--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจในกัมพูชา....!!?

โดย ณกฤช เศวตนันท์

กัมพูชา เป็นประเทศหนึ่งในจำนวนสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมี กรุงพนมเปญ เป็นเมืองหลวง และเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อาชีพหลักของชาวกัมพูชา คือเกษตรกรรม

ปัจจุบันกัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสังคมนิยม เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศ คือ สมเด็จฮุน เซน

หลังจากเปิดประเทศ ทำให้กัมพูชาต้องบูรณะประเทศขึ้นใหม่ในเกือบทุกด้าน ดังนั้นจึงทำให้ประชากรภายในประเทศเกิดความต้องการสินค้าด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จากการที่กัมพูชามีความจำเป็นต้องพัฒนาประเทศโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจดังกล่าว จึงได้ออก นโยบายส่งเสริมด้านการลงทุน ให้ต่างชาติหันเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น

สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในกัมพูชา ซึ่งจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2557 การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ของกัมพูชา มีการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 7% จากปี 2556 ที่มีการขยายทางด้านเศรษฐกิจในระดับที่ 7.2% ซึ่งถือว่าการเติบโตในปี 2557 มีการขยายตัวใน ระดับปานกลาง แต่การขยายตัวลดลงกว่าปี 2556 สาเหตุมาจากปัญหาความตึงเครียดทางการเมือง ตั้งแต่มีการเลือกตั้งในปี 2556 เดือนกรกฎาคม อีกทั้งเกิดการเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างแรงงานของคนงาน ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตเสื้อผ้ากับรองเท้าตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2557 และยังทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของกัมพูชา มีอัตราการเติบโตล่าช้า

ในปี 2557 มูลค่าการค้าต่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมปี 2556 ที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศอยู่ที่ 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจึงมีมูลค่าการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 13% สำหรับการส่งออกสินค้าของกัมพูชามีมูลค่าจำนวน 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมปี 2556 ที่มีมูลค่าการส่งออกจำนวน 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็น 80% ของการส่งออกทั้งหมด

สำหรับการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาในปี 2557 มีมูลค่าจำนวนทั้งหมดประมาณ 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมในปี 2556 ที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจำนวนทั้งหมดประมาณ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า ปิโตรเลียม รถยนต์กับจักรยาน วัสดุก่อสร้าง อาหาร และเภสัชภัณฑ์

ขณะที่สภาพเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป หรือในไทยก็ดี มีการฟื้นตัว น่าจะส่งผลให้ "การส่งออก" ของกัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตและการก่อสร้าง คาดว่าน่าจะมีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 9.7% ส่วนภาคการท่องเที่ยว เกิดการชะลอตัวในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสาเหตุความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของปี 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมาเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อปัญหาทางด้านการเมืองของกัมพูชาคลี่คลายลง จึงมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

รัฐบาลกัมพูชาเองให้การส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ อาทิ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา รวมทั้งกิจกรรมการผลิต-ส่งออก ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ การส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลกัมพูชาสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชาได้เป็นจำนวนมาก

เพราะกัมพูชามีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำ และมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก ส่วนธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติ ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาทิ ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นธุรกิจดาวเด่นที่นักลงทุนส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ก็สามารถสร้างเม็ดเงินให้แก่กัมพูชาได้อย่างงาม

นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในแถบเอเชีย เพราะมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฉันเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนาน และให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้แก่ จีน เวียดนาม ไทย สำหรับนักลงทุนไทยนั้นจะอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของประสบการณ์ทางด้านทรัพยากร และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ เข้าไปลงทุนในกัมพูชา โดยธุรกิจหลักที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน อาทิ ธุรกิจการเกษตรและการแปรรูป ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า และธุรกิจการท่องเที่ยว

สำหรับภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา มีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น

อาทิ มูลค่าการส่งออกในปี 2557 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ถึงแม้การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2557 มีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาแค่เพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาทางการเมืองของกัมพูชาสงบลง อีกทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าก็มีการขยายการเติบโต ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และไทย ส่งผลให้กัมพูชาได้รับอานิสงส์ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปด้วยในปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะโตถึงร้อยละ 7.3%

หากกล่าวถึงอุปสรรคของการทำธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชาแล้ว ต้องบอกว่ากัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และถือเป็นประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมในการรองรับภาคบริการ อย่างไรก็ดี การเปิดประเทศของกัมพูชาค้าขายกับเพื่อนบ้าน และมีการปกครองเป็นประชาธิปไตย ทำให้กัมพูชาได้เชื่อมโยงทางด้านธุรกิจกับต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจทำให้กัมพูชามีความต้องการการลงทุนในภาคบริการเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย !!?


โดย:ดร.วิรไท สันติประภพ

ช่วงนี้ผมมักถูกถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย หลายคนกังวลกับข่าวและตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัว บางคนสับสนกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้น (หรือไม่เกิดขึ้น) และบางคนหงุดหงิดกับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่ไม่เกิดผลแบบทันอกทันใจ

หลายคนสงสัยและหงุดหงิดเพราะมองไม่ออกว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้เป็นปัญหาวัฏจักรทางเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ (cyclical) หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural) ที่ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด คนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวัฏจักรทางเศรษฐกิจ มักหวังให้ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากเข้าไว้เพื่อจุดเครื่องยนต์ภาคเอกชนให้กลับมาเดินเครื่องใหม่ แต่สำหรับคนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเกิดผลเพียงเล็กน้อยในช่วงสั้นๆ ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้จริง ที่สำคัญ ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ จะทำให้เราชะล่าใจ ผลักปัญหาไปข้างหน้า ไม่จัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซ่อนไว้เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคต

ผมเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายจุด ถ้าจะเปรียบกับร่างกายคน เศรษฐกิจไทยเวลานี้เหมือนกับคนอ้วนที่เคยปล่อยเนื้อปล่อยตัวกินตามใจปากมานาน มีอาการทั้งโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อเข่าเริ่มเสื่อม กระดูกหลายชิ้นเริ่มทรุด ทางเดียวที่จะทำให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างแท้จริงคือต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการกินตามใจปาก หันมาออกกำลังกายรีดไขมัน สร้างกล้ามเนื้อ รวมทั้งยอมเจ็บผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและชิ้นกระดูกที่เป็นปัญหา

ใครก็ตามที่โดนหมอวินิจฉัยโรคแบบนี้ย่อมทำใจยาก การเลิกกินตามใจปากและหันมาออกกำลังกายทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง ทั้งหน้ามืด อ่อนแรง หงุดหงิด จนหลายคนควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ คนไข้ที่ใจอ่อนมักหันกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม และหวังว่าจะเจอหมอคนใหม่ที่ชอบเอาใจ วินิจฉัยโรคว่าไม่ได้เป็นอะไรรุนแรง ทุกคนรู้ดีว่าคนไข้ที่หลอกตัวเอง มีแต่จะสะสมโรคร้ายมากขึ้น เสี่ยงที่จะหัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตกได้แบบฉับพลัน ถ้าเราปล่อยให้สุขภาพเสื่อมลงถึงจุดนั้นแล้ว การรักษาให้กลับมาปกติใหม่จะยากขึ้น และต้นทุนค่ารักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้นมาก (จนอาจจะทำให้คนไข้และญาติพี่น้องหมดเนื้อหมดตัว)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเหมือนกับคนอ้วนที่เคยกินตามใจปากจนเกินพอดี เป็นเพราะนโยบายภาครัฐในอดีตหลายเรื่องที่สร้างรายได้เทียมให้แก่ประชาชน ส่งเสริมให้คนนำเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า และสร้างวัฒนธรรมรอรัฐอุปถัมภ์ หมอที่ชอบเอาใจคนไข้มักเร่งให้คนไข้ดูดีด้วยการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วในช่วงสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก (ที่หลายคนกู้เงินซื้อรถเพื่อรักษาสิทธิ์เอาภาษีคืนจากรัฐบาล) โครงการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงเกินจริง (ที่สร้างผลขาดทุนกว่าครึ่งล้านล้านบาท สร้างหนี้สาธารณะ และทำให้เกษตรกรถูกหลอกว่าจะมีรายได้ดีต่อเนื่อง จนใช้จ่ายจนเกินตัว) การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ (ทำให้แรงงานเชื่อว่าจะมีรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กไปไม่รอด และราคาสินค้ากระโดดขึ้นเร็ว) และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการแบบก้าวกระโดดโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพ (ได้สร้างข้อจำกัดทางงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ) ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และโครงการเร่งลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจที่ไม่คุ้มค่าอีกหลายสิบโครงการ

เมื่อนโยบายเหล่านี้เริ่มอ่อนฤทธิ์ และร่างกายเริ่มแสดงอาการที่แท้จริง จึงพบสัญญาณหลายอย่างว่าการกินเกินพอดีที่ผ่านมาได้ทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงมาก ตัวบ่งชี้โรคร้ายหลายตัวกระโดดขึ้นเกินค่ามาตรฐานมาก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติ สัดส่วนรายจ่ายประจำของรัฐบาล อัตราหนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผลขาดทุนของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง หนี้สาธารณะของรัฐบาล ตลอดจนการคอร์รัปชันในหลายรูปแบบ ที่เป็นพยาธิคอยสูบเลือดจากทุกอวัยวะของระบบเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ เรากำลังเผชิญกับปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อเข่าเสื่อม และกระดูกทรุดอีกมากมาย จากการอ่อนประสิทธิภาพของระบบราชการ การด้อยคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยที่ถดถอยลง โดยเฉพาะการส่งออก การขาดแคลนแรงงานอาชีวะและแรงงานมีฝีมือ รวมไปถึงความแตกแยกในสังคมที่ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนมือยาวสาวได้สาวเอา การที่เราเพลินกับการกินตามใจปาก ไม่รักษาสุขภาพ และขาดวินัย ได้สร้างปัญหาให้กับเราแล้วในวันนี้ และจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตถ้าเราไม่แก้ไข

จุดเริ่มต้นของการรักษาคือ ต้องทำให้คนไข้ยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วยรุนแรงด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง คนไข้ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง และต้องยอมรับการผ่าตัดในหลายจุด คนไทยหลายกลุ่มยังคิดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวัฏจักรเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ เช่น เศรษฐกิจไม่ดีเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คนไม่ยอมใช้จ่ายเงินเพราะขาดความมั่นใจในรัฐบาล รัฐบาลเบิกจ่ายเงินช้า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำชั่วคราว หรือค่าเงินบาทแข็งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกมีปัญหา คนกลุ่มนี้ (ซึ่งส่วนหนึ่งเคยชินกับวัฒนธรรมรอรัฐอุปถัมภ์) มักเรียกร้องให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยยาชูกำลังแบบเดิมๆ ซึ่งจะทำให้อาการป่วยหลบใน รอเวลาสำหรับการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่าในอนาคต

ในสภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ หรือเร่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อ เป็นได้เพียงแค่ยาชูกำลังที่ทำให้คนไข้สดชื่นชั่วคราว หรือเป็นเพียงยาหอม ยาดม ที่เยียวยาอาการภายนอกในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะภาครัฐมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจไทย และการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้แก้ต้นเหตุของปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใน แต่ถ้าเราใช้ยาพวกนี้มากเกินควรย่อมเกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง รวมทั้งต้องระวังไม่ให้รัฐบาลซื้อยาชูกำลัง ยาหอม ยาดม จนเงินหมดกระเป๋า ไม่เหลือเงินสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงที่ต้นเหตุของปัญหา ในเวลานี้ หมอและคนไข้ต้องร่วมกันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปการศึกษา และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันทุกระดับ

การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจสำคัญมากสำหรับอนาคตของประเทศไทย (สำคัญกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ หลายเท่านัก) ปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เราวุ่นวายกับเรื่องภายใน และมองแต่ปัญหาระยะสั้นมากกว่าการทำเรื่องระยะยาว ในขณะที่ประเทศคู่แข่งรอบบ้านของเราตั้งแต่จีนถึงอินโดนีเซีย และพม่าถึงเวียดนาม ได้เดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศ (และนักลงทุนไทย) มองข้ามประเทศไทย และสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเริ่มตกรุ่น แข่งขันไม่ได้

นโยบายปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจหลายเรื่องไม่ต้องใช้เงินงบประมาณและไม่สร้างภาระการคลังให้แก่รัฐบาล การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนใหม่ๆ ของภาคเอกชน ภาครัฐต้องทำงานเชิงรุกเพื่อเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะในกิจกรรมที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ต้องเร่งทำให้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตรงกับความต้องการของธุรกิจในอนาคตและเกิดผลจริงในทางปฏิบัติ ต้องยอมตัดใจเลิกอุดหนุนกิจกรรมที่ล้าสมัยหรือไม่สอดคล้องกับการแข่งขันในอนาคต ภาครัฐต้องเร่งเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายเรื่องที่ภาคเอกชนเฝ้ารอมานาน ภาครัฐต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนของประเทศไทยในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ (โดยเฉพาะ Trans Pacific Partnership หรือ TPP และ EU-Thailand FTA) นอกจากนี้ ภาครัฐควรเปิดเสรีเพิ่มเติม โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ (ธุรกิจไทยขนาดใหญ่) ที่ได้รับการคุ้มครองมากเกินควร เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจในประเทศไทย และส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ โดยผู้ประกอบการที่มีความสามารถสูงกว่า

ความสงสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย และความหงุดหงิดว่านโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐไม่เกิดผลแบบทันอกทันใจจะบรรเทาลง ถ้าเรายอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วยด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องเลิกกินตามใจปาก ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง และยอมเจ็บตัวผ่าตัดเปลี่ยนชิ้นกระดูกหลายจุดที่มีปัญหา การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไม่มีทางลัด ต้องใช้ความอดทนและใช้เวลากว่าจะเห็นผล ตอนนี้ได้แต่หวังว่าหมอต้องมั่นคงและคนไข้ต้องเข้าใจ ไม่ใจอ่อน กลับมารักษาโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจ ด้วยยาหอม ยาดม ยาชูกำลัง แบบเดิมๆ

อ่านเพิ่มเติม Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2558
///////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของสหรัฐ..!!?


โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเคยเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันกับที่อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ต้องลดความสำคัญลง จากที่เคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากการที่เป็นประเทศที่มีอาณานิคมมากมาย มีความสามารถผูกขาดตลาดวัตถุดิบและตลาดสินค้าสำเร็จรูปได้ทั่วโลกก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลง บรรดาประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมต่างก็ประกาศตัวเป็นเอกราช ทำให้ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของอังกฤษและฝรั่งเศสลดถอยน้อยลงไปตามลำดับ

ยุโรป ในขณะที่อำนาจทางการเมืองและการต่างประเทศของอังกฤษกับฝรั่งเศสกำลังเสื่อมทรามลง สหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้รับความเสียหายจากภัยสงครามก็ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ

ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็ว โดยใช้แบบอย่างของอังกฤษเป็นตัวอย่างและมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและการทหารให้ทันอังกฤษภายใน 1 ศตวรรษ แต่ตอนที่ญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม หลังสงครามญี่ปุ่นจึงกลายเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐนอกจากจะเป็นผู้ชนะสงครามแล้ว สหรัฐยังกลายเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในโลก เงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษที่เคยใช้เป็นเงินตรา เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการของโลก มีค่าที่แข็งแกร่งโดยเทียบค่ากับทองคำ หรือกล่าวได้ว่าอยู่ในมาตรฐานทองคำ สามารถให้คำมั่นกับธนาคารกลางทั่วโลกได้ว่า ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่ถือเงินปอนด์เป็นทุนสำรองนั้นสามารถนำเงินปอนด์ที่ตนถือไว้นั้นมาแลกทองคำได้ทันที ทุนสำรองของต่างประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จึงนิยมถือเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง

ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษจึงมีทองคำทั้งที่เป็นของตนเองและที่เป็นทุนสำรองที่ประเทศอาณานิคมนำมาฝากไว้เป็นจำนวนมาก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้เป็นหนี้สินจากการกู้มาเพื่อทำสงคราม ประเทศอาณานิคมต่างๆ ก็ทยอยกันประกาศเอกราช ทองคำจึงไหลออกจากอังกฤษเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดอังกฤษก็ต้องประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ ผู้ถือเงินปอนด์ของอังกฤษไม่สามารถนำมาแลกเป็นทองคำได้ ปอนด์จึงมีค่าต่ำลงเมื่อเทียบกับทองคำ

ในขณะที่ความเชื่อมั่นในค่าของเงินปอนด์ต่ำลง เงินดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินตราที่ยังอยู่ในมาตรฐานทองคำจึงได้รับความนิยมและมีค่าที่มั่นคง เงินดอลลาร์จึงเข้ามาแทนที่เงินปอนด์ของอังกฤษในที่สุด สหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นประเทศที่มีดุลการชำระเงินเกินดุลมานับจากนั้น

เมื่อสหรัฐอเมริกามีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจากการเกินดุลการชำระเงินและเป็นประเทศชนะสงคราม อเมริกาจึงมีอิทธิพลที่สุดในการจัดระเบียบการค้าและการเงินของโลก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารโลกและมีอิทธิพลที่สุดในคณะกรรมการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยที่ธนาคารโลกทำหน้าที่ระดมทุนเพื่อให้ประเทศสมาชิกกู้ในการบูรณะประเทศหลังสงคราม ให้กู้เพื่อโครงการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศทำหน้าที่คล้ายๆ กับธนาคารกลางของโลก พยายามออกเงินตราระหว่างประเทศของตนเองเรียกว่าสิทธิถอนเงินพิเศษ หรือ Special Drawing Rights หรือ SDRs แต่ไม่สู้จะประสบความสำเร็จนัก ดอลลาร์สหรัฐอเมริกายังเป็นที่นิยมใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ตามเดิม

เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องใช้จ่ายอย่างมากมายในการทำสงครามเวียดนาม อันเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับการขาดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินอย่างมหาศาล ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เริ่มไม่แน่ใจว่าสหรัฐจะรักษาค่าเงินของตนซึ่งตรึงไว้กับทองคำโดยอยู่ที่ 36 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ทรอยออนซ์ไว้ได้ จึงนำดอลลาร์มาแลกทองคำจากสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้ทองคำของธนาคารกลางของสหรัฐร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว ในที่สุดประธานาธิบดีนิกสันก็ต้องประกาศให้เงินดอลลาร์สหรัฐออกจากมาตรฐานทองคำ ค่าเงินดอลลาร์จึงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทองคำตั้งแต่นั้นมา

แต่อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ก็ยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลก ทำให้สหรัฐอเมริกาก็ยังคงเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทางการเงินของโลก ตลาดทุนที่นิวยอร์กยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกอยู่ต่อไป

เมื่อเศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราเลข 2 หลักมานานกว่า 20 ปี ทำให้จีนเป็นประเทศที่สะสมทุนสำรองไว้มากที่สุดแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นไป คาดกันว่าขณะนี้จีนสะสมทุนสำรองในรูปของทองคำ ดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลหลักของโลก มีมูลค่าเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จีนจึงมีอิทธิพลอย่างมากในตลาดเงินของโลก แต่อย่างไรก็ตาม อิทธิพลทางการเงินของสหรัฐก็ยังยิ่งใหญ่อยู่เหมือนเดิม

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะใหญ่เป็นที่ 2 ของโลกแซงหน้าญี่ปุ่น เป็นรองแต่สหรัฐอเมริกา แต่ถ้าดูให้ดีทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างก็ยังต้องพึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปอยู่ดี เมื่อเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาอ่อนตัวลง ก็ย่อมมีผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไปด้วย

สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าที่สุดในด้านเทคโนโลยีเกือบทุกด้าน รวมทั้งเทคโนโลยีทางด้านอวกาศด้วย

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงพร้อมๆ กับค่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง เหลือเพียงประเทศเกาหลีเหนือและคิวบา อิทธิพลทางการเมืองการทหารจึงอยู่ในมือสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงเป็นอภิมหาอำนาจอยู่แต่เพียงประเทศเดียว โดยมียุโรปตะวันตกเป็นพันธมิตรหรือบริวาร

แม้ว่าประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันตก ประเทศญี่ปุ่นและจีน ต่างก็มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์การทางการค้า เช่นองค์การการค้าโลก องค์การทางการเงิน เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อขอเข้าไปมีที่นั่งและเพิ่มทุน เพื่อจะได้มีที่นั่งในคณะกรรมการของสถาบันเหล่านั้นซึ่งสหรัฐอเมริกามีเสียงมากที่สุด แต่ก็ไม่เป็นผล จึงได้เกิดมีการประกาศจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ หรือ Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB โดยมีการจัดตั้งทุนประเดิม 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จีนจะลง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐทั้งในยุโรปและเอเชียจองลงทุนกันมาก

แม้ว่าจะมีขบวนการที่จะถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นผล สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทรงอำนาจที่สุดของโลกต่อไป ทั้งในด้านการเงิน การพลังงาน และเทคโนโลยี

ที่สำคัญ สหรัฐอเมริกายังคงมีบทบาทเป็นตำรวจโลก ในการบังคับให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 168 ประเทศต้องปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ กองกำลังสหประชาชาติทุกครั้งจะนำโดยกองกำลังสหรัฐอเมริกาเสมอ ความยิ่งใหญ่และอิทธิพลของอเมริกาในเกือบทุกด้านไม่ได้ลดลงเลย มีแต่จะมากขึ้น จีนไม่ใช่คู่แข่ง และจีนยังไม่พร้อมจะเป็นคู่แข่ง

บางทีเราก็มักจะลืมไป จึงอยากเตือนสติกันไว้

 ที่มา.มติชนรายวัน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจไทย หลังสงกรานต์ หนักกว่า แฮมเบอร์เกอร์ ...........!!?


แม้ว่าทางรัฐบาลจะออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ในความเป็นจริง ขณะนี้ชาวบ้านร้านรวงแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก ส่วนจะถึงขั้นเกิดเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เหมือนกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาให้ความเห็นหรือไม่นั้น ลองไปฟังความเห็นจากแวดวงนักวิชาการและนักธุรกิจดูว่า เศรษฐกิจไทยหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้แค่ไหน

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังอยู่ในช่วงซบเซา และยังไม่กลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก โอกาสจะกลับคืนมาได้น่าจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า คือ ไตรมาสที่ 3-4 การฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำและหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 มีการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย แต่รายจ่ายเพื่อการลงทุนยังห่างเป้าพอสมควร จึงเป็นเครื่องจักรที่ยังเดินได้พอสมควร

สำหรับการส่งออก มีเพียงตลาดสหรัฐและตลาดอาเซียนโตสูงขึ้น แต่ตลาดอื่นๆ ยังคงซบเซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปจีนหดตัวลงเยอะ จึงหวังอะไรกับภาคส่งออกในปีนี้ได้ไม่มากนัก ดังนั้น ปัจจัยบวกขณะนี้ที่เห็นได้ชัดคือภาคท่องเที่ยว น่าจะเป็นเครื่องจักรที่ทำงานได้ดีมากที่สุด รัฐบาลจึงควรจะศึกษาวิเคราะห์ จัดระเบียบ ให้เครื่องจักรด้านการท่องเที่ยวทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การบริหารจัดการภาครัฐในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ ควรจะพิจารณาในมิติด้านคุณภาพเป็นสำคัญ เน้นการใช้จ่ายอย่างมีคุณภาพ โครงการรายจ่ายเพื่อการลงทุน ควรเน้นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มากกว่าเน้นการจ่ายเงินออกไปให้มากที่สุด

ส่วนการเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย กับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐ คงเป็นได้ยาก เพราะว่ามีบริบทแตกต่างกัน วิกฤตไทยปัจจุบันมีปัญหามากกว่าปัญหาการส่งออก วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐในครั้งก่อนเป็นวิกฤตของสหรัฐแต่ส่งผลกระทบมาสู่ไทยทางอ้อมผ่านทางการส่งออก คือหัวใจหลักของวิกฤตครั้งนั้น แต่วิกฤตปัจจุบันมีปัญหามากกว่าแค่ปัญหาการส่งออก เพราะว่าวิกฤตคราวนี้ นอกจากจะมีปัญหาด้านการส่งออกแล้ว ยังมีปัญหาทางด้านอุปสงค์ภาคครัวเรือน คือ ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ และหนี้สาธารณะสูงกว่าสมัยก่อนมาก

สมัยก่อนไทยยังมีอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์กำลังรุ่งเรือง แต่ปัจจุบันทั้งสองอุตสาหกรรมมีอัตราการเจริญเติบโตชะลอลง ทั้งสองส่วนจึงเป็นปัญหาที่ดูเศรษฐกิจไทยน่าจะมีปัญหามากกว่าเดิม

ด้านนักธุรกิจจากภาคเอกชนอย่าง นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย และรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะกลับมาในครึ่งปีหลัง หากรัฐบาลเร่งจัดการแก้ปัญหาในเรื่องของโครงสร้างสินค้าเกษตร และเร่งให้เกิดการลงทุนในประเทศ ปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาสภาพตลาดในต่างประเทศไม่ดี ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระดับสูง เป็นปัญหาสั่งสมเป็นระยะเวลานาน รวมถึงปัญหาด้านภาคการส่งออกชะลอตัวกระทบไปถึงการลงทุนต้องชะลอตามไปด้วย ระยะเวลานี้ก็ต้องช่วยกันประคองราคาสินค้าไม่ให้ขึ้นราคา คาดว่าราคาจะยังไม่ขึ้น เนื่องจากประชาชนยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้ามากนัก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องของราคาสินค้าสูงลิบลิ่ว อเมริกามีเรื่องของราคาน้ำมัน ทั้งวิกฤตการเงินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน มาเกี่ยวข้องด้วย ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐ ให้แย่ลง ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพียงแค่การส่งออกและการลงทุนชะลอตัว รัฐบาลจึงควรพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งปรับปรุงโครงสร้างสินค้าเกษตร และเร่งการลงทุนให้เห็นผล เกิดการจ้างงาน เพื่อพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การเมืองนิ่ง หากช่วงครึ่งปีหลังนี้ ภาครัฐสามารถผลักดันงบประมาณและเดินหน้าลงทุนโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้ง รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รถไฟทางคู่ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่ยังช้าอยู่ออกมาได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ค่อยๆ ฟื้นตัวได้ เพราะขณะนี้ไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม การเกษตร ยังซบเซา เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่ยังไปได้ดีอยู่คือภาคการท่องเที่ยว หากสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผนที่วางไว้ จะให้เกิดความเชื่อมั่นและทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน เชื่อว่ากำลังซื้อจะเริ่มกลับมา

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากการซื้อที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้น

นายธำรงกล่าวด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ถือว่าอาการหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังไม่เลวร้ายเท่าปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง ผู้ประกอบการธุรกิจไม่มีหนี้สินเกินตัว ยังไม่มีการปลดคนงาน มองว่าสถานการณ์ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังจากนี้จะเห็นการค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม มองว่าหากจะเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้กับวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น อาจจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะขนาดเศรษฐกิจไทยและสหรัฐมีความแตกต่างกันมาก

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์เป็นต้นไปมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 คาดว่าจะได้รับผลดีจากการบริโภคภายในประเทศ คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว รวมถึงงบลงทุนจากภาครัฐจะเริ่มไหลเข้าระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2558 เป็นต้นไป ส่วนการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เริ่มดีขึ้นชัดเจน เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปีนี้ขยายตัวสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วไทยมีปัญหาเรื่องการเมือง สำหรับการส่งออกนั้นคงต้องยอมรับว่าตลาดหลักของไทยมีปัญหาน่าจะทำให้การส่งออกในไตรมาส 2 ยังอยู่ในระดับทรงตัวและดีขึ้นในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 0% จากขณะนี้ติดลบ

สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน เพราะเอกชนเข้าใจดีในเรื่องของเศรษฐกิจโลก ทำให้ตลาดหลักของการส่งออกมีปัญหา ดังนั้น การจะไปหาตลาดใหม่เพื่อมาทดแทนนั้นต้องใช้เวลาในช่วงนี้หากมีปัญหาค่าเงินมาซ้ำเติมกับปัญหาส่งออกแย่อีก ยิ่งทำให้สินค้าไทยส่งออกได้ยากขึ้น การส่งออกไทยจะมีปัญหามากขึ้น

ส่วนกรณีนายนายอภิสิทธิ์ระบุก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจในขณะนี้หนักกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ นายวัลลภกล่าวว่า ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีปัญหาเหมือนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่เริ่มฟื้นตัว ไม่เหมือนกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่กว่าจะเริ่มฟื้นตัวใช้เวลาหลายปี

ถ้าเทียบกันแล้วไทยใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ฟื้นตัวจากสภาวะเมื่อปี 2556-2557 ที่ผ่านมา

ที่มา : นสพ.มติชน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

คนไทยขวัญเสีย ฝรั่งขำขัน !!?


โดย .วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวเรื่องการไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์เสริมดวงกับโหร คมช. ที่เป็นร่างทรงของฤๅษีเกวาลันแห่งเทือกเขาหิมาลัย เป็นข่าวดังไปทั่วโลกว่า ผู้ทรงเจ้าเข้าผีได้ประกาศว่าผู้นำของประเทศไทยจะต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก อย่างน้อย 2-3 ปี

ข่าวนี้เป็นที่ขำขันไปทั่วโลกเหมือนๆ ข่าวของประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกา ที่เราเคยเอามาเล่าเป็นที่ขำขัน แต่เมื่อเกิดขึ้นในประเทศไทยก็ขำไม่ออกบอกไม่ถูก เหลือเชื่อว่าจะเกิดกับประเทศไทย

ขณะนี้ทุกวันศุกร์เวลา 20.00 น.เป็นต้นไป กลายเป็นเวลาประหยัดไฟไปเสียแล้ว เพราะเวลาดังกล่าวทุกบ้านปิดโทรทัศน์หมด เป็นเวลาที่โทรทัศน์ทุกช่องจะถ่ายทอดรายการขอคืนความสุขจากประชาชน ตอนมีรายการนี้ใหม่ๆ ผู้คนต่างก็ตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ แต่พยายามตั้งใจฟังอย่างไรก็ฟังไม่เข้าใจ แม้ว่าจะเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ฟังแล้วก็จับใจความหาสาระไม่ได้ หนักๆ เข้าก็เลยปิดทีวีเสียดีกว่า รออ่านจากหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ก็นำมาเขียนไม่มาก อ่านไม่ถึง 1 นาทีก็จบ ทุกวันศุกร์เวลา 2 ทุ่มเป็นต้นไปจึงเป็นเวลาประหยัดไฟฟ้าไปโดยอัตโนมัติ

เนื่องจากเวลา 2 ทุ่มเป็นต้นไป เป็นเวลาพักผ่อนชมรายการละครโทรทัศน์ของครอบครัว ของชาวบ้านทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เมื่อได้ยินว่ารายการโทรทัศน์ดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไป 2-3 ปี ก็รู้สึกใจเสียกันโดยทั่วไป

บรรยากาศทางเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนในขณะนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ได้ยินแล้วก็ทำให้ขวัญเสียทั้งนั้น

ราคาข้าว ราคายางพารา ราคาอ้อย ราคามันสำปะหลัง ราคาน้ำมันปาล์ม พากันเข้าแถวลดลงประมาณครึ่งหรือกว่าครึ่ง แต่ราคาหมูเห็ดเป็ดไก่ไม่ลด ค่าครองชีพไม่ลด ชาวไร่ชาวนาอ่านแล้วก็รู้สึกเสียขวัญ เราอยู่ในเมืองก็รู้สึกเสียขวัญ

เนื่องจากยอดขายของโรงงานอุตสาหกรรม ต่างๆ ลดลงครึ่งหนึ่งหรือกว่าครึ่ง การจ้างงานล่วงเวลาหรือการจ้างงานเพิ่มไม่มี ขณะนี้การลดจำนวนคนงานกำลังเริ่มขึ้น ที่เริ่มช้าเพราะนายจ้างพยายามรักษาคนงานไว้ เพราะถ้าจะจ้างกลับมาใหม่ก็เป็นเรื่องยากและเสียค่าใช้จ่ายมาก มองไปข้างหน้าแล้วก็ต้องใจหายขวัญเสีย เพราะยังไม่เห็นอนาคตว่ายอดขายจะฟื้นตัวได้อย่างไร การเลิกจ้างคนงานจึงต้องทำและน่าจะรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

เมื่อได้ยินโหรรัฐบาล หลวงปู่เกวาลันแห่งขุนเขาหิมาลัย พูดปูทางให้รัฐบาลอยู่ต่อไปอีก 2-3 ปีก็ใจหาย เสียขวัญ เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนักนี้ เพราะตลาดการส่งออกทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ซบเซาไปหมด ส่วนหนึ่งเพราะเป็นตลาดโลก แต่อีกส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญมากคือเรามีรัฐบาลทหาร ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ข่าวเรื่องยุโรปตัดสิทธิการได้รับการลดหย่อนภาษีหรือจีเอสพี ซึ่งรัฐบาลทหารไม่สามารถจะเดินทางไปเจรจากับเขาได้ ข่าวรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีพาณิชย์ ไม่อาจจะเดินทางไปเจรจาการค้ากับใครได้ ล้วนเป็นข่าวที่ทำให้ใจเสียทั้งนั้น

ปัญหาการส่งออกตกอย่างหนักนี้ คงจะแก้ไขโดยรัฐบาลทหารไม่ได้ เช่นเดียวกับรัฐบาลเผด็จการทหารของพม่า ซึ่งมีหมอดูอีทีเป็นที่ปรึกษา เป็นสรณะที่พึ่ง พม่าก็เป็นที่ขำขันไปทั่วโลกมาก่อน

ที่ขวัญเสียอีกเรื่องก็คือ นักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนหลักของเรา ปกติแล้วนักลงทุนญี่ปุ่นจะชอบลงทุนในประเทศไทย เพราะเมืองไทยได้เปรียบประเทศอื่นหลายอย่าง เช่น แรงงานไทยมีคุณภาพสูงกว่าที่อื่น ฝึกฝนได้ง่าย เข้ากับญี่ปุ่นได้ดี รักงานที่ทำ แต่มองไปข้างหน้าถ้าผลิตในประเทศไทยแล้วจะมีปัญหาในการส่งออกไปอเมริกา ยุโรป และแม้แต่ญี่ปุ่นเอง เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นก็เกรงใจทั้งอเมริกาและยุโรป ก็มีความจำเป็นต้องหาที่ลงทุนใหม่ถ้าประเทศไทยจะหยุดมีรัฐบาลประชาธิปไตยไป อีกนาน อย่างที่เป็นข่าวหรืออย่างที่เล่าลือกันหรือจากสัญญาณที่ได้รับ ตลาดสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศไทยก็น่าจะมีปัญหาในการหาตลาดเพราะเหตุผลทาง การเมือง นอกเหนือไปจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ

ที่หนักกว่านั้นก็คือการ ให้เหตุผลว่า แม้รัฐบาลไม่ต้องการอยู่ต่อตามที่ประกาศไว้ แต่จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลลงจากอำนาจไม่ได้ ต้องอยู่ต่อไปอีก 2-3 ปี เหตุการณ์ที่พระฤๅษีเกวาลัน

แห่งเขาหิมาลัยบอกนั้นคืออะไร คงจะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นไปในทางดี คงจะเป็นไปในทางร้าย ทุกคนจึงขวัญเสียว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้น่าจะเลวร้ายลงไปอีก จะยืดเยื้อเป็นเวลานาน รัฐบาลทหารจึงต้องอยู่เพื่อรอรับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โหรที่ทรงเจ้าเข้าผีอาจจะมีข้อมูลดีๆ เพราะลูกศิษย์บอกไว้ก่อนแล้วก็ได้ "ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่" หรือไม่ก็ช่วยลูกศิษย์โยนหินถามทาง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ทำให้ใจเสียทั้งนั้น เพราะบ้านเมืองเราให้โหรให้ฤๅษีที่อยู่ไกลถึงเขาหิมาลัยตัดสินใจให้

เมื่อ 40 สิบปีก่อนที่กัมพูชาจะตกอยู่กับเขมรแดงที่โหดร้าย รัฐบาลทหารของนายพล ลอน นอล ที่สหรัฐเป็นผู้สนับสนุน ก็ใช้วิธีเชิญพระเกจิอาจารย์มาทำการเสกน้ำมนต์กับทรายให้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วท่านนายพลก็นำเอาทรายกับน้ำมนต์ที่ปลุกเสกนั้นขึ้นเครื่องบินออกไปบิน ซัดและพรมให้ทั่วประเทศ เพื่อหวังขับไล่เขมรแดง โดยเชื่อว่าเขมรแดงเป็นปีศาจร้ายที่ออกจากปราสาทหินจะมายึดกัมพูชา

แต่ในที่สุดนายพลลอน นอล ก็แพ้ เขมรแดงก็เป็นปีศาจร้ายจริงๆ

ภาวการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้าย ทั้งในต่างจังหวัด ทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ความมั่นใจในอนาคตจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมาได้หดหายไปตามลำดับนั้น รัฐบาลควรจะต้องต่อสู้ข่าวร้ายด้วยการเสนอมาตรการและนโยบายที่มีเหตุผลและ ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ถูกกาลเทศะ ไม่ใช่แก้ไขโดยการขอร้องไม่ให้พูดในสิ่งที่ไม่ดี ให้เลือกพูดเฉพาะในสิ่งที่ดีๆ

นโยบายและมาตรการที่จะให้กำลังใจ เช่น นโยบายการลงทุนโครงการจัดการและบริหารน้ำ โครงการขยายท่าเรือน้ำลึก ขยายสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง รวมทั้งสนามบินอู่ตะเภา โครงการผลักดันการส่งออก การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว การเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจท่องเที่ยว การปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ชลประทานไปยังสินค้าอย่างอื่น การปลูกข้าวนาปรังราคาถูกนั้นหมดสมัยแล้ว

การจัดทัพเพื่อบริหาร จัดการสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การเร่งเจรจาการค้าเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป การเร่งเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ เสถียรภาพทางการเงินต่าง ๆ แม้จะยากแต่ก็ควรทำเพื่อขวัญและกำลังใจ

สงกรานต์เถลิงศกใหม่ จุลศักราช 1377 ผ่านไปด้วยดี ไม่มีเหตุร้ายอย่างที่เล่าลือให้ใจเสีย หวังว่าปี 2558 นี้ทั้งปีไม่ต้องไปสะเดาะเคราะห์กับคนทรงเจ้าเข้าผีที่ไหนอีก ขอให้ "ขวัญ" ที่จะรบทัพกับศึกเสือเหนือใต้จงมีชัยชนะ

อย่าขวัญหนีดีฝ่อไปนักเลย

ที่มา : นสพ.มติชน
//////////////////////////////////////////////////

ดื่มกาแฟอย่างไร ให้เป็นยารักษาโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์คินสัน !!?


วันนี้สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้ว
และโรคประจำของสังคมผู้สูงอายุทั่วโลกก็คือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer"s disease) ซึ่งเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดถึงร้อยละ 50-75 รองลงมาคือโรคพาร์คินสัน (Parkinson"s disease)

ในสังคมประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา คนอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมีอัตราป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ร้อยละ 10 ในขณะที่สังคมไทยพบร้อยละ 3.4 น้องๆ อเมริกาเลยทีเดียว

และความชุกของโรคจะพบมากขึ้นในสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังจะพบเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 5 ปีหลังอายุ 65 ปีไปแล้ว เห็นได้จากสถิติอัตราเกิดโรคในผู้สูงอายุ 65-69 ปี พบผู้ป่วย 3 คนต่อ 1,000 คน อายุ 70-74 ปี พบ 6 คน ในขณะที่ อายุ 75-79 ปี พบ 9 คน ตามลำดับและพบผู้ป่วยหญิงมากกว่าชาย

ในหมู่คนไทยเราเรียกโรคนี้ง่ายๆ ว่า "โรคความจำเสื่อม" เพราะในระยะสุดท้ายของโรค ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำทั้งหมด ต่อมาจะสูญเสียการทำงานต่างๆ ของร่างกายและเสียชีวิตในที่สุด

หลังจากความจำเสื่อมและสูญเสียความสามารถทางภาษาแล้ว ผู้ป่วยจะมีชีวิตโดยเฉลี่ย 10 ปี

แม้จะค้นพบโรคนี้มากว่า 100 ปี โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ อาลอยส์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค นอกจากพบว่ามีความผิดปกติของโครโมโซมและเป็นโรคที่สืบทอดทางพันธุกรรม

โรคนี้ยังไม่มีใครพบวิธีป้องกัน ทั้งยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ข่าวดีสำหรับผู้สูงอายุ มีการค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เครื่องดื่มสมุนไพรใกล้ตัวที่ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้ดีก็คือกาแฟถ้วย โปรดยามเช้าของทุกคนนั่นเอง เนื่องจากธุรกิจกาแฟแบรนด์ดังมีกำไรมหาศาล จึงมีทุนสนับสนุนงานวิจัยกาแฟว่ามีผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มอย่างไร

แน่นอนผลเสียต่อสุขภาพของผู้เสพติดกาแฟ คือ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง การสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูก เช่น การเกิดภาวะกระดูกสะโพกหักซึ่งพบบ่อยในผู้หญิงสูงอายุ

ก่อนอื่นควรทำความรู้จักสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกและใช้บริโภคในบ้านเราเล็กน้อย แม้ทั่วโลกมีสายพันธุ์กาแฟมากกว่า 50 ชนิด แต่ที่นิยมปลูกในไทยมี 2 พันธุ์ คือ อราบิก้า (Coffea arabica L.) และ โรบัสต้า (Coffea robusta L.)

สายพันธุ์แรกนั้นชอบขึ้นบนดอยสูงทางภาคเหนือของไทย จุดเด่นคือมีกลิ่นหอมชวนลิ้มลอง และมีปริมาณกาเฟอีนต่ำ

ส่วนสายพันธุ์หลังนั้นชอบพื้นที่ราบทางภาคใต้ จุดเด่น คือ มีรสชาติเข้มและมีกาเฟอีนสูงเป็นสองเท่าของพันธุ์อราบิก้า

กาเฟอีน (caffeine) เป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ธรรมชาติ พบได้ในเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น เมล็ดกาแฟ ใบชา เครื่องดื่มโคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง และโกโก้ เป็นต้น แต่เมล็ดกาแฟเป็นแหล่งของกาเฟอีนที่ใหญ่ที่สุด

ส่วนเมล็ดกาแฟจะมีกาเฟอีนมากหรือน้อย นอกจากขึ้นอยู่กับสายพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการคั่ว

เมล็ดกาแฟที่คั่วนานจนสีเข้มจะมีกาเฟอีนน้อยกว่าที่คั่วสุกแต่ใช้เวลาไม่นาน เพราะกาเฟอีนจะสลายไปในระหว่างการคั่วนั่นเอง

โดยทั่วไปแล้ว น้ำกาแฟ 150 ซีซีจากเครื่องต้มทำกาแฟไม่มีกระดาษกรองจะมีกาเฟอีนสูงที่สุดถึง 115 มิลลิกรัม

ในขณะที่กาแฟกรองมีกาเฟอีน 80 ม.ก.

และกาแฟสำเร็จรูป 65 ม.ก. ตามลำดับ

เนื่องจากกาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมดังกล่าวแล้ว จึงมีการศึกษาทางระบาดวิทยาในต่างประเทศจำนวนมากเพื่อหาความสัมพันธ์ของ พฤติกรรมการดื่มกาแฟกับผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ในฟินแลนด์มีการศึกษาวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบไปข้างหน้าระยะยาวที่เรียกว่า โคฮอร์ต (cohort study) ซึ่งเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครจำนวน 1,409 คนเริ่มต้นจากอายุเฉลี่ย 50 ปี เก็บข้อมูลไปข้างหน้า 21 ปี พบอาสาสมัครมีภาวะความจำเสื่อม 61 คน วินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ถึง 48 คน

ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟตั้งแต่มีอายุช่วงวัยกลางคนจนเข้าสู่วัยสูงอายุ มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่มกาแฟ

โดยดื่มกาแฟ 3-5 ถ้วย/วัน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคลดลงประมาณร้อยละ 65

ในขณะที่มีการศึกษาระยะยาวแบบโคฮอร์ตเป็นเวลา 10 ปีในสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาการดื่มกาแฟกับความเสี่ยงเกิดโรคพาร์คินสัน มีอาสาสมัครชายหญิงรวมถึง 135,916 คน พบว่าฤทธิ์ของกาเฟอีนมีผลทำให้ระดับสารสื่อประสาทโดพามีน (dopamine) ในสมองเพิ่มขึ้น

ทำให้สมองตื่นตัวป้องกันการเป็นโรคพาร์คินสันได้ทั้งในหญิงและชายโดยดื่มกาแฟวันละ 1-3 ถ้วย

ข้อพึงระวังสำหรับสตรีก็คือ ต้องไม่ดื่มกาแฟร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพราะไม่เกิดผลเชิงบวกกรณีการป้องกันโรคพาร์คินสันเลย

นอกจากนี้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงไม่ควรดื่มกาแฟเลยเพราะมีโทษมาก รวมถึงไม่ควรดื่มกาแฟร่วมกับการรับประทานอาหารและยาเสริมธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม หรือยาแก้ปวดแก้ไข้ สำหรับปริมาณการดื่มกาแฟไม่เติมน้ำตาลต่อวันไม่ควรเกิน 1-2 ถ้วย (ถ้วยละ 150 ซีซี มีกาเฟอีนเฉลี่ย 115 ม.ก./ถ้วย) และควรดื่มกาแฟสดแบบกรอง จึงจะเกิดประโยชน์ทางยาสูงสุด เพราะถ้าบริโภคมากกว่านี้หรือดื่มกาแฟชนิดอื่นจะเกิดโทษมากกว่าคุณ

ท่านผู้อยู่ในวัย 50 ต้นๆ ทุกเช้าควรดื่มกาแฟสดกรองเพียง 1 ถ้วยเป็นประจำ เพื่อเตรียมตัวใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นสุขปลอดพ้น จากภาวะระบบประสาทเสื่อมตราบเท่าอายุขัย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

อสังหารายเล็กถอดใจ แบงก์เข้มปล่อยกู้ เร่ขายทิ้งยกโครงการ !!?


เศรษฐกิจ ฝืดพ่นพิษ อสังหาฯรายเล็กเดี้ยงหนัก ถอดใจเร่ขายโครงการ สาเหตุหลักยอดขายไม่เข้าเป้า-แบงก์เข้มปล่อยกู้กระทบสภาพคล่อง "กลุ่มเปี่ยมสุข-ศุภาลัย-แสนสิริ-วิวัฒน์ฯ" เผยได้รับข้อเสนอทั้งบ้านจัดสรร คอนโดฯ ที่ดินเปล่าโซนมีนบุรี หนองจอก พัทยา "เกียรตินาคิน" แบเบอร์มีทรัพย์รอขายค้างพอร์ต 6 พันล้าน แจงเป็นที่ดินเปล่าพร้อมพัฒนาโครงการได้ทันที

นับตั้งแต่ไตรมาส 4/57 เริ่มได้รับการติดต่อจากเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมและเจ้าของที่ดินที่เตรียมพัฒนาโครงการคอนโดฯเข้ามามากขึ้น เพื่อให้เป็นตัวกลางเจรจากับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งให้เจรจาขายโครงการ ขายที่ดินที่ออกแบบโครงการไว้แล้ว และเป็นพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมทุน

เท่าที่ประมวลสาเหตุมาจาก 2-3 ส่วนคือ 1) เปิดตัวโครงการแล้วมียอดขายช้า 2) ภาวะเศรษฐกิจยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว จึงตัดสินใจไม่เสี่ยงพัฒนาโครงการต่อ และ 3) มีปัญหาภายในกับหุ้นส่วน

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 2 รายที่อยู่ระหว่างเจรจา รายแรกเป็นโครงการคอนโดฯแนวรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯที่เปิดขายแล้ว แต่ยอดพรีเซลไม่ค่อยดีนัก ประกอบกับติดปัญหาการขออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ล่าช้า และรายที่สองเป็นเจ้าของที่ดินที่ได้ออกแบบโครงการไว้แล้ว แต่กังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจและอาจมีปัญหาภายในกับหุ้นส่วน จึงชะลอการขึ้นโครงการและติดต่อให้บริษัทช่วยขายที่ดิน

ถ้าเศรษฐกิจยังซึม ๆ แบบนี้ต่อไป มีโอกาสจะเห็นผู้ประกอบการรายเล็กถอดใจขายโครงการมากขึ้น เท่าที่วิเคราะห์เกิดจากเรื่องทำเลที่ยังไม่ดีพอ คอนเซ็ปต์และการดีไซน์ ขาดประสบการณ์" แหล่งข่าวกล่าว

สาเหตุหลักขาดสภาพคล่อง

นายปรีชา กุลไพศาลธรรม กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทเปี่ยมสุข เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับการติดต่อผ่านนายหน้า เสนอขายโครงการคอนโดฯและบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพัทยา 3-4 ราย ติดต่อเสนอขายโครงการ ส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการรายเล็ก มูลค่าโครงการเฉลี่ย 300-400 ล้านบาท

สาเหตุมาจากเมื่อเปิดตัวแล้ว ทำยอดขายไม่ได้ตามเป้าหมายที่ธนาคารกำหนดไว้ จึงถูกธนาคารลดวงเงินปล่อยกู้ลง ผู้ประกอบการบางรายที่เปิดขายโครงการไปแล้วจึงตัดสินใจคืนเงินลูกค้า หรืออีกกรณีเป็นโครงการคอนโดฯโลว์ไรส์มีทั้งหมด 3-4 อาคาร ปรากฏว่าอาคารที่ 1-2 ก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้ว แต่ขายดีเฉพาะอาคารแรก ส่วนอาคารที่ 2 ขายได้ช้า ทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยกู้เพิ่ม จึงถอดใจนำโครงการมาเสนอขาย

เศรษฐกิจแบบนี้ทำให้ธนาคารเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังขาดประสบการณ์ แบงก์ติดตามยอดขายต่อเนื่อง ถ้าผ่านไป 3 เดือนแล้วต้องขายได้เท่าไหร่ และเมื่อสร้างเสร็จผ่านไปอีก 3 เดือนต้องโอนได้เท่าไหร่ ถ้าไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ก็ไม่ปล่อยกู้เพิ่ม แต่ยังไม่สามารถตกลงราคาได้ เพราะผู้ประกอบการเองก็ไม่อยากตัดใจขายขาดทุน" นายปรีชากล่าว

ทาบขายศุภาลัย-แสนสิริ

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัยเปิดเผยว่า บริษัทได้รับข้อเสนอขายโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดฯ เหมือนกัน เข้าใจว่าเป็นเพราะขาดประสบการณ์เรื่องการออกแบบโครงการ เช่น โครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่งออกแบบพื้นที่ส่วนกลางครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมด ทำให้ไม่คุ้มค่าการลงทุน ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวส่งผลให้การขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

แหล่งข่าวจาก บมจ.แสนสิริเปิดเผยว่า เริ่มได้รับข้อเสนอขายโครงการบ้านจัดสรรซึ่งประสบปัญหายอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่เมื่อเจรจาเรื่องราคาแล้วไม่สามารถจบดีลได้ เนื่องจากเจ้าของต้องการขายในราคาที่ยังพอมีกำไรหรือไม่ขาดทุน ส่วนคอนโดฯยังไม่ได้รับข้อเสนอแต่เชื่อว่ามีโครงการของผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่สามารถขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้และถูกสถาบันการเงินกดดันจนต้องนำโครงการมาเสนอขาย

โซนมีนบุรี-หนองจอกหนักสุด

นายฐิติวัฒน์ สุวิวัฒน์ชัย รองประธานกรรมการ บริษัท วิวัฒน์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดฯแบรนด์ "พิบูลย์" เปิดเผยว่า ได้รับข้อเสนอขายโครงการบ้านจัดสรรโซนมีนบุรี เป็นของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ทดลองเข้ามาทำอสังหาฯและเพิ่งเริ่มพัฒนาโครงการ โดยให้เหตุผลว่า ที่ต้องการขายโครงการเพราะเมื่อเข้ามาทำแล้วไม่ถนัดจึงไม่ต้องการทำต่อ

นายวิสิฐ กิตติอุดม ประธานกลุ่มบริษัทอาร์เคกรุ๊ป ผู้พัฒนาโครงการแนวราบโซนตะวันออกของกรุงเทพฯเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาได้รับข้อเสนอขายโครงการบ้านจัดสรรย่านหนองจอก ที่เปิดขายและก่อสร้างบ้านแล้วบางส่วน แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากขายไม่ดี อย่างไรก็ตาม การเจรจาไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากตกลงราคากันไม่ได้ นอกจากนี้มีผู้ประกอบการเสนอขายที่ 7 ไร่ ซึ่งขอจัดสรรไว้แล้วเพื่อเตรียมพัฒนาโครงการ แต่มองว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงจึงตัดสินใจขายที่ดินแทนที่จะพัฒนาโครงการเอง

บริษัท รื่นฤดี ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ที่มีนายศุภโชค ปัญจทรัพย์ หลานชายนายโชคชัย ปัญจทรัพย์ หนึ่งในดีเวลอปเปอร์ที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนฟองสบู่แตก ก็ได้รับข้อเสนอขายคอนโดฯในทำเลแครายและโครงการจัดสรรโซนมีนบุรี เนื่องจากประสบปัญหายอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด รายงานผลสำรวจอสังหาฯ ปี 2557 มีโครงการหยุดขายรวม 122 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 21 โครงการ ในจำนวนนี้สาเหตุเกิดจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ 38 โครงการ ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 24 โครงการ และไม่ได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 23 ราย

KK แบเบอร์ทรัพย์รอขายเพียบ

นางสุวรรณี วัธนเวคิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KK เปิดเผยเพิ่มเติมว่า KK มีทรัพย์รอการขายหรือ NPA เหลืออยู่ในพอร์ตประมาณ 6,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยมี 2 หมื่นล้านบาท เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสในการลงทุนอสังหาฯ

ก่อนหน้านี้ธนาคารเพิ่งจะเปิดผลวิจัยหัวข้อ 16 จังหวัดดาวรุ่งลงทุนอสังหาฯ โดยรวมกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากพบว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยผลตอบแทนการลงทุนอสังหาฯประเภทที่ดินเปล่าสูงถึง 9% ดีกว่าลงทุนทองคำซึ่งมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนติดลบ 11% สูงกว่าหุ้น บ้านเดี่ยว คอนโดฯ ที่ค่าเฉลี่ย 2-3.7% ต่อปี

เนื่องจากทรัพย์รอขายของ KK เป็นแปลงใหญ่ เพราะธนาคารปล่อยกู้พรีเซลไฟแนนซ์ หรือปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่จะลงทุนพัฒนาโครงการ โดยราคาต่ำสุดเริ่มต้น 30 ล้านบาท ทั้งนี้ หากนักลงทุนต้องการคำแนะนำว่า ถ้าซื้อแลนด์แบงก์จากพอร์ตของเราไปแล้วจะทำอะไรได้บ้าง ทางธนาคารก็ยินดีให้คำปรึกษา เพราะมีแผนกวิจัยข้อมูลโครงการอสังหาริมทรัพย์รองรับโดยตรงอยู่แล้ว" นางสุวรรณีกล่าว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทางรอดของชนชั้นกลาง (ต่อ) !!?


โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

วิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุค Baby Boomer ส่งผลให้ชนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็วสำหรับประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างไทย การเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตเพียงพอที่จะสร้างความสำเร็จของชนชั้นกลาง "ยุคแรก" แต่ความยากลำบากของชนชั้นกลางไทยสำหรับ GEN X, GEN Y ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 70% เริ่มเห็นภาพมากขึ้น แม้ว่าราคาบางสิ่งบางอย่างจะถูกลงอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะที่คุณภาพชีวิตกลับลำบากมากกว่าเดิม ซึ่งมีการศึกษาปัญหานี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนำเสนอวิธีแก้มากมาย ซึ่งผมจะสรุปทางรอดของชนชั้นกลางว่ามีอะไรบ้าง

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องมี "ภาวะผู้นำ" และ "กล้าคิดใหญ่" เราพูดกันบ่อยครั้งว่าประเทศไทยมีภูมิศาสตร์และศักยภาพที่จะเป็น "ศูนย์กลาง" ของอาเซียน แต่น้อยครั้งจะมีคนคิดว่า "อยาก" จะเป็น "ผู้นำ" อาเซียน อดีตนายกฯ ลี กวน ยู บอกว่า ประเทศสิงคโปร์ขึ้นมาถึงทุกวันนี้ได้มีเหตุผลเดียวเพราะ "คน" ประเทศที่ใช้เวลาสร้างมาแค่หนึ่งช่วงชีวิตคน สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำอาเซียนและมุ่งสู่ระดับโลกได้ เพราะพวกเขามีภาวะผู้นำสูงในคนทุกระดับ ประเทศไทยมีนักศึกษาจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนมาก แต่น้อยครั้งที่จะถูกปลูกฝังให้ "กล้า" เป็น "ผู้นำ" ที่จะคิดสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อะไรบางอย่าง

สิ่งที่สองคือ การใช้ "ประสิทธิภาพ" และ "ประสิทธิผล" ในตัวเองอย่างเต็มที่ จงเลือกองค์กรที่ให้ "โอกาส" และมองศักยภาพคนที่ความสามารถ ขณะเดียวกัน ต้องพยายาม "สร้าง" สิ่งใหม่ ๆ ทำงานให้มากกว่าเงินเดือน และความคาดหวังของทุกคนในบริษัท เพราะต้นทุนสำคัญของชนชั้นกลาง คือ "แรง" "เวลา" และ "ไอเดีย" บ่อยครั้งเราจะทำงานน้อยกว่าศักยภาพ เพราะคิดว่าทำงานหนักไปก็ไม่มีประโยชน์ ยังไงเราก็โตขึ้นตามลำดับอาวุโสของบริษัท ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเรามี 2 ทางเลือก คือ ไม่สนใจ และทำงานหนักจนกว่าบริษัทจะเห็นคุณค่า หรือไม่ก็หาบริษัทใหม่ที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ จงอย่ายอมรับชะตากรรม

สิ่งที่สามคือ พยายามสร้าง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในตัวเองให้ได้ อย่าไปใช้จ่ายตามกระแส ใช้ชีวิตต่ำกว่าความสามารถในการหารายได้ให้มากที่สุด และมองหาชีวิต "ที่มีอิสรภาพจากเงิน" อย่าติดกับดักการมีชีวิต "เพื่อบอกว่าเรามั่งคั่ง" กับดักเหล่านี้ทำให้เราสร้างภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าในอนาคต ซึ่งเป็นการทำลายศักยภาพตัวเองอย่างช้า ๆ

เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การคิดเล็ก แต่เป็นการเริ่มต้นคิดใหญ่ การที่เราสามารถสร้าง "งบดุลของตัวเอง" ที่แข็งแรง ไม่มีหนี้ ไม่มีภาระ คือการปลดล็อก "ข้อจำกัด" เพราะเราไม่สามารถทำงานออกมาให้ดีได้ ถ้าเต็มไปด้วยหนี้ที่ต้องจ่ายทุกเดือน

สิ่งที่สี่คือ "จงสร้างครอบครัว" การสร้างครอบครัวคือการสร้างฐานที่แข็งแรงในชีวิต มีบทวิจัยมากมายที่บอกว่า คนที่มีครอบครัวมักจะมีผลผลิตสูงกว่า มีชีวิตที่มีเป้าประสงค์มากกว่า การมีลูกเป็นอีกส่วนสำคัญ คือครอบครัวจะเป็นแรงขับดัน แรงบันดาลใจ ไม่ใช่ภาระ เพราะดูแลครอบครัวแบบเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้แพงเลย เมื่อเทียบกับ Synergy ที่คุณจะมีกับคู่ชีวิตและลูก เพียงแต่คุณต้องเหนื่อยบ้างในวันนี้เพื่อวันข้างหน้า นี่คือปรัชญาการลงทุน และมีบทวิจัยจำนวนมากบอกว่า ยิ่งคุณประหยัดต่อลูกเท่าไหร่ โอกาสที่คุณและลูกจะเป็นเศรษฐีจะสูงขึ้นเท่านั้น

สิ่งที่ห้าคือ "อย่าหยุดเรียนรู้" ชนชั้นกลางต้องรู้จักความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยง จงเริ่มทำให้เร็ว เริ่มเล็ก ๆ และเชี่ยวชาญในตลาดนั้น ๆ ปลาเล็กสามารถมีชีวิตที่แข็งแรงได้ ถ้ายืดหยุ่นกว่า เร็วกว่า และอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองชำนาญ ระบบเศรษฐกิจใหม่หรือดิจิทัลอีโคโนมีสร้างโอกาสมากมายให้ชนชั้นกลางยุคปัจจุบัน การทำงานมากกว่าหนึ่งอย่างก็เป็นทางออกที่ดีในยุคนี้

สิ่งที่หกคือ "การลงทุน" โดยเฉพาะการลงทุนหุ้น ช่วยให้ชนชั้นกลางสามารถเกาะ "ชนชั้นนายทุน" ได้ดีที่สุด แนวคิดการลงทุนที่สำคัญที่สุดคือ จงลงทุนให้เร็ว อย่าจับจังหวะตลาด ค่อย ๆ ลงทุนตามสัดส่วนอย่างน้อย 20% ของรายได้ สร้างวินัยการออมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ "ห้าม" แตะต้องเงินก้อนนี้เป็นอันขาดจนกระทั่งวันที่คุณจะเลิกทำงานหรือเกษียณ หุ้นจะดีหรือร้ายคุณก็ยังต้องลงทุน ถ้าทำไม่ได้ควรมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี เพราะ 90% ของคนลงทุนในตลาดหุ้นมักไม่ประสบความสำเร็จด้วยสาเหตุหลาย ๆ อย่าง และคนส่วนมากต้องการโค้ชด้านการเงิน เพียงแต่พวกเขาไม่รู้เท่านั้น

ถ้าทำได้ตามนี้อีก 10-15 ปีข้างหน้า คุณจะเป็นชนชั้นกลาง "ที่รอด" ในเศรษฐกิจทุนนิยมยุคนี้แน่นอน และนี่ไม่ใช่แค่ทางรอดของชนชั้นกลาง แต่นี่คือ ทางรอดของประเทศไทย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

อาเซียนสะดุดปัญหาพลังงาน ASEAN Power Grid ....!!?


เหลือเวลาเพียงไม่กี่อึดใจสำหรับการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ขณะที่หลายโครงการที่ชาติสมาชิกได้ตกลงที่จะร่วมกันพัฒนา ดูเหมือนว่ายังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะประเด็นด้าน "พลังงาน" กับยุทธศาสตร์ "ASEAN Vision 2020 Energy" ที่ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับการเจรจาเพื่อให้บรรลุผลตามเป้า

โครงการ "ASEAN Power Grid" สู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ให้มีความเชื่อมโยงกันและพร้อมรองรับการค้าและการลงทุน ซึ่งได้วางวิสัยทัศน์เอาไว้ว่า "ไทยจะเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งและสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอาเซียนร่วมกัน" โดยจะเชื่อมโยงกับ ลาว, เมียนมาร์, กัมพูชา, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เกาะบอร์เนียว และฟิลิปปินส์

โดยโครงการหลัก (Flagship Project) ในการเชื่อมโยงสายส่ง ASEAN Power Grid ประกอบด้วย โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์, โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรี, โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเซเปียนเซน้ำน้อย ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกลุ่มนักลงทุนจากเกาหลี ไทย และลาว โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ด้วยการส่งเข้าทางจังหวัดอุบลราชธานี และส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าลาว

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาลุ่มน้ำโขง (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มองว่า ความร่วมมือและความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียนยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เนื่องจากพฤติกรรมการใช้พลังงานของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนถึงความกระจุกตัวของพลังงานในภูมิภาค

ผลสำรวจเมื่อปี 2553 ระบุถึงอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด 99% ของประชากรทั้งประเทศ รองลงมา คือ เวียดนาม 95% และ สปป.ลาว, กัมพูชา, เมียนมาร์ ราว 69% 26% และ 23% ตามลำดับ

ยิ่งกว่านั้น การไฟฟ้านครหลวงของไทย เผยผลสำรวจประจำปี 2549 ว่า การใช้ไฟฟ้าของ 3 ห้างยักษ์ใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ สยามพารากอน มาบุญครอง และเซ็นทรัลเวิลด์ รวมกันมากถึง 278 ล้านกิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (Gwh) ขณะที่สามเขื่อนของไทย ได้แก่ เขื่อนปากมูล, เขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้เพียง 266 ล้านกิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

ฉะนั้นการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากลาวและเมียนมาร์ จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาค อีกทั้งนโยบายการผลิตกระแสไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ ยังเอื้อต่อการส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ลาวมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง26,000 เมกะวัตต์ ทั้งจากพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานถ่านหิน โดยถือว่า ลาว เป็น "Battery of Asia" แต่ดูเหมือนศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของลาวมีไว้เพื่อส่งออกไม่ใช่เพื่อคนในประเทศซึ่งวีโอเอ ภาษาลาว รายงานว่า นายวีระพน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว กล่าวถึงแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอีก 4 เท่าตัวของระดับปัจจุบัน ที่ผ่านมา ลาวส่งออกราว 2 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ 3,200 เมกะวัตต์ และกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 6,000 เมกะวัตต์

"เราคาดว่าภายในปี 2563 เราจะมีกำลังผลิต 12,000 เมกะวัตต์ ราว 2 ใน 3เป็นไฟฟ้าเพื่อการส่งออก และภายในปี 2573 จะผลิตเพิ่มเป็น 24,000 เมกะวัตต์ซึ่งนับว่าเกือบเต็มศักยภาพของไฟฟ้า พลังน้ำในลาว ซึ่งไทยเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่และลาวก็มีข้อตกลงขายไฟฟ้าให้เวียดนามและกัมพูชาด้วย อีกทั้งผู้ส่งออกพลังงานกำลังดูลู่ทางที่จะแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับจีนในอนาคต" นายวีระพนกล่าว

ขณะเดียวกัน ลาวกำลังหาทางแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างมณฑลยูนนานของจีน เวียดนาม ไทย และกัมพูชา รวมทั้งการส่งออกไฟฟ้าจากลาวผ่านไทยและมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ด้วย ขณะที่เมียนมาร์ อีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าอย่างมาก โดยเฉพาะพลังน้ำ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในทะเลที่เป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ คือ ยาดานา คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองรวมทั้งสิ้น 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และเยตากุนอีก 1.2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

ปัญหาที่เกิดขึ้นและชวนให้คิดก็คือ หากแหล่งพลังงานทั้งลาวและเมียนมาร์มีอย่างล้นหลาม แล้วทำไมการเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนในประเทศจึงยังไม่ครอบคลุม แม้ที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาร์รับรู้ถึงปัญหาและพยายามแก้ไข ด้วยการร่างกฎหมายพลังงาน เพื่อเตรียมลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติลง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศก็ตาม

ทั้งนี้ โครงการ ASEAN Power Grid ที่ประเทศสมาชิกพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริง แต่กลับชะงักไม่มีความคืบหน้า อันเนื่องมาจากการจัดตั้งศูนย์ควบคุม หรือศูนย์สั่งการ ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าประเทศไหนจะเป็นผู้ควบคุมศูนย์ในภูมิภาค เพราะการควบคุมศูนย์ดังกล่าวมันหมายถึง "การกุมอำนาจ" ในการสั่งจ่ายไฟฟ้าของแต่ละประเทศ

สถานการณ์ด้านพลังงานนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงระดับความไว้เนื้อเชื่อใจของภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างดีเพราะปัญหาด้านพลังงานถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของผู้ร่วมชะตากรรม ซึ่งหากเกิดการรวมประเทศภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว อุปสรรคข้างหน้าจะเป็นเหมือนตัวทดสอบว่า ชาติสมาชิกจะจริงใจหรือต้องการฉกฉวยผลประโยชน์จากการเป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น

เรียบเรียงโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

อันตรายตัวจริง !!?


โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกของเราในเดือนมกราคมปีนี้ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว หดตัวลงถึงร้อยละ 3.46 ตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วก็ลดลงอีกร้อยละ 2.4 ตัวเลขทั้งปีอาจจะเป็นไปได้ว่ารายได้จากการส่งออกของเราก็คงจะไม่ดีไปกว่าตัวเลขของเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์

ที่เคยหวังว่า จีนจะเป็นตลาดที่จะช่วยรองรับสินค้าส่งออกของเรา เพื่อชดเชยการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยของตลาดยุโรปและตลาดอเมริกา เพราะเหตุผลที่ยุโรปได้ตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรไปแล้ว และเรายังไม่สามารถเดินทางไปเจรจากับเขาได้ สหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน

แต่กลับกลายเป็นว่า การส่งออกของเราไปยังตลาดจีนในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ กลับหดตัวมากกว่าการส่งออกไปยุโรปและอเมริกาเสียอีก กล่าวคือ ในเดือนมกราคม การส่งออกของเราไปจีนหดตัวถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ก็หดตัว 20 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน และยังเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน

ตกลงจีนก็คงจะไม่ใช่ตลาดที่เราจะหวังพึ่งเพื่อชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆของเราได้

ในสุนทรพจน์กล่าวเปิดประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีนเมื่อวันพฤหัสบดีที่5มีนาคมที่ผ่านมา ได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า "ความเป็นปกติใหม่" หรือ "new normal" กล่าวคือลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ จากที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ในปี 2557 ลงเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 และเป็น 6.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2559 พร้อมๆ กับประกาศลดดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 4 เดือน ลดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจลง หันกลับมากระตุ้นการบริโภคของครัวเรือนภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเวลากว่า 20 ปี อัตราการขยายตัวของการลงทุนทั้งของภาคเอกชนและรัฐบาลขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของการบริโภคอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่สัดส่วนของการบริโภคของครัวเรือนในบัญชีรายได้ประชาชาติกลับลดลง

ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วปัญหาสำคัญที่ติดตามมาก็คือปัญหาเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงและปัญหามลภาวะซึ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างถึงที่สุด

การลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดการลงทุนของภาครัฐวิสาหกิจซึ่งเคยมีสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 40 ลง เพื่อให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการลงทุน พร้อมๆ กับลดอัตราการขยายตัวของการลงทุนลง เพื่อให้การบริโภคของภาคครัวเรือนได้มีโอกาสขยายตัวให้มากกว่าในปัจจุบัน

การที่รัฐบาลจีนประกาศลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงก็ย่อมจะหมายความว่าการนำเข้าสินค้าและบริการของจีนจะต้องลดลงเป็นเงาตามตัวไปด้วยส่วนการส่งออกของจีนนั้นได้เริ่มลดลงอยู่แล้ว

การที่เราหวังว่าจีนจะเป็นตลาดของสินค้าส่งออกของเราเพื่อทดแทนการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยของยุโรปและอเมริกาจึงอาจจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอย

การลงทุนต่างประเทศของจีนนั้น จีนก็มุ่งที่จะลงทุนสำหรับสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้าขั้นปฐม เช่น น้ำมัน พลังงาน และวัตถุดิบขั้นปฐม สำหรับป้อนโรงงานในประเทศจีน ประเทศของเรามิใช่ประเทศที่ผลิตสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ แร่ธาตุต่างๆ ส่วนวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ยางพาราหรือมันสำปะหลัง และอื่นๆ จีนก็ส่งเสริมพัฒนาเพื่อทดแทนการนำเข้า

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ก็จะไม่ช่วยการส่งออกของเรามากนักเพราะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะส่งเข้าไปในตลาดสหรัฐกลายเป็นสินค้าจากประเทศในแถบละตินอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ และการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาก็ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นอยู่แล้ว แต่เมื่อยุโรปและญี่ปุ่นประกาศนโยบาย คิว.อี.หรือเพิ่มปริมาณเงินยูโรและเงินเยนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของเขา ก็จะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเป็นทวีคูณ

ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้นก็จะหิ้วค่าเงินบาทของเราให้แข็งตามขึ้นไปด้วยเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยเพราะการลดดอกเบี้ยอาจจะกระทบกระเทือนรายได้ของสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์

การที่ธนาคารกลางของเราทำ 2 หน้าที่ที่ขัดแย้งกันคือ เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้กำกับตรวจสอบและดูแลสถาบันการเงินด้วย สองหน้าที่นี้ขัดแย้งกัน หรือมี "conflict of interest" ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่จะเห็นชัดยิ่งขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง หลายๆ ประเทศจึงมักจะให้มีการแยกกัน ระหว่างฝ่ายกำกับดูแลสถาบันการเงินกับผู้กำหนดนโยบายการเงิน ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศไทย เพราะสังคมไทยไม่เข้าใจระบบการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ ความเป็นอิสระอย่างสุดโต่งของธนาคารกลางจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่เล็กและเปิดอย่างประเทศไทยวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเป็นตัวอย่างอันดีที่สังคมไทยไม่ยอมเรียนรู้เพราะมีอคติกับฝ่ายการเมืองจนเสียความสมดุล

ความเป็นความตายของรัฐบาลทหารในขณะนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่การมีหรือไม่มีกฎอัยการศึก หรือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้เบาบางลงไปมากแล้ว แต่จะอยู่ที่การล่มสลายและการล้มละลายของธุรกิจ ซึ่งเห็นชัดขึ้นทุกที การหดตัวของการส่งออก การลดลงของราคาสินค้าเกษตร การลดลงของราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม การลดลงของธุรกิจการท่องเที่ยว ย่อมทำให้รายได้ของครัวเรือนลดลง ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น แต่รวมถึงประชากรในส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจด้วย

เมื่อรายได้ของครัวเรือนลดลง ข่าวเรื่องหนี้สินของครัวเรือนก็จะเป็นข่าวสำคัญตามมา ข่าวต่อมาก็คงจะลุกลามไปที่ข่าวหนี้เสีย การผิดนัดในการชำระหนี้ของสถาบันการเงินก็คงจะเป็นข่าวตามมา

ครั้นจะมองไปในระบบการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจก็มองไม่เห็นว่ารัฐบาลโดยข้าราชการและบรรยากาศภายใต้กฎอัยการศึกจะมีผู้ใดกล้าหาญพอที่จะออกมาเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือมาตรการทางเศรษฐกิจ แม้แต่สถาบันธุรกิจต่างๆ ส่วนสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารหรือ กลุ่มหรือชมรมทางเศรษฐกิจการค้า บรรยากาศเช่นนี้จึงน่าจะเป็นอันตรายต่อรัฐบาลเอง การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเป็นไปในทางยกย่องชมเชยเสียมากกว่า

การส่งออกของเราขยายตัวในอัตราที่ลดลงจนกลายเป็นหดตัวมาตั้งแต่กลางปีที่แล้วไตรมาสแรกของปีนี้ก็น่าจะหดตัวอย่างน้อย3-4 เปอร์เซ็นต์ การลงทุนไม่มีเลย เรื่องเหล่านี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่าที่เคยทำงานทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี แม้จะมีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจอุตสาหกรรมและธุรกิจการเงินจะล่มสลายไม่ได้ที่พูดเอาใจกันว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว3-4 เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เศรษฐกิจปีนี้น่าจะหดตัวหรือขยายตัวติดลบ

อันตรายตัวจริงของรัฐบาลจึงอยู่ที่เศรษฐกิจไม่ใช่การชุมนุม

ที่มา.มติชนออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

สอท. ค้านเก็บภาษี ที่ดิน จี้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ !!?

ชี้เศรษฐกิจยังทรุดไม่เหมาะเก็บภาษี ที่ดิน เพิ่ม VAT ชี้จะซ้ำเติมสถานการณ์แย่ลงอีก

-ที่อยู่อาศัยเสียภาษีไม่เกินพัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางการลดหย่อนภาษีในร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า การพิจารณาแนวทางการลดหย่อนภาษีนี้ จะอยู่บนหลักการที่ว่าจะไม่มีการกำหนดอัตราพิเศษหรือปรับลดอัตราภาษี และจะไม่ปรับลดการคำนวณจากราคาประเมิน แต่จะใช้วิธีการลดหย่อนจากภาระภาษีหลังการคำนวณแล้ว โดยจะกำหนดเป็นวงเงินที่ผู้เสียภาษีจะไม่มีภาระภาษีเกินกว่านั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการลดหย่อนสำหรับที่ดินเชิงเกษตรกรรมและที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย โดยที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยจะลดหย่อนให้สำหรับที่อยู่อาศัยประเภทที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม ซึ่งต้องพิสูจน์ทางสายเลือดได้ และอยู่มาก่อนที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลบังคับใช้ โดยจะกำหนดเป็นวงเงินที่จะต้องเสียภาษีว่าไม่ควรเสียเกินจำนวนเท่าใด เบื้องต้นหารือกันว่าสำหรับภาษีที่อยู่อาศัยโดยรวมที่จะต้องเสียนี้ จะอยู่ในหลักร้อยบาทหรือหลักพันบาทต่อปีเท่านั้น

สมมุติว่ามีบ้านหลังหนึ่ง พื้นที่ 1 ไร่ อยู่ในซอยสุขุมวิท 24 ในอดีตซื้อมาราคาตารางวาละ 5 สลึง แต่ปัจจุบันตารางวาละ 5 แสนบาท คิดเป็นมูลค่าที่ดินรวม 200 ล้านบาท ถ้าคิดภาษีในอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน จะต้องเสียภาษี 2 แสนบาทต่อปี ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่เขามีที่ดินราคาสูง แต่กรณีที่เจ้าของบ้านดั้งเดิมดังกล่าวมีการเปลี่ยนเจ้าของการเสียภาษีจะเข้าสู่เกณฑ์ปกติ" แหล่งข่าวกล่าว

- 2 แนวลดหย่อนที่เกษตรกรรม

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับเพดานการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัยนี้ จะกำหนดที่ 0.5% ของราคาประเมิน แต่การจัดเก็บจริงจะอยู่ที่ 0.1% ของราคาประเมิน โดยยกเว้นภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 3 ล้านบาท จะจัดเก็บ 50% ของอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน ส่วนที่เกินกว่า 3 ล้านบาท จะเสียภาษี 0.1% ของราคาประเมิน ส่วนที่ดินเชิงเกษตรกรรม ขณะนี้มี 2 แนวทางการพิจารณาลดหย่อน คือ 1.ยกเว้นเป็นขนาดพื้นที่เลย เช่น ขนาด 15-20 ไร่ ได้รับการยกเว้น หรือ 2.ยกเว้นบนฐานมูลค่าของที่ดิน

"ส่วนที่อยู่อาศัยที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมด้วย จะพิจารณาบนหลักการที่ว่า จำนวน 3 ใน 4 ของพื้นที่นั้นๆ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับอะไร เช่น พื้นที่ปลูกบ้านถึง 3 ส่วน ก็จะคิดบนฐานที่อยู่อาศัย หากทำเกษตรกรรมถึง 3 ส่วน จะคิดบนฐานที่ดินเชิงเกษตรกรรม โดยเพดานภาษีที่ดินเชิงเกษตรกรรมกำหนดไว้ที่ 0.25% ของราคาประเมิน ส่วนอัตราการจัดเก็บจริง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา" แหล่งข่าวกล่าว

- ย้ำที่ดินพาณิชย์ไม่มียกเว้นภาษี

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับที่ดินเชิงพาณิชย์ เพดานการจัดเก็บจะอยู่ที่ 2% ของราคาประเมิน เบื้องต้นจะไม่มีการยกเว้น แต่หากที่ดินเชิงพาณิชย์นั้นมีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอยู่อาศัยด้วย จะคิดบนฐานที่อยู่อาศัยตามการใช้พื้นที่จริง และคิดบนฐานเชิงพาณิชย์ตามการใช้พื้นที่จริง อัตราการจัดเก็บจะแบ่งตามขนาดการประกอบธุรกิจ เช่น ห้องแถวขนาดเล็ก จะมีอัตราจัดเก็บที่ต่ำกว่าห้างสรรพสินค้า ส่วนที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า จะไม่ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี

แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ ไม่ได้เป็นการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ แต่เป็นภาษีที่มาทดแทนการจัดเก็บภาษี 2 ฉบับที่ล้าสมัย คือภาษีที่ดินและโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งมีการยกเว้นการเสียภาษีหลากหลายรูปแบบ ทำให้ผู้เสียภาษีแทบจะไม่มีภาระภาษี ดังนั้น การจัดเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่นี้ ถือเป็นการเสียภาษีบนฐานที่ควรจะเสีย และช่วยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น

- 4 สมาคมรอคลังเคาะตัวเลขภาษี

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ทีเอสเอและ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ คือ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย จะยังไม่เข้าไปหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ทบทวนการคิดอัตราการจัดเก็บของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะรอให้สรุปตัวเลขที่ชัดเจนก่อน เชื่อว่ารัฐจะไม่เก็บเต็มเพดานภาษีอยู่แล้ว

"ภาษีเดิมคือภาษีโรงเรือนและที่ดิน เก็บจากรายได้ค่าเช่า ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีเพดานจัดเก็บที่ 3% แต่จัดเก็บจริงเพียง 0.8% หรือไม่เกิน 1% แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะจัดเก็บจากมูลค่าทรัพย์สินตามราคาประเมิน อาจเกิดความไม่เป็นธรรมกับโรงแรมที่อยู่ในทำเลใจกลางเมืองที่มีราคาประเมินที่ดินสูง จึงอยากให้พิจารณาฐานการเก็บภาษีเดิมประกอบด้วยเพื่อให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษี" นายสุรพงษ์กล่าว

นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การจะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรมีหลักการที่ชัดเจนก่อน สมัยที่พรรค ปชป.เป็นรัฐบาลเคยผลักดันเรื่องภาษีทรัพย์สิน ขณะนั้นเองมีความชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายไม่ได้ต้องการภาษีเพิ่ม แต่ต้องการให้ความเป็นธรรม อุดช่องโหว่ทุจริต การใช้ดุลพินิจของข้าราชการ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลนี้ประกาศชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการภาษีเพิ่ม ต้องการสร้างความเป็นธรรม และอุดช่องโหว่ในสังคม ผู้เสียภาษีก็จะสบายใจ

- สอท.ชี้ยังไม่เหมาะรีดภาษีที่ดิน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศยังไม่ดี ดังนั้น การที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นการซ้ำเติม ควรจะจัดเก็บช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่นโยบายการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) นั้นไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ควรดำเนินการตอนนี้ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและแย่ลง เนื่องจากปัจจุบันการบริโภคภายในประเทศค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว หากจะขึ้นภาษีแวตควรปรับขึ้นช่วงเศรษฐกิจดีและอัตราเจริญเติบโตของประเทศ ขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 4-4.5%

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ปรับขึ้นภาษีแวตในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ยังไม่ดี แม้อยากจะปรับขึ้นก็คงไม่สามารถทำได้

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก กล่าวว่า ขณะนี้ไม่เหมาะที่จะขึ้นแวต ควรรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นก่อน หากรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวดีขึ้นมากกว่านี้ การขึ้นแวตน่าจะทำได้ แต่ควรทยอยปรับขึ้นจากปัจจุบัน 7% เป็น 8% จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเล็กน้อย แต่จะไม่เกิดความตระหนกจนถึงขั้นกักตุนสินค้า

- SMEโอดรายได้หด 30%

นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอทีเอสเอ็มอี) กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่ดีนัก รายได้ลดลงประมาณ 20-30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศยังไม่ฟื้นตัว จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นเพราะไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม อยากเสนอให้จัดงานอาเซียนเที่ยวไทยภายในปีนี้ เป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เชื่อว่าจะกระตุ้นรายได้ให้ภาคเอสเอ็มอีได้รวดเร็ว

"จากการสอบถามเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิก หลายคนพูดตรงกันว่า รายได้ลดลงประมาณ 20-30% หลายคนไม่อยากรอมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศอย่างเดียวเพราะล่าช้า จึงอยากให้ภาครัฐโปรโมตให้อีก 9 ประเทศในอาเซียนมาเที่ยวไทย เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม เรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่แล้วแต่อยากให้อำนวยความสะดวกเพิ่มเติม อาทิ การให้วีซ่าเพราะบางประเทศยังต้องใช้วีซ่าเข้าไทยอยู่ หากกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้ จะทำให้ภาคเอสเอ็มอี ได้รับอานิสงส์โดยตรง เพราะรายได้หลักของหลายธุรกิจของเอสเอ็มอี มาจากภาคการท่องเที่ยว" นางเพ็ญทิพย์กล่าว

-หนี้เน่าเพิ่ม-จี้รัฐเร่งกระตุ้น ศก.

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกชะลอตัว ส่งผลให้เริ่มเป็นเอ็นพีแอลในอัตราที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและหามาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องเอสเอ็มอีอย่างเร่งด่วน

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เริ่มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังการส่งออกชะลอตัวลง และแรงซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้จำหน่ายสินค้าลดลง และยังเผชิญการแข่งขันที่สูง ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

"การส่งออกเดือนมกราคมที่ผ่านมาลดลง ขณะที่แรงซื้อในประเทศไม่ฟื้นตัว ดังนั้นสิ่งที่เอกชนรอดูคือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พบว่าเดือนมกราคมรัฐเบิกจ่ายงบลงทุนเพียง 5 หมื่นกว่าล้านบาท คิดเพียง 13% จากที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้การลงทุนทั้งรัฐและเอกชนบางส่วนชะลอออกไป" นายเกรียงไกรกล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน
///////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

ซึมยาว !!?


โดย. วีรพงษ์ รามางกูร
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่หน่วยงานราชการประกาศออกมาสอดคล้องกันกับบรรยากาศทางเศรษฐกิจของประชาชนไม่ว่าจะเป็นประชาชนระดับใด ต่างก็มีความรู้สึกว่าการทำมาหากินฝืดเคือง ไม่คล่องตัวเหมือนกับเมื่อ 2-3 ปีก่อน

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่เล็กและเปิด ลำพังแต่จะใช้ตลาดภายในประเทศย่อมจะไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณการผลิตสินค้าและบริการเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งยังต้องพึ่งพาภาคบริการอันได้แก่ การท่องเที่ยว สถานที่ที่นักท่องเที่ยวมาใช้บริการ โรงแรม ที่พัก รีสอร์ต สถานบริการ สถานพักผ่อนหย่อนใจต่างๆ

สถานการณ์เศรษฐกิจของโลกในขณะนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ายังอยู่ในภาวะซบเซาตลาดสำคัญๆ ของสินค้าและบริการ อันเป็นแหล่งที่มาของเงินที่นำมาซื้อสินค้าและบริการของเรา อย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ยุโรปก็ยังมีปัญหาหนี้สินของประเทศบางประเทศที่เป็นตัวดึงรั้งเศรษฐกิจของตนไว้ไม่ให้ฟื้นตัว ทั้งประเทศของเราเองก็เข้าเกณฑ์ที่เขาจะต้องตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยการเจรจาเขตเศรษฐกิจเสรีกับยุโรปก็ดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะเขาไม่เจรจากับรัฐบาลของเราซึ่งเป็นรัฐบาลทหารหลังจากการทำรัฐประหาร

องค์ประกอบสำคัญที่ประกอบกันเป็นรายได้ประชาชาติได้แก่ การบริโภคของครัวเรือน การลงทุนของภาคเอกชน การลงทุนของภาครัฐบาลของรัฐวิสาหกิจ การส่งออกสินค้า

สําหรับการส่งออก ในบรรยากาศเศรษฐกิจของโลกและบรรยากาศทางการเมืองของไทย ตัวเลขที่ทางการประกาศออกมา การส่งออกของเราขยายตัวเพียง 0.7 เปอร์เซ็นต์ อัตราการขยายตัวในระดับนี้เป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ไม่แน่ใจว่าถ้าคิดเป็นปริมาณของสินค้าที่ส่งออกอาจจะลดลงก็ได้ ส่วนปีนี้อัตราการขยายตัวของการส่งออกก็ไม่น่าจะสดใสอะไรนัก เพราะเริ่มต้นเดือนมกราคมก็พบว่าการส่งออกหดตัวถึง 3.46 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว ทั้งปีก็อาจจะหดตัวแทนที่จะขยายตัว

การส่งออกที่ซบเซาอย่างนี้ เกิดขึ้นทั้งในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยแม้ว่าจะไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรม เพราะผลิตผลทางการเกษตรมีเพียงร้อยละ 10 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด แต่ผลิตภัณฑ์จากภาคเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตรก็มีสัดส่วนที่สูงในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมด

เมื่อการส่งออกซบเซาก็เป็นผลทำให้รายได้ของเกษตรกรหดตัวแทนที่จะเพิ่มขึ้นตลาดภายในของสินค้าภาคอุตสาหกรรมจึงหดตัวลงไปด้วย การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานล่วงเวลาจึงลดลง

ในสถานการณ์อย่างนี้ ที่ตลาดภายในประเทศซบเซาพร้อมๆ กับตลาดต่างประเทศ การผลิตของภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนปริมาณร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม จึงไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต เมื่อการผลิตไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต การลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงงานหรือการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าใหม่ๆ ก็ไม่เกิด การลงทุนของภาคเอกชนจึงไม่เกิด นอกจากนั้น ระดับการพัฒนาของการขนส่งก็ยังล้าหลังประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง เช่น จีน มาเลเซีย ไม่ต้องพูดถึงเกาหลีใต้ ไต้หวัน และอื่นๆ

เมื่อการบริโภคของครัวเรือนและภาคเอกชนหดตัว การลงทุนภาคเอกชนคงไม่เกิดขึ้น การส่งออกก็พอมองเห็นว่าคงจะหดตัว ก็เหลือการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐบาล ที่จะเป็นตัวดึงให้ภาวะเศรษฐกิจของเราไม่ทรุดตัวหนักไปกว่าปีที่แล้ว

ที่น่าห่วงก็คือเศรษฐกิจของเรากำลังจะเคลื่อนตัวจากภาวะเงินฝืดหรือdeflation เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาหรือ "recession" และเข้าสู่ภาวะ "กับดักสภาพคล่อง"

ภาวะเงินฝืดหรือ deflation เกิดขึ้นแล้ว ที่เห็นได้ก็คืออัตราเงินเฟ้อเป็นตัวเลขติดลบ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจึงเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด ซึ่งเป็นผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลหลักของโลกแข็งกว่าค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งเท่ากับเป็นการให้แต้มต่อประเทศที่เป็นคู่แข่ง

เครื่องชี้อีกอันหนึ่งก็คือภาวะเงินล้นตลาดการเงิน ทาง ธปท.ได้ประกาศว่ามีเงินที่ล้นระบบอยู่ประมาณ 9 แสนล้านบาท ตัวเลขนี้หมายความว่า การลงทุนยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการออมอยู่ประมาณ 9 แสนล้านบาท หากเศรษฐกิจยังซบเซาต่อไป ตัวเลขนี้จะขยายตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ นักเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะเช่นนี้ว่าภาวะ "กับดักสภาพคล่อง" หรือ "liquidity trap" เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่สภาพนี้แล้วการจะดึงออกจากสภาพเช่นนี้จะทำได้ยาก

การแก้ไขต้องรีบทำโดยด่วน นโยบายอันแรกก็คือผลักดันการส่งออกทุกวิถีทาง อะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกต้องขจัดออกไป อุปสรรคสำคัญของการส่งออกก็คือ "ค่าเงิน" ควรจะอ่อนกว่าประเทศคู่แข่ง ดอกเบี้ยก็ควรจะต่ำกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ธนาคารกลางควรให้ความร่วมมือ

อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นอันตรายกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปกติจะไม่เกิดขึ้นบ่อย ยกเว้นในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซามากๆ เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบจะทำให้ธุรกิจทุกประเภทขาดทุน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดมาก เพราะอัตราเงินเฟ้อติดลบต้องดึงกลับมาให้เป็นบวก

ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้มากขึ้นควรจะมีแผนการท่องเที่ยวร่วมมือกับภาคเอกชน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวในตลาดระดับบนให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ต้องถือเป็นนโยบายสำคัญที่สุด

การลงทุนโดยภาครัฐบาลก็เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อชดเชยการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนการลงทุนของภาครัฐบาลนั้นอาจจะให้กระทรวงทบวงกรมทำเอง เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและกรมชลประทาน ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ก็จัดทำโดยรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น การลงทุนของรัฐวิสาหกิจจึงเป็นเรื่องจำเป็นและรีบด่วน

เงินทุนสำหรับการลงทุนก็ไม่ควรจะไปกู้จากต่างประเทศควรจะออกพันธบัตรกู้ยืมเป็นเงินบาทจากตลาดภายในประเทศ จะเป็นการช่วยให้ภาวะเงินล้นตลาดลดลง หากไปกู้มาจากต่างประเทศก็จะไม่ช่วยลดปริมาณเงินที่ล้นตลาด ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจออกจากสภาวะ "กับดับสภาพคล่อง" การที่รัฐบาลไม่ลงทุนหรือลงทุนน้อยเกินไปจะเป็นอันตราย จะทำให้เศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่แล้วเดินเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาเร็วยิ่งขึ้น

ควรจะต้องช่วยกันคิดมิฉะนั้นอาจจะต้องลำบากกันอีก

ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////