เพียงตัวอย่างล่าสุดก็เรียกเสียงวิพากษ์ได้มากมาย
เริ่มต้นจากการประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านไปเพียงไม่กี่วันว่า
ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบทรัพย์สินคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะกฎหมายมิได้ให้อำนาจไว้
จนเมื่อ คสช.บางรายเสียสละเข้ามารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีนั่นหรอก สาธารณชนจึงได้มีโอกาสรับรู้ว่าอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และเทคโนแครตท่านใดบ้างมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนเท่าใดและอะไรบ้าง
ตรวจแต่แม่ไม่ตรวจพ่อก็ดูแปลกๆ อยู่แล้ว
มาถึงรุ่นลูกยิ่งประหลาดกว่า
ป.ป.ช.ประกาศมาตั้งแต่ต้นว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสถานภาพเช่นเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา
ฉะนั้น จะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
เป็นเหตุให้ สนช.กลุ่มหนึ่งทำหนังสือสอบถามขอความชัดเจน จนกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม
แต่กรณีล่าสุดกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายวิชา มหาคุณ ป.ป.ช.คนสำคัญที่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกมากที่สุด พูดอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน
เพราะ สปช.เข้ามาทำงานด้านวิชาการ
เรียกเสียงวิพากษ์ได้มากยิ่งกว่า ว่าการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง กฎหมาย ไปจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญนี่นะ
เป็นงานวิชาการ?
ยิ่งเมื่อนำเอาคดีอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.มาวางเทียบเคียง ก็จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ขณะที่ลงแรงทุ่มชนิดสุดตัวโครงการรับจำนำข้าวและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงขนาดที่ไปนำเอาผลงานวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อนมาเป็นเอกสารประกอบการตั้งข้อหา
สำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าวและ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีผู้ร้องเอาไว้ก่อนหน้าเป็นเวลาหลายปี ยังไม่คืบหน้าไปไหน
ด้วยเหตุผลว่าหลักฐานหลายประการหายไปเมื่อน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
เช่นเดียวกับความเอาจริงเอาจังอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา
ในข้อหาเป็นผู้บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จนเกิดระลอกใน สนช.ว่าจะสามารถดำเนินการตามที่ ป.ป.ช.ร้องมาได้หรือไม่ ในวันที่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีข้อกำหนดเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ดำรงอยู่แล้ว
เทียบกับความล่าช้าในการจัดการคดีที่เกิดขึ้นก่อนหรือไล่เลี่ยกันอย่างการสังหารประชาชนเมื่อปี2553การทุจริตก่อสร้างโรงพักที่มีหลักฐานชัดอยู่ทั่วประเทศ หรือคดีทุจริตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดที่แล้ว ฯลฯ
ไม่ปรากฏว่าในช่วง 8 ปี ที่มีคดีอยู่ทั้งสิ้น 34,528 เรื่อง ดำเนินการเสร็จ 25,012 เรื่อง หรือทำได้เฉลี่ยปีละ 3,000 เรื่อง
จะมีคดีเหล่านี้รวมอยู่ด้วย
จึงไม่แปลกใจที่มีเสียงเรียกร้องจากคนจำนวนไม่น้อย ขอให้ทบทวนความจำเป็นความเหมาะสมในการดำรงอยู่ของ ป.ป.ช.
ประการหนึ่ง ยังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมี ป.ป.ช.
ประการหนึ่ง หากในทางหลักการยังเห็นว่าจำเป็น ในทางปฏิบัติจะทำอย่างไรให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่
เสียงเรียกร้องเช่นนี้ย่อมมิใช่เสียงนกเสียงกาหรือเสียงกระซิบแผ่วๆอยู่ในสายลม
ไม่เช่นนั้นกรรมการใหญ่ป.ป.ช. อย่างนายวิชา คงไม่ออกมาพูดเสียงดังฟังชัดว่า
ที่ต้องการจะยุบ ป.ป.ช.นั้น มีการสอบถามประชาชนบ้างหรือยัง
เป็นภาพที่ดูเหมือนว่า ป.ป.ช.แอบอิงนิ่งแนบกับประชาชนอย่างยิ่ง
น่าสนใจและน่าสอบถามประชาชน อย่างที่ท่านกรรมการใหญ่ ป.ป.ช.ว่าไว้จริงๆ
ที่มา.มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น