โดย.ดร. วีรพงษ์ รามางกูร
ประเทศไทยของเราเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นดาวเด่นของภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ของเอเชียตะวันออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวที่สูง ผ่านการส่งออกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อันได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มาอย่างติดๆ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ขึ้นหน้าปกนิตยสารชั้นนำของโลก
ทางด้านการเมือง ประเทศไทยในยุคเมื่อ 10 ปีก่อน ก็พัฒนาประชาธิปไตยไปไกลกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เกาหลีใต้และไต้หวัน
ในด้านสังคม แม้จะมีความขัดแย้งและความไม่สงบในภาคใต้อยู่บ้างในขณะนั้น ก็ไม่รุนแรงอย่างทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาทางสังคมความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา มีน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นอันมาก
การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ดี พัฒนาการทางการเมืองก็ดี การพัฒนาความสงบสุขภายในชาติก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จนได้รับการกล่าวขานจากสื่อมวลชนในต่างประเทศว่า ประเทศไทยควรจะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ จะมีปัญหาอยู่บ้างก็คงจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในความเป็นอยู่และการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้
การพัฒนาการเมืองที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการโจมตีว่าการเลือกตั้งจะมีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จริง แต่ก็มีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งและมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนถึงกับ "ฝัน" ว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบ 2 พรรคใหญ่ได้เช่นเดียวกับอังกฤษ อเมริกา ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพเป็นประชาธิปไตยดีกว่าการปกครองที่มีขนาดใหญ่พรรคเด่นเพียงพรรคเดียว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น
ถ้าระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้ พรรคเด่นพรรคใหญ่ 2 พรรคก็น่าจะผลัดกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพราะประชาชนจะเลือกพรรคมากกว่าเลือกคน จนสามารถมีพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยม มีเสียงในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว เป็นรัฐบาลในระบอบรัฐสภาที่เข้มแข็ง สามารถตัดสินใจในการดำเนินการลงทุนโครงการใหญ่ๆ สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข และข้อสำคัญการพัฒนาการเมือง
ที่เชื่อว่าประเทศไทย หากมีระบอบประชาธิปไตยมั่นคงก็จะไม่พัฒนาไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบพรรคเดียวแบบประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศก็เพราะว่าคนไทยมีนิสัยเบื่อง่ายชอบการเปลี่ยนแปลงดังนั้นถ้าหากพรรคการเมืองใดได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลติดต่อกัน 2 สมัยแล้ว โอกาสจะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 น่าจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งบอกว่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งตลอดกาลยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน
แม้ในระยะเริ่มต้น พรรคการเมืองจะมีนายทุนหรือกลุ่มนายทุนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปโดยมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลงโดยการปฏิวัติรัฐประหาร พรรคการเมืองก็จะกลายเป็นพรรคของมวลชน ที่มวลชนในเขตเลือกตั้งจะมีสิทธิมีเสียง กำหนดให้พรรคส่งคนที่ตนชอบลงในนามของพรรค แบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา
ในด้านสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออกผ่านทางสื่อมวลชนก็เป็นประเทศเปิดกว้างที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯยังเป็นศูนย์กลางของสำนักข่าวสำคัญๆ ทั่วโลก มิใช่เฉพาะสำนักข่าวไทยเท่านั้น
ภาพต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ได้มลายหายไปหมดแล้ว กล่าวคือ ในด้านเศรษฐกิจแม้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่บ้าง แต่ก็ขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เพราะรายรับจากการส่งออกหดตัวแทนที่จะขยายตัว ราคาสินค้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม พากันลดลงหมด ยังเหลือเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเท่านั้นที่ยังดีอยู่ ที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้บ้างก็เพราะได้อานิสงส์จากการที่ราคาพลังงานและราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีราคาถูกลง แต่การบริโภคและการลงทุนต่างก็ชะลอตัวไปหมด
การชะลอตัวที่เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 คงจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า เพราะภาวะเศรษฐกิจในยุโรปก็ดี ในญี่ปุ่น จีนและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ต่างก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัว
ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำลงอย่างรวดเร็วทั้งในเมืองและในชนบท ความแตกแยกทางการเมืองของคนในชาติก็ไม่เห็นทางจะเยียวยาได้อย่างไร ความเป็นนิติรัฐ การบังคับใช้กฎหมาย การมี 2 มาตรฐานในการใช้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานในกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการการเมือง ก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
บรรยากาศความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เคยอยู่ในระดับที่ประเทศต่างๆ เคยชื่นชมเราอย่างมากในช่วง 10 ปีก่อนหน้า มาบัดนี้ความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ก็เปลี่ยนไป ทั้งจากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ ต่างก็ฉวยโอกาสในขณะที่เรามีรัฐบาลทหาร ดำเนินมาตรการตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน ตั้งเงื่อนไขเรื่องสิทธิการบิน บรรยากาศในการออกข่าวของต่างประเทศก็เปลี่ยนไป กลายเป็นข่าวในทางลบทยอยออกมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมิตรประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย จะยังเหลือก็จีนเท่านั้นที่เป็นประเทศใหญ่ ทำให้เราดูเหมือนจะโอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะประเทศไทยดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับมหาอำนาจทุกประเทศเท่าเทียมกัน
ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ฝ่ายกองทัพก็ดี ฝ่ายพรรคฝ่ายค้านก็ดี ได้โหมโจมตีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจนเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลที่แล้วและสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะหลายคนเคยเชื่อว่าผู้ที่ถูกโจมตีนั้นไม่สะอาด มีการทุจริต คอร์รัปชั่น แต่เหตุการณ์โครงการราชภักดิ์ก็ดี โครงการจัดซื้อเปียโนของกรุงเทพมหานครก็ดี แม้ว่าจะยังมิได้มีการพิสูจน์แน่ชัดว่ามีความไม่ชอบมาพากล แต่ก็ทำให้ผู้คน "ใจเสีย" เพราะนึกไม่ถึงว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับกองทัพและพรรคฝ่ายค้านที่ตนเองเคยออกมาสนับสนุนและเชื่อใจ
ความ "ใจเสีย" นั้นได้เพิ่มบรรยากาศของความรู้สึกว่างเปล่า เงียบเหงา พูดไม่ออกบอกไม่ถูก สำหรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ต้องรับรู้จากสังคม แม้ว่าจะไม่ยอมอ่านจากหนังสือพิมพ์กระดาษ ไม่ยอมดูจากโทรทัศน์ ไม่ยอมฟังจากวิทยุ แต่ก็ได้รับจากสื่อออนไลน์ในมือของตัวเองอยู่ดี
การวิเคราะห์การพูดคุยกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง เหตุผลในวงสนทนา ในวงสังสรรค์กัน จึงทำไม่ได้อย่างสะดวกใจ ด้วยเหตุนี้การสนองตอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา ปาฐกถา ผ่านสื่อมวลชนจึงเป็นไปอย่างจืดชืด สังคมขณะนี้จึงเป็นสังคมของความ "อึดอัด" ไม่มีการแสดงออก ไม่มีการเปิดเผย ไร้สีสัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการ "ตรวจสอบตัวเอง" เพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ หรือจากการข่มขู่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งที่เป็นทหารและตำรวจ
สังคมที่เคยเป็น "สังคมพลเรือน" หรือ "civil society" ก็กลายเป็นสังคมทหาร การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อลดความอึดอัดกดดันก็ทำไม่ได้ ทุกคนต้องอดกลั้น
ประชาชนกลัวรัฐบาลหรือรัฐบาลกลัวประชาชน ใครจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้
บรรยากาศที่แปลกขณะนี้ก็ดี ผู้คนวางเฉยกับเหตุการณ์บ้านเมือง การโต้เถียง การเสนอความคิดความเห็นในกิจการบ้านเมืองจะมีทิศทางไปในทางใด ผู้คนให้ความสนใจน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคการเมืองจะพูดจะทำอะไรก็ไม่มีใครสนใจวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีใครโต้เถียง กลายเป็นสังคมเซื่องซึมหงอยเหงาอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆ ที่ความมีเหตุผล ความเป็นมาตรฐานเดียว ความเป็นนิติรัฐ ที่ทุกฝ่ายต่างก็เรียกร้องกันนักหนา กลับไร้ซึ่งเสียงของการโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ กลายเป็นพูดกันคนละเรื่อง บางคนพูดให้ได้ยินว่าสถานการณ์อย่างนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน
จะหงอยเหงากันไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้
ที่มา:มติชนรายวัน 10 ธันวาคม 2558
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
ประเทศไทยของเราเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นดาวเด่นของภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ของเอเชียตะวันออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวที่สูง ผ่านการส่งออกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อันได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มาอย่างติดๆ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ขึ้นหน้าปกนิตยสารชั้นนำของโลก
ทางด้านการเมือง ประเทศไทยในยุคเมื่อ 10 ปีก่อน ก็พัฒนาประชาธิปไตยไปไกลกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เกาหลีใต้และไต้หวัน
ในด้านสังคม แม้จะมีความขัดแย้งและความไม่สงบในภาคใต้อยู่บ้างในขณะนั้น ก็ไม่รุนแรงอย่างทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาทางสังคมความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา มีน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นอันมาก
การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ดี พัฒนาการทางการเมืองก็ดี การพัฒนาความสงบสุขภายในชาติก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จนได้รับการกล่าวขานจากสื่อมวลชนในต่างประเทศว่า ประเทศไทยควรจะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ จะมีปัญหาอยู่บ้างก็คงจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในความเป็นอยู่และการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้
การพัฒนาการเมืองที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการโจมตีว่าการเลือกตั้งจะมีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จริง แต่ก็มีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งและมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนถึงกับ "ฝัน" ว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบ 2 พรรคใหญ่ได้เช่นเดียวกับอังกฤษ อเมริกา ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพเป็นประชาธิปไตยดีกว่าการปกครองที่มีขนาดใหญ่พรรคเด่นเพียงพรรคเดียว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น
ถ้าระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้ พรรคเด่นพรรคใหญ่ 2 พรรคก็น่าจะผลัดกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพราะประชาชนจะเลือกพรรคมากกว่าเลือกคน จนสามารถมีพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยม มีเสียงในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว เป็นรัฐบาลในระบอบรัฐสภาที่เข้มแข็ง สามารถตัดสินใจในการดำเนินการลงทุนโครงการใหญ่ๆ สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข และข้อสำคัญการพัฒนาการเมือง
ที่เชื่อว่าประเทศไทย หากมีระบอบประชาธิปไตยมั่นคงก็จะไม่พัฒนาไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบพรรคเดียวแบบประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศก็เพราะว่าคนไทยมีนิสัยเบื่อง่ายชอบการเปลี่ยนแปลงดังนั้นถ้าหากพรรคการเมืองใดได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลติดต่อกัน 2 สมัยแล้ว โอกาสจะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 น่าจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งบอกว่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งตลอดกาลยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน
แม้ในระยะเริ่มต้น พรรคการเมืองจะมีนายทุนหรือกลุ่มนายทุนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปโดยมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลงโดยการปฏิวัติรัฐประหาร พรรคการเมืองก็จะกลายเป็นพรรคของมวลชน ที่มวลชนในเขตเลือกตั้งจะมีสิทธิมีเสียง กำหนดให้พรรคส่งคนที่ตนชอบลงในนามของพรรค แบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา
ในด้านสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออกผ่านทางสื่อมวลชนก็เป็นประเทศเปิดกว้างที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯยังเป็นศูนย์กลางของสำนักข่าวสำคัญๆ ทั่วโลก มิใช่เฉพาะสำนักข่าวไทยเท่านั้น
ภาพต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ได้มลายหายไปหมดแล้ว กล่าวคือ ในด้านเศรษฐกิจแม้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่บ้าง แต่ก็ขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เพราะรายรับจากการส่งออกหดตัวแทนที่จะขยายตัว ราคาสินค้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม พากันลดลงหมด ยังเหลือเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเท่านั้นที่ยังดีอยู่ ที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้บ้างก็เพราะได้อานิสงส์จากการที่ราคาพลังงานและราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีราคาถูกลง แต่การบริโภคและการลงทุนต่างก็ชะลอตัวไปหมด
การชะลอตัวที่เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 คงจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า เพราะภาวะเศรษฐกิจในยุโรปก็ดี ในญี่ปุ่น จีนและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ต่างก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัว
ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำลงอย่างรวดเร็วทั้งในเมืองและในชนบท ความแตกแยกทางการเมืองของคนในชาติก็ไม่เห็นทางจะเยียวยาได้อย่างไร ความเป็นนิติรัฐ การบังคับใช้กฎหมาย การมี 2 มาตรฐานในการใช้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานในกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการการเมือง ก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
บรรยากาศความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เคยอยู่ในระดับที่ประเทศต่างๆ เคยชื่นชมเราอย่างมากในช่วง 10 ปีก่อนหน้า มาบัดนี้ความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ก็เปลี่ยนไป ทั้งจากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ ต่างก็ฉวยโอกาสในขณะที่เรามีรัฐบาลทหาร ดำเนินมาตรการตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน ตั้งเงื่อนไขเรื่องสิทธิการบิน บรรยากาศในการออกข่าวของต่างประเทศก็เปลี่ยนไป กลายเป็นข่าวในทางลบทยอยออกมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมิตรประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย จะยังเหลือก็จีนเท่านั้นที่เป็นประเทศใหญ่ ทำให้เราดูเหมือนจะโอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะประเทศไทยดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับมหาอำนาจทุกประเทศเท่าเทียมกัน
ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ฝ่ายกองทัพก็ดี ฝ่ายพรรคฝ่ายค้านก็ดี ได้โหมโจมตีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจนเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลที่แล้วและสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะหลายคนเคยเชื่อว่าผู้ที่ถูกโจมตีนั้นไม่สะอาด มีการทุจริต คอร์รัปชั่น แต่เหตุการณ์โครงการราชภักดิ์ก็ดี โครงการจัดซื้อเปียโนของกรุงเทพมหานครก็ดี แม้ว่าจะยังมิได้มีการพิสูจน์แน่ชัดว่ามีความไม่ชอบมาพากล แต่ก็ทำให้ผู้คน "ใจเสีย" เพราะนึกไม่ถึงว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับกองทัพและพรรคฝ่ายค้านที่ตนเองเคยออกมาสนับสนุนและเชื่อใจ
ความ "ใจเสีย" นั้นได้เพิ่มบรรยากาศของความรู้สึกว่างเปล่า เงียบเหงา พูดไม่ออกบอกไม่ถูก สำหรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ต้องรับรู้จากสังคม แม้ว่าจะไม่ยอมอ่านจากหนังสือพิมพ์กระดาษ ไม่ยอมดูจากโทรทัศน์ ไม่ยอมฟังจากวิทยุ แต่ก็ได้รับจากสื่อออนไลน์ในมือของตัวเองอยู่ดี
การวิเคราะห์การพูดคุยกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง เหตุผลในวงสนทนา ในวงสังสรรค์กัน จึงทำไม่ได้อย่างสะดวกใจ ด้วยเหตุนี้การสนองตอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา ปาฐกถา ผ่านสื่อมวลชนจึงเป็นไปอย่างจืดชืด สังคมขณะนี้จึงเป็นสังคมของความ "อึดอัด" ไม่มีการแสดงออก ไม่มีการเปิดเผย ไร้สีสัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการ "ตรวจสอบตัวเอง" เพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ หรือจากการข่มขู่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งที่เป็นทหารและตำรวจ
สังคมที่เคยเป็น "สังคมพลเรือน" หรือ "civil society" ก็กลายเป็นสังคมทหาร การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อลดความอึดอัดกดดันก็ทำไม่ได้ ทุกคนต้องอดกลั้น
ประชาชนกลัวรัฐบาลหรือรัฐบาลกลัวประชาชน ใครจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้
บรรยากาศที่แปลกขณะนี้ก็ดี ผู้คนวางเฉยกับเหตุการณ์บ้านเมือง การโต้เถียง การเสนอความคิดความเห็นในกิจการบ้านเมืองจะมีทิศทางไปในทางใด ผู้คนให้ความสนใจน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคการเมืองจะพูดจะทำอะไรก็ไม่มีใครสนใจวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีใครโต้เถียง กลายเป็นสังคมเซื่องซึมหงอยเหงาอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆ ที่ความมีเหตุผล ความเป็นมาตรฐานเดียว ความเป็นนิติรัฐ ที่ทุกฝ่ายต่างก็เรียกร้องกันนักหนา กลับไร้ซึ่งเสียงของการโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ กลายเป็นพูดกันคนละเรื่อง บางคนพูดให้ได้ยินว่าสถานการณ์อย่างนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน
จะหงอยเหงากันไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้
ที่มา:มติชนรายวัน 10 ธันวาคม 2558
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น