โครงการ "ASEAN Power Grid" สู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ให้มีความเชื่อมโยงกันและพร้อมรองรับการค้าและการลงทุน ซึ่งได้วางวิสัยทัศน์เอาไว้ว่า "ไทยจะเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งและสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอาเซียนร่วมกัน" โดยจะเชื่อมโยงกับ ลาว, เมียนมาร์, กัมพูชา, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เกาะบอร์เนียว และฟิลิปปินส์
โดยโครงการหลัก (Flagship Project) ในการเชื่อมโยงสายส่ง ASEAN Power Grid ประกอบด้วย โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์, โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรี, โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเซเปียนเซน้ำน้อย ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกลุ่มนักลงทุนจากเกาหลี ไทย และลาว โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ด้วยการส่งเข้าทางจังหวัดอุบลราชธานี และส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าลาว
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาลุ่มน้ำโขง (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มองว่า ความร่วมมือและความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียนยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เนื่องจากพฤติกรรมการใช้พลังงานของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนถึงความกระจุกตัวของพลังงานในภูมิภาค
ผลสำรวจเมื่อปี 2553 ระบุถึงอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด 99% ของประชากรทั้งประเทศ รองลงมา คือ เวียดนาม 95% และ สปป.ลาว, กัมพูชา, เมียนมาร์ ราว 69% 26% และ 23% ตามลำดับ
ยิ่งกว่านั้น การไฟฟ้านครหลวงของไทย เผยผลสำรวจประจำปี 2549 ว่า การใช้ไฟฟ้าของ 3 ห้างยักษ์ใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ สยามพารากอน มาบุญครอง และเซ็นทรัลเวิลด์ รวมกันมากถึง 278 ล้านกิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (Gwh) ขณะที่สามเขื่อนของไทย ได้แก่ เขื่อนปากมูล, เขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้เพียง 266 ล้านกิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
ฉะนั้นการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากลาวและเมียนมาร์ จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาค อีกทั้งนโยบายการผลิตกระแสไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ ยังเอื้อต่อการส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ลาวมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง26,000 เมกะวัตต์ ทั้งจากพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานถ่านหิน โดยถือว่า ลาว เป็น "Battery of Asia" แต่ดูเหมือนศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของลาวมีไว้เพื่อส่งออกไม่ใช่เพื่อคนในประเทศซึ่งวีโอเอ ภาษาลาว รายงานว่า นายวีระพน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว กล่าวถึงแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอีก 4 เท่าตัวของระดับปัจจุบัน ที่ผ่านมา ลาวส่งออกราว 2 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ 3,200 เมกะวัตต์ และกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 6,000 เมกะวัตต์
"เราคาดว่าภายในปี 2563 เราจะมีกำลังผลิต 12,000 เมกะวัตต์ ราว 2 ใน 3เป็นไฟฟ้าเพื่อการส่งออก และภายในปี 2573 จะผลิตเพิ่มเป็น 24,000 เมกะวัตต์ซึ่งนับว่าเกือบเต็มศักยภาพของไฟฟ้า พลังน้ำในลาว ซึ่งไทยเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่และลาวก็มีข้อตกลงขายไฟฟ้าให้เวียดนามและกัมพูชาด้วย อีกทั้งผู้ส่งออกพลังงานกำลังดูลู่ทางที่จะแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับจีนในอนาคต" นายวีระพนกล่าว
ขณะเดียวกัน ลาวกำลังหาทางแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างมณฑลยูนนานของจีน เวียดนาม ไทย และกัมพูชา รวมทั้งการส่งออกไฟฟ้าจากลาวผ่านไทยและมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ด้วย ขณะที่เมียนมาร์ อีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าอย่างมาก โดยเฉพาะพลังน้ำ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในทะเลที่เป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ คือ ยาดานา คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองรวมทั้งสิ้น 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และเยตากุนอีก 1.2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
ปัญหาที่เกิดขึ้นและชวนให้คิดก็คือ หากแหล่งพลังงานทั้งลาวและเมียนมาร์มีอย่างล้นหลาม แล้วทำไมการเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนในประเทศจึงยังไม่ครอบคลุม แม้ที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาร์รับรู้ถึงปัญหาและพยายามแก้ไข ด้วยการร่างกฎหมายพลังงาน เพื่อเตรียมลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติลง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศก็ตาม
ทั้งนี้ โครงการ ASEAN Power Grid ที่ประเทศสมาชิกพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริง แต่กลับชะงักไม่มีความคืบหน้า อันเนื่องมาจากการจัดตั้งศูนย์ควบคุม หรือศูนย์สั่งการ ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าประเทศไหนจะเป็นผู้ควบคุมศูนย์ในภูมิภาค เพราะการควบคุมศูนย์ดังกล่าวมันหมายถึง "การกุมอำนาจ" ในการสั่งจ่ายไฟฟ้าของแต่ละประเทศ
สถานการณ์ด้านพลังงานนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงระดับความไว้เนื้อเชื่อใจของภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างดีเพราะปัญหาด้านพลังงานถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของผู้ร่วมชะตากรรม ซึ่งหากเกิดการรวมประเทศภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว อุปสรรคข้างหน้าจะเป็นเหมือนตัวทดสอบว่า ชาติสมาชิกจะจริงใจหรือต้องการฉกฉวยผลประโยชน์จากการเป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น
เรียบเรียงโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น