--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปฏิรูปให้เหมือนเดิม !!?

โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ก่อนอื่น ต้องขอประทานโทษ อาจารย์ประเวศ วะสี เป็นอย่างยิ่ง ที่ขอเอาบทความของท่านมาวิจารณ์ ไม่ใช่เพื่อคัดค้านท่านในฐานะบุคคล แต่เพื่อชี้ให้เห็นว่า การมองปัญหาและทางออกของชนชั้นนำตามประเพณี แม้ในบุคคลที่มีความหวังดีอย่างสุจริตใจต่อส่วนรวม ก็ยังขาดความเข้าใจต่อความซับซ้อนที่มีอยู่จริงในสังคมไทย และทำให้ทั้งปัญหาและทางออกในทรรศนะของเขา มันง่ายเกินกว่าความเป็นจริง จนนำไปปฏิบัติไม่ได้

หากไม่นับการปฏิวัติแล้ว มีจุดพลิกผันในประวัติศาสตร์อย่างที่ท่านอาจารย์ประเวศจินตนาการถึงหรือไม่ เท่าที่ผมทราบ อาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์เลย คนรุ่นหลังอาจชี้ว่าที่จุดใดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ แนวทางความเป็นไปของสังคมได้เปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น การค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ หรือเพลโต หรือการขยายตัวของพุทธศาสนาสายที่เรียกกันว่าลังกาวงศ์ แต่หากศึกษากรณีต่างๆ เหล่านี้เท่าที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เหลือให้ศึกษาได้ ก็จะพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงอื่น เล็กๆ จนแทบจะไม่มีใครสังเกตเห็น เกิดสะสมมาจนกระทั่ง "โครงสร้าง" (ตามคำที่ท่านอาจารย์ชอบใช้) เก่า ไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ ต้องถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น การผลิตในอังกฤษก่อนเครื่องจักรไอน้ำได้พัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อตลาดอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ไม่ว่าในทางหัตถอุตสาหกรรม, เกษตรกรรม รวมแม้กระทั่งภาคการเงิน มีความต้องการอย่างเหลือล้นที่จะได้แหล่งกำเนิดพลังงานใหม่ ที่สามารถทำงานได้เร็วขึ้น และหนักขึ้น มากกว่ากำลังคนและกำลังสัตว์หรือสายน้ำ เครื่องจักรไอน้ำเป็นคำตอบที่ตรงกับความต้องการที่สุด เพราะผลิตขึ้นได้ไม่ยากไปกว่าความรู้ทางเทคโนโลยีที่อังกฤษมีอยู่เวลานั้น

เราไม่อาจชี้ต้นเหตุของการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปที่เครื่องจักรไอน้ำได้ แต่ต้องชี้ไปที่ความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดที่เกิดขึ้นในรอบกว่าศตวรรษที่ผ่านมาว่าเป็นต้นเหตุสำคัญกว่า ซึ่งยากที่จะพูด จึงชี้ไปที่เครื่องจักรไอน้ำ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่ายดี

แม้แต่การปฏิวัติ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครคนใดคนหนึ่ง มีเหตุทั้งเล็กและใหญ่สั่งสมกันมานาน ก่อนที่จะปะทุขึ้นเป็นการปฏิวัติอเมริกัน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน หรือเวียดนามและอินโดนีเซีย หรือแม้แต่สยาม (เราไม่อาจพูดถึงนักเรียนไทยคุยกันที่ปารีส โดยไม่พูดถึงความเสื่อมโทรมและความแย้งกลับของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามได้)

นี่ดูเหมือนเป็นเรื่องถกเถียงทางวิชาการ (สายสังคมศาสตร์) เท่านั้น แต่ที่จริง การมองโลกแบบจุดพลิกผัน มักทำให้เห็นการกระทำหรือไม่กระทำของคนหรือสถาบันว่าเป็นตัวตัดสินมากเกินไป ดังเช่น การขอพระราชอำนาจในการตั้งนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ว่าจะแก้ปัญหาประชาธิปไตยไทยให้สงบราบเรียบได้ เพราะเป็นประชาธิปไตยแบบ "ราชประชาสมาศัย" หรือใช้รัฐประหารในการแก้ปัญหาประชาธิปไตย ก็มาจากความเชื่อเรื่องจุดพลิกผันนั้นเอง

เพื่อความเป็นธรรมต่ออาจารย์ประเวศ ท่านไม่ได้คิดว่าบุคคลหรือสถาบันจะสร้างจุดพลิกผันได้ ท่านเสนอว่าสังคมเข้มแข็งต่างหากที่จะสร้างจุดพลิกผันได้

แต่สังคมเข้มแข็งเป็นอย่างไร แค่คนออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนเท่านั้นคือสังคมเข้มแข็งหรือ คนในสังคมไทยออกมาชุมนุมในท้องถนนกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว นับตั้งแต่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชิงดินแดนมาจากอินโดจีนของฝรั่งเศส และเลือกตั้งสกปรก จนถึง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภามหาโหดปี 35, ขับไล่ระบอบทักษิณเมื่อปี 48-56 และปัจจุบัน, รวมทั้งเมษา-พฤษภาเลือดใน 2553 ด้วย แต่ยิ่งมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น "พื้นที่" ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็ไม่ได้ขยายขึ้นแต่อย่างไร สื่อเคยถูกรัฐควบคุม แต่เมื่อปล่อยให้สื่อคุมกันเองแล้ว ถามว่าในทุกวันนี้สื่อยังเป็น "พื้นที่" แห่งเสรีภาพที่รับผิดชอบอยู่หรือไม่ การเลือกตั้งถูกทำให้ไม่น่าไว้วางใจ และต้องมีอำนาจอื่นที่ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนคอยตรวจสอบควบคุมเสมอ (ดังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งล่อนจ้อนกับทฤษฎีนี้จนหมดตัว) "พื้นที่" ในกระบวนการตุลาการก็ถูก "อภิวัตน์" ไปส่วนหนึ่งเสียแล้ว

กัมมันตภาพของประชาชนมี "พื้นที่" น้อยลง แม้เรามีพลเมือง "ที่มีจิตสำนึก รู้เท่าทัน" มากขึ้นก็ตาม

ท่านอาจารย์พูดถึงอำนาจที่ยิ่งใหญ่จนตรวจสอบไม่ได้ว่าคือ "ระบอบทักษิณ" คำนี้แปลว่าอะไร? เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ชินวัตร ถ้าเกี่ยวก็ไม่ใช่ "ระบอบ" ถ้าไม่เกี่ยว อำนาจนี้ย่อมสลับซับซ้อนกว่าคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย

ผมจึงเชื่อมานานแล้วว่า "ระบอบทักษิณ" เป็นระบอบที่ผู้นำทางการเมืองไทยทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐประหารล้วนทำอย่างเดียวกันตลอด คือหลีกเลี่ยงและขจัดการตรวจสอบ รับประโยชน์จากการวางนโยบายสาธารณะ (ตัวเองรับหรือพรรคพวกรับก็ไม่ต่างกัน) นอกจากหีบบัตรเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากไปกว่านั้น และด้วยเหตุที่ยังใช้การเลือกตั้งเป็นความชอบธรรมทางการเมือง จึงพยายามทุกวิถีทางมิให้การเลือกตั้งเป็นการแข่งขันที่เท่าเทียมและเสรี

การทำลายระบอบทักษิณจึงอาจไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ไม่ว่าแกเป็นนายกฯ หรือคนอื่นเป็น ก็ต้องช่วยกันทำลายระบอบนี้

และระบอบนี้ไม่ได้ดำรงอยู่ในเมืองไทยเพียงเพราะคุณทักษิณมีอำนาจ "ทางการเงิน, การเมือง และสังคม" เท่านั้น ถึงคนอื่นๆ ไม่มีอำนาจเท่านั้น ก็ยังบริหารประเทศในระบอบทักษิณอยู่เหมือนกัน การยกสาเหตุทั้งหมดไปให้อำนาจของคุณทักษิณ ดูจะง่ายเกินไป เพราะอำนาจในสังคมไทยมีความหลากหลายและซับซ้อนกว่านั้นมากทีเดียว

นักวิชาการบางกลุ่มกล่าวถึงอำนาจในการเมืองไทยว่า แบ่งออกเป็นหลายเครือข่าย ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น นักธุรกิจ ปัญญาชน นักการศาสนา นักปลุกระดม นักวิชาการ ฯลฯ หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นเครือข่ายอำนาจอีกอย่างหนึ่ง เครือข่ายเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อน ในบางครั้งบางสถานการณ์ บางเครือข่ายอาจเป็นศูนย์รวม (node) ของเครือข่ายอำนาจกว้างขวางที่สุด เพราะเครือข่ายอื่นพากันเข้ามาเชื่อมเป็นพันธมิตร เพื่อร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ในอีกบางครั้งบางสถานการณ์ ก็อาจปลีกตัวออกไปเพื่อไปร่วมกับเครือข่ายอื่น

ไม่มีใครหรอกครับที่มีอำนาจขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว ไม่ว่าจะมาด้วยหีบบัตรเลือกตั้งหรือรถถัง เขาคือคนหนึ่งในเครือข่ายของเขา และเครือข่ายของเขาก็ร่วมเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอื่น และนี่คือฐานรากของ "ระบอบทักษิณ" ที่ไม่ได้เกิดกับคุณทักษิณคนเดียว

อย่างไรก็ตาม ในรอบสักสองทศวรรษที่ผ่านมา เกิดคนหน้าใหม่ที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น นั่นคือคนชั้นกลางระดับล่าง หรือที่บางคนเรียกว่าคนชั้นกลางใหม่ (คงเพื่อเทียบกับคนชั้นกลางที่สนับสนุนนักศึกษาใน 14 ตุลา และเป็นม็อบมือถือในเหตุการณ์พฤษภามหาโหด ซึ่งต่างก็ "ใหม่" ในตอนนั้นเหมือนกัน) คนเหล่านี้สร้างเครือข่ายที่อาจแตกต่างจากเครือข่ายในการเมืองไทยมาก่อน เพราะเน้นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันน้อยกว่า แต่เน้นความเหมือนด้านจุดยืนทางการเมืองมากกว่า เครือข่ายเหล่านี้มีมาก่อนเสื้อแดงเสียอีก แต่อาจถูกบดบังด้วยระบบ "หัวคะแนน" เสียจนทำให้เรามองไม่เห็น และคิดว่าพรรคทรท.ชนะการเลือกตั้งจากระบบหัวคะแนนแต่เพียงอย่างเดียว (คำอธิบายที่นักวิชาการฝรั่งให้ก็คือ พรรคทรท.สามารถควบรวมพรรคเล็กได้หมด จึงทำให้ได้หัวคะแนนเกือบทั้งระบบในกำมือ แต่ผมสงสัยว่าเป็นคำอธิบายที่ไม่เพียงพอ และคงต้องมีการศึกษาประเด็นเชิงประจักษ์มากกว่านี้)

เครือข่ายที่เกิดใหม่ของคนเหล่านี้เริ่มเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอื่น ที่สำคัญคือเครือข่ายของพรรค ทรท.เก่า (รวมทั้งพรรค พท.ด้วยแน่) แต่ไม่สามารถเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอำนาจอื่นๆ ได้ แม้กระนั้นก็เป็นระบบเครือข่ายที่มีคนจำนวนมากอยู่ในนั้น เรื่องจึงอยู่ที่ว่า เขาจะสามารถเชื่อมพันธมิตรกับเครือข่ายอื่นได้หรือไม่ หรือในทางกลับกัน เครือข่ายอื่นจะสามารถเข้ามาเชื่อมพันธมิตรกับเขาได้หรือไม่ แต่ความคิดที่จะทำลายเครือข่ายทั้งกลุ่มออกไปทั้งยวงนั้น เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

จริงอย่างที่อาจารย์ประเวศคิด นั่นคือหากคนส่วนใหญ่หลุดจากเครือข่าย และกลายเป็นพลเมืองผู้รู้เท่าทันและกัมมันตะ สภาพการเมืองไทยย่อมเปลี่ยนไปแน่นอน แต่นี่คือวิธีคิดถึงสังคมในฐานะเป็นที่รวมของปัจเจกบุคคล แต่สังคมเช่นนี้ไม่มีในความเป็นจริงทั่วโลก นอกจากจินตนาการของผู้คน

สังคมไหนๆ ก็ตาม ปัจเจกบุคคลย่อมมีพฤติกรรม (รู้ทันและกัมมันตะ) จากปัจจัยแวดล้อม มงคลสูตรพูดถึงปฏิรูปเทสวัสโส ก็หมายถึงปัจจัยแวดล้อมทางสังคมนี่แหละครับ และหนึ่งในปัจจัยแวดล้อมของมนุษย์คือความสัมพันธ์หรือเครือข่าย การเกิดเครือข่ายใหม่จึงเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะมีคนจำนวนมากขึ้นที่ได้ข่าวสารข้อมูลมากขึ้นจากหลายมุมมอง และกัมมันตะมากขึ้น (อย่างน้อยก็มากกว่าสังกัดอยู่แต่ในเครือข่ายเก่าตลอดไป)

ผู้ร่วมชุมนุมในระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา จะเป็นพลเมืองที่ "รู้เท่าทัน" ได้อย่างไร ในเมื่อการชุมนุมของทุกฝ่ายล้วนถูกกำกับโดยผู้นำการชุมนุม ผู้เข้าร่วมไม่ได้มีส่วนร่วมมากไปกว่ามือตบและตีนตบ ทั้งสองฝ่ายต่างส่งเสียงเชียร์ให้แก่คำพูดที่บิดเบือนความจริง เพราะไม่สนใจติดตามข้อมูลเพียงพอจะรู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง รวมทั้งจริงแค่ไหน และไม่จริงแค่ไหน

ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า นี่คือสัญญาณของการเกิดสังคมเข้มแข็งได้อย่างไร

แทนที่จะไปกำหนดสังคม เราปล่อยให้สังคมได้ต่อสู้ขัดแย้งกันด้วยความเท่าเทียมและยุติธรรมไม่ดีกว่าหรือครับ พลเมืองที่รู้เท่าทันและกัมมันตะ เกิดขึ้นจากการได้ร่วมในการต่อสู้ถกเถียงกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และแน่นอนโดยมีเสรีภาพเต็มเปี่ยม หากเราต้องการความก้าวหน้าของสังคม ช่วยกันระแวดระวังให้การต่อสู้ถกเถียงนั้นได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน และได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน น่าจะช่วยให้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า การวางแผนให้เสร็จว่าต้องเดินไปอย่างไร ไม่ใช่หรือครับ

ที่จริงผมยังสงสัยด้วยว่า พลเมืองที่รู้เท่าทันและกัมมันตะสามารถแก้ไขอะไรในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบันได้ ระหว่างความพยายามจะหยุดยั้งการละเมิดชีวิตของผู้คนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ กับความพยายามยุติการเหยียดผิว(ดำ)ในสหรัฐ อย่างแรกไม่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด ในขณะที่อย่างหลังประสบความสำเร็จอย่างมาก ความแตกต่างอยู่ที่ว่าอย่างหลังสามารถเอาชนะสมองของคนอเมริกันได้ แต่อย่างแรกไม่สามารถทำสำเร็จ คนอเมริกันยังเชื่อว่าอย่างไรเสีย บรรษัทควรมีอำนาจมากกว่ารัฐ

อำนาจในโลกปัจจุบันไม่ได้มาจากปากกระบอกปืน แต่มาจากการช่วงชิงนิยามความชอบธรรมต่างหาก

ที่มา.มติชนออนไลน์
------------------------------------

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แผนรุก 2 พรรค หลังศึกตุลาการ !!?

อุณหภูมิทางการเมืองกลับมาร้อนขึ้นอีกระดับ หลังจากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า กระบวนการและเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขัดต่อมาตรา 68 และอีกหลายมาตราสำคัญ

แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย.จะไม่ชี้ชัดถึง "บทลงโทษ" ทั้งการยุบพรรคหรือถอดถอนสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการตามขั้นตอนการต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

และย่อมเป็นบรรทัดฐานในการขีดเส้นทางตั้งรับของพรรคเพื่อไทย ในฐานะเสียงข้างมาก-ผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้องนำมาซึ่งแนวทางตั้งรับของพรรคเพื่อไทย ผ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่ยินยอมรับอำนาจ-คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวม 9 ข้อ ประกอบด้วย

1.การที่สมาชิกรัฐสภา 312 คน ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งของปวงชน

2.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยมีข้อห้ามแก้ไขอยู่ 2 ข้อ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของ ส.ว. ย่อมไม่เกี่ยวข้อง

"ทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ว่า รัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291"

3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการที่รัฐสภากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรับรองไว้เองอีกโสตหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาได้

4.คำวินิจฉัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตัวแทนของปวงชนที่รับมอบอำนาจมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม และเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับ หรือรายมาตรา ก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะถูกขัดขวางโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาแล้ว

5.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 ใน 9 คน เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาก่อน และอีก 1 คน เคยแสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า การลงโทษบุคคลย้อนหลังกระทำได้ ถ้าไม่ใช่การลงโทษทางอาญา อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ถูกตัดสิทธิไม่ได้มีโอกาสรับทราบข้อหาและต่อสู้ชี้แจงแต่อย่างใด

"ดังนั้น หากตุลาการทั้ง 3 หรือ 4 คน ดังกล่าวต้องถอนตัว ผลของคำวินิจฉัยจะกลับเป็นตรงกันข้าม"

6.การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อมาตราต่าง ๆ นับว่าเป็นอันตรายที่สุด เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

"ถ้าอ้างเช่นนี้ การที่มาตรา 309 ขัดต่อมาตรา 3 เรื่องกำหนดหลักนิติธรรม และมาตรา 6 เรื่องกำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ในขณะที่ประกาศคำสั่งของ

คณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการ กระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน ย่อมถูกโต้แย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญได้หมด เช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่สุด"

7.การก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เป็นการกระทำที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติโดยชัดแจ้ง และสภาก็คงปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เลย

8.เมื่อรัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ จนกว่าจะพ้น 90 วัน และมิได้พระราชทานคืนมา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัย ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการใช้พระราชอำนาจ และการกระทำในพระปรมาภิไธย

9.หากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่หากไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับงาน หรืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับ ก่อนปี 2540 วางหลักการไว้

"การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ย่อมจะถูกตัดสินโดยประชาชนในการเลือกตั้ง และนี่ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนี้แทนไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร"

ทั้งนี้ นอกจากคำแถลงการณ์ 9 ข้อ พรรคเพื่อไทยยังเตรียมยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมยื่นคำร้อง-ข้อมูลเพื่อยื่นถอดถอน และดำเนินคดีอาญาต่อ ส.ส.-ส.ว. และผู้เกี่ยวข้อง ผ่านองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาต่อไป

โดยทีมกฎหมายพรรคเชื่อว่า กระบวนการพิจารณาหลังจากนี้จะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็น "บรรทัดฐาน" และมีผล "ผูกพัน" ทุกองค์กร

เป็นกระบวนการที่ยึดโยงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

ประกอบกับมาตรา 27 ระบุว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง

อันสะท้อนยุทธวิธีการรบของ ปชป.ได้จากมุมคิดของหัวหน้าพรรค "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่เปิดเผยภายหลังรับฟังคำวินิจฉัยของศาล เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา

"ผมว่าประเด็นเหล่านี้มันชัดว่าเป็น กระบวนการที่ไม่ชอบ แล้วถามว่าเมื่อกระบวนการมันไม่ชอบนี้ แล้วเราบอกว่าจะไม่เป็นไรอย่างนั้นหรือ ถ้างั้นต่อไปจะโกงกันยังไงก็ได้ ถูกมั้ย ลงคะแนนยังลงแทนกันได้ เอกสารเสนอก็ปลอมกันได้ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วล่ะครับ"

เขาบอกว่า บทลงโทษกรณีดังกล่าว อย่างน้อยที่สุด บุคคลที่ดำเนินการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยครั้งนี้ ควรแสดงความรับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง

"ผมก็พูดตรง ๆ เดี๋ยวนี้ไม่อยากเรียกร้องอะไร เพราะไม่เคยมีการตอบสนอง ไม่เคยมีคำตอบอยู่แล้ว ตั้งแต่กฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว สุดท้ายก็เพียงแต่บอกว่าขอเก็บไว้ 180 วัน แล้วสัญญาว่าจะไม่ยุ่ง นี่เพียงพอแล้วหรือต่อความรับผิดชอบ"

"ส่วนกรณีที่มีการกระทำความผิดรัฐธรรมนูญ หรือกระทำผิดกฎหมายตามที่ศาลระบุนี้ เราก็จะดำเนินการต่อไปครับ ในกระบวนการถอดถอน หรือกระบวนการกล่าวโทษทางอาญาครับ"

"ประเด็นจะมีประเด็นเดียวครับว่า ใครคือผู้เสียหาย หรือจะหวังพึ่งอัยการ คือกระบวนการของกรณีนี้ ด้วยความเคารพอำนาจหน้าที่ของทุกฝ่ายนะครับ คือ ป.ป.ช.ท่านก็อาจจะมีกระบวนการของท่าน แต่ผมมองว่ามันไม่ช้า ตรงที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ผูกพันทุกองค์กร ไม่ใช่แค่ชี้ไว้แล้ว แต่ผูกพันทุกองค์กร เพราะฉะนั้นเมื่อศาลบอกว่าคนนี้ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ป.ป.ช.ก็ต้องยึดถือตามที่ศาลชี้ว่าคนนี้ทำผิด"

จากถ้อยคำของ "อภิสิทธิ์" จึงถูกแปรสัญญาณตรงถึงคณะทำงานด้านกฎหมาย อันมี "วิรัตน์ กัลยาศิริ" หนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหัวขบวนหลัก

แหล่งข่าวในทีมกฎหมาย ปชป.เปิดเผยว่า แม้เบื้องต้นยังต้องรอคำวินิจฉัยกลางที่กำลังจะจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ ปชป.ได้เตรียมข้อมูล-เอกสาร รวมถึงร่างคำร้องไว้เรียบร้อย โดยสรุปเป็นไปได้อย่างน้อย 5 สำนวน เพื่อเดินหน้าต่อยอดกระบวนการดังกล่าว

สำนวนแรก ดำเนินคดีอาญาตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีปลอมแปลงเอกสาร-กดบัตรแทนกัน โดยทีมกฎหมาย ปชป.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะยื่นฟ้องพาดพิงถึงบุคคลใดบ้าง

โดยอาศัยความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ที่ระบุว่า ผู้ใดปลอมแปลงเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท และมาตรา 157 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการพิจารณายึดโยงถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

สำนวนสอง การยื่นถอดถอน "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภา ผ่าน ป.ป.ช. ตามความผิดมาตรา 157

สำนวนสาม การยื่นถอดถอน "นิคม ไวยรัชพานิช" รองประธานรัฐสภา ผ่าน ป.ป.ช. ตามความผิดมาตรา 157

"ทั้งสองสำนวนข้างต้น เป็นประเด็นที่ทีมกฎหมายพรรคคาดว่าจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลแทบจะชี้มูลความผิดของทั้งนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้อย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้น ป.ป.ช.อาจใช้เวลาพิจารณาไม่มากนัก"

สำนวนสี่ การยื่นถอดถอน 312 ส.ส. และ ส.ว. ในฐานะร่วมกันลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ของ ส.ว. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อกฎหมาย

สำนวนห้า ภายหลังที่ ส.ส.+ส.ว.จำนวน 312 คน อ่านคำแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย.เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับคำแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ย่อมประสบช่องในการยื่นฟ้อง ที่ถูกตีความว่าเป็นกบฏต่อไป

"ประเทศไทยออกแบบให้รัฐธรรมนูญสูงสุดเหนือรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และเหนือศาล เมื่อสูงสุดก็ต้องมีคนตรวจสอบ การออกแบบจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ"

เป็นแผนรับ-ตำรารบของ 2 ขั้วการเมือง ที่เริ่มต้นขึ้นนับจากนี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------

สงคราม เก่า-ใหม่.

โดย.พญาไม้

ถ้าสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง..มันก็คงจะไม่มีอะไรแตกต่างกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร..พรรคที่มีผู้แทนมากที่สุดในสภาล่าง..ก็จะมีผู้แทนมากที่สุดในวุฒิสภา

ก็แล้วเราจะมีวุฒิสภาไว้ทำอะไร

เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญก็คือเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการและปรารถนาให้อำนาจแต่ละอำนาจมีผู้ตรวจสอบดูแล

ที่มาของวุฒิสภาจึงเป็นการเมืองเรื่องใหญ่ที่ฝ่ายตรงกันข้ามกับ ทักษิณ ชินวัตน จะยอมไม่ได้ และดูเหมือนว่า..ฝ่ายของทักษิณเองก็มุ่งมั่นที่จะเอาชนะในเรื่องนี้..เพราะตราบเท่าที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งหลายยังจ้องจับทุกอากัปกิริยาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย..พวกเขาก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน
การต่อสู้ระหว่างการเมืองสองฝ่ายจึงยังคานต่อกัน

พรรคเพื่อไทย และ ทักษิณ ชินวัตร..มีเงื่อนไขของดินสนับสนุนในขณะที่อ่อนแอในส่วนที่สูงกว่าอย่างที่รู้กันอยู่ว่า..

บ้านมีรั้วนั้นต่อต้านฝ่ายทักษิณ..ในขณะที่ได้รับความนิยมในชนชั้นรากหญ้า

การเมืองที่คาราคาซังเช่นนี้..แม้ว่าจะผ่านมาแล้วถึง 10 ปี..แต่ก็ยังจะเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป..เพราะรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือปัญหา

และรัฐธรรมนูญนี้ไม่สามารถจะแก้ไขให้เป็นแบบอื่นได้..ตราบเท่าที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เห็นด้วย

ดังนั้น หากจะให้บ้านเมืองสงบทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับในอำนาจทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างมี..และต้องยอมรับในกันและกัน

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่..เท่าๆ กับฝ่ายก้าวหน้าต้องรู้ว่า..การพลิกผันดังใจไม่ใช่เรื่องที่เกิดได้ง่าย

มิฉะนั้น..ทางออกของมันจะเป็นความรุนแรงเมื่อสงครามกลางเมืองระเบิดขึ้นมา

ที่มา.บางกอกทูเดย์
----------------------------

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แถลงการณ์นิติราษฎร์ เรื่องคำวินิจฉัยศาลรธน.กรณีแก้ไขรธน.เรื่องที่มาสว.

23 November 2013
แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์
เรื่อง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ กรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๒๔๑ วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา ๑๑๓ และมาตรา ๑๑๔ ซึ่งเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และมีผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น คณะนิติราษฎร์พิจารณาแล้ว มีความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนี้

- ๑. -

ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญนั้น เป็นองค์กรของรัฐที่จัดอยู่ในหมวดศาล ซึ่งหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเหมือนกับศาลอื่น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอานาจหน้าที่ในเรื่องใดนั้นย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถก่อตั้งอำนาจของตนขึ้นด้วยตัวเองได้ ในการพิจารณาพิพากษาคดีศาลรัฐธรรมนูญต้องสำรวจตรวจสอบในเบื้องต้นเสียก่อนว่าคดีที่มีผู้ร้องมานั้นอยู่ในเขตอำนาจที่ตนจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หากไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาพิพากษาคดีในเรื่องนั้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น หากต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเช่นนั้น ย่อมจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเสียก่อน หลักการดังกล่าวนี้มีขึ้นเพื่อให้เกิดการดุลและคานอำนาจตามหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ในคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ศาลรัฐธรรมนูญหาได้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของตนไปตามหลักการข้างต้นไม่ แต่กลับอ้างอิงหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อยและหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง และใช้การอ้างอิงที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนดังกล่าวนั้นไปเชื่อมโยงกับ “หลักนิติธรรม” ตามมาตรา ๓ วรรคสองเพื่อสถาปนาอำนาจของตนเองในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านบทบัญญัติมาตรา ๖๘ ซึ่งไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในอันที่จะตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

คณะนิติราษฎร์เห็นว่า สาระสาคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน การแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชนนั้นอาจเป็นการใช้อำนาจโดยตรง การใช้อำนาจโดยผู้แทน และการใช้อำนาจผ่านองค์กรของรัฐซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน อย่างไรก็ตามประชาชนประกอบด้วยบุคคลจำนวนมากซึ่งมีเจตจำนงทางการเมืองและความคิดเห็นตลอดจนผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป การค้นหาเจตจำนงของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อยุติโดยความเห็นพ้องต้องกันของทุกคนโดยเอกฉันท์ในทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ ระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องคิดค้นวิธีการให้ได้มาซึ่งข้อยุติ นั่นคือ การถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย เพื่อให้ข้อยุติที่ได้จากเสียงข้างมากนั้นเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ทั้งนี้ การคุ้มครองเสียงข้างน้อยหมายถึงการเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็นโน้มน้าวใจให้บุคคลอื่นเห็นด้วยกับตน เพื่อที่ความเห็นของเสียงข้างน้อยที่มีเหตุมีผลจะได้มีโอกาสในการเป็นเสียงข้างมากในวันใดวันหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากจะต้องยอมตามเสียงข้างน้อยตลอดเวลา

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกหนึ่งที่สร้างหลักประกันให้เสียงข้างน้อยได้ใช้เป็นช่องทางในการตรวจสอบเสียงข้างมาก แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องช่วยสนับสนุนให้เสียงข้างน้อยบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการเสมอ ตามหลักของการจัดโครงสร้างองค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีฐานะเป็น “ผู้แทน” ของเสียงข้างน้อย แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็น “คนกลาง” ซึ่งมีหน้าที่ต้องคุ้มครองเจตจำนงของเสียงข้างมากและประกันเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติมอบอำนาจไว้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์คำวินิจฉัยนี้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้พรรณนาหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การตรวจสอบถ่วงดุล และการคุ้มครองเสียงน้อยอย่างยืดยาว และสรุปอย่างง่าย ๆ โดยนัยว่าเสียงข้างน้อย “ไม่มีที่อยู่ที่ยืน” โดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงใดมาสนับสนุนว่าในขณะนี้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลเสียงข้างมากหรือไม่คุ้มครองเสียงข้างน้อยจน “ไม่มีที่อยู่ที่ยืน” อย่างไร กล่าวโดยจำเพาะเจาะจงกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ หากเสียงข้างมากได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งแล้วเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย เสียงข้างน้อยก็ยังคงมีโอกาสในการรณรงค์ในการเลือกตั้งเพื่อให้ตนเป็นเสียงข้างมากและกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความต้องการของตนที่ต้องสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยได้ ไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่บังคับว่าสมาชิกวุฒิสภาจะต้องมาจากการเลือกตั้งในรูปแบบที่ฝ่ายเสียงข้างมากได้ดำเนินการแก้ไขไปตลอดกาล

นอกจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญสมควรต้องตระหนักและสำนึกว่าการออกแบบโครงสร้างของสถาบันการเมืองว่าจะมีลักษณะอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของประชาชนและองค์กรทางการเมืองที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย หาใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในอันที่จะกำหนดโครงสร้างของสถาบันการเมืองให้เป็นไปตามทัศนะของตนไม่

ในคำวินิจฉัยนี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้าง “หลักนิติธรรม” อย่างเลื่อนลอยเพื่อสร้างอำนาจให้ตนเองเข้าควบคุมขัดขวางเสียงข้างมากจนทาให้ความต้องการของเสียงข้างน้อยบรรลุผล จึงมิใช่การปรับใช้ “หลักนิติธรรม” เพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย แต่เป็นการช่วยเหลือเสียงข้างน้อย จนมีผลทำลายเจตจำนงของเสียงข้างมาก รังแกเสียงข้างมาก เบียดขับให้เสียงข้างมาก “ไม่มีที่อยู่ที่ยืน” และสถาปนา “เผด็จการของเสียงข้างน้อย” ขึ้นในที่สุด

- ๒. -

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้าง “หลักนิติธรรม” ตามมาตรา ๓ วรรคสองเพื่อสถาปนาอำนาจของตนเองในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา ๖๘ นั้น หากพิจารณาจากถ้อยคำของบทบัญญัติในมาตรา ๖๘ แล้ว เห็นได้ว่า มาตรา ๖๘ เป็นกรณีที่มีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ทราบเรื่องดังกล่าว ผู้นั้นสามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา ๖๘ จึงต้องเป็นกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพกระทำการ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้เป็นกรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มิใช่กรณีที่ “บุคคล” หรือ “พรรคการเมือง” ใช้ “สิทธิและเสรีภาพ” ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้แต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๘ วรรคสอง กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หมายความว่า บุคคลต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน ภายหลังอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ไม่ได้มีการยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุด แต่เป็นการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องไว้พิจารณาทั้ง ๆ ที่ตามข้อเท็จจริง ผู้ร้องไม่ได้เสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ในคำวินิจฉัยนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตำหนิว่า รัฐสภาได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนการขั้นตอน แต่เมื่อพิจารณาการรับคำร้องในคดีนี้ของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นศาลรัฐธรรมนูญเองต่างหากที่ไม่เคารพกระบวนการขั้นตอนก่อนการยื่นคำร้องดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๖๘ อีกทั้งคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพกระทาการของบุคคลอันเป็นวัตถุแห่งคดีตามบทบัญญัติในมาตรา ๖๘ แต่ประการใด

ด้วยเหตุผลทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าศาลรัฐธรรมนูญจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญสถาปนาอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ขึ้นมาเอง โดยที่ไม่มีอานาจรับคำร้องดังกล่าวไว้ จึงเป็นการขยายแดนอำนาจออกไปจนศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทาลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง ก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอานาจสูงสุดเด็ดขาด ความร้ายแรงดังกล่าวย่อมส่งผลให้คาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้เสียเปล่าและไม่มีผลใด ๆ ในทางกฎหมาย

- ๓. -

นอกจากจะปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว ในการดำเนินกระบวนพิจารณายังปรากฏความบกพร่องในส่วนที่เกี่ยวกับองค์คณะของตุลาการผู้พิจารณาคดีอีกด้วย กล่าวคือ ในชั้นของการรับคำร้องไว้พิจารณานั้น นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการผู้หนึ่งที่นั่งพิจารณาคดียังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีย่อมต้องถือว่านายทวีเกียรติไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องคดีนี้ไว้พิจารณา เมื่อนายทวีเกียรติไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องไว้ จึงย่อมไม่สามารถร่วมวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ได้เริ่มต้นไปแล้วก่อนที่ตนจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ การออกเสียงลงในคะแนนในประเด็นแห่งคดีของนายทวีเกียรติจึงไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากยอมให้ตุลาการที่ไม่ได้เป็นองค์คณะในชั้นรับคำร้องไว้พิจารณา ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะในชั้นวินิจฉัยคดี กรณีอาจส่งผลให้มติในคดีเปลี่ยนแปลงไปได้

นอกจากจะปรากฏปัญหาความบกพร่องในส่วนที่เกี่ยวกับองค์คณะที่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ยังปรากฏว่าตุลาการอีกสามคน คือ นายนุรักษ์ มาประณีต นายจรัญ ภักดีธนากุล เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจรัญ ภักดีธนากุล ได้เคยอภิปรายในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๓๐/๒๕๕๐ (เป็นพิเศษ) วันศุกร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการสรรหา และแสดงทัศนะที่เป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งต่อการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงถือได้ว่า นายจรัญ ภักดีธนากุลมีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคดีไม่เป็นกลาง นายจรัญ ภักดีธนากุลจึงไม่สามารถเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการวินิจฉัยคดีนี้ได้ โดยสามัญสานึกของความเป็นตุลาการ และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ นายจรัญ ภักดีธนากุลย่อมต้องถอนตัวออกจากการเข้าร่วมเป็นองค์คณะ ดังที่ได้กระทำมาแล้วในการพิจารณาคดีในคำวินิจฉัยที่ ๑๘-๒๒/๒๕๕๕

โดยเหตุที่นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ได้ลงมติเป็นเสียงข้างมาก ๕ ต่อ ๔ เสียงในประเด็นที่ว่าเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๖๘ วรรค ๑ ดังนั้น หาก ๕ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ได้จึงย่อมทำให้มติเสียงข้างมากดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเสียงข้างน้อยคือ ๓ ต่อ ๔ เสียง

- ๔. –

ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำเนินการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ วรรคหนึ่ง เพราะเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอนั้น ไม่ใช่ร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ แต่เป็นร่างที่จัดทำขึ้นใหม่โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๙๖ วรรคสอง และมาตรา ๒๔๑ วรรคหนึ่ง จนมีผลให้ผู้เคยดารงตาแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงสามารถสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้อีกโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา ๒ ปี ซึ่งถือเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ขัดกับหลักการของร่างเดิม จึงจำเป็นต้องมีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อเพื่อยื่นเสนอมาเป็นร่างใหม่ เมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในกรณีนี้ไม่มีการเสนอมาเป็นร่างใหม่ ย่อมส่งผลให้การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ วรรคหนึ่ง นั้น

ตามกระบวนการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีผู้ยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาแล้ว จะมีการตรวจสอบความถูกต้องของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในชั้นนี้อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ และเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ หลังจากที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภาแล้วไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขหลังจากนั้นอีกแต่อย่างใด ทั้งนี้ประธานรัฐสภาได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไปให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนและสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็ได้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นฐานในการพิจารณาลงมติวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาคนใดใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับอื่นนอกจากฉบับที่ประธานรัฐสภาได้ส่งไปให้ในการพิจารณาลงมติ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอีกเช่นกันว่าสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโต้แย้งว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งเป็นฐานในการพิจารณานั้นไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนร่วมเสนอ กรณีจึงถือไม่ได้ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้มีความบกพร่อง

- ๕. -

ประเด็นการกำหนดวันในการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภาภายหลังการรับหลักการในวาระที่ ๑ นั้น เมื่อพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ ได้กาหนดให้สมาชิกรัฐสภาที่เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้สมาชิกผู้นั้นเสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อ ๖ ประธานคณะกรรมาธิการภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่รัฐสภาจะได้กำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น

กรณีตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการประชุมของรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๖ ได้มีการลงมติให้ใช้กำหนดเวลาในการเสนอคำแปรญัตติภายใน ๑๕ วันตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ ไม่ได้มีการลงมติให้กาหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นระยะเวลาในการเสนอคำแปรญัตติจึงเป็นไปตามที่ข้อบังคับการประชุมได้กาหนดเอาไว้ คือ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันถัดจากวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และสิ้นสุดในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ โดยระยะเวลาสิ้นสุดนั้นเป็นไปตามผลของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจของประธานรัฐสภาให้มีการนับเวลาย้อนหลังตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแต่อย่างใด นอกจากนี้สิทธิในการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภานั้นได้เริ่มขึ้นทันทีนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการโดยผลแห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาสามารถที่จะเสนอคำแปรญัตติได้ตลอดเวลาจนถึงระยะเวลาสิ้นสุดในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๕ วัน ไม่ใช่มีเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง ๑ วันดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ ทั้งตามข้อเท็จจริงยังปรากฏชัดเจนว่ามีสมาชิกรัฐสภาได้เสนอคำแปรญัตติเป็นจานวน ๒๐๒ คน อันแสดงให้เห็นว่าการนับระยะเวลาดังกล่าวนั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาแต่อย่างใด การใช้อำนาจของประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาจึงเป็นการดำเนินกิจการไปตามข้อบังคับ ซึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๕ แล้ว

สำหรับการตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นในการอภิปรายวาระที่ ๒ เป็นจำนวน ๕๗ คนนั้น เมื่อพิจารณาเนื้อหาคำเสนอแปรญัตติของบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่ถูกตัดสิทธินั้นเห็นได้ชัดเจนว่าขัดต่อหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ ๑ มาแล้ว จึงเป็นการเสนอคำแปรญัตติที่ต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ วรรค ๓ การไม่ให้สิทธิแก่สมาชิกจานวน ๕๗ คนในกรณีนี้จึงมิใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

สมควรกล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาคาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ พบว่ามีปัญหาในการหยิบยกข้อเท็จจริงและอ้างข้อกฎหมายอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า “การนับระยะเวลาในการแปรญัตติย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียง ๑ วัน เป็นการดำเนินที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๕ วรรค ๑ และวรรค ๒ ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรค ๒ ด้วย” โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อธิบายว่าข้อบังคับการประชุมฯข้อใดที่กำหนดว่าการนับระยะเวลาในการแปรญัตติต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป ตรงกันข้าม ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ วรรคแรก บัญญัติว่า “การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข ๗ เพิ่มเติมขั้นคณะกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภาผู้ใดเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้เสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการภายในกำหนดเวลาสิบห้ำวันนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่รัฐสภาจะได้กำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น” กรณีนี้ จะเห็นได้ว่ารัฐสภาได้ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดกับข้อบังคับดังกล่าว โดยที่ไม่ปรากฏข้อบังคับข้อใดเลยกำหนดให้นับระยะเวลาตามแบบที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้าง คำวินิจฉัยในประเด็นนี้จึงปราศจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง มีผลให้คำวินิจฉัยนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ วรรค ๔ เท่ากับว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ไปตามอำเภอใจ ไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของศาลตามมาตรา ๑๙๗ วรรคแรก

- ๖. -

ในประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวว่ามติของรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่มีการสืบพยานของฝ่ายผู้ร้องว่ามีสมาชิกรัฐสภาผู้หนึ่งได้แสดงตนและลงมติในที่ประชุมรัฐสภามากกว่าหนึ่งครั้ง โดยเป็นการใช้สิทธิลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภาผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ดังนั้นจึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และขัดต่อหลักการที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ สาหรับคำวินิจฉัยในส่วนนี้ สมควรชี้ให้เห็นเป็นข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นฐานในการพิจารณานั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากผู้ร้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยที่ไม่ได้มีการรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้อง ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ถูกร้องปฏิเสธอานาจในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ จึงไม่ได้เข้ามาในกระบวนพิจารณา ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลฟังเป็นยุติดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ผ่านการโต้แย้ง หรือถูกหักล้างจากผู้ถูกร้อง และอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้จริง คือ มีการแสดงตนและเสียบบัตรแทนกันโดยสมาชิกรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าบุคคลที่ไม่อยู่ในที่ประชุมรัฐสภา ณ ขณะนั้นและให้ผู้อื่นลงมติแทนโดยการเสียบบัตรเป็นบุคคลใด และมีจำนวนเท่าใด ซึ่งย่อมทำให้การลงมติเฉพาะในนามของบุคคลนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่มีผลทางกฎหมาย ส่วนบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าลงมติแทนผู้อื่นก็ย่อมต้องมีความรับผิดเป็นส่วนตัวตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดี การกระทำผิดของสมาชิกรัฐสภาเพียงบางคนย่อมไม่สามารถทำลายการแสดงเจตนาลงมติโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาคนอื่น ๆ ที่ได้กระทำการไปในนามของผู้แทนปวงชนชาวไทย จนถึงขนาดทำให้กระบวนการลงมติของรัฐสภาในกรณีนี้กลายเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การกระทำผิดของสมาชิกรัฐสภาจำนวนเพียงเล็กน้อยมีผลเป็นการทำลายการลงมติของสมาชิก ๘ รัฐสภาส่วนใหญ่ที่กระทำการโดยชอบเช่นนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีผลเป็นการทำลายการปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาคนอื่นซึ่งได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๒ ลงในที่สุด

- ๗. -

ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเรื่องที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภามีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น

เห็นว่าในระบอบประชาธิปไตย การออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมืองตลอดจนองค์กรตามรัฐธรรมนูญย่อมเป็นอำนาจขององค์กรผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือ ประชาชน ในแง่นี้ ประชาชนย่อมเป็นผู้แสดงเจตจำนงกำหนดที่มา คุณสมบัติ และลักษณะของสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ซึ่งประชาชนอาจใช้อำนาจนั้นโดยตรงผ่านการออกเสียงประชามติ หรือผ่านผู้แทน เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจใด ๆ ในการเข้ามาชี้นำหรือกำหนดโครงสร้างของสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กล่าวโดยเฉพาะกับกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ในการกำหนดบังคับไว้ในคำวินิจฉัยว่าประเทศไทยควรมีวุฒิสภาหรือไม่ หรือหากมีวุฒิสภา การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นไปด้วยวิธีการใด

การที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีเจตจำนงให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหานั้น แม้ขณะนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญจะมีฐานะเป็นองค์กรผู้จัดทารัฐธรรมนูญ แต่การกำหนดให้ที่มาของบุคคลผู้จะได้ชื่อว่า “เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย” มาจากการแต่งตั้งนั้น โดยรากฐานย่อมขัดแย้งกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือว่าการเลือกตั้งผู้แทนประชาชนเป็นสาระสาคัญของระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างว่าการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลจึงทำให้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้เข้ามาแก้ไขโดยกาหนดให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา และศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกำหนดไว้เช่นนี้เป็นเจตนารมณ์สาคัญของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ซึ่งส่งผลให้ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ก็ตาม การกล่าวอ้างเช่นนี้ก็เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีฐานของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับ เนื่องจากหากผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้วุฒิสภาประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจานวนหนึ่งไปตลอดกาล ก็ต้องบัญญัติห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนวิธีการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้วจะเห็นได้ว่า มาตรา ๒๙๑ (๑) วรรคสอง ห้ามมิให้มีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐเท่านั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่อาจกระทาได้เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกาหนดข้อห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเองตามอำเภอใจ หากปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปได้ ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรื่องใดสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้และบทบัญญัติในเรื่องใดไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

ถึงแม้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากจะเห็นว่า ควรคงรูปแบบของวุฒิสภาคงเดิมไว้คือ ให้มีสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมีที่มาจากการสรรหา ก็เป็นความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตุลาการผู้นั้น ซึ่งอาจโต้แย้งถกเถียงกันได้ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมจะเอาความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตน เข้าแทนที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแล้วนำมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตนมิได้ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องการปกป้องรูปแบบที่เป็นอยู่ของวุฒิสภา ก็ต้องละทิ้งสถานะความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและไปรณรงค์ร่วมกับฝ่ายเสียงข้างน้อยตามวิถีทางประชาธิปไตย

นอกจากนั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ แก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยห้ามมิให้เป็นบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นอิสระจากการเมืองและพรรคการเมือง และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ การที่สมาชิกรัฐสภาตามคำร้องในคดีนี้แก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยตัดลักษณะต้องห้ามดังกล่าวออกไป เป็นการทำให้วุฒิสภากลับกลายไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาครอบครัว หรือสภาผัวเมีย สูญสิ้นสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร ทำลายสาระสาคัญของการมีสองสภา เปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการซึ่งถูกร้องในคดีนี้ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้น เห็นว่าประเด็นคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิใช่หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญอันจะแก้ไขมิได้เหมือนกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐหรือระบอบการปกครองของประเทศซึ่งต้องห้ามตามมาตรา ๒๙๑ (๑) วรรคสอง นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางอยู่บนเหตุผลข้างต้นก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นแน่นอนเสมอไป เพราะวุฒิสภาก็เป็นเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรที่อาจจะมีบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของสมาชิกต่างสภาหรือสภาเดียวกันลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งในช่วงเวลาเดียวกันหรือไม่ก็ได้ และเมื่อการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่ประชาชนชาวไทย การที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยการให้เหตุผลเช่นนี้มาเป็นฐานในการวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง จึงเข้าลักษณะเป็นการใช้จินตนาการเรื่องราวที่อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าข้อเท็จจริงแห่งคดี นอกจากนี้ยังเป็นการคาดเดาล่วงหน้าว่าประชาชนจะเลือกบุคคลใดเป็นสมาชิกวุฒิสภาและดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนว่าไม่มีความรู้ความสามารถและวิจารณญาณในการเลือกบุคคลมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยว่าการที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้กระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภา ๑๐ ผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ เมื่อผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ให้ดาเนินการประกาศใช้บังคับต่อไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบเสียก่อน เป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการถ่วงดุลและคานอำนาจ ทำให้ฝ่ายการเมืองออกกฎหมายได้ตามชอบใจ

เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนี้เป็นคำวินิจฉัยที่เห็นได้ชัดว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการที่รัฐสภาซึ่งทรงอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจดังกล่าวกำหนดกฎเกณฑ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ อย่างไร ย่อมถือเป็นดุลพินิจของรัฐสภาผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้นการวินิจฉัยในประเด็นนี้ก็เป็นการวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนได้เสียโดยตรงอีกด้วย เพราะเป็นการวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเอง

- ๘. -

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ วรรค ๕ ซึ่งกำหนดให้คาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐนั้น เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการต้องพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๗ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะถือได้ว่ามีผลเป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรอื่นของรัฐนั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ได้ตัดสินไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกาหนด ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือตามอาเภอใจ เมื่อกรณีนี้ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องและทำการตัดสินไปโดยที่ไม่มีฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญรองรับ จึงเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม เป็นการใช้อำนาจซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่สามารถอาศัยบทบัญญัติตามมาตราที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อกล่าวอ้างสร้าง “ความศักดิ์สิทธิ์” ให้แก่การใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้

โดยเหตุที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้เป็นคำวินิจฉัยที่ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี คำวินิจฉัยนี้จึงเสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมายผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐแต่อย่างใด

ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และในขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธยนั้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยโดยปราศจาอำนาจว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตราและเนื้อหา ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยถึงสถานะของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไว้แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น ๙๐ วันแล้วไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาต้องนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมาพิจารณาใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายอีกครั้งหนึ่ง หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน ๓๐ วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

สมควรกล่าวด้วยว่า แม้คำวินิจฉัยนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้อ่าน “คำวินิจฉัย” ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ออกสู่สาธารณะแล้ว บรรดากลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ทางการเมืองย่อมฉวยโอกาสนาคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด ไปใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตนต้องการได้

หากองค์กรของรัฐทั้งหลายยอมรับให้คำวินิจฉัยนี้มีผลในทางกฎหมาย ย่อมส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย การแบ่งแยกอำนาจอย่างมีดุลยภาพ ทำให้รัฐสภาไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนได้ ประการสาคัญ ย่อมมีผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะทำได้หรือไม่ เพียงใด ซึ่งเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และประเทศไทยจะกลายเป็น “รัฐตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ในที่สุด

คณะนิติราษฎร์เห็นว่า การกระทำทั้งหลายทั้งปวงของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ นอกจากจะไม่มีผลเป็นการช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในสังคมแล้ว ยังเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤติในทางรัฐธรรมนูญ อันนามาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายต่อระบบกฎหมายและสถาบันทางการเมือง จนยากแก่การเยียวยาให้กลับฟื้นคืนดีได้ในอนาคต

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖.
------------------------------------------------

แดงปูดนายกฯพระราชทาน !!?

 สุเทพดัน (พ)ขัดตาทัพ ทหารวอนทุกฝ่ายหยุดทำลายประเทศ

ยิ่งลักษณ์. รับกังวลศาลรธน.วินิจฉัยที่มาส.ว.เป็นโมฆะ โยนกฤษฎีกาศึกษา เผยสภายังไม่ส่งร่างกม.2 ล้านล.ถึงมือรบ. ยันเดินเรื่องตามขั้นตอน "นิคม"ไม่หวั่นปปช.รับคำร้องถอดถอน แย้มลงเรือลำเดียวพท. "ปปช." เตรียมเรียกไต่สวนถอดถอน "ขุนค้อน-นิคม"นัดแรก26พ.ย. ลั่นทำคดีเร็วไม่เคยช้า "กมธ.พิทักษ์สถาบันฯวุฒิ" ซัด "จารุพงศ์" ฝ่าฝืนหลักนิติรัฐ-ละเมิดพระราชอำนาจ จี้"ยิ่งลักษณ์" ขอ พระราชทานกม.คืน "มาร์ค"เล็งยื่น ปปช.ฟันยกแก๊งพ่วง "ยิ่งลักษณ์" สัปดาห์หน้า บี้ ประกาศให้ชัดยอมรับอำนาจศาลหรือไม่ "ขุนค้อน"บรรจุญัตติซักฟอก 2วัน 26-27พ.ย. "ปู-เจ๊แดง"ถกวอร์รูมรับมือซักฟอก "นิวัฒน์ธำรง"เผยนายกฯพร้อมแจง "จำนำข้าว" ด้วยตัวเอง "รองโฆษกพท."ปูดแผนบันได 3 ขั้น ดัน"มาร์ค" นั่งนายกฯภายในสิ้นปี ขณะที่"แดง"แฉ"สุเทพ"วางแผนดัน"พ" นั่งนายกฯพระราชทาน ส่วน "กองทัพ" จ่อเอาผิดคนแอบอ้างเป็นทหารพรานกุข่าวอาวุธเข้าม็อบ ซัดปมการเมืองทำลายความมั่นคงฯ วอนทุกฝ่ายหยุดสร้างความเกรียดชัง-ทำลายประเทศ "สมช."จับตาม็อบราชดำเนินชุมนุม24พ.ย.เล็งต่อพ.ร.บ.มั่นคงฯหากชุมนุมยืดเยื้อ หวั่นมือที่ 3 ป่วน "เฉลิม"ขู่จับตา"สุเทพ" ทำผิดกม.จับทันที "แกนนำม็อบราชดำเนิน" แย้มเตรียมล้านคนทำกิจกรรม "เดินอารยะ" 25 พ.ย.นี้
   
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านและกลุ่ม 40 ส.ว.เรียกร้องให้แสดงความรับผิดกรณีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า ขั้นตอนต่างๆ ทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อกฎหมายอยู่ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นคงต้องให้กฤษฎีกาศึกษาก่อน ยืนยันว่าได้พยายามทำตามขั้นตอนทุกอย่าง พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้กังวลมาตลอด เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง หรือความเห็นที่ไม่เหมือนกัน จึงหวังว่าเรื่องการศึกษาข้อกฎหมายจะมีทางออก เพราะอยากให้บรรยากาศเป็นไปในทางที่ดี เนื่องจากใกล้เดือนมหามงคลและใกล้เทศกาลปีใหม่
   
เมื่อถามว่า สถานการณ์จะวุ่นวายมากขึ้นหรือไม่เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีธงที่จะล่าชื่อถอดถอนคณะตุลา การศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯ กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ เพราะทุกคนต้องแสดงออก ในจุดยืนของแต่ละคน ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)รับลูกจากศาลรัฐธรรมนูญไปพิจารณาต่อทันทีนั้น หวังว่าทุกฝ่ายที่ยึดความยุติธรรม จะยึดหลักกติกาของบ้านเมือง เพื่อให้มีทางออก ให้แต่ละคนสามารถเดินต่อได้ และหวังว่าจะเห็นอย่างนั้น เพราะถ้าไม่มีทางออก เกรงว่าประเทศจะมีความเห็นที่ต่างกัน จึงหวังว่า การศึกษาต่างๆ ด้วยความรอบคอบ ด้วยเหตุผล จะเป็นทางออกและแก้ปัญหาต่อไป
   
เมื่อถามว่า ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นายกฯจะพิจารณาอย่างไร และนำขึ้นทูลเกล้าฯทันทีหรือไม่ เพราะขั้นตอนที่สภาฯจบแล้ว นายกฯกล่าวว่า ขั้นตอนของพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ต่างกับขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และยืนยันจะทำตามขั้นตอน และจะแจ้งให้ทราบ เพราะตอนนี้ยังไม่ได้รับเรื่องจากสภาฯ
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายกฯจะให้สัมภาษณ์ได้พูดคุยกับ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯและรมช.เกษตรฯ ถึงปัญหาหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขที่มาส.ว.เป็นโมฆะ หลังฝ่ายค้านยืนเรื่องต่อป.ป.ช.ให้ถอดถอนกรณีการนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นเวลา 15 นาที จากนั้นให้สัมภาษณ์โดยเรียกนายนิวัฒน์ธำรงและนายวราเทพ มายืนด้านหลังขณะให้สัมภาษณ์

นิคม แย้มลงเรือลำเดียวพท.
   
ที่รัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติรับคำร้องถอดถอนออกจากตำแหน่งว่า ได้เตรียมหลักฐานชี้แจงไว้แล้ว จึงไม่กังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกระบวนการ เพราะดำเนินการตามกระบวนการและในวันที่ 25 พ.ย.กลุ่ม ส.ว.จะมีการหารือกัน โดยผลจะออกมาเป็นอย่างไร รวมทั้งจะเป็นแนวทางเดียวกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่ส่วนตัวมองว่า เมื่อลงเรือลำเดียวกับพรรคเพื่อไทยแล้วคงต้องทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก็คล้ายกับคำร้องของผู้ร้องตนไม่แปลกใจ กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องดูเนื้อหาอีกทีว่าคำวินิจฉัยนั้นอยู่บนพื้นฐานของอะไร ส่วนเรื่องนี้จะจบอย่างไรก็อยากให้เป็นไปตามกระบวนการ ถ้าถูกก็ต้องรับ ผิดก็ต้องรับ ก็ต้องพิจารณาดูกัน
   
ส่วนตัวมองว่าทุกเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ผมไม่อยากให้ตกค้าง อยากให้เดินหน้าต่อไป ส่วนที่หลายฝ่ายวิเคราะห์หลังจากนี้จะเกิดภาวะสุญญากาศ ก็อาจจะเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ แล้วแต่กระบวนการ"

ร้องกองปราบเอาผิดตุลาการฯ
   
ส่วนที่กองปราบปราม พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ ได้เดินทางไปยื่นร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับคณะตุลาการฯ ในความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 หลังคณะตุลาการฯได้พิจารณาคำร้องเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาส.ว.
   
ที่สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)นายคารม พลพรกลาง ทนายความ กลุ่ม นปช.เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.เพื่อคัดค้านการตั้งกรรมการ ป.ป.ช.เป็นองค์คณะไต่สวนถอดถอนนายสมศักดิ์ นายนิคมและดำเนินคดีอาญากับสมาชิกรัฐสภา ที่ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว.โดยนายคารม กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 131 วรรคหนึ่ง ระบุ ระหว่างเปิดสมัยประชุม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการห้ามมิให้จับกุมคุมขังหรือเรียกตัวสมาชิกรัฐสภาไปสอบสวน ในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ดังนั้นการดำเนินการไต่สวนจึงไม่สามารถทำได้ โดยกล่าวย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาถือเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ ตามที่มีการกล่าวหา ซึ่งหาก ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนก็เท่ากับเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 ดังนั้น ขอให้ทางคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติปฏิเสธ หรือมีมติไม่คำกล่าวหาของบุคคลต่างๆ ที่ได้เคยยื่นคำร้องไว้

40สว.ยื่นฟันอาญาสมาชิกรัฐสภา
   
ขณะเดียวกัน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา ในฐานะตัวแทนของกลุ่ม 40 ส.ว. ได้เดินทางเข้ายื่นเอกสารประกอบการพิจารณาต่อป.ป.ช.ขอให้ตรวจสอบการกระทำของสมาชิกรัฐสภาที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของส.ว.ว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญา
   
นายวันชัย กล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลชี้ชัดว่าร่างรัฐธรรมนูญ มิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.56 แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ มีข้อความแตกต่างจากร่างเดิมเป็นลักษณะสอดใส้หรือลักไก่เพิ่มเติมข้อความเข้ามา จึงขอให้ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน ของผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่ากระทำผิดหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วเห็นว่า มีมูล ขอให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
   
กรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ จึงขอให้ ทางป.ป.ช.ดำเนินการพิจารณาอย่างเร่งด่วน"

นัดไต่สวนถอดถอน26พ.ย.
   
ส่วน นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการตั้งองค์คณะไต่สวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาและดำเนินคดีอาญากับส.ส.และส.ว.ที่ร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.ว่า ป.ป.ช.จะดำเนินการไต่สวนโดยเร็ว แต่คงรีบร้อนพิจารณาไม่ได้ เพราะจะโดนข้อครหาว่าทำแบบลับๆ โดยคาดว่าวันที่ 26 พ.ย.นี้จะเริ่มหารือถึงแนวทางการไต่สวน ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยต้องให้คณะกรรมการป.ป.ช.ทุกคนรับทราบข้อมูลอย่างละเอียด ส่วนระยะเวลาการตัดสินนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับเอกสารและถ้อยคำต่างๆ ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาสมาชิก จำนวน 310 คน หรือจะให้มาชี้แจง เป็นรายคนหรือไม่นั้นต้องดูความครบถ้วนก่อน ซึ่งส่วนใหญ่คณะกรรมการจะแยกเรื่องถอดถอนก่อน เพราะเรื่องที่เกี่ยวกับคดีอา ญาค่อนข้างจะซับซ้อนและยาก ดังนั้นเรื่องถอดถอนจะต้องดำเนินการเสร็จก่อนเรื่องอาญาอย่างแน่นอน
   
ที่ผ่านมาป.ป.ช.ทำงานด้านการพิจารณาถอดถอนเสร็จเร็ว เพียงแต่ว่าเมื่อไปถึงวุฒิสภาโอกาสที่จะลงมติให้ถอดถอนค่อนข้างยาก แต่ทุกส่วนก็ต้องดำเนินตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับการกดบัตรแทนกัน การปลอมเอกสารว่าผูกพันกับป.ป.ช.ด้วยหรือไม่นั้น ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องจริยธรรม"
   
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยไม่ยอมรับอำนาจศาล นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะคำวินิจฉัยต้องผูกพันทุกองค์กรหากมีคนไม่รับอำนาจก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ป.ป.ช.ให้โอกาส แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาให้เข้ามาชี้แจงอยู่แล้ว ส่วนที่พรรคเพื่อไทยจะดำเนินคดีอาญากับตุลาการฯตามมาตรา 112 นั้น ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะยังไม่เห็นการร้องเรียนหรือการฟ้อง ซึ่งเห็นแต่คนแถลง ซึ่งการแถลงก็ยังไม่ผูกมัดอะไร

อธิการบดีหวั่นกม.เกิดกลียุค
   
ส่วน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศษสตร์ กล่าวว่า เมื่อศาลวินิจฉัยเช่นนี้ ร่างที่มาของส.ว.ก็ตกไป และเท่าที่อ่านคำวินิจฉัย เห็นว่าศาลเน้นหนักไปที่กระบวนการตรา แต่ยังไม่ลงลึกไปที่เนื้อหาของการแก้ไข ดังนั้นเมื่อมีการเสนอร่างไปยังพระมหากษัตริย์แล้ว โดยหลักการรัฐบาลต้องไปถอนร่างออกมาอย่างไรก็ตาม การปฏิเสธอำนาจศาล ของพรรคเพื่อไทย จะทำให้อนอนาคต เกิดปัยหาเรื่องกลียุคต่อระบบกฎหมายไทยได้

นิด้าคาดยุบสภาใน2-3 วันนี้
   
นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาวิชาการ "ทองออกวิกฤตประเทศไทย" ว่า คิดว่าวันนี้ประเทศไทยเดินสู่วิกฤติ และคิดว่าสิ่งที่จะเกิดหลังจากนี้มี 3 แนวทาง คือ 1.รัฐบาลยุบสภาและลาออก ซึ่งมีแนวโน้มและโอกาสที่จะเกิดสูงมากที่สุด ภายใน 2-3 วันนี้ 2.ถ้าพลังประชาชนมากพอและกดดัน บีบให้เกิดการปฏิรูปการเมืองและสร้างกติกาใหม่ และ 3.อาจจะนำไปสู่วิกฤตจราจล และ ทหารออกมา แต่เที่ยวนี้ประชาชนจะไม่ยอม เพราะประชาชนต้องการกติกา ต้องการให้สภาเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน

บี้"ปู"ขอพระราชทานกม.คืน
   
ขณะที่ พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบัน วุฒิสภา แถลงกรณี นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกล่าวหาศาลและตุลาการฯ เป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และละเมิดพระราชอำนาจ ฝ่าฝืนหลักนิติรัฐ และจะนำประเทศชาติไปสู่การล้มเหลวทางการปกครอง จึงขอให้ผู้กระทำการดังกล่าวที่สนุนในฐานะองค์กรทางการเมือง และบุคคล ให้หยุดกระทำการดังกล่าวทันที และเรียกร้องให้ นายกฯขอพระราช ทานคืนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.ซึ่งตกไปแล้ว โดยผลของกฎหมาย ตามคำวินิจฉัยของศาลโดยพลันเพื่อมิให้เป็นพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยมิบังควร และถ้ายังดื้อดึงไม่ดำเนินการ จะถือว่าเป็นการจงใจล่วงละเมิดพระราชอำนาจ

มาร์ค จี้ปูทบทวนทูลเกล้าฯ
   
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมมีมติเรียกร้องให้นายกฯและพรรคเพื่อไทยทบทวนท่าที แสดงความรับผิดชอบกรณีที่มีการนำร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ทูลเกล้าฯทั้งๆ ที่ยังมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่ โดยไม่ฟังเสียงท้วงติงจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งหากนายกฯและพรรคเพื่อไทย ยังเป็นนักการเมืองที่เคารพระบอบประชาธิไตยต้องทบทวนและปรับทัศนคติ เพราะสร้างความเสียหาย และกำลังจะนำประเทศสู่วิกฤติที่รุนแรง
   
เมื่อรัฐบาลกระทำความผิด แต่ไม่มีแนวโน้มแสดงความรับผิดชอบ พรรคจะดำเนินการทั้งทางการเมือง และทางกฎหมาย เพราะคำวินิจฉัยของศาล มีบุคคลที่กระทำความผิด คือ จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และบางส่วนทำ ความผิดทางอาญา พรรคจะร้องถอดถอนบุคคล ที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และแจ้งป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญา กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในส่วนกลุ่มบุคคลที่มีส่วนในการเสนอ และใข้เอกสารปลอมให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาประกอบด้วย นายสมศักดิ์ นายนิคมและนายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาฯซึ่งมีนายกฯรวมอยู่ด้วยซึ่งจะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ได้ในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อให้บุคคลเหล่านี้รับผิดชอบ รวมทั้งสมาชิกรัฐสภา ผู้เสนอร่าง ทั้งหมด 312 คนและกรณีการเสียบบัตรแทนกันนายกจะลอยตัวเหนือปัญหาไม่ได้ การที่บอกว่ายังบอกไม่ได้ว่าจะยอมรับคำวินิจฉัยของศาล แสดงว่าจะยอมรับก็ต่อเมื่อถูกใจตัวเองเท่านั้น จึงขอให้นายกฯพูดให้ชัดเจนว่าจะไม่รับอำนาจศาลใช่หรือไม่ จะดำเนินการทางกฎหมายได้อย่างถูกต้อง"
   
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่นายกฯจะไม่นำร่างรัฐธรรมนูญกลับมา หลังค้างอยู่ในขั้นตอนการทูลเกล้าฯ เพื่อทิ้งเวลาให้เกิน 90 วัน แล้วอ้างว่าไม่พระราชทานคืนกลับมา ก่อนใช้เสียงข้างมากยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีปัญหาอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลมีเจตนาชัดเจนว่า จะไม่ยอมรับอำนาจศาล ดังนั้นนายกฯในฐานะที่เป็นผู้เสนอร่างก็ควรกราบบังคมทูลถวายรายงาน เพื่อให้เป็นข้อยุติที่ชัดเจนว่าหมดสภาพไปแล้ว เพราะคำวินิจฉัยมีความชัดเจน ถ้านายกฯไม่เข้าใจอ้างว่าต้องถามกฤษฎีกา ก็มั่นใจว่ากฤษฎีกาก็ต้องยืนยันตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้ว

บรรจุญัตติซักฟอก 26-27พ.ย.
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประธานสภาฯได้ลงนามในคำสั่งบรรจุระเบียบวาระเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายฯนายกฯและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลโดยเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. วันที่ 26-27 พ.ย.56 โดยนายสมศักดิ์เปิดเผยว่า การอภิปรายฯในวันสุดท้าย จะไม่เกินเวลา 24.00 น. ของวันที่ 27 พ.ย. เพื่อให้ทันลงมติ โดยฝ่ายค้านจะต้องสรุปการอภิปรายฯเวลาประมาณ 22.00 น. อย่างไรก็ตามจะให้เวลาฝ่ายค้านอภิปรายอย่างเต็มที่ 2 วัน โดยตนได้ประสานขอความร่วมมือไปยังครม.ให้เข้าร่วมรับฟังการอภิปราย ขณะเดียวกันได้ประสานไปยังประธานวุฒิสภา ขอให้เลื่อนการประชุมวุฒิสภาออกไปในช่วงดังกล่าว

ปู ถกวอร์รูมรมต.รับมือซักฟอก
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น.นายกฯได้เรียกประชุมทีมวอร์รูมรัฐมนตรี เพื่อหารือเตรียมความพร้อมในการอภิปรายฯ โดยมีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และนายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯและรมว.พาณิชย์กล่าวว่าเป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการอภิปรายฯ ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร และเหตุการณ์ต่างๆ ในทุกเรื่อง ขณะที่นายกฯไม่ได้แสดงความเป็นห่วงแค่ให้แต่ละกระทรวงไปเตรียมข้อมูลของตัวเอง ส่วนตนมีหน้าที่เตรียมข้อมูลในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่นายกฯจะเป็นผู้ตอบเอง แต่หากมีการพาดพิงรมต.คนใดก็จะสิทธิในการชี้แจง
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมคปท.ได้เคลื่อนขบวนมาจากพรรคเพื่อไทยมาชุมนุมที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐและสะพานอรทัย ทันทีที่กลุ่มผู้ชุมนุมทำการปิดทั้ง2สะพาน กำลังเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรึงกำลังจุดละ 1 กองร้อย ขณะที่นายกฯเสร็จสิ้นการหารือทีมวอร์รูมได้เดินออกจากทำเนียบฯเวลา 18.15 น.โดยออกทางประตู ถนนพิษณุโลก นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ได้เตรียมสถานที่สำรองเพื่อรองรับการประชุมครม.ในวันที่ 25 พ.ย.หลังมีกระแสข่าวกลุ่มผู้ชุมนุมจะทำการดาวกระจายปิดล้อมสถานที่ราชการสำคัญๆ

ปูดแผนดัน"มาร์ค"นั่งนายกฯ
   
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ยินเพื่อน ส.ส.คุยกันว่า กลุ่มอำนาจเดิมที่เกลียดชังพรรคเพื่อไทย พยายามจะอุ้มชู นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นนายกฯโดยมีแผนบันได 3 ขั้น คือ หาเรื่อง หาทาง และหาบันได และ เร่งปิดจ็อบเร็ว และทราบว่า ฝ่ายตรงข้ามมีการวางตัวรมต.ชุดใหม่ไว้แล้ว เพื่อหวังจะได้เป็นรัฐบาลภายในสิ้นปีนี้ โดยมีคนนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มรัฐบาล เข้ามาในครม.ชุดดังกล่าวกว่า 10 ตำแหน่ง ซึ่งในสัปดาห์หน้า จะเอารายชื่อดังกล่าวมาติดไว้ที่พรรค
   
วันนี้ผมคิดว่าอยากให้ นายอภิสิทธิ์ มาเป็นนายกฯให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาเป็นรองนายกฯอีกรอบ ก่อนสิ้นปีนี้ จะได้รู้ว่า ประชาชนในประเทศนี้จะต้อนรับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ด้วยของขวัญปีใหม่อย่างไร และประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป"

ดัน"พ"เป็นนายกฯพระราชทาน
   
ขณะที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่านายสุเทพได้ไปนัดกินข้าววางแผนกับคนใหญ่คนโต 2 คน มีอักษรย่อ "พ" ทั้ง 2 คน และเป็นที่มาของการนัดรวมตัวเดินขบวนกันในวันที่ 24 พ.ย.ของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มาหวิทยาลัย ที่ทั้ง "2 พ"เคยร่ำเรียน เพื่อวางแผนเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะ หลังป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ถอดถอนส.ส.และส.ว. 312 คน จากประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. ซึ่งอาจจะเกิดสถานการณ์ทำให้ทั้ง 312 คน ต้องพ้นไป แล้วบ้านเมืองก็เกิดสุญญากาศ เข้าล็อกการขอนายกฯพระราชทาน ซึ่ง "พ" คนหนึ่งจะเข้ามาเป็นนายกฯ รักษาการ

กองทัพจ่อเอาผิดอ้างเป็นทหาร
   
ทางด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ นำตัว นายเต้ย จักราช หลังอ้างตัวเป็นอาสาสมัครทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ 42 จ.สงขลา และรู้เห็นการขนอาวุธสงครามเข้ามาในพื้นการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าข้อมูลตรงกับ พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ยืนยันว่าไม่มีทหารพรานชื่อดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากการตรวจสอบพบเป็นการแอบอ้างจะประสานงานทีมกฎหมายของกองทัพบกว่าจะสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องได้หรือไม่ เพราะทำให้กองทัพเสียหาย

ซัดการเมืองทำลายความมั่นคง
   
ขณะที่ พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าประชาสัมพันธ์ส่วนประชาสัมพันธ์และสารสนเทศสำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า สัปดาห์นี้สถานการณ์การเมืองมีความเข้มข้นมากขึ้น หลัง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินในประเด็นการแก้ไขที่มาส.ว.ทำให้เกิดประเด็นปัญหาทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น สร้างความยุ่งยาก และความลำบากในการที่จะก้าวข้าม หรือผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ทั้งนี้สถานการณ์การเมือง เกิดความแตกแยกและซึมลึกไปทั่วทุกองค์กร เกิดการแบ่งฝ่าย สื่อก็แบ่งข้าง ข่าวแถลงเรื่องเดียวกันแต่เสนอไปกันคนละด้าน ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าห่วงใยต่อบ้านเมือง ดังนั้นควรจะมีการพูดคุยกันดีกว่า
   
ประวัติศาสตร์ ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อใดที่คนไทยแตกความสามัคคี และเกิดการช่วงชิงอำนาจ ความพินาศย่อยยับจะเกิดขึ้นกับชาติบ้านเมือง สถานการณ์การเมืองปัจจุบันทำให้เกิดการกัดเซาะผุกร่อนความมั่นคง จึงมาถึงจุดที่ประชาชนต้องร่วมกันแสดงออก เป็นเสียงเดียวกัน เป็นพลังที่บริสุทธิ์ โดยการเรียกร้องให้ทุกฝ่าย หยุดสร้างความเกลียดชัง หยุดทำร้ายประเทศถึงเวลาคืนความสุขให้กับสังคมไทยถึงเวลาหันหน้าเข้าหากัน เพราะเราต่างรักสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ขอให้ทุกคนลงมือทำทันทีก่อนที่จะสายเกินไป หากทำเมื่อใดความเป็นปกติสุขก็จะเกิดขึ้นกับคนไทยและสังคมไทย แผ่นดินไทยก็จะร่มเย็น"

สมช.เล็งงัดพรบ.มั่นคงคุมม็อบ
   
ส่วน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสมช. กล่าวถึงกรณีการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ว่า ต้องรอดูการชุมนุมในวันที่ 24พ.ย.ของกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์ก่อน แต่มีการเตรียมการไว้แล้ว หากมีเหตุผลความจำเป็นจะประกาศออกไปโดยตั้งกรอบไว้ประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าระหว่างนั้นไม่มีเหตุการณ์อะไรก็สามารถยกเลิกได้ทันที ซึ่งการประกาศคงจะอยู่ในพื้นที่เดิม โดยสัปดาห์หน้าจะตัดสินใจ ว่าจะประกาศหรือไม่ ส่วนการชุมนุมวันที่ 24พ.ย.นี้ ผู้ชุมนุมคงจะมาก แต่คงไม่ถึงล้าน อาจหลายหมื่น แต่อาจมีการแสดงพลัง หรือมีความเป็นไปได้ที่จะมาปิดล้อมรอบทำเนียบฯ แต่คงไม่ฝ่าเข้ามา นอกจากนี้เรายังเป็นห่วงเรื่องมือที่ 3 เพราะยังมีเงาๆ อยู่ต้องเฝ้าระวัง นอกจากนี้ จะให้เจ้าหน้าที่ ขึ้นไปตรวจตราในจุดสูงข่มประมาณ 20 จุด ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของตึกและให้สื่อมวลชนขึ้นไปร่วมตรวจสอบด้วย

เฉลิมขู่สุเทพทำผิดจับทันที
   
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กล่าวถึงการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศเป็นแกนนำม็อบ หากมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น ต้องจับกุมนายสุเทพข้อหากบฎในราชอาณาจักร โดยได้ข่าวว่าการชุมนุมครั้งนี้ จะมีคนก่อเหตุร้าย แต่ไม่ใช่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่ห้ามพกอาวุธและปืนเด็ดขาด มีแต่ปืนยิงแก๊สน้ำตา ปืนยิงกระสุนยาง กระบอง แบริเออร์ และรั้วลวดหนาม หากมีการก่อเหตุร้ายนายสุเทพต้องรับผิดชอบ
   
ผมและพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ และตำรวจ จะติดตามสถานการณ์อยู่ที่กระทรวงแรงงาน รวมทั้งวันที่ 24 พ.ย.จะเอาตำรวจตามนายสุเทพอย่างใกล้ชิด ไม่ให้คลาดสายตา ถ้ากล่าวโจมตี ผมบนเวที เป็นการพูดเท็จ ยั่วยุ ปลุกระดม และบอกว่าไม่เคยกลัวผม ผมก็ฝากบอกนายสุเทพว่า ผมได้เปรียบ เพราะไม่ต้องไปขึ้นศาลในคดีฆ่าคนตาย และไม่ถูกกล่าวหาว่ามือเปื้อนเลือด คุณพูดมาหลายครั้งว่าคุณไม่กลัวผม ผมก็จะบอกไอ้เทพ กูก็ไม่กลัวมึง"

อนุมัติหมายจับม็อบตืบตร.
   
วันเดียวกัน พล.ต.ต.ชยุต ธนทวีรัชต์ รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและสอบสวน เปิดเผยกรณีที่ศาลแขวงดุสิตไม่อนุมัติออกหมายจับกลุ่มผู้ชุมนุมการ์ดคปท.ที่ทำร้ายร่างกาย ด.ต.จำเนียร หงส์ไทย ผบ.หมู่งานสืบสวน กก.สส.บก.น.6 จนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 7พ.ย. ที่ผ่านมาว่า เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตได้อนุมัติหมายจับที่ 447/2556 และ 448/2556 ลงวันที่ 21 พ.ย.56 ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เพื่อให้ดำเนินการจับผู้ต้องหาที่ทำร้ายด.ต.จำเนียรแล้วโดยหมายจับดังกล่าวเป็นหมายจับตามภาพ ถ่าย เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ จำนวน 2 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบสวนว่าผู้ต้องหาเป็นใครเพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดี หากใครรู้เบาะแสว่าบุคคลตามหมายจับเป็นใครสามารถแจ้งไปที่สน.นางเลิ้ง ได้ทันที

แย้มล้านคนเดินอารยะ25 พ.ย.
   
ที่เวทีประชาชนต้านกฎหมายนิรโทษ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงเชิญชวนประชาชนให้ออกมาชุมนุมให้ได้จำนวนหนึ่งล้านคนในวันที่ 24พ.ย.นี้ แม้ว่าความพยายามสกัดกั้นจากฝ่ายรัฐบาลและมีเหตุอุทกภัยจากในพื้นที่ภาคใต้ก็ตาม เพราะในวันที่ 24พ.ย.จะมีการขยายพื้นที่และเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับประชาชนที่จะมาชุมนุม และจะจัดกิจกรรมที่เป็นนัยยะ จึงขอให้ประชาชนค้างคืน เพื่อทำกิจกรรม"เดินอารยะ"ในวันที่ 25 พ.ย.ซึ่งจะเป็นการเดินไปยังสถานที่ราชการต่างๆเพื่อเชิญชวนให้ข้าราชการออกมาร่วมขบวนโค่นล้มระบอบทักษิณ แต่จะเดินอย่างสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง โดยมวลชนจะมีเพียงดอกไม้กับนกหวีดเท่านั้น
   
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นไปอย่างคึกคัก กระทั่งช่วงเย็น ได้มีประชาชนต่างแห่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของแกนนำอย่างคึกคัก โดยทางแกนนำได้มีการขยายพื้นที่การชุมนุมมากขึ้น เพื่อรองรับการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 24 พ.ย.นี้

ที่มา.สยามรัฐ
---------------------------------



ศึกม็อบ ลามเวทีขาอ่อน !!?

คุณณวัฒน์ ถ้าคุณรักประเทศ คุณจะมาประจานคนไทยทำไม ให้ต่างชาติมาถือป้ายด่าคนไทยด้วยกัน”
แม้เหตุการณ์จะผ่านไปเกือบหนึ่งสัปดาห์ แต่กระแส“นางงามต้านม็อบ”ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก กรณีที่ผู้เข้าประกวด “มิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล 2013” ซึ่งเป็นสาวงาม 75 ประเทศทั่วโลก รวมไทยด้วย



ทั้งแถลงข่าว ทั้งสวมชูบิกินี่ ชูป้ายต้าน“ม็อบคัดค้านนิรโทษกรรม” ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยขณะนี้ โดยมี ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้ก่อตั้งและจัดประกวดเวทีดังกล่าว คือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

โดยในแถลงการณ์ของณวัฒน์และเหล่านางงามผู้เข้าประกวดระบุว่า ภายหลังจากที่ผู้เข้าประกวดได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่ประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทำกิจกรรมต่างๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่ พัทยา และกรุงเทพฯ ทว่าระหว่างการเก็บตัวพวกเธอได้มองเห็นความขัดแย้ง การก่อม็อบประท้วง การแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย ความไม่ปรองดอง ก่อให้เกิดความไม่สงบ และความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ ทางองค์กร และเหล่าสาวงาม 75 ประเทศ จึงมีมติร่วมกันจัดม็อบยุติความขัดแย้ง และเตรียมยื่นหนังสือถึงแกนนำผู้ชุมนุมการเมือง ขอลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น พร้อมชูป้ายข้อความ “NO MOB, STOP THE WAR ยุติสงคราม"

หลังจากณวัฒน์และนางงามได้แสดงจุดยืนการต่อต้านการชุมนุมของม็อบในขณะนี้ ปรากฏว่า ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่มีการแชร์ข้อมูล ประเด็นที่ให้นางงามต่างชาติถือป้ายรณรงค์หยุดประท้วง นับว่า เป็นการประจานคนไทยกันเอง

เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ไม่ได้มีความรุนแรงถึงขั้นนองเลือด ซึ่งเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยและยึดหลักสันติวิธี ณวัฒน์จึงควรให้ข้อมูลแก่สาวงามอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจ ว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

นายณวัฒน์ได้เปิดใจถึงเรื่องนี้ โดยอ้างว่า ทางกลุ่มของตนไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวร้ายกับกลุ่มคน และกลุ่มการเมืองใด ๆ แต่ต้องการแสดงจุดยืนในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของการประกวดคือ STOP THE WAR การยุติสงครามและความขัดแย้งทุกรูปแบบ

ที่ผ่านมาก็ได้เคยพาผู้เข้าประกวดเดินทางไปเก็บตัวและร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จังหวัดปัตตานี 4 วัน เพื่อให้กำลังใจแก่พี่น้องคนไทยและผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อสันติภาพ โดยเฉพาะทหาร ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย

นอกจากนี้เมื่อช่วงที่มีเหตุการณ์รุนแรงประท้วงในประเทศอียิปต์ ทางองค์กรก็ได้มีการส่งจดหมายผ่านสถานทูตอียิปต์ในประเทศไทย เพื่อขอให้ลดระดับความรุนแรงลงอีกด้วย

“สถานการณ์เมืองไทยขณะนี้ อยากให้สังคม อยากให้ทุกคนเคารพความคิดเห็นของกันและกัน อยากให้ลดความร้อนแรงลง เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสาวงามทุกคนรู้เรื่องนี้ดี จากการเห็นด้วยตัวเอง ทั้งการปิดถนน ข่าวจากสื่อต่าง ๆ ที่สำคัญเราได้อธิบายให้สาวงามเข้าใจอย่างถูกต้องที่สุดแล้ว”

ทั้งนี้ณวัฒน์ยังกล่าวถึงผลกระทบเวทีประกวดด้วยว่า จากเดิมจะจัดประกวดรอบชิงชนะเลิศที่ธันเดอร์โดม ก็ต้องถูกปิดไป เพราะการชุมนุมในบริเวณนั้น ต้องย้ายไปที่อิมแพ็ค อารีน่า ทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้น สูญเงินไปกว่า 10 ล้านบาท

ซึ่งประเด็นเรื่องเงินนี้เองได้มีผู้เอามาถกด้วยว่า ณวัฒน์ถูกว่าจ้างให้จัดม็อบนางงาม ซึ่งเป็นเกมการเมือง เพื่อหาเงินมาชดเชยค่าเสียหายที่สูญไป โดยเอานางงามทั้ง 75 ประเทศทั่วโลกมาเป็นเครื่องมือในการเดินเกม!!!

โดยผู้ที่อยู่ในแวดวงประกวดนางงาม ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า ปกติแล้วในการประกวดนางงามไม่ว่าจะเป็นเวทีในประเทศหรือระดับนานาชาติ จะไม่เอา 2 เรื่องมาพูดถึงหรือเกี่ยวข้องเลย คือ การเมือง กับศาสนา เพราะถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก และจนป่านนี้แล้วก็ไม่เคยเห็นม็อบนางงามบนเวทีประกวดมาก่อนเลย

อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับศาสนาก็มีการประท้วงถือไม่ความเหมาะสมกันมาแล้ว แม้แต่ในเมืองไทยกรณีละครเรื่อง ฟ้าจรดทราย ทางช่อง 7 ก็มีความเคลื่อนไหวทางด้านศาสนาเกิดขึ้น

“ปกติจะมีการสั่งนางงามไว้เลยว่า เมื่อถึงรอบสัมภาษณ์บนเวที ห้ามเอาเรื่องการเมืองและศาสนามาพูดเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการหมิ่นเหม่”
ส่วนอีกความเห็นหนึ่งบอกว่า การที่ณวัฒน์อ้างว่า การต้านม็อบครั้งนี้เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ STOP THE WAR ก็คงไม่ถูกต้องมากนัก เพราะคำว่า STOP THE WAR ทุกคนย่อมเข้าใจว่าคือการหยุดยั้งสงคราม แต่ในเมืองไทยแค่ม็อบ ไม่ใช่สงคราม

ดังนั้นการนำนางงามมาชูป้ายในชุดบิกินี่ ถือว่าเป็นการไม่เหมาะสม เหมือนบังคับนางงามให้มาถือป้าย
“เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันว่า คุณณวัฒน์ฉวยโอกาสหรือไม่? ในการที่ใช้การชุมนุม เอามาช่วยสร้างกระแสข่าวในการประกวดนางงาม เพราะที่ผ่านมาข่าวการประกวดนางงามเวทีนี้ค่อนข้างเงียบ”

ซึ่งแน่นอนว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดเช่นนั้นได้ เพราะการที่นางงามจะจัดทำป้ายต่างๆเพื่อมาชูเองนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทางทีมจัดประกวดจะต้องเป็นตัวจัดหามาให้ ขณะเดียวกันหากไม่รู้ ไม่มีคิว ไม่มีการซักซ้อมนางงามไว้ก่อน จู่ๆนางสาวพากันถือป้ายออกมา ผู้จัดก็ต้องสอบถามแล้วว่าถือป้ายมาทำไม และถ้าไม่เห็นด้วย ก็คงไม่เปิดช่วงเวลาให้ถือป้ายถ่ายรูปกันหราได้อย่างที่เห็นแน่นอน

ฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรเรื่องนี้ รับรองได้ล้านเปอร์เซนต์ว่า ณวัฒน์รับรู้และสั่งการแน่ๆ

ส่วนว่าทำเพราะอะไร ทำเพื่อเงิน ทำเพราะเลือกข้าง หรือทำเพราะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของคำว่า Stop the War อย่างนั้นจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ ณวัฒน์นั่นแหละต้องตอบตัวเองว่าทำไปเพื่ออะไร???

ล่าสุดณวัฒน์ได้พูดถึงประเด็นม็อบนางงามในลักษณะที่น้อยใจว่า โดยส่วนตัวมีความมุ่งมั่นเหมือนกับหลายๆ คน ได้ระมัดระวังการพูดทุกอย่างที่สุดแล้ว พยายามไม่พาดพิงถึงกลุ่มคนกลุ่มการเมืองใด ๆ ผมเห็นด้วยสิ่งที่ทุกคนทำ ยินดีและแฮปปี้ทุกอย่าง

“บอกได้เลยว่า ในชีวิตตัวเองไม่เคยคิดว่าจะมาเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เลย อยากให้ทุกคนใจเย็นและดูแลเอาใจใส่กันมากขึ้น สำหรับผู้ใหญ่ทางช่อง 7 เข้าใจ พร้อมให้กำลังใจมากกว่า ไม่มีใครออกมาตำหนิ แต่รู้สึกน้อยใจพี่กนก รัตน์วงศ์สกุลบ้าง อุตส่าห์เป็นแฟนรายการแต่ ก็ไม่ได้โกรธ เข้าใจอารมณ์และภาพ ผมขอโทษที่ทำให้เข้าใจผิด ตอนนี้เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนที่สุด”

ขณะเดียวกันก็มีคนส่วนหนึ่งโพสต์ข้อความให้กำลังใจณวัฒน์ทางออนไลน์ว่า

“..มีคนไม่ชอบก็ธรรมดาครับ แต่คุณณวัฒน์ ผมว่าไม่น่าด่า เพราะเขาแสดงแบบกลางๆ ที่ไม่อยากให้บ้านเรามีข่าวม็อบรายวันจนเทศกาลท่องเที่ยวของประเทศเรา ไม่น่าจะมาต่างชาติเขาเคยเห็นความรุนแรงจากการใช้อาวุธสงครามกลางเมืองหลวงมาแล้ว ก็อาจจะไม่กล้ามาก็ได้ ต่างกับดาราคนอื่นอย่างคุณแตงโม (ภัทรธิดา ที่ขึ้นเวทีเอาประสบการณ์ที่เคยแสบของเธอ ไปคิดว่าคนอื่นเขาจะแสบด้วยแสดงออกจนหมดความเป็นกุลสตรี ไปให้กำลังใจบนเวทีอย่างเดียว น่าจะมีกำไร แต่สิ่งที่เธอทำอย่าว่าแต่เข้าเนื้อเลย ผมว่าเข้าไปถึงกระดูกโน้นเลย ยี่ห้อความหยาบติดหน้าผากไปชั่วชีวิต..”

และบางรายก็มองว่า

“...ไม่เห็นแปลกที่นางงามถือป้ายด่าคนไทย เพราะม็อบก็สมควรถูกด่าแล้ว และความจริงข่าวต่างประเทศก็วิจารณ์ไทยอยู่แล้ว ดีเสียอีกที่บอกให้ชาวโลกรู้ว่า คนไทยไม่เอาม็อบ ขอบคุณณวัฒน์ ทำดีแล้ว...”

แน่นอนว่าหนีไม่พ้นที่จะมีคนโพสต์โต้ตอบว่า คนที่โพสต์เชียร์ณวัฒน์นั้นคือ พรรคพวกที่ถูกณวัฒน์ขอให้ช่วยเขียนโต้ตอบ

งานนี้ ณวัฒน์อาจจะคิดว่าคุ้มมากๆ ที่สร้างกระแสให้กับการจัดประกวดนางงามของตนเอง ที่ผลตอบรับ “ไม่แกรนด์”อย่างที่หวัง ให้กลายมาเป็นประเด็นพูดถึงในสังคม จัดครั้งต่อไปจะได้ไม่แป้กเหมือนครั้งนี้ก็ได้

แต่คำถามที่น่าคิดก็คือ มันคุ้มกันหรือไม่กับการเสี่ยงแบบนั้น

หรือจริงๆแล้วเห็นว่า ไหนๆในเมื่อม็อบยังไม่ได้รู้สึกเลยว่า สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ หรือทำให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ ก็เล่นให้มันสุดๆไปเลย

ผลจึงถูกสังคมแบ่งแยกแตกขั้ววิจารณ์สุดๆไปเลยเช่นกัน

หรือประเทศนี้จะอยู่ในภาวะต้องสาปแล้วจริงๆ!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////




เทียบเหตุผลหนุน-ต้าน คำวินิจฉัยศาล รธน.




เทียบเหตุผลประเด็นต่อประเด็น กลุ่มหนุน-ค้านคำวินิจฉัยศาล รธน. "ผ่าทางตัน" หรือดึงการเมืองเข้าสู่ "ทางตัน"

ยังคงเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" ในกลุ่มมาตราเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

ประเด็นคำถามที่หลายฝ่ายมีต่อคำวินิจฉัย เปรียบเทียบกับคำอธิบายของกลุ่มที่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ให้ความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ เพราะเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาที่สามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ก็ระบุชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเฉพาะกำหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ (พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพระราชกำหนด)

2.ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ขัดมาตรา 68 วรรค 1 คือมีลักษณะทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ

นายจาตุรนต์ ฉายเเสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเเกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลของมาตรา 68 วรรค 1 คือศาลมีอำนาจสั่งให้เลิกกระทำ (กรณีนี้หมายถึงเลิกแก้ไขรัฐธรรมนูญ) แต่คำถามคือศาลสั่งใคร เพราะรัฐบาลเเละนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการเสร็จไปเเล้ว ถือว่าเลยขั้นตอนที่จะสั่งไปแล้ว

3.รัฐมนตรีและ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยหลายคนมองว่าข้อกล่าวหาเสียบบัตรแสดงตนแทนกันของสมาชิกรัฐสภา การสั่งปิดอภิปราย หรือประเด็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไข เป็นคนละร่างกับที่รัฐสภาพิจารณา เป็นเรื่องตัวบุคคล ข้อบังคับการประชุมสภา หรือปัญหาทางเทคนิค ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัย

4.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯไปแล้ว ถือว่าตกไปโดยอัตโนมัติหรือยัง และนายกรัฐมนตรีจะต้องทำอย่างไร

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า จะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ได้แนวทางที่ถูกต้องและเป็นทางการ ขณะที่ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯถือว่าเป็นการโมฆะอยู่แล้ว เท่าที่ทราบสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะต้องไปยื่นขอถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสำนักพระราชวัง

ด้านความเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Chuchart Srisaeng ระบุว่า ขอสรุปผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและผลตามคำวินิจฉัยสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเพิ่มเติม ดังนี้

1.ร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.เป็นอันตกไป เพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้ายังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อลงพระปรมาภิไธย ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯไม่ได้ ถ้าทูลเกล้าฯแล้วก็ต้องขอถอนคืน

2.เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข บทบัญญัติในส่วนนี้ยังเหมือนเดิมคือ ส.ว.มีสองประเภท ทั้งจากการเลือกตั้งและการสรรหา

3.ที่ไม่มีการยุบพรรคเพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา คือ มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว. เป็นการกระทำของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ทำของพรรคการเมือง ส.ว.ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วน ส.ส.ก็สังกัดมีหลายพรรค ไม่ใช่พรรคเพื่ิอไทยพรรคเดียว

4.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษ ผู้กระทำความผิดในทางอาญา ซึ่ง ส.ว.กลุ่มหนึ่งได้ยื่นกล่าวโทษต่อ ป.ป.ช. ให้ทำการไต่สวนแล้ว

5.เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงชื่อยื่นถอดถอน ส.ส. 310 คน เพราะกรณีที่ยื่นถอดถอนนั้นเป็นเรื่องของขอถอดถอน ส.ส.ที่ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

ขอยืนยันว่าศาลต้องพิพากษาหรือวินิจฉัยคดีตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น จะให้เป็นที่พอใจหรือตามความต้องการของทุกคนไม่ได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------




วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เศรษฐกิจจีนหลังการประชุม : CPC Central Committee.

โดย สกุณา ประยูรศุข

เหมือนจะกลายเป็นความสนใจอย่างยิ่ง สำหรับการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 18 (CPC Central Committee) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา

ต้อง ยอมรับว่าหลายหน่วยงาน หลายองค์กร เฝ้าจับตาผลการประชุมครั้งนี้ ประการหนึ่ง เพราะความยิ่งใหญ่ของจีนที่ขณะนี้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในเรื่องเศรษฐกิจ ด้วยกำลังซื้อที่มากมายมหาศาล ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 1,341 ล้านคน หรือมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ อีกประการนั้นต้องยอมรับว่า จีนมีระบบบริหารจัดการเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และแก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว หรือค่าเงินหยวน อย่างที่ปรากฏให้เห็นในระยะที่ผ่านมา

สำหรับผลการประชุมครั้งนี้สรุป โดยรวม คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 18 เน้นว่า เป้าหมายโดยรวมของการปฏิรูปทุกด้านใน ระดับลึก

กล่าวคือต้องลงลึก ปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยยึดมั่นในบทบาทสำคัญของ การตลาด ต่อการจัดสรรทรัพยากร ต้อง ปฏิรูปการเมือง ให้ลุ่มลึก โดยยึดมั่นในความกลมกลืนสมานฉันท์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นพรรค รัฐบาล ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ และปกครองบริหารประเทศตามกฎหมาย ต้อง ปฏิรูปวัฒนธรรม ในระดับลึก โดยยึดหลักในความมีคุณค่าของสังคมนิยม และเป้าหมายการสร้างประเทศสังคมนิยมที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ต้อง ปฏิรูปสังคม ให้ลุ่มลึก โดยยึดมั่นในการประกันคุณภาพชีวิต ผดุงความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม ต้องลงลึก ปฏิรูปอารยธรรม ของระบบนิเวศ โดยยึดมั่นในแนวทางที่จะทำให้จีนเป็นประเทศแห่งความสวยงาม และต้องลงลึก ปฏิรูปการสร้างสรรค์พรรค โดยยึดมั่นในการยกระดับการบริหารให้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ การปกครองแบบประชาธิปไตย และการบริหารการเมืองตามกฎหมาย

ในประเด็นของการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่สนใจของหลายฝ่ายนั้น แม้ว่าที่ ประชุมไม่ได้ชี้ชัดถึงรายละเอียดเท่าใดนัก แต่นับเป็นการเน้นย้ำ การวางรากฐานที่สำคัญของการปฏิรูปกลไกตลาด ให้มีบทบาทอย่างชัดเจนต่อระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มบทบาทของเอกชน เพื่อที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้น รัฐบาลจีนยังย้ำจุดยืนการยกระดับความเป็นเมือง และพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนจากปัจจัยภายในประเทศ เพื่อให้จีนพร้อมต่อการผลักดันบทบาทเศรษฐกิจขึ้นสู่ระดับนานาชาติต่อไป

ศูนย์ วิจัยกสิกรไทย มองเรื่องนี้ว่า ในปี 2556 เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตได้ในกรอบร้อยละ 7.3-7.7 โดยมีค่ากลางร้อยละ 7.5 ขณะที่ในปี 2557 น่าจะยังเติบโตได้ราวร้อยละ 7.2 (กรอบประมาณการร้อยละ 7.0-7.5) ซึ่งก็น่าจะช่วยประคองการส่งออกของไทยไปจีนในปี 2557 ให้เติบโตที่ราวร้อยละ 3.3 (กรอบประมาณการร้อยละ +0.5-+7.5)

อย่างไร ก็ดีจากถ้อยแถลงหลังการประชุมเผยให้เห็นถึงสาระสำคัญหลายประการ ที่อาจมีนัยสำคัญบ่งชี้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจจีน รวมถึงภูมิภาคในระยะต่อไป โดยประเด็นสำคัญคือการปรับระบบเศรษฐกิจสู่กลไกตลาดมากขึ้นเพื่อเพิ่มบทบาท ของเอกชน

อาจกล่าวได้ว่า เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปของจีนในระยะข้างหน้า คือการที่รัฐจะทำการ ปฏิรูปกลไกตลาด ให้มีบทบาทอย่างชัดเจนต่อระบบเศรษฐกิจ ภายใน ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563)

โดยผลักดันผ่าน 1)การปรับกฎระเบียบการดำเนินธุรกิจให้ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าสู่ตลาดของเอกชน ทั้งจากภายในจีนเองและจากต่างประเทศ เพื่อเปิดรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและบริหารจัดการ นำไปสู่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ 2)การปรับลดบทบาทของรัฐในการจัดสรรทรัพยากร โดยการปรับกติกาและกลไกต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น อาทิ การปรับให้นโยบายด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผ่อนคลายมากขึ้น ส่วนเอกชนก็มีแนวโน้มจะได้รับการส่งเสริมมากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับนโยบายของจีนในระยะก่อนหน้านี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ในระยะที่ผ่านมาทางการจีนได้ดำเนินการหลายด้านที่สอดคล้องกับแนวทางการปรับ ตัวสู่กลไกตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกลไกทางการเงินที่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงชัดเจน นับตั้งแต่การที่ธนาคารกลางของจีน (PBoC) มีนโยบายต่อค่าเงินหยวนในเชิงค่อนข้างผ่อนคลายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินหยวนมีทิศทางเคลื่อนไหวตามปัจจัยตลาดมากขึ้นในช่วงเวลาดัง กล่าว รวมถึงล่าสุดในปีนี้ที่ธนาคารกลางจีนมีการยกเลิกขั้นต่ำ (Floor) ของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และประกาศใช้ Loan Prime Rate ซึ่งกำหนดโดยธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง เพื่อเตรียมพร้อมสู่ระบบอัตราดอกเบี้ยเสรีต่อไป

ทั้งนี้คาดว่าใน ระยะข้างหน้า ทางการจีนน่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดการปฏิรูป และผลักดันให้มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยให้เริ่มทดลองจากในเขตพื้นที่นำร่องและเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการปรับใช้ในภาคส่วนอื่น ๆ ในวงกว้างต่อไป

มีตัวอย่างให้ เห็นคือ ความพยายามของทางการจีนในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ ซึ่งรัฐได้ผ่อนคลายกฎระเบียบการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจในภาคบริการในหลาย ประเด็น (อาทิ การลดเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ และการเปิดเพิ่มสาขาที่อนุญาตให้ธุรกิจต่างชาติดำเนินการ) พร้อมวางเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกในปี 2020 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิรูปในภาพใหญ่ข้างต้น

สำหรับการพัฒนา เศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้น ที่ประชุมเน้นว่าต้องมีแนวทางการพัฒนากลไกเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เอื้อต่อการ มีบทบาทของเอกชน และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อช่วยผลักดันบทบาทของเอกชน

การสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจ ภาคประชาชนดังกล่าว เป็นการผลักดันให้ประชาชนได้เข้าถึงดอกผลของการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่าง ปราศจากความเหลื่อมล้ำระหว่างในเมืองและชนบท และผลักดันให้เกษตรกรเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งแม้มิได้มีการระบุถึงรายละเอียดของนโยบายมากนัก

แต่ก็คาดว่าแนว ทางการผลักดันนโยบายในระยะข้างหน้า น่าจะมีความสอดคล้องกับหลายนโยบายที่มีการคาดการณ์มาก่อนหน้านี้ อันได้แก่ การปฏิรูประบบการเกษตร ให้กระบวนการในห่วงโซ่การผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจรวมไปถึงการปฏิรูประบบทะเบียนบ้าน (Hukou) โดยให้แรงงานย้ายถิ่นจากชนบทเข้าถึงสวัสดิการสังคมตามระบบทะเบียนบ้านใน เมืองได้

นอกจากนั้น รัฐอาจผลักดัน "Social Safety Package" สำหรับประชาชนทั่วประเทศ อาทิ บำนาญผู้สูงอายุ และการประกันสุขภาพ เพื่อช่วยสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิต และช่วยให้ประชาชนมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มบทบาทการบริโภคเอกชน และลดบทบาทการลงทุนของภาครัฐที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในระบบเศรษฐกิจจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

และที่คาดว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่จีนจะผลัก ดันอย่างต่อเนื่องก็คือ การดำเนินการขยายพื้นที่จัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่น เข้าสู่เป้าหมายการสร้างสมดุลให้กับการคลังรัฐบาลท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

การ ประชุม CPC Central Committee ครั้งนี้ โดยสรุปแล้วหากรัฐบาลจีนสามารถดำเนินนโยบายเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ใน ระยะยาว ก็น่าจะมีผลให้จีนสามารถประคองอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมี เสถียรภาพในระยะข้างหน้าได้ แม้จะไม่ร้อนแรงเท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2545-2555)

ทิศทางในระยะยาวที่จีนมุ่งเน้นการจัดการกลไกทางเศรษฐกิจ ให้มีความพร้อมอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2020 นับเป็นปัจจัยส่งเสริมให้จีนสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลกได้อย่างแข็ง แกร่งในระยะข้างหน้า จากที่ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก

แผน ยุทธศาสตร์ของจีนครั้งนี้ ในระยะทางข้างหน้า นอกจากการส่งเสริมการค้ากับประเทศต่าง ๆ ตามนโยบายที่วางไว้แล้ว ในมิติด้านการเงินยังเป็นการส่งเสริมบทบาทของเงินสกุลหยวนในเวทีโลกอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้บทบาทของจีนก้าวขึ้นสู่ระดับโลกอย่างสมบูรณ์พร้อม รอบด้านมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------

บทเรียนจากเมืองจีน: โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ-เชื่อมครอบครัวเข้าด้วยกัน



The New York Times มีบทความ “สำรวจผลกระทบจากรถไฟความเร็วสูง” ของประเทศจีน ว่าหลังจากเริ่มเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงเมื่อ 5 ปีก่อนแล้วเป็นอย่างไร

ช่วงที่รถไฟความเร็วสูงของจีนเปิดบริการใหม่ๆ ต้องเรียกว่า “ร้าง” แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ตั๋วที่นั่งทุกเที่ยวแทบจะถูกจองเต็ม คิวซื้อตั๋วที่สถานียาวเฟื้อย และสถานีรถไฟหลายแห่งต้องมีส่วนต่อขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้โดยสาร

ตอนนี้คนจีนเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงมากกว่าเครื่องบินโลว์คอสต์ในประเทศถึงเท่าตัว อัตราการเติบโตเฉลี่ยของผู้โดยสารในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 28% ต่อปี

รถไฟความเร็วสูงยังทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานของจีนเปลี่ยนไป บทความยกตัวอย่างของคนงานทำรองเท้าคนหนึ่งในกว่างโจวที่ต้องกลับไปเยี่ยมลูกสาวที่เมืองฉางซาเป็นประจำทุกเดือน เดิมทีเธอต้องใช้เวลาเดินทางระหว่างมณฑลเป็นวัน แต่ตอนนี้เวลาเดินทางลดเหลือเพียง 2 ชั่วโมง 19 นาที

ผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ในเสิ่นเจิ้นอีกคนหนึ่งเลือกเดินทางไปพบลูกค้าทั่วประเทศจีนด้วยรถไฟความเร็วสูง เขาให้เหตุผลว่าเครื่องบินมักมีปัญหาดีเลย์ เขายังบอกว่าไม่คิดว่ารถไฟความเร็วสูงจะเปลี่ยนชีวิตของคนจีนไปมากขนาดนี้ แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว

ความนิยมของรถไฟความเร็วสูงในจีนส่วนหนึ่งมาจากการตั้งราคาค่าโดยสารไม่แพงนัก โดยเทียบกับการเดินทางด้วยเครื่องบินแล้วถูกกว่ากันถึงครึ่ง และจีนก็พยายามไม่ขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟเลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผลก็คือกระทบกับธุรกิจการบินพอสมควร ทำให้สายการบินต้องเลิกบริการเส้นทางที่ระยะน้อยกว่า 300 ไมล์ และหันไปจับตลาดการเดินทางไกลเกิน 300 ไมล์ถึง 470 ไมล์แทน

ถึงแม้รถไฟความเร็วสูงในจีนจะมีปัญหาอุบัติเหตุและคอร์รัปชั่น รวมถึงก่อให้เกิดหนี้สาธารณะปริมาณมหาศาล แต่มันก็กลายเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจีนไปแล้วเช่นกัน การศึกษาของธนาคารโลกระบุว่าจังหวัดต่างๆ ในจีนที่เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง (ปัจจุบันมีมากกว่า 100 เมืองแล้ว) มีประสิทธิผลของคนทำงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากพนักงานเดินทางสะดวกขึ้น และลูกค้าเองก็เดินทางสะดวกขึ้นด้วย

การศึกษาของธนาคารโลกพิจารณาประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูงหลายประการ เช่น เวลาทำงานที่เพิ่มขึ้นจากการประหยัดเวลาเดินทาง มลภาวะที่ลดลงทั้งทางอากาศและทางเสียง และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง นอกจากนี้บริษัทต่างๆ เริ่มปรับวิธีการทำธุรกิจ โดยแรงงานฝีมือและมีการศึกษาของจีนใช้วิธีอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเสิ่นเจิ้น แล้วนั่งรถไฟความเร็วสูงไปทำงานในเมืองรอบนอกที่ค่าแรงยังถูกเหมาะกับการตั้งโรงงานแทน

ผู้บริหารจากโรงงานเสื้อผ้าในฉางซาระบุว่า เดิมทีเขาเดินทางไปพบปะลูกค้าที่กว่างโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าของจีนตอนใต้ปีละสองครั้ง แต่เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงที่เดินทางสะดวกก็เปลี่ยนเป็นเดินทางแทบทุกเดือน ทำให้เขาปรับตัวตามกระแสแฟชั่นได้เร็วขึ้น ผลคือยอดขายเพิ่มขึ้น 50%

การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของจีนยังทำให้เกิด “เมืองใหม่” ที่เกิดจากการย้ายถิ่นฐานของประชากรที่บ้านเดิมถูกเวนคืนที่เพื่อทำทางรถไฟ-สถานีรถไฟ และการที่สถานีรถไฟความเร็วสูงไปตั้งที่เขตเมืองใหม่บางแห่งก็ช่วยให้เศรษฐกิจของเมืองนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างคือรอบสถานีรถไฟฉางซาในปัจจุบันเต็มไปด้วยการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยที่มีจุดขายเรื่อง “ใกล้สถานี”

จีนยังเตรียมรองรับการขนส่งระบบรางในเมืองมาเป็นอย่างดี โดยก่อสร้าง “รถไฟใต้ดิน” ในเมืองใหญ่หลายแห่งเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมกับรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างเมือง นายกรัฐมนตรีจีน Li Keqiang ยังประกาศจะลงทุนขยายโครงข่ายรถไฟเพิ่มอีก 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แม้จะเผชิญปัญหาหนี้จากการสร้างรถไฟมาแล้ว 500,000 ล้านดอลลาร์ก็ตาม

บทความต้นฉบับจาก The New York Times

----------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หมากกล คนเจ้าเล่ห์ !!?


โดย: ตอดนิดตอดหน่อย การบูร

จาก “ฆาตกร ๑๐๐ ศพ” พลิกมาเป็น ศูนย์กลางม๊อบ .. ในการหลบหนี ไปต่างประเทศ อย่างไม่ร่อนเร่
หากมีชนักติดหนัง สังหารหมู่ประชาชน ทั่วโลกก็ไม่ยอมรับ

เมื่อเข้าสู่โหมด เป็นโต้โผม๊อบ..ถือว่าเป็น “เหตุทางการเมือง” จะหนีไปประเทศไหน ก็ได้ครับ
ความร่ำรวยที่เป็น “อภิมหาเศรษฐี” ยามที่เล่นการเมือง กอบโกยจนหลังแอ่น...มีเงินมากมายก่ายกอง ไปอยู่แผ่นดินไหน ใช้ไม่มีหมด

ถึงบางอ้อกันแล้วสิทุกคน...ที่ลดตัวมาเป็นม๊อบข้างถนน...เพราะเขาคิดหนีถอยร่น อย่างฉลาดเป็นกรด

------------------------------
เขาเตรียมช่องหนี-ต้องตีให้แตก

“นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องแก้เกม “ฆาตกร ๑๐๐ ศพ” ให้ทะลุ ทะลวง กันอย่างเต็มแม็ก
อย่างปล่อยให้เขาใช้ เงื่อนไข เส้นทางการเมือง หลบหนี ออกไปเสวยสุข นอกประเทศ

“รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ต้องเอาข้อกฎหมาย มาเล่นงานให้อยู่หมัด กันอย่างเบ็ดเสร็จ

ต่อไปใครสั่งฆ่าคนตาย?...ก็นำเหตุว่า เกิดความขัดแย้ง ทางการเมือง หลบหนีไปเสวยสุข ได้เสร็จสรรพ
เมื่อ “ยิ่งลักษณ์” รู้แถวเต็มประตู...ต้องรับมือให้อยู่...อย่าให้มันหลบหลู่กฎหมายหนีไปได้นะครับ

--------------------------------
ความคิดบรรเจิด-แต่ไม่เกิดผล

เมื่อฝ่ายคิดนัก นักอ่าน ด้านประชาธิปไตย..เสนอไอเดียอะไรออกมา ก็ไม่เคยปฏิบัติให้เป็นจริงสักหน
ไปยอมรับในอำนาจ “เผด็จการ” ที่แฝงมาใน “รัฐธรรมนูญหน้าแหลมฟันดำ” และ “องค์กรอิสระ” ที่ถือ
ดาบจ้องประหาร กันทุกท่า

เมื่อคำตัดสินไม่ชอบ?...เราก็อย่ายอมรับดีกว่า

ที่ “นายกฯยิ่งลักษณ์” ถอยไม่เป็นขบวน...เพราะไปยอมรับในคำตัดสินนั้น อย่างดุษฎี
ไม่ยอมเขาเอง...ถึงได้เจ๊ง..หงายเก๋งซะทุกที

---------------------------------
อำนาจ-ใช้พิฆาตคนไม่ได้

“มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งแก้ตัว ยิ่งเห็นพฤติการณ์ เน่าใน

กล่าวหาประชาชนผู้รักประชาธิปไตย “เสื้อแดง” ที่ชุมนุมเมื่อ ๕๓ ที่ผ่านมา...มีอาวุธไว้ทำลายเจ้าหน้าที่
พูดเองเอ่อเอง เพื่อปัดสวะให้พ้น ในทุกกรณี

ใน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ผู้ชุมนุม รุมทำร้ายเจ้าหน้าที่กลางวันแสก ๆ ไม่เห็นมีการใช้ “กระสุนจริง” หรือ “สไนเปอร์” เจาะกบาลผู้ที่มีทำลาย ให้ประชาชนต้องตายกลายเป็นศพ

มีการใช้กระสุนจริง....เหมือนฆ่าประชาชนทิ้ง..นี่คือสิ่งจริง ที่ได้ประสบ

---------------------------------
ต้องไม่ยอม-ให้เขาคร่อมเลน

หนุน “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ทำงานเป็น
รวมทั้ง “นิคม ไวยรัชพานิช” ประธานวุฒิสภาฯ ที่แอนนี้ “ตุลาการภิวัฒน์”โดย “ศาลรัฐธรรมนูญ”

สภาวะของ ฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้ออกกฎหมาย ยอมเขาไม่ได้แล้วล่ะคุณ

เมื่อ “ตุลาการภิวัฒน์” เล่นล้ำเส้น ออฟไซด์ ไม่อยู่ในกฎกติกามารยาท ก็ไม่ต้องให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน
ปล่อยให้เขาล้วงลูก...เปิดเกมบุก...มันไม่สนุก จริงๆ เลยนะท่าน

ที่มา.บางกอกทูเดย์
----------------------------------------

สร้างแผ่นดิน ใหม่ !!?

โดย.พญาไม้

เมื่อมีงานเฉลิมฉลองความสำเร็จหรือชัยชนะใดๆ คุณควรจะให้คนอื่นมายืนข้างหน้าของคุณ แต่เมื่อใดที่เกิดอันตรายใดๆ ขึ้น คุณควรจะออกมายืนข้างหน้า แล้วพวกเขาจะประทับใจในความเป็นผู้นำของคุณ"
เนลสัน แมนเดลา..ผู้นำการต่อสู้การแบ่งชนชั้นอันดับที่หนึ่งของงโลกในปัจจุบัน..ผู้พลิกแผ่นดินจากการปกครองของผู้กดขี่มาเป็นของผู้ถูกกดขี่..ประมุขในจิตวิญญานของคนลผิวขาวผิวดำแห่งแอฟริกาใต้

กล่าวไว้เช่นนั้น

ประเทศไทยวันนี้ต้องการวิธีคิดแบบแมนเดลา

ผู้ปกครองที่สามารถจะต้องมีวิธีคิดในแบบเดียวกัน..วิธีทำคำตอบที่ผิดนั้นมีมากมายหลายร้อยวิธี แต่วิธีทำคำตอบให้ถูกแบบสมบูรณที่สุดนั้นมีวิธีเดียว

ความแตกแยกมากมายในแผ่นดินที่เคยกลมกลืนที่สุดในโลก..รอยยิ้มที่หายไปจากแผ่นดินที่ถูกยอมรับจากคนทั้งโลกว่าเป็นแผ่นดินแห่งรอยยิ้ม..

คนไทยไม่ได้เปลี่ยนประเทศไม่ได้แปลกไปจากเก่า

วิตกจริตของคนชั้นนำ สงครามแย่งประโยชน์ของผู้มั่งคั่ง..กำลังสร้างประเทศไทยใหัเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม

จากกรุงแห่งเทพเป็นเมืองของมาร

เปลี่ยนเมืองที่เคยเป็นสวรรค์ให้กลายกลับเป็นเมืองนรก

เปลี่ยนคนรู้จักกันให้กลายเป็นศัตรูกัน..เปลี่ยนคนไม่รู้จักกันให้อยากหรือเข่นฆ่ากัน แค่ยืนฟังกันอยู่คนละเวที

ประชาชนทั้งหลาย..สิ่งที่พวกท่านทั้งหลายจะต้องนำกลับไปคิดหลังจากไปสดับรับฟังมาจากข้างถนน..คือการรวมตัวกันแล้วขับไล่พวกมันทั้งหมดไปให้พร้อมๆ กัน

เพราะพวกมันแย่งประโยชน์ได้ไม่จุใจ..มันจึงทะเลาะกันแล้วผลักประชาชนออกไปเข่นฆ่ากันแทนพวกมัน..

หลังจากศพของผู้ยากไร้ถูกเผาไหม้ผู้พิกลพิการจากการต่อสู้กลายเป็นปัญหาของครอบครัว
มันเป็นแค่ความขัดแย้งของผู้อิ่มสุขบนความทุกข์และการสูญเสียของผู้ยากไร้

มันจะไม่เป็นไปเช่นว่าตลอดกาล..ถ้ามวลชนต่ำใต้จะได้เรียนรู้กันขึ้นมาบ้างว่า..อนาคตของพวกเขากำหนดได้ด้วยตัวพวกเขาเอง..

ใช้ดวงตาแต่ละข้างใช้หูแต่ละฝั่ง..แล้วกลบฝังสิ่งที่ได้เห็นได้ยินไว้ใต้สติปัญญา แล้วชวนกันลุกขึ้นมาพร้อมๆ กัน

สร้างแผ่นดินใหม่ขึ้นมา ประเทศของคนยากไร้ที่ร่ำรวยความเป็นเสรี

ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////

คำวินิจฉัย ศาล รธน. เปิดช่อง ก.ม.ฟัน 312 ส.ส.-ส.ว.



วีรพัฒน์.ระบุคำวินิจฉัยศาลรธน. เปิดช่องทางกฎหมายดำเนินการกับ312 ส.ส. ,ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรธน.ที่มาส.ว.

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มา ส.ว.ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรกมติ 6 ต่อ 3 ว่าการกระทำของ ส.ส. , ส.ว ผู้ถูกร้องมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลายมาตรา คือมาตรา122 ,มาตรา125 ,มาตรา126 ,มาตรา 291 และมาตรา 3 คือ ใช้อำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญทั้งกระบวนการและเนื้อหาสาระ และประเด็นที่สอง มติ 5 ต่อ 4 บอกว่า เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศนอกวิถีทางตามรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และประเด็นที่สาม ศาลเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขการยุบพรรค คำถามคือว่าต่อไปนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของพระมหากษัตริย์

นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ตามมาตรา 68 รัฐธรรมนูญ หากมีการกระทำที่เข้าข่ายตามมาตรา 68 ศาลต้องสั่งหยุดการกระทำ แต่กรณีนี้ศาลกลับไม่สั่งให้หยุดการกระทำ สิ่งนี้เป็นอันตราย เพราะว่าขณะนี้รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จไปแล้ว ขณะนี้การกระทำที่เหลืออยู่คือกระบวนการของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงลงพระปรมาภิไธย หรือว่าจะพระราชทานคืนมา หรือปล่อยไว้ 90 วัน ตอนนี้ก็เลยเกิดสูญญากาศทางกฎหมายว่าศาลต้องการสื่ออะไร ดังนั้นก็ต้องติดตามทางราชเลขาธิการซึ่งเป็นผู้ถือเอกสารอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป คำวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลแล้ว เมื่อศาลได้วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิชอบ กระบวนการขั้นตอนไม่ชอบ มีการเสียบบัตรไม่ถูกต้อง เวลาแปรญัตติน้อยเกินไป กระบวนการเหล่านี้มีความรุนแรงเข้าข่ายมาตรา 68 เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเสียงเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 จึงไม่นำไปสู่การยุบพรรค

"แต่ ส.ส., ส.ว. 312 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ยังไม่ปลอดภัย เพราะศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามีการกระทำผิดหลายมาตรามาก ซึ่งทำให้กระบวนการเข้าชื่อยื่นถอดถอน ส.ส. , ส.ว ที่คุณสุเทพได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว มีน้ำหนักขึ้นทันทีเพราะวันนี้มีการชี้ชัดจากศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่ามีการกระทำที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ และเมื่อเรื่องไปถึง ป.ป.ช. ว่าเรื่องนี้มีการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็อาจโดน ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีผลทันทีในวันนี้ต่อตัวส.ส. ส.ว. แต่ไปเปิดช่องทาง กม. ให้มีการใช้กระบวนการอื่นๆ เช่นกระบวนการถอดถอนโดยวุฒิสภา หรือกระบวนการโดย ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปแต่ในส่วนของวุฒิสภา เมื่อ ส.ว. ส่วนหนึ่งทำผิดเองเสียแล้ว แล้วจะวินิจฉัยว่าตัวเองทำผิดได้อย่างไร เป็นกระบวนการที่แปลกประหลาด ดังนั้น ก็ต้องรอดูว่า ป.ป.ช. จะว่าอย่างไร หรือ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะว่าอย่างไร หรือศาลอื่นๆซึ่งอาจมีผู้นำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาล หรือว่าจะไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดประตูไปสู่หลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังมองไม่ออกว่าจะไปจบตรงส่วนไหน " นายวีรพัฒน์ กล่าว

นักวิชาการอิสระท่านนี้ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป คือ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เสียงข้างน้อยที่แพ้โหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ก็จะไปร้องเรียนดำเนินการถอดถอน เอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาเดินเกมต่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน ตั้งอนุกรรมการ และชี้มูลว่าทำผิดหรือไม่

" วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรค แต่ผมเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่ว่านี้คือเงื่อนไขอะไร ศาลไม่ได้แยกให้ชัดว่าอะไรคือการกระทำของพรรคการเมือง อะไรไม่ใช่การกระทำของพรรคการเมือง ทำให้กระบวนการตรงนี้คลุมเครือต่อไป "

ส่วนกรณีที่ว่ามีช่องทางให้นายกฯขอถอนร่างคืนมาหรือไม่ นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องการถอนร่างเอาไว้ ตามรัฐธรรมนูญระบุ ว่าทันทีที่มีการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถ้าไปขอคืนมา ก็เป็นการกระทำนอกรัฐธรรมนูญ นำมาซึ่งการกระทำผิดอีก

"สำหรับ ส.ส. , ส.ว . 312 คนที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้างนั้น ต้องไปดูอุณหภูมิทางการเมืองภาคประชาชนว่ายืนข้างไหน ถ้าเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนอาจจะยอมให้ ส.ส. ส.วปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป แต่ถ้าจะให้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกคงจะยาก เพราะ ส.ส. ส.ว.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้ออกมาแถลงก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ " นายวีรพัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้นายวีรพัฒน์ ยังกล่าวถึงประเด็นที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันให้ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามว่า หากเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิบัติตาม แต่วันนี้เมื่อสภาเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ ก็ยังโต้เถียงกันได้แต่เป็นการโต้เถียงที่นอกเหนือจากเรื่องกฎหมาย แต่เป็นการโต้เถียงทางการเมือง แต่สิ่งที่จะต้องจับตาต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะมีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามมาตรา 291 ที่ค้างคาอยู่ในสภามาโหวตในวาระ 3หรือไม่ เพราะว่าวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราที่เกี่ยวกับ ส.ว. ผิด ทำไม่ได้เสียแล้ว และต้องดูมาตรา 270 รัฐธรรมนูญที่สามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอน ส.ส. ส.ว 312 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญนูญได้และก็ต้องรอดู ป.ป.ช. ว่าจะวินิจฉัยอย่างไร จะวินิจฉัยต่างจากศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ในเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรและเพียงแค่ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งทำให้เสียงในสภาเปลี่ยนไปทันที โดยเฉพาะ ส.ส.เพื่อไทย ที่เสียงต้องหายไปมาก

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------