--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

บริษัทยักษ์ใหญ่มีสะเทือน ครม.ไฟเขียวปรับปรุงพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า แก้ธุรกิจผูกขาด...!!?

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ....เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าให้มีความเป็นอิสระ และปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เกิดการแข่งขันเป็นธรรมและเสมอภาค  โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบจากครม. จำนวน 7 คน คุณสมบัติอายุ 45-60 ปี วาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ติดต่อไม่เกิน 2 วาระ โดยตั้งขึ้นเป็นสำนักงานในหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีความอิสระ ซึ่งงบประมาณสำหรับการจัดตั้งในปีแรกรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน สำหรับปีต่อไปให้ใช้เงินงบประมาณจากค่าจดทะเบียนทางการค้า โดยหักมา 10 % เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกประเภทตั้งอยู่ภายใต้การบังคับตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ยกเว้นมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ยังปรับปรุงนิยามของคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้ครอบคลุมถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ และเพิ่มนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนิติบุคคลในเครือเดียวกัน” และ ปรับปรุงนิยามคำว่า ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด โดยให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้มีอำนาจในการออกประกาศ หลักเกณฑการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด รวมทั้งเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ปัจจัยสภาพการแข่งขันของตลาด

“การควบรวมกิจการทั้งหลายของบริษัทต่อไปนี้ จะต้องขออนุญาต เช่น ห้างสรรพสินค้า A ขายสินค้าชนิดหนึ่ง ห้างสรรพสินค้า B ก็ขายสินค้าชนิดเดียวกัน วันหนึ่งห้างสรรพสินค้า A B C มารวมกัน อย่างนี้เรียกว่าเริ่มจะมีการผูกขาดทางการตลาดแล้ว โดยจะมีการทบทวนกับผู้ประกอบการธุรกิจทุก ๆ 5 ปี ตามพ.ร.บ.ทบทวนกฎหมาย ว่าลีลา ท่าทางแบบไหนที่เป็นการบ่งชี้ว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือผูกขาด เพราะปัจจุบันต้องยอมรับความเป็นจริงว่าธุรกิจมีชั้นเชิงที่จะสร้างการผูกขาดหลากหลายรูปแบบ”

ทั้งนี้มีข้อคิดเห็นจากสำนักอัยการสูงสุดว่าการให้อำนาจคณะกรรมการ ฯสามารถยกเลิกโทษจำคุกในการควบรวมธุรกิจเพื่อดำเนินการให้เกิดการผูกขาด อาจจะทำให้ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม จึงให้กฤษฎีกาพิจาณาทบทวนอีกครั้งและขอความคิดเห็นจาอภาคเอกชนด้วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เงินหยวน เข้าตะกร้าเอสดีอาร์ ......

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจการเงินของจีนได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก เมื่อคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประกาศปรับตะกร้าเงินที่เคยกำหนดค่าเอสดีอาร์ หรือสิทธิถอนเงินพิเศษ "Special Drawing Rights" จากที่เคยมีอยู่เพียง 4 สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐ 41.9 เปอร์เซ็นต์ ยูโร 37.4 เปอร์เซ็นต์ ปอนด์สเตอริง 11.3 เปอร์เซ็นต์ และเยน 9.3 เปอร์เซ็นต์ มาเป็น "ตะกร้าใหม่" ดังนี้ ดอลลาร์ 41.73 เปอร์เซ็นต์ ยูโร 30.93 เปอร์เซ็นต์ หยวน 10.92 เปอร์เซ็นต์ เยน 8.33 เปอร์เซ็นต์ และปอนด์สเตอริง 8.09 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 คือปีหน้าเป็นต้นไป

ถ้าจะดูน้ำหนักของเงินสกุลต่าง ๆ ในการคำนวณค่าเอสดีอาร์ จะเห็นว่าน้ำหนักเงินยูโรหายไปมากที่สุด คือลดลง 6.47 เปอร์เซ็นต์ เงินปอนด์สเตอริง 2.94 เปอร์เซ็นต์ เงินเยน 0.97 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักของเงินดอลลาร์ลดลงน้อยที่สุด กล่าวคือลดลงเพียง 0.17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การที่ไอเอ็มเอฟยอมรับให้เงินหยวนเข้ามาอยู่ในตะกร้าเงินที่กำหนดค่าเอสดีอาร์นั้นจีนก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและตามกำหนดเวลาหลายข้อ มิฉะนั้น จีนอาจจะเอาเปรียบผู้ที่ถือเงินหยวนที่อยู่นอกประเทศได้โดยการลดค่าเงินของตน

เงื่อนไขที่จีนต้องปฏิบัติส่วนมากก็เป็นเงื่อนไขที่จีนต้องเปิดเสรีทางการเงินมากขึ้นเพื่อลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกในประเทศและปล่อยให้ค่าเงินหยวนขึ้นลงตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น

การปรับน้ำหนักของเงินสกุลหลักที่อยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟที่ใช้กำหนดค่าเอสดีอาร์ทำให้เห็นได้ชัดว่าน้ำหนักของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรมีน้ำหนักลดลงค่อนข้างมาก ตามมาด้วยน้ำหนักของประเทศอังกฤษ ไอเอ็มเอฟให้น้ำหนักกับเงินเยนสูงกว่าเงินปอนด์สเตอริงแล้ว

เอสดีอาร์ หรือสิทธิถอนเงินพิเศษ แม้จะไม่ใช่เงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรในตลาดทุนและตลาดเงินก็ตาม แต่เอสดีอาร์สามารถใช้นับเข้าไปเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้ เพราะสิทธิถอนเงินพิเศษสามารถจะเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลอื่น เช่น ดอลลาร์ ยูโร หรือเงินตราสกุลอื่น ที่ใช้ระหนี้ระหว่างประเทศได้ผ่านทางไอเอ็มเอฟ โดยไอเอ็มเอฟทำหน้าที่เป็นคนกลางหาผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้เกิดการซื้อขายได้ เหมือนกับเป็นสิทธิการถอนเงินจากไอเอ็มเอฟ โดยที่ไอเอ็มเอฟไม่มีพันธะว่าจะต้องรับซื้อไว้เอง หรือมีไว้ขายเอง เป็นแต่เพียงคนกลางให้

เอสดีอาร์ แม้จะไม่ใช่เงินตราระหว่างประเทศเหมือนเงินดอลลาร์ เงินเยน หรือเงินปอนด์สเตอริง แต่ก็มีสภาพเข้าใกล้เงินเพราะสามารถใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง มีสภาพคล่องเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศได้ คล้าย ๆ กับทองคำที่ผู้ถือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศได้ ถ้าต้องการทองคำที่มีตัวตนที่มีค่าในตัวของมันเองก็มีตลาดทองคำระหว่างประเทศ แต่เอสดีอาร์ไม่มี ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อาจจะซื้อขายเอสดีอาร์ผ่านบัญชีที่ไอเอ็มเอฟได้ ไม่มีธนบัตรหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน

ขณะเดียวกันเอสดีอาร์ก็มีลักษณะคล้ายเงิน คือมีดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลางที่ถือเอสดีอาร์ ผู้ยืมเอสดีอาร์ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยกลาง คืออัตราดอกเบี้ยของเงินในตะกร้า โดยถ่วงตามน้ำหนักที่ไอเอ็มเอฟกำหนดไว้นั่นเอง บางคนถือว่าเอสดีอาร์ คือ เงินที่ออกโดยไอเอ็มเอฟก็มี

เอสดีอาร์ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1969 ซึ่งขณะนั้นสมาชิกของไอเอ็มเอฟยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เมื่อเทียบกับทองคำ หรือดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อตกลง"เบรตตันวูดส์" หรือที่เรียกกันว่า ระบบเบรตตันวูดส์ "Bretton Woods System" ไอเอ็มเอฟจึงกำหนดให้เอสดีอาร์ มีค่าเท่ากับทองคำที่มีน้ำหนัก 0.888671 กรัม เท่ากับหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ

โดยเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกานั้น ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ที่ถือเงินดอลลาร์อาจจะนำเงินดอลลาร์มาแลกทองคำบริสุทธิ์ได้ในอัตรา 36 ดอลลาร์ต่อ 1 ทรอยออนซ์ หรือ1 ดอลลาร์ มีค่าเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.888671 กรัม

แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาทำสงครามในเวียดนาม สหรัฐอเมริกาต้องเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ โดยการตั้งงบประมาณขาดดุลเพื่อทำสงครามมากมาย ความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ลดลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ไม่มีความมั่นใจว่า สหรัฐอเมริกาจะสามารถนำทองคำออกมาจ่ายให้ผู้ต้องการเอาดอลลาร์มาแลกได้ทั้งหมด จึงทยอยกันมาแลกทองมากยิ่งขึ้น ทองจึงไหลออกจากอเมริกามากขึ้นตามลำดับ ในที่สุดสหรัฐก็ต้องประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ หรือ "Gold Standard" ไม่ยอมรับดอลลาร์มาแลกทองคำอีกต่อไป

เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศออกจากมาตรฐานทองคำระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่"เบรตตันวูดส์" ก็พังทลายลง พร้อม ๆ กับค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับทองคำก็ดิ่งตัวลงไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันการเก็งกำไรค่าเงินและราคาทองคำก็เกิดขึ้น ทำให้เกิดความปั่นป่วนกันโดยทั่วไป รวมทั้งค่าเอสดีอาร์ด้วย

ในที่สุดโลกก็พัฒนาระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถหาความมั่นคงได้พอสมควร แต่ก็มีความยืดหยุ่นสูงด้วย กล่าวคือแทนที่จะตรึงค่าเงินไว้กับเงินดอลลาร์สกุลเดียว ก็หันมาตรึงค่าเงินไว้กับ "ตะกร้าเงิน" หรือ "Basket of Currencies"หรือตะกร้าเงินที่มีหลายสกุล โดยการให้น้ำหนักแก่เงินสกุลต่าง ๆ ไม่เท่ากัน และแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเทศ บางประเทศก็ประกาศว่าในตะกร้ามีอะไรบ้าง น้ำหนักเท่าไหร่ บางประเทศก็ไม่ประกาศ ระบบดังกล่าวก็ใช้ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

สหรัฐอเมริกาก็ต้องประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ซึ่งกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินตราสกุลอื่นของโลก การประกาศก็ทำอย่างโปร่งใสมากขึ้น โดยการกำหนดสูตรเป้าหมายทางเศรษฐกิจระหว่างเงินเฟ้อกับการว่างงานให้ชัดเจนขึ้น ขณะนี้ทั่วโลกก็ปฏิบัติอย่างนั้นในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเอสดีอาร์ได้เอง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องจ่ายและผู้ให้กู้เอสดีอาร์ได้รับ จะเท่ากับดอกเบี้ยของเงินตราสกุลต่าง ๆ ในตะกร้าถ่วงน้ำหนักตามที่ไอเอ็มเอฟกำหนดไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อเงินหยวนซึ่งเป็นเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้สูงกว่าเงินอื่น ๆ ในตะกร้า ก็น่าจะคาดได้ว่าดอกเบี้ยของเอสดีอาร์น่าจะขยับตัวสูงขึ้นด้วย

เมื่อเงินเหริน หมิน หรือ "เงินประชาชน" ของจีน ได้รับการยอมรับนับถือให้เข้าไปอยู่ใน "ตะกร้าเงิน" ที่ใช้เทียบค่าเอสดีอาร์ ตลาดก็คงคาดได้ว่าจีนคงจะทยอยปฏิบัติตามเงื่อนไขพันธสัญญากับไอเอ็มเอฟ ซึ่งคงจะเกี่ยวกับวินัยทางการเงิน ความมั่นใจในค่าเงินหยวนก็น่าจะมีมากขึ้น "ความต้องการเงินหยวน" เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก็ดี ใช้เพื่อเป็นทุนสำรองก็ดี หรือใช้เพื่อตรึงมูลค่าของสินทรัพย์ต่าง ๆ ก็ดี น่าจะมีมากขึ้น ดังนั้นในระยะยาว จีนคงต้องปล่อยเงินหยวนออกมาในตลาดมากขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ค่าเงินหยวนอาจจะแข็งค่าเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอย่างสำคัญ อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดเศรษฐกิจชะงักงัน

ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเงินเยนได้รับการยอมรับในตลาดโลก ค่าเงินก็แข็งขึ้นอย่างมากและติดต่อกันจนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ อันเป็นเหตุให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะงักงันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 มาจนถึงบัดนี้กว่า 2 ทศวรรษแล้ว เมื่อจีนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ จีนก็คงต้องระมัดระวังในเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น จะปล่อยให้เกิดเงินเฟ้อในอัตราสูงหรือเกิดสภาวะฟองสบู่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเกินไปอย่างที่ผ่านมาก็คงจะทำไม่ได้ เพราะสมัยก่อนจีนยังใช้ระบบการเงินที่สามารถควบคุมโดยตรงได้

ผลกระทบโดยตรงอย่างอื่น นอกจากทางจิตวิทยาแล้วคงจะมีไม่มาก เพราะเอสดีอาร์ที่ไอเอ็มเอฟสร้างขึ้นมาเพื่อเสริมทุนสำรองในระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือระบบเบรตตันวูดส์ ก็หมดความจำเป็นไปตั้งแต่ปี 1973 เมื่อระบบเบรตตันวูดส์ล่มสลายไปพร้อม ๆ กับการออกจากมาตรฐานทองคำของเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

หลาย ๆ คนยังเชื่อว่า เสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการลงทุน การค้นพบเทคโนโลยีใหม่และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่ขยายตัวช้าลง ก็เพราะความไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเงินสกุลสำคัญ ๆ ของโลก แต่การจะนำระบบเดิมมาใช้ก็คงเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

การเปลี่ยนตะกร้าเงินของเอสดีอาร์โดยเพิ่มเงินหยวนเข้ามาในตะกร้า ไม่น่าจะเป็นข่าวใหญ่

แต่ระยะนี้ไม่ค่อยมีข่าวเศรษฐกิจก็เลยเป็นข่าวใหญ่

ที่มา:คอลิมน์คนเดินตรอก/ประชาชาติธุรกิจ
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เสือป่วยหนัก.....!!?

โดย.ดร. วีรพงษ์ รามางกูร

ประเทศไทยของเราเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นดาวเด่นของภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ของเอเชียตะวันออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวที่สูง ผ่านการส่งออกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อันได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มาอย่างติดๆ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ขึ้นหน้าปกนิตยสารชั้นนำของโลก

ทางด้านการเมือง ประเทศไทยในยุคเมื่อ 10 ปีก่อน ก็พัฒนาประชาธิปไตยไปไกลกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เกาหลีใต้และไต้หวัน

ในด้านสังคม แม้จะมีความขัดแย้งและความไม่สงบในภาคใต้อยู่บ้างในขณะนั้น ก็ไม่รุนแรงอย่างทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาทางสังคมความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา มีน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นอันมาก

การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ดี พัฒนาการทางการเมืองก็ดี การพัฒนาความสงบสุขภายในชาติก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จนได้รับการกล่าวขานจากสื่อมวลชนในต่างประเทศว่า ประเทศไทยควรจะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ จะมีปัญหาอยู่บ้างก็คงจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในความเป็นอยู่และการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้

การพัฒนาการเมืองที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการโจมตีว่าการเลือกตั้งจะมีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จริง แต่ก็มีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งและมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนถึงกับ "ฝัน" ว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบ 2 พรรคใหญ่ได้เช่นเดียวกับอังกฤษ อเมริกา ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพเป็นประชาธิปไตยดีกว่าการปกครองที่มีขนาดใหญ่พรรคเด่นเพียงพรรคเดียว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น

ถ้าระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้ พรรคเด่นพรรคใหญ่ 2 พรรคก็น่าจะผลัดกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพราะประชาชนจะเลือกพรรคมากกว่าเลือกคน จนสามารถมีพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยม มีเสียงในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว เป็นรัฐบาลในระบอบรัฐสภาที่เข้มแข็ง สามารถตัดสินใจในการดำเนินการลงทุนโครงการใหญ่ๆ สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข และข้อสำคัญการพัฒนาการเมือง

ที่เชื่อว่าประเทศไทย หากมีระบอบประชาธิปไตยมั่นคงก็จะไม่พัฒนาไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบพรรคเดียวแบบประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศก็เพราะว่าคนไทยมีนิสัยเบื่อง่ายชอบการเปลี่ยนแปลงดังนั้นถ้าหากพรรคการเมืองใดได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลติดต่อกัน 2 สมัยแล้ว โอกาสจะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 น่าจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งบอกว่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งตลอดกาลยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน

แม้ในระยะเริ่มต้น พรรคการเมืองจะมีนายทุนหรือกลุ่มนายทุนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปโดยมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลงโดยการปฏิวัติรัฐประหาร พรรคการเมืองก็จะกลายเป็นพรรคของมวลชน ที่มวลชนในเขตเลือกตั้งจะมีสิทธิมีเสียง กำหนดให้พรรคส่งคนที่ตนชอบลงในนามของพรรค แบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา

ในด้านสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออกผ่านทางสื่อมวลชนก็เป็นประเทศเปิดกว้างที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯยังเป็นศูนย์กลางของสำนักข่าวสำคัญๆ ทั่วโลก มิใช่เฉพาะสำนักข่าวไทยเท่านั้น

ภาพต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ได้มลายหายไปหมดแล้ว กล่าวคือ ในด้านเศรษฐกิจแม้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่บ้าง แต่ก็ขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เพราะรายรับจากการส่งออกหดตัวแทนที่จะขยายตัว ราคาสินค้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม พากันลดลงหมด ยังเหลือเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเท่านั้นที่ยังดีอยู่ ที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้บ้างก็เพราะได้อานิสงส์จากการที่ราคาพลังงานและราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีราคาถูกลง แต่การบริโภคและการลงทุนต่างก็ชะลอตัวไปหมด

การชะลอตัวที่เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 คงจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า เพราะภาวะเศรษฐกิจในยุโรปก็ดี ในญี่ปุ่น จีนและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ต่างก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัว

ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำลงอย่างรวดเร็วทั้งในเมืองและในชนบท ความแตกแยกทางการเมืองของคนในชาติก็ไม่เห็นทางจะเยียวยาได้อย่างไร ความเป็นนิติรัฐ การบังคับใช้กฎหมาย การมี 2 มาตรฐานในการใช้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานในกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการการเมือง ก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

บรรยากาศความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เคยอยู่ในระดับที่ประเทศต่างๆ เคยชื่นชมเราอย่างมากในช่วง 10 ปีก่อนหน้า มาบัดนี้ความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ก็เปลี่ยนไป ทั้งจากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ ต่างก็ฉวยโอกาสในขณะที่เรามีรัฐบาลทหาร ดำเนินมาตรการตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน ตั้งเงื่อนไขเรื่องสิทธิการบิน บรรยากาศในการออกข่าวของต่างประเทศก็เปลี่ยนไป กลายเป็นข่าวในทางลบทยอยออกมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมิตรประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย จะยังเหลือก็จีนเท่านั้นที่เป็นประเทศใหญ่ ทำให้เราดูเหมือนจะโอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะประเทศไทยดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับมหาอำนาจทุกประเทศเท่าเทียมกัน

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ฝ่ายกองทัพก็ดี ฝ่ายพรรคฝ่ายค้านก็ดี ได้โหมโจมตีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจนเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลที่แล้วและสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะหลายคนเคยเชื่อว่าผู้ที่ถูกโจมตีนั้นไม่สะอาด มีการทุจริต คอร์รัปชั่น แต่เหตุการณ์โครงการราชภักดิ์ก็ดี โครงการจัดซื้อเปียโนของกรุงเทพมหานครก็ดี แม้ว่าจะยังมิได้มีการพิสูจน์แน่ชัดว่ามีความไม่ชอบมาพากล แต่ก็ทำให้ผู้คน "ใจเสีย" เพราะนึกไม่ถึงว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับกองทัพและพรรคฝ่ายค้านที่ตนเองเคยออกมาสนับสนุนและเชื่อใจ

ความ "ใจเสีย" นั้นได้เพิ่มบรรยากาศของความรู้สึกว่างเปล่า เงียบเหงา พูดไม่ออกบอกไม่ถูก สำหรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ต้องรับรู้จากสังคม แม้ว่าจะไม่ยอมอ่านจากหนังสือพิมพ์กระดาษ ไม่ยอมดูจากโทรทัศน์ ไม่ยอมฟังจากวิทยุ แต่ก็ได้รับจากสื่อออนไลน์ในมือของตัวเองอยู่ดี

การวิเคราะห์การพูดคุยกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง เหตุผลในวงสนทนา ในวงสังสรรค์กัน จึงทำไม่ได้อย่างสะดวกใจ ด้วยเหตุนี้การสนองตอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา ปาฐกถา ผ่านสื่อมวลชนจึงเป็นไปอย่างจืดชืด สังคมขณะนี้จึงเป็นสังคมของความ "อึดอัด" ไม่มีการแสดงออก ไม่มีการเปิดเผย ไร้สีสัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการ "ตรวจสอบตัวเอง" เพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ หรือจากการข่มขู่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งที่เป็นทหารและตำรวจ

สังคมที่เคยเป็น "สังคมพลเรือน" หรือ "civil society" ก็กลายเป็นสังคมทหาร การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อลดความอึดอัดกดดันก็ทำไม่ได้ ทุกคนต้องอดกลั้น

ประชาชนกลัวรัฐบาลหรือรัฐบาลกลัวประชาชน ใครจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้

บรรยากาศที่แปลกขณะนี้ก็ดี ผู้คนวางเฉยกับเหตุการณ์บ้านเมือง การโต้เถียง การเสนอความคิดความเห็นในกิจการบ้านเมืองจะมีทิศทางไปในทางใด ผู้คนให้ความสนใจน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต

นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคการเมืองจะพูดจะทำอะไรก็ไม่มีใครสนใจวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีใครโต้เถียง กลายเป็นสังคมเซื่องซึมหงอยเหงาอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆ ที่ความมีเหตุผล ความเป็นมาตรฐานเดียว ความเป็นนิติรัฐ ที่ทุกฝ่ายต่างก็เรียกร้องกันนักหนา กลับไร้ซึ่งเสียงของการโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ กลายเป็นพูดกันคนละเรื่อง บางคนพูดให้ได้ยินว่าสถานการณ์อย่างนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน

จะหงอยเหงากันไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้

ที่มา:มติชนรายวัน 10 ธันวาคม 2558
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ทีม ดร.สมคิด เร่งสปีดฟื้นเศรษฐกิจ หมุนเงินแสนล้าน ขยับฟันเฟืองรากหญ้า !!?

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ

เข้ามาทำงานแค่สัปดาห์เดียวทีมเศรษฐกิจใหม่ นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตแรกออกมาเรียบร้อยและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 กันยายนนี้ เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 3 เดือนสุดท้ายของปี (ตุลาคม-ธันวาคม 2558) รวม 3 มาตรการ วงเงินรวม 1.1 แสนล้านบาท

งานนี้นายสมคิดมอบให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ โชว์ฝีมือเสนอมาตรการอย่างเต็มที่ โดยมีโจทย์สำคัญคือเงินต้องถึงมือชาวบ้านให้เร็วที่สุด เพื่อให้หมุนลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด

- ออก 3 มาตรการกระตุ้น ศก.

จากการหารือครั้งสุดท้ายระหว่างนายสมคิดและทีมงานจากกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่าน มีข้อสรุปเกี่ยวกับ 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ใช้เงิน 5.9 หมื่นล้านบาทปล่อยกู้ 0% เป็นเวลา 2 ปีให้ชาวบ้านผ่านกองทุนหมู่บ้าน แบ่งการทำงานเป็น 2 ขั้นตอนคือ ให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้านระดับเอและบีที่มีอยู่ 5.9 หมื่นหมู่บ้าน กองทุนละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 5.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐจะอุดหนุนดอกเบี้ยให้ใน 2 ปีแรก จากระยะเวลาการกู้ 7 ปี

หลังจากนั้นให้กองทุนหมู่บ้านนำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้ประชาชนในลักษณะปลอดดอกเบี้ยเช่นกัน โดยมีเงื่อนไขการปล่อยกู้คือต้องนำไปประกอบอาชีพ และห้ามนำไปใช้หนี้เดิม (รีไฟแนนซ์) เพื่อให้เงินดังกล่าวถูกนำมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์ที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่วางไว้ ตรงนี้ใช้เงินจากรัฐน้อยมากแค่ชดเชยดอกเบี้ยปีละ 1,100 ล้านบาทเท่านั้น โดยอัตราการผ่อนชำระของประชาชนต่อเดือนน้อยมาก เนื่องจากมีการขยายระยะเวลาการกู้ออกไป 7 ปี จากเดิม 5 ปี

นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวถึงการใช้กองทุนหมู่บ้านปล่อยกู้ให้ชาวบ้านว่า มาตรการนี้จะทำให้เงินลงไปถึงประชาชนได้เร็วและสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรง ซึ่งในการทำงานกองทุนหมู่บ้านนั้นจะมีระบบติดตามอย่างใกล้ชิด และกองทุนที่ได้รับเงินกู้ครั้งนี้เป็นระดับเอและบี ถือว่าเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานค่อนข้างดี ที่ผ่านมากองทุนเหล่านี้ก็ทำดีมาโดยตลอด ดังนั้นกองทุนต้องรักษาชื่อเสียงและผลงานตัวเองไว้ อย่างไรก็ตาม หากกองทุนไหนมีปัญหาจะถูกระงับการเบิกจ่ายเงินทันที และในการปล่อยกู้กองทุนจะมีระบบในการดูแลกันเอง ตรงนี้จะช่วยป้องกันหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นได้

- เงินกองทุนฯบาทแรกถึงมือ ปชช.กันยาฯนี้

นายนทีกล่าวต่อว่า หากนโยบายผ่าน ครม. วันที่ 1 กันยายนนี้ จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานทันที คาดว่าเงินบาทแรกจะลงไปถึงประชาชนได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมพร้อมขั้นตอนไว้ส่วนหนึ่งแล้ว

มาตรการกระตุ้นที่ 2 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เป็นของกระทรวงมหาดไทย ที่จะจัดสรรเงินให้เปล่าตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวนกว่า 7 พันตำบล เพื่อนำไปจ้างงานในชนบท ตามโครงการที่แต่ละตำบลจะเสนอมาไม่ว่าจะเป็นซ่อม-สร้าง ถนน สระน้ำ โรงเรียน ศูนย์ราชการ โดยงบส่วนนี้สำนักงบประมาณยืนยันว่ามีเงินพร้อมแล้ว ซึ่งนำมาจากงบกลางที่ยังมีอยู่ 5 หมื่นล้านบาท

ส่วนมาตรการที่ 3 คือ เร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็กวงเงินลงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ในงบประมาณประจำปี 2559 ให้ได้ภายใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 เท่าที่ดูวงเงินอย่างละเอียดพบว่ามีงบอยู่ 1.6 หมื่นล้านบาท การเร่งรัดงบลงทุนขนาดเล็ก เพื่อผลประโยชน์ของผู้รับเหมารายเล็กๆ ที่คาดว่าจะมีการนำเงินดังกล่าวไปจ้างงานหรือใช้จ่ายในพื้นที่

- คลังมั่นใจกระตุ้นศก.ปีนี้โตได้3%

จาก 3 มาตรการที่ออกมากระทรวงการคลังประเมินผลดีต่อเศรษฐกิจถึง 0.4% น่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โตได้ 3% อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การใส่เงินลงไปยังภาคประชาชนเป็นหลักการเศรษฐศาสตร์ทั่วไปว่าประชาชนที่มีรายได้น้อยจะมีพลังในการใช้เงินสูงดังนั้นการใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านและการเร่งใช้งบลงทุนรัฐโดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กนั้นจะช่วยทำให้เงินไปถึงประชาชนในต่างจังหวัดได้เร็วขึ้น

เงินที่ถูกใส่มือไปยังประชาชนจะหมุนเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย2 เท่าขึ้นไป หากเม็ดเงินมีขนาดใหญ่พอน่าจะมาช่วยชดเชยผลกระทบจากการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะติดลบ 4% นอกจากมาตรการระยะสั้นจะออกมาแล้ว รัฐบาลมีแผนที่จะกระตุ้นการลงทุนเอกชนและมีมาตรการดูแลเอสเอ็มอีที่จะออกตามมาอีก ดังนั้นน่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ 3% ตามเป้าหมายของ สศค.ที่วางไว้

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวให้ความเห็นต่อมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ว่า เป็นการดำเนินการอย่างที่เคยให้ความเห็นไว้ก่อนหน้าว่าภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาในช่วงนี้ควรต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินไปยังรากหญ้าเพื่อกระตุ้นการบริโภค เพราะเศรษฐกิจในต่างจังหวัดเริ่มมีปัญหาจากราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ดังนั้นมาตรการของเศรษฐกิจชุดใหม่ที่กำลังออกมาน่าจะทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวย ผู้ผลิตที่ไม่กล้าทำสินค้ามาขายจะกล้าตัดสินใจมากขึ้น แต่ต้องติดตามว่าการเบิกจ่ายเม็ดเงินนั้นจะทำได้รวดเร็วตามแผนที่วางไว้ และเงินถึงประชาชนได้ 100% หรือไม่

- ทีดีอาร์ไอเชียร์แต่ให้ระวังหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้การปล่อยกู้ให้ประชาชนผ่านกองทุนหมู่บ้านในลักษณะปลอดดอก2 ปี น่าจะทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ ทำให้คนในต่างจังหวัดมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น แต่ต้องติดตามเรื่องภาระหนี้ครัวเรือนที่อาจสูงขึ้น พร้อมทั้งต้องติดตามว่าหลังจาก 2 ปี การจ่ายดอกเบี้ยและจ่ายคืนต้นเงินจะเป็นอย่างไร หากนำเงินไปจับจ่ายหมดจะเอาเงินจากไหนมาใช้หนี้คืน

ส่วนการให้เงินกระทรวงมหาดไทยไปทำโครงการซ่อมสร้าง3.5 หมื่นล้านบาทนั้น ติดใจอยู่นิดเดียวว่าทำไมต้องเป็นมหาดไทย เพราะมองว่าเงินตรงนี้น่าจะนำไปทำประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการน้ำ อาทิ กรณีสร้างฝายหรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ดังนั้น อยากให้กระทรวงมหาดไทยที่ได้รับเงินไปเปิดใจกว้างคุยประสานกับหน่วยงานที่ทำเรื่องน้ำอยู่แล้วอย่างมูลนิธิปิดทองหลังพระและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อนำเงินที่ได้รับมานั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับเรื่องการเร่งรัดเบิกจ่ายงบต่ำกว่า 1 ล้านบานนั้น มองว่าเม็ดเงินน้อยไปแค่ 1.6 หมื่นล้านบาท อาจช่วยเศรษฐกิจได้ไม่มาก

นอกจากมาตรการกระตุ้นรากหญ้าแล้วสิ่งที่อยากเห็นทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ทำต่อคือการวางพื้นฐานเศรษฐกิจในระยะยาวทั้งการสานต่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของทีมเศรษฐกิจหม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี) รวมถึงการปฏิรูปภาษี ที่นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำไว้ค่อนข้างดีแล้ว

ก้าวแรกของการทำงานของ "ทีมสมคิด" เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากนี้คงต้องติดตามมาตรการระยะ 2 และ 3 ที่จะตามมา ทั้งเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค ฟื้นโอท็อป ปัดฝุ่นคลัสเตอร์ พัฒนาเอสเอ็มอี สร้างผลประกอบการใหม่ ผลักดันการลงทุนขนาดใหญ่ แม้จะเป็นเรื่องที่เคยได้ยินมานานกว่า 10 ปี แต่เมื่อถูกนำมารีแบรนด์ใหม่อีกรอบก็เป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าจะเดินหน้าไปได้ไกลแค่ไหน

มีเสียงกระซิบมาจากเอกชนว่ามาตรการที่เริ่มแย้มๆ ออกมาบ้างแล้วนั้นไม่ใช่เพิ่งมาคิด หรือเพิ่งมาทำ แต่มีการซุ่มทำและถูกนำไปขายแนวคิดทั้งกับภาคเอกชน นักวิชาการ มากว่า 1 เดือนแล้ว รวมถึงมีการนำไปหารือกับกระทรวงมหาดไทยที่คุม อบต. อบจ.ให้เข้ามาร่วมทำงานนี้

แว่วๆ มาว่าทั้งแพคเกจใหญ่จะมีเม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจแบบไม่ให้เสียชื่อ "ทีมสมคิด"

หลังจากนี้ เหลือเพียงรอดูผล จะหมู่หรือจ่า

ที่มา : นสพ.มติชน
////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ตลาดหุ้นของจีน !!?

โดย : วีรพงษ์ รามางกูร
ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จีนกลายเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกก็ว่าได้ เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและของยุโรปได้พัฒนาขึ้นไปจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศรายได้ปานกลางและประเทศที่เกิดใหม่ได้เพราะค่าแรง ฐานะความเป็นอยู่ สูงเกินกว่าจะรับค่าแรงที่ไม่สามารถดำรงความเป็นอยู่ของความเป็นประเทศที่พัฒนาได้

จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ล่าสุดที่มีความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้โดยอาศัยความที่มีจำนวนประชากรในวัยทำงานสูง ค่าแรงที่แท้จริงจึงต่ำ แรงงานมีคุณภาพ แม้ว่าอินเดียและบราซิล รัสเซีย จะมีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับจีน แต่ประชากรจีนมีคุณภาพมากกว่า ทั้งเรื่องความขยันขันแข็ง อดทน สู้งานและไวต่อการเรียนรู้ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนนโยบายเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของจีนจึงเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขยายตัวขึ้นในอัตราที่สูงกว่าตัวเลข 2 หลักมาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ

การที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นเวลานาน การจ้างคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราการว่างงานลดลงอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนโยบายการมีบุตรคนเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งการใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน

ขณะเดียวกัน การที่จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากขึ้นและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานการที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเวลายาวนาน เพราะความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประเทศเหล่านี้ จึงทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุดกำลังซื้อของประเทศเหล่านี้ก็อ่อนตัวลง ซึ่งทำให้ตลาดส่งออกของจีนอ่อนตัวลง อัตราการขยายตัวของการส่งออกของจีนจึงขยายตัวในอัตราที่ช้าลงมาเรื่อยๆ เป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นตัวเลข 2 หลักก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนบัดนี้ทางการจีนประกาศเป้าหมายของการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2558 นี้ไว้ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในโลกอยู่

แต่อัตราเช่นว่านี้จีนคงจะรักษาไว้ไม่ได้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นว่าคงจะลดลงเรื่อยๆ

ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลดลงจีนจึงพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายในการบริโภคให้มากขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย ขณะเดียวกันก็ลดภาษีขาเข้า ส่งเสริมให้มีการนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภคมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้คนจีนเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและลดความกดดันให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น

ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราที่สูงอีกด้านหนึ่งของภาคเศรษฐกิจก็คือภาคการเงิน ตลาดการเงินทั้งตลาดเงินและตลาดทุนก็ขยายตัวในอัตราที่สูง สูงยิ่งกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลาดเงินและตลาดทุนอันได้แก่สินเชื่อ ราคาหุ้นและราคาตราสารหนี้ ทั้งของรัฐบาล ของรัฐวิสาหกิจและของเอกชนก็ขยายเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจีนจะยังไม่ยอมเปิดเสรีทางการเงิน ทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนกับต่างประเทศก็ดี การปริวรรตเงินตราต่างประเทศก็ดี รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ธุรกรรมต่างๆ เหล่านี้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทางการ แม้ว่าจีนจะเกินดุลมาเป็นเวลานานและได้รับความกดดันจากไอเอ็มเอฟและสหรัฐให้เปิดเสรีทางการเงินและยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นก็ตามจีนอ้างว่าหากทำเช่นนั้นแล้วเศรษฐกิจจีนก็จะกลายเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ อย่างเดียวกับที่อังกฤษ อิตาลี สเปน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ เคยประสบมาแล้ว

เศรษฐกิจฟองสบู่มักจะเริ่มจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็จะลุกลามไปที่ตลาดเงินและตลาดทุน ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เงินทุนจากต่างประเทศก็จะไหลเข้ามาเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นตลาดพันธบัตรและตลาดตราสารหนี้ปั่นราคากันขึ้นไปแล้วในที่สุดฟองสบู่ก็จะแตก เงินจะไหลออก ค่าเงินตกต่ำ ธุรกิจล้มละลาย กว่าจะฟื้นต้องใช้เวลานานเป็นทศวรรษ กรณีญี่ปุ่นฟองสบู่แตกเมื่อปี 2538 จนบัดนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปที่เดิม

จีนจึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มจะเป็นฟองสบู่ เพราะเริ่มมีการเก็งกำไรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และลามไปที่ตลาดหุ้น จีนก็รีบดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการจำกัดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ จำกัดการซื้อเพื่อเก็งกำไร ห้ามต่างชาติเข้ามาซื้อ รวมทั้งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดความร้อนแรงลง

ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคาหุ้นในตลาดหุ้นทั้ง 3 ตลาดหลักของจีนคือ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ปักกิ่ง แม้แต่ตลาดเล็กอย่างเสินเจิ้น ต่างก็ล้วนถีบตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของจีนคือตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ กล่าวคือ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เคยถีบตัวสูงขึ้นจนถึง 5,166 จุด เมื่อเร็วๆ นี้ และลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 3,507 จุดเท่านั้นเอง ส่วนในกรณีของฮ่องกง ดัชนีฮั่งเส็งเคยขึ้นสูงสุด 28,440 ก็ลงมาอยู่ที่ประมาณ 24,350 จุดในขณะนี้

เมื่อจีนเห็นว่าสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มเป็นฟองสบู่ โดยกำลังจะลุกลามจากภาคอสังหาริมทรัพย์มาที่ภาคการเงินโดยเฉพาะ ทางการจีนจึงใช้มาตรการสกัดฟองสบู่ที่แรงมาก เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เคยประสบกับเหตุการณ์เช่นว่า จนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน

มาตรการที่ทางการจีนใช้สกัดฟองสบู่ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหุ้นก็คือ 1) ห้ามมิให้ผู้ใดที่ถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียนขายหุ้นบริษัทนั้นเป็นเวลา 6 เดือน 2) ห้ามผู้ที่มีตำแหน่งบริหารในบริษัทขายหุ้นของบริษัทตนเอง 3) เพิ่มสัดส่วนของเงินฝากต่อสินเชื่อหรือ margin สำหรับพวกที่ขายและซื้อล่วงหน้าหรือ short sell เพื่อลดการเก็งกำไรในการซื้อขายหุ้น 4) เมื่อตลาดมีความร้อนแรงขึ้นถึงจุดหนึ่ง แทนที่จะให้ตลาดหยุดทำการซื้อขายชั่วคราวทั้งตลาด หรือ circuit break แบบที่ทำในประเทศอื่นๆ แต่ใช้วิธีให้หยุดทำการซื้อขายหุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายอย่างรุนแรง และ 5) จัดตั้งกองทุนพยุงแบบเดียวกับที่ประเทศไทยเราเคยทำ โดยให้บริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้นหรือ brokers ลงขันกัน ขณะเดียวกันทางการก็ได้จัดสภาพคล่องหรือสินเชื่อให้สำหรับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือหุ้นเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียน รวมทั้งผู้บริหารของบริษัท เจ้าของหุ้น ในการซื้อหุ้นมาเก็บไว้เป็นการลงทุนระยะยาว

มาตรการรุนแรงดังกล่าวย่อมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านจากนักเก็งกำไรโดยเฉพาะพวกกองทุนต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพราะการคาดการณ์ของนักเก็งกำไรผิดหมด การเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อเก็งกำไรค่าเงินและราคาหุ้นกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หรืออาจจะทำไม่ได้ เพราะทางการจีนยังคงควบคุมอยู่ ยังไม่มีการเปิดเสรีทางการเงิน

การที่จีนจะพยายามทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่ใช้เป็นเงินสกุลของธนาคารกลางต่างๆของโลก เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโรของยุโรป เงินเยนของญี่ปุ่น จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะการควบคุมของทางการจีนทำให้กลไกตลาดการเงินของเงินหยวนทำงานไม่ได้ การที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้ นักการเงินถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เป็นความเสี่ยงทางการเมืองหรือความเสี่ยงจากนโยบาย ซึ่งตลาดคาดการณ์ไม่ได้ ความหวังที่จีนจะให้เงินของตนเป็น reserve currency จึงเป็นไปได้ยาก เพราะจะทำให้ค่าเงินหยวนและตลาดการเงินผันผวน เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง

จีนคงจะดำรงการควบคุมตลาดการเงินต่อไป
ที่มา : นสพ.มติชน
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ลมหายใจค้าปลีก ทีซีซี แลนด์ รีเทล !!?

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

ไทยเจริญ และ เจริญ สิริวัฒนภักดี กับธุรกิจค้าปลีก เริ่มต้นง่าย ๆ จากโอกาสธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลายกรณีเป็นเรื่องยากในการเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับธุรกิจที่ซับซ้อนและแข่งขันสูง

ความจริงแล้วธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มไทยเจริญเพิ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างจากการปรับโครงสร้างทีซีซีแลนด์ฯเมื่อปี 2555 หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เมื่อกลุ่มไทยเจริญได้ซื้อหุ้น 40% ในทีซีซี แลนด์ฯคืนจาก Capital Land แห่งสิงคโปร์ จากนั้นทีซีซี แลนด์ฯได้ดำเนินแผนการเชิงรุกอย่างซับซ้อนมากขึ้น

ภาพยิ่งชัดเจนซ้อนทับอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือกลุ่มธุรกิจค้าปลีกใหม่ที่มีเครือข่ายมากพอสมควรทีเดียวเชื่อกันว่าจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ทั้งนี้ มีความพยายามแบ่งกลุ่มธุรกิจย่อย สร้างความเป็นแบรนด์เฉพาะตัวที่สำคัญได้เกิดขึ้นแล้ว

แต่ก็ดูเหมือนว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกยังคงดำเนินต่อไป ทั้งโครงสร้างการบริหารและโมเดลธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจดั้งเดิมที่ดำเนินมานานนับสิบปี หรือโมเดลใหม่ที่เปิดตัวไปเพียงไม่กี่ปี ทั้งนี้ เชื่อว่ามาจากข้อจำกัดตามแนวคิดที่นำเสนอคร่าว ๆ ไว้ในตอนที่แล้ว "มาจากการซื้อที่ดิน หรือที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง ภายใต้เจตจำนงกว้าง ๆ โดยไม่คาดคิดว่าจะเชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีก ย่อมมีข้อจำกัดว่าด้วยทำเล ขนาดที่ดิน และสิ่งก่อสร้างในรูปแบบเดิม"



กลุ่มไทยเจริญกำลังเผชิญสิ่งท้าทายกับโมเดลธุรกิจค้าปลีกที่ดูเหมือนจะยังไม่ลงตัวท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกไทยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หนึ่ง-กรณีธุรกิจดั้งเดิม--พันธุ์ทิพย์พลาซาดูเหมือนว่ากลุ่มไทยเจริญเชื่อมั่นในโมเดลธุรกิจ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

"เมื่อช่วงปี 2534-2535 เป็นช่วงที่เครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก พันธุ์ทิพย์ พลาซา ประตูน้ำได้ก้าวเข้ามาเป็นศูนย์กลางการค้าขายคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอันดับหนึ่งของเมืองไทย และเมื่อสินค้าขายดีประกอบกับเพิ่มจำนวนของร้านค้า ราคาเช่าพื้นที่ก็เพิ่มขึ้น"(http://www.pantipplaza.com/) นั่นคือจุดเริ่มต้นโมเดลธุรกิจที่ถือว่ามีบุคลิกเฉพาะ และเป็นความชำนาญเฉพาะตัวของกลุ่มไทยเจริญ แต่เมื่อมาถึงเวลาหนึ่ง ความเชื่อมั่นเริ่มสั่นคลอน

พันธุ์ทิพย์ พลาซา จำต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ใหม่ โดยทีมงานใหม่กลุ่มไทยเจริญว่าด้วยสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตามคำแถลงของผู้บริหารใหม่ระบุว่า กำลังดำเนินแผนการใหญ่ปรับโฉมพันธุ์ทิพย์ พลาซา จากโมเดล ศูนย์การค้าไอที ให้มีความหมายที่กว้างขึ้นเป็น ศูนย์เทคโนโลยี ซึ่งก็ยังไม่มีภาพให้เห็นชัดเจนตามโมเดลใหม่ ตามแผนการคาดว่าการปรับโฉมใหม่จะแล้วเสร็จในปีหน้า

โมเดลห้างสรรพสินค้าไอทีกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากธุรกิจสื่อสารและไอทีกลายเป็นธุรกิจใหญ่ทรงอิทธิพล และเป็นเครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย สามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้น โมเดลธุรกิจจึงมีลักษณะคล้ายเครือข่ายค้าปลีกขนาดเล็ก เปิดศูนย์ธุรกิจและบริการโดยเข้ายึดพื้นที่ค้าปลีกที่สำคัญกระจายอย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศ ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมสั่นสะเทือนศูนย์การค้าไอทีดั้งเดิมที่มีเครือข่ายจำกัด

การปรับตัว ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ล่าสุดเป็นภาพสะท้อนหนึ่งในนั้นด้วย

ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต สร้างมาตั้งแต่ปี 2537 และพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2543 กำลังเดินแผนปรับตัวครั้งใหญ่เช่นกันด้วยขยายพื้นที่อีกนับแสนตาราง(Digitainment) แห่งเรียนรู้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับความสนุกสนาน" (คำอธิบายนี้ยังปรากฏใน http://www.tccland.com/)
แต่แล้วในอีกไม่กี่ปีถัดมา ต้องปรับโมเดลธุรกิจอีกครั้ง Digital Gateway เปลี่ยนชื่อเป็น Center Point @ Siam square โดยเพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่มานมานี้ เปลี่ยนคอนเซ็ปต์จาก IT Mall ซึ่งมีแนวโน้มข้อจำกัดมากขึ้นตามที่กล่าวมาแล้วไปสู่โมเดลที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯช่วงไม่ถึงทศวรรษมานี้--LifeStyle Mall

สอง-โมเดลใหม่ยังไม่ลงตัว

ศูนย์การค้า Gateway Ekamai เปิดตัวไปเมื่อปี 2555

"ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย ตอบสนองวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ด้วยเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากศูนย์การค้าชุมชนที่ผุดอยู่ทั่วไป แตกต่างด้วยบรรยากาศที่นำเอากลิ่นอายของสุนทรียรสแบบญี่ปุ่น นำเสนอให้แก่ลูกค้า ประสานไปกับสถานที่ตั้งที่อยู่ใจกลางของย่านเอกมัย ชุมทางของแหล่งธุรกิจและที่อยู่อาศัย ด้วยขนาดพื้นที่ทั้งหมด 93,000 กว่าตารางเมตร ชูคอนเซ็ปต์ที่รวมวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่นไว้ทั้งหมด โดยมีจุดขายหลักกับโซน Japan Town พบกับร้านอาหารจากประเทศญี่ปุ่นที่มาเปิดในไทยเป็นสาขาแรก" นี่คือแนวคิดดั้งเดิม(http://www.gatewayekamai.com/) ศูนย์การค้าแห่งใหญ่ แบรนด์ใหม่ล่าสุดของกลุ่มไทยเจริญ

ถือเป็นโครงการแรก มาพร้อมกับการก่อตั้งกลุ่มธุรกิจค้าปลีกให้แยกออกต่างหาก สะท้อนความเชื่อมั่นในธุรกิจค้าปลีก ประเดิมด้วยโครงการที่เชื่อมมาจากแนวคิดที่หลักแหลมและชัดเจน มาจากการวิเคราะห์อย่างไตร่ตรองเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มใหม่ ๆ ในช่วงเวลานั้น

"กระแสคลื่นธุรกิจญี่ปุ่นลูกใหม่ กำลังถาโถมเข้าสู่วิถีชีวิตของปัจเจกในเมืองหลวงและหัวเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน" ผมเคยนำเสนอปรากฏการณ์สำคัญไว้ (จากเรื่อง JAPAN CONNECTION ตีพิมพ์ใน "ประชาชาติธุรกิจ" ช่วงปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557) โดยอ้างอิงเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ก่อเป็นกระแสครึกโครมในเวลาต่อมา

กลุ่มเซ็นทรัล เป็นผู้บุกเบิกนำร้านอาหารญี่ปุ่นส่งตรงจากญี่ปุ่นเข้ามาตลาดเมืองไทยตั้งแต่ปี 2548 เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องจากเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นจากภายในเองมาก่อนหน้า ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง

--Fuji เป็นผู้บุกเบิก ค่อย ๆ สร้างเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่น โดยชาวญี่ปุ่นที่ปักหลักอยู่เมืองไทย ใช้เวลาถึง 3 ทศวรรษ

--Oishi ตำนานอันโลดโผน โดยตัน ภาสกรนที เพียงทศวรรษเดียว ต่อมาในปี 2549 ขายกิจการให้กลุ่มไทยเจริญ --ไทยเบฟเวอเรจ จึงกลายเป็นเจ้าของเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

กระแสร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงปี2550-2554เฉพาะกลุ่มเซ็นทรัลเองนำเข้ามาอีกหลายแบรนด์

ในเวลาเดียวกันนั้น (2554) เครือข่ายร้านเสื้อผ้า Uniqlo แบรนด์ญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลก ถือว่าเทียบเคียงกับแบรนด์อย่าง Mark & Spencer อังกฤษ H&M สวีเดน และ Zara ของสเปน ก็มาเปิดที่เมืองไทย

และแล้วเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกแบบ Convenience Store จากญี่ปุ่น พร้อมใจกันพาเหรดเข้ามาเมืองไทย จากที่มีอยู่เดิมก็ขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Family Mart ประกาศร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลในปลายปี 2555 Lawsonเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในปี 2556 โดยรวมมือกับสหกรุ๊ป

ปรากฏการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 2556 กรณีธนาคารญี่ปุ่น-Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ (BTMU) เข้าครอบงำธนาคารไทย-ธนาคารกรุงศรีอยุธยาผมเองเคยอรรถาธิบายเป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจญี่ปุ่นในความพยายามเชื่อมสังคมไทยให้แนบแน่นยิ่งขึ้น แม้ว่าญี่ปุ่นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในเมืองไทยมานาน ครอบคลุมในหลายธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ธนาคารญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบ หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วธนาคารกรุงศรีอยุธยาคือธนาคารที่ให้ความสำคัญและมีเครือข่ายลูกค้ารายย่อยมากที่สุด

"จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามกระแสญี่ปุ่นมาแรงยิ่งขึ้นตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2556 จากมาตรการยกเว้นวีซ่าเข้าญี่ปุ่นให้คนไทยสามารถพำนักได้ 15 วัน จากนั้น Social Media ก็เต็มไปด้วยเรื่องและภาพไลฟ์สไตล์ญี่ปุ่น" ผมเคยสรุปในตอนนั้น

Gateway Ekamai เกิดขึ้นในฐานะ Japan Town ในตอนนั้น เป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจที่โอกาสเปิดกว้างจริง ๆ

แต่แล้วผ่านมาเพียง 2 ปี Gateway Ekamai ต้องปรับตัวพอสมควร โดยมีคำอธิบายใหม่ที่กว้างกว่าเดิม "Gateway Ekamai ภาพลักษณ์และรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด "Community Shopping Center และเพิ่มเติมด้วย Urban Lifestyle รวบรวมร้านค้าที่หลากหลายเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ชีวิตคนเมืองให้เป็นศูนย์รวมความสุขครบรสสำหรับทุกคนในครอบครัว"

นี่คงเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกใหม่จำเป็นต้องข้ามผ่านเมตร เรียกว่า "The Hub" ให้เป็นศูนย์ค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในย่านรังสิต

โครงการที่ดู "คาบลูกคาบดอก" อีกโครงการหนึ่งของไทยเจริญ เกิดขึ้นจากโอกาสที่แตกต่างออกไป แต่ก็มาสู่บทสรุปใกล้เคียงกัน

ในปี 2552 ทีซีซี แลนด์ฯชนะประมูลเข้าพัฒนาพื้นที่เดิมที่เรียกว่า เซ็นเตอร์พอยต์ ในสยามสแควร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นปรับโฉมเปลี่ยนชื่อเป็น"Digital Gateway" เข้าใจว่าพยายามสร้างโมเดลใหม่อย่างผสมผสาน อ้างอิงกับทั้งโมเดลธุรกิจเก่า ศูนย์การค้าไอที และแบรนด์ใหม่ ซึ่งเปิดตัวในเวลาเดียวกันนั้น "Gateway Ekamai" เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่อ้างว่า "ดิจิเทนเมนต์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มองข้ามวิกฤตกรีซดีไหม จีนต่างหากของจริง จับตาฟองสบู่แตก เสี่ยงลามทั้งโลก !!?

ขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาวิกฤตเงินกู้และสถานการณ์ขัดแย้งของกรีซและสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิดอีกฟากหนึ่งนั้นในภูมิภาคเอเชียกลับมีสถานการณ์ที่ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆเมื่อในช่วงที่ผ่านมาปรากฎข่าวที่เกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเริ่มเผชิญปัญหาหนักอย่างต่อเนื่องและยังมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อออกไป

สถานการณ์นี้ทำให้เกจิผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินได้เริ่มออกมาเตือนแล้วว่าความเคลื่อนไหวนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่โลกควรจับตาโดยหากส่งผลกระทบต่อโลกเมื่อไหร่วิกฤตกรีซที่หลายคนกำลังให้ความสนใจกันอยู่จะไม่มีทางเทียบได้เลยหากประเมินถึงความจริงที่ว่า จีนคือชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และมีจีดีพีใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นปัจจัยพื้นฐาน!

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สิ่งที่ทั่วโลกควรให้ความสนใจอย่างแท้จริงตอนนี้ คือ ตลาดหุ้นจีน หาใช่วิกฤตเงินกู้ของกรีซ ที่จริงๆ แล้วมีจีดีพีเพียงเล็กน้อยเทียบได้เท่ากับแค่เศรษฐกิจของคาซัคสถาน อัลจีเรีย หรือกาตาร์เท่านั้น ขณะที่จีดีพีของจีน มีมูลค่าสูงเป็น"อันดับ 1"ของโลก จากการบริโภคของประชากรจำนวนกว่า 1,400 ล้านคน โดยภาวะที่ตลาดหุ้นจีนกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้คือ ภาวะฟองสบู่ ที่หลายฝ่ายกำลังกังวลหนักกว่ามีสิทธิจะแตกระเบิด และมันจะแพร่ผลกระทบไปทั่วโลก และจะฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งไปตาม ๆ กัน จากผลกระทบของความเป็นยักษ์ใหญ่ผู้บริโภคของจีน

สถานการณ์นั่นคือ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนได้เกิดพฤติกรรมกระตุ้นตลาดและการเก็งกำไรกันอย่างผิด ๆ โดยปรากฎว่า ประชาชนได้แห่"กู้เงิน"เพื่อซื้อหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้และตลาดเซิ่นเจิ้น ในช่วงที่รัฐบาลจีนต้องการให้ประชาชนแห่เข้ามาลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่รัฐบาลสนับสนุน และปรากฎว่า ภาวะแห่ซื้อหุ้นดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนและราคาหุ้นเพิ่มสูงอย่างมาก เพราะความคึกคักของตลาดที่มาจากแรงซื้อ(ผิดๆ)ของนักลงทุน ซึ่งก็คือประชาชนจีน ทำให้ตลาดหุ้นกลายเป็นอยู่ในภาวะฟองสบู่ ที่เติบโตอย่างล่อแหลม

ก่อนที่เมื่อเดือนที่แล้ว จะปรากฎสัญญาณร้ายขึ้น เมื่อตลาดหุ้นจีนเริ่มตก และทำให้ประชาชนหรือนักลงทุนทั้งหลายต่างรีบเทขายหุ้นของตัวเอง เพื่อนำเงินไปจ่ายคืนหนี้ที่กู้มาซื้อหุ้นเล่น และภาวะแห่เทขายหุ้นทิ้งดังกล่าวขยายตัวบานปลายฉุดให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ดิ่งตกอย่างหนัก ขณะที่ว่ากันว่าการที่บรรดาโบรกเกอร์ของบริษัทหลักทรัพย์จีนตั้งคงตั้งหน้าตั้งตากระตุ้นการขายหุ้นให้แก่ประชาชนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซิ่นเจิ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ดังกล่าวขึ้น

โดยตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกหากคิดตามมูลค่าของบริษัทได้ตกฮวบถึง 30 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิ.ย.เข้าสู่ภาวะหุ้นหมี ส่วนตลาดเซิ่นเจิ้นที่มีขนาดเล็กกว่า ปรากฎว่าตกหนักเช่นกันและยังหนักกว่า หรือ 31 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดียวกัน ภาวะหุ้นตกนี้ถือว่าสวนทางเมื่อช่วงต้นปีที่ตลาดหุ้นจีนกำลังเพิ่มมูลค่าของตลาดอย่างมหาศาล ขณะที่ภาวะฟองสบู่มีเค้าว่าจะแย่หนักขึ้นหากนักลงทุนตื่นตระหนกเพราะตระหนักว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทต่าง ๆ



นายไมเคิล เพ็นโต้ ประธานและผู่ก่อตั้งหน่วยบริหารพอร์ตลงทุน"เพ็นโต"บอกว่า การขยายตัวของตลาดหุ้นจีน ไม่ได้ถูกสนับสนุนจากแรงซื้อพื้นฐานที่ถูกต้อง แต่มาจากการกู้ยืมอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุน ขณะที่นายไล่ หม่า ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยวอร์วิค บิสสิเนส ของสหราชอาณาจักร บอกว่า เขาวิตกว่า รัฐบาลจีนอาจเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการซื้อหุ้นของบริษัทใหญ่เพื่อให้มูลค่าหุ้นบริษัทเหล่านี้อยู่ในระดับสูงแต่ปล่อยทิ้งไม่สนใจบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าโดยที่ผ่านมาภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดการหลั่งไหลของเงินทุนที่เข้าสนับสนุนบริษัทของรัฐที่มีขนาดใหญ่

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสาเหตุที่เศรษฐกิจจีนทรุดเพราะฟองสบู่แตกจะกระทบต่อโลกภายนอกนั้นก็เหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 และปี 2000โดยปัจจุบันจีนซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของยุโรปและสหรัฐฯ หากเศรษฐกิจจีนทรุด ก็ย่อมกระทบสองชาติคู่ค้าหลักนี้ไปด้วย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่ต่างก็มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ปรากฎว่าธนาคารของสหรัฐฯเข้าไปเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนอย่างมากมาย หรือมากกว่ากรีซถึง 10 เท่า

โดยแรงสะเทือนแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ ปฎิกิริยาของตลาดหุ้นเอเชียจะพากันร่วงดิ่งตกก่อนใครเพื่อน หากจีนยังไม่สามารถยับยั้งภาวะ"เลือดไหลออก"นี้ได้ นอกจากนี้ อีกประการหนึ่ง ก็คือ จีนเป็นประเทศผู้บริโภคสินค้าอุปโภคหลายใหญ่ของโลก หากเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบ จีนก็จะลดปริมาณการบริโภคดังกล่าว ซึ่งนั่นจะผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดนอกประเทศ และส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกด้วย

ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาล่าสุดของจีนขณะนี้เพื่อพยุงตลาดก็คือ 1.การให้ธนาคารกลางอัดฉีดเงินทุนเข้าไปยังตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายการซื้อหุ้นแบบมาร์จิ้น ไฟแนนซ์ แต่หากลงทุนผิดพลาดหรือขาดทุน นักลงทุนก็จะต้องถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่คืนอย่างรวดเร็ว 2.บริษัทโบรกเก่อร 21 บริษัทรับปากที่จะใช้เงินกว่า 1,930 ล้านดอลลาร์ ช่วยกันซื้อหุ้นเพื่อพยุงตลาด โดยมีเป้าหมายจะดันให้ดัชนีของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ทะลุ 4,500 จุด ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อเดือนมิ.ย. ก่อนหุ้นดิ่งตก

3.บริษัทที่จดทะเบียนใหม่ 28 บริษัท ได้ระงับการเข้าตลาดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์และนิ่งและมั่นคง เพื่อป้องกันไม่ให้การเข้าตลาดของกลุ่มผลักดันให้ตลาดหุ้นจีน ปั่นป่วนขึ้นไปอีก จากการแห่ซื้อหุ้นจดทะเบียนของบริษัทน้องใหม่เหล่านี้

คงต้องจับตากันว่า มาตรการเหล่านี้จะสามารถฉุดให้จีนพ้นจากวิกฤตฟองสบู่แตกได้หรือไม่ และเชื่อว่านับแต่นี้ไปหลายฝ่ายต้องจับตาดูจีนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตัวเองได้อย่างรอดปลอดภัยได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน!

ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ระวัง วิกฤตการเงินไทยรอบ 2 !!?

คอลัมน์ : ทิศทางเศรษฐกิจ
โดย อ.พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ

ผ่านพ้นครึ่งปีแรก 2558 ไปอย่างทุลักทุเล เศรษฐกิจการเงินไทยเผชิญปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในโลกยุคโลกาภิวัตน์ขณะนี้ สถานการณ์วิกฤตในต่างประเทศ ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างมาก

หลากหลายปัญหาถาโถมเข้ามาดังนี้ 1) วิกฤตราคาน้ำมันดิบร่วงลงแรงจาก 100 เหรียญสหรัฐ เหลือ 42 เหรียญสหรัฐ แล้วค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาเป็น 60 เหรียญสหรัฐ กดดันให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปิโตรเคมีร่วงลงมาก ลากหุ้นไทยอ่อนตัวลงจาก 1,575 จุด ลงมาเหลือเพียง 1,500-1,520 จุด ขณะนี้ที่สำคัญราคาน้ำมันได้ลากราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ลงตามมามาก เช่น ข้าว, ยางพารา, อ้อย, น้ำตาล, มันสำปะหลัง, ทำให้รายได้ของเกษตรกรและผู้ส่งออกลดลงมาก

2) วิกฤตหนี้สินของกรีซ 350,000 ล้านยูโร กดดันให้ตลาดหุ้นยุโรป ค่าเงินยูโรลดลงอย่างมาก ดัชนี DAX เยอรมนีร่วงลงแรงจาก 12,350 จุด ลงมาเหลือเพียง 11,000-11,400 จุด ค่าเงินยูโรไหลลงมาจาก 1.38 เหรียญสหรัฐ/1 ยูโร เหลือเพียง 1.05 เหรียญสหรัฐ/1 ยูโร แล้วเพิ่งจะขยับขึ้นมาเป็น 1.10-1.14 เหรียญสหรัฐ/1 ยูโร ยิ่งกว่านั้นการเจรจาเพื่อขอเงินกู้ก้อนใหม่อีก 7,200 ล้านยูโรก็ยังไม่สำเร็จ อาจส่งผลให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ (Default) และต้องออกจากยูโรโซน ต้องดู 30 มิ.ย.จะตกลงกันได้หรือไม่ ?

ถ้าตกลงกับ EU, IMF, ECB ไม่ได้ อาจก่อให้เกิดวิกฤตการเงินของโลกรอบใหม่กระทบตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกได้

3) วิกฤตเศรษฐกิจ-การเงินไทยรอบ 2 ขณะนี้ในเชิงเทคนิคด้านเศรษฐศาสตร์ถือว่าประเทศไทยสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงินรอบ 2 ขึ้นมาใหม่ได้ เพราะมีปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors) เข้ามามากมาย ซึ่งล้วนส่งผลลบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น ได้แก่

3.1 วิกฤตภัยแล้งหนักจากอากาศแล้งจัดผิดปกติ และการบริหารน้ำที่ผิดพลาดใหญ่หลวงของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ และ กฟผ. ทำให้เกิดขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่สุดในรอบ 30 ปี น้ำน้อยกว่า 20-30% ของเขื่อนที่ไม่สามารถทำนาปีตามปกติได้, กฟผ.อาจต้องลดการผลิตไฟฟ้าลงเพราะน้ำไม่เพียงพอ อาจเกิดปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอด้วย ส่งผลลบใหญ่หลวงต่อ GDP ซึ่งกระทรวงการคลังแจ้งว่าจะกด GDP ให้ลดลงมา 0.5% แต่ผมว่าจะลดลงมากถึง 0.8-1.0% เลยทีเดียว นั่นหมายถึง GDP ไทย ปี′58 จะลดจาก +3.0 ลงมาเหลือแค่ +2.0 ถึง 2.0%

3.2 ยอดการส่งออกยังคงลดลงต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการกดดันบีบคั้นและรังแกโดยสหรัฐอเมริกาและกลุ่ม EU ต่อรัฐบาลทหารของไทย โดยกดดันมาหลายเรื่องดังต่อไปนี้

3.2.1 บีบไทยเข้าสู่ Tier 3 แรงงานประมงไทย หาว่าเป็นแรงงานทาส และขู่จะงดซื้อสินค้าประมงไทย ซึ่งจะเสียหายหนักเพราะไทยส่งออกปีละราวเกือบ 3 แสนล้านบาท (10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ยังไม่ยอมลดราวาศอกเลย

3.2.2 บีบไทยผ่าน ICAO หาว่ามาตรฐานความปลอดภัย SSM ของไทยต่ำกว่ามาตรฐาน ล่าสุดก็มาปักธงแดงใน Website การบินของไทย บีบไทยด้านสนามบิน, สายการบินต่าง ๆ ของไทย และจะส่งผลกระทบทางลบต่อการท่องเที่ยว, การขนส่งสินค้าทางอากาศ Logistics ของไทย การกระทำของสหรัฐและยุโรปแย่มากที่ต้องการบีบรัฐบาลทหารไทย แต่มาส่งผลเสีย-ผลลบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว การขนส่ง และเศรษฐกิจการเงิน การค้าระหว่างประเทศของไทย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อคนไทย การบริหารของไทยอย่างใหญ่หลวงที่สุด

3.2.3 บีบไทยเรื่องผู้หนีภัยโรฮีนจา แทนที่จะไปบีบรัฐบาลพม่าซึ่งเป็นต้นเหตุที่ไม่ยอมรับชาวโรฮีนจาเป็นพลเมืองพม่า แล้วยังฉวยโอกาสอย่างน่าเกลียด ส่งเครื่องบินรบและเรือรบเข้ามาในไทย โดยอ้างว่าจะมาลาดตระเวนช่วยผู้ลี้ภัยโรฮีนจา ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยไทยชัดเจน

3.3 ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น และหนี้เสีย NPL เริ่มสูงขึ้นมาก เราต้องเตือนพี่น้องคนไทยให้บริหารเงิน บริหารการลงทุนให้ดี เพราะครึ่งปีหลังปี′58 จะลำบากยากแค้นมากขึ้น ชาวนา, เกษตรกรสาหัสแน่ เพราะทำนาปลูกพืชผักผลไม้ไม่ได้ น้ำน้อย แล้งจัด รายได้ของเขาก็ต้องลดลงมากแน่ ๆ ธุรกิจ SMEs ก็ต้องระวังให้มาก และต้องเผื่อสภาพคล่องให้ดี ระวังอย่าให้สะดุด ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงให้มากที่สุด แสวงหารายได้เพิ่มขึ้นให้มากในหลาย ๆ ทาง อย่าพึ่งรายได้เพียงแหล่งเดียว จะต้องแสวงหารายได้จากหลาย ๆ แหล่ง และต้องพยายามแสวงหาตลาดใหม่ ๆ, ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ พันธบัตรใหม่ ๆ ทั้งด้านการตลาด การเงิน และเครือข่ายใหม่ ๆ

ยอดขายโดยรวมของธุรกิจอาจลดลงเฉลี่ย 10-30%

ดังนั้น ท่านต้องทำงานให้หนักขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ ขยายสู่ผลิตภัณฑ์บริการใหม่ ๆ และลู่ทางทำการค้าการลงทุนใหม่ ๆ รวมทั้งพันธมิตร จึงจะอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้

ผมไม่อยากจะเตือนอะไรแรงกว่านี้ เพียงแต่เห็นว่าครึ่งปีหลังปี′58 จะไม่ค่อยสดใส และถ้ารัฐบาลบริหารงานเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งพอ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจการเงินไทยไหลลงสู่หุบเหวอันตราย !

กองทุนฝรั่งเลว ๆ จำนวนมากยังคงจ้องมองทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีถึง 165,000 ล้านเหรียญสหรัฐตาเป็นมัน ฝรั่งแย่ ๆ เหล่านี้อาจกลับมาโจมตีค่าเงินบาทของไทยได้ทุกเมื่อ รวมทั้งจ้องจะกลับมาซื้อหนี้เสีย NPL ของไทยราคาถูก ๆ แล้วมาตามทวงหนี้แบบมหาโหดเหมือนที่เคยทำเมื่อปี 2540-2542

เราควรแก้ไขกฎหมายของชาติ 11 ฉบับโดยเร็ว เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ลูกหนี้คนไทย ควบคุมดอกเบี้ยและการติดตามทวงหนี้มหาโหดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างชาติ อย่าให้มาทำร้ายคนไทยอีกต่อไป !

อเมริกาและยุโรปอยู่เบื้องหลังเรื่อง Tier 3, ICAO, โรฮีนจา และอีกหลายเรื่องที่บีบไทยอยู่ในขณะนี้ครับ !

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แบงก์อ่วมแห่ตัดขาย หนี้เสีย กดราคา หลักประกันต่ำ50 เปอร์เซนต์


แบงก์อ่วมเอ็นพีแอลท่วมหัว แห่ขนหนี้เสียออกมาเทกระจาด ดันซัพพลายล้น จุกซ้ำโดนกดราคาหลักทรัพย์เหลือไม่ถึง 50% SAM ประเมินปีนี้แบงก์ตัดขายหนี้เสีย 4-5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัว เผย "บ้าน-โรงงาน" ยอดฮิต

แหล่งข่าวจากฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่า ปัจจุบันจากปัญหาคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลงส่งผลให้หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (สเปเชียล แมนชั่น) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริหารจัดการหนี้ทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อย โดยแนวทางการบริหารจัดการมีทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และตัดขายออกบางส่วน

ทั้งยอมรับว่า การตัดขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในระยะหลังได้ราคาที่ค่อนข้างต่ำ จากเดิมที่เคยขายในราคาประมาณ 60% ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ปัจจุบันปรับลดลงต่ำกว่านั้นมาก และบางรายอาจขายได้เพียง 40% กว่า ๆ เท่านั้น ซึ่งบางธนาคารไม่มีทางเลือกต้องยอมขายเพราะไม่ต้องการให้ปริมาณหนี้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป

"ตอนนี้ขายหนี้ได้ราคาต่ำมาก เพราะซัพพลายในตลาดมีมากกว่าดีมานด์เยอะ ซึ่ง AMC ก็แบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพราะต้องกอดหนี้ไว้นานขึ้น ผลจากที่เศรษฐกิจไม่ดีอาจทำให้คนไม่เชื่อมั่นก็ไม่ค่อยมีใครอยากซื้อ ไม่ว่าจะนำไปทำประโยชน์เองหรือเก็งกำไรก็ตาม" แหล่งข่าวกล่าว

ตัดขายหนี้เสียปีนี้ 4-5 หมื่น ล.

นายชูเกียรติ จิตติไมตรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกมีสถาบันการเงิน 5-6 รายนำทรัพย์ทั้งในส่วนของหนี้เอ็นพีแอลและทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) เฉพาะส่วนที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันออกมาขายในตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เทียบเคียงได้กับการนำทรัพย์ออกมาขายปี 2557 ทั้งปีอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะมีการนำทรัพย์ออกมาขายไม่น้อยกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ทรัพย์ที่นำออกมาขายส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินและที่อยู่อาศัย คาดว่าจะเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและปัญหายังลากยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้สภาพคล่องของผู้บริโภคและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอ่อนกำลังลง

"ส่วนใหญ่การขายทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อย ส่วนรายใหญ่น้อยมาก และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะเห็นการนำทรัพย์ออกมาขายใกล้เคียงหรือมากกว่าครึ่งปีแรก" นายชูเกียรติกล่าว

ขณะที่ราคาหนี้จากเดิมที่บริษัทเคยรับซื้อประมาณ 50-70% ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็ปรับลดลงเล็กน้อยประมาณ 1-5% แม้ปริมาณหนี้เสียในระบบจะมากขึ้น แต่คุณภาพหนี้โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนที่สถาบันการเงินต้องทยอยตัดขายทรัพย์ออกมาก็เพื่อรักษาระดับเอ็นพีแอลให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถดึงสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญกลับมาเป็นกำไรได้โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้ารับซื้อทรัพย์เข้ามาบริหารประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่ม ซึ่งได้เจรจากับสถาบันการเงินในหลักการเรียบร้อยแล้ว แต่รูปแบบการชำระเงินอาจเปลี่ยนเป็นการแบ่งชำระเป็นงวด ๆ จากเดิมที่จ่ายเป็นเงินสด

SCB-KTB ทยอยตัดขายหนี้

ขณะที่นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในไตรมาส 1/2558 เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 2.13% ถือเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่การบริหารจัดการต้องพิจารณาอย่างละเอียดมากขึ้น

"เราต้องดูอย่างละเอียดว่าหนี้ส่วนไหนที่จะขายหรือส่วนไหนที่จะเก็บไว้บริหารเอง ที่ขายออกไปมีเยอะ ทั้งกลุ่มโรงงาน บ้าน เป็นต้น ส่วนสินเชื่อใหม่ต้องระวังมากขึ้นเพื่อให้ของที่อยู่ในบุ๊กมีตำหนิน้อยที่สุด ซึ่งบางกลุ่มก็ยังเหนื่อย บางกลุ่มดีขึ้น แต่โดยภาพรวมหนี้เสียน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว" นายญนน์กล่าว

ด้านนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารได้ขายหนี้ออกไปบางส่วนแล้ว แต่มีสัดส่วนไม่มาก เนื่องจากธนาคารจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเองมากกว่า ในส่วนของราคาต้องยอมรับว่าตอนนี้มีซัพพลายในตลาดมากกว่าดีมานด์ค่อนข้างมาก

"แบงก์มีการขายออกบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติในการบริหารจัดการของแบงก์พาณิชย์ เพราะการขายออกจะทำให้เอ็นพีแอลปรับตัวลดลงทันที แต่วัฒนธรรมของเราคือต้องพยายามช่วยเหลือลูกค้าให้ถึงที่สุดก่อน โดยหนี้ที่แบงก์ขายหลากหลายแต่ถ้าเป็นหนี้รายใหญ่จะได้ราคาดี" นายวรภัคกล่าว

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ปริมาณหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 ขณะที่ทิศทางไตรมาส 2/2558 น่าจะชะลอลงบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล เพื่อให้ลูกค้ายังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่หากไม่สามารถบริหารจัดการได้แล้วธนาคารต้องตัดขายออก ซึ่งธนาคารจะต้องประเมินว่าจะบริหารจัดการเองหรือตัดขาย ส่วนไหนจะได้รับผลตอบแทนมากกว่า โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับประมาณ 2.8-3% และคาดว่าจะปรับลดลงในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้

เอสเอ็มอีแบงก์ขายหนี้หมื่นล้าน

นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ในปี 2558 ธนาคารมีแผนจะตัดหนี้สูญรวม 3,500 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้ตัดหนี้สูญไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท จากลูกหนี้ประมาณ 900 ราย ทั้งยังมีแผนขายหนี้เอ็นพีแอลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์รวม 7,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีการขายหนี้ไปแล้วกว่า 2,600 ล้านบาท และล่าสุดเพิ่งลงนามกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (บสก.) อีก 1,150 ล้านบาท

โดยการตัดขายหนี้ดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่ต้องการลดเอ็นพีแอลในพอร์ตให้เหลือ 2 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ หรือประมาณ 20% จาก ณ สิ้นเดือน พ.ค.อยู่ที่ 2.87 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 33.29%

ด้านนางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) กล่าวว่า บตท.มีแผนขายหนี้เอ็นพีแอลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ประมาณ 200 ล้านบาท โดยจะต้องมีการเจรจาเรื่องราคาซื้อขายกันอีกที แต่เชื่อว่าราคาน่าจะยังดี เพราะเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยที่มีหลักประกันคุ้มค่า

ทั้งนี้ สำหรับผลดำเนินงาน 5 เดือนแรกที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า สภาพตลาดปีนี้คนกู้สินเชื่อได้น้อยลง แบงก์ก็ระมัดระวังในการปล่อยกู้ และลูกหนี้ที่อยู่ในพอร์ตก็มีอัตราหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยเท่าที่เห็นไม่ได้ขึ้นจากพอร์ตใดพอร์ตหนึ่ง แต่มาจากทุกธนาคารกระจายตัว

นอกจากนี้ เมื่อ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมาทางธนาคารธนชาต ได้ลงนามโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตและเช่าซื้อรถยนต์ มูลค่า 3,819 ล้านบาท ให้กับ บริษัทบริหารสินทรัพย์เจ จำกัด บริษัทย่อยของบริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)

Q2 เอ็นพีแอลแบงก์พุ่งหมื่น ล.

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) ประเมินช่วงไตรมาส 2/58 ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะยังคงไม่ดีนัก เนื่องจากคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งระบบน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 1 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสที่ 1/58 ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นราว 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดเอ็นพีแอลไตรมาส 2/58 ของทั้งอุตสาหกรรมขยับตัวขึ้นมาอยู่ที่ราว 3.1% ของยอดสินเชื่อ จากไตรมาส 1/58 อยู่ที่ระดับ 3%

ขณะเดียวกันธนาคารยังได้รับปัจจัยลบทางตรงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของทั้งอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/58 น่าจะปรับตัวลดลงเหลือราว 2.95% จากไตรมาส 1/58 อยู่ที่ 3% ทำให้ภาพรวมของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2 ยังคงไม่ดีนัก และคาดว่าเอ็นพีแอลก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปีนี้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจในกัมพูชา....!!?

โดย ณกฤช เศวตนันท์

กัมพูชา เป็นประเทศหนึ่งในจำนวนสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมี กรุงพนมเปญ เป็นเมืองหลวง และเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อาชีพหลักของชาวกัมพูชา คือเกษตรกรรม

ปัจจุบันกัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสังคมนิยม เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศ คือ สมเด็จฮุน เซน

หลังจากเปิดประเทศ ทำให้กัมพูชาต้องบูรณะประเทศขึ้นใหม่ในเกือบทุกด้าน ดังนั้นจึงทำให้ประชากรภายในประเทศเกิดความต้องการสินค้าด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จากการที่กัมพูชามีความจำเป็นต้องพัฒนาประเทศโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจดังกล่าว จึงได้ออก นโยบายส่งเสริมด้านการลงทุน ให้ต่างชาติหันเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น

สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในกัมพูชา ซึ่งจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2557 การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ของกัมพูชา มีการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 7% จากปี 2556 ที่มีการขยายทางด้านเศรษฐกิจในระดับที่ 7.2% ซึ่งถือว่าการเติบโตในปี 2557 มีการขยายตัวใน ระดับปานกลาง แต่การขยายตัวลดลงกว่าปี 2556 สาเหตุมาจากปัญหาความตึงเครียดทางการเมือง ตั้งแต่มีการเลือกตั้งในปี 2556 เดือนกรกฎาคม อีกทั้งเกิดการเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างแรงงานของคนงาน ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตเสื้อผ้ากับรองเท้าตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2557 และยังทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของกัมพูชา มีอัตราการเติบโตล่าช้า

ในปี 2557 มูลค่าการค้าต่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมปี 2556 ที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศอยู่ที่ 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจึงมีมูลค่าการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 13% สำหรับการส่งออกสินค้าของกัมพูชามีมูลค่าจำนวน 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมปี 2556 ที่มีมูลค่าการส่งออกจำนวน 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็น 80% ของการส่งออกทั้งหมด

สำหรับการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาในปี 2557 มีมูลค่าจำนวนทั้งหมดประมาณ 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมในปี 2556 ที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจำนวนทั้งหมดประมาณ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า ปิโตรเลียม รถยนต์กับจักรยาน วัสดุก่อสร้าง อาหาร และเภสัชภัณฑ์

ขณะที่สภาพเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป หรือในไทยก็ดี มีการฟื้นตัว น่าจะส่งผลให้ "การส่งออก" ของกัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตและการก่อสร้าง คาดว่าน่าจะมีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 9.7% ส่วนภาคการท่องเที่ยว เกิดการชะลอตัวในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสาเหตุความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของปี 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมาเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อปัญหาทางด้านการเมืองของกัมพูชาคลี่คลายลง จึงมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

รัฐบาลกัมพูชาเองให้การส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ อาทิ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา รวมทั้งกิจกรรมการผลิต-ส่งออก ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ การส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลกัมพูชาสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชาได้เป็นจำนวนมาก

เพราะกัมพูชามีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำ และมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก ส่วนธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติ ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาทิ ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นธุรกิจดาวเด่นที่นักลงทุนส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ก็สามารถสร้างเม็ดเงินให้แก่กัมพูชาได้อย่างงาม

นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในแถบเอเชีย เพราะมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฉันเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนาน และให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้แก่ จีน เวียดนาม ไทย สำหรับนักลงทุนไทยนั้นจะอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของประสบการณ์ทางด้านทรัพยากร และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ เข้าไปลงทุนในกัมพูชา โดยธุรกิจหลักที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน อาทิ ธุรกิจการเกษตรและการแปรรูป ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า และธุรกิจการท่องเที่ยว

สำหรับภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา มีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น

อาทิ มูลค่าการส่งออกในปี 2557 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ถึงแม้การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2557 มีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาแค่เพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาทางการเมืองของกัมพูชาสงบลง อีกทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าก็มีการขยายการเติบโต ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และไทย ส่งผลให้กัมพูชาได้รับอานิสงส์ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปด้วยในปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะโตถึงร้อยละ 7.3%

หากกล่าวถึงอุปสรรคของการทำธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชาแล้ว ต้องบอกว่ากัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และถือเป็นประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมในการรองรับภาคบริการ อย่างไรก็ดี การเปิดประเทศของกัมพูชาค้าขายกับเพื่อนบ้าน และมีการปกครองเป็นประชาธิปไตย ทำให้กัมพูชาได้เชื่อมโยงทางด้านธุรกิจกับต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจทำให้กัมพูชามีความต้องการการลงทุนในภาคบริการเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย !!?


โดย:ดร.วิรไท สันติประภพ

ช่วงนี้ผมมักถูกถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย หลายคนกังวลกับข่าวและตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัว บางคนสับสนกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้น (หรือไม่เกิดขึ้น) และบางคนหงุดหงิดกับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่ไม่เกิดผลแบบทันอกทันใจ

หลายคนสงสัยและหงุดหงิดเพราะมองไม่ออกว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้เป็นปัญหาวัฏจักรทางเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ (cyclical) หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural) ที่ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด คนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวัฏจักรทางเศรษฐกิจ มักหวังให้ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากเข้าไว้เพื่อจุดเครื่องยนต์ภาคเอกชนให้กลับมาเดินเครื่องใหม่ แต่สำหรับคนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเกิดผลเพียงเล็กน้อยในช่วงสั้นๆ ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้จริง ที่สำคัญ ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ จะทำให้เราชะล่าใจ ผลักปัญหาไปข้างหน้า ไม่จัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซ่อนไว้เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคต

ผมเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายจุด ถ้าจะเปรียบกับร่างกายคน เศรษฐกิจไทยเวลานี้เหมือนกับคนอ้วนที่เคยปล่อยเนื้อปล่อยตัวกินตามใจปากมานาน มีอาการทั้งโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อเข่าเริ่มเสื่อม กระดูกหลายชิ้นเริ่มทรุด ทางเดียวที่จะทำให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างแท้จริงคือต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการกินตามใจปาก หันมาออกกำลังกายรีดไขมัน สร้างกล้ามเนื้อ รวมทั้งยอมเจ็บผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและชิ้นกระดูกที่เป็นปัญหา

ใครก็ตามที่โดนหมอวินิจฉัยโรคแบบนี้ย่อมทำใจยาก การเลิกกินตามใจปากและหันมาออกกำลังกายทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง ทั้งหน้ามืด อ่อนแรง หงุดหงิด จนหลายคนควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ คนไข้ที่ใจอ่อนมักหันกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม และหวังว่าจะเจอหมอคนใหม่ที่ชอบเอาใจ วินิจฉัยโรคว่าไม่ได้เป็นอะไรรุนแรง ทุกคนรู้ดีว่าคนไข้ที่หลอกตัวเอง มีแต่จะสะสมโรคร้ายมากขึ้น เสี่ยงที่จะหัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตกได้แบบฉับพลัน ถ้าเราปล่อยให้สุขภาพเสื่อมลงถึงจุดนั้นแล้ว การรักษาให้กลับมาปกติใหม่จะยากขึ้น และต้นทุนค่ารักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้นมาก (จนอาจจะทำให้คนไข้และญาติพี่น้องหมดเนื้อหมดตัว)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเหมือนกับคนอ้วนที่เคยกินตามใจปากจนเกินพอดี เป็นเพราะนโยบายภาครัฐในอดีตหลายเรื่องที่สร้างรายได้เทียมให้แก่ประชาชน ส่งเสริมให้คนนำเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า และสร้างวัฒนธรรมรอรัฐอุปถัมภ์ หมอที่ชอบเอาใจคนไข้มักเร่งให้คนไข้ดูดีด้วยการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วในช่วงสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก (ที่หลายคนกู้เงินซื้อรถเพื่อรักษาสิทธิ์เอาภาษีคืนจากรัฐบาล) โครงการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงเกินจริง (ที่สร้างผลขาดทุนกว่าครึ่งล้านล้านบาท สร้างหนี้สาธารณะ และทำให้เกษตรกรถูกหลอกว่าจะมีรายได้ดีต่อเนื่อง จนใช้จ่ายจนเกินตัว) การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ (ทำให้แรงงานเชื่อว่าจะมีรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กไปไม่รอด และราคาสินค้ากระโดดขึ้นเร็ว) และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการแบบก้าวกระโดดโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพ (ได้สร้างข้อจำกัดทางงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ) ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และโครงการเร่งลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจที่ไม่คุ้มค่าอีกหลายสิบโครงการ

เมื่อนโยบายเหล่านี้เริ่มอ่อนฤทธิ์ และร่างกายเริ่มแสดงอาการที่แท้จริง จึงพบสัญญาณหลายอย่างว่าการกินเกินพอดีที่ผ่านมาได้ทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงมาก ตัวบ่งชี้โรคร้ายหลายตัวกระโดดขึ้นเกินค่ามาตรฐานมาก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติ สัดส่วนรายจ่ายประจำของรัฐบาล อัตราหนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผลขาดทุนของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง หนี้สาธารณะของรัฐบาล ตลอดจนการคอร์รัปชันในหลายรูปแบบ ที่เป็นพยาธิคอยสูบเลือดจากทุกอวัยวะของระบบเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ เรากำลังเผชิญกับปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อเข่าเสื่อม และกระดูกทรุดอีกมากมาย จากการอ่อนประสิทธิภาพของระบบราชการ การด้อยคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยที่ถดถอยลง โดยเฉพาะการส่งออก การขาดแคลนแรงงานอาชีวะและแรงงานมีฝีมือ รวมไปถึงความแตกแยกในสังคมที่ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนมือยาวสาวได้สาวเอา การที่เราเพลินกับการกินตามใจปาก ไม่รักษาสุขภาพ และขาดวินัย ได้สร้างปัญหาให้กับเราแล้วในวันนี้ และจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตถ้าเราไม่แก้ไข

จุดเริ่มต้นของการรักษาคือ ต้องทำให้คนไข้ยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วยรุนแรงด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง คนไข้ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง และต้องยอมรับการผ่าตัดในหลายจุด คนไทยหลายกลุ่มยังคิดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวัฏจักรเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ เช่น เศรษฐกิจไม่ดีเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คนไม่ยอมใช้จ่ายเงินเพราะขาดความมั่นใจในรัฐบาล รัฐบาลเบิกจ่ายเงินช้า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำชั่วคราว หรือค่าเงินบาทแข็งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกมีปัญหา คนกลุ่มนี้ (ซึ่งส่วนหนึ่งเคยชินกับวัฒนธรรมรอรัฐอุปถัมภ์) มักเรียกร้องให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยยาชูกำลังแบบเดิมๆ ซึ่งจะทำให้อาการป่วยหลบใน รอเวลาสำหรับการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่าในอนาคต

ในสภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ หรือเร่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อ เป็นได้เพียงแค่ยาชูกำลังที่ทำให้คนไข้สดชื่นชั่วคราว หรือเป็นเพียงยาหอม ยาดม ที่เยียวยาอาการภายนอกในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะภาครัฐมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจไทย และการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้แก้ต้นเหตุของปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใน แต่ถ้าเราใช้ยาพวกนี้มากเกินควรย่อมเกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง รวมทั้งต้องระวังไม่ให้รัฐบาลซื้อยาชูกำลัง ยาหอม ยาดม จนเงินหมดกระเป๋า ไม่เหลือเงินสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงที่ต้นเหตุของปัญหา ในเวลานี้ หมอและคนไข้ต้องร่วมกันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปการศึกษา และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันทุกระดับ

การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจสำคัญมากสำหรับอนาคตของประเทศไทย (สำคัญกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ หลายเท่านัก) ปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เราวุ่นวายกับเรื่องภายใน และมองแต่ปัญหาระยะสั้นมากกว่าการทำเรื่องระยะยาว ในขณะที่ประเทศคู่แข่งรอบบ้านของเราตั้งแต่จีนถึงอินโดนีเซีย และพม่าถึงเวียดนาม ได้เดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศ (และนักลงทุนไทย) มองข้ามประเทศไทย และสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเริ่มตกรุ่น แข่งขันไม่ได้

นโยบายปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจหลายเรื่องไม่ต้องใช้เงินงบประมาณและไม่สร้างภาระการคลังให้แก่รัฐบาล การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนใหม่ๆ ของภาคเอกชน ภาครัฐต้องทำงานเชิงรุกเพื่อเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะในกิจกรรมที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ต้องเร่งทำให้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตรงกับความต้องการของธุรกิจในอนาคตและเกิดผลจริงในทางปฏิบัติ ต้องยอมตัดใจเลิกอุดหนุนกิจกรรมที่ล้าสมัยหรือไม่สอดคล้องกับการแข่งขันในอนาคต ภาครัฐต้องเร่งเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายเรื่องที่ภาคเอกชนเฝ้ารอมานาน ภาครัฐต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนของประเทศไทยในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ (โดยเฉพาะ Trans Pacific Partnership หรือ TPP และ EU-Thailand FTA) นอกจากนี้ ภาครัฐควรเปิดเสรีเพิ่มเติม โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ (ธุรกิจไทยขนาดใหญ่) ที่ได้รับการคุ้มครองมากเกินควร เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจในประเทศไทย และส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ โดยผู้ประกอบการที่มีความสามารถสูงกว่า

ความสงสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย และความหงุดหงิดว่านโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐไม่เกิดผลแบบทันอกทันใจจะบรรเทาลง ถ้าเรายอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วยด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องเลิกกินตามใจปาก ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง และยอมเจ็บตัวผ่าตัดเปลี่ยนชิ้นกระดูกหลายจุดที่มีปัญหา การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไม่มีทางลัด ต้องใช้ความอดทนและใช้เวลากว่าจะเห็นผล ตอนนี้ได้แต่หวังว่าหมอต้องมั่นคงและคนไข้ต้องเข้าใจ ไม่ใจอ่อน กลับมารักษาโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจ ด้วยยาหอม ยาดม ยาชูกำลัง แบบเดิมๆ

อ่านเพิ่มเติม Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2558
///////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของสหรัฐ..!!?


โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเคยเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันกับที่อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ต้องลดความสำคัญลง จากที่เคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากการที่เป็นประเทศที่มีอาณานิคมมากมาย มีความสามารถผูกขาดตลาดวัตถุดิบและตลาดสินค้าสำเร็จรูปได้ทั่วโลกก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลง บรรดาประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมต่างก็ประกาศตัวเป็นเอกราช ทำให้ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของอังกฤษและฝรั่งเศสลดถอยน้อยลงไปตามลำดับ

ยุโรป ในขณะที่อำนาจทางการเมืองและการต่างประเทศของอังกฤษกับฝรั่งเศสกำลังเสื่อมทรามลง สหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้รับความเสียหายจากภัยสงครามก็ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ

ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็ว โดยใช้แบบอย่างของอังกฤษเป็นตัวอย่างและมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและการทหารให้ทันอังกฤษภายใน 1 ศตวรรษ แต่ตอนที่ญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม หลังสงครามญี่ปุ่นจึงกลายเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐนอกจากจะเป็นผู้ชนะสงครามแล้ว สหรัฐยังกลายเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในโลก เงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษที่เคยใช้เป็นเงินตรา เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการของโลก มีค่าที่แข็งแกร่งโดยเทียบค่ากับทองคำ หรือกล่าวได้ว่าอยู่ในมาตรฐานทองคำ สามารถให้คำมั่นกับธนาคารกลางทั่วโลกได้ว่า ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่ถือเงินปอนด์เป็นทุนสำรองนั้นสามารถนำเงินปอนด์ที่ตนถือไว้นั้นมาแลกทองคำได้ทันที ทุนสำรองของต่างประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จึงนิยมถือเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง

ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษจึงมีทองคำทั้งที่เป็นของตนเองและที่เป็นทุนสำรองที่ประเทศอาณานิคมนำมาฝากไว้เป็นจำนวนมาก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้เป็นหนี้สินจากการกู้มาเพื่อทำสงคราม ประเทศอาณานิคมต่างๆ ก็ทยอยกันประกาศเอกราช ทองคำจึงไหลออกจากอังกฤษเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดอังกฤษก็ต้องประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ ผู้ถือเงินปอนด์ของอังกฤษไม่สามารถนำมาแลกเป็นทองคำได้ ปอนด์จึงมีค่าต่ำลงเมื่อเทียบกับทองคำ

ในขณะที่ความเชื่อมั่นในค่าของเงินปอนด์ต่ำลง เงินดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินตราที่ยังอยู่ในมาตรฐานทองคำจึงได้รับความนิยมและมีค่าที่มั่นคง เงินดอลลาร์จึงเข้ามาแทนที่เงินปอนด์ของอังกฤษในที่สุด สหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นประเทศที่มีดุลการชำระเงินเกินดุลมานับจากนั้น

เมื่อสหรัฐอเมริกามีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจากการเกินดุลการชำระเงินและเป็นประเทศชนะสงคราม อเมริกาจึงมีอิทธิพลที่สุดในการจัดระเบียบการค้าและการเงินของโลก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารโลกและมีอิทธิพลที่สุดในคณะกรรมการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยที่ธนาคารโลกทำหน้าที่ระดมทุนเพื่อให้ประเทศสมาชิกกู้ในการบูรณะประเทศหลังสงคราม ให้กู้เพื่อโครงการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศทำหน้าที่คล้ายๆ กับธนาคารกลางของโลก พยายามออกเงินตราระหว่างประเทศของตนเองเรียกว่าสิทธิถอนเงินพิเศษ หรือ Special Drawing Rights หรือ SDRs แต่ไม่สู้จะประสบความสำเร็จนัก ดอลลาร์สหรัฐอเมริกายังเป็นที่นิยมใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ตามเดิม

เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องใช้จ่ายอย่างมากมายในการทำสงครามเวียดนาม อันเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับการขาดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินอย่างมหาศาล ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เริ่มไม่แน่ใจว่าสหรัฐจะรักษาค่าเงินของตนซึ่งตรึงไว้กับทองคำโดยอยู่ที่ 36 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ทรอยออนซ์ไว้ได้ จึงนำดอลลาร์มาแลกทองคำจากสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้ทองคำของธนาคารกลางของสหรัฐร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว ในที่สุดประธานาธิบดีนิกสันก็ต้องประกาศให้เงินดอลลาร์สหรัฐออกจากมาตรฐานทองคำ ค่าเงินดอลลาร์จึงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทองคำตั้งแต่นั้นมา

แต่อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ก็ยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลก ทำให้สหรัฐอเมริกาก็ยังคงเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทางการเงินของโลก ตลาดทุนที่นิวยอร์กยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกอยู่ต่อไป

เมื่อเศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราเลข 2 หลักมานานกว่า 20 ปี ทำให้จีนเป็นประเทศที่สะสมทุนสำรองไว้มากที่สุดแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นไป คาดกันว่าขณะนี้จีนสะสมทุนสำรองในรูปของทองคำ ดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลหลักของโลก มีมูลค่าเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จีนจึงมีอิทธิพลอย่างมากในตลาดเงินของโลก แต่อย่างไรก็ตาม อิทธิพลทางการเงินของสหรัฐก็ยังยิ่งใหญ่อยู่เหมือนเดิม

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะใหญ่เป็นที่ 2 ของโลกแซงหน้าญี่ปุ่น เป็นรองแต่สหรัฐอเมริกา แต่ถ้าดูให้ดีทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างก็ยังต้องพึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปอยู่ดี เมื่อเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาอ่อนตัวลง ก็ย่อมมีผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไปด้วย

สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าที่สุดในด้านเทคโนโลยีเกือบทุกด้าน รวมทั้งเทคโนโลยีทางด้านอวกาศด้วย

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงพร้อมๆ กับค่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง เหลือเพียงประเทศเกาหลีเหนือและคิวบา อิทธิพลทางการเมืองการทหารจึงอยู่ในมือสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงเป็นอภิมหาอำนาจอยู่แต่เพียงประเทศเดียว โดยมียุโรปตะวันตกเป็นพันธมิตรหรือบริวาร

แม้ว่าประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันตก ประเทศญี่ปุ่นและจีน ต่างก็มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์การทางการค้า เช่นองค์การการค้าโลก องค์การทางการเงิน เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อขอเข้าไปมีที่นั่งและเพิ่มทุน เพื่อจะได้มีที่นั่งในคณะกรรมการของสถาบันเหล่านั้นซึ่งสหรัฐอเมริกามีเสียงมากที่สุด แต่ก็ไม่เป็นผล จึงได้เกิดมีการประกาศจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ หรือ Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB โดยมีการจัดตั้งทุนประเดิม 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จีนจะลง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐทั้งในยุโรปและเอเชียจองลงทุนกันมาก

แม้ว่าจะมีขบวนการที่จะถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นผล สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทรงอำนาจที่สุดของโลกต่อไป ทั้งในด้านการเงิน การพลังงาน และเทคโนโลยี

ที่สำคัญ สหรัฐอเมริกายังคงมีบทบาทเป็นตำรวจโลก ในการบังคับให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 168 ประเทศต้องปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ กองกำลังสหประชาชาติทุกครั้งจะนำโดยกองกำลังสหรัฐอเมริกาเสมอ ความยิ่งใหญ่และอิทธิพลของอเมริกาในเกือบทุกด้านไม่ได้ลดลงเลย มีแต่จะมากขึ้น จีนไม่ใช่คู่แข่ง และจีนยังไม่พร้อมจะเป็นคู่แข่ง

บางทีเราก็มักจะลืมไป จึงอยากเตือนสติกันไว้

 ที่มา.มติชนรายวัน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////