--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 !!?

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์

ประเด็นที่ ๑
การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙


รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้

๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๓. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

 และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

 ๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง

 ๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๓ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ

๔ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้

 ๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ

ประเด็นที่ ๒
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒


 ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ แล้วนั้น

 ๑. คณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรปฏิเสธว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องแก้ไข ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาและอภิปรายในวงกว้างอย่างจริงจัง

๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙

 ๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๙ (๓)

ประเด็นที่ ๓
กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย
และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙


สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อยมา มีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ มีการใช้ความรุนแรง มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และมีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดังนั้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชน คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม

 ๑. คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับการประกันตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรม (Due Process) ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีทั่วไป

 สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องถูกพิจารณาโดยเคร่งครัดและอย่างเป็นภาวะวิสัย ในขณะที่การเรียกประกันหรือหลักประกันก็ต้องไม่เกินความจำเป็นแก่กรณี ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสอดคล้องกับหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙

๒. โดยอาศัยหลักความรับผิดของรัฐ คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าทดแทน สามารถอาศัยแนวทางตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว

เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้น และการได้รับค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายพึงได้ตามกฎหมายอื่น

 ๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘

ประเด็นที่ ๔
การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

๑. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด ๑๖ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่”

๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง

 ๓. เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้

 ๔. คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล

 ๕. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์


คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔


ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////

5 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ทักษิณ-กองทัพยังไม่วางใจกัน

19 กันยายน 2549 ทักษิณ ชินวัตร อยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนถูกคมช.นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ทำรัฐประหาร

ผ่านไป 5 ปี เต็ม 19 กันยายน 2554 ทักษิณ ชินวัตร ก็อยู่ต่างประเทศเช่นกัน คราวนี้อยู่ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา แต่ก็เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงของประเทศไทย โดยมีน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนอมินี

ครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 วันนี้ หลายคนก็เห็นชัดว่า ทักษิณ ยังคงมีอำนาจการเมืองเช่นเดิม แม้โดนทั้งรัฐประหาร-ยึดทรัพย์-ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกสองปี-ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอุจฉกรรจ์อย่างคดีก่อการร้าย

กลับแผ่นดินเกิดไม่ได้
สิ่งที่คนเห็นและประจักษ์ชัดตอนนี้ก็คือ การทำรัฐประหาร แม้หลายคนยังเชื่อว่าอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อกับการเมืองไทย แต่การทำรัฐประหารก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาการเมืองที่ถูกต้องและสมควรได้รับการสนับสนุน

รัฐประหาร คมช. จึงเป็นรัฐประหารที่สูญเปล่า นอกจากไม่ได้ทำให้ระบอบทักษิณเสื่อมอำนาจ แต่กลับยิ่งทำให้ทักษิณมีอำนาจการเมืองมากขึ้น

แม้จะไม่ได้เป็นผู้เล่น ทักษิณก็เป็นผู้กำหนดความเป็นไปทุกอย่างของการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม มาวันนี้ ปี 2554 วันที่ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยคือผู้กุมอำนาจทุกอย่างในการเมืองไทย แต่ก็จะเห็นได้ว่าแกนนำรัฐบาลทุกคน ก็รู้ตัวดีว่า วันนี้รัฐบาลเพื่อไทย ยังไม่ได้คุมอำนาจการเมืองทุกส่วนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และยังคงหวาดระแวงว่าฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะกลุ่มที่แกนนำเพื่อไทย และคนเสื้อแดงเรียกว่า “ระบอบอำมาตย์” ยังคงรับไม่ได้กับชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง

เพียงแต่คนในเพื่อไทยมองว่า ฝ่ายอำมาตย์ยังหาจังหวะเหมาะ และวิธีการในการโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ ครั้นจะใช้วิธีเดิมๆ คือรัฐประหารด้วยกฎหมาย แบบการตัดสินยุบพรรค ก็ทำไม่ได้อีกแล้ว แต่คนในรัฐบาลเพื่อไทย ก็ยังไม่ประมาท

สถานการณ์ในวันนี้ต่างคุมเชิงกันอยู่

ขณะที่ฝ่ายทักษิณ จะใช้วิธีการเดิมๆ คือเข้าไปรุกคืบ แทรกแซงองค์กรอำนาจอื่นๆ ก็ยังไม่กล้า เพราะมีบทเรียนความผิดพลาดจากรัฐบาลทักษิณ ที่พยายามจะเข้าไปรุกคืบคุมอำนาจทุกส่วนแบบเกินพอดี จนถูกโค่นมาแล้ว

สิ่งที่เพื่อไทยและทักษิณ กำลังวางแผนอยู่ในตอนนี้ ก็คือจะทำอย่างไรเพื่อกระชับอำนาจทุกอย่างให้อยู่ในมือตัวเองมากที่สุด โดยไร้แรงต้าน

วิธีการต่างๆ ที่เริ่มออกมาก็พอเห็นแล้ว อาทิเช่น การตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม ซึ่งฝ่ายทักษิณพูดมาตลอดว่า เป็นกระบวนการที่ไม่มีความเป็นธรรมและสองมาตรฐาน รัฐบาลจึงรีบใช้โอกาสที่ประชาชนกำลังให้โอกาสยิ่งลักษณ์ ในการบริหารประเทศต้องรีบทบทวนกระบวนการยุติธรรม-กฎหมาย รวมถึงตรวจสอบการมีอยู่และการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระทั้งหมด โดยผ่านการตั้งคณะกรรมการอิสระ ว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติหรือ“คอ.นธ.” ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน

แม้รัฐบาลและตัวอุกฤษ จะอ้างว่าคอ.นธ. ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ไปศึกษาเรื่องปัญหาการใช้กฎหมายต่างๆ รวมถึงไปดูว่าทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมมีความเสมอภาค ไม่เป็นสองมาตรฐาน จะไม่เข้าไปแทรกแซงศาลและองค์กรอื่นๆ รวมถึงจะไม่เข้าไปช่วย ทักษิณ ชินวัตรให้พ้นความผิดคดีที่ดินรัชดาฯ
แต่ก็เห็นได้เลยว่า รัฐบาลโดยทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่เบื้องหลังการตั้งกรรมการชุดนี้และให้อำนาจผ่านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.... มีเจตนาแฝงการเมืองอยู่เบื้องหลังในวันข้างหน้าแน่นอน

เพื่อหวังใช้ผลสรุปของคณะกรรมการชุดนี้ เป็นเครื่องมือในการไปอ้างเพื่อแก้ไขกฎหมายหรือปรับปรุงการทำงานขององค์กรตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อตอบสนองการเมืองให้กับรัฐบาลเพื่อไทยรวมถึงทักษิณ และคนเสื้อแดงแน่นอน

แต่ที่ฝ่ายทักษิณ ยังไม่กล้าเปิดหน้าชน หรือเข้าไปจัดระเบียบก็คือ “กองทัพ” เพราะทักษิณรู้ดีว่า ด้วยบุคลิกของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หากการเมืองเข้าไปแตะเกินเส้นแบ่งเข้าไปในพื้นที่อำนาจของกองทัพ “บิ๊กตู่” ไม่มีทางยอมแน่นอน

ทักษิณ จึงยังปล่อยให้กองทัพที่ทักษิณมองว่า อยู่คนละฝั่งกับตัวเอง และพรรคเพื่อไทยรวมถึงคนเสื้อแดงอยู่กันไปก่อน ตอนนี้ยังไม่เหมาะที่จะเข้าไปทำอะไร เพราะทักษิณเชื่อว่า หากฝ่ายการเมืองไม่เข้าไปทำอะไรกับทหาร พลเอกประยุทธ์ ก็คงไม่โอเวอร์แอ็กชั่น

เวลานี้ ทักษิณกับกองทัพ อยู่ในสภาพ ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันไป

แม้บางจังหวะรัฐบาลอาจหน้าแตกเสียเครดิตไปบ้าง ที่ผู้นำทหารไม่แสดงท่าทีตอบรับรัฐบาลชุดนี้มากนัก เห็นได้จากวันแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร ของนักศึกษา 5 สถาบันคือ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, วิทยาลัยเสนาธิการทหาร, วิทยาลัยการทัพบก, วิทยาลัยการทัพเรือ และวิทยาลัยการทัพอากาศ เมื่อ 8 กันยายน ที่ผ่านมา

ฝ่ายรัฐบาลไปกันแบบคณะใหญ่ ทั้ง ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี-เฉลิม อยู่บำรุง -พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก- พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม, พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม

แต่ปรากฏว่า ไร้เงาผบ.เหล่าทัพทุกคน

ทั้งที่การแถลงเรื่องสำคัญๆ ทางด้านความมั่นคงและการทหารแบบนี้ ผู้นำเหล่าทัพ จะปรากฏตัวร่วมงานทุกครั้ง วันดังกล่าว ผบ.เหล่าทัพทุกคนไม่มีใครไปเลย แค่ส่งผู้แทนมาร่วมงานทั้งหมด เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ไปร่วมงาน

ขณะที่ผบ.เหล่าทัพคนอื่น ต่างอ้างว่าติดภารกิจ เช่น พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.ทหารสูงสุด ไปอังกฤษ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. ติดภารกิจพิธีย่ำพระสุริย์ศรี ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี สำหรับ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ติดภารกิจเยือนรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา

หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในช่วง รัฐบาลมีปัญหากับกองทัพ ก็พอได้เข้าใจ แต่เมื่อยังไม่มีเหตุอะไรที่เป็นความขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพในช่วงดังกล่าว มีกระแสข่าวแค่ว่า ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ไปร่วมอวยพรวันเกิด พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เสาหลักของผู้นำกองทัพด้วยการอ้างว่า ป๋าเปรม ไม่เปิดบ้าน รวมถึงตอนนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์แสดงท่าทีจะสร้างสัมพันธ์อันดีทางการทู กับฮุน เซน ที่ก่อนหน้านี้เคยสั่งให้เหตุการณ์ปะทะกันบริเวณชายแดนไทย ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทหารกัมพูชา เปิดฉากรบกับทหารไทย จนนำมาซึ่งความสูญเสียของทหารไทยหลายคนใน

ความขัดแย้งแบบตรงๆ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังไม่มี การที่ผู้นำเหล่าทัพไม่ได้ไปร่วมงานการแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร กับยิ่งลักษณ์ จึงถูกจับตาในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป และก็วิเคราะห์กันว่าดูแล้ว การกระชับพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลชุดนี้กับผู้นำกองทัพ ยังต้องใช้เวลาอีกนาน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดปัญหาความไม่ลงตัวกันในเรื่องการทำโผทหาร ของฝ่ายการเมืองคือ พลเอกยุทธศักดิ์ รมว.กลาโหม กับผู้นำเหล่าทัพ กับตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม จน พล.อ.ยุทธศักดิ์ แก้ปัญหาด้วยการขอให้ยิ่งลักษณ์ นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม อัตราจอมพล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่กระบวนการเริ่มจะติดขัด

แถม รมว.กลาโหม ก็แสดงท่าทีขึงขัง ต้องเอาให้ได้กับการดัน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่ใช่คนที่ผู้นำกองทัพต้องการให้มาทำงานร่วมกัน
ประเด็นนี้เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่า การเดินไปด้วยกันของฝ่ายการเมือง กับกองทัพหากยังมีปัญหาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลแน่นอน

แต่ระยะอันใกล้นี้คงไม่ถึงขั้นจะมีอะไร ฮึ่มๆ ออกมาจากกองทัพหรอก เพราะเวลาและสถานการณ์ยังไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง เพียงแต่การยื่นมือขอปรองดองกับผู้นำกองทัพจากคนในรัฐบาลชุดนี้ แค่เริ่มก็เห็นแล้วว่า

อีกฝ่ายยังไม่ยอมยื่นมือมาจับด้วย

ที่มา: ผู้จัดการ
************************************************************

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ดาวอังคาร. ตกสะเก็ด !!?

ขุมข่ายเครือทหาร กำลังอ่อนล้า เพราะ “ดาวอังคาร” หมายถึงทหารเตี้ยลง เบ็ดเสร็จ??
นับจากนี้ไป, ถึงเดือน มกราคม และ กุมภาพันธ์ุ ปีหน้า “ดาวอังคาร” กลับมาโชติช่วง
ทหารในกองทัพของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ผบ.ทบ. “บิ๊กเฟื่อง” พล.อ.อ.ทิทธิพร ศูภวงศ์ ผบ.ทอ. จะเรืองแสง มีอำนาจอย่างใหญ่หลวง
จะก่อเป็น “ก้อนอำนาจก้อนใหญ่”...เหมือนก้อนน้ำมหึมา ที่ซัดหลายจังหวัดจมนิ่ง!!
จับตาดู ๖ เดือนให้ดี...หวังว่าจะไม่มีการกระชับพื้นที่?...ซึ่งขณะนี้หลายคน เป็นห่วงจริงๆ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๒ สไตล์ ๒ แบบ!!
“นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โหมทำงานหนัก อย่างสายฟ้าแลบ??
ทุกข์ร้อนประชาชน เกิดที่ไหน “นายกฯปู” ลงช่วยเหลือ ไม่มีขาด
นโยบายจาก “ลดน้ำมัน” มาถึง “รับจำนำข้าวเกวียนละ ๑๕,๐๐๐ บาท, ปริญญาตรีเดือนละ หมื่นห้า, แรงงานวันละ ๓๐๐ บาท
หันดู “อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์..จ้องเจาะยาง เตะหลอกสับขา เพื่อให้ “รัฐบาลปู” คว่ำเท่านั้น!!
“ยิ่งลักษณ์”ทำงานตัวเป็นเกลียว..แต่ “อภิสิทธิ์”โชว์ความเขี้ยว?..ดีแต่เจี้ยวไปวันๆ??

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นั่งถ่างขา ๒ เก้าอี้!!
นอกจาก, “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา จะเป็น รมว.กลาโหม ท่านยังเปิบพิสดารเป็น “ประธานโอลิมปิกไทย” อีกตำแหน่งในตอนนี้??
อำนาจเป็น “รัฐมนตรี” วันๆ ท่านก็ทำไม่หมด
หรือกลัวเหมือนสมัย ที่เป็น “รัฐมนตรีช่วยกลาโหม” พรรคไทยรักไทย เป็นแค่๖ เดือน ก็ถูกปลด
พอมาเป็น “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ในสมัย “พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ.อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม ก็ถูก “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจเสร็จสรรพ!!
ที่ไม่ทิ้งเก้าอี้ “โอลิมปิกไทย”...หากโดนปลดวันใด?..ยังมีตำแหน่งให้นั่งอยู่ไงล่ะครับ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

“วางหมาก” กันไว้จม!!
หลังเกษียณ โยกย้ายทหารกลางปี ๕๕ ในเดือนเมษาฯ...พล.อ.ทรงกิตติ จักรบาตร์ ผบ.สูงสุด มั่นใจว่า ตัวเอง จะได้เป็น “รัฐมนตรีว่าการกลาโหม”??
จึงผลักดันให้ “พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์” ประธานที่ปรึกษากองทัพไทย ก้าวขึ้นเป็น “ปลัดกลาโหม” ในฐานะแม่บ้าน
โดยศรีภรรยา “บิ๊กเสถียร” เป็นการ์ดคนเสื้อแดง เมืองอุบลฯ จึงน่าได้ตำแหน่งสำคัญ
ขณะเดียวกัน, “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ใช้กำลังภายใน หนุน “พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์” เด็กสร้าง ก้าวมาเป็น “ปลัดฯ”..แต่ “พล.อ.ทรงกิตติ จักรบาศร์” เกรงว่าอีก ๖ เดือน ถ้ามาเป็น “รมว.กลาโหม” ก็จะทำงานกันไปคนละทิศละทาง!!
กำลังภายในใครจะร้อยแสงเทียน...แต่ขอกราบเรียน?..ตอนนี้ “พล.อ.เสถียร” แรงดีจัง??

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทหารอีกเรื่อง..ที่ว่ายังมาแรง!!
ก้อ,“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยังจะให้ “ตท.รุ่น ๑๒” ใหญ่ยกแผง??
เป็นการขยายปีก “กลุ่มบูรพาพยัคฆ์” และ เพื่อนร่วมรุ่น ให้ก้าวมาเติบโต รับผิดชอบ
แต่ “ฝ่ายการเมือง” มองว่าการทำเช่นนั้น ...เหมือนโดน “ล้อมกรอบ”
ซึ่ง “บ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม อย่าปล่อยให้เขา กระตุกหนวดเสือ
“บิ๊กยุทธ์ศักดิ์”ทำทุกอย่างดีพร้อม..ใช้นโยบายประนีประนอม?..แต่ยอมทุกเรื่อง อำนาจท่านจะไม่เหลือ??

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

นาล่มจมบาดาลวิกฤติซ้อนโอกาสอนาคตจำนำข้าวในมือรัฐ !!?

เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่องสำหรับนโยบาย รับจำนำข้าวของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วย และฝ่ายที่เห็นแย้ง

เด่นชัดที่สุดคือการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจาก “อัมมาร สยามวาลา” นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ที่ออกมา ทุบโต๊ะกลางวงสาธารณชนว่านี่คือนโยบาย “ดีแต่โม้” และทำไม่ได้จริง นั่นก็เป็นธรรมดา ที่รัฐบาลจะต้องออกมายืนยันประทับตราในนโยบายที่ได้ประกาศออกไปแล้วว่างาน นี้ไม่มีบิดพลิ้วแน่นอน

ก่อนที่ ครม.จะอนุมัติเงินก้อนโต 4 แสนล้านบาท ออกมาเดินหน้าโครงการเพื่อสยบข้อข้องใจทั้งหลายที่ประเดประดัง เข้ามา ต่อไปจากนี้ เหลือแต่เพียงการติดตาม ดูผลลัพธ์สุดท้ายว่าจะลงเอยในรูปแบบใดแต่ที่ตีธงนำตุนคะแนนนิยมจากชาวนา ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว คือภาพความรวดเร็ว ในการทำงานที่ไม่มะงุมมะหงาหรา ดังเช่น รัฐบาลที่ผ่านมา

กระนั้น ยังมีคำถามตามมาว่า นโยบาย จำนำข้าวจะนำพาความมั่งคั่งมาสู่มือรากหญ้า อย่างแท้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในยามที่ผืน นาผืนไร่กำลังอ่วมกับปัญหาน้ำท่วม ส่งผล ให้เกษตรกรในภาคกลางต้องประสบกับปัญหานาล่มกันอย่างถ้วนหน้าในเมื่อเป็นการจำนำหากไม่มีของไป วาง ต่อให้เสนอราคาสูงลิบลิ่วเม็ดเงินเหล่า นั้นก็ไม่สามารถย้อนกลับมาที่ชาวนาได้โดยง่าย ในทางตรงกันข้าม ก็ได้มีข้อคลางแคลงใจซึ่งเป็นปัญหาเดิมจากการจำนำข้าวตามมาอีกว่า งานนี้จะมีการสวมสิทธิ์ทับซ้อนซ้ำรอยเหตุฉาวในอดีตหรือไม่

สรุปคือ เกษตรกรที่ทั้งนาล่มและไม่ ล่ม นายทุนผู้กักตุนข้าวในประเทศไว้ในสต็อกจำนวนมาก หรือข้าวสวมสิทธิ์จากต่างประเทศ ใครจะได้รับผลประโยชน์จาก นโยบายดังกล่าวอย่างแท้จริง

“ปราโมทย์ วานิชานนท์” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และกรรมการนโยบายการข้าวแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวผ่าน “สยามธุรกิจ” ว่า นโยบายการรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย เป็นปัญหาที่คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดผลเสียตามมาภายหลังอย่าง แน่นอน เพราะนโยบายมีแรงจูงใจให้เกิดการทุจริตมาก เฉพาะผลตอบแทนที่ได้จาก ส่วนต่างก็คุ้มค่าแล้ว คนที่จะได้รับประโยชน์ จากเรื่องนี้ คือ ผู้ที่กำหนดนโยบาย ส่วนช่อง ทางมีมากมายในการทุจริต เพราะอาศัยช่องโหว่ของนโยบายเอง

โดยในเบื้องต้นบรรดากลุ่มผู้ประกอบ การโรงสีข้าว จะทำการรับซื้อข้าวจากชาวนา เพียงตันละ 8,000-9,000 บาท และนำไป กักตุนเพื่อปั่นราคาข้าว ไปขายต่อให้กับรัฐบาลตันละ 15,000 บาท โดยจะมีการ ปลอมแปลงใบประทวน แอบอ้างเป็นชาวนา ซึ่งจะได้รับความเสียหายหลายล้านบาท

สำหรับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลต้องเร่งช่วย เหลือแม้จะเป็นเพียงบางส่วนของชาวนา คือประมาณ 0.5% เพราะนาส่วนใหญ่เก็บ เกี่ยวไปหมดแล้ว แต่ในส่วนนี้ติดที่ปัญหาเพลี้ย กระโดด จึงทำให้ต้องปลูกล่าช้ากว่าที่อื่น ประกอบกับปีนี้น้ำมาเร็ว และมากกว่าที่คาด ไว้ทำให้กำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวเป็นไปได้ ยาก เพราะถ้าข้าวอ่อนไปโรงสีก็จะไม่รับซื้อ

โดยมาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือ คือจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ล่ะ 2,200 บาทต่อไร่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แม้จะเพิ่มขึ้นมาจาก เดิม แต่การลงทุนของชาวนาต้องใช้ไร่ละ 5,000-6,000 บาทต่อไร่ ฉะนั้น ชาวนาจะ ต้องไปกู้เพิ่มอีกอย่างน้อย 2,800 บาทต่อไร่ แต่ปัญหานาล่มชาวนาไม่ได้ขาดทุนเฉพาะ กำไร แม้แต่เงินทุนที่ลงไปก็ไม่เหลือ หากคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาท กับเงิน 2,800 บาทต่อไร่ แค่ 10 ไร่ชาวนาก็ตายแล้ว

สังเกตดูสมัยก่อน ชาวนาทำนาในพื้นที่ของตัวเอง แต่สมัยนี้ต้องไปเช่าที่นาตัวเองทำก็เพราะปัญหาแบบนี้เอง เงินมัน ทบไปทบมา ดอกท่วมสุดท้ายที่นาจำนองก็หลุด ซึ่งในความเป็นจริงปัญหานี้หากรัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือจริงๆ ก็ควรจ่าย ค่าชดเชยให้กับชาวนาตามจริง คือเงินทั้งหมดที่ทุ่มลงไปกับการทำนา โดยคิดเฉลี่ย พื้นที่กับระยะเวลา ก็จะคำนวณได้ค่าตามจริง

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุอีกว่า อีกปัญหาคือการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ เรื่องนี้ก็เป็นอีกปัญหาที่น่าห่วง เพราะเมื่อไม่มี ข้าวเป็นของตัวเอง แต่ยังมีสิทธิ์จำนำ หาก มีพ่อค้า หรือใครมายื่นข้อเสนอให้ก็จำเป็น ต้องรับ อัตราราคาข้าวเปลือกของประเทศ เพื่อนบ้านขณะนี้ หากคิดส่วนต่างจากราคา จำนำข้าวหักลบแล้วยังไงก็คุ้มทุน

ข้าวจากพม่าไม่เกิน 6,000 บาทต่อตัน จากเขมรประมาณ 7,000 บาทต่อตัน เวียดนามอาจจะราคาสูงหน่อย เพราะราคา อยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน แต่หากเทียบกับที่รัฐบาลไทยให้คือ 15,000 บาทต่อตัน หัก ภาษีให้ค่าสิทธิ์กับชาวนาอีกนิดหน่อย อย่างไรกำไรก็ได้เต็มๆ นั่นแสดงถึงแรงจูงใจ ที่เกิดขึ้น และเป็นละครที่ถูกกำหนดบทบาท มาอยู่แล้วไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น

ความจริงปัญหานี้แก้ไขได้ คือการจำนำข้าวจะต้องมีการกำหนดปริมาณข้าว ตามจริงกับจำนวนพื้นที่เพาะปลูก เหมือน สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ตอนนั้นก็ใช้นโยบายจำนำข้าวเช่นกัน แต่มีการจำกัด ปริมาณข้าว ก็เหมือนสงวนสิทธิ์เฉพาะชาวนา โอกาสจะสวมสิทธิ์จำนำถึงแม้จะมี บ้างแต่ก็น้อย เพราะชาวนาต้องรักษาสิทธิ์ ตัวเอง ถ้าข้าวตัวเองยังเหลือก็ไม่จำเป็นต้อง ไปเอาข้าวของคนอื่นมาจำนำ และรัฐบาล จะให้ราคาสูงเท่าไหร่ก็ได้เพราะถือเป็นการช่วยชาวนาซึ่งมาตรการมันถูกบังคับด้วยปริมาณอยู่แล้ว ต่างจากรัฐบาลชุดนี้ที่รับจำนำในราคาสูง แต่รับจำนำแบบไม่มีปริมาณ เท่าไหร่รับหมด นโยบายมันจึงเกิดช่องโหว่

สำหรับผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต นั่นคือกลไกการค้าข้าวในตลาดโลก เพราะเมื่อรัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้ สินจำนวนมาก จึงจำต้องขายข้าวในราคาที่ สูงกว่าราคาตลาดโดยรอบ ทำให้อาจสูญเสีย ลูกค้าหลักที่เคยสั่งซื้อจากไทย และการกู้คืน ลูกค้ากลับมาเป็นเรื่องยาก แม้จะบอกว่าข้าวไทยดีกว่า แต่ด้วยราคาที่แตกต่าง ลูกค้า จะหันไปบริโภคข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้มากกว่า กลไกที่เราสร้างมากว่า 30 ปีอาจต้องพังลง

แม้จะไม่เป็นบวกต่อนโยบายจำนำข้าว ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” สักเท่าไรนัก แต่ก็ถือเป็นความคิดเห็นของคนในวงการข้าว ที่ฝ่ายบริหารต้องเปิดใจรับฟัง เพื่อรวบรวม เป็นฐานข้อมูลในการผลักดันนโยบายจำนำข้าวที่รัฐได้ประกาศในช่วงหาเสียง.. ให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมกับทุก ฝ่ายอย่างแท้จริง

ที่มา:สยามธุรกิจ
*************************************************

ปลวกแผ่นดิน

เพราะ...มันคือ ทีดีอาร์ไอ...ต่างหาก...เสียงเพรียกคำเตือน ถึงกลายเป็นเรื่องขบขัน
เพราะ...หน้าที่ของ ทีดีอาร์ไอ...คือ...สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย...แต่...นอกจากงบประมาณจำนวนมากแล้ว...ไม่มีอะไร...นอกจากคนกลุ่มหนึ่ง..

เมื่อประชาธิปไตยมีปัญหา...ฝูงชนรวมตัวกันออกมาล้มตายให้กับการต่อสู้...ไม่มี ทีดีอาร์ไอ...บนท้องถนน...ปราศจากเงาแม้ในจอทีวี

เมื่อเผด็จการครอบงำประเทศ...นั่นหรือการพัฒนาประเทศของ ทีดีอาร์ไอ..
นักวิชาการเกียรติคุณ...อัมมาร สยามวาลา...ของ ทีดีอาร์ไอ...ออกมาวิพากษ์ว่า..."รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายพรั่งพรูออกมาโดยไม่ได้คิด ซึ่งต่างจากรัฐบาลทักษิณยุคแรก เวลานี้ผมจึงเห็นว่า นักการเมืองกำลังหันซ้ายหันขวา แก้ปัญหาไปวันต่อวัน โม้ไปวันต่อวัน"

มีหรือ...นโยบายพรั่งพรูออกมาโดยไม่คิด..

ใช่หรือ...รัฐบาลนี้ไม่ใช่ทักษิณ

รัฐบาลที่มีฐานทางสภา...มากมายแน่นหนา...และมีพรรคฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพอย่างประชาธิปัตย์...ต้องระมัดระวังอย่างหนักในเกือบทุกองคพยพที่ประกอบกันเป็นประเทศ...จะมัวแต่หันซ้ายหันขวา หรือโม้ไปวันๆ..
โม้ไปวันๆ หรือ...ราคาน้ำมันที่ขูดรีดขูดเนื้อประชาชนมาเป็นสิบๆ ปี...ถึงถูกปัดเป่าออกไป...ประชาชนเคยได้รับของขวัญในระดับนี้จากรัฐบาลไหน..

ทำไม...ประเทศถึงต้องขูดรีดประชาชน...บนความจำเป็นของการใช้ชีวิต...

ทำไม...ประชาชนต้องเสียภาษีทั้งทางอ้อมทางตรง...โดยที่ไม่เคยได้รับอะไรตอบแทน...แม้แต่เตียงนอนของคนไข้อนาถาในโรงพยาบาล...

พวกคุณทำอะไรอยู่...ทีดีอาร์ไอ งานพัฒนาประเทศไทยภาษีที่ประชาชนหยิบยื่นให้...เพื่อมาก่นด่ารัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามากระนั้นหรือ...

ใครกันแน่ที่โม้ไปวันๆ...ใครกันที่เป็นปลิงเป็นผีกระสือ...อิ่มหมีและสืบพันธ์ุอยู่บนงบประมาณของประชาชน

สภาของประชาชน...หยิบยกกันขึ้นมาดูทีไม่ดีกว่าหรือ...ค่าใช้จ่ายเพื่อปลิงเพื่อหมัดเหล่านี้ ควรจะมีอยู่หรือไม่...

ทำลายมันซะ...ปลวกงบประมาณ...เหล่านี้

โดย:พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ยิ่งลักษณ์ พร้อมสู้เพื่อกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.

นายกรัฐมนตรียัน จะไม่เป็นลูกไล่ "ฮุนเซน" ลั่นเป็นคนไทยต้องปกป้องอธิปไตย ยันใช้ข้อกฎหมายต่อสู้กรรมสิทธิ์ใน 4.6 ตารางกิโลเมตร อย่างเต็มที่...

เมื่อเวลา 11.45 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือข้อพิพาทเขาพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อนกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการเยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ในส่วนของเขาพระวิหาร เราจะยึดแนวทางของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา(จีบีซี) ตามแนวของศาลโลก

ส่วนแนวของทหารนั้น ก็จะมีการเสริมตำรวจเข้าไปแทนทหาร เพื่อที่จะมีกรรมการกลางในเรื่องของคณะกรรมการทั่วไปไทย-กัมพูชา(จีบีซี) เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสงบในพื้นที่ทั้งสองฝ่าย ส่วนจะทำการถอนทหารเมื่อไรนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คงต้องให้หน่วยงานและจีบีซีทำงาน แต่โดยหลักการ ทางกัมพูชาเห็นชอบในเรื่องของการที่เขาจะปรับปรุงกำลังตามแนวชายแดนโดยปฏิบัติตามศาลโลก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรมีการเจรจากันอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังไปถึงแค่หลักการตรงนี้ แล้วที่เหลือ เรื่องก็อยู่ที่ศาลโลก ในส่วนของเราเอง เราต้องปฏิบัติตามคำสั่ง และในส่วนของประเทศไทยก็ต้องทำการปกป้องอธิปไตยของเราอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่า รัฐบาลคิดว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเราหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตรงนี้เรายังพูดไม่ได้เพราะจะมีเรื่องของคณะกรรมการที่จะมีผลต่อศาลโลกในการให้ข้อมูล แต่เราเองจะทำหน้าที่ในการที่จะหารือกัน เพราะมีคณะกรรมการที่ตั้งไว้ในรัฐบาลที่แล้ว เราคงจะเดินหน้าต่อในการทำหน้าที่ และต้องมีผู้รู้ทางกฎหมายทำในเรื่องของการทำงานนี้ โดยยึดแนวการปกป้องรักษาอธิปไตยของประเทศไทย

เมื่อถามว่า แต่สมเด็จฮุนเซน บอกว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเขา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การยืนยันคนละประเภทกัน เราเองต้องใช้หลักฐานที่เรามีอยู่ทั้งหมดในการต่อสู้คดี ที่ต้องทำให้เต็มที่ เมื่อถามว่า เราจะต่อสู้ในเรื่องพื้นที่ 4.6 ตร.กม.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราจะยืนยันในการสู้ในเรื่องตามข้อกฎหมายให้เต็มที่

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงานทางทะเลที่กัมพูชาบอก แบะท่าว่าอยากจะนำขึ้นมาใช้ เราจะใช้หลักการเดียวกันกับการเจรจาของมาเลเซียหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราจะยึดตามเอ็มโอยูเก่าที่จะนำมาดู ในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น ต้องให้ทางรมว.ต่างประเทศนำไปหารือใน ครม. ในเรื่องของการจะเปิดเจรจา และเราคงต้องตั้งหลักจากเอ็มโอยู แล้วก็ตั้งคณะกรรมการเข้าไปทำการเจรจาอย่างเปิดเผย ประเด็นนี้ย้ำว่า เราจะทำอย่างเปิดเผย และมีคณะกรรมการที่ทำทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา

ต่อข้อถามถึงปัญหาของไทยกับกัมพูชา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ปัญหาจะมีสองเรื่อง คืออยู่ในพื้นที่แนวแบ่งที่ยังไม่ลงตัวกัน และเรื่องของการแบ่งพื้นที่ตัวผลประโยชน์ ทั้งนี้ต้องใช้รูปแบบเอาเอ็มโอยู มาดูและศึกษาต่อ เมื่อถามว่า เป็นในรูปแบบ 50 :50 หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังขออนุญาตไม่ตอบในมุมนี้ เพราะมันจะเป็นเรื่องของเงื่อนไขการเจรจา เราไม่อยากจะพูดตรงนี้ไป ขอให้มีคณะกรรมการที่ทำงานและเจรจา เราจะดำเนินการเร็วที่สุด ก็คงจะให้รมว.ต่างประเทศศึกษา และนำเรื่องเข้าครม.

เมื่อถามว่า บรรยากาศจะเอื้อขนาดไหนต่อการเจรจา นายกฯ กล่าวว่า จากที่เราได้คุยกันก็เห็นว่าบรรยากาศดีขึ้น เขาเองก็มีความตั้งใจที่อยากจะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ เพราะในส่วนของการค้าขายหลังจากหยุดชะงัก ดังนั้นก็คงต้องแยกเป็นสองเรื่องคือ เรื่องที่มีข้อพิพาทก็ต้องว่ากันไปตามคณะกรรมการเจรจา ทั้งสองประเทศก็คงต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ส่วนไทยก็ทำหน้าที่ตามกฎหมายและข้อเจรจา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ เราเริ่มที่จะเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันดีในเรื่องของการเปิดค้าขาย ที่เราเห็นด้วยว่าจะมีการเปิดช่องทางชายแดนแถวสระแก้ว และเราจะดูพื้นที่อื่น ก็คงต้องหาคณะทำงานด้วยกัน โดยมีการเสนอให้ รมว. มหาดไทยทั้งสองประเทศเป็นเจ้าภาพ และคุยกันในแต่ละพื้นที่ด้วย

เมื่อถามว่า เมื่อก่อนประเทศไทยมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือช่วงเขมรแตก แต่ทำไมวันนี้เขมรถึงมีบทบาท และมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางทางการเมืองของประเทศไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ้มก่อนย้อนถามว่า “ไหนคะ ยังไม่มี เขายังไม่กำหนดทิศทางเลยนะคะ” เมื่อถามว่า เราต้องเดินแนวทางทางการเมืองตามเขาหรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่ใช่หรอก วันนี้ต้องบอกว่า มันมีปัญหาสองส่วน คือเราเอง เรื่องแรกต้องทำงานในการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สอง คือ ต้องมานั่งดูปัญหาเก่าว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราถึงจะนำเข้าไปในเรื่องใหม่ เพราะวันนี้เราเองยังคุยปัญหาเก่ายังไม่ลงตัว และเราจะไปนำปัญหาใหม่อีก มันก็จะไม่จบสักที

เมื่อถามว่า ยืนยันว่าไทยเป็นตัวของตัวเอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “แน่นอนค่ะ ดิฉันเป็นคนไทย ดิฉันต้องปกป้องอธิปไตยของประเทศไทย แล้วก็รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เรียนว่าการทำงาน เราจะทำอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส ให้ประชาชนได้รับทราบอยู่แล้ว เราจะปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และการทำงานทางการทูตอย่างถูกต้อง"

เมื่อถามว่า นายกฯ ไปกัมพูชา และวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เดินทางไปกัมพูชา คิดว่าเป็นแง่ของความสัมพันธ์ที่มีอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ทราบอยู่แล้วว่าทุกครั้งเราเจรจาอย่างเปิดเผย ตนก็ทำไปงานในฐานะของรัฐบาล ในการเจรจาอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว และก็ไม่มีอะไรที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองอยู่แล้ว เมื่อถามถึงการเดินทางไปกัมพูชาของ พ.ต.ท.ทักษิณ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “ไม่ทราบค่ะ ดิฉันก็ไม่ได้ทราบค่ะ”

ที่มา.ไทยรัฐออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สื่อนอกตีข่าว-ภาพ.ยิ่งลักษณ์ พบ ฮุนเซน ต้อนรับอย่างสมเกียรติ !!?


สำนักข่าวต่างประเทศ เผยแพร่ภาพการพบปะหารือระหว่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงพนมเปญ ระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการคาดหวังว่า สองประเทศจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้แนบแน่นเพื่อแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ หลังเปิดศึกต่อกันในสมัยรัฐบาลไทยชุดก่อน นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมคณะ ประกอบด้วยนายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรส นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสมปอง สงวนบรรพ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนากรัฐมนตรี คณะเจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ ในเวลา 15.25 น.

เมื่อคณะของนายกรัฐมนตรีเดินทางถึงกัมพูชา นางอึง กัตถาภาวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสตรี ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีเกียรติยศต้อนรับและเชิญนายกรัฐมนตรีร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาพร้อมภริยารอต้อนรับ มีพิธีตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ

ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า กัมพูชาต้อนรับคณะของนายกรัฐมนตรีไทยอย่างอบอุ่น ตลอดเส้นทางที่รถของคณะผ่าน มีเด็กนักเรียนและประชาชน ยืนเรียงแถวริมทางเท้าตลอดเส้นทาง โบกธงชาติไทยพลิ้วไสว ต้อนรับคณะ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีเข้าหารือข้อราชการกับสมเด็จ ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ก่อนเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชา ณ พระราชวังเขมรินทร์ จากนั้น เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ณ สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันเดียวกันเวลา 21.20 น.

ที่มา:บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

เปิดใจ ธิดา-หมอเหวง. 5 ปี - 15 ล้าน เสียงแลกกับชีวิตความเสียหายของ ปท.-ให้พท.ถอนพิษรัฐประหาร !!?

สัมภาษณ์พิเศษ
หลังเพื่อไทย จัดระเบียบอำนาจในฝ่ายบริหารลงตัว

จัดวางคนเสื้อแดงใส่ในคณะรัฐบาลครบทุกโครงสร้างอำนาจ

พร้อมจัดทีมนักการเมืองอดีตกรรมการบริหารไทยรักไทย 111 คน และอดีตกรรมการบริหารพลังประชาชน 37 คน เข้าประจำการเป็นทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ทุกทีม เป็นหัวขบวนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ "เนติบริกร" บริการป้องกันอุบัติเหตุการเมืองให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

จากนี้ไปทั้งองคาพยพเสื้อแดง-เพื่อไทย เตรียมขับเคลื่อนแก้ไขเครื่องมือบริหารประเทศ

เพื่อออกแบบฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติและตุลาการใหม่ทั้งฉบับ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 2550 จะถูกรื้อ-ย้าย ด้วยการใช้แนวรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 เป็นตัวตั้ง และเพิ่มเติมตามเจตนารมณ์เพื่อไทย

ทั้งวาะรัฐบาลเพื่อไทยที่เริ่มต้นขึ้น

ทั้งวาระ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยา 2549

ทั้งวาระที่นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 จะพ้นโทษการเมืองกลางปี 2555

ทุกวาระ ทุกพลัง จะถูกนำมาใช้ในการผลักเคลื่อนวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อการปรองดอง ทั้ง นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ และ น.พ.เหวง โตจิราการ คือตัวแทนของการขับเคลื่อน 2 ขา ทั้งใน-นอกสภาผู้แทนราษฎร

สนทนาแนวทางขับเคลื่อนเขยื้อนประเทศไทย ด้วยหัวขบวนเสื้อแดง และเนื้อในพรรคเพื่อไทย
ธิดา ถาวรเศรษฐ์
5 ปี แลกกับชีวิตความเสียหายของประเทศ
- ความเคลื่อนไหวเสื้อแดงหลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเป็นอย่างไร
คนเสื้อแดงหยุดไม่ได้ เพราะเรา ไม่ได้ต่อสู้เพื่อรัฐบาล แต่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราถือว่าการเมืองไทยขณะนี้ยังปกครองด้วยระบอบอำมาตยาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยการเลือกตั้งเป็นเปลือกนอกเท่านั้นเอง แต่เนื้อแท้นั้นมันไม่ใช่ ตราบใดที่ผู้ถืออาวุธ ผู้ถือตราชั่งไม่ได้เกี่ยวโยงกับประชาชน เราต้องการสร้างความเข้มแข็ง บนผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม หรือของพรรค และคุณทักษิณ

สำคัญที่สุดคือเราต้องการชนะทางการเมือง เพราะเราไม่มีกองกำลัง เราไม่ใช่กลุ่มพรรคปฏิวัติ หากสู้ด้วยอาวุธก็ไม่ชนะหรอก

เป้าหมายเฉพาะหน้า คือโค่นล้มรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย ล้มกระบวนการยุติธรรม ส่วนเป้าหมายระยะกลาง คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และเป้าหมายระยะยาว เราไม่เอาระบอบอำมาตย์ แต่เมื่อเป้าหมายเฉพาะหน้าเราชนะแล้วคือการชนะเลือกตั้ง ทำให้ต้องเลื่อนเป้าหมายระยะกลางขึ้นมาคือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และผลิตผลของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มาเป็นเป้าหมายเฉพาะหน้าแทน

ยุทธศาสตร์ของเรา คือเดินด้วย 2 ขา ทำงานด้วย 2 แขน ใน 5 เขตยุทธศาสตร์ เน้นการทำงานด้านขาในรัฐสภามากขึ้น ส่วนขาประชาชน จัดตั้ง ยกระดับ เคลื่อนไหวมวลชน ในเขต ชนบท เขตเมือง เขต กทม. สังคม อินเทอร์เน็ต ในต่างประเทศ ประสานการเคลื่อนไหว การต่อสู้ของประชาชน เข้ากับการต่อสู้การเมืองในระบบ ยึดกุมมวลชนพื้นฐาน ช่วงชิงชนชั้นกลาง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน นักธุรกิจ และผู้รักประชาธิปไตยรักความเป็นธรรม

- จะแก้ไขระบบตุลาการที่เป็นอำมาตย์อย่างไรบ้าง
ตุลาการเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พูดง่าย ๆ ว่าต้องยึดโยงกับประชาชนด้านใดด้านหนึ่ง บางประเทศประธานศาลฎีกามาจากรัฐสภาเป็นฝ่ายเลือก แต่มันอาจมีวิธีอื่นอีกก็ได้ หากไม่ยึดโยงกับประชาชนเขาก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแคร์ประชาชน

- ผ่านการรัฐประหารมา 5 ปี ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
หลังรัฐประหาร 5 ปี เกิดความถดถอยของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้บ้านเมืองถอยหลัง ทำให้ศักยภาพทางการแข่งขันของเราล้าหลังมาเป็นลำดับ เพราะอนุรักษนิยมทางการเมืองจะทำให้เกิดอนุรักษนิยมทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม พวกนี้ต้องการให้ประเทศถอยหลัง หรือคิดว่าควรหยุดประเทศไว้ก่อน

เพราะถ้าประเทศก้าวไปข้างหน้าแล้วเขาคิดว่าเขาสูญเสียอำนาจ

เมื่อประเทศก้าวไปข้างหน้าแล้ว ก็จะมีกลุ่มทุนนอกอาณัติใหญ่ขึ้น เช่น กลุ่มทุนทักษิณ ซึ่งธรรมชาติพวกจารีตนิยม อนุรักษนิยมไม่ต้องการก้าวไปข้างหน้า เพราะกลัวว่ากลุ่มทุนใหม่มาแย่งอำนาจ หรือ ไม่ต้องการให้ประชาชนแข็งแรงเพื่อเปลี่ยน แปลงประเทศ

เพราะทั้งหมด คือความเสี่ยงของคนชั้นกลาง คนชั้นสูง ที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เพราะเขามีความสุขกับภาวะที่มีความสุขอยู่แล้ว

เราต้องการระบอบประชาธิปไตย แบบทุนนิยมเสรี เพื่อที่จะทำให้ประเทศชาติมีศักยภาพในการแข่งขัน และในขณะเดียวกันต้องมีโอกาสของคนที่ด้อยโอกาส ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

เพราะฉะนั้นกลุ่มทุนต่าง ๆ ต้องสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยซ้ำ เพราะวิธีคิดของเราเป็นแบบเสรีนิยม เป็นเหตุผลที่เราต้องก้าวต่อไป เราหยุดไม่ได้ เราทำความเข้มแข็งให้เกิดในหมู่ประชาชน เราไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบสาธารณรัฐ

ที่ผ่านการต่อสู้มา 5 ปี ประชาชนมีองค์ความรู้ นี่เป็นสิ่งที่หาค่าไม่ได้ แต่มันแลกกับชีวิตความเสียหายของประเทศ ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่ระบอบอำมาตย์ต้องการ แต่มันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเขา

ข้อดีข้อนี้ไม่ได้มาจากจุดมุ่งหมายของคณะรัฐประหาร แต่กลายเป็นผลดีเล็ก ๆ ขึ้นมา แล้วจะเป็นผลดีที่ยิ่งใหญ่คือการตื่นตัวของประชาชน

และนี่เองจะเป็นรากฐานของชัยชนะประชาชน ซึ่งรู้สึกพอใจอย่างยิ่งและจะเดินหน้าต่อไป จะมีความสุขที่สุดเมื่อคนรากหญ้าพูดเรื่องการเมืองได้อย่างแหลมคม จนทำให้นักวิชาการ และคนชั้นกลางได้ยินแล้วสะอึก

- การใช้อำนาจรัฐบาลร้อนแรงมาก เกรงหรือไม่ว่าจะเกิดการรัฐประหารอีก
เขาไม่มีเหตุผลหรอก เขาอยากจะทำอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรก็อยากจะทำ คุณไม่เห็นเหรอนายกฯไปไหน เขายังไม่ไปต้อนรับเลย ผู้นำประเทศไปถึงบ้าน ผบ.เหล่าทัพ บก เรือ อากาศ ยังไม่มาต้อนรับ ไม่เห็นเกรงใจเลย เพื่อจะบอกว่าอำนาจไม่ได้อยู่ที่คุณนะ ถ้าผมไม่พอใจ ผมไม่มาต้อนรับคุณก็ได้

- กลุ่มเสื้อแดงมีหลายอุดมการณ์ จะขับเคลื่อนอย่างไรให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ไม่มีปัญหา...(เน้นเสียง) บางครั้งสื่อ ดูไม่ออกเห็นคนนั้นคนนี้ก็เป็นแกนนำ แล้วตัวเขาก็บอกว่าตัวเองเป็นแกนนำ สื่อก็ไปเชื่อตาม แม้แต่สื่อเสื้อแดงเองก็ยังไม่รู้เลยว่าใครมีกำลังเท่าไหร่ ใครเป็นคนที่ประชาชนเชื่อมั่น บางที คนที่ออกสื่อบ่อยอาจไม่ใช่แกนนำก็ได้ ถ้าเป็นคนเสื้อแดงจริงจะรู้ว่าเขาฟังใคร

- ชินวัฒน์ หาบุญพาด ไม่ใช่แกนนำ
เขาก็ใช่ในอดีต แต่เหตุการณ์มันเปลี่ยน เขาไปอยู่ต่างประเทศเสียนาน มันไม่เหมือนเดิม ประชาชนจะอยู่กับคนที่ต่อสู้กับเขา แต่เราไม่ปฏิเสธเรื่องอดีต ทองแท้ต้องทนต่อการพิสูจน์
น.พ.เหวง โตจิราการ
15 ล้านเสียงให้เพื่อไทยถอนพิษรัฐประหาร
- ภาพรวมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พรรคได้วางนโยบายจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มีรูปแบบ ที่เป็นประชาธิปไตย คือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จังหวัดละ 1 คน พร้อมกับมีผู้เชี่ยวชาญ แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเหล่านั้นจะต้องไม่เคยร่วมกับคณะรัฐประหาร ไม่ว่าชุดไหนก็ตาม

- จะมีคนจากบ้านเลขที่ 111 และ 109 มาร่วมด้วยหรือไม่
คนบ้านเลขที่ 111 หรือ 109 กฎหมายห้ามไปมีบทบาททางการเมือง ก่อตั้งพรรค หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น อย่างอื่นไม่ได้ถูกห้าม

- เคยเป็นผู้เสนอร่าง คปพร.เข้าสู่สภา ครั้งนี้ส่วนตัวจะผลักดันร่างดังกล่าวอีกหรือไม่
ผมเองไม่อยากเอาร่าง คปพร.มาเป็นตัวตั้ง เพราะจะกลายมาเป็นการกดดันเพื่อไทย เราเอาหลักใหญ่ ๆ ของรัฐธรรมนูญ 2540 มาใส่ไว้ในร่างของ คปพร. แล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่มีมาตรา 309 โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว การไปตราไว้ในมาตรา 309 ว่าการรัฐประหารถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องกลับหัวกลับหาง ยิ่งกว่าหัวมังกุท้ายมังกร

- แต่การยกเลิกมาตรา 309 หลายฝ่ายเกรงว่าจะก้าวไปถึงการนิรโทษกรรม
อ๋อ...ไม่ใช่ครับ เพราะเราไม่ได้พูดถึงคนใดคนหนึ่ง แต่เราพูดถึงระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร แต่การรัฐประหารคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในระบอบประชาธิปไตย มันไม่ควรเกิดขึ้นอีกในสังคมไทยอีกต่อไป ดังนั้นตัวมาตรา 309 เขียนไว้ชัดเจนว่า การรัฐประหารปี 2549 ถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่ก่อนประกาศใช้และหลังประกาศใช้ การที่ปฏิเสธมาตรา 309 เท่ากับปฏิเสธการรัฐประหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนใดคนหนึ่ง

- องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2550 จำเป็นจะต้องยกเลิกหรือรื้อใหม่หรือไม่
อะไรที่เกิดขึ้นจากผลพวงของรัฐประหารก็ควรจะต้องหมดอายุไป ต้องหมดไปเสียทีจากร่างกายของประเทศไทย ก็ยังปล่อยให้พิษยังคง อยู่ในร่างกายของประเทศ ก็จะส่งผลกัดกร่อนโครงสร้างทางการเมืองของไทยอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น

- ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขั้นตอนการสรรหาองค์กรอิสระควรเปลี่ยนแปลงหรือไม่
องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่สำคัญ เพราะสามารถที่จะใช้อำนาจทับซ้อนของประชาชนได้ เช่น นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี องค์กรอิสระมีสิทธิ์ที่จะถอดถอนหรือปลดออกจากตำแหน่งได้ แม้บุคคลเหล่านี้จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง

ถ้ามีองค์กรอิสระที่สามารถใช้อำนาจทับซ้อนได้เหมือนศาลรัฐธรรมนูญ มาจาก ส.ว.แต่งตั้ง แล้ว สามารถมาปลดนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง 67 ล้านคน มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ จะต้องเกาะเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของประชาชนทั้งประเทศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจาก ส.ส.และ ส.ว.

- การเปลี่ยนวิธีการสรรหา เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่ใช่หรอกครับ อะไรที่ใช้อำนาจสูงสุดก็จะต้องมาจากราษฎรทั้งหลาย ไม่ได้คิดว่าเราเป็นคู่ขัดแย้งกับใครเสื้อเหลือง เสื้อแดงอย่างไร หรือ จะนำคุณทักษิณ ชินวัตร กลับมามันไม่ใช่เลย เราข้ามเรื่องนี้ไปทั้งหมด เพราะเราต้องการไปสู่จุดที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย

- รัฐธรรมนูญฉบับเพื่อไทยจะเป็นเช่นนี้ใช่หรือไม่
ทิศทางใหญ่ของประเทศมัน ควรเป็นอย่างนี้ เพราะประชาชนทั้งประเทศ เลือกถล่มทลาย ซึ่งพรรค เพื่อไทย มีสัญญาประชาคมกับประชาชน 2 ข้อเท่านั้น คือคืนความ สุขให้คนไทย และคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน

- แต่มีเสียงท้วงติงว่า ขั้นตอนการสรรหาองค์กรอิสระไม่ควรมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ต้องถามว่า กกต.ใช้อำนาจสูงสุดของประชาชนหรือไม่ ตอบว่าใช้ที่สำคัญ กกต.ใช้อำนาจบางส่วนของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และของตุลาการ จึงเท่ากับว่าใช้อำนาจสูงสุดของประชาชนชาวไทย จึงต้องมีที่มาซึ่งยึดโยงกับประชาชน เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคต กกต.อาจมาจากการเลือกตั้งโดยตรง

- คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การปรองดองได้หรือไม่
ได้ครับ เราต้องหาคนทำผิดทำถูก หากทำผิดก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่หลังจากนั้นจะนิรโทษกรรม หรืออภัยโทษต้องว่ากันภายหลัง แต่เพื่อไทยจะเอาเจตจำนงของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะการทำประชา มติต้‰องถามประชาชนเรื่องการนิรโทษกรรม และการอภัยโทษ

- ควรจะนิรโทษกรรมให้ใคร
คือต้องพบว่าใครทำผิดชัดแล้ว รับโทษทางกฎหมายแล้ว แต่เห็นว่าเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าก็ยกความผิดอันนั้นด้วยการ นิรโทษกรรม
ทีมา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

กฎหมายเผด็จการ !!?

เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ... “กฎหมาย” ที่ผ่านสภาฯ จึงถือว่า เป็นหมัน??
ไม่เข้าใจเหมือนกัน..., “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ถึงยึดมั่นถือมั่น กับกฎหมายที่ผ่านสภา ยุค “บิ๊กแอ้ด” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีต นายกรัฐมนตรี เสียจัง
ข้อกฎหมาย ที่มีเสียง “รับรองไม่พอ” ..คงถือเป็น “มาตรา”ไม่ได้กระมัง
ฉะนั้น, มาตราที่ห้าม และ ระบุ ว่า “รัฐมนตรีว่าการกลาโหม” ไม่มีสิทธิ์แทรกแซง หรือรื้อโผทหาร ..นักกฎหมายทุกคนลงความเห็น ว่าขาดหลักการอื้อ!!
กฎหมายยุคนั้นสร้างแต่ความสับสน...เพราะมันโฆษะตั้งแต่ต้น?...ยังทนที่จะใช้อีกหรือ??

++++++++++++++++++++++++++++++

“ใกล้ชิด” เพื่อกัน “บริษัทขายตรง” หลอกลวง
เป็นคุณอนันต์อย่างมาก..เมื่อ “ท่านสุรวิทย์ คนสมบูรณ์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ทำประโยชน์ เพื่อประชาชนใหญ่หลวง??
เมื่อท่านร่วมมือกับ “ดร.สมชาย หัชลีฬหา” กูรูมือบริษัทขายตรงผู้ซื่อสัตย์ พร้อมกับหน่วยงาน “พัฒนาการขายตรงของไทย” จัดอบรมสัมมนาการขายตรง ในวันเสาร์ที่ ๑๗ กันยาฯ ที่โรงแรมรามาฯ
ได้หน่วยงานหัวใจหลัก ของ “คุณพี่นิโรจ เจริญประกอบ” เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าร่วมงาน อย่างเต็มอัตรา
เพื่อพัฒนาบุคลากร “บริษัทขายตรง” ให้มีความซื่อสัตย์และเที่ยงตรง กับ ประชาชน ที่หันมานิยมซื้อสินค้า จาก “บริษัทขายตรง” ที่กำลังเป็นที่นิยม ในหมู่คนไทย ขณะนี้!!!
ต้องเชียร์ “ท่านสุรวิทย์”ให้สุดโต่ง...พร้อมกันนี้ขอยกนิ้วโป้ง?...ที่ท่านอบรม ทำให้บริษัทขายตรง ยิ่งทำดี???

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเกียรติยศ “ช่างภาพ”!!!
“คุณพี่วิชัย วลาพล” นายกสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศ บอกกล่าวเล่าสิบ วันแจกรางวัลถ้วยพระราชทาน “ภาพถ่ายยอดเยี่ยม” เป็นวันพฤหัสบดี ที่ ๒๙ กันยายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทรัลลาดพร้าว ช่อง ๗ สี ถ่ายทอดสด เหมือนเดิมครับ
แว่ว ๆ ว่า “รัฐมนตรี” ที่มีผลงานเข้าตากรรมการ และข้าราชาการชั้นนำ ได้รับรางวัล “บุคคลดีเด่น” กันถ้วนหน้า ด้วยผลงานแต่ละท่านที่ได้ก่อ..
มี “ยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ์” มท. ๑, “กิตติรัตน์ ณ.ระนอง” รมว.พาณิชย์ “วิทยา บุรณศิริ” รมว.สาธารณสุข, “พิชัย นริพทะพันธ์ุ” รมว.พลังงาน, “เลอศักดิ์ จุลเทศ” ผอ.ออมสิน, “พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ุ” ผบช.ก. “พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ” พร้อม “เสี่ยล้าน” สุทธิชัย วีระกุลสุนทร ประธานสภา กทม.
โดย “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สตรีผู้ทรงอิทธิพล ทางการเมืองไทย และ ของโลก..ได้รับเสียงโหวตจากช่างภาพ เป็นยอดหญิงสตรีไทยที่ทำงานโดดเด่น โดยเฉพาะให้การสนับสนุนช่างภาพ รูปจึงออกมาสุดสวย!!
ถือว่า “นายกฯปู”เป็นยอดหญิง...ที่เป็นนายกฯไม่เย่อหยิ่ง?..ทำงานเก่งจริงอีกด้วย???

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่ทอดทิ้ง “ประชาชนคนไทย”!!
เขาคือ สมาชิกบ้านเลขที่ ๑๑๑ ...ถึงจะโดนเว้นวรรคไป ๕ ปี แต่ก็ทำงานขยันขันแข็งอยู่เหมือนกับ “อดีต สส. วิฑูรย์ วงษ์ไกร”
ในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย...เหลืออีกแค่ ๘ เดือน ก็จะได้สิทธิ์กลับมาเล่นการเมือง เหมือนเดิม กันแล้วล่ะเธอ
๔ ปีกว่าที่เว้นวรรคไป “ท่านวิฑูรย์ วงษ์ไกร” คงรับใช้พ่อแม่พี่น้อง ชาวยโสธร อยู่เสมอ
ช่วงนี้,พี่น้องชาวยโสธรระงม ต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมอย่างหนัก “อดีต สส.วิฑูรย์ วงษ์ไกร” ลงไปช่วยเหลือกันเสร็จสรรพ!!
แม้นไม่ได้เป็น สส.กว่า ๔ ปี...แต่ยังหมั่นทำหน้าที่?.....โดยมิได้ขาดขอรับ??

+++++++++++++++++++++++++++++

ค้านกันแบบส่ง..ส่ง!!
ขนาด “ขุนค้อน” ท่านสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ...คราวใดที่ออกทำหน้าที่ ก็ถูกฝ่ายค้าน “พรรคประชาธิปัตย์” พากันออกลูกกวน ค้านเสียงหลง??
เมื่อ “อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และเหล่าลูกหาบหางเครื่อง ออกอารมณ์มีอาการทุกทีไป ที่ “ประธานสมศักดิ์” วินิจฉัย...
ว่ากันตามตรงแล้ว “ท่านขุนค้อน” ชี้ประเด็นทุกเรื่อง ล้วนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ไฉน,พรรคประชาธิปัตย์ ถึงดื้อแพ่ง ไม่ยอมรับฟัง “คำวินิจฉัย” ในฐานะฝ่ายค้าน ที่ดี!!
อยากถามสักครั้ง.....ยุคท่านเป็นรัฐบาลมีความ “เป็นกลาง”?...หยั่งกะขุนค้อนหรือพี่??

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย'บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

เปิดวิสัยทัศน์ 11 กสทช. นับหนึ่งกุมบังเหียน ทีวี-วิทยุ-สื่อสาร.!!?

แม้จะเลือก 11 กสทช.ได้แล้วเรียบร้อย แต่ดูเหมือนว่าหนทางของ "กสทช." ชุดแรกของไทยจะยังเต็มไปด้วยขวากหนาม ยังไม่นับคดีความที่ค้างคาอยู่ในศาลก่อนหน้านี้ ล่าสุดยังชุลมุนไม่เลิก เมื่อ "ดีเอสไอ" โดดรับลูกเตรียมชงบอร์ด กคพ. (คณะกรรมการคดีพิเศษ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณารับคดีไว้สอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ กรณีการสรรหา กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ก่อนที่จะไปกันใหญ่ ในระหว่างนี้ หยิบวิสัยทัศน์ 11 กสทช.ที่แสดงต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา เป็นการทบทวนความจำและคำมั่นสัญญาของ "กสทช." แต่ละท่านเคยพูดไว้ว่า จะทำอะไรบ้าง เมื่อได้รับคัดเลือก

เริ่มจากตัวเต็งประธาน กสทช. "พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี" กล่าวว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัด ที่ผ่านมายังจัดสรรไม่ทั่วถึง และความถี่ส่วนใหญ่อยู่ในมือภาครัฐ จึงต้องเร่งจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการคลื่นความถี่และตารางคลื่นความถี่แห่งชาติให้เสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนนำมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อแก้ไขและประกาศใช้โดยเร็ว พร้อมทั้งเปลี่ยนผ่านกิจการโทรทัศน์ไปยังระบบดิจิทัลให้เสร็จในปี 2558 รวมถึงจัดให้มีบริการ 3G อย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างรวดเร็ว

ด้าน "พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ" กสทช.ด้านโทรทัศน์ กล่าวว่า แม้เป็นคนมาจากภาคความมั่นคง แต่เป็นความมั่นคงที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เพราะปัญหา ทุกวันนี้เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจ โดยมี "สื่อ" เป็นผู้ผลิตซ้ำทางความคิด จึงอย่ามองสื่อแยกจากอำนาจ และอย่าให้ใครครอบงำอำนาจสื่อไว้แต่เพียงผู้เดียว การครองสื่อไขว้ข้ามกันระหว่างอำนาจ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ขณะที่คลื่นควรกระจายตัว อย่าไปกลัวกลุ่มทุน เพราะในประเทศที่ศึกษามา อย่างเยอรมนี ทุนใหญ่และทุนเล็กอยู่ด้วยกันได้

กสทช.ด้านโทรคมนาคม "พ.อ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" กล่าวว่า 3 แผนแม่บทคือเสาหลักของอุตสาหกรรม ต้องพัฒนาและใช้ทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างประหยัด รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยเน้นคุ้มครองคุณภาพบริการตั้งแต่ต้นทาง พร้อมสร้างกลไกเยียวยา ผู้ถูกละเมิดสิทธิ

อีกหนึ่ง กสทช.ด้านโทรคมนาคม "พ.อ.นที ศุกลรัตน์" กล่าวว่า โอกาสในชีวิตได้มาจากภาษีของประชาชน จึงตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทดแทนด้วยการนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาประเทศ ซึ่งจะนำพาความต่อเนื่องจากยุค กทช.ไปสู่ กสทช. ที่ดีได้ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ โปร่งใส เป็นกลางต่อทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน

ฟากอดีตเลขาธิการ กกต. "สุทธิพล ทวีชัยการ" กสทช.ด้านกฎหมาย กล่าว ว่า สิ่งที่จะเร่งดำเนินการ คือสร้างศรัทธาให้ประชาชน คำวินิจฉัยทุกเรื่องต้องอธิบายได้ สร้างบรรทัดฐานในการทำงาน การบังคับใช้กฎหมายในการ ส่งเสริม ไม่ใช่บังคับผู้ประกอบการส่งเสริมทั้งรายเก่ารายใหม่ ผลักดันให้มีการออกใบอนุญาตแบบรวมรับกับยุคเทคโนโลยีหลอมรวม รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนรู้สิทธิของตัวเอง และใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า

กสทช.ด้านกฎหมายอีกคน "พ.ต.อ. ทวีศักดิ์ งามสง่า" กล่าวว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ ฉะนั้น เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่น มีมาตรการป้องกันการควบรวม และการครองสิทธิข้ามสื่อ การครอบงำสื่อ

อดีตอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "ผศ.ธวัชชัย จิตร ภาษ์นันท์" กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า จะกระจายการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารให้ทั่วประเทศใช้เทคโนโลยีหลากหลาย เพื่อการเข้าถึงของประชาชนในราคาที่ไม่แพง ลดความไม่เท่าเทียมกันของการพัฒนา และให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน

ด้าน "รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์" กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้จัดการกองทุน "ยูเอสโอ" ของ กทช.ระบุว่า เรื่องเร่งด่วน 3 อย่าง คือ 3G, วิทยุชุมชน และสรรหาเลขาธิการ กสทช. โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ดูแลค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไม่ให้ผู้บริโภครับภาระมากเกินไป และจัดหาอุปกรณ์เพื่อตรวจสอบคุณภาพบริการที่จำเป็น และกระจายศูนย์ไปปฏิบัติงานให้ทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก และมีข้อมูลเผยแพร่ประกอบการตัดสินใจของประชาชน รวมถึงสร้างสมดุลในการใช้งบประมาณของสำนักงาน

กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค "น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์" กล่าวว่า จากการทำงานภาคประชาชนมา 18 ปี มีภาระผูกพันและถูกตรวจสอบจากเครือข่ายภาคประชาชนที่จะผลักดันการปฏิรูปสื่อ โดยคานดุลระหว่างสื่อบริการสาธารณะภาครัฐ สื่อธุรกิจที่มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมรวมถึงสื่อภาคประชาชน

ด‰าน "นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กสทช.คุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า จะวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาต และแผนรองรับการสิ้นสุดสัมปทาน รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยสร้างความร่วมมือเพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกัน ไม่ใช่ใช้แต่กฎหมายอย่างเดียว

คนสุดท้าย "พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร" กสทช.ด้านพัฒนาสังคม กล่าวว่า กสทช.ต้องรู้ให้ทันความเปลี่ยน แปลง ต้องให้คำตอบให้ความรู้ต่อประชาชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่จะกระจายเข้าไปโดยสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ผ่านงานวิจัย

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
************************************************************

นายกฯปู. จัด ครม.ลงพื้นที่แก้น้ำท่วมรายจังหวัด !!?

มอบ "ธวัช" เป็นผู้ประสานงานติดตามฯ ส่งสุรพงษ์ลงแม่ฮ่องสอน, กฤษณาลงอุตรดิตถ์, ปลอดประสพลงนครสวรรค์-นนทบุรี ยังมีการแบ่งงานให้ ครม.ช่วยกันดูแลรับผิดชอบพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว อยู่ระหว่างการฟื้นฟู 24 จังหวัด...

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 157/2554 เรื่อง มอบหมายรัฐมนตรีรับผิดชอบเรื่องลับ กำกับ ติดตาม การกู้วิกฤติจากภัยธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วน โดยคำสั่งดังกล่าวจะเป็นการมอบหมายให้รัฐมนตรีดูแลพื้นที่เป็นรายจังหวัด มีอำนาจหน้าที่เร่งรัด กำกับ ติดตาม สนับสนุน ประสานงานการให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วนในเขตจังหวัดพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งประสานงานกับภาคเอกชนและผู้แทนประชาชนในพื้นที่ เพื่อเสริมการทำงานของคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) และผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้ผู้รับผิดชอบรายงานนายกรัฐมนตรีให้ทราบโดยตรง และให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป และมอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนการทำงานรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้ มอบหมายให้ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้ประสานงาน ติดตามการรายงานต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับพื้นที่จังหวัดอุทกภัยขณะนี้มี 21 จังหวัด เช่น นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ดูแลพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต ดูแลพื้นที่จังหวัดสุโขทัย นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ดูแลจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ดูแลจังหวัดพิจิตร นายปลอดประสพ สุรัสวดี ดูแลจังหวัดนครสวรรค์และนนทบุรี นายชุมพล ศิลปอาชา ดูแลจังหวัดสุพรรณบุรีและอุทัยธานี นายธีระ วงศ์สมุทร ดูแลจังหวัดชัยนาท นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล ดูแลจังหวัดสิงห์บุรี นายวิทยา บุรณศิริ ดูแลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ดูแลจังหวัดนครปฐม นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ ดูแลจังหวัดสระบุรีและนครนายก นายฐานิสร์ เทียนทอง ดูแลจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ดูแลจังหวัดจันทบุรี นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ดูแลจังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับพื้นที่ที่น้ำลดแล้วและอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 24 จังหวัด นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ดูแลจังหวัดเชียงราย แพร่ และพะเยา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ดูแลจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ดูแลจังหวัดตากและกำแพงเพชร พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ดูแลจังหวัดน่าน นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ดูแลจังหวัดเลย พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ดูแลจังหวัดหนองคายและบึงกาฬ นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ดูแลจังหวัดอุดรธานีและสกลนคร นายภูมิ สารผล ดูแลจังหวัดนครพนมและมุกดาหาร นางบุญรื่น ศรีเรศ ดูแลจังหวัดกาฬสินธุ์ นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ ดูแลจังหวัดร้อยเอ็ด นางสุกุมล คุณปลื้ม ดูแลจังหวัดชลบุรี นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ดูแลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ดูแลจังหวัดพังงาและสุราษฎร์ธานี พลตำรวจโทชัจจ์ กุลดิลก ดูแลจังหวัดระนองและชุมพร นายชุมพล ศิลปอาชา ดูแลจังหวัดภูเก็ต นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ดูแลจังหวัดยโสธร นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ดูแลจังหวัดชัยภูมิ นายฐานิสร์ เทียนทอง ดูแลจังหวัดสระแก้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีการแบ่งงานให้ ครม.ช่วยกันดูแลรับผิดชอบพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว อยู่ระหว่างการฟื้นฟู 24 จังหวัด เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง โดยคำสั่งดังกล่าวได้เสนอให้ครม.รับทราบในการประชุมครม.วันเดียวกันนี้ด้วย.

ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

วาทศิลป์โฆษก. แบบคำต่อคำ เพื่อไทย VS ประชาธิปัตย์ !!?

ผ่านการเลือกตั้งมาอย่างเสร็จสรรพ ดูเหมือนว่าตำแหน่งของคณะรัฐบาลชุด ปู 1 กำลังเริ่มต้นทำงาน แต่มีตำแหน่งหนึ่งในพรรคการเมือง ต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุด นั่นคือ ตำแหน่งโฆษกพรรคฯ ซึ่งยังคงเดินหน้าทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคไม่หยุดหย่อน ยิ่งห้วงเวลาเดินผ่านไป การทำงานยิ่งหนักขึ้น ทั้งต้องคอยตรวจสอบ หยิบยกประเด็นฝั่งตรงข้าม นำมาเกทับบลัฟแหลก หรือการชี้แจง และในวันนี้ค่ายมวยใหญ่ทั้ง 2 ฝั่ง

เริ่มที่ฝั่งมุมแดง นำโดย พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตพระเอกชื่อดัง ต้องมาเผชิญหน้ากับมุมฟ้าอย่าง ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกใหม่แกะกล่อง ศึกประชันวาทศิลป์ในครั้งนี้ จะเป็นอย่างไรไปติดตามกับคำถามเหล่านี้

-จุดเด่นของตนเองคืออะไร

นายพร้อมพงศ์ โฆษกเพื่อไทย เปิดฉากกล่าวกับทีมข่าว"ไทยรัฐออนไลน์" ถึงประเด็นนี้ว่า"ผมจะมีอยู่ 3 ส. คือ 1. เสนอหน้า ท่านครับมีอะไรให้ผมทำไหม 2. เสนอตัว มาเลยพี่ เอางานนี้มาเลย ผมทำเอง และ 3. เสนอผลงาน ทำแล้วทำให้ดี ทำแล้วแก้ไขปัญหาที่ผู้ใหญ่มอบหมายให้ได้ อย่างงานตรวจสอบ ยึดคติ กินแบบพระผมไม่ให้ กินแบบโจรผมยิ่งไม่ยอม การบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นแบบโจรคือ ไปปล้นเขา ผมไม่เอา แต่ถ้าแบบพระบางทีมาขอผม ผมก็ไม่ให้อยู่ดี" (มุมแดง)

ขณะที่ นายชวนนท์ โฆษกพรรค พระแม่ธรณีบีบมวยผม กล่าวเช่นกันว่า "ผมไม่อยากเป็นโฆษกในลักษณะที่ต่อล้อต่อเถียงทางการเมือง พูดในลักษณะไม่มีสาระ โต้เถียงกันไปมาโดยที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไร อีกทั้งช่วงระยะ 1 เดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา ถ้าสังเกต ผมพยายามลดประเด็นเหล่านี้ แต่หลังๆ โฆษกของฝั่งโน่นหลายๆ คนยังคงสับสนกับบทบาทและหน้าที่ของตัวเองอยู่ ยังไม่ได้ทำหน้าที่" (มุมฟ้า)

-จุดสูงสุดในชีวิตของแต่ละคน

ผมก็มาสูงสุดละ และจะทำหน้าที่จนกว่าผมสั่งให้เปลี่ยน ผมไม่ยึดติด เพราะถือว่าทุกอย่างคือหัวโขน ผมเป็นมาหมดแล้วตอนเป็นดารา ทั้งตำรวจ รัฐมนตรี ทนายความ เจ้ามงเจ้าเมืองก็มี นั่นคือสิ่งที่เราสวม (มุมแดง)

จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในแต่ละวัน เพราะอนาคตไม่แน่นอน ไม่รู้จะอยู่ในวงการการเมืองได้นานเท่าไร ไม่แน่ วันข้างหน้าทางพรรคอาจจะไม่ต้องการเราแล้ว ดังนั้นจึงไม่หวังที่จะได้ตำแหน่งอะไรในอนาคต และวันหนึ่งที่ทำประโยชน์ให้ไม่ได้ วันนั้นก็คงจะต้องไปจากเส้นทางการเมือง (มุมฟ้า)

-ของขวัญจากบรรดาแฟนคลับ

ผมได้รับมาหมดแล้วตอนเป็นฝ่ายค้าน ทั้งขู่ฆ่า ขู่ทำร้าย สาดน้ำกรด ที่สำคัญคือ ลูกปืน ทั้ง .22 ,.38 ,11 มม. , เอ็ม 16 ยกเว้นอย่างเดียวคือ ปืน และยังมีคนตามไปเฝ้าบ้าน และขับรถปาดหน้า แต่ยืนยันว่า ไม่กลัว ถ้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แล้วมากลัวตาย อย่าไปทำเลย (มุมแดง)

เพิ่งทำงานมาเป็นโฆษกพรรคเกือบ 2 เดือน ได้รับคำขู่มาสารพัด ใช้โทรศัพท์ลึกลับมาขู่จะเอาชีวิต จะมาดักทำร้าย แต่ก็เป็นธรรมชาติของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผมก็ไม่ได้รู้สึกกลัวอะไร (มุมฟ้า)

-คิดอย่างไรถึงมาลงเล่นการเมือง?

ผมเป็นคนชนบท เป็นคนต่างจังหวัด เป็นพื้นที่ที่ห่างไกล ไม่มีโรงไฟฟ้า ไม่มีโรงภาพยนตร์ ไม่มีน้ำประปา แต่ถ้าเข้าไปในเมืองจะได้พบกับสิ่งเหล่านี้ นี่คือความแตกต่างที่เกิดขึ้น และในขณะเดียวกัน ได้เคยพบกับนักการเมือง เวลามาหาเสียง ก็บอกว่าจะสร้างโน่น สร้างนี่ให้ แต่พอเวลาผ่านไป ไม่เห็นจะทำสักที ดังนั้นจึงมีความตั้งใจว่า ถ้าหากได้เข้ามาเล่นการเมือง ก็จะทำอย่างที่ชาวบ้านต้องการ เพราะตนเองเคยผ่านประสบการณ์ตรงนี้ (มุมแดง)

ผมมีความชอบเรื่องการเมืองเป็นทุนเดิมตั้งแต่เด็ก ครอบครัวก็มีพื้นฐาน จึงตั้งใจเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จากนั้นพอเริ่มทำงาน ก็ตั้งใจจะรับราชการก่อน เนื่องจากหากจะเข้าสู่การเมือง ต้องเข้าใจระบบราชการ สุดท้ายผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์จึงเปิดโอกาสชักชวนเข้ามาร่วมกันทำงาน (มุมฟ้า)

-ทำไมต้องเป็นพรรคเพื่อไทย

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ผมมองที่นโยบายและอุดมการณ์ รวมถึงประวัติความเป็นมา และที่สำคัญได้รับการชักชวนจากผู้ใหญ่ภายในพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้การที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายเน้นการกระจายความเจริญออกสู่ชนบท ซึ่งมันตรงกับความต้องการของผม ประกอบกับพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคที่ยึดแนวทางอนุรักษ์นิยม ทำงานแบบยึดระบบข้าราชการ มันจึงเป็นอุปสรรคหากใครต้องการที่จะเข้าไปทำงาน ส่วนระบบของพรรคเพื่อไทยเป็นแบบเสรีนิยม คือ ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถก็สามารถเป็นตัวแทนให้กับพรรคได้ และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องมีนามสกุลชื่อดัง อย่างนามสกุล ชินวัตร หรือนามสกุล เวชชาชีวะ ก็ทำงานให้กับพรรคได้
-ทำไมต้องพรรคประชาธิปัตย์

นายชวนนท์ กล่าวว่า สำหรับคนๆ หนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์จะชอบหรือไม่ชอบ ย่อมได้ยินชื่อเสียงมากกว่าพรรคการเมืองพรรคอื่น เวลา อายุ และความเป็นสถาบันของพรรค เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ ถึงความเป็นพรรคการเมืองมืออาชีพ ไม่ใช่พรรคที่เข้ามาแบบเฉพาะกิจ เข้ามามีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้น หรือเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ส่วนความแตกต่างระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคอื่น คือ พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะมีบุคคลที่โดดเด่นทางการเมืองเพียง 2 ถึง 3 คน และทุกคนต้องเดินตามแนวนี้ แต่พรรคประชาธิปัตย์แตกต่างตรงที่ทุกคนมีความสามารถของตัวเอง และต่างแสดงความคิดเห็นเป็นของตนเองได้ มันเป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกคนในพรรคตามแนวทางประชาธิปไตยจริง

-กดดันไหมทำงานกับพรรคการเมืองใหญ่

ผมไม่กดดัน เนื่องจากผมถือว่าผมเป็นคนทำงานจริงจัง มีบางครั้งที่ผู้ใหญ่ก็เป็นห่วง เพราะสมัยเป็นฝ่ายค้าน ต้องเดินหน้าตรวจสอบการทำงาน ก็ไปยื่นเรื่องไว้เยอะ บางเรื่องอาจจะไปเจอตอก็ได้ แต่ก็ยึดคติประจำใจ ถึงตายก็ไม่เปลี่ยน คือ กัดไม่ปล่อย ตรวจสอบแล้วต้องติดตาม ยิ่งเป็นเรื่องของประชาชน ใครจะมาขอผมก็ไม่ได้ (มุมแดง)

แน่นอน เพราะเป็นพรรคใหญ่ จึงมีแรงกดดันค่อนข้างมาก เราพูดอะไร คำนึงเป็นสิ่งที่มีความหมาย เนื่องจากมันสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง พูดอะไรที่ประชาชนฟังแล้วรู้สึกว่าเราทำงานเพื่อประชาชน (มุมฟ้า)

-อยากจะฝากอะไรไปยังโฆษกพรรคคู่แข่ง?

ฝ่ายค้านอย่าพยายามใช้ทฤษฎีทาสีกำแพง คือ พยายามเอาสีมาทาให้มันเลอะ ผมต้องรีบเช็ดสีโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหากฝ่ายค้านยังพยายามทาสี หากปล่อยไว้นานเกิน 2 วัน สีที่มาเลอะจะเช็ดลำบาก ผมมันเป็นพวกประเภททาชั่วโมงนี้ ชั่วโมงถัดไปผมจะรีบเช็ด เนื่องจากคนไทยชอบจำเรื่องที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่ยังไม่แน่ใจว่ามันถูกหรือมันผิด (มุมแดง)

ผมไม่ใช่โฆษกประเภทที่ตื่นเช้ามาแล้วดูหนังสือพิมพ์แต่ละหน้าแต่ละหน้า แล้วออกมาตอบโต้ประเด็นทางการเมือง เพื่อได้ออกทีวี กับประเภทที่อะไรๆ ก็เดินทางไปยื่นซอง ผมว่ามันตลก อย่างตลกคาเฟ่ มันสร้างสรรค์ (มุมฟ้า)

-อยากจะแข่งขันกันในด้านใด?

ผมไม่อยากมาใช้วิธีโต้คารมมัธยมศึกษา เอาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ข้อมูลเชิงวิชาการ มาตอบโต้กันจะดีกว่า (มุมแดง)

ผมไม่อยากเป็นโฆษกในลักษณะที่ต่อล้อต่อเถียงทางการเมือง พูดในลักษณะไม่มีสาระ โต้เถียงกันไปมาโดยที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไร (มุมฟ้า)

-เรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหลังฉาก?

นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยรอยยิ้มถึงนายเทพไท เสนพงษ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตโฆษกส่วนตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า เทพไทจะมีสไตล์ที่เน้นการเมืองจ๋า จะเน้นวิวาทะ มีเนื้อหาน้อย ประดิษฐ์ถ้อยคำตัดแปะข่าว ไม่ค่อยได้ศึกษาข้อมูล แต่อย่างไรก็ยังคิดถึงกัน

นอกจากนี้ยังฝากถึงนายชวนนท์ว่า ยังมือใหม่อยู่ แต่ต้องยอมรับว่า ตอนเป็นเลขานุการ รมต.ต่างประเทศนั้น จุดเด่นคือมีการใช้เนื้อหา ไม่การเมืองหนัก โดยหยิบยกประเด็นที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสมัย นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมต.ต่างประเทศ มีแต่สร้างปัญหา นายชวนนท์ จึงต้องเป็นคนตามมาแก้ไขให้ มองกันตรงๆ ถ้าโฆษกคนใหม่เน้นในเนื้อหา จะอยู่ในตำแหน่งนี้ได้อีกนาน และในอนาคตก็จะไปดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองให้กับพรรคได้

ทั้งนี้นายพร้อมพงศ์ ยังได้กล่าวต่อ ว่าอนาคตจะไม่มีวันกลับไปวงการบันเทิงแน่นอน เนื่องจากวงการบันเทิงผมมันติดเพดาน รู้จักประมาณตัวเอง ถ้าเทียบกับวงการมวย ผมก็เหมือนเขาทราย เป็นแชมป์แล้วแขวนนวม หากกลับไป ต้องไปเล่นเป็นพี่พระเอก อาพระเอกและพ่อพระเอก ผมไม่เอา ไปเป็นพระเอกทางการเมืองของประชาชนดีกว่า

นายชวนนท์ กล่าวยอมรับว่า ทุกวันนี้ถือเป็นการทำงานที่ยากที่สุด เนื่องจากประเทศเกิดความแตกแยกมาก มีกระบวนการต่างๆ ที่หมิ่นต่อสถาบัน มีผู้ที่คิดไม่ดีต่อบ้านเมือง รวมทั้งแบ่งแยก ดังนั้นผมจึงไม่มีเวลาที่จะมาเล่นการเมือง ทุกอย่างต้องเดินหน้าเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับมาเป็นเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ถ้าหากมาลงเล่นการเมืองแล้ว ต้องยอมรับทั้งคำวิจารณ์ในคำติ โดยเฉพาะวงการการเมืองมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่สิ่งสำคัญที่สุดจะทำอย่างไรให้คนที่ไว้วางใจเราที่สุด ต้องไว้ใจพรรคต่อไปให้กลับไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เลือกครั้งที่ผ่านมา ทำอย่างไรให้เปลี่ยนใจคนกลุ่มนี้ให้หันมาเลือกได้

ทั้งนี้นายชวนนท์ ยังได้กล่าวต่อ ว่าไม่อยากจะวิพากษ์โฆษกเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะโฆษกพรรคเพื่อไทย เพราะเชื่อว่าประชาชนคงพิพากษาเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตามก็ขอให้ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

จบไปแล้วสำหรับการประชันวิวาทะนอกรอบระหว่างโฆษกพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรค ใครจะรักใครชอบใครก็แล้วแต่จะเลือก อย่างไรก็ตามยังคงต้องเห็นพวกเขาทั้ง 2 ออกสื่อแขนงต่างๆ ทุกอาทิตย์ เพื่อทำหน้าที่ตามบทบาทที่แต่ละคนได้รับ โดยบุคลิกและสไตล์ของแต่ละคน ระหว่างมือใหม่หัดขับ กับ พร้อมพงศ์ พร้อมซอง จะถูกใจประชาชนมากน้อยแค่ไหน เส้นทางสายนี้จะดับหรือจะรุ่ง ก็คงต้องติดตามต่อไป แต่ในวันนี้หวังว่าจะสามารถบ่งบอกตัวตนของทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี

ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++