--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิกฤตการณ์หมีขาว !!?


โดย วีรพงษ์ รามางกูร

วิกฤตการณ์การเงินของรัสเซียเป็นข่าวใหญ่อยู่ในขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเฝ้ามองดูว่าวิกฤตการณ์ของรัสเซียจะแผ่ขยายวงออกไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างไร จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหรือไม่ จะเหมือนกรณีวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศไทยแล้วแพร่ขยายไปที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดจะพลิกกลับภายในเวลาอันรวดเร็วเพียง 12 เดือนหรือไม่

กรณีของประเทศไทยเมื่อปี 2540 เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาหลายปี ในปีก่อนหน้านั้นประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดหนักถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางมีระดับต่ำกว่าหนี้ที่กู้ยืมมาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ขณะนั้นประเทศไทยตรึงค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งมีดอลลาร์ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 85 ของตะกร้า เมื่อประเทศไทยขาดดุลเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ก็ทำให้ค่าเงินบาทที่ตรึงไว้กับค่าเงินในตะกร้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ มีค่าสูงเกินความเป็นจริง

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้กองทุนตรึงมูลค่า หรือ "กองทุนอีแร้ง" รวมหัวกันโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก แต่ธนาคารกลางของไทยก็เอาเงินทุนสำรองออกสู้จนเกือบหมด มาทราบภายหลังว่าทุนสำรองมีเหลืออยู่เพียง 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง ในที่สุดธนาคารกลางของไทยก็ต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว เงินบาทจึงตกลงอย่างรวดเร็ว จากที่ตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ตกลงไปต่ำสุดที่ 56 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50 บาทต่อดอลลาร์เป็นเวลานาน จึงค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา

เมื่อค่าเงินบาทอ่อนลงไปถึง 52 บาทต่อดอลลาร์ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกชนิดหยุดลงทันที ยกเว้นพลังงานซึ่งก็มีราคาสูงขึ้นประมาณเท่าตัว ทางการต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 13 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ในปีต่อมา

ในกรณีของรัสเซีย ในช่วงที่ราคาพลังงานมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่นิยมเรียกกันว่า กลุ่มประเทศ BRICS อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และสหภาพแอฟริกาใต้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงของบรรดาประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่สามารถขยายตัวได้ด้วยอัตรา 2 หลักมาเป็นเวลานาน ทำให้มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

รัสเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล ในช่วงระยะเวลาที่ราคาพลังงานและโภคภัณฑ์อย่างอื่นมีราคาสูงขึ้น ขณะที่รัสเซียกำลังได้รับผลประโยชน์จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ก็ทำให้รัสเซียทุ่มงบประมาณการลงทุนเกือบทั้งหมดไปกับการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ วางท่อส่งมาขายถึงประเทศจีนในด้านตะวันออก และผ่านยูเครนไปขายถึงยุโรปตะวันตก แต่ละเลยการลงทุนในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอื่น ๆ

ในที่สุดมูลค่าการส่งออกจึงกระจุกตัวอยู่ที่ภาคพลังงานแต่เพียงอย่างเดียวกล่าวคือ การส่งออกพลังงานมีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมรัสเซียต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ถึงอย่างไรรัสเซียก็ยังสามารถสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ได้เป็นจำนวนกว่า 400,000 เหรียญสหรัฐ

เมื่อราคาน้ำมันและพลังงานอย่างอื่นเพิ่มขึ้นจนถึงระดับสูง เศรษฐกิจของโลกรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศจีนก็เริ่มชะลอตัวลง ความต้องการนำเข้าพลังงานก็พลอยชะลอตัวลงไปด้วย ราคาน้ำมันและพลังงานอย่างอื่นก็เริ่มอ่อนตัวลง ยิ่งกว่านั้นยังถูกซ้ำเติมมากยิ่งขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก สามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใช้ได้เพียงพอในประเทศ จึงทำให้เกิดสถานการณ์กำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการใช้ ราคาน้ำมันจึงเริ่มอ่อนตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้นมา และเมื่อที่ประชุมกลุ่มประเทศโอเปกประกาศไม่สามารถลดการผลิตน้ำมันลงเพื่อพยุงราคา ราคาน้ำมันจึงดิ่งลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล และมีทีท่าว่าจะลดลงต่ำกว่านั้นอีก

ประเทศที่เป็นผู้ส่งน้ำมันออกทั่วโลก จึงได้รับผลกระทบทางการเงินโดยทั่วไป แต่ที่หนักกว่าเพื่อนเห็นจะเป็นประเทศรัสเซีย

ทันทีที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว รัสเซียก็เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทันที เพราะมีการขายเงินรูเบิลอย่างหนัก แม้จะไม่ใช่การถูกโจมตีค่าเงินโดยกองทุนตรึงค่าอย่างประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2540 แต่ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกล่าวคือ ค่าเงินรูเบิลลดลงอย่างรวดเร็ว จากอัตราแลกเปลี่ยน 32-33 รูเบิลต่อดอลลาร์ ลงไปเป็นประมาณ 40 รูเบิลต่อดอลลาร์ ทางธนาคารกลางรัสเซียได้นำทุนสำรองประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐออกมาพยุงค่าเงินรูเบิล แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ค่าเงินรูเบิลยังคงอ่อนค่าต่อไป ทางการจึงหยุดการนำเงินทุนสำรองออกมาพยุงค่าเงินรูเบิล

ในขณะที่เงินตราต่างประเทศยังไหลออก ค่าเงินรูเบิลอ่อนตัวลงไป ธนาคารกลางรัสเซียก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาเรื่อย ๆ เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อจนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 10.5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 9 เปอร์เซ็นต์

แต่เมื่อราคาน้ำมันยังคงลดลงไปเรื่อย ๆ ในอัตราที่เร็วขึ้น ซึ่ง ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และหลาย ๆ คนสงสัยว่าเป็นฝีมือของสหรัฐอเมริการ่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มโอเปก เพราะหลังจากรัสเซียได้บุกยึดแหลมไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย สหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้นำร่วมกับประเทศยุโรป สนับสนุนให้ยูเครนเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป ซึ่งรัสเซียพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง

การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าจากสหรัฐและยุโรป มีผลทำให้เกิดปัญหาทางด้านการส่งออกอยู่แล้ว เมื่อราคาน้ำมันทรุดลงหนักจนต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล และมีทีท่าว่าจะต่ำลงไปอีก ค่าเงินรูเบิลจึงตกดิ่งพสุธาลงไปถึง 80 รูเบิลต่อดอลลาร์

เมื่อค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากความแตกตื่นของตลาด ทางการรัสเซียจึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 10.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 17 ต่อปี พร้อมกับประกาศให้บริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเร่งส่งออกให้มากขึ้น พร้อมกับประกาศนโยบายการพัฒนาประเทศในอนาคต ต้องกระจายงบประมาณการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อให้โครงสร้างเศรษฐกิจของรัสเซียมีความสมดุลมากกว่านี้ พร้อมกับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของรัสเซียในปีหน้าคงจะหดตัวถึง 4 เปอร์เซ็นต์

การที่รัสเซียยอมถอยจากการที่เงินทุนไหลออก เมื่อได้เข้าแทรกแซงไปถึง 30,000 ล้านเหรียญแล้วแต่ไม่ได้ผล และปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนไหลลงโดยรักษาทุนสำรองซึ่งยังค่อนข้างแข็งแรงเอาไว้ จึงทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ เหมือนในกรณีต้มยำกุ้ง แต่สถานการณ์การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของรัสเซียจะพลิกกลับอย่างในกรณีของประเทศไทยหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะกรณีของประเทศไทยสินค้าส่งออกของเรากระจายตัวมากกว่าของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าส่งออกสำคัญ ๆ ที่เป็นสินค้าจากภาคเกษตรกรรม สถานการณ์จึงพลิกกลับโดยเร็ว

แต่กรณีรัสเซียคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ที่มา.ประชาชาตอธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฤๅว่า..มังกรจะกลับลำ !!?


โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจยุโรปอย่างมหาศาล "เศรษฐกิจจีน" กลายเป็นที่พึ่งพิงแห่งใหม่ของเศรษฐกิจไทย ดังเห็นได้จากสัดส่วนของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยที่อิงกับจีนมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมการส่งออกของไทยไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของการส่งออกรวมของไทย แต่ผ่านไปเพียง 10 กว่าปีสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนได้สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมากและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมานานหลายปี

แต่แล้วในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์กลับตรงกันข้ามในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจเศรษฐกิจจีนกลับเริ่มแผ่วความร้อนแรงและชะลอตัวลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวชะลอลงได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างชัดเจน ดังเห็นได้จากการส่งออกของไทยไปยังจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 ได้หดตัวกว่าร้อยละ -5.0 ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเกิดคำถามว่า เศรษฐกิจจีนที่ไม่ร้อนแรงดังเช่นก่อนนี้ จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ "ชั่วคราว" หรือจะดำรง "คงอยู่" ต่อไปเป็นบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ของเศรษฐกิจจีน และที่สำคัญ ทางการจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่

เรื่องนี้ทางผู้บริหารระดับสูงของจีนได้ผลัดกันออกมาส่งสัญญาณเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจจีนสามารถควบคุมได้ไม่ว่าจะเป็นการ"ปรับเป้าหมาย"การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่ตลาดได้เคยคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนควรจะ "ขยายตัวสองหลัก" (Double Digit Growth) มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปีในปี 2014 และร้อยละ 7.0 ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า หรือการให้สัมภาษณ์ว่าจีนจะเน้นคุณภาพมากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดย นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้ให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลง และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการลดปัญหาคอร์รัปชั่น และปัญหามลพิษ

ทั้งนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง เห็นว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถยืดหยุ่นได้ตราบเท่าที่จีนยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำการที่ทางการจีนได้ตอกย้ำว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจีนควบคุมได้นั้นส่งผลให้นักลงทุนได้คลายความกังวลลงไปในระดับหนึ่งโดยตลาดไม่คาดหวังว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะร้อนแรงดังเช่นในอดีตและเข้าใจว่าการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน เกิดจากความตั้งใจของทางการจีน เพื่อป้องกันปัญหาฟองสบู่จากการขยายตัวอย่างร้อนแรงเกินไป

สำหรับประเทศไทยเอง ในฐานะประเทศคู่ค้าที่ต้องพึ่งพาอุปสงค์จากจีน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ก็ดูเหมือนว่าความตั้งใจของทางการจีนที่จะลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี เพราะไทยเองก็คงไม่ต้องการให้จีนขยายตัวอย่างร้อนแรงแต่ไม่ยั่งยืน คือขยายตัวในอัตราที่สูง แต่มีความเสี่ยงที่จะทรุดลงกะทันหัน เพราะแท้จริงแล้วแม้ว่าจีนจะขยายตัวในอัตราปานกลาง ไม่ว่าจะเป็นร้อยละ 8 ร้อยละ 7 หรือร้อยละ 6 ต่อปี ก็ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของจีนในไตรมาส 3 ของปี 2014 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ได้เคยประกาศไว้ ตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์คงทนที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ประกอบกับเหตุการณ์ล่าสุดที่ทางการจีนได้เริ่มส่งสัญญาณกลับลำเชิงนโยบาย โดยธนาคารกลางจีนได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะ 1 ปี ทำให้อาจคิดไปได้ว่า การชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอาจเร็วและแรงกว่าแผน หรืออาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของทางการจีนหรือไม่ จนทำให้ทางการจีนได้กลับลำมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

ดังนั้น ไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ และปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ภายใต้บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งดูเหมือนว่าจะต้องเผชิญกับการขยายตัวในอัตราต่ำต่อไป เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ชะลอลง ในขณะที่มีเพียงเศรษฐกิจขนาดเล็กเกิดใหม่ไม่กี่ประเทศที่สามารถเติบโตได้ในอัตราสูง

จากนี้สิ่งที่เราทั้งภาครัฐและเอกชนไทยจำเป็นต้องมาช่วยกันคิดต่อคือจีนจะยังคงเป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจของไทยได้หรือไม่หรือมากน้อยเพียงใดและถ้าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นกับจีนจริง ไทยจะยังพอหันไปพึ่งพาใครได้ จะใช่คู่ค้าเก่าแก่อย่างสหรัฐ หรือจะเป็นคู่ค้ามาแรงอย่างเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่ในระยะหลังทั้งสัดส่วนการส่งออกและอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปประเทศในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่อแววว่าจะพอมาเป็น"พลังใหม่"ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปร่วมกันกับไทยหรือจะเป็นประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจในปีหน้า แต่ก็จะต้องไม่ลืมว่าประเทศเหล่านี้ก็ยังคงมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น การมุ่งขยายตลาดการส่งออกไปประเทศใหม่ จึงต้องพิจารณาหาความสมดุลที่พอดีระหว่างตลาดใหม่ที่เติบโตเร็วกับตลาดเก่าที่มั่นคง

หรือว่าท้ายที่สุดแล้วไทยอาจต้องพิจารณาว่าจะหันกลับมาพึ่งพาตนเองเร่งรีบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศและเร่งรัดการพัฒนาในเชิงคุณภาพโดยเน้นความพอเพียงตามหลักพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันในตัวก็เป็นได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เปิดร่างเอ็มโอยูรถไฟไทย-จีน 4แสนล้าน หนองคาย-มาบตาพุด !!?


เปิดรายละเอียดยิบร่างเอ็มโอยูรถไฟไทย-จีน 4 แสนล้าน”หนองคาย-มาบตาพุด”คมนาคมลุ้นสนช.เคาะพรุ่งนี้

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ(สนช.) จะพิจารณา บันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับรัฐบาลไทย ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

สำหรับสาระสำคัญของร่าง MOU ดังกล่าวมี 7 ข้อ ประกอบด้วย

1.รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุดระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร รวมระยะทาง 867 กิโลเมตร  ซึ่งเป็นโครงการทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

2.ในการดำเนินการตามเนื้อหาข้างต้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นพ้องที่จะใช้หลักการดังนี้

      2.1 ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟเส้นทางดังกล่าว  สำหรับการสนับสนุนเงินลงทุน และการชำระเงินลงทุนจะมีการหารือกันต่อไป

      2.2 ฝ่ายไทยตกลงที่จะให้ฝ่ายจีนเข้ามามีส่วนร่วมในโอกาสแรกที่เป็นไปได้ ในขั้นตอนการเตรียมการของโครงการ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ และจะพยายามให้เริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2559

      2.3 ในการประเมินมูลค่าโครงการ ให้เป็นการหารือระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งให้องค์กรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของ 2 ฝ่ายเป็นผู้ประเมิน 2.4 ทั้ง 2 ฝ่ายจะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือของโครงการ โดยจะหารือกันต่อไปเกี่ยวกับรูปแบบดังกล่าว

3. ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ สำหรับไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วม สำหรับจีน ให้ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธานร่วม

4. ในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ในประเทศคู่ภาคี

5. ในกรณีที่สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า

6. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจแก้ไขโดยความเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร

7. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี นอกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือนล่วงหน้า ทั้งนี้หากไม่มีการบอกเลิก บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยระบุว่า  หลังจากที่สนช.อนุมัติแล้ว คาดว่าในเดือนธันวาคมนี้คาดว่าไทย-จีน จะสามารถร่วมลงนามใน MOU ได้ และเริ่มทำงานร่วมกันในเดือนมกราคม 2558  ด้วยการสำรวจแนวเส้นทาง ออกแบบ และประเมินราคาให้ชัดเจน จากกรอบที่ตั้งไว้เบื้องต้นประมาณ  4 แสนล้านบาท

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ยูโทเปีย 2 มาตรฐาน !!?

โดย.ใบตองแห้ง

สภาปฏิรูปแห่งชาติอาศัยฤกษ์งามยามดีตามโหราจารย์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จัดสัมมนาระดมความฝัน สังคมยูโทเปียใน 20 ปีข้างหน้า โปรโมตคำสวยๆ เช่น "สังคมนิยมเสรี" "ทุนสัมมา" คำศัพท์ไหนดูเท่ดูเข้าท่า นวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจ รักเด็ก รักสิ่งแวดล้อม ห่วงใยคนจน ฯลฯ ขนใส่ท้ายรถไฟให้หมด

พูดประชดนี่หว่า ไม่เชื่อในสังคมอันดีงาม ไม่มีอุดมคติกับเขาบ้างเลย โห มีจนล้นแล้วครับ คำศัพท์พวกนี้ ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม การเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ พูดไม่รู้กี่สิบปี จนเลี่ยน

พูดกันสั้นๆ ดีกว่า สังคมไทยต้องปฏิรูปอะไร "ความเป็นธรรมในสังคม" สรุปง่ายๆ ความเป็นธรรมมาจากไหน มีผู้ประทานให้ มีคนคิดให้ มีอรหันต์ 250 องค์ มาประชุมกันแล้วบ่นว่าคนไทยไม่มีจิตสำนึก ไม่รักชาติ ไม่มีวินัย ไม่ได้รับการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมไทย ฯลฯ จะต้องวางระบบจัดสรรใหม่ อย่างนั้นหรือ

ไม่ใช่เลยครับ ความเป็นธรรมในสังคมไม่มีทางเกิดจากผู้ให้ ความเป็นธรรมในสังคมต้องเกิดจากประชาชน 70 ล้านคน ตื่นตัวปกป้องเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ของตน ภายใต้กติกาประชาธิปไตย ที่เปิดกว้างให้เสรีภาพ สร้างสำนึกว่า ทุกคนเสมอภาค เท่าเทียม

ถามว่าจะมาพูดอะไรเรื่องกระจายอำนาจ กระจายโอกาส กระจายการถือครองที่ดิน ในเมื่อเครือข่ายปฏิรูปที่ดินที่เชียงใหม่ เดินไปได้ไม่กี่ก้าวก็ถูกจับ ถามว่าควรยกเลิกกฎอัยการศึกไหมครับ อ.เทียนฉาย กีระนันทน์ ก็ได้แต่ใบ้กิน

เอาเข้าจริง พวกท่านก็ฝันจะสร้างสังคมยูโทเปียข้างเดียว บนการปิดกั้นเสรีภาพ และจะยัดเยียดความฝันเป็นพันธนาการสังคม

ปัญหาการเมืองขัดแย้งแบ่งขั้วจนต้องปฏิรูป เป็นเพราะอะไร อันที่จริง ถ้าดูท่าที คสช.ก็เหมือนจะเข้าใจว่า รัฐประหาร 2549 ทำผิดพลาดไว้ เราจึงเห็น คสช.เน้น "ปรองดอง" หลีกเลี่ยงการไล่ล่า

วิษณุ เครืองาม หรือ โหราจารย์บวรศักดิ์ ก็พูดถึงองค์กรอิสระ ว่าจะต้องปรับลดอำนาจ ต้องยึดโยงประชาชน แสดงว่าพวกท่านก็พอเข้าใจปัญหา แต่ คสช.ไม่ยักกล้ายุบองค์กรอิสระ ไม่ยุบกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีรัฐธรรมนูญแล้ว

ความขัดแย้งในสังคมไทยเกิดจาก อะไร ถ้าย้อนไปแต่ต้น พรรคไทยรักไทยชนะใจประชาชนด้วยนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน 30 บาท จนชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แล้วเหลิงอำนาจ ถูกต่อต้าน ซึ่งอันที่จริงก็เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยถ้าไม่เกิดรัฐประหาร แล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2550 วางกลไกตุลาการภิวัฒน์สกัดกั้น ถอดถอน ล้มล้าง อำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง

การลุกฮือของมวลชนที่เลือกพรรคไทยรักไทยมาจนถึงเพื่อไทย เป็นเพราะไม่พอใจความยุติธรรม 2 มาตรฐาน ไม่พอใจรัฐประหารตุลาการภิวัฒน์ ที่ล้มอำนาจของเขา นี่คือความ ตื่นตัวปกป้องอำนาจตัวเอง ไม่ใช่ปกป้องอำนาจนักการเมือง

ประชาชนไทยตื่นตัวไปไกลแล้วครับ ทั้งสองข้างด้วย ผมไม่ได้ปฏิเสธมวลชนอีกข้างที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น เพียงต้องทำความเข้าใจกันว่า เราต้องยอมรับกติกาประชาธิปไตยโดยไม่ใช้กองทัพไม่ใช้อำนาจตุลาการมาเอาชนะกัน แล้วคนทั้งสองข้างก็เข้าไปต่อสู้สร้างอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองของตน

ฉะนั้น ถามว่าประชาชนไทย 70 ล้านคน มีความตื่นตัวพร้อมจะเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไหม ผมเชื่อมั่นว่าพร้อมครับ พร้อมอย่างไม่มีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพียงแต่ต้องปลดล็อกที่เกิดวิกฤตยืดเยื้อมา 8 ปีให้ได้ก่อน โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือ "คืนความยุติธรรม" แล้วกลับมาเริ่มต้นกันใหม่

ไม่ใช่รู้แก่ใจว่า 8 ปีที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาด แตกแยกบานปลายเพราะอะไร แต่กลับไม่ยอมรับ ไม่ลบล้างผลพวงคืนความยุติธรรมให้ประชาชนซึ่งลุกฮือเพราะ 2 มาตรฐาน กลับใช้อำนาจกดไว้ ไม่ให้มีปากเสียง แล้วบรรดาชนชั้นนำ คนดี ครูบาอาจารย์ ก็จะมาช่วยกันคิดอนุเคราะห์ ประทานระบอบลดความเหลื่อมล้ำ ขายฝันสังคมยูโทเปีย เพื่อลดความเรียกร้องต้องการมีอำนาจตัดสินใจของประชาชน

ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นไปไม่ได้ ต่อให้ยัดเยียดเนื้อหาสาระดีๆ เพียงไร ท้ายที่สุดจะสร้างความขัดแย้งใหม่ เพราะความไม่เชื่อมั่นประชาชนจะทำให้พวกท่านวางกลไกผูกมัดไว้ ว่าประเทศจะต้องเดินไปอย่างนี้ อย่างที่ตัวเองฝัน ไม่ปล่อยให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัดสินใจ "นอกลู่นอกทาง"

ยกตัวอย่าง "อภิรัฐมนตรี" แม้ปฏิเสธว่าเป็นแค่ความเห็น นักวิชาการ แต่ อ.เทียนฉายก็พูดถึงสภายุทธศาสตร์ วิษณุพูดถึงองค์กรผู้วิเศษที่จะคอยตีความกฎหมาย ฯลฯ เชื่อเหอะ เดี๋ยว ก็หารูปแบบจนได้

ข้อสำคัญ ความชอบธรรมอยู่ที่ไหนครับ ความชอบธรรมที่ สปช. 250 คน จะเอาความฝันมาพันธนาการประชาชนไปอีก 20 ปี คุณเป็นใครมาจากไหน ใครยอมรับคุณ

ที่มา.ข่าวสดออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ถึงคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ด้วยความนับถือ !!?


โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของไทย ได้เขียน "จดหมายรัก" ถึง คสช.โดยตรง และได้สรุปสาระสำคัญลงในเฟซบุ๊กของท่าน

ผมขอสรุปอีกทีหนึ่งไว้ดังนี้ ท่านไม่รังเกียจระบอบปกครองเผด็จการ, อภิชนาธิปไตย, ราชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแต่อย่างใด จะเป็นระบอบไหนก็ได้

"...ถ้าระบอบปกครองใดๆ ก็ตาม หากมีผู้นำที่เข้มแข็งเฉลียวฉลาด และมีความเห็นแก่ตัวน้อย ทั้งยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตัวอย่างจริงใจ พร้อมทั้งวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยมีที่ปรึกษาที่สามารถและรู้จักฟังประชาชน นี้แลคือระบอบที่ดีที่สุด"

ก็ไม่ใช่ความคิดที่แปลกใหม่อะไร และที่จริงไม่ต้องอ้างปราชญ์ฝรั่งเลยสักคนเดียวก็ได้ เพราะนี่คือสาระสำคัญของแนวคิดธรรมราชาซึ่งเผยแพร่ในเมืองไทยจากอินเดียและลังกามาหลายร้อยปีแล้ว และแม้แต่การรัฐประหารทุกครั้งในเมืองไทยก็มักอ้างหลักการข้อนี้เป็นพื้นฐานเสมอ กล่าวคือ ประชาธิปไตยไม่สำคัญเท่ากับความอยู่รอดและความรุ่งเรืองของประเทศไทย

(จึงไม่ต่างจากเจ้านายไทยนับตั้งแต่ร.5เป็นต้นมา ที่เสด็จฯข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาในยุโรป เพื่อแสวงหาคำยืนยันคติที่ชนชั้นสูงไทยยึดถืออยู่แล้ว ในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือรัสเซีย)

หากคุณสุลักษณ์จะเขียน "จดหมายรัก" ถึง คสช.โดยตรง โดยมิได้นำสาระสำคัญมาเผยแพร่แก่สาธารณะ ไม่ว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร ก็คงไม่ใช่ธุระของคนอื่นจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่เพราะเมื่อเผยแพร่แก่สาธารณะแล้ว ก็เท่ากับว่าจดหมายฉบับนี้มุ่งจะ "ปราศรัย" กับคนไทยทั่วไปด้วย ผมจึงเห็นความจำเป็นต้องวิพากษ์จดหมายฉบับนี้

แนวทางการวิพากษ์ของผมในครั้งนี้ ผมเห็นความจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยวิธีที่ผมรังเกียจที่สุด นั่นคือพูดถึงบุคลิกภาพของผู้เสนอความเห็น แทนที่จะชี้ให้เห็นจุดอ่อนของความเห็น แต่ผมคิดว่าหากเริ่มต้นด้วยวิธีนี้ จะทำให้เข้าใจจุดอ่อนของความเห็นได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีไม่มากนักของหนังสือพิมพ์รายวัน

วิธีคิดของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์นั้นเป็นวิธีคิดของนักศีลธรรมโดยพื้นฐาน หนักแน่นมั่นคงกับความเป็นนักศีลธรรมยิ่งกว่าผู้ที่ชอบอ้างศีลธรรมทุกคนในเมืองไทย อย่างน้อยก็เพราะคุณสุลักษณ์ไม่เคยฉวยอามิสใดๆ ใส่ตนเองหรือบริษัทบริวารเลย

ผมไม่มีความรังเกียจนักศีลธรรม ซ้ำยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่สังคมใดๆ ไม่ควรขาดด้วย แม้เราอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดของเขา แต่นักศีลธรรมคือผู้ที่คอยเตือนสังคมให้นึกถึงสิ่งสำคัญบางอย่างที่เรามักหลงลืมไป แม้เขาอาจเตือนอย่างตื้นเขินอยู่บ่อยๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่เขาเตือนนั้นสำคัญ ซึ่งเราควรทบทวนให้ดี แม้แต่ไม่ยอมรับก็ยังต้องทบทวนอย่างรอบคอบ

แต่ก็เหมือนกับนักศีลธรรมทั่วโลก วิธีคิดของคุณสุลักษณ์คือวิธีคิดที่ไม่มีบริบท ทุกอย่างถูกตัดสินได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขทุกด้านซึ่งกำหนดพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์

ใน"จดหมายรัก"คุณสุลักษณ์พูดถึงประชาธิปไตยของโรมันประหนึ่งว่าเป็น "ประชาธิปไตย" เดียวกันกับที่เกิดในยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แต่ทั้งฐานคิดและแนวทางปฏิบัติของ "ประชาธิปไตย" โรมันและหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นระบอบเดียวกัน แม้จะใช้ชื่อเดียวกันก็ตาม

Eric Hobsbawm เรียกการปฏิวัติที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ว่าเป็น "การปฏิวัติแฝด" นั่นคือการปฏิวัติทางการเมืองและสังคมในฝรั่งเศส และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ สาระสำคัญไม่ใช่เพราะการปฏิวัติแฝดนี้เกิดในเวลาเดียวกัน แต่เพราะ 1.การปฏิวัติทั้งสองมีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนในยุโรปตะวันตกทั้งในแนวกว้างและลึกอย่างไพศาล และ 2.ในที่สุดแล้ว การปฏิวัติทั้งสองผสานเข้าหากัน และกลายเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมือง, สังคม, วัฒนธรรม และเศรษฐกิจให้แก่กันและกันอย่างแยกไม่ออก

ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียว คือการเกิดและขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของกระฎุมพี ซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือเจ้าศักดินาเดิม จึงอาจรื้อทำลายขนบประเพณีทางชนชั้นซึ่งเจ้าศักดินาได้ประโยชน์ลงได้ แย่งอำนาจทางการเมืองมาไว้ในมือตนเพื่อขยายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนไปทั่วโลก สร้างระบอบ "ประชาธิปไตย" ซึ่งไม่เพียงแต่ลดหรือสลายอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้าศักดินาลงเท่านั้น แต่ที่เป็นภัยอันน่ากลัวแก่กระฎุมพีมากกว่าคือ ต้องกีดกันคนชั้นล่างซึ่งถูกการปฏิวัติอุตสาหกรรมเปลี่ยนให้กลายเป็นแรงงานที่ยากจนข้นแค้นและไร้ความมั่นคงในชีวิตออกไปจากอำนาจทางการเมืองด้วย

เงื่อนไขทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีในสมัยโรมัน"ประชาธิปไตย"ของโรมันจะมีความหมายอย่างไรก็ตาม แต่ไม่ได้มีอะไรเหมือน "ประชาธิปไตย" ของยุโรปตะวันตกในศตวรรษที่ 18 เลย ยกเว้นแต่ชื่อ เพราะโรมันไม่มีกระฎุมพีจำนวนมากเท่านั้น ไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อย (หรือถีบส่ง)แรงงานจากท้องไร่ท้องนาเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม จักรวรรดินิยมของโรมันจึงมีระบบขูดรีดที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากจักรวรรดินิยมยุโรปตะวันตกฯลฯ

และที่ยิ่งกว่าปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์การเมืองจักรวรรดิโรมันไม่ใช่รัฐประชาชาติในขณะที่รัฐต่างๆ ในยุโรปตะวันตก นับตั้งแต่ (อย่างน้อย) ต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นรัฐประชาชาติหมดแล้ว...รัฐเดียวในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ยอมรับความเป็นเจ้าของรัฐของพลเมืองอย่างเสมอภาค

แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าเมื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไปถึงขั้นนี้แล้วสูตรของซิเซโร (การถ่วงดุลระหว่างประชาธิปไตย+อภิชนาธิปไตย+ราชาธิปไตย) ยังเป็นคำตอบให้แก่ยุโรปได้อีกหรือ เป็นไปได้หรือที่ในยุโรปตะวันตก ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ลงมา ที่ "รัฐบาลนั้นควรปกครองโดยอาศัยวุฒิสภา (สภาของอภิชน) โดยที่ราษฎรย่อมได้อิสรภาพ แต่ราษฎรแทบไม่มีส่วนในทางพฤติกรรมการเมือง..."

คำตอบของซิเซโรใช้กับเมืองไทยในคริสต์ศตวรรษที่21ได้หรือ สภาของอภิชนในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (และหาก คสช.ยังมีอำนาจอยู่ต่อไปก็คงในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย) ตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจแห่งวาทศิลป์ของซิเซโรและสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรืออำนาจเผด็จการทหารกันแน่

ท่ามกลางความบกพร่องมากมายของ "ประชาธิปไตย" ที่ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกเหยียดว่าเป็นควาย มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือ ในอังกฤษซึ่งเหล่าอภิชนสามารถรักษาสถานะ (อย่างน้อยทางสังคม) ของกลุ่มตนไว้ในสถาบันโบราณทั้งหลาย เช่น สภาขุนนาง, มหาวิทยาลัย, ราชสมาคมต่างๆ, สนามกีฬา ฯลฯ พอมาถึงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 พื้นที่หวงห้ามเหล่านี้ก็เริ่มพังทลายลง ต้องเปิดให้ลูกหลาน "ควาย" เข้าไปจับจองที่นั่งกันอย่างเสมอหน้ากับอภิชน จนแม้แต่สภาขุนนางเองก็คงจะอยู่ไม่รอดไปในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21 นี้แน่

ราคาที่อังกฤษต้องจ่ายเพื่อกีดกันมิให้ประชาธิปไตยแบบใหม่ขยายตัวได้นั้นแพงมาก แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงในเมืองไทย นั่นคือตลอดปลายศตวรรษที่ 18 และครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 อังกฤษอาจเป็นสังคมที่มีการจลาจลมากที่สุดในโลก เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ อันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกือบทุกวัน (E. P. Thompson บรรยายความปั่นป่วนนี้ไว้อย่างละเอียดใน The Making of the English Working Class)

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ประชาธิปไตยนั้นมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องอยู่ไม่น้อย ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ประชาธิปไตยนั้นปกป้องตนเองได้ไม่ดีนัก มีแต่หลักความชอบธรรมซึ่งแสดงออกด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การเลือกตั้งเสรี, เสรีภาพของสื่อ, สิทธิเสมอภาคของพลเมือง (อย่างน้อยในทางการเมือง) ฯลฯ กระบวนการเหล่านี้อาจถูกฉ้อฉลได้ หรือยังไม่ถูกทำให้เป็นสถาบันเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาธิปไตยจึงเพลี่ยงพล้ำแก่ศัตรูอยู่บ่อยๆศัตรูสำคัญคือกองทัพซึ่งล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาอยู่เสมอ(แต่ก็ลดน้อยลงมากในปัจจุบัน นอกจากนี้กองทัพประจำการสมัยใหม่คุกคามความมั่นคงของทุกระบอบ รวมทั้งราชาธิปไตยด้วย สาธารณรัฐเกือบทุกแห่งเกิดจากกองทัพประจำการสมัยใหม่ทั้งนั้น) ศัตรูสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คณะบุคคลซึ่งผูกขาดอำนาจทางการเมืองในรูปของพรรคการเมือง หรือผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบจากฝ่ายอื่น

คุณสุลักษณ์พูดถึงคณาธิปไตยของทุนขนาดใหญ่ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกซึ่งจริงอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้โดยเฉพาะเมื่อต่างสมาทานอุดมการณ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา แต่หากคุณสุลักษณ์คำนึงถึงบริบทให้มากขึ้นก็จะเห็นได้ว่า เสรีนิยมใหม่ไม่ได้ครอบงำนโยบายเศรษฐกิจเฉพาะของประเทศประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ครอบงำระบอบปกครองทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่ราชาธิปไตย และเผด็จการทหาร

แต่ในขณะเดียวกัน หนังสือวิชาการที่โต้งานของ F. A. Hayek บิดาของเสรีนิยมใหม่ ตีพิมพ์ในประเทศประชาธิปไตย (รวมอินเดีย) มากที่สุด และน่าสังเกตว่าแทบไม่มีที่ตีพิมพ์ในประเทศเผด็จการ (แม้แต่คอมมิวนิสต์) เลย องค์กรทางสังคมและพรรคการเมืองที่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ก็ผุดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยมากที่สุด จึงไม่แปลกที่การพังสลายของเศรษฐกิจสหรัฐและอียูจะถูกคนในประเทศนั้นชี้ให้เห็นว่าเป็นผลจากความไร้เหตุผลของลัทธิเสรีนิยมใหม่นั่นเองรวมทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้นในประเทศตะวันตกซึ่งคุณสุลักษณ์ยกขึ้นมาก็ล้วนเป็นผลจากการศึกษาของคนในระบอบประชาธิปไตยตะวันตกเอง

พลังของระบอบประชาธิปไตยที่เหนือกว่าระบอบปกครองอื่นจึงอยู่ตรงนี้นั่นคือระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่แก้ไขความผิดพลาดของตนเองได้แม้ต้องใช้เวลาและอาจถึงกับต้องหลั่งเลือดและน้ำตาของคนเล็กคนน้อยไปเป็นอันมาก แต่เลือดและน้ำตาของคนเล็กคนน้อยจะหลั่งอย่างไม่หยุดตลอดไป ภายใต้ระบอบอภิชนาธิปไตยและราชาธิปไตยหรือเผด็จการทุกรูปแบบ

คิดอย่างมีบริบทก็คือ ประชาธิปไตยเท่านั้นที่ปรับตัวได้ง่ายกว่าระบอบปกครองอื่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน ไม่มีระบอบปกครองอะไรที่ไม่ต้องปรับตัว แต่ศักยภาพในการปรับตัวของระบอบอื่นเกือบเป็นศูนย์ จึงต้องผ่านการนองเลือดที่ไม่จำเป็นเสมอ

ปรัชญาการศึกษาของผู้ดีอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่19ก็คือ ไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้นในโลกอีกแล้วหลังกรีก-โรมัน อันเป็นคติที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเรอเนสซองซ์ แต่มีผลต่อการจัดการศึกษาชั้นสูงในอังกฤษสืบมาอีกนาน ไม่ใช่เฉพาะเนื้อหาที่ใช้เล่าเรียนกันเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อสร้างอภิชนที่ต้องมีหน้าที่นำผู้อื่นด้วย ผมเห็นว่าเป็นความคิดที่เหลวไหล (และแม้ในอังกฤษปัจจุบันเองก็มีคนเห็นว่าเหลวไหลเป็นส่วนใหญ่) แต่เป็นความคิดและระบบการศึกษาที่เหมาะจะสร้างนักศีลธรรม ซึ่งไม่ถูกเรียกร้องให้มองบริบทและเงื่อนไขซึ่งแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา คัมภีร์เล่มเดียวใช้ชี้เป็นชี้ตายคนอื่นได้ทั้งโลกชั่วกัลปาวสาน

ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เกมการทูต ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ จากญี่ปุ่น ทะลุ จีน สะเทือนปฏิรูปประเทศ !!?

ถึงแม้ว่าห้วงแรกของปัญหา "การเมืองภายใน" หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อการรัฐประหาร ปรากฏผลลัพธ์ให้เกิด "แรงเสียดทาน-มาตรการตอบโต้" โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะ "มหาอำนาจ" อย่างสหรัฐอเมริกา แม้กระทั่ง "มหามิตร" อย่างญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ด้วย "กายภาพทางภูมิศาสตร์" ทำให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเพิ่มศักยภาพในระดับเป็น "ศูนย์กลางอาเซียน" ตลอดจน "นโยบายเศรษฐกิจ" ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัดเจนว่าจะก้าวย่างไปในทิศทางใด เพื่อเพิ่มขีดสามารถในการลงทุน-แข่งขัน ทำให้ "รัฐบาลไทย" อยู่ในสถานะ "เนื้อหอม" ย้อนแย้งกับห้วงเวลาก่อนหน้าที่ตกอยู่ใต้ "เงาดำแห่งรัฐประหาร"

แต่ สำหรับการเมืองภายนอก (ประเทศ) ที่ส่งผลถึงการเมืองภายในประเทศแล้ว "รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" ใต้เงา คสช. กลับต้อง "ตั้งรับ" กับยุทธวิธี "รับแต่กลับรุก" ของ "พ.ต.ท.ทักษิณและเครือข่าย"

เพราะนับจาก คสช.เข้าควบคุมอำนาจ "รัฐนาวายิ่งลักษณ์" จนถึงวันนี้-ครบรอบ 6 เดือนเต็ม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควง "น้องไปป์"-ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย ขออนุญาต คสช.เดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลเพื่อไป "พักผ่อน" แล้ว 2 ครั้ง 3 ทวีป (ยุโรป อเมริกา และเอเชีย) 7 ประเทศ (ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี เบลเยียม สหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน) ซึ่งมี "วาระจร"-พบปะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร "อดีตนายกฯพี่ชาย" ทั้ง 2 ครั้งครา พร้อมปรากฏภาพ "2 พี่น้อง" พลัดถิ่น ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียกระจายไปทั่วโลก

แม้ว่าการพบปะกันระหว่าง "อดีตนายกฯตระกูลชินวัตร" จะไม่สามารถสร้างความหวั่นไหวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ "เจอแล้วเป็นอะไรล่ะ ผมจะไปหวั่นไหวเรื่องอะไร"

ขณะเดียวกัน นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ "นักวิชาการสายแดง" แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต กลับโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Pavin Chachavalpongpun" ว่า ถ้าทหารไทยหรือนักการทูตคนไหนแอบพอใจที่จีนให้การสนับสนุน คสช.เต็มที่ ไม่แคร์สหรัฐเพราะเรามีเพื่อนอย่างจีนที่พึ่งพาได้ ขอให้คิดใหม่ การไปเที่ยวจีนของตระกูลชินวัตรนั้น ชี้ "Pattern" การทูตเดิม ๆ ของจีน คือ เหยียบเรือสองแคม จีนเอาทั้งอีลิตไทยและชินวัตร

"ตอนนี้ คสช.เป็นรัฐบาลก็จี๊จ๋าด้วย หากพรุ่งนี้ชินวัตรกลับมา จีนก็โดดลงเรือชินวัตรทันที จริง ๆ เรื่องนี้ญี่ปุ่นก็ดำเนินรอยตามจีนเช่นกัน แม้อาเบะ (นายกฯญี่ปุ่น) จะพบกับประยุทธ์ที่มิลาน และอาจเชิญมาเยือน แต่ทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์ก็ไปเยือนญี่ปุ่นหลังจากนั้นไม่นาน เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ตระกูลชินวัตรก็กำลังเล่นเกมการทูตระหว่างประเทศต่อสู้กับ คสช.เช่นเดียวกัน"

ขณะที่ "รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-กุนซือ "รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง"-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม "บิ๊กป้อม"-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อ่านหมากเกม "ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ" ว่ามี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา ได้แก่ ประเด็นแรก ในส่วนของต่างประเทศซึ่งการอนุญาตให้บุคคลใดเดินทางเข้าออกประเทศนั้น ๆ ได้ก็เป็นสิทธิ์ของประเทศนั้นจะพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรืออดีตผู้นำ

ประเด็น ที่สอง ในส่วนของภายในประเทศไทยเอง ว่า การขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศของบุคคลใดก็แล้วแต่ที่เข้าข่ายอยู่ในกลุ่ม ที่ต้องขออนุญาต คสช. ต้องมีกฎเกณฑ์-กติกาอยู่แล้ว แต่ต้องมีการทบทวน ซักซ้อมข้อปฏิบัติเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น ระหว่าง คสช.กับบุคคลที่เดินทางออกนอกประเทศ ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ โดยการทบทวนว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่

"การเคลื่อนไหวลักษณะนี้เป็นการ สร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้สนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นใจทางการเมือง ซึ่งบางลักษณะต้องระมัดระวังว่าจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ เพราะผลเสียมันอาจส่งผลต่อบุคคลที่ขออนุญาตในการเดินทางออกนอกประเทศเสียเอง ซึ่งอาจต้องมีการพูดคุยให้เข้าใจตรงกันว่า อาจจะมีส่วนเชื่อมโยงจนกระทบต่อบรรยากาศการปฏิรูปหรือไม่"

การเคลื่อนไหวลักษณะนี้ถึงแม้จะ "สุ่มเสี่ยง" ที่เข้าลักษณะเป็นยุทธวิธี "โลกล้อมไทย" แต่ "ดร.ปณิธาน" เห็นต่าง "ไม่น่าจะเป็นลักษณะยุทธวิธีนั้นได้ เพราะคงไม่มีประเทศใดที่จะไปสั่งให้อีก 193 ประเทศ ไปล้อมประเทศใดได้ แม้แต่สหรัฐหรือองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เองก็ตาม แต่เนื่องจากแต่ละประเทศก็มีกฎเกณฑ์ของประเทศนั้น ๆ ที่จะอนุญาตให้ใครก็แล้วแต่กระทำการใด ๆ ภายในประเทศของตน อย่างไรก็ตาม บุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่เข้าข่ายต้องขออนุญาตก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของไทย"

ในทางกลับกันหาก คสช.ไม่อนุญาตให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" เดินทางออกนอกประเทศในครั้งต่อ ๆ ไป แรงเหวี่ยง (ด้านสิทธิมนุษยชน) อาจจะมายังรัฐบาลเองหรือไม่นั้น "อดีตทีมงานต้านกองกำลังแดง" ทิ้งท้ายว่า ผมไม่สามารถตอบแทน คสช.ได้ เพราะมันเป็นกฎ-กติกาที่วางไว้และให้ปฏิบัติร่วมกันอยู่ทั้งผู้อนุญาตและผู้ขออนุญาตเอง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ไม่ได้เป็นนายกฯ เสียที !!?


โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

อันที่จริงการประท้วงในท้องถนนเมืองมิลานนั้นเป็นเรื่องเล็กผู้นำของหลายประเทศรวมมหาอำนาจทั้งหลายด้วยเคยถูกประท้วงในท้องถนนมาแล้วทั้งนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องให้รองโฆษกรัฐบาลออกมาปฏิเสธ ครั้นจำนนต่อหลักฐานรูปถ่ายและแถลงการณ์ขององค์กรที่จัดการประท้วง รองโฆษกฯกลับออกมาแก้ตัวว่า ที่จริงฝรั่งประท้วงเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับการรัฐประหารในไทย มีคนไทยอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่แอบแทรกตัวเข้าไปประท้วงผู้นำรัฐประหารไทย

นี่ก็เป็นเท็จอีก แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่าการประท้วงของคนไทยไร้ความหมายแก่ คสช.ถึงเพียงนี้เชียวหรือ

ยิ่งกว่าการประท้วงคือ ท่าทีเฉยชาของเหล่าผู้นำโลกตะวันตกส่วนใหญ่ต่อผู้นำรัฐประหารไทย ไม่มีการพบปะหารือเป็นส่วนตัว ไม่มีการทักทายฉันมิตรสนิท (มากไปกว่าที่มารยาทบังคับ) เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับบุคลิกภาพ ส่วนตัวของผู้นำรัฐประหารไทยหรือความไม่คล่องภาษาอังกฤษ (คงอยากจะคุยเสียอย่างเดียว ภาษาไม่เป็นอุปสรรคแน่ พูดภาษาจีนไม่เป็น ยังคุยกับผู้นำจีนได้) แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นเจตนาของพวกเขาที่จะส่งสัญญาณให้ไทยรับรู้ สอดรับกับคำประกาศอย่างชัดเจน (โดยเฉพาะของอียู) ว่า ผู้นำรัฐประหารไทยพึงเร่งคืนกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว

แม้แต่ท่าทีนี้ที่จริงก็ไม่น่ากลัวเท่าไรนักเพราะเป็นเพียงท่าทีทางการเมืองที่เหมาะสมทั้งแก่ผู้เลือกตั้งในประเทศของเขาและแก่คนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งคงไม่น้อยทีเดียว ท่าทีทางการเมืองเช่นนี้ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง แต่ไม่สู้จะมากนัก เพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ประเทศเหล่านี้มีกับไทย แม้ไม่มากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย แต่ก็เป็นกอบเป็นกำพอที่ไม่ควรจะทิ้งไปเฉยๆ ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองภายในของไทย ในระยะยาวท่าทีทางการเมืองเช่นนี้ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นปกติก็ได้

ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่ง คสช.กลับให้ความสำคัญน้อยมาก

นั่นคือคนไทยในประเทศไทยยอมรับอำนาจรัฐประหารของคณะรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ตราบเท่าที่คนไทยไม่ยอมรับการรัฐประหารก็เป็นความไม่ชอบธรรมในทรรศนะของผู้เลือกตั้งในประเทศเขา ฉะนั้นจึงไม่คุ้มที่จะกระชับความสัมพันธ์กับคณะรัฐประหารให้มากไปกว่าที่มีอยู่แล้ว เช่น อียูปฏิเสธการเจรจาเขตการค้าเสรี จนกว่าไทยจะกลับเป็นประชาธิปไตยอีก เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากประชาชนคนไทยยอมรับคณะรัฐประหาร ก็ไม่มีเหตุอันใดที่ประชาชนผู้เลือกตั้งในประเทศของเขาจะรังเกียจคณะรัฐประหารไทย แม้ยังเห็นว่าการรัฐประหารในทุกประเทศไม่มีความชอบธรรมใดๆ เหมือนเดิม ผู้นำก็ปลอดโปร่งทางการเมืองที่จะฟื้นความสัมพันธ์กับไทยกลับสู่ภาวะปกติ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความชอบธรรมของการรัฐประหารในไทยจะเป็นเรื่องใหญ่หรือไม่ในสายตาตะวันตก ขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชนไทยเอง

(เรื่องนี้สำคัญแก่ผู้ต่อต้านการรัฐประหารที่เป็นคนไทยทุกคนแรงกดดันจากต่างประเทศก็มีประโยชน์แต่ผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือตัวท่านเอง)

การยอมรับหรือไม่ยอมรับความชอบธรรมทางการเมืองของคสช.ในหมู่คนไทยเป็นปัญหาทางการเมืองและเป็นสิ่งที่ คสช.คิดว่าสำคัญน้อยที่สุด เพราะ คสช.เชื่อนักเศรษฐศาสตร์ชั้น 2 หรือ 3 ที่แวดล้อมตัวว่า หากทำให้เศรษฐกิจดี การยอมรับทางการเมืองในหมู่คนไทยก็จะเพิ่มขึ้นเอง นักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นมองไม่ออกว่าเศรษฐกิจนั้นแยกจากการเมืองไม่ได้ โดยเฉพาะในเมืองไทยปัจจุบัน ผลของคำแนะนำที่ตื้นเขินประกอบกับความสามารถที่ด้อยของนักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นก็คือ เศรษฐกิจชะงักงันและกระทบต่อคนเล็กๆ จำนวนมาก ขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ

ยิ่งความไม่ชอบธรรมทางการเมืองทำให้ถูก "เฉยชา" จากตลาด, แหล่งทุน และแหล่งเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในโลกตะวันตก นักเศรษฐศาสตร์ชั้น 2 หรือ 3 เหล่านั้นก็หมดคำแนะนำ นอกจากอัดฉีดเงินลงไปให้เกิดการสะพัดมากขึ้น โดยไม่ห่วงอีกแล้วว่าจะมีผลต่อระดับโครงสร้างหรือไม่ ในขณะที่สถานะความชอบธรรมของคณะรัฐประหารก็ยิ่งตกในวิกฤตมากขึ้น คนไทยที่เห็นว่าการรัฐประหารไม่ชอบธรรมไม่ได้ลดลง กลับเพิ่มขึ้น

สภาวการณ์เช่นนี้เป็นที่รับรู้ของโลกตะวันตกหรือไม่? หากดูจากกรณีวิกี้ลีคส์ ก็ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าสถานทูตของโลกตะวันตกได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารรอบด้านที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อส่งให้รัฐบาลของเขาพิจารณา โดยประสบการณ์ส่วนตัวในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผมเองถูกเจ้าหน้าที่สถานทูตหลายต่อหลายประเทศขอนัดพบเพื่อ "คุย" กัน เอกอัครราชทูตของประเทศหนึ่งต้องแอบพบกับผมในร้านกาแฟเล็กๆ โดยไม่ให้ผู้ร่วมเดินทางชาวไทยของเขารู้ก็ยังมี แสดงว่าทุกสถานทูตต่างเก็บข้อมูลกันจ้าละหวั่นมาหลายปีแล้ว จนทำให้รัฐบาลของเขาพอหยั่งได้ว่า คนไทย (จำนวนมากทีเดียว แต่จะเกินครึ่งหรือไม่ ไม่ทราบได้) ยังไม่ยอมรับ คสช. หรือไม่ยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหารอยู่นั่นเอง

ที่จริงนี่ก็เป็นหน้าที่ของสถานทูตทุกแห่งในโลกปัจจุบันอยู่แล้วมีแต่สถานทูตไทยเท่านั้นที่คิดว่าหน้าที่ของตนคือไปงานค็อกเทลเหมือนทูตประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (จึงยังสามารถทำงานได้อย่างหน้าชื่นตาบานภายใต้คณะรัฐประหาร ถึงอย่างไรรสชาติของค็อกเทลก็ไม่เปลี่ยน)

กลับมาสู่ข้อสรุปที่สำคัญที่สุดก็คือ การยอมรับของประชาชนคนไทยต่างหากที่เป็นเงื่อนไขความอยู่รอดของคณะรัฐประหาร และการยอมรับหรือไม่นี้ ต่างประเทศพอมีสมรรถนะที่จะหยั่งได้เที่ยงตรงพอสมควร

และด้วยเหตุดังนั้น หัวหน้าคณะ คสช.จึงต้องเลิกเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเสียที

ผมไม่ได้หมายความว่าให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคสช.แต่ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ คือ แสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองอย่างนายกฯ ซึ่งต้องแตกต่างจากการรักษาอำนาจของหัวหน้าคณะรัฐประหาร สร้างความยอมรับในหมู่ประชาชนให้กว้างขวางขึ้น โดยไม่ใช้การบีบบังคับด้วยอำนาจรัฐประหาร เวลาผ่านไป 5 เดือนแล้ว รัฐบาลของ คสช.ก็ยังต้องอิงกับกฎอัยการศึก

เที่ยวไล่จับผู้คนด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก เช่นเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งจับคนเสื้อแดงที่ไปงานศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ด้วยข้อหาว่าเขาเคยต่อต้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีรูปถ่ายปรากฏให้เห็นอยู่ ประโยชน์ที่จะได้มีอยู่อย่างเดียวคือ ทำให้ผู้คนไม่อยากเสี่ยงต่อต้านการรัฐประหารโดยสงบ เพราะอาจถูกจับขึ้นศาลทหาร แต่นี่คือการสร้างบรรยากาศของยุคทมิฬซึ่งทำให้ทุกคน ทั้งที่เคยต่อต้านและไม่เคยต่อต้านรัฐประหาร รู้สึกตัวว่าการปกครองของรัฐบาลคือการกดขี่บีบเค้น จนรู้สึกอึดอัดและคงทนไม่ไหวสักวันหนึ่ง

ส่วนประโยชน์ที่หวังจะปรามคนทั่วไปก็ไม่ได้ผลจริงจัง แม้แต่ในงานศพนั้นเอง ผู้คนเรือนหมื่นต่างพากันชูสามนิ้วต่อต้านรัฐประหาร จนเป็นภาพข่าวไปทั่วโลก จะจับทั้งหมดนั้นไหวหรือ

ในช่วงเดียวกันนั้นเองยังสั่งปิดเว็บไซต์ของ Human Right Watch องค์กรนี้จะสร้างความรำคาญให้รัฐบาลต่างๆ มากเพียงใดก็ตาม แต่ทุกประเทศก็ต้องทำท่าเคารพองค์กรนี้ เพราะองค์กรกลายเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งไปเสียแล้ว จะต้องตอบโต้ชี้แจงถ้อยแถลงขององค์กรอย่างไร ก็ทำไป แต่ไม่มีวันไปล่วงละเมิดปิดกั้นการทำงานขององค์กรอย่างเด็ดขาด ตราบเท่าที่องค์กรนี้สามารถทำกิจกรรมของตนในประเทศใดได้ ก็แสดงอยู่แล้วว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้นถึงเลวร้ายอย่างไร ก็ยังไม่เลวร้ายถึงที่สุด เพราะยังปล่อยให้มีการโวยขององค์กรนี้ได้ สั่งปิดเว็บไซต์ของเขาก็ลงล็อกพอดีคือ ตรงกับข้อกล่าวหาของนานาประเทศว่าคณะรัฐประหารไทยไม่เคารพสิทธิมนุษยชนแม้ในขั้นพื้นฐาน

ถ้อยแถลงทั้งหมดของหัวหน้าคณะรัฐประหารในที่ประชุมอาเซมหมดความหมายไปทันที

หากยังคิดว่าตัวเป็นแค่หัวหน้าคณะรัฐประหารก็ทำได้และอาจพึงทำด้วยก็ได้แต่เป็นนายกฯแล้วไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด เพราะการรักษาอำนาจของคณะรัฐประหารกับของคณะรัฐบาลนั้นต่างกัน อย่างน้อยหัวหน้ารัฐบาลไม่ใช่หัวหน้าแก๊ง

การเลือกเอา เสธ.ไก่อู หรือ เสธ. "ผังล้มเจ้า" ไปเป็นรองโฆษกรัฐบาล ก็แสดงให้เห็นว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารยังไม่พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี ในยุทธการทางทหาร การทำลายความชอบธรรมของศัตรูด้วยการปั้นเรื่องเท็จใส่ความ เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ แต่รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นกิจจะลักษณะทำอย่างนั้นไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ทำอย่างหยาบเช่นนั้นไม่ได้ เพราะคำแถลงของโฆษกย่อมถูกตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและในเชิงลึก สิ่งที่รัฐบาลใดๆ ก็ทำ (ให้จับได้) ไม่ได้เป็นอันขาดคือ "โกหก" เสธ.คนดังกล่าวนั้นจะมีความสามารถในด้านยุทธการสักเพียงไร ผมไม่ทราบ แต่กรณี "ผังล้มเจ้า" ซึ่งออกจากปากของเขา ทำให้ความน่าเชื่อถือ (credibility) ของเขาในสังคมหมดไปแล้ว ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนก็หมดคุณสมบัติพื้นฐานที่จะร่วมทีมโฆษกรัฐบาลไปเสียแล้ว เว้นไว้อย่างเดียวคือรัฐบาลไม่ได้คิดว่าตัวเป็นรัฐบาล ยังเป็นคณะรัฐประหารอยู่ (อันมีภารกิจหนึ่งหลักเดียวคือชัยชนะในเชิงยุทธและการยึดครอง)

การเปลี่ยนผ่านจากหัวหน้าคณะรัฐประหารไปสู่นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป มีหัวหน้าคณะรัฐประหารทำสำเร็จมาแล้วหลายคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นทำสำเร็จก็มีแล้วเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นมีความเก่งเป็นการเฉพาะตน (มีหรือไม่ผมไม่ทราบ) หากทว่าคนเหล่านั้นล้วนมีผู้แวดล้อมที่ให้คำแนะนำเพื่อเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จทั้งสิ้น

หัวหน้าคณะรัฐประหารชุดนี้ก็มีผู้แวดล้อมเหมือนกันบางคนรอบรู้และมีประสบการณ์ทางการเมืองมามากด้วยซ้ำแต่ผู้แวดล้อมของคณะรัฐประหารชุดนี้แตกต่างจากผู้แวดล้อมของคณะรัฐประหารชุดก่อนอย่างสำคัญอย่างหนึ่ง คนฉลาดทั้งใน สนช., สปช., และคณะที่ปรึกษา ต่างรู้เต็มอกว่า ประเทศไทยหนีประชาธิปไตยมวลชนไปไม่พ้นแล้ว ยกเว้นแต่ใช้อำนาจกองทัพขัดขวางไว้อย่างเข้มงวด หลายคนในบรรดาคนเหล่านี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านประชาธิปไตยในการเมืองมวลชนมาหลายปีแล้ว หากประชาธิปไตยมวลชนตั้งมั่นขึ้นในประเทศนี้ได้ พวกเขาจะไม่มีที่ยืนอีกเลย

การรัฐประหารครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในการเมืองไทย แต่หากรัฐประหารครั้งนี้ "เสียของ" (คือไม่สามารถระงับการเติบโตของประชาธิปไตยมวลชนได้) ไม่มีวันที่กองทัพจะยึดอำนาจเพื่อสถาปนาระบอบปกครองอะไรที่ยั่งยืนได้อีกแล้ว พวกเขากระโดดขึ้นเกาะรถด่วนขบวนสุดท้าย และไม่อยากให้พนักงานขับรถเปลี่ยนเส้นทางไปสู่เส้นอื่นใด นอกจากพุ่งหัวรถจักรเข้าชนอย่างไม่เลือกหน้า เป็นไรเป็นกัน ด้วยเหตุดังนั้น หัวหน้าคณะรัฐประหารจึงไม่ได้เป็นนายกฯเสียที เพราะเหล่าคนที่ช่วยกันประคองเขาขึ้นนั่งในตำแหน่งนายกฯล้วนไม่ต้องการให้เขาเป็นนายกฯจริงๆ แต่ต้องการเห็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่นั่งบนเก้าอี้นายกฯต่างหาก

ในที่สุด รถด่วนรัฐประหารขบวนสุดท้ายนี้จะวิ่งไปชนระเบิดข้างหน้าหรือไม่?

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วัฏจักร ราคาน้ำมัน !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

สถานการณ์ ราคาพลังงาน นำโดยราคาน้ำมันดิบในระยะ 1-2 ปีมานี้มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะลดลงอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน สถานการณ์ที่โลกประสบกับราคาน้ำมันและพลังงานแพงคงจะสิ้นสุดลงแล้ว ต่อไปนี้สถานการณ์จะกลับกัน กล่าวคือจะเป็นสถานการณ์น้ำมันและพลังงานอย่างอื่นล้นตลาดและมีราคาลดลง กลับกันกับเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประเทศผู้ผลิตน้ำมันออกรายใหญ่ที่สุดของโลกคือประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ได้ตกลงร่วมมือกันจัดตั้งองค์การประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม หรือ OPEC ประกาศลดปริมาณการผลิตลงในปี 1973 ต่อมาในปี 1979 เกิดปฏิวัติอิสลามขึ้นที่ประเทศอิหร่าน สหรัฐ และยุโรป สามารถผ่านมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบของอิหร่านซึ่งมากเป็นที่ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย หายไปจากตลาดโลก

ผลของการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคและ การคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีราคาอยู่ประมาณ 2-3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พุ่งขึ้นไปถึงกว่า 40-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สร้างความปั่นป่วนให้กับชาวโลกโดยทั่วไป

วิกฤตการณ์ น้ำมันทั้ง 2 ครั้ง ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะงักงันไปทั่วโลก ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์อีก 2-3 อย่าง กล่าวคือ เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทั่วไปหมด ทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร รถยนต์ ให้มีการประหยัดพลังงานทั่วโลก ญี่ปุ่นสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ จึงสามารถฝ่าวิกฤตการณ์น้ำมันไปได้ ขณะเดียวกันก็เกิดการลงทุนค้นหาแหล่งน้ำมันกันอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการใช้พลังงานอื่นทดแทนน้ำมัน อันได้แก่ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น

ใน ที่สุดก็พบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่ทะเลเหนือและสามารถนำเอามาใช้ได้ ทำให้ราคาน้ำมันทรุดลงทันที แม้ประเทศในกลุ่มโอเปคจะพยายามลดการผลิตน้ำมันลง แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการลดลงของราคาน้ำมันได้

เมื่อราคาน้ำมันดิบ เริ่มสั่นคลอน ความสามัคคีในกลุ่มโอเปคก็เริ่มมีปัญหา หลายๆ ประเทศในกลุ่มแอบลักลอบผลิตน้ำมันในอัตราสูงกว่าโควต้ามากขึ้น ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ก็ลดปริมาณการผลิตลงเรื่อยๆ จากที่เคยผลิตได้วันละ 10 ล้านบาร์เรลมาเหลือ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ราคาน้ำมันก็ยังไม่ขึ้น ค่อยๆ ทรุดตัวลงไปเรื่อยๆ เพราะความต้องการน้ำมันของโลกลดลง ขณะเดียวกันการผลิตนอกกลุ่มโอเปคก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุด กลุ่มโอเปคก็ทนไม่ได้ ประกาศยกเลิกมาตรการกำหนดเพดานการผลิต เมื่อข่าวชิ้นนี้ออกไปก็ทำให้ราคาน้ำมันดำดิ่งลงทันทีอย่างรวดเร็ว จาก 35 เหรียญต่อบาร์เรล มาเหลือเพียง 10 เหรียญต่อบาร์เรล

ที่ราคาน้ำมัน กลับมาพุ่งสูงขึ้นก็เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน อินเดีย และประเทศในภูมิภาคเอเชีย การขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลักของเศรษฐกิจจีนเป็นเวลายาวนานกว่า 15 ปี เป็นเหตุให้ราคาสินค้าขั้นปฐมโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมัน ราคาแร่ธาตุต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้น

การที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น เป็นเหตุให้ราคายางเทียมซึ่งเป็นผลผลิตจากน้ำมันดิบแพงขึ้นไปด้วย เมื่อราคายางเทียมสูงขึ้น ราคายางพาราก็แพงขึ้นไปด้วย นอกจากยางพาราแล้ว พืชน้ำมันต่างๆ เช่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง อ้อยและน้ำตาล รวมทั้งพืชประเภทแป้งที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์นำมาผสมกับ น้ำมันเบนซิน เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอื่นๆ ก็พลอยมีราคาแพงตามกันไปหมด

นอกจากนั้น การที่พืชน้ำมันมีราคาแพงขึ้น จึงมีการขยายการผลิตพืชเหล่านี้มากขึ้น การขยายตัวการผลิตพืชน้ำมันก็มาแย่งพื้นที่การเพาะปลูกของพืชชนิดอื่นๆ มากขึ้น พลอยทำให้พืชชนิดอื่นๆ มีราคาแพงขึ้นตามกันไปหมด

ถึงขณะนี้ สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปชะลอตัวมาเป็นเวลาหลายปี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียได้ชะลอตัวลง ดังนั้น อัตราการเพิ่มของการใช้พลังงานจึงลดลงและบัดนี้ได้ลดลงในอัตราเร่งอย่างรวด เร็ว

ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ที่ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นเพราะความต้องการของจีนและเอเชียสูงขึ้น ราคาของพลังงานที่สูงขึ้นมากจึงทำให้สหรัฐอเมริกาทุ่มเทเงินทุนพัฒนาแหล่ง หินน้ำมันใต้พิภพจนสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ รัสเซียก็สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ได้โดยการสร้างท่อส่งก๊าซเข้า ไปในยุโรปตะวันตก จนทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซของโลกเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล คล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในปี 1985-1986 ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศโอเปคก็คงจะไม่ลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน เหมือนกับคราวก่อน ราคาน้ำมันน่าจะลดลงอย่างรวดเร็วอีกในคราวนี้ ส่วนจะลงมาถึงระดับเท่าใดก็น่าจะต้องคอยดู แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 70 เหรียญต่อบาร์เรล และอาจจะลงมาถึง 50 เหรียญต่อบาร์เรลก็ได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าสหรัฐอเมริกา รัสเซีย นอร์เวย์ อังกฤษ ไม่สามารถร่วมมือกับกลุ่มโอเปคลดปริมาณการผลิตลงได้

ครั้งนี้จะเป็น การพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์นั้น ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งหรือผู้ผลิตผู้ใดผู้หนึ่ง จะฝืนหรือตั้งราคาสินค้านั้นได้โดยการลดปริมาณการส่งออกของตัวลง หรือรวมกลุ่มกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกของตนลง การทำเช่นนั้น ผู้ที่ลดการผลิตหรือลดการส่งออกของตัวลงโดยการเก็บสต๊อกก็จะต้องรับภาระเป็น ผู้เสียหายอย่างมหาศาล แต่เป็นประโยชน์ของคู่แข่ง โครงการรับจำนำข้าว ยางพารา มันสำปะหลังของประเทศไทยก็อยู่ในกฎเกณฑ์อันนี้ ความคิดเรื่องมูลภัณฑ์กันชนหรือ Buffer Stock ตามที่ลอร์ด เคนส์ เคยเสนอนั้น บัดนี้ได้เลิกคิดกันแล้ว เพราะทำแล้วไม่เคยได้ผลตามที่ต้องการ

ถ้าสถานการณ์ราคาพลังงานเป็นช่วงขาลง อย่างที่กล่าวแล้ว ผลกระทบต่อประเทศของเราคงจะมีทั้งสองด้าน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ กล่าวคือ กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่เราใช้อยู่ทั้งหมดต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แม้แต่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเราก็ต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศที่ปากหลุม

การ ที่ราคาพลังงานมีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว หากดูตามพื้นฐานของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน ประเทศในภูมิภาคนี้น่าจะได้รับประโยชน์ เพราะรายจ่ายจากการใช้พลังงานน้อยลง ทำให้รายได้ที่แท้จริงของประชาชนสูงขึ้น กำลังซื้อของตลาดก็น่าจะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมบริการลดลง

การลดลงอย่างรวดเร็วของราคา พลังงาน อาจจะมีผลต่อราคาสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือก เช่น อ้อย น้ำมันปาล์ม พืชน้ำมันอื่นๆ รวมทั้งสินค้าประเภทแป้งที่อาจจะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นแอลกอฮอล์ ที่ใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินได้ รวมทั้งยางพารา เพราะราคายางเทียมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งของน้ำมันปิโตรเลียม แต่ในระยะยาวการผลิตก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ใน อนาคตข้างหน้า เมื่อโครงสร้างการผลิตและการใช้พลังงานเปลี่ยนไป ความสำคัญของภูมิภาคต่างๆ อันเป็นผลต่อการเมืองระหว่างประเทศก็น่าจะเปลี่ยนไป

ตะวันออกกลาง คาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งเคยเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกก็คง จะลดความสำคัญลง ยิ่งปริมาณน้ำมันจะล้นตลาด ทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานอื่นมีราคาลดลง สหรัฐอเมริกาคงให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพในตะวันออกกลางน้อยลง และคงมอบให้ยุโรปเป็นผู้รับภาระในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคนี้แทนตน

จีน อินเดีย ญี่ปุ่น น่าจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันลดลงมากกว่าประเทศอื่น เพราะต่างก็เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันจีนและอินเดียที่กำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัว การลดลงของราคาพลังงานอาจจะทำให้เศรษฐกิจของจีน อินเดีย และญี่ปุ่น เปลี่ยนทิศทางก็อาจจะเป็นไปได้ จะต้องติดตามดูกันต่อไป

ประเทศกำลัง พัฒนาอย่างเราควรจะคิดไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าราคาสินค้าส่งออกที่เป็นสินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจาก สินค้าเกษตรมีราคาลดลง เราจะทำอย่างไร จะใช้วิธีชดเชยอย่างเดิมคงจะไม่ไหว เพราะบัดนี้สินค้าเหล่านี้มีปริมาณมากกว่าเมื่อก่อนประมาณ 10 เท่าตัว

รัฐบาลทหารอาจจะรับสถานการณ์สินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำได้ดีกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ ใครจะไปรู้

ขอให้โชคดี

ที่มา. นสพ.มติชนรายวัน
////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อึ้ง..? มาตรฐาน ป.ป.ช. กับข่าวลือ ยุบ-ปรับ !!?


หนึ่งในองค์กรอิสระที่สร้างความตื่นตะลึง แกมทึ่งและอึ้งให้กับคนทั่วไปได้มากที่สุดองค์กรหนึ่งก็คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เพียงตัวอย่างล่าสุดก็เรียกเสียงวิพากษ์ได้มากมาย

เริ่มต้นจากการประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านไปเพียงไม่กี่วันว่า

ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบทรัพย์สินคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะกฎหมายมิได้ให้อำนาจไว้

จนเมื่อ คสช.บางรายเสียสละเข้ามารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีนั่นหรอก สาธารณชนจึงได้มีโอกาสรับรู้ว่าอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และเทคโนแครตท่านใดบ้างมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนเท่าใดและอะไรบ้าง

ตรวจแต่แม่ไม่ตรวจพ่อก็ดูแปลกๆ อยู่แล้ว

มาถึงรุ่นลูกยิ่งประหลาดกว่า

ป.ป.ช.ประกาศมาตั้งแต่ต้นว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสถานภาพเช่นเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา

ฉะนั้น จะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน

เป็นเหตุให้ สนช.กลุ่มหนึ่งทำหนังสือสอบถามขอความชัดเจน จนกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม

แต่กรณีล่าสุดกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายวิชา มหาคุณ ป.ป.ช.คนสำคัญที่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกมากที่สุด พูดอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน

เพราะ สปช.เข้ามาทำงานด้านวิชาการ

เรียกเสียงวิพากษ์ได้มากยิ่งกว่า ว่าการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง กฎหมาย ไปจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญนี่นะ

เป็นงานวิชาการ?

ยิ่งเมื่อนำเอาคดีอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.มาวางเทียบเคียง ก็จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ขณะที่ลงแรงทุ่มชนิดสุดตัวโครงการรับจำนำข้าวและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงขนาดที่ไปนำเอาผลงานวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อนมาเป็นเอกสารประกอบการตั้งข้อหา

สำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าวและ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีผู้ร้องเอาไว้ก่อนหน้าเป็นเวลาหลายปี ยังไม่คืบหน้าไปไหน

ด้วยเหตุผลว่าหลักฐานหลายประการหายไปเมื่อน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

เช่นเดียวกับความเอาจริงเอาจังอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา

ในข้อหาเป็นผู้บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จนเกิดระลอกใน สนช.ว่าจะสามารถดำเนินการตามที่ ป.ป.ช.ร้องมาได้หรือไม่ ในวันที่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีข้อกำหนดเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ดำรงอยู่แล้ว

เทียบกับความล่าช้าในการจัดการคดีที่เกิดขึ้นก่อนหรือไล่เลี่ยกันอย่างการสังหารประชาชนเมื่อปี2553การทุจริตก่อสร้างโรงพักที่มีหลักฐานชัดอยู่ทั่วประเทศ หรือคดีทุจริตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดที่แล้ว ฯลฯ

ไม่ปรากฏว่าในช่วง 8 ปี ที่มีคดีอยู่ทั้งสิ้น 34,528 เรื่อง ดำเนินการเสร็จ 25,012 เรื่อง หรือทำได้เฉลี่ยปีละ 3,000 เรื่อง

จะมีคดีเหล่านี้รวมอยู่ด้วย

จึงไม่แปลกใจที่มีเสียงเรียกร้องจากคนจำนวนไม่น้อย ขอให้ทบทวนความจำเป็นความเหมาะสมในการดำรงอยู่ของ ป.ป.ช.

ประการหนึ่ง ยังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมี ป.ป.ช.

ประการหนึ่ง หากในทางหลักการยังเห็นว่าจำเป็น ในทางปฏิบัติจะทำอย่างไรให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่

เสียงเรียกร้องเช่นนี้ย่อมมิใช่เสียงนกเสียงกาหรือเสียงกระซิบแผ่วๆอยู่ในสายลม

ไม่เช่นนั้นกรรมการใหญ่ป.ป.ช. อย่างนายวิชา คงไม่ออกมาพูดเสียงดังฟังชัดว่า

ที่ต้องการจะยุบ ป.ป.ช.นั้น มีการสอบถามประชาชนบ้างหรือยัง

เป็นภาพที่ดูเหมือนว่า ป.ป.ช.แอบอิงนิ่งแนบกับประชาชนอย่างยิ่ง

น่าสนใจและน่าสอบถามประชาชน อย่างที่ท่านกรรมการใหญ่ ป.ป.ช.ว่าไว้จริงๆ


ที่มา.มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจแฟรนไชส์ใน เออีซี !!

โดย. ณกฤช เศวตนันท์

ในปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจที่สําคัญ และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสาขาธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่

ในการเริ่มต้นธุรกิจ ได้ด้วยตนเอง มีโอกาสประสบความสําเร็จมากกว่าธุรกิจทั่วไป เพราะมีผู้ให้สิทธิ์คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำ ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่สามารถพัฒนาและขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและอย่างมีระบบ อีกทั้งยังสามารถลดข้อจํากัดทางการค้าและสร้างความได้เปรียบในด้านแหล่งทุน

ประการ ที่สำคัญคือสร้างรายได้ให้เจ้าของแฟรนไชส์ได้เป็นอย่างมาก จากสถิติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทย พบว่าในประเทศไทยมีธุรกิจแฟรนไชส์รวมถึง 446 กิจการ ประมาณ 83,622 สาขา

เคย มีผู้แบ่งประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ไว้เป็น 11 ประเภท ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม และไอศกรีม เบเกอรี่ บริการ การศึกษา ความงาม ค้าปลีก งานพิมพ์ หนังสือ อสังหาริมทรัพย์ และโอกาสทางธุรกิจ อาทิ ธุรกิจขายตรง ธุรกิจออนไลน์

จากการสำรวจพบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ อาหาร เครื่องดื่ม กับไอศกรีม และบริการ

แนว โน้มของธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2557 น่าจะยังเติบโตในเกณฑ์ดี โดยด้านยอดขายน่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 260,000 ล้านบาท และแนวโน้มจากปี 2556 คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น 30% ยังมี นักลงทุนที่มีความสนใจระบบแฟรนไชส์และพร้อมที่จะลงทุนไม่น้อยกว่า 40,000 ราย ตามผลรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่งผลให้จํานวนและประเภทธุรกิจมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

การ ลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด ในแต่ละภูมิภาค ที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของความเป็นเมือง และกำลังซื้อภาคประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น ความนิยมเป็นจำนวนมากทำให้มีการแข่งขันที่สูง ทั้งจากแฟรนไชส์ของไทยเองและแฟรนไชส์ต่างชาติ แน่นอนว่าจะมีแบรนด์ต่างชาติเข้ามาบุกตลาดไทยเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน ผู้ประกอบกิจการแฟรนไชส์ของไทยไม่ต่ำกว่า 20 ราย ได้เข้าไปบุกเบิกตลาดแฟรนไชส์ในกลุ่มประเทศต่าง ๆ มากขึ้น สามารถเข้าไปเจาะตลาดต่างประเทศในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ อาทิ ธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และเครื่องดื่มในประเทศพม่า เพราะชาวพม่าต่างคุ้นเคยสินค้าไทยเป็นอย่างดี และคู่แข่งในตลาดยังมีไม่มาก

ผู้ประกอบการไทยเข้าไปขยายธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่มสุขภาพ ความงามในประเทศกัมพูชา โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และเครื่องดื่มเป็นที่ต้องการ เนื่องจากธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชามีการเติบโต ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการในธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการไทยยังเข้าไปลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม การศึกษา สุขภาพ ความงาม และบริการในประเทศเวียดนาม

สาเหตุที่ผู้ประกอบการ ไทยให้ความสำคัญในการเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม เนื่องจากชาวเวียดนามมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้มีอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น ชาวเวียดนามยังมีการศึกษาสูงขึ้น กับมีพฤติกรรมการบริโภคแบบชาวตะวันตกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศเวียดนามได้มีการปรับแก้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ในด้านธุรกิจ แฟรนไชส์ให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเปิดเสรีการค้าปลีกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ทำให้ประเทศเวียดนามมีความน่าสนใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

การเลือก ประเภทธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับการลงทุน จึงควรพิจารณาให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ สภาพสังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค ไม่ควรลงทุนกับธุรกิจตามกระแสนิยมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนชนิดหรือประเภทธุรกิจของแฟรนไช ส์ให้ดี

นอกจากนี้ ควรพิจารณาอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต หรือธุรกิจที่ผู้ประกอบการมีความถนัด การบริหารจัดการแฟรนไชส์ให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบการค้าที่ได้กำหนดไว้ โดยผู้ให้สิทธิ์มีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว จึงเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม

หากนักธุรกิจแฟรนไชส์ ของไทยมีการเตรียมตัวที่ดี ศึกษาลู่ทางการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภค และนำกลยุทธ์การแข่งขันมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของตน เพื่อสร้างความแตกต่าง ก็อาจทำให้เกิดความสำเร็จในการขยายตัวได้เป็นอย่างดีในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////

หมดเวลา ฮันนีมูน !!?

โดย. ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

ข่าวสื่อสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทีไร มีประเด็นสีสันดราม่าระหว่างสื่อกับนายกฯร่ำไป ทั้งเรื่องรูปแบบการพูดของนายกฯที่สื่ออาวุโสในทำเนียบได้แชร์ไอเดียต่อหน้านายกฯที่ยืนอยู่ที่โพเดียม โดยเสนอให้พูดกระชับ ไม่ต้องอธิบายที่มาพื้นฐานบางเรื่องมาก แต่ก็ถูกนายกฯแจงกลับแบบเข้มข้นดุดันกันไป

นายกฯยังสวนกลับบรรดาผู้ที่วิจารณ์ว่าให้สัมภาษณ์ทุกวันไม่มีเวลาทำงานกันพอดี โดยใช้วิธีพูดเชิงประชด ให้แปลความแบบเรียบ ๆ ก็คือ นายกฯยืนยันว่าการให้สัมภาษณ์ทุกวันไม่ได้กระทบกับเวลาบริหารงาน ส่วนประโยคที่โควตคำพูดดุดันของนายกฯ ใครว่างต้องไปหาดูตามคลิปในโซเชียลมีเดียกันเอง

แม้ที่จริงสื่อเสนอด้วยความหวังดีเพื่อขอโฟกัสประเด็นในข่าว เพราะมีสถิติที่นายกฯก็เคยให้สัมภาษณ์ยาวนานเกือบชั่วโมง บางทีก็แทบจะเท่ากับเวลาที่นายกฯพูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติทุกวันศุกร์

ที่ว่ามาเป็นประเด็นข่าวการเมืองแบบหยิกเล็บเจ็บเนื้อรายวัน กระนั้นด้านหนึ่งสิ่งที่สื่อรายงานเป็นประเด็นใหญ่ คือ เรื่องร้อนของแท้ การรับมือกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา

ดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจที่สรุปและคาดการณ์ออกมาหลายตัวไม่สวยเอาซะเลย โดยเฉพาะตัวเลขส่งออกที่หวาดเสียว ตัวเลขจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวทรง ๆ ที่ คสช.ยังคงประกาศกฎอัยการศึก

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังประเมินแบบมองบวกอยู่ และภาคค้าปลีกที่หวังว่าไตรมาส 4 เป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวหยุดยาวจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในขึ้นมาได้

กระนั้น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุก่อนนี้ไม่นานว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าที่คาด โดยลูกค้าของธนาคารที่เป็นกลุ่มคนรวยสามารถกลับตัวได้เร็วและเข้าลงทุนต่อได้ อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสินค้าหรู แต่ในส่วนของชาวนาและคนจนกลับไม่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะเงินที่ได้จากการช่วยเหลือของรัฐบาลต้องนำไปชำระหนี้ที่ค้างไว้ ส่วนเศรษฐกิจในต่างจังหวัดมองว่ายังไม่ดีเช่นกัน ยังมีความกังวลในด้านกำลังซื้อ

"ข้อมูลทางเศรษฐกิจของไทยยังคงขัดแย้งกันเอง เพราะยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในด้านของคนรวยสามารถกลับตัวได้เร็วและลงทุนต่อ แต่ขณะเดียวกัน ฝั่งของชาวนาและคนจนกลับไม่มีกำลังซื้อ มองว่าทางภาครัฐเองควรกระตุ้นด้วยนโยบายการคลัง"

หลังมีแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยลงมือทำ ทุกฝ่ายรอตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจจะผงกหัวกราฟเด้งขึ้นบ้าง แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้านบาทที่ประกาศออกมา โดยส่วนหนึ่งกว่าแสนล้านเป็นงบฯที่ดึงมาจากงบฯค้างท่อปี57 ด้วยคอนเซ็ปต์แบบที่ "บิ๊กตู่" บอกว่า "เน้นซ่อม (แซม) ไม่เน้นสร้าง"

ฟากหม่อมอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ได้ส่งสัญญาณให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจว่า งบฯลงทุนที่เหลือจากปี 57  นี้ หากมีการเบิกจ่ายและใช้สัก 20% เศรษฐกิจก็จะกระเด้ง ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าให้ปี 2558 การลงทุนภาครัฐเป็นกลจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

จังหวะนี้ของรัฐบาล "บิ๊กตู่" เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มรสุมเศรษฐกิจ-ปากท้องมีผลแบบสายฟ้าแลบ และสะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อผู้นำประเทศ เพราะเรื่องปากท้องมีผลกระทบเร็ว บางครั้งยิ่งกว่าประเด็นการเมืองด้วยซ้ำ เฉกเช่นที่รัฐบาลก่อนหน้าหรือรัฐบาลไหน ๆ ก็ต้องรับมือปัญหานี้ เพราะวันนี้หลายฝ่ายยังห่วงว่าการบริโภคของประชาชนยังไม่น่าจะเพิ่มขึ้น งบฯที่ลงไปช่วยชาวนาหรือชาวสวนยางพารายังไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภคภายในได้ ทั้งยังห่วงเรื่องเก็บภาษีที่ยังไม่เข้าเป้า

เศรษฐกิจขณะนี้จึงยังถูกจับตาประคองใกล้ชิดว่าจะสาหัสไปเรื่อย ๆ มากขึ้นหรือไม่ และที่สำคัญประเด็นเศรษฐกิจจะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้เช่นกัน เพราะหมดช่วงฮันนีมูนคืนความสุขจากสถานการณ์การเมืองกันไปแล้ว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เศรษฐกิจของจีนชะลอ !!?


โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแม้จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วและเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ อัตราการว่างงานลดลง จากที่เคยสูงสุดเกือบร้อยละ 10 ลงมาเหลือประมาณร้อยละ 5.7 โดยที่อัตราเงินเฟ้อยังไม่เป็นปัญหา ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาจึงดำเนินนโยบายการเงินโดยลดอัตราการเพิ่มปริมาณเงินลงทุกๆ เดือนเรื่อยๆ มา

เหตุที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มกระเตื้องขึ้น อาจจะเป็นเพราะสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากใต้พื้นพิภพที่ลึกลงไปได้ เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่มีวิทยาการการผลิตหรือเทคโนโลยีที่จะทำเช่นนั้นได้ แค่มีข่าวว่าอเมริกาสามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานภายในประเทศได้แล้ว แค่มีแนวโน้มว่าจะสามารถลดค่าขนส่งลงจนทำให้สามารถส่งออกได้ ข่าวเช่นว่านี้ก็ทำให้ตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกาเริ่มดีขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มดีขึ้น

ส่วนยุโรปนั้นยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่ชัดเจนว่าจะมีปัจจัยอะไรที่จะดึงเศรษฐกิจของยุโรปขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือภาวะซบเซาได้ แม้ว่าจะมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีและอังกฤษน่าจะถึงจุดต่ำสุดและเริ่มที่จะฟื้นตัวอยู่บ้าง แต่สำหรับฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย รวมทั้งประเทศยุโรปตอนใต้ เช่น อิตาลี สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าเศรษฐกิจจะเริ่มขยับเขยื้อนขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ดำรงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ภาวะหนี้สินของประเทศเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่หนักอยู่เช่นเดิม ส่วนญี่ปุ่นนั้นรู้สึกว่าไม่มีใครพูดถึงมากนัก อาจจะเป็นเพราะยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่จะบ่งชี้ว่า 2 ทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่นได้จบสิ้นแล้ว เศรษฐกิจของภูมิภาคดังกล่าวของประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างเห็นภาพที่ชัดเจน

ที่ยังไม่ชัดเจนคือเศรษฐกิจของจีน จะมีทิศทางไปทางไหน ตัวเลขทางการของจีนยังตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวของรายได้ไว้ในอัตราที่สูง กล่าวคือ ทางการจีนตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งถ้าหากเศรษฐกิจของจีนขยายตัวได้ในอัตรานี้ ก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจของจีนยังขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลกเป็นอันมาก

นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าจีนจะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ในเมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในอดีตนั้นเติบโตได้โดยอาศัยการส่งออกเป็นตัวนำ อาศัยความได้เปรียบจากอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ มีแรงงานเหลือเฟือ แต่ความได้เปรียบดังกล่าวได้หมดไปแล้ว แรงงานเริ่มขาดแคลน ค่าแรงงานได้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพของแรงงาน แม้ว่าจีนจะรีบเร่งพัฒนาระบบขนส่งและคมนาคมทางบก เพื่อเปิดพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในทิศตะวันตกและทิศใต้ของประเทศก็ตาม เพื่อเปิดตลาดแรงงานในภาคตะวันตกและภาคใต้พร้อมๆ กับลดค่าขนส่งทางบกลง

นักสังเกตการณ์ตะวันตกพากันวิตกว่า ถ้าหากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกได้อย่างมากและอย่างรวดเร็ว ถ้าหากมีธนาคารขนาดกลางสักแห่งหรือสองแห่งล้มลง ความตระหนกก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเงินออมของชาวอเมริกันและยุโรปได้ไปลงไว้ที่จีนเป็นจำนวนมหาศาล จีนเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวในโลกที่ยังมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่สูงอยู่ สินเชื่อที่สถาบันการเงินในจีนปล่อยให้ทั้งรัฐบาลและเอกชนกู้มีสูงกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ

ทางการจีนก็ตระหนักในเรื่องการลดลงของการได้เปรียบในการส่งออก รวมถึงกำลังซื้อของตลาดส่งออกของตน เช่น อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น จีนจึงเร่งในเรื่องการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งการลงทุนของรัฐบาลในการสร้างระบบถนน ระบบราง ท่าอากาศยาน ท่าเรือ เร่งการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังมีบทบาทอยู่มาก เพราะบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออกยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อชดเชยอัตราการขยายตัวที่ลดลงของการส่งออก การจะรักษาอัตราการขยายตัวในอัตราสูงขนาดร้อยละ 7.5 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฐานที่ใช้คำนวณบัดนี้สูงขึ้นมากแล้ว ไม่เหมือนเมื่อระดับการพัฒนายังต่ำ อัตราการขยายตัวที่สูงทำได้ง่ายกว่า

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวลงมากกว่าตัวเลขของทางการจีนมีอยู่หลายตัว กล่าวคือ การที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง ทำให้ตลาดการส่งออกของจีนมีกำลังซื้ออ่อนตัวลง ข้อมูลอันนี้ค่อนข้างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบให้จีน เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บราซิล ก็เริ่มรู้สึกว่าจีนสั่งซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเหล่านี้น้อยลง จึงเป็นเหตุให้ราคาวัตถุดิบ เช่น ยางพารา พืชน้ำมัน รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กรณีการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกงก็อาจจะสร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับการส่งออกของจีนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ประเทศที่เคยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภททุน อันได้แก่ เครื่องยนต์ เครื่องจักร ให้แก่จีน เช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ การส่งออกของตนไปยังจีนก็ลดลง

อัตราการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าในประเทศจีนก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ กล่าวคือ คาดว่าในปีนี้การใช้ไฟฟ้าคงจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดตั้งแต่จีนเปิดประเทศเป็นต้นมา ปกติอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติเสมอมา

นอกจากนั้น จากรายงานการสำรวจราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ปกติแล้วภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่ดี ประเทศต่างๆ ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดทิศทางของเศรษฐกิจ การที่ราคาอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลงจึงเป็นสัญญาณสำคัญว่าเศรษฐกิจของจีนได้เริ่มเป็นเศรษฐกิจขาลง

แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกลับมีความเห็นว่า การที่เศรษฐกิจของจีนเริ่มอ่อนตัวลงกลับจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของโลก เพราะทำให้คลายกังวลได้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะไม่เป็นฟองสบู่ที่อาจจะแตกหรือล่มสลายลงอย่างรวดเร็วแบบวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดในเอเชียและอเมริกาในปี 1997 และปี 2008 ซึ่งถ้าเป็นกรณีเช่นนั้นก็น่าจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของโลก

ขณะนี้จีนพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจของตนค่อยๆ ลดระดับความร้อนแรงลง หรือที่เรียกว่า "soft landing" การชดเชยการลดลงของอัตราการขยายตัวของการส่งออกโดยการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากพอ การใช้จ่ายภายในประเทศมิได้ทำเฉพาะการลงทุนอย่างขนานใหญ่อย่างรวดเร็วภายในประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้การบริโภคของประชาชนภายในประเทศเพิ่มขึ้น การยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ให้สูงขึ้น

ถ้าเราเดินทางไปเมืองจีนก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและเกิดขึ้นทั่วไปทั้งประเทศ ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลลึกเข้าไปในใจกลางไปจนถึงมณฑลซินเกียงซึ่งอยู่ที่ภาคตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงมณฑลยูนนานซึ่งอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศ

แต่การที่จีนจะประคับประคองการลดระดับลงของเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจล่มสลายกลายเป็นวิกฤตการณ์ของโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเพิ่มการใช้จ่ายในการลงทุนและการบริโภคให้มากและรวดเร็วพอจึงจะประสบความสำเร็จ เพื่อรอเวลาที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจของยุโรปฟื้นตัว โชคดีที่จีนสะสมทุนสำรองไว้เป็นจำนวนมากจึงสามารถดำเนินนโยบายเช่นว่านี้ได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อค่าเงินและเงินเฟ้อ

ภาวะเศรษฐกิจของจีนจะหักเหไปในทางใดจึงเป็นที่สนใจของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก เพราะเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และกำลังจะกลายเป็นอันดับ 1 ของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นประเทศเดียวที่ภาพยังไม่ค่อยชัดว่าจะชะลอตัวลงอย่างไรในสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน จะเป็น "soft landing" หรือ "hard landing"

ทั้งหมดคงอยู่ที่การบริหารจัดการของจีนเอง เศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างไรก็ชัดเจนแล้ว

ที่มา.มติชนออนไลน์
////////////////////////////////////////////////