการเมือง บิ๊กนักธุรกิจ มีหรือไปร่วมงานแต่งงาน “คนดัง” จะใส่ซองแค่คนละ 1,000 ถึง 2,000...พูดง่ายๆ คือ “อายเขา” แถมยังตกเป็นขี้ปากชาวบ้าน.

งานนี้ข้อโต้งแย้งของ “องอาจ” ดูค่อนข้างสมเหตุสมผล...เพราะผู้มาร่วมงานมีมากถึง “ครึ่งหมื่น” นี่จึงเป็นวัฒนธรรมของ “ผู้มีอันจะกิน” เวลาแต่งชุดสูทหรือชุดราตรีสวยหรูไปร่วมงานแต่งงาน...ซึ่งว่ากันว่างานแต่งงานของ “องอาจ” กับ “ดร.หน่อย” ได้กำไรสุทธิ (พูดผิดขออภัย)...ได้เงินขวัญถุงจากการแกะซองไปร่วมๆ 12 ล้านบาท...คืนนั้นไม่เจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวรวย...ก็คนใส่ซองนี่แหละที่ต้องถอดชุดสูท “กินแกลบ” ไปหลายเดือน.

***************************************************************************

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

‘จารุวรรณ’ไม่สนกฤษฎีกายันไม่ทิ้งเก้าอี้ผู้ว่าการสตง.

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

“จารุวรรณ” ไม่ขอปฏิบัติตามความเห็นของกฤษฎีกาที่ให้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. เพราะไม่แน่ใจถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากไม่มีอำนาจตีความประเด็นที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ แถมตัวประธานคณะที่พิจารณายังไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว ยืนยันไม่ยึดติดกับตำแหน่ง แต่หากจะให้ออกต้องเอาพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งมาแสดง เลขาฯกฤษฎีกาแนะอย่าดื้อเพราะถ้ามีคนเอาเรื่องไปฟ้องศาลต้องรับผิดชอบ “มาร์ค” ระบุรัฐบาลจะเดินหน้าสรรหาผู้ว่าการคนใหม่ทันที

ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่มีปัญหามานานมีความชัดเจนขึ้นแล้ว เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ไปแล้ว

คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 29 ระบุว่าให้ผู้ว่าการ สตง. ดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 30 ก.ย. 2550 จากนั้นให้มีการสรรหาใหม่ภายใน 90 วัน โดยในระหว่างการสรรหาผู้ว่าการ สตง. คนใหม่ให้อยู่ในตำแหน่งพลางต่อไปได้ ดังนั้น คุณหญิงจารุวรรณจึงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างมากแค่ 90 วัน

เตือนต้องรับผิดชอบเป็นคดีที่ศาล

อย่างไรก็ตาม สตง. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผลการวินิจฉัยของกฤษฎีกามีผลผูกพันเฉพาะหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ คุณหญิงจารุวรรณจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือไม่ก็เป็นสิทธิ แต่อยากเตือนว่าหากยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปแล้วมีคนเอาเรื่องไปฟ้องศาล ศาลเกิดเห็นด้วยกับแนวทางของกฤษฎีกาคุณหญิงจารุวรรณก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ

ทุกหน่วยงานต้องรับฟังกฤษฎีกา

“ปรกติทุกหน่วยงานจะรับฟังความเห็นของกฤษฎีกา และกรณีนี้หากเป็นตนก็จะไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไป อย่างไรก็ตาม หากคุณหญิงจารุวรรณยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่าการ สตง. สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ เพราะถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเนื่องจากเกิดปัญหาอำนาจทับซ้อน” คุณพรทิพย์กล่าวและว่า การปฏิบัติงานช่วงที่ผ่านมาของคุณหญิงจารุวรรณไม่ถือว่าเป็นโมฆะ เพราะกฎหมายระบุว่าหากมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติสิ่งที่ลงนามปฏิบัติมาก็ถือว่ายังใช้ได้

ด้านคุณหญิงจารุวรรณให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง ที่ยังอยู่เพราะว่ามีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน

“จารุวรรณ” อยากให้ชัดเจนก่อน

“ตอนอายุครบ 65 ปีก็เก็บข้าวของเตรียมกลับบ้านแล้ว เตรียมงานเลี้ยงอำลาไว้แล้ว แต่มีผู้รู้ทางกฎหมายมาเตือนว่าให้คิดให้ดี เพราะเขาเห็นว่ายังไม่พ้นตำแหน่งก็ทำให้เราลังเล” คุณหญิงจารุวรรณกล่าวและว่า ในประกาศ คปค. ฉบับที่ 12 เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2549 หลังปฏิวัติให้ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน แล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549 เปลี่ยนเป็นประกาศฉบับที่ 29 บอกว่าให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้นคือดิฉัน ให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และให้มีการสรรหาภายใน 90 วัน และวรรคสุดท้ายของประกาศนี้ระบุว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ซึ่งก็คือตัวดิฉันเอง ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ก็เป็นอันที่วินิจฉัยชี้ขาดได้ โดยเฉพาะมาตรา 5 ของกฎหมาย สตง. ให้อำนาจผู้รักษาการกฎหมายคือประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพราะฉะนั้นก็ต้องดูว่าที่ถูกนั้นเป็นอย่างไรเพราะไม่อยากเสี่ยงผิด บังเอิญเป็นช่วงเดียวกันกับที่ที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภาพิจารณาเรื่องนี้แล้วเขาสรุปว่าต้องอยู่ต่อก็เลยอยู่ต่อ และเมื่ออยู่ต่อก็ต้องทำงาน หากไม่ทำก็เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่

สงสัยกฤษฎีกาดันทุรังตีความ

คุณหญิงจารุวรรณกล่าวอีกว่า กฤษฎีกานี่มาแปลกมาก บอกให้พ้นตำแหน่งทั้งที่ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ไม่รู้ว่าทำไมต้องชี้ขาดออกมาให้ได้

“ขอคัดค้านคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ แต่เพราะอะไรไม่ทราบท่านไม่ค่อยชอบเราเท่าไร เราทำเรื่องขอถอนการหารือตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ไม่รู้ทำไมยังต้องเดินหน้าวินิจฉัยเรื่องนี้ ทั้งที่ตามระเบียบของกฤษฎีกาจะไม่รับข้อหารือขององค์กรอิสระ อย่างเมื่อปี 2548 ก็มีปัญหาใน คตง. ที่มีรักษาการท่านหนึ่งส่งเรื่องไปให้ตีความ กฤษฎีกาตอบกลับมาว่าไม่รับหารือ ผลที่ออกมาจึงไม่รู้ว่าถูกหรือไม่” คุณหญิงจารุวรรณกล่าวและว่า จะไม่เอาความเห็นของกฤษฎีกาและที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภามาผูกพัน และไม่ทราบว่าคำตอบสุดท้ายของเรื่องนี้จะอยู่ที่ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวก็อยากให้เกิดความชัดเจน

ต้องมีพระบรมราชโองการจึงจะออก

“ไม่ต้องการอะไรที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะให้ไปอย่างเดียวที่เทิดทูนอยู่เสมอคือไปเอาพระบรมราชโองการมา ไม่ยึดติด เก็บของแล้วด้วย แต่ขอไปอย่างถูกต้อง” คุณหญิงจารุวรรณกล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องยึดถือตามความคิดเห็นของกฤษฎีกาที่ต้องเร่งสรรหาคนใหม่ ระหว่างนี้เรื่องการบริหารจัดการสำนักงานให้รักษาการผู้ว่าการ สตง. ทำไปพลางก่อนได้ แต่ไม่มีอำนาจทำงานในส่วนของอำนาจหน้าที่ผู้ว่าการ สตง. ที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

ส.ว. เฉ่งรัฐบาลแทรกแซง สตง.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรยืมมือกฤษฎีกาแทรกแซงการทำงานของ สตง. เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนจะได้ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้

“ผมข้องใจว่ากฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่มีนายมีชัยเป็นประธานเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะประกาศ คปค. ให้สรรหาผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 90 วัน เลยอยากจะถามว่าตอนนั้นนายมีชัยเป็นประธาน สนช. อยู่ทำไมถึงไม่สรรหาผู้ว่าการ สตง. คนใหม่ตามประกาศของ คปค. ผลการตีความที่ออกมาก็มีประเด็นขัดแย้งกันเองในหลายเรื่อง ดังนั้น คณะกรรมาธิการจะตรวจสอบการทำหน้าที่ของกฤษฎีกาคณะของนายมีชัยว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เพราะทั้งในข้อกฎหมายและในระเบียบของกฤษฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ คณะกรรมาธิการจะเรียกเลขาธิการกฤษฎีกามาชี้แจงเรื่องนี้ และจะเชิญนายพิศิษฐ์มาชี้แจงกรณีออกหนังสือเวียนให้พนักงาน สตง. ยึดแนวทางปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาด้วย เพราะได้แอบอ้างลงลายมือชื่อในฐานะรักษาการผู้ว่าการ สตง. ถือว่าขัดกับหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากผู้ว่าการ สตง. ตัวจริงยังไม่พ้นตำแหน่ง”

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ปกป้องเพราะต้องการตอบแทนบุญคุณที่ได้รับการเสนอชื่อจาก สตง. ให้เป็น ส.ว. หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า การจะได้รับเลือกเป็น ส.ว. หรือไม่อยู่ที่ดุลยพินิจของกรรมการสรรหา 7 คน ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้เสนอรายชื่อมา ยืนยันว่าเรื่องนี้ทำงานตามหน้าที่

**********************************************************************

ฟังเสียงข้างน้อย “ดร. วรเจตน์”คดียึดทรัพย์ ศาลฎีกาเชื่อตรรกะดร.สมเกียรติ แต่ผมไม่เห็นด้วย!!!

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ย้อนหลังไป 4 เดือนที่แล้ว ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ว่า “ผมไม่คิดว่าศาลฎีกา จะรับครับ ยกทิ้งเลย แล้วก็ยึดทรัพย์กันไป” อะไรคือเบื้องหลังความเชื่อและหลักเหตุผลของนักกฎหมายหนุ่ม ลองพิจารณาดู ...

วันที่ 11 ส.ค. ที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา มีมติไม่รับอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบครัว และพวก จำนวน 46,373,687,454.70 บาท ด้วยคะแนนเสียง 103 ต่อ 4 เสียง

ทั้งนี้ 103 เสียงไม่รับอุทธรณ์ มีจำนวน 4 เสียงที่ให้รับอุทธรณ์ และมีผู้พิพากษา 12 คน งดออกเสียง

สาเหตุที่ 103 เสียงไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่า ประเด็นที่ ทนายพ.ต.ท.ทักษิณยื่นอุทธรณ์มาจำนวน 5 ประเด็นนั้นไม่มีหลักฐานใหม่แต่อย่างใด

ย้อนหลังไป 4 เดือนที่แล้ว ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่คิดว่าศาลฎีกา จะรับครับ ยกทิ้งเลย แล้วก็ยึดทรัพย์กันไป”

ถ้าเป็นหมอดู ดร. วรเจตน์ น่าจะทำนายอนาคต และชะตากรรมของ”ทักษิณและพวก” ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง แต่ดร. วรเจตน์ ไม่ใช่หมอดู แต่เขาเป็นนักกฎหมายมหาชน เพียงไม่กี่คนในประเทศนี้ที่กล้าเขียนบทความทางวิชาการ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดียึดทรัพย์ คดีประวัติศาสตร์

เมื่ออ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดียึดทรัพย์ จะพบว่า ในสำนวนของศาลรับฟังน้ำหนักพยานปาก ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) อย่างเต็ม ๆ ดังปรากฏในคำพิพากษาหลายตอน ขณะที่ ดร. วรเจตน์ โต้เหตุผลของ ดร.สมเกียรติ ในทุกประเด็น ผ่าน บทสัมภาษณ์ในประชาชาติธุรกิจและผ่านจอทีวีมาแล้ว

ก่อนที่เหตุผลของเสียงข้างน้อยจะเลือนหายไปในอากาศ ก่อนที่คนจะลืมว่า ประเด็นในคดียึดทรัพย์ คดีประวัติศาสตร์ ถกเถียงกันเรื่องอะไร ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ฉบับที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน มานำเสนอให้ท่านผู้อ่าน ดังนี้

ดู เหมือนว่า คนจะฟังเหตุผลของดร.สมเกียรติ มากกว่า ดร.วรเจตน์ ?

จริงๆ แล้ว อาจารย์สมเกียรติกับผม รู้จักกันครับ และผมคิดว่าดีนะ ที่ได้พูดกันในทางเนื้อหา อันนี้ผมชอบ ดีกว่ามาป้ายว่าผมเป็นพวกทักษิณ อย่างนั้นย่างนี้ อันนี้น่าเบื่อ แต่การเอาเนื้อหามาโต้ ทำให้เกิดการถกเถียงกันทางปัญญา ว่าตกตกลงเรื่องเป็นอย่างไร ใครถูกใครผิด ประชาชนก็ต้องคิดเอา ผมคิดว่าสักระยะหนึ่งคนจะตัดสินได้

ที่ผ่านมา มีคนว่าผมอยู่เรื่อยว่าต่อต้านการรัฐประหาร แต่ทำไมไม่ไปดูเนื้อหาว่าทักษิณผิดหรือไม่ผิด ผมก็เลยคิดว่าคราวนี้ก็มาดูเนื้อหากันจริงๆ เพราะเป็นเหตุที่ใช้อ้างในการทำรัฐประหารด้วย ว่ามีการทุจริตกัน ผมก็เลยเน้นไปที่เรื่องข้อกล่าวหา 5 ข้อ ของคตส. ว่าในทางเนื้อหาของเรื่อง เมื่อตรวจสอบจากเกณฑ์กฏหมายแล้วเป็นยังไง

เมื่อผมตรวจสอบแล้ว และเห็นว่าเขาไม่ผิด มันก็ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องอื่น แต่เรื่องซุกหุ้น ก็มีคนอยากรู้ว่าผมคิดยังไง อาจารย์วรเจตน์บอกสิว่าซุกหุ้นหรือไม่

ผมเรียนว่า ถ้าพูดจากในคดี จะได้ตัดปัญหา เพราะคนก็มองว่าช่วยทักษิณมั๊ย คืออ่านจากข้อเท็จจริงในคดี ผมคิดว่าถ้าฟังยุติตามที่ศาลชี้ ฟังได้ว่าคุณทักษิณ คงครองไว้ซึ่งหุ้น

แต่ถามว่าทำไมถึง จากข้อเท็จจริงในเชิงคดี เพราะประเด็นเรื่องซุกหุ้นต่างจากอีก 5 ประเด็น คือประเด็นเรื่องหุ้นเป็นประเด็นที่วางอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่มีประเด็นข้อกฏหมาย เป็นประเด็นที่สืบจากฐานข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ แต่ปัญหาคือ ในเชิงเอกสาร ผมไม่เห็นทั้งหมด อ่านจากคำพิพากษาในคดีที่ศาลสรุป รวมทั้งความเห็นส่วนตน ทำให้เห็นได้ว่า ยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น แต่ถ้าเห็นเอกสารทั้งหมด เห็นข้อต่อสู้ทั้งมวล อันนี้ผมไม่รู้ เพราะเป็นข้อเท็จจริง

แต่ใน 5 ประเด็นเป็นประเด็นข้อกฏหมาย คือข้อเท็จจริง อย่างผมกับอ.สมเกียรติ ไม่ได้เถียงกันในข้อเท็จจริงเลยนะ เพียงแต่การตีความข้อเท็จจริง และการตีความข้อกฏหมายไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ประเด็นเรื่องซุกหุ้นจึงต่างกันตรงนี้ ผมถึงบอกว่า เรื่องซุกหุ้นถ้าเอาที่ศาลชี้ เนื่องจากมันอยู่บนฐานข้อเท็จจริงๆ ว่าความเป็นจริงหุ้นอยู่กับใครอย่างไรถ้าอ่านจากคำพากษา ก็คงมองได้เหมือนกันว่าคุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น คือ ไม่ได้มีการขายออกไปจริง

แต่ปัญหาเรื่องหุ้นมีมากไปกว่านั้น ไม่ใช่เฉพาะในทางคดีนี้ ในอนาคตข้างหน้า สมมุติว่าคุณเป็นรัฐมนตรี แล้วคุณโอนหุ้นให้ลูก ปัญหาก็คือว่า ถ้ามีคนมาบอกว่าหุ้นยังไม่โอนไป มันจะต้องสืบกันมากว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง ในทางคดีโอนไปแล้ว แต่ว่าลูกมาปรึกษาว่าจะขายไม่ขาย มีคนมาติดต่อคุณว่าจะขายยังไง คุณจะเป็นนายหน้าให้กับลูกหรือไม่ ได้หรือไม่ แล้วถ้าทำอย่างนั้น ยังถือหุ้นอยู่กับคุณมั๊ย

มันจะมีประเด็นอย่างนี้เถียงกันได้มากเลย แล้วมันมีปัญหาเรื่องความมั่นคงแน่นอนของนิติฐานะ เพราะว่าพ่อกับลูกมันใกล้กันมาก

ประเด็นอีกอันก็คือ สมมุติว่า ไม่มีการขายหุ้นคุณทักษิณให้ลูก แต่ยกให้ แล้วยังไง กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงเป็นของใคร คือเกณฑ์ที่มันจะใช้ตรงนี้ คือปกติ เรื่องเกณฑ์กรรมสิทธิ์เราใช้เกณฑ์ ทางทะเบียนเป็นสำคัญ คือเกณฑ์ทางรูปแบบ แต่เรื่องนี้บังเอิญ มันอยู่ในรัฐธรรมนูญ ศาลมองในทางเนื้อหาด้วยว่าจริงๆ อำนาจ ในการตัดสินใจอยู่กับใคร ซึ่งผมบอกว่า เมื่อฟังจากศาลพอมองได้อยู่ว่า คุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น แต่ในทางรูปแบบไม่ใช่ เขาบอกว่าเขาขายไปแล้ว ในทางทะเบียนไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของลูก

ฉะนั้น ถ้าผมจะบอกว่าประเด็นเรื่องนี้ มันจึงเป็นประเด็นซึ่ง จะต้องเห็นข้อเท็จจริงทั้งหมดจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องข้อกฏหมายแล้ว แต่มันเป็นการตีว่าในทางความเป็นจริง หุ้นเป็นของใครกันแน่

แต่หลายคนมองว่า เรื่องนี้เราตีความหรือวินิจฉัยว่าคุณทักษิณครองไว้ซึ่งหุ้น ก็จะไปบอกเลยว่าเขาทุจริต หรือเป็นเรื่องที่มีการกระทำโดยเอื้อประโยชน์ ซึ่งมันไม่ใช่ มันไม่ออโตเมติก

ทีนี้หลายคนไม่เข้าใจว่า ประเด็นที่ถือครองไว้ซึ่งหุ้น ผลทางกฏหมายมันคือ พ้นจากตำแหน่งหรือเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ก็คือ จะถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เพราะยื่นทรัพย์สินเป็นเท็จ แต่คำถามคือ เราอาจต้องวางเกณฑ์นิดนึงว่า ในอนาคตคนจะขายหุ้นให้ลูกเขาควรทำยังไง ระบบกฏหมายถึงจะเชื่อว่าเขาขายแล้ว

คือ ระบบจะต้องเรียกร้องจากคนขนาดไหน ถึงจะเชื่อว่าเขาขายแล้ว แล้วเราก็ต้องไม่ลืมว่าเป็นเรื่องทางการเมือง มันจะไปพันกับกระแสทางการเมืองอย่างมาก กระแสการเมืองที่ไปทางนั้นทางนี้ จะส่งผลต่อการวินิจฉัยด้วยของศาลด้วย เคสนี้ศาลบอกว่า ในทางข้อเท็จจริงศาลเห็นว่ามันไม่ควรเอามาใช้ เพราะมันจะทำให้กระทบความมั่นคงแน่นอน โดยทางรูปแบบมันขายไปแล้ว ศาลก็บอกว่าหุ้นขายไปแล้ว ในทางเนื้อหา ดูแล้วมีพิรุธเรื่องการโอน เรื่องการทำตั๋วสัญญาใช้เงิน มันเหมือนกับไม่ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจริงๆ

@ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่คุณทักษิณเองถือหุ้นเองหรือถือโดยผ่านลูกก็ตาม โดย แต่วันที่คุณทักษิณนั่งเป็นนายกฯ อยู่หัวโต๊ะที่ประชุมครม. แล้วมีเรื่องใน 5 โครงการนี้เข้าครม. คุณทักษิณรู้ทั้งรู้ว่ามีหุ้นตรงนี้ มันก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก เพราะโครงการที่ตัวเองมีส่วนได้เสียเข้าสู่ครม.

อันนี้ต้องแยกครับ มันมีปัญหาเรื่องความเหมาะสม ในตำแหน่งกับความไม่ชอบด้วยกฏหมาย 2 เรื่องนี้มันไม่ใช่อันเดียวกัน เราอาจจะวิจารณ์เรื่องความเหมาะสมในตำแหน่งได้ แต่เรื่องความชอบด้วยกฏหมายนั้น มันเป็นอีกอันหนึ่ง

แล้วจริงๆ ใน 5 กรณีนี้ ถ้าเราพูดกันจากรูปธรรม มันพูดลอยๆ ไม่ได้ ใน 5 กรณีนี้ถ้าพูดกันถึงที่สุด การตัดสินใจของคุณทักษิณมีส่วนแต่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น มีเรื่องเดียวคือ ตอนออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิต เท่านั้นครับ เรื่องเดียวเอง แต่คุณทักษิณเป็นหนึ่งในบรรดารัฐมนตรีหลาย ๆคน

ส่วนเรื่องอื่นๆ อีก 4 เรื่อง ประเด็นเรื่องของพรีเพด ประเด็นโรมมิ่ง ประเด็นเรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ ทั้ง 3 เรื่องนี้ไม่ใช่คุณทักษิณ แล้วไม่ใช่เรื่องครม.

เรื่องพรีเพดกับเรื่องโรมมิ่งเป็นเรื่อของทศท. เรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ ก็เป็นเรื่องรัฐมนตรีไอซีที เรื่องเงินกู้พม่าเป็นเรื่องที่ธนาคารเป็นคนให้กู้ เพียงแต่ว่าคุณทักษิณเป็นคนริเริ่ม หรือคณะรัฐมนตรีนั้นมีมติอนุมัติในเบื้องต้น แต่ไม่ได้เป็นการตัดสินใจในทางเด็ดขาด ไม่เหมือนกับเรื่องพระราชกำหนดสรรพสามิต ฉะนั้นต้องแยก 5 เรื่องนี้

และนี่จะเป็นปัญหาเรื่องคอล สเตชั่น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลต่อไป ซึ่งหลายคนยังไม่ได้พูด และเหมารวมว่าเป็นการกระทำของคุณทักษิณหมด ซึ่งในทางความรู้สึก คุณอาจรู้สึกได้ว่าคุณทักษิณครอบงำคณะรัฐมนตรี แต่ในทางกฏหมาย นี่เป็นการยึดทรัพย์นะครับ ต้องชัด

กรณีที่มีคนตั้งคำถามกับผมเรื่องหุ้น ในด้านหนึ่ง ในที่สุดถ้าเราเห็นว่าการกระทำนั้น มันไม่เอื้อ เรื่องซุกหุ้นหรือไม่ซุกหุ้นก็ไม่มีความหมาย มันก็คือไม่ผิด ประเด็นคือ ยึดทรัพย์ไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าผิดแบบ ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ก็เป็นเรื่องบัญชีเป็นเท็จ

@ ทราบว่า อาจารย์อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน มีข้อสังเกตอะไรบ้างครับ

มีอันหนึ่งที่เห็นก็คือ ตอนที่มันมีการลงมติ ประเด็นเรื่องว่าคุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น หรือไม่ มัน 9 ต่อ 0 พอมาถึงประเด็นว่ามีการเอื้อประโยชน์ทั้ง5 กรณี หรือไม่ มันคือ 8 ต่อ 1 แล้วพอยึดหรือไม่ยึดคือ 7 ต่อ 2 คือยึดหมดหรือยึดบางส่วน

กรณี 8 ต่อ 1 มันน่าสนใจว่า ผมไปอ่านคำพิพากษาส่วนตน คือตอนลงมติว่าเอื้อหรือไม่เอื้อ เป็นการลงมติพร้อมกัน มันเลยเป็น 8-1 ไม่ได้แยกทีละเรื่อง ปรากฏว่าภาษีสรรพสามิต มีคนที่เห็นว่าเรื่องภาษีสรรพสามิต ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ สองคนครับ

ท่านหนึ่งก็คือม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ส่วนอีกท่านคือท่าน พงศ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ ประเด็นนี้ท่านเห็นว่าไม่เอ แต่ประเด็นอื่นท่านเห็นว่าเอื้อหมด ท่านเลยจัดอยู่ในฝ่ายข้างมาก เพราะไม่ได้ลงแยก

@ อาจารย์เห็นแย้งอาจารย์สมเกียรติ ประเด็นไหนบ้างครับ

เรื่องแรกคือประเด็นภาษีสรรพสามิตมีเถียงกันว่า ตกลงกีดกันหรือไม่กีดกัน เรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ผมสัมภาษณ์พาดพิงอาจารย์สมเกียรติ ซึ่งไปเป็นพยานในคดี แล้วเข้าใจว่าเป็นพยานปากสุดท้าย ผมมีข้อสังเกตว่า มันมีคนที่เห็นว่าไม่กีดกันเหมือนกัน แต่ว่าเวลาอ่านคำพิพากษา แม้แต่ความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษา เสียงข้างมาก ปรากฏว่าไม่ได้มีการให้เหตุผลของฝ่ายที่เห็นว่าไม่กีดกันในคดี ว่าทำไมถึงเห็นว่าไม่กีดกัน

คือมีการเขียนนิดเดียวเอง แล้วบางท่าน ไม่ได้เขียนทุกท่านด้วย มีสืบพยาน ผมเข้าใจว่าอย่างดร. กมลชัย รัตนสกาววงศ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกทช. เห็นว่าไม่กีดกัน แต่ประเด็นที่ว่าอาจารย์กมลชัยเห็นว่าไม่กีดกัน ไม่มีการสืบ

ผมไม่รู้ว่าฝ่ายทนายคุณทักษิณ ได้อ้างนักวิชาการที่เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ท่านอื่นหรือเปล่า ที่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่กีดกัน อันนี้ไม่ทราบได้ แต่เห็นว่าไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญ อื่นๆ มาคาน หรือชี้ว่าทำไมไม่กีดกัน

ประเด็นหนึ่งที่อาจารย์สมเกียรติพาดพิง บอกว่า คณาจารย์พูดถึงเรื่องจุดคุ้มทุน โดยที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ และไม่มีตัวเลขอะไรเลย ผมเรียนว่า เวลาที่เราวิเคราะห์คำพิพากษา เราวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงในคดี ผมก็อ่านข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษา แล้ววิเคราะห์ไปจากนี้ จริงๆ ที่วิเคราะห์บอกว่า การมีภาษีสรรพสามิตมันไม่ทำให้ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการรายใหม่ มีต้นทุนในการประกอบกิจการสูง กว่าจุดคุ้มทุนจนเข้าตลาดไม่ได้นั้น อันนี้หมายถึงว่าอ่านจากคำพิพากษานั่นเอง

หมายถึง คำพิพากษาไม่ได้มีอะไร ถ้าศาลจะบอกว่ามันกีดกัน ศาลคงต้องชี้ให้เห็นแล้วว่า มันมีต้นทุนยังไงของรายใหม่ที่มันสูง จนถึงเข้าตลาดไม่ได้ คือคณาจารย์ทั้ง 5 ไม่ได้เห็นครับ จึงบอกว่าเรื่องนี้มันจึง จากคำพิพากษาเองไม่ได้บอก เราถึงบอกว่า เมื่อเราดูจาก ตัวที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น เฉยๆ มันยังไม่พอว่าเป็นการกีดกัน อันนี้คือประเด็นหลัก แล้วข้อเท็จจริงในคดีไม่มีด้วยว่าต้นทุนของผู้ประกอบการรายใหม่มันสูง จนถึงขนาดว่ามันเข้าตลาดไม่ได้ ในคดี

ฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ ถ้าศาลบอกว่ากีดกันก็ต้องคำนวณ เหมือนที่อาจารย์สมเกียรติบอกว่าต้นทุนเป็นยังไงบ้าง แต่ประเด็นหลักของผมเวลาเราพูดเรื่องต้นทุนมันเถียงกันได้เยอะ แต่ประเด็นที่มันมีการพูดกันก็คือว่า ในคำพิพากษา ศาลแสดงให้เห็นแต่เพียงว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น เท่านั้นเอง

สรุปง่ายๆ ก็คือว่า รายเดิมคือเอไอเอส จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 25% ถ้าจะมีรายใหม่เข้าสู่ตลาด เขาจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับรัฐ 6.5 % ทีนี้เมื่อมีภาษีสรรพสามิตอีก 10 % จึงกลายเป็น 16.5 %

คำถามก็คือ ถ้าเราไม่ดูต้นทุนตัวอื่น ดูแต่เฉพาะส่วนที่ต้องจ่ายให้กับรัฐที่เป็นภาษี ส่วนแบ่งรายได้เทียบกัน ถามว่า 16.5 มันมากกว่า 25 ตรงไหน

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่า คุณประกอบกิจการอย่างหนึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิม จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรืออะไรกับรัฐ 25 % ผมจะเขาสู่ตลาด ยังไม่มีฐานลูกค้า รัฐบอกว่ากลัวผมแข่งไม่ได้ เก็บผมถูกๆ มองในมุมกลับ(นะ ) มันแฟร์กับคุณหรือเปล่า ถ้าคุณต้องจ่าย 25% ผมจ่าย 5% ทำไมไม่จ่าย 25 เหมือนกัน ผมถึงบอกว่า 16.5 ยังไงมันก็ยังน้อยกว่า

ก็มีการโต้แย้งกันว่า อาจารย์สมเกียรติบอกว่า รายเก่าเข้าตลาดมาก่อนมีฐานลูกค้ามาก แล้วยิ่งลูกค้าเยอะ การถึงจุดที่ได้กำไรมันเป็นเร็วขึ้น มากขึ้น เรื่องนี้ผมเรียนว่า การเข้าตลาดก่อนของรายเก่า มันหมายความว่าเขาแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจไปก่อน ไม่ได้หมายความว่าเขาจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เขาเข้าตลาดก่อน แบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจไปก่อน

อีกอย่างก็คือ รายเก่าที่เขาทำสัญญาสัมปทานกับรัฐ เขาทำสัญญาสัมปทานแบบ BTO (Build, Transfer, Operate) ซึ่งก็คือ เขาเป็นคนที่ลงทุนเรื่องโครงข่าย ก็คือเขาลงทุนด้วยเงินของเขาเอง โอนให้กับรัฐวิสาหกิจ แล้วก็ประกอบกิจการ เงินลงทุนนี้จำนวนมากนะครับ เพราะว่ารัฐไม่ต้องการลงทุนเอง

รายใหม่ในการเข้าสู่ตลาดไม่ต้องลงทุนส่วนนี้ แล้วถ้าเกิดรายใหม่จะลงทุนตามระบบอันใหม่ ที่เป็นระบบใบอนุญาติ ไม่ใช่ระบบสัญญาณ เขาได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เขาลงทุน ขณะที่รายเก่าต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับรัฐ แล้วถามว่าตรงนี้ไม่คิดหรือ

ผมไม่แปลกใจเลยว่าบรรดาผู้พิพากษาที่ตัดสินเรื่องนี้ ข้างน้อยข้างหนึ่งคือม.ล. ฤทธิเทพ เป็นท่านท่านเดียวที่พูดถึงประเด็น BTO ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะมันจะทำให้เห็นว่า รายเก่าในการเขาเข้ายังไง มีต้นทุนการประกอบการยังไง ซึ่งตรงนี้ต้องคิด ซึ่งแน่นอนเข้าก่อนมันก็เป็นธรรมดา มันมีข้อดีข้อเสีย ต้องชั่งน้ำหนักกัน

ปัญหาก็คือว่า มีคนบอกว่าการที่รัฐบาล ออกอันนี้ 10% เพิ่มขึ้นเลย 10% คำถามก็คือ ภาระภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถามว่าเพิ่มแล้วที่สุดมันทำให้แข่งไม่ได้หรือเปล่า หรือทำให้เขาไม่มีมูลเหตุจูงใจในการเข้าสู่ตลาดมั๊ย นี่คือประเด็น ซึ่งต้องพรูฟกันว่ามันเป็นการกีดกันยังไง

ท่านก็บอกว่า ตัวพิกัดภาษีมันเลื่อนไปได้ แต่มันยังไม่เกิด แต่ก็มีคนบอกว่ามีคนไม่กล้าลงทุน เพราะเขาก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลขึ้นยังไง เราต้องเข้าใจว่า เวลารัฐบาลจะทำพวกนี้ มันจะต้องดูสภาพตลาดต่างๆ เขาก็บอกว่า วันดีคืนดีคุณทักษิณ ก็ขึ้นภาษีสรรพสามิต ไป 30 ,40% อันนี้คือการคาดเดาแล้ว

ซึ่งแน่นอน อาจจะมีคนบอกว่า คนประกอบธุรกิจเขาอาจจะคาดเดาได้ แต่มันคือการคาดเดา แล้วถ้าเกิดไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งในทางความเป็นจริงด้วย เราจะเห็นได้ว่า ที่เขาทำภาษีสรรพสามิตขึ้นมา เขาต้องการแก้ปัญหาเรื่อง การแปรสัญญาณสัมปทาน ซึ่งมันทำไม่สำเร็จตั้งแต่ปี 2537 ทำมาหลายรัฐบาลแล้วมันทำไม่ได้ แล้วถึงเวลานั้นมีการแปรรูปไปแล้วจากองค์การโทรศัพท์ไปเป็นทีโอที แล้วก็การสื่อสารไปเป็นบริษัทกสท. แล้วต่อไปเอาเข้าตลาด

พอเอาเข้าตลาด มันไปขายหุ้น ในขณะที่ 2 หน่วยได้เงินสัมปทานจากเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ กินเงินสัมปทานมา ต่อไปถ้าไปขายหุ้น เอกชนที่เป็นผู้ถือหุ้น ก็จะได้เงินส่วนแบ่งสัมปทาน ซึ่งไม่ถูกต้อง เขาจึงหาวิธีเอาเงินเข้าคลังโดยตรง ซึ่งเขาก็ตัด 10% เข้าคลังโดยตรง ซึ่งทำให้รัฐได้ประโยชน์โดยตรง

ทีนี้มีคนบอกว่า การออกพรก.สรรพสามิต ไม่ต้องการเก็บภาษีจริงๆ หรอก เพราะว่าออกมา บอกว่า เก็บ 10% แต่จริงๆ ไม่ได้เก็บ เอา 10% ออกไปหักจากค่าสัมปทาน คือ เอไอเอสต้องจ่าย 25% ให้กับทีโอที ก็บอกว่า 10 % ที่เป็นภาษีสรรพสามิต ให้เอาไปหักออกได้จากค่าสัมปทาน ก็คือจ่ายให้กับทีโอที 15 % แล้วจ่ายเข้าคลัง 10% ในความเป็นจริงคือรัฐไม่ได้ภาษี เพราะว่าจะเก็บ แต่เอาตรงนี้ไปหักออกจากส่วนที่เอกชนต้องจ่ายกับรัฐอยู่แล้ว ฟังดูเหมือนว่า แต่เราต้องอธิบายแบบนี้ว่ามาตรการทางภาษี มันเป็นมาตรการที่รัฐใช้แก้ปัญหาการแปรสัญญาณสัมปทาน เป็นมารตรการที่รัฐทำขึ้นเพื่อให้ได้ความมั่นคง ในแง่ของเงินที่จะเข้าคลังโดยตรง

ถ้าเกิดรัฐจะเก็บเงินจริง ๆ ก็เท่ากับว่า เอไอเอสจ่าย 25 % ที่เป็นค่าสัมปทานให้กับทีโอที แล้วยังต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตอีก 10 % ถามว่าภาระไปอยู่กับใครครับ เขาผลักตรงนี้ไปให้ผู้บริโภคก็คือพวกเรา

การที่เอา 10% ไปหัก จึงไม่ทำให้เกิดภาระกับผู้บริโภค เขามีเหตุผลอธิบาย ผมถึงบอกว่า ผมดูทั้งหมดแล้วมันอธิบายทางกฏหมาย มันมีลอว์จิกของมันอธิบายได้ ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้

@ มุมมองอาจารย์วรเจตน์กับอาจารย์สมเกียรติเป็นมุมมองจากกรอบแว่นตาต่างสีหรือเปล่า

ผมไม่แน่ใจ(ครับ) ผมไม่รู้ว่านักเศรษฐศาสตร์เขาคิดยังไง เพราะบังเอิญมีอาจารย์สมเกียรติพูดอยู่ท่านเดียว อาจจะต้องไปถามนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นว่าเขาจะคิดแบบผมบ้างมั๊ย ซึ่งผมเชื่อว่ามีแน่นอน แล้วผมพยายามสำรวจ ตรวจสอบตรรกะของผมดู ผมก็ยังไม่พบว่ามันบกพร่องนะ ในแง่นี้ เพราะมันมีเหตุผลอธิบาย

แล้วมองในทางกลับกัน ถ้าภาษีที่มันเพิ่มขึ้น อาจจะมีผลในการสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันก็ได้ เพราะมันทำให้เราต้องคำนวณดูว่า ถ้าสมมุติว่ารายเดิมมีภาระส่วนแบ่งรายได้สูงมาก รายใหม่น้อยมาก รายเดิมก็อาจจะเสียเปรียบได้ แม้ว่ารายเดิมจะมีฐานลูกค้าอยู่ แต่ถ้ารายใหม่เข้าตลาดมา มันมีส่งผลที่ต้องจ่ายตรงนี้น้อยมาก เพราะดั๊มราคาได้ เข้ามาแข่ง ซึ่งเขาบอกว่าโอเคให้รายใหม่แข่งได้ แต่ว่า ช่องว่างที่ห่างมากเกินไป บางทีมันอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ กันก็ได้

อีกอันที่ต้องแย้งอาจารย์สมเกียรติก็คือ ผมบอกว่ามันไม่ได้มีการกีดกัน มีคนบอกว่าไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด แล้วผมบอกว่า ที่มันไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด เป็นเพราะว่ามันมีปัญหาเรื่องการออกใบอนุญาติของกทช. คือ อาจารย์สมเกียรติบอกว่า ผมไม่ได้พูดถึงความเห็นกฤษฎีกา ที่กทช.เคยถามว่า สามารถจัดสรรคลื่นได้มั๊ย แล้วกฤษฎีกาก็บอกว่า จัดสรรได้ อาจารย์ก็เลยบอกว่า ที่ผมบอกว่า กทช.มีปัญหาว่ามีอำนาจออกใบอนุญาติหรือเปล่า แล้วทำให้มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด จริงๆ จริงๆ ไม่ใช่ครับ อาจารย์สมเกียรติเข้าใจตรงนี้คลาดเคลื่อน

คืออย่างนี้ การที่รายใหม่เข้าสู่ตลาด เอาเข้ามาแข่งกับเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ หลังจากที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว รายใหม่เวลาเข้าสู่ตลาด เขาเข้าสู่ตลาดในระบบใบอนุญาติ คือต้องออกใบอนุญาติจากกทช.

ทีนี้มันมี้ปัญหาว่า กทช. มันตั้งขึ้นมาได้ แต่กสช.ตั้งไม่ได้ พอตั้งกสช.ไม่ได้ มันก็ไม่มีคณะกรรมการร่วม มาจัดทำแผนแม่บทคลื่นความถี่ ก็เลยมีปัญหาเถียงกันว่าตกลง ในขณะที่ไม่มีกสช. กทช.จะมีอำนาจในการจัดสรรคลื่นหรือเปล่า

ความเห็นส่วนตัวผม ผมเห็นว่ากทช.มีอำนาจ แต่ว่าก่อนหน้านั้น มันมีปัญหาเถียงกันเรื่องอำนาจของกทช. ว่ามีหรือไม่มี แล้วจนกระทั่งถึงปี 2549 สังเกตปีนะครับ ที่อาจารย์สมเกียรติอ้างกฤษฎีกา ผมจะบอกว่า ปี 2549 กทช. ถามกฤษฎีกาว่าตัวเองมีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่หรือเปล่า

กฤษฎีกาตอบเมื่อเดือนสิงหาคม เดือนเดียวก่อนการรัฐประหารว่า กทช.สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ แต่มีเงื่อนไขว่ามันทำในลักษณะซึ่ง ทำไปที่จำเป็น แต่ทำได้ ถ้าเกิดว่ายังไม่มีกทช. ให้จัดสรรไปได้ ความเห็นนี้เกิดขึ้นปี 2549 ตอบคำถามในตัว อาจารย์สมเกียรติว่าแปลว่าอะไร เรื่องนี้ กฤษฎีกาตอบสิงหา 2549 แปลว่า แปลว่ามันมีความไม่แน่ใจในอำนาจกทช.มาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเรื่องนี้เถียงกันมาตั้งแต่ปี 2546 ยิ่งสนับสนุนความเห็นผม ที่อาจารย์สมเกียรติอ้าง เพราะว่าเขาไม่แน่ใจอำนาจ แล้วถามปี 2549 เรื่องเสร็จ ที่ 386/2549

อีกอันหนึ่งก็คือ ประเด็นเรื่องผู้ประกอบการเดิมตามกำหนดสัมปทานมีสิทธิ์ ดีกว่าผู้ประกอบการ ตามระบบใบอนุญาติ เพราะว่าของเก่าทำสัญญา ของใหม่เป็นใบอนุญาติ โอเค ถูกว่ารายเดิมมีสิทธิ์ผูกขาด แต่ว่าต้องโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินให้กับรัฐนะ แล้วเวลาในการกระกอบกิจการ ใกล้จะหมด เหลือไม่กี่ปี จ่ายค่าสัมปทานแพง 15, 20, 25, 30 หรือ 20 แล้วแต่ แต่รายใหม่แม้ไม่มีสิทธิ์ผูกขาดเป็นผู้รับใบอนุญาติ แต่ว่าเป็นเจ้าของโครงข่ายได้ แล้วถ้าเกิดเข้าสู่ตลาด เป็นระยะเวลายาว อันนี้อาจจะต้องเปรียบเทียบกันนิดนึง

อีกอันที่อาจารย์สมเกียรติแย้งก็คือ ที่ผมบอกว่า ไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาดเลย ที่จริงมีบริษัทหนึ่งคือไทยโมบาย อาจารย์สมเกียรติบอกว่าผมผิด 2 อัน ทั้งประเด็น ข้อเท็จจริงและตรรกะ ผมอธิบายได้ว่า ไทยโมบายไม่ใช่รายใหม่แท้จริงครับ คือ ไทยโมบายเป็นกิจการร่วมค้าที่เกิดขึ้นจากทีโอทีกับกสท. โทรคมนาคมตั้งขึ้นมาให้ทำ อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ตอนนี้เลิกไปแล้ว แล้วไทยโมบายก็ไม่ได้ใบอนุญาตินะครับเพราะว่าใช้สิทธ์ ของทีโอที กสท. นี่แหละทำ เขาจึงไม่ใช่รายใหม่

รายใหม่จริงๆ ไม่มี แล้วไทยโมบายเข้ามาในตลาด ได้เปรียบ คลื่นคุณก็ไม่ต้องจ่าย คือมันเป็นหน่วยที่ 2 องค์กรนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อทำ ฉะนั้นไม่ใช่รายใหม่ แบรนด์อาจจะดูใหม่ แต่ไม่ใช่รายใหม่ในความหมายที่เราพูดกัน ว่าคุณเข้ามา แล้วไปอนุญาติเข้ามา เอาเงินลงทุนเข้ามาลงทุนรายใหม่ ไม่ใช่ แต่วันนี้ไทยโมบายเลิกไปแล้ว ก็เลยมีคนบอกว่านี่ไงเป็นเพราะภาษีสรรพสามิต 10 % ผมบอกว่าไม่ใช่ ไปสรุปแบบนั้นไม่ได้ ไปดูสิครับว่าทำไม ไทยโมบายถึงเลิก

ฉะนั้น อย่าไปสมมุติว่าอันนี้เป็นเพราะ 10 % แล้วอีกอย่างก็คือ อาจจะตลกมากเหมือนกัน ถ้าเกิดจะบอกว่า ไทยโมบาย เป็นกิจการร่วมค้าของทีโอทีกับกสท ซึ่งทีโอที กับ กสท. กระทรวงการคลังถือหุ้น 100 % แล้วมันจะกีดกันยังไง คือตัวรัฐกีดกันไทยโมบาย ซึ่งที่สุดจ่ายไป 10 % เข้าไปก็ไปเข้าตัวเอง ก็ส่งกลับมาได้ คงพูดยากมั้งง ฉะนั้น 10% ไม่น่าจะเป็นประเด็น เพราะกระทรวงการคลังกีดกันตัวเองไม่ได้

ส่วนที่บอกว่า ไม่เห็นว่ามีรายใหม่เข้ามา ไม่ได้แปลว่ารายใหม่ยื่นความประสงค์เข้าตลาด อันนี้ ผมคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดทางตรรกะไม่ได้ เพราะว่าปกติในทางธุรกิจ ถ้ามันมีประเด็น มีคนมุ่งประสงค์ ต้องการธุรกิจอย่างนี้จริงๆ มันต้องแสดงตัวว่า เขามีความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่ตลาดนะ แล้วก็ตอนนี้ภาษี 10 % มันเป็นอุปสรรค ทำให้เขาเข้าสู่ตลาดไม่ได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมามันไม่มี มันไม่เห็นความประสงค์ของคน ที่จะเข้าประกอบการ คือ บางทีอาจจะพูดได้ว่ามีคนอยากเข้าสู่ตลาด ผมถามว่าใครล่ะ

ประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งที่ถามว่า แล้วจะเข้าสู่ตลาดเข้าได้มั๊ย ผมจะบอกว่ามันมีปัญหาทางเทคนิคเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องคลื่น ในคลื่น 2 จี ที่ใช้ย่านความถี่ เป็นคลื่น 2 จี มันถูกใช้ไปหมดแล้ว มันมีคลื่นที่เรียกว่าคลื่นฟันหลออยู่ อาจจะเป็นบางช่วง มันใช้การไม่ได้

โดยสภาพ ถ้าออกใบอนุญาติให้กับรายใหม่ มันต้องเรียกคลื่นกลับมาทั้งหมด แล้วมาจัดสรรใหม่ ซึ่งมันจะยุ่งยากมาก เพราะไปกระทบกับสัญญาสัมปทาน ฉะนั้น ประเด็นเรื่องคลื่นก็เป็นปัญหาทางเทคนิกอีกอันหนึ่ง ฉะนั้น การที่ไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด มันด้วยเหตุปัจจัยอย่างอื่น

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นักวิชาการชี้ “ตู้เอทีเอ็มบริการภาษาพม่า” เรื่องปกติทางการตลาด

จวกสื่อเล่นข่าวกับอคติ “พม่ายึดเมือง” ระบุในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก การให้บริการตามความต้องการใช้เป็นเรื่องปกติ เผยโรงพยาบาลเอกชนจ้างล่ามแปลภาษา สร้างรายได้มหาศาลจากลูกค้าแรงงานข้ามชาติกลุ่มใหญ่

นายองค์ บรรจุน นักวิชาการอิสระที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับชาวมอญจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวให้สัมภาษณ์กรณีรายงานข่าวเรื่องตู้เอทีเอ็มให้บริการภาษาพม่าในพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาครว่า การพาดหัวข่าวดังกล่าวเป็นการแสดงถึงอคติของสื่อที่เลือกเล่นประเด็นนี้ โดยเอาไปผูกพันกับประวัติศาสตร์ว่าเขาเคยเผาบ้านเผาเมือง วันนี้ก็จะมีการมา “ยึดเมืองมหาชัย” อีกแล้ว ทั้งที่ความจริงกรณีแรงงานพม่าในมหาชัยมีการนำเสนอข่าวกันมาค่อนข้างมากแล้ว และหากไปดูในย่านเยาวราช พัฒน์พงศ์ก็จะเห็นว่าจะมีภาษาจีน ภาษาเกาหลีอยู่ทั่วไป ซึ่งหากไม่มีอคติเราก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

การปฏิรูปสื่อที่พูดกันในปัจจุบันควรพูดถึงเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะการทำร้ายคนไม่มีอำนาจ ถือเป็นการเปิดใจกว้าง ดีกว่าปิดกั้นเขาโดยอคติ

นายองค์กล่าวด้วยว่า ความจริงการอยู่ในมหาชัยของแรงงานพม่าไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่อาจดูน่าหมั่นไส้สำหรับคนบางคนมากกว่า เพราะอาจมีคนเห็นว่าไม่ใช้บ้านเมืองคุณ แต่กลับมีการแต่ตัวแบบพม่า ใช้ภาษาพม่าในพื้นที่นี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาแรงงานพม่าที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็มีความหวาดกลัวทั้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าของกิจการผู้มีอิทธิพลที่มาข่มขู่และข่มเหงรังแก กรณีของการกดขี่แรงงาน ยึดบัตรเพื่อไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งในปัจจุบันแม้เรื่องเหล่านี้จะดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

ส่วนเรื่องตู้เอทีเอ็มที่มีภาษาพม่านั้นเขาแสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) ตลาดเป็นอย่างไรก็มีการตอบสนองอย่างนั้น เมื่อพื้นที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทั้งพ่อค้าและแรงงานต่างไม่มีใครผิด กลับกับเรื่องนี้เป็นการลดอุปสรรค์ด้านภาษา แก้บัญหาการป้อนข้อมูลผิดพลาดทำให้บัตรเอทีเอ็มถูกยึดซึ่งจะนำไปสู่ความยุ่งยากในกระบวนการของตำรวจและเจ้าหน้าที่ธนาคาร นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงาน เรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์กับทกฝ่าย

“เป็นปกติของการทำธุรกิจ มีตลาดก็ต้องลงมาเก็บตลาด” นายองค์กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนการรักษาพยาบาลจากอดีตที่แรงงานข้ามชาติจะประสบปัญหาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากอุปสรรค์เรื่องการสื่อสาร ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้มีการจ้างล่ามทั้งภาษาพม่า มอญ ไทยใหญ่ และอังกฤษมาช่วยในการสื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้กลุ่มแรงงานเหล่านี้ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ ทำให้สามารถสร้างรายได้มหาศาล ในปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐก็มีการปรับตัวโดยมีการจ้างล่าม ติดตัวอักษรภาษาพม่าบนเคาน์เตอร์ มีคู่มือภาษาพม่า อีกทั้งมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงชุมชนเพื่อให้ข้อมูลการรักษาพยาบาล ทำให้การรักษาดีขึ้นแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด

นายองค์ยกตัวอย่างต่อมาถึงการให้บริการโหลดเพลงรอสายและริงโทนเพลงภาษาพม่าของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ต่างๆ ซึ่งกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ในตลาดใหม่ซึ่งผู่ให้บริการต่างต้องการเก็บส่วนแบ่งทางการตลาด ส่วนตัวคิดว่าเรื่องเหล่านี้ถือเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆของกลุ่มแรงงาน อีกทั้งการเพิ่มภาษาตรงนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานได้เต็มที่มากขึ้นด้วย


ที่มา.ประชาไท
------------------------------------------------------------------------

ชาตินิยมไทยยุคใหม่

โดย : ทศพร โชคชัยผล

การปลุกกระแสชาตินิยมในสังคมไทยยุคใหม่ เป็น"ชาตินิยมโลกาภิวัฒน์" ตั้งแต่ขบวนการต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ จนถึงกรณีเขาพระวิหาร

นักวิชาการบางท่านเตือนว่าการปลุกกระแสชาตินิยม จากกรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหาร จะนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาอย่าง"ร้าวลึก" และหากความขัดแย้งยังดำรงต่อไป ก็ยิ่งยากมากขึ้นในการ"เยียวยา"ความรู้สึกแบบเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

อันที่จริง นักชาตินิยมที่ปลุกกระแสประเด็นเขาพระวิหาร ก็ไม่ได้กังวลนักกับความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชา ที่เรียกติดปากว่า"เขมร" เพราะพวกเขาไม่ได้มองคนเขมรอยู่ในสายตาอยู่แล้ว อย่างน้อยพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสำนึกประวัติศาสตร์แบบ"ไทยๆ"ที่มักมองเพื่อนบ้านตัวเองมีสถานะต่ำต้อยกว่า โดยเฉพาะกัมพูชาด้วยแล้ว พวกเขามักจะมองว่าเป็นประเทศที่ไว้ใจไม่ได้ มีประวัติศาสตร์ตามสำนึกของคนไทยว่าเป็น"จอมหักหลัง"

บางคนคลั่งชาติมากหน่อย ถึงขนาดต้องการให้กองทัพไทยบุกยึดเขาพระวิหารเสียเลยให้สิ้นเรื่องสิ้นราว

ไม่ว่าประเด็นเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหารจะลงเอยอย่างไร แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ "กระแสชาตินิยมยุคใหม่"ของคนไทยที่เกิดขึ้นในช่วง 5-10 ที่ผ่านมา มีปัจจัยหลายประการที่มีความแตกต่างจากชาตินิยมยุคเก่า เช่น ยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่บรรดานักประวัติศาสตร์จะหยิบเป็นตัวอย่างอันน่ารังเกียจเสมอเมื่อกล่าวถึงอันตรายของชาตินิยม รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า "มรดกจอมพล ป."

"ชาตินิยมยุคใหม่"ในที่นี้ หมายถึงปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของผู้คนที่หยิบเอาประเด็นความเป็น"ชาติ"ของคนไทย ขึ้นมาใช้ในยุคใหม่ และยุคใหม่ที่กล่าวในที่นี้ หมายถึงยุคที่สังคมไทยเผชิญกับ"โลกาภิวัตน์"ในยุคของทุนสื่อสารและการเงินในระดับโลก ซึ่งเป็นลักษณะ"โลกาภิวัฒน์"ในยุคหลัง ที่เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนและข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากการปฏิวัติเทคโนโลยี"ข้อมูลข่าวสาร"ครั้งสำคัญ

กระแสชาตินิยมในยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ขอตั้งเป็นข้อสังเกต ดังนี้

1. กระแสชาตินิยมในสังคมไทยขณะนี้ บางคนว่าเป็น"พวกเสื้อเหลือง" แต่เราก็พบเห็น"เสื้อแดง"เขาเอามาเคลื่อนไหวเช่นกัน แต่ความรู้สึกชาตินิยมที่เกิดขึ้นในกรณีเขาพระวิหาร ถือเป็น"ความต่อเนื่อง"ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขบวนการเสื้อเหลืองที่ต่อต้านรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และประเด็นเขาพระวิหารก็ถกหยิบยกมาใช้เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาโจมตีว่า"ขายชาติ"

2. "ชาตินิยม"ในขบวนการเสื้อเหลือง(ล่าสุดเป็นพรรคการเมืองใหม่)มีแง่มุมที่น่าสนใจ คือ ไม่ได้มีการรื้อฟื้น"วัฒนธรรมแห่งชาติ" หรือ การกลับมาไปหาอดีตของชาติ แต่เป็นเรื่อง"ประโยชน์"ที่จับต้องได้ ดังนั้นคนที่ถูกกล่าวหาว่า"ขายชาติ" "ไม่รักชาติ" มักจะเป็นคนที่ทำธุรกิจหรือมีความเกี่ยวพันเชิงธุรกิจกับบริษัทข้ามชาติ (แต่ไม่ใช่ทุกกรณี) ซึ่งกระแสชาตินิยมนับตั้งแต่ขบวนการเสื้อเหลืองเป็นต้นมา เป็นเรื่องของ"ผลประโยชน์ของชาติ"

เรามักจะได้ยินคำว่า"ผลประโยชน์ของชาติ"มากกว่าเรื่อง"ชนชาติ" "เชื้อชาติ"

3. ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ชาตินิยมในขบวนการเสื้อเหลืองที่เกี่ยวกับเรื่อง"ผลประโยชน์ของชาติ" เนื่องจากคนที่ถูกจัดกลุ่มว่าเป็นเสื้อเหลืองตามผลวิจัยต่างๆที่ออกมา ระบุว่าเป็นคนระดับล่างปานกลาง-สูง ในแง่ของรายได้ทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความ"ไว"ต่อเหตุการณ์และข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นกระแสพัฒนาของกระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นอย่าง"รวดเร็ว"ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับคนกลุ่มนี้ (ซึ่งกระทบถึงคนระดับล่างด้วย)

มีคำหนึ่งในการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองตั้งแต่เริ่มต้นและ"จับใจ"กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมคือ "เราต่อสู้เพื่อลูกหลาน เพื่อให้มีที่ยืน" ซึ่งเป็นคำที่เปรียบเทียบกับคนที่กำลังต่อสู้ด้วยในขณะนี้ว่า"ขายชาติ" "ไม่รักชาติ" และขบวนการของคนกลุ่มนี้ทำให้เกิด"ชาตินิยมใหม่" ที่ชูประเด็น"ผลประโยชน์ของชาติ"

4. ขบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศมีหลายระดับ และมีปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคม ในครั้งหนึ่ง สังคมไทยเผชิญกับภัยคุกคามจากต่างชาติ และต้องการสร้าง"ชาติ"ให้ทัดเทียมอารยประเทศ อย่างเช่นสมัยจอมพล ป. แต่ในสมัยใหม่ มีการเคลื่อนไหวโดยใช้"อัตลักษณ์" หรือศาสนา

แต่กรณีของไทยสมัยใหม่ ปัจจัยที่ผลักดันมาจากกระบวนการโลกาภิวัฒน์ ที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในดินแดน จึงมีการหยิบเอา"ผลประโยชน์ของชาติ"ขึ้นมาต่อสู้ แม้แต่กรณีของเขาพระวิหาร ก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติเป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องเสียดินแดนเป็น"ประเด็นรอง"ที่มาสนับสนุนประเด็นแรก

เราจะเห็นว่าการโต้แย้งประเด็นเขาพระวิหาร ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง"ผลประโยชน์ของชาติ" จึงมีข้อเสนอของนักชาตินิยมไทยว่า"ต้องพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน" บางคนคิดไปไกลเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับเรื่องแหล่งก๊าซ-น้ำมันในอ่าวไทย

ที่กล่าวมานี้ เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับขบวนการชาตินิยม"ใหม่"ที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทย เป็นชาตินิยมแบบ"ทางโลก" ที่มุ่งไปที่"ผลประโยชน์"เป็นเรื่องหลัก เนื่องจากเป็นชาตินิยมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ถือว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างมาก และไม่ใช่แค่"เกมการเมือง"ของกลุ่มการเมืองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความคิดความรู้สึกของคนที่ร่วมขบวนการจริงๆด้วย

แน่นอนว่าผลประโยชน์ของชาติเป็นเรื่องสำคัญและต้องเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ที่กำลังเป็นห่วงก็คือกระแสชาติเหมือน"ดาบสองคม" ด้านหนึ่ง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนและสร้างพลังในการผลักดันร่วมกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด แต่อีกด้านหนึ่งก็น่ากังวลไม่น้อย เพราะชาตินิยมทุกประเภท มักมี"อารมณ์ความรู้สึก" อยู่เหนือ"เหตุผล" ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่ากลัว

หวังว่า"ชาตินิยมใหม่"ของคนไทยที่กำลังเกิดขึ้น จะเป็นพลังด้านบวกและเป็นชาตินิยมอย่างมี"เหตุผล" เพื่อสร้างสังคมที่ดีร่วมกัน

“ฮุนเซน” ท้าไทยใช้ทหารขับไล่เขมรพ้นพื้นที่พิพาท

สื่อกัมพูชารายงานว่า สมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ปราศรัย ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ได้มีการหารือกับผู้ประท้วง ให้มีการยกเลิกเอ็มโอยู ปี 2543 หลังเกิดข้อพิพาททางชายแดน โดยท้าทายให้ฝ่ายไทย ใช้กำลังทหารเข้าขับไล่ชาวกัมพูชาในพื้นที่พิพาททางชายแดนแต่หากมีการใช้กำลังทหารจริง ทางการกัมพูชาก็จะต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่ และจะไม่ยอมให้ใครรุกรานอย่างแน่นอน โดยเปรียบเปรยว่า แม้กัมพูชาเป็นประเทศ เล็กเหมือนมดแดง แต่ก็จะทำให้ช้างอย่างไทยอยู่ไม่เป็นสุข

ทั้งนี้ ผู้นำกัมพูชา ยังเรียกร้องให้นานาชาติเขามาช่วยแก้ปัญหา เพราะการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะ กลุ่มอาเซียน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และ การประชุมของ 19 ประเทศ ภาคีสนธิสัญญาสันติภาพ กรุงปารีสว่าด้วยกัมพูชา ซึ่งไทยกับเวียดนามร่วมเป็นภาคีอยู่ด้วย

************************************************************************

ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล มองจีนแล้วเหลียวดูไทย

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชี่ยวชาญเรื่องประเทศจีนเป็นอย่างดี และยังมีคอนเนกชั่นอย่างดีกับนักธุรกิจจีน รวมถึงคนในรัฐบาลจีน เป็นรัฐมนตรีที่เดินทางไปปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ บ่อยครั้ง

ล่าสุด ดร. วีระชัย ได้รับเกียรติให้เดินทางมาบรรยายเรื่อง "Asian Century (จีน)" บนเวที โครงการอบรม "ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง"

นี่คือ เรื่องเล่าสนุก ๆ แต่แฝงไว้ด้วยสาระและความรู้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้นำจีน จากรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ ประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงผู้นำของจีนจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่จีนสร้างประเทศใหม่มีความน่าสนใจมาก ผู้นำรุ่นแรกของจีนซึ่งนำโดย "เหมา เจ๋อตุง" และ "โจวเอินไหล" เจเนอเรชั่นนี้ทั้งเจเนอเรชั่น มาจากนักปฏิวัติ งานที่เขาให้ความสำคัญคือเรื่อง "งานการเมือง และเรื่องการปฏิวัติ" หรือแปลจากภาษาจีนว่า "ปฏิวัติตลอดไป" คือ พูดเน้นในเรื่องการปฏิวัติตลอดเวลา

สิ่งที่น่าสนใจคือ ก่อนที่ "เหมา เจ๋อตุง" จะเสียชีวิต เขาได้วางอำนาจผู้นำในการสืบทอดของเขา แต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาคิด คนแรกสุดที่ได้รับการวางตัวไว้ที่จะเป็นผู้นำในการสืบทอดอำนาจของเขาก็คือท่าน "หลิวเซ่าฉี" คนนี้เป็นคนที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่คำพูดหนึ่งที่เขาพูดเอาไว้ก่อนตาย เป็นภาษาจีน ตีความหมายได้ว่า "ในประวัติศาสตร์ผมจะดีหรือไม่ดี" ในอนาคตให้พี่น้องประชาชนมาเขียน เพราะว่าสิ่งที่พวกคุณทำกับผมไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมเลย แต่สุดท้ายท่านก็เสียชีวิตโดยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

คนที่สองคือ "หลินเปียว" เขาตายในการปฏิวัติวัฒนธรรม ส่วนคนสุดท้ายที่เหมา เจ๋อตุง เลือกขึ้นมา คือ "หัว กั๊วเฟิง" แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามที่ เหมา เจ๋อตุง ได้วางแผนเอาไว้ เพราะหัว กั๊วเฟิง ก็ไม่เข้มแข็งพอ ที่จะนำประเทศจีนต่อไป

หลังจากนั้น "เติ้ง เสี่ยวผิง" ก็ขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 2 ท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง ถึงแม้จะเป็นผู้นำที่มาจากการปฏิวัติ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เขาทำไม่ได้เน้นแค่เรื่องการปฏิวัติหรือเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว สิ่งที่คนจดจำ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้มากที่สุด คือ นโยบายการเปิดประเทศจีนสู่โลกภายนอก

นอกจากนี้ สิ่งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ทำไว้ในฐานะผู้นำก็คือ การวางฐานอำนาจ หาผู้นำในการสืบทอดอำนาจของเขาต่อไปในอนาคต เพราะเขาเห็นในช่วงชีวิตเขาว่า หลังจาก เหมา เจ๋อตุง เสียชีวิต ประเทศจีนมีการต่อสู้กันอย่างมากมาย จนก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

ฉะนั้น สิ่งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ทำมันยิ่งใหญ่มาก เขาวางฐานอำนาจเลยว่า เขาวางผู้นำรุ่นที่ 3 ซึ่งก็คือ "เจียง เจ๋อหมิน" และยังวางไปถึงผู้นำรุ่นที่ 4 ซึ่งก็คือ "หู จินเถา" ผู้นำจีนคนปัจจุบัน

เติ้ง เสี่ยวผิง วางรูปแบบในการสืบทอดผู้นำเป็นระบบการนำของพรรค โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ เจียง เจ๋อหมิน "หลี่ เผิง" และ "จูหลงจี" แล้วสิ่งที่เติ้ง เสี่ยวผิง ทำอีกอันหนึ่งแล้วมีคุโณปการมาก ก็คือ เขาตัดสินใจเลือกกลุ่มคนพวกนี้ขึ้นมาเป็นผู้นำ กลุ่มที่อาจจะมีปัญหา เติ้ง เสี่ยวผิง จะต้องให้เกษียณ ไม่ใช่ว่าเขาทำอะไรผิดนะ มีบทบาทสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศจีน แต่วันนี้ เติ้ง เสี่ยวผิง ตัดสินใจแล้วว่าให้กลุ่มนี้ขึ้นมานำ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ ต้องถอย ถ้ายังมีรุ่นผู้นำในการปฏิวัตินั่งอยู่ ในคณะกรรมการกรมการเมือง ผู้นำรุ่นที่ 3 อย่าง เจียง เจ๋อหมิน ก็คงจะทำงานลำบาก ฉะนั้น ผู้นำในการปฏิวัติ จึงเปิดทางให้ เจียง เจ๋อหมิน หลี่ เผิง และ จูหลงจี ขึ้นมาบริหารประเทศ

สิ่งที่ผู้นำรุ่นที่ 3 ทำส่วนใหญ่ ที่เราจดจำกันได้ก็คือการสร้างอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และการสร้างเมืองใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง แล้วสิ่งที่
เติ้ง เสี่ยวผิง ทำอีกก็คือ วางผู้นำรุ่นที่ 4 ไว้เลย ให้คนเห็นเลยว่า พวกนี้ รุ่นนี้ จะเป็นแกนนำ รุ่นที่ 4 ซึ่งก็คือรุ่นปัจจุบัน นำโดยท่าน "หู จินเทา" และ "เวิน เจียเป่า" สิ่งที่ผู้นำจีนทำตอนนี้ก็คือ เขากำลังพยายามลดเรื่องช่องว่างของความร่ำรวย ความเจริญ ระหว่างเมืองที่ค่อนข้างเจริญแล้ว กับเมืองที่ยังยากจน

สำหรับแกนนำพรรครุ่นที่ 5 ซึ่งจะเป็นรุ่นต่อไป ที่จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ก็มีการวางตัวไว้เรียบร้อย คาดว่าจะนำโดยท่าน "สี จิ้นผิง" และท่าน "หลี่ เค่อเฉียง"

ผมเชื่อว่า สิ่งที่จีนจะเน้นต่อไปของผู้นำรุ่นนี้ก็คือ เรื่องเทคโนโลยี และตอนนี้เริ่มมีการมองกันแล้วว่า ผู้นำรุ่นที่ 6 น่าจะมีใครขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ผู้นำจีนแต่ละยุคแต่ละสมัย มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง การวางตัวผู้นำมีความสำคัญอย่างมาก จึงขอฝากไว้ว่า ท่านที่จะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในวันนี้และต่อไปในวันข้างหน้า ผมคิดว่ามีความสำคัญ ต้องวางแผนไว้ในระยะยาว

เมื่อกลับมามองไทย เราคงมองจีนได้ แต่จะทำแบบเขาทั้งหมดคงไม่ได้ แต่ถามว่าประเทศไทย ควรจะ engage ประเทศจีนต่อไปอย่างไรในอนาคต เพราะปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีการส่งออกมากที่สุดในโลก เป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

ฉะนั้น วันนี้ต้องถือว่า จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว แต่เราชอบพูดกันเสมอว่า ไทยจีนพี่น้องกัน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ 50: 50 แต่วันนี้ต้องกลับมาดูว่า มันเป็นอย่างที่เราพูดกันจริงหรือเปล่า

ไทยจีนพี่น้องกัน แน่นอนว่าเป็นอยู่ มีความสัมพันธ์อันดี เพียงแต่เวลาจะมาร่วมมือกัน เราต้องยอมรับก่อนว่าปัจจุบันจีน มีฐานะไม่เหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนแล้ว ผมไม่ได้บอกว่าเขาใหญ่กว่าหรือเล็กกว่า หรือเราใหญ่กว่าหรือเล็กกว่า แต่เราจะ engage จีนยังไง นั่นต่างหากที่สำคัญ

ผมจะไม่ตอบว่า เราจะต้องทำตัวเราให้เป็นจุดเด่นของอาเซียน ให้ประเทศจีนใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน ผมจะไม่ตอบในลักษณะที่บอกว่า เราจะทำตัวให้เป็นสะพานกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี แล้วเชื่อมไปถึง เอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ หรือ ศรีลังกา ถ้าตอบอย่างนี้ ผมว่าไปหาอ่านได้ในหนังสือ

แต่ผมจะตอบสั้นๆ ว่า ปัจจุบัน ในบทบาทที่เขาเปลี่ยนแปลงไปของจีน จนกลายเป็นมหาอำนาจ บางทีมันมีบางเรื่องที่เขาทำไม่ได้ หรือบางเรื่องเขาอยากทำ แต่ถามเราว่า คุณลองไปถามคนอื่นดูก่อนว่าเขาเอาด้วยหรือเปล่า ทำกันหรือเปล่า

ฉะนั้น ผมมองว่า เราจะทำอย่างไร ที่จะเล่นบทเป็นผู้รู้ใจจีน อันนี้สำคัญ มีแต่บวกกับบวก ถ้าจะถามว่า engage ยังไง เรื่องมันเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่คนจะพูดในประเด็นที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้วว่าเราต้องทำตัวเป็นจุดเด่นของอาเซียน แต่ผมถามกลับนิดเดียวว่า แล้วจีนจะคบกับสิงคโปร์โดยตรงไม่ได้เหรอ จีนจะคบกับอินโดนีเซียโดยตรงไม่ได้เหรอ

กระนั้นก็ตาม ผมเชื่อว่า จีนจะยังยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต

****************************************************************************

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กฤษฎีกาฟันธง"จารุวรรณ"พ้นผู้ว่าสตง.แล้ว คุณหญิงเป็ดเปิดใจครั้งแรก อ้างคำวินิจฉัยไร้ผลเป็นองค์กรอิสระ

ประชาชาติธุรกิจ

"จารุวรรณ"เปิดใจครั้งแรก อ้างเป็นองค์กรอิสระคำวินิจฉัยไร้ผล อ้าง "ดร.อมร จันทรสมบูรณ์" มาเองบอกให้อยู่ต่อ แต่"มีชัย ฤชุพันธุ์"ไม่ชอบหน้า ยันถอนเรื่องจากกฤษฎีกาแล้วแต่ถูกเมิน

กฤษฎีกาฟันธง"จารุวรรณ"พ้นผู้ว่าสตง.แล้วเหตุคปค.ให้อยู่ในตำแหน่งถึง30ก.ย.50

คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์วันที่ 10 สิงหาคมถึงผลการตีความคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเรื่องให้ตีความว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าสตง.ไปแล้ว เนื่องจากตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 29 ระบุว่า ให้ผู้ว่าสตง.ดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 30 ก.ย.2550 จากนั้น ให้มีการสรรหาใหม่ภายใน 90 วัน โดยในระหว่างการสรรหาผู้ว่าสตง.คนใหม่ ให้อยู่ในตำแหน่งพลางต่อไปได้ ดังนั้นคุณหญิงจารุวรรณจึงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างมากแค่ 90 วัน

เมื่อถามว่า แสดงว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากผู้ว่าสตง. และต้องออกจากสำนักงาน สตง.แล้วใช่หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า สตง.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีผลผูกพันเฉพาะส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ดังนั้นจะเชื่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของคุณหญิงจารุวรรณจะพิจารณาเอง อย่างไรก็ตาม หากคุณหญิงจารุวรรณยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป แล้วมีผู้นำเรื่องยื่นฟ้องศาล ก็จะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบ หากศาลเห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการกฤษฎีกา

เมื่อถามว่า ข้าราชการในสตง.จะต้องฟังใครระหว่างนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่าสตง. กับคุณหญิงจารุวรรณ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นไปแล้ว ทุกหน่วยก็จะรับฟัง ถ้าเป็นตนก็คงไม่ทำแล้ว เมื่อถามว่า หากคุณหญิงจารุวรรณยังอยู่ในตำแหน่งต่อ ข้าราชการในสตง.มีสิทธิฟ้องร้องไล่คุณหญิงจารุวรรณได้หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจข้าราชการ สตง.ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงหรือไม่ แต่รักษาการผู้ว่า สตง.สามารถฟ้องร้องได้ เพราะเกี่ยวพันกับปัญหาการใช้อำนาจทับซ้อนกัน

เมื่อถามว่า คำสั่งต่างๆที่คุณหญิงจารุวรรณลงนามในระหว่างรักษาการผู้ว่าฯสตง.ถือว่าเป็นโมฆะหรือไม่ คุณหญิงพรทิพย์ตอบว่า ตามพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งมีมาตราหนึ่งระบุว่า หากมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ สิ่งที่ลงนามปฏิบัติมาก็ถือว่ายังใช้ได้

"จารุวรรณ"เปิดใจครั้งแรก แจงคำวินิจฉัยไร้ผลอ้างเป็นองค์กรอิสระ

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์วันที่ 10 สิงหาคมผ่านรายการวิทยุ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" ซึ่งจัดรายการโดยนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ถึงการตีความการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าสตง. ว่า ในความรู้สึกที่เข้าใจว่าเราเกาะยึดตำแหน่ง แต่ไม่ใช่ คนวิจารณ์ไม่ได้เข้าใจกฎหมายให้ถ่องแท้ ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งหลาย จุดสำคัญอยู่ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) และประธานตัวผู้ว่าการเหมือนตัวขับเคลื่อน แต่นโยบายและวิธีการต้องมาจากคตง. ซึ่งตนเองถูกมอบหมายจากประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ฉบับที่29 ให้อยู่ตรงนั้น

"แต่พอบอกว่าแก่แล้วให้กลับบ้านไป 65แล้ว ก็เครียด เพราะเป็นเรื่องบ้านเมือง ไม่ใช่เราจะเอาให้ได้ ต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก ในเมื่อบอกว่า 65แล้วพ้นไม่พ้น ดิฉันก็สงสัยตัวเอง แต่บังเอิญมีน้องนักกฎหมายที่สตง. มาบอกว่าพี่ดูให้ดีพี่พ้นไม่พ้นนะ ตอนนั้นเก็บของเตรียมพร้อมแล้ว งานเลี้ยงต้องเปลี่ยนจากคำว่าอำลาอาลัยเป็นกตัญญูนุสรณ์ ก็บอกว่าวันนี้พี่ไม่รู้นะ พี่ต้องถามผู้รู้ให้ถ่องแท้ก่อน พี่ไม่ทำอะไรผิดๆ ก็ขอเวลาไปดู เผอิญท่านอ.อมร จันทรสมบูรณ์ (อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา) มาเองเลย นั่งรถมาบอกเลยว่าอย่าไปไหน ดูให้ดีก่อน ขณะนั้นกำลังเตรียมพร้อมเลี้ยงกันอยู่แล้วเลยต้องฉุกคิดขึ้นมา"

ผู้ว่า สตง. กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลเป็นอย่างนี้ ถ้าเรามองด้วยใจเป็นธรรม ไม่ใช่ใจอคติที่อยากให้ไป ในประกาศคปค. ฉบับที่ 12 เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2549 ที่ปฏิวัติ ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปพรางก่อน แล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549 เปลี่ยนเป็นประกาศฉบับที่ 29 เขาได้คำนึงเรื่องนี้แล้ว คือได้ศึกษาจนแน่ใจว่าเขาคำนึงถึงเรื่องนี้แล้ว เผอิญอยู่คนเดียว ถ้าเป็นหน่วยงานอื่น คนนี้ไปคนนี้อยู่ เผอิญของสตง.เนี่ย เป็นคนเดียวที่อยู่ทั้งผู้ว่าฯ ทั้งคตง.

"ที่กล่าวหาว่าใช้อำนาจเยอะแยะ แต่ทำไมไม่ดูบ้างว่ากินเงินเดือนตำแหน่งเดียว แต่ทำงานให้ตั้ง 8-9 ตำแหน่ง ไม่เอาอันที่เราเหนื่อยบ้างเลย ไม่ดูว่าเลิกงานดึก ตี1 ตี2 วันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องมาอยู่"

ประกาศคปค.29 บอกว่า ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ซี่งมีอยู่คนเดียว คือ ดิฉัน ให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และให้มีการสรรหาภายใน 90 วัน และวรรคสุดท้ายของประกาศนี้ ระบุว่า ในระหว่างที่ยังไม่มี ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ซึ่งก็คือตัวดิฉันเอง ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ก็เป็นอันที่วินิจฉัยชี้ขาดได้ โดยเฉพาะมาตรา 5 ของ กฎหมาย สตง. ให้อำนาจผู้รักษาการกฎหมาย คือ ประธานคตง. เพราะฉะนั้นดิฉันก็ต้องว่าที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่อยากเสี่ยงผิด

พอวินิจฉัยเสร็จ พอดีกับคณะที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภา ก็หยิบเรื่องนี้มาพิจารณา ก็ถามวุฒิสภา ก็ได้วินิจฉัยออกมาเป็นกระบวนการ เป็นข้อๆ ว่าอยู่ เมื่อต้องอยู่ก็อยู่ แต่เมื่อเธอต้องอยู่ แต่เธอไม่ทำงาน ก็คือเธอละเว้นการปฏิบัติ เขาต้องมาตีตายแน่เลย

มาถึงกรณีกฤษฎีกาซึ่งแปลกมากเลย ว่าเราได้ข้อยุติแล้ว ท่านไม่ต้องวินิจฉัยแล้ว แต่ทำไมท่านจะต้องวินิจฉัยให้ได้ก็ไม่รู้ เขาบอกว่าจะประชุมวันนี้ แต่มีคนมาเล่าให้ฟังว่า มีผลออกมาแล้ว โดยคนในสตง.ก็เอามาดูกันเวียนกันแล้ว แต่ขอคัดค้านคณะกรรมการกฤษฏีกาของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน

"ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ดิฉันเคารพนับถือ แต่บังเอิญด้วยอะไรไม่ทราบ ท่านไม่ค่อยชอบดิฉันเหลือเกิน ไม่ทราบ อาจไม่สวย อาจไม่ค่อยอ่อนน้อม ก็บอกตรงๆ ว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เราเป็นเด็กที่ไม่ค่อยรู้กฎหมาย แต่เราเก่งบัญชี เราต้องนับถือท่านไว้ ก็ได้ทำเรื่องขอถอนข้อหารือ เรียกว่าไม่ติดใจแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. แต่เข้าใจว่าคณะของอาจารย์มีชัยก็เดินหน้าต่อ"

ก็ถามว่าไปทางนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่าท่านส่งเรื่องนี้ไปให้ทางกฤษฎีกาหรือไม่ เพราะโดยระเบียบการรับคำหารือของคณะกรรมการกฤษฏีกา เรื่องขององค์กรอิสระจะทำไม่ได้เลย และเขาก็เคยตอบเรามาว่า ไม่รับวินิจฉัยเลย เมื่อปี 2548 ก็มีคตง.รักษาการคนหนึ่งส่งไปให้ท่านวินิจฉัย ท่านบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะ มีผู้รักษาการตามกฎหมายอยู่แล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่รับ แต่ต่อมามีกรณีเกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งท่านวินิจฉัยมา ทางเราก็ยังมีความรู้สึกจะถูกหรือไม่ เพราะท่านเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล การที่ท่านจะลงมาวินิจฉัยตรงนี้จะชอบหรือไม่

ถามนายกอร์ปศักดิ์ ก็บอกว่ารัฐบาลไม่ได้ส่งไป จนสุดท้ายไปเจอหนังสือฉบับหนึ่ง ลงนามโดยที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ชื่อ นายสมบัติ วัฒนพานิช แต่ถามไป 2 ประเด็น คือ 1.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยรับเรื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ความเห็นหรือไม่ 2.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะหารือข้อกฎหมายดังกล่าว จากสตง.โดยตรงได้หรือไม่ ทางกอร์ปศักดิ์ก็บอกว่า ไม่มีอะไร อย่างไรก็ตาม พี่ขอแจ้งยกเลิกการหารือทั้งหมด เพราะเราเป็นองค์กรอิสระ เราเป็นว่าสำนักงานกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของฝ่ายบริหาร และเราไม่เอาตัวนั้นมาเป็นที่ผูกมัด

"ถ้าวันนี้จะมีผลอย่างไร ก็จะถือว่าไม่มีผลพันกับเรา เช่นเดียวกับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายวุฒิฯ ก็ไม่ผูกพันกับเรา เพียงแต่ความเห็นทุกความเห็นเราก็ฟังไว้พิจารณา" คุณหญิงจารุวรรณว่า และกล่าวว่า ไม่ทราบว่าคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แต่ก็อยากให้ชัดเจน

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า เพราะเหตุใด นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการฯ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นเด็กสร้างของคุณหญิงจารุวรรณ ดูเหมือนจะรุกไล่คุณหญิงหนักเหลือเกิน คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวว่า "ก็ต้องกลับไปถามพระเจ้าว่า ทำไมพระองค์ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นให้ข้าพเจ้ายืนอยู่หน้าชะง่อนผาได้เป็นปีๆ โดยไม่รู้ตัว"

"ไม่ต้องการอะไรที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะให้ไป อย่างเดียวที่เทิดทูนอยู่เสมอ คือไปเอาพระบรมราชโองการมา แต่วันนี้ไม่กล้าเอ่ยถึง คือไปได้ เก็บของแล้วด้วย แต่ขอไปอย่างถูกต้อง แต่ดิฉันว่าประชาชนจะไม่เข้าใจตรงที่ว่าถ้าไม่มีคตง.อยู่ งานวันนี้หยุดหมดเลย เพราะคนที่รักษาการอยู่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจตรงนี้ เพราะฉะนั้นถามว่าจะให้อยู่ทำงานให้หรือจะให้ไป"

******************************************************************************

ผู้นำที่แท้

Tags: พญาไม้ทูเดย์พญาไม้

คัดมาจาก หนังสือของคุณ ประชา หุตานุวัตร...ที่เขียนถึง “ผู้นำที่แท้” อันถ่ายทอดมาจาก มรรควิธีของเล่าจื้อ..ที่ชี้นำการดำรงชีวิตเพื่อความสุขของผู้อื่น..

นักการเมืองนั้น ต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อความสุขของผู้อื่น แผ่นดินใดได้นักการเมือง..เช่นนี้..แผ่นดินนั้นถึงจะร่มเย็นเป็นสุข..และผู้ใดเล่า..ที่ได้ชือว่าเป็น "นักการเมือง"

ผู้ใดก็ตามที่..มีหน้าที่ต้องทำให้ผู้อื่นผู้ใดก็ตามที่มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ..ให้เป็นผู้ทำงานเพื่อประเทศ..เขาเหล่านั้นก็คือนักการเมือง..

นักการเมืองจะไม่สะสมมากมายเพื่อตนเอง..นักการเมืองอย่าง...เนรู แห่งอินเดีย..โฮจิมินห์..แห่ง เวียดนาม..

ผู้สถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกา อย่าง ยอร์ช วอชิงตัน...หรือ อับบราฮัม ลินคอล์น..เขาเหล่านั้นไม่เคยติดอันดับคนรวยเมื่อเขาล่วงลับไปแล้ว

ไม่มีใครขุดศพของเขาเหล่านั้นขึ้นมาประจาน..เขายิ่งใหญ่..และตายไปอย่างยิ่งใหญ่...ไม่มีใครย่ำเหยียบหรือนำเขาเหล่านั้นมาเปรียบเทียบ..ดังเช่นที่ เต๋าเต๊กเก็ง..พรรณนาไว้ว่า..

คำจริงไม่หวาน.. คำหวานไม่จริง
คนดีไม่มีปาก มีปากไม่ใช่คนดี
คนรู้ไม่ใช่คงแก่เรียน คงแก่เรียนไม่ใช่รู้
ผู้รู้แจ้งไม่สะสม ยิ่งทำเพื่อผู้อื่นยิ่งมีพอ
ยิ่งให้ผู้อื่นยิ่งมีมาก

หากมั่นใจจะทำงานเพื่อประเทศและประชาชนแล้ว..ต้องมั่นใจในตนเอง..ไม่ใช่พูดไปได้เรื่อยเปื่อยแต่หาความจริงไม่พบ..หรือพูดไปอย่างทำไปอีกอย่าง..ผู้นำเช่นนี้ ประชาชนจะรู้เช่นเห็นชาติ..จะว่ากล่าวสั่งสอนสิ่งใด ประชาชนก็จะไม่เชื่อฟัง..

ความจริงเป็นสิ่งที่จะปกปิดไว้ได้ก็เพียงชั่วครู่..

ดั่งความจริงที่ว่า...ระหว่างการชุมนุมในเรื่องเขาพระวิหาร..ที่ดูเหมือนจะเผชิญหน้ากันถึงขั้น..ระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมนั้น..

มันก็คือฉากละครที่ถูกสร้างขึ้นมา..เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศคู่กรณี..

ผู้นำที่แท้นั้น..เขาไม่เล่นละคร

*************************************************************************

ภาษาไทยดีเด่วันละคำประจำวันนี้ขอเสนอคำว่า..อภิสิทธัตถะ

นายอภิสิทธิ์ที่กำลังสร้างความปรองดอง มีปณิธานที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศให้ดีกว่า ถ้าทำได้ก็จะเป็นสัตอภิสิทธิ์คือเป็นคนดี และถ้าทำได้สำเร็จ คนเป็น “สัตบุรุษ” ซึ่งตรงตามภาษาบาลีก็จะเรียกว่า “สิทธัตถะ” ที่แปลว่าผู้สำเร็จความมุ่งหมาย ซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะกับพระพุทธเจ้าเท่า นั้นเรียกนายอภิสิทธิ์ว่าจาก “สัตอภิสิทธิ์” เป็น “อภิสิทธัตถะ” ขอเอาใจช่วยนายกฯด้วยความจริงใจ และมีคนไทยจำนวนมาก เอาใจช่วยนายกฯ แต่คนไม่ชอบ นายกฯก็มี ซึ่งเป็นธรรมชาติ เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้ายังมีคนไม่ชอบได้ แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เอาใจช่วยนายกฯ”

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) กล่าวยกย่องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการบรรยายหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง” เนื่องในการสัมมนากรรมการบริหารและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคม ที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งยังระบุว่าวิกฤตของประเทศไทยไม่รุนแรงเช่นในแอฟริกาใต้ที่รบกันเป็นสิบปี ฆ่าฟันจนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ในที่สุดก็เจรจาจนเกิดสันติภาพได้

ประณามย่ำยีพุทธศาสนา

การยกย่องดังกล่าวทำให้มีข้อความในสื่อออนไลน์ว่าการที่นายอภิสิทธ์ไม่ได้ออกมาปฏิเสธคำยกย่องเชิดชูของนายไพบูลย์เท่ากับเห็นดีเห็นชอบด้วย อยู่ในข่ายที่จะเหยียบย่ำและตีเสมอพระพุทธองค์ เช่นเดียวกับตัวแทนศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส นำโดย พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล กรรมการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ เข้ายื่นหนังสือของพระเทพดิลก ประธานกรรมการบริหารศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ประธานคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ออกแถลงการณ์ประณามพฤติกรรมของนายไพบูลย์ที่เอาพระนามเดิมของพระพุทธเจ้ามาใช้ ถือเป็นการจาบจ้วง ลบหลู่ เหยียดหยามพระบรมศาสดาของพุทธศาสนิกชน ซึ่งควรถูกประณามจากชาวพุทธทั่วประเทศและทั่วโลก เพราะถือว่าไม่ยกย่องแล้วยังมาเหยียบย่ำซ้ำเติม ทั้งให้นายไพบูลย์ออกมายอมรับผิดและขอโทษต่อพุทธศาสนิกชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และขอขมาต่อพระรัตนตรัยด้วย

ขณะที่พระพรหมโมลี กรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร กรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า แม้ผู้พูดไม่มีเจตนาลบหลู่หรือจาบจ้วงพระพุทธศาสนา แต่การเอาพระนามเดิมของพระพุทธองค์มาใช้เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาและยกย่องพระพุทธเจ้า อีกทั้งศาสนาเป็น 1 ใน 3 สถาบันหลัก จึงถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การพูดหรือกล่าวถึงจึงต้องระมัดระวัง อยู่ในกรอบความพอดี จะเปรียบเทียบกับบุคคลสำคัญของโลกก็ได้

อภิสิทธุลิมาร?

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เขียนทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นที่ยกย่องนายอภิสิทธิ์เป็น “อภิสิทธัตถะ” ว่าคำนี้ไม่ใช่สนธิระหว่างอภิสิทธิ์กับอัตถะ เพราะ ถ้าอย่างนั้นจะต้องมี “ย” มาแทนสระ “อิ”

“คนใช้คำนี้คงนึกถึงว่าเป็นอัตถะ คือประโยชน์ของคุณอภิสิทธิ์ แต่รีบสนธิกันแบบลวกๆไปหน่อย ดูตามหลักสมาสสนธิแล้วกลายเป็นอภิ+สิทธัตถะไป...พอเป็นอภิ+สิทธัตถะ เรื่องก็เลยยุ่งกันใหญ่ กลายเป็นยิ่งใหญ่กว่า เหนือกว่าสิทธัตถะ คนก็เลยวิจารณ์กันใหญ่”

นายจาตุรนต์ระบุว่า ความจริงถ้าจะสมาสหรือสนธิกันแบบ ลวกๆควรใช้คำว่า “อภิสิทธุลิมาร” หรือ “อภิสิทธคุลิมาร” น่าจะได้ใจความมากกว่า ตรงกว่า เพียงแต่ไม่ถูกหลักภาษา แต่ถ้าจะเรียกอย่างนั้นได้นายอภิสิทธิ์ต้องยอมรับเสียก่อนว่าทำให้คนตายไปมาก และต้องการจะลบล้างหรือชดเชยความผิดที่ทำไป จึงจะเรียกอย่างนั้นได้

“เมื่อใช้คำไหนก็มีปัญหาว่ายังไม่จริงทั้งนั้น ผมจึงเสนอต่อคุณไพบูลย์และพวกว่าควรเน้นที่การเกลี้ยกล่อมคุณอภิสิทธิ์ให้เห็นบาปบุญคุณโทษเสียก่อน...ถ้าคนบัญญัติศัพท์กล้าเอา คำ “อภิ+สิทธัตถะ” เพื่อให้พ้องกับเจ้าชายสิทธัตถะก็แสดงว่ามีปัญหาวิธีคิดอย่างมากแน่ๆ ผมพยายามอธิบายแง่ดีให้แล้ว”

ทำไม่สำเร็จยังเป็น “คนดี”

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ได้ออกมายืนยันว่าจงใจใช้คำว่า “สิทธัตถะ” แต่ได้อธิบายชัดเจนว่าหมายถึง “ผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว” ไม่ได้หมายถึงชื่อของพระพุทธเจ้า เป็นการเล่นคำว่านายอภิสิทธิ์น่ายกย่อง ฉลาด เหมือนสัตบุรุษ แต่ถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องการสร้างความปรองดอง การสร้างความสมานฉันท์ให้กับประเทศ ก็ไม่เรียกว่า “สิทธัตถะ” ที่เป็นภาษาบาลีแปลว่าผู้สำเร็จความมุ่งหมาย แต่หากทำสำเร็จจึงจะเรียกว่า “อภิสิทธัตถะ”

“เวลาที่ผมพูดก็อธิบายอย่างนี้ว่า “สิทธัตถะ” หมายถึงตามคำภาษาบาลี ให้นายกฯพยายามทำสิ่งที่มุ่งหมายเรื่องการปรองดอง ซึ่งเป็นชื่อของพระพุทธเจ้าด้วย แต่เวลาสื่อไปลงก็ลงไม่หมด ซึ่งชื่อคนก็มีความหมายต่างๆกันไป เป็นชื่อคนด้วย เป็นความหมายตามภาษาบาลีด้วย ผมบอกให้นายกฯทำให้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จก็เป็นได้แค่ “สัต” แค่เป็นคนดี ความหมายที่ผมพูดไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเลย แต่เป็นการใช้ความหมายในภาษาบาลี”

สังคมตอแหล-2 มาตรฐาน

ความจริงการยกย่องเชิดชูในสังคมไทยถือเป็นเรื่องปรกติที่ทำกันมากมาย แม้แต่นายอภิสิทธิ์ที่ถูกตั้งฉายาต่างๆหลังเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีคนตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 ราย ก็มีบรรดาพ่อยกแม่ยกออกมายกย่องเชิดชูต่างๆนานา และประณามคนเสื้อแดงและสนับสนุนให้คง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อไล่ล่าและกวาดล้างคนเสื้อแดงต่อไป

แต่กลับไม่มีคำ “ขอโทษ” จากนายอภิสิทธิ์กับการใช้วาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” ซึ่งประชาคมโลกต่างประณามว่าเป็นการสังหารโหดคนเสื้อแดงอย่างเลือดเย็น จนถึงวันนี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ยังพยายามสร้างความชอบธรรมด้วยการใช้วาทกรรมและสื่อต่างๆโฆษณาชวนเชื่อว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมือง และเป็นขบวนการล้มสถาบัน

แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน นอกจากการกล่าวหาและจับกุมแกนนำคนเสื้อแดง และคนบางคนที่ ศอฉ. และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อ้างว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นผู้ยิงปืนเอ็ม 79 และวางระเบิดในสถานที่ต่างๆ แต่กลับมีข่าวเรื่องการข่มขู่และสร้างหลักฐานต่างๆเพื่อให้ผู้ที่ถูกจับได้ยอมเป็นพยานตามที่ ศอฉ. และดีเอสไอแถลง

นอกจากนี้ดีเอสไอยังเร่งส่งฟ้องคดีแกนนำเสื้อแดง 26 คนที่ถูกจับกุมในขณะนี้ โดยยืนยันว่าการสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานของดีเอสไอมีความหนักแน่นเพียงพอในการส่งฟ้องได้ ขณะที่คนเสื้อแดงเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ ทั้งที่ยังไม่มีการสอบสวนพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอระบุว่ายังจำเป็นต้องสอบปากคำพยานอีกหลายสิบปาก

แต่คดีของคนเสื้อเหลืองที่ถูกข้อหาก่อการร้าย ยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ กลับยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆทั้งที่ผ่านมากว่า 1 ปี ขณะที่คดียึดทำเนียบรัฐบาลที่แกนนำเสื้อเหลืองถูกต้องข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองและยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อัยการฝ่ายคดีอาญาก็มีคำสั่งเลื่อนนัดคดี เนื่องจากพนักงานสอบสวนอ้างว่ายังสอบสวนพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมไว้ไม่แล้วเสร็จ

โจรในเครื่องแบบ?

ขณะที่นายธาริตกลับออกมาแถลงข่าวใหญ่โต โดยเอาจดหมายมาโชว์ว่าถูกข่มขู่เอาชีวิตเนื่องจากการทำคดีคนเสื้อแดงกว่า 200 คดี แต่ก็ถูกตั้งคำถามจากสังคมเช่นกันว่าทำ ไมจึงเพิ่งมีจดหมายขู่ในขณะนี้ ซึ่งภรรยานายธาริตกำลังถูกกล่าว หาเรื่องการเรียกสินบนจำนวน 150,000 บาท จาก “เฮียเม้ง” นายธีระชัย ธำรงค์พงศธร เจ้าของบริษัทมังกรเหินฟ้า เพื่อช่วยคดีภาษีย้อนหลัง

แม้นายธาริตและภรรยาจะปฏิเสธว่าเป็นการชำระค่าทนายความ ค่าวางแผนภาษี และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ไม่ใช่เงินสินบนตามที่กล่าวหาก็ตาม ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ย้อนข้อแก้ตัวของนายธาริต โดยทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายธาริตกรณีคู่สมรสได้รับเงินได้พึงประเมินจาก “ค่าบริการบางอย่าง” นั้นนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของนายธาริตหรือไม่

ประเด็นเงิน 150,000 บาท จึงไม่ใช่แค่เรื่องสินบนหรือการเสียภาษีของนายธาริตและภรรยาเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้สังคมตั้งคำถามถึงคนระดับอธิบดีดีเอสไอซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการยุติธรรมที่รับผิดชอบการสอบสวน กล่าวหาและจับกุมคนมากมายว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและอาชญากรร้ายแรง จะเป็นคนดี คนบริสุทธิ์ที่เหมาะสมกับหน้าที่หรือไม่ เหมือนกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมากมายที่กลายเป็น “โจรในเครื่องแบบ” หรือ “โจรใส่สูท”

แจกวีซีดีประณามเสื้อแดง

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ยืนยันความจำเป็นในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อขยายผลและจับกุมคนเสื้อแดงที่ต้องสงสัย ทั้งยังอ้างสำนักข่าวกรองแห่งชาติที่เตือนว่าจะเกิดเหตุคาร์บอมบ์และการก่อวินาศกรรมในย่านธุรกิจสำคัญ เช่น ถนนสีลม และถนนเยาวราช ประมาณต้นเดือนสิงหาคม

ขณะเดียวกันนายสุเทพยืนยันว่าจะแจกวีซีดีภาพเหตุการณ์ ชุมนุมทางการเมืองช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ ศอฉ. ทำขึ้นประมาณ 20 นาทีให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องความเป็นมาของเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยกล่าวถึงการเจรจากับคนเสื้อแดง และการตัดต่อภาพชายชุดดำในคนเสื้อแดงถืออาวุธไปมา ภาพชายชุดดำยิงทหารจากช่วงต่างๆของการชุมนุมว่าจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องดำเนินการใช้กำลังเข้าไปปฏิบัติการ ทั้งที่คณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา เห็นว่าไม่สมควรแจกจ่าย เพราะมีเนื้อหาข้อมูลด้านเดียว และจะยิ่งสร้างความเกลียดชังให้กับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะการจับชายชุดดำไม่กี่คน ซึ่ง ศอฉ. ก็ไม่สามารถให้ความชัดเจนได้ว่ามีผู้ก่อการร้ายเท่าไร ขณะที่ภาพของ ศอฉ. เองที่ประกอบไปด้วยทั้งนักการเมืองและกองทัพขณะนี้ก็มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เชื่อรัฐบาลและ ศอฉ.

ดังนั้น การแจกวีซีดีจึงไม่ใช่การชี้แจงความจริงให้ประชาชน แต่ลึกๆแล้วนายอภิสิทธิ์ ศอฉ. และกองทัพกลัวว่าประชาชนจะเชื่อข้อมูลและความจริงอีกด้านหนึ่ง ความจริงที่ไม่มีการตัดต่อ ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ที่นี่มีคนตาย” และความจริง ว่า “ที่นี่ 2 มาตรฐาน” ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาลและ ศอฉ. เท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์กรอิสระต่างๆที่จำเป็นต้องโละทิ้งทั้งหมด เพราะถูกครหาเรื่องความไม่โปร่งใสตั้งแตกระบวนการสรรหาผู้เข้ามาทำหน้าที่แล้ว

อำนาจ “โจราธิปัตย์”!

โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารซึ่งใช้อำนาจล้มล้างรัฐบาลจากประชาชนและฉีกรัฐธรรมนูญ แม้จะหมดอำนาจไปแล้วแต่กระบวนการยุติธรรมก็ยังยอมรับอำนาจนั้นว่าถูกต้องชอบธรรม จนมีปัญหามาถึงทุกวันนี้ เช่นกรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่อ้างประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 29 เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่อ ทั้งที่อายุครบ 65 ปี ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 34 (2) กำหนดว่าต้องพ้นจากตำแหน่ง

ขณะที่คุณหญิงจารุวรรณก็ถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงพฤติการณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งที่บางเรื่องผ่านมาเป็นแรมปีแล้วก็ตาม

นักวิชาการและตุลาการบางคนที่ยืดหยัดข้างประชาชนจึงไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร โดยถือเป็น “โจราธิปัตย์” ไม่ใช่ “รัฏฐาธิปัตย์” ที่ทำให้การเมืองไทยกว่า 76 ปีอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพ ขณะที่กองทัพก็ถูกนำไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยอมรับว่ากองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาล เพราะเป็นกลไกของรัฐ รัฐบาลไหนมาก็ต้องใช้กองทัพ กองทัพไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือเลือกข้าง สิ่งใดที่ทำแล้วไม่เกิดผลเสียหายกับประเทศ อยู่บนกรอบกฎหมายกองทัพก็ทำ

เชื้อร้ายกองทัพ!

แต่กองทัพในสายตาประชาชนส่วนใหญ่กลับต้องการให้เป็นกองทัพของประชาชนที่ทำหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคงอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่สนับสนุนโดยกองทัพเองจนแยกไม่ออกระหว่างผลประโยชน์ทางการเมือง กับผลประโยชน์ของคนในกองทัพ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการแต่งตั้งโยกย้ายทุกปี

หากผลประโยชน์ระหว่างการเมืองกับกองทัพลงตัวก็ไม่เกิดวิกฤตการเมือง แต่หากผลประโยชน์ปีใดไม่ลงตัวหรือขัดแย้งกันก็มักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือการปฏิวัติรัฐประหาร เหมือนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติอ้างว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุจริตคอร์รัปชันและจาบจ้วงสถาบัน แต่กระแสข่าวอีกด้านหนึ่งกลับยืนยันว่าเหตุผลใหญ่อยู่ที่นายทหารกลุ่มนี้ไม่พอใจการแต่งตั้งโยกย้าย จึงถือโอกาสร่วมมือกับกลุ่มการเมืองและผู้มีบารมีที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลทำการรัฐประหาร และทำให้เกิดวิกฤตการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้

ดังนั้น การที่กองทัพยังให้การสนับสนุนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็เพราะผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพลงตัว เหมือนการแต่งตั้งโยกย้ายปีนี้ที่ไม่มีปัญหา แม้แต่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของกองทัพหลาย เรื่องก็ค่อยๆเงียบหายไป ที่สำคัญคือรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นในค่ายทหาร เป็นรัฐบาลตามระบบรัฐสภา แต่ได้ผู้ที่แพ้การเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

บทบาทของกองทัพที่แท้จริงจึงไม่ได้เป็นกลไกของรัฐบาล แต่พร้อมจะอยู่ร่วมกับรัฐบาลที่ไม่ขัดผลประโยชน์กับกอง ทัพกองทัพจึงไม่ได้ฟังรัฐบาล ไม่ได้ฟังประชาชน แต่ฟังผู้มีอำนาจ ที่อยู่เหนือกองทัพ ซึ่งสังคมไทยรู้ดีแต่พูดและเขียนไม่ได้

ที่ผ่านมากว่า 76 ปี ไม่ว่านักวิชาการ นักการเมือง หรือองค์กรภาคประชาชน จึงเรียกร้องให้กองทัพอย่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะหากกองทัพยังมีบทบาทเหมือนที่ผ่านมาก็ยากที่จะไม่ให้กองทัพเข้ามามีอำนาจหรือยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ เพราะถ้ากองทัพยอมให้การเมืองดำเนินไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนตัดสินตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะได้รัฐบาลอย่างไร การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ไม่รุนแรงจนต้องเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันเองเหมือนที่ผ่านมา เพราะกองทัพต้องฟังคำสั่งรัฐบาล ส่วนรัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ถ้ารัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน ประชาชนก็จะไม่เลือก มาเป็นรัฐบาลในครั้งต่อไป ประชาชนจึงสำคัญที่สุดในแผ่นดิน

นายกฯ 100 ศพ?

วันนี้บ้านเมืองไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นการรัฐประหารเงียบ เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจอะไรได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ต้องฟังคนรอบข้างเท่านั้น แต่ยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพและรับใช้กลุ่มผู้มีอำนาจพิเศษอีกด้วย

อย่างที่นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) วิเคราะห์ว่านายอภิสิทธิ์รู้ดีว่าถ้าทหารไม่สนับสนุนก็อยู่ไม่ได้

“การตัดสินใจของคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่ที่ตัวแกคนเดียว อยู่ที่รอบข้างเต็มไปหมด ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ผมคิดว่าเป็นทางตันทางการเมือง ไอ้นายกฯ 100 ศพเนี่ย คุณจะลบมันออกไปได้อย่างไร ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ฉลาดพอก็ต้องทิ้งคุณอภิสิทธิ์ในสมัยหน้า ต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนอื่น”

นอกจากนี้นายนิธิยังชี้ว่าประเทศไทยขณะนี้เป็นรัฐประหารซ่อนรูปอยู่แล้ว แต่จะทำอะไรมากกว่านี้ก็ต้องระวังการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งชะตากรรมของนายอภิสิทธิ์ไม่มีความหมายเท่ากับบ้านเมืองที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าไม่สามารถเปิดพื้นที่การต่อรองในระดับใดๆโดยสงบได้เลย แม้นายอภิสิทธิ์จะตั้งคณะกรรมการต่างๆขึ้นมาก็ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมได้ เมื่อยังมีภาพ “นายกฯ 100 ศพ”

อภิสิทธัตถะ!

การที่นายไพบูลย์ยกย่องให้นายอภิสิทธิ์เป็น “อภิสิทธัตถะ” เพราะเป็นคนดี ฉลาด และพยายามสร้างความปรองดองสมานฉันท์ จึงไม่เพียงถูกพุทธศาสนิกชนรุมประณามที่เอาไปเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้าว่าไม่สมควรอย่างยิ่งเท่านั้น

แต่ในฐานะผู้นำประเทศ นายอภิสิทธิ์ก็ไม่อาจลบภาพ “นายกฯ 100 ศพ” ได้ หลังจากตัดสินใจให้ทหารเข้าปราบปรามคนเสื้อแดงจนทำให้เกิดการสังหารโหดอย่างเลือดเย็นเกือบ 100 ศพ แต่นายอภิสิทธิ์กลับไม่มีแม้แต่คำ “ขอโทษ”

นายอภิสิทธิ์จึงไม่สมควรได้รับการยกย่องใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกบุรุษ รัตนบุรุษ มหาบุรุษ หรือวีรบุรุษ ยกเว้นการได้รับรางวัลภาษาไทยดีเด่น ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่านายอภิสิทธิ์มีวาทกรรมยอดเยี่ยม โดยเฉพาะคำว่า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” เช่นเดียวกับผู้มอบรางวัลคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ที่แม้จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วแต่กลับเป็นข่าวดังหลายเดือนเพราะเขายายเที่ยง

สำหรับประเทศไทยวันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะสังคมไทยเพี้ยนไปหมดแล้ว แม้แต่ “ฆาตกร” ยังถูกยกย่องเป็น “พระอรหันต์” ทั้งที่ยังไล่ล่าและฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็น

กลับตัวสำนึกผิดเป็นแค่ “องคุลิมาล” ก็ถือว่ายิ่งใหญ่แล้ว อย่าอาจเอื้อมถึงขั้นเป็น “พระพุทธเจ้า” เลย

หรือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการชนะเลือกตั้งโดยประชาชนให้ได้เสียก่อนไม่ดีกว่าหรือ?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 271 วันที่ 7-13 สิงหาคม พ.ศ. 2553 หน้า 8 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แก้สมการ "ค่านิยม" ไทย ๆ "รายได้-รายจ่าย" = เงินออม "รายได้-เงินออม" = ค่าใช้จ่าย

ประชาชาติธุรกิจ

มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศที่มี นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน แม้นายอานันท์พูดติดตลกว่า คณะกรรมการ 2 ชุดนี้เหมือน "แฝดอิน-จัน" ก็ตาม

ความหมาย "แฝดอิน-จัน" คือ คณะกรรมการชุด "อานันท์" เป็นการคิดจากข้างบนว่าควรปฏิรูปอย่างไร ขณะที่คณะกรรมการชุด "ประเวศ" มาจากข้างล่าง เอามาประกบกัน

"เอ็นนู ซื่อสุวรรณ" รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้โดยบทบาทที่ผ่านมาของ "เอ็นนู" ได้ทำเรื่องปฏิรูปประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะ "คน ธ.ก.ส." ที่ต้องเข้าถึง เข้าใจและพัฒนา โดยลงพื้นที่รับรู้รับฟัง "เกษตรกร" มาตลอดชีวิตการทำงาน และเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึกของคนฐานราก

"เอ็นนู" มองว่าการปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้จะต้องก้าวข้ามประเด็น "การปรองดอง" โดยมองประเทศโดยรวมว่าเมืองไทยมีดีอะไร อะไรยังมีปัญหาและควรแก้อย่างไร ที่ดีอยู่แล้วทำให้ดีขึ้นได้ไหม นี่คือแนวคิดการปฏิรูป

พร้อมกับมองกลยุทธ์การขับเคลื่อนการปฏิรูปว่าต้องอาศัย 1.พลังความร่วมมือจากสื่อ ต่อให้คณะกรรมการคุยกันอย่างไร หากคนไม่ได้ยิน ก็ไม่สำเร็จ นักการเมืองก็ไม่ฟัง

2.การลงพื้นที่จริง ทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่น ชุมชน ให้เขาพูดกับเราได้ตรง เราเชื่อว่าสองเรื่องนี้น่าจะทำให้งานเดินหน้าได้ คือได้พบคนที่เดือดร้อนจริง และสื่อความว่ามีคนเดือดร้อนและเขาจะแก้แบบนี้ เห็นด้วยไหม...ไม่เห็นด้วยอย่างไร นี่คือหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูป

"เอ็นนู" เชื่อว่า สังคมที่เป็นธรรม ต้องมี 1.ทุกฝ่ายต้องให้เกียรติทุกคน และทุกคนเป็น "คนที่มีพลัง" บ้านเราจะต้องหาวิธีเปลี่ยน "ประชาชน" ให้เป็น "พลเมือง" "พลเมือง" แปลว่า "กำลังของเมือง" ณ วันนี้ปล่อยให้เป็นประชาชน มีหน้าที่เรียกร้องให้คนอื่นมาช่วยทั้งจากรัฐบาล ราชการ เพราะฉะนั้นเราต้องเชื่อก่อนว่า "คน" มีความสามารถ มีพลัง และให้คนเหล่านี้มีโอกาส ทำอาชีพของตัวเอง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงพลังตัวเองในการพัฒนาอาชีพ ครอบครัว

2.ปัจจัยพื้นฐาน คนที่เกิดมาเป็นคนไทย เขาต้องมีปัจจัย 4 ระดับพื้นฐาน เช่น มีที่ดิน หากเขาไม่มีที่ดินเขาจะรักษาแผ่นดินทำไม ถ้าหากเขาต้องไปรบแทนคนอื่นเพื่อแผ่นดินไทย โดยที่เขาเองยังไม่มีแผ่นดินเลย เขาจะรักษาไปเพื่อใคร เพราะฉะนั้นปัจจัยพื้นฐานนี่ช่วยให้เขามีโอกาส อันนี้สำคัญมาก ๆ

3.ระบบการตรวจสอบดูแลไม่ให้ "ใครเกินไป" ใช้อำนาจวาสนาเบียดบังคนอื่น เมื่อคุณรวบมาเยอะ ก็ไปเบียดคนอื่น ต้องไม่ยอมให้ใครสะสมแบบนี้

ถ้าถามว่าจะแก้อย่างไร "เอ็นนู" กล่าวว่าอาจจะยาก บ้านเมืองเราเดินแบบทุนนิยมมาไกลมาก และคนตัวใหญ่กินเยอะ ถ้าเป็นรถเมล์ก็เบียดคนอื่นไปกองที่ท้ายรถแล้ว ดังนั้นการแก้ต้องมาจาก ผู้ที่มีอำนาจต้องยอมรับก่อนว่า เรา "ไปไม่รอด" ถ้าสังคมยังปล่อยให้อยู่อย่างนี้ ต้องยอมสละสิ่งที่ตัวเองได้สิทธิเหนือคนอื่น ดังนั้นต้องแก้จากข้างบน ต้องยอมสละบางส่วน หรือ ยุติการกอบโกย แล้วต้องแบ่งปัน

"เรายังมีคนยังไม่ยอมพอ ยังพยายามใช้ทุกอย่างที่ตัวเอง ได้เปรียบ เราถูกฝรั่งกรอกหูมาว่า compettiveness เป็นคาถาสำคัญ เราจะต้องเอาชนะคนอื่น เราจะสร้างความได้เปรียบตรงไหนบ้าง ไม่เห็นมีข้อไหนที่พูดถึงการแบ่งปัน เขาไม่ได้สอน เขาเน้นการได้เปรียบ หากเรายังเชื่อทฤษฎีนี้ คุณก็มีปัญหานะ พิสูจน์แล้วระดับโลกที่เขามีปัญหา อย่าคิดว่าการสร้างกฎ กติกา มารยาท เรื่องความโปร่งใส ธรรมาภิบาล ซีเอสอาร์ แล้วจะทำให้คนเปลี่ยน แต่คนที่ออกกฎพวกนี้มาอย่างสหรัฐอเมริกา ล่มสลายกันหมด กลายเป็นโกงกันหมด กฎกติกามันไม่จริง ถ้าคุณ absolute power มันจะ absolute corruption"

พร้อมกับชี้แนะว่า "ผมอยู่ในภาคเกษตร ผมมองว่าบ้านเราไปเชื่อฝรั่ง คือ "คิดทำมาค้าขาย" แทน "คิดทำมาหากิน" เดิมเราคิดทำมาหากิน หากมีกินก็มีแรงไปประกอบอาชีพ ไปทำอย่างอื่น ทำให้เขาคิดว่าทำอย่างไรให้พออยู่พอกิน เหลือแล้วค่อยขาย แต่เราถูกสอนใหม่ว่าทำมาหากิน พออยู่พอกิน "ดี" แต่ "ไม่รวย" นะ หากอยากรวยต้องเปลี่ยนความคิด ต้องทำมาค้าขาย เพราะ ค้าขายเท่านั้นที่รวย เห็นไหมพ่อค้ารวยกันหมด ก็เลยเปลี่ยนวิถีคน ให้คนมาคิดว่าทำอะไรมา "ขาย" เราพบว่า ชาวนาจำนวนมาก ปลูกข้าวที่ตัวเองไม่กิน ปลูกไปขาย ได้เงินกลับไปซื้อข้าวมากิน มันผิด กลายเป็นชีวิตไปขึ้นกับคนอื่น"

ต้องคิดทำ"Local"ก่อนแทนที่จะทำเพื่อ"Global" ให้คนไทยมีกินมีใช้ก่อน ส่วนที่เหลือตั้งราคาได้ เพราะเรามีกินแล้ว หากให้ราคาแค่นี้เราไม่ขาย ถ้าหากผลิตมาเรายังไม่ได้กินแล้วเราต้องขาย จีดีพีของเราแทนที่ 70%ส่งออก กลับทางเป็น..กินใช้เอง 70% ส่งออก 30% ถ้าข้างนอกเป็นหวัด เราจะได้ไม่เป็นหวัด นี่คือภูมิคุ้มกัน แต่เราไม่สร้างเลย หรืออย่างเราขายข้าวโพด ราคาขึ้นกับราคาที่ ชิคาโก สหรัฐอเมริกา เพราะคิดทำเพื่อขายก็ขึ้นอยู่กับคนซื้อ เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยน ต้องกลับทาง แต่ค่อยๆพลิก โดยมี จุดมุ่งหมายที่ชัดเจน

"โดยเราต้องคิดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำถึงปลายน้ำ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ เพราะถ้าสู้กันเมื่อไหร่คนตัวเล็กตายก่อน ตัวใหญ่มักรวมกับตัวใหญ่ ต้องคิดให้ครบ"

"เอ็นนู" แนะว่า เราต้องก้าวข้ามปัญหาให้ได้ หากเราติดอยู่กับปัญหา มันจะวน เราต้องรู้ปัญหา วางปัญหาลง แล้วคิดดูว่าเรามีข้อดีอะไร ขยายความเข้มแข็งนั้นออกไป เพื่อทำให้เรื่องที่ไม่ดีมันเล็กลง ๆ จากประสบการณ์การทำงานที่ ธ.ก.ส. อย่าไปยึดติดกับปัญหา หยุด รู้แล้ววางลง ทำเรื่องที่ดีให้มันใหญ่ขึ้น ๆ

"วันนี้เราชอบแก้โดยย้ายปัญหาไปอยู่ที่อื่น สักพักมันจะวนกลับมา วิธีแก้ต้องทำปัญหาให้จาง หากสังเกตจะพบว่า พอมีปัญหาเราก็ให้นายกรัฐมนตรีแก้ รมต.แก้ ปลัดกระทรวงแก้...ผู้ใหญ่บ้านแก้ แต่ตัวเองไม่แก้ เพราะทุกคนไม่เชื่อในพลังของตัวเอง ทุกคนมีพลัง แต่จะมีมากน้อยแตกต่างกัน ทำไมไม่สร้างสิ่งเหล่านี้ ทำให้สิ่งที่ไม่ดีหรือปัญหามันจาง อย่าเรียกร้องจากคนอื่น เริ่มจากตัวเรา เช่น เรียกร้องวินัย แต่ไปเรียกร้องจากคนอื่น ไม่เรียกร้องจากตัวเอง เช่น โดนจับใบขับขี่ก็มองหาใครช่วยได้ เราต้องทำเรื่องพวกนี้ก่อน ต้องเข้มงวดตัวเอง ผ่อนปรนผู้อื่น อย่าไปฝันว่าโลกนี้จะมีนักการเมืองที่ดีที่สุด นายกฯที่ดีที่สุด เขามีจุดอ่อนอะไร เราจะช่วยอะไรได้ไหม เช่นเดียวกับงานในที่ทำงาน หากเราไปเสริมให้เข้มแข็งขึ้นได้ไหม"

ดังนั้นการที่เราเดินแนวทุนนิยมมาไกลมาก ทำให้เราไปเชื่อเรื่อง "เงิน" ทั้ง ๆ ที่ "เงิน" ควรเป็น "เครื่องมือ" ไม่ใช่ "เป้าหมาย" เงินทำให้สะดวก แต่เอาเครื่องมือมาเป็นเป้าหมาย ดังนั้นทำให้คนจะพยายามให้ได้ "กระดาษ" แผ่นนี้มาด้วยวิธีใดก็ได้โดยไม่สนใจ สังคมจึงเพี้ยนหมด

"ผมได้คุยกับคนเยอรมัน เขาบอกว่าหากเรารู้จักสะสมเงินโดยวิธีที่ถูกจะช่วยได้เยอะ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย อย่างที่อาจารย์จำเนียร (ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนแรก) สอนว่า โภคทรัพย์ของผู้ครองเรือนดี เหมือนจอมปลวกที่ก่อขึ้น คาบดินทีละนิดมาไม่นานเป็น จอมปลวกที่ใหญ่ขึ้น คนเยอรมันก็เช่นเดียวกัน เขาสอนให้เด็ก ๆ ยึด 2 ตัว คือวินัย และการออม

วินัยยึดให้คนอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่ต้องกล้ำกลืนกัน ประเทศไม่มีทางไปได้ ถ้าไม่มีวินัย 2.การออม ทุกคนต้องก่อร่างสร้างตัว สำคัญมากคือการจัดการกระแสเงิน เขาบอกว่าคนไทยคิดผิด ใช้สมการการเงินผิด"

"รายได้-รายจ่าย" = เงินออม

มีรายได้ใช้จ่ายไป ถ้าเหลือแล้วค่อยเก็บ ถ้าไม่เหลือก็ไม่เก็บ และระยะหลังไทยถูกกระแสให้ใช้จ่ายเกินตัว สมการจึงเป็น

"รายได้-ค่าใช้จ่าย" = หนี้สิน

ค่าใช้จ่ายถ้ารายได้ไม่พอ ก็ต้องไปยืมเขามา เป็นการสร้างหนี้ แต่เยอรมันเขาไม่ยอม เขาไม่ใช้ทั้ง 2 สมการนี้ เขาใช้สมการ

"รายได้-เงินออม" = ค่าใช้จ่าย

ไม่ว่าคุณมีรายได้แค่ไหน คุณต้องออมก่อนตามความสามารถคุณ ที่เหลือค่อยมาบริหารว่าจะใช้แค่ไหน คิดแค่นี้จบเลย ก็ไม่มี หนี้สิน เหมือนจอมปลวก เงินออมเวลาโตขึ้นจะเป็นจอมปลวกใหญ่

นี่คือการคิดใหม่ รื้อใหม่

ข้อไม่ดีต้องเอามาเป็นบทเรียนว่าไม่ควรทำซ้ำ ประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดต้องไม่กลับมาอีก
*****************************************************************************

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

งบปี54ฟาดกันพุงปลิ้นค่าจ้างที่ปรึกษา-เช่าอุปกรณ์สำนักงานแพงเว่อร์

หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

แฉงบประมาณรายจ่ายปี 2554 หน่วยงานรัฐฟาดกันพุงปลิ้น ตั้งรายจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเช่าอุปกรณ์สำนักงาน เดินทางไปต่างประเทศ อมรมสัมมนาสูงเกินความเป็นจริง บางหน่วยงานเครื่องแฟกซ์เดือนละ 19,000 บาท แพงกว่าซื้อไม่รู้กี่เท่า ขณะที่งบจ้าง อสม. ตั้งงบมากเกินจ่ายจริงกว่า 200,000 คน เฉ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรปีเดียวผลาญไปแล้ว 53,000 ล้านบาท ทั้งที่โครงการรับจำนำ 10 ปีหลังขาดทุนเพียง 10,000 กว่าล้านบาท “อภิสิทธิ์” ฟุ้งจะเกลี่ยงบพัฒนาท้องถิ่นไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะพื้นที่พรรคภูมิใจไทย รองโฆษกประชาธิปัตย์มั่นใจโหวตผ่านแน่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ทราบเรื่องการจัดงบประมาณในส่วนของการพัฒนาท้องถิ่นที่ไปกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ของพรรคภูมิใจไทยและยังเอาเรื่องงบประมาณไปต่อรองให้ ส.ส. ย้ายพรรค เพราะขณะนี้รายละเอียดการปรับลดงบประมาณของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ยังไม่ได้ส่งมาให้ดู

“มาร์ค” รับปากแก้ปัญหางบกระจุกตัว

“เท่าที่ผมทราบ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเรื่องงบพัฒนาท้องถิ่น มีหลักฐานในการจัดสรรโดยดูจากจำนวนประชากร ขนาดพื้นที่ และความยากจน ผมไม่อยากให้ไปกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใด เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2-3 ทุกคนจะช่วยดูให้เกิดความเป็นธรรมอีกทีหนึ่ง แต่เข้าใจว่าในขั้นของการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการได้แก้ปัญหาการกระจุกตัวไปหมดแล้ว ส่วนเรื่องจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ได้งบมากน้อยแตกต่างกันก็มีสูตรในการคำนวณเอาไว้หมดแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าวพร้อมยืนยันว่า นายไตรรงค์แจ้งว่างบที่มีความคลางแคลงใจได้ตัดไปหมดแล้ว แต่หากยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของสภาในวาระที่ 2 ก็ต้องทำให้เป็นไปตามหลักการ

ยอดปรับลดงบ 3.3 หมื่นล้านบาท

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณวาระที่ 2-3 วันที่ 18-19 ส.ค. ขณะนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาในชั้นแปรญัตติจบแล้ว ทราบว่ามีการปรับลดลงมาได้ทั้งหมด 33,449 ล้านบาท และมีการแปรญัตติเพิ่มใน 4 ยุทธศาสตร์หลักคือ เรื่องแหล่งน้ำ ถนน สถาบันการศึกษา และการประกันรายได้เกษตรกร โดยมียอดการแปรญัตติเพิ่มประมาณ 5,000 ล้านบาท

“มาร์ค” มีงบในมือมากถึง 4.7 หมื่นล้าน

“ภาพรวมของงบประมาณปี 2554 ด้านการเกษตรได้รับการจัดสรร 43,800 ล้านบาท ถือว่ามากพอสมควร ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรเต็มที่ ส่วนงบประมาณกลางที่สำรองจ่ายยามฉุกเฉินมีมากถึง 47,600 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถอนุมัติใช้จ่ายได้”

มั่นใจโหวตในสภาผ่านฉลุยแน่

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังมีความมั่นใจว่า รัฐบาลจะไม่มีปัญหาเรื่องเสียงสนับสนุนในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณให้ผ่านสภาในวาระที่ 2 เพราะการประชุมสภาในสัปดาห์ของสมัยประชุมนี้ ส.ส. รัฐบาลลงมติกันอย่างท่วมท้นในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ จึงเป็นสัญญาณที่ดีในการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

“จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าไม่มีปัญหาเรื่องเสียงสนับสนุน แต่หากเกิดการพลิกผันงบประมาณไม่ผ่านการพิจารณาของสภา นายกรัฐมนตรีก็ต้องยุบสภาอยู่แล้ว” นายอรรถวิชช์กล่าว

แฉจัดงบค่าฝึกอบรมสัมมนามากเกิน

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ภาพรวมของจัดงบประมาณปี 2554 ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดของค่าฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเช่า ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าเดินทางไปต่างประเทศ งบอุดหนุน กองทุน และรายจ่ายอื่นๆ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้มีหลายแสนล้านบาท

บางหน่วยเช่าแฟกซ์เดือนละ 1.9 หมื่น

“ถือเป็นยอดก้อนโตมากเพราะว่าได้แยกงบเงินเดือน งบค่าที่ดินสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้ว เรื่องงบประมาณค่าจ้างที่ปรึกษามีปัญหามากเพราะแต่ละหน่วยงานชี้แจงไม่ค่อยได้ เป็นที่น่าสังเกตว่างบจ้างที่ปรึกษาแต่ละหน่วยงานจะตั้งเอาไว้สูงมาก ทั้งที่เรื่องบางเรื่องหรืองานบางงานเป็นเรื่องที่หน่วยงานนั้นๆสามารถทำเองได้แต่ก็ตั้งงบจ้างที่ปรึกษา นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องงบค่าจ้างบริการหรือค่าเช่าต่างๆ บางหน่วยงานตั้งงบเช่าใช้เครื่องแฟกซ์เดือนละ 19,000 บาท ปีหนึ่งก็เป็นแสนทั้งที่มันไม่ควรเช่า ซื้อเอาเองถูกกว่าเครื่องละไม่กี่พันบาท เรื่องงบเช่าอุปกรณ์ต่างๆมีปัญหามาก” นายวรวัจน์กล่าวและว่า งบประมาณอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ก็ตั้งไว้เกินความเป็นจริง โดยตั้งงบไว้มากถึง 7,000 ล้านบาทต่อปี หากหารเฉลี่ยงบประมาณจำนวนนี้เราต้องมี อสม. มากถึง 1,050,000 คน แต่ในความเป็นจริงเรามี อสม. อยู่เพียง 800,000 กว่าคนเท่านั้น ในภาพรวมจึงพบการตั้งงบประมาณที่ไม่ค่อยโปร่งใสอยู่มาก

ประกันรายได้เกษตรทำสูญ 5.3 หมื่นล้าน

นายวรวัจน์ตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณประกันราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปี 2554 รัฐบาลตั้งไว้ประมาณ 47,000 ล้านบาทว่า ในปี 2553 ที่ผ่านมารัฐบาลบอกว่าใช้เงินในส่วนนี้ไป 53,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ให้แล้วสูญ ต่างจากโครงการรับจำนำพืชผลในอดีตที่ดำเนินการมา 10 ปี ขาดทุนไปเพียง 10,000 กว่าล้านบาท แต่โครงการประกันราคาปีที่แล้วหายไป 53,000 ล้านบาท หากดำเนินโครงการไป 10 ปีเท่านั้นจะเห็นว่าเสียหายมากกว่ากันไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า นี่คือผลเสียของโครงการประกันรายได้เพราะจ่ายแล้วไม่ได้คืน แต่โครงการรับจำนำเรายังมีพืชผลเอาไปขายได้

“โครงการนี้เกษตรกรได้เงินน้อยลงแต่ใช้งบประมาณมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล” นายวรวัจน์กล่าว

งบกองทัพ 1.7 แสนล้านแตะต้องไม่ได้

ส.ส.พรรคเพื่อไทยยังกล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณในส่วนของกองทัพว่า ในปีงบประมาณ 2554 ตั้งงบเอาไว้สูงถึง 170,000 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก แต่คณะกรรมาธิการกลับปรัดลดได้เพียงไม่กี่สิบล้านบาท ไม่ถึง 1%

“การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการมีปัญหามาก เพราะรัฐบาลไม่ยอมให้แตะต้องงบประมาณของกองทัพเลย ทั้งที่หลายรายการไม่มีรายละเอียดการใช้จ่ายมาชี้แจง แต่เมื่อเสียงในคณะกรรมาธิการรัฐบาลมีมากกว่าก็สามารถผลักดันให้ผ่านการพิจารณาไปได้ การใช้จ่ายงบกองทัพแทบจะตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย ผมค่อนข้างแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลต้องปกป้องกันขนาดนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนประกาศชัดเจนเลยว่าจะไม่แตะต้องงบกองทัพ การที่เสนองบประมาณมาแล้วไม่ถูกปรับลดเลยทำให้หลักการพิจารณางบประมาณของประเทศเสียหาย” นายวรวัจน์กล่าว

มีประโยชน์กับประชาชนไม่ถึง 20%

นายวรวัจน์กล่าวอีกว่า ในภาพรวมของการจัดทำงบประมาณไม่ค่อยเกิดประโยชน์กับประชาชนมากเท่าไร แต่ไปเอื้อประโยชน์กับผู้รับเหมาเสียมากกว่า การจัดงบก็เป็นไปในลักษณะรั่วไหลได้ง่าย เช่น เรื่องค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าอบรม สัมมนาที่ส่วนมากเป็นการจัดอบรมสัมมนาของหน่วยงานเอง ไม่ได้ให้ความรู้กับประชาชน ภาพรวมของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆไม่ถึง 20% จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเท่าที่ควร เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐมากกว่าประชาชน ทั้งที่การจัดทำงบประมาณปีนี้เป็นแบบขาดดุล บางส่วนต้องไปกู้มาใช้แต่กลับไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อพัฒนาประเทศหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ

**********************************************************************