--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เศรษฐกิจของจีนชะลอ !!?


โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแม้จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วและเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ อัตราการว่างงานลดลง จากที่เคยสูงสุดเกือบร้อยละ 10 ลงมาเหลือประมาณร้อยละ 5.7 โดยที่อัตราเงินเฟ้อยังไม่เป็นปัญหา ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาจึงดำเนินนโยบายการเงินโดยลดอัตราการเพิ่มปริมาณเงินลงทุกๆ เดือนเรื่อยๆ มา

เหตุที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มกระเตื้องขึ้น อาจจะเป็นเพราะสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากใต้พื้นพิภพที่ลึกลงไปได้ เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่มีวิทยาการการผลิตหรือเทคโนโลยีที่จะทำเช่นนั้นได้ แค่มีข่าวว่าอเมริกาสามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานภายในประเทศได้แล้ว แค่มีแนวโน้มว่าจะสามารถลดค่าขนส่งลงจนทำให้สามารถส่งออกได้ ข่าวเช่นว่านี้ก็ทำให้ตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกาเริ่มดีขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มดีขึ้น

ส่วนยุโรปนั้นยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่ชัดเจนว่าจะมีปัจจัยอะไรที่จะดึงเศรษฐกิจของยุโรปขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือภาวะซบเซาได้ แม้ว่าจะมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีและอังกฤษน่าจะถึงจุดต่ำสุดและเริ่มที่จะฟื้นตัวอยู่บ้าง แต่สำหรับฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย รวมทั้งประเทศยุโรปตอนใต้ เช่น อิตาลี สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าเศรษฐกิจจะเริ่มขยับเขยื้อนขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ดำรงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ภาวะหนี้สินของประเทศเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่หนักอยู่เช่นเดิม ส่วนญี่ปุ่นนั้นรู้สึกว่าไม่มีใครพูดถึงมากนัก อาจจะเป็นเพราะยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่จะบ่งชี้ว่า 2 ทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่นได้จบสิ้นแล้ว เศรษฐกิจของภูมิภาคดังกล่าวของประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างเห็นภาพที่ชัดเจน

ที่ยังไม่ชัดเจนคือเศรษฐกิจของจีน จะมีทิศทางไปทางไหน ตัวเลขทางการของจีนยังตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวของรายได้ไว้ในอัตราที่สูง กล่าวคือ ทางการจีนตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งถ้าหากเศรษฐกิจของจีนขยายตัวได้ในอัตรานี้ ก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจของจีนยังขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลกเป็นอันมาก

นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าจีนจะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ในเมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในอดีตนั้นเติบโตได้โดยอาศัยการส่งออกเป็นตัวนำ อาศัยความได้เปรียบจากอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ มีแรงงานเหลือเฟือ แต่ความได้เปรียบดังกล่าวได้หมดไปแล้ว แรงงานเริ่มขาดแคลน ค่าแรงงานได้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพของแรงงาน แม้ว่าจีนจะรีบเร่งพัฒนาระบบขนส่งและคมนาคมทางบก เพื่อเปิดพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในทิศตะวันตกและทิศใต้ของประเทศก็ตาม เพื่อเปิดตลาดแรงงานในภาคตะวันตกและภาคใต้พร้อมๆ กับลดค่าขนส่งทางบกลง

นักสังเกตการณ์ตะวันตกพากันวิตกว่า ถ้าหากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกได้อย่างมากและอย่างรวดเร็ว ถ้าหากมีธนาคารขนาดกลางสักแห่งหรือสองแห่งล้มลง ความตระหนกก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเงินออมของชาวอเมริกันและยุโรปได้ไปลงไว้ที่จีนเป็นจำนวนมหาศาล จีนเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวในโลกที่ยังมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่สูงอยู่ สินเชื่อที่สถาบันการเงินในจีนปล่อยให้ทั้งรัฐบาลและเอกชนกู้มีสูงกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ

ทางการจีนก็ตระหนักในเรื่องการลดลงของการได้เปรียบในการส่งออก รวมถึงกำลังซื้อของตลาดส่งออกของตน เช่น อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น จีนจึงเร่งในเรื่องการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งการลงทุนของรัฐบาลในการสร้างระบบถนน ระบบราง ท่าอากาศยาน ท่าเรือ เร่งการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังมีบทบาทอยู่มาก เพราะบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออกยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อชดเชยอัตราการขยายตัวที่ลดลงของการส่งออก การจะรักษาอัตราการขยายตัวในอัตราสูงขนาดร้อยละ 7.5 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฐานที่ใช้คำนวณบัดนี้สูงขึ้นมากแล้ว ไม่เหมือนเมื่อระดับการพัฒนายังต่ำ อัตราการขยายตัวที่สูงทำได้ง่ายกว่า

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวลงมากกว่าตัวเลขของทางการจีนมีอยู่หลายตัว กล่าวคือ การที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง ทำให้ตลาดการส่งออกของจีนมีกำลังซื้ออ่อนตัวลง ข้อมูลอันนี้ค่อนข้างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบให้จีน เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บราซิล ก็เริ่มรู้สึกว่าจีนสั่งซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเหล่านี้น้อยลง จึงเป็นเหตุให้ราคาวัตถุดิบ เช่น ยางพารา พืชน้ำมัน รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กรณีการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกงก็อาจจะสร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับการส่งออกของจีนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ประเทศที่เคยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภททุน อันได้แก่ เครื่องยนต์ เครื่องจักร ให้แก่จีน เช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ การส่งออกของตนไปยังจีนก็ลดลง

อัตราการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าในประเทศจีนก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ กล่าวคือ คาดว่าในปีนี้การใช้ไฟฟ้าคงจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดตั้งแต่จีนเปิดประเทศเป็นต้นมา ปกติอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติเสมอมา

นอกจากนั้น จากรายงานการสำรวจราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ปกติแล้วภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่ดี ประเทศต่างๆ ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดทิศทางของเศรษฐกิจ การที่ราคาอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลงจึงเป็นสัญญาณสำคัญว่าเศรษฐกิจของจีนได้เริ่มเป็นเศรษฐกิจขาลง

แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกลับมีความเห็นว่า การที่เศรษฐกิจของจีนเริ่มอ่อนตัวลงกลับจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของโลก เพราะทำให้คลายกังวลได้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะไม่เป็นฟองสบู่ที่อาจจะแตกหรือล่มสลายลงอย่างรวดเร็วแบบวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดในเอเชียและอเมริกาในปี 1997 และปี 2008 ซึ่งถ้าเป็นกรณีเช่นนั้นก็น่าจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของโลก

ขณะนี้จีนพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจของตนค่อยๆ ลดระดับความร้อนแรงลง หรือที่เรียกว่า "soft landing" การชดเชยการลดลงของอัตราการขยายตัวของการส่งออกโดยการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากพอ การใช้จ่ายภายในประเทศมิได้ทำเฉพาะการลงทุนอย่างขนานใหญ่อย่างรวดเร็วภายในประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้การบริโภคของประชาชนภายในประเทศเพิ่มขึ้น การยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ให้สูงขึ้น

ถ้าเราเดินทางไปเมืองจีนก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและเกิดขึ้นทั่วไปทั้งประเทศ ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลลึกเข้าไปในใจกลางไปจนถึงมณฑลซินเกียงซึ่งอยู่ที่ภาคตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงมณฑลยูนนานซึ่งอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศ

แต่การที่จีนจะประคับประคองการลดระดับลงของเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจล่มสลายกลายเป็นวิกฤตการณ์ของโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเพิ่มการใช้จ่ายในการลงทุนและการบริโภคให้มากและรวดเร็วพอจึงจะประสบความสำเร็จ เพื่อรอเวลาที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจของยุโรปฟื้นตัว โชคดีที่จีนสะสมทุนสำรองไว้เป็นจำนวนมากจึงสามารถดำเนินนโยบายเช่นว่านี้ได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อค่าเงินและเงินเฟ้อ

ภาวะเศรษฐกิจของจีนจะหักเหไปในทางใดจึงเป็นที่สนใจของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก เพราะเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และกำลังจะกลายเป็นอันดับ 1 ของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นประเทศเดียวที่ภาพยังไม่ค่อยชัดว่าจะชะลอตัวลงอย่างไรในสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน จะเป็น "soft landing" หรือ "hard landing"

ทั้งหมดคงอยู่ที่การบริหารจัดการของจีนเอง เศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างไรก็ชัดเจนแล้ว

ที่มา.มติชนออนไลน์
////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น