--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิษณุ.เล่าเรื่องน้ำทิพย์จาก 'ฟ้า' ซับน้ำตา ปู.. วันไร้คุณสมบัติผู้นำ !!?

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2554



"..พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาต่อรัฐบาลทุกรัฐบาลเท่าเทียมกัน ในความหมายที่ว่าต้องการให้ท่านช่วยอะไร ท่านช่วยเสมอเหมือนกัน และไม่ต้องไปดูว่าพรรคไหน ใคร มาจากไหน เรื่องอย่างนี้คนอย่างคุณทักษิณรู้แก่ใจ คนอย่างคุณบรรหาร คุณชวน พล.อ.ชวลิตรู้อยู่แก่ใจทั้งหมดว่าหากไม่ได้พระมหากรุณา รัฐบาลจะเป็นอย่างไร..."

"ในแวดวงการเมือง รักใครอย่ารักจนหมดหัวใจ และเกลียดใครก็อย่าเกลียดเขาจนหมด ทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งนั้น"

คือคำแนะนำถึงคนดู-คนฟัง-คนติดตามการเมือง ที่หลุดจากปากบุรุษผู้เคยอยุู่ทั้ง "เบื้องหน้า" และ "เบื้องหลัง" ม่านการเมือง

เคยสัมผัสบุคคลระดับ "เบื้องบน" และ "เบื้องล่าง"

จนสามารถเก็บรายละเอียด-ข้อเท็จจริง-บทสนทนาประวัติศาสตร์ ก่อนถ่ายทอด "เบื้องลึก" ในทุกแง่มุมผ่านหนังสือ "เรื่องเล่าจากเนติบริกร"

แม้ "วิษณุ เครืองาม" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไม่เคยร่วมงานกับ "นายกฯหญิง" นาม "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

แต่ประสบการณ์รับใช้ 7 นายกฯ 10 รัฐบาล ทำให้เขาอดติดตามลีลา-ท่วงท่าของ "นักแสดงนำ" บนเวทีการเมืองไม่ได้

"วิษณุ" เปิดปากรับสารภาพว่า รู้สึกเข้าใจ-เห็นใจ "ยิ่งลักษณ์" ที่ต้องขึ้นเป็น "นายกฯ คนที่ 28" ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง

มิหนำซ้ำ เข้ามาไม่ทันไร ก็ต้องรับมือกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติไทย

"ถ้าจะให้ประเมิน ให้มอง อย่างไรเสียมันก็ดีไปไม่ได้หรอก ต้องให้เวลาหน่อย แต่ถ้าให้มองเฉพาะตัวคุณยิ่งลักษณ์คนเดียว เรื่องการปฏิบัติการในขีดความสามารถที่จำกัด หรือที่มีอยู่ ท่านทำได้ดีพอสมควร หรือเกินกว่าที่ผมคิดเอาไว้เยอะเลย ผมยังนึกว่าถ้าน้ำซัดมาตูมแรก คุณยิ่งลักษณ์คงนั่งร้องไห้ 7 วัน บังเอิญแกร้องอยู่วันเดียวแล้วจบ จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน ใครแนะอะไรก็ทำ แต่บังเอิญคนแนะมันมีหลายคน แนะคนละอย่าง แกเลยทำอะไรไม่ถูก ก็ได้ทำไปดีเท่าที่คนคนหนึ่งจะพึงทำได้ในเวลาอันจำกัด และขีดความสามารถอันจำกัด ถ้าเป็นคนอื่น เขาอาจทำได้ดีกว่านี้ หรือถ้าเป็นคนอื่นแล้วดันทำได้เหมือนคุณยิ่งลักษณ์ ต้องโดนตำหนิมากแน่เพราะคุณเจนเวที นี่เขาทำได้แค่นี้ ผมถึงได้ให้คะแนนด้วยความเห็นใจ"

คือเสียงเชียร์จาก "วิษณุ" หลังสลัดบท "เนติบริกร" แล้วมานั่งชมละครการเมืองในฐานะ "คนดู" มาได้ 5 ปีแล้ว

ไม่ว่า "ยิ่งลักษณ์" จะแสดงดี-มีเรตติ้งหรือไม่ แต่ "วิษณุ" ยอมคารวะให้ในฐานะที่ "เธอ" คือ "ผู้นำ"

"เมืองไทยเราเสียอย่าง ใครเป็นผู้นำ เราไม่เรสเปก (เคารพนับถือ) มีแต่จะเหยียบย่ำทำลาย หรือเหยียดหยาม ซึ่งมันผิดทั้งมารยาทและผิดวัฒนธรรมไทย"

ในภาวะวิกฤตธรรมชาติ ผู้นำแบบไหนจะสามารถนำพาประเทศให้ก้าวพ้นภัยได้?

เขาบอกว่า นิยาม "ผู้นำ" ที่ง่ายที่สุดคือคนที่คนเขายอมตาม ใครที่ขึ้นมาแล้วคนไม่ยอมตาม แปลว่าคนคนนั้นสักแต่ว่าเป็นผู้นำเพราะมีคนตั้งให้เป็น แต่เมื่อคนไม่ตาม คุณก็นำใครไม่ได้ วัวก็เป็นผู้นำได้ ถ้าฝูงโคยอมตาม แต่ถ้าผู้นำโคจะเลี้ยวซ้าย ฝูงโคจะเลี้ยวขวา หัวหน้าโคก็นำไม่ได้ฉันใด ผู้นำจึงต้องยอมทำให้คนตามฉันนั้น เราจะเห็นเทคนิคของผู้นำหลากหลาย บางคนใช้เงินเพื่อจะให้คนตาม บางคนใช้สติปัญญา บางคนใช้ความกล้า บางคนใช้คุณธรรม ดังนั้น สไตล์ใคร ศักยภาพของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

"หากใช้สไตล์คนอื่นมาเทียบกับคุณยิ่งลักษณ์ ก็เป็นการไม่ยุติธรรม ต้องใช้ที่คุณยิ่งลักษณ์เองว่าสามารถทำให้คนตามได้หรือไม่ ผ่านมา 2 เดือนเศษ ผมมองว่ายังไม่เต็มที่ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนยังมองว่าเหนือคุณยิ่งลักษณ์มีคนอื่น ถ้าจะตามคือตามคนอื่นดูจะถูกเป้า และตรงประเด็นกว่า แต่คุณยิ่งลักษณ์เองก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างภาวะผู้นำของตัวขึ้นมา เท่าที่เห็นและเท่าที่ผมทราบมา มีหลายเรื่องที่ใครจะว่ายังไงก็ตาม แต่คุณยิ่งลักษณ์คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ แล้วแกก็ชนะด้วย แกก็ได้ด้วย"

อดีตเสนาธิการ ครม.ชี้ว่าคุณสมบัติที่ "ผู้นำ" พึงมี-พึงเป็น มีอย่างน้อย 4 ประการ

1.มีเวลาในการทำงาน แต่ของไทยอยู่ 3 เดือน 6 เดือน เดี๋ยวก็ยุบสภา เดี๋ยวก็ลาออก ทำอะไรยังไม่ทันเห็นผลสำเร็จก็ไปแล้ว "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เปรียบเพราะเป็นผู้นำคนแรกที่อยู่ครบเทอม 4 ปี ชนิดไม่มีรัฐบาลไหนเสมอเหมือน จึงได้ประโยชน์จากเวลา

2.มีเสนาคือ มีลูกมือเอาไว้คอยช่วยงาน ผู้นำที่เก่งคนเดียว คิดคนเดียว เหนื่อยคนเดียว ก็บ้าอยู่คนเดียว นายกฯไทยหลายคนคิดแล้วไม่มีคนเอาไปทำต่อ แต่หลายคนคิดแล้วมีคนเอาไปทำต่อ อย่าง "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มีบุญตรงนี้ พอคิดก็จะมีคนเอาไปทำต่อ ถ้าเศรษฐกิจ "เสนาะ อูนากูล" เอาไปทำต่อ ถ้ากฎหมาย "มีชัย ฤชุพันธ์" เอาไปทำต่อ การเมืองมีอีกคนเอาไปทำต่อ ดังนั้น ไม่ต้องคิดจนจบ คิดสัก 2 ประโยค ก็จะมีคนมาต่อให้ 3, 4, 5

3.มีวิสัยทัศน์ ซึ่งต้องยกให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ที่เห็นอะไรนิดเดียว คิดไปคืบหนึ่ง พอเห็นคืบ คิดไปศอก

4.มีธรรมะ ซึ่งผู้นำไทยหาไม่ค่อยเห็นในเรื่องนี้

"ถ้าผู้นำมีสิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ง่าย จริงๆ นายกฯอย่างคุณชวน (หลีกภัย) คุณบรรหาร (ศิลปอาชา) คุณทักษิณ (ชินวัตร) ก็มีสิ่งเหล่านี้ แต่อาจจะยังไม่ครบ แต่คุณยิ่งลักษณ์อาจยังไม่มีเลยสักข้อ ก็ต้องใช้เวลาสร้างขึ้นมาให้ได้ ทำอย่างไรจะให้มีครบทุกข้อ หรือไม่ครบ แต่ทำได้สัก 2 ใน 4 ก็จะเป็นผู้นำที่นั่งอยู่ในใจคนได้"

นอกจาก "คุณสมบัติเฉพาะตัว" ซึ่งเป็นเรื่องที่ "ผู้นำ" แต่ละคนต้องสร้าง-สั่งสมขึ้นเองแล้ว หลายครั้งเมื่อต้องเผชิญวิกฤต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทานกำลังใจให้รัฐบาล ดุจ "น้ำทิพย์ชโลมใจ"

ทว่าในช่วงที่ผ่านมาพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ที่รับสั่งกับคณะบุคคลต่างๆ มักถูกนำไปแปลความเข้าข้างตนเอง โดย "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" อดีตรองนายกฯ ใช้คำว่า "รู้สึกว่าเจ้านายท่านไม่กลับรับสั่งอะไรแล้ว?"

ในฐานะที่เคยทำงานใกล้ชิดราชสำนัก มีโอกาสเข้าเฝ้าฯพร้อมนายกฯหลายคน "วิษณุ" กล่าวยืนยันว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาต่อรัฐบาลทุกรัฐบาลเท่าเทียมกัน ในความหมายที่ว่าต้องการให้ท่านช่วยอะไร ท่านช่วยเสมอเหมือนกัน และไม่ต้องไปดูว่าพรรคไหน ใคร มาจากไหน เรื่องอย่างนี้คนอย่างคุณทักษิณรู้แก่ใจ คนอย่างคุณบรรหาร คุณชวน พล.อ.ชวลิตรู้อยู่แก่ใจทั้งหมดว่าหากไม่ได้พระมหากรุณา รัฐบาลจะเป็นอย่างไร และในฐานะที่ท่านเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้นำ ท่านมีอำนาจที่เราเปิดไม่เจอในรัฐธรรมนูญ แต่เขาพูดกันมาตั้งแต่โบราณ พูดมาตั้งแต่อังกฤษว่าพระมหากษัตริย์แม้จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีอำนาจตักเตือนรัฐบาล มีอำนาจจะให้กำลังใจรัฐบาล มีอำนาจจะแนะนำรัฐบาล เป็นอำนาจ ไม่ใช่หน้าที่ ดังนั้น ถ้าจะมาบอกว่าอ้าว! ทำไมไม่เห็นทรงแนะนำเลย ก็มันไม่ใช่หน้าที่ท่าน เมื่อเป็นอำนาจ ท่านจะทรงใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ ทางที่ดีเนี่ย รัฐบาลขอพระราชทานให้ทรงใช้อำนาจเสียเองสิ ถ้าไม่ขอ ท่านก็ไม่พูด เพราะเมื่อพูดไปแล้วก็ไม่รู้ใครจะเอาไปทำตามหรือเปล่า นายกฯหลายคนกล้ากราบบังคมทูลฯขอ แล้วได้รับสิ่งดีๆ กลับคืนมาทั้งนั้น"

ไม่ว่าจะเป็น "บรรหาร" ที่ก้มลงกราบพระบาท เมื่อได้เข้าเฝ้าฯ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ในปี 2538 โดยบอกว่า "ข้าพเจ้าเกิดมาไม่เคยเป็นนายกฯ ข้าพเจ้าหนักใจเหลือเกินว่าจะไม่สามารถจัดการปกครองบ้านเมืองให้ดีได้ กลัวเหลือเกิน ไม่มั่นใจ" ท่านรับสั่งเลยว่า "ไม่ต้องคิดอะไรมาก คุณบรรหารทำสุพรรณบุรีได้ คุณบรรหารก็ทำกรุงเทพฯได้ คุณบรรหารทำกรุงเทพฯได้ ก็ทำประเทศไทยได้ ช่วยทำกับประเทศไทยเหมือนที่ทำกับสุพรรณฯน่ะพอแล้ว" แค่นี้ชื่นใจแล้ว

หรือในรัฐบาล "พล.อ.ชวลิต" ซึ่งเกิดเรื่องใหญ่ จะรบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลคิดว่าควรจะลงพระปรมาภิไธย พอถวายขึ้นไป รับสั่งว่านายกฯ กลับเมื่อไรให้มาพบ จากนั้นเมื่อนายกฯได้เข้าเฝ้าฯ หายไป 2 ชั่วโมง

"พอกลับออกมาทุกคนรุมถามท่านว่าทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ พล.อ.ชวลิตถือกระดาษเปล่าออกมา บอกว่าไม่ทรงลง แต่พระราชทานสิ่งที่ดีกว่านั้น เอาไปทำกันเถอะ แล้วก็มาจัดการทำกัน หายไป 1-2 เดือน วิกฤตการณ์ผ่านไปโดยเรียบร้อย ไม่มีเหตุเภทภัยใดๆ เกิดขึ้น พล.อ.ชวลิตจึงลงมือร่างหนังสือด้วยตนเอง กราบบังคมทูลฯว่า "ถ้าไม่ได้อาศัยพระมหากรุณาธิคุณ เหตุเภทภัยจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณในวันนั้น ภยันตรายจึงผ่านพ้นไปด้วยดี" ในเวลาต่อมาเมื่อนายกฯไปเฝ้าฯ ท่านทรงถือจดหมายนั้นแล้วถามว่าท่านนายกฯคิดอย่างนี้จริงๆ หรือ พล.อ.ชวลิตบอกว่าคิดอย่างนั้นจริงๆ ก็ทรงพระสรวลอย่างพอพระทัย

"ดังนั้น คนเป็นรัฐบาล ถ้าขอพระมหากรุณาก็จะได้มหากรุณา ในช่วง 3-4 วันนี้ เห็นภาพข่าวหนังสือพิมพ์ นายกฯยิ่งลักษณ์ก็ไปเข้าเฝ้าฯ ขอประทานพระราชกระแสเรื่องน้ำท่วม ก็กลับออกมาก็อิ่มเอิบยิ้มแย้มแจ่มใส รู้แล้วว่าควรต้องทำอย่างไร เรื่องอย่างนี้เวลาจะทรงแนะนำอะไร จะจบด้วยประโยคหนึ่งเสมอว่า "ก็แนะไปอย่างนั้น แต่เอาไปคิดดู ถ้าคิดว่าไม่ถูกก็ไม่ต้องทำตามนะ และถ้าคิดว่ามันไม่ถูกก็ช่วยมาบอกหน่อย คราวต่อไปฉันจะได้แก้ไขเสียใหม่ แต่ถ้าคิดว่าดีก็ลองทำเถิด" นี่คือพระเจ้าแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยครับ"

ท้ายที่สุดก่อนรูดม่านบนเวทีสนทนา "วิษณุ" ถูกถามถึงโอกาสหวนคืนเวทีทางการเมืองอีกครั้ง?

"คงได้เห็นผมบนเวทีที่มานั่งคุยเรื่องหนังสือ มานั่งเซ็นหนังสือแน่ เพราะเขียนไว้อีกหลายเล่ม ส่วนเวทีการเมืองนั้น ผมไม่ได้คิดอยากจะเข้าไปตั้งแต่ต้น แต่มีความจำเป็นต้องเข้าไป และเมื่อออกมาแล้วยังจะดันดิ้นรนกลับเข้าไป โดยไม่ได้มีความจำเป็นอีกเนี่ย ผมก็ไม่รู้จะหาเรื่องไปทำไม ทุกวันนี้ก็สบายดีอยู่แล้ว"

เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า "วิษณุ" ไม่สนใจรับบท "เนติบริกร" ให้รัฐบาลไหน เว้นแต่ "มีความจำเป็น"!!!

ที่มา - ส่วนหนึ่งของเนื้อหาบนเวทีเสวนาในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 16 หัวข้อ "เรื่องเล่าจากเนติบริกร : ความลับและความจริงในทำเนียบที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

บูรณาการน้ำท่วม..การเมืองน้ำเน่า+ราชการล้าหลัง !!?

ครั้งที่น้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 ซึ่งเริ่มต้นที่ภาคอีสานและตาม มาด้วยภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายฝ่ายระบุว่าเป็นอุทกภัยที่หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่อง จากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน สถานการณ์ครั้งนั้นคลี่คลาย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า พื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2553 ในภาคอีสานมีทั้งสิ้น 39 จังหวัด 425 อำเภอ 3,098 ตำบล 26,226 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2 ล้านครัวเรือน 7 ล้านคน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหายกว่า 7.7 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 180 ราย

ส่วนภาคใต้มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 12 จังหวัด 133 อำเภอ 874 ตำบล 6,197 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 600,000 ครัวเรือน เกือบ 2 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 80 คน

“อภิสิทธิ์” ใช้เงินกว่า 40,000 ล้าน

ปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีมติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมออกมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 42 นัด และปี 2554 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ประชุม ครม. ทั้งสิ้น 24 ครั้ง ใช้งบกลางฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปกว่า 40,000 ล้านบาท โดยใช้งบกลางของปี 2554 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั้งสิ้นประมาณ 28,000 ล้านบาท แยกเป็นช่วยเหลือภาคการเกษตรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 20,000 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวน 8,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน ไม่รวมงบที่ส่วนราชการอื่นๆให้ความช่วยเหลือ และการเบิกจ่ายเงินทดรองจากกรมบัญชีกลางงบประมาณปี 2554 รวม 16,128 ล้านบาท

ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมรัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแก้ปัญหาช้า ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ยังทำงานลักษณะต่างคนต่างทำ แม้แต่นายอภิสิทธิ์ยังถูกนำมา เปรียบเทียบกับนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าว ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่กลายเป็นขวัญใจผู้เดือด ร้อนจากน้ำท่วม และน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า

ขณะที่นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงในปี 2553 ว่าเกิดจากภาครัฐไม่มีนโยบายการเตือนภัยธรรมชาติที่ชัดเจน ทำให้หน่วยงานต่างๆไม่สนใจ หรือขาดการประสานงานกัน ทั้งที่มีข้อมูลทำนายล่วงหน้านับเดือนแต่กลับไม่นำไปใช้

“การเตือนภัยธรรมชาติหลักๆต้องมี 3 อย่างด้วยกันคือ ข้อมูลผู้ที่นำข้อมูลนี้ไปใช้ในการปฏิบัติและการเตือนภัย แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำ สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา กรมอุตุนิยม วิทยาเตือนภัยมาแล้ว 20 กว่าฉบับ มีการบอกถึงขั้นฝนจะตกหนักตรงนั้นตรงนี้ ปริมาณแบบนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถ้าคนที่ได้รับการเตือนถือไปปฏิบัติตาม เอาไปบอกผู้บริหารท้องถิ่นให้มีคำสั่งอพยพ หรือหาทางป้องกัน หากระสอบทราย ขุดลอกหนองบึงให้ทางน้ำไหลได้คล่อง รวมทั้งเตือนประชาชนให้ยกของไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมอาหารกักตุนไว้ ความเสียหายก็จะน้อยลง”

ปี 54 น้ำท่วมรุนแรงในรอบ 100 ปี

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาอุทกภัยในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่ารุนแรงกว่าปี 2553 และถือเป็น วิกฤตน้ำท่วมที่หนักที่สุดในรอบ 50-100 ปี จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (วันที่ 11 ตุลาคม 2554) ระบุว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางรวม 60 จังหวัด 592 อําเภอ 4,246 ตําบล ประชาชนเดือดร้อนกว่า 2.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชาชนกว่า 8.2 ล้านคน และเสียชีวิต 269 ราย

การแก้ปัญหาระยะแรกรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ถูกโจมตีว่าล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน แม้ทุกฝ่ายจะยอมรับว่าน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงและมาเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน โดยเฉพาะปริมาณน้ำทุกเขื่อนล้นจนต้องระบายออก แต่กว่ารัฐบาลจะตั้งตัวติดโดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่า การกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ถูกมองว่า “ช้าไป” หลังจากเกิดอุทกภัยมาแล้วถึง 1 เดือนเต็มๆ

“บางระกำ” ดีแต่โม้?

ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องประเมินภาวะน้ำ ทั้งปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง และปริมาณน้ำในเขื่อนผิดพลาด ระยะแรกเหมือนรัฐบาลวิ่งตามปัญหาไม่ทันแล้ว ระยะหลังยังถูกปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลถล่มในทุกจังหวัด โดยเฉพาะความประมาทของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ เขื่อนและคันกั้นน้ำหลายแห่งจึงพังทลาย จนหลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ที่ต้องทำทุกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วม แม้แต่การทำพิธีไล่น้ำหรือไล่เรือ

แต่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผิดพลาดชัดเจนคือการมองปัญหาไม่ทะลุและหวังผลทางการเมืองมากเกินไป นั่นคือ “บางระกำโมเดล” บางระกำคือ 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลกที่เป็นแหล่งรับน้ำจากแม่น้ำน่าน ยม และปิงบางส่วน ซึ่งทุกปีน้ำต้องท่วมอยู่แล้ว รัฐบาลจึงชูแผนต้นแบบที่จะแก้ปัญหาอย่างถาวร ทำให้กองทัพ สื่อมวลชน และหน่วยงานต่างๆกรูกันไปที่บางระกำ ทั้งที่ขณะนั้นน้ำยังท่วมหนัก แม้แต่ภาคประชาชนก็เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่น้ำก็ยังท่วมเหมือนเดิม เพราะรัฐบาลเองไม่มีแผนดำเนินการที่ชัดเจน และไม่ใช่การแก้ปัญหาได้ทันที แต่ต้องศึกษาก่อน

“บางระกำโมเดล” จึงทำให้รัฐบาลถูกตอกย้ำ จากฝ่ายค้านทันทีว่า “ดีแต่โม้” ทั้งยังเกิดวิวาทะระหว่างภาคประชาชนกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่อีกด้วย เพราะกระทรวง ทบวง กรม ต่างเสนอนโยบาย และแผนงานแก้ปัญหาแบบรายวัน ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต่างคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากมาย และความเดือดร้อนจะได้รับการแก้ไข ทั้งที่ทั้งหมดเป็นแผนระยะยาว แต่รัฐบาลกลับพูดโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ

ข้าราชการล้าหลัง

ที่สำคัญ 2 เดือนที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า การทำงานของข้าราชการยังทำแบบของใครของมัน ไม่มีการประสานกันเหมือนที่ผ่านมาทุกครั้ง ทุกอย่างต้องรอ “เจ้านายสั่ง” จึงเป็นที่มาของการตั้ง ศปภ. ที่ต้องการระดมการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้มีหน่วยงานและงบประมาณชัดเจน เพราะปัญหาอุทกภัยเป็นปัญหาซ้ำซากและซับซ้อนที่เกิดขึ้นทุกปี และแต่ละปีต้องเสียเงินงบประมาณนับหมื่นล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ข้าราชการเป็นแกนนำในการแก้ปัญหา

ส่วนรัฐบาลทำได้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวหลังจากการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับข้าราชการทุกฝ่ายเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเน้นนโยบายเชิงปฏิบัติการให้เห็นผลทันที 9 มาตรการ ซึ่งเป็นแค่นโยบายกว้างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งระบายน้ำที่ท่วมออกทะเลให้หมดโดยเร็วที่สุด การบริหารทางเทคนิคอย่างมีประสิทธิภาพ การให้กองทัพเข้ามาช่วยเหลือประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสารตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง การรักษาเขตตัวเมืองให้แข็งแรง ให้กรมชลประทานขุดลอกคันกั้นน้ำ และให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ โดยให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีชุมชนทุกภาคส่วนและตัวแทนส่วนราชการระดับท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลในทางปฏิบัติทันที

“มือใหม่” แก้วิกฤตไม่ได้

แม้อุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสและสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางกว่าค่อนประเทศ เพราะไม่ใช่แค่พื้นที่การเกษตร แต่ยังถล่มนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 แห่ง ทำให้เสียหายนับแสนล้านบาท นอกจากนี้ยังทำให้คนว่างงานอีกนับแสน ซึ่งกว่าอุตสาหกรรมต่างๆจะกลับมาดำเนินการได้เหมือนเดิมต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 3-4 เดือนหลังน้ำลด ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้จึงลดลงอย่างแน่นอน

ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เข้ามาทำงานได้ไม่ทันครบ 2 เดือน ถือเป็นความโชคร้ายอย่างมากที่ต้องแบกภาระอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี แต่จะอ้างว่าเป็น “มือใหม่” ไม่ได้ เพราะประชาชนหลายล้านคนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการตามนโยบาย 2P2R ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการให้ทำงานแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจนในแต่ละขั้นตอน และทำงานแบบบูรณาการรวม เพื่อให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว โดย P แรกคือ Preparation การเตรียมการ P สอง Prevention การป้องกันล่วงหน้า R แรก Response การเผชิญเหตุ และ R สุดท้าย Recovery การฟื้นฟู ยังเป็นแค่วาทกรรมที่ดูสวยหรูและถูกโจมตีว่า “ดีแต่โม้” รัฐบาลยังทำได้แค่วิ่งไล่ตามปัญหา เช่นเดียวกับข้าราชการในแต่ละพื้นที่ก็ทำได้แต่ตั้งรับ อีกทั้งบางพื้นที่ยังประมาทและประเมินสถานการณ์ผิดพลาดอย่างมากอีกด้วย

ในข้อเท็จจริงสถานการณ์น้ำท่วมเกือบทุกพื้นที่ขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาแบบ “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือประชาชนที่ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะพื้นที่น้ำท่วมรุนแรงและกว้างมาก แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่มีความพร้อมทั้งเงินและคนยังไม่สามารถรับมือได้

น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงต้องยอมรับความจริงว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ทำได้ดีที่สุดคือทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด และเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ให้มากที่สุด ไม่ใช่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลปกป้องเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เพราะประชาชนทุกคนมีความเดือดร้อนและทนทุกข์แสนสาหัส ไม่ใช่แค่บ้านเรือนและทรัพย์ สินเสียหาย แม้แต่ที่นอนยังแทบไม่มี บางคนไม่มีอะไรจะกิน เพราะการช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง

ไร้บูรณาการ

แม้แต่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งประชุมทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมยังเห็นว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานให้ทำงานร่วมกัน และต้องบอกถึงสถานการณ์น้ำท่วมให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลความจริง ไม่กั๊กข้อมูล แม้จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดก็ตาม เพื่อเป็นการแนะนำหรือเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้เตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงที รวมถึงในพื้นที่กรุงเทพฯด้วย

นายนพดลยังตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดการแก้ปัญหาไม่เป็นระบบ และปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการอย่างเต็มที่ รวมถึงช่วงแรกไม่ได้รับความร่วมมือจากกองทัพและกรุงเทพฯเท่าที่ควร การทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีวันนี้ต้องยอมรับว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร

ส่วน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องสั่งให้รัฐมนตรีไปนอนกับชาวบ้าน เพราะได้แค่ภาพบนเรือ ตกน้ำตกท่ากันแล้วก็รีบกลับ ไม่เห็นมีอะไรเป็นเนื้องานได้ โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีไม่ต้องวิ่งตามปัญหาและตระเวนไปดูน้ำท่วมให้มากนัก เพราะ สถานการณ์อุทกภัยทุกหน่วยงานทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่ให้งบประมาณแล้วปล่อยให้เขาจัดการเอง อย่าคิดว่ารัฐบาลนี้จะต้องทำดีกว่ารัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ได้ว่าจะแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างไร ทุกโครงการศึกษาไว้หมด ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว ไม่จำเป็นต้องมีโมเดลอะไรใหม่ๆขึ้นมาอีก ควรทุ่มเทกับการแก้ไขปัญหาในอนาคตจะเป็นประโยชน์มากกว่า และมอง หามาตรการแนวทางแก้ไขที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรง ทั้งภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจของประเทศที่เสียหายไปกับอุทกภัยปีละหลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะปีนี้ประชาชนได้รับความทุกข์มาก แม้แต่กรุงเทพฯก็อาจจะป้องกันไม่อยู่

คนไม่รู้เรื่องมาบริหารน้ำ

ด้านนักวิชาการ นายทวีวงศ์ ศรีบุรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย เห็นว่า การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาทุกรัฐบาลล้มเหลว เพราะพูดกันเฉพาะเรื่องทฤษฎี แต่พอเอาเข้าจริงกลับนำไปปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน ทั้งที่นักวิชาการศึกษาพื้นที่มากมาย และเสนอมาตรการกันมานานแล้ว แต่ไม่มีการนำเอามาใช้ให้เกิดผลขึ้นจริง

ไม่ว่าจะเป็น 2P2R หรือบางระกำโมเดลก็ไม่ได้นำเอามาใช้ประโยชน์จริงๆ ทุกรัฐบาลต่างแก้ไขปัญหาน้ำล้มเหลว การศึกษาเรื่องน้ำเกิดขึ้นมานานกว่า 50-60 ปี มีแผนปฏิบัติเสนอกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เวลาทำงานจริงกรมโยธาธิการก็แยกไปทำเฉพาะเรื่องชุมชน สร้างกำแพงกั้นน้ำในแต่ละเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนการศึกษาไม่ได้ดำเนินการตามแผน ทั้งยังรื้อเอาแผนปฏิบัติการเก่าๆขึ้นมาดูแล แล้วจะสามารถที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างไรในการประสานงานของแต่ละหน่วยงาน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่ตั้งขึ้นยังไม่ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาใดๆเลย เนื่องจากส่วนหนึ่ง พ.ร.บ.น้ำยังไม่เกิด ทำให้บทบาทความรับผิดชอบยังไม่มีความ ชัดเจน กฎหมายฉบับนี้ยังค้างอยู่ ในสมัยที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้ หากไม่จัดตั้งกระทรวงน้ำก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะรัฐบาลมักเอาคนที่ไม่รู้เรื่องน้ำมาบริหาร ดังนั้น ปัญหาขณะนี้นอกจากฝนฟ้าอากาศที่ผิดปรกติแล้ว สิ่งที่ทำให้น้ำท่วมคือการจัดการน้ำไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ต้องให้ความสำคัญ

“ที่ผ่านมากฎหมายไม่เดินหน้า แต่ถ้ามองในเชิงอำนาจเดิมมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำ 13 กระทรวง และ 30 กรม โครงสร้างใหญ่มาก ไม่สามารถ สั่งใครและกำกับใครได้ เวลาน้ำแล้งการไฟฟ้าฯจะปล่อยน้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็สั่งไม่ได้ เลยมองว่าถ้ามีอำนาจรวมที่หนึ่งที่ใดในการจัดการก็จะดีขึ้น”

น้ำท่วมกับน้ำเน่าการเมือง

ปัญหาน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้งจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้นำประเทศอย่างยิ่งด้วย เพราะปัญหาน้ำไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจและอุทกภัยที่ต้องไล่ตามแก้ปัญหาซ้ำซาก แต่ยังเป็นปัญหาการเมืองที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเสถียรภาพของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงต้องทำ “วิกฤต” ให้เป็น “โอกาส” สร้างผลงานให้กับตัวเองและรัฐบาล แม้ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

ความล้มเหลวไม่ใช่เพราะระบบราชการและข้าราชการที่ยังล้าหลัง ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หรือผักชีโรยหน้าเท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าวันนี้มีแต่นักการเมือง “หางกะทิ” เพราะพวก “หัวกะทิ” ถูกดองไว้หมด และว่ายแหวกอยู่ในบ่อการเมือง “น้ำเน่า” ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย หาใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องใช้โอกาสนี้ประกาศการแก้ปัญหาน้ำเป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูว่า “บูรณาการ” แต่ต้องโละระบบข้าราชการที่ล้าหลัง และเอานักการเมืองระดับ “หัวกะทิ” มารับผิดชอบ ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่จะแก้กฎหมายกลาโหมฉบับเดียวก็ยังผวากันไปทั้งรัฐบาล หลังประชาชนต้องผจญน้ำท่วมก็คงจะต้องผจญกับน้ำเน่าต่อไปอย่างแน่นอน

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วันนี้ประชาชนตาดำๆก็อย่าหวังพึ่งใครทั้งสิ้น ช่วยตัวเองได้ให้ช่วยก่อน ถ้ามีเหลือก็ช่วยคนอื่น แบ่งปันบรรเทาทุกข์กันไป

“อัตตาหิ อัตตโน นาโถ”

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน...นั้นแล

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข

/////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ข่าวล่า มากับน้ำ !!?



ไม่ว่าจะอยู่กลางน้ำ เฉียดฉิวริมรั้ว หรือบริเวณที่น้ำยังเข้ามาไม่ถึง ต่างก็ดูเหมือนว่าทุกส่วนต้องต้านทานแรงกดดันจากกระแสข่าวเรื่องน้ำๆ กับคำถามที่ว่า เราจะรับมือและผ่านพ้นวิกฤติ "น้ำหลาก ข่าว(ลือ)ท่วม" นี้ไปได้อย่างไร

..น้ำท่วมนครสวรรค์ ข่าวลือจระเข้หลุดเกือบร้อย
..คนกรุง! ตื่นน้ำท่วมแห่ 'ตุน' อาหาร - กรุงเทพธุรกิจ
..'ตื่นน้ำ' ขนทรายหมดเกลี้ยง - INN
..กระแสข่าวลือน้ำท่วมทะลักล้น ความวิตกจริตสำลักเกินจริง - ผู้จัดการ
..กรมชลฯ โต้ข่าวลือน้ำท่วมเกาะเกร็ด - INN

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา "วิกฤติอุทกภัย" ที่พัฒนาความรุนแรงและการขยายตัวเป็นวงกว้าง จน "ส่งผลกระทบ" กันถ้วนหน้า ทั้ง "คนวงใน" และ "คนวงนอก"
จนตอนนี้ ไม่ว่าน้ำจะรุกคืบเข้าพื้นที่ใดหรือไม่ก็ตาม แต่ "ความกังวล" ก็ได้เข้าเกาะกุม "จิตใจ" ผู้คนทั่วไปเอาไว้อย่างแน่นหนาแล้ว
  • เมื่อ "น้ำ" กำลังมา
ตลอดระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรเลียบ "คลองเจ็ก" คือแนวคันดิน และกระสอบทรายที่ชาวตลาดประตูน้ำพระอินทร์ จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันน้ำที่กำลังทำท่าจะล้นตลิ่งอยู่
"ข้างหลังท่วมไปแล้วครับ" คิง - พุทธิพงศ์ วงเดือน หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงวัยรุ่นของชุมชนที่ขนมาช่วยกันสกัดน้ำบอกถึงสถานการณ์ในขณะนี้

"ข้างหลัง" ของเขาก็คือ น้ำที่ไหลมาจาก "คลองวังน้อย" เข้าสู่ "คลองเจ็ก" และ "คลองวัดอีแตก" ทำให้ตอนนี้ บริเวณด้านหลังของเทศบาล ระดับน้ำ "ขึ้นเข่า" ไปแล้ว
จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ ทำให้พอเข้าใจได้ว่า เพราะพื้นที่ของพระอินทราชาถือเป็นจุด "รับน้ำ" จาก "วังน้อย" เมื่อวังน้อยต้านไม่อยู่ ปริมาณน้ำก้อนหนึ่งก็จะหนุนเข้ามาถึงบ้าน และชุมชนของเขาด้วยเช่นกัน

"ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เห็นตลาดประตูน้ำพระอินทร์ท่วม ปี 38 ที่ว่าน้ำท่วมหนัก พระอินทร์ยังไม่ท่วมเลย" คิงเปรียบเทียบสถานการณ์

ข่าวสาร ตลอดจนข้อมูลน้ำจากจอโทรทัศน์ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยของเทศบาลจึงกลายเป็น "หัวใจ" ของงานนี้ แต่ก็ไม่วายมี "ข่าวลือ" แว่วมาให้เสียวใจเล่น

"เขาก็บอกกันมาว่าท่วมแน่ เอาไม่อยู่หรอก เดี๋ยวจะมีพายุมาอีกลูก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยังไง ก็ต้องขนของขึ้นข้างบนก่อนน่ะครับ เพื่อความปลอดภัย"

ข้ามฝั่งมายังพื้นที่ปลายน้ำอย่าง ชุมชนริมคลองดำเนินสะดวก จ.สมุทรสาคร
ไม่ว่าจะสวนองุ่น หรือสวนมะพร้าว ที่บ้านของ ศิริลักษณ์ พวงระย้า ใน ต.บ้านแพ้ว เธอยืนยันว่า ถูกน้ำกลบโคนต้นไปแล้ว เรียบร้อย

ริมคลองตาปลั่งข้างบ้าน ที่เป็นคลองสาขาจากคลองดำเนินฯ ด้วยการปล่อยน้ำและฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องจึงทำให้บ้านเธอ และชุมชนชาวสวนระแวกนั้น ได้รับความเดือดร้อนไม่ต่างกัน แต่ด้วยลักษณะของบ้านที่ปลูกเป็นยกพื้นสูงมีใต้ถุนบ้าน ทำให้ข้าวของที่จำเป็นต้องย้ายเพื่อเตรียมรับมือจึงมีไม่มากนัก
"พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ยกขึ้นข้างบนเตรียมรอเอาไว้แล้ว"

สิ่งที่เธอพะวงมากกว่าที่อยู่ก็คือ ที่ทำกิน ทั้งสวน ทั้งนา ที่ครอบครัวหวังจะเป็นช่องทางต่อทุนเพื่อเป็นเงินเก็บสำหรับยามฉุกเฉินต้องมาจมอยู่ใต้น้ำ

เท่าที่ทำได้ตอนนี้ คือได้แต่รอคอย และหวังว่าความเสียหายจากน้ำเหนือ จะไม่มากไปกว่านี้
เหมือนกับชุมชนประตูน้ำพระอินทร์ แหล่งข้อมูลน้ำของเธอก็คือ "ข่าวโทรทัศน์"
ในภาวะวิกฤติ การร่วมไม้ร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ถือเป็นฟันเฟืองหลักในการช่วยหมุนให้ประเทศก้าวผ่านสถานการณ์เลวร้ายมาได้นักต่อนัก

น้ำท่วมปีนี้ก็ไม่ต่างกัน สถานีโทรทัศน์หลายช่องแปรสภาพกลายเป็นหน่วยแจ้งความช่วยเหลือ และการรับบริจาค ขณะที่คนจากฟากราชการก็ร่วมมือกับฟากประชาชนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกันคนละไม้คนละมือ

ฟากฝั่งออนไลน์ ก็มีบรรดากีคทั้งหลายก่อตั้งเครือข่ายอาสาเพื่อช่วยเป็นศูนย์รวมข่าวสาร อัพเดทสถานการณ์น้ำท่วมด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังดูเหมือนจะ "ทรงพลัง" กว่าสื่อดั้งเดิมมากมายนัก ด้วยเพราะเป็นแหล่งรวมของข่าวสารทั้งที่มีคุณภาพ ไร้คุณภาพ กระทั่งขยะข้อมูล คละเคล้าปะปนกันไป

..บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ภาพบริเวณหน้าหอสมุดปรีดี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กำลังถูกน้ำเซาะเหลือเพียงไม่กี่เซนติเมตรก็จะล้นแนวกำแพง สร้างความหวั่นวิตกให้กับคนที่พบเห็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตอีกฟากจากคนที่เพิ่งข้ามมาจากโรงพยาบาลศิริราชในวันเดียวกันถึง อากาศ ช่วงเวลา และลักษณะของภาพที่ดูเก่าจนไม่น่าจะเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน
กลายเป็นข้อสงสัย และถกเถียงกันมาจนถึงตอนนี้

..หรือกรณี โพสท์ภาพน้ำท่วมถนนหน้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ

ที่ระดับน้ำสูงขึ้นปริ่มฟุตบาธ กลายเป็นสถานการณ์วิกฤติที่หลายช่องต่างเอาไปเล่นเป็นข่าว ทั้งที่ความจริง ถ้าใครอยู่แถวนั้นจะทราบว่า นั่นคือเหตุการณ์ปกติที่มักเกิดขึ้นเมื่อฝนตกหนัก
การรวมเอากรณีน้ำท่วมขัง (ประจำ) กับสถานการณ์น้ำท่วมมาเป็นคนละเรื่องเดียวกันจึงกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ในแง่ของการคัดกรองข่าว อีกด้วย
  • ข่าว "ลือ" กำลังล้น
หลังจากตัดสินใจเปิดหน้าเพจบนเฟซบุ๊คได้แค่ 3 วัน (ณ เวลา 18.16 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2554) ยอดสมาชิกชุมชน "น้ำขึ้น ให้รีบบอก" พุ่งขึ้นไปสูงถึง 8 หมื่นคน ก่อนจะทะลุ 1 แสนคนในวันรุ่งขึ้น
อัพเดทจำนวนล่าสุด เวลา 6โมงเย็นของวันที่ 13 ตุลาคม 2554 ชุมชนน้ำขึ้นฯ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่เฉียดๆ 13,500 คนขาดอยู่แค่ครึ่งร้อย

ขณะที่ความตั้งใจเดิม ตั้งเพจนี้ขึ้นเพื่ออัพเดทสถานการณ์น้ำ ที่ไหนท่วมแล้ว ที่ไหนยังแห้งอยู่ ประตูน้ำ คันกั้นน้ำที่ไหนเป็นอย่างไร แข็งแรงดีหรือไม่ แต่เมื่อจำนวนสมาชิกของเพจน้ำขึ้นฯ มากจนแอดมิน (ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม) ซึ่งประจำการบนเพจแค่เพียงคนเดียว เริ่มรับมือกับข้อมูลล้นหลามและสมาชิกเรือนแสนไม่ไหว

สถานการณ์ของเพจน้ำขึ้นฯ จึงเข้าสู่ภาวะ "ท่วมท้นไปด้วยข้อมูล" ซึ่งมีคุณภาพอยู่ไม่มาก แถมยังถูกเบียดให้ตกไปด้วยการโพสท์ถามไถ่สถานการณ์ฝนตก น้ำท่วม น้ำขัง กระทั่งฟ้าคำราม
ความพยายามที่จะจัดระบบระเบียบ สร้างกติกาการใช้งานเพจจึงเริ่มต้นขึ้น วันต่อมาเริ่มเปิดห้องสนทนา สำหรับการพูดคุยซักถาม ที่ไม่ใช่การอัพเดทสถานการณ์ พร้อมชักชวนให้สมาชิกโพสท์รูปประกอบการรายงานสถานการณ์ เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือ พร้อมกำกับด้วยเวลาและสถานที่ของรูปที่ถ่ายให้ละเอียด หรือใครที่มีข้อมูล หรืออยู่ในพื้นที่ ขอให้ช่วยเข้ามายืนยันสถานการณ์ด้วยตัวเองอีกต่อหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังสร้างกติกาการโพสต์ โดยคัดกรองความน่าเชื่อถือ ด้วยสัญลักษณ์ "# I" เพื่อหมายถึงการรายงานสถานการณ์ที่พบเจอด้วย "ตัวเอง" แต่ถ้าเป็นข่าวที่ได้ยินต่อมาอีกทีหนึ่ง ไม่ว่าจะเพื่อนบอก หรือ ฟังมาจากช่องทางข่าวสารใดก็ตาม ให้ใช้สัญลักษณ์ "#N" ก่อนจะตามด้วยเวลาและข้อความ
ที่สำคัญคือถ้ามี "ภาพจริง" ประกอบการรายงานได้จะยิ่งดี เพราะมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน แอดมินมือใหม่แต่ใจเต็มร้อย ซึ่งภายหลังมีผู้ช่วยแอดมินเข้ามาช่วยอีกหนึ่งแรง ก็ได้แยกการพูดคุย ถามไถ่ อัพเดทข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วมโดยตรง ออกไปไว้ในกระดานข้อความ แยกเรื่องฝนออกจากน้ำ

5 วันต่อมา การจัดการข้อมูลของ "น้ำขึ้น ให้รีบบอก" จึงเข้าสู่การใช้งานได้อย่างมีระบบ
แต่สำหรับเวบมาสเตอร์มืออาชีพอย่าง ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเวบไซต์สนุกดอทคอม และในฐานะผู้จัดการศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ThaiFlood.com ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2553 รับมือกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีกลายต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ รวมเวลา 1 ขวบปีพอดิบพอดี เล่าถึงวิธีการจัดการ "ข้อมูล" ล้นหลามของพลเมืองดีที่อาสารายงานสถานการณ์น้ำ ที่จากแรกเริ่มทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูล เบอร์โทรติดต่อด่วนสำหรับแจ้งเหตุ ซึ่งทำไปทำมา เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลไม่ไหว กระทั่งเกิดเป็นคอลเซ็นเตอร์อาสา นำทัพโดย "ผู้พิการ" ที่มาช่วยรับโทรศัพท์กันมือระวิงในปีก่อน

สำหรับปีนี้ ปรเมศวร์ บอกว่า ข้อมูลที่ต้องจัดการมีมากขึ้น มีทั้งการใส่แผนที่ศูนย์อพยพ, ศูนย์ที่พักพิง, จุดทำอาหาร และ จุดจอดรถ ซึ่งต้องได้รับการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ที่เห็นได้ชัด คือ ปริมาณ "ข้อมูล" ที่ทะลักมากับน้ำหลากปีนี้ดูเหมือนจะมากกว่าปีกลายชนิดเทียบกันไม่ติด

"ถ้าอยู่ดีๆ ในโรงหนังมีคนตะโกนขึ้นมาลอยๆ ว่าไฟไหม้ แน่นอนว่าความโกลาหลเกิดขึ้นแน่ กับสถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้ก็เหมือนกัน ช่องทางการกระจายข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ ถึงแม้จะรวดเร็ว แต่ก็ต้องคัดกรองระดับหนึ่ง อย่างทวิตเตอร์ หรือ เฟซบุ๊ค ถึงเราจะคัดกรองได้ยาก แต่แย้งได้ อะไรที่ไม่ชัวร์ ก็ต้องเช็ค หรือบอกกล่าว ชี้แจงไป" ปรเมศวร์บอก

ขณะเดียวกัน เวบแอดมินก็จะพยายามคัดเอาข้อมูลที่เชื่อถือได้จากนักข่าวอาสาที่รายงานผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค เข้าไปใส่ที่เวบ thaiflood.com อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้คนทั่วไปได้รับทราบด้วย แต่เจ้าตัวก็เอ่ยอย่างหนักใจด้วยว่า ถ้าจะให้ประเมินผลงานการอัพเดทข้อมูล ต้องถือว่ายัง "สอบไม่ผ่าน" ในโจทย์เรื่องความไว เพราะข้อจำกัดเรื่องกำลังคน นอกจากนี้ thaiflood ยังเป็นกลุ่มไม่แสวงหากำไร ขณะที่ทุนการจัดการเป็นทุนส่วนตัวล้วนๆ

เจ้าตัวจึงไม่พ้นการพ้อด้วยเสียงเหนื่อยอ่อนว่า
"ผมใช้พนักงานของบริษัทมาช่วย 3 คน อีก 7 คนเป็นอาสา ที่ผลัดกันเข้ามาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผมไม่ได้ทำเต็มตัว แต่ต้องบอกว่าทำเกินตัวแล้วครับทุกวันนี้"

ข่าวน้ำตามที่ไหน

- ศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ twitter @thaiflood, tag twitter #thaiflood และ Facebook Page ทาง facebook.com/thaiflood รายงานสถานการณ์ รับเรื่องขอความช่วยเหลือจากผู้ประสบอุทกภัย แสดงเป็นสีระดับเตือนภัย รวมเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานต่างๆ เลขที่บัญชีบริจาคทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือ
- Google Crisis Response ข้อมูลแผนที่และให้ความช่วยเหลือต่างๆเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ โดยอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ ThaiFlood.com
- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ http://www.ndwc.go.th เว็บไซต์รวมข่าวสารภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
- กรมชลประทาน www.rid.go.th เว็บไซต์อีกแห่งที่สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างเป็นทางการ
- สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) Flood.gistda.or.th แสดงข้อมูลแผนที่รายงานคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วม
- น้ำขึ้นให้รีบบอก (http://www.facebook.com/room2680) รายงานสถานการณ์น้ำท่วม และแจ้งขอความช่วยเหลือ โดยชาวเฟซบุ๊คช่วยกันรายงานจากสถานที่จริง
- Twitter และ facebook ของ ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (@bkk_best , facebook.com/bkk.best และ http://dds.bangkok.go.th/m) ใช้ติดตามสถานการณ์ โดยจะมีทั้งประกาศฉุกเฉินของทางกรุงเทพมหานคร รายงานสภาพระดับน้ำตามคลองต่างๆ สภาพอากาศทั่วกรุงเทพ
- กรมอุตุนิยมวิทยา ที่ www.tmd.go.th จะคอยรายงานสภาพอากาศ และประกาศเตือนภัยไปยังจังหวัดต่างๆ

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////

โต๊ะข่าวการเมือง แดงแตกเซลล์จากหมู่บ้านสู่อำเภอรากฐานประชาธิปไตยในมือประชาชน !!?

แม้จะคลาดเคลื่อนในเรื่องวันเวลา แต่ในท้ายที่สุด สมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงก็สามารถยกระดับหมู่บ้านคนเสื้อ แดง ตำบลคนเสื้อแดง ขึ้นเป็นอำเภอ คนเสื้อแดงจนได้ “ขณะนี้คนเสื้อแดง ยังไม่ได้ประชาธิปไตยมาเต็มใบ ยังคงมีฝ่ายอำมาตย์เข้ามาแทรกแซง เราจึงยืนยันที่จะร่วมต่อสู้ เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยเต็มใบ โดยจะมีการยกระดับหมู่บ้าน ตำบลเสื้อแดง ขึ้นเป็นอำเภอเสื้อแดง เป็นการยกระดับการต่อสู้ขึ้น ในรูปแบบของหมู่บ้านเสื้อแดง ที่ใช้วิธีสันติอหิงสา โดยจะเปิดอำเภอเสื้อแดงแห่งแรกของจ.อุดรธานี ที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งต่อไปการเปิดหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอเสื้อแดง จะมีการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยกับประชาชนเพิ่มขึ้น ไม่เป็นการเปิดในรูปแบบเดิม”

“อานนท์ แสนน่าน” เลขานุการหมู่บ้านคนเสื้อแดง จังหวัดอุดรธานี ระบุถึงวัตถุประสงค์การยกระดับจากหมู่บ้านขึ้นเป็นอำเภอคนเสื้อแดงไว้ได้อย่างน่าสนใจยิ่งอย่างไรก็ดี ยังมีเสียงทัดทานเล็กๆ ออกมาจากคนกันเองที่เคยรบเคียงบ่าที่สมรภูมิราชประสงค์ อย่าง “ขวัญชัย ไพรพนา” ที่แสดงอาการไม่เห็นด้วย

“ผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น ซึ่งความเป็นจริงชาวอุดรธานีมีในรักประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่ควรที่จะไปบังคับเขาให้เป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดงเหมือนเอาอะไรไปประทับตราเขาเอาไว้ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มคนเสื้อแดงที่เดินทางไปเปิดบ้านคนเสื้อแดง ก็เคยอยู่กับผมมาก่อน เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยกัน แต่เนื่องจาก เรื่องผลประโยชน์ทำให้แยกตัวออกไปเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาให้หน่วยงานด้านความั่นคง จ้องเล่นงาน หากต้องการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ร่วมกับผม ก็พร้อมเปิดกว้างเพื่อความเป็นปึกแผ่นต่อไป”เป็นธรรมดาของคนหมู่มากที่ร่วมกันต่อสู้บนทฤษฎี “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ที่ภายหลังเสร็จศึกจะมีความเห็นต่างกันไปบ้าง ยิ่งหากย้อนภาพ กลับไปในอดีตเมื่อไม่นานเท่าไหร่ แกนนำชมรมคนรักอุดรผู้นี้ ก็มีความเห็นไม่ตรงกันกับ “ธิดา ถาวรเศรษฐ์” รักษาการประธาน นปช.

กระนั้น เมื่อคลื่นลมพายุฝนสงบ อำเภอเสื้อแดง ก็อุบัติขึ้นบนประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเมื่อวันอังคารที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา “จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำ นปช.ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดอำเภอเสื้อแดงแห่งแรกของจังหวัดอุดรธานี ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอประจักษ์ศิลปาคมโดยมี “น.พ.ประสงค์ บูรณ์พงษ์” ประธานที่ปรึกษาบ้านเลขที่ 111 ไทยรักไทย “ร.ต.ต.กมลศิลป์ สิงหะสุริยะ” ประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย “อานนท์ แสนน่าน” ผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งแรก พร้อมรองประธานสมาพันธ์ฯ ของภาคอีสาน และกรรมการสมาพันธ์ฯ นำสมาชิกกลุ่มหมู่บ้านเสื้อแดงในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอและ จังหวัดใกล้เคียง มาร่วมงานกว่า 500 คน

สำหรับบรรยากาศภายในงาน “เดอะตู่” พร้อมแกนนำสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดง ได้เดินทางไปติดป้ายหมู่บ้านเสื้อแดง เพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นรูป “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ชูภาษามือที่แปลว่า “รัก” ติดอยู่ ที่บ้านนาม่วง ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเปิดอำเภอเสื้อแดงแห่งแรกของ จ.อุดรธานี โดยหลังจาก เสร็จพิธีเปิด แกนนำหมู่บ้านเสื้อแดงแต่ละหมู่บ้าน จะรับป้ายหมู่บ้านเสื้อแดงไปติดตั้งในวันนี้ทั้งหมด “ขณะนี้หมู่บ้านเสื้อแดง เพื่อประชาธิปไตย คือฐานหลักของประชาชนที่ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าหมู่บ้านเสื้อแดงได้ขยายออกไปเต็มทั่วประเทศ จะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันชอบธรรม จะได้มีเสถียรภาพ และจะได้มีโอกาสแก้ไข ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน”

เสียงคำรามของ “เดอะตู่” ในวันงานเปิดอำเภอเสื้อแดงแห่งแรก ไม่ต่างจากการส่งสัญญาณไป ถึงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับวาระแดงทั้งแผ่นดิน ว่ากระบวน การการต่อยอด แตกเซลล์ ขยายผลหมู่บ้านคนเสื้อแดงที่แกนนำเชื่อมั่นถือมั่นว่านี่คือการสร้างรากฐานแห่งประชาธิปไตยจะไม่หยุดนิ่งอยู่เพียงแค่นี้ ยิ่งจับจากจังหวะการเคลื่อนไหวของคนระดับมันสมองอย่าง “ธิดา ถาวรเศรษฐ์” ที่เล็งผลเลิศถึงขั้นจะลงไปเจาะยางฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้อย่างจริงจัง และเริ่มมีการเปิดหมู่บ้าน เสื้อแดงในภาคใต้ไปบ้างแล้ว ย่อมถือเป็นเรื่องท้าทายอำนาจพรรคเก่าแก่แบบเปิดหน้าชน 100 เปอร์เซ็นต์ และหากนับจำนวนการปูพรมเปิดหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอเสื้อแดง ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน นั่นก็ได้ก่อตั้งไปแล้วกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศไทย มันย่อมถือว่าเป็นปรากฏการณ์แห่งการแตกเซลล์ทาง การเมืองที่ไม่ธรรมดาเอาซะเลย

และนั่นก็เป็นธรรมดาอีกเช่นกัน ที่ฝ่ายที่ยืนอยู่ฝั่ง ตรงกันข้าม จะไม่เห็นดีเห็นงามกับปรากฏการณ์ประกาย ไฟไหม้ลามทุ่งรอบนี้ของหมู่บ้านคนเสื้อแดงเป็นแน่แท้

อีกทั้งในทางตรงกันข้าม การก่อเกิดของหมู่บ้าน คนเสื้อแดง มันล้วนค่อนข้างสุ่มเสี่ยงหากมีการตี ความกันในแง่มุมของกฎหมาย โดยเฉพาะกระบวน การเหล่านี้ หากต้องถูกสแกนถี่ยิบผ่านเซียน เชี่ยวเขี้ยวลากดินอย่างประชาธิปัตย์ มันก็ย่อมเป็น เรื่องที่แกนนำคนเสื้อแดงต้องตระเตรียมงานใหญ่ ใน การตอบข้อสงสัยของสังคมให้กระจ่างชัดอีกเช่นกัน เรื่องหลักๆ ที่เชื่อมั่นว่าคนเสื้อแดงต้องโดยพรรคเก่าแก่ทิ้งบอมบ์แน่ๆ คือ วาระหมู่บ้านคนเสื้อ แดงในมือซ้ายต้นตำรับอย่าง “ธิดา ถาวรเศรษฐ์” เป็นการปลุกผีคอมมิวนิสต์หรือไม่??? อีกคำถามหนึ่งที่ถูกเปิดแผลโดย “ขวัญชัย ไพรพนา” เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ระดับแกนนำต้องแจกแจงต่อลูกบ้านหมู่บ้านคนเสื้อแดงให้เคลียร์เช่นกัน การรวมตัวของคนเสื้อแดง ในรูปแบบหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอ ถือเป็นมิติใหม่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน แต่จะจีรังยั่งยืนและเป็นหลักค้ำยันให้ประชาธิปไตยไทยที่คนเสื้อแดงเชื่อมั่นถือมั่นได้เนิ่นนานมากมายเพียงใด ในที่สุดมันก็ต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการการจัดการ ซึ่งต้องอาศัยความโปร่งใสและจริงใจต่อประชาชนรากหญ้า

นั่นแหละจะเป็นวัคซีนชั้นเยี่ยมใน การเยียวยาหมู่บ้าน ตำบล และอำ เภอคนเสื้อแดงให้อยู่รอดปลอดภัย..ขอรับ!!!

ที่มา:สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////

ควายสองขา !!>

เพราะ...เราต้องรักษากรุงเทพให้พ้นน้ำในแต่ละปี ผู้คนในเมืองโดยรอบจึงต้องจมอยู่ในนรกครั้งละหลายๆ เดือนในแต่ละปี

กรุงเทพอยู่ต่ำสุดในประดาเมืองทั้งหลาย...กรุงเทพจึงเป็นหลุมใหญ่ที่น้ำพร้อมจะโถมใส่ กรุงเทพใช้เงินของประเทศไปมากมายหลายแสนล้าน เพื่อจะรักษามันไม่ให้จมน้ำ...และมันจะเป็นอย่างนี้ไปอีกเป็นร้อยเป็นพันปี ตราบเท่าที่ประเทศนี้ยังมีอยู่

ถึงเวลากันสักทีหรือยัง...ที่กรุงเทพจะต้องอยู่ให้ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการเสียสละของใครหน้าไหน...ถึงคราวหรือยังที่วิทยาการสมัยใหม่จะเข้ามามีบทบาทแทนที่ทรายและกระสอบ...ที่หอบกันเข้ามาป้องกันกรุงเทพจากน้ำในแต่ละปี

ทำไม...ผู้รุกล้ำที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะต้องได้รับการปกป้อง...โดยการนำน้ำจำนวนมหาศาลไปจมบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่ถูกกฎหมายของคนอีกจำนวนหนึ่ง

มันจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไหร่...

ทำไม...เราถึงไม่สร้างถนนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา...เพื่อให้น้ำมันไหลลงสู่ทะเลโดยที่ไม่ต้องไหลบ่าเข้ามาท่วมเมือง...เพราะผู้คนจำนวนหนึ่งไม่ยินยอม...ถอนตัวจากการอยู่อาศัยในบ้านที่ปักเสาลงไปในแม่น้ำ...

ทำไม...เราจึงไม่ยกให้ผู้คนเหล่านั้น...ทิ้งบ้านสลัมริมน้ำขึ้นมาอยู่ในอาคารสูงบนฝั่ง...แล้วทำถนนริมฝั่งเพื่อขังน้ำไว้ในแม่น้ำ...เหมือนอย่างที่เมืองริมแม่น้ำทั้งโลกเขาทำกัน

เราจะขุดคลองอีกพันสาย...เอาน้ำไหลไปสู่ทะเลตะวันออกทะเลตะวันตกได้อย่างไร...ในเมื่อกรุงเทพมันเป็นจุดต่ำสุดบนแม่น้ำสายนี้...มันมีอยู่หรือที่น้ำจะไหลขึ้นไปสู่ที่ที่สูงกว่า...ธรรมชาติเช่นว่ามีอยู่จริงหรือบนโลกใบนี้

ถึงเวลาหรือยัง...ที่ความจำเป็นของชาติจะอยู่เหนือการขัดขืนใดๆ ของ "ควายสองขา"

ถึงเวลาหรือยัง...ที่สติปัญญาจะเข้ามาเป็นผู้แก้ไขปัญหา ไม่ใช่กล้ามเนื้อแขนขาที่ซ้ำซากแก้ปัญหาในทุกๆ ปี

เราจะตามใจ "ควายสองขา" เพื่อจะพากันเป็น "ควายสองขา" กันทั้งแผ่นดิน กระนั้นหรือ

โดย:พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
****************************************************

ใช้ไฟทะลุ300ล้านค่าใช้จ่ายกทม.ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯปีนี้เดินเครื่องสูบน้ำ24ชั่วโมงน้ำมากทุบสถิติ

รายงานข่าวจากสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งว่า จากการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่ง สนน.ใช้งานเครื่องสูบเพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ ทั้งจากน้ำฝนและสถานการณ์น้ำเหนือที่มีปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้คาดว่าจะส่งผลให้ค่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้สำหรับการเดินเครื่องสูบน้ำทั่วกรุงเพิ่มสูงขึ้น โดยปกติจะมีค่าไฟฟ้าอยู่ที่เดือนละ 21–30 ล้านบาท ตามสถานการณ์ในช่วงเดือนนั้น ๆ ว่ามีปริมาณน้ำฝนตกในพื้นที่มากหรือไม่ ซึ่งจะมีค่ากระแสไฟฟ้ารวมอยู่ที่ปีละประมาณเกือบ 300 ล้านบาท โดยค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ไฟมากคือ เครื่องสูบน้ำ ที่ติดตั้งอยู่บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำทั่วกรุงเทพฯ รวม 689 เครื่อง กำลังสูบกว่า 520 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับอุโมงค์ยักษ์พระราม 9–รามคำแหง ที่เปิดใช้งานแล้วนั้น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มีกำลังสูบถึง 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง มีค่ากระแสไฟฟ้าประมาณ 500,000 บาทต่อวัน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การบริหารจัดการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ ที่นอกจากการเร่งระบายน้ำฝนที่ขังอยู่ตามผิวการจราจรและจุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว ในภาวะน้ำเหนือปริมาณมากที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้ต้องเดินระบบการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องโดยสถานีสูบน้ำหลักต้องเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อเร่งระบายน้ำช่วยบรรเทาปริมาณน้ำที่ท่วมขังอยู่ในจังหวัดตอนบนของกรุงเทพฯ รวมทั้งรักษาระดับน้ำในคลองเพื่อรองรับกรณีฝนตกในพื้นที่ด้วย สำหรับสถิติปริมาณน้ำฝนที่ตกในกรุงเทพฯ ขณะนี้พบว่ามีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยฝน 20 ปีซึ่งอยู่ที่ 1,458 มิลลิเมตร โดยในปีนี้ปริมาณฝนถึงแค่กลางเดือนต.ค. ฝนตกมาแล้วกว่า 2,130 มิลลิเมตร มากกว่าค่าเฉลี่ยคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาณฝนมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2552 ปริมาณฝน 1,910 มิลลิเมตร ปี 2553 ปริมาณฝนอยู่ที่ 1,995 มิลลิเมตร ส่วนปริมาณน้ำเหนือ ที่ขณะนี้ ปริมาณน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 อยู่ที่ 4,430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำที่เขื่อนปล่อยลงมาก็คาดว่าจะมีปริมาณสูงต่อเนื่องเป็นช่วงระยะเวลานานกว่าทุกปีเนื่องจากยังมีน้ำจำนวนมากที่ต้องเร่งระบายสู่ด้านล่าง.

ต้นฉบับ: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=354&contentId=170200

ที่มา: เดลินิวส์
////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นิคมฯ บางปะอิน.จมน้ำ คาดเสียหายหนัก !!?




น้ำทะลักท่วมนิคม'บางปะอิน'สูงกว่า 1 เมตร คาดมูลค่าความเสียหายหนัก เหตุมีโรงงานไฮเทคระดับโลก สั่งป้อง'นวนคร-บางกะดี'เหตุติดกลุ่มเสี่ยง

แม้เจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายพลเรือนจะพยายามป้องนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างเต็มกำลังตลอด 2 วันที่ผ่านมาก็ตาม แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทัดทานกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวอย่างรุนแรงทลายกำแพงดินทะลักเข้าไปในนิคมฯ เป็นแห่งที่ 4 แล้วเมื่อกลางดึกของคืนที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้วยกระแสน้ำที่ได้ท่วมขังบริเวณรอบๆ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มปริมาณสูงขึ้นและไหลทะลักเข้าไปภายในนิคมฯ เมื่อกลางดึกวันที่ 14 ต.ค.บริเวณคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออกกว้าง 5 เมตร จำนวน 2 จุด ทำให้น้ำท่วมทันทีสูง 1 เมตร จึงต้องตัดกระแสไฟฟ้าและใช้เครื่องปั่นไฟเพื่อส่องสว่างให้เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่ซ่อมรอยรั่ว ขณะที่เจ้าหน้าที่นิคมฯ และโรงงานต่างๆ ได้เร่งขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ออก

น้ำทะลักนิคมฯ บางปะอินจม

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่นิคมฯ บางปะอินน้ำได้ทะลักเข้าไปภายในนิคมฯ ด้านหน้าผ่านแนวคันดินที่พังทลายลงกว้างกว่า 40 เมตร ทางทิศใต้ 80 เมตร ทำให้มีน้ำท่วมขังกว่า 4 เมตร ส่วนน้ำบริเวณนอกนิคมฯ สูง 5.85 เมตร ล่าสุดได้นำดินและหินเข้ามาอุดรอยรั่วและเร่งซ่อมแซมรอยปริแนวเขื่อนกั้นน้ำด้านหลังนิคมฯ

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมนิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค) น้ำเข้าท่วม 5 เมตร แต่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยังไม่ยอมแพ้พยายามทำการกู้ อยู่ "ได้สั่งให้ทุกนิคมฯ ที่ถูกน้ำท่วมนำสารเคมีที่เป็นอันตรายไปเก็บไว้นอกนิคมฯ แล้ว มีเพียงบางส่วนที่ยังอยู่ในโรงงาน แต่ก็ได้ผนึกไว้แน่นหนา และนำไปเก็บบนชั้นดาดฟ้าจุดที่สูงสุด มั่นใจในความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ส่วนที่กรณีเจ้าของโรงงานชาวญี่ปุ่น ได้ใช้เทียนไขส่องสว่างขณะที่เข้าไปตรวจภายในโรงงานแล้วเกิดการทำปฏิกิริยากับสารละลายจำพวกกาวที่ใช้ในการพิมพ์ ที่เป็นวัตถุไวไฟจึงเกิดไฟลุกไหม้ แต่ก็ไม่ได้เสียหายใดๆ" นายณัฐพล กล่าว

ห่วงนวนคร-บางกะดีคิวต่อไป

นายณัฐพล กล่าวว่า นิคมฯ ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร และบางกะดี เนื่องจากนวนครอยู่ไม่ห่างจากนิคมฯ บางปะอิน และอยู่ในแนวน้ำไหลผ่าน ห่างจากแม่น้ำเพียง 7 กม. ซึ่งน้ำภายนอกนิคมฯ มีความสูงต่ำกว่าแนวสันเขื่อนเพียง 50 เซนติเมตร แต่ได้เสริมแนวคันดินเพิ่มอีก 50 เซนติเมตร ทำให้แนวคันดินกั้นน้ำมีความสูง 5 เมตร นิคมฯ แห่งนี้เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่สำคัญ มีโรงงาน 227 โรง มีการลงทุน 40,000 ล้านบาท และมีแรงงาน 120,000 คน

วรรณรัตน์สั่งปกป้อง

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2554 เวลา 18.30 น.น้ำได้เข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เต็มพื้นที่และบางจุดน้ำมีความสูง 2 เมตร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พยายามป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามากขึ้น โดยจะเสริมคันดินให้แข็งแรงมากขึ้นด้วยการนำแผ่นเหล็กมาเสริม และนำกระสอบทรายมาเสริมอีกชั้น เชื่อว่าวิธีนี้จะป้องกันความแรงของแรงดันน้ำได้ และจะสูบน้ำออกจากนิคม

ทั้งนี้ นิคมบางปะอิน มีโรงงาน 90 แห่ง ในพื้นที่ 1,962 ไร่ มีมูลค่าลงทุน 60,000 ล้านบาท และการจ้างงาน 60,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกิจการของนักลงทุนญี่ปุ่น 38.89% สหรัฐ 14.81% มาเลเซีย 12.96% เป็นต้น โดยกลุ่มที่มีการลงทุนสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์ เครื่องนุ่งห่ม

สำหรับนิคมบ้านหว้า (ไฮเทค) มีรอยรั่วของคันดินทิศใต้ 80 เมตร ซึ่งน้ำในนิคมฯ ไหลออกจากนิคมฯ ทางจุดนี้ก็จะปล่อยให้น้ำไหลออกไป และมีรอยรั่วของคันดินที่ทิศตะวันออก 40 เมตร ก็จะรอให้น้ำนิ่งแล้วใช้แผ่นเหล็กเข้าไปเสริมคันดินให้แข็งแรง และถ้าอุดรอยรั่วตรงนี้ได้ก็จะสูบน้ำออกจากนิคมฯ
ส่วนสวนอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ได้ประสานให้ผู้ประกอบการเสริมคันดินทั้ง 4 ด้าน ขึ้น 1.5 เมตร โดยได้ตรวจสอบทิศทางการไหลของน้ำพบว่ามีน้ำไหลจากทิศเหนือไปทิศใต้ ซึ่งเป็นน้ำจากพระนครศรีอยุธยาก็จะป้องกันส่วนที่ปะทะน้ำให้ดี เพราะน้ำจากเจ้าพระยายังมาไม่ถึง เพราะมีทางรถไฟกั้น สถานการณ์ปัจจุบันยังดูแลสวนอุตสาหกรรมโรจนะได้

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

อุตุเผยไทยตอนบนฝนยังหนัก !!?

อุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศประจำวันี้ 16ต.ค. ว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกของประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักได้บางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ระวังอันตรายจากสภาวะฝนที่ตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ในระยะนี้

อนึ่ง ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่เข้าปกคลุมประเทศเวียดนามและลาวแล้ว คาดว่าจะแผ่เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้(16ต.ค.) ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศา

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร แพร่ และน่าน อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศา ลมเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดชัยภูมิ กาฬสินธ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดอุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศา ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศา

ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง และพังงา อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กทม.-ปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศา ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ที่มา:เนชั่น
///////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เปลือยใจ ปลอดประสพ. ผมพูดผิดแต่รักษาชีวิตคนไว้ดีกว่า..!!?


เปลือยใจ ปลอดประสพ "ผมพูดผิดแต่รักษาชีวิตคนไว้ดีกว่า.."

ทำชาวบ้านตกอกตกใจ อลเวง-อลม่าน กันเล็กน้อยเมื่อทีวีถ่ายทอดสดออกอากาศประกาศเตือน ให้ประชาชนเตรียมอพยพด่วนใน 7 ชั่วโมง หลังรัฐบาลไม่สามารถคุมประตูระบายน้ำบ้านคลองพร้าวที่เสียหายได้ แต่อีกไม่กี่อึดใจถัดมากลับได้ฟังแถลงใหม่อีกครั้งว่า สามารถควมคุมน้ำได้ สร้างความสับสนงงงวยแก่ชาวกรุงในนาทีเป็นนาทีตาย เฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างใจจดใจจ่อในเวลานี้....

ภายหลัง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหัวหน้าศูนย์ตรวจสอบ พื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม(ศปภ.) ออกอากาศยิงสดทีวีเมื่อหัวค่ำวันที่ 13 ต.ค. สร้างความตระหนกต่อคนที่อยู่ในพื้นที่ รังสิต-เชียงรากน้อย-สายไหม ไม่น้อย โดยภายหลังแถลงประกาศเตือนกลับมีคนใน ศปภ. ออกมาบลัฟข้อมูลกันเองโดยยืนยันว่าไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดอพยพผู้คนแต่อย่างใด

ไทยรัฐ ออนไลน์ มีโอกาสสัมภาษณ์นายปลอดประสพ ว่าอะไรและเหตุใดจึงตัดสินใจแถลงเช่นนั้น ในนาทีหน้าสิ่วหน้าขวาน ที่ต้องใช้ความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่...
“ถ้า ผมไม่พูดวันนี้จะมีคนมาเยอะมั้ย ถ้าผมไม่พูดทหารจะมากันเยอะมั้ย และถ้าผมไม่พูดวันนี้ มันจะคงจะพังไปหมดแล้วมั้ย แต่ไม่เป็นไร ที่เราพูดไปก็เพราะหวังดี ไม่น้อยใจ ผมแก่แล้ว และผมก็รักษาชีวิตคนไว้ได้...”


นายปลอดประสพ เล่าให้กับไทยรัฐออนไลน์ฟังถึงเหตุผลที่ต้องประกาศไปก็เพราะว่า ประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าวนั้น เพราะผมเป็นคนไปเห็นปัญหามาได้ 2-3 วันก่อนที่จะแถลงแล้ว แต่ว่าเมื่อวานสถานการณ์มันเลวร้ายที่สุด แตกยาว และบริษัทที่เข้าไปทำก็ถอนตัวออกมา เหลืออยู่แค่รถของนายก อบจ. และรถลูกน้องเขาเพียง10 กว่าคน และน้ำก็ไหลทะลักเข้ามาเยอะมาก ผมเห็นว่าทั้งคืนก็ยังไม่ได้ทำ น้ำก็ไหลลงมา เห็นมาแล้วก่อนหน้านั้นอีก รวมวันนี้(13 ต.ค.)ก็เข้าวันที่ 4 แล้ว และก็บังเอิญวิม (นายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษกศปภ.) เขาก็เดินมาบอกผม บอกว่าพี่ๆเขาแจ้งมาว่ามันแตกแล้ว ผมรู้มานานแล้วแต่ไม่พูด รู้กันแค่กับทหารเท่านั้น

เมื่อถามว่า นายวิม เขารู้ได้อย่างไรว่ากั้นน้ำแตก นายปลอดประสพ กล่าวว่า วิมเขามีคนแจ้งเขาแล้วมาบอกว่ามันแตก สุดท้ายก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะแจ้งข่าวให้ประชาชนได้ทราบ ก็เลยรีบชวนกันมาออกบอกกับสื่อและประชาชน แต่วิมเขาไม่ได้เห็น จุดประสงค์ของผมก็คือว่าเขื่อนมันแตก อยากจะมาเตือนและบอกความจริงกับประชาชน เพราะเขื่อนกันน้ำ มันแตกแล้ว และน้ำก็ไหลมาเยอะแยะ มีคนซ่อมอยู่เพียงนิดหน่อย มันก็ไหลและไม่ว่าจะไหลไปทางไหนน้ำมันก็ท่วมทั้งนั้น
“ผมพูดผิดแต่รักษาชีวิตคนไว้ดีกว่า…..”

ส่วน ใครอยู่ที่ในที่ต่ำก็ให้เก็บข้าวของออกมาในที่สูง มีรถก็นำขึ้นที่สูง บ้านชั้นสองก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าบ้านชั้นเดียวแล้วยกสูงหน่อยก็ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ก็นั่นแหละที่ผมบอกเพราะผมเห็นชีวิตคนน่ะสำคัญไม่เสี่ยง เมื่อถามว่า เป็นการพูดผิดหรือแถลงผิดไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ผมพูดผิดแต่รักษาชีวิตดีกว่า ถ้าผมไม่พูดแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมานั่นมันก็ไม่ถูก ผมบอกไปเท่านั้นเอง แต่บังเอิญมีคนถามขึ้นมาเท่านั้นว่าถ้าเขามาแล้วจะอยู่ที่ไหน ผมก็เลยบอกไปว่าดอนเมืองแล้วกัน แล้วถามว่าเมื่อไหร่ ผมก็บอกไปเลยว่ามาเลยใน 7 ชั่วโมง ผมก็บอกไปอย่างไม่ระวังตัวเองเท่าไหร่หรอก ในเมืองนอกเขาก็ไม่มีใครเอาชีวิตคนไปเสี่ยงหรอกครับ สถานการณ์ในวันนี้ ผมก็อยู่ด้วยทั้งวัน มีรถตักดินมา 3 คัน มีของคุณขวัญชัย ไพรพนา ส่งมาช่วยจากอุดร และมีอีกคันหนึ่งของที่มีอยู่เดิม

และวันนี้มีทหาร มาเยอะ มาทำแนวคันดิน ถ้าผมไม่พูดวันนี้จะมีคนมาเยอะมั้ย ถ้าผมไม่พูดทหารจะมากันเยอะมั้ย และถ้าผมไม่พูดวันนี้ มันจะคงจะพังไปหมดแล้วมั้ย แต่ไม่เป็นไร ที่เราพูดไปก็เพราะหวังดี ไม่น้อยใจ ผมแก่แล้ว และผมก็รักษาชีวิตคนไว้ได้ ผมกลับภูมิใจเสียอีก บวกลบคูณหารแล้วผมรักษาชีวิตคนได้แล้วถูกด่านิดหน่อย ผม ถูกด่าก็ไม่เป็นไร แต่ก็มีคนส่งเอสเอ็มเอสมาให้กำลังใจผมเช่นกัน ไม่ชอบ อยากด่าก็เชิญ ด่าแล้วสบายใจหายเครียดก็เชิญ ผมรับได้ ยืนยันว่าที่ผมทำหน้าที่เพราะหวังดี ที่ทำไปเพราะเห็นคุณค่าชีวิตคน ความจริงถ้าเป็นเมืองนอก เตือนพลาดก็ไม่เป็นไร ดีกว่าปล่อยให้คนตาย ก็อย่างที่คุณวิมเดินมาเตือนครั้งที่แล้วคุณก็ได้ยินแล้วนี่ เชิญคนอื่นแล้วกัน ผมขอทำหน้าที่ตามที่ถนัดในเรื่องเทคนิคของผมดีกว่า
“จริงๆเจ้าของเรื่องคือกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง ผมนี่ยุ่งไปเองแท้ๆ....”

เมื่อถามว่าคนมองว่าเกิดความขัดแย้งกันเรื่องข้อมูลภายในศปภ. นายปลอดประสพ กล่าวว่า ผมรู้สึกเฉยๆไม่มีอะไร ไม่มีภาระและผมก็ชัดเจน ผมพยายามที่จะหลีกเลี่ยงเรื่องวุ่นวายที่จะไม่ไปยุ่งในเรื่องที่ไม่ใช่ของผม ปลอดประสพไม่เอาอีกแล้ว เปลืองตัว ตอนนี้ผมก็ทำเรื่องผันน้ำหลัก 3 สาย ท่าจีน บางปะกง เจ้าพระยา และก็ดูแลแทนท่านนายกฯในการประสานงานในการระบายน้ำออก มาดูแลตรวจว่าทำตรงไหนบ้าง ผมไม่เข็ดหรอก ผมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ถ้าผมไม่ทำผมก็แย่แล้ว ผมไม่ใช่คนขี้ขลาด ถ้าผมไม่พูดจริงๆก็ไม่รู้จะทำได้หรอไม่ ผมขี้เกียจพูดแล้ว ถ้าให้ไปแถลงอีกก็ไม่เอา ขี้เกียจ เบื่อ ไม่ถูกตำหนิอะไร คนที่เป็นรัฐมนตรีเท่าๆกันจะมาตำหนิอะไรผม ถามว่าเท่ากันหรือเปล่า? ผู้บังคับบัญชาผมคือนายกฯคนเดียว ไม่ว่าใครทั้งนั้นก็เป็นรัฐมนตรีเท่าๆกัน ใครจะมาตำหนิผม ท่านเข้าใจผมนะว่าหวังดีกับส่วนรวม


ถึงตอนนี้ก็ยัง ไม่มีใครกล้าบอกนะว่าประตูน้ำคลองบ้านพร้าว ก็ยังไม่เสร็จ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ไม่รู้สิ คุณก็ไปบอกเองสิ ต้องไปดูเองและเขียนเอง ผมไม่บอกแล้ว ผมเห็นว่ามีอีกหลายประตูแต่จำไม่ได้จริงๆที่ยังไม่เสร็จ ไอ้นี่ผมแค้ไปดูแล้วเห็นโดยบังเอิญ เป็นห่วงก็เลยติดตาม จริงๆเจ้าของเรื่องคือกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง ผมนี่ยุ่งไปเองแท้ๆ เมื่อถามว่าแล้วทำไมศปภ.บอกรายงานไม่ครบ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ไม่รู้ เสร็จไม่เสร็จคุณต้องไปดูเอง ผมก็ไม่อยากมีอำนาจ ไม่จำเป็น ไม่อย่าล้วงลูกคนอื่น สังคมไทยละเอียดอ่อน ผมเอานิสัยฝรั่งมาใช้เยอะ ผมก็รู้เรื่องทรัพยากรเยอะ และสิ่งแวดล้อมก็รู้เยอะ แล้วที่ผ่านมาจากวันที่แถลงเมื่อวนก่อนมันเป็นจริงมั้ยละ

ส่วน กรุงเทพน้ำจะท่วมมั้ย นายปลอดประสพ กล่าวว่า ผมหวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น คืองี้ที่เราคุยกันรอบๆกรุงเทพคงจะท่วมบ้าง ทั้งภาคตะวันออกและตะวันตก แต่กรุงเทพชั้นในก็คงจะปลอดภัยสัก 90 เปอร์เซ็นต์ แต่รอบๆชานเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและชานเมืองก็มีบ้าง แต่อย่างไรก็ไม่ท่วมกรุง

*** สำหรับประวัติของนายปลอดประสพ สุรัสวดี นั้นไม่ธรรมดา ดีกรีปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการประมง ม.เกษตรศาสตร์ - ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีการประมง ม.แม่โจ้ - ปริญญาเอก สาขานิเวศวิทยาแค่ 2 ปี 7 เดือน คนแรกและคนเดียวของ Mantoba University ประเทศแคนาดา - ปริญญาโท การบริหารการประมง มหาวิทยาลัยโอเรกอน สเตท Oregon State University ประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนประสบการณ์ทำงานนั้นเคยดำรง ตำแหน่ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม,เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม,รองปลัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์เมษายน,อธิบดีกรมประมง


...เรียก ได้ว่าเป็นกูรูและเติบโตมาทางด้านทรัพยากรธรรมชาติการจัดการโดยแท้จริง ในสายงานอาชีพของตนเอง เมื่อคนเชี่ยวชาญและผ่านงานโดยตรงกล้าออกมาเตือนดังๆ สังคมก็ควรจะรับฟังและวิเคราะห์ประกอบตามด้วย จึงจะเหมาะในสถานการณ์ที่ช่วยอะไรได้ก็ควรช่วยกันดีกว่ามาจ้องเตะตัดขา กันเองในเวลาแบบนี้.

ไทยรัฐออนไลน์

ต้นฉบับ: http://www.thairath.co.th/content/pol/209407

ที่มา: ไทยรัฐ
////////////////////////////////////////////////////////////////////

นิวยอร์กไทมส์: น้ำท่วมไทยเกิดจากฝีมือมนุษย์ !!?

แปลและเรียบเรียงจาก: As Thailand Floods Spread, Experts Blame Officials, Not Rains.
โดย: Seth Mydans

เซธ เมย์เดนส์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของไทย ชี้อุทกภัยที่เกิดขึ้นและลามไปหลายพื้นที่ในเวลานี้ ไม่ได้มาจากปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติ หากแต่เป็นเพราะการวางแผนการจัดการน้ำและผังเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ

กรุงเทพ - ท่ามกลางอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ที่ส่งผลให้จังหวัดต่างๆ และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโบราณสถานกลายเป็นเมืองบาดาลอยู่ใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำชี้ว่า สาเหตุของหายนะครั้งนี้ เป็นผลมาจากฝีมือของมนุษย์

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยหลักๆ ของอุทกภัยในครั้งนี้ คือการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกสิ่งก่อสร้างที่มากเกินไปในเขตพื้นที่รับน้ำ การสร้างเขื่อนและการหันเหธารน้ำธรรมชาติ การเจริญเติบโตของเมืองที่กระจัดกระจาย รวมถึงคูคลองในเมืองที่เริ่มอุดตันและการขาดการวางแผน เขาชี้ว่า เขาเคยเตือนทางการไปแล้วหลายครั้งในเรื่องนี้ หากแต่ก็ไม่มีผล

“ผมได้พยายามจะบอกทางการไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แต่เขาบอกผมว่าผมน่ะบ้าไปเอง” ดร. สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ซึ่งโด่งดังจากการคาดการณ์ภัยพิบัติสึนามิหลายปีก่อนที่คลื่นยักษ์จะเข้าถล่มชายฝั่งในพ.ศ. 2547

ฤดูพายุร้อนในปีนี้ นำหายนะมาสู่กัมพูชา ฟิลลิปินส์ เวียดนามและไทย ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 283 คน

ในฟิลิปปินส์ มีหลายพันคนที่ต้องอพยพเนื่องจากพายุไต้ฝุ่นที่เข้าถล่มประเทศ ส่วนนาข้าวขั้นบันไดขนาfใหญ่ที่เมืองบานาวของฟิลลิปินส์ ก็ถูกโคลนถล่มทำลายเสียหายย่อยยับ

เช่นเดียวกับในกัมพูชา มีรายงานว่าที่กรุงเสียมราฐ เมืองหลวงของกัมพูชา ระดับน้ำก็สูงขึ้นมาระดับเข่า และกระแสน้ำเริ่มท่วมนครวัดแล้ว

ทางการไทยได้แจ้งเตือนว่า ในไม่อีกกี่วันนี้ กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมด้วยน้ำหลากจากภาคเหนือ น้ำหนุนและน้ำฝนจากพายุฤดูร้อน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ได้เริ่มขนกระสอบทรายมากั้นไว้เพื่อเตรียมความพร้อม และกว้านซื้ออาหารแห้ง น้ำดืม แบตเตอรี่ และเทียนไขมากักตุน

ส่วนการเตรียมการในกรุงเทพฯ ก็เป็นที่วุ่นวายมากทีเดียว กระสอบทรายเรียงรายกันยาวกว่า 45 ไมล์ ถูกวางกั้นตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแนวกั้นนำและคูคลองก็กำลังสร้างขึ้นมารองรับกระแสน้ำ และประชาชนก็ได้รับคำเตือนจากทางการให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ

ในขณะที่น้ำไหลบ่าลงจากทิศใต้จากจังหวัดนครสวรรคและอยุธยา ทำให้โบราณสถานจมอยู่ใต้น้ำ สื่อท้องถิ่นรายงานว่าทหารก็ได้เตรียมขนย้ายกระสอบทรายกว่า 150,000 ถุง ไล่ลงตามกระแสน้ำจากที่ที่ประสบความเสียหายแห่งหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งซึ่งมีความเสี่ยงต่อไป

ในขณะที่รัฐบาลพยายามปกป้องพื้นที่ในตัวเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรมโดยการหันเหน้ำไปทางอื่นเท่าที่จะทำได้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องเผชิญกับการตัดสินใจว่าจะเลือกช่วยเมืองไหน และเมืองไหนที่จะต้องเสียสละ

ในอยุธยา มีรายงานว่ามีชาวบ้านสองกลุ่มที่เกิดการทะเลาะวิวาทเรื่องทำนบที่กั้นน้ำจากฝั่งหนึ่ง ไม่ให้ไหลเข้าไปอีกฝั่งหนึ่ง ชาวบ้านฝั่งที่โชคร้ายรับน้ำท่วมเกิดความไม่พอใจ ได้ขุดรูตรงคันกั้นน้ำเพื่อปล่อยน้ำให้ไหลไปยังอีกฝั่งหนึ่ง จึงเกิดการยิงต่อสู้กัน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ ยังมีรายงานว่า ทหารได้ถูกส่งไปยังคันกั้นน้ำในบริเวณต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคันกั้นน้ำด้วย

เอวา นาร์คีวิกซ์ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารองค์กร Elephantstay ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ดูแลช้างสูงอายุ ให้ข้อมูลว่า มีช้างราว 15 ตัวในอยุธยาที่ถูกปล่อยเกาะ โดยพวกมันหนีเอาตัวรอดโดยการปีนขึ้นหนีน้ำบนกำแพงยอดสูง ช้างโขลงนั้นประกอบด้วยแม่ช้างเจ็ดตัว และลูกๆของมัน ในจำนวนนั้น ยังรวมถึงช้างอายุ 9 ปีตัวหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วยทักษะการวาดภาพด้วยงวง

“ถ้าหากความช่วยเหลือที่เหมาะสมยังไม่มาถึงเร็วๆ นี้ แม่และลูกช้างจะอยู่ในอยู่ในอันตรายมาก” นาร์คีวิกซ์กล่าว เธอเสริมว่า ช้างแต่ละตัวบริโภคอาหารมากถึง 440 ปอนด์ (ราว 200 กิโลกรัม) ต่อวัน แต่เรือที่อาจใช้ขนส่งกล้วย สับปะรดและอ้อย จำเป็นต้องกู้ภัยและช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามที่ต่างๆ

นายสมิทธ นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ถูกทำให้เลวร้ายกว่าเดิม เป็นเพราะแผนการจัดการน้ำที่ไม่ดี

“พวกเขาคำนวณระดับน้ำผิดไป และไม่ได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้เร็วพอในฤดูฝน” เขากล่าว “และตอนนี้ระดับน้ำในเขื่อนก็เกือบจะเต็มหมดแล้ว พอเมื่อเขาปล่อยน้ำในเวลานี้ น้ำก็ไหลลงมายังพื้นที่ราบต่ำ”

เขากล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นอุปสรรคต่อกระแสการไหลของน้ำ เนื่องจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายยังคงดำเนินการการปลูกสร้างต่อไปไม่หยุดหย่อน

“พวกเขาสร้างอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ควรจะเป็นอ่างเก็บน้ำ” เขากล่าว “และเมื่อพวกเขาสร้างเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำตรงนั้นขึ้นมา มันก็จะปิดกั้นการไหลของกระแสน้ำ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นทางผ่านของน้ำในฤดูฝน”

เมื่อกระแสน้ำท่วมไหลบ่าเข้ามายังกรุงเทพฯ มันก็จะไหลเข้ามายังมหานครที่สูญเสียปราการกั้นน้ำตามธรรมชาติไปแล้ว กล่าวคือ คูคลองต่างๆ ที่ควรจะรองรับน้ำ ได้อุดตันไปด้วยเศษขยะต่างๆ ที่มาพร้อมกับประชากรที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นในเมือง

“การวางผังเมืองของเรานั้นไร้ประสิทธิภาพ” นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

“ฤดูกาลมิได้เปลี่ยนไปมากเท่าไหร่หรอก” เขากล่าว “เรามักจะมีน้ำเยอะมากเป็นพิเศษในฤดูฝน แต่ถ้าหากเรายังไม่มีแผนการจัดการน้ำที่ดี เราก็จะเผชิญกับปัญหานี้อีกในปีหน้า”

เขากล่าวต่อว่า มนุษย์และธรรมชาติเริ่มขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ และการอยู่ร่วมกันก็กลายเป็นสมรภูมิขนาดย่อย “นี่เป็นสัญญานที่เตือนให้เรารู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะอนุรักษ์ผืนป่า... เราทำลายธรรมชาติไปมากพอแล้ว และตอนนี้ ก็เสมือนว่าเป็นเวลาที่ธรรมชาติจะขอเอาคืน”

ที่มา:แปลและเรียบเรียงจาก Seth Mydans. As Thailand Floods Spread, Experts Blame Officials, Not Rains. New York Times. 13/10/54
http://www.nytimes.com/2011/10/14/world/asia/a-natural-disaster-in-thailand-guided-by-human-hand.html

หมายเหตุ: ประชาไทได้แก้ไขข้อความและสำนวนตามคำท้วงติงจากผู้อ่านเพื่อความถูกต้องและสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 54 เวลา 7.50 น.

////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นักธุรกิจยุ่นยันไม่ทิ้งไทย

ห้างค้าปลีกจำกัดซื้อบะหมี่-อาหารกระป๋อง-น้ำดื่มไม่เกินคนละ6ชิ้น

หวั่นคนไทยตื่นแห่กักตุนหวั่นวิกฤติอุทกภัยยาว ขณะที่เอกชนเต้นรายงานตลท.ทยอยปิดกิจการหนี “พาณิชย์” ลั่นห้ามฉวยโอกาสขายสินค้าเกินราคา ขู่เจอคุก 7 ปี ด้านหอการค้าเผยเสียหายกว่า 1.5 แสนล้านบาท แนะเบรกประชานิยมผันงบช่วยน้ำท่วมแทน ญี่ปุ่นย้ำไม่เผ่นหนีไทย โต้งเรียกถกกรรมการฟื้นฟู 17 ต.ค.นี้

ห้างค้าปลีกจำกัดซื้อเสบียง

บรรยากาศภายในห้างค้าปลีกต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ยังมีประชาชนจำนวนมากแห่เข้าไปซื้อสินค้ากักตุนไว้ ทำให้สินค้ากลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง อาหารกระป๋อง และน้ำดื่มไม่มีวางขาย ขณะเดียวกันยังได้จำกัดการซื้อที่ 6 ชิ้นต่อครอบครัว โดยติดป้ายประกาศไว้ชัดเจนว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งห้างค้าปลีกบิ๊กซีและท็อปส์ เนื่องจากโรงงานผลิตสินค้าได้ไม่ทันกับความต้องการและยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ขนส่งสินค้าไม่สะดวก ที่สำคัญยังมีโรงงานบางแห่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ห้างบางสาขาไม่มีสินค้าดังกล่าววางจำหน่ายแล้ว

น้ำท่วมยาวสต๊อกน้ำดื่มหมด

ด้านนายเพิ่มศักดิ์ ยิ้มดี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มตรา สยาม และผู้รับจ้างผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ (โออีเอ็ม) รายใหญ่สุดของประเทศ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้สั่งหยุดผลิตน้ำดื่มทั้งหมด ทั้งเป็นแบรนด์ของบริษัทและที่รับจ้างผลิตน้ำดื่มให้แบรนด์ต่าง ๆ กว่า 100 แบรนด์ เพราะโรงงานผลิตน้ำดื่ม ที่ตั้งอยู่ที่ ต.เชียงรากน้อย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ แต่มั่นใจสต๊อกน้ำดื่มที่มีอยู่จะเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามถ้าสถานการณ์ยังแย่อยู่ต่อเนื่อง อาจเกิดการขาดแคลนน้ำดื่มได้

กกร.ส่งฉก.จับกักตุนสินค้า

วันเดียวกันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้ทยอยรายงานผลกระทบจากภัยน้ำท่วมต่อตลท. อย่างต่อเนื่อง บางแห่งที่มีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ในจ.พระนครศรีอยุธยา ได้แจ้งว่าได้หยุดผลิตเป็นการชั่วคราว ขณะที่โรงงานในนิคมฯอื่นได้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมการค้าภายในเร่งออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ห้ามให้ผู้ประกอบการฉกฉวยโอกาสกักตุนสินค้าและจำหน่ายสินค้าสูงเกิน หรือปฏิเสธการจำหน่าย หรือไม่นำสินค้าออกมาจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ โดยไม่มีเหตุอันสมควร และสั่งให้ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายให้ชัดเจน หากกระทำผิดมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หากประชาชนพบเห็นสามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 และยังได้จัดชุดสายตรวจเฉพาะกิจ 15 สาย ออกตรวจสอบราคาสินค้าด้วย

ถก กก.ฟื้นฟู 17 ต.ค.นี้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ จะเรียกประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจเพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายทั้งหมดโดยยอมรับว่าความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจขณะนี้มีมากกว่า 1 แสนล้านบาท หรือมากกว่า 1% ของจีดีพีประเทศ แต่สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ยังไม่นิ่ง ซึ่งทำให้ประเมินความเสียหายและกำหนดแผนช่วยเหลือทำได้ยาก แต่ต้องอยู่ในกรอบวินัยการคลัง โดยอาจออกมาตรการช่วยเหลือบางอย่าง ซึ่งการใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด โดยจะเน้นหาวิธีอื่นควบคู่ เพื่อทำให้เอกชนสามารถฟื้นฟูกิจการโดยเร็ว

เศรษฐกิจเจ๊งเพิ่ม1.5แสนล้าน

ที่หอการค้าไทย ถนนราชบพิธ เวลา 11.00 น. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจความเสียหายจากอุทกภัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.-12 ต.ค. 54 มีความเสียหายเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วอีก 40,000-50,000 ล้านบาท จาก 1.04 แสนล้านบาท เป็น 1.5 แสนล้านบาท และส่งผลกระทบต่ออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีจาก 0.8-1.0% เป็น1.3-1.5% แบ่งเป็นผลกระทบต่อบ้านเรือน 3,400 ล้านบาท สาธารณสมบัติ 11,000 ล้านบาท การเกษตร 68,000 ล้านบาท อุตสาหกรรม 50,000 ล้านบาท ท่องเที่ยว 8,200 ล้านบาท การค้า 12,347 ล้านบาท และอื่น ๆ 2,500 ล้านบาท นอกจากนี้พื้นที่การเกษตรสำคัญ นาข้าวได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านไร่ เป็น 8 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวเปลือกเสียหายเพิ่มจาก 3.5 ล้านตัน เป็น 5-6 ล้านตัน ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรหายไปถึง 60,000 ล้านบาท

หวั่นจีดีพีหดบี้ธปท.หั่นดอก

“ภาพความเสียหายจากน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้จีดีพีไทยปีนี้จะเหลือขยายตัวเพียง 3-3.5% จากเดิมคาดว่า 3.6% แต่หากไม่คลี่คลายในเร็ว ๆ นี้ จะทำให้จีดีพีปีนี้เหลือเพียง 2-2.5% เท่านั้น ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 19 ต.ค.นี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ประคองตัวไปได้ ไม่เช่นนั้นจีดีพีไทยปีหน้าอาจขยายตัวไม่ถึง 4-4.5%” นายธนวรรธน์กล่าว

เบรกประชานิยมเพิ่มงบน้ำท่วม

นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังน้ำท่วม เพราะการแบ่งงบประมาณแต่ละกระทรวงออกมา 10% ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากมูลค่าความเสียหายขณะนี้สูงถึง 20% ของงบประมาณรวม ดังนั้นงบประมาณโครงการประชานิยมจะต้องเปลี่ยน แปลง โดยที่ดำเนินการไปแล้วต้องเดินหน้าต่อ ส่วนที่ไม่ทำก็คงต้องกลับมาพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะต้องทำหรือไม่ เพราะควรนำงบประมาณมาเยียวยาผลกระทบจากน้ำท่วม

นักธุรกิจญี่ปุ่นย้ำไม่ย้ายฐานหนี

นายเซ็ทซึโอะ อิอุจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร ) กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยืนยันว่ายังไม่มีแผนจะย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนหลังจากพื้นที่อุตสาหกรรมหลายแห่งถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย เพราะว่าไทยยังมีศักยภาพหลายด้านที่สามารถดึงดูดนักลงทุน เนื่องจากน้ำท่วมเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ แต่ต้องการให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาให้น้ำลดเร็วที่สุดและให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาเตรียมตัว

จี้รัฐประกาศภาวะฉุกเฉิน

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า เอกชนต้องการให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ไขและจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ รวมถึงให้รัฐบาลแจ้งล่วงหน้าก่อน 12 ชม. ให้ประชาชนได้ขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ อพยพได้ทัน ไม่ใช่แจ้งก่อนเกิดเหตุการณ์ 3 ชม. เหมือนในปัจจุบัน

บัญชีกลางผ่อนปรน

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินทดรองราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้รวดเร็วขึ้น โดยขณะนี้มียอดขอเบิกจ่ายเงินทดรองราชการกว่า 5,000 ล้านบาท และอนุมัติเบิกจ่ายไปแล้วเกือบ 3,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเบิกจ่ายสูงสุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย พร้อมยืนยันจะไม่ให้การเบิกจ่ายเงินเป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย.

ต้นฉบับ: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=8&contentId=169564

ที่มา: เดลินิวส์
///////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นิติราษฎร์ รุกต่อสู้ทางความคิดทำตำรา นิติรัฐ-ประชาธิปไตย..

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร เปิดแนวรบต่อสู้ทางความคิดใหม่ด้วยการเปิดตัวสำนักพิมพ์จัดทำหนังสือให้ประชาชนได้เรียนรู้หลักการที่แท้จริงของการสร้างอุดมการณ์นิติรัฐและประชาธิปไตย ชี้ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนถูกครอบงำโดยการยกเรื่องคุณงามความดี จารีต และธรรมเนียมมาปิดกั้นความคิดไม่ให้โต้แย้งฝ่ายปกครองจนถูกข่มเหงรังแก ขณะที่คนเรียนนิติศาสตร์ก็ติดอยู่ในกรอบนี้จึงทำให้มีนักกฎหมายจำนวนมากพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐประหารทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ถึงเวลาเข้าสู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญาเพื่อให้ราษฎรรู้จักคิดแบบมีเหตุผล มีคำอธิบาย แทนการก้มหน้ายอมโดยไม่โต้แย้ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการใช้กฎหมายเพื่อช่วงชิงอำนาจและสร้างความชอบธรรม

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ที่สร้างความฮือฮาด้วยการเสนอลบล้างผลพวงจากการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 เพื่อสร้างหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและป้องกันการก่อรัฐประหารในอนาคต เปิดสำนักพิมพ์นิติราษฎร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านกฎหมายให้ความรู้กับประชาชนเพิ่มอีกช่องทางหนึ่งนอกจากเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com ที่ใช้ต่อสู้ทางความคิดมาตลอดหลังเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549

ในคำประกาศก่อตั้งสำนักพิมพ์ระบุว่า หวังให้เป็นกลไกอีกประการหนึ่งในการสถาปนาอุดมการณ์นิติรัฐ-ประชาธิปไตยให้เจริญงอกงามในวงวิชาการนิติศาสตร์

ใช้กฎหมายชิงอำนาจสร้างแผลลึก

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจ สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ตลอดจนทำลายอำนาจ การช่วงชิง สร้างความชอบธรรม และทำลายล้างในนามของกฎหมายและความยุติธรรมนั้น ไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลที่ลึกอย่างยิ่งให้กับวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลสร้างความอยุติธรรมอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมโดยรวมด้วย เหตุที่ทำให้เกิดสภาพการณ์แบบนี้ขึ้นในสังคมก็เนื่องจากผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทชี้นำสังคม และนักกฎหมายที่เป็นชนชั้นนำปิดล้อมความคิดความอ่านของผู้คนด้วยการยกเอาข้อธรรม ความเชื่อในทางจารีตประเพณี ตลอดจนบุคคลที่ถูกสร้างให้เป็นที่ยึดถือศรัทธาขึ้นเป็นกรงขังการใช้เหตุผลและสติปัญญาของผู้คน

วงการกฎหมายต้องก้าวข้ามยุคมืด

เพื่อจะไปให้พ้นจากสภาวะเช่นนี้ สังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์จะต้องก้าวข้ามยุคมืดไปสู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา หรือที่บางท่านเรียกว่ายุคภูมิธรรมหรือพุทธิปัญญา (Enlightenment; les Lumières; Aufklärung) ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้วในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคภูมิธรรมหรือพุทธิปัญญาในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นรากฐานสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ตั้งคำถามสร้างความเคลื่อนไหวทางความคิด

ลักษณะสำคัญของ Enlightenment คือการเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชา โดยการเคลื่อนไหวทางความคิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือคำสอนทางศาสนา ทั้งนี้ โดยถือว่า “เหตุผล” มีคุณค่าเท่าเทียมกับ “ความดี” การใช้สติปัญญาครุ่นคิดตรึกตรอง ไม่หลงเชื่ออะไรอย่างงมงายมีค่าเป็นคุณธรรม ถือว่ามนุษย์ทั้งหลายสามารถได้รับการฝึกฝนให้ใช้สติปัญญาได้ และถือว่าเหตุผลเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างเท่าทัน ยุคนี้เป็นยุคที่เกิดการเรียกร้องให้มีขันติธรรมในเรื่องความเชื่อทางศาสนา

สร้างความเสมอภาคแทนชนชั้น

กล่าวให้ถึงที่สุด ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญาคือยุคที่เสรีภาพจะเข้าแทนที่สมบูรณาญาสิทธิ์ ความเสมอภาคจะเข้าแทนที่ระบบชนชั้น เหตุผล ความรู้ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะเข้าแทนที่อคติและความงมงายทั้งหลาย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้นักคิดสกุลหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) และนักคิดในสายถอดรื้อโครงสร้าง (Deconstruction) จะปฏิเสธคุณค่าภววิสัยและความจริงปรมัตถ์ และเห็นว่าตรรกะไม่ใช่รากฐานเพียงประการเดียวของความรู้ของมนุษย์ก็ตาม แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากเราไม่เริ่มต้นตั้งคำถามและใช้สติปัญญาของเราอันเปรียบเสมือนแสงสว่างขับไล่ความมืดมนคืออคติและความงมงายแล้ว เราก็คงจะสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ที่ยุติธรรมไม่ได้ แม้ว่ายุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญาจะเป็นเพียงยุคสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่การใช้เหตุผลและสติปัญญาแสวงหาความจริงเป็นกระบวนการที่ไม่รู้จักจบสิ้น เราปฏิเสธความเชื่อ จารีตอันงมงายอันปรากฏในวงวิชาการนิติศาสตร์ และอยู่บนหนทางของการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และท้าทายสถาบันทั้งหลายทั้งปวงในทางกฎหมายที่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผลที่สามารถยอมรับได้ เราเห็นด้วยกับคำขวัญของยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา คำขวัญที่ Immanuel Kant (ค.ศ. 1724-1804) นักปรัชญาผู้เรืองนามชาวเยอรมัน ให้ไว้ว่า “จงกล้าที่จะใช้ปัญญาญาณแห่งตน!” (Habe Mut, dich deines eigenen Verstandes zu bedienen!)

วงการนิติศาสตร์เปลี่ยนแปลงน้อย

หากเราย้อนกลับไปที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว เราจะพบความจริงประการหนึ่งว่าวิธีคิดของคนในวงการนิติศาสตร์และระบบ ตลอดจนโครงสร้างขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรม มีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก อาจกล่าวได้ว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นอุดมการณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นไม่ได้ถูกปลูกฝังบ่มเพาะให้เข้าสู่ความรับรู้ของบุคคลในวงการกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น

การเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ในช่วงก่อนการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 ย่อมต้องถือว่าเป็นผลพวงของความล้มเหลวในอันที่จะสถาปนาอุดมการณ์นิติรัฐ-ประชาธิปไตยให้เป็นอุดมการณ์หลักในวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์

สถาบันไม่สอนเรื่องหลักการ

เหตุผลของความล้มเหลวดังกล่าวมีอยู่หลายประการ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งน่าจะเนื่องมาจากการที่สถาบันที่อบรมให้ความรู้ทางวิชาการและฝึกฝนวิชาชีพทางกฎหมายตัดตัวเองออกจากการเรียนการสอนกฎหมายมหาชนในแง่ของหลักการและคุณค่าที่แท้จริง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมาเราจึงได้เห็นการรัฐประหารและล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า เราเห็นบรรดานักกฎหมายรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่พร้อมจะรับใช้คณะรัฐประหารและอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และพร้อมที่จะละทิ้งหลักวิชาที่ร่ำเรียนมาเพื่อตอบสนองความต้องการของการทำรัฐประหาร เราเห็นศาลยอมรับบรรดาประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารให้มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย โดยแทบจะไม่มีการตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในทางเนื้อหาของบรรดาประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะมีผลทำลายคุณค่าของวิชานิติศาสตร์ลงอย่างถึงรากแล้ว ในที่สุดยังเท่ากับเป็นการทำร้ายราษฎรผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐด้วย

กฎหมายต้องใช้เพื่อราษฎร

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้บรรดานักนิติศาสตร์และนักกฎหมายทั้งปวงเห็นว่าวิชานิติศาสตร์ในรัฐเสรีประชาธิปไตยเป็นศาสตร์ที่มุ่งตรงไปที่ความยุติธรรมและความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ ที่สำคัญวิชานิติศาสตร์ต้องเป็นวิชาการที่เป็นไปเพื่อราษฎร การเรียนการสอนในทางนิติศาสตร์ไม่ควรจำกัดอยู่แต่การท่องจำตัวบท คำอธิบายกฎหมาย หรือคำพิพากษาของศาล การเรียนการสอนในทางนิติศาสตร์ไม่ควรเป็นไปเพื่อให้ผู้เรียนตัดขาดตัวเองออกจากสังคม ไต่เต้าบันไดแห่งความสำเร็จทางวิชาชีพเพียงเพื่อในที่สุดแล้วจะได้อยู่ในที่ที่สูงกว่าราษฎร และใช้อำนาจหรือการผูกขาดความรู้ทางกฎหมายเอารัดเอาเปรียบกดขี่ข่มเหงราษฎร

อำนาจเป็นของราษฎร

วิชานิติศาสตร์ควรสอนให้ผู้เรียนได้ตระหนักว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาและเริ่มต้นประกอบวิชาชีพโดยเข้าไปเป็นองค์กรของรัฐและทรงอำนาจในการกระทำการทางกฎหมาย อำนาจที่ตนกำลังใช้อยู่นั้นโดยเนื้อแท้แล้วหาใช่อำนาจของตนเองไม่ แต่เป็นอำนาจของราษฎร ผู้ที่ศึกษาวิชานิติศาสตร์ควรศึกษาอย่างมีจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ และเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะต้องใช้กฎหมายโดยซื่อตรงต่อหลักวิชาที่ยอมรับกันเป็นยุติว่ามีเหตุผลอธิบายได้ ไม่คำนึงถึงหน้าคน การใช้กฎหมายเช่นนี้ในที่สุดแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรทั้งหลาย

สำหรับผลงานหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์นิติราษฎร์คือการจัดพิมพ์หนังสือกฎหมายปกครอง ภาคทั่วไป โดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งเป็นตำราที่ปรับปรุงและขยายความมาจากหนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง : หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองและการกระทำทางปกครอง

ที่มา:หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

**********************************************************************